[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 02:13:57 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุใด? ประติมากรรมปูนปั้นรูปกินนร-กินนรี ที่สุโขทัยจึงมีเท้าเป็นกีบม้า  (อ่าน 1585 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 14 มีนาคม 2559 16:04:39 »



กรอบซุ้มปูนปั้น พบที่วัดพระพายหลวง จ.สุโขทัย

เพราะเหตุใด
ประติมากรรมปูนปั้นรูปกินนร-กินนรี
ที่สุโขทัยจึงมีเท้าเป็นกีบม้า?

คำถามข้างต้นมาจากผู้ชมหลายต่อหลายท่านที่ได้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย เมื่อได้สังเกตเห็นประติมากรรมปูนปั้นขนาดใหญ่ ซึ่งจัดแสดงโดดเด่น ณ ชั้นบนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฯ แห่งนี้ มีรูปกินนร-กินนรี ๒ คู่ ซึ่งขาและเท้าไม่ใช่ขาและเท้าแบบนก แต่มีขาและกีบเหมือนกีบม้า

ข้อสังเกตจากผู้ชมข้างต้นนำมาสู่คำถามที่ทำให้ผู้เขียนต้องตอบอธิบายเฉพาะบุคคลบ้าง และอธิบายขยายความในการบรรยายทางวิชาการในที่ต่างๆ บ้าง แต่ก็ยังไม่ทราบในวงกว้างมากนัก จึงมีหลายท่านยังถามมาอีกเนืองๆ เมื่อได้เห็นโบราณวัตถุชิ้นนี้ จึงขอนำรายละเอียดมาตอบในนิตยสารศิลปากรฉบับนี้ ดังต่อไปนี้

ประติมากรรมปูนปั้นข้างต้นพบจากการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๘ ณ โบราณสถานวัดพระพายหลวง นอกเมืองโบราณสุโขทัยทางด้านทิศเหนือ โดยพบที่ซากพระเจดีย์อิฐฐานเหลี่ยมลดชั้นกันขึ้นไปคล้ายรูปพีระมิด จึงนิยมเรียกว่า เจดีย์ทรงพีระมิด ซึ่งสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ สันนิษฐานว่าเป็นส่วนกรอบซุ้ม (สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป) ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เนื่องจากขุดพบกรอบซุ้ม (หักพังตกอยู่) ทางด้านนี้ของพระเจดีย์ ประติมากรรมปูนปั้นที่พบนี้เป็นรูปซุ้มโค้ง ส่วนยอดสุดเป็นรูปเทพนมอยู่เหนือหน้ากาล ส่วนปลายล่างแต่ละข้างของซุ้มเป็นรูปกินนร-กินนรีพนมมือ ดังนั้นจึงมีกินนร-กินนรี ๒ คู่ ซึ่งมีลักษณะพิเศษจากกินนร-กินนรีที่ปรากฏในที่อื่นคือ ขาและเท้าเป็นกีบแบบเท้าม้าและกีบม้า ไม่ใช่แบบของนกดังที่พบเห็นกันทั่วไปและคนไทยเข้าใจกันทั่วไปว่า ส่วนลำตัวตอนล่างของกินนร-กินนรี ย่อมเป็นนก ต้องมีปีกขาและเท้าแบบนก แต่นี่มิได้เป็นเช่นนั้น



ภาพถ่ายใกล้ รูปกินนร-กินนรีที่ปลายด้านขวาของกรอบซุ้มปูนปั้น
พบจากการขุดแต่งเจดีย์เหลี่ยม วัดพระพายหลวง


อันที่จริง กินนร-กินนรีกำเนิดในตำนานปรัมปราของประเทศอินเดีย คำว่า “กินนร” (อ่าน กิน-นะ-ระ) มาจากภาษาสันสกฤต คือ “กิม-นร” (อ่านว่า กิม-นะ-ระ) แปลว่า “คนอะไร” (กิม=อะไร, นร=คน) เสมือนเป็นคำถามว่า “นี่จะเรียกว่าคนได้ไหม?” หรือ “นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของคนใช่ไหม?” หรือ “จะเรียกสิ่งมีชีวิตรูปแบบนี้ว่าคนอะไรดีหนอจึงจะเหมาะสม?” เป็นต้น กินนร เป็นคำเรียกสำหรับสิ่งมีชีวิตลักษณะนี้ที่เป็นเพศผู้ ส่วนกินนรีใช้กับเพศเมีย เรื่องราวของกินนร-กินนรี ปรากฏอยู่ไม่น้อยในคัมภีร์และวรรณกรรมในพระพุทธศาสนาและวรรณกรรมปรัมปราในศาสนาฮินดู เช่น มหาภารตะ รามายณะ และปุราณะ  คัมภีร์และวรรณกรรมของศาสนาฮินดูเหล่านี้อธิบายว่า กินนร-กินนรีเป็นเทวดาระดับล่างหรือสิ่งมีชีวิตกึ่งเทวดา มีตัวเป็นม้า ศีรษะเป็นคน หรือบางครั้งก็มีตัวเป็นคน ศีรษะเป็นม้า ใช้ชีวิตเดินเหินเที่ยวเล่นเป็นบริวารของเทพกุเวรบนสวรรค์ด้านเหนือของเขาไกรลาส  กินนร-กินนรีเป็นผู้ขับขานลำนำเพลงสรรเสริญบรรดาเทพเจ้าและเทวดา ในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาแม้จะกล่าวว่า กินนร-กินนรีมีความโดดเด่นในการขับขานลำนำเพลงและดนตรีและเป็นแบบอย่างของคู่รักทรหดหรือคู่ผัวตัวเมียที่รักและอยู่เคียงคู่กันเสมอ เช่นเดียวกับในปรัมปราฮินดู แต่ยังอธิบายรูปลักษณ์ของกินนร-กินนรี แตกต่างออกไป กล่าวคือ กินนร-กินนรี มีรูปลักษณ์ที่ศีรษะเป็นคนแต่ลำตัวเป็นนก มีปีกเหมือนนกด้วย ดังนั้นในมโนภาพของพุทธศาสนิกชนจึงเห็นว่า กินนร-กินนรีเป็นรูปคนครึ่งนก กินนร-กินนรีปรากฏอยู่ในชาดก (ภาษาบาลี เรียก “ชาตกะ” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ซึ่งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ในรูปสิ่งมีชีวิตประเภทต่างๆ เรียบเรียงขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑) มักพรรณนาว่ากินนร-กินนรีเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใสซื่อ จิตใจอ่อนโยน และใจดีที่สุด ในจันทกินนรชาดกบอกเล่าเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ (ซึ่งในชาติต่อๆ ไปเบื้องหน้าจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า) เสวยพระชาติเป็นกินนร และมีนางกินนรีเป็นคู่ครอง (คือผู้ที่จะไปเกิดเป็นพระนางยโสธรา พระชายาเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งต่อมาทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า)  กินนร-กินนรีคู่นี้ครองคู่อย่างมีความสุข กระทั่งวันหนึ่งพระราชาองค์หนึ่งประสงค์ในตัวนางกินนรี จึงสังหารกินนร (พระโพธิสัตว์) แต่ด้วยความรักอันมั่นคงของนางกินนรีและแรงอธิษฐานอันโหยไห้ของนาง ทำให้พระอินทร์ต้องลงมาชุบชีวิตให้กินนรฟื้นคืนและอยู่ครองคู่เคียงกันต่อไปจวบวาระสุดท้าย นางกินนรีจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของหญิงที่มั่นคงในรักและอุทิศตนเพื่อคนรักอย่างไม่เสื่อมคลาย

จินตกวีอินเดียผู้โด่งดังคือ กาลิทาส ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู มีชีวิตอยู่เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ในกวีนิพนธ์เรื่อง “กุมารสัมภวะ” (กุมารสมภพ=กำเนิดกุมาร) กล่าวถึงกินนร-กินนรีว่า ใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนหิมาลัย หรือ ณ ภูเขาหิมวัต วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยนำมาปรับแต่งสร้างวรรณกรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาและกลายมาเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่โด่งดังเรื่องพระสุธน-นางมโนห์รา รวมไปถึงนาฏกรรมพื้นถิ่นปักษ์ใต้คือการแสดง “โนรา” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในทางศิลปกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรมฝาผนัง ลวดลายบนตู้พระธรรม ภาพในสมุดไทยและภาพพิมพ์บนผืนผ้า ฯลฯ แสดงรูปกินนร-กินนรีอยู่มาก ในตำราภาพสมุดไทยที่เรียกว่าภาพ “สัตว์หิมพานต์” ปรากฏรูปกินนร-กินนรี รวมอยู่ด้วย ด้วยเหตุที่ว่าความคิดเรื่องภูเขาหิมวัตอันเป็นจุดเชื่อมต่อแดนมนุษย์และแดนสวรรค์ของศาสนาฮินดู ซึ่งพระพุทธศาสนารับมานั้น ทำให้พุทธศาสนิกชนไทยซึมซับความคิดเรื่อง “ป่าหิมพานต์” (ซึ่งมาจากหิมวัต-หิมวันตะ-หิมวันต์-หิมพานต์) ว่าอยู่เชิงเขาหิมาลัยหรือเชิงภูเขาหิมวัต อันเป็นที่ชุมนุมของสิงสาราสัตว์ที่มีลักษณะรูปร่างต่างๆ รวมทั้งพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งที่พบเห็นรู้จักได้เช่นทุกวันนี้หรือมีลักษณะและคุณสมบัติแปลกประหลาดออกไป ไม่เว้นแม้แต่กินนร-กินนรี ก็ปรากฏอยู่ในป่าและภูเขาอันมหัศจรรย์กึ่งจริง-กึ่งนิยายนี้



ประติมากรรมหินรูปกินนร ศิลปะคุปตะ พุทธศตวรรษที่ ๑๐
จากตูเมน รัฐมัธยมประเทศ ประเทศอันเดีย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเดลลี กรุงนิวเดลลี



กินนร-กินนรี คู่รักเคียงคู่กันเสมอ ณ ภูเขาไวบูลย์บรรพต
สมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔



ประติมากรรมหินเคลือบสี รูปฮาร์ปี ศิลปะอิหร่าน
พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ พิพิธภัณฑสถานศิลปะแห่งมหานครนิวยอร์ก
(The Metropolitan Museum of Art) สหรัฐอเมริกา

ประติมากรรมปูนปั้นกรอบซุ้มจากเจดีย์พีระมิด วัดพระพายหลวงที่ปรากฏกินนร-กินนรีรูปลักษณ์แปลกออกไปจากที่ชาวไทยพบเห็นทั่วไป คือส่วนขาและเท้าไม่ใช่แบบของนก แต่เป็นท่อนขาและกีบแบบม้า จึงน่าจะมาจากความรับรู้ตามปรัมปราของคติฮินดูที่ว่า กินนร-กินนรี มีศีรษะเป็นคนแต่ส่วนตัวเป็นม้า จึงต้องมีขาและกีบเท้าแบบม้า อย่างไรก็ดีแนวคิดเรื่องรูปลักษณ์ของกินนร-กินนรียังยึดถือตามคติในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ จึงคงลักษณะศีรษะเป็นคน ลำตัวเป็นนก มีปีกอย่างนก แต่เปลี่ยนจากขาและเท้านกเป็นขาและเท้ากีบม้าเพื่อให้มีลักษณะดั้งเดิมตามคติฮินดูเอาไว้ด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า ช่างศิลป์สุโขทัยผู้สร้างงานประติมากรรมปูนปั้นชิ้นนี้ประสงค์ให้มีลักษณะผสมผสานตามคตินิยมปรัมปราของทั้งสองศาสนานี้ไว้ด้วยกัน จึงทำให้ปรากฏรูปกินนร-กินนรีลักษณะพิเศษเป็นที่ประจักษ์ดังกล่าว ถึงกระนั้นการคงคตินิยมตามฝ่ายพระพุทธศาสนาที่มีมากกว่า ย่อมสะท้อนถึงแนวคิดที่ว่า ชาวสุโขทัยยอมรับความมีอยู่ของปรัมปราในคตินิยมฮินดูในแง่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น และต้องการเก็บรักษาไว้ในงานพุทธศิลป์ จึงสอดแทรกลงไว้ในงานประติมากรรมปูนปั้นชิ้นนี้

ยังมีเรื่องน่าสนใจที่พึงเล่าเพิ่มเติมในที่นี้ ซึ่งน่าจะให้ความรู้เชื่อมโยงกับกินนร-กินนรีของโลกตะวันออกดังที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวคือ กินนร (เพศผู้) ตามปรัมปราฮินดูเทียบเคียงรูปลักษณ์ได้กับ “เซนทอร์(Centaur) ในปกรณัมปรัมปราของกรีก ซึ่งเซนทอร์มีศีรษะเป็นคน ตัวเป็นม้า มีขากและกีบเท้าแบบม้า  เซนทอร์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดุร้ายและเหี้ยมเกรียม ป่าเถื่อน ขี้เมาและชอบฉุดคร่าผู้หญิงไปทำอนาจาร ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวต่างออกไปจากกินนรของปรัมปราฮินดู ส่วนกินนรี (เพศเมีย) ตามปรัมปราฝ่ายพระพุทธศาสนาคล้ายกับ “ฮาร์ปี” (Harpy) ในปกรณัมปรัมปราของกรีกเช่นเดียวกัน ฮาร์ปีมีศีรษะเป็นคน (เพศเมีย) ใบหน้าจึงเป็นใบหน้าของหญิงสาว ท่อนล่างเป็นนก เน้นรูปลักษณ์ที่มีเต้านมแบบผู้หญิง และปีก-ตีนแบบนก ตามวรรณกรรมปรัมปราของโอเมอร์ (Homer) ชื่อ อีเลียด (the Iliad) ประมาณ ๒๐๐ ปีก่อนพุทธกาล กล่าวว่า ฮาร์ปี แม้ดุร้าย กลิ่นตัวเหม็น น่าขยะแขยง แต่มีภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากเทพเจ้าทั้งหลาย กล่าวคือ ให้ใช้กรงเล็บคมกริบปราบพวกอาชญากร และยังมีภารกิจในการค้นหาสิ่งสูญหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กๆ ฮาร์ปีเป็นแม่ของม้าศักดิสิทธิ์ ๒ ตัว ซึ่งต่อมาได้เป็นม้าประจำของ อคิลสีส (Achilles) วีรบุรุษสำคัญในสงครามกรุงทรอย (the Trojan War) และอคิลสีสได้รับการเลี้ยงดูจากไครอน (Chiron) ซึ่งเป็นเซนเทอร์ที่อุปนิสัยดีอีกด้วย เรื่องราวของฮาร์ปีที่มีรูปลักษณ์แบบกินนรี และนางยังมีลูกเป็นม้า ดูจะสอดคล้องกันอย่างไม่น่าเชื่อกับการสร้างรูปกินนร-กินนรีที่มีกีบเท้าเป็นม้าในประติมากรรมปูนปั้นชิ้นนี้ของสุโขทัย

[ผู้เขียนขอขอบคุณผู้อนุเคราะห์ข้อมูลภาพ: คุณชัยวัฒน์ ทองศักดิ์  คุณศิรวีย์ เอี่ยมสุดใจ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง สุโขทัย และคุณธราพงศ์ ศรีสุชาติ]



เรื่อง-ภาพ : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารกลาง กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ - จัดพิมพ์/เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
เหตุใด ชาวบ้าน เรียกสะพานกรุงธนว่า สะพานซังฮี้ ซังฮี้แปลว่าอะไร [ 108 ซองคำถาม ]
สุขใจ ห้องสมุด
หมีงงในพงหญ้า 1 2658 กระทู้ล่าสุด 11 กุมภาพันธ์ 2554 12:13:54
โดย เงาฝัน
เหตุใด? พระคเณศจึงเสียงา
เกร็ดศาสนา
Kimleng 0 1301 กระทู้ล่าสุด 13 ธันวาคม 2558 17:35:23
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.456 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 16 เมษายน 2567 07:53:07