[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 21:22:21 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 2 3 [4] 5 6 7   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แสงสว่างทางปฏิบัติ  (อ่าน 44004 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.132 Chrome 63.0.3239.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #60 เมื่อ: 09 กุมภาพันธ์ 2561 09:31:58 »




สมาธิสัมโพชฌงค์

วันนี้ จะน้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สมาธิสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

สมาธิสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือสมาธิ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรม นอกจากจะอาศัยธรรมะอย่างอื่นเป็นเครื่องประกอบแล้ว ยังต้องอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐาน เป็นเครื่องรองรับ จึงจะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เพราะว่าสมาธินั้นเป็นองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ คือถ้าไม่มีสมาธิแล้ว ปัญญาก็ไม่เกิด สมาบัติ อริยมรรค อริยผล ก็จะไม่เกิด

เพราะว่า สมาบัติจะเกิดได้ก็ต้องมีจิตเป็นอัปปนาสมาธิ ทีนี้ อัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นในลำดับแห่งฌานชวนะวิถี สมาธิที่ได้ก็เป็นฌานเป็นสมาบัติไป แต่ถ้าหากว่าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับแห่งมัคควิถีวิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นอริยมรรคอริยผล เหตุนี้ สมาธินี้จึงเป็นองค์สำคัญแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมซึ่งเราจะขาดเสียมิได้อีกประการหนึ่ง

คำว่า สมาธิ นั้น แปลและหมายความได้ดังนี้ คือ

๑. สมาธิ แปลว่า ทรงจิตไว้ชอบ หมายความว่า ทรงจิตไว้ รักษาจิตไว้ ให้อยู่กับอารมณ์คือรูปนาม ไม่ให้เผลอ เช่น ในเวลาเดินจงกรม ให้จิตของเราอยู่กับอาการขวาย่างซ้ายย่าง ในเวลานั่ง ให้จิตของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบ เป็นต้น

๒. สมาธิ แปลว่า ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หมายความว่า ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑) บัญญัติอารมณ์ ได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ เป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์สมถกัมมัฏฐาน ผู้ที่เจริญสมถกัมมัฏฐานก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกัมมัฏฐานนั้นๆ ตามอัธยาศัย เช่น เราเพ่งดิน ก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์คือดินนั้น แล้วก็บริกรรมว่า ปฐวีๆ ดินๆ เป็นต้น

๒) ปรมัตถ์อารมณ์ ได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ เป็นต้น ย่อให้สั้นคือรูปกับนาม ย่อลงมาในเวลาปฏิบัติ ได้แก่ อาการพองอาการยุบ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาเอารูปนามเป็นอารมณ์ ก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์คือรูปนาม

๓. สมาธิ แปลว่า กำลัง เช่น ในหมวดพละ ๕ ท่านวางหลักไว้ว่า สมาธิพละ กำลังคือสมาธิ หมายความว่า สมาธิเป็นกำลังทำให้ใจกล้าหาญในเวลาปฏิบัติธรรม เพื่อกำจัดกิเลส มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น

๔. สมาธิ แปลว่า ธรรมจักร หมายความว่า ล้อ คือพระธรรมสำหรับนำบุคคลไปสู่พรหมโลกและพระนิพพาน ดุจเครื่องจักรเครื่องยนต์ของเครื่องบิน เรือไฟ รถยนต์ รถไฟ สำหรับนำคนไปสู่ที่ตนปรารถนา เช่น ไปสู่ชนบท ตำบล อำเภอ จังหวัดต่างๆ ตลอดจนไปสู่เมืองนอก ไปรอบโลก ฉันใด สมาธิก็ฉันนั้น เป็นบาทของวิปัสสนา สำหรับนำพาผู้ปฏิบัติให้รีบลัดตัดตรงไปสู่พระนิพพาน

๕. สมาธิ แปลว่า องค์แห่งปัญญา หมายความว่า ธรรมคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันเป็นองค์คุณแห่งการตรัสรู้ ถ้าขาดองค์ประกอบคือสมาธิเสีย ผู้ปฏิบัติธรรมก็ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมวิเศษได้เป็นแน่นอน

๖. สมาธิ แปลว่า ยังจิตและเจตสิกให้ตั้งมั่น หมายความว่า จิตก็ดี เจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับจิตก็ดี จะตั้งอยู่ได้ต้องอาศัยสมาธิเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสมาธิมีหน้าที่ช่วยประคับประคองจิตและเจตสิกให้มั่นคง ดำรงอยู่ในรูปนาม มิให้เผลอ

สมาธิ นั้น มี ๓ อย่างก็มี มี ๔ อย่างก็มี สมาธิมี ๓ อย่าง คือ

๑. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วครู่ชั่วขณะ เช่น เวลาเดินจงกรม ภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือ พุทโธๆ สติกับจิตจับอยู่ที่เท้าขวาเท้าซ้าย ไม่เผลอ เรียกว่าเกิดสมาธิขึ้นแล้ว สมาธิชนิดนี้จัดเป็นขณิกสมาธิ สมาธิอย่างนี้ใช้สำหรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนดังพวกเราทั้งหลายเจริญอยู่ในขณะนี้ จึงจะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

๒. อุปจารสมาธิ สมาธิใกล้จะเป็นฌาน เฉียดฌานเข้าไป ทำให้ใจเกือบสงบแน่วแน่ไป สมาธิอย่างนี้ ผู้เจริญสมถะนั้นต้องการมาก เพราะว่าผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานจะได้ฌาน ต้องอาศัยอุปจารสมาธินี้

๓. อัปปนาสมาธิ สมาธิอันแน่วแน่ คือถึงความสงบเงียบ ถ้าหากว่าเกิดในลำดับของฌานชวนวิถี ก็เป็นฌานเป็นสมาบัติไป ถ้าหากว่าเกิดในลำดับของมัคควิถี ก็เป็นมัคคจิตผลจิตติดต่อกัน ถ้าหากว่าเกิดในลำดับของผลวิถี ก็เป็นผลสมาบัติตลอดไป

ส่วนสมาธิมี ๔ อย่างนั้น คือ

๑. ขณิกสมาธิ

๒. ปริกัมมสมาธิ (บริกรรมสมาธิ)

๓. อุปจารสมาธิ

๔. อัปปนาสมาธิ
 

บริกรรมสมาธิ นั้น เช่น ภาวนาหรือบริกรรมกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งมีดินเป็นต้น ก็บริกรรมว่า ปฐวีๆ ดินๆ ดังนี้เป็นต้น สมาธิที่เกิดขึ้นเพราะบริกรรมอย่างนี้ เรียกว่า บริกรรมสมาธิ

สมาธิ นั้น โดยองค์ธรรม ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก

สมาธิ มีลักษณะดังนี้ คือ

๑. อวิกฺเขปนลกฺขณา มีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ อธิบายว่า ฟุ้ง คือจิตหนีไปจับอารมณ์ข้างนอก ซ่าน คือจิตของเราจับอารมณ์หลายๆอย่าง ไม่ยอมหยุดอยู่หรือนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว

อุปมาเหมือนกันกับฝุ่นในเวลารถวิ่ง ฟุ้งขึ้นไปแรงๆ ฟุ้งขึ้นไปตรงๆ แล้วแผ่ซ่านปลิวกระจัดกระจายไป ดังนั้นท่านจึงไขข้อความต่อไปว่า

๒. อวิสารลกฺขณา สมาธิมีความไม่กระจัดกระจายเป็นลักษณะ คือถ้ามีสมาธิแล้ว ความฟุ้งซ่านก็ไม่มี ความกระจัดกระจายก็ไม่มี ทั้งนี้เพราะอำนาจของสมาธิ

๓. สหชาตานํ สมฺปิณฺฑนรสา สมาธิมีการประมวลมาซึ่งสหชาตธรรมที่เกิดร่วมกันเป็นกิจ อนึ่ง ในเวลาบำเพ็ญมหากุศลนั้น ย่อมมีเจตสิกเกิดขึ้นประกอบหลายดวง เจตสิกเหล่านั้นย่อมรวมกันเป็นประหนึ่งว่าเป็นอันเดียวกัน คือสมาธิแน่วแน่ได้ดี

๔. อุปสมาปจฺจุปฏฺฐานา สมาธิมีความสงบระงับเป็นผลปรากฏ หมายความว่า จิต เจตสิกสงบดี ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระสับกระส่าย ไม่กระวนกระวาย มีความสงบเงียบอยู่กับอารมณ์มีรูปนาม เป็นต้น

๕. สุขปทฏฺฐานา มีความสุขเป็นเหตุใกล้ชิด หมายความว่า สมาธิจะเกิดได้ต้องมีความสุขกายสบายใจก่อน คือเมื่อร่างกายเป็นสุขสบายดีแล้ว สมาธิเกิดได้ง่ายเกิดได้เร็ว

สมาธินั้นจะเกิดได้ต้องอาศัยเหตุ ๑๓ ประการ คือ

๑. โยนิโสมนสิกาโร การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย คือให้ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม เช่น เวลานั่ง ให้สติกับจิตจับอยู่ที่อาการพองอาการยุบ เริ่มตั้งแต่ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ ไม่ให้เผลอ เรียกว่าทำให้ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม

๒. พหุลีกาโร ทำให้มากๆ คือทำให้บ่อยๆ ทำซ้ำๆซากๆ ทำกลับไปกลับมาอยู่เสมอ

๓. วตฺถุวิสทกิริยตา ทำวัตถุภายนอกให้สะอาด เช่น ปัดกวาดที่อยู่ ฟอกผ้านุ่งผ้าห่มให้สะอาด และทำวัตถุภายในให้สะอาด เช่น อาบน้ำ ฟอกสบู่ ชำระล้างเหงื่อไคลให้หมดจดสะอาดก่อนแล้วจึงทำกัมมัฏฐาน เดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็จะได้สมาธิเร็ว

๔. อินฺทริยสมตฺตปฏิปาทนา ปรับปรุงอินทรีย์ ๕ ให้เท่ากัน ให้สม่ำเสมอกัน คือให้ศรัทธากับปัญญาเท่าๆกัน วิริยะกับสมาธิเท่าๆกัน ส่วนสตินั้นให้อยู่กลางๆ ดุจนายสารถีควบม้าคู่ฉะนั้น

๕. นิมิตฺตกุสลตา ฉลาดในการแก้นิมิต คือเวลานั่งไปเกิดนิมิตต่างๆขึ้น บางครั้งเห็นพระพุทธรูป เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร สถานที่ เห็นมนุษย์ชายหญิง ตลอดถึงเห็นภูตผีปีศาจ เห็นแสงสว่าง เหล่านี้เป็นต้น เราต้องรีบกำหนดทันทีว่า เห็นหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ คำใดคำหนึ่ง จนกว่านิมิตนั้นๆจะหายไป

ถ้าหายไปช้า พึงรู้เถิดว่า สติ สมาธิ ปัญญา ยังอ่อนอยู่ ควรลุกขึ้นไปเดินจงกรมใหม่อีกสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งกำหนดต่อไป สมาธิของเราจะดีขึ้น ญาณก็จะดีขึ้นโดยลำดับๆ

๖. สมเย จิตฺตสฺส ปคฺคณฺหนตา ยกจิตขึ้นในสมัยที่ควรยก เช่น สมัยใดจิตหดหู่ท้อถอยเพราะความเพียรหย่อนเกินไป สมัยนั้น ควรยกจิตขึ้นโดยยังธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ และอุเปกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น

๗. สมเย จิตฺตสฺส นิคฺคณฺหนตา ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม คือในสมัยใดจิตของเราฟุ้งซ่านมาก คิดมาก เพราะมีความเพียรเกินไป สมัยนั้นต้องข่มจิตไว้ โดยยังปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเปกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น โดยกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้สั้นๆ ลงไป เหลือแต่อาการพองอาการยุบ หรือยังไม่หายฟุ้งซ่านก็ให้กำหนดจิตว่า คิดหนอๆ ร่ำไป ก็จะทำให้สมาธิดีขึ้น

๘. สมเย สมปหํสนตา สมัยใด จิตของเราหมดความแช่มชื่นยินดี หมดความเพลิดเพลิน เพราะปัญญาน้อย หรือเพราะไม่ได้ความสุขอันเกิดจากความสงบ หรือไม่ได้ผลสมกับความตั้งใจ สมัยนั้น พึงยังจิตของเราให้สลดสังเวช โดยพิจารณาสังเวควัตถุ คือวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความสลดสังเวชใจ ๘ ประการ คือ ชาติ ๑ ชรา ๑ พยาธิ ๑ มรณะ ๑ ทุกข์ในอบายภูมิ ๑ วัฏฏมูลกทุกข์ คือทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีต ๑ ทุกข์มีอดีตเป็นมูลในอนาคต ๑ ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบัน ๑ ให้ท่านทั้งหลายพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ ประการนี้ ก็จะทำให้จิตของเราเกิดสลดสังเวชขึ้นมา และจิตก็จะอาจหาญในการทำกัมมัฏฐานต่อไป

อนึ่ง แม้การยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นโดยอนุสรณ์ย้อนระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยคือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ก็ดี หรือระลึกถึงคุณงามความดีบารมีธรรมที่ตนได้สั่งสมอบรมมาก็ดี ก็จะสามารถยังจิตของเราให้ร่าเริงขึ้น มีอุตสาหะพยายามในการเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไป

๙. สมเย อชฺฌุเปกฺขนตา วางเฉยในสมัยที่ควรวางเฉย คือ ในสมัยใด จิตอาศัยสัมมาทิฏฐิ ไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน แช่มชื่น เป็นไปสม่ำเสมอ ดำเนินไปสู่ทางแห่งความสงบ สมัยนั้น โยคีบุคคลไม่ต้องขวนขวายพยายามในการยกจิต ข่มจิต หรือยังจิตให้ร่าเริง เปรียบเหมือนนายสารถีวางเฉยในม้าคู่ที่วิ่งไปอย่างสม่ำเสมอบนถนนเรียบฉะนั้น เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ สมาธิก็จะเกิดขึ้นได้เร็ว

๑๐. อสมาหิตปุคฺคลปริวชฺชนตา เว้นบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น คือเว้นให้ห่างไกลจากบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่านไม่ปฏิบัติให้ถึงขั้นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ

๑๑. สมาหิตปุคฺคลเสวนตา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ

๑๒. ฌานวิโมกฺขปจฺจเวกฺขณตา พิจารณาฌานและวิโมกข์

ฌาน นั้นมี ๒ อย่าง คือ

๑) อารัมมณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ เป็นต้น เป็นอารมณ์ จนเกิดอัปปนาสมาธิเกิดฌานขึ้นมา ด้วยวิธีเจริญกัมมัฏฐานอย่างนี้ ฌานนั้นเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน

๒) ลักขณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งรูปนามจนเห็นพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ เหมือนกันกับพวกเราเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ถ้าเราเจริญพระกัมมัฏฐานโดยเพ่งอาการพองอาการยุบ เพ่งเวทนา เพ่งจิต เพ่งธรรมเป็นอารมณ์ เกิดอัปปนาสมาธิ สำเร็จฌานขึ้นมา ฌานเช่นนี้เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน

ส่วน วิโมกข์ นั้นมี ๓ อย่างคือ

๑) อนิมิตตวิโมกข์

๒) อัปปณิหิตวิโมกข์

๓) สุญญตวิโมกข์

วิโมกข์ทั้ง ๓ อย่างนี้ ได้ชื่อต่างๆกันเพราะอำนาจพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงจะได้บรรลุวิโมกข์ คือ

๑) ถ้าผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน พอถึงอนุโลมญาณแล้วอนิจจังปรากฏชัด วิโมกข์ของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข์ หรือ อนิมิตตนิพพาน แปลว่า พ้นแล้วหรือดับแล้วโดยหาอะไรเป็นนิมิตมิได้

๒) ถ้าทุกขังปรากฏชัด วิโมกข์ของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ หรือ อัปปณิหิตนิพพาน แปลว่า พ้นแล้วหรือดับแล้วโดยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ คือหาความโกรธความหลงเป็นที่ตั้งมิได้

๓) ถ้าอนัตตาปรากฏชัด วิโมกข์ของท่านผู้นั้น ชื่อว่า สุญญตวิโมกข์ หรือ สุญญตนิพพาน แปลว่า พ้นแล้วหรือดับแล้วโดยอาการว่างเปล่า คือว่างจากโลภะ โทสะ โมหะ นั่นเอง

๑๓. ตทธิมุตฺตตา น้อมใจไปตามอารมณ์นั้นๆ คือตั้งใจกำหนดไปตามกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา เป็นต้น ก็จะสามารถทำจิตของเราให้เป็นสมาธิเร็ว

เหตุทั้ง ๑๓ ข้อดังกล่าวมาแล้วนี้ เป็นเหตุให้สมาธิเกิดขึ้นได้โดยง่ายอย่างไม่ต้องสงสัย

อนึ่ง เมื่อจะกล่าวโดยย่อแล้วก็ได้แก่การกำหนดท้องพองท้องยุบนั่นเอง ถ้าท่านผู้ใดใช้สติกำหนดท้องพองท้องยุบแล้ว ท่านผู้นั้นชื่อว่ากำหนดถูกหมดทั้ง ๑๓ ข้อ เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจงพยายามเดินจงกรม นั่งสมาธิ กำหนดอาการพองอาการยุบติดต่อกันไปเถิด ไม่ช้าไม่นานญาณก็จะเกิดขึ้นโดยลำดับ ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญแก่กล้ายิ่งๆขึ้นไป จนสามารถให้ผู้นั้นรู้แจ้งแทงตลอดมรรค ผล นิพพานได้อย่างแน่นอน

สมาธิ นั้น ถ้ายังไม่เกิดเราก็ต้องทำให้เกิด ถ้าเกิดแล้วก็พยายามรักษาไว้ให้ดี เพราะว่าสมาธิมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น

๑. ทำใจของเราให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ

๒. ทำให้ญาณขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง เจริญขึ้น

๓. ทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เราต้องต่อสู้อุปสรรคนานัปการที่จะเกิดขึ้น ไหนจะต้องต่อสู้กับความเมื่อยปวด ไหนจะต้องต่อสู้กับความเบื่อหน่าย ขี้เกียจ ไหนจะต้องต่อสู้กับความกลุ้มใจ ไหนจะต้องต่อสู้กับความคิดฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์นานาประการ คือจะต้องมีอารมณ์ที่ไม่พอใจอยู่หลายสิ่งหลายประการเกิดขึ้นดังนี้

หากว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ใจไม่เข้มแข็งแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้เลย แต่ถ้าท่านผู้ใดผู้มีความรักใคร่ ความประสงค์ ความปรารถนา ความมุ่งมั่นหวังที่จะเอาบรรลุมรรคผลนิพพานให้ได้ ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆที่เกิดขึ้น โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตายก็ยอมตาย แต่จะไม่ยอมเลิกละการประพฤติปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงว่าจะตายในวินาทีนี้ นาทีนี้ ชั่วโมงนี้ หรือวันนี้ เราก็ยอมตาย ไม่ยอมพ่ายแพ้อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น จะฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น จนสามารถได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เหมือนภิกษุใจเพชร

มีเรื่องเล่าไว้ในพระไตรปิฎกว่า มีพระภิกษุจำนวน ๓๐ รูป เรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดา แล้วยกพวกออกป่าเพื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อไปถึงป่าแล้วก็ตั้งกติกาสัญญากันว่า พวกเราทั้งหลายได้เรียนพระกัมมัฏฐานมาจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด จงอุตสาหะพยายามตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน อย่าพูดอย่าคุยกัน จงอยู่แห่งละรูป ๑๕ วันเรามาพบกันที่นี้ครั้งหนึ่งเพื่อลงอุโบสถ

เมื่อตั้งกติกาสัญญากันแล้ว ต่างรูปก็หลีกกันไปอยู่ที่อันเป็นสัปปายะเฉพาะตนๆ พยายามเดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานไปโดยไม่ประมาท แต่บังเอิญในป่านั้นมีเจ้าป่าคือเสือใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง ในเวลาเช้าๆ เมื่อพระภิกษุทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรม มาตลอดคืน จวนสว่างก็เอนกายลงนอนเพื่อเป็นการพักผ่อน

ในขณะที่พระภิกษุกำลังหลับไปด้วยความเพลียนั้น เสือใหญ่ตัวนั้นก็ย่องเข้ามา จับเอาพระภิกษุเหล่านั้นไปกินวันละรูปๆทุกวัน แต่พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจะได้ปริปากร้องบอกเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายก็หามิได้ เพราะเหตุไร เพราะว่ารักษาสัจจะที่ได้ให้แก่กันไว้แล้ว ดังนั้นจึงถูกเสือคาบไปกินวันละรูป

เมื่อครบ ๑๕ วันแล้ว พวกภิกษุที่เหลืออยู่ก็รวมกัน ณ ที่นัดหมายเพื่อจะลงอุโบสถ แต่เมื่อมาถึงแล้วเห็นมีเพียง ๑๕ รูปเท่านั้น ถามรูปไหนๆก็ไม่รู้ว่าอีก ๑๕ รูปนั้นหายไปไหน รูปที่เป็นเถระในสงฆ์จึงพูดขึ้นว่า ท่านขอรับ เรื่องนี้เป็นเหตุให้ผมเกิดความสงสัยยิ่งนัก ชะรอยในป่าใหญ่แห่งนี้จะมีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่พวกเราเป็นแน่แท้ ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากว่ามีอันตรายใดๆเกิดขึ้นแก่พวกเรา ขอจงให้ร้องบอกกันเพื่อจะได้ช่วยเหลือ เมื่อปรึกษาหารือกันแล้วก็ลงอุโบสถ

หลังจากเสร็จการลงอุโบสถแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันไปเพื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และในวันนั้นเอง เวลาจวนสว่าง พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาตลอดเกือบทั้งคืนจึงได้เอนกายลงเพื่อพักผ่อน ในขณะนั้นเอง เสือใหญ่ตัวนั้นก็ย่องเข้ามาคาบเอาพระภิกษุรูปนั้นไปเพื่อเป็นอาหาร ขณะที่ท่านรู้สึกตัวขึ้นมาก็อยู่ในปากเสือแล้ว จึงได้ร้องบอกเพื่อนสหธรรมิกว่า ท่านทั้งหลายช่วยผมด้วย เสือจะคาบผมไปกินเสียแล้ว

พอพระสงฆ์ทั้งหลายได้ยินเช่นนั้น บางองค์ก็ได้คบเพลิง บางองค์ก็ได้ท่อนไม้ได้ก้อนดินวิ่งไล่เสือไป แต่แทนที่เสือตัวนั้นจะได้วางภิกษุรูปนั้นลงกลับคาบแน่นกว่าเก่า แล้วก็วิ่งไปตามลำดับๆ ภิกษุทั้งหลายก็ได้ติดตามไปไม่ลดละ จนไปถึงเชิงเขาก็ไม่สามารถตามขึ้นไปบนภูเขาได้ หมดความสามารถที่จะช่วยได้ และขณะนั้น เสือที่คาบภิกษุไปถึงยอดเขาแล้วก็ได้วางภิกษุไว้บนเนินหิน

พวกภิกษุที่อยู่เชิงเขาจึงร้องบอกขึ้นไปว่า ท่านขอรับ ขอท่านอย่าได้น้อยใจ อย่าได้เสียใจว่า พวกผมทั้งหลายไม่ช่วยเหลือ พวกผมทั้งหลายตามมาช่วยเหลือจนหมดความสามารถแล้ว บัดนี้ไม่สามารถตามไปช่วยได้ เหตุนั้นขอให้ท่านคิดว่า พวกเราทั้งหลายได้เรียนกัมมัฏฐานจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอท่านจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด พระภิกษุรูปที่ถูกเสือคาบไปกินก็ได้สติขึ้นมา จึงยึดเอาพระกัมมัฏฐานในส่วนเวทนานุปัสสนานั้นเป็นอารมณ์

และในขณะนั้นเสือก็เริ่มกัดกินนิ้วเท้าของท่านเข้าไปๆ ท่านก็ตั้งใจใช้ความอดทนอย่างแรงกล้าเจริญพระกัมมัฏฐานกำหนดว่า เจ็บหนอๆ ทุกข์หนอๆ ปวดหนอๆ กำหนดไปๆ วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๑, ๒, ๓, ๔ เป็นต้นไป จนครบญาณทั้ง ๑๖ ก็พอดีกันกับเสือกัดกินท่านถึงข้อเท้าก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

เมื่อท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็ยังไม่ลดละความพยายาม เจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปอีก และเสือก็กัดกินท่านไปตามลำดับ ท่านก็กำหนดว่า เจ็บหนอๆ ทุกข์หนอๆไป วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นตามลำดับๆต่อไปอีก ตั้งแต่ญาณที่ ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ พอดีเสือกัดกินไปถึงหัวเข่าของท่านเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี

แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังไม่ลดละความพยายาม เป็นผู้มีความอดทนอย่างแรงกล้า มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นตั้งแต่ญาณที่ ๔ ตามลำดับไปจนถึงญาณที่ ๑๑ พอดีเสือกัดกินถึงเนื้อสะดือของท่านเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

แต่พระภิกษุใจสิงห์ใจเพชรอย่างท่านจะได้ด่วนมรณภาพในขณะนั้นก็หามิได้ ท่านยังเป็นผู้มีอธิวาสนขันติ ความอดกลั้นชนิดแรงกล้า ใช้สติสัมปชัญญะอุตสาหะพยายามเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างไม่ลดละ ถึงตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมทิ้งบทพระกัมมัฏฐาน กำหนดเวทนาว่า เจ็บหนอๆ ปวดหนอๆ ทุกข์หนอๆ วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ ไป

พอดีเสือกำลังจะกัดกินเนื้อหัวใจของท่านเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน เมื่อท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วท่านจึงได้พิจารณาศีลของท่านว่า

เรานี้เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย แต่เพราะเราประมาทไปนิดหนึ่งเท่านั้นจึงถูกเสือคาบมากิน แต่ช่างเถิด เรื่องนั้นแล้วก็แล้วไป แต่บัดนี้ บังเอิญเราได้พระกัมมัฏฐานในส่วนทุกขเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ จนสามารถยึดเอาพระอรหัตต์ไว้ได้ เมื่อท่านสรรเสริญคุณของพระอรหันต์อยู่ไปมา ท่านก็ปรินิพพาน

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความทุกข์ของเราที่ได้รับอยู่ในขณะนี้ ถึงจะมีร้อยเท่าพันเท่า หลวงพ่อคิดว่าคงไม่เท่าส่วนหนึ่งของพระภิกษุใจเพชรรูปนั้น เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลายที่ได้อุตสาหะพยายามละฆราวาสสมบัติ ละวัดวาอารามมาสู่สถานที่นี้ ก็เพื่อต้องการที่จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อให้ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน เพื่อยกฐานะของตนให้สูงขึ้น เพื่อต้องการที่จะนำตนไปสู่สุคติ มนุษย์ สวรรค์ พรหม พระนิพพาน ก็ขอให้เป็นผู้ไม่ประมาทเถิด

ต่อไปขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมของพวกเราทั้งหลายนี้ ถึงแม้เรามุ่งหวังที่จะเอาบรรลุมรรค ผล นิพพาน มุ่งหวังที่จะเอาโลกุตตรสมบัติมาเป็นของเราให้ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ย่อมมีอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติของเราเหมือนกัน

ส่วนวันนี้ จะนำอุปสรรคคือสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติมาแสดงแก่ท่านทั้งหลาย ๑๗ ประการ ให้ได้ทราบดังนี้

๑. อาวาสปลิโพธ ห่วงอาวาส คือ ห่วงวัดห่วงวา ห่วงสถานที่อยู่ของตน ก็เป็นสิ่งขัดขวางการปฏิบัติของเราเหมือนกัน

๒. ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ

๓. โภคปลิโพธ ห่วงทรัพย์สมบัติ

๔. กัมมปลิโพธ ห่วงการงาน

๕. โรคปลิโพธ ห่วงโรค คือหมายความว่า เกรงว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วย โรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่จะกำเริบ หรือว่าเจริญพระกัมมัฏฐานไป กลัวว่าจะล้มหายตายไป ชีวิตจะสิ้นไป

๖. อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกล

๗. คณปลิโพธ ห่วงหมู่ห่วงคณะ

๘. ญาติปลิโพธ ห่วงญาติ คือบางทีทำกัมมัฏฐานไปก็นึกถึงญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ผู้มีความสนิทสนมรักใคร่ อยากให้ท่านเหล่านั้นได้มีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติ

๙. คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน

๑๐. อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงฤทธิ์

๑๑. กัมมารามตา เวลาทำงานไม่มีสติ เช่น เวลานุ่งห่ม กวาดวิหารลานเจดีย์ ทำไปโดยไม่มีสติกำหนดให้ติดต่อกันไป

๑๒. นิททารามตา มัวนอน

๑๓. ภัสสารามตา มัวพูดคุยกับหมู่คณะ

๑๔. สังคณิการามตา มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ

๑๕. อคุตตทวารตา ไม่สำรวมทวารทั้ง ๖ ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส รู้ธรรมารมณ์ ก็ปล่อยให้เกิดชอบใจ ไม่ชอบใจ ดีใจ เสียใจ ก็เป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติ

๑๖. อโภชเนมัตตัญญุตา ไม่รู้จักประมาณในการฉันอาหาร

๑๗. จิตตัง วิมุตตัง นะ ปัจจเวกขติ ไม่พิจารณาจิต คือจิตของเรามีราคะ โทสะ โมหะ ก็ไม่รู้ว่ามีราคะ โทสะโมหะ เป็นต้น

ทั้ง ๑๗ ประการดังกล่าวมา เป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติไม่ให้ได้ผลตามที่เราต้องการ ดังนั้นจึงขอให้ท่านทั้งหลายพึงกำจัดเสีย เมื่อใดกำจัดได้แล้ว ก็จะปฏิบัติให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้

เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สมาธิสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 64.0.3282.186 Chrome 64.0.3282.186


ดูรายละเอียด
« ตอบ #61 เมื่อ: 26 กุมภาพันธ์ 2561 10:38:54 »



อุเปกขาสัมโพชฌงค์

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง อุเปกขาสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

อุเปกขาสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คืออุเบกขา หมายความว่า การที่เราทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ อุเปกขาสัมโพชฌงค์

หากว่าธรรมอย่างอื่นสมบูรณ์หมดทุกข้อ แต่เราขาดอุเปกขาสัมโพชฌงค์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็ไม่สามารถจะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เลย เหตุนั้น อุเปกขาสัมโพชฌงค์ จึงเป็นองค์สำคัญในการปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน

อุเบกขา แปลว่า ความวางเฉย หมายความว่า วางเฉยในรูปนาม โดยลักษณะ ๖ ประการ คือ

๑. ละความกลัว ละความยินดี มีใจเฉยอยู่กับรูปนาม

๒. ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ วางเฉยอยู่กับรูปนาม แต่มีสติมีสัมปชัญญะอยู่

๓. มีใจแน่วแน่อยู่กับการพิจารณารูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

๔. มีใจเป็นสมาธิแน่วแน่ได้นานๆ

๕. ยิ่งกำหนดรูปนามเท่าไหร่ ยิ่งละเอียดสุขุม ดุจคนร่อนแป้ง ยิ่งร่อนยิ่งละเอียด ฉะนั้น

๖. มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปทางอื่น อยู่กับรูปนาม อยู่กับพระไตรลักษณ์มากที่สุด

อุเบกขานั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. ฉฬงฺคุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของพระอรหันต์ คือความวางเฉยต่ออารมณ์ทั้ง ๖ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เมื่อกระทบกับอารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินดี และอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา

๒. พฺรหฺมวิหารุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาในพรหมวิหาร คือ การกระทำความเฉยๆในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นสุข และทั้งที่เป็นทุกข์

๓. โพชฺฌงฺคุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาในโพชฌงค์ คือความวางเฉยแต่สหชาตธรรมที่เกิดพร้อมกันในเวลาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้แก่ มีใจวางเฉยต่อรูปนาม พระไตรลักษณ์

๔. วิริยุเปกฺขา ได้แก่ ความวางเฉยของวิริยะ คือความเพียรที่พอดีๆ ความเพียรอย่างกลางๆ ในการปฏิบัติธรรม เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ความเพียรอย่างกลางในมรรคมีองค์ ๘

๕. สงฺขารุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำจิตให้เฉยๆต่อรูปนาม ภายหลังที่อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ เกิดแล้ว ต่อนั้นก็เป็นสังขารุเปกขาญาณ

๖. เวทนูเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาในเวทนา ๓ หรือเวทนา ๕ คือ ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา โทมนัสสเวทนา โสมนัสสเวทนา คือวางเฉยต่ออารมณ์ที่ตนเสวยอยู่

๗. วิปสฺสนูเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของวิปัสสนา คือความวางเฉยต่อวิปัสสนูปกิเลส หมายความว่า เมื่อท่านนักปฏิบัติธรรมเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเข้าเขตญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณอย่างแก่ แล้วเข้าเขตญาณที่ ๔ อย่างอ่อน

มีวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น ๑๐ อย่าง ได้แก่ โอภาส แสงสว่าง ๑ ปีติ ความอิ่มใจ ๑ ปัสสัทธิ ความสงบ ๑ สุข ความสบาย ๑ อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ๑ ปัคคาหะ ความเพียร ๑ อุปัฏฐานะ สติปรากฎชัด ๑ ญาณะ ความรู้ ๑ อุเปกขา ความวางเฉย ๑ นิกันติ ความใคร่ ๑ รวม ๑๐ อย่างนี้ วิปัสสนูปกิเลสอย่างที่ ๙ คือวิปัสสนูเปกขาในที่นี้

๘. ตตฺรมชฺฌตฺตุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก คือความทำจิตและเจตสิกให้สม่ำเสมอกันในกิจของตน ไม่มีการยิ่งหย่อน เช่น ทำอินทรีย์ ๕ ให้สม่ำเสมอกันเป็นต้น

๙. ฌานุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของท่านผู้ปฏิบัติธรรมที่ได้จตุตถฌาน คือความวางเฉยในสุข ไม่ยินดียินร้ายต่อสุข คำว่า สุข ในที่นี้ได้แก่ สุขเอกัคคตาของจตุตถฌาน

๑๐. ปริสุทฺธุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของปัญจมฌานลาภีบุคคล ทำความวางเฉยต่อความสุขของฌาน อุเบกขาดวงนี้ได้ในจิตที่เป็นปัญจมฌานเท่านั้น

อุเบกขานั้น มีลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐาน ดังนี้

จิตฺตเจตสิกานํ สมวาหิตลกฺขณา อุเบกขามีการทรงจิตเจตสิกไว้ให้เสมอภาคกัน คือทำให้จิตเจตสิกวางเฉยอยู่กับรูปนามเป็นลักษณะ

อูนาธิกตานิวารณรสา มีการห้ามความหย่อนและยิ่งของจิตและเจตสิกเป็นรส

มชฺฌตฺตปจฺจุปฏฺฐานา มีความวางเฉยของจิตและเจตสิกเป็นผลปรากฏ ดุจนายสารถีวางเฉยต่อม้าอาชาไนยที่วิ่งไปอย่างเรียบๆ ฉะนั้น

สมฺปยุตฺตปทฏฺฐานา มีสัมปยุตตธรรมที่ประกอบกันเป็นเหตุใกล้ชิด

เหตุให้เกิดอุเปกขาสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ๗ ประการ คือ

๑. โยนิโสมนสิกาโร ทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย คือให้ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม เช่น เวลาเดินจงกรม ให้กำหนดรู้ตั้งแต่เริ่มยก จนกระทั่งเหยียบลง เพียรมีสติสัมปชัญญะ รู้ทุกขณะ

๒. พหุลีกาโร พยายามทำให้มากๆ อย่าขี้เกียจ อย่าประมาท อย่าเล่น อย่าคุยกัน อย่าอ่านหนังสือดูหนังสือ ตั้งอกตั้งใจทำอย่างจริงๆ ทำอย่างเต็มที่ จนสุดความสามารถของตน

๓. สตฺตมชฺฌตฺตตา วางตนเป็นกลางในสัตว์โดยอาการ ๒ อย่างคือ

๑) กมฺมสฺสกตาปจฺจเวกฺขเณน ด้วยการพิจารณาซึ่งความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆตนอย่างนี้ว่า ท่านมาเพราะกรรมของท่าน และก็จะไปเพราะกรรมของท่านนั่นเอง แม้ผู้นี้เขาก็มาเพราะกรรมของเขา และก็จะไปเพราะกรรมของเขา จะมัวห่วงใยใคร

๒) นิสฺสตฺตปจฺจเวกฺขเณน พิจารณาโดยความไม่ใช่สัตว์บุคคลอย่างนี้ว่า ร่างกายนี้ เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมัวห่วงใยใคร

๔. สงฺขารมชฺฌตฺตตา วางตนเป็นกลางในสังขารโดยอาการ ๒ อย่าง คือ

๑) อสฺสามิกภาวปจฺจเวกฺขเณน ด้วยการพิจารณาโดยความเป็นของไม่มีเจ้าของอย่างนี้ว่า เครื่องนุ่งห่มนี้ จักเข้าถึงความมีสีเปลี่ยนแปลง และเข้าถึงความเป็นของเก่าโดยลำดับ ต่อไปจะเป็นผ้าเช็ดเท้า เป็นของที่บุคคลต้องเอาปลายเท้าเขี่ยทิ้งแน่นอน ก็ถ้าเจ้าของมีอยู่จริง ก็จะไม่พึงปล่อยให้ฉิบหายดังนี้

๒) ตาวกาลิกภาวปจฺจเวกฺขเณน ด้วยการพิจารณาถึงความเป็นของเป็นไปชั่วครู่ชั่วคราวเป็นไปชั่วขณะอย่างนี้ว่า เครื่องนุ่งห่มนี้เป็นของที่ไม่ยั่งยืน เป็นไปชั่วขณะ เป็นไปชั่วกาล เป็นไปชั่วครู่ เหมือนของยืมมาชั่วคราวฉะนั้น ในบริขารอื่นๆ มีบาตรเป็นต้น ก็ให้พิจารณาโดยทำนองเดียวกันนี้

๕. สตฺตสงฺขารเกลายนปุคฺคลปริวชฺชนตา เว้นจากบุคคลผู้ถือมั่นอุปาทานต่อสัตว์และสังขาร คือผู้ใด จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมยึดปิยชนมีบุตรธิดาเป็นต้น หรือศิษย์ของตนว่าเป็นของตนจริงๆ หรือบรรพชิตย่อมยึดเอาอันเตวาสิกและผู้ร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นต้น ว่าเป็นของตนจริงๆ ย่อมทำการงานต่างๆ ของชนเหล่านั้น มีการโกนผม เย็บผ้า ซักจีวร เป็นต้น ด้วยมือของตนแทบทุกอย่าง

เมื่อไม่เห็นสักครู่หนึ่งก็คิดว่า สามเณรองค์โน้นไปไหนหนอ ภิกษุรูปนั้นไปไหนหนอ แล้วแลดูข้างโน้นข้างนี้ เหมือนเนื้อตระหนกตกใจหนีศัตรูฉะนั้น ถึงแม้ผู้อื่นจะขอว่า ให้ท่านส่งสามเณรมาผมจะช่วยปลงผมให้ดังนี้ ก็ไม่ยอมให้เขาทำให้ พูดคัดค้านว่า ผมไม่ให้พวกท่านทำ พวกท่านจะลำบาก อันนี้เรียกว่า ผู้มีความเกาะเกี่ยวในสัตว์ มีอุปาทานยึดมั่นในสัตว์

ส่วนผู้ใดยึดถือเอาจีวร บาตร ถลกบาตร ไม้เท้า ตลอดถึงเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นว่าเป็นของตนจริงๆ ใครๆจะมาขอยืมสักครู่ก็ไม่ได้ คอยห้ามไว้ว่า อันนี้ฉันเอาทรัพย์ของฉันซื้อมา ยังไม่ได้ทันใช้สอย จักให้ท่านเอาไปใช้ได้อย่างไร ผู้นี้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเกาะเกี่ยวในสังขาร มีอุปาทานยึดมั่นในสังขาร ให้เว้นจากบุคคลผู้มีความยึดมั่นในสัตว์และสังขารเห็นปานนั้นเสีย ให้ห่างไกล

๖. สตฺตสงฺขารมชฺฌตฺตปุคฺคลเสวนตา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขารดังกล่าวมาแล้ว

๗. ตทธิมุตฺตตา น้อมใจไปในอิริยาบถทั้ง ๔ และทุกๆอารมณ์ที่ตนกำหนด เพื่อยังอุเปกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น

เมื่อบุคคลประพฤติได้ตามนี้แล้ว อุเปกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งปัญญาที่จะให้รู้แจ้งแทงตลอดมรรค ผล นิพพาน ก็จะเกิดขึ้นตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตน

อุเปกขาสัมโพชฌงค์เกิดแล้วมีประโยชน์อย่างนี้คือ

๑. ทำใจให้วางเฉยต่อรูปนาม

๒. มีสติ มีสัมปชัญญะ มีสมาธิดี

๓. ตั้งใจมั่นอยู่กับรูปนามได้นานๆ

๔. ทุกขเวทนาไม่รบกวน นั่งสบายเพลิดเพลินจนลืมเวลาก็มี

๕. ไม่อิ่มไม่เบื่อต่อการประพฤติปฏิบัติ

๖. โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคความดันสูง โรคประสาท โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น พลันหายไป

๗. ศีล สมาธิ ปัญญา แก่กล้าขึ้นตามลำดับ

๘. สามารถขยับขยายไปสู่ขั้นสูงๆขึ้นโดยง่าย จนถึงมรรค ผล นิพพาน เป็นปริโยสาน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นประโยชน์ของอุเปกขาสัมโพชฌงค์ เมื่อใดอุเปกขาสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราแล้ว ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสามารถที่จะยังญาณขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน แล้วก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตามบุญญาบารมีที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้แล้ว

สรุปความสังเขปของโพชฌงค์แต่ละข้อตั้งแต่ได้บรรยายมาครั้งแรก คือได้เริ่มบรรยายตั้งแต่เรื่องสติสัมโพชฌงค์เป็นลำดับๆมาจนถึงวันนี้ ก็ครบทั้ง ๗ ข้อพอดี จึงขอสรุปเนื้อความโดยสังเขปในสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนั้น ดังนี้คือ

๑. สติสัมโพชฌงค์ คือในขณะนั้น จิตมีสติระลึกได้อยู่ว่า ตนกำลังปฏิบัติอย่างไร เช่น กำลังกำหนดอาการพองอาการยุบ อาการนั่ง อาการถูก กำหนดเวทนา ตลอดถึงอาการคิดเป็นต้น ก็ระลึกถึงวัตรของตนได้โดยไม่เผลอในขณะนั้น เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือในขณะนั้น ปัญญาหรือวิจารณญาณก็ทำงานอยู่ หมายความว่า ได้ใช้ปัญญาวิจัยธรรมที่เกิดขึ้น มิใช่มัวคิดเพลินไปทางอื่นหรือไม่ได้กำหนดอะไรเลย เช่น เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการยืน หรือกำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรมก็ดี เราก็รู้ว่าอาการพองอาการยุบเป็นต้นของเรานั้นมันเป็นอย่างไร มีความรู้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

๓. วิริยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความเพียรพยายามในการใช้ปัญญาพิจารณา ที่เรียกว่าวิปัสสนานั้น จิตไม่ซบเซาเกียจคร้าน ไม่ท้อแท้ มีแต่ความอิ่มใจในความเพียรทุกขณะ

๔. ปีติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความเอิบอิ่มใจในการบำเพ็ญวิปัสสนา เป็นความอิ่มใจที่ไม่อิงอามิส ไม่ข้องเกี่ยวกับกามารมณ์ ไม่ข้องติดในลาภ ยศ สรรเสริญ หรืออิฏฐารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นความเอิบอิ่มแห่งจิตอันบริสุทธิ์แท้ๆ

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความสงบระงับที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและจิตใจ ไม่มีอาการกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลสตัณหาอย่างหนึ่งอย่างใดเลย

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความตั้งมั่นแห่งจิต คือในขณะนั้น จิตหยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์อันเดียว ไม่วอกแวก ไม่ดุกดิก ไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้งซ่าน หากมั่นอยู่ในวิปัสสนา คือตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ที่ตนกำหนด เช่น อยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่ซัดส่ายไปถึงเรื่องอดีตอนาคต

๗. อุเปกขาสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความวางเฉยของจิต ตั้งอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา ไม่กระเดียดไปข้างอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าปรารถนา ไม่กระเดียดไปข้างอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา แต่มีความวางเฉย ดุจยานพาหนะที่แล่นไปบนทางอันราบเรียบได้ที่แล้ว สารถีวางเฉยในการควบคุมได้

จากโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็จะเห็นได้ว่า จิตจะเข้าสู่จุดตรัสรู้และการบรรลุอริยมรรคอริยผลนั้นมีอาการเป็นอย่างไร จิตจะเข้าไปสู่จุดตรัสรู้และบรรลุมรรคผลนั้น แท้ที่จริงไม่ใช่ความฝัน ไม่ใช่ผีเข้าเจ้าทรง ไม่ใช่นึกเดา ไม่ใช่คาดคะเน และไม่แฝงด้วยความทะเยอทะยานใดๆทั้งสิ้น

ตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายนำเอาสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ไปเปรียบเทียบว่า นับตั้งแต่เราปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานมาถึงวันนี้ การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราเข้าในลักษณะของสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้หรือไม่ ถ้าเข้าลักษณะ ก็ถือว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนาได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ขั้นปฐมมรรค

แต่ว่า ถ้ารูปใดพิสูจน์แล้วว่า การประพฤติปฏิบัติของเรามาจนถึงบัดนี้ ยังไม่เข้าหลักเข้าเกณฑ์ของสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ดังที่หลวงพ่อนำมาบรรยายให้ฟังนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจ ได้แก้ตัว เพราะว่าเวลายังมีพอสมควร เราพอมีโอกาสที่จะแก้ตัวได้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายขะมักเขม้น อย่าได้ประมาท พยายามทำไปจนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางที่เราตั้งไว้

เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อุเปกขาสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 64.0.3282.186 Chrome 64.0.3282.186


ดูรายละเอียด
« ตอบ #62 เมื่อ: 08 มีนาคม 2561 11:48:22 »




อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทุกท่าน สำหรับเมื่อวานนี้ ได้บรรยายธรรมะเรื่องอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วก็มีคำพูดค้างไว้ว่า การที่จะเห็นอริยสัจทั้ง ๔ นั้น ต้องปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

เหตุนั้น วันนี้จึงจะได้นำเรื่อง อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ มาบรรยายถวายความรู้ และเป็นเครื่องประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ในทางพระพุทธศาสนาของเรา พระบรมศาสดาทรงสอนทางดำเนินชีวิตไว้ ๘ ประการ คือ มรรค ๘ แปลว่า ทาง หมายถึง ทางปฏิบัติหรือทางดำเนินชีวิต

มรรค ๘ นี้ มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เช่น

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แปลว่า ปฏิปทาอันยังผู้ปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์ หมายความว่า เป็นทางสายเดียวที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงนิพพาน หรือบรรลุถึงนิโรธ อันเป็นความดับทุกข์อย่างสนิท พระพุทธเจ้าทรงบรรลุพระนิพพานก็ด้วยทางสายนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายก็ปฏิบัติตามทางสายนี้ จึงได้บรรลุถึงนิพพาน

อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง หมายความว่า ทางปฏิบัติของบรรดาเจ้าลัทธิอื่นๆ เมื่อว่าโดยย่อแล้วมี ๒ แบบ คือ แบบกามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้มัวเมาอยู่ในกาม ๑ และ อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ได้รับความลำบากเกินไป ๑

พวกแรกหย่อนยานเกินไป พวกหลังตึงเกินไป ส่วนมรรค ๘ นั้น เป็นข้อปฏิบัติพอเหมาะ ไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป จึงเรียกว่า ทางสายกลาง

อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า อัฎฐังคิกมรรค แปลว่า มรรคมีองค์ ๘ หมายความว่า เป็นข้อปฏิบัติรวมกันทั้ง ๘ ข้อ คือการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เราจะเลือกปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งนั้นไม่ได้ ต้องปฏิบัติรวมกันทั้ง ๘ ข้อ ควบคู่กันไปจึงจะเป็นเหตุให้ได้บรรลุถึงพระนิพพาน

อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า อริยมรรค แปลว่า ทางอันประเสริฐ ทางของพระอริยะ ทางไปสู่ความเป็นอริยชน คือข้อปฏิบัติทั้ง ๘ ข้อนี้ ผู้ใดปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ จิตใจของผู้นั้นก็จะหมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เปลี่ยนสภาพจากปุถุชนคนกิเลสหนามาเป็นอริยชน คือคนประเสริฐ เช่น อย่างพระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย

มรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจทั้ง ๔ ประการ ดังที่ได้บรรยายไปแล้ว

๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือดำริในการที่จะออกจากกาม ๑ ดำริในอันไม่พยาบาท ๑ ดำริในอันไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่นให้ได้รับความลำบาก ๑ ความดำริทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔ ได้แก่ เว้นจากการพูดโกหก เราพูดแต่คำสัตย์คำจริง เว้นจากการพูดส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาทกันแตกร้าวสามัคคีกัน เราพูดแต่ถ้อยคำที่สมานสามัคคีระหว่างหมู่คณะ ชักจูงให้หมู่คณะมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เว้นจากการพูดถ้อยคำที่หยาบช้า เป็นคำที่แช่งชักหักกระดูก ทำให้ผู้ฟังไม่พอใจ ทำให้ผู้ฟังเจ็บใจ เราพูดแต่วาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ชวนให้ดูดดื่มไว้ในจิตในใจของผู้ฟัง เราเว้นจากการพูดถ้อยคำที่หาสารประโยชน์มิได้ พูดแต่ถ้อยคำที่ประกอบไปด้วยประโยชน์

๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต ๓ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เราตั้งอยู่ในเมตตาความรักใคร่ เอ็นดู ปรานีสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เราตั้งอยู่ในสัมมาชีพ เลี้ยงชีวิตให้ถูกตามกฎหมายบ้านเมือง และศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนา เราเป็นผู้ประกอบไปด้วยสทารสันโดษ ยินดีเฉพาะในสามีภรรยาของตนเท่านั้น

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากการเลี้ยงชีวิตที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง และศีลธรรมอันดีงาม

๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน ได้แก่ เพียรในสัมมัปปธานทั้ง ๔ คือ สังวรปธาน เพียรระวังบาป อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ปหานปธาน เพียรละบาปคือความโลภโกรธหลงที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเรา

ภาวนาปธาน เพียรพยายามอบรมสั่งสม บุญกุศล เป็นต้นว่า ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาเป็นต้น ให้เกิดให้มีขึ้นในขันธสันดานของตน อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาคุณงามความดีที่ตนได้บำเพ็ญมาแล้วให้ดำรงอยู่ ให้คงอยู่ เพียรรักษาศีล สมาธิ ปัญญา สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน ให้อยู่กับตัวของเรา

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ ระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณาร่างกายของตนเองและบุคคลอื่น ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก ให้เห็นว่ากายนี้ก็สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ให้เห็นกายในกาย จนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยึดมั่นในร่างกายด้วยอุปาทานจิต

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเวทนา ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ทั้ง ๕ ประการนี้ว่า เวทนานี้ก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จนเกิดความเบื่อหน่ายเวทนา ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือพิจารณาเห็นจิตในจิตว่า จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น จนเกิดความเบื่อหน่าย จิตไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือพิจารณาตามเห็นธรรม ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ที่บังเกิดกับใจ จนเกิดความเบื่อหน่ายในธรรมเหล่านั้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ได้แก่ การเจริญฌานทั้ง ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเนื้อหาสาระในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการโดยย่อ ถ้าจะบรรยายโดยพิสดารแล้วต้องบรรยายวันละข้อ อย่างน้อยก็ ๘ วันจึงจะจบ เพราะวิจิตรพิสดารกว้างขวางมาก จึงกล่าวโดยย่อ และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาสาระในด้านปริยัติ แต่ในด้านปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น

เวลามาประพฤติปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เราเอาละเอียดเข้าไป มีปัญหาอยู่ว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ทำงานอย่างไร ใครเป็นผู้ทำงาน และบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้อย่างไร เราต้องศึกษาให้เข้าใจ

คือการทำงานของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น มรรคสัจเป็นผู้ทำงาน ทำอย่างนี้คือ นำเอาทุกขสัจ คือรูปนามขันธ์ ๕ มาเป็นทางเดิน เช่นที่เราทั้งหลายกำหนด อาการพอง อาการยุบ อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนดเวทนาทั้งที่เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ ทั้งที่ดีใจ ทั้งที่เสียใจ ทั้งที่เฉยๆ กำหนดจิตที่คิดโน้นคิดนี้อยู่ตลอดเวลา กำหนดธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ นี้เรียกว่าเรากำหนดรูปนามขันธ์ ๕ มัคคสัจทั้ง ๘ นั้นเป็นผู้เดินทาง

พร้อมกันนั้น ก็จะละสมุทัยคือตัณหาไปด้วย ละได้สิ้นเชิงเมื่อไร ทุกข์ก็ดับไปหมด ชื่อว่านิโรธสัจ ยกตัวอย่างเช่น เราอ้าปากพูดนี้เป็นตัวทุกขสัจแล้ว สติรู้ทันคือเราได้กำหนดเป็นมรรคสัจ หมายความว่าก่อนจะพูดนั้น เรากำหนดเสียก่อนว่าอยากพูดหนอๆ การที่มีสติรู้ทันอย่างนี้ เรากำหนดเสียก่อนแล้วจึงพูดอย่างนี้เป็นมรรคสัจ

ทีนี้หากว่าเราไม่ได้กำหนด เราพูดไปตามธรรมชาติ พอดีอยากพูดก็พูดเลยทีเดียว ขาดสติสัมปชัญญะ เป็นตัวสมุทัยสัจคือตัณหา ถ้าในขณะพูด เราตั้งสติกำหนด เว้นโมหะตัวเผลอ คือไม่เผลอไม่สะเพร่า ไม่หลงลืม เรามีสติระลึกรู้ทันเสียก่อนแล้วจึงพูด เป็นสัมมาวาจาพูดชอบ

เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว ทำการใดๆ ก็ดี เรามีสติกำหนดรู้ทันอยู่ทุกขณะ เป็นมรรคสัจ แต่ถ้าว่าเราไม่มีสติกำหนด เวลาเดินก็เดินไปตามธรรมชาติ จะนั่ง จะยืน จะนอน คู้ก็ดี เหยียดก็ดี หรือว่าเคลื่อนไหวทำงานใดๆ ก็ดี เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โมหะตัวเผลอก็เกิดขึ้นมา พร้อมกันกับสมุทัยคือตัณหาก็เกิดขึ้น ก็เป็นตัวสมุทัยสัจ

เหตุนั้น ท่านกล่าวไว้ว่า จะยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี จะคู้ เหยียด เคลื่อนไหวใดๆ ก็ดี เรามีสติกำหนด ในขณะที่เรามีสติกำหนดอยู่นั้น โมหะตัวเผลอเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อโมหะตัวเผลอเกิดขึ้นไม่ได้ สมุทัยคือตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ก็จัดเป็นสัมมากัมมันตะ คือทำการงานชอบ

เมื่อขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะรู้รส ขณะรู้สัมผัส ขณะนึกคิด ขณะบริโภคอาหาร ขณะนุ่งห่ม เป็นต้น เรามีสติรู้ทัน เป็นมรรคสัจ พร้อมกับละสมุทัย คือความอยากเห็น อยากได้ยิน อยากรู้กลิ่น อยากรู้รส อยากรู้สัมผัส อยากนึกคิด อยากบริโภคอาหาร อยากนุ่งห่ม เป็นต้น เว้นโมหะตัวเผลอ เป็นสัมมาอาชีวะ คือเป็นอยู่ชอบ หมายความว่า ถ้าเราไม่ได้กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก็เป็นตัวสมุทัยคือตัณหา แต่ถ้าเรามีสติกำหนดอยู่ทุกขณะ มีสติรู้ทัน ก็เป็นสัมมาอาชีวะ เป็นอยู่ชอบ

องค์มรรคทั้ง ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ นี้จัดเป็นศีล เพราะเว้นโมหะ คือตัวเผลอ ตัวหลง เป็นต้น

สติรู้ทันทุกขณะนั้นเป็นสัมมาสติระลึกชอบ ถ้ารู้ไม่ทันเป็นสมุทัยคือตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ วิริยะความเพียร ตั้งสติรู้ทันบ่อยๆ เป็นสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ หมายความว่า เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เรารู้ทันอยู่ทุกขณะ เป็นสัมมาวายามะเพียรชอบ ถ้ารู้ไม่ทัน คือเราไม่กำหนด ปล่อยไปตามธรรมชาติ ก็เป็นตัวสมุทัยคือตัณหาเหตุให้เกิดทุกข์

สมาธิมั่นคง ไม่เผอเรอ เป็นสัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ คือในขณะใดที่เรามีสติ กำหนดในขณะนั้น เรียกว่าเรามีสมาธิ คือสมาธิมันเกิดพร้อม สมาธิขั้นนี้เราเรียกว่า ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้กำหนดสมาธิก็ไม่เกิด เหตุนั้น ขณะใดที่เราได้กำหนด ก็แสดงว่าสมาธิของเรามีอยู่ ไม่เผอเรอ จัดเป็นสัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ

องค์มรรคทั้ง ๓ นี้คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้จัดเป็นสมาธิ เพราะมีสติกำหนดระลึกรู้ทันไม่เผลอ

ปัญญาอันเห็นรูปนามเกิดดับนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ วิตกรู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจังไม่เที่ยงต้องดับไป ทุกขังทนอยู่ไม่ได้ ทนได้ยากต้องดับไป อนัตตาไม่ใช่ตน ไม่มีอำนาจอันใดที่จะบังคับบัญชา บังคับไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วต้องดับไป การเห็นพระไตรลักษณ์ทั้ง ๓ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งติดอยู่กับรูปนามนั้นตลอดเวลา เป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

ธรรมะด้านปริยัติกับด้านปฏิบัตินี้ไกลกัน สัมมาสังกัปปะในด้านปริยัติท่านอธิบายว่า เราดำริในการออกจากกาม ในการไม่พยาบาท ในการไม่เบียดเบียน เป็นสัมมาสังกัปปะดำริชอบ

แต่เมื่อมาถึงเวลาปฏิบัติแล้ว หมายเอาละเอียดกว่านั้น คือหมายความว่า ในขณะที่เรามีสติรู้ทันในการกำหนดรูปนามอยู่ตลอดเวลา การกำหนดรูปนามของเราได้ปัจจุบันดี เมื่อกำหนดทันปัจจุบันดีแล้ว ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์อย่างนี้ เป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

องค์มรรคทั้ง ๒ คือ สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเป็นปัญญา เพราะกำหนดทันปัจจุบันจนเห็นพระไตรลักษณ์ การเห็นรูปนามดับไปๆ กับพระไตรลักษณ์พร้อมๆ กันเช่นนั้น จนสิ้นอาสวะอันเป็นตัวสมุทัยเมื่อใด เมื่อนั้นทุกข์จะดับไปหมดไม่เหลือให้เห็นในขันธสันดาน เรียกว่านิโรธสัจย่อมสมบูรณ์แล้วแก่พระอริยเจ้าอย่างแน่นอน ในด้านปฏิบัติถือเอาเนื้อความเท่านั้น

ก็พอสรุปได้ว่า หากว่าเรามีสติ กำหนดทันปัจจุบัน เรากำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่างก็ดี กำหนดอาการพองอาการยุบก็ดี กำหนดเวทนา จิต ธรรม ก็ดี เรามีสติกำหนดรู้ทันปัจจุบันธรรม ก็ชื่อว่ากำหนดถูกอริยมรรคทั้ง ๘ ประการ คือหากว่าเรามีสติรู้ทันขณะใด ขณะนั้น อริยมรรคทั้ง ๘ ประการ ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน

เมื่อใด อริยมรรค ๘ นี้สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็แสดงว่ากำลังของวิปัสสนาญาณของเราแก่เต็มที่ เมื่อวิปัสสนาญาณแก่เต็มที่ ก็จะเข้าสู่มัคควิถีทันที เมื่อเข้าสู่มัคควิถีในวินาทีใด วินาทีนั้นก็เป็นอันว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้น โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จนถึงขึ้นอรหัตมรรค อรหัตผล

อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ในแง่การปฏิบัตินี้นิดเดียวเท่านั้น เหตุนั้นก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จงใช้สติสัมปชัญญะ พยายามกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม อย่าขี้เกียจ อย่าเบื่อหน่าย อย่าท้อใจ ต่อสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้

เพราะสภาวธรรมของวิปัสสนา ไม่เหมือนกันกับสภาวะของสมถะ สมถะนั้น ยิ่งปฏิบัติไปยิ่งสงบไปๆ ตามลำดับ จนได้ฌาน เข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เพียงแต่ได้ปฐมฌาน ความทุกข์ความอะไรก็หมดไป ยิ่งไปถึงขั้นจตุตถฌานแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่มาปรากฏเลย เพราะเมื่อเข้าถึงจตุตถฌานแล้ว ความรู้สึกก็หมดไป ลมหายใจหมดไป ร่างกายหยุดทำงานชั่วขณะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความสุขก็เกิดขึ้นมาแทนที่ ความทุกข์ไม่มีปรากฏ ด้านสมถะเป็นอย่างนี้ ยิ่งปฏิบัติยิ่งมีความสุข

แต่ด้านการปฏิบัติวิปัสสนา ไม่เหมือนกันอย่างนี้ คือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราต้องเห็นรูปนาม เห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนาม ต้องเห็นรูปนามเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อรูปนามแสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขึ้นมาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะมีแต่ความทุกข์ อะไรเกิดขึ้นมาทางร่างกาย ก็มีแต่ทุกข์ เกิดขึ้นมาทางจิตใจก็มีแต่ทุกข์ วันทั้งวันคืนทั้งคืน เราจะหาความสุขสัก ๕ นาทีก็หายาก แทบจะว่าไม่มีความสุขเลย

เพราะยิ่งใช้สติกำหนดทันปัจจุบันมากเท่าไรๆ ยิ่งเห็นแต่ทุกข์แต่โทษของรูปนาม เห็นแต่ความดับไปของรูปนาม เห็นรูปนามนั้นเป็นของน่ากลัว จนเบื่อหน่ายในรูปนาม เกิดความอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปนาม ไม่มีความสุขเลย

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากว่าท่านทั้งหลายไม่ท้อใจ เป็นนักปฏิบัติใจสิงห์ ตายก็ยอมตาย หากว่าไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุดแล้ว จะไม่ยอมหยุดการปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงว่าเนื้อและเลือดมันจะเหือดแห้งไปก็ตามที มันเหลืออยู่แต่เอ็นกับกระดูกนี้ เราก็จะปฏิบัติร่ำไป จะไม่เลิกละการประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราตั้งปณิธานจิตอย่างนี้แล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุธรรมได้

มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ในสำนักนี้ เวลาปฏิบัติมีแต่ทุกข์แต่โทษ เกือบจะว่าเอาชีวิตไม่รอด จนไปหาพึ่งพระพึ่งเณร ก็พึ่งไม่ได้ พระเณรเป็นสิบๆ มาล้อมก็ไม่สามารถที่จะให้มีความสุขได้ ไม่อาจที่จะระงับความกลัวได้ ไปนอนอยู่ที่ไหนๆ ทั้งกลางวันกลางคืนก็มีแต่ความกลัวมีแต่ความทุกข์ จะไปห้องน้ำก็ไม่กล้าไป จะเดินไปในบริเวณวัด จากกุฏินี้ไปหากุฏินั้น ห่างกัน ๒-๓ หลังเท่านั้น กลางวันแท้ๆ ก็ยังกลัวไม่กล้าไป มันเป็นถึงขนาดนี้

สภาวะของวิปัสสนา ความทุกข์อะไรๆ มันโหมเข้ามาหมด ปรากฏชัดทั้งนั้น หากว่าใจไม่สู้จริงๆ แล้วไม่สามารถที่จะผ่านพ้นไปได้ และพระรูปนั้น ท่านก็ตั้งปณิธานจิต เพราะตอนนั้นนั่งไม่ได้แล้ว มีแต่เดินอย่างเดียว เหตุไรจึงนั่งไม่ได้ เพราะว่าเวลานั่งมันมีความกลัว สภาวะมันเกิดขึ้นมาเหมือนกับว่าแมลงผึ้งหรือว่าต่อแตนออกจากรังของมันแล้วก็โหมมาทิ่มมาแทงที่ร่างกายของเรา

มีแต่ทุกข์แต่โทษอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่สามารถนั่งได้ และเมื่อนั่งไป เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็เย็น เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่สามารถที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดไปได้ เมื่อนั่งไม่ได้ จะทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติต่อไปได้ เพราะว่าไปหาครูบาอาจารย์ท่านก็แนะนำ พูดให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เป็นที่พอใจ ไม่ถึงอกถึงใจ คิดว่าทำไมหนอครูบาอาจารย์จึงแก้อารมณ์ของเราไม่ได้

ผลสุดท้าย ท่านก็ตั้งปณิธานจิตอธิษฐาน เมื่อตั้งปณิธานจิตนั้นก็คิดว่า คำสัจจะที่ตั้งลงไปนั้น จะเป็นของที่ไม่แน่นอน จึงอธิษฐานเอาแผ่นดินทั้งแผ่นว่า

สาธุ ข้าพเจ้าขออธิษฐานแผ่นดินทั้งแผ่นนี้ให้แข็งเหมือนเพชร เมื่อใดแผ่นดินทั้งแผ่นที่แข็งเหมือนเพชรนี้ ไม่ละลายเป็นน้ำไป ข้าพเจ้าจะไม่หยุดการปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงตายก็ยอมตาย ร่างกายและจิตใจทั้งหมดนี้ เรามอบถวายแก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มอบถวายแก่ครูบาอาจารย์หมดแล้ว ขณะนี้ เราเพียงแต่ยืมท่านมาใช้เท่านั้น ยืมมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเพื่อแลกเอาบุญเอากุศล แลกเอาโลกุตรธรรมเท่านั้น เหตุนั้นถึงเมื่อมันจะตายก็ยอมตาย

พอดีตั้งปณิธานจิตอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย แทนที่สิ่งที่เป็นอยู่ทั้งหลายมันจะหยุดไป กลับไม่หยุดเสียแล้ว โหมเข้ามาๆ มีอะไรๆ ในโลกนี้ คิดว่ามันโหมเข้ามาหมด ท่านก็ตั้งว่า ร่างกายและจิตใจทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้ามอบถวายพระรัตนตรัยครูบาอาจารย์หมดแล้ว จะตายในนาทีนี้ ชั่วโมงนี้ก็ยอมตาย ยอมเสียสละชีวิต เมื่อยอมเสียสละชีวิตแล้ว มันก็หมดปัญหา เมื่อปลงภาระแล้ว ไม่กลัวแล้วความตาย

เมื่อไม่กลัวความตาย ก็เกิดความอุตสาหะพยายาม เกิดความกล้าหาญขึ้นมา ไม่ท้อใจ เมื่อสภาวะใดๆ เกิดขึ้นมาก็ยิ้มได้สู้ได้ ทำให้การปฏิบัติของท่านดำเนินไปตามลำดับๆ ผลสุดท้ายก็สามารถปฏิบัติถึงจุดหมายปลายทาง

นี้แลท่านทั้งหลาย อุทาหรณ์ที่นำมาบรรยายให้ฟังนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นเพียงเรื่องที่สร้างขึ้น เป็นเรื่องจริง มีตัวตนบุคคลจริงๆ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้อุตสาหะพยายามประพฤติปฏิบัติร่ำไป จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คือได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นแหละจึงจะหยุดได้ ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ตราบใด ก็ยังขึ้นชื่อว่ายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราจะประมาทไม่ได้ ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

ภิกฺขุ วิสฺสาสมาปาทิ อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เมื่อใด ยังไม่ได้บรรลุถึงความสิ้นอาสวะกิเลส อย่าพึ่งนอนใจ ดังนี้

แต่ถ้าไม่ได้ไม่ถึงที่สุดอย่างไร ก็ขอให้ได้ปฐมมรรคก็ยังดี เพราะว่าสามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้บรรยายธรรมะ เรื่องอริยมรรค ๘ ประการ มานี้ ก็สมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 64.0.3282.186 Chrome 64.0.3282.186


ดูรายละเอียด
« ตอบ #63 เมื่อ: 15 มีนาคม 2561 09:40:52 »




การฝึกสมาธิ (๑)

วันนี้ถือว่าเป็นวันคำรบ ๔ ของการปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติผ่านมา ๓ ราตรี การปฏิบัติอยู่ ๓ ราตรีที่ผ่านมาก็เหมือนกันกับเราสำรวจว่า

ตั้งแต่เราบวชมาในพระพุทธศาสนานี้ ตั้งแต่วันเริ่มต้นถึงวันนี้ เรามีความบกพร่องอย่างไร ที่ผ่านมานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับกายและวาจาของเราสมบูรณ์แล้วหรือไม่ หรือขาดตกบกพร่องอยู่อย่างไร เราสำรวจ เมื่อสำรวจแล้วก็จะรู้ทันทีว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับกายและวาจาซึ่งถือว่าเป็นศีล มันบกพร่องอยู่ตรงนี้ๆ เมื่อเราสำรวจครบทุกอย่างทุกประการ ก็จะตั้งอกตั้งใจทำให้ความบกพร่องนั้นให้สมบูรณ์ เรียกว่า มานัตต์ คือขึ้นมานัตต์

การขึ้นมานัตต์ ก็คือการขัดเกลาหรือทำสิ่งที่มันบกพร่องไปนั้นให้ดีขึ้นให้สมบูรณ์ขึ้น ถือว่าเป็นการขัดเกลา คือขัดให้มันหมดมลทิน มลทินเหล่าใดที่มีในทางกาย มีทางวาจา เราก็จะได้ขัดมลทินนั้นให้หมดไป เพื่อว่าจะให้กาย วาจา ใจ บริสุทธิ์และสะอาด

ถ้าว่าผู้ใดเอาใจใส่ในการขัดในการเกลา กาย วาจา และใจของเราก็บริสุทธิ์มาก ถ้าใครขัดใครเกลาไม่สมบูรณ์ กายและวาจาของเราเปอร์เซ็นต์ที่จะบริสุทธิ์สะอาดก็มีน้อย แต่ก็ขออัพภานได้เหมือนกัน เพราะถ้าว่าตามหลักของศีลก็ถือว่าเราสามารถที่จะขออัพภานกันได้ แต่ว่าความบริสุทธิ์ของเรา ความสะอาดของเรานั้น ส่วนมากจะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

เหมือนกันกับเราขัดแก้ว แก้วของเรามันขัดแล้ว มันก็สวยอยู่งามอยู่ แต่ยังไม่ถึงที่ ต้องขัดแล้วขัดอีก ขัดแล้วขัดอีก ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง แก้วของเราก็สะอาดงดงามน่าใช้น่าดู หรือว่าภาชนะต่างๆ เราเอาใจใส่ในการขัด การเกลา การถู ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ก็สะอาดน่าดูน่าใช้ ข้อนี้ฉันใด

การประพฤติวุฏฐานวิธีคือมานัตต์นี้ก็เหมือนกัน เมื่อใดเราพยายามขัด พยายามเกลากายและวาจาของเรา ขัดแล้วขัดอีก เกลาแล้วเกลาอีก ผลสุดท้ายเราก็จะเป็นผู้มีกายอันบริสุทธิ์ มีวาจาอันบริสุทธิ์ ไม่ต้องวิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน เป็นผู้องอาจกล้าหาญในท่ามกลางพุทธบริษัท

เหตุนั้น เราจึงใช้วิธีขัดเกลา การขัดเกลา หรือการขัดการเกลานี้ ในทางพระวินัยได้ทรงประทานไว้ ให้ใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่เป็นเวลา ๖ วัน หรือ ๖ ราตรี

เพราะเหตุไรจึงทำแบบนี้

เพราะว่าการขัดการเกลาของที่สกปรก หรือของไม่ดีไม่สะอาด ถ้าเป็นวัตถุอย่างมากก็จะใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่ ๖ วัน วัตถุนั้นก็สะอาดได้ น่าดูน่าชมได้ ข้อนี้ฉันใด กายวาจาของเราก็เหมือนกัน เราใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่เป็นเวลา ๖ วัน หรือ ๖ ราตรี ก็ถือว่ากายของเราบริสุทธิ์ วาจาของเราบริสุทธิ์ สมควรแก่อัพภานกรรม

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายผู้มีความมุ่งหวังที่จะทำให้กายและวาจาของเราบริสุทธิ์ ก็พยายามเอาจิตเอาใจใส่ ในการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์

คือการเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือว่าอยากเดินหนอๆ กำหนดอาการพอง อาการยุบ พองหนอ ยุบหนอ กำหนดเวทนา สุขหนอ ทุกข์หนอ เฉยหนอ กำหนดจิตว่า คิดหนอๆ ตลอดทั้งกำหนดทางตา เห็นหนอ ได้ยินหนอ กลิ่นหนอ รสหนอ สัมผัสหนอ ถูกหนอ เจ็บหนอ อะไรทำนองนี้ เพื่อเป็นการขัด อันนี้นะเป็นเครื่องขัด เราใช้อันนี้ เราใช้บทกัมมัฏฐานนี้แหละขัด

เอาอะไรไปขัด

เอาสติไปขัด

ไปขัดที่ไหน

ไปขัดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ หรือไปขัดที่อาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการยืน เวทนา ความคิดของเรา นี่คือเอาสติไปขัด มิใช่ว่าเอาอย่างอื่นไปขัด เอาสติของเราไปขัด

เพราะเหตุไรจึงขัด

เพราะว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานั้น เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สกปรก

สกปรกเพราะอะไร

สกปรกเพราะโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา สภาวะดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นสภาวะที่ทำให้กายวาจาของเราสกปรก เป็นสภาวะที่ทำให้เกิดความลามก เพราะฉะนั้นเราจึงขัดจึงเกลา

เมื่อใดเราขัดแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดถึงใจของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส เหตุนั้น การขัดการเกลาของเราจึงจำเป็นต้องมีกุศโลบาย รู้วิธีขัด รู้วิธีเกลา คือขัดด้วยสติ ขัดด้วยสัมปชัญญะ ขัดด้วยปัญญา เมื่อเราทำได้อย่างนี้แล้ว กาย วาจา และจิตใจของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส สมควรแก่การอัพภานกรรม

เพราะฉะนั้น หลวงพ่อขอพูดเพียงย่อๆ ขอให้ท่านไปคิดเอาไปพิจารณาเอา

ตามปกติ วันขึ้นมานัตต์ทุกปีที่ผ่านมา หรือทุกจุดที่มีการปฏิบัติธรรม จะมีการฝึกสมาธิ คือถึงวันนี้จะมีการฝึกสมาธิ ที่ไหนๆ ก็ฝึกสมาธิอย่างนี้เป็นร่ำไป

เพราะเหตุไรจึงฝึกสมาธิ

เพราะเราต่างก็ต้องการให้ความคิดของเรามีระบบ การฝึกสมาธินี้ คือการที่ทำให้จิตใจของเรามีระบบ คือทำให้ความคิดของเรามีระบบ พวกเราส่วนมากจะเป็นพระ เป็นเณร ปะขาว แม่ชี ญาติโยมชาวบ้าน อุบาสก อุบาสิกา ส่วนมากความคิดของพวกเรานั้น ไม่มีระบบ คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไป อะไรจิปาถะ ร้อยแปดพันประการ

เพราะความคิดที่ไม่มีระบบนี่แหละ จึงทำให้คนเรานั้นเสียสติได้ เป็นบ้าได้ คนที่มีความคิดไม่มีระบบ บางทีหนักๆ เข้าทานอาหารไม่เอร็ดอร่อย นอนก็นอนไม่หลับ หลับก็ครึ่งๆ กลางๆ หลับๆ ตื่นๆ สิ่งที่ไม่ควรคิดก็คิด สิ่งที่คิดอยู่แล้วก็คิดมากขึ้นไป เพราะว่าคิดไม่มีระบบ

สาเหตุที่พวกเราทั้งหลายใช้ความคิดที่ไม่มีระบบนี่แหละ จึงมีการฝึกสมาธิ คือฝึกให้ความคิดของเรามีระบบ ถ้าความคิดของเรามีระบบแล้ว เราอยากคิดก็คิดได้ เลิกคิดก็เลิกคิดได้ ไม่เป็นโรคประสาท ไม่กลุ้มใจ เพราะฉะนั้นจึงมีการฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิ ก็คือการรวมความคิดหลายๆ ความคิดให้เหลือความคิดเดียว คือจิตใจของเราตามปกตินั้นไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันจะคิดร้อยแปดพันประการ คิดไปเรื่อยเปื่อย บางทีมันก็คิดไปเรื่องรูป คิดไปเรื่องเสียง คิดไปเรื่องกลิ่น คิดไปในเรื่องรส คิดไปในเรื่องสัมผัส คือมันคิดไปตามอารมณ์ที่มากระทบ

อารมณ์ใดๆ ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตของเราก็วิ่งไปตามกระแสของอารมณ์ เมื่อจิตของเราวิ่งไปตามกระแสของอารมณ์แล้ว ความคิดของเราก็ไม่มีระบบ คิดมาก บางทีก็เป็นประสาท เป็นบ้า เพราะเหตุนั้นเราจึงฝึกสมาธิ คือการรวมกระแสจิตหลายๆ ความคิดนั้นให้เหลือความคิดเดียว

จิตที่ฝึกดีแล้ว ฝึกฝนอบรมดีแล้ว ย่อมเป็นจิตที่มีอำนาจมีพลัง มีอานุภาพมีสมรรถนะสูง ก็เหมือนกันกับท่อนไม้หรือท่อนกล้วย ถ้าเราปล่อยให้ไหลไปตามกระแสน้ำ มันก็ไหลได้อยู่ แต่ว่ามันไม่มีกำลัง การลอยของท่อนไม้ท่อนกล้วยนั้นมันก็เอื่อยๆ ไป มันไม่เร็ว

แต่ถ้าเราปรับที่ที่จะต้องให้มันลงแล้ว เราปรับได้ที่ ท่อนไม้ก็ดีท่อนกล้วยก็ดี เราปรับให้ไหลลงตรงนี้ๆ น้ำมากๆ ที่เอ่อล้นไป ให้มันไหลลงที่เดียว เมื่อมันลงที่เดียว ต้นกล้วยมันก็ไหลเร็วขึ้น ท่อนไม้ก็ไหลเร็วขึ้น ข้อนี้ฉันใด

เมื่อเราใช้สติสัมปชัญญะ ใช้ปัญญาฝึกจิตฝึกใจของเราให้มันเหลือความคิดเดียว ให้จิตของเรามันไหลไปทางเดียว ไม่ให้มันไหลไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส ตามสัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อจิตของเรามันไหลไปแนวเดียวแล้ว ก็มีพลัง มีอานุภาพ และมีสมรรถนะสูง

อุปมาเหมือนกันกับเราปรับไฟฉาย ถ้าเรามีไฟฉายอยู่นะ หากว่าเราไม่ปรับแสง มันก็สว่างอยู่เหมือนกัน แต่มันสว่างไม่มาก แต่ถ้าเราปรับแสงให้ดีแล้ว โดยเราปรับปุ่มวิทยาศาสตร์ ปรับเข้าไปๆ ผลสุดท้ายแสงสว่างนั้นก็รวมแสงอยู่ในจุดเดียวกันเข้า เราสามารถรวมแสงให้เหลือจุดเดียว เมื่อเราสามารถรวมแสงให้อยู่ในจุดเดียว เหมือนกันกับแสงเลเซอร์นะ แสงเลเซอร์ก็คือการรวมแสงทั้งหลายทั้งปวงให้มันเหลือจุดเดียว เมื่อแสงเหลืออยู่จุดเดียว ก็สามารถไปผ่าตัดนิ่ว ไปผ่าตัดโน่นไปผ่าตัดนี่ ไม่ต้องใช้มีดในการผ่าตัด เอาแสงที่เขารวมแล้วไปผ่าตัด ก็สามารถทำลายนิ่ว ไต ทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำลายสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป ข้อนี้ฉันใด

ใจของเราก็เหมือนกัน เมื่อเรารวมกระแสจิตของเราจนเหลือความคิดเดียว ความคิดนั้นก็เป็นความคิดที่มีอานุภาพ มีพลัง มีสมรรถนะสูง สามารถที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมได้

เหมือนกันกับพวกเราทั้งหลายได้เล่าเรียนมา เรื่อง อภิญญาจิต เรื่อง ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้ จุตูปปาตญาณ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไปหมดไปจากขันธสันดาน หรือว่า อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ ทิพพโสตอภิญญา มีหูทิพย์ ทิพพจักขุอภิญญา มีตาทิพย์ เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของผู้อื่น หรือปฏิสัมภิทา ๔ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา

เพราะเหตุใดเรื่องอย่างนี้จึงเกิดขึ้น

เพราะเหตุไรคนเราจึงระลึกชาติแต่หนหลังได้

เพราะเหตุไรคนทั้งหลายจึงรู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นได้ ตลอดถึงของตนเอง

เพราะเหตุไรคนเราจึงมีตาทิพย์ มีหูทิพย์ รู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้

ก็เพราะว่าพวกเราใช้กรรมวิธีปรับความคิดของเราให้เหลือความคิดเดียว ดังที่พวกเราทั้งหลายได้เคยศึกษาเล่าเรียนมา

ระบบการปรับจิตของเราให้เหลือความคิดเดียวนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานไว้ถึง ๘ ประการ เรียกว่า สมาบัติ ๘ คือท่านให้ปรับด้วยอำนาจของปฐมฌาน ปรับด้วยอำนาจของทุติยฌาน ปรับด้วยอำนาจของตติยฌาน ปรับด้วยอำนาจของจตุตถฌาน คือใช้สมาธิเป็นขั้นๆ คือปรับเป็นขั้นๆ ต่อๆ กันขึ้นไป

เมื่อปรับขั้นรูปธรรมแล้วยังไม่พอ ยังปรับขั้นนามธรรมด้วย ดังที่เราเคยเรียนมาคือ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มาปรับจนทำให้ร่างกายทั้งหลายนั้นมีกำลัง มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง

เมื่อสามารถรวมกระแสจิตได้ตามหลักทั้ง ๘ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จิตของเราก็จะมีพลัง มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง สามารถทำให้เกิดอภิญญาจิต ระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา

ก็เพราะอำนาจจิตใจที่ฝึกฝนอบรมแล้ว จึงมีพลัง มีอานุภาพ สามารถทำให้เกิดอภิญญาจิต ดังที่หลวงพ่อได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คนที่คิดมีระบบดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำจิตใจของตนให้เป็นสมาธิ หนักแน่น ทำให้เกิดอภิญญาจิตดังกล่าวมาแล้ว

ในขั้นเบื้องต้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงใช้วิธีรวมกระแสจิตมาแล้ว ได้ทรงฝึกมาก่อนแล้ว จนได้เกิดวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา ดังกล่าวมาแล้ว กำลังของสมาธินี้ มิใช่ว่าเราจะเอาไปใช้เพียงแต่ทำให้เกิดอภิญญาจิตดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็หาไม่

เมื่อใดเรารู้หลักการวิธีการในการรวมกระแสจิตของตนให้สมบูรณ์จนได้อภิญญาจิตแล้ว เราก็สามารถนำจิตที่รวมนี้ไปใช้ในการที่จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ที่เรียกว่า การเจริญวิปัสสนา

การเจริญวิปัสสนานั้นก็คือ เบื้องต้นเรารวมกระแสจิตจนมีพลังจนมีอำนาจ เมื่อรวมกระแสจิตสมบูรณ์แล้ว กระแสจิตอันนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา

เมื่อวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ปัญญาขั้นนี้ก็จะทำหน้าที่ทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน ตามกำลังที่เราได้ฝึกจิตมาดีแล้ว

เพราะเหตุอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม หลวงพ่อจึงชี้แนะให้มีการฝึกสมาธิ สมาธิที่ฝึกนั้น ก็ต้องการประโยชน์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล สำหรับการฝึกสมาธิ ทุกสิ่งทุกอย่างท่านทั้งหลายก็ศึกษามาแล้ว

สำหรับท่านผู้เจริญพระกัมมัฏฐานใหม่ๆ เราต้องการการกำหนด เรากำหนดเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างที่กำหนดผ่านมาแล้วนั้น ครูบาอาจารย์ให้กำหนดอาการพอง อาการยุบ ขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ท่านทั้งหลายเอาบททั้งหลายเหล่านี้แหละนำไปฝึกสมาธิ ไปทำจิตให้เป็นสมาธิ

หากว่าท่านต้องการให้เกิดสมาธิเร็ว ให้เกิดฌานเร็ว ท่านทั้งหลายก็เอาจิตของเรานี้ กำหนดที่จิตของเรา ตั้งสติไว้ที่ใต้ราวนมข้างซ้ายต่ำลงไปสัก ๓ นิ้ว หรือ ๒ นิ้ว กำหนด คิดหนอๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเราเอาจิตไปบริกรรมอย่างนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิเร็วและก็ได้ฌานเร็ว

สำหรับผู้ที่เคยเข้าสมาธิมาแล้ว เข้าสมาธิ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง เป็นต้น หากว่าท่านทั้งหลายต้องการที่จะอุ่นเครื่องให้จิตใจของเรามีระบบกว่าที่เป็นอยู่นี้ ท่านทั้งหลายจะนั่งสมาธิตามที่ท่านทั้งหลายเคยปฏิบัติมาก็ได้ แต่ต้องให้ผ่านครูฝึกคือแม่ชีเสียก่อน การปฏิบัติในครั้งนี้ หลวงพ่อได้มอบให้คุณแม่สว่าง และคุณแม่ชีเนียม และแม่ชีผู้ช่วยได้ช่วยดูแล

แต่เจตนาจริงๆ ของหลวงพ่อนั้น ต้องการอยากให้ท่านเจริญวิปัสสนา เพราะท่านทั้งหลายได้เคยเจริญสมาธิมาแล้ว เคยเข้าสมาธิมาแล้ว เคยฝึกมาแล้ว ต้องการอยากให้การปฏิบัติมันก้าวหน้าไปกว่านี้ ไม่อยากให้นั่งอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นของไม่ดี เป็นของดี แต่ว่าของดีที่ได้อยู่ในขณะนี้ถือว่าเป็นของดีที่ยังประกันไม่ได้ ยังรับประกันไม่ได้ว่า ของดีที่มีอยู่ในขณะนี้ ที่ได้อยู่นี้ เราจะสามารถนำไปใช้จนถึงโลกุตตระหรือไม่

บางทีสมาธิของเราไม่ดี สมาธิของเราไม่สมบูรณ์ กิเลสตัณหามันยังมีอยู่ ยังไม่หมด (ผู้ได้) สมาธิขั้นนี้ ก็ยังจะไปเกิดอบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้ (ผู้ได้) สมาธิขั้นนี้ ยังสามารถที่จะฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้ และยังสามารถที่จะทำบาปทำกรรมอื่นๆ อีกได้

เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย เมื่อรู้แล้วว่าเรามีสมาธิ ก็รักษาสมาธิไว้ อย่าให้เสื่อม ใช้ให้เป็นประโยชน์เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่อย่าไปใช้ทางทำลายผู้อื่น อย่าไปใช้ในทางสะกดลาภ เมื่อสมาธิที่เรามีอยู่นี้ แม้ว่าสมาธินี้มีอำนาจมีอานุภาพ จนสามารถระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่นได้ก็จริงอยู่ ท่านทั้งหลาย อภิญญาจิตนี้ยังไม่สามารถปิดประตูอบายภูมิได้

เหตุนั้น ถ้าหากว่าเป็นไปได้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ วิธีปฏิบัติก็ใช้สมาธิหรือใช้ฌานทั้งหลายที่ท่านทั้งหลายได้อยู่นั่นแหละ เรามากำหนดบทพระกัมมัฏฐานตามที่ครูบาอาจารย์สอนให้ เช่นว่า กำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่นแหละ แล้วก็ตั้งสติกำหนดพองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ ตามที่เคยปฏิบัติมา จนกว่าจะนั่งหลับไป หรือว่านอนหลับไป หรือว่าจนกว่าจะส่งจิตส่งใจให้เกิดความรู้สึก

หากว่ามันอยากนอนก็ปล่อยให้มันนอนไป หน้าที่ของเราพยายามจำให้ได้ว่า เราจะนอนหลับไปตอนไหน หรือว่ามันจะขาดความรู้สึกไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ ตอนหายใจเข้า หรือหายใจออก ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามจำสภาวะให้ได้ ในขณะที่เราทำกัมมัฏฐานอยู่นี้ บางทีมันง่วง อยากนอน ก็ปล่อยให้นอนไป แต่ว่าพยายามจำให้ได้ว่า เราจะนอนหลับไปหรือนั่งหลับไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือท้องยุบ ขอให้จำให้ได้

หากว่าเราทำได้อย่างนี้ ท่านทั้งหลาย จิตใจของเราก็จะเกิดความสุขขึ้นมาแทนที่ มีการสว่าง สงบ จิตใจร่าเริงเบิกบาน โลภ โกรธ หลง ก็จะเบาบางลงไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ก็จะเบาบางไป จิตใจของเราก็จะเกิดความสะอาด สว่าง สงบเย็นขึ้นมา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก็ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง การฝึกสมาธิโดยย่อ มาบรรยายถวายความรู้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจบารมีธรรม ขอให้ท่านทั้งหลายได้อยู่ในบวรพระพุทธศาสนาเป็นนิตย์ สถิตมั่นในพระสัทธรรม นำตนให้พ้นจากทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพาน ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 65.0.3325.181 Chrome 65.0.3325.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #64 เมื่อ: 23 มีนาคม 2561 13:55:22 »




การฝึกสมาธิ (๒)

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย คืนที่ผ่านมาหรือราตรีที่ผ่านมา หลวงพ่อได้พูดถึงเรื่องสมาธิ ว่าสมาธินั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

สำหรับ ขณิกสมาธิ คือสมาธิในขั้นบริกรรม เช่นเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ การกำหนดอย่างนี้เรียกว่า เป็นสมาธิในขั้นบริกรรมสมาธิ

สำหรับ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่เฉียดฌานเข้าไป ใกล้ฌานเข้าไป จวนๆ จะถึงฌาน แต่ยังไม่ถึงฌาน เราจะสังเกตเวลาเรานั่งสมาธิ เรานั่งไปๆ จิตของเราละเอียดเข้าๆ แล้วก็ถอยออกมา แทนที่จะขาดความรู้สึกยังไม่ขาด คืนไป มันไหลเข้าไปๆ ความรู้สึกของเรามันก็น้อยเข้าไปๆ แล้วก็ถอย ถอยกลับมา คล้ายๆ กับเราเข้าฌาน

คล้ายๆ กับเราเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานไป แล้วก็ถอยกลับมา แล้วก็ไปอีก แล้วก็ถอยกลับมา ตั้งอยู่ในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าเป็นสมาธิที่เฉียดฌานเข้าไป ใกล้ฌานเข้าไป จวนๆ จะถึงฌาน แต่ยังไม่ได้ถึงฌาน แค่จวนๆ จะดับแต่ยังไม่ดับ อันนี้เรียกว่าอุปจารสมาธิ

สำหรับ อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิถึงจุดอันแน่นิ่ง จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เช่น เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ จิตของเราก็อยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่คิดไปเรื่องอดีต อนาคต ข้างหน้าข้างหลัง ไม่วิ่งไปหารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ หรืออารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

แต่จิตของเราหยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์พระกัมมัฏฐาน เช่น เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ จิตของเราก็หยุดอยู่ในอารมณ์พระกัมมัฏฐานนั้นๆ เรียกว่าอัปปนาสมาธิ

อัปปนาสมาธิ นี้ก็เป็นขั้นๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ในขั้นเดียว คือ อัปปนาสมาธินั้น พูดให้รวบๆ ก็ได้แก่

๑. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นปฐมฌาน

๒. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นทุติยฌาน

๓. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นตติยฌาน

๔. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นจตุตถฌาน

ถ้าพิสดารก็สมาธิอยู่ในขั้น ปัญจมฌาน เป็นขั้นๆ และประเภทที่สอง (อัปปนาสมาธิ) ที่เป็นอรูปฌาน หรืออรูปสมาธิ คือ

๑. อากาสานัญจายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๑

๒. วิญญาณัญจายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๒

๓. อากิญจัญญายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๓

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๔

นี่เป็นขั้นๆ อยู่อย่างนี้ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าเรียกอัปปนาสมาธิแล้วจะเป็นสมาธิรวดเดียว อย่างเดียว ไม่ใช่

เพราะเหตุไร

เพราะว่า อัปปนาสมาธิแต่ละขั้นๆ นั้นไม่เหมือนกัน อานุภาพก็ไม่เหมือนกัน อานิสงส์ก็ไม่เหมือนกัน

แต่สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะไม่ได้กล่าวให้พิสดาร แต่จะแนะแนวทางอีกประการหนึ่ง คือ

ท่านทั้งหลาย การที่เราจะฝึกสมาธิดังที่ท่านทั้งหลายเคยฝึกมาแล้ว หรือขณะที่ท่านทั้งหลายกำลังฝึกอยู่ สมาธิที่จะนำมาฝึกนั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะฝึกเอาเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอกท่านทั้งหลาย คืออย่างน้อยๆ เราก็ต้องปฏิบัติกัมมัฏฐานมา อาจจะ ๓ วัน หรือ ๔ วัน แล้วแต่เหตุปัจจัย เมื่อใดเราปฏิบัติไปๆ อัปปนาสมาธิเกิดขึ้น เพียงแต่ขั้นปฐมฌานอย่างเดียวก็ได้ หรือเป็นสมาธิขั้นแรกก็ได้

เมื่อจิตใจของเราตั้งมั่นเป็นสมาธิ คือได้สมาธิหรือได้ฌาน เราก็นำมาฝึกให้ชำนาญในวสี คือชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออก ชำนาญในการอธิษฐาน ชำนาญในการรักษาจิตไว้ไม่ให้เข้าก่อนเวลา รักษาสมาธิไว้ไม่ให้เลยเวลาไป ฉลาดในการพิจารณาองค์ฌานนั้นๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ แล้วเอาไปฝึกเลยไม่ได้

ส่วนมากลักษณะอย่างนี้จะเกิดขึ้นสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ๆ พอปฏิบัติแล้วก็อยากให้ฝึกสมาธิทันที เป็นไปไม่ได้ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์ปฏิเสธ แต่อยู่ที่เหตุปัจจัยของผู้ที่จะรับฝึก

เมื่อใดเราบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานจนสามารถทำจิตใจให้สงบอยู่ในขั้นอัปปนาสมาธิสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้นครูบาอาจารย์ก็จะฝึกให้ วิธีฝึกก็คือ ฝึกให้ชำนิชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการ ดังท่านทั้งหลายก็เคยศึกษามาแล้ว แต่หลวงพ่อจะไม่กล่าวถึงอีก วิธีฝึกนั้น ครูบาอาจารย์ต้องเป็นผู้ฉลาดในการฝึก ครั้งแรกเราเตือนให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายทราบว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อาจารย์หรือหลวงพ่อจะได้ฝึกสมาธิให้แล้วนะ

แต่การฝึกสมาธินี้ ไม่ใช่ว่าเป็นการทำลายหรือเป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรม ไม่ใช่ทำในเรื่องอกุศลอะไร ก็พูดให้เขาเข้าใจแล้วก็เริ่มฝึก ให้เขาอธิษฐานเสียก่อน เช่นให้ว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที เกรงว่ามันจะไม่ได้เราก็ให้อธิษฐานว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที

หลังจากนั้นก็ให้ผู้ปฏิบัติกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อย พอถึง ๕ นาที เราเตือนว่า ได้เวลาแล้ว ฟังให้ดีนะ ในขณะที่ได้เวลาแล้ว ก็ให้ผู้ปฏิบัติน่ะคลายออกจากสมาธิ ลืมตาขึ้นมา แต่ถ้าว่ายังไม่คลายออกจากสมาธิ คือสมาธิมาก มันเลยเวลาไป อาจารย์ต้องกำหนดให้ อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ไป

เสร็จแล้วก็ให้เข้าอีก ๕ นาที สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที ฝึกให้ชำนิชำนาญไปเสียก่อน จนสามารถเข้าได้ออกได้ภายใน ๕ นาที สามารถเข้าได้ภายใน ๑ นาที สามารถจะเข้าออกได้ภายใน ๕ นาที ให้ชำนาญเป็นขั้นๆ ไป

เมื่อเราชำนาญในขั้นนี้แล้ว ต่อไปอธิษฐานจิตว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๐ นาที ขณะนั้นเราจับเวลาไว้นะ จับเวลาไว้ พอดีครบ ๑๐ นาทีแล้วก็ ได้เวลาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะกำหนดจิตออกจากสมาธิ อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ตามลำดับๆ มา

ถ้าหากว่า ๑๐ นาทีนี้ยังออกไม่ได้ คือมันเลยเวลาไป เราก็ต้องช่วยด้วย กำหนดว่า อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ มา ครบ ๑๐ นาที ฝึกอยู่อย่างนี้ มิใช่ว่าวันเดียวก็เอาละใช้ได้ ต้องฝึกให้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญก็ฝึกอยู่นี้ ๑๐ นาทีก็ฝึกอยู่อย่างนี้ ๕ นาทีก็ฝึกอยู่อย่างนี้ จนชำนาญ เข้าได้ออกได้ๆ ตามเจตนารมณ์ แล้ววันต่อๆ ไป เราก็จึงฝึก ๑๐ นาที

เมื่อฝึก ๑๐ นาทีชำนิชำนาญแล้ว เข้าได้ออกได้ๆ ไม่ก่อนเวลาและก็ไม่หลังเวลา ออกก่อนก็ไม่ได้ ออกหลังก็ไม่ได้ ต้องให้ออกให้ทันเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อฝึกชำนิชำนาญอย่างนี้แล้วก็ฝึก ๑๕ นาที สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที เราก็กำหนดเหมือนเดิม พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ จนถึง ๑๕ นาที

พอถึง ๑๕ นาที ก็จะออกจากสมาธิ คลายตัวออก อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ ไป คือเคลื่อนมือเบื้องขวาไปวางที่บนเข่าขวา เสร็จแล้วก็ให้เอามือข้างซ้ายออกว่า อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ แล้วเลื่อนมือไปวางที่เข่าซ้าย

หลังจากนั้นก็กำหนดเอาเท้าออก อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ ไป เหยียดขาขวาออกไปๆ เสร็จแล้วก็กำหนดเท้าซ้าย ขาซ้าย อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ไปจนวางได้ที่ หลังจากนั้นก็กำหนด อยากลืมตาหนอๆ แล้วกำหนดว่า ลืมตาหนอๆ ค่อยๆ ลืมตาขึ้นๆ เมื่อลืมตาแล้ว ดูว่ามันยังไม่ได้ที่ ให้กำหนดตามแข้งตามขา กำหนดนวดแข้งนวดขาให้

แต่ในขณะที่นวดอยู่นั้น อย่าเพิ่งไปกำหนดนะว่า รู้หนอๆ หรือว่า ปวดหนอๆ ถ้าเรากำหนดอย่างนี้ มันเข้าอีกนะ เข้าสมาธิไปอีก คือสมาธิมันยังมากอยู่ ยังมียังสูงอยู่ มันก็จะเข้าอีก เหตุนั้น ในลักษณะอย่างนี้อย่าไปกำหนด ให้ออกไปตามที่กำหนดไว้ ออกแล้วก็แล้วไป อย่าไปกำหนดอีก เมื่อกำหนด ๑๕ นาทีได้แล้ว เรานั่งอธิษฐานใหม่ ตั้งใจใหม่ อธิษฐานใหม่ว่า ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที

เราฝึกอยู่อย่างนี้ กลับไปกลับมา จนสามารถเข้าได้ออกได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อชำนิชำนาญแล้วก็ฝึกขั้น ๒๐ นาที ว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒๐ นาที ลักษณะทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันดังกล่าวมาแล้ว คือเหมือนเดิม

สำคัญนะการออก คือออกก่อนเวลาก็ไม่ได้ ออกเลยเวลาก็ไม่ได้ ต้องให้เข้าได้ออกได้ตามที่กำหนดไว้ทุกอย่างทุกประการ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เรียกว่า ชำนาญในวสี คือ ชำนาญในการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ชำนาญในการนึก ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออก ชำนาญในการอธิษฐาน ชำนาญในการพิจารณา

เมื่อชำนาญได้อย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ เรียกว่าชำนาญแล้ว เมื่อได้ ๒๐ นาทีแล้ว ฝึกให้ครบ ๓๐ นาที ทุกอย่างเหมือนเดิม ให้ครบ ๓๐ นาที เมื่อครบ ๓๐ นาทีแล้ว วันนั้นเพียง ๓๐ นาทีเท่านั้นนะ ๓๐ นาทีนี้ เราอาจจะใช้เวลาฝึก ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วันก็แล้วแต่

ถ้าหากว่ายังไม่ชำนาญในการเข้าการออกอยู่อย่างนี้ ก็ฝึกร่ำไปจนกว่าจะชำนิชำนาญทุกอย่าง ที่ฝึกอย่างนี้ก็เพื่อให้ชำนาญ คือสามารถที่จะใช้สมาธิ สามารถที่จะเข้าสมาธิตามเจตนารมณ์ทุกประการ และก็พร้อมที่จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

ถ้าเราไม่ชำนาญอย่างนี้ บางทีเราอยู่ตามกุฏิก็ดี หรือศาลาก็ดี หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ดี เราเข้าไปๆ มันเลยเวลาไป เช่นว่า เวลาที่มันเลยไปนั้น เราจะไปทำธุระอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไปทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไปสวดมาติกา ไปเจริญพระพุทธมนต์ หรือจะไปเทศน์ที่โน้นที่นี้ เราเข้าสมาธิอยู่ ไม่ออกตามเวลา ก็เสียการเสียงาน

เด็กๆ เมื่อก่อนโน้นมาฝึกอยู่ที่นี่ เวลาเขาไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตอนนี้แหละ ตอนเกี่ยวข้าว ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายแล้วก็ว่า วันนี้เรามานั่งสมาธิด้วยกัน ไปนั่งสมาธิ ตอนนั้นก็ปล่อยควายไว้ ปล่อยวัวไว้ ก็พากันนั่งสมาธิ คิดว่าจะเข้าสมาธินิดเดียว คราวเดียว

แวบเดียวเท่านั้น ที่ไหนได้ท่านทั้งหลาย สมาธิที่ไม่ฝึกให้ชำนิชำนาญ เลยเวลาไป บางคนก็ ๑ ชั่วโมง บางคนก็ ๒ ชั่วโมง รู้สึกตัวขึ้นมา วัวของเราหายไปไหน ควายของเราหายไปไหน ตามหาวัวควาย วัวควายไปกินข้าวเขาหมดแล้ว ตกลงเป็นได้รับโทษอีก เขาต้องปรับไหม เพราะข้าวเขาถูกวัวกินถูกควายกิน ถูกปรับไหมใส่โทษ เพราะฉะนั้น ต้องฝึก

หรือบางครั้ง เราอยู่ที่วัดของเรา อยู่ในกุฏิของเรา เราเข้าสมาธิไป ในขณะที่เข้าสมาธิไปบังเอิญไฟไหม้กุฏิของเรา หรือที่ตูบกัมมัฏฐาน (กุฏิกัมมัฏฐาน) ของเรา แต่ว่าเรายังไม่ได้ออกจากสมาธิ คือสมาธิยังไม่คลายตัว ไม่ได้ออกมาเลย ก็ถูกไฟไหม้ตายเท่านั้น ถ้าเราไม่อธิษฐานจิต มันเป็นนะ ถ้าเราอธิษฐานจิต ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้น เราจึงต้องให้ชำนิชำนาญดังนี้

เมื่อเราชำนิชำนาญแล้ว วันหลังก็ฝึกให้เข้าภายใน ๑ ชั่วโมง จนชำนิชำนาญ ๑ ชั่วโมงนี้ เข้าได้ออกได้ๆ ชำนาญแล้วท่านทั้งหลาย ทำชำนาญแล้วอย่างนี้แล้ว วันหลัง เราจะฝึกต่อทีนี้ เราก็เพิ่มเป็น ๒ ชั่วโมง พอดีเดินจงกรมเสร็จแล้วก็มานั่งอธิษฐานว่า ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒ ชั่วโมง หลักการปฏิบัติเหมือนกันทุกอย่าง แต่ว่าต้องทำให้ได้ตามเวลา คือสามารถเข้าได้ การเข้านี้ บางท่านก็ใช้เวลามาฝึกครั้งนี้ บางคนก็ใช้เวลา ๒ นาที หรือ ๓ นาทีจึงเข้าได้ บางคนก็เข้าได้ภายใน ๑ นาที บางคนยังไม่ถึง ๑ นาทีเลย มันเข้าไปก่อน คือสมาธิมันมีมาก ก็เข้าไปก่อน เพราะฉะนั้น เราต้องให้ชำนาญ

และก็ถึงเวลา ๑ ชั่วโมงแล้ว จะออกจากสมาธิ แต่เราจับเวลา มันออกไม่ได้ ยังไม่ออกเลย เราก็กำหนดให้ดังกล่าวมาแล้วว่า อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ มาเรื่อย แต่ถ้ามันออกก่อนเวลาก็ไม่เอา ไม่ให้ลุก ถึงรู้สึกตัวขึ้นมาก็ไม่ลุก นั่งอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ให้กระดุกกระดิก ถ้ากระดุกกระดิกแล้วก็ถือว่า ทำไม่ถูก ทำไม่ได้

เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย เมื่อชำนิชำนาญแล้ว วันหลังก็ค่อยเพิ่มเข้าไป ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓ ชั่วโมง ทีนี้เพิ่มเป็น ๓ ชั่วโมง หลักการทุกสิ่งทุกอย่างก็เหมือนกัน แต่เวลาเข้าเวลาออกก็ต้องให้ตรงเวลา โดยเฉพาะเวลาออกนั้น ออกให้ตรงเวลา ถ้าออกไม่ตรงเวลาก็ฝึกไปอย่างนั้นแหละ จนตรงเวลา

เมื่อครบ ๓ ชั่วโมงแล้ว ให้พักทีนี้ ให้พัก ๓ วัน จำให้ดีนะ หากเข้าสมาธิได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว วันหลังให้หยุด ไม่ฝึก ให้พักอยู่ ๒–๓ วัน ช่วงที่พักนี้ เลี้ยงไว้ ให้เลี้ยงอารมณ์ไว้ หากว่าจะไปที่โน้นจะไปที่นี้ ก็ต้องประคับประคองสติของเราให้ดี อย่าให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปด้วยอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ถ้าจะเข้าสมาธิ (ช่วงพัก) ตอนนี้ ก็เข้าได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ๒๐ นาที เข้าอยู่ในขั้นนี้ ไม่ให้ถึงชั่วโมง อย่าเพิ่งให้ถึงชั่วโมง หรือหากจำเป็นที่จะให้ถึงชั่วโมง ก็ให้ถึงได้ แต่ว่าไม่ให้เลย ๒ ชั่วโมง หากว่าอยู่ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้เข้าได้ แต่ไม่ให้เลยถึง ๒ ชั่วโมง เพราะว่าวันหลังเราจะฝึกอยู่แล้ว ดังนี้ก็เรียกว่าเราเลี้ยงอารมณ์ไว้

เมื่อครบ เมื่อทำได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว วันหลังจะทำต่อ คือหมายความว่า เราพัก ๒ วันแล้ว วันหลังจะทำต่อ ก็ให้อธิษฐานจิตใหม่เหมือนดังกล่าวมาแล้ว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๖ ชั่วโมง ทีนี้เอา ๖ ชั่วโมงแล้วนะ การเข้าการอธิษฐานทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกัน แต่เมื่อครบ ๖ ชั่วโมงแล้วยังไม่ออกจากสมาธิ เราก็ช่วยกำหนดให้ อยากออกหนอๆ เหมือนที่กล่าวมานั่นแหละ ฝึกขั้นนี้ก็เหมือนกัน

การเข้า การออก ท่านทั้งหลายอย่าให้ออกก่อนเวลา และก็อย่าให้เกินเวลาไป จนชำนิชำนาญ เมื่อชำนิชำนาญได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย ต่อไปเราจะฝึกให้สูงขึ้นไป ครั้งนี้นะให้พักนะ ให้พักอยู่ ๕ วัน ขั้นที่ ๖ ชั่วโมงนี้ ให้พักอยู่ ๕ วัน ภายใน ๕ วันนี้ เราเลี้ยงอารมณ์ไว้ให้เข้าสมาธิไปตามปกติธรรมดา

เมื่อครบแล้ว จะฝึก ๑๒ ชั่วโมง อธิษฐานจิตเหมือนที่กล่าวมาแล้ว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๒ ชั่วโมง เมื่อถึง ๑๒ ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ออกจากสมาธิออกจากฌาน เราก็ช่วยกำหนดให้ออก ให้ได้ออกทันเวลา

ถ้าว่าทำไม่ได้ ยังไม่ครบกำหนด ออกก่อนเวลาบ้าง เลยเวลาบ้าง หลังจากพักอยู่ ๗ วัน ขั้นนี้ก็พัก ๗ วันนะ ได้แต่เลี้ยงอารมณ์ไว้ จะเข้าใหม่ทีนี้ ก็ต้องเข้า ๑๒ ชั่วโมง เพราะขั้นนี้ยังไม่เรียบร้อย ขั้นนี้ยังไม่สามารถทำได้ สำหรับขั้นที่ผ่านๆ มาก็เหมือนกัน ๒ ชั่วโมงก็ดี ๓ ชั่วโมงก็ดี และก็ ๖ ชั่วโมงก็ดี

ถ้าเราทำแล้วยังไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ เราก็ฝึกใหม่ ฝึกชำนิชำนาญแล้วจึงฝึกขั้น ๑๒ ชั่วโมง ฝึก ๑๒ ชั่วโมงแล้ว เข้าไม่ได้ออกไม่ได้ตามเจตนารมณ์ ตามที่เราฝึก ตามที่เราต้องการ ก็ให้ฝึกครบ ๗ วัน แล้วก็เข้า ๑๒ ชั่วโมงอีก ยังไม่ชำนิชำนาญการเข้า ครบ ๗ วันแล้วก็ฝึกอีก ให้เข้าอีกจนชำนิชำนาญ เข้าได้ออกได้ตามเจตนารมณ์ครบ ๑๒ ชั่วโมงแล้ว เราจะฝึกต่อ

คือเราพักอยู่ ๗ วันแล้วเราจะฝึกต่อ การอธิษฐานจิตเหมือนเดิม ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒๔ ชั่วโมง แล้วก็นั่งสมาธิไป การกำหนด การปฏิบัติ เหมือนกันทุกอย่าง ต่างแต่ว่าให้ได้ครบ ๒๔ ชั่วโมง เมื่อถึง ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ออก (ตามเวลา) เราก็ต้องกำหนดออกให้ อยากออกหนอๆ เสียก่อน ถ้าว่ามันออกก่อน ก็ไม่ได้ เลยเวลาไปก็ไม่ได้ ฝึกอยู่อย่างนั้นให้ชำนิชำนาญ

นี่หลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลวงพ่อไปฝึกมาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณ พระธรรมธีรราชมหามุนี วัดมหาธาตุฯ ท่านแนะวิธีให้ สอนให้ หลวงพ่อก็นำมาใช้จนตราบเท่าทุกวันนี้

ถามว่า ทีนี้สามารถเข้าได้ออกได้ ๗ วัน ไม่ใช่ของธรรมดานะ ถ้าฝึกให้ชำนิชำนาญแล้วทำได้ ๗ วันนี้ ตามหลักวิชาการที่ท่านแนะนำให้ แต่หลวงพ่อฝึกลูกศิษย์ลูกหาอย่างมากก็ ๓๐ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมงแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าหมดความสามารถแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น

เมื่อว่าถึง อานิสงส์ ที่ท่านทั้งหลายจะได้นั้น คือ

๑) กามฉันทะ พอใจใฝ่หากามคุณ

๒) พยาบาท ไม่พอใจ แค้นเคืองคิดร้ายเขา

๓) ถีนมิทธะ ความท้อแท้ ง่วงเหงา หดหู่ ซึมเซา กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง

๔) อุทธัจจกุกกุจจะ คิดมาก ฟุ้งซ่านรำคาญใจ

๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติ

นิวรณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ สามารถที่จะข่มไว้ไม่ให้เกิดขึ้นมากลุ้มรุมจิตใจของเราได้ ในขณะที่อยู่ในสมาธิ หรืออยู่ในสมาธิของเราไม่เสื่อม

สิ่งที่เกิดขึ้นมาทดแทนก็คือความสุข อยู่ที่ไหนๆ ก็มีความสุข ยืนอยู่ก็มีความสุข เดินไปเดินมาก็มีความสุข ทานอาหารฉันอาหารอยู่ก็มีความสุข นอนอยู่ก็มีความสุข มีแต่สุขกับสุข ถ้าอยู่ในขั้นนี้ ถือว่าเป็นความสุขในฌาน ความสุขขั้นโลกิยะนี้ เป็นความสุขชั้นสูงสุดยอดในทางสมถะ เมื่อสมาธิของเราหรือฌานของเราแก่กล้าแล้วจึงค่อยยกขึ้นสู่วิปัสสนา เพื่อทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน

สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า สมาธินั้น หรือฌานนั้น มี ๒ ประการ คือ

๑. อัปปนาสมาธิ ญานที่เกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี อัปปนาสมาธิที่ได้นั้นเป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตามลำดับ สมาธิขั้นนี้ยังไม่สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปได้ ต่อเมื่อปฏิบัติวิปัสสนา อย่างน้อยยังขั้นปฐมมรรคให้เกิดขึ้นก่อนแล้วนั่นแหละ จึงจะสามารถทำลายกิเลสได้

๒. อัปปนาสมาธิ ที่เกิดในลำดับของมัคควิถี ก็เป็นมรรคเป็นผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมัคควิถี สมาธินั้นก็เป็นมรรคเป็นผล ถ้าว่าเกิดขึ้นได้ครั้งหนึ่ง ก็ถือว่าได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล

ถ้าเกิดในลำดับของมัคควิถีครั้งที่ ๒ สมาธิที่ได้นั้นก็เป็นสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับมัคควิถีครั้งที่ ๓ อัปปนาสมาธิที่ได้นั้นก็เป็นอนาคามิมรรค อนาคามิผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดครั้งที่ ๔ อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นอรหัตตมรรค อรหัตตผล นี่อานิสงส์ที่ได้จากการเกิดของอัปปนาสมาธิมีอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย

สรุปแล้วว่า อัปปนาสมาธิ นี้เกิดขึ้นในลำดับของ ๒ วิถี คือ ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

ถ้า อัปปนาสมาธิ เกิดขึ้นในลำดับของ มัคควิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นมรรค เป็นผล เป็นโลกุตตระ หรือว่าถึงขั้นโลกุตตระ ขั้นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ตามลำดับๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นหลักวิชาการที่ท่านทั้งหลายจะนำไปใช้เพื่อตัวเองด้วย และเพื่อสังคม ลูกศิษย์ลูกหา พระสงฆ์องค์เณร อุบาสกอุบาสิกา ที่มีปสาทะศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส อยากประพฤติปฏิบัติ

เมื่อเขาต้องการประพฤติปฏิบัติ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอนุเคราะห์เขาช่วยเหลือเขา ตามโอกาสตามเวลาที่มีอยู่ เราอย่าไปนอนหลับทับสิทธิ์ ดาบมีอยู่ในมือก็ใช้ดาบนั้นให้เป็น อาวุธมีอยู่ในมือใช้อาวุธนั้นให้เป็น สิ่งใดเป็นของที่ดีเป็นมงคลมีอยู่ในตัวของเรา ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ดังนี้ เพื่อเราด้วยและเพื่อสังคมด้วย

นอกจากนี้ หากว่าท่านทั้งหลายมีความเคลือบแคลงใจ สงสัย ยังไม่เข้าใจ โอกาสหน้ามีอยู่ ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลาย ขอเชิญท่านทั้งหลายได้มาไต่ถามความสงสัยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นให้หมดไป

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะมา ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 65.0.3325.181 Chrome 65.0.3325.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #65 เมื่อ: 28 มีนาคม 2561 13:00:46 »




สมาธิ (๑)

ท่านผู้ใจบุญทั้งหลาย วันนี้ ตามกำหนดการของพวกเรา ก็ถือว่าเริ่มฝึกสมาธิต่อไปอีก จนกว่าจะครบกำหนด หรือจนกว่าจะหมดความสามารถหรือกำลังสมาธิ

คือผู้ที่ทำสมาธิได้แล้ว ๓๐ นาที ก็จะได้เริ่มฝึกสมาธิเป็น ๑ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๑ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๒ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๒ ชั่วโมงแล้ว จะได้ฝึกเป็น ๓ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๖ ชั่วโมงผู้ที่ฝึกได้ ๖ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๑๒ ชั่วโมง ผู้ที่ฝึกได้ ๑๒ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๒๔ ชั่วโมง

วันพระนี้ ถือว่าเราทำได้มากกว่า ๒๔ ชั่วโมง วันพระก่อนมีรายการธรรมเทศนา เลยไม่ได้ฝึก ฉะนั้น วันนี้พวกเราทั้งหลายก็เริ่มฝึกสมาธิต่อไปอีก ก่อนอื่นที่จะได้ฝึกสมาธินั้น ก็ขอปรับความเข้าใจของบรรดาท่านทั้งหลายดังนี้

การฝึกสมาธิ มีธรรมะที่จะต้องประกอบกัน ส่วนใหญ่ๆ นั้นมี ๓ ประการ คือ ๑) จิต ๒) สติ ๓) สมาธิ

จิตกับสติ ก็เป็นคนละอันไม่ใช่อันเดียวกัน จิตกับสมาธิ ก็เป็นคนละอันไม่ใช่อันเดียวกัน คือสภาวะต่างกัน ธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ คือ ทั้งจิตก็ดี ทั้งสติก็ดี ทั้งสมาธิก็ดี เป็นคนละอัน ไม่ใช่อันเดียวกัน

ขอให้เราทั้งหลายเข้าใจ อย่าคิดว่า เอ สติตามระลึกได้นี้ก็เป็นจิต สมาธิคือความตั้งใจมั่นก็เป็นจิต ที่จริงไม่ใช่ เพราะ สติกับสมาธินั้นเป็นตัวเจตสิก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประกอบกับจิตเท่านั้น แต่ไม่ใช่จิต คือจิตนั้นเป็นสภาวะที่น้อมไปในอารมณ์ น้อมไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์

จิต เป็นสภาวะที่คิดอารมณ์ ทั้งดี ทั้งชั่ว

สติ มีหน้าที่ปกครองจิต มีหน้าที่ข่มจิต มีหน้าที่บังคับจิต มีหน้าที่อุปถัมภ์จิต มีหน้าที่เชิดชูจิต มีหน้าที่ยกย่องจิต

สมาธิ มีหน้าที่ทำจิตใจให้สงบ ทำจิตใจให้ตั้งมั่น สมาธินี้ หมายถึงธรรมชาติที่สงบ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วประกอบอยู่กับจิตตลอดเวลา

แต่ทำไมจึงไม่ช่วยในการจำ คือบางครั้ง แทนที่เราจะจำได้ดี เช่นว่า การที่เราท่องหนังสือ แทนที่เราจะท่องได้ดี หรือสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาแล้วแทนที่จะจำได้ดี จะคิดได้ดี แต่กลับจำไม่ดี หรือจำไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอะไร

เพราะว่าจิตซึ่งเป็นธรรมชาติรับรู้อารมณ์ ถูกแต่งเติมเสริมแต่งให้เป็นไปตามลักษณะต่างๆ ของสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลครอบงำเหนือจิตใจ ถ้าจะชี้ชัดให้เข้าใจง่ายๆ ให้เปรียบเทียบเหมือนดัง น้ำบริสุทธิ์ เมื่อถูกแต่งเติมด้วยการนำสีมาใส่ น้ำบริสุทธิ์นั้นก็จะกลายเป็น น้ำสี ตามที่ถูกแต่งเติม ดังนั้น จิตที่คิดจะรับรู้อารมณ์ จึงเหมือนดังน้ำที่ถูกใส่สีตลอดเวลา ยากที่จะแสดงสภาพที่บริสุทธิ์ออกมาให้เห็นได้

แต่ถ้าเราพยายามไม่ผสมสีลงในน้ำนั้นอีก และในขณะเดียวกัน ก็พยายามกลั่นกรองน้ำเก่าให้บริสุทธิ์เช่น เดิม หรือมีสีน้อยลงไป น้ำนั้นก็จะสามารถกลับมาบริสุทธิ์ดังเดิม หรือมีความขุ่นมัวสกปรกน้อยลงได้ เมื่อความขุ่นมัวสกปรกน้อยลง สภาพความบริสุทธิ์เดิมของน้ำก็จะค่อยๆ ปรากฏตัวชัดขึ้น

จิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อพยายามปรุงแต่งจิตของเราให้น้อยลง พยายามไม่ปล่อยให้สิ่งภายนอกมามีอิทธิพลครอบงำจิตเราให้มากนัก ให้จิตเรารับแต่สภาพ เช่นว่า เห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็นรูป ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยินเสียง ได้รสก็สักแต่ว่าได้รส ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้สัมผัสก็สักแต่ว่าได้สัมผัส คือให้รับก็สักแต่ว่ารับอารมณ์ รู้สึกก็สักแต่ว่ารู้สึก ไม่ปรุงแต่งต่อไปให้มากกว่านั้น คือไม่ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกชอบ ไม่ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง หรือลุ่มหลงยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น

เมื่อทำได้เช่นนี้ จิตย่อมไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์เหล่านั้น จิตจะตั้งมั่นด้วยมีความรู้อยู่ตลอดเวลาว่า อะไรกำลังเกิดขึ้น สมาธิที่ประกอบกับจิตจะมีโอกาสออกมาแสดงบทบาทในทางที่เป็นประโยชน์ และใช้งานได้อย่างดี ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ธรรมชาติของจิตนั้นคือ ความคิด ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้ดังนี้

ดังนั้น เมื่อคนเราประกอบไปด้วยกายกับใจ จึงทำให้คนเราต้องคิดไปตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา แต่โดยปกติ คนเรานั้นมักปล่อยให้ตนเองคิดไปตามความเคยชินของจิต นั่นคือมักคิดไปถึงเรื่องที่ผ่านเลยมาแล้วในอดีตบ้าง และคิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงซึ่งเรียกว่าอนาคตบ้าง การที่จิตไปอยู่กับอารมณ์ที่เป็นอดีตอนาคต เรียกว่า จิตถูกปรุงแต่ง

ดังนั้น สมาธิที่ประกอบกับจิตซึ่งคิดถึงเรื่องอดีตและเรื่องอนาคต ก็จะติดอยู่กับเรื่องที่เป็นอดีตหรืออนาคตนั้น ซึ่งเรื่องที่เป็นอดีตหรืออนาคตนั้น จะปรุงแต่งจิตของเราให้เกิดความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบกับเรื่องนั้นๆ ผลที่ตามมาคือความฟุ้งซ่าน คนที่คิดฟุ้งซ่านนานาประการนั่งอยู่ ๕ นาที หรือว่า เดินอยู่ ๕ นาที ก็คิดไปแล้วร้อยแปดพันประการ

เพราะอะไร เพราะว่าเราปล่อยจิตของเราให้นึกถึงแต่เรื่องอดีตบ้าง นึกถึงแต่เรื่องอนาคตบ้าง เมื่อเรานึกถึงแต่เรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้วก็ดี หรือเรานึกถึงเรื่องอนาคตที่ยังไม่มาถึงก็ดี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน คิดมากกลุ้มใจ หนักๆ เข้าก็นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ได้ ทำให้เกิดโรคความดันสูง ทำให้เกิดโรคประสาทได้ ความฟุ้งซ่านจะเกิด เมื่อเรานึกถึงเรื่องอดีตเรื่องอนาคต ความฟุ้งซ่านก็จะเกิดขึ้นทันที ถ้าเราไม่พยายามตั้งสติและ มีสมาธิอยู่กับปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า ความฟุ้งซ่านเป็นทั้งสาเหตุ เป็นทั้งผลอันเนื่องมาจากการที่เราไม่มีสมาธิอยู่ในปัจจุบัน เช่นในขณะปัจจุบัน เรากำลังเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียนหนังสือ และปัจจุบันเรากำลังอ่านหนังสืออยู่ แต่ว่าในขณะเดียวกันเราขาดสติขาดสมาธิ ปล่อยให้จิตเราคิดไปถึงเรื่องอดีต ฟุ้งเฟ้อไปถึงเรื่องอนาคต ที่เรียกว่าฝันกลางวัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน

สมมติว่า เราเป็นนักเรียน ฟังครูผู้สอนก็ไม่รู้เรื่อง ครูพูดอะไร สอนอะไรมาบ้าง หรือเรากำลังทำอะไรอยู่ ก็ไม่รู้เรื่อง หรือว่าในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ สมมติว่า ท่านทั้งหลายฟังหลวงพ่อบรรยายธรรมะเรื่องสมาธิอยู่ในขณะนี้ หากว่าเรามัวแต่คิดถึงเรื่องอดีต คิดถึงเรื่องอนาคต ก็จะกำหนดจดจำไม่ได้เลยว่า หลวงพ่อพูดเรื่องอะไร หรือพูดอย่างไร เราก็จำไม่ได้ หรือไม่รู้ความหมายของธรรมะที่บรรยาย ไม่รู้ความหมายของธรรมะที่เทศน์ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ไม่สามารถจำสิ่งเหล่านั้นได้ดี ทั้งนี้เพราะคุณภาพของจิตเราถูกบั่นทอนด้วยเรื่องอดีตเรื่องอนาคตเสียแล้ว

สมมติว่า เราอ่านหนังสือจนจบบท จบเล่ม แต่ไม่รู้ว่าอ่านเรื่องอะไร ตาอยู่ที่ตัวหนังสือ แต่ใจไปอยู่ที่ไหน ใจไปอยู่ที่อื่นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เราอ่านหนังสือจบแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ความหมาย จำไม่ได้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าสมาธิที่จะสามารถช่วยให้เกิดความจำได้ดีนั้น คือสมาธิจิตที่อยู่กับปัจจุบันคือในขณะนี้ เรียกได้ว่า ทันปัจจุบัน หรือว่าในขณะที่เราอ่านหนังสือ จิตของเราก็อยู่กับตัวหนังสือ นี้เรียกว่าปัจจุบัน

ในขณะที่ฟังหลวงพ่อบรรยายธรรม หลวงพ่อเทศน์ จิตใจของเราก็จะจดจ่ออยู่กับพระธรรมที่หลวงพ่อบรรยายที่เรียกว่า ปัจจุบัน เมื่อจิตของเรามีสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็สามารถที่จะกำหนดจดจำอะไรได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวดี เพราะว่าโดยปกติ สมาธิประกอบอยู่กับจิตของเราอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่เราไม่พยายามทำสิ่งดีซึ่งมีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้น ในทางตรงกันข้าม ยังพลอยบั่นทอนพลานุภาพให้ลดน้อยถอยลงด้วยการปล่อยให้จิตของเราฟุ้งซ่านไปในเรื่องอดีตและเรื่องอนาคตเสียอีก

เหตุนั้น ต่อไปนี้ เราควรจะหันมาฝึกจิตของเราให้อยู่กับเรื่องปัจจุบัน ที่เรียกว่า ฝึกสมาธิ เช่นพวกเราทั้งหลายจะเริ่มฝึกกันในวันนี้ต่อไป

เพราะว่าการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในเรื่องซึ่งเรากำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน ในขณะนี้ วินาทีนี้ และเดี๋ยวนี้ มีสติอยู่ตลอดเวลา จิตย่อมมีพลานุภาพ ทำให้ความจำของเราดียิ่งขึ้น สิ่งที่ตามมาในขณะที่จิตมีสมาธิอยู่กับเรื่องปัจจุบันคือ สติ เมื่อสติกับสมาธิมีความสมดุลกัน สิ่งที่ตามมาก็คือปัญญาจะเกิดขึ้น ดังคำพูดที่เราพูดกันเสมอว่า สติปัญญา

เมื่อสติปัญญาจะเกิด ก็ต้องอาศัยสมาธิเสียก่อน เมื่อมีสมาธิเป็นปึกแผ่นแน่นหนา มีสมาธิเป็นพื้นฐานแล้วก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นก็สามารถจำแนกความผิดชอบชั่วดีได้ รู้ว่าอะไรควรทำอะไร ไม่ควรทำ ความชั่วจะเกิดขึ้นไม่ได้ ความดีย่อมเกิดขึ้นได้ฝ่ายเดียว

ในขณะที่เรามีสมาธิดี มีสมาธิเป็นพื้นฐานเครื่องรองรับ ทำให้สติปัญญาเกิดขึ้นมา เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ความชั่วก็ไม่มีโอกาสจะไหลเข้าไปในขันธสันดานของเรา มีแต่คุณงามความดีคือ ศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ไหลเข้าไปในขันธสันดานของเรา นี้ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ

เราจะสังเกตได้อย่างไรว่า จิตของเราเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ หรือลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นเป็นอย่างไร ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นมีอยู่ ๔ ประการ บรรดาลูกๆ ทั้งหลายจำไว้นะ บางทีปัญหานี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เราได้รับความรู้ความฉลาด หรือได้สิ่งที่เราต้องการขึ้นมาก็เป็นไปได้

บรรดาลูกๆ ทั้งหลายก็ลองคิดดูว่า บางสิ่งบางอย่างเราไม่นึก ไม่ฝึก แต่ตอบปัญหาหลวงพ่อได้เพียงนิดเดียว ก็ได้สร้อยทองคำหนักเป็นสองสลึงหรือเป็นบาทก็มี บางคนตอบปัญหาที่หลวงพ่อถามบางสิ่งบางประการได้ ก็ได้หัวใจหลวงพ่อไปครองก็มี เหตุนั้น การฟังธรรมะ ต้องฟังให้เป็นฟังแล้วจำไว้ หรือว่าหากมีโอกาสมีเวลา จะได้นำเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์

ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. แข็งแรงดี มีพลังมาก เหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียวกันและพร้อมกัน ย่อมมีกำลังมากกว่าที่ปล่อยให้กำลังน้ำไหลกระจัดกระจายไปตามธรรมชาติของมัน ธรรมดาของน้ำนี้ ถ้าเราบังคับให้มันไหลพุ่งไปในทางเดียวกันนี้ กระแสของน้ำจะมีพลังมาก มีอานุภาพมาก สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้

อย่างเช่นไฟฟ้าที่พวกเราทั้งหลายใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เขาก็เอาพลังน้ำที่พุ่งลงไปนั้นเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ก็ผลิตไฟฟ้ามาใช้อยู่ในทุกวันนี้ ทีนี้น้ำนั้น ถ้าเราปล่อยให้ไหลบ่าไปตามธรรมชาติของมัน เหมือนกับคลองที่ข้างวัดของเรานี้ ก็ไม่มีกำลังมาก เอามาใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้เท่าที่ควร

หรือเหมือนกันกับไฟฉาย ไฟฉายนี้ถ้าว่าเราไม่ใส่กรวยปรับแสง เราใส่หัวเทียนเข้าไปแล้วเปิดสวิทซ์ก็จะสว่างเหมือนกัน แต่สว่างไม่ได้มาก ถ้าเราเอากรวยปรับแสงเข้าไป แต่ว่าเรายังไม่ได้ปรับแสงสว่างให้เพิ่มขึ้นจะไม่มีพลังมาก แต่ถ้าเราปรับปุ่มวิทยาศาสตร์ที่เขามีไว้ให้เราปรับแสงสว่างของไฟฟ้านั้น เราปรับเข้าไปตามลำดับๆ เมื่อปรับได้ถึงที่แล้ว ไฟฉายของเราก็มีแสงสว่างมาก สามารถส่องดูสถานที่ไกลๆ ได้ ข้อนี้ ฉันใด

จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้คิดไปแต่เรื่องอดีตอนาคตไป ร้อยแปดพันประการ จิตใจของเราก็ไม่มีพลังไม่มีอำนาจ แต่ถ้าเราคุมกระแสจิตของเราให้เหลือเป็นความคิดเดียว ยิ่งถ้าเรารวมให้เหลือน้อยได้เท่าไร จิตก็จะยิ่งมีพลังมาก

๒. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนกันกับกระแสน้ำในบึงที่สงบนิ่ง ไม่มีสิ่งใดมารบกวนให้เคลื่อนไหวได้

๓. ใสกระจ่าง ชัดเจน เหมือนน้ำที่บริสุทธิ์ ถึงแม้จะมีฝุ่นละอองอยู่บ้าง เมื่อตกตะกอนหมดแล้ว สภาพความบริสุทธิ์ย่อมกลับมาแสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง

๔. นุ่มนวล ควรแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่นวาย ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย ไม่ฟุ้งซ่าน

ทีนี้ มาว่าถึงความมุ่งหมายและประโยชน์ของสมาธิว่า เพราะเหตุไรจึงพากันฝึกสมาธิ หรือเพราะเหตุไร จึงพากันเจริญสมถกัมมัฏฐานทำจิตใจให้เป็นสมาธิ เพราะเหตุไรจึงเจริญวิปัสสนาภาวนา มีความมุ่งหมายอย่างไร หรือประโยชน์ที่เกิดจากการมีสมาธิมีอย่างไร

จุดมุ่งหมายหลักในการฝึกสมาธิก็คือ

ต้องการประโยชน์อย่างสูงสุด โดยมีพระนิพพานเป็นที่สุด มีพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง

คือการฝึกสมาธิครั้งแรกเราก็ต้องเตรียมจิตให้พร้อมน้อมไปสู่การเกิดของปัญญา พิจารณาสิ่งต่างๆ ให้รู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมชาติที่มีที่เป็น เป็นการที่จิตน้อมกลับไปสู่สภาพเดิม

อะไรเป็นสภาพเดิมของจิต

สภาพเดิมของจิตก็คือความบริสุทธิ์นั่นแหละ เป็นสภาพดั้งเดิมของจิต เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว จิตก็จะสะอาด สว่าง สงบ และเมื่อนั้นเราก็จะได้รับความสุขแท้จริง ซึ่งเป็นความสุขอันเกิดจากการที่จิตเกิดความสงบ ร่มเย็น เบา และปลอดโปร่ง

จุดมุ่งหมายหรือประโยชน์ที่นำมาใช้ในปัจจุบันคือเมื่อเราฝึกสมาธิได้แล้ว ก็นำสมาธิมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ที่เกิดจากสมาธิก็มีอยู่หลายอย่าง ดังนี้ คือ

๑. เพื่อช่วยทำให้จิตใจได้ผ่อนคลายจากความตึงเครียด เกิดความสงบ หายความกระวนกระวาย ยั้งหยุดจากความวิตกกังวล ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ได้รับการพักผ่อน ทำให้ใจสบาย และมีความสุข เมื่อส่วนใจรู้สึกสบายและมีความสุขก็จะส่งผลให้ส่วนกายได้รับความสุขตามไปด้วย เช่น ในเวลาที่จำเป็นต้องรอคอย หรือไม่มีอะไรจะทำ เวลาเราทั้งหลายไปกับรถโดยสารอย่างนี้ หรือไปกับรถประจำทาง ในขณะที่รถเกิดติด

ถ้าเราปล่อยจิตให้คิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะเกิดความรู้สึกโกรธ หรือเกิดอาการเครียดขึ้นมา แต่ถ้าเราหันมากำหนดลมหายใจเข้าออก เช่น หายใจเข้าเรานับ หนึ่ง หายใจออกเรานับ สอง หรือ หายใจเข้าภาวนา พุทโธ หายใจออกภาวนา พุทโธ อย่างนี้เป็นต้น สลับกันเรื่อยไปเราจะไม่เกิดความเครียด หรือจะไม่เกิดความชอบ หรือจะไม่เกิดความชังกับสิ่งใดๆ ทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราไม่ได้เอาใจของเราไปจดจ่อกับสิ่งภายนอกที่กำลังวุ่นวายสับสนอยู่ในขณะนั้น หรือจะใช้วิธีที่ปฏิบัติสลับแทรกไปในขณะที่เราต้องทำงานด้วยการใช้สมองอย่างหนัก

เช่นบางครั้ง เราอ่านหนังสืออย่างนี้ เราเอามาใช้ในเวลาอ่านหนังสือได้ สมมติว่า เราอ่านหนังสือไปได้สักสอง สามหน้า หรือสี่หน้าอย่างนี้ เราหยุดเสียก่อน หยุดทำจิตใจของเราให้เป็นสมาธิ โดยขณะนั้น เราหยุดเรื่องการอ่านหนังสือเสียโดยที่เรามาภาวนา พุทโธๆ หรือว่าหายใจเข้านับ หนึ่ง หายใจออกนับ สอง หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พุท ท้องยุบลงภาวนาว่า โธ หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงมาภาวนาว่า ยุบหนอ อย่างนี้สัก ๓ นาที หรือ ๕ นาที เราค่อยอ่านหนังสือใหม่

การอ่านหนังสือของเราจะมีประสิทธิภาพ ทำให้จำได้ง่ายและไม่เกิดความตึงเครียดไม่ทำให้ปวดศีรษะหรือเวลาเราท่องหนังสือก็เหมือนกัน เมื่อเราท่องหนังสือไป เราใช้เวลาท่องหนังสืออยู่ ๑๕ นาที หรือ ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาทีประมาณนี้ แต่ละครั้งๆ ท่องหนังสือนี้ไม่เกิน ๓๐ นาที

เมื่อเราท่องหนังสือครบ ๓๐ นาที เราตั้งอกตั้งใจท่องหนังสือจริงๆ ไม่คิดเรื่องอดีต ไม่คิดเรื่องอนาคต เมื่อเราท่องหนังสือครบ ๓๐ นาที แล้ว เราทวนตั้งแต่ต้นถึงปลาย จำได้แม่นยำแล้วก็พักเสียก่อน ปล่อยวางการท่องหนังสือนั้น หันมาทำจิตใจให้เป็นสมาธิ โดยหายใจเข้าจะภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกจะภาวนาว่า พุทโธ ก็ได้

หรือท้องพองขึ้นมากำหนด พุทโธ ท้องยุบลงไปกำหนด พุทโธ ท้องพองขึ้นมากำหนด พองหนอ ท้องยุบลงไปกำหนด ยุบหนอ ก็ได้ ทำจิตใจให้เป็นสมาธิสัก ๕ นาที ครบกำหนดแล้ว หลังจากนั้นก็ท่องหนังสือต่อไปอีก ๓๐ นาที เราปฏิบัติสลับกันไปอยู่อย่างนี้ จะทำให้การท่องหนังสือนั้นจำได้ง่าย จะไม่เกิดความตึงเครียด จะไม่เกิดอาการปวดศีรษะ นี้ทำให้มีประสิทธิภาพในการท่องหนังสือหรือการทำงานทุกอย่าง

เราอาจจะใช้เวลานิดๆ หน่อยๆ หยุดพัก เวลาเราปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สลับกันไปกับการอ่านหนังสือ การท่องหนังสือ ถ้าทำได้เช่นนี้ จะทำให้สมองและจิตของเราได้รับการพักผ่อน ไม่เกิดการตึงเครียด ไม่ปวดศีรษะ ไม่กลุ้มใจ ไม่เกิดโรคประสาท ไม่เกิดความดันสูง

๒. ประโยชน์ของสมาธิที่จะต้องนำมาใช้ในปัจจุบันก็เพื่อช่วยส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การศึกษา การเล่าเรียนและการกระทำกิจต่างๆ ทำให้มีจิตใจจดจ่ออยู่กับการกระทำนั้นๆ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวกไม่เลื่อนลอย ช่วยให้การกระทำทุกอย่างนั้นถูกต้อง ทำให้คำพูดทุกอย่างนั้น ถูกต้องไม่ผิดพลาด ไม่พลั้งเผลอและทำให้ความคิดทุกสิ่งอย่าง เป็นไปอย่างมีระเบียบและมีประสิทธิภาพ

คนที่มีจิตไม่เป็นสมาธิ ความคิดนั้นย่อมไม่เป็นระเบียบ ไม่ราบเรียบ บางทีคิดเรื่องนี้ยังไม่จบก็ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว คิดเรื่องนั้นยังไม่จบก็ไปคิดเรื่องโน้นแล้ว อะไรร้อยแปดพันประการ นี่เขาเรียกว่า ความคิดไม่มีระเบียบ ไม่มีระบบ เมื่อความคิดไม่มีระบบและไม่มีระเบียบ ความคิดนั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อมีปัญหาอะไร เกิด ความเคลือบแคลงสงสัย ก็ไม่สามารถที่จะขบคิดปัญหาได้

แต่เมื่อใดเรามีสมาธิเป็นเครื่องควบคุมจิต ความคิดของเราย่อมมีระบบ หรือว่าความคิดของเราย่อมมีระเบียบตามที่เราคิดไว้ ที่เราวาดภาพไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคิดของเราก็มีประสิทธิภาพ การทำงานก็จะได้รับผลดี การงานเป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่ผิดพลาด และป้องกันอุบัติเหตุได้ผลดี

เช่นเราขับรถอย่างนี้ ถ้าจิตของเรามีสมาธิดี ไม่พลั้งเผลอ การขับรถก็ปลอดภัย เพราะเมื่อจิตมีสมาธิแล้ว แสงสว่างของจิตก็จะเกิดขึ้นมา จิตของเราก็จะมีกำลัง สามารถที่จะช่วยส่งเสริมการงานทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วงไปโดยดี ได้ผลดี หรือมีประสิทธิภาพดียิ่งๆ ขึ้นไป

๓. ประโยชน์ของสมาธิที่เราจะต้องได้ในปัจจุบัน ก็เพื่อช่วยเสริมสุขภาพร่างกาย แก้ไขโรคภัยไข้เจ็บได้ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า บุคคลประกอบไปด้วย ๒ ส่วน คือ ๑) ส่วนกาย ๒) ส่วนจิตใจ ร่างกายและจิตใจ ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและกัน และมีอิทธิพลต่อกัน

กล่าวคือ เมื่อส่วนของร่างกายไม่ผ่องใส จิตใจของเราก็จะอ่อนแอ ขุ่นมัวไปด้วย เมื่อส่วนจิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือขาดกำลังใจ ก็ยิ่งจะทำให้การกระทบกระเทือนโรคทางกายให้ทรุดหนักลงไปอีก แม้ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติก็ตาม แต่พอได้ประสบเรื่องราวที่ทำให้จิตใจของเราเศร้าโศกเสียใจหรือผิดหวังอย่างแรง ก็อาจทำให้ต้องเป็นไข้ล้มป่วยลงไปก็ได้

ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ ถึงจะมีความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เจ็บป่วยไม่สบายเฉพาะร่างกายเท่านั้น ส่วนจิตใจนั้นไม่พลอยต้องป่วยไปด้วย คือป่วยแต่ร่างกาย แต่จิตใจไม่ป่วย พร้อมกันนั้น ก็ใช้ใจที่สบายและเข้มแข็งนั้น มาช่วยสร้างกำลังใจและส่งอิทธิพล บรรเทาหรือผ่อนเบาโรคภัยไข้เจ็บทางกายนั้น ทำให้โรคทางกายนั้นหายง่าย หายไว หายเร็วขึ้นด้วย

ท่านทั้งหลายคงจะสังเกตเวลาหลวงพ่อเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนี้ นี่ไม่ใช่ว่าสร้างอนุสาวรีย์ให้หลวงพ่อเองนะ ขออย่าเข้าใจอย่างนี้ และก็ไม่ได้หักดอกไม้บูชาตัวเองและก็ไม่ใช่ว่าเป็นการเชิดชูตัวเอง ขอให้บรรดาครูบาอาจารย์ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ทราบไว้ด้วย อันนี้ยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รำลึกถึงว่ามันเป็นจริงหรือไม่

เวลาที่หลวงพ่อเจ็บไข้ได้ป่วย เช่นว่า ในปีที่ผ่านมา เลือดกำเดาออกอย่างแรง ต้องเข้าโรงพยาบาล ถึงแม้การป่วยหนักถึงขนาดนั้นก็คล้ายๆ กับว่าเราไม่ได้ป่วยอะไร มันอยู่เฉยๆ ญาติโยมไปมาหาสู่ ไปเยี่ยมไข้ได้ป่วย ก็เฉยๆ อยู่ เหมือนกับว่าหลวงพ่อไม่ได้ป่วยอะไร ใครไปหาก็พูดคุยด้วย หลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด มาหาก็พูดคุยด้วย บรรดาลูกศิษย์ลูกหาไปหาก็พูดคุยกัน เหมือนกับไม่ได้เป็นอะไร

เวลาแพทย์เวลาหมอมาตรวจเช็คร่างกาย ก็พูดธรรมดา เขาถามว่าเป็นอย่างไรหลวงพ่อ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร ธรรมดา เพราะมันธรรมดาจริงๆ คือร่างกายนั้น มันก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สำหรับจิตใจมันก็เป็นอีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่แยกกันอยู่ นี่แหละญาติโยมทั้งหลาย ถ้าว่าจิตใจของเราเป็นสมาธิ จิตใจของเราก็เข้มแข็ง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เจ็บไข้ได้ป่วยแต่ร่างกาย สำหรับจิตใจของเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยด้วย แล้วก็นอกจากนี้ ยังสามารถทำจิตใจที่เป็นสมาธินั้นรักษาโรคภัยไข้เจ็บของเราให้เบาบางลงไป หรือทุเลาลงไปและให้หายเร็วขึ้น

หลวงพ่อเลือดกำเดาออกอย่างหนัก แต่นอนพักที่โรงพยาบาลเพียงสองคืนเท่านั้นก็ออกมาได้ นี่เป็นเพราะว่าจิตใจของเรานั้นได้ฝึกฝนอบรมมาแล้ว ญาติโยมทุกท่านก็เหมือนกัน คนใดที่มีสมาธิแล้ว สามารถนำเอาสมาธิของตนมาใช้ มันก็ได้ประโยชน์มีประสิทธิภาพ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เช่นว่า โรคประสาทอย่างนี้

คนที่เป็นโรคประสาทนี้จะมาบอกว่า ตนได้สมาธินั้น ขัดกันทั้งเพ คือเหตุผลไม่ตรงกัน คนที่ได้สมาธินั้นจะเกิดโรคประสาทได้อย่างไร เกิดไม่ได้ คนที่เป็นความดันสูง แต่บอกว่าตนสามารถนั่งสมาธิได้ถึง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง เป็นไปไม่ได้ ขัดต่อหลักการ ขัดต่อวิธีการ

เพราะว่าคนที่ฝึกสมาธิ ที่ได้สมาธิแล้ว จะไม่มีความดันสูง เพราะว่าถ้าความดันสูงเกิดขึ้นมา ถ้าจิตมีสมาธิอยู่ ความดันมันเกิดขึ้นไม่ได้ หรือว่าหากมีบ้างเป็นบางครั้งบางคราวเพราะการทำงาน เครียดกับการงานมาตลอดทั้งวัน เราก็นั่งสมาธิ ทำสมาธิ ความดันนั้นก็ลดลงไป

เหตุนั้น จิตใจที่เป็นสมาธิ จึงสามารถรักษาความดันสูงได้ รักษาโรคประสาทได้ รักษาโรคกระเพาะอาหารได้ เพราะเหตุใด จึงสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหารได้ เพราะโรคกระเพาะอาหารนี้เกิดจากความคิด คนคิดมากเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระเพาะอาหารเกิดอาการเกร็งตัวขึ้นมา ทำให้ลำไส้เกิดความเกร็งตัวขึ้นมา เมื่อมันเกิดความเกร็งตัวขึ้นมา ก็เป็นโรคลำไส้ได้ เป็นโรคกระเพาะอาหารได้ แต่คนที่มีสมาธินี้ โรคกระเพาะอาหารไม่มี โรคลำไส้ไม่มี

ญาติโยมทั้งหลายทดลองคิดย้อนหลัง จากอดีตถึงปัจจุบันที่ผ่านมา หลวงพ่อได้มาอยู่กับญาติโยมทั้งหลาย หลวงพ่อบางครั้งไม่ฉันเลย ไม่ฉันตั้ง ๗ วัน นี่เฉยๆ ไม่ได้ฉันข้าวปลาอาหารเลย ทำไมไม่เกิดโรคกระเพาะอาหาร ทำไมไม่เกิดโรคลำไส้ แพทย์เขาบอกว่าโรคกระเพาะนี้ เกิดเพราะฉันอาหารน้อย เกิดเพราะฉันอาหารไม่เป็นเวลา มันก็จริงตามกับแพทย์เขาบอกอยู่

แต่ถ้าเรามีสมาธิแล้ว ๗ วันเราไม่ฉันไม่เป็นไร ๑๕ วันไม่ฉันยังไม่เป็นไร เดือนหนึ่งไม่ฉันยังอยู่ได้ ๓ เดือนไม่ฉันก็ยังอยู่ได้ ไม่เกิดโรคลำไส้ ไม่เกิดโรคกระเพาะอาหาร ที่พูดนี้ไม่ใช่ว่ายืมตำรับตำรามาพูด หรือไม่ใช่เรายืมคำของครูบาอาจารย์ที่เล่าสู่มาพูด แต่ว่าได้ทดลองมาด้วยตนเอง จิตใจของเราที่เป็นสมาธินี้แหละสามารถรักษาโรคได้ รักษาโรคกระเพาะได้ รักษาโรคลำไส้ได้ รักษาโรคความดันสูงได้ รักษาโรคประสาทได้

เหตุนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้เข้าใจเถิดว่า ที่เราบอกว่า เราฝึกสมาธิได้ ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง แต่มีข่าวเกรียวกราวที่โน้นที่นี้ ที่อยุธยาเขามียาดี ที่พิจิตรเขามียาดี ที่อุทัยฯ มียาดี ที่สกลนคร นครพนม เขามียาดี ก็เฮโลกันไปเสียสะตุ้งสตังค์ ของดีที่ตนมีอยู่ใช้ไม่ได้ ของดีที่ตนมีอยู่ไม่นำมาใช้ประโยชน์

เราจะฝึกทำไม เมื่อฝึกสมาธิให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราแล้ว เวลาจำเป็นที่จะต้องใช้ เราไม่ใช้ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เวลาลูกผัวญาติพี่น้องล้มป่วย ล้มหายตายจากไป เรากลับมาร้องไห้โฮจนแทบจะหมดน้ำตา ตาแดงตาบวม คนที่ได้สมาธิ คนที่ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อพลัดพรากจากของรักของชอบใจ แต่มาร้องห่มร้องไห้ มันก็เสียเกียรติของนักปฏิบัติ เสียภูมิของผู้ปฏิบัติธรรม

เหตุนั้น หลวงพ่อขอกระซิบครั้งหนึ่งว่า สมาธิที่ฝึกไปแล้ว ขอให้นำมาใช้ คนที่มีของดีแล้ว ก็ขอให้ฉลาดใช้ มันก็ได้ผลประโยชน์ คนที่มีของดีอยู่แล้วไม่รู้จักใช้ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็วกเข้ามาอีกว่า คนที่สมาธิดีแล้ว เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เจ็บไข้ได้ป่วยแต่ร่างกาย แต่จิตใจไม่ป่วยด้วย มิหนำซ้ำ นำจิตใจที่เป็นสมาธินั้นมาช่วยรักษาโรคทางกายนั้นให้หายเร็วขึ้น ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างที่กล่าวมานี้ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฝึกสมาธิมาพอสมควรทีเดียว และในปัจจุบัน ดังที่เราได้ทราบกันดีว่า เรื่องสมาธินั้น ยังใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย สำหรับผู้ที่มีจิตใจผ่องใสเบิกบานอยู่แล้ว พลังของสมาธิก็ยังช่วยทำให้ร่างกายของเราเอิบอิ่ม ผิวพรรณผ่องใส สุขภาพร่างกายดี มีภูมิต้านทานโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย เราทั้งหลายนึกดูว่า เราออกไปสอนกัมมัฏฐานในภาคฤดูหนาว มันหนาวเหน็บจริงๆ เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ นี่มันหนาวจริงๆ

แต่ทำไมคนที่ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ไม่เป็นหวัดกัน ไม่เป็นไข้หวัด ตามปกติทุกวันนี้เราเป็นหวัดกันเมื่อวัน ๑๕ ค่ำที่ผ่านมา น้ำค้างลงมานิดเดียวเท่านั้น ไข้หวัดกันทั้งบ้าน จับไข้กันเกือบทั้งวัด เพราะเหตุใดจึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่าจิตใจขาดสมาธิ จิตใจไม่เข้มแข็งพอ แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็งพอแล้ว จะไม่เป็นอย่างนี้

ในภาคฤดูหนาวเราไปสอนกัมมัฏฐาน ไปฝึกกัมมัฏฐานให้กับลูกศิษย์ลูกหาให้ญาติโยม มันหนาวเหน็บจริงๆ ตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี ๓ ครึ่ง บางวันก็ตื่นตั้งแต่ตี ๓ กว่าจะได้นอนก็ ๕ ทุ่ม ๖ ทุ่มจึงจะได้นอน แต่เราไม่เป็นไข้หวัดกัน ก็เพราะอำนาจของจิตที่เป็นสมาธิช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้เบาบางลง หรือว่าให้หายไป

ในปัจจุบันได้พิสูจน์เป็นที่แน่นอนแล้วว่า โรคทางกายหลายโรค ก็เป็นเรื่องกายสัมผัส คือเกิดจากความแปรปรวนของจิตใจ เช่น เป็นคนมักโกรธหรือเป็นคนชอบวิตกกังวล ความโกรธและความวิตกกังวลนั้นจะทำให้ใจ และสมองเกิดอาการตึงเครียด จึงทำให้เกิดโรคปวดศีรษะ หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

แต่เมื่อปรับปรุงคุณภาพจิตใจให้ดีขึ้นแล้ว ไม่เป็นคนมักโกรธ หรือชอบวิตกกังวล คิดมากจนเกินขอบเขต เป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีสมาธิมีสติอยู่ในเรื่องปัจจุบัน ไม่คำนึงถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ถ้าอดคิดไม่ได้จริงๆ ก็คิดเพียงเพื่อนำสิ่งที่ผ่านเลยไปแล้วมาเป็นครู สิ่งที่ไม่ดีก็เลิกละเสีย สิ่งที่ดีก็ทำต่อไป หรือเรื่องของอนาคต ก็คิดเพียงเพื่อเป็นจุดมุ่งหมายให้เราเดินไปและเป็นกำลังใจให้เราก้าวเดินไป และจะสำเร็จหรือไม่ ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต

แต่ว่าให้คำนึงถึงเรื่องที่เป็นปัจจุบันนี้ว่า เราเป็นใคร มีหน้าที่อะไร และเราได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ อย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง เราปฏิบัติอย่างสุดความสามารถของเราที่มีอยู่แล้วหรือยัง เมื่อปัจจุบันดีอนาคตก็ดีเอง คิดเพียงเท่านี้ และลงมือปฏิบัติทันที จิตใจของเราจะมีสมาธิอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ไม่วิตกไม่กังวล ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดความรู้สึกชอบ ไม่เกิดความรู้สึกชัง อันจะทำให้เราต้องปรุงแต่ง หรือฟุ้งซ่านมากขึ้นไปอีก

วิธีฝึกสมาธิที่เราทั้งหลายทำอยู่ทุกวันนี้ ก็พอจะเป็นแบบอย่างในการฝึกได้ดีแล้ว แต่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง การฝึกสมาธินี้ หรือการฝึกจิต อาจทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่เราทำกันอยู่นี้ เรากำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งเรียกว่า อานาปานสติ แต่อานาปานสตินี้ เราใช้อยู่ ๓ วิธี คือ

วิธีที่ ๑ เอาต้นลมมาบริกรรม ต้นลมนั้นหายใจเข้า หายใจออก เราหายใจเข้าภาวนา พุทโธ หายใจออกภาวนาพุทโธ นี้กำหนดต้นลม หายใจเข้ากำหนดว่า รู้หนอ หายใจออกกำหนดว่า รู้หนอ ใช้การนับก็ได้ แบบต้นลม

วิธีที่ ๒ เอากลางลมมาบริกรรม กลางลมก็อยู่ที่หัวใจของเรา อยู่ที่ทรวงอกของเรา แต่กลางลมนี้ละเอียดมาก ส่วนมากไม่นิยมการปฏิบัติ เพราะถ้าผู้ที่ไม่มีปัญญาจริงๆ ไม่สามารถที่จะกำหนดได้

วิธีที่ ๓ เราเอาที่สุดลมมาบริกรรม ที่สุดลมคือ ท้องพอง ท้องยุบ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เพราะเหตุใด จึงหันมาใช้ท้องพองท้องยุบ อันเป็นที่สุดลมนี้ เพราะว่า ท้องพองท้องยุบนี้ เมื่อเรากำหนดไปเท่าไรๆ ยิ่งชัดยิ่งขึ้น จิตและเจตสิกของเราก็สามารถตั้งอยู่แนบสนิทได้นาน สามารถทำสมาธิได้ง่าย

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 65.0.3325.181 Chrome 65.0.3325.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #66 เมื่อ: 28 มีนาคม 2561 13:02:39 »




สมาธิ (๒) - ต่อ

เหตุนั้น เมื่อเราฝึกสมาธิ เราจะจับที่ต้นลม หรือที่สุดลมก็ได้ เราทำอยู่อย่างนี้ร่ำไป ผลสุดท้ายก็จะทำให้จิตใจของเราเป็นสมาธิ สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการของเรา

ทีนี้ประโยชน์ของสมาธิที่เราได้ฝึกนั้น มีประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจะรู้สึกแปลกใจ ครั้งแรกๆ ก็จะเกิดความแปลกใจอยู่ ธรรมดา คือจิตใจของเรานั้นจะเกิดอาการดิ้นรนนานัปการ คือเมื่อก่อนโน้น เราปล่อยใจให้เป็นไปตามธรรมชาติ คิดเรื่องอดีตอนาคต ร้อยแปดพันประการ

แต่ขณะที่เรามาฝึกสมาธินี้ เราตั้งใจฝึกจิตของเราให้อยู่กับอาการพองอาการยุบ อยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเราก็จะเกิดความดิ้นรน พยายามจะออกไปภายนอกร่างกาย เมื่อได้ยินเสียงภายนอก จิตก็จะไปเกาะอยู่กับเสียงนั้น หรือเมื่อเราเห็นรูป จิตก็จะออกไปเกาะอยู่กับรูปนั้น ทำให้กระวนกระวาย ไม่สามารถจะสงบได้ง่ายๆ บางครั้งอาจทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ หรือเกียจคร้านขึ้นมาก็มี บางทีก็ทำให้เกิดความผิดหวังขึ้นมา

ถ้าเราพยายามอดทนและปฏิบัติไปเรื่อยๆ อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลาสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๓๐ นาทีบ้าง ดังที่เราทั้งหลายเคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็จะทำให้สามารถเพิ่มพูนสมาธิจิตให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อการประพฤติปฏิบัติดำเนินไปได้เป็นเวลานานพอสมควร จะทำให้เกิดความชำนาญ มีผลทำให้เกิดความสงบทางจิตใจ และมีพลังจิตสูงขึ้นตามลำดับๆ

ข้อสำคัญคือ อย่าลืมว่า ถ้าการปฏิบัตินี้ปราศจากสติสัมปชัญญะคอยควบคุมกำกับแล้ว จะปราศจากความตั้งใจที่แน่วแน่ จะไม่สามารถทำให้เกิดสมาธิจิตได้เลย สมาธิเป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว คือทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว มีสมาธิด้วยกันทุกคน แต่จะมีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่ที่พื้นเพ และสิ่งแวดล้อม ถ้ามีพื้นเพดีและสิ่งแวดล้อมดี ก็จะทำให้จิตใจของเรามีสมาธิได้ง่าย

สมมติว่า ภายในครอบครัวของเรานี้ ครอบครัวของเราไม่ค่อยทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ค่อยผิดเถียงกัน อะไรๆ เกิดขึ้นก็ลงเอยกันด้วยดี เข้าใจกันได้ดี อันนี้เรียกว่า พื้นเพของเราดี อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติจิตใจของเราก็เป็นธรรมชาติที่เยือกเย็นสุขุมลึกซึ้งอยู่แล้ว ประกอบกับสิ่งแวดล้อมคือ บรรดาญาติมิตร ครอบครัวของเราทุกคนล้วนแต่สนใจในเรื่องการทำสมาธิ ภายในบ้านของเราทุกคนสนใจเรื่องการประพฤติปฏิบัติ ในวัดของเราสนใจในการประพฤติปฏิบัติ อย่างที่วัดของเรา หรือบ้านของเรานี้ เรียกว่า สิ่งแวดล้อมดี พื้นเพบางอย่างในครอบครัวอาจจะไม่ดี แต่สิ่งแวดล้อมดี ถ้าสิ่งแวดล้อมดีอย่างเดียว แต่ภายในครอบครัวพื้นเพไม่ดี ก็ไม่สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการ แต่ถ้าว่าพื้นเพดี แต่สิ่งแวดล้อมไม่ดี ก็ไม่สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการเช่นกัน

เมื่อเราประกอบกันทั้งสองอย่าง คือพื้นเพดีด้วย สิ่งแวดล้อมดีด้วย ก็พลอยให้การทำสมาธิมีผลที่ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสมาธิที่ได้ก็เป็นสมาธิที่ถูกต้อง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายสิ่งหลายประการ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

สมาธินี้ นอกจากจะใช้ในการรักษาโรคแล้ว ยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดพลังเกิดอานุภาพ คือ เกิดวิชชา เกิดปฏิสัมภิทา เกิดอภิญญาได้ เช่น

๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือระลึกชาติหนหลังได้ ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

๒. จุตูปปาตญาณ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นได้

๓. อาสวักขยญาน ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

นี้ผลก็เกิดจากสมาธิ ถ้าเราไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจะทำวิชชาทั้ง ๓ ประการนี้ให้เกิดขึ้นได้เลย หรือคนที่แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา ก็เกิดขึ้นจากสมาธิ

ถ้าคนไม่ได้สมาธิถึง ๘ ขั้น หรือสมาบัติ ๘ จะไม่สามารถทำปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ให้เกิดขึ้นได้เลย เพียงเราได้รูปสมาบัติ ๔ คือได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดสมาบัติ ­๘ ได้ ปฏิสัมภิทา ๔ จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราได้สมาบัติ ๘ คือได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔

เมื่อทำได้ดังนี้แล้ว สามารถจะทำให้เกิดปฏิสัมภิทา ๔ ได้ ส่วนคนที่ได้อภิญญา ๖ เช่นว่า มีหูทิพย์ ตาทิพย์ แสดงฤทธิ์ได้ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป ก็เกิดจากสมาธิ ถ้าเราไม่มีสมาธิแล้ว อภิญญาจิตทั้ง ๖ ประการก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลย

สรุปความว่า สมาธินี้มีประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีประโยชน์ตั้งแต่ขั้นต่ำที่สุดจนถึงขั้นสูงที่สุด

ขั้นต่ำ ก็สามารถใช้ในการประกอบการงาน สามารถใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้หายไปได้

ขั้นกลาง ก็สามารถทำให้จิตใจสงบสุข ปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เมื่อจุติเพราะจิตดวงนี้ ก็สามารถไปบังเกิดในพรหมโลกได้ ตามกำลังของสมาธิ

ขั้นสูง สามารถทำให้เกิดปัญญา สามารถนำไปทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดาน สามารถได้บรรลุอริยมรรค อริยผล เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็เพราะอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐาน อบรมบ่มปัญญาให้เกิดขึ้นจนสามารถได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพราะอาศัยสมาธิ เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าได้ประมาท พยายามทำให้สมาธิเกิดขึ้นมาในขันธสันดานของตน

ขอให้ภูมิใจดีใจว่า เราเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ เป็นโชคดีของเราแล้วหนอ ที่พื้นเพและสิ่งแวดล้อมภายในบ้านของเราดีครบหมดทุกอย่าง มีโอกาสได้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล มีโอกาสได้ฝึกสมาธิ มีครูบาอาจารย์เป็นผู้ช่วยแนะนำ ชี้แนะแนวทางให้ในการประพฤติปฏิบัติ ไม่เสียชาติเกิด ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา แล้วยังได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมขั้นสูง

ขอให้เราได้นึกถึงคุณงามความดีของเราอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จะได้เกิดความอุตสาหะในการบำเพ็ญคุณงามความดีในการฝึกสมาธิ

เอาล่ะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำธรรมะเรื่องสมาธิ มาบรรยาย เพื่อประกอบการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายในวันนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 65.0.3325.181 Chrome 65.0.3325.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #67 เมื่อ: 30 มีนาคม 2561 09:25:51 »




สมาบัติ

การเข้าอยู่ใน ฌาน หรือการเข้าอยู่ใน ผล หรือการเข้าอยู่ใน นิโรธ เรียกว่า สมาบัติ

การเข้าสมาบัติ อุปมาเหมือนกันกับหลบความร้อนเข้าไปอยู่ในบ้านที่ตนสร้างไว้ดีแล้ว หรืออุปมาเหมือน อาบน้ำเย็นๆ

สมาบัตินั้น มีอยู่ ๓ ประการ คือ

๑. ฌานสมาบัติ การเข้าอยู่ในฌาน ผู้จะเข้าฌานสมาบัติ ต้องเป็นผู้เจริญสมถกัมมัฏฐาน มีบัญญัติเป็นอารมณ์ และได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป จนถึงจตุตถฌาน

ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ที่ทำฌานได้มีอยู่ ๓๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔ รวมกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการนี้ สามารถทำฌานได้ เพราะเป็นกัมมัฏฐานที่ปรากฏชัด อันจิตและเจตสิกสามารถแอบสนิทตั้งอยู่ได้นาน

อีก ๑๐ ประการนอกจากนี้ ทำได้เพียงอุปจารสมาธิ อุปจารฌานเท่านั้น ไม่สามารถทำได้ถึงอัปปนาสมาธิถึงฌานได้ เพราะกัมมัฏฐานทั้ง ๑๐ ประการนั้น เป็นกัมมัฏฐานที่ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพ อันจิตและเจตสิกไม่สามารถแอบสนิทตั้งอยู่ได้นาน

สำหรับกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการ ที่ทำฌานได้นั้น ก็ยังมีอานุภาพต่างๆ กัน คือ

กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ ทำให้ได้ถึงจตุตถฌาน(จตุกกนัย)

อุเบกขาพรหมวิหาร ได้เฉพาะจตุตถฌานอย่างเดียว

เมตตา กรุณา มุทิตา ทั้ง ๓ ประการนี้ ทำได้ถึงตติยฌาน (ตามจตุกกนัย มีองค์ ๒ คือ สุขและเอกัคคตา)

อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ ทำให้ได้เพียงปฐมฌาน

ผู้ได้ฌาน เมื่อจะเข้าสมาบัตินั้น โดยมาคิดเห็นความทุกข์ยากลำบากที่จะต้องรับรู้ปริตตารมณ์ คืออารมณ์เล็กๆ น้อยๆ สู้มหัคคตารมณ์ คืออารมณ์ในฌานไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงนำเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง อันถูกกับอัธยาศัยของตนขึ้นมาบริกรรม จนเกิดอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต เป็นอุปจารสมาธิ ได้ถึงอัปปนาสมาธิ มีองค์ฌานประกอบ ข่มนิวรณ์ธรรมเสียได้ เป็นไปตามฌานชวนวิถี คือบริกรรมแล้วขึ้นสู่อนุโลม จากอนุโลมขึ้นสู่โคตรภูฌาน ข้ามโคตรกาม ถึงฌาน แล้วแน่วแน่อยู่ในพระกัมมัฏฐาน

ตัวอย่าง การกำหนดอาการพองอาการยุบ โดยภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆ เพ่งนิ่งอยู่กับอาการพอง อาการยุบ จนดับอารมณ์ทั้งปวงเสียได้ ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียง ไม่มีง่วง ลืมจากอารมณ์ทั้งปวงเสียสิ้น มีแต่อิ่มใจอยู่ในฌานสุข แน่แน่วอยู่อย่างนั้น การเพ่งไม่ยอมปล่อยวางอยู่เช่นนี้ ชื่อว่า ฌานสมาบัติ การเข้าอยู่ในฌาน เป็นสันติสุขอยู่ในโลกนี้โดยแท้

ส่วนอรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น ย่อมทำให้อรูปฌานเกิดขึ้นได้

จึงเป็นอันว่า ในกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการ ที่ให้ได้ฌานนั้น กัมมัฏฐาน ๒๖ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ ให้สำเร็จรูปฌาน ส่วนอรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น ให้สำเร็จเฉพาะอรูปฌาน

ทั้งรูปฌานและอรูปฌานนี้ เป็นโลกิยฌาน โลกิยสมาบัติ มีอยู่ ๘ ประการ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ซึ่งแยกออกแล้ว ก็เป็น ๒ ประเภท คือ

๑) อารัมมณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งบัญญัติ ๔๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งจนได้ฌาน

๒) ลักขณูปนิชฌาน คือฌานที่เพ่งรูปนาม เพ่งพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนดังท่านทั้งหลายปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ถ้าได้ฌานเพราะการเพ่งรูปนาม เพ่งพระไตรลักษณ์อย่างนี้ เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน

ฌานที่บุคคลได้แล้วนั้น เมื่อจะจุติจากโลกนี้ไป ฌานไม่เสื่อม จุติด้วยอำนาจฌาน ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลก ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นตามกำลังของฌาน หมดอำนาจของฌานเมื่อไรแล้ว ก็จุติจากพรหมโลก มาเกิดในเทวโลกหรือมนุษยโลก อย่างใดอย่างหนึ่งตามอำนาจของบุญกรรมที่สั่งสมอบรมไว้

พรหมสิ้นบุญ จุติจากพรหมโลกในชาติที่ ๑ นี้ จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิเป็นอันขาด เพราะอานิสงส์ของฌานยังรักษาไว้อยู่ แต่เมื่อมาเกิดในมนุษย์ หรือเกิดในเทวโลกแล้ว มีความประมาท ทำบาปทำกรรมต่อไปอีก หรือบาปกรรมเก่าให้ผล จึงจะไปสู่อบายภูมิในชาติต่อๆ ไป

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้เข้าใจว่า แม้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา หากทำบาปทำกรรมแล้ว ก็ไม่พ้นจากอบายภูมิได้ ยกเว้นพระอนาคามีเสีย ผู้ไปเกิดในพรหมโลก จุติจากพรหมโลกแล้ว เว้นชาติที่ ๑ หรือชาติที่ ๒ ที่ ๓ แล้ว ก็ยังมีโอกาสไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานได้อยู่ หากว่าเกิดความประมาท

เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราทั้งหลาย ผู้มีความมุ่งหวังตั้งใจ อยากจะพ้นจากอบายภูมิ เหมือนดังโจรที่ไม่ต้องการจะไปอยู่ในเรือนจำ ติดคุก ติดตะราง อยากมีความสุข อยากมีอิสระด้วยกัน ฉะนั้น

สรรพสัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกันทุกตัวตน ไม่ต้องการที่จะไปตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราจึงได้สละความสุขทุกอย่างทางเนื้อหนัง ต้องข่มจิตข่มใจเจริญวิปัสสนาภาวนา เพราะเหตุว่า หนทางที่จะปิดประตูอบายภูมิได้นั้น มีหนทางเดียว คือได้แก่ การเจริญพระวิปัสสนาภาวนา จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไปแล้ว จึงจะสามารถปิดประตูอบายภูมิได้

๒. ผลสมาบัติ คือการเข้าอยู่ในอารมณ์ของพระนิพพาน ที่ได้จากอริยมัคคญาณที่เกิดขึ้นแล้ว ผลสมาบัตินี้ ปุถุชนทั่วไปเข้าไม่ได้ แม้ว่าจะได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ แล้วก็ดี ก็ไม่อาจที่จะเข้าผลสมาบัติได้ เข้าได้เฉพาะพระอริยบุคคลเท่านั้น

พระอริยบุคคลผู้ที่เข้าผลสมาบัติได้นั้น ก็เข้าได้เฉพาะผลของตนเท่านั้น เช่น

ผู้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะมาเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระโสดาบันก็ไม่ได้ หรือ พระโสดาบันจะไปเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอรหันต์ก็ไม่ได้

เพราะผลสมาบัติเป็นของใครของมัน เข้าของกันไม่ได้ อุปมาเหมือนกับพระราชาของเทวดาทั้งหลาย ย่อมมีทิพยสมบัติอันเป็นของส่วนพระองค์ เทวดาองค์อื่นนั้นไม่มีสิทธิ์ ไม่มีอำนาจใดๆ จะมาเสวยทิพยสมบัติของเทวราชานั้นได้ ข้อนี้ฉันใด แม้ผลสมาบัติก็เหมือนกันฉันนั้น เข้าได้เฉพาะของตนเอง เข้าของคนอื่นไม่ได้

การเข้าผลสมาบัตินั้น ความสุขที่ได้รับเป็นโลกุตตรสุข คือเป็นสุขที่พ้นจากกามโลก รูปโลก อรูปโลก เป็นความสุขที่พ้นจากโลกิยะทั้งหลายทั้งปวง เป็นความสุขที่เรียกว่า นิรามิสสุข ความสุขที่ไม่อิงอามิส เป็นความสุขที่อิงเนกขัมมะ

ท่านทั้งหลาย การที่เราจะถึงพระนิพพานนั้น ไม่ใช่ว่าตายแล้วจะไปถึงพระนิพพาน เราต้องถึงกันเดี๋ยวนี้เสียก่อน คือในภพนี้ชาตินี้ก็ต้องประพฤติปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลเสียก่อน การบรรลุอริยมรรคอริยผลก็หมายความว่า จิตของเราเข้าสู่กระแสของพระนิพพานแล้ว เห็นพระนิพพาน ๑ ขณะจิตบ้าง ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง

คือจิตของเราเข้าถึงกระแสพระนิพพานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ ๑ ขณะจิต หมายเอาเฉพาะมัคคจิต ถ้ารวมผลจิต ก็เข้าถึงพระนิพพาน ๓ ขณะจิตบ้าง ๔ ขณะจิตบ้าง อย่างนี้ชื่อว่า จิตของเราเข้าถึงโลกุตตรภูมิแล้ว

การที่จะเข้าผลสมาบัตินั้น โดยที่พระอริยเจ้ามาพิจารณาเห็นว่าความสุขในชั้นโลกิยะนี้ เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ สู้ความสุขในชั้นโลกุตตระไม่ได้ เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ก็ยกเอา รูป นาม พระไตรลักษณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นมาเป็นตัวกำหนด จนสติสัมปชัญญะทันปัจจุบันรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ ๔ ขึ้นไปถึงอนุโลมญาณแล้วผ่านโวทาน ดับอารมณ์โลกิยะ ถึงผลสมาบัติ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์

การเข้าสมาบัติโดยพิจารณารูปนาม เกิดวิปัสสนาญาณตามลำดับ จนถึงผลสมาบัตินั้น มัคคจิตเกิดไม่ได้ หมายความว่า แม้จะได้อัปปนาสมาธิเพราะอำนาจของวิปัสสนาดังกล่าวแล้วก็ตาม อัปปนาสมาธินั้นจะไม่เกิดในลำดับมัคควิถีเป็นอันขาด อัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในลำดับผลชวนวิถี คือเกิดในลำดับแห่งผล เมื่อเข้าถึงที่แล้วก็เป็นผลสมาบัติ เหตุที่มัคคจิตไม่เกิดขึ้นนั้น เพราะว่าอัชฌาสัยน้อมไปในผลสมาบัติแล้ว

การเข้าผลสมาบัตินั้น เป็นทิฏฐธัมมสุขวิหาร เป็นบรมสุขในปัจจุบันนี้โดยแท้ เป็นพระนิพพานอันสืบเนื่องมาแต่อารมณ์ของผลจิต

อนึ่ง พระอริยเจ้า เมื่อแรกได้บรรลุอริยมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ตั้งอยู่ในปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อริยผลที่ต่อเนื่องมาในมัคควิถีก็เป็นปฐมฌานด้วย และเมื่อเข้าสมาธิ ผลจิตอันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้นก็เป็นปฐมฌานเช่นเดียวกัน

หากว่าอริยมรรคที่ได้นั้นประกอบด้วยทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน อันใดอันหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ผลสมาธิ ก็เข้าด้วยฌานนั้นๆ (องค์ฌาน เมื่อแสดงตามปัญจกนัย : ทุติยฌานมีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา, ตติยฌานมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา, จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา, ปัญจมฌาน มีองค์ ๒ คือ เอกัคคตา อุเบกขา)

สภาวะที่ตั้งอยู่ในผลสมาบัติ คือ ไม่เอาใจใส่ในนิมิตทั้งปวง ได้แต่พระนิพพานเป็นอารมณ์นั้น ตั้งอยู่ด้วยหลัก ๓ ประการ คือ

๑) ไม่เอา รูป นาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์

๒) กำหนดเวลาเข้า และกำหนดเวลาออก

๓) เมื่อยังไม่หมดเวลาที่กำหนดไว้ ก็ยังอยู่ในผลสมาบัติ จนกว่าจะหมดเวลา

ในการที่จะออกจากผลสมาบัตินั้น เมื่อจะออกจากผลสมาบัติ จิตก็จะได้ อารมณ์ นิมิต รูปนาม อันใดอันหนึ่ง มีกรรมนิมิต เป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์แห่งภวังคจิต อันติดมาแต่แรกปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้ เมื่อจิตไปยึดเอาอารมณ์นิมิตนั้นแล้ว ก็จะพรากจากอารมณ์ของพระนิพพาน ถอยมาสู่อารมณ์ปัจจุบัน เหมือนในขณะนี้

การเข้าผลสมาบัตินั้น ก็คือการเข้าอยู่ในอารมณ์ของพระนิพพาน ซึ่งผู้ปฏิบัติได้บรรลุแล้ว เห็นแล้ว ซึ่งในขณะนั้น ผลจิตจะเกิดขึ้นติดต่อกัน โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ดังนั้น ผลจิตจึงได้เกิดขึ้นในหลายลำดับ

ผลจิตนี้ บางทีเกิดขึ้นในลำดับแห่งมรรคก็มี หมายความว่า ในขณะที่บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น มัคควิถีย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ คือ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู แล้วมัคคจิตก็จะเกิดขึ้น หลังจากนั้น ไม่มีอะไรมาคั่นในระหว่างกลาง ผลจิตก็จะเกิดขึ้นทันที ผลจิตดวงนี้ เรียกว่า เกิดขึ้นในลำดับแห่งมรรค

อีกอย่างหนึ่ง ผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งผลก็มี หมายความว่า เมื่อผลจิตเกิดขึ้นต่อจากมัคคจิต โดยไม่มีระหว่างคั่นแล้ว ถ้าเป็นมันทบุคคล ผลจิตก็จะเกิดขึ้นอีกหนึ่งขณะ ถ้าเป็นติกขบุคคล ผลจิตก็จะเกิดขึ้นต่อไปอีก ๒ ขณะ ผลจิตที่เกิดขึ้นต่อจากผลจิตดวงแรก ที่ต่อจากมัคคจิตนั้น ชื่อว่า ผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งผล คือผลในดวงหลังๆ เกิดในลำดับแห่งผลดวงก่อนๆ

บางที ผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งโคตรภูก็มี อันนี้หมายถึงการเข้าผลสมาบัตินั่นเอง หมายความว่า เมื่อต้องการจะเข้าผลสมาบัติ ก็ตั้งใจกำหนดรูปนาม จนเห็นพระไตรลักษณ์ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นตามลำดับๆ ผลจิตดวงแรกนั้นก็เกิดในลำดับแห่งโคตรภู ซึ่งเป็นอนันตรปัจจัยมาจากอนุโลมจิต อนุโลมจิตของพระอรหันต์ ก็เป็นอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติของพระอรหันต์ อนุโลมจิตของพระเสขบุคคลก็เป็นอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติของพระเสขบุคคล (อนันตรปัจจัย แปลว่า ธรรมที่ช่วยอุดหนุนโดยไม่มีระหว่างคั่น อนึ่ง คำว่า โคตรภู ในผลสมาบัติวิถีนั้นไม่เรียกชื่ออย่างนั้น คงมีแต่ชื่อว่า อนุโลม เหมือนกันทั้งหมด)

บางที ภวังคจิตเกิดในลำดับแห่งผลก็มี หมายความว่า หลังจากที่ผลจิตเกิดขึ้นครบกำหนด ๒ หรือ ๓ ขณะจิตในมัคควิถี หรือหลังจากเข้าผลสมาบัติครบตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ ผลจิตที่เกิดติดต่อกันมา ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายแล้วดับลง ต่อจากนั้นภวังคจิตก็จะเกิดขึ้นต่อกันทันที คือออกจากผลสมาบัติแล้วจิตก็จะลงสู่ภวังค์ อย่างนี้เรียกว่า ภวังคจิตเกิดในลำดับแห่งผล

บางที ผลจิตเกิดในลำดับแห่งเนวสัญญานาสัญญายตนะก็มี อันนี้หมายถึงผลจิตที่เกิดขึ้น อยู่ในนิโรธสมาบัติวิถี คือเมื่อจะเข้านิโรธสมาบัติ ต้องเข้าฌานสลับกับเจริญวิปัสสนา ตั้งแต่ขั้นปฐมฌานเป็นต้นมาตามลำดับจนถึงฌานขั้นสุดท้าย คือเนวสัญญานาสัญญายตนะ

เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ จะเกิดขึ้นเพียง ๒ ขณะจิต แล้วต่อจากนั้นก็จะเป็นนิโรธสมาบัติ เมื่อจะออกจากนิโรธสมาบัติ ก็เกิดผลจิตขึ้น ๑ ขณะ แล้วจิตจึงลงสู่ภวังค์ ผลจิตที่เกิดขึ้นภายหลังเนวสัญญานาสัญญายตนะอย่างนี้ เรียกว่า ผลจิตเกิดในลำดับแห่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะว่านิโรธสมาบัติที่เกิดขึ้นในระหว่างกลางนั้น เป็นการดับจิตและเจตสิกไปหมด จึงไม่นับว่ามีจิตอื่นคั่นในระหว่าง

๓. นิโรธสมาบัติ คือการเข้าอยู่ในความดับจิต และดับเจตสิก หมายถึงการเข้าฌานตามลำดับ ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้น

เมื่อออกจากปฐมฌานแล้ว ก็พิจารณาปฐมฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจึงเข้าทุติยฌาน ออกมาก็พิจารณาทุติยฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจึงเข้าตติยฌาน ออกมาก็พิจารณาตติยฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไปทุกๆ ฌาน จนกระทั่งถึงอากิญจัญญายตนฌาน

เมื่อออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ไม่ต้องเจริญวิปัสสนา คือไม่ต้องพิจารณาให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ต้องทำบุพพกิจ ๔ ประการ คือ

๑) อธิษฐานว่า บริขารทั้งหลายทั้งปวง อย่าได้เป็นอันตรายไป ด้วยอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

๒) อธิษฐานว่า ถ้าในระหว่างที่อยู่ในนิโรธสมาบัตินี้ ถ้ามีประชุมสงฆ์ สงฆ์ต้องการตัว ก็ให้ออกจากสมาบัติเถิด

๓) อธิษฐานว่า ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะรับสั่งหา ก็ให้ออกจากสมาบัติเถิด

บุพพกิจข้อ ๓ นี้ ในปัจจุบันนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องทำ เพราะพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไปแล้ว

๔) ต้องพิจารณาอายุสังขารของตน ถ้าอายุสังขารจะเป็นไปไม่ได้เกิน ๗ วัน ไม่ควรเข้านิโรธสมาบัติ

ในบุพพกิจทั้ง ๔ ข้อนี้ ๓ ข้อต้นไม่ต้องทำก็ได้ แต่ข้อ ๔ ผู้เข้านิโรธที่อยู่ในมนุสสภูมิต้องทำ ถ้าอยู่ในรูปภูมิ ไม่ต้องทำบุพพกิจก่อนเลยก็ได้

หลังจากทำบุพพกิจเสร็จแล้วก็เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ โดยมีวิถีจิตเกิดดังนี้ คือ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู แล้วเนวสัญญานาสัญญายตนะก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ ต่อจากนั้น จิตเจตสิก จิตตชรูป (รูปที่เกิดจากมีจิตเป็นเหตุให้เกิด) ก็ดับลง เป็นอันว่าสำเร็จการเข้านิโรธสมาบัติทุกประการ

ในมนุสสภูมินี้ สามารถที่จะเข้าอยู่ในนิโรธสมาบัติได้ถึง ๗ วัน โดยไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต เพราะอาหารที่บริโภคเข้าไปแล้ว เกิดเป็นโอชะหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ ส่วนในรูปภูมิ สามารถเข้าได้โดยไม่จำกัด และเมื่อออกจากนิโรธ ผลจิตย่อมเกิดขึ้นก่อน ๑ ขณะ

ต่อจากนั้นก็จะได้อารมณ์นิมิตรูปนามอันใดอันหนึ่ง มีกรรมนิมิตเป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์ของภวังคจิต ที่ติดมาแต่แรกปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้ เมื่อจิตยึดเอาอารมณ์นิมิตนั้นแล้ว ก็จะพรากออกจากอารมณ์ของพระนิพพาน ถอยมาสู่อารมณ์ปัจจุบัน คือหมายความว่า เมื่อจะออกจากนิโรธสมาบัติ ก็เกิดผลจิตขึ้น ๑ ขณะ แล้วจิตก็ลงสู่ภวังค์ เปลี่ยนจากอารมณ์พระนิพพาน มาเป็นอารมณ์ของภวังค์ มีกรรมนิมิตอารมณ์ เป็นต้น

การเข้านิโรธสมาบัตินี้ เข้าได้เฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น คือต้องได้สมาบัติ ๘ ด้วย ถ้าเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ที่ไม่ได้ฌาน ไม่ได้สมาบัติมาก่อน ก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ สมาบัติหรือฌานนี้ ได้ด้วยการเคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อน หรือเกิดขึ้นมาพร้อมตอนได้บรรลุมรรคผล ก็ใช้ได้เหมือนกัน

ผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัติ ต้องประกอบด้วยปัญญาวสีสามารถชำนาญใน สัมปทา ๔ คือ

๑) มีกำลังในวิปัสสนา และมีกำลังในสมถะ

๒) ระงับไตรพิธสังขาร คือ กายสังขาร ระงับลมหายใจเข้าออก วจีสังขาร ระงับวิตกวิจาร จิตตสังขาร ระงับสัญญาเวทนา เสียได้

๓) ประพฤติเป็นไปในโสฬสญาณ คือต้องผ่านญาณ ๑๖ มาแล้ว จนได้เป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์

๔) ประพฤติเป็นไปใน นวานุปุพพวิหารสมาบัติ คือต้องได้สมาบัติ ๘ มาแล้ว จึงจะขึ้นสู่สมาบัติที่ ๙ ซึ่งเรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธได้

การเข้าสู่สมาบัตินั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของ ผีเข้าเจ้าทรง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการสะกดจิต ไม่ใช่เป็นการนอนหลับ และในขณะที่เข้าอยู่ในสมาบัตินั้น จะเป็นฌานสมาบัติก็ตาม ผลสมาบัติก็ตาม นิโรธสมาบัติก็ตาม ไม่ใช่ว่า จิตลงสู่ภวังค์ หรืออยู่ในภวังค์

ส่วนมากนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเข้าใจผิดว่า การเข้าฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี หรือนิโรธสมาบัติก็ดี ก็คือจิตเข้าสู่ภวังค์ ถ้าเข้าใจดังนี้ ชื่อว่าเข้าใจผิด เพราะการที่คนทั้งหลายนอนหลับสนิท จึงชื่อว่า จิตลงสู่ภวังค์ ถ้าจิตขึ้นจากภวังค์ก็เรียกว่า ตื่น ถ้าว่าการเข้าสมาบัติก็คือจิตเข้าสู่ภวังค์แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติให้เหน็ดเหนื่อย เพราะว่าตั้งแต่เราปฏิสนธิมาจนถึงบัดนี้ เรานอนทุกวันทุกคืน จิตก็เข้าสู่ภวังค์ทุกวัน ทุกคืนอยู่แล้ว

สรุปว่า การเข้าฌานสมาบัติ ก็คือ การที่จิตประกอบด้วยองค์ฌาน มีพระกัมมัฏฐานที่ตนใช้บริกรรมเป็นอารมณ์

การเข้าผลสมาบัติ ก็คือ การที่จิตประกอบไปด้วยองค์ฌาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

การเข้านิโรธสมาบัติ ก็คือ การที่จิต เจตสิก และจิตตชรูป (รูปที่เกิดจากจิต) ดับลง เป็นสภาพที่ปราศจากรูปนามโดยแท้ เป็นการเข้าสู่พระนิพพานในปัจจุบันนี้เลยทีเดียว ต่างจากผลสมาบัติ คือผลสมาบัตินั้นเป็นเพียงจิต คือผลจิต มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เท่านั้น

อนึ่ง ในการเข้าฌานสมาบัติ นั้น จิตที่ประกอบด้วยองค์ฌานมี วิตก วิจาร เป็นต้น เป็นกุศลชาติ เป็นกุศลจิต เป็นตัวกรรมที่สามารถให้เกิดผลได้ แต่การเข้าผลสมาบัติ จิตคือผลจิตประกอบด้วยองค์ฌานมี วิตก วิจาร เป็นต้นนั้น เป็นวิปากชาติ เป็นวิปากจิต เป็นตัวผลของกรรมที่ได้รับผลมาจากได้บรรลุถึงมัคคจิต จึงมิได้เป็นตัวส่งผลที่จะให้ไปเกิดในภพภูมิใดๆ ตัวผลจิตเองเป็นผลที่ได้รับเท่านั้น

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะ ในเรื่อง สมาบัติ มา ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 65.0.3325.181 Chrome 65.0.3325.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #68 เมื่อ: 05 เมษายน 2561 14:26:04 »



ฌาน - สมาบัติ

วันนี้ หลวงพ่อจะได้พูดเรื่อง ฌาน หรือ สมาบัติ

คำว่า ฌาน กับ สมาบัติ เป็นอันเดียวกัน คือ

คำว่า ฌาน ก็หมายถึง การเพ่ง คือเพ่งรูปนาม ที่เราทั้งหลายปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ เราเพ่งรูปนาม ขันธ์ห้า คืออาการพองอาการยุบเป็นต้น การเพ่งอย่างนี้เรียกว่า ฌาน

คำว่า สมาบัติ แปลว่า สมบัติของผู้ได้ฌาน ซึ่งหมายถึง ท่านผู้ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน การได้ฌานอย่างนี้เขาเรียกว่า สมาบัติ คือสมบัติของผู้ได้ฌาน

สำหรับ ฌาน ก็ดี สมาบัติ ก็ดี ที่ท่านทั้งหลายเริ่มตั้งแต่วันปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้ หลวงพ่อขอทายหรือขอให้คำปฏิญญา หรือให้ความมั่นใจกับท่านทั้งหลายว่า ที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมา บางท่านก็ได้ฌาน บางท่านก็ได้มรรคได้ผล แต่จะได้มากได้น้อย ก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา

ครั้งแรก หลวงพ่อจะพูดเรื่องฌานเสียก่อน พระเจ้าพระสงฆ์ที่ประพฤติวุฏฐานวิธีก็ดี ลูกเณรก็ดี อุบาสกอุบาสิกา ลูกน้อยๆ ทั้งหลายที่ทำสมาธิก็ดี พูดโดยทั่วไปแล้ว ได้ฌานทุกคน หรือได้สมาบัติทุกคน แต่ว่าจะได้มากหรือได้น้อย แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา คือ ท่านทั้งหลาย การอยู่ในฌานนั้น บางท่านก็สามารถอยู่ในฌานได้นานๆ เป็น ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง จนถึง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง หรือ ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง ก็แล้วแต่ อำนาจของสติสมาธิที่เราได้สร้างสมอบรมมา

สำหรับฌานนี้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติที่เป็นพระภิกษุนี้ก็ได้ฌานเหมือนกัน แต่เรารักษาอารมณ์ของฌานไม่ได้ อีกอย่างหนึ่ง ก็เพราะว่าฌานที่เราได้นั้น เราไม่สามารถที่จะอยู่ในฌานได้นานๆ บางท่านก็อาจอยู่ในฌาน ๑ นาที ๕ นาที ๑๐ นาที ๓๐ นาที ส่วนมากพระเราได้สมาธิได้ฌาน อย่างมากก็ ๔๕ นาที หลังจาก ๔๕ นาทีไป อีก ๑๕ นาที ต้องทนเอาเกือบตาย เจ็บที่โน้นปวดที่นี้ อะไรจิปาถะ เพราะจิตของเรามันออกจากฌานแล้ว เมื่อจิตออกจากฌานแล้วเราก็ปวด อาการปวดอาการเจ็บหรือเวทนามันเกิดขึ้นมา

เมื่อพูดถึงนี้ เราปฏิญญาตนได้เลยว่า เราได้ฌาน หรือไม่ได้ฌาน ถ้าหากว่าเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปตามลำดับๆ ตั้งแต่นาทีที่ ๑ ไปตามลำดับๆ จนถึง ๔๕ นาที เราไม่ปวด ไม่เจ็บที่โน้น ไม่ปวดที่นี้ นั่งสมาธิเพลินไปๆ โน้นอีก ๑๕ นาที (จะครบ ๑ ชั่วโมง) จึงรู้สึกว่าเจ็บที่โน้นปวดที่นี้ อะไรจิปาถะ ลักษณะที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าฌานของเรามันหมดอายุแล้ว หมดพลังแล้ว เราก็ต้องทนทุกข์ทรมาน

ครูบาอาจารย์บอกว่าให้เรานั่ง ตอนนี้เรานั่ง ๑ ชั่วโมง พยายามทำให้ได้ เราก็ตั้งอกตั้งใจจะทำให้ได้ ส่วนมากท่านทั้งหลายทำได้ถึง ๑ ชั่วโมง แต่ ๑ ชั่วโมงนี้ เราไม่ได้เต็มอัตรา เราอยู่ในสมาธิ ๒๐ นาทีบ้าง ๓๐ นาทีบ้าง ๔๕ นาทีบ้าง หรือว่า ๑ ชั่วโมงบ้าง แล้วแต่อำนาจของสมาธิเรา

ท่านทั้งหลาย เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราได้สมาธิ หลวงพ่อว่า ได้สมาธิๆ เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราได้สมาธิ ได้ฌาน ให้ท่านทั้งหลายจงสังเกต ในขณะที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น หรือเราว่า เจ็บหนอ ปวดหนอ คิดหนอ โกรธหนอ อยู่นั้น อะไรอย่างนี้ เรากำหนดไปๆ อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นก็จะละเอียดเข้าไปๆ จนสามารถจะควบคุมได้ ไม่คิดไปเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

คือเราไม่คิดเลย ไม่ได้คิดไปข้างหน้า เราไม่ได้คิดไปข้างหลัง เราไม่ได้คิดไปข้างซ้ายข้างขวา เราไม่ได้คิดขึ้นเบื้องบน เราไม่ได้คิดลงข้างล่าง แต่จิตใจของเรากำหนดพองหนอ ยุบหนอ อยู่ตลอดเวลา และอารมณ์ที่กำหนดอยู่นั้นก็ละเอียดเข้าไปๆ ความรู้สึกของเรามันละเอียดเข้าไปๆ เกือบจะไม่ได้ยินเสียง คือเสียงมันละเอียดลดลงไป ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่บุญวาสนาบารมีของท่าน

ขณะนั้น เรายังกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อยู่ แต่เสียงก็ดี ความรู้สึกของเราก็ดี มันละเอียดเข้าไปๆ จนความรู้สึกของเรามันเหลืออยู่ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดที่โน้นที่นี้ เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปได้เรื่อยๆ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้สมาธิได้ฌานแล้ว ได้ขั้นปฐมฌานแล้ว

ท่านทั้งหลายอาจจะไม่เชื่อ อาจจะคิดว่าหลวงพ่อพูดปลอบใจ หลวงพ่อไม่ได้พูดปลอบใจ แต่พอที่จะสังเกตได้ ที่หลวงพ่อได้สอนพระกัมมัฏฐานมานานพอสมควร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ มาจนถึงบัดนี้ มีผู้มาประพฤติปฏิบัติมากพอสมควร ส่วนมากพระเจ้าพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ลูกเล็กเด็กแดงทั้งหลาย ที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ทำได้เหมือนกันทุกคน

แต่ว่าการอยู่ในอารมณ์ของฌานนั้น เราบังคับไม่ได้ บางทีชั่วโมงนี้สามารถอยู่ในสมาธิได้ แต่ช่วงหลังเราทำไม่ ได้ คือเราไม่สามารถที่จะบังคับมันได้ เวลาเกิดมันก็เกิดเองอัตโนมัติ เวลาจิตของเรามันสงบมันก็สงบไป เวลาคิดมันก็คิดไป แต่เรากำหนดได้ ความคิดมันก็หมดไป ไม่คิด จิตใจของเรามันตั้งอยู่กับอาการพองอาการยุบตลอดเวลา

ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปฐมฌานแล้ว ปฐมฌานนี้ ต้องมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา วิตกคือการตริ วิจารคือการตรอง คือยังมีวิตกวิจารอยู่ ยังได้ภาวนาอยู่ ยังได้กำหนดพองหนอยุบหนออยู่ แต่จิตของเราไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น จิตใจของเรามันหนักแน่นมั่นคง อยู่กับอารมณ์ของพระกัมมัฏฐานตลอดเวลา ถ้าท่านทั้งหลายทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปฐมฌาน คือฌานที่ ๑ แล้ว ถ้าเราได้ฌาน เราเอาอารมณ์ของฌานนี้มาเป็นบาทในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานเร็วขึ้น (หรือ) หากว่าเราจุติเพราะจิตดวงนี้ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน คือจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะอำนาจของฌานธรรมรักษาไว้

แต่หากว่า ถึงคราวที่เราจะดับชีวิตของเรา คือเราจะตาย ในขณะที่เราตาย เราตายในฌาน ฌานไม่เสื่อม ก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลาย ก่อนที่จิตของเราจะดับลงไป คือเราจะตายลงไป เราไม่ลืมอารมณ์ของพระกัมมัฏฐาน เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ไปเรื่อยๆ เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไป จิตของเรามันดิ่งลงไป ดิ่งเข้าๆ

ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือก่อนจะตายนั้นล่ะ เห็นอารมณ์ของพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ดับปั๊บลงไป ถ้ามันดับลงไปลักษณะดังนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายตายด้วยอำนาจของมัคคญาณ ผลญาณ คือจิตของเรามันดับลงไปด้วยอำนาจมัคคญาณ

ถ้าจิตของเรามันดับลงไปด้วยอำนาจของอริยมรรคอริยผลอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าเราสามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ตายแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน วันหนึ่งข้างหน้าหรือชาติต่อๆ ไป หากเรามีโอกาสที่จะได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เข้าสู่พระนิพพานในวันข้างหน้า อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๑

ฌานที่ ๒ ทิ้งวิตก ทิ้งวิจาร เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อเราปฏิบัติมาจนถึงฌานที่ ๒ นี้แล้ว อารมณ์ของฌานที่ ๒ เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ฌานที่ ๒ กับฌานที่ ๑ ไม่เหมือนกัน ฌานที่ ๑ ยังมีคำบริกรรม พองหนอ ยุบหนออยู่ แต่ฌานที่ ๒ คือทุติยฌานนี้ จะไม่มีการบริกรรม

เมื่อก่อนเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ แต่พอมาถึงฌานที่ ๒ นี้แล้ว เราไม่ได้ว่า เรานั่งเฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ภาวนาพองหนอ ยุบหนอ ถ้าหากว่าในขณะใดเรายังกำหนด พองหนอ ยุบหนอ แสดงว่าฌานที่ ๒ นั้นมันเสื่อมลงไปแล้ว ลงถึงฌานที่ ๑ แล้ว แต่เรากำหนดไปๆ จิตของเราก็ขึ้นสู่ฌานที่ ๒ อีก เมื่อถึงฌานที่ ๒ จิตใจของเราก็หนักแน่นมั่นคงแล้ว ก็ไม่บริกรรม พองหนอ ยุบหนอ นี่ไม่ได้ว่าเลย จิตใจหยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์พระกัมมัฏฐาน

เมื่อถึงฌานนี้แล้ว ความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่ เสียงก็ยังมีอยู่ แต่มันมีอยู่ประมาณสัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ คือมันละเอียดไปแล้ว เสียงก็ดี ความรู้สึกของเราก็ดี เหลืออยู่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าท่านทั้งหลายทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านถึงฌานที่ ๒ แล้ว ถ้าว่าฌานที่ ๒ นี้ไม่เสื่อม เวลาจุติในฌาน ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

หากว่าเอาจิตดวงนี้มาเป็นพื้นฐานรองรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา เราก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรค อริยผลเร็วขึ้น นี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๒ นี้ ถ้าหากว่าเราได้สร้างสมอบรมบารมีมาพอสมควรแล้ว ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้ปีนี้หรือปีต่อไป หรือถึงวันสุดท้ายก่อนที่เราทั้งหลายจะจากโลกนี้ ท่านทั้งหลายคงเคยตายแล้วก็มี ผู้ไม่เคยตายก็มี

สมมติว่า ตอนที่จิตใจของเรามันจะดับจากโลกนี้ไป เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ ดังที่เราทั้งหลายเห็นปู่ย่าตายายของเรา ลูกๆ ก็อยู่ใกล้ๆ หลานๆ ก็อยู่ใกล้ๆ อย่าลืมเด้อ อย่าลืมพุทโธเด้อ อย่าลืม พองหนอ ยุบหนอเด้อ เตือนอยู่ตลอดเวลา หากว่า ในขณะนั้น คนเรามันไม่มีที่พึ่งแล้ว ผัวเมียก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ ลูกๆ หลานๆ ก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ หาอะไรๆ ที่จะเป็นที่พึ่งของเราหาไม่ได้ เหลือแต่บุญที่เราสร้างสมอบรมไว้ เราก็ตั้งจิตตั้งใจ พุทโธๆ ไป บางทีก็ลูกๆ หลานๆ พี่ๆ น้องๆ ผู้เป็นผัวเป็นเมีย ก็ช่วยกำหนด พุทโธๆ หรือพองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ

ในขณะที่จิตของเรามันจะดับปั๊บลงไป หากว่ามันดับด้วยอำนาจของฌาน ดับแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน แต่ว่าถ้าจิตของเรามันดับด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ ก่อนที่จิตของเราจะดับ มีพระไตรลักษณ์เกิดขึ้น คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็กำหนดพระไตรลักษณ์นั้น

และในขณะที่กำหนดพระไตรลักษณ์นั้น มัคคญาณผลญาณเกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ดับปั๊บลงไป ก็แสดงว่าจิตของเรามันตายในมรรค หรือว่าดับด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ ถ้าจิตของเราดับด้วยลักษณะอย่างนี้ ก็แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจมัคคญาณผลญาณ เราไม่ได้ตายอยู่ในโลกีย์ จิตของเรามันพ้นจากโลกีย์แล้วไปสู่โลกุตตระ สามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่ได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มีพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง

หากว่าบุญวาสนาบารมีของเราได้สร้างสมอบรมมา มีพอสมควร เกิดภพใหม่ชาติใหม่ก็มีโอกาสจะได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่เป็นลักษณะของฌานที่ ๒ เมื่อฌานที่ ๒ แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ฌานที่ ๓

ท่านทั้งหลายจะรู้ได้อย่างไรว่า ฌานที่ ๓ นั้นมันเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร เพราะเราไม่ได้เรียนมา อีกอย่างหนึ่ง เราไม่ได้รู้ชื่อของมัน คือฌานที่ ๓ มันเป็นอย่างไร เราก็ไม่ได้รู้ แต่เรารู้สภาวะของการอยู่ในฌาน แต่เราเองไม่รู้ความหมายของมัน เหมือนกันกับเราไม่เคยบริโภคผลไม้ต่างๆ สมมติว่า ทุเรียน หรือแอปเปิ้ล น้อยหน่า อะไรทำนองนี้ เราไม่รู้ชื่อของมัน แต่เราก็บริโภครสชาติของมันเราก็รู้ว่า (รส) มันเป็นอย่างนี้ๆ แต่เราไม่รู้จักชื่อของมัน ข้อนี้ ฉันใด

การที่จิตของเรามันจะถึงฌานที่ ๓ นี้ หมายความว่า จิตของเราเข้าถึงฌานที่ ๓ แล้ว เมื่อก่อนโน้น เรานั่งไม่ตรง เมื่อถึงฌานที่ ๓ นี้นั่งตรง เราจะก้มก็ไม่ได้ เราจะเงยก็ไม่ได้ เราจะมองซ้ายแลขวา ก็มองไม่ได้ เราจะกระดิกนิ้วมือนิ้วเท้าก็ไม่ได้ ตัวของเรานั่งตรงตลอดเวลา เหมือนกันกับเอาไม้แหลมๆ หรือเหล็กแหลมๆ มาตอกลงที่ศีรษะของเราไปตรึงให้แน่นกับพื้น เรากระดุกกระดิกไม่ได้

อาการเช่นนี้เกิดขึ้นมา ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า จะทุรนทุราย เหมือนกันกับใจจะหลุดจะขาดอะไรลักษณะนี้ ไม่มี นั่งสมาธิได้สบายๆ ตอนนี้ได้เสวยสุข เป็นสุขในฌาน สุขในฌานนี้ถือว่า เป็นสุขขั้นสูงสุดยอดในทางโลกิยะ

เมื่อก่อนเคยปวดโน้นปวดนี้ เมื่อมาถึงนี้ ไม่ปวดแล้ว และความรู้สึกก็ดี เสียงที่ได้ยินก็ดี จะเหลือประมาณสัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เกือบจะหมดแล้ว ถ้าหากท่านทั้งหลายสามารถทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านถึงฌานที่ ๓ แล้ว ถ้าหากว่าฌานที่ ๓ ไม่เสื่อม เราจุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

อีกอย่างหนึ่ง หากว่าก่อนที่เราจะตาย เราได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ในขณะนั้น จิตของเรามันเห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ดับวูบลงไป ขาดความรู้สึกลงไป ถ้าในลักษณะดังนี้ แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ คือว่าตายในมรรคตายในผล ถ้าจุติในลักษณะดังนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วจะไม่บังเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน อย่างน้อยเราก็ไปบังเกิดในพรหมโลก เมื่อมีโอกาสมีเวลาได้กลับมายังโลกนี้ หรือได้เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่พรหมโลกนู้น ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถึงฝั่งคือพระนิพพาน อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๓

เมื่อฌานที่ ๓ แก่กล้าสมบูรณ์แล้ว ก็จะส่งให้ฌานที่ ๔ ท่านทั้งหลาย เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราได้ฌานที่ ๔ลักษณะของฌานที่ ๔ มันเป็นอย่างไร มันเกิดขึ้นแก่เรานั้นอย่างไร เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ดังนี้ คือเมื่อเราถึงฌานที่ ๔ แล้ว จะไม่มีลมหายใจ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนั้น มันไม่มี มีพระบาลีกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า

บุคคล ๔ ประเภท จะไม่มีลมหายใจ คือ

๑. คนตายก็จะไม่มีลมหายใจ

๒. เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาก็จะไม่มีลมหายใจ

๓. บุคคลผู้ดำน้ำก็จะไม่มีลมหายใจ

๔. ผู้เข้าถึงจตุตถฌานคือฌานที่ ๔ ก็ไม่มีลมหายใจ

บุคคล ๔ ประเภทนี้ เรียกว่า ไม่มีลมหายใจ ถ้าหากว่าเราได้สมาธิหรือว่าได้ฌานอย่างนี้ ก็แสดงว่า ท่านทั้งหลายถึงจตุตถฌานแล้ว หากว่าเอาฌานนี้มาเป็นบาทรับรองในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น อีกอย่าง หากว่าเราตายในฌาน ฌานไม่เสื่อม เราตายในฌาน ตายแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

อีกอย่างหนึ่ง ก่อนที่เราจะดับจิต จิตของเราจะดับไปจากโลกนี้ เราไม่ลืมกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอๆ หรือ พุทโธๆ สัมมาอรหังๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เรากำหนดไปเรื่อยๆ กำหนดจนพระไตรลักษณ์ปรากฏ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏ เมื่อปรากฏแล้ว จิตของเราเข้าไปยึดแล้วก็ดับลงไป ก็แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจอริยมรรคอริยผล จุติแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เรามีพระนิพพานเป็นที่ได้เป็นที่ถึง

หากว่ามีบุญวาสนาบารมี เราก็จะได้เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่โน้น อยู่ในพรหมโลก บางทีก็สามารถที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เข้าสู่พระนิพพานในพรหมโลกชั้นนั้นๆ แต่บางท่านบารมียังไม่แก่กล้า อาจจะจุติลงมายังโลกมนุษย์ แล้วก็ได้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ ก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๔

ท่านทั้งหลาย อำนาจของฌานทั้ง ๔ ประการ นี้มีพลัง มีอานุภาพ ที่จะให้เราผู้ฝักใฝ่ในการเจริญพระกัมมัฏฐาน คือวิปัสสนากัมมัฏฐาน อานิสงส์ของฌานทั้ง ๔ ประการนี้ สามารถที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกเราทั้งหลายได้สำเร็จอริยมรรคอริยผล ถึงฝั่งคือพระนิพพาน ตามบุญวาสนาบารมีที่เราทั้งหลายได้สร้างสมอบรมไว้

เมื่อเราได้ฌานอย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย หากว่าเคยสร้างสมอบรมบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอภิญญาจิต เช่นว่า แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ สามารถทำอาสวะให้หมดไปสิ้นไปจากขันธสันดาน อภิญญาทั้ง ๖ ประการ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถที่จะเกิดขึ้นแก่เราผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน

และสามารถที่จะได้วิชชา ๓ คือระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นว่า ผู้นี้เขามาจากไหน เขามาเกิดในที่นี้ และเมื่อตายแล้วเขาไปเกิดในที่ไหน และก็สามารถทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน วิชชา ๓ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หมายความว่า ผู้นั้นได้เคยสร้างสมอบรมบารมีมาก่อน เช่น เมื่อก่อนโน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้นได้ทำบุญทำทานอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ และก็ปรารถนาหรือตั้งใจ ดังที่เราทั้งหลายตั้งอธิษฐานจิตอยู่ทุกวันนี้ว่า

สาธุ ด้วยอานุภาพนี้ ด้วยอำนาจของการให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ขอจงได้เป็นพลวปัจจัยให้ข้าพเจ้าได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน

เราได้ตั้งจิตตั้งใจไว้อย่างนี้ แต่ภพก่อนชาติก่อน ได้ตั้งใจไว้อย่างนี้ เมื่อถึงโอกาสได้เวลา เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เราได้มาบวชในพระพุทธศาสนา เราได้โอกาสเจริญพระกัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะให้ได้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ ประการ ตามบุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมไว้

แต่อำนาจของฌานทั้ง ๔ ประการนี้ คือ อำนาจของปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานนี้ ไม่สามารถที่จะทำให้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือความแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในภาษา และปฏิภาณ ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ประการนี้ ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้น แก่เราผู้ได้สำเร็จเพียงขั้นจตุตถฌาน

เมื่อใด เราได้เจริญพระกัมมัฏฐานต่อจนได้อรูปฌาน ๔ คืออากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อเราได้ทั้งรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ฌานทั้ง ๘ ประการนี้ มีอำนาจ มีพลัง มีอานุภาพ สามารถที่จะทำให้เราได้สำเร็จปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้

ท่านทั้งหลาย เมื่อเราท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมบารมีสมบูรณ์แล้ว อานิสงส์ของฌานทำให้เราไปบังเกิดในพรหมโลก บางท่านก็สามารถที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในพรหมโลกชั้นนั้นๆ แล้วแต่บุญวาสนาบารมี แต่บางท่านอาจจุติมาเกิดในโลกมนุษย์บ้าง ในเทวโลกบ้าง แต่ว่าจะไม่ไปบังเกิดในอบายภูมิ

คือหมายความว่า ถ้าพรหมหมดบุญแล้ว ก็จะมาเกิดในโลกนี้ ไม่จมไปสู่อบายภูมิ ไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เพราะอะไร เพราะกำลังฌานรักษาไว้ ไม่ให้เราไปสู่อบายภูมิได้ นี่เป็นอานิสงส์ของฌาน

ผู้ได้ฌานดังกล่าวมาแล้วข้างต้น หากว่าฌานสมบูรณ์แล้ว อานิสงส์ของฌานนี้จะสามารถรักษาไว้ถึง ๗ วัน ๗ คืน ไม่ตาย เพราะสมาธิหรือฌานนี้สามารถที่จะอยู่ได้ ๗ วัน ไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต

เพราะว่า อาหารที่บริโภคเข้าไปแล้ว เกิดขึ้นเป็นโอชะ หล่อเลี้ยงร่างกายไว้ไม่ให้ตาย เมื่อถึงเวลาก็ออกจากฌาน และผู้ที่ได้ฌานดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จะเกิดเลือดฝาดหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีฉวีวรรณผุดผ่อง คนที่ได้ฌานนั้น หน้าตาอิ่มเอิบ เบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เศร้าๆ โศกๆ เรามองดูก็น่าดู น่าชม น่ารัก น่านับถือ น่าบูชา เพราะเหตุไร เพราะอำนาจของฌานที่รักษาไว้ อันนี้เป็นลักษณะของฌาน

สรุปแล้วว่า ผู้ที่ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌานแล้ว หากว่าไปเกิดในภพใดภพหนึ่ง ก็ไม่ต้องไปสู่อบายภูมิ คือไม่เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เพราะอำนาจของฌานรักษาไว้

เมื่อเราได้สร้างสมอบรมบารมีจนสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตามบุญญาวาสนาบารมี ที่เราท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมา

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ฌาน-สมาบัติ มาโสรจสรงองค์ศรัทธาของท่านทั้งหลาย เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 65.0.3325.181 Chrome 65.0.3325.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #69 เมื่อ: 20 เมษายน 2561 10:04:18 »




สมาบัติ ๘

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย ในเรื่อง สมาบัติ ๘ ประการ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย คำว่า ฌาน กับคำว่า สมาบัติ นั้น ต่างกันโดยพยัญชนะ แต่โดยเนื้อความคือสภาวะแล้วเป็นทำนองเดียวกัน

คำว่า ฌาน แปลว่า เพ่ง ดังเช่นเราเอาดินมาเป็นอารมณ์ เราก็เอาสติกับจิตของเราเข้าไปตั้งไว้ที่ดวงกสิณคือดินนั้นแล้วบริกรรมว่า ปฐวีๆ ดินๆ อย่างนี้ จนสำเร็จเป็นอัปปนาสมาธิได้ เรียกว่า ฌาน หรือเราเพ่งอาการพองอาการยุบก็ดี เพ่งเวทนา เพ่งจิตก็ดี จนสามารถทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เราเพ่งนั้น ก็จัดว่าเป็นฌาน

ฌานนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ

๑. อารัมมณูปนิชฌาน ได้แก่ ฌานที่เอาบัญญัติมาเป็นอารมณ์ เช่น กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔

การที่เราเอาอารมณ์เหล่านี้มาบริกรรมมาภาวนา หากว่าได้ฌานขึ้นมาเพราะการบริกรรมดังกล่าวมานี้ เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน

๒. ลักขณูปนิชฌาน ได้แก่ ฌานที่เพ่งรูปนามเพ่งพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ เช่น พวกเราท่านทั้งหลายเพ่งอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการถูก เพ่งเวทนาคือความสุข ความทุกข์ ความดีใจ ความเสียใจ ความเฉยๆ หรือเพ่งจิตคือความคิด เพ่งธรรมารมณ์ เหล่านี้เรียกว่า เพ่งรูป เพ่งนาม เพ่งพระไตรลักษณ์ ถ้าเราเพ่งหรือบริกรรมดังกล่าวมานี้จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิเป็นฌาน ฌานนั้นก็เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน

คำว่า สมาบัติ แปลว่า สมบัติ หมายถึง สมบัติของผู้ได้ฌาน

การเข้าอยู่ในฌานหรือเข้าสมาบัติ อุปมาเหมือนกับบุรุษผู้หลบความร้อนเข้าไปอยู่ในบ้านที่ตนสร้างไว้ดีแล้ว ผู้ที่จะเข้าสมาบัตินั้น โดยมาคิดว่า ความสุขที่เกิดขึ้นจากปริตตารมณ์ เป็นความสุขเล็กๆน้อยๆ สู้ความสุขในฌานไม่ได้ จึงหลีกออกจากหมู่ไปสู่ที่สงบแห่งใดแห่งหนึ่ง ยกจิตของตนขึ้นสู่อารมณ์กัมมัฏฐาน บริกรรมจนจิตสงบเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เข้าสู่ฌานธรรม

ฌานธรรมนั้นมี ๘ ประการ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔

มีปัญหาอยู่ว่า จะสังเกตหรือทราบได้อย่างไรว่าเราได้ฌานหรือสมาบัติชั้นไหน ทราบได้อย่างนี้ คือ

ในส่วนของรูปฌาน ๔ หรือรูปสมาบัติ

๑. ปฐมฌาน เมื่อจิตเข้าถึงปฐมฌานจะข่มนิวรณ์ธรรมลงได้ นิวรณ์ แปลว่า ธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดีมีศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพาน เป็นต้น หรือกั้นศีล สมาธิ ปัญญา สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา นิวรณ์ธรรมนี้ เป็นอันตรายของปฐมฌานและของทุกๆฌานด้วย

นิวรณ์นั้นมีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑) กามฉันทะ พอใจในอารมณ์ เช่น พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรืออารมณ์เหล่าใดที่เกิดขึ้นในขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐาน จัดเป็นกามฉันทะ

๒) พยาบาท ไม่พอใจในอารมณ์ เช่น ไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่ไม่ดี ซึ่งเกิดขึ้นตอนปฏิบัติ หรืออารมณ์ใดๆก็ดี ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติ เราไม่พอใจ ไม่ชอบใจ จัดเป็นพยาบาท

๓) ถีนมิทธะ ความง่วงงุน ความหดหู่ ความท้อแท้ ความง่วงเหงาหาวนอน

๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ เมื่อนึกถึงบาปหรือความชั่วที่ตนทำไว้ แต่บุญไม่ได้ทำ

๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เช่น สงสัยในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยเรื่องนรก สวรรค์ พระนิพพาน เป็นต้น

เราจะรู้ได้อย่างไร สังเกตได้อย่างไร ว่าเราเข้าถึงปฐมฌาน หรือการฝึกสมาธิอยู่ในขณะนี้ หรือการอธิษฐานจิตอยู่ในขณะนี้ เราได้ปฐมฌานหรือไม่นั้น เราพึงสังเกตดังนี้ คือ

ในขณะเข้าถึงปฐมฌานนั้น ยังจะมีบริกรรมอยู่ ยังมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ยังมีบริกรรมว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธ คำใดคำหนึ่งอยู่ เสียงก็ยังได้ยินอยู่ แต่ได้ยินไม่เต็มที่ ไม่ได้ยินเหมือนอย่างธรรมดาที่เราได้ยินอยู่ในขณะนี้ คือว่าเสียงนั้นลดน้อยลงไป หรือมีความรู้สึกว่าน้อยลงไป แต่ว่าในขณะนั้นจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต จิตใจของเราจดจ่ออยู่เฉพาะบทพระกัมมัฏฐาน

สมมติว่าเรากำหนดอาการพองอาการยุบ จิตใจนั้นก็อยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่นึกถึงเรื่องอดีตอนาคต หากว่ามีเสียงอะไรเกิดขึ้นในขณะที่นั่งอยู่นั้นก็ไม่สะดุ้งตกใจ เขาจะมาจุดประทัดอยู่ข้างๆก็ตาม จิตใจของเราเฉยอยู่ ไม่มีการสะดุ้ง ไม่มีการตกใจ ไม่มีการฟุ้งซ่าน หรือว่าในขณะนั้นมีมะพร้าวร่วงลงมาก็ดี กิ่งไม้ร่วงลงมาถูกสังกะสีก็ดี ก็เฉยอยู่ ไม่มีการสะทกสะท้าน ไม่มีการตกใจ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วก็แสดงว่าเข้าถึงปฐมฌานแล้ว

ถ้าหากว่าฌานไม่เสื่อม ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้

ผู้ใดได้ปฐมฌานอย่างหยาบ ฌานไม่เสื่อม เวลาตายตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฐมฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมปาริสัชชา ในรูปพรหมชั้นที่ ๑ มีอายุยืน ๑ ใน ๓ ของมหากัป

ผู้ได้ปฐมฌานอย่างกลาง ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฐมฌานวิบากปฏิสนธิจิต เกิดเป็นพรหมปุโรหิตา ในรูปพรหมชั้นที่ ๒ มีอายุ ๑ ใน ๒ มหากัป

ผู้ใดได้ปฐมฌานอย่างประณีต ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฐมฌานวิบากปฏิสนธิจิต เกิดเป็นมหาพรหม ในรูปพรหมชั้นที่ ๓ มีอายุยืน ๑ มหากัป

ถ้าเอาสมาธิขั้นปฐมฌานนี้มาเป็นเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนา ก็สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน เร็วขึ้นกว่าธรรมดา

๒. ทุติยฌาน หรือ ทุติยสมาบัติที่สอง เมื่อได้ปฐมฌานและฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ แล้ว ก็จะได้เจริญทุติยฌานต่อไป เมื่อเข้าถึงทุติยฌานแล้ว มีแต่เพ่งอารมณ์ จิตตั้งมั่นแน่วแน่กับอารมณ์ แต่ไม่ได้บริกรรมว่า พุทโธๆ หรือยุบหนอพองหนอเลย

เพราะเหตุไรจึงไม่ได้บริกรรม

สาเหตุที่ไม่ได้บริกรรมเพราะว่า ฌานที่ ๒ คือทุติยฌานนี้ละวิตกวิจารได้แล้ว เหลือแต่ปีติ สุข และเอกัคคตาเท่านั้น ปีติ ความอิ่มใจนั้นมี ๕ ประการ คือ

๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย มีอาการน้ำตาไหล หรือขนลุกขนชัน เป็นต้น

๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ มีอาการเกิดในจักษุทวารเหมือนกันกับสายฟ้าแลบหรือตีเหล็กไฟเป็นต้น

๓) โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ มีอาการซู่ซ่าไปตามร่างกาย หรือเป็นดุจระลอกซัด เป็นต้น

๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน ทำให้ใจฟู ตัวเบา ตัวลอย เป็นต้น

๕) ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน ทำให้ตัวเย็นซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย เป็นต้น

ปีตินั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจอิ่มเอิบ ชุ่มชื่น เป็นสุข สงบแน่วแน่อยู่กับอารมณ์พระกัมมัฏฐาน

เราจะสังเกตอย่างไรว่าถึงฌานที่ ๒ แล้ว เราสังเกตเอาง่ายๆ คือ ในขณะนั้นความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่นิดๆ เสียงก็ยังมีอยู่นิดๆ แต่ว่าเราไม่ได้บริกรรมหรือภาวนา เพราะว่าผ่านวิตกวิจารไปแล้วจึงไม่มีการบริกรรม แต่เมื่อได้บริกรรมขึ้นมาเมื่อใด แสดงว่าจิตของเราตกจากทุติยฌานลงมาปฐมฌาน คือเมื่อจิตของเราตกลงมาอยู่ที่ฌานที่หนึ่ง ก็จะได้ภาวนาว่า พุทโธๆ หรือพองหนอยุบหนอ อย่างนี้เรียกว่า จิตลงมาปฐมฌาน

ถ้าถึงทุติยฌานจะไม่มีบริกรรม แต่ว่าเราไม่ได้ตั้งใจหยุดบริกรรม หรือว่าเราไม่ได้คิดว่าเราจะหยุดบริกรรม แต่ว่าหยุดเองโดยธรรมชาติ เป็นไปตามอัตโนมัติ

อันตรายของทุติยฌาน คือ วิตก วิจาร หากวิตกวิจารเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ได้บริกรรมบทพระกัมมัฏฐานเมื่อนั้น และแสดงว่าจิตนี้ตกจากทุติยฌานแล้ว เหตุนั้น พึงตั้งสติสัมปชัญญะไว้ให้ดี

เมื่อได้ทุติยฌานแล้ว ก็พยายามประคับประคองจิตไว้ในทุติยฌานนั้น และถ้าหากว่าฌานไม่เสื่อม ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้

ผู้ได้ทุติยฌาน ถ้าหากว่าจุติด้วยอำนาจทุติยฌานกุศลอย่างต่ำคืออย่างหยาบ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมปริตตาภา คือรูปพรหมชั้นที่ ๔ มีอายุยืนถึง ๒ มหากัป

ถ้าผู้ได้ทุติยฌานอย่างกลาง ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมอัปปมาณาภา คือรูปพรหมชั้นที่ ๕ มีอายุยืนถึง ๔ มหากัป

ถ้าผู้ได้ทุติยฌานอย่างประณีต ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมอาภัสสรา คือรูปพรหมชั้นที่ ๖ มีอายุยืน ๘ มหากัป

ถ้าเอาสมาธิในขั้นทุติยฌานนี้มาเป็นพื้นฐานเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วกว่าสมาธิในฌานขั้นที่ ๑

๓. ตติยฌาน หรือ ตติยสมาบัติที่สาม เมื่อปฏิบัติได้ถึงฌานที่ ๓ นี้แล้ว ปีติ ๕ ประการดังกล่าวมาข้างต้นนั้นก็หมดไป เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงไม่มีแล้ว เมื่อมาถึงฌานนี้

เราจะนั่งสักกี่ชั่วโมง ความเจ็บปวดก็ไม่มี เพราะว่าเมื่อถึงฌานนี้ เหลือแต่ความสุขกับเอกัคคตาเท่านั้น ความสุขที่ได้รับในฌานธรรมนี้ จะหาความสุขใดที่เป็นโลกิยะมาเปรียบเทียบมิได้ หมายความว่า ความสุขในโลกิยะนั้น มีความสุขในฌานเป็นความสุขอันยอดเยี่ยม

ธรรมอันเป็นข้าศึกของฌานที่ ๓ คือ ปีติ ขณะใดที่มีอาการขนลุกขนชัน น้ำตาไหล มีอาการเสียวแปลบปลาบตามร่างกายเหมือนมีคลื่นกระทบฝั่ง หรือใจฟู ตัวเบาตัวลอย มีอาการซาบซ่านทั่วสรรพางค์กายเป็นต้น นั่นแสดงว่าจิตของเราตกจากฌานที่ ๓ มาถึงฌานที่ ๒ แล้ว

เมื่อถึงฌานที่ ๓ แล้ว เราจะสังเกตได้ง่ายๆ คือ จะมีอาการตึงหรือเครียดตามร่างกาย มือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง นิ้วมือนิ้วเท้าไม่สามารถกระดิกได้ การก้มเงยคู้เหยียดก็ไม่อาจที่จะทำได้ ไม่สามารถที่เหลียวซ้ายแลขวาได้ เพราะในขณะนั้น เหมือนกันกับเอาเหล็กแหลมๆ ไม้แหลมๆ ตอกลงที่ศีรษะไปตามตัวแล้วตรึงแน่นไว้กับพื้น ไม่สามารถที่จะขยับเขยื้อนได้

และในขณะนั้น ความรู้สึกก็ยังมีอยู่นิดๆ เสียงก็ยังมีอยู่นิดๆ เกือบจะว่าไม่มีในขณะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ขอให้เข้าใจเถิดว่าถึงฌานที่ ๓ แล้ว และเมื่อถึงฌานที่ ๓ แล้ว ก็ขอให้พยายามประคับประคองตั้งสติสัมปชัญญะรักษาไว้ให้ดี อย่าให้ต้องถอยออกจากฌานที่ ๓ จนกว่าจะฝึกชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการ เพื่อจะเป็นมรรคาไต่เต้าเข้าไปสู่จตุตถฌานที่ ๔ ต่อไป และผู้ที่ไม่เสื่อมจากฌานที่ ๓ ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้ คือ

ถ้าผู้ได้ตติยฌานอย่างหยาบหรืออย่างต่ำ ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมปริตตสุภา ในตติยฌานภูมิ คือรูปพรหมชั้นที่ ๗ มีอายุยืน ๑๖ มหากัป

ผู้ที่ได้ตติยฌานอย่างกลาง ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมอัปปมาณสุภา ในตติยฌานภูมิ คือรูปพรหมชั้นที่ ๘ มีอายุยืน ๓๒ มหากัป

ผู้ที่ได้ตติยฌานอย่างประณีต ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานกุศลนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมสุภกิณหกา ในตติยฌานภูมิ คือ รูปพรหมชั้นที่ ๙ มีอายุยืน ๖๔ มหากัป

หากว่าเอาสมาธิในตติยฌานนี้มาเป็นพื้นฐานเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วกว่าสมาธิในฌานที่ ๒

๔. จตุตถฌาน หรือ จตุตถสมาบัติที่สี่ เมื่อถึงฌานที่ ๔ แล้ว จะละสุขได้ เหลือแต่เอกัคคตา และเกิดอุเปกขารมณ์เพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง

เราจะทราบได้อย่างไรว่าถึงฌานที่ ๔

เราสังเกตได้ด้วยหลัก ๒ ประการ คือ

๑) ความรู้สึกหมดไป

๒) ลมหายใจไม่มี

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ว่า ลมหายใจจะไม่มีในบุคคล ๗ จำพวก คือ เด็กอยู่ในครรภ์มารดา ๑ คนตาย ๑ คนดำน้ำ ๑ ผู้เข้าถึงจตุตถฌาน ๑ พรหมในอสัญญีภพ ๑ รูปพรหมอรูปพรหม ๑ พระอริยเจ้าผู้เข้านิโรธ ๑

เมื่อเข้าถึงจตุตถฌานแล้ว ความรู้สึกจะไม่มี ลมหายใจก็ไม่มี เราจะเอาสำลีมาไว้ที่ปลายจมูกก็ไม่ปลิว หากว่าจับดูตามร่างกายจะรู้สึกเหมือนกับจับคนที่ตายไปแล้วหลายชั่วโมง เย็นเหมือนจับน้ำแข็ง ถ้าท่านทั้งหลายทำได้ดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายถึงฌานที่ ๔ แล้ว

สภาวธรรมที่เป็นข้าศึกแก่จตุตฌาน คือ ลมอัสสาสะปัสสาสะ คือถ้าปรากฏว่าหายใจเข้าหายใจออกขณะใด ขณะนั้น แสดงว่าจิตของเราถอยออกจากจตุตถฌานแล้ว เหตุนั้น ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงใช้สติสัมปชัญญะรักษาไว้ให้ดี ไม่ให้ถอยออกจากฌานที่ตนได้ และจตุตถฌานนี้มีอานิสงส์ดังนี้

ผู้ได้จตุตถฌานทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างประณีต หากฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ก็จะปฏิสนธิเป็นพรหมเวหัปผลา อันเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๑๐ มีอายุยืน ๕๐๐ มหากัป

ผู้ได้จตุตถฌานที่เป็น พระอนาคามี ก็จะไปปฏิสนธิในขั้น สุทธาวาสภูมิ ๕ ชั้น ซึ่งมีอายุยืนตามลำดับ ดังนี้คือ

๑. ชั้นอวิหา มีอายุยืน ๑,๐๐๐ มหากัป

๒. ชั้นอตัปปา มีอายุยืน ๒,๐๐๐ มหากัป

๓. ชั้นสุทัสสา มีอายุยืน ๔,๐๐๐ มหากัป

๔. ชั้นสุทัสสี มีอายุยืน ๘,๐๐๐ มหากัป

๕. ชั้นอกนิษฐา มีอายุยืน ๑๖,๐๐๐ มหากัป

และอานิสงส์ที่จะได้พิเศษจากรูปฌานที่ ๔ คือ เป็นปัจจัยให้ได้บรรลุวิชชา ๓ ได้แก่

๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

๒. จุตูปปาตญาณ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นได้

๓. อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

นอกจากนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้อภิญญา ๖ คือ

๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้

๒. ทิพพโสตะ ได้หูทิพย์

๓. เจโตปริยญาณ รู้จักวาระจิตของผู้อื่น

๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้

๕. ทิพพจักขุ มีตาทิพย์

๖. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

อนึ่ง ผู้ที่ได้จตุตถฌานนี้ ผิวพรรณจะผ่องใส หน้าตาอิ่มเอิบ หากว่าเอาสมาธิขั้นจตุตถฌานนี้มาเป็นพื้นฐานรองรับในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้นกว่าฌานที่ ๓

ต่อไปเป็นอรูปฌาน

ส่วน อรูปฌาน หรือ อรูปสมาบัติ เป็นฌานหรือสมาบัติที่เอาสิ่งที่ไม่มีรูปมาเป็นอารมณ์ เช่น เอาอากาศมาเป็นอารมณ์ เป็นต้น ทีนี้เราจะทำอย่างไร ในขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ เราใช้ท้องพองท้องยุบเป็นอารมณ์ หากว่าเราเจริญอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ เราจะทำอย่างไร เราทำได้อย่างนี้คือ

เมื่อเราทำสมาธิคือรูปฌาน ๔ ให้คล่องแคล่วชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการดีแล้ว ในขณะที่เจริญอรูปกัมมัฏฐานเราก็เพิกอาการพองอาการยุบนั้นออกไป ไม่กำหนดอาการพอง อาการยุบ ให้เห็นที่ท้องพองท้องยุบนั้นว่างเปล่า มีแต่อากาศอยู่เท่ากับที่เรากำหนดเมื่อก่อนแล้วก็เอาสติปักไว้ที่อากาศนั้น แล้วก็บริกรรมภาวนาว่า อากาโส อนันโตๆ อากาศไม่มีที่สุดๆ จนสามารถทำจิตใจให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ ก็แสดงว่าถึงอรูปฌานที่ ๑ แล้ว

ถ้าหากฌานไม่เสื่อม การตายในฌานนี้ก็จะไปเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๑ คืออากาสานัญจายตนพรหม มีอายุยืนถึง ๒๐,๐๐๐ มหากัป

เมื่อเราชำนาญในอรูปฌานที่ ๑ แล้ว ก็เจริญอรูปฌานที่ ๒ ต่อไป หลังจากที่เห็นโทษของอากาสานัญจายตนะว่ายังไม่ดีนัก ยังเป็นอรูปฌานชั้นต่ำ ยังใกล้ชิดกับรูปฌานอยู่ จึงจะละอากาศเสีย ไม่เอาอากาศมาบริกรรมเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนเรารู้ว่าที่นี้เป็นอากาศ เราก็ทิ้งอากาศแล้วเอาสติมาจับเอาความรู้คือตัววิญญาณนั้นมาบริกรรมว่า วิญญาณัง อนันตังๆ วิญญาณไม่มีที่สุดๆ ร่ำไป จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ

ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าจิตของเราเข้าถึงอรูปฌานที่ ๒ คือวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว หากว่าฌานไม่เสื่อม ตายในฌานนี้ก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนพรหม มีอายุยืน ๔๐,๐๐๐ มหากัป

เมื่อชำนาญในอรูปฌานที่ ๒ แล้ว พิจารณาเห็นโทษของอรูปฌานที่ ๒ จึงได้ตั้งใจเจริญอรูปฌานที่ ๓ ต่อไป โดยที่มาสำเหนียกถือเอาความว่างเปล่า ความไม่มี ซึ่งเรียกว่า นัตถิภาวบัญญัติ มาบริกรรมมาภาวนาว่า นัตถิ กิญจิๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี น้อยหนึ่งก็ไม่มี ร่ำไป จนสามารถทำจิตใจให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นอุเปกขารมณ์

เมื่อทำได้ดังนี้ ก็แสดงว่าเราได้สำเร็จซึ่งอรูปฌานที่ ๓ แล้ว หากว่าฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ตายแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๓ คือชั้นอากิญจัญญายตนะอรูปพรหม มีอายุยืน ๖๐,๐๐๐ มหากัป

เมื่อชำนาญในอรูปฌานที่ ๓ แล้ว ไม่พอใจเพียงแค่อรูปฌานที่ ๓ นั้น จึงมาเจริญอรูปฌานที่ ๔ ต่อไป วิธีเจริญอรูปฌานที่ ๔ นี้ เราเอาอากิญจัญญายตนฌานนั้นมาเป็นอารมณ์ แล้วเพิกอากิญจัญญายตนฌานนั้นออกไป โดยบริกรรมหรือภาวนาว่า เอตัง สันตัง เอตัง ปณีตังๆ สงบหนอ ประณีตหนอๆ ร่ำไป จนสามารถทำจิตให้เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเปกขารมณ์

เมื่อทำได้อย่างนี้ แสดงว่าได้สำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน คือ อรูปฌานที่ ๔ แล้ว เมื่อฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ตายแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม มีอายุยืน ๘๔,๐๐๐ มหากัป

ถ้าเอาสมาธิในอรูปฌานทั้ง ๔ นี้มาเป็นเครื่องรองรับในการเจริญวิปัสสนา ก็จะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น เพราะว่าอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ มีอารมณ์คล้ายกันกับวิปัสสนาภาวนา คือวิปัสสนาภาวนาท่านสอนให้ละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆทั้งหมด ทั้งที่เป็นรูป ทั้งที่เป็นนาม

สำหรับอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ก็เหมือนกัน ท่านสอนให้ละรูปทิ้งไปให้หมด เอาแต่นามมาบริกรรม เอาอากาศเอาวิญญาณมาบริกรรม อากาศและวิญญาณที่เอามาบริกรรมนั้นก็จะละเอียดเข้าเรื่อยๆ จนถึงสภาวะที่ละเอียดประณีตที่สุด คือเอาวิญญาณเอาความรู้ที่ประณีตที่สุดเกือบจะว่าไม่มีในขณะนั้น เหตุนั้นเมื่ออารมณ์คล้ายคลึงกับวิปัสสนาจึงเป็นเหตุให้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อได้อรูปฌานที่ ๔ แล้ว มีอานิสงส์เป็นพิเศษ คือทำให้ได้สำเร็จปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ หมายความว่า เราได้เพียงรูปฌาน ๔ ก็เป็นปัจจัยให้ได้วิชชา ๓ อภิญญา ๖ เท่านั้น ไม่สามารถที่จะบรรลุปฏิสัมภิทา ๔ ได้ เมื่อใดเราได้ทั้งรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ รวมเป็นสมาบัติ ๘ เมื่อได้สมาบัติ ๘ ประการนี้ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้ได้บรรลุปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ซึ่งได้แก่

๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ คือสามารถที่จะอธิบายความของภาษิตย่อๆ หรือหัวข้อธรรมย่อๆ ให้พิสดารได้

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม คือ สามารถที่จะรวบรวมธรรมะที่ท่านกล่าวไว้โดยพิสดารมาสรุปให้เหลือสั้นๆลงได้ เหมือนกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ วิจิตรพิสดารมาก แต่เมื่อย่อลงให้สั้นๆแล้วก็ได้แก่ อัปปมาทธรรม ความไม่ประมาทเพียงประการเดียว ผู้ได้ธัมมปฏิสัมภิทาก็เหมือนกัน สามารถย่อธรรมะหรือคำพูดที่ท่านพูดโดยพิสดารให้สั้นๆ เข้าใจได้ง่าย

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในนิรุตติคือภาษา คำว่า แตกฉานในภาษา ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราบรรลุแล้วเราสามารถจะพูดภาษาต่างประเทศได้ หรือภาษาอะไรต่อมิอะไรก็ได้ ไม่ได้หมายความอย่างนั้น คำว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในภาษานี้ หมายถึง รู้วิธีพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายๆ

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ หมายความว่า สามารถที่จะเทศน์ปฏิภาณโวหารได้ ยกภาษิตขึ้นมาก็สามารถที่จะเทศน์ได้แสดงได้ สามารถที่จะบรรยายได้ ปาฐกถาหรืออภิปรายได้

คนที่ปฏิภาณปฏิสัมภิทาไม่เกิด แม้จะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไม่สามารถที่จะเทศน์จะแสดงได้ ถ้าจะเทศน์ให้ผู้อื่นฟังก็ต้องอดตาหลับขับตานอนท่องบ่นสาธยายตั้ง ๙ คืน ๑๐ คืนจึงจะมาเทศน์ได้ เทศน์ไป ๓๐ นาทีก็หมดคำเทศน์แล้ว เพราะว่าไม่แตกฉานในปฏิภาณปฏิสัมภิทา แต่ถ้าผู้แตกฉานในปฏิภาณปฏิสัมภิทาแล้ว สามารถที่จะเทศน์ได้แสดงได้

ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อสำเร็จอรูปฌานที่ ๔ เสียก่อนจึงจะเกิดขึ้น

เมื่อท่านทั้งหลายได้สมาธิดังกล่าวมาตั้งแต่ขั้นปฐมฌานเป็นต้นไป ครูบาอาจารย์ท่านก็จะมาฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ เสียก่อน สมมติว่าเราได้เพียงปฐมฌานก็นำมาฝึกแล้ว เช่นที่คณะแม่ชีฝึกกันอยู่ในขณะนี้ บางท่านก็อยู่ในขั้นปฐมฌาน บางท่านก็อยู่ในขั้นทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

ถึงจะได้ฌานใดก็ตาม ก็ต้องเอามาฝึกให้ชำนิชำนาญเสียก่อน หากว่าไม่ชำนาญแล้ว ก็ไม่สามารถใช้สมาธิได้ตามความประสงค์ เหตุนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการ คือ

๑. อาวัชชนวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือว่าชำนาญในการพิจารณาองค์ฌาน เช่น เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็มีความคล่องแคล่วหรือว่องไว ยกจิตขึ้นสู่อาการพองอาการยุบ และก็บริกรรมว่าพองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆ ได้ทันที

๒. สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้าฌานเข้าสมาธิ อยากเข้าสมาธิภายใน ๓๐ วินาทีก็เข้าได้ อยากเข้าภายใน ๑ นาทีก็เข้าได้ ๒ นาทีก็เข้าได้ หรือเราอธิษฐานจิตไว้ว่า เมื่อข้าพเจ้ากราบเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที ก็สามารถเข้าได้ โดยกราบลงไปครั้งที่ ๑ เรากำหนดว่า กราบหนอ กราบลงไปครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ กำหนดว่า กราบหนอๆ พอกราบเสร็จก็เข้าสมาธิไปได้เลย

หรือเราอธิษฐานว่า เมื่อข้าพเจ้าเดินจงกรมไปได้ ๗ ก้าว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที เราก็กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พอถึงก้าวที่ ๗ ก็เข้าสมาธิไปเลย หมายความว่า อยากเข้าเวลาไหนก็ได้ การเข้าสมาธิได้ตามต้องการนี้เรียกว่า สมาปัชชนวสี

๓. อธิษฐานวสี ชำนาญในการรักษาจิตไว้ไม่ให้ออกจากฌานก่อนเวลา สมมติว่าเราต้องการจะเข้าสมาธิ ๕ นาที ก็สามารถจะเข้าได้ครบ ๕ นาที ไม่ออกก่อนเวลา ถ้าออกก่อนเวลา เรียกว่ายังไม่ชำนาญในอธิษฐานวสี ถ้าเราอยากอยู่ในสมาธิ ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมงก็ดี ก็จะอยู่ได้ตามต้องการนั้นๆ ไม่ออกก่อนเวลา ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เรียกว่าชำนาญในอธิษฐานวสี

๔. วุฏฐานวสี ชำนาญในการรักษาจิตไว้ไม่ให้เลยเวลาที่กำหนด สมมติว่าเรากำหนดจะเข้าสมาธิ ๕ นาที ก็ไม่ให้เลยไปแม้วินาทีหนึ่ง เราต้องการที่จะอยู่ ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง ก็อยู่ได้ครบพอดี ไม่ให้เลยเวลาไปแม้แต่นาทีเดียว ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าชำนาญในวุฏฐานวสี

๕. ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณา คือชำนาญในการพิจารณาฌานที่ตนได้แล้ว ชำนาญในการเข้าการออก ตั้งแต่ฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๘ ตามลำดับๆ ถ้าเราได้ฌานทั้ง ๘ ก็ชำนาญในการพิจารณาฌานทั้ง ๘ พูดเอาง่ายๆว่า ชำนาญในการพิจารณาฌานของตน ได้ทั้งการเข้าการออก เรียกว่า ชำนาญในปัจจเวกขณวสี

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อให้ท่านทั้งหลายฝึกสมาธิ ก็เพื่อให้ท่านชำนาญในการเข้าสมาธิออกสมาธิ เพื่อที่จะเข้าสมาธิได้ตามกำหนดกฎเกณฑ์ และอยู่ในฌานตามที่เรากำหนดไว้ เมื่อเราทั้งหลายชำนาญในวสีทั้ง ๕ นี้แล้ว เราก็สามารถใช้สมาธิใช้ฌานของเราได้ตามประสงค์

เอาละท่านทั้งหลายผู้พากเพียรภาวนา ธรรมะที่หลวงพ่อได้บรรยายมาในเรื่อง สมาบัติ ๘ ประการ ก็ได้ใช้เวลามาพอสมควร จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 เมษายน 2561 10:05:52 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 66.0.3359.139 Chrome 66.0.3359.139


ดูรายละเอียด
« ตอบ #70 เมื่อ: 03 พฤษภาคม 2561 10:18:38 »



ไขข้อข้องใจเรื่องสมาบัติ

สำหรับวันนี้ จะได้นำธรรมะเบ็ดเตล็ดมาแก้ความข้องใจสงสัย ในเรื่องบางสิ่งบางอย่าง มีเรื่องสมาบัติเป็นต้น หรืออานิสงส์ของสมาบัตินั้น มีอยู่หลายประการดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้ว

แต่วันนี้ ก็ขอสรุปเอาแต่เพียงย่อๆ ว่า ถ้าผู้ที่เป็นปุถุชนยังไม่ได้บรรลุอริยมรรค อริยผล แต่ได้ฌานเสียก่อน เช่นรูปฌาน เมื่อได้รูปฌาน จุติในฌาน ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็ไปบังเกิดในรูปพรหม ๑๖ ชั้น ตามกำลังของฌาน แต่ถ้าได้อรูปฌาน ๔ ประการ ฌานใดฌานหนึ่ง หากว่าฌานไม่เสื่อม จุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดเป็นอรูปพรหม

สำหรับพระอริยบุคคล อย่างเช่นพระโสดาบัน พระโสดาบันที่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน ถ้าพระโสดาบันที่ไม่ได้ฌาน ไม่ได้แม้แต่ปฐมฌาน เข้าผลสมาบัติก็ไม่ได้ เวลาจุติ ก็จุติจากโลกนี้ตามธรรมดาๆ เหมือนกับสามัญชน ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ พระโสดาบันนั้น เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในกามภูมิ อาจจะเป็นมนุสสภูมิ เทวภูมิก็ได้ แต่ถ้าพระโสดาบันที่ได้ฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

แม้พระสกทาคามีก็เหมือนกัน ถ้าพระสกทาคามีที่ไม่ได้ฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในกามาวจรภูมิ อาจจะเป็นมนุษย์ หรือฉกามาวจรสวรรค์ ชั้นใดชั้นหนึ่ง แล้วแต่กำลังบุญกุศลที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้ แต่ถ้าพระสกทาคามีที่ได้ฌาน จุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

สำหรับพระอนาคามี จะได้สมาบัติหรือไม่ได้สมาบัติก็ตาม จุติแล้วก็ต้องไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง เช่น ชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา แล้วก็จะมีโอกาสได้บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสุทธาวาสพรหมชั้นนั้นๆ บางองค์ก็ไปบรรลุในชั้นที่อุบัติขึ้น บางองค์ก็ต้องเลื่อนไปตามลำดับๆ จนถึงชั้นอกนิฏฐา จึงจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน

สำหรับพระอนาคามีนั้น เมื่อไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมแล้ว จะไม่กลับมาสู่กามาวจรภูมิอีกต่อไป ถึงแม้จะมีการจุติอยู่ก็ตาม พรหมอนาคามี ไม่เหมือนพรหมจำพวกอื่น(ที่เมื่อ)จุติแล้ว ยังมีโอกาสมาบังเกิดในกามาวจรภูมิได้อยู่ เช่น จะมาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง ไปบังเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาบ้างได้อยู่ แต่สำหรับพรหมอนาคามีนี้ ไม่มาบังเกิดในกามาวจรภูมิอีก

เพราะเหตุไร เพราะพระอนาคามีนั้น ตัดกามราคะและโทสะได้หมดแล้ว ออกจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว ไม่กลับมาสู่ภพสู่กามภูมิอีก เมื่อไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมแล้ว ก็จะได้บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสุทธาวาสพรหมนั่นเอง

ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌานล่ะ จะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมได้อย่างไร

ไปบังเกิดในสุทธาวาสได้อย่างนี้ คือ พระอนาคามีถึงจะได้ฌานหรือไม่ได้ฌานก็ตาม ก่อนที่ท่านจะมรณภาพนั้น แม้จะมรณภาพด้วยอาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี หรือจะเกิดอุบัติเหตุ ถูกยิง ถูกแทง หรือตกเครื่องบิน หรือตกจากที่สูง หรือถูกยาพิษ อะไรทำนองนี้ หมายความว่า จะตายด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม

หากว่า มัคคสิทธิฌาณ ยังไม่เกิด ท่านจะไม่มรณภาพ เมื่อมัคคสิทธิฌาณเกิดขึ้นเสียก่อน ท่านจึงจะมรณภาพ เพราะว่า มัคคสิทธิฌาณนั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดฌาน เมื่อฌานเกิดแล้วท่านจึงจะมรณภาพ จึงทำให้พระอนาคามีนี้สามารถไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมได้

ทีนี้ สำหรับพระอรหันต์ แม้จะได้ฌานเพียงแต่ขั้นปฐมฌานก็ตาม หรือจะได้ครบทั้งสมาบัติ ๘ ก็ตาม การเข้าฌานของพระอรหันต์นั้น เป็นเพียงสักว่ากิริยา คือเป็นเพียงสักว่าเข้าฌานออกฌานเท่านั้น

เพราะเหตุใด จึงเป็นเพียงสักว่ากิริยา

เพราะผลของฌานนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้พระอรหันต์ไปเกิดในกามภพ รูปภพ หรืออรูปภพได้

เพราะเหตุไร

เพราะเมื่อท่านจุติจากอัตภาพนี้แล้ว ท่านก็เข้าสู่นิพพานเลย คือว่า การทำบุญทำทานของพระอรหันต์นั้น ถึงท่านจะทำบุญหมดทรัพย์เป็นล้านๆ ก็ตาม การทำบุญทำทานนั้น ก็เป็นเพียงสักว่ากิริยา ผลของการทำบุญทำทานนั้นไม่สามารถที่จะอำนวยให้ท่านไปเกิดในกามภพ เช่นว่า โลกมนุษย์ หรือว่าเทวโลกได้(อีกต่อไปแล้ว)

เพราะเหตุไร

เพราะว่าท่านพ้นแล้วจากภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มีอย่างเดียวเท่านั้น คือพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง

เหตุนั้น แม้ (พระอรหันต์) จะทำบุญหมดทรัพย์เป็นล้านๆ ก็ตาม ก็เป็นเพียงสักว่ากิริยา คือการทำบุญสร้างสมคุณงามความดี แต่ถึงกระนั้นท่านก็ต้องทำบุญ เพราะว่า วิสัยของนักปราชญ์ ท่านย่อมเป็นผู้ฉลาด ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านก็รู้แล้วว่าการทำบุญนี้ ก็สักแต่ว่าเป็นการทำบุญ ไม่สามารถที่จะนำไปเกิดในกามภพได้ หรือว่าการรักษาศีลนี้ ก็เป็นแต่เพียงการรักษาศีล หรือว่าการเข้าฌาน ก็เป็นแต่เพียงการเข้าฌาน เป็นแต่เพียงสักว่ากิริยา ไม่สามารถที่จะทำให้ไปบังเกิดในภพ ในภูมิอีกต่อไปได้ ท่านก็ต้องทำ

เพราะเหตุไร เพราะเพื่อพระศาสนา เพื่อสงเคราะห์แก่ ปัจฉิมภวิกชน คือท่านทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อพระศาสนา เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้ที่เกิดขึ้นมาภายหลัง เหตุนั้น แม้ท่านรู้อยู่ ท่านก็ต้องทำ เมื่อท่านจุติจากอัตตภาพนี้แล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพทั้งหลายทั้งปวง

ทีนี้สมาบัติ คำว่า สมาบัติ กับคำว่า ฌาน นั้นเป็นอันเดียวกัน ฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี ก็แบ่งออกเป็นขั้นๆ คือว่า

ฌานนี้ก็แบ่งออกเป็น ๒ ขั้น คือ

๑. ฌานที่เป็นขั้นโลกิยะ

๒. ฌานที่เป็นขั้นโลกุตตระ

แยกกันได้อย่างไร แยกกันได้อย่างนี้คือ หากว่าฌานหรือสมาบัติของผู้ที่ได้นั้น หากผู้นั้นยังไม่ได้บรรลุอริยมรรค อริยผล แม้แต่ขั้นพระโสดาบันก็ยังไม่ได้บรรลุ แม้จะเข้าสมาบัติทั้ง ๘ ประการได้ สมาบัตินั้นก็ยังเป็นขั้นโลกิยะ เป็นขั้นธรรมดาอยู่

แต่ถ้าหากว่า ผู้ที่ได้ฌานนั้นได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล อย่างน้อยที่สุดก็ได้เป็นพระโสดาบัน ฌานที่ได้หรือสมาบัติ ๘ ที่ได้นั้นก็เป็นโลกุตตระ คือจะเป็นโลกิยะหรือโลกุตตระนั้นตามภูมิของจิต

ถ้ายังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเลย สมาบัติ ๘ ประการ หรือฌานใดฌานหนึ่งนั้น ก็ยังเป็นโลกิยะอยู่ แต่ถ้าได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันแล้ว ฌานนั้นก็เป็นโลกุตตระไป ขอให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้ด้วยว่าแยกกันตรงไหน (ระหว่าง) โลกิยฌานกับโลกุตตรฌาน แยกกันตามภูมิของจิต

สำหรับ ผลสมาบัติ นั้นเป็นโลกุตตระ เพราะการเข้าผลสมาบัติ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง ผลสมาบัติจึงเป็นโลกุตตระ และนิโรธสมาบัติ ก็เป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิโรธสมาบัตินี้ก็ยิ่งละเอียด เพราะว่าปุถุชนทั่วไปตลอดถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามีเข้าไม่ได้ เข้าได้แต่เฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น นอกนั้นเข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ เหตุนั้น นิโรธสมาบัติก็จึงเป็นโลกุตตระด้วย

สำหรับการเข้าฌานสมาบัติก็ดี การเข้านิโรธสมาบัติก็ดี บางท่านอาจจะสงสัยว่าเป็นวิชชา หลวงพ่อคงใช้วิชชาแล้ว เพราะว่าเวลาจะเจริญกัมมัฏฐานทุกวันๆ นั้น ก็พากันสมาทานกัมมัฏฐานทุกวันๆ คงจะเป็นการเรียนวิชชา ใช่ เป็นวิชชาเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องวิชชาหรือไสยศาสตร์ อย่างที่ท่านทั้งหลายเข้าใจ

หมายความว่า ไม่ได้สำเร็จด้วยเวทมนต์กลคาถาใดๆ ไม่แฝงด้วยมารยาสาไถยใดๆ ทั้งสิ้น การสมาทานของเรานั้น เป็นแต่เพียงหลักการ หลักวิชาการเท่านั้น เป็นแต่เพียงรูปแบบ เป็นแต่เพียงว่าทำให้จิตใจเข้มแข็ง เกิดความอุตสาหะ เกิดความมั่นใจว่า เราได้มอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แก่ครูบาอาจารย์แล้ว

สรีระร่างกายของเราในขณะนี้ เพียงแต่ยืมท่านมา ยืมจากพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ยืมจากครูบาอาจารย์ (ยืม)มาสร้างสมอบรมคุณงามความดีเท่านั้น ที่จริงแล้วเรามอบถวายท่านหมดแล้ว เพื่อว่าจะได้มีกำลังจิตกำลังใจ และเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้เกิดความอุตสาหะ

เช่นการเจริญเมตตาอย่างนี้ เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้เรามีเมตตาธรรมต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย การเจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เรานั้นมีความรักในผู้อื่น มีความสงสารต่อผู้อื่น ให้รู้จักสงสารกัน และช่วยเหลือกัน การเจริญอุเบกขาว่า กัมมัสสโกมหิ กัมมทายาโท (เป็นต้นนี้) ก็เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจว่า เราเกิดมานี้เพราะกรรม ทั้งกรรมดีกรรมชั่ว อาศัยกรรมเป็นสิ่งที่นำมาเกิด เราเกิดมานี้ก็ต้องรับมรดกของกรรม มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราต้องได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เราได้พิจารณาว่า คนเรานี้เกิดมาเพราะกรรม จากโลกนี้ไปก็เพราะกรรม จะได้ละกรรมชั่วเสีย กระทำแต่กรรมดีต่อไป เพื่อให้เป็นแบบอย่าง

ก็การที่เรากล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เพื่อให้เกิดปีติ เกิดความเอิบอิ่มใจ เกิดความปราโมทย์ เกิดความตื้นตันใจว่า เราได้บูชาพระรัตนตรัยอย่างยอดเยี่ยม เราได้บูชาด้วยการประพฤติการปฏิบัติธรรม เป็นการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์อย่างแท้จริง เราจะได้เกิดปีติในการประพฤติปฏิบัติธรรม

การเจริญธัมมานุสตินี้ ก็เพื่อให้เราได้พิจารณาว่า เราเกิดมานี้ ทางที่จะให้พ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารนั้น มีทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการแล้ว ไม่มีหนทางที่จะถึงพระนิพพานได้

ส่วนการเจริญสังฆานุสติ คือระลึกถึงพระอริยะสาวก ๘๐ องค์ ตลอดถึงอรหันตสาวกทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อให้เรานี้ได้ยึดถือไว้เป็นทิฏฐานุคติ คือเอาเป็นตัวอย่างในการบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะได้เกิดความพากเพียรอุตสาหะพยายาม ในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี เพื่อให้จิตใจของเราเข้มแข็งสามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น

สำหรับการเจริญมรณสติ ก็เหมือนกัน อัทธุวัง เม ชีวิตัง ชีวิตของเราไม่แน่นอน เราต้องตายแน่ เพราะชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตไม่เที่ยง ความตายเที่ยง เป็นโชคดีที่เราได้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ก็เพื่อจะให้เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจว่าเรานี้ แม้จะมีอายุยืนตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ต้องตาย ทำอย่างไรๆ ก็ต้องตาย

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเรา พระองค์ยังปรินิพพาน นับประสาอะไรกับเราที่เป็นปุถุชนแท้ๆ หรือเป็นกัลยาณชนแท้ๆ จะไม่ตายเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะเกิดความอุตสาหะ พยายามในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เพื่อบำเพ็ญบารมีก่อนที่ความตายจะมาถึงเรา นี่เพื่อให้เป็นความมั่นใจเท่านั้น

แต่สำหรับผู้มีธรรมเป็นเรือนใจแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องอธิษฐานก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสมาทานก็ได้ อันนี้เราทำเพื่อให้จิตใจของเราเกิดสมรรถภาพ เกิดความเข้มแข็ง ในการที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติเท่านั้น

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของวิชชาหรือเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ไม่ใช่เป็นเรื่องเวทมนต์กลคาถา ที่คนทั้งหลายเข้าใจ บางท่านอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องสะกดจิต การเข้าสมาธิของบรรดาลูกเณรทั้งหลาย ตลอดถึงบรรดาแม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ที่มาฝึกสมาธิ เป็นเรื่องสะกดจิต ใช่ เป็นการสะกดจิตเหมือนกัน

แต่ว่าไม่ได้สะกดจิตเหมือนดังที่คนทั้งหลายเข้าใจ แต่ว่าเราสะกดจิตแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย สมเด็จพ่อของพวกเรานั้นแหละเป็นอัจฉริยบุรุษ เป็นผู้เลิศในทางสะกดจิต เราลองคิดดูซิว่า ก่อนโน้น ตอนที่พระองค์ยังเป็นสิทธัตถกุมาร ครองราชสมบัติอยู่ถึง ๒๙ ปี จึงเสด็จออกทรงผนวช เมื่อทรงผนวชแล้วก็ยังใช้วิธีสะกดจิตอยู่ตั้ง ๖ ปี

สะกดจิตอย่างไร

การสะกดจิตของพระองค์นั้น พระองค์สามารถสะกดจิตของพระองค์เอง ให้หมดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน วิธีการสะกดจิตของพระองค์นั้น สามารถทำให้จิตของปุถุชนนี้ดับไป จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เพราะเหตุไร พระองค์จึงได้ตรัสรู้

เพราะพระองค์เป็นผู้เลิศในทางสะกดจิต จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เหตุนั้น หลวงพ่อจึงได้นำเอาหลักการหรือวิธีการของสมเด็จพ่อมาแนะนำพร่ำสอนชี้แนะแนวทางให้ท่านทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตาม คือสอนให้ท่านทั้งหลายสะกดจิตตัวเอง แต่ไม่ใช่หลวงพ่อสะกดจิตให้

ท่านทั้งหลายต้องสะกดจิตตัวเอง คือสะกดให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน มันดับไป สิ้นไป สูญไปจากจิตจากใจของท่านทั้งหลาย จิตใจของท่านทั้งหลายจะได้สะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมา

อีกอย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมการเข้าสมาบัตินี้ เพียงแต่เข้าถึงขั้นปฐมฌานเท่านั้นทั้งๆ ที่หูของเราก็ยังได้ยินเสียงอยู่ ใจของเราก็ยังรู้อยู่ แต่ทำไมพอมีเสียงอะไรๆ ดังขึ้นมา จึงไม่ตกใจ จึงไม่สะดุ้ง จึงไม่ตื่น แม้มะพร้าวหรือกิ่งไม้มันร่วงลงมาถูกสังกะสีก็เฉย ใครจะปิดประตูหน้าต่างแรงๆ ก็เฉย

เขาจะยิงปืน จุดประทัดดังเปรี้ยงๆ ก็ยังเฉยอยู่ ทำไมมันยังเฉยอยู่ได้ ไม่ตื่น ไม่ตกใจ ไม่สะดุ้ง ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า การเข้าฌานนั้นต้องพ้นจากพวกกามแล้ว พ้นจากนิวรณ์ทั้ง ๕ แล้ว ถึงแม้จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์อยู่ก็ตาม แต่จิตใจของเราไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์เลย

เมื่อใจไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะพ้นจากอำนาจของกามแล้ว เมื่อพ้นจากอำนาจของกามแล้ว แม้มีอะไรเกิดขึ้นจึงไม่ตกใจ จึงไม่สะดุ้ง

อีกอย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า ทำไมเวลาเข้าฌานเข้าถึงที่แล้วจึงไม่รู้สึก การเข้าฌานนั้นต้องพ้นจากพวกกาม ยิ่งถ้าเป็นขั้นผลสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติแล้ว ก็ยิ่งพ้นจากขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อฌานนั้นพ้นจากขันธ์ ๕ แล้ว จะมารู้สิ่งภายนอกได้อย่างไร เพราะว่าฌานนั้นก็เป็นขันธวิมุติ คือพ้นจากขันธ์ ๕ เหมือนกัน ถ้ายังมีขันธ์เหลืออยู่แม้ขันธ์เดียว ก็เป็นผลสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติไม่ได้ ถ้ายังข้ามพวกกามไม่ได้ก็ยังเป็นฌานไม่ได้

เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย การเข้าฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี เมื่อเข้าถึงที่แล้วจึงไม่มีความรู้สึก แต่จะบอกอีกอย่างหนึ่งว่า เวลาอยู่ในฌานนั้นรู้ไหม ตอบว่า “รู้” ก็ได้ “ไม่รู้” ก็ได้ เวลาอยู่ในฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี นี้พูดถึงว่าเข้าถึงที่แล้วนะ ถ้าเป็นฌานก็เข้าถึงจตุตถฌานแล้ว

ที่ตอบว่ารู้ ก็คือรู้ในอารมณ์ของฌาน แต่ว่าไม่รู้โลกีย์อย่างคนธรรมดาๆ อย่างนี้ แต่มันรู้อารมณ์ฌาน ถ้าอยู่ในผลสมาบัติ หรือนิโรธสมาบัติ ก็รู้ หมายความว่า รู้อารมณ์ของพระนิพพาน ไม่รู้อย่างคนธรรมดา คือคนธรรมดานั้นก็จะไม่รู้ ส่วนที่ว่ารู้นั้น หมายความว่า รู้อารมณ์เหนือพวกกาม รู้อารมณ์พระนิพพาน แต่ว่าคนทั้งหลายในโลกนี้จะเห็นว่าไม่รู้ แต่วิถีจิตของเขา (ผู้ได้ฌาน) นั้นรู้ คือรู้อารมณ์ของฌาน รู้อารมณ์ของพระนิพพาน

เราทั้งหลายลองคิดดูสิว่า อันนี้ยังเป็นขั้นฌาน ขั้นผลสมาบัติ หรือขั้นนิโรธสมาบัติ มันเป็นธรรมสูงสุดแล้ว เมื่อเราต้องการที่จะรู้อย่างคนธรรมดาๆ มันก็เป็นฌานไม่ได้ เป็นผลสมาบัติไม่ได้ เป็นนิโรธสมาบัติไม่ได้ เพียงแต่เป็นขั้นโลกีย์ตามธรรมดาๆ

ส่วนมากคนเราก็ยังไม่รู้กัน เราลองคิดดูว่า เวลานอนหลับอย่างนี้ การนอนหลับเป็นแต่เพียงจิตของเราลงสู่ภวังค์เท่านั้น ไม่ใช่จิตเข้าฌาน ขนาดจิตลงภวังค์เท่านั้นเราก็ยังไม่รู้ ยุงมากัดก็ยังไม่รู้ เฉยอยู่ตลอดเวลา จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดเกิดขึ้น ก็ยังไม่รู้ ขั้นธรรมดาๆ ที่เป็นขั้นโลกีย์ก็ยังไม่รู้ นับประสาอะไรถึงขั้นสูงกว่านี้ ซึ่งเป็นฌานสมาบัติ หรือผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติแล้วเราจะไปรู้กัน

เรื่องสมาบัติเราคิดเอาเองไม่ได้ คาดคะเนเอาก็ไม่ได้ เดาเอาก็ไม่ได้ นอกจากจะทำได้เหมือนกัน เช่นว่าเห็นเขาเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมง เราก็ต้องเข้าให้ได้เหมือนเขาจึงจะรู้กันได้ แต่ถึงกระนั้น การเข้าสมาบัติก็ยังไม่เหมือนกัน

เช่นว่า ผู้ที่เข้าสมาบัติได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง หรือ ๗๐ ชั่วโมงก็ตาม จะไม่เหมือนกัน มีความหยาบความละเอียดกว่ากัน เหตุนั้น เรื่องฌานนี้เราอยากจะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร นั่ง ๑๒ ชั่วโมงเป็นอย่างไร ๒๔ ชั่วโมงเป็นอย่างไร ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมงเป็นอย่างไร เราก็ต้องทำให้อยู่ในภูมิธรรมเดียวกัน อยู่ในขั้นเดียวกันจึงจะรู้ได้ หากว่าเราไม่สามารถทำได้อย่างนี้ ถึงอย่างไรๆ ก็ไม่รู้

ดังที่ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนปลากับเต่า เต่านั้นเป็นสัตว์สองถิ่น คือ อยู่ในน้ำก็ได้ อยู่บนบกก็ได้ แต่ปลานั้นเป็นสัตว์ถิ่นเดียว คือ อยู่แต่เฉพาะในน้ำเท่านั้น วันหนึ่งปลามีความประสงค์อยากจะทราบความเป็นไปบนบกนั้นว่า มีอะไรบ้าง จึงถามเต่าว่า เป็นอย่างไร บนบกมีการกระเพื่อมมั้ย มีการไหวมั้ย มีสาหร่ายมั้ย ปลาก็เอาแต่ของที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า

เต่าก็ตอบว่า ไม่มีๆ เรื่อยไป ปลาก็เลยถามเป็นประโยคสุดท้ายว่า ถ้าเช่นนั้นอะไรบ้างมีอยู่บนบก เต่าก็เลยตอบว่า สิ่งใดที่ไม่มีอยู่ในน้ำ สิ่งนั้นมีอยู่บนบกทั้งหมด ท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูสิว่า ปลามันจะหมดความสงสัยไหม อันนี้ก็เหมือนกัน พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน

การเข้าสมาธิ ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมง เป็นอย่างไร แม้บอกกันก็ไม่รู้เรื่อง หรือว่าการบรรลุเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร บอกกันไม่ได้เลย คือคิดตามไปดูด้วยก็ไม่ได้ คาดคะเนเอาก็ไม่ได้ เดาเอาก็ไม่ได้

เหตุนั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสไว้ว่า เป็นอจินไตย เรื่องที่ไม่ควรคิด มีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. พุทธวิสัย คือ วิสัยของพระพุทธเจ้า การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้ นอกจากว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าประเภทเดียวกัน

๒. ฌานวิสัย คือวิสัยของผู้ได้ฌาน ว่าการเข้าฌานเป็นอย่างไรหนอ การเข้าสมาบัติเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้ เราเดาเอาก็ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด

๓. กรรมวิบาก คือผลของกรรม เช่น เราเห็นคนทั้งหลาย ผู้นี้เขาทำกรรมอย่างไรหนอ เขาจึงมาเกิดในภพนี้ชาตินี้ ผลของกรรมที่เขารับอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะกรรมที่เขาทำไว้อย่างไรหนอ ที่เขาได้เป็นนั่น ได้เป็นนี่ก็ดี เขาได้รับความทุกข์ยากลำบากนานัปการก็ดี นี้เป็นผลของกรรม เขาทำกรรมอย่างไรไว้หนอในอดีตนั้น คิดไม่ได้ หรือว่าผู้ที่ทำกรรมอย่างนี้แล้ว ตายแล้วเขาจะเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้

๔. เรื่องโลก คือเรื่องความเป็นไปของโลก ตลอดถึงการมองเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวที่เป็นอยู่นี้ มันอยู่ได้อย่างไร โลกของเรานี้ตั้งอยู่ได้อย่างไร เราคิดอย่างไร มันก็ไม่หมดความสงสัย

เหตุนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เรื่องทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด คือ ๑) พุทธวิสัย ๒) ฌานวิสัย ๓) เรื่องวิบากคือผลของกรรม ๔) เรื่องโลก เรื่องเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด ถ้าผู้ใดคิด พระองค์ตรัสว่า มีคติแห่งความฟุ้งซ่าน ความเป็นบ้า

พระองค์ยังตรัสไว้อีกว่า

เมื่อใดพุทธบริษัททั้งหลาย ยังพากันประพฤติมั่นอยู่ในศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอริยมรรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือในสถานที่แห่งใดยังมีการสนทนาปราศัยกันเรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เรื่องสมถะ และวิปัสสนาอยู่ สถานที่นั้นๆ ก็ยังมีผู้ทรงศีลทรงธรรม ยังมีผู้ที่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอยู่

ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตราบใด ยังมีผู้เจริญสมถะอยู่ เจริญวิปัสสนาอยู่ และยังรักษาพระวินัยอยู่ หรือยังคลุกคลีกันด้วยการสนทนาเรื่องการปฏิบัติอยู่ พูดถึงการเข้าฌานบ้าง การออกจากฌานบ้าง พูดถึงการเข้าผลสมาบัติบ้าง พูดถึงการเข้านิโรธสมาบัติบ้าง สถานที่นั้นก็จะเจริญไปด้วยความสันติสุข คือมีความสงบเย็น มีความผาสุก

ดังที่ท่านทั้งหลายเห็นอยู่ทุกวันนี้ ความสุขที่ได้รับก็เกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรม

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง สมาบัติ มาแก้ข้อข้องใจของท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 66.0.3359.139 Chrome 66.0.3359.139


ดูรายละเอียด
« ตอบ #71 เมื่อ: 09 พฤษภาคม 2561 11:27:05 »



อานิสงส์ของการเจริญสมาธิ (๑)

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หลวงพ่อใคร่ขอเตือนจิตสะกิดใจญาติโยมทั้งหลาย โดยเฉพาะญาติโยมที่เคยประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมมา โดยเฉพาะผู้ที่เคยฝึกการทำสมาธิแต่ละปีๆ ที่ผ่านมาในหน้าพรรษา เราก็จะได้เพิ่มผลบุญบารมี ในช่วงหน้าแล้ง เราไม่มีโอกาสที่จะทำจิตทำใจให้สงบเป็นเวลานานได้ เรามีโอกาสที่จะเสวยความสุขที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัตินั้นไม่ได้เท่าที่ควร

ที่จริงสมาธินี้เขาใช้เพื่อเป็นการสร้างพลังจิตให้สูงขึ้น นี้ประการ ๑ ประการที่ ๒ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดซึ่งเกิดขึ้นจากสภาวะที่ไม่ดี เช่นว่า

(กามฉันทะ) มีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่ทำให้เกิดความชอบใจ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำนอกรีตนอกรอย ผิดศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนา

พยาบาท มีความไม่พอใจในสิ่งแวดล้อม ไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ไม่พอใจเพื่อน ไม่พอใจในครอบครัว ไม่พอใจในวงศาคณาญาติ ไม่พอใจในเพื่อนบ้าน ไม่พอใจพระเจ้าพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดในวา อะไรทำนองนี้ ความไม่พอใจทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ โอกาสที่เราจะทำให้มันน้อยลงไปก็หาได้ยาก

นอกจากนี้ ความผูกพันอยู่กับบางสิ่งบางประการในการหลับการนอน หรือบางทีก็คิดมากจนเป็นโรคประสาทเข้าโรงพยาบาล บางทีก็เกิดความไม่เข้าใจในธรรมะที่เราประพฤติปฏิบัติมาอย่างนี้

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ วิธีจะผ่อนคลายลงไปได้ ประการที่ ๑ คือ เราทำจิตทำใจของเราให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นจิตที่หนักแน่นมั่นคง ในเรื่องของการสร้างสมอบรมคุณงามความดี เป็นต้นว่า ให้ทาน รักษาศีล ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา นี่เป็นโอกาสเวลาในการที่จะทำให้จิตใจหนักแน่นมั่นคง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกปีที่ผ่านมาเราก็ทำตลอด แต่บางปีก็ฝึกได้มาก บางปีก็ฝึกได้น้อย แต่ปีนี้หลวงพ่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเอื้ออำนวย ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล เหตุนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หลวงพ่อคิดอยากให้ญาติโยมทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ที่เคยทำสมาธิมาแล้ว ก็อยากให้ฝึกไว้เป็นบรรทัดฐาน เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมเกี่ยวกับเรื่องอย่างนี้ เพราะว่าสมาธินี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินวิถีชีวิตของเรา

ถ้าคนที่มีจิตหนักแน่นเป็นสมาธิอยู่ก็สบาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมาก็จะเป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ดี คนที่ไม่มีสมาธิหรือจิตใจมีสมาธิน้อย อะไรทำนองนี้ โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมา เราก็จะกำจัดออกไปจากขันธสันดานของเรา ก็เป็นไปได้ยาก หรือไม่ได้เสียเลย แล้วก็สมาธินี้ ถ้าเราทำให้ดี ญาติโยมทั้งหลาย

หลวงพ่อเคยบอกว่า เวลาเรานั่งสมาธิ อยู่ในสมาธินี้ ร่างกายของเราเป็นมนุษย์ แต่จิตใจของเราเป็นพรหมแล้ว ถ้าเป็นผู้ชายก็เป็นพรหมผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็นพรหมผู้หญิง ถ้าหากว่าเราจุติหรือตายเพราะจิตดวงนี้ เราก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของสมาธิ ตามกำลังของฌาน แล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ

เมื่อเราไปเกิดเป็นพรหมแล้ว ก็เสวยสุขในพรหมโลกนั้นๆ ตามอำนาจของฌานหรือบุญกุศลที่ได้สร้างสมอบรมไว้ หากว่าหมดบุญแล้ว ก็มาเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ก็จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอันว่าจะไม่ไปสู่อบายภูมิ เพราะเหตุใด เพราะว่า กำลังของฌานนั้นจะรักษาไว้ ไม่ให้ตกไปสู่อบายภูมิ อย่างน้อยที่สุดก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา อันนี้เป็นกำลังของสมาธิ

ถ้าหากว่าเราสามารถทำสมาธิได้ ท่านทั้งหลายอยู่ในโลกนี้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ก็มีกำลังจิตกำลังใจต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายที่เกิดขึ้น ดั่งที่เราสังเกตเห็นชาวบ้านของเรานี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว สบายๆ บางทีจำเป็นที่จะต้องผ่าตัด การผ่าตัดก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกันกับเราฆ่ากบฆ่าเขียด เวลาถูกผ่าตัดก็เฉยๆ ไม่เหมือนเมื่อก่อน ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหวเพราะอาการจะผ่าตัดนั้น

บางทีเวลาไปผ่าตัด ยาสำหรับช่วยในการผ่าตัด เป็นยาชาหรือยาสลบอย่างนี้ บางคนก็ไม่ใส่ซะเลย ไม่เหมือนเมื่อก่อน อย่างน้อยใส่ยาชา หรือบางครั้งหนักๆ ต้องใส่ยาสลบ แต่หลังจากที่ญาติโยมทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมะ สามารถทำสมาธิได้แล้ว บางครั้งไปโรงพยาบาลไม่ได้ใส่ยาสลบเลย ประสาทของเราก็ไม่สะทกสะท้านอะไร เราไปรับการผ่าตัด สบายๆ

อันนี้เพราะอานิสงส์ที่ได้พากันทำสมาธิ บางทีไปคลอดบุตรอย่างนี้ เวลาไปคลอดบุตร เมื่อก่อนเราสะทกสะท้านหวั่นไหว ทั้งผู้เป็นสามีทั้งผู้เป็นภรรยา ทั้งญาติโยมทั้งหลาย ทั้งพี่ๆ น้องๆ ต้องไปรุมกันหวั่นใจ แต่สมัยทุกวันนี้สบาย หลังจากพากันประพฤติวัตรปฏิบัติมา เวลาจำเป็นที่จะต้องคลอดหรืออะไรก็สบายๆ บางทีญาติพี่น้องไปด้วยเพียงคนสองคน บางทีก็มีแต่สามี บางทีมีแต่น้องสาวหรือพี่สาวที่ไปเฝ้าดูแล ไม่เหมือนเมื่อก่อน

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เกิดจากการที่ญาติโยมทั้งหลายไปประพฤติปฏิบัติมา ทำจิตให้หนักแน่นเป็นสมาธิไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ ที่เกิดขึ้น ญาติโยมทั้งหลายก็ได้รู้ความเป็นจริงของสังขารทั้งหลายทั้งปวง เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เมื่อรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นกฎของธรรมชาติ เกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นดังนี้ เมื่อเหตุใดๆ เกิดขึ้นจึงไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อก่อนโน้น เวลาจะเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาตายอะไรอย่างนี้ ถึงคราวตายก็พากันร้องห่มร้องไห้ระงมไปทั้งบ้าน บางทีเวลาล้มหายตายไป บางทีร้องไห้ ๓-๔ ครอบครัว ด้วยอำนาจของโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส คิดถึงผู้ล้มหายตายไป พากันร้องห่มร้องไห้

แต่ทุกวันนี้ เสียงร้องไห้เกือบจะหาไม่ได้แล้ว เวลาเจ็บไข้ เวลาล้มหายตายไป เพราะทุกคนต่างก็รู้กฎของความเป็นจริง ก็ทำจิตทำใจได้ เราจะเห็นสมัยหนึ่งที่แม่ชีแขกถึงแก่กรรมนั้น ในขณะที่แม่ชีแขกถึงแก่กรรมนั้น ลูกๆ ทั้งหลาย เด็กๆ ทั้งหลายที่เคารพนับถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับแม่ชีแขก พอดีได้ยินเสียงสัญญาณเตือน ลูกๆ ทั้งหลายก็พากันเฮโลมา พอเห็นศพที่ตั้งอยู่ เด็กๆ ทั้งหลายก็พากันจะร้องไห้

วันนั้น หลวงพ่อตวาดเอาว่า ถ้าร้องไห้แล้วมันจะฟื้นขึ้นมาก็ร้องไห้กันไป แต่ถ้าร้องไห้แล้วมันไม่ฟื้นขึ้นมาก็อย่าร้องไห้ ถ้าการร้องไห้เป็นบุญก็ร้องไป ถ้าการร้องไห้มันไม่เป็นบุญ มีแต่เพิ่มความทุกข์ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องร้อง กัมมัฏฐานที่หลวงพ่อแนะนำพร่ำสอนมาหลายปีนั้นยังใช้ไม่ได้หรือ เวลาจะถึงคราวนี้จะใช้ไม่ได้หรือ ถ้าว่ามันใช้ไม่ได้ หลังจากงานเสร็จแล้วไปทำใหม่ แต่สำหรับงานของแม่ชีแขกนี้ หลวงพ่อจะสอบอารมณ์ว่า บรรดาลูกๆ หลานๆ ญาติโยมทั้งหลายที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ได้ภูมิจิตภูมิใจถึงขนาดไหน อย่างไร

พอดีถึงเวลางาน ญาติพี่น้องทั้งหลายก็จะมาจากอยุธยา หลวงพ่อบอกความลับให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ควบคุมเสียงว่า วันนี้มีเสียงธรณีกรรแสง มีเท่าไรก็ให้เปิด เปิดให้มันเย็นๆ มีขยายเสียง ๔ เครื่อง ๕ เครื่อง ก็เปิดเลย คนละมุมๆ เปิดเลย พอดีถึงเวลาเคลื่อนศพก็พากันเปิดเสียงธรณีกรรแสง

เมื่อเปิดแล้ว หลวงพ่อก็จะสังเกตว่าจะมีคนร้องไห้ไหม ในงานศพนี้จะมีคนร้องไห้ไหม มีพระเณรร้องไห้ไหม มีลูกๆ หลานๆ ชาวบ้านร้องไห้ไหม ที่เคยเคารพนับถือกันมา หลังจากงานเสร็จปั๊บ หาคนหนึ่งที่จะร้องห่มร้องไห้ไม่มี แต่ญาติๆ ที่มาจากอยุธยาร้องไห้ปริ่มว่าจะขาดใจตาย เหมือนว่าจะตายไปด้วยกัน เขาคงคิดว่าชาวบ้านของเราไม่มีความเคารพ ไม่มีความรัก ไม่มีความนับถือ ปล่อยลูกๆ หลานๆ ไว้แล้วก็ตายไป ไม่มีใครร้องห่มร้องไห้

นี่แหละญาติโยมทั้งหลาย ธรรมะนี้ถ้าเราประพฤติปฏิบัติแล้ว เราต้องใช้ให้เป็น มันได้ประโยชน์จากโลกนี้ไปแล้วก็มีประโยชน์ในโลกหน้า ในโลกนี้เราก็จะใช้ในการประกอบสัมมาอาชีวะในกิจวัตรประจำวัน ถ้าว่าจิตใจของเรามันหนักแน่นมั่นคง มีธรรมะอยู่ในจิตในใจของเราแล้ว ความโลภ โกรธ หลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา มันจะไม่ครอบงำจิตใจของเรา มันจะไม่เป็นนายเหนือหัวของเรา เราจะไม่เป็นทาสของมัน

ส่วนมากผู้คนทั้งหลายต่างพากันวิตกนานัปการ เพราะว่าตกอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา แต่เมื่อเราทำจิตทำใจให้หนักแน่นมั่นคงแล้ว เราไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งเหล่านี้ จิตใจของเราสบาย เมื่อจิตใจของเราสบาย ร่างกายของเราก็สบาย เมื่อกายวาจาใจของเราสบายแล้ว คนอื่นๆ ก็สบายไปด้วย สังคมของเราก็อยู่ร่มรื่น

ญาติโยมทั้งหลายคิดดูว่า เมื่อก่อนโน้นถึงฤดูนี้ขึ้นมา ชาวบ้านของเราตายเป็นจำนวนพอสมควร บางปีก็ ๕ คน บางปีก็ ๑๐ คน หลังจากพวกเราทั้งหลายประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ได้ชี้แนะแนวทางให้ฟังว่า การที่จะมีอายุยืนนี้ เราต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆ ต้องตั้งอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เมื่อตั้งอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการแล้ว ก็จะมีอายุยืน ไม่ตายง่าย แล้วก็ได้ทำสมาธิ ได้แนะนำพร่ำเตือนกันมาตามลำดับๆ มาจนถึงทุกวันนี้ บางปีไม่มีคนตายเลย บางปีถ้าว่ามันจำเป็นที่จะต้องตาย ก็ไม่เกิน ๓ คน ๒ คน ๑ คน อะไรทำนองนี้

บางปีหลวงพ่อก็ขอร้องไปเลยว่า ปีนี้ขอให้อยู่ด้วยกันทุกคนๆ ขอร้องอย่าให้ตายจากกัน ขอร้องเป็นพิเศษว่า อย่าตายจากกัน อยู่ด้วยกันเสียก่อน ถ้าจำเป็นจะต้องตายก็ พ.ศ. ใหม่ค่อยตาย แล้วก็อยู่ได้ทั้งปีไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น

พวกเราทั้งหลาย นี่ธรรมะมันได้ประโยชน์อย่างนี้ ญาติโยมทั้งหลาย ทุกปีที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะหน้าพรรษานี้หลวงพ่อจะขอไว้ทุกปีๆ อยู่ด้วยกันซะก่อนจึงค่อยตาย ออกพรรษาแล้วค่อยตาย ก็อยู่กันได้ แต่ปีนี้ญาติโยมทั้งหลายคงจะสงสัยว่า เอ๊ะ ปีนี้หลวงพ่อไม่ว่าอะไรเลย ก็หวั่นใจว่าเจ้าของหรือใครน้อ จะตาย หรือกูน้อ จะตาย เช่นว่า นอกจากคนอื่นแล้วก็กลัวว่าตัวเองจะตายด้วย

สาเหตุที่ไม่ได้พูดอะไรในวันอาสาฬหบูชา เพราะว่าทางบ้านอีเติ่งเขาฉลองหอระฆัง ญาติโยมสร้างหอระฆัง เขาขอร้องให้ไปงานบ้านอีเติ่ง แล้วก็ประการที่ ๒ สำคัญที่ไม่พูดอะไร เพราะว่าปีนี้ ไหนๆ ก็จะต้องตาย มันเตรียมตัวว่าจะตายแล้ว ถ้าพูดไปแล้ว เดี๋ยวว่าวาจาหลวงพ่อไม่ศักดิ์สิทธิ์ อะไรทำนองนี้ ก็เลยเฉยๆ อยู่ ก็พอดี ไม่กี่วันก็ไป

นี่แหละญาติโยมทั้งหลาย ธรรมะที่เราประพฤติปฏิบัติแล้ว มันได้ประโยชน์เหลือที่จะคณานับ ญาติโยมหลายๆ คนที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อยู่บ้านของเราก็มี อยู่ที่อื่นก็มี เวลาผ่าตัด บางครั้งก็ผ่าตัดไตนี่ ก็ไม่ใส่ยาชายาสลบเลย บางคนไปผ่าตัดไส้ติ่ง ไม่ใส่ยาสลบเลย กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็ผ่าตัดสำเร็จไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันได้ประโยชน์อย่างนี้ท่านทั้งหลาย

สรุปสั้นๆ ว่า สมาธิที่เราได้แล้วในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็สบายๆ ญาติโยมทั้งหลายจะเห็นเวลาหลวงพ่อเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ได้หักดอกไม้บูชาตัวเองหรอกนะ คือเวลาหลวงพ่อเจ็บ เอ้า เจ็บก็เจ็บไป โยมก็นวดไปๆ แต่อยู่เฉยๆ เหมือนไม่มีอะไร

เวลาญาติโยมมาเยี่ยมยามเจ็บไข้ได้ป่วย หลวงพ่อจะคุยมากกว่าคนที่ป่วย หลวงพ่อจะพูดมากกว่าอย่างอื่น เพราะเหตุใด หลวงพ่อจะเฉลยว่ามันป่วยเฉพาะกาย แต่ใจมันไม่ป่วย เวลาเจ็บ เจ็บแต่ร่างกาย แต่ใจมันไม่เจ็บ เวลาทุกข์มันก็ทุกข์แต่ร่างกาย แต่ใจไม่เป็นทุกข์

คนเรา เมื่อสังขารร่างกายส่วนอื่นมันเป็นทุกข์ แต่จิตใจไม่ทุกข์ มันก็อยู่สบาย มีอะไรเกิดขึ้น ก็เหมือนกับไม่มีอะไร บางทีมันช็อกไป ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง ก็เฉยๆ ภูมิใจดีใจเสียด้วย หากว่าเรายังไม่ได้ตายซะก่อน เราจะได้รู้ว่า ก่อนจะตายมันจะเป็นอย่างไร

นี่แหละญาติโยมทั้งหลาย เราทั้งหลายคิดอยู่เสมอว่า ถึงอย่างไรๆ เราแม้อยู่ได้ถึงร้อยปี ก็ต้องตายอยู่ แม้มีอายุถึงร้อยปีก็จะต้องตาย แต่ขอให้พวกเราทั้งหลายตายอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตายอยู่ในห้วงแห่งพระธรรม แม้จะตายเราจะไม่ละพระธรรม ไม่ละการประพฤติปฏิบัติ

จะยึดเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป เมื่อเราตายในลักษณะอย่างนี้แล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ จะมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า อย่างน้อยก็ไปเกิดในเทวโลกหรือพรหมโลกตามกำลังของฌาน

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ท่านทั้งหลายให้พากันเริ่มซะ วันนี้เดินจงกรมเสร็จแล้ว ตอนเย็นหลังจากทำวัตรแล้วก็อุ่นเครื่องซะ หลังจากทำวัตรหรือฟังเทศน์เสร็จแล้วก็อุ่นเครื่อง นั่งสมาธิสัก ๒ ชั่วโมง วันพระต่อไปก็ค่อยๆ เพิ่มไป วันพระละ ๓ ชั่วโมง วันพระละ ๖ ชั่วโมง วันพระละ ๑๒ ชั่วโมง

ตามปกติทางวัดของเราจะ(มีผู้)ทำได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง บางปีก็มีเวลามาก อาจจะถึง ๓๐ ชั่วโมง หาความสุขซึ่งเกิดจากธรรมะ ทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ เป็นฌาน เป็นอนุสรณ์แก่บรรดาลูกๆ หลานๆ เขามาเห็นพ่อแม่พี่น้องทำอย่างนี้ได้ เขาก็จะได้ตั้งอกตั้งใจทำ คิดว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้เริ่มซะ แล้วก็ขอให้คณะแม่ชีสัก ๒-๓ คนมาอยู่ประคับประคองเป็นเพื่อน จะได้ภูมิอกภูมิใจ

หลวงพ่อขอออกตัวว่า วันนี้หลวงพ่อก็ได้มาเทศน์ให้ท่านทั้งหลายตลอดถึงญาติโยมฟัง ได้มาเตือนจิตสะกิดใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมะ หากว่าท่านทั้งหลายและญาติโยมเสียเวลาไป ก็ขออภัยด้วย

เท่าที่ได้บรรยายมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 66.0.3359.181 Chrome 66.0.3359.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #72 เมื่อ: 25 พฤษภาคม 2561 14:54:37 »



อานิสงส์ของการเจริญสมาธิ (๒)

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

การทำสมาธิ ก็คือการรวมกระแสจิต คือจิตของเราก็มีกระแสเหมือนกันกับแม่น้ำ

แม่น้ำที่ไม่ได้รวมกระแส ก็จะไหลไปตามทางของมัน ไหลไปทางนั้นทางนี้ ไปตามห้วยหนองคลองบึง น้ำที่ไหลไปตามปกติธรรมชาติของมัน ไม่ได้รวมกระแสน้ำ น้ำก็จะไม่มีพลังหรือว่าไม่แรง ถ้าเรารวมกระแสน้ำให้ไหลไปทางเดียวกัน หรือในช่องเดียวกันตามที่เราต้องการ กระแสน้ำก็มีกำลังแรง สามารถนำไปใช้ในการเกษตรกรรมต่างๆ หรือสามารถที่จะเอามาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

ดังที่พวกเราได้เห็นอยู่ทุกวันนี้ เช่น ไฟฟ้าที่ใช้อยู่บ้านเรา ก็ส่งมาจากเขื่อนโดมน้อยหรือเขื่อนสิรินธร ซึ่งน้ำโดมนั้นไหลอยู่ตลอดกาล ทั้งหน้าฝนหน้าแล้ง เขาก็รวมกระแสน้ำที่อยู่ในลำโดมน้อยทั้งหมดให้ไหลลงในช่องเดียวกันที่เขาต้องการ เมื่อไหลลงในช่องเดียวกัน ก็มีกำลังแรง จนสามารถที่จะผลิตกระแสไฟฟ้ามาให้เราใช้จนทั่วภาคอีสานได้

แม่น้ำที่รวมกระแสจะมีกำลังมาก มีอานุภาพมาก สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้เหลือที่จะพรรณนา แต่ถ้าไม่ได้รวมกระแส ก็จะไม่มีอานุภาพ ไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร และอาจจะไหลบ่าไป ก่อให้เกิดความเสียหายได้อีกด้วย ข้อนี้ฉันใด จิตของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าจิตใจไม่ได้รวมกระแส ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก็ไม่มีกำลัง ไม่มีอานุภาพ

อะไรเป็นกระแสของจิต

ความคิด เป็นกระแสของจิต

ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วต้อง คิด ตื่นขึ้นมาก็ต้องคิดแล้ว ยังไม่ได้ลุกจากที่นอนก็คิดแล้ว อันนี้จิตของเราไม่ได้รวมกระแส มัวแต่คิดในเรื่องครอบครัว เรื่องสมบัติ เป็นต้น ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นไปในอนาคต ทั้งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

เมื่อกระแสจิตนี้ไหลไปอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่มีอานุภาพ ไม่มีพลัง เหมือนกับไฟฉายอย่างนี้ หากว่าเราไม่ใส่กรวยปรับแสง เราเปิดสวิตซ์ขึ้นมา ไฟก็สว่างเหมือนกัน แต่สว่างไม่ได้ไกล ไม่สามารถจะมองเห็นไกลๆ หากว่าเราเอากรวยปรับแสงใส่เข้าไป แสงสว่างก็เพิ่มขึ้นมาอีก แต่ยังไม่อาจมองดูได้ไกลเท่าไรนัก แต่เมื่อใดเราปรับกรวยให้รวมแสงกันเข้าไปๆ เมื่อรวมกันได้ถึงที่แล้ว ก็สามารถฉายไปได้ไกลๆ ส่องดูไกลๆ เห็นได้

จิตของเราก็เหมือนกัน เมื่อใดที่เราทั้งหลายรวมกระแสจิตลงไปๆ คือรวมความคิดหลายๆ ความคิดนั้นให้เหลือความคิดเดียว เช่น เราเอาอาการพองอาการยุบมาเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า พุทโธๆ หรือ พองหนอ ยุบหนอๆ ร่ำไป จิตใจของเราก็อยู่ที่อาการพองอาการยุบตลอดไป ไม่คิดไปเรื่องอดีต ไม่คิดไปเรื่องอนาคต กำหนดแต่ปัจจุบันธรรม คือ เรากำหนดอาการพองอาการยุบนี้ได้อยู่ตลอดเวลา ก็แสดงว่าเรารวมกระแสจิตได้แล้ว

เมื่อใด เรารวมกระแสจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียว กำหนดอยู่ในอารมณ์อย่างเดียว ซึ่งเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ได้อย่างนี้ คือสามารถทิ้งอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ ได้ จะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ดี เราทิ้งอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นได้ ก็แสดงว่าเรารวมกระแสจิตได้มาก เมื่อรวมกระแสจิตได้มากแล้ว จิตก็จะเข้าสู่ฌานธรรมทันที คือฌานชวนวิถีจะเกิดขึ้นทันที เมื่อฌานชวนวิถีเกิดขึ้น ก็บรรลุถึงปฐมฌานคือฌานที่ ๑

เมื่อฌานที่ ๑ เกิดขึ้นแล้ว เราก็รวมกระแสจิตให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก ทิ้งอารมณ์ที่เหลือออกไปอีก จิตก็จะเข้าสู่ ทุติยฌาน คือฌานที่ ๒

เมื่อถึงฌานที่ ๒ แล้วก็รวมกระแสจิตให้ยิ่งเข้าไปอีก ทิ้งอารมณ์ออกไปอีก ผู้ใดทิ้งอารมณ์ได้มากเท่าไร และรวมกระแสจิตได้มากเท่าไร ก็สามารถเข้าสมาธิได้มากเท่านั้น จนกระทั่งถึงตติยฌาน คือฌานที่ ๓ จตุตถฌาน คือฌานที่ ๔ แล้วก็เข้าสู่อรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนะ อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนะ อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนะ อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไปตามลำดับๆ

ทีนี้ หากว่าจิตของเราตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว อันเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ และพร้อมกันนั้น เราเคยได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านอนาคามิมัคคญาณ อนาคามิผลญาณ หรืออรหัตตมัคคญาณ อรหัตตผลญาณมาแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธได้

ผู้ที่เข้าสู่ สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้ว ชื่อว่าได้ ดับทั้งจิตทั้งเจตสิก ดับสัญญา ดับเวทนาได้ สามารถเข้าสมาธิอยู่ได้ถึง ๗ วัน ๗ คืน โดยที่ไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต เพราะอาหารที่เราบริโภคเข้าไป เกิดเป็นโอชะหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ ไม่ให้เป็นอันตรายแก่ชีวิต

นี้เป็นเรื่องสมาธิโดยคร่าวๆ หรือโดยหยาบๆ

สมาธิที่เราได้นี้ มีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาล เหลือที่จะนับจะประมาณ ถ้าเราได้สมาธิในขั้นรูปฌาน ๔ นี้ สามารถที่จะให้เกิดอภิญญาจิตได้ เช่น เตวิชโช สามารถยัง วิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นได้ คือ

๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกชาติหนหลังได้ แต่จะระลึกได้กี่ชาตินั้น ก็ขึ้นอยู่ที่อำนาจสมาธิ และก็บุญญาวาสนาที่ได้สั่งสมอบรมมา

๒. จุตูปปาตญาณ สามารถรู้จักการตายการเกิด ของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น คืออยากทราบว่า ผู้นี้เขามาจากไหนจึงมาเกิดในที่นี้ ผู้นี้เขาตายแล้วจะไปเกิดในที่ไหน ก็สามารถรู้ได้

๓. อาสวักขยญาณ สามารถรู้วิธีหรือรู้หลักการ ที่จะทำลาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง และอาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานได้

นอกจากนี้ ก็สามารถให้เกิด อภิญญา ๖ คือ

๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ ดังตัวอย่างพระจูฬปันถกนี้รูปเดียว สามารถเนรมิตกายเป็นหลายๆ ร้อยรูปได้ คือสามารถแสดงฤทธิ์ได้ ล่วงสามัญชนธรรมดา

๒. ทิพพโสตอภิญญา คือสามารถที่จะฟังเสียงอมนุษย์ก็ได้ ฟังเสียงทิพย์ก็ได้ ฟังเสียงสัตว์เดรัจฉานก็ได้ คำว่า ฟังได้ ในที่นี้คือ รู้ความหมายของสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น นกร้องอย่างนี้ เราก็รู้ความหมายของมันว่าร้องอย่างไร รู้ภาษาของมันได้

ตลอดถึงสัตว์ทุกประเภท พวกจิ้งจก ตุ๊กแก พวกไก่ พวกสุนัข ที่เห่าหอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เราสามารถฟังมันรู้เรื่องว่า มันหอนเรื่องอะไร มันว่าอย่างไร ก็เป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน ถ้าเราอยู่ในอภิญญาขั้นนี้ เสียงสัตว์ร้องจะเป็นเสียงมนุษย์ไปหมด

๓. เจโตปริยญาณ รู้ความคิดของผู้อื่นว่า ขณะนี้เขามีจิตใจเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ความโลภ ความโกรธ ความหลง ของเขา หนาบางเท่าไร เป็นผู้ที่พอแนะนำได้หรือไม่ การประพฤติปฏิบัติสามารถที่จะบรรลุได้ขั้นไหนหรือไม่ ก็สามารถที่จะรู้ได้ สามารถที่จะคำนวณได้

๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้

๕. ทิพพจักขุอภิญญา มีตาทิพย์ คือ สามารถมองดูสิ่งที่สามัญชนมองไม่เห็น และสามารถจะมองเห็นนรก เห็นเปรต เห็นอสุรกาย เห็นเทวโลก เห็นพวกพรหม เห็นสิ่งเร้นลับ ที่มีอยู่ตามบ้าน ตามเมือง เห็นพวกภูตฝีปีศาจ พวกอมนุษย์ ซึ่งปกติคนธรรมดาไม่สามารถเห็นได้ เพราะว่าเป็นพวกที่มีร่างกายทิพย์ เรียกว่า อทิสสมานกาย ตาธรรมดานี้มองไม่เห็น แต่ทิพพจักขุอภิญญาสามารถทำให้มองเห็นได้

๖. อาสวักขยญาณ รู้วิธีการทำอาสวะให้หมดไป

วิชชา ๓ และอภิญญา ๖ นี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะผู้ที่ได้รูปฌานที่ ๔ เท่านั้น เพราะสมาธิมีกำลังกล้า แต่หากว่า เราเอาสมาธิในขั้นรูปฌานทั้ง ๔ ฌานใดฌานหนึ่งมาเป็นเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุซึ่ง มรรค ผล นิพพาน เร็วขึ้น ตามลำดับของฌาน

นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รูปฌานทั้ง ๔ นี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผิวพรรณผุดผ่องละอองใส เกิดโลหิตแดงมาหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ คือเรามองดูหน้าตาก็อิ่มเอิบ ร่าเริงเบิกบานไม่เศร้าโศกเหมือนคนธรรมดา นี้เป็นอานิสงส์โดยย่อของการได้รูปฌาน ๔

ทีนี้หากว่าเราได้อรูปฌาน ๔ ด้วย ก็ยิ่งมีพลังมาก มีอานุภาพมาก เพราะอรูปฌาน ๔ สามารถให้เกิด ปฏิสัมภิทา ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ นี้ หากว่าเราได้แต่รูปฌานอย่างเดียว ยังไม่สามารถที่จะทำให้เกิดได้

อรูปฌานทั้ง ๔ นี้แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ คือ

๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ คือสามารถที่จะอธิบายธรรมย่อๆ ให้พิสดารได้ เทศน์ทั้งวันทั้งคืนไม่รู้จักจบ

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม คือสามารถที่จะรวบรวมธรรม ที่ท่านกล่าวไว้โดยพิสดารกว้างขวางนั้น ให้เหลือแต่เพียงย่อๆ กล่าวย่อๆ เพียงบรรทัดเดียวหรือสองบรรทัด ก็ทำให้รู้ความหมายของธรรมนั้นได้ สามารถย่อความหรือสรุปความของธรรมะที่เทศน์มาตั้ง ๓, ๔, ๕ ชั่วโมง ให้เหลือเพียงย่อๆ แค่บรรทัดเดียว หรือ ๒-๓ บรรทัดก็จบแล้ว ตีความหมายควบไปหมดแล้ว นี้เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในนิรุตติ หมายความว่า รู้วิธีพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายๆ เช่น ธรรมะเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง สุขุมคัมภีรภาพ คนธรรมดาเข้าใจยาก ฟังยาก ก็สามารถที่จะพูดให้เข้าใจได้ง่าย

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ หมายความว่า จะเทศน์ปฏิภาณโวหาร หรือขบคิดปัญหาอะไรก็ได้ฉับไว มีอะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็สามารถแก้ปัญหาได้คล่องแคล่วว่องไว สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ทะลุปรุโปร่ง

อันนี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดจากอรูปฌาน ๔ หากว่าเราเอาสมาธิขั้นนี้มาเป็นเครื่องรองรับในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ยิ่งได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น เพราะเหตุไร เพราะว่าอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ มีอารมณ์คล้ายคลึงกับวิปัสสนาญาณ คืออรูปฌานนี้ก็สอนให้ละรูปทิ้งไปแล้ว เมื่อมาถึงฌานขั้นนี้ รูปไม่เกี่ยว เกี่ยวเฉพาะนามเท่านั้น เวลาเจริญเอานาม คือพวก อากาศ วิญญาณ สัญญา มาเป็นเครื่องบริกรรมจนได้ฌาน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราเอาสมาธิขั้นนี้มาเป็นเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนา ก็เป็นเหตุให้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น

สมาธิที่เราได้นั้น ในขณะที่เราเข้าสมาธิอยู่ ร่างกายของเราเป็นมนุษย์ คือจะเป็นพระ เป็นเณร เป็นปะขาวแม่ชี หรือจะเป็นคฤหัสถ์ชาวบ้าน ผู้ชายผู้หญิงก็ตาม แต่ว่าจิตใจของเราเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว ถ้าเราจุติคือตายเพราะจิตอย่างนี้ คือเวลาตาย ตายในฌาน ฌานไม่เสื่อม เมื่อจุติแล้ว ก็จะไปเกิดในพรหมโลก ตามกำลังของฌาน

ถ้าได้ปฐมฌาน คือฌานที่ ๑ อย่างหยาบ ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๑ ปฐมฌานอย่างกลาง ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๒ ปฐมฌานอย่างละเอียด ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๓

ถ้าได้ทุติยฌาน คือฌานที่ ๒ อย่างหยาบ ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมที่ ๔ ทุติยฌานอย่างกลาง ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๕ ทุติยฌานอย่างละเอียด ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๖

ถ้าได้ตติยฌาน คือฌานที่ ๓ อย่างหยาบ ก็ไปบังเกิดในรูปพรหม ชั้นที่ ๗ ตติยฌานอย่างกลาง ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๘ ตติยฌานอย่างละเอียด ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๙

ถ้าได้จตุตถฌาน คือฌานที่ ๔ ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็จะไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๑๐ และถ้าผู้ได้จตุตถฌานนี้ เป็นพระอนาคามีด้วย ก็จะไปบังเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ ชั้น อันเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๑๒-๑๖ ถ้าไม่เป็นพระอนาคามี ถึงแม้จะได้จตุตถฌาน ก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมไม่ได้

ทีนี้หากว่าผู้ใดได้อรูปฌานที่ ๑ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๑

ผู้ได้อรูปฌานที่ ๒ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๒

ผู้ได้อรูปฌานที่ ๓ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๓

ผู้ได้อรูปฌานที่ ๔ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๔ ตามกำลังของฌาน

ทีนี้ ในพรหมทั้งหมดนั้น มีพรหมประเภทหนึ่ง ที่เรียกกันว่า อสัญญีพรหม หรืออสัญญีสัตว์ อสัญญีพรหมนี้ ได้ธรรมะขั้นไหน จึงได้ไปบังเกิดในอสัญญีภูมิ (รูปพรหมชั้นที่ ๑๑)

อสัญญีพรหมนี้ ได้ประพฤติปฏิบัติจนได้จตุตถฌาน คือได้รูปฌานที่ ๔ เมื่อครั้งเป็นเทวดาหรือมนุษย์อยู่ (จตุตถฌานที่ได้นี้ เกิดจากการเพ่งวาโยกสิณ) หลังจากได้จตุตถฌานแล้ว ก็มาพิจารณาเห็นโทษของนามธรรม อันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกง่ายๆ ก็คือ จิตใจ นี้เองว่า ความดีใจ เสียใจ ความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ ความไม่สบายใจ ก็เกิดขึ้นเพราะมีจิตใจนี้ หรือเมื่อได้รับบาดเจ็บหรือไม่สบายทางกาย ก็เพราะมีจิตใจนี้ จึงได้รู้สึกเจ็บปวด ถ้าหากเราไม่มีจิตใจ ไม่มีความจำรู้สึกนึกคิดอะไร ก็คงจะไม่ทุกข์

เมื่อคิดเห็นเช่นนี้ก็เกิดความเบื่อหน่ายในนามธรรมนั้น ไม่อยากที่จะมีนาม จึงปรารถนาที่จะไม่มีนามอีกต่อไป แล้วก็เฝ้าคิดเฝ้าปรารถนา เฝ้าภาวนาอยู่ว่า อสัญญีๆ ขอข้าพเจ้าจงอย่ามีสัญญาๆ แล้วก็เข้าจตุตถฌานนั้นอีก หมายความว่า เมื่อผู้ได้จตุตถฌาน (เกิดจากเพ่งวาโยกสิณ) แล้ว มีความชอบใจพอใจในการไม่มีจิตใจขึ้นมา ก็พยายามรักษาจตุตถฌานไว้ ไม่ให้เสื่อม พอออกจากฌานมา ก็มีความเกลียดชังจิต ให้เกิดเบื่อหน่ายในจิตของตน เฝ้านึกเฝ้าภาวนาอยู่ว่า ขอข้าพเจ้าจงอย่ามีสัญญาเถิดๆ

พูดง่ายๆ ก็คือก่อนเข้าจตุตถฌานก็ปรารถนาไม่อยากจะมีนาม เข้าจตุตถฌานแล้ว ออกมาแล้ว ก็มีความปรารถนาที่จะไม่มีนามเหมือนกัน จตุตถฌานที่เกิดขึ้นมาด้วยอาการอย่างนี้นั้น ชื่อว่า เกิดขึ้นพร้อมด้วย สัญญาวิราคภาวนา (การบำเพ็ญเพื่อที่จะละนามธรรมนี้นั้นแม้ว่าจตุตถฌานที่บุคคลได้แล้วจะสำเร็จได้มาด้วยการเพ่งกสิณอย่างใดก็ตาม แต่เมื่อปรารถนาต้องการที่จะได้ภพชาติที่ไม่มีนามธรรมแล้ว จตุตถฌานที่ได้นั้นต้องสำเร็จมาจากการเพ่งวาโยกสิณเสมอไป มีอาจารย์บางท่านกล่าวว่า จตุตถฌานที่สำเร็จมาจากอากาสกสิณ ก็ให้สำเร็จประโยชน์ได้เหมือนกัน…จาก สมถทีปนี)

เมื่อผู้เจริญสัญญาวิราคภาวนา หมั่นเจริญ หมั่นนึกอธิษฐานอยู่อย่างนี้ เมื่อตายแล้วก็จะไปบังเกิดใน อสัญญสัตตภูมิ อันเป็นภูมิที่ไม่มีนาม มีแต่รูปขันธ์อย่างเดียว สมความปรารถนา

เกี่ยวกับเรื่องขันธ์ของสัตว์ทั้งหลายนี้ ที่พวกเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ เขาพากันสวดอยู่ทุกวันนี้ว่า สัตว์เหล่าใดมีขันธ์ ๕ ขันธ์ มีขันธ์ ๔ ขันธ์ มีขันธ์ขันธ์เดียว ขอจงได้รับบุญกุศลนี้เถิด เมื่อสวดแล้วหลวงพ่อก็ออกปัญหาถามพวกเด็กๆ ว่า สัตว์ประเภทใดมี ๕ ขันธ์ สัตว์ประเภทใดมี ๔ ขันธ์ สัตว์ประเภทใดมีขันธ์ ขันธ์เดียว คือขันธ์ ๕ ขันธ์นั้นมีขันธ์ไหนบ้าง ขันธ์ ๔ ขันธ์นั้นขันธ์ไหนบ้าง ขันธ์ขันธ์เดียวได้แก่ขันธ์อะไร เด็กๆ บางคนก็ตอบได้

ขันธ์ ๕ ขันธ์ ก็หมายความว่า พวกที่มีขันธ์ ๕ คือมีทั้งรูป มีทั้งเวทนา มีทั้งสัญญา มีทั้งสังขาร มีทั้งวิญญาณ ครบหมด ได้แก่พวกสัตว์ในอบายภูมิทั้ง ๔ พวกมนุษย์ พวกเทวดา และก็พวกรูปพรหม ยกเว้นอสัญญีพรหม พวกเหล่านี้จะมีขันธ์ ๕ ขันธ์

ทีนี้พวกไหนมีขันธ์ ๔ ขันธ์ ก็ได้แก่พวกอรูปพรหม มี ๔ ขันธ์ คือไม่มีรูปขันธ์ มีแต่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น

ส่วนสัตว์ที่มีขันธ์เดียว ก็คือ อสัญญีพรหม มีแต่รูปขันธ์เท่านั้น

ที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นเรื่องของอำนาจสมาธิ ผู้ที่ปฏิบัติได้แล้วส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ กัน

สมาธินั้น หรือการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น มิใช่ว่าเราจะเดินจงกรมนั่งสมาธิตลอดทั้งวันทั้งคืนจึงจะได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่า เรามีความรู้ความเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติ และมีศรัทธาจริงแล้วก็ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง อยากได้จริงๆ แล้ว ก็สามารถที่จะทำได้

หากว่ามีศรัทธาครึ่งๆ กลางๆ ทำบ้างไม่ทำบ้าง เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ บางทีมาประพฤติปฏิบัติ เดินจงกรมนั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืน แต่ไม่เชื่อ ทำอยู่ก็ไม่เชื่อ เดินอยู่ก็ไม่เชื่อ นั่งอยู่ก็ไม่เชื่อ หนักๆ เข้าก็พูดว่า ถ้าไม่เห็นเหาะมาบนฟ้าแล้วจะไม่เชื่อ ถ้ามีผู้ปฏิบัติจริงได้ผลจริง เหาะมาให้ดูจึงจะเชื่อ อะไรทำนองนี้ ก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ ถ้าหากเรารู้วิธีทำ ก็ได้สมาธิในขณะที่นั่งฟังอยู่แหละ นั่งฟังทุกวัน วันละ ๒๕ นาทีบ้าง ๓๐ นาทีบ้าง ก็สามารถทำสมาธิได้

เราเคยได้ฟังมาในครั้งพุทธกาลว่า ผู้ที่ไปฟังเทศน์ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลในขณะที่ฟังธรรมของพระองค์ นี่เราได้ฟังเรื่องในครั้งพุทธกาลเป็นส่วนมาก แต่ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่ได้สมาธิในขณะฟังการบรรยายธรรม ในขณะฟังเทศน์นี้ หลวงพ่อคิดว่านับไม่ถ้วนเป็นพันๆ คน บางปีก็ได้มาก บางปีก็ได้น้อย เช่น ในปีที่ผ่านมา ปี ๒๕๒๔ นั้น บรรยายธรรมเสร็จแล้ว เดินไปดูบรรดาสามเณร สามารถได้สมาธิทั้งหมด ๓๕ รูป ได้ในเวลาฟังบรรยายธรรมะ

ในขณะที่ทำวัตรสวดมนต์อยู่ ผู้บวชใหม่ทำวัตรไม่ได้ก็นั่งสมาธิเอา นั่งสมาธิฟังครูบาอาจารย์และเพื่อนๆ ทำวัตรสวดมนต์ พอสวดมนต์เสร็จมาดู ได้สมาธิกันแล้ว และก็เอาสามเณรน้อยๆ อายุ ๑๒ ปีนี้แหละ ได้สมาธิแล้ว ก็เอามาฝึกจนสามารถได้สมาธิถึง ๒๔ ชั่วโมง อยู่ที่บ้านเหมือดแอ่ และก็มีสามเณรอีกรูปหนึ่งอยู่ที่บ้านอีเติ่ง ในขณะที่ทำวัตรนี้ ก็นั่งสมาธิไปกำหนดไปๆ จนได้สมาธิ ก็เลยเอามาฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ จนได้สมาธิถึง ๒๔ ชั่วโมง อายุเพียง ๑๒ ปีเท่านั้น สามารถได้สมาธิตั้ง ๒๔ ชั่วโมง

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หากว่าเรามีศรัทธา คือมีความเชื่อมั่นอย่างจริงจัง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็จะสามารถได้สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานได้ ในขณะที่เราฟังนี้

แต่ส่วนมากที่ผ่านๆ มา เราฟังเทศน์ฟังธรรมไม่เป็น โดยเฉพาะเวลาเราไปในงานต่างๆ จะเป็นงานเทศกาล งานบุญมหาชาติ งานบุญบ้าน งานอะไรๆ ก็ตาม เวลาฟังเทศน์ส่วนมากคนเรานี้ไม่ค่อยสนใจ พระเณรก็เทศน์กันไป โยมก็คุยกันไป คนโน้นคุยกับคนนี้ คนนี้คุยกับคนนั้น ผู้ทำอาหารทำครัวก็ทำไป ผู้กินเหล้าก็กินไป เสิร์ฟเครื่องดื่มก็เสิร์ฟไป ผู้ถวายน้ำร้อนน้ำเย็นก็ถวายไป

หรือบางที พระแสดงธรรมอยู่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุ สามเณร ที่นั่งอยู่รอบๆ ก็พากันสูบบุหรี่ควันโขมงไปหมด หรือบางทีโยมชาวบ้านบางคนก็พากันสูบบุหรี่ บ้างก็พากันโขลกหมากด้วยกินหมากด้วย พร้อมๆ กันกับฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ได้เคารพในพระสัทธรรม ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจฟังพระสัทธรรม

เมื่อเราไม่รู้วิธีฟังธรรม หรือว่าฟังธรรมไม่เป็นอย่างนี้ เราจะได้สมาธิมาจากไหน จะบรรลุได้อย่างไร แต่ถ้าเราฟังเป็น ก็สามารถที่จะได้สมาธิได้

สมาธิที่บุคคลได้แล้วนั้นแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ ถ้าสมาธิที่ได้เกิดขึ้นในลำดับแห่งฌานวิถี สมาธิที่ได้ก็เป็นฌานไป คือ เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และก็เป็นอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไปตามลำดับ

แต่ถ้าอัปปนาสมาธิที่เกิดนั้น เกิดในลำดับแห่งมัคควิถี ก็เป็นอริยมรรคอริยผลไป ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ การบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ อาจจะใช้เวลาไม่ถึง ๕ นาที ก็สามารถบรรลุได้ อันนี้แล้วแต่ประเภทว่าเป็น ขิปปาภิญญา หรือ ทันธาภิญญา คือตรัสรู้เร็ว ตรัสรู้ช้าเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้

สำหรับวันนี้เป็นการบรรยายคร่าวๆ เป็นการทดสอบดูว่า บรรดาลูกพระ ลูกเณรที่ปฏิบัติกัมมัฏฐานอยู่นี้ ได้สมาธิมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เมื่อทดสอบดูแล้วก็เห็นว่าได้สมาธิพอสมควร ก็เป็นที่ชื่นชมยินดีอนุโมทนาสาธุการ

คือการทดสอบนี้ หากว่ายังไม่มีผู้ได้สมาธิขณะที่ฟังนี้ เราก็จะจัดการอีกอย่างหนึ่ง มีหลักการที่จะประพฤติปฏิบัติฝึกหัดกันไปอีกทอดหนึ่ง ที่อยากให้ได้สมาธินี้ก็เพราะว่า สมาธินี้จะเป็นพื้นฐานในการศึกษาเล่าเรียน ทำให้การศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี ทำให้จิตมีสมรรถภาพดี มีพลังมีอานุภาพ การงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการงานทางโลกทางธรรม ก็สำเร็จผลได้ตามต้องการ จึงต้องการให้ได้สมาธิกัน

แต่ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเข้าใจว่า เวลาปฏิบัตินี้ ถึงแม้เราจะฟังธรรมกัณฑ์เดียวกันก็จริง แต่ก็แยกออกเป็น ๒ ประเภท ครูบาอาจารย์ที่อยู่ในห้องกัมมัฏฐานตลอดจนถึงคณะแม่ชีที่ประพฤติปฏิบัติเราก็หนักไปทางด้านวิปัสสนา คือต้องการที่จะปฏิบัติให้หมดกิเลส แต่สำหรับทางลูกพระลูกเณรที่นั่งฟังอยู่ในศาลา หรือพระที่มาบวชทีหลัง โยมที่มาบวชทีหลัง ก็หนักไปทางสมถะก่อน คือต้องการให้ได้สมาธิก่อน แล้วจึงค่อยยกขึ้นสู่วิปัสสนาในภายหลัง จึงไม่เหมือนกัน

ครูบาอาจารย์อาจคิดว่า เราปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน ไม่เห็นได้สมาธิ ไฉนหนอ สามเณรตัวเล็กๆ มาฟังธรรมเพียงวันละ ๒๕ นาที ๓๐ นาที ก็ได้สมาธิไป อันนี้ขึ้นอยู่กับหลักการ วิธีที่ประพฤติปฏิบัติ มันแยกกันอยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับระบบการควบคุม

เหมือนกับเขาส่งยานอวกาศไปสำรวจอวกาศ สำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคาร เป็นต้น เขาส่งยานไปสู่อวกาศ แต่สำหรับผู้ควบคุมอยู่ทางมนุษย์โลก อยู่ที่สถานีควบคุม อันนี้ก็เหมือนกัน หรือว่าการส่งคลื่นวิทยุก็ดี โทรทัศน์ก็ดี คลื่นมันมาที่นี้ แต่ผู้ควบคุมอยู่ที่สถานีส่ง แต่เสียงหรือภาพของมันกระจายไปทั่ว ตามกำลังส่งรัศมีของมัน ข้อนี้ฉันใด

เรื่อง สมถะ วิปัสสนา ก็เหมือนกัน ฉันนั้น อยู่ที่หลักการและวิธีการปฏิบัติ ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย เข้าใจตามนี้ด้วย

เอาละพอสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 66.0.3359.181 Chrome 66.0.3359.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #73 เมื่อ: 08 มิถุนายน 2561 16:01:50 »



รูป-นาม

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง รูปนาม มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบต่อไป

ในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมคือผู้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องสำเหนียกพิจารณาให้รู้แจ้งแทงตลอดในเรื่อง รูป เรื่อง นาม เพราะว่ารูปนามนั้นเป็นพื้นฐานรองรับในการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน

การเจริญวิปัสสนานี้มีรูปนามยืนให้วิปัสสนาดู มีรูปนามยืนให้วิปัสสนาพิสูจน์ ให้วิปัสสนาเห็น ให้วิปัสสนารู้ เหตุนั้น ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสำเหนียกว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม

อุปมาเหมือนกับวิทยุก็ดี เครื่องขยายเสียงก็ดี ตู้เย็นก็ดี พัดลมก็ดี เราต้องสำเหนียกว่าอะไรเป็นอะไร จะเปิดปิดสวิตช์ไฟที่ตรงไหน เราจะต้องเรียนให้รู้ให้เข้าใจจึงจะใช้เครื่องไฟฟ้าเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์เต็มที่

ตลอดถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่วิทยาการสมัยใหม่เจริญขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ นาฬิกาก็มีคอมพิวเตอร์ อะไรๆ ก็คอมพิวเตอร์ การคิดเลขเมื่อก่อนใช้ลูกคิด สมัยนี้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เราก็ต้องเรียนให้รู้ ถ้าเราเรียนรู้มากก็ได้ประโยชน์มากจากการใช้สิ่งต่างๆ เหล่านั้น รู้น้อยก็ได้ประโยชน์น้อย แต่ถ้าเราไม่รู้อะไรเสียเลยก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยในการที่มีสิ่งของทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น

เหตุนั้น เราทั้งหลายที่เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เรามีรูปมีนามด้วยกันทุกท่านทุกคน และเราทุกท่านทุกคนที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ก็ใช้รูปใช้นาม เพราะรูปนามนี้เป็นเครื่องมือของเรา รูปนามนี้เป็นเครื่องใช้ของเรา หรือพูดง่ายๆ ว่า รูปนามนี้เป็นผู้รับใช้ของเรา เป็นทาสของเรา ถือว่าเป็นผู้ที่ทำให้ความดำริของเราสำเร็จได้ตามความประสงค์ เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ต้องสำเหนียกทุกครั้ง

ถ้าเรารู้รูปนามมากก็ได้ประโยชน์มาก ถ้าเรารู้รูปนามน้อยก็ได้ประโยชน์น้อย ถ้าเราไม่รู้รูปนามเสียเลย ก็ไม่ได้อะไรจากการมีรูปมีนาม จากการใช้รูปใช้นาม นอกจากจะมิได้ประโยชน์อะไรแล้ว มิหนำซ้ำยังจะเป็นอันตรายต่อตัวเราเอง

สาเหตุที่ไม่รู้รูปรู้นาม บางครั้งก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำบาปทำกรรม ด้วยอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน ทำให้เราต้องไปตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน บางครั้งก็ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ นี้ก็อยู่ที่การรู้รูปรู้นาม หรือไม่รู้รูปรู้นามเป็นปัจจัย

การที่เราทั้งหลายกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ทุกวันนี้ เช่น กำหนดอาการขวาย่าง กำหนดอาการซ้ายย่าง กำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการถูกก็ดี ก็เพื่อจะให้ได้รู้รูปรู้นาม อะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม

ครั้งแรก เราก็จำเป็นที่จะต้องรู้รูปเสียก่อน เพราะว่ารูปนี้เป็นที่อาศัยของนาม ถ้าเราไม่รู้รูป ก็ไม่สามารถที่จะรู้นาม เมื่อเราไม่รู้นาม ก็ไม่สามารถที่จะรู้กิเลสที่นอนเนื่องในจิตในใจของเรา ว่ามันมีอะไรบ้าง ตัวไหนที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเราก็ไม่รู้

เหตุนั้น การรู้รูปก็เหมือนกันกับเห็นฝักดาบ การรู้นามก็เหมือนกันกับที่เราเห็นดาบที่ชักออกจากฝัก

รูปนามนี้อุปมาเหมือนกันกับเราสกัดน้ำมันงา ตามปกติเมล็ดงาที่เรามองด้วยตาเปล่า เราก็เห็นมันเป็นเมล็ดงาธรรมดาๆ แต่เมื่อเราใช้กรรมวิธีเอาเมล็ดงานั้นมาโขลกให้ละเอียดแล้วเราก็สกัดเอาน้ำมันงาออกมา ก็สามารถที่จะเห็นน้ำมันงา ข้อนี้ฉันใด

เมื่อเราเห็นรูปแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นนาม เมื่อเราเห็นนามแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตในใจของเรา เมื่อเห็นกิเลสแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สืบทอดกันไปตามลำดับ

และอีกอย่างหนึ่ง รูปนามนี้อุปมาเหมือนกันกับที่เราทำน้ำขุ่นให้ใส เช่น น้ำอยู่ในแก้วของเรา เรามองดูก็รู้ว่ามันใสเต็มที่แล้ว แต่ถ้าเราใช้กรรมวิธี โดยการเอาสารส้มลงไปแกว่งในน้ำ แล้ววางไว้สักครู่หนึ่ง เมื่อเราไปดูแล้วเราจะเห็นตะกอนมันนอนอยู่ที่ก้นแก้ว ข้อนี้ฉันใด รูปกับนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น

รูปนามนี้ ถ้าเรามองดูเผินๆ ก็จะเห็นแต่รูปอย่างเดียว แต่ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณา ด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว จะเห็นว่าที่ตรงนี้เป็นรูป ที่ตรงนี้เป็นนาม เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้เป็นตัวกิเลส เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ จะเห็นได้ทันที

อนึ่ง รูปนามนี้ไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา เป็นแต่ธรรมชาติที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมกันเข้า ผลสุดท้ายชาวโลกก็ให้สมัญญาเรียกว่า คน เป็นบุคคล เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา

อุปมาเหมือนกันกับต้นไม้ ถ้าเรามองดูผิวเผิน เราจะเห็นเป็นต้นไม้ทั้งต้น แต่ถ้าเรามาแยกต้นไม้นั้นออกไป เราจะเห็นว่าตรงนี้เป็นเปลือก ตรงนี้เป็นกระพี้ ตรงนี้เป็นแก่น ตรงนี้เป็นกิ่ง เป็นใบ เป็นดอก เป็นผล เมื่อเราแยกออกไปเช่นนี้ จะหาต้นไม้ที่ไหนไม่ได้ เพราะมันแยกกันคนละชิ้นละอัน ถ้าเราเอาไปทำอย่างอื่น เช่นว่า เอาไปทำบ้านทำเรือนอย่างนี้ คำว่าต้นไม้ก็ยิ่งหมดไป เราจะเห็นว่า อันนี้เป็นเสา เป็นคอสอง เป็นขื่อ เป็นจันทัน เป็นแป เป็นต้น ข้อนี้ฉันใด รูปกับนามก็เหมือนกันฉันนั้น

อุปมาหนึ่งเหมือนกันกับรถยนต์ที่เขาประกอบไปด้วยสัมภาระต่างๆ เมื่อประกอบไปแล้วก็ต้องให้สมบูรณ์แบบจึงจะให้ชื่อว่ารถยนต์ และก็จะมีพลังขึ้นมา สามารถที่จะขับเคลื่อนไปในที่ไหนๆ ได้ตามประสงค์ รูปนามของเราก็เหมือนกัน ถ้าแยกกันอยู่ก็ไม่มีพลัง แต่เพราะประกอบหรือคุมกันเข้าด้วยธาตุทั้ง ๔ ก็เกิดพลังขึ้นมา

พลังที่ว่านี้ก็คือ นาม นั่นเอง เมื่อมีนาม รูปก็มีพลังขึ้นมา เหมือนรถยนต์ที่ประกอบกัน ทีนี้ถ้าเราแยกรถยนต์ออกเป็นชิ้นส่วน คำว่า รถยนต์ ก็ไม่มี จะเห็นว่านี้เป็นล้อ เป็นเพลา เป็นคลัตช์ เป็นเครื่องยนต์ เป็นต้น รูปนามก็เหมือนกัน เมื่อแยกออกเป็นสัดเป็นส่วนแล้ว ก็จะเห็นเพียงว่า นี้เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

รูปนาม นี้ไม่ใช่อันเดียวกัน ถึงจะรวมกันอยู่หรืออาศัยกันอยู่ก็จริง ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน ถึงว่ารูปนามนี้ประกอบกันเข้าเป็นธาตุทั้ง ๔ แล้วเกิดพลังขึ้นมา พลังที่เกิดขึ้นมา เราจะเห็นว่า เป็นอันเดียวกันกับธาตุทั้ง ๔ ก็ไม่ได้ ธาตุทั้ง ๔ เราจะเห็นว่าเป็นอันเดียวกันกับพลังของธาตุทั้ง ๔ ก็ไม่ได้

รูปนาม นี้ อุปมาเหมือนกันกับดวงอาทิตย์ คือ รูป นั้นเหมือนกันกับดวงอาทิตย์ นาม อุปมาเหมือนแสงของดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ก็ไม่ใช่แสงสว่าง แสงสว่างก็ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ หรืออุปมาเหมือนกันกับพระจันทร์และแสงสว่างของพระจันทร์ พระจันทร์ไม่ใช่แสงสว่างของพระจันทร์ และแสงสว่างของพระจันทร์ก็ไม่ใช่พระจันทร์

อุปมาเหมือน ไฟฉายกับแสงสว่างของไฟฉาย ไฟฉายก็ไม่ใช่แสงสว่างของไฟฉาย แสงสว่างของไฟฉายก็ไม่ใช่ไฟฉาย หรืออุปมาเหมือนกันกับกลองและเสียงของกลอง กลองก็ไม่ใช่เสียงของกลอง เสียงของกลองก็ไม่ใช่กลอง แต่ก็ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น ข้อนี้ฉันใด รูปก็ไม่ใช่นาม นามก็ไม่ใช่รูป แต่ต้องอาศัยกัน

เหตุนั้น การกำหนดแต่ละครั้งๆ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องสำเหนียกอยู่ตลอดเวลา เช่น เวลายืน เวลาอยากกลับ เวลากลับ เวลาอยากเดิน เวลาเดิน เวลาอยากนั่ง เวลานั่ง เวลากำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการปวด อาการคิด กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กำหนดอาการคู้ เหยียด เวลากำหนดอาการก้มเงย เป็นต้น เราต้องสำเหนียกทุกครั้งว่า ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม ต้องรู้ต้องเข้าใจ

ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจว่าเรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องขี้ผง ของเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่านำมาบรรยาย ขออย่าได้เข้าใจเช่นนั้น เพราะว่าเรื่องรูปเรื่องนามนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยากเหลือเกิน

บางท่านเรียนจบนักธรรมชั้นเอก มาปฏิบัติอยู่ ๑๔–๑๕ วัน กำหนดอาการพองอาการยุบเป็นต้น แต่ไปถามแล้วไม่รู้ว่า ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม บางท่านก็เรียนจบอภิธรรม มหาอภิธรรมบัณฑิต เวลามาประพฤติปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ความรู้ประเภทนี้เราเรียนมาแล้วจนจบ ใช้เวลาตั้ง ๗-๘ ปี แต่เวลามาปฏิบัติ ถามว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม ตอบไม่ได้

แม้บางท่านจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก สำเร็จเป็นด๊อกเตอร์ มาบวชมาปฏิบัติอยู่ที่นี้ อะไรๆ ก็รู้กันหมด จนเป็นครูเป็นอาจารย์เขาได้ แต่เวลาถาม เช่นว่า เวลากำหนดอาการเย็นอาการร้อน ตรงไหนเป็นรูปตรงไหนเป็นนาม ตอบไม่ได้ หรือบางทีจบเปรียญ ๙ ประโยค นี้ไม่ใช่ของธรรมดา จบเปรียญ ๗ เปรียญ ๘ ก็เคยมาประพฤติปฏิบัติ แต่เมื่อถาม ไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม

บางทีมีฝรั่งมาปฏิบัติ จบปริญญาโท ปริญญาเอก ปริญญาตรี โท เอก นี้ไม่ใช่ของน้อย อย่างฝรั่งนี่ จบปริญญาเอก แต่ถามแล้ว ไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม จนนึกสงสัยว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้

คำถามสั้นๆ แต่มันชอบกล ไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม เกิดความสงสัยขึ้นมา มันเป็นอย่างนี้ ขออย่าได้เข้าใจว่าเรื่องที่บรรยายมานี้เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องขี้ผง เป็นเรื่องของเด็กๆ ที่จะพูดกัน ความจริงเป็นของรู้ได้ยาก เป็นของละเอียด

การรู้รูปนามเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเหตุไร เพราะว่าการรู้รูปรู้นามนี้ สามารถที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานของเราได้ ถ้ารู้มากก็ได้ประโยชน์มาก ถ้ารู้น้อยก็ได้ประโยชน์น้อย

รูปนามนี้ ต่างก็ไม่มีเดชไม่มีอำนาจในตัวเอง ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน อุปมาเหมือนกันกับ มัดไม้อ้อ ๒ มัดที่ค้ำยันกันไว้ ถ้ามัดหนึ่งล้ม อีกมัดหนึ่งก็ต้องล้ม ข้อนี้ก็เหมือนกัน ถ้ารูปดับ นามก็ต้องดับ ถ้านามดับ รูปก็ต้องดับ อยู่ต่อไปไม่ได้

อีกอย่างหนึ่ง เหมือนกันกับเจ้าบอดกับเจ้าง่อย วันหนึ่ง เจ้าบอดมีความประสงค์ที่จะไปบ้านหนึ่ง ซึ่งได้ยินเขาเล่าลือกันว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ จึงอยากไป แล้วก็ใช้ไม้เท้านำทางเดินไปบ่นไปว่า ข้าพเจ้าอยากไปบ้านโน้นจริง จะทำอย่างไรหนอจึงจะไปได้ ใครหนอจะเป็นผู้นำทาง บ่นไปเดินไป

บังเอิญในขณะนั้นก็ไปพบกับเจ้าง่อย เจ้าง่อยนี้เป็นคนง่อยมาแต่กำเนิด ไม่สามารถจะเดินได้ แต่ตาดี เจ้าบอดนี้ก็บอดมาแต่กำเนิด ไม่สามารถที่จะมองเห็นอะไรได้ แต่ว่าร่างกายแข็งแรงดี พอเจ้าง่อยได้ยินเจ้าบอดบ่นดังนั้นก็ดีใจทันที จึงตอบขึ้นว่า ข้าพเจ้าก็อยากไปบ้านนั้นเหมือนกัน แต่เพราะข้าพเจ้าเป็นคนง่อยมาแต่กำเนิด จึงไม่สามารถที่จะเดินได้ แต่ตาของข้าพเจ้าดีสามารถที่จะมองเห็นอะไรได้ทั้งหมด พอว่าเท่านั้นเจ้าบอดก็ดีใจ เข้าไปยกเจ้าง่อยขึ้นบนบ่า เดินไปตามมรรคา เพื่อที่จะไปสู่บ้านที่ทั้งสองประสงค์จะไป

ในขณะที่ไปนั้น เจ้าง่อยซึ่งอยู่บนบ่าเป็นตา บอกว่าที่นี้มันสูง ที่นี้มันต่ำ ที่นี้เป็นตมเป็นโคลน ที่นี้เป็นกรวด ที่นี้มีขวากมีหนาม ที่นี้มีหลักมีตอ เจ้าง่อยเป็นผู้บอกทาง เป็นตา ส่วนเจ้าบอดเป็นคนเดิน เป็นขา ผลสุดท้ายก็เดินไปถึงถิ่นฐานบ้านช่องที่ทั้งสองต้องการจะไป

รูปกับนามนี้ก็เหมือนกัน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่างก็ไม่มีเดช ไม่มีอำนาจ ต้องอาศัยกัน สมมติง่ายๆ เวลาอยากกินอย่างนี้ ใครเป็นผู้อยาก ใจเป็นผู้อยาก แต่กินไม่ได้ ต้องอาศัยรูปเป็นผู้นำมาให้กิน เป็นผู้กิน จึงจะได้ เวลาปวดอุจจาระปัสสาวะ ใครเป็นผู้ปวด ใจเป็นผู้ปวด แต่ว่าไปไม่ได้ ถึงจะปวดสักปานใดก็ตาม ก็ไปไม่ได้ต้องอาศัยรูปเป็นผู้พาไป จึงจะไปได้

เวลาท่านทั้งหลายอยากพ้นจากกิเลสตัณหา อยากพ้นจากความโลภ โกรธ หลง หรืออยากได้ฌานได้สมาบัติ อยากสำเร็จอริยมรรคอริยผล เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ใครเป็นผู้อยาก ใจเป็นผู้อยาก แต่เวลาทำความเพียรนั้นต้องอาศัยรูป ถ้ารูปไม่พาเดินจงกรมนั่งสมาธิแล้ว ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ เหตุนั้น รูปกับนามจึงต้องอาศัยกัน จึงจะสำเร็จประโยชน์ได้

รูปกับนามนี้ เวลาทำบุญทำกุศลต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เวลาทำบาปทำกรรมก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน มันเป็นอย่างนี้ เวลาทำบาปนี้ ใจเป็นผู้อยากทำบาป ใครเป็นผู้ทำ รูปเป็นผู้ทำ แต่เวลาตกนรก ใครเป็นผู้ตก ใจคือวิญญาณเป็นผู้ตกนรก

การรู้รูปรู้นาม นี้ มีประโยชน์อย่างไร

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การรู้รูปรู้นามนี้ ถ้าว่าเรารู้อย่างต่ำๆ ด้วยการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ว่าไม่สามารถที่จะบรรลุคุณวิเศษอะไร ไม่สามารถที่จะบรรลุสมาบัติ ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล เวลาตายมีรูปมีนามเป็นอารมณ์ กำหนดรูปกำหนดนาม ภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆๆ ตายไปด้วยกัน เราก็ไม่ไปสู่อบายภูมิมีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เรามีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ถ้าเรารู้รูปรู้นามสูงขึ้นไปหน่อย ก็เป็นจุลโสดาบัน เมื่อเป็นจุลโสดาบัน ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ๒-๓ ชาติ ตายแล้วไม่ไปสู่อบายภูมิ ถ้ารู้รูปนามขึ้นไปอีก ถึงขั้นมัชฌิมโสดาบัน ตายแล้วก็ไม่ไปอบายภูมิมากกว่านั้น มีสุคติโลกมนุษย์สวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ถ้าเรารู้รูปรู้นาม จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นอันว่าเราปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตัดกระแสวัฏสงสารลงไปจนนับไม่ถ้วน จะเกิดอีกอย่างมาก ๗ ชาติเท่านั้น แล้วจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ถ้าเรารู้รูปนามสูงขึ้นไปกว่านั้น ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี จะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ถ้าเรารู้รูปรู้นามสูงขึ้นไปกว่านั้นอีก จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เมื่อได้เป็นพระอนาคามีแล้ว ก็เป็นอันว่ากามภพนี้ตัดสิ้นแล้ว ไม่กลับมาสู่กามภพอีก ไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหม และจะได้บำเพ็ญวิปัสสนา บรรลุเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานในสุทธาวาสพรหมนั้น

ถ้าเรารู้รูปนามสูงขึ้นไปจนจบ พูดง่ายๆ ว่าเรียนจบ ถ้าเขามีขั้นปริญญา ก็จบปริญญาเอก ถ้าเรียนจบอภิธรรม ก็เรียกว่าอภิธรรมบัณฑิต แต่การเรียนรู้รูปรู้นามจนจบอภิธรรมบัณฑิตนั้นยังไม่ได้บรรลุ ต้องเรียนในด้านการเจริญวิปัสสนา เมื่อเรียนรู้รูปรู้นามจบด้วยภาวนาปัญญาอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

เมื่อใดสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นอันว่าเราสามารถตัดกงกรรมของวัฏสงสารได้แล้ว ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร และมรณกันดาร ถึงฝั่งฟากโน้นคือพระนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุขที่กล่าวแล้วนั้น เป็นประโยชน์ของการรู้รูปรู้นาม อีกอย่างหนึ่ง การรู้รูปรู้นามนี้ ถ้าว่าเรารู้อย่างต่ำ ก็สามารถที่จะปกครองตัวเองได้ใช้ตัวเองเป็น ปกครองตัวเองได้ใช้ตัวเองฟัง ไม่ปล่อยให้ไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา

เราทั้งหลายลองนึกดูว่า บางคน ทำไมถึงดื่มสุรายาเมา สูบฝิ่น กินกัญชา เสพผงขาว เฮโรอีน หรือชอบมัวเมาเล่นการพนัน คบมิตรชั่ว เป็นต้น เพราะเหตุไร เพราะว่าไม่รู้รูปรู้นาม หากว่ารู้รูปรู้นามดีแล้ว สามารถบอกตัวเองได้ ใช้ตัวเองฟัง บอกตัวเองได้ใช้ตัวเองเป็น ไม่ตกเป็นทาสกิเลสตัณหา มานะ ทิฏฐิ สามารถลดความเห็นแก่ตัวลงได้

แต่สำหรับผู้รู้รูปรู้นามไม่ชัด คือรู้อยู่ แต่ไม่ชัด จะมีความเห็นแก่ตัวมาก หลงยึดมั่นถือมั่นว่ารูปนี้เป็นอัตตะ เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา ใครจะมาแตะต้องไม่ได้ บางทีมองหน้ากันหน่อยก็ไม่ได้ ถึงกับฆ่ากันยิงกันตาย บางทีถูกเหยียบเท้าหน่อย ก็ว่าทำไมมึงมาเหยียบเท้ากู เท่านั้นแหละ ฆ่ากันตายแล้ว

เวลาทำกัมมัฏฐานก็เหมือนกัน ผู้ที่รูปนามไม่ชัด พอเจ็บนั่นปวดนี่ขึ้นมา ก็จะนึกว่า ทำไมหนอวันนี้เราจึงปวดเหลือเกิน เราจึงเมื่อยเหลือเกิน เราช่างไม่สบายเหลือเกิน คำว่า เราๆ นี้ มันจะโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยไม่มีความกระดากละอายในจิตในใจของตัวเอง แต่สำหรับผู้ที่รูปนามชัดแล้วจะไม่คิดอย่างนี้ จะไม่พูดอย่างนี้ เพียงแต่คิดว่า ทำไมหนอ วันนี้เราจึงปวด จึงเมื่อยเหลือเกิน เพียงคิดแค่นี้ก็จะเกิดความสลดสังเวชในจิตในใจขึ้นมาว่า ไม่น่าจะคิดอย่างนี้เลย เพราะคำว่า เรา ว่า เขา นี้ มันไม่มี มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น

ตัวอย่างพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งลาราชการมาบวชปี ๒๕๑๕ เวลาประพฤติปฏิบัติ รูปนามของแกชัดดี จะเดินไปทางไหนแกจะบ่นว่า คนนี้มันไม่มี มันมีแต่รูปแต่นามเท่านั้น ผลสุดท้ายไปหาหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ คำว่า คน นี้ไม่มี เขาเรียกว่า คน แต่ประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเขมรเท่านั้น สำหรับประเทศอื่นเขาไม่เรียกคน ผมออกไปนี้ผมจะไปพิมพ์หนังสือตีแผ่ทั่วโลก ให้ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปนามนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเรานั้น ให้รู้ว่าคนนั้นไม่มี มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น

หลวงพ่อก็ได้แต่คิดว่า พระรูปนี้รูปนามชัดเจนดี นี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นแล้วว่า ผู้รู้รูปนามชัดแล้วจะไม่เห็นแก่ตัว สามารถละทิฏฐิมานะลงได้ ทำให้สามารถรักษาจิตของตนให้เป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้กิเลส เหตุนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจ

ความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ที่ได้รับอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นธรรมดาอยู่เอง ในการเจริญพระกัมมัฏฐานต้องมีการเจ็บที่นั้นปวดที่นี้บ้าง บางทีเกิดความหวิวหวาม ตกใจง่าย บางทีมีอาการเบื่อ บางทีมีอาการกลุ้มใจ จิตฟุ้งซ่าน คิดมาก ท่านทั้งหลายก็จะคิดว่า ทำกัมมัฏฐานนี้เป็นทุกข์เหลือทน เราหลงมาปฏิบัติตั้งแต่เมื่อไรหนอ ถ้าคิดอย่างนี้ขึ้นมา ขอให้ท่านทั้งหลายคิดว่า ความทุกข์ที่เราได้รับอยู่นี้เป็นทุกข์ก็จริง แต่เป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น สมมติว่าเราเดินเป็นทุกข์ มันเจ็บ มันปวด เราไปนั่งก็หาย หรือขณะที่นั่งมันเจ็บมันปวด เราออกไปเดินมันก็หาย

ทุกข์นี้เป็นทุกข์นิดหน่อยเท่านั้น หากว่าเราไปตกในอบายภูมิ ไปเกิดในนรก ยิ่งจะมีความทุกข์มากกว่านี้เป็นหลายๆ พันล้านเท่า หากว่าไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ก็ได้รับความลำบาก ไม่มีอาหารสำหรับที่จะบริโภค ไม่มีเครื่องนุ่งห่มเฉพาะตัว ต้องถูกทรมานด้วยอำนาจกรรมจนกว่าจะสิ้นกรรมหมดเวร ถ้าไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยิ่งร้ายกว่าปัจจุบันนี้ เพราะสัตว์เดรัจฉานไม่มีอิสระเฉพาะตัว ไม่มีโอกาสที่จะสั่งสมอบรมคุณงามความดี

นี่เป็นโชคดีแล้วหนอ ที่เราได้มีโอกาสเข้ามาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เราเชื่อมั่นได้ว่า ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ จะมีสุคติโลกมนุษย์สวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า หากเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ก็จะมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นสัมมาทิฏฐิ จะได้เข้าหานักปราชญ์อาจารย์ บางทีจะได้พบพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรมปฏิบัติธรรม และจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลในโอกาสข้างหน้า

ขอให้เราใช้ปัญญาเตือนสติตนอย่างนี้ตลอดเวลา เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนจิตใจให้ดำเนินไปสู่ปฏิปทาคือหนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความพ้นทุกข์ ให้ท่านทั้งหลายได้ระลึกสำเหนียกอยู่เสมอว่า เราหลั่งน้ำตาในเวลาหนุ่ม จะได้ไม่กลุ้มใจเมื่อแก่

เรามีความทนทุกข์ทรมานเมื่อหนุ่ม แต่จะยิ้มได้เมื่อแก่ ขณะนี้เราทนทุกข์ทรมานในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน แต่ผลสุดท้ายเราจะยิ้มได้ เราจะได้ความมั่นใจ ได้ใบประกันชีวิต ว่าเราจุติจากอัตตภาพนี้แล้วจะไม่บังเกิดในอบายภูมิ

สรุปแล้วว่า การไม่รู้จักรูปจักนามนี้ เป็นเหตุให้คนเราประพฤติชั่วช้านานาประการ คนที่หลงสิ่งเสพติด เข้าคลับเข้าบาร์ ฆ่ากัน ยิงกัน ฆ่าตัวตาย เป็นต้น ก็เพราะไม่รู้จักรูปนาม ไม่รู้จักถือเอาประโยชน์จากรูปนามนี้มาใช้ เหมือนกับเรารู้ว่า ยานี้กินเข้าไปแล้วเราจะหายจากโรคที่เป็นอยู่ แต่เราไม่กินก็ไม่ได้ประโยชน์จากยา

เมื่อท่านทั้งหลายรู้แล้วว่า รูปนามนี้เป็นบ่อเกิดแห่งบุญกุศลทั้งหลาย ส่วนที่เป็นบ่อเกิดของบาปจะไม่พูดถึง กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล ตลอดถึงโลกุตตรกุศล ก็เกิดจากรูปนามนี้ อาศัยถือเอาประโยชน์จากการมีรูปมีนามนี้

ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย ที่มีโอกาสมาบวชมาปฏิบัติในครั้งนี้ จงถือเอาประโยชน์จากการมีรูปมีนามให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตั้งแต่ประโยชน์อย่างต่ำสุด จนถึงประโยชน์อย่างสูงสุดตามที่กล่าวมาแล้ว

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมเอาธรรมะเรื่อง รูปนาม นี้ มาบรรยาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 66.0.3359.181 Chrome 66.0.3359.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #74 เมื่อ: 11 มิถุนายน 2561 11:36:36 »




ขันธ์ 5

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ขันธ์ ๕ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย

คือร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรา ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้านี้ เมื่อรวมลงแล้วเรียกว่า ขันธ์ ๕

ที่ได้ชื่อว่า ขันธ์ ๕ นั้น เพราะเป็นกอง ประชุมด้วยปรากฏการณ์ ๑๑ อย่าง คือ

เป็นสภาพที่มีแล้วในอดีต ๑

เป็นสภาพที่จะเป็นไปในอนาคต ๑

เป็นสภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ๑

เป็นสภาพที่มีอยู่ภายใน ๑

เป็นสภาพที่มีอยู่ภายนอก ๑

เป็นสภาพที่หยาบ ๑

เป็นสภาพที่ละเอียด ๑

เป็นสภาพที่เลว ๑

เป็นสภาพที่ประณีต ๑

เป็นสภาพที่ไกล ๑

เป็นสภาพที่ใกล้ ๑

รวมเป็นสภาพที่ปรากฏได้ใน ๑๑ ประการ เรียกว่า ขันธ์ ได้แก่ เบญจขันธ์ มีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. รูปขันธ์ กองรูป มีหน้าที่แตกดับ

๒. เวทนาขันธ์ กองเวทนา มีหน้าที่เสวยอารมณ์รูปนามที่แตกดับ

๓. สัญญาขันธ์ กองสัญญา มีหน้าที่จำรูปนามที่แตกดับ

๔. สังขารขันธ์ กองสังขาร มีหน้าที่ปรุงแต่งรูปนามที่แตกดับ

๕. วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ มีหน้าที่รู้รูปนามที่แตกดับ

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน ได้แก่พระปรมัตถธรรมนั่นเอง อุปมาเหมือนป่าไม้ เมื่ออยู่ในป่าเรียกว่าต้นไม้ เมื่อนำมาใช้ทำบ้านเรือน เรียกว่าเสาบ้าง เรียกว่าพื้นบ้าง เป็นต้น ข้อนี้ฉันใด แม้ขันธ์ ๕ ก็เอาปรมัตถ์ทั้ง ๓ ประการ เว้นพระนิพพาน มาเป็นฉันนั้นเหมือนกัน

คำว่า ปรมัตถธรรม ทั้ง ๓ ประการ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑

สงเคราะห์พระปรมัตถธรรม ๓ ลงในขันธ์ ๕ ดังนี้

รูปขันธ์ คือรูป ๒๘ เวทนาขันธ์ คือเวทนาเจตสิก ๑ ดวง สัญญาขันธ์ คือสัญญาเจตสิก ๑ ดวง สังขารขันธ์ คือเจตสิกที่เหลือ ๕๐ ดวง วิญญาณขันธ์ คือจิต ๘๙ ดวง หรือกล่าวโดยพิสดารมี ๑๒๑ ดวง

ส่วนคำที่ว่า เว้นพระนิพพาน นั้น หมายความว่า พระนิพพานนั้น ไม่นับเข้าในขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง เรียกว่า ขันธวิมุตติ คือพ้นจากขันธ์ ๕ ถ้ายังมีขันธ์ ๕ อยู่ก็ยังเป็นพระนิพพานไม่ได้

ขันธ์ ๕ นี้ คือ รูปนาม นั่นเอง มีการสงเคราะห์ดังนี้

รูปขันธ์ จัดเป็นรูปธรรม

เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ทั้ง ๓ นี้ คือ นามเจตสิก วิญญาณขันธ์ คือนามจิต รวมนามเจตสิกกับนามจิตเข้าด้วยกัน จัดเป็นนามธรรม

ขันธ์ ๕ นี้จึงได้แก่ รูปธรรมกับนามธรรม

เรากำหนดอาการพองอาการยุบ อาการขวาย่างซ้ายย่าง แต่ละครั้งๆ นั้นก็ถูกขันธ์ ๕ หมดทุกขันธ์

รูปขันธ์ นั้นเป็นรูปที่ประกอบไปด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือประกอบไปด้วยธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม อันเป็นที่อาศัยของนามขันธ์ทั้ง ๔ มีเวทนาขันธ์เป็นต้น

เวทนาขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่ด้านรับอารมณ์ทั้งที่ดีที่ชั่ว คือทำหน้าที่รับอารมณ์ และก็เสวยอารมณ์นั้นๆ

สำหรับ สัญญาขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่จำอารมณ์ คือ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสัมผัส เป็นต้น

สังขารขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่คิดอารมณ์ทั้งที่ดีที่ชั่ว

วิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์

ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๕ นี้ รูปขันธ์เป็นที่อาศัยของนามขันธ์ทั้ง ๔ สำหรับเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เป็นทางที่จิตมาสู่อารมณ์ คือว่าเป็นวิญญาณของจิต แต่ว่าไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับจิต

ขอให้ท่านทั้งหลายคิดให้ซึ้งๆ คือ เวทนา การรับอารมณ์เสวยอารมณ์ก็ดี สัญญา การจำอารมณ์ก็ดี สังขาร คือสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้คิดดีคิดชั่วก็ดี วิญญาณ คือสภาวธรรมที่รู้อารมณ์ที่เกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดี นั่นเป็นอาการของจิต แต่ไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับจิต

คือวิญญาณขันธ์ ๕ นั้น เราคิดอย่างหนึ่ง คล้ายๆ กับว่าเป็นอันเดียวกัน แต่เป็นคนละอัน วิญญาณขันธ์ ๕ นั้น เป็นอาการของจิต ส่วนจิตนั้นเป็นวิญญาณธาตุ คือเป็นธาตุรู้ แต่ว่าไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับวิญญาณขันธ์

อุปมาเหมือนกันกับพระจันทร์และแสงสว่างของพระจันทร์ พระจันทร์อุปมาเหมือนกับวิญญาณธาตุ แสงสว่างของพระจันทร์อุปมาเหมือนกับวิญญาณขันธ์

อุปมาเหมือนกันกับพระอาทิตย์กับแสงของพระอาทิตย์ พระอาทิตย์อุปมาเหมือนกับวิญญาณธาตุ แสงสว่างของพระอาทิตย์อุปมาเหมือนกับวิญญาณขันธ์

อุปมาเหมือนกันกับ ไฟฉายและแสงสว่างของไฟฉาย ไฟฉายอุปมาเหมือนกับวิญญาณธาตุ แสงสว่างของไฟฉายอุปมาเหมือนกับวิญญาณขันธ์

มันเป็นคนละอัน คือ แสงสว่างของพระจันทร์ก็ดี พระอาทิตย์ก็ดี ไฟฉายก็ดี ก็ไม่ใช่ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือกระบอกไฟฉาย ส่วนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และกระบอกไฟฉาย ก็ไม่ใช่แสงสว่างของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือกระบอกไฟฉายเหล่านั้น

อุปมาเหมือนกันกับกลองและเสียงของกลอง เสียงกลองก็ไม่ใช่อันเดียวกันกับกลอง กลองก็คนละอันกันกับเสียงกลอง ข้อนี้ฉันใด เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณขันธ์ ก็มิใช่อันเดียวกันกับ วิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุ ก็ไม่ใช่อันเดียวกันกับ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์ เป็นคนละอัน

เราจะสังเกตง่าย ๆ เวลานอน ว่าเป็นอันเดียวกันหรือคนละอัน เวลานอนหลับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์นั้นดับไปหมด แต่ จิต คือ วิญญาณธาตุ นั้นไม่ดับ มีอาการเกิดดับๆ อยู่ในห้วงแห่งภวังค์

เวลาถูกยาสลบ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์นั้นไม่เกิด มันดับไปหมด แต่จิตของเรายังไม่ดับขณะนั้น คือยังไม่ตาย ก็เพราะเหตุไรจึงไม่รู้ เพราะว่าจิตไม่ออกไปทำงาน (เมื่อจิตไม่ออกไปทำงาน) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์ จึงไม่มี เมื่อไรที่จิตออกไปทำงานแล้ว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์ จึงมี

ทีนี้ เวลาตาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์เหล่านั้นดับหมด ไม่มีเหลือ แต่จิตคือวิญญาณธาตุนี้ หากว่ายังมีกิเลสอยู่ก็ไม่ดับ ต้องไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ตามกำลังของบุญบาปที่ทำไว้

เช่นว่า ถ้ามีความโกรธมากก็ไปตกนรก มีความโลภมากก็ไปเกิดเป็นเปรต ถ้ามีความหลงมากก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้ามีมนุษยธรรมมากก็มาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าบำเพ็ญกามาวจรไว้มากก็ไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา ถ้าบำเพ็ญรูปาวจรกุศลไว้มากก็ไปเกิดในรูปพรหม ถ้าบำเพ็ญอรูปาวจรกุศลไว้มากก็ไปเกิดในอรูปพรหม

หมายความว่า ถ้ากิเลสยังไม่ดับ ก็ยังจะไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่อยู่ แต่ถ้าหากว่ากิเลสดับหมดแล้ว ตัว วิญญาณธาตุ นี้ก็ถึงความบริสุทธิ์ เราเรียกความบริสุทธิ์นี้ว่า พระนิพพาน

เมื่อใด เราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จิตของเราบริสุทธิ์สะอาดหมดจดจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ไม่มีเหลืออยู่ในขันธสันดานอีกเลย เราเรียกผู้นั้นว่า ถึงพระนิพพานแล้ว

ขันธ์ ๕ นี้ ท่านจัดเป็น มาร ประการหนึ่ง เพราะเป็นสภาพผู้ทำลายล้าง เป็นผู้ทำให้เกิดความลำบากอยู่หลายประการ เช่น พวกเราทั้งหลายที่มีความลำบากลำบน ทนทุกข์ทรมาน เจ็บโน้นปวดนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพราะว่ามีขันธ์ ๕ เพราะขันธ์ ๕ เป็นเหตุ จึงมีการเจ็บไข้ได้ป่วย เหตุนั้นขันธ์ ๕ ท่านจึงว่าเป็นมารประการหนึ่ง เรียกว่า ขันธมาร

อีกอย่างหนึ่ง ขันธ์ ๕ นี้ชื่อว่า เป็นผู้ฆ่า ฆ่าโดยไม่มีความรู้สึกตัวโดยไม่มีความสงสัย อุปมาเหมือนบุรุษคนหนึ่ง เขามีความประสงค์จะฆ่าคฤหบดีผู้มั่งคั่ง (มีกล่าวไว้ในเรื่อง มาร ๕ ประการ) เพราะเหตุนั้น ขันธ์ ๕ นี้จึงชื่อว่า เป็นผู้ฆ่าโดยไม่รู้สึกตัว โดยที่ไม่มีความสงสัยแต่ประการใด

ทีนี้ ขันธ์ ๕ ในแนวปฏิบัติคือ ในขณะที่เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานนี้ ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นพร้อมกันหมดทุกขันธ์

สมมติว่า ในขณะที่ตาเห็นรูปนั้น รูปขันธ์เกิดแล้ว ในขณะที่เห็น มีความสุขความทุกข์ไหม ถ้ามีความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี เวทนาขันธ์เกิดแล้ว อาการที่จำรูปที่เห็นนั้นได้ว่าเป็นรูปอะไร เกิดขึ้นจากไหน สัญญาขันธ์เกิดแล้ว ในขณะที่เห็นรูปนั้น มีความชอบใจก็ดี ไม่ชอบใจก็ดี สังขารขันธ์เกิดแล้ว การที่รู้ว่ารูปนี้เกิดขึ้นได้เพราะอะไร เป็นรูปของอะไร มาจากไหน วิญญาณขันธ์เกิดแล้ว

ในขณะที่หูฟังเสียงก็เหมือนกัน สมมติว่าท่านทั้งหลายฟังการบรรยายธรรมของหลวงพ่ออยู่ในขณะนี้ ขณะที่ได้ยินเสียงนั้น รูปขันธ์เกิดพร้อมแล้ว ขณะที่ได้ยินนั้น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนาขันธ์เกิดแล้ว อาการที่จำได้ว่าเป็นเสียงของใคร สัญญาขันธ์เกิดแล้ว เมื่อได้ยินเสียงแล้วชอบใจก็ดี ไม่ชอบใจก็ดี เฉยๆ ก็ดี สังขารขันธ์เกิดแล้ว การที่รู้ว่าเสียงนี้มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นเสียงของใคร วิญญาณขันธ์เกิดขึ้นแล้ว

ในขณะที่จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ก็เหมือนกัน ขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้เกิดขึ้นพร้อมกันเลย

แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ขันธ์ ๕ นี้จะเกิดพร้อมกันได้ก็ต่อเมื่อเรามีสติกำหนด ถ้าเราไม่มีสติกำหนด ขันธ์ ๕ นี้ก็ไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน

เมื่อใดเราพยายามทำขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้ให้เกิดขึ้นพร้อมกันทุกขณะๆ ไม่ว่าจะเป็น ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ก็ตาม เมื่อนั้น การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราก็สามารถที่จะดำเนินไปตามปฏิปทาที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

ที่กล่าวไปแล้ว เป็นการเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ในแนวปฏิบัติ คือเป็นขันธ์ ๕ ในแนวปฏิบัติ ทีนี้เราจะปฏิบัติอย่างไรในการกำหนดขันธ์ ๕ นั้น เพราะว่า ขันธ์ ๕ นั้นเป็นภูมิธรรมที่เป็นพื้นฐาน หรือเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน การปฏิบัติวิปัสสนานี้ ถ้าว่าเราไม่กำหนดขันธ์ ๕ หรือไม่มีขันธ์ ๕ เป็นพื้นฐานเป็นภูมิธรรม เราก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ผ่านพ้นไปได้

การปฏิบัติในขันธ์ ๕ เราแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูง มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

วิธีปฏิบัติขั้นต้น ก็ได้แก่ การใช้สติกำหนดขันธ์ ๕ ให้ทันปัจจุบันธรรม คือเมื่อลงมือกำหนดขันธ์ ๕ ทันปัจจุบัน จนใจเป็นสมาธิดี ไม่เผลอ หรือเผลอน้อยแต่กำหนดให้ได้มาก ถ้ากำหนดได้อย่างที่กล่าวมานี้แล้ว พยายามสังเกตดังนี้ว่า

๑. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนสั้น อันไหนยาว

๒. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนปรากฏชัด อันไหนไม่ชัด

๓. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนหยาบ อันไหนละเอียด

๔. อาการพองกับอาการยุบ อันเดียวกันหรือคนละอัน

๕. อาการพองกับอาการยุบ ต่างกันหรือเหมือนกัน ต่างกันตรงไหน เหมือนกันตรงไหน

๖. อาการพองขึ้นครั้งหนึ่ง มีกี่ระยะ ท้องยุบลงไปครั้งหนึ่ง มีกี่ระยะ พยายามจำให้ได้ สังเกตให้ได้ นี้เป็นการปฏิบัติขั้นต้น

วิธีปฏิบัติขั้นกลาง เมื่อผู้ปฏิบัติสังเกต ๖ ข้อนั้นได้ดีแล้ว ให้สังเกตให้ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไปกว่านั้นอีก ดังนี้

๑. อาการพองกับอาการยุบ เร็วเข้าหรือถี่เข้า มีไหม

๒. อาการพองกับอาการยุบ แผ่วเบา เหลือนิดๆ สม่ำเสมอกันดี มีไหม

๓. อาการพองกับอาการยุบ รู้สึกว่าแน่นๆ หรืออึดอัด หรือหายใจฝืดๆ เหมือนใจจะขาด มีไหม

เมื่ออาการทั้ง ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งมีแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาดูอาการที่เกิดอย่างนั้นต่อไป จนกว่าจะขาดหรือดับวูบลงไป เมื่ออาการอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว อาจมีบ่อยๆ คือนั่งประมาณ ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง อาจมี ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๕ ครั้ง เบาบ้าง แรงบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสมาธิ โดยมากมักจะมีอาการผงะไปข้างหลังหรือข้างๆ หรือบางครั้งอาจจะสัปหงกลงไปข้างหน้าก็ได้ นี้เป็นวิธีปฏิบัติขั้นกลาง

วิธีปฏิบัติขั้นสูง ขั้นละเอียด คือเมื่อนักปฏิบัติผ่านขั้นต้นขั้นกลางมาแล้ว พยายามสังเกตให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อพิสูจน์ว่า ก่อนรูปนามจะขาดหรือดับวูบไปนั้น อาการพองกับอาการยุบมีลักษณะเป็นอย่างไร เร็วหรือช้า เบาหรือสม่ำเสมอดี หรือมีอาการแน่นอึดอัด หายใจฝืดเหมือนใจจะขาด และเวลาที่ขาดหรือดับไปนั้น ขาดหรือดับไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือท้องยุบ ดังนี้เป็นต้น

ต้องจับให้ทันปัจจุบันจริงๆ ให้ได้จริงๆ ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง จับได้เพียงครั้งเดียวก็ยังดีกว่าจับไม่ได้เสียเลย ข้อสำคัญในการปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ตรงนี้ เมื่อทันปัจจุบันแล้ว หรือจับทันแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ประโยชน์ที่จะได้นั้นท่านกล่าวว่า อเนกสหัสสานิ มีอานิสงส์ตั้งหลายพัน นับไม่ถ้วน

ข้อนี้ท่านผู้ปฏิบัติได้ผลจริงแล้วจะรู้เห็นได้เองโดยไม่ต้องสงสัยเลยแม้แต่น้อย กิเลสตัณหาของผู้นั้นจะลดลงเอง ความโลภ โกรธ หลง ก็รู้สึกว่าเบาบางลงไปตามลำดับๆ โปรดพิจารณาพิสูจน์ด้วยตัวของท่านเองแล้วก็จะรู้

ทั้งหมดนี้เป็นหลักปฏิบัติง่ายๆ ในขันธ์ ๕ ฉะนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พยายาม ใช้สติ กำหนดให้ทันปัจจุบันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ไม่ใช่ว่าเราจะกำหนด พองหนอ ยุบหนอๆ หรือ พุทโธๆ ไปเฉยๆ เราต้องสำเหนียกรู้อาการพองอาการยุบให้ดีให้ละเอียด ตามวิธีปฏิบัติทั้ง ๓ ขั้นที่ได้บรรยายให้ฟังไปแล้วนั้น เมื่อทำได้ดังนั้น จะถือได้ว่าปฏิบัติถูกต้อง

เอาละ เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ขันธ์ ๕ มาบรรยายแด่ท่านทั้งหลายนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 67.0.3396.87 Chrome 67.0.3396.87


ดูรายละเอียด
« ตอบ #75 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2561 13:46:21 »




อายตนะ ๑๒

วันนี้ จะได้นำเอาเรื่อง อายตนะ ๑๒ มาบรรยายเพื่อประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า อายตนะ หมายถึง ความสัมพันธ์

การเรียนเรื่อง อายตนะ นี้ ก็คือการเรียนรู้เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับโลกภายนอก ซึ่งจะสัมพันธ์กันได้ ก็ต้องอาศัยอายตนะ

อายตนะ นี้เป็น เครื่องตัด เครื่องต่อ เครื่องเชื่อม เครื่องโยง ระหว่างตัวเรากับโลกภายนอก ไม่เหมือนกันกับขันธ์ ๕ คือขันธ์ ๕ นั้น เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งอยู่ภายในตัวของเราเอง

ท่านทั้งหลายอาจไม่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องอายตนะ เพราะใครๆ ก็มีอายตนะด้วยกันทั้งนั้น คือทุกท่านทุกคนมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยกันทุกคน จึงอาจเห็นว่าไม่สำคัญ แต่ถ้าเรามองเข้าลึกๆ แล้ว จะเห็นว่าการเรียนรู้เรื่องอายตนะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

เรามองดูวัตถุภายนอกจากตัวของเราไป เช่น วัตถุทางวิทยาศาสตร์แต่ละชิ้นละอันที่เขาทำขึ้นมา เขาต้องมี เครื่องตัด เครื่องต่อ เครื่องเชื่อม เครื่องโยง ระหว่างกันไว้ ตัวอย่างไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ต้องมี ที่ตัด ที่ต่อ ที่เชื่อมที่โยงระหว่างไฟฟ้าภายในบ้านกับนอกบ้านไว้ ซึ่งเรียกว่า คัทเอาท์

ถ้าต้องการที่จะตัดไฟภายนอกไม่ให้เข้ามาภายในบ้านก็ยกคัทเอาท์ลงเสีย ไฟก็เข้าในบ้านของเราไม่ได้ ถ้าต้องการให้ไฟเข้าก็ยกคัทเอาท์ขึ้น ไฟก็เข้ามา เราต้องการใช้ประโยชน์อะไร ก็ใช้ได้ ถ้าหากไม่มีคัทเอาท์นี้ หรือใช้คัทเอาท์ไม่เป็น บางทีไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นมา หรือไฟช็อตขึ้นมาในบ้านของเรา ทำให้เป็นอันตราย ต้องเสียเงิน เสียทอง เสียทรัพย์สิน บางทีก็ต้องเสียชีวิต ข้อนี้ฉันใด การเรียนรู้เรื่องเครื่องตัด ต่อ เชื่อม โยง คือ อายตนะ นี้ ก็ฉันนั้น

สำหรับอย่างอื่น เช่น รถยนต์อย่างนี้ เขาก็ต้องมีเครื่องตัด เครื่องต่อ ถ้าต้องการให้รถยนต์วิ่งไป เมื่อติดเครื่องแล้ว ก็ต้องปล่อยคลัตช์ ให้เครื่องยนต์นั้นเชื่อมกับเครื่องภายนอก เมื่อต่อกันได้แล้ว รถก็สามารถวิ่งได้ ถ้าว่าต้องการที่จะตัดเครื่องยนต์ภายในออก ไม่ให้เชื่อมกับภายนอก ไม่ต้องการที่จะให้รถวิ่งต่อไป ก็ต้องเหยียบคลัตช์ลงไป เครื่องยนต์ภายในก็จะตัด ไม่เชื่อมกับเพลา รถก็วิ่งไม่ได้ เครื่องยนต์มันทำงานอยู่ก็จริง แต่เราตัดไม่ให้ต่อกันแล้วมันก็วิ่งไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

ระหว่างอายตนะภายในของเรากับโลกภายนอก ก็เหมือนกัน หรือผู้ที่ใช้ วิทยุก็ดี ทีวีก็ดี เขาทำวิทยุ ทำทีวีขึ้นมาแล้ว เขาต้องมีที่ตัดที่ต่อ ถ้าต้องการที่จะฟังวิทยุหรือดูทีวี เราต้องเปิดสวิตช์ไฟขึ้น เมื่อเปิดแล้ว จึงจะได้หมุนหาคลื่นให้ตรงกับไซเกิ้ลของสถานีส่ง หรือกดทีวีให้ตรงช่องที่เขาส่งมา เราอยากดูช่องไหนก็เปิดช่องนั้น เมื่อเครื่องภายในกับภายนอกเชื่อมกันอย่างนี้แล้ว เราก็สามารถฟังวิทยุหรือดูทีวีได้ แต่ถ้าเราไม่ต้องการที่จะฟังหรือไม่ต้องการที่จะดูจะชม เราก็ปิดสวิตช์เครื่องวิทยุเครื่องทีวีนั้น เครื่องจะไม่เชื่อมไม่ต่อกัน เราก็ฟังไม่ได้ดูไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

ตัวของเรานี้ ก็เหมือนกัน เป็นสรีระยนต์อันหนึ่ง ซึ่งธรรมชาติสร้างมาให้สมบูรณ์แบบแล้ว ถ้าหากว่าเราต้องการที่จะดูจะชม เราก็สามารถที่จะดูหรือจะชมได้ สมมติว่าเราต้องการดู เราก็เปิดสวิตช์ คือเราเปิดสวิตช์ตา ก็สามารถที่จะดูจะชมได้ คือถ้าจะดู เราก็มีตาให้ดู เวลาเราดูนั่นแหละ ตาของเราเชื่อมกับโลกภายนอกแล้ว

ถ้าต้องการฟังเสียง เราก็ใช้หู เปิดหูขึ้นมา เสียงก็มากระทบกับหู ก็สามารถที่จะฟังได้ ถ้าเราอยากจะดมกลิ่น เราก็มีจมูกไว้พร้อมแล้ว สำหรับเป็นเครื่องต่อเครื่องโยงกับอายตนะภายนอกคือกลิ่น หรือถ้าอยากลิ้มรสก็มีลิ้นไว้พร้อมแล้ว อยากถูกต้องสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็มีกายไว้สำหรับเป็นเครื่องต่อเครื่องโยงกับอายตนะภายนอก

คนที่มีเครื่องต่อ คือ อายตนะ แต่ว่าไม่รู้จักใช้อายตนะ หรือไม่รู้จักปกครอง ย่อมเป็นอันตราย เหมือนกับคนที่ใช้ไฟฟ้าไม่รู้จักที่ตัดที่ต่อ ใช้รถยนต์ไม่รู้จักที่ตัดที่ต่อ ไม่รู้จักเบรกรู้จักคลัตช์ คนที่ใช้วิทยุใช้ทีวี ไม่รู้จักที่ตัดที่ต่อ อย่างนี้ ย่อมได้รับความเดือดร้อน ข้อนี้ฉันใด เราผู้มี อายตนะแต่ใช้อายตนะไม่เป็น ย่อมเป็นอันตราย

บางที หากว่าขาดสติสัมปัญญะ ปล่อยให้อายตนะของเรานี้เชื่อมกับอายตนะภายนอก ทำให้บางทีเกิดความโกรธขึ้นมา บางทีเกิดความโลภขึ้นมา บางทีทำให้ความหลงเกิดขึ้นมา ทำให้เกิดราคะความกำหนัดในเพศตรงข้ามขึ้นมา บางทีทำให้เกิดตัณหาความทะยานอยากอย่างแรงกล้า บางทีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน เพราะว่าใช้ไม่เป็นอย่างนี้ก็เป็นอันตราย คนที่ฆ่ากัน เอารัดเอาเปรียบกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะอะไร เพราะใช้อายตนะไม่เป็น ไม่รู้วิธีใช้ อายตนะ

อายตนะ นี้เป็นสะพาน เครื่องเชื่อม เครื่องโยง เครื่องต่อ ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ กัน มีอยู่ ๑๒ ประการ และอายตนะนี้เป็นภูมิพื้นวิปัสสนาญาณ แห่งการรู้แจ้งเห็นจริง เช่นเดียวกันกับขันธ์ ๕ และอายตนะทั้ง ๑๒ นี้ หาใช่อื่นไกลไม่ ได้แก่ ปรมัตถธรรม นั่นเอง ซึ่งจะแสดงดังต่อไปนี้

             อายตนะ ๑๒
อายตนะภายใน ๖                            อายตนะภายนอก ๖
จักขวายตนะ    อายตนะคือตา                รูปายนตะ        อายตนะคือรูป
จักขวายตนะ    อายตนะคือตา                รูปายนตะ        อายตนะคือรูป
โสตายตนะ      อายตนะคือหู                 สัททายตนะ     อายตนะคือเสียง
ฆานายตนะ      อายตนะคือจมูก              คันธายตนะ      อายตนะคือกลิ่น
ชิวหายตนะ      อายตนะคือลิ้น                รสายตนะ       อายตนะคือรส
กายายตนะ      อายตนะคือกาย               โผฏฐัพพายตนะ อายตนะคือการกระทบ
มนายตนะ        อายตนะคือใจ                 ธัมมายตนะ     อายตนะคือธรรม

สงเคราะห์ ปรมัตถธรรม ลงใน อายตนะ ๑๒ ดังนี้

๑) จักขวายตนะ ได้แก่ จักขุปสาทรูป

๒) โสตายตนะ ได้แก่ โสตปสาทรูป

๓) ฆานายตนะ ได้แก่ ฆานปสาทรูป

๔) ชิวหายตนะ ได้แก่ ชิวหาปสาทรูป

๕) กายายตนะ ได้แก่ กายปสาทรูป

๖) มนายตนะ ได้แก่ จิต ๘๙ ดวง

๗) รูปายตนะ ได้แก่ รูปารมณ์ คือสีต่างๆ

๘) สัททายตนะ ได้แก่ สัททารมณ์ คือเสียงต่างๆ

๙) คันธายตนะ ได้แก่ คันธารมณ์ คือกลิ่นต่างๆ

๑๐) รสายตนะ ได้แก่ รสารมณ์ คือรสต่างๆ

๑๑) โผฏฐัพพายตนะ ได้แก่ โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง

๑๒) ธัมมายตนะ ได้แก่ สุขุมรูป ๑๖ เจตสิก ๕๒ นิพพาน ๑

สงเคราะห์ อายตนะทั้ง ๑๒ ลงใน รูปนาม ดังนี้

จักขวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ ๑๐ อายตนะนี้ ย่นลงใน รูปธรรม

มนายตนะ เป็น นามธรรม

ธัมมายตนะ เป็นทั้ง รูปธรรม เป็นทั้ง นามธรรม

อายตนะ ๑๒ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดในทวารทั้ง ๖ และอารมณ์ ๑ (ทวารหนึ่งเกิดได้อารมณ์เดียวเท่านั้น) เป็นบ่อเกิดของธรรมเหล่าอื่น เป็นที่ไหลมาแห่งบุญและบาป มีจิตและเจตสิกแอบอยู่ที่นี่ ย่อมไหลนำไปสู่ทุกข์ในสังสารวัฏ

อายตนะ นี้เป็น สัญชาติ คือประเทศของจิตและเจตสิก เป็นที่อยู่ที่อาศัยของจิตและเจตสิก เป็นที่ปะปนกัน เป็นที่สโมสรของจิตและเจตสิก อายตนะนี้ที่เป็นเฉพาะรูปธรรม ๑๐ นามธรรม ๑ เป็นทั้งรูปธรรมนามธรรม ๑ ฉะนั้น อายตนะ ๑๒ นี้ ก็คือ รูปนาม นั้นเอง

บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงจะเกิด ต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ และบาปจะเกิดก็ต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ หมายความว่า กามาวจรกุศลก็ดี รูปาวจรกุศลก็ดี อรูปาวจรกุศลก็ดี โลกุตตรกุศลก็ดี ก็เกิดที่อายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ บาปคือกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด หรือ โลภะ โทสะ โมหะ อุทธัจจะ ถีนมิทธะ เป็นต้น เมื่อจะเกิดขึ้นก็เกิดที่อายตนะ ๑๒ ประการนี้

ทีนี้ วิธีปฏิบัติในอายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ เราจะปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติดังนี้คือ ในขณะที่ตาเห็นรูป ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่ตา โดยกำหนดว่า เห็นหนอๆ หรือ พุทโธๆ อย่างนี้เรียกว่า ปิดสวิตช์ตา แล้ว ไม่สามารถที่จะต่อกับรูปภายนอก

ในขณะที่หูได้ยินเสียง ให้ตั้งสติกำหนดไว้ที่หู โดยกำหนดว่า ได้ยินหนอๆ หรือพุทโธๆ หรือว่า รู้หนอๆ อย่างนี้เรียกว่า ปิดสวิตช์หรือปิดประตูหูไว้แล้ว เสียงไม่สามารถที่จะเข้าไปภายในได้

เวลาที่จมูกได้กลิ่น ก็ตั้งสติไว้ที่จมูก โดยที่กำหนดว่า กลิ่นหนอๆ อย่าให้เลยไปถึงกลิ่นดีหรือชั่ว หรือกำหนดว่า พุทโธๆ หรือ รู้หนอๆ เป็นต้น ก็เป็นอันว่าเราปิดจมูกไว้แล้ว

ถ้าลิ้นได้รส ก็ตั้งสติไว้ที่ลิ้น จะเป็นรสเปรี้ยว รสหวานรสเค็มก็ตาม ให้ตั้งสติไว้ที่ลิ้น โดยกำหนดว่ารสหนอๆ หรือ พุทโธๆ หรือว่า รู้หนอๆ คำใดคำหนึ่งก็ได้

เวลากายถูกต้องเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เราก็ตั้งสติไว้ที่กายตรงที่ถูกกระทบ โดยกำหนดว่า ถูกหนอๆ หรือ กระทบหนอๆ หรือ รู้หนอๆ หรือ พุทโธๆ คำใดคำหนึ่งก็ได้

เวลาใจรู้ธรรมารมณ์ ให้ตั้งสติไว้ที่หทัยวัตถุ ใต้ราวนมข้างซ้ายลงไปประมาณ ๒ นิ้ว กำหนดว่า คิดหนอๆ หรือ พุทโธๆ ให้ระวังในขณะที่เราเอาสติไปตั้งไว้ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ อย่าให้ โลภะ โทสะ โมหะ เข้าไปได้ คืออย่าให้ความยินดียินร้ายเกิดขึ้น เมื่อเราทำได้อย่างนี้ แสดงว่าเราใช้อายตนะเป็นแล้ว

ขณะใดที่เรามีสติรู้ทัน กิเลสทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่สามารถเข้าไปในจิตในใจของเราได้ เป็นอันว่าเราระวังไม่ให้บาปใหม่เกิดขึ้น และสำหรับบาปเก่าที่มีอยู่แล้ว ก็จะหมดไปตามลำดับๆ เมื่อบาปเก่าหมดไป บาปใหม่เข้าไม่ได้ เช่นนี้ เรากำหนดนานไปๆ เมื่อใดพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นในขันธสันดาน จิตของเราก็จะสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส สว่าง สงบเย็น ไม่มีตัณหาเข้าไปเป็นนายหรือผู้บัญชาการในจิตใจของเราก็ได้อยู่สบาย

เหมือนเรือนที่เขามุงหรือกั้นฝาไว้ดีแล้ว มีประตูหน้าต่างปิดมิดชิดดี เมื่อมีฝนมีลมหรือมีแดดส่องเข้ามา เราก็ปิดประตูหน้าต่างให้ดี ฝนก็ไหลรั่วรดเข้าไปภายในบ้านไม่ได้ แดดก็ส่องเข้าไปไม่ได้ ลมก็พัดเข้าไปภายในไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าของบ้านหรือผู้ที่อยู่ในบ้าน ก็อยู่ในบ้านได้สบายๆ ไม่เดือดร้อน ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่มีสติรักษาอายตนะดีแล้ว ก็เหมือนกัน ฉันนั้น

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่เราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในขณะนี้ ที่ต้องการอยากได้สมาธิ อยากเข้าสมาธิได้นานๆ ถึง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง หรือว่า ๕ วัน ๕ คืน ๗ วัน ๗ คืนนี้ แต่เราไม่สามารถจะทำได้ เพราะอะไร ก็เพราะใช้อายตนะไม่เป็น หรือใช้อายตนะไม่สมบูรณ์แบบ คือเรายังเผลออยู่ ยังมีเวลาเผลอ ในเวลาที่ตาเห็นรูป เราปิดไม่ดี ทำให้ดูรูปแล้วเลยไปถึงดีถึงชั่ว เวลาหูได้ยินเสียง ใจมันออกไปแล้วไปตามเสียง วิ่งไปหาเสียง เวลาจมูกได้กลิ่น ใจก็วิ่งไปหากลิ่นแล้ว

เวลาถูกสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ใจมันวิ่งออกไปหาอาการสัมผัสนั้นแล้ว เวลาธรรมารมณ์เกิดขึ้น ใจก็วิ่งไปหาธรรมารมณ์แล้ว วิ่งไปโน้นไปนี้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ ไม่สามารถที่จะเข้าสมาธิได้ตามต้องการ หรืออีกอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่ใจของเราสมควรบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี สมควรบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่เราระวังอายตนะของเราไม่ได้ ใช้อายตนะไม่เป็น หรือการใช้อายตนะของเราไม่คล่องแคล่ว ไม่สมบูรณ์แบบ เราก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล สมกับความต้องการได้

หมายความว่า เราต้องการที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ อาจจะได้บรรลุเพียงขั้นพระอนาคามี ต้องการบรรลุเป็นพระอนาคามี อาจบรรลุเพียงขั้นพระสกทาคามี ต้องการบรรลุเป็นพระสกทาคามี อาจได้บรรลุเพียงขั้นโสดาบัน ต้องการบรรลุโสดาบัน อาจบรรลุเพียงมัชฌิมโสดาบัน ต้องการบรรลุมัชฌิมโสดาบัน อาจบรรลุได้เพียงจุลลโสดาบัน หรือต้องการบรรลุเพียงจุลลโสดาบัน แต่ก็เพียงแค่ได้ฌานได้สมาบัติเท่านั้น

หรือบางทีก็ไม่ได้เสียเลย ถ้าใช้อายตนะไม่เป็น บังคับอายตนะไม่เป็น มันเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าผู้ใดใช้อายตนะเป็นแล้ว หลวงพ่อขอรับรองว่า ท่านทุกคนทุกรูปทุกนาม สามารถที่จะบรรลุ สมาธิ สมาบัติ อริยมรรค อริยผล ตามบุญวาสนาบารมีที่ท่านทั้งหลายได้สั่งสมอบรมมา

ท่านทั้งหลาย เมื่อหลวงพ่อได้บรรยายมาถึงตอนนี้แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาดูว่า การใช้อายตนะของเรานั้น เป็นหรือยัง สมบูรณ์แบบแล้วหรือ เราสามารถควบคุมปกครองบังคับอายตนะได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ในขณะตาเห็นรูป สามารถควบคุมใจไม่ให้วิ่งไปหารูปได้แล้วหรือยัง ในขณะที่หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส เวลากายถูกสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ก็ดี เราสามารถควบคุมใจของเราไม่ให้วิ่งไปหา เสียง กลิ่น รสสัมผัส ธรรมารมณ์ ได้หรือยัง ถ้าสามารถรักษาได้ เวลาเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้ธรรมารมณ์ ใจของเราไม่ไปเลย เฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย แสดงว่าปกครองอายตนะได้แล้ว ใช้อายตนะเป็นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

แต่ถ้าบังคับไม่ได้ใช้ไม่เป็น นอกจากจะไม่ได้บรรลุสามัญผลใดแล้ว บางทีอาจเสียผู้เสียคนได้ เหมือนกับเรามีรถ แต่ขับไม่เป็น หรือขับได้ไม่สมบูรณ์แบบ เผลอไปขณะใดขณะหนึ่ง รถของเราอาจวิ่งลงจากถนนก็ได้ อาจไปตกตมตกโคลนก็ได้ อาจไปชนคนชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้าก็ได้ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายใช้อายตนะให้เป็น โดยที่เอาสติไปปิดไว้ทันที

เวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ หรือธรรมารมณ์เกิดขึ้นในใจ ขอให้เอาสติไปตั้งไว้ทันที แล้วกำหนดตามอาการของมัน เมื่อกำหนดได้ดีและคล่องแคล่วแล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล

แต่ว่าในขณะแรกๆ ที่ควบคุมนี้ การที่จะใช้อายตนะให้สมบูรณ์แบบ หรือปกครองให้อยู่ในอำนาจ เป็นของทำได้ยาก เพราะว่า ธรรมชาติของจิต ไม่เคยอยู่ในอารมณ์เดียวนานๆ วิ่งไปที่โน้นวิ่งไปที่นี้อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยอยู่คงที่ เมื่อเราทั้งหลายมาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องการที่จะให้ใจนี้อยู่กับรูปกับนาม หรืออยู่กับกาย กับเวทนา จิต ธรรม ก็เป็นของทำยากลำบากเหลือทนเหมือนกัน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นของทำยากลำบาก เป็นของที่บังคับยาก ปกครองยาก หากว่าเราพยายามไปๆ ก็สามารถที่จะควบคุมได้ ใจคนเรานี้ ถ้าเราสามารถควบคุมได้แล้ว หากว่าเราต้องการคิดมันจึงจะคิดไป เราต้องการคิดเรื่องโน้นมันจึงจะคิดไป เราต้องการคิดเรื่องนี้ มันจึงจะคิดไป เราต้องการคิดเรื่องใดมันก็คิดแต่เรื่องนั้น ไม่มีอะไรสับสนปนเปเข้ามา ไม่มีเรื่องอะไรที่จะเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา เราต้องการที่จะคิดเรื่องใดมันก็คิดเรื่องนั้น เมื่อเรามีอารมณ์เดียวอย่างนี้แล้ว จิตของเราก็มีพลังมีอานุภาพ สามารถที่จะคิดอะไรได้คล่องแคล่วว่องไวไม่มีอะไรติดขัด

แต่ถ้าจิตหลายๆ อารมณ์แล้วก็คิดยาก จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ลำบาก เมื่อใด เราสามารถทำจิตทำใจให้อยู่ในอารมณ์เดียวแล้ว เมื่อนั้น จิตของเราก็มีพลังมีอำนาจมาก สามารถที่จะนำไปประหารโลภะ โทสะ โมหะ ให้หมดไปจากขันธสันดานของเราได้ ตัวอย่าง พระติสสะมหาเถระ1 ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ในพระธัมมปทัฏฐกถาว่า

มีตระกูลๆ หนึ่ง อยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ สามี ภรรยาและบุตรสาว เป็นตระกูลที่ยากจนข้นแค้นอนาถา หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยการเก็บผักหักฟืนมาขายเป็นวันๆ ไป วันหนึ่งสองสามีภรรยาได้ปรึกษากันว่า พวกเรานี้เกิดขึ้นมาก็ยากจนข้นแค้นอนาถา หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องฝืดเคือง ชะรอยในชาติปางก่อนโน้น เราคงไม่เคยทำบุญทำทานไว้บ้าง จึงเป็นเช่นนี้ อย่ากระนั้นเลย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราทั้งสองจะทำบุญทำทาน หากว่าทำทุกวันๆ ไม่ได้ ๗ วันเราควรทำครั้งหนึ่งหรือ ๑๕ วันควรทำครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นวันพระ

สองสามีภรรยาปรึกษาหารือกันแล้ว ก็ตกลงกันว่าจะทำบุญให้ได้ ตั้งแต่นั้น พอตื่นแต่เช้ามืดขึ้นมา ภรรยาก็รีบหุงข้าวทำอาหาร ครั้นได้เวลาภัตตาหารเช้า ก็นำภัตตาหารไปถวายแก่พระสงฆ์ในวัด

แต่ในสมัยนั้นอติเรกลาภฟุ่มเฟือย พระสงฆ์สามารถที่จะเลือกภัตตาหารได้ตามต้องการ เมื่อไปถึงวัดแล้ว นางก็น้อมนำเอาภัตตาหารที่ตนทำจนเต็มความสามารถถวายแด่พระมหาเถระผู้เป็นประธานในสงฆ์ พระมหาเถระท่านก็รับ แต่เมื่อท่านรับแล้วท่านก็ไม่ได้ฉัน เททิ้งต่อหน้านาง

แต่นางก็ไม่โกรธ กลับมาถึงบ้านจึงเล่าให้สามีฟัง ฝ่ายสามีผู้เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา เมื่อฟังแล้วจะได้มีความโกรธก็หาไม่ พูดกับภรรยาว่า แม่! เราเป็นตระกูลที่ยากจนเข็ญใจ เราไม่สามารถที่จะบังคับให้พระเถระฉันของเราได้ ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะเอาใจพระเถระได้ เราจึงจะให้พระเถระฉันภัตตาหารของเราได้

ภรรยาจึงกล่าวขึ้นว่า พ่อ! ตระกูลใดที่ยังมีลูกสาวอยู่ จะถือว่าเป็นตระกูลที่ยากจนนั้นไม่ได้ เราควรที่จะเอาลูกสาวของเราไปขายฝากไว้กับตระกูลหนึ่ง เมื่อได้ทรัพย์แล้ว จึงค่อยเอาไปซื้อแม่โคนมมารีดเอาน้ำนมมาปรุงเป็นอาหารที่ประณีต คราวนี้คงเอาใจพระเถระให้ฉันภัตตาหารของเราได้

เมื่อสองสามีภรรยาปรึกษาตกลงกันแล้วจึงนำลูกสาวของตนนั้นไปขายฝากไว้ในตระกูลตระกูลหนึ่ง ได้เงินมา ๑๒ ตำลึง เมื่อได้เงิน ๑๒ ตำลึงมาแล้วก็นำไปซื้อแม่โคนม เมื่อได้แม่โคนมมาแล้ว ตื่นเช้าขึ้นมาทุกเช้าๆ สองสามีภรรยาก็ไปรีดเอานมวัวมาปรุงเป็นอาหารอันประณีต เพื่อจะนำไปถวายแก่พระสงฆ์ เมื่อนำไปถวาย ท่านรับแล้วทราบว่าเป็นภัตตาหารที่ประณีตก็ฉันภัตตาหารนั้น

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระสงฆ์ทั้งหลายทราบว่าตระกูลนี้ถวายอาหารอันประณีต ก็พูดกันต่อๆ ไป ชื่อเสียงอันนี้ก็ฟุ้งขจรไปในหมู่ของพระสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งหลายที่มีเดชศักดาเดชานุภาพ เช่น พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น ยังปรากฏว่าเคยได้มารับภัตตาหารที่บ้านของสองสามีภรรยานี้

เมื่อสองสามีภรรยาสามารถเอาใจพระสงฆ์ได้แล้ว และพระสงฆ์ทั้งหลายก็มารับบิณฑบาตที่บ้านของสามีภรรยานี้อย่างสม่ำเสมอ ได้ทำบุญทำทานเต็มอิ่มเต็มอกเต็มใจแล้ว ก็ทำให้นึกถึงบุตรสาวของตน สามีจึงกล่าวขึ้นว่า แม่! พ่อคิดถึงลูกของเราเหลือเกิน เป็นห่วงลูกของเราเหลือเกิน ดังนั้นพ่อจะไปรับจ้าง ได้เงินมาแล้วจะได้ไปไถ่ลูกของเราให้เป็นไท แม่อยู่บ้านอย่าได้ประมาท พยายามทำบุญทำทานเหมือนที่ได้ทำมาแล้ว

เมื่อสั่งเสียภรรยาแล้ว สามีก็ออกไปทำงานรับจ้างหีบอ้อย ทำงานอยู่ ๖ เดือน ได้เงิน ๑๒ ตำลึง พอได้เงินครบ ๑๒ ตำลึงแล้วดีใจ ลาออกจากงาน เพื่อจะไปไถ่บุตรสาวของตนให้เป็นไท ในขณะที่เดินมาตามหนทางนั้นบังเอิญได้พบพระเถระรูปหนึ่งซึ่งมีนามว่า ติสสเถระ ท่านอยู่ที่อัมพวิหาร ออกจากวิหารนั้นเพื่อที่จะไปนมัสการพระมหาเจดีย์แห่งหนึ่ง จึงเดินมาตามหนทางนั้นเหมือนกัน

ฝ่ายทุคตบุรุษนั้น มองเห็นพระเถระเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส คิดว่าเราเดินให้ทันพระเถระดีกว่า เพื่อจะได้สนทนาไต่ถามธรรมะข้อปฏิบัติบ้าง เมื่อมาทันพระเถระแล้วก็เดินคุยกันมาตามทาง ในขณะที่คุยกันมาตามมรรคานั้น เป็นเวลาภัตตาหารเพลพอดี เป็นเหตุให้บุรุษนั้นเกิดความกระอักกระอ่วนใจว่าจะได้อาหารที่ไหนหนอถวายพระเถระ

เมื่อมองซ้ายแลขวาหน้าหลังกลับไปกลับมา ก็เห็นคนเลี้ยงโคผ่านมาถือห่อข้าวมาด้วย จึงกราบเรียนนิมนต์พระติสสเถระเจ้าว่า ท่านขอรับขอท่านจงไปรอกระผมที่ใต้ร่มพฤกษาข้างหน้านั้นเถิด เดี๋ยวกระผมจะตามไป เมื่อพระเถระไปแล้ว เขาก็เข้าไปหาคนเลี้ยงโคนั้น พูดขึ้นว่าขอท่านจงให้ห่อข้าวแก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะให้ทรัพย์แก่ท่าน ๑ ตำลึง

คนเลี้ยงโคนั้นคิดว่า บุรุษนี้เป็นบ้าหรืออย่างไรหนอ ห่อข้าวของเรานี้ไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย แต่ทำไมจะให้เราตั้ง ๑ ตำลึง คงจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ ถ้าอย่างนั้นเราจะโก่งราคาไว้ไม่ขาย เพื่อจะได้เงินมากๆ คิดดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ขาย เพราะว่าห่อข้าวนี้สำหรับข้าพเจ้าเท่านั้น หากว่าข้าพเจ้าไม่ได้บริโภคอาหารวันนี้อาจจะตายก็ได้ ถ้าอย่างนี้ ข้าพเจ้าให้ ๒ ตำลึง ๒ ตำลึงก็ไม่ขาย ให้ ๓ ตำลึง ๓ ตำลึงก็ไม่ขาย ทุคตบุรุษนั้นก็เพิ่มขึ้นให้เรื่อยๆ

ผลสุดท้ายก็ยกให้ทั้งถุงเลยว่า ถ้าอย่างนั้นก็เอาไปทั้ง ๑๒ ตำลึง ข้าพเจ้ามีเท่านี้ ถ้าข้าพเจ้ามีมากกว่านี้ ก็จะให้ท่านมากกว่านี้ แต่ขอให้ท่านทราบว่า ห่อข้าวนี้ข้าพเจ้ามิได้นำไปบริโภคด้วยตนเอง ข้าพเจ้าจะนำไปทำบุญทำทานถวายแก่พระเถระ พระเถระท่านรออยู่ข้างหน้าใต้ร่มไม้โน้น เสร็จแล้วก็ยื่นถุงทรัพย์ให้กับคนเลี้ยงโค รับเอาห่อข้าวมาด้วยความยินดีปีติปราโมทย์

เมื่อไปถึงพระเถระแล้ว ก็น้อมเอาห่อข้าวนั้นใส่ในบาตรของท่าน พอใส่ไปได้ครึ่งหนึ่งท่านก็ปิดบาตรเสีย ทุคตบุรุษนั้นจึงกล่าวขึ้นว่า ท่านขอรับ ภัตตาหารนี้สำหรับท่านผู้เดียวเท่านั้น ขอท่านจงสงเคราะห์คนยากจนเถิด ท่านพระติสสะก็รับทั้งหมด เมื่อรับแล้วก็ฉัน ในขณะที่ท่านกำลังฉันอยู่นั้น ทุคตบุรุษก็ไปกรองน้ำเพื่อจะได้นำมาถวาย

พระเถระก็คิดอยู่ในใจว่า เหตุอะไรหนอ ทั้งๆ ที่อุบาสกท่านนี้ก็หิวมาด้วยกัน แต่ทำไมไม่แบ่งห่อข้าวไว้รับประทาน ถวายเราทั้งหมด หากว่าได้โอกาสเราจะถามอุบาสกนี้ให้ได้ หลังจากฉันภัตตาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ออกเดินทางต่อ เมื่อได้โอกาสพระเถระจึงได้ถามถึงเรื่องที่ไม่แบ่งห่อข้าวไว้ บุรุษนั้นก็เล่าเหตุการณ์ทุกสิ่งทุกประการ เริ่มตั้งแต่คิดจะทำบุญทำทาน แล้วเอาลูกสาวไปขายฝากไว้ แล้วไปทำงานหีบอ้อย ๖ เดือนได้เงิน ๑๒ ตำลึงว่าจะไปไถ่บุตรสาวแล้วได้นำเงินมาซื้อห่อข้าวหมด เล่าตั้งแต่ต้นจนจบ

พระเถระเมื่อได้ฟังแล้ว เกิดความสังเวชสลดใจว่า ภัตตาหารนี้ได้มาด้วยความยากลำบาก บุรุษนี้ทำงาน ๖ เดือนได้เงินมา ๑๒ ตำลึง จะไปไถ่บุตรสาวของเขา แต่แทนที่จะได้ไถ่บุตรสาวให้เป็นไท กลับมาซื้อห่อข้าวห่อเดียวถวายเรา บุรุษนี้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลที่บุคคลอื่นทำได้ยาก อย่ากระนั้นเลย เราจะทำให้ภัตตาหารของบุรุษนี้ เป็นภัตตาหารที่ถวายแก่พระอรหันต์ เราไปถึงพระมหาเจดีย์ นมัสการแล้ว จะตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าเราไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะไม่ฉันภัตตาหารของบุคคลอื่นเลยเป็นอันขาด

เมื่อเดินมาถึงพระมหาวิหารแล้ว ทุคตบุรุษนี้ก็แยกทางไปบ้านของตน ฝ่ายท่านพระติสสเถระก็เข้าไปในมหาวิหาร นมัสการพระมหาเจดีย์ แล้วก็แสวงหาที่อันเป็นสัปปายะ เหมาะสำหรับอัธยาศัยของตนในการที่จะเจริญวิปัสสนา เมื่อได้สถานที่สัปปายะแล้ว ท่านก็ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญความเพียร เดินจงกรมนั่งสมาธิตลอดทั้งคืน ก็ไม่สามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้น

ท่านก็ตัดภัตตาหาร ไม่ไปบิณฑบาต ไม่ฉันภัตตาหารของใคร ถือว่าภัตตาหารที่อุบาสกนั้นถวายเป็นภัตตาหารครั้งสุดท้าย และจะทำให้ภัตตาหารนั้นเป็นภัตตาหารที่ถวายแก่พระอรหันต์ เพื่อจะสงเคราะห์ให้ภัตตาหารของอุบาสกนั้นมีอานิสงส์มากๆ ท่านพยายามตั้งใจทำความเพียรอยู่อย่างนี้ เป็นเวลา ๗ วัน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านจึงพิจารณาถึงอายุสังขารว่าจะพอเป็นไปได้ หรือจะปรินิพพาน เมื่อพิจารณาดูก็ทราบด้วยญาณของท่านว่า เรานี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก เพราะร่างกายได้รับความบอบช้ำจากการทำความเพียรยิ่งนัก เราจะปรินิพพานวันนี้ เมื่อท่านทราบดังนี้แล้ว จึงรีบเก็บบริขารของท่านเข้าที่ ทำความสะอาดที่อยู่ เสร็จแล้วจึงเข้าไปในศาลา ตีระฆังให้สัญญาณพระสงฆ์ภายในวัดมารวมกัน

เมื่อพระสงฆ์มารวมกันแล้ว ท่านจึงกล่าวขึ้นว่า ท่านขอรับ หากว่าท่านรูปใดรูปหนึ่ง มีความสงสัยในเรื่องมรรคผลนิพพานแล้วไซร้ โปรดได้สอบถามกระผมเถิด กระผมยินดีที่จะวิสัชนาถวาย แต่ในที่นั้นไม่มีใครสอบถาม ไม่มีใครสงสัยเลย เพราะผู้ที่มาประชุมกันอยู่ที่นั้น อย่างต่ำสุดก็เป็นพระโสดาบัน อย่างสูงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงไม่มีผู้ใดสงสัย

ดังนั้น พระมหาเถระที่เป็นประธานในสงฆ์จึงกล่าวขึ้นว่า ท่านขอรับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ด้วยว่าพระสงฆ์ในที่นี้ไม่มีใครสงสัยในเรื่องอริยมรรคอริยผลเลย แต่ผมมีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า เพราะเหตุใดท่านถึงได้บำเพ็ญความเพียรเรี่ยวแรงยิ่งนัก ท่านพระติสสเถระจึงเล่าเรื่องทั้งหมดที่ทุคตบุรุษนั้นเล่าให้ฟังโดยละเอียด

เมื่อพระสงฆ์ทั้งหลายได้ฟังแล้ว ท่านที่เป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์ก็เกิดธรรมสังเวช ท่านที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามีก็ไม่อาจที่จะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้

ในขณะที่สนทนากันนั้น ก็เป็นเวลาที่ท่านพระติสสเถระจะปรินิพพาน และก่อนที่ท่านจะปรินิพพานท่านก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า เมื่อข้าพเจ้าปรินิพพานแล้ว คนอื่นหมื่นแสน แม้จะมีกำลังมากสักปานใด มายกศพของข้าพเจ้า ขออย่าให้เคลื่อนที่ได้ เมื่ออธิษฐานแล้วท่านก็เข้าสู่ปรินิพพาน เมื่อท่านปรินิพพานแล้ว พระราชาพร้อมด้วยพระสงฆ์และประชาชนทั้งหลาย ก็เตรียมทำฌาปนกิจศพท่าน แต่เมื่อจะยกศพของท่านไปสู่จิตกาธาน (บ้านเราเรียกว่าเชิงตะกอน) ก็ไม่สามารถที่จะยกได้ จึงได้ให้พราหมณ์ ๘ คนอาบน้ำดำผมอย่างบริสุทธิ์ สมาทานศีล ๘ ไปยก แต่ก็ไม่สามารถที่จะยกให้เคลื่อนที่ได้

พระราชาจึงตรัสถามพระมหาเถระในสงฆ์ พระมหาเถระก็ถวายพระพรเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระราชาทรงทราบ เมื่อทรงทราบแล้วจึงรับสั่งให้ไปตามบุรุษนั้นมา เมื่อมาถึงแล้วพระราชาจึงตรัสถามว่า ดูก่อนมหาทุคตะ นับตั้งแต่วันนี้ถอยหลังไป ๗ วัน เคยได้ทำบุญทำทานกับพระรูปหนึ่งรูปใดไว้บ้างหรือไม่ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เคยถวายห่อข้าวแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาด้วยกัน

พระราชาจึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ไปดูพระเถระนั้นซิว่า เป็นผู้ที่ท่านได้ถวายภัตตาหารหรือไม่ เมื่อบุรุษนั้นไปเปิดดูแล้วจำได้ ก็เกิดความเศร้าโศก ร้องไห้ร่ำไร ว่าเพราะเหตุใดหนอ พระเถระเจ้าของเราจึงมาด่วนปรินิพพานเร็วนัก ใครหนอ มาทำร้ายพระเถระเจ้าของเรา ร้องไห้ร่ำไร ปิ่มว่าจะขาดใจตาย พระราชาจึงรับสั่งให้บุรุษนั้นไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด พระราชทานเครื่องนุ่งห่มให้ แล้วตรัสสั่งให้ยกศพพระเถระนั้นไปสู่จิตกาธาน

เมื่อทุคตบุรุษไปถึงศพแล้ว ก็ก้มลงกราบที่ศพของท่านที่เท้า ๓ ครั้ง พอกราบลงครั้งที่ ๓ เท่านั้น ศพของพระเถระก็ลอยขึ้นเคลื่อนไปในอากาศ ไปประดิษฐานที่จิตกาธานและในขณะนั้นเอง ไฟทิพย์ก็เกิดขึ้นเผาไหม้สรีระของท่านจนเป็นเถ้าถ่านไป เหลือแต่อัฐิธาตุ

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความทุกข์ความลำบากในการที่เราควบคุมอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้ยินดียินร้าย ไม่ให้ โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำอยู่ทุกวันนี้ หรือการประพฤติปฏิบัติของเรานี้ ถึงว่าเหนื่อยยากลำบากสักปานใด หลวงพ่อคิดว่าคงไม่เท่าความยากลำบาก ที่ท่านพระติสสเถระได้ใช้ความเพียรอย่างเรี่ยวแรงอยู่ถึง ๗ วัน จึงจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายถือเป็นทิฏฐานุคติ นึกถึงความเพียรที่พระติสสเถระเจ้าทำมา โดยที่มาเปรียบเทียบกับตัวเรา แล้วยึดเอาเป็นตัวอย่างแบบอย่างที่ดี เพื่อเป็นการกระตุ้นใจของเรา ให้เกิดความอุตสาหะในการบำเพ็ญความเพียร

เมื่อใด ที่เราตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญความเพียรแล้ว หลวงพ่อว่าการที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลนี้ ไม่ใช่เป็นของเหลือวิสัย เรามีความเพียรอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่นั่น หากว่าเราพอใจทำ ตั้งใจทำ แข็งใจทำ และก็ทำด้วยความฉลาดแล้ว มรรค ผล นิพพาน สมาธิ สมาบัติ เป็นของที่ไม่เหลือวิสัยที่ทุกๆ ท่านจะบรรลุ

เอาละ เท่าที่หลวงพ่อได้นำเอาธรรมะ เรื่อง อายตนะ ๑๒ ประการ มาบรรยายนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา.



[1] (พระสุตตันตปิฎกแปล เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๔๙-๒๕๕)

พระราชปริยัตยากร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 มิถุนายน 2561 13:59:36 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 67.0.3396.99 Chrome 67.0.3396.99


ดูรายละเอียด
« ตอบ #76 เมื่อ: 29 มิถุนายน 2561 09:23:04 »




ธาตุ ๑๘

ธาตุ สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งสภาพของตนจริงแท้ เป็นสภาวะที่ยืนให้พิสูจน์ ยืนให้รู้ ยืนให้เห็น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะหมายความว่า ปราศจากอาการของสัตว์ ปราศจากอาการของชีวะ คือไม่มีการไป การมา การกิน การนอน และการประกอบกิจอย่างอื่น ไม่มีชีวิตที่เที่ยงอยู่เสมอ ฉะนั้นจึงเรียกว่า ธาตุ มีอยู่ ๑๘ ด้วยกัน คือ

๑. จักขุธาตุ (ธาตุตา)
๒. โสตธาตุ (ธาตุหู)
๓. ฆานธาตุ (ธาตุจมูก)
๔. ชิวหาธาตุ (ธาตุลิ้น)
๕. กายธาตุ (ธาตุกาย)
๖. มโนธาตุ (ธาตุใจ)
๗. รูปธาตุ (ธาตุสี)
๘. สัททธาตุ (ธาตุเสียง)
๙. คันธธาตุ (ธาตุกลิ่น)
๑๐. รสธาตุ (ธาตุรส)
๑๑. โผฏฐัพพธาตุ (ธาตุกระทบ)
๑๒. ธัมมธาตุ (ธาตุธรรม)
๑๓. จักขุวิญญาณธาตุ (ธาตุเห็น)
๑๔. โสตวิญญาณธาตุ (ธาตุได้ยิน)
๑๕. ฆานวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้กลิ่น)
๑๖. ชิวหาวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้รส)
๑๗. กายวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ถูกต้องทางกาย)
๑๘. มโนวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ทางใจ)

รวมเป็น ธาตุ ๑๘ นี้ถือเอาสภาวะปรมัตถ์ ก็เหมือนกับ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เช่นเดียวกัน ดังจะแสดงสงเคราะห์เข้ากันดังนี้
๑. จักขุธาตุ คือ จักขุปสาทรูป
๒. โสตธาตุ คือ โสตปสาทรูป
๓. ฆานธาตุ คือ ฆานปสาทรูป
๔. ชิวหาธาตุ คือ ชิวหาปสาทรูป
๕. กายธาตุ คือ กายปสาทรูป
๖. มโนธาตุ คือ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง กับ ปัญจทวาราวัชชนะ ๑ ดวง
๗. รูปธาตุ คือ รูปารมณ์
๘. สัททธาตุ คือ สัททารมณ์
๙. คันธธาตุ คือ คันธารมณ์
๑๐. รสธาตุ คือ รสารมณ์
๑๑. โผฏฐัพพธาตุ คือ โผฏฐัพพารมณ์
๑๒. ธัมมธาตุ คือ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ และพระนิพพาน ๑
๑๓. จักขุวิญญาณธาตุ คือ จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๔. โสตวิญญาณธาตุ คือ โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๕. ฆานวิญญาณธาตุ คือ ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๖. ชิวหาวิญญาณธาตุ คือ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๗. กายวิญญาณธาตุ คือ กายวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๘. มโนวิญญาณธาตุ คือ มโนวิญญาณจิต ๗๖ ดวง

อนึ่ง ธาตุ ๑๘ นี้ เมื่อจัดเป็นพวกๆ ได้ ดังนี้ คือ
๑. ธาตุรับ (ทวาร ๖)
๒. ธาตุกระทบ (อารมณ์ ๖)

ดังจะได้แสดงดังต่อไปนี้

ธาตุรับ              ธาตุกระทบ          ธาตุรู้
จักขุธาตุ            รูปธาตุ               จักขุวิญญาณธาตุ
โสตธาตุ            สัททธาตุ            โสตวิญญาณธาตุ
ฆานธาตุ            คันธธาตุ             ฆานวิญญาณธาตุ
ชิวหาธาตุ           รสธาตุ               ชิวหาวิญญาณธาตุ
กายธาตุ             โผฏฐัพพธาตุ       กายวิญญาณธาตุ
มโนธาตุ             ธัมมธาตุ             มโนวิญญาณธาตุ

สำหรับ ธาตุ ๑๘ นี้เมื่อย่นลงแล้ว คงเป็นรูป เป็นนามเท่านั้น ดังนี้ คือ
จักขุธาตุ เป็นรูปธรรม
รูปธาตุ เป็นรูปธรรม
จักขุวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
โสตธาตุ เป็นรูปธรรม
สัททธาตุ เป็นรูปธรรม
โสตวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
ฆานธาตุ เป็นรูปธรรม
คันธธาตุ เป็นรูปธรรม
ฆานวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
ชิวหาธาตุ เป็นรูปธรรม
รสธาตุ เป็นรูปธรรม
ชิวหาวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
กายธาตุ เป็นรูปธรรม
โผฏฐัพพธาตุ เป็นรูปธรรม
กายวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
มโนธาตุ เป็นนามธรรม
ธรรมธาตุ เป็นรูปธรรมและนามธรรม
มโนวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม

รวมความว่า ธาตุ ๑๘ จัดเป็นรูปธรรม ๑๐ เป็นนามธรรม ๗ เป็นทั้งรูปธรรม-นามธรรม ๑ หรือจะเรียกธาตุนี้ว่า รูปธาตุ-นามธาตุ ก็ได้

อีกอย่างหนึ่ง ธาตุ ๑๘ นี้ก็คือ ธาตุ ๖ นั่นเอง ได้แก่ ปฐวี-อาโป-เตโช-วาโย-อากาศ-วิญญาณธาตุ นั่นเอง

อัตตภาพร่างกายของคนและสัตว์ ถูกคุมเข้าจากธาตุทั้งหลายเหล่านี้ จะสูง จะต่ำ จะดำ จะขาว เป็นต้นก็แล้วแต่ ส่วนผสมของธาตุทางธรรม ยังไม่จัดว่าเป็นบุญเป็นบาป นับแต่ในขณะที่ธาตุผสมกัน มาถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา เขาก็ให้สมัญญาว่า คน พอคลอดออกมาก็เป็น คน ทีเดียว แต่ยังไม่ดี ไม่ชั่ว จะให้ดี ให้ชั่ว ต้องหาใส่ใหม่

เหมือน แก้วเปล่า ถ้าเราหาน้ำมาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วน้ำ เอายามาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วยา ถ้าเอาน้ำฝนมาใส่เขาก็เรียกว่า แก้วน้ำฝน ถ้าเอาเครื่องดื่มมาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วเครื่องดื่ม ถ้าหาเหล้ามาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วเหล้า ฉันใด คนเรา ก็เหมือนกัน จะให้ดีหรือชั่ว ต้องหาใส่ใหม่ ถ้าหาชั่วมาใส่ ก็เป็น คนชั่ว เป็นพาล เป็นนักเลง นักปล้น เป็นต้น ถ้าหาดีมาใส่ ก็เป็น คนดี

เหมือนกันกับพวกเราทำอยู่ทุกวันนี้ เราขนเอาความชั่วเก่าออกทิ้ง แล้วขนเอาความดี คือทาน ศีล สมาธิ ปัญญา สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เข้าไปก็เรียกว่า คนดี คนมีทาน คนมีศีล ผู้ได้สมาธิ คนมีปัญญา คนเป็นพระอริยบุคคล คือเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ดังนี้.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 67.0.3396.99 Chrome 67.0.3396.99


ดูรายละเอียด
« ตอบ #77 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2561 16:20:49 »




อินทรีย์ ๒๒

ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ ปกครองทำกิจต่างๆ ในหน้าที่ของตนๆ เรียกว่า อินทรีย์ มี ๒๒ ประการ

ธรรมชาติเป็นภูมิเป็นพื้นที่ให้วิปัสสนาเจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น จวบจนบรรลุโลกุตตรธรรมเป็นที่สุดได้ ดังจะได้แสดงให้ประจักษ์ชัดต่อไปนี้

 ๑.จักขุนทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของตา มีหน้าที่รับสี
 ๒.โสตินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของหู มีหน้าที่รับเสียง
 ๓.ฆานินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของจมูก มีหน้าที่รับกลิ่น
 ๔.ชิวหินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของลิ้น มีหน้าที่รับรส
 ๕.กายินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของกาย มีหน้าที่รับสัมผัส
 ๖.มนินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของใจมีหน้าที่รู้อารมณ์
 ๗.อิตถินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของหญิง มีหน้าที่แสดงลักษณะ กิริยาอาการของหญิง
 ๘.ปุริสินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของชาย มีหน้าที่แสดงลักษณะกิริยาอาการของชาย
 ๙.ชีวิตินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของชีวิต มีหน้าที่รักษารูปนาม
๑๐.สุขินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของสุขเวทนา มีหน้าที่สบาย
๑๑.ทุกขินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของทุกขเวทนา มีหน้าที่ไม่สบาย
๑๒.โสมนัสสินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของโสมนัสสเวทนา มีหน้าที่ดีใจ
๑๓.โทมนัสสินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของโทมนัสสเวทนา มีหน้าที่เสียใจ
๑๔.อุเปกขินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของอุเบกขาเวทนา มีหน้าที่วางเฉย
๑๕.สัทธินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของศรัทธา มีหน้าที่เชื่อเลื่อมใส
๑๖.วิริยินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของวิริยะ มีหน้าที่เพียรพยายาม
๑๗.สตินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของสติ มีหน้าที่รู้ทันปัจจุบัน
๑๘.สมาธินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตา มีหน้าที่ตั้งมั่นแน่วแน่
๑๙.ปัญญินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของปัญญา มีหน้าที่รู้ไตรลักษณ์
๒๐.อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของโสตาปัตติมัคคญาณ มีหน้าที่รู้พระนิพพานที่ยังไม่เคยรู้ ตัดอกุศลจิตได้ ๕ ดวง
๒๑.อัญญินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของโสตาปัตติผลญาณ จนถึง อรหัตตมัคคญาณ มีหน้าที่รู้พระนิพพาน ตัดอกุศลจิตตามลำดับ
๒๒.อัญญาตาวินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของอรหัตตผลญาณ มีหน้าที่รู้พระนิพพานและตัดอกุศลจิต ๑๒ ดวง สิ้นเชิง

อินทรีย์ ๒๒ ประการนี้ ก็เป็นสภาวะปรมัตถธรรมเช่นเดียวกับขันธ์ ๕ โดยสงเคราะห์ ดังต่อไปนี้
 ๑.จักขุนทรีย์ ได้แก่ จักขุปสาทรูป
 ๒.โสตินทรีย์ ได้แก่ โสตปสาทรูป
 ๓.ฆานินทรีย์ ได้แก่ ฆานปสาทรูป
 ๔.ชิวหินทรีย์ ได้แก่ ชิวหาปสาทรูป
 ๕.กายินทรีย์ ได้แก่ กายปสาทรูป
 ๖.มนินทรีย์ ได้แก่ จิตทั้งหมด
 ๗.อิตถินทรีย์ ได้แก่ อิตถีภาวรูป
 ๘.ปุริสินทรีย์ ได้แก่ ปุริสภาวรูป
 ๙.ชีวิตินทรีย์ ได้แก่ ชีวิตรูป ชีวิตนาม
๑๐.สุขินทรีย์ ได้แก่ สุขเวทนาเจตสิก
๑๑.ทุกขินทรีย์ ได้แก่ ทุกขเวทนาเจตสิก
๑๒.โสมนัสสินทรีย์ ได้แก่ โสมนัสสเวทนาเจตสิก
๑๓.โทมนัสสินทรีย์ ได้แก่ โทมนัสสเวทนาเจตสิก
๑๔.อุเปกขินทรีย์ ได้แก่ อุเปกขาเวทนาเจตสิก
๑๕.สัทธินทรีย์ ได้แก่ ศรัทธาเจตสิก
๑๖.วิริยินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๗.สตินทรีย์ ได้แก่ สติเจตสิก
๑๘.สมาธินทรีย์ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก
๑๙.ปัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก (โลกีย์)
๒๐.อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก (โลกุตตระ)
๒๑.อัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก (โลกุตตระ)
๒๒.อัญญาตาวินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก (โลกุตตระ)

อินทรีย์ ๒๒ ประการนี้ เมื่อสรุปแล้ว ได้แก่ รูปธรรม กับ นามธรรม เหมือนกับภูมิอื่น สงเคราะห์ได้ดังนี้ คือ
 ๑.จักขุนทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๒.โสตินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๓.ฆานินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๔.ชิวหินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๕.กายินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๖.อิตถินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๗.ปุริสินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๘.ชีวิตินทรีย์ เป็นรูปธรรม และ นามธรรม
 ๙.มนินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๐.สุขินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๑.ทุกขินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๒.โสมนัสสินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๓.โทมนัสสินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๔.อุเปกขินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๕.สัทธินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๖.วิริยินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๗.สตินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๘.สมาธินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๙.ปัญญินทรีย์ เป็นนามธรรม
๒๐.อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ เป็นนามธรรม
๒๑.อัญญินทรีย์ เป็นนามธรรม
๒๒.อัญญาตาวินทรีย์ เป็นนามธรรม

อินทรีย์ ๒๒ แยกเป็น รูปธรรม ๗ เป็น นามธรรม ๑๔ เป็นทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ๑ รูปนามนี้เองที่นำมาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เป็นตัวกัมมัฏฐาน.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 67.0.3396.99 Chrome 67.0.3396.99


ดูรายละเอียด
« ตอบ #78 เมื่อ: 01 สิงหาคม 2561 15:11:46 »



อริยสัจ ๔

วันนี้ จะได้นำเรื่อง อริยสัจ ๔ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า อริยสัจ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ หมายความได้ ๓ อย่าง คือ

๑. หมายความว่า ความจริงทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นธรรมะที่พระอริยเจ้าค้นพบ ไม่ใช่ค้นพบโดยปุถุชน จึงเรียกว่า อริยสัจ

๒. หมายความว่า ความจริงทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นกฎของการปฏิบัติ ซึ่งถ้าผู้ใดปฏิบัติให้สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นจะเป็นอริยชน จึงเรียกว่า อริยสัจ

๓. หมายความว่า ธรรมะคือความจริงในโลกนี้มีอยู่เป็นอันมาก แล้วมีอยู่ในศาสนาต่างๆ แต่ความจริงเหล่านั้นเป็นเพียงสามัญสัจจะ คือความจริงสามัญธรรมดา ส่วนความจริง ๔ ข้อนี้ เป็นความจริงขั้นสูงสุด เหนือสามัญสัจจะ จึงเรียกว่า อริยสัจ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐกว่าชนทั้งหลาย กล่าวความจริงทั้งหลายว่า สัจจะ ย่อมมี ๒ ประเภท คือ

๑. สมมติสัจจะ ความจริงที่ชาวโลกเขาสมมุติกัน

๒. ปรมัตถสัจจะ ความจริงที่เป็นปรมัตถ์ ความจริงที่เหนือกว่าความจริงทั้งปวง

สมมติสัจจะ ความจริงที่ชาวโลกเขาสมมุติกันนั้น เป็นความจริงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ความจริงที่ชาวโลกเขาสมมติกันนั้นเป็นอย่างไร เช่น สมมติกันว่า ผู้นี้เป็นพ่อ ผู้นี้เป็นแม่ ผู้นี้เป็นพระอุปัชฌาย์ ผู้นี้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผู้นี้เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เป็นสัทธิวิหาริก เป็นอันเตวาสิก หรือว่า ผู้นี้มีสมณศักดิ์เป็นพระครูชื่อนั้นชื่อนี้ แต่ความจริงทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ เป็นความจริงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

สมมติว่า ในขณะที่เขาให้ชื่อเราว่า สมปอง พอเขาเรียกว่า สมปอง เราก็ขานรับทันที แต่ชื่อว่า สมปอง นี้ เราอาจเปลี่ยนได้ อาจจะเปลี่ยนเป็น สมฤดี ก็ดี สมประสงค์ ก็ได้ มันเปลี่ยนไปได้ เพราะว่ามันเป็นความจริงที่ชาวโลกเขาสมมติกันขึ้น เป็นความจริงพื้นๆ สามัญธรรมดา จึงสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้

แต่สำหรับ ปรมัตถสัจจะ ความจริงขั้นสูงสุดยอด เป็นความจริงแท้ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ มีอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป เช่นว่ารูปอย่างนี้ เราจะเปลี่ยนไปเป็นนามก็ไม่ได้ นามนี้เราจะเปลี่ยนมาเป็นรูปก็ไม่ได้ เวทนาจะเปลี่ยนเป็นสัญญาก็เปลี่ยนไม่ได้ สัญญาความจำได้หมายรู้ ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้

สังขารความปรุงแต่งจิต หรือวิญญาณความคิดอารมณ์นี้ก็เหมือนกัน จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นก็เปลี่ยนไม่ได้ เมื่อมีธรรมชาติอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้นตลอดไป ความจริงเหล่าใดที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ เราเรียกว่าเป็นปรมัตถสัจจะ

ปรมัตถสัจจะนี้ เป็นธรรมที่พระอริยเจ้าได้รู้แล้ว ได้ทำให้แจ้งแล้ว ซึ่งเป็นสภาพความจริงที่พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมรู้ ย่อมเห็น เรียกว่า อริยสัจ ตามที่เทศนาไว้มี ๔ ประการ คือ

๑. ทุกขอริยสัจ คือเป็นทุกข์จริงๆ เช่น ความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นสภาวะที่ทนได้ยาก

๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ เหตุให้เกิดทุกข์จริงๆ ได้แก่ ตัณหา ๓ ประการคือ กามตัณหา ความทะยานอยากอย่างแรงกล้าในกาม ๑ ภวตัณหา ความทะยานอยากในความอยากมีอยากเป็น ๑ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ๑

ตัณหาทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นสิ่งให้เกิดทุกข์ และตัวสมุทัยนี้เอง เป็นจุดแยกของศาสนาพุทธกับศาสนาอื่น

ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้จำไว้ว่า ศาสนาของเรากับศาสนาของลัทธิอื่นๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ แยกกันที่ตรงไหน มีคำสอนที่แยกกันที่ตรงไหน

และอีกอย่างหนึ่ง อะไรเป็นกฎบัตรของศาสนา คือศาสนาทุกศาสนาต้องมีกฎบัตรของศาสนา เหมือนกันกับกฎบัตรของสหประชาชาติ ผู้ที่ร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติต้องปฏิบัติตามกฎบัตรนี้ หรือว่าพวกค่ายคอมมิวนิสต์อย่างนี้ เขาก็มีกฎบัตรของเขาเหมือนกัน ตลอดถึงศาสนาต่างๆในโลกนี้ก็มีกฎบัตรในศาสนา

กฎบัตรของศาสนาก็เหมือนกันกับรัฐธรรมนูญ แต่ละประเทศนั้นต้องมีรัฐธรรมนูญ จึงจะมีกฎหมายขึ้นมาได้ และกฎหมายแต่ละมาตราที่ตราขึ้นมาใช้นั้น ต้องไม่ขัดกันกับรัฐธรรมนูญ จึงจะใช้ได้ ถ้าขัดกันกับรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ถือว่าเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

อริยสัจทั้ง ๔ ประการ นี้ถือว่าเป็นกฎบัตรของศาสนาพุทธ และ สมุทัยอริยสัจ นี้เอง เป็นจุดแยกศาสนาพุทธของเรากับศาสนาอื่น เพราะเหตุไร เพราะว่า ศาสนาที่มีอยู่ในโลกนี้ แบ่งเป็น ๒ ประการ คือ

๑) ศาสนาที่เรียกว่า เทวนิยม

๒) ศาสนาที่ถือ กรรมนิยม

ศาสนาทุกศาสนาในโลกนี้ ยกเว้นพุทธศาสนา เป็นฝ่าย เทวนิยม คือถือว่าความทุกข์ทั้งมวลที่คนเราหรือสัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่ทุกวันนี้ ถือว่าเกิดจากพระเจ้าผู้สร้างโลกบันดาลให้เป็นไปบ้าง เกิดจากพระเจ้าบนสวรรค์บันดาลให้เป็นไปบ้าง เป็นเพราะเทวดาบ้าง เป็นเพราะพระพรหมบ้าง เป็นเพราะพระภูมิเจ้าที่บ้าง เป็นเพราะภูตผีปีศาจบ้าง เป็นเพราะยักษ์มารบ้าง หรือเป็นเพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้มาทำให้เกิดความลำบาก มาทำให้เกิดความทุกข์

ศาสนาต่างๆเป็นอย่างนี้ และสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาแล้วนี้ก็ยังมีอยู่ในศาสนาพุทธของเรา และชาวบ้านของเราแต่ละบ้านนั้นก็ยังมีความยึดถืออยู่อย่างนี้ เพราะว่า ความยึดถืออย่างนี้ ยึดถือมาก่อนศาสนาพุทธของเราจะเกิดขึ้นมาในโลก เช่น บางครั้งเจ็บไข้ได้ป่วยมา หาว่าผีไท้มาให้โทษบ้าง หาว่าผีแถนมาให้โทษบ้าง บางทีก็ถือว่าผีปู่ย่าตายาย ผีพ่อผีแม่มาให้โทษบ้าง บางทีถือว่าผีไร่ผีนามาให้โทษบ้าง ผีปู่ตามาให้โทษบ้าง นี้แหละเรียกว่าเป็นฝ่าย เทวนิยม ถือว่าความทุกข์ที่ได้รับนั้นเกิดจากเหตุภายนอกเป็นสิ่งที่มาให้ร้าย

สำหรับ พุทธศาสนา ของเรานี้ ถือว่าความทุกข์ต่างๆนั้นเกิดขึ้นมาจากกรรมที่ตนได้กระทำไว้ ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน กรรมทั้งหลายที่ทำลงไปนั้น ถ้าเป็นกรรมดีก็เป็นเหตุให้เกิดสุข ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ยกอุปมาง่ายๆว่า การเกิดเป็นคนนี้ มันเป็นทุกข์ ก่อนจะเกิดมาเป็นคน ก็ต้องมีตัณหาเสียก่อน คือความทะยานอยากเกิดขึ้นมาเป็นคน เมื่ออยากเกิดเป็นคนแล้ว ก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรม เพื่อจะให้ได้มาเกิดเป็นคน เสร็จแล้วบุญกรรมนั้นก็อำนวยให้เกิดมาเป็นคน เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า การเกิดขึ้นมาเป็นคนนี้เป็นอย่างไร เป็นทุกข์ไหม

เกิดมาเป็นคนแล้วก็เป็นทุกข์ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน อาบเหงื่อต่างน้ำ หาเช้ากินค่ำ ลำบากอยู่ตลอดเวลา มีความทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์ เหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์

ทีนี้ บางทีสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาแล้ว เห็นว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นทุกข์ การไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดานั้นเป็นสุข เพราะมีทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของทิพย์ มีปราสาทอันเป็นทิพย์ มีเครื่องทรงอันเป็นทิพย์ มีอาภรณ์อันเป็นทิพย์ ก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรมที่เป็นกามาวจรกุศล กามาวจรกุศลนั้นก็อำนวยให้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา แล้วแทนที่จะได้รับความสุข ก็ยังได้รับความทุกข์อยู่ เพราะการไปเกิดเป็นเทวดาก็ยังมีการแย่งลูกแย่งเมียกันอยู่ มีการตายอยู่ ก็ถือว่ายังเป็นทุกข์

บางทีก็อยากไปเกิดเป็นพระพรหมอยู่ในพรหมโลก เมื่ออยากไปเกิดเป็นพรหม เพราะเห็นว่าเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทวดาก็ยังมีความทุกข์อยู่ สู้การไปเกิดเป็นพรหมไม่ได้ ก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรมบำเพ็ญรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล กุศลนั้นก็อำนวยให้ไปเกิดเป็นพระพรหม

เมื่อไปเกิดเป็นพระพรหมแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุขตลอดไป ยังมีการจุติมีการตายอยู่ ยังไม่พ้นจากอบายภูมิ บางทีหมดบุญกุศลที่ตนสร้างสมอบรมไว้ เกิดความประมาทขึ้นมา ก็อาจไปเกิดในอบายภูมิได้ ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า ความทุกข์ที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่ในโลก เกิดจากตัณหา ๓ ประการนี้เป็นเหตุ

๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ดับทุกข์จริงๆ ได้แก่ ดับตัณหาทั้ง ๓ ประการนั้นได้โดยสิ้นเชิง

๔. ทุกขนิโรธคามินีอริยสัจ ทางดับทุกข์จริงๆ ได้แก่ อริยมรรค ๘ หรือที่เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค

ทุกข์ มีหน้าที่ให้รู้ เอามรรคมารู้

สมุทัย มีหน้าที่ให้ละ เอามรรคมาละ

นิโรธ มีหน้าที่ทำให้แจ้ง เอามรรคมาทำให้แจ้ง

มรรค มีหน้าที่ทำให้เจริญ เอามรรคมาเจริญมรรคเอง

ทุกขสัจ สมุทัยสัจ มรรคสัจ เว้นสัจจะวิมุตติ เป็นโลกิยสัจจะ นิโรธสัจเป็นโลกุตตรสัจจะ

อริยสัจทั้ง ๔ นี้ คือ ปรมัตถธรรม นั่นเอง

เอาสภาวะของปรมัตถธรรมมาเป็นดังนี้ คือ

ทุกขสัจ คือ โลกิยจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ เว้นโลภรูป ๒๘

สมุทัยสัจ ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ ดวง

นิโรธสัจ ได้แก่ พระนิพพาน

มรรคสัจ ได้แก่ เจตสิกอันเป็นองค์มรรค ๘ ดวง

อริยสัจทั้ง ๔ นี้ เมื่อย่อลงมา ได้แก่ รูปธรรมกับนามธรรม คือ

ทุกขสัจ เป็นทั้งรูปธรรม เป็นทั้งนามธรรม ได้ ๒ อย่าง

สมุทัยสัจ คือ ตัณหา ๓ ประการ เป็นนามธรรมอย่างเดียว

นิโรธสัจ คือ ความดับรูปนาม จัดเป็นนามธรรม

มรรคสัจ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จัดเป็นนามธรรม

โลกุตตรจิต ๘ อันเป็นสัจจวิมุตติ คือพ้นจากสัจจะ จัดเป็นนามธรรม คำว่า โลกุตตรจิต ๘ นี้ ได้แก่ โสดาปัตติมัคคจิต ๑ โสดาปัตติผลจิต ๑ สกทาคามิมัคคจิต ๑ สกทาคามิผลจิต ๑ อนาคามิมัคคจิต ๑ อนาคามิผลจิต ๑ อรหัตตมัคคจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑

สรุปว่า อริยสัจ ๔ ก็คือรูปธรรมนามธรรม การที่เราตั้งสติให้ทันปัจจุบัน จนเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง ทนได้ยาก อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ขณะที่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดับไปๆ พร้อมอริยสัจทั้ง ๔ ก็ชื่อว่าได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ข้อศึกษาโดยย่อมีเท่านี้

ที่กล่าวไปทั้งหมดนั้นอาจเข้าใจยากอยู่ ขอสรุปมาสั้นๆ ในแนวของการปฏิบัติล้วนๆ คือ

อริยสัจทั้ง ๔ เกิดขึ้นจากร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เกิดขึ้นที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ก็ได้

เกิดขึ้นได้อย่างไร?

สมมติว่า อริยสัจ ๔ นี้เกิดทางตา ในขณะที่เราเห็นรูป วินาทีแรกที่ตาเห็นรูป นี่คือตัวสมุทัย อันเป็นตัวเหตุ เมื่อมีเหตุก็มีผล คือรูปนั้นปรากฏชัดเจนขึ้นตามลำดับๆ จนเรารู้ชัดว่า อันนี้เป็นรูปของผู้หญิง เป็นรูปของผู้ชาย เป็นรูปของอะไร อันนี้เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่รูปพร้อมความรู้สึกของเราดับไป นี้เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เราเริ่มเห็นรูป เห็นรูปชัดเจนแจ่มแจ้งจนกระทั่งรูปพร้อมทั้งความรู้สึกดับไป เป็นมรรคสัจ

เวลาหูได้ยินเสียงก็เหมือนกัน อริยสัจ ๔ เกิดขึ้นทางหู วินาทีแรกที่หูได้ยินเสียง เป็นตัวสมุทัย คือตัวเหตุ เมื่อได้ยินเสียงนั้น เสียงชัดเจนยิ่งขึ้น ทราบได้ว่านี้เป็นเสียงของอะไร เสียงผู้หญิงหรือเสียงผู้ชาย เสียงของเทปหรือวิทยุ เราทราบชัดขึ้นมา นี้เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่เสียงพร้อมทั้งความรู้สึกดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มได้ยินเสียง จนกระทั่งเสียงพร้อมด้วยความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ

เวลาจมูกได้กลิ่น อริยสัจเกิดขึ้นที่จมูก วินาทีแรกที่จมูกได้กลิ่น เป็นสมุทัย อาการที่กลิ่นปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งๆขึ้นจนสามารถรู้ได้ว่า อันนี้เป็นกลิ่นของอะไร เป็นกลิ่นหอมหรือเหม็น มาจากไหน นี้เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่กลิ่นพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มได้กลิ่น จนถึงกลิ่นพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ

เวลาลิ้มรสก็เหมือนกัน อริยสัจเกิดที่ลิ้น วินาทีแรกที่ลิ้นได้รส เป็นตัวสมุทัย อาการที่รสปรากฏชัดเจนจนทราบว่าเป็นรสอะไร เปรี้ยวหรือหวาน เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่รสนั้นพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่รสเกิดขึ้น จนถึงรสพร้อมทั้งความรู้สึกนั้นดับ เป็นมรรคสัจ

เวลากายของเราถูกสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งก็เหมือนกัน วินาทีแรกที่มีการกระทบกับอาการเย็นร้อนอ่อนแข็ง เป็นตัวสมุทัย อาการที่เย็นร้อนอ่อนแข็งนั้นปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับๆ จนรู้ว่าอาการกระทบนี้มันมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่กระทบกับเย็นร้อนอ่อนแข็ง พร้อมด้วยความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่ได้กระทบสัมผัส จนถึงอาการกระทบสัมผัสกับเย็นร้อนอ่อนแข็ง พร้อมด้วยความรู้สึกดับไป เป็นมรรคสัจ

อริยสัจ ๔ เกิดทางใจ วินาทีแรกที่ใจรู้อารมณ์หรือคิดอารมณ์ เป็นสมุทัย อารมณ์นั้นปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เป็นทุกขสัจ อารมณ์พร้อมด้วยความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่แรกที่ใจรู้อารมณ์หรือคิดอารมณ์ จนอารมณ์พร้อมด้วยความรู้สึกนั้นดับไป เป็นมรรคสัจ

ทีนี้ใกล้เข้ามา ในอาการที่เรากำหนด เช่นว่า เรากำหนดอาการยืน อาการอยากเดิน อาการขวาย่าง อาการซ้ายย่าง อาการนั่ง อาการนอน อริยสัจ ๔ เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น และในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ อริยสัจ ๔ ก็เกิดขึ้นได้ เช่น เรากำหนดอาการพองว่า พุทโธๆ หรือพองหนอ หรือว่ารู้หนอ คำใดคำหนึ่ง วินาทีแรกที่ท้องของเราพองขึ้นมาเส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน สามเส้นขน อย่างนี้เป็นตัวสมุทัย อาการที่ท้องของเราพองสูงขึ้นๆ จวนๆ จะดับ เป็นทุกขสัจ อาการพองพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มพองจนถึงอาการพองพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ

อริยสัจ ๔ เกิดขึ้นในขณะที่เรากำหนดอาการยุบ วินาทีแรกที่ท้องของเรายุบลงไปเส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน เป็นต้น เป็นสมุทัย อาการยุบนี้แจ่มแจ้งขึ้นตามลำดับ จนจวนๆอาการยุบนั้นจะดับลง เป็นทุกขสัจ คือมันทนอยู่ไม่ได้ เมื่อยุบลงไปก็ยุบลงเรื่อยๆ อาการยุบพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มยุบ ตลอดถึงอาการยุบพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อริยสัจ ๔ นั้น เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ได้ทั้งนั้น เหตุนั้น เวลาบรรลุอริยมรรคอริยผล ก็บรรลุได้ทุกโอกาส คือบรรลุในขณะที่ตาเห็นรูปก็ได้ ในขณะที่หูได้ยินเสียงก็ได้ หรือบรรลุในขณะที่จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ ก็ได้ ในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็บรรลุได้

คือหมายความว่า เวลาจะบรรลุอริยมรรคอริยผล ก็บรรลุที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ มิใช่ว่าเราจะไปบรรลุที่อื่น เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม ใครที่เฝ้าเหม่อมองคิดว่า เมื่อไรหนอพระพุทธเจ้าจะมาโปรด เมื่อไรหนอพระอรหันต์จะมาโปรด เมื่อไรหนอเทพเจ้าบนสวรรค์ผู้มีฤทธิ์มากจะมาโปรดให้ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ถ้ามัวแต่คิดอย่างนั้น ก็หมายความว่าปฏิบัติผิดทาง เพราะว่าผู้มีฤทธิ์มีอำนาจมากสักปานใดก็ตาม มาดลบันดาลให้เราบรรลุนั้นไม่ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรมของศาสนานี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะบันดาลให้ได้

พระองค์เป็นแต่ผู้ชี้แนะแนวทางให้ประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น ส่วนความเพียรนั้นเราต้องทำเอาเอง แต่มีข้อแม้อยู่ว่า เวลาจะบรรลุอริยมรรคอริยผลนั้น ต้องเห็นอริยสัจ ๔ และอริยสัจ ๔ นั้นต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน จึงจะใช้ได้ ถ้าเกิดไม่พร้อมกัน ก็ใช้ไม่ได้

อีกอย่างหนึ่ง ที่ว่าอริยสัจเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเกิดที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็ได้นี้ หมายความว่า ถ้าเรามีสติกำหนด อริยสัจ ๔ จึงจะเกิด ถ้าเราไม่มีสติกำหนด อริยสัจ ๔ ไม่เกิด ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เมื่ออริยสัจ ๔ มันเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราก็ได้ ที่อาการพองอาการยุบก็ได้ อริยสัจ ๔ อยู่ที่ตัวเรานี้แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติพระกัมมัฏฐานให้ลำบาก

ถ้าคิดอย่างนี้ เรียกว่าคิดผิด ไม่ถูกทาง อุปมาเหมือนกันกับเรามีนาอยู่ เราก็รู้ว่านานี้เราเอาข้าวไปปลูกมันก็งอกขึ้นมา เมื่อมันผลิดอกออกผลเราก็เก็บเกี่ยวได้มาไว้รับประทาน แต่ถ้าหากว่าเราไม่เอาข้าวไปหว่าน ไม่เอาข้าวไปปลูกแล้ว มันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

ที่ว่าอริยสัจ ๔ เกิดอยู่ในร่างกายอันยาววาหนาคืบของเราก็เหมือนกัน เราเรียนเรารู้อยู่ว่า อริยสัจ ๔ เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดที่อาการพองอาการยุบ แต่เราไม่มีสติกำหนด ไม่ใช้ความเพียรในการปฏิบัติ ไม่เอาสติไปกำหนด อริยสัจ ๔ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ และอริยสัจ ๔ นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน จึงจะถือว่าเป็นการบรรลุ

อุปมาเหมือนกันกับเราจุดเทียน จะมีลักษณะ ๔ ประการเกิดขึ้นพร้อมกัน คือ ๑. ขี้ผึ้งหมดไป ๒. ไส้เทียนหมดไป ๓. แสงสว่างเกิดขึ้น ๔. ความมืดหายไป

ลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ฉันใด อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ฉันนั้น จึงจะถือได้ว่าบรรลุอริยมรรคอริยผล และในขณะที่อริยสัจทั้ง ๔ เกิดนั้น ก็ต้องมีพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดพร้อม จึงถือว่าเป็นการบรรลุ

สรุปแล้วว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เป็นก้อนอริยสัจทั้งก้อน เหตุใดจึงว่าเช่นนั้น สมมุติว่า

๑. ทุกขอริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ อะไรเป็นทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ใครเป็นผู้เกิด ใครเป็นผู้แก่ ใครเป็นผู้ตาย เราเองเป็นผู้เกิด ผู้แก่ ผู้ตาย เหตุนั้น ทุกขอริยสัจ จึงรวมอยู่ที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้

๒. สมุทัย คือ ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหาคือความทะยานอยากอย่างแรงกล้า อยากไปเกิดเป็นมนุษย์ อยากเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา อยากไปเกิดเป็นพระพรหมในพรหมโลก หรืออยากเป็นนั้นเป็นนี้ อยากไม่เป็นนั้นเป็นนี้ ใครเป็นผู้อยาก เราเองเป็นผู้อยาก เหตุนั้น สมุทัยสัจจึงรวมอยู่ที่ร่างกายนี้

๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ พระนิพพาน ความดับทุกข์นั้น คือการดับตัณหาทั้ง ๓ ประการ ใครเป็นผู้ดับ เราเองเป็นผู้ดับ ไม่มีใครมาดับให้ได้ เหตุนั้น นิโรธสัจจึงรวมอยู่ที่ร่างกายนี้

๔. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา นี้ ใครเป็นผู้ปฏิบัติ เราเองเป็นผู้ปฏิบัติ เหตุนั้น มรรคสัจก็จึงรวมอยู่ที่สกนธ์ร่างกายนี้

ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นก้อนอริยสัจ เป็นก้อนธรรมะล้วนๆ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใช้โยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา ใช้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สอดส่องธรรม ให้เห็นร่างกายนี้ประกอบไปด้วยอริยสัจทั้ง ๔ และตั้งอยู่ในกฎของพระไตรลักษณ์อันเป็นสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป

เมื่อใด เราพิจารณาร่างกายอันยาววาหนาคืบ เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขณะเดียวกัน อริยสัจ ๔ ก็เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ในขณะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็ถือว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ท่านทั้งหลาย ธรรมะที่ได้นำมาบรรยายนี้ เราฟังดูแล้วเหมือนกันกับง่ายนิดเดียวเท่านั้น ที่จริงมันก็เป็นของง่ายเหมือนกัน คือง่ายอยู่ที่รู้วิธีปฏิบัติ แต่ยากอยู่ที่ไม่รู้วิธีปฏิบัติ ถ้าเรารู้วิธีปฏิบัติแล้ว และพยายามตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆ มีศรัทธาความเชื่อมั่นจริงๆ หลวงพ่อว่าไม่เหลือวิสัยที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะได้บรรลุสามัญผล

เพราะอริยสัจ ๔ ก็อยู่ที่สกนธ์ร่างกายนี้ทั้งหมด แต่เรามองไม่เห็น เหมือนกันกับเส้นผมบังภูเขา เพราะเหตุไร? เพราะโมหะคือความมืดบอด หรืออวิชชาความโง่ความหลง มาบังจักษุคือปัญญาของเราไว้ ไม่ให้มองเห็นอริยสัจ ๔ เหมือนกันกับขนตาของเรา ขนตาของเรามันอยู่ใกล้ตามากที่สุด แต่เรามองไม่เห็น ข้อนี้ฉันใด

อริยสัจ ๔ มันอยู่ใกล้ตัวเรา อยู่ที่ตัวเรา แต่เราก็มองไม่เห็น เพราะโมหะมันบังไว้ ดังนี้เราต้องเพิก ต้องกำจัดโมหะออกไป ด้วยการใช้สติไปทำลายโมหะ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจอะไรๆ ต้องมีสติกำกับเสมอ เพื่อเป็นการฝึกสติให้มีพลัง มีอานุภาพ

เมื่อใดสติของเรามีพลังมีอานุภาพแล้ว สติตัวนี้ก็จะไปทำลายโมหะหรือกำจัดโมหะทันที เมื่อใดเรากำจัดโมหะที่ปิดบังอริยสัจ ๔ และพระไตรลักษณ์ได้แล้ว เราก็จะเห็นอริยสัจทั้ง ๔ พร้อมด้วยพระไตรลักษณ์ เมื่อเราเห็นอริยสัจ ๔ พร้อมด้วยพระไตรลักษณ์ ก็ได้ชื่อว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว

ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

๑. ก็ในการปฏิบัติธรรมนี้ หากว่าไม่จำเป็น ขอร้องอย่าฉันหนเดียว โดยเฉพาะท่านที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคประสาท โรคความดันสูงอย่างนี้ ขอร้องเป็นพิเศษ อย่าฉันหนเดียว ให้ฉันสองหน แต่ว่าเราฉันไม่มากไม่เป็นไร เพราะว่า ถ้าเราฉันหนเดียว จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โรคเหล่านั้นกำเริบขึ้นมา

อีกอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เวลาเราฉันเสร็จ แทนที่จิตใจจะได้ร่าเริงเบิกบาน กระฉับกระเฉงในการประพฤติปฏิบัติ ฉันเข้าไปแล้วทำให้ง่วงนอนและอยากนอน การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เหตุนั้น เราฉันสองหนแต่ฉันอย่าให้เต็มที่ไม่เป็นไร เว้นแต่ท่านผู้ใดอ้วนเกินไป การประพฤติปฏิบัติอืดอาดยืดยาดไม่เดินหน้า นั่งก็ไม่สะดวกไม่สบาย อย่างนี้ท่านจะฉันหนเดียวก็ได้ ไม่เป็นไร

๒. อย่าให้เกิดอาการตึงเครียด คือถ้าอาการตึงเครียดเกิดขึ้นมา จะทำให้คิดมาก นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง เมื่อเราไม่ระงับ ไม่กำหนด ปล่อยให้ความตึงเครียดเกิดขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เสียสติ เป็นบ้าได้ ดังนั้น เมื่อความตึงเครียดเกิดขึ้นมา ให้ไปสรงน้ำแล้วทำจิตใจให้สบาย จึงค่อยมาเดินจงกรมนั่งสมาธิ อย่าให้เกิดความตึงเครียดขึ้น

๓. อย่าให้หย่อนยานเกินไป คือนอกเวลาเดินจงกรมนั่งสมาธิ จะไปไหนๆ ขอให้กำหนด เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม ก็ขอให้รู้ทันทุกขณะ และในเวลาทำกิจอะไรๆ ก็พยายามทำให้เป็นอารมณ์เดียว เช่น ในขณะเดินเราก็ตั้งใจเดิน

ถ้าเราจะครองผ้าหรือห่มจีวรอย่างนี้ ก็หยุดห่มเสียก่อน ห่มจีวรเสร็จจึงค่อยไป ถ้าเราทั้งเดินด้วยทั้งห่มด้วย ก็ชื่อว่าเรามี ๒ อารมณ์ ๓ อารมณ์แล้ว ฉะนั้น จะทำอะไรๆ ก็ขอให้เป็นอารมณ์เดียว ถ้าแปรงฟันก็ตั้งใจแปรงฟัน ถ้าสรงน้ำก็ตั้งใจสรงน้ำ อย่าทำขณะเดียว ๒ อย่าง จิตกำหนดไม่ทัน

๔. ชั่วโมงที่ผ่านการปฏิบัติ (เวลาบรรลุผล) มากที่สุด เท่าที่หลวงพ่อได้สอนลูกศิษย์ลูกหามา ส่วนมากจะเป็นตั้งแต่ ๔ ทุ่มไปจนถึงตี ๒ จะผ่านการปฏิบัติได้มากที่สุด เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย หลังจากตีระฆังนอนตอน ๔ ทุ่มแล้ว ก็ให้เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อไปอีกพอสมควร แล้วจึงค่อยนอน เพราะช่วงนั้นจะทำให้ผ่านการปฏิบัติได้มากกว่าเวลาอื่น แต่เวลาอื่นก็มีอยู่ ภาคเช้าก็ดีหรือกลางวันก็ดี ก็มีอยู่ แต่ไม่มากเท่าช่วง ๔ ทุ่มไปถึงตี ๒ นี้ ผ่านกันมากที่สุด

๕. ขอร้องเป็นพิเศษ อย่าพูดอย่าคุยกันในชั่วโมงปฏิบัติ ที่เพื่อนๆปฏิบัติเดินจงกรมนั่งสมาธิ เราไปคุยกันก็ทำให้รบกวนผู้ที่ปฏิบัติ และเป็นเหตุให้ไม่พอใจกันขึ้นมา และเวลาฉันภัตตาหารก็เหมือนกัน ขอให้กำหนด อย่าปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะว่า เวลาฉันภัตตาหารนี้ บาปเกิดขึ้นได้มาก บางทีทะเลาะกันในเวลาฉันภัตตาหารนี้ก็มี

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อริยสัจ ๔ มาบรรยายนี้ ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 67.0.3396.99 Chrome 67.0.3396.99


ดูรายละเอียด
« ตอบ #79 เมื่อ: 10 สิงหาคม 2561 11:44:44 »




ปฏิจจสมุปบาท

ความประชุมพร้อมแห่งผล อาศัยความสามัคคีของปัจจัยทั้งหลายแล้วทำให้เกิดผลโดยพร้อมเพียงกันและสม่ำเสมอกัน เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท มี ๑๒ ประการ อันเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน ดังจะแสดงต่อไปนี้

อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ

สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ

ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา

เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา

ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน

อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิดภพ

ภพ เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ

ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ

ชรามรณะ เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา

๑. อวิชชา คือความไม่รู้ คือไม่รู้ในอริยสัจ ๔ ตัวเผลอ ตัวหลง มืดมนในธรรม ธรรมที่ควรได้ย่อมไม่ได้ ธรรมที่ไม่ควรได้ย่อมได้ หมายความว่า ไม่รู้ปรมัตถ์ แต่ไปรู้บัญญัติ ได้แก่ โมหเจตสิก นั่นเอง

๒. สังขาร คือธรรมที่ปรุงแต่ง ได้แก่ สังขาร ๓ หรืออภิสังขาร ๓ องค์ปรมัตถ์ คือเจตนา ๒๙

๓. วิญญาณ คือความรู้ในอารมณ์ ได้แก่ จิตเป็นโลกีย์วิบาก ๓๒ ดวง

๔. นามรูป คือสภาพที่แตกดับ ยืนไว้ให้รู้ เรียกว่า รูป ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ๒๘ สภาพที่น้อมไปหารูปที่แตกดับ คือผู้เข้าไปรู้ เรียกว่า นาม ได้แก่ เจตสิกทั้งหมด

๕. สฬายตนะ คืออายตนะ ๖ ซึ่งเป็นส่วนภายในองค์ปรมัตถธรรม ได้แก่ ปสาทรูป ๕ กับจิตทั้งหมด

๖. ผัสสะ คือธรรมชาติที่กระทบอารมณ์ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง อันเนื่องจากการประชุมของอารมณ์กระทบปสาทรูปและเกิดวิญญาณขึ้น องค์ปรมัตถธรรมได้แก่ ผัสสเจตสิก

๗. เวทนา คือธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้างมี ๓ หรือ ๕ อันเกิดจากผัสสะเป็นปัจจัย มี ๖ ได้แก่ เวทนาเจตสิก

๘. ตัณหา คือความอยากอย่างแรงกล้า ได้แก่ตัณหา ๖ องค์ปรมัตถธรรม คือโลภเจตสิกนั้นเอง ซึ่งแยกออกตามเหตุปัจจัย มี ๓ บ้าง ๑๐๘ บ้าง

๙. อุปาทาน คือสภาพที่ยึดมั่นถือมั่น คือยึดถืออารมณ์ไว้ด้วยอำนาจแห่งตัณหาที่หนาแน่นขึ้นนั่นเอง องค์ธรรม ได้แก่ โลภเจตสิก

๑๐. ภพ คือกามภพ ซึ่งเป็นเจตนาของกุศลและอกุศลที่ทำให้เกิดวิบากและกฏัตตารูป เกิดในกามภพ รูปภพและอรูปภพ ได้แก่ อุปัตติภพทั้ง ๙ มีกามภพ เป็นต้น

คำว่า ภพ จึงได้แก่ กรรมใน ๓๑ ภูมินั้นเอง องค์ปรมัตถธรรม ได้แก่ เจตนาที่ประกอบด้วยจิต ๒๙ ดวง

๑๑. ชาติ คือความเกิด ความประสูติ ความเป็น ความปรากฏ แห่งขันธ์ทั้ง ๕ ได้แก่ ปฏิสนธิตามกำเนิด ๔ องค์ปรมัตถธรรม ได้แก่ นิปผันนรูป ๑๘ (รูปชาติ) วิปากจิต ๑๙ (นามชาติ)

๑๒. ชรามรณะ คือความแก่และความตาย อันเป็นผลของชาติ ซึ่งมีรวมด้วยกัน ๕ ประการ ได้แก่ ชรา ความแก่, มรณะ ความตาย, โสกะ ความเศร้าโศก, ปริเทวะ ความร้องไห้, ทุกขะ ความทุกข์กาย, โทมนัสสะ ความทุกข์ใจ, อุปายาสะ ความคับแค้นใจจนพูดไม่ออก ซึ่งหมายเอา ฐิติ ตั้งอยู่ ภังคะ ดับไป ตามความปรวนแปรของจิต เจตสิก และรูป อันไม่มีที่สิ้นสุด

ปฏิจจสมุปบาท จัดเป็นอัทธา ๓ (กาล ๓)

๑. อดีตธรรม คือ อวิชชา สังขาร

๒. อนาคตธรรม คือ ชาติ ชรา มรณะ

๓. ปัจจุบันธรรม คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ

ปฏิจจสมุปบาท จัดเป็นองค์ได้ ๑๒ ดังแสดงมาแล้วข้างต้น ถ้าจัดตามอาการได้ ๒๐ แบ่งออกเป็น ๔ หมวด คือ

๑. อดีตเหตุ ๕ คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ

๒. ปัจจุบันผล ๕ คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

๓. ปัจจุบันเหตุ ๕ คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ

๔. อนาคตผล ๕ คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

ปฏิจจสมุปบาท ถ้าจัดตามสังเขป มี ๔ คือ

๑. อดีตกาลเหตุสังเขป ได้แก่ อวิชชา สังขาร

๒. ปัจจุบันผลสังเขป ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

๓. ปัจจุบันเหตุสังเขป ได้แก่ ตัณหา อุปาทาน ภพ

๔. อนาคตผลสังเขป ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ

ปฏิจจสมุปบาท ถ้าจัดตามวัฏฏะ มี ๓ คือ

๑. กิเลสวัฏฏะ ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

๒. กัมมวัฏฏะ ได้แก่ ภพ สังขาร

๓. วิปากวัฏฏะ ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

จัดเป็นมูลมี ๒ คือ

๑. อวิชชา คือ โมหะ ความหลงลืม ไม่รู้ธรรม

๒. ตัณหา คือ โลภะ ความอยากได้ในวัตถุกาม

อนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทธรรม นี้ ซึ่งเป็นภูมิพื้นที่ที่เจริญวิปัสสนานั้น จะเรียกว่า รูปและนาม ก็ได้ ดังจะสงเคราะห์ให้เห็นประจักษ์ชัด ต่อไปนี้

๑. อวิชชา เป็นนามธรรม

๒. สังขาร เป็นนามธรรม

๓. วิญญาณ เป็นนามธรรม

๔. นามรูป เป็นทั้ง นามธรรม และ รูปธรรม

๕. สฬายตนะ เป็นนามธรรม

๖. ผัสสะ เป็นนามธรรม

๗. เวทนา เป็นนามธรรม

๘. ตัณหา เป็นนามธรรม

๙. อุปาทาน เป็นนามธรรม

๑๐. ภพ เป็นนามธรรม

๑๑. ชาติ เป็นนามธรรม

๑๒. ชรามรณะ เป็นนามธรรม

ผู้เจริญวิปัสสนาโดยเอารูปนามเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เมื่อรู้ รูปนาม ก็คือรู้ ปฏิจจสมุปบาท จนละมูละ คือ อวิชชา ตัณหา ได้จริงแล้ว ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีชาติชราสิ้นแล้ว เหตุที่ความประชุมพร้อมแห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง

เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ, เมื่อสังขารดับ วิญญาณก็ดับ, เมื่อวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ, เมื่อนามรูปดับ อายตนะก็ดับ, เมื่ออายตนะดับ ผัสสะก็ดับ, เมื่อผัสสะดับ เวทนาก็ดับ, เมื่อเวทนาดับ ตัณหาก็ดับ, เมื่อตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ, เมื่ออุปาทานดับ ภพก็ดับ, เมื่อภพดับ ชาติก็ดับ, เมื่อชาติดับ ชรามรณะก็ดับ

เมื่อชรามรณะดับแล้วก็ไม่เกิดอีก ไม่ต้องเศร้าโศก ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องทุกข์กาย ไม่ต้องทุกข์ใจ เป็นบรมสุขอย่างเยี่ยม.


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า:  1 2 3 [4] 5 6 7   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.94 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 27 กุมภาพันธ์ 2567 01:13:35