แสงสว่างทางปฏิบัติ

(1/26) > >>

Maintenence:
Tweet



ธรรมะเบาสมอง

หลวงพ่อจะได้นำเรื่องเบาสมองมาคลายความเครียด เพราะว่าประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาเป็นเวลาเจ็ดแปดวัน ก็รู้สึกว่าเครียด ถ้าว่าเครียดก็เครียด ถ้าว่าสบายก็สบาย

วันนี้ต้องการที่จะปรับความเข้าใจเป็นบางสิ่งบางประการที่ผ่านมา เบื้องต้นก็คือเรื่องการทำวัตร โดยเฉพาะทำวัตรเย็น ทางคณะพระอาจารย์กรรมพากันสวดทุกวันๆ กรณียเมตตสูตร และ วิรูปักเข (ขันธปริตตคาถา)

ท่านทั้งหลาย แต่ละวันๆ ก็จะได้สวด ๒ บทนี้ อาจจะรำคาญ เบื่อ น่าจะสวดมากๆ กว่านี้ อะไรทำนองนี้ เหตุนั้น อะไรที่ไม่สบายใจก็ขออภัยหลายๆ ด้วย คือบางท่านคิดว่าน่าจะสวดบทนั้นสวดบทนี้ จะได้อานิสงส์มาก จะได้บุญมาก การปฏิบัติจะได้ก้าวหน้ากว่าที่เป็นไปอยู่ทุกวันนี้ อาจจะคิดอย่างนี้

แต่มันมีเรื่อง ท่านทั้งหลาย ที่สวดมนต์บทนี้ มีเรื่อง คำว่า มีเรื่อง ในที่นี้ เพราะว่าในสมัยหนึ่งที่หลวงพ่อปฏิบัติธรรมอยู่ สมัยนั้นต่อสู้กับพวกอมนุษย์อย่างรุนแรง จนจะเอาชีวิตไว้ไม่ได้ เวทมนตร์กลคาถาอะไรที่เราได้เรียนได้ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ ที่ว่าดีอย่างนั้น วิเศษอย่างนี้ ฉมังอย่างนั้นอย่างนี้ เรานำมาใช้หมด แต่ก็สู้เขาไม่ได้

จนปีนั้นคิดว่า เอ๊ะ เรานี้ ร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมืองเราผ่านมาแล้ว แต่ทำไมจึงมาแพ้เอาดื้อๆ อย่างนี้ จึงคิดไปคิดมา นึกถึงพุทธาวุธที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบให้แก่พระภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป ที่ไปเจริญพระกัมมัฏฐานในป่า อมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี ไม่ได้รับความเมตตา ก็มาทรมานพระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นให้เจริญพระกัมมัฏฐานไม่ได้ ออกพรรษาแล้วมาเฝ้ากราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ แล้วก็ได้กลับมา พระพุทธเจ้าตรัสให้กลับไปที่เดิม ไปปฏิบัติในที่เดิม และก็ทรงประทานพุทธาวุธให้ พระภิกษุเหล่านั้นไปปฏิบัติตาม ก็ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

มีเรื่องอยู่ ในสมัยที่หลวงพ่อมาอยู่นี้ พวกอมนุษย์มันรุนแรงเหลือเกิน คร่าเอาชีวิตคน ใครไปใครมา หลายสิบ ผู้ที่มาอยู่พักพาอาศัย คนส่วนมากจะไหลตายกันไปเรื่อยๆ คนนี้ตายๆ ในสมัยที่หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ก็ยังเป็นอยู่ คือมันมีเรื่องว่า บางครั้งเรานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องฝันนะ ขอปรับความเข้าใจนะว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องฝัน ไม่ใช่เป็นเรื่องหลับตา เป็นเรื่องลืมตา

บางครั้งพวกนกแสก ทางอีสานเขาเรียกว่า นกผีพราย นกแสกมันจับอยู่ที่สายไฟที่ดาดฟ้าเพดาน มันจับอยู่ ก็เอ๊ะ นกตัวนี้มันมาอยู่ได้อย่างไร มันเข้ามาวิธีไหน หลวงพ่อก็ลืมตาดู พิจารณาดู เอ๊ะ มันมาได้อย่างไร มันเข้าจุดไหน มันเข้าทางประตูหรือหน้าต่าง กำลังๆ ที่เราพิจารณาอยู่นั้นแหละ มองอยู่นั่นแหละ มันกระโดดลงมาแช็บ เข้าไปในหัวใจเลย ตรงทรวงอกเลย

เจ็บก็เจ็บ ปวดก็ปวด ใจอ่อนก็ใจอ่อน ก็คิดว่า เออ เรานี้ ถ้าตายคงตายในครั้งนี้แหละ มีสติขึ้นมากำหนดบทพระกัมมัฏฐานว่า รู้หนอๆ นกแสกตัวนั้นก็ตึงตังๆๆ กระโดดออกไป บางทีมันออกทางหน้าอก เราก็ผงะไปด้านหลัง ขอเล่าเรื่องย่อๆ เพราะว่าเรื่องมันพิสดาร ขอเล่าพอเป็นแนวทางสำหรับปรับให้เข้ากับเรื่อง กรณียเมตตสูตร ที่สวดกันอยู่ทุกวันนี้

บางครั้งเรานั่งอยู่ นั่งอยู่ เสียงมันแว่วขึ้นมาเลยว่า อาจารย์ๆ หมาตัวนี้จะเข้าไปกัดอาจารย์ เราก็เตรียมตัวปิดประตู บางทีปิดประตูได้ มันก็เข้ามาไม่ได้ บางครั้งปิดประตูไม่ได้ มันก็กรูเข้ามา มันจะกัด รีบเอาไม้เรียวไปเฆี่ยนมัน มันถึงวิ่งออกไป เราก็ตามไปๆ โน่นไปถึงหน้าโบสถ์ มันก็หายไป

บางครั้งมีเสียงแว่วเข้ามา คือมันคล้ายๆ เสียงแว่วๆ คล้ายๆ ว่าเสียงอีกเสียงหนึ่ง เป็นเทวดาสัมมาทิฏฐิ อาจจะเป็นอารักขเทวดาก็ได้ อาจารย์ๆ ผู้หญิงคนนี้มันจะไปนอนคร่อมอาจารย์ มันเป็นผู้หญิงสาวๆ มันกรูเข้ามามันจะมานอนคร่อม มานอนเต็ง (ทับ) หลวงพ่อก็ปิดประตู ถ้าครั้งไหนปิดประตูได้ก็แล้วไป แต่ถ้าปิดประตูไม่ได้ ไม่ทัน มันก็กรูเข้ามา มันจะนอนคร่อม เราก็เอาไม้เรียวนี้เฆี่ยนมัน มันก็วิ่งออกไป เราก็เดินตามไป ไม่ได้วิ่งตามไปนะ เราก็เดินตามไปๆ ผลสุดท้ายเราก็ตามไปถึงบริเวณหน้าอุโบสถ มันก็หายไป บางทีมันหายไปแล้วมันก็วิ่งกลับเข้ามา ย้อนเข้ามาอยู่ใต้ถุนอีก ไม่ใช่หนเดียว

บางครั้งเราไปฉันเช้าอยู่ที่กุฏิ เรามองเข้าไป ทางอีสานเขาเรียกว่า นัย ก็ประเภทหนูนั่นแหละ แต่ทางอีสานเขาเรียกว่า นัย เอ๊ะ นัยตัวนี้มันมาอยู่ในที่ฉันได้อย่างไรหนอ มันมาอยู่ใต้โต๊ะบูชาได้อย่างไร หลวงพ่อก็มองเข้าไปๆ เอ๊ะ มันมาได้อย่างไร มันจะวอบแวบๆ กำลังมองอยู่ๆ มันกระโดดแช็บ เข้ามาหัวใจ แช็บ เข้ามา

โอ๊ย เจ็บก็เจ็บ ปวดก็ปวด ใจอ่อนก็ใจอ่อน ก็คิดว่า เออ เรานี้ ถ้าจะตายคงตายในครั้งนี้แหละ แต่ในขณะนั้นก็มีสติขึ้นมา รู้หนอๆ ในขณะที่กำหนดรู้หนอๆๆ มันก็กระโดดแช็บ ออกไป ส่วนมากมันก็ออกทางด้านหน้า มันดันออกมา บ้านเฮาว่ามันยัน ยันหน้าอกนี้แหละ เราก็ผงะไปข้างหลัง มันก็หายไป

บางครั้งเรากำลังไหว้พระทำวัตรอยู่ในห้องของเรานี้ (อมนุษย์) มันเอาไม้เรียวประมาณสักสองหรือสามนิ้ว กำลังสวดมนต์เพลินๆ อยู่น่ะ มันก็เอาไม้ตีเปรี้ยงๆๆ เราก็ทำใจ รู้หนอๆๆ มันก็หายไป แต่บางครั้งมันเอาสากน่ะ บ้านเราเรียกสากโปง เอาสากมากระทุ้งเสากุฏิตึงๆๆ เหมือนกับว่าเสากุฏิของเราจะพัง ก็กำหนดรู้หนอๆๆ ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ก็หลายเรื่อง หลายสิ่ง หลายอย่าง หลายประการ แต่ไม่ได้นำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นแค่เพียงความรู้พิเศษ เพราะว่ามันทำลักษณะอย่างนี้ ๑ พรรษา

ท่านทั้งหลายคิดดูว่า ๑ พรรษา มันรบกวนทั้งพรรษา เราคิดว่า เอ๊ เรานี้ หากว่าลักษณะอย่างนี้มันเกิดขึ้น เราออกพรรษาแล้ว เราคงต้องออกจากวัดนี้ไปอยู่ที่อื่น คงจะสู้เขาไม่ได้แล้ว ถ้าลักษณะอย่างนี้ คิดไปคิดมา เวทมนตร์กลคาถาที่ร่ำเรียนมาแล้ว (เราได้ใช้) หมดไปแล้ว มันกันไม่ได้ ป้องกันไม่ได้ ตอนนี้เราจนตรอกแล้ว จะหาทางไปแล้ว

ตอนนี้ก็นึกถึงพุทธาวุธ ก็คือ กรณียเมตตสูตร นึกถึงคาถาที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแก่พระภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูปน่ะ ยกเอากรณียเมตตสูตรมาสวด สวดทุกวัน เช้าก็สวด ก่อนจะนอนก็สวด เผลอๆ กลางวันก็สวด หลังจากนั้นมา พวกอมนุษย์สมัยที่มารังควาญหลวงพ่อ พวกมันมีอยู่ ๕ ตน หลวงพ่อเรียกว่า ๕ ตน หลังจากนั้นมา มันยอมศิโรราบ ขอขมาโทษ ยอมแพ้ ตอนนี้มันยอมแพ้แล้ว

เมื่อมันยอมแพ้แล้ว (ได้กลาย) เป็นอุปัฏฐากที่ดีที่สุด พระไปทำอะไรที่ไหน เช่นว่า พระเณรไปกินข้าวเย็น มันก็มาบอกหลวงพ่อว่า อาจารย์ๆ สามเณร ๗-๘ รูป ไปกินข้าวเย็นที่ต้นมะขาม หลวงพ่อก็เดินไปดู ก็เห็นกินจริงๆ บางทีว่า หลวงพ่อๆ เณรไปกินแกงเห็ดอยู่ในห้องภายในกุฏิ ก็เดินไปดู ก็กินจริงๆ

เมื่อก่อนโน้น หลวงพ่อทำอาหาร กำลังนั่งตำมะละกออยู่ สามเณรก็อยู่ข้างหน้า มันก็บอกหลวงพ่อว่า อาจารย์ๆ เณรรูปนี้ เมื่อคืนนี้กินข้าวกับปลาร้า หลวงพ่อก็ว่า เณรเมื่อคืนนี้ เจ้ากินข้าวกับปลาร้าอยู่บ้อ

บางครั้ง พระไปทำไม่ดีไม่งาม มันมาบอก บางครั้ง ในหน้าตรุษสงกรานต์ (พระ)ไปเล่นสาดน้ำ เล่นจนเกินพอดี พวกพระยังไม่กลับมา มันมาบอกก่อนแล้ว อาจารย์ๆ พระรูปนั้นรูปนี้ มันมาบอก อาจารย์ คุณชาญไปกำ(จับ)นมเขานะ มันบอก ไปจับนมเขานะ มันบอก หลวงพ่อก็เฉยๆ รู้แล้วก็แล้วไป พอดี(พระนั้น)มาถึงก็บอก(ถามไป)ว่า คุณชาญไปเล่นสงกรานต์วันนี้ ไปกำนมเขาบ่ ไปจับนมเขาบ่ ยอมแพ้ (พระนั้นก็ยอมรับ) จะปฏิเสธอย่างไรก็ไม่ได้ อะไรหลายสิ่งหลายประการ เล่าเพียงย่อๆ

บางทีพระเณรทำไม่ดี เวลาทำงานนั้นไม่ช่วยเพื่อนทำงาน หลวงพ่อนึกในใจว่า เอ๊ะ คุณนี้ทำไมไม่ช่วยเพื่อน เพื่อนเขาลำบากลำบน ทำไมมานอนอยู่เฉยๆ เทวดาอารักษ์ไม่ดุเขาหรือ ทำไมไม่ดุเขาไม่บอกเขาบ้าง

เพียงเราคิดเท่านั้นแหละ เพียงเราคิดเท่านั้น อ้าว มันเอาแล้ว จัดการแล้ว ร้องเป็นเสียงผี พระเณรทั้งหมด รวมทั้งญาติโยมที่มาร่วมทำการทำงาน อาจารย์ๆ คุณบันตายแล้วๆ เอาน้ำมารดกันเป็น ๑๐ คุ หลวงพ่อก็ไม่ได้ไปดูนะ นึกแต่ในใจ (ห้าม) อย่าให้เขาตายนา แล้วมันก็หายไป

สรุปแล้วว่า ในสมัยนี้ สมัยที่อยู่นี่ มีอะไรที่ภายในบ้านก็ดี ภายในวัดก็ดี มีเรื่องอะไรๆ (เทพนั้นก็) มารายงานหมด มารายงานวิธีไหนหลวงพ่อ เราอยู่ในสถานที่ใดก็รายงานได้ทั้งหมด บอกได้ทั้งหมด คือจะมีเสียงมากระซิบที่หู บอกเลย มากระซิบที่หูว่าคนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ โยมโน้นไปทำอย่างนั้น พระนี้ไปทำอย่างนี้ จัดการบอก เขารายงานเลย สมัยนั้นเขาว่าหลวงพ่อมีตาทิพย์ ใครจะไปทำอะไรๆ ที่ไหน ก็รู้ทั้งหมด เขาว่า หลวงพ่อก็เฉยๆ ก็ว่ามี สังฆการีเป็นผู้ทำงานให้ ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นผู้วิเศษขึ้นมาในตัว

นี้เรื่องอย่างนี้ละท่านทั้งหลาย เมื่อนำเอา พุทธาวุธมาสวดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ราบรื่น การวัดการวา การบ้าน ก็สบายๆ การปกครองทุกสิ่งทุกอย่างก็สบาย หลวงพ่อจึงได้น้อมมาใช้ทุกวันนี้ ไปอยู่ที่ไหนๆ ก็ตาม เพราะเวลาสวดมนต์ของเรามีน้อย ต้องการสมาธิมาก เพราะฉะนั้น ต้องสวดกรณียเมตตสูตร ถ้าสวดกรณียเมตตสูตรแล้ว เราปฏิบัติอยู่ที่ไหนๆ แล้ว ก็ไม่มีภัยอันตราย อยู่ที่ไหนก็สบาย นี้พูดกันโดยย่อๆ นะ ถ้าต้องการความพิสดาร มีโอกาสมีเวลาค่อยมาคุยกับหลวงพ่อใหม่

ทีนี้ สำหรับ วิรูปักเข (ขันธปริตร) ก็ต้องสวด เมื่อสวดกรณียเมตตสูตรแล้วก็ต้องสวด วิรูปักเข เพราะเหตุไร จึงต้องสวดวิรูปักเข เพราะว่าป้องกันภัย แผ่เมตตาให้เป็นมิตรสหาย เพราะในวิรูปักเข มีอยู่ว่า วิรูปักเขหิ เม เมตตัง เมตตัง เอราปะเถหิ เม เป็นต้น

ความว่า สัตว์ ๒ เท้าจงเป็นมิตรกัน สัตว์ ๔ เท้าจงเป็นมิตรกัน สัตว์มากเท้าจงเป็นมิตรกัน สัตว์หาเท้ามิได้จงเป็นมิตรกัน สัตว์ ๒ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์ ๔ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์มากเท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์หาเท้ามิได้อย่าเบียดเบียนเรา นี้เป็นเนื้อหาย่อๆ ในวิรูปักเข

ถ้าเราสวดบทนี้ อยู่ที่ไหนๆ ก็ไม่มีอันตราย พวกสัตว์ประเภทต่างๆ สองเท้า สี่เท้า มากเท้า หาเท้ามิได้ จะไม่เบียดเบียนเราเลย มีแต่เป็นมิตรเป็นสหาย อยู่ที่ไหนๆ ก็สบาย บางทีหลวงพ่อไปทำกัมมัฏฐานอยู่ที่โน่นทำกัมมัฏฐานอยู่ที่นี่ พอดีไปถึงแค่นั้นแหละ ไปถึงที่จะทำงาน ถึงที่พักเท่านั้นแหละ พวกสัตว์มันมาต้อนรับอยู่ก่อนแล้ว บางทีมาถึงแล้วก็มาต้อนรับ พวกที่มาต้อนรับเป็นพิเศษๆ คือพวกผึ้ง

พวกผึ้งพวกต่อนี้ เวลาไปถึงแล้ว พวกมันจะมาจับอยู่ที่ข้างๆ ที่พักนั่นแหละ บางทีก็มาจับที่พุ่มไม้ บางทีก็มาจับข้างๆ ที่จุดใดจุดหนึ่ง ห่างจากเราไปไม่ถึง ๒๐ เมตร ส่วนมากก็เป็น ๕ เมตร ๑๐ เมตร มันอยู่แถวนั้นแถวนี้ ไปอยู่ที่ไหนพวกมันก็มาต้อนรับ คล้ายๆ กับรู้ภาษากัน เวลาเราไปถึงก็ต้อนรับ เวลาที่จะจากไป มันก็ไปด้วยกัน บอกลา มันก็ไป เออ จะได้ลาแล้วเด้อ ขออนุโมทนาเด้อ ที่มาต้อนรับปราศรัย ในขณะที่ได้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ในสถานที่แห่งนี้

เราแผ่เมตตาให้เขาเสร็จแล้ว ในขณะที่ได้สั่งเสร็จแล้ว มันก็ออกบินเลย บางทีก็ตามไปส่งถึงรถ เราไปนั่งอยู่ในรถมันก็ไปล้อมเต็มเลย พวกแมลงผึ้งล้อมเต็ม มันก็บินตามๆ เห็นพอสมควรแล้ว เออ ขออนุโมทนาเด้อ ขอบใจเด้อ ที่ตามมาส่ง มันก็บินขึ้น ต่างคนต่างไป อย่างนี้คืออานิสงส์ของ วิรูปักเข

บางที ในสถานที่มันแข็ง อย่างดอนเจ้าปู่ บ้านพนา (ปัจจุบันคือ อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ) อย่างนี้ หลวงพ่อไปอยู่ตอนนั้น พอดีไปถึง ผึ้งมันอยู่ข้างๆ แคร่ที่พักอยู่นั้น ก็รู้ว่า เออ เจ้าปู่มาต้อนรับ ก็ขอขอบใจ อนุโมทนา ในวันนั้นพอดีกลางวันที่หลวงพ่อไปปฏิบัติ สามเณรก็หยุดพัก สามเณรนั้นไปเบียดเบียนพวกลิง เอากล้วยให้กินแล้วตี

พอดีหลวงพ่อก็กลับมาถึงที่พัก พวกผึ้งก็หนีไปแล้ว เณรมาบอกว่า หลวงพ่อๆ ดูซินั่น อะไร ผึ้งหายแล้วๆ เณรว่า เวลาตอนนั้นก็เฉยๆ พอดีถึงเวลาค่ำแล้ว อ้าว เจ้าปู่ก็เอาเลยทีนี้ ดุอย่างใหญ่ มาขอเณร ๒ รูปนั้น ขอเลย บ้านเราถ้าว่าขอไปแล้วก็ตาย

ขอ ๆ อยู่ หลวงพ่อก็หาวิธี หลายสิ่งหลายประการว่า อย่าทำเลย ถ้าเราไปฆ่าเณร ทำลายเณร แทนที่เราจะไปเกิดในภพที่ดีกว่านี้ ก็อาจจะไปตกนรกอีกก็ได้ ก็ไม่ฟัง มีแต่จะฆ่า จะฆ่า จะฆ่า อย่างเดียว ว่าอย่างไรก็ไม่ฟัง โอ้ มันคงจนด้วยเกล้าบ่ มันไม่ยอม ไม่ยอมเลย

(คุยกัน) รู้ได้ด้วยวิธีอย่างไรหลวงพ่อ? อย่างนี้คือ ในขณะที่เราอยู่อย่างนี้ เขานึกอย่างไร เราก็รู้ รู้ได้ทางใจ เรานึกอย่างไร เขาก็รู้ คือมันพูดกันทางใจ เรารู้กัน เพียงแต่เรานึกในใจ พูดกันทางจิตใจ เราพูดเขาก็รู้ เขาพูดเราก็รู้ เขานึกอย่างไรเราก็รู้ มันรู้กันตอนนั้น

ผลสุดท้ายก็บอกว่า เอาอย่างนี้ซะท่านปู่ ถือว่ายกโทษให้เขาเถอะ ถ้ามันผิดครั้งต่อไป ไม่ต้องมาขออาตมาเลย ไม่ต้องมาบอกอาตมา เอาเลย ถ้ามันบอกไม่ฟัง พูดไม่ฟัง อย่างไรคราวนี้ก็ขอชีวิตเขาไว้เถอะ ภาคทัณฑ์เขาสักครั้งหนึ่ง จึงยอมนะ สุดท้ายก็หาวิธีส่งเณรกลับ เดี๋ยวจะเกิดอันตราย นี่มันเป็นอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย

ส่วนในวันออกอัพภานกรรม หลวงพ่อก็ว่า โอ้ เจ้าปู่ วันนี้จะออกอัพภานแล้วนะ จะจากกันแล้วนะ จะได้ลากันแล้ว ถ้าว่าท่านปู่มีความเคารพกันจริงๆ นับถือกันจริงๆ รักกันจริงๆ ละก็ ขอจงแสดงอภินิหารให้ดู ให้รู้ว่ามีความเคารพเลื่อมใสกันจริงๆ อย่างไรก็ขอดูด้วย ขอทราบด้วย

วันนั้น ก็พอดีไปขึ้นอัพภาน หลวงพ่ออัพภานทีหลัง ให้พวกครูบาอาจารย์รูปอื่นๆ อัพภานก่อน พอดีไปนั่งรออัพภาน พวกลิงมันมีเป็น ๓ พวก ลงมาแล้ว มันมาส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวๆ มารวมกัน และลงมาบนพื้น ก็นึก เอ้อ ท่านปู่มาต้อนรับ มาแสดงความเคารพ ความเลื่อมใส ก็นึกอนุโมทนาในจิตในใจ พวกลิงทั้งหมดในดอนลิงมันลงมารวมกันทั้งหมด พอดีหลวงพ่อจะเข้าขออัพภานกรรมเป็นรูปสุดท้าย

แต่ว่าพอหลวงพ่อไปนั่งในท่ามกลางสงฆ์นั่นล่ะ ลิงทั้งหมดน่ะ ล้อมเลย ล้อมโบสถ์เลย ล้อมรอบเลย พวกลิงเป็นร้อยเป็นพัน มันมานั่งล้อมหมด หลวงพ่อก็นั่งหลับตา ฟังไป ก็นึกอนุโมทนาในใจ นึกขอบใจในใจนั้น

พอดีพระสวดไปถึงว่า โส ภาเสยฺย, ตสฺมา ตุณฺหี เอวเมตํ ธารยามิ พอดีจบ โส ภาเสยฺย เท่านั้น ลิงทั้งหมดก็ลุกพรึบทั้งหมด พร้อมกัน ตึงตังๆๆ เจี๊ยวจ๊าวๆๆ กลับไป ทั้งหมด หลวงพ่อก็นึกอนุโมทนาในใจ และก็ขอแสดงความขอบใจ อุทิศแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้ นี่มันเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย จึงได้ให้สวดวิรูปักเข

วันหนึ่ง เราผ่านไปทางอำเภอพนา วันนั้น ในช่วงอย่างนี้แหละ ไม่มีปัจจัยค่าภัตตาหารจะเลี้ยงลูกศิษย์ลูกหาที่มาปฏิบัติ ไม่มี มันหมดแล้ว มันหมดบาทสุดท้ายแล้ว ก็เข้าไปงานแล้วแวะมา ถือกล้วยขึ้นไปหวีหนึ่ง ท่านปู่ วันนี้ มาวัดลำดวน มาในงานสังฆทาน จะกลับไปนี้ จึงแวะมาเยี่ยม แค่นึกในใจนะ(ว่า) ตอนนี้ทางวัดน่ะลำบากลำบน ภัตตาหารไม่พอ ขอเจ้าปู่ได้ช่วยเหลือด้วยเด้อ แล้วก็กลับ

พอไปถึงอำเภอตระการฯ เห็นโยมโบกมือขึ้นมา หยุดก่อนๆ ก็เลยลงไปนั่งอยู่ที่เก้าอี้ (เขา) ว่า หยุดดื่มน้ำเสียก่อน อยู่ที่นี้สักพัก จะหาของมาถวายให้ หายตัวไปแพล็บหนึ่ง เขากลับมาแล้วก็บอกว่า ไม่มีอะไรจะถวายให้ มีเงินอยู่นี้ ๘,๐๐๐ บาท นิมนต์เอาไปใช้ให้หน่อย เจ้าปู่นี้ช่วยให้ผลทันตาเลยตั๊ว

นี่ละท่านทั้งหลาย เรื่องเป็นมาอย่างนี้ จึงได้นำมาสวดจนทุกวันนี้ และถ้าว่าเราสวดมนต์บทนี้ มันพิเศษ มันดีสำหรับพวกเรา เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่มีอันตราย ญาติโยมก็จะได้เกิดปสาทะศรัทธา ที่โน้นก็มาทำบุญ ที่นี้ก็มาทำบุญ

สรุปแล้วว่า ญาติโยมทั้งหลายที่มาทำบุญนั้น นอกจากด้วยบารมีของท่านทั้งหลายแล้ว ก็เป็นอานิสงส์ของการสวดกรณียเมตตสูตรและวิรูปักเข จึงได้มาเกิดปสาทะศรัทธา ได้มาช่วยเกื้อหนุนกัน นอกจากนี้ มันเป็นเรื่องยาว ถ้าจะเล่าไปมันยาว

สำหรับกุฏิของหลวงพ่อนั้น เมื่อก่อนโน้นไม่ได้เป็นอย่างนี้ เพราะว่าเราไม่ได้ปูกระเบื้อง มันเข้าได้ออกได้ บางทีพวกคางคกนี้ เป็นร้อยๆ มาอยู่ในกุฏินี่ บางทีก็มาขันบูชาในห้องพระ ข้างนอกข้างในมันเต็มไปหมด และก็มาทำงานให้ เวลาจะมีเรื่องมีราวอะไรมันก็ขัน มันขัน และก็รู้ว่ามันรู้กันทางใจ มันขัน โอ้ โยมคนนั้นจะทำบุญ เออ โยมคนนั้นตายแล้ว นี่มันรู้กัน รู้จักกัน

บางทีมันมีอยู่สองตัว ตัวหนึ่งข้างนอก ตัวหนึ่งข้างใน ตัวอยู่ข้างในมันก็คอยปลุก ตีสี่ปกติจะลุกแล้ว วันหนึ่งหลวงพ่อทำเป็นเฉยไม่ลุก มันปลุกเลย ต็อกๆ เราก็เฉย นาฬิกาก็ปิดไว้ เราภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอๆ ไปเรื่อยๆ มันก็ร้องอีก เราไม่ลุก มันก็ร้องอีกๆ เราก็เลยยอมแพ้ ยอมแพ้แล้ว ลุกก็ลุก พวกสัตว์นี้ เรามีงานอะไรก็รู้จักกันเลย นี่มันมาทำงานให้ นี่พวกสัตว์มันเป็นมิตรกัน

บางทีจะไปโน้นไปนี้ เมื่อก่อนถือย่ามนะ หลวงพ่อจึงไม่ถือย่ามมาแต่วันนั้น จะไปธุระที่โน้นที่นี้ ต้องสะพายเอา สะพายไปหน่อย (ก็มีเสียง)กุรุๆ เอ้า อะไรเกิดขึ้น นึกว่าเป็นงู บางทีก็เป็นงูนะ เปิดย่ามดู เอ้า มานอนอยู่ได้อย่างไรนะ เออ นอนก็นอนไป มาถึงบ้านแล้วก็เออ อยากออกก็ออก อยากไปก็ไป

บางทีจิ้งเหลนนี่ บ้านเฮาเอิ้นว่าขี้โก๋ จิ้งเหลนนี่ บางทีก็เข้าไปในย่ามเลย จะนอนละก็ ต้องคอยลูบดูๆ ใครมานอนอยู่บ้าง มีเด็กน้อยมานอนมั้ย ลูบดูๆ ก็เห็น โอ้ ไม่นอน เอ้านอนซะ เราจะนอนที่นี้

สรุปแล้วว่า มนต์ที่พากันสวดนี้ ไม่ใช่มนต์ปรัมปรา มีบุญมีอานิสงส์จริง ทำให้การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราสบายและก้าวหน้า เรื่องอื่นๆ นอกจากนี้ มันมีอีกมาก มันเป็นเกร็ดความรู้ และก็ไขความข้องใจของการสวดมนต์ ขอชี้แนะท่าน เมื่อออกจากห้องกัมมัฏฐานแล้ว ถ้าจะไปสอนกัมมัฏฐานที่โน้น จะไปสอนกัมมัฏฐานที่นี้ อย่าลืมกรณียเมตตสูตรกับวิรูปักเข ยักษ์ก็แพ้ มารก็แพ้ แพ้เรา ไม่เหมือนกันกับคาถาอย่างอื่น

หลวงพ่ออยากขอเสนอแนะแก่ท่านทั้งหลายได้ใช้วิธีกรรมบางสิ่งบางอย่าง เพื่อประกอบการสอนธรรมะ ซึ่งหลวงพ่อทำสำเร็จมาแล้ว คือการสอนพระกัมมัฏฐานนี้ ถ้าใช้เฉพาะวิปัสสนา ไม่มีใครรู้จัก แม้เราจะได้มรรคได้ผล ได้บรรลุโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มีใครรู้จักเรา เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่รู้เฉพาะตัว

สมัยหนึ่งหลวงพ่อเคยคิดไปว่า เอ เราสอนพระกัมมัฏฐานมา ครูบาอาจารย์ผู้มาปฏิบัติได้มรรคได้ผล มีจำนวนมากมายก่ายกอง แต่ก็ไม่มีใครรู้จัก เราจะหาวิธีไหนหนอ เพื่อปลูกศรัทธาของสาธุชนทั้งหลาย ให้พวกเขาได้เกิดปสาทะศรัทธาเลื่อมใสในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ก็คิดไปคิดมา เอ้อ เราจะฝึกสมาธิ เอาสมาธิง่ายๆ ฝึกให้เขาอ่านหนังสือ ฝึกให้หลับตาอ่านหนังสือ ถ้าเราฝึกได้ เอาความรู้นี้ไปเผยแผ่ เพื่อปลูกปสาทะศรัทธาคนที่มาวัดวาอาราม หลวงพ่อก็ตั้งใจฝึก แต่ก่อนที่จะฝึกก็พิจารณาว่า เอ ใครหนอ เคยสร้างบารมีเรื่องนี้มา ใครหนอ ภพก่อนชาติก่อนเคยสร้างบารมีร่วมกันมา เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็นึกไปๆ ก็โอ้ โยมลอง เขามีบุญทางนี้

เพราะเหตุไรจึงรู้อย่างนี้ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏเป็นแผนที่แนวทางของการปฏิบัติ หรือว่าเป็นแผนที่ของบุญกุศลที่เคยสร้างสมอบรมไว้ เป็นแผนที่เป็นแผนผังที่ในภพก่อนชาติก่อน เราเคยทำบุญมาอย่างไร สร้างบารมีมาอย่างไร ใครที่เคยสร้างบารมีร่วมกัน มันปรากฏเลย มันปรากฏเป็นแผนที่เลย คือคนที่เคยสร้างบารมีร่วมกันมา มันจะปรากฏเลยว่า คนโน้นๆๆ มันเห็นเลย

สมัยนั้นก็เห็นโยมลองนี้ล่ะปรากฏ ก็คิดว่า เอ้อ โยมลองนี้มีบุญมีวาสนา เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็ขอร้องโยมลองนั้นให้มาปฏิบัติ สมัยนั้นเขาฝึกสมาธิได้ ๒๔ ชั่วโมง มาหัดอ่านหนังสือ ที่พูดนี้เพื่อให้ท่านทั้งหลายจำไว้นะ จำไปใช้เป็นแนวทางของการปฏิบัติ

วิธีที่ใช้นั้น ใช้วิธีละเอียด คือเอากระดาษสีน่ะ อย่างน้อย ๗ สี เขาจะรู้ว่า สีอะไรๆ รู้หมด สีนี้ๆ บอกเขาให้รู้เสียก่อน เสร็จแล้วก็ให้หลับตา ให้ตั้งสมาธิแล้วอ่าน(บอก)ว่า สีอะไร สีแดง ถ้าเขาทายถูก เราก็จับเอา สีน้ำเงิน ทายถูกก็จับเอา ถ้าทายไม่ถูก เราก็ไม่ว่ากระไร เอ้า ทายใหม่ เพ่งอีกๆ เขาอ่านถูกทุกสี กลับไปกลับมา ไม่ใช่แพล็บเดียวเอาเลยนะ ต้องฝึกให้ชำนิชำนาญก่อน เป็นหลายชั่วโมงๆ เสร็จแล้ว อ่านสีเสร็จแล้ว ไม่พลาดแล้ว อ่านได้ทุกครั้งๆ ไม่พลาดแล้ว

ทีนี้ก็เอาตัวอักษรมาให้อ่าน คือเราเขียนตัวอักษรตัวโตๆ เช่น ตัว ก พยัญชนะมี ๔๔ ตัวใช่ไหม อาจารย์มหาโอวาท ๔๔ ตัวน่ะเอามา ให้เขาหลับตาอ่าน เขาอ่านถูกหมดทุกตัวแล้วก็วางลงเก็บไว้ แล้วก็เอาสระ สระ-อะ สระ-อา สระ-อิ สระ-อี สระ-อุ สระ-อู เอาสระแต่ละตัวๆ มาตั้งให้หลับตาอ่าน พออ่านได้ถูกหมดทุกตัวแล้วก็เก็บไว้ทีนี้ก็ผสมกันให้อ่าน จะให้อ่านเรื่องอะไรก็ตาม เราเขียนมา เขียนเป็นตัวหนังสือ เขียนตัวอะไรก็แล้วแต่ความถนัด นี่มันเป็นการเกื้อกูลแก่การประพฤติปฏิบัติ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

เราตั้งให้เขา(หลับตา)อ่าน เขาอ่านได้หมด ให้อะไรๆ มาก็อ่านหมด อ่านหมด ก็ถือว่าเราสำเร็จในหลักการฝึกอ่านหนังสือ ทีนี้ถึงคราวเราจะสาธิตก็สาธิตได้ หลวงพ่อใช้ผ่านมาแล้ว ท่านทั้งหลายที่เคยมาปฏิบัติธรรมร่วมกันก็จะรู้ และในขณะนั้นก็รู้ได้เลยนะ

ถ้าเอาอะไรวางผ่านหน้านี่ รู้ได้หมด เอาเณรน้อยมานั่งให้ดู ก็เห็นหมด เอาพระพุทธรูป เอาแจกัน เอาใครอะไรก็ตามมาวาง มันรู้หมด หลวงพ่อ เลข(หวย)มันจะออกงวดนี้ ฮู้อยู่บ่ บ่แม่นโลด บ่ได้เอาถึงมวลนั้น (ไม่เอาถึงพวกนั้น) ห้ามเลย ถ้าเอาถึงขนาดนั้น เขาบอกว่า หลวงพ่อ มันทุกข์หลาย เพ่งให้หน่อยน่า หยุด เราสอนธรรม จะทำอย่างนี้ไม่ได้ แม้ว่าเราลำบากทุกข์ยากข้นแค้นอนาถาในการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็ตาม เรายอมตาย แต่ว่าเราไม่ยอมทำลายธรรมะเป็นเด็ดขาด เพราะฉะนั้น โยมที่ฝึกจึงไม่มีใครกล้าทำ

นี่แหละท่านทั้งหลาย เมื่อทำได้อย่างนี้แล้ว เมื่อก่อน ฝึกใหม่ๆ นะ หลวงพ่อให้หลับตาธรรมดา หลับตา แต่เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดของผู้ชม หลวงพ่อจึงเอาผ้าขาว ๖ ชั้นมัด(ปิด)ตาไว้เลย แล้วให้อ่าน

สำหรับการอ่านหนังสือนั้น ไม่ใช่ว่าปุ๊บปั๊บจะอ่านได้ทันทีเลยนะ ต้องฝึกเสียก่อน ฝึกให้ชำนาญ ให้เข้าได้เร็ว คือก่อนจะสาธิตนี่ เราต้องฝึกเสียก่อนสัก ๑ ชั่วโมง หรือว่า ๒ ชั่วโมง วันละ ๑ ชั่วโมง หรือว่า ๒ ชั่วโมง ให้ฝึกเสียก่อน ที่ฝึกนี้เพื่อต้องการให้ทำสมาธิ คือในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานแล้วใช้บท อะระหัง ให้ภาวนา อะระหังๆ ไปเรื่อย อะระหัง แปลว่า ผู้ไกลกิเลส

ถ้าว่า ขณะที่สมาธิยังไม่ดี สมาธิมันยังกระจายอยู่ ตัวหนังสือที่ผ่าน(หน้า)น่ะ มันก็ไหลๆ เหมือนกับเราฉายภาพยนตร์ มันก็ไหลผ่านไปผ่านมาๆ มันก็รวมเข้า มันรวมแสงเข้าไป รวมเข้าๆ รวมจิตรวมใจ รวมเข้าไปๆ เมื่อสมาธิได้ที่แล้ว มันหยุดแล้ว พอหยุดตัวหนังสือ มันก็มองเห็นเลย หลับตานี้ก็มองเห็นตัวหนังสือเลย เอาหนังสือมาวางแล้วก็อ่านเอาๆ แต่ถ้าสมาธิของเราไม่ดี มันก็มองไม่เห็นนะ เลือนเสียก่อนๆ เพราะฉะนั้น เราต้องฝึกให้ชำนาญ

สมาธิขั้นนี้ ท่านทั้งหลาย มันใช้ประโยชน์ได้เหลือที่จะนับพรรณนาได้ ถ้าเราจะใช้อย่างใดก็สามารถจะใช้ได้ แต่หลวงพ่อขอร้องว่า อย่าใช้ในทางที่ผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมายของบ้านเมือง สมัยก่อนนั้น บางทีก็มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายเขามาขอหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ชี้แนะแนวทางให้ มีพระลูกศิษย์อยู่แถวนี้ แถว (อำเภอ) โพธิ์ไทรนี่ เขาไปเห็นทอง แต่เป็นทองนาก สูงเกือบครึ่งศอก แต่ความกว้างก็เหมือนกับพาข้าว (ถาดอาหาร) ของเรานี่ล่ะ

ก็มาขอหลวงพ่อให้พาไปเอาทอง ที่โน้นบ้าง ที่นี้บ้าง หลวงพ่อบอกแล้วว่า ทรัพย์ในดินสินในน้ำนี่ หลวงพ่อเลิกแล้วๆ ตั้งแต่บัดโน้นมาจนบัดนี้หลวงพ่อไม่เอา ถึงจะเห็นก็ไม่เอา จะเห็นเป็นแท่งๆ ก็ไม่เอา เห็นวัตถุโบราณที่โน้นที่นี้ เห็นเต็มตา หลวงพ่อก็ไม่เอา เพราะหลวงพ่อได้ให้คำปฏิญญากับเจ้าของทรัพย์ไว้แล้ว ที่โน้นบ้างที่นี้บ้าง ที่หลวงพ่อ(เคย)ผ่านไป

เมื่อก่อนโน้น หลวงพ่อหาทรัพย์ในดินสินในน้ำ ไม่ใช่ไม่หา มันมีของที่ไหนๆ ล่ะก็ไปแล้ว สมัยนั้น คล้ายๆกับว่าเป็นเจ้าวิชา (ร้อนวิชา) สมัยนั้น เดินธุดงค์สมัยนั้นถ้ารู้ว่า ที่นี้มีเงิน ที่นั้นมีทอง ก็จัดการไปเลย

สำหรับวิธีนั้น พอรู้แล้วว่ามีของ บางทีมันไม่เห็น เราก็เสี่ยงเอาด้วยการเสกมะนาว เป่าฟู๊ดดด... แล้ววางลง ลูกมะนาวก็กลิ้งตั้นๆ(ขลุกๆ) หมุนไปเลย ไปถึงที่แล้วมันก็หยุด หยุดแล้วก็ขอเอา บอกเขา ขอเอา ถ้าเขาไม่ให้ ก็จัดการเลย บอกขอเอา สมัยนั้นไม่มีเทศน์ให้ฟัง มีแต่ขอๆ เอา ถ้าไม่ให้ก็เอาเลย

ถ้ามันแข็งหรือแข็งขืนแล้ว ก็เจริญพระคาถา เจริญๆ ไป เกิดฟ้าผ่าเปรี้ยงขึ้นมาเลย เกิดฟ้าผ่า เปรี้ยง หินมันก็แตกกระจาย ก็เหลือแต่ก้อนเงินก้อนทอง แล้วก็เอามา ครั้นเอามาแล้วก็ไม่ให้ถึงบ้านนะ พอถึงกลางทาง เราสวดทำน้ำมนต์ แล้วก็เอาน้ำมนต์มาต้ม แล้วก็เอาพวกทองพวกเงินไปต้มให้มันจืด เราก็เอามาใช้ได้

การที่เราเอาเงินเอาทองนี้ ไม่ต้องกลัวว่าคนโน้นจะมาขโมย คนนั้นจะขโมย เอาไปเลย ถ้าเงินหรือทองยังไม่ต้มนี่ เอาไปใช้ เจ้าของมันจะหักคอเลย ของพวกนี้ เจ้าของเขามาตามเอาคืน

ตั้งแต่นั้นมาจนมาอยู่ที่นี้ หลวงพ่อไม่เอา บอกแต่วิธีเท่านั้น ถ้าต้องการจริงๆ หลวงพ่อก็ชี้แนะได้อยู่ แต่ใช้วิธีทางพระพุทธศาสนา ไม่ใช้พวกวิธีพวกเวทมนตร์กลคาถา ถ้าท่านอยากได้จริงๆ ท่านก็ไป เมื่อไปถึงที่แล้วก็บอกเจ้าที่เจ้าทางแล้ว นั่งสมาธิ

ถ้าเรามีสมาธิ สมาธิของเราสูง ได้ถึงขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เข้าฌานไปเสียก่อน ออกจากฌานมาแล้วก็ให้นึกถึงเจ้าของทรัพย์ พอดีนึกถึงเจ้าของทรัพย์ เจ้าของทรัพย์เขาก็จะมาปรากฏทันที เราก็ขอเขา ภาษาอีสานว่า แผ่เขา ขอเขา ถ้าเขาไม่ให้ เราก็เทศน์ให้ฟัง เทศน์ก็ขอนั่นแหละ เหมือนกับเราไปขอนั้นขอนี้ล่ะว่า บัดนี้... เวลาไปแผ่เขา ก็เทศน์ให้เลย เรื่องที่จะเทศน์นั้นก็เรื่อง อุปาทาน คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น เทศน์ให้เขาฟัง

ถ้ายังไม่ฟัง (ไม่ยอมให้) ก็เทศน์ไปเรื่อยๆๆๆ ว่า อีหล่าซ่างขอ ตัวงอขี้ถี่ ต้องขอนานๆ ขอจนเขาให้ เวลาเขาให้ เขาก็จะมีข้อแม้ว่า ต้องทำบุญอย่างนั้นทำบุญอย่างนี้ให้เขา เราได้มาแล้วก็เอาไปทำบุญทำทานให้เขา ช่วงนั้น เขาไปเอามา เอามาให้หลายนะ เขาตัดมาให้เป็นแท่งๆ ขนาดนี้แหละ (ยกฝ่ามือให้ดู) ขนาดฝ่ามือ เป็นแท่งๆ หลวงพ่อบอกว่า หลวงพ่อเลิกแล้ว ไม่เอาแล้ว

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านเอาไปใช้ซะ แต่อย่าลืมนะ อย่าลืมคำปฏิญญาที่ให้เขาไว้นะ ให้ปฏิญญาเขาไว้อย่างใด ก็ทำได้อย่างนั้น ผลสุดท้าย เขาก็นำไปขายที่อุบลฯบ้าง ที่กรุงเทพฯบ้าง ก็เลยได้เงินมาสร้างวัด แกก็สร้างเลย สร้างเสร็จแล้ว

นี่แหละท่านทั้งหลาย ธรรมะของเรานี้ ถ้าใช้ให้เป็นก็ได้ประโยชน์ อย่าข่มเหงเต็งหนีบเขา ไม่ต้องผิดศีลผิดธรรม เราฉลาดเราก็สามารถทำได้ วิธีการขอนี้ เราไม่จำเป็นต้องสมาธิถึงขั้นจตุตถฌานก็ได้ เราเพียงใช้สมาธิขั้นปฐมฌานเท่านั้นแหละ เพราะสมาธิขั้นปฐมฌานนี้ก็สามารถพูดกันได้ เข้าใจกันได้ ติดต่อกับโลกภายนอกได้

สมาธิขั้นปฐมฌานนี้ ติดต่อกับพวกมนุษย์ได้ ติดต่อกับอมนุษย์ได้ ติดต่อกับภูตผีปีศาจได้ ติดต่อกับพวกเทวดา มาร พรหม มันติดต่อกันได้ เราใช้สมาธิขั้นนี้ สมาธิขั้นนี้แหละที่หลวงพ่อนำมาใช้อ่านหนังสือ ขั้นนี้มันยังมีการบริกรรมอยู่ พองหนอ ยุบหนอ หรือ อะระหังๆ เรานึกได้อยู่ ไม่เหมือนสมาธิขั้นที่สอง สมาธิขั้นที่ ๒ ไม่มีการบริกรรม มันสงบแล้ว สงบละเอียดไปแล้ว อันนี้ก็ขอพูดคร่าวๆ เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ที่ท่านทั้งหลายต้องการจะรู้

แต่สมาธิทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว หรือฌานทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว ท่านอย่าเอาไปใช้ในทางผิดศีล ในทางผิดพระวินัย อย่าเอาไปใช้ในทางผิดกฎหมายบ้านเมือง ของทุกอย่างมันมีทั้งคุณทั้งโทษ เพราะฉะนั้น ให้ใช้ให้เป็น

Maintenence:

ธรรมะเบาสมอง (ต่อ)

อีกอย่างหนึ่ง เรื่อง ฌาน จะกล่าวพอสังเขปพอเป็นแนวทางปฏิบัติ คือการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ มันได้ทั้ง ๒ อย่าง แล้วแต่บุญวาสนาบารมี ถ้าผู้ใดมีอุปนิสัยทางวิปัสสนา ก็จะเข้าวิปัสสนาไปก่อน เข้าสู่วิปัสสนาไปเรื่อย สู่สภาวะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ไปจนถึงอริยมรรค อริยผลเลย นี่ในทางสายวิปัสสนา

ถ้าเคยสร้างบารมีมาทางสายสมถะ คือเคยเจริญฌานมามาก เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน บริกรรมบทเดียวกันว่า พองหนอ ยุบหนอ นี้แหละ ถ้าสร้างบารมีทางวิปัสสนามามาก มันก็ไปสายตรงเลย เข้าสู่วิปัสสนาญาณ เข้าถึงมรรคถึงผล

แต่ถ้าว่าเราเคยสร้างบารมีมาทางด้านสมถะ สมถะก็จะเกิดทันที นั่งไปไม่นานก็เกิดแล้ว เริ่มแต่ชั่วโมงแรกก็เกิดแล้ว พอดีผ่านไปๆๆ มันก็เป็นสภาวะของสมาธิเกิดขึ้นมา ขั้นแรกเกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา มันจะเกิดขึ้นทันที เกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อองค์ฌานทั้ง ๕ ประการนี้เกิดขึ้นมาปั๊บ ปฐมฌานก็เกิดทันที หลวงพ่อขอพูดย่อๆ นะ

ปฐมฌานเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าฌานเกิดแล้ว เราจะรู้ได้อย่างนี้ท่านทั้งหลาย คือในขณะที่เรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน จิตใจของเรามันแน่วแน่อยู่กับบทพระกัมมัฏฐาน เช่น เรากำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ มันก็อยู่ที่พองที่ยุบ ไม่ไปทางอื่น ไม่คิดเรื่องข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวา ข้างบนข้างล่าง มันอยู่กับอารมณ์พระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อย่างนี้

ขณะนั้น จิตใจของเราไม่วอกแวกหวั่นไหวไปตามอารมณ์ใดๆ เสียงที่มากระทบก็เฉยๆ หากว่าเขาจะมายิงปืนจุดประทัดในที่ใกล้ๆ เรา เปรี้ยงๆๆ ขึ้นมา ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ภาษาอีสานว่า บ่ตื่น แม้ว่ามะม่วงมะพร้าวมันจะหล่นลง เปรี้ยง ขึ้นมา ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ก็นั่งเฉยอยู่กับอารมณ์พระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ

ในขณะนั้น ความรู้สึกของเราก็ละเอียดเข้าไปๆ ความรู้สึกของเรามันจะเหลือประมาณสัก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ละเอียดเข้าไปนะ ความรู้สึกของเรามันไม่เหมือนเมื่อก่อน ละเอียดเข้าไปๆ มันหายไปแล้ว ความรู้สึกเหลือประมาณสัก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ท่านทั้งหลาย แสดงว่าเราได้ขั้น ปฐมฌาน แล้ว และก็ทำไปๆ พองหนอ ยุบหนอๆ อารมณ์พระกัมมัฏฐานก็จะละเอียดเข้าไปๆ

(ทุติยฌาน)เมื่อมันละเอียดเข้าไปอีก มันก็จะทิ้งวิตก วิจาร ทีนี้ เมื่อทิ้งวิตกวิจารแล้ว ก็ไม่ได้ (มีคำ) ภาวนา ทีนี้ พองหนอ ยุบหนอ ไม่ได้ว่าแล้ว พองหนอ ยุบหนอ ไม่ได้ว่าเลย นั่งเฉยอยู่ แต่ว่าใจก็ยังรู้ หูก็ยังได้ยินอยู่ แต่ว่าเสียงก็ดี ความรู้ก็ดี ยังเหลืออยู่ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เสียงที่ได้ยินก็ประมาณสัก ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ความรู้ก็มีประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ สังเกตเอาง่าย ๆ เมื่อถึงฌานนี้แล้ว จะไม่มีการบริกรรม เมื่อเราทำได้อย่างนี้ ก็ถือว่าได้ทุติยฌาน

(ตติยฌาน) เมื่อเราทำพระกัมมัฏฐานไปๆๆ องค์ฌานก็ละเอียดเข้าไปๆๆ ทิ้งวิตก วิจาร เกิดปีติขึ้นมา เมื่อถึงฌานที่ ๓ แล้วท่านทั้งหลาย เราสังเกตง่ายๆ เมื่อถึงฌานที่ ๓ นี้ จะมีอาการเกร็งตัว แต่ไม่ใช่อาการเครียดนะ จะมีอาการเกร็งตัว คำว่า เกร็งตัว ในที่นี้ คือมีปัสสัทธิสูงนะ ถ้าปัสสัทธิสูงจะมีอาการเกร็งตัว คือมีอาการแข็ง มือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง

เราอยากก้ม(ลง)ก็ก้มไม่ได้ อยากเงยก็เงยไม่ได้ อยาก (เหลียว) มองซ้ายมองขวา ก็มองไม่ได้ เราอยากกระดิกนิ้วมือนิ้วเท้าก็กระดิกไม่ได้ เราจะยกแขนยกเท้า ก็ยกไม่ได้ เมื่อก่อนนั่งไม่ตรง มาถึงนี้จะนั่งตรงแล้ว เหมือนกับเอาเหล็กแหลมมาตอกศีรษะของเราตรึงไว้กับพื้น เหมือนกับเราปิ้งปลา ย่างปลา ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าเราถึงฌานที่ ๓ แล้วนะ

(จตุตถฌาน) เมื่อถึงฌานที่สามแล้ว เรายังไม่ลุกตอนนั้น ทำต่อไปเรื่อย กำหนดไปเรื่อย ละเอียดเข้าไปๆ ทิ้งไปเลย องค์ฌาน (คือวิตก วิจาร ปีติ สุข) นั้นทิ้งไปเลย เหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา เกิดขึ้นมา ทีนี้ เมื่อฌานที่ ๔ เกิดขึ้นมาแล้ว ลมหายใจจะหมดไป ลมหายใจเข้าลมหายใจออกจะหมดไป

มีพระบาลีกล่าวรับรองไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า ลมหายใจย่อมไม่มีในบุคคล ๔ ประเภท คือ
๑) คนตาย ก็ไม่มีลมหายใจ
๒) เด็กในครรภ์ของมารดา ก็ไม่มีลมหายใจ
๓) คนดำน้ำ ก็ไม่มีลมหายใจ
๔) บุคคลผู้เข้าถึง จตุตถฌาน ก็ไม่มีลมหายใจ

นี่ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็ถือว่าถึงฌานที่ ๔ แล้ว

อานิสงส์ของฌาน ๔ นอกจากข่มนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการได้แล้ว ก็สามารถได้วิชชา ๓ และก็อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทายังไม่ได้นะ ปฏิสัมภิทา ๔ นั้นยังไม่ได้ เพราะยังไม่ครบสมบูรณ์

(สมาบัติ ๘) ถ้าว่าเราต้องการให้เกิดปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญอรูปกัมมัฏฐานอีก อรูปกัมมัฏฐาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ให้ครบเสียก่อน เมื่อเราได้สมาธิหรือว่าได้ฌานทั้งสองประเภท คือรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ แล้ว ก็เอาอรูปฌานทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสัมภิทา ๔

เพราะฉะนั้น ให้จำหลักนี้เอาไว้ เราจะไปว่าได้เพียงรูปฌาน ๔ ก็สามารถได้ปฏิสัมภิทา ๔ อย่างนั้นไม่ถูกนะท่านทั้งหลาย เราอย่าไปว่า มันไม่ถูก ผู้ที่จะได้ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ต้องได้รูปฌานอรูปฌานทั้ง ๘ นี้เสียก่อน

สรุปว่า ฌานทั้ง ๘ นี้ ถ้าว่าเอาเป็นพื้นในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเร็วขึ้น บรรลุได้อย่างไร ที่ว่าเร็วขึ้นๆๆ น่ะคือว่า เมื่อได้ฌานเหล่านี้แล้วท่านทั้งหลาย มันง่าย เราก็ยกขึ้นสู่วิปัสสนาเลย

สมมติว่านั่งไปๆ เรายกขึ้นสู่วิปัสสนา กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน ดูรูปดูนาม พองหนอ ยุบหนอๆ ไปเรื่อย สมาธิของเรามันก็จะดิ่งเข้าไปๆๆๆ และในขณะที่มันดิ่งเข้าไปนั้น พระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดพร้อม อริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทั้ง ๔ นี้เกิดพร้อมในขณะนั้น ดิ่งเข้าไปๆ ดับพึ่บลงไป ขณะดับพึ่บลงไปนั้น เรารู้เลยทันทีว่า มันดับไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ เพียงแค่นี้แหละท่าน สำหรับวิปัสสนากัมมัฏฐาน ขึ้นสู่วิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วนะ

เพราะเหตุไรจึงจัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพราะในขณะที่จิตของเรามันดิ่งเข้าไปๆ นั้น หรือมันสงบลงไปนั้น เมื่อสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้ว มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พร้อมกันไป

เมื่อทำไปๆ อาการเกิดดับๆ ก็เกิดขึ้นมา คือขณะที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอๆ มันดิ่งเข้าไปๆ ดับพึ่บลงไป จำได้เลยว่า มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก มันรู้เลย คือในขณะนั้น รูปก็ดับ นามก็ดับ กิเลสก็ดับ จำไว้นะ

ลักษณะของการดับ รูปดับมันเป็นอย่างไร อาการลมหายใจเข้าออก พองหนอ ยุบหนอ มันดับ นามคือความรู้สึกของเรา มันก็ดับ กิเลสโลภโกรธหลงก็ดับลงไป ตามกำลังของมรรค คือมรรคนี้มันจะดับกิเลสตัณหาอยู่ถึง ๔ ครั้ง มันจึงจะหมด

เท่าที่บรรยายมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอจบลงแต่เพียงเท่านี้

www.watpit.com

Maintenence:


ของหายาก ๔ ประการ

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ของหายาก ๔ ประการ มาบรรยาย

ของหายาก ๔ ประการนั้น คือ

ประการที่ ๑ มนุสฺสภาโว จ ทุลฺลโภ การที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยากนักยากหนา เพราะเหตุอะไรจึงได้เป็นเช่นนั้น เพราะเหตุที่ว่า การจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้นั้น ในภพก่อนชาติก่อน จะต้องได้บำเพ็ญมนุษยธรรมให้สมบูรณ์เสียก่อนแล้ว จึงจะสามารถเกิดเป็นมนุษย์ในภพนี้ชาตินี้ได้ และขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ใส่ใจว่า

คำว่า มนุษย์ กับคำว่า คน นั้นไม่เหมือนกัน พอเรามาถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา เขาก็เรียกว่า คน แล้ว คลอดออกมาเขาก็เรียกว่า คน เจริญเติบโตขึ้นมาเขาก็เรียกว่า คน ยังเรียกว่าเป็น มนุษย์ ไม่ได้ ต่อเมื่อใดเราได้บำเพ็ญมนุษยธรรม คือ สุจริตธรรม ๑๐ ประการ หรือศีล ๕ ประการให้สมบูรณ์แล้ว จึงจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ได้

ท่านทั้งหลายลองสังเกตดู ในวันที่เราอุปสมบท ท่านพระอาจารย์ได้สอบถามอันตรายิกธรรมบทหนึ่ง มีอยู่ว่า มนุสฺโสสิ เจ้าเป็นมนุษย์หรือ ทำไมท่านจึงถามคำอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เห็นกันอยู่ ท่านก็ถามว่า เป็นมนุษย์หรือ ถ้าเราตอบว่า นตฺถิ ภนฺเต ข้าพเจ้าไม่ใช่มนุษย์ ท่านก็ไม่บวชให้

คำนี้ โบราณท่านกล่าวเอาไว้ว่า มีพญานาคมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงแปลงกายมาบวชในพระศาสนา วันหนึ่ง จำวัดตอนกลางวัน ขาดสติ ไม่ทันระวังตัว เพศจึงกลับมาเป็นพญานาคตามเดิม พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้สึก พญานาคก็ยอมสึกและขอพรว่า ผู้ใดมาบวช ขอให้ชื่อว่า นาค

ที่จริง ถ้าพูดตามหลักการ หรือพระไตรปิฎกแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ท่านถามว่า มนุสฺโสสิ ท่านเป็นมนุษย์หรือ เราจะตอบว่า อาม ภนฺเต ขอรับ กระผมเป็นมนุษย์ ก็ต่อเมื่อเราบำเพ็ญมนุษยธรรม หรือมีมนุษยธรรมประจำจิตประจำใจเสียก่อน จึงจะตอบว่า อาม ภนฺเต ได้

เหตุนั้น ก่อนจะมาอุปสมบท ท่านจึงให้มามอบตัวเป็นศิษย์วัดเสียก่อน ให้เรียนคำขอบวช ให้เรียนวิธีบวช ท่านเรียกว่า นาค ตอนนี้ นาคะ แปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือผู้มาสู่ทางอันประเสริฐ ในขณะที่มาเป็นนาคนี้ ท่านต้องการที่จะให้เจ้านาคนั้นบำเพ็ญมนุษยธรรมให้สมบูรณ์ จึงจะบรรพชาอุปสมบทได้

เหตุนั้น เวลาบรรพชาอุปสมบทนี้ หลวงพ่อเอาจริงเอาจัง ถ้าผู้ใดเข้าโบสถ์แล้วมีกลิ่นเหล้ามานี้ หลวงพ่อไม่บวชให้เลย ไล่ออกจากโบสถ์ไปเลย ต้องไปสมาทานศีลใหม่ หมดกลิ่นเหล้าแอลกอฮอล์ไปแล้ว สมาทานศีลใหม่ ประพฤติปฏิบัติใหม่เสียก่อน เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลาแล้ว จึงจะบวชให้ เหตุนั้น ที่พวกเราทั้งหลาย ได้มานั่งรวมกันอยู่ในขณะนี้ มีร่างกายสมบูรณ์ด้วยอวัยวะทุกส่วน ไม่มีบรรพชาโทษ คือพระวินัยท่านไม่ห้าม เราสามารถบวชในพระศาสนา ทั้งจิตใจก็สมบูรณ์ อันนี้ก็หมายความว่าเราได้พบของหายากประการที่หนึ่ง

ประการที่ ๒ พุทฺธภาโว จ ทุลฺลโภ การที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะได้พบพระพุทธศาสนา เป็นของหายากนักยากหนา เพราะเหตุไร เพราะพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้แต่ละพระองค์ๆ นั้น ต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อนแล้ว จึงจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยทีเดียว เป็นไปไม่ได้ เหตุนั้นท่านจึงแบ่งจึงจัดระยะการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เจ้า ไว้ดังนี้คือ

ถ้าพระโพธิสัตว์เจ้าองค์ใด เป็นประเภท ปัญญาธิกะ คือมีปัญญามาก มีปัญญามากกว่าศรัทธาและความเพียร จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๒๐ อสงขัยกับแสนกัป คือหมายความว่า นึกอยู่ในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๗ อสงขัย ออกปากว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๙ อสงขัย นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งมาว่า ผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้านามว่าอย่างนั้นๆ ตั้งแต่วันนั้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๔ อสงขัยกับแสนกัป รวมทั้งหมด ๒๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้

พระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์ใด เป็นประเภท สัทธาธิกะ คือมีศรัทธามากกว่าปัญญาและความเพียร จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๔๐ อสงขัยกับแสนกัป หมายความว่า นึกอยู่ในใจอยู่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๑๔ อสงขัย ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๑๘ อสงขัย นับตั้งแต่ได้ลัทธพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งว่า ผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้ามีพระนามว่าอย่างนั้นๆ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๘ อสงขัยกับแสนกัป รวมทั้งหมดเป็น ๔๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

พระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์ใด เป็นประเภท วิริยาธิกะ คือยิ่งด้วยความเพียร มีความเพียรมากกว่าศรัทธาและปัญญา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๘๐ อสงขัย หมายความว่า นึกอยู่ในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๒๘ อสงขัย ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๓๖ อสงขัย นับตั้งแต่ได้ลัทธพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาว่า ผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า มีพระนามว่าอย่างนั้นๆ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๑๖ อสงขัย รวมทั้งหมดเป็น ๘๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

พระโพธิสัตว์เจ้าที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จึงแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ นิยตโพธิสัตว์ และ อนิยตโพธิสัตว์

อนิยตโพธิสัตว์นี้ ยังมีคติไม่แน่นอน คือยังไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาลข้างหน้าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า มีคติไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนคำอธิษฐานได้ สามารถเปลี่ยนจิตใจได้

แต่ถ้าเป็นประเภทนิยตโพธิสัตว์ จะมีคติอย่างมั่นคงแน่นอน โดยได้รับคำพยากรณ์จากสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า พระโพธิสัตว์ประเภทนี้เปลี่ยนจิตไม่ได้

เพราะเหตุใด

เพราะว่า พระวาจาของพระพุทธเจ้านั้น เป็นพระวาจาสิทธิ์ ใครจะมาเปลี่ยนพระดำรัสของพระองค์ไม่ได้ เมื่อพระองค์ตรัสไว้อย่างไรแล้ว ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าพระองค์ตรัสว่า ผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้า ผู้นี้จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า ก็เป็นอย่างนั้น

อย่างเช่นพระอานนท์ พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันปฐมสังคายนา พระอานนท์บำเพ็ญเพียรตลอดคืนยันรุ่ง ก็นึกว่าพระองค์ทรงพยากรณ์ผิด อ่อนจิตอ่อนใจก็เอนหลังลงเพื่อจะนอน ในขณะที่เอนหลังลงนอน หัวยังไม่ทันถึงหมอน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

อันนี้ก็หมายความว่า พระวาจาของพระองค์เป็นพระวาจาสิทธิ์ พระองค์ตรัสอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น เช่นตรัสว่า พระเจ้าสุปปพุทธะ ที่ปิดทางโคจรบิณฑบาตของพระพุทธเจ้า จะถูกธรณีสูบที่เชิงบันไดปราสาท ๗ ชั้น นับตั้งแต่วันนี้ไป ๗ วัน เมื่อถึงวันที่พระองค์ตรัสไว้ แม้พระเจ้าสุปปพุทธะจะทำการป้องกันอย่างไรๆ ก็ไม่พ้น ต้องถูกธรณีสูบที่ตรงนั้นจนได้

นี่แหละท่านทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ประเภทนิยตะนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะได้บำเพ็ญบารมีจนครบสมบูรณ์แล้วจึงจะตรัสรู้ได้

แต่บัดนี้ พวกเราทั้งหลาย มานั่งรวมกันอยู่ในที่นี้ แม้ว่าจะไม่ได้เห็น ไม่ได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าเราได้พบพระธรรมวินัย อันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ ก็เท่ากับว่าเราได้พบพระพุทธองค์ เพราะก่อนจะทรงปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราตถาคตปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมก็ดี พระวินัยก็ดี ที่เราตถาคตได้แสดงไว้แล้วบัญญัติไว้แล้วนั้นแหละ จะเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย

คือพระองค์ไม่ได้ให้ผู้ใดผู้หนึ่งทำหน้าที่แทนพระองค์ แต่พระองค์เอาธรรมวินัยที่ทรงประกาศไว้แล้ว ที่ตรัสไว้แล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์ สืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ และบัดนี้ พระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน ก็ยังสมบูรณ์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ธรรมเหล่าใด ที่เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติบรรลุอริยมรรคอริยผล เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็ยังสมบูรณ์อยู่ทุกประการ

เหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ที่ได้มีโอกาสมาบรรพชาอุปสมบท บวชในพระพุทธศาสนา มีโอกาสได้มาเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานี้ ก็นับว่าได้พบของหายากเป็นประการที่ ๒

ประการที่ ๓ ปพฺพชิตภาโว จ ทุลฺลโภ การที่บุคคลได้เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว จะได้มาบวชในพระพุทธศาสนานั้น ก็ยากนักยากหนา

เพราะเหตุใด เพราะผู้ที่จะมาบวชในพระศาสนานั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัย ที่ตนได้สั่งสมไว้ในภพก่อนชาติก่อน และก็ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันประกอบกันเข้า จึงจะมีโอกาสบวชได้ บางท่านมีความประสงค์อยากบวช แต่สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยก็บวชไม่ได้ หรือบางท่าน สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเอื้ออำนวย ยินดีที่จะให้บวช แต่เราไม่มีปสาทะศรัทธาในการที่จะบวชในพระพุทธศาสนานี้ ก็บวชไม่ได้

แต่พวกเราทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่นี้ นับว่าได้สั่งสมอบรมบุญกุศลไว้ในปุเรกชาติจนล้นฟ้าล้นดิน จึงได้มีโอกาสมาบวชในพระศาสนา การมาบวชในพระพุทธศาสนาของเราทั้งหลายในขณะนี้ ก็นับว่าได้พบของหายากเป็นประการที่ ๓

ประการที่ ๔ วิปสฺสนาภาโว จ ทุลฺลโภ การที่บุคคลเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา มาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว จะได้มีโอกาสเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ก็เป็นของยากนักยากหนา

ท่านทั้งหลายลองนึกดูสิว่า รอบตัวของเรา ภายในหมู่บ้านของเรานั้นแหละ ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนานั้น มากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือว่าในวัดของเรา ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา มากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือภายในตำบลของเรา ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนามากน้อยแค่ไหนเพียงไร

ดังนั้น ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนา ท่านจึงอุปมาเหมือนเขาโค แต่ผู้ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา อุปมาเหมือนกันกับขนโค ขนโคนั้นย่อมมากกว่าเขาโคฉันใด ผู้ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา ย่อมมากกว่าผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนาฉันนั้น

บัดนี้ พวกเราทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่ในสถานที่แห่งนี้ และก็ได้มีโอกาสมาเจริญวิปัสสนาอยู่นี้ ก็นับว่าเป็นผู้มีบุญ ได้พบของหายากประการที่ ๔

การเจริญภาวนานั้น มีอยู่ ๒ ประการ คือ

๑. สมถภาวนา ภาวนาเป็นอุบายสงบใจ ภาวนาประเภทนี้ ไม่เกี่ยวด้วยปัญญา เพียงแต่ว่าต้องการที่จะทำใจให้สงบเป็นสมาธิเท่านั้น

อารมณ์ของสมถภาวนา ตามที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีอยู่ ๔๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ อรูปกัมมัฏฐาน ๔

ก็แล ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น มีนิมิต ๓ อย่าง มีภาวนา ๓ อย่าง

นิมิต ๓ คือบริกรรมนิมิต นิมิตในบริกรรม อุคคหนิมิต นิมิตติดตา ปฏิภาคนิมิต นิมิตเทียบเคียง

บริกรรมนิมิต กับ อุคคหนิมิต ๒ อย่างนี้ ได้ทั่วไปในกัมมัฏฐานทั้งสิ้น แต่ปฏิภาคนิมิตนี้ ได้เฉพาะกัมมัฏฐาน ๒๒ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑

ภาวนา ๓ คือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา

บริกรรมภาวนานั้น ได้ทั่วไปในกัมมัฏฐานทั้งสิ้น อุปจารภาวนา ได้เฉพาะกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการคือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อุปสมานุสสติ มรณัสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน

(กัมมัฏฐาน ๑๐) เหล่านี้ ย่อมให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนาหรืออุปจารฌานเท่านั้น เพราะว่ากัมมัฏฐานเหล่านี้เป็นกัมมัฏฐานที่สุขุม ละเอียดยิ่งนัก ไม่ปรากฏชัดได้ จิตและเจตสิก ไม่สามารถแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน จึงให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น

ส่วนอัปปนาภาวนานั้น ได้ในกัมมัฏฐาน ๓๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔ เหล่านี้ย่อมให้สำเร็จตลอดถึงอัปปนาภาวนา

เพราะเหตุใด เพราะกัมมัฏฐานเหล่านี้ อารมณ์ปรากฏชัด อันจิตและเจตสิกเข้าไปแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน

กัมมัฏฐาน ๓๐ ประการ อันจะให้สำเร็จถึงอัปปนาภาวนา จะมีอานุภาพเสมอกันก็หาไม่

อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ รวม ๑๑ ประการนี้ ให้สำเร็จเพียงรูปาวจรปฐมฌานอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะให้สำเร็จถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เว้นแต่ท่านผู้ใดมีสติปัญญา เมื่อเจริญอสุภกัมมัฏฐาน หรือกายคตาสติ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเจริญไปๆ ถ้ามีสีปรากฏชัดขึ้นมา เช่น มีสีแดง สีขาว สีเขียว เป็นต้น ปรากฏขึ้นมา หลังจากนั้นเราเอาสีนั้นมาบริกรรมเป็นกสิณ ก็สามารถให้สำเร็จถึงจตุตถฌานได้ แต่ถ้าเราบริกรรมแค่อสุภะหรือกายคตาสติอย่างเดียว ก็ให้สำเร็จเพียงปฐมฌานเท่านั้น

สำหรับพรหมวิหาร ๓ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา มีอานุภาพให้สำเร็จตั้งแต่ปฐมฌาน ถึงจตุตถฌาน (ว่าตามปัญจกนัย ถ้าตามจตุกกนัยก็ถึงตติยฌาน แต่ว่าโดยองค์ฌานแล้วมีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน)

อุเบกขาพรหมวิหาร มีอานุภาพให้สำเร็จได้เพียงแต่รูปาวจรจตุตถฌาน หรือรูปาวจรปัญจมฌานอย่างเดียว

อรูปกัมมัฏฐาน ๔ ก็ให้สำเร็จเพียงอรูปฌาน ๔ เท่านั้น หมายความว่า อรูปกัมมัฏฐานที่ ๑ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๑ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๒ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๒ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๓ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๓ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๔ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๔ โดยเฉพาะๆ สลับกันไม่ได้

รวมกัมมัฏฐานที่ให้สำเร็จรูปาวจรฌานมี ๒๖ และให้สำเร็จอรูปาวจรฌานมี ๔ เป็น ๓๐ ประการ ที่ให้สำเร็จอัปปนาภาวนา เหลือจากนั้น ให้สำเร็จอุปจารภาวนา หรืออุปจารฌานเท่านั้น

อานิสงส์ของการเจริญสมถภาวนา เมื่อเราเจริญให้ยิ่งให้สมบูรณ์แล้ว ก็สามารถให้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และก็เป็นเหตุให้เกิดคุณสมบัติขึ้นมา เช่นว่า ให้สำเร็จซึ่งวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อีกด้วย

๒. วิปัสสนาภาวนา ภาวนาเป็นอุบายเรืองปัญญา คือการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ ต้องใช้ปัญญา ต้องให้เกิดปัญญาทันรูป ทันนาม ทันปัจจุบัน เห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔ จึงจะชื่อว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา

ถ้าเจริญไปๆ เท่าไรก็ตาม สติสัมปชัญญะของเราไม่ทันปัจจุบัน ไม่ทันรูปทันนาม ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้อริยสัจ ๔ แม้เจริญเท่าไรก็ตาม ไม่จัดว่าเป็นวิปัสสนาภาวนา

อารมณ์ที่ใช้เจริญวิปัสสนาภาวนา คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ แต่เมื่อสรุปแล้ว ก็ได้แก่ รูปกับนามนั่นเอง ย่นเข้าในการปฏิบัติ ก็ได้แก่ อาการพอง อาการยุบ เป็นต้น นี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา

อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ย่อมจะเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งแทงตลอด ซึ่งสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติ คือสิ่งใดเป็นอยู่ ก็สามารถที่จะรู้สิ่งนั้นตามธรรมชาตินั้น เช่น รู้สังขารทั้งหลายที่มีใจครองก็ดี ไม่มีใจครองก็ดี ว่าสังขารเหล่านี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ดับไป เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้แล้วดับไป เป็นต้น

การรู้สภาวธรรมของธรรมชาติ มีประโยชน์อย่างไร

มีประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ อย่างต่ำที่สุด ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยไม่ให้พวกเราทั้งหลายหลงใหลอยู่ในสมมติบัญญัติ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้มานะทิฏฐิลดน้อยลงไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทานลดน้อยลงไป หรืออ่อนกำลังลงไป ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลชั้นใดเลย นี้เป็นอย่างต่ำ อย่างสูง ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะมีความข้องใจสงสัยอยู่ว่า บัดนี้ พระศาสนาก็ล่วงเลยมาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว ยังจะมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ยังจะมีพระอรหันต์อยู่อีกหรือ อาจจะสงสัยอย่างนี้ก็ได้

ข้อนี้ ขอยกหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ หน้า ๑๑๑ ถึง ๑๑๒ บรรทัดที่ ๒๑ และบรรทัดที่ ๑ ที่ ๒ ท่านกล่าวไว้ว่า

ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๑ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณ ๔

หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาหนึ่งพันปี ในช่วงหนึ่งพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว หากว่าเราได้สั่งสมบุญกุศลไว้ในปุเรกชาติ ก็สามารถที่จะบรรลุปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ด้วย

ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ นั้นคือ

๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในการกล่าวนิรุตติ์

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ

ฉฬภิญฺเฐหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๒ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖

หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสองพันปี ในช่วงสองพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว สามารถที่จะยังอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้นได้ หากว่าตนได้สั่งสมอบรมบารมีไว้แล้วในชาติปางก่อน คือ สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้ สามารถได้หูทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ มีตาทิพย์ รู้วิธีที่จะทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน อภิญญาทั้ง ๖ นี้ สามารถเกิดขึ้นได้

เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓

หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสามพันปี ในช่วงสามพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สามารถยังวิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นได้

วิชชา ๓ นั้นคือ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นว่าผู้นี้เขามาเกิดที่นี้ด้วยบุญกรรมอะไร ผู้นี้ตายแล้วไปเกิดในที่ไหนก็รู้ได้ และอาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องได้เคยสั่งสมอบรมบารมีมาในภพก่อนชาติก่อนมาแล้ว คือเคยตั้งสัจจะอธิษฐานว่า สาธุ ด้วยอานิสงส์บุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมอบรมไว้นี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าสำเร็จวิชชา ๓ ในอนาคตกาลข้างหน้าเถิด เหมือนดังหลวงพ่อพากล่าวคำบูชาอธิษฐานจิตในวันอาสาฬหบูชานั้นว่า

ด้วยบุญกุศลที่ทำการบูชาพระรัตนตรัย เนื่องในวันอาสาฬหปุณณมีครั้งนี้ ขอจงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุซึ่งสมาธิสมาบัติ ให้ได้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ มโนมยิทธิ

อย่างนี้เรียกว่า เราได้สั่งสมอบรมบารมีไว้ ถ้าว่าในภพก่อนชาติก่อนเราได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าในภพก่อนชาติก่อนไม่เคยตั้งจิตอธิษฐานไว้เลย ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาบารมีที่เราได้สั่งสมอบรมไว้

สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๔ เป็นยุคของพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ

หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสี่พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สำเร็จโดยแห้งแล้ง ไม่มีคุณสมบัติพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงทำลายความโลภ โกรธ หลง ราคะ ตัณหา อุปาทานให้หมดไปจากขันธสันดานเท่านั้น เรียกว่าบรรลุโดยแห้งแล้ง

ปาติโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๕ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี

หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงห้าพันปีนี้ แม้ว่าเราจะทำความเพียรเรี่ยวแรงสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถเป็นพระอรหันต์ อย่างสูงเพียงแต่ได้เป็นพระอนาคามีเท่านั้น

เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย หากว่าเข้าใจผิดมา ก็ขอให้กลับจิตกลับใจเสียใหม่ ผลของการปฏิบัตินั้น หากว่าเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติอยู่ ผลก็ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา ดุจเราปลูกต้นไม้ ถ้าเราตั้งอกตั้งใจปลูก พรวนดินใส่ปุ๋ยรดน้ำ กำจัดศัตรูพืช ก็จะผลิดอกออกผลมาให้เราเชยชมได้ ข้อนี้ฉันใด การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน หากว่าเรานั้นมีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริง ย่อมมีผลตามมาเป็นธรรมดา เพราะธรรมดาเป็นมาอย่างนี้

อนึ่ง การเจริญภาวนาที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น ไม่เหมือนกัน คือสำนักหนึ่งก็ภาวนาไปอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกุศโลบายของอาจารย์ท่านผู้สอน คือ

บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ

บางสำนักภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆ

บางสำนักภาวนาว่า สัมพุทโธๆ

บางสำนักภาวนาว่า อิติปิ โส ภะคะวาๆ

บางสำนัก หายใจเข้าภาวนาว่า พุท หายใจออกภาวนาว่า โธ

บางสำนักหายใจเข้าภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกภาวนาว่า พุทโธ

บางสำนัก หายใจเข้าภาวนาว่า นะมะพะทะ หายใจออกภาวนาว่า นะมะพะทะ

บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า นั่งหนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า ถูกหนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า กระทบหนอๆ

บางสำนัก ท้องพองขึ้นภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า ยุบหนอ

บางสำนักภาวนาว่า นั่งเป็นรูป รู้เป็นนาม

บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ

บางสำนัก ยกมือไปยกมือมาภาวนาว่า เกิดดับๆ

บางสำนัก หายใจเข้าหายใจออก นั่งดูเฉยๆ ไม่ได้ภาวนาว่ากระไร

ส่วนการเดินจงกรมนั้นก็ไม่เหมือนกัน

บางสำนัก เวลาเดินจงกรมภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ

บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ

บางสำนักภาวนาว่า ก้าวหนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า ก้าวเป็นรูป รู้เป็นนาม

บางสำนักภาวนาว่า ย่างหนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า ยก ย่าง เหยียบ

บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า เกิดดับๆ

บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ

บางสำนัก กำหนดรู้เฉยๆ ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สำนักไหนผิด สำนักไหนถูก

ถูกด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีสำนักไหนผิดเลย คือหมายความว่า การภาวนานั้น เราภาวนาต้องการที่จะทำจิตของเราให้สงบเป็นสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน ก็ถูกแบบสมถภาวนา หรือสมถกัมมัฏฐาน

แต่ถ้าเราภาวนาหรือบริกรรมเพื่อจะทำให้เกิดปัญญา เพื่อจะให้รู้แจ้งซึ่งสภาวธรรม หรือสิ่งที่ตนภาวนานั้น เช่น เรากำหนดท้องพองท้องยุบ ท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พุทโธ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า พุทโธ หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า ยุบหนอ เราต้องการจะรู้ว่า ต้นพองเป็นอย่างไร กลางพองเป็นอย่างไร สุดพองเป็นอย่างไร ต้นยุบเป็นอย่างไร กลางยุบเป็นอย่างไร สุดยุบเป็นอย่างไร เราสำเหนียกในใจให้รู้สภาวะความเป็นจริงในอารมณ์กัมมัฏฐานที่ตนบริกรรมหรือฝึกภาวนานั้น ก็ถูกแบบวิปัสสนากัมมัฏฐาน

การเจริญกัมมัฏฐานนั้น ถ้าเราใช้เพียงขั้นบริกรรม ก็เป็นสมถภาวนา สมถกัมมัฏฐาน คือเพียงบริกรรมว่า พุทโธๆ หรือ ยุบหนอพองหนอไปเรื่อยๆ ทำใจให้สงบเป็นอุปจารสมาธิ อย่างนี้ก็ถูกแบบสมถภาวนา

แต่ถ้าเราใช้วิธีกำหนด เช่นในเวลาเดินเราภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ก็กำหนดรู้ไปด้วยว่า เริ่มยกเป็นอย่างไร เหวี่ยงเท้าไปเป็นอย่างไร เหยียบลงเป็นอย่างไร ขาไหนหนัก ขาไหนเบา ในเวลานั่งภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ก็กำหนดรู้อาการพองอาการยุบว่า ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นอย่างไร เรากำหนดรู้ตามอาการของมัน ถ้าใช้วิธีกำหนดแบบนี้ ก็ถูกตามแบบวิปัสสนาภาวนา วิปัสสนากัมมัฏฐาน

แต่ถึงอย่างไร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจว่าการบริกรรมก็ดี การกำหนดก็ดี เราไม่เอา เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ รอการเกิดขึ้นของมรรคผลพระนิพพานต่างหาก

อุปมาเหมือนกับเราต้องการจะดื่มเครื่องดื่มสักขวด เราก็ซื้อมาทั้งขวด เมื่อซื้อมาแล้ว ก็เปิดดื่มแต่น้ำเท่านั้น ขวดเราก็ทิ้งไป ข้อนี้ฉันใด เราจะใช้บริกรรมหรือกำหนดบทไหนก็ตาม เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เท่านั้น เมื่อสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมหรือภาวนานั้นเราก็ทิ้งไป เราเอาสมาธิ เอามรรค ผล เอานิพพานต่างหาก

และขอให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะเหตุไร การบริกรรมการภาวนานั้นจึงมีมาก เพราะเหตุว่า ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีมาก คือมีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

ดังนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติ ใครจะเอาที่ไหนๆ มาบริกรรม มาภาวนา มากำหนด ได้ทั้งนั้น ใครจะบริกรรมอย่างไร ภาวนาอย่างไร หรือกำหนดอย่างไรก็ตาม ผลที่ต้องการเหมือนกันหมด

อุปมาเหมือนกันกับคนทั้งหลายที่ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น ผู้ทำนาก็ต้องการเงิน ผู้ทำสวนก็ต้องการเงิน ผู้ทำไร่ก็ต้องการเงิน ผู้เย็บปักถักร้อยก็ต้องการเงิน พวกเสริมสวยก็ต้องการเงิน พวกเลี้ยงสัตว์ก็ต้องการเงิน ผู้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องการเงิน พวกเดินรถก็ต้องการเงิน ผู้เป็นข้าราชการก็ต้องการเงิน ผู้ทำมาค้าขายก็ต้องการเงิน

หนักๆ เข้า ผู้ที่ไปลัก ไปขโมย ไปปล้น ไปจี้ จับคนไปเรียกค่าไถ่ ก็ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น แต่วิธีหาเงินของคนไม่เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องการที่จะพ้นทุกข์ ต้องการที่จะบรรลุสุขอันไพบูลย์ คือ มรรค ผล นิพพานทั้งนั้น แต่เพราะธรรมะมีมาก การประพฤติปฏิบัติจึงไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้เข้าใจหลักการและวิธีการประพฤติปฏิบัติในพรรษานี้ ขอให้ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน เพื่อสะดวกในการสอบการสอน ถ้ารูปนั้นปฏิบัติอย่างหนึ่ง รูปนี้ก็ปฏิบัติอย่างหนึ่ง เพราะเกรงว่าการปฏิบัติตามแนวที่ทางสำนักนี้ปฏิบัติอยู่จะทำให้สภาวธรรมที่เราเคยปฏิบัติมานั้นเสื่อมไป ถ้าคิดอย่างนี้เรียกว่าเข้าใจผิด

หลาย ๆ รูปที่มาประพฤติปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ตั้งใจมาอยู่ ตั้งใจมาศึกษา แต่พอมาแล้ว ทิฏฐิมานะไม่ยอมลด เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นไป ไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ยอมทำตาม ขอให้ภาวนาอย่างที่สำนักนี้ให้ภาวนาก่อนเถิด ออกจากวัดไปแล้วค่อยภาวนาอย่างอื่นไป แต่ก็ไม่ยอม

สมมติว่า เคยเพ่งลูกแก้วมาอย่างนี้ ก็อยากเพ่งอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่ออยากเพ่งก็เพ่งลูกแก้วนั้นอยู่ตลอดเวลา การประพฤติปฏิบัตินั้นก็ไม่เดินหน้า การสอบ การแนะนำ การสอนก็เป็นไปได้ยาก ไม่เข้ากัน

ความจริง เราไม่ควรที่จะเกรงว่าสภาวธรรมที่เราเคยปฏิบัติมาตามแบบของตนจะเสื่อม ท่านทั้งหลายจะภาวนาหมวดไหนอย่างไรก็ตาม ก็ดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์เหมือนกัน แต่ว่าข้อสำคัญ ครั้งแรกนี้ เราต้องทำให้ได้ให้ถึงเสียก่อน เมื่อเราเคยได้เคยถึงแล้ว ต่อไปเราจะภาวนาอย่างไรได้ทั้งนั้น

สมมติว่า เราเคยภาวนาอย่างนี้แล้วเข้าฌานได้ เคยเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานได้ เคยเข้าอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ เมื่อเราเคยได้อย่างนี้แล้ว ต่อไปเราจะเข้าสมาธิอีก เราไม่ต้องภาวนาเลย เรานั่งดูวัตถุอย่างไรอย่างหนึ่งก็ได้ โดยที่สำรวมจิตแล้วนั่งเพ่งถึงวัตถุนั้นๆ จะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ เป็นนาฬิกาก็ได้ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกัน

หรือไม่อย่างนั้น เราจะใช้คำภาวนาว่า ขี้เกียจหนอๆ แต่ที่จริงเราไม่ขี้เกียจ แต่เราใช้คำภาวนาว่า ขี้เกียจหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกันทั้งนั้น หรือเราจะภาวนาว่าอยากตายหนอๆ แต่เราไม่ได้อยากตาย ใช้เป็นคำภาวนาว่าอยากตายหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกัน

ถ้าเราเคยเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง มาแล้ว ทีนี้เราจะมาเพ่งอะไร ภาวนาว่าอย่างไร เราก็สามารถเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ได้เหมือนกัน แต่มีข้อแม้ว่าเราต้องประพฤติปฏิบัติให้ได้ถึงที่เสียก่อนจึงจะทำอย่างนั้นได้ หากว่ายังไม่ได้ไม่ถึง เราจะมาภาวนาว่าอย่างนี้ไม่ได้

Maintenence:


ของหายาก ๔ ประการ (ต่อ)

ต่อไปเป็นองค์คุณของผู้ปฏิบัติ ถ้านักปฏิบัติธรรมต้องการที่จะให้การประพฤติปฏิบัติได้ผลเร็วนั้น ต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยองค์คุณทั้งหลายเหล่านี้ คือ

๑. สติมา ต้องมีสติ คือสติสมบูรณ์ กำหนดให้ทันปัจจุบัน เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม ต้องกำหนดให้ทันปัจจุบัน

๒. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม คือ จะยืน เดิน นั่ง นอน ทำกิจใดๆ ก็ตาม ให้รู้ตัวทุกขณะ เหมือนกับเราเขียนหนังสือ สมมติว่าเราจะเขียนตัว ก เราก็ต้องรู้ว่าอักษร ก มีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ ก็เขียนไป ในขณะที่เขียน เขียนถูกก็รู้ว่าเขียนถูก เขียนผิดก็รู้ว่าเขียนผิด

๓. อาตาปี มีความเพียร คือ มีความหมั่น ความขยัน มีฉันทะ พอใจทำกัมมัฏฐาน มีวิริยะ แข็งใจทำกัมมัฏฐาน มีจิตตะ ตั้งใจทำกัมมัฏฐาน มีวิมังสา ฉลาดทำกัมมัฏฐาน

เมื่อท่านทั้งหลาย ตั้งอยู่ในองค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นได้ผลเร็ว และขอรับรองว่า ไม่เสียสติ ไม่เป็นบ้า แต่ถ้าขาดคุณธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ อาจเสียสติเป็นบ้า เสียผู้เสียคนไปก็ได้

เอาละ เท่าที่บรรยายมา ก็พอสมควรแก่เวลา.

ลพ.บุญเรือง สารโท

Maintenence:


การเตรียมตัว ๕ ประการ

ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ [๑]

ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง การเตรียมตัว ๕ ประการ พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เพิ่มพูนกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า เตรียมตัว ๕ ประการ นั้น คือ
๑.เตรียมตัวก่อนตาย
๒.เตรียมกายก่อนแต่ง
๓.เตรียมน้ำก่อนแล้ง
๔.เตรียมแบงก์ก่อนไป
๕.เตรียมใจก่อนสู้

๑.เตรียมตัวก่อนตาย เพราะเหตุไรจึงเตรียมตัวก่อนตาย เพราะว่าชีวิตของคนเราไม่ใช่ว่าจะจบลงแค่ตายเท่านั้น ตายแล้ว หากว่ากิเลสตัณหาบาปกรรมยังมีอยู่ ก็ต้องเคลื่อนไปสู่ภพภพใดภพหนึ่ง ตามอำนาจของบาปกรรมและบุญกรรม ดังบทวิเคราะห์ว่า ติภวํ อยตีติ ตาโย ชื่อว่า ตาย เพราะอรรถว่า ย่อมเคลื่อนไปสู่ภพ ๓ ภพใดภพหนึ่ง คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ

หมายความว่า ถ้าผู้ใดจุติด้วยอำนาจของความโกรธ คือขณะนั้นตายด้วยอำนาจของความโกรธ หรือความโกรธเกิดขึ้นในจิตในใจก่อนแล้วจึงตาย ก็ต้องไปบังเกิดในนรก ถ้าจุติด้วยอำนาจของโลภะเป็นเหตุ เมื่อจุติแล้วก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ถ้าจุติด้วยอำนาจของความหลง จุติแล้วก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าจุติเพราะระลึกนึกถึงศีล ๕ ประการ หรือมนุสสธรรมที่ตนสั่งสมอบรมมา ที่เคยประพฤติปฏิบัติมา เมื่อจุติแล้ว ก็ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษย์ภูมิ  ถ้าจุติด้วยอำนาจกามาวจรกุศล คือระลึกถึงบุญกุศลที่ตนได้สร้างสมอบรมมา เป็นต้นว่า ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา แต่ยังไม่ได้ฌาน ยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถ้าจุติเพราะจิตเป็นกามาวจรกุศลอย่างนี้ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก ไปบังเกิดในฉกามาวจรสวรรค์ ถ้าจุติด้วยอำนาจอริยมรรคอริยผลอันสูงสุด ก็เข้าสู่พระนิพพาน เป็นอันสรุปได้ว่า คนเรานั้น ไม่ใช่ว่าจะจบลงแค่ตาย เมื่อเรายังมีชีวิต ยังมีบุญมีบาปอยู่ บุญบาปนั่นแหละที่จะพาเราไปสู่ภพใดภพหนึ่ง ตามบุญกรรมที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ เราได้เกิดมานี้ ได้สร้างสมอบรมกุศลไว้อย่างไรหนอ ได้ให้ทานมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ได้รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร เป็นต้น เมื่อนึกถึงบุญกุศลของตนเสร็จ จึงค่อยนอนอย่างนี้ ท่านเรียกว่า เตรียมตัวก่อนตาย เมื่อถึงคราวตาย บุญกุศลที่เราได้สร้างสมอบรมไว้จะมาปรากฏเป็นกรรมบ้าง มาปรากฏเป็นกรรมนิมิตบ้าง มาปรากฏเป็นคตินิมิตบ้าง

เพราะเหตุไร ท่านจึงให้เตรียมตัวก่อนตาย เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑) เพราะชีวิตเป็นของน้อย  ท่านอุปมาไว้ว่าชีวิตนี้เหมือนกันกับแสงหิ่งห้อยที่คอยวับๆ แวบๆ ในเวลากลางคืนแล้วก็ดับไป ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้ ก็พลันแต่จะดับไปเหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกับน้ำค้างที่ติดอยู่บนปลายหญ้า พอถูกแสงพระอาทิตย์ พลันแต่จะเหือดแห้งไป ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว ก็พลันแต่จะดับไปไม่ยากเหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกันกับบุรุษผู้มีกำลัง สามารถที่จะบ้วนเขฬะน้ำลายให้พ้นไปจากปากโดยไม่ยาก ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็พลันแต่จะดับไปไม่ยาก ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกันกับชิ้นเนื้ออันย่างด้วยไฟอันร้อนโชน ก็จะถูกไฟไหม้ให้เป็นเถ้าเป็นถ่านไปโดยไม่ยาก ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้นมาแล้วก็ถูกไฟทุกข์ไฟกิเลสเผาผลาญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พลันแต่จะดับไปเหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนสตรีทอหูก ข้างหน้าน้อยเข้าไปๆ ทุกวันๆ ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ใกล้เข้าสู่ความตายทุกวันๆ เหมือนกัน ฉันนั้น

วันคืนล่วงไปๆ นั้น มิใช่ล่วงไปเปล่า มันกินอายุของสรรพสัตว์ทั้งหลายไปด้วย วันคืนล่วงไปๆ ชีวิตของพวกเราทั้งหลายก็น้อยเข้าไปๆ ใกล้ต่อความตายเหมือนกันฉันนั้น เหตุนั้นจึงให้เตรียมตัวก่อนตาย

อนึ่ง ความตายนั้น ไม่ยกเว้นว่าเป็นไพร่ฟ้าพระมหากษัตริย์ สมณะ ชี พราหมณ์ เกิดขึ้นมาแล้ว ล้วนมีความตายด้วยกันทั้งนั้น ดังที่พระพุทธองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณเอ็นดูปรานีสัตว์ทั้งหลาย ได้ตรัสเตือนพุทธบริษัททั้งหลาย ก่อนที่จะดับขันธปรินิพพานว่า

     ทหราปิ จ เย วุฑฺฒา เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา
     อฑฺฒา เจว ทฬิทฺทา จ  สพฺเพ มจฺจุปรายนา ฯ  
     ยถาปิ กุมฺภการสฺส  กตํ มตฺติกภาชนํ  
     ขุทฺทกญฺจ มหนฺตญฺจ  ยญฺจ ปกฺกํ ยญฺจ อามกํ  
     สพฺพํ เภทปริยนฺตํ  เอวํ มจฺจานชีวิตํ ฯ

แปลความว่า “ดูก่อนพุทธบริษัททั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้นมาแล้วไม่เลือกว่าเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นคนแก่ คนโง่คนฉลาด คนร่ำรวยคนจน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้าด้วยกันทั้งนั้น เหมือนกันกับหม้อดิน แม้จะเป็นใบเล็กใบใหญ่ เผาสุกแล้วหรือดิบอยู่ก็ดี ก็มีการแตกสลายไปในที่สุด ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนมีความตายกันทั้งนั้นไม่ช้าเราตถาคตก็จะจากพวกท่านไป”   (มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (บาลี) ๑๐/๑๐๘/๑๔๑.)

นี้ก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นเป็นของน้อย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็พลันจะดับไป

๒) เพราะชีวิตไม่จบลงเพียงแต่ตายเท่านั้น  เมื่อเราตายไปแล้ว บาปบุญยังมีอยู่ ยังจะต้องได้เที่ยวไปในห้วงมหรรณพภพสงสารอีก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้ที่มีโทสะมาก มีโทสจริต มีโทสะเป็นเจ้าเรือน เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดในนรก ผู้ที่มีโลภะมาก มีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยโลภะ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดเป็นเปรต อสุรกาย ผู้ที่มีโมหะมาก มีดวงตาคือปัญญาอันมืดบอด ไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เป็นต้น เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ผู้ที่ทรงคุณธรรม มีศีล ๕ ประการ และมนุษยธรรม ได้บำเพ็ญธรรมเหล่านี้ให้สมบูรณ์ในขันธสันดานแล้ว ก็จะกลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีกต่อไป ผู้ที่บำเพ็ญกามาวจรกุศล คือเป็นผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาปสาทะ สละออกซึ่งจตุปัจจัยไทยธรรม มาทำทานมีการสร้างกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ ถนนหนทาง บ่อน้ำ โรงพยาบาล เป็นต้น เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดในฉกามาวจรสวรรค์

สำหรับท่านผู้บำเพ็ญรูปาวจรกุศล เจริญสมถภาวนาจนได้รูปฌานสมาบัติ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้วก็จะไปบังเกิดในรูปพรหม ๑๖ ชั้นตามกำลังของฌาน ผู้บำเพ็ญอรูปาวจรกุศลจนได้สำเร็จอรูปฌานสมาบัติ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไปก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหม

สำหรับท่านที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้ว ก็เข้าสู่พระนิพพาน นี้พระองค์ได้ตรัสทางแห่งชีวิตหรือการดำเนินชีวิตไว้ดังนี้ พระองค์ยังตรัสต่อไปว่า เหตุนั้น พวกเธอทั้งหลายจงปฏิบัติดังนี้

     อัปปมัตตา อย่าพากันประมาท
     สติมันโต จงมีสติ
     สุสีลวันโต จงรักษาศีลให้ดี
     สุสมาหิตสังกัปปา จงตั้งใจไว้ให้ถูกทาง
     สจิตตมนุรักขถะ จงตามรักษาจิตของตนให้ดี

ผู้ใดอยู่ด้วยอุบายอันไม่ประมาทดังกล่าวมาแล้วนี้ ผู้นั้น หวังที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานของตน ไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป

ท่านสาธุชนทั้งหลาย วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงนี้ เราแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือเราใช้เป็นเวลาทำการทำงานเพื่อแสวงหาทรัพย์สมบัติเลี้ยงตัวและครอบครัวของตัวเสีย ๑๐ ชั่วโมง ให้เป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนอีก ๘ ชั่วโมงเหลือเวลาอีก ๖ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมงนี้เราใช้เป็นเวลาอาบน้ำชำระร่างกาย รับประทานอาหาร คุยกับลูกกับหลาน กับญาติมิตรที่ไปมาหาสู่ อ่านหนังสือเสีย ๕ ชั่วโมง ยังเหลืออีก ๑ ชั่วโมง เวลา ๑ ชั่วโมงนี้เราเอาเป็นเวลาของเราให้ได้ ก่อนนอน ๓๐ นาที โดยที่เรามานึกถึงบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว ว่าเราเกิดมาถึงป่านนี้ เราได้ให้ทานมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ศีล ๕ ประการนี้ เรารักษาได้กี่ข้อ มากน้อยแค่ไหนเพียงไร เราได้ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาประมาณกี่ครั้งกี่หน เรานึกถึงบุญกุศลของเราเสียก่อน จึงค่อยไหว้พระสวดมนต์ เจริญภาวนาโดยจะบริกรรมว่า พุทโธๆ หรือสัมมาอะระหังๆ หรือว่า นะมะพะทะๆ หรือว่า พองหนอยุบหนอ อย่างใดอย่างหนึ่ง ประมาณ ๓๐ นาทีแล้วจึงนอน

เมื่อเราทั้งหลาย พากันประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ถึงคราวตาย บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้น สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของตนได้ คือเวลาเราจุติจากอัตภาพนี้ ขณะเรากำลังใกล้จะดับจิตนั้นแหละ บุญกุศลทั้งหลายที่เราทำไว้แล้วก็จะมาปรากฏเป็นกรรมนิมิต เป็นคตินิมิต เช่น

เห็นขันข้าวที่เคยใส่บาตร เห็นผ้าผ่อนแพรพรรณที่เราเคยเอาไปทำบุญทำทาน เห็นกองมหากฐิน กองผ้าป่าสามัคคี เห็นกองบวชนาค เห็นพระภิกษุสามเณร เห็นโบสถ์วิหาร เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เห็นเทวดา เห็นวิมานของเทวดา เครื่องทรงของเทวดา เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึดแล้วดับลงไป คือตายไป เมื่อตายแล้วเราก็ไปเกิดในสุคติโลกมนุษย์สวรรค์ ตามบุญญาธิการที่เราสั่งสมอบรมไว้แล้ว

อุปมาเหมือนกันกับเราหัดว่ายน้ำไว้ชำนาญแล้ว เมื่อเรือล่ม เราก็สามารถว่ายน้ำเข้าฝั่งได้ ไม่จมน้ำตาย ข้อนี้ฉันใด บุญกุศลที่ตนได้บำเพ็ญมาแล้ว เมื่อเราหัดระลึกไว้ให้ชำนาญแล้ว เมื่อถึงคราวตาย ก็สามารถที่จะเป็นที่พึ่งพาอาศัยของตนได้ นี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  ถ้าหากว่าเราทำบุญทำกุศลแล้ว ไม่ระลึกไว้ให้ชำนาญ คือไม่ระลึกไว้เลยว่าเราเกิดมานี้ได้ทำบุญทำทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนาได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร เราไม่เคยระลึกไว้เลย เมื่อถึงคราวจะตายแล้วจึงจะมาระลึก ก็ระลึกไม่ได้  เพราะเหตุไร
     ๑) เพราะทุกขเวทนาเข้าครอบงำ
     ๒) เพราะไม่อยากตาย
     ๓) เพราะห่วงผู้อยู่ข้างหลัง ห่วงทรัพย์สมบัติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ระลึกไม่ได้ บาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่เราเคยทำไว้ ก็มาปรากฏเป็นกรรมนิมิต เป็นคตินิมิต เช่น เห็นสัตว์ที่เราเคยฆ่า จะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา เป็ด ไก่ก็ตาม ตลอดถึงเห็นคนทั้งหลาย กำลังฆ่ากัน เบียดเบียนกัน เห็นสัตว์กำลังฆ่ากัน เบียดเบียนกัน เห็นเปลวเพลิง เห็นนรก เห็นนายนิรยบาล เห็นโคลน เห็นแม่น้ำ เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด แล้วก็ดับลง เมื่อตายแล้วเราก็ไปเกิดในอบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ตามบาปกรรมที่เราเคยทำไว้  

เหมือนกับเราไม่เคยหัดว่ายน้ำไว้ให้ชำนิชำนาญ เมื่อเรือล่มเราจึงมาหัดว่ายน้ำ ก็ว่ายน้ำไม่เป็น จมน้ำตายเท่านั้นข้อนี้ ฉันใด บุญกุศลที่เราสั่งสมไว้มากพอสมควรแล้ว แต่เราไม่เคยหัดนึกไว้ให้ชำนิชำนาญ เมื่อถึงคราวตาย จึงจะมาระลึก ก็ระลึกไม่ได้ เราจะเตือนให้ว่า สัมมาอะระหังๆ ก็ว่าไม่ได้ จะเตือนให้ว่า พุทโธๆ ก็ว่าไม่ได้ เพราะไม่เคยหัดระลึกไว้ให้ชำนิชำนาญ

เหตุนั้นแหละญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมงนี้ ถึงอย่างไรก็ตาม เอาเป็นเวลาของเราให้ได้ ๓๐ นาทีก่อนนอน โดยมาระลึกถึงบุญกุศลของตนที่ได้เคยบำเพ็ญมาแล้ว ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา ๓๐ นาที แล้วจึงนอน อันนี้เรียกว่า เตรียมตัวก่อนตาย

ถ้าเราไม่เตรียมตัวไว้อย่างนี้ โดยเกิดความประมาท ขาดสติ มาคิดว่าเมื่อแก่เสียก่อนแล้วจึงจะทำบุญทำทาน หรือว่าร่ำรวยเสียก่อนแล้วจึงจะทำบุญทำทาน หรือให้ลูกโตมีเหย้ามีเรือนเสียก่อนจึงจะทำบุญทำทาน หรือว่าเกษียณอายุราชการเสียก่อนจึงจะทำบุญทำทาน ถ้าเราคิดอย่างนี้ อาจจะเสียทีพระยามัจจุราชได้ คือพระยามัจจุราชอาจจะมาปลิดชีวิตของเราไปเสียก่อน ก่อนที่เราจะได้ทำบุญทำทานก็ได้

เหมือนกับพ่อใหญ่เดิมนี้แหละ เวลาเข้ามาวัดมาวา ก็พูดว่าผมเกษียณอายุเสียก่อน จะมาบวช จึงจะมาปฏิบัติกัมมัฏฐานกับท่านพระครู พูดกับพระกับเณรที่หน้าโบสถ์ที่บริเวณโบสถ์ หรือสนทนาปราศรัยกับญาติโยมเวลามาทำงานที่วัด ก็บอกว่าผมเกษียณอายุแล้วผมจะมาบวชผมจะมาปฏิบัติกับท่านทั้งหลาย แต่ที่ไหนได้ ยังไม่ทันเกษียณอายุเลย พระยามัจจุราชก็มาปลิดชีวิตไปเสียก่อน  เหตุนั้นแหละ หากว่าผู้ใดประมาท อาจเสียทีพระยามัจจุราช ไม่มีโอกาสบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลก็ได้ เหตุนั้น โบราณท่านจึงกล่าวเตือนไว้ว่า

เตรียม สร้างทางชอบไว้  หวังกุศลตัว สุขส่งเสริมผล เพิ่มให้ก่อน แต่มฤตยูดลปลิดชีพเชียวนา ตาย พรากจากโลกได้  สถิตด้าวแดนเกษม.

๒.เตรียมกายก่อนแต่ง เตรียมกายก่อนแต่งนี้ เราจะแต่งอะไร คือเราจะแต่งกายของเรานั่นแหละ ให้เป็นกายวิเวก แต่งจิตของเราให้เป็นจิตวิเวก การเตรียมกายก่อนแต่งนี้เราแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ
     ๑) การตกแต่งภายนอก ได้แก่ การตกแต่งด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณ รัตนะ ๗ ประการ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเพณีที่เขานิยมกัน อันนี้หลวงพ่อจะไม่บรรยาย จะบรรยายแต่ในแนวของธรรมะล้วนๆ เท่านั้น
     ๒) แต่งภายใน ได้แก่ แต่งด้วยธรรมะ คือเราเอาธรรมะมาเป็นเครื่องแต่งกาย เรียกว่าธรรมาภรณ์ อาภรณ์คือธรรมะเป็นเครื่องแต่งกายของเรา

คนเรานั้นเกิดขึ้นมา แม้จะมีกายงดงามสักเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าว่ากิริยามรรยาทยังไม่ดี ก็จะจัดว่าสวยแท้ งามจริงยังไม่ได้ เมื่อใด ร่างกายก็สวยด้วย กิริยามารยาทก็สวยด้วย จึงจะเป็นคนสวยแท้งามจริง

ผู้ใดมีธรรมะดังกล่าวมาแล้วนี้เป็นเครื่องประพฤติปฏิบัติผู้นั้นชื่อว่ามีธรรมะเป็นธรรมาภรณ์ มีอาภรณ์คือธรรมะเป็นเครื่องประดับกาย เมื่อผู้ใดมีธรรมะเป็นเครื่องประดับกายอย่างนี้ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีกายงาม มีกิริยามารยาทงาม

แต่ถ้าคนใดขาดธรรมะดังกล่าวมาแล้วนั้น คือไม่มีธรรมะดังกล่าวเป็นเครื่องปฏิบัติ เป็นเครื่องประดับร่างกายแล้ว ถึงเราจะแต่งตัวด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณ แก้วแหวน เงินทอง รัตนะ ๗ ประการ หรือจะมีเครื่องประดับที่เรียกว่ามหาลดาปสาธน์ มีทองคำถึง ๙ โกฏิก็ตาม ก็หาได้ชื่อว่าเป็นผู้มีรูปสวยไม่ ดังคำกลอนที่ท่านกล่าวไว้ว่า
     คนจะงาม งามน้ำใจ  ใช่ใบหน้า
     คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน
     คนจะแก่  แก่ความรู้  ใช่อยู่นาน
     คนจะรวย  รวยศีลทาน ใช่บ้านโต

เมื่อเราทั้งหลายแต่งกายได้แล้ว กายของเราก็จะเป็นกายวิเวก คือมีความสงัดกาย มีกายอันสงบ เมื่อกายเป็นกายวิเวกแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิ จิตใจของเราก็จะสะอาด สว่าง สงบ

การที่จะแต่งกายให้สงบนั้น เราต้องเอาธรรมะมาเป็นเครื่องแต่ง ธรรมะอะไรจะมาเป็นเครื่องแต่งกายกายของเราจึงจะงาม ธรรมะที่จะเป็นเครื่องแต่งกายนั้น ได้แก่ สุจริตธรรม คือ
     ๑) เราต้องเป็นผู้มีจิตประกอบไปด้วยเมตตาอารีย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เว้นจากปาณาติบาต ไม่ฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ประหัตประหารกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
     ๒) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยชอบ ตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ในทางสุจริต ไม่เลี้ยงชีวิตในทางผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ทำอทินนาทาน คือไม่ลักขโมยทรัพย์สมบัติของผู้อื่น เป็นต้น
     ๓) สทารสันโดษ ถ้าเป็นฆราวาสก็ยินดีในสามีภรรยาของตน ไม่ล่วงเกินภรรยาสามีผู้อื่น ไม่ทำชู้สู่สมกับสามีภรรยาของผู้อื่น และบุตรหญิงบุตรชายของผู้อื่นโดยทางที่ผิดจารีตประเพณี ถ้าเป็นพระเป็นเณร ก็ตั้งอกตั้งใจรักษาพรหมจรรย์ของตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสกาม วัตถุกาม
     ๔) สัจจะ คือความจริงใจ พูดแต่คำสัตย์คำจริง ไม่พูดโกหกให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ทำด้วยความจริงใจ คิดด้วยความจริงใจ เป็นสุจริตธรรม
     ๕) อัปปมาทธรรม เว้นจากสิ่งที่ให้โทษแก่ร่างกาย เช่น เว้นจากการสูบบุหรี่ กัญชา เฮโรอีน ดมกาว เหล่านี้เป็นต้น ตลอดถึงการเว้นจากการประพฤติชั่วโดยประการต่างๆ คือเราระวังใจของเรา ไม่ให้กำหนัด ไม่ให้ขัดเคือง ไม่ให้หลง ไม่ให้มัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง มัวเมา

เป็นผู้ไม่ประมาทในการละอกุศล บำเพ็ญกุศล เป็นผู้ไม่ประมาทในการละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ประมาทในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี พยามสร้างสติของตนให้สมบูรณ์ ไม่ให้ตกไปอยู่ภายใต้ของความประมาท พยายามรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญภาวนา เป็นต้น อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นี้เรียกว่า เรามีธรรมะเป็นเครื่องแต่งกาย

สำหรับการพูดก็เหมือนกัน เราพูดแต่คำสัตย์คำจริง ชักนำให้คนทั้งหลายมีความสามัคคี ปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน แตกร้าวสามัคคีกัน พูดแต่วาจาที่ไพเราะเสนาะหู ทำให้ผู้ฟังดูดดื่มไว้ในจิตในใจของตน ไม่พูดคำหยาบ อันเป็นคำที่ฟังแล้วไม่รื่นหู ทำให้ผู้ฟังนั้นเจ็บอกเจ็บใจ เราพูดแต่วาจาที่ประกอบไปด้วยประโยชน์ ไม่พูดวาจาที่ไร้สาระไร้ประโยชน์

เมื่อใดเราประพฤติตามธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้เรียกว่าเป็นผู้มีธรรมะเป็นเครื่องแต่งกาย มีธรรมะเป็นธรรมาภรณ์ เป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกายของเราให้งามแล้ว เมื่อเรามีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวหรือเป็นเครื่องประพฤติปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วนี้ ย่อมได้อานิสงส์ถึง ๕ ประการ ได้แก่
     ๑) นวัชชพหุโล จะเป็นผู้ไม่มากไปด้วยโทษ
     ๒) นเวรพหุโล จะเป็นผู้ไม่มากไปด้วยเวร
     ๓) กิตติสัทโท ชื่อเสียงอันดีงาม ย่อมฟุ้งขจรไปทั่วทิศานุทิศ
     ๔) อสัมมุฬโห จะไม่เป็นผู้หลงตาย คือเวลาตายจะมีสติสัมปชัญญะ สามารถระลึกถึงบุญกุศลของตนได้
     ๕) สุคติ เมื่อตายแล้ว ก็จะไปสู่สุคติตามบุญญาธิการที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้

ผู้ใดที่เกิดมาแล้ว เป็นผู้ไม่มากไปด้วยโทษ เป็นผู้ไม่มากไปด้วยเวร ไปที่ไหนชื่อเสียงอันดีงาม ย่อมฟุ้งขจรไปในทิศานุทิศ เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วนี้ กายของผู้นั้นย่อมเป็นกายสงบ ซึ่งเรียกว่ากายวิเวก ผู้มีกายวิเวกชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมาภรณ์ประดับกาย ทำให้กายสวยสดงดงามไปด้วยธรรมะ เมื่อกายของเรางามแล้วอย่างนี้ ก็สามารถที่จะแต่งใจของเราได้ คือในลำดับต่อไปเราต้องแต่งใจของเรา

เราจะเอาอะไรมาแต่งใจของเรา ธรรมะที่เอามาแต่งใจหรือประดับใจให้ใจของเรางามนั้น ได้แก่ สมาธิ คือสมาธินี้เป็นธรรมาภรณ์เครื่องแต่งใจ เมื่อใดใจของเราเป็นสมาธิ แน่วแน่อยู่ในองค์ธรรมอันเป็นอารมณ์ของสมถะและวิปัสสนาภาวนาแล้ว เมื่อนั้นก็สามารถข่มนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการลงได้

คำว่า นิวรณ์ธรรม แปลว่า ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี คือกั้นจิตไว้ไม่ให้ถึงคุณงามความดี มีทาน ศีล ภาวนา มรรค ผล นิพพาน เป็นต้น หรือกั้นศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพานไว้ ไม่ให้เข้ามาถึงตัวเรา

เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม นิวรณ์นี้ก็จะกั้นจิตของเราไว้ ไม่ให้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ ไม่ให้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ ไม่ให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ไม่ให้บรรลุอริยมรรคอริยผล เพราะฉะนั้น ท่านจึงจัดว่า นิวรณ์ คือธรรมอันเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี

นิวรณ์ นั้นมีอยู่ ๕ ประการ คือ
     ๑) กามฉันทะ พอใจรักใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนา
     ๒) พยาบาท ความไม่พอใจในอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำจิตใจของเรานี้ ให้เกิดโทมนัส ขัดใจ น้อยใจ แห้งผากใจ เกิดความคิดพยาบาท อาฆาต จองล้างจองผลาญผู้อื่น      ๓) ถีนมิทธะ ความที่จิตท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอนเซื่องซึม ไม่สามารถบำเพ็ญบุญกุศลได้ เวลาเจริญสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี ก็ไม่สามารถกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้กระฉับกระเฉงได้ จิตไม่สามารถที่จะจับอารมณ์ได้แม่นยำ
     ๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความที่จิตคิดฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปตามอารมณ์ และหงุดหงิดรำคาญใจ จิตจับอารมณ์ไม่มั่นคง จับอารมณ์โน้นบ้าง จับอารมณ์นี้บ้าง คิดไปร้อยแปดพันประการ
     ๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในปฏิปทาคือข้อปฏิบัติของตน เช่น มีความสงสัยในเรื่องบุญ เรื่องบาป หรือสงสัยในเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยในเรื่องนรก สวรรค์ พระนิพพาน ว่ามีจริงหรือไม่ เป็นต้น

เมื่อใด เรามีนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการนี้เป็นเครื่องกั้นจิตอยู่ เราก็ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณงามความดี แต่เมื่อใดข่มนิวรณ์ธรรมนี้ลงได้ ด้วยการเจริญสมถภาวนา จนทำให้จิตของเราเป็นอัปปนาสมาธิ แน่วแน่อยู่ในองค์ฌาน เมื่อนั้น จิตของเราก็เป็นจิตวิเวก คือสงัดจิต จิตสงบจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เมื่อใดจิตสงบจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการแล้ว ก็เป็นจิตที่สว่าง สะอาด สงบเย็น

เหตุนั้น การที่เรามีสุจริตธรรมและสมาธิเป็นเครื่องแต่งกายแต่งใจอย่างนี้ท่าน จึงเรียกว่าเตรียมกายก่อนแต่ง
๓. เตรียมน้ำก่อนแล้ง  แยกเป็น ๒ ประการ คือ
     ๑) น้ำภายนอก ได้แก่ การที่เราเตรียมน้ำที่ใช้ในการงาน สมมุติว่าเราจะทำนา ทำสวน ทำไร่ เราต้องเป็นผู้ที่ฉลาดว่า ขณะนี้มีน้ำมากเกินไป สมควรที่จะไขน้ำออก เราก็ไขน้ำออก หรือในขณะนี้น้ำน้อยเกินไป ควรที่จะทดน้ำไว้ เราก็ทดน้ำไว้ เมื่อไรที่ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เป็นผู้ที่ฉลาด ก็ย่อมได้พืชพันธุ์ธัญญาหารตามความประสงค์
     ๒) น้ำภายใน แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ
       ประเภทที่ ๑ น้ำใจ คือต้องเป็นผู้มีใจงาม เช่นว่าน้ำใจระหว่างเรากับมิตรอย่างนี้ เราทำอย่างไรจึงมีมิตรมีสหายมาก ไปที่ไหนจึงจะมีความสะดวกสบาย มีพรรคมีพวก ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องว้าเหว่ เราก็ต้องเป็นผู้หนักในปฏิสันถาร หมายความว่า เราต้องเอาใจใส่ในการต้อนรับญาติพี่น้อง แขกไปใครมา ด้วยอามิส หมาก พลู ข้าวน้ำ เป็นต้น ให้ได้รับความอบอุ่นในการไปมาหาสู่ การปฏิสันถารกันด้วยธรรมะ คือพูดแนะนำตักเตือนกัน ให้รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ อย่างนี้เรียกว่าเราหนักในปฏิสันถาร เมื่อใดเราหนักในปฏิสันถารแล้ว ก็เรียกว่าเราเป็นผู้มีใจงาม

       ประเภทที่ ๒ น้ำคือบุญกุศล ก็แยกออกเป็น ๔ คือ
       ๑) กามาวจรบุญ คือบุญที่ทำแล้วพาให้ท่องเที่ยวอยู่ในกามภพ
       ๒) รูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาให้ท่องเที่ยวอยู่ในรูปภพ
       ๓) อรูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาให้ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปภพ
       ๔) โลกุตตระบุญ คือบุญที่ทำแล้วให้ถึงซึ่งมรรค ผล และพระนิพพาน

เพราะคนเรานั้น อาจจะได้รับความทุกข์ เป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว เกิดขึ้นมาแล้วแทนที่จะได้รับความสุขความเจริญ ก็ไม่ได้รับความสุขความเจริญ ดังเราทั้งหลายเห็นอยู่ทุกวันนี้

บางคนเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นคนมั่งมีศรีสุข เป็นพระราชา มหาราชา เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช เป็นเศรษฐีกุฎุมพีมีทรัพย์สมบัติมาก แต่บางคนเกิดขึ้นมาแล้วยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง บางคนเกิดขึ้นมาแล้ว มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืนไม่ตายง่าย บางคนเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นคนง่อยเปลี้ยพิกลพิการต่างๆ เป็นต้น อันนี้ก็แสดงว่า เมื่อก่อนโน้นเขาเป็นคนประมาทไม่ได้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลไว้

เหตุนั้นแหละ การที่เราทั้งหลายพากันเวียนว่ายอยู่ในมหรรณพภพสงสารนี้ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีน้ำคือบุญกุศลนี้ไว้ให้เพียบพูนสมบูรณ์ เมื่อจุติแล้วจะได้ไม่ไปสู่ภพที่เป็นทุกข์ แต่น้ำภายในคือบุญกุศลดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็แล้งได้เหมือนกัน หมดได้เหมือนกัน เหตุนั้น ท่านจึงให้เตรียมน้ำก่อนแล้งนี้ หมายความว่า เมื่อใดเราบำเพ็ญบุญกุศลทั้ง ๔ ประเภทนั้น ให้สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา อย่าให้เสื่อมสิ้นไป เช่น
     ๑) กามาวจรบุญ อย่างนี้เราจะทำอย่างไร กามาวจรบุญจึงจะสมบูรณ์ เราก็พยายามบำเพ็ญกามาวจรบุญเหล่านั้นให้เต็มเปี่ยมขึ้นมาในขันธสันดาน แล้วก็พยายามรักษากามาวจรบุญนั้นให้คงอยู่ ให้เต็มอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเรารักษาน้ำโดยที่เราต้องตักไว้ใส่ตุ่มให้เต็มอยู่ตลอดเวลา
     ๒) รูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาไปเกิดในรูปภพ
     ๓) อรูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาไปเกิดในอรูปภพ

บุญทั้ง ๒ ประเภทนี้ยิ่งเสื่อมเร็ว ยิ่งแห้งเร็วยิ่งหมดเร็ว ที่ว่าเสื่อมเร็ว แห้งเร็ว หมดเร็ว ในที่นี้ สมมติว่าพวกเราทั้งหลายบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ จนสามารถได้สมาธิ ได้ฌาน เมื่อเราได้สมาธิได้ฌานแล้วเราไม่รักษาไว้ไม่พยายามเข้าสมาธิ ไม่พยายามเข้าฌาน ไม่สังวร ไม่สำรวม ไม่ระวัง ปล่อยจิตปล่อยใจไปกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ปล่อยจิตปล่อยใจให้เป็นไปตามอำนาจของอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์

เมื่อใดเราขาดความสำรวมระวัง ฌานของเราก็เสื่อม เมื่อก่อนโน้น เราสามารถเข้าสมาธิได้ ทั้งรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง เราสามารถเข้าได้ แต่เมื่อเราประมาทดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าฌานได้ เหตุนั้น เมื่อเราได้สมาธิ ได้ฌานแล้ว ก็พยายามรักษาฌานนั้นไว้ อย่าให้เสื่อม ก็เรียกว่าเตรียมน้ำก่อนแล้งเหมือนกัน

     ๔) โลกุตตระบุญ นี้ก็น้อยลงไปหมดลงไปได้เหมือนกัน สมมุติว่าเราได้สั่งสมอบรมบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน จนสามารถ(เพียงพอ)ที่จะทำให้บรรลุหรือสำเร็จเป็นพระอรหันต์(ในปัจจุบัน)ได้ แต่เราก็ไม่รีบบำเพ็ญเสียในขณะที่ยังหนุ่มยังแน่น ยังอยู่ในปฐมวัย ต่อเมื่อเราแก่แล้วจึงมาบำเพ็ญ แทนที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างมากก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จเลย  เพราะเหตุไร  เพราะเหตุว่า คนเฒ่าคนแก่สติไม่สมบูรณ์ สติฟั่นเฟือน กำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้โดยสมบูรณ์ เหตุนั้น บุญกุศลที่เราสั่งสมอบรมไว้ แม้สมควรจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ถึงคราวแก่มีอายุ ๗๐-๘๐ ปีแล้วจึงมาเจริญพระกัมมัฏฐาน จึงไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ อย่างมากที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเท่านั้น หรือว่า ถ้าเราได้บำเพ็ญในขณะที่ยังเป็นหนุ่ม ยังเป็นวัยกลางคนอย่างนี้ ก็สามารถที่จะได้บรรลุเป็นอนาคามี ถ้าแก่ขึ้นไปหน่อยก็ให้สำเร็จเพียงสกทาคามี เมื่อแก่ถึงที่แล้วจึงจะมาบำเพ็ญ ก็ให้สำเร็จเพียงพระโสดาบันเท่านั้น หรือหากว่า แก่จนสติฟั่นเฟือนแล้วจึงจะมาบำเพ็ญ ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลใดๆ ได้เลย

เหตุนั้น จึงสรุปได้ว่า บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นกามาวจรบุญก็ดี ที่เป็นรูปาวจรบุญก็ดี ที่เป็นอรูปาวจรบุญก็ดี ที่เป็นโลกุตตรบุญก็ดี มีโอกาสเสื่อมคุณภาพไปได้ หมดไปได้เหมือนกัน เหตุนั้น ก็ขอให้พยายามรักษาสมาธิหรือฌานที่ได้แล้ว หมั่นเจริญบ่อยๆ

เมื่อเราจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว บุญกุศลเหล่านี้ก็จะเป็นยานแก้วนำเราไปสู่สุคติภพ ตามบุญญาธิการที่เราสั่งสมอบรมไว้ ก็การที่เราตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลไว้ให้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์อย่างนี้แหละ เรียกว่าเตรียมน้ำก่อนแล้ง ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
     อันบุญกรรม ทำไว้ ทีละน้อย
     แต่ทำบ่อย ค่อยเพิ่ม เติมกุศล
     เหมือนตุ่มน้ำ เปิดหงาย รับสายชล
     ย่อมเต็มล้น เหมือนอุทก ที่ตกลง

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป