[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 12:50:43 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กินข้าววัด (เซน) โดย เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย  (อ่าน 1139 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5069


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 01 สิงหาคม 2559 02:17:37 »



เรื่องและภาพ : เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย

คริสต์มาสมาจ่ออยู่ตรงปลายจมูกแล้วตอนที่ฉันอยู่ระหว่างการพบปะสังสรรค์กับ เกียวโต เป็นครั้งที่สาม

สองครั้งก่อนหน้านี้ เป็นการเยือนเกียวโตในฤดูร้อน จึงไม่ทันคาดคิดล่วงหน้ามาก่อนว่าถ้ามาเดินท่อมๆ ไปตามถนนสายเล็กๆ ริมแม่น้ำดูระลอกคลื่นระริกไหวในฤดูหนาว…ชีวิตจะเป็นยังไง

ความหนาวเย็นสุดขั้วนั้นพอจะรับมือไหว แต่บรรยากาศมันรื่นรมย์ผสมเงียบเหงาไม่น่าอยู่คนเดียวเอาเสียเลย…อากาศรสชาติหวานชื่นเช่นนี้เหมาะสำหรับหายใจใกล้ๆ กันคราวละสองคนมากกว่า ต้องใช้เวลาข่มใจอยู่พักใหญ่จึงค่อยกำหนดแผนแม่บทการท่องเที่ยวเกียวโตขึ้นมาได้เป็นรูปเป็นร่าง

คราวนี้ตั้งใจว่าแทนที่จะกลับไปเที่ยวย้อนรอยตัวเองตามวัดดังๆ ยอดนิยมนานาประดามีในตัวเมือง  จะขอแค่อาศัยในเมืองเป็นที่ซุกหัวนอน  แล้วใช้วิธีนั่งรถไฟออกไปเที่ยวตามชานเมืองรอบนอกเกียวโตบ้างดีกว่า  แล้วฉันก็ดำเนินการตามนโยบายของตัวเองอย่างเคร่งครัดด้วยการนั่งรถไฟจากสถานีเกียวโตออกไปชานเมืองทางตะวันตก สู่เมืองท่องเที่ยวเล็กๆ ที่ชื่อว่า อะราชิยามะ(Arashiyama) ลงรถไฟที่สถานี Saga Arashiyama แล้วแผนที่ก็ถูกเก็บพับใส่กระเป๋า เลิกคิดคำนวณหาพิกัด-ระยะทาง-ทิศทางชั่วคราว ปล่อยให้เท้าก้าวไปตามใจของมัน

อะราชิยามะ เป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มตัวจึงไม่ต้องกลัวหลง แค่เดินตามซอยที่เรียงรายด้วยร้านอาหาร ร้านบะหมี่ ร้านขายของที่ระลึกไป ก็จะพบ แหล่งท่องเที่ยว อันประกอบด้วยวัดวาอารามนับ 10 กว่าวัด สวนไผ่อันร่มครึ้มและเขียวสด ที่จะขาดเสียไม่ได้คือร้านรวงสำหรับช็อปปิ้ง

เท่าที่เคยสำรวจมาหลายแหล่ง ที่นี่เต็มไปด้วยร้านที่ขายสินค้าค่อนข้างมีดีไซน์เฉพาะตัว  บ้างก็เป็นงานฝีมือหลากหลายชนิด ไม่ได้เป็นของที่ระลึกพื้นๆ ที่เหมาโหลมาวางขาย ขนาดคนอย่างฉันที่ไม่ใคร่ฝักใฝ่การช็อปปิ้ง ยังอดควักกระเป๋าไม่ได้ไปหลายหนึบ

ยกตัวอย่างของโดนใจเจ้าหนึ่งชื่อร้าน Bruce ที่ฉันเดินแวะเข้าไปเพราะสะดุดตากับสินค้าขายไอเดียของเขา บนผนังทุกด้านในร้าน Bruce แขวนโชว์สินค้าชนิดเดียวกันและรูปร่างเหมือนกันทั้งหมดคือ กระเป๋าใส่ดินสอ-ปากกา…



กระเป๋าดินสอของร้าน Bruce มี รูปร่าง เหมือนกันหมดคือเป็นโครงรูปคน มีซิปรูดปิดเปิดได้ทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง แต่ หน้าตา ไม่เหมือนกันเลยสักตัว แต่ละตัวตัดเย็บด้วยเนื้อผ้า ลวดลาย  สีสันแตกต่างกันออกไป บางตัวทำด้วยผ้ายีนส์ดูเก๋าๆ บางตัวเป็นผ้าไหมสไตล์ญี่ปุ่นดูภูมิฐานอ่อนหวาน บางตัวเป็นขนสัตว์ (เทียม) ปุกปุยน่ารักน่าขยำ บางตัวตัดเย็บด้วยหนังออกแนวเฮฟวี่บอดี้สแลม

ฉันเข้าไปยืนกลางร้าน ยืนหันรีหันขวางเลือกดูจนตาลายโดยมีมิสเตอร์ Bruce Lee Torisawa เจ้าของร้านผู้เป็นต้นกำเนิดไอเดียผลิตภัณฑ์เก๋ไก๋ไม่เหมือนใครนี้ยืนให้กำลังใจและบอกว่า “ไม่ต้องรีบครับ…บางคนเลือกเป็นชั่วโมงยังไม่ได้เลย”

เวลาผ่านไปครึ่งศตวรรษ…ฉันก็เลือกได้กระเป๋าดินสอทำด้วยผ้าเนื้อหนาลายจุดขาว-ชมพู-ฟ้า และอดไม่ได้ที่จะซื้อตุ๊กตาตัวเล็กลายผ้าเดียวกันด้วย ตุ๊กตาตัวเล็กนี้ไม่ได้มีประโยชน์ใช้สอยอะไรเหมือนตัวใหญ่แต่เอาไว้ห้อยกระเป๋าถือ โทรศัพท์มือถือ หรือพวงกุญแจได้ ซึ่งเราต้องเลือกว่าจะเอาไปห้อยอะไร เพราะคุณบรูซจะให้เราเลือกชนิดของอุปกรณ์สำหรับแขวนห้อยที่มีลักษณะต่างกันไปตามชนิดของการใช้งาน ฉันตัดสินใจเลือกเอาแบบห้อยมือถือ



ฉันโล่งใจชะมัดที่ตัดสินใจเลือกของได้ในที่สุด คุณพี่เจ้าของร้านเอาปึกซองบรรจุภัณฑ์ที่ตกแต่งลวดลายไม่ซ้ำกันมายื่นตรงหน้า

“จะใส่ถุงแบบไหนดีครับ”bruce2,กระเป๋าดินสอ

หา?  ยังต้องเลือกถุงอีกเหรอนี่?

“ช่วยเลือกให้หน่อยเถอะพ่อคุณ แบบไหนก็ได้ที่คุณเห็นว่าเหมาะน่ะ” ฉันโบ้ย เหนื่อยนะเนี่ย…ตั้งแต่เกิดมา ชีวิตยังไม่เคยมีทางเลือกเยอะขนาดนี้มาก่อน

กระเป๋าดินสอแต่ละตัวของร้าน Bruce จะมีหมายเลขรุ่นกำกับเพราะจะไม่มีการผลิตซ้ำ  หมดแล้วหมดเลย พอเห็นฉันเลือกได้ครบถ้วนกระบวนความแล้ว คุณบรูซก็ชะโงกมาถามเสียงสุภาพนุ่มนวลว่า

“ปกติร้านเราจะขอถ่ายรูปลูกค้ากับสินค้าที่ซื้อไว้เป็นที่ระลึกน่ะครับ ถ้าคุณอนุญาต แต่ถ้าไม่…ก็ไม่เป็นไรนะครับ”  ฉันให้ความร่วมมือเต็มที่ตามที่เขาร้องขอ ปิดการขายแล้วเรายังคุยกันต่ออีกพักใหญ่ จบการสนทนาแล้วถ้าเขาดูขาวสะอาดขึ้นละก็ เป็นฝีมือการซักฟอกของฉันนั่นเอง

วัดแรกในอะราชิยามะที่ฉันเดินดุ่มสุ่มเดาเข้าไปเป็นวัดนิกายเซนขนาดใหญ่กว่าสวนลุมฯ  มีทั้งบึงน้ำและเส้นทางเดินป่าซึ่งชายป่าทิศเหนือเชื่อมต่อกับสวนไผ่ (Bamboo Grove) มารู้จากเอกสารที่เขาแจกให้พร้อมบัตรผ่านประตูราคา 150 บาทว่า วัดเท็นเรียวจิ (Tenryu-ji Temple)หรือ วิหารมังกรฟ้า นี้มีชื่ออยู่ในบัญชีมรดกโลกเรียบร้อยแล้ว



มูโสะ โซเซกิ พระนิกายเซนริเริ่มสร้างวัดในพื้นที่นี้เมื่อ 600 กว่าปีก่อน แต่โบสถ์วิหารที่เห็นไม่ได้ดูเก่าแก่ขนาดนั้นก็เพราะวัดนี้ถูกไฟไหม้มาแล้วถึง 8 ครั้ง วิหารไม้หลังใหญ่เคร่งขรึมและเรียบง่ายสไตล์เซนที่เห็นในปัจจุบันจึงเป็นผลงานการก่อสร้างเมื่อ 100 กว่าปีมานี้เอง

ฉันกวาดสายตาไปรอบๆ ห้องจำหน่ายบัตรผ่านประตู  ดูว่ามีป้ายภาษาอังกฤษที่พอจะอ่านออกนอกจากภาษาญี่ปุ่นที่บอดใบ้กระไรบ้าง ก็พบกับใบปิดประกาศเล็กๆ บอกว่ามีห้องอาหารในสวนของวัดให้บริการอาหารกลางวันตำรับพระเซนด้วย…เหมือนกระเพาะจะอ่านหนังสือออก มันร้องขานรับในทันที…’จ๊อก…กก..อยากกินข้าววัด…จ๊อก…กก’

‘ช้าก่อน’ สมองสั่ง พลางคิดคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนราคาอาหารกลางวันต่อหัว 3,000 เยน…ติ๊ดตอด…ติ๊ดตอด…กริ๊ง…930 บาท! ฉันลังเลว่าควรจะยื่นหนังสือทำเรื่องขออนุมัติกระทรวงการคลังก่อนดีหรือไม่ แต่ใจก็ชิงอำนาจตัดสินแทน เพื่อแลกกับประสบการณ์กินข้าววัดเซน ฉันเดินดิ่งไปทางโรงอาหาร งานนี้ขอทุ่มหมดหน้าตัก!

ภายในห้องอาหารเงียบสงบและอบอุ่น จ่ายเงินกับเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ด้านหน้าแล้ว ฉันก็เข้าไปนั่งคุกเข่ารอในห้องโถงกว้าง ปูด้วยเสื่อสะอาดสะอ้านไร้การตกแต่งใดๆ ระเบียงด้านหลังห้องมองออกไปเห็นสระน้ำและสวนเล็กๆ ในห้องนั้นมีคนมานั่งรอสำรับอีกสองคน แต่เรานั่งห่างกันมากและไม่มีใครคุยอะไรกัน ทุกคนดูสงบเสงี่ยมและผ่อนคลายตามบรรยากาศที่ห่อหุ้มเราอยู่

สักพักบริกรหญิงก็นำถาดอาหารมาเสิร์ฟให้คนละ 2 ถาด ถาดแรกเป็นสำรับอาหารคาว อีกถาดมีถ้วยขนมและผลไม้จานเล็ก…เล้ก..และน้ำชาหนึ่งกา ฉันรอจนบริกรคล้อยหลังเลื่อนบานประตูงับสนิทดีแล้วจึงค่อยชะโงกหน้าสำรวจสำรับอาหารใกล้ๆ ดูว่ามีอะไรบ้าง ด้วยความรู้ด้านโภชนาการอันน้อยนิด…นอกจากข้าวสวยกับผักต้ม (เห็ด 3 ดอกเล็กกับผักสีเขียวไม่กี่ชิ้น) แล้ว ยากจะเดาได้ด้วยสายตาว่าอะไรเป็นอะไร สำรับอาหารไม่ได้ตกแต่งวิจิตรพิสดารแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มันดูเรียบง่ายแต่สวยงาม (ตามสไตล์เซน)


มื้อกลางวัน

คอนเซ็ปต์การกินแบบ (พระ) เซนนั้นยึดหลัก ‘กินเพื่ออยู่’ มิใช่ ‘อยู่เพื่อกิน’ อาหารในแต่ละมื้อจึงแค่ให้พอเพียงและเพียงพอต่อการประกอบกิจของจิตและกายเท่านั้น ทุกจานเป็นอาหารมังสวิรัติเคร่งครัด ไม่ใช้เครื่องปรุงหรือเครื่องเทศที่มีกลิ่นรุนแรงอย่างหอมหรือกระเทียมเด็ดขาด

ในแต่ละวันพระนิกายเซนจะกินอาหาร 2 มื้อหลักๆ คือมื้อเช้าซึ่งประกอบด้วยข้าวต้มหนึ่งถ้วย ลูกพลัมหมักเกลือหนึ่งผลและหัวผักกาดดอง มื้อกลางวันจะเป็นข้าวบาเลย์หนึ่งถ้วย น้ำซุปกับผักต้ม ส่วนมื้อเย็นจะกินแบบเบาๆ ด้วยการเอาอาหารที่เหลือจากมื้อเช้าและมื้อเที่ยงมาต้มรวมกัน


พระเซนแต่ละรูปจะมีถ้วยอาหารและตะเกียบเป็นของตัวเองต้องดูแลจัดเก็บเช็ดล้างเองของใครของมัน หลังกินอาหารเสร็จในแต่ละมื้อก็จะรินน้ำร้อนลงในถ้วยของตัวเอง แล้วดื่มน้ำล้างถ้วยนั้นเพื่อที่จะได้ไม่มีเศษอาหารเหลือทิ้ง ด้วยสำนึกในคุณค่าของพืชผักสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่อุทิศกายมาเป็นอาหาร คุณค่าของเวลาและพลังงานที่ใช้ไปในการปรุงอาหารแต่ละมื้อ

แวบแรกที่เห็นข้าวสวยแค่ครึ่งถ้วยในถาด ฉันก็เกิดอารมณ์ ‘ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่’ วิตกจริตว่าท้องยุ้งพุงกระสอบอย่างเราอิ่มก็บ้าแล้ว หันไปมองจานผลไม้ยิ่งจุ๋มจิ๋มหนัก…มีแอปเปิลปอกเปลือก 2 ชิ้น (บางๆ) กับองุ่น 2 ลูกถ้วน ในเวลาบ่ายโมงกว่าๆ ที่กระทั่งข้าวเช้าก็ยังไม่ตกถึงท้องนั้นฉันได้แต่เฝ้าถามตัวเองเสียงอ่อย

‘ร่างกายเราต้องการอาหารแค่นี้จริงๆ เหรอวะ’

ถึงกระนั้นฉันก็ยังพอมีสติไม่ผลีผลาม ค่อยๆ ใช้ตะเกียบคีบอาหารแต่ละถ้วยใส่ปากเคี้ยวช้าๆ ให้โอกาสลิ้นได้รับรสอาหารที่ปรุงมาอย่างพิถีพิถันให้ครบถ้วนทั้งเปรี้ยว หวาน เค็ม ขมนิดๆ ความกรุบกรอบของผักดอง ความนุ่มเนียนของเต้าหู้ ซึ่งทั้งหมดหลอมรวมกันเป็นความอร่อยแม้จะไม่รู้ว่าบางอย่างที่กินเข้าไปมันทำมาจากอะไรก็ตาม อาหารที่หน้าตาดู ‘จืดๆ’ แต่รสชาติกลับอร่อยกลมกล่อมอย่างน่าประหลาดใจ ฉันกินจนเกลี้ยงสำรับ เหลือแต่ใบไผ่ที่เขาใช้ห่อก้อนแป้งเหนียวนุ่มชนิดหนึ่งมาเท่านั้น รู้สึกตัวว่าอิ่มก็ตอนได้ยินเสียงลมดันผ่านลำคอขึ้นมาดัง ‘เอิ๊ก’


จานผลไม้

แท้จริงแล้วร่างกายของเราต้องการอาหารไม่มากเลย  แต่ที่เรากินกันตู้มต้ามนั้นเป็นการกินตามกิเลสที่ยึดพื้นที่ครองใจเราอยู่นั่นต่างหาก

‘กินข้าววัดมื้อเดียวถึงกับบรรลุเชียวเหรอยะ’ คนเที่ยวคนเดียวมักแซวตัวเองอยู่เรื่อย พระสงฆ์ไทยที่ฉันเคารพนับถือรูปหนึ่งเคยบอกว่า ‘คนเราถ้าควบคุมลิ้น (ไม่ยึดติดในรสอาหาร) ได้เสียอย่าง ก็ควบคุมอย่างอื่นได้หมด’ ฉันเห็นด้วยแม้จะยังไม่เคยทดลองควบคุมอะไรอย่างนั้นสักที

ฉันเดินเที่ยวรอบเมืองอะราชิยามะไปเรื่อยๆ จนดวงอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาและอากาศก็ชักจะหนาวรุนแรงเกินทนจึงนั่งรถไฟกลับมานอนในเกียวโต หลังอาบน้ำอาบท่าซุกตัวเข้าใต้ผ้าห่มหนาหนักกำลังจะปิดจ๊อบภารกิจแห่งวันตอนสี่ทุ่มนั้นเอง ฉันเพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่า…ยังไม่ได้กินข้าวเย็นนี่นา อิ่มจนลืมหิวเลยเรา
เป็นไงเล่า…ข้าวเที่ยงตำรับเซน…ทำเป็นเล่นไป



จาก http://waymagazine.org/category/life/

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.395 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 26 กุมภาพันธ์ 2567 07:48:11