[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 15:12:06 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: โพธิสัตว์นิรมิต จาก บันทึกเรื่องมรรคผลอันเกี่ยวเนื่องกับ อวตังสกะสูตร  (อ่าน 2691 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5075


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 05 สิงหาคม 2559 17:06:09 »



โพธิสัตว์นิรมิต

ในสมัยราชวงศ์ถัง มีบรรพชิตรูปหนึ่งนามว่า พระฮุ่ยโย่ว (慧祐) อยู่ ณ อารามฉงฝู ในราชธานีฉางอัน มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดแข็งขัน ถวายตัวเป็นศิษย์พระจื้อเหยียนคอยรับใช้อุปัฏฐากท่าน ภาวนาตามแนวทางนิกายอวตังสกะ หรือนิกายฮว๋าเหยียน ท่านเฝ้าสวดภาวนาพระสูตรนี้ทุกวันนับแต่ทิวาจวบราตรี ท่านจะจุดธูปบูชาสาธยายพระสูตร ช่วงตถาคตนิรมิตปริวรรต (如來出現品) มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะสาธยายพระสูตรอยู่นั้นพระโพธิสัตว์ถึง 10 องค์ ปรากฏกายขึ้นจากผืนปฐพี ฉวีวรรณสีสุวรรณงามอร่าม ส่องแสงประกายเจิดจ้า แต่ละพระองค์ประทับอยู่บนดอกบัว พระโพธิสัตว์ล้วนประณมกรสดับพระสูตรบรรพนี้ด้วยจิตมั่นคงไม่วอกแวก เมื่อท่านธาธยายจบลง พระโพธิสัตว์ก็อันตรธานหายไป

เนื้อหา - จาก "บันทึกเรื่องมรรคผลอันเกี่ยวเนื่องกับอวตํสกสูตร" (華嚴經感應緣起傳)

ภาพ - ประติมากรรมไม้แกะสลักสมัยราชวงศ์เหลียว รูปคณะพระโพธิสัตว์ประดิษฐานอยู่ ณ วัดฮว๋าเหยียนเบื้องล่าง (เซี่ย ฮว๋าเหยียนซื่อ) เมืองต้าถง สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1038 นับเป็นกลุ่มประติมากรรมที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งของจีน




นิกายอวตังสกะ

ความหมาย

คําว่า อวตังสกะ แปลว่า พวงดอกไม้ พวงมาลัย เป็นชื่อของพระสูตรหลักที่นิกายนี้ยอมรับ คือ อวตังสกสูตร จึงตั้งชื่อนิกายตามชื่อพระสูตรนี้ นิกายนี้เชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ภายหลังจากการตรัสรู้ใหม่ แต่เนื่องจากพระสูตรนี้ลึกซึ้ง และยากแก่การเข้าใจ คนที่ได้ฟังไม่สามารถจะเข้าใจทันที พระพุทธองค์จึงทรงเปลี่ยนวิธีใหม่ โดยแสดงพระสูตรแบบหินยาน

ประวัติการก่อตั้งนิกาย

พุทธศาสนานิกายอวตังสกะ มีชื่อในภาษาจีนว่า ฮัว-เหยน (Hua Yen) เป็นพุทธศาสนานิกายที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนในราวคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของราชวงศ์ถัง และเป็นยุคทองของพุทธศาสนาในประเทศจีน คณาจารย์ที่สําคัญแห่งนิกายอวตังสกะ ดังต่อไปนี้ คือ

1) ท่านฟา-ชุน

ท่านฟา-ชุน (Fa-shun) (พ.ศ. 1100-1183) เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ตู-ชุน (Tu-shun) ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งนิกายอวตังสกะเป็นครั้งแรก เมื่ออายุได้ 18 ปี ได้ออกบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ท่านมีชื่อเสียงในการรักษาโรคและสั่งสอนธรรมเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จนได้รับการสรรเสริญว่าเป็น “พระโพธิสัตว์ตุนฮวง”(Tun-huang Bodhisattva)

2) ท่านชิ-เยน

ท่านชิ-เยน (Chih-yen) (พ.ศ. 1145-1211) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยุน-หัว (Yun-hua) เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะท่านได้สาธยาย “อวตังสกสูตร” แก่สานุศิษย์ที่วัดยุน-หัว (Yun-hua Temple) เป็นประจํา นับเป็นอาจารย์แห่งนิกายอวตังสกะองค์ที่สองสืบต่อมาจากท่านฟา-ชุน

3) ท่านฟา-ฉ่าง

ท่านฟา-ฉ่าง (Fa-tsang) (พ.ศ. 1186-1255) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เสียน-โจว (Haien-shou) ท่านเป็นสานุศิษย์คนสําคัญของท่านชิ-เยน ท่านมีบทบาทสําคัญและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในนิกายนี้เพราะท่านเป็นผู้วางระบบคําสอนในนิกายอวตังสกะให้เป็นระบบระเบียบเรียบร้อย ท่านฟาฉ่างพํานักอยู่ในวัดที่พระนางวูเซอเทียนหรือพระนางบูเช็กเทียนซึ่งเป็นจักรพรรดินีองค์แรกของประเทศจีนทรงสร้าง โดยท่านฟาฉ่างมีหน้าที่ถวายคําสอนในพระสูตรต่างๆ แก่พระนาง

4) ท่านเชง-กวน

ท่านเชง-กวน (Ch’eng-kuan) (พ.ศ. 1281-1381) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชิง-เหลียง (Ch’ing-liang) ท่านศึกษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ได้บวชเณรตั้งแต่อายุ 11 ปี ครั้นอายุครบ 20 ปีก็ได้บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ท่านจาริกไปทั่วภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคเหนือของประเทศจีน ได้เยี่ยมเยียนศูนย์กลางพระพุทธศาสนาหลายแห่งและศึกษาคัมภีร์ต่างๆ จากอาจารย์หลายท่าน แต่ความสนใจ หลักของท่านอยู่ที่ อวตังสกสูตร ท่านมีผลงานที่เป็นอรรถาธิบายเกี่ยวกับ อวตฺสกสูตร มีมากกว่า 400 บท งานเขียนและคําสั่งสอนของท่านมีอิทธิพลต่อสานุศิษย์อย่างใหญ่หลวง คนรุ่นหลังสรรเสริญท่านว่าเป็น พระโพธิสัตว์ฮัว-เหยน

5) ท่านซุง-มี่

ท่านซุง-มี่ (Tsung-mi) (พ.ศ. 1323-1384) อาจารย์แห่งนิกายอวตังสกะองค์ที่ห้า แรกเริ่มทีเดียวนั้นท่านสนใจศึกษาคัมภีร์ของลัทธิขงจื้อ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 1350 เดิมทีท่านออกบวชเป็นพระภิกษุและปฏิบัติตามพุทธศาสนานิกายฌาน (เชน) ต่อมาภายหลังท่านได้อ่านอรรถาธิบายของเชง-กวนเกี่ยวกับอวตังสกสูตร ท่านจึงได้หันมาปฏิบัติตามแนวทางของนิกาย อวตังสกะ และมอบตัวเป็นสานุศิษย์ของเชง-กวน ภายหลังจากซุง-มี่มรณภาพไม่นาน ก็เกิดการกวาดล้างพุทธศาสนาอย่างขนานใหญ่ขึ้นในแผ่นดินจีน และติดตามด้วยความสับสนวุ่นวายทางการเมือง ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ไม่มีอาจารย์แห่งนิกายอวตังสกะเกิดขึ้นอีก นิกายนี้จึงค่อยๆ เสื่อมลงเป็นลําดับ



หลักคำสอนสำคัญ

นิกายอวตังสกะ มีหลักคําสอนที่สําคัญ ดังต่อไปนี้

1) แนวคิดเรื่องความจริงแท้สูงสุด

นิกายอวตังสกะมีแนวความคิดเช่นเดียวกับนิกายโยคาจารซึ่งมีทัศนะว่า สรรพสัตว์มีพุทธภาวะหรือพุทธจิตอันเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดํารงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พุทธจิตนี้เป็นบ่อเกิดของสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏทั้งฝ่ายดีและชั่ว สรรพสิ่งมีแหล่งกําเนิดอันเดียวกัน คือ พุทธจิตหรือจิตหนึ่งเดียวนี้ การที่จิตหนึ่งเดียวนี้เป็นที่มาของสิ่งทั้งหลาย เป็นพุทธภาวะที่แผ่ไปอยู่ในปรากฏการณ์ทั้งหลาย เป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น จึงเรียกว่า เอกสัตย์ธรรมธาตุ

2) แนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความจริงแท้สูงสุดกับสิ่งที่ปรากฏ

เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เป็นความจริงสูงสุดกับปรากฏการณ์ทั้งหลายคณาจารย์ของนิกายนี้ จึงแบ่งธรรมชาติทั้งหลายที่มีอยู่ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

(1) ความจริงสูงสุด หรือ หลี่ (Li) คือ คุณสมบัติที่ปกแผ่ไปทั่วสากลจักรวาล เป็นความจริงของสิ่งทั้งหมด

(2) ปรากฏการณ์ หรือ ชิ (Shih) คือรูปแบบที่ปรากฏออกมาทางวัตถุ อยู่ภายใต้ขอบเขตของเวลาและสถานที่ธรรมทั้งสองส่วนนี้ มีความสัมพันธ์กันในลักษณะ 2 ประการ ดังต่อไปนี้ (1) ความจริงสูงสุดและปรากฏการณ์เป็นสิ่งที่กลมกลืนกัน ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ หมายความว่า ในสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์หรือสิ่งที่ปรากฏในโลกทั้งหลายนั้นมีคุณสมบัติของความจริงสูงสุดอยู่ด้วยเสมอ เปรียบเหมือนทองกับกําไลทอง กําไลทองจะมีอยู่โดยปราศจากธาตุทองไม่ได้ และธาตุทองก็ไม่ได้ดํารงอยู่ต่างหากจากกําไลทอง เมื่อมีกําไลทองย่อมมีธาตุทองเสมอ หรือเปรียบเหมือนสิงห์โตทองคําไม่อาจแยกจากทองคําได้เลย ทองคําเปรียบเหมือนความจริงสูงสุด สิงโตเปรียบเหมือนปรากฏการณ์ ความจริงสูงสุดนั้นไม่มีรูปร่างลักษณะ แต่มันปรากฏออกมาในรูปของปรากฏการณ์ทั้งหลาย

(2) ปรากฏการณ์แต่ละอย่างที่เห็นแตกต่างกัน โดยลักษณะที่แท้จริงย่อมมีเอกภาพเดียวกันทั้งนั้น หมายความว่า ปรากฏการณ์แต่ละอย่างไม่ว่าจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันเพียงใดก็ตามย่อมมีความจริงสูงสุดอยู่ด้วยทั้งนั้น และความจริงสูงสุดนี้ก็คือเอกภาพของปรากฏการณ์ ทั้งหมด โดยมีคําอธิบายโดยการเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

เปรียบเหมือนเราเห็นกําไลทอง แหวนทอง สร้อยทอง เป็นต้น แม้จะมีรูปร่าง แตกต่างกัน แต่ธาตุทองย่อมไม่ต่างกัน ธาตุทองก็คือเอกภาพของกําไลทอง แหวนทอง สร้อยทอง ตุ้มหูทองและสิ่งที่ทําด้วยทองทั้งหมดนั่นเอง

เปรียบเหมือนอวัยวะทั้งหมดของสิงโตทองคํา ย่อมจะมีคุณสมบัติของทองคําเหมือนกันหมด ดังนั้น เมื่อเราชี้ไปที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของสิงห์โตทองคํา มันย่อมจะรวมเอาคุณสมบัติของอวัยวะส่วนอื่นๆ ไว้ด้วย

เปรียบเหมือนพระพุทธรูปในกระจก เมื่อนํากระจกมาสิบแผ่น ให้กระจกแปดแผ่นหันหน้าเข้าหากันเป็นรูปแปดเหลี่ยม แผ่นหนึ่งอยู่บนและอีกแผ่นหนึ่งอยู่ล่าง แล้วนําพระพุทธรูปไปตั้งอยู่ตรงกลาง พวกสานุศิษย์ไม่เพียงแต่เห็นกระจกสะท้อนภาพจากพระพุทธรูปเท่านั้น หากกระจกยังสะท้อนภาพจากภาพสะท้อนในกระจกอื่นๆ ด้วย และกระจกอื่นๆ ต่างก็สะท้อนภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน ทําให้เห็นพระพุทธรูปมากมาย เหลือที่นับได้ พระพุทธรูปที่ตั้งอยู่ตรงกลางเปรียบเหมือนความจริงสูงสุด ส่วนภาพสะท้อนในกระจกเปรียบเหมือนปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์ย่อมสามารถสร้างปรากฏการณ์ขึ้นมาใหม่ได้ แต่ปรากฏการณ์ทั้งหมดย่อมมีคุณสมบัติของความจริงสูงสุดอยู่ด้วยอย่างครบถ้วนเสมอ ดังนั้น ปรากฏการณ์หนึ่งย่อมรวมเอาคุณสมบัติของ ปรากฏการณ์อื่นทั้งหมดไว้ด้วย


เปรียบเหมือนสะเก็ดทองชิ้นเล็กๆ ก็รวมเอาคุณสมบัติของความเป็นทองไว้ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อไปพบทองที่ไหน ก็ไม่มีคุณสมบัติอะไรมากไปกว่าคุณสมบัติของสะเก็ดทองชิ้นเล็กๆ นั้น ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะยกธรรมสิ่งไหนขึ้น ธรรมสิ่งนั้นย่อมรวมธรรมทั้งหมดลงไปด้วย ไม่ว่าเราจะยกปรากฏการณ์สิ่งไหนขึ้น ปรากฏการณ์สิ่งนั้นก็ย่อมรวมปรากฏการณ์ทั้งหมดลงไปด้วย แม้เพียงขนสักเส้นหนึ่ง ทรายสักเม็ดหนึ่ง ก็รวมเอาสิ่งทั้งหลายอยู่ภายในด้วย

จาก http://bubeeja.blogspot.com/2014/01/blog-post_10.html

http://prajnatara79.blogspot.com/

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5075


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 05 สิงหาคม 2559 17:06:51 »



ว่าด้วยอัศจรรย์แห่งพระอวตังสกาจารย์ฝ่าจั้ง

ในปีแรกแห่งรัชศกจ่งจาง (สมัยพระเจ้าถังเกาจง เริ่มแต่วันที่ 22 เมษายน 668 - 5 กุมภาพันธ์ 669) ประเทศฝ่ายปัจจิมมีบรรพชิตชาวชมพูทวีปและตรีปิฏกาจารย์ท่านหนึ่งเดินทางมายังนครหลวง (ฉางอัน) พระเจ้าเกาจงบำเรอท่านเยี่ยงพระราชครู สมณะและฆราวาสต่างหลั่งไหลกันมาคารวะท่าน ครั้งนั้นพระอาจารย์ฝ่าจั้งแห่งสำนักฮวาเหยียนยังเป็นสามเณร เดินทางไปคารวะ ก้มกระหม่อมลงแทบเท้าของพระตรีปิฏกาจารย์แล้วอ้อนวอนให้พระอาจารย์บอกศีลโพธิสัตว์แก่ตัวท่าน ผู้คนเล่ากันว่าพระตรีปิฏกาจารย์ได้กล่าวด้วยความตื่นเต้น และยกย่องท่านฝ่าจั้ง ดังนี้

"สามเณรรูปนี้สามารถท่องมหาอวตังสกสูตรได้ และเข้าใจความหมายอีกด้วย เอกยานแห่งฮวาเหยียนเป็นทรัพย์อันลี้ลับแห่งพุทธะทั้งปวง และยากนักที่จะพบพาน แล้วไยจะกล่าวถึงการทำความเข้าใจอีกเล่า? หากมีผู้ใดสามารถสาธยาย "จิ่งสิง" (วิสุทธิจาริตร) ของพระสูตรฮวาเหยียนได้ คนผู้นั้นก้ได้เข้าถึงศีลโพธิสัตว์อันวิสุทธิ์โดยสมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องรับศีลโพธิสัตว์อีก"

พระเถระยังเล่าว่า มีเรื่องเล่าในบันทึกประวัติในประเทศปัจจิม หรือ ซีหยูจ้วนจี้ (西域傳記) ว่า มีคนผู้หนึ่ง ก่อนจะสวดสาธยายพระสูตรฮวาเหยียน ได้ล้างมือเสียก่อน ปรากฎว่าหยดย้ำจากการล้างมือนั้นสัมผัสกับมดตัวหนึ่ง ครั้นมดตัวนั้นตายไป ก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต มิพักจะกล่าวถึงผู้ที่น้อมรับแล้วเข้าถึงพระสูตรเล่า? ควรจะทราบกันไว้ว่า สามเณรผู้นี้ในภายภาคหน้าจะสร้างคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ไพศาล แล้วจะเปิดเผยความลี้ลับแห่งการไม่เกิดดับแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย"



อนึ่ง บันทึกประวัติพระอวตังสกาจารย์ฝ่าจั้ง บันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งท่านกำลังประกอบกิจทางศาสนา ในพลันได้ยินเสียงคนผู้หนึ่ง สาธยายอวตังสกสูตรในชั่วพริบตาเดียว ราวกับได้สดับจนจบทั้งพระสูตร นับเป็นเรื่องอัศจรรย์ยิ่งเพราะพระสูตรนี้มีควยามยาวที่สุดในพระไตรปิฎกภาษาจีน มีรทั้งหมด 80 ผูก หรือ 80 บท วันหนึ่งสาธยายายอย่างมากได้เพียง 10 ผูก หากจะสวดจนจบต้องใช้เวลาถึง 8 วัด แต่นี้พระอาจารย์ได้ยินเพียงพริบตาเดียวก็จบพระสูตรแล้ว นับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ยิ่ง สมกับที่ท่านได้รับการพยากรณ์ไว้จากพระเถระชาวชมพูทวีป

ทั้งนี้ พระฝ่าจั้ง เป็นมหาปราชญ์ยุคราชวงศ์ถัง เป็นบูรพาจารย์นิกายฮวาเหยียน หรือนิกายอวตังสก ซึ่งศึกษาข้อธรรมในอวตังสกสูตรเป็นหลัก นิกายนี้เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยราชวงศ์ถัง โดยเฉพาะในรัชสมัยพระนางบูเช็กเทียน ทรงโปรดปรานนิกายนี้มาก นิมนต์พระฝ่าจั้งไปเทศนาธรรม สนทนาธรรมอยู่เสมอ ต่อมานิกายนี้เสื่อมความนิยมลง กระทั่งถูกทำลายย่อยยับในรัชสมัยพระเจ้าถังอู่จง ในยุคแห่งการกวาดล้างศาสนาพุทธ แต่ต่อมาไปเจริญที่เกาหลี และที่ญี่ปุ่น ภาพเหมือนของพระฝ่าจั้งภาพนี้ วาดขึ้นโดยจิตรกรญี่ปุ่น สมัยคะมะคุระ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดโทไดจิ เมืองนาระ อันเป็นศูนย์กลางของนิกายอวตังสกะ ในญี่ปุ่น

จาก http://prajnatara79.blogspot.com/




หัวเหยียน

นิกายหัวเหยียน หรือฮวาเหยียน (華嚴宗) หรือนิกายวอตังสกะ เป็นหนึ่งในคณะนิกายของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ถือพุทธธรรมคำสั่งสอนในอวตังสกสูตร หรือพุทธาวตังสกมหาไวปุลยสูตร เป็นหลัก นิกายนี้ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์สุย รุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ถัง

ประวัติ

ในราวพุทธศตวรรษที่ 9 ท่านพุทธภัทรได้แปลอวตังสกสูตรออกสู่พากย์จีน และต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง ท่านศึกษานันทะได้แปลอีกฉบับหนึ่ง ถือกันว่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์ ตั้งแต่พระสูตรถูกแปลเป็นพากย์จีน ก็ถูกกับอุปนิสัยของชาวจีนมาก มีผู้ศึกษากันแพร่หลาย [1]

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 คณาจารย์ตู้ซุ่น (杜順) ได้เขียนนิพนธ์เรื่อง "ธรรมธาตุวิปัสสนา" (華嚴法界觀門) และปัญจศาสน์สมถวิปัสสนา (華嚴五教止觀) ได้สถาปนารากฐานของนิกายหัวเหยียนขึ้น ต่อมามีคณาจารย์ฝ่าจั้ง (法藏) หรือเสียนโส่ว (贤首) ได้เขียนอรรถกถาหลักธรรมในอวตังสกสูตร นิกายหัวเหยียนจึงเจริญรุ่งเรือง บางทีนิกายนี้ก็ชื่อว่า "เสียนโส่ว" ตามนามของคณาจารย์เสียนโส่ว นิกายนี้มีอิทธิพลคู่เคียงกันนิกายเทียนไท้ตลอดมา [2]

ในช่วงปลายราชวงศ์ถัง นิกายหัวเหยียนเริ่มเสื่อมความนิยมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการกวาดล้างพุทธศาสนาครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระเจ้าถังอู่จง (หรือ การกวาดล้างพุทธศาสนาเมื่อปีค.ศ. 854) จนกระทั่งสูญหายไปจากแผ่นดินจีนในที่สุด ปัจจุบันคำสอนของนิกายนี้ยังเหลือที่เกาหลียังสืบสานแนวทางปริยัติอยู่บ้าง และที่ญี่ปุ่นยังคงไว้ที่สำนักวัดโทไดจิ เมืองนาระ ซึ่งในญี่ปุ่นเรียกว่านิกายเคะงง ส่วนในเกาหลีเรียกว่านิกายฮวาออม



คณาจารย์

นิกายหัวเหยียนมีคณาจารย์ หรือบูรพาจารย์ 5 ท่าน สืบทอดมาตั้งแต่เริ่มสถาปนานิกายจนถึงยุครุ่งเรืองสูงสุด เรียกในภาษาจีนว่า "ปัญจบูรพาจารย์" (五祖) มีดังนี้ [3] [4] [5]

บูรพาจารย์รุ่นที่ 1 พระเถระตู้ซุ่น (杜順) หรือ มีช่วงชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ. 557-640 เป็นผู้ริเริ่มใช้พระสูตรอวตังสกะสอนพุทธธรรม พระเจ้าถังไท่จงมอบสมัญญานามให้แก่ท่านว่า ตี้ซิน (帝心) ผู้คนเรียกท่านว่าอารยะตี้ซิน (帝心尊者) ท่านมีฉายาทางธรรมว่า ตี้ซิน ตู้ซุ่น (帝心杜順) [6]

บูรพาจารย์รุ่นที่ 2 พระเถระจื้อเหยี่ยน (智儼) ได้วางรากฐานคำสอนของนิกายจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ผู้คนเรียกท่านว่า อารยะจื้อเซียง (至相尊者) อนึ่งคำว่า อารยะในฝ่ายมหายาน เทียบเท่ากับคำว่าอรหันต์ หรืออริยะบุคคลในฝ่ายเถรวาท [7] ท่านมีฉายาทางธรรมว่า หยุนหัว จื้อเหยียน (雲華智嚴) [8]

บูรพาจารย์รุ่นที่ 3 พระเถระฝ่าจั้ง (法藏) นิกายหัวเหยียน ได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่ชน ได้รับพระบรมราชานุเคราะห์จากพระนางบูเช็กเทียน บางครั้งเรียกขานท่านว่า เสียนโส่ว ฝ่าจั้ง (賢首法藏) ตามฉายาทางธรรมของท่าน [9]

บูรพาจารย์รุ่นที่ 4 พระเถระเฉิงกวน (澄觀) สืบต่อคำสอนจากรุ่นที่แล้ว เป็นพระราชครูของฮ่องเต้หลาย พระองค์ มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับราชสำนักและวงการเมือง ได้รับสมัญญาว่าเป็นโพธิสัตว์หัวเหยียน ท่านมีฉายาทางธรรมว่า ชิงเหลียง เฉิงกวน (淸涼澄觀) [10]

บูรพาจารย์รุ่นที่ 5 พระเถระจงมี่ (宗密) นำคำสอนของนิกายไปผสานเข้ากับการวิปัสนาทำสมาธิของนิกายฉาน ท่านมีฉายาทางธรรมว่า กุยเฟิง จงมี่ (圭峯宗密)[11]

อย่างไรก็ตาม ยังมีการจัดคณาจารย์ของนิกายนี้ออกเป็น 7 ท่าน หรือ สัปตบูรพาจารย์ (七祖) โดยรวมเอาพระอัศวโฆษ (馬鳴) และพระนาคารชุนะ (龍樹) เป็นต้นนิกายลำดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ทำให้พระเถระตู้ซุ่นเลื่อนมาเป็นลำดับที่ 3 ส่วนพระเถรจงมี่เป็นลำดับที่ 7 โดยการจัดลำดับเป็น 7 ท่านนี้เป็นผลงานของปราชญ์ยุคหลังนามว่า หลี่ถงเสวียน (李通玄)



หลักคำสอน

นิกายนี้สอนว่า สรรพสัตว์มีสภาวะเป็นเอกีภาพเรียกว่า "เอกสัตยธรรมธาตุ" ในอวตังสกสูตรมีพระพุทธพจน์ตรัสว่า "น่าอัศจรรย์หนอ ! สรรพสัตว์ทั้งหลาย ไฉนจึงบริบูรณ์ด้วยฌานปัญญาแห่งพระตถาคต เต็มเปี่ยมอยู่แล้วในตัวของเขาเอง" นอกจากนี้ คณาจารย์พระเถระเฉิงกวน แห่งนิกายนี้ยังกล่าวว่า "มหึมาจริงหนอ ! สัตยธาตุนี้ เป็นสมุฏฐานแห่งสิ่งทั้งปวง"[12]

หากจะสรุป คำสอนอันเป็นเอกลักษณ์ของนิกายนี้คือ ทุกสรรพสิ่งล้วนแต่มีพุทธภาวะ นับแต่ปรมาณูจนถึงสากลจักรวาล โดยมีวาทะว่า "เอกะคือสรรพสิ่ง สรรพสิ่งคือเอกะ" นี่คือคำสอนอย่างรวบรับที่สุดของนิกายนี้ ดังปรากฏในพุทธาวตํสกะสูตร ความว่า

"ในทุกอณูฝุ่นผงของสากลโลก

ปรากฏสรรพโลกและสรรพุทธะ

ณ ปลายหนึ่งเกศาพระพุทธองค์

ปรากฏพุทธเกษตรแดนทิพย์มิถ้วน

ในพุทธเกษตรแดนทิพย์มิถ้วน

อยู่ ณ ปลายหนึ่งเกศาพระพุทธองค์"


การแบ่งหลักคำสอน

นิกายนี้แบ่งระยะกาลแห่งพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ออกเป็น 3 กาล เรียกว่า "ตรีการศาสน์" ได้แก่

1.ปฐมกาล ทรงแสดงอวตังสกสูตร เปรียบด้วยพระอาทิตย์ในอรุณสมัยเริ่มแรกขึ้ต้องยอดเขาหลวง
2.มัธยมกาล ทรงแสดงพระธรรมเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปอุปมาดั่งแสงสุริยะในเวลาเที่ยง
3.ปัจฉิมกาล ทรงแสดงธรรม ในการสรุปหลักธรรมในยานทั้งสามเป็นยานเดียว อุปมาดังพระอาทิตย์อัสดง ย่อมส่องแสงสู่ยอดเขาอีกวาระหนึ่ง

คัมภีร์สำคัญ

ฝอซัวโตวซาจิง (佛說兜沙經) จำนวน 1 ผูก แปลโดยพระโลกเกษม สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
เหวินซูซือลี่เหวินผู่ซ่าซู่จิง (文殊師利問菩薩署經) จำนวน 1 ผูก แปลโดยพระโลกเกษม สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก
ฝอซัวผู่ซ่าเปิ่นเย่จิง (佛說菩薩本業經) จำนวน 1 ผูก แปลโดยจือเชียน สมัยอาณาจักรง่อก๊ก
จูผู่ซ่าฉิวฝูเปิ่นเย่จิง (諸菩薩求佛本業經) จำนวน 1 ผูก แปลโดยเนี่ยต้าวเจิน สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
ผู่ซ่าสือจู้สิงต้าวผิ่น (菩薩十住行道品) จำนวน 1 ผูก แปลโดยพระธรรมรักษะ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
เจี้ยนเป่ยอิเชี้ยจื้อเต๋อจิง (漸備一切智德經) จำนวน 5 ผูก แปลโดยพระธรรมรักษะ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
เติ่งมู่ผูซ่าสั่วเหวินซานเม่ยจิง (等目菩薩所問三昧經) จำนวน 3 ผูก แปลโดยพระธรรมรักษะ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
ฝอซัวหรูไหลซิ่งเซี่ยนจิง (佛說如來興顯經) จำนวน 4 ผูก แปลโดยพระธรรมรักษะ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
ตู้ซื่อผิ่นจิง (度世品經) จำนวน 6 ผูก แปลโดยพระธรรมรักษะ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก
พุทธาวตังสกมหาไพบูลสูตร หรือ ต้าฟางกว่างฝอหัวเหยียนจิง (大方廣佛華嚴經) จำนวน 60 ผูก แปลโดยพระพุทธภัทระ สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก

คัมภีร์รอง

หัวเหยียนฝ่าเจี้ยกวนเหมิน (華嚴法界觀門) หรือ "อวตังสกธรรมธาตุพิจารณ์ทวารบท"

ปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

ต้าฟางกว่างฝอหัวเหยียนจิงก่านอิ้งจ้วน (大方廣佛華嚴經感應傳) ปกรณ์ว่าด้วยอานิสงส์เกี่ยวกับพุทธาวตังสกสูตร

หัวเหยียนจิงก่านอิ้งลวื่อจี้ (華嚴經感應略記) หรือ บันทึกสังเขปว่าด้วยอานิสงส์เกี่ยวกับอวตังสกสูตร

หัวเหยียนจิงก่านอิ้งหยวนชี่จ้วน (華嚴經感應緣起傳) หรือ ปกรณ์ว่าด้วยมูลเหตุแห่งอานิสงส์เกี่ยวกับอวตังสกสูตร

จาก https://th.wikipedia.org/wiki/



พรหมชาลสูตร (ธรรมทานตัวบท)

พรหมชาลสูตรของฝ่ายมหายาน เรียกว่า ฟั่นวั่งจิง (梵網經) ในสารบบพระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับไทโช อยู่ในลำดับที่ 1418 หรือ CBETA T24 No. 1484 ส่วนในสารบบพระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับเกาหลี อยู่ในลำดับที่ K 527พระสูตรนี้ได้รับการแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนโดยพระกุมารชีพ โดยท่านแปลเมื่อวันที่ 12 เดือน 6 ปีที่ 7 แห่งรัชสมัยจักรพรรดิฉินเหวินหวน หรือ พ.ศ. 949 มีชื่อเต็มในภาษาจีนว่า 梵網經廬舍那佛說菩薩心地戒品第十 แต่มักเรียกโดยสังเขปว่า 梵網經 หรือ ฟั่นวั่งจิง คำว่า ฟั่น แปลง พรหม วั่ง แปลว่า ข่าย หรือ ชาละ ส่วน จิง แปลว่า พระสูตร

พรหมชาล หมายถึงข่ายมณีอันวิจิตรในวิมานพรหม หมายถึงสรรพสิ่งทั้งหวงในหมื่นโลกธาตุล้วนสะท้อนสัมพันธ์กัน ประหนึ่งแสงระยิบระยับจากมณีอันร้อยเป็นข่ายงามประดับวิมานพระพรหม เป็นแสงสะท้อนต้องมณีนับไม่ถ้วน แตกออกเป็นรัศมีแสงประมาณมิได้ โดยนัยแล้วหมายถึงหลักปฏิจจสมุปบาท



 พระสูตรเริ่มบทด้วยการปรารภถึงพระไวโรจนพุทธะ จากนั้นในตอนต่อมาจึงกล่าวถึงพระศากยมุนีพุทธเจ้า ซึ่งปรากฏพระองค์ที่ กุสุมาตลครรภวยุหาลังกรโลกธาตุสมุทร (蓮華蔵世界) หรือปัทมะครรภะโลกธาตุ (華蔵世界) เป็นโลกธาตุอันเป็นที่ประทับของพระไวโรจนพุทธเจ้า โดยพระไวโรจนพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์จำแลงธรรมกายของพระองค์เป็นพระพุทธเจ้านับประมาณมิได้ และพระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้ทรงออกจากปัทมครรภโลกธาตุมายังแต่ละจักรวาล แต่ละจักรวาลล้วนมีชมพูทวีปของตน ประทับยังใต้ร่มมหาโพธิ์ จากน้นพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ในโลกธาตุนับมิถ้วน เสด็จไปแสดงพระธรรมเทศนายังสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงวิมานชั้นพรหม

ฝ่ายพระศากยมุนีพุทธเจ้า หลังจากทรงออกจากปัทมะครรภะโลกธาตุแล้วเสด็จไปแสดงพระสูตรยังสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ จนถึงวิมานชั้นพรหมจึงทรงเสนด็จมายังชมพูทวีป แล้วเสด็จสู่พระครรภ์ของพุทธมารดาในกรุงกบิลพัสดุ์ แล้วเจริญพระชนม์ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ แล้วตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระแท่นวัชรอาสน์ ซึ่งทรงแสดงพรหมชาลสูตรนี้ โดยทรงมีมนสิการถึงพรหมชาล หรือข่ายมณีอันวิจิตรในวิมานพรหม อันเป็นสถานที่ซึ่งทรงแสดงพระธรรมเทศนา นอกจากนี้ ข่ายอันวิจิตรของพรหม อันแสงสะท้อนต้องมณีนับไม่ถ้วน แตกออกเป็นรัศมีแสงประมาณมิได้ ซึ่งโดยนัยแล้วหมายถึงหลักปฏิจจสมุปบาท ยังสะท้อนถึงพระธรรมขันธ์ หรือวิถีทางการบรรลุธรรมอันหาประมาณมิได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าทั้งหนึ่งแสนโกฏิทรงตรัสไว้

จากนั้นพระองค์ทรงตรัสโพธิสัตว์ศีล หรือโพธิสัตว์ปราติโมกษ์ อันเป็นต้นเค้าของพระธรรมวินัยทั้ปวงในพระศาสนา และเป็นศีลที่พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงสาธยายไว้โดยปกติ โดยที่พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงเป็นต้นเค้าแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหนึ่งแสนโกฏิพระองค์ พระศากยมุนีพุทธเจ้าจึงดังทรงตรัสว่า โพธิสัตว์ปราติโมกษ์นี้ "เป็นต้นเค้าแห่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งปวง แลเป็นหน่อเนื้อแห่งพุทธะธาตุ"

จากนั้นทรงตรัสและแจกแจงรายละเอียดของโพธิสัตว์ศีล หรือโพธิสัตว์ปราติโมกษ์ โดยสังเขปแบ่งออกเป็นมหาโพธิสัตว์ศีล 10 และจุลโพธิสัตว์ศีล 48 โดยทรงบรรยายข้อศีล และแนวทางการปฏิบัติอย่างละเอียด ทั้งนี้ มหาโพธิสัตว์ศีล 10 เรียกว่า ปราติโมกษ์ ในภาษาสันสกฤต หรือปาติโมกข์ในภาษาบาลี

หมายเหตุ - บทความนี้ข้าพเจ้าเขียนไว้ในวิกิพีเดีย นำมาปรับปรุงในฐานะบทความ เพื่อเผยแพร่พระสูตรนี้ ในตัวบทภาษาจีนและคำอ่านภาษาจีนอักษรเกาหลี เพื่อประกาศพระศาสนาให้สถาพร ไพบูลย์ เป็นกุศลแก่ข้าพเจ้าและสรรพสัตว์ทั้งหลาย

จาก http://prajnatara79.blogspot.com/



Ling เพิ่มเติม เนื้อหา ที่ เกี่ยวเนื่องกัน

จักรวาลทัศน์ ใน อวตังกะสูตร ว่าด้วยเรื่อง ปุณฑริกครรภ์โลกธาตุ และ ตรีกาย http://www.tairomdham.net/index.php/topic,4638.0.html

พระสูตรพวงดอกไม้ ข่ายใยรัตนะ อิทัปปัจจยตา ( หนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง ) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,2593.0.html

ทศมหาปณิธาน ของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ จริยาวัตรแม่บทของโพธิสัตว์ในยุคปัจจุบัน http://www.tairomdham.net/index.php/topic,955.0.html

พระมหาไวปุลยสมปูรณโพธิอรรถสูตร http://www.tairomdham.net/index.php/topic,3190.0.html
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.713 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 07 มีนาคม 2567 02:17:41