[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 15:58:18 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 ... 5 6 [7]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แสงสว่างทางปฏิบัติ  (อ่าน 43998 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 81.0.4044.138 Chrome 81.0.4044.138


ดูรายละเอียด
« ตอบ #120 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2563 16:22:54 »




วิปัสสนาญาณ ๑๖ (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       สรุปแล้วว่า เมื่อปฏิบัติมาถึงญาณนี้ท่านทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติจะมีอาการเบื่อมาก

       บางทีผู้อยู่ในครอบครัวจะเบื่อครอบครัวอยากออกบวช พระสงฆ์สามเณรก็เบื่อหน่ายวัดวาอาราม เบื่อหน่ายญาติโยม อยากไปอยู่ในที่สงัด อยากประพฤติปฏิบัติจริงๆ ไม่อยากให้ใครมารบกวน บางทีก็เบื่ออาหาร เบื่อเมืองมนุษย์ เบื่อเทวโลก เบื่อพรหมโลก หนักเข้าก็เบื่อการปฏิบัติ ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ แต่ยังไม่ละการปฏิบัติ ยังพยายามปฏิบัติต่อไปอีก อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๘

       ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายแล้วอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น ไปจากรูปจากนาม มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) มีอาการคันยุบๆ ที่โน้นที่นี้ เหมือนกันกับมดไต่ไรคลานตามเนื้อตามตัว คืออาการคันนี้ ถ้าอยู่ในญาณที่ ๓ จะคันเล็กๆน้อยๆ เหมือนกันกับมีตัวเรือดตัวไรมาไต่มาตอม แต่ถ้าถึงญาณที่ ๙ นี้จะคันมาก เกาก็เกาแรง บางทีเป็นตุ่มขึ้นมาทั้งตัวก็มี

          ๒) ลุกลี้ลุกลน ผุดลุกผุดนั่ง จะนั่งกำหนดก็ไม่ได้ดี นอนกำหนดก็ไม่ได้ดี

          ๓) กำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ก็ไม่ได้ดี

          ๔) ใจหงุดหงิด เอือมๆ เบื่อๆ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร

          ๕) กลุ้มใจ คิดอยากกลับบ้าน นึกว่าตนหมดบุญวาสนาบารมีแล้ว บางคนก็เก็บบริขารกลับวัดกลับบ้านก็มี บางคนก็มาลากลับบ้าน ถ้าครูบาอาจารย์ไม่ให้จะกระโดดน้ำตาย อย่างนี้ก็มี ที่เป็นเช่นนี้ท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของปฏิจจสมุปบาทอวิชชา ความโง่เป็นเหตุให้เกิดสังขาร แต่ผู้ปฏิบัติกำหนดไม่ทัน อาการเช่นนี้จึงเกิดขึ้น เหตุนั้น อาจารย์ต้องเป็นผู้มีจิตวิทยา รู้จักปลอบโยน รู้จักชี้แจงแสดงไขให้ผู้ปฏิบัติยินดีในการประพฤติปฏิบัติ

          ๖) บางทีมีเวทนามารบกวนมาก เช่น อาการขบเมื่อย ปวด ชา จุก เสียด คัน แต่เวลาเรากำหนดจะเห็นว่าเวทนาหายไปเป็นท่อนๆ หายไปเป็นเสี่ยงๆ หายไปเป็นซีกๆ คล้ายๆกับเราหยิบเอาเวทนาออกทิ้งไปแล้ว

          ๗) มีอาการคันยุบๆยิบๆ ที่โน้นบ้าง ที่นี้บ้าง จนเหลือที่จะอดเหลือที่จะทน เหมือนกับคนเอาหมามุ่ยหรือตำแยไปโรยบนที่นอนก็มี

          ๘) จิตใจไม่แน่นอน อยากให้ความทุกข์ ความเสื่อม และเวทนาที่เป็นสังขารทุกข์ที่มารบกวนอยู่นี้หายไป

          ๙) อยากถึงพระนิพพาน ผู้ปฏิบัติจะอยากถึงพระนิพพาน แต่การอยากถึงพระนิพพานนั้น อยากถึงเอง ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

          ๑๐) กำหนดครั้งใดก็เห็นแต่ทุกข์แต่โทษของรูปนาม จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นอยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากรูปนามอย่างจริงจัง

          ท่านอุปมาเหมือนกันกับปลาที่ติดอยู่ในข่ายในแห อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากแหฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

          หรืออุปมาเหมือนกันกับกบที่อยู่ในปากของงู อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากปากของงูฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

          หรืออุปมาเหมือนไก่ป่าที่ติดอยู่ในกรง อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากกรงฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

          หรืออุปมาเหมือนช้างที่ติดหล่ม อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากหล่มฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

          หรืออุปมาเหมือนกับบุรุษที่อยู่ในวงล้อมของข้าศึก อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากวงล้อมของข้าศึกฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       สรุปแล้วท่านทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จิตใจของผู้ปฏิบัติไม่แน่นอน เดินจงกรมก็ไม่อยากเดิน บางทีเดินจงกรมแล้วก็ไม่ยอมกำหนด เดินก็สักแต่ว่าเดิน กำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้นาน เมื่อก่อนโน้นเคยกำหนดได้ ๑ ชั่วโมง หรือ ๒-๓ ชั่วโมงก็มี แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ กำหนด ๕ นาทีก็ไม่ได้ อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๙

       ๑๐. ปฏิสังขาญาณ มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) จะปรากฏเหมือนกันกับคนเอาเข็มแหลมๆ ไม้แหลมๆ เอาเหล็กแหลมๆ มาแทงที่ร่างกายของเรา ปรากฏเสียวแปลบๆขึ้นมาก็มี

          ๒) บางครั้งปรากฏเหมือนกับคนเอาเลื่อยมาตัดตามร่างกายของเรา เสียวแปลบๆขึ้นมา

          ๓) บางทีมีเวทนามาก ปวดที่โน้น เจ็บที่นี้ แต่หายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย บางทีมีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา

          ๔) บางทีมือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง เหมือนกันกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่ บางทีมีอาการตึงๆ หนักๆ เหมือนกับคนเอาท่อนเหล็กหนักๆ ท่อนไม้หนักๆ หรือก้อนดินหนักๆ มาทับบนร่างกายของเรา

          ๕) บางทีมีอาการอึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด

          ๖) บางทีร้อนทั่วสรรพางค์กาย

          ๗) บางทีทั้งร้อน ทั้งเย็น ทั้งเจ็บท้อง ทั้งอาเจียน

       อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๐

       ๑๑. สังขารุเปกขาญาณ มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) ไม่กลัว ไม่ยินดี ใจเฉยๆอยู่กับรูปกับนาม บางครั้งอาการพองอาการยุบก็ปรากฏชัด

          ๒) ไม่ยินดี ไม่เสียใจ มีสติสัมปชัญญะดี ไม่เผลอจากรูปนาม

          ๓) จำง่าย กำหนดได้สะดวกสบายดี

          ๔) ผู้มีสมาธิดีจะกำหนดบทพระกัมมัฏฐานได้นานๆ เหมือนกันกับคนขี่รถบนถนนลาดยางที่เรียบๆ ทำให้เพลิดเพลินจนลืมเวลาไปก็มี

          ๕) ยิ่งนานยิ่งละเอียด เหมือนกับคนร่อนแป้ง ยิ่งร่อนยิ่งละเอียด

          ๖) ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด รูป เสียง กลิ่น รส ไม่ปรากฏมารบกวนได้เลย เมื่อก่อนโน้น เรานั่งกัมมัฏฐานก็หงุดหงิดอย่างโน้นบ้าง หงุดหงิดอย่างนี้บ้าง เขามาแสดงดนตรีใกล้บ้านใกล้ที่อยู่ของเราก็หงุดหงิดขึ้นมา แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ท่านทั้งหลาย อาการดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็ไม่มีเลย บางทีเขามาเล่นภาพยนตร์อยู่ใกล้วัดของเราใกล้บ้านของเรา สามารถนั่งกัมมัฏฐานได้สบายๆ

          มีพระภิกษุรูปหนึ่ง มาปฏิบัติอยู่ที่นี่ วันนั้นเขาก็มีมหรสพอยู่นี้แหละ เขามาแสดงหมอลำเรื่อง หมอลำหมู่ ขณะนั้นครูบาอาจารย์หลายๆรูปมาอยู่ด้วยกัน มาอยู่ในห้องหลวงพ่อ พอดีพอเขาแสดงหมอลำเรื่อง ก็พูดกันว่า “วันนี้เรามาแข่งสมาธิกัน ถ้าใครแพ้ก็ลุกไป ถ้าใครไม่แพ้ก็นั่งไป” คือนั่งสมาธิแข่งกัน ว่าผู้ใดจะทำสมาธิได้ ก็พากันกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “ได้ยินหนอๆๆ” ผู้ที่ทำไม่ได้ก็หายไปทีละรูปสองรูป ผลสุดท้ายเหลือแต่หลวงตาสังข์รูปเดียว นั่งสมาธิขาดความรู้สึกอยู่นั้นจนหมอลำเรื่องเขากลับ เมื่อแกรู้สึกตัวขึ้นมา ถามว่า หมอลำเรื่องไปไหน หมอลำหมู่ไปไหน เขากลับบ้านแล้ว นี้แหละท่านทั้งหลาย ถ้าอุเบกขานี้มากๆแล้ว ผู้ปฏิบัติจะไม่หงุดหงิด ไม่รำคาญกับรูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์ใดๆทั้งสิ้น

          ๗) บางที โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคลมบ้าหมู โรคกระเพาะอาหาร โรคความดันสูง เป็นต้น เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ บางท่านก็หายเด็ดขาดไปเลยก็มี บางท่านก็หายไปชั่วครั้งชั่วคราว มีหลายๆคนหายในลักษณะดังนี้

          มีโยมคนหนึ่ง เมื่อก่อนเขาเป็นกุมภัณฑยักษ์ เวลาเกิดขึ้นมาแล้วต้องเอาน้ำมารด บางครั้งตั้งแต่หัวค่ำจนย่ำรุ่งจึงรู้สึกตัวขึ้นมา คนทั้งหลายว่าเป็นกุมภัณฑยักษ์ สำหรับสามีของแกนั้นบอกว่า ภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน สามีของแกไปเรียนแพทย์แผนโบราณบ้าง ไปเรียนแพทย์แผนปัจจุบันบ้าง มารักษาก็ไม่หาย ไปเรียนมนต์กลคาถา ไปเรียนธรรมมาปราบก็ไม่หาย

          ปีนั้นหลวงพ่อไปสอนกัมมัฏฐานที่บ้านเหมือดแอ่ แกมาปฏิบัติ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา หลวงพ่อก็บอกว่า คุณโยม อันนี้ไม่ใช่ภูตผีปีศาจ ไม่มีอะไรหรอก แต่ว่าเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่ทัน อาการอย่างนี้จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ต่อไปเมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น ให้กำหนดว่า “หยุดหนอๆ หยุด!” หรือว่าอย่างนี้มันยังไม่หาย เวลามันเกิดขึ้นมาเรากำหนด “หยุด!” มันจะได้หายไป แล้วแกเอาไปปฏิบัติ ไปปฏิบัติดังนั้นก็หายมาจนถึงบัดนี้ คือลักษณะดังกล่าวนั้นไม่เกิดขึ้นเลย คนทั้งหลายก็หาว่าหลวงพ่อมีเวทมนต์กลคาถาศักดิ์สิทธิ์ คนโน้นก็มาปฏิบัติ คนนี้ก็มาปฏิบัติ แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เรามีสติ เพียงเท่านั้นก็พอ

       ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของอุเปกขา คือเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ โรคภัยไข้เจ็บนั้นสามารถจะหายไปได้ แล้วก็สามารถนั่งกัมมัฏฐานได้นานๆ สมมติว่าเราจะนั่งกัมมัฏฐานเพียง ๓๐ นาที ทำให้เพลิดเพลิน เลยเวลาไป ๑ ชั่วโมงบ้าง ๓ ชั่วโมงบ้าง ๖ ชั่วโมงบ้างก็มี อันนี้เป็นลักษณะของอุเปกขา

       ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้ใดเป็นบ้าง ถ้าผู้ใดเป็นก็โปรดทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๑๑ แล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้ไม่ถึง ก็อย่าประมาท พยายามทำต่อไป ญาณที่ ๑๑ จบ

       ๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เตรียมตัวเข้าสู่พระนิพพานโดยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง

       ญาณนี้เป็นญาณขั้นตัดสินนะท่านทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดเทียบให้ดี ว่าเรามาปฏิบัติธรรมครั้งนี้ เราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นไหนอย่างไรนั้น ให้ผู้ปฏิบัติตัดสินเอา หรือว่านับตั้งแต่เราได้เกิดมา ได้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนามาจนถึงบัดนี้ เราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วหรือยัง ญาณนี้เป็นญาณขั้นตัดสิน เหตุนั้นขอให้ท่านทั้งหลายโปรดเทียบให้ดี ญาณนี้มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) อนิจจัง ผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนิจจัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนิจจังชัด มีลักษณะดังนี้ คือ

          ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็สัปหงกลงไป คือมันดับลงไป บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ลงข้างล่าง เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้ เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

          หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามเรามาแต่หลายชาติหลายภพ หลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้จะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน ตามกำลังของมรรค

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

          พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดหัว บางทีก็งง บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเลย

          ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นนิมิตไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นนิมิตไม่ได้

          ๒) ทุกขัง ถ้าผู้ใดเคยเจริญสมถะกัมมัฏฐานมาก่อน หรือตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อนโน้น เคยเจริญสมถะกัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะผ่านทางทุกขัง คือ จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้

          ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางท่านก็แน่นมากจริงๆ จนถึงขั้นกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆ” แล้วก็ดับวูบลงไป สัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ การที่รู้อย่างนี้ เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

          พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดหัว บางทีก็งง บางทีก็เลิก ไม่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป

          ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่ตั้งมิได้

          ๓) อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน หรือตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมา จะผ่านทางอนัตตา คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้

          ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วดับวูบลงไป ขาดความรู้สึกลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบเราก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ 

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้

            หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

          พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีก็ปวดศีรษะ

          ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้น ชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยอาการว่างเปล่า คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลาบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมีเท่านี้นะ ในแนวทางของการปฏิบัติรู้เท่านี้ แต่ถ้าปริยัติไม่รู้อย่างนี้ สมมติว่าเราเอาปริยัติมาจับ

       วิถีจิตของมันทบุคคล คือคนที่มีปัญญาน้อย ชวนจิตดวงที่ ๑ จะมีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๒ ขณะ

       วิถีจิตเวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน อตีตังภวังค์ ภวังค์อดีต ภวังคจลนะ ภวังค์สะเทือน ภวังคุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร คือมันลงหัวใจไปเสียก่อน ขึ้นจากมโนทวารมาจึงจะได้กำหนด ชวนจิตดวงที่ ๑ บริกรรม ชวนจิตดวงที่ ๒ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๓ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๔ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๕ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๖ ที่ ๗  สองขณะนี้ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์

       แต่ถ้าเป็นวิถีจิตของติกขบุคคล คือคนที่มีปัญญามาก มีบุญมาก ชวนจิตดวงที่ ๑ จะไม่มีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๓ ขณะ คือในขณะที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน อตีตังภวังค์ ภวังค์อดีต ภวังคจลนะ ภวังค์สะเทือน ภวังคุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร ขึ้นจากมโนทวารมา การกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ไม่ได้ว่าเลย มันเฉียดมรรคไปแล้ว ใกล้มรรคไปแล้ว

       ชวนจิตดวงที่ ๑ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๒ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๓ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๔ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ สามขณะนี้ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาจึงจะได้พิจารณา

       ผู้เป็นติกขบุคคลนี้หายาก ร้อยคนจึงจะมีสักคนหนึ่ง ติกขบุคคลนี้ บางทีวันเดียวผ่านการปฏิบัติไปแล้ว แล้วก็สามารถเข้าผลสมาบัติไปได้นานๆ

       เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เอ๊ะ! ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่า ผม หรือ ฉัน ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วละสิ อาจจะคิดอย่างนี้นะท่านทั้งหลาย เหตุนั้น ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งคิดอย่างนี้ เพราะว่าการดับเหมือนมรรคผลพระนิพพานนั้นมีมาก เช่น

       ๑. ปีติในญาณสาม เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” เกิดปีติขึ้นมา สัปหงกวูบลงไป นี้มันดับไปด้วยอำนาจของปีติในญาณสาม

       ๒. ปัสสัทธิในญาณสาม เมื่อกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” จิตและเจตสิกสงบมาก กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” สงบเงียบ ขาดความรู้สึกลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิในญาณสาม

       ๓. สมาธิในญาณสาม เวลากำหนดพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” เรากำหนดได้ดี ไม่เผลอ ไม่ลืม กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ทั้งๆสติของเรามันดีอยู่ มันสงบวูบลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของสมาธิในญาณสาม

       ๔. อุเบกขาในญาณสาม เวลากำหนดพระกัมมัฏฐาน ใจลอยๆเลือนๆ ใจของเรามันเพลินไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส ตามสัมผัส เพลินไปๆ สัปหงกวูบลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของอุเบกขาในญาณ ๓

       ๕. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชอบจะเป็นตอนดึกๆ หรือตอนที่เรารับประทานอาหารอิ่มๆ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่ได้ดี เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ตาซึมๆอยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาแล้ว กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาแล้ว เพราะในขณะที่สัปหงกวูบลงไปนั้น จิตของเรามันลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์ก็หายง่วง     

        ท่านทั้งหลายจะเอาอาการเพียงเท่านี้มาตัดสินว่าเราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้นไม่ได้นะ เพราะว่าการบรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้นต้องจำได้จริงๆ ไม่ใช่เดาเอา คือมันจำได้จริงๆ ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก ต้องรู้จริงๆ ไม่ใช่เดาเอา ไม่ใช่คาดคะเนเอา จึงจะใช้ได้ คือหมายความว่า ตอนจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน ต้องเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะใช้ได้ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้จะปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติ ๓ ครั้ง

       คือในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราเร็วขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป นี้เป็นลักษณะของอนิจจัง

       อาการพองยุบฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด แน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป นี้เป็นลักษณะของทุกขัง

       อาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วดับวูบลงไป สัปหงกวูบลงไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตา

       สรุปอีกครั้งหนึ่ง เวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้นอาการพองอาการยุบของเรามีอาการเร็วขึ้นๆๆ สัปหงกวูบลงไป อาการพองยุบฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ แน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป อาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้เฉพาะญาณที่ ๑๒ กับญาณที่ ๑๖ เท่านั้น ญาณที่ ๑๔, ๑๕ จำไม่ได้ เพราะว่ามันดับไปแล้ว

       บางคนถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ เวลาอยู่ในญาณที่ ๑๕, ๑๖ นั้นรู้ไหม ?” ตอบว่า “รู้” ก็ได้ “ไม่รู้” ก็ได้ ที่ตอบว่า “รู้” คือมันรู้เหนือโลก แต่คนทั้งหลายในโลกจะเห็นว่าไม่รู้ แต่วิถีจิตของเขา เขาบอกว่ารู้ ที่ตอบว่า “ไม่รู้” คือไม่รู้โลกีย์ ไม่รู้อย่างคนธรรมดา ถ้ารู้อย่างคนธรรมดาก็เป็นพระนิพพานไม่ได้ เพราะพระนิพพานนั้นเป็นขันธวิมุตติ ถ้ามีขันธ์ ๕ อยู่เพียงขันธ์เดียวก็เป็นพระนิพพานไม่ได้

       ต่อไป อริยสัจ ๔ ผู้ปฏิบัติต้องเห็นอริยสัจ ๔ จึงจะใช้ได้ อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณไหน ?  อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณที่ ๑๒ ญาณอื่นไม่เห็น

       อริยสัจ ๔ เวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน อาการพองยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ เป็นลักษณะของอนิจจัง เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันพองขึ้น เส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน สามเส้นขน นี้เป็นลักษณะของสมุทัย คือตัวเหตุ เมื่อมีเหตุก็มีผล อาการพองสูงขึ้นๆ นั้นเป็นตัวทุกขสัจ คือมันทนอยู่ไม่ได้ อาการพองยุบกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มพอง กลางพอง สุดพอง จนถึงอาการพองอาการยุบดับลงไป เป็นตัวมัคคสัจ นี่อริยสัจ ๔ เวลาปฏิบัติรู้เท่านี้ท่านทั้งหลาย แต่ถ้าเอาปริยัติมาจับ ไม่รู้อย่างนี้

       สมมติว่าเราเอาปริยัติมาจับ เวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน ในอริยสัจ ๔ ทุ แปลว่า ชั่วหยาบ ทุ แปลว่า ปราศจากของสวยของงามคือตัวตน ขะ แปลว่า ทน คือมันทนอยู่ไม่ได้ อะไรทนอยู่ไม่ได้

       รูป ๒๘ เจตสิก ๕๒ โลกิยจิต ๘๑ รวมเป็น ๑๖๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       รูป ๒๘ คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       เจตสิก ๕๒ คือ อัญญสมานเจตสิก ๑๓ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       โลกิยจิต ๘๑ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง กามาวจรจิต ๒๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง รวมเป็น ๘๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       ย่อให้สั้น ได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูป ๒๘ เป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ เป็นสังขารขันธ์ จิตทั้งหมด เป็นวิญญาณขันธ์

       ย่อให้สั้น ได้แก่ รูปกับนาม คือ รูปทั้งหมด เป็นรูปขันธ์ นามจิตกับนามเจตสิก เป็นนามขันธ์

       กว่าเราจะเรียนให้รู้ให้เข้าใจ ทั้งปีก็ยังไม่จบท่านทั้งหลาย แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติ เพียงแป๊บเดียวเท่านั้นก็ผ่านไปแล้ว

       ต่อไป กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่ กิเลสถ้าดื้อ มี ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒

       ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๑ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๑ ถึงนิพพานครั้งที่ ๑ โลภะ ละได้ ๔ ตัว โทสะ ละไม่ได้ โมหะ ละได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๒ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๒ ถึงนิพพานครั้งที่ ๒ โลภะ ละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม แต่โทสะละไม่ได้ แต่อ่อนกำลังลง โมหะ ก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิม คือ วิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๓ ถึงนิพพานครั้งที่ ๓ โลภะ ก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะ ละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ นี้แหละท่านทั้งหลาย ความโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ความโกรธนั้นดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน

       สำหรับกามราคะ คิดอยากมีครอบมีครัว มีลูกมีเมีย มีลูกมีผัว อยากสร้างครอบสร้างครัว เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ กามราคะนั้นก็ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิม คือ วิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๔ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๔ ถึงนิพพานครั้งที่ ๔ โลภะจึงจะละได้ครบทั้ง ๘ ตัว โมหะ ละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ

       นี่แหละท่านทั้งหลาย คนเราจะดื้อหรือไม่ดื้ออยู่ที่ตรงนี้ ถ้าปฏิบัติถึงนี้ รับรองว่าหายดื้อ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถึงนี้ รับรองว่าไม่หายดื้อ ดังที่เราทั้งหลายเห็นลูกๆหลานๆของเราทำไม่ดี พ่อกำนันบ้าง พ่อสารวัตบ้าง กรรมการวัดบ้าง จับมาปฏิญาณตน สาบานตน ต่อหน้าพระประธาน ต่อหน้าครูบาอาจารย์ ว่าตั้งแต่บัดนี้ข้าพเจ้าจะไม่ก่อกรรมทำเข็ญอีกต่อไปแล้ว จะตั้งอกตั้งใจรักษาศีล ประพฤติดีปฏิบัติชอบ แล้วก็ปล่อยไป ยังไม่ถึงอาทิตย์ ไปขโมยไก่เขามาต้มกินแล้ว ไปตีหัวเขาแล้ว เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะเวลามันว่ามันว่าแต่ปาก ใจมันไม่ว่า เพราะเหตุไรจึงไม่ว่า เพราะใจยังมีกิเลส เพราะเหตุไรจึงไม่เขี่ยออก เราจะเอาอะไรไปเขี่ย เราจะเอาไม้หรือก้านไม้ขีดไฟไปเขี่ยมันเขี่ยไม่ออก ต้องเอาธรรมะไปเขี่ยจึงจะออก แต่ถ้าปฏิบัติมาถึงนี้รับรองว่าหายดื้อ

       มีบุรุษคนหนึ่งตีกันกับตำรวจ เขาจับไปไว้ในคุกบางขวาง ยังอีก ๒ เดือน หมายหัวไว้แล้วว่า ข้าพเจ้าออกไปนี้จะไปฆ่าล้างแค้น ๕ ศพ ฆ่าเลย คุกตะรางเป็นของเล็กน้อย ดี! เขามีข้าวให้กิน มันคิดอย่างนี้นะ แต่ใจหนึ่งก็คิดว่า เอ๊ะ! เขามีกัมมัฏฐานให้ปฏิบัติ อยากทดลองปฏิบัติพระกัมมัฏฐานดู ไปจับสลากถูก ๒ เดือน ให้ปฏิบัติเดือนเดียว เมื่อปฏิบัติผ่านไปแล้วลุกขึ้นยืนสารภาพต่อหน้านักโทษสามพันคนเศษว่า ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนโน้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าบุญบาปไม่มี ข้าพเจ้าพ้นโทษไปนี้ข้าพเจ้าจะไปฆ่าล้างแค้นห้าศพ ฆ่าเลย คุกตะรางเป็นของเล็กน้อย แต่บัดนี้ข้าพเจ้าขอยกให้เป็นอโหสิกรรม ไม่ก่อกรรมทำเข็ญต่อผู้ใดอีกต่อไปแล้ว หากข้าพเจ้าพ้นโทษไป ข้าพเจ้าขอบวชในพระพุทธศาสนา จะช่วยครูบาอาจารย์เผยแผ่สาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้รับรองว่าหายดื้อ

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บางท่านอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ! หลวงพ่อ ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ถ้าจะว่าเราจำได้ก็คล้ายๆกับจำไม่ได้ แต่ถ้าจะว่าจำไม่ได้ก็คล้ายๆกับว่าจำได้ มันห้าสิบห้าสิบ ไม่กล้าตัดสิน

       ถ้าว่าลักษณะดังนี้ยังมีอยู่ หลวงพ่อขอน้อมเอาธรรมะ คือ ธัมมาทาสะ กระจกคือพระธรรม มาให้ท่านทั้งหลายเปรียบเทียบอีกครั้งหนึ่ง ดังที่พระองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ตสฺมาติหานนฺท ธมฺมาทาสํ ธมฺมปริยายํ เป็นอาทิ ดูก่อนอานนท์ ผู้ปฏิบัติธรรมผู้ใดได้บรรลุหรือไม่ได้บรรลุ มีเครื่องตัดสิน นิยมเรียกว่า ธัมมาทาสะ กระจกคือพระธรรม มี ๔ ประการ คือ

       ๑. พุทเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว

       ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว

       ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

       ๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยบุคคล

       ผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้ ผู้นั้นชื่อว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว

       ข้อที่ ๑. พุทเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามี ๒ ประการ คือ

          ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสอย่างปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ เราเห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เราก็กราบก็ไหว้ แต่ถ้าว่ามีผู้ใดใครผู้หนึ่งมาประกาศมาโฆษณาว่า ศาสนานั้นเขาดีอย่างนี้นะ ศาสนานี้เขาดีอย่างนี้นะ ลัทธินั้นเขาดีอย่างนั้นนะ เราอาจจะผละจากศาสนาของเราไปถือศาสนาอื่นก็ได้ เพราะยังเป็นปกติศรัทธาอยู่

          ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง ดีจริง อย่างนี้ ตัวอย่าง เช่น สุปปพุทธกุฏฐิ

          สุปปพุทธกุฏฐินี้เป็นคนจนด้วย เป็นโรคเรื้อนด้วย วันหนึ่งไปฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับเหล่าประชาชนทั้งหลาย นั่งอยู่ไกลๆโน้น ไม่กล้าเข้ามาใกล้ เกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ เมื่อฟังธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสธรรมะที่พระองค์ทรงแสดง ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็คิดอยากจะเข้าไปกราบทูลคุณสมบัติเฉพาะพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่กล้าเข้าไป เกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ

          ในขณะนั้นพระอินทร์ทรงทราบแล้วแปลงร่างเป็นคนแก่ๆ มาทดลอง “ดูก่อนสุปปพุทธกุฏฐิ จนๆอย่างเธอนี้ ว่าซิ ว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา พระธรรมไม่ใช่ของเรา พระสงฆ์ไม่ใช่ของเรา ถ้าเธอพูดได้ ฉันจะให้เงินให้ทอง เธอจะเอาเท่าไรฉันจะหาให้”

       
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 81.0.4044.138 Chrome 81.0.4044.138


ดูรายละเอียด
« ตอบ #121 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2563 16:25:13 »




วิปัสสนาญาณ ๑๖ (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

      สุปปพุทธกุฏฐิพูดว่า “เอ๊ะ! ท่านเป็นใครมาจากไหน?”

          “ฉันเป็นเทวดา ฉันเป็นพระอินทร์ ฉันมาจากเทวโลก”

          “ไปๆ เทวดาอันธพาล อย่ามาพูดกับขัาพเจ้าว่าข้าพเจ้าเป็นคนจน ข้าพเจ้าไม่จน ส่วนท่านนี้เป็นคนจน”

          พระอินทร์หายวับเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า วิสัยของคนถึงธรรมนี้ ถึงจะจนแสนจน เราจะให้เงินให้ทองสักเท่าไรก็ไม่เอา พระพุทธเจ้าข้า เพียงแต่ให้ว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่ให้ว่าเท่านี้ก็ไม่ว่า แม้เราจะให้เงินให้ทองสักเท่าไรก็ไม่เอา พระพุทธเจ้าข้า

          พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ลูกของอาตมภาพไม่จน จนก็จนแต่ทรัพย์ภายนอกเท่านั้น ส่วนทรัพย์ภายในนั้นไม่จน เสร็จแล้วพระองค์จึงทรงยกอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการมาตรัสเทศนาว่า

                           สทฺธาธนํ สีลธนํ                หิริโอตฺตปฺปิยํ ธนํ

                           สุตธนญฺจ จาโค จ             ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ

          อริยทรัพย์ ๗ ประการ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา

                           ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ          อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา

          ผู้ใดมีอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ จะเป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม

                           อทฬิทฺโทติ ตํ อาหุ             อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ

          ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าจากประโยชน์เลย เป็นคนร่ำรวยที่สุด

          เหตุนั้น อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ จึงถือเป็นข้อปฏิบัติมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว

       ข้อที่ ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมก็มีอยู่ ๒ ประการคือ

          ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยเราทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ บางทีก็สร้างพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์พระคาถา ฉลองกันอย่างมโหฬารก็มี แต่เป็นปกติศรัทธา อาจจะเปลี่ยนแปลงก็ได้ อาจจะหมดความเลื่อมใสในพระศาสนาก็ได้

          ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมของพระองค์ดีจริง มีจริง ผู้ใดประพฤติจริงก็ได้บรรลุอย่างนี้ ตัวอย่างนางวิสาขามหาอุบาสิกา

          วันหนึ่งไปฟังเทศน์ ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุธรรมาภิสมัย กลับมาบ้าน พญามารมันแปลงร่างมาทดลอง คือพญามารนั้นมันแปลงร่างเหมือนพระพุทธเจ้าทุกสัดทุกส่วน ตีสี่ ไปเคาะประตูบ้านนางวิสาขา ปังๆๆ นางวิสาขาเปิดประตูออกมา พญามารก็บอกว่า

          แน่ะเธอ เมื่อวานนี้ เธอไปฟังเราตถาคตเทศน์ เมื่อวานนี้ เราตถาคตเทศน์ผิดไปนะ เมื่อวานนี้ เราตถาคตเทศน์ว่า รูปนามขันธ์ห้า เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกขัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นอสุภะ เป็นของไม่สวยไม่งาม ผิดแล้วนะ แก้เสียใหม่ แก้อย่างนี้ ว่ารูปนามขันธ์ห้า เป็นนิจจัง คือเที่ยง เป็นสุขัง คือเป็นสุข เป็นอัตตา คือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะ คือเป็นของสวยของงาม แก้เสียใหม่นะแก้อย่างนี้

          นางวิสาขาก็บอกว่า เอ๊ะ นี่ท่านเป็นมารหรือ เท่านั้นแหละพญามารก็ว่า อย่าถามชื่อกันสิ ก็หายเตลิดไปเลย

          นี้แลท่านทั้งหลาย วิสัยของคนถึงธรรม แม้ว่าพญามารจะแปลงร่างเหมือนพระพุทธเจ้าทุกสัดทุกส่วนไปทดลองก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว เพราะรู้เฉพาะตนแล้ว

       ข้อที่ ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์ก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ

          ๑) ปกติศรัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยเราทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ เราเห็นพระเจ้าพระสงฆ์ เราก็เคารพ กราบไหว้ สักการะบูชา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมตามกำลังศรัทธาของเรา แต่ถ้าว่าพระเจ้าพระสงฆ์ไปทำอะไรผิดเล็กๆน้อยๆ อาจจะหมดความเลื่อมใสก็ได้ ดังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ “หลวงพ่อ หนูไม่อยากนับถือพระสงฆ์ หนูขอนับถือแต่พระพุทธเจ้า พระธรรม กับหลวงพ่อได้ไหม” แค่นี้เราก็รู้ทันทีว่า คนนี้ยังเป็นปกติศรัทธาอยู่

          ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีจริง เป็นผู้ปฏิบัติตรงจริง เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์จริง ก็มีความเลื่อมใส ตัวอย่างภรรยาของภารทวาชพราหมณ์ คือมีเรื่องเล่าไว้ในพระธัมมบท ขุททกนิกายว่า

          ภรรยาของภารทวาชพราหมณ์นี้ สมัยที่ยังเป็นสาวอยู่ ไปฟังเทศน์ ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้แต่งงานกับภารทวาชพราหมณ์ผู้ถือศาสนาพราหมณ์ วันหนึ่งผู้เป็นสามีจะเลี้ยงพราหมณ์ ๑๐๘ คน ก็พูดกับภรรยาว่า แม่หนู พรุ่งนี้พี่จะเลี้ยงพราหมณ์ ๑๐๘ นะ ห้ามหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นะ ถ้าหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พี่จะตัดคอหนูด้วยดาบเล่มนี้ นางก็พูดว่า เอ๊ะ ฉันนับถือ ฉันเลื่อมใส ฉันพูดมันจะผิดที่ตรงไหน แต่สามีก็ไม่ว่ากระไร

          ตื่นเช้าขึ้นมา พราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ เข้าไปสู่ตระกูลของสองสามีภรรยา ผู้เป็นสามีก็ยกสำรับกับข้าวถวายพราหมณ์คนโน้น ถวายพราหมณ์คนนี้ แต่ผู้เป็นภรรยา แม้ว่าตนจะนับถือศาสนาพุทธ ก็ต้องช่วยสามียกสำรับกับข้าวให้คนโน้นคนนี้กลับไปกลับมา เท้าไปสะดุดกับพื้นกระดาน ตกใจเปล่งอุทานขึ้นว่า ช่วยด้วยคุณพระช่วยด้วย นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส พอพราหมณ์ ๑๐๘ ได้ฟังเท่านั้นก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กำลังเคี้ยวอาหารอยู่ก็บ้วนทิ้ง กำหลังถือคำข้าวอยู่ก็ขว้างทิ้ง ด่าปริภาสสองสามีภรรยาเป็นอเนกประการแล้วก็หลีกไป ไม่ยอมบริโภค

          ผู้เป็นสามีก็คิดว่า เอ๊ะ! เราจะทำอย่างไรดี ถ้าเราจะฆ่ามันก็ตายเปล่าๆ คิดกลับไปกลับมาๆ เราไปถามครูของมันดีกว่า ออกไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปแล้วก็ยืนถามเลย

          พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะอยู่เป็นสุข ?

          โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะอยู่เป็นสุข

          พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะไม่เศร้าโศก ?

          โกธํ ฆตฺวา น โสจติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะไม่เศร้าโศก

          เอ๊ะ! เก่งจริงๆ เราถามอะไรก็ตอบได้หมด เลื่อมใส ขอบวชในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บวชแล้วได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน บรรลุเป็นพระอรหันต์ บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต

       อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เคารพเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

       ข้อที่ ๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิตย์ ศีลนี้ถ้าผู้ใดไม่ถึงธรรม สัตว์ก็อาจจะฆ่าได้  เจ็บท้อง เขาบอกว่ากินเหล้าจึงจะหาย เราก็อาจจะกินได้ แต่วิสัยของคนถึงธรรมสัตว์ตัวเดียวไม่ยอมฆ่า เจ็บท้องเขามาว่ากินเหล้าจึงจะหาย ไม่ยอมกิน มันจะตายชั่วโมงนี้นาทีนี้ก็ไม่ยอมกิน รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เป็นไท ไม่ถูกตัณหาแตะต้อง  เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ

       ผู้ใดเพียบพูนสมบูรณ์ด้วยองค์คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ผู้นั้นพึงพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เราได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว อย่างน้อยได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว เราเป็นผู้มีคติเที่ยง มีธรรมไม่กำเริบ สมฺโพธิปรายโน เราจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า สามารถพยากรณ์ตนเองได้เลย

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายพยากรณ์ตนเองว่า เราสามารถทำได้ไหม กระจกคือพระธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เราสามารถประพฤติปฏิบัติได้ไหม ถ้าท่านทั้งหลายสามารถประพฤติปฏิบัติได้ หรือคิดว่า ธัมมาทาสะทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเรื่องสบายๆ สำหรับเรา เราสามารถประพฤติปฏิบัติได้ ไม่ต้องลำบากลำบนอะไร ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อย่างน้อยก็ได้เป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าเรายังไม่อาจ คือไม่กล้าจะประพฤติปฏิบัติในธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ได้ ก็ถือว่าเรายังไม่ได้บรรลุ

       เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาท พยายามเพียรปฏิบัติต่อๆไป วันหนึ่งข้างหน้าเรามีโอกาสจะได้บรรลุ เราอาจจะได้บรรลุในชาตินี้ หรือว่าชาตินี้เราไม่สามารถจะบรรลุ ถ้าเราพยายามทำอยู่อย่างนี้ วันหนึ่งข้างหน้าเราสามารถจะบรรลุได้ หรือว่าวันนี้เราไม่สามารถจะบรรลุได้ เวลาตายเราอาจจะบรรลุได้ หรือเวลาตายยังไม่บรรลุ อนาคตเราสามารถจะบรรลุได้

       ต่อไปขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายดังนี้ คือ

       ๑. ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ออกไปแล้วอย่าไปอวดกันนะ อย่าไปอวดว่าข้าพเจ้าสามารถละนิวรณ์ ๕ ประการได้ สามารถละความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อย่างโน้นอย่างนี้ได้ ไปอวดกันไม่ได้นะ หรืออย่าไปอวดว่าข้าพเจ้านั่งสมาธิ เข้าฌานได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๖๐ นาที ก็ไม่ได้นะท่านทั้งหลาย หรือว่าจะไปอวดว่าข้าพเจ้าได้สำเร็จโสดาบัน อนาคามี สกิทาคามี อะไรทำนองนี้ อวดไม่ได้ ถ้าไปอวด หากว่าตนไม่ได้ไม่ถึงจริง ปรับอาบัติปาราชิก ขาดจากพระไปเลย แต่ถ้าว่าญาติโยมไปอวด ก็เป็นการตัดหนทางของตัวเอง ไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติให้บรรลุธรรมะขั้นสูงๆต่อไปได้ เหตุนั้นอย่าไปอวดกัน

       ๒. นักปฏิบัติธรรมจะถูกคนถามเป็น ๓ จำพวก คือ

          ๑) ถามเพื่อจับผิด ส่วนมากผู้ถามนั้นไม่มีศรัทธา เขาหาวิธีที่จะจับผิดเรา เช่น เราไม่เคยเรียนปริยัติ เขาก็เอาปริยัติมาถาม “เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นพระไตรลักษณ์ไหม เห็นอริยสัจ ๔ ไหม เห็นปฏิจจสมุปบาทไหม เห็นวิสุทธิ ๗ ไหม” เราก็ตอบไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้เรียนมา เขาก็จะว่าเอาว่า เอ๊ะ! กัมมัฏฐานบ้าๆบอๆอย่างไร แค่นี้ก็ตอบไม่ได้ เสร็จแล้วเรา เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นผู้รู้กุศโลบายของผู้ถาม เขาถามเพื่ออะไร

          ๒) ถามเพื่อยั่วกิเลส ส่วนมากผู้ถามก็ไม่มีความเลื่อมใส เขาหาวิธีจะยุจะยั่วให้เราโกรธ โดยเฉพาะระหว่างสามีภรรยา เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นอย่างนั้นเห็นอย่างนี้อะไรไหม ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างไร อะไรทำนองนี้ เขาหาวิธีจะยุจะยั่วให้เราโกรธ หากว่าเราโกรธนิดเดียวเท่านั้นแหละ เขาจะทักขึ้นมาว่า ไหนว่าไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน แค่นี้ก็โกรธแล้ว มันจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานอย่างไร นี่เสร็จแล้วเรา เพราะฉะนั้น เราต้องรู้กุศโลบายของผู้ถาม

          ๓) ถามเพื่อเอาอย่าง ส่วนมากผู้ถามนั้นมีศรัทธาอยากปฏิบัติ แต่อยากรู้เสียก่อนว่า เวลาได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานมันเป็นอย่างไร ถ้าเราไปบอกเขาว่ามันดับ เขาจะจำได้ว่าดับ เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดอุเบกขา เกิดถีนมิทธะขึ้นมา เขาก็จะทึกทักขึ้นมาว่า เออ เราได้แล้ว เราดับได้แล้ว คือมันได้ของปลอมท่านทั้งหลาย ได้มรรคปลอม ผลปลอม นิพพานปลอม เหตุนั้นเราอย่าไปบอกกัน แต่ว่าแนะนำพร่ำสอนกันได้

       ๓. พระโสดาบันมี ๓ จำพวก คือ

          ๑) อุลลปนโสดาบัน โสดาบันขี้หลอก คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อน ก็ไปหลอกเขา หรือบางทีเราประพฤติปฏิบัติมาแล้ว แต่ไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ก็ไปหลอกเขา เพื่อต้องการให้เขาเลื่อมใส จะได้ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมตามความประสงค์ของเรา นี้แหละ อุลลปนโสดาบัน โสดาบันขี้หลอก มีทั่วบ้านทั่วเมืองทุกวันนี้ โสดาบันประเภทนี้

          ๒) อธิมานิกโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันผู้ยิ่งด้วยมานะ คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อน ก็ไปอวดเขา เห็นเขาเข้าสมาธิเข้าผลสมาบัติอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไปอวดเขาว่า ทำอย่างนี้ฉันทำให้ดูก็ได้ ก็แกล้งเกร็งตัวขึ้นมา ไม่ช้าไม่นานกิเลสหยาบก็เกิดขึ้นมาอีก แล้วก็ทำบาปทำกรรมต่อไปอีก

          ๓) มหาโสดาบัน หมายถึงท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้บรรลุอริยมรรคอริยผลจริงๆ อย่างนี้เรียกว่าเป็นมหาโสดาบัน เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

       ๔. วิธีตอบผู้อื่นเวลาถูกถาม ท่านทั้งหลายออกไปแล้วจะถูกเขาถามนะ เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นอริยสัจ ๔ ไหม เห็นวิสุทธิ ๗ ไหม เขาจะถามเอา ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน เห็นนรกเห็นสวรรค์ไหม อะไรทำนองนี้ เขาจะถามนะ เหตุฉะนั้น เราต้องรู้วิธีตอบ

       เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติกัมมัฏฐาน ดีไหม ?

       “ดี”

       ดีอย่างไร ?  

       “ทำให้ใจสบาย”

       เห็นนรกเห็นสวรรค์ไหม ?

       “เรื่องนี้ถ้าคุณอยากรู้ คุณก็ไปพิสูจน์ด้วยตนเอง”

       ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน ?

       “เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เหมือนกับเรากินข้าว กินเองจึงจะอิ่ม กินเองจึงจะอ้วน อิ่มแทนกันอ้วนแทนกันไม่ได้”

       นี่เราตอบให้เป็น พูดแต่น้อย แต่ให้ความหมาย

       ๕. ขอให้ช่วยกันเผยแผ่สาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเราทั้งหลายได้รับความสุขอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพราะว่าเราทั้งหลายตั้งอยู่ในร่มพุทธธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ประกอบไปด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม รู้คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วตอบแทนบุญคุณของพระองค์ด้วยการช่วยกันแนะนำคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้คนทั้งหลายได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

       ๖. ขอให้ช่วยกันแนะนำบิดามารดาและญาติมิตร บิดามารดาของเรานั้นท่านเป็นผู้มีคุณูปการคุณแก่เรามาก เราจะหาวิธีตอบบุญสนองคุณพ่อแม่ด้วยวิธีอย่างไรก็ไม่สามารถจะตอบแทนบุญคุณของท่านได้

       แม้ว่าเราจะเอาเงินเอาทอง ผ้าผ่อนแพรพันธ์ รัตนะ ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ มากองพะเนินให้เทียมปลายพร้าวปลายตาลเพื่อทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ ก็ไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณของท่านได้ แม้ว่าเราจะเอาพ่อของเรานั่งบ่าขวา เอาแม่ของเรานั่งบ่าซ้าย เวลาเราไปไหนหรือท่านไปไหน ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั่นแหละ เวลาท่านจะรับประทานอาหารหรือเราจะรับประทานอาหาร ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั่นแหละ เวลาท่านจะหลับจะนอน ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั่นแหละ หรือเวลาท่านจะขี้จะเยี่ยว ก็ให้ท่านขี้ท่านเยี่ยวรดตัวเราไป จนเราตายไปหรือท่านตายไป ก็ไม่สามารถทดแทนบุญคุณของท่านได้

       เว้นไว้แต่ท่านผู้ใดมาบวช หรือมาปฏิบัติเหมือนท่านทั้งหลายปฏิบัติอยู่ขณะนี้ เราปฏิบัติแล้วยังศีล ยังสมาธิ ยังปัญญา ยังบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว เราจึงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้พ่อให้แม่ จึงจะสามารถทดแทนบุญคุณของท่านได้ หรือว่ามีโอกาสมีเวลา ขอให้พ่อให้แม่ของเรามาปฏิบัติ อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย จึงจะทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ได้

       ๗. ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เรานั่งอยู่รวมกันนี้ ถือว่าเราทั้งหลายเป็นลูกพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลายมีความเคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน เราเคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ดีกว่าเราชังกันเป็นไหนๆ เพราะอีกไม่ช้าไม่นาน ไม่ถึงร้อยปี เราก็จะจากกันไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลายมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

       ๘. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่าไม่ต้องทำบุญทำทานอะไร พูดอย่างนี้ผิดนะท่านทั้งหลาย เพราะการทำบุญทำทานนี้เป็นเครื่องหมายของคนดี ครั้งพุทธกาล แม้ท่านผู้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ทำบุญทำทานอยู่

       เรื่องนี้ขอให้ถือปฏิบัติตามที่พระนางมหาสุมนาไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า มีคนสองคน เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม มีศีลเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน แต่คนหนึ่งชอบทำบุญทำทาน อีกคนหนึ่งไม่ชอบทำบุญทำทาน ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”

       พระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนมหาสุมนา คนที่ไม่ชอบทำบุญทำทานนั้น ตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ ก็จะเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง หากออกบวชเป็นพระเป็นเณร ก็จะขัดสนไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบง จีวร ต้องไปของ้อของอนญาติโยมจึงจะได้ใช้

       แต่ผู้ที่ทำบุญทำทานนั้น ตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ ก็จะเป็นผู้เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยสมบัติ ศฤงคาร บริวาร นานาประการ ไม่อดไม่อยาก หากออกบวชเป็นพระเป็นเณร ก็จะเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบง จีวร มีญาติมีโยมมาของ้อของอนให้ใช้

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นคนร่ำรวย มั่งมีศรีสุข ต้องการเครื่องประดับประดา เพชรนิลจินดาอะไร ได้ทั้งหมดตามความประสงค์ แต่ว่าไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขาให้ทานอย่างเดียว แต่ไม่ได้รักษาศีล ไม่ได้เจริญภาวนา

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นผู้มีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืน แต่ว่าไม่รวย และไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขารักษาศีลอย่างเดียว แต่ไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้เจริญภาวนา

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นคนที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เปรื่องปราดชาติกวี มีไหวพริบดี มีปฏิภาณดี มีความฉลาดหลักแหลมดี แต่ว่าไม่รวยและไม่สวย เพราะชาติปางก่อนโน้น เขาเจริญภาวนาอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้ให้ทาน ไม่รักษาศีล”

       เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว อยากดี อยากรวย อยากสวย อยากมีสติปัญญาด้วยกันทั้งนั้น ก็จงพยายามทำบุญให้ครบทั้ง ๓ อย่าง คือ ทั้งให้ทาน ทั้งรักษาศีล ทั้งเจริญภาวนา

       ๙. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่าไม่ได้อะไร การพูดอย่างนี้ถือว่าเป็นการด่าตนเองด้วยเป็นการด่าครูบาอาจารย์ด้วย ครูบาอาจารย์ท่านก็แนะนำพร่ำสอนทุกสิ่งทุกอย่าง เท่าที่โอกาสและเวลาจะเอื้ออำนวย เพราะฉะนั้น ทำกัมมัฏฐานแล้วอย่าได้พูดว่าไม่ได้อะไร เพราะว่าการทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง มันได้ผลในตัว ทำงานได้งาน ทำกัมมัฏฐานได้กัมมัฏฐาน ได้ศีล ได้สมาธิ ได้ปัญญา ได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน มันได้ตั้งเยอะ แต่เราอาจไม่รู้ เพราะเป็นนามธรรม

       ๑๐. นักปฏิบัติออกไปแล้วอย่าเล่นการพนัน เพราะลูกหลานเขาจะว่าเอา

       ๑๑. อย่าติเตียนผู้อื่นและสำนักอื่น การติเตียนบุคคลอื่นและสำนักอื่น เหมือนกันกับยื่นดาบให้เขาตัดคอเรา เราติเตียนเขา เขาก็ติเตียนเรา เราว่าให้เขา เขาก็ว่าให้เรา เพราะฉะนั้น เห็นผู้อื่นปฏิบัติไม่ดี เราต้องพูดให้เป็นว่า “คุณ ปฏิบัติอยู่นี้ก็ดีนะ พยายามทำต่อไปสิ การประพฤติปฏิบัติจะได้ดีกว่านี้” เราต้องพูดให้ดีจะได้พวกมาก เพราะฉะนั้น เราอย่าไปติเตียนบุคคลอื่นหรือสำนักอื่นเป็นเด็ดขาด

       ๑๒. ขอให้ท่านทั้งหลายรักษาชื่อเสียงของตนเอง รักษาชื่อเสียงของครูบาอาจารย์ รักษาชื่อเสียงของสำนัก รักษาชื่อเสียงของพระศาสนา เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ก็ขอให้เค็มเหมือนพระพุทธเจ้า มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ เราก็ยอมตาย แต่เราไม่ยอมทำความชั่วเป็นเด็ดขาด

       ๑๓. ขอให้ท่านทั้งหลายประพฤติปฏิบัติต่อๆไป เพราะว่าการปฏิบัติครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เหตุนั้น เราพยายามปฏิบัติต่อๆไป วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง เราเอาเป็นเวลาทำมาหากินสัก ๑๐ ชั่วโมง เอาเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนสัก ๘ ชั่วโมง ยังเหลืออีก ๖ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมงที่ยังเหลืออยู่นี้ เอาเป็นเวลาอาบน้ำชำระร่างกาย รับประทานอาหาร คุยกับลูกกับหลานญาติมิตรไปหามาสู่สัก ๕ ชั่วโมง ยังเหลือ ๑ ชั่วโมง ๑ ชั่วโมงที่เหลืออยู่นี้ ให้เอาเป็นเวลาของเราให้ได้อย่างน้อย ๓๐ นาที โดยที่เรามานึกถึงบุญกุศลที่เราได้สร้างสมอบรมมา ว่าเออ เราเกิดขึ้นมานี้ เราได้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา ได้มากน้อยแค่ไหนหนอ นึกไปๆๆ นึกให้ทั่วแล้วเราจึงไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ นั่งเจริญภาวนาสัก ๓๐ นาที หรือ ๒๐ นาที หรือ ๕ นาที หรือ ๑ นาทีก็ยังดี

       ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เรียกว่าเราเตรียมตัวก่อนตาย ถึงคราวตาย บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงจะมาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่น เวลาเรากำลังจะตายนั้น เราจะเห็นขันข้าวที่เคยไปใส่บาตร เห็นโบสถ์ เห็นวิหาร เห็นศาลาการเปรียญ เห็นเจดีย์ เห็นพระภิกษุสามเณร เห็นเทวดา เห็นที่อยู่ของเทวดา เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด เมื่อไปยึดจิตนี้ก็ดับลงไป คือตายลงไป เมื่อตายแล้วเราก็ไปสู่สุคติภพตามบุญญาธิการที่เราสร้างสมอบรมไว้ เหมือนกันกับเราหัดว่ายน้ำให้ชำนิชำนาญแล้ว เมื่อถึงคราวเรือล่ม ก็สามารถว่ายเข้าฝั่งได้ ไม่จมน้ำตาย แต่ถ้าเราไม่หัดระลึกให้ชำนิชำนาญอย่างนี้ ถึงคราวตายจึงจะมาระลึก มันระลึกไม่ได้นะท่านทั้งหลาย เพราะ

          ๑) ทุกขเวทนาเข้าครอบงำ

          ๒) ไม่อยากตาย

          ๓) ห่วงผู้อยู่ข้างหลัง

          ๔) ห่วงทรัพย์สมบัติ

          เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ระลึกไม่ได้ เมื่อระลึกไม่ได้ อกุศลกรรมที่เราทำไว้ก็มาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่น เห็นสัตว์กำลังฆ่ากัน เห็นคนกำลังฆ่ากัน เห็นหนองน้ำ เห็นตมเห็นโคลน เห็นเปลวเพลิง เห็นนายนิรยบาล เห็นนรก เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด เมื่อไปยึดแล้วจิตนี้ก็ดับลงไป คือตายลงไป เมื่อตายแล้วเราก็ไปบังเกิดในอบายภูมิ เหมือนกันกับบุคคลที่ไม่เคยหัดว่ายน้ำให้ชำนิชำนาญ ถึงคราวเรือล่มจึงจะมาหัดว่ายน้ำ มันก็ว่ายน้ำไม่เป็น จมน้ำตายเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หมั่นสร้างสมอบรมคุณงามความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป

       ๑๔. นักปฏิบัติธรรมะขั้นสูงเสื่อม ท่านนักปฏิบัติธรรมขั้นสูง เสื่อมได้เหมือนกันนะท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะสมาธิหรือฌานที่ท่านทั้งหลายได้อยู่นี้ ถ้าเราไม่ทำทุกวันๆ มันเสื่อมได้ เมื่อเสื่อมแล้ว สมาธิหรือฌานนั้นก็ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ เวลาเราตาย เราไม่ได้ตายในฌาน ก็ไม่สามารถที่จะไปบังเกิดในพรหมโลกได้

       สมาธิหรือฌานนี้มีอานิสงส์เป็นอเนกประการ ไม่สามารถจะนับจะพรรณนาได้ เราสามารถจะนำมาใช้ได้ตามเจตนารมณ์ทุกอย่าง ถ้าเรามีความฉลาดในการใช้ แต่ใช้ให้เป็นอย่าเป็นแต่ใช้ คือสมาธินี้ หากว่าจำเป็นจริงๆ เราปวดท้องอย่างหนัก จะผ่าตัดไส้ติ่ง หรือโรคไส้เลื่อนอย่างนี้ ไม่จำเป็นที่จะใส่ยาชายาสลบ เราอธิษฐานจิตเข้าสู่สมาธิ ไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต

       โยมคนหนึ่งมาปฏิบัติอยู่นี้ เขาได้สมาธิ สามารถเข้าสมาธิออกสมาธิได้ตามต้องการ วันหนึ่งไปผ่าตัดไส้ติ่ง ถามคุณหมอว่า คุณหมอ จะใช้เวลานานเท่าใด หมอบอกว่าใช้เวลา ๑ ชั่วโมง แกบอกว่า คุณหมอ ขอร้องอย่าใส่ยาชา ขอร้องอย่าใส่ยาสลบ แล้วก็อธิษฐานจิตเข้าสู่สมาธิ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทไปเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง พร้อมนี้ขออย่าเป็นอันตรายแก่ชีวิต ก็เข้าสมาธิไป หมอก็ทำการผ่าตัด ครบ ๒ ชั่วโมงแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา หมอไปไหน นี่แหละท่านทั้งหลาย เหมือนกันกับไม่ได้ผ่าตัด โลหิตแม้แต่หยดเดียวก็ไม่ได้เพิ่ม

       นี่แหละท่านทั้งหลาย สมาธินี้มีประโยชน์อเนกอนันต์ เหลือที่จะนับจะพรรณนาได้ ถ้าผู้มีสมาธิดี สามารถทำสมาธิได้ โรคประสาทก็จะไม่เกิด โรคความดันสูงก็จะไม่เกิด เรานั่งสมาธิเข้าสมาธิได้ โรคความดันสูง โรคประสาทนี้ ระงับไปทันที เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายรักษาสมาธิหรือฌานนี้ไว้ อย่าได้ประมาท เวลาตายก็ขอให้ตายในสมาธิตายในฌาน

       ๑๕. ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายดำเนินต่อๆไป จนกว่าจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ทำลายกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานแล้วนั่นแหละ จึงจะนิ่งนอนใจได้ ถ้ากิเลสตัณหายังมีอยู่ ภพชาติของเราก็ยังมีอยู่ ไม่รู้ว่าเราจะเกิดกี่ภพ กี่ชาติ กี่กัป กี่กัลป์ จึงจะถึงนิพพาน เหตุนั้นขอให้เราทั้งหลายปฏิบัติต่อๆไป

       ข้อนี้ขอให้ถือปฏิบัติตามที่พระเจ้าภัททิยะเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์นั่งอยู่บนคอช้าง บางครั้งก็เห็นฝูงช้าง บางครั้งก็เห็นฝูงม้า บ้างครั้งก็เห็นไพร่ฟ้าประชาชน บางครั้งก็เผลอไป หากว่าข้าพเจ้าตายไป จะไม่ไปสู่อบายภูมิหรือ พระพุทธเจ้าข้า”

       พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร มหาบพิตรทำไว้ให้ชำนิชำนาญแล้ว มหาบพิตรตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ดูก่อนมหาบพิตร ผู้มีความประสงค์จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นสูงๆต่อไปนั้น พึงปฏิบัติดังนี้ คือ

          ๑) ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ

          ๒) ระลึกถึงคุณของพระธรรมเนืองๆ

          ๓) ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เนืองๆ            

          ๔) ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคไว้เนืองๆ

          ๕) ระลึกถึงศีลที่ตนรักษาแล้วเนืองๆ

          ๖) ระลึกถึงเทวธรรม คือธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดาเนืองๆ

          ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้ ผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า

       เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อแสดงธรรมเทศนาเรื่อง โสฬสญาณ มา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา

       อิทํ เม ธมฺมทานํ สาธุ ด้วยอานิสงส์ธรรมทานที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้วในวันนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศให้แก่บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดท่านผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร มนุษย์ อมนุษย์ อบายสัตว์ เทวดา มาร พรหม พระยายมราช และนายนิรยบาลทั้งหลาย โดยเฉพาะบุรพาจารย์ที่สร้างวัดวาอารามแห่งนี้มา และทวยเทพนิกรเจ้าทั้งหลายที่รักษาวัดวาอารามแห่งนี้มา ขอท่านทั้งหลายได้รู้ได้รับอนุโมทนา เหมือนดังที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้ว ถ้าตกทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความสุขขอให้มีความสุขยิ่งๆขึ้นไป สทา โสตฺถี ภวนฺตุ โน ขอคณะครูบาอาจารย์ทุกรูป นักปฏิบัติธรรมทุกท่าน ญาติโยมที่ปฏิบัติธรรมทุกคน จงเจริญสุขสวัสดี พิพัฒนมงคลในพระบวรพุทธศาสนาเป็นนิตย์ สถิตมั่นในสัจธรรม นำตนให้พ้นทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลพระนิพพาน ด้วยกันทุกท่านทุกท่านเทอญ

       รับประทานวิปัสสนามา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 พฤษภาคม 2563 16:26:56 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 83.0.4103.97 Chrome 83.0.4103.97


ดูรายละเอียด
« ตอบ #122 เมื่อ: 09 มิถุนายน 2563 15:37:10 »



สิ่งขวางกั้นการปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

      วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ธรรมที่เป็นส่วนอกุศลที่กั้นกางผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ให้ดำเนินไปในทางที่ดี ที่ถูก หรือว่าไม่สามารถที่จะดำเนินไปสู่ปฏิปทาทำให้พ้นทุกข์ได้ สำหรับอุปสรรค สิ่งขัดขวางการประพฤติปฏิบัติ วันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำมาเล่าโดยสังเขปกถา

       สิ่งที่เป็นสภาวะกั้นกางจิตใจ ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถที่จะดำเนินไปในปฏิปทาที่ถูกต้อง หรือดำเนินไม่ได้เสียเลย มีดังนี้ คือ

       ๑. กามฉันทะ พอใจในกาม คือ พอใจในรูปที่สวยๆ พอใจในเสียงที่ไพเราะเสนาะโสต หรือพอใจในรสที่เอร็ดอร่อย พอใจในสัมผัสที่ดีๆ

       การที่เราพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ อันนี้ก็เป็นอุปสรรคขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติไม่ให้ได้ผลเหมือนกัน ในเวลาประพฤติปฏิบัติ กามฉันทะนี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพอใจในอารมณ์ คือ อารมณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้น ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าใคร่น่าพอใจ จะมีความพอใจ รักใคร่ ติดอยู่ในอารมณ์นั้นทันที เช่น เรานั่งกัมมัฏฐานไป บางทีเกิดนิมิตมา เรามองเห็นรูปที่สวยๆ มองเห็นปราสาทที่สวยๆ หรือมองเห็นป่าไม้ที่สวยๆ ก็มีความใคร่ความพอใจขึ้นมาทันที

       หรือบางทีเกิดแสงสว่างขึ้นมา ก็เกิดความใคร่ความพอใจขึ้นมา บางทีได้ยินเสียงที่ไพเราะเสนาะโสต บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป มีคนมาเรียกอย่างโน้นมาเรียกอย่างนี้ หลวงพี่อย่างนั้น หลวงพี่อย่างนี้ หรือบางทีได้ยินเสียงเทพบุตรเทพธิดา ก็มีความพอใจ บางทีก็มีเสียงพวกอมนุษย์ เช่น พวกเปรต พวกอสุรกาย มาขอส่วนบุญ หรือขอให้ช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เกิดความพอใจขึ้นมา บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานไป เกิดความสงบเป็นพิเศษ จิตและเจตสิกของเราสงบเป็นพิเศษ สงบมาก จนทำให้ผู้ปฏิบัติหลงใหลเข้าใจว่าตนได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้มรรค ได้ผล เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความใคร่ความพอใจในสิ่งนั้นๆ หรือบางทีเกิดความอิ่มใจ เกิดความปลื้มใจความปราโมทย์ขึ้นมาในจิตในใจ ก็เกิดความพอใจชอบใจในสิ่งนั้นๆ ด้วยอำนาจของกามฉันทะ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมะของเราไม่ได้ผลเหมือนกัน

       หรือบางที เดินจงกรมนั่งสมาธิทำกัมมัฏฐานไป เกิดความพอใจในการสร้างสมอบรมบุญกุศล เมื่อก่อนตนได้เคยสร้างสมอบรมไว้ เมื่อนึกถึงบุญเก่ากุศลเก่าก็พอใจ ปลื้มใจ ดีใจ แล้วก็อยากทำบุญใหม่ไปเรื่อยๆ แต่เรานั่งกัมมัฏฐานเป็นวันๆ ก็นึกถึงแต่บุญเก่ากุศลเก่าที่เราทำ นึกแต่ในการที่จะทำบุญใหม่ กุศลใหม่ไปเรื่อยๆ การที่มีความใคร่ความพอใจในสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะเหมือนกัน

       หรือบางทีทำกัมมัฏฐานไป สติของเรามันดีผิดปกติ คือมันดีเกินไป เรานึกอะไรก็ได้ดังใจหมาย นึกอย่างโน้นก็ได้ นึกอย่างนี้ก็ได้ เราจะนึกอย่างไรก็สามารถนึกถึงสิ่งต่างๆได้ตามความพอใจก็เกิดความใคร่ความพอใจขึ้นมา หรือบางทีเราเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ เกิดความหมั่นความขยันขึ้นมา การเดินจงกรมก็ดี การนั่งกำหนดก็ดี มีความขยันเป็นพิเศษ แต่ว่าสติของเรามันหย่อน เมื่อมีความเพียรขึ้นมาอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พอใจในความเพียรนั้นๆ ไม่ได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะ พอใจในอารมณ์เหมือนกัน

       หรือบางทีทำกัมมัฏฐานไป สติมาก เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นึกถึงแต่เรื่องอดีต นึกถึงแต่เรื่องอนาคต บางทีก็คล้ายๆ กับระลึกชาติได้ บางทีก็ระลึกได้จริง อะไรทำนองนี้ ก็มีความใคร่ความพอใจในอารมณ์นั้นๆ ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะความพอใจในอารมณ์ได้เหมือนกัน หรือบางทีนั่งกัมมัฏฐานไป มันสบายผิดปกติ เดินอยู่ก็สบาย นั่งอยู่ก็สบาย นอนอยู่ก็สบาย เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พอใจติดใจ หลงใหลชอบใจอยู่ในความสบายนั้น ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะได้เหมือนกัน สรุปสั้นๆแล้วว่า กามฉันทะนี้ หมายถึงความพอใจในอารมณ์ อารมณ์ใดๆก็ตาม ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็พอใจหลงใหลติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ถือว่าเป็นกามฉันทะ

       ๒. พยาบาท พยาบาทในที่นี้หมายถึงว่า ไม่พอใจในอารมณ์ อารมณ์กัมมัฏฐานใดๆ ก็ตาม เราปฏิบัติไป เราเดินจงกรมก็ดี นั่งสมาธิอยู่ก็ดี ก็ไม่พอใจในอารมณ์นั้นๆ อารมณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่พอใจในอารมณ์นั้นๆ ด้วยอำนาจอนิษฐารมณ์เกิดขึ้นในขันธสันดาน

       บางทีเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น เห็นเพื่อนๆเดินจงกรมก็ไม่พอใจ เพื่อนๆ พูดกันก็ไม่พอใจ เพื่อนกระแอมก็ดี ไอก็ดี ก็ไม่พอใจ เวลาสรงน้ำหรือเวลาเข้าห้องสุขาอย่างนี้ ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เห็นเพื่อนคลุกคลีกันเกินไปก็ไม่พอใจขึ้นมา สรุปแล้วว่า อะไรๆก็ตาม ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดขึ้นมาแล้วไม่พอใจอารมณ์นั้น ทุกสิ่งทุกประการ ก็ถือว่าเป็นพยาบาท คือ ไม่พอใจในอารมณ์ นี่พูดแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าพูดในเรื่องปริยัติก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ คำว่า “พยาบาท” คือ ไม่พอใจในอารมณ์

       ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ท้อแท้ คือ เวลาเราทำกัมมัฏฐานกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระปรี้กระเปร่า นั่งกัมมัฏฐานตาซึมๆ อยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป กำหนดกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระปรี้กระเปร่า ขาดสติ สติไม่พอ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้เหมือนกัน เมื่อใดเรามีถีนมิทธะครอบงำอยู่ เมื่อนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ปัจจุบันธรรม ไม่สามารถจะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหตุนั้น ถีนมิทธะนี้ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเหมือนกัน

       ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและคิดมาก คำว่าฟุ้งซ่านและคิดมากในที่นี้ ส่วนมากจะเป็นด้วยอำนาจของอกุศลกรรมที่ตนได้สร้างสมอบรมมาแล้ว ตั้งแต่นานๆ หรือตั้งแต่ปุเรกชาติ คือเมื่อนั่งกัมมัฏฐานไป นึกถึงแต่บาปแต่กรรมที่ตนได้ทำไว้ บางทีเคยล่วงเกินพ่อ เคยล่วงเกินแม่ บางทีเคยล่วงเกินครูบาอาจารย์ เมื่อมานั่งกัมมัฏฐานก็เป็นเหตุให้คิดมาก เรานี้ทำกรรมมามากแล้ว ล่วงเกินครูบาอาจารย์พ่อแม่มากแล้ว อย่างนั้นอย่างนี้ ก็เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา คิดมากทันที                    

       บางทีเราล่วงเกินผู้มีพระคุณ หรือเคยล่วงเกินอะไรก็ตามมันทำให้คิดมาก บางทีเราเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เคยลัก เคยขโมย เคยล่วงเกินผัวเขา เมียเขา ลูกเขา เคยพูดโกหกพกลม หรือเคยพูดวาจาที่ไม่เพราะหู เป็นวาจาที่หยาบคาย พูดวาจาที่ไม่มีสาระประโยชน์ พูดวาจาที่ส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกร้าวสามัคคีกัน เมื่อเรานึกถึงคำพูดเช่นนี้มาก็ทำให้คิดมาก ฟุ้งซ่าน หรือบางทีเราเคยละเมิดศีลข้อใดข้อหนึ่งมา สมมุติว่าเรารักษาศีล ๕ ก็ละเมิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อเรามาทำกัมมัฏฐานอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นึกถึงบาปที่เราทำไว้แล้ว ก็เลยเป็นเหตุให้คิดมาก

       สรุปแล้วว่า อุทธัจจกุกกุจจะนี้คือว่าฟุ้งซ่านรำคาญเพราะนึกถึงบาปเก่า เหตุนึกถึงแต่บาปเก่าแล้วบุญไม่ได้ทำ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก ส่วนมากการคิดมากนั้นก็ทำให้การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไม่ได้ผลเหมือนกัน เหตุนั้น เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะเกิดขึ้นมาคือทำให้ฟุ้งซ่านคิดมากเมื่อไร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “คิดหนอๆๆ” ร่ำไป จนกว่าอาการคิดนี้จะสงบไปหรือหยุดไปเสียก่อน จึงกำหนดบทพระกัมมัฏฐานใหม่ต่อไป

       ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย คือมีความสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงไหม พระธรรมมีจริงไหม พระอริยสงฆ์มีจริงไหม สมัยนี้ยังมีพระอริยสงฆ์อยู่หรือ นรกมีจริงไหม สวรรค์มีจริงไหม พรหมโลกมีจริงไหม ชาตินี้ชาติหน้ามีจริงไหม เกิดความสงสัยอยู่ตลอดเวลา หรือบางที เมื่อเรามีความสงสัยอยู่อย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความท้อใจ ขี้เกียจในการทำกัมมัฏฐาน นึกว่าบุญบาปไม่มี หรือว่าอะไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะตัดสินเอาเองได้ อะไรๆ เกิดขึ้นมาก็มีความสงสัย อารมณ์ใดๆที่เกิดขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็มีความสงสัยขึ้นมา ความสงสัยนี้ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกัมมัฏฐานไม่ได้ผล เหตุนั้น นิวรณ์ ๕ ประการ ข้อสุดท้ายคือ วิจิกิจฉา ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเหมือนกัน

       เมื่อเราทั้งหลายเจริญพระกัมมัฏฐานไปๆ จนมาถึงวิจิกิจฉาคือความสงสัย ความสงสัยพูดแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ เช่นว่าเรามีอะไรเกิดขึ้นมาก็เอะใจสงสัย สมมติว่านั่งกัมมัฏฐานไปเห็นแสงสว่างขึ้นมา เอะใจสงสัยว่า “เอ๊ะ ! มันอะไรกัน” นี่เป็นวิจิกิจฉาแล้วนะ หรือว่าทำกัมมัฏฐานไปๆ บางทีนิมิตเกิดขึ้นมาก็เห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้วแต่นานๆ เห็นครูบาอาจารย์ เห็นโน้นเห็นนี้ ก็มีความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า “เอ๊ะ! มันอะไรกัน”

       หรือบางทีทำกัมมัฏฐานไป มันมีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า หรือว่าบางทีมีการสัปหงกวูบไปข้างหน้าข้างหลังขึ้นมาอย่างนี้ ก็มีความสงสัยเอะใจว่า “เอ๊ะ ! มันเรื่องอะไรกัน นี้มันอะไรกัน” ก็ถือว่าเป็นวิจิกิจฉาแล้วนะ หรือว่าเราทำกัมมัฏฐานไปๆ บางทีความรู้สึกของเรามันสงบไป ขาดความรู้สึกไปชั่วครู่ชั่วขณะ ก็มีความสงสัยเอะใจว่า “เอ๊ะ อันนี้มันอะไรกัน” หรือว่านั่งกัมมัฏฐานอยู่ ๑๐ นาที ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาที นั่งไปจิตใจมันสงบเงียบไป พอดีรู้สึกตัวขึ้นมา “เอ๊ะ ! มันเรื่องอะไรกัน” คือเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดไม่ รู้เพียงแต่ว่า เอ๊ะ มันเป็นเรื่องอะไรกัน นี้ก็ถือว่าเป็นตัววิจิกิจฉา

       สรุปเอาสั้นๆ ว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราเอะใจสงสัยเรื่องนั้นๆ ว่า “เอ๊ะ! มันเรื่องอะไรกัน” ก็ถือว่าเป็นตัววิจิกิจฉาแล้ว เมื่อตัววิจิกิจฉาเกิดขึ้นมาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะเพ่งลึกลงไป เอ๊ะ อันนี้มันเรื่องอะไรกัน ก็เพ่งดู พิจารณาดู ใคร่ครวญดู ตริตรองดูว่า มันอะไรกัน มีแต่พิจารณาไปเรื่อย นี้อะไรกันหนอ อันนี้มันเป็นอะไรหนอ มันเรื่องอะไรหนอ เพราะเหตุใดหนอมันจึงเกิดอย่างนี้ เพ่งลึกลงไปๆๆ

       เมื่อเราเพ่งลึกลงไปแล้ว มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเรามีสมาธิ คือมันอยู่ในอารมณ์ที่เราเพ่งอย่างเดียวว่ามันอะไรกัน ใจของเรามันอยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อใจของเรามันอยู่ในอารมณ์อย่างเดียว ถึงว่ามิจฉาสมาธิก็ตามนะ เราเพ่งอะไรๆ ก็ตาม จะเป็นเรื่องอกุศลก็ตาม เป็นกุศลก็ตาม เราเพ่งลึกลงไป ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นสมาธิ เมื่อสมาธิมันสมบูรณ์แล้ว มันก่อตัวเต็มที่แล้ว จะเป็นมิจฉาสมาธิก็ตาม สัมมาสมาธิก็ตาม ถูกหรือผิดก็ตาม จิตใจของเรามันก็สงบแน่นิ่งขึ้นมา เมื่อจิตใจของเรามันสงบแน่นิ่งขึ้นไปแล้ว มันก็จะสร้างอะไรต่างๆ ขึ้นมา สร้างโน้นขึ้นมา สร้างนี้ขึ้นมา เห็นโน้นเห็นนี้อะไรร้อยแปดพันประการ แต่เมื่อสรุปแล้วก็มีอยู่ ๕ ประการคือมันจะสร้างภาพอะไรเกิดขึ้นมาในขณะนั้น

       ๑. มันจะสร้างภาพล้อขึ้นมา คำว่าภาพล้อนี้คือภาพที่ล้อเลียนเรา เราเดินจงกรมอยู่ก็ดี นั่งสมาธิก็ดี จะเป็นภาพล้อเลียนเรา สมมติว่าเราเดินจงกรมอยู่ จะเห็นภาพนั้นมันเดินจงกรมด้วย “ขวาย่างหนอ” มันก็ “ขวาย่างหนอ” ตาม เรากำหนดว่า “ซ้ายย่างหนอ” มันก็ “ซ้ายย่างหนอ” ตาม เวลาเราเดินจงกรมมันก็เดินด้วย เวลาเราหยุดมันก็หยุดด้วย เวลาเรานั่งมันก็นั่งด้วย บางทีเรานึกอยากใช้ให้มันไปเอาโน้นเอานี้มาให้ เราใช้ให้ไปเอาน้ำมาให้ดื่ม เอาดอกไม้มาให้บูชา หรือเอานั้นเอานี้ ภาพนั้นก็ลุกขึ้นไปทันทีตามเราคิด เรานึกอย่างไรมันเป็นไปตามนั้น

       มีโยมพัฒนากรคนหนึ่ง ลาราชการมาบวชอยู่นี้แหละ เวลาเดินจงกรมภาพนี้มันเดินตามไป ก็กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” มันก็ “เห็นหนอๆ” ตาม กำหนดว่า “รู้หนอๆ” มันก็กำหนดว่า “รู้หนอๆ” ตาม ผลสุดท้ายก็กำหนด “จิตสัมผัสจิตหนอๆ” มันก็ไปตาม เมื่ออาการเช่นนี้เกิดขึ้นมาจิตใจกำหนดไม่ทันก็ทำให้เกิดอาการเหนื่อยขึ้นมา นี้ท่านทั้งหลายมันเป็นไปได้ บางทีเราเดินจงกรมด้านหน้า มันกลับเดินไปด้านหลัง เราเดินจงกรมด้านหลังมันกลับเดินไปข้างหน้า

       บางทีเราเดินจงกรมตรงๆ อยู่นี้ มันเดินผละออกจากเราไป หรือว่าเราเดินจงกรม มันเดินมาหาเรา ก็แล้วแต่มันจะเป็นไป ชื่อว่าภาพมันล้อเลียนเรา เหมือนกับคนที่เลี้ยงม้าอย่างนี้ มันเห็นเจ้าของเป็นคนขาเผลก ม้ามันก็เดินกะเผลกๆด้วย อะไรทำนองนี้ อันนี้ภาพล้อมันก็เหมือนกัน คือมันจะล้อเลียนเรา ส่วนมากพวกนี้เมื่อก่อนโน้นชอบไปล้อเลียนคนโน้นบ้าง ล้อเลียนคนนี้บ้าง เห็นเขาพูดไม่ชัดก็ล้อเลียนเขา เขาทำโน้นไม่ดีทำนี้ไม่ดีก็ล้อเลียนเขา คือชอบล้อเลียนผู้อื่น ส่วนมากก็ชอบล้อเลียนผู้อื่น เมื่อผู้ใดชอบล้อเลียนผู้อื่นอย่างนี้ เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ภาพที่ล้อเลียนผู้อื่นซึ่งมันบันทึกอยู่ในภวังคจิตมันก็แสดงนิมิตนี้ขึ้นมาให้เห็น

       ท่านทั้งหลายก็คิดว่าภาพล้อเลียนทั้งหลายนี้มันอยู่ภายนอก มันเกิดขึ้นจากเทวดาฟ้าดิน หรือยมยักษ์อะไรทำนองนี้ ไม่ใช่ มันเกิดอยู่ที่จิตของเรา เพราะจิตของเราเมื่อก่อนโน้นไปล้อเลียนคนอื่น ล้อเลียนคนโน้น ล้อเลียนคนนี้ เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จิตใจของเรามันสงบเป็นสมาธิ มันก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมา คือจิตดวงนี้มันแสดงขึ้นมามันก็มีอาการ เวลาเราทำกัมมัฏฐานก็เหมือนกับคนโน้นมาล้อคนนี้มาล้อเลียน

       อันนี้ก็เป็นภาพที่ ๑ ซึ่งเกิดขึ้นมา เมื่อภาพนี้เกิดขึ้นมาแล้วให้ท่านทั้งหลายกำหนดว่า “เห็นหนอๆๆ” อย่าเอาใจใส่ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง ทีนี้ถ้ามันไม่หาย ภาพนี้ไม่หาย กำหนดอย่างไรก็ไม่หาย อย่าเอาใจใส่ในภาพนั้น ตั้งอกตั้งใจเจริญพระกัมมัฏฐาน เอาสติปักลงที่ท้องพองท้องยุบ กำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” หรือว่า “รู้หนอๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง

       ๒. ภาพล่อ ภาพล่อคือเป็นภาพที่สวยงาม เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไป ภาพที่เกิดขึ้นมาเป็นภาพที่สวยสดงดงาม เห็นต้นไม้ที่สวยๆ เห็นต้นข้าวที่สวยๆ เห็นผ้าผ่อนแพรพรรณที่สวยๆ เห็นปราสาทวิมานที่สวยๆ เห็นคนที่สวยๆ เห็นผู้หญิงที่สวยๆ เห็นผู้ชายที่สวยๆ อะไรๆก็มีแต่เห็นภาพที่สวยๆ หากว่าเราผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปติดใจในภาพนี้ เห็นภาพที่สวยๆ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นรูปผู้หญิงที่สวยๆ ๓ วันก็ยังนั่งอยู่อย่างนั้น ๔ วันก็ยังนั่งอยู่อย่างนั้น ปีหนึ่งก็ยังนั่งอยู่อย่างนั้น เพราะว่าเราไปติดในภาพนี้ ภาพนี้มันเกิดขึ้นในจิตใจของเรา ยิ่งเราไปติดเท่าไรๆ มันก็แสดงอาการอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

       แต่ว่าบางท่านก็เป็นบางท่านก็ไม่เป็นนะ บางทีภาพนี้ติดตาอยู่อย่างนี้ ๑ ปีก็มี ๒ ปีก็มี บางคนก็ ๓ ปี บางคนก็ ๕ ปี ๖ ปี ก็มี บางรูปเคยมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน มันเกิดขึ้นมาทันที โน้น เห็นภาพคนที่ชอบพอกันเมื่อก่อน เคยเป็นแฟนกัน ผลสุดท้ายผู้หญิงคนนั้นเขาก็มีครอบมีครัว เราก็มาบวช เมื่อมาบวชภาพนี้ก็เกิดขึ้นมาในเวลาประพฤติปฏิบัติ เลยทำให้การประพฤติปฏิบัติมันดำเนินไปไม่ได้ คือไม่สามารถที่จะให้สมาธิสมาบัติมันสูงไปกว่านี้ได้ สิ่งนี้ก็สำคัญท่านทั้งหลาย

       วิธีที่จะปฏิบัติให้มันหายไปคือให้เราตั้งสติว่า “เห็นหนอๆ” หรือว่า “รู้หนอๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไป แต่ถ้ามันไม่หาย อย่าเอาใจใส่เลย อย่าเอาใจใส่ในนิมิตนั้นเลย นั่งกำหนดอาการพองอาการยุบ “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือว่า “รู้หนอๆๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง

       ๓. ภาพหลอก ภาพหลอกนี้คือเป็นภาพที่ทำให้ตกใจกลัว บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ เห็นเปรตมันยื่นมือมาจะบีบคอเรา หรือบางทีเห็นยักษ์มันยื่นมือมาจะบีบคอเรา บางทีก็เห็นหมาบ้ามันวิ่งเข้ามาจะกัดเรา บางทีเห็นช้าง เห็นเสือ เห็นราชสีห์ เห็นงูพิษมันเลื้อยมาจะกัดเรา บางทีเห็นตะขาบ เห็นแมงป่องมันไต่ขึ้นมาตามร่างกาย หรือบางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เหมือนกับกิ้งกือมันไต่ขึ้นมาตามร่างกายของเรา สรุปแล้วว่า ภาพนี้เป็นภาพที่ทำให้ตกใจกลัว บางทีเป็นยักษ์เป็นมารมาจะมาทำร้าย

       มีพระรูปหนึ่งมาบวชอยู่ที่นี้ มาบวชแล้วก็เจริญพระกัมมัฏฐาน นั่งกัมมัฏฐาน เห็นยักษ์สูงเทียมปลายตาลมันยื่นมือมาจะบีบคอ ทำอย่างไรก็ไม่หาย กำหนดอย่างไรก็ไม่หาย นึกถึงเวทย์มนต์กลคาถาที่เคยได้ศึกษาเล่าเรียนมา กำหนดอย่างไรก็ไม่หาย มีแต่จะบีบคอให้ตาย ผลสุดท้ายไม่เอาใจใส่ในนิมิตนั้น ตั้งอกตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไป “รู้หนอๆๆ” ไป ผลสุดท้ายมันก็หายไปเอง ภาพนี้เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมันทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน กลัวว่าภูตผีปิศาจหรือสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นมาทำร้าย หรือมาบีบคอเราให้ตาย

       แต่ถึงอย่างไรก็ตามท่านทั้งหลาย หากว่ามันเป็นของจริง มันเป็นภูตผีปิศาจจริง เป็นยักษ์เป็นมารจริงๆ มันจะมาบีบคอเรา มันไม่มีโอกาสจะบีบได้หรอก หากว่าเรามีศีลดีอยู่ มีสมาธิอยู่ พวกนี้มันจะมาใกล้เราอย่างมาก ๑ วา ใกล้ที่สุดก็ ๑ วา ๑ วานี้มันยื่นมือมาบีบคอเราไม่ได้ เหตุนั้นเมื่อภาพอย่างนี้เกิดขึ้นมาท่านทั้งหลายอย่าตกใจ กำหนดไปเรื่อยๆ กำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” ไปเรื่อยๆ หรือกำหนดอาการพองอาการยุบไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง

       ๔. ภาพลวง คือภาพลวงนี้พูดอย่างหนึ่งว่าเป็นปฏิภาคนิมิต คือเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เรานึกถึงอะไรมันจะเห็นสิ่งนั้น เรานึกถึงนรกก็จะเห็นนรก เรานึกถึงพวกเปรตก็จะเห็นพวกเปรต เรานึกถึงพวกอสุรกายก็จะเห็นอสุรกาย เรานึกถึงเมืองพญานาคก็จะเห็นพวกพญานาค เรานึกถึงเทวโลกจะเห็นเทวดา เห็นพระอินทร์ เรานึกถึงพรหมโลกก็จะเห็นพรหมโลก เรานึกถึงครูบาอาจารย์ก็จะเห็นครูบาอาจารย์ บางทีเห็นครูบาอาจารย์ท่านมานั่งอยู่ใกล้ๆ คล้ายๆ กับจะมาคุยกับเรา พูดกับเราหรือมาเทศน์ให้เราฟัง

       บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้วถึงแก่กรรมไปแล้วหลายปี เรานึกถึงพ่อถึงแม่ก็เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไป เรานึกถึงลูกถึงหลานที่ตายไปแล้วก็เห็นลูกเห็นหลาน เรานึกถึงโบสถ์วิหารศาลาการเปรียญที่เราเคยสร้าง เราก็เห็น นึกถึงหลวงปู่โน้น นึกถึงหลวงปู่นี้จะเห็น เรานึกถึงพระพุทธเจ้าเห็นพระพุทธเจ้า เรานึกถึงพระอรหันต์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เราก็เห็นพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า เรานึกถึงพระฤษีก็เห็นพระฤษี อันนี้เรียกว่า ภาพลวง บางทีมันเกิดขึ้นมาแล้วเห็นพระพุทธเจ้า นั่งไปเห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า นั่งไปแล้ว เอ้อ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราอยากฟังเทศน์ฟังธรรมจะไม่ฟังเทศน์ฟังธรรมครูบาอาจารย์ละ เราจะนั่งสมาธิมาฟังเทศน์พระพุทธเจ้า เราจะนั่งสมาธิมาฟังเทศน์ของพระอรหันต์ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร พระสังกัจจายนะ มันคิดอย่างนี้นะ ทำให้เข้าใจผิดขึ้นมา

       หรือบางทีก็นั่งสมาธิจะเอาข้าวไปใส่บาตรพระพุทธเจ้า เอาภัตตาหารไปถวายพระพุทธเจ้า ถ้าว่านิมิตนี้ยังไม่หาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราก็จะไม่ก้าวหน้า เหตุนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วท่านทั้งหลายพยายามตั้งจิตตั้งใจกำหนดว่า “เห็นหนอๆๆ” ไปเรื่อยๆ ถ้ากำหนด “เห็นหนอๆ” แล้วยังไม่หาย อย่าเอาใจใส่เลย อย่าเอาใจใส่ เอาสติมาปักลงที่ท้องพองท้องยุบ “พองหนอ ยุบหนอ รู้หนอ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็หายไปเอง

       ๕. ภาพล้าง ภาพล้างนี้เป็นภาพที่ทำลายล้างวิปัสสนาให้เสื่อมไป สมมุติว่าเราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน แทนที่มันจะก้าวหน้า แทนที่มันจะได้ผลมากกว่านี้ แต่เวลาปฏิบัติไปๆ กลับไม่ได้ มีแต่ภาพนี้ทำลายล้างสติสัมปชัญญะของเราอยู่ตลอดเวลา คือภาพที่ทำลายล้างนี้บางทีก็เกิดจากเทวดามิจฉาทิฏฐิ บางทีก็เกิดจากพวกเปรตอสุรกายมาขอส่วนบุญ แล้วแต่เหตุปัจจัย

       บางทีพวกเปรตมันมาขอส่วนบุญ เราก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ แต่เราต้องสำเหนียกดูก่อนว่ามันเป็นเปรตจริงหรือ หรือเป็นภาพที่มันล้อเลียนเรา มันทำให้เข้าใจผิด มาทำลายล้างเรา เราต้องคิดเสียก่อน เราเอาใจปักลงไปเสียก่อนเป็นเปรตจริงหรือ ถ้าเป็นเปรตจริงๆ เราจะรู้เองหรอก เป็นเปรตจริงๆ เราก็อุทิศส่วนกุศลให้มันก็หายไปเอง หรือว่าเราอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แล้วยังไม่หายก็อย่าเอาใจใส่ กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ ยุบหนอ” ไปเรื่อยๆ ก็จะหายไปเอง

       สมัยที่หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ พวกนี้มันเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด ไปนั่งอยู่ที่โน้น ไปนั่งอยู่ที่นี้ เห็นแต่พวกเปรตเดินไปเดินมา หลังจากมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ทุกวันๆ เหมือนกับพวกเราทั้งหลายอุทิศอยู่ทุกวันนี้ละ มันหายไปทีละน้อยๆ หายไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้เกือบจะไม่มีเสียเลย นี้พวกเปรตมันมาขอส่วนบุญ

       บางทีก็เกิดขึ้นจากเทวดามิจฉาทิฏฐิ คือมันไม่เลื่อมใสผู้ประพฤติปฏิบัติ เรามาเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือมาให้ทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถศีล มันก็ไม่เลื่อมใส ก็หาวิธีขัดขวางและกีดกันการประพฤติปฏิบัติของเรานี้

       ท่านทั้งหลายอาจจะเข้าใจผิดว่า เอ๊ะ หลวงพ่อ เป็นเทวดาแล้วยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่หรือ มันเป็นได้ท่านทั้งหลาย เทวดาก็เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิได้เหมือนกัน เกิดจากอะไร พวกเทวดามิจฉาทิฏฐิเกิดจากมิจฉาทิฏฐิของตัวเองนั้นแหละ คือมันเกิดจากจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ สมมุติว่าเวลามาทำบุญทำทาน พวกเราทั้งหลายทำบุญทำทานไปตอนเช้านี้แหละ พวกที่เป็นประเภทนี้ โอ้ะ ทำไปทำไมหนอ ทำทานนี้ ทานมันก็ไม่ได้บุญ ทำไปทำไมทำทานก็ไม่ได้บุญ ไม่ได้บุญทำไมถึงทำอยู่ พอเพื่อนพาทำเราก็ทำถ้าไม่ทำก็อายเพื่อน เท่านั้นแหละท่าน เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว เวลาเราทำบุญทำทานมันก็ได้อยู่ ได้บุญอยู่ บุญนี้ได้อยู่ แต่จิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นมันก็ติดตามบุคคลผู้นั้นไป บุญที่ทำแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นเทวดาได้อยู่ แต่เพราะจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเกิดเป็นเทวดาแล้วก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเกิดได้อย่างนี้นะ

       หรือบางทีเห็นเพื่อนมารักษาศีลหรือมารักษาอุโบสถศีลอย่างนี้ รับทำไมหนอศีลนี้รับทำไมหนอ รักษาศีลนี้รักษาทำไม เพราะรักษาแล้วไม่ได้บุญ เอ้า ถ้าไม่ได้บุญแล้วรักษาทำไม สมาทานศีลกับท่านทำไม ถ้าไม่สมาทานก็กลัวเพื่อนจะว่าอย่างนั้น กลัวเพื่อนจะว่าอย่างนี้ ก็เลยสมาทาน แต่ที่จริงเป็นว่ามันไม่ได้บุญ เท่านั้นแหละท่านทั้งหลาย ไปเกิดเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิได้ คือในขณะที่เราสมาทานศีลอยู่นี้ ก็เป็นบุญแล้ว บุญนี้สามารถที่จะให้ไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดาได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นมาเพราะอำนาจที่ตนเป็นมิจฉาทิฏฐิว่า สมาทานศีลก็ไม่ได้บุญ รับศีลก็ไม่ได้บุญ ตัวนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเทวดาเป็นมิจฉาทิฏฐิไป นี้มันเป็นได้อย่างนี้

       หรือเวลาเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างนี้ เราเดินจงกรมนั่งสมาธิ โอย เดินจงกรมไปทำไมหนอ นั่งสมาธิไปทำไมหนอ มาปฏิบัติคงไม่ได้อะไรหรอก อ้าว ไม่ได้ทำไมถึงเดินจงกรมกับเพื่อนอยู่ ทำไมถึงปฏิบัติกับเพื่อนอยู่ ถ้าไม่ปฏิบัติเพื่อนก็จะว่า เช่นพวกเราทั้งหลายไปประชุมโน้นไปประชุมนี้ ครูบาอาจารย์ให้เดินจงกรม เดินไปทำไมหนอ เดินจงกรมนั่งสมาธินี้มันไม่ได้บุญอะไรหรอก จิตมิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้นมา ถ้าไม่ได้บุญทำไปทำไม ถ้าไม่ทำครูบาอาจารย์ก็ว่า เพื่อนจะว่าอย่างนั้นเพื่อนจะว่าอย่างนี้ ครูบาอาจารย์จะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ญาติโยมจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จำเป็นต้องทำ ในเวลาเราทำมันก็เป็นบุญอยู่นะ เวลาทำบุญมันก็เป็นบุญอยู่ แต่จิตมันเป็นบาป เป็นมิจฉาทิฏฐิ เวลาทำบุญ มันก็ได้บุญ บุญนี้ก็สามารถที่จะนำไปเกิดเป็นมนุษย์ได้ เป็นเทพบุตรเทพธิดาได้ แต่เมื่อเกิดเป็นเทวดามาแล้ว เทวดานั้นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าในขณะที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้นจิตเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว เห็นว่าทำกัมมัฏฐานไม่ได้บุญแต่ข่มใจทำเกรงเพื่อนจะว่า เกรงครูบาอาจารย์จะว่า บุญส่วนนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดาได้ แต่ว่าเกิดมาแล้วก็เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ เมื่อเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิอย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย เมื่อเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐินี้ก็มาทำโน้นทำนี้ ทำให้เรากลัวอย่างนั้นกลัวอย่างนี้ ทำให้การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราไม่ได้ผลเท่าที่ควร

       ขอออกนอกเรื่องไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่ามีคนถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ  เจ้าปู่นี้ทำไมถึงอายุยืนเหลือเกิน ปู่ทวด ตาทวด ตายไปแล้ว แต่เจ้าปู่นั้นยังไม่ตาย” หรือบ้านเราภาคอีสานเรียกว่า “ผีปู่ตา” ถ้าอยู่ในเมืองก็เรียกว่าศาลเจ้า หรือในเมืองเขาว่าอะไร ศาลเจ้าหลักเมืองอะไรทำนองนี้ เอาภาษาบ้านเราซะ พวกเจ้ากวน พวกผีปู่ตา เรียกว่าเจ้าปู่ เจ้าผีปู่ตา พวกเจ้าปู่นี้ พวกนี้ไปเกิดเป็นเจ้าปู่ได้อย่างไร พวกนี้หลวงพ่อว่าเป็นภุมมเทวดา พวกนี้เป็นภูมิต่ำๆ แต่เทวดาพวกนี้ก็เกิดจากอำนาจมิจฉาทิฏฐิเหมือนกัน

       สมมุติว่าเมื่อก่อนเขาตั้งให้เป็นเจ้ากวน ให้เป็นผู้รักษา เป็นกวนบ้านเป็นผู้รักษา ต้องเลี้ยงนู้นเลี้ยงนี้ เลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู เลี้ยงเหล้า คนมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นมาต้องมาหาปู่ตา จะลงดำนาก็หาปู่ตา จะทำบุญทำทานก็ไปหาเจ้ากวนนั้นแหละ เจ้ากวนก็พาไป พาไปกราบไปไหว้ ไปเซ่นไปสรวงนู้นๆ นี้ๆ ทีนี้บุคคลประเภทนี้ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นผีปู่ตา แต่ถ้าพูดภาษาให้เพราะๆ หน่อยก็เรียกว่า ภุมมเทวดา ทีนี้เมื่อบุคคลนั้นเกิดขึ้นมาแล้วก็อยู่อย่างนั้น เป็นภุมมเทวดาอยู่นั่น

       ทีนี้เมื่อคนนั้นตายไปเขาก็ตั้งคนใหม่เป็นผู้ปฏิบัติเจ้ากวน หรือว่าเป็นผู้ทำงานเกี่ยวกับศาลเจ้า คนนี้ก็ทำงาน มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องไปหาคนนี้ คนนี้เขาก็เป็นหัวหน้าหัวตา พาทำอย่างโน้นพาทำอย่างนี้ ทำพิธีอย่างโน้นทำพิธีอย่างนี้ ในขณะที่ทำจิตมันเป็นมิจฉาทิฏฐินะท่านทั้งหลาย การทำอย่างนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 83.0.4103.97 Chrome 83.0.4103.97


ดูรายละเอียด
« ตอบ #123 เมื่อ: 09 มิถุนายน 2563 15:39:14 »



สิ่งขวางกั้นการปฏิบัติธรรม (จบ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       ทีนี้เมื่อผู้นี้ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิอยู่นั้นแหละ ได้เทวดามิจฉาทิฏฐิ ๒ ตนแล้วนะ เขาก็ตั้งคนใหม่อีก ตั้งคนใหม่เป็นผู้ปฏิบัติศาลเจ้า ผู้นี้เขาตายแล้วก็มาเกิดในที่นี้อีก ตั้งคนใหม่อีก คนใหม่ตายแล้วก็ไปเกิดในที่นี้ พวกภุมมเทวดาที่อยู่ที่นี้ ผู้ใดที่หมดบาปก่อนก็ไปเกิดในภพใหม่ ผู้ใดบาปหมดก่อนเพื่อน บาปมิจฉาทิฏฐินี้หมดก่อนเพื่อนก็ไปเกิดในภพในภูมิตามกรรมของตนเอง ทีนี้พวกยังอยู่ก็เหลืออยู่นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้คนทั้งหลายไม่เข้าใจก็ดูเหมือนว่าอายุยืน แต่ที่จริงมันต้องผลัดเปลี่ยนกัน ตนหนึ่งไปตนหนึ่งอยู่ เทวดาพวกนี้ก็เหมือนกันท่านทั้งหลาย เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมก็เป็นสิ่งที่ขัดขวางกั้นกางพวกเราผู้ปฏิบัติธรรม

       เช่นว่าเราไปทำกัมมัฏฐานใกล้ดอนเจ้าปู่หรือเสาหลักเมืองที่นู้นที่นี้ก็มีเรื่องอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา หรือไปตามป่าดงพงพี เมื่อพวกนี้รักษาอยู่ ลักษณะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นมา เมื่อเราทำกัมมัฏฐานหากว่าลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาหรือว่ามีเทวดามิจฉาทิฏฐิมันทำร้ายเรา หรือว่าทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราดำเนินช้า หรือดำเนินไปไม่ได้ ทำให้การปฏิบัติของเรานี้ไม่ก้าวหน้า เราก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เขา บางทีเขารับส่วนบุญส่วนกุศลแล้วก็เลิกจองกรรมจองเวรหรือไม่ทำลายเรา

       หรือบางทีเราอุทิศส่วนกุศลให้แล้วก็ยังไม่เลิกละ ยังหาวิธีขัดขวางกีดกันอยู่ตลอดเวลา เราก็อย่าเอาใจใส่ เอาสติปักลงที่ท้องพองท้องยุบ “พองหนอ ยุบหนอๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายเมื่อเราไม่เอาใจใส่มันก็หลีกไปเอง นี้แหละท่านทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายที่หลวงพ่อกล่าวมาข้างต้นนี้ถือว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางกั้นกางการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานของพวกเราไม่ให้ก้าวไปเท่าที่ควร หรือว่าไม่ให้ได้ผลเลย

       เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังอุปสรรคทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้ว เมื่อเกิดขึ้นให้ท่านทั้งหลายมีสติสัมปชัญญะกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอย่าเอาใจใส่ ผลสุดท้ายก็จะหมดไปเอง

       เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำมาซึ่งอุปสรรคสิ่งที่ขัดขวางกั้นกางการประพฤติปฏิบัติ ๑๐ ประการมาเล่าถวายท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.      
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 83.0.4103.106 Chrome 83.0.4103.106


ดูรายละเอียด
« ตอบ #124 เมื่อ: 18 มิถุนายน 2563 16:19:42 »




กิเลสทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       สำหรับวันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง กิเลสทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ มาบรรยายเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมะของพวกเราทั้งหลายก็เพื่อดำเนินไปสู่ปฏิปทา ความพ้นทุกข์ เพื่อบรรลุอริยมรรคอริยผล แต่บางครั้งกิเลสได้โอกาส เพราะเราขาดสติสัมปชัญญะ กิเลสอาจจะเข้าแทรกในจิตใจของเรา ผลสุดท้ายก็ทำให้จิตใจของเราหวนระลึกกลับหลัง หรือถอยหลังเข้าคลองก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติธรรมะของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น จึงจะได้นำเรื่องกิเลสที่ทำให้จิตตกไปในฝ่ายต่ำมาบรรยายเพื่อท่านทั้งหลายจะได้สดับรับฟัง พอเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม

       กิเลสที่ทำให้จิตตกไปในฝ่ายต่ำนั้นมีดังนี้ คือ

       ๑. โลภะ เมื่อโลภะเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้หมดอาลัยหมดความหวังในการปฏิบัติ โดยคิดว่าชาตินี้หรือปีนี้เราคงได้แค่นี้แหละ คงหมดบุญวาสนาบารมีแล้ว ทำไปก็คงไม่ได้อะไรอีก เลยทำให้เกิดความท้อใจ ทำให้เกียจคร้าน ทำให้เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติ ทำให้กลุ้มใจ เลิกการปฏิบัติ หรือมิฉะนั้นก็ลดเวลาของการปฏิบัติลง โดยคิดว่าหมดหนทางแล้วเรา โดยลืมพุทธพจน์ที่เคยได้ท่องบ่นสาธยายจนขึ้นใจจำได้คล่องแคล่วว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร หรือว่าความเพียรมีอยู่ ณ ที่ไหน ความสำเร็จย่อมมีอยู่ ณ ที่นั้น ความเพียรแม้เทวดาก็ไม่สามารถพยากรณ์ได้ พุทธพจน์ที่ดีๆ ที่เคยท่องได้ จำได้จนขึ้นใจ ทำให้ลืมไปหมด เลยคิดแต่จะหวนกลับหรือถอยหลังเข้าคลอง อันนี้เป็นลักษณะของโลภะ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ทำให้จิตใจของเราถอยหลัง

       ๒. โทสะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ไม่พอใจ ไม่ชอบใจในการปฏิบัติ ในเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ในญาติโยม ในที่อยู่ ในอาหาร ในครูอาจารย์เป็นต้น เลยให้คิดแส่ไปว่า ออกจากนี้เราจะไปปฏิบัติที่โน้น เราจะปฏิบัติที่นี้ คงจะดีกว่าที่นี้ ที่นี้คงหมดแค่นี้แหละอะไรทำนองนี้ อันนี้เป็นลักษณะของโทสะ

       ๓. โมหะ ก็ทำให้มืดมนอนธการ ทำให้มืดบอดเหมือนหมู่เมฆที่ปิดบังสุริยะแสง ทำให้มืดครึ้มฉะนั้น ไม่สามารถที่จะขบคิดปัญหาธรรมะอันเป็นมรรคาที่จะนำพาไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เลยทำให้เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี กลับกันเหมือนหน้ามือกับหลังมือ เช่น เห็นรูปนามเป็นนิจจัง คือ เที่ยง เห็นรูปนามเป็นสุขัง คือ เป็นสุข เห็นรูปนามเป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตน เห็นรูปนามเป็นสุภะเป็นของสวยของงาม ทำให้เกิดจิตวิปลาส คือ คิดผิด ทำให้เกิดทิฏฐิวิปลาส คือ เห็นผิด ทำให้เกิดสัญญาวิปลาส คือ จำผิด ทำให้เกิดญาณวิปลาส คือ รู้ผิด เป็นต้น

       ๔. ถีนมิทธะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีแต่ทำให้ท้อแท้ใจ ทำให้ติดอยู่กับการหลับการนอน การเอนข้างเอนหลัง ทำให้โงกงุ่น เคลิบเคลิ้ม ง่วงเหงาหาวนอน จะเดิน จะนั่ง จะกำหนดอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อยก็ไม่ได้ดี ไม่กระฉับกระเฉง ตกลงก็เลยถูกเจ้าถีนมิทธะผลักหัวลงปลงพระกัมมัฏฐานว่า นิทราดีกว่าเรา เช้านี้เราตื่นดึกๆ ก็พอ แต่เมื่อถึงคราวจะตื่นขึ้นทำความเพียร มันกลับบอกว่า เอาอีกก่อนๆ อีกหน่อยค่อยลุกไม่เป็นไร ตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้จิตใจของเราถอยหลังในการประพฤติปฏิบัติ

       ๕. อหิริกะ

       ๖. อโนตตัปปะ

       สำหรับตัวอหิริกะกับตัวอโนตตัปปะ ก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้จิตใจของเราไม่ละอายบาป ไม่กลัวต่อบาป ไม่กลัวต่อผลของบาป กล้าทำบาปทั้งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งๆบางทีเราก็รู้อยู่ว่า คิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ พูดอย่างนี้ มันผิด ไม่สมควรกับเพศภูมิ หรือฐานะของเรา ผิดศีลผิดธรรม ผิดกฎหมาย ผิดกฎผิดกติกา เป็นต้น แต่เจ้าอหิริกะหรืออโนตตัปปะนี้มันก็จะกระซิบขึ้นมาว่า “ไม่เป็นไรๆ ครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าผิดศีลเราปลงอาบัติเอาก็ได้ หรืออยู่ปริวาสกรรมก็ได้” อะไรทำนองนี้ มันกระซิบขึ้นมา ผลสุดท้ายก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมัน เจ้าอหิริกะและเจ้าอโนตตัปปะนี้ เมื่อเกิดขึ้นอย่างแรงกล้าแล้วมันจะพาทำบาปได้ทุกอย่าง ตั้งแต่อย่างเบาถึงอย่างหนัก สามารถที่จะต้องอาบัติได้ตั้งแต่เบาจนถึงที่สุด

       ๗. ทิฏฐิ ก็จะทำให้เราเข้าใจผิด คิดผิด เห็นผิดจากกฏของธรรมชาติ เห็นผิดต่อการปฏิบัติ เห็นผิดต่อผลของการปฏิบัติ เป็นคนเห็นผิด ขาดเหตุผล ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้คิดผิดอะไรร้อยแปดพันประการ เห็นว่าบาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี มรรคผลพระนิพพานไม่มี อะไรทำนองนี้

       เหมือนกันกับข้าราชการคนหนึ่งที่ลามาบวช เป็นตำรวจลามาบวช เดินจงกรม นั่งสมาธิ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนโน้นละ เดินจงกรมระยะ ๖ ตอนนั้นครูบาอาจารย์ก็อยู่ใกล้ชิด ก็ขอร้องว่า  เดี๋ยวนี้มันก็ใกล้จะหมดเวลาปฏิบัติแล้ว อีกไม่กี่วันเราก็จะเลิกแล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายที่ยังไม่ได้ตั้งอกตั้งใจ ได้ตั้งอกตั้งใจได้ประพฤติปฏิบัติ ก็ขอร้องเป็นพิเศษ

       พอดีคนนั้นตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ พอประพฤติปฏิบัติสภาวธรรมตัวนี้เกิดขึ้นมา ทิฏฐิมันหายไปจนถึงกับร้องห่มร้องไห้ว่า ผมนี้เสียเวลามาตั้งนาน เข้าใจผิดมาตั้งแต่นาน คิดว่าผลของการประพฤติปฏิบัตินี้ไม่มี เมื่อก่อนโน้นหลวงพ่อไม่เตือนผมเลย ทั้งๆ ที่เราเตือนทุกวันนั่นแหละ แต่เขาก็ไม่เอาใจใส่ นี่แหละท่านทั้งหลาย ตัวทิฏฐินี้เป็นตัวสำคัญ ที่ขัดขวางการประพฤติปฏิบัติของเราไม่ให้ได้ผล เป็นตัวที่ทำให้กำลังใจของเราตก ทำให้การปฏิบัตินี้ถอยหลัง

       ๘. มานะ ตัวมานะนี้เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้เราสำคัญตัวว่าอยู่ในฐานะนั้น อยู่ในฐานะนี้ ทำให้สำคัญว่าเลิศกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง เลวกว่าเขาบ้าง ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเลิศกว่าเขา ก็ทำให้ลำพองตัว ตีค่าตัวว่าเราก็หนึ่งละ คนอื่นสู้เราไม่ได้ ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเสมอเขา ก็ทำให้ไม่สบายใจเพราะมีคู่แข่ง ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเลวกว่าเขาด้อยกว่าเขา ก็จะทำให้เกิดโทมนัส เกิดความทุกข์ใจ น้อยใจ แห้งผากใจ คับแค้นใจ ผลก็คือทำให้การปฏิบัติของเราไม่ได้ผล

       ๙. อุทธัจจะ ตัวอุทธัจจะนี้เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้จิตใจของเราฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ทั้งอดีต อนาคต เมื่อก่อนยังไม่ได้บวช ยังไม่ได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เจ้ากิเลสตัวนี้ก็จะทำทีประจบประแจง อยากให้มาบวชอยากให้มาปฏิบัติ แต่พอเข้ามาปฏิบัติจริงๆ เราจะพ้นจากอำนาจของมัน มันก็จะดั้นด้นเอาเรื่องนั้นมาให้คิด เอาเรื่องนี้มาให้คิด บางทีเรื่องนี้คิดยังไม่จบ มันก็เอาเรื่องใหม่มาให้เราคิดต่ออีกแล้ว

       บางทีหนักๆ เข้ามันก็ทำเหมือนเรามีหัวใจหรือว่ามีจิตใจเป็นสองดวง ดวงหนึ่งบริกรรมว่า “พุทโธๆ” หรือว่าบริกรรมว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ”  เป็นต้น อีกดวงหนึ่งทำให้เราคิดเรื่องนั้นบ้าง ทำให้เราคิดเรื่องนี้บ้าง อะไรจิปาถะ หรืออีกดวงหนึ่งถามปัญหา อีกดวงหนึ่งวิสัชนาปัญหา อะไรร้อยแปดพันประการ หนักๆเข้าเราจะกำหนดจิตว่า “คิดหนอๆ” มันก็กระซิบว่า “ไม่ต้องกำหนดๆ ปล่อยให้มันคิดไปลองดู มันจะคิดไปถึงไหน” ผลสุดท้ายชะล่าใจก็เลยปล่อยให้จิตใจนี้ฟุ้งซ่านไปตามอำนาจของมัน เจ้าตัวอุทธัจจะนี้ร้ายกาจมาก มันทำให้เราไม่ได้สมาธิ ไม่ได้สมาบัติหรือวิปัสสนาญาณ คือวิปัสสนาญาณไม่เกิด ก็เพราะไม่มีสมาธิเป็นเครื่องรองรับ มัวแต่คิดไปตามอำนาจของตัวอุทธัจจะ

       ตัวอุทธัจจะนี้นอกจากจะทำให้เสียผลดังกล่าวมา ยังทำให้เกิดโรคความดันสูง เกิดโรคประสาท เกิดโรคกระเพาะอาหาร เกิดโรคหัวใจอ่อน เกิดโรคลมบ้าหมูเป็นต้น ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ นอกจากนี้ก็ทำให้เกิดวิปลาส ทำให้เกิดประสาทหลอน บางทีก็ทำให้เห็นนิพพานอยู่ใกล้ๆ จะไปนิพพานเดี๋ยวนี้ให้ได้ เลยเอามีดเชือดคอตัวเองตาย กินยาตาย แล้วจะไปนิพพานให้ได้เดี๋ยวนี้ ผลก็คือเป็นบาปตกอเวจีมหานรก

       สรุปความว่า ที่ทำกัมมัฏฐานไม่สำเร็จ ก็เพราะเจ้าตัวนี้เป็นตัวสำคัญเบอร์ ๑ เหตุนั้นก็ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายพึงสังวรพึงระวัง แล้วก็ลองพิจารณาดูว่าเหมือนกับหลวงพ่อกล่าวมาหรือไม่ เพราะตัวนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วมันจะทำให้คิดอะไรร้อยแปดพันประการ เดินจงกรมอยู่ก็คิด นั่งอยู่ก็คิด คิดไปเรื่องโน้นคิดไปเรื่องนี้ เมื่อเรามัวแต่คิดๆ แล้ว จิตก็พรากจากสมาธิ ไม่มีสมาธิ เมื่อไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐานวิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด เมื่อวิปัสสนาญาณไม่เกิด การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นตัวนี้จึงถือว่าเป็นตัวที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราไม่ได้ผล ทำให้จิตใจของเราตกไปในฝ่ายต่ำ

       ๑๐. วิจิกิจฉา ตัววิจิกิจฉานี้เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้เราเกิดความสงสัยในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน เช่น สงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ถ้ามี ใครไปรู้มา มรรคผลนิพพานมีจริงหรือ ถ้ามี มีใครบ้างได้บรรลุ บรรลุแล้วเป็นอย่างไร นรก เปรต อสุรกาย ภูตผีปิศาจ เทวดา มาร พรหม มีจริงหรือ ถ้ามี มีใครไปเห็นมา โลกหน้ามีจริงหรือ ถ้ามี ผู้ไปแล้วไม่เห็นใครมาบอก คนตายแล้วเกิดจริงหรือ ถ้าเกิด ไม่เห็นมีใครจำชาติได้ ระลึกชาติก่อนได้ อะไรทำนองนี้ เจ้าตัววิจิกิจฉานี้มันทำให้เกิดความสงสัยทุกสิ่งทุกประการ

       สรุปความว่า ที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไม่ได้ดี ไม่ถึงดี หรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็เพราะเจ้ากิเลสหรือเพื่อนชั่วทั้ง ๑๐ ประการนี้ ชักจูงจิตใจเราให้ตกไปฝ่ายต่ำอยู่เสมอ ทำให้ขาดความตั้งใจ ที่ตั้งใจไว้เดิม ทำให้ขาดทมะ ความข่มใจ ขาดขันติความอดทน ขาดฉันทะความพอใจ ขาดวิริยะความเพียร ขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ ขาดสมาธิ ขาดปัญญาเป็นต้น เลยเสียทั้งทุนสูญทั้งกำไร กว่าจะรู้ตัวได้เราก็ถูกมันทำลายเสียอย่างยับเยินแล้ว

       เหตุนั้นก็ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ ได้สำเหนียกได้พิจารณา ได้ตั้งใจใหม่ว่า ขณะนี้เวลาก็ยังมีอยู่มาก หลวงพ่อคิดว่ายังไม่สายจนเกินแก้ หากว่าเรารู้ตัวว่าเราตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ หรือว่าถูกกิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ชักพาหรือนำพาจิตใจของเราให้ตกไปในฝ่ายต่ำ หากว่าเรารู้อย่างนี้เราได้สติอย่างนี้ หลวงพ่อก็คิดว่ายังไม่สายจนเกินแก้ เพราะยังอีกหลายวัน จึงจะถึงวันมหาปวารณา หากเราขะมักเขม้น ตั้งใจทำ คงมีทางผ่านการปฏิบัติไปได้ไม่มากก็น้อย

       หลวงพ่อคิดว่าเราควรจะคิดสู้มันบ้าง เพราะขณะนี้กองสนับสนุน กองเสบียงของเราก็ถวายอุปการะอยู่อย่างเต็มที่ ด้วยอำนาจเมตตาธรรมของบรรดาครูบาอาจารย์นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สายธารศรัทธาก็ยังหลั่งไหลมาจากสารทิศอยู่มิได้ขาด เราควรจะได้ปลื้มใจดีใจในสายธารศรัทธา และปลงธรรมสังเวชว่า ถึงอย่างไรๆ เราก็จะทำให้ภัตตาหารที่มีผู้ศรัทธาถวายมานี้เป็นภัตตาหารที่ถวายแก่พระอริยบุคคลให้จงได้ ขอให้เราคิดดังนี้ จิตใจของเราจะได้เกิดอุตสาหะพยายามในการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป

       ดังมีพระรูปหนึ่งซึ่งมาปฏิบัติภาคฤดูหนาว เวลาประพฤติปฏิบัติไป ญาติโยมทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น เจริญพระสังฆคุณว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เป็นผู้ปฏิบัติสมควร แล้วก็พรรณนาไปถึงคุณของพระสงฆ์ว่า เมื่อพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก็เป็นผู้ที่บุคคลอื่นควรเคารพนับถือ กราบไหว้ สักการะ ถวายเครื่องสักการะสัมมานะ ควรรับทักษิณาทานของผู้อื่น

       พระภิกษุรูปนั้นก็พิจารณาว่า เอ๊ะ เรานี้บวชมาในพระพุทธศาสนา มาประพฤติปฏิบัติธรรมะครั้งนี้ เราก็ยังไม่อยู่ในขั้นที่เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีถึงที่ หรือปฏิบัติตรงหรือปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์เต็มที่ หรือว่ายังไม่เป็นผู้ปฏิบัติที่สมควรที่จะเคารพยกย่องสรรเสริญ การปฏิบัติของเรายังไม่ได้บรรลุสามัญผลขั้นใดเลย ถ้าคิดให้ซึ้งๆไป เรานี้ไม่สมควรที่จะรับสักการะของเขา ไม่สมควรที่จะฉันภัตตาหารของเขา ค่อนขอดตัวเองในขณะนั้น นึกว่าเรานี้ยังไม่ได้บรรลุคุณสมบัติอะไรเลย

       เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้วก็ปลีกออกจากหมู่ ปลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว พยายามตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ช้าไม่นานก็สามารถยังความประสงค์ของตนให้สำเร็จได้ เลยเข้ามากราบหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ บัดนี้ผมดีใจผมภูมิใจในการประพฤติปฏิบัติแล้ว” แกก็เล่าสภาวะทั้งหมดที่ประพฤติปฏิบัติมาให้ฟัง

       นี่แหละท่านทั้งหลาย ความเพียรนี้แม้เทวดาก็ไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ ดังในเรื่องที่กล่าวไว้ในธัมมปทัฏฐกถา ที่พระราชาส่งราชบุรุษไปถามพระฤาษีว่า การรบกันครั้งนี้ ใครจะแพ้ ใครจะชนะ พระฤาษีก็พยากรณ์ว่าทางฝ่ายโน้นจะชนะฝ่ายนี้จะแพ้ เพราะเหตุไรพระฤาษีจึงพยากรณ์เช่นนั้น ก็เพราะว่ามีเทวดามาบอก เทวดามาบอกว่าฝ่ายนี้จะแพ้ ฝ่ายนี้จะชนะ

       ราชบุรุษทราบแล้วก็ไปกราบทูลพระราชา เมื่อพระราชาทรงทราบแล้วก็ฮึดใจสู้ว่ามันจะแพ้ก็ให้รู้แล้วรู้รอดไป ปลุกระดมบรรดากองทัพทั้งหลายทั้งปวงให้สามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตายก็ขอให้ตายอย่างสมเกียรติผู้ชาย เราไม่ทิ้งบ้านทิ้งเมืองเป็นอันขาด รักบ้านรักเมืองรักประเทศนี้ยิ่งกว่าชีวิต ผลสุดท้ายพระราชาพร้อมด้วยราชบริวารทั้งหลายก็ฮึดสู้ เมื่อฮึดสู้ ผลสุดท้ายก็สามารถเอาชนะข้าศึกได้ ทั้งๆที่เทวดาพยากรณ์ว่า พระราชาพร้อมทั้งราชบริวารทั้งหลายจะแพ้ข้าศึก ฝ่ายข้าศึกจะเป็นผู้ชนะ แต่ผลสุดท้าย เพราะความพยายามอุตสาหะวิริยภาพอันแรงกล้า ก็สามารถเอาชนะข้าศึกได้

       อันนี้ก็เป็นเครื่องสรุปให้เห็นว่า ความเพียรนี้ แม้เทวดาก็ไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ สมมุติว่าเทวดาจะมาพยากรณ์ว่าเราจะทุกข์อย่างนั้น เราจะจนอย่างนี้ เราจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่เรามีความอุตสาหะ มุมานะ สร้างสมอบรมคุณงามความดี บำเพ็ญความเพียรเรื่อยไป ก็สามารถที่จะตั้งตัวได้ สามารถจะเป็นตัวของตัวได้ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้น้อยใจ อย่าได้ท้อถอย ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอยู่ในอิทธิบาทธรรมทั้ง ๑๐ ประการ

       ดังที่หลวงพ่อได้เคยบรรยายสู่ฟังว่า การประพฤติปฏิบัตินี้เราต้องมีฉันทะ คือพอใจในการปฏิบัติ ต้องมีวิริยะ แข็งใจในการประพฤติปฏิบัติ มีจิตตะ ตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติ แล้วก็มีวิมังสา ฉลาดในการประพฤติปฏิบัติ เมื่อใดเราตั้งอยู่คุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราก็สามารถที่จะบรรลุสามัญผล สมกับที่เราตั้งใจไว้แต่เดิม

       เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อบรรยายธรรมะมาวันนี้โดยสังเขปกถาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา
      
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 83.0.4103.106 Chrome 83.0.4103.106


ดูรายละเอียด
« ตอบ #125 เมื่อ: 24 มิถุนายน 2563 16:22:34 »




สิ่งที่เป็นอันตรายต่อการเจริญวิปัสสนา (ตอนที่ ๑)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

      วันนี้จะได้นำมหาภัย ๒๓ ประการซึ่งจะเกิดขึ้นขัดขวางหรือกั้นกางการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานของท่านทั้งหลาย มาบรรยายโดยสังเขปกถา

       ดำเนินความว่า อันตรายทั้ง ๒๓ ประการนั้นคือ

       ๑. วิจิกิจฉา ความสงสัย แต่ความสงสัยนี้ ถ้าพูดในแง่ปริยัติก็หมายความว่าสงสัยเรื่องพระพุทธเจ้า สงสัยในเรื่องพระธรรม สงสัยในเรื่องพระสงฆ์ สงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป สงสัยในเรื่องนรก เปรต อสุรกาย สงสัยในเรื่องสวรรค์ พรหมโลก มรรคผลนิพพาน ว่ามีจริงไหม เหล่านี้เป็นต้น นี้เป็นในแง่ปริยัติ

       แต่สำหรับการปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความอย่างนั้น เพียงแต่อะไรเกิดขึ้นมาในขณะปฏิบัติ เช่น มีนิมิตเกิดขึ้น เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ หรือเห็นอะไรต่างๆ เราก็เกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า “เอ๊ะ ! นี้มันอะไรหนอ” เพียงแต่เอ๊ะ เท่านั้นแหละ ยังไม่ได้คิดว่าอันนี้มันอะไรกันหนอ ยังไม่ได้ว่าเลย  ก็เป็นวิจิกิจฉาแล้ว

       คือหมายความว่า ในขณะที่เรามีความเอะใจสงสัยว่า “เอ๊ะ ! อันนี้มันอะไรกันหนอ” เพียงเท่านี้แหละท่านทั้งหลาย สมาธิก็จะตกทันที เหมือนกันกับเราขึ้นไปบนต้นไม้ เรากำลังจะยื่นแขนของเราไปจับกิ่งไม้ เพียงเรายื่นแขนไปเท่านั้นแหละ ปรากฏว่ามีสัตว์ร้ายมีอะไรอยู่ก็เกิดความเอะใจ และเกิดความกลัวขึ้นมา แล้วก็วางมือทันที และในขณะที่เราวางมือเท่านั้นแหละ เราก็ต้องร่วงลงจากต้นไม้ลงมาสู่พื้นดิน ข้อนี้ฉันใด ในขณะที่เราเกิดความเอะใจสงสัยในเวลาประพฤติปฏิบัติ อะไรเกิดขึ้นมาแล้วก็ลืมกำหนด เราไม่ได้กำหนด เกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า “เอ๊ะ ! นี้มันอะไรกันหนอ” เพียงเท่านี้แหละ ก็เป็นวิจิกิจฉา เมื่อเกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาแล้วสมาธิก็ตก เมื่อสมาธิตกปัญญาก็ไม่เกิด การปฏิบัติวิปัสสนาก็ไม่ได้ผล นี้เป็นประการที่ ๑

       ๒. อมนสิการ เมื่อปฏิบัติไป ทำใจไม่ดี ประคองใจไว้ไม่ตรง จิตฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็คิดเรื่องโน้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ ไม่ได้ประคับประคองจิต ไม่ได้ข่มจิต ไม่ได้เชิดชูจิต ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ขาดโยนิโสมนสิการ เวลากำหนดอาการพองอาการยุบนี้ก็ไม่ได้เอาจิต ไม่เอาสติหยั่งลงไปจนถึงที่เกิดที่ดับของอาการพองอาการยุบ เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน ไม่ได้เอาสติ ไม่ได้เอาจิตปักลงไปในขณะเดินตั้งแต่เริ่มยก กลางยก สุดยก เราก็ไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่ได้ตริตรอง ไม่ได้เอาสติกับจิตหยั่งลงไปถึงที่เกิดที่ดับของรูปของนาม เราเดินไปตามธรรมชาติ เราฉันไปตามธรรมชาติ บริโภคไปตามธรรมชาติ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเราไม่ได้ประคองใจเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นเราจึงจำเป็นอย่างยิ่ง แม้จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม เราก็ต้องตั้งสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา

       ๓. ฉัมภิตัตตะ จิตเกิดความสะดุ้ง คือหมายความว่า ในขณะที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น บางครั้งจิตของเรากำลังจะสงบเป็นสมาธิ ก็ปรากฏมีนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น เห็นสัตว์ร้ายที่น่ากลัว เช่น ปรากฏเห็นพวกตะขาบบ้าง พวกงูบ้าง พวกแมงป่องบ้าง เห็นยักษ์ เห็นภูตผีปิศาจบ้าง เหล่านี้เป็นต้น จิตก็เกิดความสะดุ้งขึ้นมา เกิดความกลัวขึ้นมา บางทีก็กลัวจะเป็นอันตรายแก่การประพฤติปฏิบัติ บางครั้งก็กลัว่าถ้าประพฤติปฏิบัติต่อไปเกรงว่าจะเป็นบ้า เกรงจะเสียสติอะไรทำนองนี้ เมื่อจิตเกิดความสะดุ้ง เกิดความกลัว เกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิตของตนอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนี้แล้ว การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล เพราะผู้ปฏิบัติไม่กล้าตัดสินใจ

       หมายความว่าเมื่อก่อนที่เรายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามธรรมชาติ พวกนิมิตอะไรก็ไม่เกิดขึ้น ในขณะที่เรามาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ บางทีนั่งไปเห็นนิมิตอะไรต่างๆ นานาประการ บางครั้งก็เห็นแสงสว่าง บางครั้งก็เห็นดวงแก้ว บางครั้งเห็นพระพุทธรูป บางครั้งเห็นเจดีย์ บางครั้งเห็นพวกเปรต พวกอสุรกาย บางครั้งเห็นพ่อเห็นแม่ที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้วยังปรโลกเบื้องหน้า บางครั้งก็เห็นบรรดาญาติหรือคนที่เคยรู้จักกันซึ่งตายไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดความตื่นเต้นขึ้นมาว่า เออ เราเห็นอย่างนั้น เราเห็นอย่างนี้ เมื่อเกิดความตื่นเต้นขึ้นมา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราพรากจากสมาธิ เมื่อจิตพรากจากสมาธิแล้วปัญญาก็ไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

       ๔. บางครั้งเกิดความง่วงเหงาหาวนอน คือเกิดถีนมิทธะเข้าครอบงำจิต เมื่อถีนมิทธะครอบงำจิต การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้ดี การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่กระฉับกระเฉง กำหนดไม่ได้ดีเท่าที่ควร จิตจับอารมณ์ไม่มั่น สติไม่สามารถที่จะตัดสินอารมณ์ได้ เช่น เวลานั่งไป มันผงกไปข้างหน้าข้างหลัง และข้างซ้ายข้างขวา หรือบางทีนั่งไป บังเอิญเข้าสมาธิไปหรือหลับไปอะไรทำนองนี้ เราก็ไม่สามารถจะตัดสินใจหรือไม่สามารถที่จะจำได้ว่า มันสัปหงกหรือผงะไปตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ หรือตอนนั่งตอนถูก หรือว่ามันนั่งหลับไปตอนท้องพอง ท้องยุบ หรือว่าตอนเรากำหนดอาการนั่งอาการถูก หรือว่ามันหลับไปในขณะที่เราบริกรรมว่าอย่างไร หรือว่าเวลาเข้าสมาธิมันเข้าสมาธิไปตอนท้องพองท้องยุบ หรือเข้าสมาธิไปตอนเรากำหนดอารมณ์พระกัมมัฏฐานอย่างไร ไม่สามารถที่จะตัดสินใจได้ ไม่สามารถที่จะจำได้ ไม่สามารถที่จะจับปัจจุบันธรรมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล

       ๕. ทุฏฐุลละ ความที่จิตหยาบ คือหมายความว่า การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ที่จริงยิ่งประพฤติปฏิบัติเท่าไร จิตก็ยิ่งจะประณีตขึ้นไปตามลำดับๆ เพราะกิเลสตัณหามันลดลงไป แต่ตรงกันข้าม บางท่านเวลาประพฤติปฏิบัติแทนที่กิเลสหยาบทั้งหลายทั้งปวง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะหมดไป หรือจะเบาบางลงไป หรือสงบระงับลงไปจากขันธสันดาน แต่ยิ่งปฏิบัติไปจิตก็ยิ่งเกิดหยาบขึ้นมา พวกความโลภก็ยิ่งเกิดขึ้นหลายเท่าตัว พวกโทสะก็เพิ่มทวีขึ้น พวกโมหะก็เพิ่มขึ้น พวกราคะแทนที่จะเบาบางลง ยิ่งกลับเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนนั้นไม่เคยเป็นอย่างนี้ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้พวกราคะยิ่งเกิดขึ้นรุนแรง เหมือนกับว่าเกิดขึ้นเป็น ๓๐,  ๔๐  หรือ ๕๐  เท่าตัว อะไรทำนองนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เพราะเหตุไร ? เพราะว่าจิตของเรามันหยาบ เพราะอำนาจของ โลภะ โทสะ โมหะ ราคะเป็นต้น เข้าครอบงำจิตผลสุดท้ายการประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล

       ๖. อัจจารัทธวิริยะ กระทำความเพียรเกินพอดี ความเพียรนี้เป็นของที่ดี แต่ถ้าหากว่ามันเกินพอดีก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ความเพียรนี้ถ้าเกินพอดีแล้วทำให้เกิดความตึงเครียด ทำให้เป็นบ้า เสียสติไปได้ เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าความเพียรของเรามันเกินพอดี เราสังเกตเอาง่ายๆ เวลาเราเดินจงกรมอยู่ก็ดี เวลาเรานั่งสมาธิอยู่ก็ดีจะคิดมาก ๕ นาทีคิดไปร้อยแปดพันประการ บางที ๑๐ นาทีนี้คิดแต่งหนังสือ คิดสร้างหนังสือจบเป็นหลายๆ สิบเล่ม หรือบางทีนั่งอยู่ ๕ นาทีนี้คิดสร้างถาวรวัตถุ คิดสร้างกุฏิวิหารเสร็จไปเป็นหลายๆ หลัง บางทีนั่งอยู่ไม่ถึง ๕ นาทีสามารถที่จะเนรมิตกุฏิวิหาร ปราสาท วิมานตลอดถึงวัดวาอารามอะไรร้อยแปดพันประการ เกิดสร้างวิมานในอากาศ อันนี้เรียกว่าสร้างสมบัติบ้าขึ้นมาแล้ว

       ถ้าว่าจิตของเราอยู่ในลักษณะดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายเข้าใจเถิดว่า ความเพียรของเรามันเกินพอดีเสียแล้ว มันเกิดความตึงเครียดขึ้นมาแล้วทำให้คิดมากเสียแล้ว เหตุนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านทั้งหลายต้องเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะควบคู่กันไป เพราะว่าถ้าความเพียรมากเกินไปแต่สติสัมปชัญญะหย่อน อาจจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ จะทำให้เป็นบ้าเสียสติไปได้ เหตุนั้น เมื่อความเพียรเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายต้องเป็นผู้ฉลาด พยายามมีสติสัมปชัญญะจับปัจจุบันธรรมให้ได้ จำอารมณ์ให้ได้

       ๘. อติลีนวิริยะ มีความเพียรหย่อนเทิบทาบ นอกจากจะมีความเพียรเกินพอดีแล้ว หากว่าความเพียรของเรามันหย่อนเทิบทาบจนเกินไป การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน เช่นว่า วันหนึ่งนี้อย่างน้อยควรที่จะประพฤติปฏิบัติได้ ๘ ชั่วโมง หรือ ๑๒ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่การปฏิบัติของเรามันย่อหย่อนกว่านั้น หรือบางทีเราออกจากเดินจงกรมนั่งสมาธิ เราจะเดินไปสรงน้ำ เดินไปห้องสุขา เดินไปฉันภัตตาหาร หรือว่าเราจะกวาดเอาวิหารลานพระเจดีย์ ปัดกวาดกุฏิที่อยู่เป็นต้น เราก็ไม่กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางทีก็คลุกคลีด้วยหมู่คณะ คุยกัน ลืมกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

       ๙. อภิชัปปา ความกระซิบที่จิต คือหมายความว่า กิเลสกระซิบที่จิต ข้อนี้สำคัญ เวลามาประพฤติปฏิบัติ ส่วนมากหากว่าเรากำหนดไม่ทันจะทำให้เสียผู้เสียคนไปได้ คือหมายความว่า อภิชัปปานี้พวกกิเลสกระซิบที่จิต บางทีเรานั่งพระกัมมัฏฐานไป มีเสียงมากระซิบว่า “อย่านั่งๆ เรานอนเอาดีกว่า” “การกำหนดอย่างนี้ไม่ถูก กำหนดอย่างนั้นจึงจะถูก” อะไรทำนองนี้ หรือบางทีเวลาเดินจงกรม “อย่าเดินๆ เรานั่งเอาดีกว่า” เวลานั่งก็บอกว่า “อย่านั่งๆ เรานอนเอาดีกว่า” กระซิบอยู่ตลอดเวลา

       บางทีก็กระซิบว่า “เจ้าเป็นพระโพธิสัตว์นะ” “เจ้าเป็นพระอรหันต์ประเภทพระโพธิสัตว์นะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุโสดาปัตติผลญาณไปแล้วนะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุสกิทาคามิผลญาณไปแล้วนะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุอนาคามิผลญาณไปแล้วนะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วนะ” อะไรทำนองนี้

       หรือบางทีมันกระซิบว่า “เอ๊ะ ! เจ้านี้ เมื่อก่อนโน้นทำบาปทำกรรมมาก เอาเป็ดเอาไก่มาฆ่า หากว่าอยากได้ผลจากการประพฤติปฏิบัตินี้ ต้องไปเอาเป็ดเอาไก่มาฟังเทศน์ฟังธรรม” ก็ไปหาซื้อเอาเป็ดเอาไก่ หรือไปหาขอเป็ดขอไก่ชาวบ้านเขามาฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย

       บางทีก็กระซิบว่า “เมื่อก่อนโน้นเจ้าทำบาปฆ่าหมูไว้มาก หากว่าต้องการจะประพฤติปฏิบัติให้ได้ผล ต้องไปเอาหมูมาฟังเทศน์ฟังธรรม” เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็จูงหมูขึ้นมาฟังเทศน์ฟังธรรม เหมือนดั่งแม่ชีคนหนึ่งมาจากอำเภอตระการฯ บางวันก็เอาหมูขึ้นมาฟังธรรม บางครั้งก็เอาเป็ดเอาไก่มาฟังธรรม บางครั้งก็เอานกมาฟังธรรม

       นี้เขาเรียกว่าอภิชัปปา กิเลสกระซิบที่จิต มันจะกระซิบไปร้อยแปดพันประการ หากว่าเรากระทำไปตามอำนาจของอภิชัปปานี้ ก็จะทำให้เสียผู้เสียคนได้ บางทีเรานั่งสมาธิ เรานั่งขัดสมาธิดีๆ ไม่ยอม “โอ้ นั่งอย่างนี้ไม่ดี เราหาหมอนมาพิงดีกว่า” มันกระซิบขึ้นมานะ กระซิบขึ้นมาเอง

       เหมือนกันกับปู่เดชาที่สึกแล้วกลับบ้านไปวันนี้นี่ เวลาปฏิบัติ อภิชัปปากระซิบที่จิตมากที่สุด เดี๋ยวก็ให้ทำอย่างโน้น เดี๋ยวก็ให้ทำอย่างนี้ ท่านหลวงปู่เดี๋ยวก็ทำไปอย่างโน้นบ้าง ทำไปอย่างนี้บ้าง ผลสุดท้ายไปเล่าให้ฟัง เออ ไม่ได้แล้ว นี้ตกอยู่ในอำนาจของอภิชัปปา ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำให้เสียผู้เสียคนได้ อย่าทำอะไรไปตามที่จิตสั่ง อย่าทำอะไรไปตามอำนาจของอภิชัปปามันกระซิบที่จิต ผลสุดท้ายหากว่าเรากำหนดไม่ทันมันจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ ทำให้ทำอัตวินิบาตกรรมได้

       อันนี้แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัตินี้ พวกอภิชัปปานี้ท่านทั้งหลายพึงสังวรให้มาก บางทีมันจะกระซิบว่า “เราหยุดการปฏิบัติเสียก่อนเถอะ ปฏิบัติในชาตินี้เพียงแค่นี้ละ เพียงขั้นสังขารุเปกขาญาณเท่านี้แหละ ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลหรอก เพราะว่าเราได้ปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนแล้ว เราได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องออกไปบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อนจึงจะได้ตรัสรู้ ชาตินี้ก็หยุดเพียงแค่นี้แหละ การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานด้านวิปัสสนานี้เต็มเปี่ยมแล้ว เราทำบุญทำทานอย่างอื่น บำเพ็ญบารมีอย่างอื่น” อย่างนี้ก็มี

       บางทีประพฤติปฏิบัติไปก็กระซิบว่า “เอ๊ะ ! คุณ คุณไม่สามารถที่จะทำไปได้ดอก เพราะว่ายังขาดผู้ที่บำเพ็ญบารมีร่วมกัน ภรรยาของคุณ โน้น อยู่บ้านโน้น อยู่ตำบลโน้น อยู่อำเภอโน้น จังหวัดโน้น ที่เมื่อชาติก่อนโน้นได้เคยบำเพ็ญบารมีร่วมกัน ถ้าคุณอยากประพฤติปฏิบัติให้ได้ผล คุณก็ต้องกลับไปโปรดเขาเสียก่อน” เอาแล้ว สะพายบาตรแบกกลดเพื่อจะไปโปรดญาติโปรดโยมแล้ว

       บางทีก็กระซิบขึ้นมาว่า “ไม่ได้ดอก ต้องไปโปรดพ่อโปรดแม่เสียก่อน พ่อแม่นี้ได้บำเพ็ญบารมีร่วมกันมา ปรารถนาร่วมกันมา ต้องกลับไปโปรดโยมพ่อโยมแม่เสียก่อนจึงจะได้ผล” เราก็ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง ต้องเป็นภาระ ต้องออกจากห้องปฏิบัติ ต้องไปขอร้องโยมพ่อโยมแม่ให้มาประพฤติปฏิบัติ

       อันนี้แหละท่านทั้งหลาย ขอสรุปสั้นๆว่า พวกอภิชัปปานี้มันจะกระซิบที่จิตของเราให้ทำอย่างโน้น ให้ทำอย่างนี้อะไรร้อยแปดพันประการ ถ้าเราทำตามอำนาจของมัน บางทีก็ทำให้เสียผู้เสียคนไปได้ เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี

       ๑๐. นานัตตสัญญา เมื่อปฏิบัติไป จิตมุ่งไม่แน่ คือมุ่งอารมณ์โน้นบ้าง มุ่งอารมณ์นี้บ้าง หลายอย่างสับสนกัน คือหมายความว่า จิตจับอารมณ์ไม่มั่น เช่นเรากำหนดว่า “พุทโธๆๆ” อย่างนี้ “เอ๊ะ ! มันใช้ไม่ได้หรอก สู้พองหนอยุบหนอของเราไม่ได้” กำหนด “พองหนอยุบหนอ” ไป “เอ๊ะ ! พองหนอยุบหนอนี้ก็ใช้ไม่ได้ สู้กำหนดรู้หนอๆ ไม่ได้” ก็กลับมากำหนด “รู้หนอๆ” ไป “เอ๊ะ ! รู้หนอๆ ก็ไม่ได้ สู้สัมมาอะระหังไม่ได้” มาภาวนาใหม่ “สัมมาอะระหังๆ” “เอ๊ะ ! สัมมาอะระหังก็ไม่ได้ สู้นะมะพะธะไม่ได้” อะไรทำนองนี้ เดี๋ยวก็ภาวนาบทโน้น เดี๋ยวก็ภาวนาบทนี้

       บางทีก็ “เอ๊ะ ! การภาวนาการบริกรรมนี้ใช้ไม่ได้ มันเป็นปริยัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ สู้มองดูความเคลื่อนไหวของรูปของนามของเวทนาไม่ได้ เพราะการตั้งสติจับอยู่หรือดูอยู่ พิจารณาอยู่ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้มันเป็นปรมัตถ์แท้ เป็นทางที่จะให้พ้นทุกข์” ผลสุดท้ายก็ไม่ได้บริกรรม ไม่ได้กำหนดอะไร นั่งเฉยๆ อยู่ตลอดทั้งวันตลอดทั้งคืน นั่งเฉยๆอยู่ อันนี้เมื่อจิตมุ่งอารมณ์โน้นอารมณ์นี้ มีอารมณ์หลายอย่างสับสนกัน จะบริกรรมบทไหนก็ไม่เอา เดี๋ยวก็ว่าบทโน้นเดี๋ยวก็ว่าบทนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายก็ไม่ได้ผล

       ๑๑. อตินิชฌายิตัตตะ เพ่งเกินไป เร่งเกินไป คือเพ่งเกินควร คือหมายความว่า เวลานั่งพระกัมมัฏฐาน ก็ตั้งในจิตในใจว่า “เอ้อ เรานั่งกัมมัฏฐานครั้งนี้ เราจะทำให้วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้น นั่งครั้งนี้เราจะทำให้สมาธิสมาบัติเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดเราจะทำให้สำเร็จปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน” อะไรทำนองนี้ เมื่อเราเพ่งเกินไป หรือเร่งเกินไป หรือว่าเพ่งเกินควรเช่นนี้ ก็ทำให้จิตใจของเรากระสับกระส่ายฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้การประพฤติปฏิบัติไม่ได้ผล

       เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อคิดว่าจะบรรยายธรรมะให้ครบทั้ง ๒๓ ประการ แต่บรรยายมานี้ก็เห็นว่าเป็นเวลายาวนานพอสมควร ประกอบกับสังขารวันนี้ไม่เอื้ออำนวย ถ้าจะบรรยายไปอีกก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยก็ต้อง ๔๐ นาทีจึงจะจบ ก็จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 84.0.4147.89 Chrome 84.0.4147.89


ดูรายละเอียด
« ตอบ #126 เมื่อ: 30 กรกฎาคม 2563 09:18:13 »




สิ่งที่เป็นอันตรายต่อการเจริญวิปัสสนา (ตอนที่ ๒)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องอันตรายซึ่งเกิดขึ้นมาขัดขวางหรือกั้นกางการปฏิบัติพระวิปัสสนาไม่ให้ได้ผล สืบต่อจากเมื่อวานนี้
       อันตรายของวิปัสสนานั้นคือ
       ๑. กัมมารามตา ทำงานไม่มีสติ ไม่ได้หมายถึงการทำงานออกกำลังกายทั่วๆ ไป หมายถึงตั้งแต่เรา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เราจะมองซ้ายแลขวา เดินไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลังก็ดี ตลอดถึง นุ่งสบง ห่มจีวร พาดสังฆาฏิ ดื่ม ฉัน เป็นต้น เราไม่กำหนด เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่าทำงานไม่มีสติ
       เมื่อเราไม่กำหนดอิริยาบถ หรือการทำงานทุกสิ่งทุกประการเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล แม้แต่การปัดกวาด ทำความสะอาดห้องนอนก็ดี หรือว่า กุฏิวิหารอันเป็นที่อยู่ที่อาศัย ตลอดถึงบริเวณวัดก็ดี เราไม่มีสติ เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เช่นนี้การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน การทำความสะอาด จะเป็นความสะอาดภายในหรือภายนอกก็ตาม ถ้าว่าเรารู้จักใช้มาเป็นคติเตือนใจ นอกจากเราจะมีสติทันปัจจุบันแล้ว เราพิจารณาควบคู่กันไปโดยใช้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือวิจัยธรรม สอดส่องธรรมในขณะนั้นก็ได้
       เช่นว่า ร่างกายของเรา หากว่าเราอาบน้ำชำระร่างกายฟอกสบู่แล้ว ก็หมดจากภาวะความสกปรก ข้อนี้ฉันใด หากว่าใจของเราสามารถทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความผ่องใสมากกว่านี้ หรือแม้แต่เราจะทำความสะอาดบริเวณวัดก็ดี กุฏิที่อยู่ก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี เราพิจารณาควบคู่กันไปว่า บริเวณวัดก็ดี กุฏิที่อยู่ที่อาศัยก็ดี แม้แต่เครื่องนุ่งห่มของเรา เมื่อเราซักเราฟอกทำความสะอาดแล้ว แม้เราจะมองดูก็สวยสดงดงามน่าดู แม้จะมานุ่งมาห่มก็ไม่มีกลิ่นอันไม่พึงปรารถนาเป็นต้น หากว่าจิตใจของเราสามารถทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน ให้หมดไปแล้ว ยิ่งจะได้รับความสุขความสบาย หรือความชื่นชมมากกว่านี้ เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยอันหนึ่ง ทำให้เกิดอุตสาหพยายามในการที่จะบำเพ็ญพระกัมมัฏฐาน เหตุนั้นการทำงานนอกจากท่านทั้งหลายจะต้องกำหนดอิริยาบถให้ติดต่อกันไปแล้ว ก็ต้องพิจารณาควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจของเรา หรือกระตุ้นการประพฤติปฏิบัติของเราให้ได้ผลเร็วขึ้น
       ๒. นิททารามตา มัวนอน นักปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ท่านกำหนดไว้วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงนี้ เรานอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว เพราะเหตุไรจึงว่านอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว เพราะว่ามันหลับอยู่ในตัว บางครั้งเรานั่งพระกัมมัฏฐานไป จิตมันตกภวังค์ไปเป็นบางครั้งบางคราว จิตมันตกภวังค์ไปวับเดียวเท่านั้น ความง่วงก็หายไป บางทีเราเดินจงกรมอยู่ จิตของเรามันตกภวังค์วับลงไป ความง่วงก็หายไปแล้ว หรือบางทีเรานอนกำหนดไปๆ จิตตกภวังค์วับลงไป ครั้งหนึ่งหรือสองครั้งสามครั้งเท่านั้นแหละ ความง่วงมันก็หายไป เรานั่งสมาธิอยู่เหมือนกัน เรานั่งไปๆ กำหนดไปๆ จิตตกภวังค์วับลงไป ความง่วงก็หายไป นั่งไปๆ จิตตกภวังค์วับลงไปอีก รู้สึกตัวขึ้น มาความง่วงก็หายไปแล้ว คือมันอิ่มอยู่ในตัว
       ท่านทั้งหลายลองนึกดู สมมติว่าตอนบ่าย ตอนบ่ายนั้นก็เดินจงกรมแล้วมานั่งสมาธิ ในชั่วโมงแรกจะรู้สึกว่านั่งสมาธิดี จิตใจสงบดี พอได้เวลาแล้วก็ลุกขึ้นไปเดินจงกรม ลุกขึ้นไปเดินจงกรมครบกำหนดแล้วเรามานั่งชั่วโมงที่ ๒ นี้ นั่งไม่ค่อยได้ดี จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่ค่อยสงบ ไม่ค่อยขาดความรู้สึก นั่งกำหนดอยู่อย่างนั้นร่ำไป อาการครึ่งหลับครึ่งตื่นก็ไม่มีอะไรทำนองนี้ เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนี้ เพราะว่าจิตของเรามันอิ่มมาตั้งแต่ชั่วโมงแรกแล้ว เมื่อจิตอิ่มแล้วชั่วโมงแรก ชั่วโมงที่สองก็ไม่สามารถที่จะทำให้ขาดความรู้สึกลงไปได้ หรือไม่สามารถที่จะเข้าสมาธิไปได้ เพราะจิตมันอิ่มแล้ว
       เหตุนั้นนักปฏิบัติธรรมนี้ หากว่าธรรมะเกิดจริงๆ บางที ๒๔ ชั่วโมงนี้ เรานอน ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง พอแล้ว สิ่งที่พึงสังวรที่สุดสำหรับท่านนักปฏิบัติธรรมคือ ไม่ควรจำวัดกลางวัน ถ้าว่าเราจำวัดกลางวันแล้ว การปฏิบัติของเราจะไม่ได้ผลเลย เพราะว่าจิตอิ่มอยู่ตลอดเวลา แล้วก็การจำวัดกลางวันนี้มีโทษหลายสิ่งหลายประการ โดยเฉพาะทำให้จิตใจไม่เบิกบาน ไม่แช่มชื่น ทำให้หงุดหงิดโกรธง่ายอะไรทำนองนี้ เหตุนั้น หากว่าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว อย่าไปจำวัดกลางวัน
       ๓. ภัสสารามตา มัวคุย คือหมายความว่า เลิกจากภาคปฏิบัติแล้วก็คุยกัน ถ้าว่าเป็นภาคค่ำก็คุยกันจนถึงเวลาทำวัตร ทำวัตรเสร็จแล้วก็คุยกันอีก กว่าจะเริ่มประพฤติปฏิบัติก็ต้องกินเวลาไปหลายนาทีหรือกินเวลาไปเป็นชั่วโมงๆ เราเลิกจากปฏิบัติก็เดินแวะเข้าไปหากัน เดินเข้าไปคุยกัน การคุยบางทีก็เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติ บางทีก็คุยออกนอกเรื่องของพระ ออกนอกเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ คุยเรื่องชาวบ้านอะไรทำนองนี้ ผลสุดท้าย การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เพราะในขณะนั้นหากว่าเราไม่ได้กำหนด สติของเราก็ขาดไป สมาธิก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล
       ๔. สังคณิการามตา มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ การคลุกคลีกับหมู่คณะนี้ก็ถือว่าเป็นอันตรายที่เกิดแก่การประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติอยู่ในวัดของเราก็เหมือนกัน หลวงพ่อเห็นใจ นึกไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา “ทำไมหนอ เรามาตั้งหลักลง ณ ที่นี้ มาสอนธรรมะภาคปฏิบัติที่นี้ เพราะว่าที่นี้พระเณรก็อยู่กันเป็นจำนวนมาก เสียงก็ไม่ค่อยสงบ เสียงนอกจากไม่สงบภายในวัดแล้ว ภายนอกก็ไม่สงบเหมือนกัน เมื่อก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ก็ค่อยยังชั่ว ขณะนี้มีไฟฟ้าใช้แล้วก็ไม่รู้ว่าเสียงอะไรต่อเสียงอะไร เสียงรถเสียงราเกลื่อนกล่นไปหมด ก็เป็นเหตุให้ไม่สบายใจเหมือนกัน เห็นใจท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย”
       เหตุนั้นแหละท่านทั้งหลาย การคลุกคลีด้วยหมู่คณะนี้ก็ถือว่าเป็นอันตรายสำคัญ ซึ่งจะเกิดขึ้นมาขัดขวางกั้นกางการปฏิบัติของเรา สิ่งที่เราจะเอาชนะได้ก็ขอให้พิจารณาว่า ช่างมันเถอะ ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วก็มีภาระมีหน้าที่ของตน ทุกคนก็ทำภาระของตน พระก็ทำหน้าที่ของพระ เณรก็ทำหน้าที่ของเณร พวกนักศึกษาก็ทำหน้าที่ของนักศึกษา พวกโยมชาวบ้านก็ทำหน้าที่ของโยมชาวบ้าน มีเสียงอะไรเกิดขึ้น เราเอาเสียงนั้นแหละมากำหนด “ได้ยินหนอๆๆ” ร่ำไป จนกว่าจะสามารถทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิได้ ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า เสียงนี้ก็เป็นอารมณ์ของพระกัมมัฏฐานได้เหมือนกัน ผู้กำหนดเสียงอย่างเดียวก็สามารถได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน หรือว่าผู้กำหนดเสียงอย่างเดียวก็สามารถได้สมาธิสมาบัติเหมือนกัน
       เหตุนั้น อย่าถือว่าเสียงนี้เป็นอันตรายแก่การประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติให้ถูกแล้ว การกำหนดเสียงนี้แหละได้สมาธิเร็วที่สุด เท่าที่ได้ทดลองมา การกำหนดเสียงนี้รู้สึกว่าได้ผลเร็วที่สุด โดยเฉพาะเวลาฝึกสมาธิ หากว่ามีเสียงธรรมะบรรยายควบคู่กันไปด้วย หรือว่าใช้เทปเปิดธรรมะเบาๆ ฟังก็นั่งสมาธิไปๆ ผลสุดท้ายก็สามารถเข้าสมาธิได้ เหมือนกันกับแม่หรือพี่เลี้ยง หรือพ่อกล่อมบุตรของตน กล่อมไปกล่อมมาเด็กก็หลับไป ข้อนี้ฉันใด เมื่อเรากำหนดเสียงไปๆ ผลสุดท้ายก็สามารถเข้าสมาธิได้ เหตุนั้น อย่าถือว่าเสียงนี้เป็นอันตราย ถ้าว่าเรารู้จักใช้ให้มันเป็นประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าเราไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีอะไรเกิดขึ้นก็เกิดความรำคาญขึ้นมาในจิตในใจ คิดแต่อยากไปอยู่ตามภูเขาลำเนาไพรอะไรทำนองนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล
       ๕. อคุตตทวารตา ไม่สำรวมทวาร ๖ คือไม่สำรวมตา ไม่สำรวมหู ไม่สำรวมจมูก ไม่สำรวมลิ้น ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมใจ ปล่อยให้โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทานเกิดขึ้นในเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ก็ทำให้เกิดโลภะ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เกิดโมหะเป็นต้น ถ้าว่าเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่ดี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ ไม่พอใจ มีความคับแค้นใจ มีความแห้งผากใจ อะไรทำนองนี้
       เหตุนั้นการสำรวมทวาร คือ สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน โดยเฉพาะผู้ที่เจริญสมถะกัมมัฏฐาน ไม่สามารถที่จะได้สมาธิสมาบัติ ไม่สามารถที่จะเข้าฌานได้ ตัวการสำคัญก็คือขาดการสำรวมระวัง ไม่สำรวมในทวารทั้ง ๖ นี้ ปล่อยให้เกิดความยินดียินร้ายอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่กระทบอารมณ์ คือหมายความว่า ในขณะที่เรากระทบอารมณ์ เวลาได้ยินเสียงอย่างนี้ จิตใจของเรามันออกไปแล้ว เวลาตาเห็นรูป จิตใจของเรามันวิ่งออกไปหารูปแล้ว เวลาได้กลิ่น จิตใจของเรามันวิ่งไปหากลิ่นแล้ว เวลาได้รส จิตใจของเรามันวิ่งไปหารสแล้ว เวลาสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ทางกาย จิตของเรามันวิ่งออกไปแล้ว เวลาใจรู้ธรรมารมณ์หรือธรรมารมณ์เกิดขึ้นในใจจิตของเรา มันวิ่งออกไปแล้ว วิ่งไปหาอารมณ์โน้นบ้าง วิ่งไปหาอารมณ์นี้บ้าง ไม่มีเวลาอยู่ปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิให้เกิดขึ้นได้ เมื่อสมาธิไม่เกิด ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะเจริญขึ้นได้ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องเสื่อมไป เมื่อสมาธิและปัญญาไม่เกิด การปฏิบัติวิปัสสนาก็ไม่ได้ผล
       เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังให้ดี เวลากระทบอารมณ์ พยายามตั้งสติไว้ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ให้กำหนดทันที ในขณะที่เรากำหนดนั้น จิตของเรามันวิ่งออกไปไม่ได้ เมื่อวิ่งออกไปไม่ได้ จิตของเราก็จะสงบเป็นสมาธิ และเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิด เมื่อปัญญาเกิดแล้ว วิปัสสนาญาณก็จะเกิดตามมา เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นถึงที่แล้ว เราก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยะผลสมกับความตั้งใจ
       ๖. อโภชเนมัตตัญญุตา ไม่รู้จักประมาณในอาหาร อาหารนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าว่ายิ่งเป็นอาหารที่แสลงแก่โรคภัยไข้เจ็บแล้ว การประพฤติปฏิบัติก็จะไม่ได้ผลเสียเลย ทีนี้อาหารบางอย่างไม่แสลงแก่โรค แต่ว่าเป็นอาหารที่มีรสจัดเกินไป เช่นว่ารสเปรี้ยวเกินไป เผ็ดเกินไป เค็มเกินไปอะไรทำนองนี้ ก็ทำให้จิตใจไม่สงบ เวลาเราบำเพ็ญความเพียร เจริญพระกัมมัฏฐาน ทีนี้ อาหารบางอย่าง เช่น พวกหอม พวกกระเทียม พวกนม พวกเนย พวกน้ำตาล พวกของหวานประการต่างๆ นี้ก็ทำให้เกิดราคะ เมื่อเกิดราคะ การประพฤติปฏิบัติก็ใฝ่หาแต่อารมณ์ที่เคยผ่านมา หรือใฝ่หาแต่อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ราคะมันเกิดขึ้น
       อาหารบางอย่างบริโภคเข้าไปหรือฉันเข้าไปแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดถีนมิทธะ เกิดโมหะ คือเกิดความง่วงเหงาหาวนอน โดยเฉพาะพวกของหวาน พวกกะทิข้นๆ พวกของหวานปรุงด้วยพวกนมพวกเนยอะไรทำนองนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอน เกิดถีนมิทธะเกิดโมหะได้เหมือนกัน เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรเรื่องอาหารนี้ อะไรบริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายทำให้จิตใจสบาย อาหารประเภทใดบริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายทำให้จิตใจไม่สบาย ก็ขอให้ได้ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา อาหารประเภทใดมันเป็นประโยชน์แก่ร่างกายแก่การปฏิบัติ ก็ขอให้บริโภคสิ่งนั้น หากว่าสิ่งไหนมันไม่เป็นประโยชน์แก่การประพฤติปฏิบัติ ไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ก็ขออย่าบริโภค เพราะเป็นสิ่งสำคัญ
       ที่จริงพวกที่ฉันนมฉันโอวัลตินเวลาวิกาลนี้หลวงพ่อไม่ค่อยส่งเสริม เพราะว่าเป็นบ่อเกิดของราคะ พวกนี้เป็นสิ่งที่ให้เกิดราคะ พวกนม พวกโอวัลติน พวกไมโล พวกไข่ดาว อะไรทำนองนี้ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เสียศีลได้เหมือนกัน เมื่อก่อนโน้น อยู่ที่นี่หลวงพ่อห้ามเด็ดขาด เวลาตั้งแต่เที่ยงไปแล้วห้ามฉันนม ห้ามฉันอาหารพวกโอวัลตินนี้เป็นเด็ดขาด เคยห้ามไว้เมื่อก่อนนี้ เพราะเห็นว่าพระเณรเสียศีลเพราะอาหารประเภทนี้เป็นจำนวนมาก และบางแห่งที่เขาปฏิบัติเคร่งครัด เขาก็ไม่ฉันประเภทนี้ หลวงพ่อห้าม เมื่อก่อน
       ต่อมาไม่รู้ว่าลูกศิษย์ลูกหามาแต่ไหน มาจากทิศใต้ ทิศเหนือ ตะวันตก ตะวันออก หนักๆ เข้ามีพระผู้เฒ่าหลวงปู่หลวงตา ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะว่าแก่แล้ว เราจะไปห้ามเด็ดขาดก็ไม่ได้ ก็เลยอนุญาตให้เฉพาะพระหลวงตา เพราะหลวงปู่หลวงตาร่างกายต้องการสิ่งเหล่านี้ ไม่รู้ว่าจะหาอะไรมาเยียวยาเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เมื่ออนุญาตให้พระหลวงปู่หลวงตา ผลสุดท้ายพระเล็กเณรน้อยก็เอาด้วย ผลสุดท้ายหลวงพ่อก็ ช่างเถอะ ใครอยากตกนรกก็ตกไป หากบริโภคเข้าไปแล้วกำหนดไม่อยู่ บังคับไม่อยู่ ปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจกิเลส ก็ไปนรกกันไป ดี ยมบาลจะได้มีงานทำ เลยมาปลงธรรมสังเวชเอา เลยไม่ว่ากระไร ปล่อยเลยตามเลยจนถึงทุกวันนี้
       เหตุนั้นท่านทั้งหลาย ขอให้เป็นเรื่องส่วนตัวของใครของมันก็แล้วกัน เห็นว่า “เอ๊ะ ! บริโภคเข้าไปแล้วมันเป็นการส่งเสริมกามราคะ ทำราคะให้เกิด” ก็งดได้ ไม่ว่าอะไร เห็นว่าร่างกายมันสะบักสะบอมเหลือเกินเพราะว่าได้รับความลำบากในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มันอ่อนปวกเปียกเหลือเกิน มันอ่อนเพลียเหลือเกิน ควรที่จะดื่มจะฉันได้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาเอา ให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านทั้งหลายเอง
       ๗. กิเลสมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด คือหมายความว่าความเห็นนี้เป็นสิ่งสำคัญ คือถ้าเราเห็นผิดแล้วการประพฤติปฏิบัติทุกอย่างก็พลอยผิดไปด้วย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปลาสได้ เช่นว่า จิตตวิปลาส คิดผิด สัญญาวิปลาส สำคัญผิด ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิด เห็นผิดว่ารูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะเป็นของสวยของงาม เป็นต้น ตลอดถึงว่ามีความเห็นผิดว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ไม่มี นรกสวรรค์ พระนิพพานไม่มี อริยมรรค อริยผลไม่มี พระอริยบุคคลไม่มี ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มีอะไรทำนองนี้
       เมื่อเราเห็นผิดแล้วก็เป็นอันว่าปิดกั้นทุกอย่าง การทำความดีไม่สามารถสำเร็จผลได้ตามความต้องการ เพราะการงานทุกสิ่งทุกประการไม่ว่าทางโลกทางธรรม ความเห็นนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเห็นถูกก็เป็นเหตุให้ทำถูก พูดถูก คิดถูก ถ้าเห็นผิดก็เป็นเหตุให้คิดผิด ทำผิด พูดผิด ผลที่เกิดขึ้นมาก็เป็นไปตามอำนาจของความคิด เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี บางทีมันเกิดขึ้นมาแล้วสงสัย ขอให้ไต่ถามครูบาอาจารย์ที่อยู่ใกล้กัน
       ๘. กรรม คืออนันตริยกรรม ถือว่าเป็นกรรมหนักที่สุด อนันตริยกรรมนี้มีอยู่ ๕ ประการ คือมาตุฆาต ฆ่ามารดา ๑ ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๑ อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ๑ โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงทำโลหิตให้ห้อขึ้นไป ๑ สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกกัน ๑ ผู้ทำกรรมทั้ง ๕ ประการนี้ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนักที่สุด
       แม้ว่าเมื่อก่อนโน้นเราจะบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล เจริญสมถะภาวนา ได้สมาบัติ ๘ ได้อภิญญาจิต เหาะเหินเดินอากาศได้ก็จริง แต่เมื่อมาทำอนันตริยกรรมนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นอันว่า หมดเลย ฌานนั้นก็เสื่อม อภิญญาจิตนั้นก็เสื่อม อนันตริยกรรมก็ให้ผลทันที แล้วก็เริ่มให้ผลตั้งแต่ภพนี้แหละเป็นต้นไป ให้ผลทันที สมมติว่าเมื่อก่อนนั้นเราสามารถเข้าสมาธิได้ แต่ไปทำอนันตริยกรรมซะอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสมาธิไม่ได้เลย เมื่อก่อนโน้นมีอภิญญาจิต ไปทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อภิญญาจิตไม่เกิดขึ้นเลย เพราะว่าอนันตริยกรรมนี้ต้องให้ผลก่อน เมื่ออนันตริยกรรมให้ผลเสร็จแล้วกรรมอื่นจึงจะให้ผล
       ถ้าว่าเราทำกรรมไม่ถึงอนันตริยกรรม เช่นว่า เราไม่ได้ฆ่าพ่อไม่ได้ฆ่าแม่ แต่เราทำให้ท่านต้องเจ็บใจ พ่อก็ดี แม่ก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี ท่านผู้มีพระคุณแก่เราก็ดี เราไม่ได้ฆ่าท่านให้ถึงตาย แต่เราทำให้ท่านเจ็บใจ บางทีถึงหลั่งน้ำตาก็มี หากว่าเป็นเช่นนี้ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ก็ขอจงจำไว้ว่า เมื่อเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้ว ไม่สามารถผ่านการปฏิบัติได้เลย ในขณะที่จิตของเรากำลังจะเข้าสู่จุดแห่งความสงบ หรือกำลังจะเข้าสู่มรรควิถีนั้นแหละ อนันตริยกรรมประเภทนี้จะเกิดขึ้นมากั้นกระแสจิตทันที เมื่อเกิดขึ้นมากั้นกระแสจิตของเราแล้ว จิตของเราก็พรากจากสมาธิ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล
       แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไร หากว่าพ่อแม่ยังมีอยู่ เราก็ขอขมาโทษท่าน ไปขอขมาโทษท่าน หากว่าอยู่ต่างบ้านต่างตำบล ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ในหน้าพรรษา เราก็เขียนหนังสือไปขอขมาโทษท่าน อย่างนี้ก็ได้ เพียงแต่ท่านรับทราบเท่านั้นแหละ ก็เป็นอันว่ากรรมนั้นหายไปแล้ว แต่ทีนี้หากว่าท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว เราก็ต้องไปขอขมาโทษที่หลุมฝังศพ หรือที่อัฏฐิ ถ้าหลุมฝังศพเราก็จำไม่ได้ อัฏฐิก็จำไม่ได้ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่มี หาไม่เห็น หาไม่เจอเสียแล้ว นิมนต์พระสงฆ์สัก ๔ รูป หรือ ๕ รูปมาเป็นสักขีพยาน แล้วก็ขอขมาโทษท่าน ต่อหน้าพระประทาน ต่อหน้าพระสงฆ์ คือหมายความว่า ขอขมาโทษลับหลัง เช่นนี้ก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นผ่านพ้นไปได้ นี้เฉพาะการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนะท่านทั้งหลาย
       ทีนี้ถ้าว่าเป็นการเจริญสมถะกัมมัฏฐานยิ่งละเอียดกว่านั้น เป็นแต่เพียงว่าเราไม่ตั้งใจทำให้ท่านต้องเจ็บอกเจ็บใจหรือไม่สบายใจ แต่คำพูดบางสิ่งบางประการ ต้องทำให้ท่านเจ็บใจ หรือทำให้ท่านไม่พอใจ เช่นคำพูดกระแนะกระแหนอะไรทำนองนี้ เวลาเรามาเจริญสมถะกัมมัฏฐาน เช่นว่าเราจะฝึกอภิญญา เราเพ่งกสิณ ๑๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถที่จะเกิดอุคคหนิมิตขึ้นได้เลย อุคคหนิมิตนี้ไม่เกิด ปฏิภาคนิมิตก็ไม่เกิด เราจะบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานทุกประเภท เช่นว่า เราเพ่งไปๆ แล้วทำให้เกิดอุคคหนิมิต ทำให้เกิดปฏิภาคนิมิต เมื่อเราทำกรรมอย่างนี้ไว้แล้ว เรามาเพ่งกัมมัฏฐานมาเจริญพระกัมมัฏฐานเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะยังอุคคหนิมิตหรือปฏิภาคนิมิตให้เกิดขึ้นเลย นี่ ละเอียดท่านทั้งหลาย
       โดยเฉพาะบางครั้งเรานั่งอยู่กับพ่อกับแม่ของเรา เราไม่ตั้งอกตั้งใจจะทำให้ท่านต้องเจ็บใจหรือไม่ตั้งใจจะพูดให้ท่านเจ็บใจ แต่พูดไปพูดมาพูดทีเล่นทีจริงขึ้นมา สมมติว่าพ่อกับลูกนี้แหละ ขี่รถไปด้วยกัน สนิทสนมกัน พูดกันไปสนุกสนานไป บางทีลูกไปพูดกับพ่อว่า “เสี่ยวๆ เอานี้ให้แหน่ เสี่ยว เอาตังค์นี้ไปจ่ายให้ผู้นั้นแหน่” พ่อก็เกิดความไม่สบายใจ เกิดความเจ็บใจขึ้นมา เท่านั้นแหละท่านทั้งหลาย เสร็จเลย การปฏิบัตินี้ไม่สามารถจะได้อุคคหนิมิต ไม่สามารถจะได้ปฏิภาคนิมิต
       หรือคำพูดทุกประเภท พูดเอาง่ายๆ คำพูดทุกประเภท เราไม่ตั้งอกตั้งใจจะทำให้พ่อแม่ หรือครูบาอาจารย์ของเราต้องเจ็บใจ แต่พูดออกไปแล้วทำให้ท่านไม่สบายใจ เป็นคำล้อเลียนเป็นคำพูดกระแนะกระแหน ถึงว่าเราจะพูดด้วยเจตนาดีก็ตาม แต่ว่าคำพูดนั้นเป็นคำพูดที่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม เป็นคำพูดที่ไม่อยู่ในกาลเทศะ ไม่อยู่ในกาลที่จะพูด แล้วก็การพูดนั้นเป็นคำที่ไม่สมมาพาควร เป็นการพูดเล่น เป็นการพูดกระแนะกระแหน เป็นคำพูดที่ล้อเลียน ก็ขอบอกเลยว่า ถ้าเราไปเจริญพระสมถะกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถจะได้อุคคหนิมิต ไม่สามารถจะได้ปฏิภาคนิมิตเลย นี้ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้ เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน บุญก็เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ บาปก็เป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติได้เหมือนกัน สำหรับอย่างอื่นเนื้อความก็ชัดอยู่แล้ว จึงจะไม่ขอบรรยาย
       ๙. วิบาก คำว่าวิบากในที่นี้คือ ผลของกรรม คือหมายความว่า การเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ เราตั้งอกตั้งใจจะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา แต่ยิ่งประพฤติปฏิบัติไปเท่าไรๆ ความโลภมันยิ่งเกิดขึ้นมา ความโกรธมันยิ่งเกิดขึ้นมา โมหะคือความหลงก็ยิ่งเกิดขึ้นมา ยิ่งประพฤติปฏิบัติไปยิ่งกำเริบ พวกเหล่านี้ยิ่งกำเริบขึ้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อวิบากคือผลของความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้แล้ว การปฏิบัติจะไม่ได้ผลเสียเลย เหตุนั้นท่านทั้งหลาย เมื่อโลภ โกรธ หลง หรือราคะ ตัณหา อุปาทาน มันเกิดขึ้นมา พยายามกำหนดให้ทันปัจจุบันทันที แล้วมันจะได้สงบระงับไป จะทำให้การปฏิบัติของเราได้ผลเร็วขึ้น
       ๑๐. อริยุปวาท กล่าวร้ายพระอริยะเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า คือหมายความว่าเราไปด่าพระอริยะเจ้า ไปใส่ร้ายพระอริยะเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า ใครเป็นผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า ก็พวกเราทั้งหลายนี้แหละ รวมทั้งพระสงฆ์ สามเณร ปะขาวแม่ชี นี้เรียกว่าปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า คือ ปฏิบัติเพื่อจะนำตนให้พ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ทีนี้เราไปกล่าวร้ายท่าน หรือใส่ร้ายท่านด้วยถ้อยคำที่ไม่ดี เป็นถ้อยคำผรุสวาจาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่สามารถจะผ่านการปฏิบัติไปได้เลย
       ดังตัวอย่างครั้งพุทธกาล มีพระหลวงตากับพระหนุ่มรูปหนึ่ง ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานร่วมกัน วันหนึ่งไปบิณฑบาตด้วยกัน สำหรับพระหลวงตานั้นก็เจ็บท้องปวดท้องเวลาเช้า พอดีไปบิณฑบาต โยมก็เอายาคูคือข้าวต้มกำลังร้อนๆ อยู่นั้นแหละมาถวาย หลวงตาก็คิดว่า “เอ๊ะ ! ขณะนี้เราก็กำลังเจ็บท้องอยู่ กำลังปวดท้องอยู่ เราฉันข้าวยาคูกำลังร้อนๆ นี้ ชะรอยจะทำให้อาการเจ็บท้องของเรานี้มันหายไป” เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้วก็มองซ้ายแลขวาหาที่นั่ง เมื่อเห็นท่อนไม้อันหนึ่งแล้วก็ไปนั่งลง เมื่อนั่งแล้วก็ล้วงเอาถ้วยข้าวยาคูอยู่ในบาตรนั้นมาซดเอาๆๆ
       พระหนุ่มที่เดินมาตามหลังก็เกิดความละอายใจ เป็นคนหนุ่ม มีความละอายเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว พอดีเดินไปถึงก็ตวาดทันทีว่า “เอ๊ะ ! หลวงตาทำไมถึงตะกละตะกรามถึงขนาดนี้ กลับถึงวัดเสียก่อนจึงค่อยฉันไม่ได้หรือ ทำไมถึงหิวเหมือนกับไม่ได้ฉัน เหมือนกับเปรต” อะไรๆ ก็ว่าเอาๆ พระหลวงตาท่านก็เฉย ไม่ตอบว่ากระไร ท่านก็ซดยาคูของท่านซดเอาๆๆ หมดแล้วก็วางถ้วยยาคูใส่บาตรแล้วก็เดินไปบิณฑบาต พอดีกลับถึงวัดฉันเสร็จแล้ว พระหลวงตาก็ถามว่า “คุณ ที่คุณมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ คุณได้บรรลุมรรคผลขั้นไหนแล้ว” “กระผมได้บรรลุโสดาบันครับ” “เออ ถ้าอย่างนั้นคุณไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติต่อไปดอก” ท่านก็ว่าเท่านั้นแหละ พระภิกษุหนุ่มก็ได้สติทันที ถามว่า “ท่านหลวงตา เมื่อตะกี้นี้ท่านหลวงตาโกรธผมหรือ” อย่างนั้นอย่างนี้ก็คะยั้นคะยอ แต่ท่านหลวงตาก็ว่า “ผมไม่โกรธดอก” เพราะว่าขณะนั้นท่านหลวงตาท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วท่านก็เฉย
       เมื่อพระภิกษุหนุ่มไปประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ปฏิบัติอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถจะยังสภาวธรรมให้เกิดขึ้น ไม่สามารถยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้น ผลสุดท้ายก็ต้องมาขอขมาโทษพระหลวงตา เมื่อขอขมาโทษแล้วจึงสามารถประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานให้ผ่านพ้นไปได้
       นี่แหละท่านทั้งหลาย การกล่าวร้ายพระอริยะเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้านี้ ถือว่าเป็นเครื่องขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติกัมมัฏฐานไม่ให้ได้ผลเหมือนกัน
       ๑๑. ปรารถนาพุทธภูมิ คือหมายความว่า ผู้ใดที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สภาวธรรมจะเกิดขึ้นตามลำดับๆ ไปถึงสังขารุเปกขาญาณ คือญาณที่ ๑๑ ก็หมดแล้ว จะปฏิบัติไปอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ จนกว่าบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อน ต้องเกิดอีกหลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ บำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมให้สมบูรณ์เสียก่อน จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าครั้งเดียว ไม่มีโอกาสที่จะบรรลุเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันตสาวกได้ เพราะว่าได้ปรารถนาพุทธภูมิแล้ว เมื่อใดบำเพ็ญบารมีให้สมบูรณ์เสียก่อนแล้วนั่นแหละจึงจะได้ตรัสรู้ครั้งเดียว
       แต่ว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้ก็แก้ได้เหมือนกัน หากว่าเราคิดว่า “เอ๊ะ ! เกิดมาภพนี้ชาตินี้ การบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานก็ลำบากลำบนขนาดนี้ เพียงชาติเดียวเท่านี้เราก็เห็นแล้วว่าเป็นทุกข์เหลือทน หากว่าเราจะเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร กว่าเราจะบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมนี้ไม่รู้ว่าจะกี่ชาติกี่ภพ กี่กัปกี่กัลป์ จะได้รับความทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส”
       เรานึกถึงความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นแก่เรา ในการที่เราเที่ยวไปในวัฏสงสารเพื่อบำเพ็ญโพธิสัตว์บารมีนี้ เห็นว่ามันลำบากเหลือเกิน เราก็แก้คำอธิษฐานใหม่ โดยที่เราเข้าไปในโบสถ์ กราบพระประธานแล้วกล่าวสัคเคขึ้นมา แล้วก็ตั้งอธิษฐานใหม่ว่า “ข้าพเจ้าเมื่อก่อนโน้นได้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าได้ปรารถนาพุทธภูมิ มีความประสงค์ที่จะบำเพ็ญบารมีให้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า แต่บัดนี้ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้  ข้าพเจ้าจึงขอแก้คำอธิษฐาน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอเลิกการปรารถนาพุทธภูมิ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปข้าพเจ้าขอเลิก คำปรารถนาพุทธภูมิ ขอให้ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานได้บรรลุอริยมรรคอริยผลสูงสุดถึงขั้นพระอรหันต์ก็พอแล้ว ขอทวยเทพพนิกรเจ้าทั้งหลายได้เป็นสักขีพยานด้วย”
       เมื่อเราตั้งสัจจะอธิษฐานเปลี่ยนคำอธิษฐานในจิตในใจอย่างนี้แล้ว ก็สามารถปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้สำเร็จอริยมรรคอริยผลได้ ทั้งนี้หมายความว่าเป็นประเภทที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้พยากรณ์นะ หรือว่าไม่ได้รับพยากรณ์จากสำนักของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งมา นี้เราแก้ได้ แต่ถ้าได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งมาแล้ว ไม่สามารถที่จะแก้ได้ สมมุติว่าเราเกิดเป็นมนุษย์ในภพก่อนชาติก่อนโน้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ทำบุญทำทานแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้พยากรณ์ว่า ผู้นี้ ในอนาคตจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านามว่าอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าพระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์แล้วอย่างนี้ ไม่มีโอกาสที่จะแก้คำอธิษฐานได้ เพราะพระวาจาของพระพุทธเจ้านั้นเป็นพระวาจาสิทธิ์ ไม่มีใครที่จะสามารถแก้พระวาจาสิทธิ์ที่พระองค์ได้ทรงตรัสแล้วได้
       แต่เราก็มองดูง่ายๆ ว่าเราปรารถนาพุทธภูมิแล้วหรือ หรือยังไม่ได้ปรารถนาพุทธภูมิ ก็อยู่ที่จิตที่ใจของเรานั่นแหละ หากว่าจิตใจของเรายังคลอนแคลนอยู่ ยังไม่มั่นใจอยู่ ก็แสดงว่าเรายังไม่ได้รับพยากรณ์ แต่ถ้าจิตใจมันไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน มั่นคงแล้ว และพร้อมกัน ทิฏฐิมานะก็กล้า ไม่ยอมฟังเทศน์ฟังธรรมจากผู้ใดผู้หนึ่ง ถือว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้สูงกว่าพระธรรมดาๆ แล้ว เพราะว่าเราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ก็ถือว่าเรามีคุณธรรมสูงกว่าพระสูงกว่าเณรธรรมดา ไม่ยอมฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์รูปใดรูปหนึ่งเลย ทิฏฐิมานะกล้าเช่นนี้ก็แสดงว่าได้เคยรับพยากรณ์มาแล้ว เหตุนั้นก็ขอให้ท่านทั้งหลายพึงสังเกตเอา
       เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะคืออันตราย ๑๒ ประการซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางหรือกั้นกางการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไม่ให้ได้ผลมาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายในวันนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาจึงขอยุติ.

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #127 เมื่อ: 23 สิงหาคม 2563 11:54:28 »




สมถะกับวิปัสสนา
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สำหรับแนวทางของการประพฤติปฏิบัติธรรมะนั้น ส่วนมากเราปฏิบัติตามแนวทางของมหาสติปัฏฐานสูตร คือ กำหนดกาย เวทนา จิต และธรรม ดังท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติมา แต่ผลที่ออกมามันไม่เหมือนกัน

       เพราะเหตุไร? เพราะบางท่านก็ได้สมาธิ ได้ฌาน บางท่านก็ดำเนินตามวิปัสสนา คือ มันมีทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา ควบคู่กันไป เท่าที่ได้สังเกตและเท่าที่เห็นและพิจารณาที่ท่านทั้งหลายมาปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ โดยเฉพาะในภาคฤดูหนาว หรือภาคฤดูร้อน ส่วนมากผู้ที่มาปฏิบัติได้สมถะซะเป็นส่วนมาก วิปัสสนานั้นมีน้อย ถ้าในพรรษาสมถะนี้หายาก แต่วิปัสสนานี้มีมาก มันอยู่ที่เหตุปัจจัยหลายสิ่งหลายประการ แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่เราทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมา

       สำหรับด้านสมถะที่เกิดแก่ท่านหรือที่ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติมา ก็พอที่จะพิจารณาและเข้าใจแนวทางของการประพฤติปฏิบัติว่า เราปฏิบัติมาแล้วเราได้ฌานหรือได้มรรคผลนิพพาน เราจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้

       วินาทีแรกที่เราตั้งอกตั้งใจเจริญพระกัมมัฏฐาน “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” “เจ็บหนอ” “ปวดหนอ” “เฉยหนอ” หรือว่า “คิดหนอๆ” หรือว่า “โกรธหนอ” “อยากได้หนอ” “ง่วงหนอ” อะไรทำนองนี้ เป็นบทกำหนดพระกัมมัฏฐานรวมกันอยู่ในนั้น ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนามันรวมกันอยู่ในนั้น พอผลที่ออกมามันไม่เหมือนกัน ถ้าผู้ใดเคยสร้างสมอบรมบารมีมาทางสมถะ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน ถ้าผู้ใดสร้างสมอบรมบารมีมาในทางวิปัสสนา ก็ได้มรรคได้ผล ทีนี้เราจะสังเกตได้ จะรู้ได้อย่างไรว่าการปฏิบัติมาครั้งนี้เราได้สมถะ คือ ได้ฌาน เราได้วิปัสสนา คือมรรคผลนิพพาน เราจะสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ

       ขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น ในขณะนั้นจิตใจของเราหนักแน่นมั่นคง ตั้งมั่นอยู่กับอาการพองอาการยุบไม่วอกแวกหวั่นไหวไปตามอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น ในขณะนั้น สติของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบตลอดเวลา และในขณะนั้นวิปัสสนาญาณยังไม่แก่กล้า สมถะเริ่มแก่กล้าขึ้นมา ในขณะนั้นเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานได้ดี กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” สบายๆ แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และในขณะนั้นจิตของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบตลอดไป ไม่วิ่งไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาสัมผัส หาธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะนั้นความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่ เสียงที่ได้ยินก็ยังมีอยู่ แต่มันละเอียดเข้าไป ความรู้สึกก็ดี เสียงก็ดี มันเหลืออยู่ประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เกือบจะไม่มีความรู้สึกแล้ว คือมันละเอียดเข้าไปแล้ว ในขณะนั้นเขาเอาปะทัดมาจุด เปรี้ยงๆๆ ใกล้ๆตัวของเราก็ดี หรือเขาเอาปืนมายิง เปรี้ยงๆๆ ใกล้ตัวของเรา หรือว่ากิ่งไม้มันหักลง ดังขึ้นมาก็ดี สติของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบ ก็เฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว บ้านเราเรียกว่า “บ่ตื่น” นั่งได้สบายๆ ถ้าเราทั้งหลายทำได้อย่างนี้ก็ให้รู้ทันทีว่า อันนี้เป็นปฐมฌาน เราได้ฌานที่ ๑ คือ ได้ปฐมฌานแล้ว

       เมื่อปฐมฌานมันแก่กล้าแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌาน ทุติยฌานนั้นจะมีลักษณะดังนี้คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น เมื่อก่อนโน้นเราได้กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” แต่เมื่อมาถึงนี้เราไม่ได้กำหนดเลย นั่งเฉยอยู่ตลอดเวลา บ้านเราเรียกว่า “บ่ได้ภาวนาว่าจังได๋” นั่งเฉยอยู่กับอาการพองอาการยุบ และในขณะนั้น ความรู้สึกก็มีอยู่ เสียงก็ยังมีอยู่ แต่มันมีอยู่ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ที่มันต่างกันที่สุดก็คือ เราไม่ได้ภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งเฉยอยู่เหมือนกันกับพระพุทธรูป ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าเราถึงทุติยฌาน คือฌานที่ ๒ แล้ว เมื่อฌานที่ ๒ แก่กล้าแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ขึ้นสู่ตติยฌาน

       ตติยฌานนั้นมีลักษณะดังนี้คือ ในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น ความรู้สึกก็ดี เสียงก็ดี มันเหลืออยู่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ในขณะนั้น เหมือนกันกับคนเอาเหล็กแหลมๆ เอาไม้แหลมๆ มาตอกลงบนศีรษะไปตรึงไว้กับพื้น เราจะกระดุกกระดิก ก็กระดุกกระดิกไม่ได้ เราอยากก้มก็ก้มไม่ได้ เราอยากเงยก็เงยไม่ได้ เราอยากมองซ้ายแลขวาก็มองไม่ได้ เราจะยกมือยกเท้าไปวางที่โน้นที่นี้ก็ยกไม่ได้ คือหมายความว่า เหมือนกันกับถูกมัดไว้ หรือตรึงร่างกายของเราให้แน่นกับพื้น ลักษณะอย่างนี้ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า โอ้ มันลำบากลำบนเหลือทน มันทนทุกข์ทรมานเหลือทน ท่านทั้งหลาย ลักษณะอย่างนี้ไม่มี คือปวดที่โน้นเจ็บที่นี้ไม่มี

       เมื่อก่อนเรานั่งอยู่ไม่ถึง ๑๕ นาทีก็พลิกแล้ว พลิกซ้ายพลิกขวาๆ ๓๐ นาทีไม่รู้ว่าพลิกไปกี่ครั้ง เมื่อก่อน ๕ นาที พลิก ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ถ้า ๓๐ นาทีไม่รู้ว่ากี่ครั้ง แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ไม่มีพลิกขาเหมือนเมื่อก่อน เพราะอะไรจึงไม่พลิกขา เพราะในขณะนั้นทุกขเวทนาไม่มีแล้ว เจ็บที่โน้น เจ็บที่นี้ ไม่มี ใจเฉยอยู่กับอารมณ์กัมมัฏฐาน ความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่ เสียงก็ยังมีอยู่ แต่มันมีอยู่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ คือมันละเอียดเข้าไปแล้ว ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าเราถึงตติยฌานคือ ฌานที่ ๓ แล้ว ถ้าจุติเพราะจิตดวงนี้ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไป มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรหนักแน่นไปตามลำดับๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ขึ้นสู่ฌานที่ ๔

       ฌานที่ ๔ นั้นมีลักษณะดังนี้คือ ลมหายใจเข้าหมดไป ลมหายใจออกหมดไป คือลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ลมหายใจเข้าหายใจออกนี้หมดไป ไม่มี ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า ลมหายใจเข้าหายใจออกนั้นจะไม่มีในบุคคล ๔ ประเภท คือ

       ๑. คนตายก็ไม่มีลมหายใจ

       ๒. เด็กที่อยู่ในครรภ์ของมารดาก็ไม่มีลมหายใจ

       ๓. คนดำน้ำก็ไม่มีลมหายใจ

       ๔. ผู้เข้าถึงจตุตถฌานก็ไม่มีลมหายใจ

       ถ้าว่าเราทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าเราถึงฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌานแล้ว ถ้าฌานไม่เสื่อม จุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน และฌานนี้ก็ยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ผลเร็วขึ้น หรือว่าฌานของเราในแต่ละฌานๆ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนา ถ้าว่าเอาฌานทั้ง ๔ ประการ ฌานใดฌานหนึ่งที่เราได้แล้วมายกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ก็สามารถให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น

       สมมุติว่าในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น มันจะเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้นมา คือ จะเห็นรูปเห็นนาม “ขวาย่างหนอ” เอ้อ นี่เป็นรูป “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” เอ้อ นี่มันเป็นรูป ความรู้สึกของเราเป็นนาม มันเกิดความรู้ขึ้นมาแล้วตอนนี้ ขวาย่างซ้ายย่างนั้นเป็นรูป ใจที่รู้สึกเป็นนาม ถ้ามีสติปัญญาเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนื้ คือเกิดวิปัสสนาญาณแล้วตอนนี้ เราจะรู้ แล้วก็จะรู้ต่อไปว่า เอ้อ ตานี่เป็นรูป หูนี่ก็เป็นรูป จมูกนี่ก็เป็นรูป ลิ้นก็เป็นรูป พวก ตา หู จมูก ลิ้น นี่มันเป็นรูปธรรม สำหรับใจของเราที่รู้นั้นเป็นนาม เอ้อ แสดงว่าเราเห็นรูปเห็นนามแล้ว เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาแล้วตอนนี้

       เมื่อวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ แก่กล้าแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒ จะรู้ว่า เอ้อ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยของรูปของนาม เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้มันไม่ทันกัน “พองหนอ” มันยุบไปแล้ว เรากำหนด “ยุบหนอ” มันพองขึ้นมาแล้ว หรือว่าการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้มันลำบากลำบนเหลือทน เมื่อก่อนโน้นเรากำหนด “พุทโธๆ” มันสบายๆ แต่เวลานี้เรากำหนดลำบาก เรากำหนด “พองหนอ” มันยุบไปแล้ว เรากำหนด “ยุบหนอ” มันพองขึ้นมาแล้ว เอ๊ะ! กัมมัฏฐานนี้มันลำบากลำบนเหลือทน เดี๋ยวก็เจ็บที่โน้นปวดที่นี้อะไรจิปาถะ บางทีสัปหงกวูบไปข้างหน้าบ้าง ผงะไปข้างหลังบ้าง กำหนดพระกัมมัฏฐานไม่ค่อยดีแล้วตอนนี้ เจ็บที่โน้นปวดที่นี้อะไรจิปาถะ ก็แสดงว่าเราเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนามแล้ว

       ถ้าเราเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนามในลักษณะดังนี้ ก็ถือว่าเราได้ขึ้นสู่ความเป็นจุลลโสดาบัน ได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่าเป็นจุลลโสดาบัน ถึงญาณที่ ๒ นี้ องค์พระประทีปแก้วทรงตรัสว่า เป็นจุลลโสดาบัน ได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒-๓ ชาติ เริ่มแล้วนะตอนนี้ ถือว่าขึ้นสู่ตำแหน่งของจุลลโสดาบันแล้ว

       เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปตามลำดับๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะของเราแก่กล้า โดยเฉพาะให้สติของเรามีพลัง มีอำนาจ มีสมรรถนะสูง จนสามารถเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

       ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ออกตนญาติโยมทั้งหลาย ขอให้ท่านได้สังเกต ได้รู้ได้เข้าใจว่า เราทั้งหลายที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ส่วนมากเราต้องการอยากเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะเหตุไรจึงอยากเห็น เพราะว่าครูบาอาจารย์ของพวกเราทั้งหลายท่านสอนไว้ว่า ผู้เจริญพระกัมมัฏฐานต้องเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าผู้ใดเห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ผู้นั้นก็จะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ของพวกเราทั้งหลายท่านบอกไว้อย่างนั้น เหตุนั้นพวกเราทั้งหลาย เมื่อเจริญพระกัมมัฏฐานแล้ว เมื่อวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ที่ ๒ เกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๓ เราจะรู้อย่างไรว่า พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นแก่เราแล้ว จะรู้ได้ในลักษณะดังนี้

       ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็หายไป

       บางท่านเวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น จะเห็นอาการพองอาการยุบ รู้สึกว่าฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางทีมันก็แน่นขึ้นๆๆ แล้วก็หายไป นี้เป็นลักษณะของทุกขัง

       บางครั้งเวลาประพฤติปฏิบัติ เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็หายไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตา

       ท่านหลวงปู่หลวงตาออกตนญาติโยมทั้งหลาย ลักษณะดังนี้ท่านทั้งหลายมีไหม เวลากำหนดพระกัมมัฏฐานลักษณะอย่างนี้มีไหม เกิดขึ้นแก่เราไหม ลักษณะที่ว่า อาการพอง อาการยุบ มันเร็วขึ้นๆ แล้วก็หายไป หรือว่าอาการพอง อาการยุบรู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็หายไป หรือว่าอาการพองอาการยุบมันสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็หายไป ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งท่านทั้งหลายมีไหม  ถ้ามีก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้เห็นพระไตรลักษณ์แล้ว เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เพราะว่าถ้าเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ ถือว่าเราเห็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานแล้ว เรามาถึงต้นทางแล้ว

       การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารไม่รู้กี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์ เรายังไม่เห็นต้นทางของวัฏสงสารเลย หรือยังไม่เห็นหนทางที่จะไปสู่พระนิพพานเลย ชีวิตของเรามันลอยเคว้งคว้างอยู่ในสังสารจักรไม่รู้จักหนทางที่จะไปสู่พระนิพพาน ไม่รู้จักหนทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ มันลอยเคว้งคว้างอยู่ในสังสารวัฏนี้ตลอดเวลา

       แต่เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติมาถึงนี้ ถือว่าเรามีบุญล้นฟ้าล้นดิน ที่เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้เห็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานแล้ว ลักษณะอย่างนี้ถ้าว่าเกิดแก่ท่านผู้ใดก็ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า เอ้อ เราเกิดมาภพนี้ชาตินี้ ถือว่าเป็นผู้มีโชคดี เป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ได้เห็นหนทางที่จะไปสู่พระนิพพานแล้ว ก็แสดงว่าเราทั้งหลายเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จิตของเรา หรือว่าบุญกุศลของเราทั้งหลายที่สั่งสมอบรมไว้ก็จะดำเนินไปตามวิถีของมัน ไหลเอื่อยไปสู่พระนิพพาน เหมือนกันกับท่อนไม้หรือท่อนฟืน หรือท่อนซุงที่เราทิ้งลงในแม้น้ำโขงหรือแม่น้ำมูลอย่างนี้ ท่อนซุงหรือท่อนไม้นั้น เมื่อเราทิ้งลงไปมันก็ไหลไปตามลำดับ เอื่อยไปๆๆ จนถึงแม่น้ำโขง ไหลออกจากแม่น้ำโขง ก็ไหลไปสู่ทะเล เมื่อไปถึงทะเลแล้วก็ถือว่าเป็นจุดหมายปลายทาง ถ้าถึงทะเลหรือถึงมหาสมุทร ก็ถือว่าถึงที่แล้ว ข้อนี้ฉันใด

       พวกเราทั้งหลายเมื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาถึงนี้ เราเห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ไหลไปตามวิถีของมัน ไหลไปตามลำดับ ผ่านภพน้อยภพใหญ่ไปเรื่อยๆๆๆ ผลสุดท้ายก็ถึงจุดหมายปลายทาง อะไรเป็นจุดหมายปลายทาง คือ ไปถึงพระนิพพาน

       สรุปแล้วว่า การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารนี้ มันมีอวิชชาเป็นต้นทาง มีพระนิพพานเป็นปลายทางหรือเป็นที่สุดท้าย เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติมาถึงนี้ก็ถือว่าเรามีบุญมีกุศลล้นฟ้าล้นดินแล้ว พร้อมแล้ว เราจะถึงพระนิพพานในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเราเห็นพระไตรลักษณ์ในขั้นนี้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นพระไตรลักษณ์ในขั้นที่ ๒ อะไรเป็นพระไตรลักษณ์ขั้นที่ ๒ คือความเกิดความดับของรูปนาม ถ้าผู้ใดเห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยปัญญาอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่เพียงวันเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนามมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ดังพระบาลีว่า

                        โย จ วสฺสสตํ ชีเว                 อปสฺสํ อุทยพฺพยํ

                        เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย               ปสฺสโต อุทยพฺพยํ.

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยปัญญาแล้ว ผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่เพียงวันเดียวเท่านั้นประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี

       ลักษณะของพระไตรลักษณ์ในขั้นที่ ๒ นี้ ขอท่านหลวงปู่หลวงตา ครูบาอาจารย์ ออกตนญาติโยมจำไว้นะ พระไตรลักษณ์ขั้นที่ ๒ จะมีลักษณะดังนี้ คือ

       ๑. อนิจจัง ถ้าผู้ใดเคยให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนามาก่อนแล้ว ก็จะผ่านทางอนิจจัง คือจะเห็นอนิจจังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป นี้เป็นตัวอนิจจัง

       ๒. ทุกขัง ถ้าผู้ใดเคยเจริญสมถะมาก่อน จะผ่านทางทุกขัง คือจะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้คือ ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรารู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางทีก็แน่นมากจริงๆ จนถึงกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆ” มันแน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป นี้เรียกว่าเป็นลักษณะของทุกขัง

       ๓. อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนามาก่อนแล้ว จะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป ขาดความรู้สึกลงไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตา ขั้นที่ ๒ นะ

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมะมาถึงนี้ ถือว่าตัดกระแสของวัฏสงสารได้แล้วอย่างน้อย ๗ ชาติ ผู้ใดปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้นั้นมีโอกาสจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือว่าถ้าตายพร้อมจิตดวงนี้ ตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๗ ชาติ จะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือ ไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๗ ชาติ แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้นั้นได้บรรลุพระนิพพานในวันข้างหน้า

       สภาวะอย่างนี้ไม่ใช่ของเลวนะท่านทั้งหลาย ผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ถ้าผู้ใดไม่มีบุญจะไม่เกิด สมมุติว่าพระเราไปต้องอาบัติปาราชิกมาก่อนแล้ว สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด หากว่าผู้ใดเคยฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้ว สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด ถ้าผู้ใดทำบุญไว้ในชาติปางก่อนไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด ถ้าสภาวะอย่างนี้เกิด ผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาตินี้ถ้าไม่ประมาท มาถึงขั้นที่ ๒ แล้วนะตอนนี้

       เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ภพชาติของเรามันก็น้อยลงไปๆๆ เพราะเหตุไรจึงว่าน้อยลงไป เพราะว่ามันตัดชาติตัดภพไปนับไม่ถ้วน เพราะเหตุไร เพราะว่าในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองก็ดี อาการยุบก็ดี อาการสม่ำเสมอก็ดี มันดับวูบลงไปหรือมันสัปหงกวูบลงไป มันตายแล้วตอนนั้น รูปก็ดับ อาการพองอาการยุบก็ดับ นาม คือความรู้สึกของเรามันก็ดับ กิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ มันก็ดับ มันดับทั้ง ๓ อย่าง รูปดับ นามดับ กิเลสดับ เมื่อรูปดับ นามดับ กิเลสดับ กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมันก็อ่อนกำลังลงไป อ่อนกำลังลงไป แทนที่เราจะได้เกิดเป็นกี่ร้อยชาติพันชาติ มันจะเกิดอีกไม่นานก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานขั้นสุดท้ายแล้ว ถ้าผู้ใดปฏิบัติมาถึงนี้ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เออ เราประพฤติปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว เรามีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในวันข้างหน้า หากว่าเราตายไปในขณะที่จิตของเรามันอยู่ในลักษณะดังนี้ เราก็จะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานอย่างน้อย ๗ ชาติ แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า

       เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิปัสสนาญาณแก่กล้าแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นความดับของรูปนาม เห็นความดับลงไป นั่งสมาธิไปมันดับวูบไปเรื่อยๆ หรือว่าเดินจงกรมไป “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ดับวูบไปเรื่อยๆ เหมือนกับคนง่วงนอน มันวูบไปเรื่อยๆๆ เหมือนกับคนง่วงนอน ที่มันเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในขณะนั้นเราเห็นความดับของรูปนาม ความเกิดไม่เห็น เห็นแต่ความดับ คือนั่งไปหลับไปๆๆ “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” เดินไปหลับไปๆ “พองหนอ” “ยุบหนอ” กำหนดไปๆ หลับไปเรื่อยๆๆ มันคือลำบากลำบนแท้ นั่งไปนิดเดียวหลับไปแล้วๆ อันนี้เราเห็นเฉพาะความดับของรูปนาม

       เมื่อเห็นความดับของรูปนามชัดแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นรูปนามนั้นปรากฏเป็นของน่ากลัว ใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย นั่งกัมมัฏฐานไปก็เกรงว่าจะล้มจะตายไป มันสัปหงกวูบลงไป เอ๊ะ ! ทำไมมันเป็นอย่างนี้ มันจะไม่ตายไปเลยหรือนี่ ไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน กลัวตาย คือเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว เมื่อญาณนี้แก่กล้าแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปของนาม นั่งกัมมัฏฐานอยู่ เจ็บที่นู้นปวดที่นี้ บางทีหิว บางทีกระหาย บางทีอย่างโน้นอย่างนี้อะไรจิปาถะ เจ็บที่โน้นปวดที่นี้ร้อยแปดพันประการ บางทีจาม บางทีคันคอ บางทีน้ำตาไหล บางทีก็ปวดศีรษะ เห็นว่าการปฏิบัติลำบาก นี้ถือว่าการเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม

       เมื่อเราเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามชัดด้วยปัญญาอย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเบื่อหน่ายรูปนาม บางทีก็เบื่ออาหาร ไม่อยากรับประทานอาหาร บางทีก็เบื่อผัว เบื่อเมีย เบื่อวัดวาอาราม บางทีก็เบื่อวัฏสงสาร บางทีก็เบื่อการประพฤติปฏิบัติ ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป แต่ก็ยังข่มใจปฏิบัติอยู่ นี้มันเกิดความเบื่อ บางท่านไม่อยากรับประทานอาหารเลย ไม่อยากพบอยากเห็นใคร ครูบาอาจารย์ก็ไม่อยากพบอยากเห็น อยากอยู่เงียบๆ เพียงคนเดียวเท่านั้น เมื่อสภาวะนี้แก่กล้าแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาของเรามันแก่กล้าขึ้นมา มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นอยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากทำกัมมัฏฐานต่อไป เห็นว่าการทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร นี้อวิชชามันเกิดขึ้นมากั้นแล้วตอนนี้ บางคนก็ไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไปอีกเลย อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่ยอมทำ เห็นว่าการทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร เมื่อเราข่มจิตข่มใจแล้วก็พออยู่ได้ แต่บางท่านข่มจิตข่มใจไม่ได้ ลากลับบ้าน ใจน้อยงอแง ครูบาอาจารย์ว่าอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ว่าอย่างนี้ ก็โกรธก็ขัดใจ ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ส่วนมากปฏิบัติมาถึงนี้ผู้ปฏิบัติยังทำไม่ได้ บางทีก็ลากลับบ้านเลยไม่ยอมปฏิบัติต่อไป ที่มันเป็นอย่างนี้ก็เป็นอวิชชา ความโง่ เป็นเหตุให้เกิดสังขาร เรากำหนดพระกัมมัฏฐานไม่ทัน มันจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทุลี้ทุลน ผุดลุกผุดนั่ง อยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากทำกัมมัฏฐานต่อไป

       ถ้าเราข่มจิตข่มใจได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณของเรามันแก่กล้า จิตใจก็จะเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมละการปฏิบัติเป็นเด็ดขาด นี่จิตใจเข้มแข็งตั้งใจจริงปฏิบัติจริง ถ้าเราปฏิบัติมาถึงนี้ เมื่อผ่านสภาวะอย่างนี้แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสบายขึ้นมา เดินจงกรมก็สบายๆ นั่งสมาธิก็สบายๆ บางทีเราคิดว่าจะนั่งอยู่ ๓๐ นาที ลืมเวลาไป ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็มี

       ในขณะนั้นสภาวะที่มันเกิดขึ้นเหมือนกันกับว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน ของเรานั้นไม่มีแล้ว มันหมดไปแล้ว เหมือนกันกับว่าได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว นั่งก็สบาย นอนก็สบาย กำหนดก็สบาย มันสบายทุกอย่าง อันนี้เป็นสภาวะของวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑๑ เมื่อสภาวะอย่างนี้แก่กล้าแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมรรควิถีคือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์ คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การบรรลุมรรคผลพระนิพพาน ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้คือ

       ๑. อนิจจัง ถ้าผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนิจจัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนิจจังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ ท่านทั้งหลายสังเกตให้ดีนะ จะได้บรรลุหรือไม่บรรลุนี่อยู่ตรงนี้ การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้ผลหรือไม่ได้ผลอยู่ตรงนี้ เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังเกตให้ดี

       ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีสัปหงกวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามมาแต่หลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ดับไป สิ้นไป สูญไป จากจิตจากใจของเรา หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีก็ปวดศีรษะ บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นนิมิตไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นนิมิตเป็นเครื่องหมายมิได้

       ๒. ทุกขัง ถ้าผู้ใดเคยเจริญสมถะกรรมฐานมาก่อน จะผ่านทางทุกขัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ ฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ เหมือนกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามมาหลายภพหลายชาติหลายกัปหลายกัลป์ ดับไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดาน หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีก็ปวดหัว บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่าดับโดยที่หาอะไรเป็นที่ตั้งไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะเป็นที่ตั้งมิได้

       ๓. อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนัตตา คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วดับวูบลงไป คือขาดความรู้สึกลงไป ผู้ปฏิบัติก็จำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามมาแต่หลายภพหลายชาติหลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยอาการว่างเปล่า คือ มันว่างจากราคะ โทสะ โมหะ

       ท่านหลวงปู่หลวงตา ออกตนญาติโยมทั้งหลาย เวลาได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้นมีเท่านี้นะ มันมีเท่านี้ เดี๋ยวจะว่า “เอ๊ะ หลวงพ่อ ทำไมง่ายจัง การบรรลุมรรคผลพระนิพพานทำไมง่ายจัง” มันไมใช่ของง่ายท่านทั้งหลาย บางทีปฏิบัติกัมมัฏฐานมา ๑๐ ปีก็ไม่เห็นลักษณะอย่างนี้ บางทีปฏิบัติกัมมัฏฐานมา ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี เกือบจะตายก็ยังไม่เห็นลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น

       ที่มันเป็นอย่างนี้เพราะเหตุไร อาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป ที่มันเป็นลักษณะนี้ เพราะในขณะนั้นมันตายแล้ว กิเลสมันตาย รูป คืออาการพองอาการยุบนี้ก็ดับ คือมันตายลงไป นามคือความรู้สึกของเรา จิตของเรามันก็ดับลงไป กิเลสคือโลภะ โทสะ ก็ดับลงไป มันดับเด็ดขาดไปเลย ไม่เกิดอีก ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่เกิด

       เหมือนกันกับฟ้าผ่าเปรี้ยงลงที่ต้นไม้ หรือโคตรเพชรโคตรหิน ต้นไม้ต้นนั้นก็ดับไปเลย ตายไปเลย เอาเคมี เอายาดีมาใส่มันก็ไม่เกิดอีก ดับไปเลย ข้อนี้ฉันใด ในขณะที่รูปนามมันดับลงไป มันก็ดับไปเลยไม่กลับเกิดอีก

       ถ้ามันดับไปครั้งที่ ๑ ก็ชื่อว่า โลภะ ละได้ ๔ ตัว โทสะ ละยังไม่ได้ โมหะ ละได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา ถ้าเราเจริญพระกัมมัฏฐานเห็นทุกขังปรากฏชัด ที่กำหนดไปๆ ดับวูบลงไป หรือสัปหงกวูบลงไป คือ ในขณะนั้น รูป คืออาการพองอาการยุบของเรามันก็ดับ นาม คือความรู้สึกของเรา คือจิตของเรามันก็ดับ และในขณะนั้น กิเลสตัณหา โลภ โกรธ หลง มันก็ดับลงไป แล้วก็ดับไปเล
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า:  1 ... 5 6 [7]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.689 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 22 กุมภาพันธ์ 2567 04:28:51