[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
25 เมษายน 2567 23:51:06 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บทบรรยายว่าด้วยพุทธศาสนานิกายเซน ตะวันออก-ตะวันตก  (อ่าน 1241 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 28 กรกฎาคม 2559 14:31:38 »

วิหารธรรม

ไดเซทสึ เทตาโร ซูสุกิ: บรรยาย
พจนา  จันทรสันติ: แปล
บทบรรยายว่าด้วยพุทธศาสนานิกายเซน

(๑) ตะวันออก-ตะวันตก



         มีนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ชาวตะวันตกหลายท่าน ได้พูดถึงปัญหาปวดขมองเรื่อง “ตะวันออกและตะวันตก” ตามทัศนะและมุมมองของตน แต่เท่าที่ข้าพเจ้ารู้กลับมีนักเขียนชาวตะวันออกน้อยคนเหลือเกินที่ได้แสดงทัศนะของตนว่าด้วยเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุผลนี้เองข้าพเจ้าจึงอยากจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปรายกันเป็นอันดับแรก

          บาโช (ค.ศ. ๑๖๔๔-๙๔) กวีญี่ปุ่นผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยศตวรรษที่สิบเจ็ด ได้เคยเขียนบทกวีสั้นที่มีสิบเจ็ดตัวอักษร ที่เรียกว่า ไฮกุ หรือ ฮกกุ ไว้ ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษอาจอ่านได้ดังนี้:
                           
                   เมื่อพินิจดูให้ดี
                   ฉันเห็นดอกนาสุนะเบ่งบาน
                   ตรงริมรั้ว

          โยกุ มิเรบะ
          นาสุนะ ฮานะ ซากุ
          คะคิเนะ คะนะ
         
ดูเหมือนว่าบาโชจะเดินตามหนทางในชนบท เมื่อท่านเหลือบไปเห็นบางสิ่งซึ่งไม่มีผู้ใดสนใจเหลียวแลอยู่ตรงริมรั้วต้นไม้ ท่านจึงเข้าไปใกล้เพื่อมองดูให้ชัด และพบว่ามันเป็นดอกไม้ป่าซึ่งทั้งสามัญทั้งต่ำต้อยจนไม่มีผู้ผ่านทางเหลียวมอง นี่คือข้อเท็จจริงพื้นๆ ในบทกวี โดยมิได้ใช้ถ้อยคำงดงามกินใจใดๆ เลย ยกเว้นในสองพยางค์สุดท้ายซึ่งอ่านว่า คะนะ บ่อยครั้งที่คำคำนี้ถูกนำมาประกอบเข้ากับคำนาม คำวิเศษณ์หรือคำคุณศัพท์ หรือบ่งบอกถึงอาการอันซาบซึ้งดื่มด่ำ หรือชื่นชมหรือเศร้าสร้อยหรือเบิกบาน ซึ่งบางครั้งอาจแสดงออกด้วยเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) ในภาษาอังกฤษ ในกวีไฮกุบทนี้จบลงด้วยเครื่องหมายอัศเจรีย์ดังกล่าว

          ความรู้สึกที่บรรจุอยู่ในบทกวีสิบเจ็ดหรือสิบห้าตัวอักษรซึ่งปิดท้ายด้วยเครื่องหมายอัศเจรีย์ อาจเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาญี่ปุ่น ข้าพเจ้าจะพยายามอธิบายให้กระจ่างที่สุดเท่าที่จะสามารถ ซึ่งตัวกวีเองอาจไม่เห็นด้วยกับการตีความของข้าพเจ้า แต่นี่คงจะไม่เป็นปัญหามากนัก ถ้าเราเพียงรู้ว่าอย่างน้อยก็มีบางคนสามารถเข้าใจปีติได้อย่างที่ข้าพเจ้าต้องการ

          ประการแรกสุด บาโชเป็นกวีแนวธรรมชาติ เช่นเดียวกับกวีชาวตะวันออกท่านอื่น พวกท่านหลงรักในธรรมชาติมาก จนคิดขั้นเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ชีพจรของท่านเต้นร่วมอยู่กับชีพจรธรรมชาติ ทว่าชาวตะวันตกส่วนใหญ่กลับรู้สึกแปลกแยกกับธรรมชาติ เขาคิดว่ามนุษย์กับธรรมชาตินั้นหามีสิ่งใดละม้ายคล้ายคลึงกันไม่ ยกเว้นเพียงบางแง่มุม และธรรมชาติมีอยู่เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้สอย แต่สำหรับชาวตะวันออกแล้วธรรมชาติเป็นสิ่งที่สนิทชิดเชื้อยิ่ง ความรู้สึกดื่มด่ำในธรรมชาติดังกล่าวถูกปลุกเร้าขึ้นเมื่อกวีบาโชได้ค้นพบดอกไม้อันสงบเสงี่ยมต่ำต้อย เบ่งบานอยู่ริมรั้วรกร้างบนหนทางสายเปลี่ยว เป็นดอกไม้ที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา ปราศจากสิ่งปรุงแต่ง เป็นดอกไม้ซึ่งไม่ปรารถนาจะถูกผู้ใดพบเห็น ทว่าเมื่อเราเพ่งมองดู เราจะพบความละเอียดอ่อนแบบบาง และสง่างามสูงส่งยิ่งกว่าราชันโซโลมอนเสียอีก มันช่างถ่อมเนื้อถ่อมตัว ช่างงดงามอย่างปราศจากอาการเสแสร้ง ความงามของมันปลุกเร้าให้เกิดความชื่นชมพิศวง กวีอาจอ่านพบความลี้ลับของชีวิตแฝงอยู่ในทุกกลีบดอกของมัน บาโชคงจะได้หลงลืมตนไปอย่างสิ้นเชิง ทว่าข้าพเจ้ามั่นใจว่าดวงใจของท่านในเวลานั้น คงเต็มไปด้วยพลังความรู้สึกที่ชาวคริสต์เรียกกัน “ความรักอันศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งหยั่งลึกลงสู่ห้วงลึกที่สุดของชีวิต



เทือกเขาหิมาลัยอาจกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกตื่นตะลึงพิศวง คลื่นอันทรงพลัง ถาโถมในมหาสมุทรแปซิฟิกอาจทำให้สัมผัสได้ถึงอนันตภาพ แต่เมื่อจิตใจของเราเปิดออกด้วยพลังของความงาม หรือความเร้นลับ เราจะรู้สึกเยี่ยงเดียวกับบาโช ซึ่งแม้ในทุกเรียวใบหญ้าก็เต็มไปด้วยบางสิ่งซึ่งผ่านพ้นความรู้สึกต่ำทรามฉ้อฉลของมนุษย์ ยกเราขึ้นสู่ทิพยภูมิดุจดังแดนสุขาวดี ในกรณีนี้มิติไม่สามารถปิดกั้นมันไว้ได้ ด้วยเหตุนี้เอง ที่กวีชาวญี่ปุ่นซึ่งมีพรสวรรค์ตรงที่สามารถแลเห็นสิ่งอันซึ่งใหญ่ในสิ่งอันเล็กน้อยสามัญได้ ขึ้นอยู่กับมิติสามัญในโลก
          นี้คือตะวันออก บัดนี้ลองมาดูกันบ้างว่าตะวันตกจะแสดงออกเยี่ยงไรในสถานการณ์ดุจเดียวกัน ข้าพเจ้าเลือกบทกวีของเทนนิสันมาเป็นตัวอย่าง แม้ว่าท่านจะมิใช่กวีตามบรรทัดฐานแบบตะวันตกที่ควรจะยกขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบกับกวีทางตะวันออกไกล ทว่าบทกวีสั้นๆ ของท่านซึ่งยกมาแสดงในที่นี้ กลับดูใกล้เคียงกับบทกวีของบาโชยิ่ง บทกวีดังกล่าวมีว่า:
 

ดอกไม้ในรอยร้าวของกำแพง
          ข้าถอนเจ้าออกมาจากรอยแยก
          ถือเจ้าไว้ในมือทั้งต้นและราก
          ดอกไม้น้อย เพียงแต่ข้าจะสามารถเข้าใจ
          ว่าเจ้าคือสิ่งใด ทั้งต้นและราก ทั้งหมดทั้งสิ้น
          ข้าคงจะล่วงรู้ว่าพระเจ้าและมนุษย์คือสิ่งใด
         
มีอยู่สองประเด็นที่ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวถึงในบทกวีนี้:

        ๑. การที่เทนนิสันถอนดอกไม้ขึ้นมา “ทั้งต้นและราก”  ถือมันไว้ในมือ มองดูมันอย่างพินิจพิเคราะห์ ดูคล้ายกับว่าท่านคงจะมีอารมณ์ความรู้สึกใกล้เคียงกับการที่บาโชได้ค้นพบดอกนาสุนะ เบ่งบานอยู่ริมรั้ว ทว่าข้อแตกต่างระหว่างกวีทั้งสองก็คือ บาโชมิได้เด็ดดอกไม้ออกมา ท่านเพียงแต่มองดูมัน ดื่มด่ำอยู่ในความคิดคำนึง ท่านรู้สึกได้ถึงบางสิ่งบางอย่างในจิตใจ ทว่ามิได้กล่าวออกมา ท่านเพียงแต่ให้เครื่องหมายอัศเจรีย์กล่าวแทนทุกสิ่งที่ท่านอยากจะกล่าว ด้วยเหตุที่ท่านหามีถ้อยคำใดๆ จะเปล่งออกมาไม่ ความรู้สึกของท่านเต็มเปี่ยมล้ำลึกเกินไป และท่านไม่ปรารถนาจะทำให้อะไรมันกลับกลายเป็นแค่ความคิด

ทว่าสำหรับเทนนิสัน ท่านเต็มไปด้วยความกระหายใคร่รู้และแจกแจงแยกแยะ หะแรกก็ถอนดอกไม้ขึ้นมาจากที่ที่มันขึ้นงอกเงยอยู่ พรากมันจากที่พำนัก ซึ่งแตกต่างกันไกลจากกวีตะวันออก ตรงที่มิได้ปล่อยให้มันอยู่ตามเดิม ท่านคงจะถอนออกมาจากรอยแยกร้าวของกำแพง “ทั้งต้นและราก” ซึ่งหมายความว่าไม้ดอกต้นนี้จะต้องเหี่ยวเฉาตกตายไป ท่านมิได้กังวลสนใจกับชะตากรรมของมัน เพียงตอบสนองต่อความกระหายใคร่รู้ของตน ดุจดังที่แพทย์กระทำกัน ท่านคงจะแยกชิ้นส่วนของดอกไม้ ทว่าบาโชมิได้แม้แต่จะแตะต้องดอกนาสุนะ ท่านเพียงแต่มองดูมัน ”อย่างพินิจพิเคราะห์” นั้นคือทั้งหมดที่บาโชทำ ท่านมิได้ลงมือกระทำการใดๆ ซึ่งแตกต่างอย่างยิ่งกับพลังความเคลื่อนไหวของเทนนิสัน

          ข้าพเจ้าอยากตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ไว้เป็นพิเศษ ณ ที่นี้ และอาจจะมีโอกาสยกมาพูดถึงตรงที่อื่นอีก ตะวันออกนั้นเงียบขณะที่ตะวันตกกล่าวขาน ทว่าความเงียบของตะวันออกมิได้หมายถึงเป็นบ้าใบ้ปราศจากคำพูดหรือไร้ถ้อยวาจา ความเงียบในหลายๆ กรณีก็อาจสำแดงออกดุจดังถ้อยคำ ตะวันตกชื่นชอบถ้อยคำ ไม่เพียงเท่านี้ ตะวันตกยังเปลี่ยนถ้อยคำให้กลายเป็นเนื้อหนัง และกระทำให้เนื้อหนังมังสานี้ กลายเป็นสิ่งโดดเด่นเกินไป หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือหยาบเกินไปและเป็นโลกิยะเกินไปทั้งในศาสนาและศิลปะ

       ๒. เทนนิสันทำอะไรต่อจากนั้น ขณะที่มองดูดอกไม้ที่ถูกถอนออกมา ซึ่งอาจกำลังเริ่มเหี่ยวเฉาท่านได้ถามคำถามขึ้นในตนเอง “ข้าสามารถเข้าใจเจ้าได้หรือไม่” ทว่าบาโชหาได้มีคำถามใดๆ ไม่ ท่านสัมผัสได้ถึงความลี้ลับทั้งมวลที่เผยออกผ่านดอกนาสุนะอันต่ำต้อย เป็นความลี้ลับซึ่งหยั่งลึกลงสู่ต้นกำเนิดแห่งการดำรงอยู่ ท่านดื่มด่ำอยู่ในภวังค์ความรู้สึกนี้เปล่งออกมาผ่านอัศเจรีย์ซึ่งไร้เสียง

ตรงกันข้าม เทนนิสันกลับก้าวรุดต่อไปในความเป็นปัญญาชนของตน “เพียงแต่ข้าจะสามารถเข้าใจว่าเจ้าคือสิ่งใด ข้าคงจะล่วงรู้ว่าพระเจ้าและมนุษย์คือสิ่งใด”  ความปรารถนาที่จะเข้าใจของท่านเป็นบุคลิกแบบตะวันตก บาโชยอมรับขณะที่เทนนิสันต่อต้านขัดขืน อัตภาวะของเทนนิสันถอยห่างออกจากดอกไม้ จาก “พระเจ้าและมนุษย์” ท่านมิได้เชื่อมโยงตนเองเข้ากับพระเจ้าหรือธรรมชาติ ท่านแยกตนออกห่างจากสิ่งเหล่านั้น ความเข้าใจของท่านเป็นไปดังที่ผู้คนในปัจจุบันเรียกว่า “ภววิสัยเชิงวิทยาศาสตร์” ทว่าบาโชกลับเป็น “อัตวิสัย” ล้วนๆ (นี่มิใช่คำที่ดีนัก ด้วยคำว่า อัตวิสัย มักจะถูกนำมาอยู่ตรงข้ามกับคำว่า ภววิสัย “อัตวิสัย” ของข้าพเจ้าจึงเป็นภาวะที่อยากจะเรียกว่า “ปรมัตวิสัย”)  บาโชจึงอยู่ในฟากฝ่ายของ “ปรมัตวิสัย” นี้ ซึ่งทำให้บาโชแลเห็นดอกนาสุนะและดอกนาสุนะก็แลเห็นบาโช ในที่นี้จึงปราศจากความสงสารหรือเห็นใจหรือร่วมรับรู้ด้วยอาการของการใช้สมอง



บาโชใช้คำว่า “เมื่อพินิจดูให้ดี” (โยกุ มิเรบะ ในภาษาญี่ปุ่น) คำว่า “พินิจดูให้ดี” นี้มีความหมายว่า บาโชมิใช่ผู้เฝ้าดูอีกต่อไป ทว่าดอกไม้ได้รับรู้ในตนเอง และได้สำแดงตนออกอย่างแจ่มชัดทว่าเงียบงัน และถ้อยคำอันเงียบงันหรือความเงียบงันอันกล่าวถ้อยจากแง่มุมของดอกไม้นี้ ย่อมอุโฆษผ่านอักษรทั้งสิบเจ็ดตัวของบาโชออกมาอย่างงดงามและเป็นมนุษย์ยิ่ง ทุกความล้ำลึกของอารมณ์ความรู้สึก ทุกความลี้ลับแห่งการเอื้อนเอ่ย หรือแม้แต่ปรัชญาแห่ง “อัตวิสัยสมบูรณ์” เหล่านี้ย่อมสื่อสารแก่ใจของผู้ที่อาจสัมผัสรับรู้ได้เท่านั้น

เท่าที่ข้าพเจ้าเห็นในงานของเทนนิสัน ความรู้สึกของท่านไม่ได้ลุ่มลึกกระไรนัก ท่านเป็นเพียงนักคิด เป็นจิตใจแบบตะวันตกเท่านั้น ท่านเป็นเพียงสาวกของลัทธิถ้อยคำและเหตุผลเท่านั้น ท่านจะต้องพูดบางอย่างเสมอ จะต้องแปรเปลี่ยนประสบการณ์อันจริงแท้ให้เป็นแค่นามธรรมและความคิด ท่านจะต้องออกจากอาณาจักรของความรู้สึกมาสู่โลกของสติปัญญา และจะต้องนำชีวิตและความรู้สึกไปทำการวิเคราะห์แยกแยะเพื่อสนองต่อจิตใจกระหายใคร่รู้แบบตะวันตก
ข้าพเจ้าเลือกกวีสองท่าน คือบาโชกับเทนนิสันเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวทางพื้นฐานสองประการในการเข้าหาความจริง บาโชคือตัวแทนของตะวันออก และเทนนิสันเป็นตัวแทนของโลกตะวันตก เมื่อเราเปรียบเทียบดู เราจะเห็นภูมิหลังทางวัฒนธรรมของคนทั้งสอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า จิตใจแบบตะวันตกเป็นจิตใจที่วิเคราะห์ แยกแยะหาข้อแตกต่าง อุปนัย ตัดขาด ครุ่นคิด เป็นภววิสัย  เป็นวิทยาศาสตร์ มีกฎเกณฑ์ นิยาม วางแผน เย็นชา  เข้มงวด จัดการ ใช้อำนาจ ถือทิฏฐิ ครอบงำผู้อื่น ฯลฯ ทว่าบุคลิกของตะวันออกอาจแสดงออกได้ดังนี้: สังเคราะห์ องค์รวม กลืนเข้า ไม่แบ่งแย่ง อนุมาน ไม่เป็นระบบ ถือคำสอน ใช้สัญชาตญาณ (ค่อนไปทางอารมณ์ความรู้สึก) ไม่ยึดเหตุผล เป็นอัตวิสัย เป็นปัจเจกทางจิตวิญญาณ และมีจิตใจเป็นกลุ่มก้อนทางสังค
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 28 กรกฎาคม 2559 14:32:19 »

ชาวนาผู้หนึ่งขุดบ่อและใช้น้ำจากบ่อนั้นรดพืชพรรณในไร่นาของตน เขาใช้ถังธรรมดาตักน้ำขึ้นมาดุจดังวิถีโบราณที่ผู้คนทำกัน มีผู้ผ่านมาแลเห็นเข้าจึงถามชาวนาว่าเหตุใดจึงไม่ใช้คันชักน้ำ ซึ่งจะช่วยทุ่นแรงและมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีโบราณ แต่ชาวนากลับตอบว่า “ข้ารู้ว่ามันช่วยทุ่นแรง และด้วยเหตุนี้เองข้าจึงไม่ใช้มัน ข้าเกรงว่าการใช้เครื่องมือเช่นนั้นจะทำให้จิตใจของเรากลับกลายเป็นเครื่องจักร และจิตใจที่เป็นกลไกจะทำให้เรามีนิสัยเฉื่อยชาเกียจคร้าน”



ชาวตะวันตกมักจะรู้สึกสงสัยว่าเหตุใดคนจีนจึงไม่พัฒนาวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์เครื่องกลต่างๆ เขาพากันบอกว่า นี่เป็นเรื่องแปลกมาก เพราะคนจีนมีชื่อเสียงในเรื่องการคิดค้นและการประดิษฐ์ ยกตัวอย่างเช่น เข็มทิศ ดินปืน กงล้อ กระดาษ และสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ เหตุผลสำคัญก็คือคนจีนและชาวเอเชียอื่นๆ ล้วนรักชีวิตอย่างที่มันเป็น และไม่ปรารถนาที่จะแปรเปลี่ยนมันให้กลายเป็นวิถีทางสู่ความสำเร็จผลอย่างอื่น ซึ่งจะทำให้วิถีชีวิตแปรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เขารักการงานอย่างที่มันเป็น แม้ว่าหากจะกล่าวไปแล้วการงานหมายถึงการทำบางสิ่งให้สำเร็จผล แต่ในขณะที่กระทำการงานเขาก็มีสุขในงานนั้นด้วยและไม่ได้รีบเร่งจะให้เสร็จ เครื่องจักรเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพและกระทำการงานให้สำเร็จลุล่วงได้มากกว่าแรงคน ทว่าเครื่องจักรเป็นสิ่งที่ไร้หัวจิตหัวใจ ปราศจากการริเริ่มสร้างสรรค์และปราศจากความหมาย

ความเป็นกลไกหมายถึงสติปัญญา และด้วยเหตุที่สติปัญญาคือประโยชน์นิยมเป็นอันดับแรก จึงหาได้มีสุนทรียธรรม จริยธรรม อยู่ในเครื่องจักรไม่ เหตุผลที่ทำให้ชาวนาของจวงจื้อไม่ยอมมีจิตใจแบบเครื่องจักร จึงเป็นเพราะเหตุนี้ เครื่องจักรเร่งเร้าให้เรากระทำการงานได้เสร็จสิ้นและบรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่มันได้ถูกสร้างขึ้น การงานและแรงงานในตัวของมันเองหาได้มีคุณค่าใดไม่นอกเสียจากกลายเป็นวิธีการไป กล่าวคือชีวิตได้สูญเสียพลังการสร้างสรรค์และได้กลับกลายเป็นแค่เครื่องมือเท่านั้น บัดนี้มนุษย์ได้กลายเป็นกลไกการผลิต นักปรัชญาได้พูดกันถึงเรื่องคุณค่าความหมายของมนุษย์ และดังที่เราได้เห็นกันอยู่ในยุคแห่งอุตสาหกรรมและกลไกอันทรงพลังนี้ เครื่องจักรได้กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง และมนุษย์ได้ถูกลดทอนให้กลายเป็นทาสอย่างสิ้นเชิง ข้าพเจ้าคิดว่านี้คือสิ่งที่จวงจื้อหวาดเกรง แน่นอนว่าเราไม่อาจหมุนกงล้อของลัทธิอุตสาหกรรมให้ย้อนกลับไปสู่ยุคสมัยดั้งเดิมแห่งงานฝีมือ ทว่าเป็นการดีที่เราจะให้ค่ากับงานมืองานไม้และตระหนักถึงความชั่วร้ายของความเป็นกลไกในยุคสมัยใหม่ ซึ่งเน้นที่สติปัญญามากเกินไปโดยยอมละทิ้งชีวิตทั้งหมด

เราได้พูดถึงตะวันออกกันมามากแล้ว บัดนี้ลองมากล่าวถึงตะวันตกกันบ้าง Denie de Rougemont ในงานเขียนชื่อ “Man’s Western Guest” ได้กล่าวถึง “มนุษย์กับเครื่องจักร” ในฐานะเครื่องหล่อหลอมลักษณะสองประการในวัฒนธรรมตะวันตก นี่เป็นประเด็นสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุที่มนุษย์กับเครื่องจักรเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกัน ซึ่งตะวันตกได้พยายามอย่างยิ่งที่จะหาทางประสานความแตกต่างเข้าด้วยกัน ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าชาวตะวันตกได้กระทำไปอย่างรู้ตัวหรือไม่ ข้าพเจ้าเพียงแต่กล่าวถึงอาการที่ความคิดสุดขั้วทั้งสองดำเนินอยู่ในจิตใจของชาวตะวันตกในปัจจุบัน พึงตระหนักได้ว่าเครื่องจักรนั้นแตกต่างกับปรัชญาของจวงจื้อเรื่องการงานและการใช้แรงงาน และแนวคิดตะวันตกเรื่องเสรีภาพของปัจเจกและความรับผิดชอบใจตนเองกลับเป็นสิ่งตรงข้ามกับแนวคิดตะวันออกเรื่องเสรีภาพขั้นอันติมะ ทว่าข้าพเจ้าจะไม่ลงรายละเอียดในที่นี้ แต่จะพยายามสรุปให้เห็นซึ่งความขัดแย้งที่ตะวันตกกำลังเผชิญและทุกข์ทรมานภายใต้:

๑. มนุษย์กับเครื่องจักรเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว และด้วยเหตุแห่งความขัดแย้งนี้ ตะวันตกจึงต้องพบเผชิญกับความตึงเครียดทางจิตใจอย่างสุดแสน ซึ่งได้สำแดงออกให้เห็นหลายประการด้วยกันในวิถีชีวิตสมัยใหม่
๒. มนุษย์หมายถึงปัจเจกภาพ ความรับผิดชอบต่อตนเอง ในขณะที่เครื่องจักรเป็นผลผลิตของสติปัญญา เป็นนามธรรม มีกฎเกณฑ์ มีลักษณะเบ็ดเสร็จ และชีวิตรวมหมู่
๓. ถ้าจะกล้าวอย่างภววิสัยหรืออย่างเป็นวิชาการหรือพูดในมุมของจิตใจแบบกลไก ความรับผิดชอบต่อตนเองหามีความหมายใดไม่ ด้วยเหตุที่ความรับผิดชอบเป็นตรรกะที่สัมพันธ์อยู่กับเสรีภาพ และในตรรกะหาได้มีเสรีภาพอยู่ไม่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างถูกควบคุมอยู่ด้วยกฎเกณฑ์อันแข็งกระด้างของหลักอนุมาน
๔. ยิ่งไปกว่านั้น มนุษย์ในฐานะที่เป็นผลิตผลทางชีวภาพ ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางชีวภาพด้วย พันธุกรรมคือข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ด้วยบุคลิกภาพ ฉันมิได้เกิดมาด้วยเจตจำนงเสรี พ่อแม่ก็ไม่ได้ให้กำเนินฉันมาด้วยเจตจำนงเสรี การเกิดไม่อาจวางแผนไว้ได้
๕. เสรีภาพเป็นแนวความคิดที่ไร้สาระ ฉันมีชีวิตอยู่ในสังคม ในกลุ่มชน ซึ่งจำกัดฉันไว้ด้วยอาการต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แม้ในยามที่อยู่เพียงลำพังฉันก็มิได้เป็นอิสระ ฉันมีแรงกระตุ้นหลากหลายซึ่งไม่อาจควบคุมบังคับมันได้ แรงกระตุ้นบางอย่างก็ฉุดลากฉันไปอย่างไม่อาจเหนี่ยวรั้ง ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลกอันจำกัดคับแคบนี้ เราไม่อาจพูดถึงการเป็นอิสระหรือกระทำอย่างที่เราปรารถนาได้ แม้แต่ความปรารถนานี้ก็หาใช่สิ่งที่เป็นของเราไม่
๖. มนุษย์อาจพูดถึงเรื่องเสรีภาพ ทว่าเครื่องจักรจำกัดเขาไว้ในทุกๆ ด้าน ด้วยคำพูดไม่อาจไปได้ไกลเกินกว่านั้น ตั้งแต่แรกเริ่มมาแล้วที่คนตะวันตกเหนี่ยวรั้งควบคุมและกีดกัน ความเลื่อนไหลเป็นธรรมชาติของเขามิใช่ของจริง หากหากเกิดแต่เครื่องจักร เครื่องจักรหาได้มีการสร้างสรรค์ใดๆ ไม่ มันจะทำงานตราบเท่าที่ยังมีสิ่งที่ถูกใส่เข้าไปเพื่อให้ดำเนินไป มันไม่มีทางที่จะกระทำการดุจดังมนุษย์ได้
๗. มนุษย์จะเป็นอิสระก็ต่อเมื่อเขามิใช่ตัวบุคคลอีกต่อไป เขาจะเป็นอิสระก็ต่อเมื่อเขาปฏิเสธตนเองและกลืนรวมเข้ากับทั้งหมด หรือกล่าวให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เขาจะเป็นอิสระเมื่อเขาเป็นตัวเองและขณะเดียวกันก็มิใช่ตัวเอง เว้นเสียแต่เราจะเข้าใจถึงนัยผกผันนี้อย่างถ่องแท้ เขาไม่มีคุณสมบัติพอที่จะพูดถึงเรื่องเสรีภาพหรือความรับผิดชอบหรือความเลื่อนไหลเป็นธรรมชาติ ดังเช่นความลื่นไหลเป็นธรรมชาติที่ชาวตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักจิตเคราะห์พูดถึง ก็มิใช่อะไรมากไปกว่าความลื่นไหลเป็นธรรมชาติแบบเด็กๆ หรือแบบสัตว์ หาใช่ความลื่นไหลเป็นธรรมชาติของผู้เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะไม่
๘. เครื่องจักร พฤติกรรมศาสตร์ เงื่อนไขการตอบสนอง คอมมิวนิสต์ การผสมเทียม การทำให้เป็นอัตโนมัติ การผ่าชำแหละเพื่อการศึกษา เอชบอมบ์ เหล่านี้ทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กันอยู่อย่างใกล้ชิด เชื่อมโยงต่อติดกันเป็นห่วงโซอันแข็งเหนียวแน่นแห่งตรรกะ
๙. ตะวันตกพยายามที่จะทำวงกลมให้เป็นสี่เหลี่ยม ตะวันออกพยายามที่จะเทียบเคียงวงกลมเข้ากับสี่เหลี่ยม สำหรับเซนแล้ววงกลมก็คือวงกลม และสี่เหลี่ยมก็คือสี่เหลี่ยม และในขณะเดียวกันสี่เหลี่ยมก็คือวงกลม และวงกลมก็คือสี่เหลี่ยม
๑๐. เสรีภาพเป็นเพียงทัศนะเชิงอัตวิสัยและไม่อาจตีความให้เป็นภววิสัยได้ เมื่อเราพยายามจะทำให้เป็นดังนั้น ก็เท่ากับเราได้เข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งอย่างดิ้นไม่หลุด ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงอยากจะกล่าวว่า การพูดถึงเรื่องเสรีภาพในโลกแห่งภววิสัยอันจำกัดคับแคบซึ่งแวดล้อมเราอยู่นี้เป็นเรื่องไร้สาระยิ่ง
๑๑. ในโลกตะวันตก “ใช่” ก็คือ “ใช่” และ “ไม่” ก็คือ “ไม่” “ใช่” ไม่อาจเป็น “ไม่”  ไปได้หรือโดยนัยกลับกัน ทว่าตะวันออกทำให้ “ใช่” เคลื่อนเข้ามาสู่ “ไม่” และทำให้ “ไม่”  มาสู่ “ใช่” ไม่มีการแบ่งแยกอย่างเด็ดขาดอยู่ระหว่าง “ใช่” กับ “ไม่” ธรรมชาติของชีวิตย่อมเป็นดังนี้ มีเพียงตรรกะเท่านั้นที่เส้นแบ่งนั้นไม่อาจลบเลือนลงได้ ตรรกะเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อการใช้สอยในกิจการงานต่างๆ
๑๒. เมื่อตะวันตกเริ่มตระหนักในข้อเท็จจริงนี้ จึงได้สร้างแนวคิดทางฟิสิกซ์ที่เรียกว่าทฤษฎีสมบูรณ์หรือหลักการแห่งความไม่แน่นอน เมื่อไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางฟิสิกซ์บางประการได้ แม้ว่ามันจะประสบความสำเร็จในการสร้างแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ก็ไม่อาจตีกรอบให้แก่ความเป็นจริงแห่งสภาวะการดำรงอยู่ได้
๑๓. ศาสนามิได้เกี่ยวข้องกับเราในที่นี้ แต่ก็คงไม่ว่างเปล่าเสียทีเดียวหากจะยกมากล่าว คริสต์ศาสนาอันเป็นศาสนาของตะวันตก พูดถึงพระวัจนะ พระคัมภีร์ พูดถึงเนื้อหนังและการกลับฟื้นคืนชีพ และความรุนแรงบ้าคลั่งชั่วกาล ทว่าศาสนาของตะวันออกกลับเน้นที่การหลุดพ้น ความสงบวิเวก ภวังค์และสันติสุขนิรันดร์ สำหรับเซนแล้วการกลับชาติมาเกิดก็คือการหลุดจากธรรมชาติ ตามเสียงคำรามครืนครั่นดุจอัสนีบาต และถ้อยคำอันยิ่งใหญ่นั้นไร้ถ้อย เนื้อหนังปราศจากเนื้อหนังปัจจุบันขณะเทียบเท่าสุญตาและอนันตภาพ
 

ที่มา: สานแสงอรุณ  ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
*นำไปเผยแพร่ต่อ  กรุณาอ้างอิงที่มา*


หมายเหตุบรรณาธิการ



ไดเซทสึ เทตาโร ซูสุกิ (Daisetz Teitaro Suzuki ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๖๖) เป็นศาสตราจารย์พุทธปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยโอตานิ เกียวโต เกิดในครอบครัวเซนสำนักรินไซ เมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล โตเกียว ได้ศึกษาเซนที่กามากุระไปพร้อมกัน ภายใต้โรชิ อมาคิตะ โกเซ็น ครั้นโรชิตายลงก็ศึกษากับโสเยน ซากุ จนบรรลุธรรมในที่สุด เขามีกิจกรรมการเผยแพร่เซนแก่ชาวตะวันตก ทั้งด้านงานเขียน งานแปลคัมภีร์ การบรรยายและการก่อตั้งองค์กรต่างๆ ความพยายามอธิบายธรรมชาติ และความสำคัญของเซนแก่โลกตะวันตกของซูสุกินับว่าได้ผล เพราะเวลานี้ความสนใจเซนที่ยิ่งใหญ่นั้นอยู่ที่โลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา เยอรมนี และอังกฤษ ทว่าในเกาหลีและญี่ปุ่นเซนกลับเสื่อมโทรมลงเร็วมาก

หนังสือของซูสุกิที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย เท่าที่ทราบเข้าใจว่ามีอยู่เพียง ๒ เล่ม คือ เซนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งจำนงค์ ทองประเสริฐ ได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ Zen and Japanese Culture สำนักพิมพ์ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เล่ม ๑ (๒๕๑๘) และโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง จัดพิมพ์เล่ม ๒ (๒๕๑๙) ต่อมาสำนักพิมพ์ราชบัณฑิตยสถานนำกลับมาพิมพ์ซ้ำรวมเป็นเล่มเดียวในปี ๒๕๔๗ ส่วนอีกเล่มคือ พุทธแบบเซ็น แปลโดยโกมุที ปวัตนา สำนักพิมพ์สมิตจัดพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๓ ข้อมูลสังเขปประวัติของซูสุกิก็เก็บความมาจากหนังสือเล่มหลังนี้

สำหรับ “บทบรรยายว่าด้วยพุทธศาสนานิกายเซน” นี้ พจนา จันทรสันติ แปลมาจาก Zen Buddhism and Psychoanalysis by D.T. Suzuki, Erich Fromn and Richard De Martino.

จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=426625
 
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
[โพสทูเดย์] - อากาศวันนี้ : ภาคเหนือ อีสาน ยังเย็น กลาง ตะวันออก ใต้ กทม.มีฝน
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 267 กระทู้ล่าสุด 29 มกราคม 2565 06:32:40
โดย สุขใจ ข่าวสด
[ข่าวสังคม] - ภาคอีสาน-ตะวันออก-ใต้มีฝนฟ้าคะนอง10-20%ของพื้นที่
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 203 กระทู้ล่าสุด 31 มกราคม 2565 09:00:14
โดย สุขใจ ข่าวสด
[โพสทูเดย์] - อุตุฯเผยภาคเหนือ อีสานยังอากาศเย็น ตะวันออก ใต้ กทม.ฝนตก
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 254 กระทู้ล่าสุด 09 กุมภาพันธ์ 2565 07:01:34
โดย สุขใจ ข่าวสด
[โพสทูเดย์] - ทั่วไทยเจอฝน อีสาน ตะวันออก ใต้ ตกหนัก กทม.โดน 60 %
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 157 กระทู้ล่าสุด 04 มิถุนายน 2565 07:03:27
โดย สุขใจ ข่าวสด
[ข่าวเด่น] - วันนี้ ไทยตอนบนฝุ่นสะสมมาก เตือนภาคใต้-ตะวันออก รับมือฝนฟ้าคะนอง
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 33 กระทู้ล่าสุด 22 กุมภาพันธ์ 2567 06:17:51
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.329 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 21 สิงหาคม 2566 14:19:07