[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 00:18:51 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 ... 4 5 [6] 7   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แสงสว่างทางปฏิบัติ  (อ่าน 43993 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 74.0.3729.169 Chrome 74.0.3729.169


ดูรายละเอียด
« ตอบ #100 เมื่อ: 14 มิถุนายน 2562 11:17:47 »




สมาทานสัมมาทิฏฐิ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ญาติโยมทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของเราทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า

สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพทุกฺขา อปจฺจคา

บุคคลจะพ้นจากปวงทุกข์ได้ด้วยการสมาทานสัมมาทิฏฐิ

คำว่า ทุกข์ ในที่นี้หมายถึง ความทนได้ยาก ซึ่งเกิดขึ้นแก่เราทั้งหลาย แต่ทุกข์นั้นเมื่อสรุปลงสั้นๆ พอจำง่ายก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ ๑) ความทุกข์ทางกาย ๒) ความทุกข์ทางใจ คือเป็นของที่เราต้องอดต้องทนอยู่ตลอดเวลา

๑. ความทุกข์ทางกาย ก็เพราะว่า ความทุกข์ทางกาย เมื่อได้รับเวทนาคือความเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดนั้นปวดนี้ ในตนที่มีในร่างกายของเรา ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนหาหยูกหายามารักษามาพยาบาล กว่าจะหายได้ ก็ต้องเสียเงินเสียทองเป็นจำนวนมากพอสมควร บางทีก็ไม่หายเสียเลย อันนี้เป็นความทุกข์ทางกาย ซึ่งทุกๆ คนก็ได้รับเหมือนกันหมด ไม่มีใครที่ไม่ได้รับ จะเป็นพระเป็นเณร เป็นญาติเป็นโยม ก็ได้รับด้วยกันทั้งนั้น

๒. ทุกข์ใจ ทุกข์ใจนี้ คือทุกข์เพราะไฟกิเลสมาเผาผลาญ ทุกข์เพราะไฟคือราคะ ทุกข์เพราะไฟคือโทสะ ทุกข์เพราะไฟคือโมหะ มาเผาอยู่ตลอดเวลา ทำให้จิตใจของเรานี้ไหม้และเหี้ยมเกรียมไป เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในจิตในใจ ญาติโยมทั้งหลายลองคิดดูว่า เวลาราคะคือความกำหนัดชอบพอในเพศตรงกันข้ามเกิดขึ้น มันทุกข์เท่าใด

มันทุกข์จนเหลือทน บางคนก็ต้องเสียผู้เสียคนไป เกิดขึ้นมาแล้วลืมผัวลืมเมีย ลืมพ่อลืมแม่ ลืมลูกลืมหลาน ผลสุดท้ายก็ร่วมสังวาสกันเหมือนสัตว์เดรัจฉาน ทั้งนี้ก็เพราะถูกอำนาจไฟราคะเผาผลาญ

ทีนี้ ถ้าถูกไฟคือโทสะความโกรธเผาผลาญ มันจะเป็นอย่างไร ถ้าไฟโทสะเผาผลาญ ยิ่งได้รับความทุกข์ขึ้นไปอีกกว่านี้นะ ยิ่งขณะมีความโกรธขึ้นในจิตในใจ เราจะรู้สึกว่า จิตใจของเราจะทุรนทุรายร้อนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เราจะพูดจาปราศรัยกัน หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เริ่มตั้งแต่ไม่น่าดูไม่น่าฟัง การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นที่น่ากลัว น่าขยาด น่าเกรงขาม เพราะไฟโทสะมันเผาผลาญ

หากว่าไฟคือโมหะมาเผาผลาญจิตใจของเรา เราก็จะเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี อย่างที่ชาวบ้านชาวเมืองเราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ทำไมจึงพากันกิน พากันสูบยา ก็เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันเคี้ยวหมาก เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันสูบกัญชา ก็เพราะคิดว่ามันดี

ทำไมจึงพากันสูบฝิ่น ก็เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันสูบผงขาว กินยาม้า ดมกาว ก็เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันฆ่ากัน ตีกัน เบียดเบียนกัน ข่มเหงกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ทำไมจึงพากันลักขโมยกัน ปล้นจี้กัน ทำไมจึงพากันพูดโกหกพกลมต้มตุ๋นกัน

ทำไมจึงพากันพูดจาไม่ไพเราะ ไม่น่าฟัง พูดคำหยาบ ทำไมจึงพูดคำส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นแตกความสามัคคี ผิดกัน ทำไมจึงพูดถ้อยคำที่ไม่มีสารประโยชน์ ก็เพราะเราคิดว่ามันดี มันถูกแล้ว ทำไมมันไม่ดีจึงเห็นว่ามันดี ก็เพราะอำนาจของโมหะมันครอบงำจิตใจของเรา มันจึงเป็นเหตุให้เราคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว นานัปการ

จึงสรุปลงสั้นๆ ว่า ถ้าไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ มันเผาจิตใจของเราในขณะใด ในขณะนั้นมีความร้อนเหลือทน ทำให้เราคิด เราทำ เราพูด ในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม นี้ไฟที่เกิดขึ้นทางใจ ได้แก่ ไฟคือกิเลส มันเกิดขึ้นทางใจ

สรุปแล้วว่า ไฟคือความทุกข์ ไฟคือกิเลส ที่มันเผาจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา ทีนี้เราจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ องค์สมเด็จพระสุคตเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า สมฺมาทิฏฺิสมาทานา สพฺพทุกฺขา อปจฺจคา เราต้องสมาทานสัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ ความเห็นถูก

คำว่า ทิฏฐิ นี่แปลว่า ความเห็น แต่ถ้าแปลตามความหมายก็จะแปลได้ ๒ อย่างคือ ๑) มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด ๒) สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกเห็นชอบ

คนเราจะทำดีจะละชั่วแล้วทำดีได้ก็เพราะมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกเสียก่อน ถ้าหากว่ามีความเห็นถูกแล้ว ก็สามารถที่จะคิดในทางที่ดีที่ชอบได้ เช่นว่า

ทานสัมมาทิฏฐิ เห็นว่าการให้ทานนี่ดี มีผล อย่างน้อยที่สุด ทำให้เรามีความสุขใจ เรามีความสบายใจ เรามีความร่าเริงบันเทิงใจ เรามีปีติ เรามีความปราโมทย์ เบิกบาน ในเมื่อได้ทำบุญทำทานไว้แล้ว นี่ก็ต้องมีความเห็นถูกเสียก่อน ต่อไปเราก็จะคิดว่า การให้ทานนี่ดี สามารถทำให้ผู้อื่นรักได้ เป็นเสน่ห์ขั้นพิเศษ สามารถผูกมิตรไมตรีจิตของกันและกันไว้ได้ เพราะผู้ให้ก็ต้องเป็นที่ถูกใจของผู้รับ ผู้รับย่อมมีความรักใคร่นับถือผู้ให้

ญาติโยมทั้งหลายลองคิดดูสิว่า เราอยู่ด้วยกันทุกวันนี้ สามีภรรยาอยู่ด้วยกันได้ ก็ต้องอาศัยการให้กัน ให้สิ่งของกัน ระหว่างพ่อแม่กับลูกๆ หลานๆ รักใคร่นับถือกันก็เพราะว่ามีการให้กัน มีการเสียสละระหว่างเพื่อนบ้านของเรา ตลอดถึงตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และโลกทั้งโลกนี้ จะมีความเคารพนับถือกัน มีความรักกัน ไม่ทำสงครามประหัตประหารกัน ก็เพราะว่าอาศัยการให้กัน การเสียสละ การให้กัน จึงอยู่เป็นสุข นี่เราต้องมีความเห็นอย่างนี้เสียก่อน จึงจะให้ทานได้

หรือสูงๆ ขึ้นไป เราก็จะเห็นว่า การให้ทานนี่ดี สามารถทำลายความโลภ ทำลายมัจฉริยะคือความตระหนี่ลงได้ชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเราทำได้อย่างดี ประกอบด้วยไตรเหตุ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จซึ่งสุคติ โลกมนุษย์ สวรรค์ ตลอดถึงพระนิพพาน

ในเมื่อเราเห็นถูกอย่างนี้แล้ว เราจึงจะสามารถทำบุญทำทานได้ แต่ถ้าเรามีความเห็นว่า ทำทานไปทำไมหนอ ทำทานไปก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร ทำทานไปแล้ว ไปวัดยามใดๆ ทำทานไปแล้วมีแต่พระเณรฉันหมด เหลือมาแต่กล่องเปล่า เหลือมาแต่กระติบข้าวเปล่า เหลือมาแต่ถ้วยเปล่า มิหนำซ้ำถ้วยเราก็แตก ถ้วยเราก็หาย

ตะกร้าเราก็หาย กล่องข้าวเราก็หาย ให้ทานไปแล้วก็ไม่เห็นได้บุญสักที มาซื้อเลขก็ไม่ถูกสักที ไปทำมาค้าขายก็ไม่ร่ำรวยสักที ว่าจะเป็นเศรษฐีก็ไม่เห็นเป็นสักที ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิแบบนี้ ก็ทำบุญทำทานไม่ได้ ต้องมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกเห็นชอบเสียก่อนจึงจะทำบุญทำทานได้

สีลสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกเห็นชอบว่าการรักษาศีลนี่มีบุญ มีอานิสงส์อย่างน้อยๆ ที่สุด คนที่รักษาศีลดีแล้ว เรามองดูก็งดงาม สำหรับตัวเราเองนี้ ถ้าเรารักษาศีลแล้ว เราก็มีความสุขใจ เราไม่ได้ไปฆ่าผู้อื่น ไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ได้พยาบาทอาฆาตจองล้างจองผลาญผู้อื่น ไม่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เราก็ไม่มีเวรไม่มีภัย

เราก็จะไม่คิดว่าใครจะมาฆ่าเรา ผู้นี้จะมาตีเรา ผู้นั้นจะมาทำร้ายเรา เราก็ไม่ได้คิด เพราะเราไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ได้ทำร้ายผู้อื่น เราไม่ได้ลักขโมยของใครเลย ผู้อื่นจะมาลักขโมยของเราก็ไม่ได้ เราไม่ได้ล่วงเกินผัวเขาเมียเขาลูกเขา เราไม่ได้โกหกหลอกลวงต้มตุ๋นเอาทรัพย์สมบัติของคนอื่น เราไม่ได้เสพยาเสพติด มีสุรายาฝิ่นกัญชาเป็นต้น

เราคิดมาแค่นี้ก็มีความสุขใจแล้ว เพียงแต่ว่าเราเคยติดหมากมา เรางดเคี้ยวหมากได้ เป็นสุขดีหนอ แต่ก่อนไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ต้องหาตะกร้าหมาก เตรียมตะกร้าหมากตะกร้าพลูเสียก่อน กว่าจะออกจากบ้านได้ก็ลำบากลำบน เดี๋ยวนี้เราละได้แล้ว มันสุขหลาย

อย่างเมื่อก่อนเราสูบบุหรี่ เราเป็นทุกข์ ตอนนี้เราไม่ได้สูบบุหรี่แล้ว เราเลิกแล้วยิ่งเป็นสุขมากขึ้น ไปไหนก็สบายๆ ไม่ต้องถือห่อบุหรี่ ไม่ต้องถือเงินไปซื้อบุหรี่สูบ ไม่ต้องลำบากลำบน นี่ถ้าเรามีความเห็นถูกอย่างนี้เสียก่อน ไปวัดทุกวันนี้ก็สบายๆ ไม่เหมือนแต่ก่อน ตะกร้าหมากตะกร้ายาก็ไม่ได้พกไปด้วย

พระเณรไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่กินหมาก เรายิ่งสบายหลาย ไม่เหมือนแต่ก่อน ไม่จำเป็นต้องเสียค่าหมากค่าบุหรี่ เราต้องมีความเห็นถูกเห็นชอบเสียก่อน เราจึงจะรักษาศีลได้ ในเมื่อเราเห็นว่าการรักษาศีลนี่ การไม่ฆ่ากัน การไม่เบียดเบียนกัน การไม่เอารัดเอาเปรียบกัน การไม่ขโมยของกัน การไม่ล่วงเกินผัวกันเมียกันลูกกัน การไม่พูดโกหกกัน ไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นแตกความสามัคคีกัน การละเว้นจากยาเสพติด มันเป็นสุข มันสบายแล้ว

ศีลที่เรารักษาได้ดีแล้ว เมื่อเราอยู่ในโลกนี้ก็มีความสุข ไปที่ไหนก็มีแต่คนรักคนหอม ชื่อเสียงอันดีงามก็ย่อมฟุ้งขจรไป เราเข้าสมาคมใดๆ ก็มีความองอาจ มีความกล้าหาญ ไม่สะทกสะท้าน ไม่วิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน ไม่คิดว่าคนนั้นจะว่าอย่างนั้น คนนี้จะว่าอย่างนี้ เราก็ยังรักษาศีลได้

ญาติโยมทั้งหลาย คนที่ไม่มีศีลนี้ หรือคนที่มีศีลไม่สมบูรณ์ หรือคนที่ทุศีลนี้ อยู่ที่ไหนๆ ก็ไม่สง่าผ่าเผย ไม่มีความสง่าผ่าเผย มีความสะดุ้ง มีความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนกับควายสันหลังมันหวะ ตัวมันหวะ แค่ได้ยินเสียงการ้องก็ตื่นตระหนกแล้ว มันเป็นทำนองนี้ ด่าอย่างไร ด่าคนนี่ก็ไม่เจ็บเท่ากับเอาศีลนี้มาด่า

หลวงพ่อเห็นเขาด่ากันตอนอยู่ที่บ้านอีเติ่ง เขาด่าพ่อจารย์คู สำหรับผู้ด่าก็เป็นโยมอุปัฏฐากของหลวงพ่อนี่แหละ คนที่ด่าอาจารย์คูนี่นะ อาจารย์คูนี่ท่านพูดเก่ง พูดได้มากกว่าผู้อื่น พูดอย่างนั้นอย่างนี้เก่งกว่าผู้อื่น ฝ่ายแม่ออก (โยมอุปัฏฐาก) ก็ว่าอยู่คำเดียวเท่านั้นว่า เฮ้ย มึงอย่าพูดมาก บักปาราชิก จารย์คูหน้าไม่มีเลือดเลย ไม่มีเลือดไม่มียางเลย หน้าขาวเลย พูดก็ไม่ออกเลย สักนิดเดียวก็ไม่มี

มึงอย่าพูดมาก บักปาราชิก ด่าอย่างนี้มันเจ็บกว่าอย่างอื่น ด่าพระด่าเณรก็เหมือนกัน ด่าอย่างไรๆ ก็ไม่เจ็บ ถ้าด่าว่า บักพระปาราชิก ห่มผ้าเหลืองเฉยๆ เณรปาราชิกนี้ พระปาราชิกนี้ ถ้าด่าคำนี้ เจ็บกว่าอย่างอื่นทั้งหลายทั้งปวง

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายที่มีศีลแล้ว อยู่ที่ไหนๆ ก็มีความสุขใจ คนที่มีศีลแล้วย่อมเป็นที่หลั่งไหลมาของโภคสมบัติทั้งหลายทั้งปวง ดังที่ท่านว่า สีเลนะ โภคะสัมปะทา คือผู้ที่จะมีสมบัติได้ ก็เพราะรักษาศีล สีเลนะ สุคะติง ยันติ คือ คนที่จะได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้าก็เพราะรักษาศีล สีเลนะ นิพพุติง ยันติ คือคนจะถึงพระนิพพานได้ก็เพราะรักษาศีล

ตัสมา สีลัง วิโสธะเย เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์เถิด เรามีความเห็นดีเห็นชอบกันเสียแล้ว มีความเห็นถูกเห็นชอบกันเสียแล้ว จึงจะได้รักษาศีล ก็เนื่องมาจากสัมมาทิฏฐิ

ภาวนาสัมมาทิฏฐิ บุคคลจะเจริญภาวนาได้ก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิเสียก่อน คือมีความเห็นถูกเห็นชอบว่า การเจริญภาวนานี่ดีหนอ ทำให้จิตใจสบาย ในเมื่อเจริญภาวนาแล้ว กามฉันทะคือ ความกำหนัด หรือพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็ไม่มี ความพยาบาทก็ไม่มี ความง่วงเหงาหาวนอนก็ไม่มี

จิตใจของเราก็ไม่ฟุ้งซ่านซัดส่าย ไม่คิดมากเหมือนแต่ก่อน บางทีก็ไม่คิดเสียเลย นั่งสมาธิสงบไปเลย แล้วก็ไม่มีวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติ มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย การเจริญภาวนานี่ทำให้มีความสุขใจมาก มีความสบายใจมาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่สามารถเข้าครอบงำจิตใจของเราได้เลย ท่านว่ามันเป็นบุญ เป็นบุญจริงๆ นะนี่

ท่านว่าผู้นั่งสมาธิได้นี่ ผู้เข้าสมาธิได้ในโลกนี้ ท่านว่า ในร่างกายนี้เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ แต่จิตใจเป็นพรหมแล้ว มันเข้าถึงพรหมแล้ว เพราะว่าพระพรหมนั้นไม่มีการเสพกาม ไม่มีการบริโภคกาม ไม่ข้องอยู่ในกาม ไม่ยินดีในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เวลาเราอยู่ในสมาธิ จิตใจมันไม่ข้องอยู่ในกามคุณ มันเป็นสุขจริงๆ

แต่ก่อนนั้น เราหลงชอบคนนั้น หลงชอบคนนี้ จนนอนก็ไม่หลับ นอนหลับไปก็ฝันเห็นหน้า เหมือนว่าเขามานอนอยู่ด้วย เหลียวหน้าแลหลัง มองหาแต่คนที่เรารัก คิดแต่ว่าเขาจะเดินมาหาอยู่เรื่อยๆ นั่งอยู่ก็เหมือนว่าเขาจะมาหาอยู่เรื่อย นอนอยู่ก็เหมือนว่าเขาจะมาหาอยู่เรื่อย เหลียวหน้าแลหลังอยู่ตลอดเวลา มันเป็นทุกข์ขนาดนี้

ถ้าไปรักผู้นั้นไปหลงผู้นี้แล้ว มันก็เหมือนไฟสุมแกลบ มันไม่รู้จักหยุดสักที มันยังไหม้อยู่ มันกรุ่นอยู่ในจิตในใจ โยมผู้หญิงก็เหมือนกัน ถ้าเคยไปหลงรักผู้ชาย โยมผู้ชายทั้งหลายที่เคยไปรักผู้หญิง ก็คงรู้ว่ามันเป็นทุกข์

ทำไมจึงว่ามันเป็นทุกข์ ก็เพราะหลวงพ่อก็เคยรักเหมือนกัน ตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่มน้อย ยังไม่ได้บวช มีดอกปอ ดอกซ่อน ปลูกไว้ที่บ้าน เวลาดอกไม้บาน ตอนเย็นก็ไปเก็บใส่จานไว้แจกสาวๆ ที่มาขอ สาวคนไหนที่ชอบก็ให้เยอะ คนไหนชอบน้อยก็ให้น้อยๆ ให้ไปแล้วก็ยังไม่จบ ก็ยังนึกถึงเขาอยู่นั่นแหละ

ได้ยินเสียงใครเดินผ่านมา ก็นึกแต่ว่าสาวคนนั้นจะมาหา ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้รักเราหรอก มีแต่เรารักเขา นอนหลับไปก็มีแต่ฝันเห็นแต่เขา ยามออกไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เหมือนกับว่าเขาจะมาอยู่เรื่อย นั่งเหลียวหน้าแลหลังคิดว่าเขาจะมาอยู่เรื่อย มันเป็นแบบนี้ มันเป็นทุกข์ ถ้าเราไปหลงรักเขา

ทีนี้ถ้าเราอยู่ในสมาธิ ความรัก ความชังก็ไม่มี ความโกรธก็ไม่มี ความคิดมากก็ไม่มี ความง่วงเหงาหาวนอนก็ไม่มี เราก็คิดได้ทันทีว่า การอยู่ในสมาธิมันเป็นความสุขดีหนอ มันถึงพรหมจริงๆ หนอ ท่านว่า ตายจากชาตินี้ภพนี้ ไปเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

เราก็ต้องมีความคิดดี มีความเห็นดีเห็นชอบอย่างนี้เสียก่อน จึงจะได้เริ่มเจริญภาวนา ดังเช่นญาติโยมทั้งหลายที่พากันมาฝึกสมาธิ ก็เพราะดีอย่างนี้ หลวงพ่อจึงให้ฝึกสมาธิ แต่หมายถึงว่าผู้ได้สมาธิแล้วนะ แต่ถ้าไม่ได้สมาธิ เอาคนดิบๆ มาฝึกแล้ว ตายๆ มีแต่ตาย นั่งชั่วโมงหนึ่งก็คิดว่าขาจะขาด เอวเกือบจะขาด ขืนนั่งต่อไปตายแน่ๆ เตรียมบอกให้พ่อแม่เตรียมโลงศพไว้ให้ก่อน หมายถึงว่า เอาคนดิบๆ มานั่ง เมื่อมันยังไม่เป็นสมาธิ มันก็นั่งไม่ได้

เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ขอเกริ่นไว้สักเรื่องหนึ่งก่อน สำหรับผู้ที่จะฝึกต่อไปก็ฝึกต่อไป สำหรับผู้ที่มาใหม่ สมาธิยังไม่มาก ก็ให้ฝึก ๓๐ นาที ผู้ได้ ๓๐ นาทีแล้วก็นั่ง ๑ ชั่วโมง ผู้ได้ ๑ ชั่วโมงแล้วก็นั่งเป็น ๒ ชั่วโมง ผู้ได้ ๒ ชั่วโมงก็เป็น ๓ ชั่วโมง

ผู้ได้ ๓ ชั่วโมงแล้วก็เป็น ๖ ชั่วโมง ครั้งนี้เราก็กระโดดไกลเลย ผู้ได้ ๖ ชั่วโมงแล้วก็เป็น ๑๒ ชั่วโมง ผู้ได้ ๑๒ ชั่วโมงแล้วก็เป็น ๒๔ ชั่วโมง

แต่อย่าลืมว่า การที่เราฝึกสมาธินี้ สมมติว่าเราเคยนั่ง ๓๐ นาทีแล้ว เมื่อเรามานั่ง ๑ ชั่วโมง แต่พอไปถึง ๓๐ นาที ใจของเราหรือจิตของเรามันออกจากสมาธิก่อน เวลามันจะออกจากสมาธิ ก็ทุรนทุรายเหมือนดังจะขี้จะอ้วก ร้อนใจจนใจจะขาด ถ้ามันทนไม่ได้ก็จะออกอย่างเดียว ถ้าอดได้ก็ให้กำหนดต่อ กำหนดต่อไปๆ ภาวนาต่อไปๆ มันก็เข้าสมาธิจิตต่อไปอีก มันก็ได้เต็มอีก ๓๐ นาทีๆ หลังมันก็เลยเต็ม

ทีนี้ ถ้าว่าเรานั่งชุดที่ ๒ หากว่าเรานั่ง ๑ ชั่วโมงได้แล้ว เราผ่านพ้นอุปสรรคได้แล้ว เราสามารถนั่ง ๑ ชั่วโมงได้ ทีนี้ชุดที่ ๒ เราก็นั่ง ๑ ชั่วโมงก็สบาย สงบเงียบไปทั้ง ๑ ชั่วโมงเลย ถ้าผู้ที่เคยฝึก ๑ ชั่วโมงแล้วก็มาฝึก ๒ ชั่วโมง ทีนี้พอถึง ๑ ชั่วโมง จิตใจของเราก็จะออกจากสมาธิเสียก่อน จะทุรนทุรายเหมือนใจจะขาด แต่เราข่มใจกำหนดต่อไปอีกๆ มันก็เข้าสมาธิไปอีกในชั่วโมงหลัง

ในชั่วโมงหลังนี้มันจะเข้าๆ ออกๆ เดี๋ยวเข้าไปเดี๋ยวออกมา แต่ครั้งหน้านี้เรามานั่งอีก ๒ ชั่วโมงเรียบไปเลย ถ้าสมมติเราไปฝึก ๖ ชั่วโมงนี่ ครั้งแรกเรานั่งได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว เมื่อนั่งไปถึง ๓ ชั่วโมงแล้ว จิตใจของเราจะออกจากสมาธิเสียก่อน เมื่อจะออกจากสมาธิแล้ว เราก็ต้องอดต้องทน กำหนดไปๆ เดี๋ยวก็เข้าสมาธิไปอีก มันก็ครบ ๖ ชั่วโมง

ถ้าเราไปฝึก ๑๒ ชั่วโมง เวลาไปถึง ๖ ชั่วโมงที่เราเคยนั่ง มันก็ออกเสียก่อน จิตใจออกมาเสียก่อน พอออกจากสมาธิแล้วมันทุรนทุรายมาก เพราะมันใช้เวลานาน ใจทุรนทุรายเหมือนใจจะขาด เหมือนจะขี้จะเยี่ยวเลย แต่ถ้าเราทนนั่งไปอีก กำหนดไปอีก มันก็เข้าไปอีกแล้วก็สบาย ถึงเวลาก็จะออกมา

การฝึก ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมง ก็ทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้น เรากำหนดมันทันใจ เวลามันออกจากสมาธิ อุปมาเหมือนกับว่าเราไปเขมราฐ สมมุติว่าเราเดินไปเขมราฐ พอไปถึงบ้านดอนเย็น เราก็พักให้หายเมื่อยเสียก่อน กินข้าวกินน้ำแล้วจึงไป ไปครั้งหน้าพอไปถึงบ้านดอนเย็นก็อยากพักอีก มันเป็นทำนองนี้

เหมือนเราขี่เกวียนไปถึงกลางทาง เราหยุด ชุดหน้าพอไปถึงกลางทาง เราก็หยุด ชุดต่อไปมีธุระรีบร้อน เรากะว่าจะไม่หยุด เราจะไปเลย วัวมันก็หยุดเอง ถ้าเราพัดมันออกมันก็สลัดออกจากเกวียนเรา ไม่ยอมเทียมเกวียนต่อไป ข้อนี้ฉันใด

ใจของเรานี้ก็เหมือนกัน เหมือนกับวัวดื้อวัวด้าน ไปถึงที่มันเคยออก เคยเข้าสมาธิ ๑ ชั่วโมง พอถึง ๑ ชั่วโมงมันก็ออกเสียก่อน เราคุมไว้ๆ มันก็จะเข้าไปอีก เราเคยฝึก ๖ ชั่วโมง พอถึง ๖ ชั่วโมงมันก็ออก เราเคยฝึก ๑๒ ชั่วโมง พอถึง ๑๒ ชั่วโมงมันก็ออก เรากำหนดต่อไป มันก็จะเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น ก็ขอให้จำไว้ ก็ขอให้พากันฝึกต่อๆ ไป มันก็จะไปถึงจุดหมายปลายทาง

ทีนี้ ในเมื่อเรามีความเห็นดีเห็นชอบว่า การทำสมาธิ การฝึกสมาธินี้ เป็นบุญเป็นอานิสงส์ อยู่ในโลกนี้ก็ทำให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกกิเลสครอบงำ ถึงมันไม่ดับก็ตาม กิเลส มันก็ครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ เมื่อจุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลก เราจึงจะได้เจริญสมถภาวนา จึงจะได้เจริญสมาธิต่อไป

วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกเห็นชอบว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานี่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ให้ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เราก็ต้องมีความเห็นถูกเห็นชอบอย่างนี้เสียก่อน จึงจะได้เจริญวิปัสสนาภาวนาได้ ถ้าเราไม่มีความเห็นถูกเห็นชอบอย่างนี้ เราก็เจริญวิปัสสนาไม่ได้

ตลอดถึงการทำมาค้าขายเหมือนกัน การปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร การทำไร่ทำนา ทำสวนครัว ปลูกหมากอึ (ฟักทอง) หมากแตง(แตงกวา) บักหุ่ง (มะละกอ) ตะไคร้ แมงลัก หัวข่า หัวขิง อะไรก็ตาม เราก็ต้องมีความเห็นดีเห็นชอบเสียก่อน เราจึงจะปลูกหรือทำสวนเราได้ ตลอดถึงเราจะกินว่านกินยา เราก็ต้องรู้ว่ายาที่กินแล้วนี่จะถูกโรคถูกพยาธิ เราจึงจะกินว่านกินยา ถ้าเราคิดว่ามันไม่ถูกโรคถูกพยาธิ เราก็ไม่ยอมกิน

สรุปสั้นๆ ว่า ญาติโยมทั้งหลาย คนเราจะพ้นจากความทุกข์ทั้งทางโลกก็ดี ทั้งทางธรรมก็ดี หรือว่าจะพ้นจากทุกข์ทั้งทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ก็ต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูก เห็นดี เห็นชอบเสียก่อนแล้ว เราจึงจะได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม

เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐินี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ จึงเป็นสิ่งที่พาให้พ้นทุกข์ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย พระองค์ทรงตรัสว่า สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพทุกฺขา อปจฺจคา การสมาทานสัมมาทิฏฐิ เป็นเหตุให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ก็ขอให้ญาติโยมพยายามปรับใจให้ดี พยายามให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่ตลอดเวลา

เอาล่ะ เท่าที่หลวงพ่อได้นำเรื่อง สัมมาทิฏฐิ มาบรรยายให้ฟังเพื่อเป็นแนวการประพฤติปฏิบัติ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 75.0.3770.100 Chrome 75.0.3770.100


ดูรายละเอียด
« ตอบ #101 เมื่อ: 09 กรกฎาคม 2562 10:47:10 »




การเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ (เหตุทำให้อายุยืน)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

หลวงพ่อคิดว่า ท่านทั้งหลายสดับรับฟังเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติไปพอสมควรแล้ว ธรรมะเกี่ยวกับวิปัสสนากัมมัฏฐานก็จะไม่พูดถึง แต่ขอชี้แนะแนวทางธรรมะปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินเวลาการปฏิบัติมา ๒ พรรษากับพรรษานี้ คือ ธรรมะอันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อายุยืน ดังที่พระองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ผู้ใดเจริญให้ยิ่งด้วยอิทธิบาทภาวนาแล้ว แม้มีความประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ยิ่งๆ ก็สามารถที่จะทำได้ คือทรงสอนพระอานนท์เรื่องการเจริญอิทธิบาทภาวนา

          ท่านทั้งหลายคงพอจะรู้ว่า วันที่จะเกิดแผ่นดินไหว เพราะเหตุอันใด พระองค์ก็ทรงชี้แจงให้รู้ว่า แต่นี้ต่อไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพานที่ต้นสาละทั้งคู่ เมืองกุสินารา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยอยากให้พระองค์มีพระชนมายุยาวนาน เพื่อโปรดแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ก็ไม่รับอาราธนา

          พระองค์ทรงชี้แจงให้พระอานนท์ทราบว่า ดูกรอานนท์ อีก ๓ เดือนนี้ ตถาคตจะปรินิพพาน หากจะอยู่อีกถึง ๑ กัป พระองค์ก็สามารถที่จะอยู่ได้ สมัยครั้งพุทธกาลถือว่า ๑ กัป คือ ๑๐๐ ปี สมัยนี้ ๑ กัปถือเอา ๗๕ ปี โดยประมาณ เหตุที่จะทำให้อายุยืนยาวนั้น พระองค์ทรงให้น้อมนำเอาอิทธิบาท ๔ มาเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ คือ

          ๑.    ฉันทาภิสังขาร มีความพอใจอย่างยิ่งในการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ

          ๒.    วิริยาภิสังขาร มีความเพียรอย่างยิ่งในการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ

          ๓.    จิตตาภิสังขาร มีความตั้งใจอย่างยิ่งในการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ

          ๔.    วิมังสาภิสังขาร มีความฉลาดอย่างยิ่งในการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ

          การเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ ถือเอาสิ่งไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย มาบริกรรม ในโลกนี้อะไรที่ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย สรุปลงอยู่ ๒ประการ คือ

          ๑.    จิตใจของเรา ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย เช่นสามารถไปอเมริกาได้ โดยไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย

          ๒.    นิพพานนั้นก็ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย

          เหตุนั้น เราจะเจริญธรรมะบทนี้ เราก็เอาสิ่งไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมายมาบริกรรม จนสามารถทำจิตใจให้ตั้งมั่นเป็นอัปปนาสมาธิ ถ้าเราสามารถทำได้อย่างนี้ อายุของเราก็จะยั่งยืนไปตามลำดับๆ

          หากว่าร่างกายหรือสังขารของเรานี้ไม่สามารถที่จะดำเนินต่อไปได้ สมมติว่าร่างกายของเรานี้มีพลังอยู่ได้ประมาณ ๖๕ ปีอย่างนี้ เราจะพยายามใช้ส่วนที่เหลือนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เราก็เพิ่มบารมีด้วยการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ อาจจะอยู่ได้สัก ๗๐ ปี หรือ ๗๕ ปี

          วิธีเจริญนั้น ญาติโยมทั้งหลาย ก่อนที่เราจะเจริญก็ให้สมาทานพระกัมมัฏฐาน แล้วก็อธิษฐานว่า

          สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไปในอนิมิตตเจโตสมาธิ เป็นเวลา ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมงก็แล้วแต่ โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายจงหายไป มีอายุอยู่ชั่วกัปหนึ่งหรือยิ่งกว่า

          เราก็นั่งภาวนา เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย กายตั้งตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดลมหายใจที่จมูกก็ได้ ท้องพองยุบก็ได้ ภาวนาว่า จิตตัง นิพพานัง อนิมิตตังๆ ไปเรื่อยๆ คือ จิต นิพพาน ไม่มีนิมิตๆ เราภาวนาไปเรื่อยๆ จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน

          ถ้าเราทำสมาธิขณะที่เป็นฌานนี้ อายุของเราจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมันหมดพลังทุกอณู ทุกเซลล์ เมื่อมันหมดสภาพแล้ว อาการเกิดดับของจิตใจเราหมดสภาพ จะเกิดอีกต่อไปไม่ได้ สมมติจะตายภายใน ๗๐ ปี แต่สมองและร่างกายจิตใจมันยังพอไปไหวอยู่ และการเจริญพระกัมมัฏฐานดำเนินก้าวหน้า ทำให้สำเร็จอัปปนาสมาธิ ก็จะสามารถมีอายุยืน ๗๐-๘๐ ปี หรือมากกว่า

          สรุปว่า การเจริญกัมมัฏฐานบทนี้ ให้เราสมาทานกัมมัฏฐาน เสร็จแล้วอธิษฐานจิตว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไปในอนิมิตตเจโตสมาธิ เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง หรือ ๒ ชั่วโมงก็แล้วแต่ ตอนนี้ขอให้โรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่ในร่างกายหายไป เสื่อมไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน อย่าให้เกิดขึ้นมาใหม่ ให้มีอายุยืนชั่วกัปหนึ่ง หรือยิ่งกว่ากัปหนึ่ง

          ให้ภาวนาไป จะนั่งภาวนาก็ได้ นอนภาวนาก็ได้ ภาวนาว่า จิตตัง นิพพานัง อนิมิตตัง จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ จนขาดความรู้สึกไป

          ทีนี้ ถ้าเวลานอน เราจะลุกตี ๓ ตี ๔ ก็อธิษฐานจิตซะก่อนว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไปจนถึงตี ๔ พร้อมกันนี้ ขอให้โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายที่มีอยู่ ขอให้หายไป สิ้นไป เสื่อมไป สูญไปจากขันธสันดาน อย่าได้กลับมาเป็นอีก และให้มีอายุยืน ๑ กัป หรือเกินกว่ากัปหนึ่ง แล้วก็ภาวนา จิตตัง นิพพานัง อนิมิตตัง ต่อไปจนถึงตี ๔ นั่นแหละจึงจะลุก

          อันนี้เป็นหัวข้อที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ เวลานอนก็ขอให้ภาวนา รู้สึกตัวขึ้นมาก็ภาวนาต่อ มันหลับไปอีก รู้สึกตัวขึ้นมาก็ภาวนาต่อไปจนกว่าจะได้เวลาที่อธิษฐานไว้ จึงออก หากว่าทำให้ยิ่ง เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพระอานนท์แล้ว จะมีอายุยืนอยู่ชั่วกัปหนึ่ง หรือยิ่งกว่ากัปหนึ่ง

          อันนี้หลวงพ่อได้น้อมนำมาปฏิบัติ และได้แนะนำลูกศิษย์ลูกหาเป็นเวลา ๒ ปี สมัยนั้นโยมบางคนคิดว่าจะตายเร็ว ก็ยังไม่ตาย โยมบางคนหมอบอกว่าจะตายภายใน ๗ วัน ทุกวันนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ ยังอยู่ได้อีก ๔ เดือน ๕ เดือนก็มี บางคนเป็นอัมพาต หลวงพ่อก็แนะนำพร่ำสอนให้เจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ ไปบิณฑบาตเห็นโยมลุกขึ้นมา เดินมาใส่บาตร ยังไม่ตาย โยมจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ ได้ประโยชน์และให้ผลทันตาเห็น

          ไม่ใช่ธรรมะอันใดอื่น เป็นธรรมะคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ในพระไตรปิฎก นำมาแนะนำพร่ำสอนญาติโยมทั้งหลาย จะได้มีอุปการะแก่พระศาสนาไปได้มากกว่านี้ และจะได้สร้างบารมีเพื่อให้เป็นบุญกุศลไปให้มากกว่านี้

          เพราะว่า ไม่อยากให้ใครตายง่ายๆ อยากให้อยู่นานๆ เพราะฉะนั้น ในหน้าพรรษา หลวงพ่อจะอธิษฐานว่า ตั้งแต่ภายในหน้าพรรษานี้ ห้ามใครตายเป็นอันขาด ขอให้อยู่ด้วยกันก่อน ทุกๆ ปีที่ผ่านมา หลวงพ่อก็ว่าอย่างนี้ ส่วนมากก็อยู่ด้วยกันถึงตลอดพรรษา ไม่ตายก่อน

          เอาละ ญาติโยมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้แนะนำแนวทางของการปฏิบัติ เรื่องการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ ก็คิดว่าพอจะเป็นแนวทางของการปฏิบัติได้แล้ว ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 75.0.3770.142 Chrome 75.0.3770.142


ดูรายละเอียด
« ตอบ #102 เมื่อ: 26 กรกฎาคม 2562 09:58:36 »




กวนข้าวทิพย์
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย…

          เมื่อต้องการอยากให้ข้าวนั้นเป็นของดีมีคุณภาพ เราจึงประกอบพิธีขึ้นมา นิมนต์พระสงฆ์มาร้อยกว่ารูปมาเจริญพระพุทธมนต์ ก็เพื่อต้องการอยากได้ของที่ดี อยากได้แต่พี่น้องที่เป็นคนดี อยากได้อุบาสกอุบาสิกาที่ดี ที่มีคุณภาพ คือมีศีล ๘ ประการ

          เมื่อเราทั้งหลายต่างก็ดีกันทุกคน ญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา ก็มีศีล ๘ ประการ นี่ก็ถือว่าเป็นคนดีทุกคน พระสงฆ์องค์เณรก็มีศีลบริสุทธิ์ เพราะปลงอาบัติ สัพพา ตา… สมาทานศีล ก็ถือว่าเป็นพระเป็นเณรที่ดีแล้ว ญาติโยมทั้งหลายก็มาไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ แล้วก็สมาทานศีล ๘ ประการ ก็ล้วนแต่เป็นคนดีทั้งนั้น ไม่มีคนผู้ใดผู้หนึ่งเลยที่เป็นคนไม่ดี

         พวกเราทั้งหลายดีกันทุกคน พระสงฆ์องค์เณร ปะขาวแม่ชีก็ดี อุบาสกอุบาสิกาก็ดี ล้วนแต่เป็นคนดีกันทุกคน เมื่อต่างคนต่างก็ต้องการอะไรที่ดีๆเหมือนกัน ดังนั้น เราก็พร้อมเพรียงกันประกอบยัญวิธีกวนข้าวทิพย์

          ข้าวทิพย์ที่มากวนนั้นก็เป็นของดี พวกน้ำตาล น้ำอ้อย หรือข้าวเม่า ข้าวอะไรๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่หามา ล้วนแต่หาของดีๆมา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้ลักขโมยมา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องทุกสิ่งทุกอย่าง

          สรุปแล้วว่า ข้าวของอุปกรณ์ที่เอามากวนข้าวทิพย์นี้ ก็ล้วนเป็นของดีๆ ผู้ที่มากวนข้าวทิพย์ก็เป็นคนดี เหตุนั้น ข้าวทิพย์ก็จะเป็นของดีไปด้วย พวกเราทั้งหลายมีแต่คนดีๆ เมื่อคนดีๆทำของอะไรๆ มันก็เป็นของดี

          ที่หลวงพ่อกล่าวก่อนกวนข้าวทิพย์ทุกปีๆว่า พิธีกรรมที่จะทำ เราใช้สมาธิเป็นเกณฑ์ นอกจากมีศีลเป็นพื้นฐานแล้วก็ต้องมีสมาธิเป็นเกณฑ์ คือเราทั้งหลายทำพิธีกรรมเจริญพระพุทธมนต์ สวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

          ก็ในขณะที่สวด บางท่านก็นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ บางท่านก็สวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ทำจิตใจให้สงบ ตกลงผู้สวดก็เป็นผู้มีจิตใจสงบ ผู้นั่งสมาธิก็มีใจสงบ เมื่อต่างท่านต่างมีสมาธิแล้ว สมาธินั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยยกฐานะจิตใจของเราให้ดีขึ้น

          บางท่านที่เป็นผู้สวด อาจจะได้สมาธิในขั้นบริกรรมสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือบางท่านจิตใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ สำหรับผู้ที่นั่งสมาธิ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คือได้สมาธิเป็นสมาธิขั้นสูง เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธินั้นก็ทำพิธีกรรมให้พิเศษขึ้นมา คือเป็นพิธีกรรมที่เสกจิตเสกใจของเรา ให้เป็นจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง เป็นสมาธิ เป็นฌาน

          เมื่อจิตใจของเราเป็นสมาธิเป็นฌานแล้ว จิตใจนั้นก็ก้าวล่วงจากปุถุชนคนธรรมดา แล้วจิตใจนั้นก็เป็นพรหมขึ้นมา หมายความว่า ในขณะที่เราสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณอยู่นี้ จิตใจของเรามันก้าวพ้นจากความเป็นคนธรรมดามาเป็นมนุษย์ ออกจากมนุษย์แล้วก็มาเป็นพรหม

          เพราะเหตุไร

          เพราะว่าจิตใจของเราเป็นพรหม จิตใจที่เป็นสมาธิก็คือจิตใจที่เป็นพรหม นั่นมันสูงขึ้นมาแล้ว จิตใจของเราเป็นพรหมแล้ว แม้ร่างกายของเราเป็นมนุษย์ แต่จิตใจเป็นพรหมแล้ว

          เมื่อจิตใจเป็นพรหมแล้ว จิตใจของเรามันสูงขึ้นๆไปตามลำดับๆ จนเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (เมื่อนั้น) จิตใจดวงนี้ก็พ้นจากความเป็นมนุษย์ พ้นจากความเป็นพรหม แล้วก็เข้าถึงความเป็นอริยะ อาจจะเป็นพระโสดาบัน หรือสกทาคามี แล้วแต่บุญวาสนาบารมีของเรา

          เมื่อเราทั้งหลายมาทำพิธีกวนข้าวทิพย์ในวันนี้ ก็คือเรามาทำจิตทำใจของเรานั้นให้เป็นทิพย์ ให้เป็นพรหม ให้เป็นพระอริยะ ถือว่าฐานะความเป็นอยู่ของเราสูงขึ้น

          สำหรับข้าวทิพย์ที่เรากวนเราประกอบกันอยู่ในขณะนี้ เป็นของที่ดี เป็นของที่เลิศ เป็นของที่ประเสริฐ สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราไม่คิดให้ลึกซึ้ง เราก็จะคิดว่ามันก็เป็นของธรรมดา แต่ถ้าเราคิดให้ซึ้งๆ ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล………
 .
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 76.0.3809.100 Chrome 76.0.3809.100


ดูรายละเอียด
« ตอบ #103 เมื่อ: 21 สิงหาคม 2562 17:24:34 »




การปฏิบัติพระกรรมฐาน
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ขอเรียนท่านพระอาจารย์เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมบ้านคอนสายทรายมูล หลวงพ่อรู้สึกซาบซึ้งยินดี ปีติ และตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาทำงานถวายท่านพระอาจารย์และญาติโยมทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรม

          วันนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ได้มาโปรดญาติโยมทั้งหลาย แต่ที่จริง บ้านคอนสายทรายมูลเป็นที่ที่หลวงพ่อไปๆ มาๆ อยู่เดี๋ยวนี้ เมื่อก่อนโน้นก็มาสอนกัมมัฏฐานอยู่ที่วัดกุดน้ำเที่ยง หลวงปู่เกษม มาสอนวิชาปฏิบัติธรรมพระกัมมัฏฐานอยู่ที่นั้น ๓ ครั้ง คือ ๓ ปี แต่ไม่รู้ ไม่ทราบว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สัปปายะ น่าอยู่น่าอาศัย น่าที่จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

          มาเห็นครั้งแรก มาเห็นที่นี้ ภูมิใจดีใจว่า เรานี้คงมีวาสนาน้อย จึงไม่เห็นสถานที่แห่งนี้ ถ้าเมื่อก่อนหลวงพ่อได้เห็นสถานที่แห่งนี้ หลวงพ่อจะตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรม หรือเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม สอนทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา ทั้งปริยัติ แต่บุญน้อยเลยสู้พระอาจารย์ไม่ได้ พระอาจารย์ท่านคงเคยสร้างสมอบรมบารมีมา จึงได้มาอยู่สถานที่นี้

          วันนี้มาแล้ว ก็รู้สึกภูมิใจ ที่ได้มาทำงานเพื่อเป็นการโสรจสรงองค์ศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกา ที่มีปสาทะศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้พร้อมเพรียงกันมาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน

          การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ท่านทั้งหลายคงจะรู้คงจะทราบว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้นเป็นอย่างไร การปฏิบัตินั้นจะได้ผลอย่างไร อะไรทำนองนี้ เราได้เรียนมาพอสมควร และได้ปฏิบัติมาพอสมควรแล้ว เหตุนั้น วันนี้หลวงพ่อเพียงแต่จะมาชี้แนะแนวทางของการปฏิบัติบางสิ่งบางประการ เพื่อเหมาะแก่เวลา

          การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ปกติคณะครูบาอาจารย์ที่สอนการเจริญพระกัมมัฏฐาน ท่านจะสอนทั้งสมถะ สอนทั้งวิปัสสนา ส่วนมากจะเป็นอย่างนี้ บางอาจารย์ก็สอนเฉพาะที่เป็นวิปัสสนา บางอาจารย์ก็สอนเฉพาะที่เป็นสมถะ แต่สำหรับหลวงพ่อ สอนทั้งสมถะสอนทั้งวิปัสสนา ผู้มีบุญวาสนาบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมาแล้ว เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้าอยู่ในสายงานของหลวงพ่อ ผู้ปฏิบัติจะได้ทั้งสมถะได้ทั้งวิปัสสนา

          คำว่า ได้สมถะ ก็หมายความว่า ผู้ที่มาปฏิบัติ หากว่าได้เคยสั่งสมอบรมบารมีในทางสมถะ คือให้ทานมามาก และเจริญสมถะมามาก เมื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จิตใจของเราสงบแล้ว สามารถข่มนิวรณ์ธรรมได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราบริสุทธิ์ ประณีต สามารถข่มนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ลงได้แล้ว

          (เมื่อข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ลงได้แล้ว) ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด(องค์ฌานคือ) วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อจิตใจของเราได้ปีติ สุข เอกัคคตาแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌาน สามารถที่จะข่มจิตข่มใจทำจิตทำใจให้ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นี่สำหรับผู้เจริญสมถะมามาก หรือผู้ที่ให้ทานรักษาศีลมามาก จะได้ผลเป็นอย่างนี้

แต่สำหรับผู้มีวาสนาบารมี ที่ได้สร้างสมอบรมมาในทางวิปัสสนา คือเมื่อก่อนโน้นเคยเจริญวิปัสสนามาก่อนแล้ว เมื่อจิตใจสงบแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสงบ สามารถที่จะทำจิตใจของตัวเองให้แน่วแน่ จนสามารถเกิดพลังเกิดอานุภาพ ทำให้เกิดสมรรถนะสูง สามารถทำจิตทำใจให้ตั้งมั่นอยู่ในแนวทางของการปฏิบัติ

          เมื่อสมาธิเกิดแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          เห็นอนิจจัง คือเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

          เห็นทุกขัง คือเห็นสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นของที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้

          เห็นอนัตตา คือเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

          เมื่อเจริญวิปัสสนามาดังนี้แล้ว ก็จะเห็นรูปเห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือได้เฉพาะทางที่เป็นวิปัสสนา

          แต่ในสำนักที่หลวงพ่อสอนอยู่ หลวงพ่อเอาทั้งสองอย่าง คือสอนทั้งสมถะสอนทั้งวิปัสสนา ผู้ใดเคยสร้างสมอบรมบารมีมาในทางสมถะ ผู้นั้นก็สามารถที่จะได้สมาธิ ได้ฌาน ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แต่ถ้าผู้ใดเคยสร้างสมอบรมบารมีมาในทางวิปัสสนา ผู้นั้นก็จะได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน ตามบุญญาธิการที่ได้สร้างสมอบรมมา

          เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ก็เป็นอันสรุปว่า เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เราเอาทั้ง ๒ อย่าง คือเอาทั้งสมถะ เอาทั้งวิปัสสนา อย่างไหนแก่กล้า หรือเราเคยสั่งสมอบรมบารมีมาทางไหนก็เอาทางนั้น คือเหมือนกับว่าเราเกิดมาแล้วอยากได้ทรัพย์สินวัตถุสิ่งของเงินทองนานัปการ

          ก็สิ่งของทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้ สรุปลงว่า สิ่งที่คนเราอยากได้ที่สุด ก็คืออยากได้เงินอยากได้ทอง คนเกิดขึ้นมาแล้ว ก็อยากได้ทั้งเงิน อยากได้ทั้งทอง ไม่มีใครที่ไหนจะเอาแต่เงินอย่างเดียว และก็ไม่มีใครที่จะเอาแต่ทองอย่างเดียว ต้องเอาทั้งสองอย่าง ข้อนี้ฉันใด

          พวกเราทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างสมอบรมมา จะได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนานั้น เป็นของที่เราบังคับบัญชาไม่ได้ ว่าเออ เรามาปฏิบัติธรรมครั้งนี้ เราเจริญสมถะ เราจะให้ได้ฌาน หรือว่าเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ เราไม่เอาละสมถะ ไม่เอาฌาน เราจะเอามรรคเอาผล เพื่อทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน เป็นของที่บังคับบัญชาไม่ได้ หรือว่าเป็นของที่เราจะปฏิบัติให้ได้ตามใจของเรานั้นไม่ได้ ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา

          ถ้าผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลแล้วก็เจริญสมถะมาก่อน ผู้นั้นก็จะได้สมถะได้ฌาน แต่ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว หรือว่าเมื่อก่อนโน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้ทั้งวิปัสสนา คือได้มรรคได้ผล สามารถที่จะทำลายกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน

          สำหรับแนวทางการปฏิบัติ ส่วนมากครูบาอาจารย์ได้ดำเนินตามหลักสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานใดๆ ทั้งสิ้น

          สติปัฏฐาน ๔ นั้น เมื่อพูดสรุปลงให้พอเหมาะแก่พวกเราทั้งหลายผู้มีเวลาน้อย ก็คือ รูปกับนาม หรือ กายกับใจ คือร่างกายของเรานี้ ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า มันมีของสองอย่างเท่านั้นคือ ๑.มีกาย ๒.มีใจ ท่านทั้งหลายก็คิดดูว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เมื่อสรุปลงมา ก็มีแค่กายกับใจ

          เหตุนั้น เมื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราก็เจริญที่กายที่ใจ เราก็ดูที่กายที่ใจของเรา เมื่อเราดูกายดูใจของเราให้ดีแล้ว และก็ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการปรารถนา หรือได้ในสิ่งที่เราได้สั่งสมอบรมมา จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา ก็แล้วแต่บุญกรรมที่ได้สร้างสมอบรมมา

          ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เอ หลวงพ่อ สมัยนี้ล่วงเลยมาตั้ง ๒ พันกว่าปีแล้ว จะมีผู้ที่ได้ฌาน ได้มรรคได้ผล ได้นิพพานอยู่หรือ ส่วนมากพวกเราทั้งหลาย ผู้ที่ได้ศึกษาน้อย หรือผู้ที่วิ่งตามกระแสโลกที่เขาพูดกัน กระแสของโลกเขาว่า สมัยนี้ไม่มีมรรคผลนิพพานดอก หรือว่าสมัยนี้ไม่มีผู้ที่จะได้ฌานได้สมาบัติดอก อะไรทำนองนี้ เพราะว่ามีความรู้น้อย มีความฉลาดน้อย ศึกษามาน้อย ก็จะวิ่งตามกระแสของสังคม

          แต่ถ้าผู้มีสติปัญญาใคร่ครวญตริตรองพิจารณา ก็ถือว่า เออ สมัยนี้ยังมีผู้ได้ฌานได้มรรคได้ผลอยู่ อย่างนี้ก็มี การที่จะตัดสินใจว่า สมัยนี้ยังมีผู้ได้ฌานอยู่หรือ ยังมีผู้ได้มรรคได้ผลอยู่หรือ สมัยนี้ยังมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ก็ไม่สามารถจะตัดสินใจได้

          เมื่อตัดสินใจไม่ได้ ท่านทั้งหลายก็พยายามทำจิตใจให้เป็นกลาง ไม่รับและไม่ปฏิเสธ คือไม่ปลงใจเชื่อว่ามันมีอยู่หรือไม่มี ก็ทำจิตใจเป็นกลางๆ นี่คนเราผู้ปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ แต่ถึงอย่างไรท่านทั้งหลาย ผลของการปฏิบัตินั้นยังมีอยู่

          เพราะเหตุไร เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย พระองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าบริษัททั้ง ๔ หรือถ้าผู้ใดยังปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการอยู่ เมื่อนั้น โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์

          ก็หมายความว่า พระศาสนาจะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล ถ้าผู้ใดมาปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งท่านทั้งหลายได้เรียนมาแล้ว ถ้าผู้ใดปฏิบัติตามปฏิปทาของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ผู้นั้นย่อมจะได้ฌาน ได้มรรคได้ผลอยู่ ข้อนี้ก็ขอยกจากหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อัฏฐกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาคที่ ๓ ว่า

          พันปีที่ ๑ ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือในช่วง ๑ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้นั้นก็จะสามารถได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา

          พันปีที่ ๒ ฉฬภิญฺเฐหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ คือพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๒ พันปีแล้ว ในช่วง ๒ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าผู้นั้นเคยสร้างสมอบรมบารมีมาก่อนแล้ว ก็สามารถที่จะได้อภิญญาทั้ง ๖ ประการ คือได้หูทิพย์ ตาทิพย์ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ แล้วก็สามารถทำอาสวะให้สิ้นไปจากขันธสันดาน

          พันปีที่ ๓ เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ คือผู้ได้สร้างสมอบรมบารมีมาก่อนแล้ว คือหากว่าได้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน ก็สามารถที่จะได้วิชชา ๓ ประการ คือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกรู้ชาติในหนหลังได้จุตูปปาตญาณ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไปจากขันธสันดาน

          พันปีที่ ๔ สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสก คือเมื่อพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๔ พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ และวิชชา ๓ ไม่สามารถที่จะให้เกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงสามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายทั้งปวง คือบรรลุโดยแห้งแล้ง ไม่สามารถที่จะได้บรรลุวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา เป็นแต่เพียงว่า สามารถทำให้จิตใจหมดจากกิเลสตัณหา ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

          พันปีที่ ๕ ปาฏิโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๕ นี้ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ไม่มีใครสามารถที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แม้ว่าจะทำความเพียรด้วยเรี่ยวแรงสักปานใดก็ตาม ก็จะได้บรรลุเฉพาะทั้งสามประการเบื้องต้นเท่านั้น คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล, สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล, อนาคามิมรรค อนาคามิผล ได้เพียงเท่านี้

          ท่านทั้งหลาย ที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิสาลินี อัฏฐกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ท่านกล่าวไว้อย่างนี้

          แต่ทุกวันนี้ ประชาชนคนไทยเราหรือต่างชาติจะเห็นว่าเป็นสมัยที่ไม่มีพระอริยบุคคล สมัยนี้ไม่มีผู้ใดที่จะได้ฌาน คิดกันอย่างนี้ แล้วก็เชื่อปรัมปราไปอย่างนี้ ก็เลยโมเมขึ้นว่า สมัยนี้ไม่มีพระอริยบุคคลดอก ไม่มีใครที่จะได้ฌาน ไม่มีใครที่ปฏิบัติจนได้มรรคได้ผล ส่วนมากเราเชื่อตามนิทานปรัมปราที่ท่านครูบาอาจารย์เขียนไว้ที่โน้นบ้าง เขียนไว้ที่นี้บ้าง เขียนหนังสือไว้บ้าง

          หรือว่าเขียนไว้ในหนังสือสุบินนิมิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระศาสนาล่วงไปเท่านั้นๆ แล้วเป็นอย่างนั้นๆ เราก็เชื่อเขา คือเป็นความเชื่อที่ปฏิเสธเหตุผล เป็นความเชื่อที่ขาดปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่มั่นใจในแนวทางของการปฏิบัติ แต่ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายยังไม่มั่นใจว่ามีหรือไม่มี ฌานก็ดี มรรค ผล พระนิพพานก็ดี ถ้าหากว่า ท่านทั้งหลายยังไม่เชื่อ ยังไม่มั่นใจ

          ท่านทั้งหลาย สมัยนี้ครูบาอาจารย์รุ่นทวดรุ่นปู่ของเรา แล้วก็รุ่นพ่อของเรา ท่านได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อนพวกเราทั้งหลาย และพวกเราเป็นผู้เกิดมาภายหลัง เราก็อนุวัตตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียน หรือดูประวัติของครูบาอาจารย์ว่ามันมีหรือไม่มี ถ้าเราใคร่ครวญตริตรองพิจารณา ใช้ปัญญาตริตรองพิจารณา ก็สามารถที่จะรู้ได้

          เรื่องนี้ เพื่อเป็นการแก้ความสงสัย หลวงพ่อจะขอยกหลักฐานที่หลวงพ่อได้สอนพระกัมมัฏฐานมา ไม่นับรวมเวลาที่หลวงพ่อปฏิบัติเอง นับแต่เริ่มสอนมาปี พ.ศ.๒๕๑๔ จนถึงบัดนี้ ก็พอที่จะทราบได้ว่า มรรคผลนั้นมีอยู่ ผู้ที่ได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้มรรค ได้ผลนั้นมีอยู่

          เพราะเหตุไร เพราะอาศัยหลักที่ครูบาอาจารย์นั้นสอนไว้ แล้วก็นำมาสอนลูกศิษย์ลูกหา ลูกศิษย์ลูกหาที่มาประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ได้ฌานสามารถเข้าสมาธิได้ถึง ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓๐ ชั่วโมง สามารถทำได้ ในวัดที่หลวงพ่อสอนมา จะเป็นอย่างนี้

          สมมติว่าได้สมาธิ ๒๔ ชั่วโมง ก็หมายความว่านั่งสมาธิอย่างนี้แหละ นั่งสมาธิอยู่อย่างนี้ ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน ปฏิบัติไปๆ จิตของเราก็ดิ่งเข้าๆ เข้าสมาธิไป เข้าฌานไป ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียง ลมหายใจเข้าลมหายใจออกไม่มี นั่งอยู่อย่างนี้เหมือนพระพุทธรูป นั่งอยู่อย่างนี้ ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง เท่าที่หลวงพ่อสอนมา แต่หลักฐานที่ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาก่อน ถึง ๗๒ ชั่วโมง คือ ๓ วัน ๓ คืนก็มี นี่ตามที่หลวงพ่อได้ศึกษามา

          แต่ที่หลวงพ่อสอนลูกศิษย์ลูกหาออกตนญาติโยมทุกวันนี้ อย่างมากหลวงพ่อฝึกให้ได้เพียง ๓๐ ชั่วโมง เพราะว่า ๓๐ ชั่วโมงนี้ก็เหลือกินแล้ว เพราะว่าอานิสงส์ของการได้สมาธิได้ฌานนั้น แม้เพียง ๑ นาที ถ้าตายปั๊บ เพียง ๑ นาทีเท่านั้น เมื่อตายในฌาน ตายแล้วจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ จะไปเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

          นี่หลวงพ่อทุกวันนี้ก็ยังสอนอยู่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เหมือนกับที่ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติอยู่นี้ ในช่วงฤดูหนาวนี้ ในสถานที่หลวงพ่อไปสอนอยู่ ส่วนมากผู้ที่มาปฏิบัติจะได้ฌาน ท่านทั้งหลายก็คงเคยไปปฏิบัติในวัดที่ผ่านๆ มา วัดที่หลวงพ่อมาสอนอยู่ ๓ ปี ชื่อวัดพันสูง ผู้ที่มาปฏิบัติได้สมาธิได้ฌานนั้น ท่านที่นั่งรวมอยู่นี้ก็คงมี

          เป็นอันสรุปได้ว่า เรื่องได้สมาธิได้ฌานนี้ หลวงพ่อขอเอาคอประกันว่า สมัยนี้ ผู้ได้ฌานได้สมาบัติยังมีอยู่ เรามาทดลองหรือทดสอบอย่างไรว่า สมัยนี้ผู้ได้ฌานยังมีอยู่หรือ หลวงพ่อก็เอามาปฏิบัติแล้วก็เอามาทดสอบพิสูจน์ ให้โยมมานั่งสมาธิอย่างนี้แหละ นั่งสมาธิเอาผ้าขาว ๖ ชั้นมามัดตา แล้วก็เอาหนังสือวางไว้ตรงหน้า แล้วให้อ่านหนังสือ หลับตาอ่านหนังสือก็สามารถทำได้ จนได้อัดเป็น วีดีโอซีดี ส่งไปต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ทางวัดได้ส่งไป ๒๐
 ประเทศส่ง วีซีดี ชุดนี้ไป เป็นอันว่าสมาธิคือฌานยังมีอยู่

          สมัยหนึ่งที่หลวงพ่อจัดงานปฏิบัติธรรมฤดูหนาวนี้ มีสามเณรจำนวน ๗๓ รูปมาปฏิบัติ ในขณะที่หลวงพ่อบรรยายธรรมะให้ฟังอยู่นี้ ลูกเณรทั้งหลาย ก็ตั้งอกตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอไปๆ ๓๐ นาทีเศษๆ ก็หยุดบรรยายธรรม เมื่อหยุดบรรยายเสร็จแล้วก็ไปดูสามเณร ที่ไหนได้ท่านทั้งหลาย สามเณร ๓๐ รูปนั้นได้เข้าสมาธิไปหมดแล้ว

          ต่อจากนั้นมาก็ฝึกมาตามลำดับๆ ปีนั้น ปฏิบัติธรรมอยู่หนึ่งเดือน มีสามเณรสามารถเข้าสมาธิเข้าฌานได้เกือบหมด ๑๐ รูปเท่านั้นที่ไม่ได้ เหลือจากนั้นเข้าสมาธิเข้าฌานได้หมด อันนี้เป็นหลักฐานที่ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนให้

          ก็ขอปรับความเข้าใจของนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายว่า สมัยนี้สมาธิหรือฌานนั้นยังมีอยู่ เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนให้ ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะทำได้

          อีกประการหนึ่ง หากว่าผู้ใดได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน คือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว ก็สามารถเห็นพระไตรลักษณ์ คือจะมีสติสัมปชัญญะ มีสติแก่กล้าสามารถเห็นรูปเห็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็สามารถเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          เมื่อใดเราเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว ตายแล้วจะไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

          เพราะอะไร

          เพราะในขณะที่เมื่อมัคคจิตผลจิตเกิดขึ้นแก่เราเพียง ๑ ขณะจิตเท่านั้น ก็ถือว่าอย่างน้อยเราก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานขั้นปฐมมรรคแล้ว คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าเราได้สำเร็จแม้เพียงพระโสดาบันก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว ตายแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

          เพราะอะไร

          เพราะมีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว เมื่อมีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว ตายแล้วไม่จมลงสู่อบายภูมิ เหมือนกันกับเรามีเรือรองรับ ตอนที่เรากระโดดน้ำลงไป เราไปค้างอยู่ในเรือ เมื่อค้างอยู่ในเรือเราก็ไม่จมไปอยู่ในน้ำ เพราะมีเรือเป็นเครื่องรองรับ ข้อนี้ฉันใด

          พวกเราประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อมีพระนิพพานมาเป็นเครื่องรองรับแล้ว ตายไปแล้วก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ท่านทั้งหลายก็รู้ดีทราบดี แล้วคิดว่ามันเป็นของจริง คือได้ฌานได้มรรคได้ผล ท่านก็คิดว่าพร้อมที่จะปฏิบัติต่อไปจนกว่าชีวิตของเราจะหาไม่

          แต่ขอเตือนท่านนักปฏิบัติทั้งหลายว่า เวลาประพฤติปฏิบัตินั้นเราต้องมีคุณสมบัติของนักปฏิบัติ ถ้าขาดคุณสมบัติ ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติผ่านไปได้

          คุณสมบัติของนักปฏิบัตินั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

          ๑. ฉันทะ พอใจในการปฏิบัติ คือพอใจในการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ในการกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ

          ๒. วิริยะ แข็งใจปฏิบัติ ยอมสู้ตาย มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ วินาทีนี้ หรือจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ ก็ยอมตาย แต่จะไม่ยอมลด ละ เลิก การประพฤติปฏิบัติเป็นเด็ดขาด

          ๓. จิตตะ ตั้งใจปฏิบัติ คือตั้งใจเดินจงกรม ตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน ตั้งใจเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

          ๔. วิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ เข้าใจปฏิบัติ

          เมื่อผู้ใดตั้งอยู่ในองค์คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ผู้นั้นก็สามารถที่จะได้สำเร็จผล ตามบุญวาสนาบารมีที่ตนได้สร้างสมอบรมมา

          ขอเตือนสติของท่านทั้งหลายอย่างนี้ว่า

          การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ต้องการความสงบ ต้องการฌาน ต้องการมรรคผลนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายดำเนินตามหลักวิชาการ คือมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติให้เป็นกลางๆ ไม่เร่งเกินไป แล้วก็ไม่หย่อนเทิบทาบเกินไป คือถ้าหากว่าเราเร่งเกินไป ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก เมื่อคิดมากจิตใจของเราก็ไม่สงบ เมื่อไม่สงบแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุผลที่เราต้องการได้ มิหนำซ้ำ อาจทำให้เสียประสาท คือเป็นบ้าไปได้ คนคิดมากนี่ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นบ้าได้

          เพราะอะไร จึงเป็นเช่นนี้

          เพราะว่าขาดสติ คนที่ขาดสติก็คือคนเป็นบ้า คนเป็นบ้าก็คือคนขาดสติ เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติ ต้องมีสติสมบูรณ์ เหตุนั้น เมื่อพวกเราประพฤติปฏิบัตินี้ ให้พอดีๆ ถ้าเราเร่งเกินไป ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก เมื่อคิดมาก จิตของเราก็ไม่เป็นสมาธิ นอกจากจะไม่เป็นสมาธิแล้วยังจะเป็นบ้าไปได้

          นอกจากนี้ เราอย่าหย่อนยานจนเกินไป แล้วก็ระวัง อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าอยากเป็นผู้วิเศษ ร้อยทั้งร้อยที่มาปฏิบัติธรรม ไม่ได้ผล นอกจากจะไม่ได้ผลแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นบ้าไปได้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายเวลาประพฤติปฏิบัตินั้น อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ

          สมมติว่า เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เออ เราจะเดินจงกรม ขณะนี้เราจะให้ได้มรรคได้ผล หรือว่าในขณะที่เรานั่งเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ เราจะให้สมาธิมันเกิด ให้ฌานมันเกิด ให้มรรคให้ผลเกิด เราจะเอาเดี๋ยวนี้วันนี้ เสร็จเลย ท่านทั้งหลาย ถ้าปฏิบัติธรรมอย่างนี้ นอกจากไม่ได้ผลเลย อาจเป็นบ้าก็ได้ เหตุนั้น พึงสังวรระวังให้ดี

          นอกจากนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ มันเป็นบุญหรือเป็นบาป มันจะได้บุญหรือบาป บุญอยู่ที่ไหนบาปอยู่ที่ไหน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ท่านทั้งหลายเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ ถ้าหากว่าจิตของเราไม่มีศรัทธา ปฏิบัติก็ปฏิบัติตามเขาไปเฉยๆ เห็นเขาเดินจงกรมก็เดินจงกรมกับเขา เห็นเขานั่งสมาธิก็นั่งสมาธิกับเขา คือไม่มีศรัทธา

          ถ้าผู้ใดไม่มีศรัทธา มาประพฤติปฏิบัติร้อยทั้งร้อยก็ไม่ได้ผล นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังจะเกิดในภูมิที่เป็นอบายภูมิได้ คนเราที่ปฏิบัติธรรมนี้ ผู้ให้ทานรักษาศีลนั้นไปเกิดเป็นเทวดาก็ได้ แต่เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ

          สมมติว่า เราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเดินจงกรมนั่งสมาธิ เห็นเพื่อนเขาแล้วก็ว่า มาเดินจงกรมนั่งสมาธิทำไมหนอ จะปฏิบัติทำไมหนอ มันไม่ได้บุญหรอก แต่ก็ยังปฏิบัติอยู่

          เพราะเหตุไร จึงปฏิบัติ

          เพราะว่า เห็นเพื่อนปฏิบัติก็ปฏิบัติตามเพื่อน ถ้าไม่ปฏิบัติเหมือนเขา เขาก็จะว่าเอาอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ก็เลยข่มใจปฏิบัติอยู่ ถ้าเขาตายเพราะจิตดวงนี้ ตายแล้วก็ไปบังเกิดเป็นเทวดาอยู่ แต่เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เห็นคนโน้นมาปฏิบัติ เห็นคนนี้มาปฏิบัติ ก็หาวิธีขัดขวางกั้นกาง ไม่ให้การประพฤติปฏิบัติของเขาได้ผล นี่คนที่ไปเกิดเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างนี้

          เหตุนั้น ญาติโยมทั้งหลาย เวลาเราทำบุญทำทาน เราทำบุญสลากภัตก็ดี บุญเข้าพรรษาก็ดี บุญโน้นบุญนี้ เราก็สมาทานศีลใช่ไหม บางคนก็คิดว่า เอ จะสมาทานศีลไปทำไมหนอ รับศีลไปทำไมหนอ รับไปแล้วก็ไม่ได้บุญ ไม่เห็นเป็นบุญที่ตรงไหน อะไรทำนองนี้ คนนี้ถ้าหากว่าตายเพราะจิตดวงนี้ ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นเทวดา แต่เป็นเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระศาสนา

          เพราะเหตุไร จึงเป็นอย่างนี้

          เพราะในขณะที่เรารับศีลอยู่นั้นเราคิดว่า เออ เราข่มใจทำตามเขา เขารับศีลก็รับตามเขา เขาว่าอย่างนั้นก็ว่าตามเขา จิตดวงนี้มันเป็นบุญอยู่ ถ้าตายเพราะจิตดวงนี้ ก็เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ ท่านทั้งหลาย เวลามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างนี้แหละ เราจะได้ผลไม่เหมือนกันก็ตรงนี้

          ถ้าว่า เราทำจิตทำใจของเราครึ่งๆ กลางๆ ห้าสิบๆ มันได้ทั้งบุญทั้งบาป จำไว้นะ ถ้าเราทำใจ ห้าสิบๆ เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ได้ผล ห้าสิบๆ คือ มันได้ครึ่งๆ กลางๆ คือในขณะใด จิตของเรามันคิดไม่ถูก คิดไม่ดี แต่ปฏิบัติตามเขา ถ้าหากว่าจิตของเราเป็นอกุศลอย่างนี้ ในขณะที่จิตของเราเป็นอกุศลอย่างนี้ ชวนจิตดวงแรกของเราจะนึก จะสั่ง แล้วก็ดับลงไป

          เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๒  สัมปฏิจฉนจิต ก็จะตัดสินรับเอาบาปที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมา พิจารณาบาปของเรานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตก็เกิดขึ้นมา ตัดสินรับเอาบาปนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป

          เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๗ก็จะเกิดขึ้น เสวยบาปอยู่ ๗ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ ๗ ขณะ แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเก็บเอาบาปนั้นๆ ลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ภวังคจิตนั้น ก็รักษาบาปที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นไว้ในจิตในใจ รักษาไว้อย่างนั้น ไม่มีอำนาจใดๆ จะมาลบล้างได้ ติดตามเราไปทุกชาติทุกภพ ทุกกัปทุกกัลป์ นี่ถ้าจิตของเราเป็นอกุศลดังกล่าวมาแล้ว

          สรุปเอาสั้นๆ ว่า เมื่อจิตของเราเป็นอกุศลปั๊บ ขึ้นมา คิดว่าให้ทานไปก็ไม่ได้ผลดอก หรือว่าสมาทานศีลก็ไม่ได้ผลดอก หรือว่าเจริญภาวนา พองหนอ ยุบหนอ นี้ไม่ได้ผลดอก ถ้าจิตของเรามันคิดอย่างนี้ เมื่อจิตของเรา(ปวัตติ)ดำเนินไปตามวิถีของจิต ลงสู่ห้วงแห่งภวังค์

          ภวังคจิตนั้น ก็จะทำหน้าที่รักษาบาปไว้ในจิตในใจของเรา รักษาไว้อย่างนี้แล้วก็ไม่มีอำนาจใดๆ จะมาทำลายได้ แล้วก็รักษาไว้อย่างนี้ บางทีก็ไปตกนรกอเวจี ตามบาปกรรมของเราได้

          แต่ถ้าว่าพวกเราทั้งหลายมาเจริญพระกัมมัฏฐานแล้ว เรามีสัมมาทิฏฐิตั้งแต่เริ่มจะออกจากบ้านจะมาปฏิบัติ จิตของเราเป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นดีเห็นชอบ เรามาถึงวัดแล้วจิตของเราก็เป็นสัมมาทิฏฐิ มาถึงวัดแล้วก็พากันไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ

          นี่จิตของเราเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เมื่อจิตของเราเป็นสัมมาทิฏฐิในขณะใด ขณะนั้น ชวนจิตของเราดวงที่ ๑ ก็จะนึก จะคิด จะสั่ง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับไป จิตดวงที่ ๒ คือสัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับเอาบุญนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป

          ชวนจิต ดวงที่ ๓ สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมา พิจารณาบุญที่เราบำเพ็ญมาแล้ว ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอาบุญที่เราบำเพ็ญมานั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไปแล้ว

          ชวนจิตก็จะเกิดขึ้นมาเสพบุญ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๑ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๒ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๓ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๔ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๕ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๖ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๗ ขณะจิต
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 สิงหาคม 2562 17:28:09 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 76.0.3809.100 Chrome 76.0.3809.100


ดูรายละเอียด
« ตอบ #104 เมื่อ: 21 สิงหาคม 2562 17:26:27 »





การปฏิบัติพระกรรมฐาน (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


         เหมือนกับเมื่อเราได้ธนบัตรใบละหนึ่งพันบาท เมื่อได้มาแล้วเราก็พิจารณาว่า เอ ธนบัตรนี้จะใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่หนอ หรือว่าเป็นธนบัตรปลอม เมื่อเราพลิกไปพลิกมา ข้างหน้าข้างหลังจึงว่า เออ เป็นธนบัตรที่ใช้ได้ตามกฎหมาย เมื่อเห็นว่าเป็นธนบัตรที่ใช้ได้ตามกฎหมาย จึงเก็บไว้ในตู้ในเซฟ ในห้องหับของเรา ข้อนี้ฉันใด บุญกุศลก็เหมือนกันฉันนั้น

          เมื่อชวนจิตเกิดขึ้นมาเสพบุญคือเสวยบุญแล้ว ๗ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิตนี้ก็จะเก็บเอาบุญกุศลที่เราสร้างสมอบรมมานั้นลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป แล้วภวังคจิตก็จะรักษาเอาบุญกุศลที่เราสร้างสมอบรมมาไว้อยู่ในจิต ในใจและก็ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาทำลายบุญของเราได้ เก็บไว้อย่างไร ท่านทั้งหลาย

          สมมติว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเรา เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกในชีวิตที่พระองค์ทรงปรารถนาพุทธภูมิ ตั้งแต่โน้นแหละ การปรารถนาพุทธภูมิก็ถือว่าเป็นบุญ และบุญเหล่านั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยติดต่อกันมาตามลำดับๆ จนพระองค์ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วจะมาตรัสรู้เอาเองนั้นมันเป็นไปไม่ได้

          พระองค์ต้องบำเพ็ญบารมี ท่านต้องบำเพ็ญบารมีอยู่โน้น ตั้ง ๒๐ อสงไขย กำไรแสนมหากัป จึงได้ตรัสรู้ และบุญที่สร้างสมอบรมมาตลอด ๒๐ อสงไขย กำไรแสนมหากัปนั้น ก็ติดตามมาตามลำดับๆ ผู้ที่จะมาทำลายพระองค์ สมมติว่า พระเทวทัตจะมาทำลายอย่างนั้นอย่างนี้จิปาถะ ก็ทำลายไม่ได้

          เพราะอะไร

          เพราะว่าบุญมันอยู่ภายในอยู่ในจิต

          เหตุนั้น บุญกุศลที่เราท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมานี้ วิถีจิตของเรา เมื่อเราทั้งหลายมีจิตใจปสาทะศรัทธา ยินดีในการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา จิตของเรานั้นก็จะปวัตติไปตามวิถีของมัน จนลงสู่ห้วงแห่งภวังค์

          แล้วก็บุญกุศลเหล่านั้น ภวังคจิตก็ทำหน้าที่รักษาไว้ เมื่อบุญกุศลของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้อานิสงส์ เช่นว่า เกิดขึ้นมาแล้วเป็นคนร่ำรวย มั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินศฤงคาร บริวารนานา ไม่อดไม่อยาก หรือว่าเมื่อเราเกิดมา บุญของเราที่ทำไว้แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีเสียงไพเราะ มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย อายุยืน ไม่ตายง่าย หรือบุญกุศลเหล่านั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เปรื่องปราดชาติกวี มีไหวพริบดี มีปฏิภาณดี มีความฉลาดดี มีความหลักแหลมดี

          สรุปแล้วว่า คนที่เกิดขึ้นมาแล้ว ได้เป็นเศรษฐีก็ดี อภิมหาเศรษฐีก็ดี หรือเกิดขึ้นมาแล้ว ได้เป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ เป็นพระราชา มหาราชา หรือพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ดี หรือเกิดขึ้นมาแล้ว ได้ฌานก็ดี ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ดี หรือว่าเกิดขึ้นมาแล้ว ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นศาสดาเอกในโลกก็ดี

          ก็ล้วนต้องอาศัยบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่ได้สร้างสมอบรมไว้แล้ว อยู่ในจิตใจ เมื่อบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยดลบันดาลให้เราทั้งหลายได้สำเร็จสุข ทั้งที่เป็นสุขในมนุษย์ สุขในสวรรค์ สุขในพรหมโลก และสุขคือพระนิพพานได้

          อีกอย่างหนึ่ง ขอเตือนสติท่านทั้งหลายว่า เราผู้มาปฏิบัตินั้นต้องมีศรัทธา ถ้าศรัทธาของเราสมบูรณ์แล้วการปฏิบัติก็ก้าวหน้า ได้สำเร็จสามัญผลตามที่เราต้องการ หากว่าศรัทธาของเราไม่มีการปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายทำอย่างไรศรัทธาของเราจึงจะสมบูรณ์แบบ บ้านเราว่าศรัทธาหัวเต่า ผุดออกผุดเข้า มันก็ไม่สำเร็จ การที่จะเพิ่มศรัทธาของเรานี้มีอยู่ว่า

          ๑. เรานึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นร่มพุทธธรรม ร่มโพธิ์ ร่มไทร อภิบาลปกป้องรักษาเราให้ได้มีความสุขอยู่ทุกวันนี้ หรือว่าระลึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ ว่าอาจารย์นั้นเป็นผู้มีคุณูปการ เรามีความรู้ความฉลาดความสามารถอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะครูอาจารย์

          หรือว่าเรานึกถึงบุญคุณของพ่อของแม่ว่า พ่อแม่นั้นท่านเป็นผู้มีอุปการคุณ หากว่าเราไม่อาศัยพ่อแม่แล้วเราก็ไม่ได้เกิด หรือเกิดมาแล้วก็ไม่สามารถเป็นอยู่ได้เพราะไม่มีพ่อแม่เลี้ยงดูปูเสื่อ หรืออีกอย่างหนึ่งเราก็นึกถึงคุณสมบัติของเราว่า เออ เราเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาถึงปานนี้ก็เป็นโชคล้นฟ้าล้นดินจึงเกิดมาเป็นคนได้ เมื่อเรานึกถึงไปอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดศรัทธา เมื่อเกิดศรัทธาแล้วก็สามารถยังการปฏิบัติให้ได้ผลตามเจตนารมณ์ที่เราตั้งไว้

          ๒. อย่าเร่งเกินไป หรืออย่าอยากได้จนเกินไปจนขาดเหตุผล ถ้าว่าเราเร่งเกินไป เช่นว่า วันนี้เราจะเดินจงกรมให้ได้สมาธิได้ฌาน หรือว่าวันนี้เราจะนั่งสมาธิภาวนาให้ได้ฌาน หรือว่าเราจะนั่งภาวนาให้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน นี้ก็ถือว่าเร่งเกินไป จิตใจของเราก็ไม่สงบคือมันจะคิดมาก

          ถ้ามันคิดมากจิตของเราก็ไม่สงบ เมื่อจิตไม่สงบ ก็ไม่เป็นสมาธิ เมื่อไม่เป็นสมาธิ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุสมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานได้ เหตุนั้นให้เราปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ให้พอดิบพอดี

          ๓. อย่าหย่อนเทิบทาบจนเกินไป ถ้าหย่อนเกินไปมันก็ไม่ได้ผล เช่นว่า เราเดินจงกรม ก็เดินไปตามธรรมชาติ ไม่กำหนด ตาเห็นรูปก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ หูฟังเสียงก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ จมูกดมกลิ่นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ลิ้นลิ้มรสก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ กายถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ เราไม่กำหนด เราไม่กำหนดสภาวะที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้เรียกว่าหย่อนเทิบทาบ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรค ผล พระนิพพานได้

          ๔. อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าท่านใดอยากเป็นผู้วิเศษ เออ นั่งสมาธิไปอยากได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ หรือว่านั่งสมาธิไปอยากเห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้ว เห็นพระอินทร์ เห็นพระพรหม เห็นโน้นเห็นนี้อะไรจิปาถะ เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระอรหันต์

          ถ้าผู้มีจิตใจลักษณะอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย เวลามาประพฤติปฏิบัติ ร้อยทั้งร้อยเป็นบ้าได้ เหตุนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติเราต้องมีสติ ถ้ามีสติสมบูรณ์แล้ว สติของเรานี้แหละ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดฌาน ให้เกิดมรรค เกิดผล

          ขอให้ท่านทั้งหลายจดจำไว้เสมอว่า สมาธิที่เกิดแก่เรานั้น มี ๒ ประการ คือ

          ๑. สมาธิที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌานชวนวิถี ถ้าอัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี สมาธินั้นได้ฌาน ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

          ๒. ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมรรควิถี อัปปนาสมาธินั้นก็จะเป็นเหตุให้เกิดมรรค เกิดผล ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ตามบุญญาธิการที่เราได้สั่งสมอบรมไว้

          เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายถวายความรู้แก่ท่านหลวงปู่ ท่านหลวงตา และชี้แนะแนวทางการปฏิบัติธรรมของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

          อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้า จงถึงสุข นิราศทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความลำบาก มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด

          สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความลำบาก มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด

          ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญมาแล้วนี้ ให้แก่บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดท่านผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร มนุษย์ อมนุษย์ อบายสัตว์ เทวดา มาร พรหม พระยายมราช และนายนิรยบาลทั้งหลาย ถ้าตกทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความสุขขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป

          ด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้วนี้ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น ขอจงได้เป็นพลวะปัจจัย เป็นอุปนิสัยตามส่ง ให้เกิดปัญญาญาณ ได้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ อตีตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ อนาคตังสญาณ มโนมยิทธิ ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ตลอดชาติอย่างยิ่ง จนถึงความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน เทอญ.

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 สิงหาคม 2562 17:29:07 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 76.0.3809.100 Chrome 76.0.3809.100


ดูรายละเอียด
« ตอบ #105 เมื่อ: 25 สิงหาคม 2562 14:43:45 »



ถาม-ตอบ ปัญหากัมมัฏฐาน
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


ท่านครูบาอาจารย์ที่เคารพทุกท่าน……….

          หากว่าหลวงพ่อได้กล่าวพลั้งพลาดประมาทท่านทั้งหลายด้วยกายวาจาและจิตใจแล้ว หลวงพ่อก็ขออโหสิกรรมด้วย เพราะว่าบางสิ่งบางประการที่หลวงพ่อพูดจาปราศรัยไป อาจทำให้ท่านทั้งหลายไม่สบอารมณ์ หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่พูดไปแล้ว(ทำให้)ไม่สบายหู ไม่รื่นหู ไม่ถูกอกถูกใจ ก็ขออภัยหลายๆ

          สำหรับวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าหลวงพ่อจะมาจับผิดอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้ที่ได้นัดกันเป็นกรณีพิเศษ ที่ผ่านๆมา ๒-๓ วัน ไม่มีโอกาส ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย วันนี้จะได้ถือโอกาสพูดจาปราศรัยกับท่านทั้งหลาย เพราะว่านับตั้งแต่เรามาอยู่ร่วมกันเกือบ ๓ เดือน บางท่านก็ไม่ได้คุยกันพูดกันในเรื่องส่วนตัวอะไรต่างๆ

          เหตุนั้น วันนี้หลวงพ่อจึงขอโอกาส ท่านทั้งหลายมีอะไรจะพูดจาปราศรัยกัน ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายได้ดำเนินการตามอัธยาศัย นับตั้งแต่เข้าพรรษามาจนถึงบัดนี้ หากว่าท่านทั้งหลายมีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติ หรือไม่สบอารมณ์กับหลวงพ่ออย่างไร ก็ขอเปิดโอกาส ขอจัดให้ท่านทั้งหลายได้ปรับความเข้าใจกัน

          ก่อนอื่น หลวงพ่อขอพูดว่า หากว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ผ่านมาแล้ว ยังมีความเคลือบแคลงสงสัย ไม่เข้าใจในบางสิ่งบางประการ ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายได้ไต่สวนทวนถาม แต่ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจ แม้สิ่งทั้งหลายที่ไต่สวนทวนถามไว้แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง หลวงพ่อขออนุโมทนา เอาอย่างนี้ท่านอาจารย์มหา อย่างเรื่องพระติสสเถระ [1]

          พระติสสเถระนั้น ท่านออกเดินทางจากทวีปมคธ มานมัสการมหาวิหาร ผ่านมาตามทางได้พูดจาปราศรัยกับทุคตบุรุษคนหนึ่ง พอได้ทราบเรื่องราวแล้ว ผลสุดท้ายเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านปฏิบัติธรรมตลอด ๗ วัน จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านได้ถามพระเจ้าพระสงฆ์ทั้งหลายว่า พระคุณเจ้ามีความเคลือบแคลงสงสัยอะไรเกี่ยวกับมรรคผล ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายถามได้ ผมพร้อมที่จะบอกที่จะวิสัชนา

          พระสงฆ์ทั้งหลายอยู่ในมหาวิหาร ไม่มีแม้แต่รูปเดียวที่จะถามเรื่องมรรคผล สุดท้ายก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระมหาเถระที่เป็นประธานเกิดอัศจรรย์ใจว่า โอ เรื่องนี้ผมอัศจรรย์ใจจริง เพราะว่าพระทั้งหมดไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องมรรคเรื่องผล

          ท่านทั้งหลาย ถ้าเคลือบแคลงสงสัยบางสิ่งบางประการก็ขอนิมนต์ หลวงพ่อจะไม่ถาม ให้ท่านทั้งหลายถามเอา อย่าได้เป็นอย่างหลวงพ่อพระครูท่านหนึ่ง ตอนที่ท่านมาอยู่วัดนี้แหละ ท่านเป็นประธานดำเนินการเกี่ยวกับกัมมัฏฐาน

          หลวงพ่อก็ไม่รู้ว่าท่านมาสังเกตการณ์ ตลอดไตรมาสพรรษา ๓ เดือน ท่านก็เดินธรรมดา นั่งไปธรรมดา เล็กๆน้อยๆ ผลสุดท้ายก็หมดพรรษา หลวงพ่อก็ไม่รู้ไม่เฉลียวใจว่าท่านมาอย่างนี้ เพราะว่าปกติก็เป็นธรรมชาตินิสัยของหลวงพ่อเป็นอยู่อย่างนั้น จนกว่าท่านจะเปิดความในใจให้ฟัง ท่านพูดกับญาติกับโยมกับลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายว่า

          หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ หลวงพ่อไม่ได้มาปฏิบัติ แต่มาเพื่อสังเกตทุกสิ่งทุกอย่างของหลวงพ่อพระครู(หลวงพ่อใหญ่) ว่าท่านพอที่จะเป็นผู้ที่เราจะมอบกายถวายชีวิตเป็นลูกศิษย์ลูกหาได้หรือไม่

          ท่านมาดู มาคอยสังเกตการณ์ตลอดไตรมาสพรรษา ๓ เดือน หลังจากกฐินเสร็จแล้ว ท่านขึ้นธรรมาสน์ สั่งลาญาติโยมทั้งหลายแหละ ท่านก็เปิดความในใจว่า ที่มานี้ไม่ได้มาปฏิบัติ แต่มาดูหลวงพ่อของญาติโยมทั้งหลาย ว่าพอที่จะมอบกายถวายตัวได้หรือไม่

          พอท่านได้เปิดความในใจทุกสิ่งทุกอย่าง หลวงพ่อก็ไม่นึกว่าท่านจะมาสังเกตการณ์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็ดี เพราะว่าปีนั้น ตลอดพรรษาไม่ได้พูดจาปราศรัยกันเป็นกรณีพิเศษเหมือนกับปีนี้ หลวงพ่อพูดอะไรกับลูกพระลูกเณร เล็กๆน้อยๆ บางทีก็ไม่พอใจ อะไรทำนองนี้ ถ้าในลักษณะนี้ หลวงพ่อก็เข็ดเลย แต่ที่ผ่านมาไม่มีลักษณะอย่างนี้ เรื่องส่วนมากก็มีเรื่องมรรค เรื่องผล ก็แล้วแต่จะพูด

          ถ้าไม่สงสัยหลวงพ่อก็ขออนุโมทนา แต่ถ้าสงสัยก็นิมนต์ หรือว่าท่านทั้งหลายที่สงสัยว่าออกไปแล้ว ปีนี้จะไปทำหน้าที่การเผยแผ่ธรรมะเรื่องการประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องสมาธิสมาบัติ ที่พวกเราทั้งหลายทำอยู่ หากว่าสงสัย หรือว่าจะดำเนินการอย่างไรก็ขอนิมนต์

          ถาม ขอโอกาสกราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เรื่องการประพฤติปฏิบัตินี้ ไม่ทราบว่า หลังจากการประพฤติปฏิบัติธรรมผ่านไปแล้ว ความฝันที่เราฝันนั้นจะมาช่วยยืนยันว่าเราผ่านขั้นนั้นขั้นนี้ มีเหตุมีปัจจัยบ้างไหมครับ คือหลังจากที่ผู้ประพฤติปฏิบัติผ่านชั้นภูมิชั้นนั้นชั้นนี้แล้วมีความฝันที่เรียกว่าเป็นนิมิตมาบอกบ้างไหมครับ

          ตอบ อันนี้สังขารมันปรุงแต่งมาหลอก ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขารตัวนี้แหละเป็นตัวที่ทำให้เกิดการปรุงแต่ง อยากฝันอย่างโน้นฝันอย่างนี้ อะไรจิปาถะ แล้วแต่มันจะฝัน บางทีมันก็มาบอกว่า โอ คุณได้พระโสดาปัตติผลแล้ว หรือว่าคุณได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ตัวนี้ตัวสังขาร

          เหตุนั้น เราผู้เป็นเจ้าของความฝันก็ต้องดูตัวเราเองว่า เราผ่านแล้วหรือยัง ที่มันฝันอย่างนี้กระซิบอย่างนี้ เป็นความจริงไหม เราเองที่รู้ตัวเราเอง หลวงพ่อเคยบอกว่า อภิชัปปา แปลว่า กิเลสกระซิบที่จิต แล้วแต่มันจะกระซิบอะไร เช่นว่า เมื่อชาติก่อนโน้น เคยเป็นผัวเมียกันอย่างนั้นๆ ปรุงจิตปรุงใจจนจะไปแต่งงานกับเขา สภาวะที่เกิด กิเลสกระซิบที่จิตนี้ มันไม่ใช่ธรรมดาๆ เป็นพันๆเรื่อง

          เหตุนั้น เราทั้งหลายเรียนมาแล้ว นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก เป็นมหาเปรียญแล้ว เราก็พอจะรู้ได้ว่าเขาโกหก อุปกิเลสในจิตมันโกหก หรือว่ามันความจริง เออ ถ้าว่ามันเป็นความจริง บ่ปาก(ไม่พูด) ถ้ามันเป็นความจริงก็บ่ปาก ก็ภูมิใจ ดีใจว่า เออ เราผ่านมาได้จริงๆ

          หรือจะพูดอย่างหลวงปู่หลวงตาบางรูปว่า เราได้สำเร็จพระอรหันต์แล้วนะ อยากเว้าจังซี่บ้อ (อยากพูดอย่างนี้หรือ) พอได้ยินท่านว่า ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วอย่างนั้นอย่างนี้ โอย หลวงพ่อเหนื่อย(ใจ) แต่ไม่ได้ว่าท่านเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรอก ลักษณะนี้ เหนื่อยหัวใจว่า โอ หลวงปู่ไม่น่าจะว่าอย่างนี้เลย ทำให้ลูกศิษย์ลูกหา ลูกๆหลานๆเขาหมั่นไส้เอาได้

          ถาม ถ้าเราได้สมาธิแล้ว สมาธิเสื่อมไป จะทำอย่างไรดีครับ

          ตอบ เอ้า สมาธิเสื่อมไป เราก็ปฏิบัติใหม่ ทำใหม่สิ

          ถาม เพราะเหตุอะไร ทำให้เสื่อมไปครับ

          ตอบ เพราะขาดการสังวร เพราะขาดความสำรวมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อเราไม่สำรวม มันก็เสื่อมได้ ไม่มีเทวดาองค์ไหนที่จะมาทำให้มันเสื่อมได้หรอก เข้าใจไหม

          แต่สมาธินี้ (เมื่อ)มันเสื่อมได้ มันก็ฟื้นได้ เห็นว่ามันเสื่อมไปแล้ว เราก็หลีกเร้นอยู่ในเสนาสนะที่ใดที่หนึ่งที่วิเวก เป็นสถานที่สัปปายะ เราก็ภาวนา มันเสื่อมอย่างไรก็ตาม สมาธิมันจะเสื่อมถึงไหนๆก็ตาม วันสุดท้ายมันก็จะต้องเกิดขึ้นมาอีก

          อะไรคือวันสุดท้าย วันสุดท้ายคือวันที่เราจะตายจากโลกนี้แหละ คนจะตายมันก็ต้องเตรียมตัวก่อนตาย ไหนๆก็จะตายแล้ว แล้วมันก็จะคิดจะนึกเห็นกัมมัฏฐานที่เคยปฏิบัติมาแล้ว มันนึกถึงเลย มันก็เตรียมตัวแหละ มันจะตายอยู่รอมร่อแล้ว ไม่มีใครจะอยู่เป็นเพื่อน มันก็เตรียมตัว กำหนดขึ้นมา พองหนอ ยุบหนอ หรือว่าอะไรก็ว่าไป

          เพราะในขณะที่เราเตรียมตัวจะตายนั้น ก่อนที่จะตาย หากเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ หรือ สัมมาอรหัง บทใดบทหนึ่งก็ตามแต่ แล้วเกิดสมาธิขึ้นมา ถ้าเกิดสมาธิแล้วมันตายเท่านั้นแหละ มันดับปั๊บลงไปตรงนี้ ในลำดับฌานชวนวิถี เราก็ไปเกิดบนพรหมโลกตามกำลังของสมาธิหรือของฌาน

          แต่ถ้ามันดับโดยอำนาจของมัคควิถี พองหนอ ยุบหนอๆ ก็เห็นพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดับพึบลงไป เราได้บรรลุพั้บ ก็ถึงแก่มรณกรรมทันที ส่วนมากเราปฏิบัติมาแล้ว แล้วตอนนี้เรายังไม่บรรลุเลย แต่บางทีมันก็ไปบรรลุตอนเราจะตาย เข้าใจไหม

          ถาม ญาณนี้มันจะเกิดขึ้นตามลำดับๆไป ถึงแม้ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ใช่ไหมครับ

          ตอบ มันก็เกิดตามลำดับๆไป แล้วไม่ใช่ว่านั่งกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ จะกระโดดไปเลย ปฏิสังขาญาณ มันกระโดดข้ามไปได้ (ไม่ใช่นะ) มันไปเรื่อยๆ มันก็ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ – ๕ – ๖ – ๗ – ๘ – ๙ – ๑๐ – ๑๑ มันก็ไปตรงๆอย่างนี้

          แต่ถ้ามันไปไม่ได้ มันก็กลับหลัง (จากญาณที่) ๑๑ – ๑๐ – ๙ – ๘ – ๗ – ๖ – ๕ – ๔ – ๓ – ๒ – ๑ นี่มันกลับ คือว่ามัน อนุโลม ปฏิโลม ถ้าว่ามันไปเรื่อยๆ ตรงไปตามลำดับๆ เมื่อกำลังของเราพอ ญาณของเราแก่กล้าแล้ว มันก็เข้าสู่มัคคญาณผลญาณ บรรลุมรรคผลนิพพานเลย

          แต่พอไปถึงสังขารุเปกขาญาณ ถ้ากำลังพอแล้ว กำลังทุกสิ่งนั้นพอแล้ว มันก็ข้ามไปเลย แต่ถ้ากำลังไม่พอ มันก็ปฏิโลมกลับมาใหม่ ๑๑ – ๑๐ – ๙ – ๘ – ๗ – ๖ – ๕ – ๔ พอมาถึง(ญาณที่) ๔ แล้วก็ ๔ – ๕ – ๖ – ๗ – ๘ – ๙ – ๑๐ – ๑๑ กลับไป แล้วก็หมุนอยู่อย่างนั้น

          อย่าลืมว่า เวลาเรานอนหลับมันก็หมุนอยู่อย่างนี้นะ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายของเรา ของรูปของนาม มันเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เรานอนหลับมันก็หมุนอยู่ เหมือนกับเข็มนาฬิกา มันหมุนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่มันอยู่เฉยๆ

          ถ้ามันอยู่เฉยๆ มันไม่หมุน ไม่เดิน มันก็มีอยู่สองอย่าง คือ ๑) มันเข้าฌานไปเลย ๒) มันดับ ถ้ามันหมุนอยู่อย่างนี้ หมุนอยู่ตลอดเวลานี่ เราก็อยู่ได้ ถ้ามันหมุนไปถึงอุทยัพพยญาณ ญาณที่ ๔ มันผ่านไป ถ้าไปถึงอุทยัพพยญาณนี่ มันจะเกิดอารมณ์ขึ้นมา เพราะตอนนี้ เป็นญาณที่รวมหมด รวมสภาวะทุกสิ่งทุกอย่างมารวมกัน หลวงพ่อจึงบอกว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน

          ถ้ามันมาถึงญาณนี้ จิตใจว่าง บางทีก็ร่าเริงเบิกบาน บางทีอยากร้องเพลงอย่างนั้น อยากเทศน์อย่างนี้ อะไรจิปาถะ มันเพลินไปเรื่อย แต่ถ้ามันผ่านไป มันก็ผ่านไปตามลักษณะของมัน

          ถาม (มีอาการแปลกๆ ที่เกิดขึ้นมาเวลาปฏิบัติ)

          ตอบ บางทีมันก็เหมือนผีจับหัวเราหมุนไปหมุนมา นั่นเป็นอาการของปีติ บางทีรู้สึกเหมือนตัวใหญ่ขึ้นๆ อยู่ในศาลาก็ใหญ่จนเต็มศาลา เรานั่งอยู่ในกลดมันเต็มกลดของเรา อยู่ในกุฏิใหญ่ๆ ก็จนเต็มกุฏิใหญ่ๆ คือมันโตออกๆ ส่วนในทางกลับ บางทีมันก็น้อยเข้าไปๆ เล็กเข้าไปๆ จนเท่าเด็กน้อย จนเท่ากบเท่าเขียด บางครั้งมันพองออกข้างนอก พองออกๆ แต่บางครั้งปรากฏฟันยาว แขนยาว ขายาว นี่เป็นตัวปีติ

          ถาม ถ้าหากว่าญาณนี้เกิดขึ้นแล้ว บางครั้งปิดประตูหน้าต่างไว้แล้ว ก็เหมือนมีคนมาเปิดดู ไม่ทราบเป็นสภาวะอะไรจึงเป็นอย่างนี้

          ตอบ นั่นเป็นอาการของปีติอันเดียวกัน บางครั้งเรานั่งอยู่ในกุฏิในห้องกัมมัฏฐาน ก็เหมือนกับมีคนมาเปิดประตูหรือหน้าต่างดู มันเปิดออกๆ บางทีลืมตา คิดว่าเขามาเปิดจริงๆ พอนั่งหลับตาเขาก็มาเปิด บางทีก็ถึงกับลุกขึ้นเดินไปๆ จะไปปิดประตูหรือหน้าต่าง อันนี้เป็นลักษณะของปีติ

          ถาม เวลานั่งหรือนอนนี่ กำหนดเหมือนเดิมครับ กำหนดแล้วมันขาดสติ แล้วก็หลับไป แต่ทีนี้ บางทีก็เป็นนิมิตโอภาสเกิดขึ้นมา แล้วก็กำหนดแล้วก็หลับไป อย่างนี้จะมีผลต่อการปฏิบัติหรือไม่

          ตอบ ถ้าอาการเป็นอย่างนี้ๆ ก็จะมีนิมิตอย่างนี้ ถ้าอาการอย่างนี้ไม่เกิด ลักษณะอย่างนี้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น หลวงพ่อว่าสภาวะนี้พร้อมแล้วที่จะเกิด มันจะเกิดเพราะเรามีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เรานอนหลับอยู่นั้น จิตของเรามันตื่นอยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆๆ อยู่ในวิถี มันเกิดขึ้นมา จิตดวงนี้มันตกภวังค์แล้วก็เกิดขึ้นอีก ตกลงอีก เกิดขึ้นอีก ก็รู้สึกตัว อาการเกิดขึ้นตั้งอยู่นี้แหละเป็นความฝัน เรียกว่าเป็นนิมิต คืออาการเกิดขึ้นในเวลาที่เรานอนหลับ

          ถาม สำหรับผู้ปฏิบัติถึงญาณที่ ๔ ไปจนถึงญาณที่ ๑๑ แล้วแต่ยังไม่ดับ แล้วกลับมาปฏิบัติใหม่ ญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ จะเกิดขึ้นหรือเปล่าครับ

          ตอบ เกิด มันก็ต้องเกิด เพราะว่ามันยังมีรูปมีนามอยู่ ถ้าไม่มีรูปมีนาม มันก็ไม่เกิด เราปฏิบัติไปจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ สภาวะอย่างนี้ก็จะเกิดตามมา

          เพราะฉะนั้น เราเกิดมาทั้งที และได้มีโอกาสมาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือมาศึกษาตัวเองให้รู้ให้เข้าใจ ว่าร่างกายจิตใจของเรามันเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อศึกษารูปก็รู้เรื่องรูปคือ รู้หมดแล้วไปเลย ได้สำเร็จก็รู้หมดแล้ว ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เรารู้หมดแล้ว

          ถ้าทวนญาณเราจะรู้ว่า อะไรที่จะเกิดขึ้นมันจะสะดุด เมื่อสะดุด… รูปมันตายไปแล้ว นามก็ตายไปแล้ว กิเลสที่มันติดกันมาก็ตายไปแล้ว ความเป็นปุถุชนมันตายไปแล้ว เข้าใจไหม เมื่อเรามาปฏิบัติอีก สภาวะอย่างนี้มันก็เกิดอีก ถ้าว่าเราตายอีกครั้งที่ ๒ กิเลสมันก็จะอ่อนกำลังลงไปอีก

          หากว่าปฏิบัติต่อไปอีก มันตายครั้งที่ ๓ เมื่อตายครั้งที่ ๓ ภาวะที่เราจะไปทำอะไรๆ เช่นความดีใจหรือขัดใจมันก็เบาบางลง ถ้าทำไปๆ ถึง ๔ ครั้ง ดับวูบเลย มันก็หมดเลย เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจึงพูดเสมอว่า คนเรานี้เกิดขึ้นมาแล้วจะต้องตาย ๔ ครั้ง ถ้าคนไหนสามารถตายได้ ๔ ครั้ง คนนั้นก็ถือว่าได้สำเร็จถึงฝั่งแล้ว กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมันก็หมดสิ้นไป หากว่าตายแล้ว ๔ ครั้ง ครบหมด หลวงพ่อขออนุโมทนา แต่หลวงพ่อว่ามันไม่ตายครบ ๔ ครั้ง ครั้งเดียวก็ยังไม่ตาย

          ถาม ตอนกำลังปฏิบัติมันมีแต่ความคิด ก็กำหนดว่า คิดหนอๆขณะที่กำหนดอยู่ๆ เกิดหูอื้อขึ้นมาแล้ววูบลงไป ก็ตกใจว่า อะไร ใจเต้นตึกๆเลย

          ตอบ อาการเกิดนั้นมันมี ๕ ประการ คือ ๑) ปีติ ก็ทำให้ดับได้ ๒) ปัสสัทธิ ก็ทำให้ดับได้ ๓) สมาธิ ก็ทำให้ดับได้ ๔) ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ก็ทำให้ดับได้ ๕) อุเบกขา ก็ทำให้ดับได้ แต่การดับอย่างที่ว่ามานี้ ไม่สามารถที่จะละกิเลสตัณหาได้

          ถ้าหากว่าการเกิดดับเกิดขึ้นด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานว่า พองหนอ ยุบหนอ อยู่ดีๆ อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆ แล้วก็วืบ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ถือว่า เราได้บรรลุถึงขั้นปฐมมรรคแล้ว เพราะฉะนั้น รูปนามและกิเลสมันดับไปครั้งที่ ๑ แล้ว

          แต่บางครั้ง เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อาการพองอาการยุบมันฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ หายใจไม่ออก เหมือนใจจะขาด บางทีต้องกำหนดว่า แน่นหนอๆ กำหนดไปๆ มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็ดับ เพราะรูปนามมันดับ และพร้อมกันนั้นกิเลสมันก็ดับไปด้วยกัน ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีแล้ว ตาย ๒ ครั้งแล้วนะ ถ้าหากว่าเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี แผ่วเบาเข้าๆ ความรู้สึกของเราเหลือแค่เส้นด้าย ในขณะที่เรากำหนดอยู่มันดับวูบไปเลย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่า เราได้ผ่านญาณ ๑๖ มาแล้ว

          ถาม การดับในขั้นมรรคขั้นผลนี่ ต้องผ่านพระไตรลักษณ์ ต้องจำให้ได้ ถ้าจำไม่ได้ถือว่าไม่ผ่าน ใช่ไหมครับ

          ตอบ ไม่ผ่าน เพราะว่าอาการดับโดยพระไตรลักษณ์นั้นมี ๓ อย่าง

          บางทีถ้าเราปฏิบัติผ่าน อาการดับนั้นปรากฏชัด ไม่ต้องพิจารณาละ มันรู้อยู่ แต่ถ้าดับด้วยอาการทุกขังมันปรากฏชัด กำหนดไปๆ มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็ดับวูบไปเลย เพราะตอนนี้สติของเรามันสมบูรณ์แล้ว แต่ว่าการดับของอนัตตานั้นมันละเอียด จิตใจของเรา เวลากำหนดอาการพองยุบของเรามันจะค่อยๆอ่อนแผ่วเบาๆไปเรื่อยๆ ความรู้สึกของเรามันเหลือประมาณเส้นด้าย แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วเราจะรู้สึกว่า มันดับหรือไม่ดับ คือมันบอกไม่ได้ เมื่อมันไปอย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้

          ถาม อยากทราบว่า อาการดับในขณะเดินจงกรมมีไหมครับ แล้วมันจะมีอาการเป็นอย่างไรครับ

          ตอบ อาการที่เกิดขึ้นนั้นก็ไปเรื่อยๆ แต่ในขณะนั้นยังมีสภาวะที่เป็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจังก็ได้ ทุกขังก็ได้ อนัตตาก็ได้ และในขณะที่กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ในขณะที่กำหนด มันดับไปเลย ดับในขณะเดินจงกรม บางทีมันก็ดับในขณะยืนก็มี แม้เวลานอนมันก็ดับได้ ในขณะกินข้าวมันก็ดับได้ เพราะว่าเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล ความรู้คือสติสมบูรณ์เมื่อใด มันก็ดับลงเมื่อนั้น เป็นอย่างนี้

          ถาม ปฏิบัติไปๆ เกิดขนลุกซู่ขึ้นทั่วสรรพางค์กาย ก็คิดว่า เอ๊ะ เราเป็นอะไร ปฏิบัติแล้วเป็นสภาวะอย่างนี้ใช้ได้ไหมครับ

          ตอบ นี่ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าตั้งใจปฏิบัติจริงๆ รู้สภาวะจริงๆ เป็นสภาวะจริงๆ เรียกว่าใช้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราอย่าไปสงสัย ครูบาอาจารย์ที่สอบอารมณ์เขาไม่บอกหรอกว่า คุณทำได้อย่างนั้น คุณทำได้อย่างนี้ ไม่บอก

          เพราะเหตุไรจึงไม่บอก? เพราะถ้าไปบอก มันก็จะเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติเกิดจิตปรุงแต่ง เกิดปลื้มใจภูมิใจขึ้นมา มันสุขจนเกินขอบเขต เหมือนคนได้เงินมาเป็นแสนๆ เป็นล้านๆ ไม่ได้ไปทำอะไร ไม่ได้หาอะไร เขาก็โยนให้ เอ้า คุณเอาไปใช้เลย เงิน ๑ ล้านบาท พอได้รับก็ฟูใจ

          อีกอย่างหนึ่ง หากว่าบอกแล้ว ก็จะไปอวดไปอ้างว่า ดีอย่างนั้น ได้อย่างนี้ ทำอย่างนี้ก็ได้ ทำอย่างนั้นก็ได้ ก็จะเกิดมานะทิฏฐิขึ้นมา เพราะเหตุไร เพราะว่าจะตั้งตนอวดอ้างลักษณะอย่างนี้มันมีอยู่ ความถือตัวยังมีอยู่

          ทีนี้ถ้าบอกตรงๆว่า คุณไม่เหลืออย่างนั้น คุณไม่เหลืออย่างนี้ หากว่าเราพยากรณ์ผิดล่ะ เขาก็ตกนรก แม้เราก็ตกนรกเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น ครูบาอาจารย์จึงไม่บอก แต่เวลาสอน คือจะสั่งว่าให้พิจารณาอย่างนี้ ลูกศิษย์ลูกหาที่ฟังทั้งหลาย ที่หลวงพ่อไม่พูดว่า คุณนั้นได้อย่างนั้น คุณนั้นได้อย่างนี้ มีแต่เทศน์ให้ฟัง

          คุณทำนายความหลุดพ้นของตนเองดูว่า ความโลภ ความโกรธ ตอนนี้มีอยู่เท่าไร สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉามีไหม มีเท่าไหร่ ตามองค์ของมัน เรากล้าตัดสินสิ่งเหล่านี้เอง เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจึงไม่ให้บอก แต่ว่าให้เราผู้ปฏิบัติเป็นผู้ตัดสิน เพราะว่า เวลาที่มันเกิดขึ้นมา บางทีเราอาจถูกอุปกิเลสที่นอนเนื่องอยู่หลอกเอาว่า คุณได้ผ่านโสดาปัตติผลไปแล้วนะ เราจะติดอยู่นี้ เหตุนั้น พึงสังวรระวังไว้ให้ดี ถ้าเราดับลงไปจริงๆ แล้วก็จำได้ด้วย ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้ามันผ่านไปได้ แต่ระวังว่า เจ้าตัวนี้มันจะหลอกเอา มันจะยึดตัวเราไว้เป็นเจ้าของ

          ถาม ขออนุญาตถามหลวงพ่อ คือว่าช่วงที่เรานั่งสมาธิสบายๆ ช่วงนั้น นั่งประมาณ ๒ ชั่วโมง แล้วก็คลายออกจากสมาธิแล้ว กำลังจะเก็บกลด ก็มีอาการคล้ายหน้ามืด จึงกำหนดถี่ๆ ก็มีอาการคล้ายหน้ามืดแล้วก็วูบไป ก็กำหนดไปเรื่อยๆ มีอาการแน่นเข้าๆ อยากทราบว่า เป็นอะไรครับ

          ตอบ อันนี้เป็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง คือเวลาเรากำหนด อาการพองอาการยุบจะเร็วขึ้นๆ เป็นลักษณะของอนิจจังมันเกิดขึ้นแล้ว อาการพองยุบที่กำหนดแล้วรู้สึกอึดอัดแน่นๆ นี้เป็นลักษณะของทุกขัง อาการพองอาการยุบสม่ำเสมอดี แล้วแผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็วู้บ อันนี้เป็นลักษณะของอนัตตา

          ถาม การเกิดดับในผลสมาบัติ จะมีนิมิตเกิดร่วมด้วยไหมครับ

          ตอบ ญาณที่เกิดขึ้นๆ เรื่อยๆ เวลามันดับ มันก็วูบไปเลย แล้วก็เข้ามาอยู่ในผลสมาบัติสัก ๕ นาที ๑๐ นาที ก็ตาม นิมิตไม่มี เพราะเป็นโลกุตตระ ถ้าหากว่าจิตของเราออกจากสมาธิมาแว้บนึง อาจจะ ๕ วินาที หรือ ๑๐ วินาที นิมิตก็เกิดได้ เพราะว่ามันออกมาแล้ว เดี๋ยวมันก็แพ้บเข้าไปอีก ไม่มีนิมิต

          ถาม การอวดอุตตริมนุสสธรรมจะเกิดขึ้นมาได้โดยนับจากการปฏิบัติถึงตั้งแต่ญาณไหนขึ้นไปครับ

          ตอบ ไม่ต้องญาณไหนหรอก พวกเรานั่งกันอยู่นี่ พวกเราประชุมกัน มันตั้งใจจะบอกก็เดินตามมา หลวงพ่อ หนูได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วนะ ถ้าคิดต้องการจะพูด แต่เป็นโยมก็ไม่เป็นอะไร ถ้าเป็นพระเป็นเณรถือว่าอวดอุตตริมนุสสธรรม ปรับอาบัติปาราชิกทันที

          พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์จะไม่อวด แต่ถ้าเป็นปุถุชนนั้นอวดได้ ถ้ามีเจตนาจะอวด แล้วก็พูดให้ผู้ฟังเข้าใจ ปรับอาบัติปาราชิกทันที [2]

          ถาม ถ้าโยมมาปฏิบัติแล้ว แต่วิปัสสนาญาณ ๔ ก็ไม่เกิด และตอนที่กำหนดพระกัมมัฏฐานก็ปล่อยตามธรรมชาติ หรือว่ากำหนดหยาบๆล่ะครับ

          ตอบ ถ้าเรากำหนดอย่างธรรมชาติ มันก็ไปอย่างธรรมชาติ ถ้าเราปล่อยไปตามธรรมชาติ มันก็เป็นไปอย่างธรรมชาตินะสิ หนักๆเข้ามันก็เป็นบ้า จะไปผูกคอตาย กินยาตาย เพราะเราปล่อยไปตามธรรมชาติ เอ้า กลุ้มใจเว้ย ตายซะดีกว่า ระวังเถอะ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ เราต้องใช้สติบังคับควบคุมจิตใจของเรา มีสติเป็นผู้บังคับ มีสติเป็นผู้เชิดชู มีสติเป็นผู้อุปถัมภ์

          ถ้าไม่มีสติ จิตของเรามันก็ซ่านไปนะ เพราะฉะนั้น เหตุที่พูดกันว่าปฏิบัติกัมมัฏฐานแล้วเป็นบ้า ก็เพราะว่าปล่อยไปตามธรรมชาติ พอรู้สึกตัวขึ้นมา อาย อะไรครับ ขณะนี้ผมเดินจงกรมอยู่ อาจารย์อยู่ที่ไหน นี่แหละธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้

          ถาม พอกำหนดไปๆ ความรู้สึกมันเงียบไป มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราสัปหงกไปอย่างนี้

          ตอบ นี้มันเป็นสมาธิ เพราะมันไม่ผ่านพระไตรลักษณ์ จัดเป็นสมาธิ

          ถาม เวลาเรานั่งกำหนดอยู่ ขณะนั้นจิตรู้สึกสบายปลอดโปร่งอยู่ กำหนดไปๆ พองยุบสม่ำเสมอแล้วก็ค่อยเร็วเข้าๆ ความรู้สึกยิบๆ แล้วตัวก็งุ้มลงไป ในขณะนั้นมันวูบลงไปนิดเดียว ไม่เกิน ๒ วินาทีก็ปรากฏ

          ตอบ ลักษณะอย่างนี้หลวงพ่อได้เฉลยมาหลายรุ่นแล้ว เพราะฉะนั้น ให้ตัดสินเอาเอง

          ถาม ในพรรษานี้ผมนั่งสมาธิกับนอนพิจารณาเหมือนกัน ซึ่งไม่รู้ว่ากำหนดถูกหรือไม่ครับ คือผมกำหนดไป จะถือว่าขาดสติไป แล้วนอนหลับฝันว่าได้ไปเที่ยวที่นั้นที่นี้ เห็นพระพุทธรูปบ้าง เห็นป่าไม้บ้าง ก็เอามือไปจับ แล้วก็มีสติขึ้นมา ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆอย่างนี้ การเกิดดับแบบพระไตรลักษณ์จะเกิดขึ้นยากไหมครับ

          ตอบ คำถามนี้มันไม่เกิดเลย มีแต่ปีติเท่านั้นที่เกิด คำถามที่ท่านถามนั้น มัคคจิตผลจิตมันไม่เกิดเลย เป็นแต่เพียงปีติเท่านั้น มีแต่กำหนดนิทรารมย์ เขาเกิดเอง ไม่ใช่อารมณ์ของฌานเลย วิธีแก้ปัญหาก็คือทำสติเพิ่มสติให้มากอย่าให้หลับนาน

          ถาม เมื่อผู้ปฏิบัติในตอนเช้า หลังจากฉันเช้าแล้วก็นั่งภาวนา ไม่ได้หลับ อยู่ในท่านั่งแล้วก็เห็นอาหารที่อยู่ในกระเพาะอย่างนี้

          ตอบ มันเกิดขึ้นด้วยอำนาจของปีติ ไม่ใช่ญาณ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น ถ้าเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นพร้อม และในขณะนั้น อาการที่มันดับไปนั้น เราจำไม่ได้ อาการดับลงไปนั้นก็เป็นโลกิยะ และการเข้าสมาธินั้นก็เป็นโลกิยฌาน

          แต่ถ้าพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นพร้อมและดับพรึบลงไป เราจำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน เราจำได้ว่าตอนพองหรือตอนยุบ หรือว่าในขณะปฏิบัติอยู่นั้น วัตรของเราที่ทำอยู่นั้น เราตั้งจิตไว้ที่ตรงไหน จิตของเราเป็นอย่างไร เรารู้เลย ถ้าเรารู้เลย ไม่ได้คาดเดาเอาหรือคะเนเอา เราจำได้จริงๆ มันดับวูบลงไป สมาธิหรือฌานนั้นเป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์

          ถาม ในขณะที่นั่งภาวนาปฏิบัติไป อาการตรงนั้นชัดเจน แล้วก็มีอาการสับ (กายผงกลงไปอย่างเร็ว) คือที่มันดับไปแล้ว รู้ว่ามันดับ แต่จำไม่ได้ว่าลักษณะที่มันดับลงไปเป็นยังไง อยากถามว่าอาการดับอย่างนี้ ถือว่าดับโดยมีพระไตรลักษณ์เกิดร่วมได้ไหมครับ

          ตอบ ทีนี้หลวงพ่อจะถามกลับว่า ก่อนที่มันจะดับนั้น อาการพองอาการยุบที่เรากำหนดอยู่นั้น เร็วขึ้นๆแล้วก็ดับไป มีไหม

          หรือว่าก่อนที่จะมีอาการอย่างนี้ อาการพองอาการยุบของเรามันฝืนๆ อึดอัดแน่นๆ มันแน่นเข้าๆ แล้วก็วูบลงไป แล้วเราก็รู้จักอาการที่มันวูบลงไป จะเป็นตอนท้องพองท้องยุบก็ตาม เรารู้ในขณะที่เรากำหนดอยู่นั้น เรารู้ว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน ตรงจมูกหรือตรงศีรษะ เราจำได้ หรือในขณะนั้น อาการพองอาการยุบของเรามันสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็วูบลงไป แล้วในขณะนั้นเราจำได้ไหม ว่าสติกับจิตของเรามันอยู่ตรงไหน ไม่ต้องถามอาการพองอาการยุบละ มันอยู่ตรงไหน เอาสติไว้ที่ตรงไหน ถ้าท่านยังจำได้ สภาวะที่กล่าวมานี้ก็เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเราจำไม่ได้ สภาวะนี้ก็เป็นโลกิยะ ยังไม่เป็นโลกุตตระ

          ถาม ขอถามเพิ่มเติมอีกหน่อยว่า สภาวะอย่างนี้ ถ้าเรายังจำไม่ได้ สภาวะอย่างนี้จะยังเกิดขึ้นอีกไหมครับ

          ตอบ ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ มันก็เกิดอีก หากว่าเรายังปฏิบัติอยู่อย่างนี้ มันก็เกิดขึ้นอย่างนี้ หากว่าบารมีของเรายังไม่พอ เราก็อาจใช้เวลาชั่วโมงที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ หากว่าเราพร้อมแล้วเมื่อไหร่ มันก็เกิดขึ้นทันที สำหรับผู้ที่ผ่านการปฏิบัติมาแล้วครั้งที่ ๑ ก็ดี ครั้งที่ ๒ ก็ดี ครั้งที่ ๓ ก็ดี ครั้งที่ ๔ ก็ดี ลักษณะอย่างนี้ เมื่อเรานั่งได้ถูกที่เมื่อไร มันก็เกิดขึ้นทันที

          อาการที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการเกิดการดับซึ่งเป็นผลสมาบัติ เป็นโลกุตตระ เราปฏิบัติผ่านครั้งที่ ๑ ลักษณะอย่างนี้ก็เกิดขึ้นได้ตลอด แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว ถ้าเรานั่งได้ถูกที่เมื่อไร มันก็เกิด บางทีก็เกิดช้า บางทีก็เกิดเร็ว เพราะเหตุไร เพราะรูป นาม ขันธ์ ๕ มันมีอยู่อย่างนี้ พระไตรลักษณะก็มีอยู่อย่างนี้

          ถาม ถ้าหากว่าญาณมันเกิดขึ้นแล้ว เราควรจะรักษาไว้อย่างไร เพราะเวลาเราออกไปข้างนอก ในเวลาที่ไม่ใช่ช่วงปฏิบัติ เราควรจะรักษาไว้อย่างไรเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว แล้วญาณแต่ละญาณนี่เกิดขึ้นตลอดหรือเปล่าครับ

          ตอบ ถ้าสมาธิของเราดี มันก็จะเกิดขึ้นมาเอง ถ้าสมาธิไม่พอ มันก็ไม่เกิด แต่ถ้าสมาธิพอ มันก็เกิดขึ้นทันที บางทีนั่งคุยๆกันอยู่อย่างนี้ เพียงแค่เราตั้งใจสำรวมระวัง (ญาณ)มันก็ขึ้นมาแล้ว

          พูดให้เข้าใจสั้นๆว่า การทวนญาณนี่ เราดูความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ มันจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราอยู่อย่างนี้ มันก็เกิดขึ้นอย่างนี้ เราจะทำงานอะไร หรือท่องมนต์ หรือทำงานอะไรๆ มันก็อยู่อย่างนี้ เวลาเรานอนหลับ มันก็อยู่อย่างนี้ สภาวะก็อยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

          การที่เราทวนญาณก็คือว่าให้รู้จักสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ญาณที่ ๔ มันเกิดอย่างไร ญาณที่ ๕ มันเกิดอย่างไร เพื่อจะได้แยกแยะกันออกมา คนเราน่ะ เวลาจะตายมันก็ตายอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะว่าความเป็นไปของร่างกายและจิตใจมันหมุนอยู่อย่างนี้ หมุนไปๆ มันถึงที่แล้วก็ถอยๆลงมา มาถึงนี่แล้วก็ไปอีก
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 76.0.3809.100 Chrome 76.0.3809.100


ดูรายละเอียด
« ตอบ #106 เมื่อ: 25 สิงหาคม 2562 14:48:11 »



ถาม-ตอบ ปัญหากัมมัฏฐาน (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


         ทางเดินของรูปนามมันมี ๘ ประการ มันหมุนเปลี่ยนไป ถอยลงมาญาณที่ ๔ เมื่อตัวนี้แก่กล้า ก็ขึ้นไปอีก เลยขึ้นไป เป็นอย่างนี้ๆ ถ้าเราไปดูคนป่วยก็จะเห็น หากว่าเราเรียนรู้มัน เราก็จะรู้ว่า โอ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายจิตใจมันมาถึงจุดนี้ ถึงแล้ว ถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว เราก็ดูอยู่ แต่เวลามันถอยนี่ มันถอยพรวดเลยนะ ไม่ใช่ ๑ ๒ ๓ ๔ นะ มันถอยพรวดเดียวเลย

          มันถอยลงมาตั้งตัวใหม่ อาจจะใช้เวลาหลายนาที ถ้าสมาธิของเรามีมากมันก็ขึ้นเร็ว ถ้าสมาธิของเราไม่พอ มันก็จะค่อยขึ้นไปๆ มาถึงภยตูปัฏฐานญาณ เป็นอย่างนี้ อาทีนวญาณเป็นอย่างนี้ ไปเรื่อยๆ จนถึงสังขารุเปกขาญาณนั่น สบายๆ เราจะไปที่ไหนๆก็สบายๆ

          เพราะฉะนั้น เหตุที่เรายังไปไม่ได้ ก็เพราะว่าเรายังต้องปฏิบัติต่อไป เลยไปไม่ได้ พอไปไม่ได้ มันก็ถอยกลับมา เหมือนเราตกต้นไม้ เมื่อตกลงแล้ว ถ้าจะขึ้นไปอีก ก็ต้องเตรียมตัว จึงจะขึ้นไปได้

          ถ้าเราไปดูคนป่วยเราจะรู้ทันทีเลยว่า เดี๋ยวนี้การเปลี่ยนแปลงของกายและของใจน่ะ มันเป็นอย่างไร คือมาศึกษาวิปัสสนา มาศึกษาตนเอง ไม่ไปศึกษาทางโลก มาศึกษาตนเอง เราก็(รู้)ขึ้นมาทันทีว่า การเปลี่ยนแปลงของกายของใจมันเป็นอย่างนี้ แต่มันมีอีก ๘ ระดับ เมื่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของใจ ๘ ระดับนี้มันชัดเต็มที่แล้ว พอมันเต็มที่ก็พรวดไปเลย กระโดดข้ามไปเลย

          ฉะนั้น พอเรากำลังดูเพลินๆอยู่ก็วืบไปเลย นิดเดียวเท่านั้น รวดเดียวก็ถึงสัจจานุโลมิกญาณ อนุโลมิกญาณ ๑ โคตรภูญาณ ๑ มัคคญาณ ๑ มันชัด จิตมันเกิดขึ้น ๓ ครั้ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พอดีออกจากตัวเห็นชัด มันก็ขึ้นผล ผลนี้มีอยู่ ๓ ขณะ แล้วแต่บุญ

          ถ้าผู้ใดเป็นติกขบุคคล ก็จะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ ๓ ขณะ แล้วก็ตกภวังค์ขึ้นมา แล้วก็พิจารณาธรรมต่อไปว่า มันเป็นยังไงนะ มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือว่ามันตายไปเมื่อตะกี้ บางทีก็ว่ากัมมัฏฐานบ้าๆบอๆ แบบนี้ไม่ปฏิบัติต่อแล้ว ลักษณะมันเป็นอย่างนี้

          ปัจจเวกขณะมันเป็นอย่างนี้ ไม่เหมือนที่เราเรียนมาว่า ปัจจเวกขณะพิจารณาถึงมรรค ผล พระนิพพาน ตัดกิเลสแล้ว กิเลสที่เกิดขึ้นและตั้งอยู่ ว่าตอนนี้ โลภะ โทสะ โมหะไปหมดแล้ว พิจารณาอย่างนี้เป็นแนวทางของปริยัติ

          แต่แนวทางของการปฏิบัตินั้นไม่ใช่ ดีดนิ้วมือนี้ มันยังช้ากว่า พูดง่ายๆว่า เรากำหนดพองหนอยุบหนออยู่นี่มันดับแล้ว อะไรดับ? รูป คือลมหายใจเข้าหายใจออกดับแล้ว นาม คือความรู้สึกมันดับไปแล้ว และก็กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานมันดับไป

          เมื่อมันดับปั๊บไป ลักษณะนั้น ตามหลักการก็ถือว่าเป็นการบรรลุ คือเมื่อก่อนเราคิดว่า เวลาบรรลุเราก็จะได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ต้องเทศน์ได้สอนได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น คนละอย่างกัน อันนั้นเป็นปริยัติ

          ถาม บุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วผ่านญาณ ๑๖ ไปครั้งแรกนี้ ในเบื้องต้น เขาผู้นั้นสามารถตัดสินตัวเองได้เด็ดขาดไหมว่าเขาได้บรรลุเป็นโสดาบัน

          ตอบ อ้าว เขาก็ต้องรู้ ไม่ใช่ของทำแล้วไม่รู้ ของอันนี้ไม่ใช่เป็นของเป็นเรื่องปกปิด

          เราปฏิบัติผ่านไปๆ เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว กำลังของเราก็พอแล้ว ตอนนั้นสภาวธรรมทั้งหลาย ทั้งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็จะมารวมกันตรงนี้ เมื่อรวมกันแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด มัคควิถี

          เมื่อเกิดมัคควิถีแล้ว ไม่มีอันใดที่จะไปปิดบังเรา ไม่มีอะไรเป็นเครื่องปิดบัง เพราะในขณะนั้น บางทีพระไตรลักษณ์มันเร็วขึ้นๆ แล้วก็ดับวูบลงไป บางทีทุกขังมันเกิดขึ้นๆ แล้วก็ดับไป บางทีอนัตตามันก็ปรากฏขึ้น และก่อนมันจะดับลง เราก็รู้ ตอนที่มันลงเราก็รู้ เวลามันลง มันดับไปเลย ก่อนที่มันจะดับมันไม่ใช่ของธรรมดา สติของเรามันใสแจ๋วกว่าปกติ

          เมื่อก่อนโน้นสติของเรามันไม่ใสเท่าไร แต่เมื่อมาถึงตรงนี้ สติของเรามันก็ใสแจ๋ว เราจะรู้ทันทีเลยว่ามันจะดับแล้ว นี่ตามปกตินะ ถ้าผู้ที่ได้เรียนปริยัติมา (พอปฏิบัติมา)ถึงนี่แล้วละ โอ มันจะดับแล้วนี่ ตั้งใจไว้เลย ถึงไม่อยากให้ดับมันก็ดับไป พอผ่านไปแล้วก็ภูมิใจดีใจว่า ผ่านแล้ว และไม่มีเคลือบแคลงสงสัย แต่ที่ผ่านๆมา ๑) เราไม่ได้เรียนปริยัติมา เราเลยไม่รู้ ๒) สภาวะที่เกิดขึ้น (เพราะเห็นด้วยอำนาจของ) อนัตตานี่

          อนัตตาเกิดขึ้นมา มันก็จะเห็นอาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ ความรู้สึกของเราน้อยเข้าไปๆ อุปมาเท่ากับเส้นด้าย ตอนนั้นแหละ แว้บไปเลย ขาดความรู้สึกไปเลย พอเรารู้สึกตัวขึ้นมาจึงว่า โอ มันเป็นอะไรหนอนี่ มันทำไมจึงเป็นอย่างนี้ สภาวะมันชัดถึงที่คือมันละเอียดถึงที่แล้ว ละเอียดเข้าๆ ถึงที่แล้วมันก็ดับไป บางทีมันก็เบาไปๆๆ บางทีมันก็หนักๆ บางทีก็ผงะไปข้างหลังเลย บางทีก็ผงะไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างซ้ายผงะไปข้างขวา บางทีก็ดิ่งเข้าๆ พั้บไปเลย

          ถาม ครูบาอาจารย์ที่เป็นสหธรรมิกกัน ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านก็ปฏิบัติดำเนินมาแล้ว มันดับไป แต่เมื่อมันดับไปแล้ว บางครั้งท่านก็ยังสงสัยว่าตนเองเป็นอริยะ บางครั้งก็สงสัยว่าตนเองเป็นปุถุชน ไม่ทราบว่าทำไมจึงมีความลังเล

          ตอบ เพราะว่าไม่กล้าตัดสินใจ สภาวะมัน ๕๐/๕๐ คือว่าไม่กล้าตัดสินใจ มัน ๕๐/๕๐ มันไม่ชัดเจน

          ถาม อาการดับนี้ มันเริ่มมีในญาณอะไรครับ

          ตอบ อ้าว ถ้าตอนปฏิบัติธรรมดาๆ ก็โน้นแหละ มันเริ่มดับตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ญาณที่ ๓ มันก็เริ่มดับแล้ว แต่ในญาณที่ ๓ ถ้ามันดับด้วยอำนาจของปีติ ของปัสสัทธิ ของสมาธิ ของอุเปกขา ของถีนมิทธะ เราไม่นับ อันนั้นมันก็ดับเป็นเหมือนกัน ปีติบางทีมันก็ดับ ผงะไปจนอะไรเป็นอะไร เราต้องสังเกตให้ดี ทีนี้ถ้าญาณที่ ๔ มันก็ดับ ญาณที่ ๕ มันก็ดับ มันก็ดับทุกญาณ

          ถาม เวลาครูบาอาจารย์พูดคุยกัน ส่วนมากก็บอกว่า ดับๆ

          ตอบ ไม่มีใครที่ไหนจะรู้จักเท่ากับตัวเราเองเป็นผู้รู้จัก ถ้าเรายังไม่กล้าตัดสินใจ เราก็ยกเรื่อง ธัมมาทาส ๔ ประการ คือ (สุตฺต ที. มหาวคฺโค หน้า ๑๑๑)

          ๑. พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว

          ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว

          ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

          ๔. อริยกนฺเตหิ สีเลหิ สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิจ

          ถ้าเราพร้อมด้วยองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี่ (มีใคร) เขาบอกว่าไม่บรรลุ มันก็บรรลุ เพราะองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี่เป็นเครื่องตัดสิน เราเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ใครจะว่าอย่างไรๆก็ตาม เราก็ยังเลื่อมใสอยู่

          เรื่องพระธรรมก็เหมือนกัน หากมีใครมาพูดว่า พระธรรมเป็นของปฏิรูปอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ใครยังวิพากษ์วิจารณ์อยู่อย่างนี้ ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่เราไม่วิพากษ์วิจารณ์เลย มีแต่จะคิดว่า โอ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีจริง วิเศษจริง เลิศจริง ผู้ใดปฏิบัติตามก็ได้บรรลุอย่างนี้จริง เมื่อประกอบไปด้วยความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหวแล้ว

          ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว ถ้าว่าเราผ่านจริง เห็นพระเจ้าพระสงฆ์ โอ ดีใจ เหมือนกันกับได้เห็นพระพุทธเจ้านั่นแหละ เห็นพระเจ้าพระสงฆ์ก็สาธุอนุโมทนา อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่มีความระแวงอย่างนั้นอย่างนี้ หรือมีใครทำไม่ดีอย่างนั้นๆๆ มันก็เฉยๆ ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว

          เมื่อพร้อมด้วยองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี้ ก็สามารถพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เออ เราผ่านมาแล้ว แต่ก่อนว่า ๕๐/๕๐ เมื่อผ่านมาถึงแล้ว โอ มันผ่านไปแล้ว

          ถาม ขอถามพระเดชพระคุณหลวงพ่ออีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อมรรคเกิดขึ้น ผลจะเกิดขึ้นต่อกันเลยหรือ

          ตอบ จะว่ามรรคเกิดขึ้นแล้ว ผลเกิดขึ้นต่อเลยหรือ ไม่ใช่อย่างนั้น มันอยู่ในมัคควิถี เอ้า จะอธิบายละนะ

          วิถีจิตก่อนที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้น พอดีจังหวะที่ ๑ ชวนจิตดวงที่ ๑ ดับพั้บไป ชวนจิตดวงที่ ๒ คือ โคตรภู ดับพั้บไป หลังจากนั้นทรงอยู่ ๑ ขณะจิต มัคคญาณดับพั้บไป หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้ว ทรงอยู่ ๑ ขณะจิต ผลจิตก็ดับพั้บไป

          พอเรารู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณา เอ มันเป็นอะไรหนอ มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดหัว บางทีก็งง นี่มันผ่านไปแล้ว เวลาไม่นาน เวลาบรรลุเท่านั้นแหละ ๑ – ๒ (วินาที)เท่านั้นนะ เวลาได้บรรลุมันมีเท่านั้นนะ ไม่ใช่ว่าพองหนอ ยุบหนอ (ลากเสียงยาว) มันผิดเท่านั้น เพราะอะไร เพราะว่าเวลาดับลงไป เราจะรู้เลยว่า รูปคืออาการพองอาการยุบมันก็ดับ นามคือความรู้สึกของเรามันก็ดับ และกิเลสก็ดับไปด้วยกัน

          ถาม บางท่านดับพร้อมเห็นกิเลสด้วย บางท่านเพียงแต่ดับ แต่ไม่เห็นกิเลสดับ ต่างกันอย่างไรครับผม

          ตอบ มันอยู่ด้วยกันนะ และถ้ามันดับไป มันยังแข็งตัวอยู่หรือ หรือดับไปแล้วแข็งขึ้นมาเลย ถือว่ามันไม่ดับ มันต้องเห็นนะ

          เพราะอะไร? เพราะคำว่า เห็น ในที่นี้ เราแยกประเภทไม่ได้ สมมติว่าชวนจิตทั้ง ๗ ดวงนี้ ดวงที่ ๑ อนุโลม โคตรภู มรรค ผล และปัจจเวกขณ์ มันใช้เวลาไม่นานเท่าไร เราจะไปรู้ได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าจะค่อยดับไปๆ ไม่ใช่อย่างนั้น พองหนอ ยุบหนอ เท่านั้นเสร็จแล้ว

          วิถีจิตมันเสร็จไปแล้วนี่ ผ่านไปแล้วนี่ พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ พรึ้บลงเลย มันดับลงไปเลย รูปดับ นามก็ดับ กิเลสมันก็ดับ ไม่ใช่ว่านานๆค่อยดับลงไปๆ ค่อยๆดับไปทีหนึ่ง ง่วงนอนค่อยๆดับลงไป พองหนอๆ ดับลงไปนี่ถีนมิทธะ ถ้ามันดับไปอย่างนี้ก็ถือว่าดับด้วยอำนาจของถีนมิทธะ

          ถาม ทำไมบางคนเวลาดับลงไปแล้วก็รู้ว่ากิเลสดับลงไปด้วย แต่บางคนทำไมเพียงแต่ดับ แต่ไม่เห็นกิเลสดับไปด้วย ต้องใช้เวลาดับพร้อมกันไหมครับ

          ตอบ เพราะว่ากิเลสนั้นเป็นนามธรรม มันเลยไม่เห็น ถ้ามันเป็นรูปธรรมเราจึงจะเห็น เพราะกิเลสมันเป็นนามธรรม แต่ถ้าเข้าใจหรือรู้ว่ามันอยู่ในจังหวะแบบเดียวกัน มันก็แปลว่าใช้ได้ รูปก็ดับ นามก็ดับ กิเลสมันก็ดับไปด้วยกัน ถ้ามันดับก็ดับไปพร้อมกัน เพราะว่าใจเป็นนามธรรม กิเลสมันก็เป็นนามธรรม มันก็เลยไม่เห็น

          ถาม อาการเกิดดับ เพียงแต่เราจ้องอยู่แล้วก็ดับลงเรื่อยๆ จนเราเห็นอาการพองอาการยุบเกิดขึ้น แต่มันเบามาก และจำได้ว่ามันพองขึ้นหรือยุบลง สามารถตัดสินได้

          ตอบ ก็ตัวเองนั่นแหละสามารถตัดสินได้ มันจริงหรือไม่จริง ดับหรือไม่ดับ ครูบาอาจารย์ตัดสินให้ไม่ได้นะ เราต้องตัดสินเอาเอง

          เพียง คิดหนอ คำเดียว เราผู้ปฏิบัติก็จะรู้ทันทีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดดับชัดเจนไหม ถ้าอาการเกิดดับเกิดขึ้นในขณะที่ทวนญาณ อาการเกิดดับที่เกิดมานั้นถือว่าเป็นผลสมาบัติ บางท่านที่มีสมาธินั่งอยู่ได้นานๆ หรือนั่งได้ทน สมาธิดีก็สามารถอยู่ได้นานๆ อาจจะห้าวันเจ็ดวันก็ได้

          ใครที่มีความเพียรไม่พอ โดยเฉพาะสมาธิไม่มาก สมาธิมีนิดเดียว อาจจะเข้าผลสมาบัติไม่มาก มีประโยชน์เหมือนกัน เหมือนอาหาร ไม่ใช่ว่าต้องกินเยอะๆจึงจะถือว่ามีประโยชน์ ไม่ใช่ เราจะกินคำเดียว สองคำ สี่คำ ก็ถือว่าได้ประโยชน์เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด

          ผลสมาบัติก็เหมือนกัน เราได้เข้าไปนิดเดียวเท่านั้น อาจจะนาน ๑ นาที ๒ นาที ๓ นาที ก็ถือว่าเป็นประโยชน์เหมือนกัน เพราะว่า อำนาจของผลสมาบัตินี้ หากว่าเราจุติในผลสมาบัติ หรือว่าจุติในฌาน เข้าได้เพียง ๑ นาทีเท่านั้น เมื่อจุติแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ มีสุคติเป็นที่ได้ที่ถึงตามกำลังผลสมาบัติของเรา

          มีอะไรอีก สงสัยไหมต่อคำตอบนี้

          เมื่อเราปฏิบัติกัมมัฏฐานถึงญาณที่ ๔ สภาวะอย่างนี้มันจะเกิด เมื่อเกิดแล้วมันจะไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะบางคนน้ำลายไหล แล้วมันก็หมุนๆอยู่อย่างนั้น จนบางครั้งอยากร้องไห้ บางทีเอาผ้ามาเช็ด เพราะไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ ยิ่งเอาผ้าเช็ดก็ยิ่งไปกันใหญ่ กลับเป็นหนักขึ้น มันเป็นสภาวะอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ

          สภาวะอย่างนี้ เราปฏิบัติครั้งแรกนี่มันทนทุกข์ทรมาน แต่เมื่อสภาวะมันผ่านไปๆ ถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว การปฏิบัติมันจะมีความรู้สึกสบายๆ เพลิดเพลิน กำหนดได้ง่าย ถ้าสภาวะนี้ไม่เกิดเราก็ไม่ได้สมาธิ ถ้าสมาธิเกิดขึ้นมา มันหมุนขึ้นๆ กำหนดไปๆ มันนิ่ง เมื่อมันนิ่งแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราเกิดเป็นสมาธิ

          อาการอย่างนี้เวลามันเกิดขึ้น อาการพองยุบนั้น บางทีมันมาพองยุบอยู่ด้านหลัง สภาวะอย่างนี้มันเกิดชัดแต่ละท่าน เมื่อเกิดจากญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ลักษณะนี้ มันยืนพื้นอย่างนี้ แต่อะไรที่เป็นปลีกย่อย มันก็มีตามญาณ แต่ตัวนี้มันเป็นตัวยืนพื้น พื้นฐานของความเกิดดับ

          หลวงพ่อเองก็เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ปฏิบัติเมื่อก่อนต้องเอาเทปมาฟังจึงเริ่มเข้าใจ มันเป็นสภาวะเริ่มตั้งแต่ญาณที่ ๔ ถึงสังขารุเปกขาญาณ ส่วนญาณที่ ๔ – ๕ ก็ยังไม่เป็นไร พอมาถึงญาณที่ ๖ เริ่มหนักแล้วทีนี้ พอถึงอาทีนวญาณ และ นิพพิทาญาณ ก็หนักเข้าไปๆ เมื่อมาถึง มุญจิตุกัมยตาญาณ เหมือนเจออุปสรรค ไม่อยากปฏิบัติต่อไป อยากเลิกอย่างเดียว

          แต่เมื่อปฏิบัติไปถึง ปฏิสังขาญาณ จิตใจมันก็เข้มแข็ง มันจะเป็นอะไรก็ยอมตาย ไม่ว่ามันจะเป็นอย่างไรก็จะไม่ยอมหยุดการปฏิบัติ จิตใจก็มั่นคงหนักแน่นยอมตาย พอดีมาถึงสังขารุเปกขาญาณ ที่มันทนทุกข์ทรมานมามาก มันนุ่มมันนวล สบายๆ อันนี้แหละดี

          ถาม หลวงพ่อครับ ถ้าบุคคลไม่ได้ผ่านปฐมมรรคแล้ว ถ้าอธิษฐานการเกิดดับอีก จะสามารถเห็นการเกิดดับได้ไหมครับ

          ตอบ ถ้าไม่ผ่านนะ โอ เป็นไปไม่ได้

          ถาม แล้วการเกิดดับ ถ้าสมมุติว่าอธิษฐานการเกิดดับ การเกิดดับจะเกิดมากน้อยขนาดไหนครับ

          ตอบ แล้วแต่ บางทีเรานั่งอยู่นี่มันเกิดได้สัก ๑๐ ครั้ง หรือ ๑๕ ครั้งก็ได้ ถ้ามันถี่ คือมันละเอียด คือสภาวะมันปรากฏชัด สมมุติว่า พองหนอ ยุบหนอ มันมีลักษณะนี้แล้วมีอาการเกิดดับ ที่ให้อธิษฐานนั้น เรานั่งพองหนอยุบหนออยู่ มันไปแล้ว จะตั้งใจดีๆนี่ไปแล้ว มันดับพรึบๆไปเลย อย่างบางท่านก็ตั้ง ๑๕ – ๑๖ ครั้งนะ อันนี้แหละถือว่าผ่านแล้ว ถ้าเราไม่ผ่าน ลักษณะอย่างนี้ไม่มี

          ถาม แล้วถ้าเราอธิษฐานทุกครั้ง มันจะเกิดทุกครั้งหรือเปล่าครับหลวงพ่อ

          ตอบ อันนี้แล้วแต่สมาธิ ตัวที่จะพาให้เกิดคือสมาธิ ถ้าสมาธิของเรามันพร้อม มันก็เกิด ถ้าสมาธิไม่พร้อม คือสมาธิมันอ่อน มันก็ไม่เกิด เวลาเราทวนญาณก็เหมือนกัน เพราะว่าเราปฏิบัติมาแล้ว สมาธิของเรามันเต็ม มันก็จะปรากฏ แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติมา อย่างน้อยที่สุด ๗ วัน ยังไม่เกิดนะ ยังไม่เห็นอาการ ยังไม่ได้เกิด

          ถ้ามันผ่านพ้นประมาณสัก ๑๕ วัน เวลาเราทวนญาณเข้าไปมันก็อาจปรากฏ คือว่ามันเร็ว เรียกว่าปฐมมรรคนี่มันเร็ว มันผ่านไว ผ่านไปเร็ว บางทีเวลาเราไปทวนญาณนี่ มันก็ไม่ค่อยชัด คือว่าสมาธิของเราไม่พอ มันยังไม่เต็มอัตราส่วน แต่ถ้าสมาธิพอ เหมือนกับที่เราท่านทั้งหลายทวนญาณกันอยู่นี่ มันก็ดูกันสบายๆ เราก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะว่าสมาธินี้มันเป็นพื้นฐานที่จะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

          ถาม อยากจะรู้ว่า ถ้าเราจะเจริญวิปัสสนานี้ จำเป็นจะต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกถึงระยะที่ ๖ ตลอดเวลาหรือเปล่า

          ตอบ ไม่ต้องหรอก อยู่ที่ว่าสติของเรามันดี ที่ผ่านๆมานี่ หลวงพ่อกำหนด พองหนอ ยุบหนอ  นั่งหนอ ถูกหนอ (ระยะที่ ๓ ที่ ๔) ส่วนมากหลวงพ่อทำไม่ค่อยได้ (ได้แต่)พองหนอ ยุบหนอ รู้หนอ ส่วนมากหลวงพ่อทำได้เพียงระยะ ๓ นี้เท่านั้นแหละ ๖ ระยะนั้น มันก็ทำได้อยู่ แต่มันทำได้พักหนึ่งมันก็เลิก คือมันก็หยุดทำ มันก็เหลือแต่ พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอ ส่วนมากหลวงพ่อเหลือแต่ พองหนอ ยุบหนอ

          แต่ว่าข้อสำคัญคือ สติของเราดีแค่ไหน ถ้าสติดีมันก็ใช้ได้ หลวงพ่อพูดเตือนอยู่ตลอดเวลาว่า อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป [3] เพราะความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นสายกลาง ความเป็นกลางของเรามันอยู่ตรงไหน เรียกว่า ในพองหนอยุบหนอ ๖ ระยะนี่ ชวนะของเรามันก็ไม่ทัน มันไม่พอ มันก็แล้วแต่ความพอดีของเรา บางทีมันยาวไป มันเหนือความพอดีของเรา

          หลวงพ่อใช้เพียงแค่ พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอๆ เพียงเท่านี้ หรือบางที่มันหนักเข้าๆ สภาวะมันเร็วขึ้น มีแต่พอง มีแต่ยุบ พอมันเร็วถึงที่กำหนดไม่ไหว ได้แต่ รู้หนอๆ เข้าใจไหม ไม่ใช่ว่ากางแบบออกไปเลย นั่นมันเป็นหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนให้พวกเรา

          แต่ว่าพวกเราทั้งหลายต้องใช้คำว่า อาสวักขยญาณ ปัญญารู้ทัน รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป ทำอย่างไรมันจึงจะหมดจะสิ้นไป นี้อยู่ที่ความฉลาดของเรา บางทีเราว่า พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ แล้วใจจะขาดตาย เราต้องฉลาดในอุบาย ในการกำหนด บางทีก็ สัมมาอะระหังๆ มันก็อยู่ที่ความพอดีของเรา บางทีก็ไม่เลย ไม่พองหนอยุบหนอเลย เกิดดับๆ อยู่อย่างนั้น อย่างนี้ก็ไปได้

          สรุปได้ว่า ถ้าเรารู้หลักการ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ทำตามจังหวะต่างๆ ตามวิธีการของการบริกรรมทุกสิ่งทุกอย่าง ตามหลักวิชาการหมดทุกอย่างก็ยังได้ แต่ต้องมีสตินะ บางทีหลวงพ่อทดลองให้เขานั่งอยู่ ให้เพ่งแต่ดิน เพ่งอยู่นั่น เพ่งอยู่ตลอดเวลา มันก็ดับได้

          บางครั้งภาวนาว่า อยากตายหนอๆ แต่เราไม่อยากตายจริงนะ เรามีสติสัมปชัญญะ มันก็ดับได้ อันนี้เรียกว่า มันอยู่ที่สติของเรา อาจารย์บางท่านกำหนด ไหวนิ่งๆ หรืออวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งมันเคลื่อนไหว ส่วนมากเขาใช้มือบริกรรม ไหวนิ่งๆ มันก็ไปได้

          เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติที่เห็นแล้วจะไม่กล่าวว่า สำนักนั้นไม่ดีๆ สำนักนั้นดี ไม่ใช่ มันยังไม่ถูก หมายความว่า จุดหมายปลายทางของเราอยู่โน้น อยู่ที่ดับกิเลสตัณหา ดับทุกข์ มันอยู่โน้น เราจะทำอะไร เดินได้ด้วยวิธีไหน มันก็ไปถึงจุดนั้น เรียกว่า ผ่าน เดินไปมันก็ไปๆ ตามทางไป มันผ่านอย่างนั้น มันก็ถึงจุดหมายปลายทางเหมือนกัน

          ก็เหมือนที่หลวงพ่อพาโยมมาปฏิบัติ บางทีมันได้ ๒๔ ชั่วโมงแล้ว สอบอารมณ์ดู โอ มันผ่านไปไม่ได้ มันได้แต่ฌาน เมื่อมันมีแต่ฌานแล้ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เวลาก่อนนั่งสมาธิไม่ต้องอธิษฐานนะ ไม่ต้องว่า ขอให้สมาธิของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป เท่านั้นนาที เท่านั้นชั่วโมง ไม่ต้องว่านะ ให้เอาอย่างนี้เลย คือต้องสังเกตว่ามันจะเข้าสมาธิไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ ให้สังเกต ผู้ที่ได้ฌานอยู่แล้วนี้ เวลาจะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมันง่ายๆ แว้บเดียว

          เพราะอะไร? เพราะว่า สมาธิของเรามันเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว ในขณะที่ผ่านๆมานั้น เราก็มีพระไตรลักษณ์อยู่แล้ว อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรามีอยู่แล้ว มันมีอยู่ แต่ว่าเราเพลินในฌาน มีการเพลินไปๆ สนุกสนานไปเรื่อยๆ แต่ทีนี้เรามาตั้งใจใหม่ว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เวลาจะเข้าสมาธิหรือจะเข้าฌานนั้น ไม่ต้องอธิษฐานนะ พยายามจำสภาวะให้ได้ว่า เวลาเข้าสมาธิ เข้าฌาน มันจะเข้าสมาธิหรือเข้าฌานไปตรงจุดไหน ตอนไหน เราจะจำได้ไหม ถ้ามันจำได้ ทำถูก ก็ถือว่าใช้ได้

          หลวงพ่อท้าเลยว่า ถ้ามัคคจิตผลจิตไม่เกิด ต่อให้เทวดาพูด มันก็ไม่ถูก เพราะว่าถ้ามัคคจิตผลจิตไม่เกิด มันไม่มีโอกาสที่จะจำได้เลย

          เพราะอะไร? เพราะสติยังไม่สมบูรณ์มันก็จำไม่ได้ แต่ถ้าว่าสติของเราสมบูรณ์ อินทรีย์ ๕ มันสมบูรณ์ มันก็จำได้ เพราะมันเป็นมัคคสามัคคี มันรวมกันเลย เมื่อสภาวะทั้งปวง (คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗) มีสัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ มารวมกัน พอเกิดมัคควิถี มันก็จำได้ทันที

          หลวงพ่อเคยบอกว่า การดับนั้นมี ๕ ประการ คือ

          ๑. ดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ จิตและเจตสิกของเรามันสงบมาก ดิ่งเข้าไปๆ ดับพั้บไป แต่เราจำไม่ได้ นี้เรียกว่าดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ

          ๒. ดับด้วยอำนาจของปีติ เดินอยู่ นั่งอยู่ เรากำหนดไปๆๆ ปีติบางอย่างมันเกิดขึ้น ก็สงบไป บางอย่างก็ผงะไป อันนี้มันดับพร้อมกับปีติ

          ๓. ดับด้วยอำนาจของสมาธิ เวลาเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ เราทำได้สบายๆ กำหนดได้สบายๆ ดับพรึ้บไปเลย แต่พระไตรลักษณ์ไม่มี ไม่ปรากฏ

          ๔. ดับด้วยอำนาจของอุเบกขา บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่นั้น เรานั่งไปๆ จิตใจมันเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ เพลินไปๆ สงบไปๆ กำลังเพลินอยู่นั่นแหละ สงบลงไป อันนี้คือดับด้วยอุเบกขา

          ๕. ดับด้วยอำนาจถีนมิทธะ เวลากำหนดพองหนอยุบหนอ ก็ตาซึมๆอยู่ตลอดเวลา นั่งไปๆ มันง่วง นั่งไปๆ สงบลงไป แล้วก็ตาใสขึ้นมา ผลสุดท้ายเลยไม่อยากนอน อันนี้มันดับด้วยอำนาจของถีนมิทธะ

          ดังนั้น จึงให้ตัดสินใจเอาเองว่า เออ บัดนี้ความโกรธมันยังเหลืออีกกี่เปอร์เซ็นต์ ความอยากได้ยังอีกกี่เปอร์เซ็นต์ ความโง่ คือไม่รู้จักพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นี่ยังอีกกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราที่มาปฏิบัติธรรมถึงปานนี้ รับรองว่าอย่างน้อยๆนี่ ๖ ชาติ ๗ ชาติ ไม่ตกนรก

          ถาม เวลาที่เราอธิษฐานทวนญาณ สภาวะจะเกิดทุกอย่างเลยหรือเปล่าครับ

          ตอบ ถ้าเราอธิษฐานอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะตอบสภาวะอย่างนั้นขึ้นมา มันอาจจะคล้ายคลึงกัน คล้ายๆกัน ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าเราอธิษฐานแล้วไม่มีอะไรเกิดเลย ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าเราทวนเข้าไปๆ เออ อันนั้นมันเกิดอย่างนั้นเกิดอย่างนี้ นี่ก็ใช้ได้

          บางทีมันปรู๊ด ไปถึงญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ มันจะแก่กล้าถึงที่แล้ว มันผ่านวูบ แวบเดียวเท่านั้นนะ บางที ๕ นาที มันครบวงจรแล้ว บางทีเรายังรู้อยู่ๆ มันก็ค่อยไปๆ บางทีรู้สึกตั้งแต่ญาณที่ ๔ เหลือจากนั้นมันไม่รู้เลย โน้น ไปรู้ญาณที่ ๘ ญาณที่ ๙ ญาณที่ ๑๐ มันไปรู้โน้น มันเร็ว ถ้ามันเกิดก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

          ถาม ถ้าเราไม่เคยสร้างบารมีมาก่อน ต้องใช้เวลาทำความเพียรนานสักเท่าไหร่ครับ

          ตอบ ตามหลักฐานที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน [4] ๔ ว่า ๗ ปี ผู้ปฏิบัติธรรมที่บารมีมันน้อย ต้องปฏิบัติไปโน้น ๗ ปี แต่ถ้าบารมีเราไม่มีเลย มันก็ไม่ได้บรรลุ

          หรือว่าท่านที่ปรารถนาพุทธภูมิ เมื่อเวลาเจริญกัมมัฏฐานไป จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ก็จบลงแค่นี้ เจริญกัมมัฏฐานอยู่จนวันตายมันก็อยู่แค่นี้ แม้ชาติหน้ามาปฏิบัติอีก มันก็เริ่มตั้งแต่ญาณ ๔ ไปถึงญาณที่ ๑๑ มันก็ยังไม่บรรลุ เพราะอะไร? เพราะว่าเราปรารถนาพุทธภูมิ ต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเสียก่อนมันจึงจะได้บรรลุ

          ถาม สำหรับผู้ที่ไม่มีบารมีทางสมาธิทางสมาบัติ ต้องใช้ความเพียรในการปฏิบัติอยู่นานแค่ไหนครับ

          ตอบ ถ้าไม่สร้างบารมีมา กะคือจั่งคนพายติบข้าวเปล่า (เหมือนกับคนสะพายกระติบข้าวเปล่า) ลูกศิษย์บางรูปนะ ปฏิบัติอยู่ บอกว่าชาตินี้บ่อเอาดอก ชาติหน้าชาติใดแสดงฤทธิ์ได้เก่งค่อยเอา

          ถ้าเราได้สร้างสมอบรมบารมีมาทางสมถะมาก่อน ถึงอย่างไรๆมันก็เกิด ส่วนมากเวลาปฏิบัติ มันพั้บ เอาละ เกิดแล้ว นี่มันเกิดแล้ว แต่ถ้าเราไม่เคยสร้างสมอบรมบารมีมา ฌานมันก็ไม่เกิด เป็นประเภทสุกขวิปัสสกะ บรรลุโดยแห้งแล้ง มันก็มีเท่านั้นแหละ

          ถาม คนที่เข้าสมาธิ(ฌาน)ได้นานกว่าเพื่อน เช่น ๓๐ นาทีก็ดี ๑ ชั่วโมงก็ดี หรือ ๒๔ ชั่วโมงก็ดี ผลจะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนครับ เกี่ยวกับการเกิดอภิญญา

          ตอบ เราก็มีความสุขหลายกว่าหมู่ (มีความสุขกว่าเพื่อน) สบายกว่าหมู่ เวลานั่งก็ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เกร็ง นั่งไปมีความสุขสบายๆ เพราะว่าฌานมันมีกำลังภายในอยู่

          ส่วนเรื่องอภิญญาจิต หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้การเกิดการตายของคนอื่นบุคคลอื่น สำหรับพวกเรียนอภิญญาจิต เมื่อเราไม่เคยสร้างสมบารมีมาเลย ไม่เคยอธิษฐานในเรื่องอภิญญา วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ เราไม่เคยอธิษฐานมาก่อนเลย บอกให้เกิดมันก็ไม่เกิด เราไม่มีมูล ไม่มีมูลเก่า เห็นไหม คนบางคนพอนั่งสมาธิไปๆ ก็เห็นผีแล้ว

          หลวงพ่อว่า เห็นพวกเผิ่นนั่งเห็นผี อยากให้มาปฏิบัติ ทำไมถึงอยากให้มาปฏิบัติ เพราะว่าเราจะได้อาศัยการทำงาน ช่วยกันทำงาน เพราะว่าพวกที่เคย บ้านเราว่า นั่งธรรม ถ้ามันนั่งได้จริงนี่ เวลามาปฏิบัติกัมมัฏฐาน โอย  แจ้งจ่างป่างเลย นั่งหมดวัน ยุงตัวเดียวก็ไม่กัด

          ถาม ขอโอกาสถามหลวงพ่อถึงวิธีแก้ความกำหนัดซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปฏิบัติพระกัมมัฏฐานว่า ควรทำอย่างไร

          ตอบ เอาอย่างนี้ สำหรับราคะกับพระกัมมัฏฐาน ถ้าพิจารณาพระกัมมัฏฐานแล้วผ่านไปได้ ถ้าเราตั้งใจ มันก็ผ่อนลดลงไปได้ แต่ถ้าคิดว่าจะตัดทิ้ง มันก็ยังไม่หมด ถ้าเราไปตัดอวัยวะเพศทิ้งมันก็ยังไม่หมด เพราะอะไร เพราะเชื้อมันยังมีอยู่

          เพราะฉะนั้น วิธีของเรา หลวงพ่อก็ให้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน เอาซากศพมาเป็นอารมณ์บ้าง เอาร่างกายมาเป็นอารมณ์บ้าง มันก็จะผ่อนลงไปๆ หรือว่าเราจะหนีเข้าสมาธิไป มันก็บรรลุได้ หากว่าเรารู้สึกตัวขึ้นมาแล้วมันยังไม่เกิด แต่เมื่อเราประสบกับอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันก็เกิดขึ้นอีก

          แต่ถ้าเราตั้งจิตตั้งใจ ตั้งสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา อารมณ์เหล่านั้นมันก็รบกวนเราไม่ได้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นไม่ได้ ก็คือเราไม่ได้ดำริ เมื่อไม่ดำริ ความกำหนัดก็ไม่เกิด แต่ถ้าเราดำริมันก็เกิดขึ้นทันที โอ้ คืองามแท้ เออคนนั้นสวย คนนี้สวย ตาก็สวย แก้มก็สวย อะไรๆก็สวย เพียงแค่นึกว่าคนนั้นสวยนา มันก็มีอาการขึ้นมา ถ้าเราไม่ดำริ คือไม่ปลุกมันก็ไม่เกิดขึ้น เพราะว่าเท่าที่สังเกต ที่สำคัญๆ ลักษณะเช่นนี้มันจะเกิดตอนเช้า ตี ๓ ตี ๔ มันจะเกิดขึ้นมาทันที หรือตอนกลางคืนดึกๆ มันจะแสดงปฏิกิริยาขึ้นมา

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 76.0.3809.100 Chrome 76.0.3809.100


ดูรายละเอียด
« ตอบ #107 เมื่อ: 25 สิงหาคม 2562 14:50:32 »



ถาม-ตอบ ปัญหากัมมัฏฐาน (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


                   เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเรา พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วให้รีบลุกขึ้นจากที่นอนทันที แล้วไปอาบน้ำชำระร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า แล้วก็ไปทำงานทำการ นี่เราต้องแก้มัน

          ถาม ทำไมอุปกิเลส ๑๐ ถึงเกิดได้ครับ

          ตอบ อันนี้หลวงพ่อไม่เฉลย ท่านเรียนจนเป็นมหาเปรียญแล้ว มหาก็จบแล้ว นักธรรมเอกก็จบ หลวงพ่อไม่เฉลยนะ อุปกิเลสอะไรๆนั้น สมัยปฏิบัติอยู่ปีก่อนโน้น บางองค์อุปกิเลสแกล้วกล้าที่สุด ตกลงเอาเอง ว่า(ตน)สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อก่อนบอกว่า ผมสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ครูบาอาจารย์รูปใดๆจะมาเทศน์มาบอกให้ก็ไม่ยอมฟัง หลวงพ่อโขกเอา เออ มันไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์นะ มันเป็นพระจับหัน อาจารย์พระครูของท่าน จะไปเทศน์อย่างนั้นเทศน์อย่างนี้ก็ไม่ยอมฟัง ยังว่า ผมสำเร็จอรหันต์แล้ว

          ถาม ถ้าเคยปฏิบัติแล้วว่างเว้นไปนาน หลังจากปฏิบัติเวลาผ่านไป ๗ ปี ญาณยังคงรวบรวมอยู่ไหมครับ

          ตอบ ตลอดเวลา เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงของรูปนามอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ถึงเราไม่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมันก็เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าเราไม่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราไม่กำหนด มันก็ไม่รู้ แต่ถ้าเรามาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มันจึงรู้ รู้ว่ามันอย่างนี้ๆอยู่ตลอดเวลา

          ถาม กราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อ การอธิษฐานให้จิตแน่นิ่งไป ในเวลาที่แน่นิ่งตลอด ๒ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง บางทีนั่งไป ๙ ชั่วโมงก็มี ๑๒ ชั่วโมงก็มี ๕ – ๖ ชั่วโมงก็มี แต่มันยังไม่ดับเลย ถือว่าใช้ได้ไหมครับ

          ตอบ ใช้ได้ บางทีสมาธิของเราดี เพียงแค่ปฐมฌานอย่างเดียวมันก็อยู่ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงเหมือนกัน ทุติยฌานก็อยู่ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงคือกัน ตติยฌานก็อยู่ได้ ๒๔ ชั่วโมง

          แต่มีข้อสำคัญว่า ความเพียรของเรา สติของเรา สมาธิของเรา มันพอไหม ถ้าพอก็ใช้ได้ บางคนนั่งสมาธิได้แต่ฌานที่ ๑ อยู่นั่นแหละ หมดพรรษาจึงข้ามได้ก็มี แต่ถ้ามันมีแล้ว หน้าที่ของเราคือพยายามทำให้สมาธิมันดีขึ้นๆ เพิ่มขึ้นๆ มันก็จะขยับขึ้นไปฌานที่ ๒ ที่ ๓ ไป

          ถาม เวลาเรานั่งไปครับ มันขาดความรู้สึกไป แล้วรู้สึกตัวขึ้นมาอีกที เวลามันผ่านนานไปแล้ว จำไม่ได้ว่ามันเป็นตอนไหน มันดับหรือเปล่า นี่เป็นการดับไหม

          ตอบ จิตมันเข้าสมาธิไป ทีนี้มันจะเข้าเร็วหรือช้า มันก็แล้วแต่สมาธิของเรา บางทีก็โน้น ขาดความรู้สึกไปเป็น ๓๐ นาทีก็มี บางท่านก็ ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาที ก็แล้วแต่ บางท่านก็ดับไปโน้น ๑ ชั่วโมง รู้สึกตัวขึ้นมา โอ มัน ๑ ชั่วโมงแล้ว มันเป็นสมาธิ ถ้าการปฏิบัติเคยผ่านปฐมมรรคมา มันก็เป็นผลสมาบัติ

          ถาม กระผมมีความไม่สบายใจ (ที่ได้เคยรู้สึกหรือคิดในแง่ไม่ดีต่อครูบาอาจารย์) กราบขออภัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ และขออภัยเพื่อนนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายด้วยครับผม

          ตอบ เท่านั้นหรือ มีแต่ขออภัยๆ ถ้าในเรื่องในสิ่งที่มันผ่านไปแล้ว ไม่เป็นไรดอก ครูบาอาจารย์ให้อภัยอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะให้อภัยครูบาอาจารย์ไหม

          ถ้าครูบาอาจารย์ให้อภัย เราก็ต้องให้อภัยท่านเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์จึงจะใช้ได้ ส่วนมากเวลามาประพฤติปฏิบัติ ก็จ้องจับผิดครูบาอาจารย์ นี่เบอร์ ๑ เลย ถ้าจับผิดครูบาอาจารย์ เราปฏิบัติผ่านไปไม่ได้ เพราะจิตใจไม่ตรงกัน มันใกล้ครูบาอาจารย์อยู่ตลอดเวลา จิตใจไม่ตรงกัน ไปไม่ได้ ถ้าจิตใจมันตรงกัน มันก็ไปตามวิถีไปเรื่อยๆ

          ลูกศิษย์ลูกหามาปฏิบัติหลายๆท่าน เวลาปฏิบัติหลวงพ่อทักเอาเรื่อยว่า โอย ทำจิตใหม่ ให้ทำจิตทำใจใหม่หน่อยเถอะ อย่ามีแต่หมั่นไส้หลวงพ่อ หมั่นไส้ครูบาอาจารย์ตลอดเวลา มันไปไม่ได้หรอก

          เขาเลยสะดุ้งขึ้นมาว่า เอ๊ะ หลวงพ่อรู้เรานี่ มันลักษณะอย่างนี้ ถ้าจับผิดครูบาอาจารย์ ส่วนมากมันไปไม่ได้ เพราะจิตใจมันไม่ตรงกัน มันค้านกันอยู่ตลอดเวลา

          หลวงปู่ที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ถ้าภาษาบ้านเราว่า ซอมอารมณ์ มีแต่นั่งเบิ่ง นั่งเบิ่ง นั่งไปนั่งมา เดี๋ยวภาวนา พองหนอ ยุบหนอๆ เอ้า นั่งไปนั่งมา เดี๋ยว(เปลี่ยน)ภาวนา สัมมาอรหังๆ  นั่งไปนั่งมาก็ว่า ไหวนิ่งๆ

          หลวงพ่อเลยเตือนว่า หลวงปู่ อย่าภาวนาหลายคำหลาย(หลายอย่าง) เดี๋ยวก็จับนั่นใส่นี่ เดี๋ยวจับนี่ใส่นั่น มันไปไม่ได้ หลวงปู่ค่อยได้สติ แล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติต่อ

          ถาม เมื่อช่วงปฏิบัติในฤดูหนาวปีที่แล้ว ที่นาห้วยแดง เจอเหตุการณ์ว่า เด็กนักเรียนที่เข้ามาประพฤติปฏิบัตินั้น สามารถเข้าสมาธิได้ แต่ว่าอาการของสมาธินั้น มีอาการแสดงลักษณะอาการต่างๆ เด็กบางคนเข้าใจว่าตัวเองเป็นเสือ บางคนเข้าใจว่าเป็นกบ บางคนเข้าใจว่าเป็นวัว แล้วที่เข้าใจว่าเป็นวัวกระทิง ลุกขึ้นชกครูบาอาจารย์ ทั้งที่ยังหลับตาอยู่ ไม่ทราบว่า อาการเหล่านี้เกิดจากเหตุอะไรครับ

          ตอบ มันมีเหตุมีปัจจัย อุปาทานจิตมันเกิดขึ้น ถ้าจะพูดว่าเป็นกรรมที่เขาสร้างไว้อย่างนั้น เขาสร้างไว้อย่างนี้ มันก็นานจบ(ไม่จบง่ายๆ) ถ้าจะว่าเป็นไปตามกรรมๆ มันนานจบ เพราะเรื่องกรรมนี่มันเป็นอจินไตย ถึงเราจะว่าอย่างไร คนเขาก็ไม่เชื่อ แต่ถ้าเราพูดว่า อุปาทานจิต มันก็หมดเรื่องแค่นี้

          เมื่อก่อน เวลาปฏิบัติ หลวงพ่อปล่อยเลย อยู่ในโบสถ์นั่น ปิดโบสถ์ไว้เลย บางทีมันก็ร้องเป็นหมู อู๊ดๆ บางทีก็เป็นเสือ มันร้องเป็นเสียงเสือเลย บางทีก็เป็นช้าง บางทีก็เป็นวัว ปีที่แล้วทั้งเตะทั้งต่อยพระอาจารย์กรรมทั้งชั่วโมง บางทีขี้เกียจไปยุ่ง หลวงพ่อปล่อยไปเลย ปล่อยไปๆ เวลามันถึงที่มันก็หายเองมัน

          ถาม อาการอย่างนี้จะแก้อย่างไร หรือปล่อยไปเลย

          ตอบ มันไม่ยาก มันสั่นมือ หรือไม่สั่น

          ถาม สั่นครับ สั่นไม่หยุด สาวหมัดใส่เรา จะแก้อย่างไรดี

          ตอบ จับมือเลย จับให้แน่น บอกว่า เอ้า ตั้งสติ หยุด ถ้ามันไม่หยุด ตบแรงๆมันก็หยุด ทำไมมันจะไม่หยุด อย่างพระที่อยู่นาหนองตาลนั้น เริ่มตั้งแต่เช้าเลย ยังไม่ได้ฉันเช้า ทำวัตรเสร็จก็เอาแล้ว มันสั่นๆ จนเพลก็ไม่ได้ฉัน มาทำวัตรตอนค่ำก็ยังไม่หาย

          เขามารายงานหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ มันไม่หาย ถามว่า หมดแล้วหรือ หมดวิชาแล้วหรือ เขาว่า หมดแล้วหลวงพ่อ หลวงพ่อก็เดินไป เดินไปถึงก็ว่า เอ้า ตั้งสติ หยุด! ลืมตาขึ้นมา เท่านั้น ต้องฉลาดแก้อารมณ์

          ถาม สมัยก่อน ตอนอายุยังน้อยๆ ผมนั่งอยู่ ขณะนั้นจิตมันนิ่งแล้วปรากฏภาพนิมิตเป็นรูปภูเขาลอยเข้ามาในตัวของเรา ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ มันเป็นอาการของอะไร

          ตอบ อ้าว ตัวเองก็ปฏิบัติมาแล้วนี่ ไม่จำเป็นที่จะต้องถาม อันนี้มันเป็นสภาวะบุญที่เขาสร้างสมอบรมมาแล้ว ที่นั่งๆกันอยู่นี่ มันจะเป็นอย่างไรๆ มันเป็นที่บุญกรรมที่เขาสร้างสมอบรมมาแล้ว บางทีมันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ๆ คือว่ามันมีอุปนิสัย สิ่งที่เกิดมา แล้วแต่มันจะแสดงอาการ

          อันนี้มันไม่ได้เป็นมรรคเป็นผลอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นอุปนิสัยที่เคยสร้างสมอบรมมา ก็บอกเขาสั้นๆว่า เออ เป็นอุปนิสัยที่เคยสร้างสมอบรมมาตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน อันนี้เป็นอย่างนี้ แต่เราอย่าพูดออกไปว่า ชาติก่อนนั้น เจ้าทำอย่างนั้น ชาติก่อนทำอย่างนี้ ชาติก่อนโน้นเคยเป็นลูกเป็นผัวกัน อย่างนั้นอย่างนี้ เสร็จกันแหละ

          บางทีคนที่มาหาหลวงพ่อนั้นเป็นร้อยๆคน พอมาหาก็ว่า เมื่อภพก่อนชาติก่อน เคยเป็นเมียหลวงพ่อ อย่างนั้นอย่างนี้ หลวงพ่อก็เฉย เมียก็เมีย ผัวก็ผัว แล้วแต่จะว่า หลวงพ่อก็ไม่ได้เฉลย เฉย จะว่าเมียก็เมีย จะว่าผัวก็ผัว ว่าไป  แต่จะมาเฮ็ดสะเอาะสะแอะนำเฮาบ่ได้ แต่ส่วนมาก (พระเรา) พอเขามาพูดอย่างนี้ และเขาก็สวยด้วย พูดถูกจริตด้วย ก็ทึกทัก (เชื่อไปตามที่เขาว่า) มันเลยไปกันใหญ่

          เอาละ  หลวงพ่อขอปวารณาไว้เป็นการส่วนตัว มีอะไรๆที่เกิดขึ้นภายหลัง มีความสงสัยอย่างนั้นสงสัยอย่างนี้ หลวงพ่อขอปวารณา ถามหลวงพ่อได้ตลอดเวลา

          สำหรับวันนี้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา หลวงพ่อขออนุโมทนาสาธุการที่ท่านนักปฏิบัติธรรมและศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ได้มีโอกาสมีเวลาพูดจาปราศรัยกัน แล้วก็อะไรที่ขาดตกบกพร่องไป หลวงพ่อก็ขออภัยท่านทั้งหลาย

          ขอให้ท่านทั้งหลายได้ดำเนินวิถีชีวิตไปด้วยความสดชื่นสมหวัง ขอให้ท่านทั้งหลายได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล จนถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพานด้วยกันจงทุกท่านๆ เทอญ.

------------------------
[1] อ่านรายละเอียดได้ในเรื่อง อายตนะ ๑๒ เล่มที่ ๔

[2] วินย.  มหาวิภงฺโค   ๑/๒๓๒/๑๗๒

[3] คือฉลาดในการปฏิบัติ, รู้จักยักย้ายวิธีการเพื่อประหารกิเลส

[4] สุตฺต  ที.  มหาวคฺโค  ๑๐/๓๐๐/๓๔๕-๖
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 77.0.3865.90 Chrome 77.0.3865.90


ดูรายละเอียด
« ตอบ #108 เมื่อ: 08 ตุลาคม 2562 16:05:50 »



นามรูปปริจเฉทญาณ – ปัจจยปริคคหญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


      วันนี้จะพูดเรื่อง นามรูปปริจเฉทญาณ คือเมื่อเราทั้งหลายตั้งใจเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์

       เมื่อใดสติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นรูปเห็นนาม ว่าอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้วก็สามารถที่จะแยกรูปแยกนามออกจากกันได้

       เช่นเวลาเรากำหนด “ยืนหนอๆๆ” นี้ เราต้องรู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม เมื่อเรากำหนดว่า “ยืนหนอๆ” ยืนเป็นรูป รู้เป็นนาม “อยากเดินหนอๆ” อยากเดินเป็นนาม เดินเป็นรูป “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ขวาย่างซ้ายย่าง เป็นรูป อยากก้าวเท้าขวาอยากก้าวเท้าซ้าย เป็นนาม คือตัวนามนั้นเป็นตัวอยาก “อยากนั่งหนอๆ” อยากนั่ง เป็นนาม นั่ง เป็นรูป “นั่งหนอๆ” นั่งเป็นรูป อยากนั่งเป็นนาม “พองหนอ” พองเป็นรูป รู้เป็นนาม “ยุบหนอ” ยุบเป็นรูป รู้เป็นนาม “ปวดหนอๆ” อาการปวดนั้นเป็นรูป รู้ว่าปวดนั้นเป็นนาม “คิดหนอๆๆ” คิดเป็นรูป คิดหนอเป็นนาม คือใจเป็นผู้อยากคิด

       เวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองกับอาการยุบอันเดียวกันหรือคนละอัน “คนละอัน” อาการพองอาการยุบเป็นรูป รู้ว่าพองว่ายุบนั้นเป็นนาม เวลากำหนด “ได้ยินหนอๆ” เสียงเป็นรูป รู้เป็นนาม เวลาจมูกได้กลิ่น “กลิ่นหนอๆๆ” กลิ่นเป็นรูป รู้เป็นนาม เวลาบริโภคอาหาร “รสหนอๆๆ” รสเป็นรูป รู้เป็นนาม เวลากายสัมผัส ถูกหนอ เย็นหนอ ร้อนหนอ แข็งหนอ อ่อนหนอ อาการที่เกิดขึ้นเป็นรูป รู้เป็นนาม คือรู้ว่ามันเย็น มันอ่อน มันแข็ง มันร้อน มันเย็น ตัวรู้เป็นตัวนาม แต่อาการที่มันแสดงออกมันเป็นรูป

       แล้วก็ในขณะที่กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” กำหนดอยู่นั้นมันแยกกัน เราก็จะรู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม คือในขณะที่เห็นหนอๆ สีที่เราเห็นก็ดี ตาของเราก็ดี เป็นรูป รู้เป็นนาม เวลาหูได้ยินเสียง “ได้ยินหนอๆ” เสียงก็ดี หูก็ดี เป็นรูป ใจที่รู้นั้นเป็นนาม จมูกได้กลิ่น เรากำหนดว่า “กลิ่นหนอๆๆ” กลิ่นเป็นรูป จมูกก็เป็นรูป ใจที่รู้เป็นนาม เวลาเราได้รับรสอาหารว่า “รสหนอๆ” รสอาหารก็เป็นรูป ลิ้นก็เป็นรูป ใจที่รู้เป็นนาม เวลากายถูกต้องอาการเย็นร้อนอ่อนแข็ง เรากำหนดว่า “อ่อนหนอ” “แข็งหนอ” “ร้อนหนอ” “เย็นหนอ” อาการเย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นรูป ใจที่รู้เป็นนาม

       เมื่อเราทั้งหลายเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีความรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้ เรียกว่า เราได้ลุถึงญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ทีนี้สภาวะที่ ๑ นี้ท่านแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ

       ๑. รูปปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปดังกล่าวมาแล้วข้างต้นได้

       ๒. นามปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาแยกนามออกจากกันได้

       คือหมายความว่าเราแยกออกเป็นชิ้นๆๆ เวลาเรากำหนด “คิดหนอๆ” ตัวคิดนั้นเป็นนาม เวลาทำบุญก็เหมือนกัน ขณะที่เราทำบุญ ใจที่อยากทำบุญนั้นเป็นนาม ในขณะที่เราทำบุญอยู่นั้น วัตถุต่างๆ ที่เราใช้ทำบุญเป็นรูป

       สรุปแล้วท่านทั้งหลาย เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้านั้น มีของสองอย่างเท่านั้น คือ มีรูปกับนามเท่านั้น เมื่อเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานรู้และเข้าใจอย่างนี้ หากว่าเราตายไปในขณะที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ก็ดี หรือออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้วหลายวัน หลายเดือน หลายปีก็ดี จึงจุติคือตายไป เมื่อตายไปในขณะตายนั้นเรามีรูปมีนาม ไม่เผลอจากรูป จากนาม คือ อาการพอง อาการยุบ ที่เรากำหนดอยู่ในขณะนี้ ถ้าเราทำได้อย่างนี้จุติแล้วคือตายแล้วเราก็จะไม่ไปอบายภูมิ คือไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในสุคติตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ หากมาเกิดในมนุษย์ก็จะเกิดในตระกูลสูง เกิดในตระกูลสัมมาทิฏฐิ ยินดีในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี แล้วก็จะได้นั่งใกล้พระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรม จะได้ปฏิบัติธรรม จะได้รู้ธรรม

       นี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระกัมมัฏฐาน เริ่มตั้งแต่เจริญพระกัมมัฏฐาน หากว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นแก่เราก็ถือว่าชีวิตนี้ทั้งชีวิตตั้งแต่วันนี้ถึงวันตาย หากว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นแก่เราก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปสู่สุคติภพได้ เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปอีก ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป เมื่อสติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์แล้ว สมาธิของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ขึ้นตามลำดับๆ คือความรู้จะเพิ่มปริมาณขึ้นไปเรื่อยๆ ความรู้นี้จะเฉียบแหลมคมคายขึ้นไปเรื่อยๆ จนสามารถเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมันก็เห็นขึ้นมา สิ่งใดที่ไม่รู้ก็จะรู้ขึ้นมา สิ่งใดไม่เข้าใจก็จะเข้าใจขึ้นมา

       เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานมาถึงอันดับที่ ๒ นี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม ท่านเรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ คือเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม เช่นเวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการยุบนั้นเป็นรูป สมมติว่าเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นี้ จนอาการพองมันพองขึ้นมา คือมันพองขึ้นมาแล้วเราจึงรู้ทีหลังนี้เรียกว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยของรูปของนาม คือใจที่รู้นั้นเป็นตัวเหตุ อาการพองที่มันเกิดขึ้นมาทีหลังนั้นเป็นตัวผล มันมีเหตุมีผลขึ้นมาแล้ว เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน บางครั้งใจของเรามารอคอยอยู่ก่อนแล้วขาของเราจึงก้าวไป อย่างนี้เรียกว่านามเป็นเหตุ รูปเป็นผล แต่บางครั้งรูปเป็นเหตุนามเป็นผล คือเท้าของเรามารอคอยอยู่ก่อนแล้วเราจึงรู้ทีหลัง นี้เรียกว่ารูปเป็นเหตุนามเป็นผล มันวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา แต่เราผู้ปฏิบัติเราจะไม่รู้ว่าอันนี้เป็นเหตุ อันนี้เป็นผล ไม่รู้ หรือว่าอันนี้มันทันกัน อันนี้มันไม่ทันกัน

       บางครั้งเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นว่ามันกำหนดยาก เช่นนั่งกัมมัฏฐานอยู่มันมีอาการปวดมาก เรากำหนดว่า “ปวดหนอๆๆ” แล้วก็ “อยากพลิกหนอๆ” ไป อาการปวดนั้นแหละเรียกว่าเป็นรูป ใจที่อยากพลิกเป็นนาม สภาวะที่เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติบางครั้งเรากำหนด “พองหนอ” อย่างนี้ อาการพองมันพองขึ้นมาถึงที่แล้วค้างอยู่ไม่ยุบลงไปก็มี บางทีเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” มันยุบลงไปลึกๆ แล้ว ค้างอยู่ไม่ยอมพองขึ้นมาก็มี

       บางครั้งก็มีเวทนามาก เรานั่งกัมมัฏฐานไป มันปวดที่โน้นมันปวดที่นี้อะไรร้อยแปดพันประการ เราผู้ที่มาบวชก็คิดว่า “เอ เรานี้คงไม่มีบุญวาสนาบารมีเสียแล้ว เพราะโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นแก่เราหลายวัน หลายเดือน หลายปีที่ผ่านมามันก็เกิดขึ้นมาอีก เราคงจะทำกัมมัฏฐานต่อไปไม่ได้ เราคงไม่มีบุญวาสนาบารมีเสียแล้ว” อย่างนี้ก็มี

       บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานพองหนอยุบหนออยู่นั้น มันสะดุ้งฟุบไปข้างหน้าบ้าง มันสะดุ้งฟุบไปข้างหลังบ้าง บางทีสะดุ้งฟุบไปข้างซ้าย บางทีก็สะดุ้งฟุบไปข้างขวา หรือบางทีจะเห็นอาการพองอาการยุบเป็น ๒ ระยะ คือ ต้นพอง สุดพอง แล้วก็ต้นยุบ สุดยุบ

       ตกลงท่านทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ชื่อว่าเป็นจุลโสดาบัน จุลละ แปลว่า น้อย โสตะ แปลว่า กระแส อาปันนะ แปลว่า ถึง หมายความว่าเป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติต่อๆ ไปก็จะได้บรรลุเป็นมหาโสดาบัน อุปมาเหมือนกันกับเราไปขุดบ่อน้ำ กำลังเห็นน้ำไหลซึมเข้ามา ถ้าเราพยายามขุดต่อไปก็จะได้น้ำมาก ข้อนี้ฉันใด เมื่อผู้ปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ก็จะได้ความเบาใจได้ที่พึ่งในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท

       ในครั้งพุทธกาลโน้น มีสตรีนางหนึ่งไปฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางก็เอาลูกน้อยไปด้วย ลูกน้อยก็ร้องงอแงกวนแม่อยากกินนม แล้วก็เจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปไม่ได้ กลับไปเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่บ้าน เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรัสว่า “เป็นผู้ได้ที่พึ่งอย่างดีในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่าเป็นจุลโสดาบัน”

       เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ท่านทั้งหลายผู้นั้นถือว่าเป็นจุลโสดาบันแล้วนะ หากว่าเราตายลงขณะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ก็ดี หรือออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้วหลายวัน หลายเดือน หลายปีจึงตายก็ดี แต่ในขณะที่จะตายนั้นเรามีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เช่นว่าเรากำหนดว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือ “พุทโธๆ” “สัมมาอะระหัง” บทใดบทหนึ่งที่เราเคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ถ้าตายในลักษณะดังนี้ ผู้นั้นตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน อย่างน้อย ๒-๓ ชาติ จุติแล้วก็จะไปสู่สุคติภพตามบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้ หากว่ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะมาเกิดในตระกูลสูง เกิดในตระกูลสัมมาทิฏฐิ แล้วก็จะมีความเลื่อมใสในพระศาสนา จะได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรม จะได้ปฏิบัติธรรม จะได้บรรลุธรรม

       อันนี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนมีความรู้ ความเห็น ความเข้าใจมาถึงอันดับนี้ คืออันดับที่ ๒ ถือว่าเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติ ในอันดับที่ ๒ คือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้มันเป็นอันดับๆๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงอันดับสุดท้าย แต่ที่หลวงพ่อเอามาเล่าโดยสังเขปวันนี้เป็นอันดับที่ ๒ ถ้าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถึงอันดับที่ ๒ นี้แล้วก็ถือว่าได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนาตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นจุลโสดาบัน “จุลละ” แปลว่า “น้อย” “โสตะ” แปลว่า “กระแส” “อาปันนะ” แปลว่า “ถึง” หมายความว่าเป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติต่อไปก็จะได้บรรลุเป็นมหาโสดาบันในวันข้างหน้า

       เอาละ ท่านทั้งหลาย สำหรับวันนี้หลวงพ่อจะขอพูดโดยสังเขปกถา เพียง ๒ ประการ หากว่ามีโอกาส มีเวลา จะค่อยนำมาชี้แจงให้เข้าใจอีกครั้งหนึ่ง สำหรับวันนี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้.
               
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 ธันวาคม 2562 09:39:21 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 77.0.3865.120 Chrome 77.0.3865.120


ดูรายละเอียด
« ตอบ #109 เมื่อ: 21 ตุลาคม 2562 10:29:13 »



อุทยัพพยญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


      ๑. บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบของเรามันปรากฏอยู่ข้างนอก มันไปพองไปยุบอยู่ข้างนอก เหมือนกับว่าเป็นคนละกาย บางทีกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบมันไปยุบอยู่ข้างหลังของเรา บางทีไปยุบอยู่ข้างขวา บางทีไปยุบอยู่ข้างซ้าย ในขณะนั้นสติของเรามันวิปริต คล้ายๆ กับเป็นบ้า แต่ไม่ใช่ท่านนะทั้งหลาย เป็นลักษณะของวิปัสสนาญาณต่างหาก คือเห็นอาการพองอาการยุบมันดับลงไป ถ้าผู้มีปัญญาดีก็จะเห็นไปถึง ๖ ระยะ มันยุบลงไปเป็นหยักๆ เป็นห้วงๆๆ ลงไปเหมือนกับหายใจไม่พอ เหมือนกันกับหายใจเป็น ๒ จังหวะ ผู้มีปัญญามากจะเห็นในลักษณะอย่างนี้

       ๒. ในขณะที่เราเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” นี้ เวลาเรายกขึ้นกับเหยียบลงมันปรากฏชัดเจนดี แต่ท่ามกลางไม่ชัด เวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ก็เหมือนกัน ต้นพองสุดพองนี้ปรากฏชัดเจนดี แต่ท่ามกลางไม่ชัด ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น บางทีจะเห็นอาการพองอาการยุบมันขาดๆ หายๆ ไปตามลำดับๆ คือบางทีเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” อย่างนี้ จะเห็นอาการยุบมันขาดไปเรื่อยๆ คือมันไม่สม่ำเสมอ อาการยุบมันไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวก็เห็นเดี๋ยวก็หายไปๆ เวลากำหนด “พองหนอ” เหมือนกัน อาการพองเดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็หายไป เรียกว่าอาการพองอาการยุบมันขาดๆ หายๆ ไปตามลำดับ

       ๓. บางทีมีเวทนามาก เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ ๕ นาที เจ็บที่โน้นปวดที่นี้เหมือนใจจะขาด เมื่อเรากำหนดมันหายเร็ว ไม่เหมือนกับญาณที่ ๓ ญาณที่ ๓ เมื่อกำหนดแล้วไม่ค่อยหาย กำหนดตั้ง ๗-๘ ครั้งจึงหาย บางที ๑ ชั่วโมงนี้ไม่หายเลย

       สรุปแล้วว่าเวลาเรากำหนดเวทนามันหายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย บางทีเราตั้งใจกำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หรือ “ทุกข์หนอๆ” กำลังจะกำหนดเท่านั้นมันหายวับไปเลย เหมือนกับมีตนมีตัว

       ๔. มีนิมิตมากแต่หายเร็ว เช่นว่าเรานั่งกัมมัฏฐานไป เห็นป่าไม้  ภูเขา แม่น้ำลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์อันหุ้มด้วยทองคำอร่ามเรืองก็มี บางทีก็เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไปแล้ว เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเทวโลก เห็นพรหมโลก เห็นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ตายไปแล้วเป็นต้น แต่นิมิตนี้มันหายเร็ว เรากำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย บางทีเรากำลังจะตั้งสติกำหนด “เห็นหนอๆ” เท่านั้นล่ะหายวับไปเลย

       ๕. สว่างมาก มีแสงสว่างมาก คือแสงสว่างนี้ถ้าอยู่ในญาณที่ ๓ มันจะสว่างเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกันกับแสงหิ่งห้อย แสงเทียนไข วับๆ แวบๆ เกิดแล้วหาย แต่ถ้าว่าถึงอุทยัพพยญาณนี้จะสว่างมาก บางทีสว่างทั้งห้อง บางทีสว่างจนเห็นไฟฟ้า เห็นไฟนีออน เห็นตะเกียงเจ้าพายุ เห็นดวงดาว เห็นดวงจันทร์ เห็นดวงอาทิตย์ แต่แสงสว่างนี้มันหายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย

       ๖. ผู้มีสมาธิดีจะดับวูบลงไปบ่อยๆ พองหนอ ยุบหนอ ดับวูบลงไป พองหนอยุบหนอ ดับวูบลงไป เหมือนกันกับหายใจไม่พอ เหมือนกันกับตกหลุมอากาศ เหมือนกันกับเราเหยียบบันไดข้ามขั้น เวลาเราลงบันได เราเหยียบบันไดข้ามขั้นมันวาบลงไป เหมือนกับเราตกบันไดมันวูบไปเลย มันวับไปเลย มันขาดช่วงกัน

       ๗. ผู้ปฏิบัติจะสามารถกำหนดติดต่อกันเป็นสายไม่ขาดระยะเหมือนด้ายสนเข็ม คือเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” มันติดต่อกันไปเลย เหมือนกับเราเย็บผ้า ตะเข็บมันติดต่อกันไม่มีการขาดช่วง อันนี้ก็เหมือนกันในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ เมื่อกำหนดไปๆ อาการเกิดดับมันเกิดขึ้นมา ดับพรึบๆๆ ไป พองหนอยุบหนอดับพรึบลงไปๆๆ เหมือนกันกับเราง่วงนอนมาแต่หลายๆ วัน หลายๆ เดือน ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาบางคนก็เห็นว่า เออ สนุก บางคนก็รำคาญ บางทีคล้ายกับภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน นั่งลงไปวับไปๆๆๆ เหมือนกับเราเย็บผ้าดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

       ๘. อาการเกิดดับกับอารมณ์ที่กำหนดนั้นปรากฏชัด กำหนดได้สะดวกสบายดีและมีจิตใจผ่องแผ้วขึ้นอีกเป็นอันมาก คือ อารมณ์ที่เกิดทางตาก็ดี ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ดี ปรากฏชัด เวลากำหนดก็กำหนดสบายๆๆ แล้วก็จิตใจของผู้ปฏิบัติก็จะผ่องแผ้วขึ้นเป็นอันมาก บางคนเข้าใจว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็เข้าใจว่าตนได้บรรลุแล้ว บางทีเรากำหนด “รู้หนอๆ” ความรู้นี้หายวับไป บางทีเรากำหนด “คู้หนอๆๆ” จะเห็นอาการคู้นั้นหายวับไปทันที เรากำหนดว่า “เหยียดหนอๆๆ” จะเห็นอาการเหยียดนั้นหายวับไปทันทีไม่ติดต่อกัน เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้? เพราะรูปปรมัตถ์ รูปเกิดที่ไหนดับที่นั้น นามเกิดที่ไหนดับที่นั้น เพราะฉะนั้นเวลาเรากำหนดเหยียดแขน เรากำหนดว่า “เหยียดหนอๆๆ” หายวับไป เรากำหนดว่า “ยุบหนอๆๆ” หายวับไป ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่ารูปนามในขั้นปรมัตถ์นี้เกิดที่ไหนดับที่นั้น

       ๙. การปฏิบัติให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเข้าใจว่า ดีชั่วไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือ (๑) ปฏิบัติ (๒) กำหนด เมื่อเราทำได้อย่างนี้การปฏิบัตินั้นจะได้ดีขึ้น

       ๑๐. มีอาการสัปหงกไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง แรงบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่อำนาจสมาธิ ถ้าสมาธิดีก็ปรากฏแรง ถ้าสมาธิไม่ดีก็ปรากฏเบาๆ แล้วแต่อำนาจของสมาธิ อาการที่มันสัปหงกวูบลงไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ข้างซ้ายหรือข้างขวานี้เป็นลักษณะของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือผู้ปฏิบัติพระกรรมฐานเมื่อมาถึงนี้แล้วจะเห็นพระไตรลักษณ์ เริ่มแล้วตอนนี้ คือ พระไตรลักษณ์นั้นจะเห็นครั้งหนึ่ง เห็นอยู่ในญาณที่ ๓ แต่ในญาณที่ ๓ กับญาณที่ ๔ ไม่เหมือนกัน คือ ญาณที่ ๓ อาการพองอาการยุบของเราบางทีมันเร็วขึ้นๆๆๆ คือ อนิจจัง ลักษณะของอนิจจังมันเร็วขึ้นๆๆๆๆ แล้วก็หายไปจางไป นี้อยู่ในญาณที่ ๓ บางทีพองหนอ ยุบหนอ นี้ อาการพองอาการยุบฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆๆๆ แล้วก็หายไป นี้อยู่ในญาณที่ ๓

       บางทีกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆๆ แล้วก็หายไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตาที่ปรากฏอยู่ในญาณที่ ๓ แต่ในญาณที่ ๔ นี้ไม่เป็นอย่างนั้น คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันจะดับวูบลงไปเสียก่อน ที่มันเป็นอย่างนี้เป็นอำนาจของพระไตรลักษณ์ คืออาการที่พองยุบนั้นเร็วขึ้นๆๆ นี้เป็นลักษณะของอนิจจัง บางทีพองยุบฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ คล้ายกับใจจะขาดเป็นลักษณะของทุกขัง ขอย้ำอีกที อาการพองยุบสม่ำเสมอดี แล้วก็แผ่วเบาเข้าๆๆ ความรู้สึกของเราน้อยเข้าไปๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไปนี้เป็นลักษณะของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในอุทยัพพยญาณ

       อุทยัพพยญาณนี้เกิดในลักษณะต่างกัน คือ ผู้ใดในชาติปางก่อนโน้นเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนิจจัง เช่น ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป อาจจะไปข้างหน้า อาจจะไปข้างหลัง อาจจะไปข้างซ้ายข้างขวา อย่างนี้เรียกว่าอนิจจังปรากฏชัด ดังพระบาลีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า สนฺตติยา วิโกปิฏาย อนิจฺจลกฺขณํ ยาถาวาสรสโต อุปฏฺฐาติ เมื่อใดนักปฏิบัติมาเพิกสันสติได้แล้ว อนิจจลักษณะย่อมปรากฏชัดตามความเป็นจริงดังนี้

       ทุกขัง ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้นเคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะเห็นทุกขังชัด เช่นว่าในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะรู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางคนถึงกับกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆ” เหมือนดังโยมชีน้องสาวผู้มีบุญสร้างสมอบรมมาแต่ภพก่อนชาติก่อนได้ปรารถนา เกิดชาติหน้าชาติใดขอให้ได้นั่งกินนอนกิน สมัยนั้นหลวงพ่อไปสอนกัมมัฏฐานอยู่บ้านอีเติ่ง เมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วไม่ยอมปฏิบัติ ก็จะเห็นว่าจะมายุให้ตาย มาทำให้ตาย พอภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไป ใจจะขาด มันแน่นเข้าๆๆ มีแต่จะตายอย่างเดียว ตกลงหลวงพ่อเลยบอกว่า “ตายก็ตาย หลวงพ่อจะนั่งอยู่นี้ละ จะดูอยู่นี้ ว่ามันจะตายจริงหรือ ถ้ามันจะตายจริงละก็สาธุอนุโมทนา กลัวแต่ว่ามันไม่ตายจริงเท่านั้นละ” ก็พากันประพฤติปฏิบัติเจริญพระกัมมัฏฐาน ในสมัยนั้นก็มีโยมน้องสาว ๒ คน คือโยมแม่ชีเขี่ยม และโยมแม่เนียม พากันประพฤติปฏิบัติ ใช้เวลาปฏิบัติไม่ถึง ๗ วัน ก็สามารถทำสมาธิได้ ผลสุดท้ายได้มาบวชอยู่ที่วัด อย่างแม่ชีเขี่ยมก็อยู่ตลอดจนทุกวันนี้ แต่สำหรับแม่เนียมนั้นกลับไป เพราะมีครอบครัวอยู่

       นี่แหละท่านทั้งหลาย เมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ส่วนมากผู้ปฏิบัติกลัวตาย ไม่อยากปฏิบัติ อย่างหลวงปู่พึ่ง บ้านนาแวง เวลาปฏิบัติมา ไม่ยอม กลัวตาย ถ้าปฏิบัติก็ขอให้หลวงพ่อไปนั่งเฝ้าด้วย ผลสุดท้ายก็ไปนั่งเฝ้า นี้แหละท่านทั้งหลายลักษณะอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วจะทำให้มีอาการฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เมื่อมันแน่นขึ้นแล้วแน่นขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างซ้ายบางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวืบลงไปข้างล่างเหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน นี้ทุกขังเกิดขึ้นมาแล้วมีลักษณะดังนี้

       อนัตตา ผู้ใดได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน หรือตั้งแต่โน้นตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้วจะเห็นอนัตตาชัด ลักษณะของอนัตตาเมื่อเกิดขึ้นจะมีลักษณะดังนี้ คือในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ ความรู้สึกของเราก็น้อยเข้าไป เล็กเข้าไปๆ ละเอียดเข้าไปๆ ความรู้สึกของเราอุปมาเหมือนกับเหลือแค่เส้นด้ายเท่านั้น เกือบจะขาดความรู้สึกแต่ยังไม่ขาดความรู้สึก และในขณะมันละเอียดเข้าไปๆๆ น้อยเข้าไปๆๆ ในขณะที่มันน้อยเข้าไปๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวืบลงไปข้างล่าง นี้เรียกว่า อนัตตาปรากฏชัด แต่ผู้ปฏิบัติจะไม่ทราบ ไม่ทราบว่าอันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา ทราบแต่เพียงเท่านี้ คือ เราทราบแต่เพียงว่า อ๋อ อันนี้มันเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป อ๋อ อันนี้มันฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด แน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป เอ๊ะ อันนี้มันสม่ำเสมอดี เมื่อสม่ำเสมอไปตามลำดับๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป รู้แต่เพียงเท่านี้ท่านทั้งหลาย คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้แต่เพียงเท่านี้ เพราะความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภาคปฏิบัติ แต่ถ้าภาคปริยัติไม่รู้อย่างนี้

       เราเรียนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราท่องเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา เป็น ๑๕ วัน เป็น ๑ เดือนก็ยังไม่จบท่านทั้งหลาย แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติแวบเดียวเท่านั้นผ่านไปแล้ว คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ท่านทั้งหลาย เวลาเกิดขึ้นมีเท่านี้ แต่ส่วนมากผู้ปฏิบัติไม่รู้ เพราะครูบาอาจารย์ไม่บอก ไม่บอกว่าอันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา ท่านไม่บอกเลย ปิดเป็นความลับ เพราะเหตุไร เพราะจะเกิดอุปาทานจิต เมื่อเกิดอุปาทานจิตขึ้นแล้วเกรงว่าจะได้ของปลอม คือ จะได้มรรคปลอม ผลปลอม นิพพานปลอม ฌานปลอม อะไรทำนองนี้ เหตุนั้นท่านจึงไม่บอก ถึงอย่างไรก็ตามถึงไม่บอกมันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันยังค่ำนั่นแหละ

       เหมือนกันกับไมโครโฟนที่หลวงพ่อพูดอยู่นี้ จะมีใครรู้ว่าเป็นไมโครโฟน หรือไม่มีผู้รู้ว่าเป็นไมโครโฟนก็ตาม มันก็เป็นไมโครโฟนวันยังค่ำ ข้อนี้ฉันใด เรื่องพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะรู้หรือไม่รู้ มันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันยังค่ำ

       ญาณนี้สำคัญนะท่านทั้งหลาย ถ้าผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ถ้าผู้ใดไม่มีบุญไม่เกิด สมมุติว่าผู้ใดไปฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด หรือว่าเป็นพระต้องอาบัติปาราชิกมาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด หรือผู้ใดทำบุญไว้ในชาติปางก่อนไม่ได้ไตรเหตุ คือ ไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ เพียงแต่ให้สำเร็จซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ไม่ได้ปรารถนานิพพานสมบัติ หรือโลกุตตรสมบัติ สภาวะนี้จะไม่เกิด เรียกว่าเป็นทวิเหตุ ไม่ได้ไตรเหตุ เมื่อใดทำบุญครบไตรเหตุแล้ว พระไตรลักษณ์จึงจะเกิดขึ้น เหตุนั้นพวกเราทั้งหลายเวลาให้ทาน “ทานํ เม ปริสุทฺธํ, นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ, นิพฺพานปจฺจโย โหตุ” “ทานของข้าพเจ้าบริสุทธิ์แล้ว ขอจงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพานเถิด” นี้ถือว่าไตรเหตุ ได้ทั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และโลกุตตรสมบัติ หรือบางทีว่า “สุทินฺนํ วต เม ทานํ, อาสวกฺขยาวหํ โหตุ” เท่านี้ก็เรียกว่าได้ไตรเหตุ ถ้าทำบุญได้ไตรเหตุอย่างนี้ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ความเกิดดับจึงจะเกิดขึ้น ถ้าว่าทำบุญทำทานไม่ได้ไตรเหตุ สภาวะคือพระไตรลักษณ์ดังกล่าวมาแล้วไม่เกิดเป็นเด็ดขาด

       สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ถ้าผู้ใดไม่มีบุญ ไม่เกิด สมมุติว่าพระไปต้องอาบัติปาราชิกมาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด ผู้ใดไปฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้วญาณนี้ก็ไม่เกิด ถ้าผู้ใดทำบุญไว้ไม่ได้ไตรเหตุ คือไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ ญาณนี้ก็ไม่เกิด แต่ถ้าญาณนี้เกิดผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาตินี้ ถ้าไม่ประมาท นี้เป็นอานิสงส์ของญาณนี้ท่านทั้งหลาย เมื่อถึงญาณนี้แล้วผู้นั้นชื่อว่าเป็นมัชฌิมโสดาบัน เวลาจุติจากอัตภาพนี้ไปเรามีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เคยภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือว่า “พุทโธ” “สัมมาอะระหัง” หรืออย่างไรก็ตาม จุติแล้วจะไม่ไปอบายภูมิอย่างน้อย ๗ ชาติ

       หรือหากว่าไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา ก็จะได้เป็นเทพบุตรเทพธิดาที่มีศักดานุภาพมาก คือ จะเป็นเทพบุตรก็เป็นเทพบุตรที่มีศักดานุภาพมาก มีอานุภาพมาก ถ้าเป็นเทพธิดา ก็เป็นเทพธิดาที่มีศักดิ์มาก มีอานุภาพมาก หากว่ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเกิดในตระกูลสูง เกิดในตระกูลสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า เกิดในตระกูลกุฎุมพี เกิดในตระกูลพราหมณ์ เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล เป็นคฤหบดีมหาศาล เกิดในตระกูลเศรษฐี มหาเศรษฐี อภิมหาเศรษฐี ไปเกิดในตระกูลพระราชา มหาราชา หรือพระราชาธิราช

       แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วท่านทั้งหลาย ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีสัมมาทิฏฐิ ไม่เป็นมิจฉาทิฐิ จะเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ จะสร้างสมอบรมแต่คุณงามความดี และจะได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้เฝ้าพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า หรือจะได้ฟังธรรมของพระอริยบุคคล แล้วก็ได้รู้ธรรม แล้วก็บรรลุธรรม เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ ได้พบพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม แล้วก็บรรลุธรรม แล้วก็จะได้มาเกิดในกัปที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

       หากว่าเกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า ไม่พบพระพุทธเจ้า บังเอิญไปเกิดในกัปที่เป็นสุญญกัป คือไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สำเร็จหรือตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นี้เป็นอานิสงส์ของอุทยัพพยญาณ

       อาการดับนี้ไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะเวลานั่งสมาธินะท่านทั้งหลาย ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ตลอดถึงนอนหลับไปมันก็ยังเกิดอยู่นะ เรานอนหลับอยู่ก็เกิดอย่างนี้ หากว่าเกิดในขณะที่นอนหลับนั้น บางทีเราก็เห็น ในลักษณะที่เรียกว่าฝัน เพราะว่าเวลาจิตของเรามันลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์ไปแล้วขึ้นมา ขึ้นมาแล้วก็ลงไปๆ เลยกลายเป็นฝัน เราเห็นความดับในเวลาฝัน นอกจากนี้สภาวะของอุทยัพพยญาณนี้ก็มีมาก

       อันนี้ก็เป็นเพียงสังเขปกถาให้ท่านทั้งหลายไปเปรียบเทียบแล้วก็ไปตัดสินเอาเองว่า เราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราลุถึงอุทยัพพยญาณแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าได้แล้วก็สาธุอนุโมทนา หากว่ายังไม่ได้ไม่ถึงก็พยายามทำต่อไป สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เหลือวิสัย บุญกุศลเราสร้างสมอบรมมาแล้วจึงได้มีโอกาสมาบวชนี้ เมื่อมาบวชแล้วนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้วิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน สภาวะของอุทยัพพยญาณนี้ก็จะเกิด แต่ว่าสภาวะของอุทยัพพยญาณนี้บางทีก็เกิดมาก บางทีก็เกิดน้อย บางทีเกิดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ บางทีก็เกิดเพียงอนิจจัง บางทีก็เกิดเพียงทุกขัง บางทีก็เกิดเพียงอนัตตา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะไม่เกิดพร้อมกันทั้ง ๓ อย่าง แต่มันก็มีอยู่ทั้ง ๓ อย่างนั่นแหละแต่มันจะปรากฏชัดอย่างเดียวเท่านั้น บางทีอนิจจังปรากฏชัดแต่ขณะนั้นทุกขังและอนัตตายังมีอยู่ บางทีทุกขังปรากฏชัดแต่อนิจจังและอนัตตาก็ยังมีอยู่ แต่บางครั้งอนัตตาปรากฏชัด แต่อนิจจัง ทุกขังก็มีอยู่ หากว่าอย่างไหนมีมากแล้วก็ปรากฏชัดเราก็ถือเอาอย่างนั้นเป็นเกณฑ์

       เอาละท่านทั้งหลายวันนี้หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมมะ เรื่อง อุทยัพพยญาณ มาให้ท่านทั้งหลายได้รู้ได้เข้าใจ ได้หมดความสงสัย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาจึงขอยุติ.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 ธันวาคม 2562 09:40:03 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 79.0.3945.88 Chrome 79.0.3945.88


ดูรายละเอียด
« ตอบ #110 เมื่อ: 25 ธันวาคม 2562 09:38:16 »

.


ภังคญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


      สำหรับวันนี้หลวงพ่อก็ขอน้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ภังคญาณ มาบรรยายถวายความรู้ แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชี และญาติโยมทั้งหลาย จนกว่าจะสมควรแก่เวลา

       คำว่า ภังคญาณ คือ ญาณที่เห็นความดับของรูปนาม เช่น เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ ในขณะอาการพองอาการยุบเกิดขึ้นนั้น เราจะเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม ไม่เหมือนอุทยัพพยญาณ อุทยัพพยญาณนั้น เกิดก็เห็น ดับก็เห็น แต่ภังคญาณนี้ เกิดไม่เห็น เห็นแต่เฉพาะดับอย่างเดียว เหมือนกันกับฝนที่ตกมาในท้องฟ้า ตกมาครั้งแรกเรามองเห็นเม็ดฝน การที่มองเห็นเม็ดฝนนี้เหมือนกันกับอุทยัพพยญาณ คือเห็นทั้งเกิด เห็นทั้งดับ คือหมายความว่า หยาดฝนนั้นตกลงมาเราก็เห็น มันถึงพื้นเราก็รู้ แต่สำหรับภังคญาณนี้ไม่เห็นเบื้องต้น เห็นแต่ดับ เม็ดฝนก็เห็นเมื่อเวลามันตกถึงที่แล้ว แต่ว่าครั้งแรกฝนนี้มันเกิดจากไหนเราไม่รู้เลย แต่พอเห็นสายฝนมันหลั่งลงมาเราจึงเห็น ข้อนี้ฉันใด ภังคญาณก็เหมือนกันฉันนั้น

       สภาวะของภังคญาณ

       ๑. เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้สุดพองสุดยุบปรากฏชัดเจนดี แต่เบื้องต้นท่ามกลางไม่ชัด เช่นว่าเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” อาการยุบนี้ปรากฏชัดเจนดี เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” เริ่มยกกับก้าวไปนี้ไม่ชัด แต่เวลาเราเหวี่ยงหรือเหยียบเท้าลงไปนั้นปรากฏชัด บางทีเหมือนกันกับมีอะไรมาค้ำเท้าของเราไว้ เหวี่ยงไม่ลง เหมือนกันกับมีภูติผีปิศาจหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือตัวอะไรมาค้ำเท้าของเราไว้ เหวี่ยงไม่ลง จนเหวี่ยงอย่างแรงหัวคะมำลงไปก็มี หรือบางทีเรากำหนด “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ในขณะที่เราเหวี่ยงเท้าลงไปจะเหยียบ เหวี่ยงเท้าลงไปเหมือนกันกับมีอะไรมาดูดเอาเท้าของเราวูบไปติดแนบกับพื้น เหมือนกับว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออาถรรพ์อย่างใดอย่างหนึ่งมันดูดเอาเท้าของเราไปติดอยู่กับพื้น

       ๒. อารมณ์ที่กำหนดไม่ชัดแจ้ง เช่น เรากำหนด “พองหนอ” อาการพองของเราก็ไม่ชัดแจ้ง กำหนดว่า ”ยุบหนอ” ก็ไม่ชัดแจ้ง เหมือนกันกับหลวงพ่ออธิบายมาเมื่อตะกี้นี้ ซึ่งอุปมาเหมือนกันกับเม็ดฝนนั้น คือ เรามองไม่ชัด หมายความว่ากำหนดอาการพองอาการยุบก็เลือนๆลางๆ พองหนอ คล้ายๆ กับเห็นพองแต่ก็ยังไม่มั่นใจ ยุบหนอ มันไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง คล้ายๆ กับเห็นอาการยุบ แต่คิดอย่างหนึ่งคล้ายๆ กับไม่เห็นอาการยุบ มันไม่ชัดแจ้ง

       ๓. บางทีกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบหายไป “พองหนอ” อาการพองก็ไม่เห็น “ยุบหนอ” อาการยุบก็ไม่เห็น จนผู้ปฏิบัติจะกำหนดว่า “รู้หนอๆ” ผลสุดท้ายอาการ “รู้หนอๆ” นั้นก็หายไป

       ๔. คล้ายกับไม้ได้กำหนดอะไร เราเดินจงกรมก็ดี นั่งกัมมัฏฐานก็ดี “พองหนอ” ”ยุบหนอ” ก็ดี คล้ายๆ กับว่าเราไม่ได้กำหนดอะไร คล้ายๆ กับนั่งอยู่เฉยๆ เหมือนกับว่านั่งอยู่ทื่อๆ ไม่ได้กำหนดอะไรทั้งนั้น บางคนจะพิจารณาเห็นหรือคิดว่า เอ๊ะ เรามานั่งอยู่เฉยๆ เราไม่ได้ภาวนาว่ากระไร ไม่ได้กำหนดว่าอะไร มันจะได้บุญที่ตรงไหน

       ๕. พองยุบกับจิตผู้รู้หายไป เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองยุบมันหายไป เรากำหนดว่า “รู้หนอๆ” ความรู้ก็หายไป

       ๖. พองยุบห่างๆ จางๆ ไม่ชัดเจนดี ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นอาการพองก็ดี อาการยุบก็ดี มันห่างๆ จางๆ ไม่ชัดเจนดี กำหนดไม่ได้ดี

       ๗. ไม่เห็นสันฐานหน้าท้อง มีแต่อาการตึงๆ อยู่ตลอดเวลา กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ไม่เห็นสันฐานหน้าท้อง มีแต่อาการตึงๆอยู่ เหมือนกันกับไม่ได้หายใจ เหมือนกับไม่มีอาการพองอาการยุบในขณะนั้น

       ๘. บางครั้งไม่เห็นพองไม่เห็นยุบ กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองก็ไม่เห็น อาการยุบก็ไม่เห็น เหมือนกับว่าเราไม่ได้หายใจในขณะนั้น บางทีต้องเอามือไปคลำดูไปแตะดูว่า มันมีพองไหมมันมียุบไหม อย่างนี้ก็มี

       ๙. พองยุบหายไปนาน เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบบางคนก็หายไปนาน ๔ วัน ๕ วัน ๖ วัน ๗ วัน ไม่เห็นอาการพองอาการยุบเลย ถ้าลักษณะดังนี้เกิดขึ้นท่านทั้งหลาย เดินจงกรมให้มากๆ จึงมานั่งต่อไป อาการพองอาการยุบจะได้ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น

       ๑๐. กำหนดไม่ได้ดี เรากำหนด “ขวาย่างหนอ” ”ซ้ายย่างหนอ” ไม่ได้ดี “พองหนอ” “ยุบหนอ” “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” ก็ไม่ได้ดี กำหนดเวทนา “เจ็บหนอๆ” “ปวดหนอๆ” หรือ “สุขหนอๆ” หรือ “สบายหนอๆ” ก็ไม่ได้ดี กำหนดว่า “คิดหนอๆ” ก็ไม่ได้ดี เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะล่วงบัญญัติมีแต่อารมณ์ปรมัตถ์ ล่วงอารมณ์บัญญัติไปแล้วตอนนี้ มีแต่ปรมัตถ์

       ๑๑. บางทีวูบๆ ไปตามตัว มันมีอาการวูบวาบไปตามร่างกาย เหมือนกันกับมีภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน หรือเหมือนกันกับผีสิง บางทีมันวูบขึ้นที่เท้าของเรา วูบไปตามตัวของเรา บางทีวูบขึ้นศีรษะ บางทีมันมีอาการวูบวาบตั้งแต่ศีรษะไปตามร่างหายแล้วก็วิ่งไปตามเท้า เหมือนกันกับผีสิงในขณะนั้น

       ๑๒. เมื่อเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” จะมีอาการชาๆ มึนๆ ไปตามร่างกายจนถึงศีรษะ เสร็จแล้วก็คล้ายๆ มีคนเอาร่างแหมาครอบตัวเรา เหมือนกันกับเอาเสื้อนวมมาห่มตัวเรา เหมือนเอาจีวรมาห่มตัวเรา อยากกระดุกกระดิกก็กระดุกกระดิกไม่ได้ อยากเงยก็เงยไม่ได้ อยากก้มก็ก้มไม่ได้ ภาษาบ้านเราว่า เหมือนกับถูกผีอำ เหมือนกันกับภูตผีปิศาจมันมากอดตัวของเรามัดตัวของเรา บางทีนั่งอยู่ถึง ๕ ชั่วโมงก็ยังไม่หาย บางทีต้องนั่งอยู่ตั้ง ๗-๘ ชั่วโมงก็ยังไม่หาย

       สมัยหนึ่งมีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่สถานที่แห่งนี้ ท่านก็บอกว่า “หลวงพ่อ ไม่รู้เป็นอย่างไร ผมปฏิบัติไป นั่งเท่านั้นละ ผีมันมากอดแล้ว ผีมันมาห่มแล้ว กระดุกกระดิกไม่ได้ ทีนี้ก็เห็นว่ามีแม่ชีคนหนึ่ง โน้น จะสว่างแล้ว ลืมตาก็ “พองหนอ” “ยุบหนอ” เหมือนกับผีมันเดินมาวูบๆๆ ผลสุดท้ายก็ทุบหัวเข่าเลย ต้องร้องโวยวายให้คนโน้นคนนี้ช่วย นี้แหละลักษณะอย่างนี้มันเหมือนกันกับผีสิง ท่านทั้งหลาย

       ๑๓. อารมณ์กับจิตหายไปพร้อมกัน ครั้งแรกรูปหายไปก่อน ใจยังรู้อยู่ ครั้งต่อมาอารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่รู้ก็หายไปพร้อมกัน “พองหนอ” “ยุบหนอ” หายไป อาการพองอาการยุบหายไป เรากำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” ความรู้ก็หายไป

       ๑๔. อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือ ความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของรูปนามนั้นมีอยู่ คือ ของอาการพอง อาการยุบยังมีอยู่ อาการพองหนอ ยุบหนอ นี้ยังมีอยู่ แต่ผู้ปฏิบัติไม่สนใจ ไปสนใจเฉพาะความดับไปของรูปนามเท่านั้น

       ๑๕. อารมณ์ภายใน เช่น พองยุบไม่ชัด เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้อาการพองอาการยุบมันไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง บางทีพอเรามองดูกุฏิวิหาร ต้นไม้ ก็ปรากฏสั่นๆ เรามองดูศาลาการเปรียญ โบสถ์ วิหาร ก็ปรากฏสั่นๆ คือเหมือนๆ กับว่าร่างกายของเราผิดปกติ คล้ายๆ กับว่ามีอะไรมาสิงในขณะนั้น เรามองดูกุฏิของเรามันก็สั่นๆ เรามองดูต้นไม้ก็สั่นๆ เรามองดูโบสถ์ ดูศาลา หรืออะไรก็ตาม ปรากฏสั่นๆ อยู่ตลอดเวลา สำหรับตัวของเราก็เหมือนกัน คล้ายๆ กับว่ามันสั่นระรัวๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามันไม่สั่น มันอยู่เฉยๆ แต่ปรากฏเหมือนสั่นๆ

       ๑๖. ดูอะไรๆ คล้ายๆ กับดูสนามหญ้าในฤดูหมอกลง ปรากฏสลัวๆ มัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แม้จะดูท้องฟ้าอากาศ ก็สลัวๆ มัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง บางทีต้องขยี้ตา คิดว่าเราไม่ได้ล้างหน้าไม่ได้ล้างตา ไม่ได้ทำความสะอาด คล้ายๆ ว่าเรามองอะไรไม่เห็น

       ๑๗. พองยุบหายไป พองยุบที่เรากำหนดหายไป บางทีก็หายไปนาน บางทีก็หายไปไม่นาน

       ๑๘. บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบนี้ไม่ปรากฏชัด คล้ายๆ กับว่าเราไม่ได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน บางทีเราตั้งนาฬิกาไว้ ว่าวันนี้จะนั่ง ๓๐ นาทีก็ตั้งนาฬิกาไว้ แต่ไม่ได้ตั้งปลุกนะ ตั้งนาฬิกาไว้แล้วก็นั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ถึงเวลาออกจากสมาธิมาไม่รู้ว่าเราตั้งเข็มนาฬิกาไว้ใช้เวลาเท่าไร เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาแล้วก็ เราจำไม่ได้ว่าเราตั้งนาฬิกาไว้ที่ตรงไหน อาการสภาวะมันชัดเจนแล้ว มันจะเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย เราคิดว่าเออ วันนี้เราจะนั่ง ๔๕ นาที ตั้งนาฬิกาไว้ พอดีรู้สึกตัวขึ้นมาไม่รู้ว่าเราตั้งนาฬิกาไว้ที่ตรงไหน มันเป็นอย่างนี้

       ลักษณะอย่างนี้มันเกิดขึ้นท่านทั้งหลาย บางทีร้องห่มร้องไห้นะ ลักษณะอย่างนี้บางทีก็เป็นอยู่นานตั้ง ๗ วันก็มี พอเรานั่งไป นั่งกำหนด ตั้งนาฬิกาไว้อย่างดี “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งไปรู้สึกตัวขึ้นมาเราคิดทบทวนว่าเรากำหนดอย่างไร ก่อนจะนั่งเรากำหนดอารมณ์กัมมัฏฐานอย่างไร เราตั้งนาฬิกาไว้อย่างไรไม่รู้เลย บางทีเรานั่งไปทางทิศเหนือ รู้สึกตัวขึ้นมาเห็นว่าเรานี้นั่งหันหน้าไปทางทิศใต้ บางทีเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก รู้สึกตัวขึ้นมาคล้ายๆ กับว่าเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คือจำสภาวะไม่ได้

       มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้น ตั้งอาทิตย์กว่าๆ จนแกร้องห่มร้องไห้ มาปฏิบัตินี้ก็ไม่ได้อะไร มีแต่นั่งหลับ กำหนดพระกัมมัฏฐานไม่กี่คำก็หลับไปแล้ว ตื่นมาก็ไม่รู้อะไร เสียอกเสียใจน้อยอกน้อยใจ ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา

       ๑๙. รูปนามที่ปรากฏอยู่นั้นปรากฏเร็ว “พองหนอ” “ยุบหนอ” ก็ปรากฏเร็ว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ปรากฏเร็ว คล้ายๆ กับว่ารูปนามที่เรากำหนดอยู่นั้น มารอคอยจะให้เรากำหนดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อสภาวะอย่างนี้แก่กล้าแล้วท่านทั้งหลาย เดินจงกรมก็ซึมเหมือนกับง่วงนอน เดินไปหลับไปๆๆ เหมือนกับง่วงนอน เหมือนกับเราง่วงนอนมาทั้งคืนทั้งวัน มานั่งกัมมัฏฐานก็เหมือนกัน “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งไปหลับไปๆๆ เหมือนกับง่วงนอนแต่ไม่ใช่ง่วงนอน อันนี้เป็นลักษณะของภังคญาณ

       อานิสงส์ของภังคญาณนี้ ก็มีเหมือนกันกับอุทยัพพยญาณที่กล่าวมาแล้ว จัดว่าอยู่ในขั้นมัชฌิมโสดาบันเหมือนกัน แต่ว่า อานิสงส์ของภังคญาณนี้จะแก่กล้า คือ มีอานิสงส์มาก ได้บุญมากกว่าอุทยัพพยญาณ สำหรับภังคญาณนี้เมื่อแก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ภยตูปัฏฐานญาณตามลำดับๆ เหมือนกันกับต้นไม้ เมื่อใบไม้นั้นแก่แล้ว ก็จะสลัดใบทิ้งแล้วใบใหม่ก็จะงอกขึ้นมาใหม่ ข้อนี้ฉันใด อุทยัพพยญาณกับภังคญาณก็เหมือนกันฉันนั้น

       เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่องภังคญาณมาถวายความรู้ แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชี ทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 79.0.3945.130 Chrome 79.0.3945.130


ดูรายละเอียด
« ตอบ #111 เมื่อ: 17 กุมภาพันธ์ 2563 15:44:28 »

.


ภยตูปัฏฐานญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


       สำหรับวันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ภยตูปัฏฐานญาณ มาบรรยายถวายความรู้เพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชีทั้งหลายสืบไป

       คำว่า ภยตูปัฏฐานญาณ คือ ปัญญาที่ทำให้เกิดความกลัว ปัญญาชนิดนี้เกิดขึ้นมาแล้วเกิดความกลัว ใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย ตื่นง่าย เหมือนกับคนเป็นโรคหัวใจอ่อน เหมือนกับคนเป็นโรคประสาท คนโน้นพูดอย่างนี้ คนนี้พูดอย่างนี้ กระทบเสียงดังเกินไปก็ตกใจ ใจมันหวิวลงไปทันที เหมือนกับคนเป็นโรคหัวใจอ่อน เหมือนกับคนเป็นโรคประสาท ตกใจง่าย

       ลักษณะของภยตูปัฏฐานญาณมีลักษณะดังนี้ คือ

       ๑. อารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่รู้ ทันกัน หายไปพร้อมกัน เช่น เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการกำหนดก็ทัน สำหรับจิตผู้รู้ก็ทัน หายไป เกิดขึ้นมาแล้วก็หายไปๆ เหมือนกันกับเราจุดไฟเกิดเพลิงขึ้นมาแล้วก็หายวับไป เกิดเปลวขึ้นมาหายวับไปๆ ท่านทั้งหลายคงจะเคยจุดไฟ เมื่อเปลวไฟมันลุกขึ้นมาแล้วก็หายวับไปๆ ลุกขึ้นมาหายวับไป อันนี้สำหรับอารมณ์ของญาณนี้ก็ลักษณะเดียวกัน เช่นว่า เรากำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กำหนดอาการพองอาการยุบ กำหนดเวทนา กำหนดจิตก็ตาม เมื่อเรากำหนดแล้ว อารมณ์ที่เรากำหนดก็ดี จิตที่รู้ก็ดี เกิดขึ้นพร้อมกันแล้วก็หายไปพร้อมกัน เหมือนกันกับเราจุดไฟ

       ๒. มีความกลัว แต่ไม่ใช่กลัวผี ไม่ใช่กลัวเปรต ไม่ใช่กลัวศัตรู คือหมายความว่า เป็นอารมณ์ที่บอกไม่ถูกว่ากลัวอะไร คือมันเกิดความกลัวขึ้นมา แต่ความกลัวนั้นเรากลัวอะไรก็ยังบอกไม่ถูก จะว่ากลัวผีก็ไม่ใช่ จะกลัวเปรตก็ไม่ใช่ จะกลัวศัตรูก็ไม่ใช่ แต่มันมีความกลัว แต่บอกสิ่งที่กลัวแล้วไม่รู้ว่ามันกลัวอะไร แต่มันก็กลัว

       ๓. เห็นรูปนามหายไป คือเห็นว่ารูปนามที่กำหนดอยู่นั้น หายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป จึงปรากฏเป็นของน่ากลัว เช่นกำหนด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เมื่อเรากำหนดแล้ว ดับไป สิ้นไป สูญไป จะกำหนดที่ไหนก็ตาม ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายก็ตาม เมื่อเรากำหนดแล้วทั้งรูปทั้งนามหายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป ผู้ปฏิบัติก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา เอ๊ะ ทำไมอย่างนี้ มันจะไม่ตายไปเลยหรือนี่ อย่างนี้ก็มี

       ๔. รู้สึกเสียวๆ เรากำหนดพระกัมมัฏฐาน กำหนดที่นู้น กำหนดที่นี้ ก็รู้สึกเสียวๆ คือหมายความว่า เราลูบตามแขนของเราก็ปรากฏเสียวๆ เราลูบตามแข้ง ตามตนตามตัว ก็รู้สึกเสียวๆ เราทั้งหลายกำหนดที่ศีรษะก็ปรากฏเสียวๆ อาการเสียวนั้นมีลักษณะอย่างไร ท่านทั้งหลายก็คงเคยเจ็บไข้ได้ป่วยมา เช่นว่า เราเป็นไข้ เราปวดหัวตัวร้อน เรามาลูบตามศีรษะของเราก็ปรากฏเสียวๆ เราลูบตามแขนตามตัวของเราก็เสียวๆ อันนี้ก็เหมือนกัน สภาวะของญาณนี้ก็เหมือนกัน

       ๕. บางครั้งนึกถึงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เรานึกถึงพ่อก็ดี นึกถึงแม่ก็ดี ถึงพี่ ถึงน้อง ถึงคนที่เคยรู้จักกัน เมื่อนึกขึ้นมาก็ร้องห่มร้องไห้

       มีหญิงคนหนึ่งยังเป็นโสดอยู่ ที่บ้านเหมือดแอ่นี้แหละ เวลามาปฏิบัติอาการอย่างนี้ก็เกิดขึ้น ร้องห่มร้องไห้ จะปลอบจะโยนอย่างไรก็ไม่เอา มีแต่ร้องไห้คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ หลวงพ่อบอกว่าอย่าไปเลย อันนี้คือลักษณะหนึ่ง หรือเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา ถ้าว่าเราเลิกภาวนาเท่านั้นมันก็หาย เราไม่ได้กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งเฉยๆ แล้วก็อาบน้ำชำระร่างกาย รับประทานอาหาร เดี๋ยวมันก็หายไป หรือว่าเราไปที่โน้นบ้าง ไปที่นี้บ้าง หรือว่าซื้อของที่ตลาดบ้าง หรือไปเอาโน้นเอานี้ที่ร้านนั้นหรือบ้านนี้ก็ตามมันก็หายไป เขาก็ไม่เชื่อ หลวงพ่อก็บอกว่า มันไปไม่นานหรอก หากว่าเราพ้นสะพานไปมันก็หายไปสภาวะอย่างนี้ แต่เขาก็ไม่เชื่อ หลวงพ่อก็เลยว่า ไปแล้วค่อยกลับมาใหม่นะ เลยให้ไป ไปยังไม่ถึงบ้าน พ้นสะพานแล้วก็หายแล้ว แล้วก็กลับมาปฏิบัติใหม่ นี้ท่านทั้งหลายถ้าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อเรานึกถึง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่ป้าน้าอา ใครก็ตามที่เราเคยรู้จัก เคยเคารพ เคยนับถือ เคยรักกัน นึกถึงแล้วก็ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมาเหมือนกับคนเป็นบ้า

       ๖. บางคนกลัวมากจริงๆ เห็นอะไรๆ ก็กลัว ชั้นที่สุดเห็นตุ่มน้ำ เห็นเสาเตียง เห็นกบ เห็นเขียด เห็นวัว เห็นควาย เห็นอะไรก็กลัว ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เหมือนกับคนเป็นบ้า บางคนก็กลัวมากจริงๆ

       ๗. เพียงแต่นึกในใจว่าน่ากลัวแต่ไม่กลัวจริงๆ คืออะไรเกิดขึ้นมา “เอ๊ะ ทำไมมันน่ากลัว” แต่ไม่ใช่กลัวจริงๆ แต่มันนึกกลัวขึ้นมา ภาษาบ้านเราเรียกว่านึกกลัวขึ้นมาแต่ก็ไม่ใช่กลัวจริงๆ เกิดขึ้นมาแล้วก็หายไปๆ สมมุติว่าเรานั่งกัมมัฏฐานไป “พองหนอ” “ยุบหนอ” ดับฟุบลงไป คือสัปหงกวูบลงไป หรือดับวูบลงไป รู้สึกตัวขึ้นมา “เอ๊ะ ทำไมมันน่ากลัวอย่างนี้ จะไม่ตายไปเลยหรือนี่” บางทีก็ไม่ยอมทำกัมมัฏฐานคิดว่าตัวเองนี้จะตายไปเลย มันสัปหงกวูบลงไป มันดับวูบลงไปนี้คิดว่ามันจะตายไปเลย สมัยก่อนหลวงพ่อก็เป็นในลักษณะอย่างนี้ เวลาปฏิบัติมันดับวูบลงไปรู้สึกตัวขึ้นมา กลัว กลัวจะตายไปเลย กลัวจะไม่ฟื้น ลักษณะอย่างนี้จะมีมาก

       ๘. เกิดอาการกลัวต่อความเป็นไปของรูปนามอย่างแปลกประหลาด เช่นว่านั่งกัมมัฏฐานไป บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” คล้ายๆ กับมีภูตผีปิศาจมันไปสิงอยู่ในทรวงอกของเรา ไปสิงอยู่ในท้องของเรา สิงอยู่หน้าอกของเรา เวลาเรากำหนดว่า “รู้หนอๆ” สมมุติเรากำหนดรู้ที่ตรงไหนก็ตาม กำหนด “รู้หนอๆ” ตรงคอของเรามันก็มาดูดเหมือนกับมีตนมีตัว มันก็มาดูดที่คอของเรา หรือบางทีเรานึกกำหนดที่แขนมันก็มาดูดที่แขนของเรา เหมือนกันกับพวกปิศาจพวกผีมันดูดเลือดอย่างนี้แหละ ลักษณะคล้ายๆกับมันดูดเลือด กำหนด “รู้หนอๆ” มันดูดเอาเลย เราก็คิดว่าเป็นภูตผีปิศาจจริงๆ

       หรือบางทีมันเหมือนกันกับพวกเปรตที่สูงครึ่งต้นไม้ก็มี หรือท่วมกุฏิก็มี เมื่อก่อนปฏิบัติอยู่สมัยหนึ่ง เรานั่งอยู่ในกุฏิพวกภูติพวกผีพวกเปรตนี้มันมายืนอยู่ตรงหน้าต่าง มันปล่อยของขึ้นมา เป่าขึ้นมาที่ศีรษะของเรา มันหมุนไปๆๆ ถึงทรวงอกแล้วก็หมุนลงไปเป่าเข้าไปหมุนเข้าไปแล้ว โอย ตายแล้วเราทีนี้ตายแล้ว ทำอย่างไรหนอมันถึงจะหาย เราจะหาคาถาอะไรมาป้องกัน มันก็ป้องกันไม่ได้ คิดไปคิดมา เอ๊ะ พวกคุณไสยที่เขาใส่ของอย่างนั้นใส่ของอย่างนี้ ท่านว่าเอาขี้ผึ้งบริบูรณ์มาทาแล้วมันจะหายไป มันจะออกไป เราคิดอย่างนี้นะ เราก็เอาขี้ผึ้งบริบูรณ์มาทาเต็มตัว พวกผี พวกปิศาจ หรือของที่มันปล่อยเข้ามาอยู่ในร่างกายของเรามันหมุนออกมาๆๆ บางทีก็ออกจากศีรษะ บางทีมันออกมาแรง พรึบไปจนเราสัปหงกไปก็มีพอดีมันหายไปแล้วก็ เออ คงจะได้เจริญกัมมัฏฐานต่อไปแล้วตอนนี้ พวกผีปิศาจคงจะหายไป กำลังว่า “พองหนอๆ” เป่ามาเลย หมุนเข้าทางศีรษะเลย มันไปอยู่ในทรวงอกของเรา อยู่ในท้องของเรา

       บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ เหมือนกับพวกปีศาจพวกผีนั่นแหละปล่อยเข้ามาทางศีรษะของเรา หรือตรงหน้าอกของเรา หรือที่ช่วงท้องของเรา มันปล่อยเข้ามา เอ้า อยู่ในนี้ละ ไม่ไปไหน ผีตัวนี้ไม่ไปไหน มันนอนอยู่อย่างนี้ละ เรานั่งกัมมัฏฐานไปตลอดคืนยันรุ่ง นั่งไปๆ เอ้อ ๑ ชั่วโมงนี้ ๒ ชั่วโมงนี้ ตัวนี้มันอยู่ตรงนี้ พอดีครบชั่วโมงมันหายไป เอ้า คงจะสบายแล้วหนอ พอดีกำลังจะสบาย ตัวใหม่เข้ามาอีก ตัวนี้ก็อยู่เป็นชั่วโมง ครบ ๒ ชั่วโมงแล้วก็หายไป ออกไปแล้วก็ตัวใหม่ก็มา จนสว่าง เมื่อสว่างแล้วเราก็คิดว่า เออ คงจะสบายแล้ววันนี้ ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานคงจะได้ดี คงจะได้สบาย กำลังคิดว่าจะสบาย มันปล่อยฟับเข้ามา ตัวสุดท้ายนี้มันอยู่ตลอดทั้งวัน เต็มวันนี้มันอยู่เลย โน้น ถึงเวลา หกโมงได้เวลา เหมือนกับเขาอยู่ยาม นายยามมันก็ปล่อยตัวนี้ไป ตัวใหม่เข้ามาอีก ก็ปล่อยตัวนี้ไปอีก เป็นลักษณะอย่างนี้ แล้วก็บางทีก็เหมือนกับมีพวกปิศาจหรือพวกภูตผีมันสิงอยู่ในร่างกายของเรา เราคิดว่า เออ เรามียาดี ถ้ายานี้กินเข้าไป หรือเอามาถูที่ไหนๆ มันกลัวแล้วก็ออกไป มันไม่อยู่ เราก็เอายาชนิดนี้แหละมาถูๆ แทนที่มันจะกลัว เราเอายาไปถูๆ มันหายวืบ มาหอมยา โอ้เรานี่ตายแล้ว คงจะไม่รอดซะแล้ว คงจะตายแล้ว ทำอย่างไรหนอมันจะหายไปได้ แต่ว่าเราก็ตั้งอกตั้งใจกำหนด พอดีกำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” เท่านั้นละ คือปัญญา เวลาได้ที่มันถึงจะเกิดนะ ทั้งๆที่เรายังกำหนดอยู่ตลอดเวลา แต่มันก็มีช่วงพลาดไปได้ อยู่ที่สภาวะ เรากำหนด “รู้หนอๆๆๆ” ผีเก้าตัว สิบตัว หรือเป็นร้อยๆ ตัวที่อยู่ในท้องของเรา อยู่ในหน้าอกของเรามันหายปึ๊บปั๊บๆๆๆ ไป เราก็รู้ได้ว่าเออ จิตเอ๋ยจิต เจ้ายุตัวเองให้กลัว แล้วเจ้าก็กลัวเอง เจ้านึกแต่เรื่องให้กลัว เจ้าสร้างภาพ สร้างพจน์ สร้างเรื่องขึ้นมาแล้วก็กลัวเอง นี่มันเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย นี้ลักษณะที่ว่า มันเกิดขึ้นแล้วเราทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา

       บางทีเรามองดูต้นไม้ชายคา เหมือนกับภูตผีปิศาจเป็นร้อยๆ ตัว เป็นพันๆ ตัวมันปีนป่ายอยู่ตามต้นไม้ กลางวันมันก็ลอยเคว้งคว้าง เพ่นพ่านอยู่ตามปลายไม้ จะเดินออกกุฏิไปก็ไม่กล้าไป กลัว มันถึงขนาดนั้นนะ หรือบางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น เหมือนกันกับพวกจิ้งจกเป็นหมื่นๆ ตัวจับอยู่ที่ต้นไม้ ต้นนั้นบ้างต้นนี้บ้างต้นละร้อยสองร้อยมันจับอยู่ เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” มันร้องขึ้นมาจิ๊บจั๊บๆๆๆ ขึ้นมา มันมาร้องสนั่นไปหมด เหมือนกับว่ามันมีตนมีตัวจริงๆ แต่ว่าเรากางกลดไว้แล้วก็ พองหนอ ยุบหนอ รู้หนอ ไปเรื่อยๆ เวลาจิตใจของเราใกล้สงบแล้ว จิ้งจกมันเอาแล้ว แจ๊ะๆๆ ขึ้นมา โอ้ยมันอยู่อย่างไรหนอ เราก็ลุกขึ้นไปดูมันมีกี่ตัว ไปดูตัวนั้น ไปดูตัวนี้ ไปดูแล้วก็ไม่เห็น เวลามันร้องอยู่ตามต้นไม้หลายๆ พันตัวเราก็ไปดู แต่ไปดูแล้วมันก็ไม่เห็น อ้าวมันอะไรกัน คือนิสัยของหลวงพ่อก็ชอบค้นคว้า อะไรเกิดขึ้นมาแล้วก็ชอบค้นคว้า แต่ลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นลักษณะที่น่ากลัว

       บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ ใกล้ๆจิตจะสงบ มันดิ่งไปๆ มันตบลงมาเลย ตบที่พื้นที่เราเหยียบ รองเท้าที่เราเหยียบ มันตบขั้นมา แต๊บๆๆๆ เราก็ลืมตาขึ้นมา เรานั่งกัมมัฏฐานไปจิตใจของเรามันจะดิ่งลงไปมันตบขึ้นมาอีก บางทีก็ตบที่โต๊ะบูชา บางทีก็ตบที่เช็ดเท้าของเรา แต่ขณะที่มันตบอยู่น่ะเราไม่รู้ว่ามันตบที่ไหน แต่คำนวณว่าอาจจะเป็นที่นั้น อาจจะเป็นที่นี้ แต่ที่จริงไม่รู้ว่าตบที่ไหน แต่ว่าจิตใจของเราจะสงบมันตบปั๊บๆๆๆ ขึ้นมา ไม่ใช่ธรรมดานะท่านเป็นอาทิตย์นะ ลักษณะอย่างนี้เป็นอาทิตย์เหมือนกัน ตกลงเราแก้ปัญหาไม่ได้ นั่งหย่อนเท้าแล้วก็ลืมตา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไปเรื่อยๆ เมื่อปัญญาแก่กล้าขึ้นมามันรู้ท่านทั้งหลาย มันตบแพ๊บๆๆๆ ขึ้นมาเราก็รู้ทันที ใจนี้มันรู้ทันที โอ้ จิตเอ๋ยจิต เจ้าก็หลอกตัวเองแล้วก็กลัวตัวเอง มันสับปลับท่านทั้งหลาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือจิตนั่นแหละเป็นตัวหลอก แล้วก็จิตตัวนั้นแหละเป็นตัวกลัว นี่มันทำให้ชัดเจนนะ จิตหลอกเองแล้วก็กลัวเอง บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ นั่งไปๆๆ พองหนอยุบหนอขึ้นมา มันมาเคาะกุฏิของเรา มันมาเคาะประตูของเราหรือข้างฝาของเรา เราก็เดินไปดู เดินไปดูมันก็เดินไป เราเห็นเดินนะ เดินไปก็ตามไป มันเดินไปเราก็ตามไป มันล้อมรอบกุฏินั้นละ ล้อมกุฏิที่เราอยู่ เดินไปก็ล้อมไป เดินตามกันไปเรื่อยๆ ตามจนทัน บางทีก็เห็นรูปเห็นร่าง บางทีก็ไม่เห็น เราก็เดินไปๆ บางทีมันก็เบ่งลมขึ้นมา บางทีมันก็หัวเราะขึ้นมา หัวเราะกึกๆๆๆ ขึ้นมา เราก็รู้ทัน เอ๊ะ จิตเอ๋ย เจ้าหลอกตัวเองเจ้าก็กลัวเอง นี่เมื่อปัญญาแก่กล้ามันก็รู้เลยนะว่า ลักษณะอย่างนี้ไม่ใช่ภูตผีปิศาจ จิตมันสร้างขึ้นมาเองแล้วก็กลัวเอง

       บางทีเรานั่งอยู่บนแคร่ “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่บนแคร่ เหมือนกันกับมีพวกหมูบ้า หรือหมาบ้า หรือว่าภูตผีปิศาจมันจะมาหลอกมาหลอนเรา เราก็ให้พระมา ข้างนี้นอนสองคน ข้างนี้นอนสองคน ข้างนี้นอนสองคน กำหนดไปๆ คิดว่ามันจะช่วยไม่ให้กลัว แต่ผลสุดท้ายเรานั่งไปๆๆ เหมือนกันกับพวกมันมาพลิกแคร่ของเรา มาพลิกเตียงของเราให้คว่ำไป แต่เมื่อเราลืมตาขึ้นมาก็นั่งอยู่เฉยๆ ลักษณะอย่างนี้ท่านทั้งหลาย หากว่าจิตใจของเราไม่เข้มแข็งพอ ก็ไม่สามารถที่จะผ่านพ้นไปได้ หรือบางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ มันสั่นขึ้นมา สั่นขึ้นมาเหมือนกับเขาลงธรรมหรือปลุกคาถา หรืออะไรที่เขาทรงกัน ลักษณะอย่างนี้ท่านทั้งหลายเมื่อสภาวะแก่กล้าแล้วเรากำหนดทันปัจจุบันแล้วก็หายไปเอง คือลักษณะอย่างนี้มันจะเกิดความกลัวโดยที่หาสาเหตุอะไรกับตนเองไม่ได้ เหมือนกับเราเดินไปในป่าชัฏ บังเอิญเห็นสิงโต พบเสือ พบงูพิษขึ้นมาโดยบังเอิญ ก็เกิดความกลัวขนลุกขนชันขึ้นมา

       ๙. รูปนามแสดงลักษณะอันน่ากลัว เช่นบางครั้งเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ มันจะร้อนตามตัว ร้อนเหมือนกับอังไฟ บางทีทั้งร้อนทั้งเย็น ทางหน้าอกมันร้อน แต่ข้างหลังมันเย็น บางทีข้างศีรษะของเรามันร้อน แต่ร่างกายมันเย็น บางทีร่างกายร้อนแต่ว่าศีรษะมันเย็น ลักษณะอย่างนี้มันทำให้เกิดอาการกลัวขึ้นมา

       ๑๐. ผู้ปฏิบัติเห็นอยู่ว่ารูปนามที่เป็นปัจจุบันก็ดี รูปนามที่เป็นอนาคตก็ดี เกิดดับอยู่ตลอดเวลา อุปมาเหมือนกันกับผู้หญิงคนหนึ่ง มีบุตร ๓ คน ตายไปแล้ว ๒ คน อีกคนหนึ่งกำลังตายคามืออยู่ การที่สตรีคนนั้นเห็นลูกของตนตายไปแล้ว ๒ คน ก็เหมือนกันกับเราเห็นความดับ การเห็นลูกคนที่ ๓ กำลังตายคามืออยู่ ก็เหมือนกับเรากำลังเห็นความดับที่เป็นปัจจุบัน คือทันปัจจุบัน หรือว่าเป็นเหตุให้ทอดอาลัยว่าลูกคนต่อไปก็จะเป็นอย่างนี้เหมือนกัน หรือว่าอุปมาเหมือนกับหญิงคนหนึ่งมีบุตร ๑๐ คน ตายไปแล้ว ๙ คน คนที่ ๑๐ กำลังตายอยู่คามือ ก็เป็นเหตุให้ผู้นั้นพิจารณาว่า เออ ลูกที่ตายไปแล้ว ๙ คนนั้นก็เหมือนกับเรากำลังเห็นรูปนามที่ดับไปแล้ว การเห็นคนที่ ๑๐ กำลังตายคามืออยู่ก็เท่ากับเราเห็นความดับเกิดอยู่เฉพาะหน้า การที่ทอดอาลัยคนอยู่ในท้องว่าจะเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ก็เหมือนกับเราเห็นรูปนามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตใกล้ๆ นี้ ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า ภพทั้ง ๓ นี้ เหมือนกันกับว่าบุรุษตาดีมองดูเห็นหลุมหลาว ๓ เล่ม เช่น หลาวไม้ตะเคียน หลาวเหล็ก หลาวทองแดงอยู่หน้าประตูเมืองแต่ตัวเองหากลัวไม่ เป็นแต่เพียงพิจารณาเห็นว่า ผู้ใดตกไปในหลุมหลาวนั้นจะได้รับความทุกข์ไม่ใช่น้อย

       บางทีผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เอ รูปนามที่อยู่ในภูมิทั้ง ๓๑ ภูมินี้ มีการเกิดดับเป็นภัยเฉพาะตัว ไม่น่าปรารถนาไม่น่าจับต้อง เมื่อพิจารณาเห็นอนิจจัง รูปนามที่เป็นอดีต ปรากฏเป็นของน่ากลัว เมื่อพิจารณาเห็นทุกขัง รูปนามที่เป็นสุขย่อมเห็นว่าเป็นทุกข์ เมื่อพิจารณาเห็นเรื่องอนัตตา รูปนามที่เป็นของว่าง ของสูญ ของเปล่า ของไม่มีหัวหน้า เหมือนกับบ้านร้าง เหมือนกับพยับแดด เหมือนกับเมืองลับแล ย่อมปรากฏเป็นของน่ากลัว

       สรุปว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วท่านทั้งหลาย จะทำให้จิตใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย ถ้าว่าจิตใจไม่เข้มแข็งพอ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่สามารถที่จะก้าวหน้าขึ้นไปได้ บางทีก็หยุดเอาเสียเลย ไม่ยอมปฏิบัติ อันนี้เป็นสภาวะของภยตูปัฏฐานญาณ

       อย่างอื่นนอกจากนี้ที่ไม่ได้นำมาเล่าสู่ฟังมีมากกว่านี้ แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย อะไรเกิดขึ้นมาก็ขอให้เปรียบเทียบ หรือใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา มันอาจจะไม่เหมือนอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อเราพิจารณาแล้วว่ามันน่ากลัว เป็นสภาวะที่น่ากลัวหรือจะทำให้เกิดความกลัว สภาวะอย่างนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล ถ้าผู้ใดไม่มีบุญไม่มีกุศลที่สร้างสมอบรมไว้ สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด สภาวะนี้เกิดชัดเจนเท่าไร ก็ถือว่าเราได้สร้างสมอบรมบุญกุศลมามาก คือถ้าสร้างสมอบรมบุญกุศลมามาก สภาวะอย่างนี้ก็ปรากฏชัดมาก และผลอานิสงส์ที่จะได้พิเศษในญาณนี้ก็เหมือนกันกับญาณที่ ๔ ที่ ๕ ญาณที่ ๔ เป็นอย่างไร ญาณที่ ๕ เป็นอย่างไร อานิสงส์ของญาณนี้ก็เหมือนกัน แต่ว่ามีพลังมากกว่า เมื่อญาณนี้แก่กล้าแล้วท่านทั้งหลายสภาวะของภังคญาณก็จะดับลงไป เหมือนกันกับใบไม้ที่แก่ถึงที่แล้วก็ร่วงไป เมื่อร่วงไปแล้วใบใหม่ก็จะงอกขึ้นมา ข้อนี้ฉันใด เมื่อภังคญาณแก่กล้าแล้วจะดับไป เมื่อดับไปแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดภยตูปัฏฐานญาณ

       หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ภยตูปัฏฐานญาณ มาบรรยายถวายความรู้ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 80.0.3987.132 Chrome 80.0.3987.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #112 เมื่อ: 17 มีนาคม 2563 11:12:21 »

.


มุญจิตุกัมยตาญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


      หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่อง มุญจิตุกัมยตาญาณ มาบรรยายถวายความรู้ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายสืบไป

       มุญจิตุกัมยตาญาณ คือปัญญาพิจารณาหาทางหลุดพ้นไปจากรูปจากนาม คือในญาณที่ ๗ เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปของนาม มาถึงญาณที่ ๘ คือนิพพิทาญาณ ก็เบื่อหน่ายในรูปในนาม เมื่อมาถึงมุญจิตุกัมยตาญาณก็เป็นญาณที่อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปจากนาม ไม่อยากมีรูปมีนามอีกต่อไป ญาณนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นญาณใจน้อย ญาณกลุ้มใจ คือ เมื่อสภาวะมาถึงญาณนี้แล้วใจน้อยก็ใจน้อย กลุ้มใจก็กลุ้มใจ ครูบาอาจารย์จะพูดอะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่พอใจเอาเสียเลย บางทีครูบาอาจารย์พูดโน้นพูดนี้ หรือว่าเวลาสอบอารมณ์พูดนั้นพูดนี้เป็นการปรับความเข้าใจ ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา

       สรุปแล้ว ญาณนี้เป็นญาณที่กลุ้มใจ ใจน้อยก็ใจน้อย เป็นสภาวธรรมที่ตัดสินใจเร็ว อะไรๆ เกิดขึ้นมาบางทีมันตัดสินใจเลย บางทีก็ผิด บางทีก็ถูก อย่างที่อยู่ที่สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานส่วนกลาง คณะ ๕ วัดมหาธาตุ วันหนึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระธีรญาณมหามุนี ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน วันนั้นสอบอารมณ์พระรูปหนึ่ง “เป็นอย่างไรท่าน เวลาเดินจงกรมมันเป็นอย่างไร” ถามโน้นถามนี้ ถามหาข้อวัตรปฏิบัติ เวลาเดินจงกรมทำอย่างไร เขาก็ว่า “เอาตีนเดิน” ไม่ได้ว่าเอาเท้าเดิน เอาตีนเดิน พูดกวนๆ แล้วเวลากำหนดหละ ท่านกำหนดอย่างไร ทั้งที่ถามดีๆ “เอาปากกำหนด” ท่านเอาปากกำหนดก็ดีละ ขอให้ท่านตั้งอกตั้งใจ ขอให้มีสติกำหนด เวลาเดินจงกรมก็กำหนด เวลายืนก็กำหนด เวลานั่งก็กำหนด “เวลาเดินจงกรมเอาสติไว้ที่ไหน” ท่านก็ถาม “เอาไว้ที่ส้นตีน” มันสำคัญนะญาติโยม ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์ถามดีๆ เวลาเดินจงกรมเอาสติไว้ที่ไหน “เอาไว้ส้นตีน” เผลอแป๊บเดียวเท่านั้น ลุกขึ้นมาเอาเท้าเตะขากรรไกร พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จจนได้เข้าโรงพยาบาล รักษาอยู่หลายวันจึงหาย

       นี้แหละท่านทั้งหลาย สมัยก่อนที่หลวงพ่อสอนกัมมัฏฐานใหม่ๆ ส่วนมากหลวงพ่อไม่ได้ไปรูปเดียว ต้องมีพระหรือมีเณรไปด้วย ลูกศิษย์ลูกหาก็มองหลวงพ่อในแง่ที่ไม่ดี หลวงพ่อก็ปฏิบัติมาแล้ว แทนที่ไปสอบอารมณ์น่าจะไปรูปเดียวทำไมถึงเอาพระไปด้วย หรือเอาเณรไปด้วย หรือว่าเอาไปเพื่อเสริมบารมีอย่างนั้นอย่างนี้ก็ว่า แต่หลวงพ่อก็ไม่ว่ากระไร เพราะว่าไปเพื่อเป็นการป้องกันตัว คือในขณะที่เราสอบอารมณ์ส่วนมากเรานั่งอยู่ตัวต่อตัว บางทีอาจจะมีคนใดคิดไม่ซื่อ แต่หลวงพ่อไม่กลัวหรอก ไม่กลัวคิดไม่ซื่อ แต่ที่ระวังๆ ก็ระวังเมื่ออารมณ์พระกัมมัฏฐานมันเกิดขึ้นมาแล้ว หากว่าเราเผลอแป๊บเดียวเท่านั้นอันตราย

       มีตำรวจคนหนึ่งมาปฏิบัติอยู่นี้ แล้วก็มีพระรูปหนึ่ง เป็นผู้ตีระฆังตียาม ทั้งๆ ยังไม่ทำอะไรเลยกำลังตีระฆัง เม้งๆๆ พระตำรวจรูปนั้นก็มาเอาเท้าเตะคางกระต่ายเลย ล้มหงายเลย มันเป็นอย่างนี้ถ้าลักษณะอย่างนี้

       บางทีมีสามเณรไปถวายน้ำปานะ เมื่อก่อนโน้นใช้ล้อ (รถเข็ญ) เข็นไปๆๆ พอเห็นเณรมาถวายน้ำปานะก็วิ่งลงมาจากกุฏิเอาค้อนทุบเอาเลย บางทีก็เอาไม้เรียวเฆี่ยนเอาเลย ถ้าสภาวะอย่างนี้หลวงพ่อจะให้ชื่อว่า “ญาณใจน้อย” “ญาณกลุ้มใจ” พูดอะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่ได้ บางทีเราพูดนิดเดียวเท่านั้นร้องไห้อยู่ทั้งวัน ดังที่เราเห็นพระน้องชาย นายเจียม สมัยนั้นลาราชการมาบวชมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เมื่อถึงนี้ละ พะวักพะวนตั้งแต่หลวงปู่หนูแหละ น้อยใจจึงว่ากิริยามารยาทผู้เป็นพ่อไม่ถูกอกถูกใจอย่างนั้นอย่างนี้อะไรจิปาถะ ไปร้องเรียนว่า “หลวงพ่อจะทำอย่างไร” “โอย เรื่องนี้เราอย่าไปจับผิดท่านเลย เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีครูบาอาจารย์เป็นผู้รักษา เป็นผู้คุ้มกัน เป็นผู้แนะนำ เป็นผู้สอน ตอนนี้ถือว่าเรามาปฏิบัติ เมื่อในขณะที่ปฏิบัตินี้เราก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ เพราะในขณะนี้เราไม่ใช่มาเป็นครูสอน เราพูดเราสอนมันก็ผิดกฎกติกาครูบาอาจารย์” เท่านั้นแหละท่านทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ว่าอะไร ทั้งที่คิดว่าเราพูดอย่างนี้พระน้องชายจะไม่ใจน้อยหรือ ก็คิดเสียก่อนจึงพูด แล้วก็ไม่ได้เอ็ดไม่ได้ว่า นิดเดียวเท่านั้นท่านทั้งหลาย ร้องห่มร้องไห้อยู่ทั้งวัน ร้องห่มร้องไห้คิดจะไปตาย ไปเชือดคอตาย ไปกินยาตาย อย่างท่านหลวงปู่รูปหนึ่ง ที่ผมเคยพูดให้ฟัง เมื่อเวลามาถึงนี้เราพูดอะไรไม่ได้ “หลวงปู่ฉันยาปวดหายก็อย่าฉันมากเกินไปสิ มันบีบหัวใจ” เอาแล้ว “อ้าว คุณเป็นปุถุชน ผมเป็นพระอรหันต์แล้วนะ ปุถุชนจะมาสอนพระอรหันต์ได้อย่างไร” อ้าว ไปอีกแล้ว คิดในใจ พูดอะไรไม่ได้ มันกลุ้มใจ ใจน้อยก็ใจน้อย ผลสุดท้ายกลุ้มใจยังไม่พอละ เผลอๆ ประมาณตี ๔ ย่องๆ เอามีดโกนเชือดคอตัวเองตาย มันลักษณะอย่างนี้ละท่าน ใจน้อยก็ใจน้อย กลุ้มใจก็กลุ้มใจ

       เพราะฉะนั้น สมัยก่อนที่หลวงพ่อสอบอารมณ์ หรือสอนกัมมัฏฐาน หลวงพ่อหวั่นนักหวั่นหนาที่สุด เรื่องสอนกัมมัฏฐาน ว่าเมื่อลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัติมาถึงมุญจิตุกัมยตาญาณนี้ เราจะทำอย่างไรหนอ เราจะปกครองลูกศิษย์ลูกหาไหวไหมหนอ ทำอย่างไรถึงจะสามารถแก้อารมณ์ของลูกศิษย์ลูกหาได้เมื่อมันเกิดขึ้นมา หวั่นใจที่สุด สมัยนั้นเวลาเข้าห้องกัมมัฏฐานหลวงพ่อเอาอาวุธออกหมด มีดปาดผลไม้ มีดสั้น มีดอะไรเอาออกหมด เข็มก็ไม่ให้มี มีดโกนก็ไม่ให้มี มีอะไรๆ กวาดหมด ให้อยู่ตัวเปล่า มีแต่จีวร สบง อังสะ กาน้ำ เท่านั้น เพราะระวัง มันเห็นมาแล้วก็ระวัง คือเมื่อสอนกัมมัฏฐานมา เมื่อถึงนี้ก็ลำบากจริงๆ เวลาสภาวะเกิดขึ้นมาพูดนิดพูดหน่อยไม่ได้ เราก็ต้องพยายามทำจิตทำใจพยายามจะไม่พูดให้กระทบกระทั่งจิตใจเป็นอันขาด อันนี้เป็นสภาวะอย่างหนึ่งที่เล่าสู่ฟังแล้วก็จำไว้ เมื่อเราไปแนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหา ระวังสภาวะอย่างนี้ให้ได้

       แม้แต่เราเองก็เหมือนกันท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าเราเป็นครูบาอาจารย์ไปสอนผู้อื่นไปสอบอารมณ์ผู้อื่นเราเองใจน้อยไม่ได้นะท่านทั้งหลาย เพราะเมื่อมาถึงนี้เราผู้เป็นครูบาอาจารย์ก็ยิ่งเกิดหนัก เพราะว่าตอนที่ลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัติมาถึงนี้ สภาวะที่ลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัตินั้น มันก็เป็นเหตุพ่วงกันกับเราด้วย ถ้าลูกศิษย์ลูกหานั้นมีจิตใจเป็นอย่างไร เราผู้เป็นครูบาอาจารย์จิตใจก็จะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราระวังไม่ไหวทั้งศิษย์ทั้งอาจารย์ก็ลงมวยกัน ทะเลาะกัน เหตุนั้นพึงสังวร เรื่องมันมีมากท่านทั้งหลาย เหตุนั้นท่านทั้งหลายเวลาไปสอนกัมมัฏฐานเรื่องนี้ระวังให้ดี

       แม้เราตั้งใจว่าจะทำจิตใจหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว แต่เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมามันเปลี่ยนทันที สมมุติว่าเราตั้งใจจะนั่งสมาธิ จะนั่ง ๑ ชั่วโมง กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” จะนั่ง ๑ ชั่วโมง แต่พอนั่งไป “พองหนอ ยุบหนอ” ไป ยังไม่ถึง ๒ นาทีมันอยากลุกแล้วนะท่าน มันอยากลุกแล้วก็ข่มใจไว้ กำหนดไปๆ ยังไม่ถึง ๕ นาที ก็อยากลุกแล้ว ข่มไว้ กำหนดไปๆ ยังไม่ถึง ๓ นาที มันจะลุก ข่มไว้ๆ ผลสุดท้ายก็ข่มไม่ไหว คือไม่ได้กำหนดเลย เมื่อถึงที่แล้วสภาวะแก่กล้าเวลามันอยากลุกก็ลุกไปเลย นี้แหละท่านทั้งหลายจำไว้นี้เป็นสภาวะของมุญจิตุกัมยตาญาณ สภาวะของญาณนี้มีดังนี้ท่านทั้งหลาย

       ๑. มีอาการคันตามเนื้อตามตัว เหมือนมดกัด คือเหมือนมีมดมากัด มีไรมาไต่มาตอมอยู่เรื่อยๆ คืออาการคันนี้ถ้ามันอยู่ในสภาวะของญาณที่ ๓ จะคันเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกันกับมีตัวเรือดมาไต่มาตอมตามร่างกาย แต่ถ้าถึงญาณที่ ๙ นี้ คันก็คันแรง เกาก็เกาแรง บางทีเป็นตุ่มโปนขึ้นมาทั้งตัว บางทีเหมือนกันกับมีมด มีตะขาบ มีแมงป่อง มีงูมันเลื้อยขึ้นมาตามร่างกายของเรา แต่เสร็จแล้วก็ไม่มี สมมุติว่าหลวงพ่อนั่งอยู่ใต้แสงไฟนีออนนี้ เรานั่งอยู่นี้คิดว่ามันเป็นมดมากัด แต่เราลูบดูแล้วก็ไม่มี เหมือนกับมีมดมากัดที่นั้นที่นี้อยู่ตลอดเวลา เรื่องแบบนี้หลวงพ่อระวัง แต่เวลามันเกิดขึ้นมา มันเผลอนะ ทั้งเวลาไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ หลวงพ่อก็ตั้งใจว่าจะไม่กระดุกกระดิก จะตั้งใจไม่กระดุกกระดิก จะไม่คันที่นั้นจะไม่เกาที่นี้ แต่เวลามันเกิดขึ้นมามันไปแต่เมื่อไร ไปลูบไปคลำแล้ว อ้าว มันผิดอีกแล้ว มันเป็นอีกแล้ว คือสภาวะมันเวียนอยู่ตลอดเวลา เราไหว้พระสวดมนต์ไปนิดๆ ก็เอาแล้ว ทั้งๆ ที่ตั้งใจจะไม่เกามันก็เกาเอง แต่ว่าเสร็จแล้วมันก็ไม่ใช่ อย่างนี้แหละมันเป็นเองท่านทั้งหลาย สภาวะอย่างนี้มันเหมือนกับลิง มันเกิดเหมือนกับลิง คันยุกๆยิกๆ อยู่ตลอดเวลา มันมีอาการคันตามเนื้อตามตัวเหมือนกันกับมดกัด

       ๒. ลุกลี้ลุกลน ผุดลุกผุดนั่ง จะนั่งกำหนดก็ไม่ได้ดี ยืนกำหนดก็ไม่ได้ดี เดินกำหนดก็ไม่ได้ดี นอนกำหนดก็ไม่ได้ดี เหมือนกับคนเป็นบ้า เหมือนกับลุกลี้ลุกลนผุดลุกผุดนั่งอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็จับโน้นเดี๋ยวก็ฉวยนี้ เดี๋ยวก็ทำโน้นทำนี้ ลักษณะของลิงเป็นอย่างไร สภาวะนี้เกิดขึ้นมาก็เหมือนลักษณะอย่างนั้น คือ ไม่อยู่ปกติ จับนั้นฉวยนี้อยู่ตลอดเวลา

       ๓. กำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ไม่ได้ดี คือจะกำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่ได้ดี ทั้งๆตั้งใจจะกำหนดให้ดี แต่มันก็ไม่ได้ดี

       ๔. ใจคอหงุดหงิดเอือมๆ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร ลักษณะอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ส่วนมากเราทำกันไม่ได้ คือเมื่อมาถึงนี้จะมีอาการหงุดหงิด เอือมๆ เบื่อ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร บางทีก็เก็บสิ่งเก็บของกลับบ้าน เห็นครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ว่าเออ ตอนนี้จะไปอยู่เขาลูกนี้ พอดีอยู่เขาลูกนี้ไม่กี่ชั่วโมง อ้าว อยากไปแล้ว เราลงเขาลูกนี้ก็ไปเขาลูกโน้น ลงเขาลูกนี้ก็ไปเขาลูกโน้นอยู่ตลอดเวลา มีแต่แสวงหาโมกขธรรม แต่ไปแล้วไปที่ไหนที่ไหนก็ไม่พอใจ พวกธุดงค์มีลักษณะดังนี้ สภาวะนี้มันชอบที่สุด คือถ้าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วจะอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องออกจากวัดนี้ไปวัดโน้น ออกจากวัดโน้นไปวัดโน้น ออกจากเขาลูกนี้ไปขึ้นเขาลูกนั้น ออกจากเขาลูกนั้นไปขึ้นเขาลูกนี้นั่งกัมมัฏฐานก็ไม่ได้ดี นั่งอยู่นี้ไม่ถึง ๒ นาทีลุกไปแล้วไปนั่งที่ใหม่ นั่งที่ใหม่ยังไม่ถึง ๕ นาที ลุกไปแล้วไปนั่งที่ใหม่ บางทีคืนทั้งคืน ถอดกลดอยู่ทั้งคืน อย่างอาจารย์รูปหนึ่ง อยู่ทางอำเภอนาตาลปฏิบัติอยู่ร่วมกัน แต่ละคืนๆ ท่านจะถอดกลดไปปักใหม่อย่างน้อย ๕ แห่ง หรือ ๖ แห่ง สรุปแล้วว่าสภาวะนี้ทำให้จิตใจหงุดหงิด เอือมๆ เบื่อๆ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร

       ๕. กลุ้มใจคิดอยากกลับบ้าน นึกว่าตนหมดบุญวาสนาบารมีแล้ว นี้ก็เป็นสภาวะอย่างหนึ่งทำให้การปฏิบัติไม่ได้ผล หลายๆ คนที่มาปฏิบัติ มาจากภาคกลางบ้าง มาจากภาคตะวันออกบ้าง ภาคเหนือบ้าง มีโยมยายคนหนึ่งอยู่ที่บางกอกน้อยฝั่งธนบุรี เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้กลุ้มอกกลุ้มใจ จะกลับบ้านเก็บสิ่งของไปหา “หลวงพ่อ วันนี้ยายจะกลับแล้วนะ อยู่ไม่ได้หรอก” เราก็ปลอบก็โยน “ยาย ก็ต้องข่มจิตข่มใจปฏิบัติไปหน่อย เราปฏิบัติไม่ถึงชั่วโมงหรอกมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ผ่านหนี” ปลอบอกปลอบใจ แล้วก็มีแต่จะไปให้ได้ หลวงพ่อจะให้ไปหรือไม่ให้ไป ถ้าไม่ให้ไปจะไปกระโดดน้ำตายเดี๋ยวนี้ เอากันถึงขนาดนั้นนะ พูดสบายๆ ทำจิตปลอบโยนอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ แต่แกไม่ยอมอยู่ มีแต่จะกลับบ้านๆ

       พระสงฆ์สามเณรก็เหมือนกัน บางปีเมื่อก่อนโน้นเวลาปฏิบัติไปๆ สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา บางทีพากันข้ามกำแพงไปไม่บอกลาครูบาอาจารย์ ไม่ว่าปริวาสหรือไม่ปริวาส มานัตต์หรือไม่มานัตต์ ไม่สนใจ ข้าขอไปแล้วก็พอ ก็ไปเลย บางปีก็ ๔ รูป บางปีก็ ๒ รูป บางปีก็ ๕ รูป แต่ผมก็ไม่ว่ากระไร เพราะว่าเราปลอบเราโยนแล้วแต่ว่ายังไม่อยู่ บางปีไม่ได้ปลอบไม่ได้โยน ไปเอง

       นี้แหละท่านทั้งหลาย สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา มีแต่กลุ้มอกกลุ้มใจ มีแต่คิดแต่จะกลับบ้านอยู่ตลอดเวลา โบราณเรียกว่าถึงญาณม้วนเสื่อม้วนหมอนแล้ว มันถึงญาณม้วนเสื่อม้วนหมอน เก็บสิ่งเก็บของจะกลับบ้านลักษณะเช่นนี้เรียกว่าเป็นอำนาจของอวิชชา เรากำหนดไม่ทันลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ต้องรู้จักปลอบต้องรู้จักโยน ต้องรู้จักชี้แจงแสดงไขให้ลูกศิษย์ลูกหาเข้าใจในการปฏิบัติแล้วก็จะได้ปฏิบัติต่อๆ ไป

       ๖. มีเวทนามาก เช่นอาการขบเมื่อย ปวด ชา จุก คัน เป็นต้น แต่เมื่อเรากำหนด อาการเมื่อย อาการปวด “ปวดหนอๆ” หรือมันจุก มันคัน เรากำหนดๆ เมื่อกำหนดไปแล้วเราจะเห็นว่าเวทนามันหายไปเป็นท่อนๆ หายไปเป็นชิ้นๆ หายไปเป็นเสี่ยงๆ เหมือนกันกับเราหยิบเอาเวทนานั้นออกไป สมมุติว่าเราปวดศีรษะเรากำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่หัวเข่า เรากำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่เท้า เรากำหนด “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่ท้อง เรากำหนด “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่ข้างหลัง นี้เหมือนกันกับว่ามีภูตผีปิศาจมาสิง เรากำหนดที่หนึ่งมันไปปวดอีกที่หนึ่ง เมื่อเรากำหนดแล้ว คล้ายๆกับเวทนามันหายไปเป็นท่อนๆ หายไปเป็นเสี่ยงๆ หายเป็นซีกๆ ถ้าหากสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นแก่กายจะรู้ทันที ส่วนมากผู้ปฏิบัติจะคิดว่าผีสิง แต่บางคนก็คิดว่า โอ้ ปัญญาของเรามันแก่กล้า เรากำหนดปวดที่นี้มันหายวับไป ไปปวดที่โน้น กำหนดแล้วมันหายวับไป ไปปวดที่นี้ บางคนก็จิตใจเข้มแข็งก็เพลิน แต่ในขณะเพลินๆนั้น ก็คล้ายๆ กับเป็นบ้าเหมือนกัน คือลักษณะเหมือนกับเราวิ่งไล่หิ่งห้อย เดือนหงาย มันเห็นแวบขึ้นมาเราก็วิ่งไปหาก็ไม่เห็น มันเห็นแวบขึ้นมาเราก็วิ่งไปอีก แวบขึ้นมาก็วิ่งไปอีก อันนี้ก็เหมือนกัน สภาวะอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว กำหนดที่นี้มันไปเกิดที่นั้น กำหนดที่นั้นมันไปเกิดที่นี้อยู่ตลอดเวลาจนมันผ่านไปจึงจะหาย

       ๗. คันยุบๆ ยิบๆ ที่โน้นที่นี้ จนเหลือที่จะอด เหลือที่จะทน เหมือนกันกับคนเอาหมามุ่ยหรือตำแยมาโรยลงบนที่นอน คือเหมือนมันคันที่โน้นเจ็บที่นี้อยู่ตลอดเวลา ท่านทั้งหลายเคยถูกหมามุ่ยหรือตำแยก็จะรู้ทันทีว่า เออ ลักษณะอย่างนี้มันเป็นอย่างนี้ บางทีมันเกิดขึ้นมาแล้วก็ลุกขึ้นยืนสลัดสบง จีวร เครื่องนุ่งห่มจนโกลาหลขึ้นมา แล้วก็เข้าใจว่ามีเรือดมีไร มีมดมีแมลงมาไต่มาตอมอยู่ในร่างกาย

       ๘. จิตใจไม่แน่นอน คิดอยากเปลี่ยนคำกำหนดอยู่ร่ำไป เช่นว่า กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” เอ พองหนอยุบหนอนี้สู้พุทโธเราไมได้ ไปกำหนดพุทโธ “พุทโธๆ” กำหนดไปๆ เอ๊ะ ! พุทโธ นี้ก็สู้ อิติปิโส ภะคะวา ไม่ได้ กำหนด “อิติปิโส ภะคะวา อิติปิโส ภะคะวา” เอ๊ะ! กำหนดอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ สู้ นะมะพะธะ นะมะพะธะ ไม่ได้ ก็กำหนดไป “นะมะพะธะ นะมะพะธะ” ไป เอ้า อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ สู้เรามองดูจิตไม่ได้ ก็มองดูจิตของตัวเอง เห็นความเคลื่อนไหวของจิตใจ กำหนดไปๆ เอ๊ะ ! อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อันนี้สรุปแล้วว่าจิตใจไม่แน่นอน กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน เดี๋ยวก็เปลี่ยนที่โน้น เดี๋ยวก็เปลี่ยนที่นี้อยู่ตลอดเวลา ส่วนมากผู้ที่เคยไปปฏิบัติอยู่ในสำนักโน้นบ้าง ปฏิบัติอยู่ในสำนักนี้บ้าง เมื่อเรามาปฏิบัติจริงๆ ลักษณะอย่างนี้จะเกิดขึ้น

       ๙. กำหนดครั้งใดก็เห็นแต่ความทุกข์ความเสื่อมจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปอย่างจริงจัง หรือบางทีเมื่อสภาวะคือความทุกข์ ความเสื่อมเกิดขึ้นในจิตในใจก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติกลุ้มใจ ทุกข์ใจ อยากให้ความทุกข์ อยากให้ความเสื่อม อยากให้เวทนาที่เป็นสังขารทุกข์นี้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน คือไม่อยากให้สภาวะอย่างนี้เกิด ความทุกข์ก็ไม่อยากให้เกิด ความเสื่อมก็ไม่อยากให้เกิด เวทนาก็ไม่อยากให้เกิด จิตใจคิดโน้นคิดนี้จิปาถะก็ไม่อยากให้คิด อยากให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้หายไป โดยคิดว่าถ้าสิ่งนี้หายไปการปฏิบัติของเราจะได้ดีกว่านี้ เอาไปเอามา เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันชุลมุนวุ่นวายอย่างนี้แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติเห็นทุกข์อย่างร้ายแรง เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นคิดอยากถึงพระนิพพาน ว่าถ้าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มันหมดไปสิ้นไปสูญไปจากตัวของเราแล้ว เราจะได้ถึงพระนิพพาน ถ้าอยู่ในพระนิพพานคงไม่มีความทุกข์อย่างนี้ ก็อยากถึงนิพพาน และจิตที่อยากถึงนิพพานนั้น โดยที่เราไม่ได้คำนึงมาก่อน ไม่ได้คิดมาก่อนว่าเราจะไปนิพพานหรือจะถึงนิพพาน แต่เมื่อปฏิบัติไปๆ สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมามันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อยากถึงพระนิพพาน

       ๑๐. กำหนดครั้งใด คือหมายความว่าเราจะกำหนดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายก็ตาม จะกำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการถูกก็ตาม จะกำหนดเวทนาก็ตาม จะกำหนดทางจิตใจก็ตาม เรากำหนดครั้งใดก็เห็นแต่ทุกข์แต่โทษของรูปนาม จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น ไปจากรูปจากนามอย่างจริงจัง

       ท่านอุปมาเหมือนกันกับปลาที่ติดอยู่ในข่ายในแห อยากออก อยากหนี อยากพ้น ไปจากข่าย จากแหฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับกบที่อยู่ในปากของงู อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากปากของงูฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกับไก่ป่าที่ถูกขังอยู่ในกรง อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากกรงฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับเนื้อที่ติดอยู่ในบ่วง อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากบ่วงฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับงูที่อยู่ในมือของหมองู อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากมือของหมองูฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับช้างที่ติดหล่ม อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากหล่มฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับพญานาคที่ติดอยู่ในปากของครุฑ อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากปากของครุฑฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับบุรุษที่อยู่ในวงล้อมของข้าศึก อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากวงล้อมของข้าศึกฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       สรุป ท่านทั้งหลาย สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ใจน้อยก็ใจน้อย งอแงก็งอแง โกรธง่าย เมื่อก่อนโน้นเราเคยนั่งกัมมัฏฐานได้นานๆ แต่เมื่อมาถึงนี้นั่งไม่ได้นานท่านทั้งหลาย ๕ นาทีก็ยังไม่ได้ แล้วก็เดิน แล้วก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม เดินไม่นานก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา คือสรุปแล้วว่าเราอยากนั่งกัมมัฏฐานได้นานๆ ก็นั่งไม่ได้ เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นสภาวะของญาณนี้ท่านทั้งหลาย

       เหตุนั้น เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา ทำจิตใจให้หนักแน่นมั่นคง อย่าโอนเอนไปตามสภาวะที่เกิดขึ้น และเมื่อท่านทั้งหลายไปแนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหา สภาวะอย่างนี้ขอให้อยู่ใกล้ชิด เวลาปฏิบัติถ้าหากว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วให้อยู่ใกล้ชิด อย่าปล่อย อย่าละเลย ให้อยู่ดู หากว่าเราไม่นั่งด้วยก็อยู่ห่างๆ มองดูอาการปฏิบัติ เพราะว่าสภาวะอย่างนี้ ถ้าเป็นเด็กหรือเป็นหนุ่มเป็นสาว ส่วนมาก ไม่เอาแล้ว เกิดขึ้นมาแล้วเลิกเลยไม่ยอมปฏิบัติต่อไป บางทีคนเฒ่าคนแก่ก็ยังเลิก ยังไม่ปฏิบัติ ก็คิดว่า เอ๊ะ ! กัมมัฏฐานบ้าๆ บอๆ อะไร จะมาทำให้เราเป็นบ้า กัมมัฏฐานบ้าๆ บอๆ อย่างไร มันจึงเป็นอย่างนี้

       โยมหลายๆคนอยู่ข้างวัดของเรานี้แหละ ข้างวัดทางทิศเหนือก็มี ทางทิศใต้ก็มี สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้น ตั้งแต่วันโน้นถึงวันนี้ยังไม่ยอมปฏิบัติกัมมัฏฐานเลย มันล่วงเลยมากี่ปีท่านทั้งหลาย ๒๕๑๔, ๒๕๑๕, ๒๕๑๖ มาถึงป่านนี้ก็ยังไม่ยอมเดินจงกรมนั่งสมาธิ ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติเลย เข็ดไปเลย ส่วนมากสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วผู้ปฏิบัติจะคิดว่า ภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน สิ่งที่คิดมาก เกิดมาก แล้วก็มีมาก เป็นมากที่สุดสำหรับผู้ปฏิบัติ ภาษาอีสานเรียกว่า ผิดของรักษา บ้านเฮาว่า ผิดผี ผิดของรักษา ทางภาคกลางก็คงจะรู้ พูดง่ายๆว่า ผิดของ หรือว่าเคยถือเวทย์มนต์กลคาถาอย่างโน้นอย่างนี้มาก็ผิดของ นี้จะเกิดมากสำหรับภาคอีสานของเรา บางทีเมื่อก่อนโน้นเคยถือ พวกผีกะไท้ พวกผีแถนผีอะไร เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ไม่เอาแล้วท่านทั้งหลาย นั่งซึมๆ อยู่ตลอดเวลา มีแต่ร้องห่มร้องไห้ ผลสุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ ก็ไป แต่ถ้าจิตใจสู้หน่อยก็สามารถเอาชนะได้ สภาวะอย่างนี้เกิดไม่นานหรอกท่านทั้งหลาย บางทีวันนั้นก็ผ่านเลย บางที ๕ นาทีผ่านเลย ถ้าสติสัมปชัญญะของเราดีๆ หน่อยก็ผ่านเร็ว แต่ถ้าสติสัมปชัญญะของเราไม่ดีเท่าที่ควร ลักษณะอย่างนี้อาจจะเป็นอยู่ ๑ วัน หรือ ๒ วัน ๓ วัน แต่เท่าที่สังเกตมาไม่เกิน ๗ วันมันก็ผ่านไป แล้วก้าวขึ้นสู่ญาณใหม่

       เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง มุญจิตุกัมยตาญาณ มาถวายความรู้ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 80.0.3987.132 Chrome 80.0.3987.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #113 เมื่อ: 25 มีนาคม 2563 09:21:00 »

.



ปฏิสังขาญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


      หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ปฏิสังขาญาณ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชีทั้งหลาย พอสมควรแก่เวลา

       ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่เข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้

       คือญาณที่ ๙ เป็นญาณที่กลุ้มใจ ใจน้อย งอแง โกรธง่าย ภาษาบ้านเราว่า เจ็บใจง่าย ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็มีแต่งอแงอยู่ตลอดเวลา มีแต่จับผิด อะไรก็จับผิดๆ ครูบาอาจารย์พูดอะไรก็จับผิด ครูบาอาจารย์เคลื่อนไหวร่างกายหน่อยก็จับผิด ครูบาอาจารย์พูดกับญาติกับโยมก็จับผิด อะไรๆ ก็มีแต่จับผิด สรุปแล้วว่าเป็นญาณใจน้อย ญาณกลุ้มใจ เป็นญาณที่จับผิดคนอื่นอยู่ตลอดเวลา

       สำหรับปฏิสังขาญาณนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ปฏิสังขาญาณนี้จิตใจจะเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ บางทีเวลาปฏิบัตินี้ การปฏิบัติของตนไม่สมใจ อยากได้เดี๋ยวนี้ๆ บางทีก็ยืนขาเดียว ขาหนึ่งเหยียบไว้ที่เข่า ข้างหนึ่งก็เอาเชือกหรือเอาด้ายมัดหัวแม่มือรวมกันแล้วก็เอาผูกขื่อกุฏิไว้อย่างนี้ก็มี

       มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่นี้ เมื่อถึงนี้แล้วใจฮึดใจสู้ขึ้นมา วันนั้นไม่ยอมเดินจงกรมตั้งใจทำวัตรเย็นเสร็จแล้วก็ยืนขาเดียว แล้วก็เอาเชือกผูกหัวแม่มือทั้งสองรวมกัน แล้วก็อีกข้างหนึ่งก็ผูกที่แปรไว้ เป็นเวลาตั้ง ๒ ชั่วโมง เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ครูบาอาจารย์สบายใจแล้ว ถึงอย่างไรๆ ก็จะไม่งอแงเหมือนเมื่อก่อน มีแต่สู้กับสู้ มันอยู่ในลักษณะอย่างนี้

       บางทีนั่งตากแดดเป็นชั่วโมงหรือหลายๆ ชั่วโมง บางทีก็นอนตากแดดเป็นเวลาหลายชั่วโมง บางทีก็นั่งตากฝน นอนตากฝน ก็เหมือนพวกเราทั้งหลาย ฝนตกพรำๆ แทนที่จะไปหลบไปซ่อนอยู่ในที่ดีๆ แต่ออกมายืนอยู่กลางฝน นอนอยู่กลางฝนไม่ยอมเข้าร่มอย่างนี้ก็มี บางทีก็เอากะละมังมา  นั่งอยู่ในกะละมัง บางทียืนอยู่ในห้วยนั้นจนน้ำมันถึงสะดือ หรือพ้นสะดือขึ้นมา อยู่อย่างนั้นแหละ ชั่วโมง สองชั่วโมงก็อยู่อย่างนั้น คือมีแต่จะเอาให้ได้ๆ มีแต่จะให้บรรลุๆ จิตใจมันเข้มแข็ง อย่างอื่นที่หลวงพ่อไม่ได้นำมาเล่า ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วก็จะมีลักษณะเดียวกัน

       พระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ที่นี้ มันคิดสู้ขึ้นมา หมายความว่ามันออกนอกเรื่อง สภาวะนี้เกิดขึ้นมาแล้วเอามีดผ่าผลไม้มากรีดแขน สามเณรวิ่งมาหาแล้วว่า “หลวงพ่อๆ เสร็จแล้วๆ” “เอ้า เสร็จอะไร” “เป็นแผลแล้ว” “อ้าว เป็นแผลก็เย็บสิ” “ไม่ได้ไปเย็บหลวงพ่อ เขาเย็บเอาเอง” “เย็บกี่แผลหละ” “๑๕ แผล” ถึงขนาดนั้นท่าน ใจดวงนี้มันเข้มแข็ง

       บางทีเราเดินทางไปพวกสุนัขตัวใหญ่ๆ สุนัขฝรั่งวิ่งแจ้นเข้ามาจะมากัด เฉย บางทีพวกหมาบ้า มันวิ่งมามันจะกัด หรือพวกควายถึกวัวถึกมันวิ่งมามันจะชน เฉย ไม่สนใจอะไร จิตใจมันจะเข้มแข็งหนักแน่นมั่นคง ยอมสู้ตาย เวลาพูดก็เหมือนกัน เวลามีการปาฐกอย่างนั้นปาฐกอย่างนี้ สามารถที่จะโต้คารมแบบสู้ตาย

       ลักษณะของญาณนี้

       ๑. บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี จะมีอาการเสียว แปลบๆๆ บนร่างกายของเรา เหมือนกันกับคนเอาเหล็กแหลมๆ เอาไม้แหลมๆ เอาเข็มแหลมๆ มาจี้ลงบนร่างกายเสียวแปลบๆๆ ขึ้นมา ภาษาอีสานว่า “เสี้ยนบ่ง” มันเหมือนเสี้ยนบ่ง เหมือนกับถูกเข็มมาทิ่ม ถูกไม้มาทิ่ม ถูกเหล็กแหลมๆ มาทิ่ม ท่านทั้งหลายสังเกตเวลาเดินกัมมัฏฐานจะเสียวแปลบๆๆ ตามร่างกาย เหมือนกับมีคนเอาเข็มมาทิ่มมาแทง บางทีก็เสียวแปลบๆ ขึ้นมาบนฝ่าเท้า บางทีก็เสียวแปลบๆ ขึ้นมาบนฝ่ามือ หลังมือ หน้ามือ เราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรไป นึกว่าเป็นภูตผีปิศาจอย่างนี้ก็มี ถ้าลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นก็แสดงว่า การปฏิบัติของเราผ่านมาถึงปฏิสังขาญาณแล้ว บางทีมีอาการเสียวแปลบๆๆๆ ตามร่างกาย เหมือนกับมีคนเอาเลื่อยมาตัดตามร่างกายของเรา เสียวแปลบๆ ขึ้นมา บางทีเหมือนกับมีคนเอาเลื่อยมาตัดตามขาของเรา บางทีเหมือนกับคนเอาเลื่อยมาตัดตามแข้งของเรา บางทีเหมือนกับคนเอาเลื่อยมาตัดที่คอของเราเสียวแปลบๆๆ ขึ้นมา

       ๒. มีเวทนามาก เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี มันเจ็บที่โน้นมันปวดที่นี้อะไรจิปาถะ แต่เวลาเรากำหนดมันหายเร็ว เรากำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย

       ๓. มีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา เหมือนกันกับเราไปกินยาประสาท นั่งซึมๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วเวลาเดินก็เดินซึมๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระปรี้กระเปร่า คล้ายๆ กับคนตื่นนอนใหม่ๆ นั่งซึมอยู่ตลอดเวลา เวลามีผู้มาพูดมาคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เฉยๆ ซึมๆอยู่ เขาถามก็ไม่พูด เขาถามอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่พูด บางทีผู้อยู่ใกล้ชิดก็ไม่กล้าถามไม่กล้าพูด เกิดความเกรงขึ้นมา

       ๔. ตัวแข็ง มือแข็ง แขนแข็ง เหมือนกันกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่ มีอาการแข็งขึ้นมา บางคนก็เข้าใจว่าพวกภูตผีปิศาจมาสิง เข้ามาสิงในร่างกาย ส่วนมากจะคิดอย่างนี้เข้าใจอย่างนี้ แต่สภาวะอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วทำให้มือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง คอแข็ง อยากกระดุกกระดิกก็กระดุกกระดิกไม่ได้ เหมือนกันกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่

       ๕. บางทีมีอาการตึงๆ หนักๆ ตามร่างกาย เหมือนกันกับคนเอาเหล็ก แท่งเหล็กหนักๆ ท่อนไม้หนักๆ ก้อนดินหนักๆ มาทับลงบนร่างกาย เราอยากเงยขึ้นก็ไม่ได้ สมมุติว่ามันมาทับเราฟุบลงไป ตัวของเรามันฟุบลงไปอย่างนั้น เราอยากเงยขึ้นมาก็เงยขึ้นไม่ได้ มันเหมือนกับเราถูกของหนักๆ มาทับ บางทีอาการตึงๆ หนักๆ อย่างนี้ ไม่ใช่มันหายเร็วนะท่านทั้งหลาย บางที ๑ ชั่วโมงไม่ยอมหาย คือเรายังเงยขึ้นไม่ได้ บางที ๒ ชั่วโมงก็ยังไม่หาย บางที ๓ ชั่วโมงก็ยังไม่หาย

       ส่วนมากสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาผู้ปฏิบัติจะเข้าใจว่าถูกผีสิง คือมันมาเต็งที่ตัวของเรามาทับที่ตัวของเรา แต่มันดีหน่อยสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วสู้ ไม่กลัวเรื่องเปรต เรื่องผี เรื่องศัตรูทั้งหลายทั้งปวงจะมาทำร้ายนี่ไม่กลัวเลย เอาเลย มึงไม่ตายกูตาย กูไม่ตายมึงตาย ยอมสู้ตาย บางทีเวลาปฏิบัติไม่สมใจนึก ยืนขาเดียวเป็นชั่วโมงก็ยังไม่สมใจ บางทีนั่งเป็น ๒-๓ ชั่วโมงก็ยังไม่สมใจ ทำอย่างไรก็ไม่สมใจ อยากให้บรรลุเดี๋ยวนี้ๆ ก็ไม่สมใจ อยากได้ฌานได้สมาบัติเดี๋ยวนี้ก็ไม่สมใจ บางทีก็ตั้งปณิธานในจิตในใจของตัวเองเลยว่า อยากให้การปฏิบัติมันผ่านไปเร็วๆ สาธุข้าพเจ้าขออธิษฐานแผ่นดินทั้งแผ่นนี้ให้แข็งเหมือนเพชร เมื่อใดแผ่นดินทั้งแผ่นแข็งเหมือนเพชรไม่ละลายเป็นน้ำไปข้าพเจ้าจะไม่ลดละการปฏิบัติเป็นเด็ดขาด มันสู้ถึงขนาดนั้นนะท่านทั้งหลาย ไม่เหมือนญาณที่ ๙ ญาณที่ ๙ มีแต่งอแง โกรธง่าย ใจน้อย มีแต่จะไปกับจะไปเท่านั้น มีแต่จะเลิกกับเลิก

       ๖. มีอาการแน่นอึดอัดเหมือนใจจะขาด คือลักษณะอย่างนี้เรียกว่าพระไตรลักษณ์มันเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จะมีอาการเร็วๆ ของสภาวะท้องพองท้องยุบ หรืออาการสม่ำเสมอกำหนดได้ดีก็ดี ส่วนมากสภาวะที่ทำให้เกิดอาการอึดอัด มันจะเกิดขึ้นมาเอง อึดอัดเหมือนกับใจจะขาด เหมือนจะตายเดี๋ยวนี้ๆๆ นี้เป็นสภาวะอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นตอนปฏิบัติส่วนมากสภาวะนี้เกิดขึ้นมา ถ้าอยู่ในญาณอื่นไม่ยอมปฏิบัติต่อไป ถ้าว่าญาณนี้ยอมตาย มันจะตายก็ตาย ดูไปเรื่อย

       ๗. ร้อนทั่วสรรพางค์กาย ร้อนเหมือนกับอังไฟ แต่บางทีลักษณะอาการร้อนมันเปลี่ยนแปลง มันเป็นอาการเย็นด้วย บางทีมันร้อน บางทีมันเย็น บางทีเราเดินจงกรมอยู่ เหมือนกันกับพวกภูตผีปิศาจมันลอยมาดันข้างหลังพรึบเข้ามาด้านหลังของเรา เย็นเหมือนกันกับใจจะขาด สะบั้นขึ้นมาในขณะนั้น สั่นตึกๆๆ ขึ้นมา แล้วในขณะที่มันเย็นๆ อยู่นั้นล่ะมันเย็นๆ เหมือนใจจะขาด

       บางทีเกิดความร้อนขึ้นมาหน้าอกเหมือนกับไฟเผา เหมือนกับอยู่บนกองไฟ ความร้อนมันจะไปเผาความเย็นให้หายไปๆๆ แล้วใจก็สบายขึ้นมาแล้วก็เดินจงกรม คิดว่า เออ ถ้าอาการอย่างนี้มันหายไปก็จะได้ดีใจ เดินจงกรมไปไม่ถึง ๗ ก้าวเย็นพรึบขึ้นมาด้านหลัง เหมือนกันกับเปรตกับผีมาทับที่ร่างกายของเรา มันเย็นเหมือนกันกับถูกน้ำแข็ง มันเย็นยิ่งกว่าอยู่ในห้องเย็น อาการเย็นมันเย็นถึงที่แล้ว ใจไม่สบาย อะไรหนออย่างนี้ ไม่สบาย พอดีในขณะที่มันเย็นๆอยู่นั่นแหละ ความร้อนมันเกิดขึ้นด้านหน้า หน้าอกก็ดี ท้องก็ดี ความร้อนนี้จะไปเผาความเย็นมันหายไป

       เวลาเรานั่งกัมมัฏฐานก็เหมือนกัน เรานั่งกัมมัฏฐานนี้มันร้อนขึ้นมาบนที่นั่งของเรา ร้อนเหมือนกับใจจะขาด บางทีเราร้อนๆอยู่นั้นมันเย็นขึ้นมาผิดปกติ เหมือนกับเรานั่งอยู่บนน้ำแข็ง ลักษณะอย่างนี้ก็ส่วนมากผู้ปฏิบัติสมาธิดี ปัญญาแก่กล้า สภาวะอย่างนี้เกิดชัดเจนมาก แต่บางทีท่านทั้งหลาย เวลามันเกิดขึ้นมา เวลามันร้อนขึ้นมา ร่างกายเรามันร้อนขึ้นมาเหมือนกันกับโยมแม่ของหลวงพ่อ ตอนมาปฏิบัติ เวลามันร้อนขึ้นมาวิ่งไปหาน้ำจะไปอาบน้ำ กำลังๆ จะอาบน้ำอยู่นั้นมันเย็นขึ้นมา วิ่งเข้าไปหาผ้าห่ม หาผ้านวมเอามาคลุม กำลังคลุมไปนิดเดียวเท่านั้นแหละเกิดร้อนขึ้นมาวิ่งไปหาโอ่งน้ำอีก เหมือนกับคนเป็นบ้า แต่ยังไม่พอ ยังไม่ทำเนาท่านทั้งหลาย นอกจากมันเย็นมันร้อนแล้วยังไม่พอ กลับไปเจ็บท้องอีก บางทีทั้งร้อนทั้งเย็นทั้งเจ็บท้อง แต่ยังไม่พอ บางทีทั้งเย็นทั้งร้อนทั้งเจ็บท้องทั้งอาเจียนเหมือนจะตายไปในขณะนั้น อันนี้ก็ถือว่าเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ

       และสภาวะที่คล้ายคลึงกันนี้ก็มีมากท่านทั้งหลาย ที่หลวงพ่อไม่นำมาชี้แนะให้ฟัง อาการอื่นๆ ก็ยังมีอีกมากแต่ท่านทั้งหลายเมื่อมันเกิดขึ้นมาเราเทียบเคียง เปรียบเทียบกันว่า มันเป็นลักษณะของสภาวะไหน เกิดขึ้นมาเพราะอะไร สภาวะอย่างนี้ส่วนมากเกิดไม่นาน บางทีก็ผ่านไปในชั่วโมงนั้นเลย ไม่เหมือนสภาวะอย่างอื่น เช่น อาทีนวญาณก็ดี นิพพิทาญาณก็ดี มันอยู่นาน อยู่นานที่สุดก็คืออุทยัพพยญาณ บางทีมีลักษณะอย่างนี้อยู่ตั้ง ๗ วัน บางทีตั้ง ๑๕ วันจึงจะผ่านได้ แต่เมื่อมันผ่านอุทยัพพยญาณไปแล้ว ภังคญาณหรืออาทีนวญาณก็ผ่านไปได้เร็ว

       เท่าที่หลวงพ่อได้ชี้แนะสภาวะของปฏิสังขาญาณมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 80.0.3987.162 Chrome 80.0.3987.162


ดูรายละเอียด
« ตอบ #114 เมื่อ: 01 เมษายน 2563 15:17:01 »




สังขารุเปกขาญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       สำหรับวันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สังขารุเปกขาญาณ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกชีทั้งหลายสืบไป

       สังขารุเปกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม คือหมายความว่า เมื่อประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานดำเนินมาตามลำดับๆ จนถึงมุญจิตุกัมยตาญาณ คือญาณที่พิจารณาหาทางหลุดพ้นไปจากรูปจากนาม เมื่อพิจารณาหาทางหลุดพ้นไปจากรูปจากนามแล้วจิตใจก็เข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย หวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ เมื่อไม่สามารถที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน คือหมายความว่าใช้ความพยายามจนถึงที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถจะข้ามได้ จิตดวงนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว สังขารุเปกขาญาณก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณา

       การประพฤติปฏิบัติ เราจะบังคับบัญชาให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ คือหมายความว่า ต้องการจะให้รูปนามนี้เป็นอย่างนั้น ต้องการที่จะให้รูปนามเป็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะวางเฉยต่อรูปต่อนาม เมื่อมาถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว สภาวะต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นในช่วงสังขารุเปกขาญาณนี้ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ลักษณะที่จะเกิดขึ้นมีดังนี้

       ๑. ไม่กลัว ไม่ยินดี ใจเฉยอยู่กับรูปกับนาม คือเฉยอยู่กับอาการพองอาการยุบ คือกลัวก็ไม่กลัว ยินดีก็ไม่ยินดี จิตใจวางเฉยแล้วตอนนี้ มองดูรูปดูนาม เฉยๆอยู่ มันจะเป็นอย่างไรก็ดูเฉยอยู่ สภาวะจะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือเวทนาจะเกิดขึ้น หรือจิตมันจะคิดอย่างไรก็ตาม ก็มีแต่มองเฉยดูรูปดูนามอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความยินดียินร้ายอะไรทั้งสิ้น

       ๒. ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ แต่มีสติสัมปชัญญะดี ไม่เผลอจากรูปจากนาม คือเมื่อมาถึงนี้กำหนดรูปนามได้สบายๆ เดินก็กำหนดได้สบายๆ ไม่เหมือนเมื่อก่อน เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็สบายๆ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้แล้วรู้สึกทุกสิ่งทุกอย่างมันสบายไปหมด เมื่อก่อนนั้นจิตใจของเรามันกวัดแกว่งหวั่นไหว อะไรจิปาถะมันเกิดขึ้นมา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ ก็จะเกิดขึ้นมา จิตใจก็จะเป็นไปตามอาการของสภาวะที่เกิดขึ้นนั้นๆ แต่เมื่อมาถึงนี้ จิตใจจะวางเฉยต่อรูปต่อนาม คล้ายๆกับว่าบรรลุแล้วตอนนั้น ไม่มีความดีใจ ไม่มีความเสียใจ อยากได้ก็ไม่เชิง ไม่อยากได้ก็ไม่เชิง แต่การกำหนดพระกัมมัฏฐานรู้สึกว่ามันทันทุกอย่าง กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กำหนดอาการพอง อาการยุบ ทุกสิ่งทุกอย่างมันกำหนดได้ เรากำหนดได้หมด และกำหนดไม่ยาก และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขะมักเขม้น ไม่จำเป็นที่จะบังคับ แต่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

       ๓. จำง่าย กำหนดสะดวกสบายดีดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

       ๔. สมาธิดี ใจสงบไปได้นานๆ ยิ่งนานเท่าไรก็ยิ่งละเอียด ยิ่งกำหนดไปเท่าไรๆ ก็ยิ่งละเอียด เหมือนกันกับเราร่อนแป้ง ยิ่งร่อนยิ่งละเอียด และการกำหนดพระกัมมัฏฐานก็กำหนดได้ดี กำหนดไปเพลินไปๆๆ เหมือนกันกับรถยนต์ที่วิ่งบนถนนลาดยางที่เรียบๆ ทำให้ผู้ขับนั้นเพลิดเพลินไปจนลืมเวลาไป

       ๕. ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ รูปเสียงไม่ปรากฏมารบกวนได้เลย เมื่อก่อนโน้นได้ยินเสียงที่โน้นก็รำคาญ ได้ยินเสียงที่นี้ก็รำคาญ สรุปแล้วว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดๆ เกิดขึ้น เมื่อก่อนนั้นรำคาญ หงุดหงิด แต่เมื่อมาถึงนี้ รูปก็ดี เสียงก็ดี อะไรก็ดีจะเกิดก็ไม่รำคาญไม่หงุดหงิด

       สมมุติว่าเขามาเล่นละคร มาฉายภาพยนตร์ หรือลำเรื่อง หรือตั้งวงดนตรีที่ข้างวัดของเรา หรือที่ใกล้ๆ บ้านของเรา ก็ไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหวไม่รำคาญอะไรทั้งสิ้น เหมือนกับว่ามันอยู่คนละชิ้น อยู่คนละอัน เสียงก็อยู่กับเสียง ใจของเราก็อยู่ที่ใจของเรา มันไม่รำคาญหงุดหงิดอะไรทั้งนั้น ในขณะนั้นคล้ายๆกับว่าเราสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว คล้ายๆกับว่าเราบรรลุมรรคผลพระนิพพานเป็นพระอริยบุคคลได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วในขณะนั้น

       มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ที่นี้ วันนั้นเขาเล่นหมอลำหมู่ หมอลำเรื่อง เพื่อนๆก็ชวนกัน วันนี้พวกเรามาแข่งสมาธิกัน ใครจะเอาชนะเสียงนี้ได้ ถ้าว่าใครเอาชนะเสียงไม่ได้ก็ลุกไป ผู้ใดที่เอาชนะเสียงได้ก็นั่งไป ปฏิบัติไปๆ ในขณะนั้นหมอลำเรื่องเขาก็ลำ เขาก็แสดง ครูบาอาจารย์ที่นั่งอยู่ในห้องร่วมกัน รูปนั้นก็ไปๆๆๆ เหลือแต่พระหลวงตารูปหนึ่งนั่งสมาธิจิตใจสงบ โน้น จนตอนเช้าเพื่อนๆ ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว รู้สึกตัวขึ้นมาก็ถามว่า หมอลำหมู่ไปไหน เขาไปไหนกันหมอลำหมู่ คือหมายความว่าหมอลำที่เขาแสดงแล้วเขาก็กลับไปแล้ว

       นี่แหละท่านทั้งหลาย หากว่าสภาวะของญาณนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้จิตใจสบายๆ รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสอารมณ์ใดๆ ไม่ปรากฏมารบกวนได้เลย แล้วก็เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่นโรคกระเพาะอาหาร โรคลมบ้าหมู โรคประสาทเป็นต้น เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้หายไป บางท่านก็หายไปชั่วครั้งชั่วคราว บางท่านก็หายไปเลย ไม่กลับอีก

       ดังที่ท่านหลวงปู่รูปหนึ่งปฏิบัติมาถึงนี้ แกเป็นโรคกระเพาะอาหารอย่างแรง เมื่อปฏิบัติมาอาการอย่างนี้ก็เกิดขึ้น ท้องร่วงอย่างหนักจนถ่ายเป็นสีดำ เพื่อนๆ หามส่งโรงพยาบาล แต่แกก็เฉยๆ ไม่ว่ากระไร บอกว่าตายก็ตาย ตายก็ยอมตาย แต่ใจไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหว ตามปกติ อาการอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว คนอื่นจะหวั่นไหวในจิตในใจ เกรงว่าจะล้มหายตายจากไป แต่แกก็เฉยๆ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผลสุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี โรคภัยไข้เจ็บหายจากวันนั้นจนวันนี้ ไม่กลับเกิดขึ้นอีกเลย

       แล้วก็มีโยมผู้หญิงคนหนึ่ง อยู่บ้านเหมือดแอ่ ปีนั้นหลวงพ่อไปสอนกัมมัฏฐาน พอดีไปสอบอารมณ์ แกบอกว่า “หลวงพ่อ ฉันเป็นโรคอย่างนี้ๆๆ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีอาการชัก อาการกระตุกแล้วก็ลืมสติเป็นเวลา ๑ วัน หรือ ๑ วัน ๑ คืน อาการเช่นนี้มันเกิดขึ้น ลูกๆ หลานๆ พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายก็เอาน้ำมารด บางที ๕ ถัง บางที ๑๐ ถัง ๑๕ ถังมาเทมาราด” ภาษาอีสานว่า “เอาน้ำมาหด” แต่โรคภัยไข้เจ็บนั้นก็ไม่หาย สามีของแกก็ไปเรียนธรรม ส่วนมากคนก็จะว่าผีสิง เป็นโรคผีสิง เมื่อเวลาผีมันสิงแล้วก็จะมีลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น พูดโน้นพูดนี้อะไรจิปาถะ คนทั้งหลายก็คิดว่าเป็นผีสิง แกก็ไปเรียนวิชาอาคมมาปราบผี ผลสุดท้ายไม่หาย ไปเรียนมาจากอาจารย์โน้นอาจารย์นี้ รักษา แต่ก็ไม่หาย แล้วก็อยู่มาก็ไปเรียนแพทย์แผนโบราณมารักษาก็ไม่หาย ไปเรียนแพทย์แผนปัจจุบันหายาฉีดยาอะไรมาฉีดกันก็ไม่หาย ป่วยอย่างนี้มาเป็นเวลาพอสมควร

       หลวงพ่อไปสอนกัมมัฏฐานวันนั้น เมื่อสอบอารมณ์ขึ้นมาแล้วแกก็บอกว่า “ฉันป่วยอย่างนั้น ฉันป่วยอย่างนี้” หลวงพ่อก็บอกว่า “คุณโยม ที่ป่วยอย่างนี้ไม่ใช่อื่นไกลหรอก ไม่ใช่ภูตผีปิศาจ ไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บอะไร แต่เรากำหนดไม่ทัน เวลาสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาเราก็กำหนดไม่ทัน หวั่นใจว่าจะเป็นอย่างนั้น หวั่นใจว่าจะเป็นอย่างนี้ จิตของเราเลยอุปาทาน” เมื่อจิตอุปาทานแล้ว จิตอุปาทานนั้นก็จะสร้างอาการอย่างนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากว่าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นมาให้คุณโยมกำหนดว่า “สั่นหนอๆๆ” ถ้าว่ายังไม่หายก็กำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” ไป หากยังไม่หายให้กำหนดว่า “หยุดหนอๆๆ หยุด!” แกก็ปฏิบัติ เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแกกำหนดดังกล่าวมาแล้วข้างต้น กำหนดว่า “หยุดหนอๆๆๆ” เมื่อกำหนดไปมันก็หายท่านทั้งหลาย เราบอกว่าถ้ากำหนดว่า “สั่นหนอๆๆ” ถ้าไม่หาย ให้กำหนด “รู้หนอๆๆ” ถ้าไม่หายให้กำหนดว่า “หยุดหนอๆๆ หยุด !” ถ้ามันยังเกิดขึ้นมาเราว่า “หยุด !” เกิดขึ้นมาก็ “หยุด!” เกิดขึ้นมาก็ “หยุด !” เดี๋ยวมันจะหายเอง แกก็ไปปฏิบัติตาม ผลสุดท้ายหายเด็ดขาดตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลาถึง ๒๐ กว่าปีแล้ว คนทั้งหลายในละแวกนี้เขาก็ว่าหลวงพ่อมีเวทย์มนต์กลคาถาดี เขาว่าธรรมท่านแก่ ไม่ต้องทำอะไรให้ภาวนาอย่างเดียวเท่านั้น ผีก็หายไป

       นี้แหละท่านทั้งหลาย สภาวะอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วโรคภัยไข้เจ็บมันหายไปได้ โรคที่จะหายก่อนเพื่อนคือโรคประสาท โรคประสาทนี้มันก็หายไปได้ โรคความดันสูงนี้ก็หายไปได้ ถ้าว่าเราเจริญกัมมัฏฐานจนสามารถเข้าสมาธิเข้าฌานได้ หรือจนมาถึงสังขารุเปกขาณาณนี้ หากว่ายังมีโรคประสาทมันยังเกิดขึ้นอยู่ หรือโรคความดันสูงยังเกิดอยู่ แสดงว่าเราปฏิบัติยังไม่ถูก การปฏิบัติยังไม่ถูกเต็มที่ ถ้าว่าการปฏิบัติของเรามันถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเราปฏิบัติถูกทุกสิ่งทุกอย่างตามครูบาอาจารย์ได้แนะนำพร่ำสอนไว้ โรคความดันสูงนี้มันจะหายเลยทันที หรือว่าโรคประสาทมันก็หายทันที แต่ส่วนมากพวกเราทั้งหลายไม่ค่อยสำเหนียก เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็ หวั่นใจ มันอยากเป็นอย่างนั้นอยากเป็นอย่างนี้ อุปาทานจิตมันก็เกิดขึ้นมา ผลสุดท้ายก็แสวงหาเอายาโน้นมากิน เอายานี้มากิน เอายาระงับประสาทมากินอะไรทำนองนี้มันก็ไม่หาย แต่ว่าถ้าเราปฏิบัติจริง ตั้งใจจริง ยอมสู้ตาย เราปฏิบัติเอาชีวิตเป็นเดิมพัน สภาวะอย่างนี้มันหายไปได้

       เพราะฉะนั้นเวลามาปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ก็ดี พระก็ดี เณรก็ดี แม่ชี หรือชาวบ้านก็ดี ถ้าเล่าเรื่องอย่างนี้ให้ฟังหลวงพ่อก็บอกทันทีว่าเราปฏิบัติยังไม่ถูก ถ้าเราปฏิบัติถูกแล้วโรคประสาทนี่มันหาย โรคความดันสูงนี้มันหาย ที่มันไม่หายก็แสดงว่าเราไม่สามารถทำลายอุปาทานจิตให้หมดไปได้ และเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ท่านทั้งหลาย โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายนั้น บางทีมันหายไปเลย บางครั้งก็หายไปชั่วครั้งชั่วคราว แล้วแต่เหตุปัจจัย สรุปแล้วท่านทั้งหลายเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ เราจะเดินจงกรมอยู่ก็เพลินๆ เดินไปเรื่อย เพลินไปเรื่อย จนลืมเวลาก็มี เช่นว่า เราจะเดินจงกรมสัก ๓๐ นาที เลยเวลาไปจนถึง ๑ ชั่วโมงก็มี คือมันเพลินไปเรื่อย เวลานั่งกัมมัฏฐานอยู่ เราตั้งใจว่าจะนั่งอยู่ ๓๐ นาที แต่มันเพลินไป จนถึง ๑ ชั่วโมงก็มี ๒ ชั่วโมงก็มี ๓ ชั่วโมงก็มี

       เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ทุกขเวทนาจะไม่มารบกวนได้เลย เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นสมบูรณ์แล้ว ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจะรู้ว่ามันสนุกสนาน มันเพลิดเพลินทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อสภาวะนี้แก่กล้าแล้ว ท่านทั้งหลายสภาวะอย่างนี้ก็จะดับไป เหมือนกันกับใบไม้ที่แก่ถึงที่แล้วก็สลัดใบ แล้วก็ใบใหม่ก็จะเกิดขึ้นมา ข้อนี้ฉันใด เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมดำเนินไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ มาตามลำดับๆ เมื่อสังขารุเปกขาญาณดับแล้ว อนุโลมญาณก็จะเกิดขึ้น หรือว่ามรรควิถีก็จะเกิดขึ้น เมื่อมรรควิถีเกิดขึ้นแล้วก็จะดำเนินไปตามทางจนถึงมรรคญาณ ผลญาณ ทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน

       ท่านทั้งหลาย สภาวะที่กล่าวมานี้ สภาวะของญาณที่ ๔ ญาณที่ ๕ โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน ถ้าโดยพยัญชนะแล้วแยกกัน ถ้าโดยอรรถนั้นเป็นอันเดียวกัน คือถ้าญาณที่ ๔ ชัดแล้ว ญาณที่ ๕ ถึงเลย แล้วก็ญาณที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน ขอให้ญาณที่ ๖ ชัดเถอะ เมื่อญาณที่ ๖ ชัดถึงที่แล้ว ญาณที่ ๗ ที่ ๘ ถึงกันเลย แล้วก็ญาณที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน ขอแต่ว่าญาณที่ ๙ ชัดเต็มที่แล้ว ญาณที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ถึงเลย เหตุนั้นเวลาสอบอารมณ์ท่านทั้งหลาย หากว่าญาณที่ ๔ มันชัดเต็มที่แล้วก็ถือว่าญาณที่ ๕ มันก็ถึงกันเลยพวกนี้ บางทีเราสอบอารมณ์ญาณที่ ๖ ที่ ๗ ไม่ทราบเลย ไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไรไม่ทราบเลย โน้นไปถึงญาณที่ ๘ จึงรู้ บางทีเมื่อถึงญาณที่ ๙ คือมุญจิตุกัมยตาญาณแล้ว เราไปสอบญาณที่ ๑๐ นี่ก็ไม่รู้เลย เมื่อถึงญาณที่ ๑๑ ถึงรู้ว่า เออ ถ้าลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเราผ่านมาแล้ว สรุปแล้วว่าถ้าญาณที่ ๔ ชัด ญาณที่ ๕ ถึงเลย ถ้าญาณที่ ๖ ชัด ญาณที่ ๗ ที่ ๘ ถึงเลย ถ้าญาณที่ ๙ ชัด ญาณที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ถึงเลย เมื่อญาณที่ ๑๑ ดับลงไปแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมรรควิถี คือทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ คือได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน

       ที่กล่าวมาทั้งหมด ๘ ประการตั้งแต่ต้นจนวันนี้ก็ถือว่า การทวนญาณหรือทวนสภาวะเราได้ทำแล้ว และสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย ใคร่ครวญตริตรองพิจารณา แยกแยะแล้วก็บันทึกไว้เป็นการกันลืม

         แต่ถ้าพูดโดยความจริงแล้ว สภาวะหรือญาณดังกล่าวมาแล้วข้างต้นไม่มีวันลืมท่านทั้งหลาย เพราะสภาวะนี้มันเกิดขึ้นมามันเกิดขึ้นโดยปัญญา เกิดขึ้นมาแล้วก็ประทับใจไม่ลืม ไม่เหมือนกันกับเราท่องหนังสือ เราท่องหนังสือสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน ฉบับหลวงอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่ท่องทุกวันๆ มันลืมได้ แต่สภาวะที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินี้ไม่มีลืม ถ้าเป็นของจริงแล้วไม่ลืม ถ้าเกิดแล้วก็เกิดอยู่อย่างนี้ไม่เหมือนอย่างอื่น บางคนก็ฝันเวลากลางคืนฝันอย่างโน้นฝันอย่างนี้ ที่ฝันไปๆ ว่า เออ มันมาบอกหวยอย่างนั้นอย่างนี้ ตื่นเช้ามาคิดว่าจะบันทึกไว้ โน้ตไว้ มันลืมไปแล้ว อารมณ์ใดๆ ที่มันเกิดขึ้นในเวลาฝันมันลืมไปแล้ว แต่สภาวะที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ไม่ลืม เกิดอย่างไรก็เกิดอยู่อย่างนั้นตลอดไป สำหรับวันนี้ก็ขอจบเพียงแค่นี้.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 81.0.4044.92 Chrome 81.0.4044.92


ดูรายละเอียด
« ตอบ #115 เมื่อ: 16 เมษายน 2563 16:19:13 »




อนุโลมญาณ (สัจจานุโลมิกญาณ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

      วันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง อนุโลมญาณ หรือ สัจจานุโลมิกญาณ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร และลูกชีทั้งหลายสืบไปจนกว่าจะสมควรแก่เวลา

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อเราทั้งหลายได้ลงมือเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนมีสติสัมปชัญญะ มีความเพียรสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นับตั้งแต่ญาณที่ ๓ ขึ้นมาตามลำดับๆ ถึงญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ ญาณที่ ๕ ภังคญาณ ญาณที่ ๖ ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณที่ ๗ อาทีนวญาณ ญาณที่ ๘ นิพพิทาญาณ ญาณที่ ๙ มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณที่ ๑๐ ปฏิสังขาญาณ ญาณที่ ๑๑ สังขารุเปกขาญาณ

       เมื่อสังขารุเปกขาญาณถึงวิถีสมบูรณ์แล้ว ก็จะส่งต่อเข้าอนุโลมญาณ หรือว่าเมื่อสังขารุเปกขาญาณสมบูรณ์แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมรรควิถี ดำเนินไปสู่การดับกิเลสและกองทุกข์ให้หมดไปจากขันธสันดาน อนุโลมญาณนั้นท่านแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

       ๑. อนุโลมญาณต่ำ คือ จะย้อนไปเอาญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เมื่อกำลังพอแล้วก็จะเข้าสู่อนุโลมญาณทันที เพื่อจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานทันที

       ๒. อนุโลมญาณสูง คือ อนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ต่างก็จะมารวมกันตรงญาณนี้ ญาณอื่นไม่รวม

       อนุโลมญาณนั้นผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้คือ                            

       ๑. อนิจจัง ถ้าผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว หรือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้นได้เคยให้ทานรักษาศีลมาโดยสมบูรณ์แล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ชัดเจนด้วยปัญญา คือหมายความว่า ถ้าเราทำบุญทำทานมาด้วยการให้ทานรักษาศีล เวลามาประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน อนิจจังก็จะปรากฏชัด

       อนิจจังนั้นมีลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป คือ รูปนามขันธ์ ๕ มันดับลงไปในขณะนั้น เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของอนิจจัง

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามเรามาแต่หลายชาติหลายภพ หลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานตามกำลังของมรรค อันนี้เรียกว่า อนิจจัง

       ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยที่หาอะไรเป็นนิมิตไม่ได้ หาอะไรเป็นเครื่องหมายไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นเครื่องหมายไม่ได้

       ๒. ทุกขัง ถ้าผู้ใดได้เคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะผ่านทางทุกขัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้

       ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ”   “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะรู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางท่านก็แน่นมากจริงๆ จนถึงกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆๆ” แน่นขึ้นๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป หรือสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

       หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้

       หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

       พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ !  เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันหลับไปเมื่อตะกี้ หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดศีรษะ บางทีก็งง บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป

       ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยที่หาอะไรเป็นที่ตั้งไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่ตั้งไม่ได้

       ๓. อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว หรือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาแล้วจะผ่านทางอนัตตา คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้

       ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป คือขาดความรู้สึกลงไป หรือรูปนามมันดับลงไป เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

       หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

       พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี๊นี้ บางท่านก็ปวดหัว บางท่านก็งง ไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป

       ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยอาการว่างเปล่า คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมีเท่านี้นะท่านทั้งหลาย ปฏิบัติรู้เท่านี้ แต่ถ้าเอาปริยัตินั้นไม่รู้อย่างนี้

       สมมุติว่าเอาปริยัติมาจับวิถีจิตของมัณทบุคคล ชวนจิตดวงที่ ๑ จะมีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๒ ขณะ เวลาจะเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน วิถีจิต อตีตังภวังค์ ภวังค์ของอดีต ภวังค์สะเทือน ภวังคจลนะ ภวังค์คุปัจเฉทะ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร คือลงทางหัวใจ เมื่อขึ้นจากมโนทวารแล้ว จึงจะได้บริกรรมว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” ชวนจิตดวงที่ ๑ บริกรรม ชวนจิตดวงที่ ๒ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๓ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๔ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๕ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๖ ที่ ๗ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์ เมื่อขึ้นจากภวังค์มาแล้วจึงจะได้พิจารณา จึงจะเป็นญาณที่ ๑๖

       แต่ถ้าเป็นวิถีจิตของติกขบุคคล คือคนที่มีปัญญามาก มีบุญมาก ชวนจิตดวงที่ ๑ จะไม่มีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๓ ขณะ ในขณะที่เราจะบรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้น วิถีจิตอตีตังภวังค์ ภวังค์อดีต ภวังค์สะเทือน ภวังคจลนะ ภวังค์คุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร พอดีขึ้นจากมโนทวารมา กำลังจะบริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไม่ได้ว่า มันไปก่อนแล้ว คือมันเฉียดมรรคเข้าไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๑ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๒ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๓ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๔ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ สามขณะนี้ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาจึงจะได้พิจารณา จึงจะเป็นญาณที่ ๑๖

       ติกขบุคคลนี้หายากท่านทั้งหลาย ๑๐๐ คนจึงจะมีสักคนหนึ่ง ติกขบุคคลนี้เวลามาประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัตินั้นจะดำเนินไปได้ง่ายๆ บางทีเราปฏิบัติชั่วโมงนั้นก็ผ่านไปชั่วโมงนั้น บางทีปฏิบัติอยู่ ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ก็สามารถที่จะผ่านการปฏิบัติไปได้

       ติกขบุคคลนี้ เวลาประพฤติปฏิบัติผ่านการปฏิบัติไปแล้ว บางคนก็สามารถเข้าผลสมาบัติอยู่ได้ ๓ ชั่วโมงบ้าง ๖ ชั่วโมงบ้าง ๘ ชั่วโมงบ้าง ๑๒ ชั่วโมงบ้าง ๒๔ ชั่วโมงบ้าง หรือ ๗ วัน ๗ คืนบ้าง อันนี้เป็นลักษณะของการบรรลุมรรคผลพระนิพพาน

       ต่อไป เมื่อกล่าวมาถึงนี้ท่านทั้งหลาย บางท่านอาจจะเข้าใจว่า เอ๊ะ! หลวงพ่อ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่าผมหรือฉันได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้วละซิ อาจจะคิดอย่างนี้ก็ได้ ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งคิดเช่นนั้น อย่าเพิ่งพยากรณ์เช่นนั้น เพราะว่าการดับเหมือนมรรคผลพระนิพพานนั้นมีมาก เช่น

       ๑. ปีติ ในญาณ ๓ เวลาเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปๆ เกิดปีติขึ้นมาสัปหงกวูบลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของปีติ

       ๒. ปัสสัทธิ จิตและเจตสิกสงบมาก เรากำหนดไปๆๆ ปัสสัทธิเกิดขึ้นมาดับวูบลงไป คือมันสัปหงกวูบลงไป เหมือนกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่ อันนี้เป็นการดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ

       ๓. สมาธิ เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐานเรากำหนดได้สบายๆ จิตใจของเราจดจ่ออยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่เผลอเลย พองหนอยุบหนอ พองหนอยุบหนอ ไม่เผลอเลย กำหนดได้สบายๆ ในขณะที่เรากำหนดได้สบายๆ แล้วจิตใจของเราดิ่งลงในสมาธิ ตั้งอยู่ในสมาธิอยู่นั้นแหละ สัปหงกวูบลงไปโดยไม่รู้สึกตัว อันนี้เรียกว่ามันดับด้วยอำนาจของสมาธิในญาณ ๓

       ๔. อุเบกขา ในญาณ ๓ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน พองหนอยุบหนอไป จิตใจของเราลอยๆ เลือนๆ ไปตามอารมณ์ กำหนดไปเพลินไปๆๆ ในขณะที่เรากำหนดเพลินๆ อยู่นั้นแหละ สัปหงกวูบลงไป คือ มันดับลงไป อันนี้เรียกว่าดับด้วยอำนาจของอุเบกขาในญาณ ๓

       ๕. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชอบจะเป็นตอนดึกๆ หรือตอนรับประทานอาหารฉันภัตตาหารแล้วใหม่ๆ เวลาไปเจริญพระกัมมัฏฐาน กำหนดไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ตาซึมๆ อยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไปตาใสขึ้นมาแล้ว กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไปตาใสขึ้นมาแล้ว เพราะเวลามันสัปหงกวูบลงไปนั้น จิตของเราก็ลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์ก็หายง่วง ท่านทั้งหลายจะเอาอาการดับเพียงแค่นี้มาตัดสินว่าเราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วนั้นไม่ได้นะ คือการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นต้องเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจริงๆ แล้วก็ต้องจำได้จริงๆ ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ ต้องรู้จริงๆ ไม่ใช่เดาเอา ไม่ใช่คาดคะเนเอา จึงจะใช้ได้

       คือพระไตรลักษณ์นี้จะปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติ ๓ ครั้ง

       ครั้งที่ ๑ ปรากฏในญาณที่ ๓ ถูกครึ่งหนึ่งผิดครึ่งหนึ่ง โดยมากคิดเอาเอง

       ครั้งที่ ๒ ปรากฏในญาณที่ ๔ ถูก ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แต่จำไม่ได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก ก็ยังจำไม่ได้ คือจำไม่ได้ว่ามันดับลงไปเวลาไหนอย่างไร จำไม่ได้

       ครั้งที่ ๓ ปรากฏในญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ ถูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สามารถจำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองก็รู้ ดับลงไปตอนยุบก็รู้ รู้จริงๆ ไม่ใช่คาดคะเนเอา ไม่ใช่คิดเอา ไม่ใช่คาดคะเนเอา อย่างนี้จึงจะใช้ได้

       สรุปอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน จะมีลักษณะ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อาการท้องพองท้องยุบของเรา เร็วขึ้นๆๆ เป็นลักษณะของอนิจจัง พองยุบฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เป็นลักษณะของทุกขัง พองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ นี้ลักษณะของอนัตตา เสร็จแล้วก็จะดับวูบลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้เฉพาะญาณที่ ๑๒ กับญาณที่ ๑๖ เท่านั้น ส่วนญาณที่ ๑๔, ๑๕ นั้นไม่รู้

       บางคนเคยถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ เวลาอยู่ในญาณที่ ๑๔, ๑๕ รู้ไหม” ตอบว่า “รู้” ก็ได้ “ไม่รู้” ก็ได้ ที่ตอบว่ารู้ คือ มันรู้เหนือโลก แต่คนทั้งหลายเห็นว่าไม่รู้ แต่วิถีจิตของเขาก็บอกว่ารู้ ที่ตอบว่าไม่รู้คือไม่รู้โลกีย์ ไม่รู้อย่างคนธรรมดา ถ้ารู้อย่างคนธรรมดาก็เป็นพระนิพพานไม่ได้ เพราะพระนิพพานนั้นเป็นขันธวิมุติ พ้นจากขันธ์ ๕ ถ้ามีขันธ์ ๕ อยู่เพียงขันธ์เดียวก็เป็นพระนิพพานไม่ได้ มีพระบาลีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า ฉนฺทชาโต อนกฺขาเต มนสา จ ผุโฐ สิยา ผู้มีฉันทะถึงพระนิพพานซึ่งใครๆบอกไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าพระนิพพานเหมือนรถ เหมือนเรือ เหมือนแม่น้ำ ทะเลหลวงชลาลัย เหมือนดวงอาทิตย์ ดวงดาว ดวงจันทร์ไหม บอกไม่ได้ทั้งนั้น บอกได้แต่ว่ามันดับ คือ ขณะนั้นรูปนาม ขันธ์ ๕ มันดับไป

       ต่อไปเมื่อทำได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย อาจารย์ก็จะให้อธิษฐานว่าธรรมวิเศษที่เกิดแล้วขออย่าได้เกิดอีก ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่ยังไม่เกิดขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้เถิด เดินจงกรมไป นั่งไป ปฏิบัติไป ถ้ามีแล้วก็จะไม่เกิด แต่ถ้าไม่มีก็จะเกิด คือ หมายความว่าถ้ายังไม่ได้บรรลุก็จะได้บรรลุ แต่ถ้าบรรลุแล้วก็ไม่ได้บรรลุอีก เว้นไว้แต่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณรอบต่อไป

       เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย ท่านก็จะให้อธิษฐาน “สาธุ ธรรมวิเศษที่เกิดแล้วขออย่าได้เกิดอีก ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่ยังไม่เกิดขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้เถิด นั่งไปๆๆ สัปหงกวูบลงไปเราจำได้ หลังจากนั้นครูบาอาจารย์ก็จะอธิษฐานว่า “ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ขอให้ความเกิดดับ เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” นี้เราอธิษฐานดูผลสมาบัติว่าเราปฏิบัติมานี้ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วหรือยัง เราก็จะดูผลจิต คือ ผลจิตนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่มรรคจิตนั้นจะเกิดเพียงหนเดียว ในชีวิตหนึ่งเกิดขึ้นหนเดียว แต่ผลจิตนี้จะเกิดบ่อยๆ กำหนดครั้งใดเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันสมบูรณ์มันถูกที่แล้วก็จะเกิดขึ้นบ่อยๆ

       หลังจากนั้นอธิษฐานสั้นลงไปว่า “ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ขอให้ความเกิดดับ เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” ใน ๑ ชั่วโมงนี้ถ้าว่าเกิดขึ้นอย่างน้อย ๕ นาทีถือว่าใช้ได้ คือถ้ามันดับลงไป ๕ นาทีถือว่าใช้ได้ ถือว่ามีสมาธิสูงพอสมควร แต่บางท่าน ๑ ชั่วโมงนี้เกิดขึ้น ๓๐ ครั้งก็มี

       เสร็จแล้ววันหลังท่านก็อธิษฐานต่อไปว่า “ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป” ถ้านั่ง ๑ ชั่วโมงท่านก็อธิษฐาน “ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑ ชั่วโมง” เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วก็ย่อลงไป “ภายใน ๓๐ นาทีนี้ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓๐ นาที” อันนี้เรียกว่าดูผลจิต หรือดูผลสมาบัติ ที่พาปฏิบัติมานี้เราปฏิบัติมาถูกหรือไม่ ได้สมาธิได้สมาบัติหรือไม่ คือการอธิษฐานอย่างนี้ อธิษฐานดูผลสมาบัติ สมาบัตินั้นจะมีอยู่ ๓ ประการ คือ

       ๑. ฌานสมาบัติ ปุถุชนทั่วไปที่เจริญสมถะกัมมัฏฐาน ได้ฌานแล้วสามารถที่จะเข้าได้

       ๒. ผลสมาบัติ เข้าได้เฉพาะพระอริยบุคคลเท่านั้น ปุถุชนทั่วไปเข้าไม่ได้ แต่พระอริยบุคคลที่จะเข้าผลสมาบัตินี้ ต้องเข้าของใครของมัน เข้าผลของกันไม่ได้ สมมุติว่าผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วจะมาเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะมาเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะมาเข้าผลสมาบัติของพระโสดาบันก็ไม่ได้ หรือว่าพระโสดาบันจะไปเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอรหันต์ก็ไม่ได้ เพราะผลสมาบัตินี้เป็นผลของใครของมัน เข้าผลของกันไม่ได้ การเข้าผลสมาบัตินี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

       ๓. นิโรธสมาบัติ เข้าได้เฉพาะพระอนาคามีกับพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น นอกนั้นจะเข้าไม่ได้ คือหมายความว่า ก่อนที่จะได้บรรลุเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์นี้ได้เจริญสมถกัมมัฏฐาน ได้สมาบัติ ๘ มาก่อน เมื่อเราได้สมาบัติ ๘ มาอย่างนี้แล้วเวลาเราบรรลุหรือว่าสำเร็จเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ก็สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ หรืออีกอย่างหนึ่งเมื่อก่อนโน้นไม่เคยได้สมาบัติ ๘ มาก่อนเลย แต่ว่าเป็นประเภทฌานลาภีบุคคล คือฌานเกิดพร้อม เวลาได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์นั้น ฌานเกิดพร้อมเลยเรียกว่าฌานลาภีบุคคล คือบุคคลผู้มีลาภฌานเกิดพร้อม อย่างนี้ก็สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ นิโรธสมาบัตินี้เป็นโลกุตตระมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

       ต่อไปอริยสัจ ๔

       อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณไหน อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณที่ ๑๒ ญาณอื่นไม่เห็น อริยสัจ ๔ เวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั้น อาการพองอาการยุบของเราพองขึ้นมาเส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน หรือสามเส้นขนนี้เป็นตัวสมุทัยสัจ คือตัวเหตุ เมื่อมีเหตุแล้วก็มีผล คือ อาการพองนั้นจะสูงขึ้นๆๆ จวนๆจะดับ ตอนนี้เป็นตัวทุกขสัจ คือ มันทนอยู่ไม่ได้ อาการพองอาการยุบพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มพอง กลางพอง จนถึงอาการพองอาการยุบมันดับพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไปเป็นตัวมรรคสัจ นี้อริยสัจ ๔ เวลาปฏิบัติมีเท่านี้ท่านทั้งหลาย ไม่เหมือนกับเราเรียนมาในภาคปริยัติ แต่ว่าอริยสัจ ๔ นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันนะจึงจะใช้ได้ ถ้าไม่พร้อมกันใช้ไม่ได้

       อริยสัจ ๔ เวลาปฏิบัติมีเท่านี้ท่านทั้งหลาย แต่ถ้าปริยัตินั้นไม่รู้ สมมุติว่าเราเอาปริยัติมาจับ อะไรเป็นทุกข์ ทุกข์มาจากไหน ทุ แปลว่า ชั่วหยาบ ขะ แปลว่า ทน คือมันทนอยู่ไม่ได้

       อะไรมันทนอยู่ไม่ได้

       รูป ๒๘ เจตสิก ๕๒ โลกิยจิต ๘๑ รวมเป็น ๑๖๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       รูป ๒๘ คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ รวมเป็นทุกขสัจ

       เจตสิก ๕๒ คือ อัญสมานเจตสิก ๑๒ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       โลกิยจิต ๘๑ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง กามาวจรจิต ๒๔ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๕ ดวง รูปาวจรจิต ๑๒ ดวง รวม ๘๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       ย่อให้สั้นได้แก่ขันธ์ ๕ คือ รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือเป็นสังขารขันธ์ จิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์

       ย่อให้สั้นได้แก่ รูปกับนาม คือ รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ นามจิตกับนามเจตสิกเป็นนามขันธ์

       กว่าเราทั้งหลายจะเรียนให้รู้ให้เข้าใจทั้งพรรษาก็ยังไม่จบท่านทั้งหลาย แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติแป๊บเดียวเท่านั้นผ่านไปแล้ว แต่อริยสัจ ๔ นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันนะจึงจะใช้ได้ อุปมาเหมือนกับว่าเราจุดเทียนไขจะมีลักษณะ ๔ อย่างเกิดขึ้นพร้อมกันคือ

       ๑. ไส้เทียนไขหมดไป

       ๒. ไขสัตว์หมดไป

       ๓. แสงสว่างโผล่ออกมา

       ๔. ความมืดหายไป

       ลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันเหมือนกันฉันนั้นจึงจะใช้ได้ แต่ถ้าอริยสัจทั้ง ๔ นี้ไม่เกิดพร้อมกันก็ใช้ไม่ได้

       ต่อไป วิสุทธิ ๗

       วิสุทธิ ๗ กับวิปัสสนาญาณ ๑๖ เป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเทศน์พิสดาร เรียกว่า เทศน์วิปัสสนาญาณ ถ้าเทศน์ย่อ เรียกว่า วิสุทธิ ๗

       วิสุทธิ ๗ นั้นดังนี้ คือ

       ๑. สีลวิสุทธิ มีศีลอันบริสุทธิ์ ในขณะที่เราเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่นั้น กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ของเราบริสุทธิ์นี้เป็นศีล ศีลนี้เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน สีลวิสุทธินี้มีรูปนามเป็นอารมณ์ สีลวิสุทธิ มีศีลอันบริสุทธิ์ คือ หมายความว่าในขณะที่เราเดินจงกรมอยู่ก็ดี นั่งภาวนาอยู่ก็ดี กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ของเราบริสุทธิ์ดี นี้เป็นศีล ศีลนี้เรียกว่าเป็นปรมัตถศีล เป็นศีลที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ไม่เหมือนกันกับศีลทั้งหลายที่พวกเราทั้งหลายสมาทานและปฏิบัติมา ศีลนั้นเรียกว่ายังเป็นปกติศีลอยู่ สมมติว่าเราไม่ฆ่าไก่ก็มีไก่เป็นอารมณ์ ไม่ฆ่าปลาก็มีปลาเป็นอารมณ์ ไม่ฆ่าเนื้อก็มีเนื้อเป็นอารมณ์

       ๒. จิตตวิสุทธิ มีจิตอันบริสุทธิ์ คือในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น จิตของเราตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ กำหนดได้มาก เผลอน้อย จิตของเราบริสุทธิ์ เป็นจิตตวิสุทธิ มีรูปนามเป็นอารมณ์

       ๓. ทิฏฐิวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ คือ เห็นรูปเห็นนาม สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ ได้แก่ญาณที่ ๑

       ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย ก็คือเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม ได้แก่ญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณ

       ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย ได้แก่ญาณที่ ๓ อย่างอ่อน เข้าสู่เขตญาณที่ ๓ อย่างแก่เข้าสู่ญาณที่ ๔ หรือพูดเอาสั้นๆ ว่า ได้แก่ญาณที่ ๓ จนถึงญาณที่ ๔ อ่อนๆ เรียกว่ามีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ว่า ทางนี้ผิด ทางนี้ถูก แล้วละทางผิดยึดทางถูกต่อไป ก็ได้แก่ ญาณที่ ๔  คืออุทยัพพยญาณ

       ๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ ความเห็นดำเนินไปตามลำดับ ก็ได้แก่ญาณที่ ๔ อย่างแก่ แล้วก็เข้าสู่ญาณที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ที่ ๑๒ เป็นโลกิยะ มีรูปนามเป็นอารมณ์

       ๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้อันบริสุทธิ์ ก็ได้แก่ ญาณที่ ๑๔ ญาณที่ ๑๕ คือมรรคญาณ ผลญาณ เป็นโลกุตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ สำหรับญาณที่ ๑๖ เป็นโลกิยะ แต่ใช้จิตมหากุศลพิจารณา ญาณที่ ๑๓ อยู่ระหว่างโลกิยะและโลกุตระต่อกัน วิสุทธิ ๗ เวลาปฏิบัติมีเท่านี้ท่านทั้งหลาย

       ต่อไปกิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่

       กิเลสถ้าดื้อมีอยู่ ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๑ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๑ ถึงนิพพานครั้งที่ ๑ โลภะละได้ ๔ ตัว โทสะละไม่ได้ โมหะละได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๒ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๒ ถึงนิพพานครั้งที่ ๒ โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะละไม่ได้แต่อ่อนกำลังลง โมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิมคือวิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๓ ถึงนิพพานครั้งที่ ๓ โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ

       นี้แหละท่านทั้งหลาย คนเราจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟอย่างไรก็ตาม เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ความโกรธนั้นจะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิมคือ วิจิกิจฉา

       ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๔ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๔ ถึงนิพพานครั้งที่ ๔ โลภะก็จึงจะละได้ครบทั้ง ๘ ตัว โมหะละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ

       นี้แลท่านทั้งหลาย ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้ ผู้นั้นพึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า เออ ขีณนิรโยมฺหิ เรานี้พ้นแล้วจากนรก ขีณปิตฺติวิสโย เราพ้นแล้วจากกำเนิดเปรต อสุรกาย ขีณติรจฺฉานโยนิ เราพ้นแล้วจากกำเนิดดิรัจฉาน โสตาปนฺโน นาม เราเป็นพระโสดาบัน อกุปฺปธมฺโม เราเป็นผู้มีธรรมที่ไม่กำเริบ สมฺโพธิปรายโน เราจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในวันข้างหน้า สามารถที่จะพยากรณ์ตนเองได้เลย

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่กล่าวมาถึงนี้ ท่านผู้ใดสามารถจำสภาวะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นได้ ถ้าท่านทั้งหลายจำได้ก็ถือว่าท่านทั้งหลายได้บรรลุอริยมรรค อริยผล ตามบุญญาธิการที่ท่านได้สั่งสมอบรมมา แต่หากว่าท่านไม่สามารถที่จะพยากรณ์ตนเองได้ ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ถ้าคิดว่าเราจำไม่ได้ก็คล้ายๆ กับจำได้ แต่ถ้าจะตัดสินว่าจำได้ก็คล้ายๆ จำไม่ได้ คือ มัน ๕๐/๕๐ อยู่ คือไม่กล้าตัดสินใจ ถ้าลักษณะอย่างนี้ยังมีอยู่หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาเรื่องธรรมาทาสะ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า ตสฺมาติหานนฺท ธมฺมาทาสํ ธมฺมปริยายํ เป็นอาทิ ดูก่อนอานนท์ ผู้ปฏิบัติธรรมใครได้บรรลุหรือไม่ได้บรรลุมีเครื่องตัดสิน นิยมเรียกว่า ธรรมาทาสะ กระจกคือพระธรรมมีอยู่ ๔ ประการ คือ

       ๑. พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว

       ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว

       ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

       ๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิจ

       ๑. พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ถ้าผู้ใดประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามีอยู่ ๒ ประการ คือ

       ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยของเราเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ แต่ถ้าว่ามีคนเขามาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ว่า เออ ศาสนานั้นเขาดีอย่างนั้นนะ ศาสนานี้เขาดีอย่างนี้นะ หรือว่าลัทธินั้นเขาดีอย่างนั้นนะ เราอาจจะผละจากศาสนาพุทธของเราไปนับถือศาสนาอื่นก็ได้ เพราะว่ายังเป็นปกติศรัทธาอยู่

       ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว เราปฏิบัติไปๆ สัปหงกวูบลงไป แล้วก็อุทานว่า เออ เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ชีวิตของเราถือว่าประเสริฐแล้ว

       ตัวอย่างสุปปพุทธกุฏฐิ บุรุษโรคเรื้อน คือทั้งจนด้วย ทั้งเป็นโรคเรื้อนด้วย วันหนึ่งไปฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับด้วยเหล่าประชาชนทั้งหลาย นั่งอยู่ไกลๆ โน้นไม่กล้าเข้ามาใกล้ เกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ ฟังธรรมไปๆ ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็คิดอยากจะเข้าไปกราบทูลคุณสมบัติที่ตนได้ในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่กล้าเข้าไปเกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 เมษายน 2563 16:23:16 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 81.0.4044.92 Chrome 81.0.4044.92


ดูรายละเอียด
« ตอบ #116 เมื่อ: 16 เมษายน 2563 16:27:06 »




อนุโลมญาณ (สัจจานุโลมิกญาณ) (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

      ในขณะนั้นพระอินทร์ทราบก่อนแล้วแปลงร่างเป็นคนแก่ๆ มาทดลองว่า ดูก่อนสุปปพุทธกุฏฐิ จนๆอย่างเธอนี้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา พระธรรมไม่ใช่ของเรา พระสงฆ์ไม่ใช่ของเรา ว่าซิ จนๆ อย่างเธอนี้ ถ้าว่าได้ฉันจะให้เงินให้ทอง เธอจะเอาเท่าไรฉันจะหาให้ สุปปพุทธกุฏฐิก็กล่าวขึ้นว่า “เอ๊ะ ! นี่ท่าน ท่านเป็นใครมาจากไหน” “ฉันเป็นพระอินทร์ ฉันมาจากเทวโลก”  “ไปๆ เทวดาอันธพาลอย่ามาพูดกับข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้าเป็นคนจน ข้าพเจ้าไม่จน ส่วนท่านซิเป็นคนจน” พระอินทร์หายวับเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า วิสัยของคนถึงธรรม ถึงจะจนแสนจนสักเท่าไรก็ตาม เพียงแต่ให้พูดว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่ให้พูดเท่านี้ก็ไม่เอา แม้ว่าเราจะให้เงินให้ทองสักเท่าไรก็ไม่เอาพระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ลูกของอาตมภาพไม่จน จนก็จนแต่ทรัพย์ภายนอกเท่านั้น ส่วนทรัพย์ภายในนั้นไม่จน เสร็จแล้วพระองค์จึงทรงยกอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการมาตรัสเทศนาว่า

       สทฺธาธนํ สีลธนํ          หิริโอตฺตปฺปิยํ ธนํ

       สุตธนญฺจ จาโค จ      ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ

       อริยทรัพย์ ๗ ประการ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา

       ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ   อิตฺถิยา วา ปุริสสฺส วา

       ผู้ใดมีอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ จะเป็นหญิงก็ตามเป็นชายก็ตาม

       อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ      อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ

       ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าจากประโยชน์เลย เป็นคนร่ำรวยที่สุด คือร่ำรวยทรัพย์ภายใน คืออริยทรัพย์ ๗ ประการ

       นี่แหละท่านทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสว่า ร่ำรวยนะ ถ้าผู้ใดสมบูรณ์ด้วยอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ ถือว่าเป็นผู้ร่ำรวย เพราะฉะนั้น อริยทรัพย์ ๗ ประการนี้ จึงถือ เป็นข้อปฏิบัติมาจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้

       ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว ความเลื่อมใสในพระธรรมก็มีอยู่ ๒ ประการคือ

       ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับพวกเราชาวไทยทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ บางทีเราก็สร้างพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ฉลองกันอย่างมโหฬารก็มี แต่ยังเป็นปกติศรัทธาอยู่ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้

       ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา ผ่านญาณ ๑๖ วับไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง ดีจริง ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติจริงก็ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานอย่างนี้

       ตัวอย่างนางวิสาขา วันหนึ่งไปฟังเทศน์ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อปฏิบัติไปๆ ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ได้บรรลุธรรมาภิสมัย ตื่นเช้าพญามารมันมาทดลอง คือพญามารนั้นแปลงร่างเหมือนพระพุทธเจ้าทุกสัดทุกส่วน การพูดจาปราศัยเหมือนพระพุทธเจ้าเลย ตี ๔ ไปเคาะประตูบ้านนางวิสาขา ปังๆๆๆ นางวิสาขาเปิดประตูออกมา พญามารมันก็บอกว่า แน่ะเธอ เมื่อวานนี้เธอไปฟังเราตถาคตเทศน์ เมื่อวานนี้เราตถาคตเทศน์ผิดไปนะ เมื่อวานนี้เราตถาคตเทศน์ว่ารูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกขังเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวใช่ตน เป็นอสุภะเป็นของไม่สวยไม่งาม ผิดแล้วนะ แก้เสียใหม่ แก้อย่างนี้ว่า รูปนามขันธ์ ๕ เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาคือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะ เป็นของสวยของงาม แก้เสียใหม่นะ แก้อย่างนี้ นางวิสาขาก็บอกว่า เอ๊ะ! นี่ๆ นี่ท่านเป็นมารรึ เท่านั้นพญามารก็บอกว่า อย่าๆๆ อย่าถามชื่อกันสิ แล้วก็หายเตลิดไปเลย นี้แหละท่านทั้งหลาย วิสัยของคนถึงธรรม

       ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์ก็มี ๒ ประการ คือ

       ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเลื่อมใสเป็นปกติธรรมดา เช่น ทุกวันนี้เราเห็นพระเจ้าพระสงฆ์องค์เณรเราก็เคารพ กราบไหว้ สักการะบูชา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมตามกำลังศรัทธาของเรา แต่ถ้าว่าเราไปเห็นพระสงฆ์องค์เณรประพฤติอย่างนั้นประพฤติอย่างนี้ อาจจะหมดความเลื่อมใสก็ได้ เพราะยังเป็นปกติศรัทธาอยู่ เหมือนดังคนทั้งหลายโดยเฉพาะพวกหนุ่มๆ สาวๆ เวลามาจากส่วนกลาง มาคุยกับหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ หนูไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์แล้วทุกวันนี้ เพราะว่าเห็นว่าพระสงฆ์ไปพูดอย่างนั้นไปชวนอย่างนี้ บางทีก็มาพูดชีกอกับหนูอย่างนั้นอย่างนี้ หนูไม่เลื่อมใส หนูขอเคารพนับถือเฉพาะพระพุทธเจ้า พระธรรม กับหลวงพ่อ ได้ไหม” เช่นนี้เราก็รู้ทันทีว่า เออ อันนี้ยังเป็นปกติศรัทธาอยู่ ยังไม่ได้เป็นภาวนาศรัทธา

       ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ วับไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีจริง เป็นผู้ปฏิบัติตรงจริง เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์จริง เป็นผู้ปฏิบัติสมควรจริง แล้วก็มีความเลื่อมใส ตัวอย่างภรรยาของภารทวาชพราหมณ์ เมียถือพุทธ ผัวถือพราหมณ์ คือมีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทขุทกนิกายว่า

       สมัยที่นางเป็นโสดเป็นสาวอยู่ได้ไปฟังธรรม ได้ปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้แต่งงานกับภารทวาชพราหมณ์ ผู้ถือศาสนาพราหมณ์ วันหนึ่งผู้เป็นสามีจะเลี้ยงพราหมณ์ร้อยแปด ก็พูดกับภรรยาว่า “แม่หนู พรุ่งนี้พี่จะเลี้ยงพราหมณ์ ๑๐๘ นะ ห้ามหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นะ ถ้าหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พี่จะตัดคอหนูด้วยดาบเล่มนี้” นางก็บอกว่า “เอ๊ะ ! ฉันเคารพ ฉันเลื่อมใส ฉันพูดจะผิดที่ตรงไหน” แต่ผู้เป็นสามีก็ไม่ว่ากระไร

       ตื่นเช้าพราหมณ์ ๑๐๘ ก็มาสู่ตระกูลของสองสามีภรรยา ผู้เป็นสามีก็ยกสำรับกับข้าวถวายพราหมณ์คนโน้น ถวายพราหมณ์คนนี้ ผู้เป็นภรรยาแม้ว่าตนจะนับถือพระพุทธเจ้า ก็ต้องช่วยสามียกสำรับกับข้าวถวายพราหมณ์คนโน้น ถวายพราหมณ์คนนี้ กลับไปกลับมาๆ บังเอิญเท้าไปสะดุดกับพื้นกระดาน ด้วยความตกใจก็เปล่งอุทานขึ้นมาว่า “ช่วยด้วยๆ คุณพระช่วยด้วยๆ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”

       พอพราหมณ์ ๑๐๘ ได้ฟังเท่านั้นก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กำลังเคี้ยวอาหารอยู่ก็บ้วนทิ้ง กำลังถือคำข้าวอยู่ก็ขว้างทิ้ง ด่าปริภาสสองสามีภรรยาเป็นอเนกประการ แล้วก็หลีกไปไม่ยอมบริโภคอาหาร ผู้เป็นสามีก็พิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราจะทำอย่างไร ถ้าเราฆ่ามันก็ตายเปล่าๆ คิดกลับไปคิดกลับมาๆ เอ๊ะ ! เราไปถามครูของมันดีกว่า ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อไปถึงแล้วก็ถามเลยว่า พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะอยู่เป็นสุข

       โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะอยู่เป็นสุข

       พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะไม่เศร้าโศก

       โกธํ ฆตฺวา น โสจติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะไม่เศร้าโศก

       เอ๊ะ ! เก่งจริงๆ เราถามอะไรก็ตอบได้หมด มีความเลื่อมใสขอบวชในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อบวชแล้วได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อยู่ในพระศาสนาตลอดชีวิต อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เคารพในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

       ๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิจ ศีลนี้ถ้าว่าผู้ใดไม่ถึงธรรม สัตว์ก็อาจจะฆ่าได้ เจ็บท้องเขามาบอกว่ากินเหล้าจึงจะหาย เหล้าก็อาจจะกินได้ แต่วิสัยของคนผู้ถึงธรรมนี้ สัตว์ตัวเดียวไม่ยอมฆ่า เจ็บท้องเขามาบอกว่ากินเหล้าจึงจะหาย ไม่ยอมกินเป็นเด็ดขาด มันจะตายในชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมทำลายศีลของตนให้ขาดเป็นเด็ดขาด รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เป็นไทไม่ถูกตัณหาแตะต้อง เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ เป็นศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ เป็นศีลที่พระอริยเจ้าชอบใจ

       ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ผู้นั้นพึงพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เราพ้นแล้วจากนรก เราพ้นแล้วจากกำเนิดเปรต อสุรกาย เราพ้นแล้วจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน นิยโต เราเป็นผู้มีคติเที่ยง อกุปฺปธมฺโม เราเป็นผู้มีธรรมอันไม่กำเริบ สมฺโพธิปรายโน เราจะได้ปฏิบัติธรรมบรรลุมรรคผลพระนิพพานในวันข้างหน้า สามารถที่จะพยากรณ์ตนเองได้เลย

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ธรรมาทาสะ กระจกคือพระธรรมทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ ท่านทั้งหลายสามารถจะปฏิบัติได้ไหม ถ้าท่านทั้งหลายคิดว่า เอ๊ะ ! หลวงพ่อ ข้อปฏิบัติทั้ง ๔ ประการนี้กระผมทำได้ หรือ ฉันทำได้ แล้วก็สามารถปฏิบัติได้สะดวกสบาย ไม่ต้องคับแค้นใจ หรือไม่ต้องแห้งผากใจหรืออะไรทั้งสิ้น ถ้าท่านทั้งหลายสามารถพยากรณ์ตนเองได้ดังนี้ ก็ถือว่าท่านทั้งหลายได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อย่างน้อยก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าว่าท่านทั้งหลายไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามหลักของธรรมาทาสะทั้ง ๔ ประการนี้ได้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายยังไม่สามารถผ่านการปฏิบัติไปได้ ถ้าหากท่านยังไม่สามารถปฏิบัติไปได้ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้พยายามตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติไปเรื่อยๆ วันหนึ่งข้างหน้าเรามีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมมา

       ต่อไปขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายดังนี้

       ๑. ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายออกไปแล้วอย่าไปอวดกันนะ เพราะว่าการไปอวดกันว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นนั้นอย่างนั้นอย่างนี้ อวดไม่ได้นะท่านทั้งหลาย หรือว่าเราจะไปอวดว่าเราได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ก็อวดไม่ได้ หรือว่าข้าพเจ้าได้ทำลายโลภะ โทสะ โมหะได้แล้วอย่างนี้ก็อวดไม่ได้ หรือว่าข้าพเจ้าสามารถทำลายนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการได้ ก็อวดไม่ได้ หรือว่าข้าพเจ้าได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือข้าพเจ้าได้บรรลุอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อวดไม่ได้นะท่านทั้งหลาย ถ้าไม่ได้จริงไม่ถึงจริง ไปอวด ปรับอาบัติปาราชิก พระพุทธเจ้าเด็ดขาดไปเลยนะ ถ้าไม่ได้จริงไม่ถึงจริงปรับอาบัติปาราชิก ขาดจากพระไปเลย แต่ถ้าเป็นญาติเป็นโยมก็เป็นการตัดหนทางของตัวเอง คือไม่สามารถบรรลุมรรคผลพระนิพพานในขั้นสูงๆ ต่อไปได้ เหตุนั้นอย่าไปอวดกัน แต่จะแนะนำพร่ำสอนกันนั้นได้

       ๒. นักปฏิบัติธรรมจะถูกคนถามเป็น ๓ จำพวก คือ

          ๑) ถามเพื่อจับผิด ส่วนมากผู้ถามนั้นไม่มีศรัทธา เขาหาทางที่จะจับผิดเรา เช่นเราไม่เคยเรียนปริยัติเขาก็เอาปริยัติมาจับ ว่าเป็นอย่างไรไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นพระไตรลักษณ์ไหม เห็นอริยสัจ ๔ ไหม เห็นวิสุทธิ ๗ ไหม เห็นปฏิจสมุปบาทไหม เราก็ตอบไม่ได้เพราะว่าเราไม่ได้เรียนมา เขาก็จะทึกทักขึ้นมาว่า เอ๊ะ ! กัมมัฏฐานอย่างไรนี้ ใครเป็นผู้สอน แค่นี้ก็ตอบไม่ได้ จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานอย่างไร เขาจะว่าเอานะ

          ๒) ถามเพื่อยั่วกิเลส ส่วนมากผู้ถามก็ไม่มีศรัทธา เขาหาทางที่จะยุจะยั่วให้เราโกรธ โดยเฉพาะสามีภรรยา เวลามาประพฤติปฏิบัติ ภรรยาก็ตั้งใจปฏิบัติดี สามีก็งอแง ใจน้อย คอยจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ พอภรรยาโกรธหนเดียวเท่านั้น ก็ว่า ไหน เพียงแค่นี้ก็โกรธแล้ว จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างไร เดี๋ยวเขาจะว่าอย่างนี้นะ

          ๓) ถามเพื่อเอาอย่าง ส่วนมากผู้ถามนั้นมีศรัทธา อยากปฏิบัติ แต่อยากรู้เสียก่อนว่า เวลาบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเราไปบอกเขาว่ามันดับ เขาก็จะจำได้ว่าดับๆ เมื่อปฏิบัติไปๆ เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิ เกิดอุเบกขา เกิดถีนมิทธะ ดับวูบลงไป เขาก็จะทึกทักว่า เออ ฉันได้แล้ว ฉันบรรลุแล้ว คือมันได้ของปลอมท่านทั้งหลาย ได้สมาธิปลอม ได้ฌานปลอม ได้มรรคปลอม ได้ผลปลอม เหตุนั้นเราไปบอกเขาก็เป็นบาปแก่เขา เหตุนั้นเราอย่าไปบอกกัน แต่จะแนะนำพร่ำสอนกันนั้นได้

       ๓. พระโสดาบันมี ๓ จำพวก คือ

            ๑) อุลลปนโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันขี้หลอก คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อนเลย หรือได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อนแต่ยังไม่สามารถยังคุณธรรม เช่น โสดาบัน สกิทาคามี เป็นต้น ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ก็ไปหลอกเขา โดยที่อยากให้เขาถวายจตุปัจจัยไทยธรรมอย่างโน้นอย่างนี้ ตามที่เราต้องการ ดังที่เราเคยผ่านๆ มา เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานร่วมกันอยู่วัดนี้ละ เดี๋ยวก็เขียนหนังสือไปโปรดโยมว่า ต้องการกลดเท่านั้นหลัง ต้องการกลดเท่านี้หลัง ต้องการจีวรอย่างนั้น ต้องการบาตรอย่างนี้ อะไรทำนองนี้ เรียกว่าเป็นอุลลปนโสดาบัน คือโสดาบันขี้หลอก

              ๒) อธิมานิกโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันผู้ยิ่งด้วยมานะ คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อน แต่เรียนปริยัติมามาก ก็เอาปริยัติไปอวดเขา เห็นเขาเข้าผลสมาบัติก็ไปอวดเขาว่า เอ๊ะ ! ทำอย่างนี้ฉันทำให้ดูก็ได้ แล้วก็แกล้งเกร็งตัวไป ไม่ช้าไม่นานกิเลสหยาบมันก็เกิดขึ้นมาอีกก็ทำกรรมไปอีก อย่างนี้เรียกว่าอธิมามิกโสดาบัน

              ๓) มหาโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานจริงๆ เป็นลูกของพระพุทธเจ้า

         ๔. วิธีตอบผู้อื่นเวลาถูกถาม ท่านทั้งหลายออกไปแล้วเขาจะถามนะ เป็นอย่างไรไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานดีไหม ดีอย่างไร ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน อะไรทำนองนี้ เหตุนั้นเราต้องตอบให้เป็น

       “เป็นอย่างไรไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานดีไหม”

       “ดี”

       “ดีอย่างไร”

       “ทำให้ใจสบาย”

       “ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน”

       “การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว เหมือนกับเรากินข้าวกินเองจึงจะอิ่ม กินเองจึงจะอ้วน อิ่มแทนกันอ้วนแทนกันไม่ได้”

       “เห็นนรกสวรรค์ไหม”

       “เรื่องนี้ถ้าคุณอยากรู้ก็ขอเชิญได้ไปพิสูจน์ด้วยตนเอง”

        นี้เราต้องตอบให้เป็น พูดแต่น้อย อย่าไปใส่ไคล้พระศาสนา อย่าไปเชิดตัวเอง

       ๕. ขอให้ช่วยกันเผยแผ่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พวกเราทั้งหลายถือว่าเป็นหนี้บุญหนี้คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระองค์ได้ทรงเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ตั้งแต่โน้นมาจนถึงนี้ อยู่สิริรวมเป็น ๒๐ อสงไขยแสนมหากัปจึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้วก็นำเอาธรรมะที่พระองค์ทรงบรรลุแล้วนั้นมาแนะนำพร่ำสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้ประพฤติตาม ให้รู้ตาม ให้สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน เหตุนั้นเราทั้งหลายควรอย่างยิ่งที่เราจะแสดงตนเป็นบุคคลผู้เต็มเปี่ยมด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม คือ รู้พระคุณของผู้มีพระคุณแล้วก็ตอบแทนคุณของท่าน อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เราไปที่ไหนๆ ก็ช่วยแนะนำพร่ำสอนกัน ได้มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ คือ มีหนทางไหนอย่างไรที่จะทำงานพระศาสนาได้ ช่วยศาสนาได้เราก็ทำ ดีกว่าไม่ทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคม เรียกว่ารู้แต่ตนเองก็ยังไม่ครบวงจร คือตนเองก็รู้ด้วยแล้วก็แนะนำพร่ำสอนให้ผู้อื่นรู้ด้วย ถือเป็นบุญเป็นกุศลแก่ตนเองและสังคม

       ๖. ขอให้ช่วยแนะนำบิดามารดาและญาติมิตร บิดามารดาของเรานั้นท่านเป็นผู้มีคุณูปการคุณแก่เรามาก เราจะหาวิธีตอบบุญสนองคุณพ่อแม่อย่างไรๆ นั้นก็ไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณของท่านได้ แม้ว่าเราเอาผ้าผ่อนแพรพรรณรัตนะ ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ มากองพะเนินกันให้เทียมปลายพร้าวปลายตาลก็ไม่สามารถทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ได้ แม้ว่าเราจะเอาพ่อของเรานั่งบ่าขวา แม่ของเรานั่งบ่าซ้าย เวลาเราไปไหนๆ ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ หรือเวลาท่านจะไปไหนๆ ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะอาบน้ำ หรือเราจะสรงน้ำก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะรับประทานอาหารหรือเราจะรับประทานอาหารก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะหลับจะนอนก็ให้ท่านอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะขี้จะเยี่ยวก็ให้ท่านขี้ท่านเยี่ยวรดตัวเราไปจนเราตายไปหรือท่านตายไป ก็ไม่สามารถทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ใดมาบวชมาปฏิบัติธรรมเหมือนดังท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ เมื่อเราประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมยังบุญกุศลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว เราจึงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนี้ไปให้พ่อให้แม่ จึงจะสามารถทดแทนบุญคุณของท่านได้ หรือว่ามีโอกาสมีเวลา เราก็ให้พ่อให้แม่ของเราได้มาประพฤติปฏิบัติ

       ๗. ขอให้ท่านนักประพฤติปฏิบัติทั้งสามัคคีกัน พวกเราทั้งหลายนั่งรวมกันอยู่นี้ถือว่าเราเป็นลูกพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน เป็นลูกศิษย์ลูกหาร่วมครูบาอาจารย์เดียวกัน เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้เคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน เราเคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ดีกว่าเราชังกันเป็นไหนๆ เพราะไม่ช้าไม่นานไม่ถึง ๑๐๐ ปี เราก็จะจากกันไปแล้ว จะตายจากกันไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทั้งหลายมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

       ๘. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่า ไม่ต้องทำบุญทำทานอะไร การพูดอย่างนี้ผิดนะท่านทั้งหลาย เพราะการทำบุญนี้เป็นเครื่องหมายของคนดี สมัยครั้งพุทธกาลแม้ท่านผู้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังทำบุญทำทานอยู่

       ข้อนี้ให้ถือปฏิบัติตามที่พระนางมหาสุมนาเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า มีคน ๒ คน เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม มีศีลเสมอกัน แต่คนหนึ่งชอบทำบุญทำทาน อีกคนหนึ่งไม่ชอบทำบุญทำทาน ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไรพระพุทธเจ้าข้า”

       พระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อน มหาสุมนา คนที่ไม่ชอบทำบุญทำทาน ตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ก็จะเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง หากออกบวชเป็นพระเป็นเณรก็จะขัดสนไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบงจีวรต้องไปของ้อของอนเขาใช้ ดูก่อนมหาสุมนา คนที่ชอบทำบุญทำทานนั้น ตายแล้วไปเกิดชาติใหม่ก็จะเป็นคนร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติ ศฤงคารบริวารนานาประการ ไม่อดไม่อยาก หากออกบวชเป็นพระเป็นเณรก็จะเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบงจีวรมีญาติมีโยมมาของ้อของอนให้ใช้

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นผู้เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติ ศฤงคารบริวารนานาประการ ไม่อดไม่อยาก หากว่าปรารถนาสิ่งใด ต้องการสิ่งใดได้สิ่งนั้นตามความปรารถนา แต่ว่าไม่สวยและไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขาให้ทานอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้รักษาศีลไม่ได้เจริญภาวนา ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้เป็นคนที่มีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีเสียงไพเราะ มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืนไม่ตายง่าย แต่ว่าไม่รวยและไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขารักษาศีลอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้ให้ทาน ไม่เจริญภาวนา

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นคนที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เปรื่องปราดชาติกวี มีไหวพริบดี มีปฏิภาณดี มีความฉลาดดี มีความหลักแหลมดี แต่ว่าไม่รวยและไม่สวย เพราะชาติปางก่อนโน้นเขาเจริญภาวนาอย่างเดียว” เหตุนั้นแหละ พวกเราทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วอยากดี อยากรวย อยากสวย อยากมีสติปัญญาด้วยกันทั้งนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายทำบุญให้ครบทั้ง ๓ อย่าง คือให้ทั้งทาน รักษาทั้งศีล เจริญทั้งภาวนา

       ๙. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่าไม่ได้อะไร การพูดอย่างนี้ไม่ดีนะท่านทั้งหลาย เป็นการด่าตัวเองด้วย เป็นการด่าครูบาอาจารย์ด้วย ครูบาอาจารย์ก็แนะนำพร่ำสอนทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่โอกาสเวลาจะเอื้ออำนวย สำหรับผู้ปฏิบัติจริงเขาก็ได้ตั้งเยอะ เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย อย่าได้พูดว่าทำกัมมัฏฐานแล้วไม่ได้อะไร เพราะงานทุกงานสำเร็จอยู่ในตัว เขียนหนังสือได้หนังสือ ทำกัมมัฏฐานได้กัมมัฏฐาน ได้ศีล ได้สมาธิ ได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน ได้ตั้งเยอะ แต่เราอาจไม่รู้ เพราะมันเป็นนามธรรม

       ๑๐. นักปฏิบัติธรรมออกไปแล้วอย่าไปเล่นการพนัน

         ๑๑. อย่าติเตียนผู้อื่น สำนักอื่น การติเตียนผู้อื่นสำนักอื่นเหมือนกันกับยื่นดาบให้เขาตัดคอตัวเราเอง ถ้าเราติเตียนเขา เขาก็ติเตียนเรา เหตุนั้น เห็นคนอื่นประพฤติปฏิบัติไม่เหมือนตนเราก็พูดให้เป็นว่า “เออ ที่คุณปฏิบัติอยู่นี้ก็ดีละ คุณพยายามปฏิบัติต่อไปซิ การปฏิบัติจะได้ดีกว่านี้” เราต้องพูดให้เป็น เพราะว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีมาก มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์พระคาถา ใครจะเอาที่ไหนมาปฏิบัติก็ตาม การปฏิบัติอาจต่างกัน แต่ผลที่ต้องการเหมือนกันหมด เพราะว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องการอยากพ้นจากทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลพระนิพพาน

       เหมือนกับคนทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วต้องการเงิน แต่วิธีหาเงินไม่เหมือนกัน ผู้ทำไร่ทำนาก็ต้องการเงิน ผู้เย็บปักถักร้อยก็ต้องการเงิน ผู้ค้าขายก็ต้องการเงิน ผู้ทำโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องการเงิน ผู้ผลิตอาวุธปืนนู้นปืนนี้เพื่อทำลายกันต้องการเงินทั้งนั้น แต่วิธีหาเงินไม่เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด พวกเราทั้งหลายเวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นว่าผู้อื่นเขาทำไม่เหมือนเราก็ขออย่าไปว่าเขา เราต้องปลอบต้องโยน ต้องชี้แจงแสดงไขให้เข้าใจว่า “เออ คุณปฏิบัติอยู่นี้ก็ดีละ คุณพยายามปฏิบัติต่อๆ ไปซิ การปฏิบัติจะได้ดีกว่านี้” ต้องว่าให้เป็น

         ๑๒. ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายรักษาชื่อเสียงตัวเอง รักษาชื่อเสียงของครูบาอาจารย์ รักษาชื่อเสียงของวัด รักษาชื่อเสียงของสำนัก รักษาชื่อเสียงของพระศาสนา เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้าขอให้เค็มเหมือนพระพุทธเจ้า มันจะตายชั่วโมงนี้นาทีนี้วินาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้เราก็ยอมตาย แต่เราไม่ยอมคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่วเป็นเด็ดขาด

       ๑๓. ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติต่อๆ ไป การปฏิบัติครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เหตุนั้นขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติต่อๆ ไป

       วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงเอาเป็นเวลาทำมาหากินสัก ๘ ชั่วโมง เอาเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนสัก ๑๐ ชั่วโมง เหลืออีก ๖ ชั่วโมงที่เหลืออยู่นี้เอาเป็นเวลาอาบน้ำชำระร่างกาย คุยกับลูกกับหลานที่ไปมาหาสู่ อ่านหนังสือดูหนังสือเสีย ๕ ชั่วโมง เหลืออยู่อีก ๑ ชั่วโมงนี้ เอาเป็นเวลาไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนาเสียอย่างน้อย ๓๐ นาที

       โดยเฉพาะเวลาเราจะหลับจะนอนนั้น เราเข้าห้องพระแล้วก็ไหว้พระสวดมนต์ตามที่โอกาสและเวลามีอยู่ เสร็จแล้วเราก็ลองนึกถึงบุญกุศลที่ได้สร้างสมอบรมมาว่า เออ เราเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ เราได้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนาได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไรหนอ เสร็จแล้วเราก็จึงนั่งภาวนากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” “พุทโธๆ” “สัมมาอะระหัง” ไปซะ อย่างน้อย ๓๐ นาที หรือ ๒๐ นาที หรือ ๑๕ นาที หรือน้อยที่สุด ๕ นาทีก็ยังดี

       ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เรียกว่าเราเตรียมตัวก่อนตาย ถึงคราวตายบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจะมาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่นเห็นขันข้าวที่เราเคยใส่บาตร เห็นผ้าผ่อนแพรพรรณที่ไปทำบุญทำทาน เห็นโบสถ์เห็นวิหาร เห็นศาลาการเปรียญ เห็นเทวดา เห็นที่อยู่ของเทวดาเป็นต้น จิตของเราก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วก็ไปบังเกิดในสุคติภพตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ อุปมาเหมือนกับเราหัดว่ายน้ำไว้ให้ชำนิชำนาญ เมื่อถึงคราวเรือล่มก็สามารถที่จะว่ายเข้าฝั่งได้ไม่จมน้ำตาย แต่ถ้าเราไม่หัดระลึกไว้อย่างนี้ ถึงคราวตายจึงจะมาระลึก มันระลึกไม่ได้นะท่านทั้งหลาย เพราะเหตุไร เพราะ

       ๑) ทุกขเวทนาเข้าครอบงำ

       ๒) ไม่อยากตาย

       ๓) ห่วงผู้อยู่ข้างหลัง

       ๔) ห่วงทรัพย์สมบัติ

       เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ระลึกไม่ได้ เมื่อระลึกไม่ได้บาปกรรมทั้งหลายที่เราทำไว้มาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่นเห็นคนกำลังฆ่ากัน เห็นสัตว์กำลังฆ่ากัน เห็นหนองน้ำ เห็นตม เห็นโคลน เห็นเปลวเพลิง เห็นนายนิรยบาล เห็นนรกเป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด เมื่อไปยึดก็ดับลงไป คือตายลงไป เมื่อตายแล้วเราก็จะไปเกิดในนรกบ้าง ไปเกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกายบ้าง ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ตามบาปกรรมที่เราได้สร้างสมอบรมมา เหมือนกันกับคนที่ไม่เคยหัดว่ายน้ำ ถึงคราวเรือล่มจึงจะมาหัดว่ายน้ำก็ว่ายน้ำไม่เป็น จมน้ำตายเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ อย่าให้เผลอไปตามอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง

       ๑๔. นักปฏิบัติธรรมะขั้นสูงเสื่อม นักปฏิบัติธรรมะขั้นสูงนี้เสื่อมได้เหมือนกันนะท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะสมาธิหรือฌานที่ท่านทั้งหลายได้อยู่ในขณะนี้ ขณะนี้เราสามารถเข้าสมาธิได้ สมามารถเข้าฌานได้ ๑ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง แต่ถ้าว่าเราไม่ทำทุกวันๆ เสื่อมได้ท่านทั้งหลาย เมื่อสมาธิเสื่อมหรือฌานเสื่อมแล้ว เราจะกลับมาทำใหม่มันได้ยากท่านทั้งหลาย อาจจะไม่ได้เสียเลย เมื่อสมาธิหรือฌานมันเสื่อมแล้ว สมาธิหรือฌานนั้นก็ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ แทนที่เวลาเราจะตายจากโลกนี้ สมาธิของเราไม่เสื่อม ฌานของเราไม่เสื่อม เราตายในสมาธิในฌาน เมื่อตายแล้วก็สามารถไปบังเกิดในพรหมโลกได้

       แต่ถ้าฌานของเราเสื่อมหรือสมาธิของเราเสื่อม ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน คือ หมายความว่าในขณะที่จิตของเราจะดับลงไปนั้น ถ้าเราไปนึกถึงนรก นึกถึงเปรต ถึงอสุรกาย ถึงสัตว์ดิรัจฉาน เราก็ไปสู่อบายภูมิเท่านั้น ถ้าเรานึกถึงทานที่เราได้บริจาคแล้ว จะไปสู่สุคติภพ หรือว่าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยถ้าว่ามีสมาธิมีฌานอยู่ ก็สามารถที่จะเป็นที่พึ่งได้ แต่สมาธิหรือฌานเสื่อม สมาธิที่ได้ก็ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ หรือว่ามีเหตุอะไรที่เกิดขึ้นไม่ดี เช่นว่า เขาจะมาทำโน้นบ้าง ทำนี้บ้าง หรือจะใส่ของเราบ้าง ลองของเราอย่างนี้บ้าง ถ้าสมาธิของเราไม่เสื่อมเราก็สามารถป้องกันตัวได้
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 81.0.4044.92 Chrome 81.0.4044.92


ดูรายละเอียด
« ตอบ #117 เมื่อ: 16 เมษายน 2563 16:28:56 »




อนุโลมญาณ (สัจจานุโลมิกญาณ) (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

             สมมุติเวลาเราเข้าสมาธิ สาธุ ขอให้จิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไปเท่านั้นนาที เท่านี้ชั่วโมง พร้อมนี้ขออย่าเป็นอันตรายแก่ร่างกายแก่ชีวิต นี่ถ้าเราอธิษฐานอย่างนี้แล้วเราก็เข้าสมาธิ เมื่อเข้าสมาธิไป ในขณะที่อยู่ในสมาธิก็ดี ออกจากสมาธิก็ดี ไม่มีอะไรที่จะทำลายเราได้ หรือว่าเวลาเราจะหลับจะนอนอธิษฐานจิตว่าสาธุขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป จนกว่าจะถึงตี ๔ พร้อมนี้ขออย่าเป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต หากผู้ใดคิดว่าจะมาลักมาขโมย มาปล้น มาจี้ จับไปเรียกค่าไถ่ ทำร้ายร่างกายหรือชีวิตเป็นต้น ขออย่าเป็นอันตรายได้เป็นเด็ดขาด เราก็นอนสมาธิไป เมื่อในขณะที่เราหลับอยู่ในสมาธิหรืออยู่ในสมาธินั้นก็ไม่มีอันตรายเกิดขึ้นแก่เรา ถือว่าเป็นเกราะที่พึ่งได้

       หรือพูดง่ายๆ สมมุติว่าเรานอนอยู่นี้ อยู่ที่กุฏิของเราก็ดี อยู่ที่บ้านของเรา เราอยากนอน มันง่วงเป็นกรณีพิเศษ มันเหนื่อยเป็นกรณีพิเศษ เราอธิษฐานจิตว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที พร้อมกันนั้นขออย่าให้ผู้ใดมาแตะต้องร่างกายของข้าพเจ้าได้เป็นเด็ดขาด เราก็กำหนดไป “พองหนอ” “ยุบหนอ” แล้วก็หลับไป หรือไม่หลับก็ตามแต่หลับตาอยู่ เราไม่หลับสนิทก็ตาม หรือเราหลับไปก็ตามในขณะนั้น ถ้าหากว่าใครจะมาแตะต้องร่างกายของเราหรือมาจับต้องร่างกายของเรา มันจะรู้ตัวทันที หรือบางทีขานี้คู้ขึ้นมา เขาจะมาจับนิ้วตีนของเราคู้ขึ้นมาเลย มันรู้ตัวก่อนถ้าเราฉลาด

       หรือเวลาเราจะไปผ่าตัด เช่นว่าผ่าตัดไส้ติ่งก็ดี กระเพาะอาหารก็ดี นิ่วไตก็ดี หรือจะไปผ่ามดลูกก็ดี หากว่าเรามีสมาธิอยู่ มีฌานอยู่ เราอธิษฐานจิตของเราให้เข้าสมาธิเข้าฌาน ไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต เขาก็ไม่จำเป็นต้องใส่ยาสลบใส่ยาชา เขาก็ผ่าตัดไปได้สบาย เราก็ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน ฟื้นขึ้นมาแล้วก็ไม่มีอันตราย คือไม่ต้องรักษาอยู่เป็นเวลานาน หรือไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานเกินไป เพราะอานิสงส์ที่เรามีสมาธิอยู่เป็นกำลังป้องกันและสนับสนุนให้ร่างกายของเรามันสมบูรณ์ขึ้นมา

       มีหลายๆ คนที่อยู่ในวัดของเราก็ดี ในบ้านก็ดี ที่ปฏิบัติได้มาอย่างนี้ ไปผ่าตัดไส้ติ่งบ้าง ผ่าตัดอย่างโน้นอย่างนี้บ้าง ไม่ได้ใส่ยาชา ไม่ได้ใส่ยาสลบ แล้วก็การผ่าตัดนั้นก็ไม่ทนทุกข์ทรมาน เพราะเหตุไรจึงไม่ทนทุกข์ทรมาน เพราะว่าเราอยู่ในสมาธิ เหมือนกับโยมคนหนึ่งเวลาไปผ่าตัดไส้ติ่งถามคุณหมอว่า คุณหมอ จะใช้เวลานานเท่าไร หมอว่าใช้เวลา ๑ ชั่วโมง แกก็อธิษฐานจิตเข้าสมาธิ ๓ ชั่วโมง ว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓ ชั่วโมง พร้อมนี้อย่าให้เป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิต ก็เข้าสมาธิไป แล้วก็ในตอนนั้น ขอร้องคุณหมออย่าใส่ยาชา อย่าใส่ยาสลบ หมอก็ปฏิบัติตาม พอรู้สึกตัวขึ้นมา คุณหมอไปไหนแล้ว กลับไปแล้ว คือผ่าตัดครบ ๑ ชั่วโมง แล้วหมอก็กลับแต่แกยังไม่ฟื้น พอครบ ๓ ชั่วโมงแล้วฟื้นขึ้นมา เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้วเหมือนกับไม่ได้ผ่าตัด โลหิตแม้แต่หยดเดียวก็ไม่ได้ใส่ นี้ท่านทั้งหลายสมาธินี้มันได้ประโยชน์อย่างนี้

       แล้วก็มีอาจารย์รูปหนึ่งไปผ่าไส้ติ่งที่เขมราฐของเรานั้นแหละ ขอคุณหมอว่า คุณหมอ ขอร้องอย่าใส่ยาชา ขออย่าใส่ยาสลบ แล้วก็ทำการผ่าตัด ในขณะที่ผ่าตัดนั้นใช้เพียงขั้นขณิกสมาธิ และขั้นอุปจารสมาธิ กลับไปกลับมาอยู่นั้น เวลาผ่าตัดไปคุยกันไปกับหมอ ผ่าตัดไปคุยไปๆๆ ผ่าตัดเสร็จเท่านั้น หมอลงกราบพระอาจารย์รูปนั้นเลย “ท่านขอรับ ตั้งแต่ผมเป็นหมอมายี่สิบกว่าปี ผมไม่เห็นใครเป็นเช่นนี้เลย ผมเลื่อมใส ขอนิมนต์ท่านอยู่ในโรงพยาบาลนี้ ๑ เดือน” ดูสิท่านทั้งหลายแทนที่เราสบายๆ จะให้เรากลับบ้าน ขอให้อยู่โรงพยาบาลนั้น ๑ เดือน เพราะเหตุไรจึงให้อยู่ ๑ เดือน เพราะว่าจะได้สอนพวกพยาบาลทั้งหลาย อบรมพวกพยาบาลทั้งหลาย นี้แหละท่านทั้งหลาย อานิสงส์ของสมาธิมันเหลือที่จะพรรณนา เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายรักษาสมาธิหรือธรรมะที่ปฏิบัติแล้วอย่าให้เสื่อมเป็นอันขาด

       ๑๕. ขอให้ท่านทั้งหลายดำเนินต่อไป จนกว่าจะถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ถ้าว่าเราไม่ถึงฝั่ง คือไม่ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน กิเลสตัณหาของเราก็ยังมีอยู่ ภพชาติของเราก็ยังมีอยู่ เราต้องเกิดๆตายๆ ไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะถึงฝั่งคือพระนิพพานได้ ข้อนี้ให้ถือปฏิบัติตามที่พระเจ้าภัททิยะกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

       พระเจ้าภัททิยะเป็นพระราชาสำเร็จเป็นพระสกทาคามี นั่งอยู่บนคอช้างก็ยังทำ วันหนึ่งมีความสงสัยไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์นั่งอยู่บนคอช้าง บางครั้งก็เห็นไพร่ฟ้าประชาชน บางครั้งก็เห็นฝูงช้างฝูงม้า บางครั้งก็เห็นฝูงรถ บางครั้งก็เผลอไป หากว่าข้าพเจ้าตายไปจะไม่ไปอบายภูมิหรือพระพุทธเจ้าข้า”

       พระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร มหาบพิตรทำไว้ให้ชำนิชำนาญแล้ว ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ดูก่อนมหาบพิตร ผู้มีความประสงค์ต้องการที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นสูงๆ ต่อไปนั้น ปฏิบัติดังนี้คือ

       ๑) ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ

       ๒) ระลึกถึงคุณของพระธรรมเนืองๆ

       ๓) ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เนืองๆ

       ๔) ระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้วเนืองๆ

       ๕) ระลึกถึงศีลที่ตนรักษาไว้แล้วเนืองๆ

       ๖) ระลึกถึงเทวธรรม คือธรรมที่ทำให้บุคคลให้เป็นเทวดาเนืองๆ

       ถ้าผู้ใดเพียบพูนไปด้วยองค์คุณธรรมดังนี้แล้ว ผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาตินี้ถ้าไม่ประมาท

       หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง มรรควิถี ตลอดถึงเตือนสติท่านทั้งหลายมาก็เห็นว่าพอสมควรจึงขอยุติ

       อิทํ เม ธมฺมทานํ สาธุด้วยอานิสงส์ธรรมทานที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาตั้งแต่เริ่มพรรษาจนถึงบัดนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศให้แก่บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดท่านผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร มนุษย์ อมนุษย์ อบายสัตว์ เทวดา มาร พรหม พระยายมราช และนายนิรยบาลทั้งหลาย ถ้าตกทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความสุขขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป สทา โสตฺถี ภวนฺตุ โน ขอครูบาอาจารย์ทุกท่าน ญาติโยมผู้ปฏิบัติทุกคน จงเจริญสุขสวัสดีพิพัฒนมงคลในบวรพุทธศาสนาเป็นนิจ สถิตมั่นในสัจธรรม นำตนให้พ้นทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนฤพานด้วยกันจงทุกท่านเทอญ.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 81.0.4044.138 Chrome 81.0.4044.138


ดูรายละเอียด
« ตอบ #118 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2563 16:14:51 »




วิปัสสนาญาณ ๑๖
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

       นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

       นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส.

       จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ   ยถาภูตํ อทสฺสนา

       สํสริตํ สงฺขมทฺธานํ   ตาสุ ตาเสฺวว ชาติสูติ.

       ณ โอกาสบัดนี้ จักได้แสดงพระสัทธรรมเทศนา เรื่อง วิปัสสนาญาณ ๑๖ พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาแด่ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบไป

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การเทศน์หรือการฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนี้ เป็นของเทศน์ยาก เป็นของฟังยาก คือยากทั้งผู้ที่เทศน์ ยากทั้งผู้ที่จะฟัง คือหมายความว่า ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะได้ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนั้น ต้องใช้ความเพียร อดตาหลับขับตานอนมาเป็นหลายๆวันจึงได้ฟัง ถ้าว่าตนเองไม่ได้ปฏิบัติมาก่อนก็ไม่ได้ฟัง ฟังก็ไม่รู้เรื่อง ฟังก็เบื่อ แต่ถ้าตนเองได้ปฏิบัติมาก่อนแล้ว และได้ผลพอสมควร ฟังก็เข้าใจ ฟังก็เพลิน ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะได้ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนั้น ก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลายดังนี้ คือ

       ๑. ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจฟัง ถ้าไม่จำเป็น อย่าพูดอย่าคุยกัน

       ๒. ถ้าเหนื่อย เอามือลงเสีย ไม่ต้องประนมมือ เพราะเทศน์นาน

       ๓. ผู้ที่ได้สมาธิ เข้าสมาธิได้ พยายามยกจิตไว้ อย่าให้เข้าสมาธิไป เพราะตอนนี้เราฟังเอาความรู้ เพื่อเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ

       อีกอย่างหนึ่ง ความมุ่งหมายของการเทศน์มีหลายประการคือ

          ๑) พระอาจารย์ผู้เทศน์ เหมือนกับเอากระจกมาวางไว้ให้ผู้ปฏิบัติส่องดู คือพระอาจารย์จะได้น้อมนำเอาพระธรรมแต่ละหมวดๆ มาวางไว้ แล้วก็ว่าให้ฟังไปตามนั้น

          ๒) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเรียกชื่อญาณถูก เช่น เวลาปฏิบัติ พองกับยุบอันเดียวกันหรือคนละอัน ผู้ตอบก็ตอบได้ว่าอันเดียวกันหรือคนละอัน แต่ไม่ทราบว่าเป็นญาณอะไร เหตุนั้น พระอาจารย์ก็จะได้บอกให้รู้

          ๓) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติจำสภาวะที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติมาเปรียบเทียบกับพระธรรมที่พระอาจารย์เทศน์ ว่าจะตรงกันไหม หรือจะขัดแย้งที่ตรงไหน

       ๔. ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณจบแล้ว ขออย่าได้เข้าใจว่าตนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามีแล้ว เพราะว่า การฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนี้ เราฟังเพื่อเป็นความรู้ พอที่จะได้เป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติสืบไป

       ๕. ให้ผู้ปฏิบัติตัดสินเอาเอง ว่าเรามาปฏิบัติธรรมครั้งนี้ เราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไรนั้น ให้ผู้ปฏิบัติตัดสินเอาเอง ไม่ใช่พระอาจารย์ตัดสินให้

       อันนี้เป็นความมุ่งหมายของการฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณ

       ต่อไปก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณ

       คำว่า ญาณ แปลว่า ปัญญา แต่ถ้าคำว่า ปัญญา หมายรวมหมด ทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ แต่ถ้าคำว่า ญาณ หมายเอาความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติเท่านั้น แต่ที่จริงก็เป็นอันเดียวกันนั่นแหละ แต่เป็นปัญญาคนละขั้น

       ญาณนั้นมีอยู่ ๑๖ ประการ คือ

       ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาแยกรูปแยกนามออกจากกันได้

       ๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปนาม

       ๓. สัมมสนญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามขันธ์ห้าเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

       ๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม

       ๕. ภังคญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเฉพาะความดับของรูปนาม

       ๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว

       ๗. อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม

       ๘. นิพพิทาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษแล้วเบื่อหน่ายในรูปในนาม

       ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายแล้วอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น ไปจากรูปจากนาม

       ๑๐. ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่เข้มแข็ง ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้

       ๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม

       ๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เตรียมตัวเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน โดยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง

       ๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาที่ตัดขาดจากปุถุชนเข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้าคือพระโสดาบัน

       ๑๔. มัคคญาณ ปัญญาที่ตัดกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานตามกำลังของมรรค

       ๑๕. ผลญาณ ปัญญาที่สืบเนื่องมาจากมรรค เสวยผลกำไรที่มรรคประหารกิเลสไว้แล้ว

       ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาพิจารณามรรคผลพระนิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่

       อันนี้เป็นเนื้อความโดยย่อในเรื่องวิปัสสนาญาณ ๑๖ ประการ

       ต่อไปก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้โปรดฟังอธิบาย

       ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาแยกรูปแยกนามออกจากกันได้

       ญาณนี้ถือว่าเป็นญาณขั้นต้นในพระพุทธศาสนา ผู้มาปฏิบัติ จะเป็นพระภิกษุสามเณร ปะขาวแม่ชี เด็กหรือผู้ใหญ่ ชาติไหนภาษาใดก็ตาม ต้องเกิดญาณนี้เสียก่อนจึงจะใช้ได้ ถ้าญาณนี้ไม่เกิด ใช้ไม่ได้

       ลักษณะของนามรูปปริจเฉทญาณ มีดังนี้ คือ

          ๑) ในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ อาการพองกับอาการยุบ อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน ถ้าญาณเกิดแล้วจะเห็นเป็นคนละอันนะ แต่ไม่ได้ถามหนังท้องนะ ถ้าหนังท้อง เป็นอันเดียวกัน นี้เราถามอาการว่า อาการพองกับอาการยุบ อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          ๒) ในขณะที่เรากำหนดทางตา เห็นหนอๆๆๆ ตาของเราก็ดี สีต่างๆที่เราเห็นก็ดี อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          เวลาหูได้ยินเสียง เสียงกับหู อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          เวลาจมูกได้กลิ่น จมูกก็ดี กลิ่นก็ดี อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          เวลาลิ้นได้รส รสก็ดี ลิ้นก็ดี อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          ในขณะที่เราถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อาการเย็นร้อนอ่อนแข็งกับร่างกายของเรา อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          ถ้าตอบได้อย่างนี้ หรือเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่าเข้าใจในรูปปริจเฉทญาณถูกต้อง แต่ก็ยังไม่พอนะ ต่อไปถ้าหากว่ามีการสอบอารมณ์ พระอาจารย์ก็จะสอบอารมณ์ ท่านก็จะถามเรื่องนาม ว่าท่าน เวลากำหนดอาการพองอาการยุบ พองหนอง ยุบหนอ เอาอะไรกำหนด เอาปากกำหนด

       คนตายมีปากไหม “มี”

       ว่าเป็นไหม “ไม่เป็น”

       เพราะอะไร “เพราะไม่มีใจ”

       ท่านเอาอะไรว่า “เอาใจว่า”

       ใจที่รู้ท้องพองกับใจที่รู้ท้องยุบ ใจเดียวกันหรือคนละใจ “ใจเดียวกัน”

       เอ๊ะ ท่าน ใจบุญกับใจบาป ใจเดียวกันหรือคนละใจ

       ใจที่มาเข้าวัดถือศีลกินเพลนี้ เป็นใจบุญหรือใจบาป “ใจบุญ”

       ใจบุญกับใจบาป ใจเดียวกันหรือคนละใจ “คนละใจ เกิดคนละขณะ”

          ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ตอบได้แจ๋วๆอย่างนี้ โดยที่ไม่ได้จำตำรามาว่า หรือไม่ได้ฟังใครมา เรียกว่าเข้าใจในนามปริจเฉทญาณถูกต้อง ตกลงก็ไม่มีอะไรดีเลย ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม วันยังค่ำ ก็มีแต่รูปแต่นาม เกิดดับๆอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

       ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่า เราปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐานถึงนามรูปปริจเฉทญาณ คือญาณที่ ๑ แล้ว ญาณที่ ๑ จบ เอาเพียงหยาบๆเท่านี้ก่อน

       ๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปนาม

       ภาษาบาลีเรียกว่าเหตุกับผล บางครั้ง รูปเป็นเหตุ นามเป็นผล คือท้องของเราพองขึ้นมาก่อนแล้วใจก็จึงวิ่งมากำหนดรู้ อย่างนี้เรียกว่า รูปเห็นเหตุ นามเป็นผล แต่บางครั้ง นามเป็นเหตุ รูปเป็นผล เช่นว่า ใจของเราวิ่งมารอกำหนดอยู่ก่อนแล้ว ท้องของเราก็จึงพองขึ้นมาทีหลัง อย่างนี้เรียกว่า นามเป็นเหตุ รูปเป็นผล แต่ผู้ปฏิบัติไม่รู้ ไม่รู้ว่าอันนี้เป็นเหตุอันนี้เป็นผล เพราะนี่ปฏิบัติ แต่ถ้าปริยัตินั้นไม่รู้อย่างนี้ สมมติว่าเราเอาปริยัติมาจับ อะไรเป็นเหตุ เป็นเหตุของอะไร

       ชาติก่อนโน้น อวิชชาคือความโง่ เป็นเหตุให้อยากเกิดขึ้นมาเป็นคน เมื่ออยากเกิดขึ้นมาเป็นคนแล้วก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรม เป็นกรรมแล้ว กรรมก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมาเป็นคน เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้วก็มีอาหารกิน เมื่อมีอาหารกินแล้วก็โตวันโตคืนขึ้นมาเรื่อยๆ

       รูปนี้มันเกิดขึ้นมาจากเหตุ ๕ อย่าง คือ อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว

       เวทนาเกิดขึ้นมาจากอะไร เวทนาเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว

       สัญญาเกิดขึ้นมาจากอะไร สัญญาเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างเดียว

       สังขารเกิดขึ้นมาจากอะไร สังขารเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสังขารอย่างเดียว

       วิญญาณเกิดขึ้นมาจากอะไร วิญญาณเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างเดียว

       เรียกว่า นิพพัตติลักษณะ คืออาการเกิดของคนเรา มีถึง ๒๕ อย่าง นี่ ปริยัติต้องว่าอย่างนี้ จึงจะเข้าใจ แต่สำหรับปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น อันนั้นเป็นปริยัติ จำตำรามาว่า เอาแต่เพียงว่า ท่านทั้งหลายนั่งกรรมฐานนานๆไปก็ปวดแข้งปวดขา แล้วก็กำหนดว่า “ปวดหนอๆ” แล้วก็กำหนด “อยากพลิกหนอๆ” แล้วก็ “พลิกหนอๆ” ใจที่อยากพลิกนั้นมันเกิดก่อน ใจที่อยากพลิกนั้น อันนี้แหละเป็นตัวเหตุ แล้วพลิกหนอๆๆ นั้นเป็นตัวผล คือมันเกิดทีหลัง

       แต่ถ้าผู้ที่จะดูสภาวะของญาณนี้ มีลักษณะดังนี้ คือ

       บางครั้ง เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราหายไป ผู้ปฏิบัติเอามือไปคลำดูก็มี กำหนดพองหนอยุบหนอนี่ อาการพองยุบหายเงียบไปเลย ไม่มี ผู้ปฏิบัติก็เอามือไปคลำดูว่า เอ๊ะ! มันเป็นอะไร พองยุบมันเป็นอะไรถึงเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ก็มี เช่นนี้ก็เรียกว่าเหตุผลของรูปนามเหมือนกัน

       แต่บางครั้ง เรากำหนดพองหนอยุบหนอนั้น อาการพองของเรามันพองมาถึงที่สุดแล้วไม่ยุบลงไป แต่บางครั้งเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” อาการยุบของเรามันยุบไปถึงที่แล้วค้างอยู่ ไม่พองขึ้นมาก็มี บางทีมีเวทนามากบ้างน้อยบ้าง ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจว่าเคราะห์ร้าย คือหมายความว่า เราเคยเจ็บไข้ได้ป่วยมาแล้ว แล้วก็หายไปหลายวัน หลายเดือน หลายปี ไม่แสดงอาการ แต่เวลามาปฏิบัติพระกรรมฐาน ยังไม่ถึงห้านาทีหรือสิบนาที โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายนั้นก็เกิดขึ้นมาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะพิจารณาว่า เรานี้คงเคราะห์ร้ายเสียแล้ว คงไม่มีบุญวาสนาบารมีที่จะปฏิบัติพระกรรมฐานต่อไปได้แล้ว คิดอย่างนี้นะ

       บางครั้ง เรากำหนดบทพระกรรมฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่ จะมีอาการสะดุ้งไปข้างหน้าบ้าง ไปข้างหลังบ้าง บางทีผู้ปฏิบัติจะมีความเห็นว่า ภพนี้ก็ดี ภพหน้าก็ดี ไม่มีอะไรเลย มีแต่เหตุแต่ผล มีแต่รูปแต่นาม เกิดดับๆอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

       ถึงญาณขั้นนี้ ไม่ใช่เลวนะท่านทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เป็นจุลลโสดาบัน ดังพระบาลีกล่าวไว้ว่า

       อิมินา ปน ญาเณน สมนฺนาคโต วิปสฺสโก พุทฺธสาสเน ลทฺธสฺสาโส ลทฺธปติฏฺโฐ นิยตคติโก จุลฺลโสตาปนฺโน นาม โหติ

       ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานถึงญาณที่สองนี้แล้ว ชื่อว่าได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่า เป็นจุลลโสดาบัน

       จุลละ แปลว่า น้อย โสตะ แปลว่า กระแส อาปันนะ แปลว่า ถึง หมายความว่า เป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ ถ้าพยายามประพฤติปฏิบัติต่อไปก็จะได้บรรลุเป็นมหาโสดาบัน

       ครั้งพุทธกาลโน้นมีสตรีนางหนึ่งไปฟังเทศน์ ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางก็เอาลูกน้อยไปด้วย ลูกน้อยมันก็ร้องงอแงกวนแม่อยากกินนม นางก็เจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปไม่ได้ กลับไปเจริญอยู่บ้าน ถึงญาณที่ ๒ นี้แล้ว องค์พระประทีปแก้วทรงตรัสว่า เป็นจุลลโสดาบัน ได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่า เป็นจุลลโสดาบัน ญาณที่ ๒ จบ

       ๓. สัมมสนญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามทางทวารทั้ง ๕ เป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยแยกเป็น ๔ กลาป คือ

          ๑) กลาปสัมมสนนัย คือ พิจารณารวมกันทั้งก้อน และทั้ง ๕ ขันธ์เลย เช่น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า รูปนามในอดีตก็ดี รูปนามในปัจจุบันก็ดี รูปนามในอนาคตก็ดี รูปนามที่หยาบก็ดี รูปนามที่ละเอียดก็ดี รูปนามที่ประณีตก็ดี ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยกันทั้งนั้น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาอย่างนี้

          ครั้งพุทธกาลโน้น มีท่านมหาปาละเคยพิจารณามาก่อนแล้ว คือวันหนึ่ง เขาเอาศพผู้หญิงมาเผาในป่าช้า ไปนิมนต์ท่านมาปลงพระกัมมัฏฐาน เมื่อท่านมาถึงแล้วท่านบอกว่า ยังไม่เอา มันยังสวยอยู่ ให้ไฟไหม้ไปกว่านี้เสียก่อนนะ จึงไปเตือนฉันใหม่ เมื่อไฟไหม้มือเท้างอหงิกดำปานตอตะโกไปแล้ว เขาจึงไปเตือนท่านใหม่ เพื่อมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อท่านมาถึงแล้วท่านก็จ้องดูศพ เจริญวิปัสสนา

                    อนิจฺจา วต สงฺขารา                  อุปฺปาทวยธมฺมิโน

                    อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺชนฺติ               เตสํ วูปสโม สุโข.

          รูปนามขันธ์ห้า ไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปอย่างนี้ ถ้าดับไปหมดทั้งรูปทั้งนาม ทั้งกิเลส เป็นสุขที่สุดในโลก ดังนี้

          เสร็จแล้วท่านก็เข้าไปในกุฏิ เจริญพระกัมมัฏฐานต่อ คือท่านเอาทั้งก้อนมาปราบจิตดื้อ เสียก่อนแล้วจึงจะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วก็ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลในวันนั้น อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า พิจารณาในแง่กลาปสัมมสนนัย

          ๒) อัทธานสัมมสนนัย ได้แก่ การพิจารณารูปนามที่ล่วงมาแล้วแต่นานๆโน้น เช่น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า รูปนามในอดีตไม่เกิดเป็นรูปนามในปัจจุบัน รูปนามในปัจจุบันไม่เกิดเป็นรูปนามในอนาคต แต่มีเหตุมีผลสืบเนื่องกันอยู่ ถ้าเหตุดีผลก็ดี ถ้าเหตุชั่วผลก็ชั่ว เหมือนกันกับเราเอาดวงตราประทับลงบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราย่อมติดอยู่ที่แผ่นกระดาษ แต่ดวงตราหาได้ติดอยู่ที่แผ่นกระดาษไม่ ข้อนี้ฉันใด รูปนามขันธ์ห้าก็เหมือนกันฉันนั้น นี้เรียกว่า พิจารณาในแง่อัทธานสัมมสนนัย

          ๓) สันตติสัมมสนนัย ได้แก่ การพิจารณาเห็นความสืบต่อของรูปนามชั่วขณะหนึ่งๆ เช่นผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เอ๊ะ! เมื่อตอนเช้านี้ แสงสว่างมันก็ดี อากาศมันก็ดี ฝนก็ไม่ตก แต่ตอนสายมาฝนกลับตกแล้ว เอ๊ะ! อาการสว่างมันหายไป อาการฝนตกมันเกิดขึ้นมา หรือเมื่อก่อนโน้นเรายังเป็นเด็กอยู่ เดี๋ยวนี้เราเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นคนเฒ่าคนแก่แล้ว เอ๊ะ! รูปนามขันธ์ ๕ ที่ท่านว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นอย่างนี้ เกิดขึ้นมาในจิตในใจของผู้ประพฤติปฏิบัติ หรือบางทีผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อก่อนโน้นเราอยู่ในครรภ์ของมารดา เสร็จแล้วก็คลอดออกมาเป็นเด็กแบเบาะ เสร็จแล้วความเป็นเด็กแบเบาะมันหายไป ความเป็นคนหนุ่มคนสาวมันเกิดขึ้นมา ความเป็นคนหนุ่มคนสาวมันดับไป ความเป็นคนเฒ่าคนแก่มันเกิดขึ้นมา เอ๊ะ! ที่ท่านว่ารูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นอย่างนี้ๆ เกิดขึ้นมาในจิตในใจของผู้ปฏิบัติ อย่างนี้เรียกว่า พิจารณาในแง่สันตติสัมมสนนัย

          ๔) ขณสัมมสนนัย ได้แก่ การพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นดับไปของรูปนามชั่วขณะหนึ่งๆซึ่งนิยมเรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็มีแต่รูปแต่นามเกิดดับๆตลอดเวลา บางครั้งผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เอ๊ะ! เท้าของเรานี้ ไม่ให้ยกมันก็ยก ยกขึ้นมาแล้ว ไม่ให้ย่างมันก็ย่าง เมื่อย่างไปแล้ว ไม่ให้เหยียบมันก็เหยียบ ท้องของเราก็เหมือนกัน ไม่ให้พองมันก็พอง เมื่อพองขึ้นมาแล้ว ไม่ให้ยุบมันก็ยุบ เมื่อยุบแล้ว ไม่ให้พองมันก็พอง เอ๊ะ! ที่ท่านว่ารูปนามขันธ์ห้ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นอย่างนี้ๆ เกิดขึ้นมาในจิตในใจของผู้ปฏิบัติ อย่างนี้เรียกว่า พิจารณาในแง่ขณสัมมสนนัย การเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในลักษณะทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ เรียกว่าเห็นพระไตรลักษณ์เหมือนกัน เป็นวิปัสสนา แต่ยังไม่เป็นวิปัสสนาญาณแท้ คะแนนเต็มร้อยได้เพียง ๑๕ เท่านั้น แต่ก็ยังดี เป็นมหากุศล หาได้ยากอยู่

       ถ้าผู้ที่จะดูสภาวะของญาณนี้ มีลักษณะดังนี้ คือ

       ๑. ถ้าผู้ดูพองจะเห็นเป็น ๓ ระยะ คือ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ผู้ดูยุบก็จะเห็นเป็น ๓ ระยะ คือ ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ

       ๒. มีเวทนามาก เช่น นั่งกัมมัฏฐานไป เจ็บที่โน้น เจ็บที่นี้ เรากำหนดตั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง หรือ ๘ ครั้งจึงหาย บางทีเรากำหนดเต็ม ๓๐ นาทีก็ยังไม่หาย บางทีเรากำหนดทั้งชั่วโมงก็ยังไม่หาย คือเวทนามันเกิดขึ้นมาแล้วมันหายยาก

       ๓. มีนิมิตมาก เรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไป เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เป็นต้น แต่หายช้า เรากำหนดตั้ง ๗-๘ ครั้งจึงหาย บางทีก็ไม่หายเสียเลย

       ๔. เรากำหนดพองหนอยุบหนออยู่ บางทีอาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็หายไป บางทีอาการพองยุบที่เรากำหนดอยู่นั้นมันฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆๆ แล้วก็หายไป บางทีอาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็หายไป อันนี้เรียกว่า เป็นพระไตรลักษณ์  คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

       ๕. จิตใจฟุ้งซ่านมาก นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปแล้วร้อยเรื่องพันเรื่อง อย่างนี้ก็แสดงว่า จิตใจของเราเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน

       ๖. บางครั้งมีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้จะเกิดอุปกิเลส ๑๐ ข้อ ข้อใดข้อหนึ่งขึ้นในญาณนี้

       อุปกิเลสนั้นมี ๑๐ ประการ คือ

          ๑) โอภาส แสงสว่าง เรานั่งกัมมัฏฐาน บางทีเห็นแสงสว่างเท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ

          บางครั้งมีแสงสว่างทั้งห้อง จนสามารถมองเห็นตัวเอง

          บางทีสว่างคล้ายๆกับไม่มีฝากั้น เรานั่งอยู่ในห้องกัมมัฏฐานหรือกลดกัมมัฏฐาน เห็นสถานที่ต่างๆ มาปรากฏอยู่ในที่ใกล้ๆ

          บางทีผู้ที่นั่งอยู่กุฏิ เห็นประตูเปิดออกๆ บางทีลืมตาดูก็มี ยกมือไปปิดก็มี เดินไปปิดก็มี

          บางทีเห็นดอกไม้ มีสี มีกลิ่น สวยสดงดงาม อยู่หน้าพระเจดีย์ก็มี

          บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากหัวใจของเรา

          บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากลูกตาทั้งสอง

          บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากศีรษะของเรา แล้วก็ลอยไปสู่ข้างนอก

          บางทีเห็นแสงสว่างเกิดอยู่ข้างนอก พุ่งเข้ามาสู่ตัวของเราก็มี

          อันนี้ถ้าผู้ใดเกิดก็ขอให้ทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๓ แล้ว

          ๒) ปีติ ความอิ่มใจ ความเอิบอิ่ม มีลักษณะดังนี้ คือ

             (๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กๆน้อยๆ

                 (๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ

              (๓) โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ

              (๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน

              (๕) ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน

              อธิบาย

              (๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กๆน้อยๆ จะมีลักษณะดังนี้ คือ

                 ๑. ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น จะเห็นสีขาวๆ เหมือนปุยฝ้ายหรือสำลีปรากฏ ในขณะนั้นคล้ายๆจะมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แต่ยังไม่เห็น

                 ๒. มีอาการเยือกเย็น น้ำตาไหล หนังหัวพองสยองเกล้า

                 เวลาประพฤติปฏิบัติ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา บางคนเคยมาพูดกับหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ ผมนี้มีจิตใจเข้มแข็งพอสมควร พ่อตาย ผมก็ไม่เคยร้องไห้ แม่ตาย ผมก็ไม่เคยร้องไห้ แต่ทำไมเวลามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน นั่งอยู่เฉยๆ น้ำตามันก็ไหลออกมาแล้ว นี่เป็นลักษณะของปีตินี้

                 ๓. บางครั้งมีตัวชา ตัวพองขึ้น

             ๔. บางทีปรากฏตัวของเรามันใหญ่ออกๆๆ จนเต็มห้องกัมมัฏฐานก็มี บางทีปรากฏตัวของเรามันเล็กลงไปๆๆ เท่าเด็กน้อย เท่ากบ เท่าเขียด ก็มี

             ๕. บางครั้งปรากฏขายาว แขนยาว ฟันยาว อันนี้เป็นลักษณะของขุททกาปีติ

              (๒) ขณิกาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ

                 ในขณะที่เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น จะปรากฏเห็นสีแดงๆด่างๆ เหมือนกันกับพระอาทิตย์แรกอุทัย หรือเหมือนกันกับจีวรของพระภิกษุสามเณร

                 บางครั้งปรากฏในจักขุทวารเหมือนกับสายฟ้าแลบ

                 บางทีปรากฏในจักขุทวารเหมือนกับตีเหล็กไฟ

                 บางทีแสบทั่วกาย

                 บางครั้งเหมือนกับมีแมลงเม่ามาจับหรือไต่ตามตัว

                 บางทีร้อนตามตัว

                 บางครั้งหัวใจสั่นๆไหวๆ เหมือนกันกับจะเป็นโรคหัวใจอ่อน

                 บางทีขนลุกขนชันบ่อยๆ แต่ไม่มากนัก

                 บางทีคันยุบๆ ที่โน้นบ้าง คันยิบๆ ที่นี้บ้าง เหมือนกันกับมดไต่ไรคลานตามเนื้อตามตัว

                 บางครั้งปรากฏเหมือนมีปลามาตอด บางทีคล้ายๆกับน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่านเกิดขึ้นมา

              (๓) โอกกันติกาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ

                 ๑. ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ ปรากฏเห็นแสงเหลืองๆเหมือนกันกับดอกผักตบ

                 ๒. ตัวไหว ตัวเอน โยกโคลง

                 ๓. มีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า

                 ๔. บางทีมีอาการสั่นๆ บางทีมีอาการสูงๆต่ำๆ เรานั่งอยู่บนเตียงบนตั่ง คล้ายกับเตียงกับตั่งจะคว่ำ

                 ๕. คลื่นไส้ดุจจะอาเจียน บางครั้งอาเจียนออกมาจริงๆก็มี

                 ๖. เป็นดุจระรอกซัด

                 ๗. บางทีสั่นระรัวๆ เหมือนกับไม้ปักไว้ในน้ำไหล

                 ๘. กายโยกไปโยกมา นั่งไม่ตรง

                 ๙. มีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว คล้ายๆกับจะเป็นไข้

                 ๑๐. มีอาการวูบวาบไปตามร่างกาย

                 ๑๑. บางครั้งเหมือนกับแล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล

                 ๑๒. ปรากฏว่าร่างกายของเราผิดปกติ

                 ๑๓. บางทีมีเสียงคล้ายๆกับพรายกระซิบ ตีสี่ คล้ายกับมีคนมาปลุกว่า “ลุกๆ ลุกขึ้นเดินจงกรม ลุกขึ้นปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน” เสียงนี้ ถ้าผู้ใดสนใจในเสียงอะไรก็จะได้ยินเสียงนั้น

                    ผู้สนใจในเสียงแคน ก็จะได้ยินเสียงแคน

                    ผู้สนใจในเสียงพิณ ก็จะได้ยินเสียงพิณ

                    ผู้สนใจในเสียงดนตรี ก็จะได้ยินเสียงดนตรี

                    ผู้สนใจในเสียงทิพย์ ก็จะได้ยินเสียงสัตว์นรก เสียงเทพบุตรเทพธิดา

                    ผู้สนใจในเสียงไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ก็จะได้ยินเสียงไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์

                    ผู้สนใจในเสียงเทศน์ ก็จะได้ยินเสียงเทศน์

                    บางคน เมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา นึกว่าภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน เกิดอาการกลัวขึ้นมาก็มี แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของปีติต่างหาก

              (๔) อุพเพงคาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ

                 ๑. ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ ปรากฏเหมือนกันกับมีสีไข่มุก สีขี้รม สีนุ่น มาปรากฏเฉพาะหน้า

                 ๒. บางครั้งปรากฏกายของเรามันสูงขึ้นๆ จนเสียดฟ้าก็มี

                 ๓. บางครั้งลงท้อง ท้องเดิน เป็นบิด ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่าตนเจ็บท้อง แต่ว่าเวลาประพฤติปฏิบัติไป อาการเหล่านี้หายไป คือแทนที่มันจะปวดอย่างนี้ตลอดเวลา เรากำหนด “ปวดหนอๆ” หายวับไป บางทีมันเกิดขึ้นมาอีก เรากำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หายวับไป บางทีปวดอย่างหนักจนถ่ายออกมาเป็นเลือดก็มี ตกอกตกใจจนให้ลูกให้หลานเอาล้อ (รถเข็น) เข็นไปไว้ที่บ้านก็มี แต่เมื่อไปถึงบ้านแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แทนที่มันจะกำเริบก็ไม่กำเริบ แล้วก็กลับมาปฏิบัติอีกก็มี

                 ๔. มีอาการสัปหงกไปมาข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง

                 ๕. บางครั้งคล้ายๆกับมีคนมาจับศีรษะของเราหมุนไปหมุนมา คล้ายๆกับคอของเราไม่มีกระดูก

                 ๖. บางครั้งคล้ายกับคนมาผลักข้างหน้า ผงะไปข้างหลัง บางครั้งคล้ายกับคนมาผลักข้างหลัง คะมำไปข้างหน้า

                 ๗. บางครั้งปรากฏปากงับๆบ้าง อ้าปากบ้าง หุบปากบ้าง เคี้ยวปากบ้าง

                 ๘. ตัวไหว ตัวเอน โยกโคลง

                 ๙. กายหกคะเมน ถลำไป คือเดินจงกรมไม่ตรง

                 ๑๐. บางครั้งกายกระโดดขึ้นปลิวไป คล้ายๆว่าจะเหาะได้ในขณะนั้น

                 ๑๑. กายกระดุกกระดิก ยกแขนยกเท้า

                 ๑๒. กายเงื้อมไปมาข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายข้างขวาบ้าง

                 ถ้าลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น หากว่าเราเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้สอนเขา หรือเราปฏิบัติธรรมร่วมกัน ก็ขอให้ช่วยกัน พยายามไปผลักไว้ ไปดันไว้เสียก่อน ให้ตัวมันตรงเสียก่อนแล้วจึงค่อยปล่อย ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น โอกาสที่จะได้สมาธิสมาบัติหรือมรรคผลนั้น ไม่ได้ เหตุนั้นต้องช่วยกัน

                 ๑๓. บางครั้งมือของเราวางอยู่ในท่าหงาย คล้ายกับมีคนมาจับคว่ำลง บางครั้งมือของเราวางอยู่ในท่าคว่ำ คล้ายกับมีคนมาหงายขึ้น บางทีเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก คล้ายกับนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เรานั่งหันหน้าไปทางทิศใต้ คล้ายๆกับนั่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ

                 ๑๔. เรานั่งตัวตรงๆอยู่ คล้ายๆกับร่างกายของเรามันโอนไปเอนมา เหมือนกันกับต้นอ้อที่ลู่ไปตามลมฉะนั้น

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 81.0.4044.138 Chrome 81.0.4044.138


ดูรายละเอียด
« ตอบ #119 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2563 16:20:34 »




วิปัสสนาญาณ ๑๖ (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

(๕) ผรณาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ

                 ๑. จะปรากฏในจักษุทวารเหมือนกับสีคราม สีเขียวใบตองอ่อน สีเขียวมรกต มาปรากฏเฉพาะหน้า

                 ๒. มีอาการแผ่ซ่านเยือกเย็นไปทั่วสรรพางค์กาย

                 ๓. สงบเป็นพักๆ

                 ๔. ซึมๆ ไม่อยากลืมตา

                 ๕. ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย

                 ๖. บางครั้งมีอาการซู่ซ่าจากเท้าถึงศีรษะ บางครั้งมีอาการซู่ซ่าจากศีรษะถึงเท้า คล้ายๆกับมีภูตผีปีศาจมันวิ่งมาตามร่างกายของเรา

                 ๗. ทำให้เพลิดเพลิน สนุกสนาน อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ได้นานๆ

                 ๘. บางที เปลือกตาที่ปิดอยู่ก็ไม่อยากเปิดขึ้นเลย บางครั้งเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่าตนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของปีติ

          ปีติ ๕ ประการนี้ บางท่านก็เป็นครบหมดทุกอย่าง บางท่านก็เป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ถึงจะเป็นอย่างไรก็ใช้ได้ ถ้าท่านผู้ใดเป็น ก็ขอได้โปรดทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๓ แล้ว

          ๓) ปัสสัทธิ จิตและเจตสิกสงบมาก มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) มีอาการสงบเงียบเหมือนกันกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่

             (๒) ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด

              (๓) พอใจในการกำหนด และกำหนดได้ดี

              (๔) เยือกเย็น สบายๆ ไม่กระวนกระวายใจ

              (๕) ความรู้สึกเงียบไป คล้ายๆกับหลับไป

              (๖) บางทีมีอาการคล่องแคล่วดีมาก คล้ายๆกับร่างกายของเราไม่มีน้ำหนัก

              (๗) สมาธิดี ไม่เผลอ ไม่ลืม

              (๘) ความคิดปลอดโปร่งดีมาก คือเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ก็ดี เดินจงกรมอยู่ก็ดี จิตใจของเราปลอดโปร่งผิดปกติ

              (๙) บางที คนที่เคยเป็นคนดุร้ายทารุณ เคยฆ่าเคยประหารมาแล้ว ก็จะพิจารณาเห็นว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ละเอียดมาก ส่วนเรายังไกลมาก ต่อไปเราจะละความชั่วกระทำแต่ความดี บางคนที่เคยเป็นพาลเกเร เคยติดเหล้าติดสุรา เคยติดฝิ่นติดกัญชามาแล้ว ก็จะเลิกละนิสัยเดิมได้ เลิกสูบบุหรี่ได้ เลิกกินหมากได้ นิสัยจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนกับหน้ามือเป็นหลังมือ

          ๔) สุข ความสบายกายสบายใจ มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) มีความสุขความสบายใจดีมาก อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย

              (๒) มีความยินดี เพลิดเพลิน สนุกสนานในการประพฤติปฏิบัติ

              (๓) อยากพูดอยากคุยเรื่องที่ตนปฏิบัติมานั้นให้ผู้อื่นรู้ บางทีก็ภูมิใจ ดีใจ อยากพูดอยากคุย อยากพูดกับคนโน้นคนนี้ว่า “คุณ ฉันปฏิบัติไป ฉันเห็นนู้น ฉันเห็นนี้” ชอบเอาสภาวะที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติมาเล่าสู่ผู้อื่นฟัง

              (๔) บางครั้งก็นึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้แนะนำพร่ำสอน

              (๕) บางทีเห็นหน้าของครูบาอาจารย์มาอยู่ใกล้ๆ คล้ายๆกับท่านจะมาช่วยเรา

              (๖) บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระอรหันต์ ดังที่เราทั้งหลายได้ฟังทางวิทยุบ้าง ทางทีวีบ้าง จากหนังสือพิมพ์บ้างว่า นั่งกัมมัฏฐานไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า นั่งกัมมัฏฐานไปใส่บาตรพระพุทธเจ้า อะไรทำนองนี้ ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นเรื่องของสุขอุปกิเลสต่างหาก คือเมื่อสภาวะนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เราคิดอยากเห็นอะไรก็เห็นสิ่งนั้น เราคิดถึงสวรรค์ก็เห็นสวรรค์ คิดถึงพรหมโลกก็เห็นพรหมโลก คิดถึงครูบาอาจารย์ก็เห็นครูบาอาจารย์ คิดถึงพระอรหันต์เห็นพระอรหันต์ นึกถึงพระพุทธเจ้าเห็นพระพุทธเจ้า เหตุนั้นท่านทั้งหลาย เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้น ให้ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวัง อย่าวิ่งไปตามอำนาจสุขอุปกิเลสดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

              เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ท่านทั้งหลาย สีหน้าของผู้ปฏิบัติจะอิ่มเอิบ ร่าเริง เบิกบานเป็นอย่างมาก บางครั้งก็เข้าใจว่าตนได้บรรลุวิชชา ปฏิสัมภิทา ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว

          ๕) ศรัทธา ความเชื่อ มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) เชื่อและเลื่อมใสมากเกินไป อยากให้คนทั้งหลายได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

              (๒) อยากให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

              (๓) อยากให้ทุกคนได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

              (๔) อยากทำบุญทำทาน อยากสร้าง อยากปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุต่างๆ

              (๕) อยากให้การปฏิบัตินั้นก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

              (๖) บางทีนึกอยากไปชวนคนโน้นคนนี้มาปฏิบัติ

              (๗) อยากนำของไปถวายครูบาอาจารย์

              (๘) อยากออกบวช อยากอยู่ที่สงัด อยากประพฤติปฏิบัติจริงๆ อยากอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย

              (๙) บางทีก็อยากไปประกาศไปโฆษณาให้คนทั้งหลายได้รู้ว่า สมัยนี้มรรคผลพระนิพพานยังมีอยู่ พระอริยบุคคลยังมีอยู่ อยากให้คนทั้งหลายได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

              (๑๐) บางทีก็เกิดความเชื่อมั่นขึ้นว่า ธรรมะที่เราปฏิบัติอยู่นี้ เป็นธรรมะที่วิเศษที่สุด ไม่มีธรรมะอื่นใดจะเสมอเหมือนได้ และเป็นธรรมะที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน

              (๑๑) บางครั้งก็นึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ ที่ได้อุตส่าห์พยายามแนะนำพร่ำสอนให้ตนได้รู้ได้เข้าใจ โดยที่ไม่คำนึงถึงความลำบากเหนื่อยยากของตนเองเลย อันนี้เป็นลักษณะของศรัทธา

          ๖) ปัคคัยหะ ความเพียร มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) ขยันมากเกินไป ครูบาอาจารย์จะยุไม่ได้ เพราะจะทำให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นบ้าได้ ความเพียรในภาคปริยัติกับความเพียรในภาคปฏิบัตินั้นไม่เหมือนกันท่านทั้งหลาย ความเพียรในด้านปริยัตินี้ เราต้องคิดเอาว่า วันนี้จะเดินจงกรมเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง วันนี้จะนั่งเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง ต้องคิดเอา แต่ความเพียรด้านปฏิบัตินี้ไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะทำให้คิดมาก นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง อย่างนี้แสดงว่า ปัคคัยหะคือความเพียรนั้นมันเกิดขึ้นมาแล้ว เหตุนั้น เมื่อความเพียรเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านทั้งหลายต้องมีสติ ถ้าขาดสติอาจจะเป็นบ้าไปก็ได้

              (๒) ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ บางทีเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจแกล้วกล้าในการประพฤติปฏิบัติ ขยันลุกขึ้นปฏิบัติ ทั้งอาจหาญ อดทน ไม่เกียจคร้าน ไม่ถอยหลัง ไม่มีใครบอก ไม่มีใครเตือน ขยันเองตามธรรมชาติ บางทีก็มีความพยายามดี ประคองใจไว้มั่นคง บางทีก็อยากประพฤติปฏิบัติจริงๆ ไม่อยากเสียเวลา ไม่อยากพูดจากับใครๆ อันนี้เป็นลักษณะของความเพียร

          ๗) อุปัฏฐาน สติเข้าไปปรากฏชัด มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) มีสติมากเกินไป ทำให้ผู้ปฏิบัตินึกถึงแต่เรื่องอดีต อนาคต ทิ้งอารมณ์ปัจจุบันเสียเป็นส่วนมาก

              (๒) บางครั้งนึกถึงแต่อดีตที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่นานๆโน้น เช่น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อก่อนโน้นเราเป็นเด็กเป็นเล็ก เคยทำอย่างนั้นพูดอย่างนี้ เป็นต้น

              (๓) บางครั้งคล้ายๆกับจะระลึกชาติหนหลังได้ บางท่านระลึกได้จริงๆ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้างก็มี

              (๔) นึกถึงแต่ข้างหน้า คือ ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อเราออกจากห้องกัมมัฏฐานนี้ไป เราจะไปสร้างห้องกัมมัฏฐาน เราจะสอนกัมมัฏฐาน เราจะเทศน์ให้ดีสอนให้ดี เป็นต้น บางทีก็คิดอยากจะส่งเสริมการประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

          ๘) ญาณ ความรู้ มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) ความรู้ด้านปริยัติกับปฏิบัติเข้าผสมกัน ทำให้ผู้ปฏิบัติอวดดีสู้ครู เหตุนั้น เวลามาประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่สอนยากเบอร์หนึ่งก็คือพระ เบอร์สองก็คือโยมผู้ชาย ผู้สอนง่ายก็คือโยมผู้หญิง เพราะเหตุไรพระเราจึงสอนยาก เพราะว่า พระเรานี้เคยศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว จบนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก มหาเปรียญ พระอภิธรรม เวลาประพฤติปฏิบัติก็จะเอาปริยัติมาจับ พิจารณาทบทวนว่าตรงกันไหม หรือขัดแย้งกันตรงไหน เป็นต้น

              (๒) ชอบวิพากษ์วิจารณ์อารมณ์ต่างๆ เช่น พองเป็นเกิด ยุบเป็นดับ เป็นต้น

              (๓) ผู้ปฏิบัติจะนึกถึงหลักฐานที่ตนเคยศึกษาเล่าเรียนมาจากสำนักครูบาอาจารย์ มาเปรียบเทียบกันว่าจะตรงกันไหม หรือจะขัดแย้งที่ตรงไหน

              (๔) ไม่ได้ปัจจุบัน ส่วนมากเป็นวิปัสสนึก คือนึกเอาเอง ไม่ใช่วิปัสสนา แต่ตนเองเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา

          ๙) อุเปกขา มีลักษณะดังนี้ คือ

              ใจเฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ บางทีก็หลงๆลืมๆ พองยุบก็ปรากฏมัวๆ ลางๆ บางครั้งไม่เห็นอาการพองอาการยุบ บางครั้งใจลอยๆเลือนๆ คล้ายๆกับไม่ได้คิดอะไร บางทีพองยุบนี้ ประเดี๋ยวเห็นประเดี๋ยวหาย บางทีไม่มีอาการกระวนกระวายใจ ใจสงบดี บางครั้งไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไรทั้งนั้น เมื่อก่อนโน้นเราอยากเป็นโน้นอยากเป็นนี้ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้ปฏิบัติไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไรทั้งนั้น บางครั้งคล้ายๆกับว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ขณะนั้นคล้ายๆว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน มันหมดไปสิ้นไปจากขันธสันดานแล้ว คือกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายไม่มารบกวน เลยทำให้เข้าใจว่าตนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

          ๑๐) นิกันติ ความใคร่ มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) พอใจในอารมณ์ต่างๆ เช่น แสงสว่าง ปีติ ปัสสัทธิ สุข ศรัทธา สติ ความเพียร ญาณ อุเปกขา เป็นต้น

              (๒) พอใจในนิมิต เช่นว่า เรานั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้วก็อยากเห็นอีก บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นเจดีย์ เห็นพระพุทธรูปที่หุ้มด้วยทองคำอร่ามเรือง ก็อยากเห็นอีก หายไปแล้วก็อยากเห็นอีก บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นเทวดา เห็นที่อยู่ของเทวดา ก็อยากเห็นอีก สมกับเป็นอุปกิเลสแท้

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ บางท่านก็เป็นครบหมดทุกอย่าง แต่บางท่านก็เป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ ท่านผู้ใดเป็นก็โปรดทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๓ แล้ว

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่ออุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ให้ผู้ปฏิบัติรีบกำหนด ถ้ากำหนด ๒-๓ ครั้งไม่หาย ให้เข้าใจเถิดว่า สติ สมาธิ ปัญญา ของเรายังหย่อน รีบไปเดินกำหนดเพิ่มอีกสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งต่อไป แต่ถ้ากำหนดครั้งเดียวหายไปเลย ตนเองก็ผงะไปข้างหลัง ตกใจบ้างเล็กน้อย อย่างนี้ดี เข้าเขตญาณที่ ๔ อย่างแก่ๆ

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สมถะกัมมัฏฐานกับวิปัสสนากัมมัฏฐานแยกกันนะ แยกกันที่ตรงนี้ คือญาณที่ ๑ ก็ยังอยู่ในเขตสมถะ ญาณที่ ๒ ก็ยังอยู่ในเขตสมถะ ญาณที่ ๓ ก็ยังอยู่ในเขตสมถะ เป็นวิปัสสนาเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่นับตั้งแต่ญาณที่ ๔ ไป เป็นวิปัสสนาญาณล้วน ได้ปรมัตถ์เป็นอารมณ์

       ๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) ถ้าผู้ดูพองดูยุบ จะเห็นอาการพองอาการยุบ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ ระยะ เช่น เรากำหนด “ยุบหนอ” อย่างนี้ จะเห็นอาการยุบของเรามันยุบลงไปเป็นหยักๆ เป็นห้วงๆลงไป เหมือนเราหายใจไม่พอ คล้ายๆกับเราหายใจเป็นสองจังหวะ ผู้มีปัญญามากจะมีลักษณะดังนี้

          ๒) เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน เวลาเรากำหนด ยกขึ้นกับเหยียบลงนั้นปรากฏชัด แต่ท่ามกลางไม่ชัด

          ๓) เวทนาหายเร็ว เช่น เรานั่งกัมมัฏฐานไป ปวดที่โน้น เจ็บที่นี้ แต่เวลากำหนด “ปวดหนอๆ” ๒-๓ ครั้งก็หาย

          ๔) มีนิมิตมาก นั่งกัมมัฏฐานไป เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เป็นต้น แต่เวลากำหนดมันหายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย

          ๕) มีแสงสว่างคล้ายไฟฟ้า คล้ายไฟนีออน แสงสว่างนี้ ถ้าอยู่ในญาณที่ ๓ จะสว่างเล็กๆน้อยๆ เท่าเทียนไข เท่าไฟฉาย แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้จะสว่างมาก บางครั้งเรานั่งไป เห็นไฟฟ้า เห็นไฟนีออน เห็นตะเกียงเจ้าพายุ เห็นดวงดาว เห็นดวงอาทิตย์ เป็นต้น

          ๖) ผู้มีสมาธิดีจะดับวูบลงไปบ่อยๆ เหมือนกันกับตกหลุมอากาศหรือเหยียบบันไดข้ามขั้น

          ๗) ผู้ปฏิบัติจะกำหนดติดต่อไปเป็นสายไม่ขาดระยะ เหมือนกับด้ายสนเข็ม

          ๘) อาการเกิดดับที่เรากำหนดอยู่นั้นปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น

          ๙) เวลาเรากำหนด “คู้หนอ” จะเห็นอาการคู้หายวับไปทันที ไม่สืบเนื่องกันเลย เวลาเรากำหนด “เหยียดหนอ” จะเห็นอาการเหยียดหายวับไปเลย ไม่สืบเนื่องกันเลย เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่า รูปปรมัตถ์เกิดที่ไหนดับที่นั้น

          ๑๐) อารมณ์ที่เรากำหนดและอาการเกิดดับนั้นปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น และกำหนดได้สะดวกสบายดี และมีจิตใจผ่องแผ้วขึ้นอีกเป็นอันมาก

          ให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นว่า ดีชั่วไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราก็คือ (๑) ปฏิบัติ (๒) กำหนด การปฏิบัติจึงจะได้ดีขึ้น

          ๑๑) มีอาการสัปหงกไปมา ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง แรงบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่อำนาจของสมาธิ ถ้าสมาธิดีก็ปรากฏแรง ถ้าสมาธิไม่ดีก็ปรากฏเบาๆ ท่านเรียกว่า สันตติขาด พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็สัปหงกลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางครั้งเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางทีก็แน่นมากจริงๆ จนผู้ปฏิบัติกำหนดว่า “แน่นหนอๆ” มันแน่นขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน

                   (๒) บางครั้งเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป อย่างนี้เรียกว่า อนัตตาปรากฏชัด แต่ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้ ไม่รู้ว่าอันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา

          สรุปแล้วท่านทั้งหลาย

          อาการพองยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ เป็นลักษณะของอนิจจัง

          อาการพองยุบของเราฝืดๆอึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เป็นลักษณะของทุกขัง

          อาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ เป็นลักษณะของอนัตตา

          แต่ผู้ปฏิบัติจะไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่า อันนี้มันเร็ว อันนี้มันใจจะขาด อันนี้สม่ำเสมอ ถึงจะรู้หรือไม่รู้ก็เป็นพระไตรลักษณ์

       อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ ผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ผู้ใดไม่มีบุญไม่เกิด ผู้ใดไปฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด พระเราถ้าไปต้องอาบัติปาราชิกมาแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด ผู้ใดทำบุญไว้ในชาติปางก่อนไม่ได้ไตรเหตุ คือไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ ญาณนี้ก็ไม่เกิด แต่ถ้าญาณนี้เกิด ผู้นั้นมีหวังจะได้มรรคผลพระนิพพานในชาตินี้

       ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ท่านผู้ใดเป็นบ้าง ถ้าเป็นก็ขอได้โปรดทายเถิดว่า เราได้ถึงญาณที่ ๔ แล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้ไม่ถึง ก็ขออย่าได้ประมาท พยายามทำต่อไป

       ๕. ภังคญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น สุดพอง สุดยุบ ปรากฏชัดดี แต่ท่ามกลางไม่ชัด เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน เวลายกขึ้นและก้าวไปไม่ปรากฏชัด แต่เวลาเราเหยียบลงปรากฏชัดเจนดี บางทีเหมือนกันกับมีอะไรมาสูบเอาเท้าของเราไปติดแน่นอยู่กับพื้นก็มี บางทีเรากำหนด “เหยียบหนอ” อยู่นี้ เท้าของเรามันค้างอยู่ ต้องเหวี่ยงอย่างแรง หัวคะมำไปก็ดี

          ๒) อารมณ์ที่กำหนดไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง

          ๓) พองยุบหายไป ผู้ปฏิบัติกำหนดว่า “รู้หนอๆ” เสร็จแล้วความรู้ก็หายไป

          ๔) คล้ายๆกับไม่ได้กำหนดอะไร คล้ายๆกับนั่งอยู่เฉยๆ บางท่านพิจารณาเห็นว่า เอ๊ะ! เรามานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ภาวนาว่ากระไร มันจะได้บุญที่ตรงไหน อย่างนี้ก็มี

          ๕) พองยุบกับจิตผู้รู้หายไปๆ ผู้ปฏิบัติก็กำหนดว่า “รู้หนอๆ” ผลสุดท้ายความรู้ก็หายไป

          ๖) พองยุบห่างๆ จางๆ ไม่ชัดเจนดี

          ๗) ไม่เห็นสัณฐานหน้าท้อง มีแต่อาการตึงๆ อยู่ตลอดเวลา

          ๘) บางครั้งไม่เห็นพองไม่เห็นยุบ เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ ไม่เห็นพองไม่เห็นยุบ

          ๙) บางครั้งอาการพองอาการยุบหายไปตั้งหลายวันจนเกิดความเบื่อหน่าย ถ้าลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น ให้ท่านทั้งหลายพยายามลุกขึ้นไปเดินจงกรมเพิ่มอีกสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งต่อไป สติ สมาธิ หรือญาณ จะได้ดีขึ้น

          ๑๐) บางครั้งมีอาการวูบวาบไปตามร่างกาย บางทีก็มีอาการชาๆ ไปตามร่างกาย คล้ายๆกับคนเอาร่างแหมาครอบ

          ๑๑) บางทีอารมณ์กับจิตหายไปพร้อมๆกัน ครั้งแรก รูปหายไปก่อน ใจยังรู้อยู่ ครั้งต่อมาอารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่กำหนดก็หายไปพร้อมกัน

          ๑๒) บางครั้ง อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปนามมีอยู่ แต่ผู้ปฏิบัติไม่สนใจดู ไปสนใจดูเฉพาะความดับไปของรูปนามเท่านั้น บางครั้งเรากำหนดอะไรๆไม่ปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้ง คล้ายๆกับเราอยู่ในสนามหญ้ากว้างๆหรือโล่งๆ ปรากฏเห็นแต่หมอกสลัวๆ มัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง เรามองดูต้นไม้ก็ปรากฏสั่นๆ เรามองดูกุฏิวิหารก็ปรากฏสั่นๆ เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็มัวๆ ลางๆ ไม่เห็นอาการพองอาการยุบก็มี บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบประเดี๋ยวเห็นประเดี๋ยวหาย บางทีรูปนามที่เรากำหนดอยู่นั้นปรากฏเร็ว คล้ายๆกับรูปนามเหล่านั้นจะมารอคอยให้เรากำหนดอยู่ก่อนแล้ว

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ สภาวะของญาณนี้ชัดเจนแล้ว เราเดินจงกรมอยู่ก็ปรากฏง่วงๆ เดินไปหลับไปๆ เรานั่งสมาธิก็เหมือนกัน คล้ายๆกับนั่งหลับ นั่งไปหลับไปๆ เหมือนกับเราง่วงนอนมาแต่หลายๆวัน แต่ไม่เป็นอาการหลับนะ คือรูปนามขันธ์ห้ามันดับไป มีแต่อาการดับปรากฏชัด ถ้าลักษณะดังนี้เกิดขึ้น ก็ขอให้ท่านเข้าใจเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๕ แล้ว

       ๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) อารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่รู้ทันกัน หายไปพร้อมกัน จึงปรากฏเป็นของน่ากลัว

          ๒) มีความกลัว แต่ไม่ใช่กลัวเปรต กลัวผี กลัวศัตรู

          ๓) เห็นรูปนามหายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป จึงปรากฏเป็นของน่ากลัว

          ๔) รู้สึกเสียวๆ ตามร่างกาย เราลูบตามแขนของเราก็ปรากฏเสียวๆ เราลูบบนศีรษะของเราก็ปรากฏเสียวๆ คล้ายกับเป็นไข้ คล้ายกับเป็นโรคประสาท

          ๕) นึกถึงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติมิตร ที่จากมาแต่นานๆโน้น ก็ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เหมือนกับคนจะเป็นบ้า

          ๖) บางครั้งกลัวมากจริงๆ ชั้นที่สุด เห็นตุ่มน้ำ เห็นเสาเตียง เห็นกบ เห็นเขียด เห็นวัว เห็นควาย ก็กลัว ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เหมือนกับคนเป็นบ้า

          ๗) บางคนเพียงแต่ว่า เอ๊ะ ทำไมมันน่ากลัวอย่างนี้ แต่ไม่กลัวจริงๆ ก็มี

          ๘) เกิดอาการกลัวต่อความเป็นไปของรูปนามอย่างแปลกประหลาด เหมือนกับเราไปในป่าชัฏ บังเอิญไปพบกับสิงโต หรือเสือ หรืองูพิษ โดยบังเอิญ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสะดุ้งตกใจกลัวขึ้นมา

          ๙) บางทีรูปนามแสดงลักษณะอันน่ากลัวขึ้นมา เช่น นั่งกัมมัฏฐานไป สั่นระรัวๆ เหมือนกับเป็นไข้จับสั่น เหมือนกับเขาลงธรรม บางทีเหมือนกับภูตผีปีศาจมาสิงอยู่ในร่างกายของเรา บางครั้งคล้ายๆกับร่างกายของเรานี้แบ่งเป็นสองซีก ซีกหนึ่งเย็นสบาย ซีกหนึ่งร้อนจนเหงื่อออกก็มี อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๖

          ๑๐) ผู้ปฏิบัติเห็นอยู่ว่ารูปนามที่เป็นปัจจุบันกำลังดับอยู่ แม้รูปนามที่เป็นอนาคตก็จักดับเหมือนกัน อุปมาเหมือนกันกับผู้หญิงคนหนึ่ง มีบุตรสามคน ตายไปแล้วคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งกำลังตายอยู่คามือ ก็เป็นเหตุให้ทอดอาลัยว่า ผู้อยู่ในท้องก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน

          การที่เห็นลูกคนที่หนึ่งตายไปแล้ว เท่ากับผู้ปฏิบัติเห็นรูปนามที่ดับไปแล้ว

          การที่เห็นลูกคนที่สองกำลังตายคามืออยู่ เท่ากับผู้ปฏิบัติเห็นรูปนามที่กำลังดับอยู่ในปัจจุบัน

          การที่หมดอาลัยในลูกที่อยู่ในท้อง คล้ายกับผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นความดับของรูปนามในอนาคต

       สรุปแล้วว่า เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ท่านทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย เหมือนกับคนเป็นโรคประสาท บางทีเราเคยนั่งกัมมัฏฐานได้ตั้ง ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ นั่งเพียง ๕ นาทีก็ไม่ได้ อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๖

       ๗. อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) ผู้ดูพองดูยุบ จะเห็นอาการพองอาการยุบหายไปทีละนิดๆ

          ๒) พองยุบปรากฏมัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง

          ๓) เห็นรูปนามไม่ดี น่าเบื่อหน่าย เป็นของปฏิกูล เป็นรังของโรคนานาชนิด

          ๔) เห็นรูปนามปรากฏเร็ว แต่ยังกำหนดได้ดีอยู่

          ๕) เห็นรูปนามเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์โทษ ไม่จีรังยั่งยืน บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา

          ๖) จะกำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ไม่ดี เพราะล่วงปริยัติ มีแต่ปฏิบัติ

          ๗) บางทีผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่าการปฏิบัติวันนี้สู้วันก่อนๆไม่ได้

          ๘) มีอาการหงุดหงิดหวาดผวา ซ้ำแลเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเสมือนเต็มไปด้วยเลือดด้วยหนอง ขึ้นอืด เน่าเฟอะ

          ๙) ผู้ปฏิบัติเห็นว่ารูปนามเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายินดี เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นรังของโรคนานาชนิด

          ๑๐) ผู้ปฏิบัติจะตั้งสติกำหนดลงไป ณ ที่ใด ก็เห็นแต่เป็นของไม่ดีไม่งามไม่สวยทั้งนั้น

          ๑๑) ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อก่อนโน้น เราเห็นว่ารูปนามเป็นของดี เคยชอบใจติดใจหลงใหลมานานแล้ว แต่บัดนี้เห็นว่ารูปนามเป็นของไม่ดี เป็นของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก ทั้งร่างกายตน ทั้งร่างกายผู้อื่น

       ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ หากว่าสภาวะนี้เกิดชัดเจนแจ่มแจ้งดีแล้ว บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ บางทีคันคอ บางทีจาม บางทีไอ บางทีน้ำลายไหล บางทีหิว บางทีกระหาย อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๗

       ๘. นิพพิทาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้วเกิดความเบื่อหน่าย มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) เกิดความเบื่อหน่ายในอารมณ์ที่กำหนดอยู่นั้นยิ่งนัก จะหาความรื่นเริงสักนิดก็ไม่มี

          ๒) รู้สึกแห้งแล้ง คล้ายกับขี้เกียจ แต่ยังกำหนดได้ดีอยู่

          ๓) ไม่เบิกบานแจ่มใส เอือมๆ เบื่อๆ เหมือนกันกับพลัดพรากจากของรักของชอบใจ

          ๔) เมื่อก่อนได้ยินเขาพูดกันว่าเบื่อ แต่ไม่รู้ว่าเบื่ออย่างไร บัดนี้รู้แล้วว่าเบื่อจริงๆ

          ๕) เมื่อก่อนเห็นว่าอบายภูมิเท่านั้นไม่ดี ส่วนมนุษย์ สวรรค์ พรหมโลก ยังดีอยู่ บัดนี้เห็นว่า แม้มนุษย์ แม้สวรรค์ แม้พรหมโลก ก็ไม่มีอะไรดีเลย เกิดขึ้นมาแล้วก็ตายไปด้วยกันทั้งนั้น

          ๖) กำหนดรูปนามไม่เพลิดเพลินเลย ทุกสิ่งทุกอย่างเห็นว่าเป็นของไม่ดีไม่สวยไปทั้งนั้น

          ๗) ไม่อยากพูดจากับใครๆ อยากอยู่ในห้องเงียบๆ แต่เพียงคนเดียวเท่านั้น แม้ครูบาอาจารย์ก็ไม่อยากเห็น แม้ครูบาอาจารย์ก็ไม่อยากให้มาสอบอารมณ์ อยากให้หยุดเสียก่อน

          ๘) รู้สึกแห้งแล้ง คล้ายกับอยู่ในสนามหญ้ากว้างๆ โล่งๆ ในฤดูร้อน ซึ่งไม่มีต้นไม้ ไม่มีเงาไม้มาบัง มีแต่แดดมาแผดเผาให้หญ้าเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น

          ๙) รู้สึกหงอยเหงา ไม่เบิกบาน ไม่รื่นเริง ไม่อยากแต่งเนื้อแต่งตัว หน้าตาหม่นหมอง เศร้าๆโศกๆ เหมือนกันกับลูกตาย ผัวตาย เมียตาย ของหาย ฉะนั้น

          ๑๐) เบื่ออาหาร ไม่อยากรับประทานอาหาร บางทีรับประทานอาหารไปแล้วอาเจียนอยู่ทั้งวันก็มี คือเบื่ออาหาร นอนก็น้อย พูดก็น้อย

          ๑๑) บางคนพิจารณาเห็นว่า ลาภยศที่ตนต้องการเมื่อก่อนโน้น ไม่เห็นมีอะไรดีเลย ที่ได้ลาภได้ยศ เป็นเจ้านาย เป็นเศรษฐี เป็นคุณหญิงคุณนายมีสายสะพายโตๆ ไม่เห็นแปลกอะไร เกิดขึ้นมาแล้วก็ตายไปด้วยกันทั้งนั้น

          ๑๒) กำหนดอารมณ์ครั้งใดก็มีแต่ความเอือมระอา หมดความรู้สึกเพลิดเพลินยินดี ไม่เบิกบานใจ แต่ยังไม่ละการกำหนด ยังพยายามกำหนดต่อไปอีก

       ญาณนี้สำคัญนะท่านทั้งหลาย เบื่อแล้วก็ยังไม่เลิก ยังพยายามกำหนดต่อไปอีก
 

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า:  1 ... 4 5 [6] 7   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.836 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 18 กุมภาพันธ์ 2567 04:45:26