[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
18 เมษายน 2567 21:01:27 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พลิกโลกเหนือความคิด โดย หลวงพ่อเทียน  (อ่าน 1429 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5064


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 01 สิงหาคม 2559 02:44:02 »



<a href="https://www.youtube.com/v/LD29_CYYwew" target="_blank">https://www.youtube.com/v/LD29_CYYwew</a>


พลิกโลกเหนือความคิด โดยหลวงพ่อเทียน

คัดจากหนังสือพลิกโลกเหนือความคิด

รู้อารมณ์รูปนาม

พอประมาณตีห้า พอดูลายมือเห็นนี่แหละยังไม่สว่างดี, มันเป็นทุ่งนา ที่ๆ ไปทำนั่น, นั่งอยู่ คราวนั้นนุ่งกางเกงขาสั้น นั่งพับเพียบ, มีแมงป่องตัวนึงตกลงมา มันตกลงมาบนขา เป็นแมงป่องแม่ลูกอ่อน ลูกแมงป่องก็ตกมากับแม่มันใส่ขาอาตมาแล้ววิ่งไปตามขา, ก็นั่งดู ไม่ตกใจ, เห็น-รู้แล้วเข้าใจทันที รูป-นาม; เข้าใจจริงๆ บัดเดี๋ยวนั้นเลย. เข้าใจเรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องรูปทำ-นามทำ รูปโรค-นามโรค เข้าใจ ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา เข้าใจเรื่องสมมุติ ศาสนา-พุทธศาสนา บาป-บุญ ต้นเหตุของบาป-ต้นเหตุของบุญ. เข้าใจจริงๆ ในช่วงระยะสั้น, แว้บ-ขึ้นมาครั้งเดียวเท่านั้น, มันรู้จริงๆ เข้าใจซาบซึ้งโดยไม่เก้อเขิน-รู้ตรงนี้. รู้พุทธศาสนาคือรู้ที่ตัวเรา

รู้เรื่องศีล

    ตอนเช้ามืด ขณะที่ผมเดินไปเดินมาอยู่* มีตะขาบตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้าผม, ที่นั่นไม่มีไฟฟ้า มีเพียงเทียนไขที่จุดตั้งเอาไว้ตรงนั้น ตรงนี้สำหรับเดินจงกรม, ผมไปเอาไฟ (เทียนไข) มาส่องดูแต่ไม่เห็น ตะขาบคงไปไกลแล้ว, ตะขาบนี้เคยกัดนานมาแล้ว, เจ็บ – จำได้. เมื่อไม่เห็นผมก็มาเดินดูความคิดของตัวเองต่อ, บัดเดี๋ยวนั้น มันคิด-วูบ-ขึ้นมา, จิตใจผมรู้, รู้จักศีล. ศีลที่รู้จักขึ้นมานั้น ศีลแปลว่าปกติ, ไม่ใช่ศีลห้าศีลแปดศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด อย่างที่ผมเคยสมาทานรักษาศีลมาตั้งแต่หนุ่มนั้น. บัดนี้ จึงได้รู้จักว่า “ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ, สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง, ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด” – ตาม ตำราว่าไว้อย่างนี้; ตอนนี้ ผม, เพราะกำจัดกิเลสอย่างหยาบได้แล้วศีลจึงสมบูรณ์-รู้. อันที่จริง, ศีลสมบูรณ์นั้น ก็คือตัวสมาธิ-ตัวปัญญานั่นแหละ.

    เมื่อจิตใจเปลี่ยนไปนั้น ผมยังเดินไปเรื่อยๆ , เมื่อผมรู้สิ่งเหล่านั้นแล้ว จิตใจมันจืด – คล้ายกับเราถอนผมออกจากหัว มันเอาไปปลูกอีกไม่ได้ จะเอากลับไปเข้ารูเดิมก็ไม่ได้, หรือคล้ายกับเอาน้ำร้อนไปลวกหนังหมู มันจะซีดขาวจืดไปหมด, หรือเปรียบเหมือนเราเอาสำลีไปจุ่มน้ำ ยกขึ้นมาบีบน้ำออก หนเดียวเท่านั้นมันจืดออกไปหมดจริง; จิตใจนี้ก็เหมือนกัน . เรื่องของความคิดนั้น: จึงขอให้ดูความคิดให้เห็นความคิด, แต่อย่าไปห้ามความคิด, คิดปุ๊บตัดปั๊บเลย. อันนี้แหละ ปัญญา, ปัญญาที่ว่าเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด. เปรียบได้กับน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ไม่มีตะกอน, ซึ่งก็คือตัวชีวิตจิตใจจริงๆที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มันอยู่ของมันเฉยๆ, ซึ่งมันมีอยู่แล้วในคนทุกคน-จะเห็นจะรู้จะเข้าใจได้ก็ต้องทำตามวิธีการของพระพุทธเจ้านี้

*หลวงพ่อเข้านอน ประมาณสาม-สี่ทุ่ม ตื่นขึ้นมาประมาณตีสองตีสาม, ตามประวัติที่ทราบ เป็นวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือนแปด ของปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เมื่อสร้างจังหวะนานจนเหนื่อยแล้วท่านก็ลุกออกจากที่มาเดินจงกรมต่อ ประมาณตีสี่ตีห้า-เวลาที่คนอื่นกำลังทำวัตรเช้ากัน ขณะนั้นท่านยังเป็นฆราวาส ไปปฏิบัติธรรมที่ตำบลพันพร้าว (ปัจจุบันคือที่ตั้งอำเภอศรีเชียงใหม่) อายุ ๔๕ ปีเศษ จวนจะ ๔๖ ปี

ทวนกระแสความคิด

    พวกเราคงเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงเคยปฏิบัติโดยวิธีทรมานพระองค์มาก่อน แล้วทรงเห็นว่าเป็นวิธีที่ผิดจึงได้เลิกทำทุกรกิริยา และต่อมาก็ทรงฉันข้าวที่นางสุชาดาจัดมาถวาย พระองค์ทรงถามนางว่า จะถวายเฉพาะข้าวหรือถวายรวมทั้งถาดและขันด้วย นางก็ตอบว่าถวายทั้งหมด เมื่อพระองค์ฉันเสร็จแล้วจึงเอาขันไปอธิษฐานที่ริมแม่น้ำว่า ถ้าพระองค์จะได้บรรลุธรรม ขอให้ขันที่วางลงบนผิวน้ำลอยทวนกระแสของน้ำขึ้นไป, ฯลฯ ข้อความเหล่านี้เป็นบุคลาธิษฐาน คือเอาสิ่งที่เป็นรูปธรรมเป็นข้อเปรียบเทียบเท่านั้น ไม่ใช่พระพุทธเจ้าเอาขันไปลอยน้ำแล้วขันลอยทวนกระแสของน้ำขึ้นไปจริงๆ

    “ถาดขัน” ในที่นี้คือ “ธาตุขันธ์” คือจิตใจ, “น้ำ” คือกิเลส, การบำเพ็ญทางจิตของพระองค์เป็นการกระทำที่ยาก เปรียบได้กับ “การทวนกระแสน้ำ” คือพระองค์ไม่ได้ปล่อยจิตใจไปตามกิเลส, “กระแสน้ำ” คือกระแสความคิด; การไปตามกิเลสนั้นง่าย, ทุกคนไปตามกิเลสอยู่แล้วจึงได้รับแต่ความทุกข์, พระองค์ได้ปฏิบัติโดยทวนกระแสของกิเลสเพื่อดับทุกข์ โดยการเฝ้าดูจิตใจ เห็นจิตใจของพระองค์เองที่กำลังนึกกำลังคิด, พอคดขึ้นมา มันอยากทำตามที่ตาเห็นจมูกได้กลิ่นลิ้นได้รสกายถูกสัมผัส ฯลฯ พระองค์เห็นว่าความคิดนั้นเป็นกิเลสการปฏิบัติ พระองค์ก็ทวนกระแสของความคิด คือไม่ทำไปตามความคิดที่อยากจะทำ, พระองค์ปฏิบัติอย่างนี้แหละญาณจึงได้เกิดมีขึ้นในพระองค์และได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. สิ่งที่พระพุทธเจ้าชี้บอกให้พวกเราปฏิบัติ คือ ให้เอาสติมากำหนดรู้ความคิด มาคอยดูที่จิตที่ใจของตัวเอง, คิดอะไรขึ้นมาต้องรู้ต้องเข้าใจ มันจะได้ไม่ถูกปรุงแต่งต่อไป, พอคิดอะไรวูบขึ้นมา เราก็เอาสติเข้าไปดู ความคิดนั้นก็จะหยุดไปเอง.

เชือกขาด

เมื่อปฏิบัติต่อไปจนถึงที่สุด จนได้เห็นความคิดของเราเอง เห็นไปถึงสมุฏฐานต้นเหตุของความคิด นั่นคือได้เห็นอาการเกิด-ดับ, เกิด-ดับ มันขาดสูญออกไป; อาตมาเคยเปรียบเทียบให้ฟังว่า เหมือนกับเอาเชือกมาผูกปลายสองข้างดึงให้ตึงแล้วเอามีดตัดตรงกลาง เชือกจะขาดออกจากกัน จะดึงมาให้ถึงกันอีกไม่ได้ คือจะใช้งานต่อไปอีกไม่ได้. กล่าวในทางอาตนะ ๑๒ ก็เหมือนกัน, เช่นที่กล่าวกันว่า ตาเห็นรูปหูได้ยินเสียง ฯลฯ ก็ให้สักแต่ว่าเห็นสักแต่ว่าได้ยิน อย่าไปปรุงแต่งว่าสวยไม่สวยดีไม่ดี เสียงเพราะเสียงไม่เพราะ เสียงผู้หญิงเสียงผู้ชาย ให้เพียงแต่เห็นหรือได้ยินเฉยๆ, อันนั้นยังเป็นคำพูด. ส่วนการปฏิบัตินั้นเราต้องดูเข้าไปให้เห็น ให้มันขาดจากกันไปเลย เมื่อมันขาดออกจากกันแล้วมันจะไม่ปรุงแต่งต่อไป อายตนะนั้นก็ไม่สามารถจะเข้าถึงกันได้อีก.

    สมมติเรามีเชือกเส้นหนึ่ง เอาปลายเชือกผูกใส่หลักนั้นข้างหนึ่ง แล้วเอาปลายเชือกอีกข้างหนึ่งไปผูกใส่หลักนี้ไว้ให้มันตึง, เชือกมันจะดึงกันอยู่สองหลักนี้, เอามีดไปตัดตรงกลางหรือเอาไฟไปจุด, พอดีเชือกมันขาด มันจะสะท้อนกลับเข้าไปหาหลัก พอไปดึงมาต่อกันอีกมันจะไม่ถึงกันเลย ถ้าจะให้ตรงกลางมันถึง ปลายเชือกก็จะไม่ถึงสองหลักนั้น. อันนี้เราก็เลยมายกไว้ในเรื่องอายตนะว่า เมื่อตาเห็นรูปก็อย่าไปยินดียินร้าย – นี้เป็นคำพูด, อันนี้ไม่ขาดแล้ว; มันยังถึงกัน. ส่วนอันนี้ มันขาดแล้ว, หรือว่า จับสอดเข้ากันมันก็ไม่เข้า ; เหมือนน็อตกับแหวนไม่มีเกลียว เอาไปสอดเข้าไปในรถมันก็ไม่เกาะกัน เมื่อมันไม่เกาะกันรถมันก็วิ่งไม่ได้ ; เพราะไม่มีอะไรมาผูกมัดมัน.


รับรองผล

ตำราบอกไว้ว่า “ผู้ใดเจริญสติปัฏฐานสี่ ให้ติดต่อกันเหมือนอย่างลูกโซ่ อย่างนานไม่เกิน ๗ ปี ; อย่างกลาง ๗ เดือน ; อย่างเร็วที่สุด นับแต่ ๑ วัน ถึง ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน, มีอานิสงส์ ๒ ประการคือ เป็นพระอรหันต์ หรือ ถ้าไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็ต้องเป็นพระอนาคามีในปัจจุบันภพนี้ชาตินี้ฯ” – ท่านว่าอย่างนั้น. แต่วิธีที่ผมว่านี้, ผมไม่ได้พูดถึงพระอรหันต์ไม่ได้พูดถึงพระอนาคามี, ผมพูดว่า : ถ้าหากเจริญสติตามแบบที่ผมว่ามานี้ อย่างที่ผมทำจังหวะให้ท่านดูนี้ ทำอย่างนั้นอยู่มีความรู้สึกอยู่ให้มันติดต่อกันเหมือนกับลูกโซ่ ; ไม่ให้มีเวลาหลง – รู้สึกอยู่เสมอตลอดเวลา, ผมรับรองว่า อย่างนานไม่เกิน ๓ ปี ; อย่างนานให้เวลา ๑ ปี ; อย่างเร็วที่สุดให้เวลา ๙๐ วัน, อานิสงส์ไม่ต้องพูดถึงอย่างนั้น –  ถ้ามีทุกข์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อย่างน้อยที่สุดหมด ๖๐ เปอร์เซ็นต์ หรือหมดไปทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์จริงๆ. ทั้งนี้เพราะเรารู้สมุฏฐานต้นเหตุที่เกิดของความทุกข์แล้วจริงๆ.

ตัวบุคคลผู้ที่พูดอยู่เดี๋ยวนี้นี่แหละยืนยันรับรองว่าจะเอาชีวิตเป็นประกัน. ถ้าหากทำติดต่อกันถึงสามปีเป็นลูกโซ่แล้วไม่รู้ ก็เอาปืนมายิงเอามีดเอาพร้ามาฟันได้ หรือจะเอาระเบิดโยนใส่หัวก็ได้ เพราะพูดแล้วมันไม่เป็นของจริง, เอาอย่างนี้เลย. คนมีจริงต้องพูดความจริง ไม่ต้องเกรงขามอะไรทั้งนั้น. เราคงเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วว่า – ยอมเสียสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ, ยอมเสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต, ยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาสัจจธรรมฯ. ความจริงมันมีอย่างนี้ ต้องเป็นไปอย่างนี้. นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า.

ออกจากความคิด

สมมุติเหมือนกับว่า เราอยู่บนบ้าน เราเข้าไปในห้องแล้วเข้าไปนอนในมุ้ง เราก็จะไม่ได้เห็นห้อง ไม่ได้เห็นนอกห้อง ไม่ได้เห็นนอกบ้าน ไม่ได้เห็นหลังคาบ้าน, มันเป็นชั้นๆ อย่างนี้. ที่ผมพูดนี้ เราไม่ต้องเป็นอย่างนั้น, คือว่า : มันคิด-เราเห็น-เรารู้-เราเลยออกจากความคิดได้, เราไม่เข้าไปในความคิด. เปรียบเหมือนเราไม่ต้องเข้าไปอยู่ในมุ้งไม่ต้องเข้าไปอยู่ในห้องนอนไม่ต้องเข้าไปอยู่ในบ้าน, แต่ออกมาชานเรือนหรือว่ามาอยู่ลานบ้าน เรามองดูประตูเราก็เห็น เหลียวมองในห้องเราก็เห็น เหลียวมองมุ้งเราก็เห็น, อันนี้เรียกว่าเราเห็นความคิด-รู้ความคิด-เข้าใจความคิด

    พอดีมันคิด : ทีแรก – จะเป็นเรื่องไป ติดต่อเป็นอารมณ์ไป, คราวนี้ – มันคิด เราเห็นเรารู้ มันหยุด. พอดีมันคิดขึ้นมา – เราเห็นเรารู้เราเข้าใจ – มันหยุด.

แมวจับหนู

อุปมาเหมือนบ้านเรามีหนู มันจึงกัดเสื้อผ้าสิ่งของเสียหายหมด เราไม่มีความสามารถที่จะไปไล่หนูออกจากบ้านได้ จำเป็นต้องไปเอาแมวมาเลี้ยงไว้, แมวกับหนูเป็นปรปักษ์กัน ถ้ามีแมวแล้วหนูมันกลัว. สมมติ ทีแรกหนูตัวใหญ่แมวตัวเล็ก, พอหนูมาแมวถึงตัวจะเล็กมันก็ตะครุบอยู่ดี แต่หนูตัวโตก็วิ่งหนี แมวก็เกาะติดหนูไป พอเหนื่อยแล้วแมวตัวเล็กมันก็วางหนูเอง หนูจึงหนีพ้นไปได้. เราไม่ต้องไปสอนแมวให้จับหนู เพราะเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว, เราเพียงเอาอาหารให้แมวกินให้มันใหญ่ขึ้นอ้วนโตขึ้นมีกำลังแข็งแรงมากขึ้น. ทีนี้เวลาหนูมันมาอีก แมวซึ่งจ้องคอยทีอยู่โดยธรรมชาติและมีกำลังแล้วนั้น จะกระโจนจับทันทีอย่างแรง หนูมันไม่เคยถูกแมวจับมันก็ตกใจช็อคตายทันที เลือดในตัวหนูก็เลยหยุดวิ่ง แมวกินหนูจึงไม่มีเลือด. ความคิดก็เหมือนกัน พอดีมันคิด – เราเห็นเรารู้เราเข้าใจ – มันหยุดทันที, ความคิดมันเลยไม่ถูกปรุงไป เพราะเรามีสติ-มีสมาธิ-มีปัญญาแล้ว. สติแปลว่าตั้งมั่น สมาธิก็แปลว่าตั้งมั่นตั้งใจไว้มั่น ปัญญาแปลว่ารอบรู้ ตัวสติตั้งมั่น ก็คือ มันคอยจ้องความคิดอยู่เหมือนแมวคอยทีจะจับหนูนั่นเอง, พอดีมันคิดปุ๊บ เราไม่ต้องไปรู้กับมัน ให้มาอยู่กับความรู้สึกตัวนี้ มันคิดแล้วก็หายไป. นี้ก็หมายความว่า เมื่อมีสติเห็นรู้เข้าใจอยู่ความหลงไม่มีหรือมีไม่ได้เลย, เมื่อความหลงไม่มีแล้ว โทสะ-โมหะ-โลภะ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้, นี้เรียกว่า นามรูปไม่ทุกข์ เพราะรู้เท่า-รู้ทัน-รู้กัน-รู้แก้ ซึ่งก็คือ “ตัวสติ” นั่นเอง.




ย้อมสี

เรื่องโทสะ – โมหะ – โลภะ ไม่ต้องอดทนมันดอก, เห็นแล้ว – มันหายไปเอง. สมมติ, น้ำสีมีคุณภาพมีอยู่เต็มกระป๋องนำไปย้อมผ้า จะเป็นน้ำสีสีดำก็ตามสีแดงก็ตาม เมื่อเอาไปย้อมผ้าขาวมันจะกินผ้าขาวนั้นจนดำทั้งหมดหรือแดงทั้งหมดตามน้ำสีนั้นเลย, ถ้าน้ำสีนั้นเสื่อมคุณภาพหรือว่าสีมันตายแม้จะมีอยู่เต็มกระป๋องอย่างเดิม เอาไปย้อมผ้าจะไม่กินผ้าเลย หากติดผ้าก็น้อยที่สุด พอถูกน้ำซักก็หลุดออกหมด. อันนี้ก็เหมือนกัน, ถ้าเห็นสมุฏฐานความคิดแล้วจริงๆ เมื่อมีคนโน้นคนนี้มาพูดมาว่าให้เรา ตัวสติมันจะวิ่งเข้าไป – ปุ๊บ – นั่นทันทีเลย, มันไวขนาดนั้น, ความหลงผิดจึงไม่มี.

บาป-บุญ

ดังนั้น ในชั้นนี้ บาปคือความหลง บุญคือความมีสติ.
    บาปมากที่สุดอยู่ที่ไหน ;
    บาปมากที่สุด ก็คือ ความหลงผิด ความไม่รู้จริงนั่นแหละ.
    บุญมากที่สุดอยู่ที่ไหน ;
    บุญมากที่สุด ก็คือ ความมีสติ ความเห็นแจ้งความรู้จริง ; เรียกว่า วิปัสสนา.
    วิปัสสนา แปลว่า เห็นแจ้ง – รู้จริง – ต่างเก่า – ล่วงภาวะเดิม.


จิตเหมือนดวงตะวัน

เมื่อผมเห็นวัตถุ – เห็นปรมัตถ์ – เห็นอาการนี่แหละ เลยเข้าใจว่าโทสะ – โมหะ – โลภะ นี้ก็เช่นกัน เป็นวัตถุชนิดหนึ่ง : และก็เป็นอาการชนิดหนึ่ง, มันไม่ได้เกาะอยู่กับตัวจิตของเราจริงๆ. หากจะสมมติให้ฟังก็เปรียบได้กับดวงตะวัน : เมื่อเมฆมาบังเราก็จะพูดว่า ฟ้ามืด ฟ้าหม่น ตะวันมืด ตะวันบด ความจริงแล้ว เมฆ ฟ้า หมอก ควัน ฯลฯ มาบังเฉยๆ เมฆหาได้ไปเกาะอยู่ที่ดวงตะวันไม่ มันผ่านไปเฉยๆ เมื่อผ่านไปแล้วแสงตะวันก็พุ่งออกมา, อันที่จริง ดวงตะวันมันก็ส่องสว่างของมันอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเมฆจะบังหรือไม่ แต่เราไม่เห็น, มันเป็นอย่างนั้น. อันความคิดเรานั้น ก็เหมือนกันกับเมฆนั่นแหละ, ส่วนตัวชีวิตจิตใจของเราจริงๆ นั้น มันเป็นปกติอยู่, มันไม่ได้บิดเบี้ยวไปอย่างนั้นอย่างนี้, มันเป็นอุเบกขา ; อุเบกขาแปลว่าเฉย มันมีอยู่เฉยๆ. ลักษณะที่ผมพูดนี้, ความเป็นอุเบกขาที่ผมยกมาพูดนี้, มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน.

วิดน้ำในบ่อ

    ให้เอาสติมาดูความคิด มันคิดให้รู้ ให้เห็น ให้เข้าใจ ให้สัมผัสได้ คิดปุ๊บตัดปั๊บทันที ทำเหมือนแมวจับหนู เหรือเหมือนนักมวยขึ้นเวที ต้องชกทันที ไม่ต้องรอไหว้ครู แพ้ชนะเป็นเรื่องของนักมวยต้องชกทั้งนั่น ไม่ต้องรอใครทั้งนั้น หรือเหมือนกับขุดบ่อน้ำ เมื่อเจอน้ำแล้วเป็นหน้าที่ที่จะต้องวิดตม วิดเลน วิดน้ำออกให้หมด น้ำเก่าก็ตักออกให้หมด น้ำใหม่ก็ตักออกให้หมด บัดนี้น้ำใหม่ที่อยู่ข้างในจะออกมา เราต้องกวนปากบ่อ ล้างปากบ่อ ล้างตมล้างเลนเหล่านั่น ทำบ่อยๆ น้ำจะสะอาดขึ้นเอง เมื่อน้ำสะอาดแล้ว อะไรตกลงในบ่อ จะรู้ จะเห็น จะเข้าใจได้ทันที การตัดความคิดออกก็เช่นเดียวกัน ตัดได้ไวเท่าใดยิ่งดีเท่านั้น

สวิตซ์ไฟ

    จะทำให้เห็นกิเลสได้นั้น เราต้องทำให้ถูกวิธีของมัน ให้รู้จักสมุฏฐานของมัน. อุปมาเหมือนเราต้องการความสว่าง แต่เราไม่เคยใช้ไฟฟ้า ก็เลยไม่รู้จักวิธีใช้ไฟฟ้า ไม่รู้จักสมุฏฐานที่จะทำให้ไฟฟ้ามันเกิดขึ้นมา แต่เคยเห็นความสว่างอยู่ที่หลอดไฟฟ้า, ทีนี้ พอจะให้มันสว่าง มันก็จะไปจับที่หลอดไฟพลิกหมุนอยู่อย่างนั้น ถึงทำไปจนตายมันก็ไม่สว่างขึ้นมาได้ เพราะไปทำไม่ถูกจุดของมัน ไม่รู้จักต้นเหตุสมุฏฐานของมัน. ส่วนคนที่ฉลาดคนที่รู้จักสมุฏฐานที่ไฟฟ้ามันเกิดขึ้นมาสว่างขึ้นมา เขาจะไม่ต้องไปจับที่หลอดโน่นเลย เขาจะมาจับที่สวิตซ์นี่ – ปั๊บ – แล้วมันจะไปทำความสว่างอยู่ที่หลอดไฟฟ้านู่น. การปฏิบัติวิปัสสนานี้ก็เหมือนกัน, ถ้าหากเราฉลาด เรารู้ – เราเห็น – เราเข้าใจตามแบบของพระพุทธเจ้าแล้ว เราจะรู้จักว่าความโกรธความโลภความหลงนั้น ความทุกข์ประเภทนั่น จริงๆแล้วมันไม่ได้มีอยู่ที่เรา เมื่อเราเจริญวิปัสสนาแบบถูกต้องแล้ว ว่าแต่มีคนพูดขึ้นมา – ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม สติปัญญาของเรานี้มันจะไวถึงที่สุด, มันจะทำหน้าที่ของมัน

ลืมตาทำ

วิธีปฏิบัติแบบลืมตาที่หลวงพ่อสอนนี้ ไปไหนมาไหนก็ทำได้ ใครผ่านไปมาก็เห็น  จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้ก็เห็น, หลวงพ่อเข้าใจเช่นนี้. เรื่อง “นิมิต” ก็เหมือนกัน. นิมิตแปลว่า เครื่องหมาย เครื่องสัญญา หรือสิ่งที่สัญญาเรารู้, หมายอย่างไร ก็หมายให้เรามีสติรู้สึกจับอยู่กับสิ่งเหล่านั่น อย่างพลิกมือขึ้นรู้สึกตัว นั่นละนิมิต มันคิดมาก็เห็นก็รู้ อันนั้นเรียกว่าเป็นนิมิต. ส่วนการที่คนไปนั่งสมาธิต้องการเห็นดวงแก้ว เห็นพระพุทธรูป แต่ไม่เห็นจิตใจตัวเอง จิตใจคิดแวบไปไม่เห็นเลย นั่งอยู่ที่นี่คิดลอยไปถึงไหนๆ, อย่างนั้นไม่มีประโยชน์, มันเป็นมายา, หลวงพ่อกล้ายืนยันกล้ารับรองได้ว่า การทำวิปัสสนาแบบลืมตาเอาไปใช้ทำงานทำการได้ ทำอะไรอยู่ก็ทำได้, จิตใจนึกคิดจะโกงขึ้นมาก็รู้ คนจะมาหยิบของขโมยของก็เห็นก็รู้ ทุกข์เกิดขึ้นแล้วก็ไม่เอา จิตใจมันอยากคิดอยากได้ความสุขก็รู้ว่ามันไม่ได้ไม่ควร สุขวันนี้พรุ่งนี้ทุกข์ก็มาแล้ว, มันเป็นอย่างนี้

ดังนั้น การเห็นธรรมต้องเห็นที่ตัวเรานี้เอง, ไม่ใช่ไปเห็นพระพุทธรูป หรือรูปพระพุทธเจ้า, ไม่ใช่อย่างนั้น. พระพุทธเจ้านั้นท่านตายไปนานแล้ว


อากาศในแก้วน้ำ

ขอยกตัวอย่างอีกสักเรื่อง, เอาแก้วน้ำมาวางไว้ ๑ ใบ เราจะเห็นว่าในแก้วมีอากาศ, พอเราเทน้ำใส่ลงไป อากาศก็ไหลออก น้ำเข้าไปแทนที่, พอเทน้ำออกอากาศก็เข้าไปแทนที่ใหม่, อันนี้ก็เปรียบได้กับเราพลิกมือ เรารู้เรามีสติ สติเข้าไปแทนที่ความไม่รู้ความหลง, ความไม่รู้ก็หลุดออกไปจากจิตใจของเรา. ให้เราทำบ่อยๆ จับความรู้สึกอยู่บ่อยๆ ทุกอิริยาบถ สติก็จะมีมากขึ้นๆ ความหลงความไม่รู้ก็จะลดลงๆ เหมือนน้ำเข้าไปแทนที่อากาศในแก้ว ฉันนั้น

โอ่งใส่น้ำ

การเจริญสตินี้ ต้องทำมากๆ ทำบ่อยๆ นั่งทำก็ได้ นอนทำก็ได้ ขึ้นรถลงเรือทำได้ทั้งนั้น เวลาเรานั่งรถเมล์ เรานั่งรถยนต์ก็ตาม เราเอามือวางไว้บนขา พลิกขึ้นคว่ำลงก็ได้ หรือเราไม่อยากพลิกขึ้นคว่ำลง เราเพียงเอานิ้วมือสัมผัสนิ้วอย่างนี้ก็ได้ สัมผัสอย่างนี้ ให้มีความตื่นตัว ทำช้าๆ หรือจะกำมือ เหยียดมืออย่างนี้ก็ได้
คำว่า “ให้ทำอย่างนั้นตลอดเวลานั้น” คือ เราทำความรู้สึกซักผ้าซักเสื้อ ถูบ้านกวาดบ้าน ล้างถ้วยล้างชาม เขียนหนังสือ หรือซื้อขายก็ได้ เพียงเรามีความรู้สึกเท่านั้น แต่ความรู้สึกอันนี้แหละ มันจะสะสมเอาไว้ทีละเล็กทีละน้อยเหมือนกับเราที่มีขันหรือมีโอ่งน้ำ หรือมีอะไรก็ตามที่มันดี ที่รองรับมันดี ฝนตกลงมา ตกทีละนิด ทีละนิด เม็ดฝนเม็ดน้อยๆ ตกลงนานๆ แต่มันเก็บได้ดี น้ำก็เลยเต็มโอ่งเต็มขันขึ้นมา

อันนี้ก็เหมือนกันเราทำความรู้สึก ยกเท้าไปยกเท้ามา ยกมือไปยกมือมา เรานอนกำมือเหยียดมือ ทำอยู่อย่างนั่น หลับแล้วก็แล้วไปป เมื่อนอนตื่นขึ้นมาเราก็ทำไป หลับแล้วก็แล้วไป ท่านสอนอย่างนี้ เรียกว่า ทำบ่อยๆ อันนี้เรียกว่าเป็นการเจริญสติ


สติปัฏฐานสี่

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราเจริญสติ. สติปัฏฐานสี่ ได้แก่ กาย – เวทนา – จิต – ธรรม. คนมีปัญญานำไปปฏิบัติได้ทันที. สตินั้น เราก็ยังไม่เข้าใจเพราะเป็นภาษาบาลี ท่านสอนว่า ธรรมที่มีอุปการะมากมีคุณมาก คือ สติ – ความระลึกได้ สัมปชัญญะ – ความรู้ตัว, ในทางปฏิบัติมันเป็นอันเดียวกัน คือ “รู้สึกตัว” นี่แหละ, รวมความแล้วก็ว่า – “รู้สึกตัว – ตื่นตัว  รู้สึกใจ – ตื่นใจ” สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ท่านก็สอนเข้าไปอีกว่า ให้เรามีสติกำหนดรู้ในอิริยาบถทั้งสี่ คือ ยืน – เดิน – นั่ง – นอน แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ, ท่านยังสอนเข้าไปอีกว่า ให้มีสติกำหนดรู้ในอิริยาบถย่อย ; คู้ – เหยียด – เคลื่อน – ไหวโดยวิธีใด ก็ให้มีสติเข้าไปกำหนดรู้. แล้วทีนี้พวกเรากลับไม่ทำตามอย่างนี้ พากันไปทำตามอย่างอื่นวิธีอื่นเสีย แต่ก็ยังพูดว่าจนทำตามพระพุทธเจ้า, สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนกลับไม่เอา ไม่ฟัง. แล้วจะเป็นผู้รู้ตามเห็นตามได้อย่างไร

เจริญสติ

วิธีปฏิบัตินั้นต้องเป็นวิธีเจริญสติ. คำว่า “เจริญสติ” นี้ ก็มีหลายคนพูดถึงอยู่เหมือนกัน. เจริญสติปัฏฐานสี่ คือ กาย – เวทนา – จิต – ธรรม, หรืออิริยาบถสี่ คือ ยืน – เดิน – นั่ง – นอน. ส่วนวิธีที่ผมจะพูดถึงนี้จะถือว่าเป็นสติปัฏฐานสี่หรือไม่เป็นสติปัฏฐานสี่ก็ได้ – โดยให้ทำความรู้สึกตัว. เมื่อทำความรู้สึกตัวแล้ว ความไม่รู้สึกตัวก็หายไปเอง. ทำความรู้ตัว : พลิกมือขึ้น, คว่ำมือลง, ยกมือไป, เอามือมา, เดินหน้า, ถอยหลัง, เอียงซ้าย, เอียงขวา, ก้ม, เงย, กระพริบตา, อ้าปาก, หายใจเข้า, หายใจออก, กลืนน้ำลายผ่านลงไปในลำคอ, คู้, เหยียด, เคลื่อนไหว, ฯลฯ ; เหล่านี้ – ให้ทำความรู้สึก. เมื่อมีความรู้สึกอยู่แล้วความไม่รู้สึกมันหายไปเอง. ความไม่รู้สึกนั้น ภาษาธรรมะท่านเรียกว่า “โมหะ” ภาษาบ้านเราเรียกว่า “หลง”. เมื่อมีความรู้สึกอยู่นั้น เรียกว่ามีสติ, เมื่อทำความรู้สึกอย่างนี้อยู่ ก็เรียกว่าเป็นการเจริญสติ. คำว่า “เจริญ” นั้น หมายถึงการทำบ่อยๆ, “เจริญสติ” ก็คือ ให้รู้สึกบ่อยๆ ; จะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้มีความรู้สึก.

คำสอนหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

 จากหนังสือ พลิกโลกเหนือความคิด


จาก http://lpteean.blogspot.com/2010/10/blog-post.html

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 สิงหาคม 2559 02:46:49 โดย มดเอ๊ก » บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.81 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 24 มีนาคม 2567 00:19:09