[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 04:06:52 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 ... 3 4 [5] 6 7   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แสงสว่างทางปฏิบัติ  (อ่าน 43995 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 68.0.3440.106 Chrome 68.0.3440.106


ดูรายละเอียด
« ตอบ #80 เมื่อ: 24 สิงหาคม 2561 10:38:13 »



วิปัสสนา

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย วันนี้หลวงพ่อจะได้พูดเรื่อง วิปัสสนา โดยสังเขปกถาย่อๆ พอเข้าใจ

การเจริญวิปัสสนานั้น ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจะต้องรู้จักเหตุ รู้จักลักษณะ รู้จักกิจ และรู้จักผลของวิปัสสนา

๑. จิตที่ตั้งมั่นด้วยสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุของวิปัสสนา

๒. ความรู้ว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามความเป็นจริง เป็นลักษณะของวิปัสสนา

๓. ความขจัดความมืดคือโมหะอันปิดบังปัญญา มิให้เห็นตามความเป็นจริงของสังขาร เป็นกิจของวิปัสสนา

๔. ความเห็นจริงส่องสว่างทั่วไป ในความที่สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าดั่งดวงประทีปส่องสว่างอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นผลของวิปัสสนา

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายที่เจริญวิปัสสนาอยู่ ในขณะนี้ ควรทำความเข้าใจคำว่า วิปัสสนา เสียก่อนแยกออกเป็น ๒ ศัพท์คือ วิ ศัพท์หนึ่ง ปัสสนา ศัพท์หนึ่ง

คำว่า วิ แปลว่า แจ้ง

คำว่า ปัสสนา แปลว่า การเห็น

รวมความว่า วิปัสสนา แปลว่า การเห็นแจ้งซึ่งรูปนามตามความเป็นจริง

หมายความว่า การเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องทำให้ปัญญารู้แจ้งซึ่งรูปซึ่งนามว่า รูปเป็นอย่างไร นามเป็นอย่างไร เป็นต้น

เพราะเหตุไร จึงจำเป็นที่จะรู้แจ้งซึ่งรูปนาม

เพราะว่า การที่ไม่รู้รูปนาม ทำให้คนเราทั้งหลาย หลงรัก หลงใคร่ หลงอยากได้ หลงชัง หลงติดอยู่ในสมมติบัญญัติ ไม่รู้ปรมัตถ์

เพราะความไม่รู้แจ้งซึ่งรูปนามนี้เอง จึงทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น การรู้รูปนาม ทำให้คนเราหมดตัณหา มานะ ทิฏฐิ สิ้นอาสวะกิเลส ให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ตัดกำลังของวัฏสงสารได้เด็ดขาด ไม่หมุนเวียนต่อไป เหตุนั้น จึงจำเป็นต้องรู้รูปนาม ด้วยความเป็นจริง

ทำอย่างไรจึงจะรู้รูปนามด้วยความเป็นจริง เราต้องสำเหนียกอยู่ตลอดเวลา เช่นว่า เรากำหนดอาการพอง อาการยุบว่า “พองหนอ” อย่างนี้ ต้นพองเป็นอย่างไร กลางพองเป็นอย่างไร สุดพองเป็นอย่างไร กำหนดว่า “ยุบหนอ”อย่างนี้ ต้นยุบเป็นอย่างไร กลางยุบ สุดยุบเป็นอย่างไร อาการพอง อาการยุบ ที่เรากำหนดแล้ว มันเป็นอย่างไร มันฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด หรืออาการพอง อาการยุบ มันเร็วๆ หรือมันสั้น หรือมันยาว อะไรทำนองนี้

ผู้ปฏิบัติต้องรู้ ต้องสำเหนียกอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา และต้องสำเหนียกอยู่อย่างนี้ทุกครั้งๆ ที่กำหนด เมื่อเรากำหนดได้อย่างนี้และสำเหนียกได้อย่างนี้ ก็จะเห็นรูป เมื่อเห็นรูปแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เห็นนาม เพราะว่านามนั้นอาศัยอยู่ในรูป

อุปมาเหมือนกันกับน้ำมันงาในเมล็ดงาที่เรามองเห็นอยู่ เรามองเห็นแต่ภายนอก แต่ไม่รู้ว่าภายในนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเราเอาเมล็ดงาไปสกัดด้วยกรรมวิธีแล้ว ก็บีบหรือสกัดน้ำมันของงานั้นออกมา เราก็เห็นน้ำมันงาข้อนี้ ฉันใด รูปนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกันกับเราทำน้ำขุ่นให้ใส ธรรมดาน้ำที่เราดื่ม เราก็เห็นว่ามันใสเต็มที่ แต่ถ้าเราใช้กรรมวิธี เช่น เอาสารส้มลงไปแกว่ง หรือไปแช่ไว้ แล้วก็ปล่อยไว้สักพักหนึ่ง เราก็จะเห็นตะกอนของน้ำอยู่ในขวด ข้อนี้ ฉันใด รูปนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น เมื่อใดเราเห็นรูปเห็นนามชัดด้วยปัญญาแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นกิเลส ซึ่งเกิดอยู่ในขันธสันดานของเรา

เมื่อก่อนโน้น เราไม่รู้ว่ากิเลสมันเป็นอย่างไร โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน มันเป็นอย่างไร มันอยู่ที่ไหน เราก็ไม่เห็นมัน แต่เมื่อใด เราเห็นรูปเห็นนามชัดด้วยปัญญาแล้ว เราเพ่งพิจารณาลึกๆ เข้าไปด้วยสติปัญญา ก็จะเห็นทันทีว่า โลภะ โทสะ โมหะ มันมีอยู่ตรงนี้ๆ มันนอนอยู่ในจิตใจของเราอย่างนี้ๆ

เมื่อใดเราเห็นรูปเห็นนามชัดแล้ว ก็สามารถที่จะแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ ไม่เห็นรวมๆ กันเหมือนเมื่อก่อน เราจะเห็นว่า ส่วนนี้เป็นรูป ส่วนนี้เป็นนาม เรากำหนดพองหนอ ตรงนี้เป็นรูป ตรงนี้เป็นนาม เรากำหนดว่า ยุบหนอ อย่างนี้ ตรงนี้เป็นรูป ตรงนี้เป็นนาม เกิดความรู้ขึ้นมา เมื่อกำหนดว่า พองหนอ อย่างนี้ เราก็เห็นว่า อาการพองนี้เป็นรูป ความรู้สึกว่ามันพองนี้เป็นนาม ยุบหนอ ท้องยุบนี้เป็นรูป ความรู้สึกว่ามันยุบนี้ มันเป็นนามเกิดขึ้นมาในจิตในใจ

เรากำหนดทางตาว่า เห็นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อกำหนดไปๆ มันก็รู้ทันทีว่า ตาก็ดี สีก็ดี นี่เป็นรูป ความรู้ว่าเป็นสีต่างๆ สีเหลือง สีดำ สีแดง หรือภาพต่างๆ ที่เราเห็นนี่ มันเป็นนาม หรือในขณะที่กำหนดหูว่า ได้ยินหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม ในขณะที่เรากำหนดไป เมื่อเราใช้ปัญญาพิจารณาไป ก็จะเห็นทันทีว่า ในขณะที่เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ นี่ตาของเราก็เป็นรูป สำหรับความรู้สึกของเรานั้นเป็นนาม

เรากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม เมื่อเรากำหนดไป กำหนดไปก็จะรู้ทันทีว่า หูนี่ก็เป็นรูป เสียงต่างๆ ที่ได้ยิน ก็เป็นรูป ความรู้สึกว่า อันนี้มันเป็นเสียง เป็นนาม เกิดความรู้ทันที ในขณะที่กำหนดทางจมูกว่า กลิ่นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อเรากำหนดไปๆ ตามลำดับๆ มันก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า จมูกนี่ก็เป็นรูป กลิ่นที่เราได้รับรู้ว่า มันเหม็น มันหอม นี่เป็นรูป ความรู้สึกว่ามันหอม มันเหม็น หรือเป็นกลิ่นอะไร เราก็รู้ เป็นนาม มันเกิดขึ้นเอง

ในขณะที่ลิ้นลิ้มรส เรากำหนดว่า รสหนอๆ ตรงไหน มันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อกำหนดไปๆ ลิ้นก็เป็นรูป รสอาหารนั้นก็เป็นรูป ความรู้สึกของเราว่า มันเปรี้ยว มันหวาน มันเค็ม มันจืด เป็นนาม เวลากายถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากำหนดว่า ถูกหนอๆ อาการถูกก็เป็นรูป อาการร้อน อาการอ่อน อาการแข็ง นี่เป็นรูป ความรู้สึกว่า มันอ่อน มันแข็ง มันร้อน มันเย็น นี่เป็นนาม มันก็เกิดขึ้นมาในทันที โดยที่ไม่ได้จำใครมา หรือไม่ได้จำตำรามาพูด

เมื่อเราเจริญวิปัสสนา กำหนดไปๆ มันจะเห็นอย่างนี้ คือเห็นรูปแล้วก็เห็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนาม แล้วก็เห็นกิเลส เมื่อเห็นกิเลสแล้วก็ยังไปเห็นอีกว่า เรากำหนดบทกัมมัฏฐานแต่ละบทนั้น มันจะรู้ทันทีว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม แล้วก็สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้

อุปมาเหมือนกันกับเราเฉือนหน่อตาล เรามองเห็นหน่อตาลที่มันเกิดขึ้นมาหลายๆ หน่อ หรือสองหน่ออย่างนี้ เราก็คิดว่า มันเป็นหน่อเดียวกัน แต่เมื่อเราเอามีดไปเฉือนออกมา เราจะเห็นว่า มันเป็นคนละหน่อ เกิดคนละขั้ว ข้อนี้ฉันใด รูปกับนามเหมือนกัน ฉันนั้น เรามองดู อย่างมองหยาบๆ เราจะเห็นว่า รูปนาม มันเป็นอันเดียวกัน การเดิน ขวาย่าง ซ้ายย่าง อาการพอง อาการยุบ อาการเจ็บ อาการปวด อาการคิด มันเป็นอันเดียวกัน เราจะเห็นอย่างนี้

แต่เมื่อใช้สติปัญญากำหนดไปๆ มันจะเห็นว่า มันเป็นคนละสิ่งคนละอันขึ้นมาทันที อาการพอง อาการยุบ นี่มันเป็นรูป อาการเจ็บ อาการปวด มันก็เป็นรูป อาการอ่อน อาการแข็งนี่เป็นรูป ความคิดนี่ โอ อะไรเป็นผู้คิด ใจคิด ใจนี่มันเป็นนามเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาทันที มันจะเกิดความรู้ขึ้นมาทันที

สมมติว่า เรากำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อะไรเป็นผู้กำหนด ใจเป็นผู้กำหนด ใครเป็นผู้ก้าว ขาเป็นผู้ก้าว ขาก็ดี ใจก็ดี สองอย่างนี้ อันเดียวกันหรือคนละอัน มันจะเห็นขึ้นมา ขานี่ก็เป็นรูป ใจที่กำหนดนั้นเป็นนาม แม้กัมมัฏฐานอื่นๆ ที่เราใช้สติสัมปชัญญะกำหนด มันจะรู้ขึ้นมาอย่างนี้ทันที แต่ถ้าเราไม่สำเหนียก ไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่พิจารณา ไม่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยปัญญาแล้ว มันก็จะเห็นเป็นแต่อันเดียวกัน อันเดียวกันอยู่ตลอดเวลา

หากว่าเราเจริญพระกัมมัฏฐานอย่างนี้ โอกาสที่จะรู้รูป รู้นาม โอกาสที่จะเห็นกิเลสตัณหานอนอยู่ในจิตของเรา โอกาสที่จะเห็นสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพานเกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ก็ยากนักยากหนา แต่เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาด้วยปัญญาอย่างนี้ มันก็จะเห็นรูป เห็นนาม เห็นกิเลส เห็นมรรค ผล พระนิพพาน ขึ้นมาทันที

รูปนามนั้น ท่านเปรียบเสมือนเรือน ธรรมดาเรือนที่เอาทัพสัมภาระต่างๆ มาควบคุมกันเข้า เขาก็เรียกว่า เรือน แต่ถ้าเราแยกส่วนต่างๆ ของเรือนออกไป อันนั้นเป็นเสา อันนี้เป็นคาน อันนี้เป็นขื่อ อันนั้นเป็นแป อะไรเป็นต้น มันจะเห็นเป็นคนละอัน คนละชิ้น ข้อนี้ ฉันใด ร่างกายของเราก็เหมือนกัน เมื่อเรามองดูผิวเผิน เราจะเห็นว่า เป็นอันเดียวกัน แต่เราพิจารณาให้ลึกๆ เข้าไป เราจะเห็นว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นคนละสิ่งเป็นคนละอัน อาศัยส่วนประกอบต่างๆ ของรูป จึงปรากฏอยู่ในขณะนี้

อุปมาเหมือนกันกับรถ รถนั้นเรามองดูเผินๆ เราก็จะเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน เป็นรถคันเดียวกัน แต่ถ้าเราแยกสัมภาระออกไป อันนี้เป็นคลัชซ์ อันนี้เป็นเพลา อันนี้เป็นล้อ เป็นพวงมาลัยเป็นต้น เราจะเห็นว่า รถเป็นคนละอัน เป็นคนละสิ่ง แต่ที่เขาเรียกว่าเป็นรถ เพราะถูกควบคุมด้วยสัมภาระ ประกอบด้วยสัมภาระ ข้อนี้ฉันใด รูปขันธ์ นามขันธ์ ก็เหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกันกับต้นไม้ เรามองดูผิวเผิน เราก็จะเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเราแยกออกไปเป็นส่วนๆ เราจะเห็นเป็นคนละอัน คืออันนี้เป็นเปลือก อันนี้เป็นกระพี้ อันนี้เป็นแก่น อันนี้เป็นกิ่ง อันนี้เป็นใบ อันนี้เป็นผล อะไรทำนองนี้ ข้อนี้ฉันใด ร่างกายอันยาววาหนาคืบก็เหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกันกับดวงจันทร์ที่เราเห็นอยู่นี้ เรามองเข้าไป เราจะเห็นว่า ดวงจันทร์ทั้งดวงนั้นเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่คนละอัน แต่ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาให้ซึ้งๆ ลงไปแล้ว เราจะเห็นว่า ดวงจันทร์นั้นเป็นคนละอัน ที่เรามองเห็นนั้น มันแยกกันได้ว่า นั่นเป็นดวงจันทร์ แต่แสงสว่างออกมานั้นไม่ใช่ดวงจันทร์ ดวงจันทร์ก็ไม่ใช่แสงสว่าง แต่มันอาศัยกันเกิดขึ้น

อุปมาเหมือนกันกับดวงอาทิตย์ เรามองดวงอาทิตย์ เราจะเห็นว่ามันเป็นดวงเดียวกัน แต่ถ้าเราคิดด้วยปัญญาแล้ว ทีนี้เราจะเห็นเป็นคนละอัน ดวงอาทิตย์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แสงสว่างของดวงอาทิตย์นั้น ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งมันเป็นคนละอัน แต่มันอาศัยกัน ข้อนี้ ฉันใด รูปนามของเราก็เหมือนกัน ฉันนั้น

รูปนามอาศัยกัน อุปมาเหมือนกันกับหุ่นกระบอก ธรรมดาเราไปดูหนังปโมทัย หรือดูโน้นดูนี้ เราจะเห็นหุ่นกระบอกที่ถูกเขาชักนี่ มันรำเป็นตัวท้าว ตัวนาง เราจะเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเราคิดให้ซึ้งๆ เราจะเห็นว่าเป็นคนละอัน หุ่นกระบอกนั้นเป็นอันหนึ่ง บุคคลผู้ชักหุ่นกระบอกก็เป็นอันหนึ่ง ผู้ชักหุ่นก็ไม่ใช่หุ่นกระบอก หุ่นกระบอกก็ไม่ใช่ผู้ชักหุ่น ข้อนี้ ฉันใด รูปนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น รูปก็ไม่ใช่นาม นามก็ไม่ใช่รูป แต่อาศัยกันเกิดขึ้น

อุปมาอีกอย่างหนึ่ง เหมือนกันกับไม้อ้อ ๒ มัดที่ค้ำยันกันอยู่ ไม้อ้อสองมัดนั้น แต่ละมัดๆ ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน คนละอัน ไม้อ้อมัดที่ ๑ ก็ไม่ใช่มัดที่ ๒ มัดที่ ๒ ก็ไม่ใช่มัดที่ ๑ แต่มันอาศัยกันเกิดขึ้น หากว่าเราเอาไม้อ้อมัดที่ ๑ ออกไปเสีย มัดที่ ๒ ก็ต้องล้ม ถ้าเอามัดที่ ๒ ทิ้งไปเสีย มัดที่ ๑ ก็ต้องล้ม ข้อนี้ ฉันใด รูปนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น ถ้ารูปดับ นามก็ดับ ถ้านามดับ รูปก็ดับ เพราะรูปกับนามอาศัยซึ่งกันและกัน

หรืออุปมาเหมือนกันกับกลองและเสียงกลอง กลองกับเสียงกลองนั้น ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน กลองก็ไม่ใช่เสียง เสียงก็ไม่ใช่กลอง แต่อาศัยกันเกิดขึ้น

อุปมาเหมือนเจ้าบอดกับเจ้าง่อย คนหนึ่งบอดมาแต่กำเนิด แต่อีกคนหนึ่งง่อยมาแต่กำเนิด วันหนึ่ง เจ้าบอดจะไปสู่สถานตำบลแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถจะไปได้ เพราะตามองไม่เห็น ก็มีแต่บ่นไปว่า ข้าพเจ้าอยากไปบ้านโน้นๆ แต่ข้าพเจ้ามองไม่เห็นหนทาง ในขณะนั้น เจ้าง่อยนั่งฟังอยู่ รู้ทันทีว่า ข้าพเจ้าก็ต้องการจะไปบ้านโน้นเหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะเดินได้ ขาของข้าพเจ้าไม่ดี เป็นคนง่อยมาแต่กำเนิด

พอดีพูดกันเท่านั้น ทั้งสองก็เข้าใจกันแล้วก็ตกลงกันเพื่อจะไปสู่บ้านที่ตนต้องการ เจ้าบอดก็แบกเอาเจ้าง่อยขึ้นใส่บ่า ในขณะที่เดินตามทาง เจ้าง่อยเป็นผู้นำทาง สำหรับเจ้าบอดก็เป็นขา ผู้พาเดิน ผลสุดท้าย ทั้งสองนั้นก็ไปถึงตำบลที่ต้องการ ข้อนี้ ฉันใด รูปกับนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น รูปไม่มีเดชจำเพาะตน นามก็ไม่มีเดชจำเพาะตน ต้องอาศัย ซึ่งกันและกัน

อุปมาเหมือนกันกับมนุษย์กับเรือที่ข้ามแม่น้ำ มนุษย์ที่ข้ามแม่น้ำต้องอาศัยเรือ และเรือกับมนุษย์นั้น ก็ไม่เป็นอันเดียวกัน เพราะเรือก็ไม่ใช่มนุษย์ มนุษย์ก็ไม่ใช่เรือ แต่ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน ก็สามารถจะข้ามไปถึงฝั่ง ข้อนี้ ฉันใด รูปนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น

ในเมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายก็จะพอเข้าใจว่า เราเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสำเหนียกบทพระกัมมัฏฐานแต่ละบท หรืออารมณ์กัมมัฏฐานแต่ละอย่างๆ ที่กำหนดอยู่นี้ ที่ภาวนาอยู่นี้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นบุญเป็นกุศล อะไรเป็นโทสะ อะไรเป็นโมหะ อะไรเป็นโลภะ อะไรเป็นทาน อะไรเป็นศีล อะไรเป็นสมาธิ อะไรเป็นปัญญา เมื่อเราทั้งหลายสำเหนียกอยู่อย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นรูปเห็นนาม เห็นกิเลสตัณหา เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติบทกัมมัฏฐานนี้ แม้ว่าจะเป็นทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ คือพระนิพพาน แต่ว่าเวลาทำนี้ มันทำลำบากท่านทั้งหลาย บางท่านก็ทำลำบาก บางท่านก็ทำสบาย อันนี้ก็ขึ้นอยู่ที่บุญกุศลที่เราได้สร้างสมอบรมมา คือว่า บางท่าน ทุกขังปรากฏชัด หรือในขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้ ทุกขังมันเกิดมาก เราจะเห็นว่าการทำกัมมัฏฐานนี่ มันลำบากลำบนเหลือทน มันเจ็บที่โน้น มันปวดที่นี้ ร้อยแปดพันประการ

ถ้าหากว่าท่านผู้ใดเห็นอนิจจังชัด คือ อนิจจังปรากฏมากกว่าทุกขัง ก็จะเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ ช่างเปลี่ยน แปลงไปเร็วเหลือเกิน เหมือนกันกับเรือที่เราขับขี่ไปในแม่น้ำ มันจะมีอาการกระเพื่อม แล้วก็ไหวอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ ฉันใด

เมื่อพระไตรลักษณ์คืออนิจจังปรากฏขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแรงกล้าแล้ว เราจะเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างช่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วนัก หรือว่าจิตของเราก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วนัก ขณะนี้คิดอย่างนี้ ขณะนี้คิดอย่างนี้ เรากำหนด ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ มันก็เปลี่ยนไปเร็วนัก เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ทำไมมันถึงเปลี่ยนไปเร็วนักอย่างนี้ มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจ

แต่บางท่านที่ได้สั่งสมอบรมบารมีมามาก เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อนัตตามันปรากฏชัด ผู้ใดเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อนัตตาปรากฏชัด ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี่ มันช่างง่ายเหลือเกิน สะดวกสบายเหลือเกิน กำหนดง่ายเหลือเกิน เวลาเดินจงกรมก็กำหนดง่ายเหลือเกิน เมื่อพิจารณา ท่านก็เห็นว่า แม้เรากำหนดง่ายๆ สบายๆ แต่มันก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา

เช่นว่า ในขณะนี้ เวลาเดินจงกรม ต้องการจะให้ มันเป็นแต่อย่างนี้ๆ มันก็ไม่เป็นไปตามอำนาจของเรา เวทนาที่ปวดอยู่อย่างนี้ เราไม่อยากให้มันปวด มันก็ปวด เวลามีสุข เราอยากให้ความสุขตั้งอยู่อย่างนี้ตลอดไป มันก็ไม่สุข เดี๋ยวก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เจ็บที่โน้น ปวดที่นี้ขึ้นมา

อันนี้ที่พูด ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายนั้น จะเห็นไม่เหมือนกัน เห็นต่างกัน บางท่านก็เห็นว่าปฏิบัติลำบาก บางท่านก็เห็นว่าปฏิบัติยาก บางท่านก็เห็นว่าปฏิบัติสบาย อันนี้อยู่ที่ปฏิปทาของผู้ปฏิบัติ

ถ้าท่านผู้ใด เป็นประเภท สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ก็ปฏิบัติสบายแล้วก็รู้เร็ว ท่านผู้ใดเป็นประเภท สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ก็จะปฏิบัติสบาย แต่รู้ช้า บรรลุช้า แต่บางท่านเป็นประเภท ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้เร็ว เวลาจะบรรลุก็บรรลุเร็ว แต่บางท่านเป็นประเภท ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติก็ลำบาก รู้ก็ช้า กว่าที่จะยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นแต่ละอย่างๆ แต่ละขั้นๆ นั้นก็ต้องใช้เวลานาน กว่าจะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจธรรม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มัคคญาณ ผลญาณ เกิดขึ้นในขันธสันดาน ก็ยากเหลือทน อันนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ปฏิปทาของท่านผู้ปฏิบัติ

ตัวอย่าง พระปีติมัลลเถระ[1] มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์อรรถกถา ทีฆนิกายมหาวรรคว่า พระปีติมัลลเถระ ครั้งที่เป็นคฤหัสถ์เป็นโยมอยู่ ได้ฟังพระท่านสวดพระอภิธรรม ท่านท่องอภิธรรม สวดอภิธรรม รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา อนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง รูปัง อนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา อนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญา อนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารา อนัตตา สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณัง อนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตน

พระปีติมัลลเถระในขณะที่เป็นโยมอยู่นั้น ท่านก็ฟัง ธรรมะแล้วก็รู้สึกว่า ธรรมที่สวดนั้นมันดื่มด่ำล้ำลึกอยู่ในจิตในใจ มันชุ่มฉ่ำในจิตในใจเป็นพิเศษ เกิดความเลื่อมใส อยากบวช แล้วก็เข้าไปขอบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้ว ได้ไปสู่ราวป่า เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เดินจงกรมจนเท้าแตก เมื่อเดินจงกรมเท้าแตกแล้วก็คุกเข่าเดินกลับไปกลับมา

อนิจจา...ในขณะนั้น(เวลาค่ำคืน) นายพรานเดินผ่านมาเห็น นึกว่าเป็นเนื้อเป็นกวาง ก็ยกศรขึ้นมายิง เลยไปถูกสีข้างของท่าน เมื่อท่านถูกลูกศรแล้ว ท่านก็พูดขึ้นว่า ใครหนอมายิงเรา โกรธเคืองเราเรื่องอะไรหนอ จึงมายิงเรา นายพรานได้ยินเท่านั้น ก็คิดว่าจะมีโทษ วิ่งหนีไปเลย นายพรานก็วิ่งแจ้นเลย เกรงว่าจะได้รับโทษ

ในขณะนั้น ท่านปีติมัลลเถระก็พยายามใช้พลังดึงลูกศรออก เมื่อดึงลูกศรออกแล้วก็เคี้ยวใบไม้อุดรูแผล เมื่ออุดรูแผลเสร็จแล้วก็ไปนั่งในที่สบายแห่งหนึ่ง แล้วก็เอาเวทนาในส่วนทุกขาวิปัสสนาสติปัฏฐานมาบริกรรม มาภาวนา มากำหนดว่า ทุกข์หนอๆ ไป

ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า ในขณะนั้น ร่างกายของท่านนั้นถูกลูกศรแล้ว จะมรณภาพแหล่ไม่มรณภาพแหล่อยู่แล้ว คืออาการเกือบจะถึงที่สุดแล้ว เกือบจะหมดลมหายใจ ถึงกระนั้น ท่านก็ยังอดทน กัดฟันต่อสู้ ไม่ยอมแพ้ ตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมละการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอันขาด

ท่านก็กำหนดไปว่า ปวดหนอๆ ทุกข์หนอๆ ไปเรื่อยๆ ในขณะนั้นวิปัสสนาญาณก็เกิดในขันธสันดานของท่านไปตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ที่ ๑๒ ที่ ๑๓ ที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๑๖ ผลสุดท้ายท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดไปจากขันธสันดาน

นี่แหละท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติ บางท่านแม้มีอุปนิสัยจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินั้น ลำบากเหลืออดเหลือทน เหตุนั้น ท่านทั้งหลายเวลาเจริญพระกัมมัฏฐาน ก็ขอให้ท่านทั้งหลายคิดว่า เวลามันเกิดทุกข์ขึ้นมา เราก็คิดว่า เรานี้ เมื่อภพก่อน ชาติก่อน เราคงได้เจริญสมถกัมมัฏฐานมามากเสียแล้ว การประพฤติปฏิบัติมันจึงได้ลำบากอย่างนี้

บางท่าน เวลาปฏิบัติ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วนัก ท่านก็อาจคิดพิจารณาว่า สังขารร่างกายทั้งหลายทั้งปวงนี้ มันช่างไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นมาแล้วเปลี่ยนแปลงไปเร็วเหลือเกิน อะไรทำนองนี้ ก็ขอให้ท่านได้ใคร่ครวญตริตรองพิจารณา ปลงธรรมสังเวชกถา ทุกสิ่งทุกอย่างคิดให้เป็นบุญเป็นกุศลที่ได้สั่งสมอบรมมาก็แล้วกัน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ต่อไปก็ขอเตือนสติ ท่านทั้งหลาย ที่ท่านพระอาจารย์ทองดีได้กล่าวไว้เมื่อก่อนโน้นว่า สิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดความห่วงกังวลในการประพฤติปฏิบัติ ทำให้การประพฤติของเรานั้นเนิ่นช้า ก็มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑) อาวาสปลิโพธ ห่วงที่อยู่

๒) กุลปลิโพธ ห่วงตระกูล

๓) ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ

๔) คณะปลิโพธ ห่วงศิษย์ห่วงหมู่คณะ

๕) กรรมปลิโพธ ห่วงงาน

๖) อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทาง

๗) ญาติปลิโพธ ห่วงญาติพี่น้อง

๘) อาพาธปลิโพธ ห่วง(กลัวว่าจะมี)ความเจ็บไข้

๙) คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน

๑๐) อิทธิปลิโพธ ห่วงฤทธิของปุถุชน เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายระวังอันตรายทั้ง ๑๐ ประการนี้ อย่าให้ครอบงำจิตใจของเราได้

พร้อมกันนี้ หลวงพ่อก็ขออภัยท่านทั้งหลายด้วย และขออภัยคณะแม่ชีทั้งหลายด้วย ว่าการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายในขณะนี้ มันลำบากลำบนเหลือทน เดี๋ยวก็เสียงโน้น เดี๋ยวก็เสียงนี้ อะไรจิปาถะ เราจะเห็นว่า ญาติโยมก็พากันมุงหลังคาโบสถ์ที่โน้นก็มี ทางโรงเรียนปริยัติก็ทำ แต่คงไม่หนักมากเกินไป แต่สำหรับหลังคาโบสถ์นี่รู้สึกว่า ลำบากลำบนเหลือเกิน หลวงพ่อก็ไม่อยากทำหรอก ไม่อยากให้เขาทำ แต่ว่าไม่รู้จะทำอย่างไรได้

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ให้อภัยหลวงพ่อด้วย คิดว่า อีกไม่ถึง ๔ - ๕ วัน เสียงที่ได้ยินอยู่นี้ก็คงจะหมดไปแล้ว พยายามปรับจิตปรับใจของเราให้ได้ เพราะว่าอารมณ์ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน เช่นว่า รูปที่เราเห็นทางตาก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน หูได้ยินเสียง เสียงนั้นก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน กลิ่นที่ได้รับก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน อาการเจ็บปวดที่โน้นที่นี้ ก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน

เหตุนั้น เมื่อเราได้ยินเสียง ก็เอาเสียงนั้นเป็นอารมณ์ กำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ไปเรื่อยๆ หรือว่า เสียงหนอๆ ไปเรื่อยๆ หากว่าเราปรับให้ตัวเราสามารถกำหนดได้ จิตของเราจะไม่มีอาการหงุดหงิด จะไม่มีอาการโกรธ จะไม่มีอาการไม่พอใจ คือความท้อใจก็ไม่มี ความโกรธก็ไม่มี ความหงุดหงิดก็ไม่มี ความคับแค้น ความแห้งผากใจก็ไม่มี

เรากำหนดเสียงว่า ได้ยินหนอๆ ไปเรื่อยๆ บางทีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้ฌาน ได้สมาบัติ บางทีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้มรรค ได้ผล ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตามบุญญาธิการที่ได้สร้างสมอบรมมา

จึงขอสรุปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมา เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน ให้เราคิดเสียว่า ขณะนี้เขาก็ทำงานของเขา เราก็ทำงานของเรา งานของเราก็คือปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน งานของเราก็คือการกำหนด ได้ยินเสียงขึ้นมา เราก็กำหนด ได้ยินหนอๆ ไปตามลำดับๆ

ถ้าฉลาดในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเรานั้นง่ายขึ้นมา แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ตามบุญญาธิการที่ได้สร้างสมอบรมไว้

เอาละ เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง วิปัสสนา มา ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.




[1] พระสุตตันตปิฎกแปล ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๖๙

พระราชปริยัตยากร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 สิงหาคม 2561 10:40:25 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 68.0.3440.106 Chrome 68.0.3440.106


ดูรายละเอียด
« ตอบ #81 เมื่อ: 01 กันยายน 2561 12:06:00 »



อาการเกิดดับของวิปัสสนา

หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง อาการเกิดดับเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มากล่าวเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ ได้สังวร ได้ระวัง เพราะอาการเกิดดับนี้ บางทีเราก็เข้าใจผิด เพราะอาการเกิดดับมันมีหลายสิ่งหลายประการ ดังนี้

๑. อาการดับด้วยอำนาจของถีนมิทธะ การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานของเราจะไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระปรี้กระเปร่า จิตใจเหี่ยวห่อท้อแท้ นั่งกัมมัฏฐานก็ไม่ตรง เอนข้างนั้นเอนข้างนี้ สัปหงกไปข้างซ้ายข้างขวา ขึ้นข้างบนลงข้างล่าง

การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้ปัจจุบันธรรม มีตาซึมๆอยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาพักหนึ่ง กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าในขณะที่มันสัปหงกวูบลงไป มันลงสู่ภวังค์ เมื่อมันลงสู่ภวังค์ก็เลยหายง่วง

อันนี้แหละเป็นอาการดับของถีนมิทธะ ชอบจะเป็นเวลาเราฉันข้าวใหม่ๆ ฉันเช้า ฉันเพลแล้วใหม่ๆ หรือว่าวันไหนที่ฉันของหวานมากๆ หรือวันไหนที่รับอาหารเข้าไปมากๆ เวลานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน กำหนดไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระปรี้กระเปร่า เรากำหนดไปๆ มันสัปหงกลงไปเรื่อยๆ อันนี้ก็พึงสังวรพึงระวังให้มาก

อีกอย่างหนึ่ง พวกถีนมิทธะนี้ชอบจะเป็นตอนดึกๆ ๕-๖ ทุ่ม ตี ๑ ตี ๒ ไปถึงโน่นแหละ ตี ๓ ตี ๔ ชอบจะเป็นตอนดึกๆ ถ้ามันเป็นขึ้นมาอย่างนี้ ท่านทั้งหลายต้องเดินจงกรมให้มากๆ มิฉะนั้นก็ต้องอาบน้ำชำระร่างกาย แหงนดูดาวนักขัตฤกษ์ ทำความสำคัญว่า ขณะนี้เราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ ไม่ใช่เวลาหลับเวลานอน อะไรทำนองนี้ เมื่อเตือนจิตสะกิดใจแล้ว อาการถีนมิทธะจะหมดไป

๒. อาการดับด้วยอำนาจของปีติ เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานไปๆ ปีติมันเกิดขึ้นมา จะเป็นขณิกาปีติ ขุททกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคาปีติ หรือผรณาปีติก็ตาม เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วจะมีลักษณะอย่างเดียวกัน เมื่อมันเกิดจนถึงที่สุดแล้วมันจะสัปหงกวูบลงไป

บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา อันนี้มันดับด้วยอำนาจของปีติ มันจะดับกันทุกรูปทุกนาม ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้ใหญ่ เด็กน้อย เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ปีติมันจะเกิดขึ้นบ่อยๆ

ปีติทั้ง ๕ ประการนี้ เวลามันเกิดขึ้นก็ดี เวลามันดับก็ดี มีอาการเหมือนกันหมด พอปฏิบัติไปๆ จิตใจจะร่าเริง เบิกบาน แจ่มใสไปเรื่อยๆ มันดีอกดีใจไปเรื่อยๆ ในขณะดีอกดีใจอยู่ มันก็สัปหงกวูบลงไป นี่เป็นลักษณะของปีติ เราอาจจะเข้าใจว่ามันเป็นมรรคผลพระนิพพาน ไม่ใช่นะ ปีตินี้มันก็เป็นกันทุกรูปทุกนาม

๓. อาการดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ ดับด้วยอำนาจของปัสสัทธินี้ จิตและเจตสิกของเรามันจะสงบมาก คือกายก็สงบ จิตก็สงบ มันสงบผิดปกติ อารมณ์ภายนอกก็ไม่มารบกวนได้เลย ตัวก็เบาเป็นพิเศษ และก็เบาคล้ายกับไม่มีน้ำหนัก เบาเป็นพิเศษ แล้วก็สงบเป็นพิเศษ

ร่างกายของเราไม่เจ็บที่โน้น ไม่ปวดที่นี้ คล้ายๆกับว่าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน กำหนดไปๆ มันดิ่งเข้า ดิ่งเข้าไปๆ บางทีขาดความรู้สึกเลย ความรู้สึกไม่มี มันขาดความรู้สึกไป อันนี้ดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ ก็ขอได้สังวรระวัง อย่าได้เข้าใจว่าเป็นมรรคเป็นผล

๔. อาการดับด้วยอำนาจของสมาธิ ดับด้วยอำนาจของสมาธินี้ เราจะสังเกตได้ง่ายๆ เวลาเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานมันจะกำหนดได้ดี สมมติเรากำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ ถูกหนอ จิตใจของเรามันอยู่กับอาการนั่ง อาการพอง อาการยุบ อาการถูก มันอยู่อย่างนี้ มันไม่ไปที่ไหน จิตใจมันจ้องอยู่อย่างนี้ จับอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ไม่เผลอ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่เผลอ

เราตั้งใจกำหนดแล้วกำหนดได้ดี จ้องอยู่ กำลังจ้องอยู่นั้น มันสัปหงกวูบลงไปเลย ทั้งๆที่เราไม่เผลอ สมาธิดีอยู่ มันจ้องอยู่กับอาการพองอาการยุบ ขณะที่เราจ้องอยู่นั้น มันสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของมัน อันนี้มันก็ดับด้วยอำนาจของสมาธิ เราอย่าเข้าใจว่าเป็นมรรคผลนิพพาน

๕. อาการดับด้วยอำนาจของอุเบกขา ดับด้วยอำนาจของอุเบกขานี้ เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐานจิตใจของเรามันจะเลื่อนลอยไป ลอยไปสู่อารมณ์ภายนอก กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ กำหนดไปเพลินไปๆ กำหนดไปคิดไปเพลินไปๆ บางทีมันก็เพลินไปตามรูป บางทีก็เพลินไปตามเสียง บางทีก็เพลินไปตามกลิ่น บางทีก็เพลินไปตามรส บางทีก็เพลินไปตามสัมผัส บางทีก็เพลินไปตามความคิด แล้วแต่มันจะเพลินไป คิดไปๆ เพลินไป กำลังเพลินๆ อยู่นั่นแหละ มันสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา ก็แล้วแต่จะเป็นไป เราอย่าได้คิดว่าเป็นมรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นลักษณะของอุเบกขา

๖. อาการดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ สันตติขาด คือเรากำหนดพระกัมมัฏฐานไป กำหนดไปๆ พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นมา บางทีพระไตรลักษณ์มันเร็วขึ้นๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางครั้งก็แรง บางครั้งก็เบา แล้วแต่อำนาจของสมาธิ

ถ้าสมาธิดีก็ปรากฏแรง ถ้าสมาธิไม่ดีก็ปรากฏเบา แต่ในขณะที่มันดับลงไปนั้น เราจำสภาวะไม่ได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ เราก็จำไม่ได้ จำได้แต่ว่ามันเร็ว ในขณะนั้นอาการพองอาการยุบมันเร็ว อันนี้เรียกว่า สันตติขาด

สันตติ คือ ความสืบต่อ ความสืบต่อของรูปของนาม ตามปกติรูปนามของเรามันเกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา เช่น แสงไฟนีออนนี่ มันก็เกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามันเร็วเกินไป คือมันเร็วเป็นพิเศษ เมื่อมันเร็วถึงที่แล้วก็คล้ายๆกับว่ามันไม่ดับเลย มันไม่เกิดไม่ดับ แต่ที่จริงมันดับอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เกิดไม่ดับมันก็ไม่สว่าง จิตของเราก็เหมือนกัน มันเกิดมันดับๆ สลับกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เกิดไม่ดับความคิดก็ไม่มี มันหมดความคิด ความคิดก็หมดไป แต่ว่ามันเกิดมันดับ ความคิดมันจึงเกิดขึ้นมา

เหมือนกันกับตะเกียง ตะเกียงเจ้าพายุอย่างนี้ ไส้แต่ละอันแต่ละช่องที่มันเป็น(ผ้า)ไหมเป็นอะไรอยู่นั้นก็ตาม มันต้องสัมผัสกันอยู่ตลอดเวลา มันเกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา ไส้ตะเกียงเจ้าพายุนั้น ถ้ามันไม่มีการเกิดการดับมันก็ไม่สว่าง อันนี้ก็เหมือนกัน จิตใจของคนเรานี้ เมื่อสันตติขาด คือมันไม่มีการสืบต่อ รูปนามนี้ไม่มีการสืบต่อ

ลมหายใจเข้าหายใจออกไม่มีการสืบต่อ จิตของเราก็ไม่มีการสืบการต่อ มันหยุดชั่วขณะหนึ่ง ในขณะที่มันหยุดกึกนั้น มันก็สัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา อันนี้เรียกว่า มันดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ สันตติขาด

พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมปรากฏชัด ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ในพระบาลีว่า

สนฺตติยา วิโกปิตาย อนิจฺจลกฺขณํ ยาถาวสรสโต อุปฏฺฐาติ [1]

เมื่อใดนักปฏิบัติมาเพิกสันตติได้แล้ว อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็นจริง ดังนี้

แต่อาการดับเช่นนี้ กิเลสยังไม่ตายนะ กิเลสยังไม่ตาย ยังไม่ดับ โลภะ โทสะ โมหะ ยังไม่ดับ แต่มันจะอ่อนกำลังลง เหมือนกันกับเราเอาไม้ไปเฆี่ยนงู ไปตีงู ตีๆลงไป งูไม่ตายทันที แต่มันก็เจ็บตัว กำลังของมันก็อ่อนลงไป แทนที่มันจะเลื้อยไปได้เร็ว มันก็ไปไม่ได้เร็ว บางทีก็หยุดอยู่กับที่ ไปไม่ได้ แต่มันยังไม่ตาย ข้อนี้ฉันใด กิเลสตัณหาก็เหมือนกัน ในขณะที่มันดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ สันตติขาดดังกล่าวมาแล้วนี้ กิเลสตัณหายังไม่ดับ แต่ว่ามันอ่อนกำลังลง

อนึ่ง การดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์นี้ แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ

๑) ดับด้วยอำนาจของไตรลักษณ์ แต่ว่าเรายังจำสภาวะไม่ได้ คือสภาวะยังไม่ถึงที่ มันดับไปอยู่ มันดับด้วยอำนาจของอุทยัพพยญาณ แต่ว่าอริยมรรคอริยผลยังไม่เกิด แต่พระไตรลักษณ์มันเกิดแล้ว แต่มันยังไม่ถึงที่

๒) ดับด้วยฌาน คือดับด้วยอำนาจของรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ การดับด้วยอำนาจของรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ นี้ เมื่อมันดับลงไปๆ บางทีสามารถทรงอยู่ในฌานธรรมนั้นเป็น ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง หรือ ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๗ วัน ๗ คืนก็ตาม

อาการของมันดับลงไปน่ะ มันดับลงไปแล้ว แต่ว่ากิเลสตัณหายังไม่ดับ ยังอยู่ แต่เพราะว่าถูกข่มไว้ด้วยอำนาจของฌาน กิเลสตัณหาเกิดขึ้นไม่ได้ อันนี้เป็นการดับของฌาน คืออัปปนาสมาธิมันเกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี มันก็ดับไป แต่ว่าจะดับไปนานหรือไม่นาน ก็แล้วแต่บารมีที่เราสร้างสมอบรมมา ถ้าความเพียรและสมาธิมีมากเท่ากัน มันก็อยู่นานๆได้

๗. อาการดับด้วยอำนาจของผลสมาบัติ อำนาจของผลสมาบัตินั้น เช่นว่า ในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผ่านมัคคญาณผลญาณไปแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ ไปแล้วนี่ หลังจากนั้น เวลาเรานั่งสมาธิเจริญภาวนา ถ้าหากว่าเรานั่งได้ถูกที่ ผลจิตหรือผลสมาบัติมันจะเกิดขึ้น บางทีก็เกิดขึ้นชั่วขณะๆ เกิดขึ้นแล้วดับไปๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ อาจจะเป็น ๑ นาที ๒ นาที หรือ ๓ นาทีก็แล้วแต่

แต่บางทีเราก็อยู่ได้นานๆ ถ้าสมาธิมาก ความเพียรมาก ถ้าสมาธิและความเพียรมันเท่าๆกัน เราอาจจะอยู่ได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๕ วัน ๕ คืน ก็สามารถที่จะอยู่ได้ นี่มันดับด้วยอำนาจของผลสมาบัติ

การดับอย่างนี้เป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์ (แต่ฌานสมาบัติซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น มันเกิดขึ้นแล้วมันดับลงไปในขณะนั้น ยังไม่ผ่านอริยมรรคอริยผล สมาธิที่ดับลงไปก็ยังเป็นฌานสมาบัติอยู่ ยังเป็นโลกิยะอยู่ ยังไม่เป็นโลกุตตระ ยังเป็นโลกิยะอยู่ ยังมีรูป ยังมีนาม หรือยังมีบัญญัติเป็นอารมณ์อยู่) อันนี้เรียกว่าเป็นการดับด้วยอำนาจของผลสมาบัติหรือผลจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์

๘. อาการดับด้วยอำนาจของนิโรธสมาบัติ ดับด้วยอำนาจของนิโรธสมาบัตินี่เกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีหรือเป็นพระอรหันต์แล้ว อาการดับอย่างนี้มันจึงจะเกิดขึ้นมา และการดับหลังจากได้บรรลุเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์นั้น เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

นิโรธสมาบัตินี้ ดับได้เฉพาะพระอนาคามีกับพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น นอกนั้นทำให้ดับไม่ได้ เพราะว่ากิเลสตัณหายังมียังหนาอยู่ ยังไม่เบาบางลง เช่นว่า โทสะก็ยังไม่เบาบางลง ยังไม่หมด โลภะก็ยังไม่หมด โมหะก็ยังไม่หมด เมื่อใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี โลภะก็หมดไปแล้วครึ่งหนึ่ง โทสะหมดไปแล้ว ราคะก็หมดไป และโมหะหมดไปแล้วครึ่งหนึ่ง ก็สามารถที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ สำหรับพระอรหันต์นั้นก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะกิเลสตัณหาดับไปหมดแล้ว

สรุปว่า การดับด้วยอำนาจของนิโรธสมาบัตินี้ จะดับได้หลังจากปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านอนาคามิมรรคอนาคามิผล หรือขึ้นสู่อรหัตตมรรคอรหัตตผลแล้ว อาการดับเช่นนี้จึงจะมีขึ้น อาการดับเช่นนี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

นอกจากนี้ อาการดับด้วยอำนาจของอริยมรรคอริยผล คือเมื่อเราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนวิปัสสนาญาณแก่กล้าสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคควิถี คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผล เมื่อมัคควิถีเกิดขึ้นมาแล้ว ผ่านอนุโลมโคตรภูแล้วก็ถึงอริยมรรคอริยผล คือหมายความว่า หลังจากอนุโลมญาณเกิดขึ้นแล้ว ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นโคตรภูญาณก็เกิดขึ้นมาอีก ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นมัคคจิตผลจิตก็เกิดขึ้น เมื่อมัคคจิตผลจิตเกิดขึ้น อาการดับมันจะเกิดขึ้น

ในขณะที่อาการดับเช่นนี้เกิดขึ้น บางทีอาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้นๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา แต่ว่าก่อนมันจะดับนั้น อาการพองอาการยุบมันจะเร็วขึ้นเสียก่อน ทีนี้บางครั้งอาการพองอาการยุบ มันจะฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางคนก็แน่นมาก จนไม่กล้านั่งกัมมัฏฐานต่อ กลัวว่าจะตายไป

บางคนก็กำหนดว่า แน่นหนอๆไป พอแน่นขึ้นๆแล้วมันจะดับวูบลงไป ในขณะที่มันดับวูบลงไปเราก็จำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก เราก็จำได้ สามารถได้ปัจจุบันธรรม เรียกว่าดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์

การดับด้วยอำนาจของไตรลักษณ์นี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ผู้ดับได้ด้วยอาการอย่างนี้ สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ จุติแล้วจะไม่ไปบังเกิดในนรก ไม่เกิดเป็นเปรตอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อำนาจของพระไตรลักษณ์ประเภทที่ ๓ คืออาการพอง อาการยุบ หรืออารมณ์ที่เรากำหนดนั้น มันจะสม่ำเสมอดี แล้วมันจะแผ่วเบา เบาเข้าๆ แล้วมันก็ดับวูบลงไป เราก็จำได้ว่ามันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก เราก็รู้ การที่รู้อย่างนี้ถือว่าเป็นโลกุตตระ การดับด้วยอาการหรือลักษณะอย่างนี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

ถ้าทำได้ครั้งหนึ่ง ก็เรียกว่าเราได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว สามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด เวลาจุติ เวลาตาย หากว่าเราไม่ได้ฌาน ไม่ได้ตายในฌาน ก็จะมาเกิดในโลกมนุษย์ หรือบางทีไปเกิดในเทวโลก ในฉกามาวจรสวรรค์ จะเกิดอีกอย่างมาก ๗ ชาติ ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน

ทีนี้ ถ้าหากว่าเราดับอย่างนี้ได้ครั้งที่ ๒ คือหลังจากวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นครบกำหนดครั้งที่ ๒ ผ่านเข้าสู่เขตมัคควิถี อาการดับเช่นนี้เกิดอีกครั้งที่ ๒ ก็ถือว่าเราได้สำเร็จเป็นสกทาคามี เมื่อได้สำเร็จเป็นสกทาคามีแล้ว หากว่าไม่ได้ฌาน ไม่ได้ตายในฌาน จุติแล้วก็จะมาเกิดในโลกมนุษย์บ้าง หรือไปเกิดในเทวโลกฉกามาวจรสวรรค์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แล้วแต่อำนาจของบุญกุศลที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้

แต่ถ้าว่าพระสกทาคามีที่ได้ฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน จะไปเกิดในรูปพรหมบ้าง ในอรูปพรหมบ้าง พระสกทาคามีนี้จะเกิดอีกอย่างมากเพียงชาติเดียวเท่านั้นก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วจะปรินิพพาน ทีนี้ ผู้ที่สามารถปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสามารถดับรูปดับนามดับกิเลสตัณหาด้วยอำนาจอนาคามิมรรคอนาคามิผล คือเมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนวิปัสสนาญาณแก่กล้าขึ้นไปตามลำดับๆ จนเข้าสู่เขตมัคควิถี เมื่อเข้าสู่เขตมัคควิถี อริยมรรคอริยผลก็จะเกิดขึ้น ดับวูบลงไป

เมื่อดับลงไป ถ้าหากว่าดับด้วยอำนาจอนาคามิมรรคอนาคามิผลแล้ว ผู้นั้นก็เป็นอันว่า โลกมนุษย์นี้ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายของท่าน คือพระอนาคามีนั้น เมื่อท่านจุติแล้วจะไม่มาเกิดในมนุษย์ และไม่ไปบังเกิดในเทวโลกอีก

เพราะเหตุอะไร เพราะพระอนาคามีนั้นท่านสามารถกำจัดโทสะและกามราคะได้แล้ว โทสะก็หมดไปแล้ว กามราคะก็หมดไปแล้ว เมื่อโทสะและกามราคะซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก่อภพก่อชาติในกามภพนั้นไม่มี เมื่อไม่มีแล้ว พระอนาคามีจุติแล้วก็ไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาสพรหมตามกำลังของฌาน คือเกิดในชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี หรือชั้นอกนิฏฐา แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ท่านสร้างสมอบรมไว้

ทีนี้ หากว่าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสามารถยังวิปัสสนาญาณให้แก่กล้าขึ้นครบ ๔ ครั้ง ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นอันว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของท่านผู้นั้น ท่านผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่ก็เป็นแต่เพียงอากัปกิริยา แสดงว่าท่านได้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพานแล้ว เหลืออยู่แต่เพียงเบญจขันธ์เท่านั้น ส่วนกิเลสตัณหามันดับไปหมดแล้ว เมื่อมีชนมายุอยู่ครบอายุขัยแล้วก็ปรินิพพาน ไม่มาเกิดในโลกนี้หรือโลกอื่น ไม่ไปบังเกิดในโลกไหนๆ มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่ถึง เป็นที่รู้ เป็นที่ทำให้แจ้ง เป็นที่ได้บรรลุ

เพราะฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ถ้าอาการดับลักษณะต่างๆดังกล่าวมาข้างต้นนี้เกิดขึ้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณาให้ดี อย่าได้ชะล่าใจและเข้าใจว่าตนได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วในทันที มิฉะนั้นมันอาจจะได้ของปลอม จะได้สมาธิปลอม ได้ฌานปลอม ได้มรรคปลอม ได้ผลปลอม ได้นิพพานปลอม เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามทำไปจนกว่าจะได้ของจริง

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้นำเรื่องอาการเกิดดับมาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟัง ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.



[1] สมฺโมหวิโนทนี หน้า ๘๐


พระราชปริยัตยากร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 68.0.3440.106 Chrome 68.0.3440.106


ดูรายละเอียด
« ตอบ #82 เมื่อ: 17 กันยายน 2561 16:52:22 »



การละอาสวะ

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่อง การละอาสวะคือสภาวะที่หมักดองอยู่ในขันธสันดาน มาบรรยาย

การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ สิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งคือการละอาสวะได้แก่กิเลสที่หมักดองอยู่ในขันธสันดานหรือว่าในส่วนลึกของจิตใจเรา หากว่าเราไม่รู้วิธีการที่จะละอาสวะ หรือวิธีทำลายอาสวะ ก็ไม่สามารถที่จะทำลายอาสวะให้หมดไปจากจิตใจของเราได้

วิธีละอาสวะนั้น มีอยู่ ๖ ประการ คือ [1]

๑. ทสฺสเนน อาสวา ปหาตพฺพา การละอาสวะด้วยการเห็น คือ พิจารณาเห็นความเสื่อมสิ้นของสังขารทั้งหลาย ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ว่าเป็นของไม่เที่ยง มีอันสิ้นไปเป็นธรรมดา ถ้าเราพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ละอาสวะได้อย่างหนึ่ง

๒. เสวนาย อาสวา ปหาตพฺพา ละอาสวะด้วยการส้องเสพ ด้วยการบำเพ็ญสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ จนได้สมาธิดีแล้วเจริญวิปัสสนา พิจารณาสังขารธรรมว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เบื่อหน่ายไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ละอาสวะได้อีกอย่างหนึ่ง

๓. อธิวาสเนน อาสวา ปหาตพฺพา การละอาสวะด้วยความอดทนเจริญกัมมัฏฐานจนจิตแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ เกิดปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง อดกลั้น ละเสียได้ซึ่งอาสวะกิเลส อานิสงส์ของความอดทน จิตย่อมเบื่อหน่ายคลายจากอาสวะโดยสิ้นเชิง

๔. ปริวชฺชเนน อาสวา ปหาตพฺพา การละอาสวะด้วยการเว้นเสีย คือเมื่อพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายดังกล่าวแล้วก็พึงละเว้นโดยเด็ดขาดด้วยปัญญา ดุจบุรุษเดินทางไกลหลีกหนีเวรให้ห่างไกล ฉะนั้น

๕. วิโนทเนน อาสวา ปหาตพฺพา ละอาสวะด้วยการบรรเทาเสีย กล่าวคืออบรมจิตด้วยสมถะวิปัสสนา เกิดปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง เห็นว่าสังขารทั้งหลายเกิดดับดังนี้ เป็นดุจของที่ยืมเขามา ถอนความอาลัยเสียได้ด้วยการบรรเทาให้เบาบางลงได้หรือหมดไป

๖. ภาวนาย อาสวา ปหาตพฺพา ละอาสวะด้วยการเจริญสมถะวิปัสสนา ยกจิตขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาตามเป็นจริง จิตย่อมผ่องแผ้ว ไม่ยึดถือสังขาร อาสวะย่อมสิ้นไป

เมื่อพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายได้เข้าพิสูจน์เพื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีความเพียร มีสติระลึกรู้ทันพร้อมทุกขณะของรูปธรรมนามธรรม จนเกิดญาณรู้แจ้งแทงตลอดในพระไตรลักษณ์ รู้ชัดว่ารูปนามเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนิจจังตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นทุกขังทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้

อาสวะที่ไหลไปแล้วหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ได้แก่ ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ ความเห็นผิด ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์ กามาสวะ อาสวะคือกาม ได้แก่ ความใคร่ในวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์เสมอ ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความอยากมีอยากเป็น ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์ หมักดองไว้ในภวังคจิต

เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว มีอารมณ์พระไตรลักษณ์ประหารอาสวะเหล่านี้อยู่เสมอๆ อาสวะที่เป็นภายนอกไหลเข้ามาไม่ได้ ภายในก็ถูกพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไหลเข้าสู่จิตสู่ใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์แทนที่มากขึ้นๆ เท่าใดๆ อาสวะก็น้อยเบาบางลงไปเท่านั้นๆ จนกระทั่งสิ้นอาสวะ เมื่อใด

เมื่อนั้น ได้ผ่านญาณ ๑๖ โอนโคตรจากปุถุชนไปสู่อริยโคตร โดยสันติลักษณะ มีลักษณะสงบจากกิเลสาสวะ และกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงคือพระนิพพาน พ้นจากโลกิยะไปสู่โลกุตตระด้วยอนิมิตตเจโตสมาธิ เพราะเห็นอนิจจังชัด พ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ เพราะเห็นทุกขังชัด พ้นด้วยสุญญตวิโมกข์ เพราะเห็นอนัตตาชัด และถึงพระนิพพาน ดับนาม ถึงสันติอันถาวร เที่ยง เป็นบรมสุขแน่นอน

เพราะพระโยคาวจรนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ได้บรรลุพระนิพพาน ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ถึงธรรมรัตนะแก้วคือพระธรรม ปิดประตูอบายทั้ง ๔ นับตั้งแต่เข้าถึงกระแสพระนิพพาน

พระนิพพานนี้มีความสงบเป็นลักษณะ มีความไม่คลาดเคลื่อนแปรผันเป็นกิจเป็นรส มีความไม่มีนิมิตเป็นเครื่องปรากฏ มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง ดังนี้

วิราโค ความคลายกำหนัด

นิโรโธ ความดับ

จาโค ความสละ

ปฏินิสฺสคฺโค ความเลิก

วิมุตฺติ ความพ้น

อนาลโย ความไม่เกาะเกี่ยว

มทนิมฺมทโน การย่ำยี่ความเมาเสีย

ปิปาสวินโย การกำจัดความหิวกระหาย

อาลยสมุคฺฆาโต การถอนเครื่องเกาะเกี่ยวเสีย

วฏฺฏูปจฺเฉโท การตัดเครื่องหมุนเวียน

พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตรัสว่า นิพพานเป็นของเยี่ยม นิพพานว่างอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ความสุขนอกจากพระนิพพานแล้วไม่มี

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอายตนะอยู่ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่ดวงจันทร์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์

อายตนะชนิดนั้น เราไม่กล่าวว่าเป็นที่มาถึง เป็นที่ไปถึง เป็นที่ตั้งอยู่ ไม่เคลื่อน ไม่เกิด ไม่มีที่ตั้งอยู่ ไม่เป็นไป ไม่มีอารมณ์

อายตนะชนิดนั้นแหละเป็นที่สุดของทุกข์ คือ พระนิพพาน ธรรมคือพระนิพพานเป็นของลึก อันบุคคลเห็นได้ด้วยยาก อันบุคคลตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นของระงับ เป็นของประณีต ไม่เป็นที่หลงเที่ยวไปแห่งความวิตก คือว่า ปุถุชนจะตรึกนึกเดาเอาคะเนเอาเองนั้นไม่ได้ เป็นของละเอียด เป็นของบัณฑิต คือพระอริยเจ้าพึงรู้แจ้ง ปุถุชนไม่รู้แจ้ง

อุปมาเหมือนปลากับเต่า เต่าเป็นสัตว์สองถิ่น คือ อยู่บนบกก็ได้ อยู่ในน้ำก็ได้ แต่ปลานั้นเป็นสัตว์ถิ่นเดียว อยู่เฉพาะในน้ำ วันหนึ่งปลามีความอยากจะรู้ว่า อยู่บนบกนั้นมีอะไรบ้าง จึงได้ถามเต่าว่า บนบกนั้นมีการกระเพื่อมไหม เต่าก็บอกว่าไม่มี มีสาหร่ายไหม ไม่มี ปลาก็เอาแต่สิ่งที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า เต่าก็บอกว่าไม่มี ไม่มี ปลาก็ย้อนถามว่า ถ้าเช่นนั้นอะไรบ้างที่มีอยู่บนบก เต่าก็บอกว่า สิ่งใดไม่มีอยู่ในน้ำ สิ่งนั้นมีอยู่บนบกทั้งหมด

ท่านทั้งหลายลองคิดดูซิว่า เมื่อปลาถูกเต่าตอบเช่นนั้น ปลาก็ไม่หายสงสัยว่า อะไรหนอที่อยู่บนบก มีอะไรบ้างๆ ก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ ข้อนี้ฉันใด พวกเราผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เหมือนกัน

สมมติว่า เมื่อเราอยากรู้ว่าปฐมฌานเป็นอย่างไร ทุติยฌานเป็นอย่างไร ตติยฌานเป็นอย่างไร จตุตถฌานเป็นอย่างไร ปัญจมฌานเป็นอย่างไร

ถึงแม้ว่าจะมีผู้อธิบายให้ฟังก็ไม่เข้าใจ หรือจะถามว่า อากาสานัญจายตนฌานเป็นอย่างไร วิญญาณัญจายตนฌานเป็นอย่างไร อากิญจัญญายตนฌานเป็นอย่างไร เนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นอย่างไร เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ที่จะเข้าใจ หรือไม่รู้แจ้ง

แต่เมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติธรรมจนสามารถได้ฌานได้สมาบัติ เมื่อนั้นเราก็จะรู้ว่า ฌานนี้มันเป็นอย่างนี้ ปฐมฌานเป็นอย่างนี้ ทุติยฌานเป็นอย่างนี้ ตติยฌานเป็นอย่างนี้ จตุตถฌานเป็นอย่างนี้ ปัญจมฌานเป็นอย่างนี้ อรูปฌานมันเป็นอย่างนี้ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปไต่ถามใคร เพราะว่ามารู้เฉพาะตนแล้ว

สำหรับเรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพาน ก็เหมือนกัน เมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติจนรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระนิพพาน โดยการประพฤติปฏิบัติจนบรรลุเอง ได้ตรัสรู้เอง ก็หมดความเคลือบแคลงสงสัยว่านิพพานเป็นอย่างไร แต่ว่าจะให้คนอื่นอธิบายให้ฟังว่า พระนิพพานเป็นอย่างนั้น พระนิพพานเป็นอย่างนี้ ถึงแม้ว่าเราจะฟังก็ไม่รู้ คือไม่รู้ซึ้ง ไม่รู้จริงว่าพระนิพพานเป็นอย่างไร

หากว่าเมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติได้สัมผัสด้วยจิตด้วยใจของเราแล้ว ด้วยปัญญาของเราแล้ว เมื่อนั้นเราก็รู้ทันทีว่า พระนิพพานมันเป็นอย่างนี้ๆ อนึ่ง ธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกนี้แท้ คือเป็น อชาตํ ไม่เกิดอีก อภูตํ ไม่เป็นอีก อกตํ ไม่กระทำต่อไปอีก อสงฺขตํ ไม่ปรุงแต่งอีกต่อไป อชรา ไม่เข้าถึงความแก่ อมรณํ ไม่ตายอีกต่อไป นั่นแหละ มหาสันติสุขคือพระนิพพาน

พระนิพพานนั้น มีอยู่ ๓ ประการก็มี ๒ ประการก็มี

พระนิพพาน ๓ คือ

๑. อนิมิตตนิพพาน คือดับกิเลสและกองทุกข์ด้วยการเห็นอนิจจังชัด ดับกิเลสตัณหา คือ โลภะ โทสะ โมหะ ด้วยอำนาจของอนิจจัง

๒. อัปปณิหิตนิพพาน หรือว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ ดับกิเลสทั้งหลายและกองทุกข์ด้วยอำนาจของทุกขัง คือหมายความว่า เมื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเห็นทุกขังชัดแล้วก็กำหนดอารมณ์ของกัมมัฏฐานคือทุกขังจนดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วก็สามารถทำลาย โลภะ โทสะ โมหะ โดยหาที่ตั้งของ โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ได้

๓. สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ คือดับจากกิเลสตัณหาด้วยอำนาจของอนัตตา คือหมายความว่า เมื่อใดเราเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณไปตามลำดับๆ จนถึงสังขารุเปกขาญาณ

เมื่อสังขารุเปกขาญาณเกิดแล้วก็จะเข้าสู่มัคควิถี ผ่านสัจจานุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นไม่ให้เหลือหลออยู่ในขันธสันดาน เรียกว่าเป็นสุญญตนิพพาน หรือสุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยอาการว่างเปล่า คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ

นิพพานมี ๒ คือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ เหมือนดังท่านทั้งหลายประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ท่านทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านวิปัสสนาญาณไปตามลำดับๆ จนสามารถทำลายกิเลสตัณหาให้ดับลงไป แต่ว่าขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยังมีอยู่ อย่างนี้จัดว่าเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน คือดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือหมายความว่า กิเลสก็ดับ เบญจขันธ์ก็ดับ ไม่มีเหลือหลออยู่ นี้แหละเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน แต่ส่วนพวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน การเข้าถึงกระแสพระนิพพานนั้นไม่เหมือนกัน

สมมติว่า ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งหนึ่ง ถือว่าเห็นพระนิพพานแล้ว ๑ ขณะจิต ถึงกระแสพระนิพพาน ๑ ขณะจิต การที่ถึงกระแสพระนิพพาน ๑ ขณะจิตนี้ อานิสงส์คือสามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วไม่ตกนรก ไม่ไปเกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นผู้มีคติเที่ยง จุติแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ จะมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ถ้าผู้ใดถึงพระนิพพานด้วยลักษณะดังกล่าวนี้แล้ว ในขณะนั้น ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้เป็นพระโสดาบัน สมมติว่า พระโสดาบันที่ไม่ได้ฌาน ถึงกระแสนิพพานครั้งหนึ่งแล้ว ไม่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันที่ได้ฌานได้สมาบัติ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน พระโสดาบันจะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ปรินิพพาน

แต่ถ้าผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๒ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นพระสกทาคามี เมื่อเป็นพระสกทาคามีแล้ว พระสกทาคามีที่ไม่ได้ฌานจุติแล้วก็ไปบังเกิดในโลกมนุษย์ตามกำลังบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้ แต่ถ้าเป็นพระสกทาคามีที่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

แต่ถ้าปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ ดับลงไปถึงกระแสพระนิพพาน ๓ ขณะจิต (คือ พระโสดาบันถึงพระนิพพาน ๑ ขณะ พระสกทาคามีถึงพระนิพพาน ๒ ขณะ) พระอนาคามีถึงพระนิพพาน ๓ ขณะจิต เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว ถึงวาระสุดท้ายคือนิพพานแล้ว จะไม่มาสู่กามภูมิ จะไม่มาสู่โลกมนุษย์ และไม่ไปเกิดในเทวโลก

เพราะเหตุไร เพราะว่าพระอนาคามีนี้สามารถทำลายกามราคะได้แล้ว เมื่อทำลายกามราคะ ก็ไม่มีเชื้อที่จะไปเกิดในกามภพอีกต่อไป เมื่อสิ้นอายุแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลก

แต่มีข้อแม้อยู่ว่า พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌานจะไปบังเกิดในพรหมโลกได้อย่างไร พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌาน ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกคือสุทธาวาสพรหม ตามกำลังของฌาน เกิดได้อย่างไร เกิดได้ด้วยอำนาจของ มรรคสิทธิฌาณ

คือพระอนาคามีก่อนที่จะปรินิพพาน แม้ว่าท่านจะไม่ได้ฌานก็ตาม สมมติว่า จุติเพราะถูกรถชนบ้าง รถคว่ำบ้าง เครื่องบินตกบ้าง เรืออับปางบ้าง ถูกยิง ถูกแทง หรือถูกทำลายโดยประการใดๆก็ตาม หากว่ามรรคสิทธิฌาณไม่เกิด พระอนาคามีก็จะไม่จุติ

เพราะเหตุอะไร เพราะมรรคสิทธิฌาณเป็นเหตุเป็นปัจจัย คือหมายความว่า ถึงว่าท่านจะไม่ได้ฌานก็ตาม แต่ในขณะที่ท่านจะจุตินั้น มรรคสิทธิฌานจะเกิดขึ้น มรรคสิทธิฌาณนั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฌานเกิด เมื่อฌานเกิดแล้วท่านก็จุติ เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่งตามกำลังของฌาน แล้วก็จะได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในพรหมโลกชั้นนั้นๆ บางทีก็นิพพานในชั้นที่ ๑ หรือที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ แล้วเลื่อนไปชั้นที่ ๕ แล้วก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพาน

แต่สำหรับท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยังมัคคจิตให้เกิดถึง ๔ ครั้ง ก็เป็นอันว่าท่านได้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย กิจที่จะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจที่จะต้องทำอีกอย่างอื่นไม่มี

หน้าที่ของท่านในขณะนี้ก็มีแต่ช่วยแนะนำพร่ำสอน พุทธบริษัททั้งหลาย เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ให้รู้ให้เข้าใจ ให้ปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการยกฐานะของตนเองให้พ้นจากโอฆะแอ่งแก่งกันดาร ให้ถึงที่สุดคือความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

สำหรับวิธีที่จะทำลายอาสวะที่กล่าวมาแล้วนี้ หลวงพ่อกล่าวโดยสังเขปกถา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ธรรมขั้นสูงนี้ถือว่าเป็นของละเอียดมาก บางทีฟังแล้วไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องนิพพาน ฟังแล้ววิจัยยาก บางทีเถียงกันตลอดทั้งวันก็ยังไม่เข้าใจ ยกภาษิตโน้นมาว่า ยกภาษิตนี้มาพูดกัน ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี สำหรับปุถุชนทั้งหลายหรือกัลยาณปุถุชนก็เหมือนกัน

เมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนสามารถยังมัคคญาณผลญาณ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็หมดไปโดยที่ไม่จำเป็นต้องเถียงกัน เพราะมารู้เฉพาะตนแล้ว

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว บางท่านก็สามารถเข้าสู่กระแสของพระนิพพาน ๑ ขณะจิต โดยอำนาจของโสดาปัตติมัคคญาณ บางท่านก็ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้เข้าสู่พระนิพพาน ๒ ขณะจิต โดยอำนาจของสกทาคามิมัคคญาณ แต่บางท่านปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานถึงพระนิพพาน ๓ ขณะจิต ตามอำนาจของอนาคามิมัคคญาณ

เพราะฉะนั้น หากว่าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสามารถได้ลิ้มรสของพระอมตมหานฤพาน จิตใจของเราถึงกระแสของพระนิพพานแล้วอย่างน้อย ๑ ขณะ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายภูมิใจดีใจว่า ชาตินี้เป็นโชคของเราดีแล้ว เมื่อเราจุติจากอัตตภาพนี้แล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ เพราะอบายภูมินั้นใครๆก็ไม่ปรารถนา มนุษย์ก็ไม่ปรารถนา เทวดา พระพรหม ก็ไม่ปรารถนา

ในเมื่อเราทั้งหลายสามารถปิดประตูอบายภูมิแล้ว ก็ขอให้ภูมิใจดีใจ เพราะว่าเรามีคติเที่ยง วันหนึ่งข้างหน้าเราจะได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานยังพระอรหัตตมรรคอรหัตตผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแน่นอน

แต่หากว่าท่านผู้ใดยังไม่ได้สัมผัสธรรมขั้นสูง คือจิตยังไม่ถึงกระแสนิพพาน เวลาก็นานอยู่พอสมควร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายขะมักเขม้นอุตสาหะพยายามทำไป

หากว่าเราทั้งหลายมีอุตสาหะพยายามอันแรงกล้า เรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพาน ก็ไม่เกินเอื้อม คือสามารถที่จะเอื้อมถึงได้ แต่ถ้าว่าเราชะล่าใจ หรือว่าไม่อยากปฏิบัติอย่างจริงจัง ปฏิบัติตามเพื่อนบ้าง เห็นเพื่อนปฏิบัติก็ปฏิบัติตามบ้าง

แต่ศรัทธาคือความเชื่อนั้นมีน้อย หรือว่าไม่มีเอาเสียเลย เราทำก็สักแต่ว่าทำไปวันๆ พอที่จะได้จบภาคปฏิบัติ อะไรทำนองนี้ โอกาสที่จะบรรลุถึงโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผลนั้นทำได้ยาก ท่านทั้งหลาย อริยมรรคอริยผลนี้ ผู้ที่อยากได้จริงๆ ปรารถนาจริงๆ จึงจะได้ หากว่าไม่อยากได้จริงๆ หรือไม่ปรารถนาเอาเสียเลย ไม่มีโอกาสที่จะได้

เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติเป็นเรื่องยาก การที่จะทำตนเองให้พ้นจากมหรรณพภพสงสารเป็นของทำได้ยาก หรือว่าเราทั้งหลายจะปฏิบัติให้พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เป็นโลกิยะนี้ทำได้ยาก โอกาสที่จะทำนั้นบางทีก็ทำไม่ได้เอาเสียเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประพฤติปฏิบัติบางรูปบางท่านมีวาสนาบารมีสมควรที่จะได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล แต่เพราะความชะล่าใจ ไม่ตั้งอกตั้งใจรีบปฏิบัติก็ไม่ถึง หรือบางทีสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย

สมมติว่า เราสมควรที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ไปทำอนันตริยกรรมเสีย เช่น ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า ทำสงฆ์ให้แตกกัน แทนที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ตกอเวจีมหานรก มันเป็นลักษณะอย่างนี้

หรือบางทีเรามีโอกาสที่จะได้บรรลุพระอรหันต์อยู่ แต่ว่าเราเฒ่าเกินกาล แก่เกินกาล อายุแก่ขนาดนี้มาทำความเพียร ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เมื่อเราประพฤติปฏิบัติก็สักแต่ว่าปฏิบัติ เพราะสติสัมปชัญญะความเพียรของเราไม่พอ แม้มีวาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมาสมควรที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว แต่ว่าไม่สามารถที่จะบรรลุได้ เพราะสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย

เหตุนั้น ท่านผู้มีโอกาสมีเวลามาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานในขณะที่อายุยังน้อยอยู่นะท่านทั้งหลาย หากว่าเราได้สร้างสมอบรมบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ถือว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีโชคดี ไม่เหมือนกับท่านที่เป็นคนแก่ ๖๐ หรือ ๗๐ ล่วงแล้ว แก่เกินกาล สุขภาพไม่เอื้ออำนวย เมื่อคน ๗๐ ปีผ่านไปแล้ว สติก็พลั้งๆ เผลอๆ กำหนดก็ไม่ได้ดี

ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า ขนาดพวกเราทั้งหลายหรือหลวงพ่อนี่ อายุขนาดนี้ ก็ยังลืมหน้าลืมหลังพลั้งเผลอไป ทั้งๆที่ไม่ได้ตั้งใจจะลืม มันก็ลืมไปโดยธรรมชาติของสังขาร เหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้มีโชคดีในขณะที่ร่างกายของเราทั้งหลายสุขภาพยังดีอยู่ โอกาสทุกสิ่งทุกอย่างก็เอื้ออำนวย ขอให้เราท่านทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเวลายังเหลืออีกไม่นาน เรามีโอกาสแก้ตัวแค่ ๑๕ วัน ถือว่าเป็นเวลาของเราเต็มที่ ๑๕ วันนี้ หากว่าตั้งอกตั้งใจจริงก็สามารถที่จะผ่านได้

เพราะเท่าที่หลวงพ่อได้แนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหามา บางท่านทำวันนั้นได้วันนั้น บางท่านผ่านไป ๒ วัน ๓ วันก็ทำได้ บางท่านผ่านไป ๕ วันก็ทำได้ บางท่านผ่านไป ๗ วันก็ทำได้ อันนี้พูดเฉพาะอริยมรรคอริยผลขั้นต้น หรือว่าผู้มีบารมีช้าที่สุดน้อยที่สุดใช้เวลาอยู่เดือนหนึ่งก็สามารถที่จะปฏิบัติผ่านไปได้ เท่าที่สังเกตมา ยากที่สุดก็ไม่เกิน ๓ เดือน ก็สามารถที่จะทำได้

นี่หมายถึงผู้ที่มีปสาทะศรัทธาแรงกล้า บารมีก็บำเพ็ญมาสมบูรณ์ตามขั้นนั้นๆ แต่บางท่าน ๗ วันก็สามารถผ่านปฐมมรรคไปได้ แล้วก็ ๙ วันสามารถผ่านทุติยมรรคไปได้ เดือนหนึ่งก็สามารถผ่านตติยมรรคไปได้

แต่สำหรับผู้ที่ผ่านอริยมรรคอริยผล ๔ ครั้งนั้น หายากเต็มที เท่าที่หลวงพ่อได้สอนกัมมัฏฐานมานี้ ที่ผ่านการประพฤติปฏิบัติได้อย่างนี้ก็เกือบจะหาไม่ได้ เอาเป็นว่ายังไม่ถึง ๕ รูปเลย แม้แต่ในสมัยที่สอบอารมณ์อยู่นั้นก็ดี ไม่ถึง ๕ ท่านเลย แต่สำหรับท่านทั้งหลายที่ทำได้อย่างนี้ ก็ไม่มีชีวิตอยู่แล้วเป็นส่วนมาก คือต่างก็ถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นส่วนมาก

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายมีโอกาสมีเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างเอื้ออำนวย ก็ถือว่าสมบูรณ์แบบทุกสิ่งทุกอย่าง ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจ อย่าได้ประมาท พยายามตั้งสติสัมปชัญญะอยู่เสมอๆ อย่าให้เผลอไปตามอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา หมั่นสั่งสมอบรมบารมีให้ภิญโญยิ่งๆขึ้นไป จนกว่าจะถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน

หลวงพ่อน้อมนำเอาธรรมะบางสิ่งบางประการมากล่าวถวายท่านทั้งหลายก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


----------------------------------------------------------------------
[1] สุตฺต ม. มูลปณฺณาสกํ ๑๒/๑๐-๑๙/๑๒-๒๐
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 69.0.3497.100 Chrome 69.0.3497.100


ดูรายละเอียด
« ตอบ #83 เมื่อ: 28 กันยายน 2561 16:03:12 »




อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนา

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง อานิสงส์และผลพลอยได้จากการเจริญวิปัสสนา มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ในขณะที่เราเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่นั้น อกุศลจิตชนิดอย่างหยาบ เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้นนั้น ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าจะเกิดขึ้นได้ แม้แต่อกุศลจิตชนิดละเอียด เช่น ความพอใจ ความไม่พอใจ หรือความหลง ความฟุ้งซ่าน ความนึกคิดต่างๆ โลภะ โทสะ โมหะ เหล่านี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด หรือหากว่าเกิดขึ้นแล้วก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน

ทั้งนี้ก็เพราะในขณะที่เจริญวิปัสสนาอยู่นั้น ย่อมมีสติสัมปชัญญะคือการกำหนดรู้อยู่เสมอ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ปฏิบัติกระทำอยู่นั้น จะเป็นทางกาย ทางวาจา ทางใจ ย่อมต้องมีสติรู้อยู่ทุกขณะ การมีสติรู้อยู่ทุกขณะนั้นแหละ จึงสามารถที่จะไม่ให้กิเลสต่างๆ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายๆ

เพราะตามธรรมดาคนเรานั้น กิเลสต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ในขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะรู้รส ขณะถูกต้อง ขณะนึกคิด ถ้ามีความพอใจอยากได้เกิดขึ้น ก็เป็นโลภะกิเลส ถ้าไม่พอใจ กลุ้มใจ เสียใจ กลัวเกิดขึ้น อย่างนี้ก็จัดเป็นโทสะกิเลส ถ้ามีความสงสัยหรือมีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น อย่างนี้ก็จัดเป็นโมหะกิเลส ส่วนกิเลสที่นอกจากนี้ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปด้วยกันได้ตามสมควร

แต่สำหรับผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะคือการกำหนดรู้อยู่เสมอ ในการเห็นการได้ยินเป็นต้นเหล่านั้นแล้ว กุศลจิต ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่มีสติเป็นหัวหน้า ย่อมได้โอกาสเกิดอยู่เสมอ อกุศลจิตคือกิเลสต่างๆ จึงไม่ได้โอกาสเกิด หรือหากว่ามีการเกิดบ้างก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้นาน

ถ้าผู้ปฏิบัติมีความเพียรปฏิบัติอยู่เรื่อยไป นามรูปปริจเฉทญาณที่เป็นภาวนามัยย่อมเกิดขึ้น และเมื่อเพียรปฏิบัติต่อไปอีก ปัจจยปริคคหญาณก็เกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติถึงปัจจยปริคคหญาณที่ ๒ นี้แล้ว ได้ชื่อว่า จุลลโสดาบัน

ถ้าเพียรพยายามปฏิบัติต่อไป วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นเป็นลำดับ คือ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ ผู้ปฏิบัติได้ญาณตั้งแต่ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ เป็นต้นมา จนถึงสังขารุเปกขาญาณที่ ๑๑ ได้ชื่อว่าเป็น มัชฌิมโสดาบันบุคคล

ถ้าพยายามปฏิบัติต่อไป ญาณอยู่ในมัคควิถี คือ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ และโสดาปัตติมัคคญาณ โสดาปัตติผลญาณ ก็เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัตินั้น ซึ่งนับว่าผู้ปฏิบัติได้บรรลุเป็น มหาโสดาบัน อย่างสมบูรณ์ ชื่อว่าเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา อันเป็นอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากการเพียรปฏิบัติวิปัสสนา

ผู้ใดได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติในวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนกระทั่งได้บรรลุถึงขั้นมรรคผลแล้ว เป็นอันว่าผู้นั้นนอนใจได้แน่นอนว่า จะไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป และประตูอบายภูมิทั้ง ๔ ย่อมปิดสนิทสำหรับพระอริยบุคคลนี้อย่างแน่นอน และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาในชาติต่อไป ย่อมไม่เกิดในตระกูลต่ำ ย่อมไม่ไปเกิดในตระกูลมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไม่ไปเกิดในประเทศที่ไม่มีพระพุทธศาสนา ย่อมไม่เกิดเป็นผู้มีอวัยวะบกพร่อง ย่อมไม่เกิดเป็นคนพาล ย่อมไม่เกิดเป็นคนโง่

และการเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาของโสดาบันบุคคลนี้ จะเกิดอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น นี้เป็นอานิสงส์ที่ได้รับจากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั่นเอง

อนึ่ง แม้ผู้ปฏิบัติจะปฏิบัติยังไม่ถึงขั้นมหาโสดาบัน เป็นแต่เพียงได้วิปัสสนาญาณอยู่ในขั้นมัชฌิมโสดาบันหรือจุลลโสดาบันก็ดี หากว่าผู้นั้นตายลงในขณะที่ปฏิบัติอยู่ก็ตาม หรือว่าออกจากการเจริญวิปัสสนาแล้ว เมื่อถึงคราวทำกาลกิริยาตายไป และในขณะที่จะตายมีรูปนามเป็นอารมณ์ เช่นว่า เวลาจะตายเรากำหนดอาการพองอาการยุบว่า พุทโธๆ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอๆ ร่ำไป หรือกำหนดเวทนาว่า เจ็บหนอๆ หรือ ปวดหนอๆ หรือกำหนดจิตว่า คิดหนอๆ เรื่อยไป จนตายไปด้วยกัน ตายไปกับคำที่เราบริกรรมหรือภาวนา

ถ้าทำได้อย่างนี้ก็รับรองได้ว่า ผู้นั้นจะไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ก็จะไม่เกิดในตระกูลต่ำ จะเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล และมีความเลื่อมใสต่อพระธรรม และจะมีโอกาสพบกับสัตบุรุษผู้มีธรรมอันประเสริฐ มีอานิสงส์ที่ได้รับคล้ายกันกับมหาโสดาบันอันเกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาเช่นกัน

ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติปฏิบัติยังไม่ได้ถึงขั้นจุลลโสดาบัน เป็นแต่เพียงว่ากำหนดรู้อยู่ มีสติและสมาธิดีแล้ว หากได้ตายลงในขณะนั้น หรือเลิกจากการเจริญวิปัสสนาแล้ว ภายหลังเจ็บไข้ได้ป่วยตายลงไป แต่ขณะที่จะตาย จิตมีรูปนามเป็นอารมณ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็รับรองว่าจะไม่ไปอบายภูมิทั้ง ๔ อย่างแน่นอนเช่นเดียวกัน และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ก็ไม่เป็นผู้ที่ไร้ปัญญา ย่อมเป็นผู้มีอุปนิสัยในเรื่องพุทธศาสนาติดตัวมา และเมื่อได้ยินได้ฟังธรรมะแล้วย่อมเกิดความยินดีเลื่อมใสสนใจในธรรมนั้น ซึ่งเป็นผลที่ได้รับคล้ายๆกับจุลลโสดาบัน และนี้ก็เป็นอานิสงส์ของการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั่นเอง

อนึ่ง ผู้ได้โสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล เป็นโสดาบันบุคคลแล้ว ถ้าปฏิบัติต่อไปอีก มัคคญาณ ผลญาณ ในอันดับต่อไปย่อมเกิดขึ้นอีกโดยลำดับๆ คือสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล

ผู้ใดเพียรปฏิบัติจนได้บรรลุถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล เป็นพระอรหันตบุคคลแล้ว นับว่าผู้นั้นได้บำเพ็ญกิจในพระพุทธศาสนาจบแล้ว กิเลสาสวะทั้งหลายที่มีอยู่ในจิตตสันดานนั้น ได้ถูกประหารไปหมดแล้วโดยสิ้นเชิง ผู้นั้นได้พบพระนิพพานข้อแรก คือ สอุปาทิเสสนิพพาน หมายความว่า กิเลสทั้งหลายดับลงแล้วโดยไม่มีเศษเหลือ และเมื่อผู้นั้นตายลง ก็เป็นอันว่าถึงซึ่งพระนิพพานที่เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นการดับแล้วซึ่งขันธ์ทั้งหลาย ดับแล้วซึ่งภพชาติที่จะก่อเกิดต่อไปอีก

นับว่าผู้นั้นได้ถึงแล้วซึ่งมหาสันติสุขคือความสุขอย่างสงบ ปราศจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โทมนัส อุปายาส เป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ประสพโดยทั่วกัน และความสุขอย่างยอดเยี่ยมนี้ก็เป็นอานิสงส์ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีผลพลอยได้หลายประการซึ่งเกิดจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นคุณธรรมซึ่งมีประโยชน์แก่ชีวิต อันได้แก่

๑. มีความเพียร ในการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องมีความเพียรอย่างยิ่ง ถ้าปราศจากความเพียรเสียแล้ว การปฏิบัติก็ปราศจากผล ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกฝนให้มีความเพียร ในการเดิน ในการนั่ง และการกำหนดอิริยาบถของตนเอง

บางทีต้องเดินเป็นเวลานานหรือนั่งเป็นเวลานาน หรือปฏิบัติภารกิจโดยไม่นอนในคืนหนึ่งหรือหลายคืน ซึ่งตามปกติแล้วผู้ปฏิบัติไม่เคยทำมาก่อนเลยในชีวิตของตน ผลก็คือทำให้ตนรู้จักว่า ความเพียรยิ่งเป็นอย่างไร ได้ผลอย่างไร ความเพียรนี้จะต้องติดตัวไป เป็นสมบัติประจำตัวอย่างหนึ่ง นี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานประการหนึ่ง

๒. มีสติ ในการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติจะต้องหัดใช้สติกำหนดอิริยาบถของตน ให้รู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ การใช้สติกำหนดนี้ต้องกำหนดอย่างละเอียด เช่นว่า เดิน ต้องให้รู้ว่า เท้าไหนย่าง ตรงไหนเหยียบ ตรงไหนกด หรือเวลากินต้องใช้สติกำหนดว่า กินหรือเคี้ยว หรือกลืน ซึ่งตามปกติเราไม่เคยทำเลย เมื่อได้ฝึกหัดใช้สติกำหนดอิริยาบถของตนอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ความเคยชินในการใช้สติก็เกิดขึ้น

และยังคงใช้ได้ดีอยู่เมื่อออกจากการปฏิบัติธรรมแล้ว เช่น เมื่อเกิดโทสะเป็นต้นขึ้นมา สติก็จะกำหนดว่า โกรธหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ คำใดคำหนึ่ง ทำให้โทสะนั้นระงับยับยั้งหรือบรรเทาลงได้ ก็เป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานประการหนึ่ง

๓. มีความอดทน นอกจากความเพียรและความมีสติแล้ว ผู้ปฏิบัติยังต้องมีความอดทนอย่างยิ่งอีก กล่าวคือจะต้องทนต่อความเจ็บปวด ความเมื่อย การอดนอน อดทนต่อความหิว บางครั้งผู้ปฏิบัติอาจจะได้รับทุกขเวทนาอย่างยิ่งที่ไม่เคยได้รับมาก่อนเลยในชีวิต บางทีจะได้พบกับความเบื่อหน่ายอย่างบอกไม่ถูก

บางครั้งก็อาจจะได้พบกับความเหี่ยวแห้งใจอย่างถึงขนาด บางทีก็อาจจะได้พบกับความอึดอัดกระวนกระวายใจแทบหัวใจระเบิด ถ้าปราศจากความอดทนแล้ว ก็จะต้องถึงเลิกการปฏิบัติ ความอดทนที่มีอยู่ในการปฏิบัตินี้ จะเป็นคุณสมบัติประจำตัวอีกอย่างหนึ่ง และนี่ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนาประการหนึ่ง

๔. มีสมาธิ คือการมีใจแน่วแน่ สมาธิเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสิ่งหนึ่งในการปฏิบัติธรรม ถ้าปราศจากสมาธิเสียแล้ว ก็เป็นการสุดวิสัยที่จะได้ดวงตาเห็นธรรมได้ เพราะปัญญาจะไม่เกิดขึ้น ตามปกติเราจะทำใจให้แน่วแน่ได้ยากมาก ในขณะที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้ามีสิ่งภายนอกมารบกวน เช่น เสียง หรือร่างกายมีความเจ็บปวด หรือเกิดคิดฟุ้งซ่านใจ ใจก็ไม่แน่วแน่ แล้วทำสิ่งนั้นไม่ได้ดี หรือบางทีก็อาจหยุดทำเสียชั่วครู่ชั่วคราวก็มี จนกว่าสิ่งที่มารบกวนรำคาญจะหายไป

แต่เมื่อใดได้มาปฏิบัติธรรมแล้ว จะได้รับการฝึกสมาธิ ซึ่งจะแก่กล้าหรือมีมากขึ้นเป็นลำดับ ผู้ปฏิบัติสามารถจะทำใจให้แน่วแน่อยู่เป็นเวลานาน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นที่มารบกวนทำความรำคาญให้แต่อย่างใด นี้จะเป็นคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถเอามาใช้ได้ในเวลาต้องการ นี้ก็เป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาอีกอย่างหนึ่ง

๕. ความสงบใจ การฟังธรรมทำให้ใจสงบได้ ฉันใด การปฏิบัติธรรมก็ทำให้ใจสงบได้ ฉันนั้น แต่สงบยิ่งกว่ามาก จริงอยู่ ในการปฏิบัติอาจจะต้องพบกับทุกขเวทนา ความกระวนกระวาย ความเบื่อหน่าย ความเหี่ยวแห้งใจ ความอึดอัดใจ แต่ผลสุดท้ายก็จะพบกับความสงบอย่างยิ่งอย่างแท้จริง

ยิ่งสามารถทำผลสมาบัติได้แล้ว หรือสามารถเข้าสมาบัติได้แล้ว ผู้นั้นก็จะพบความสงบสุขเป็นพิเศษ ซึ่งบอกไม่ถูกว่ามีความสุขมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เพราะว่านับตั้งแต่เกิดมายังไม่รู้เดียงสาจนถึงปานนี้ เราไม่เคยทำจิตของเราสงบได้ขนาดนี้เลย แต่เมื่อเราสามารถทำจิตของเราให้สงบแน่นิ่งได้ดังกล่าวมา ก็จะเกิดความสุขใจอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งไม่มีอื่นใดในไตรภพเสมือนได้ อันนี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน

๖. ช่วยให้โลกมีความสงบ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ถ้าว่าได้ผล การเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุธรรมวิเศษเกิดขึ้นในดวงจิต ได้มรรคผลนิพพานครั้งแรก เป็นพระโสดาบัน

ถึงแม้จะเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่ำที่สุด แต่ก็มีจิตใจเหนือกว่าปุถุชนสามัญธรรมดา นับว่าเป็นคนหนึ่งที่จะช่วยให้โลกดำรงอยู่ด้วยความสงบ เพราะกิเลสเบาบางลงไปมาก ตามคติในทางพระพุทธศาสนาแล้ว บุคคลชั้นนี้มีกิเลสเบาบางลงจนถึงขนาดที่จะกลับมาเกิดในโลกนี้หรือโลกอื่นอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น

ถ้าหากว่าผู้นั้นมีศรัทธา ความเพียร สติ สมาธิ ปัญญา แก่กล้ายิ่งในขณะบรรลุมรรคผล ก็จะกลับมาโลกนี้อีกครั้งเดียว ซึ่งในการกลับมาครั้งนี้ ก็จะบรรลุมรรคผลถึงขั้นสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์ และเมื่อชีวิตดับก็จะเข้าสู่พระนิพพาน ไม่กลับมาสู่โลกนี้หรือโลกไหนอีกต่อไป

สำหรับผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นที่ ๒ เป็นอริยบุคคลชั้นพระสกทาคามีนั้น จะมีคุณธรรมพิเศษเกิดขึ้น และมีประจำอยู่ในดวงจิตเพิ่มขึ้นอีก ๒ ประการคือ

๑) ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เบาบางลงอย่างมาก ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่างหยาบสิ้นไป ไม่หมายเอาเฉพาะกามารมณ์คือความรักใคร่ในเพศตรงกันข้ามเท่านั้น แต่หมายถึงความใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งหมด ซึ่งตามปกติมนุษย์เราอยากได้เห็นรูปที่สวยๆงามๆ อยากได้ฟังเสียงที่ไพเราะ อยากสูดดมกลิ่นที่หอมๆ อยากลิ้มรสอาหารที่อร่อยๆ อยากได้สัมผัสถูกต้องที่ดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศตรงกันข้าม

ความอยากเหล่านี้เป็นกิเลสตัณหาที่แผดเผาจิตใจคนเราให้เร่าร้อนและลุ่มหลง ครั้นเมื่อไม่ได้สมอยากก็อาจจะทำความชั่วช้าลงไปเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา โดยเฉพาะความลุ่มหลงในประการสุดท้ายคือการสัมผัสทางกามารมณ์นั้น ทำให้คนเสียคนมามากแล้วอย่างน่าอนาถใจ ทั้งในทางชื่อเสียงและศีลธรรม หน้าที่การงาน ตลอดถึงเสียชีวิต

กิเลสในเรื่องเหล่านี้มีลักษณะรุนแรงมาก ทำให้เบาบางลงแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็เป็นการยากแสนยาก เพราะเหตุว่ารสของมันทำให้เกิดความสุขใจ ความเพลิดเพลิน และความซาบซึ้งตรึงใจอย่างดื่มด่ำล้ำลึก แต่เมื่อได้ปฏิบัติจนได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้ว กิเลสในเรื่องเหล่านี้จะเบาบางลงอย่างมาก เมื่อได้ทราบเช่นนี้ บางท่านอาจจะพลอยเหี่ยวแห้งลงทันที เพราะยังอาลัยอาวรณ์หรือเสียดายในรสของกามราคะซึ่งเคยได้รู้ได้รับมาตั้งแต่จำความได้จนถึงบัดนี้

แต่ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อกิเลสชนิดนี้เบาบางลง ความสงบใจก็มีมากขึ้น ทำให้มีความสุขมากขึ้น เราจึงไม่ควรจะอาลัยหรือเสียดายในกิเลสนั้นๆ และอันที่จริง พระสกทาคามีนั้น ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยังคงมีอยู่ แต่ว่าเหลือน้อย ยังไม่ดับสูญสิ้นไปจากขันธสันดานโดยสิ้นเชิง

๒) ความโกรธลดน้อยลงมาก ความโกรธเป็นกิเลสที่ชั่วร้ายอีกอย่างหนึ่ง สามารถทำคนดีให้เป็นคนชั่วไปได้ในพริบตา ทั้งที่รู้กันว่าความโกรธเป็นกิเลสร้ายที่สุดอยู่ในดวงจิต คอยที่จะพลุ่งออกมาทุกขณะ พอจิตกระทบสิ่งที่ไม่พอใจก็จะพลุ่งออกมาทันที มากหรือน้อยก็แล้วแต่สาเหตุแห่งความไม่พอใจและความหนาบางของกิเลสซึ่งมีอยู่ของแต่ละบุคคล กว่าจะรู้สึกตัวว่าได้ทำอะไรไปก็เป็นการสายเกินแก้ สุดที่จะระงับยับยั้งไว้เสียแล้ว

หากกิเลสชนิดนี้ไม่พลุ่งออกมา ก็จะกลายเป็นความพยาบาทสุมอยู่ในอก และคอยหาโอกาสแก้แค้น รู้สึกเคียดแค้น ก่อให้เกิดความทุกข์ บุคคลผู้เป็นพระสกทาคามีนั้น ความโกรธได้บรรเทาเบาบางลงไปมาก ความโกรธขนาดเป็นฟืนเป็นไฟ หรือขนาดเอาเป็นเอาตาย ตลอดจนความพยาบาทและความผูกใจ เป็นอันไม่มีโดยเด็ดขาด แต่จะมีเหลืออยู่เพียง ความหงุดหงิด ไม่พอใจเล็กน้อยเท่านั้น

นี่ก็คือคุณธรรมของผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลเป็นพระสกทาคามี ตามคติในทางพระพุทธศาสนานั้น พระอริยบุคคลชั้นนี้จะมาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และในชาตินั้นจะได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ และเมื่อดับขันธ์แล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน

สำหรับผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นที่ ๓ เป็นพระอนาคามีบุคคล กิเลสอันหนาทั้ง ๒ อย่างคือ ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส และความโกรธ เป็นอันหมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด ซึ่งทั้งนี้หมายความว่า ย่อมจะหมดความโกรธและความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส รวมทั้งความใคร่ในกามารมณ์อย่างสิ้นเชิง

กิเลสที่ยังเหลืออยู่นั้นมีเพียง ๓ ประการ และเป็นกิเลสขั้นละเอียด แต่ถึงกระนั้นก็มีอย่างเบาบาง คือ

๑) ความยินดีในความสงบอันเกิดจากฌาน กิเลสประเภทนี้แบ่งออกเป็นสองประการ คือ ความยินดีในความสงบอันเกิดจากรูปฌานโดยเพ่งรูปธรรมเป็นอารมณ์ เช่นเพ่งให้เห็นรูปนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นจนสำเร็จรูปฌาน ๑ และความยินดีในความสงบอันเกิดขึ้นจากอรูปฌาน โดยเพ่งสิ่งที่ไม่มีรูปเช่นอากาศหรือความว่างเปล่าเป็นต้นเป็นอารมณ์ จนได้สำเร็จอรูปฌาน ๑ เช่นนี้เป็นการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผลนิพพาน

แม้จะได้รูปฌาน อรูปฌาน ทำให้เกิดความสงบ ก็ไม่สามารถจะทำให้กิเลสหมดไป และยังต้องไปติดอยู่ในรูปภพอันเป็นภพของพรหมที่มีรูป และอรูปภพอันเป็นภพของพรหมที่ไม่มีรูป ตามกำลังของฌาน กิเลสชนิดนี้ยังคงมีอยู่ในบุคคลที่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ส่วนมากไม่มีแสดงออก นอกจากบุคคลที่เจริญสมถกัมมัฏฐานเท่านั้น

๒) ความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คือรู้สึกเข้าใจตนในฐานะ ในสภาวะ หรือความเป็นอยู่เช่นนั้น เป็นความพยายามที่จะติว่าตนเอง สำคัญตนว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนไม่ดี สำคัญตนว่าเป็นคนสำคัญหรือเป็นคนไม่สำคัญ สำคัญตนว่าเป็นคนฉลาดหรือเป็นคนโง่เหล่านี้เป็นต้น ความรู้สึกอย่างนี้เป็นกิเลสที่ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะย่อมพยายามนำเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น

ผลก็คือจะรู้สึกต่อไปว่า ตนดีกว่าเขาหรือเลวกว่าเขา หรือพอกับเขา เมื่อเข้าใจว่าดีกว่าเขาก็เกิดความลำพองใจเลยคิดฟุ้งซ่าน หากเข้าใจว่ามีฐานะเท่ากับเขาก็จะเกิดความรำคาญใจเพราะมีคู่แข่ง หรือถ้าหากว่าเข้าใจว่าตนเลวกว่าเขา ก็จะเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ มีปมด้อยเกิดขึ้น เลยไม่สบายใจ ทั้งนี้ล้วนแต่เป็นเรื่องทุกข์ทั้งสิ้น กิเลสชนิดนี้ยังมีอยู่ในพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามีเล็กน้อย

๓) ความไม่รู้แจ้ง กิเลสประการสุดท้ายนี้เป็นความหลง เพราะความไม่รู้แจ้งมีอยู่จึงชื่อว่า อวิชชา ความไม่รู้แจ้งในที่นี้หมายเอาความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แม้จะได้บรรลุมรรคผลมาถึง ๓ ขั้น จนได้เป็นพระอนาคามีแล้วก็ตาม หาได้ชื่อว่ารู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ โดยสมบูรณ์แล้วไม่ เพราะยังไม่ได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล ยังไม่รู้ว่ามรรคผลขั้นสุดท้ายนั้นเป็นอย่างไร ต่อเมื่อได้บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายแล้วนั้นแหละ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีอวิชชา

เหตุใด อวิชชา จึงจัดเป็นกิเลส ก็เพราะอวิชชาก่อให้เกิดอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ความฟุ้งซ่านก็ยังมีอยู่ ความฟุ้งซ่านอย่างหยาบ ได้แก่ ความอยากได้นั้นอยากได้นี้ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ หากไม่เป็นไปดังคิดก็เกิดความเสียใจ ไม่สบายใจ แต่กิเลสชนิดนี้จะเบาบางเป็นลำดับๆ

ในขั้นพระอนาคามี ยังคงเหลืออยู่แต่อย่างละเอียด โดยเฉพาะคืออยากได้ หรือสนใจในมรรคผลชั้นสุดท้าย แล้วสงสัยว่าจะเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว กิเลสต่างๆ มีอวิชชาเป็นต้นนั้นก็สิ้นไป สิ้นความสงสัย สิ้นความอยากได้ เพราะรู้แล้วได้แล้ว

ตามคติในทางพระพุทธศาสนา ชาติปัจจุบันเป็นชาติสุดท้ายในโลกของพระอนาคามี เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว อริยบุคคลชั้นนี้จะไปสู่แดนสุทธาวาส คือแดนอันบริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากกามราคะ ซึ่งอยู่ในรูปภพ และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในแดนสุทธาวาสนั้น

สำหรับผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น กิเลสที่ยังเหลืออยู่อีก ๓ ประการดังกล่าวมา ย่อมดับลงอย่างเด็ดขาด กล่าวอีกนัยหนึ่ง กิเลสทั้งหลายทั้งปวงย่อมดับลงอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ชีวิตนั้นก็หมดสิ้นแล้วซึ่งราคะตัณหา ดับแล้วซึ่งมวลกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง คงจะเหลือแต่เบญจขันธ์ ได้แก่ รูปคือร่างกาย เวทนาคือความรู้สึก สัญญาคือความจำได้ สังขารคือการปรุงแต่งจิต วิญญาณคือความนึกคิดรู้อารมณ์

ชีวิตของพระอรหันต์เป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ยิ่ง เป็นที่เชื่อกันว่า ถ้าเป็นฆราวาสได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว จะอยู่ในเพศฆราวาสได้ไม่เกิน ๑ วัน จำต้องบวช มิฉะนั้นแล้วจะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน เพราะว่าเพศของคฤหัสถ์นั้นเป็นหีนเพศ ไม่สามารถที่จะทรงคุณของพระอรหันต์ได้ เหตุนั้น เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ จำเป็นต้องออกบวช ถ้าไม่บวชก็จะต้องปรินิพพานภายในวันนั้น

และเมื่อประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานแล้ว ก็เป็นอันว่าเมื่อดับขันธ์แล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ้นทุกข์ สิ้นชาติ สิ้นภพ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไปชั่วนิรันดร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนานี้ยังมีมากกว่านี้ แต่นำมาบรรยายเพียงสังเขปกถา แต่คิดว่าท่านทั้งหลายคงพอที่จะรู้ได้ พอที่จะอนุมานได้ ว่าการมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานของเราครั้งนี้ เราได้ผลอย่างไร และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นนั้นมีอย่างไรบ้าง

หากว่าท่านเป็นนักสังเกตหรือเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะดี อะไรต่างๆนานาที่เกิดขึ้นมารอบด้าน ก็สังเกตดู ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า การมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ได้ผลคุ้มค่า ได้ผลเกินค่า จนไม่สามารถที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดลงไปได้ นี้สำหรับผู้ที่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆเท่านั้น แต่ถ้าว่าท่านใดที่ไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ก็เหลือวิสัยที่จะช่วยเหลือได้

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้บรรยายธรรมะเพื่อประกอบการประพฤติปฏิบัติแก่ท่านทั้งหลายมานี้ ก็คิดว่าน่าจะพอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


วัดพิชโสภาราม
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 69.0.3497.100 Chrome 69.0.3497.100


ดูรายละเอียด
« ตอบ #84 เมื่อ: 05 ตุลาคม 2561 10:22:18 »




วิสุทธิ ๗

สำหรับวันนี้ ก็จะขอปรับความเข้าใจบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของเราทั้งหลาย

ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เหตุไฉนหนอ การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ หลวงพ่อจึงให้อยู่กรรมด้วย หรือให้ประพฤติวุฏฐานวิธีด้วย ทั้งๆที่เราก็เพิ่งบวชมาไม่กี่วันแล้วก็เข้าพรรษา แล้วเข้าปฏิบัติธรรม ยังไม่ได้ต้องครุกาบัติอะไรเลย แต่เหตุไฉนหลวงพ่อจึงให้ประพฤติวุฏฐานวิธีร่วมกันกับบรรดาท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายด้วย

ที่ให้ประพฤติวุฏฐานวิธี คืออยู่กรรมควบคู่กันไปนั้น ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ

ประการที่ ๑ ต้องการที่จะทำลายมานะทิฏฐิคือความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว ซึ่งเราทั้งหลายได้ประพฤติมาตั้งแต่เดียงสามาจนถึงบัดนี้ มีทิฏฐิ มีมานะ เห็นแก่ตัว จนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเป็นบางครั้งบางคราวก็มี เมื่อเราประพฤติวุฏฐานวิธีคืออยู่กรรมนี้ ก็เป็นเหตุให้เราได้ถ่อมตัวลงไป เมื่อเราถ่อมตัวลงไป ทำลายความเห็นแก่ตัวลงไป ทำลายทิฏฐิคือความเห็นผิดได้แล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็เจริญและก้าวหน้าได้

สรุปได้ว่า การที่ให้ประพฤติวุฏฐานวิธี คืออยู่กรรมควบคู่กันไป เพื่อต้องการที่จะให้ละกิเลสตัณหามีมานะทิฏฐิเป็นต้น นี้เป็นประการที่หนึ่ง

ประการที่ ๒ ก็เพื่อว่าให้ท่านทั้งหลายได้มีโอกาสชำระความชั่วช้าลามกที่เคยประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส ความชั่วเหล่าใดที่เราเคยประพฤติ ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ครั้งเป็นฆราวาสอยู่ ครั้งเป็นคฤหัสถ์อยู่ เมื่อเรามาประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ก็เป็นผลพลอยได้ด้วย คือทำให้ความชั่วช้าลามกหรือบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นหมดไป

สมมติว่า เมื่อก่อนโน้นเราเคยฆ่าคนอย่างนี้ หรือเคยล่วงเกินท่านผู้มีอุปการคุณเป็นต้น หากว่าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเดียว แต่ไม่ประพฤติวุฏฐานวิธีด้วย ก็ทำให้การประพฤติปฏิบัติของเรานี้ดำเนินไปได้ยาก หรือบางทีเมื่อครั้งเราเป็นฆราวาสเราไปล่วงเกินหรือข่มเหงน้ำจิตน้ำใจของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ชายไปข่มขืนชำเราพวกผู้หญิงอย่างนี้ ทั้งๆที่เขาไม่พอใจกับเรา ก็ไปข่มเหงจิตใจเขา เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติของเรานั้นดำเนินไปได้ยาก

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้สังเกตมา โทษฆ่าคนให้ตายไปนี้ มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ยังไปได้ง่ายกว่า ยังข้ามไปได้ง่ายกว่าการข่มขืนชำเรา การข่มเหงน้ำจิตน้ำใจของผู้หญิง การที่เราข่มขืนชำเราหรือข่มเหงน้ำจิตน้ำใจของผู้หญิงนี้ มาประพฤติปฏิบัตินี้ ข้ามไปได้ยากที่สุด ยากแสนยาก บางท่านตลอด ๓ เดือนข้ามไม่พ้นเลย ไม่สามารถที่จะข้ามพ้นไปได้ เวลานั่งไป อารมณ์นั้นมาติดเรื่อยๆ บางทีเห็นภาพเห็นนิมิตของผู้หญิงคนนั้นมานั่งอยู่ในที่เฉพาะหน้า เป็นต้น ผลสุดท้ายเลยทำให้การประพฤติปฏิบัติไปไม่ได้

เหตุนั้น จึงให้มีการประพฤติวุฏฐานวิธีหรืออยู่กรรมควบคู่กันไปด้วย เมื่อใดเราประพฤติวุฏฐานวิธีแล้ว ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ต้องครุกาบัติเลย แต่เราเคยทำบาปมาตั้งแต่ครั้งเป็นฆราวาสดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (เมื่อเราประพฤติวุฏฐานวิธีแล้ว) ก็เป็นผลพลอยได้ทำให้การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานของเรานั้นได้ผลเร็วยิ่งขึ้น

ประการที่ ๓ การที่ให้ประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ ก็ต้องการให้เกิดความบริสุทธิ์ขึ้นไปตามลำดับๆ จนกว่าจะถึงมรรคผลนิพพาน ถ้าเราไม่ประพฤติวุฏฐานวิธี ความบริสุทธิ์ขั้นต้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อความบริสุทธิ์ขั้นต้นเกิดขึ้นไม่ได้ ความบริสุทธิ์ขั้นต่อๆไป จะเป็นขั้นที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อความบริสุทธิ์ไม่เกิดขึ้น การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น ก็จึงจัดให้มีการประพฤติวุฏฐานวิธีคืออยู่กรรมควบคู่กันไปด้วย

เหตุนั้น วันนี้ เพื่อเป็นการชี้ชัดลงไปว่า การประพฤติวุฏฐานวิธีนั้นให้เกิดความบริสุทธิ์ได้อย่างไร และให้บรรลุมรรคผลพระนิพพานได้อย่างไร หลวงพ่อจึงจะได้นำเรื่อง วิสุทธิ ๗ มาบรรยายประกอบ เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาควบคู่กันไป

ดำเนินความว่า ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากจะศึกษาให้รู้จักธรรมะอันเป็นภูมิ เป็นอารมณ์ และธรรมอันเป็นรากเหง้า เป็นเหตุให้เกิดขึ้น และเป็นตัวของวิปัสสนาแล้ว ยังต้องศึกษาให้รู้จักลักษณะ กิจ ผล และเหตุ ของวิปัสสนา กับวิภาค ๖ อีกด้วย ดังนี้ คือ

๑. ความรู้สภาวะความเป็นจริงของสังขาร คือ เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังทนได้ยาก อนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ แจ้งชัดตามสภาวะความเป็นจริงของสังขารนั้น เป็นลักษณะของวิปัสสนา

๒. ความขจัดมืดคือโมหะนั้นเสียสิ้น ไม่หลงใหลในสังขารว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน เป็นของงาม นั้นเป็นกิจของวิปัสสนา

๓. ความเห็นจริง ส่องสว่าง เห็นทั่วไปในความที่สังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั้นเป็นผลของวิปัสสนา

๔. จิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นเหตุให้เกิดขึ้นตั้งอยู่ของวิปัสสนา

วิปัสสนาภาวนานี้ย่อมอาศัยสมาธิจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่เจริญให้สมาธิเกิดขึ้นก่อนแล้ว ก็ไม่สามารถจะเจริญวิปัสสนาให้เกิดขึ้นได้ เพราะสมาธิเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนา

ดังนั้น ผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ มีจิตไม่บริสุทธิ์ จะกล่าวว่าได้สำเร็จในวิปัสสนา ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า ศีลที่บริสุทธิ์เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค อริยมรรคเป็นเหตุให้เกิดอริยผล เป็นธรรมดานิยม มีอยู่อย่างนี้

วิภาค ๖ นั้น คือ

(๑) อนิจจัง ของไม่เที่ยง

(๒) อนิจจลักขณัง เครื่องหมายที่กำหนดให้รู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง

(๓) ทุกขัง ของที่สัตว์ทนได้ยาก

(๔) ทุกขลักขณัง เครื่องหมายที่จะให้รู้ว่าเป็นทุกข์

(๕) อนัตตา สภาวะที่มิใช่ตัวมิใช่ตน

(๖) อนัตตลักขณัง เครื่องหมายที่จะให้กำหนดรู้ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

ภูมิธรรมที่เป็นรากเหง้าของวิปัสสนานั้น คือ

๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ จตุปาริสุทธิศีล ๑ ศีลในอัฏฐังคิกมรรค ๑

สีลวิสุทธิ [1] นี้ มุ่งหมายเอาศีลในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการเป็นสำคัญ เพราะเป็นมูลเหตุ เป็นรากเหง้า ให้มีจตุปาริสุทธิศีลสมบูรณ์ และจตุปาริสุทธิศีลก็เป็นปัจจัยให้เกิดสีลวิสุทธิในองค์มรรค ๘ หรือจะว่าเป็นอันเดียวกันก็ได้ มาแยกแสดงเป็น ๒ ตอนก็เพื่อจะให้ความชัดเท่านั้น เมื่อชี้องค์ธรรมลงไปแล้วก็ได้แก่ วิรตีเจตสิก เว้นจากบาปธรรมที่เป็นทางกายและทางวาจานั่นเอง กล่าวคือ

๑) ปาฏิโมกขสังวรศีล สำหรับภิกษุก็เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ประพฤติมั่นอยู่ในสิกขาบท ๒๒๗ ประการ ซึ่งมาในพระปาฏิโมกข์ ถ้าเป็นฆราวาส ก็ได้แก่ เว้นจากข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต จะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ก็ตาม

๒) อินทรียสังวรศีล คือสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ประการ คือ สำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย หรือว่าไม่ให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา ในเวลาที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ

๓) อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีวิตโดยความบริสุทธิ์ ถ้าเป็นฆราวาส ก็เว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิดกฎหมายของบ้านเมือง หรือผิดศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนา ถ้าเป็นบรรพชิต ก็เว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางผิดศีลผิดพระวินัยของพระ เช่นว่า ทำวิญญัติออกปากขอของต่อคนที่ไม่ควรขอ หรือว่าขอในเวลาที่ไม่ควรขอ เป็นต้น

๔) ปัจจยสันนิสิตศีล คือการพิจารณาจตุปัจจัยที่ทายกทายิกาถวายขณะที่จะบริโภค หมายความว่า เราจะบริโภคปัจจัย ๔ จะต้องพิจารณาเสียก่อน เช่น เราจะบริโภคจีวรเครื่องนุ่งห่มอย่างนี้ เราก็พิจารณาว่า จีวรนี้ เราบริโภคเพื่อกันร้อนกันหนาว กันสัตว์เลื้อยคลาน เหลือบยุง เป็นต้น หรือจะบริโภคบิณฑบาตก็พิจารณาว่า บิณฑบาตนี้ เราไม่ได้บริโภค เพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อเปล่งปลั่งสดใส เราบริโภคเพื่อบรรเทาเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ให้ชีวิตเป็นไป และเพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์

เมื่อใช้สอยเสนาสนะก็พิจารณาว่า เรานั่ง เรานอน เราใช้เสนาสนะนี้ เราอาศัยใช้สอยเพื่อบำบัดความหนาวร้อน เพื่อป้องกันแดด ลม สัตว์เลื้อยคลาน เหลือบ ยุง เป็นต้น เมื่อบริโภคยาก็พิจารณาว่า ยานี้ เราบริโภคเพื่อรักษาความเจ็บไข้ ป้องกันโรคภัยอาพาธต่างๆ ไม่ใช่บริโภคด้วยอำนาจแห่งตัณหาความอยากใดๆ

เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้แล้วจึงบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ การบริโภคนั้นก็เป็นการบริโภคที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นบาป ไม่เป็นกรรม ไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าเราไม่พิจารณาเสียก่อน ขืนบริโภคเลยทีเดียว หรือในขณะที่บริโภคอยู่ เราไม่พิจารณา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นบาปเป็นกรรมได้ ดังตัวอย่างพระติสสะ มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบท ขุททกนิกายว่า

มีภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อติสสะ มีจีวรคร่ำคร่า จึงไปแสวงหาผ้ามาเพื่อทำจีวร ได้ผ้ากัมพลเนื้อหยาบๆมาแล้วส่งให้พี่สาว พี่สาวจึงพิจารณาว่า ผ้ากำพลเนื้อหยาบๆอย่างนี้ ไม่สมควรที่พระน้องชายของเราจะห่ม ก็จึงนำผ้านั้นไปทุบไปทอย้อมใหม่ เสร็จแล้วก็ส่งให้พระน้องชาย พระติสสะก็นิมนต์พระสงฆ์ทั้งหลายมาช่วยตัดช่วยเย็บจีวร เมื่อเย็บเสร็จแล้วก็เก็บพาดไว้บนราวจีวรนอนคิดว่า เมื่อไรหนอจะสว่าง จะได้ห่มจีวรนี้เสียที

ในเวลานั้น อาหารที่ฉันไปเมื่อกลางวันไม่ย่อย เลยถึงแก่มรณภาพไป เมื่อมรณภาพไปก็ไปเกิดเป็นเล็นจับอยู่ที่จีวร เพราะโทษที่ไม่ได้พิจารณาการบริโภคจีวรนั้น เมื่อพระสงฆ์ทั้งหลายจะนำจีวรนั้นมาแจกกัน เล็นนั้นหวงจีวร ก็ร้องครวญครางเพื่อที่จะไม่ให้นำจีวรนั้นมาแจกกัน จนเสียงนั้นไปปรากฏในพระทิพพโสตของพระพุทธองค์ เมื่อพระองค์ทรงสดับเช่นนี้ จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่า

ดูก่อนอานนท์ เธอจงไปบอกภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเพิ่งแจกบริขารของพระติสสะ ล่วง ๗ วันเสียก่อนจึงค่อยแจก พระอานนท์ก็มาบอกภิกษุทั้งหลาย เมื่อล่วง ๗ วันแล้ว พระสงฆ์ทั้งหลายจึงได้นำบริขารของพระติสสะมาแจก

วันนั้น พระสงฆ์ทั้งหลายได้สนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า เหตุไฉนหนอ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงห้ามมิให้แจกบริขารของพระติสสะ ต่อเมื่อล่วง ๗ วันจึงทรงให้แจก ขณะนั้นพระองค์ทราบแล้วจึงเสด็จมา แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์สนทนากันด้วยเรื่องของพระติสสะว่า ทำไมหนอ พระองค์จึงทรงห้ามแจกบริขาร ต่อล่วง ๗ วันจึงค่อยทรงให้แจก

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย โทษที่พระติสสะไม่พิจารณาก่อนแล้วบริโภคจีวร เมื่อมรณภาพไปแล้ว บาปกรรมที่ไม่ได้พิจารณา จึงมาเกิดเป็นเล็นจับอยู่ที่จีวร หากว่าพวกเธอทั้งหลายนำบริขารของพระติสสะไปแจกกันในขณะนั้น เล็นตัวนั้นก็จักโกรธแก่พวกเธอทั้งหลาย เพราะโทษที่โกรธพวกเธอ ตายแล้วจักไปสู่อบายภูมิ พระสงฆ์ทั้งหลายจึงกราบทูลขึ้นว่า พระพุทธเจ้าข้า ชื่อว่าตัณหานี้หยาบหนอ (พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสรับว่า)

อย่างนั้นแหละภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าตัณหานี้เป็นของหยาบ ถ้าว่าตัณหานี้มีตัวตน เราจักขนมากองไว้ในพื้นพสุธานี้ พรหมโลกก็ยังต่ำไป ถ้าจักกองไว้บนพื้นพสุธานี้ จักรวาฬนี้ก็ยังแคบไป

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ก่อนจะฉันภัตตาหารทุกๆวัน จึงมีการพิจารณาที่เรียกว่า ปฏิสังขา โยฯ เสียก่อนจึงฉัน ก็เพื่อป้องกันอันนี้เอง แต่ถ้าสำหรับท่านที่ไม่ได้บาลี ก็พิจารณาว่า เราบริโภคบิณฑบาตนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะบริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อเปล่งปลั่ง เพื่อสดใส เราบริโภคเพื่อบรรเทาเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ให้ชีวิตเป็นไป และอนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์

เมื่อใดเราพิจารณาอย่างนี้แล้วจึงบริโภคปัจจัย ๔ การบริโภคของเราก็เป็นการบริสุทธิ์ และเป็นเหตุให้ศีลของเราบริสุทธิ์ขึ้นมา

ท่านผู้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานทั้งหลายพึงปฏิบัติในจตุปาริสุทธิศีล คือให้บริสุทธิ์หมดจดเสียก่อน โดยตั้งอยู่ในสุทธิ ๔ ประการ คือ

๑) เทสนาสุทธิ แปลว่า ความบริสุทธิ์ด้วยการแสดง เช่น พวกเราทั้งหลายแสดงอาบัติทุกวันนี้ ก็เพื่อเทสนาสุทธินี้เอง คือต้องการให้บริสุทธิ์เสียก่อน หรือหากว่าเรามีโอกาสมีเวลาก็ประพฤติวุฏฐานวิธี เหมือนดังท่านทั้งหลายที่ประพฤติวุฏฐานวิธีอยู่กรรมในขณะนี้ ก็เพื่อที่ต้องการความบริสุทธิ์

๒) สังวรสุทธิ แปลว่า การบริสุทธิ์ด้วยการสำรวม หมายความว่า ผู้ที่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเผลอไปแล้วจึงตั้งใจสำรวมอินทรีย์ใหม่แล้วอธิษฐานว่า แต่นี้ไปจักไม่ให้เป็นอย่างนี้แล้ว จักรักษาต่อไป คือในขณะใดที่เราเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้ธรรมารมณ์

เผลอไป ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา ได้โอกาสแทรกขึ้นมาในจิตในใจของเรา เมื่อเราได้สติเราก็กำหนดทันที เมื่อเรากำหนดแล้วก็ตั้งอธิษฐานในจิตในใจว่า ต่อแต่นี้เป็นต้นไป จักไม่เผลอไปอย่างนี้อีกแล้ว จะไม่ให้เป็นอย่างนี้อีกแล้ว นี้ก็เรียกว่า สังวรสุทธิ

๓) เอฏฐิสุทธิ แปลว่า การมีอาชีวะอันบริสุทธิ์ หมายความว่า ถ้าเราเป็นพระ ก็ไม่ประจบตระกูล ซึ่งเรียกว่า กุลทูสโก ประจบคฤหัสถ์เพื่อเป็นการเลี้ยงชีพ หรือว่าทำวิญญัติออกปากขอต่อคนที่ไม่ควรขอ หรือว่าขอในเวลาที่ไม่ควรขอ ไม่ทำศรัทธาไทยให้ตกไป ไม่เลี้ยงชีพด้วยอเนสนาจาร เลี้ยงชีวิตไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยอันดีของพระศาสนา

๔) ปัจจเวกขณสุทธิ แปลว่า การบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อได้ตั้งอยู่ในสุทธิ ๔ ประการของจตุปาริสุทธิศีลแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่ควรแก่การเจริญวิปัสสนา เมื่อถึงเวลาก็เข้าปฏิบัติพระวิปัสสนา ด้วยการตั้งอยู่ในศีลของมรรค ๘ คือการมีสติระลึกรู้ทันปัจจุบันทุกขณะที่รูปนามพูด ทุกขณะที่รูปนามทำงาน

เพียรเอาสติรู้ทันปัจจุบันของรูปนาม ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะรู้กลิ่น ขณะรู้รส ขณะรู้สึกทางกาย ขณะนึกคิด และขณะยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว คือเป็นอยู่ด้วยการมีสติ เว้นโมหะตัวเผลอ เป็นสีลวิสุทธิแล้ว เมื่อเรามีสีลวิสุทธิคือการมีศีลบริสุทธิ์ สีลวิสุทธินี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก้าวขึ้นสู่จิตตวิสุทธิโดยสะดวกต่อไป

๒. จิตตวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์หมดจดของจิต ได้แก่ จิตที่เข้าถึงสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ก็ชื่อว่าเข้าถึงจิตตวิสุทธิ มีจิตอันขาวสะอาด ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมองด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา โดยการเพ่งพิจารณาในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ อันใดอันหนึ่ง จนเป็นอุปจารสมาธิ ใกล้ความเป็นฌาน หรือเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌานเลยทีเดียวก็ได้

หรือไม่ถึงอย่างนั้น เป็นเพียงตั้งสติรู้ทันรูปนามทุกขณะ ไม่เผลอ ระวังกิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ให้เข้าไปในขันธสันดานของเรา เป็นขณิกสมาธิ มีใจบริสุทธิ์ ก็ชื่อว่าเป็นจิตต วิสุทธิ สามารถที่จะยังปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมอันเป็นทิฏฐิวิสุทธิความเห็นบริสุทธิ์ต่อไปโดยสะดวก

ธรรมทั้งสองประการนี้ (หมายถึง สีลวิสุทธิ และจิตตวิสุทธิ) เป็นรากเหง้าของวิปัสสนา หรือเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาภาวนา เมื่อเรามีศีลที่บริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราบริสุทธิ์ ในขณะที่เรากำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่าง กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กำหนดอาการพองอาการยุบอยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อต้องการจะให้จิตของเราบริสุทธิ์ขึ้นมา

คือในขณะใดที่เรากำหนด ในขณะนั้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อเราเห็นรูปสวยหรือไม่สวยก็ตาม เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ โลภะก็เกิดขึ้นไม่ได้ โทสะก็เกิดขึ้นไม่ได้ ราคะก็เกิดขึ้นไม่ได้ โมหะก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อเราประสบอารมณ์ใดๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรากำหนดทุกขณะๆอยู่นั่นแหละ โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นไม่ได้ จิตของเราก็บริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก้าวขึ้นสู่ทิฏฐิวิสุทธิต่อไป

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งทิฏฐิ คือมีความเห็นชอบ มีความเห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นสัมมาทิฏฐิ คือได้เกิดญาณขึ้น รู้จักรูปนาม รู้จักเหตุใกล้ชิดของรูปนาม

อุปมาลักษณะของจิตนั้นคือรู้อารมณ์ อาการที่จิตเป็นประธาน คือไปก่อนหน้า เรียกว่า จิตตรส รสของจิต อาการที่จิตดวงหนึ่งดับต่อดวงหนึ่ง เรียกว่า ผล คือ ปัจจุปัฏฐาน ธรรมชาติคือจิต เจตสิก และหทัยวัตถุรูป เป็นเหตุใกล้ชิด เรียกว่าปทัฏฐาน ดังนี้เป็นต้น

เมื่อท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายบำเพ็ญวิปัสสนา มีญาณบังเกิดขึ้น เห็นรูปนามดังนี้แล้ว ก็จะประหารทิฏฐิซึ่งถือว่ารูปเป็นอัตตะนามเป็นอัตตะได้ การที่ปราศจากอัตตทิฏฐิเช่นนี้ เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ และทิฏฐิวิสุทธินี้ ก็เป็นเหตุให้ก้าวขึ้นสู่กังขาวิตรณวิสุทธิได้ ทิฏฐิวิสุทธินี้ ถ้าจัดเป็นญาณก็ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ คือเป็นญาณที่ ๑

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งการข้ามพ้นความสงสัย เป็นญาณที่สามารถรู้เหตุปัจจัยของรูปนาม อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม เป็นต้น พ้นจากความสงสัยได้ ก็เพราะอาศัยความรู้จากทิฏฐิวิสุทธิ เห็นว่า ขันธ์ ๕ รูปนามนี้ หาเป็นอัตตาไม่ มีการเกิดการดับอยู่เสมอ จนรู้ชัดว่า รูปนามนี้ ในอดีตกาลก็เป็นอย่างนี้ ในปัจจุบันก็กำลังเกิดดับอยู่อย่างนี้ ในอนาคตกาลก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ เช่นเดียวกัน

เมื่อได้รู้ว่ารูปนามเป็นอยู่อย่างนี้ ความสงสัยต่างๆ ก็จะอันตรธานไป เช่น สงสัยว่า

๑) เรานี้เคยเกิดมาแล้วในอดีตหรือ

๒) เรานี้ไม่เคยเกิดมาในอดีตกาลหรือ

๓) เราเคยเกิดมาเป็นชาติใดในอดีต

๔) เราเคยเกิดมาเป็นรูปร่างอย่างไรบ้าง

๕) เราเคยเกิดมาเป็นอะไรบ้างแล้ว

๖) เรานี้จะเกิดไปในอนาคตกาลอีกหรือ

๗) เรานี้จะไม่เกิดไปในอนาคตกาลอีกหรือ

๘) เราจะเกิดเป็นชาติใดในอนาคต

๙) เราจะเกิดเป็นรูปร่างอย่างไรบ้าง

๑๐) เราจะเกิดเป็นอะไรอีกหนอ

๑๑) เดี๋ยวนี้เป็นเราหรือ

๑๒) เดี๋ยวนี้ไม่เป็นเราหรือ

๑๓) เดี๋ยวนี้เราเป็นชาติใดหนอ

๑๔) เดี๋ยวนี้เกิดเป็นรูปร่างอย่างไรหนอ

๑๕) เรามาจากไหน และ

๑๖) เราจะไปไหนหนอ

ความสงสัยดังแสดงมานี้ก็ไม่มี หมายความว่า เห็นรูปนามเกิดดับ สิ้นความสงสัยในเรื่องปัจจัยของรูปนาม ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต เพราะมารู้ปัจจุบันธรรมดังกล่าวมา เป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ อยู่ในลำดับของปัจจยปริคคหญาณ คือเป็นญาณที่ ๒ และก็เข้าเขตสัมมสนญาณอย่างอ่อนๆ และเมื่อสัมมสนญาณแก่กล้าแล้ว ก็จะก้าวขึ้นสู่มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิต่อไป

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งการรู้ว่าทางหรือไม่ใช่ทาง คือญาณนี้เป็นญาณที่รู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทางของพระนิพพาน เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ วิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้น คือ

โอภาส เห็นรัศมีและแสงสว่าง ปีติ มีความยินดีกล้า ปัสสัทธิ สงบมาก อธิโมกข์ มีความน้อมใจเชื่อมาก ปัคคาหะ มีความเพียรอย่างแก่กล้า สุขะ มีความสุขแก่กล้า ญาณะ มีความรู้แก่กล้า อุปัฏฐานะ มีสติปรากฏชัดทุกอย่าง อุเบกขา มีความวางเฉยมาก นิกันติ มีความชอบในรัศมีแสงสว่างนิมิต เป็นต้น รวมวิปัสสนูปกิเลสนี้ เป็นที่ตั้งที่อาศัยของตัณหา มานะ ทิฏฐิ นั่นเอง

เพราะเหตุนั้น ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต้องเป็นผู้มีความรู้ว่า เป็นอมัคคะ มิใช่หนทาง เป็นเรื่องของกิเลสในวิปัสสนาญาณเท่านั้น เมื่อพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้วจึงเป็นปฏิปทาหนทางไปสู่พระนิพพาน เรียกว่า มัคคะ และเป็นปัญญาสามารถรู้ทางและมิใช่ทาง ทำลายความเข้าใจผิดเสีย คงทำความเห็นให้ตรงทาง คือรู้รูปนามที่มีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดดับๆ อยู่ทุกขณะ ชื่อว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ บริสุทธิ์หมดจดด้วยความรู้ความเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง อันเป็นเหตุก้าวขึ้นสู่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิต่อไป

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งความรู้ความเห็นในปฏิปทา หนทางไปสู่พระนิพพานแน่นอน อาศัยมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิเป็นปัจจัยให้พ้นจากอันตรายต่างๆ ที่เกิดจากวิปัสสนูปกิเลสดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น

เพ่งถึงความเกิดดับของรูปนามตามนัยไตรลักษณ์ต่อไปอีก เห็นรูปนามดับไปๆ เป็นภัย เป็นโทษ น่าเบื่อหน่าย ใคร่จะหนีจากรูปจากนาม หาทางหนีจากรูปจากนาม กระทั่งแน่ใจในอริยสัจธรรม มีจิตอันน้อมไปสู่พระนิพพานโดยส่วนเดียว อุปมาเหมือนกันกับบุรุษที่หนีภัยต่างๆ เมื่อมาถึงแม่น้ำแล้วก็จะกระโดดข้ามน้ำ หรือขึ้นต้นไม้ให้สุดยอด หรือเหมือนเชือกที่ตึงคล้ายจะขาด ฉะนั้น

ผ่านญาณตั้งแต่อุทยัพพยญาณจนถึงโคตรภูญาณ มีความรู้ความเห็นว่าจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างแน่นอน ทางหนีทางนี้เรียกว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นเหตุให้ก้าวขึ้นสู่ญาณทัสสนวิสุทธิต่อไป

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความเห็นบริสุทธิ์หมดจดแห่งการรู้การเห็นพระนิพพาน เป็นวิสุทธิที่ปราศจากกิเลสตัณหาเครื่องมลทินทั้งมวล ด้วยวิปัสสนาญานแก่กล้าขึ้น อาศัยกำลังที่ได้รับจากปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นปัจจัยให้เกิดมัคควิถีอันเป็นอัปปนาวิถี ในขณะใด ไม่ขึ้นแก่กาลเวลาเลย

ต้องผ่านลำดับของวิถีทันที โดยจิตเกิดขึ้นครั้งแรกจากภวังค์ เป็นภวังคจลนะ ภวังค์ไหว ต่อจากนั้น เป็นภวังคุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ เมื่อดับลงแล้ว มโนทวาราวัชชนะก็เกิดขึ้น พิจารณาพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์แล้วดับลง ส่งให้เกิดอุปจาระ ได้พระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์แล้วดับลง เมื่อดับลงแล้วก็ส่งให้อนุโลมญาณ

วิปัสสนาญาณของท่านผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานถึงขั้นนี้แล้วเรียกว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือถึงยอดของวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อถึงยอดของวิปัสสนาแล้วก็ดับลง ส่งให้เป็นหน้าที่ของโคตรภูญาณ ทำกิจโอนโคตรปุถุชนให้เป็นอริยชน หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ไหลไปสู่อริยมรรคอริยผล

เมื่อโคตรภูญาณดับแล้วก็ส่งให้อริยมรรคเกิดขึ้นหนึ่งขณะจิต รู้เห็นพระนิพพานซึ่งเป็นที่สุดแห่งทุกข์ มีมัคคสัจประชุมพร้อมกันบริบูรณ์ทั้ง ๘ ประการแล้วก็ดับลง เมื่อมัคคจิตนี้เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วดับลง ส่งให้อริยผลเกิด ๒ ครั้งบ้าง ๓ ครั้งบ้าง แล้วแต่มันทบุคคลหรือติกขบุคคล ถ้าหากเป็นมันทบุคคลแล้ว ผลจิตเกิดขึ้น ๒ ขณะ ถ้าเป็นติกขบุคคล ผลจิตเกิดขึ้น ๓ ขณะแล้วก็ดับลง

ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้น หลังจากนั้นเป็นปัจจเวกขณวิถีเกิดขึ้น พิจารณามรรคผลนิพพานและกิเลสที่ละแล้วและที่ยังเหลืออยู่ต่อไปอีก เรียกว่า ปัจจเวกขณญาณ คือญาณที่ ๑๖ อุปมาเหมือนกันกับบุรุษคนหนึ่ง ออกไปดูพระจันทร์ในเวลากลางคืน ทีแรกไม่เห็นพระจันทร์ เพราะว่าท้องฟ้าเต็มไปด้วยก้อนเมฆดำ ครั้นเมื่อลมพัดไป ๓ ครั้ง ก็สามารถที่จะเห็นพระจันทร์ได้ ฉันใด

ในมัคควิถีก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในขณะที่มัคคญาณได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ รู้แจ้งเห็นจริงในพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่ถึง มีพระนิพพานเป็นที่บรรลุ จึงจัดเข้าในญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นพระนิพพาน

ผู้ปฏิบัติที่พ้นจากความเป็นปุถุชนด้วยการเห็นอนิจจังของรูปนามเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน ผู้นั้นเรียกว่า ถึงพระนิพพานด้วยอนิมิตตนิพพาน หรืออนิมิตตวิโมกข์ ผู้เห็นทุกขังชัด นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรืออัปปณิหิตวิโมกข์ ส่วนผู้เห็นอนัตตาชัด นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือสุญญตวิโมกข์ ได้ทั้งสมถยานิกะ และวิปัสสนายานิกะ

สรุปแล้วว่า การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เมื่อใดมีสติสัมปชัญญะ รู้ทันปัจจุบันของรูปนามแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด สีลวิสุทธิ คือมีศีลอันบริสุทธิ์ เมื่อสีล วิสุทธิสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด จิตตวิสุทธิ คือมีจิตที่บริสุทธิ์ เมื่อจิตตวิสุทธิสมบูรณ์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด ทิฏฐิวิสุทธิ คือมีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์

ทิฏฐิวิสุทธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อให้เกิด กังขาวิตรณวิสุทธิ ความรู้ความเห็นเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย กังขาวิตรณวิสุทธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อให้เกิด มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความรู้ว่าทางนี้ทางผิด ทางนี้ทางถูก แล้วละทางผิดยึดทางถูก

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อให้เกิด ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความรู้ความเห็นดำเนินไปตามลำดับว่าทางนี้เป็นทางไปสู่พระนิพพาน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิก็จะเป็นปัจจัยให้เกิด ญาณทัสสนวิสุทธิ

เมื่อถึงญาณทัสสนวิสุทธิแล้ว ก็เป็นอันว่าเราถึงพระนิพพานแล้ว จิตมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่ถึง มีพระนิพพานเป็นที่บรรลุ

เมื่อถึงพระนิพพานเพียงขั้นปฐมมรรคเท่านั้น ก็เป็นอันว่า เราสามารถที่จะปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว ตายแล้วไม่ต้องไปสู่อบายภูมิอีก และจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้นก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เข้าสู่ปรินิพพาน

เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่หลวงพ่อให้ประพฤติวุฏฐานวิธีคืออยู่กรรมนี้ ก็เพื่อต้องการที่จะให้เกิดวิสุทธิความบริสุทธิ์ทั้ง ๗ ประการดังกล่าวมา เมื่อใดความบริสุทธิ์คือวิสุทธิทั้ง ๗ ประการเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นอันว่าเราได้บรรลุสามัญผล ได้ผลจากการประพฤติปฏิบัติ ไม่เสียทีที่เราได้สละเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม ได้บรรลุสามัญผลสมประสงค์ เราได้ใบประกันชีวิตแล้ว ไม่ต้องเดือดร้อน จะตายเวลาไหนก็ตายตาหลับ จะตายเวลาไหนก็ไม่ว่า

เพราะว่าเรามั่นใจแล้วว่า เมื่อตายแล้วเราจะไม่ไปตกนรก ไม่ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เรามีคติเที่ยง เรามีธรรมไม่กำเริบ จะไปสู่สุคติอย่างแน่นอน จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น เราจักได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน

เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้วก็ไว้ใจได้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนเหมือนเมื่อก่อน เหตุนั้น การประพฤติวุฏฐานวิธีอยู่กรรมนี้ ต้องมีการบอกวัตรเป็นการซ้ำๆซากๆ ก็อย่าถือว่าเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ ยิ่งเราได้บอกบ่อยๆเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดความบริสุทธิ์มากขึ้นเท่านั้น

อุปมาเหมือนกันกับเราเอาแก้วไปขัดไปล้าง เรายิ่งหมั่นขัดหมั่นล้างเท่าไร ก็ยิ่งสะอาดผ่องใสหมดมลทินมากขึ้น ข้อนี้ฉันใด เราบอกวัตรบ่อยมากเท่าไร ก็ทำให้เกิดความบริสุทธิ์มากเท่านั้น

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง วิสุทธิ ๗ มา ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา.



[1] ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๗๒-๓๗๕

วัดพิชโสภาราม
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 70.0.3538.67 Chrome 70.0.3538.67


ดูรายละเอียด
« ตอบ #85 เมื่อ: 19 ตุลาคม 2561 15:45:28 »




วิมุตตายตนสูตร

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่เราทั้งหลายได้มีการทำวัตรและเจริญพระพุทธมนต์ ที่ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ บางท่านอาจจะคิดว่าเป็นการเสียเวลา บางท่านก็อาจจะคิดว่า อันนี้ไม่ใช่วิปัสสนา เป็นสมถะ อะไรทำนองนี้

ที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะว่าการไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์ ที่เราทั้งหลายกระทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นกัมมัฏฐานชนิดหนึ่ง เรียกว่า การเจริญพระกัมมัฏฐานหมู่ คือเจริญร่วมกันหลายๆรูป และการไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์นี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุสมาธิ สมบัติ มรรค ผล พระนิพพาน ได้เหมือนกัน

ดังท่านกล่าวไว้ใน วิมุตตายตนสูตร[๑] ซึ่งปรารภเหตุที่บุคคลจะได้บรรลุสามัญญผลนั้น ๕ ประการ คือ

๑. บรรลุในขณะที่ฟังธรรม

๒. บรรลุในขณะที่แสดงธรรม

๓. บรรลุในขณะที่สาธยายธรรม

๔. บรรลุในขณะที่พิจารณาธรรม

๕. บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิ

เหตุทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปจนถึงขั้นพระอรหันต์ได้ อธิบายขยายความดังต่อไปนี้

๑. บรรลุในขณะที่ฟังธรรม หมายความว่า การฟังธรรม ถ้าว่าเราฟังเป็น ตั้งอกตั้งใจฟังจริงๆ และก็ส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาที่ท่านแสดง ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระที่ท่านแสดงนั้น ก็สามารถที่จะได้บรรลุสามัญผลเหมือนกัน คือในขณะที่เราส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา ไม่เผลอในขณะนั้น เป็นสมาธิติดต่อกัน ตั้งแต่ขั้นขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิตามลำดับๆ

ในขณะที่จิตใจเป็นสมาธิ จะเป็นขณิกสมาธิหรืออุปจารสมาธิก็ตาม ในขณะนั้นนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เกิดขึ้นในจิตในใจของเราไม่ได้ จิตของเราก็บริสุทธิ์ผ่องใส เกิดความปีติปราโมทย์ เกิดความร่าเริงบันเทิงใจ เกิดปีติความอิ่มใจ ดีใจ ความตื้นตันใจ เมื่อปีติเกิดแล้วก็เป็นเหตุให้จิตใจสงบ เมื่อจิตใจสงบก็เป็นเหตุให้เกิดความสุข เมื่อความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดอุเบกขา ความวางเฉยในรูปนาม

หลังจากนั้นสมาธิก็จะก่อตัวขึ้นตามลำดับๆ เป็นสมาธิที่หนักแน่น เรียกว่า สมาหิโต จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิดีแล้วก็ปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เมื่อปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการแล้ว ปริสุทโธ จิตของเราก็บริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วก็จะเกิดปัญญา มีสติปัญญาว่องไว มีไหวพริบในการพิจารณาเนื้อหาที่ท่านแสดง เรียกว่า กัมมนิโย คือจิตควรแก่การงาน ว่องไวมีไหวพริบ

มีความฉลาดหลักแหลมดี ในการพิจารณาจนเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในรูปในนาม เมื่อเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายแล้ว จิตก็จะคลายกำหนัด เมื่อคลายความกำหนัดยินดี ก็หลุดพ้น หมดจดสะอาดและผ่องใส ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน อย่างนี้เรียกว่า บรรลุในขณะที่ฟังธรรม

๒. บรรลุในขณะที่แสดงธรรม คือเราเองเป็นผู้แสดงธรรม ก็สามารถเป็นผู้บรรลุสามัญญผลได้เหมือนกัน หมายความว่า เราตั้งอกตั้งใจแสดงธรรมจริงๆ และหวังให้เกิดประโยชน์โสตถิผลแก่ผู้ฟังจริงๆ และในขณะที่เราแสดงธรรมนั้น เราก็ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาที่เราเป็นผู้แสดงเอง จะเห็นว่า แม้แต่ผลอย่างน้อยๆ ก็เกิดให้เราเห็นอยู่ทุกขณะ

ท่านทั้งหลายที่เคยแสดงธรรมมาแล้วก็คงจะรู้ บางทีเราเทศน์ไปๆ เกิดปีติ หนังหัวพองสยองเกล้า ขนลุกชูชันขึ้นมาก็มี บางทีก็เยือกเย็นไปทั่วสรรพางค์กาย บางทีก็ทำให้กายเบาขึ้นมา บางทีก็เกิดน้ำตาไหล อันนี้เรียกว่า เกิดปีติขึ้นมา ทั้งเราเองเป็นผู้แสดงก็เกิดด้วย เมื่อเกิดปีติแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อกันตามลำดับๆ จนถึงมรรคผลพระนิพพาน

คือในขณะที่เราแสดงธรรมอยู่นั้น เราแสดงไปด้วยพิจารณาไปด้วย ส่งจิตส่งใจไปตามเนื้อหาสาระที่เราแสดง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปีติความปราโมทย์ รื่นเริง บันเทิงใจ เบิกบานใจ อิ่มใจ เมื่อปีติเกิดก็เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ สมาธิก็เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นมาก็จะพิจารณารูปนามสังขารทั้งหลายทั้งปวงให้เห็นว่าตั้งอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป

เมื่อเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในรูปในนาม ในสังขารทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดจิตก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นจิตก็บริสุทธิ์ สะอาด สงบเย็น บรรลุถึงพระนิพพาน นี้เรียกว่า บรรลุในขณะที่แสดงธรรม

๓. บรรลุในขณะที่สาธยายธรรม คือการสาธยายธรรมก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุสามัญญผลเหมือนกัน เช่นที่พวกเราทั้งหลายพากันไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์อยู่ขณะนี้ เป็นภาษาบาลีบ้าง แปลเป็นภาษาไทยบ้าง ก็เป็นเหตุให้บรรลุสามัญผลได้เหมือนกัน

ยิ่งเป็นการสาธยายธรรมตอนทำวัตรเช้า เราสวด พุทโธ สุสุทโธ... ไปตามลำดับ มีอยู่บทหนึ่งว่า รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา อนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง รูปัง อนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา อนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญา อนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารา อนัตตา สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณัง อนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ดังนี้

เราสาธยายไปๆ สวดไปๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติขึ้นมาตามลำดับๆ บางท่านในขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้ ไม่มีโอกาสที่จะทำวัตรเช้ากับบรรดาพระสงฆ์สามเณรที่เรียนปริยัติ พอดีหลังจากปิดการปฏิบัติก็มาทำวัตรรวมกัน เมื่อมาทำวัตรรวมกันเท่านั้น เมื่อทำมาถึง รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา นี้ ทำไม่ได้เลย เกิดปีติตื้นตันใจ มีแต่น้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา

หรือบางที เวลาออกมาจากปฏิบัติกัมมัฏฐานใหม่ๆ มาเห็นญาติโยมที่มาถวายภัตตาหารเช้า สวดทำวัตรเช้า ก็สวด พุทโธ สุสุทโธ... ไป พอถึง รูปัง อนิจจัง เท่านั้น ฉันภัตตาหารไม่ได้ หรือบางทีขึ้นบทต้นว่า พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ เท่านั้นแหละ ตื้นตันใจ ฉันภัตตาหารไม่ได้ มีแต่น้ำตาไหลอยู่

นี่แหละท่านทั้งหลาย การที่สาธยายธรรมนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุอริยมรรคอริยผล ได้เหมือนกัน คือเมื่อเราสาธยายธรรมไปๆ หรือว่าสวดมนต์ไป เจริญพระพุทธมนต์ไป เราสวดเราสาธยายด้วยใจด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ว่าแต่ปาก เมื่อใดที่เราสาธยายธรรมด้วยใจ ด้วยสติปัญญาไปตามลำดับ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติ ความปราโมทย์อิ่มใจ เบิกบานใจ ตื้นตันใจ เมื่อปีติเกิดแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ ที่เรียกว่า สมาหิโต คือมีสมาธิก่อตัวหนักแน่นขึ้น

เมื่อสมาธิก่อตัวหนักแน่นเป็นอธิจิตตสิกขาแล้ว หลังจากนั้น จิตใจก็จะสงบระงับจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ เมื่อนิวรณ์ธรรมสงบลงไป ไม่สามารถเกิดขึ้นมาครอบงำจิตใจของเราได้ จิตใจก็เป็นอิสระ เมื่อจิตใจเป็นอิสระ ก็มีความคล่องแคล่วว่องไวไหวพริบในการพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรม เรียกว่า กัมมนิโย จิตว่องไวในการพิจารณา

เมื่อจิตมีความว่องไวไหวพริบในการใช้ปัญญาพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมแล้ว ก็จะรู้แจ้งเห็นจริง รู้สภาวะตามความเป็นจริงของธรรม เมื่อรู้สภาวะตามความเป็นจริงของธรรมแล้ว ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายทั้งปวง

เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด ก็เป็นเหตุให้ถึงวิมุตติความหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้น จิตใจก็เป็นวิสุทธิ สะอาดหมดจดจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง เมื่อจิตสะอาดหมดจด ก็เป็นปัจจัยให้ถึงสันติความสงบ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพาน นี้เรียกว่า บรรลุขณะที่กำลังสาธยายธรรม

๔. บรรลุขณะที่ตริตรองพิจารณาธรรม ซึ่งเรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หมายความว่า เราทั้งหลายได้ฟังธรรม ทุกเช้า ทุกเพล ทุกเย็น ทุกค่ำ แล้วก็น้อมนำเอาธรรมนั้นไปพิจารณาตริตรองดูว่า ธรรมที่ท่านกล่าวมานั้นจริงหรือ ท่านกล่าวว่ารูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นจริงหรือ

ท่านบอกว่าอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็อยู่ที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นอริยสัจ ๔ ก็อยู่ที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นจริงอย่างนั้นหรือ เราก็พิจารณาไปๆ ตามลำดับๆ

เมื่อตริตรองพิจารณาค้นคว้าธรรมที่ได้ฟังมา ก็เป็นเหตุให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นมา ทำให้เกิดปีติความอิ่มใจดีใจเบิกบานใจ เกิดความปราโมทย์ความตื้นตันใจว่า เป็นจริงตามที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์จริงๆ รูปนามขันธ์ ๕ นี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริงๆ อริยสัจ ๔ ก็อยู่ในนี้จริงๆ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็อยู่ในนี้จริง เมื่อเกิดปีติแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ ที่เรียกว่า สมาหิโต จิตก่อตัวตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วก็ปราศจากนิวรณ์ธรรม ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา

เมื่อสมาธิตั้งมั่นหนักแน่นแล้ว จิตก็เป็นอิสระ ทำให้เกิดความคล่องแคล่วว่องไวในการใช้ปัญญาพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมตามที่เราได้ยินได้ฟังมา เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมจนรู้จักสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปธรรมก็ดี เป็นนามธรรมก็ดี ก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย ไม่เป็นไปตามความต้องการ เช่น สมมติว่าเราจะบังคับร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ว่า แก้มอย่าตอบ ฟันอย่าหัก หนังอย่าสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ขอจงมีความสุขความสบายอยู่อย่างนี้ตลอดไป ก็ไม่เป็นไปตามความปรารถนา รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาจริงๆ

เราพิจารณาไปถึงบรรดาสังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครอง เราก็จะเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขังทนไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เมื่อเห็นรูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ด้วยปัญญาเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลายทั้งปวงด้วยอำนาจอุปาทานใดๆ เมื่อเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายแล้วก็คลายกำหนัด

เมื่อคลายกำหนัดแล้ว จิตก็จะหลุดพ้นจากรูปนาม จากสังขารทั้งหลายทั้งปวง เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็เป็นวิสุทธิถึงความบริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วก็ถึงสันติคือพระนิพพาน จิตใจก็จะสงบด้วยอำนาจอริยมรรคบ้าง ด้วยอำนาจอริยผลบ้าง ก็เป็นอันว่า ถ้าบรรลุด้วยวิธีนี้ เรียกว่าบรรลุด้วยการตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรม ผู้บรรลุโดยวิธีนี้ ในครั้งพุทธกาลมีมาก

๕. บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิ ได้แก่ การที่เราทั้งหลายตั้งอกตั้งใจเจริญพระกัมมัฏฐาน เหมือนดังท่านทั้งหลายที่เจริญอยู่นี้แหละ เราเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งสมาธิ อันนี้เราฝึกให้จิตใจของเรามีสมาธิ ฝึกให้จิตใจตั้งมั่น ฝึกสติสัมปชัญญะให้มีกำลัง

เมื่อใดจิตใจมีกำลัง มีสติสัมปชัญญะ มีสมาธิ สมาธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็สามารถแทงตลอดอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พร้อมทั้งพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผล ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยกำลังของสมาธิ คือสมาธิเป็นพื้นฐาน

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เป็นอันสรุปได้ว่า การที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล หรือว่าการที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์นั้น บรรลุได้ด้วยลักษณะ ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ได้บรรลุในขณะที่ฟังธรรมบ้าง บรรลุในขณะที่แสดงธรรมบ้าง บรรลุในขณะที่สาธยายธรรมบ้าง บรรลุด้วยการตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมะบ้าง บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิบ้าง นี้ตามที่ท่านกล่าวไว้ใน วิมุตตายตนสูตร

ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลาย

ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ขอร้องเป็นพิเศษ ให้เดินจงกรม ให้เดินจงกรมเสียก่อนจึงค่อยนั่งสมาธิ เช่นว่า เราฉันเช้าไปแล้ว หรือฉันเพลไปแล้ว ก็เดินจงกรมเสียก่อนจึงค่อยนั่งสมาธิ ถ้าเราฉันเช้าฉันเพลแล้วไปนั่งสมาธิเลยทีเดียว ส่วนมากเป็นสมาธิปลอมมากกว่า คือในขณะนั้นจะเกิดถีนมิทธะนิวรณ์คือความง่วงเหงาหาวนอนเข้ามาครอบงำจิตใจ ทำให้ซึมๆเหมือนกับเป็นสมาธิเสียเป็นส่วนมาก และผลเสียส่วนมากก็ทำให้อาหารไม่ค่อยย่อย ทำให้ท้องอืด เหตุนั้น ก่อนที่จะนั่งสมาธิ ให้เดินจงกรมเสียก่อนแล้วจึงมานั่งสมาธิ เพราะว่า การเดินจงกรมนั้น จะได้อานิสงส์ถึง ๕ ประการ[๒] คือ

๑. อทฺธานกฺขโม โหติ ทนต่อการเดินทางไกล

๒. ปธานกฺขโม โหติ ทนต่อการทำความเพียร

๓. อปฺปาพาโธ โหติ มีอาพาธน้อย บางทีโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่ก็พลันหายไปก็มี

๔. อสิตํ ปิตํ ขายิตํ สายิตํ สมฺมาปริณามํ คจฺฉติ อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม แล้ว ย่อมย่อยดี

๕. จงฺกมาธิคโต สมาธิ จิรฏฺฐิติโก โหติ สมาธิที่ได้ในเวลาเดินจงกรม ย่อมตั้งมั่นอยู่ได้นาน ไม่เหมือนสมาธิที่ได้ในเวลานั่ง

นี้เป็นอานิสงส์ของการเดินจงกรม เหตุนั้น ก่อนที่จะนั่งสมาธิทุกครั้ง ขอให้ท่านทั้งหลายได้เดินจงกรมเสียก่อนจึงค่อยนั่ง ก็ขอสรุปเอาสั้นๆว่า ถ้าเรามีแต่นั่งอย่างเดียว มีแต่นั่ง ไม่มีการเดินจงกรมเลย หลวงพ่อขอบอกได้เลย ขอพยากรณ์ได้เลยว่า เราจะนั่งตลอดทั้งพรรษาก็ไม่มีโอกาสที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเลย มิหนำซ้ำ เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคเหน็บชา เป็นอัมพาตได้ด้วย เพราะฉะนั้น ขอให้เดินจงกรม

สำหรับการนั่งสมาธิ เพราะเหตุไรจึงให้นั่งสมาธิ เพราะว่า ต้องการทำให้จิตใจของเรานี้สงบแล้วก็เกิดปัญญา อันเป็นมรรคาไต่เต้าไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผล เพราะว่า อานิสงส์ของสมาธินี้มีถึง ๘ ประการ คือ

๑. มีความสุขในปัจจุบัน

๒. ได้บรรลุสมบัติ ๓ ประการ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ

๓. ยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้น

๔. มีสติสัมปชัญญะมั่นคง ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา

๕. ไม่หลงทำกาลกิริยา คือเวลาจะตายนั้น สามารถระลึกถึงบุญถึงกุศลของตนได้ ไม่หลงตาย

๖. ได้ภพอันวิเศษ ได้แก่ สุคติภพ คือ มนุษย์ สวรรค์ พรหม เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

๗. ได้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง

๘. เมื่ออุปนิสัยแก่กล้า ย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินั้นๆ

นี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิที่เราบำเพ็ญให้เกิดให้มีในขันธสันดาน

ต่อไปก็ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงสังวรระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาว่า การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเรานี้ ถึงแม้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุถึงมรรคผลพระนิพพานก็จริง แต่เราก็ต้องผ่านอุปสรรค ผ่านด่านอันตรายจิปาถะ อะไรร้อยแปดพันประการ จึงจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้ เหมือนกับเราเดินทางนี้ กว่าเราจะถึงจุดหมายปลายทางได้ เราก็ต้องทนต่อความลำบากลำบน จึงจะถึงจุดหมายปลายทางได้ หรือว่าทหารจะเข้าสู่สนามรบ จะเอาชนะข้าศึกได้อย่างนี้ ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ จึงจะสามารถเอาชนะข้าศึกได้ ข้อนี้ฉันใด

เราท่านทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อเอาชนะข้าศึกภายในคือกิเลสตัณหา ก็ต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคนานัปการ เมื่อใดเราสามารถเอาชนะอุปสรรคคือข้าศึกภายในได้แล้ว จึงจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

สำหรับอันตรายของการประพฤติปฏิบัติ วันนี้จะยกเอามาเตือนสติท่านทั้งหลายเพียง ๑๗ ประการ คือ

๑. อาวาสปลิโพธ ห่วงอาวาส คือห่วงที่อยู่ เราจากวัดจากวา จากบ้านจากเมืองมา ก็ห่วงวัดวาอาราม ห่วงบ้านห่วงเมืองของเรา อันนี้ก็เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุสามัญผลเหมือนกัน

๒. ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ

๓. โภคปลิโพธ ห่วงทรัยพ์สมบัติ

๔. กัมมปลิโพธ ห่วงการงาน

๕. โรคปลิโพธ ห่วงว่าจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ

๖. อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกล

๗. คณปลิโพธ ห่วงหมู่ห่วงคณะ

๘. ญาติปลิโพธ ห่วงญาติพี่น้อง

๙. คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน

๑๐. อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงฤทธิ์

๑๑. ทำการงานอย่างไม่มีสติ เช่น เรานุ่งสบง ทรงจีวร พาดสังฆาฏิ สรงน้ำ ถ่ายหนัก ถ่ายเบา เป็นต้น ขาดสติ เราไม่ได้กำหนดติดต่อกันไป ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคเหมือนกัน

๑๒. นิททารามตา มัวนอน คือนอนมากเกินไป แต่ชั่วโมงปฏิบัติน้อย

๑๓. ภัสสารามตา มัวคุยกัน

๑๔. สังคณิการามตา มัวคลุกคลีกับหมู่กับคณะ

๑๕. อคุตตทวารตา ไม่สำรวมทวารทั้งหก คือไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา มันเกิดขึ้นในขณะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลสตัณหาขึ้นมาเหมือนกัน

๑๖. อโภชเนมัตตัญญุตา ไม่รู้จักประมาณในอาหารที่บริโภค

๑๗. จิตตัง วิมุตตัง นะ ปัจจเวกขติ ไม่พิจารณาจิตของตน คือไม่ตามรู้ความเป็นไปของจิต

จิตมีราคะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีราคะ จิตมีโลภะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีโลภะ จิตมีโทสะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตมีถีนะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีถีนะ หรือว่า จิตพ้นจากราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ถีนะ ก็ไม่รู้ว่าจิตพ้นแล้วจากสิ่งเหล่านี้ คือไม่พิจารณารู้จิตของตน ว่า

ขณะนี้ กิเลสตัณหาที่เกิดครอบงำจิตของเรามีอยู่หรือ หรือว่าขณะนี้ จิตของเราปราศจากกิเลสตัณหา ไม่ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำ เราก็ไม่ได้พิจารณา เมื่อเราไม่พิจารณาจิตของเราดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายจงระมัดระวังอันตรายทั้ง ๑๗ ประการนี้ อย่าให้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราทั้งหลาย หากว่าเราปล่อยให้อุปสรรคทั้ง ๑๗ ประการนี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา เราก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

เหตุนั้น ให้นักปฏิบัติธรรมพึงสำรวมให้ดี เมื่อเกิดขึ้นมาในขันธสันดานของเราแล้ว พึงพยายามกำจัดให้หมดไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดานของเรา แล้วก็ตั้งอกตั้งใจเดินจงกรม นั่งสมาธิ บำเพ็ญเพียรต่อไป ผลสุดท้ายเราก็จะได้บรรลุสามัญญผลสมกับความตั้งใจ

เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำธรรมะ เรื่อง วิมุตตายตนสูตร มาบรรยายเพื่อปรับความเข้าใจในการไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้.



[๑] ที. ปาฏิกวคฺโค ๑๑/๔๑๙/๒๙๙

[๒] องฺ. ปญฺจกนิปาต ๒๒/๒๙/๓๑

วัดพิชโสภาราม
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 70.0.3538.77 Chrome 70.0.3538.77


ดูรายละเอียด
« ตอบ #86 เมื่อ: 01 พฤศจิกายน 2561 09:20:18 »




อารยธรรม

วันนี้ หลวงพ่อจะน้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อารยธรรม มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมะของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า อารยธรรม หมายความได้หลายอย่าง เช่น

๑. อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลส อธิบายว่า อารยธรรมนี้ ถ้ามีอยู่ในขันธสันดานของท่านผู้ใดแล้ว ท่านผู้นั้นจะห่างไกลจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ความถือตัว ความเห็นผิด ความสงสัยลังเลใจ ความหดหู่ท้อถอย ความฟุ้งซ่าน ความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป ผู้นั้นได้นามว่า เป็นอารยชน แปลว่า ชนผู้เจริญด้วยศีลธรรม

๒. อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ปราศจากโรค

คำว่า โรค นั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑) กายิกโรโค โรคทางกาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ชาวโลกได้รับอยู่ทุกวันนี้ มีโรคตา โรคหู โรคจมูก เป็นต้น

๒) เจตสิกโรโค โรคทางใจ ได้แก่ กิเลส ถ้าร่างกายอ้วนแต่ใจผอม คือไม่มีธรรมเป็นเรือนใจ ฉันใดแล้ว บุคคลนั้นก็หาความสุขได้ยากมาก เช่น คนที่ฆ่าตัวตาย กินยาตาย โกงกัน ปล้นกัน ลักของกัน ข่มเหงกัน เบียดเบียนกัน ริษยากัน ทะเลาะวิวาทกัน ประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมืองต่างๆนานา ก็เพราะใจเป็นโรค ใจขาดเรือนอยู่ ถ้าอารยธรรมมีอยู่ในขันธสันดานของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้ปราศจากโรค จะมีแต่ความสุขความเจริญฝ่ายเดียว

๓. อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ปราศจากฝนคือกิเลสตัณหา เหมือนหลังคาบ้านที่รั่ว เจ้าของเรือนต้องเดือดร้อน นอนหลับก็ต้องตื่น ค่ำคืนก็ต้องลุกขึ้นมา ทนทุกข์ทรมาน ข้อนี้ฉันใด ใจที่ถูกฝนภายในคือกิเลสรั่วรด ก็ฉันนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนไว้ว่า

ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ  วุฏฺฐิ สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ  ราโค สมติวิชฺฌติ[1]

ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉันใด กิเลสมีราคะ โทสะ โมหะ ย่อมรั่วรดจิตที่อบรมไม่ดี ฉันนั้น แต่ฝนรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด กิเลสมีราคะเป็นต้น ย่อมรั่วรดจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น

๔. อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ประเสริฐ คือ อารยธรรมนี้ ล้วนแต่เป็นธรรมที่ดีๆ ถ้ามีอยู่ในขันธสันดานของผู้ใด ก็จะทำให้ผู้นั้นมีกายงาม วาจางาม ใจงาม เป็นสง่าราศี เป็นที่เคารพบูชา เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของนักปราชญ์

๕. อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่สะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง ปราศจากความลามก ปราศจากบาป มีแต่ความเจริญงอกงามไพบูลย์ ถ้ามีอยู่ในบุคคลใด ก็จะทำให้บุคคลนั้นเป็นอารยชน ถ้าบุคคลเช่นนี้มีอยู่ในบ้านใด เมืองใด ประเทศใด บ้านนั้น เมืองนั้น ประเทศนั้น ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ผูกพยาบาทฆ่าล้างผลาญกัน อาฆาตจองเวรแก่กัน และไม่ก่อภัย ก่อเวร ก่อทุกข์ ให้แก่ใครๆ

คำว่า อารยธรรม มีความหมายตามที่ได้บรรยายมานี้

อนึ่ง อารยธรรมนั้นมี ๖ ประการ ตามพระบาลีที่ว่า

อกฺโกธโน อนุปฺปนาหี  อมกฺขี สุทฺธตํ คโต
สมฺปนฺนทิฏฺฐิ เมธาวี  ตํ ชญฺญา อริโย อิติ.

แปลว่า อารยธรรม นั้น มีอยู่ ๖ ประการคือ

๑. อกฺโกธโน ความไม่โกรธ

๒. อนุปฺปนาหี ความไม่ผูกโกรธ

๓. อมกฺขี ความไม่ลบหลู่บุญคุณท่าน

๔. สุทฺธตํ คโต ถึงความบริสุทธิ์

๕. สมฺปนฺนทิฏฺฐิ มีความเห็นบริบูรณ์

๖. เมธาวี มีปัญญา

มีอธิบายดังนี้

๑. อกฺโกธโน ความไม่โกรธ ความไม่โกรธนี้ องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก คือความเมตตานั่นเอง เมตตานี้มีความไม่ดุร้าย ความไม่พิโรธ ไม่แค้นเคือง ไม่ทารุณโหดร้าย เป็นลักษณะ เป็นดุจเพื่อนผู้อนุกูลกัน หวังดีต่อกัน ความไม่โกรธ มีหน้าที่กำจัดความพยาบาทอาฆาตจองเวรออกไปให้ห่างไกล ทำความเร่าร้อนต่างๆให้พินาศไป ดุจแก่นจันทน์ระงับความเร่าร้อนในกายให้เยือกเย็นลงได้ มีผลคือความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ก่อทุกข์ให้แก่ใคร มีใจผ่องใส ดุจพระจันทร์วันเพ็ญลอยเด่นอยู่กลางนภา ฉะนั้น

ส่วนเหตุใกล้ชิดจะทำให้เมตตาเกิดขึ้นมีอยู่ ๘ ประการ ได้แก่

๑) โยนิโสมนสิกาโร ใส่ใจโดยอุบายอันแยบคายในเหตุนั้นๆ คือพินิจพิจารณาอย่างละเอียดลออ ไม่ตัดสินใจเร็วนัก อย่าวู่วามโกรธง่าย ให้เป็นคนที่มีความลึกซึ้ง มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาถึงโทษของความโกรธเสียก่อน แล้วความโกรธก็จะไม่เกิดขึ้น เมตตาก็จะมาแทนที่

๒) เมตฺตานิมิตฺตสฺส อุคฺคโห เรียนวิธีแผ่เมตตาให้เข้าใจดี

๓) เมตฺตาภาวนานุโยโค เจริญเมตตาภาวนาทุกๆวัน

๔) กมฺมสฺสกตาปจฺจเวกขณา พิจารณากรรมของเราเอง

๕) ปฏิสงฺขานพหุลีกตา พิจารณากรรมของตนเองและกรรมของผู้อื่นสัตว์อื่นด้วย

๖) กลฺยาณมิตฺตตา คบแต่เพื่อนที่ดีๆ

๗) สปฺปายกถา สนทนาปราศรัยกันแต่คำที่สบายใจ

๘) เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นนิตย์

คุณธรรมทั้ง ๘ ข้อนี้ เป็นเหตุใกล้ชิดที่จะทำให้ความไม่โกรธเกิดขึ้น คุณธรรมคือความไม่โกรธนี้ พระสารีบุตรเถระได้ประพฤติปฏิบัติมาเป็นตัวอย่างดีเยี่ยม ดังมีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทว่า

เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร พวกมนุษย์ได้พากันกล่าวยกย่องสรรเสริญคุณของพระสารีบุตรว่า น่าเคารพบูชาเหลือเกิน พระคุณเจ้าของเรา เต็มเปี่ยมไปด้วยความอดทน ใครๆจะด่าว่าจะประหารท่าน ท่านก็ไม่โกรธเลยแม้แต่นิดเดียว

ครั้งนั้น พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่งประสงค์จะยั่วยุให้ท่านโกรธ ในเวลาท่านไปบิณฑบาต แอบย่องไปข้างหลัง แล้วเอากำปั้นตีลงที่กลางหลังของท่าน ท่านไม่เหลียวมาดูเลย เดินไปเฉย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พราหมณ์นั้นก็เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นมาว่า

น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระผู้เป็นเจ้าองค์นี้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมอย่างดี สมกับที่ประชาชนเล่าลือกันจริงๆ จึงได้หมอบลงแทบเท้าของท่านแล้วขอขมาโทษ ท่านก็ยกโทษให้ พราหมณ์นั้นก็มีความเชื่อความเลื่อมใส มีความเคารพคารวะต่อพระเถระนั้น แล้วนิมนต์ท่านไปฉันบิณฑบาตที่บ้านของตน ปวารณาตนเป็นโยมอุปัฏฐาก เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ความไม่โกรธเป็นอารยธรรมสำคัญข้อหนึ่ง

๒. อนุปฺปนาหี ความไม่ผูกโกรธ ความผูกโกรธกันไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่โทษฝ่ายเดียวเท่านั้น ถ้าใครผูกโกรธบุคคลที่โกรธกัน พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า กลับจะเป็นคนเลวยิ่งกว่าบุคคลที่โกรธเสียอีก ดังพระบาลีว่า

ตสฺเสว เตน ปาปิโย  โย กุทฺธํ ปฏิกุชฺฌติ[2]
ผู้ใดโกรธตอบ ต่อบุคคลผู้โกรธก่อน คนนั้นเป็นคนเลวเสียยิ่งกว่า ดังนี้

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงทีเดียว เพราะว่าคนที่โกรธตอบ ก็เหมือนกันกับคนที่มุ่งจะประหารผู้อื่น แต่ตัวเองเหมือนเอามือไปจับก้อนเหล็กแดงอันร้อนโชนปราศจากเปลวฉะนั้น และเหมือนกันกับบุคคลเอามือไปจับมูตรคูถฉะนั้น เพราะเหตุนั้น นักปฏิบัติธรรมต้องไม่ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน ต้องให้อภัยกัน สงสารกัน รักใคร่กัน จึงจะดี เราเกิดมา ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้ากันสักคนเดียว ตายด้วยกันทั้งนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อย่าไปผูกโกรธผูกเวรซึ่งกันและกันเลย ถ้าใครผูกโกรธกัน ก็เหมือนกันกับเอาปลาเน่า สุนัขเน่า หรือมูตรคูถเน่า มาผูกตัวเอง มีแต่จะทำให้ตัวเองจมลงสู่อบายภูมิ ให้ปฏิบัติตนอย่างนางอุตตราไม่ผูกโกรธในนางสิริมา ฉะนั้น

คือมีเรื่องเล่าไว้ว่า นางอุตตรานั้น ได้จ้างนางสิริมาไว้ เพื่อให้ทำหน้าที่บำรุงสามีแทนตน เมื่อเวลาล่วงเลยไปนานเข้า นางสิริมาคิดสำคัญตัวเองว่าเป็นภรรยาจริงๆ วันหนึ่งเห็นสามีของนางอุตตรายิ้มให้นางอุตตรา เกิดความหึงหวง วิ่งไปตักเอาน้ำร้อนต้มเดือดๆ เทราดที่ศีรษะของนางอุตตรา แต่นางอุตตรากลับแผ่เมตตาจิต ไม่คิดที่จะโกรธตอบเลยแม้แต่เล็กน้อย น้ำร้อนนั้นก็กลับเย็นดุจน้ำแข็ง เพราะอานิสงส์ของความไม่ผูกโกรธ จึงจัดเป็นอารยธรรมข้อหนึ่ง

๓. อมกฺขี ความไม่ลบหลู่คุณท่าน คือความเป็นผู้กตัญญูกตเวทีนั่นเอง ท่านจำแนกไว้ ๔ ประเภท คือ

๑) พุทธบริษัท เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที มีความเคารพต่อพระพุทธเจ้า ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นพระองค์

๒) ลูกมีความเคารพคารวะ มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นท่าน

๓) ศิษย์มีความจงรักภักดี มีความกตัญญูกตเวทีต่อครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ ไม่ลบหลู่ดูถูกท่าน

๔) ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ มีความเคารพคารวะ มีความกตัญญูกตเวที จงรักภักดีซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นพระองค์

คนมีความกตัญญูกตเวทีอย่างนี้ เรียกว่า อมักขี จะมีแต่ความสุขความเจริญ ไม่มีความเสื่อม จะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความเดือดร้อน ย่อมจะได้รับแต่ความสุขกายสบายใจ ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

๔. สุทฺธตํ คโต ถึงความบริสุทธิ์ มี ๓ ขั้น ได้แก่

๑) ความบริสุทธิ์ขั้นต่ำ ได้แก่ บริสุทธิ์จากกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓ ความบริสุทธิ์นี้ย่อมได้ด้วยการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เพราะว่าศีลสามารถที่จะกำจัดกิเลสอย่างหยาบที่จะล่วงออกมาทางกายวาจาได้เท่านั้น เมื่อกิเลสหยาบไม่ล่วงออกมาทางกายวาจาแล้ว ก็ถือว่าถึงความบริสุทธิ์ขั้นต่ำ

๒) ความบริสุทธิ์ขั้นกลาง ได้แก่ ความบริสุทธิ์จากนิวรณ์ ๕ ความบริสุทธิ์นี้จะมีได้ด้วยการเจริญสมถกัมมัฏฐาน เพราะว่าสมถกัมมัฏฐานสามารถกำจัดกิเลสอย่างกลางให้สงบระงับไปได้

๓) ความบริสุทธิ์ขั้นสูง ได้แก่ ความบริสุทธิ์จากอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ความบริสุทธิ์นี้จะมีได้ด้วยการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อเราเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ไปได้ถึง ๔ ครั้งแล้ว ก็สามารถทำลายอนุสัยกิเลสซึ่งนอนดองอยู่ในส่วนลึกของจิตใจให้หมดไป เมื่อใดอนุสัยกิเลสหมดไปแล้ว จิตใจของเราก็สะอาด ถึงความบริสุทธิ์ขั้นสูง

๕. สมฺปนฺนทิฏฺฐิ มีความเห็นอันสมบูรณ์ คำว่า ความเห็น นี้เป็นคำกลางๆ อาจจะเห็นผิดก็ได้ เห็นถูกก็ได้ ถ้าเห็นผิดก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ในอารยธรรมนี้ หมายเอาความเห็นถูก คือ สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง มีอยู่ถึง ๖ ประการคือ

๑) กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก ได้แก่ เห็นว่าบุคคลทุกๆคนมีกรรมเป็นของตน ตนทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ตนทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว แล้วละชั่วประพฤติดี

๒) ฌานสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือมีความเห็นว่าการเจริญสมถกัมมัฏฐานเป็นของดี เพราะการระงับปริยุฏฐานกิเลสอย่างกลางได้แล้วลงมือเจริญสมถกัมมัฏฐาน

๓) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือมีความเห็นว่าพระวิปัสสนาเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงพร่ำสอนเพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามได้พ้นทุกข์ แล้วลงมือปฏิบัติตาม จนเกิดวิปัสสนาญาณต่างๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๑ จนถึงญาณที่ ๑๓ คือโคตรภูญาณ

๔) มัคคสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือเห็นมัคคจิต เห็นพระนิพพาน ตัดกิเลสขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ทำกิเลสให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน แล้วลงมือเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนยังมัคคญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน

๕) ผลสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือเห็นว่ามัคคจิต เห็นพระนิพพานเป็นผลของมรรคที่ประหารกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว

๖) ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือพิจารณาเห็นกิเลสที่ละได้และยังเหลืออยู่ พิจารณามรรค ผล นิพพาน

๖. เมธาวี มีปัญญา ปัญญามีมากมายแต่จะยกมา ๓ ประการ คือ

๑) ปริตตปัญญา ได้แก่ ปัญญาของผู้ศึกษาเล่าเรียนพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม หรือเล่าเรียนนักธรรมชั้นตรี โท เอก เป็นต้น จัดเป็นมหากุศลชั้นกามาวจร มีผลให้ไปเกิดในสุคติโลกมนุษย์สวรรค์

๒) มหัคคตปัญญา ได้แก่ ปัญญาของผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้บรรลุปฐมฌาน เป็นต้น จัดเป็นรูปาวจรกุศล มีผลให้บังเกิดในพรหมโลก

๓) อัปปมาณปัญญา ได้แก่ ปัญญาของผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จัดเป็นโลกุตตรกุศล มีผลให้เข้าสู่พระนิพพาน

คุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ เรียกว่า อารยธรรม หรืออริยธรรม บุคคลที่ตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ จึงจะได้นามว่า อริยชน ตามหลักของทางพระพุทธศาสนา

อารยธรรมนั้น เมื่อจะกล่าวสรุปใจความที่ได้บรรยายมาแล้ว จะเห็นได้ว่า มีหลายอย่าง คือ

๑) อารยธรรม ทำคนให้เป็นคน

๒) อารยธรรม ทำคนให้ดีกว่าคน

๓) อารยธรรม ทำคนให้เลิศกว่าคน

๔) อารยธรรม ทำคนให้เด่นกว่าคน

๕) อารยธรรม ทำคนให้สูงกว่าคน

๖) อารยธรรม ทำคนให้ประเสริฐกว่าคน

๗) อารยธรรม ทำคนให้เป็นพระ

๘) อารยธรรม ทำให้บุคคลแต่ละคนสุขกายสบายใจ

๙) อารยธรรม ทำคนให้มีค่า ทำให้ประเทศชาติพระศาสนาเจริญรุ่งเรือง

๑๐) อารยธรรม ทำให้บุคคลบรรลุประโยชน์ ๓ คือ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

๑๑) อารยธรรม ทำให้บุคคลได้สำเร็จสมบัติ ๓ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และพระนิพพานสมบัติ

๑๒) อารยธรรม ทำให้บุคคลได้ถึงแก่นธรรม ได้พ้นจากกองทุกข์และเพลิงกิเลส

๑๓) อารยธรรม ทำให้ชาวโลกร่มเย็นเป็นสุข เช่น ตัวอย่าง นางลดากุมารี มีเรื่องเล่าไว้ในวิมานวัตถุว่า

สมัยหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารเมืองสาวัตถี มีนางกุมารีคนหนึ่งชื่อว่าลดา เป็นนักปราชญ์ เฉลียวฉลาดพอสมควร มารดาบิดาขอให้อยู่ในตระกูลสามี นางได้ปรนนิบัติอุปัฏฐากสามีแม่ผัวเป็นอย่างดี ฉลาดในอันที่จะสงเคราะห์อันโตชนบริวารชน อโกธนา นางหาความโกรธมิได้ ประกอบไปด้วยศีลาจารวัตรเป็นอย่างดี นางยินดีในการจำแนกแจกทาน รักษาศีล ๕ เป็นนิจไม่ได้ขาด มิได้ประมาทมัวเมาในชีวิต ตั้งจิตรักษาอุโบสถศีลเป็นอันดี ครั้นทำกาลกิริยาตายไป นางได้บังเกิดในสวรรค์ สมเด็จพระจอมธรรม์ได้นำมาแสดงแก่พุทธบริษัท

คุณธรรมทั้ง ๖ อย่าง มีความไม่โกรธเป็นต้นนี้ เป็นอุปการะแก่การเจริญพระกัมมัฏฐาน ทั้งที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เพราะหากว่าเราขาดคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ ก็มีแต่การเอารัดเอาเปรียบกัน มองดูกันไม่เป็นมิตร ขาดความเคารพ ขาดความนับถือ ขาดความรักใคร่ ขาดความสามัคคี

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดความระส่ำระสาย คิดมาก อารมณ์ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด อยู่ด้วยกันเพียง ๕-๖ วัน ก็เหมือนกันกับว่าอยู่ด้วยกันตั้ง ๕-๖ ปี มีแต่คิดในด้านอกุศลเป็นต้น การที่เราทั้งหลายอยู่ร่วมกันนี้ ถ้าสมบูรณ์ด้วยธรรม ๖ ประการนี้ ยิ่งอยู่ด้วยกันก็ยิ่งมีความเคารพ มีความรักใคร่ มีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความสุข ไม่อยากจากกันไป ก็เป็นเหตุให้การประพฤติปฏิบัติได้ดี เป็นเหตุให้เกิดสมาธิสมาบัติ สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตามบุญญาธิการที่เราได้สั่งสมอบรมไว้

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อารยธรรม อันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.




[1] (ขุ. ขุทฺทก. ๒๕/๑๑/๑๖)
[2] (สํ.สคาถวคฺโค ๑๕/๖๓๓/๒๓๘)


วัดพิชโสภาราม
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 70.0.3538.77 Chrome 70.0.3538.77


ดูรายละเอียด
« ตอบ #87 เมื่อ: 13 พฤศจิกายน 2561 09:18:52 »




ความงามของพระศาสนา

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง ความงามของพระศาสนา มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ความงามของพระศาสนานี้ ท่านได้กล่าวไว้ในปฐมสามนต์ (สมันตปาสาทิกา) หน้า ๑๓๕ ว่า สกโลปิ สาสนธมฺโม พระธรรมคือศาสนาแม้ทั้งหมด มีความงามอยู่ ๓ ประการ คืองามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ท่านจำแนกแจกไว้เป็นหมวดๆ ดังต่อไปนี้ คือ

หมวดที่ ๑

อตฺตโน อตฺถภูเตน สีเลน อาทิกลฺยาโณ พระศาสนางามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นประโยชน์แก่ตนเอง

สมถวิปสฺสนามคฺเคหิ มชฺเฌกลฺยาโณ งามในท่ามกลางด้วยสมถะ วิปัสสนา มรรค

นิพฺพาเนนปิ ปริโยสานกลฺยาโณ งามในที่สุดด้วยพระนิพพาน

หมวดที่ ๒

สีลสมาธีหิ อาทิกลฺยาโณ งามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ

วิปสฺสนามคฺเคหิ มชฺเฌกลฺยาโณ งามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค

ผลนิพฺพาเนหิ ปริโยสานกลฺยาโณ งามในที่สุดด้วยผลและนิพพาน

หมวดที่ ๓ ท่านแก้ต่อไปว่า

ก. เมื่อบุคคลกำลังฟังพระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ นิวรณ์ ๕ อันกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี ก็สงบลงไป นิวรณ์ ๕ นั้น คือ

๑) กามฉันทะ พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

๒) พยาบาท ปองร้ายผู้อื่น ในเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่พอใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ไม่น่าชอบใจ ไม่น่าปรารถนา ก็เป็นเหตุให้เกิดความพยาบาทขึ้นมา

๓) ถีนมิทธะ ความหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ง่วงเหงาเศร้าซึม กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง กำหนดไม่ได้ดี

๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านรำคาญ เพราะนึกถึงบาปเก่าที่ตนได้เคยทำไว้ และบุญกุศลไม่ได้ทำ หรือทำก็ทำไว้น้อย ก็ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆได้

๕) วิจิกิจฉา ความสงสัย ลังเลใจ ไม่ตกลงได้ เช่น สงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยในเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยเรื่องสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน สงสัยในเรื่องบาปเรื่องบุญเป็นต้น เมื่อนิวรณ์ ๕ สงบลงไปชั่วขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ ก็เป็นเหตุให้บุคคลนั้นได้รับความสุขอยู่ไม่มากก็น้อย อย่างนี้เรียกว่า พระศาสนามีความงามในเบื้องต้น

ข. เมื่อบุคคลฟังธรรมแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตาม คือลงมือปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตนๆ นับตั้งแต่ขั้นต่ำเป็นต้นไป แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงอย่างนั้น ผู้นั้นก็ย่อมได้รับความสุขใจมิใช่น้อย ย่อมจะเกิดความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นอย่างดี อย่างนี้เรียกว่า พระศาสนางามในท่ามกลาง

ค. เมื่อบุคคลใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ผลดีคงที่ คือได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติ นับตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเป็นต้นไป จนกระทั่งถึงอรหัตตมรรคอรหัตตผล อย่างนี้เรียกว่า พระศาสนางามในที่สุด

ว่าด้วยภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัตินี้ ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติที่จิต จะได้ผลน้อยหรือมากเราก็ดูที่จิตของเรา ถ้าว่าเราสามารถทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน ลงไปได้เสี้ยวหนึ่งในส่วนสี่ (๑/๔) เราก็ชื่อว่าได้บรรลุขั้นปฐมมรรคแล้ว

หากว่าเราสามารถทำให้เบาบางไปถึงสองส่วน ก็ถือว่าเราได้บรรลุเป็นพระสกิทาคามีแล้ว แต่ถ้าว่าเราทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปครึ่งหนึ่ง เช่น ความโลภหมดไปถึง ๔ ตัว ความโกรธและกามราคะก็หมดไป ไม่มีเหลือหลออยู่ในขันธสันดาน

วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในข้อปฏิบัติ เป็นต้น ก็หมดไป ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ จิตใจของเราละได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าเราได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เดินไปได้ครึ่งทางแล้ว จวนจะถึงนิพพานขั้นสูงสุดยอดแล้ว

ถ้าว่าเราสามารถทำลายกิเลสตัณหาได้หมด ไม่มีกิเลสตัณหา ไม่มีอาสวะเหล่าใดนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเรา ใครจะมายุมายั่วด้วยวิธีอย่างไรก็ไม่โกรธ ใครจะมายกย่องสรรเสริญอย่างไรก็ไม่ยินดี เขาจะมีทรัพย์สินเงินทอง ผ้าผ่อนแพรพรรณ มีเงินเป็นล้านๆ มาวางไว้ มาถวาย ก็ธรรมดาๆ ไม่ตื่นเต้น ไม่ดีใจ แต่ไม่ใช่ใจจืดใจดำ หรือไม่ใช่ใจจืดใจจาง

หรือหากว่า (เรา) จะมีเงินทองกองแก้ว แต่มีอันเป็นไป ถูกโจรลักโจรขโมยไป ถูกเขาปล้นไปจี้ไป หรือตกหายอะไรทำนองนี้ ก็อยู่เฉยๆ ไม่มีความเสียใจ เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเราประพฤติปฏิบัติได้อย่างนี้ก็แสดงว่า เราบรรลุอริยมรรคอริยผลถึงขั้นพระอรหัตตมรรคพระอรหัตตผลแล้ว ถือว่าเราปฏิบัติธรรมะได้ผลขั้นสูงสุดยอดแล้ว

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงสังเกตและพิจารณาดูที่จิตของเราว่า ขณะนี้ จิตใจของเราสามารถละราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา อุปาทาน ได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ก็ขอให้เราได้พิสูจน์เอาเอง

ธรรมดาจิตของบุคคลย่อมผูกพันอยู่กับอารมณ์ต่างๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ตลอดกาลนาน นับตั้งแต่อ้อนแต่ออกมา ตั้งแต่เราได้คลอดจากครรภ์ของมารดามาจนถึงป่านนี้ จิตใจของเราส่วนมากไม่อยู่กับเนื้อกับตัวซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนมากจิตใจของเราวิ่งไปหารูปบ้าง วิ่งไปตามเสียงบ้าง วิ่งไปตามกลิ่นบ้าง วิ่งไปตามรสบ้าง วิ่งไปตามสัมผัสบ้าง วิ่งไปตามอารมณ์บ้าง อยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่คงที่

เหมือนกันกับลิง ซึ่งอยู่ตามปกติไม่ได้ ต้องเกาที่โน้นหยิบที่นี้ กระโดดไปโน้น กระโดดมานี้อยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ฉันใด ใจของคนเราก็เหมือนกัน นับตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดามาจนถึงป่านนี้ มันไม่อยู่กับที่ พูดตามประสาบ้านเราว่า ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว และก็วิ่งไปตามอารมณ์ต่างๆ เวลาอารมณ์ต่างๆมากระทบ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มากระทบ มันก็วิ่งไปตามอารมณ์นั้นๆแล้ว

เมื่อเรามาเจริญพระกัมมัฏฐาน (จิตนั้น) ก็ไม่ปรารถนาจะอยู่กับอารมณ์ของพระกัมมัฏฐานเลย ย่อมออกนอกทางอยู่เสมอ เหมือนกันกับเกวียนที่เทียมด้วยโคโกง ย่อมพาออกนอกทางอยู่เป็นนิตย์ ฉะนั้น ถึงอย่างนั้น บุคคลผู้หวังความสุขแก่ตน ก็ต้องเพียรพยายามฝึกฝนตนอบรมตน จนหายโกง หายดื้อ หายพยศ

ท่านกล่าวอุปมาในการฝึกไว้ว่า อันนรชนผู้ใคร่ที่จะฝึกลูกโคที่กำลังติดนมแม่อยู่ ต้องเอาเชือกผูกล่ามไว้กับเสา ลูกโคนั้นจะต้องดิ้นรนกระวนกระวาย เพื่อหาอุบายออกหนีไปให้ได้ เมื่อไม่สามารถจะหนีไปได้ตามที่ตนนึก ก็จำเป็นต้องยืนพิงเสาบ้าง นอนพิงเสาบ้าง ข้อนี้ฉันใด

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เหมือนกันน ผู้ประสงค์จะฝึกใจของตนเอง ก็พึงปฏิบัติฉันนั้น เพราะว่าใจเคยได้ลิ้มรสแห่งอารมณ์อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มานานต่อนานแล้ว พึงพรากใจของเราออกจากอารมณ์นั้นเสีย แล้วเอาเชือกคือสติผูกไว้ที่เสาคือพองยุบ เป็นต้น ดังบาลีกล่าวไว้ว่า

ตตฺถ อสฺสาสปสฺสาสถมฺเภ สติโยตฺเตน พนฺธิตพฺพํ ฯ

แปลว่า บุคคลพึงเอาเชือกคือสติ ล่ามจิตไว้ที่เสาคือพองยุบ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตก็จะต้องดิ้นรนกระวนกระวาย วิ่งไปข้างโน้น วิ่งมาข้างนี้ ไม่อยู่เป็นสุข ดุจลิง หรือดุจปลาที่บุคคลยกขึ้นมาจากน้ำวางไว้บนบก ย่อมดิ้นรนแส่หาน้ำฉันใด

เมื่อจิตใจไม่ได้อารมณ์ที่ตนเคยได้ในกาลก่อน ก็ประสงค์จะกัดเชือกคือสติหนีไปหาอารมณ์ที่ตนต้องการ เขาจะพยายามจนสุดความสามารถ ครั้นไม่อาจจะหนีไปได้ ก็จำเป็นต้องยึดมั่นอยู่กับรูปกับนามคือพองยุบ ด้วยอำนาจแห่งขณิกสมาธิบ้าง ด้วยอำนาจแห่งอุปจารสมาธิบ้าง ด้วยอำนาจแห่งอัปปนาสมาธิบ้าง สมดังที่พระโบราณาจารย์กล่าวสอนไว้ว่า

ยถา ถมฺเภ นิพนฺเธยฺย  วจฺฉํ ทมํ นโร อิธ
พนฺเธยฺเยวํ สกํ จิตฺตํ  สติยารมฺมเณ ทฬฺหํ[๑]

บุคคลใดในโลกนี้ เวลาจะฝึกลูกโค ต้องเอาเชือกผูกไว้กับเสาเสียก่อน แล้วจึงลงมือฝึกได้ตามชอบใจ ฉันใด อันบุคคลผู้จะฝึกจิตของตน ก็พึงปฏิบัติฉันนั้น คือพึงผูกจิตของตนไว้ให้มั่นที่อารมณ์คือพองยุบ เป็นต้น ด้วยสติ

อธิบายและขยายความดังต่อไปนี้ คือ

๑. อารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น กล่าวโดยนัยแห่งการปฏิบัติ ได้แก่ สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ

๑) กำหนดกาย เช่น เวลาท้องพองท้องยุบ ภาวนาว่า พุทโธ หรือภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ เป็นต้น ดังที่เคยได้บรรยายมาแล้วนั้น

๒) กำหนดเวทนา เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน

๓) กำหนดใจ เช่น เวลาคิดภาวนาว่า คิดหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ เป็นต้น แม้เวลาโกรธ เวลาดีใจ เวลาเสียใจ ก็ให้ปฏิบัติเช่นกัน ถ้าเราเข้าใจวิธีปฏิบัติแล้ว อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ จะเป็นข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักเรียน ทหาร ตำรวจ ก็ปฏิบัติได้ทั้งนั้น

๔) กำหนดธรรม เช่น นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ และโพชฌงค์ ๗ เป็นต้น

รวมความว่า อารมณ์ของวิปัสสนาคือสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กาย เวทนา จิต และ ธรรม

๒. ใช้สติเป็นเครื่องมือในการฝึก ในการกำหนด เอาสติกั้นกิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ให้ไหลบ่าเข้ามาท่วมนา หรือท่วมพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ

ฉะนั้น ในเวลาเจริญวิปัสสนาจริงๆแล้ว ไม่ต้องไปห่วงใยกังวลอะไรอย่างอื่น ขอแต่ให้ใช้สติกำหนดลงไปตรงที่ท้องพองท้องยุบแห่งเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ ครบหมดทุกข้อ

เช่น ท้องที่พองยุบเป็นรูป รูปนี้เป็นกาย ในขณะนั้นเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งต้องมีอยู่ด้วยกันทุกคน คือไม่สุขก็ทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์ก็สุข ถ้าไม่สุขไม่ทุกข์ก็เฉยๆ สุข ทุกข์ เฉยๆ เป็นเวทนา การที่รู้ว่าพองยุบอยู่นั้นเป็นจิต

ใจขณะที่กำหนดพองยุบอยู่นั้น ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีอยู่พร้อมมูลแล้ว ขันธ์ ๕ นี้เป็นธรรม สติที่กำหนดพองยุบอยู่นั้นก็เป็นธรรม แม้สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็มารวมอยู่ที่แห่งเดียวกันนี้

เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จึงเป็นของทำได้ปฏิบัติได้โดยไม่ยากนักและไม่ง่ายนัก ยากอยู่ที่บุคคลไม่กล้าตัดสินใจทำ หรือไม่ทำจริงเท่านั้น พระพุทธองค์ได้วางหลักไว้ว่า สตฺตนฺนํ ทิวสานํ ถ้าบุคคลมีศรัทธาจริง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริงแล้ว ภายใน ๗ วัน ก็จะได้ผล

นอกจากนี้ ในปฐมสามนต์นั่นเอง ท่านยังได้กล่าวสอนต่อไปอีกว่า ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต้องทำตนให้เป็นดุจพญาเสือโคร่ง คือตามธรรมดาพญาเสือโคร่งย่อมแอบอาศัยป่าหญ้ารกๆบ้าง อาศัยป่าไม้บ้าง อาศัยภูเขาบ้าง แล้วคอยจ้องตะครุบเนื้อ(สัตว์)กินเป็นอาหาร เช่น กระบือป่า โคป่า หมูป่า เป็นต้น ฉันใด

ผู้เห็นภัยในวัฏสงสารหวังจะไปสู่พระนิพพาน ก็พึงปฏิบัติฉันนั้น พึงอาศัยป่าไม้บ้าง โคนไม้บ้าง เรือนว่างบ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วลงมือเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสามารถยึดมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ไว้ในเงื้อมมือของตนได้ สมดังพระโบราณาจารย์กล่าวสอนเปรียบเทียบไว้ว่า

ยถาปิ ทีปโก นาม  นิลียิตฺวา คนฺถตี มิเค
ตเถวายํ พุทฺธปุตฺโต  ยุตฺตโยโค วิปสฺสโก
อรญฺญํ ปวิสิตฺวาน คณฺหาติ ผลมุตฺตมํ.[๒]

ธรรมดาเสือโคร่ง ย่อมแอบซ่อนตัวคอยจับเนื้อกินเป็นอาหารอยู่ตามป่า ฉันใด บุตรของพระตถาคตเจ้าต้องเป็นผู้ประกอบด้วยความเพียร มิได้ประมาท เข้าไปสู่ป่าหรือโคนไม้แล้ว หรือเข้าไปอยู่ที่ว่างเปล่าแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ลงมือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ฉันนั้น

ที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็พอสรุปใจความว่า

ความงามของพระศาสนาในเบื้องต้น ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เรารักษา แต่ว่ายังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ความงามของพระศาสนาในขั้นกลาง ก็ได้แก่ การที่เราลงมือเจริญพระกัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีแล้ว แต่ยังไม่ได้บรรลุเป็น พระอรหันต์

ความงามของพระศาสนาในขั้นสูงสุด ก็ได้แก่ การเจริญวิปัสสนาภาวนา จนได้บรรลุพระอรหัตตมรรค อรหัตตผล พ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ความงามของพระศาสนา มาบรรยายโดยย่อ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้.



[๑] ขุททกนิกายอัฏฐกถา ปฏิสัมภิทามัคควัณณนา สัทธัมมปกาสินี ๒ หน้า ๙๘
[๒] ขุททกนิกายอัฏฐกถา ปฏิสัมภิทามัคควัณณนา สัทธัมมปกาสินี ๒ หน้า ๙๔


วัดพิชโสภาราม
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 70.0.3538.110 Chrome 70.0.3538.110


ดูรายละเอียด
« ตอบ #88 เมื่อ: 04 ธันวาคม 2561 16:25:34 »




ผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า ในเรื่อง ผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบต่อไป

ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

ฉหิ ภิกฺขเว ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต ภิกฺขุ นจิรสฺเสว มหนฺตํ เวปุลฺลํ ปาปุณาติ ธมฺเมสุ.[๑]

ใจความว่า ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏสงสารประกอบด้วยคุณธรรม ๖ ประการ ย่อมถึงความไพบูลย์อันยิ่งใหญ่ในธรรม ต่อกาลไม่นานเลย

คุณธรรมทั้ง ๖ ประการนั้น คือ

๑. อาโลกพหุโล มากด้วยแสงสว่าง

๒. โยคพหุโล มากด้วยความเพียร

๓. เวทพหุโล มากด้วยปีติปราโมทย์

๔. อสนฺตุฏฺฐิพหุโล มากด้วยความไม่พอไม่หยุด

๕. อนิกฺขิตฺตธุโร ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม

๖. อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ พยายามก้าวหน้าต่อไป ไม่ถอยหลัง

มีอธิบายดังต่อไปนี้

๑. คำว่า มากไปด้วยแสงสว่าง หมายความว่า มีญาณมาก มีความรู้มาก มีปัญญามาก จำแนกเป็น ๓ ประการคือ

๑) ปริยัติญาณ ปัญญาคือความรู้ที่เกิดจากการศึกษา

๒) ปฏิปัตติญาณ ปัญญาคือความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ

๓) ปฏิเวธญาณ ปัญญาคือความรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ปัญญาซึ่งรู้แจ้งแทงตลอดวิสุทธิ ๗ ปัญญาซึ่งรู้แจ้งแทงตลอดลำดับญาณ ๑๖ จนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ผู้ที่ประกอบไปด้วยญาณทั้ง ๓ นี้ชื่อว่า อาโลกพหุโล ผู้มากไปด้วยแสงสว่างคือปัญญา

๒. คำว่า มากไปด้วยความเพียร ได้แก่ มากไปด้วยความเพียร ทั้งทางโลก ทางธรรม ความเพียรทางโลกคือ พยายามให้การงานที่เราประกอบนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ส่วนความเพียรในทางธรรมนั้น จำแนกออกเป็น ๔ ประการคือ

๑) เพียรระวังบาป ไม่ให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา ทางใจ ด้วยการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เช่น เวลาเดินจงกรม ภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เป็นต้น สติกับจิตไม่เผลอจากเท้าขวาเท้าซ้าย แม้เวลานั่ง สติกับจิตก็ให้อยู่กับท้องพองท้องยุบ เป็นต้น โดยภาวนาว่า พุทโธๆ หรือ ยุบหนอ พองหนอ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เผลอจากรูปจากนาม ชื่อว่าได้ปัจจุบันธรรม

ในขณะนั้น บาปคือความโลภ ความโกรธ ความหลง จะไม่เกิดขึ้นได้เลย เพราะว่าบาปคือความชั่วช้านั้น จะเกิดได้ก็ต้องอาศัยทั้งอารมณ์อดีต ทั้งอารมณ์อนาคต ดังนั้น สมเด็จพระจอมธรรมจึงตรัสสอนไว้ (เป็นต้น) ว่า

อตีตํ นานฺวาคเมยฺย  นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ
ยทตีตมฺปหีนนฺตํ  อปฺปตฺตญฺจ อนาคตํ
ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ  ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ
[๒]

ซึ่งแปลความว่า ท่านทั้งหลายอย่านึกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว อย่ามุ่งหวังอารมณ์อนาคต คือที่ยังไม่มาถึง เพราะว่าสิ่งใดที่เป็นอดีต สิ่งนั้นก็ล่วงเลยไปแล้ว สิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นก็ยังมาไม่ถึง ผู้ใดได้ปัจจุบันธรรม ผู้นั้นจึงจะสามารถเห็นแจ้งในที่นั้นๆได้ ดังนี้

ความเพียรที่เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เรียกว่า เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน

๒) เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นให้เสื่อมไป ด้วยการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เช่น เวลาเดินจงกรม เวลานั่งภาวนาอยู่ สติกับจิตจับอยู่ที่ปัจจุบันธรรม เห็นรูป เห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ ขณะนั้นกิเลสต่างๆ จักสงบระงับดับไปโดยตทังคปหาน คือ ละกิเลสได้ด้วยองค์พระกัมมัฏฐาน และสงบระงับไปด้วยวิกขัมภนปหาน คือละกิเลสโดยการข่มได้ด้วยอำนาจ ศีล สมาธิ ปัญญา

อย่างนี้เรียกว่า เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมสิ้นไป ทำให้กิเลสดับไปในขั้นต่ำและขั้นกลาง ส่วนในขั้นสูงนั้น ได้แก่ เพียรละโดยเด็ดขาด ไม่กลับเกิดขึ้นอีกต่อไป ด้วยการบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุถึงมัคคญาณผลญาณ

๓) เพียรบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้นในตน คือเพียรพยายามให้ศีลกุศล สมาธิกุศล ปัญญากุศล เกิดขึ้นในตนให้มากๆ จนสามารถตัดกิเลสได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ได้แก่ ผู้เจริญพระวิปัสสนาจนได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั่นเอง

๔) เพียรรักษากาย วาจา ใจ ให้อยู่กับศีล สมาธิ ปัญญา และเพียรรักษาศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ และให้เจริญยิ่งๆขึ้น โดยลำดับๆ จนกว่าจะได้สิ้นอาสวะกิเลส

ผู้ใดประกอบไปด้วยความเพียรทั้ง ๔ ประการนี้ เรียกว่า ผู้มากไปด้วยความเพียรในทางธรรม

ถ้าผู้ใดมากไปด้วยความเพียรทั้งในทางโลกและมากไปด้วยความเพียรทั้งในทางธรรม ย่อมจะนำผู้นั้นให้ได้รับประโยชน์ในภพนี้ ประโยชน์ในภพหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง กล่าวคือพระนิพพาน เหมือนดังเรื่องของนางปุณณา มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า

เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฎ ใกล้เมืองราชคฤห์ วันหนึ่ง นางปุณณา ได้ตามประทีปทำงานตลอดคืน เมื่อนางเหนื่อยจึงหยุดพักตากอากาศที่ข้างนอก ขณะนั้น พระทัพพมัลลบุตร ได้จัดแจงเสนาสนะถวายแก่พระภิกษุทั้งหลายที่พากันมาเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมแล้ว ต่างก็ไปสู่ที่อยู่ของตนเพื่อเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป

นางปุณณาได้แลเห็นพวกภิกษุเที่ยวไปอยู่บนภูเขาด้วยแสงสว่าง คิดว่าท่านคงจะไม่สบาย หรือคงจะถูกงูกัดเป็นแน่ ครั้นใกล้รุ่ง นางจึงเอารำผสมกับน้ำทำเป็นก้อน ปิ้งไฟสุกแล้ว ใส่ชายพกผ้า เดินออกไปตักน้ำ ขณะนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดากำลังเสด็จออกบิณฑบาต เสด็จสวนทางมาพอดี

นางปุณณาจึงคิดว่า ในวันอื่นๆ เมื่อเราได้พบพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีไทยธรรมถวาย ถ้าเรามีไทยธรรม ก็ไม่พบพระพุทธเจ้า วันนี้เรามีโชคมากแล้วหนอ ไทยธรรมของเราก็มี พระพุทธองค์ก็อยู่ ณ ที่เฉพาะหน้านี้ จึงถวายบังคมกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงรับขนมอันเศร้าหมองนี้ แล้วจงสงเคราะห์หม่อมฉันเถิด

พระบรมศาสดาทรงน้อมบาตรรับขนมของนางตามความประสงค์ นางใส่บาตรแล้ว กราบไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์อย่างเรียบร้อย ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ภนฺเต ตุมฺเหหิ ทิฏฺฐธมฺโมเยว เม สมิชฺฌตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระธรรมที่พระองค์ได้เห็นแล้ว จงสำเร็จแก่หม่อมฉันด้วยเถิด สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนาว่า เอวํ โหตุ ขอความปรารถนาที่เธอตั้งไว้นั้น จงสำเร็จเถิด

ลำดับนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้พระอานนท์เถระปูอาสนะถวาย ทรงนั่งเสวยภัตตาหาร ณ ที่ใกล้ๆนางนั้น เมื่อเสวยเสร็จจึงตรัสเรียกนางปุณณามารับสั่งว่า ปุณณา เธอไม่ได้หลับเพราะทุกข์ของตน ส่วนสาวกของเรา ไม่ได้หลับเพราะทำความเพียรตลอดวันยันรุ่ง แล้วแสดงพระธรรมเทศนาแก่นางต่อไปว่า (๒๕/๒๗/๔๕)

สทา ชาครมานานํ  อโหรตฺตานุสิกฺขินํ
นิพฺพานํ อธิมุตฺตานํ  อตฺถํ คจฺฉนฺติ อาสวา ฯ


อาสวะทั้งหลายของบุคคลผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ ปฏิบัติธรรมตลอดคืนและวัน มีใจน้อมไปสู่พระนิพพาน ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ คือย่อมหมดไปสิ้นไปโดยไม่เหลือ

เมื่อนางปุณณาได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาแล้วเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ ไม่ช้าไม่นานนางก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้มีความเพียรในทางโลก ย่อมเป็นผลดลบันดาลให้ได้รับความสุขในทางโลก ผู้มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม ย่อมนำตนให้พ้นทุกข์ ประสพสันติสุขอย่างแท้จริง และได้ชื่อว่า โยคพหุโล ผู้มากไปด้วยความเพียร ดังนี้

๓. คำว่า มากด้วยปีติปราโมทย์ หมายความว่า มีความอิ่มอกอิ่มใจต่อผลงาน ต่อความดีต่างๆ ที่ตนได้ทำมาได้ปฏิบัติมาทั้งทางโลกและทางธรรม ความอิ่มใจทางโลก ได้แก่ เมื่องานหรือสิ่งที่ตนประกอบทุกอย่างสำเร็จสมประสงค์ ส่วนความอิ่มใจทางธรรมนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ

๑) ความอิ่มใจในขั้นต่ำ เกิดขึ้นเพราะการเรียนรู้ปริยัติตามภูมิตามชั้นของตนแล้วสอบได้ ย่อมภาคภูมิใจ สุขใจมิใช่น้อย

๒) ความอิ่มใจในขั้นกลาง เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติธรรม เช่น เจริญสมถกัมมัฏฐาน หรือเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน พอถึงญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณอย่างแก่ เข้าเขตอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน เกิดความอิ่มใจที่เรียกว่า ปีติ ๕ มีขุททกาปีติ ความอิ่มใจชั่วขณะ ทำให้ขนลุกน้ำตาไหล ใจเอิบอิ่มเยือกเย็น เป็นต้น

๓) ความอิ่มใจขั้นสูง เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติธรรมจนได้ผลเต็มที่แล้ว เกิดความอิ่มใจเป็นพิเศษ เช่น พระเจ้ามหากัปปินะ เป็นตัวอย่าง

ท่านได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน สละราชสมบัติออกบวช เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ ท่านมีความอิ่มใจสุขใจในธรรมมาก ย่อมเปล่งอุทานทั้งกลางคืนและกลางวันว่า อโห สุขํ อโห สุขํ สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ตรัสพระคาถาไว้ว่า[๓]

ธมฺมปีติ สุขํ เสติ  วิปฺปสนฺเนน เจตสา
อริยปฺปเวทิเต ธมฺเม  สทา รมติ ปณฺฑิโต ฯ


บุคคลผู้มีใจผ่องใส มีความอิ่มใจในธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมอันพระอริยเจ้าประกาศแล้ว คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

ผู้มีความอิ่มใจดังกล่าวมานี้ ได้สมญาว่า เวทพหุโล

๔. คำว่า ผู้มากไปด้วยความไม่พอไม่หยุด หมายความว่า ไม่พอใจเพียงเท่านั้น ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ต้องพยายามก้าวหน้าต่อไปอีก คือพยายามทำทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล ไม่ลดละ

ในอรรถกถาท่านได้แก้ไว้ว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ อสนฺตุฏฺโฐ ไม่พอใจในกุศลธรรมเพียงเท่านั้น เช่น เราเคยทำทานกุศลอยู่แล้ว ก็อย่าทำความพอใจในกุศลเพียงเท่านั้น บุญกุศลอื่นๆ ที่ประเสริฐเลิศกว่านั้น ดีกว่านั้น สูงกว่านั้น ยังมีอยู่อีกมาก เช่น ศีลกุศล เป็นต้น เรื่องเช่นนี้ในอดีตกาลเคยมีมาแล้ว ตัวอย่าง

มีชายคนหนึ่ง ไม่อิ่ม ไม่พอใจ ไม่หยุดอยู่เพียงกุศลธรรมชั้นต่ำๆ พยายามทำให้ยิ่งขึ้นไป จนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน คือ ครั้งที่ ๑ เห็นชายจีวรของพระภิกษุสงฆ์เปียกชุ่มน้ำค้าง ในเวลาที่ท่านยืนห่มจีวรไปบิณฑบาตในบ้าน จึงพยายามหาจอบมาดายหญ้า ทำให้เตียนและสะอาดดี ครั้งที่ ๒ นำเอาทรายมาเกลี่ยลง ณ ที่นั้น ทำให้สะอาดเรียบร้อยดี ครั้งที่ ๓ สร้างมณฑปกันแดดมุงด้วยใบไม้ ครั้งที่ ๔ สร้างศาลากันฝนมุงด้วยกระเบื้องอย่างดี

ครั้งที่ ๕ ทำการฉลองเป็นการใหญ่ โดยอาราธนาพระพุทธเจ้ามาเป็นประธาน ครั้งที่ ๖ ถวายทาน ฟังธรรม ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน อย่างนี้เรียกว่า อสนฺตุฏิพหุโล ผู้มากด้วยความไม่พอไม่หยุดในกุศลธรรม ธรรมดากุศลนั้น มีมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นของดี เพราะฉะนั้น ควรสร้างความดีไว้มากๆ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางคือ พระนิพพาน

๕. คำว่า ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม นั้น กุศลธรรมแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น คือ

๑) กามาวจรกุศล ได้แก่ กุศลที่เกิดขึ้นจากทาน ศีล เป็นต้น

๒) รูปาวจรกุศล ได้แก่ กุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญสมถกัมมัฏฐานในส่วนที่เป็นรูปกัมมัฏฐาน จนได้รูปฌาน

๓) อรูปาวจรกุศล ได้แก่ กุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญอรูปกัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จอรูปฌาน

๔) โลกุตตรกุศล ได้แก่ บุญกุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ผู้ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้ง ๔ นี้ ได้ชื่อว่า อนิกฺขิตฺตธุโร

๖. คำว่า พยายามก้าวหน้าต่อไป ไม่ถอยหลัง หมายความว่า พยายามก้าวหน้าต่อไป ทั้งภาคปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จนสามารถหลุดพ้นจากกิเลสาสวะทั้งหลายทั้งปวง ผู้ที่พยายามก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างนี้ ย่อมได้รับประโยชน์โสตถิผลทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น ทั้งภพนี้และภพหน้า ตั้งแต่ต่ำจนถึงสูงสุด

ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลไว้ ๗ จำพวก เพื่อให้นักปฏิบัติธรรมเปรียบเทียบดูว่า ขณะนี้ตัวเราอยู่ในประเภทไหน เมื่อไรจะพยายามก้าวหน้าต่อไป หรือได้พยายามเต็มที่แล้ว บุคคล ๗ จำพวกนั้น คือ

บุคคลจำพวกที่ ๑ ดำน้ำดิ่งลงไปฝ่ายเดียว ไม่ยอมโผล่ขึ้นมาอีกเลย ได้แก่ บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ยอมละทิฏฐิผิดนั้น

บุคคลจำพวกที่ ๒ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้ว กลับดำดิ่งลงไปอีก ได้แก่ บุคคลผู้มีศรัทธาดี มีความเพียรดี แต่ภายหลังกลับไม่มีศรัทธา ไม่มีความเพียร เช่น บางท่านครั้งแรกมีศรัทธาในการเจริญวิปัสสนา แต่ภายหลังกลับไม่มีศรัทธา หมดความอุตสาหะที่จะเจริญวิปัสสนาต่อไป

บุคคลจำพวกที่ ๓ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วยืนอยู่เฉยๆ ได้แก่ บุคคลที่เคยทำทานมาแต่ก่อนก็ทำทานตลอดไป เคยรักษาศีลมาก็รักษาตลอดไป เคยฟังเทศน์มาก็ฟังเทศน์ตลอดไป ที่จะคิดปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ไม่มี พอใจเพียงเท่านั้น หยุดอยู่เพียงแค่นั้น

บุคคลจำพวกที่ ๔ ดำน้ำขึ้นมาแล้ว เหลียวดูข้างโน้น มองดูข้างนี้ ได้แก่ บุคคลผู้มีศีลมีศรัทธาดีอยู่แล้ว แต่ไม่พอใจอยู่เพียงแค่นั้น ได้พยายามก้าวหน้าต่อไปอีก คือลงมือเจริญสมถะและวิปัสสนาจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

บุคคลจำพวกที่ ๕ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้ว ข้ามน้ำต่อไปอีก ได้แก่ ผู้ที่เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วไม่พอใจเพียงเท่านั้น ตั้งใจปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไป จนได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี

บุคคลจำพวกที่ ๖ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้ว พยายามก้าวหน้าต่อไปอีกจนจวนจะถึงฝั่ง ได้ที่พึ่งที่อาศัยอันสมควรแล้ว ได้แก่ บุคคลผู้ไม่ละความเพียร พยายามปฏิบัติต่อไปจนผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ สำเร็จเป็นพระอนาคามี ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามภูมิอีกต่อไป

บุคคลจำพวกที่ ๗ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วพยายามก้าวหน้าต่อไปจนถึงฝั่ง ได้แก่ บุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้เป็นพระอนาคามีแล้ว แต่ไม่พอใจหยุดอยู่เพียงแค่นั้น ตั้งใจปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน

บุคคลประเภทที่ ๔ ถึงประเภทที่ ๗ รวม ๔ จำพวกนี้ ได้ชื่อว่า อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ ผู้พยายามก้าวหน้าต่อไป ไม่ถอยหลัง

เท่าที่บรรยายมา พอสรุปใจความได้ว่า ผู้จะเข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม นำตนให้พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร และมรณกันดาร ต่อกาลไม่นานเลยนั้น ต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยธรรมทั้ง ๖ ประการดังกล่าวมา

ดังนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติธรรม บำเพ็ญตนอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนั้นให้บริบูรณ์ เพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับๆเถิด จะได้เกิดประโยชน์โสตถิผลอันยิ่งใหญ่ไพศาล จนถึงพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข พ้นจากทุกข์ทั้งหลาย ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป

กิเลสจะเบาบางเป็นลำดับๆไป ในขั้นพระอนาคามียังคงเหลืออยู่แต่อย่างละเอียด โดยเฉพาะคือ อยากได้หรือสนใจในมรรคผลชั้นสุดท้าย แล้วสงสัยว่าจะเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว กิเลสต่างๆมีอวิชชาเป็นต้นก็สิ้นไป

สิ้นความสงสัย สิ้นความอยากได้ เพราะรู้แล้วได้แล้ว ตามคติในทางพระพุทธศาสนา ชาติปัจจุบันเป็นชาติสุดท้ายในโลกของพระอนาคามี

เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว อริยบุคคลชั้นนี้จะไปสู่แดนสุทธาวาส คือ แดนอันบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากกามราคะซึ่งอยู่ในรูปภพ และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในแดนสุทธาวาสนั้น

สำหรับผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น กิเลสที่ยังเหลืออยู่อีก ๓ ประการดังกล่าวมา ย่อมดับลงอย่างเด็ดขาด

กล่าวอีกนัยหนึ่ง กิเลสทั้งหลายทั้งปวงย่อมดับลงอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ชีวิตนั้นก็หมดสิ้นแล้วซึ่งราคะตัณหา ดับแล้วซึ่งมวลกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง คงจะเหลือแต่เบญจขันธ์ ได้แก่ รูปคือร่างกาย เวทนาคือความรู้สึก สัญญาคือความจำได้ สังขารคือการปรุงแต่งจิต วิญญาณคือความนึกคิดรู้อารมณ์

ชีวิตของพระอรหันต์เป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ยิ่ง เป็นที่เชื่อกันว่า ถ้าเป็นฆราวาสได้บรรลุพระอรหันต์แล้วจะอยู่ในเพศฆราวาสได้ไม่เกิน ๑ วัน จำต้องบวช มิฉะนั้นแล้วจะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน เพราะเพศของคฤหัสถ์นั้นเป็นหีนเพศ ไม่สามารถที่จะทรงคุณของพระอรหันต์ได้

เหตุนั้น เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์จำเป็นต้องออกบวช ถ้าไม่บวชก็จะต้องปรินิพพานภายในวันนั้น และเมื่อประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานแล้ว ก็เป็นอันว่า เมื่อดับขันธ์แล้วเข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ้นทุกข์ สิ้นชาติ สิ้นภพ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไปชั่วนิรันดร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานยังมีมากกว่านี้ แต่นำมาบรรยายเพียงสังเขปกถา แต่คิดว่าท่านทั้งหลายคงพอที่จะรู้ได้ พอที่จะอนุมานได้ ว่าการมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานของเราครั้งนี้ เราได้ผลอย่างไร และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นนั้นมีอย่างไรบ้าง

หากว่าท่านเป็นนักสังเกตหรือเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะดี อะไรต่างๆนานา ที่เกิดขึ้นมารอบด้านก็สังเกตดู ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า การมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ได้ผลคุ้มค่า ได้ผลเกินค่า จนไม่สามารถที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดลงไปได้ นี้สำหรับผู้ที่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆเท่านั้น แต่ถ้าว่าท่านใดที่ไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติก็เหลือวิสัยที่จะช่วยเหลือได้

เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมเอาธรรมในเรื่อง ผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม มาบรรยายโดยสังเขปกถา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงแค่นี้.




[๑] องฺ. ฉกฺกนิปาตา ๒๒ / ๓๕๑ / ๔๘๒
[๒] ม. อุปริปณฺณาสกํ ๑๔ / ๕๒๗ / ๓๔๘
[๓] ขุ. ขุทฺทกปาฐ-ธมฺมปทคาถา ๒๕ / ๑๖ / ๒๕

วัดพิชโสภาราม
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 71.0.3578.98 Chrome 71.0.3578.98


ดูรายละเอียด
« ตอบ #89 เมื่อ: 20 ธันวาคม 2561 09:09:36 »



สิ้นอาสวะถึงสันติลักษณะ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สิ้นอาสวะถึงสันติลักษณะ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติสืบไป

คือเมื่อท่านนักปฏิบัติธรรมท่านใดได้เข้าพิสูจน์ในการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีความเพียรใช้สติระลึกรู้ทันทุกขณะของรูปธรรมนามธรรม จนเกิดญาณรู้แจ้งแทงตลอดในพระไตรลักษณ์ชัดว่า รูปนามเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนิจจัง ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

อาสวะที่ไหลแล้วไปหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ได้แก่ ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิความเห็นผิด ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์ กามาสวะ อาสวะคือกาม ได้แก่ ความใคร่ในวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ น่าปรารถนา เมื่อมีความใคร่ในวัตถุกามมีรูปเป็นต้นแล้ว กามาสวะ อาสวะคือกามนั้นก็จะไหลเข้าสู่จิตใจ แล้วก็เก็บลงสู่ภวังค์เสมอ

ภวาสวะ อาสวะคือภพ ได้แก่ ความอยากมีอยากเป็น เช่นว่า อยากเป็นโน้นเป็นนี้ อยากเป็นข้าราชการ อยากเป็นกำนัน อยากเป็นผู้ใหญ่บ้าน อยากเป็นนายอำเภอ อยากเป็นปลัด อยากเป็นผู้แทนราษฎร อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นนายก อะไรจิปาถะ ความอยากมีอยากเป็นนี้ก็ถือว่าเป็นภวาสวะ อาสวะคือภพ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะไหลเข้าสู่จิตใจของเรา แล้วเก็บลงสู่ภวังค์ หมักดองไว้ในขันธสันดาน ได้ชื่อว่า ภวานุสัย อนุสัยคือภพบ้าง ภวาสวะ อาสวะคือภพบ้าง

ก็เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว มีอารมณ์พระไตรลักษณ์ประหารอาสวะเหล่านี้อยู่เสมอ อาสวะที่เป็นภายนอกไหลเข้าไปไม่ได้ อาสวะที่เป็นภายในก็ถูกอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์แทนมากขึ้นเท่าใดๆ อาสวะก็จะน้อยลงเท่านั้นๆ จนกระทั่งสิ้นอาสวะ คือเมื่อใดได้ผ่านญาณ ๑๖ โอนโคตรจากปุถุชนไปสู่อริยโคตร เมื่อนั้นชื่อว่า ถึงสันติลักษณะ สงบจากกองกิเลสาสวะและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ถึงพระนิพพาน

หมายความว่า อาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะก็ดี ทิฏฐาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะปวัตติไปตามวิถีของจิต แล้วลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต ภวังคจิตก็จะรักษาอาสวะทั้งหลายเหล่านั้นไว้ในห้วงภวังค์ เป็นอนุสัยกิเลสนอนดองอยู่ เราไม่มีหนทางใดที่จะกำจัดได้ นอกจากการเจริญพระวิปัสสนาภาวนา

คือเราจะให้ทานจนหมดวัตถุสิ่งของที่มีอยู่ เราจะรักษาศีลตั้งแต่รู้เดียงสาจนถึงวันตาย เกิดชาติใดก็รักษาศีลตลอดไป หรือเราเจริญสมถภาวนาจนได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ได้อภิญญาจิตก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะทำลายอาสวะทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ หรือไม่อาจที่จะทำลายอนุสัยเหล่านี้ให้หมดไปได้

เว้นไว้แต่ผู้ใดมาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหมือนที่พวกท่านทั้งหลายเจริญอยู่ในขณะนี้ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบัน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อใด เมื่อนั้นพระไตรลักษณ์ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต แล้วลงไปสู่ห้วงแห่งภวังค์ ในขณะนั้น

อาสวะหรืออนุสัยกิเลสที่มีอยู่ในห้วงแห่งภวังค์ก็จะหมดไปตามลำดับ อาสวะใหม่หรืออนุสัยใหม่ก็เข้าไปไม่ได้ เมื่อพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไหลลงมากเท่าไหร่ อาสวะหรืออนุสัยก็หมดไปมากเท่านั้น จนกระทั่งหมดสิ้นอาสวะหรืออนุสัยเมื่อใด เมื่อนั้นท่านผู้ปฏิบัติได้ชื่อว่าผ่านญาณ ๑๖ โอนโคตรจากปุถุชนไปสู่อริยโคตร คือโคตรของพระอริยบุคคลโสดาบัน โดยสันติลักษณะ มีลักษณะสงบจากกิเลสาสวะและกองทุกข์ทั้งปวง คือพระนิพพาน

พ้นจากโลกีย์ไปสู่โลกุตตระ ด้วยอนิมิตตวิโมกข์ เพราะเห็นอนิจจังชัด พ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ เพราะเห็นทุกขังชัด พ้นด้วยสุญญตวิโมกข์ เพราะเห็นอนัตตาชัด ถึงพระนิพพาน ดับนามรูป ถึงสันติอันถาวร เที่ยง เป็นบรมสุขแน่นอน ผู้นั้นได้ชื่อว่า ได้ถึง ได้บรรลุ ซึ่งพระนิพพาน เป็นผู้ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ถึงธรรมรัตนะ แก้วคือพระธรรม จตูหปาเยหิ ปิดประตูอบายภูมิทั้ง ๔ ตั้งแต่ถึงกระแสนิพพาน

นิพพานนี้มีความสงบหรือความสุขเป็นลักษณะ มีความไม่แตกดับหรือเคลื่อนคลาดแปรผันเป็นกิจ มีความออกจากภพหรือไม่มีนิมิตเครื่องหมายเป็นอาการปรากฏ

พระนิพพานนี้มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เช่นว่า

วิราโค ความคลายกำหนัด

นิโรโธ ความดับ คือดับตัณหา

จาโค ความสละ ได้แก่ สละอุปธิคือกิเลส

ปฏินิสสัคโค การละเลิก การสละทิ้ง

มุตติ ความพ้น

อนาลโย ความไม่เกาะเกี่ยว ไม่อาลัย

มทนิมมทโน การย่ำยีความเมาเสีย

ปิปาสวินโย การกำจัดความหิวกระหาย

อาลยสมุคฆาโต การถอนเครื่องเกาะเกี่ยวเสีย

วัฏฏูปัจเฉโท การตัดเครื่องหมุนเวียน

พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นของเยี่ยม นิพพานว่างอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ความสุขนอกจากพระนิพพานไม่มี

พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอายตนะอยู่ชนิดหนึ่ง แต่ว่าไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ ไม่ใช่ อากิญจัญญายตนะ หรือเนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่ดวงจันทร์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ อายตนะชนิดนั้น เราไม่กล่าวว่าเป็นที่มาถึง เป็นที่ไปถึง เป็นที่ตั้งอยู่ ไม่เคลื่อน ไม่เกิด ไม่มีที่ตั้งอยู่ ไม่เป็นไป ไม่มีอารมณ์ อายตนะนั้นแหละเป็นที่สุดของทุกข์ คือพระนิพพาน

ธรรมคือพระนิพพานนั้นเป็นของลึก อันบุคคลเห็นได้ยาก อันบุคคลตรัสรู้ได้โดยยาก อันบุคคลตรัสรู้ตามโดยยาก เป็นของระงับ เป็นของประณีต ไม่เป็นที่หลงเที่ยวไปแห่งวิตก หมายความว่า ปุถุชนจะตรึกนึกคาดคะเนเอาเองไม่ได้ว่า พระนิพพานเป็นอย่างนั้น พระนิพพานเป็นอย่างนี้ ความคิดหรือความตรึกของปุถุชนนั้นไกลกันแสนไกล ก็ฟ้ากับดินถึงจะไกลกันแสนไกล แต่เราก็สามารถมองเห็นได้ แต่ความคิดว่าพระนิพพานเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ของปุถุชนนั้น ไกลกันแสนไกล จนไม่สามารถมองเห็นได้

เพราะพระนิพพานนี้เป็นของละเอียด เป็นของบัณฑิต พระอริยะพึงรู้แจ้ง ปุถุชนไม่รู้แจ้ง เรื่องพระนิพพานนี้ จะพูดให้ปุถุชนฟังอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ อุปมาเหมือนกันกับปลาและเต่า ปลาเป็นสัตว์ถิ่นเดียว แต่เต่าเป็นสัตว์สองถิ่น อยู่ในน้ำก็ได้ บนบกก็ได้ วันหนึ่งปลามีความประสงค์อยากรู้ว่าบนบกนั้นเป็นอย่างไร จึงถามเต่าว่าเป็นอย่างไร บนบกมีการกระเพื่อมไหม เต่าก็ตอบว่าไม่มี บนบกมีสาหร่ายไหม เต่าก็ตอบว่าไม่มี มีอย่างนั้นมีอย่างนี้ไหม เต่าก็ตอบว่าไม่มี เพราะว่าปลาเอาแต่สิ่งที่ตนเห็นอยู่ในน้ำมาถาม เต่าจึงตอบว่าไม่มีร่ำไป

เมื่อเป็นเช่นนั้น ปลาจึงถามเป็นการรวบรัดว่า ถ้าเช่นนั้น อะไรมีอยู่บนบก เต่าก็ตอบว่า สิ่งใดไม่มีอยู่ในน้ำ สิ่งนั้นมีอยู่บนบกทั้งหมด ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า ปลาจะหายความสงสัยหรือไม่หายสงสัย ปลาย่อมนึกไม่ออกว่าบนบกนั้นมีอะไรบ้าง ก็มีความสงสัยร่ำไป ข้อนี้ ฉันใด พระนิพพานก็เหมือนกัน ปุถุชนที่ยังไม่รู้ไม่ได้บรรลุนั้น จะคาดคะเนเอา เดาเอา คิดเอา ย่อมไม่รู้ได้ นอกจากมาประพฤติปฏิบัติได้บรรลุแล้วเท่านั้นจึงรู้ได้

อนึ่ง ธรรมชาตินั้นที่มีอยู่โดยแท้คือ อชาตํ ไม่เกิดอีก อภูตํ ไม่เป็นอีก อกตํ ไม่กระทำต่อไปอีก อสงฺขตํ ไม่ปรุงแต่งอีกต่อไป อชรํ ไม่เข้าถึงความแก่ อมรณํ ไม่ตายอีก นั้นเป็นมหาสันติสุขคือพระนิพพาน

พระนิพพานนั้น ถ้ากล่าวโดยอาการบรรลุมี ๓ ประการ คือ

๑. อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า พ้นด้วยการหาอะไรเป็นนิมิตเครื่องหมายมิได้ หมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในขณะที่ปฏิบัติอยู่ ถึงญาณที่ ๓ ได้เห็นอนิจจังชัด ถึงญาณที่ ๔ ก็เห็นอนิจจังชัด ถึงญาณที่ ๑๒ ก็เห็นอนิจจังชัด เมื่อเห็นอนิจจังชัดอย่างนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นเรียกว่า อนิมิตตนิพพาน ดับโดยหาอะไรเป็นนิมิตมิได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นนิมิตไม่ได้

๒. อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่า พ้นด้วยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ หมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ขณะที่ปฏิบัติอยู่ในญาณที่ ๓ ญาณที่ ๔ ญาณที่ ๑๒ เห็นทุกขังชัดกว่าอนิจจังและอนัตตา และอาศัยอารมณ์คือทุกขังเข้าสู่พระนิพพาน บรรลุพระนิพพาน เพราะเห็นทุกขังชัดอย่างนี้ พระนิพพานของท่านผู้นั้นเรียกว่า อัปปณิหิตนิพพาน แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่ตั้งมิได้

๓. สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า พ้นโดยอาการว่างเปล่า หมายความว่า ผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในญาณที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๑๒ เห็นอนัตตาชัดกว่าอนิจจังและทุกขัง แล้วบรรลุพระนิพพาน เพราะการเห็นอนัตตาชัดอย่างนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นเรียกว่า สุญญตนิพพาน ดับโดยอาการว่างเปล่า คือว่างเปล่าจาก ราคะ โทสะ โมหะ

พระนิพพาน ท่านกล่าวไว้ในพระบาลีมีอยู่ ๒ ประการ คือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หมายความว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน นั้นดับไปหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่ในขันธสันดาน มีขันธสันดานอันบริสุทธิ์ มีจิตใจบริสุทธิ์ หมดจดจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง แต่ว่ายังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ปรินิพพาน อย่างนี้ชื่อว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับทั้งกิเลส ดับทั้งเบญจขันธ์ คือ กิเลสก็ดับ เบญจขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ดับ ไม่มีเหลือ คือพระอรหันต์ที่ดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว

เมื่อถึงพระนิพพานแล้ว ก็ถือว่าถึงสันติคือความสงบสุข ความสุขนี้เรียกว่า เอกันตบรมสุข เป็นสุขอย่างยอดเยี่ยม เป็นสุขอย่างเอก ไม่มีสุขใดจะเสมอเหมือนได้ เหตุนั้น ในขณะนี้เวลาของเรายังพอมีอยู่ ที่จะประพฤติปฏิบัติให้ได้บรรลุถึงอริยมรรคอริยผลตามสมควรแก่วาสนาบารมี ก็ขอให้ตั้งอกตั้งใจ

การประพฤติปฏิบัตินี้ เท่าที่หลวงพ่อได้สังเกตมา บางท่านปฏิบัติ ๓ วันอย่างนี้ ก็สามารถผ่านการปฏิบัติขั้นปฐมมรรคได้ บางท่านก็ใช้เวลา ๕ วัน บางท่านก็ ๗ วัน หรืออย่างช้าที่สุดก็ไม่เกิน ๑ เดือน ก็สามารถผ่านการปฏิบัติขั้นปฐมมรรคได้

แต่ทั้งนี้ก็หมายความว่า มีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลนิพพานจริงๆ แล้วก็ตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนาอย่างเต็มความสามารถ อย่างช้าที่สุดเดือนหนึ่ง สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นปฐมมรรคได้ เมื่อผ่านขั้นที่หนึ่งไปแล้ว ขั้นที่ ๒ คือทุติยมรรคนี้ เท่าที่ประสบการณ์มา อย่างเร็วที่สุดก็ใช้เวลา ๙ วัน หรือ ๑๕ วัน หรือ ๑๙ วัน และบางท่านก็ใช้เวลา ๒๐ วัน จึงสามารถที่จะผ่านไปได้ อันนี้เท่าที่ประสบการณ์มา

แต่สำหรับขั้นที่ ๓ คือการที่จะบรรลุอนาคามิมรรค อนาคามิผล (ตติยมรรค) นี้ ต้องใช้เวลาพอสมควร บางท่านก็ใช้เวลา ๒ เดือน บางท่านก็ใช้เวลา ๓ เดือน บางท่านก็ใช้เวลาเป็นพรรษาๆ จึงจะสามารถบรรลุขั้นนี้ได้ คือมันจะยากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกันกับสอบนักธรรมหรือสอบเปรียญธรรมอย่างนี้แหละ ชั้นสูงๆก็มีผู้สอบได้น้อย แต่ชั้นต่ำๆก็มีผู้สอบได้มาก

ทีนี้ หากว่าถึงขั้นสุดท้ายคือขั้นที่ ๔ (จตุตถมรรค) นี้ ต้องใช้เวลานานเป็นพิเศษ เท่าที่สังเกตลูกศิษย์ลูกหาที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ส่วนมากที่ปฏิบัติผ่านขั้นนี้ไปได้ บางรูปต้องใช้เวลา ๓ พรรษา บางรูปก็ต้อง ๔ พรรษา แต่หาได้น้อยมาก เกือบจะหาไม่ได้เสียเลย ผู้ที่ผ่านขั้น ๔ นี้ได้ เป็นของที่ทำได้ยาก เหมือนกับสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคอย่างนี้แหละ แต่ส่วนมาก ผู้ประพฤติปฏิบัติผ่านไปแล้ว ก็มรณภาพไปแล้วเสียเป็นส่วนมาก ที่ยังมีชีวิตอยู่นี้เกือบจะไม่มีในทุกวันนี้ ก็ยังพอจะหาได้อยู่ แต่เกือบจะไม่มี

อย่างไรก็ตาม ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สำหรับท่านผู้ที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ขออย่าได้ชะล่าใจ อย่าได้ท้อใจ พยายามบุกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันสุดท้าย เพราะความเพียรนี้ แม้เทวดาก็พยากรณ์ไม่ได้ มีความเพียรอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น ส่วนผู้เพิ่งมาปฏิบัติในระยะ ๒-๓ เดือนนี้ หลวงพ่อว่าไม่เหลือวิสัยที่จะทำได้ เพราะว่า ๓ เดือนนี้ หากว่าเราตั้งอกตั้งใจจริง มีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง สามารถที่จะทำได้

ข้อสำคัญมีอยู่ว่า ต้องประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนให้ เช่นว่า เวลานอนนี้ พยายามจำให้ได้ว่า นอนหลับไปตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ ตอนหายใจเข้าหรือหายใจออก ต้องพยายามจำจริงๆ ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง ยังจำไม่ได้ ก็พยายามจำไป อย่าชะล่าใจ อย่าท้อแท้ใจ

หรือว่าในเวลานั่ง ถ้าอยากหลับก็ให้หลับไปเวลานั่งนี้ ไม่ว่าอะไร อย่าไปพิงเสา อย่าไปพิงต้นไม้ อย่าไปพิงอะไร แต่พยายามจำให้ได้ว่า สัปหงกหรือผงะไปตอนอาการพองหรืออาการยุบ หรือขณะหายใจเข้าหรือหายใจออก และนอกจากนี้ เวลายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม ขอให้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดให้ติดต่อกันไป อย่าให้ขาดสายขาดระยะ ถ้าว่าเราทำตามหลักวิชาการดังกล่าวมาแล้วย่อๆนี้ หลวงพ่อคิดว่าคงไม่เหลือวิสัยเราสามารถทำได้

หากว่าในไตรมาสพรรษา ๓ เดือนนี้เราทำไม่ได้ ก็มีผลเสียหลายอย่าง เช่นว่า เราก็เสียเวลาไปเปล่าๆ ทั้งไม่ได้ความภูมิใจในการที่มาประพฤติปฏิบัติ เมื่อไปถึงบ้านถึงวัดแล้วก็ท้อใจ ไม่อยากสอนญาติโยม ไม่อยากสอนลูกศิษย์ลูกหา ด้วยว่าเรามีปมด้อย ถ้าหากสอน เมื่อลูกศิษย์ลูกหาประพฤติปฏิบัติได้มากกว่าตัว หรือบางทีลูกศิษย์ลูกหาได้สมาธิไป ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว บางทีเกิดความเห็นผิดก็มี

ตัวอย่างท่านพระอาจารย์รูปหนึ่ง เวลาทำวัตรแล้วก็นั่งสมาธิ เผอิญพระลูกศิษย์นั่งสมาธิ ๓๐ นาที เกิดได้สมาธิขึ้นมา อาจารย์ท่านก็ทึกทักโมเมขึ้นมาว่า ทำอย่างนี้ไม่ถูก อันนี้ไม่ใช่สมาธิ เป็นผีสิง อะไรทำนองนี้ ว่ากันไปว่ากันมา ทำไมมานั่งสมาธิเพียง ๓๐ นาทีจะมาได้สมาธิ ผมนี้ปฏิบัติมาตั้ง ๕-๖ ปีแล้วยังไม่ได้ คุณมาปฏิบัติ ๓๐ นาที จะไปได้อย่างไร อันนี้เป็นของปลอม ก็ว่าไป ผลสุดท้ายหลวงพ่อไปเทศน์โปรดเอา แล้วได้แนะนำให้มาประพฤติปฏิบัติ มาอยู่ที่นี้จึงเกิดความเชื่อปลงใจเชื่อ

นี่แหละท่านทั้งหลาย หากเราประพฤติปฏิบัติไม่ได้นี้ ทำให้มีปมด้อยอยู่ในตัวเอง และอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเราปฏิบัติไม่ได้ เวลาไปเทศน์ไปสอนก็พูดไม่ได้เต็มปาก เราจะเทศน์เรื่องมรรคผลนิพพานนี้ เราก็มีความกระดากละอายในใจของตัวเอง ไม่มีความองอาจกล้าหาญ เกิดความวิปฏิสารอยู่ตลอดเวลา เกรงว่าคนนั้นจะถามอย่างนี้ คนนี้จะถามอย่างนั้น เกรงว่าเขาจะมองเราในแง่ผิด

แต่หากว่าเราประพฤติปฏิบัติไปได้พอสมควรแล้ว เราเทศน์ธรรมะภาคปฏิบัตินี้ได้สบาย ไม่ต้องสะทกสะท้านเดือดร้อน ไม่ต้องเกรงใครจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ และก็ทำให้เกิดความอุตสาหะพยายาม เกิดความองอาจกล้าหาญขึ้นมา

เหตุนั้น เวลาเหลืออยู่หลายวัน ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ตลอดนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจ พยายามอดทนกัดฟันต่อสู้ไป จนกว่าจะผ่านการประพฤติปฏิบัติไป อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ได้ขั้นปฐมมรรค หลวงพ่อก็พอใจแล้วดีใจแล้ว ที่ท่านทั้งหลายไม่เสียทีที่มาปฏิบัติ สามารถได้คุณธรรมวิเศษเป็นสมบัติของตัวเอง เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลกด้วย และก็เป็นศรีของพระศาสนาด้วย

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายโดยย่อ ในเรื่อง สิ้นอาสวะถึงสันติลักษณะ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 71.0.3578.98 Chrome 71.0.3578.98


ดูรายละเอียด
« ตอบ #90 เมื่อ: 04 มกราคม 2562 13:39:31 »



ญาณโลกุตตระ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง ญาณโลกุตตระ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ไม่ใช่ว่าจะประพฤติปฏิบัติครั้งเดียวแล้วก็ผ่านไปเลย หรือว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุดเลยทีเดียวก็หาไม่ คือวิปัสสนาญาณต้องเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ครบทั้ง ๔ รอบ จึงจะถือว่าการประพฤติปฏิบัติของเรานั้นถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อประกอบการปฏิบัติ ยืนยันหลักฐานที่กล่าวมา จึงนำเรื่อง ญาณโลกุตตระ มาบรรยาย

ญาณโลกุตตระ คือความตรัสรู้ชอบ ความตรัสรู้โดยตลอดในโลกุตตระพ้นจากโลก เป็นส่วนปฏิเวธธรรม ได้แก่ ปัญญาเจตสิก เกิดขึ้นพร้อมกับโลกุตตรจิต ดับพร้อมกันกับโลกุตตรจิต มีอารมณ์อันเดียวกันกับโลกุตตรจิต มีวัตถุที่อาศัยอันเดียวกันกับโลกุตตรจิต

ญาณโลกุตตระนี้ประชุมพร้อมด้วยโพธิปักขิยธรรม ประกอบกับมัคคจิต เรียกว่า มัคคญาณ ประกอบกับผลจิต เรียกว่า ผลญาณ ฝ่ายมัคคญาณ ๔ ผลญาณ ๔ ต่างได้โลกุตตรอารมณ์ คือมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นที่รู้ มีพระนิพพานเป็นที่เห็น มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่พึ่ง มีพระนิพพานเป็นที่บรรลุ เป็นความรู้ที่ต่างจากโลกีย์ ไม่มีอะไรในโลกีย์นี้จะไปเทียบกับโลกุตตระให้ตรงกับความเป็นจริงได้

พระอริยเจ้าทั้งหลายจะไม่แสดงความเข้าไปรู้ไปเห็นของปุถุชนเลย เพราะไม่สามารถให้ปุถุชนรู้ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถึงให้บรรลุ การรู้ด้วยการอนุมาน ด้วยการฟัง ด้วยการคิด ด้วยการเจริญภาวนา แต่มัคคญาณผลญาณยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถจะรู้จริงได้ เมื่อใดได้มาเจริญพระกัมมัฏฐานจนข้ามโคตรปุถุชนไปสู่โคตรอริยะ เมื่อนั้น ได้มีญาณโลกุตตระเกิดขึ้นแล้ว ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดในอารมณ์เหนือโลก ทิ้งสงสัยโดยไม่ต้องอนุมานเอาหรือคิดเอาคาดคะเนเอา

เมื่อใดได้รู้ด้วยปัญญาในโลกุตตระแท้ๆ เมื่อนั้นก็สิ้นความสงสัยที่จะไปไต่ถามในสำนักใดๆ เพราะมารู้เฉพาะตนเสียแล้ว ผู้ใดปฏิบัติถูกทาง บรรลุถึง ผู้นั้นเป็นผู้รู้เฉพาะตน จะรู้แทนกันไม่ได้ ญาณความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส อันประกอบไปด้วยโลกุตตระ ๘ ได้นิพพานเป็นอารมณ์นั้น จะแสดงโดยลำดับไป

๑. โสดาปัตติมัคคญาณ ปัญญาความรู้ที่ประกอบด้วยมัคคจิต เกิดขึ้นเพราะญาณโลกีย์เป็นปัจจัยส่งต่อกันมาถึงโคตรภูญาณโดยไม่มีระหว่างขั้น โสดาปัตติมัคคญาณก็เกิดขึ้นทันที ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ตั้งแต่เวียนว่ายตายเกิดมาในมหรรณพภพสงสาร เป็นครั้งแรกที่ได้รู้ได้เห็นความสิ้นหมุนเวียน ไม่เกิดอีก ชื่อว่าเป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพาน ถึงกระแสพระนิพพานอยู่นั้นหนึ่งขณะจิต ไม่มีอะไรคั่นในระหว่าง โสดาปัตติผลญาณก็เกิดขึ้นทันที

๒. โสดาปัตติผลญาณ ปัญญาความรู้ที่ประกอบด้วยโสดาปัตติผลจิต เกิดขึ้นเพราะโสดาปัตติมัคคญาณส่งให้ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน เกิดขึ้น ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วแต่ว่าเป็นประเภทมันทบุคคลหรือติกขบุคคล

เมื่อโสดาปัตติผลจิตเกิดขึ้น ๒ หรือ ๓ ขณะแล้วดับลง พระพุทธองค์ทรงขนานนามผู้นั้นว่า พระโสดาบันอริยบุคคล ผู้เป็นหน่อแนวที่จะสิ้นทุกข์ ประหารโลภะที่จะนำไปสู่อบายภูมิได้สิ้น ทำให้สังสารวัฏเหี่ยวแห้ง ทำลายความเห็นผิดได้สิ้นเชิง ดับสิ้นจากเวรภัยทั้งหลาย เท่ากับเป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง จะเกิดไปภายหน้าอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น เป็นผู้มีศีล ๕ อันไม่หัก ไม่รั่ว ไม่ด่าง ไม่มีจุด ไม่ปรารถนาโลกิยะ ควรแก่การสรรเสริญทั้งสิ้น เหมือนกันกับได้สมาธิอยู่

อกุศลที่พระโสดาบันตัดได้เด็ดขาดไม่เกิดในสันดานอีกนั้น คือ จิตโลภที่ประกอบไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๔ ดวง กับวิจิกิจฉาความสงสัยอีก ๑ ดวง และละอกุศลเจตสิกได้ ๕ ดวง คือ วิจิกิจฉา ทิฏฐิ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ

ละสังโยชน์ได้ ๓ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด วิจิกิจฉา ความสงสัย สีลัพพตปรามาส คือเห็นนอกพระพุทธศาสนา

ละนิวรณ์เครื่องกั้นได้ ๒ คือ วิจิกิจฉานิวรณ์ เครื่องกั้นคือความสงสัย และกุกกุจจนิวรณ์ เครื่องกั้นคือความรำคาญใจ

ละอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานได้ ๒ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด วิจิกิจฉา ความสงสัย

ละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นได้ ๓ คือ ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความเห็น สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นในศีลพรต อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นในตน ถือตัวตน เช่น ถือว่าคำพูดของตนถูก ของผู้อื่นผิด

ละคันถะเครื่องผูกมัดได้ ๒ คือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ การประชุมแห่งศีลพรตเป็นเครื่องผูกมัด และ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ การประชุมแห่งการยึดมั่นว่ามติของตนถูก ของผู้อื่นผิด

ละโยคะเครื่องประกอบสัตว์ไว้ได้ ๑ คือ ทิฏฐิโยคะ เครื่องประกอบคือความเห็นผิด

ละโอฆะ คือ ห้วงน้ำได้ ๑ คือ ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำคือทิฏฐิ

และละอาสวะเครื่องดองได้ ๑ คือ ทิฏฐาสวะ เครื่องหมักดองคือทิฏฐิความเห็นผิด

พระโสดาบันได้ความแตกต่างกันด้วยความยิ่งหย่อนแห่งอิทธิบาท แบ่งออกเป็น ๓ จำพวก คือ

๑) เอกพีชีโสดาบัน คือบุคคลที่ได้เป็นพระโสดาบันแล้วจะปฏิสนธิเกิดอีกเพียงชาติเดียวก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

๒) โกลังโกละโสดาบัน คือบุคคลที่ได้เป็นพระโสดาบันแล้วจะเกิดอย่างมากอีกไม่เกิน ๖ ชาติ จากสกุลไปสู่สกุล จากภพไปสู่ภพ แล้วจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพาน

๓) สัตตักขัตตุปรมะโสดาบัน คือบุคคลที่ได้เป็นพระโสดาบันแล้วต้องปฏิสนธิคือเกิดในกามสุคติภูมิอีกอย่างมากแค่ ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

สรุปแล้วว่า ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว แม้จะมีความประมาทสักปานใดก็ตาม ก็จะเกิดอย่างมากอีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน

การที่คติของพระโสดาบันแตกต่างกันอย่างนี้ ก็เพราะด้วยอำนาจของอิทธิบาทภาวนา คือหมายความว่า ผู้ใดได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วมีความเพียรอย่างเรี่ยวแรง เช่นว่า วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ถือเอาเป็นเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเสีย ๒๐ ชั่วโมง พระโสดาบันประเภทนี้จะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

แต่ถ้าท่านผู้ใดบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว มีความเพียรสืบต่อกันไปไม่ขาดระยะ ในวันหนึ่ง ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๑๒-๑๔ ชั่วโมง อยู่ในระดับนี้ จะเกิดอย่างมากอีกเพียง ๖ ชาติเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน แต่ถ้าผู้ใดหลังจากได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ๒๔ ชั่วโมง ถือเป็นเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ก็จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

๓. สกทาคามิมัคคญาณ ความรู้คือปัญญาเจตสิกที่เกิดขึ้นประกอบกับสกทาคามิมัคคจิต ด้วยการเลิกละจากปัจจเวกขณญาณที่พิจารณาโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล และกิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ ตลอดการพิจารณาพระนิพพานที่พระโสดาบันเข้าไปเห็นทั้ง ๕ อย่างนี้อันใดอันหนึ่ง ด้วยการเว้นเสีย ไม่พิจารณาอีกต่อไป

กลับมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานใหม่ ในขณะที่กำลังนั่งอยู่นั้นก็ดี ล่วงไปแล้ว ๑ วันก็ดี หรือในเวลาที่ล่วงไปแล้ว ๑ เดือนก็ดี ๑ ปีก็ดี ตั้งต้นมีสติกำหนดรู้ พิจารณารูปธรรมนามธรรมให้เห็นความเกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏติดอยู่ที่รูปนามนั้น เบาละเอียดกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก แต่ถึงกระนั้นก็สามารถเห็นได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน

ผ่านญาณตั้งแต่อุทยัพพยญาณคือญาณที่ ๔ จนถึงสังขารุเปกขาญาณที่ ๑๑ แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดอาวัชชนจิตทางมโนทวาร ๑ ขณะ ขึ้นสู่อนุโลมญาณ ๓ ขณะ หลังจากนั้นก็ผ่านโวทาน ต่อจากนั้นไม่มีอะไรคั่นระหว่าง สกทาคามิมัคคจิตก็เกิดขึ้นทันที

อันนี้ไม่เหมือนกับเราปฏิบัติครั้งแรก คือเราปฏิบัติครั้งแรก เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณ ผ่านอนุโลมญาณแล้วก็ขึ้นสู่โคตรภูญาณ ตัดขาดจากโคตรปุถุชนไปสู่โคตรของพระอริยเจ้าคือพระโสดาบัน แต่เมื่อสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว จะเข้าสู่สกทาคามิมรรค ไม่เรียกว่า โคตรภู เพราะโคตรปุถุชนหมดไปแล้ว สิ้นไปสูญไปแล้ว เรียกโคตรภูนั้นใหม่ว่า โวทานโคตร

คำว่า โวทานโคตร คือโคตรอันบริสุทธิ์ เมื่อผ่านโวทานโคตรคือโคตรของพระโสดาบันแล้ว ไม่มีระหว่างคั่น สกทาคามิมัคคญาณก็เกิดขึ้นทันที ๑ ขณะจิต ต่อจากนั้นไม่มีระหว่างคั่น สกทาคามิผลก็เกิดขึ้นมาทันที

๔. สกทาคามิผลญาณ ความรู้คือปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับสกทาคามิผลจิต ขณะที่สกทาคามิมรรคดับลงแล้วเมื่อใด ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นอกาลิกธรรม ไม่มีอะไรคั่นระหว่างกลาง สกทาคามิผลญาณก็เกิดขึ้นทันที ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วแต่ว่าเป็นประเภทมันทบุคคลหรือติกขบุคคล

คือ ประเภทมันทบุคคล ผลจิตก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ ประเภทติกขบุคคล ผลจิตเกิดขึ้น ๓ ขณะ เมื่อผลจิตดับลงแล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า พระสกทาคามีอริยบุคคล โดยสมบูรณ์ ทำลายกิเลสได้เป็นสมุจเฉทปหาน

พระสกทาคามีนี้ สามารถละกิเลสได้เท่ากันกับที่พระโสดาบันละไปแล้ว และทำ ราคะ โทสะ โมหะ ที่ยังเหลืออยู่ให้เบาบางลง

คติของพระสกทาคามีนี้มีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑) อิธ ปตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้ หมายความว่า หลังจากได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีแล้ว ก็เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้

๒) อิธ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในเทวโลก หมายความว่า เมื่อได้เป็นพระสกทาคามีแล้ว จุติคือตายไปจากมนุษย์โลกนี้ เมื่อไปบังเกิดในเทวโลกแล้วก็จะได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในเทวโลกนั้น

๓) ตตฺถ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จพระนิพพานในเทวโลกชาตินั้นเอง หมายถึงเทวดาที่มาฟังเทศน์ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจากสาวกของพระองค์ แล้วได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี หลังจากนั้นเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในเทวโลกชั้นนั้น

๔) ตตฺถ ปตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จพระนิพพานเมื่อจากเทวโลกมาปฏิสนธิในมนุษย์โลกแล้ว คือหมายความว่า ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในเทวโลก แต่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ไม่สามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติจากเทวโลกมาเกิดในมนุษย์โลก ก็ได้เจริญพระกัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

๕) อิธ ปตฺวา ตตฺถ นิพฺพตฺติตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี คือท่านผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคลในมนุษย์โลกแล้วไปเกิดในเทวโลก จุติจากเทวโลกมาเกิดในมนุษย์โลกอีก แล้วเจริญพระกัมมัฏฐาน บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วดับขันธ์ปรินิพพาน

การได้มาซึ่งสกทาคามิมัคคญาณ สกทาคามิผลญาณนั้น อุปมาเหมือนกับบุรุษผู้ปรารถนาจะถากถางทำสถานที่ให้เตียน จึงใช้มีด จอบ และเสียม ทำการถากถาง ขุดต้นไม้ต้นหญ้าให้ราบเตียนครั้งหนึ่งแล้ว แต่รากเหง้ายังไม่หมด เมื่อฝนตกพรำลงมา ไม่ช้าไม่นานรากเหง้านั้นก็เป็นปัจจัยให้เจริญเป็นต้น แตกกิ่งก้านสาขาใบขึ้นอีก บุรุษนั้นจึงนำจอบเสียมมาขุดรากเหง้าต่ออีก เพื่อจะให้รากเหง้าหมดสิ้นไปครั้งที่ ๒ และทำความสะอาดโล่ง ก็ปรากฏขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ อีก ข้อนี้ฉันใด

พระโยคาวจรผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ญาณบังเกิดขึ้นจนถึงขั้นโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ สิ้นอาสวะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ละไปบ้างแล้วแต่ยังไม่หมด ต่อมาจึงเจริญพระวิปัสสนาจนบรรลุพระสกทาคามิมรรคพระสกทาคามิผล ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ และทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง ฉันนั้น

๕. อนาคามิมัคคญาณ ญาณความรู้คือองค์ปัญญาประกอบกับอนาคามิมัคคจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อปัจจเวกขณญาณพิจารณาสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่ มีความปรารถนาที่จะปฏิบัติให้บรรลุธรรมเบื้องสูงยิ่งๆขึ้นไป จึงละจากปัจจเวกขณะ เริ่มบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานใหม่ วิปัสสนาญาณก็จะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ ๔ เป็นต้นขึ้นไป เห็นรูปนามเกิดดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้รูปนามชั้นนี้จะละเอียดมาก แต่มีญาณเข้าไปรู้ชัดแจ่มแจ้งเหมือนกัน

เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดอาวัชชนจิตทางมโนทวาร ๑ ขณะ แล้วขึ้นสู่อนุโลมญาณ ผ่านโวทาน ข้ามโคตรของพระสกทาคามีไปสู่อนาคามิมัคคญาณ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ พร้อมกับความสิ้นไปแห่งกามราคะ พยาบาท สิ้นสุดลงเด็ดขาด ไม่เกิดขึ้นอีก

๖. อนาคามิผลญาณ ความรู้คือองค์ปัญญาที่ประกอบกับอนาคามิผลจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งต่อเนื่องมาจากอนาคามิมัคคญาณ เมื่ออนาคามิมัคคญาณดับลงโดยไม่มีอะไรคั่นในระหว่าง อนาคามิผลญาณก็เกิดขึ้นทันที มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เกิดขึ้น ๒ หรือ ๓ ขณะจิต สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล ละอกุศลธรรมได้เป็นสมุจเฉทปหาน

พระอนาคามีละกิเลสได้เพิ่มจากที่พระโสดาบันและพระสกทาคามีละแล้วอีก ดังนี้ คือ

ละโทสมูลจิตได้ ๒ ดวง และละโทสเจตสิกได้เด็ดขาดไม่กลับเกิดอีก

ละอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้เด็ดขาด ๓ คือ ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด ผรุสวาจา พูดคำหยาบ และพยาบาท คิดปองร้าย

ละกิเลสคือโทสะกิเลสได้เด็ดขาด

ละสังโยชน์ได้ ๒ คือ กามราคสังโยชน์ ผูกความรักใคร่ในกามารมณ์ และปฏิฆสังโยชน์ การผูกโกรธ ได้เด็ดขาด

ละอนุสัยได้ ๒ คือ กามราคานุสัย ความรักใคร่ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ปฏิฆานุสัย ความกระทบกระทั่งแห่งจิตด้วยอำนาจโทสะ ไม่เกิดขึ้นอีกเลย

ละนิวรณ์ได้ ๒ คือ กามฉันทนิวรณ์ เครื่องกั้นคือความรักใคร่พอใจในกาม พยาบาทนิวรณ์ เครื่องกั้นคือความชัง เสียสิ้น ไม่มาเป็นเครื่องกั้นได้อีกเลย

ละคันถะ คือ พยาปาทกายคันถะ เครื่องผูกมัดคือความโกรธ ได้เด็ดขาด

ละโยคะ คือ กามโยคะ การประกอบสัตว์ไว้ในกาม เสียได้

ละโอฆะ คือ กาโมฆะ ห้วงน้ำคือความใคร่ ได้เด็ดขาด

ละอาสวะ คือ กามาสวะ เครื่องหมักดองคือกาม ได้เด็ดขาด

พระอนาคามีไม่กลับไปสู่บ้านเรือนสู่กามสุคติภูมิอีก มีพรหมโลกชั้นสุทธาวาสเป็นที่ไปในเบื้องหน้า หมายความว่า เมื่อบรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว ก็ถือว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของพระอนาคามี คือพระอนาคามีจุติแล้วจะไม่มาเกิดในกามภพคือมนุษย์โลกและเทวโลกอีก จะไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้น ตามความแก่กล้าของอินทรีย์ทั้ง ๕ แห่งตน

ท่านแบ่งคติของพระอนาคามีไว้ ๕ ประเภท ดังนี้

๑) อันตราปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในสุทธาวาสเมื่อกึ่งอายุแรก คือเมื่อไปเกิดในชั้นอวิหา และก็บำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในกึ่งอายุแรก

๒) อุปหัจจปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในสุทธาวาสเมื่อกึ่งอายุหลัง

๓) สสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานด้วยความเพียรเผากิเลสมาก

๔) อสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานด้วยความเพียรเผากิเลสไม่มากนัก

๕) อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี สำเร็จเป็นพระอรหันต์เมื่อปฏิสนธิไปจนถึงชั้นอกนิฏฐภูมิ

หมายความว่า เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไปบังเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา เมื่อบังเกิดในชั้นอวิหาแล้ว เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็เกิดในชั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ คือชั้นอตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐพรหมชั้นสุดท้าย แล้วจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในชั้นอกนิฏฐภูมินั้นเอง

การปฏิบัติได้มาซึ่งพระอนาคามี อุปมาเหมือนกันกับบุรุษที่พิจารณาเห็นความทุกข์ยากลำบากเป็นทาสของตัณหาและโทสะ จึงสลัดตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ละจากเคหสถานบ้านเรือนไปสู่สำนักบรรพชิต แล้วบำเพ็ญสมณธรรม ได้รับความสงบแล้วไม่กลับมาอีกเลย ฉันใด ผู้เจริญวิปัสสนาจนได้เป็นพระโสดาบันพระสกทาคามีแล้ว แต่ยังมีความรักความชอบใจในกามอยู่ ต่อมาเห็นภัยในความรัก ความใคร่ ความอาลัย จึงเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ฉันนั้น

๗. อรหัตตมัคคญาณ ญาณความรู้อันเป็นองค์แห่งปัญญาเจตสิกประกอบด้วยอรหัตมัคคจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อมีความปรารถนาที่จะปฏิบัติให้บรรลุธรรมให้ถึงที่สุด จึงละปัจจเวกขณญาณที่พิจารณาอนาคามิมรรค อนาคามิผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่เสีย

เริ่มเจริญพระวิปัสสนากรรรมฐานในเวลาที่กำลังนั่งอยู่บ้าง ล่วงไปแล้ว ๑ วันบ้าง ๑ เดือนบ้าง ๑ ปีบ้าง ในสุทธาวาสชั้นนั้นบ้าง เป็นต้น พิจารณารูปนามได้ด้วยวิปัสสนาญาณจนเกิดญาณหยั่งรู้รูปนาม แม้รูปนามละเอียดอ่อนสักปานใดก็ตาม วิปัสสนาญาณนั้นก็จะคมกล้า สามารถที่จะเห็นรูปนามได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง

ทุกเมื่อทุกขณะที่รูปนามเกิดดับ มีอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ ติดอยู่ ปรากฏอยู่ ผ่านอุทยัพพยญาณไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ หลังจากนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดอาวัชชนจิตทางมโนทวาร ขึ้นไปสู่อนุโลมญาณ ออกจากอนุโลมญาณ ผ่านโวทาน ข้ามโคตรของพระอนาคามี โดยไม่มีอะไรคั่นในระหว่าง อรหัตตมัคคญาณก็เกิดขึ้น ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ สิ้นอาสวะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ประหนึ่งว่าสายฟ้าได้ผ่าลงสู่วัตถุธาตุมีต้นไม้เป็นต้นให้ขาดสะบั้นลงฉะนั้น แม้แต่โคตรเพชรที่ว่าแข็งสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ต้องแตกเป็นจุลไป ในเมื่ออรหัตตมรรคเกิดขึ้น ๑ ขณะจิต โดยไม่มีคั่นในระหว่างกลาง เป็นอกาลิกธรรม ในขณะนั้นพระอรหัตตผลญาณก็เกิดขึ้นทันที

๘. อรหัตตผลญาณ ความรู้คือองค์แห่งปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับอรหัตตผลจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง ตามกำลังของมันทบุคคลหรือติกขบุคคล เป็นพระอรหันต์อริยบุคคลผู้ขีณาสพ มีกิเลสตัณหาอันสิ้นแล้ว ชาตินั้นเป็นชาติสุดท้าย ดับขันธ์แล้วจะเข้าสู่พระนิพพาน เป็นบรมสุข ไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป

เมื่อเป็นพระอรหันตบุคคลแล้ว กิเลสที่เหลือจากพระอริยบุคคล ๓ เบื้องต้นที่ยังประหารไม่ได้ก็จะถูกประหารให้หมดสิ้นไปโดยเด็ดขาด ไม่มีเหลืออยู่ในขันธสันดานของพระอรหันต์ ขันธ์ของพระอรหันต์ที่ยังไม่ดับเรียกว่า วิสุทธิขันธ์ ดุจน้ำมันที่กลั่นแล้วร้อยครั้งพันครั้งฉะนั้น

สรุปความแล้วว่า พระอรหันต์นั้นละกิเลสได้ทุกอย่าง ละอกุศลธรรมได้ทั้งหมด ยกเว้นพระอรหันตสาวก ละวาสนาที่ตนประพฤติจนชินแต่อดีตชาตินั้นไม่ได้ ส่วนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ละได้ทั้งกิเลส ละได้ทั้งวาสนา สิ้นเชิงแน่นอน

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย กิเลสที่ไม่มีแล้ว แสนที่จะสบาย ไม่มีอะไรเปรียบได้ พระอรหันต์ทั้งหลายได้สร้างบารมีมาในอดีตชาติไม่เหมือนกัน เหตุนั้นจึงมีคุณพิเศษไม่เหมือนกัน ซึ่งแยกออกเป็น ๔ ประเภท คือ

๑. ปฏิสัมภิทัปปัตโต พระอรหันต์ผู้สำเร็จพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ คือ

๑) อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ

๒) ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม

๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในภาษา

๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ

เหล่านี้ จะเกิดขึ้นพร้อมกันกับการบรรลุเป็นพระอรหันต์

๒. ฉฬภิญโญ พระอรหันต์ที่สำเร็จพร้อมด้วยอภิญญา ๖ คือเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว อภิญญา ๖ สามารถที่จะเกิดพร้อม คือ

๑) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้

๒) ทิพพโสตะ มีหูทิพย์

๓) เจโตปริยญาณ การรู้จักวาระจิตของผู้อื่น

๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้

๕) ทิพพจักขุ มีตาทิพย์

๖) อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้น

อภิญญาทั้ง ๖ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ หากว่าตนได้บำเพ็ญบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน

๓. เตวิชโช พระอรหันต์ผู้สำเร็จวิชชา ๓ ประการคือ

๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

๒) จุตูปปาตญาณ ปัญญาพิจารณาการเกิดและการตายของบุคคลอื่นสัตว์อื่นได้

๓) อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้น

๔. สุกขวิปัสสโก พระอรหันต์ผู้สำเร็จวิปัสสนาญาณโดยแห้งแล้ง หมายความว่า ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นแต่เพียงสามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน แต่ไม่สามารถยังคุณวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ ให้เกิดขึ้นได้ เพราะไม่ได้บำเพ็ญบารมีมาทางนี้

ญาณในโลกุตตระทั้ง ๘ ประการนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องจากญาณโลกีย์ทั้งหมด เมื่อรวมกันเข้าแล้วได้ ๒ คือ มัคคญาณ ผลญาณ รวมทั้งญาณโลกีย์ ๑๔ เป็น ๑๖ ด้วยกัน

ญาณทั้ง ๑๖ นี้ย่อมเป็นปัจจัยส่งต่อให้กัน คือ ญาณที่ ๑ ส่งต่อให้ญาณที่ ๒ ญาณที่ ๒ ส่งต่อให้ญาณที่ ๓ ส่งต่อกันไปตามลำดับจนถึงญาณที่ ๑๖ โดยอาศัยวิปัสสนาญาณเป็นบรรทัดฐาน ดังจะขอยกอุปมาเป็นบุคคลาธิษฐาน ดังต่อไปนี้ คือ

ยังมีบุรุษเจ้าของเรือนคนหนึ่ง รับประทานอาหารเย็นแล้วก็ขึ้นไปสู่ที่นอน นอนหลับไป ในคืนนั้นเกิดไฟไหม้ขึ้นในเรือนเป็นอันมาก บังเอิญบุรุษนั้นตื่นขึ้นมาเห็นไฟไหม้อยู่ในเรือนกำลังลุกโชติช่วงอยู่ก็สะดุ้งตกใจรำพึงว่า อนิจจา! เรานี้อยู่ท่ามกลางไฟทีเดียว จะตายเสียในกองไฟนี้ ทำอย่างไรหนอจึงจะออกจากไฟได้ ทางไหนหนอๆ เมื่อดำริดังนั้นแล้วก็ลุกออกจากที่แล้วรีบวิ่งออกไปโดยเร็วพลัน พอพ้นจากเพลิงไหม้แล้ว บุรุษนั้นก็ยืนอยู่ในที่ที่ไฟไหม้ไม่ถึง อันนี้ฉันใด

ท่านผู้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานไปตามลำดับญาณ ๑๖ ก็ฉันนั้น คือขณะเจ้าของเรือนพักอยู่ในเรือน เปรียบด้วยการปกครองรูปนามอยู่ ขณะที่เจ้าของเรือนบริโภคอาหารแล้วนอนในกลางคืนนั้น เปรียบเหมือนผู้ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างอ่อน คือ มีญานที่ ๑ เห็นรูปนามเปรียบเหมือนกำลังนอน จนผ่านไปถึงญาณที่ ๒ เห็นปัจจัยของรูปนาม เหมือนกับใกล้จะตื่น จนผ่านไปถึงญาณที่ ๓ เห็นลักษณะของรูปนาม เหมือนตื่นขึ้นเห็นแสงไฟ ญาณที่ ๔ เห็นรูปนามเกิดดับ เหมือนเห็นไฟกำลังลุก

ญาณที่ ๕ เห็นรูปนามดับไป เหมือนกับเห็นไฟลุกใกล้เข้ามา ญาณที่ ๖ เห็นรูปนามเป็นภัย เหมือนเห็นไฟนั้นจะไหม้ น่ากลัว ญาณที่ ๗ เห็นรูปนามเป็นโทษ เหมือนเห็นไฟนั้นมีโทษอย่างร้ายกาจ ญาณที่ ๘ เห็นรูปนามน่าเบื่อหน่าย เหมือนเบื่อหน่ายต่อไฟนั้น ญาณที่ ๙ เห็นรูปนามใคร่อยากหนี เหมือนหาทางหนีจากไฟนั้น ญาณที่ ๑๐ เห็นรูปนามน่าเบื่อหน่าย อยากออกอยากหนีแล้ว ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง เหมือนตั้งใจหนีออกจากไฟ

ญาณที่ ๑๑ มีใจวางเฉยต่อรูปนาม เหมือนกับหาทางหนียังไม่ได้ ยืนดูไฟรำพึงอยู่ ญาณที่ ๑๒ เห็นรูปนามมีกำลังชัดยิ่งขึ้น เหมือนกับเห็นไฟใกล้เข้ามา ญาณที่ ๑๓ เห็นทางไปพระนิพพาน เหมือนเห็นทางออกจากไฟ ญาณที่ ๑๔ เห็นพระนิพพาน เหมือนกำลังวิ่งออกจากไฟ ญาณที่ ๑๕ เห็นพระนิพพาน เหมือนพ้นไฟแล้ว ญาณที่ ๑๖ พิจารณามรรคผลนิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่ เหมือนบุรุษผู้ยืนดูไฟอยู่ รู้ว่าตนพ้นแล้ว ฉะนั้น

ญาณทั้ง ๑๖ ประการนี้ ย่อมเป็นปัจจัยของกันและกัน บางญาณก็เกิดในวิถีเดียวกัน เช่น ญาณที่ ๑๒ ถึงญาณที่ ๑๖ นี้ก็เกิดในวิถีเดียวกัน ถ้าญาณที่ ๑๒ เกิดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นประมาณลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น ญาณที่ ๑๖ ก็เกิดขึ้นสมบูรณ์เต็มที่

สรุปแล้วว่า ญาณทั้ง ๑๖ ประการนี้ ก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เมื่อใดปฏิบัติจนผ่านญาณทั้ง ๑๖ ไปแล้ว ก็ชื่อว่าบรรลุปฏิเวธธรรมคือมรรคผลนิพพานนั่นเอง.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 71.0.3578.98 Chrome 71.0.3578.98


ดูรายละเอียด
« ตอบ #91 เมื่อ: 11 มกราคม 2562 09:31:09 »



คติของพระอริยบุคคล
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง คติของพระอริยบุคคล มาบรรยายถวายความรู้ แด่ครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชีทั้งหลาย ตามสมควรแก่เวลา

คติของพระอริยบุคคลทั้ง ๔ ประเภท คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ย่อมต่างกันตามประเภทดังต่อไปนี้

๑. พระโสดาบัน คำว่า พระโสดาบัน หมายความว่า ผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เพราะได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งที่ ๑ ละกิเลสได้ ๓ ตัว คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นี้เรียกว่าเป็นพระโสดาบัน

ทีนี้คติของพระโสดาบัน คือถ้าได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน หากว่าอินทรีย์แก่กล้า ในเวลาประพฤติปฏิบัติ คือมีอินทรีย์ ๕ สมบูรณ์แก่กล้า ก็จะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น ก็จะได้ประพฤติปฏิบัติสำเร็จเป็นพระอรหันต์

แต่ถ้าอินทรีย์หย่อน เวลาประพฤติปฏิบัติ อินทรีย์มันหย่อนไป ถ้าอินทรีย์หย่อนก็จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติ แล้วก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ปรินิพพาน แต่ถ้าต่ำลงมาก็จะเกิดอีก ๒ ชาติ ๓ ชาติ ๔ ชาติ ๕ ชาติ ๖ ชาติ ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

เมื่อได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ถือว่าสามารถทำลายกิเลสที่เป็นอปายคามินีที่จะนำไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานได้เด็ดขาด เป็นผู้มีคติเที่ยงในการที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จะไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกนานเกินไป

ทีนี้ ผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว หากว่าตอนที่จะมรณภาพ ได้สำเร็จรูปฌาน คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็จะได้ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน แต่ถ้าว่าได้สำเร็จอรูปฌาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหม ตามกำลังของอรูปฌาน

ถ้าได้สำเร็จอรูปฌานที่ ๑ ก็ไปเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนพรหม ถ้าได้สำเร็จอรูปฌานที่ ๒ ก็ไปเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนพรหม ถ้าได้สำเร็จอรูปฌานที่ ๓ ก็จะได้ไปเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนพรหม ถ้าได้สำเร็จอรูปฌานที่ ๔ ก็จะได้ไปเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม

ทีนี้ ผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันที่ไม่ได้ฌานจะไปเกิดที่ไหน ฌานก็ไม่ได้เหมือนรูปอื่นเหมือนคนอื่น เป็นประเภทสุกขวิปัสสกะ ได้บรรลุด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณล้วนๆ ไม่ได้ฌาน

ถ้าว่าเป็นพระโสดาบันที่ไม่ได้ฌาน บางทีก็มาเกิดในโลกมนุษย์ บางทีก็ไปเกิดในเทวโลก คือในฉกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามกำลังของบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้

พระโสดาบัน เมื่อมรณภาพแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน เพราะว่าผู้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ถือว่ามีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับ จุติแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ อันนี้เป็นคติของพระโสดาบันโดยย่อ

๒. พระสกทาคามี หมายถึง ผู้กลับมาเกิดอีกเพียงครั้งเดียว สำหรับพระสกทาคามีที่ไม่ได้ฌาน บางทีก็มาเกิดในโลกมนุษย์ บางทีก็ไปเกิดในเทวโลก ในสวรรค์ ๖ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้

แต่ถ้าเป็นพระสกทาคามีที่ได้รูปฌาน ๔ ฌานใดฌานหนึ่ง ก็จะไปบังเกิดในรูปพรหมตามกำลังของฌานใดฌานหนึ่ง ถ้าพระสกทาคามีที่ได้อรูปฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหม ๔ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามกำลังของฌาน พระสกทาคามีนี้ทำลายกิเลสตัณหา(เพิ่มขึ้นจากที่โสดาปัตติมรรคทำลายแล้ว)ไม่ได้ เป็นแต่เพียงทำกิเลสที่เหลืออยู่นั้นให้เบาบางลง คือไม่มีกำลังพอที่จะทำลายกิเลสตัณหาที่เหลืออยู่ให้หมดไป

แต่ถึงกระนั้นก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ เหมือนกันกับคติของพระโสดาบัน พระสกทาคามี เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในสุคติภพ ภพใดภพหนึ่ง บางทีก็มาเกิดในโลกมนุษย์ บางทีก็ไปเกิดในเทวโลก บางทีก็ไปเกิดในพรหมโลก เมื่อไปเกิดในสุคติภพ ภพใดภพหนึ่ง บางทีก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภพนั้นแล้วก็ปรินิพพาน

แต่เมื่อไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภพนั้นๆ ถ้าไปเกิดในเทวโลกหรือพรหมโลก จุติแล้วก็จะมาบังเกิดในโลกมนุษย์ แล้วก็จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็จะปรินิพพาน

แต่ถ้ามาเกิดในโลกมนุษย์เรานี้แล้วยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะกลับไปบังเกิดในเทวโลกอีกครั้งหนึ่ง ก็จะได้บรรลุพระนิพพาน

แต่ถ้าพระอริยบุคคลที่ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีอยู่ในเทวโลกก็ดี หรือว่าในพรหมโลกก็ดี ทั้งที่เป็นรูปพรหมก็ดี อรูปพรหมก็ดี เมื่อไปเกิดในสุคติภพนั้น ก็ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีในเทวโลก

แต่ว่าไม่สำเร็จมรรคผลนิพพานขั้นต่อไป จุติจากเทวโลกแล้วก็มาเกิดในมนุษย์โลกของเราอีก เมื่อเกิดในมนุษย์ก็ยังไม่ได้บรรลุ จุติแล้วก็จะไปเกิดในเทวโลกหรือพรหมโลกอีก เมื่อเกิดแล้วก็จะได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ปรินิพพานในเทวโลกหรือในพรหมโลกนั้นๆ

๓. พระอนาคามี แปลว่า ผู้ไม่เวียนกลับมาเกิดอีก คือผู้ไม่ไปสู่กามภพอีก คือหมายความว่า เมื่อได้เป็นพระอนาคามีแล้วก็ถือว่าเป็นภพสุดท้าย จุติแล้วจะไม่ไปเกิดในมนุษย์โลกหรือเทวโลก แต่จะไปบังเกิดในรูปพรหมหรืออรูปพรหมตามกำลังของฌาน

พระอนาคามีนี้ สามารถทำลายกิเลสตัณหาเพิ่มต่อจากพระโสดาบันอีก ๒ ประการ คือ ๑) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ๒) กามราคะ ความพอใจความกำหนัดในกามจะหมดไป คือกามราคะความคิดอยากมีลูก มีเมีย มีผัว มีครอบครัว มันหมดไปแล้ว ไม่คิดจะสร้างครอบครัวอีกต่อไปแล้ว

แม้ว่าผู้ที่สำเร็จพระอนาคามีในขณะเป็นฆราวาสก็จะอยู่เหมือนกันกับพระกับเณร จะไม่มีการร่วมสังวาสกัน สามีภรรยาจะเป็นเหมือนกันกับพ่อกับลูกอยู่ด้วยกัน เหมือนแม่กับลูกอยู่ด้วยกัน จะไม่มีการร่วมสังวาส เพราะกามราคะมันหมดไปแล้ว และปฏิฆะก็หมดไปแล้ว คือหมดไปทั้งความโกรธ หมดไปทั้งราคะ นี้เป็นกิเลสที่พระอนาคามีละได้

ทีนี้ ถ้าเป็นพระอนาคามีที่ได้ฌาน ก็จะไปเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน พระอนาคามีนั้นจะไม่ไปเกิดในรูปพรหมชั้นต่ำๆ แต่จะไปเกิดในสุทธาวาสพรหมชั้นเบื้องบนชั้นใดชั้นหนึ่ง คือไปเกิดในชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี หรือชั้นอกนิฏฐา ทั้ง ๕ ชั้นเหล่านี้ ชั้นใดชั้นหนึ่ง เมื่อไปเกิดในแต่ละชั้นๆแล้ว ก็จะได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานในชั้นนั้นๆ

บางองค์ที่ไปเกิดในชั้นที่ ๑ คือชั้นอวิหาแล้ว ถ้ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะเลื่อนชั้นขึ้นไปๆ แต่จะเลื่อนไปถึงชั้นใดๆก็ตาม เมื่อไปถึงชั้นอกนิฏฐาแล้ว ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน (จะไม่มีการเลื่อนชั้นต่อไปอีก) ส่วนพระอนาคามีที่ได้อรูปฌาน ๔ จุติแล้วก็จะไปเกิดในอรูปฌานตามกำลังของฌาน

ทีนี้สำหรับพระอนาคามีที่ไม่ได้ฌานจะทำอย่างไร พระอนาคามี เมื่อไม่ได้ฌานจะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมได้อย่างไร เพราะว่าผู้ที่จะไปเกิดในสุทธาวาสพรหมนั้นต้องได้ฌานจึงจะไปเกิดได้ ถ้าไม่ได้ฌานก็ไม่สามารถที่จะไปเกิดในชั้นสุทธาวาสพรหมได้มิใช่หรือ

อันนี้ ถึงแม้ว่าพระอนาคามีจะเป็นประเภทสุกขวิปัสสกะก็ดี ประเภทที่ไม่ได้ฌานก็ดี หากว่าท่านจะจุติจากอัตภาพนี้ มรรคสิทธิญาณก็จะเกิดขึ้นก่อน เมื่อมรรคสิทธิญาณเกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดฌาน เมื่อฌานเกิดแล้วก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมตามกำลังของฌาน อันนี้ไปด้วยอำนาจของมรรคสิทธิญาณ พระอนาคามีนั้น ในคราวที่จะมรณภาพนั้น จะมรณภาพอย่างไรก็ตาม หากว่ามรรคสิทธิญาณไม่เกิดแล้ว ท่านจะไม่มรณภาพ

สมมติว่าในขณะนั้น พระอนาคามี เครื่องบินตก ตกต้นไม้ รถคว่ำ ถูกคนยิง หรือถูกยาพิษ หรือประสบอุบัติเหตุโดยประการใดประการหนึ่งก็ตาม หากว่ามรรคสิทธิญาณไม่เกิด ท่านจะไม่มรณภาพ เมื่อใดมรรคสิทธิญาณเกิดแล้วท่านจึงจะมรณภาพ คือเมื่อมรรคสิทธิญาณเกิดขึ้นมา มรรคสิทธิญาณก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยเป็นพลังส่งต่อให้เกิดฌาน และฌานนั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมตามกำลังของฌานที่ตนได้ เมื่อไปเกิดในสุทธาวาสพรหมแล้ว ก็จะได้บำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน นี้เป็นคติของพระอนาคามี

๔. พระอรหันต์ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึง คือพระอรหันต์นั้นท่านละกิเลสได้ทุกอย่าง คือกิเลสที่เหลืออยู่ ๕ ประการ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ท่านละได้หมดแล้ว

สรุปสั้นๆว่า พระอรหันต์นั้น ไม่ว่าจะเป็นกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ท่านก็ละได้หมดแล้ว จะเป็นสังโยชน์ ๑๐ ท่านก็ละได้หมดแล้ว หรืออนุสัย ๗ ประการ ท่านก็ละได้หมดแล้ว หรือพูดเอาสั้นๆว่า พระอรหันต์นั้น ท่านละกิเลสได้ทุกอย่าง

เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว อรหัตตมรรคนั้นก็สามารถที่จะประหารกิเลสทุกสิ่งทุกประการที่เหลืออยู่ให้หมดไปสิ้นไป ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะเหลืออยู่ หรือยังค้างในจิตในใจอยู่ หรือยังมีให้เห็นในจิตในใจอยู่เลย และกิเลสเหล่าใดที่ละได้แล้ว ก็จะละได้เด็ดขาด ไม่กลับคืนมาอีก

เพราะว่าพระอรหัตตมัคคญาณนั้น เป็นประเภท วชิรูปมาธรรมะ คือเป็นธรรมะอุปมาด้วยขวานฟ้า ธรรมดาว่าขวานฟ้าหรือว่าสายฟ้า ถ้าว่าฟาดลงต้นไม้ต้นใด ต้นไม้ต้นนั้นก็ดับไป ต้นไม้ต้นนั้นก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นอีก อันนี้ฉันใด คติของพระอรหันต์ก็ฉันนั้น

เมื่ออรหัตตมรรคเกิดขึ้นแล้ว กิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงก็จะดับไป สิ้นไป สูญไป จากสันดาน ด้วยอรหัตตมรรคอรหัตตผล เมื่อท่านดำรงชนมายุอยู่จนถึงอายุขัยแล้วก็จะเข้าสู่ปรินิพพานไปเลย นี้เป็นคติของพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้น เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ จะให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา เจริญทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา อันมีอานิสงส์เป็นอเนกประการก็ตาม

กำลังบุญทั้งหลายทั้งปวง และอานิสงส์ของบุญทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะนำท่านไปเกิดในภพในภูมิต่างๆได้ เพราะเวลาท่านให้ทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา เจริญสมถะเจริญวิปัสสนาก็ตาม ก็เป็นแต่สักว่าเพียงกิริยา คือเป็นเพียงสักแต่ว่าทำ เพราะว่า พระอรหันต์นั้น ท่านพ้นแล้วจากบุญจากบาป พ้นแล้วจากภพทั้งหลายทั้งปวง จึงไม่มีโอกาสที่จะไปสู่ภพทั้งหลายทั้งปวงได้

สมมติว่าท่านเข้าฌาน จะเป็นฌานใดฌานหนึ่งก็ตาม หรือจะเข้าทั้งสมาบัติ ๘ ประการได้ก็ตาม การเข้าฌานการเข้าสมาบัติของท่านก็เป็นแต่สักว่ากิริยา อานิสงส์ของการเข้าฌานก็ไม่สามารถที่จะนำท่านไปเกิดในรูปพรหมและอรูปพรหมได้อีก การเข้าฌานของท่านก็เป็นแต่เพียงสักว่ากิริยา

สมมติว่าท่านได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน (ตามธรรมดาบุคคลอื่นๆ เมื่อ) จุติแล้วก็ต้องไปเกิดในรูปพรหมตามกำลังของฌาน แต่(พระอรหันต์นี้)หาเป็นเช่นนั้นไม่ อานิสงส์ของการเข้าฌานก็ไม่สามารถที่จะนำท่านไปเกิดในรูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่งได้เลย

หรือว่าท่านได้สำเร็จอรูปฌาน ๔ แล้ว คือตามคติของอรูปฌาน ๔ ผู้ที่ได้จุติแล้วต้องไปเกิดในอรูปพรหมชั้นใดชั้นหนึ่งตามกำลังของฌาน แต่สำหรับพระอรหันต์นั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะการเข้าอรูปฌานของท่านก็สักแต่เพียงกิริยา ให้ได้รับความสุขในภพนี้ชาตินี้เท่านั้น จุติแล้วฌานนั้นก็ไม่สามารถที่จะนำท่านไปเกิดในอรูปพรหมภูมิได้ เพราะพระอรหันต์นั้นท่านดับได้ทุกสิ่งทุกอย่าง คือดับทั้งรูป ดับทั้งนาม ดับทั้งกิเลสตัณหา

กิเลสตัณหาเหล่าใดที่จะนำไปสู่ภพสู่ชาติ กิเลสตัณหาเหล่านั้นไม่สามารถที่จะนำท่านไปสู่ภพสู่ชาติได้ พูดง่ายๆว่า พระอรหันต์ท่านดับหมดแล้ว ดับทั้งบุญดับทั้งบาป พ้นทั้งบุญพ้นทั้งบาปทั้งหลายทั้งปวงแล้ว พ้นจากภพทั้งหลายทั้งปวงได้หมดแล้ว เหตุนั้น พระอรหันต์นั้น เมื่อท่านดำรงอยู่จนถึงอายุขัยแล้วท่านก็ปรินิพพาน เหมือนกันกับประทีปที่หมดเชื้อแล้วดับไป คือเหมือนเทียนที่เราจุดแล้ว หมดเชื้อแล้วก็ดับไป คติของพระอรหันต์ก็เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ในสมัยทุกวันนี้ เราได้ยินว่าที่สำนักทรงเจ้าเข้าเทพที่ว่า เอาวิญญาณของพระมหาโมคคัลลานะ ของพระสารีบุตร ของพระมหากัสสปะ มาทรงอย่างนี้ อันนั้นสร้างนรกใส่ตัวเอง เพราะว่าการพูดเช่นนั้น ถือว่าเป็นการหมดทุกสิ่งหมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลือหลออีกแล้ว

เพราะว่าผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีโอกาสที่จะมาเกิดในภพนี้ชาตินี้อีก และก็ไม่มีโอกาสที่จะไปเกิดในภพใดๆอีก ฉะนั้น ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ อย่างเขาแต่งหนังสือ หลวงพ่อขอออกนอกเรื่องสักหน่อย เช่น หนังสือหลวงปู่บางรูป ที่จริงไม่ใช่ท่านแต่งหรอก ลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ภายหลังนั้นแต่งขึ้นมา ท่านเขียนหนังสือหน้าปกว่า หลวงปู่.... ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม

ความจริงแล้วพระโพธิสัตว์นี้เป็นผู้สร้างบารมีเพื่อบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าต่อไป แต่หนังสือเล่มนั้น ในบรรทัดในสารบัญว่า หลวงปู่เป็นพระอริยบุคคลผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ขัดกันแล้ว ๒ ประโยคนี้ขัดกันแล้ว

เพราะว่า พระโพธิสัตว์นี้ยังไม่ตรัสรู้เลย พระโพธิสัตว์นี้ แม้พระโสดาบันก็ยังไม่ได้บรรลุเลย สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ก็ยังไม่ได้ คือท่านยังต้องสร้างบารมีเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้า เมื่อใดบารมียังไม่สมบูรณ์ก็ยังไม่ตรัสรู้(และจะยังไม่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดๆทั้งสิ้น) เมื่อใดบารมีสมบูรณ์แล้ว จึงตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณได้

ฉะนั้น บรรทัดที่ ๑ กับบรรทัดที่ ๒ ก็ขัดกันแล้ว บรรทัดที่ ๓ ว่าหลวงปู่นั้นเมื่อชาติก่อนเป็นพระมหากัสสปะ เมื่อได้ทำการฌาปนกิจพระศพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จุติจากชาติที่เป็นพระมหากัสสปะจึงได้มาเกิดเป็นหลวงปู่ท่านนี้

ผิดหมด ไม่มีอะไรเหลือหลอเลย เพราะว่าพระมหากัสสปะท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จะมาเกิดอีกได้อย่างไร พระอรหันต์ท่านตัดภพตัดชาติได้หมดแล้ว ทำลายกงกำสงสารจักรสังสารวัฏได้หมดแล้ว ไม่ไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่อีกต่อไป

เหตุนั้นแหละท่านทั้งหลาย การที่สำนักทรงเจ้าเข้าเทพอย่างทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เอาวิญญาณของพระอรหันต์องค์นั้นมาทรง เอาวิญญาณของพระอรหันต์องค์นี้มาทรง หรือว่าเอาวิญญาณของพระพุทธเจ้ามาทรง อะไรทำนองนี้

ผิดทั้งหมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เหตุนั้น ท่านทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ประพฤติวัตรปฏิบัติมาแล้ว ก็ขอให้ใคร่ครวญตริตรองพิจารณา อย่าเชื่ออะไรลมๆแล้งๆ อย่าเป็นคนศรัทธาอธิโมกข์ เชื่ออย่างงมงาย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีเหตุมีผล พิจารณาเหตุผลมันสมดุลกันหรือไม่ ถ้ามันสมดุลกันจึงค่อยเชื่อ ให้เป็นคนศรัทธาญาณสัมปะยุตต์ เป็นความเชื่อที่ประกอบไปด้วยปัญญาคือความรู้

อันนี้อีกอย่าง สำนักหนึ่งที่เราได้ยิน คือสำนักของอาจารย์ท่านหนึ่งอีกละ พูดอย่างนี้ ไม่ได้มุ่งติฉินนินทาเขานะ และก็ไม่ได้โจมตีเขา แต่ว่าพูดความจริง

เมื่อก่อนอาจารย์ท่านนั้น หลวงพ่อติดตามเขามาตั้งแต่โน้น ตั้งแต่เป็นสามเณรแน่ะ เมื่อก่อนโน้น เขาเล่นละครวิทยุ ละครวิทยุที่เขาเล่นมา ไม่มีเรื่องไหนที่ตำรวจไม่เซ็นเซอร์ เพราะมันรุนแรง เป็นคนหัวรุนแรง ชอบโจมตีคนโน้นคนนี้ สำนักโน้นสำนักนี้ อยู่ตลอดเวลา ได้ติดตามมาตั้งแต่เป็นสามเณร

ถ้าเขาแต่งหนังสือเล่มใด หลวงพ่อก็เขียนจดหมายไปขอ หลังจากนั้นหนังสือเล่มใดๆ ที่เขาเขียนละก็ เขาก็จะส่งมาให้หลวงพ่อ ส่งมาๆ หลวงพ่ออ่านหมดทุกเล่มแหละ อาจารย์ท่านนี้ อย่าว่าเป็นคนร้อยแปด เป็นคนล้านแปด เขาทำทุกอย่าง ทรงเจ้าเข้าผี เวทมนต์กลคาถา เป็นหมอธรรมหมออะไร ปราบผีปราบอะไร เอาหมดทุกสิ่งทุกอย่างจนไม่มีเหลือหลอ ในทางประพฤติปฏิบัติ ไสยเวทย์ ไสยศาสตร์ อะไรครบหมด พอเบื่อทางนั้นแล้วก็มาบวช

ครั้งแรกก็บวชอยู่ในมหานิกาย เห็นว่ามหานิกายไม่ดีพอ ก็บวชเป็นธรรมยุต เห็นว่าธรรมยุตไม่ดีพอ ก็เลยไปตั้งสำนักเอาเอง บวชเอง บรรดาลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อบวชแล้วไปอยู่กับอาจารย์ท่านนั้นก็มี ไปอยู่กับเขาหลายๆปี ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี ก็มี พอกลับมา (วัดพิชฯ) แล้วก็ว่า หลวงพ่อๆ จะให้ผมทำอย่างไร จะให้ปฏิบัติเหมือนกับหลวงพ่อ หรือจะให้ผมปฏิบัติเหมือนกันกับอาจารย์ท่านนั้น

หลวงพ่อก็ว่า แล้วแต่คุณจะตัดสินใจเอา คุณก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าคุณเห็นว่าธรรมะที่หลวงพ่อสอนอยู่นี้เป็นธรรมะที่จะทำผู้ปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้ หรือไปสู่สุคติภพได้ ก็ปฏิบัติไปอย่างนี้ก็ได้ หรือถ้าคุณพอใจพร้อมใจที่จะแยกหมู่แยกคณะไปตั้งคณะใหม่ต่างหาก เป็นการทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ก็แล้วแต่คุณจะพิจารณาเอา หลวงพ่อไม่ว่าดอก เพราะว่า คนเราน่ะ ถึงจะทำดีทำชั่วอย่างไรก็ตาม จุดหมายปลายทางก็เหมือนกันน่ะแหละ ถ้าไม่ตกนรกก็ไปเกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นเปรตก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นอสุรกายก็ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือไม่ก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพบุตร เป็นเทพธิดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ก็แล้วแต่คุณจะเลือกเอา เพราะว่าได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว ก็แล้วแต่จะเลือกเอา

เมื่อฟังหลวงพ่อพูดอย่างนี้แล้ว บางคนก็ไม่กลับไป บางคนก็กลับไปอีก หลวงพ่อก็ไม่ว่ากระไร คือหลวงพ่อมีปกติอยู่ว่า ไม่ว่าให้ใครๆ ไม่โจมตีสำนักโน้น ไม่ได้โจมตีสำนักนี้ ขอร้องไว้อย่างเดียวว่า อย่าโจมตีกันก็เป็นพอ ลูกศิษย์ลูกหาที่ปฏิบัติได้แล้ว แม้จะมีฤทธิ์ มีอำนาจ บำเพ็ญธุดงควัตร อย่างนั้นก็ไม่ฉัน อย่างนี้ก็ไม่ฉัน ปฏิบัติอย่างนั้นปฏิบัติอย่างนี้ ในธุดงค์ทั้ง ๑๓ ประการ หลวงพ่อก็ไม่ว่ากระไร

ขอร้องอย่างเดียวว่า เมื่อเราประพฤติปฏิบัติในธุดงควัตร หรือประพฤติปฏิบัติจนมีฤทธิ์มีเดช ได้ฌาน ได้อภิญญา เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ดี ก็ขออย่าเอาวัตรนั้นมาข่มผู้อื่น แล้วก็อย่าไปโจมตีผู้อื่น ขออย่าว่าผู้อื่น คือว่าเราประพฤติปฏิบัติได้แล้วก็เป็นเรื่องของเรา อย่าไปทำคนอื่นให้เขาเดือดร้อน ก็ขอแต่อย่างนี้อย่างเดียว แนะนำลูกศิษย์ลูกหาอย่างเดียว

บางครั้ง มีบางรูปบางองค์มาเทศน์ ก็เทศน์ว่าให้ทานก็ไม่ได้บุญ ให้พระกินหมด มันจะได้บุญที่ตรงไหน แต่ผลสุดท้าย (เจ้าตัว) ก็กินของเขาอยู่ ว่าไม่ได้บุญก็ไปกินของเขาทำไม ไปฉันของเขาทำไม (เมื่อมี) คนไม่รู้จักบุญ ไม่รู้จักอานิสงส์ของบุญ ได้ยินเขาพูด ก็พอใจในคำพูด พอใจในโวหารของเขา ก็ไปเชื่อเขา แล้วก็มาโจมตีผู้อื่น อย่างนี้มันก็ไม่ใช่ หลวงพ่อว่า

หรือว่าดอกไม้ธูปเทียนที่เขาบูชาก็ว่า ดอกไม้ธูปเทียนเอาไปบูชาทำไม บูชาแล้วก็ไปจุดแล้วก็ไหม้เสียของไปเปล่าๆ เหมือนกับเราจุดตอไม้จุดขอนไม้ตามไร่ตามนาของเรา ไม่เห็นมันจะได้บุญที่ตรงไหน หลวงพ่อก็บอกว่า บ้าบ่พอปัว มันเป็นบ้าแท้ๆ ไปเชื่อไปชอบแต่โวหารที่เขาพูด จำคำเขาก็เอามาพูด โดยที่ไม่ได้ศึกษาให้รู้ว่า การที่เขาจุดตอจุดขอนไม้อยู่ที่ตามไร่ตามนาน่ะ มันไม่มีอานิสงส์ หรือจุดตอจากไร่จากนานั้น จุดแล้วมันเป็นอย่างไร และผลที่เกิดจากการจุดตอนั้นมันเป็นอย่างไร มันได้ผลอย่างไร

เขาลืมคิดไป ดอกไม้ธูปเทียนที่เราจุดบูชา ในชาดกก็ได้กล่าวไว้ว่า มีอานิสงส์อย่างโน้นมีอานิสงส์อย่างนี้ ได้พรรณนาอานิสงส์บุญของการที่บูชาดอกไม้ธูปเทียน เขาก็ยังกล้ามาว่าอย่างนั้น ฯลฯ เอาไปเอามาก็ไม่มีโยมมาถวายอาหารเลย ดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะอะไรๆ เขาก็ไม่นำมาถวาย ผลสุดท้าย ผ้านุ่งผ้าห่มเขาก็ไม่ถวาย เพราะว่าถวายแล้วก็ไม่ได้บุญ อันนี้แหละท่านทั้งหลาย จงคิดให้ซึ้งๆ ได้ยินเขาพูดแล้วก็อย่าไปพอใจติดใจในโวหารของเขา ขอให้คิดให้กว้างๆ ให้มีเหตุมีผล

อีกรูปหนึ่ง ก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อนี่แหละ ก่อนเขาจะบวชก็มาหาหลวงพ่อ เขามาด่าหลวงพ่อเสียก่อนนะว่า หลวงพ่อ พระที่ฉันเนื้อฉันปลาน่ะ มันเป็นการทำปาณาติบาตนะ มันไม่ผิดวินัยหรือ ก็เลยบอกไปว่า โยม เอาอย่างนี้ดีกว่า เอาหนังสือนี้ไปอ่านเสียก่อน หลวงพ่อก็เปิดหนังสือนวโกวาทให้ โยมอ่านจากนี้มาถึงนี้ๆเสียก่อนนะ อ่านจบแล้วค่อยมาพูดกันคุยกันใหม่ เขาก็ไปอ่าน อ่านแล้วก็กลับมา ดูซิว่าอ่านแล้วเป็นอย่างไร มีไหมที่ว่าห้ามไม่ให้พระฉันเนื้อฉันปลา มันมีไหม ไม่มี

หลวงพ่อก็ถือตามนี้ ศีล ๒๒๗ ถ้าหนังสือบ่งไว้(ว่าผิดวินัย)ก็ถือว่าหลวงพ่อผิด ถ้าไม่ได้บ่งไว้ ก็แสดงว่าหลวงพ่อไม่ผิด เขาก็ย้อนว่า มันไม่เป็นปาณาติบาตหรือ ถ้าว่าพระไม่ฉันเนื้อ โยมเขาก็ไม่ฆ่าสัตว์ (หลวงพ่อตอบว่า) คุณ โยมเขาไม่ได้ตั้งใจว่าจะฆ่ามาถวายพระนะ เขาไม่ได้ว่า วันนี้ไปหาปลามาให้พระฉัน ไปฆ่าวัวฆ่าควายมาปรุงอาหารมาให้พระฉัน เขาไม่ได้(ตั้งใจ)ว่าอย่างนั้นนะ

ที่จริงอาหารที่เขาทำมาถวายพระตอนเช้าก็ตาม ตอนเพลก็ตาม เป็นอาหารส่วนแบ่งที่เขาแบ่งไว้แล้ว เช่น เขาทำอาหารตามปกติ เขาก็เหลือไว้แบ่งไว้ว่า ถ้วยนี้ จานนี้ หม้อนี้ จะเอาไปถวายพระ จะเอาไปถวายภัตตาหารเช้า จะถวายภัตตาหารเพล เขาแบ่งไว้ต่างหาก เขาไม่ได้บอกเลย ไม่ได้คิดในใจเลยที่จะไปฆ่า(สัตว์)มาถวายพระ จะเอาปลามาถวายพระ เอาเนื้อวัวเนื้อควายมาถวายพระ เอากุ้งเอาหอยมาถวายพระอย่างนี้ เขาไม่ได้คิดเลย

เรา(พระนี้)กินส่วนแบ่งเท่านั้น มันจะเป็นบาปที่ตรงไหน ในหลักวินัยก็ว่าไว้ว่า เมื่อไม่ได้รู้ ไม่เห็น ไม่สงสัย ว่าเขาทำมา มันก็ไม่เป็นอาบัติ ก็บอกไปอย่างนี้ ฯลฯ คุณไปคิดใหม่ซะไป ถ้าว่าจะบวช การอยู่ร่วมอุปัชฌาย์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าว่าเราได้อุปัชฌาย์ผิด เราจะไปบวชกับอุปัชฌาย์ใหม่ก็เกรงใจท่าน เป็นเรื่องยากลำบาก การเป็นอุปัชฌาย์กันก็ถือว่าเป็นพ่อเป็นลูกกัน การจะตัดพ่อตัดลูกกันภายหน้าท่าจะลำบากนะ หรือจะหาอุปัชฌาย์ที่มันถูกใจถูกจริตแล้วก็บวชกับท่าน หลวงพ่อก็บอกให้กลับไป

วันหลังมาใหม่ มาขอบวช หลวงพ่อว่า คุณคิดดีแล้วหรือยัง จะมาบวชที่นี้ คิดไว้ดีหรือยัง เขาว่า คิดดีแล้วๆ ว่าจะมาบวชที่นี้ แต่ผมขอพรจากหลวงพ่อว่า ผมบวชแล้วผมขอฉันอาหารเจ หลวงพ่อว่า อาหารเจมันลำบากนะ ไม่เหมือนกับอาหารมังสวิรัตินะ

คุณเข้าใจนะว่า คำว่า เจ กับ มังสวิรัติ มันไม่เหมือนกัน มังสวิรัติ นั้นเว้นจากการฉันเนื้อฉันปลา เว้นจากการฉันของที่มีชีวิต คำว่า อาหารเจ มันมีความหมายกว้าง พวกกระเทียม พวกต้นหอมนี่ ก็ฉันไม่ได้ ผักบางชนิดก็ฉันไม่ได้ มันหลายสิ่งหลายประการ

เพราะฉะนั้น อาหารเจน่ะมันลำบาก ถ้าคุณจะถือฉันอาหารมังสวิรัติน่ะได้อยู่ (เขาว่า) ถ้าจะฉันอาหารมังสวิรัติล่ะ หลวงพ่อจะอนุญาตไหม หลวงพ่อว่า คุณ คนขออย่างนี้ หลวงพ่อต้องการมานานแล้ว หลวงพ่อปรารถนา ถ้าใครบวชมามีความต้องการที่จะประพฤติปฏิบัติจริงๆ อย่างนั้นละก็ หลวงพ่อสาธุ อนุโมทนา

คุณมองเข้าไปทางในวัดซิ คุณจะฉันอะไรก่อน จะฉันใบมะม่วงก็เอาสิ หมดใบมะม่วง ก็เอาสิใบมะขาม หมดใบมะขามก็มีใบพิกุล หมดใบพิกุลละก็ใบอโศก หมดใบอโศกก็เอาใบมะพร้าว คุณจะฉันอย่างไร(ฉันใบอะไร)ก็แล้วแต่จะถนัด หรือว่าใบไม้ในวัดมันหมดแล้ว นั่นใบหญ้าที่เรานั่งอยู่นี้ มันมีแต่สูงๆ แค่ศอกๆ คุณจะฉันจะกัดกินเหมือนวัวเหมือนควายละก็ หลวงพ่อไม่ว่ากระไร แล้วแต่คุณจะถนัด คุณจะปรุงรสหรือไม่ปรุงรส หลวงพ่อไม่ว่า เขาก็นิ่งอึ้ง ไม่กล้าพูด

เมื่อบวชแล้วก็มาถามอยู่บ่อยๆ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เขียนหนังสือมาถามว่า พระนั้นฉันเนื้อฉันปลามันผิดไหม เวลาบรรยายธรรม หลวงพ่อก็เพียงแต่ว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นช่วงตอบปัญหา หลังจากประพฤติปฏิบัติแล้วจึงเป็นช่วงตอบปัญหา ครั้นมีอะไรข้องใจเคลือบแคลงสงสัยในจิตในใจ ก็ขอให้กำหนดว่า สงสัยหนอๆ ไปเรื่อยๆ มันจะได้ทำให้เกิดความสว่างในดวงใจ แล้วก็จะหมดความเคลือบแคลงสงสัยไปเอง

จนกระทั่งแกบวชมาหลายๆปี วันหนึ่ง เวลาที่พระรูปนั้นมาเทศน์ พอดีขึ้นเทศน์ปั๊บเท่านั้นละ ก็เทศน์ไปๆ ก็มายกตัวเอง ก็เชิดตัวเองว่า อาตมามาพิจารณาวินัยพระเณรแล้ว ดูไม่ค่อยเคร่งครัด ประพฤติปฏิบัติไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ว่าให้พระให้เณรในวัด อาตมานี้นับแต่บวชมาจนบัดนี้ยังไม่เคยใส่รองเท้าเลย ยังไม่ได้กั้นร่มเลย

เสร็จกัน ประโยคเดียวเท่านั้น เสร็จเลย ฆ่าตัวเองเลย ไม่ได้ฟื้นเลย เป็นการเชิดตัวเอง ติเตียนผู้อื่น นินทาผู้อื่น ใช้ไม่ได้

อันนี้แหละท่านทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ขอให้ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณาถึงเหตุและผลของสิ่งนั้นๆด้วย เมื่อประพฤติปฏิบัติไปแล้ว เขาพูดอย่างนั้น เขาพูดอย่างนี้ จะไปเชื่อทันทีนั้นไม่ได้ เราต้องใคร่ครวญเสียก่อน

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะ เรื่อง คติของพระอริยบุคคล ๔ ประเภท โดยสังเขปกถา พอที่จะเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านทั้งหลายได้แล้วพอสมควร จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 71.0.3578.98 Chrome 71.0.3578.98


ดูรายละเอียด
« ตอบ #92 เมื่อ: 24 มกราคม 2562 09:23:56 »



การประพฤติวุฏฐานวิธี
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

วันนี้ ขออนุสรณ์ย้อนกลับไปใหม่ ตั้งแต่วันแรกที่เราได้เข้าพรรษามาจนถึงบัดนี้ ยังไม่ได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง การประพฤติวุฏฐานวิธี มาถวายความรู้แด่ท่านทั้งหลาย เพราะโอกาสและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย
เหตุนั้น วันนี้จึงจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง การประพฤติวุฏฐานวิธี มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
สำหรับการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ ท่านครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะพูดมาก เพราะว่าเราได้รู้ได้เข้าใจในเรื่องประพฤติวุฏฐานวิธีแล้ว แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้บวชใหม่ บางรูปก็บวชยังไม่ถึงเดือน หรือสองเดือนก็มี หรือสามเดือนก็มี
บางท่านบวชแล้วก็เข้าพรรษา เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้บางสิ่งบางประการอาจจะขาดตกบกพร่อง เกี่ยวกับการประพฤติวุฏฐานวิธี เหตุนั้น ครูบาอาจารย์ผู้เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ให้ถือเสียว่าเป็นการสงเคราะห์แก่ผู้บวชใหม่ก็แล้วกัน
คำว่า วุฏฐานวิธี คือ ระเบียบเพื่อออกจากอาบัติ ท่านแจกไว้ ๔ ประการ คือ
๑. ปริวาส คือผู้ที่บวชมาแล้ว ต้องครุกาบัติ คือ อาบัติสังฆาทิเสส หากว่าตนไม่ได้ปกปิดอาบัติไว้ เราจะขอปริวาส ไม่ต้องนับราตรี เสร็จแล้วก็ขอขึ้นมานัตต์ แล้วก็อยู่มานัตต์ แต่สำหรับผู้ที่ต้องครุกาบัติแล้วปกปิดไว้ ๓ วัน ก็จะต้องอยู่ปริวาสครบ ๓ วันเสียก่อนจึงจะขอมานัตต์ได้
หรือว่าเราบวชมาแล้ว ๑ ปี ๒ ปี หรือ ๓ ปี ได้ปกปิดอาบัติไว้ เมื่อเราปกปิดอาบัติไว้อย่างนี้ ก็ต้องอยู่ให้ครบที่เราปกปิดไว้ ๑ ปี ๒ ปี หรือ ๓ ปี ครบแล้วจึงขอมานัตต์ ขึ้นมานัตต์ได้
แต่บางท่านที่เคยบวชเคยปฏิบัติมาแล้ว ก็อาจจะสงสัยเป็นบางสิ่งบางประการ คือตนได้บวชมาแล้ว อาจจะบวชมาเป็นหลายๆ ปี แต่ไม่มีโอกาสจะประพฤติวุฏฐานวิธี เมื่อมีโอกาสมีเวลาประพฤติวุฏฐานวิธี แต่บังเอิญครูบาอาจารย์ผู้เป็นประมุขประธานงานนั้น ให้เราอยู่ปริวาสเพียง ๓ วัน ทั้งๆ ที่ต้องอาบัติมาหลายวัน หลายเดือน หลายปี แต่เมื่อมีการอยู่ปริวาสแล้ว ก็ให้เข้าปริวาสเพียง ๓ วัน เสร็จแล้วก็ให้ขอมานัตต์ ให้ขึ้นมานัตต์ ท่านทั้งหลาย เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก หลายๆ ท่านก็คิดว่าการอยู่ปริวาสเพียง ๓ วันนั้นจะไม่บริสุทธิ์
ข้อนี้ หากว่าเราบวชมาแล้ว เคยปลงอาบัติทุกวันๆ เหมือนดังปลงอยู่ในขณะนี้แหละ บางทีท่านผู้ที่เข้าปริวาส ทำวัตรเสร็จแล้วก็ปลงอาบัติว่า สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ....เป็นต้น
หากว่าเราไม่มีโอกาสที่จะบอกในขณะนี้ เพราะเหตุบางสิ่งบางอย่างไม่เอื้ออำนวย หรือมันขัดข้อง แต่เจตนาที่จะปกปิดไม่มี เช่น เราต้องครุกาบัติแล้ว เราตั้งใจที่จะบอก จะไม่ปกปิด แต่สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย แม้อยากบอกอยู่ แต่ไม่สามารถที่จะบอกได้ อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการปกปิดอาบัติ เมื่อเราได้ปลงอาบัติไว้อย่างนี้ๆ เหมือนอย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ถือว่าเราบอกไว้แล้ว บอกอาบัติไว้แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการปกปิด
เพราะเหตุไร
เพราะว่าการที่ว่าปลงอาบัตินั้น ก็ถือว่าบอกทั้งที่เป็นลหุกาบัติ บอกทั้งที่เป็นครุกาบัติแล้ว ข้อนี้ ถ้าว่าเราทั้งหลายเรียนรู้และเข้าใจ เราจะรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ เช่น พระอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์อย่างนี้ เราจะซึ้งในพระคุณของท่านผู้ที่ได้แต่งโคลงเกี่ยวกับปลงอาบัติไว้ คือท่านมีเจตนารมณ์ให้ผู้ที่ปลงอาบัตินั้น ได้บอกทั้งที่เป็นลหุกาบัติ ทั้งครุกาบัติ
เมื่อได้บอกว่า สัพพา ตา...แล้ว ในส่วนที่เป็นลหุกาบัตินั้น ก็เป็นอันว่าหมดไป บริสุทธิ์ไป หมายความว่า อาบัติเหล่าใดที่เป็นลหุกาบัติ เช่นว่า ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาษิต ก็ถือว่าบริสุทธิ์ แต่ในส่วนใดที่เป็นครุกาบัติ ก็ถือว่าได้บอกไว้แล้ว ไม่ได้ปกปิด
เพราะเหตุไร
เพราะว่า ที่เราปลงอาบัติว่า สัพพา ครุลหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ นั้น ความหมายก็คือ เราขอเปิดเผยบอกอาบัติทั้งปวง ทั้งที่เป็นลหุกาบัติ ทั้งที่เป็นครุกาบัติ เหตุนั้น แม้ว่าเราอยากปกปิด ก็ไม่เป็นอันปกปิด คือว่า ได้บอกไว้แล้ว
สำหรับองค์ประกอบของการอยู่ปริวาส คือ
๑) สหวาโส ห้ามเข้าอยู่ร่วมชายคากับพระที่เป็นปกตัตตะ บ้านเราเรียกว่า อาจารย์กรรม (หมายถึงพระที่ไม่ได้เข้าปริวาสด้วย) เราจะอยู่ร่วมกับอาจารย์กรรมนั้นไม่ได้ ต้องแยก เว้นไว้แต่เราปลงวัตร(เก็บวัตรแล้ว) เหมือนกับที่เราได้ปลงกันทุกวันนี้ ในขณะที่เราปลงวัตรนั้น เราอาจจะอยู่ร่วมชายคา ปะรำ หรือกุฏิ อะไรทำนองนี้ได้
หากว่าจำเป็น เราก็อยู่ร่วมได้ ไม่ถือว่าขาด แต่ถ้าว่าไม่จำเป็น ก็อย่าอยู่ร่วม แม้ว่าเราปลงวัตรแล้ว เราต้องลดทิฐิมานะ ต้องถ่อมตัว จะทำให้การประพฤติวุฏฐานวิธีมันบริสุทธิ์เร็วขึ้น ข้อนี้แม้แต่พวกเราทั้งหลาย ผู้เข้าปริวาสด้วยกัน เช่นพวกเราทั้งหลาย ขณะนี้เราขึ้น(สมาทาน)วัตรแล้ว เมื่อเราขึ้นวัตรแล้ว เราจะอยู่ร่วมชายคากับพระอาจารย์กรรม หรือปกตัตตะภิกษุนั้นไม่ได้
ถ้าอยู่ร่วมชายคากัน ก็ถือว่าวัตรขาด แต่ชายคานี้ ไม่ได้หมายเอาร่มไม้ ร่มไม้น่ะท่านไม่ได้ห้าม แต่อีกอย่างหนึ่ง สำหรับท่านที่เข้าปริวาสด้วยกัน ก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่เราจะไปนอนร่วมกุฏิที่อยู่ปริวาสร่วมกัน ถึงมันมีโอกาสมีเวลาอยู่ หมายความว่า แม้พระวินัยไม่ปรับอาบัติก็จริงอยู่ แต่เราต้องสังวรระวัง
ถ้าไม่จำเป็น เราอย่าไปอยู่ร่วมชายคา แม้กับผู้ที่อยู่ปริวาสด้วยกัน ขอให้ต่างคนต่างอยู่ เพราะว่าเราสมาทานและก็บอกวัตรแล้ว ถ้าไม่จำเป็นเราอย่าไปอยู่ร่วมกุฏิเดียวกัน และก็ห้ามเหยียดกายร่วมกัน ในกุฏิที่เราอยู่นั้น
สมมติว่า กุฏิห้องกัมมัฏฐานเราเล็กๆ อย่างนี้ ขึ้นไปแล้วก็ไปนอนเหยียดกายร่วมกันอยู่ในกุฏินั้น ก็ถือว่าขาด ท่านครูบาอาจารย์ท่านถือขลังกัน(คือถือเข้มงวดไว้ก่อน) เพราะเหตุนั้น ตอนเย็นเราสมาทานวัตรแล้ว ก็รักษาวัตรให้ดี หากว่าไม่จำเป็น ก็อย่าไปขึ้นกุฏิร่วมกัน อย่าไปอยู่ในกุฏิร่วมกัน เพราะว่ามันไม่สวยไม่งาม หรือมองแล้วมันทะแม่ง ทะแม่ง ให้ต่างคนต่างอยู่ สังวร ระวังให้ดี
๒) วิปปวาโส อยู่ปราศจากสงฆ์ ในขณะที่อยู่ปริวาสนี้ เราอยู่กับพระภิกษุผู้เป็นปกตัตตะรูปเดียวนั้นได้ คือว่าเราอยู่ที่ไหนๆ ต้องมีพระภิกษุผู้เป็นปกตัตตะหรือพระที่เป็นปกตินั้นอย่างน้อย ๑ รูปอยู่เป็นเพื่อน
เราอยู่ปราศจากภิกษุรูปใดรูปหนึ่งนั้นไม่ได้ หรือว่าจำเป็นที่เราจะไปธุระที่โน้นบ้าง ที่นี้บ้าง เช่นว่าเราจะไปเขมราฐ ไปอุบลฯ อย่างนี้ ต้องมีพระภิกษุผู้ปกตัตตะ หรือว่าอาจารย์กรรมนั้นไปด้วย ๑ รูป จึงจะใช้ได้
ถ้าว่าเราไปแต่เราคนเดียว ก็ถือว่าบกพร่อง เรื่องอย่างนี้ก็ขอให้สังวรให้ดี บางทีไปบางแห่งในเครือข่ายของพวกเราทั้งหลาย หลวงพ่อเคยท้วงติงหลายๆ ครั้ง เวลาเราปลงวัตรแล้ว เห็นมีแต่พระลูกกรรมนั่นแหละ ไปอุบลฯ บ้าง ไปเขมราฐบ้าง ไปตระการฯบ้าง ไปโน้นไปนี้บ้าง เสร็จแล้วก็กลับมา แล้วก็มาขอสมาทานวัตร ขึ้นวัตรใหม่ อย่างนี้ไม่สมควร เพราะเวลาที่เราปลงวัตรแล้ว เราจะไปที่ไหนๆ ก็ต้องมีพระภิกษุผู้เป็นปกตัตตะอย่างน้อย ๑ รูปไปด้วย แต่ถ้าเป็นมานัตต์แล้ว ต้องมี ๔ รูปไปเป็นเพื่อน จึงจะใช้ได้
๓) อนาโรจนา หมายความว่า ผู้ที่เข้าปริวาสนั้น ต้องบอกวัตรที่ตนประพฤติปฏิบัติอยู่นั้น แก่พระภิกษุผู้ที่ตนยังไม่ได้บอก เช่นว่ามีพระอาคันตุกะมา มาจากโน้นจากนี้ เราก็ต้องบอกท่าน เหมือนกับเราบอกวัตรทุกวันนี้แหละ แต่พระรูปใดที่เราบอกแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกอีก เพราะปริวาสนี้บอกเพียงครั้งเดียว ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เว้นไว้แต่พระภิกษุอาคันตุกะจรมา พระภิกษุจรมาแต่ที่โน้นบ้างที่นี้บ้าง เราก็ต้องบอก
องค์ประกอบทั้ง ๓ ประการนี้ ผู้ที่ประพฤติวุฏฐานวิธีอยู่ปริวาสต้องทำให้สมบูรณ์ ถ้าบกพร่องข้อใดข้อหนึ่ง ก็ถือว่าขาด ต่อไปก็
๒. มานัตต์ แปลว่า นับราตรี คือ มานัตต์นี้ต้องประพฤติอยู่ ๖ ราตรี หมายความว่า ต้องอยู่ ๖ ราตรี เมื่อครบ ๖ ราตรีแล้วจึงจะขออัพภานได้
อีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่า เราอยู่ครบ ๖ ราตรีแล้ว แต่เราเผื่อไว้เป็นราตรีที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ก็ได้ ท่านไม่ว่ากระไร ไม่เป็นรัตติเฉท คือว่าเราอยู่ครบ ๖ ราตรีแล้ว ราตรีที่ ๗ นี้ หากว่าขาดตกบกพร่อง ท่านก็ไม่ปรับอาบัติ ไม่ถือว่าขาด เพราะที่กำหนดก็เพียง ๖ ราตรี ถ้าเป็นราตรีที่ ๗ ไม่ปรับอาบัติ ก็ไม่ถือว่าวัตรขาด เพราะเป็นเพียงเราชดเชย
๓. ปฏิกัสสนา กิริยาที่เรียกเข้าหาอาบัติเดิม หมายความว่า ในขณะที่เราอยู่ปริวาส ในขณะที่อยู่ปริวาสนั้น บังเอิญเราต้องครุกาบัติใหม่อีกตัวใดตัวหนึ่ง แล้วก็ปกปิดไว้ ถ้าเราปกปิดไว้ ๕ วัน ก็ต้องเข้าปฏิกัสสนา คือ เรียกเข้าหาอาบัติเดิม เราปกปิดไว้ ๕ วัน ก็ต้องอยู่ปริวาสไปอีก ๕ วัน ครบ ๕ วันแล้ว จึงจะขอมานัตต์ได้
(ในห้วงมานัตต์) ถ้าว่าเราต้องครุกาบัติตัวใดตัวหนึ่งแล้วไม่ได้ปกปิดไว้ คือไม่ได้ข้ามคืน ไม่ได้ข้ามราตรี ไม่ได้ปกปิดไว้ เราบอกว่าเราต้องอาบัติ แล้วก็ขอมานัตต์ แล้วก็ประพฤติมานัตต์ได้ ท่านไม่หักราตรี เพราะว่ายังไม่ข้ามคืน เพราะไม่ได้ปกปิด
แต่ที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ ถือว่าแม้ไม่ข้ามคืนก็ตาม ต้องขอปริวาส อย่างน้อยต้องอยู่ปริวาส ๑ คืนเสียก่อน แล้วจึงขอมานัตต์ได้ อีกอย่างหนึ่ง หากว่าเราอยู่ปริวาสครบกำหนดแล้วก็ขึ้นมานัตต์ ในขณะที่ประพฤติมานัตต์นั้น บังเอิญไปต้องครุกาบัติซ้อนอีก จึงต้องขอปฏิกัสสนา คือ เรียก(ชัก)เข้าหาอาบัติเดิมอีก
ถ้าเราต้องครุกาบัติอีก ในขณะที่ประพฤติมานัตต์อยู่นั้น หากว่าปกปิดไว้เท่าไร กี่วัน เราก็ต้องขอปฏิกัสสนาประพฤติมานัตต์อยู่ให้ครบกับราตรีที่เราปกปิดไว้เสียก่อน ครบกำหนดเสียก่อนแล้วจึงจะขึ้น(เริ่มนับราตรีใน)มานัตต์ได้ อันนี้เป็นกฎของปฏิกัสสนา
๔. อัพภาน นี้คือ การเรียกเข้าหาหมู่ เป็นความรับผิดชอบของสงฆ์ เมื่อเราทั้งหลายประพฤติมานัตต์ครบกำหนดแล้ว ต้องไปขออัพภานในสงฆ์ วีสติวรรค คือมีพระภิกษุจำนวน ๒๐ รูป(เป็นอย่างน้อย) แล้วก็ขออัพภาน อันนี้เป็นลักษณะของการประพฤติวุฏฐานวิธีโดยย่อ
ทีนี้ ถ้าการประพฤติวุฏฐานวิธีไม่สำเร็จ สมมติว่าเราต้องอาบัติแล้ว อยู่ปริวาสกรรม ยังไม่ได้ขึ้นมานัตต์เลย เราอยู่ปริวาสกรรม ยังอีก ๕ วันจะครบกำหนด จึงจะขึ้นมานัตต์ได้ บังเอิญเราสิกขาลาเพศไป ภายหลังกลับมาบวชใหม่ ก็อยู่ปริวาสเท่ากับที่เราปกปิดไว้ ๕ วันเสียก่อน จึงจะขึ้นมานัตต์ได้
พระพุทธบัญญัตินี่เด็ดขาดนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่ทรงให้อภัย แต่ว่าทรงให้เกียรติ ราตรีเท่าใดที่เราได้บอกแล้ว ได้เข้าปริวาสแล้ว ก็ถือว่าแล้วไป สมมุติว่าเราต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ ปกปิดไว้ ๗ วันอย่างนี้ หากว่าเข้าปริวาสไปแล้ว ๒ วัน แล้วกลับมาบวชใหม่ มาขออยู่ปริวาสใหม่ เราก็ขอปริวาสเพิ่มอีก ๕ วัน เพื่ออยู่ให้ครบกำหนด ๗ วันเสียก่อน จึงจะขอมานัตต์ได้
นี่นะพระพุทธเจ้าไม่ยอม คือไม่ทรงอนุญาต แต่ทรงให้เกียรติ ที่เข้าปริวาสแล้วก็ถือว่าเป็นเข้าไปแล้ว แต่ที่เหลืออยู่ ก็ต้องอยู่อีกให้ครบกำหนดเสียก่อนจึงจะขอขึ้นมานัตต์ได้
อีกอย่างหนึ่ง ในขณะที่เราอยู่มานัตต์มา ๓ ราตรีแล้ว อีกสามราตรีก็จะได้ขออัพภาน แต่บังเอิญในขณะนั้น เราสึกขาลาเพศไปเสียก่อน ภายหลังกลับมาบวชใหม่ เราก็ต้องขอมานัตต์และก็อยู่มานัตต์ให้ครบ ๓ วันที่เราปกปิดไว้เสียก่อน จึงจะขออัพภานได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงให้เกียรติ คือที่อยู่มานัตต์แล้วสามราตรีนั้น ก็ถือว่าผ่านไป ให้เกียรติไป แต่ ๓ ราตรีที่ยังเหลืออยู่ ต้องประพฤติมานัตต์ใหม่ให้ครบ แล้วจึงจะขออัพภานได้
โทษของครุกาบัติ สมมุติว่าเราทั้งหลายที่บวชมาแล้ว ต้องครุกาบัติ ไม่ได้อยู่ปริวาสเลย หมายถึงว่า ไม่ได้อยู่มานัตต์ อะไรก็ไม่ได้อยู่ หากว่าเราสึกขาลาเพศไป แล้วก็ไปมีครอบครัว บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เรากระทำไว้เมื่อเป็นพระ ก็จะติดตามเราไป
หากว่าบุญวาสนาบารมีของเรามันน้อย ไม่สามารถจะคุ้มครองครอบครัวได้ บาปครุกาบัติตัวนี้จะให้ผลทันที บางทีไปมีครอบครัวแล้ว ครอบครัวระส่ำระสาย อยู่ไม่มีความผาสุก เดี๋ยวก็เจ็บโน้นปวดนี้ อะไรจิปาถะ บ้านแตกสาแหรกขาด อะไรร้อยแปดพันประการ
หลวงพ่อเคยเตือนบ่อยๆ เมื่อลูกศิษย์ลูกหาที่บวชเข้ามาแล้วสึกขาลาเพศไป ไปมีครอบครัว ครอบครัวอยู่ไม่เป็นสุข ระส่ำระส่าย หลวงพ่อก็ได้แนะนำพร่ำเตือนว่า ถ้าว่าเป็นไปได้ เรามาบวชสัก ๑๕ วัน หรือ ๑๐ วัน เข้าปริวาสกับครูบาอาจารย์เสียก่อน แล้วค่อยสึกไป บางทีจะเป็นเหตุปัจจัยให้เราอยู่ได้สบายอย่างนั้นอย่างนี้ต่อไป
บางคนก็มาบวชด้วยอยู่ปริวาสด้วย เสร็จแล้วก็สึกขาลาเพศไป เมื่อสึกขาลาเพศไป ครอบครัวก็อยู่เป็นสุข อยู่กันอย่างผาสุก อันนี้บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง เล็กๆ น้อยๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ส่วนมากพวกเรามองข้าม เหตุนั้น ญาติโยมชาวบ้านทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ครองฆราวาส ส่วนมากครอบครัวจะระส่ำระส่าย เจ็บที่โน้นปวดที่นี้ ทำมาค้าขายก็ไม่ขึ้น ทำมาค้าขายไม่มีร่ำรวย อะไรจิปาถะ เพราะว่าบาปกรรมตัวนี้มันติดตามไป
เหตุนั้น ก็พึงสังวรให้ดี ถ้าว่าเราจะสึกขาลาเพศ หรือว่าลูกศิษย์ลูกหาเราจะสึกขาลาเพศ ก็ขอให้เขาได้บวชประพฤติวุฏฐานวิธีจบเสียก่อน แล้วจึงค่อยสึกขาลาเพศไป ครอบครัวจะอยู่เป็นสุข
อีกอย่างหนึ่ง หากว่าเราต้องครุกาบัติแล้ว ยังไม่ได้ทำให้บริสุทธิ์ คือยังไม่ได้อยู่กรรม หากว่าเรามีโอกาสไปเจริญสมถกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้ฌาน หากเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่เมื่อเราต้องครุกาบัติแล้ว ได้อยู่ปริวาสเหมือนกันกับอยู่ในขณะนี้แหละ เมื่อเราอยู่ปริวาสอย่างนี้แล้ว การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็สามารถผ่านการปฏิบัติไปได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นมานัตต์หรืออัพภาน
คือเวลาเราเข้าปริวาส เราขอปริวาสแล้วก็อยู่ปริวาส(ครบราตรีตามที่ปกปิดไว้)แล้ว เราก็ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผ่านไปได้ หากว่าเป็นสมถกัมมัฏฐานก็สามารถที่จะได้ฌาน หากว่าเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้
สรุปว่า อานิสงส์ของการอยู่ปริวาสกรรมมีเป็นอเนกประการ แต่ขอสรุปสั้นๆ ว่า การที่เราอยู่ปริวาสกรรมอย่างนี้ สามารถที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด
๑. สีลวิสุทธิ คือทำให้ศีลของเราบริสุทธิ์ จะเป็นศีล ๕ ก็ตาม ศีลอุโบสถ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ตาม ศีลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เมื่อเราอยู่ปริวาสแล้ว จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์ได้ เรียกว่า สีลวิสุทธิ ทำให้ศีลของเราบริสุทธิ์ได้
๒. จิตตวิสุทธิ ทำให้จิตของเราบริสุทธิ์ได้ เมื่อใดเราต้องครุกาบัติแล้ว เราได้อยู่ปริวาสแล้ว เมื่อเราอยู่ปริวาสปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปด้วยอย่างนี้ จิตใจของเราก็ไม่ระส่ำระสาย ไม่วิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน จิตใจเป็นปกติ จิตใจสงบ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราบริสุทธิ์ได้ เรียกว่า จิตตวิสุทธิ และเมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ คือเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นรูป เห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ มีความเห็นบริสุทธิ์ ทำความเห็นของเราให้บริสุทธิ์ได้
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ เมื่อทิฏฐิของเราวิสุทธิ์แล้ว ทิฏฐิวิสุทธิตัวนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีความเห็นถูกต้อง ไม่กังขาสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่สงสัยในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ ไม่หลงใหลอยู่ในอำนาจของวิปัสสนูปกิเลส จะทำความเห็นของเราให้ถูกต้องและดำเนินไปในทางที่ถูกได้
๕. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อกังขาวิตรณวิสุทธิสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือความเห็นว่า การปฏิบัติอยู่นี้ มันถูกหรือมันผิด จะรู้ทันทีว่า เอ้อ ทางที่เราปฏิบัติอยู่นี้ถูก ทางนี้ผิด แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
และก็เห็นความเกิดความดับของรูปนาม รูปนามเกิดก็รู้ รูปนามดับก็รู้ หมดความเคลือบแคลงสังสัย หลังจากนั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ดำเนินไปตามลำดับ จะเห็นความดับของรูปนาม เห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เบื่อหน่ายในรูปในนาม หาทางออก ทางหนี ทางหลุด ทางพ้นไปจากรูป จากนาม
จิตใจเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย เพื่อบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน หลังจากนั้น เมื่อปฏิบัติไป จิตใจของผู้ปฏิบัติก็จะสงบ เยือกเย็น ไม่วิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน ไม่ระส่ำระสาย จิตใจก็เป็นปกติ ร่าเริง เบิกบาน อยู่ตลอดเวลา มีความวางเฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่ถูกกิเลสตัณหาเข้าครอบงำ
เมื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ สมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ มีความรู้ความเห็นดำเนินไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ญาณที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔ ไป หลังจากนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคควิถี เมื่อมัคควิถีเกิดโดยสมบูรณ์ เรียกว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ คือมีความเห็นบริสุทธิ์ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคคญาณ ผลญาณ สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน ตามกำลังของมรรคได้ อันนี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการประพฤติวุฏฐานวิธี
อีกอย่างหนึ่ง สำหรับบางท่านที่เคยบวชเป็นสามเณรมาก่อน แล้วก็อยู่ต่อมาอายุครบบวชพระ ก็บวชพระอย่างนี้ เมื่อเราบวชพระเสร็จแล้ว มีเวลาก็ควรประพฤติวุฏฐานวิธี คืออยู่ปริวาสกรรมเสียด้วย
การอยู่ปริวาสกรรมครั้งแรกนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์เฉพาะในสมัยที่เราเป็นพระเท่านั้น ส่วนสมัยที่เป็นสามเณรยังไม่บริสุทธิ์ เหตุนั้น เมื่อเราออกจากอัพภานกรรมแล้ว ต้องอยู่ปริวาสเป็นการชดเชยอีกครั้งหนึ่ง ครบแล้วขึ้นมานัตต์ แล้วก็ขออัพภาน จึงจะบริสุทธิ์ได้ทั้งที่เป็นพระทั้งที่เป็นเณร อันนี้เรียกว่าเป็นเกร็ดความรู้พิเศษ
ท่านทั้งหลาย สำหรับครูบาอาจารย์ก็พอที่จะทำเนา เมื่อเราประพฤติวุฏฐานวิธี เข้าปริวาส อยู่มานัตต์ ขออัพภานแล้ว จึงจะบริสุทธิ์ แต่สำหรับญาติโยม เช่นอุบาสก อุบาสิกา เป็นปะขาว แม่ชีก็ดี เป็นสามเณรก็ดี เราไม่มีโอกาสที่จะบอกวัตรกับท่าน เหมือนกันกับที่บอกทุกวันนี้ เราจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ศีลของเราจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร และบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เราทำมาก่อนแล้ว จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาที่เราต้องคิดอีกอย่างหนึ่ง
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย แม้ว่าเราจะเป็นพระก็ตาม เป็นสามเณรก็ตาม เป็นโยมผู้หญิง ผู้ชายก็ตาม เป็นอุบาสก อุบาสิกาก็ตาม เป็นปะขาว แม่ชีก็ตาม เหตุปัจจัยจะให้เกิดความบริสุทธิ์นั้น ดำเนินไปตามวิถีเดียวกัน ดำเนินไปในทางเดียวกัน คือจะเป็นพระก็ตาม เป็นเณรก็ตาม เป็นโยมผู้ชาย ผู้หญิง ปะขาว แม่ชี ในขณะที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นี้
บางทีในขณะที่เราบอกวัตรก็ตาม ในขณะที่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิอยู่ก็ตาม ในขณะนั้น เมื่อสติสัมปชัญญะของเราแก่กล้าแล้ว องค์ประกอบต่างๆ สมบูรณ์แล้ว คือศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี สมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิถีของเราเกิดขึ้นตามลำดับของมันได้ เช่น ในขณะที่เราเดินจงกรมอยู่ก็ดี นั่งสมาธิอยู่ก็ดี ในขณะนั้น รูปนามปรากฏชัดเจนขึ้นมา เห็นรูปนามปรากฏชัดเจนขึ้นมา เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นมาในขณะใด
ขณะนั้น ชวนจิต ของเราดวงที่ ๑ ก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้จิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นมาคือ สัมปฏิจฉนจิต เกิดขึ้นมารับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วโวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตก็จะเกิดขึ้นมา เมื่อชวนจิตเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเสพพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ชั่ว ๗ ขณะ แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต นำเอาไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลงสู่ภวังค์ เมื่อพระไตรลักษณ์ลงสู่ภวังค์แล้ว ภวังคจิต นั้นก็ทำหน้าที่รักษาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เอาไว้ในภวังคจิต
และในขณะที่พระไตรลักษณ์ปวัตติไปจนถึงภวังคจิต (พระไตรลักษณ์นั้น)ก็จะทำหน้าที่ประหารกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เช่นว่า อนุสัย ๑๐ หรือกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ที่ติดตามเรามาแต่หลายภพ หลายชาติ หลายกัป หลายกัลป์ ก็จะถูกพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นทำลายหรือประหัตประหารให้ดับไป สิ้นไป สูญไป ตามกำลังของมรรค
อันนี้เป็นลักษณะ หรือว่าเป็นการ(ตอบคำถามที่ว่า) ที่เราอยู่ปริวาสปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจ
สรุปว่า เมื่อใดเราเข้าปริวาส ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้แล้ว จนสามารถยังพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เกิดขึ้น เมื่อพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต ลงสู่ภวังค์ เมื่อถึงภวังค์แล้ว ก็จะทำหน้าที่ประหารหรือทำลายกิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในขันธสันดานของเราให้ดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเราได้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่บวชเป็นสามเณรก็ดี เป็นปะขาว แม่ชี ทายก อุบาสก อุบาสิกาก็ดี อย่าได้น้อยใจว่าเราไม่ได้เป็นพระ ไม่มีโอกาสเข้ากรรมหรือบอกวัตรกับท่านได้อย่างนั้นอย่างนี้ก็ตาม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้คิดเช่นนั้น เพราะว่าการที่เราทั้งหลายอยู่ปริวาสปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้สมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์ได้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ท่านทั้งหลาย สำหรับการบอกวัตรเหมือนกัน ท่านทั้งหลายอาจรู้สึกรำคาญในการบอกวัตร เดี๋ยวก็บอกวัตรๆ เช้าก็บอกวัตร ค่ำก็บอกวัตร ท่านทั้งหลายอาจจะถือว่าเป็นเรื่องลำบากยุ่งยาก บางทีก็ไม่มีการปลง(เก็บ)วัตรเลย ทั้งวันทั้งคืน ก็อยู่ปริวาสตลอดไป หรืออยู่มานัตต์ตลอดไป
บางท่านอาจเกิดความเครียดขึ้นมา ไม่สบาย เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา ท่านทั้งหลายอย่าได้คิดเช่นนั้นเลย เพราะว่าการบอกวัตรนี้ ยิ่งบอกเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดความบริสุทธิ์ อย่างวันนี้ ครูบาอาจารย์รูปโน้นมา รูปนี้มา มาจากวัดโน้น มาจากวัดนี้ ก็เหมือนกันกับพระเจ้ามาโปรด เพราะว่า ในขณะที่เราบอกวัตรแก่ท่านนั้น จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ศีลของเราบริสุทธิ์ขึ้น
เหมือนกันกับเราซักผ้าอย่างนี้ เราซักผ้า ซักบ่อยๆ ผ้าของเราก็บริสุทธิ์ หรือว่าเราอาบน้ำถูสบู่ ถูบ่อยๆ ก็ทำให้คราบสกปรกของเรามันหมดไป มันก็สะอาดขึ้นมาแทนที่ หรือว่าแก้วของเรามันสกปรก มันเลอะเทอะ เราเอาผงซักฟอกมาขัดบ่อยๆ ขัดไปๆ คราบสกปรกมันก็หมดไปๆ ความสะอาดก็เกิดขึ้นมาแทนที่ ข้อนี้ฉันใด
เมื่อเราทั้งหลาย ต้องครุกาบัติแล้วประพฤติวุฏฐานวิธีอย่างนี้ เราบอก(วัตร)บ่อยเท่าไรๆ ก็ยิ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์ ให้ศีลของเราบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เหตุนั้น การบอกวัตรนั้น ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่า มันเป็นของพร่ำเพรื่อ ทำให้เกิดความเครียดความเบื่อหน่าย ไม่อยากมาบอกอะไรทำนองนี้ ขอให้ระวังให้ดี
เอาล่ะท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้นำเอาเรื่อง การประพฤติวุฏฐานวิธี มาบรรยายเพื่อประกอบความรู้ของท่านทั้งหลาย เล็กๆ น้อยๆ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา หากว่ายังมีปัญหาอะไรขัดข้องในจิตในใจ มีโอกาสมีเวลาก็ค่อยไถ่ถามกัน สำหรับวันนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
 

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 72.0.3626.119 Chrome 72.0.3626.119


ดูรายละเอียด
« ตอบ #93 เมื่อ: 27 กุมภาพันธ์ 2562 14:53:56 »




ปรับความเข้าใจเรื่องปริวาส (๑)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมเอาธรรมะอันเป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรยายถวายความรู้แด่ท่าน ครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา และผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบไป

ท่านทั้งหลาย การที่เราทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจมาแต่วัด แต่บ้าน สู่สถานที่แห่งนี้ ก็เพื่อว่าจะได้บำเพ็ญสมณธรรม คือธรรมที่จะทำให้เกิดความสงบ ทั้งที่เป็นอย่างต่ำ อย่างกลาง และอย่างสูง

ธรรมที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสงบ อย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง โดยเฉพาะก็คือ สมาธิ สมาบัติ ถ้าสงบอย่างกลาง ก็คือสงบด้วยกำลังฌาน ถ้าสงบอย่างสูงก็คือสงบด้วยอำนาจของมัคคญาณ ผลญาณ

การเจริญกัมมัฏฐานที่ท่านทั้งหลายปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ โดยที่ผ่านมหาเถรสมาคม ท่านให้ดำเนินตามหลัก มหาสติปัฏฐานสูตร คือเมื่อก่อนโน้นยังไม่ได้เป็นล่ำเป็นสัน ยังไม่ได้ประกาศเป็นทางการ ต่างรูปต่างคนหรือต่างสำนัก ก็ต่างปฏิบัติไปตามอัธยาศัย แล้วก็ปฏิบัติไปตามกุศโลบายของอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทให้

เรื่องการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ สมัยก่อนที่หลวงพ่อยังเป็นสามเณรน้อยๆ อยู่ ในสมัยนั้น มีครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็ไม่มากเท่าไร สรุปว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้นจะหยุดชะงักไปอยู่ช่วงหนึ่ง เหมือนกันกับเข้าปริวาส มันหยุดชะงักไปอยู่พักใหญ่ๆ ในสมัยที่หลวงพ่อยังเป็นสามเณรอยู่ การอยู่ปริวาสกรรม ก็สักแต่ว่าอยู่ อยู่กันตามประสาที่โบราณาจารย์ทั้งหลายที่ทำสืบๆ กันมา แต่ว่ายังไม่เป็นล่ำเป็นสัน ไม่แผ่ขยายออกไปในวงกว้างๆ เหมือนอย่างทุกวันนี้

หลังจาก หลวงพ่อเจ้าคุณกิตติวุฑโฒ ได้ขอร้องบรรดาพระเจ้าพระสงฆ์ทั้งหลายให้ไปอบรมในจิตตภาวัน แล้วก็มีการอยู่ปริวาสควบคู่กันไป หลังจากนั้นมา พระที่เป็นหน่วยพัฒนาการทางจิต เมื่อออกมาสู่วัด สู่ตำบล สู่อำเภอของตน ก็พากันจัดงานปริวาสขึ้นมา นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ การเข้าปริวาส ก็แผ่ขยายเป็นวงกว้างออกไปจนทั่วประเทศ นี่เป็นเรื่องของปริวาสกรรม

สำหรับกัมมัฏฐานก็เหมือนกัน สมัยหลวงพ่อยังเป็นสามเณรอยู่ ท่านก็ปฏิบัติกันสักแต่ว่าปฏิบัติ แต่ปฏิบัติไปแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ก็ไม่ปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้ง เป็นปัจจัตตัง ผู้ใดปฏิบัติแล้วก็รู้เฉพาะตน ไม่ได้บอกว่า ฉันทำได้อย่างนั้น ฉันทำได้อย่างนี้ ไม่ได้พูดกัน ไม่ได้ประกาศ ไม่ได้โฆษณา ตัวเองรู้เฉพาะตัวเอง

สำหรับญาติโยม ก็สังเกตอากัปกิริยา ตลอดถึงการเทศน์การสอน แล้วก็มาคำนวณเอาว่า องค์นี้คงได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว องค์นี้คงได้สกทาคามี อนาคามี องค์นี้คงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว องค์นี้คงไม่ได้ฌาน องค์นี้คงไม่ได้สำเร็จอริยมรรคอริยผล เป็นแต่เพียงว่าได้สมาบัติเท่านั้น คำนวณเอา

สำหรับภาควิปัสสนาก็เหมือนกัน เมื่อก่อนก็ปฏิบัติเหมือนกัน แต่มันส่วนน้อยมาก ถ้าคิดทั่วๆ ไปแล้ว สมมติว่า ร้อยคนนี่อยากปฏิบัติ หาเอา ๑ เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ สมมติว่าพันคนซะ พันคนนี่จะมีปฏิบัติสัก ๑ คนก็ยังหายาก คือการปฏิบัติยังไม่แพร่หลาย แล้วก็ใช้บทภาวนา พุทโธๆ แล้วก็ สัมมาอะระหัง, ไหว นิ่ง อะไรทำนองนี้มากกว่า

แต่มาสมัยนี้ วิปัสสนากัมมัฏฐานนี่เป็นที่แพร่หลายไปในสถานที่ต่างๆ เมื่อก่อนที่หลวงพ่อเริ่มสอนในสถานที่แห่งนี้ รู้สึกว่ามันเป็นความลำบาก กระแสต่อต้านนี่มากที่สุด ในหมู่บ้านของเราก็ต่อต้าน

ส่วนพวกจารย์ครู สึกแล้วก็เป็นจารย์ครู เป็นทิด เป็นจารย์ซา ครั้งนั้นเรียกว่า จารย์ครู เวลาสอนกัมมัฏฐานนี่ต่อต้านอย่างหนัก บางทีก็เถียงกันหน้าดำหน้าแดง หลวงพ่อไม่ได้เถียงกับเขา ครูบาอาจารย์เป็นผู้เถียงให้ ส่วนมากหลวงพ่อมีแต่นั่งฟัง

(เขา)ว่าภาวนาอย่างนี้มันจะได้อะไร อย่างผมนี่ภาวนาตั้ง ๓ ชั่วโมงก็ยังไม่ได้อะไร เขาว่า เรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เรื่องมรรค เรื่องผล พระนิพพาน มันหมดสมัยแล้ว เขาก็ว่าเอา หนักๆ เข้าครูบาอาจารย์ผู้เป็นประมุขประธานก็แอนตี้ (Anti-คัดค้าน)

หลวงพ่อนี้ถูกฟ้องร้องอย่างเป็นทางการ คือสมัยก่อนโน้น ขออภัยที่พูดเรื่องนี้ มีหลวงพ่อรูปหนึ่ง ท่านไปฟ้องทางเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดรับเรื่อง สั่งระดมพระเถระทั้งหลาย นับตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาส ไปถึงเจ้าคณะตำบลทั้งอำเภอเลย ไปประชุมกันแล้วเจ้าคณะจังหวัดก็เทศน์เอาๆ พูดแล้วก็เทศน์ด่านั่นแหละ แต่หลวงพ่อก็ไม่ว่ากระไร ในสมัยนั้น

ผลสุดท้าย หลวงพ่อรูปนั้น ภายหลังก็ยอมแพ้ มาขออยู่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานด้วย นี่แหละท่านทั้งหลายเมื่อก่อนโน้นมันมีกระแสต่อต้านมาก บางทีสารวัตร มัคคนายกวัดนี่ ต่อต้านอย่างหนัก จนไม่ยอมเข้าวัดเข้าวาก็มี ไปโพนทะนาว่ากล่าวที่โน้นที่นี้ อะไรร้อยแปดพันประการ แต่หลวงพ่อก็ไม่ว่ากระไร

หนักๆ เข้าผู้ใหญ่บ้านก็ต่อต้านไม่ให้ทำ ถึงกับมากราบที่วัดว่า ทางชาวบ้านขอร้องว่า ไม่อยากให้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำวัตรก็ไม่อยากให้ทำวัตรแปล อยากให้ทำวัตรธรรมดา เขาว่างั้น แต่หลวงพ่อก็ชี้แจงเหตุผลทุกสิ่งทุกอย่างให้ฟังแล้วก็จึงค่อยทำตาม ครั้งแรกก็ไม่ยอมทำ แต่พอนานมาก็ทำไป

สรุปแล้วว่า ท่านทั้งหลาย การที่วิปัสสนากัมมัฏฐานจะเจริญมาถึงขนาดนี้ เหมือนเดี๋ยวนี้ เป็นสิ่งที่กระเสือกกระสนดิ้นรนมาพอสมควร เนื่องจากแรงต่อต้านนั้นมีมาก สมัยนี้ยุคนี้แหละครูบาอาจารย์ โดยความเห็นของมหาเถรสมาคม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ให้สอนวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ดำเนินตามแนวทางมหาสติปัฏฐาน ๔

เพราะเหตุใด จึงให้ดำเนินตามแนวทางของมหาสติปัฏฐาน ๔

คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ นี่ เป็นหนทางที่จะนำพาผู้ปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไป หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น มีทางเดียว มีแนวเดียว มีวิธีเดียว มีหลักการเดียว ที่จะทำให้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ผู้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี่จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนี่ ก็มีทางเดียวเท่านั้น คือวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ส่วนกสิณ ๑๐ ทั้งหลาย ดังที่เราทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้น เป็นสมถกัมมัฏฐาน คือไม่สามารถที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้ แต่ผู้ใดมีความฉลาดมีความสามารถที่จะแยกแยะ หรือยกอารมณ์เหล่านั้นขึ้นสู่วิปัสสนา จึงจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน แต่สำหรับมหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นข้อปฏิบัติที่จะนำให้บรรลุถึงมรรคผลพระนิพพานได้

ครั้งอดีตโน้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระอัครสาวกซ้าย-ขวา พระอรหันต์ทั้งหลายได้ดำเนินไปสู่พระนิพพานแล้ว ก็เพราะว่าท่านได้ปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ นอกจากการปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ ไม่สามารถที่จะทำให้ผู้นั้นบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เลย

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติวิปัสสนานี้ จึงไม่ต้องแยกแยะว่าจะถูกจริตหรือไม่ถูกจริต ไม่ได้ว่าเหมือนสมถกัมมัฏฐาน สมถกัมมัฏฐานก็ต้องเอากัมมัฏฐานที่ถูกกับจริตมาบริกรรม มาเจริญ มาปฏิบัติ จึงจะได้สมาธิ สมาบัติ ได้ฌาน แต่สำหรับวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ไม่ได้ว่าอย่างนั้น หมายความว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ จะเอาข้อใดข้อหนึ่งหรือ ทั้งหมดก็ตามมาปฏิบัตินั้น เป็นหนทางที่จะทำให้บรรลุมรรคผล พระนิพพาน เหมือนกันหมด ไม่เลือกจริต

ผู้ปฏิบัตินั้น จะเป็นจริตอย่างไรไม่เกี่ยว คือเป็นหนทางดำเนินไปทางเดียวกัน คือการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ นี้ ท่านให้พิจารณาให้รู้กายในกาย ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ให้รู้เวทนาในเวทนา ทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก ให้รู้จิตในจิต ทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก ให้รู้ธรรมทั้งเป็นภายในและภายนอก นี่เป็นหลักของสติปัฏฐาน ๔

การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ ท่านให้เอาสติมาไว้ในกาย เวทนา จิต ธรรม พวกกาย เวทนา จิต ธรรมนี้ เป็นที่ตั้งของสติ คือสติของเรานี้ต้องมีที่ตั้ง จึงจะเป็นสภาวะที่มั่นคงถาวรและหนักแน่นได้ เหมือนกับของทั้งหลายทั้งปวง เช่นว่า โต๊ะก็ดี เก้าอี้ก็ดี ธรรมาสน์ก็ดี ต้องมีขามีเท้าเป็นที่ตั้ง จึงจะตั้งอยู่ได้ ถ้าไม่มีเท้ามีขา มันก็ตั้งไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด สติของเราก็เหมือนกัน ต้องมีที่วาง ต้องมีที่ตั้ง

อะไรเป็นที่ตั้งของสติ

กาย เวทนา จิต ธรรม นี้เป็นที่ตั้งของสติ

เพราะฉะนั้น เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราก็ยกจิตและสติของเราสู่สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม แล้วจึงเจริญต่อไป

ที่ว่าเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม มันเห็นอย่างไร

คือ กายนี้มันมีอยู่ ๒ ประเภท คือ กายภายนอก กายภายใน เวทนาก็เหมือนกัน มีเวทนาภายนอก มีเวทนาภายใน จิตก็มีจิตที่เป็นภายนอก จิตที่เป็นภายใน ธรรมก็มีธรรมที่เป็นภายนอก เป็นภายใน มันเป็นของคู่กัน

อุปมาเหมือนกันกับดาบและฝักของดาบ เรามองดูดาบเผินๆ เราก็จะเห็นแต่ฝักของมัน แต่ถ้าเราชักดาบออกจากฝัก เราก็จะเห็นเล่มของดาบ ข้อนี้ ฉันใด สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเรามองด้วยตาเนื้อเปล่าๆ เรามองด้วยตาเนื้อมันก็เห็นกายธรรมดา เห็นเวทนาธรรมดา เห็นจิตธรรมดา เห็นธรรมเป็นธรรมดา ไม่เห็นลึกซึ้งว่าเป็นภายใน คือไม่เห็นกายในกาย ไม่เห็นเวทนาในเวทนา ไม่เห็นจิตในจิต ไม่เห็นธรรมในธรรม

เพราะเหตุใด ท่านจึงให้เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม

คือเมื่อใดเราเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรมแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่าย คือเบื่อหน่ายทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม เมื่อเบื่อหน่ายแล้วก็จะคลายกำหนัด ไม่มีความกำหนัด ก็ไม่มีความใคร่ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เมื่อไม่มีความใคร่ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม จิตของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ ไม่มีกิเลสใดๆ เข้ามาครอบงำจิตใจของเราได้

เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสันติ คือความสงบ ด้วยอำนาจของมัคคญาณ ผลญาณ เมื่อใดเรามีสติมีสัมปชัญญะ เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้อยู่ทุกขณะจิต ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติของเรามันสมบูรณ์ เมื่อสติของเราสมบูรณ์แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ คือจะเกิดปัญญาความรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งกายนี้ ทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก หรือพูดง่ายๆ ว่า เห็นรูป เห็นนาม

คือเมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติมีสัมปชัญญะทันปัจจุบันแล้ว ก็จะเห็นรูปเห็นนาม สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้

เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อ่อนกำลังลงไป ทำให้ความเห็นแก่ตัว ว่าเลิศกว่าเขา เสมอเขา หรือเลวกว่าเขานั้น อ่อนกำลังลงไปหรือเบาบางลงไป เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นแก่เรา บังเอิญเราตายไปในขณะที่เจริญกัมมัฏฐานอยู่พอดี หรือออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้ว หลายวัน หลายเดือน หลายปีจึงตาย เวลาจะตายนั้น มีรูปนามเป็นอารมณ์ เช่น เราได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐานว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือคิดหนอๆ ทุกข์หนอๆ หรือโกรธหนอๆ หรือว่าสุขหนอๆ อย่างนี้

เราบริกรรมบทใดบทหนึ่งแล้ว ก็บังเอิญตายลงไปในขณะนั้น ถ้าตายในลักษณะอย่างนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า ผู้นั้นจะไม่ไปสู่อบายภูมิอย่างน้อย ๑ ชาติ แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้นั้นไปเกิดในสุคติภพ แล้วจะได้พบพระพุทธเจ้าหรือว่าสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรม จะได้ปฏิบัติธรรมแล้วก็จะได้รู้ธรรม เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๒ ซึ่งเรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม

เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เราจะมีความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดรูป อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดนาม มันจะรู้ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เรียกว่า รู้ด้วยอำนาจของภาวนามยปัญญา

เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว หากว่าเราตายไปในขณะที่เจริญกัมมัฏฐานอยู่ก็ดี หรือว่าออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้วหลายวัน หลายเดือน หลายปี จึงตาย ในขณะที่จะตายนั้น เรามีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เช่น เราได้ภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธ สัมมาอรหัง บทใดบทหนึ่งก็ตาม แล้วก็บังเอิญตายลงไป ถ้าตายในลักษณะอย่างนี้ ผู้นั้นตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒-๓ ชาติอย่างน้อย ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็น จุลลโสดาบัน

จุลละ แปลว่า น้อย, โสตะ แปลว่า กระแส, อาปันนะ แปลว่า ถึง หมายความว่า เป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ

ถ้าหากพยายามประพฤติปฏิบัติต่อไป ก็จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน สำเร็จเป็น มหาโสดาบัน ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้ปัญญาขั้นนี้แล้ว องค์พระประทีปแก้วตรัสว่า ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็น จุลลโสดาบัน ได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒-๓ ชาติ หากว่าผู้นั้นจุติลงไปแล้ว ก็จะไปบังเกิดในสุคติภพ จะได้พบพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรม จะได้ปฏิบัติธรรม และจะได้บรรลุธรรม

จุลลโสดาบันนี้ ผู้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ตั้งแต่ ๑ วัน ๒ วัน ๓ วันขึ้นไป ผู้นั้นมีหวังจะได้สำเร็จกันทุกรูป อันนี้เป็นปัญญาขั้นที่ ๒ เมื่อปัญญาขั้นที่ ๒ แก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๓

สัมมสนญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จะเริ่มเห็นรูปนามนั้นเป็นทุกขัง เห็นรูปนามเป็นอนิจจัง เห็นรูปนามเป็น อนัตตาแล้ว เมื่อมาถึงนี้ ถือว่ากำลังจะเดินเข้าสู่กระแสพระนิพพานแล้ว เมื่อเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไป ปัญญาญาณขั้นนี้แก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๔ คือ

อุทยัพพยญาณ เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ท่านกล่าวไว้ในพระบาลีว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว  อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย  ปสฺสโต อุทยพฺพยํ[1]

ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยปัญญา ผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม แม้จะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี

เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวไว้อย่างนี้

เพราะว่า ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาถึงขั้นนี้แล้ว จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นมาในครั้งที่ ๒ แล้ว เราเดินจงกรมไปก้าวเดียว ขวาย่างหนอ ก้าวเดียวเท่านั้น สามารถตัดชาติ คือความเกิดในภพหน้าลงได้ตั้ง ๖ ชาติ เราเดินต่อไป ซ้ายย่างหนอ ตัดลงไปอีก ๖ ชาติ ขวาย่างหนอ ตัดออกไปอีก ๖ ชาติ ตัดไปตามลำดับๆ ภพชาติมันจะน้อยลงไป น้อยลงไปๆ

เพราะเหตุไร ภพชาติมันจึงน้อยลงไป

เพราะว่า เมื่อเจริญพระกัมมัฏฐานมาถึงนี่แล้ว พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นแล้วตอนนี้ เมื่อพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต แล้วลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ เมื่อถึงห้วงแห่งภวังค์แล้ว มันก็จะทำหน้าที่ทำลายกิเลสตัณหาให้เบาบางลงๆ ตามลำดับ เพราะฉะนั้น ภพชาติจึงได้น้อยลงไปๆ บาปกรรมที่เราเคยทำมาแล้วก็จะค่อยหมดไปๆ ตามลำดับๆ

แต่ถ้าเราเจริญพระกัมมัฏฐานยังไม่ถึงนี้ ภพชาติมันก็ยังมีอยู่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเราจุติแล้ว โอกาสที่จะไปสู่อบายภูมินั้นก็ยังเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หากว่า เมื่อใดเราปฏิบัติธรรมมาถึงนี้แล้ว ภพชาติมันจะน้อยลงไป บาปกรรมก็จะน้อยลงไป กิเลสตัณหาก็จะน้อยลงไป น้อยลงไปตามลำดับๆ

หากว่าผู้เจริญพระกัมมัฏฐานมาถึงนี้ท่านทั้งหลาย หากตายไปในขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่พอดี หรือว่าออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้วหลายวัน หลายเดือนหลายปีจึงตาย แต่ในขณะที่จะตายนั้น มีรูปมีนามเป็นอารมณ์ ถ้าหากว่าตายในลักษณะอย่างนี้ เมื่อจุติแล้ว ผู้นั้นก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ จะมีสุคติภพเป็นที่ไปในเบื้องหน้า หากว่าไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา ก็จะเป็นเทพบุตร เทพธิดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นเทพบุตร เทพธิดาที่มีศักดา เดชานุภาพกว่าเทวดาทั้งหลายทั้งปวง

หากว่า มาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเกิดในตระกูลสูง เกิดในตระกูลพระราชา มหาราชา เกิดในตระกูลของพระเจ้าจักรพรรดิราช เกิดในตระกูลพราหมณ์ ตระกูลคฤหบดี และเมื่อเกิดมาแล้วก็จะได้พบพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรมของท่านแล้วก็จะได้บรรลุอริยมรรค อริยผล

แต่ถ้าหากว่าไปเกิดในสมัยที่เป็นสุญญกัป คือกัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นี่เป็นอานิสงส์ของปัญญาขั้นที่ ๔ นะท่านทั้งหลาย เมื่อปัญญาขั้นที่ ๔ แก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญา ขั้นที่ ๕ คือ

ภังคญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม หลังจากนั้นก็จะเกิดปัญญาขั้นที่ ๖ คือ

ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว ก้าวเข้าสู่ปัญญาขั้นที่ ๗ คือ

อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนาม ผ่านเข้าสู่ปัญญาขั้นที่ ๘ คือ

นิพพิทาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายในรูปในนาม เมื่อนิพพิทาญาณแก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๙ คือ

มุญจิตุกัมยตาญาณ เห็นรูปนามเป็นทุกข์เป็นโทษ เกิดความเบื่อหน่าย อยากออกอยากหนี อยากหลุดอยากพ้นไปจากรูปนาม ไม่อยากมีรูปมีนามอีกต่อไป เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๑๐ คือ

ปฏิสังขาญาณ เป็นญาณที่ทำให้จิตใจเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๑๑ คือ

สังขารุเปกขาญาณ จะมีความวางเฉยในรูปในนาม การเจริญพระกัมมัฏฐานก็ร่าเริง เบิกบาน แจ่มใส กระปรี้กระเปร่า กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็สบายๆ เมื่อมาถึงนี้โรคภัยไข้เจ็บก็จะหายไปตามลำดับๆ

เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ท่านทั้งหลายก็จะเข้าสู่มัคควิถี คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผลผ่าน สัจจานุโลมิกญาณ (ปัญญาขั้นที่ ๑๒) แล้วก็ผ่านโคตรภูญาณ (ปัญญาขั้นที่ ๑๓) ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้าคือพระโสดาบัน (มัคคญาณ ผลญาณ ปัญญาขั้นที่ ๑๔ และ ๑๕ และปัญญาขั้นที่ ๑๖ คือ ปัจจเวกขณญาณ)

เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ท่านทั้งหลาย กิเลสตัณหาดับไปไม่รู้ว่าเท่าไร ในแนวของพระอภิธรรมว่ากิเลส ๑๒ ตัว โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ โลภะมันดับไปตั้ง ๔ ตัวแล้ว แต่โทสะยังดับไม่ได้ สำหรับโมหะก็ดับไปตัวหนึ่งแล้ว คือวิจิกิจฉา

นี่แหละท่านทั้งหลาย หนทางที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุอริยมรรคอริยผลนั้น มีหนทางเดียวเท่านี้ คือ การดำเนินตามหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ เมื่อประพฤติปฏิบัติตามหลักของมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติ ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตามบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมมา

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรค ผลพระนิพพานนั้นก็จริงอยู่ แต่ว่าหลักการและวิธีการที่ครูบาอาจารย์ในแต่ละสำนักพาประพฤติปฏิบัติในทุกวันนี้ไม่เหมือนกัน แต่ละสำนักๆ นั้นปฏิบัติไม่เหมือนกัน สำนักหนึ่งเอาอย่างหนึ่ง สำนักหนึ่งเอาอีกอย่างหนึ่ง

บางสำนักว่า พุทโธๆ บางสำนักว่า สัมมา อะระหัง บางสำนักก็ นะมะพะทะ บางสำนักก็ พองหนอ ยุบหนอ อะไรร้อยแปดพันประการ แต่จะประพฤติปฏิบัติอย่างไรก็ตาม การปฏิบัติ การบริกรรม การภาวนานั้นจะต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่ความประสงค์หรือความต้องการนั้นเหมือนกันหมด คือทุกคนเกิดมาแล้วต้องการจะพ้นทุกข์ ต้องการจะบรรลุสุขอันไพบูลย์ คือมรรค ผล พระนิพพาน เหมือนกันหมด แต่เพราะธรรมะมีมาก การประพฤติปฏิบัติจึงไม่เหมือนกัน

เหมือนกับคนทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วต้องการเงิน แต่วิธีหาเงินไม่เหมือนกัน ผู้ทำไร่ทำนาก็ต้องการเงิน ผู้ทำสวนก็ต้องการเงิน พวกทำมาค้าขายก็ต้องการเงิน หนักๆ เข้า ไปลักไปขโมย ไปปล้นไปจี้ เพราะต้องการเงินกันทั้งนั้น แต่วิธีหาเงินไม่เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด

พวกเราทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว หรือบุคคลทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องการอยากจะพ้นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ต้องการอยากจะบรรลุสุขอันไพบูลย์ คือมรรค ผล พระนิพพานเหมือนกันทั้งนั้น แต่ธรรมะมีมากการประพฤติปฏิบัติจึงไม่เหมือนกัน

เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐานตามที่ครูบาอาจารย์สอนให้ อาจจะไม่สบายใจ ไม่เหมือนที่ประพฤติปฏิบัติมาก่อน ถ้าเกิดความรู้สึกทำนองนี้ ก็ขออย่าได้คิดอย่างนั้น ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามอย่างนั้นก่อน เมื่อกลับไปวัดแล้วเราจะปฏิบัติอย่างไรนั้นก็แล้วแต่เรา

สำหรับข้อปฏิบัตินั้น ถ้าหากว่าเรารู้วิธีการและรู้หลักการในการปฏิบัติแล้ว เราจะทำอย่างไรๆ มันก็ไปเหมือนกันหมด หลวงพ่อเคยทดลองให้เขานั่งมองดูเสื่อน้ำมันหรือพื้นดิน แล้วไม่ต้องภาวนาก็ได้ มองดูเฉยๆ ก็สามารถได้สมาธิ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง เหมือนกัน หรือบางครั้งก็ให้เขาภาวนาว่า ขี้เกียจหนอๆ แต่เราไม่ขี้เกียจ ก็สามารถทำสมาธิได้เหมือนกัน

บางทีให้ภาวนาว่า อยากตายหนอๆ แต่ว่าเรายังไม่อยากตายหรอก ก็สามารถทำสมาธิสมาบัติได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ข้อนี้ ถึงแม้ว่าการปฏิบัติจะต่างกันก็ตาม ท่านทั้งหลายขอให้เข้าใจ ถึงแม้การปฏิบัติจะต่างกัน แต่ความประสงค์นั้นเหมือนกันหมด คือต้องการบรรลุมรรคผลพระนิพพาน เหมือนกันหมดนั่นแหละ

สรุปแล้วว่า การภาวนา จะภาวนาอย่างไรก็ตาม จะกำหนดอย่างไรก็ตาม ที่จริงแล้ว เราไม่ได้เอาคำภาวนานี้ เราไม่เอา คำบริกรรมนี้เราไม่เอา เช่นเราภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอๆ ก็ดี หรือ พุทโธๆ ก็ดี หรือ สัมมา อะระหัง ก็ดี เราไม่เอา คำภาวนานี้ไม่เอา

เราภาวนาเพื่อรอการเกิดขึ้นของสมาธิ เราภาวนาเพื่อรอการเกิดขึ้นของมรรคผลพระนิพพานต่างหาก เมื่อใดสมาธิ มรรค ผล พระนิพพานเกิดขึ้นมาแล้ว คำภาวนานี้เราก็สลัดทิ้งไปทันที เหมือนกับเราข้ามแม่น้ำ เช่นว่าเราข้ามแม่น้ำโขง เราต้องอาศัยเรือขี่เรือข้ามฟาก เมื่อไปถึงฝั่งโน้นแล้ว เราก็สลัดเรือทิ้ง เดินขึ้นไปสู่บ้านหรือตำบลที่เราต้องการ ข้อนี้ฉันใด

พวกเราทั้งหลายต้องการที่จะบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน แต่ว่าต้องอาศัยคำบริกรรมหรือคำภาวนา เมื่อเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ได้บรรลุสมาธิ สมาบัติแล้ว คำบริกรรม คำภาวนานี้เราทิ้งไป เราไม่เอา เราเอาสมาธิ สมาบัติ เอามรรค เอาผล เอาพระนิพพานต่างหาก คำบริกรรมนี้เราไม่เอา

อุปมาเหมือนกับเราอยากดื่มเครื่องดื่มสักขวดหนึ่ง เช่นว่า ต้องการอยากดื่มโค้กสักขวดหนึ่ง เวลาเราไปซื้อ เราก็ต้องเอามาทั้งขวดมัน เมื่อเอามาแล้วเราก็เปิดดื่ม ดื่มแต่น้ำของมัน ขวดเราก็ทิ้งไป ข้อนี้ฉันใด การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็เหมือนกัน ฉันนั้น ขณะที่เราบริกรรม เราภาวนาอยู่นี้ เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ก็เหมือนกัน

คำภาวนา คำบริกรรมนี่เราไม่เอา พองหนอ ยุบหนอ พุทโธๆ สัมมา อะระหัง นี่เราไม่เอา เราภาวนาหรือกำหนดเพื่อรอการเกิดขึ้นของสมาธิ เราภาวนาหรือกำหนดเพื่อรอการเกิดขึ้นของมรรค ผล พระนิพพานต่างหาก เมื่อใดสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานเกิดขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมหรือคำภาวนานี้ก็สลัดทิ้งไป

ท่านทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะมีความเคลือบแคลงสงสัย โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่ยังไม่เคยปฏิบัติ หรือไม่เคยฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ หรือไม่เคยฟังธรรมะที่หลวงพ่อบรรยายอาจจะเกิดความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ก็ได้ เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจึงจะน้อมนำเอาหลักฐาน ที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า

๑. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่หนึ่งเป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือพระศาสนาล่วงเลยมา ๑ พันปี ในช่วงพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว หากตนได้เคยสร้างสมอบรมบารมีมา ก็สามารถให้เกิดปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ได้ คือแตกฉานในอรรถ แตกฉานในธรรม แตกฉานในปฏิภาณ แตกฉานในภาษา

๒. ฉฬภิญฺเญหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่สอง เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ คือพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๒ พันปี ในช่วง ๒ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดได้มาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถยังอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้นได้

หมายความว่า เมื่อก่อนโน้น ในปุเรกชาติโน้น ตนได้เคยบำเพ็ญบารมีมาแล้ว ได้อธิษฐานจิตให้เกิดอภิญญาทั้ง ๖ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเรามาภพนี้ชาตินี้ เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถยังอภิญญาทั้ง ๖ ประการให้เกิดขึ้นได้

คือแสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักวิธีที่จะทำให้อาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน อภิญญาจิตทั้ง ๖ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ หากได้บำเพ็ญบารมีทางนี้มาแล้ว แต่ถ้าหากว่าเราไม่เคยบำเพ็ญบารมีมาก็ไม่เกิด

๓. เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่สาม เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ คือพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๓ พันปี ในช่วง ๓ พันปีนี้ ถ้าหากว่าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถยังวิชชา ๓ ประการ ให้เกิดขึ้นได้ ได้แก่

๑) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

๒) จุตูปปาตญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดและความตายของบุคคลอื่น ว่าผู้นี้เขามาจากไหน มาเกิดที่นี้ด้วยกรรมอะไร ผู้นี้ตายแล้วเขาไปเกิดที่ไหนด้วยกรรมอะไร สามารถที่จะรู้ได้

๓) อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

๔. สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่สี่ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสกะ คือพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๔ พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถทำลายอาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน

แต่ไม่สามารถยังคุณสมบัติอันใดอันหนึ่งให้เกิดขึ้นได้ เช่น ปฏิสัมภิทา ๔ ก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี วิชชา ๓ ก็ดี ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงสามารถทำอาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน ท่านเรียกว่า บรรลุโดยแห้งแล้ง

๕. ปาฏิโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ห้า เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี คือพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๕ พันปี ในช่วง ๕ พันปีนี้ ผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถึงแม้จะใช้ความเพียรเรี่ยวแรงสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพียงแต่ให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีเท่านั้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓


[1] (ขุ. ขุทฺทกปาฐ-ธมฺมปทคาถา ๒๕/๑๘/๓๐)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กุมภาพันธ์ 2562 15:03:07 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 72.0.3626.119 Chrome 72.0.3626.119


ดูรายละเอียด
« ตอบ #94 เมื่อ: 27 กุมภาพันธ์ 2562 15:01:13 »




ปรับความเข้าใจเรื่องปริวาส (๑) (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายเมื่อกล่าวมาถึงนี้แล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าเคลือบแคลงสงสัย หรือน้อยใจว่า สมัยนี้สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานไม่มี ขออย่า ได้คิดอย่างนี้ ต่อไป คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต้องเพียบพูนสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ ๔ ประการ คือ

๑. มีสติทันปัจจุบัน คือยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจอันใดๆ ก็ตามให้ทันปัจจุบัน

๒. มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม คือ ในขณะที่เรายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม ให้มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา

๓. วิริยะ ความเพียร เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียร มีความเพียรในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน พอใจในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แข็งใจเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตั้งใจเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฉลาดในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

๔. สัทธา ความเชื่อ ตัวนี้เป็นตัวสำคัญพิเศษท่านทั้งหลาย เมื่อว่าเราไม่มีศรัทธา ก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้เกิดศรัทธา ถ้าศรัทธาของเรามีแล้วก็พยายามรักษาไว้ให้ดี

ถ้าศรัทธาของเราไม่เกิด หรือศรัทธาของเราไม่มีแล้ว เราจะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานตลอดไตรมาส ๓ เดือนนี้ ก็ไม่ สามารถที่จะบรรลุสมาธิ สมาบัติ อริยมรรค อริยผลได้เลย เพราะฉะนั้น หากว่าเราไม่มีศรัทธา เราก็ต้องคิดถึงคุณพระพุทธเจ้าบ้าง พระธรรมบ้าง พระสงฆ์บ้าง ครูบาอาจารย์บ้าง เรานึกถึงพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีอย่างนั้นๆ มา นึกไปๆ เพื่อให้เกิดศรัทธา

หรือเรานึกถึงคุณของพระธรรมว่า พระธรรมนี้เป็นสภาวธรรมที่รักษาบุคคลไว้ไม่ให้ตกนรก ไม่ให้เกิดเป็นเปรต ไม่ให้เกิดเป็นอสุรกาย ไม่ให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อยู่ในโลกนี้ก็ไม่ต้องถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการ ติดคุกตะราง ไม่ถูกประหารชีวิต

พระสงฆ์ก็เป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งพระศาสนา พระศาสนาล่วงเลยมาถึงทุกวันนี้ก็เพราะพระสงฆ์เป็นผู้สืบต่อ สืบทอดกันมาตามลำดับ นึกถึงอย่างนี้ หรือระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธา เราก็ระลึกไป ถ้าศรัทธามีแล้วท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัตินี้ ก็จะดำเนินปฏิปทาไปได้ถูกต้อง แล้วก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

ถ้าไม่มีศรัทธาแล้ว เราจะทำอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถยังสามัญผลให้เกิดได้เลย โดยเฉพาะถ้าว่าไม่เชื่อครูบาอาจารย์ สมมุติว่า หลวงพ่อแนะนำพร่ำสอนท่านทั้งหลายทุกวันๆ อยู่ แต่ท่านไม่เชื่อ ทำอย่างไรก็ไม่เชื่อ พอสอนอย่างนี้ ก็ไม่เชื่อ ทำอย่างนั้นก็ไม่เชื่อ บรรยายธรรมะอะไรให้ฟังก็ไม่เชื่อ เพียงแต่ว่าไม่เชื่อครูบาอาจารย์อย่างเดียวเท่านั้น หมดเลยท่านทั้งหลาย การปฏิบัตินี้ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

นั่งกัมมัฏฐานไปก็นึกเห็นแต่ครูบาอาจารย์ แล้วก็ไม่พอใจ การพูดจาปราศรัยก็ไม่พอใจ การเทศน์การสอนก็ไม่พอใจ การอยู่การฉันก็ไม่พอใจ อะไรๆ ไม่พอใจครูบาอาจารย์ทั้งหมด ถ้าว่าไม่พอใจ ไม่ศรัทธาแล้วท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะได้ผลเลย เพราะฉะนั้น หากว่าในขณะนี้ ท่านไม่ศรัทธาในหลวงพ่อ ก็ขอให้ข่มใจกำหนดว่า รู้หนอๆ

ถึงจะไม่ศรัทธาในหลวงพ่อก็ขอให้ศรัทธาในธรรมะว่า ธรรมะที่หลวงพ่อนำมาบรรยายทุกวันๆ นี้ เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ธรรมะของหลวงพ่อ เราไม่ศรัทธาหลวงพ่อแล้ว เราศรัทธาในธรรมะของพระพุทธเจ้า หากว่า เกิดไม่พอใจขุ่นเคืองในครูบาอาจารย์ขึ้นมา เมื่อกำหนดว่า รู้หนอๆ หรือ หยุดหนอๆ หยุดทันที

อันนี้ คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ต้องพยายามให้เกิดให้มีขึ้นในขันธสันดาน ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายในขณะที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นี้

๑. ระวัง อย่าให้เกิดอาการเครียด ไม่ใช่ว่าตึงเครียด เกิดอาการเครียด ถ้าหากว่าเกิดอาการเครียดขึ้นมาแล้วมันจะเกิดโรคประสาท ทำให้เป็นบ้าได้ การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจะไม่ได้สมาธิ สมาบัติ ไม่สามารถยังมรรคผลพระนิพพานให้เกิดขึ้นได้เลย เพราะฉะนั้น อย่าให้เกิดความเครียด

๒. อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น เช่น เราคิดว่า วันนี้เราจะนั่งกัมมัฏฐานให้ได้สมาธิ ให้ได้ฌาน เราจะนั่งกัมมัฏฐานวันนี้ ให้ได้มรรค ผล พระนิพพาน นั่งไปๆ ถ้ามันเกิดตามความตั้งใจ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะความโลภ ถ้ามันไม่เกิดตามความต้องการ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโกสัชชะ ความเกียจคร้าน เกิดความท้อแท้ เกิดความหดหู่ ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป เหตุนั้น ระวังอย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น

๓. อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ เช่นว่า อยากได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้อะไรทำนองนี้ ขออย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษ ร้อยทั้งร้อยมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เป็นบ้า ท่านทั้งหลาย

เท่าที่ผ่านๆ มา บางรูปปฏิบัติ มีแต่อยากได้โน้น อยากได้นี้ เมื่อก่อนโน้นเห็นเป็นบ้าไปหลายๆ รูปเหมือนกัน บางรูปก็ถึงตายๆ ไปก็มี ไปรักษาไม่หาย คือมันเป็นอย่างแรง กลับไปบ้านรักษาไม่หายก็มี

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายขออย่าอยากเป็นผู้วิเศษ เรื่องคุณวิเศษทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา เช่น แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ ก็ดี วิชชา ๓ ก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี หากว่าเราเคยสร้างสมอบรมบารมีมาแล้ว ไม่อยากให้เกิดมันก็เกิด ไม่อยากให้มีมันก็มี แต่ถ้าเราไม่เคยบำเพ็ญบารมีมาก่อน แม้ว่าเราอยากให้เกิดก็ไม่เกิด อยากให้มีก็ไม่มี

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายคิดว่า แล้วแต่บุญกุศลที่เราสร้างสมอบรมมาเถิด เราตั้งจิตตั้งใจไว้อย่างนี้ก็ปฏิบัติไปๆ หากว่าเราเคยสร้างบารมีมาแล้ว หูทิพย์ ไม่อยากได้มันก็ได้ ตาทิพย์ไม่อยากได้มันก็ได้ การที่รู้จิตรู้ใจของผู้อื่น ไม่อยากได้มันก็ได้ ระลึกชาติหนหลังได้ก็ดี รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นก็ดี ไม่อยากได้มันก็ได้ ถ้าหากว่าเราเคยบำเพ็ญบารมีมา แต่ถ้าหากไม่เคยบำเพ็ญบารมีมาก่อน จะทำอย่างไร มันก็ไม่ได้

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อบรรยายธรรมะ กระท่อนกระแท่นมา ไม่สะดวกสบาย การฟังไม่รื่นหู ภาษาที่ใช้ก็กระท่อนกระแท่นอะไรทำนองนี้ ก็ขออภัยหลายๆ ด้วย แล้วก็ขอเตือนสติพิเศษอีกอย่างหนึ่งว่า

การเจริญกัมมัฏฐานในหน้าพรรษานี้ เราหนักไปทางวิปัสสนา แล้วก็วิธีการเจริญวิปัสสนาก็ต้องใช้วิธีกำหนด ก็ขออธิบายสั้นๆ ถ้าการเจริญสมถกัมมัฏฐานนั้นใช้วิธีบริกรรม คือตั้งจิตตั้งใจจะบริกรรมให้จิตของเราสงบ ตั้งมั่น เป็นอัปปนาสมาธิ

ถ้าเจริญวิปัสสนาใช้วิธีกำหนด เช่นว่า พองหนอ ต้นพอง กลางพอง สุดพองมันเป็นอย่างไร ให้รู้ นี่เรียกว่า วิธีกำหนด ยุบหนอ ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ มันเป็นอย่างไร ต้องรู้ ขวาย่างหนอ เริ่มยกขึ้น กับก้าวไป แล้วเหวี่ยงลง มันเป็นอย่างไรก็ต้องรู้

ปวดหนอๆ หรือว่าทุกข์หนอๆ อาการปวดเป็นอย่างไร กำหนดแล้วเป็นอย่างไร สุขหนอๆ เมื่อเรากำหนดแล้ว ความสุขมันเป็นอย่างไร หรือว่า เราคิดหนอๆ เมื่อเรากำหนดแล้ว มันเป็นอย่างไร ความคิดมันเกิดขึ้นเมื่อไร มันดับไปเมื่อไร ต้องรู้ การที่รู้อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจไว้ตรงนี้ก็พอ แล้วก็พยายามประพฤติปฏิบัติต่อไปจนกว่าครูบาอาจารย์จะเปลี่ยนวาระให้ ขออย่าเปลี่ยนโดยอัตโนมัติ

สำหรับครูบาอาจารย์ที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ขออย่าว่า เราเคยเดินจงกรมมาถึงระยะที่ ๖ แล้ว แล้วจะไปเดินเอาระยะที่ ๔ ที่ ๕ ไม่ได้นะ ท่านทั้งหลาย ต้องตั้งต้นใหม่ เพราะว่า สติของเรายังไม่สมบูรณ์ ออกจากห้องปฏิบัติไปแล้ว มีภาระธุระทางวัดทางอะไรร้อยแปดพันประการ สติมันอ่อนกำลังลงไป สมาธิก็อ่อนกำลังลงไป

เราต้องทำเพิ่มใหม่ เราจะไปเดินจงกรม หรือภาวนาตามใจชอบเหมือนที่เราเคยปฏิบัติมาครั้งแรกนั้นไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป มันจึงจะได้ แต่สำหรับผู้ใหม่ก็คิดว่า อยากเดินระยะจงกรมโน้น อยากเดินระยะจงกรมนี้ ก็อย่าคิดเช่นนั้น เพราะว่า ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างมันยังไม่สมดุลกันก็ไปไม่ได้

เท่าที่ได้บรรยายมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 72.0.3626.121 Chrome 72.0.3626.121


ดูรายละเอียด
« ตอบ #95 เมื่อ: 25 มีนาคม 2562 09:31:06 »




ปรับความเข้าใจเรื่องปริวาส (๒)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

หลวงพ่อรู้สึกซาบซึ้งยินดี ปีติ ตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เห็นท่านหลวงปู่ หลวงตา ครูบาอาจารย์ พระสงฆ์ องค์เณร ปะขาว แม่ชี ที่สละความห่วงใยทั้งหมดมาร่วมปฏิบัติธรรมด้วยกันในหน้าพรรษา

การปฏิบัติธรรมในหน้าพรรษานี้ ถือว่าปฏิบัติตามมติที่ประชุม ท่านทั้งหลายก็อย่าได้คิดว่าหลวงพ่อจัดงานปริวาสในหน้าพรรษา หรือว่าจัดงานปริวาสหลังจากสอบธรรมสนามหลวงแล้ว อะไรทำนองนี้ ขออย่าได้คิดอย่างนั้น

ก่อนอื่นที่จะเข้าสู่หัวเรื่อง ก็ขอประชาสัมพันธ์ให้รู้ให้ทราบเป็นบางสิ่งบางประการ เกี่ยวกับสถานที่อยู่ ท่านทั้งหลายอาจจะไม่สะดวก ก็คิดว่าพอที่จะอยู่ได้ตามที่พวกเราทั้งหลายเป็นผู้สันโดษ ถ้าว่าจะทำกุฏิเป็นหลังๆ ไปก็ทำไม่ได้ หรือว่าในขณะนี้เราไม่เห็นญาติโยมทั้งหลายมาช่วยเหลือ เราก็อย่าได้คิดว่า ญาติโยมเขาใจจืดใจดำ ไม่นึกถึงพระสงฆ์องค์เจ้าที่มาสู่สำนัก ขออย่าได้คิดอย่างนี้

เพราะถือว่าเป็นเรื่องของพวกเราทั้งหลาย เป็นนักปฏิบัติธรรมสมัครเล่น หรือว่าเข้าปริวาสกรรมสมัครเล่น คือมาด้วยความพอใจ มาด้วยความชอบใจ ไม่ได้เกี่ยวกับญาติโยม เขาจะมาช่วยหรือไม่ช่วยก็ไม่ว่า เขาจะมาถวายภัตตาหารเช้า ภัตตาหารเพล ก็ไม่ว่า จะไม่มาก็ไม่ว่า มาก็สาธุอนุโมทนา ไม่มาก็ไม่ว่ากระไร คือจะไม่ยุ่งกับการทำงาน เรื่องการทำนาทำไร่ของเขา ปล่อยให้เขาทำไปโดยสะดวกใจ

ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เรามาอยู่ด้วยกันตั้งหลายรูป หลวงพ่อคงจะหนักใจ คงจะเป็นภาระเพราะพวกเราทั้งหลาย อะไรทำนองนี้ ขอร้องท่านทั้งหลายอย่าได้คิดเช่นนั้นเลย หลวงพ่อไม่ได้หนักใจ ถึงจะหนักใจก็ไม่เท่ากับคนขี้เหล้าเมายาคนเดียวมาหา มันหนักใจกว่า

ส่วนท่านทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นผู้ทรงศีลทรงธรรมมาหา แม้จะมาเป็นร้อยๆ หรือเป็นพันๆ หลวงพ่อก็ไม่หนักใจ มีแต่จะปลื้มใจ ดีใจ เกิดความยินดีปราโมทย์ในจิตในใจ เอ หลวงพ่อจะมีอะไร จะมีข้าวปลาอาหารภัตตาหารเช้าภัตตาหารเพลเลี้ยงหรือ อะไรทำนองนี้ อย่าได้คิดอย่างนั้นเลย

หลวงพ่อคิดว่า ท่านทั้งหลายที่มาสู่สถานที่นี้ล้วนแต่เป็นผู้ทรงศีลทรงธรรม ล้วนแต่เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีได้ประพฤติปฏิบัติมาแล้ว เมื่อท่านผู้ทรงศีลทรงธรรม ท่านผู้มีบารมีธรรม ที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาแล้ว คิดว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่ปล่อยให้หลวงพ่อตาย

เทวดาทั้งหลาย คงจะมีหูแก้วตาทิพย์ว่า ขณะนี้พระสงฆ์ผู้ทรงศีลาจารวัตรเป็นอันดี ได้พร้อมเพรียงกันมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่สำนักวัดพิชโสภาราม เทวดารู้แล้วก็คงจะคิดอะไรๆ ที่เป็นประโยชน์แก่เราทั้งหลาย เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจึงไม่หนักใจเรื่องการอุปถัมภ์อุปัฏฐาก หากว่ามามากกว่านี้ ก็คิดว่า คงอุปถัมภ์อุปัฏฐากได้ แต่ถ้าจะให้เหลือเฟือก็คงเป็นไปไม่ได้

เพราะว่างานนี้ หลวงพ่อทำมาหลายๆ ปีแล้ว ในแต่ละปีๆ ก็เห็นว่า ครูบาอาจารย์ก็ยังพอเป็นไปได้ อันนี้ก็ขอเกริ่นๆ บอกล่วงหน้า ขออย่าได้คิดหวั่นใจและหนักใจว่า เราจะเป็นภาระของหลวงพ่อไหม อย่าคิดว่าหลวงพ่อจะเลี้ยงอุปถัมภ์อุปัฏฐากบรรดาท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายไม่ได้ อะไรทำนองนี้ ขออย่าได้คิดเช่นนั้นเลย เรื่องอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ขอพวกท่านอย่าได้เป็นกังวลใจใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านทั้งหลาย การเข้าปริวาสกรรมนี้ เราทำกันมาเป็นเวลานานตั้งแต่โบราณาจารย์มาถึงรุ่นทวด รุ่นปู่ รุ่นพ่อของพวกเรา ท่านก็ทำกันอยู่อย่างนี้ แต่มันหยุดมันขาดไปพักหนึ่ง แล้วก็เริ่มเกิดมีขึ้นในสมัยที่ หลวงพ่อกิตติวุฑโฒ ท่านไปจัดการอบรมพระสงฆ์ภายในประเทศของเราที่ จิตตภาวัน และก็มีงานปริวาสอยู่ที่นั้นด้วย หลังจากนั้นมางานปริวาสก็จัดติดต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้

ส่วนงานปริวาสดั้งเดิมที่จัดขึ้นยุคใหม่นี้ มีอยู่ที่ จิตตภาวัน แต่กิจกรรมและวิธีกรรมที่จัดขึ้นก็แตกต่างกันไป แล้วแต่กุศโลบายของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์สำนักหนึ่งหรือที่หนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่สำหรับคำขอคำอะไรทุกอย่างเหมือนกันหมด

แต่ระเบียบแบบแผนที่จัดขึ้นมาไม่เหมือนกันเหมือนกับที่เราจัดอยู่นี้แหละ ก็จะไม่เหมือนที่อื่น แต่เข้าปริวาสเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน อย่างอยู่สำนักนี้ (วัดพิชฯ) เวลาเข้าปริวาสแล้วจะไม่ออกบิณฑบาต แล้วก็ส่วนมากจะไม่ได้เก็บวัตร เว้นไว้แต่บางปี เช่น ปีที่แล้วผ่านมาแล้ว ได้เก็บวัตร เพราะเห็นว่าบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม เป็นผู้ตั้งอยู่ในระเบียบแบบแผนอันดี

แม้เก็บวัตรแล้วก็ไม่ออกไปนอกวัด ยังอยู่ในวัด เห็นว่าลูกศิษย์ลูกหาพากันตั้งอยู่ในจริยาวัตรอันดีเช่นนี้ ก็เลยให้เก็บวัตร เพื่อสะดวกกับพระเจ้าพระสงฆ์ที่จรไปๆ มาๆ เราจะไม่เป็นภาระเรื่องการบอกวัตร หรือครูบาอาจารย์พาญาติพาโยมมาถวายภัตตาหารเช้า-เพล ก็จะไม่เป็นภาระธุระในการบอกวัตร ก็เลยเก็บวัตร ก็เห็นว่ามันสะดวกขึ้นมา แต่ส่วนมากไม่ได้เก็บวัตร

การอยู่ปริวาสกรรมที่เราอยู่นี้ ปริวาสนี้เป็นแต่เพียงองค์ประกอบ แต่ความมุ่งหมายที่จริงๆ นั้น มุ่งหนักไปทางปฏิบัติ คือต้องการให้ผู้มาประพฤติปฏิบัตินั้น ได้ความรู้ความเข้าใจ เกิดปัญญาในภาคปฏิบัติ เข้าใจในภาคปฏิบัติจนสามารถทำสมาธิ ทำฌาน ยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ตามบุญญาธิการที่ได้สร้างสมอบรมมา อันนั้นเป็นความประสงค์หลักที่สุด แต่ปริวาสนี้เป็นเพียงองค์ประกอบ หากว่าไม่มีปริวาส การปฏิบัติก็จะไม่ได้ผลคุ้มค่า คือไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็เลยให้มีปริวาสประกอบขึ้นมาอีก

ท่านทั้งหลาย ที่พูดๆ กันว่า เข้ากรรม นี่ภาษาบ้านเราตื้นๆ ว่า เข้ากรรม คำว่า เข้ากรรม ก็คือ เข้าทำงานเพื่อความบริสุทธิ์ หมายความว่า เราทำงานทางใจ ต้องการที่จะให้เกิดความบริสุทธิ์ นับตั้งแต่สีลวิสุทธิขึ้นมา จนถึง จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ ไปตามลำดับๆ

การงานใดที่เรามากระทำเพื่อต้องการความบริสุทธิ์ หรือว่างานใดที่เราเข้าอยู่หรือเข้าค่ายหรือเข้าอยู่ในสถานที่ ที่จำกัดให้อยู่ ก็เรียกว่า อยู่กรรม คืออยู่ทำงานเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์

คำว่า ปริวาส ที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ปริวาสนี้ท่านแบ่งเป็นภาค เป็นปริวาส มานัตต์ ปฏิกัสสนา และอัพภาน มีองค์ประกอบ ๔ องค์

คำว่า ปริวาส แปลว่า อยู่ใช้ให้ครบกำหนดที่ปกปิดไว้ก่อน สมมุติว่าเราต้องครุกาบัติ เช่น เราได้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสมาแล้ว ๕ วันอย่างนี้ เราต้องอยู่ปริวาสให้ครบ ๕ วันเสียก่อน จึงจะขึ้นมานัตต์ได้ นี่เรียกว่า ปริวาส หรือว่าบางท่านบวชมาเป็นปี ปกปิดอาบัติไว้เป็นปี ก็ต้องอยู่ปริวาสครบปีเสียก่อนจึงจะขึ้นมานัตได้ อันนี้เรียกว่า ปริวาส

ท่านทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้อาจจะเกิดความไม่สบายใจขึ้นมาว่า ทำอย่างไร เรานี้บวชมาตั้ง ๕ ปี ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี หรือ ๓๐ ปีแล้ว เรามาอยู่ปริวาสเพียง ๓ วันแล้วก็ขึ้นมานัตต์ มันจะบริสุทธิ์ได้ไหม อะไรทำนองนี้ ท่านทั้งหลายขออย่าได้คิดเช่นนั้น เพราะว่าพวกเราทั้งหลาย ส่วนมาก เราปลงอาบัติเกือบจะทุกวัน หรืออย่างช้าที่สุด ๒ วัน หรือ ๓ วัน ก็ปลงอาบัติ

แม้จะต้องหรือไม่ต้อง(อาบัติสังฆาทิเสส)ก็ตาม เราเผื่อเหนือตกใต้ เราก็ได้ปลงอาบัติตามปกตินั้น ๓ วันเราต้องปลงอาบัติแล้ว หรือหากว่าประมาทมากกว่านี้ ๗ วันเราก็ปลงอาบัติ วันพระเราก็ปลงอาบัติ หรือแม้จะช้าสักปานใดก็ตาม คงไม่เกิน ๑๕ วัน เราก็ปลงอาบัติ เพราะ ๑๕ วันเราลงอุโบสถ เราก็ปลงอาบัติกัน

แต่เท่าที่เห็น โดยเฉพาะในภาคอีสานนี่ เท่าที่หลวงพ่อไปๆ มาๆ แล้วสังเกต ในสมัยที่เป็นเณรจนมาถึงปานนี้ พวกเรานั้นส่วนมากปลงอาบัติกันทุกวันๆ อย่างช้าก็ ๓ วันก็ปลงอาบัติ ท่านทั้งหลาย เมื่อ ๒-๓ วัน เราปลงอาบัติอย่างนี้ ก็ถือว่าเราไม่ได้ปกปิด ถือว่าเราปกปิดได้เพียง ๓ วัน เราอยู่ปริวาส ๓ วันก็ขึ้นมานัตต์ได้

อีกอย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลาย หากว่าเราปลงอาบัติทุกวันๆ อยู่ก็ดี หรือว่า ๓-๔ วันปลงอาบัติครั้งก็ดี ในขณะที่ปลงอาบัตินั้น ก็ถือว่าเราได้บอกไว้แล้วนะ เราได้บอกแล้ว เราไม่ได้ปกปิด ท่านทั้งหลายก็คิดดูว่า คำที่ปลงอาบัตินั้นนะว่า สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ, สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ

คือเราได้บอก(เปิดเผย)ทั้งครุกาบัติ ทั้งลหุกาบัติ ส่วนที่เป็นลหุกาบัติ เช่น ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาษิต ก็เป็นอันว่าพ้นไปบริสุทธิ์ไป ส่วนที่เป็นครุกาบัติ เช่น อาบัติสังฆาทิเสส นี่ก็ถือว่าเราได้บอกไว้แล้ว ไม่ถือว่าปกปิดไว้แต่อย่างใด

มีพระเถระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ที่นี่ ท่านบวชมาแล้ว ๒๐ กว่าปี ปฏิบัติมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ปฏิบัติไปๆ ได้ ๓ วัน สภาวะธรรมมันก็เกิดขึ้น เมื่อสภาวะธรรมเกิดขึ้น ดวงจิตนี่ เหมือนกับมันมีตนมีตัว มันพูดขึ้นมาเหมือนกันกับเราเปิดวิทยุฟัง เหมือนเอาวิทยุนี่ไปไว้ในร่างกายของเรา ไปไว้ที่หัวใจของเรา เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไป ก็ร้องขึ้นมาว่า กรรมขาดแล้วๆ

พระเถระรูปนั้นก็บอกว่า มันขาดได้อย่างไรหว่า หรือว่าเราอยู่ปริวาส เรารักษาวัตรไว้ไม่ดี สำรวจไปสำรวจมา มันก็ไม่ขาดนี่นา เราไม่ได้ล่วงละเมิดกฎของการเข้าปริวาส แต่ท่านก็ไม่สามารถที่จะตัดสินได้ว่า เพราะอะไร มันจึงเป็นอย่างนี้ ปฏิบัติไปๆ นั่งสมาธิก็ดี เดินจงกรมก็ดี มันอุทานขึ้นมาว่า กรรมขาดแล้วๆ ขึ้นมานัตต์ได้ๆ

เมื่อปัญญาแก่กล้า ก็รู้ขึ้นมาว่า คำว่า กรรมขาด นี่ ก็หมายความว่า เราอยู่ปริวาสกรรมจนครบกำหนดแล้ว เพราะว่าเมื่อก่อนโน้น แม้ว่าเราจะบวชมานานสักปานใดก็ตาม เราปลงอาบัติเกือบทุกวัน เมื่อปลงอาบัติเกือบทุกวันแล้ว ก็เป็นอันว่า เราไม่ได้ปกปิดอาบัติไว้ เราเข้าปริวาสมา ๓ วันนี้ ก็ครบอายุของปริวาสแล้ว ขึ้นมานัตต์ได้แล้ว เกิดความรู้ขึ้นมา

มีบางรูปมาถามหลวงพ่อ มาจากส่วนกลางก็มี อย่างอาจารย์มหาวิเลิศ กับ อาจารย์มหาฝ้าย อาจารย์มหาวิเลิศนี่ประโยค ๗ อาจารย์มหาฝ้ายก็ประโยค ๙ ขึ้นเครื่องบินมาลงที่อุบลฯนี่ แล้วต่อรถมา มาถามเลยว่า หลวงพ่อ ผมนี่บวชมา ๑๐ กว่าปีแล้ว มาเข้าปริวาส ๓ วันเท่านั้น มันจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร อายุของปริวาสน่ะ มันจะครบได้อย่างไร เพราะว่าผมไม่เคยได้บอกได้เปิดเผยเลย

หลวงพ่อเลยบอกว่า อาจารย์มหาจบเปรียญธรรม ๗ ประโยค เปรียญธรรม ๙ ประโยค ก็ลองคิดถึงโครงอุโบสถบทที่ท่านแต่งไว้ให้ปลงอาบัตินั่นว่า สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ... คือเราบอก ทั้งที่เป็นครุกาบัติ ทั้งที่เป็นลหุกาบัติ เวลา สัพพา ตา...เราบอกทั้งส่วนที่เป็นครุกาบัติ ทั้งที่เป็นลหุกาบัติแล้ว

ส่วนที่เป็นลหุกาบัติก็เป็นอันพ้นไป ส่วนที่เป็นครุกาบัติ เราก็ได้บอกไว้แล้ว เราไม่ได้ปกปิดดอกท่านอาจารย์มหา อาจารย์มหาทั้ง ๒ รูปนั้นยกมือท่วมหัวเลยว่า หลวงพ่อครับ ผมนี้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค ผมนี้เป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยค ผมยังไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย เรื่องอย่างนี้ๆ ผมยังไม่ได้คิดเลย พอได้ฟังหลวงพ่อพูดเท่านั้น ผมจึงเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา

นี่แหละท่านทั้งหลาย อย่าได้คิดว่าเราเข้าปริวาสเพียง ๓ วัน จะไม่บริสุทธิ์ อะไรทำนองนี้ อย่าได้คิดอย่างนั้นเลย ถ้าว่าเราได้ปลงอาบัติบ่อยๆ ก็ถือว่าเราได้บอกไว้แล้ว

ทีนี้เมื่อเราเข้าปริวาสแล้ว สมบูรณ์แล้ว ก็จะได้ขึ้นมานัตต์ คำว่า มานัตต์ นี่แปลว่า นับราตรี คือต้องอยู่ให้ครบทั้ง ๖ ราตรีเสียก่อน จึงจะขออัพภานกรรมได้

การขึ้นมานัตต์นี่ หากว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรม เหมือนทำอยู่ทุกวันนี้ เราประพฤติมานัตต์อยู่ ๓ วันก็บริสุทธิ์แล้ว แต่ก็ยังอัพภานกรรมไม่ได้ เพราะว่ามานัตต์นี่ต้องสำเร็จด้วยสงฆ์ คือสงฆ์เป็นผู้ตัดสิน เมื่อเราประพฤติมานัตต์ครบ ๖ ราตรีแล้ว จึงจะอัพภานกรรมได้

คำว่า อัพภาน นี่แปลว่า กิริยาที่เรียกเข้าหมู่ คือสงฆ์เป็นผู้รับรอง สงฆ์ ๒๐ รูป(เป็นอย่างน้อย)เป็นผู้รับรองว่าบริสุทธิ์แล้ว ก็เรียกเข้าหมู่ได้

ทีนี้ท่านทั้งหลาย ถ้าหากว่าในขณะที่เราอยู่ปริวาสอยู่ก็ดี ปฏิบัติมานัตต์อยู่ก็ดี บังเอิญไปต้องครุกาบัติตัวใดตัวหนึ่งซ้ำเข้าอีก ก็จำเป็นต้องขอปฏิกัสสนา ปฏิกัสสนา คือ กิริยาที่เรียกเข้าหาอาบัติเดิม

สมมติว่า เราอยู่ปริวาสมา ๓ วันแล้ว สมมติว่า เราปกปิดอาบัติไว้ ๖ ราตรีนะ เราเข้าปริวาสมาถึง ๓ ราตรีแล้ว อีก ๓ ราตรีก็จะขึ้นมานัตต์ได้ บังเอิญไปต้องครุกาบัติตัวใดตัวหนึ่งอีก เมื่อเราต้องครุกาบัติอย่างนี้ก็ต้องขอปฏิกัสสนา คือต้องอยู่ปริวาสกรรมใหม่ ถ้าสมมติว่าเราต้องครุกาบัติ สมมติว่าเราปกปิดไว้ ๑ คืน ๑ วัน ก็ต้องอยู่ปฏิกัสสนา ๑ วัน แล้วก็รวมกันทั้งปริวาสที่เหลืออยู่อีก ๓ วัน เราอยู่ปริวาสทั้ง ๖ ราตรี เราก็ขอมานัตต์ได้

แต่ทีนี้เราอยู่มาได้ ๓ วัน ไปต้องครุกาบัติซ้ำเข้าไปอีก เราก็ต้องปฏิกัสสนาปริวาส ๑ วัน ๑ คืนแล้วก็อยู่ปริวาสต่ออีก ๓ วัน ก็เป็นอันว่าปีนั้น เราเข้าปริวาส ๗ ราตรี จบแล้วจึงจะขึ้นมานัตต์ได้

อีกเหตุหนึ่ง ถ้าหากว่า ในขณะที่เราอยู่มานัตต์อยู่ ในขณะที่เราประพฤติมานัตต์อยู่ได้ ๕ ราตรี เหลืออีก ๑ ราตรี ก็จะได้อัพภานกรรม บังเอิญไปต้องครุกาบัติตัวใดตัวหนึ่งซ้อนเข้าอีก ก็ต้องปฏิกัสสนาในมานัตต์ หากว่าเราต้องครุกาบัติแล้วปกปิดไว้คืนหนึ่ง ก็ต้องปฏิกัสสนามานัตต์อีก ๑ คืน ก็อยู่ชดเชยอีกคืนหนึ่ง จึงจะได้อัพภานกรรม

พวกเราทั้งหลายส่วนมาก ไม่ได้ปฏิกัสสนาหรอก แต่หากว่าจำเป็นจึงจะได้ปฏิกัสสนา ถ้าอยู่เหมือนกับที่พวกเราทั้งหลายอยู่อย่างนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิกัสสนา

ข้อสำคัญ ขอให้ท่านทั้งหลายระวังตัวเอง ขอให้เอาชนะตัวเองให้ได้ อย่าแพ้ตัวเอง อย่างไรๆ ก็พยายามเอาชนะตัวเอง อย่าให้ปฏิกัสสนา หากว่าอารมณ์ทางเพศมันรุนแรง วิธีแก้ไขก็ง่ายนิดเดียว เอายาทิงเจอร์มาเก็บไว้เลย เวลามันเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา มันทนไม่ไหวจริงๆ เทยาทิงเจอร์ลงไปใส่เลย หดเข้าเหมือนดักแด้เลย

แล้วก็ไม่เป็นไรหรอก การที่ล่วงทางเพศไม่มี วิธีแก้มันง่าย ไม่ต้องกำหนดมันหรอก แข็งหนอๆ ก็ไม่ต้องกำหนดหรอก ไม่ต้องกำหนดอะไรทั้งนั้น แสดงปฏิกิริยาขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องกำหนด รู้หนอๆ ก็ไม่ต้องกำหนด มันจะเอากูจริงๆ หรือนี่ เปิดขวดยาทิงเจอร์มาแล้วเทใส่เลย

เหมือนกับพระรูปหนึ่งไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ที่อุบลฯนี่ ปีนั้นไปผ่านิ่ว แต่ขอร้องว่า ไม่เอ่ยชื่อเขา เวลาไปผ่านิ่ว นางพยาบาลก็มาจับดู พอดีจับดู มันก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมา ก็พูดว่าอย่ากำหนัดสิๆ มันยิ่งขึ้นมาก อย่ากำหนัดฉันสิๆ มันก็ยิ่งมีปฏิกิริยาขึ้นๆ ของกายสิทธิ์มันตึงขึ้นๆ เขาบอกอย่างไรก็ยังไม่ยอมลดราวาศอก

ผลสุดท้าย เขาเอายาทิงเจอร์เทใส่ให้ พอมันถูกยา ทิงเจอร์เท่านั้น มันก็หดปานดักแด้ แทนที่เราจะต้องอาบัติสังฆาทิเสส ไม่เป็นอะไร เจ็บแสบนิดๆ หน่อยๆ อันนี้วิธีแก้ง่ายๆ เรายังไม่ได้ใช้กัมมัฏฐานตอนนี้ แต่ว่าใช้วิธีแก้ง่ายๆ ทำไปตามประสาชาวบ้าน

มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ในห้องกัมมัฏฐาน แต่ขอร้องอย่าทำเหมือนพระรูปนั้น เวลาทำไปทำไป แล้วก็บอกว่า หลวงพ่อ ผีมาเสพผม ผมเดินจงกรมอยู่ ผีมาเสพผม อย่างโน้นอย่างนี้ นั่งสมาธิอยู่ ผีมาเสพผมอย่างนั้นอย่างนี้ คืออารมณ์ทางเพศมันแรงเวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปนี่ พวกนิพพิทาญาณมันเกิดขึ้นมา พวกปฏิสังขาญาณ พวกนิพพิทาญาณมันเกิดขึ้นมา มันจะเกิดรุนแรงขึ้นมา ผลสุดท้ายแกเอาเข็มแทงเลย แทงด้านหลังทะลุเลย หลวงพ่อๆ เสร็จผมแล้วๆ อะไร เสร็จผมแล้ว ผมเอาเข็มแทงเอา ว่างั้น

เรื่องอย่างนี้ก็อย่าให้มี เพราะเป็นการทำร้ายตัวเอง ต้องอาบัติ เป็นอันว่าเมื่อเราขึ้นมานัตต์ครบ ๖ ราตรีแล้ว ก็จึงจะได้อัพภานกรรม เมื่อสงฆ์อัพภานกรรมแล้ว ก็ถือว่าสมบูรณ์ ก็ถือว่าศีลของเราก็สมบูรณ์ขึ้นมาแล้ว

ทีนี้ หากว่าการอยู่ปริวาสยังไม่ได้อัพภานกรรม เช่นอยู่ปริวาสไปแล้วยังเหลืออยู่อีก ๑๐ วัน จะได้ขอขึ้นมานัตต์อย่างนี้ บังเอิญเราสิกขาลาเพศไปซะ ยังไม่ได้ขึ้นมานัตต์ ยังไม่ได้ขึ้นอัพภานกรรมเลย เราอยู่ปริวาสกรรมมานานพอสมควร เหลืออีก ๑๐ วัน จะครบอายุของปริวาสแต่เราสิกขาลาเพศไปซะ เมื่อสิกขาลาเพศไป ภายหลังกลับมาบวชใหม่ ก็ต้องอยู่ปริวาสอีก ๑๐ วัน ต้องอยู่ปริวาสให้ครบ ๑๐ วัน จึงจะขึ้นมานัตต์ได้

นี่พระพุทธเจ้าเด็ดขาดนะ คือไม่ยอมให้เข้าหมู่ได้ง่ายๆ หากว่ายังไม่บริสุทธิ์แล้ว ไม่ทรงรับรอง แต่พระองค์ก็ทรงให้เกียรติ แทนที่เรามาบวชใหม่ จะต้องอยู่ปริวาสนับ ๑ ใหม่ ก็ไม่ต้องนับใหม่ (ให้นับบวกราตรีได้เลย) ที่อยู่ปริวาสมาแล้วก็ถือว่าเป็นอันแล้วไป แต่ที่ยังไม่ได้อยู่ยังอีก ๑๐ ราตรีนี่ยังไม่ได้อยู่ ก็ต้องอยู่ปริวาสให้ครบ ๑๐ ราตรีเสียก่อน จึงจะขึ้นมานัตต์ได้

หรือบางที ในขณะที่เราประพฤติมานัตต์อยู่ ยังอีก ๑ ราตรีจะครบ ๖ ราตรี แล้วจะได้อัพภานกรรม บังเอิญสิกขาลาเพศไปซะ เมื่อสิกขาลาเพศไป ภายหลังกลับมาบวชใหม่ ก็ต้องอยู่มานัตต์อีก ๑ ราตรีเสียก่อน แล้วจึงจะขออัพภานกรรมได้ พระพุทธเจ้าไม่ใช่อะลุ่มอล่วยให้ แล้วก็แล้วไป ไม่ใช่อย่างนั้น ถึงว่าสึกไปแล้วก็จริงอยู่ แต่ภายหลังกลับมาบวชใหม่ก็ต้องมาอยู่มานัตต์ใหม่ คิดว่าท่านทั้งหลายคงเข้าใจ

โทษของครุกาบัติที่ยังชำระไม่สิ้นสุด


ทีนี้ท่านทั้งหลาย เรื่องโทษของการต้องครุกาบัตินี้ ถ้าตามตำรับตำราก็ไม่อยากพูดหรอก ในวิมานวัตถุสูตรมีกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ผู้ต้องครุกาบัติแล้ว ถ้าว่ายังไม่ทำให้บริสุทธิ์ ถ้าหากว่าเราตายไปแล้ว ก็ต้องไปตกนรกชื่อว่า มหาตาปะนรก

มหาตาปะนรกนั้นนะ สมมติว่าเรายืนอยู่ หอกนั้นก็จะพุ่งมาทางด้านหน้าแทงที่หน้าอกเล่มหนึ่ง พุ่งมาด้านหลังเล่มหนึ่ง พุ่งมาทางซ้ายเล่มหนึ่ง พุ่งมาทางขวาเล่มหนึ่ง ไปจุกกันอยู่ตรงกลางแล้ว ก็เกิดเป็นไฟลุกโชติช่วงโชตนาการขึ้นมา ไหม้ร่างกายให้เป็นจุณวิจุณไป กรรมไม่สิ้นก็เกิดขึ้นมาใหม่ นี่ท่านกล่าวไว้ในวิมานวัตถุ ที่เอามาพูดนี่ไม่ใช่ว่าพูดให้ไม่สบายใจ เพียงแต่ว่าท่านกล่าวไว้อย่างนี้

แต่ที่ได้ประสบมาในปัจจุบัน ผู้ที่ต้องครุกาบัติแล้วยังไม่ได้ทำตัวเองให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว มีลูกมีเมียแล้ว บาปกรรมตัวนี้จะตามสนอง ส่วนมากตามสนองในภพนี้ชาตินี้แหละ เท่าที่หลวงพ่อเห็นมา บางทีก็มันเดือดร้อนทางครอบครัวว่างั้นเถอะ หากว่าบุญเก่าที่สร้างสมอบรมไว้ไม่มากจริงๆ แล้วเดือดร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ เดี๋ยวก็เจ็บโน้นเจ็บนี้ เดี๋ยวก็เป็นอย่างโน้น เดี๋ยวก็ไปหาหมอปัจจุบัน เดี๋ยวก็ไปหาหมอธรรมปราบผี อะไรร้อยแปดพันประการ

คือมันเกิดขึ้นมาแล้ว เหมือนกันกับอยู่ในนรก เดี๋ยวก็เจ็บโน้นเจ็บนี้ ตัวเองไม่ป่วย ลูกเมียก็ป่วย ลูกเมียไม่ป่วย ตัวเองก็ป่วย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ไปหาหมอผี เขาก็ว่าเป็นผี ไปหาหมอผีไท้ผีแถน ก็ว่าเป็นผีไท้ผีแถน เดี๋ยวก็ผีโน้นผีนี้ บ้างก็ไปสะเดาะเคราะห์ที่โน้นบ้าง สะเดาะเคราะห์ที่นี้บ้าง ไปรดน้ำมนต์ที่โน้นบ้าง ไปรดน้ำมนต์ที่นี้บ้าง แล้วก็ไปขอให้หมอนั้นถอนบ้าง หมอนี้ถอนบ้าง อะไรร้อยแปดพันประการ

ท่านทั้งหลายคงจะรู้ดี ที่มันเป็นอย่างนี้ ท่านทั้งหลายว่าผีเป็นผี ว่ายักษ์เป็นยักษ์ ว่ามารเป็นมาร ว่ากรรมเป็นกรรม ว่าเคราะห์เป็นเคราะห์ ว่าเข็ญเป็นเข็ญ (คือพอมีใครทักว่าเป็นอะไร เราก็จะน้อมใจเชื่อไปตามนั้น) หมอ ๕ คน ๑๐ คนมาดู ก็พูดไม่ตรงกัน เป็นเหตุให้ครอบครัวเดือดเป็นฟืนเป็นไฟ ทำอย่างไรก็ไม่หาย

หลวงพ่อเคยได้ช่วยเขาหลายๆ คน เมื่อเขาเป็นอย่างนี้ ก็คิดว่ามันเป็นอย่างไรหนอ มันจึงเป็นอย่างนี้ คิดไปคิดมาๆ พิจารณาไป มันเป็นเพราะต้องครุกาบัติแล้ว ยังไม่ทำตัวเองให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว ก็เป็นอันว่า เอาบาปตัวนี้ไปหาครอบหาครัว หลวงพ่อก็ชักชวนว่า คุณโยมหรือทิด หรือจารย์ ถ้าหากว่าท่านปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ท่านเข้ากรรม หากเป็นไปได้ก็ขอให้ถือโอกาสมาบวช ไปเข้ากรรมกับเขาซักแห่งสองแห่งก็จะดีขึ้น บางทีครอบครัวของเราจะมีความสุขขึ้นไปกว่านี้

แต่เราก็ไม่ได้บอกว่า คุณต้อง(อาบัติ)คุณเป็นกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่บอก บางคนเขาเชื่อ เขาก็มาบวช พอบวชแล้ว ก็ให้เข้าปริวาส เมื่อเขาออกจากปริวาสมาแล้วก็สิกขาลาเพศไป เย็นเหมือนกับถูกแช่อยู่ในน้ำแข็ง เหมือนกับอยู่ในห้องเย็นแน่ะ เพราะบาปที่ทำไว้มันหมดแล้ว มันหมดไปแล้ว ครอบครัวก็มีความสุข การดำเนินวิถีชีวิตก็ราบรื่น

แต่บางคนก็ไม่เอาเลย ไม่ยอมปฏิบัติตาม ไม่ยอมทำ บอกว่ามีข้อขัดข้องทางครอบครัวอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ ผลสุดท้ายก็อาภัพ ไฟไหม้บ้านบ้าง อย่างนี้ก็มี บางทีก็นอนไหลตายนะ บางทีหัวใจวายตาย นั่งตายก็มี แต่เราก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าจะพูดบอกเขาว่า มันเป็นเพราะกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็จะทำให้เกิดความกระทบกระเทือน เป็นแต่เพียงปลงธรรมสังเวชเท่านั้น

อันนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่าเราต้องครุกาบัติแล้ว แต่ยังไม่ทำให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว มีลูกมีเมีย บาปกรรมเหล่านี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนในเวลาครองฆราวาสอยู่ เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย หากว่าเราอยู่ในเพศพรหมจรรย์นี้ อยู่ไม่ได้อีกต่อไป เกิดความกระสันอยากสิกขาลาเพศ

เมื่ออยากสิกขาลาเพศแล้วก็พิสูจน์ดูว่า ศีลของเราบริสุทธิ์ดีไหม เห็นว่าไม่บริสุทธิ์ ก็ไปหาเข้าปริวาสกรรมในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งสักครั้งเสียก่อนแล้ว จึงค่อยสึกขาลาเพศ เมื่อเราเป็นญาติเป็นโยมไปแล้ว วิถีชีวิตของเราจะได้ราบรื่นดี อันนี้เป็นเกร็ดความรู้ที่นำมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟัง

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 73.0.3683.86 Chrome 73.0.3683.86


ดูรายละเอียด
« ตอบ #96 เมื่อ: 05 เมษายน 2562 10:55:27 »




โทษของครุกาบัติที่ยังชำระไม่สิ้นสุด
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ทีนี้ท่านทั้งหลาย เรื่องโทษของการต้องครุกาบัตินี้ ถ้าตามตำรับตำราก็ไม่อยากพูดหรอก ในวิมานวัตถุสูตรมีกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ผู้ต้องครุกาบัติแล้ว ถ้าว่ายังไม่ทำให้บริสุทธิ์ ถ้าหากว่าเราตายไปแล้ว ก็ต้องไปตกนรกชื่อว่า มหาตาปะนรก

มหาตาปะนรกนั้นนะ สมมติว่าเรายืนอยู่ หอกนั้นก็จะพุ่งมาทางด้านหน้าแทงที่หน้าอกเล่มหนึ่ง พุ่งมาด้านหลังเล่มหนึ่ง พุ่งมาทางซ้ายเล่มหนึ่ง พุ่งมาทางขวาเล่มหนึ่ง ไปจุกกันอยู่ตรงกลางแล้ว ก็เกิดเป็นไฟลุกโชติช่วงโชตนาการขึ้นมา ไหม้ร่างกายให้เป็นจุณวิจุณไป กรรมไม่สิ้นก็เกิดขึ้นมาใหม่ นี่ท่านกล่าวไว้ในวิมานวัตถุ ที่เอามาพูดนี่ไม่ใช่ว่าพูดให้ไม่สบายใจ เพียงแต่ว่าท่านกล่าวไว้อย่างนี้

แต่ที่ได้ประสบมาในปัจจุบัน ผู้ที่ต้องครุกาบัติแล้วยังไม่ได้ทำตัวเองให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว มีลูกมีเมียแล้ว บาปกรรมตัวนี้จะตามสนอง ส่วนมากตามสนองในภพนี้ชาตินี้แหละ เท่าที่หลวงพ่อเห็นมา บางทีก็มันเดือดร้อนทางครอบครัวว่างั้นเถอะ หากว่าบุญเก่าที่สร้างสมอบรมไว้ไม่มากจริงๆ แล้วเดือดร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ เดี๋ยวก็เจ็บโน้นเจ็บนี้ เดี๋ยวก็เป็นอย่างโน้น เดี๋ยวก็ไปหาหมอปัจจุบัน เดี๋ยวก็ไปหาหมอธรรมปราบผี อะไรร้อยแปดพันประการ

คือมันเกิดขึ้นมาแล้ว เหมือนกันกับอยู่ในนรก เดี๋ยวก็เจ็บโน้นเจ็บนี้ ตัวเองไม่ป่วย ลูกเมียก็ป่วย ลูกเมียไม่ป่วย ตัวเองก็ป่วย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ไปหาหมอผี เขาก็ว่าเป็นผี ไปหาหมอผีไท้ผีแถน ก็ว่าเป็นผีไท้ผีแถน เดี๋ยวก็ผีโน้นผีนี้ บ้างก็ไปสะเดาะเคราะห์ที่โน้นบ้าง สะเดาะเคราะห์ที่นี้บ้าง ไปรดน้ำมนต์ที่โน้นบ้าง ไปรดน้ำมนต์ที่นี้บ้าง แล้วก็ไปขอให้หมอนั้นถอนบ้าง หมอนี้ถอนบ้าง อะไรร้อยแปดพันประการ

ท่านทั้งหลายคงจะรู้ดี ที่มันเป็นอย่างนี้ ท่านทั้งหลายว่าผีเป็นผี ว่ายักษ์เป็นยักษ์ ว่ามารเป็นมาร ว่ากรรมเป็นกรรม ว่าเคราะห์เป็นเคราะห์ ว่าเข็ญเป็นเข็ญ (คือพอมีใครทักว่าเป็นอะไร เราก็จะน้อมใจเชื่อไปตามนั้น) หมอ ๕ คน ๑๐ คนมาดู ก็พูดไม่ตรงกัน เป็นเหตุให้ครอบครัวเดือดเป็นฟืนเป็นไฟ ทำอย่างไรก็ไม่หาย

หลวงพ่อเคยได้ช่วยเขาหลายๆ คน เมื่อเขาเป็นอย่างนี้ ก็คิดว่ามันเป็นอย่างไรหนอ มันจึงเป็นอย่างนี้ คิดไปคิดมาๆ พิจารณาไป มันเป็นเพราะต้องครุกาบัติแล้ว ยังไม่ทำตัวเองให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว ก็เป็นอันว่า เอาบาปตัวนี้ไปหาครอบหาครัว หลวงพ่อก็ชักชวนว่า คุณโยมหรือทิด หรือจารย์ ถ้าหากว่าท่านปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ท่านเข้ากรรม หากเป็นไปได้ก็ขอให้ถือโอกาสมาบวช ไปเข้ากรรมกับเขาซักแห่งสองแห่งก็จะดีขึ้น บางทีครอบครัวของเราจะมีความสุขขึ้นไปกว่านี้

แต่เราก็ไม่ได้บอกว่า คุณต้อง(อาบัติ)คุณเป็นกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่บอก บางคนเขาเชื่อ เขาก็มาบวช พอบวชแล้ว ก็ให้เข้าปริวาส เมื่อเขาออกจากปริวาสมาแล้วก็สิกขาลาเพศไป เย็นเหมือนกับถูกแช่อยู่ในน้ำแข็ง เหมือนกับอยู่ในห้องเย็นแน่ะ เพราะบาปที่ทำไว้มันหมดแล้ว มันหมดไปแล้ว ครอบครัวก็มีความสุข การดำเนินวิถีชีวิตก็ราบรื่น

แต่บางคนก็ไม่เอาเลย ไม่ยอมปฏิบัติตาม ไม่ยอมทำ บอกว่ามีข้อขัดข้องทางครอบครัวอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ ผลสุดท้ายก็อาภัพ ไฟไหม้บ้านบ้าง อย่างนี้ก็มี บางทีก็นอนไหลตายนะ บางทีหัวใจวายตาย นั่งตายก็มี แต่เราก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าจะพูดบอกเขาว่า มันเป็นเพราะกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็จะทำให้เกิดความกระทบกระเทือน เป็นแต่เพียงปลงธรรมสังเวชเท่านั้น

อันนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่าเราต้องครุกาบัติแล้ว แต่ยังไม่ทำให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว มีลูกมีเมีย บาปกรรมเหล่านี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนในเวลาครองฆราวาสอยู่ เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย หากว่าเราอยู่ในเพศพรหมจรรย์นี้ อยู่ไม่ได้อีกต่อไป เกิดความกระสันอยากสิกขาลาเพศ

เมื่ออยากสิกขาลาเพศแล้วก็พิสูจน์ดูว่า ศีลของเราบริสุทธิ์ดีไหม เห็นว่าไม่บริสุทธิ์ ก็ไปหาเข้าปริวาสกรรมในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งสักครั้งเสียก่อนแล้ว จึงค่อยสึกขาลาเพศ เมื่อเราเป็นญาติเป็นโยมไปแล้ว วิถีชีวิตของเราจะได้ราบรื่นดี อันนี้เป็นเกร็ดความรู้ที่นำมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟัง

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 73.0.3683.103 Chrome 73.0.3683.103


ดูรายละเอียด
« ตอบ #97 เมื่อ: 26 เมษายน 2562 13:12:36 »




การสงเคราะห์ญาติ
ญาตกานญฺจ สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมนฺติ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพจะได้น้อมเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดง เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เพิ่มพูนกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติของท่านทั้งหลาย

ด้วยว่าวันนี้ ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา คือวันสำคัญในทางพุทธศาสนานั้นที่ท่านจัดไว้ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และก็วันอาสาฬหบูชา แต่สำหรับวันนี้เป็นวันญาติ เป็นวันที่พวกเราทั้งหลายไว้อาลัยถึงญาติ หรือว่านึกถึงญาติ

ญาติ นั้น หมายเอาทั้งญาติที่อยู่ด้วยกันในปัจจุบันชาตินี้ และหมายรวมไปถึงญาติที่ล่วงมาแล้วแต่ในอดีตไกลๆ โน้น นี่นับว่าเป็นญาติ

วันนี้ เรามาบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล เพื่อบำเพ็ญกตัญญูกตเวทิตาธรรม อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปถึงญาติทั้งหลายที่ล่วงลับวายชนม์ไปยังปรโลกเบื้องหน้าบ้าง และเป็นการสงเคราะห์อนุเคราะห์ญาติมิตรทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันในโลกนี้บ้าง เพราะว่าการที่เราทั้งหลายมีความกตัญญูกตเวทีต่อกันนี้ ถือว่าเป็นนิมิตหมายของคนดี ดังพระธรรมภาษิตที่ว่า

นิมิตตํ สาธุรูปานํ  กตญฺญูกตเวทิตา
ความกตัญญูกตเวที เป็นนิมิตคือเครื่องหมายของคนดี

เขาจะดูคน ว่าคนนี้เป็นคนดีหรือคนไม่ดี เขาต้องดูกันที่ว่าคนนี้เป็นคนมีความกตัญญูกตเวทีหรือไม่ ถ้ามีความกตัญญูกตเวที รู้อุปการคุณของผู้อื่น แล้วก็ตอบแทนคุณของผู้อื่น ก็จัดว่าเป็นคนดีได้ แต่ถ้ารู้คุณของผู้อื่นอยู่ แต่ไม่ตอบบุญสนองคุณของผู้อื่น ก็ยังจัดว่าเป็นคนดีไม่ได้

สำหรับญาตินั้น ในทางพระพุทธศาสนาจัดไว้เป็น ๗ ชั้น คือ

๑) ชั้นเราเอง ชั้นเราเองนี้ ก็รวมทั้งพี่หญิง พี่ชายน้องหญิง น้องชาย

๒) ชั้นบน คือพ่อ แม่ และก็พี่หญิง พี่ชายของพ่อของแม่ น้องหญิง น้องชายของพ่อของแม่

๓) ชั้นปู่ ก็หมายเอา ทั้งปู่ ทั้งย่า ทั้งตา ทั้งยาย พี่หญิง พี่ชายของปู่ของย่า น้องหญิง น้องชายของปู่ของย่า ตายาย

๔) ทวด แล้วก็พี่หญิง พี่ชาย ของปู่ทวด ตาทวด น้องหญิง น้องชาย ของปู่ทวด ตาทวด ย่าทวด ยายทวด

๕) ชั้นล่าง ก็หมายเอาลูกหญิงลูกชายของเรา

๖) หมายเอาหลานหญิง หลานชาย

๗) หมายเอาเหลนหญิง เหลนชาย

คนทั้งหลายจะเห็นกันได้ก็เพียง ๗ บุพชนก หรือชั่ว ๗ โคตรนี้เท่านั้น นอกนั้นก็ไม่เห็นกัน คือสูงขึ้นไปเราจะเห็นกันอย่างมากที่สุดก็ถึงทวด ต่ำลงไปเราก็จะเห็นได้ก็เฉพาะเหลนเท่านั้น คนที่นับเนื่องกันชั่ว ๗ บุพชนก บุพชนนีนี่แหละ เรียกว่า เป็นญาติ

ทีนี้ สำหรับ เขยและสะใภ้ ไม่นับว่าเป็นญาติ เว้นไว้แต่ผู้นั้นจะเกี่ยวเป็นญาติด้วย คือหมายความว่า ถ้าเขยหรือสะใภ้ที่ไม่อยู่ในวงศ์ตระกูลชั่ว ๗ บุพชนก บุพชนนี ชั่ว ๗ โคตรนี้ ไม่นับว่าเป็นญาติ แต่ว่าถ้าผู้ที่เป็นเขยเป็นสะใภ้นั้นอยู่ในวงศ์เดียวกัน บ้านเราเรียกว่า ญาติพี่น้องแต่งงานกัน เช่นว่า ลูกป้า ลูกลุง ลูกน้า ลูกอา แต่งงานกัน อันนี้ เขยหรือสะใภ้นั้นก็นับว่าเป็นญาติด้วย

การที่เราทั้งหลายสงเคราะห์ญาตินั้น ก็แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

ประเภทที่หนึ่ง สงเคราะห์ด้วยอามิส (มีลักษณะคือ)

๑) ได้แก่สงเคราะห์ด้วยเครื่องนุ่งเครื่องห่ม เครื่องประดับประดาตกแต่งร่างกาย เท่าที่เราทั้งหลายจะหาได้ หรือหากว่าญาติพี่น้องทั้งหลายเกิดความเดือดร้อนขึ้นมา แล้วมาหาเราเพื่อขอความช่วยเหลือ เราก็ช่วยเหลือไปตามฐานะเท่าที่เราจะทำได้ หรือว่าลูกๆ หลานๆ ญาติพี่น้องของเราไปศึกษาเล่าเรียน ไม่มีเงินเสียค่าเทอม ไม่มีเงินซื้อเครื่องแต่งตัว ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียน มาขอร้องเพื่อขอความช่วยเหลือ เราก็ช่วยเหลือไปตามฐานะที่เราจะทำได้ สรุปแล้วว่า การที่เราช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของต่างๆ นานาประการ ตามเกิดตามมีนี้ เรียกว่า ช่วยเหลือกันด้วยอามิส

๒) ช่วยเหลือกันด้วยอาหารการบริโภค คือคนเรานั้นเกิดขึ้นมาแล้ว จะเป็นผู้ที่มั่งมีศรีสุขเหมือนกันทั้งหมด หามิได้ หรือเรามั่งมีศรีสุขแล้ว จะมั่งมีศรีสุขตลอดไปนั้น ก็เป็นสิ่งไม่แน่นอนเหมือนกัน หรือว่า ถึงเรายากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคืองก็นึกว่าตนจะได้รับความทนทุกข์เดือดร้อนอย่างนี้ตลอดไป ก็เป็นของที่ไม่แน่นอนเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น หากญาติพี่น้องของเราเป็นคนที่ยากจน ขาดอาหารการบริโภค คือหมายความว่า ข้าวจะรับประทาน ข้าวจะบริโภคระหว่างครอบครัวก็ไม่มี แล้วก็มาหาเราผู้เป็นญาติ ผู้มีอันจะอยู่จะกิน เราก็ช่วยสงเคราะห์กันตามเกิดตามมี มีข้าวปลาอาหาร เราก็หยิบยื่นส่งให้กัน

เมื่อก่อนโน้น ในสมัยที่อาตมายังเป็นเด็กอยู่ รู้สึกว่าญาติพี่น้องทั้งหลายนี้มีความรักใคร่กลมเกลียวเป็นอันดี มีอะไรก็ส่งเสียกันไม่เหมือนกับสมัยนี้ เดี๋ยวนี้ คุณค่านิยมอันดีๆ นั้นก็เลือนหายไปแล้ว ไม่ยักจะมี คือเมื่อก่อนโน้น พวกเราชาวบ้านพากันไปหาอยู่หากินมา ได้อาหารการกินการอยู่มาแล้วก็แบ่งสันปันส่วนกันตามเกิดตามมี

ส่วนนี้ไปให้พ่อให้แม่ ส่วนนี้ไปให้ป้าให้ลุง ส่วนนี้ให้น้าให้อา ส่วนนี้ไปให้มิตรที่มีความรักใคร่นับถือกัน คนเราเมื่อได้รับการสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน ก็เป็นที่รักใคร่นับถือกัน ยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้ได้ เพราะว่าผู้ให้นั้นย่อมเป็นที่รักใคร่ของผู้รับ ผู้รับย่อมเคารพนับถือต่อผู้ให้ เหตุนั้น การที่เราสงเคราะห์กันด้วยอาหารการบริโภคนี้ ก็เรียกว่าเป็นการสงเคราะห์ญาติด้วยอามิสประการหนึ่ง

๓) เราสงเคราะห์ด้วยที่อยู่ที่อาศัย สมมติว่า ญาติพี่น้องของเราเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่มีที่จะทำอยู่ทำกิน เรามีพอจะแบ่งสันปันส่วนหรือมีทุนมีรอนก็ช่วยเหลือกัน จะรวบรวมทุนรอนนั้นซื้อที่ทำอยู่ทำกินให้บ้าง หรือว่าญาติพี่น้องไม่มีที่ปลูกบ้าน เราก็ช่วยกันออกทุนออกรอนให้ โดยให้กู้ให้ยืมก็ยังดีกว่าไม่ให้เสียเลย

ถ้าว่าญาติพี่น้องของเรามีธุระเกิดขึ้น เช่น จะปลูกบ้าน ปลูกเรือน หรือทำกิจทำการต่างๆ เช่น ทำไร่ ทำนา เป็นต้น เราก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จนกว่าการงานจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการสงเคราะห์ญาติด้วยอามิสประการหนึ่ง

๔) เมื่อญาติพี่น้องของเรามีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เราก็ไม่นิ่งดูดาย ไม่เป็นคนใจจืดใจดำ เป็นคนที่ประกอบด้วยเมตตาอารีย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน เยี่ยมป่วยเยี่ยมไข้กัน เฝ้าป่วยเฝ้าไข้กัน มีหยูกมียาก็หามารักษา พยาบาลกัน หรือว่าจำเป็นที่จะต้องไปหาแพทย์ หาหมอ เพราะถ้าว่าหมอบ้านเรา แพทย์บ้านเราไม่สามารถจะรักษาได้ เราก็ช่วยนำพาไปหาแพทย์หาหมอ(ร.พ.)เพื่อเยียวยารักษา พยาบาลให้โรคภัยไข้เจ็บนั้นหายไป

แต่ประเพณีอันนี้ก็เสียอยู่อย่างหนึ่ง คือสมมติว่า มีญาติโกโหติกาของเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ไปรักษาที่โรงพยาบาลเขมราฐบ้าง ตระการบ้าง อำนาจบ้าง หรือเมืองอุบลบ้าง พวกญาติพี่น้องทั้งหลายก็เฮโลกันไปเป็นคันรถ ๒ คันรถ แต่เมื่อไปแล้ว แทนที่จะช่วยเหลือกัน ก็ไม่ช่วยเหลือกัน การอยู่การกินก็อยู่กับเจ้าทุกข์ ค่ารถค่ารา การไปการมาก็อยู่กับเจ้าทุกข์ คืออะไรๆ ภารธุระทุกสิ่งทุกอย่างก็อยู่ที่เจ้าทุกข์ แทนที่เจ้าทุกข์จะได้ใช้เงินใช้ทองเหล่านั้นมาเป็นเครื่องพยาบาล กลับตาลปัตรตรงกันข้าม กลับต้องมาใช้เป็นค่าอาหาร ค่ารถค่าราให้ญาติพี่น้องที่ไปเยี่ยมไปยามเสีย

อันนี้ก็ขอกระซิบชาวบ้านของเราทั้งหลาย ต่อไปก็ขออย่าได้ทำอย่างนี้ ขอให้ช่วยเหลือเกื้อหนุนกัน เพราะคนเราเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ส่วนมากก็ไม่มีสะตุ้งสตังค์ เชือกเวลามันจะขาด มันก็ขาดที่มันกิ่ว คนเราเมื่อทรัพย์สินเงินทองไม่มี เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้น ให้ช่วยเหลือกัน ถ้าเราช่วยเหลือกันได้อย่างนี้ เรียกว่าเราได้สงเคราะห์ญาติด้วยอามิสเป็นประการที่ ๔

ประเภทที่ ๒ (สงเคราะห์ด้วยธรรม) ทีนี้ นอกจากเราจะสงเคราะห์ญาติของเราด้วยอามิสแล้ว ก็สงเคราะห์ด้วยธรรมะ หมายความว่าช่วยแนะนำพร่ำสอนตักเตือนกัน ให้รู้จักความผิดชอบชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ แนะนำตักเตือนกันให้รู้จักประโยชน์โลกนี้ ให้รู้จักประโยชน์โลกหน้า ให้รู้จักประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน ให้รู้จักการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ ให้รู้จักวิธีเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา

หากว่าเห็นลูกๆ หลานๆ ของเราไปทำผิด เราก็ช่วยตักเตือนกัน ไม่ใช่ว่าจะปล่อยไปตามเลย พวกเราทั้งหลายทุกวันนี้ ขาดธรรมะข้อนี้เสียเป็นส่วนมาก กระทั่งผู้เป็นพ่อเป็นแม่ ส่วนมากก็ไม่นำพาในลูกในหลาน สมมติว่า ลูกหลานของเราไปดมกาวก็ดี ไปดมทินเนอร์ก็ดี สูบกัญชาก็ดี สูบฝิ่นก็ดี ไปสูบเฮโรอีนก็ดี ไปกินเหล้าเมาสุราก็ดี ไปติดการพนันก็ดี เป็นคนเจ้าชู้ก็ดี สำหรับผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่นั้น ควรที่จะเอาใจใส่ แนะนำ พร่ำสอน ตักเตือนผู้เป็นลูกเป็นหลานของเรา

หากว่าลูกที่บังเกิดในหัวอกของเราแล้ว หากเราไม่เตือนแล้ว ใครล่ะจะมาเป็นผู้มาตักเตือน เหตุนั้น ข้อนี้ถือว่าเป็นการบกพร่องของผู้เป็นพ่อเป็นแม่เท่าที่หลวงพ่อมาอยู่ด้วยหลายปีมานี้ ส่วนมากสังเกตเห็นว่าข้อนี้บกพร่อง ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ส่วนมากนั้นบกพร่องกัน ไม่เอาใจใส่ในลูกในหลาน

บางทีบวชเข้ามาในวัดในวาแล้ว ก็ยังเป็นสิงห์เฮโรอีนอยู่ ต้องให้สิกขาลาเพศไป บวชมาแล้วแทนที่ว่า เราไม่ให้สูบกัญชา ไม่ให้สูบฝิ่น ไม่ให้สูบเฮโรอีน ไม่ให้เสพของมึนเมา แต่บางคนบวชเข้ามาแล้ว ก็เอายาแก้ปวดหายนี่แหละมาผสมกันมาบวกกันกับยากรุงทอง สามิตร สายฝน รวงทองอะไรทำนองนี้ ก็พากันสูบ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ นี้หากว่าเมื่อมาบวชแล้วไม่ดี ก็หาว่าหลวงพ่อนี้ไม่เอาใจใส่แนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหา หลวงพ่อหายใจทุกลมหายใจนั้น เป็นของลูกศิษย์ลูกหา เป็นของญาติของโยมไปทั้งหมด มันก็เป็นมาแต่ก่อนบวชโน้น เมื่อเราจะมาดัดแปลงเอาเป็นเวลา ๑ เดือน หรือ ๒ เดือนนี้ บางทีมันก็ทำได้ บางทีก็ทำไม่ได้

เหตุนั้น การที่เราทั้งหลายตักเตือนญาติพี่น้องของเราให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ให้รู้จักประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ให้รู้ว่าสิ่งใดประพฤติปฏิบัติแล้วจะนำมาซึ่งโทษทุกข์ สิ่งใดประพฤติปฏิบัติแล้วจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ เราก็สงเคราะห์กันอย่างนี้ด้วยตักเตือนกัน ก็เรียกว่าเป็นการสงเคราะห์ญาติด้วยธรรมะ

ทีนี้หากว่าผู้ใดไม่สงเคราะห์ญาติล่ะ ไม่เอาใจใส่ในการสงเคราะห์ญาติ เมินเฉยต่อการสงเคราะห์ญาติ ผู้นั้นก็จะมีแต่ความล่มจมไปตามลำดับ ดังที่เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ญาติพี่น้องหันหน้าเข้าหากันไม่ได้ ป้าลุง น้าอา หันหน้าเข้าหากันไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไม่มีการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน เมื่อเราไม่มีการสงเคราะห์กัน ก็มีแต่ความเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็ตัดญาติขาดมิตร ไม่รู้จักกัน ไม่รู้ว่าใครเป็นญาติ ใครไม่เป็นญาติ

เมื่อเราไม่ไปหามาสู่กัน บ้านเฮาเพิ่นว่า แก้วบ่ขัดสามปีเป็นแฮ่ พี่น้องบ่แหว่สามปีเป็นเพิ่น หมายความว่าถ้าเราไม่มีการสงเคราะห์กัน เราไม่มีการไปหามาสู่กัน ผลสุดท้ายก็ลืมเลือนกัน จำกันไม่ได้ การสงเคราะห์ญาตินี้ ถือว่าเป็นมงคลทั้งในปัจจุบันและอนาคต ถ้าว่าเรามีการสงเคราะห์กันนี้ ก็นับว่าเป็นมงคลอันสูงสุด ดังพระพุทธพจน์ที่ได้ยกไว้เป็นนิกเขปบทในเบื้องต้นนั้นว่า

ญาตกานญฺจ สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ. การสงเคราะห์ญาติ เป็นมงคลอันประเสริฐสุด

ส่วนการไม่สงเคราะห์ญาตินี้ ถือว่าเป็นการตัดอนาคตอีกเหมือนกัน ถ้าว่าเราคิดว่าอนาคตจึงจะสงเคราะห์ญาติ คือตายไปแล้วเกิดชาติใหม่โน้นจึงจะมาสงเคราะห์ญาติ มันก็สงเคราะห์กันไม่ได้ หรือว่าบางครั้ง ผู้นั้นอาจจะเคยเป็นญาติของเรามาก่อน เราอาจจะระลึกได้อยู่ว่าคนนี้เคยเป็นญาติของเรามาก่อน เราก็ทำการสงเคราะห์ แต่เมื่อสงเคราะห์ไปแล้ว ก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสองฝ่าย ถ้าว่าเราไม่สงเคราะห์ญาตินั้น ปัจจุบันก็ไม่มีการสงเคราะห์ญาติ วันหน้าเราก็ไม่มีการสงเคราะห์ญาติของเรา ก็มีแต่จะได้รับความอับเฉาเสื่อมโทรมลงไปตามลำดับ

อุปมาเหมือนกับพระจันทร์ในข้างแรม มีแต่มืดเข้าไปทุกวันๆ แต่ละวันๆ ก็มืดเข้าไปทุกวันๆ ผลสุดท้ายก็ถึงวันพระจันทร์ดับ ไม่มีแสงสว่างโผล่ออกมาให้เราเห็น ฉันใด ถ้าว่าพวกเราทั้งหลายไม่มีการสงเคราะห์ญาติแล้ว ก็จะมีแต่ความอับเฉาเสื่อมโทรมลงไปทุกวัน บ้านเมืองก็ระส่ำระสาย ไม่มีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่ถ้าพวกเราทั้งหลายมีการสงเคราะห์ญาติ เอาใจใส่ในการสงเคราะห์ญาติ ไปหามาสู่กัน ช่วยเหลือสงเคราะห์กัน ด้วยอามิสบ้าง ด้วยธรรมะบ้าง ผู้นั้นก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง วัฒนาถาวรตลอดไป

อุปมาเหมือนพระจันทร์ในข้างขึ้น มีแต่จะส่องแสงสว่างขึ้นไปตามลำดับๆ วันนี้สว่างแค่นี้ วัน ๒ ค่ำสว่างขึ้นไปอีก ๓ ค่ำสว่างขึ้นไปอีก ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ๖ ค่ำ ๗ ค่ำ สว่างขึ้นไปอีก แล้วก็สว่างขึ้นไปเรื่อยๆ จนพระจันทร์วันเพ็ญ แล้วก็แผ่รัศมีคือแสงสว่างนั้นเต็มทั่วไปทั้งหมด ฉันใด

การที่เราทั้งหลายเอาใจใส่สงเคราะห์ญาติของเรา ด้วยการให้อามิสสิ่งของก็ดี ด้วยการให้ธรรมะก็ดี ย่อมจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง วัฒนาสถาพรตลอดไป แล้วก็จะมีความสามัคคีปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อระหว่างหมู่ญาติต่อหมู่ญาติมีความสามัคคีกัน บ้านก็สามัคคีกัน ระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้านก็มีความสามัคคีกัน ระหว่างตำบลต่อตำบล อำเภอต่ออำเภอ จังหวัดต่อจังหวัด ก็มีความสามัคคี ปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ญาติโยม ท่านสาธุชนทั้งหลาย คนเราทั้งหลายนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มีทรัพย์สินเงินทองพอจะอยู่จะกิน มีพอจะอยู่จะใช้ แต่เราไม่ใช้ไม่กิน และก็ไม่ทำบุญกุศลศีลทาน ถึงจะมีทรัพย์มากสักปานใด ก็ถือว่า เป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ไม่มีเงินไม่มีทอง ไม่สามารถที่จะได้รับประโยชน์อะไรจากการมีทรัพย์สมบัตินั้น ในโลกนี้เราก็ยังไม่ได้รับความสุขจากการมีทรัพย์

เมื่อตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ เราก็ยิ่งจะเป็นคนจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง ต้องขอบ้านขอเมืองเขากินจึงจะได้กิน ตัวอย่าง เรื่อง อปุตตกเศรษฐี

มีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีคนหนึ่งมีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ แต่ไม่มีบุตร เศรษฐีคนนั้นเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวทรัพย์สมบัติ เวลาจะรับประทานอาหารก็รับประทานแต่ของบูดๆ ราๆ เวลาจะบริโภคผลไม้ ก็บริโภคแต่ผลไม้ที่เน่าๆ เสียๆ เวลาจะนุ่งจะห่มก็นุ่งห่มแต่ของเก่าๆ อันหาราคาค่างวดมิได้ เป็นคนตระหนี่มาก หลังจากนั้นมาไม่นานเศรษฐีคนนั้นก็ถึงแก่กรรม

ตทา ราชา ครั้งนั้น สมเด็จพระราชาทรงทราบว่าเศรษฐีคนนี้เขาไม่มีบุตร จึงสั่งเจ้าหน้าที่คลังหลวงทั้งหลายไปขนทรัพย์ทั้ง ๘๐ โกฏิของเศรษฐีนั้นมาไว้ในคลังหลวง สำหรับอปุตตกเศรษฐีนั้น เมื่อจุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ไปบังเกิดในท้องคนขอทาน เมื่อไปเกิดในท้องคนขอทานนั้น ระหว่างคนขอทานนั้นมีเป็นจำนวนมาก เขาก็แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ วันนี้กลุ่มนี้ไปขอทานบ้านโน้น กลุ่มนี้ไปขอทานบ้านนี้ กลุ่มนี้ไปขอทานบ้านนั้น สลับกันไป

ทีนี้วันไหนที่มารดาของทารก(อดีตชาติคืออปุตตกเศรษฐี)นั้นไปด้วย วันนั้นก็ขอไม่ได้ คนขอทานทั้งกลุ่มนั้นแหละ จะขออะไรไม่ได้เลย แม้แต่ข้าวขันเดียว เงินหนึ่งบาทก็ขอไม่ได้ ผลสุดท้ายเขาก็เลยไม่ให้ไปด้วย ไม่ให้ไปขอทานกับเขา เขาให้อยู่บ้าน ให้อยู่ที่พัก เมื่อคนขอทานทั้งหลายเหล่านั้นไปขอทานได้แล้ว จึงแบ่งข้าวปลาอาหารเงินทองให้อยู่ให้กินสืบไปวันๆ พอประทังชีวิตไว้

ครั้นจำเนียรกาลนานมา เมื่อถือครรภ์ถึง ๙ เดือนแล้ว ก็คลอดบุตรออกมา เมื่อคลอดบุตรออกมาแล้ว วันไหนเอาบุตรไปขอทานด้วย วันนั้นก็เป็นอันว่าไม่ได้ แม้แต่ข้าวขันเดียว เงินบาทเดียวก็ไม่ได้ เพราะเหตุไร เพราะเหตุที่(ชาติก่อน)อปุตตกเศรษฐีนั้นมีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ แต่แม้สตางค์เดียวก็ไม่เคยทำบุญทำทานเลย

เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว จะรับประทานอาหาร ก็รับประทานแต่ของที่มันบูดๆ ราๆ จะบริโภคผลไม้ ก็บริโภคแต่ผลที่มันเน่าๆ เสียๆ แล้วจะนุ่งจะห่ม ก็นุ่งห่มแต่ของที่เก่าหาราคาค่างวดมิได้ เขาเรียกว่า เศรษฐีขี้ทุกข์ มีทรัพย์สมบัติ แต่ก็ไม่สามารถทำทรัพย์สมบัติให้เกิดประโยชน์ได้

ครั้นทารกนั้นเจริญวัยขึ้นมา เวลาจะไปขอทาน ทีนี้มารดาต้องเอาไปฝากไว้กับพวกเด็กชาวบ้านทั้งหลาย แล้วก็ไปขอทาน กลับมาแล้วจึงมารับเอาลูกของตนไป วันหนึ่ง ในขณะที่จะไปขอทานในเมือง แล้วก็เอาบุตรของตนนี้ไปฝากไว้กับทารกทั้งหลาย ใกล้ประตูเมือง

สตฺถา ปิณฺฑาย อาคนฺตฺวา วันนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนคร เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงที่ที่เด็กทารกนั้นเล่นอยู่กับเด็กทั้งหลาย ทรงแย้มพระโอษฐ์ บ้านเราว่า ทรงยิ้ม คือพระพุทธเจ้านั้นไม่หัวเราะเหมือนกับพวกเรานะ ไม่ยิ้มเหมือนพวกเรา จะมีอาการเฉยอยู่ตลอดเวลา แต่อาการเฉยของพระองค์นั้น ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะมีใจจืดใจดำนะ แต่ว่าทรงเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา เมื่อมีเหตุอะไรๆ เกิดขึ้น พระองค์จึงแย้มพระโอษฐ์

ในเมื่อพระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ คือยิ้มออกมาเท่านั้นแหละ พระอานนท์ก็รู้ทันที พระพุทธเจ้าข้า มีเหตุอะไรหรือพระองค์จึงทรงแย้มพระโอษฐ์ ดูกรอานนท์ อปุตตกเศรษฐีมาเกิดในครรภ์ของคนขอทานในที่นี้แล้ว ดูสินี่ เมื่อก่อนโน้นเขาเป็นอปุตตกเศรษฐี มีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ แต่เขาไม่ทำบุญทำทาน ตายแล้วจึงมาเกิดอยู่ในท้องคนขอทาน เกิดมาแล้วก็มีรูปร่างอัปลักษณ์ ไม่เหมือนกับคนทั้งหลายชาวบ้านเขา

ขณะนั้นพระอานนท์จึงกราบทูลไปว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะเหตุไร เรื่องนี้จึงเป็นอย่างนี้ พระพุทธองค์ก็จึงทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนโน้น อปุตตกเศรษฐีนี้ สาเหตุที่เขาได้เป็นเศรษฐี หรือเกิดในตระกูลเศรษฐีนั้น ก็เพราะว่าเขาได้ทำบุญทำทานไว้ในชาติปางก่อน แต่ที่เขาไม่มีบุตรนั้น เพราะว่าเขาได้ฆ่าบุตรของพี่ชายของเขา แล้วพระองค์ก็ทรงนำเอาอดีตนิทานแต่ปางก่อนโน้นมาเล่าสู่พระภิกษุทั้งหลายฟังว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงมานานแล้ว เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ยังบำเพ็ญบารมีอยู่ ได้เกิดในตระกูลเศรษฐี มีน้องชายคนหนึ่ง น้องชายนั้นก็คืออปุตตกเศรษฐีคนนี้แหละ และเศรษฐีนั้นก็มีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ เมื่อจำเนียรกาลล่วงมา บิดามารดาตาย ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ตกเป็นมรดกของพี่ชายและน้องชาย สำหรับพระโพธิสัตว์เจ้าผู้เป็นพี่ชายก็แบ่งมรดกนั้นออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งก็ให้น้องชาย ส่วนหนึ่งก็เป็นของตัวเอง

ครั้นจำเนียรกาลนานมา พระโพธิสัตว์เจ้าแต่งงานแล้ว ก็ได้บุตรชายคนหนึ่ง เมื่อได้บุตรชายแล้ว อยู่มาวันหนึ่งก็มาพิจารณาเห็นว่า การอยู่ครองฆราวาสนี้ เต็มไปด้วยโทษทุกข์ มีความคับแค้นมาก เกิดความเบื่อหน่ายในการครองฆราวาส เห็นว่าการบรรพชานี้มีช่องว่างพอมีทางที่จะแสวงหาบุญกุศลให้ภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว จิตใจก็น้อมไปในการบรรพชา

จึงได้เรียกน้องชายนั้นมาว่า ดูกรน้องที่รักของพี่ สำหรับทรัพย์สมบัติทั้งหมด พร้อมทั้งบุตรชายและภรรยาของพี่นี้ พี่ขอมอบให้แก่เธอ คือมอบให้ทั้งภรรยาด้วย มอบให้ทั้งบุตรด้วย และก็มอบให้ทรัพย์สมบัติด้วย แต่สำหรับพี่นั้นจะขอลาบวช เสร็จแล้วก็ออกไปบวชเป็นฤๅษีดาบสอยู่ในป่าหิมพานต์ เจริญพรหมวิหารจนได้ฌาน ได้อภิญญาโลกีย์ เหาะเหินเดินอากาศได้

แต่สำหรับน้องชายที่อยู่ทางบ้าน เมื่อได้พี่สะใภ้มาเป็นภรรยาแล้ว ก็มีบุตรเกิดขึ้นมาอีกคนหนึ่ง เมื่อบุตรเกิดขึ้นมาแล้วก็มาคิดว่า เรามีบุตร ๒ คนแล้ว เป็นบุตรของพี่ชายคนหนึ่ง และก็เป็นบุตรของเราคนหนึ่ง ถ้าว่าบุตรของพี่ชายยังอยู่นี้ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็จะต้องแบ่งออกเป็นสองส่วน เป็นของบุตรชายของพี่ชายนั้นส่วนหนึ่ง เป็นมรดกของบุตรเราส่วนหนึ่ง อย่ากระนั้นเลย เราฆ่าบุตรพี่ชายนั้นดีกว่า เราเหลือไว้แต่บุตรของเรา

วันหนึ่ง ก็เลยชักชวนหลานชายนั้นลงไปท่าน้ำ เมื่อไปถึงท่าน้ำแล้วก็ชวนลงอาบน้ำ เมื่อลงอาบน้ำแล้วก็กดหลานชายนั้นให้จมน้ำตายไป เมื่อหลานตายไปแล้ว ก็กลับมาถึงบ้าน เล่าให้ภรรยาฟังว่า บุตรของท่านตายแล้ว สำหรับภรรยาผู้เป็นพี่สะใภ้นั้นก็ร้องห่มร้องไห้ มีความอาลัยอาวรณ์นึกถึงบุตรของตน

ขณะนั้น ก็ร้อนถึงพระโพธิสัตว์ ซึ่งไปบำเพ็ญพรตเป็นฤๅษีอยู่ที่ป่าหิมพานต์ เพราะได้สำเร็จอภิญญาแล้วก็รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง จึงมาสู่บ้านน้องชาย เพื่อจะแสดงโทษของกรรมทั้งปวงให้ปรากฏ เมื่อมาถึงบ้านน้องชายแล้ว ก็พักอยู่ที่บ้านของน้องชาย บรรดาญาติโยมทั้งหลายก็พากันเลื่อมใส พากันมาถวายจตุปัจจัยไทยธรรม

เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็เรียกน้องชายเข้ามาใกล้ว่า ดูกรน้องชาย เรื่องหลานที่ตายไป หรือบุตรของเราที่ตายไปนั้น มันเป็นเพราะเหตุไร สำหรับน้องชายก็เรียนว่า บุตรของท่านนั้นมันตกน้ำตาย ฤๅษีพี่ชายก็พูดขู่ทันทีว่า เจ้าทำบาปทำกรรมถึงขนาดนี้ยังจะมาโกหกพี่อยู่หรือ ความเป็นไปทั้งหมดนั้น พี่รู้หมดแล้วนะ

ก็เธอเองเป็นผู้กดคอหลานชาย กดคอลูกชายของฉันให้จมน้ำตายไป ไฉนยังมีหน้ามาหาว่าเขาตกน้ำตาย เธอไม่รู้หรือว่าการฆ่าคนนี้ โทษของเธอที่ฆ่าคนที่มีชาติเสมอกันนี้ เมื่อตายไปแล้วต้องตกอเวจีมหานรก หมกไหม้อยู่ในนรกโน้น พ้นจากนรกแล้วจึงจะมาเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสาร ทนทุกข์ทรมานอยู่อีกนาน ไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เธออย่าได้ทำบาปทำกรรมเช่นนี้อีกเลย

เธอจงพยายามทำบุญทำทานเถิด สำหรับทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงนั้น จงนำออกมาใช้ให้มันเป็นประโยชน์ จงนำออกมาบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลจนกว่าเราจะจากโลกนี้ไป เพราะว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่เธอมีอยู่นี้ เป็นของไม่มีแก่นสาร เป็นของกลางสำหรับโลก เรายังไม่เกิดขึ้นมา มันก็มีอยู่อย่างนี้ เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็ได้ใช้ได้สอยทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเรารู้จักใช้จักจ่าย มันก็เกิดประโยชน์โสตถิผลแก่เรา ถ้าเราไม่รู้จักใช้จักจ่าย ไม่รู้จักเอามาให้เกิดประโยชน์ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ และทรัพย์สมบัตินี้มันก็ตกอยู่ในภัยทั้ง ๔ คือ

๑. บางครั้งพระราชามายึดเอาสมบัติไปนี้ เธอจะห้ามได้หรือ

๒. บางครั้งเกิดโจรภัย โจรมาฉกชิงวิ่งราว หรือมาจี้มาปล้นเอา เธอจะขัดขวางเขาได้หรือ

๓. บางทีเกิดไฟไหม้ป่าบ้าง เกิดไฟไหม้บ้านบ้าง ไหม้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงนี้ให้ฉิบหายวายวอดไป เธอจะห้ามไฟได้หรือ

๔. บางทีเกิดอุทกภัย น้ำท่วมทรัพย์ทั้งปวงเหล่านี้ เธอจะห้ามได้หรือ หรือบางทีเราขนเอาทรัพย์สมบัติทั้งปวงนี้ไปค้าในทางเรืออย่างนี้ เกิดเรือแตกเรืออับปาง เธอจะสามารถห้ามเรือของเราไม่ให้แตก เธอจะสามารถห้ามทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ไม่ให้มันจมไปในน้ำได้หรือ

เมื่อน้องชายจำนนต่อเหตุผล จึงกล่าวต่ออีกว่า ดูกรน้องที่รักของพี่ นอกจากทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงมันจะเป็นของไม่มีแก่นสาร จะต้องอันตรธานไปด้วยภัยทั้ง ๔ คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย และอุทกภัยแล้ว แม้แต่ร่างกายของเราก็ไม่เป็นแก่นสารเหมือนกัน เพราะว่าอัตภาพร่างกายนี้ เป็นเหมือนกับของที่ยืมเขามาใช้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เหมือนกับของที่ยืมเขามาบำเพ็ญประโยชน์ บำเพ็ญกุศล แต่เมื่อเรายืมเขามาแล้วกลับไม่รู้จักใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ก็ไม่เป็นประโยชน์สำหรับเรา ไม่กี่วันเราก็ต้องส่งคืนเขาไป คือร่างกายทั้งปวงนี้ก็จะเปื่อยเน่าทับถมลงไปในพื้นแผ่นดินซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของเขา

เพราะฉะนั้น ร่างนี้มันก็มีภัยเหมือนกัน อะไรเป็นภัยของร่างกาย คือ

๑. ชาติภัย คือความเกิด การเกิดบ่อยๆ นี้ก็เป็นทุกข์เหลือทน ญาติโยมทั้งหลาย ท่านทั้งหลายที่เคยเห็นการเกิดแล้วก็คงนึกได้ว่า การเกิดนี้มันเป็นทุกข์มากน้อยแค่ไหนเพียงไร แม่ก็เป็นทุกข์ สำหรับทารกที่จะเกิดก็เป็นทุกข์ นึกดูสิว่าเรามาถือปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น ๙ เดือน๑๐ เดือนนั้น มันเป็นทุกข์ทรมานมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เพราะฉะนั้น การเกิดนี้ก็เป็นภัย

๒. ชราภัย ความแก่ก็เป็นภัย เพราะว่าคนเราเมื่อแก่ขึ้นมาแล้ว กำลังวังชาก็หมดไป สติปัญญาก็เสื่อมไป การงานทุกอย่างที่เราเคยทำด้วยเรี่ยวแรงกำลังของเราก็เสื่อมไป ความแก่นี้ก็ถือว่าเป็นภัยของเราเหมือนกัน

๓. พยาธิภัย ความเจ็บก็เป็นภัย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มีแก่ มีแก่แล้วก็มีเจ็บ ความเจ็บนี้แหละก็ถือว่าเป็นภัยอันน่ากลัวเหมือนกัน เรามีอะไรมันเจ็บอันนั้น เรามีตามันเจ็บตา มีหูมันเจ็บหู มีหัวมันเจ็บหัว มันปวดศีรษะ มีปากเจ็บปาก มีจมูกเจ็บจมูก มีแขนมีขาเจ็บแขนเจ็บขา มีตับ มีไต มีกระเพาะอาหาร มีดี มีไส้ใหญ่ ไส้น้อย มันเจ็บทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ความเจ็บนี้ก็ถือว่าเป็นภัยของร่างกาย

๔. มรณภัย ความตายก็ถือว่าเป็นภัย เป็นภัยอันยิ่งใหญ่ไพศาล เพราะว่าความตายนี้ไม่ไว้ชีวิตแก่ใครผู้ใดผู้หนึ่ง เพราะว่ามฤตยูราชนี้เป็นผู้มีอำนาจกล้า มีเสนาใหญ่ อันความตายนี้ เราจะไปหลีกลี้หนีความตายอยู่ที่ไหนก็ไม่ได้ เราจะไปจมอยู่ในน้ำ ไปอยู่ในถ้ำ หรือจะเหาะเหินเดินอากาศอยู่ก็ตาม หรือจะมาบวชเป็นพระเป็นเณร เป็นปะขาวแม่ชี เพื่อจะหนีความตายนั้น หนีไม่ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระจอมไตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็ยังนิพพาน เหตุนั้น ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ จึงถือว่าเป็นภัยของชีวิต

เมื่อพระโพธิสัตว์ให้โอวาทแก่น้องชายเช่นนี้แล้ว ก็ให้โอวาทต่อไปว่า เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด พยายามทำบุญทำทานไป อย่าได้ประมาท พยายามให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนา เจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อให้เห็นร่างกาย รูป นาม ขันธ์ ๕ นี้ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงต้องดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ต้องดับไป

อย่าได้เป็นคนประมาท อย่ามัวคิดว่าทรัพย์สมบัติ สามี ภรรยา เรือกสวนไร่นาทั้งหมดนี้เป็นของเรา ให้ถือว่าอันนี้เป็นของกลางสำหรับโลก วันหนึ่งเราก็จะจากไป เรามาเกิดนี้ เรามาด้วยบุญบาปของเรา เราจะตายจากโลกนี้ไป เราก็อาศัยแต่บุญบาปเท่านั้นไป

สำหรับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย สามี ภรรยา ถึงจะมีความรักความหวงแหนสักเท่าใด ก็ไม่มีใครที่จะป้องกันเราได้เลย พ่อแม่แสนที่จะรักก็จะต้องจากไป ลูกๆ หลานๆ แสนที่จะรักจะหวงแหนก็ต้องจากไป สามีภรรยาแสนที่จะห่วง แสนที่จะหวงแหน แสนที่รักก็จะจากไป ฉะนั้น เธออย่าเป็นผู้ประมาท พยายามสั่งสมคุณงามความดีต่อไปเถิด

เมื่อฤๅษีดาบสพระโพธิสัตว์เจ้าให้โอวาทแก่น้องชายแล้ว ก็กลับไปสู่ป่าหิมพานต์ตามเดิม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เศรษฐีนั้นก็ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญทาน คือตั้งโรงทานไว้ที่หน้าบ้านของตน แล้วก็ให้ทานตลอดเรื่อยๆ มาจนหมดอายุขัย ก็อานิสงส์ที่เขาได้ทำบุญทำทานนั้นแหละ เมื่อเขาเกิดขึ้นมาในชาตินี้ เขาจึงได้เป็นเศรษฐีมีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ

เพราะฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลาย หลวงพ่อเคยสอนอยู่เสมอๆ ว่า คนเราเกิดขึ้นมาแล้วอย่าตระหนี่ มีทรัพย์สมบัติพอที่ทำบุญทำทาน ก็จงทำบุญทำทาน การทำบุญทำทานนี้ อยู่ในโลกนี้มันก็ได้ประโยชน์ได้อานิสงส์ คือ

๑. ปิโย จะเป็นที่รักใคร่นับถือของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

๒. ภโช ย่อมเป็นที่สมาคมคบหาของบุคคลทั้งหลายทั้งปวง และเทวดาทั้งหลายทั้งปวงย่อมรักษา

๓. กิตฺติสทฺโท ชื่อเสียงอันดีงามย่อมฟุ้งขจรไปในทิศานุทิศ

๔. วิสารโท ย่อมเป็นผู้มีความองอาจกล้าหาญแกล้วกล้า ไม่สะทกสะท้านในเวลาเข้าสมาคมบริษัท

๕. สุคติ เวลาจะตายนั้น ย่อมเป็นผู้ที่มีสติ สัมปชัญญะ ไม่หลงตาย คือเวลาจะตายนั้น ก็นึกถึงบุญถึงกุศลของตนได้อยู่ เมื่อตายแล้วไปเกิดภพใหม่ชาติใหม่ ก็จะเป็นคนร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวารนานาประการ ไม่อดไม่อยาก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 เมษายน 2562 13:19:57 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 73.0.3683.103 Chrome 73.0.3683.103


ดูรายละเอียด
« ตอบ #98 เมื่อ: 26 เมษายน 2562 13:18:26 »


การสงเคราะห์ญาติ
(ต่อ)

ญาตกานญฺจ สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมนฺติ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


เหตุนั้น เศรษฐีที่เขาทำบุญทำทานไว้แล้วแต่ในชาติปางก่อน เมื่อมาเกิดในชาติศาสนาของพระพุทธเจ้าของเรานี้ เขาจึงได้เป็นเศรษฐีมีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ เมื่อเขาเกิดขึ้นมาแล้ว ทุกชาติๆ นั้น รวม ๖ ชาติ ไม่เคยมีบุตรเลย ๖ ชาติถัดๆ กันมานี้ ไม่เคยมีบุตรเลย เพราะเหตุไร เพราะโทษที่ฆ่าหลานชายที่เป็นบุตรของพี่ชายตนในชาติปางก่อน เมื่อเกิดมาในชาติไหนๆ ก็ไม่มีบุตรกับเขา จนตลอดถึงชาติที่ ๗ นั้นก็ยังไม่มีบุตรอยู่ นี้ก็เป็นโทษเพราะการที่ฆ่าผู้อื่นและสัตว์อื่น เมื่อฆ่าแล้ว นอกจากจะไปตกนรกแล้ว เกิดขึ้นมาแล้วก็ยังไม่มีบุตร

เพราะฉะนั้น วันนี้คณะญาติโยมทั้งหลาย เราจึงได้พร้อมเพรียงกันมาบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล เพื่อระลึกถึงญาติของเรา เพื่อเป็นการสงเคราะห์ญาติของเราที่อยู่ร่วมกันในภพนี้ชาตินี้ ให้มีความจงรักภักดี มีความสามัคคีพร้อมเพรียง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นอกจากนั้นก็เป็นการสงเคราะห์ญาติของเรา ที่ล่วงลับวายชนม์ไปแล้ว ในปรโลกเบื้องหน้า เพื่อที่จะได้อนุโมทนาสาธุการในส่วนบุญส่วนกุศลที่เราได้สั่งสมอบรมมานี้

เราทั้งหลายอย่าคิดว่า ญาติของเราตายไปแล้ว จะไปสู่สุคติโลกมนุษย์สวรรค์ หรือไปเกิดไปสู่พรหมโลก หรือจะไปสู่พระนิพพานได้ทั้งหมด บางทีญาติของเราอาจจะมีความชั่วช้าบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งไม่เปิดเผยแก่เราให้เรารู้ก็ได้ เมื่อตายไปแล้ว ก็อาจจะไปตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉานไปก็ได้

เพราะฉะนั้น วันนี้ซึ่งเป็นวันกตัญญู เป็นวันระลึกถึงญาติ เราก็มาทำบุญทำทาน กล่าวสังฆทาน เป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติของเรา เมื่อญาติของเราได้รับได้อนุโมทนาแล้ว ก็จะหายจากความทุกข์ความเดือดร้อน ก็จะไปบังเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ต่อไป เหมือนกันกับญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นเปรตอดอาหารมาถึง ๙๑ กัป นับตั้งแต่ภัทรกัปนี้ถอยหลังไป เพราะอะไร จึงเกิดเป็นเปรต เพราะการกินของสงฆ์นี้เอง

ญาติโยมชาวบ้านเราทั้งหลาย ก็ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในขณะที่เราทั้งหลายพากันทำงานปริวาสหรือทำบุญปริวาสกรรมนี้ ขอให้เรานั้นได้ตระหนัก เพราะว่า ของทุกสิ่งทุกอย่างที่ญาติโยมนำมาถวายไว้ในโรงครัวนั้น เขาไม่ได้นำมาไว้เฉยๆ เขากล่าวคำถวายสังฆทานเสียก่อนว่า สงฺฆสฺส โอโณชยาม คือหมายความว่า ของทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ถวายเป็นสงฆ์

เมื่อถวายเป็นสงฆ์แล้ว ทีนี้ พระรูปใดรูปหนึ่งเอาไปฉันโดยพลการแล้ว ก็ฉันไม่ได้ สามเณร ปะขาว แม่ชีผู้ใดผู้หนึ่งจะเอาไปฉันโดยพลการ ก็ฉันไม่ได้ โยมคนใดคนหนึ่งจะเอาไปรับประทานโดยพลการนั้นไม่ได้ ต้องทำถวายสงฆ์เสียก่อน เมื่อถวายสงฆ์ไปแล้ว เมื่อเหลือจากส่วนของสงฆ์นั้น เราจึงเอามารับประทานต่อไป จึงจะไม่เป็นบาป จึงจะไม่เป็นกรรมต่อไป

สำหรับญาติของพระเจ้าพิมพิสารก็เหมือนกัน เมื่อก่อนโน้น เป็นเจ้าหน้าที่คลังหลวง คือพระญาติทั้งหลายที่เป็นเปรตนั้น เมื่อพระราชาไม่สามารถจะมาเลี้ยงพระเจ้าพระสงฆ์ได้ ก็มอบทรัพย์สมบัติทั้งหลายให้ผู้รักษาคลังของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ให้นำทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้มาทำภัตตาหารเช้าเพลถวายแก่พระสงฆ์

แต่เมื่อได้ทรัพย์แล้ว ไม่นำมาทำภัตตาหารถวายแก่พระสงฆ์ ไปใช้เสียอย่างอื่น นำไปใช้อย่างโน้นบ้าง นำไปใช้อย่างนี้บ้าง ผลสุดท้าย ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรต อดอาหารอยู่ถึง ๙๑ กัป

เมื่อถึงศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ เวลาพระเจ้าพิมพิสารทำบุญทำทานนั้น พระองค์ไม่ได้ทรงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ เปรตทั้งหลายนั้น ก็มาส่งเสียงร้องให้พิลึกสะพรึงกลัว หนังหัวพองสยองเกล้า น่ากลัว น่าขยาด น่าเกรงขาม พระเจ้าพิมพิสารจึงเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงแสดงให้ฟัง เสร็จแล้วพระเจ้าพิมพิสารก็ทำบุญสุนทาน อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเป็นสังฆทานไปให้ เมื่อเปรตทั้งหลายได้อนุโมทนาแล้ว ก็ได้รับอาหารอิ่มหนำสำราญ ได้เครื่องนุ่งห่มอันเป็นทิพย์ ก็ไปบังเกิดในเทวโลกหายจากบาปจากอกุศลนั้น

และการทำบุญทำทานที่พวกเราทั้งหลายทำกันนี้ แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือเราทั้งหลายส่วนมากก็มีห่อข้าวน้อย มาวางไว้ตามโบสถ์ ตามวิหาร ตามกำแพงวัด อันนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่มันได้จำพวกหนึ่ง พวกนี้เขาเรียกว่าอมนุษย์ หลวงพ่อจะขอเลยออกนอกเรื่องสักหน่อย พวกอมนุษย์นี้ คือเป็นเปรตจำพวกหนึ่งเหมือนกัน เปรตจำพวกนี้อาศัยอยู่ตามวัดตามวาเสียเป็นส่วนมาก อยู่ในวัดของเราก็มีเยอะเหมือนกัน

หลวงพ่อขอยกเรื่องที่เคยประพฤติปฏิบัติมาสาธกให้เห็นง่ายๆ แต่อย่าได้เข้าใจว่า หลวงพ่ออวดอุตตริมนุสสธรรมนะ คือบางครั้ง เวลานั่งสมาธิไปๆ มีเสียงใครมาขออะไรกินด้วยกันว่า ขอกินด้วยๆ อยู่ข้างโบสถ์ อยู่ข้างวัดของเรานี่แหละ หลวงพ่อนั่งสมาธิหลับตาอยู่ ก็มองไป เอ๊ มันเด็กที่ไหนมันมาขอกินอะไรด้วยกันนี้

บางครั้งก็มองไปว่า โอ๊ มันมีเนื้อมาแต่ที่ไหนหนอ ได้เนื้อแต่ที่ไหนมาแบ่งกันกิน เรามองไปๆ โอ๊ อันนี้ไม่ใช่เนื้อสัตว์ เป็นเนื้อมนุษย์ ถ้าเรารู้ดังนี้ว่ามันเป็นเนื้อมนุษย์ ตื่นขึ้นมา ก็หมายถึงว่าคนโน้นตายแล้ว เจ้าของเนื้อน่ะตายแล้ว คือคนตายไปมันก็เอาเนื้อมากิน แต่บางครั้งมันไปเอาเนื้อวัวเนื้อควายมาแบ่งกันกิน ถ้าว่าเราเห็นว่าเป็นเนื้อวัวเนื้อควายนั้น เราก็รู้ว่า ชาวบ้านของเราพากันฆ่าวัวฆ่าควายแล้ว นี่มันเป็นอย่างนี้

ทีนี้ถ้าเราเอา ห่อข้าวน้อย นี้แหละมาวางตามโบสถ์ ตามวิหาร ตามสถานที่ต่างๆ ภายในวัด ก็พวกนี้แหละได้กิน แต่ญาติของเราไม่ได้กินหรอก แต่พวกนี้ได้กิน เขาได้กิน ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นอานิสงส์เหมือนกัน ไม่ได้เป็นบาป ถือว่าเป็นบุญเหมือนกัน นี่พวกนี้ได้กิน เราอย่าหาว่าไม่ได้กิน ว่าแต่ว่าเรื่องนี้มันพูดกันยาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องกายทิพย์

หลวงพ่อขอยกเรื่องโยมคนหนึ่ง ที่อยู่ข้างบ้านของเรานี้แหละ เมื่อก่อนโน้นเขาเป็นคนไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสในวัด ทั้งๆ ที่มีทรัพย์มากนะ ได้ข้าวปีหนึ่งเป็นพันสองพัน มีเงินทองจ่ายเหลือเฟือ แต่ว่าไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสในพระศาสนา

อยู่มาปีหนึ่ง เขาป่วยเป็นโรคมะเร็งในมดลูก เมื่อเป็นโรคมะเร็งในมดลูก มันรักษาไม่หาย มันก็เน่าไปๆ ทุกวัน ก็มีกลิ่น กลิ่นนั้นก็เหม็นคาวฟุ้งไปทั้งบ้าน บ้านอยู่ใกล้ๆ กัน ขนาดสองสามหลังคาบ้านนี้ ก็ยังถูกกลิ่นเหม็นๆ นั้น บรรดาสามีและลูกๆ หลานๆ ก็เมินเฉย ไม่เอาใจใส่ เขาก็สะบักสะบอม นอนติดเสื่อติดหมอนอยู่นั่นหละ คือหมายความว่าเป็นคนครึ่งคนครึ่งผี

เวลามีคนจะตายในบ้านอีเติ่ง บ้านหัวนา บ้านห้วยยาง บ้านม่วงเฒ่า บ้านตาแหลว หรือบ้านด่านหม่วน แถวๆนี้แหละ แกรู้ทุกคน เมื่อแกตื่นเช้าขึ้นมา แกพูดกับลูกกับหลานว่า โอ๊ วันนี้ คนโน้นตายแล้วเด้อ คนนั้นจะตาย คนนี้จะตาย แล้วก็ตายทุกคน

เพราะเหตุไร จึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่าตอนกลางคืนนั้น มันจะมีพวกอมนุษย์พวกนี้แหละมาชวนว่า วันนี้ไปเอาเนื้อที่โน้นเถอะ วันนี้ไปเอาเนื้อที่นี้เถอะ ถ้าเขามาชวนแล้ว แกก็ไปกับเขา เมื่อไปแล้วก็เห็นเขาเอาเนื้อ แกก็สังเกตว่า เอ๊ มันจะเนื้อที่ไหน มันก็เป็นคนนี่เอง มันเป็นนายสี มันเป็นนางมี มันเป็นนางลำดวนต่างหาก ไม่ใช่เนื้อที่ไหน แกก็ไม่เอากับเขา แต่ก็ไปกับเขา มากับเขา ตื่นขึ้นมา คนนั้นก็ตายทุกคน นี้มันเป็นอย่างนี้

หลังจากนั้นมา วันหนึ่งแกสลบไป สลบไปเป็นเวลานาน จนข้ามคืนข้ามวันนั่นแหละ ญาติโกโหติกาทั้งหลายก็พากันหาไม้มาทำหีบ แต่ในขณะที่ยังไม่ได้ใส่โลงนั่นหละ แกก็ฟื้นขึ้นมา เมื่อแกฟื้นขึ้นมาแล้ว แกก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังว่า โอ๊ย เมื่อฉันสลบไปเมื่อตะกี้นี้ ที่จริงฉันไปนรก เขามาเอาฉันไปนรก นายนิรยบาลนั้นมาเอาไปนรกเมื่อเขาเอาไปนรก เขาบอกว่าจับตัวมาผิด เขาก็เลยมาส่ง

แต่ตอนไปนรกนั้น ฉันได้ไปดูนรกหลายๆ ขุม โอ๊ย พวกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตายไปตกนรก ทนทุกข์ทรมาน ต้องมีหอกอันเป็นทิพย์ มีความร้อนโชน เขามาทิ่มมาแทง มีกามีแร้งมาจิกมาตอด อะไรนานาประการ ที่ท่านกล่าวไว้ในตำรา ที่เราเคยฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น ไม่ผิดกันเลย แล้วก็สำหรับผู้ตกนรกนั้น เมื่อก่อนโน้นฉันคิดว่าจะตกนรก ก็เฉพาะชาวบ้านเท่านั้น เฉพาะญาติเฉพาะโยม เฉพาะคฤหัสถ์เท่านั้น ที่ไหนได้ พระเณรก็ตกนรกเหมือนกัน

แกว่าอย่างนี้ แล้วสังฆาฏิ สบง จีวรนั้น เขาเอาไปกองพะเนินกันจนสูงเท่าปลายต้นมะพร้าว ปลายตาล พระเณรทั้งหลายนั้นต้องลอยแหวกว่ายอยู่ในนรก ได้รับความทนทุกข์ทรมาน แต่ฉันก็ไม่สามารถที่ทนดูต่อไปได้ ก็จึงขอกลับบ้าน เขาก็มาส่ง ฉันจึงฟื้นขึ้นมานี้

เมื่อแกฟื้นขึ้นมาแล้ว ญาติโยมทั้งหลาย ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แกเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยศรัทธาปสาทะอันแรงกล้า ทำบุญทำทานไม่รู้จักหมดไม่รู้จักสิ้น สร้างภาพพระเวส สร้างผ้าป่า สร้างมหากฐิน หลวงพ่อนี้ยังได้รับกฐินของเขาด้วย ปีนั้น โยมคนนั้นทำบุญกฐิน ไม่มีใครรับกฐินของแก อาตมาก็เลยได้รับผ้ากฐิน เป็นองค์ที่กรานกฐินให้แกด้วยในปีนั้น อันนี้พูดกันเรื่องปัจจุบัน เราเอาห่อข้าวน้อยมาวางก็ พวกนี้ได้รับ

ทีนี้เรื่องนี้ก็มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้เป็นหลักฐานยืนยันเหมือนกัน อยู่ในเรื่องการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน เวลาพระจะไปเจริญอสุภกัมมัฏฐานนั้น พระองค์ทรงตรัสว่า เราอย่าไปข้างทิศเหนือ เพราะอมนุษย์ที่สิงอยู่ในศพนั้นจะโกรธ เราให้เลี่ยงๆ ไปในทิศใดทิศหนึ่ง ที่ไม่มีกลิ่นอสุภะรบกวน คือไม่มีกลิ่นศพนั้นรบกวน เราจึงเจริญอสุภกัมมัฏฐานต่อไป นี่ก็หมายถึงอมนุษย์พวกนี้แหละ พวกที่กินซากกินศพนี้แหละ

สำหรับเรื่องนี้ ก็ขอจบไว้เพียงแค่นี้ ทีนี้หันมาเรื่องญาติของเราบ้าง เมื่อตายไปแล้ว หากว่าเป็นพวกปรทัตตูปชีวีสัตว์ คือหมายความว่า พวกไปเกิดเป็นพวกปรทัตตูปชีวีสัตว์นี้ เป็นสัตว์หรือเป็นอมนุษย์ที่มีชีวิตเนื่องอยู่ด้วยญาติ ถ้าว่าญาติมิตรไม่ทำบุญทำทานไปให้ พวกนี้ก็ไม่ได้รับ ต้องได้รับความทนทุกข์ทรมานอยู่ร่ำไป

เมื่อเราทั้งหลายทำบุญอุทิศไปให้แล้ว พวกนี้ก็ได้รับ เมื่อรับแล้วก็อนุโมทนา เมื่ออนุโมทนาแล้วก็พ้นจากความทุกข์ทรมานทรกรรมมา ก็ไปบังเกิดในสุคติโลกมนุษย์สวรรค์ ตามบุญญาธิการที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้แต่เมื่อก่อน และด้วยบุญญาธิการที่ญาติมิตรอุทิศไปให้ด้วย เหตุนั้น วันนี้พวกเราทั้งหลาย จึงได้มารวมกันทำบุญ เพื่อเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรม นึกถึงญาติของเราทั้งหลายที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว จึงมาทำบุญทำกุศลแล้วอุทิศไปให้

เอาละ เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายมา ก็เห็นว่า พอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 74.0.3729.131 Chrome 74.0.3729.131


ดูรายละเอียด
« ตอบ #99 เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2562 14:17:03 »




การทำทรัพย์ให้มีแก่นสาร
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


โภโค ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ
กาโย ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ
ชีวิตํ ภิกฺขเว อสารํ สารํว กาตพฺพนฺติ.

ณ บัดนี้ อาตมภาพจะรับประทานวิสัชนาในอสารกสูตร เพิ่มเติมเฉลิมศรัทธาของท่านทานาธิบดี และพุทธศาสนิกเมธีทั้งหลาย แต่บรรดามาสู่สถานที่นี้ วิถีจิตคิดจะทำประโยชน์แก่ตนขวนขวาย ซึ่งกองการกุศล เป็นต้นว่าได้สร้าง…… และได้ฟังพระสัทธรรมเทศนา ถวายอาหารบิณฑบาตจัดเป็นกุศลอย่างอุกฤษฏ์ แต่ไม่เต็มศรัทธา แล้วยังคิดกระทำมหกรรมการฉลองอีกด้วย อานิสงส์สร้างและฉลองทั้งสองนี้ ย่อมมีผลอันมาก อาจอำนวยวิบากผลให้แก่สาธุชนผู้ทำเช่นนั้น องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสประทานไว้ว่า บุคคลผู้ทำเช่นนี้ ชื่อว่าทำของโลกีย์ให้เป็นโลกุตตระ ไม่วิบัติอันตรธาน เป็นแก่นสารสาระประโยชน์สำหรับตัว ทำของชั่วให้เป็นของดี

ข้อนี้ ย่อมถูกต้องตามอนุสาสนี อันมีมาในอสารกสูตรว่า
          โภโค ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ
          กาโย ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ
          ชีวิตํ ภิกฺขเว อสารํ สารํว กาตพฺพนฺติ ฯ

 
แปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์สมบัติไม่เป็นแก่นสาร ท่านทั้งหลายพึงทำให้เป็นแก่นสาร

อธิบายตามพุทธสุภาษิตว่า ทรัพย์ได้แก่วัตถุเครื่องปลื้มใจ สมบัติได้แก่ วัตถุอันถึงพร้อม ทั้งสองนัยนี้เมื่อเกิดมีแก่ผู้ใด ย่อมยังใจผู้นั้น ให้ปลื้มและเอิบอิ่ม จึงเรียกว่า ทรัพย์สมบัติ จัดโดยประเภทมี ๒ อย่างคือ ทรัพย์มีวิญญาณครอง ได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ สามี ภรรยา ปศุสัตว์มี เป็ด ไก่ เป็นต้น เรียกตามบาลีว่า สวิญญาณกทรัพย์อย่างหนึ่ง อวิญญาณกทรัพย์อย่างหนึ่ง ได้แก่ แก้วแหวน เงินทอง ผ้าผ่อนแพรพรรณ แยกประเภทออกไป คือ สังหาริมทรัพย์ เคลื่อนที่ได้หนึ่ง อสังหาริมทรัพย์ เคลื่อนที่ไม่ได้หนึ่ง รวมสองอย่างนี้เรียกตามบาลีว่า อวิญญาณกทรัพย์

ทรัพย์สองประเภทที่ได้แสดงมานี้ พระชินสีห์ตรัสว่า ไม่เป็นแก่นสาร เพราะตกอยู่ในอำนาจของภัยทั้ง ๔ คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย มาย่ำยีทรัพย์เหล่านี้ให้อันตรธานวิบัติไป เช่น ถูกราชการยึดทรัพย์ ถูกโจรฉกชิงวิ่งราว ฉ้อโกง เกิดไฟไหม้ให้ย่อยยับไป อุทกภัย น้ำท่วมให้ฉิบหาย หากจะคิดหาอุบายเอาทรัพย์เหล่านี้ไปฝังไว้ในดิน จมไว้ในน้ำ ถ้าฝังตื้นพวกโจรมาลักเอาไปเสีย ถ้าฝังลึกนักภูตผีปีศาจอาจทำให้เคลื่อนที่ได้

หากจมไว้ในอุทกวารี ย่อมมีนายพรานแหเอาไปกินเสีย ถึงแม้จะเก็บหอมรอมริบใส่กำปั่นลั่นกุญแจ หรือฝากไว้ในคลังและธนาคาร ปรารถนาจะไม่ให้อันตรธาน ก็เป็นอันไม่พ้นย่อมผุพังไปเป็นธรรมดา ท่านกล่าวว่า เป็นสาธารณะทั่วไปแก่บุคคลทุกจำพวก มิได้เฉพาะบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะถือกรรมสิทธิ์ไม่ได้ ทั้งชีวิตก็จะดับไป ทรัพย์แม้นิดหนึ่ง ย่อมติดตามไปไม่ได้ สมตามเทศนัยอันมีมาในมัชฌิมปัณณาสก์ มัชฌิมนิกายนั้นว่า

น นิยฺยมานํ ธนมนฺเวติ กิญฺจิ ทรัพย์นิดหนึ่งย่อมติดตามคนตายไปไม่ได้ เมื่อดับชีวิตินทรีย์แล้ว มิได้หอบหิ้ว หาบหามทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดไป อย่าว่าแต่ทรัพย์ภายนอกเลย ถึงทรัพย์ภายในคือสรีระร่างกาย เมื่อสิ้นลมอัสสาสะปัสสาสะแล้ว ย่อมเป็นเฉทกกรรม ขาดกระเด็นเด็ดออกจากกัน ทรัพย์ฟาดฟันบั่นรอนผู้หาปัญญามิได้ สมตามเทศนานัยอันมีมาในธรรมบทรับสมอ้างว่า

โภคตณฺหาย ทุมฺเมโธ หนฺติ อญฺเญว อตฺตานํ คนมีปัญญาทรามย่อมฆ่าตนเสีย เหมือนฆ่าผู้อื่นเพราะความอยากได้โภคทรัพย์ นับว่าเป็นเหตุให้ถึงความเศร้าโศกโศกา ดังอนุสาสนีอันมีมาในธรรมบทเป็นพยานว่า

กามโต ชายเต โสโก กามโต ชายเต ภยํ ความโศกก็ดี ภัยก็ดี เกิดจากของที่รัก เนื่องด้วยทรัพย์สมบัติเป็นของที่รัก ซึ่งเป็นของมนุษย์ก็ดี ของทิพย์ก็ดี อันเที่ยงยั่งยืนไม่มี

พระชินสีห์ทราบดังนี้จึงตรัสว่า ทรัพย์ไม่เป็นแก่นสาร ทรงตักเตือนเหล่าพุทธศาสนิกชนว่า ให้ทำทรัพย์อันไม่เป็นแก่นสารให้เป็นแก่นสารโดยบริหารแสดงว่า ให้บริจาคทรัพย์ออกไปเป็นทานแก่ยาจก วณิพก คนกำพร้า อนาถา สละออกซึ่งจตุปัจจัยทั้ง ๔ มี จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ทำให้เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมือนปัจจัยท่านทานาธิบดีสละทรัพย์ออกสร้างบูชาพุทธฎีกา เช่นนี้ชื่อว่าทำทรัพย์ให้เป็นแก่นสารไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น เป็นอสาธารณมัญเญสังฝังไว้ในใจไม่บรรลัยด้วยน้ำประลัยกัลป์ ซึ่งจะมาทำให้หวั่นไหวไปด้วยภัยทั้ง ๔ มีโจรภัยเป็นต้น ตามนิพนธ์ภาษิตรับสมอ้างว่า

ปุญฺญํ โจเรหิ ทูหรํ บุญอันโจรนำไปด้วยยาก มีแต่จะแต่งวิบากสมบัติให้แก่ผู้สละทรัพย์ ย่อมได้สุขอันไพศาล ดังบริหารภาษิตเตือนใจว่า

โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข ผู้เพ่งความสงบ พึงละโลกามิสในโลกเสีย พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทำทรัพย์ให้เป็นแก่นสาร เป็นข้อที่ ๑

คำว่าร่างกายนั้น หมายเอาประชุมธาตุ ๔ อาการ ๓๒ อายตนะภายใน ๖ นี้กล่าวโดยสุตตันตนัย ถ้ากล่าวโดยปรมัตถนัยนั้น จิตเจตสิกธรรม รวมเข้าเป็นกาย เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม

สภาพทั้งหลายเหล่านี้ไม่เที่ยง เพราะตกอยู่ในสามัญลักษณ์ทั้ง ๓ คือ ทุกขํ ความเป็นทุกข์ คือความไม่สบายใจสบายกาย ทุรนทุรายด้วยร้อนและเย็น ซึ่งเป็นมาแต่ชาติกำเนิด อนิจจํ เป็นของไม่เที่ยง คือ เกิดแล้วไม่เที่ยงถาวร เป็นเด็กแล้วเป็นหนุ่มเป็นสาวปานกลางคน แล้วแก่ชรา หูตามืดหนวก เนื้อหนังเหี่ยวแห้งทรุดโทรม ผมหงอก แก้มตอบ ฟันหัก เนื้อหนังสะพรั่งพร้อมไปด้วยเส้นเอ็น เป็นที่สังเวชทั้งตนและคนอื่น ย่อมเป็นไปตามปัจจัย ดังเทศนาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

ยถา ปจฺจยํ ปวตฺตนฺติ สิ่งที่ปัจจัยปรุงขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปตามปัจจัย หาสังขารอันเที่ยงแท้ยั่งยืนไม่มี ดังวาระพระบาลีสมอ้างไว้ว่า

สงฺขารา สสฺสตา นตฺถิ สังขารทั้งหลายอันเที่ยงแท้ยั่งยืนไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้มีเกิดในเบื้องต้นมีความแปรในท่ามกลาง มีความดับในที่สุด ดุจอนุสาสนีซึ่งมีในมหาวรรค สังยุตตนิกายรับสมอ้างว่า

ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีอันดับไปเป็นธรรมดา นี้เป็นเครื่องหมายของอนิจจัง การบังคับไม่ได้ว่า ผมอย่าหงอก แก้มอย่าตอบ ฟันอย่าหัก ห้ามไม่ได้ ว่าไม่ฟัง ย่อมเฒ่าแก่ไปตามลักษณะของอนัตตา ถ้าเป็นของเราคงสั่งสอนได้ไม่ฝ่าฝืนโอวาท แต่นี่ไม่ใช่ตัวของเรา เป็นของว่างหาเจ้าของไม่ได้ ขัดต่ออัตตา เป็นแต่ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ประชุมกันเข้าแล้วก็สมมติกันว่า เป็นตัวเป็นตน แต่ความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นสมมติบัญญัติ

ข้อความที่กล่าวนี้ เป็นเครื่องหมายของร่างกายไม่เป็นแก่นสาร พระอนาวรญาณทรงประทานแก่พวกเราว่า ให้ทำร่างกายที่ไม่เป็นแก่นสาร ให้เป็นแก่นสาร ทรงประทานภาษิตไว้ดังนี้ คือ ให้ตั้งอยู่ในอปจายนมัย เคารพนบน้อมต่อวุฒิบุคคลสามจำพวก คือ วยวุฑฺโฒ ผู้เจริญด้วยวัย คุณวุฑฺโฒ ผู้เจริญด้วยคุณ คือ ศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ ปุญฺญาวุฑฺโฒ ผู้เจริญด้วยบุญ เช่นเจ้านายเป็นต้น ตั้งตนอยู่ในเวยยาวัจจมัย ช่วยขวนขวายการกุศลของผู้อื่น มีตักน้ำ หักฟืน เป็นต้น

น้อมตนเคารพต่อพระรัตนตรัย ได้ในบาลีว่า พุทฺธคารวตา ธมฺมคารวตา สงฺฆคารวตา เคารพนบน้อมต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ชื่อว่า ทำร่างกายให้เป็นแก่นสาร ถ้ากล่าวโดยธรรม คือ ตั้งตนอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ กรรมบถ ๑๐ ศีล ๒๒๗ เหมือนสาธุชนทำอยู่เดี๋ยวนี้จัดเข้าในบาลีว่า ทำร่างกายให้เป็นแก่นสาร ไม่เป็นคนรกโลก

อีกประการหนึ่งพิจารณาร่างกายให้เห็นว่า เป็นสวากขาตธรรม คือธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ย่อมรวมอยู่ในที่ตัวตนสกนธ์ร่างกายอันนี้เป็นก้อนธรรม คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ทั้งที่เป็นโลกีย์ และโลกุตตระไม่ใช่อื่นไกล คือตัวตนนี่เองเป็นก้อนอริยสัจ ๔ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งเป็น ทุกขสัจ ตนเป็นผู้เกิด ผู้แก่ ผู้เจ็บ ผู้ตาย

ความอยากในวัตถุกาม รูป เสียง กลิ่น รส อยากเป็น อยากมี ก็ตัวเป็นผู้อยากชื่อว่าตัวเป็นสมุทัยสัจ กิริยาที่ดับทุกข์ ดับตัณหา ซึ่งเรียกว่า พระนิพพาน ก็ตัวตนนี้เองเป็นผู้ดับ จึงเรียกว่า นิโรธสัจ การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตัวเป็นผู้ปฏิบัติ จึงเรียกว่าเป็นมรรคสัจ เมื่อมาเห็นสกนธ์ร่างกายเป็นทัสสนานุตตริยะอย่างนี้ ชื่อว่าทำร่างกายให้เป็นแก่นสารเป็นข้อที่ ๒

ข้อที่ ๓ ต่อไป คำว่า ชีวิตไม่เป็นแก่นสาร คำว่า ชีวิต ได้แก่ ความเป็นอยู่ คือ สันตติ การสืบต่อระบบหายใจเข้าออก ชื่อว่า ชีวิต ชีวิตเช่นนี้ไม่เป็นแก่นสาร โดยอธิบายว่า ความไม่มีกำหนดปริมาณ กำหนดไม่ได้ จะรู้ได้ก็แต่วันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด เท่านั้น ส่วนวันตายกำหนดไม่ได้ แม้จะอยู่ในวัยใดก็ตาม ดังบรรยายภาษิตซึ่งมีมาในมหาวรรค ทีฆนิกาย นั้นว่า

อฑฺฒา เจว ทลิทฺทา จ สพฺเพ มจฺจุปรายนา ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า

สพฺพํ เภทปริยนฺตํ เอวํ มจฺจาน ชีวิตํ ภาชนะดินทั้งปวงมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์เป็นของน้อยท่านเปรียบไว้ดุจหนึ่งว่า น้ำค้างติดปลายหญ้า เมื่อต้องแสงอาทิตย์เข้าแล้วพลันที่จะแห้งไปฉันใด ชีวิตของสัตว์ก็ดุจเดียวกันฉันนั้น วันคืนล่วงไป ชีวิตของสัตว์ก็ล่วงไปใกล้ต่อความตายเข้าทุกที ๆ

ถ้าจะเป็นประมาณอายุของสัตว์ เพียงร้อยปีเป็นประมาณ ถ้าล่วงไปวันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ก็ขาดร้อยปีไปวันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ถ้าเปรียบให้เห็นแจ้งในข้อนี้ เหมือนหนึ่งว่า สตรีทอหูกข้างหน้าน้อยเข้าไปฉันใด ชีวิตของสัตว์ ก็น้อยไปทุกวัน ไม่ว่างเว้นบุคคลว่าคนจน คนมี เศรษฐี กฎุมภี ไพร่ฟ้า พระมหากษัตริย์ สมณะชีพราหมณ์ ย่อมตายทั้งนั้น ไม่มีใครหลีกลี้หนีความตายไปได้ ถึงจะทำยุทธ์ชิงชัยต่อสู้กับมฤตยูผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมปราชัยพ่ายแพ้ แม้จะมีคาถาเวทมนตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องป้องกันความตายนั้น ไม่มีเลยเป็นอันขาดเมื่อมีชาติเกิดมาแล้ว ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีเป็นธรรมดา หาอุบายหลบหลีกมิได้ นี้เป็นเครื่องหมายของชีวิตไม่เป็นแก่นสาร

องค์สมเด็จพระอนาวรญาณทรงประทานให้เรา ทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร วิธีทำอย่างนี้คือ ให้มีความเพียรทั้ง ๔ ประการนี้ ในสันดานของบุคคลใด ชื่อว่า ทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร มีชีวิตอยู่วันเดียวดีกว่าผู้เกียจคร้านมีชีวิตอยู่ร้อยปี สมด้วยวาระพระบาลีว่า
          โย จ วสฺสสตํ ชีเว  กุสีโต หีนวีริโย
          เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย  วิริยํ อารภโต ทฬฺหํ


แปลความว่า ผู้มีความเกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนมีชีวิตอยู่ร้อยปี สู้ผู้มีความเพียรหมั่นเป็นอยู่วันเดียวไม่ได้

พระจอมไตรตรัสว่า ผู้มีความเพียรทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร สมาทานอยู่ในอัปมาทธรรม ความไม่ประมาท ไม่ปราศจากสติระลึกได้อยู่ว่า เรามีความแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา มีกรรมเป็นของของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่มัวเมาอยู่ในวัยทั้ง ๓ คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย ไม่ไว้ใจต่อชีวิต คิดบำเพ็ญกุศลอยู่เสมอ เหมือนอย่างท่านทานาธิบดีทั้งหลายทำอยู่เดี๋ยวนี้ ชื่อว่าทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร ปัจจัยท่านทานาธิบดีได้บำเพ็ญกองการกุศล

ณ เพลาวันนี้ ชื่อว่า ทำทรัพย์ให้เป็นแก่นสาร ทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร ย่อมประกอบไปด้วยอานิสังสผล ทำให้ตนพ้นจากมารและบ่วงของมาร เป็นสะพานไต่เต้าเข้าสู่มรรคผลนฤพาน ดังรับประทานแสดงมา ก็สมควรด้วยเวลาเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า:  1 ... 3 4 [5] 6 7   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.972 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 09 กุมภาพันธ์ 2567 01:12:46