[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 12:07:42 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คนทำทาง ผู้สร้างโลกด้วยสองมือ  (อ่าน 1644 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2319


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 08 พฤษภาคม 2559 14:24:10 »


คนทำทาง ผู้สร้างโลกด้วยสองมือ
โดย : ประลองพล เพี้ยงบางยาง
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน


อุโมงค์กัวเลี่ยง ที่เจาะไปตามริมผา

ทุกวันนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย นึกอยากทำอะไรก็ง่ายขึ้นด้วยอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆที่มีอยู่รอบตัว จนบางครั้งเราก็หลงลืมไปว่ารากฐานแห่งความสะดวกสบายทั้งหลายนั้นล้วนมีที่มาส่วนหนึ่งจากการสร้างทำของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ขับเคลื่อนความเจริญให้โลกนี้ด้วยหยาดเหงื่อและแรงกาย

วันนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน ขอเชิดชูผู้ใช้แรงงานด้วยเรื่องราวของการทำงานด้วยแรงคนที่ส่งผลอันยิ่งใหญ่ กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนมากมายได้ร่วมกันใช้ประโยชน์ ขอเชิญมาชมผลงานของเหล่าคนทำทางที่สร้างความสุขสบายให้กับคนรุ่นหลังกันครับ

คลองสุเอซ (Suez Canal) คลองขุดในประเทศอียิปต์ มีความยาวถึง 193 กิโลเมตร เป็นเส้นทางลัดระหว่างยุโรปและเอเชีย เชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงเข้าด้วยกัน แต่เดิมนั้นการขนส่งทางเรือระหว่างยุโรปและเอเชียต้องอ้อมทวีปแอฟริกาทั้งทวีป หรือไม่ก็ใช้วิธีขนส่งทางบกร่วมกับการขนส่งทางเรือ ซึ่งก็ไม่สะดวกนัก การขุดคลองนี้ขึ้นมาทำให้ระยะเวลาและระยะทางในการเดิน เรือย่นย่อลงอย่างมาก เช่น การเดินเรือจากอังกฤษไปอินเดียหากใช้เส้นทางลัดผ่านคลองสุเอซระยะทางจะสั้นลงกว่าการแล่นเรืออ้อมทวีปแอฟริกาไปราวๆ 8,000 กิโลเมตรเลยทีเดียว



คลองสุเอซ.

ในช่วงแรกคลองแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงงานมนุษย์เป็นหลัก โดยเริ่มขุดเมื่อ 25 เมษายน พ.ศ.2402 เชื่อมต่อระหว่างฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เมืองพอร์ทเซดกับเมืองสุเอซที่ฝั่งทะเลแดง โดยมีทะเลสาบเกรทบิทเทอร์ (Great Bitter) อยู่ตรงกลาง คนงานต้องใช้เวลาขุดนานถึง 10 ปีจึงแล้วเสร็จ และเปิดใช้งานได้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2412

ตอนแรกที่ใช้แต่แรงคนล้วนๆเป็นผู้ขุด ความยากลำบากและการดูแลคนงานอย่างทาส ทำให้มีผู้ใช้แรงงานต้องล้มตายไปจำนวนมหาศาล จนถูกต่อต้านจากหลายประเทศ ในภายหลังจึงต้องนำเครื่องจักรไอน้ำมาช่วยขุดแทน ปัจจุบันคลองสุเอซยังคงเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ มีเรือเดินสมุทรแล่นผ่านปีละกว่า 20,000 ลำ ซึ่งล่าสุด เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลอียิปต์ได้มีพิธีเปิดคลองสุเอซส่วนต่อขยายเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

ภายหลังความสำเร็จของคลองสุเอซ ก็มีการวางแผนขุดคลองอีกแห่งหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ คลองปานามา (Panama Canal) เพื่อเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งแต่เดิมการเดินเรือระหว่างชายฝั่งสองมหาสมุทรนี้จะต้องแล่นอ้อมไปจนสุดทวีปอเมริกาใต้แล้ววกกลับขึ้นมา เช่น การเดินทางด้วยเรือจากนิวยอร์กไปซานฟรานซิสโก ซึ่งอยู่คนละฝั่งของสหรัฐอเมริกา หากแล่นอ้อมทวีปอเมริกาใต้จะไกลถึง 20,900 กิโลเมตร แต่ถ้าผ่านทางคลองปานามาจะเดินทางแค่ 8,370 กิโลเมตร ช่วยย่นระยะทางได้กว่า 12,000 กิโลเมตร



คลองปานามา เรือต้องผ่านประตูน้ำเพื่อเปลี่ยนระดับความสูงของน้ำ.

ความคิดในการขุดคลองปานามานั้นมีมานานหลายร้อยปีแล้วครับ แต่ได้เริ่มลงมือขุดกันในปี พ.ศ. 2423 ภายใต้การดำเนินการของฝรั่งเศส โดยมีแฟร์ดินองด์ เดอ เลสเซปส์ (Ferdinand de Lesseps) หัวเรือใหญ่ในการขุดคลองสุเอซเป็นผู้ควบคุมงาน แต่ก็ไม่สามารถขุดได้สำเร็จเนื่องจากโรคระบาดที่มีทั้งมาลาเรียและไข้เหลือง รวมถึงดินถล่ม ทำให้คนงานต้องเสียชีวิตไปกว่า 21,900 คน หลังจากความล้มเหลวของฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาก็เข้ามาดำเนินงานต่อ ซึ่งเหตุจากผลประโยชน์ในการขุดคลองนี้เองที่ทำให้จังหวัดปานามาแยกตัวจากสาธารณรัฐโคลอมเบียมาตั้งเป็นประเทศปานามา โดยมีอเมริกาหนุนหลัง แลกกับการที่อเมริกาจะได้ถือครองสิทธิต่างๆเหนือคลองปานามา เมื่อผลประโยชน์ลงตัว อเมริกาก็เริ่มลงมือขุดคลองในปี พ.ศ. 2447 จนสำเร็จเปิดใช้งานได้ในวันที่ 15 สิงหาคม 2457 แม้ว่าในระหว่างการขุดคลองที่ยาว 77 กิโลเมตรแห่งนี้ จะมีการจัดการมากมายเพื่อยับยั้งโรคระบาด รวมถึงมีการแพทย์และสุขอนามัยที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีคนงานต้องสังเวยชีวิตไปถึง 5,609 คน นับเป็นการก่อสร้างที่ทุ่มเททั้งเงินตรา เวลา และชีวิตคน แต่ก็ช่วยให้คนอีกมากมายได้เดินทางง่ายขึ้น ธุรกิจการค้าก็ก้าวหน้าไปได้มากด้วยประโยชน์จากคลองปานามา

เราขึ้นฝั่งมาดูถนนที่สร้างขึ้นด้วยความยากลำบากกันบ้างครับ คาราโครัม ไฮเวย์ (Karakoram Highway) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า KKH ถ้าท่านผู้อ่านเคยได้ยินชื่อเทือกเขาคาราโครัมมาบ้าง ก็คงจะนึกภาพออกว่าภูมิประเทศแถบนี้สุดโหดหินขนาดไหน เทือกเขานี้ครองอาณาเขตกว้างไกลตั้งแต่จีน ปากีสถาน และอินเดีย ทัศนียภาพโดยรอบมีแต่ยอดเขาหินแหลมคมและหิมะหนาวเหน็บ ยอดเขาเคทู (K2) ที่สูงลิ่วเป็นอันดับสองของโลกก็คือส่วนหนึ่งของคาราโครัม ซึ่งคาราโครัม ไฮเวย์ก็ได้รับตำแหน่งถนนไฮเวย์ที่สูงที่สุดในโลกไว้ประดับเกียรติ แม้จะมีถนนแต่การเดินทางบนดินแดนทุรกันดารเช่นนี้ก็ยังยากลำบาก ดังนั้นเดาได้เลยว่าการสร้างถนนบนสายนี้ก็ต้องสุดหฤโหดขึ้นอีกหลายเท่าแน่นอน

คาราโครัม ไฮเวย์ มีความยาวประมาณ 1,300 กิโลเมตร จากเมืองราวัลปินดี (Rawalpindi) ใกล้เมืองหลวงอิสลามาบัด ของปากีสถาน ทอดสายคดเคี้ยวไปตามขุนเขาจนถึงด่านชายแดนคุนจีราบ (Khunjerab Pass) ลากยาวเข้าประเทศจีนไปจนถึงเมืองคัชการ์ (Kashgar) ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ โดยถนนคาราโครัมอยู่ในเขตปากีสถาน 887 กิโลเมตร และในจีน 413 กิโลเมตร ถนนสายนี้เริ่มสร้างใน พ.ศ.2502 โดยความร่วมมือของจีนและปากีสถาน ใช้เวลานานถึง 20 ปีกว่าจะสำเร็จ ต้องสูญเสียชีวิตคนงานปากีสถานไปอย่างน้อย 810 คน ชาวจีนอีกประมาณ 200 คน จากกรณีหินถล่มและพลัดตกเขา แลกกับเส้นทางฝ่าด่านความทุรกันดารอันยิ่งใหญ่สายนี้



คาราโครัม ไฮเวย์.

มาดูผลงานอลังการจากทีมงานเล็กๆกันบ้างครับ ที่ อุโมงค์กัวเลี่ยง (Guoliang Tunnel) เส้นทางซึ่งเกิดจากการสกัดเจาะผนังหินริมหน้าผาของขุนเขาไท่หาง (Taihang) ในเขตเมืองซินเซียง มณฑลเหอหนานของจีน เพื่อเป็นเส้นทางระหว่างโลกภายนอกกับหมู่บ้านกัวเลี่ยง หมู่บ้านเล็กๆที่มีความเป็นมายาวนาน ซึ่งเล่ากันว่าในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีกลุ่มกบฏต่อราชวงศ์หลบหนีมาอาศัยอยู่ในหุบเขาลึกและอาศัยภูมิประเทศอันยากจะเข้าถึงเป็นที่ลี้ภัยจากอำนาจของจักรพรรดิ ซึ่งเทือกเขาอันสูงตระหง่านก็ได้กางกั้นพวกเขาออกจากอารยธรรมภายนอกมาเป็นเวลานานแสนนาน

ครั้นมาถึงยุคปัจจุบัน เมื่อชาวบ้านจำเป็นต้องเดินทางไปมาหาสู่กับโลกภายนอก ขุนเขาที่เคยเป็นปราการคุ้มภัยกลับกลายเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวง พวกเขาอยากมีเส้นทางที่สัญจรได้ง่ายกว่าการปีนป่ายไปตามภูเขา แต่ทางการก็ยังเห็นว่าไม่คุ้มที่จะลงทุนนับล้านเพื่อสร้างถนนผ่านภูเขาให้กับชาวบ้านเพียง 300 กว่าคน ชาวบ้านโดยการนำของ เซิงหมิงซิน (ShenMingxin) จึงตัดสินใจที่จะเจาะภูเขาทำถนนด้วยตนเอง ในปี พ.ศ.2515 พวกเขาตัดใจขายแพะอันเป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญเพื่อระดมทุนซื้อเครื่องมือสำหรับสกัดหินทำถนน อย่าคิดถึงเครื่องมือไฟฟ้า หรือเครื่องจักรอย่างดีทันสมัยนะครับ เพราะเครื่องมือหลักของพวกเขามีแค่ค้อนและเหล็กสกัดเท่านั้นเอง กำลังหลักก็เป็นชาวบ้านแค่ 13 คน ซึ่งคนหนึ่งต้องเสียชีวิตไปในระหว่างการก่อสร้าง การขุดอุโมงค์นั้นมีการเจาะช่องหน้าต่างเอาไว้ด้วยประมาณ 30 ช่อง เพื่อรับแสงสว่าง และยังเป็นช่องสำหรับทิ้งเศษหินในขั้นตอนการขุดด้วย ในช่วงที่ยากลำบากที่สุดของการขุดอุโมงค์ ชาวบ้านจะต้องใช้เวลาตั้ง 3 วัน จึงสกัดหินได้ระยะทางเพียง 1 เมตร และกว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นอุโมงค์ที่ยาว 1.2 กิโลเมตร สูง 5 เมตร และกว้าง 4 เมตร ก็ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี

อุโมงค์นี้สร้างสำเร็จเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2520 ซึ่งตรงกับวันนี้ของเมื่อ 39 ปีที่แล้วพอดีเลยครับ

ปัจจุบันอุโมงค์กัวเลี่ยงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนทั่วโลกอยากไปเยี่ยมเยือน เพื่อจะได้ก้าวย่างไปบนเส้นทางแห่งความทุ่มเทนี้สักครั้งในชีวิต



ดาสราช แมนจิ.

ขอปิดท้ายด้วยถนนสุดอัศจรรย์ที่สร้างด้วยแรงงานของคนเพียงคนเดียวกันบ้าง ดาสราช แมนจิ (Dashrath Majhi) ซึ่งมีสมญาเป็นที่รู้จักกันในภายหลังว่า “คนภูเขา” (Mountain Man) เป็นเพียงคนงานยากจนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกัลลอร์ อำเภอคยา จังหวัดมคธ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ทุกวันภรรยาของแมนจิจะนำอาหารกลางวันไปส่งให้เขา แต่หนทางจากบ้านไปสู่ที่ทำงานของแมนจินั้นสุดแสนลำบาก ต้องปีนข้ามภูเขาหินออกไป แล้ววันหนึ่งภรรยาของแมนจิก็พลัดตกภูเขาข้อเท้าหัก ทว่าไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ เพราะความลำบากของเส้นทาง ทำให้แมนจิเกิดความคับแค้นและต้องการทลายภูเขาที่ขวางกั้นพวกเขาให้ต้องตกอยู่ในดินแดนแห่งความยากลำบาก ซึ่งต่อมาภรรยาของเขาก็เสียชีวิตเพราะไม่สามารถพาไปหาหมอได้ การสูญเสียคนรักยิ่งตอกย้ำความเจ็บช้ำให้แมนจิลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ เขากระหน่ำความแค้นผ่านค้อนทุบหินภูเขาด้วยแรงกายอย่างสุดกำลัง จนใครๆก็หาว่าเขาบ้า รอบข้างมีแต่คนหัวเราะเยาะเย้ย เขาทำงานหนัก แต่ต้องกินอยู่อย่างอดๆอยากๆเพราะไม่มีเงิน บางครั้งต้องกินใบไม้ประทังชีวิต แม้จะขาดเรี่ยวแรงกาย แต่พลังใจก็ไม่เคยหมดสิ้น


ผลงานการขุดภูเขาของ ดาสราช แมนจิ.

สิบปีผ่านไป เส้นทางผ่านภูเขาเป็นรูปเป็นร่าง ถึงตอนนี้เริ่มมีคนเห็นถึงคุณค่า มีคนช่วยเหลือให้อาหารการกิน ออกเงินช่วยซื้ออุปกรณ์การขุด แต่ทุกคนก็ต้องทำมาหากิน เพราะที่นั่นมีแต่คนยากจน แมนจิจึงต้องทำงานของเขาอยู่เพียงผู้เดียว เป็นเวลานานถึง 22 ปีในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ

ถนนตัดผ่านภูเขาหิน ใช้แรงมนุษย์เพียงคนเดียวขุดตั้งแต่ พ.ศ.2502-2524 มีความยาว 110 เมตร กว้าง 9.1 เมตร และเจาะลึกลงจากยอดเขา 7.6 เมตร กลายเป็นทางสัญจรให้ทุกผู้คน เป็นอนุสรณ์แห่งความรักของชายยากไร้ที่มีให้ภรรยาผู้จากไป เมื่อ ดาสราช แมนจิ ถึงแก่กรรมในวัย 73 ปี รัฐพิหารได้จัดพิธีศพของเขาอย่างยิ่งใหญ่ เรื่องราวความรักและพลังใจมุ่งมั่นของเขาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “Manjhi The Mountain Man” เมื่อปีที่ผ่านมา (น่าเสียดายที่โรงหนังเมืองไทยไม่มีหนังเรื่องนี้ให้ดู) แม้กายจะลับลา แต่วีรกรรมและชื่อของดาสราช แมนจิ ยังคงถูกเรียกขานเป็นชื่อถนนที่เขาสร้างขึ้นและจะอยู่ในใจผองชนไปอีกตราบนานเท่านาน.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.425 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 26 มกราคม 2567 13:11:08