[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 03:25:44 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การฝึกจิตให้หลุดพ้น  (อ่าน 1533 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1012


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 49.0.2623.110 Chrome 49.0.2623.110


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 08 เมษายน 2559 13:18:00 »



การพัฒนาจิต

การพัฒนาจิตวันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่หลวงตา ตลอดถึงท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบไป

ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานในสมัยนี้ หรือว่ายุคนี้ ท่านใช้คำศัพท์ใหม่ ไม่เหมือนกันกับที่ผ่านมา คือท่านให้ความหมายจากคำว่าการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือว่าเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หันมาใช้คำว่า พัฒนาจิต อย่างที่หลวงพ่อได้ไปร่วมในการปฏิบัติ โดยที่คณะอาจารย์ขั้นบริหารมาปฏิบัติที่เมืองอุบลฯ ของเราที่ผ่านมานั้นมี ๔ รุ่น รุ่นละ ๒๕๐ ท่าน

คำว่า ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน นี้ ท่านหันมาใช้คำว่า พัฒนาจิต แทน คือเพื่อจะไม่ให้ซ้ำกัน เพื่อจะไม่ให้ซ้ำซาก หรือเพื่อเหมาะแก่ภาวะของผู้ปฏิบัติ ก็เลยใช้คำว่าพัฒนาจิต ที่จริงก็ถูกคือว่าการพัฒนาจิตก็หมายความว่า ทำจิตของตนให้ดีขึ้น ทำจิตของตนให้เจริญขึ้น ทำจิตของตนให้ประเสริฐ ทำจิตของตนให้ดีเด่น ทำจิตของตนให้พ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่า พัฒนาจิต

เพราะเหตุไรจึงใช้คำว่า พัฒนาจิต เพราะว่าการพัฒนาจิตก็คือการทำจิตของเราให้ดีขึ้น หรือว่ายกจิตของเราให้ดีขึ้น

เพราะเหตุไรจึงว่าเช่นนี้ หรือว่าจิตของเราที่ผ่านๆมานั้นยังไม่ดี

ที่จริงที่ผ่านมานั้นจิตของเราก็ดีอยู่ แต่ว่ายังดีไม่พอ หรือดีไม่พร้อม ดีไม่ถึงที่ ส่วนมากจิตของเรานั้นตกอยู่ในอำนาจของสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เราทั้งหลายเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางทีได้ข่าวทางหนังสือพิมพ์บ้าง ข่าวทางทีวีบ้าง ทางวิทยุบ้าง ว่าฆ่ากันที่โน้น ฆ่ากันที่นี้ ขโมยของกันที่โน้น ขโมยของกันที่นี้ ตั้งแต่ของเล็กๆน้อยๆ จนถึงของใหญ่โตรโหฐาน มีการล่วงเกินผัวกันเมียกันลูกกัน หนักๆ เข้า พ่อข่มขืนลูก ครูบาอาจารย์ข่มขืนลูกศิษย์ลูกหา ตลอดถึงการโกหกพกลมต้มตุ๋นกัน เพื่ออยากได้ทรัพย์ของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง หนักเข้าก็เสพยาเสพติด ดื่มสุรายาเมา ฝิ่น เฮโรอีน ผงขาว ดมกาว สมัยนี้ก็มียาบ้าเพิ่มขึ้นมา

หลวงพ่ออ่านหนังสือพิมพ์เมื่อวานนี้ ที่เขาจับได้เมื่อวานนี้ ยาบ้า จับยาบ้าได้สี่ล้านเม็ด ท่านทั้งหลายคิดดูสิว่าเกือบจะครึ่งประเทศไทย สี่ล้านเม็ดนี่ ถ้าไปแจกคนโน้นบ้าง แจกคนนี้บ้าง ฐานะของประเทศชาติมันจะเป็นอย่างไร หลวงพ่อคิดว่า สภาวะที่มันเป็นอยู่นี้ หรือสิ่งที่มันเป็นอยู่นี้ ประเทศไทยของเรานั้นล่อแหลมต่ออันตรายยิ่งนัก ล่อแหลมต่ออันตรายมาก

คิดๆแล้ว ทุกวันนี้ เขาใช้วิธีรบกับพวกเราด้วยวิธีอื่น เช่น เขา (ประเทศอื่น) รบกับประเทศไทย รบด้วยเศรษฐกิจบ้าง เดี๋ยวนี้ก็เอายาบ้ามามอมเมาประชากรของประเทศไทย หากว่าเขาทำสำเร็จแล้ว ประเทศไทยของเราจะเป็นอย่างไร

หลวงพ่อว่า ถ้ามันหนักเข้าๆ หากว่าเขายกทัพจับศึกเข้ามา ไทยเราก็คงสู้เขาไม่ได้ อย่างประเทศลาว สมัยที่ฝรั่งปกครองอยู่โน้น ฝรั่งมันก็มอมเมาประชาชนชาวลาว โดยที่ให้ดื่มเหล้า ปลูกฝิ่น ปลูกกัญชา เล่นการพนันได้โดยอิสระ ไม่มีกฎหมายบังคับ ผลสุดท้ายประชากรของประเทศลาวก็ไม่คิดที่จะพัฒนาประเทศชาติของตนให้เจริญรุ่งเรืองถาวรได้ ข้อนี้ฉันใด

ประเทศไทยของเรา หากว่าภาวะมันเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ จนทั่วทุกหัวระแหงแห่งที่แล้ว ในสถาบันต่างๆ ทางโรงเรียนก็ดี ทางหน่วยราชการอื่นๆก็ดี หนักเข้าทะลักเข้ามาภายในวัด ถ้าว่ามันเป็นอย่างนี้แล้ว ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่ามันจะเป็นอย่างไรสรุปแล้วว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอย่างนี้ ก็เกิดขึ้นจากจิตที่ยังไม่ได้พัฒนา คือจิตยังไม่ดี ประเทศแต่ละประเทศที่มีสัมพันธ์ต่อกัน ก็หาวิธีที่จะเอาชนะซึ่งกันและกัน พูดคร่าวๆอย่างนี้ ท่านทั้งหลายก็พอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เดี๋ยวนี้เขารบกันวิธีไหนประเทศไทยหากยังเป็นอย่างนี้ ประเทศไทยจะตกเป็นทาสเขาไหม หรือว่าจะเอาชนะเขาได้ไหม อะไรทำนองนี้ ต้องคิด ต้องพิจารณา เพื่อจะหาทางช่วยเหลือประชาชนคนไทยของเราทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่เป็นขี้ข้าประเทศอื่นชาติอื่น พวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในขณะนี้ ก็ถือว่าเราทั้งหลายได้ช่วยตัวเองด้วย และก็ช่วยประเทศชาติบ้านเมืองด้วย เพื่อจะให้อยู่รอด

สภาวะที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าจิตของพวกเราทั้งหลายแต่ละรูปแต่ละนามนั้น ยังไม่ได้พัฒนา หรือว่าพัฒนาแล้วแต่ยังไม่ดีพอ ยังไม่ดีพร้อม เหตุนั้น หน่วยราชการที่เล็งเห็นมองเห็นการณ์ไกล จึงได้จัดการอบรมครูอาจารย์ ผู้ที่จะไปบริหารประเทศชาติบ้านเมืองให้ดำรงคงมั่นอยู่ไปได้ ประชากรของประเทศนั้น แต่ละคนๆ ต้องอาศัยครูเป็นสำคัญ คือครูนี้เป็นผู้ให้ความรู้ทุกสิ่งทุกประการ

ประชากรทุกคนๆ นั้น หากว่าไม่ได้มีการศึกษาเล่าเรียน ก็จะไม่รู้ไม่เข้าใจว่า ประเทศชาติควรจะดำเนินไปอย่างไร ทำอย่างไรประเทศชาติของเราจึงจะเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของประเทศอื่น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ต้องอาศัยครูเป็นผู้กำบังเหียนอันสำคัญ ถ้าขาดครูเสียแล้ว ประเทศชาติบ้านเมืองก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปในปฏิปทาที่ถูกต้อง ไม่สามารถที่จะดำเนินไปสู่ความสุขความเจริญได้

เหตุนั้น ครั้งแรกจึงเอาเฉพาะครูอาจารย์ชั้นบริหารมาอบรมแต่ละหน่วยๆ ขณะนี้มีทั้งครูมัธยม มีทั้งครูประถม ก็เป็นโชคอันดีที่เราได้มาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เพื่อเป็นการพัฒนาจิต เรียกว่าพวกเราทั้งหลายมาเจริญวิปัสสนาภาวนา

เพราะเหตุไรจึงเจริญวิปัสสนาภาวนา หรือว่าจึงใช้คำว่า พัฒนาจิต เพราะว่าจิตของเรานั้นส่วนมากตกอยู่ใต้อำนาจของสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง จิตของเราตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำมีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น เมื่อรวมแล้วสภาวะที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นตกอยู่ในระบบที่ไม่ดี ท่านแยกประเภทไว้มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. โลภะ จิตของคนเราทั้งหลายนั้น ตกอยู่ในอำนาจของโลภะ คือความคิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนเองในทางทุจริต นับตั้งแต่อยากได้ของเล็กๆน้อยๆ มีราคาค่างวดไม่เท่าไหร่ แล้วก็อยากได้ของใหญ่โตขึ้นตามลำดับๆ

ถ้าเป็นประเทศแต่ละประเทศก็อยากได้ประเทศอื่นมาเป็นเมืองขึ้นของประเทศตัวเอง ที่เราทั้งหลายก็ทราบกันแล้วว่า โลภะความอยากได้นี้มันเพิ่มทวีขึ้นไปตามลำดับๆ จนกลายเป็นตัณหาความทะยานอยากอย่างแรงกล้า ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

เมื่อโลภะยังไม่สงบระงับไปจากจิตจากใจของเรา ความอยากได้หรือความต้องการก็ยิ่งเพิ่มประมาณขึ้นไปเรื่อยๆ เพิ่มดีกรีขึ้นไปเรื่อยๆ ตัวโลภะนี้ก็ถือว่าเป็นแรงอันหนึ่ง เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจของเราตกไปในฝ่ายต่ำ ขาดคุณธรรม ขาดศีลธรรมอันดีงาม

๒. โทสะ คือความโกรธ ความไม่พอใจในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่พอใจ เกิดโทมนัสความน้อยใจ ความแห้งผากใจ ความคับแค้นใจ เมื่อเกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน ฆ่ากันประหัตประหารกัน ด้วยกำลังศัสตราอาวุธ ตลอดถึงยาพิษ อะไรนานาประการ ตามอำนาจของความโกรธที่เกิดขึ้นว่า เราจะทำอย่างไร จึงจะสามารถเอาชนะคนอื่นได้ ก็ต้องหาวิธีที่จะเอาชนะคนอื่น ว่าวิธีไหนอย่างไร ที่จะเอาชนะคนอื่นได้ ก็หาวิธีนั้น หรือประกอบกรรมทำเข็ญด้วยวิธีนั้นๆ ก็ถือว่าโทสะนี้เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ซึ่งทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้

๓. โมหะ คือความหลงผิด ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ไม่รู้ว่าการประพฤติปฏิบัติอย่างไรจะทำให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงได้รับความเดือดร้อน ทำอย่างไรประชาชนทั้งหลายจะได้รับความสุขความเจริญทำให้เป็นผู้มีใจอันมืดบอด ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้จักประโยชน์อย่างยิ่งคือมรรคผลพระนิพพาน ไม่รู้จักคุณพ่อคุณแม่ คุณครูบาอาจารย์ และท่านผู้มีพระคุณเป็นต้น อันนี้เป็นลักษณะของโมหะ

๔. มานะ คือความถือตัว คือถ้าตัวเลิศกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลิศกว่าเขา ตัวเลิศกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเสมอเขา ตัวเลิศกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลวกว่าเขา, หรือว่าตัวเสมอเขาก็สำคัญว่าตัวเลิศกว่าเขา ตัวเสมอเขาก็สำคัญว่าตัวเสมอเขา ตัวเสมอเขาก็สำคัญว่าตัวเลวกว่าเขา, หรือว่าตัวเลวกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลิศกว่าเขา ตัวเลวกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเสมอเขา ตัวเลวกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลวกว่าเขา

มานะคือความถือตัวนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยอันหนึ่ง ซึ่งทำให้สังคมเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ เราทั้งหลายไปในสังคมแต่ละสังคม เราจะเห็นอำนาจของมานะนี้ มันทำให้แยกหมู่แยกคณะ แยกพรรคแยกพวก แยกชั้นวรรณะ ทำอะไรๆ ก็ลำบาก ต้องทำให้ถูกตามกฎตามเกณฑ์

ถ้าว่าไม่ถูกตามลักษณะ สมมติว่า ผู้มีอายุ ๕๕ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ส่วนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ๆ มีอายุเพียง ๓๐ ปี แต่ว่ามีวุฒิสูงกว่า สำเร็จปริญญาโทอย่างนี้ ผู้ที่มีอายุตั้ง ๕๕ ปี ก็ต้องลงไปอยู่ในการปกครองของผู้ (มีอายุน้อยคราวลูก แต่) มีความรู้มากกว่า เช่นที่พวกเราทั้งหลายได้เห็นในสถาบันต่างๆ ทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้

ที่มันเป็นอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะอำนาจของมานะคือความถือตัว เมื่อถือตัวแล้วก็ถือพรรคถือพวก ถือกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ พวกนั้นพวกนี้ ชาตินั้นชาตินี้ ประเทศนั้นประเทศนี้ ไปเรื่อยๆ ก็เป็นอำนาจของมานะ

ถ้าว่าถิ่นไหนหรือสถาบันใดๆ ที่มีมานะมากๆ  แต่ผู้มีมานะมากๆ แล้ว มีมานะกล้าแล้ว กลุ่มนั้นสถาบันนั้นก็จะอยู่ด้วยความลำบาก นี้ก็ถือว่าเป็นตัวมานะ ก็ถือว่าเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้สังคมเดือดร้อน

๕. ทิฏฐิ คือความเห็นผิด คือเป็นความเห็นที่ขัดต่อสภาวธรรมจริงๆ สมมติว่าเห็นไปว่า พระพุทธเจ้าไม่มี พระธรรมไม่มี พระสงฆ์ไม่มี ครูบาอาจารย์ไม่มีพระคุณ พ่อแม่ไม่มีพระคุณ เห็นว่าโลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี นรก สวรรค์ มรรค ผล พระนิพพานไม่มี เป็นต้น อันนี้เป็นอำนาจของทิฏฐิ เมื่อมีทิฏฐิคือความเห็นผิดแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนทั้งหลายคิดผิด ทำผิด พูดผิด ทำให้สังคมเดือดร้อน
๖. วิจิกิจฉา คือความสงสัย ความสงสัยไม่แน่ใจในข้อวัตรปฏิบัติ เช่นว่า สงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยในเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยเรื่องสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานสงสัย  ข้อวัตรปฏิบัติของตนที่ปฏิบัติอยู่นี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน จริงหรือไม่ อะไรอย่างนี้ เรียกว่า วิจิกิจฉา คือความสงสัย เมื่อคนเรามีความสงสัยแล้วก็ไม่กล้าทำอะไรลงไป

๗. อุทธัจจะ คือความคิดมาก กิเลสตัวนี้เป็นตัวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นในขันธสันดานของผู้ใด หรือผู้ใดที่มากไปด้วยอุทธัจจะแล้ว ผู้นั้นหรือบุคคลนั้นจะเป็นคนคิดมาก  สมัยนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พวกวิตกจริต คือคิดมาก เป็นความคิดที่ไม่มีระบบ คิดจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโรคประสาท ให้เกิดความดันสูง คนที่เป็นโรคประสาท เป็นบ้า เกิดความดันสูง ก็เพราะอุทธัจจะนี้เป็นตัวการสำคัญอีกตัวหนึ่ง  ท่านทั้งหลายคิดให้ซึ้งๆไปว่า ตัวนี้มันหนัก มันมีพิษสงขนาดไหน เราก็คิดดูว่า หนักถึงเขาต้องตั้งโรงพยาบาลประสาท เช่น ที่อุบลฯ ของเรานี้ ก็มีโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ เป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคประสาท แต่ละจังหวัดๆ ก็มีโรงพยาบาลประเภทนี้อยู่ทุกจังหวัด ในส่วนกลางเช่นกรุงเทพฯ ก็ต้องมีโรงพยาบาลประเภทนี้ ที่รักษาโรคประสาท

ทีนี้โรคประสาทเกิดมาจากไหน เกิดมาจากความคิดมาก ซึ่งเกิดจากอำนาจของอุทธัจจะ เพราะฉะนั้น ตัวอุทธัจจะนี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนไม่กล้าทำอะไร และทำอะไรส่วนมากก็ไม่ถูกต้อง หนักๆเข้าก็เป็นโรคประสาท เป็นความดันสูง

๘. ถีนะ คือความท้อใจ เป็นกิเลสที่ทำให้เกิดความท้อใจ ความท้อใจมีอยู่กับบุคคลผู้ใดหรือหน่วยงานใด บุคคลผู้นั้นหรือหน่วยงานนั้นก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปดีได้ หรือไม่กล้ากระทำสมมติว่าจะศึกษาเล่าเรียน ก็เกิดความท้อใจมาแล้ว จะไปสอบความรู้ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว จะทำไร่ทำนาก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว จะทำงานอุตสาหกรรมอย่างโน้นอย่างนี้ ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว พอจะมาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว เมื่อบวชมาแล้วจะศึกษาเล่าเรียนพุทธมนต์หรือพุทธวจนะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ท้อใจขึ้นมาแล้ว จะเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ก็ท้อใจ จะเรียนบาลีเพื่อจะสอบเป็นเปรียญธรรม ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ก็เกิดความท้อใจขึ้นมา

เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้ ก็เกิดความท้อใจในการจะประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานขึ้นมา เมื่อมีความท้อใจอยู่ที่ไหนหรืออยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นก็ไม่กล้ากระทำงานทุกอย่าง ทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งด้านปริยัติ ทั้งด้านปฏิบัติ การงานอื่นๆ ถีนะก็ถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของแต่ละบุคคล

๙. อหิริกะ ความไม่ละอาย คือไม่ละอายบาป ไม่ละอายผลของบาป ไม่ละอายตัวเอง ไม่ละอายคนอื่น ไม่ละอายพ่อแม่ ไม่ละอายครูบาอาจารย์ ไม่ละอายประชาชน ไม่ละอายเทวดาฟ้าดิน คนเราเมื่อไม่มีความละอายแล้ว ก็สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง ความไม่ละอายนี้ก็ถือว่าเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ซึ่งสิงอยู่ในจิตใจของแต่ละบุคคล

๑๐. อโนตตัปปะ คือความไม่กลัว ไม่กลัวความชั่ว และไม่กลัวการทำความชั่ว กล้าทำความชั่วได้ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่กลัวต่ออำนาจใดๆ ทั้งสิ้น  เช่นว่า พูดถึงครอบครัว ลูกไม่กลัวพ่อไม่กลัวแม่ สามีไม่กลัวภรรยา ภรรยาไม่กลัวสามี ลูกๆ หลานๆ ไม่กลัวพ่อกลัวแม่ คนในหมู่บ้านไม่กลัวผู้ปกครองของหมู่บ้าน อำเภอไม่กลัวผู้ปกครองภายในอำเภอ หนักเข้า รวมทั้งประเทศ ก็ไม่กลัวอำนาจของผู้ปกครองระดับประเทศ เรามาบวชในวัดในวา ก็ไม่กลัวครูบาอาจารย์ หนักๆ เข้า ไม่กลัวตัวเองด้วย

สรุปแล้วว่า ไม่กลัวตัวเองด้วย ไม่กลัวคนอื่นด้วย กิเลสตัวนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยอันหนึ่ง ซึ่งทำให้คนเราทั้งหลายเดือดร้อน

เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายก็จะรู้ว่า สภาวะของจิตของคนทั้งหลายที่อยู่ในสังคมอยู่ทุกวันๆ นี้ ย่อมตกอยู่ใต้อำนาจของความชั่วทั้ง ๑๐ ประการ ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย เมื่อจิตใจของเรามันตกอยู่ในสภาวะทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ถือว่าจิตใจของเราไม่ดี จิตใจของเรายังไม่ดีพอ จิตใจของเรายังสกปรกโสมมอยู่ เป็นจิตใจที่ทำให้ตัวเองและสังคมได้รับความเดือดร้อน

เหตุนั้น ผู้ที่เห็นการณ์ไกลจึงได้จัดระบบการอบรมขึ้นมาใหม่ เรียกว่า พัฒนาจิต ทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็เรียกว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเมื่อก่อนโน้น ต่างคนต่างทำ ต่างสำนักต่างทำ แต่เดี๋ยวนี้เป็นคำสั่งตู้มออกมาเลย เป็นข้อปฏิบัติระดับประเทศ คือแต่ละจังหวัดต้องมีศูนย์วิปัสสนากัมมัฏฐาน ต่อไปๆ ก็ต้องมีมาถึงอำเภอถึงตำบล ผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาจิตหรือเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นจะเป็นอย่างไร ท่านทั้งหลายก็คงจะรู้จะเข้าใจว่า เมื่อใด จิตที่เราได้พัฒนาแล้ว ก็จะเป็นจิตที่ดีที่เลิศที่ประเสริฐ เป็นจิตที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจความชั่วทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์ขึ้นมาเป็นขั้นๆ เช่นว่า สีลวิสุทธิ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังคมของเราอยู่ด้วยความสุขความสบาย มีระเบียบ ทุกคนที่เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องอยู่ในกฎระเบียบของสังคม เช่นว่า ครอบครัวก็ต้องมีระเบียบของครอบครัว ชาววัดก็ต้องมีระเบียบของชาววัด ชาวบ้านก็ต้องมีระเบียบของชาวบ้าน ระเบียบของสังคมที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็คือศีล ๕ ประการ

การที่เราทั้งหลายตั้งอยู่ในศีล ๕ ประการนี้ ก็ถือว่าจิตของเรามีระเบียบ เมื่อเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติในกฎระเบียบของสังคมก็ดี ของครอบครัวก็ดี ของหมู่บ้านก็ดี ของตำบล ของอำเภอ ของจังหวัด ของประเทศชาติ ก็ทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นมา ไม่เดือดร้อน

พวกเราทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราถือศีล ๑๐ บ้าง ศีล ๘ บ้าง ศีลอุโบสถบ้าง หรือศีล ๒๒๗ บ้าง เมื่อใดเราตั้งอยู่ในศีลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การแสดงออกของสังคมนั้นๆ เป็นผู้มีกายอันสงบ มีวาจาอันสงบ เมื่อมีกายอันสงบ มีวาจาอันสงบ มีจิตใจที่ไม่พยาบาทอาฆาตจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกัน ต่างคนก็ตั้งอยู่ในระบบของสังคม หรือตั้งอยู่ในระเบียบของสังคม สังคมของเราก็อยู่เย็นเป็นสุข

สรุปแล้วว่า เมื่อเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิด สีลวิสุทธิ คือมีศีลอันบริสุทธิ์ เมื่อศีลของเราบริสุทธิ์แล้ว ศีลนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราเยือกเย็น ให้สังคมเยือกเย็นน่าอยู่ สังคมก็อยู่เย็นเป็นสุข

เมื่อจิตใจของเราเยือกเย็นแล้ว คือจิตใจของเรามันมีความสุขซึ่งเกิดขึ้นจากสีลวิสุทธิ คือ มีศีลอันบริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว จิตใจของเราก็เยือกเย็นเป็นปกติ เมื่อจิตใจของเราไม่เดือดร้อนแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ

จิตใจของเราจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ดี เช่นว่า เราตั้งจิตตั้งใจไว้ในอารมณ์ไหน จิตใจของเราก็จะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้น

เมื่อจิตใจของเรามีสมาธิแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การคิดของเรามีระบบ ไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนสมาธิยังไม่มี มันจะคิดอะไรร้อยแปดพันประการ ขณะนี้ นาทีนี้ ชั่วโมงนี้ คิดอย่างหนึ่ง อีกนาทีต่อไป ชั่วโมงต่อไป คิดอีกอย่างหนึ่ง บางที ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง บางที ๑๐ นาที หรือ ๓๐ นาที คิดไปเป็นหมื่นๆ เรื่อง เป็นความคิดที่ไม่มีระบบ

เมื่อจิตใจของเรามีสมาธิแล้ว การคิดจะมีระบบ ซึ่งเรียกว่า จิตตวิสุทธิ คือมีจิตอันบริสุทธิ์ ก็ได้แก่จิตที่เป็นสมาธินั่นเอง เมื่อสมาธิสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาขึ้นมา คือสมาธินี้จะอบรม เมื่อสมาธิอบรมดีแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา

เมื่อเกิดปัญญามาแล้วท่านทั้งหลาย ผู้อยู่ทางโลกก็จะเห็นความเป็นไปของทางโลกว่ามันเป็นไปอย่างไรๆ ที่เป็นอยู่นี้ สังคมโลกขณะนี้มันถูกไหม การดำเนินวิถีชีวิตอย่างนี้มันถูกต้องไหม เราอยู่ในสมณเพศ การดำเนินวิถีชีวิตของเรานี้ขณะนี้ มันถูกต้องไหม การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้มันถูกต้องไหม เกิดความเห็นขึ้นมา

ผลสุดท้าย เราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้ ก็จะเห็นอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน เช่นว่า เห็นรูปเห็นนาม แล้วก็สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ เช่นว่า เราเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม ก็จะเกิดความรู้ขึ้นมา ไม่ใช่ว่าทำเล่นๆ

ยืนหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม พองหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม ยุบหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม เวลาเราเจ็บเราปวดกำหนดว่า ปวดหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม หรือเวลาเกิดความสุขขึ้นมา กำหนดว่า สุขหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม

เมื่อเวลาเราคิดโน้นคิดนี้ก็กำหนด เอาสติกำหนดว่า คิดหนอๆ ร่ำไป ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า ในขณะที่กำหนดว่า คิดหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อตาเห็นรูปก็กำหนดว่า เห็นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาได้กลิ่นกำหนดว่า กลิ่นหนอๆ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม

เวลารับประทานอาหารเรากำหนดว่า รสหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาเราถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากำหนดว่า อ่อนหนอ แข็งหนอ เย็นหนอ ร้อนหนอ อะไรทำนองนี้ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม มันจะเกิดความรู้ขึ้นมา

ปัญญาดังกล่าวมาแล้วนี้ เกิดจากอำนาจของสมาธิ สมาธิที่เราบำเพ็ญดีแล้ว มันจะให้เกิดปัญญาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น และก็ปัญญานี้ เมื่อเกิดก็จะเกิดตามวิถีของมัน ไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่จิตของเรายังไม่เป็นระบบ การคิดยังไม่เป็นระบบ

เมื่อการคิดของเราเป็นระบบแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะอบรมปัญญาให้เกิดความรู้ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นระบบ ไม่ไปทางโน้นไปทางนี้ คือความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ มันจะเป็นระบบของมันเอง เมื่อเห็นรูปเห็นนาม สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาข้ามพ้นความสงสัย

เมื่อก่อนโน้น เรามีความเคลือบแคลงสงสัย เรื่องโน้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง เรื่องโลกนี้โลกหน้า เรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพาน เป็นต้น ความสงสัยทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็จะหมดไป เช่นว่า คนเรานี้มาจากไหน มาเกิดในที่นี้ เกิดขึ้นมาเพราะกรรมอะไร คนผู้นี้เขามีความรู้สูง มีสติปัญญาดี มันเกิดขึ้นเพราะอะไร มันจะเกิดความรู้ขึ้นมา

สรุปเอาสั้นๆว่า มันจะเกิดความรู้ขึ้นว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม มันจะเกิดความรู้ รูปนามนี้เกิดขึ้นมาจากอะไร อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดรูปเกิดนาม มันจะเกิดความรู้ขึ้นมา เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานตามลำดับๆ ปัญญาของเราก็แก่กล้าขึ้นตามลำดับๆ ก็จะหมดความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องดังกล่าวมาแล้วข้างต้น คือเห็นว่า รูปมันเกิดมาจากอันนี้ นามเกิดมาจากนี้  รูปนี้มีอันนั้นเป็นเหตุเกิด นามนี้มีอันนั้นเป็นเหตุเกิด ดังที่ท่านกล่าวไว้ในหลักของการปฏิบัติว่า

รูป เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว
เวทนา เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว
สัญญา เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างเดียว
สังขาร เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสังขารอย่างเดียว
วิญญาณ เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา นามรูป และความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างเดียว

นี้เรียกว่า นิพพัตติลักษณะ คือการเกิดของคนเรา มันจะเกิดความรู้ขึ้นมาอย่างนี้ เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว จนหมดความเคลือบแคลงสงสัยว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดรูป อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดนาม หมดความสงสัยแล้ว

เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งต่อกันไปตามลำดับๆ จนถึง มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือจะมีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ว่า ทางนี้ผิด ทางนี้ถูก การคิด การทำ การพูดอย่างนี้มันผิด แล้วก็จะได้ละ การคิด การทำ การพูด อย่างนี้เป็นทางถูก ก็จะได้ดำเนินต่อไป ประพฤติปฏิบัติต่อไป เมื่อประพฤติปฏิบัติต่อไปแล้ว ก็จะเป็นปัญญา นี้ก็ส่งกันเป็นขั้นๆ

ขอย้อนอีกครั้งหนึ่ง สีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ จะเกิดความรู้ดำเนินไปตามลำดับๆ จนเห็นความเกิดความดับของรูปนาม เห็นเฉพาะความดับของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม

เบื่อหน่ายในรูปในนาม อยากออก อยากหนี อยากพ้นไป จากรูป จากนาม ไม่อยากมีรูปมีนามต่อไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจเข้มแข็ง หนักแน่น ไม่ท้อถอย พร้อมจะต่อสู้ พร้อมจะตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ยอมสู้ตาย ยอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดก็เอาคางเกาะไป เมื่อใด หากว่าการประพฤติปฏิบัตินั้นยังไม่สามารถทำลายสภาวธรรมที่ลามกทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อนั้นจะไม่ลดละความพยายาม

เมื่อใด หากโลภะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี มานะก็ดี ทิฏฐิก็ดี วิจิกิจฉาก็ดี อุทธัจจะก็ดี ถีนะก็ดี อหิริกะก็ดี อโนตตัปปะก็ดี ยังไม่หมดไปจากขันธสันดานแล้ว เมื่อนั้น จะไม่หยุดความเพียร ไม่เลิกการประพฤติปฏิบัติเป็นเด็ดขาด เรายอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดยอมเอาคางเกาะไปเมื่อใด เรายังไม่สามารถทำลายสภาวะที่ชั่วช้าลามกทั้ง ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อนั้นเราจะไม่ละการปฏิบัติ เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้า จะต้องทำให้จิตใจเข้มแข็งเหมือนพระพุทธเจ้า มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ วินาทีนี้ หรือว่ามันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ เราก็ยอมตาย

เมื่อใดยังเอาชนะสภาวะที่ลามกทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วไม่ได้ เมื่อนั้นเราจะไม่หยุดการปฏิบัติเป็นเด็ดขาด จิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว เห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งที่ไม่ดี ที่ให้โทษแก่ตัวเองและสังคม จิตใจก็จะเด็ดเดี่ยวขึ้นมา ยอมสู้ตายเพื่อเอาชนะสิ่งที่ไม่ดี

อุปมาเหมือนกับเข้าสู่สนามรบ ยอมสู้ตาย เมื่อใดยังเอาชนะข้าศึกไม่ได้ ก็จะไม่วางปืน ไม่วางอาวุธ ยอมตาย เอาหัวเป็นประกัน เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่เมื่อใดเอาชนะข้าศึกได้แล้วนั่นแหละ จึงจะนิ่งนอนใจ ข้อนี้ฉันใด เมื่อได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาถึงนี้ จิตใจของเราจะเกิดความกล้าหาญ จิตใจจะเข้มแข็ง หนักแน่น ยอมสู้ตาย จนสามารถเอาชนะกิเลสตัณหาได้

เมื่อปฏิบัติผ่านไป เห็นว่าช่องทางนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้กิเลสตัณหามันหมดไปจากขันธสันดาน เห็นแนวทาง เห็นวิธีการ เห็นหลักการ ที่จะทำให้กิเลสตัณหาหรือความชั่วทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นหมดไปแล้ว ก็ทำให้ใจสบาย เออ เรารู้มันละ เรารู้มันแล้ว เราเห็นทางแล้ว เราเห็นทางต่อสู้แล้ว เราเห็นทางที่จะเอาชนะมันได้แล้ว ตอนนี้เราจะพักผ่อนก่อน เอากำลังซะก่อน แล้วจึงจะได้บุกไปข้างหน้าในชั่วโมงหน้าต่อไป จิตใจของผู้ปฏิบัติก็สบายๆ มาถึงนี้ ชื่อว่ามันดำเนินในปฏิปทาที่ถูกต้องแล้ว

ทีนี้ เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อกันไปตามลำดับๆ ปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ปัญญาขั้นสุดท้าย เรียกว่า โลกุตตรปัญญา แต่ที่อธิบายมาแล้วข้างต้นนั้นเป็นโลกิยปัญญาอยู่

เมื่อโลกิยปัญญาสมบูรณ์แบบแล้ว มีอานุภาพ มีกำลัง มีพลัง มีสมรรถนะสูงเต็มที่แล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดโลกกุตตรปัญญา เรียกว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ คือจะเห็นหนทางเอาชนะโรคทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น หรือสภาวะที่ลามกทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น มันจะเห็นช่องทางแล้วตอนนี้

เมื่อเห็นช่องทางแล้วว่า โอ หนทางที่จะเอาชนะพวกนี้ มีหนทางเดียว คือเราต้องทำให้เกิดปัญญารู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อจิตใจของเรามันดำเนินปฏิปทามาอย่างนี้ ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จะทำหน้าที่ประหารตัวที่ผูกพันกับกิเลสเหล่านี้อยู่ตัว

อะไรที่มันผูกพันตัวนี้ คือ โคตรภูญาณ หมายความว่า จิตใจของคนเราทุกวันนี้ มันผูกพันอยู่กับสิ่งชั่วช้าลามกทั้ง ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

คนเรามันทำดีไม่ถึงที่ เพราะว่าจิตใจของเรานั้นผูกอยู่กับความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตใจของเรามันผูกอยู่กับ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ ถีนะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ใจของเรามันผูกอยู่ในสิ่งเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้ผูกอยู่กับจิตใจของเรา มันจึงไปไม่พ้นจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จิตใจของเราจึงไม่เป็นอิสระ จิตใจของเราจึงตกเป็นทาสของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้

เราจะหาวิธีอย่างไรที่จะทำลายมัน เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว มันก็รู้วิธีทันทีว่า เออ กูต้องฆ่ามันๆ ก็ต้องทำลายให้มันดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน ปัญญาขั้นนี้ก็จะเกิดขึ้นมาทันที เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะทำลายโคตรของปุถุชน ซึ่งหนักแน่นหรือหนาแน่นไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ ถีนะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ให้ดับไป ให้สิ้นไป ให้สูญไป จากขันธสันดานทันที คือ ตัดโคตรของปุถุชน ก้าวเข้าสู่โคตรของพระโสดาบัน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 เมษายน 2559 14:28:32 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1012


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 49.0.2623.110 Chrome 49.0.2623.110


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 08 เมษายน 2559 13:20:21 »




การพัฒนาจิต (ต่อ)

หลังจากทำลายได้แล้ว มัคคญาณ ผลญาณ ก็เกิดขึ้นมาในขันธสันดาน หมายความว่า ถึงนิพพานแล้ว ตอนนี้ถึงโลกุตตระแล้ว ถึงพระนิพพานแล้ว จิตของเราถึงกระแสพระนิพพาน ๑ ขณะจิต หรือ ๒ ขณะจิตแล้ว เมื่อเราดำเนินมาจนสามารถยังมัคคญาณ ผลญาณ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว ก็เรียกว่าเราได้ความบริสุทธิ์ขั้นสุดท้าย คือ ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์แล้ว

ทีนี้ความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ คือว่าเราสามารถทำลายกิเลสตัณหาที่ทำจิตใจของเราให้ชั่วช้าลามกมาตั้งหลายชาติ หลายกัป หลายกัลป์ จนมาถึงปัจจุบันชาตินี้ บัดนี้เราทำลายมันหมดแล้ว จิตใจของเราเป็นอิสระแล้ว ไม่ตกอยู่ในอำนาจของฝ่ายต่ำอีกต่อไปแล้ว

ในขณะนี้ ก็ถือว่าเราได้ใบประกันชีวิตแล้ว ตายแล้วเราจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เรามีพระนิพพานเป็นที่ได้เป็นที่ถึง เราจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

อันนี้เป็นอานิสงส์ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือว่าเป็นอานิสงส์ที่หน่วยราชการตั้งชื่อว่า พัฒนาจิต เมื่อทางหน่วยราชการจัดการอบรมพัฒนาจิตอยู่ทุกวันนี้ ก็มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน เว้นไว้แต่ว่าหน่วยอบรมนั้นๆ จะประพฤติปฏิบัติไปได้มากได้น้อยแค่ไหนเพียงไร

ถ้าว่าเราปฏิบัติได้ถึงขึ้นสูงสุดยอดแล้ว ก็ถือว่าสังคมนั้นอยู่เป็นสุขร่มเย็น ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าว่ายังไม่ถึงนั้น (อย่างน้อย) ก็ทำให้สังคมของเราสงบ การอยู่ของสังคมมีระบบ ทั้งทำให้สังคมนั้นน่าอยู่ ทำสังคมให้อยู่อย่างผาสุกไม่เดือดร้อน

สำหรับผู้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าอยู่ในพระศาสนา เป็นพระสงฆ์ สามเณร ปะขาว แม่ชี ก็อยู่สบายๆ ผู้อยู่ครองฆราวาสก็อยู่สบายๆ จิตใจของเราไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา อันนี้เป็นความมุ่งหมาย หรือว่าเป็นผลประโยชน์ ที่เกิดขึ้นจากการอบรมพัฒนาจิตหรือการเจริญวิปัสสนาภาวนา

สรุปว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สามารถทำลายความชั่วทั้ง ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ให้หมดไป ทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน

ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลายว่า การประพฤติปฏิบัตินี้ แม้ว่าจะเป็นวิถีทางที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์ก็จริงอยู่ แต่เราต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคหลายๆ อย่าง เช่น ในขณะนี้ที่เราจากวัดจากวามา เราก็ต้องตัดความห่วง ความกังวล ความผูกพันให้หมดไปจากจิตจากใจ เราจึงจะสามารถปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ปลิโพธ คือความกังวล หรือความห่วงใยในสิ่งต่างๆ นั้น ท่านกล่าวไว้ ๑๐ ประการ คือ
๑) อาวาสปลิโพธ ห่วงที่อยู่
๒) ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ
๓) โภคปลิโพธ ห่วงทรัพย์สมบัติ
๔) กัมมปลิโพธ ห่วงการงานที่ตนทิ้งมา
๕) โรคปลิโพธ ห่วงเกรงว่าจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างโน้นอย่างนี้
๖) อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกลว่า เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้ว เราต้องเดินกลับไป สะตุ้งสตังค์ของเราก็ไม่มี เราจะกลับได้อย่างไร อะไรทำนองนี้ หรือว่าอยากไปโน้นอยากไปนี้ เรียกว่าอัทธานปลิโพธ
๗) คณปลิโพธ ห่วงหมู่ห่วงคณะ คือเห็นว่าปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาแล้ว อยากให้หมู่ให้คณะมาประพฤติปฏิบัติ อยากให้พ่อให้แม่ ครูบาอาจารย์ อยากให้ผู้ที่เคารพนับถือได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ
๘) ญาติปลิโพธ ห่วงญาติที่อยู่เบื้องหลังว่า ขณะนี้ญาติของเราจะเป็นอย่างไร คนโน้นจะเป็นอย่างไร คนนี้จะเป็นอย่างไร ก็เกิดความห่วงใย เกิดความผูกพันขึ้นมา
๙) คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียนว่า เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ไม่ได้เรียนหนังสือเลย มีแต่เดินจงกรม นั่งสมาธิ ความรู้ที่มีอยู่มันก็จะหมดไป เสื่อมไป สูญไป ความรู้ของเราที่เรียนมาแล้วก็จะลืมไป อะไรทำนองนี้ หรือว่าคิดอยากจะไปเรียนหนังสือที่โน้น คิดจะไปเรียนหนังสือที่นี้ คิดอยากดูหนังสือสอบ อะไรทำนองนี้ ก็เกิดขึ้นมา เรียกว่าคันถปลิโพธ ห่วงการเรียน
๑๐) อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงฤทธิ์ เช่น ผู้ปฏิบัติจะคิดว่า เรามานี้ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ถ้าว่าเราอยู่วัดของเรา เราสวดทำน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก แจกวัตถุมงคล คงจะได้สะตุ้งสตังค์ อย่างโน้นอย่างนี้ ก็เกิดความห่วงขึ้นมา
ความห่วงทั้ง ๑๐ ประการนี้ ก็ถือว่าเป็นสภาวธรรมที่ขัดขวางกั้นกางการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ให้ดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ตามเจตนารมณ์ที่เราตั้งไว้

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพยายามตัดความห่วงใยทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วให้หมดไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดาน

เอาละท่านทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ท่านทั้งหลายขอให้ กำหนดต้นจิต สมมติว่า เรานั่งอยู่นี้ เวลานั่งอยู่อย่างนี้ เราอยากพลิกก็ให้กำหนดว่า อยากพลิกหนอๆ แล้วก็พลิกหนอๆ เราอยากเหยียดเท้าเหยียดแขน ก็กำหนดว่า อยากเหยียดหนอๆ แล้วก็เหยียดหนอๆ เวลาอยากลุก ก็กำหนดว่า อยากลุกหนอๆ แล้วก็ลุกหนอๆ ขึ้นมา อยากนอน ก็กำหนดว่า อยากนอนหนอๆ

เวลานอนลงไปก็กำหนด นอนหนอๆ เมื่อนอนลงไปแล้ว กำหนดพองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหลับ ก็พยายามจำให้ได้ว่า มันจะหลับไปตอนเรากำหนดพองหนอ หรือหลับไปตอนกำหนดยุบหนอ ก็พยายามกำหนดให้ได้

อย่างอื่นที่ไม่ได้กล่าวมานี้ ก็ขอให้กำหนด คือให้กำหนดอิริยาบถใหญ่แล้วก็อิริยาบถย่อยด้วย อิริยาบถใหญ่ ก็คือยืน เดิน นั่ง นอน นี้เป็นอิริยาบถใหญ่ ก็ให้กำหนด อยากยืน ก็กำหนดว่า อยากยืนหนอๆ แล้วก็ยืนหนอๆ อยากเดิน ก็กำหนดว่า อยากเดินหนอๆ แล้วก็เดินหนอๆ อยากนั่ง ก็กำหนดว่า อยากนั่งหนอๆ แล้วก็นั่งหนอๆ เวลาอยากลุก ก็กำหนดว่า อยากลุกหนอๆ แล้วก็ลุกหนอๆ อันนี้เป็นการกำหนดอิริยาบถใหญ่

เมื่อกำหนดอิริยาบถใหญ่ได้แล้ว ชำนาญแล้ว ก็ให้กำหนดอิริยาบถย่อย เช่น กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องพยายามกำหนดให้ทัน

ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ แต่ละบทเรียน แต่ละบทที่ต้องปฏิบัตินั้น คล้ายๆกับมันไม่มีความหมาย ไม่เหมือนกับเรียนชั้นประถม มัธยม หลักสูตรปริญญาตรี โท เอก ไม่เหมือนอย่างนั้น

มันคล้ายของพื้นๆ ใครๆก็มีอยู่ แต่ว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องทำให้ได้ คือต้องฝึกให้ได้ และก็ต้องทำให้ได้ เพราะเราทำอยู่นี้ก็เพื่อว่าให้สติของเรามีพลังมีอำนาจ เพื่อจะนำไปปราบกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมีโมหะเป็นต้น ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน

หากว่าเราฝึกฝนอบรมปฏิบัติอยู่นี้ กำลังยังมีไม่พอ คือสติของเรามีกำลังไม่พอ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงมีโมหะเป็นประธานนั้นให้สิ้นไปได้

เหตุนั้น เราต้องอย่าชะล่าใจ พยายามฝึกอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่ามันจะยากลำบากอย่างไร ก็ขอให้อดทน กัดฟันต่อสู้ พยายามฝึกให้ได้ ถ้าว่าเราไม่ฝึกสติ สติของเราก็จะไม่สมบูรณ์ ไม่มีพลัง ไม่มีอำนาจ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถเอาชนะกิเลสตัณหาได้

บทเรียนมิใช่ว่าจะมีเฉพาะเท่านี้ เราต้องพยายามเรียนไปตามลำดับๆ เห็นว่าบทนี้ทำได้แล้ว ชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว ก็เพิ่มบทเรียนขึ้นไปอีก มันเป็นบทๆอยู่ บทนี้ชำนาญแล้ว ก็เพิ่มบทเรียนไปเรื่อยๆ

เหมือนกันกับเราเรียนหนังสือจบ ม.๑ แล้ว ก็ต้องเรียน ม.๒ จบ ม.๒ แล้วก็ต้องเรียน ม.๓ จบ ม.๓ แล้วก็ต้องเรียน ม.๔ จนเรียน ม.๖ แล้วก็สอบได้แล้วนั่นแหละ จึงจะสำเร็จการเรียน

และก็เพิ่มบทเรียนไปเรื่อยๆ เพิ่มไปๆ เมื่อบทเรียนของเราสมบูรณ์ การปฏิบัติตามบทเรียนนั้นสมบูรณ์ ก็สามารถเอาความรู้ที่เราเรียนมาปฏิบัติ จนสามารถทำลายกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ให้มันดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านหลวงปู่หลวงตา ครูบาอาจารย์ เพื่อนสหธรรมิก ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อย่าได้ประมาท พยายามกำหนดตามบทเรียนที่ถวายหรือที่มอบให้ทุกบทนั้นให้ชำนิชำนาญเถิด

เอาละ เท่าที่บรรยายมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ด้วยกันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จงทุกท่านๆ เทอญ.


หลวงพ่อพระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 เมษายน 2559 14:29:12 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1012


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 49.0.2623.112 Chrome 49.0.2623.112


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 27 เมษายน 2559 14:27:06 »




ทางไปนรก

ทางไปนรกบุคคลจะเดินทางไปนรกนั้น ได้นามว่า “มนุสฺสเนรยิโก” ตัวเป็นมนุษย์ แต่ใจตกอยู่ในสภาวะของนรก เพราะกำลังเปิดประตูนรก กำลังจะเดินทางไปนรก

อะไรเป็นทางไปนรก โทสะ ความโกรธนั่นเองเป็นทางไปนรก นรกมีสภาพเป็นอย่างไรนั้น ผู้ได้อภิญญาจึงสามารถเห็นได้ ส่วนสามัญชนก็อาศัย “ตถาคตโพธิสัทธา” เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าตามนัยที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเท่านั้น

มีเหตุผลพอที่จะพิสูจน์ได้ว่านรกนั้นต้องเป็นสถานที่ร้อนเพราะเหตุคือโทสะอันเป็นทางไปก็เป็นของร้อนมากอยู่แล้ว เช่น ในเวลาที่โทสะเกิดขึ้น ก็จะรู้สึกร้อนใจเป็นกำลัง กลุ้มใจไปหมดทุกหนทุกแห่ง เสียใจไปหมดทุกหนทุกแห่ง ริษยาไป หึงหวงไป รำคาญไป แค้นเคืองใจไป ไม่มีที่สิ้นสุด โทสะความโกรธอันใดที่มีมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดเป็นปัจจัย จนเป็นเหตุให้ทำทุจริตมีการฆ่าหรือว่ากล่าวหยาบช้าต่าง ๆ เป็นต้นแล้ว นั่นแหละเป็นหนทางไปสู่นรกโดยแน่นอน

ถ้ามีโทสะ แต่ไม่ถึงกับเห็นผิดคิดร้ายเป็นเหตุให้ทำผิดทุจริตต่างๆ แล้วก็ยังไม่ไปนรก เป็นเพียงให้ทุกข์ๆ ยากๆ พาลำบากอยู่ในมนุษย์เท่านั้น นอกจากนั้นก็ยังส่งผลให้ได้รับความทุกข์ยากต่อไปในชาติหน้าอีก

ดังนั้น นรกจึงร้อนแรงด้วยไฟนรกเผาผลาญ และมีอาวุธทิ่มแทงให้เสวยทุกขเวทนาอันแสนสาหัสด้วยแรงกรรมที่ทำไว้ร้อนจนกระทั่งขาดใจตายแล้วเกิดขึ้นอีก ถูกไฟแผดเผาอีก ทนต่อความร้อนแรงไม่ไหวจนตาย ตายแล้วเกิดอีก เป็นอยู่เช่นนี้จนกว่าจะสิ้นกรรมที่ได้กระทำบาปด้วยอำนาจของโทสะ

บุคคลที่ทำทางนรกไว้บ่อยๆ เวลาถึงมรณาสันนกาล เมื่อใกล้จะตายจะปรากฏกรรมเห็นแต่การกระทำบาป หรือปรากฏเห็นแต่กรรมนิมิตเครื่องมือที่ทำบาป และคตินิมิตนรกขุมที่จะตกไป ซึ่งมีไฟและศรัสตราวุธ เป็นต้น เมื่อได้อารมณ์อันใดอันหนึ่งเช่นนี้แล้วตายไปในขณะนั้น ย่อมไปตกอยู่ในนรกสิ้นกาลนาน แม้พ้นจากนรกแล้วเศษบาปที่เหลืออยู่ก็จะตามสนองให้ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย หรือสัตว์ดิรัจฉาน ถ้าบุญในภพก่อนๆ มีอยู่บ้าง ก็จะส่งผลให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ จะเป็นมนุษย์ที่พิกลพิการทุพพลภาพ ไม่สมประกอบ ใบ้ บ้า หนวก บอด วิกลจริตต่างๆ ทั้งนี้ก็ล้วนเป็นเพราะเศษบาปที่เหลืออยู่ประทับตราสัญลักษณ์ของนรกไว้ด้วยอำนาจแห่งโทสะความโกรธเป็นมูลมานั่นเอง.


หลวงพ่อพระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 เมษายน 2559 14:31:01 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.746 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 28 มีนาคม 2567 20:06:56