[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 15:57:07 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระปริตรธรรม ๑๒ ตำนาน  (อ่าน 10555 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 25 มีนาคม 2559 16:08:26 »



พระปริตรธรรม ๑๒ ตำนาน
พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง
แปล

คำบาลีในบทสวดมนต์นี้แตกต่างจากหนังสือบทสวดมนต์ทั่วไปในบางแห่ง เนื่องจากผู้แปลได้นำพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ มาเทียบเคียงกัน มีฉบับไทย ฉบับสิงหล และฉบับฉัฏฐสังคีติ (ฉบับสังคายนาครั้งที่ ๖) ที่พระเถระนิกายเถรวาท ๕ ประเทศ คือ ไทย พม่า ลังกา ลาว และเขมร ได้ร่วมกันสังคายนาที่ประเทศสหภาพพม่าในพุทธศักราช ๒๕๐๐ แล้วเลือกใช้คำบาลีที่ผู้แปลเห็นว่าถูกต้องตามหลักภาษา

คัมภีร์แปลและคำอธิบายที่ผู้แปลใช้เทียบเคียงในการแปล คือ
๑.คัมภีร์อรรถกถา ในส่วนที่อธิบายพระปริตรนั้นๆ
๒.ปริตตฎีกา พระเตโชทีปะ แต่งในสมัยอังวะ พุทธศักราช ๒๑๕๓
๓.พระปริตรแปลภาษาพม่า ฉบับแปลใหม่ พระวาเสฏฐาภิวงศ์ แต่งในพุทธศักราช ๒๕๐๕
๔.ธรรมจักรเทศนา พระโสภณมหาเถระ (มหาสียสาดอ) แต่งในพุทธศักราช ๒๕๐๕
๕.สวดมนต์เจ็ดตำนาน ฉบับกองทัพอากาศ นาวาอากาศเอก (พิเศษ) แย้ม ประพัฒน์ทอง แต่งในพุทธศักราช ๒๕๓๘
๖.อานุภาพพระปริตต์ อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ แต่งในพุทธศักราช ๒๕๑๗

นอกจากคำแปลพระปริตรแล้วผู้แปลยังได้เขียนประวัติความเป็นมาของพระปริตรนั้นๆ โดยนำข้อความมาจากคัมภีร์อรรถกถาตามสมควร และในบทสุดท้ายมีบทสวดธรรมจักร และคำแปลพร้อมทั้งประวัติความเป็นมาด้วย และขอขอบคุณอาจารย์สันติ เมตตาประเสริฐ ที่ช่วยขัดเกลาคำแปลให้สละสลวย


ประวัติพระปริตร
พระปริตร แปลว่าเครื่องคุ้มครอง คือป้องกันอันตรายภายนอก มีโจร ยักษ์ สัตว์เดรัจฉาน และป้องกันอันตรายภายใน มีโรคภัยไข้เจ็บเป็นต้น อานิสงส์ที่ได้รับจากการสวดพระปริตรนี้ บังเกิดขึ้นจากอานุภาพของพระรัตนตรัยและเป็นผลของการเจริญเมตตาภาวนา เพราะพระปริตรกล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัยและการเจริญเมตตาเป็นหลัก  ดังนั้น ผู้หมั่นสาธยายพระปริตรจึงได้รับผลานิสงส์ต่างๆ เช่น ประสบความสวัสดี ความเจริญรุ่งเรือง ได้รับชัยชนะ แคล้วคลาดจากอุปสรรคอันตราย มีสุขภาพอนามัยดี และมีอายุยืน ดังพระพุทธดำรัสว่า

“เธอจงเจริญพุทธานุสสติภาวนาที่ยอดเยี่ยมในภาวนาธรรม เพราะผู้เจริญภาวนานี้จะสมหวังดังมโนรถ”

“อมนุษย์ที่ต้องการจะทำร้ายผู้เจริญเมตตา ย่อมประสบภัยพิบัติเอง เหมือนคนที่ใช้มือจับหอกคม ย่อมได้รับอันตรายจากการจับหอกนั้น”


ประโยชน์ในปัจจุบัน
ในคัมภีร์อรรถกถาพบเรื่องอานุภาพพระปริตรสามารถคุ้มครองผู้สวดได้ เช่นเรื่องพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทอง พระองค์ได้หมั่นสาธยายโมรปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้า ทำให้แคล้วคลาดจากบ่วงที่นายพรานดักไว้ และเรื่องในสมัยพุทธกาล มีภิกษุห้าร้อยรูปไปเจริญภาวนาในป่า ได้ถูกเทวดารบกวนจนกระทั่งปฏิบัติธรรมไม่ได้ ต้องเดินทางกลับเมืองสาวัตถี ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเมตตปริตร ที่กล่าวถึงการเจริญเมตตา ครั้นภิกษุเหล่านั้นหมั่นเจริญเมตตาภาวนา เทวดาจึงมีไมตรีจิตตอบด้วยและช่วยพิทักษ์คุ้มครองให้ภิกษุเหล่านั้นปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก

นอกจากนี้แล้ว อานุภาพพระปริตรยังสามารถคุ้มครองผู้ฟังได้อีกด้วย ดังพบเรื่องในคัมภีร์อรรถกถาว่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อเมืองเวสาลีประสบภัย ๓ อย่าง คือ ความอดอยากแร้นแค้น การเบียดเบียนจากอมนุษย์ และการแพร่ของโรคระบาด พระพุทธเจ้าได้รับนิมนต์เสด็จไปโปรด พระองค์รับสั่งให้พระอานนท์สวดรัตนปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย ภัยดังกล่าวในเมืองนั้นจึงสงบลง ในอรรถกถาอีกคัมภีร์หนึ่งมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล เด็กคนหนึ่งจะถูกยักษ์จับกินภายใน ๗ วัน พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ภิกษุสวดพระปริตรตลอดเจ็ดคืน และพระองค์ได้เสด็จไปสวดด้วยพระองค์เองในคืนที่แปด เด็กนั้นก็สามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติของอมนุษย์นั้นได้ มีอายุยืน ๑๒๐ ปี บิดามารดาจึงตั้งชื่อเด็กว่า อายุวัฑฒนกุมาร แปลว่า “เด็กผู้มีอายุยืน” เพราะรอดพ้นจากอันตรายดังกล่าว


ประโยชน์ในอนาคต
เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระเสด็จไปโปรดโกสิยชฎิล ณ ภูเขานิสภะ ขฎิลตนนั้นได้พบพระองค์แล้วเกิดโสมนัสปราโมทย์ นำดอกไม้มาประดับเป็นอาสนะที่ประทับ พระพุทธเจ้าได้ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติในที่นั้นตลอดเจ็ดวัน โกสิยชฎิลได้ยืนประนมมือระลึกถึงพระพุทธคุณตลอดเจ็ดวันเช่นกัน  กุศลที่เกิดจากการระลึกถึงพระพุทธคุณนี้ ทำให้โกสิยชฎิลเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๓ หมื่นกัป เป็นท้าวสักกะจอมเทพ ๘๐ ชาติ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑,๐๐๐ ชาติ เป็นพระราชานับชาติไม่ถ้วน ในระหว่างนี้เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นเศรษฐีมีทรัพย์ และไม่เคยไปเกิดในอบายภูมิเลย ในภาพสุดท้ายได้ออกบวชเป็นพระภิกษุ ท่านปรากฏพระนามว่าพระสุภูติเถระ ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นเลิศในการเจริญฌาน ประกอบด้วยเมตตาและเป็นทักขิไณยบุคคล

อานิสงส์พระปริตร
โบราณาจารย์ได้รวบรวมอานิสงส์ของพระปริตรไว้ดังนี้ คือ
    ๑.เมตตปริตร ทำให้หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทพพิทักษ์รักษา ไม่มีภยันตราย จิตเกิดสมาธิง่าย ใบหน้าผ่องใส มีสิริมงคล ไม่หลงสติในเวลาเสียชีวิต และเกิดเป็นพรหมเมื่อบรรลุเมตตาฌาน
    ๒.ขันธปริตร  ป้องกันภัยจากอสรพิษและสัตว์ร้ายอื่นๆ
    ๓.โมรปริตร  ป้องกันภัยจากผู้คิดร้าย
    ๔.อาฏานาฏิยปริตร  ป้องกันภัยจากอมนุษย์ ทำให้มีสุขภาพดี และมีความสุข
    ๕.โพชฌังคปริตร  ทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืน และพ้นจากอุปสรรคทั้งปวง
    ๖.ชัยปริตร  ทำให้ประสบชัยชนะและมีความสุขสวัสดี
    ๗.รัตนปริตร  ทำให้ได้รับความสวัสดี พ้นจากอุปสรรค และอันตราย
    ๘.วัฏฏกปริตร  ทำให้พ้นจากอัคคีภัย
    ๙.มังคลปริตร  ทำให้เกิดสิริมงคลและปราศจากอันตราย
  ๑๐.ธชัคคปริตร  ทำให้พ้นจากอุปสรรคอันตราย และการตกจากที่สูง
  ๑๑.อังคุลิมาลปริตร  ทำให้คลอดบุตรง่าย ป้องกันอุปสรรค และอันตราย
  ๑๒.อภยปริตร  ทำให้พ้นจากภัยพิบัติและไม่ฝันร้าย


ทรงแนะนำให้สวดพระปริตร
พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้พุทธบริษัทสวดพระปริตรเพื่อคุ้มครองตน เช่นในอาฏานาฏิยสูตร มีพระพุทธดำรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเรียนมนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร พวกเธอจงศึกษามนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร  พวกเธอจงทรงจำมนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนต์คุ้มครองคืออาฏานาฏิยปริตร ประกอบด้วยประโยชน์ ย่อมเป็นไปเพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อความอยู่เป็นสุขของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา”

อนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระสูตรอื่นว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตการแผ่เมตตาแก่พญางูทั้งสี่ตระกูลเพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อกระทำการป้องกันตน”


องค์ของผู้สวดและผู้ฟัง
พระปริตรจะมีอานุภาพมาก เมื่อผู้สวดพระปริตรเพียบพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ มีเมตตาจิตมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง สวดถูกอักษร ไม่มีบทพยัญชนะที่ผิดพลาด และรู้ความหมายของบทสวด แม้ผู้ฟังพระปริตรก็ต้องมีองค์ ๓ คือ ไม่เคยทำอนันตริยกรรม ๕ (ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป และทำสังฆเภท) ไม่มีมิจฉาทิฏฐิที่เห็นผิดว่ากรรมและผลกรรมไม่มี และเชื่อมั่นอานุภาพพระปริตรว่ามีจริง สามารถคุ้มครองผู้ฟังได้

จำนวนพระปริตร
โบราณาจารย์ได้จำแนกพระปริตรออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑.จุลราชปริตร (เจ็ดตำนาน) มี ๗ ปริตร คือ
     ๑.มังคลปริตร
     ๒.รัตนปริตร
     ๓.เมตตปริตร
     ๔.ขันธปริตร
     ๕.โมรปริตร
     ๖.ธชัคคปริตร
     ๗.อาฏานาฏิยปริตร
๒.มหาราชปริตร (สิบสองตำนาน) มี ๑๒ ปริตร คือ
     ๑.มังคลปริตร
     ๒.รัตนปริตร
     ๓.เมตตปริตร
     ๔.ขันธปริตร
     ๕.โมรปริตร
     ๖.วัฏฏกปริตร
     ๗.ธชัคคปริตร
     ๘.อาฏานาฏิยปริตร
     ๙.อังคุลิมาลปริตร
   ๑๐.โพชฌังคปริตร
   ๑๑.อภยปริตร
   ๑๒.ชัยปริตร


ลำดับพระปริตร
ลำดับพระปริตรในมิลินทปัญหาและคัมภีร์อรรถกถาต่างๆ แตกต่างกัน  ส่วนลำดับพระปริตรในบทสวดมนต์ไทยและพม่าเหมือนกัน ในพระปริตรฉบับนี้ ผู้แปลได้เรียงลำดับพระปริตรใหม่ เริ่มจากเมตตปริตร ขันธปริตร โมรปริตร อาฏานาฏิยปริตร และโพชฌังคปริตร ฯลฯ  โดยเน้นพระปริตรที่กล่าวถึงเมตตาภาวนาและคุณของพระรัตนตรัยเป็นหลัก

พระปริตรที่ควรสวดเสมอ
ผู้ที่มีเวลาน้อยควรสวดพระปริตรที่สั้นและสำคัญ จึงควรสวดพระปริตร ๔ บทแรกคือ เมตตปริตร ขันธปริตร โมรปริตร และอาฏานาฏิยปริตร เมตตปริตรและขันธปริตร เน้นการเจริญเมตตาภาวนา โมรปริตรและอาฏานาฏิยปริตร เน้นการเจริญพระพุทธคุณ ผู้ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ควรสวดโพชฌังคปริตรอีกด้วย พระเถระชาวพม่าผู้ทรงพระไตรปิฎก คือท่านอาจารย์สิรินทาภิวงศ์ เจ้าอาวาสวัดวิสุทธาราม จังหวัดย่างกุ้ง ประเทศสหภาพพม่า ก็มีความเห็นว่าควรสวดพระปริตร ๔ บทนั้นเสมอ

ก่อนจะสวดพระปริตรทุกครั้ง ผู้สวดควรสวดบทมหานมัสการแล้วสมาทานศีลห้า หลังจากนั้น ให้สวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ แล้วจึงสวดพระปริตรหรือคาถาอื่นๆ ต่อไป บทมหานมัสการนั้นเป็นคำแสดงความนอบน้อมคุณทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้า คือ พระกรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ จึงเป็นบทที่ชาวพุทธนิยมสวดก่อนจะสวดมนต์ การสมาทานศีลทุกวันเป็นการรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่เป็นนิตย์ การสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ก็เป็นการเจริญกรรมฐาน คือ พุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ และสังฆานุสสติ บุคคลผู้หมั่นระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยจะเพิ่มพูนศรัทธาในพระศาสนาเป็นอย่างดี

นอกจากนั้นชาวพุทธควรสวดบทธรรมจักรทุกวันพระ จะส่งผลให้ป้องกันภัยอันตรายและทำให้ผู้สวดประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต เพราะธรรมจักรเป็นพระธรรมเทศนาแรกที่กล่าวถึงอริยสัจสี่ จึงเป็นบทที่เทวดาเคารพบูชายิ่งนัก คนไทยในสมัยก่อนเชื่อว่าบุคคลที่สวดธรรมจักรนี้ทุกวันพระ แล้วอธิษฐานให้ครอบครัวหรือญาติพี่น้องมีความสวัสดี จะมีผลานิสงส์ทำให้ผู้สวดและผู้ที่ตนแผ่ไปถึงมีความสวัสดี แคล้วคลาดจากอุบัติเหตุ ทุกอย่างได้

อานุภาพของพระปริตรที่สวดด้วยจิตที่มีสมาธิแน่วแน่ จะแผ่ไปถึงแสนโกฏิจักรวาล ทำให้ผู้สวดได้รับผลานิสงส์มหาศาลหาประมาณมิได้ คนที่ไม่สวดพระปริตรจะไม่สามารถรับรู้อานิสงส์ได้เลย เหมือนคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารย่อมไม่อาจรับรู้รสอาหารและผลของการรับประทานได้ ดังนั้นขอให้พุทธบริษัทเชื่อมั่นอานุภาพพระปริตร หมั่นสวดพระปริตรอยู่เนืองนิตย์ และได้รับประโยชน์สุขทั่วกันทุกท่าน


พระปริตรธรรม
มหานมัสการ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง พระองค์นั้น
            [๓ ครั้ง]
โบราณาจารย์เรียกบทนี้ว่า มหานมัสการ คือ บทนอบน้อมที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นบทแรกที่ชาวพุทธนิยมสวดนอบน้อมพระพุทธเจ้า ความจริงแล้วบทนี้เป็นคำอุทานที่เปล่งออกด้วยความปีติยินดีที่ซาบซึ้งในพระพุทธคุณ ในสมัยพุทธกาลมีบุคคลหลายคนที่เปล่งอุทานคำนี้เพื่อนอบน้อมพระพุทธเจ้า เช่น ท้าวสักกะ พราหมณ์พรหมายุ พราหมณ์อารามทัณฑะ และนางธนัญชานี เป็นต้น ดังปรากฏในพระสูตรนั้นๆ


ไตรสรณคมน์
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.  ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.  ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.  ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ทุติยัมปิ ธัมมัง  สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ทุติยัมปิ สังฆัง  สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๒ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ.  แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง
ตะติยัมปิ  สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ. แม้ครั้งที่ ๓ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง


สมาทานศีล ๕
ปาณาติปาณา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
อะทินนาทานา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการลักทรัพย์
กาเมสุมิฉาจารา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทาน สิกขาบท ที่งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
มุสาวาทา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการพูดเท็จ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณิสิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท ที่งดเว้นจากการดื่มของเมา คือสุราเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท


พระพุทธคุณ
อิติปิโส ภะคะวา แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
อะระหัง,  เป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทโธ,  ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
วิชชาจะระณะสัมปันโน,  ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ
สุคะโต,  เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว
โลกะวิทู,  ทรงรู้แจ้งโลก
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ,  ทรงเป็นสารถีฝึกบุคคลที่ควรฝึก ไม่มีใครยิ่งกว่า
สัตถา เทวะมะนุสสานัง,  ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พุทโธ,  ทรงเป็นผู้รู้แจ้ง
ภะคะวา,  ทรงเป็นผู้อธิบายธรรม

พระผู้มีพระภาค คือพระผู้มีภคธรรมหรือบุญญาภินิหาร ๖ อย่าง อันได้แก่ อิสสริยะ คือการควบคุมจิต, ธัมมะ คือโลกุตรธรรม ๙,  ยสะ คือเกียรติยศ,  สิริ คือสิริมงคลทางพระวรกาย,  กามะ คือความสำเร็จสมประสงค์ และปยัตตะ คือความอุตสาหะ


พระธรรมคุณ
สฺวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม. พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว
สันทิฏฐิโก,  เป็นธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง
อะกาลิโก,  ไม่ขึ้นกับกาล
เอหิปัสสิโก,  เป็นธรรมที่ควรมาดู
โอปะนะยิโก,  ควรน้อมมาปฏิบัติ
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ.  เป็นธรรมที่วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน


พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และปริยัติธรรม ๑ เป็นธรรมที่ไพเราะโดยอรรถและพยัญชนะ  ในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พระธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง คือโลกุตรธรรม ๙ อันได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ พระธรรมที่ไม่ขึ้นกับกาล คือมรรค ๔ ที่ส่งผลทันที พระธรรมที่ควรมาดู ควรน้อมมาปฏิบัติ และวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน คือโลกุตรธรรม ๙

พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี
            [ตามพระพุทธพจน์]
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติตรง
            [ตามมัชฌิมาปฏิปทา]
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติที่ควรนับถือ
ยะทิทัง จิตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา,
ท่านเหล่านั้น คือบุรุษ ๔ คู่ กล่าวคือพระอริยบุคคล ๘ จำพวก
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.  นี้แหละพระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค
อาหุเนยโย,  ผู้ควรรับสักการะ
ปาหุเนยโย,  ผู้ควรแก่ของต้อนรับ
ทักขิเนยโย,  ผู้ควรรับทักษิณาทาน
อัญชะลิกะระณีโย,  ผู้ควรอัญชลีกรรม
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ.  เป็นนาบุญอันประเสริฐของโลก



 


ภาพประกอบตำนานเมตตปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานเมตตปริตร

เมตตปริตร คือปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตา มีประวัติว่า สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุ ๕๐๐ รูปเรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์ แล้วเดินทางไปแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม พวกท่านได้ไปถึงไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ปรึกษากันว่าสถานที่นี้เหมาะสมแก่การเจริญสมณธรรม จึงตกลงใจอยู่จำพรรษาในที่นั้น ชาวบ้านก็มีจิตศรัทธา สร้างกุฏิถวายให้พำนักรูปละหนึ่งหลังและอุปัฏฐากด้วยปัจจัยสี่มิให้ขาดแคลน

เมื่อฝนตกพวกท่านจะเจริญกรรมฐานที่กุฏิ ครั้นฝนไม่ตกก็จะมาปฏิบัติที่โคนไม้ รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ไม่อาจอยู่ในวิมานได้ เพราะผู้ทรงศีลมาอยู่ใต้วิมานของตน จึงต้องพากันลงมาอยู่บนพื้น เบื้องแรกคิดว่า พวกภิกษุคงจะอยู่ชั่วคราว ก็ทนรอดูอยู่ชั่วคราว แต่เมื่อรู้ว่ามาจำพรรษาตลอดไตรมาส เกิดความไม่พอใจ คิดจะขับไล่ ให้กลับไปในระหว่างพรรษา ฉะนั้นจึงพยายามหลอกหลอนด้วยวิธีต่างๆ เช่น สำแดงรูปร่างที่น่ากลัว ร้องเสียงโหยหวน ทำให้ได้รับกลิ่นเหม็นต่างๆ

ฝ่ายภิกษุพากันหวาดหวั่นตกใจต่ออารมณ์ที่น่ากลัวเหล่านั้น ไม่สามารถจะปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก จึงปรึกษากันว่าพวกเราไม่ควรจะอยู่ในสถานที่นี้ แต่ควรจะกลับไปจำพรรษาหลังในสถานที่อื่น และได้เดินทางกลับโดยไม่บอกลาชาวบ้าน เมื่อมาถึงวัดพระเชตวันได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลเรื่องนี้ แต่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่าสถานที่เดิมเหมาะสมกับภิกษุเหล่านี้มากกว่าที่อื่น จึงทรงแนะนำให้พวกท่านกลับไปสถานที่นั้น พร้อมกับตรัสสอนเมตตปริตรเพื่อเจริญเมตตาแก่รุกขเทวดา

เมื่อพวกภิกษุได้เรียนเมตตปริตรจากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงเดินทางกลับไปยังสถานที่เดิม ก่อนจะเข้าสู่ราวป่า ก็ได้เจริญเมตตาภาวนาโดยสาธยายพระปริตรนี้ อานุภาพแห่งเมตตาทำให้รุกขเทวดามีจิตอ่อนโยน มีไมตรี จึงไม่เบียดเบียนเหมือนก่อน ทั้งยังช่วยปรนนิบัติและคุ้มครองภัยอื่นๆ อีกด้วย ภิกษุเหล่านั้นได้พากเพียรเจริญเมตตาภาวนาแล้วเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อมา โดยใช้เมตตาเป็นบาทแห่งวิปัสสนา ทุกรูปได้บรรลุอรหัตผลภายในพรรษานั้น

เมตตปริตร
๑.กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ
   ยันตะ สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ
   สักโก อุชู จะ สุหุชู จะ
   สูวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี
.
ภิกษุผู้ฉลาดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ประสงค์จะบรรลุแดนสงบ พึงอบรมสิกขาสาม ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้อาจหาญ เป็นคนตรง แน่วแน่ ว่าง่าย อ่อนโยน ไม่ถือตัว

๒.สันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ
   อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ
   สันตินทฺริโย จะ นิปะโก จะ
   อัปปะคัพโภ กุเลสฺวะนะนุคิทโธ.

พึงเป็นผู้สันโดษ เลี้ยงง่าย มีกิจธุระน้อย ดำเนินชีวิตเรียบง่าย มีอินทรีย์สงบ มีปัญญารักษาตน มีการสำรวมกายวาจาใจ ไม่พัวพันกับสกุลทั้งหลาย

๓.นะ จะ ขุททะมาจะเร กิญจิ
   เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง
   สุขิโน วะ เขมิโน โหนตุ
   สัพพะสัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
.
ไม่พึงประพฤติสิ่งเล็กน้อยอะไรๆ ที่จะเป็นเหตุให้ผู้รู้ตำหนิ [พึงแผ่เมตตาว่า] ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุขกาย สุขใจ ปลอดจากภัยทั้งปวงเถิด

๔.เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ
   ตะสา วา ถาวะรา วะนะวะเสสา
   ทีฆา วา เย วะ มะหันตา
   มัชฌิมา รัสสะกา อะณุกะถูลา
,
สัตว์ทั้งหลายที่มีความหวาดกลัวก็ดี ที่มั่นคงก็ดี ทั้งหมด ทั้งที่มีกายยาว ใหญ่ ปานกลาง สั้น ละเอียด หรือหยาบ

๕.ทิฏฐา วา เย วะ อะทิฏฐา
   เย วะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร
   ภูตา วะ สัมภะเวสี วะ
   สัพพะสัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา.

ทั้งที่เคยเห็นหรือไม่เคยเห็น อยู่ไกลหรือใกล้ ที่เกิดแล้วหรือที่กำลังแสวงหาที่เกิด สัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น จงมีความสุขกาย สุขใจเถิด

๖.นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ
   นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นะ กัญจิ
   พฺยาโรสะนา ปะฏิฆะสัญญะ
   นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ.

บุคคลไม่พึงหลอกลวงกัน ไม่พึงดูหมิ่นใครในที่ไหน ไม่พึงปรารถนาทุกข์แก่กันและกันด้วยการเบียดเบียนหรือด้วยใจมุ่งร้าย

๗.มาตา ยะถา นิยัง ปุตตะ
   มายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข
   เอวัมปิ สัพพะภูเตสุ
   มานะสัง ภาวะเย อะปะริมาณัง.

มารดาถนอมบุตรคนเดียวของตนด้วยชีวิตฉันใด บุคคลพึงเจริญเมตตาจิต ไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งปวงฉันนั้น

๘.เมตตัญจะ สัพพะโลกัสฺมิ
   มานะสัง ภาวะเย อะปะริมาณัง
   อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ
   อะสัมพาธัง อะเวระมะสะปัตตัง.

บุคคลพึงเจริญเมตตาจิต อันไม่มีประมาณ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ในสัตว์โลกทั้งหมด ทั้งในอรูปภูมิเบื้องบน รูปภูมิเบื้องกลาง และกามาวจรภูมิเบื้องต่ำ

๙.ติฏฐัง จะรัง นิสินโน วะ
   สะยาโน ยาวะตาสสะ วิตะมิทโธ
   เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ
   พฺรหฺมะเมตัง วิหาระมิธะ มาหุ.

เมื่อยืน เดิน นั่ง หรือนอน พึงเป็นผู้ปราศจากความง่วง ตั้งสติอย่างนี้ไว้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสการปฏิบัติเช่นนี้ว่า เป็นความประพฤติอันประเสริฐในพระศาสนานี้

๑๐.ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ
   สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน
   กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง
   นะ หิ ชาตุคคัพภะเสยยะ ปุนะเรติ.

บุคคลผู้นั้นจะไม่กล้ำกรายความเห็นผิด เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยความเห็นชอบ เมื่อขจัดความยินดีในกามได้แล้ว ย่อมไม่เข้าถึงการเกิดในครรภ์อีกอย่างแน่แท้.


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ตุลาคม 2560 11:41:33 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 19 เมษายน 2559 15:09:48 »



ภาพประกอบตำนานขันธปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานขันธปริตร

ขันธปริตร คือพระปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูล และเจริญเมตตาแก่สรรพสัตว์ มีประวัติว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด เหล่าภิกษุได้กราบทูลความนี้แด่พระพุทธองค์ พระองค์ตรัสว่า ภิกษุนั้นถูกงูกัดเพราะไม่ได้แผ่เมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูล ผู้แผ่เมตตาแก่พญางูเหล่านั้นจะไม่ถูกงูกัด แล้วตรัสสอนให้แผ่เมตตาแก่พญางูทั้ง ๔ ตระกูล คือ งูตระกูลวิรูปักษ์ งูตระกูลเอราบถ งูตระกูลฉัพยาบุตร และงูตระกูลกัณหาโคดม

ในอรรถกถาชาดกมีประวัติดังนี้ เมื่อภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด พระพุทธเจ้าตรัสว่าเราเคยสอนขันธปริตรในขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ คือเมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นฤๅษีที่ป่าหิมพานต์ ได้พำนักอยู่ร่วมกับฤๅษีเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้นมีฤๅษีตนหนึ่งถูกงูกัดเสียชีวิต จึงสอนขันธปริตรแก่พวกฤๅษีเพื่อป้องกันภัยจากอสรพิษ

ขันธปริตร
๑.วิรูปักเขหิ เม เมตตัง   เมตตัง เอราปะเถหิ เม
   ฉัพฺยาปุตเตหิ เม เมตตัง   เมตตัง กัณหาโคตะมะเกหิ จะ.

ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลวิรูปักษ์  ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลเอราบถ ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลฉัพยาบุตร ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในงูตระกูลกัณหาโคดม

๒.อะปาทะเกหิ เม เมตตัง   เมตตัง ทฺวิปาทะเกหิ เม
   จะตุปปะเทหิ เม เมตตัง   เมตตัง พะหุปปะเทหิ เม.

ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในสัตว์ไม่มีเท้า ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในสัตว์สองเท้า  ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตใจสัตว์สี่เท้า ข้าพเจ้าขอแผ่เมตตาจิตในสัตว์ที่มีเท้ามาก

๓.มา มัง อะปาทะโก หิงสิ   มา มัง หิงสิ ทฺวิปาทะโก
   มา มัง จะตุปปะโท หิงสิ   มา มัง หิงสิ พะหุปปะโท.

สัตว์ที่ไม่มีเท้าอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า สัตว์ที่มีสองเท้าอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า  สัตว์ที่มีสี่เท้าอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า และสัตว์ที่มีเท้ามากอย่าได้เบียดเบียนข้าพเจ้า

๔.สัพเพ สัตตา สัพเพ ปาณา   สัพเพ ภูตา จะ เกวะลา
   สัพเพ ภัทฺรานิ ปัสสันตุ   มา กัญจิ ปาปะมาคะมา.

ขอสัตว์ทั้งปวง ปราณชาติทั้งปวง สัตว์ที่เกิดแล้วทั้งปวงทั้งหมด จงประสบความเจริญทุกผู้ ขอความทุกข์อย่าได้เข้าถึงใครๆ เลย

๕.อัปปะมาโณ พุทโธ,   อัปปะมาโณ ธัมโม,
   อัปปะมาโณ สังโฆ,   ปะมาณะวันตานิ สะรีสะปานิ,
   อะหิ วิจฉิกา สะตะปะที   อุณณะนาภิ สะระพู มูสิกา.

พระพุทธเจ้าทรงพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมทรงพระคุณหาประมาณมิได้ พระสงฆ์ทรงพระคุณหาประมาณมิได้ แต่สัตว์เลื้อยคลาน คือ งู แมงป่อง ตะขาบ แมงมุม ตุ๊กแก และหนู เป็นสัตว์ที่ประมาณได้

๖.กะตา เม รักขา. กะตัง เม ปะริตตัง. ปะฏิกกะมันตุ ภูตานิ. โสหัง นะโม ภะคะวะโต, นะโม สัตตันนัง สัมมาสัมพุทธานัง.
ข้าพเจ้าได้คุ้มครองตนแล้ว ข้าพเจ้าได้ป้องกันตนแล้ว เหล่าสัตว์จงหลีกไป ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาค ขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์.




ภาพประกอบตำนานโมรปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานโมรปริตร

โมรปริตร คือปริตรของนกยูง เป็นพระปริตรบทหนึ่งที่กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมพระพุทธคุณมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี มีประวัติว่า สมัยหนึ่ง ครั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทองอาศัยอยู่บนเขาทัณฑกหิรัญบรรพต ในป่าหิมพานต์ พระโพธิสัตว์ได้เพ่งดูพระอาทิตย์ในเวลาพระอาทิตย์อุทัย แล้วร่ายมนต์สาธยายสองคาถาแรกว่า อุเทตะยัง เป็นต้น แล้วจึงออกแสวงหาอาหาร ครั้นกลับจากการแสวงหาอาหารในเวลาพระอาทิตย์อัสดง ก็เพ่งดูพระอาทิตย์พร้อมกับร่ายมนต์สาธยายสองคาถาหลังว่า อะเปตะยัง เป็นต้น นกยูงทองจึงแคล้วคลาดจากอันตรายทุกอย่างด้วยมนต์บทนี้

วันหนึ่งพรานป่าจากหมู่บ้านใกล้เมืองพาราณสีได้พบนกยูงทองโดยบังเอิญ จึงบอกความนั้นแก่บุตรของตน ขณะนั้นพระนางเขมาเทวีมเหสีพระเจ้าพาราณสี ทรงพระสุบินว่า พระนางเห็นนกยูงทองแสดงธรรมอยู่ จึงกราบทูลพระสวามีว่าทรงประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงทอง ท้าวเธอจึงรับสั่งให้พรานป่าสืบหา พรานป่าที่เคยได้ยินคำบอกเล่าของบิดาได้มากราบทูลว่า นกยูงทองมีอยู่จริงที่เขาทัณฑกหิรัญบรรพต ท้าวเธอจึงทรงมอบหมายให้เขาจับนกยูงทองมาถวาย

พรานป่าคนนั้นได้เดินทางไปป่าหิมพานต์ แล้ววางบ่วงดักนกยูงทองไว้ทุกแห่งในที่นกยูงหาอาหาร แม้เวลาผ่านไปถึง ๗ ปีเขาก็ยังจับไม่ได้ เพราะนกยูงทองแคล้วคลาดบ้าง บ่วงไม่แล่นบ้าง จนในที่สุดพรานป่าได้เสียชีวิตอยู่ในป่านั้น ฝ่ายพระนางเขมาเทวีก็ประชวรสิ้นพระชนม์ เพราะเสียพระทัยที่ไม่สมพระประสงค์ พระเจ้าพาราณสีจึงทรงพิโรธแล้วได้รับสั่งให้จารึกอักษรลงในแผ่นทองว่า ผู้กินเนื้อนกยูงทองที่เขาทัณฑกหิรัญบรรพต จะไม่แก่ไม่ตาย ต่อมาภายหลังไม่นานพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ พระราชาองค์อื่นที่ทรงครองราชย์สืบต่อมาทรงพบข้อความนั้น จึงทรงส่งพรานป่าไปจับนกยูงทอง แต่ไม่มีใครสามารถจับได้ กาลเวลาได้ล่วงเลยไปจนเปลี่ยนพระราชาถึง ๖ พระองค์

ครั้นถึงสมัยพระราชาองค์ที่ ๗ พระองค์ก็รับสั่งให้พรานป่าไปจับนกยูงทองนั้นอีก พรานคนนี้ฉลาดหลักแหลม สังเกตการณ์อยู่หลายวันก็รู้ว่า นกยูงทองไม่ติดบ่วงเพราะมีมนต์ขลัง ก่อนออกหาอาหารจะทำพิธีร่ายมนต์ จึงไม่มีใครสามารถจับได้ เขาคิดว่าจะต้องจับนกยูงทองก่อนที่จะร่ายมนต์ จึงได้นำนางยูงตัวหนึ่งมาเลี้ยงให้เชื่อง แล้วส่งเสียงร้อง นกยูงทองเมื่อได้ยินเสียงนางนกยูง ก็ลืมสาธยายมนต์คุ้มครองตน เผลอตัวบินไปหานางนกยูงโดยเร็ว จึงติดบ่วงที่ดักไว้ ครั้นแล้วพรานป่าได้นำนกยูงทองพระโพธิสัตว์ไปถวายพระเจ้าพาราณสี

เมื่อพระโพธิสัตว์เข้าเฝ้าพระเจ้าพาราณสีแล้ว ได้ทูลถามว่า “เพราะเหตุไรพระองค์จึงจับหม่อมฉันมา”
ท้าวเธอตรัสว่า “เพราะมีจารึกว่าผู้กินเนื้อนกยูงทอง จะไม่แก่ ไม่ตาย”
พระโพธิสัตว์ทูลว่า “ผู้กินเนื้อหม่อมฉันจะไม่ตาย แต่หม่อมฉันจะต้องตายมิใช่หรือ”
ท้าวเธอตรัสว่า “ถูกแล้ว เจ้าจะต้องตาย”
พระโพธิสัตว์ทูลว่า “เมื่อหม่อมฉันจะต้องตาย แล้วผู้กินเนื้อหม่อมฉัน จะไม่ตายได้อย่างไร”
ท้าวเธอตรัสว่า “เพราะเจ้ามีขนสีทอง จึงทำให้ผู้กินเนื้อเจ้าไม่ตาย”
พระโพธิสัตว์ทูลว่า “หม่อมฉันมีขนสีทองก็เพราะภพก่อนเคยเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในพระนครพาราณสีนี้ ได้รักษาเบญจศีลเป็นนิตย์และชักชวนให้ราษฎรรักษา”

หลังจากนั้นพระโพธิสัตว์ได้ทูลเรื่องที่พระองค์เคยฝังราชรถที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิไว้ที่สระมงคลโบกขรณี พระเจ้าพาราณสีได้รับสั่งให้ไขน้ำออกจากสระแล้วกู้ราชรถขึ้นมา จึงทรงเชื่อคำพระโพธิสัตว์ หลังจากนั้นพระโพธิสัตว์ได้ถวายโอวาทพระราชาให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แล้วเสด็จกลับไปยังป่าหิมพานต์ตามเดิม

โมรปริตร
๑.อุเทตะยัง จักขุมา เอกะราชา
   หะริสสะวัณโณ ปะถะวิปปะภาโส
   ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะถะวิปปะภาสัง
   ตะยาชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง.

พระอาทิตย์ผู้เป็นดวงตาของโลก ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้เสด็จอุทัยขึ้น ทรงพระรัศมีสีทองสาดส่องปฐพี ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าขอนมัสการพระอาทิตย์ผู้ทรงรัศมีสีทองสาดส่องปฐพีพระองค์นั้น พระองค์ได้คุ้มครองข้าพระองค์ในวันนี้แล้ว ขอให้ข้าพระองค์มีชีวิตยั่งยืนอยู่ตลอดวัน

๒.เย พฺราหฺมะณา เวทะคู สัพพะธัมเม
   เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
   นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
   นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
   อิมัง โส ปะริตตัง กัตฺวา โมโร จะระติ เอสะนา.

พระพุทธเจ้าเหล่าใด ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้น จงคุ้มครองข้าพเจ้า ขอนับน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าผู้หลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม เมื่อนกยูงนั้นสาธยายพระปริตรอย่างนี้แล้ว จึงออกแสวงหาอาหาร

๓.อะเปตะยัง จักขุมา เอกะราชา
   หะริสสะวัณโณ ปะถะวิปปะภาโส
   ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะถะวิปปะภาสัง
   ตะยาชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง.

พระอาทิตย์ผู้เป็นดวงตาของโลกผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้เสด็จอัสดงคต ทรงพระรัศมีสีทองสาดส่องปฐพี ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าขอนมัสการพระอาทิตย์ ผู้ทรงรัศมีสีทองสาดส่องปฐพีพระองค์นั้น พระองค์ได้คุ้มครองข้าพระองค์ในวันนี้แล้ว ขอให้ข้าพระองค์มีชีวิตยั่งยืนอยู่ตลอดราตรี

๔.เย พฺราหฺมะณา เวทะคู สัพพะธัมเม
   เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
   นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
   นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
   อิมัง โส ปะริตตัง กัตฺวา โมโร วาสะมะกัปปะยิ.

พระพุทธเจ้าเหล่าใดทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้นจงทรงคุ้มครองข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอนอบน้อมแด่พระโพธิญาณ ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว ขอนอบน้อมแด่วิมุตติธรรม เมื่อนกยูงนั้นสาธยายพระปริตรอย่างนี้แล้วจึงนอน.





ภาพประกอบตำนานโมรปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานอาฏานาฏิยปริตร

อาฏานาฏิยปริตร คือปริตรของท้าวกุเวรผู้ครองนครอาฏานาฏา เพราะเป็นพระปริตรที่ท้าวกุเวรได้นำมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระปริตรนี้กล่าวถึงพระนามพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ และทรงคุณพระพุทธเจ้าเหล่านั้น รวมทั้งอ้างอานุภาพพระพุทธเจ้าและเทวานุภาพมาพิทักษ์ให้มีความสวัสดี

มีประวัติว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ ท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าววุรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าในมัชฌิมยามแห่งราตรี ขณะนั้นท้าวกุเวรได้กราบทูลว่า อมนุษย์บางพวกเลื่อมใสพระองค์ บางพวกไม่เลื่อมใส แต่ส่วนใหญ่มักไม่เลื่อมใส เพราะพระองค์ตรัสสอนให้ละเว้นจากอกุศลกรรม มีปาณาติปาตเป็นต้น  แต่พวกเขาไม่สามารถละเว้นได้ จึงไม่พอใจคำสอนที่ขัดแย้งกับความประพฤติของตน  เมื่อภิกษุไปปฏิบัติธรรมในป่าเปลี่ยว อมนุษย์เหล่านั้นอาจจะรบกวนได้ จึงขอให้พระองค์ทรงรับเอาเครื่องคุ้มครอง คืออาฏานาฏิยปริตรไว้ แล้วประทานแก่พุทธบริษัทเพื่อสาธยายคุ้มครองตน และเพื่อให้อมนุษย์เกิดความเลื่อมใสพระศาสนา  หลังจากนั้นท้าวกุเวรได้กราบทูลคาถา เป็นต้นว่า วิปัสสิสสะ จะ นะมัตถุ เมื่อท้าวมหาราชเหล่านั้นเสด็จกลับแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงนำมาตรัสแก่พุทธบริษัทในภายหลัง

อาฏานาฏิยปริตร
๑.วิปัสสิสสะ จะ นะมัตถุ      จักขุมันตัสสะ สิรีมะโต
   สิขิสสะปิ จะ นะมัตถุ     สัพพะภูตานุกัมปิโน.

ขอนอบน้อมพระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้ทรงพระจักษุ ทรงพระสิริ ขอนอบน้อมแด่พระสิขี พุทธเจ้า ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง

๒.เวสสะภุสสะ จะ นะมัตถุ     นฺหาตะกัสสะ ตะปัสสิโน
   นะมัตถุ กะกุสันธัสสะ    มาระเสนาปะมัททิโน.
ขอนอบน้อมพระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้ชำระกิเลสได้แล้ว มีตบะ ขอนอบน้อมพระกกุสันธ พุทธเจ้า ผู้ทรงเอาชนะมารและกองทัพได้

๓.โกณาคะมะนัสสะ นะมัตถุ     พฺราหฺมะณัสสะ วุสีมะโต
   กัสสะปัสสะ จะ นะมัตถุ      วิปปะมุตตัสสะ สัพพะธิ.
ขอนอบน้อมพระโกณาคมพุทธเจ้า ผู้ลอยบาปแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ขอนอบน้อมพระกัสสปพุทธเจ้า ผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง

๔.อังคีระสัสสะ นะมัตถุ     สักฺยะปุตตัสสะ สิรีมะโต
โย อิมัง ธัมมัง เทเสสิ     สัพพะทุกขะปะนูทะนัง.

ขอนอบน้อมพระศากยบุตรพุทธเจ้า ผู้ทรงพระฉัพพรรณรังสี ผู้ทรงสิริ ผู้ทรงแสดงธรรมขจัดทุกข์ทั้งปวง

๕.เย จาปิ นิพพุตา โลเก      ยะถาภูตัง วิปัสสิสุง
   เต ชะนา อะปิสุณาถะ      มะหันตา วีตะสาระทา.

อนึ่ง พระอรหันต์เหล่าใดในโลกดับกิเลสได้แล้ว รู้แจ้งตามความเป็นจริง พระอรหันต์เหล่านั้นปราศจากวาจามุ่งร้าย เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่สะทกสะท้าน

๖.หิตัง เทวะมะนุสสานัง     ยัง นะมัสสันติ โคตะมัง
   วิชชาจะระณะสัมปันนัง     มะหันตัง วีตะสาระทัง
.
ท่านเหล่านั้นย่อมนมัสการพระโคตมะ ผู้ทรงเกื้อกูลเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไม่สะทกสะท้าน

๗.เอเต จัญเญ จะ สัมพุทธา     อะเนกะสะตะโกฏิโย
   สัพเพ พุทธาสะมะสะมา     สัพเพ พุทธา มะหิทธิกา.
พระสัมพุทธเจ้า ๗ พระองค์เหล่านั้น และพระสัมพุทธเจ้าหลายร้อยโกฏิเหล่าอื่น ทุกพระองค์เสมอด้วยพระพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเปรียบ ทุกพระองค์ล้วนทรงฤทธิ์ยิ่งใหญ่

๘.สัพเพ ทะสะพะลูเปตา     เวสารัชเชหุปาคะตา
   สัพเพ เต ปะฏิชานันติ     อาสะภัง ฐานะมุตตะมัง.

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงพระทศพลญาณและพระเวสารัชชญาณ ทรงยืนยันความตรัสรู้อันประเสริฐแกล้วกล้าของพระองค์

๙.สีหะนาทัง นะทันเตเต     ปะริสาสุ วิสาระทา
   พฺรหฺมะจักกัง ปะวัตเตนติ     โลเก อัปปะฏิวัตติยัง.
พระพุทธเจ้าเหล่านี้ ทรงปราศจากความครั่นคร้าม บันลือสีหนาทในท่ามกลางพุทธบริษัท ประกาศธรรมจักรอันประเสริฐในโลก ไม่มีผู้ใดจะคัดค้านได้

๑๐.อุเปตา พุทธะธัมเมหิ    อัฐฐาระสะหิ นายะกา
     พาตติงสะลักขะณูเปตา     สีตานุพฺยัญชะนาธะรา.

พระองค์ทรงเป็นผู้นำ ทรงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ๑๘ ประการ ทรงประกอบด้วยพระพุทธลักษณะ ๓๒ และพระอนุลักษณะ ๘๐

๑๑.พฺยามัปปะภายะ สัปปะภา     สัพเพ เต มุนิกุญชะรา
      พุทธา สัพพัญญุโน เอเต     สัพเพ ขีณาสะวา ชินา.
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงพระฉัพพรรณรังสีโดยรอบหนึ่งวา ทรงเป็นมุนี ผู้ประเสริฐ รู้แจ้งธรรมทั้งปวง สิ้นอาสวะ และเป็นผู้ชนะ

๑๒.มะหัปปะภา มะหาเตชา     มะหาปัญญา มะหัพพะลา
     มะหาการุณิกา ธีรา     สัพเพสานัง สุขาวะหา
.
พระองค์ทรงมีพระรัศมีสว่างไสว มีเดชมาก มีปัญญามาก มีกำลังมาก มีความกรุณาใหญ่หลวงมั่นคง ประทานความสุขแก่ชนทั้งปวง

๑๓.ทีปา นาถา ปะติฏฐา จะ    ตาณา เลณา จะ ปาณินัง
     คะตี พันธู มะหัสสาสา     สะระณา จะ หิเตสิโน.

พระองค์ทรงเป็นที่พัก ที่พึ่ง ที่พำนัก คุ้มครอง ที่หลบภัยองเหล่าสัตว์ ทรงเป็นที่ไป เป็นญาติ เป็นผู้อุปถัมภ์ เป็นผู้ขจัดทุกข์ และกระทำประโยชน์

๑๔.สะเทวะกัสสะ โลกัสสะ      สัพเพ เอเต ปะรายะณา
     เตสาหัง สิระสา ปาเท     วันทามิ ปุริสุตตะเม.
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงเป็นที่พึ่งของชาวโลกและเทวดา ข้าพระองค์ขอน้อมไหว้พระบาทยุคลของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยเศียรเกล้า ขอน้อมไหว้พระพุทธเจ้าผู้เป็นบุรุษประเสริฐ

๑๕.วะจะสา มะนะสา เจวะ     วันทาเมเต ตะถาคะเต
     สะยะเน อาสะเน ฐาเน     คะมะเน จาปิ สัพพะทา.

ข้าพระองค์ขอน้อมไหว้พระตถาคตเจ้าเหล่านั้นในเวลายืน เดิน นั่ง นอน ด้วยวาจา ด้วยใจเสมอ

๑๖.สะทา สุเขนะ รักขันตุ     พุทธา สันติกะรา ตุวัง
     เตหิ ตฺวัง รักขิโต สันโต     มุตโต สัพพะภะเยหิ จะ.

ขอพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประทานพระนิพพาน จงคุ้มครองท่าน ให้มีความสุขเสมอ เมื่อพระองค์คุ้มครองท่านแล้ว ขอให้ท่านปลอดจากภัยทั้งปวงเถิด

๑๗.สัพพะโรคา วินิมุตโต     สัพพะสันตาปะวิชชิโต
     สัพพะเวระมะติกกันโต     นิพพุโต จะ ตุวัง ภะวะ.
ขอท่านจงปลอดจากโรคทั้งปลวง ปราศจากความเดือดร้อนทุกอย่าง ไม่มีใครๆ ปองร้าย เป็นผู้สงบ

๑๘.เตสัง สัจเจนะ สีเลนะ      ขันติเมตตาพะเลนะ จะ
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

ขอพระพุทธเจ้าเหล่านั้น จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ปราศจากโรค มีความสุข ด้วยพลานุภาพแห่งความสัตย์ ศีล ขันติ และเมตตาธรรม

๑๙.ปุรัตถิมัสฺมิง ทิสาภาเค     สันติ ภูตา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่าคนธรรพ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศบูรพา จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๐.ทักขิณัสฺมิง ทิสาภาเค    สันติ เทวา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่ากุมภัณฑ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศทักษิณ จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๑.ปัจฉิมัสฺมิง ทิสาภาเค     สันติ นาคา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่านาคผู้มีฤทธิ์มากในทิศประจิม จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข


๒๒.อุตตะรัสฺมิง ทิสาภาเค     สันติ ยักขา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

เหล่ายักษ์ผู้มีฤทธิ์มากในทิศอุดร จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๓.ปุรัตถิเมนะ ธะตะรัฏโฐ     ทักขิเณนะ วิรูฬหะโก
     ปัจฉิเมนะ วิรูปักโข     กุเวโร อุตตะรัง ทิสัง.

ท้าวธตรฐเป็นผู้รักษาโลกทิศบูรพา ท้าววิรุฬหกรักษาโลกทิศทักษิณ ท้าววิรูปักษ์รักษาโลกทิศประจิม ท้าวกุเวรรักษาโลกทิศอุดร

๒๔.จัตตาโต เต มะหาราชา    โลกะปาลา ยะสัสสิโน
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

     ขอมหาราชผู้รักษาโลกทั้งสี่พระองค์ ผู้มีบริวารมากดังกล่าว จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๕.อากาสัฏฐา จะ ภูมัฏฐา     เทวา นาคา มะหิทธิกา
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ      อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

ขอเหล่าเทวดาและนาคผู้มีฤทธิ์มาก สถิตอยู่ในอากาศและบนพื้นดิน จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๖.อิทธิมันโต จะ เย เทวา     วะสันตา อิธะ สาสะเน
     เตปิ อัมเหนุรักขันตุ     อะโรเคนะ สุเขนะ จะ.

ขอเทวดาผู้มีฤทธิ์มากอาศัยอยู่ในพระศาสนานี้ จงคุ้มครองข้าพเจ้าให้เป็นผู้ไม่มีโรค มีความสุข

๒๗.สัพพีติโย วิวัชชันตุ      สัพพะโรโค วินัสสะตุ
     มา เต ภะวัตฺวันตะราโย      สุขี ทีฆายุโก ภะวะ.

ขอสิ่งร้ายทั้งปวงจงบำราศไป ขอโรคทั้งปวงจงพินาศไป ขอท่านอย่ามีอันตราย เป็นผู้มีความสุข มีอายุยืนยาว

๒๘.อะภิวาทะนะสีลิสสะ      นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน
     จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ      อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง.

ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้นบไหว้และอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์ .





ภาพประกอบตำนานโพชฌังคปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานโพชฌังคปริตร
โพชฌังคปริตร คือปริตรกล่าวถึงโพชฌงค์ซึ่งเป็นองค์แห่งการรู้แจ้ง แล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองผู้สวดให้มีความสวัสดี   มีประวัติว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปเถระได้อาพาธหนักที่ถ้ำปิปผลิคุหา พระพุทธเจ้าได้เสด็จเยี่ยมและแสดงโพชฌงค์เจ็ด เมื่อพระเถระสดับโพชฌงค์เหล่านี้ได้เกิดความปีติว่า โพชฌงค์เจ็ดเคยปรากฏแก่เราในขณะรู้แจ้งสัจธรรมหลังออกบวชแล้วเจ็ดวัน คำสอนของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นทางพ้นทุกข์โดยแท้ ครั้นดำริเช่นนี้พระเถระได้เกิดปีติอิ่มเอิบใจ ทำให้เลือดในกายและรูปธรรมอื่นผ่องใส โรคของพระเถระจึงอันตรธานไปเหมือนหยาดน้ำกลิ้งลงจากใบบัว นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังตรัสโพชฌงค์เจ็ดแก่พระมหาโมคคัลลานเถระผู้อาพาธที่ภูเขาคิชฌกูฏอีกด้วย ครั้นพระเถระสดับโพชฌงค์นี้แล้วก็หายจากอาพาธนั้นทันที  อนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันนั้นได้ประชวรหนัก จึงรับสั่งให้พระจุนทเถระสาธยายโพชฌงค์เจ็ด ครั้นสดับแล้วพระองค์ทรงหายจากพระประชวรนั้น

โพชฌงค์เจ็ดมีดังต่อไปนี้ คือ
๑.สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือสติ
๒.ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือการรู้เห็นธรรม
๓.วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความเพียร
๔.ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความอิ่มใจ
๕.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความสงบ
๖.สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือความตั้งมั่น
๗.อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรูแจ้ง คือความวางเฉย

โพชฌงคปริตร
๑.โพชฌังโค สะติสังขาโต    ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
   วีริยัง ปีติ ปัสสัทธิ      โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร.
๒.สะมาธุเปกขา โพชฌังคา      สัตเตเต สัพพะทัสสินา
   มุนินา สัมมะทักขาตา      ภาวิตา พะหุลีกะตา
๓.สังวัตตันติ อะภิญญายะ      นิพพานายะ จะ โพธิยา
   เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ      โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา.

โพชฌงค์เจ็ด  คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์  วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์

พระมุนีผู้รู้แจ้งสภาวธรรมทั้งปวงตรัสว่า ผู้บำเพ็ญและกระทำโพชฌงค์ให้มาก ย่อมรู้แจ้ง บรรลุถึงพระนิพพานและความตรัสรู้  ด้วยสัจวาจานี้ ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

๔.เอกัสฺมิง สะมะเย นาโถ      โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
    คิลาเน ทุกขิเต ทิสฺวา      โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ.

สมัยหนึ่ง พระโลกนาถทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะและพระมหากัสสปะอาพาธได้รับความทุกข์ จึงทรงแสดงโพชฌงค์เจ็ด

๕.เต จะ ตัง อะภินันทิตฺวา     โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
    เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ      โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา.

พระเถระทั้งสองยินดีรับโพชฌงค์นั้น หายจากโรคทันที ด้วยสัจวาจานี้ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

๖.เอกะทา ธัมมะราชาปิ      เคลัญเญนาภิปีฬิโต
    จุนทัตเถเรนะ ตังเยวะ      ภะณาเปตฺวานะ สาทะรัง.

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระธรรมราชาทรงพระประชวรหนัก รับสั่งให้พระจุนทเถระสาธยายโพชฌงค์ถวายโดยเคารพ

๗.สัมโมทิตฺวา นะ อาพาธา      ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
   เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ     โสตถิ เม โหตุ สัพพะทาฯ

พระองค์ทรงแช่มชื่นพระทัย หายจากพระประชวรโดยพลัน ด้วยสัจวาจานี้ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

๘.ปะหีนา เต จะ อาพาธา      ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคะหะตา กิเลสาวะ      ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ     โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา.

พระพุทธเจ้าและพระเถระผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งสาม ได้หายจากอาพาธแล้ว ดุจกิเลสที่ถูกอริยมรรคประหาร ไม่กำเริบอีก ด้วยสัจวาจานี้ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ.


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ตุลาคม 2560 11:42:14 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 04 กรกฎาคม 2559 14:18:55 »



ภาพประกอบตำนานชัยปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานชัยปริตร
ชัยปริตร คือปริตรที่กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า แล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี คาถา ๑-๓ แสดงชัยชนะของพระพุทธเจ้า เป็นคาถาที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้นภายหลัง คาถา ๔-๖ เป็นพระพุทธพจน์ที่นำมาจากอังคุตตรนิกาย ปุพพัณหสูตร

อนึ่ง บทสวดมนต์ของไทยบางฉบับมีคาถาเพิ่มอีก ๒ บท ว่า โส อัตถะลัทโธ...สา อัตถะสัทธา...ผู้แปลเห็นว่าไม่มีในพระสูตรนั้น แม้ในฉบับพม่าก็ไม่พบคาถาดังกล่าว จึงแปลเฉพาะคาถาที่มีในพระสูตร

ชัยปริตร
๑.มะหาการุณิโก นาโถ      หิตายะ สัพพะปาณินัง
   ปูเรตฺวา ปาระมี สัพพา      ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง
   เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ   โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา.

พระโลกนาถผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ ทรงบำเพ็ญบารมีครบถ้วนเพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ทรงบรรลุพระสัมโพธิฌาณอันยอดเยี่ยม ด้วยสัจวาจานี้ขอข้าพเจ้าจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

๒.ชะยันโต โพธิยา มูเล      สักฺยานัง นันทิวัฑฒะโน
   เอวะเมวะ ชะโย เหตุ     ชะยามิ ชะยะมังคะเล.

ขอข้าพเจ้าจงชนะเหมือนพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นที่เคารพรักของเจ้าศากยะ ทรงชนะ ณ ควงไม้โพธิ์ ขอข้าพเจ้าจงชนะได้รับชัยมงคลเถิด

๓.อะปะราชิตะปัลลังเก     สีเส ปุถุวิปุกขะเล
   อะภิเสเก สัพพะพุทธานัง     อัคคัปปัตโต ปะโมทะติ.

ขอให้ข้าพเจ้าบรรลุถึงความเป็นเลิศ เบิกบานใจ เหมือนพระพุทธเจ้าบรรลุธรรมอันประเสริฐ เบิกบานพระทัยเหนือบัลลังก์แห่งชัยชนะ ณ พ่างพื้นปฐพีอันประเสริฐเลิศแผ่นดิน เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์

๔.สุนักขัตตัง สุมังคะลัง     สุปปะภาตัง สุหุฏฐิตัง
   สุขะโณ สุมุหุตโต จะ     สุยิฏฐัง พฺรหฺมะจาริสุ.

[วันที่ทำความดีทางกาย วาจา ใจ] เป็นฤกษ์ดี มงคลดี ยามรุ่งดี ยามตื่นดี ขณะดี ครู่ดี ทานที่ถวายแก่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ [ในวันนั้น] เป็นทานดี

๕.ปะทักขิณัง กายะกัมมัง     วาจากัมมัง ปะทักขิณัง
   ปะทักขิณัง มะโนกัมมัง     ปะณิธี เต ปะทักขิณา
   ประทักขิณานิ กัตฺวานะ     ละภันตัตเถ ปะทักขิเณ.

กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม และความตั้งใจ [ที่ทำในวันนั้น] เป็นสิ่งที่ดี เมื่อทำความดีแล้วย่อมได้รับผลดี

๖.เต อัตถะลัทธา สุขิตา     วิรูฬหา พุทธะสาสะเน
   อะโรคา สุขิตา โหถะ    สะหะ สัพเพหิ ญาติภิ.

ขอให้คนทั้งหลายพร้อมทั้งญาติมิตรทั้งปวงได้รับประโยชน์ มีความสุข รุ่งเรืองในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปราศจากโรค มีความสุขเทอญ




ภาพประกอบตำนานรัตนปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานรัตนปริตร

รัตนปริตร คือปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย แล้วอ้างคุณนั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี มีประวัติเล่าว่า ในสมัยหนึ่งเมืองเวสาลีเกิดฝนแล้ง ขาดแคลนอาหาร มีคนอดอยากล้มตายมากมาย ซากศพถูกโยนทิ้งนอกเมือง พวกอมนุษย์ได้กลิ่นศพก็พากันเข้ามาในเมือง ทำอันตรายคนให้ตายมากขึ้น และยังเกิดอหิวาตกโรคระบาดอีกด้วย ทำให้เมืองเวสาลีประสบภัย ๓ อย่าง ได้แก่ ทุพภิกขภัย คือข้าวยากหมากแพง อมนุสสภัย คืออมนุษย์ และโรคภัย คือโรคระบาด

ในขณะนั้นชาวเมืองดำริว่า เมืองนี้ไม่เคยเกิดภัยพิบัติเช่นนี้ถึง ๗ รัชสมัย จึงกราบทูลเจ้าผู้ครองนครว่า ภัยนี้อาจเกิดจากการที่พระองค์มิได้ทรงธรรม เจ้าผู้ครองนครจึงรับสั่งให้ชาวเมืองประชุมกันพิจารณาหาความผิดของพระองค์ แต่ชาวเมืองไม่อาจหาพบได้  ทั้งหมดจึงปรึกษากันว่า ควรนิมนต์ศาสดาองค์หนึ่งมาดับทุกข์ภัยนี้ บางคนกล่าวว่าควรนิมนต์เดียรถีย์ บางคนกล่าวว่าควรนิมนต์พระพุทธเจ้า ในที่สุดทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าควรนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จมาโปรด  ดังนั้นจึงได้ส่งเจ้าลิจฉวีสองพระองค์มาทูลนิมนต์ เพื่อระงับภัยพิบัตินั้น

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงเมืองเวสาลี พระอินทร์พร้อมด้วยเทพบริวารเป็นอันมากได้มาเฝ้าในสถานที่นั้น ทำให้พวกอมนุษย์ต้องหลบหนีออกจากเมือง หลังจากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสสอนพระปริตรนี้แก่พระอานนท์ และรับสั่งให้ท่านสาธยายรอบเมืองที่มีกำแพงสามชั้นตลอดสามยาม พวกอมนุษย์ที่ยังเหลืออยู่ได้หลบหนีไปหมด เพราะกลัวอานุภาพพระปริตร  ครั้นอมนุษย์หนีไปและโรคระบาดสงบลงแล้ว ชาวเมืองได้มาประชุมกันที่ศาลากลางเมือง และได้นิมนต์พระพุทธองค์เสด็จมาแสดงธรรม ในเวลานั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสรัตนปริตรนี้แก่พุทธบริษัทที่มาประชุมกันในที่นั้น

อนึ่ง คาถา ๓ บทสุดท้าย คือคาถาที่ ๑๖-๑๘ เป็นคาถาที่พระอินทร์ตรัสขึ้นเอง โดยดำริว่าพระพุทธเจ้าทรงกระทำให้ชาวเมืองประสบสุข โดยอ้างสัจวาจาที่กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย เราก็ควรจะกระทำให้ชาวเมืองประสบสุข โดยอ้างคุณของพระรัตนตรัยเช่นเดียวกัน ท้าวเธอจึงตรัสคาถาเหล่านั้น

รัตนปริตร

๑.ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ
   ภุมมานิ วา ยานิ วะ อันตะลิกเข
   สัพเพวะ ภูตา สุมะนา ภะวันตุ
   อะโถปิ สักกัจจะ สุณันตุ ภาสิตัง.

ขอเทวดาบนพื้นดินและในอากาศทั้งหลาย ผู้มาประชุมกันอยู่ในที่นี้ทั้งหมด จงเป็นผู้เบิกบานใจ รับฟังถ้อยคำด้วยความเคารพเถิด

๒.ตัสฺมา หิ ภูตา นิสาเมถะ สัพเพ
   เมตตัง กะโรถะ มานุสิยา ปะชายะ
   ทิวา จะ รัตโต จะ หะรินติ เย พะลิง
   ตัสฺมา หิ เน รักขะถะ อัปปะมัตตา.

ดังนั้น ขอเทวดาทั้งปวงจงฟังข้าพเจ้า จงมีเมตตาจิตในหมู่มนุษย์ เพราะเขาเซ่นพลีกรรมทั้งกลางวันและกลางคืน ท่านจงอย่าประมาท คุ้มครองพวกเขาด้วยเถิด.

๓.ยังกิญจิ วิตตัง อิธะ วา หุรัง วา
   สัคเคสุ วา ยัง ระตะนัง ปะณีตัง
   นะ โน สะมัง อัตถิ ตะถาคะเตนะ
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

ทรัพย์ในโลกนี้หรือโลกอื่น หรือรัตนะอันประณีตในสวรรค์ มีสิ่งใดที่จะเสมอกับพระตถาคตนั้นไม่มีเลย ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ด้วยสัจวาจานี้ ขอจงมีความสวัสดี

๔.ขะยัง วิราคัง อะมะตัง ปะณีตัง
   ยะทัชฌะคา สักฺยะมุนี สะมาหิโต
   นะ เตนะ ธัมเมนะ สะมัตถิ กิญจิ
   อิทิมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

พระศากยมุนีผู้มีพระทัยตั้งมั่น ทรงบรรลุธรรมอันสิ้นกิเลส ปราศจากราคะ ไม่ตายและประณีต มีสิ่งใดที่จะเสมอด้วยพระธรรมนั้นไม่มีเลย ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระธรรม ด้วยสัจวาจานี้ขอจงมีความสวัสดี

๕.ยัง พุทธะเสฏโฐ ปะริวัณณะยี สุจิง
   สะมาธิมานันตะริกัญญะมาหุ
   สะมาธินา เตนะ สะโม นะ วิชชะติ
   อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงสรรเสริญสมาธิอันผ่องแผ้ว นักปราชญ์ทั้งหลายสรรเสริญสมาธิอันประเสริฐให้ผลทันที มีสิ่งใดที่จะเสมอด้วยสมาธินั้นไม่มีเลย ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณประเสริฐของพระธรรม ด้วยสัจวาจานี้ขอจงมีความสวัสดี

๖.เย ปุคคะลา อัฏฐะ สะตัง ปะสัตถา
   จัตตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนติ
   เต ทักขิเณยยา สุคะตัสสะ สาวะกา
   เอเตสุ ทินนานิ มะหัปผะลานิ
   อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

พระสาวกของพระสุคตเจ้า ผู้เป็นพระอริยบุคคล ๘ จำพวก อันแบ่งเป็น ๔ คู่ ที่สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ควรแก่ทักษิณาทาน ทานที่ถวายแก่พระอริยบุคคลเหล่านั้นมีผลมาก ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระสงฆ์ ด้วยสัจวาจานี้ขอจงมีความสวัสดี

๗.เย สุปปะยุตตา มะนะสา ทัฬเหนะ
   นิกกามิโน โคตะมะสาสะนัมหิ
   เต ปัตติปัตตา อะมะตัง วิคัยหะ
   สัทธา มุธา นิพพุติง ภุญชะมานา
   อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

พระอรหันต์ผู้บำเพ็ญเพียรด้วยจิตอันเข้มแข็งในพระศาสนาของพระโคดม เป็นผู้ปราศจากกิเลส ผู้เข้าถึงอมตธรรม ผู้บรรลุพระนิพพาน และผู้เสวยสันติสุขเอง ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระสงฆ์ ด้วยสัจวาจานี้ขอจงมีความสวัสดี

๘.ยะถินทะขีโล ปะฐะวิสสิโต สิยา
   จะตุพภิ วาเตหิ อะสัมปะกัมปิโย
   ตะถูปะมัง สัปปุริสัง วะทามิ
   โย อะริยะสัจจานิ อะเวจจะ ปัสสะติ
   อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

พระตถาคตตรัสเปรียบสัตบุรุษผู้เห็นแจ้งเข้าถึงพระอริยสัจสี่ ว่าเหมือนกับเสาใหญ่ปักลงดินอันไม่ไหวติงเพราะแรงลมทั้งสี่ด้าน ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระสงฆ์ ด้วยสัจวาจานี้ขอจงมีความสวัสดี

๙.เย อะริยะสัจจานิ วิภาวะยันติ
   คัมภีระปัญเญนะ สุเทสิตานิ
   กิญจาปิ เต โหนติ ภุสัง ปะมัตตา
   นะ เต ภะวัง อัฏฐะมะมาทิยันติ
   อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

บุคคลเหล่าใดเจริญอริยสัจสี่ ที่พระพุทธเจ้าผู้ทรงพระปัญญาอันลึกซึ้งตรัสไว้ดีแล้ว แม้ว่าท่านเหล่านั้นยังเป็นผู้หลงเพลิงอย่างมากอยู่ แต่ท่านก็จะไม่เกิดในชาติที่แปดอีก ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระสงฆ์ ด้วยสัจวาจานี้ขอจงมีความสวัสดี

๑๐.สะหาวัสสะ ทัสสะนะสัมปะทายะ
   ตะยัสสุ ธัมมา ชะหิตา ภะวันติ
   สักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉิตัญจะ
   สีลัพพะตัง วาปิ ยะทัตถิ กิญจิ.

ท่านเหล่านั้นคือพระโสดาบันผู้ละสังโยชน์ ๓ ประการ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ละกิเลสอื่นๆ ได้ในขณะที่เห็นธรรม

๑๑.จะตูหะปาเยหิ จะ วิปปะมุตโต
   ฉัจจาภิฐานานิ อะภัพพะ กาตุง
   อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

ท่านเหล่านั้นเป็นผู้พ้นแล้วจากอบายทั้ง ๔ ไม่กระทำการอันไม่สมควร ๖ ประการ (คืออนันตริยกรรม ๕ และการนับถือศาสดาอื่น) ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระสงฆ์ ด้วยสัจวาจานี้ขอจงมีความสวัสดี

๑๒.กิญจาปิ โส กัมมะ กะโรติ ปาปะกัง
   กาเยนะ วาจา อุทะ เจตะสา วา
   อะภัพพะ โส ตัสสะ ปะฏิจฉะทายะ
   อะภัพพะตา ทิฏฐะปะทัสสะ วุตตา
   อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

แม้ท่านเหล่านั้นยังทำความผิดด้วยกาย วาจา หรือใจอยู่บ้างก็ตาม แต่ท่านก็ไม่ปกปิดความผิดนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้เห็นพระนิพพานเป็นผู้ไม่ปกปิดความผิด ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระสงฆ์ ด้วยสัจวาจานี้ขอจงมีความสวัสดี

๑๓.วะนัปปะคุมเพ ยะถะ ผุสสิตัคเค
   คิมหานะมาเส ปะฐะมัสฺมิง คิมเห
   ตะถูปะมัง ธัมมะวะรัง อะเทสะยิง
   นิพพานะคามิง ปะระมัง หิตายะ
   อิทิมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

พุ่มไม้ในป่าที่แตกยอดอ่อนในเดือนต้นแห่งคิมหันตฤดูมีความงามฉันใด พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมให้ถึงพระนิพพานเพื่อประโยชน์สูงสุดมีความงามฉันนั้น ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ด้วยสัจวาจานี้ขอจงมีความสวัสดี

๑๔.วะโร วะรัญญู วะระโท วะราหะโร
   อะนุตตะโร ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ
   อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้แจ้งพระนิพพานอันเลิศ ทรงประทานธรรมอันยอดเยี่ยม ทรงแนะนำข้อปฏิบัติที่ดี พระองค์ผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า ทรงแสดงธรรมอันสูงสุดแล้ว ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า ด้วยสัจวาจานี้ของจงมีความสวัสดี

๑๕.ขีณัง ปุราณัง นะวะ นัตถิ สัมภะวัง
  วิรัตตะจิตตายะติเก ภะวัสฺมิง
   เต ขีณะพีชา อะวิรูฬหิฉันทา
   นิพพันติ ธีรา ยะถายัง ปะทีโป
   อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง
   เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุ.

พระอรหันต์ผู้สิ้นเชื้อแล้ว ไม่ยินดีภพอีก มีจิตหน่ายภพเบื้องหน้า สิ้นกรรมเก่า ปราศจากกรรมใหม่ที่จะส่งไปเกิดอีก ท่านเหล่านั้นเป็นปราชญ์ ดับสิ้นไปเหมือนประทีปดวงนี้ ข้อนี้เป็นพระรัตนคุณอันประเสริฐของพระสงฆ์ ด้วยสัจวาจานี้ขอจงมีความสวัสดี

๑๖.ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ
   ภุมมานิ วา ยานิ วะ อันตะลิกเข
   ตะถาคะตัง เทวะมะนุสสะปูชิตัง
   พุทธัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ.

ขอเทวดาบนพื้นดินและในอากาศทั้งหลาย ผู้มาประชุมกันอยู่ในที่นี้ จงร่วมกันนมัสการพระพุทธเจ้าผู้เสด็จไปอย่างงาม อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว ขอจงมีความสวัสดี

๑๗.ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ
   ภุมมานิ วา ยานิ วะ อันตะลิกเข
   ตะถาคะตัง เทวะมะนุสสะปูชิตัง
   ธัมมัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ.

ขอเทวดาบนพื้นดินและในอากาศทั้งหลาย ผู้มาประชุมกันอยู่ในที่นี้ จงร่วมกันนมัสการพระธรรมอันเป็นไปอย่างงาม อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว ขอจงมีความสวัสดี

๑๘.ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ
   ภุมมานิ วา ยานิ วะ อันตะลิกเข
   ตะถาคะตัง เทวะมะนุสสะปูชิตัง
   สังฆัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุ.

ขอเทวดาบนพื้นดินและในอากาศทั้งหลาย ผู้มาประชุมกันอยู่ในที่นี้ จงร่วมกันนมัสการพระสงฆ์ผู้ดำเนินไปอย่างงาม อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว ขอจงมีความสวัสดี


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ตุลาคม 2560 11:37:44 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 22 กันยายน 2559 17:37:15 »



ภาพประกอบตำนานวัฏฏกปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานวัฏฏกปริตร

วัฏฏกปริตร คือปริตรของนกคุ้ม เป็นพระปริตรที่กล่าวถึงสัจวาจาของพระพุทธเจ้าที่เคยกระทำ เมื่อเสวยพระชาติเป็นนกคุ้ม แล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้พ้นจากอัคคีภัย พบประวัติในพระสูตร ๒ แห่ง คือชาดกและจริยาปิฎก ในคัมภีร์ชาดก มีเพียงคาถาเดียว คือคาถาที่ ๓ ส่วนในคัมภีร์จริยาปิฎกพบคาถา ๑๑ บท ส่วนพระปริตรที่นิยมสวดอยู่ในปัจจุบันมีคาถาทั้งหมด ๔ บท  ทั้งนี้เพราะโบราณาจารย์ได้คัดมาสวดเฉพาะคาถา ๔ บทหลัง โดยไม่มีคาถา ๗ บทแรก เนื่องจากคาถา ๔ บทเหล่านั้นแสดงสัจวาจาของพระโพธิสัตว์ ส่วนเจ็ดคาถาแรกแสดงประวัติความเป็นมา

ในคัมภีร์จริยาปิฎกแสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระปริตรนี้แก่พระสารีบุตร เพื่อแสดงบารมีที่พระองค์เคยสั่งสมไว้ในภพก่อน ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาชาดก มีประวัติว่า สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าร่วมกับภิกษุสงฆ์ เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นมคธ ทรงพบไฟป่าโดยบังเอิญ เมื่อไฟป่าลุกลามล้อมมาถึงสถานที่ ๑๖ กรีสะ คือพื้นที่หว่านเมล็ดพืชได้ ๗๐๔ ทะนาน ไฟป่านั้นได้ดับลงทันทีเหมือนถูกน้ำดับไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไฟป่านี้มิใช่ดับลงด้วยอานุภาพของตถาคตในภพนี้ แต่ดับลงด้วยอานุภาพของสัจวาจาที่ตถาคตเคยกระทำในชาติที่เกิดเป็นนกคุ้ม สถานที่นี้จะเป็นสถานที่ไม่มีไฟไหม้ตลอดกัป แล้วตรัสพระปริตรนี้แก่ภิกษุเหล่านั้น



วัฏฏกปริตร

๑.อัตถิ โลเก สีละคุโณ      สัจจัง โสเจยยะนุททะยา
เตนะ สัจเจนะ กาหามิ     สัจจะกิริยะมะนุตตะรัง.

ศีลความประพฤติอันประเสริฐ ความสัตย์ ความหมดจด และความเอื้ออาทร ปรากฏอยู่จริงในโลก เราขอเสี่ยงสัจวาจาอันยิ่งด้วยความจริงนี้

๒.อาวัชเชตฺวา ธัมมะพะลัง     สะริตฺวา ปุพพะเก ชิเน
สัจจะพะละมะวัสสายะ     สัจจะกิริยะมะกาสะหัง.

เราผู้ครุ่นนึกถึงอานุภาพแห่งพระธรรม ระลึกถึงพระชินเจ้าองค์ก่อนๆ แล้ว อาศัยอานุภาพแห่งความจริง ขอเสี่ยงสัจวาจา

๓.สันติ ปักขา อะปะตะนา     สันติ ปาทา อะวัญจะนา
มาตา ปิตา จะ นิกขันตา     ชาตะเวทะ ปะฏิกกะมะ.

เรามีปีกก็บินไม่ได้ มีเท้าก็เดินไม่ได้ มารดาบิดาก็บินหนีไปแล้ว ดูก่อนไฟ ขอท่านจงหลีกไปเถิด

๔.สะหะ สัจเจ กะเต มัยหัง     มะหาปัชชะลิโต สิขี
วัชเชสิ โสฬะสะ กะรีสานิ     อุทะกัง ปัตฺวา ยะถา สิขี
สัจเจนะ เม สะโม นัตถิ     เอสา เม สัจจะปาระมี.

เมื่อเราทำสัจวาจาเช่นนี้แล้ว ไฟที่ลุกโชติช่วงอยู่ ก็ดับไปเป็นพื้นที่ถึง ๑๖ กรีสะในทันที ดั่งไฟถูกน้ำดับไป ฉะนั้นสิ่งที่เสมอกับความสัตย์ของเราไม่มี นี้เป็นสัจบารมีของเรา




ภาพประกอบตำนานมังคลปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานมังคลปริตร

มังคลปริตร คือปริตรที่กล่าวถึงมงคล ๓๘ มีประวัติว่าในกาลก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสมงคลนี้ ได้เกิดปัญหาถกเถียงกันในมนุษยโลกว่า อะไรเป็นมงคล บางคนกล่าวว่ารูปที่เห็นดีเป็นมงคล บางคนกล่าวว่าเสียงที่ได้ยินดีเป็นมงคล  บางคนกล่าวว่ากลิ่นรสสัมผัสที่ดีเป็นมงคล ต่างฝ่ายก็ยืนยันความเห็นของตน แต่ไม่สามารถอธิบายให้ฝ่ายอื่นยอมรับได้ ปัญหานี้ได้แพร่ไปถึงเทวโลกและพรหมโลก จนเทวดาและพรหมได้แบ่งแยกเป็น ๓ ฝ่ายเหมือนมนุษย์ และปัญหานั้นหาข้อยุติไม่ได้เป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ในปีต่อมา เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ได้ทูลถามปัญหานี้กับพระอินทร์ ท้าวเธอจึงทรงมอบหมายให้เทพบุตรตนหนึ่งทูลถามปัญหานี้กับพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จมาเฝ้าพร้อมกับเหล่าเทวดาเพื่อสดับมงคล ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสพระปริตรนี้ตามคำอาราธนาของเทพบุตรนั้น

มังคลปริตร
 
เอวัง เม สุตัง.
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วดังนี้
เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

อะถะ โข อัญญะตะรา เทวะตา อะภิกกันตายะ รัตติยา อะภิกกันตะวัณณา เกวะละกัปปัง เชตะวะนัง โอภาเสตฺวา เยนะ ภะคะวา, เตนุปะสังกะมิ.
ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงแล้ว เทวดาตนหนึ่งทรงรัศมีงามยิ่ง ทำพระเชตวันโดยรอบทั้งหมดให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

อุปะสังกะมิตฺวา ภะคะวันตัง อะภิวาเทตฺวา เอกะมันตัง อัฏฐาสิ
เมื่อถึงที่ประทับ ได้ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืนอยู่ข้างหนึ่ง

เอกะมันตัง ฐิตา โข สา เทวะตา ภะคะวันตัง คาถายะ อัชฌะภาสิ.
ครั้นแล้วเทวดาได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

พะหู เทวา มะนุสสา จะ มังคะลานิ อะจินตะยุง
อากังขะมานา โสตถานัง พฺรูหิ มังคะละมุตตะมัง.

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก มุ่งคิดหามงคลเพื่อความสวัสดีอยู่ ขอพระองค์จงตรัสสิ่งที่เป็นมงคลอันประเสริฐเถิด

(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)

๑.อะเสวะนา จะ พาลานัง   ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา
ปูชา จะ ปูชะนียานัง   เอตัง มังคะละมุตตะมัง.

การไม่คบคนพาล การคบแต่บัณฑิต และการบูชาผู้ที่ควรบูชานี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

๒.ปะติรูปะเทสะวาโส จะ     ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา
อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ     เอตัง มังคะละมุตตะมัง.

การอยู่ในสถานที่เหมาะสม การได้บำเพ็ญบุญมาก่อน และการวางตัวถูกต้องนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๓.พาหุสัจจะ สิปปัญจะ     วินะโย จะ สุสิกขิโต
สุภาสิตา จะ ยา วาจา     เอตัง มังคะละมุตตะมัง.

การมีความรู้มาก การทำงานช่าง การมีวินัยอย่างดี และการพูดถ้อยคำไพเราะนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๔.มาตาปิตุอุปัฏฐานัง     ปุตตะทารัสสะ สังคะโห
อะนากุลา จะ กัมมันตา     เอตัง มังคะละมุตตะมัง

การเลี้ยงดูมารดาบิดา การสงเคราะห์ญาติ และการทำงานที่ปราศจากโทษนี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๕.ทานัญจะ ธัมมะจะริยา จะ     ญาตะกานัญจะ สังคะโห
อะนะวัชชานิ กัมมานิ     เอตัง มังคะละมุตตะมัง

การให้ทาน การประพฤติธรรม การสงเคราะห์ญาติ และการทำงานที่ปราศจากโทษนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

๖.อาระตี วิระตี ปาปา     มัชชะปานา จะ สัญญะโม
อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ     เอตัง มังคะละมุตตะมัง

การอดใจไม่กระทำบาป การระวังตนห่างจากการดื่มน้ำเมา และการประพฤติตนไม่ประมาท นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๗.คาระโว จะ นิวาโต จะ     สันตุฏฐิ จะ กะตัญญุตา
กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง      เอตัง มังคะละมุตตะมัง

ความเคารพ การไม่ทะนงตน ความสันโดษ ความรู้บุญคุณและการฟังธรรมในเวลาที่เหมาะสม นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๘.ขันตี จะ โสวะจัสสะตา     สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง
กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา     เอตัง มังคะละมุตตะมัง.

ความอดทน ความเป็นคนว่าง่าย การได้พบเห็นสมณะ และการสนทนาธรรมในเวลาอันสมควร นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๙.ตะโป จะ พฺรหฺมะจะริยัญจะ     อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง
นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ     เอตัง มังคะละมุตตะมัง

การบำเพ็ญตบะ การประพฤติพรหมจรรย์ การเห็นแจ้งอริยสัจ และการทำนิพพานให้แจ้ง นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๑๐.ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ     จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ
อะโสกัง วิระชัง เขมัง     เอตัง มังคะละมุตตะมัง

จิตของบุคคลผู้ถูกโลกธรรมมากระทบแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไม่ขุ่นมัว เบิกบานอยู่นี้เป็นมงคลอันสูงสุด

๑๑.เอตาทิสานิ กัตฺวานะ     สัพพัตถะ มะปะราชิตา
สัพพัตถะ โสตถิง คัจฉันติ     ตัง เตสัง มังคะละมุตตะมัง

ผู้ปฏิบัติเช่นนี้ได้แล้ว จะไม่พ่ายแพ้ในที่ทุกสถาน ถึงความสวัสดีทุกแห่ง นี้เป็นมงคลอันสูงสุดของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย





ภาพประกอบตำนานวัฏฏกปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานธชัคคปริตร

ธชัคคปริตร คือปริตรยอดธง เป็นพระปริตรที่กล่าวถึงเรื่องที่เทวดาชั้นดาวดึงส์แหงนดูยอดธงของพระอินทร์ ในสงครามระหว่างเทวดากับอสูร และแนะนำให้ภิกษุระลึกถึงพระคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ ในเวลาเกิดความสะดุ้งกลัวเมื่ออยู่ในป่า โคนไม้ หรือเรือนว่าง

พระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวว่า พระปริตรนี้สามารถคุ้มครองผู้ที่ตกจากที่สูงได้ และเล่าเรื่องที่เกิดในประเทศศรีลังกาว่า เมื่อภิกษุช่วยกันโบกปูนพระเจดีย์ชื่อว่าทีฆวาปี มีพระรูปหนึ่งพลัดตกลงจากพระเจดีย์ พระที่ยืนอยู่ข้างล่างได้รีบบอกว่า “ท่านจงระลึกถึงธชัคคปริตรเถิด” พระที่พลัดตกได้กล่าวว่า “ขอธชัคคปริตรจงคุ้มครองข้าพเจ้า” ขณะนั้นอิฐสองก้อนในพระเจดีย์ได้ยื่นออกมารับเท้าของท่าน เมื่อพระรูปอื่นพากันนำบันไดมารับพระรูปนั้นลงไปแล้ว อิฐสองก้อนนั้นได้เคลื่อนกลับไปสถานที่เดิม

ธชัคคปริตร
เอวัง เม สุตัง.

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วดังนี้


เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตะวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ตัตฺระ โข ภะคะวา ภิกขู อามันเตสิ ภิกขะโวติ.
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ภะทันเตติ เต ภิกขู ภะคะวะโต ปัจจัสโสสุง.
เหล่าภิกษุรับพระวาจาของพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า

ภะคะวา เอตะทะโวจะ.
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความดังนี้ว่า

ภูตะปุพพัง ภิกขะเว เทวาสุระสังคาโม สะมุปัพฺยูฬโห อะโหสิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นานมาแล้วเกิดสงครามระหว่างเทวดากับอสูรขึ้น

อะถะ โข ภิกขะเว สักโก เทวานะมินโท เทเว ตาวะติงเส อามันเตสิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า

สะเจ มาริสา เทวานัง สังคามะคะตานัง อุปปัชเชยยะ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา.
ดูก่อนท่านผู้ปราศจากทุกข์ ถ้าท่านเข้าสงครามแล้ว มีความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพอง

มะเมวะ ตัสฺมิง สะมะเย ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ.
ขอให้ท่านแหงนดูยอดธงของเราในขณะนั้นเถิด

มะมัง หิ โว ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
เพราะเมื่อท่านเห็นยอดธงของเราแล้ว ท่านจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองเสียได้

โน เจ เม ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ.
ถ้าท่านไม่เห็นยอดธงของเรา

อะถะ ปะชาปะติสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ,
ก็ขอให้ท่านแหลนดูยอดธงของพระปชาบดีจอมเทพเถิด

ปะชาปะติสสะ หิ โว เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
เพราะเมื่อท่านเห็นยอดธงของพระปชาบดีจอมเทพแล้ว ท่านจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือขนลุกขนพองเสียได้

โน เจ ปะชาปะติสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ.
ถ้าท่านไม่เห็นยอดธงของพระปชาบดีจอมเทพ

วะรุณัสสะ หิ โว เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตังยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา. โส ปะหียิสสะติ.
เพราะเมื่อท่านเห็นยอดธงของพระวรุณจอมเทพแล้ว ท่านจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองเสียได้

โน เจ วะรุณัสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ.
ถ้าท่านไม่เห็นยอดธงของพระวรุณจอมเทพ

อะถะ อีสานัสสะ เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลเกยยาถะ.
ก็ขอให้ท่านแหงนดูยอดธงของพระอีสานจอมเทพเถิด

อีสานัสสะ หิ โว เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
เพราะเมื่อท่านเห็นยอดธงของพระอีสานจอมเทพแล้ว ท่านจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองเสียได้

ตัง โข ปะนะ ภิกขะเว สักกัสสะ วา เทวานะมินทัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง,
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเทวดาเห็นยอดธงของท้าวสักกะจอมเทพนั้นอยู่ก็ดี

ปะชาปะติสสะ วา เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง,
เห็นยอดธงของพระปชาบดีจอมเทพอยู่ก็ดี

วะรุณัสสะ วา เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง,
เห็นยอดธงของพระวรุณจอมเทพอยู่ก็ดี

อีสานัสสะ วา เทวะราชัสสะ ธะชัคคัง อุลโลกะยะตัง,
เห็นยอดธงของพระอีสานจอมเทพอยู่ก็ดี

ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหีเยถาปิ โนปิ ปะหีเยถะ,
เทวดาเหล่านั้นย่อมละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองได้บ้างไม่ได้บ้าง

ตัง กิสสะ เหตุ.
ข้อนั้นเพราะอะไร

สักโก หิ ภิกขะเว เทวานะมินโท อะวีตะราโค อะวีตะโทโส อะวีตะโมโห ภีรุ ฉัมภี อุตฺราสี ปะลายีติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะท้าวสักกะจอมเทพยังไม่เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ยังเป็นผู้มีความกลัว ความหวาดหวั่น ความสะดุ้ง ยังคิดหลบหนี

อะหัญจะ โข ภิกขะเว เอวัง วะทามิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนตถาคตจะขอกล่าวอย่างนี้ว่า

สะเจ ตุมหากัง ภิกขะเว อะรัญญะคะตานัง วา รุกขะมูละคะตานัง วา สุญญาคาระคะตานัง วา อุปปัชเชยยะ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอเข้าไปอยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี แล้วมีความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพอง

มะเมวะ ตัสฺมิง สะมะเย อะนุสสะเรยยาถะ.
ขอให้เธอพร่ำระลึกถึงตถาคตในขณะนั้นเถิดว่า

อิติปิ โส ภะคะวา
แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น

อะระหัง,
เป็นผู้ไกลจากกิเลส

สัมมาสัมพุทโธ,
ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

วิชชาจะระณะสัมปันโน,
ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ

สุคะโต,
เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว

โลกะวิทู,
ทรงรู้แจ้งโลก

อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ,
ทรงเป็นสารถีฝึกบุคคลที่ควรฝึก ไม่มีใครยิ่งกว่า

สัตถา เทวะมะนุสสานัง,
ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พุทโธ,
ทรงเป็นผู้รู้แจ้ง

ภะคะวาติ
ทรงเป็นผู้อธิบายธรรม

มะมัง หิ โว ภิกขะเว อะนุสสะระตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อเธอพร่ำระลึกถึงตถาคตแล้ว เธอจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองเสียได้

โน เจ มัง อะนุสสะเรยยาถะ.
ถ้าเธอไม่พร่ำระลึกถึงตถาคต

อะถะ ธัมมัง อะนุสสะเรยยาถะ.
ก็พึงพร่ำระลึกถึงพระธรรมว่า

สฺวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม.
พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว

สันทิฏฐิโก,
เป็นธรรมที่เห็นได้ด้วยตนเอง

อะกาลิโก,
ไม่ขึ้นกับกาล

เอหิปัสสิโก,
เป็นธรรมที่ควรมาดู

โอปะนะยิโก,
ควรน้อมมาปฏิบัติ

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ.
เป็นธรรมที่วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน

ธัมมัง หิ โว ภิขะเว อะนุสสะระตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อเธอพร่ำระลึกถึงพระธรรมแล้ว เธอจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกของพองเสียได้

โน เจ ธัมมัง อะนุสสะเรยยาถะ.
ถ้าเธอไม่พร่ำระลึกถึงพระธรรม

อะถะ สังฆัง อะนุสสะเรยยาถะ.
ก็พึงพร่ำระลึกถึงพระสงฆ์ว่า

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติดี

อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติตรง

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
พระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ปฏิบัติที่ควรนับถือ

ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา,
ท่านเหล่านั้น คือบุรุษ ๔ คู่ กล่าวคือพระอริยบุคคล ๘ จำพวก

เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ.
นี้แหละพระอริยสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค

อาหุเนยโย,
ผู้ควรรับสักการะ

ปาหุเนยโย,
ผู้ควรแก่ของต้อนรับ

ทักขิเณยโย,
ผู้ควรรับทักษิณาทาน

อัญชะลิกะระณีโย,
ผู้ควรอัญชลีกรรม

อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ.
เป็นนาบุญอันประเสริฐของโลก

สังฆัง หิ โว ภิกขะเว อะนุสสะระตัง ยัง ภะวิสสะติ ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โลมะหังโส วา, โส ปะหียิสสะติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเมื่อเธอพร่ำระลึกถึงพระสงฆ์แล้ว เธอจะละความกลัว ความหวาดหวั่น หรือความขนลุกขนพองเสียได้

ตัง กิสสะ เหตุ.
ข้อนั้นเพราะอะไร

ตะถาคะโต หิ ภิกขะเว อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วีตะราโค วีตะโทโส วีตะโมโห อะภีรุ อะฉัมภี อะนุตฺราสี อะปะลายีติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีความกลัว ความหวาดหวั่น ความสะดุ้ง ไม่คิดหลบหนี

อิทะมะโวจะ ภะคะวา. อิทัง วัตฺวานะ สุคะโต, อะถาปะรัง เอตะทะโวจะ สัตถา.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้แล้ว พระสุคตทรงกล่าวอย่างนี้แล้ว พระศาสดาได้ตรัสคาถานี้ต่อไปว่า


๑.อะรัญเญ รุกขะมูเล วา สุญญาคาเรวะ ภิกขะโว
อะนุสสะเรถะ สัมพุทธัง ภะยัง ตุมหากะ โน สิยา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอเข้าไปอยู่ในป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี เธอพึงหมั่นระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้า แล้วเธอจะไม่มีความกลัว

๒.โน เจ พุทธัง สะเรยยาถะ โลกะเชฎฐัง นะราสะภัง
อะถะ ธัมมัง สะเรยยาถะ นิยยานิกัง สุเทสิตัง.

หากเธอไม่หมั่นระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของชาวโลก เป็นนรชนผู้ประเสริฐ เธอก็พึงหมั่นระลึกถึงพระธรรมที่เราแสดงดีแล้ว เป็นทางหลุดพ้นจากสังสารวัฎ

๓.โน เจ ธัมมัง สะเรยยาถะ นิยยานิกัง สุเทสิตัง
อะถะ สังฆัง สะเรยยาถะ ปุญญักเขตตัง อะนุตตะรัง.

หากเธอไม่หมั่นระลึกถึงพระธรรมที่เราแสดงดีแล้ว เป็นทางหลุดพ้นจากสังสารวัฏ เธอก็พึงหมั่นระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นนาบุญอันประเสริฐ

๔.เอวัง พุทธัง สะรันตานัง ธัมมัง สังฆัญจะ ภิกขะโว
ภะยัง วา ฉัมภิตัตตัง วา โสมะหังโส นะ เหสสะติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอหมั่นระลึกพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อย่างนี้แล้ว ความกลัวก็ดี ความหวาดหวั่น ก็ดี หรือความขนลุกขนพองก็ดี จะไม่ปรากฏเลย


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ตุลาคม 2560 11:26:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 30 ตุลาคม 2560 11:35:07 »



ภาพประกอบตำนานอังคุลิมาลปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานอังคุลิมาลปริตร

อังคุลิมาลปริตร คือปริตรของพระองคุลิมาล มีประวัติว่า วันหนึ่งเมื่อพระองคุลิมาลออกบิณฑบาตอยู่ ท่านได้พบหญิงมีครรภ์คนหนึ่งกำลังเป็นทุกข์เพราะคลอดบุตรไม่ได้ จึงเกิดความสงสาร ได้กลับมาวัดเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลเรื่องนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนพระปริตรนี้แก่พระองคุลิมาล ท่านได้กลับไปสาธยายแก่หญิงนั้น เมื่อนางได้ฟังพระปริตรนี้ก็คลอดบุตรได้โดยสะดวก ทั้งมารดาและบุตรได้รับความสวัสดี

อนึ่ง ตั่งที่พระองคุลิมาลนั่งสวดพระปริตรนี้ ได้กลายเป็นตั่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าไม่สามารถนำหญิงที่คลอดบุตรยากมานั่งที่ตั่งนี้ได้ ก็ให้นำน้ำล้างตั่งไปรดศีรษะ จะทำให้คลอดบุตรง่าย เปรียบดังน้ำไหลออกจากกระบอกกรองน้ำ แม้กระทั่งสัตว์ที่ตกลูกยาก เมื่อนำมานั่งที่ตั่งนี้ก็จะตกลูกง่าย นอกจากการคลอดบุตรแล้ว ตั่งนี้ยังสามารถรักษาโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย

อังคุลิมาลปริตร
ยะโตหัง ภะคินี อะริยายะ ชาติยา ชาโต, นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา. เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ, โสตถิ คัพภัสสะ.

ดูก่อนน้องหญิง นับแต่เราเกิดโดยอริยชาตินี้แล้ว เราไม่เคยคิดปลงชีวิตสัตว์เลย ด้วยสัจวาจานี้ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอ ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเธอ




ภาพประกอบตำนานอภยปริตร
จากหนังสือที่ระลึกงานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติฯ
มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ จัดพิมพ์

ตำนานอภยปริตร

อภยปริตร คือปริตรไม่มีภัย เป็นพระปริตรที่โบราณาจารย์ประพันธ์ขึ้น โดยอ้างคุณพระรัตนตรัยมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี พระปริตรนี้ปรากฏในบทสวดเจ็ดตำนานและบทสวดสิบสองตำนานของไทย ได้แพร่หลายไปถึงประเทศสหภาพพม่าและศรีลังกาอีกด้วย  อนึ่ง ท่านอาจารย์ธัมมานันทมหาเถระ สันนิษฐานว่าพระปริตรนี้คงรจนาโดยพระเถระชาวเชียงใหม่ ในสมัยรจนาคาถาชินบัญชร ท่านสังเกตจากการอธิษฐานให้เคราะห์ร้ายพินาศไป เพราะชาวเมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้น นิยมบูชาดาวนพเคราะห์ จึงได้มีนักปราชญ์ประพันธ์คาถานี้ เพื่อให้สวดแทนการบูชาดาวนพเคราะห์ คาถานี้ยังพบในคัมภีร์ปริตตฎีกาที่รจนาใน พ.ศ.๒๑๕๓ อีกด้วย

อภยปริตร
       ๑.ยัง ทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ
          โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท
          ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง
          พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ.

ขอลางร้าย สิ่งที่เป็นอัปมงคล เสียงนกที่น่าหวั่นเกรง เคราะห์ร้าย และฝันร้ายที่ไม่ต้องการ จงพินาศไปด้วยพุทธานุภาพ

       ๒.ยัง ทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ
          โย จามะนาโป สุกะณัสสะ สัทโท
          ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง
          ธัมมานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ.

ขอลางร้าย สิ่งที่เป็นอัปมังคล เสียงนกที่น่าหวั่นเกรง เคราะห์ร้าย และฝันร้ายที่ไม่ต้องการ จงพินาศไปด้วยธรรมานุภาพ

       ๓.ยัง ทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ
          โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโท
          ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง
          สังฆานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ.

ขอลางร้าย สิ่งที่เป็นอัปมงคล เสียงนกที่น่าหวั่นเกรง เคราะห์ร้าย และฝันร้ายที่ไม่ต้องการ จงพินาศไปด้วยสังฆานุภาพ



ต่อไป
ตำนานธรรมจักร
โปรดติดตาม

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 26 ธันวาคม 2561 13:02:44 »



ตำนานธรรมจักร

ในวันเพ็ญเดือน ๘ ก่อนพุทธศักราช ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้แก่นักบวชปัญจวัคคีย์ ท่านอัญญาโกณฑัญญะ สดับพระธรรมเทศนานี้แล้วบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พรหม ๑๘ โกฏิกับเทวดาจำนวนมากก็บรรลุธรรมด้วยพระสูตรนี้

พระพุทธองค์ทรงคัดค้านการปฏิบัติที่ทรมานตนให้ลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค) และการเสพกามสุข (กามสุขัลลิกานุโยค) ทรงชี้แนะทางสายกลางคืออริมรรคมีองค์ ๘ และทรงจำแนกอริยสัจ ๔ ไว้โดยละเอียดในพระสูตรนี้

อัตตกิลมถานุโยค เป็นคำสอนของนิครนถ์นาฏบุตร ผู้ก่อตั้งศาสนาเชนในปัจจุบัน โดยศาสนานั้นเชื่อว่า การบำเพ็ญตบะทรมนตนเป็นวิธีปลดเปลื้องวิญญาณจากกรรมเก่า คือเมื่อกรรมเก่าถูกปลดเปลื้องด้วยการบำเพ็ญตบะแล้วก็จะหมดสิ้นไป ไม่ส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ส่วนกามสุขัลลิกานุโยคเป็นความเป็นของคนที่เชื่อว่า นิพพานคือกามสุขในปัจจุบัน เมื่อสัตว์ตายแล้วก็ดับสูญ ความเห็นนี้นับเนื่องในมิจฉาทิฐิ ๖๒ ประเภท เรียกว่า ทิฏฐธัมมนิพพาน (นิพพานในปัจจุบันชาติ) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือลัทธิจารวากนั่นเอง ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้มักต้องการเสพกามสุขทางประสาทสัมผัสอย่างเดียว ไม่สนใจการอบรมจิตเจริญปัญญา เพื่อความพ้นทุกข์จากการเวียนตายเวียนเกิด

เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา เพราะประสงค์จะทดลองแนวทางนี้ว่าเป็นทางตรัสรู้หรือไม่ มิใช่ทรงปฏิบัติเพื่อปลดเปลื้องกรรมเก่า ตามคำสอนของนิครถ์นาฏบุตร และเมื่อพระองค์ทรงพบว่ามิใช่ทางตรัสรู้ จึงระลึกถึงการเจริญอาณาปานกรรมฐานใต้ต้นหว้าในพิธีแรกนาขวัญ ครั้นทรงเจริญกรรมฐานนั้นจนบรรลุญาน ๔ แล้ว ทรงอาศัยญานเป็นบาทเจริญวิปัสสนา จึงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยมัชฌิมาปฏิปทาคืออริยมรรคมีองค์ ๘ ดังนี้

คำว่า ธรรมจักร มีความหมายว่า กงล้อคือพระธรรม ในพระสูตรนี้พระพุทธองค์ทรงประกาศศาสนาพุทธ ว่าเป็นอเทวนิยมที่ไม่เชื่อการเนรมิตของพระเจ้า ด้วยการตรัสเหตุแห่งทุกข์ว่าคือตัณหา ทั้งปฏิเสธอาตมันหรือวิญญาณด้วยการตรัสทุกขสัจว่าคืออุปาทานขันธ์ ๕ ทรงแสดงแนวทางแห่งความพ้นทุกข์ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ และตรัสผลของการปฏิบัติว่าคือความดับตัณหา



ธรรมจักร

         เอวัง เม สุตัง  
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วดังนี้
         เอกัง สะมะยัง ภะคะวา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี


ส่วนที่สุด ๒ ประเภท  
        ตัตฺระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ.
ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ว่า
         ทฺวเม ภิกขะเว อันตา ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตไม่ควรประพฤติส่วนที่สุด ๒ อย่างนี้
         กะตะเม ทฺว. โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค หีโน คัมโม โปถุชชะนิโก อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโต, โย จายัง อัตตะกิละมะถานุโยโค ทุกโข อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโต.
ส่วนที่สุด ๒ อย่าง คือการเสวยกามสุขในกามคุณอารมณ์ที่ทราม เป็นข้อประพฤติของชาวบ้าน เป็นข้อปฏิบัติของคนมีกิเลสหนา ไม่ประเสริญ หาประโยชน์มิได้ และการเบียดเบียนตนให้ลำบาก เป็นทุกข์ ไม่ประเสริญ หาประโยชน์มิได้



ทางสายกลาง  
        เอเต โข ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนุปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้ตรัสรู้ทางสายกลางที่ไม่เข้าถึง ส่วนที่สุด ๒ อย่างนั้น ก่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรม ก่อให้เกิดปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้แจ้ง และเพื่อดับทุกข์
         กะตะมา จะ สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้ ก่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรม ก่อให้เกิดปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้แจ้ง และเพื่อดับทุกข์นั้น เป็นไฉน
         อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค. เสยยะถิทัง. สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสะติ สัมมาสะมาธิ.
ทางสายกลาง คืออริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นเอง ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การกล่าวชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งมั่นชอบ
         อะยัง โข สา ภิกขะเว มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา จักขุกะระณี ญาณะกะระณี อุปะสะมายะ อะภิญญายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริมรรคมีองค์แปดนี้เป็นทางสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้ ก่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรม ก่อให้เกิดปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้แจ้ง และเพื่อดับทุกข์



ทุกข์  
        อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง. ชาติปิ ทุกขา. ชะราปิ ทุกขา. มะระณัมปิ ทุกขัง. โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา. อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข.  ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข.  ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ,  ตัมปิ ทุกขัง.  สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจคือทุกข์ ได้แก่ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ เป็นทุกข์ การพบกับอารมณ์ที่ไม่ชอบเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากอารมณ์ที่ชอบเป็นทุกข์ และการไม่ได้รับอารมณ์ที่ปรารถนาเป็นทุกข์ โดยสังเขปอุปาทานขันธ์ห้าเป็นทุกข์


ทุกขสมุหทัย
        อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง.  ยายัง ตัณหา โปโนภะวิกา นันทีราคะสะหะคะตา  ตัตฺระตัตฺราภินันทินี,  เสยยะถิทัง.  กามะตัณหา ภะวะตัณหา วิภะวะตัณหา.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจคือทุกขสมุทัย ได้แก่ ความผูกพันที่ก่อให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความยินดีพอใจ เพลินเพลินภพและอารมณ์นั้นๆ กล่าวคือ ความผูกพันในกามคุณอารมณ์ ความผูกพันที่มีความเห็นผิดว่าภพเที่ยง และความผูกพันที่มีความเห็นผิดว่าภพขาดสูญ



ทุกขนิโรธ  
        อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง. โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ จาโค ปะฏินิสสัคโค มุตติ อะนาละโย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจคือทุกขนิโรธ ได้แก่ ความดับสนิทตัณหานั้นทั้งหมด ความสละตัณหานั้น ความปล่อยตัณหานั้น ความวางตัณหานั้น และความไม่พัวพันตัณหานั้น



มรรค
        อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง. อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค.  เสยยะถิทัง.  สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสะติ สัมมาสะมาธิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจคือมรรคอันเป็นทางดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรค มีองค์ ๘ นี้นั่นเอง กล่าวคือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ การกล่าวชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งมั่นชอบ



นี้คือทุกข์  
        อิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ,  ญาณัง อุทะปาทิ,  ปัญญา อุทะปาทิ,  วิชชา อุทะปาทิ,  อาโลโก อุทะปาทิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้วแก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อน ว่า อุปาทานขันธ์ห้านี้คือริยสัจที่เป็นทุกข์



ควรกำหนดรู้ทุกข์  
        ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญเญยยันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ,  ญาณัง อุทะปาทิ,  ปัญญา อุทะปาทิ,  วิชชา อุทะปาทิ,  อาโลโก อุทะปาทิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้ว แก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า อริยสัจคือทุกข์นั้นเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้



ทรงกำหนดรู้ทุกข์แล้ว  
        ตัง โข ปะนิทัง ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญาตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ,  ญาณัง อุทะปาทิ,  ปัญญา อุทะปาทิ,  วิชชา อุทะปาทิ,  อาโลโก อุทะปาทิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้ว แก่ตถาคต ในธรรม ที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า เราได้กำหนดรู้อริยสัจคือทุกข์นั้นแล้ว



นี้คือทุกขสมุทัย  
        อิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ,   ญาณัง อุทะปาทิ,  ปัญญา อุทะปาทิ,  วิชชา อุทะปาทิ,  อาโลโก อุทะปาทิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้ว แก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า ตัณหานี้คืออริยสัจที่เป็นทุกขสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์)



ควรละทุกขสมุทัย  
        ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ,  ญาณัง อุทะปาทิ,  ปัญญา อุทะปาทิ,  วิชชา อุทะปาทิ,  อาโลโก อุทะปาทิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้ว แก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า อริยสัจคือทุกขสมุทัยนั้นเป็นธรรมที่ควรละ



ทรงละทุกขสมุทัยแล้ว  
        ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหีนันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ,  ญาณัง อุทะปาทิ,  ปัญญา อุทะปาทิ,  วิชชา อุทะปาทิ,  อาโลโก อุทะปาทิ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้ว แก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า นิพพานนี้คืออริยสัจที่เป็นความดับทุกข์



ควรรู้แจ้งทุกขนิโรธ
        ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะสุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ, ญาณัง อุทะปาทิ, ปัญญา อุทะปาทิ, วิชชา อุทะปาทิ, อาโลโก อุทะปาทิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้ว แก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า อริยสัจคือทุกขนิโรธนั้นเป็นธรรมที่ควรรู้แจ้ง



ทรงรู้แจ้งทุกขนิโรธแล้ว  
        ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ,  ญาณัง อุทะปาทิ,  ปัญญา อุทะปาทิ,  วิชชา อุทะปาทิ,  อาโลโก อุทะปาทิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้ว แก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า เราได้รู้แจ้งอริยสัจคือทุกขนิโรธนั้นแล้ว



นี้คือมรรค  
        อิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ,  ญาณัง อุทะปาทิ,  ปัญญา อุทะปาทิ,  วิชชา อุทะปาทิ,  อาโลโก อุทะปาทิ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้ว แก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า (อริยมรรค) นี้คืออริยสัจที่เป็นทางดับทุกข์



ควรอบรมมรรค  
        ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ,  ญาณัง อุทะปาทิ,  ปัญญา อุทะปาทิ,  วิชชา อุทะปาทิ,  อาโลโก อุทะปาทิ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้ว แก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า อริยสัจคือมรรคนั้นเป็นธรรมที่ควรอบรม



ทรงอบรมมรรคแล้ว  
        ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาวิตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ,  ญาณัง อุทะปาทิ,  ปัญญา อุทะปาทิ,  วิชชา อุทะปาทิ,  อาโลโก อุทะปาทิ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดแล้ว ญาณได้เกิดแล้ว ปัญญาได้เกิดแล้ว วิชชาได้เกิดแล้ว แสงสว่างได้เกิดแล้ว แก่ตถาคต ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาก่อนว่า เราได้อบรมอริยสัจคือมรรคนั้นแล้ว



ไม่ทรงปฏิญาณว่าเป็นพุทธะก่อน  
        ยาวะกีวัญจะ เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวัง ติปะริวัฏฏัง ทฺวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง นะ สุวิสุทธัง อะโหสิ, เนวะ ตาวาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพฺรหฺมะเก สัสสะมะณะพฺราหฺมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธติ ปัจจัญญาสิง.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตราบที่ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงที่มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ในอริยสัจสี่ ยังไม่หมดจดแก่ตถาคต ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตยังไม่ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก ที่มีเทวดา มาร และพรหม ในเหล่าสัตว์มีสมณะ พราหมณ์ พร้อมด้วยเทวดาและมนุษย์



ได้ทรงปฏิญาณว่าเป็นพุทธะ  
        ยะโต จะ โข เม ภิกขะเว อิเมสุ จะตูสุ อะริยะสัจเจสุ เอวัง ติปะริวัฏฏัง ทฺวาทะสาการัง ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง สุวิสุทธัง อะโหสิ.  อะถาหัง ภิกขะเว สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพฺรหฺมะเก สัสสะมะณะพฺราหฺมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธติ ปัจจัญญาสิง.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตราบที่ปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ที่มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ อย่างนี้ในอริยสัจสี่ ได้หมดจดแก่ตถาคต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในโลก ที่มีเทวดา มาร และพรหม ในเหล่าสัตว์มีสมณะ พราหมณ์ พร้อมด้วยเทวดาและมนุษย์



ปัจเวกขณญาณ  
        ญาณัญจะ ปะนะ เม ทัสสะนัง อุทะปาทิ.  อะกุปปา เม วิมุตติ.  อะยะมันติมา ชาติ.  นัตถิทานิ ปุนัพภะโวติ.
ปัญญารู้เห็นได้เกิดแก่ตถาคตว่า ความหลุดพ้นของเราไม่พินาศแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ไม่มีภพใหม่อีกในกาลนี้



พระปัญจวัคคีย์ปลาบปลื้มภาษิต  
        อิทะมะโวจะ ภะคะวา.  อัตตะมะนา ปัญจะวัคคิยา ภิกขูภะคะวะโต ภาสิตัง อะภินันทุนติ.
พระผู้มีพระภาคตรัสธรรมจักรนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์ปลาบปลื้มภาษิตของพระองค์ ดังนี้แล



ท่านโกณฑัญญะเป็นพระโสดาบัน  
        อิมัสฺมิญจะ ปะนะ เวยยากะระณัสฺมิง ภัญญะมาเน อายัสฺมะโต โกณฑัญญัสสะ วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ “ยัง กิญจิ สะมุทะยะธัมมัง,  สัพพัง ตัง นิโรธะธัมมัน” ติ.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนานี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้บังเกิดแก่ท่านโกณฑัญญะ ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีสภาพเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้นมีสภาพดับไปเป็นธรรมดา



ทวยเทพป่าวประกาศ  
        ปะวัตติเต จะ ปะนะ ภะคะวะตา ธัมมะจักเก ภุมมา เทวา สัททะมะนุสสา เวสุง “เอตัง ภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พฺราหฺมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พฺรหฺมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสฺมิน” ติ.
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมจักรแล้ว ภุมเทวดาได้ป่าวประกาศว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี เป็นธรรมที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้

         ภุมมานัง เทวานัง สัททัง สุตฺวา จาตุมะหาราชิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง “เอตัง ภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พฺราหฺมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พฺรหฺมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสฺมิน” ติ.
เทวาชั้นจาตุมหาราชได้ยินเสียงของภุมเทวดาแล้ว ได้ป่าวประกาศว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี เป็นธรรมที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้

         จาตุมะหาราชิกานัง เทวานัง สัททัง สุตฺวา ตาวะติงสา เทวา สัททะมะนุสาเวสุง “เอตัง ภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พฺราหฺมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พฺรหฺมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสฺมิน” ติ.
เทวดาชั้นดาวดึงส์ได้ยินเสียงของเทวดาชั้นจาตุมหาราชแล้ว ได้ป่าวประกาศว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี เป็นธรรมที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้

         ตาวะติงสานัง เทวานัง สัททัง สุตฺวา ยามา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง “เอตัง ภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พฺราหฺมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พฺรหฺมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสฺมิน” ติ.
เทวดาชั้นยามาได้ยินเสียงของเทวดาชั้นดาวดึงส์แล้ว ได้ป่าวประกาศว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี เป็นธรรมที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้

         ยามานัง เทวานัง สัททัง สุตฺวา ตุสิตา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง “เอตัง ภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พฺราหฺมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พฺรหฺมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสฺมิน” ติ.
เทวดาชั้นดุสิตได้ยินเสียงของเทวดาชั้นยามาแล้ว ได้ป่าวประกาศว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี เป็นธรรมที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้

         ตุสิตานัง เทวานัง สัททัง สุตฺวา นิมมานะระตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง “เอตัง ภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พฺราหฺมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พฺรหฺมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสฺมิน” ติ.
เทวดาชั้นนิมมานรดีได้ยินเสียงของเทวดาชั้นดุสิตแล้ว ได้ป่าวประกาศว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี เป็นธรรมที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้

         นิมมานะระตีนัง เทวานัง สัททัง สุตฺวา ปะระนิมมิตะวะสะวัตตี เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง “เอตัง ภะคะวะตา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พฺราหฺมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พฺรหฺมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสฺมิน” ติ.
เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีได้ยินเสียงของเทวดาชั้นนิมมานรดีแล้ว ได้ป่าวประกาศว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี เป็นธรรมที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้

         ปะระนิมมิตะวะสะวัตตีนัง เทวานัง สัททัง สุตฺวา พฺรหฺมะกายิกา เทวา สัททะมะนุสสาเวสุง “เอตัง ภะคะวะวา พาราณะสิยัง อิสิปะตะเน มิคะทาเย อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะวัตติตัง อัปปฏิวัตติยัง สะมะเณนะ วา พฺราหฺมะเณนะ วา เทเวนะ วา มาเรนะ วา พฺรหฺมุนา วา เกนะจิ วา โลกัสฺมิน” ติ
เทพที่นับเนื่องในหมู่พรหม ได้ยินเสียงของเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดีแล้ว ได้ป่าวประกาศว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี เป็นธรรมที่สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือ ใครๆ ในโลก จะคัดค้านไม่ได้

         อิหิตะ เตนะ ขะเณนะ เตนะ ละเยนะ เตนะ มุหุตเตนะ ยาวะ พฺรหฺมะโลกา สัทโท อัพภุคคัจฉิ.
เสียงป่าวประกาศในโลกนี้ได้แพร่สะพัดถึงพรหมโลกโดยชั่วขณะนั้น ด้วยประการฉะนี้



เกิดแผ่นดินไหวและโอภาส
อายัญจะ ทะสะสะหัสสิโลกะธาตุ สังกัมปิ สัมปะกัมปิ สัมปะเวธิ. อัปปะมาโณ จะ อุฬาโร โอภาโส โลเก ปาตุระโหสิ อะติกกัมมะ เทวานัง เทวานุภาวัง.
ก็หมื่นโลกธาตุนี้ได้สั่นสะเทือนหวั่นไหว และเกิดโอภาสอันใหญ่หลวง หาประมาณมิได้ในโลก ยิ่งกว่าเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย


ทรงเปล่งอุทาน  
อะถะ โข ภะคะวา อิมัง อุทานัง อุทาเนสิ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ, อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญติ.  อิติ หิทัง อายัสฺมะโต โกณฑัญญัสสะ อัญญาโกณฑัญโญเตฺววะ นามัง อะโหสิ.
ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานว่า ท่านทั้งหลาย โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ ท่านทั้งหลาย โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ  ฉะนั้น ท่านโกณฑัญญะจึงปรากฏสมญานามนี้ว่า พระอัญญาโกณฑัญญะ (พระโกณฑัญญะผู้รู้แล้ว)



คัดจาก หนังสือที่ระลึก งานสวดพระปริตรมหากุศลเฉลิมพระเกียรติ ถวายพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔  ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 ธันวาคม 2561 13:06:00 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ตำนาน ผีโป่งค่าง
ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี
【ツ】ต้นไม้ความสุข ♪ 4 5921 กระทู้ล่าสุด 23 ธันวาคม 2553 19:41:09
โดย wondermay
ตำนาน วัดเขาบันไดอิฐ
สยาม ในอดีต
หมีงงในพงหญ้า 0 4093 กระทู้ล่าสุด 20 กันยายน 2557 10:21:53
โดย หมีงงในพงหญ้า
ตำนาน...ศาลต่องย่องสู
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 3268 กระทู้ล่าสุด 14 ธันวาคม 2557 18:03:43
โดย Kimleng
ตำนาน เทพเจ้าแห่งไฟ
เกร็ดศาสนา
Kimleng 0 1525 กระทู้ล่าสุด 12 เมษายน 2558 09:47:12
โดย Kimleng
ตำนาน ระตะนะสุตตัง
ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
Kimleng 0 556 กระทู้ล่าสุด 19 ธันวาคม 2564 16:31:17
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.913 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 14 มีนาคม 2567 05:25:51