[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 22:06:38 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตเป็นของน้อย รีบทำความเพียรเถิด  (อ่าน 1852 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 51.0.2704.103 Chrome 51.0.2704.103


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 30 มิถุนายน 2559 09:26:53 »

 



ชีวิตเป็นของน้อย รีบทำความเพียรเถิด

วันนี้ หลวงพ่อจะได้นำธรรมะ เรื่อง ชีวิตเป็นของน้อย รีบทำความเพียรเถิด มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า ชีวิต ได้แก่ สันตติ ความสืบต่อ ระบายลมหายใจเข้าออก

ชีวิตนี้ ท่านจัดเป็นของน้อย เพราะว่ากำหนดประมาณไม่ได้ กำหนดไม่ได้ว่า เราจะตายวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น กำหนดไม่ได้เลย จะกำหนดได้เฉพาะวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิดเท่านั้น สำหรับวันตาย เดือนตาย ปีตาย เรากำหนดไม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ได้อภิญญาจิตเท่านั้น จึงจะกำหนดได้ เพราะว่าความตายนี้ ไม่เลือกหน้าว่า เป็นพระภิกษุสามเณรหรือชาวบ้าน อยู่ในวัยใด ก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ดังวจนะประพันธ์ภาษิตที่กล่าวไว้ว่า
อฑฺฒา เจว ทลิทฺทา จ สพฺเพ มจฺจุปรายนา
สพฺพํ เภทปริยนฺตํ  เอวํ มจฺจาน ชีวิตํ [1]
ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนจน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้าด้วยกันทั้งนั้น ภาชนะดินมีอันแตกสลายไปเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของพวกสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น

ถ้าจะเปรียบชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น ท่านอุปมาไว้เหมือนกันกับน้ำค้างที่ติดอยู่บนปลายหญ้า เมื่อถูกแสงพระอาทิตย์ก็จะเหือดแห้งไปโดยฉับพลันฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกันฉันนั้น  อีกอย่างหนึ่ง ท่านอุปมาเหมือนกันกับแสงหิ่งห้อย ซึ่งคอยวับๆ แวบๆ ในเวลากลางคืน ชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้นก็ดับไปฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว พลันแต่ที่จะดับไปเหมือนกัน ฉันนั้น หรืออุปมาเหมือนกันกับบุรุษผู้มีกำลังกล้า สามารถที่จะบ้วนเขฬะให้พ้นไปจากปากได้โดยไม่ยากฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็พลันแต่จะดับไปโดยไม่ยาก ฉันนั้น

หรืออีกอย่างหนึ่ง ชีวิตของสรรพสัตว์นี้ ท่านอุปมาเหมือนกับชิ้นเนื้อ ซึ่งย่างด้วยไฟอันร้อนโชน ก็จะถูกไหม้เป็นเถ้าถ่านโดยไม่ยากฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว จะต้องถูกความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถูกไฟกิเลส ไฟทุกข์ทั้งหลาย เผาลนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็พลันแต่จะดับไปโดยไม่ยาก เหมือนกันฉันนั้น  หรือจะเปรียบให้เห็นง่ายๆ ก็อุปมาได้เหมือนกันกับสตรีทอหูก (หลอดหูก) ข้างหน้าน้อยเข้าไปทุกทีฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็ใกล้เข้าไปต่อความตายทุกวันเหมือนกันฉันนั้น วันคืนเดือนปีล่วงไปแต่ละวันนี้ ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เคลื่อนคล้อยใกล้เข้าไปสู่ความตายฉันนั้น

เหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลายนั้น จึงทรงตรัสว่า ชีวิตนั้นเป็นของน้อย คือเกิดขึ้นมาแล้ว เราคิดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงปัจฉิมวัย บางทีอาจตายเสียแต่ปฐมวัยหรือมัชฌิมวัยก็ได้ เพราะว่าความตายนี้ เราไม่มีอำนาจอะไรที่จะมาขัดขวางได้ แม้เราจะมีเวทมนต์กลคาถามาต่อสู้กับมัจจุราช ผู้ที่มีเสนาใหญ่ ย่อมปราชัยพ่ายแพ้ หรือเราจะมีเวทมนต์กลคาถาศักดิ์สิทธิ์สักปานใดมาเป็นเครื่องป้องกันความตายนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าความตายนั้นไม่เลือกว่า ไพร่ฟ้า พระมหากษัตริย์ สมณะชีพราหมณ์ คนยากจน คนมั่งมี ก็ล้วนแต่มีความตายด้วยกัน ฉันนั้น เมื่อมีชาติคือความเกิดในเบื้องต้น ก็ต้องมีความตายเป็นที่สุด  ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงมีพระบวรสันดานเต็มเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง ในมวลสัตว์ทั้งหลายผู้ที่เร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์ จึงได้ทรงนำเอาพระธรรมที่พระองค์ทรงค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา ๖ พรรษา ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ รู้จักมรรคปฏิปทาอันเป็นหนทางที่จะให้พ้นจากความทุกข์ ถึงฝั่งคืออมตะมหานฤพาน มาชี้แจงแสดงไขให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทพยดาและมนุษย์ ตลอดถึงพรหม ให้ได้รู้ได้ประพฤติได้ทราบได้ปฏิบัติตาม เพื่อที่จะดับเพลิงกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้น

ธรรมะที่พระองค์ได้ทรงแนะนำพร่ำสอน เพื่อที่จะให้เราทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่จะดับเพลิงกิเลสและกองทุกข์นั้น โดยย่อมีอยู่ ๔ ประการ
๑.สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดานของตน เช่นว่าเวลาเดินจงกรม ใจของเราอยู่กับรูปกับนาม อยู่กับอาการขวาย่าง ซ้ายย่าง เวลาที่เรานั่ง ใจของเราอยู่ที่อาการพองอาการยุบ เมื่อได้ปัจจุบันทันรูปนามดีแล้ว โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทาน ก็เกิดขึ้นไม่ได้ นั่นแหละชื่อว่า ระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในขันธสันดาน

ตัวบาปนั้น เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ แล้วก็ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่ทำบาปตายแล้วตกนรก จะเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน อันนั้นเป็นผลพลอยได้ เป็นผลซึ่งเกิดจาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ต่างหาก  แต่เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ แล้ว ความโลภโกรธหลงนั่นแหละที่เป็นตัวบาป เมื่อใดเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ ก็แสดงว่าเรายังมีบาปที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเรา เมื่อใดความโลภความโกรธความหลง ไม่มีอยู่ในสันดานของเรา ก็แสดงว่าเมื่อนั้น บาปไม่มี มีแต่กุศลนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเรา

เหตุนั้นแหละ เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ในขณะที่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ เรากำหนดอาการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ เราก็กำหนดอยู่ทุกอิริยาบถ นี้เรียกว่า สังวรปธาน เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตนเอง

๒.ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมไป และเพียรไม่ให้บาปใหม่เกิดในขันธสันดานอีกต่อไป ได้แก่ เพียรในการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหมือนดังที่พวกเราทั้งหลายกำลังเจริญกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เช่น เราภาวนาว่า พุทโธๆ หรือพองหนอยุบหนอ ใจของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบนั้นตลอดไป มีเผลอน้อย  ขณะนั้น กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ และมโนกรรม ๓ ของเราบริสุทธิ์ดี นั่นแหละจัดว่าเป็นศีล ใจของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบ อยู่กับอาการขวาย่าง ซ้ายย่าง ไม่เผลอไปจากรูปนามชั่วขณะหนึ่งๆ เป็นสมาธิ คือขณิกสมาธิ สมาธิขั้นนี้ จะเห็นรูปเห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อใดเราเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อนั้นชื่อว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว กิเลสคือบาปทั้งหลาย อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็เป็นอันว่าละได้แล้ว โดยตทังคปหานบ้าง ละได้โดยสมุจเฉทปหานบ้าง

เมื่อใด เราได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน นับตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปตามลำดับๆ จนได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่ฆ่ากิเลสตาย คลายกิเลสออก สำรอกกิเลสหลุด ผุดเป็นวิสุทธิสงฆ์ สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ จึงจะได้ชื่อว่าละบาปได้หมดสิ้น ไม่มีอยู่ในขันธสันดานอีกต่อไป

ดังตัวอย่างของพระอังคุลิมาล มีเรื่องที่เล่าไว้ในอังคุลิมาลสูตร ในโลกวรรค ธรรมบท ท่านกล่าวไว้ว่า  พระอังคุลิมาลนั้น เป็นบุตรของพราหมณ์ผู้ซึ่งเป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ในเมืองสาวัตถี มารดาชื่อว่า มันตานีพราหมณี ในวันที่ออกจากครรภ์ของมารดานั้น ก็เกิดเหตุอาเพศขึ้นมา คืออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือพระขรรค์ ซึ่งอยู่ในคลังอาวุธก็ดี ที่อยู่ตามบ้านของชนทั้งหลายก็ดี ก็เกิดแสงสว่างไสวรุ่งโรจน์โชติช่วงดังเปลวเพลิงขึ้นมา เกิดเหตุอาเพศอันน่าอัศจรรย์  สำหรับปุโรหิตผู้เป็นบิดาก็คิดว่า นี่มันเรื่องอะไรกันหนอ จึงเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นมา จึงออกไปข้างนอก แหงนดูดาวนักขัตฤกษ์ทั้งปวง ก็ทราบได้ทันทีว่า ฤกษ์นี้เป็น ฤกษ์แห่งมหาโจร ถ้าผู้ใดเกิดในฤกษ์นี้ ผู้นั้นเจริญวัยขึ้นมาจะเป็นมหาโจร แม้บุตรของเราก็เกิดในฤกษ์นี้เหมือนกัน บุตรของเรานี้เกิดขึ้นมาและเจริญวัยขึ้นมาแล้วจะเป็นมหาโจร อย่ากระนั้นเลย เราหาวิธี หาอุบาย เพื่อที่จะตัดไฟตั้งแต่ต้นลมดีกว่า จะปล่อยให้บุตรของเรากลายเป็นมหาโจรไม่ได้

เมื่อตื่นเช้าขึ้นมา ก็เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้พระองค์ทรงทราบแล้วกราบทูลให้พระองค์นำบุตรของตนไปประหารชีวิตเสีย แต่ว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ได้ทรงกระทำตาม ตรัสสั่งให้เลี้ยงไว้ต่อไป และก็ทรงตั้งชื่อว่า อหิงสกะกุมาร แปลว่ากุมารผู้ไม่เบียดเบียน ที่ตั้งชื่อเช่นนี้ เพื่อว่าเป็นการแก้เคล็ด โดยที่คิดว่าเมื่อเจริญวัยขึ้นมาแล้ว อาจจะไม่เป็นมหาโจรก็ได้

ในเมื่ออหิงสกะกุมารนั้นเจริญวัยขึ้นมา สมควรที่จะศึกษาศิลปะวิทยาแล้ว บิดามารดาก็ได้นำไปมอบให้แก่ทิศาปาโมกข์อาจารย์ อังคุลิมาลนั้นเป็นคนที่มีสติปัญญามาก มันสมองดี สามารถที่จะศึกษาศิลปะวิทยาได้คล่องแคล่ว สำเร็จก่อนศิษย์ทั้งหลายที่ร่วมอาจารย์เดียวกัน  บรรดาศิษย์ทั้งหลายก็เกิดความอิจฉาตาร้อนขึ้นมา หาทางที่จะกำจัดอหิงสกะกุมาร ก็ปรึกษาหารือกันว่า พวกเราจะทำอย่างไรดี อหิงสกะกุมารนี้เกินหน้าพวกเรา ล้ำหน้าพวกเรา เราควรที่จะกำจัดเขาเสียดีกว่า เมื่อปรึกษาหารือกันแล้วก็แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม แล้วให้กลุ่มที่ ๑ เข้าไปหาอาจารย์ และก็ยุยงอาจารย์ว่าอหิงสกะกุมารนี้คิดไม่ดีต่อท่านอาจารย์ หาทางที่จะทำร้ายอาจารย์ หาทางที่จะฆ่าอาจารย์

สำหรับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมื่อได้ฟังดังนั้นก็คิดว่าจะเป็นไปได้หรือ อหิงสกะกุมารนี้ ไม่เห็นเขามีอากัปกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องส่อพิรุธว่าเขาจะทำร้ายเรา หรือคิดมิดีมิร้ายต่อเรา แล้วก็ไล่ตะเพิดศิษย์กลุ่มนั้นออกไป เมื่อศิษย์กลุ่มที่ ๑ ออกไปแล้ว กลุ่มที่ ๒ ก็เข้ามายุยงอีกว่า อหิงสกะกุมารนี้ คิดมิดีมิร้ายต่อท่านอาจารย์

ขณะนั้น อาจารย์ก็มีจิตใจไขว้เขวว่า เป็นอย่างไรหนอเรื่องนี้ หากว่าอหิงสกะนี้ไม่คิดมิดีมิร้ายอย่างนั้นจริง ไฉนลูกศิษย์จึงจะบอกเช่นนี้ ตอนนี้จิตใจก็ชักจะลังเล แต่ก็ไม่เชื่อโดยสนิทใจ และก็ไล่ลูกศิษย์กลุ่มที่ ๒ นั้นออกไป แล้วกลุ่มที่ ๓ ก็เข้ามาอีก เข้าไปยุยงอีกว่า อาจารย์อหิงสกะกุมารนี้ คิดมิดีมิร้ายต่ออาจารย์อย่างนั้นอย่างนี้ สรรหาถ้อยคำมายุยงให้อาจารย์เชื่อ

ตอนนั้นอาจารย์ปลงใจเชื่อสนิท ถ้าว่าไม่จริงแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาคงจะไม่มาบอกเราถึง ๓ ครั้ง เราจะทำอย่างไรดีหนอ ถ้าเราทำเองคนทั้งหลายก็จะหาว่าทิศาปาโมกข์อาจารย์นี้เป็นคนที่ใจร้าย ฆ่าลูกศิษย์ที่ไปศึกษาศิลปวิทยา ต่อมาคนทั้งหลายก็จะไม่มาศึกษาเล่าเรียน ลาภสักการะก็จะเสื่อมไป อย่ากระนั้นเลย เราปล่อยมือให้คนอื่นดีกว่า  เมื่อคิดหาอุบายวิธีได้อย่างนั้นแล้ว จึงเรียกอหิงสกะกุมารเข้ามาหาบอกว่า อหิงสกะกุมาร อาจารย์มีมนต์วิเศษอยู่บทหนึ่ง ชื่อว่าวิษณุมนต์ มนต์นี้ใครเรียนสำเร็จจะสำเร็จความประสงค์ทุกอย่าง แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ผู้ที่เรียนวิษณุมนต์ จะต้องฆ่าคนถึงพันคนจึงจะเรียนได้ เพราะฉะนั้น หากว่าเธอต้องการที่จะเรียนวิษณุมนต์ ต้องการที่จะสำเร็จในวิชามนต์แล้ว เธอต้องเข้าป่าหาฆ่าคนถึงพันคนแล้วจึงจะเรียนได้

ครั้งแรก อหิงสกะกุมารก็ไม่กล้าที่จะฆ่า เพราะว่าตนนั้นเกิดในตระกูลพราหมณ์ ไม่ฆ่าสัตว์มาตั้งแต่เล็กตั้งแต่น้อย แต่เพราะต้องการที่จะสำเร็จในวิชามนต์ จึงจำเป็นที่ต้องทำ เสร็จแล้วก็ได้ถือเอาอาวุธเข้าป่าหาฆ่าคนไปตามลำดับๆ ครั้งแรกก็ไม่ตัดเอานิ้วมือ เป็นแต่เพียงนับว่า ๑, ๒, ๓ ไปเท่านั้น ผลสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าฆ่าไปเท่าไหร่ เป็นเพราะโทษที่ฆ่าคน ทำให้สติฟั่นเฟือน จำไม่ได้ ภายหลังฆ่าแล้วก็ตัดเอานิ้วมือไว้คนละนิ้วๆ ร้อยเอาไว้ เขาจึงให้ชื่อใหม่ว่า อังคุลิมาล แปลว่า โจรผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย

ตั้งแต่อังคุลิมาลเที่ยวฆ่าคนอยู่นั้น ฆ่าไปแล้ว ๙๙๙ คน ยังเหลืออยู่อีกคนเดียวเท่านั้นก็จะครบ ๑,๐๐๐ คน จึงจะได้เรียนมนต์

โวโลเกตฺวา วันนั้น จวนจะสว่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แผ่พระญาณตรวจดูสรรพสัตว์ทั้งหลายว่า วันนี้เราสมควรที่จะไปโปรดใคร ใครหนอจะได้บรรลุคุณวิเศษ อังคุลิมาลโจรก็ปรากฏในข่ายพระญาณของพระองค์ และทรงพิจารณาเห็นว่า อังคุลิมาลโจรนี้ได้อบรมบารมีมาพอสมควร พอที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ถ้าเขาไปฆ่ามารดาของเขาเสีย เขาจะไม่สามารถที่จะได้บรรลุคุณอันใหญ่หลวง อย่ากระนั้นเลย เราจะไปโปรดอังคุลิมาลโจรให้ได้  ซึ่งในขณะนั้น คนทั้งหลายได้ไปกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า มีโจรเที่ยวฆ่าคนในชนบท พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสสั่งเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งมหาชนทั้งหลายให้ตามล่าอังคุลิมาลโจรนั้นมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง

ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตกับภรรยาได้ปรึกษากันว่า ได้เกิดมหาโจรขึ้นมาแล้ว มหาโจรนี้ไม่ใช่ใครอื่นเลย ต้องเป็นบุตรของเราแน่ๆ ปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรดี ภรรยาก็ให้สามีของตนไปตามบุตรมาไว้ในบ้าน เพื่อจะไม่ให้คนทั้งหลายจับตัวได้ แต่ว่าสามีไม่กล้าออกไป ด้วยเกรงว่าบุตรของตนจะจำไม่ได้แล้วฆ่าเสีย   ธรรมดาหัวอกของมารดานั้นย่อมมีความรักความผูกพันในลูก ถึงว่าลูกของตนนั้น จะชั่วช้าสารเลวเพียงใด ก็ตามก็ยังรักอยู่ เมื่อสามีไม่ไป นางจึงจำเป็นต้องไปเอง เมื่อนางมันตานีพราหมณีออกไปสู่ป่าเพื่อจะพาบุตรของตนเข้ามาไว้ในบ้าน พออังคุลิมาลมองเห็นมารดาเท่านั้น ก็ปรี่เข้าจับมารดาเพื่อจะนำไปฆ่าเอานิ้วมือ

ขณะนั้น เป็นเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงพอดี เมื่ออังคุลิมาลโจรเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เปลี่ยนใจว่า เราจะไม่ฆ่ามารดา เราจะฆ่าสมณะนี้ดีกว่า แล้วจึงปล่อยมารดา วิ่งตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป  พระพุทธองค์ได้ทรงบันดาลด้วยพุทธาภิสังขาร ให้อังคุลิมาลนั้นตามไม่ทัน ในขณะที่พระองค์ทรงพระดำเนินไปตามปกติ แต่อังคุลิมาลวิ่งจนสุดแรงเกิด ก็ไม่สามารถวิ่งตามทันพระองค์ได้ จึงคิดว่า เมื่อก่อนนั้นเราสามารถที่จะวิ่งผลัดช้างผลัดม้าผลัดรถได้ แต่บัดนี้ เหตุไฉนหนอ สมณะนี้เดินไปตามปกติ แต่ว่าเราวิ่งจนสุดแรงเกิด ก็ไม่สามารถวิ่งตามทันได้ นี่มันเรื่องอะไรกันหนอ เมื่อคิดได้เช่นนี้ จึงร้องเรียกขึ้นอีกว่า สมณะ หยุดก่อนๆ

พระองค์จึงตรัสว่า เราหยุดแล้วๆ ทั้งที่พระองค์ยังทรงพระราชดำเนินไปอยู่ เมื่ออังคุลิมาลตามไม่ทัน ก็ร้องเรียกขึ้นอีกว่า สมณะหยุดก่อนๆ พระองค์ก็ตรัสว่า เราหยุดแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น อังคุลิมาลโจรจึงพูดขึ้นมาว่า สมณะนี้พูดโกหก กล่าวว่าหยุดแล้ว แต่ยังเดินไปอยู่
พระองค์จึงทรงมีพระดำรัสขึ้นว่า ดูก่อนอังคุลิมาล เราหยุดแล้ว หยุดจากการทำบาปอกุศล เราหยุดแล้ว หยุดจากการฆ่า แต่เธอต่างหาก ยังไม่หยุด ยังตามฆ่าเราอยู่

ธรรมดาผู้ที่มีสติปัญญา ได้ฟังพระวาจาที่พระองค์ตรัสเพียงแค่นี้ ก็ได้สติสัมปชัญญะขึ้นมาทันทีว่า โอ เป็นความจริง เพราะว่าพระองค์หยุดแล้ว หยุดจากการทำบาปทำอกุศล แต่เรานี่ซิยังไม่หยุด ยังตามฆ่าพระองค์อยู่ เมื่อคิดได้เช่นนี้ก็จึงทิ้งอาวุธ เข้าไปกราบแทบเบื้องพระยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลขึ้นว่า โอ นานเหลือเกิน นานเหลือเกิน พระพุทธเจ้าข้า กว่าพระองค์จะเสด็จมาโปรดข้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมให้ฟัง เมื่ออังคุลิมาลฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว มีความเลื่อมใส ขอบวชในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงบวชให้ เมื่อบวชแล้ว ได้เรียนวิธีเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หลีกออกจากหมู่ไปเจริญสมณธรรม ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วหลีกไปอยู่ที่สงัด หลบเร้นเสวยวิมุตติสุขอยู่  เมื่อจะปรินิพพาน ท่านได้เปล่งอุทานว่า คนที่ประมาทมาก่อน แต่ภายหลังไม่ประมาท ย่อมยังโลกให้สว่างไสวได้ เหมือนดวงจันทร์ที่โคจรออกจากกลุ่มเมฆหมอก ฉะนั้น เมื่อเปล่งอุทานเช่นนี้แล้ว ก็ดับขันธ์ปรินิพพาน

อยู่มาวันหนึ่ง พวกภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า พระอังคุลิมาลนี้ เขาฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คน บัดนี้ ได้มาบวชในพระพุทธศาสนา และก็ได้มรณภาพไปแล้ว เมื่อท่านตายแล้วไปเกิดที่ไหนหนอ  องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงได้สดับความนั้นแล้ว จึงเสด็จไปสู่โรงธรรมสภาศาลา ตรัสถามซึ่งภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายสนทนากันด้วยเรื่องอะไร

พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สนทนากันในเรื่องของพระอังคุลิมาล ว่าท่านตายแล้วไปเกิดในที่ไหน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรานิพพานแล้ว

เมื่อพระองค์ตรัสดังนั้น ภิกษุทั้งหลายก็งงขึ้นมาทันที แล้วกราบทูลว่า พระองค์ตรัสเรื่องอะไร เป็นไปได้หรือ พระอังคุลิมาลนี้ฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คน จะนิพพานได้อย่างไรพระพุทธเจ้าข้า หรือว่าผลของบุญบาปไม่มี

พระองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้กล่าวเช่นนี้เลย ข้อนี้เป็นความจริง เพราะเมื่อก่อนนั้น บุตรของเราไม่ได้กัลยาณมิตรสักคนเลย จึงได้ทำความชั่วมีประมาณเท่านั้นๆ แต่ภายหลังได้กัลยาณมิตรเป็นปัจจัย ไม่ประมาทแล้ว เพราะค่าที่เธอไม่ประมาทนั้นแหละ จึงละชั่วนั้นเสียได้ด้วยความดี ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วนิพพาน แล้วจึงตรัสพระคาถาว่า

ผู้ที่ละความชั่วที่ตนทำเสียได้ด้วยความดี ย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสวได้ เหมือนพระจันทร์โคจรออกจากกลุ่มเมฆหมอก ฉะนั้น

คติจากเรื่องนี้ ได้ความว่า พึงชำระล้างความชั่วด้วยความดี พึงไถ่ถอนตนจากความชั่ว ด้วยการทำความดีให้ยิ่งกว่าความชั่วที่ตนทำแล้ว  ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ เรียกว่า ปหานปธาน คือเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป และหนทางที่เราทั้งหลายจะปิดประตูอบายภูมิได้นั้น มีหนทางเดียวเท่านี้ คือการเจริญวิปัสสนา เมื่อใดเราได้เจริญวิปัสสนา จนบรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้นปฐมมรรคไปแล้ว ก็เป็นอันว่าปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วไม่ต้องตกนรก ไม่ต้องเกิดเป็นเปรต ไม่ต้องเกิดเป็นอสุรกาย ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ท่านทั้งหลายลองพินิจพิจารณาดูเรื่องพระอังคุลิมาลนี้ ว่าฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คน ตามปกติการฆ่าคนนั้น เพียงแต่ฆ่าคนเดียวเท่านั้น ตายไปแล้วต้องไปตกอเวจีมหานรก แต่พระอังคุลิมาลนั้นทำไมจึงไม่ไปตกนรก เพราะว่าท่านได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว เมื่อบรรลุแล้ว ก็มีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับ มีพระนิพพานเป็นเครื่องปิดกั้นประตูอบายภูมิ

ถ้าเราทั้งหลายไม่เจริญวิปัสสนาภาวนา ถึงแม้ว่าจะทำบุญให้ทานรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนา จนได้ฌานได้อภิญญา เหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ยังไม่สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ แต่เมื่อใดเรามาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตนแล้ว จึงจะได้ชื่อว่าปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด

๓.ภาวนาปธาน เพียรบำเพ็ญกุศลให้เกิดมีขึ้นในขันธสันดานของตน ได้ให้ความหมายว่า ปุนปฺปุนํ ภาเวตพฺพา วชฺเชตพฺพาติ ภาวนา การยังศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นมีขึ้นบ่อยๆ คือหมั่นเจริญบ่อยๆ เรียกว่า ภาวนา คือให้นึกในใจตามไปกับอาการที่ท้องพองท้องยุบ อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง เวลาเจ็บ เวลาปวด เวลาเมื่อย เวลาคัน เวลาคิด ก็ให้ภาวนาไปตามอาการนั้นๆ ว่า พุทโธๆ หรือเจ็บหนอๆ คันหนอๆ คิดหนอๆ หรือรู้หนอๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามไปไม่หยุด  แม้เวลานอน ก็กำหนดอาการพองอาการยุบว่าพุทโธๆ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอ คำใดคำหนึ่งตามไปจนกว่าจะหลับ พยายามจำให้ได้ว่า จะหลับไปตอนไหน หลับไปตอนหายใจเข้าหรือหายใจออก ก็พยายามจำให้ได้ การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่า ภาวนาปธาน คือเพียรพยายามให้บุญกุศลเกิดขึ้นในขันธสันดาน

๔.อนุรักขนาปธาน   เพียรรักษากุศลที่ตนได้บำเพ็ญมาแล้วนั้นให้คงอยู่และยิ่งๆ ขึ้นไป คือรักษาศีล สมาธิ ปัญญา ให้อยู่กับรูปนาม ไม่ให้เผลอมาก จนกว่าจะถึงมรรคผลนิพพาน สิ้นอาสวะกิเลส จึงจะนอนใจได้ ถ้ายังไม่สิ้นอาสวะกิเลส ก็อย่าเพิ่งนอนใจ

ดังที่องค์สมเด็จพระจอมไตรพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
ภิกขุ วิสฺสาสมาปาทิ  อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ [2]  ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เมื่อตนยังไม่ถึงมรรคผลนิพพาน ยังไม่สิ้นอาสวะกิเลส อย่าเพิ่งนอนใจ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ มาเพื่อฝึกฝนอบรมตนให้คล่องแคล่ว ให้ชำนาญ เพื่อจะได้มีกำลังใจต้านทานต่ออารมณ์ดีอารมณ์ชั่วอันจะเกิดขึ้นแก่ตนในอนาคตกาลข้างหน้า

เมื่อเราออกจากห้องกัมมัฏฐานนี้ หรือว่ายังอยู่ในห้องกรรมฐานนี้ก็ดี เราก็จะได้มีสติสัมปชัญญะมั่นคงต่อสู้กับอารมณ์ดีอารมณ์ชั่วทั้งหลายทั้งปวงที่จะมาแผ้วพาน และการฝึกนั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ
       ๑) ฝึกด้วยบุพพภาคมรรค ได้แก่ การลงมือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
       ๒) ฝึกด้วยอริยมรรค ได้แก่ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น พยายามเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้วก็ไม่หยุดเพียงแค่นั้น พยายามเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วก็พยายามเจริญต่อไป จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เรียกว่า ฝึกด้วยอำนาจอริยมรรค

ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย การที่คนทั้งหลายเขาฝึกม้าก็ดี ฝึกช้างก็ดี เขาฝึกไว้ทำไม เขาฝึกไว้เพื่อให้ชำนาญ ให้เชื่อง เมื่อฝึกจนชำนาญจนเชื่องแล้ว ก็สามารถที่จะนำไปใช้งานได้ตามความต้องการ สมมติว่า เขาฝึกช้างจนชำนาญแล้ว สามารถที่จะนำไปลากซุง ไปใช้ในราชการสงครามได้ เขาฝึกม้าให้ชำนิชำนาญแล้ว เขาจะเอาไปเป็นม้าแข่งก็ได้ เขาจะเอาไปใช้ในราชการสงครามก็ได้ ฉันใด พวกเราทั้งหลายฝึกตนเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพื่อให้บรรลุสุขอันไพบูลย์ตามประสงค์เหมือนกันฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายทั้งปวงที่เขาพากันฝนพร้าฝนมีดหรือลับพร้าลับมีดนั้น โดยมีความประสงค์ ๒ อย่างคือ
       ๑) ต้องการให้สนิมหมดไป
       ๒) ต้องการให้มันคมดี

เมื่อพร้าหรือมีดของเราหมดสนิมหรือคมดีแล้ว ก็สามารถที่จะนำไปใช้ในกิจการต่างๆ เช่น ใช้ตัดโน้นฟันนี้เป็นต้น ฉันใด เราทั้งหลายซึ่งมากำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่ทุกวันนี้ ก็ชื่อว่าเราทั้งหลาย มาฝนหรือมาลับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา ให้หมดสนิม ให้คมดี

อะไรเป็นสนิมของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ? 

สนิมของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น ก็คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมทั้งหลายทั้งปวง

เมื่อใดเราใช้สติสัมปชัญญะระลึกรู้ กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในเมื่อได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ นั้นแหละเรียกว่า เราฝนหรือลับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ให้หมดสนิมหรือให้คมดี เมื่อหมดสนิมหรือคมดีแล้ว ก็สามารถที่จะนำไปตัดกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ให้หมดไปจากขันธสันดานได้

อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายเขาพากันอบผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มด้วยของหอมมีแก่นจันทน์เป็นต้น ก็เพื่อว่าให้กลิ่นหอมเหล่านั้นติดอยู่กับเครื่องนุ่งห่มของเขา ฉันใด พวกเราทั้งหลายมาอบกาย อบวาจา อบใจ ด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อต้องการที่จะให้กลิ่นศีล กลิ่นสมาธิ กลิ่นปัญญา เกลือกกลั้วติดอยู่ในตัวของเรา หรือเพื่อจะให้ตัวของเราหอมไปด้วยกลิ่นศีล หอมไปด้วยกลิ่นสมาธิ หอมไปด้วยกลิ่นปัญญา  เมื่อใด ตัวของเราหอมไปด้วยกลิ่นศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว กิเลสทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็ไม่สามารถจะมาจับกาย จับวาจา จับใจ หรือไม่สามารถที่จะมานอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเราได้

อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายเขาพากันรมตัวของเขาก็ดี หรือเครื่องนุ่งห่มของเขาก็ดี ด้วยควันไฟหรือด้วยความร้อนแห่งไฟ เขารมเพื่อต้องการให้ควันไฟ หรือไอของไฟ หรือว่าความร้อนของไฟนั้นเกลือกกลั้วติดอยู่ที่ตัวของเขาฉันใด การที่พวกเราทั้งหลายมารมตา รมหู รมจมูก รมลิ้น รมกาย รมใจ ด้วยการตั้งสติสัมปชัญญะกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ และกำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพื่อต้องการให้ตัวของเรานี้เกลือกกลั้วติดไปด้วยมรรคผลนิพพาน หรือเพื่อให้ตัวของเรานี้ติดอยู่ในโลกุตรธรรมเหมือนกันฉันนั้น

สรุปความแล้วว่า การที่เรามาฝึกฝนอบรมตนนี้ ด้วยการบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็เพื่อต้องการให้ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพาน เกิดมีขึ้นที่ตัวของเรา หรือให้ตัวของเรานี้เกลือกกลั้วไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพาน เหตุนั้น องค์ภควันตบพิตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การฝึกฝนอบรมตน การฝึกจิตของตนเป็นการดีแล้ว เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งความเจริญ ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ (ในคาถาธัมมบท ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๑๓ หน้า ๑๙ ) ว่า  จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ  จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ การฝึกฝนจิต เป็นความดีแท้ จิตที่ฝึกฝนดีแล้ว นำแต่ความสุขมาให้ ดังนี้เป็นต้น

ก็สกนธ์ร่างกายนี้ เมื่อรวมลงแล้วมีอยู่ ๒ ประการคือ กายกับใจ ถ้าใจดี เวลาจะทำ จะพูด จะคิด ก็ดีตามไปหมด แต่ถ้าจิตใจชั่ว การทำ การพูด การคิด ก็ชั่วไปหมด  เพราะฉะนั้น นักปราชญ์นักพรตทั้งหลายจึงนิยมการฝึกฝนตนอบรมตนคือกายใจนี้ให้ดี ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้รับความสุขความเจริญทั้งแก่ตัวเองและสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ชีวิตเป็นของน้อยควรรีบทำความเพียร มาบรรยาย เพื่อประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


[1] ที. มหาวคฺค. ๑๐ / ๑๐๘ / ๑๔๑
[2] (ขุ. ขุทฺทก-ธมฺมปทคาถา ๒๕/๒๙/๕๑)

ลพ.บุญเรือง สารโท

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.679 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 02 มีนาคม 2567 03:31:41