[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 06:20:08 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปกิณกะทางพุทธศาสนา  (อ่าน 2526 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 27 เมษายน 2559 13:38:30 »



ภาพ : วัดอุโมงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ปกิณกะ ทางพุทธศาสนา

• ปัญจอันตรธาน : ความเสื่อม ๕ ข้อ

วันวิสาขบูชา เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดงานฉลองครบรอบ ๒๕ ศตวรรษ แต่ชาวบ้านเรียกฉลองกึ่งพุทธกาล...ครับ

ฉลองกันไปแล้ว ทั้งรัฐบาลทั้งชาวบ้าน ก็ไม่รู้สักเท่าไหร่ว่า ความเชื่อเรื่องกึ่งพุทธกาล หรือครั้งหนึ่งของอายุพุทธศาสนา ๕๐๐๐ ปี นั้น เป็นความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายาน

ไม่ใช่ความเชื่อของพุทธศาสนา ฝ่ายหีนยาน ของพวกเรา ที่เราเรียกว่าเถรวาท เลย

ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล นิพนธ์ไว้ในหนังสือ สารคดีที่น่ารู้ (สำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ.๒๕๑๘) เมื่อพระองค์อายุราว ๘-๙ ขวบ ไปฟังเทศน์กับคุณย่า ได้ยินพระเทศน์บอกศักราชว่า วันนั้น เดือนนั้น พ.ศ.เท่านั้น ยังเหลืออีกเท่านั้น...ปี

ครั้นโตขึ้น อายุ ๑๙ ปี เสด็จพ่อ (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) สอนวิชาพุทธศาสนาว่า เมืองไทยได้รับพุทธศาสนามาทั้งนิกายมหายานและหีนยาน คำสอนต่างๆ จึงปะปนกันอยู่เป็นอันมาก

จนสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดระบอบสังฆมณฑลตามวิธีใหม่ ทรงเปลี่ยนวิธีบอกศักราช ให้เลิกเรื่องพุทธกาล ๕๐๐๐ ปีเสีย ทรงเห็นว่าไม่มีแก่นสารอะไร

พระพุทธศาสนา จะเสื่อมหรือเจริญ ก็เพราะ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตามพระพุทธดำรัสต่างหาก

เรื่องกึ่งพุทธกาล จึงสูญไป


เมื่อรัฐบาล...รื้อฟื้นเรื่องพุทธกาลมาทำกันเป็นงานใหญ่ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ทรงไม่สิ้นสงสัย เรียนถามไปที่ เจ้าพระคุณนิรันตรญาณมุนี วัดเทพศิรินทร์ ท่านได้ส่งหนังสือสารัตถสังคหะ มาให้อ่าน

ได้ความรู้ เรื่องปัญจอันตรธาน คือ ความเสื่อม ๕ ข้อ ต่อไปนี้
๑.ปริยัติอันตรธาน คือ ความรู้เสื่อม
๒.ปฏิบัติอันตรธาน คือ ความประพฤติเสื่อม
๓.ปฏิเวธอันตรธาน คือ ความหลุดพ้นเสื่อม
๔.ลิงคอันตรธาน คือ ความเป็นระเบียบเสื่อม และ
๕.ธาตุอันตรธาน คือ วัตถุธาตุต่างๆ เสื่อม

ข้อ ๑ ปริยัติเสื่อม อธิบายว่า ถ้าพระสงฆ์ไม่เอาใจใส่เล่าเรียนพระไตรปิฎกแล้ว ความรู้จะเสื่อมตั้งแต่ปลายมาต้น คือ พระอภิธรรมเสื่อมก่อน พระวินัยจะเสื่อมตาม แล้วในที่สุดพระสูตรก็เสื่อมสูญ
ข้อ ๒ ความประพฤติเสื่อม ต่อไปพระสงฆ์ไม่ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ จนเกิดมรรคผล ก็จะรักษาได้แต่ศีลอย่างเดียว แล้วก็จะค่อยเสื่อมลงทุกที
ข้อ ๓ ปฏิเวธเสื่อม ไม่มีพระอรหันต์แม้เพียงขั้นพระโสดาบันแล้ว
ข้อ ๔ ลิงคอันตรธาน พระสงฆ์ไม่สำรวม ให้สมกับความนับถือของคน กิริยาหลุกหลิกไม่เรียบร้อย นุ่งห่มสีต่างๆ ตามใจชอบ นี่คือข้อที่ผู้ใหญ่เล่าว่า ต่อไปพระสงฆ์จะมีแต่ผ้าเหลืองชิ้นน้อยห้อยติดหู
ข้อ ๕ ธาตุอันตรธาน เมื่อสิ่งทั้งปวงเสื่อมสูญไปแล้ว สถานที่สักการบูชาก็จะไม่มี

หนังสือสารัตถสังคหะ เล่มนี้ บอกไว้ว่า พระนันทาจาริยาเจ้า แห่งลังกาทวีปอธิบาย ไทยเราคงได้คติปัญจอันตรธานนี้มาจากลังกา ถ้าอ่านด้วยพิจารณาก็จะเห็นได้ว่า เป็นการทำนายด้วยเหตุผล ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเกิดผลเช่นนั้นๆ

ม.จ.หญิงพูนพิสมัย ทรงพระนิพนธ์ เรื่องกึ่งพุทธกาล ไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ครับ
       ฯลฯ
   

ที่มา : “ผ้าเหลืองชิ้นน้อย” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙






• อุกเขปนียกรรม

อุกเขปนียกรรม หมายถึง กรรมที่สงฆ์ทำกับพระที่ควรจะยกเว้น หมายถึง ไม่เห็นว่าเป็นพระ หรือตัดสิทธิ์ความเป็นพระชั่วคราว ไม่ร่วมฉันร่วมอยู่ ร่วมทำสังฆกรรมด้วย เพราะการยกเว้น คือไม่ให้การยอมรับ

อธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือตัดสิทธิความเป็นพระภิกษุชั่วคราว

อุกเขปนียกรรม เป็นหนึ่งในกระบวนการนิคหกรรม คือลงโทษตามพระธรรมวินัย คือการข่มให้หลาบจำ เมื่อพระภิกษุกระทำผิด ก็ต้องถูกลงโทษ

นิคหกรรมตามที่วินัยบัญญัติไว้ มีอยู่ ๖ วิธี ได้แก่
๑.ตัชชนียกรรม ตำหนิในที่ประชุมสงฆ์
๒.นิยสกรรม ถอดจากอำนาจหน้าที่
๓.ปัพพาชนียกรรม ไล่ออกจากหมู่คณะ บังคับให้สึก
๔.ปฏิสาราณียกรรม ให้ขอขมาต่อชาวบ้าน
๕.อุปเขปนียกรรม ตัดสิทธิสถานภาพความเป็นพระชั่วคราว และ
๖.ตัสสปาปิยสิกากรรม ลงโทษให้หนักกว่าความผิดเดิม ฐานถูกไต่สวนแล้ว ให้การวกไปวนมา

อุกเขปนียกรรม จึงเป็นวิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติ หรือไม่ยอมทำคืนอาบัติ หรือมีความเห็นชั่วร้ายหรือทิฏฐิบาป โดยยกภิกษุนั้นเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลาย

นิคหกรรม คือ วิธีการลงโทษพระภิกษุที่ก่อการทะเลาวิวาทบาดหมาง ทำความอื้อฉาว มีศีลวิบัติ ติเตียนพระรัตนตรัย ทำความคะนอง ประพฤติอนาจาร ลบล้างพระบัญญัติ และประกอบมิจฉาชีพ

เป็นกิจที่พึงทำอย่างหนึ่งของผู้ปกครองหมู่คณะ เป็นคำคู่กับปัคหะคือการยกย่องเมื่อมีผู้ประพฤติมิชอบ สมควรแก่นิคหกรรม พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำนิคหกรรมแก่ผู้นั้น

ที่ผ่านมา คณะสงฆ์ไทยเคยลงนิคหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การประกาศปัพพาชนียกรรมกับโพธิรักษ์ พร้อมกับคณะสงฆ์กลุ่มสันติอโศก  รวมถึงการดำเนินการตามกฎนิคหกรรมกับพระยันตระ อมโร.


ที่มา : “อุกเขปนียกรรม” บทบรรณาธิการ นสพ.ข่าวสด น.๒ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙





• ณ กุสินารา

ความย่อแห่งพระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน ภาค ๔ เล่ม ๑๐ ระหว่างเสด็จปรินิพพาน...ตอนหนึ่ง

ครั้นแล้ว เสด็จเลียบฝั่งนอกของแม่น้ำหิรัญญวดี สู่ป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ใกล้กรุงกุสินารา ให้ตั้งเตียงผินพระเศียรไปทางทิศอุดร ทรงบรรทมมีสติสัมปชัญญะ ตรัสปรารภการบูชาด้วยการประพฤติธรรม ว่ายอดเยี่ยม

พระอานนท์กราบทูลว่า อย่าปรินิพพานในกรุงกุสินารานี้ ซึ่งเป็นเมืองเล็ก เมืองดอย เป็นกิ่งเมือง ขอให้เสด็จไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ๆ เช่น จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี โกสัมพี พาราณสี  แต่ตรัสตอบว่า กรุงกุสินารา เคยเป็นราชธานี นามว่า กุสาวดี ซึ่งพระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ ทรงปกครอง เคยเจริญรุ่งเรืองยิ่งมาแล้ว ในมหาสุทัสสนสูตร...(สูตรที่ขยายความจากมหาปรินิพพานสูตร) พระผู้มีพระภาคทรงพรรณนาความมั่งคั่งสมบูรณ์ของกรุงกุสาวดี และทรงพรรณนาถึงรัตนะ ๗ ประการ ที่เกิดขึ้นแก่พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ คือ
     ๑.จักรแก้ว ซึ่งหมุนไปในทิศต่างๆ ได้ นำชัยชนะมาสู่
     ๒.ช้างแก้ว เป็นช้างเผือก ชื่ออุโบสถ
     ๓.ม้าแก้วสีขาวล้วน ชื่อวลาหก
     ๔.แก้วมณี เป็นแก้วไพฑูรย์
     ๕.นางแก้ว รูปร่างงดงามมีสัมผัสนิ่มนวล
     ๖.ขุนคลังแก้ว ช่วยจัดการทรัพย์สินอย่างดีเลิศ
     ๗.ขุนพลแก้ว บัณฑิตผู้สั่งสอนแนะนำ

อนึ่ง พระเจ้ามหาสุทัสสนะจักรพรรดิ ทรงมีความสำเร็จ ๔ ประการ
     ๑.รูปงาม
     ๒.อายุยืน
     ๓.มีโรคน้อย
     ๔.เป็นที่รักของพราหมณ์คหบดีและประชาชน

ผลดีต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นเพราะผลแห่งกรรมดี คือทาน (การให้) ทมะ (การฝึกจิต) และสัญญมะ (การสำรวมจิต) จึงทรงบำเพ็ญฌานสงบความตรึกทางกาม ความตรึกทางพยาบาท และความตรึกทางเบียดเบียน ได้บรรลุฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ ทรงแผ่พระมนัสอันประกอบด้วยเมตตา (คิดให้เป็นสุข) กรุณา (คิดให้พ้นทุกข์) มุทิตา (พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี) และอุเบกขา (วางใจเป็นกลาง) ไปทั้งสี่ทิศ ทรงสั่งลดการเข้าเฝ้า เพื่อทรงมีเวลาอบรมทางจิตใจได้มากขึ้น

พระราชเทวี พระนามว่าสุภัททา สั่งจัดจตุลังคินีเสนา (ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ และทัพเดินเท้า) ซึ่งขุนพลแก้วก็จัดให้ พระนางเดินทางไปเฝ้าพระเจ้ามหาสุทัสสนะ ขอให้ทรงเห็นแก่สมบัติ เห็นแก่ชีวิต แต่กลับตรัสตอบ ขอให้พระราชเทวีทรงขอร้องใหม่ ในทางตรงกันข้าม คือ อย่าเห็นแก่สมบัติ อย่าเห็นแก่ชีวิต

เพราะการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ เป็นของธรรมดา การตายของผู้มีความกังวล ห่วงใย เป็นทุกข์และถูกติเตียน

พระราชเทวีทรงพระกันแสง ฝืนพระหฤทัยเช็ดน้ำพระเนตร ขอร้องใหม่ตามที่พระเจ้ามหาสุทัสสนะทรงแนะนำ ต่อมาไม่ช้า พระเจ้ามหาสุทัสสนะก็สวรรคต

ด้วยอานิสงส์ที่ทรงเจริญพรหมวิหาร พระองค์จึงเข้าถึงพรหมโลก พระผู้มีพระภาคตรัสสรุป...พระองค์เองเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะนั้น พรั่งพร้อมสมบูรณ์ด้วยสมบัตินานาประการ แม้จะมีนครอยู่ในปกครองมากมาย ก็อยู่ครอบครองได้เพียงนครเดียวคือนครกุสาวดี แม้จะมีรถมากหลาย แต่ก็ขึ้นสู่ได้คราวละคันเดียว คือรถเวชยันต์ แม้จะมีสตรีมากหลาย แต่ก็มีสตรีที่ปฏิบัติรับใช้ได้เพียงคราวละคนเดียว แม้จะมีถาดอาหารมากหลาย แต่ก็บริโภคได้อย่างมากเพียงจุทะนานเดียว

นี่คือพระสูตรบทหนึ่งในหลายๆ บท ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ในวันนั้น วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีที่แล้ว เมื่อถึงวาระสำคัญ ทรงเปิดโอกาสให้พระอริยะ ๕๐๐ รูป ที่แวดล้อมทูลถามข้อสงสัย...แต่ไม่มีพระรูปใดถาม ครั้นแล้ว ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่าน สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม...เถิด”

นี้คือ ปัจฉิมวาจาของพระตถาคต.


ที่มา : “ณ กุสินารา” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙




• ชายผ้าเหลือง
งานสวดศพสมัยเมื่อสัก ๖๐ ปีที่แล้ว พระสวดอภิธรรมจบถือตาลปัตรล่ำลาญาติโยม ก็ยังมีการ “สวดคฤหัสถ์” ผู้ชาย ๔ คนสวด...เป็นเพื่อนศพ เป็นเพื่อนญาติต่อไป จนใกล้สว่าง  

ผมเป็นเด็กเกินไป จำไม่ได้ว่าเนื้อหาที่สวดเป็นเรื่องอะไร เดาว่าเป็นสวดพระมาลัย เพราะกระบวนการสวดค่อนไปทางสนุกโลดโผน โยกตาลปัตรเอียงไปมา ทำท่าเหมือนไอ้หนุ่มหมัดเมา เคาะด้ามตาลปัตรให้จังหวะบางครั้ง

กาญจนาคพันธุ์ อธิบายสำนวน “ชายผ้าเหลือง” ว่า...หมายถึงผ้าเหลืองที่พระสงฆ์ใช้นุ่งห่ม ที่มาจากหนังสือสุบินกลอนสวดของโบราณ ซึ่งผมเข้าใจเอาว่าคงเป็นอีกเรื่องที่ใช้ในการสวดคฤหัสถ์ เนื้อหาสุบินกลอนสวดมีว่า นางสุภาวดีเป็นเมียนายพราน ตลอดชีวิตช่วยสามีฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไว้มาก นางสุภาวดีมีลูกชายคนเดียวชื่อสุบินเอาลูกชายไปบวชเป็นสามเณรได้ไม่นาน นางสุภาวดีกับผัวก็ตาย

เพราะทำบาปกรรมไว้ พระยมเจ้าแห่งนรก จึงเอาตัวไปลงหม้อไฟกัลป์ กลอนตอนนี้พรรณนาว่า นางเจ็บร้องไห้ร่ำไร แลเห็นชุติ์ไฟ ตกใจเพียงจักม้วยมรณ์ นางว่าแสงเพลิงเหลืองอ่อนเหมือนชายจีวร ลูกผู้บวชเป็นเณรปฏิบัติรักษาพระเถร เรียนธรรมะจะเจน ขอบุญมาช่วยมารดา พอยมบาลจับนางสุภาวดีทิ้งลงในกองไฟ ทันทีนั้นดอกบัวทองก็ผุดขึ้นมารองรับ

ยมบาลซักไซ้จนแน่ใจ เป็นผลบุญที่เกิดจากการบวชลูกชายก็ยอมปล่อยให้นางกลับขึ้นมาเป็นมนุษย์ เนื้อเรื่องพระสุบินตอนนี้คงเป็นที่นิยมกันมาก ในบทละครเรื่องสังข์ทอง มีกลอนบทหนึ่ง “เจ้าเงาะถอนหนวดสวดสุบิน” ยืนยันว่าบทสวดสุบิน นิยมแพร่หลายกันมาแต่สมัยอยุธยา

สวดสุบินเป็นที่มาของค่านิยมเกาะชายผ้าเหลือง อานิสงส์การบวชเณรของสุบิน ไม่เพียงช่วยแม่ ยังแผ่ไปช่วยพ่อที่ตายไปเป็นเปรต อยู่ในนรกอีกขุม เปรตพ่อสุบินทุกขเวทนาเพราะความหิวโหยอยู่ในนรกได้ไม่นาน พอลูกชายได้บวชก็เกาะชายผ้าเหลืองลูกชาย พ้นจากนรกขึ้นสวรรค์

แค่บวชลูกชายเป็นเณร อานิสงส์ยังมากขนาดนี้ หากบวชลูกชายเป็นพระอานิสงส์จะมากขึ้นไปอีก จนเป็นที่เชื่อถือว่า บวชเณรให้แม่ บวชพระให้พ่อ

ในหนังสือเก่าชื่อ “ปัญหาพยากรณ์” มีความตอนหนึ่ง “ข้าพเจ้าได้ยินอยู่เนืองๆ ตามชาวบ้าน บางคนมีแต่บุตรหญิง ไม่มีบุตรชาย เห็นบุตรคนอื่นบวชเป็นสามเณรก็พากันบ่นว่าบุญของเขา เขาได้เห็นผ้าเหลืองลูกชาย น่าปลื้มอกปลื้มใจ ถ้าปะเป็นลูกของเราเป็นชาย ได้บวชเช่นนี้บ้าง เราชื่นใจหาน้อยไม่” เป็นอันว่า สำนวนเกาะชายผ้าเหลือง เราได้มาจากสุบินกลอนสวด ของคนสมัยเก่า สมัยนี้ไม่มีสวดกันแล้ว
          ฯลฯ


ที่มา : “ชายผ้าเหลือง” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙




• กำเนิด “นิกายสุขาวดี” ในพุทธศาสนา
      ฯลฯ
ย้อนไปสมัย วู่ตี่ ฮ่องเต้ราชวงศ์ฮั่น พ.ศ.๔๐๐ กว่าๆ ระหว่างการส่งทัพไปเปิดเส้นทางสายไหม ค้าขายกับชาติอื่นๆ ก็ได้ข่าวพระพุทธศาสนา ฮ่องเต้จึงแต่งคณะทูตไปนำพระพุทธศาสนาจากอินเดียมาจีน จีนสมัยนั้นและสมัยต่อๆมา ก็มีหลายศาสนาปนๆ กัน เฉพาะพุทธก็มีทั้งหีนยาน และมหายาน

มหายานแตกหน่อพระพุทธเจ้าออกไปอีกหลายๆ องค์ องค์หนึ่งอยู่บนสวรรค์ทิศตะวันตก ชื่อสุขาวดี พระพุทธเจ้า ทรงนาม อมิตาภะ ประทับบนดอกบัวหลวงใหญ่ มีดอกบัวย่อมๆ เป็นบริวารล้อมรอบ

ผู้ใดภาวนา อมิตาภะ ตายไปจะเกิดบนดอกบัวแวดล้อมพระพุทธเจ้าองค์นั้น

“กาญจนาคพันธุ์” เล่าไว้ในคอคิดขอเขียน ผู้ที่ทำให้ สวรรค์สุขาวดี เป็นสระบัวจริง เป็นคนจีนเกิดในสมัยสามก๊ก เมื่อราว ๑๖๐๐ ปีที่แล้ว ชื่อฮุยเอี๋ยง

เดิมที “ฮุยเอี๋ยง” บวชเป็น “เต้าหยิน” ลัทธิเต๋า อยู่ที่ภูเขาโล่งซัว ในเมืองเซียมไซ ตะวันตกของจีน “เต๋า” ยุคแรกๆ ยึดคำสอนเล่าจื๊อ เห็นโลกสกปรกโสมม เบื่อมนุษย์ ชอบปลีกวิเวกไปอยู่ตามป่า ภาพเขียนของจีนยุคนี้ จึงมีแต่คนจูงควาย ขี่ควายเป่าขลุ่ย

เรื่องเล่า...คนจูงควายไปกินน้ำในลำธาร เห็นชายคนหนึ่งยืนล้างหูอยู่เหนือน้ำ ก็ได้ความว่า แผ่นดินไม่มีฮ่องเต้ ถูกชวนไปเป็นฮ่องเต้ ถือเป็นเรื่องอัปรีย์จัญไรจัญไร จึงมาล้างหูแก้ซวย คนจูงควายฟังแล้ว ร้องห้าม ควายข้าจะกินน้ำ เดี๋ยวจะพลอยซวยตามไปด้วย ว่าแล้วก็จูงควายหนี   เรื่องเล่าทำนองนี้ เกิดในยุคเต๋าเฟื่อง ฮุยเอี๋ยง ศึกษาคำสอนมหายาน เห็นว่าดอกบัวเกิดจากเปือกตม แหวกโผล่จากน้ำ ทิ้งสิ่งโสโครก หาความบริสุทธิ์ผุดผ่องเหนือน้ำ...ก็ศรัทธา ขุดสระใหญ่ ปลูกบัวหลวงสีขาวไว้เต็ม แล้วก็นั่งภาวนา “อมิตาภะๆ”  ภาวนาทั้งวันทั้งคืน มีคนมาเห็นก็นับถือ มานั่งภาวนา “อมิตาภะ” ตาม ๑๒๓ คน

ฮุยเอี๋ยง สร้างรูปพระอมิตาภะ หัตถ์ข้างหนึ่งถือดอกบัว ให้สาวกบูชา แล้วก็สร้างพระอวโลกิต (พระกวนอิม) พระสถามะ (พระไต้ซีจู๊) รวมเป็นสามองค์ เรียกว่า พระยูไลทั้งสามแห่งแดนตะวันตก แล้วสร้างสถาบันศึกษา ชื่อ โปเลียนซู ซึ่งแปลว่า “ดอกบัวขาว” เผยแผ่คำสอน   นับแต่นั้น ลัทธิพุทธศาสนา ที่นับถือพระพุทธเจ้าในสวรรค์สุขาวดี ก็เป็นที่นับถือแพร่หลายไปทั่วเมืองจีน แล้วแผ่เรื่อยไปทางญี่ปุ่น ญวน

พระอมิตาภะ ตามเสียงจีน เป็น โอนิท่อฮุด เสียงญี่ปุ่น อมิดะ เสียง ญวน อายดาเผิก ที่ญี่ปุ่น  นิกายที่นับถือพระอมิตาภะ แพร่หลาย

พระนิกายนี้มีเมียได้  ปัจจุบันเป็นสกุลสำคัญ มีคนเก่งคนดีมากมาย จอมพล ป. นิมนต์มาร่วมพิธี งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ มีปัญหา พระท่านเอาเมียมาด้วย เกิดปัญหาเรื่องที่นั่ง
       ฯลฯ


ที่มา : “สุขาวดี” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙




• ตักบาตรถามพระ
โดยปกติของญาติโยม เวลาจะใส่บาตรพระ ก็ต้องเลือกแต่ของดีๆ ของดีเท่าไหร่กุศลผลบุญจะมากขึ้นเท่านั้น เช่นข้าวสวยก็ต้องกะเวลาเตรียมหุงหา เอาข้าวสวยร้อนๆ ควันฉุยใส่บาตรพระ โยมบ้านแรก ข้าวสวยร้อน โยมบ้านต่อมา และต่อมา ก็ข้าวสวยร้อน บาตรพระเป็นเหล็กสื่อความร้อน ถ้าเป็นพระธรรมยุต ท่านก็ต้องทนอุ้มไป

แต่ถ้าเป็นพระมหานิกาย สะพายบาตรมีผ้าหนาหุ้ม ก็รอดไป ไม่หนักมือไม่ร้อนมือ

โดยธรรมเนียมพระจะไม่พูดชี้ช่อง ต้องการอะไร ถวายของชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องรับ ธรรมเนียมของญาติโยม ก็ห้ามตักบาตรถามพระ (เรื่องข้างสำรับ ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์พิมพ์คำ พ.ศ.๒๕๕๙)

แต่ข้อห้ามถามพระนั้น บางครั้งก็ทำให้พระผิดวินัย มีเนื้อ ๑๐ ชนิด ที่พระพุทธองค์ทรงห้าม เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้องู เนื้อสิงโต เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือดาว และเนื้อหมี

เหตุหนึ่งที่ทรงห้ามฉันเนื้อพวกเสือ...ก็เพราะเป็นเนื้อที่พวกพรานล่าสัตว์เอามาปรุงใส่บาตรถวาย เนื้อสัตว์เหล่านี้พระฉันแล้วจะมีกลิ่นตัวแรง เวลาไปในป่ากลิ่นตัวจะเรียกให้เสือเข้ามาทำร้าย ด้วยข้อห้ามนี้ หากหลวงพี่อยากฉันผัดเผ็ดงู หรืออุ้งตีนหมี แล้วญาติโยมทำถวายแทนที่จะได้บุญก็จะกลายเป็นได้บาปไปโดยไม่รู้ตัว

เรื่องเนื้อสัตว์พระพุทธเจ้าไม่ทรงห้ามไปหมด หากทรงเห็นความจำเป็นก็ทรงอนุญาต ครั้งหนึ่งพระรูปหนึ่งเป็นโรคในหู รักษาไม่หาย ก็ทรงแนะให้ไปบิณฑบาตที่ท้องนาชาวมคธ พระไปถึงโรงนา ชาวนากำลังหุงข้าวแกงปู ชาวนาก็ตักใส่บาตรถวาย พระท่านก็นั่งฉัน ฉันอิ่มได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ โรคหูก็หายไป

ความจริงพระพุทธองค์ทรงรู้ เนื้อปูรักษาโรคในหูได้ ชาวนาเมืองมคธแกงปูกินเป็นนิจ เพราะปูในนามีมาก ปล่อยไว้ก็กัดกินต้นข้าว ชาวนาจึงได้ประโยชน์สามทาง ไม่ต้องซื้อกับข้าว ได้กำจัดศัตรูข้าว ผลพลอยได้ช่วยรักษาโรคในหูให้พระด้วย

พระที่เคร่งวินัย ออกบิณฑบาตวันแรกได้ไข่ทอด ท่านก็ฉัน เพราะคิดว่าคนใส่บาตรทอดไข่ถวายโดยไม่ตั้งใจ แต่เมื่อวันต่อไปๆ ก็มีไข่ทอดใส่บาตรอีก ท่านก็รู้ว่าโยมเจตนาทอดไข่ถวาย ท่านก็ไม่ฉัน แต่เอาไปถวายพระรูปอื่น พระรูปนั้นฉันได้ เพราะคนทอดไข่ไม่ตั้งใจถวายท่าน

“สมัยเป็นเด็ก เคยไปยกตะลุ่มเมื่อทำบุญวันพระ ของกินที่ได้มากมายคือ ไข่เค็ม” ส.พลายน้อย เล่า “ตอนนั้นสงสัย ทำไมคนจึงชอบทำบุญด้วยไข่เค็ม มารู้ภายหลัง ไข่เค็มนั้น ไม่มีเชื้อ ไม่มีชีวิตแล้ว พระฉันได้ ได้บุญทั้งพระทั้งโยม”

ธรรมเนียม ตักบาตรอย่าถามพระ เป็นชนวนการเมืองใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๓

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชและได้ทรงตั้งคณะธรรมยุติกนิกาย  กรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งมีพระอาจารย์หลายรูปเป็นพระมหานิกาย ไม่พอพระทัยมาก

เมื่อพระธรรมยุตเข้าไปรับบาตรในวัง ก็โปรดให้เอาข้าวต้มร้อนๆ ใส่บาตรพระ พระท่านตั้งตัวไม่ทัน ทนร้อนไม่ไหวก็โยนบาตรทิ้ง

พระเจอข้อหาทำให้วังเป็นอัปมงคล ถูกสั่งลงโทษให้ยืนเท้าเดียวสวดภาณยักษ์แก้อัปมงคล

กรรมที่กลั่นแกล้งพระตามทัน ปลายรัชกาลที่ ๓ กิตติศัพท์ทางมักใหญ่ใฝ่สูงของกรมหลวงรักษ์รณเรศ เข้าพระกรรณพระเจ้าอยู่หัว ทรงบริภาษใช้คำหนึ่งว่า “เดรัจฉาน”

มีพระบรมราชโองการให้เอาตัวไปประหารชีวิต

 เรื่องตักบาตรห้ามถามพระ อธิบายความผูกพันระหว่างพระกับชาวบ้าน เคารพกันและกัน พระไม่ล้ำเส้นชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่ล้ำเส้นพระ
          ฯลฯ


ที่มา : “ตักบาตรถามพระ” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙





• พระ...สุปฏิปัณโณ

       ฯลฯ
...องค์ไหนเป็นพระ องค์ไหนไม่ใช่พระ

ผมอยู่ใกล้พระที่นับถือกันองค์หนึ่ง ลองตั้งคำถาม ท่านก็อมยิ้ม แล้วว่า องค์ประกอบหรือเกณฑ์ของคนที่ถูกเรียกว่า “พระ” ทั้งพระและชาวบ้านก็สวดกันอยู่ทุกวัน ในบทที่ขึ้นต้น สุปฏิปัณโณ ภควโต สาวกสังโฆนั่นปะไร

คุณลักษณะในตัวของพระสงฆ์...สงฆ์แท้...ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านว่า มีอยู่ ๔ ข้อ (คู่มือดับทุกข์ ฉบับสมบูรณ์ พุทธทาสภิกขุ คำบรรยายอบรมผู้พิพากษาที่ห้องเนติบัณฑิตสภา ๑๗ ก.พ. ๒๕๐๓)

สุปฏิปัณโณ ปฏิบัติดี อุชุปฏิปัณโณ ปฏิบัติตรง ญายปฏิปัณโณ ปฏิบัติเพื่อเจาะกิเลส สามีจิปปฏิปัณโณ ปฏิบัติสมควร ทวนบทสวด สุปฏิปัณโณ...ต่อไป...อาหุเนยโย ทักขิเนยโย อัญชลิกรณีโย เรื่อยๆ ไป จนถึง ปุญญเขตตัง โลกัสสะ

นี่คือคุณของสงฆ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยผู้อื่น

อาหุเนยโย ควรแก่ของที่เขาจัดไว้ต้อนรับ  ปาหุเนยโย ควรแก่ของที่จะเข้าไปรับ  ทักขิเนยโย ควรแก่ทักษิณาทาน คือของที่เขาจัดไว้เพื่ออุทิศกุศลแก่บุคคลผู้ตาย  อัญชลิกรณีโย ควรแก่การไหว้ ปุญญเขตตัง โลกัสสะ เป็นเนื้อนาบุญสำหรับเกิดบุญ

เนื้อนาธรรมดาให้เกิดข้าวเปลือก  แต่เนื้อคือการปฏิบัติของพระสงฆ์นั้น ให้เกิดบุญจึงเรียกว่าปุญญเขต

คราวนี้มาถึงหน้าที่ของพระสงฆ์ อาจารย์พุทธทาสขอให้รำลึกถึงคำที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เป็นผู้หงายของที่คว่ำ ผู้เปิดของที่ปิด ผู้ส่องแสงผู้เปิดกรง ถ้าพระสงฆ์ยังมีหน้าที่ที่ถูกต้องเช่นนี้ แสดงว่า โรงพยาบาลของโลก ยังมีอยู่

โรงพยาบาลที่จะเยียวยาในทางกาย หรือแม้ในทางจิตใจมีอยู่ทั่วไป แต่ทางวิญญาณแท้ที่สูงขึ้นไปอีกนี้ ต้องอาศัยโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า

โรงพยาบาลพระพุทธเจ้า มีพระสงฆ์เป็นแพทย์ มีธรรมะเป็นยา มีปูชนียสถานต่างๆ เป็นตัวโรงพยาบาล

“ฉะนั้น ขอให้ถือเอาคณะสงฆ์นี้เหมือนกับโรงพยาบาลโรคที่จะเยียวยาโรคในทางวิญญาณของโลก”

ท่านอาจารย์พุทธทาส ขอให้มองคณะสงฆ์ ในฐานะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของโลก เพราะว่าท่านมีหน้าที่มุงบังป้องกันโลกนี้ไว้ ให้สงบเย็น พระสงฆ์เป็นผู้เปิดเผยทาง สืบต่อจากพระพุทธเจ้า ให้มนุษย์เอาชนะกิเลส ซึ่งเป็นความเร่าร้อนได้

ในบรรดาสิ่งที่เบียดเบียนมนุษย์ไม่มีอะไรมากและน่าอันตรายเท่ากิเลส ฉะนั้น จึงต้องแสวงหาเครื่องป้องกัน ที่ตรงตามความหมายที่พึ่งที่ต้านทาน ที่แท้จริง  ธรรมะ คือที่มุงบังที่แท้จริง

เราถือว่าพระสงฆ์เป็นผู้สืบเนื่อง จึงต้องช่วยกันต่ออายุต้นโพธิ์ต้นไทร ช่วยกันรดน้ำพรวนดินเอาไว้ อย่าให้ตายเสีย

คำว่าสืบอายุพระศาสนา ก็คือสืบอายุต้นโพธิ์ต้นไทร ไว้ด้วยการบวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ได้ผลจริง

สอนสืบๆ กันไปจริงๆ

ท่านอาจารย์พุทธทาสทิ้งท้ายด้วยการอุปมาพระสงฆ์ เป็นดวงประทีปของโลก ถ้าคณะสงฆ์ยังคุณลักษณะ และทำหน้าที่ถูกต้อง ก็ถือว่าดวงประทีปนี้ยังไม่ดับ โลกนี้จะยังไม่มือ

แต่ถ้าคณะสงฆ์นี้ดับ ก็หมายความว่า ดวงประทีปของโลกดับและมืด

หัวข้อบรรยายนี้ ชื่อว่า พระสงฆ์ ผู้ชี้ทาง หนทาง และผู้เดินทาง เพื่อดับทุกข์...
       ฯลฯ


ที่มา : “พระ...สุปฏิปัณโณ” คอลัมน์ชักธงรบ นสพ.ไทยรัฐ น.๓ ฉบับวันศุกรที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 พฤศจิกายน 2559 19:44:10 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 08 สิงหาคม 2559 11:02:09 »




• ปฐมบัญญัติ - ศีล ๒๒๗

.....ฯลฯ ใครๆ ก็ทราบว่าพระสงฆ์นั้นท่านมีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ

แต่ความจริงนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเริ่มประกาศศาสนา และพระสงฆ์สาวกยังมีแต่พระอรหันต์นั้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติศีล ๒๒๗ ข้อนี้ไว้ก่อนเลย เพราะศีลนั้นแปลว่าปรกติ  

ศีลทั้ง ๒๒๗ ข้อนั้นเป็นปรกติของพระอรหันต์ ผู้ใดสำเร็จอรหันต์แล้วก็ไม่สามารถล่วงศีลทั้งปวงนั้นได้  กล่าวคือ ไม่สามารถฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ กล่าวเท็จ ร่วมประเวณี หรือดื่มน้ำเมาได้  ตลอดจนไม่สามารถทำของเขียวให้ขาดจากกัน หรือกินมูมมามเคี้ยวดังจับๆ หรือโยนขยะมูลฝอยออกทางหน้าต้่างกุฏิได้  ทั้งหมดนี้เป็นปรกติของพระอรหันต์

และตราบใดที่พระอรหันต์ยังอยู่กับพระอรหันต์  ศีลและวินัยทั้งปวงก็ไม่จำเป็นต้องมี เพราะท่านไม่ทำสิ่งที่ผิดศีลเป็นปรกติอยู่แล้ว และไม่มีความประสงค์ที่จะทำผิดเกิดขึ้นในใจเลย  

แต่เมื่อต่อมามีผู้ยังมิได้บรรลุอรหันต์เข้าบวชในพระศาสนา เป็นต้นว่าลูกกษัตริย์เจ้าสำราญบ้าง พราหมณ์หนุ่มๆ ทรงจิ้งเหลนบ้าง อาเสี่ยลูกนายวาณิชที่เป็นมหาเศรษฐีบ้าง  คนเหล่านี้ ย่อมไม่มีอะไรเป็นปรกติเหมือนพระอรหันต์เลย มีแต่จะทำสิ่งที่ผิดปรกติทั้งสิ้น  พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงกำหนดศีลทีละข้อตามเรื่องที่จิ้งเหลนทั้งปวงเข้ามาแผลงฤทธิ์จนครบ ๒๒๗ ข้อ  จึงอุดช่องโหว่ได้หมด

พระสงฆ์ทั้งที่อยู่ในภูมิพระอรหันต์และภูมิจิ้งเหลน จึงอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก.


ที่มา : วรรณกรรม "คนรักหมา" โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช





• ยาในสมัยพุทธกาล

เวลาได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่นั่งคุยฟื้นความหลังกัน ใจหนึ่งก็อิ่มเอมที่ได้ฟังเรื่องน่ารู้ต่างๆ ในครั้งเก่าก่อนเป็นบุญหู

อีกใจก็พาให้ดีใจที่โชคดีได้เกิดมาในยุคที่บ้านเมืองเจริญแล้ว เพราะความเจริญทำให้อะไรๆ สะดวกสบายขึ้นมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การแพทย์

อีกใจก็พาให้ดีใจที่โชคดีได้เกิดมาในยุคที่บ้านเมืองเจริญแล้ว เพราะความเจริญทำให้อะไรๆ สะดวกสบายขึ้นมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การแพทย์

สมัยนี้เมื่อเจ็บป่วยก็มีหมอและพยาบาลคอยดูแลรักษา มีหยูกยากินให้ความเจ็บป่วยทุเลาลง ผิดกับสมัยปู่ย่าตาทวด ที่ไม่มีทั้งหมอและยาดีๆ มากมายอย่างทุกวันนี้

เวลาใครเป็นอะไรสาหัสสากรรจ์ขึ้นมาที ก็ต้องเข้าเมืองเพื่อไปให้หมอตรวจรักษา บางรายไปไม่ทันเวลา เสียชีวิตไปก็มี

ส่วนที่ไม่ได้เจ็บป่วยร้ายแรงมากก็คงใช้ยากลางบ้าน หรือไม่ก็พืชสมุนไพรต่าง ๆ มาปรุงเป็นยารักษากันเองตามอาการ

แต่ถ้าจะนึกย้อนไปนานกว่านั้นอีก อย่างในสมัยพุทธกาล ก็มียาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุใช้รักษาอาการอาพาธได้อยู่หลายชนิด ซึ่งสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ดังนี้...

มหาวิกัฏเภสัช หรือ ยามหาวิกัฏ ๔ ได้แก่ มูตร (น้ำปัสสาวะ) คูถ (อุจจาระ) เถ้า (ขี้เถ้า) และดิน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันเพื่อแก้พิษงูขบกัด

มูลเภสัช [มูนละ-] คือ รากหรือหัวพืชที่เป็นยาแก้โรค ได้แก่ ขมิ้น ขิง ข่า ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิษ แฝก และแห้วหมู นำมาต้มหรือตากแห้ง บดด้วยลูกหินบด ทำเป็นลูกกลอน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้ภิกษุรับประเคน แล้วเก็บไว้ฉันเป็นยาแก้โรคได้ตลอดชีวิต

ปัณณเภสัช คือ ใบไม้ที่เป็นยา ได้แก่ ใบสะเดา ใบโมกมัน ใบกระดอม ใบกะเพรา ใบแมงลัก หรือใบไม้อื่นๆ ที่มีสรรพคุณเป็นยา พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุเก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต

กสาวเภสัช [กะสาวะ-] คือ น้ำฝาดเป็นกระสายยา ได้แก่ น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน น้ำฝาดกระดอม น้ำฝาดบอระเพ็ด น้ำฝาดพญามือเหล็ก น้ำฝาดกถินพิมาน หรือน้ำฝาดจากพืชอื่นๆ ที่มีสรรพคุณเป็นยา ซึ่งภิกษุสามารถรับประเคนแล้วเก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต.


ที่มา : คอลัมน์ องค์ความรู้ ภาษา วัฒนธรรม "ยาในสมัยพุทธกาล" โดย สนง.ราชบัณฑิตยสภา, หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph___paragraph_104_163.jpg
ปกิณกะทางพุทธศาสนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงกราบนมัสการและสนทนาธรรมกับ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
ภาพจาก เว็บไซต์ธรรมจักรดอทเน็ต
 
• เชิงธรรม

พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระผนวช ๑๕ วัน เมื่อทรงลาสิกขาก็ยังทรงเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด เข้าวัดรับศีลฟังธรรมตามวาระไม่ขาด 

แต่เวลาการเข้าวัดขาดหายไป เพราะพระราชภารกิจแก้ปัญหาให้ราษฎร

ครั้งหนึ่ง ก่อนปี พ.ศ.๒๕๒๐ ช่วงเวลาที่เสด็จฯ อีสาน โดยไม่มีหมายกำหนดการล่วงหน้า ทรงขอให้ ฮ.พระที่นั่งลงจอดที่วัดป่าพรรณานิคม  อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ที่จริงทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินในถิ่นไกลกันดาร ผู้ที่ตามเสด็จฯ เพิ่งมาเปิดเผยภายหลัง ทุกสถานที่ที่พระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไป ไม่มีหมายกำหนดการล่วงหน้า

พระราชภารกิจ...จึงมีเรื่องเล่าระทึก อัศจรรย์ ไม่คาดฝันอยู่หลายเรื่อง

เรื่องอัศจรรย์ ขณะเสด็จฯ วัดป่าพรรณานิคม หลวงพ่อฝั้น อาจาโร จัดเสนาสนะในโบสถ์น้ำ เตรียมการรับเสด็จไว้เรียบร้อย ซุบซิบกันหลวงพ่อฝั้น ท่านรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า

บทสนทนาหนึ่ง ระหว่างพระเจ้าอยู่หัวกับพระบ้านนอกธรรมดา ไม่มีสมณศักดิ์ กระทั่งชั้นพระครู
“ทำไมคนสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าวัด” พระราชปุจฉา 
“พระมหาบพิตร ควรเข้าวัดเป็นตัวอย่างก่อน” หลวงพ่อฝั้นวิสัชนา   
“ที่บ้าน (วังสวนจิตรฯ) กับที่วัด (วัดบวรฯ) ไกล จะไปแต่ละครั้งไม่ง่าย”
“ขอถวายพระพร วัด...ไม่ใช่วัดบวรฯ”
“ที่ไหน”
หลวงพ่อฝั้นวิสัชนาภาษากาย ยกฝ่ามือไปแปะไว้ที่กลางอก สื่อความหมาย “วัด หมายถึง ใจ”

บทสนนาระหว่างพระมหากษัตริย์ นักปราชญ์ฉลาดรู้เชิงธรรม ล้ำลึก กับพระป่า ที่ลูกศิษย์บันทึกไว้และเล่าขานกันต่อๆ มาจบแค่นี้ ทิ้งปมให้ตีความกันตามอัธยาศัย

ในหนังสือ “ทรงพระผนวช” หนังสือในโครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรม บันทึกข้อธรรมะที่พระพรหมมุนี และพระโสภนคณาภรณ์ แสดงถวายวันที่ ๔ พฤศจิกายน  วันที่ ๑๔ ที่ทรงพระผนวชไว้ในหัวข้อ จิต-รู้

จิต คือ ธรรมะที่ให้สำเร็จความคิด แต่ความคิดกับจิตไม่ใช่อันเดียวกัน

รู้ แบ่งออกเป็น ๑ รู้มีอาการ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น รู้ซึ่งอารมณ์ รู้คุณ รู้โทษ รู้เหตุ รู้ผล จิตเข้าสู่มโนทวาร ๒ รู้ไม่มีอาการ รู้นิ่ง ไม่มีอารมณ์เลย รู้วาง รู้โปร่ง รู้ปล่อย รู้อย่างนี้จิตไม่มาเกี่ยวกับทวาร

เมื่อจิตไม่เข้าเกี่ยวกับทวาร อารมณ์ตามไปไม่ถึง รู้ตัวเองทางธรรม โดยภาวะเรียกว่า “ปัญญา” หรือไม่เป็นภาวะก็เรียกว่า มุนี คือ ผู้รู้

พุทโธ คือ ผู้ตื่น  ตถาคโต คือ ผู้บรรลุสัจธรรม  วิมุติโต คือ ผู้หลุดพ้น

พระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจแจ่มแจ้ง “วัดอยู่ที่ใจ” จากบทสนทนาหลวงพ่อฝั้น เพราะท่านเป็นศิษย์มีครู

ผมเป็นนักข่าวคนหนึ่ง ไปทำข่าวที่วัดป่าพรรณนานิคมวันที่หลวงพ่อฝั้นมรณภาพ หลังเสด็จฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ มีพระมหากรุณา โปรดให้ประชาชนได้เข้ารดน้ำต่อ

พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานหีบทองแท่งทึบ บรรจุศพหลวงพ่อฝั้น

ตามโบราณราชประเพณี หีบทองแท่งทึบ พระราชทานอิสริยยศเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า ถ้าเป็นพระสมณศักดิ์ ก็เจ้าคุณชั้นเทพ

ตามประวัติหลวงพ่อฝั้น ท่านหนีการตั้งสมณศักดิ์หลายครั้ง แต่ครั้งนี้ท่านหนีไม่พ้น
          ฯลฯ


ที่มา : คอลัมน์ ชักธงรบ "เชิงธรรม" น.๓, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 พฤศจิกายน 2559 19:56:08 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 04 พฤศจิกายน 2559 19:52:07 »



 
• ผ้าห่มของพราหมณ์

พราหมณ์สองสามีภรรยาคู่หนึ่ง มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น พวกเขามีผ้าห่มเพียงผืนเดียว สำหรับห่มปกปิดร่างกายออกไปนอกบ้าน

คืนวันหนึ่ง พราหมณ์ผู้เป็นสามีออกจากบ้านไปฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้า ขณะนั่งฟังเทศน์อยู่นั้น ก็รู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรมอย่างยิ่ง จึงอยากจะบริจาคสิ่งของถวายพระพุทธเจ้า เพื่อบูชาธรรม แต่เขาไม่มีสิ่งของอย่างอื่นที่จะทำบุญได้เลยนอกจากผ้าห่มเพียงผืนเดียว เขาคิดจะถวายผ้าห่มผืนเดียวที่มีอยู่ แต่อีกใจหนึ่งก็นึกเสียดาย เพราะเมื่อถวายผ้าห่มแก่พระพุทธเจ้าไปแล้วตนเองกับภรรยาก็จะต้องเดือดร้อน

พราหมณ์ผู้นี้คิดลังเล ตัดสินใจไม่ได้สักที จนในที่สุดพอถึงเวลาปัจฉิมยาม (ยามสุดท้ายคือเวลาใกล้รุ่ง) เขาก็ตัดสินใจได้เด็ดขาดที่จะถวายผ้าห่มแด่พระพุทธเจ้า จึงตะโกนออกมาด้วยความดีใจว่า “ข้าชนะแล้ว ข้าชนะแล้ว” แล้วก็นำผ้าห่มของตนไปถวายพระพุทธเจ้า

ในที่ประชุมนั้นยังมีพระราชาพระองค์หนึ่งประทับอยู่ด้วย เมื่อพระราชาได้สดับเสียงตะโกนของพราหมณ์ก็ทรงสงสัยว่า เขาชนะอะไร จึงรับสั่งให้พราหมณ์มาเข้าเฝ้าแล้วตรัสถาม

พราหมณ์กราบทูลว่าเขาได้ชนะความตระหนี่ที่ต่อสู้มาตั้งแต่ตอนหัวค่ำจึงประกาศชัยชนะออกมา

นอกจากนี้ พราหมณ์ก็ได้กราบทูลให้พระราชาทรงทราบถึงความยากจนของตน ที่มีผ้าห่มเพียงผืนเดียวด้วย

พระราชาได้สดับเช่นนั้น ก็ทรงอนุโมทนาในน้ำใจเสียสละของพราหมณ์ และพระราชทานทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากแก่พราหมณ์ผู้มีน้ำใจเสียสละ ตั้งแต่นั้นมาพราหมณ์ก็อาศัยอยู่กับภรรยาอย่างมีความสุขตลอดไป

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เรื่อง “ทาน การเสียสละ” สำนวนของ พันตรี วัชระ คงอดิศักดิ์ (ได้รับพระราชทานรางวัลชั้นที่ ๑ ในการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กประจำ พ.ศ.๒๕๑๖)

ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้รวมเล่มจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๒๐ ปีพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นตัวอย่างของคนมีน้ำใจเสียสละที่แม้จะยากจนทรัพย์สินเงินทอง แต่ก็ไม่ได้จนน้ำใจ

แสดงให้เห็นว่าความตั้งใจเสียสละนั้นชนะความตระหนี่ได้อย่างเด็ดขาด ดังที่พระพุทธ เจ้าตรัสไว้ว่า “พึงเอาชนะความตระหนี่ด้วยการให้ทาน”
...เดลินิวส์ออนไลน์
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.937 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 08 กุมภาพันธ์ 2567 11:42:28