[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
01 พฤษภาคม 2567 15:02:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อิตถีโพธิสัตว์ นานา พระโพธิสัตว์เพศหญิง ที่ได้รับการบูชาสูงสุด ใน พุทธวัชรยาน  (อ่าน 6770 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5075


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 08 สิงหาคม 2559 17:49:40 »

อิตถีโพธิสัตว์

บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์



ศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน โดยเฉพาะในฝ่ายทิเบต อันพัฒนามาจากนิกายมหายานนั้น มีพระโพธิสัตว์ เทพเจ้าและเทพนารีเป็นอันมาก ซึ่งมิได้ปรากฏในพุทธประวัติ แต่กลับทรงมีบทบาทสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของหลักการทางศาสนา ที่เห็นได้ชัดก็คือ พระโพธิสัตว์ตารา (Tara) และพระโพธิสัตว์เพศหญิงอีกหลายองค์ ทรงได้รับการสักการบูชาในระดับสูงมาก

ยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่ชาวยุโรปและอเมริกันจำนวนมากเกิดความตื่นตัวและให้ความสนใจในศาสนาพุทธวัชรยานทิเบต ที่ได้รับการเผยแพร่และตั้งรกรากอย่างมั่นคงในโลกตะวันตกมาหลายสิบปีแล้ว เหล่านี้ก็ยิ่งทรงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย และทรงได้รับการสักการะบูชามากกว่าพระโพธิสัตว์ที่สำคัญที่สุดในทางมหายานและวัชรยาน อย่างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเสียด้วยซ้ำไป

การที่ได้รับความนิยมในการนับถือบูชาอย่างสูงในระดับสากล โดยเฉพาะในสังคมของผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในด้านปัญญาญาณเช่นนี้ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการโฆษณาชวนเชื่อ แต่แสดงให้เห็นถึงคุณวิเศษหลายประการของอิตถึโพธิสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้นับถือชาวตะวันตกที่ปฏิเสธทั้งโลกวิทยาศาสตร์ และกรอบแห่งความศรัทธาตามแบบศาสนาคริสต์ คนเหล่านี้ย่อมจะไม่รับเชื่อสิ่งใดด้วยเพียงอาศัยจินตนาการ ความงมงาย และความเพ้อฝันเป็นแน่

ความจริง คนไทยเราก็คุ้นเคยกับเทวปฏิมาของพระโพธิสัตว์เพศหญิงเหล่านี้อยู่ระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อย ประติมากรรมรูปเทวสตรีฉลองพระองค์แบบทิเบตขนาดห้อยคอและขนาดตั้งหน้ารถ ซึ่งคนไทยเราเอามาขายในนามของพระแม่อุมา หรือพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมปางทิเบตนั้น แท้ที่จริงล้วนเป็นเทวรูปของ พระศยามตาราโพธิสัตว์ ทั้งสิ้น

และ ณ เวลานี้ เทวปฏิมาของพระแม่เจ้าทั้งหลายเหล่านี้ยิ่งปรากฏให้เห็นมากขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในตลาดท่าพระจันทร์ที่กล่าวแล้ว ไปจนถึงร้านที่จำหน่ายเทวรูปต่างๆ ในศาสนาฮินดู ไม่ว่าจะดำเนินกิจการโดยชาวอินเดียหรือชาวไทยก็ตาม โดยเฉพาะผู้ค้าเทวรูปแหล่งใหญ่ในท่าพระจันทร์รายหนึ่งถึงกับยืนยันว่า “พระทิเบต” ขณะนี้กำลังได้รับความนิยมมากทีเดียว

ผมจึงเห็นสมควรนำเรื่องราวของอิตถึโพธิสัตว์ที่สำคัญในศาสนาพุทธนิกายวัชรยานเหล่านี้ มากล่าวถึง “โดยสังเขป” ในบทความนี้ เพื่อให้ทุกท่านที่สนใจได้มีอะไรที่เป็นเหมือน shortnote สำหรับเรื่องราวของอิตถีโพธิสัตว์เหล่านี้โดยเฉพาะ ส่วนถ้าใครอยากอ่านยาวๆ ก็มี website ภาษาไทยกล่าวถึงโดยละเอียดอยู่แล้วทุกองค์ หรือจะให้ผมเขียนเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คก็ได้นะครับ ถ้ามีเสียงเชียร์มากพอ

จะขอลำดับเรื่องราวของอิตถีโพธิสัตว์แต่ละองค์ ตามความนิยมในปัจจุบันนะครับ



พระโพธิสัตว์ตารา (Tara) ถือกำเนิดจากรัศมีสีเขียวอันเปล่งออกมาจากพระเนตรของพระธยานิพุทธอมิตาภะ อีกคัมภีร์หนึ่งว่าพระนางตาราเกิดจากน้ำตาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เมื่อมองเห็นว่าสัตว์โลกมีแต่ความทุกข์ น้ำพระเนตรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหยดหนึ่งร่วงลงไปในหุบเขาเกิดเป็นทะเลสาบ ต่อมาก็มีดอกบัวทิพย์ดอกหนึ่งผุดขึ้นมาในทะเลสาบนั้น เมื่อดอกบัวบานออกภายในก็ปรากฏรูปพระนางตารา ในขณะที่ตำนานบางฉบับกล่าวว่า พระนางตาราเกิดจากรังสีธรรมของพระอมิตาภะพุทธะ

พระนางตาราทรงได้รับการบูชาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๘ - ๑๑ ในอินเดียเหนือ และแพร่หลายที่สุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๗ โดยพระภิกษุอสังคะเป็นผู้ริเริ่ม โดยถือว่าเป็นชายาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

เชื่อกันว่า แนวคิดการบูชาพระนางตาราเริ่มขึ้นในอินเดียเพื่อต่อต้านพิธีกรรมสตีของอินเดียครับ

พระนางทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในด้านของกรุณา ซึ่งยังคงเป็นคติความเชื่อของชาวมองโกเลียอยู่ในปัจจุบันนี้ ภาพลักษณ์ของพระนางส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพระนางสิริมหามายาเทวี มารดาของพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า

พระนางตาราทรงได้รับความนิยมนับถือมากในทิเบตจนกระทั่งปัจจุบันนี้ทุกวันนี้ครับ เรียกกันว่า พระเทวีโดลมา (Dol-ma) ทรงมีทิพยฐานะเป็นเทวีแห่งความเมตตากรุณาและทรงเป็นราชินีสวรรค์ ว่ากันว่าศาสนาพุทธวัชรยานทิเบตนั้นนับถือพระนางเป็นเทพสูงสุดเลยทีเดียว

แต่เดิมพระนางตารามีเพียง ๒ รูป คือวรรณะขาวและเขียว ต่อมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีถึง ๒๑ รูป หรือ ๒๑ ปางด้วยกัน แต่ที่นิยมนับถือกันมากนั้นมีอยู่เพียง ๒ ปาง เท่านั้น คือ

พระสิตตาราโพธิสัตว์ หรือพระนางตาราวรรณะขาว บางทีก็เรียกว่า พระจินดามณีจักรตารา เป็นเทวีประจำเวลากลางวัน ทรงประทานความเข้าถึงพุทธธรรม ความเข้าถึงธารณีมนต์ทุกบท ทรงให้จิตวิญญาณในการเข้าถึงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง ทรงประทานโอกาสในการทำความดีให้แก่ผู้บูชาได้หลุดพ้นจากวิบากกรรมทั้งปวง ทรงเป็นองค์แรกที่ผู้สนใจใคร่รู้และศรัทธาในพุทธนิกายมหายานวัชรยานควรบูชา
       
พระศยามตาราโพธิสัตว์ หรือพระนางตาราวรรณะเขียวแก่ เป็นเทวีประจำเวลากลางคืน ประทับนั่งห้อยพระบาทบนดอกบัว มี ๒ กร พระหัตถ์หนึ่งทำปางวรัทมุทรา อีกพระหัตถ์ถือดอกบัวตูมสีขาว เมื่อเป็นชายาของพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิจะประทับนั่งขัดสมาธิ และบนพระหัตถ์ที่ถือดอกบัวนั้นจะมีรูปวิศววัชระ พระศยามตาราโพธิสัตว์ยังมีอีกหลายรูปและมีนามเฉพาะในแต่ละรูปนั้นเช่นเดียวกับพระสิตตารา และเป็นวรรณะที่ได้รับความนิยมนับถือมากในทิเบต
       
วรรณะอื่นๆ ของพระนางตาราที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งเช่นกัน คือ กุรุกุลลา หรือวรรณะแดง และ เอกชฎา หรือวรรณะฟ้า ทั้งสองวรรณะนี้เป็นพระนางตาราในปางดุร้ายทั้งสิ้น

สรุปแล้วพระนางตาราทรงมีวรรณะครบตามตระกูลพระธยานิพุทธ ๕ ตระกูล จึงทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นศักติของพระธยานิพุทธทั้ง ๕ องค์ด้วย

มนต์สำหรับบูชาพระสิตตาราโพธิสุตว์ คือ โอม ตาเร ตุตตาเร ตุเร มามะ อายุหะ ปุณญะ ชะญาณะ ปุษติม กุรุ สวาหะฯ

และมนต์สำหรับบูชาพระศยามตาราโพธิสัตว์ คือ โอม ตาเร ตุตตาเร ตุเร สะวาหะฯ

อิตถึโพธิสัตว์ ที่ได้รับความนิยมบูชาเป็นอันดับสองรองจากพระนางตารา ก็คือ พระนางปรัชญาปารมิตา (Prajnaparamita)



ในเทววิทยามหายานอธิบายไว้ว่า ทรงเป็นมหาเทวีที่เกิดจาก มหาปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ที่มีบทบาทสำคัญตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖-๑๒ พระนางทรงมีฐานะเป็นมารดาของพระพุทธเจ้า หรือเป็นภาคสำแดงของพระอักโษภยะพุทธะ เป็นสัญลักษณ์ของสุญตา

คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนานิกายมหายานครับ ชาวพุทธในฝ่ายมหายานเชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์เก่าแก่มีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่า มนุษย์ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีปรีชาญาณพอจะศึกษาคัมภีร์ฉบับนี้ได้ จึงทรงมอบให้พวกนาครักษาไว้ในเมืองบาดาล ครั้นเวลาล่วงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๔ นาคารชุนจึงได้ไปนำคัมภีร์นี้มาจากเมืองบาดาลมาให้ชาวพุทธได้ศึกษาเล่าเรียนกัน
       
มหาเทวีปรัชญาปารมิตาทรงได้รับความนิยมมากในอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทวีผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ผู้ที่ต้องการศึกษาวิชาความรู้โดยเฉพาะพระธรรมให้แตกฉานจะต้องบูชาพระนางปรัชญาปารมิตา ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะถึง ๙ บทที่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับมหาเทวีองค์นี้ (สาธนะที่ ๑๕๑-๑๕๙) และมีอยู่ ๒ บทที่กล่าวว่าพระนางทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอักโษภยะ

แต่โดยทั่วไปแล้ว มิได้ถือกันพระนางสังกัดตระกูลใดแน่นอน เพราะในเทวรูปพระนางปรัชญาปารมิตาที่ทรงมีพระพุทธรูปอยู่บนศิราภรณ์นั้น พระพุทธรูปองค์นั้นก็มีทั้งที่เป็นพระธยานิพุทธอักโษภยะ และพระธยานิพุทธอมิตาภะ
       
เทวรูปพระนางปรัชญาปารมิตามีเศียรเดียว และส่วนมากจะมี ๒ กร ที่มี ๔ กรก็มีบ้าง และมี ๓ วรรณะ คือ สิตปรัชญาปารมิตา หรือวรรณะขาว, ปิตปรัชญาปารมิตา หรือวรรณะเหลือง และ กนกปรัชญาปารมิตา

มนต์สำหรับบูชาพระนางปรัชญาปารมิตา คือ โอม คะเต คะเต ปะระคะเต ปะระสัมคะเต โพธิ สะวาหะฯ

พระโพธิสัตว์เพศหญิงในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน-วัชรยานนอกจากนี้ ยังมีอีกหลายองค์ที่ทรงได้รับความนิยมนับถือกันมาก บางองค์กลายร่างมาจากธารณีมนต์และภูมิต่างๆ ตลอดจนบารมี (ปารมิตา) ต่างๆ อีกด้วย

ดังเช่น ในคัมภีร์นิษปันนโยควลีได้พรรณนาถึงเทพนารีทั้ง ๑๒ ที่กลายร่างจากธารณีมนต์คือ พระสมาตี พระรัตโนลกา พระอุษณีษวิชยา พระมารี พระพรรณศวรี พระชางคุลี พระอนันตมุขี พระจุณฑา พระปรัชญาวรรธนี พระสรวกรรมาวรณวิโศธนี พระอักษญาณการัณฑา และพระสรวพุทธธรรมโกศวดี เทพนารีทั้งหมดนี้อยู่ในตระกูลพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิ

ในบรรดาอิตถีโพธิสัตว์เหล่านี้ ที่ทรงมีบทบาทเป็นที่นับถือกันแพร่หลายอยู่ในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน-วัชรยาน อาจลำดับได้ดังต่อไปนี้ครับ



๑) พระมาริจีโพธิสัตว์ (Marichi) เป็นเทวีแห่งแสงอาทิตย์ยามเช้า ในทางเทววิทยาอธิบายว่ากลายรูปมาจาก พระอุษาเทวี ในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะถึง ๑๖ บทที่บรรยายถึงเทพนารีองค์นี้ในรูปแบบต่างๆ กันถึง ๖ รูปแบบ มี ๑, ๓ และ ๖ พักตร์ และมีพระกร ๒, ๘ ,๑๐ และ ๑๒ กร ตามคติเดิมทรงปราศจากพระชงฆ์เช่นเดียวกับพระราหู แต่นิยมวาดหรือปั้นหล่อให้มีพระชงฆ์ครบสมบูรณ์

อิตถีโพธิสัตว์องค์นี้ มักประทับบนราชรถที่ลากด้วยหมู ๗ ตัว บังคับโดยสารถีซึ่งไม่มีขาเช่นกัน เหมือนกับสุริยเทพในศาสนาพราหมณ์ที่ทรงราชรถลากด้วยม้า ๗ ตัว บังคับโดยพระอรุณซึ่งไม่มีพระชงฆ์ครับ

พระมาริจีอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธไวโรจนะ ทรงได้รับการนับถือกันมากในทิเบตและจีน โดยพระลามะในทิเบตนิยมบูชาเทพนารีองค์นี้ในเวลาเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

พระนางทรงเป็นองค์เดียวกับ เต๋าบ้อ หรือพระแม่ดวงดาวในศาสนาเต๋าของจีน ซึ่งได้รับการบูชาในฐานะองค์ประธานของกิ่วอ๊วง หรือคณะเทพยดาทั้ง ๙ ในเทศกาลกินเจของชาวจีนโพ้นทะเล รวมทั้งในประเทศไทยด้วยครับ

มนต์สำหรับบูชาพระมาริจี คือ โอม มาริจี สะวาหะฯ



๒) พระจุณฑา หรือ จุณฑีโพธิสัตว์ (Chunda) เป็นหนึ่งในกลุ่มเทวี ๑๒ องค์ที่กลายร่างมาจากธารณีมนตร์ แต่บางคัมภีร์เช่นในคัมภีร์มัญชูวัชระมณฑล หรือแม้แต่คัมภีร์นิษปันนโยควลีเองกลับกล่าวว่าทรงอยู่ตระกูลของพระธยานิพุทธไวโรจนะ เทพนารีองค์นี้ทรงมีพระนามอื่นอีก เช่น จุนทรา จันทะ จันทรา หรือจุณฑวัชรี ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะอยู่ ๓ บทบรรยายถึงพระนางว่าทรงมี ๔ กร หรือ ๑๖ กร โดยรูปที่มี ๔ กรนั้นสองพระหัตถ์ทำปางสมาธิ อีกสองพระหัตถ์ถือสร้อยประคำและคัมภีร์

ส่วนรูปที่มี ๑๖ กรจะถือสร้อยประคำ ดอกบัว หม้อน้ำอมฤต พระขรรค์ ขวาน คันศร ลูกศร พระหัตถ์ที่เหลืออาจทำปางวรัทมุทราและวิตรรกะมุทรา

การบูชาพระจุณฑาทำได้โดยท่องมนต์บทจุณฑาธารณี เชื่อกันว่าพระนางจะสถิตอยู่กับสานุศิษย์ผู้นั้นจนกว่าจะบรรลุสิทธิ

จาก http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2015/12/blog-post_28.html

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5075


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 08 สิงหาคม 2559 17:50:22 »



๓) พระชางคุลีโพธิสัตว์ (Janguli) เป็นหนึ่งในกลุ่มเทวี ๑๒ องค์ที่กลายร่างมาจากธารณีมนตร์เช่นกัน แต่ในทางเทววิทยาว่าเป็นเทพนารีองค์เดียวกับ พระมนัสเทวี หรือพระมนสาเทวีของศาสนาฮินดู

ในคัมภีร์สาธนะมาลากล่าวว่าพระนางปรากฏมาแล้วตั้งแต่พุทธกาล โดยคัมภีร์มหายานฉบับอื่นๆ ก็กล่าวว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสบอกมนตร์ประจำเทวีองค์นี้แก่พระอานนท์ ชาวพุทธฝ่ายมหายานนับถือกันว่าทรงเป็นเทวีผู้ปกปักรักษามนุษย์จากอันตรายของนาคและงู ทั้งอาจรักษาคนที่ถูกพิษงูได้ด้วย และในคัมภีร์สาธนะมาลาก็มีมนต์อยู่ ๔ บทที่เกี่ยวข้องกับเทพนารีองค์นี้ ซึ่งใช้ถอนพิษงูจากแผลที่ถูกงูกัด

พระชางคุลีทรงมีวรรณะขาว มีเศียรเดียวสวมชฎามุกุฎประดับด้วยพังพานนาค ฉลองพระองค์ขาวประดับเพชรและนาคสีขาว (งูเผือก) และยังมีนาคที่ทำเป็นต่างหู และเข็มขัดอีกด้วย พระนางประทับบนนาคหรืองู หรือสัตว์ชนิดอื่นอีก ทรงมี ๔ กร สองพระหัตถ์เล่นพิณ อีกพระหัตถ์จับงูเผือก เทวรูปเช่นนี้ปรากฏทั้งในจีนและทิเบต ส่วนในอินเดียนั้นจะเหมือนกับพระมนัสเทวีมาก คือไม่ถือพิณ



๔) พระมหามายุรีโพธิสัตว์ (Mayuri) ทรงกลายร่างมาจากคาถาที่ใช้แก้พิษงู เป็นเทพนารีองค์หนึ่งในคณะเทวีปัญจรักษา และอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิ พระนางมี ๒ วรรณะที่เด่นๆ คือเขียวและเหลือง ถ้าวรรณะเขียวมี ๓ เศียร ๖ กร และมีรูปพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิบนศิราภรณ์ แต่ถ้าเป็นวรรณะเหลืองมีเศียรเดียว ๒ กร พระหัตถ์ขวาถือนกยูง พระหัตถ์ซ้ายทำปางวรทมุทรา และไม่มีรูปพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิบนศิราภรณ์

พระมหามายุรีมักปรากฏพระองค์พร้อมกับพระสิตตาราและพระมาริจี หรือบางครั้งก็ปรากฏพร้อมกับพระชางคุลีและพระเอกชฎา พระนางทรงได้รับการนับถือทั้งในอินเดีย เนปาล จีน ทิเบต และญี่ปุ่น พระนามภาษาญี่ปุ่นคือ คุชาเมียวโอ

มนต์สำหรับบูชาพระมหามยุรี คือ โอม มะยุรา กรันเต สะวาหะฯ



๕) พระสรัสวดีโพธิสัตว์ (Saraswati) เป็นมหาเทวีที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานได้รับมาจากศาสนาพราหมณ์ ทรงเป็นเทวีแห่งวิชาความรู้ ดนตรีและกาพย์กลอน ชาวพุทธมหายานได้จัดให้เป็นศักติของพระโพธิสัตว์มัญชุศรีซึ่งเป็นเทพแห่งวิชาการเช่นกัน คัมภีร์สาธนะมาลาบรรยายว่าผู้ที่ต้องการความฉลาดรอบรู้ต้องบูชาพระสรัสวดี
       
พระสรัสวดีทรงมี ๔ ปางที่สำคัญ คือ

มหาสรัสวดี พระหัตถ์ขวาทำปางวรัทมุทรา พระหัตถ์ว้ายถือดอกบัวขวา มีเทพบริวารแวดล้อม ๔ องค์

วัชรวีณาสรัสวดี ทรงถือวีณาในพระหัตถ์ทั้งสอง

วัชรศารทา มี ๓ พระเนตร ทรงสวมศิราภรณ์ประดับด้วยพระจันทร์ พระหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์ พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว ประทับนั่งบนดอกบัว

วัชรสรัสวดี ทรงถือวัชระและดอกบัวซึ่งมีคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาปรากฏอยู่ด้วย
       
รูปตันตระของพระสรัสวดีในทิเบตจะทรงมีวรรณะแดง มี ๓ เศียร ๖ กร ส่วนในญี่ปุ่นเป็นรูปสาวงามถือพิณบีวะ เรียกว่า เบ็นเท็น หรือ ไดเบ็นไซเท็น และเป็นหนึ่งในคณะเทพแห่งโชคลาภ ๗ องค์ของศาสนาชินโต

มนต์สำหรับบูชาพระสรัสวดี คือ โอม ปรัชญา วรรธะนี ชะวาลา เมธาวรรธะนี ธีริ ธีริ พุทธิวรรธะนี สะวาหะฯ



๖) พระภฤกุฎีโพธิสัตว์ (Bhrikuti) ตามคัมภีร์สาธนะมาลาว่าทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอมิตาภะ และปรากฏพระองค์พร้อมกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ในรูปที่เรียกว่าขสรรปณะ) พร้อมด้วยพระนางตารา พระสุธนกุมารและพระหัยครีพ หรือปรากฏพระองค์เฉพาะกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ในรูปที่เรียกว่า รักตโลเกศวร) และพระนางตารา
       
พระภฤกุฎีทรงมีวรรณะเหลือง มีเศียรเดียว ๔ กร ทำปางวรัทมุทรา ถือสร้อยประคำ กลศ (หม้อน้ำ) และตรีศูล บนศิราภรณ์มีรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะ ถ้าปรากฏร่วมกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในรูปขสรรปนะ จะทรงมี ๔ กร ทำปางพุทธศรามณะ (แสดงความเคารพ) ถือสร้อยประคำ ตรีศูลและหม้อน้ำ เทวรูปเช่นนี้นิยมกันมากในชวาโบราณ



๗) พระโพธิสัตว์วสุธารา (Vasudhara) เป็นองค์เดียวกับ พระศรีวสุนธรา หรือพระแม่ธรณีในศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท แต่ทางมหายานมิได้ให้ความสำคัญกับทิพยภาวะของความเป็นพระแม่ธรณี และบทบาทในพุทธประวัติตอนมารผจญ มักจะบรรยายว่าเป็นพระโพธิสัตว์แห่งความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์มากกว่า และในทางมหายานนั้นก็ทรงเป็นศักติของพระโพธิสัตว์ชัมภล หรือพระกุเวรซึ่งได้รับมาจากศาสนาฮินดู

ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะอยู่ ๓ บทกล่าวถึงเทพนารีองค์นี้ บทหนึ่งกล่าวว่าพระนางทรงอยู่ในตระกูลพระธยานิพุทธอักโษภยะ แต่อีก ๒ บทกล่าวว่าทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธรัตนสัมภวะ พระวสุธาราทรงมีพระเศียรเดียว ๒ กร ทำปางวรทมุทราและทรงถือรวงข้าว บนศิราภรณ์มีรูปพระธยานิพุทธอักโษภยะ แต่ในทางตันตระซึ่งพบเห็นได้ง่ายกว่านั้น จะมีถึง ๓ เศียรและ ๖ กร

มนต์สำหรับบูชาพระวสุธารา คือ โอม วะสุธาริณี สะวาหะฯ หรือ โอม ศรี วะสุธารา รัตนะ นิธานะ กะเษตรี สะวาหะฯ



๘) พระหริตีโพธิสัตว์ (Hariti) เดิมเป็นยักษิณีมีนามว่า อภิรดี มีลูกถึง ๕๐๐ ตน แต่ชอบกินเด็ก ได้ขโมยเด็กในเมืองราชคฤห์ไปกินเป็นจำนวนมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำลูกคนเล็กที่นางรักที่สุดไปซ่อนไว้ นางเที่ยวหาจนทั่วก็ไม่พบ จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความเศร้าโศกเสียใจ พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามว่าลูกของนางมีตั้ง ๕๐๐ หายไปคนเดียวทำไมจึงเดือดร้อน ทั้งๆ ที่นางไปกินลูกของมนุษย์ทั่วไปไม่มีความสงสารเลย นางจึงได้คิดและกลับใจ สัญญาว่าจะเลิกกินเด็กโดยเด็ดขาด พระพุทธเจ้าจึงคืนลูกให้ และประชาชนชาวราชคฤห์ก็สัญญาว่าแต่ละครอบครัวจะคอยหาอาหารอื่นให้นางเป็นการตอบแทน

เทวรูปพระหริติมักจะนั่งห้อยขาข้างหนึ่งและอุ้มเด็กไว้บนตัก ส่วนอีกพระหัตถ์หนึ่งถือผลทับทิม ถ้าเป็นรูปยืนจะอุ้มเด็กไว้แนบอก และมีเด็กล้อมรอบ ๕ คน แทนลูกทั้ง ๕๐๐ ของพระนาง บางครั้งปรากฏพร้อมพระสวามีคือยักษ์ปัญจิกาซึ่งถือหอกไว้ในมือขวาและถือถุงเงินในมือซ้าย ในทิเบตเทวรูปพระนางหริติทรงกอดเด็กไว้และพระหัตถ์ทำปางวรทมุทรา อีกพระกรโอบกระรอกไว้และพระหัตถ์ถือภาชนะใส่เพชรพลอย

มนต์บูชาพระหริติ คือ โอม หะริติ ปิณฑะเก ประติจจะ สะวาหะฯ

ปัจจุบันอิตถีโพธิสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จะได้รับความนิยมสูงสุดในศาสนาพุทธวัชรยานสายทิเบตครับ ส่วนในทางพุทธมหายานจีนที่ผ่านมาไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะมหายานจีนไม่ให้ความสำคัญกับบทบาทของผู้หญิง

จนเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้จึงมีการ promote บางองค์ขึ้นมา เช่น พระมหามายุรีโพธิสัตว์ ซึ่งที่จริงก็มีคติการบูชาอย่างเงียบๆ แต่มั่นคงในหมู่ชาวจีนมานานแล้ว และ พระมาริจีโพธิสัตว์ ซึ่งองค์หลังนี้ก็เป็นเพราะอิทธิพลความโด่งดังของของเทศกาลกินเจของชาวจีนโพ้นทะเลนั่นเอง (ต้องเน้นว่า จีนโพ้นทะเล เพราะจีนแผ่นดินใหญ่เขาไม่มีเทศกาลกินเจแบบนี้)

ส่วนพระโพธิสัตว์ตารา ซึ่งชาวทิเบตและชาวตะวันตกนิยมบูชาสูงสุด ทางจีนก็ยังเฉยๆ นะครับ เพราะบูชาพระโพธิสัตว์กวนอิมแทนอยู่แล้ว กล่าวกันว่า มหายานจีนมีพระโพธิสัตว์กวนอิม วัชรยานทิเบตก็มีพระโพธิสัตว์ตารา ที่ทรงอานุภาพในด้านเมตตาบารมีเหมือนๆ กัน จึงไม่จำเป็นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องรับของอีกฝ่ายหนึ่งเข้าไปเพิ่มอีก

คนขายพระในท่าพระจันทร์ ถึงได้เรียกเทวรูปพระนางตาราว่า กวนอิมทิเบต ไงครับ
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
หนังสั้น งานแต่งงานของ เวย์ ไทเทเนียม กับ นานา ครีเอทมาก
ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
หมีงงในพงหญ้า 0 2914 กระทู้ล่าสุด 05 สิงหาคม 2553 21:34:45
โดย หมีงงในพงหญ้า
พุทธวัชรยาน ขั้นสุดยอด ซ็อกเชน มหาอติยาน ปราณร่างสายรุ้ง (rainbow body)
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 1 4268 กระทู้ล่าสุด 17 มกราคม 2554 17:46:57
โดย มดเอ๊ก
กราบอัษฎางคประดิษฐ์ จาริกแสวงบุญ พุทธวัชรยาน
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 1 2465 กระทู้ล่าสุด 14 มกราคม 2554 10:14:37
โดย เจ้าทึ่ม
พุทธวัชรยาน ( ทิเบต ) จาก รายการ พุทธบริษัท 13 ตอนจบ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1470 กระทู้ล่าสุด 11 มกราคม 2560 12:16:07
โดย มดเอ๊ก
[ไทยรัฐ] - “นานา” โดนเหยียบ จิก “เวย์” “เจนี่” ป้องเพื่อนรัก 100% ใน “3 แซ่บ”
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 183 กระทู้ล่าสุด 17 เมษายน 2565 10:53:12
โดย สุขใจ ข่าวสด
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.421 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 09 เมษายน 2567 06:35:00