[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 20:54:24 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ศีลธรรมและสันติภาพจะกลับมาได้อย่างไร (๓) อันตรายจากความคิดแบ่งขั้ว  (อ่าน 1188 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5062


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 29 มิถุนายน 2559 21:22:40 »



ศีลธรรมและสันติภาพจะกลับมาได้อย่างไร
(๓) อันตรายจากความคิดแบ่งขั้ว

พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๙

รากเหง้าประการหนึ่งของความโกรธ ความเกลียด ก็คือความคิดแบบ ‘ทวิภาวะ’

ทวิภาวะ คือการมองเป็นขั้ว  มองเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นขาวเป็นดำ เป็นพวกเราเป็นพวกเขา ไม่ใช่แค่มอง แต่ยังมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายที่เห็นต่างด้วย ตัวอย่างความคิดแบบทวิภาวะที่ชัดเจนมาก คือคำพูดของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช หลังจากเกิดเหตุการณ์ ๑๑ กันยาว่า “ถ้าคุณไม่เป็นพวกเราก็เป็นศัตรูของเรา“  เมื่อมองแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีเรา มีเขา ก็เกิดความคิดว่า พวกกูดี พวกมึงเลว นี่เป็นความคิดสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงในบ้านเมืองและในโลก

ความคิดว่า สีเราดี สีอื่นเลว นี่เป็นความคิดแบบทวิภาวะ ความคิดว่าศาสนาของเราดี ศาสนาของคนอื่นเลว นี่ก็เป็นความคิดแบบทวิภาวะ ความคิดว่าคนดีกับคนชั่ว อยู่คนละพวก ความดีกับความชั่วแยกกัน นี่ก็เป็นความคิดแบบทวิภาวะ รวมทั้งความคิดว่า สั้นกับยาว นั้นเป็นคนละขั้ว อยู่แยกกัน แต่พุทธศาสนาไม่ได้มองอย่างนั้น

พุทธศาสนามองอย่างไร

หลวงพ่อชา สุภัทโท เคยสอนศิษย์ โดยนำกิ่งไม้มากิ่งหนึ่ง แล้วถามว่า กิ่งไม้นี้สั้นหรือยาว แล้วท่านก็บอกต่อว่า ถ้าคุณต้องการกิ่งที่ยาวกว่านี้ กิ่งที่ผมถือมันก็สั้น ถ้าคุนต้องการกิ่งที่สั้นกว่านี้ กิ่งที่ผมถือมันก็ยาว

แปลว่าสั้นและยาวนั้นอยู่ในกิ่งเดียวกัน นี่คือความเข้าใจที่ไปพ้นทวิภาวะ พุทธศาสนามองแบบนี้ ไม่ได้มองอะไรเป็นขั้วที่แยกขาดจากกัน

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความตายอยู่ในชีวิต ความแก่อยู่ในความหนุ่มสาว โรคอยู่ในความไม่มีโรค”

คนเรามักคิดว่า เกิดกับตายอยู่กันคนละขั้ว เหมือนกับกิ่งไม้ ที่แยกเป็นโคนกับปลาย  แต่ไม่ใช่ นั่นเป็นความคิดแบบสามัญ เป็นความคิดแบบสมมติ ที่เหนือกว่านั้น คือความจริงที่ว่า เกิดกับตายอยู่ด้วยกัน ขณะที่เรามีชีวิตอยู่นี้ ก็มีความตายเกิดขึ้นทุกขณะ มีเซลล์ในร่างกายเราตาย ๕๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐ ล้านเซลล์ทุกวันที่เราหายใจ ขณะที่เราสุขภาพดี โรคก็ปรากฏในตัวเรา เพียงแต่ยังไม่แสดงตัวจนเราล้มป่วยเท่านั้น เช่นเดียวกับความชราก็อยู่ในความหนุ่มสาว  หนุ่มสาวทุกคนล้วนแก่เมื่อเทียบกับเด็ก 

นี่เป็นการมองโลกแบบอยู่เหนือทวิภาวะ ในทำนองเดียวกันคนดีกับคนชั่ว ไม่ได้แยกกัน เพราะในคนๆ หนึ่ง มีทั้งความดีและความชั่วอยู่ด้วยกัน แต่เรามักจะมองว่า คนดีกับคนชั่วแยกกัน ความดีกับความชั่วก็แยกกัน  ความคิดแบบนี้ทำให้แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ถ้าใครคิดไม่เหมือนเราก็ชั่ว ถ้าคิดเหมือนเราก็ดี ตรงนี้แหละที่นำไปสู่ความคิดที่คับแคบ นำไปสู่การมองซึ่งกันและกันเป็นปฏิปักษ์ นำไปสู่ความโกรธ ความเกลียด และในที่สุดก็นำไปสู่ความรุนแรง

ความคิดแบบทวิภาวะเป็นความคิดแบบฝรั่งก็ว่าได้ เกิดจากการที่มนุษย์เราแยกขาดออกจากธรรมชาติ เราก็เลยไม่ปรานีปราศรัยกับธรรมชาติ เห็นธรรมชาติเป็นศัตรูหรือสิ่งที่ต้องตักตวงเอาเปรียบ แต่ถ้าเราตระหนักว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมชาติก็มีอยู่ในตัวเรา ดินน้ำลมไฟในธรรมชาติประกอบเป็นตัวเรา และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราจะเคารพธรรมชาติมากกว่านี้

มีคำสอนธิเบตให้ข้อคิดที่ดีมาก คือเปรียบจิตเราเหมือนอากาศในแก้วน้ำ ส่วนธรรมชาติเหมือนกับอากาศข้างนอกแก้ว ความจริงแล้วอากาศในแก้วกับนอกแก้ว ก็เหมือนกัน เป็นอันเดียวกัน เพียงแต่มีแก้วขวางกั้น แก้วที่ขวางกั้น เปรียบได้กับอวิชชา ที่ทำให้เราเห็นว่า อากาศนอกแก้ว กับอากาศในแก้วแยกจากกัน คนละอย่างกัน

การปฏิบัติธรรมก็คือ การทำให้อวิชชาหมดไป เปรียบเหมือนกับการทำให้แก้วหายไป  ทำให้อากาศข้างนอกกับข้างในแก้ว กลับคืนมาเป็นหนึ่งเดียวกัน ธิเบตเรียกว่า ลูกกับแม่มาพบกัน  การปฏิบัติธรรม ถึงที่สุดคือการเห็นความจริงว่า มันไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเรากับธรรมชาติ  ธรรมชาติภายนอกกับธรรมชาติภายในเป็นหนึ่งเดียวกัน

ท่านอาจารย์พุทธทาสให้ความสำคัญมากกับการปฏิบัติเพื่อไปให้พ้นความคิดแบบทวิภาวะ กล่าวคือถ้าเราไปไม่พ้นความคิดแบบนี้ เราจะมองเห็นกันและกันเป็นศัตรูได้ง่าย และทำให้เกิดความโกรธ ความเกลียด และนำไปสู่ความรุนแรง

ทั้งหมดนี้มีความสำคัญอย่างไร

หากต้องการให้สันติสุขกลับคืนมา อยากให้ศีลธรรมกลับมา เราต้องทำให้ความโกรธ ความเกลียดลดน้อยลง เบาบางลง เพราะมันคือรากเหง้าของความรุนแรง รากเหง้าของการเบียดเบียน รากเหง้าของความไม่มีศีลธรรม

ความสงบสุขไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จากการกำจัดคนที่ก่อความรุนแรง ถ้าคิดว่ากำจัดคนเหล่านั้นแล้วบ้านเมืองจะสงบสุข กำจัดผู้ร้ายแล้วความสงบสุขจะกลับคืนมา แต่ไม่จัดการกับตัณหา มานะ ทิฐิ เราก็หนีความรุนแรงไม่พ้น หนีการเอาเปรียบเบียดเบียนกันไม่พ้น

ความรุนแรงเกิดขึ้นจาก ๓ ก. คือ เกลียด โกรธ และกลัว  การจะกำจัดความรุนแรงให้หมดไป หรือเบาบางลง เราไม่สามารถทำได้ด้วยการกำจัดตัวบุคคล แต่ต้องจัดการที่ความโกรธ ความเกลียด และความกลัว ถ้าเราไม่กำจัดความโกรธ ความเกลียด ความกลัว แต่ยังทำให้มันเกิดขึ้นทั้งในจิตใจของเราและในสังคม ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นไม่มีสิ้นสุด

แต่เราจะจัดการกับความโกรธ ความเกลียด และความกลัวได้อย่างไร ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน ถ้าเราต้องการให้ศีลธรรมกลับมา ต้องการให้ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่มีการทำร้ายกัน ต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา สิ่งที่เราทำได้ประการแรกคือ ไม่ส่งเสริมความโกรธ ความเกลียดให้แพร่กระจายไปมากกว่านี้ อย่ากระพือความโกรธ ความเกลียดให้มากไปกว่าที่เป็นอยู่ นี่คือสิ่งที่เราทำได้อย่างง่ายๆ เหมือนกับการที่เราไม่ทำชั่ว  ไม่ผิดศีล ก็ช่วยสังคมได้มาก แต่ถึงแม้เราจะไม่ผิดศีล เราถือศีลห้าครบ แต่ถ้าเราส่งเสริมความโกรธ ความเกลียดให้กระพือ ก็สร้างปัญหาได้เหมือนกัน ทุกวันนี้การพูดหรือเขียนให้เกิดความรู้สึกโกรธเกลียดต่อกัน เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายมาก

ตอนนี้ทุกคนเหมือนมีไม้ขีดไฟอยู่ในมือ ส่วนบรรยากาศที่อยู่รอบตัวก็เหมือนกับอบอวลไปด้วยน้ำมัน ถ้าทุกคนจุดไม้ขีดแล้วโยนลงไป ก็สามารถทำให้บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยน้ำมันนี้ลุกเป็นไฟได้ สิ่งที่เราควรทำอย่างแรกคือ เราไม่จุดไม้ขีด คือไม่กระพือความโกรธ ความเกลียด ไม่ว่าจะเป็นทางเฟซบุ๊ค ทางไลน์ หรือจากการพูดจาสนทนากัน

เดี๋ยวนี้ เฟซบุ๊ค  ไลน์ เป็นแหล่งแพร่เชื้อความโกรธ ความเกลียดที่สำคัญมาก หลายคนพอเปิดเฟซบุ๊คแล้วก็เริ่มติด พอติดแล้ว ความโกรธ ความเกลียดก็ซึมเข้ามาในจิตใจ พอเชื้อความโกรธความเกลียดแพร่เข้ามา เกิดอะไรขึ้นกับใจของเรา เกิดความรุ่มร้อน เกิดความทุกข์

หากไม่อยากกระพือความโกรธ ความเกลียด เราต้องพยายามทำให้ความโกรธ ความเกลียด ไม่ครองใจเราก่อน เพราะตราบใดที่ความโกรธ ความเกลียด ครองใจเรา มันก็อยากกระพือต่อ ไม่ต่างจากเชื้อโรคหรือไวรัส เมื่อมันอยู่ในตัวเรา มันจะขยายและเพิ่มทวีตรีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ ในเซลล์ของเรา จนกระทั่งเซลล์เหล่านั้นระเบิดออก เพื่อไวรัสจะได้แพร่กระจายหนักขึ้น ความโกรธ ความเกลียดก็เช่นกัน เมื่อมันเกิดขึ้นในใจ มันจะลุกลามจนอัดแน่นใจใจ  อยากจะระเบิดออกไป เพื่อแพร่กระจายให้กว้างไกล ให้คนอื่นติดเชื้อเดียวกับเรา ถ้าเราไม่อยากมีส่วนในการกระพือความโกรธ ความเกลียด เราต้องรักษาใจอย่าให้มันครองใจเรา

โกรธเกลียดได้ แต่ให้รู้ทัน จะบอกว่า อย่าโกรธ อย่าเกลียด เป็นการเรียกร้องมากเกินไป แต่ว่า สิ่งที่เราทำได้คือ เมื่อความโกรธ ความเกลียดเกิดขึ้น อย่าให้มันครองใจเราต้องรู้ทัน จะรู้ทันด้วยสติ หรือรู้ทันด้วยปัญญา ก็ได้ทั้งนั้น

(โปรดติดตามตอนต่อไปวันพระหน้า )

จาก http://www.visalo.org/article/KomChadLuek590108.html

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ศีลธรรมและสันติภาพจะกลับมาได้อย่างไร(จบ)ศาสนา คือความรัก ความเมตตา และการให้อภัย
กระบวนการ NEW AGE
มดเอ๊ก 0 1641 กระทู้ล่าสุด 29 มิถุนายน 2559 21:31:16
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.317 วินาที กับ 34 คำสั่ง

Google visited last this page 25 กันยายน 2566 02:17:46