[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 15:38:13 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องน่ารู้ ใน พระไตรปิฎก  (อ่าน 3914 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2304


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 28 พฤษภาคม 2559 07:51:49 »

.



เรื่องน่ารู้ ใน พระไตรปิฎก

๑. อะไรเป็นแก่นสารในพระพุทธศาสนา

              สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม ใกล้กรุงสาวัตถี มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ ปิงคลโกจฉะ เข้าไปเฝ้า เมื่อได้กล่าวทักทายปราศรัยพอสมควรแล้ว พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า

              "พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะเป็นคณาจารย์ มีคนรู้จักมาก มีเกียรติยศเป็นเจ้าลัทธิ อันชนหมู่มากเข้าใจกันว่าเป็นคนดี เช่น ปูรณะ กัสสป, มักขละ โคสาล, อชิตะ เกสกัมพล, ปกุธะ กัจจายนะ, สัญชัย เวลัฏฐบุตร, และ นิครนถนาฏบุตร(๑) สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือว่าไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลย หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้"

              พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อย่าเลย พราหมณ์ ข้อที่สมณพราหมณ์ทั้งหมดนั้น รู้แจ้งเห็นจริงตามปฏิญญาของตน หรือไม่รู้แจ้งเห็นจริงเลยเป็นต้นนั้น ขอจงยกไว้ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังให้ดีเถิด"  เมื่อพราหมณ์ทูลรับคำแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์ มีข้ออุปมาว่า บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหากแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้นอยู่ ละเลยแก่น, กะพี้, เปลือก, และสะเก็ดไม้เสีย ตัดเอากิ่งและใบไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้า ก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกะพี้, เปลือก, สะเก็ด, กิ่งและใบไม้ เมื่อต้องการแก่นไม้ จึงละเลยแก่นเป็นต้น ตัดเอาแต่กิ่งและใบไม้ไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ทั้งจะไม่ได้รับประโยชน์จากกิ่งและใบไม้นั้นด้วย"

              "มีอุปมาอื่นอีก บุรุษต้องการแก่นไม้ แต่ถากสะเก็ดไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น หรือถากเปลือกไปด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น หรือถากกะพี้ไม้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่น ก็จพึงถูกหาว่า ไม่รู้จักแก่นไม้เป็นต้น และไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ถากไปนั้นเช่นเดียวกัน"

              "อีกอุปมาหนึ่ง บุรุษต้องการแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ คนที่รู้เรื่องดีเห็นเข้าก็จะพึงกล่าวว่า บุรุษผู้เจริญนี้ รู้จักแก่น กะพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบไม้ ต้องแก่นไม้ก็ตัดเอาแต่แก่นไป ด้วยรู้จักแก่นไม้ ทั้งจะได้รับประโยชน์จากแก่นไม้นั้นด้วย"

              "ดูก่อนพราหมณ์ ข้ออุปไมยก็ฉันเดียวกันนั่นแหละ คือกุลบุตรบางคนในศาสนานี้ มีศรัทธาออกบวชไม่ครองเรือน ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ และความคับแค้นใจ เข้าถึง(๒)ตัวแล้ว อันความทุกข์เข้าถึงตัวแล้ว มีความทุกข์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ไฉนหนอการทำที่สุดแห่งทุกข์(๓) ทั้งหมดนี้จะปรากฏ ผู้นั้นออกบวชแล้ว ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็อิ่มใจ เต็มความปรารถนาด้วยลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่น เพราะลาภสักการะและชื่อเสียงนั้น ว่าเราเป็นผู้มีลาภ สักการะ ชื่อเสียง ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านั้นไม่มีใครรู้จักเป็นผู้มีศักดาน้อย คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าลาภ สักการะ และชื่อเสียง ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม"

              "ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือน ผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่น, กะพี้, เปลือก, และสะเก็ดเสีย ตัดเอากิ่งและใบไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

 "อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น แต่ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วย ลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะสิ่งนั้น ทั้งยังปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ไม่มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะสีลสัมปทานั้นว่า เราเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลว คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสีลสัมปทา ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่น กะพี้ และเปลือกเสีย ถากเอาสะเก็ดไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

              "อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ประพฤติสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ยังไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเป็นต้นเพราะสีลสัมปทานั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสีลสัมปทานั้น ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่มีความประพฤติยอ่หย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ (ความตั้งมั่นหรือความสงบแห่งจิต) ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยสมาธิสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ) นั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะสมาธิสัมปปทานั้นว่า เราเป็นผู้ตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ เป็นผู้ไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิดแล้ว คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่า สมาธิสัมปทานั้น ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่นและกะพี้เสีย ถากเอาเปลือกไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

              "อนึ่ง บุคคลบางคนออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสมาธินั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะสมาธิสัมปทานั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าสมาธิสัมปทา ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่เป็นผู้มีความประพฤติยอ่หย่อนหละหลวม ผู้นั้นได้ญาณทัสสนะ (ความเห็นด้วยญาณหรือปัญญา) ก็อิ่มใจ เต็มปรารถนาด้วยญาณทัสสนะ หรือปัญญานั้น ยกตนเอง ข่มผู้อื่นเพราะญาณทัสสนะนั้น ว่าเราอยู่อย่างรู้เห็น ส่วนภิกษุอื่น ๆ เหล่านี้ อยู่อย่างไม่รู้เห็น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่าประณีตกว่าญาณทัสสนะ ก็ไม่ปลูกความพอใจ ไม่พยายามเพื่อทำให้แจ้งซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ แต่ละเลยแก่นเสียถากเอากะพี้ไป ด้วยสำคัญว่าเป็นแก่นฉะนั้น"

            "อนึ่ง บุคคลบางคนอออกบวช มีลาภสักการะชื่อเสียงเกิดขึ้น ก็ไม่อิ่มใจ ไม่เต็มปรารถนาด้วยลาภสักการะชื่อเสียงนั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยศีล ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสีลสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยศีล) นั้น ได้ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ ก็อิ่มใจแต่ไม่เต็มปรารถนาด้วยสมาธิสัมปทา (ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ) นั้น ได้ญาณทัสสนะ (หรือปัญญา) ก็อิ่มใจ แต่ไม่เต็มปราถรนาด้วยญาณทัสสนะนั้น ไม่ยกตน ข่มผู้อื่นเพราะญาณทัสสะนั้น คุณธรรมอื่น ๆ ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ก็ปลูกความพอใจ พยายามเพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งคุณธรรมนั้น ๆ ไม่มีความประพฤติย่อหย่อนหละหลวม ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมอะไรบ้าง ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ดูก่อนพราหมณ์ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เข้าปฐมฌาน(๔) (ฌานที่ ๑) เข้าทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) เข้าตติยฌาน (ฌานที่ ๓) เข้าจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) เข้าอากาสานัญจายตนะ (อรูปฌาน กำหนดอากาศไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์) เข้าวิญญาณัญจายตนะ (อรูปฌาน กำหนดวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์) เข้าอากิญจัญญายตนะ (อรูปฌาน กำหนดว่าไม่มีอะไรแม้แต่นิดหน่อย) เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ (อรูปฌาน ที่มีสัญญาความจำได้หมายรู้ ก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญา ก็ไม่ใช่) เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งเมื่อเข้าแล้วทำให้ดับสัญญาความจำได้หมายรู้ และเวทนาความเสวยอารมณ์สุขทุกข์ หรือไม่ทุกข์ ไม่สุขได้) อาสวะของภิกษุนั้นสิ้นไปแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา คุณธรรมเหล่านี้แล ที่ยิ่งกว่า ประณีตกว่าญาณทัสสนะ ดูก่อนพราหมณ์ เรากล่าวบุคคลนี้ ว่าเปรียบเหมือนผู้ต้องการแก่นไม้ ก็ตัดเอาแต่แก่นไม้ไปฉะนั้น"

              "ด้วยประการฉะนี้แหละพราหมณ์ พรหมจรรย์นี้ มิใช่มีลาภสักการะชื่อเสียงเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบอันใด พรหมจรรย์นี้ มีความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบนั้นแหละเป็นที่ต้องการ นั้นเป็นแก่นสาร นั้นเป็นที่สุดโดยรอบ"

              เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ปิงคลโกจฉพราหมณ์กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต.


จูฬสาโรปมสูตร ๑๒/๓๗๔

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2304


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 29 พฤษภาคม 2559 05:49:07 »



๒. เกาะชายสังฆาฏิพระพุทธเจ้ายังไม่ชื่อว่าอยู่ใกล้

 

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ว่าภิกษุจับชายสังฆาฏิตามหลัง ย่างเท้าตามทุกก้าว แต่เธอมีความละโมภ มีความติดใจแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันเป็นโทษ ลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวม(๑) ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ภิกษุนั้น ก็ยังอยู่ไกลเราโดยแท้ และเราก็อยู่ไกลภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นไม่เห็นธรรม ผู้ไม่เห็นธรรม ย่อมไม่เห็นเรา"

              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ว่าภิกษุนั้น อยู่ไกลตั้งร้อยโยชน์ แต่เธอไม่มีความละโมภ ไม่มีความติดใจแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตไม่พยาบาท มีความดำริแห่งใจอันไม่เป็นโทษ มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว สำรวมอินทรีย์ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าอยู่ใกล้เราโดยแท้ และเราก็อยู่ใกล้ภิกษุนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นเห็นธรรม ผู้เห็นธรรม ย่อมเห็นเรา"
                    อิติวุตตก ๒๕/๓๐๐
 

๓. ศัตรูภายใน  
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มลทินภายใน อมิตรภายใน ศัตรูภายใน ผู้ฆ่าภายใน ข้าศึกภายใน ๓ ประการ ได้แก่ โลภะ ความโลภ โทสะ ความคิดประทุษร้าย โมหะ ความหลง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มลทินภายใน อมิตรภายใน ศัตรูภายใน ผู้ฆ่าภายใน ข้าศึกภายใน ๓ ประการเหล่านี้แล."
                    อิติวุตตก ๒๕/๒๙๕


๔. อาคามี(ผู้มาเกิด) อนาคามี(ผู้ไม่มาเกิด อรหันต์(ผู้ไม่มีกิเลส)  
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยกามโยคะ(๒) ประกอบด้วยภวโยคะ(๓) ย่อมเป็นอาคามี มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ผู้ไม่ประกอบด้วยกามโยคะ แต่ยังประกอบด้วยภวโยคะ ย่อมเป็นอนาคามี ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ผู้ไม่ประกอบด้วยกามโยคะ ไม่ประกอบด้วยภวโยคะ ย่อมเป็นพระอรหันต์ ผู้สิ้นอาสวะ."
                    อิติวุตตก ๒๕/๓๐๓
 
 
๕. ภิกษุผู้มีกัลยาณศีล กัลยาณธรรม กัลยาณปัญญา ๔
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีกัลยาณศีล กัลยาณธรรม กัลยาณปัญญา ย่อมเป็นผู้เสร็จธุระอยู่จบพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัย เราเรียกว่าอุดมบุรุษ
              ๑. ภิกษุเป็นผู้มีกัลยาณศีล คือภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีศีลสำรวมในปกฏิโมกข์ (ศีลที่สำคัญของภิกษุ) สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร (มารยาทและการไปแต่ในที่ที่สมควร) เห็นภัยในโทษเล็ก ๆ น้อย ๆ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอชื่อว่ามีกัลยาณศีลดั่งกล่าวมานี้แล
              ๒. ภิกษุผู้มีกัลยาณศีลดั่งนี้แล้ว จะชื่อว่ามีกัลยาณธรรมอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งการอบรมธรรม อันเป็นไปในฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ๓๗ ประการ(๕) อยู่ เธอชื่อว่ามีกัลยาณธรรม ดั่งกล่าวมานี้แล
              ๓. ภิกษุผู้มีกัลยาณศีล กัลยาณธรรมดั่งนี้แล้ว จะชื่อว่ามีกัลยาณปัญญาอย่างไร? ภิกษุในพระธรรม วินัยนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ(๖) อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะ ด้วยปัญญาอันยิ่งของตนในปัจจุบันอยู่ เธอชื่อว่ามีกัลยาณปัญญาอย่างนี้แล
 
              ภิกษุผู้มีกัลยาณศีล กัลยาณธรรม กัลยาณปัญญาดั่งนี้แล้ว ชื่อว่าเสร็จธุระ อยู่จบพรหมจรรย์ เราเรียกว่าอุดมบุรุษ."
                    อิติวุตตก ๒๕/๓๐๓

 
๖. กองกระดูกเท่าภูเขา  
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนหนึ่งที่เวียนว่ายท่องเที่ยวไปตลอดกัปป์ จะพีงมีกองกระดูกใหญ่ เหมือหนึ่งเวบุลลบรรพตนี้ ถ้ามีผู้คอยรวบรวมไว้ และกองกระดูกที่รวบรวม จะไม่กระจัดกระจายหายเสีย."
                    อิติวุตตก ๒๕/๒๔๒


๗. ยังพูดปดทั้ง ๆ ที่รู้ จะไม่ทำความชั่วอย่างอื่นเป็นไปไม่ได้
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลยังไม่ละธรรมข้อหนึ่ง คือการพูดปดทั้ง ๆ รู้ เราย่อมไม่กล่าวว่า มีบาปกรรมอะไรบ้างที่ผู้นั้นจะทำไม่ได้."
                    อิติวุตตก ๒๕/๒๔๓


๘. มูลรากแห่งอกุศล ๓ อย่าง
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มูลรากแห่งอกุศล ๓ อย่างเหล่านี้ คือ
              ๑. โลภะ ความอยากได้ เป็นมูลรากแห่งอกุศล
              ๒. โทสะ ความคิดประทุกษร้าย เป็นมูลรากแห่งอกุศล
              ๓. โมหะ ความหลง เป็นมูลรากแห่งอกุศล
 
              ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มูลรากแห่งอกุศล ๓ อย่างเหล่านี้แล."
                    อิติวุตตก ๒๕/๒๖๔


๙. พระธรรมเทศนา ๒ อย่าง
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนาของพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ ประการ มีอยู่โดยปริยาย คือ ธรรมเทศนาที่หนึ่งว่า "ท่านทั้งหลาย จงเห็นบาปโดยความเป็นบาปเถิด" ธรรมเทศนาที่สองว่า "ท่านทั้งหลายเห็นบาปโดยความเป็นบาปแล้ว จงเบื่อหน่ายคลายความติดในบาปนั้น จงหลุดพ้นไปเถิด" นี้คือธรรมเทศนา ๒ อย่างของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีอยู่โดยปริยาย(๗)"
                    อิติวุตตก ๒๕/๒๕๕


๑๐. อะไรเป็นหัวหน้าอกุศลธรรมและกุศลธรรม
              "ดุก่อนภิกษุทั้งหลาย อวิชชา(๘) (ความไม่รู้) เป็นหัวหน้าแห่งความพรั่งพร้อมด้วยอกุศลธรรมทั้งหลาย ความไม่ละอายใจ ความไม่เกรงกลัวต่อบาป ย่อมตามหลังมา วิชชา(ความรู้) เป็นหัวหน้าแห่งความพรั่งพร้อมด้วยกุศลธรรมทั้งหลาย ความละอายใจ ความเกรงกลัวต่อบาป ย่อมตามหลังมา."
                    อิติวุตตก ๒๕/๒๕๕


๑๑. อริยปัญญา
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่เสื่อมจากอริยปัญญานั้น ชื่อว่าเสื่อมแท้ เขาย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความติดขัด มีความคับแค้น มีความเดือดร้อนในปัจจุบัน สิ้นชีวิตไปแล้ว ก็มีทุคคติเป็นที่หวังได้ สัตว์ที่ไม่เสื่อมจากอริยปัญญา ชื่อว่าไม่เสื่อม เขาย่อมอยู่เป็นสุข ไม่มีความติดขัด ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความเดือดร้อน ในปัจจุบัน สิ้นชีวิตไปแล้ว ก็มีสุคติเป็นที่หวังได้."
                    อิติวุตตก ๒๕/๒๕๖
 
 
๑๒. คำอธิบายเรื่อง "ตถาคต"
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตปลีกออกได้จากดลก เหตุให้โลกเกิดอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตละเหตุที่ให้เกิดโลกได้ ความดับแห่งโลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตทำให้ความดับแห่งโลกแจ่มแจ้งแก่ตนได้ ข้อปฏิบ้ติให้ถึงความดับแห่งโลกอันตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตได้อบรมข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับแห่งโลกแล้ว สิ่งใดที่โลกพร้อมทั้งเทวดา มาร พรหม ที่ประชาพร้อมทั้งสมณพราหมณ์ ทั้งเทวดาและมนุษย์เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ทราบแล้ว(๙) รู้แล้ว บรรลุแล้ว แสวงหาแล้ว ตรองตามแล้วด้วยใจ เพราะเหตุที่สิ่งนั้น ๆ อันตถาคตตรัสรู้แล้ว จึงเรียกว่าตถาคต ดั่งนี้"
 
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด นิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในราตรีใด ข้อความทั้งหมดที่ตถาคตกล่าว พูด แสดง ระหว่างราตรีนั้นๆ (คือตั้งแต่ตรัสรู้แล้วจนถึงนิพพาน) ย่อมเป็นอย่างนั้นเทียว ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าตถาคต"
 
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพูดอย่างใด ทำได้อย่างนั้น ทำได้อย่างใด ก็พูดได้อย่างนั้น เพราะเหตุที่พูดได้ตามที่ทำ ทำได้ตามที่พูด ฉะนั้น จึงเรียกว่าตถาคต"
 
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นใหญ่ (โดยคุณธรรม) ไม่มีใครครอบงำได้ (โดยคุณธรรม) รู้เห็นตามที่แท้จริง เป็นผู้มีอำนาจ (โดยคุณธรรม) ฉะนั้น จึงเรียกว่าตถาคต."
                    อิติวุตตก ๒๕/๓๒๑


๑๓. ภิกษุ กับ คฤหัสถ์ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พราหมณ์ คฤหบดีที่อุปฐากท่านทั้งหลาย ด้วยจีวร บณฑบาต ที่อยู่อาศัย และยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรค นับว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก แม้ท่านทั้งหลายที่แสดงธรรมอันดีงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิงแก่พราหมณ์ คฤหบดีเหล่านั้น ก็นับว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก นี้แหละภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ที่ประพฤติโดยอาศัยกันและกัน เพื่อถอนกิเลสอันเปรียบเหมือนห้วงน้ำ เพื่อทำให้ทุกข์สิ้นไปโดยชอบ."
                    อิติวุตตก ๒๕/๓๑๔
 
 
๑๔. สกุลที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอยู่
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีพระพรหม. ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีเทวดาคนแรก. ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีอาจารย์คนแรก. ภายในเรือนแห่งตระกูลใด บุตร ๆ บูชามารดาบิดา, ตระกูลนั้น ชื่อว่ามีบุคคลผู้ควรนำของมาบูชา. คำว่า พระพรหม คำว่า บูรพเทวดา(เทวดาคนแรก) คำว่าบูรพาจารย์ (อาจารย์คนแรก) คำว่า อาหุเนยยะ (ผู้ควรนำของมาบูชา) เป็นชื่อของมารดาบิดา เพราะมารดาบิดาเป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้คุ้มครองเลี้ยงดูบุตร แสดงโลกนี้แก่บุตร."
                    อิติวุตตก ๒๕/๓๑๓


๑๕. ผู้กล่าวตู่พระตถาคต
              "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ ประเภทเหล่านี้ ย่อมกล่าวตู่ (หาความ) ตถาคต คือบุคคลผู้คิดประทุษร้าย มีโทสะในภายใน ๑ ผู้มีศรัทธา กล่าวตู่ ด้วยถือเอาความหมายผิด(๑๐) ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๒ ประเภทเหล่านี้แล ย่อมกล่าวตู่ตถาคต."
                    ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๗๖

----------------------------------------------------
 
๑. คำในภาษาบาลีว่า มีอินทรีย์ปรากฏ หมายความว่า ไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
 
๒. กามโยคะ เครื่องมัดสัตว์คือกาม ความใคร่
 
๓. ภวโยคะ เครื่องมัดสัตว์คือภพ ความพอใจในความีความเป็น
 
๔. กัลยาณศีล ศีลอันดีงาม, กัลยาณธรรม ธรรมอันดีงาม, กัลยาณปัญญา ปัญญาอันดีงาม
 
๕. โพธิปักขิยธรรม ธรรมอันเป็นไปในฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ๓๗ ประการ คือ อิทธิบาท (ธรรมทีให้ประสบความสำเร็จ) ๔, สิตปัฏฐาน(การตั้งสติ) ๔, สัมมัปปธาน(ความเพียรชอบ) ๔, อินทรีย์(ธรรมอันเป็นใหญ่) ๕, พละ(ธรรมอันเป็นกำลัง) ๕, โพชฌงค์(ธรรมอันเป็นตัวประกอบแห่งการตรัสรู้) ๗, มรรค(ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) ๘
 
๖. เจโตวิมุติ ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ, ปัญญาวิมุติ ความหลุดพ้นเพราะปัญญา
 
๗. มีอยู่โดยปริยาย คือมีอยู่โดยอ้อม ไม่ต้องบอกกันตรง ๆ ก็ชื่อว่ามีอยู่แล้ว
 
๘. อวิชชา ความไม่รู้ มีคำอธิบายว่า ได้แก่ไม่รู้ทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แต่ในที่นี้แม้ความไม่รู้ทั่ว ๆ ไป ก็ทำให้เกิดความเสียหายได้
 
๙. เป็นสำนวนบาลี หมายถึงรู้ด้วยจมูก ลิ้น กาย คือ ข้อความในตอนนี้ ต้องการจะพูดว่า เห็นด้วยตา ฟังด้วยหู ดมด้วยจมูก ลิ้มด้วยลิ้น ถูกต้องด้วยกาย รู้ด้วยใจ แต่รวม ๓ เรื่องตอนกลางด้วยคำว่า ทราบ
 
๑๐. แสดงให้เห็นว่า ผู้ให้ร้ายพระพุทธเจ้า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่โกรธ หรือเกลียดชังเท่านั้น ผู้เคารพนับถือมีศรัทธานั่นแหละ ถ้าเรียนผิด ทรงจำผิด หรือเข้าใจผิด ก็อาจพูด ด้วยความเข้าใจผิดนั้น เป็นไปในทางให้ร้ายได้เหมือนกัน


ที่มาhttp://www.larnbuddhism.com/tripitaka/interest/part1.1.html 
บันทึกการเข้า
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2304


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 26 มกราคม 2560 11:12:40 »




ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งความรู้ (วิชชาภาคิยะ)

ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งความรู้(วิชชาภาคิยะ)
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา(วิชชาภาคิยะ)๒ อย่างเหล่านี้ คือ สมถะ(ความสงบ) ๑ วิปัสสนา (ความเห็นแจ้ง) ๑. สมถะ อันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมทำให้จิตได้รับการอบรม จิตได้รับการอบรมแล้ว ย่อมทำให้ละราคะ (ความกำหนัดยินดี หรือความติดอกติดใจ) ได้ วิปัสสนาอันบุคคลเจริญแล้ว ย่อมทำให้ปัญญาได้รับการอบรม, ปัญญาได้รับการอบรมแล้วย่อมทำให้ละอวิชา(ความไม่รู้ตามความจริง) ได้." 
     ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๗๘
 
คำอธิบายนิพพานธาตุ ๒ อย่าง
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ มี ๒ อย่าง คือ สอุปาทิเสสสนิพพานธาตุ กับ อนุปาทิเสสนิพพดานธาตุ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่พึงทำอันได้ทำเสร็จแล้ว วางภาระแล้ว มีประโยชน์ของตนอันได้บรรลุแล้ว สิ้นเครื่องผูกพันในภพแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ การเสวยอารมณ์ทั้งปวงของภิกษุนั้น ดับสนิท นี้เรียกว่าอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ."
     อิติวุตตก ๒๕/๒๕๘

ธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่ถูกปรุงแต่ง มีอยู่
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่มีใครทำ ไม่มีอะไรปรุงแต่ง มีอยู่ ถ้าไม่มีธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่มีใครทำ ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ความพ้นไปจากธรรมชาติที่เกิด ที่เป็น ที่มีใครทำ ที่มีอะไรปรุงแต่ง ก็จะปรากฏไม่ได้ เพราะเหตุที่มีธรรมชาติที่ไม่เกิด ไม่เป็น ไม่มีใครทำ ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ความพ้นไปจากธรรมชาติที่เกิด ที่เป็น ที่มีใครทำ ที่มีอะไรปรุงแต่ง จึงปรากฏได้."
     อิติวุตตก ๒๕/๒๕๗

ความเสื่อมที่เลวร้าย ความเจริญที่เป็นยอด             
"ความเสื่อมจากญาติ ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมที่นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย ก็คือ ความเสื่อมจาก ปัญญา"

"ความเจริญด้วยญาติ ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญที่เรากล่าวว่าเป็นยอด คือความเจริญด้วยปัญญา. เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้เจริญด้วย ปัญญาวุฑฒิ(ความเจริญด้วยปัญญา) ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล"

"ความเสื่อมจากโภคทรัพย์ ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมที่นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย ก็คือความเสื่อมจากปัญญา

"ความเจริญด้วยโภคทรัพย์ ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญที่เรากล่าวว่าเป็นยอด คือความเจริญด้วยปัญญา. เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้เจริญด้วย ปัญญาวุฑฒิ(ความเจริญด้วยปัญญา) ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล"

"ความเสื่อมจากยศ ยังนับว่าเป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมที่นับว่าเลวร้ายยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย คือความเสื่อมจากปัญญา"

"ความเจริญด้วยยศ ยังนับว่าเป็นความเจริญเพียงเล็กน้อยดอก ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญที่เรากล่าวว่าเป็นยอด คือความเจริญด้วย ปัญญา เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้เจริญด้วยปัญญาวุฑฒิ(ความเจริญด้วยปัญญา) ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.
     เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๑๗,๑๘

จิตผ่องใสเศร้าหมองได้ หลุดพ้นได้
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใสก็แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองเพราะอุปกิเลส(๑) ที่จรมา"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส ก็แต่ว่าจิตนั้นแล หลุดพ้นได้จากอุปกิเลส(๑) ที่จรมา."
     เอกนิบาต อุงคุตตรนิกาย ๒๐/๑๑

การอบรมจิตของบุถุชนผู้มิได้สดับ และอริยสาวกผู้ได้สดับ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส ก็แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองได้เพราะอุปกิเลส(๑) ที่จรมา บุถุชนผู้มิได้สดับเรื่องนั้น ย่อมไม่รู้ตามความจริง เพราะเหตุนั้นเราจึงกล่าวว่า การอบรมจิตของบุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่มี"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผ่องใส ก็แต่ว่าจิตนั้นแล หลุดพ้นได้จากอุปกิเลสที่จรมา อริยสาวกผู้ได้สดับเรื่องนั้นย่อมรู้ตามความจริง เพราะเหตุนั้นเราจึงกล่าวว่าการอบรมจิตของอริยสาวกผู้ได้สดับมีอยู่."
     เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๑๑,๑๒

เมตตาจิตชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุส้องเสพ เจริญ ทำในใจ ซึ่งเมตตาจิต แม้ชั่วเวลาสักว่าลัดนิ้วมือเดียว เราย่อมกล่าวว่าเธอผู้นี้อยู่อย่างไม่ว่างจากฌาน เป็นผู้ทำตามคำสอนของศาสดา เป็นผู้ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันอาหารของราษฎรไปเปล่าๆ จะกล่าวไย ถึงข้อที่ภิกษุจะทำเมตตาจิตนั้นให้มากเล่า."
     เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๑๒

กุศล อกุศล มีใจเป็นหัวหน้า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นอกุศล เป็นไปในส่วนแห่งอกุศล เป็นไปในฝักฝ่าย (พวก) แห่งอกุศล เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีใจเป็นหัวหน้า ใจย่อมเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น อกุศลธรรมทั้งหลายย่อมเกิดตามมา"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นกุศล เป็นไปในส่วนแห่งกุศล เป็นไปในฝักฝ่าย (พวก) แห่งกุศล เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีใจเป็นหัวหน้า ใจย่อมเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเกิดตามมา."
เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๑๒

ผู้ให้ กับ ผู้รับ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่วแล้ว ทายก(ผู้ให้) พึงรู้ประมาณ ไม่ใช่ปฏิคาหก(ผู้รับ) ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะธรรมะกล่าวไว้ชั่วแล้ว"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีแล้ว ปฏิคาหก(ผู้รับ) พึงรู้ประมาณ ไม่ใช่ทายก(ผู้ให้) ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะธรรมกล่าวไว้ดีแล้ว."
เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๔๕

ผู้ปรารภความเพียร กับ ผู้เกียจคร้าน
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่วแล้ว ผู้ใดปรารภความเพียร ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ใดเกียจคร้าน ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะธรรมะกล่าวไว้ชั่วแล้ว"

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดีแล้ว ผู้ใดเกียจคร้าน ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นทุกข์ ผู้ใดปรารภความเพียร ผู้นั้นย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะธรรมะกล่าวไว้ดีแล้ว."
เอกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๐/๔๕,๔๖
บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.858 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 กุมภาพันธ์ 2567 12:44:11