[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 01:03:06 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บนเส้นทางชีวิต และ งานของ พระไพศาล วิสาโล (วารสาร กองทุนศรีบูรพา )  (อ่าน 1464 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5064


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 15 สิงหาคม 2559 21:39:10 »



บนเส้นทางชีวิต และ งานของพระไพศาล วิสาโล

ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์โดยเด่น นาคร เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๓
วารสาร"กองทุนศรีบูรพา ฉบับที่ ๑๒ วันนักเขียน ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

- ช่วยเล่าชีวิตวัยเด็กสักนิด

อาตมาเป็นลูกคนจีน พ่อเกิดที่เมืองไทย แม่เกิดที่เมืองจีน เรียกว่าอยู่ในระดับชนชั้นกลาง เรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเดียวกับโยมพ่อ ลูกชายทั้งหมดก็เรียนที่อัสสัมชัญด้วย อาตมาเป็นลูกคนที่ ๔ ตั้งแต่เล็กก็เป็นเด็กเรียนมาตลอด ผลการเรียนจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ไม่ถึงกับเรียนดีเลิศ ติด ๑ ใน ๑๐ ของชั้น ชั้นหนึ่งก็ประมาณ ๔๐ คน

ชีวิตเหมือนเด็กเรียนทั่วไป ซึ่งได้รับการคาดหวังว่าจะเรียนหมอ หรือไม่ก็วิศวะ และตัวเองก็คิดไปอย่างนั้นด้วย เพราะเป็นคนที่สนใจวิทยาศาสตร์ และทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์หลายครั้งจนได้รับรางวัลระดับโรงเรียนในเครือ จึงคิดจะเอาดีด้านนี้แหละ ถ้าไม่ได้หมอหรือวิศวะ ก็จะไปทางวิทยาศาสตร์เลย แต่ก็สนใจวิศวะมากกว่า ยังเคยตั้งใจไว้เลยว่าอยากเรียน MIT นะ เพราะตอนนั้น MIT คือสุดยอดในด้านวิศวกรรม แต่ว่าชีวิตมันก็เริ่มพลิกเปลี่ยน

- อะไรทำให้ชีวิตพลิกเปลี่ยนขนาดนั้น

เมื่อเริ่มหันมาอ่านหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อาตมาเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว เป็นหนังสือทั่วๆ ไป ไม่เฉพาะหนังสือเรียน

- มีใครแนะนำให้อ่านหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์

เห็นเป็นประจำอยู่แล้ว คืออาจารย์ ส. ศิวรักษ์ เป็นศิษย์เก่าอัสสัมชัญ รู้จักมานาน เพราะโรงเรียนมีงานอะไรก็เชิญมาพูด

- เริ่มอ่านจากเล่มไหน

เริ่มอ่านหนังสือ “ชวนอ่านวิจารณ์หนังสือต่างๆ” เป็นหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับวิจารณ์วรรณกรรม จริงๆ แล้วก็เคยอ่านหนังสือเล่มอื่นของอ.สุลักษณ์มาก่อน เพราะตอนเด็กๆ ราว ป.๕ ป.๖ ก็ได้อ่านหนังสือเรื่อง “ฟื้นความหลัง” เป็นอัตชีวประวัติของพระยาอนุมานราชธน หรือเสฐียรโกเศศ อ.สุลักษณ์เป็นคนสัมภาษณ์ มี ๔เล่มชุด อ่านไปได้ ๒-๓ เล่ม

ตอนนั้นนักเขียนอย่าง ส.ศิวรักษ์ ไม่ได้แปลกหน้าสำหรับอาตมา อาจารย์สุลักษณ์เขียนหนังสือออกมาเยอะ แต่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือประเภทรวมความเรียงหรือ essay แต่ตอนนั้นอาตมาไม่ค่อยชอบงานประเภท essay จนกระทั่งมาพลิกอ่านหนังสือ “ชวนอ่านวิจารณ์หนังสือต่างๆ” เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ก็อยากรู้ว่าเขาวิจารณ์หนังสือวรรณกรรมว่าอย่างไร พออ่านแล้วก็ติดใจ

- แสดงว่าเริ่มสนใจวรรณกรรมมาก่อนหน้านี้

ใช่ แต่เป็นแบบสนใจทั่วๆ ไป ไม่ได้สนใจเจาะจง

- อ่านวรรณกรรมแล้วคิดอยากเป็นนักเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย หรือบทกวีบ้างไหม

ไม่เลย จริงๆ แล้วสนใจประวัติศาสตร์มากกว่า ที่อ่านเสฐียรโกเศศเรื่องฟื้นความหลังนั้นก็เป็นเพราะสนใจประวัติของเสฐียรโกเศศ โดยเฉพาะประวัติในช่วงเด็ก ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับอัสสัมชัญ เพราะท่านก็เคยเรียนที่อัสสัมชัญ ดังนั้นเรื่องที่เล่าในหนังสือก็จะโยงกับอัสสัมชัญ

พอ มศ.๓ ก็เริ่มอ่านงานของอ.สุลักษณ์ และทำให้ต้องตามอ่านงานรวมบทความชิ้นอื่นเช่น “คุยคนเดียว” “ตีนติดดิน” หลังจากนั้นก็ตามไปอ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งอ.สุลักษณ์เป็น บก.มาก่อน เป็นหนังสือวิพากษ์สังคม การเมือง และที่เปิดหูเปิดตามากคือ การได้อ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับภัยเหลือง

- ภัยเหลืองยุคนั้นเป็นเรื่องของอะไร

ภัยเหลืองก็คือ ญี่ปุ่น แต่ก่อนอาตมาไม่รู้เลยว่าญี่ปุ่นเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง ทำให้เมืองไทยถูกเอาเปรียบ เสียดุลเศรษฐกิจ บ้านเมืองก็เดือดร้อนมาก

- อ่านงานเขียนอ.สุลักษณ์แล้วมีผลทางความคิดเลยไหม

เกิดแรงบันดาลใจ เกิดไฟในการคิด ในการวิพากษ์วิจารณ์ และก็เกิดไฟในแง่ที่อยากให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม

จากสังคมศาสตร์ปริทัศน์ก็ทำให้อาตมาตามอ่านเล่มอื่นๆ ที่มีในช่วงนั้นและก่อนหน้านั้นด้วย ทำให้อาตมาตื่นตัวทางการเมืองขึ้นมา หันมาสนใจเรื่องสังคมศาสตร์ สนใจอ่านหนังสือปรัชญา ส่วนหนังสือประวัติศาสตร์อ่านมานานแล้ว แต่เริ่มขยับมาสนใจการเมือง รวมทั้งประวัติศาสตร์การเมือง

- ติดตามงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ท่านใดอีกไหม หรือหันไปสนใจกิจกรรมอื่นแล้ว

ช่วงนั้นอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยังไม่เป็นที่รู้จักมาก อ.นิธิจะมาดังช่วงหลัง ๖ ตุลา หลัง ๑๔ ตุลา ก็มีงานของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ดังในเวลานั้น เผอิญในช่วงปี ๑๕ ก็มีศูนย์นิสิต ฯโดย ธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการทำการรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เรียกร้องให้ใช้ผ้าดิบที่เป็นผ้าไทย ไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น ถือเป็นช่วงที่มีคนหนุ่มสาวมีความตื่นตัวทางการเมืองมาก อาตมาเผอิญอยู่ในยุคนั้นพอดี ก็เลยหันมาสนใจสังคม ซึ่งต่อมาได้ออกไปทำค่ายอาสาพัฒนา

- เป็นช่วงที่ยังเรียนอยู่อัสสัมชัญ

เรียนอยู่ มศ.๓ สมัยก่อนมีแค่ มศ.๕ ไม่ใช่ ม.๖ อย่างในปัจจุบัน

- สนใจการเมือง สังคม ตั้งแต่ยังเล็ก

อายุ ๑๕ นี่แหละ พออายุ ๑๕ เรียน มศ.๓ ก็ได้ออกค่ายพัฒนาชนบท เลยได้เปิดหูเปิดตาในเรื่องความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท มันเลยปลุกความคิดทางด้านมนุษยธรรมขึ้นมาว่าเราควรจะคิดถึงคนยากคนจนบ้าง

ถือเป็นช่วงที่สำนึกทางสังคมการเมืองและทางมนุษยธรรมเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน ตอนนี้แหละที่ปี ๑๖ มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายอย่างเกิดขึ้น ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ก็มีการประท้วงใหญ่จากนักศึกษาหลายครั้ง

- อายุแค่ ๑๕ ก็มาออกค่ายและเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางสังคม ครอบครัวไม่ห้ามเลยหรือ

อาตมาเป็นเด็กเรียนดีอยู่แล้ว เขาก็ไม่ห่วงอะไร แต่ก็ไม่อยากให้ไป แต่จริงๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร ขอเพียงอย่าให้เสียการเรียนเท่านั้น และตัวเองก็รับผิดชอบ ไม่ให้เสียการเรียนอยู่แล้ว ครอบครัวก็เลยให้ไป

การออกค่ายนับเป็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งหนึ่ง หมายถึงตอนออกค่ายกับอัสสัมชัญนะ ออกค่ายเสร็จก็ไปเข้าค่ายยุวชนสยาม ยุวชนสยามนี้ก็เป็นกลุ่มที่แรดดิเคิลหน่อย คือเป็นกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ นักคิดนักเขียนในปัจจุบันอย่าง ธงชัย วินิจจะกูล สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ประชา หุตานุวัตร วิศิษฐ์ วังวิญญู พวกนี้มาจากยุวชนสยาม นักคิดอีกหลายคนก็มาจากค่ายนี้ในยุคนั้น

- ตอนนั้นชีวิตเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรอีก

มีความสนใจการเมืองมากขึ้น จนถึงเหตุการณ์ประท้วงจับกุม ๑๓ กบฏ ในเดือนกันยา ๑๖ จึงมีการประท้วงที่ธรรมศาสตร์ แล้วเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา อาตมาไปร่วมประท้วงที่ธรรมศาสตร์จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๓ มีธุระต้องกลับ ไปทำกิจกรรมที่โรงเรียน เมื่อเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา จึงไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์

หลังจาก ๑๔ ตุลา ความตื่นตัวทางการเมืองก็มีมากขึ้นไปอีก และเป็นตอนที่แนวคิดสังคมนิยมเริ่มแพร่เข้ามาแล้ว สมัยก่อนนี้คำว่า สังคมนิยม พูดไม่ได้เลย ใครพูดจะถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อย่างครูบางคนเผลอพูดคำว่าสังคมนิยมยังถูกให้ออกจากโรงเรียนก็ยังมี สมัยนั้นบ้านเมืองเป็นเผด็จการมาก และกลัวคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นช่วงที่มีความตื่นตัวด้านสังคมนิยม และก็เริ่มไปทางซ้ายแล้ว เวลานั้นมีบางคนเชื่อว่าบ้านเมืองต้องปฏิวัติด้วยการใช้อาวุธ ถึงจะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยได้ แต่ในภาพรวมขบวนการนิสิตนักศึกษาก็ยังไม่ได้เป็นซ้ายเท่าไหร่ หลัง ๑๔ ตุลาถึงมาซ้ายจริงๆ เพราะอิทธิพลจีนคอมมิวนิสต์แพร่เข้ามา แต่อาตมาก็เป็นซ้ายในช่วงสั้นๆ คือแค่ปีเดียว ปลายปี ๑๗ ก็หันมาสนใจแนวความคิดแบบอหิงสา ได้อิทธิพลจากอ.สุลักษณ์ และเพื่อนๆ ช่วงนั้นอาตมาเริ่มไม่เชื่อแล้วว่าความรุนแรงจะเป็นคำตอบได้ ที่เชื่อในอหิงสาหรือสันติวิธีก็เพราะมองว่าเป็นวิธีการสามารถทำให้เกิดสังคมเป็นธรรมได้

อหิงสาไม่ใช่แค่การนิ่งเฉย แต่สามารถทำให้เกิดพลังการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างที่คานธีทำ เผอิญมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ออกมาในเวลานั้น เป็นหนังสือวิชาการที่พูดถึงพลังทางการเมืองของสันติวิธี เขียนโดย ยีน ชาร์ป เขาเขียนได้หนักแน่นมาก มี ๓ เล่มชุด บอกว่าสันติวิธีมีพลังอย่างไรบ้าง หนังสือเล่มนี้ดังมากและก่อให้เกิดแรงบันดาลใจทางด้านสันติวิธีทั่วโลก เพราะทำให้คนเห็นพลังสันติวิธีในแง่การเมืองจริงๆ อาตมาก็เลยมีความเชื่อว่าสังคมไทยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยสันติวิธี เพื่อนหลายคนก็สนใจแนวคิดนี้

ต่อมาก็มีเพื่อฝรั่งคนหนึ่งที่นับถือมากคือ นิโคลัส เบนเนตต์ ซึ่งเป็นอีกคนหนึ่งที่ทำให้อาตมาหันมาสนใจสันติวิธีอย่างจริงจัง หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เชื่อมั่นสันติวิธีมาตลอด แม้จะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ยังเชื่อว่าสันติวิธีจะเป็นคำตอบได้ และไม่เชื่อเรื่องความรุนแรง

ตอน ๖ ตุลาก็ท้อถอยนะ เพราะบ้านเมืองกำลังจะลุกเป็นไฟ ซ้ายกับขวาตีกัน จนใกล้จะเกิดสงครามกลางเมือง แต่เผอิญตอนนั้นพระประชา (หุตานุวัตร) นิโคลัส เบนเนตต์ และอีกหลายคน เช่น อ.โคทม อารียา คิดว่าเราน่าจะทำอะไรได้ ก็เลยรื้อฟื้น “กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม” ขึ้นมา ที่จริงกลุ่มนี้ตั้งก่อน ๖ ตุลาแล้ว แต่ไม่เข้มแข็งเท่าไหร่ เราก็ฟื้นขึ้นมาใหม่ เป็นกลุ่มที่เสนอแนวทางที่สาม คือสันติวิธี ไม่ซ้าย ไม่ขวา สมัยนั้นกระแสหลักมีแค่ ๒ ทาง ซ้ายกับขวา ก็คล้ายๆ ตอนนี้ คือไม่เหลืองก็แดง

กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม หรือ กศส. นี้ไม่เอาทั้งซ้ายและขวา เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธี แต่งานเฉพาะหน้าคือการรณรงค์ให้มีการนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกจับกุมในกรณี ๖ ตุลา ตอนนั้นมีการบีบคั้นทางด้านการเมืองมาก มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง จับคนเข้าคุกโดยไม่ต้องขึ้นศาล เฉพาะนักโทษการเมือง ๖ ตุลาก็ ๓,๐๐๐ กว่าคน พวกเรารณรงค์เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมคนเหล่านี้ พวกเราทำงานอย่างเปิดเผยในเมือง รัฐบาลไม่ชอบขี้หน้าพวกเรา แต่ว่าทำอะไรไม่ได้ เพราะเราเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ นิโคลัส เบนเนตต์ ซึ่งทำงานในยูเนสโก้ พยายามสร้างเครือข่ายต่างประเทศ จนกระทั่ง กศส.เป็นที่รู้จักทั่วโลก รัฐบาลจึงทำอะไรไม่ได้

แต่ตอนนั้นพวกเราก็เหมือนหัวเดียวกระเทียมลีบ เพราะว่าฝ่ายขวาก็เชื่อความรุนแรง ฝ่ายซ้ายก็เชื่อความรุนแรง

- การเมืองไทยวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่

มันก็เหมือนกับที่เครือข่ายสันติวิธีเจออยู่ตอนนี้ เราเป็นเสียงส่วนน้อย เพราะว่าเสื้อเหลืองก็แรง เสื้อแดงก็แรง

- ช่วงทำกศส.ก็ยังเป็นนักศึกษาอยู่

ยังเรียนอยู่ปี ๒ ธรรมศาสตร์ แต่ทำงานให้ กศส. เต็มเวลานะ เรียนก็แทบไม่ได้เรียน มีแค่ไปสอบ ธรรมศาสตร์สมัยนั้นยังไม่มีการเช็คชื่อ ไม่ต้องเข้าห้องเรียนก็ได้ ยกเว้นอาจารย์บางคนเขาไม่เห็นอาตมานานก็จะถามหา จึงมีคนมาตาม ไม่เคยจดเล็กเชอร์ ไม่เคยไปลอกสมุดเล็กเชอร์ใคร ธรรมศาสตร์ตอนนั้นดีอย่างตรงที่ไม่ใช้การท่องจำ แต่เน้นการใช้ความคิด ถ้าใครคิดเป็นก็สอบได้ไม่ยาก ใกล้สอบอาตมาก็ดูหนังสือสักหน่อยก็สอบได้แล้ว

ทำ กศส. มาเรื่อย แรกๆ นั้นถูกรัฐบาลเพ่งเล็งและกลั่นแกล้ง เพราะเขาหาว่าเราเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ เนื่องจากเราช่วยนักศึกษาประชาชนที่ติดคุก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นซ้าย แต่หลังจากนั้นมีคนเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันถูก ต่อมารัฐบาลเกรียงศักดิ์ (ชมะนันท์) ได้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองปี ๒๑ ต่อมากฎหมายภัยสังคมที่เราต่อต้านก็ยกเลิกในปี ๒๒ สิ่งที่เราทำประสบผลสำเร็จ ทีนี้คนก็ยอมรับ ทุกคนก็อยากอยู่ฝ่ายผู้ชนะไง


- บทบาทและตำแหน่งการยืนในทุกวันนี้ก็เหมือนในช่วงตุลา 16 กับ 19 คือทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองเสื้อแดงต่างก็มองพระอาจารย์ว่าเอียงไปอีกข้าง

ก็ถูกต่อว่าด่าทอตลอด แต่สมัยก่อนเสียงด่ามันอยู่ไกล อย่างฝ่ายซ้ายที่อยู่ในป่า ทีแรกก็ระแวงพวกเรา แต่ต่อมาเขารู้ว่าเราช่วยนักโทษที่ติดคุกซึ่งเป็นซ้าย ถึงเขาไม่ชอบเรา แต่เขาก็ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ ส่วนรัฐบาลหรือฝ่ายขวานั้นก็ระแวงเราอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นคนไกล ไม่ใช่คนใกล้ แต่ทุกวันนี้คนที่ไม่ชอบเรา ไม่ได้อยู่ไกล แต่อยู่รอบตัว คนที่เป็นเสื้อเหลืองก็ต่อว่าอาตมา บอกว่าอาตมาเป็นแดงหรือเป็นแนวร่วมนปช. เพราะอาตมาไม่ได้ด่าแดงแบบสาดเสียเทเสีย หรือตั้งตัวเป็นศัตรูกับเขา ส่วนคนเสื้อแดงก็หาว่าอาตมาเป็นพวกเหลือง หาว่าเป็นพวกเหลืองอำพราง เสื้อเหลืองก็หาว่าอาตมาแดงแอ๊บ

- ทำงานเพื่อสร้างสังคมสันติ แต่ถูกมองอย่างนี้มาโดยตลอด ท้อใจบ้างไหม

ไม่ท้อ เพราะอาตมาเคยผ่านมาแล้วหลายครั้ง สักวันหนึ่งเขาจะรู้ว่าอาตมาทำอะไร

ขอย้อนหลังไปนิดหนึ่งว่า ก็เหมือนกับช่วง อ.ป๋วย เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ อ.ป๋วยพยายามเตือนทั้ง ๒ ฝ่าย รวมทั้งปรามนักศึกษาว่าอย่ารุนแรงมากนัก นักศึกษาตอนนั้นซ้ายมากและเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง อ.ป๋วยเป็นนักสันติวิธี ไม่เห็นด้วยกับนักศึกษาที่ชอบใช้ธรรมศาสตร์เป็นที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และใช้ถ้อยคำรุนแรง เพราะท่านเกรงว่าจะทำให้ธรรมศาสตร์ถูกเผา ซึ่งในที่สุดก็ถูกเผาจริงๆ ท่านไม่เห็นด้วยกับแนวทางการชุมนุมของนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ แต่ว่านักศึกษาก็ไม่ยอม ดื้อดึงจะชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ให้ได้ จนเกิด ๖ ตุลา ตอนนั้นฝ่ายรัฐบาลก็ด่า อ.ป๋วย นักศึกษาก็ด่าอ.ป๋วย แต่หลังจาก ๖ ตุลาผ่านไปหลายปี ทั้ง ๒ ฝ่ายจึงเข้าใจอ.ป๋วย

อาตมารู้ว่าการทำแบบนี้ในช่วงที่สถานการณ์รุนแรงย่อมจะต้องถูกด่าว่า อาตมาบอกเพื่อน ๆ ที่เครือข่ายสันติวิธีว่าให้ถือหลักว่า “ทนคำว่าด่า อย่ากลัวเปลืองตัว” คือไม่ทำก็ไม่ได้ สักวันหนึ่งคนก็จะรู้เองว่าสิ่งที่เราทำนั้นคืออะไร ทุกวันนี้ก็มีคนต่อว่าอาตมาว่าทำไมไม่เรียกร้องอะไรให้มันชัดเจนไปเลย จะเอายังไงก็ว่าไปเลย จะให้ยุบสภาหรือไม่ยุบก็พูดมา แต่อาตมาก็เอาแต่เรียกร้องว่าอย่าตีกัน อย่าใช้ความรุนแรง คืออาตมามองว่า ผลจะออกมาอย่างไรไม่สำคัญ ขอให้ถกเถียงกันด้วยเหตุผล หรือแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธี อันนี้สำคัญกว่า

- สังคมวันนี้ต้องฟันธงหรือคอนเฟิร์มเท่านั้น

ทั้ง ๒ ฝ่ายมีจุดอ่อนทั้งคู่ รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็มีปัญหาความชอบธรรม นปช.ก็อิงทักษิณและมีภาพความรุนแรง อาตมาจะเชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะอาตมาไม่เห็นด้วยในบางเรื่องของทั้ง ๒ ฝ่าย อาตมาจะเชียร์ได้ยังไง เหมือนสมัยก่อน อาตมาก็เห็นใจ พคท.นะ แต่อาตมาก็สนับสนุน พคท.ไม่ได้ เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีการของเขา ในทำนองเดียวกันตอนนี้ อาตมาก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลหลายเรื่อง เช่นเดียวกับที่อาตมาไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดงหลายเรื่อง ไม่เห็นด้วยกับเสื้อเหลืองหลายเรื่อง อาตมาจะเป็นพวกเดียวกับเขาได้ยังไง

- กับเสื้อชมพูล่ะ

อาตมาไม่ปฏิเสธเสื้อชมพู แต่ก็อยากให้ทุกฝ่ายให้เสรีภาพแก่คนอื่นในการที่จะแตะต้องสถาบันกษัตริย์บ้าง คือต้องให้วิพากษ์วิจารณ์ได้บ้าง เพราะเดี๋ยวนี้เราหวาดระแวงเกินไป พูดนิดพูดหน่อยก็หาว่าหมิ่นแล้ว เหมือนสมัยก่อนที่พูดนิดพูดหน่อยก็หาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ไป

- ผ่านยุคตุลามานาน แต่บ้านเมืองทุกวันนี้ก็ไม่ต่างกันนัก พระอาจารย์เห็นว่ายังไง

มนุษย์ยังมีอคติ ยังมีอัตตาอยู่ ทำให้ถูกความกลัว ความเกลียด ความโกรธ ครองใจ และทำให้หวาดระแวง เห็นคนอื่นที่คิดต่างเป็นศัตรู จากวันนั้นถึงวันนี้ไม่ได้ต่างกันเลย เพียงแต่ว่าจากที่เคยกลัวคอมมิวนิสต์ ก็กลัวว่าจะล้มสถาบัน คือเพียงแต่เปลี่ยนเนื้อหา แต่ความเข้มข้นทางอารมณ์ก็ยังเหมือนเดิม ส่วนเสื้อแดงก็กลัวและเกลียดทหารมาก แต่ไม่ตั้งคำถามกับนายทุน ทางด้านเสื้อเหลืองก็เกลียดนายทุนมาก โดยเฉพาะนายทุนแบบทักษิณ แต่ไม่ตั้งคำถามกับทหาร ปล่อยให้ทหารขึ้นงบประมาณตามใจชอบ ทหารทำอะไรก็ไม่ว่า เพราะคิดว่าเป็นแนวร่วมกัน ตอนนี้งบทหารเพิ่มขึ้นมาก อาตมาก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะได้ยินมาว่างบทหารที่เพิ่มขึ้นก็มีส่วนทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นไม่น้อย

- การต่อสู้ยังเข้มข้น แต่ก็หนีมาบวชจนได้

ตอนหลังงานสิทธิมนุษยชนเบาบางลง อาตมาหันไปทำงานด้านพัฒนาชนบท ใน กศส.นี่แหละ ทำเรื่องเด็กขาดสารอาหาร ปี ๒๒ เป็นปีเด็กสากล ทำให้มีองค์กรเด็กเกิดขึ้นหลายองค์กร มีประเด็นเรื่องเด็กหลายเรื่อง เรื่องที่อาตมาเจาะคือเรื่องเด็กขาดอาหาร ตอนนั้นเมืองไทยมีเด็กขาดอาหารเยอะมาก โดยเฉพาะแถวบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เด็กขาดอาหารเยอะ เลยทำโครงการสนับสนุนอาหารกลางวัน มีคนแนะนำให้รู้จักกับหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณที่วัดป่าสุคะโต ปี ๒๓ ตอนหลังจึงได้ช่วยท่านรณรงค์ทำผ้าป่าข้าว หาข้าว หาเงินมาช่วยสหกรณ์ข้าวของท่านที่บ้านท่ามะไฟหวาน ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้รู้จักท่าน เมื่อคิดจะบวชก็เลยคิดถึงท่าน อีกอย่างมีเพื่อนแนะนำว่าหลวงพ่อคำเขียนเป็นพระนักกรรมฐานด้วยนะ ไม่ใช่แต่เป็นพระนักพัฒนา ก็เลยบวชกับท่าน

- ทำไมถึงอยากบวชในช่วงที่ไฟทำงานกำลังแรง

สาเหตุเพราะเครียดกับงาน ทำงานมา ๗ ปี แทบไม่มีวันหยุด ชีวิตเริ่มเสียศูนย์ ทั้งเครียด ทั้งทะเลาะกับเพื่อน หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อยู่นิ่งไม่เป็น ก็เลยคิดอยากบวช อยากปฏิบัติธรรม คือถ้าไม่บวชก็คงอยู่นิ่ง ๆ ปฏิบัติธรรมไม่ได้หรอก

- ทะเลาะกับเพื่อนด้วยเรื่องอะไร

ทะเลาะเรื่องการทำงาน มีความเห็นไม่ตรงกันกับเพื่อนที่ทำงาน กศส.ด้วยกันมาตั้งแต่ปีแรกๆ

- มีเรื่องผลประโยชน์บ้างไหม

ไม่มี กศส. ทำงานด้วยใจกันจริงๆ เงินเดือนก็น้อย อีกอย่างคือพองานขยายตัวมาก ก็ต้องดึงคนมาทำงานมากขึ้น แต่คนใหม่ ๆ ไม่ค่อยมีใจทุ่มเทเหมือนเรา เขาไม่ได้ตั้งใจเพียงพอ อีกอย่างลักษณะงานมันยากขึ้นด้วย เพราะตอนที่สู้กับเผด็จการ มันมีเป้าชัด ทำงานง่าย เพราะอะไรผิดอะไรถูกเราเห็นชัด แต่พอไม่มีเผด็จการอย่างแต่ก่อน ความถูกผิดก็ไม่ชัดเจน การทำงานจึงยากขึ้น เพราะมีความเห็นหลากหลาย ไม่ค่อยตรงกัน เลยทะเลาะกันง่าย

- ยากเพราะสู้กับอะไร

ตอนนั้นเราทำงานหลายอย่าง เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน พัฒนาชนบท เรื่องสิทธิมนุษยชนก็เช่นการรณรงค์ให้ควบคุมพฤติกรรมของทหารพราน ตอนนั้นทหารพรานมีจำนวนมาก และก่อปัญหาหลายอย่าง นอกจากนั้นเรายังทำเรื่องกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ช่วยเหลือสิทธิกรรมกร ทำเรื่องสื่อชาวบ้าน อย่างกลุ่มคณะละครมะขามป้อม ก็มาจาก กศส.นี่แหละ อยู่ออฟฟิศเดียวกัน

พองานเยอะ และแตกแนวออกไปมาก ก็เลยเครียด จึงทะเลาะกัน ทำให้อาตมาคิดว่าถึงเวลาต้องไปปฏิบัติธรรม เจริญสติ สงบอารมณ์ได้แล้ว ก็คิดถึงการบวช เพราะถ้าไม่บวชมันทำไม่ได้ตลอด เดี๋ยวหนีไปทำโน่นทำนี่ ไม่อยู่ติดที่ จึงตัดสินใจบวช

- ไม่ได้คิดถึงการคลายเครียดด้วยวิธีอื่นเลยหรือ

ก็เคยเดินทางไปต่างประเทศอยู่ ๒ ครั้ง อเมริกาและฝรั่งเศส ก็มีความสุขดี แต่อาตมาเป็นคนประเภทที่เรียกว่ารักชาติก็ได้ คิดว่ากลับมาทำอะไรที่เมืองไทยได้เยอะกว่า อยู่เมืองนอกมีความสุขนะ แต่ทำอะไรได้น้อย ไปช่วงปี ๒๒ กลับมาปี ๒๓ มาก็ทำกศส.ต่อ จริงๆ แล้วที่ไปไม่ได้หนีความเครียดหรอก ไปอบรมสัมมนา ๔ เดือน มีความสุข แต่ไม่ใช่ชีวิตของอาตมา

- เครียดจากทำงาน ทำกิจกรรม เคยหาทางออกเหมือนคนหนุ่มทั่วไป เช่นกินดื่มเที่ยว มีไหม

ชีวิตวัยรุ่นมันหายไป ก็ทำกิจกรรมทางสังคมตั้งแต่อายุ ๑๕ จะเหลือเวลาไปทำอะไร มีเพื่อนก็เป็นเพื่อนคอเดียวกัน ชีวิตแบบวัยรุ่นทั่วไปเลยไม่ค่อยมี

- ความรักแบบหนุ่มสาวล่ะ

การจีบมีน้อย พออาตมาคิดเรื่องการปฏิวัติตั้งแต่เด็ก ทุกอย่างมันเลยดูจริงจังไปหมด แต่ด้วยการที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ทำให้ได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสบ้าง หนังสือของเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์บ้าง ตอนนั้นท่านเป็นเจ้าคุณราชวรมุนี ได้อ่านหนังสือเหล่านี้ ทำให้มีทุนในจิตใจ เพื่อนก็สนใจในธรรมะ อย่าง พจนา จันทรสันติ ก็สนใจเรื่องเต๋า อาตมาจึงมีพื้นทางธรรมะ ดังนั้นการที่จะหันไปหาเหล้า ผู้หญิง จึงแทบไม่มี อย่างมากก็ไปดูหนัง เที่ยวต่างจังหวัด เที่ยวทะเล แต่มันก็ไม่หายเครียด เที่ยวเสร็จก็กลับมาเครียดใหม่

ความรักแบบหนุ่มสาวก็เคยมี แต่เป็นแบบประเดี๋ยวประด๋าว ก็คนในแวดวงเดียวกันนั่นแหละ แต่ไม่ค่อยสมพงศ์กันเท่าไหร่ คือบางทีเราชอบเขา เขาไม่ชอบเรา เขาชอบเรา เราไม่ชอบเขา

- เคยอกหักเรื่องความรักไหม

พูดได้ไม่เต็มปากว่าอกหัก เป็นความไม่สมหวังมากกว่า เพราะเราชอบเขาข้างเดียว เขาไม่ได้คิดอะไรกับเรา ถ้าอกหักมันต้องทั้งสองคนรักกัน ใช่มั้ย

- ชีวิตไม่ได้เสียศูนย์กับเรื่องรักๆ

ไม่เลย ง่ายมาก จัดการง่ายมาก คืออาตมาคิดว่าเรื่องส่วนรวมต้องเป็นอันดับหนึ่ง พออาตมามาทำงาน มามีชีวิตแบบนี้ ก็ทำให้ไม่มั่นใจในการมีชีวิตคู่ว่าจะทำได้ดีแค่ไหน อีกทั้งอาตมาไม่ได้มีความรักแบบหัวปักหัวปำแบบคนหนุ่มสาวทั่วไปอยู่แล้ว พอผิดหวังก็เลยไม่เสียใจมาก

- กลับมาที่เรื่องบวช อยากให้พระอาจารย์เล่าถึงช่วงเริ่มบวชสักหน่อย

ออกบวชที่วัดทองนพคุณ แต่มาอยู่ที่วัดสนามใน ตอนแรกตั้งใจจะบวช ๓ เดือน พอครบ ๓ เดือนก็อยากบวชต่ออีก ที่จริงพอบวชแล้วอยากมาอยู่กับหลวงพ่อคำเขียน ที่วัดป่าสุคะโต แต่หลวงพ่อท่านบอกว่าอยู่ที่วัดสนามในที่เมืองนนท์นั่นแหละดีแล้ว เพราะว่าช่วงหน้าแล้งที่วัดป่าสุคะโตไม่มีคนอยู่ ที่วัดสนามในมีหลวงพ่อเทียนเป็นหลักอยู่ ดีกว่าอยู่ที่สุคะโต อาตมาบวชวันที่ ๕ กุมภา ๒๖ อยู่วัดสนามในตั้งแต่เดือนมีนา กระทั่งเข้าพรรษาถึงไปอยู่วัดป่าสุคะโต เป็นพรรษาแรกกับหลวงพ่อคำเขียน

ตอนแรกมีกำหนดสึกเดือนพฤษภา แต่ขอเพื่อนว่าขอบวชต่ออีก ให้ได้สักพรรษา ก็บวชต่อจนออกพรรษา พอออกพรรษาเสร็จ ก็ขอบวชต่ออีกหน่อย ก็เลยต่อมาเรื่อยๆ

- ซาบซึ้งในรสพระธรรรม

บวชแล้วมีความสุข พอได้บวชอาตมาก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตพระดีอย่างหนึ่ง คือเป็นชีวิตที่ลงตัว หรือสมดุล ตอนเป็นฆราวาสเป็นนักกิจกรรม อาตมาไม่ค่อยมีชีวิตส่วนตัวเลย กินนอนก็ไม่เป็นเวลา นี่ขนาดไม่ได้กินเหล้าเมายายังรู้สึกว่าชีวิตมันไม่เป็นระเบียบเลย ชีวิตจึงเสียศูนย์ได้ง่าย แต่เป็นพระอยู่ที่นี่ มีเวลาของเราเอง ชีวิตเป็นระเบียบดี เช่น ทุกวันต้องตื่นตี ๓ ครึ่ง เพื่อทำวัตรสวดมนต์ กินก็เป็นเวลา คือ ๘ โมง อีกทีก็เพลเลย ชีวิตของพระเป็นชีวิตที่ค่อนข้างมีระเบียบ ลงตัว สมดุลระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม ระหว่างงานภายนอกกับงานภายใน รู้สึกว่ามันดีนะ ถ้ากลับไปเป็นฆราวาสก็กลัวว่าเดี๋ยวจะเหมือนเดิม คือชีวิตวุ่นวาย ไม่เป็นระเบียบ

อีกความรู้สึกหนึ่งที่ทำให้อยู่เป็นพระได้นาน คือเข็ดหลาบกับชีวิตฆราวาส ตอนอาตมาเป็นฆราวาสนี่มีความทุกข์ มีความเครียดมาก กลัวว่าถ้าสึกออกไปจะกลับไปเป็นอย่างนั้นอีก

ความสุขในชีวิตพระมันก็มี แต่ที่อยู่ได้นานเพราะรู้สึกว่าชีวิตฆราวาสมันทุกข์กว่า ก็เลยบวชมาได้เรื่อยๆ ทีแรกตัดสินใจปีต่อปี รู้อยู่แก่ใจว่าถ้าจะให้บวชสัก ๑๐ ปี หรือบวชตลอดไปนี่คงยาก ความคิดที่จะบวชให้ถึง ๑๐ ปีไม่มีในหัวเลย มันเป็นไปได้ยาก ยิ่ง ๒๐ ปียิ่งยากใหญ่ บวชตลอดชีวิตยิ่งคิดไม่ถึงเลย แต่พอทำไปๆ เวลามันผ่านไปเร็ว ถึงจุดหนึ่งมันก็ลงตัว ชีวิตพระอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน

- บวชใหม่ๆ รับกิจนิมนต์ด้วยไหม

ช่วงแรกอ่านหนังสือน้อยมาก ปฏิบัติเข้มข้นอย่างเดียว ตอนนั้นจะมีประท้วงอะไรที่ไหนก็ปล่อยมันไป แต่ก่อนนั้นจะรู้สึกกังวล เป็นห่วง แต่ที่สุด ก็รู้ว่าไม่มีเราเขาก็ทำกันได้

- แต่ก็ติดตามความเคลื่อนไหวของบ้านเมืองอยู่ตลอด

เคยคิดว่าถ้าไม่มีเราโลกมันจะดำเนินไปอย่างไร แต่พอมาบวชก็พบว่าถึงไม่มีเราโลกก็ยังหมุนอยู่ต่อไป ก็ทำให้อาตมาปล่อยวาง และมาอยู่กับการบวชได้มากขึ้น

- ทุกวันนี้อยู่ในภาวะปล่อยวางไหม

ไม่ถือว่าปล่อยวางทีเดียวนั้น แต่ก็ไม่ได้กลับเข้าไปเต็มที่ สมัยก่อนเอาจริงเอาจังมาก แต่พอบวชเป็นพระอาตมาก็เห็นบทบาทที่ตัวเองจะทำได้ นั่นคือชวนคนให้มาสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ชวนคนเข้าวัดนะ แต่ชวนคนให้มาปฏิบัติธรรม แต่ช่วงแรกๆ ก็ต้องเข้าวัดก่อน พยายามกระตุ้นผู้คนให้เห็นความสำคัญของมิติด้านจิตใจ งานเขียน งานอบรม ก็ทำเพื่ออันนี้ แต่ก็มีงานอื่นเติมเข้ามาคือ งานอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะสุคะโตเป็นป่า อาตมาย้ายมาที่นี่ (วัดป่ามหาวัน) ก็ปี ๓๓ แต่ก็ยังไปๆ มาๆ ระหว่างที่นี่กับสุคะโต ก็ได้เห็นว่าการรักษาป่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ

เมื่อบวชแล้ว ความเป็นนักกิจกรรมก็น้อยลง จะออกไปทางงานเขียนเสียมาก แต่มีบ้างที่ไปอบรม ไปช่วยเขาเคลื่อนไหว โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับสันติวิธี เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สมัยนั้นประเด็นสิ่งแวดล้อมกำลังแรงมาก มีการประท้วงเขื่อนต่างๆ สารพัด เป็นช่วง ปี ๓๐ สำนึกทางสิ่งแวดล้อมสูงมาก มีการประท้วงเขื่อนมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็สำเร็จ ประท้วงจนทุกวันนี้คนเขาคิดว่าพวก NGO เป็นพวกชอบประท้วงอยู่เรื่อย

แต่ส่วนใหญ่อาตมาก็อยู่ข้างหลังเขา ช่วยอบรมให้เขา จะไม่ค่อยไปออกหน้าเหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนออกหน้าเลย ไปประท้วงที่สภา ไปยื่นจดหมายขอนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองช่วงหลังปฏิวัติปี ๒๐ นั่นคือก่อนบวชนะ แต่พอเป็นพระอาตมาก็มาเน้นบทบาทให้การศึกษา ทำงานอบรมมากกว่า และจะเป็นงานเขียนเสียเยอะ เพราะว่าคนขอมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีแต่คนขอทั้งนั้น ที่เขียนเพราะอยากเขียนเองมีน้อย

- พระอาจารย์มีวิธีปฏิบัติธรรมให้หลุดจากความเครียดอย่างไร

เริ่มจากเจริญสติ คือรู้ทันความคิด รู้ทันความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ถ้ารู้แล้วมันจะวางได้ ส่วนใหญ่คนคิดแต่ไม่รู้หรอกว่าคิด ฟุ้งซ่านไปเรื่อย โกรธก็ไม่รู้ว่าโกรธ การปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สติปัฏฐาน คือการรู้กาย รู้ใจ รู้เวทนา รู้ธรรม มี ๔ อย่าง แต่พูดง่ายๆ คือรู้กาย รู้ใจ รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจคิดนึก เวลาเคลื่อนไหวก็รู้ว่าเคลื่อนไหว เวลากินก็รู้ว่ากิน แต่ส่วนใหญ่กินไม่รู้ว่ากินหรอก กินอะไรเข้าปากยังไม่รู้เลย มัวแต่คุยเพลินคิดเพลิน อย่างกำลังกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ สักพักก็สงสัย เอ๊ะ ลูกชิ้นมันหายไปไหนลูกหนึ่ง มันไปอยู่ในท้องแล้ว มันเข้าปากตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ นี่เรียกว่าไม่มีสติ

รู้กาย รู้ใจ มันจะทำให้ปล่อยวางได้ คนที่นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน เครียด ก็เพราะไม่มีสติ อาตมาก็เจริญสติ อย่างนี้แหละ ทำให้ชีวิตเบา เพราะสติทำให้ใจอยู่กับปัจจุบัน คนมันทุกข์เพราะไปติดกับอดีตกับอนาคต ถ้าอยู่กับปัจจุบันใจก็สบาย อย่างสมมติคุณอยู่ที่นี่ ไม่คิดถึงสำนักงาน ไม่คิดถึงใครบางคนที่กรุงเทพฯ ไม่คิดถึงเสื้อเหลืองเสื้อแดง ก็ไม่กลุ้ม แม้ที่นี่อากาศจะร้อนหน่อยก็แค่ร้อนกาย ใจที่อยู่กับปัจจุบันมันจะเบา โปร่ง อันนี้เป็นเพราะมีสติ จริงๆ มันมีรายละเอียดมากกว่านั้น แต่นี่เป็นพื้นฐาน วิธีการก็คือให้เห็นความคิด แต่อย่าไปกด บางคนพอปฏิบัติจะกดใจเอาไว้ กดไม่ให้คิด เช่นเวลาคุณทำสมาธิ คุณก็จะพยายามไปกดใจไม่ให้คิดๆ อันนี้ไม่ถูก ทำไปนาน ๆ ก็จะเครียด ตอนปฏิบัติก็มักเป็นอย่างนี้แหละ เครียดเพราะตั้งใจมาก อยากจะให้มันสงบ หลักการก็คือ ถ้าอยากทำให้ใจสงบ ก็อย่าไปกดจิต อย่าไปบังคับจิตไม่ให้ฟุ้ง

- แนวปฏิบัตินี้มาจากใคร

หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ หลวงพ่อเทียนเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อคำเขียน แต่ก็ตรงกับสติปัฏฐานสี่ของพระพุทธเจ้า จะเรียกว่าหลวงพ่อเทียนท่านประยุกต์มาใช้สอนลูกศิษย์ก็ได้

- กิจนิมนต์หลักตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องการเมือง สันติวิธี

ไม่เลย งานส่วนใหญ่คือการอบรมเรื่อง “เผชิญความตายอย่างสงบ” ของเครือข่ายพุทธิกา เป็นการอบรมเพื่อให้คนรู้จักเตรียมตัวตาย แต่ก่อนเป็นงานเขียน หลังๆ ก็ไปจัดอบรมตามที่ต่าง ๆ รวมทั้งไปบรรยาย อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผชิญความตายอย่างสงบของพุทธิกา

- โครงการนี้เป็นมายังไง

เริ่มต้นจากการแปลหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ ประตูสู่สภาวะใหม่ แปลจากหนังสือเรื่อง The Tibetan Book of Living and Dying พอพิมพ์เป็นเล่มในปี ๔๐ ก็ปรากฏว่ามีคนสนใจมาก เวลามีใครใกล้ตาย ญาติก็มักนิมนต์ให้อาตมาไปเยี่ยม ไปนำทางคนใกล้ตาย ตอนหลังก็มีบางคนเอาสิ่งที่อาตมาแปลไปทดลองใช้ ก็ได้ผลดี ตอนหลังอาตมาก็เลยคิดว่าจัดอบรมเลยดีไหม ช่วงแรกก็จัดครึ่งวัน ต่อมาขยายเป็นหนึ่งวัน ภายหลังจึงมาลงตัวที่ ๓ วัน เริ่มทำเมื่อปี ๔๖-๔๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5064


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 15 สิงหาคม 2559 21:40:46 »



- จัดอบรมที่ไหนบ้าง

ต่างจังหวัด เช่น กำแพงแสน สุพรรณบรี ชัยภูมิ รวมทั้งตามโรงพยาบาลต่าง ๆ มีหลายที่ หลายแบบ มีคนสนใจเยอะ

- คนเข้าอบรมเป็นพวกไหน

พยาบาล คนป่วย ญาติคนป่วย หลังๆ จะเป็นพยาบาลเยอะ ระยะหลังจัดปีละ ๒๐ ครั้ง เฉพาะปีนี้จัด ๒๒ ครั้ง ตกเดือนละ ๒ ครั้ง นี่แหละคืองานหลัก งานเขียนเกี่ยวกับเรื่องความตายก็มีเยอะ

- ทำไมต้องตายอย่างสงบ

เพราะการตายอย่างทุรนทุรายนี่มันทุกข์เหลือเกิน ทุกคนอยากตายอย่างสงบ ทุกคนอยากเห็นคนรักของตนเองตายอย่างสงบ แต่เขาไม่รู้จะทำอย่างไร ความจริงมีวิธีที่จะช่วยได้ อาตมาทำเวิร์กช็อปให้เขา คนที่เอาไปใช้ก็บอกว่าได้ผล

- ตายอย่างสงบต้องทำอย่างไร

ต้องนึกถึงความดีงาม ปล่อยวางสิ่งค้างคาใจ คลายความวิตกกังวลทั้งหลาย น้อมใจให้เป็นหนึ่ง ปล่อยวางทั้งหมด นี่พูดอย่างสั้นๆ นะ

- องค์ความรู้เรื่องความตายที่นำมาทำเวิร์กช็อปได้มาจากไหน

จากพระไตรปิฎก จากหนังสือที่อาตมาเคยอ่าน จากคนที่เขาเคยช่วยคนอื่นให้ตายอย่างสงบได้ มันเป็นภูมิปัญญา แต่ไม่ค่อยมีใครเก็บรวบรวม อาตมาจึงนำมาทำเวิร์กช็อป มีวิทยากรทั้งหมอ พยาบาล ที่มีประสบการณ์การช่วยให้คนตายอย่างสงบได้ อาตมาก็เป็นวิทยากรด้วย เรื่องนี้มันมีที่มาจาก ๑.คำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ๒. ภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย ๓. ความรู้และประสบการณ์ของคนในปัจจุบัน และ ๔. ประสบการณ์ของอาตมาเอง เพราะอาตมาไปเยี่ยมคนป่วยเยอะ

- ท่านพุทธทาสเคยบอกว่า ธรรมะกับการเมืองเป็นเรื่องแยกกันไม่ได้ แยกเมื่อไหร่การเมืองก็จะเป็นตัวทำลายโลก

ใช่ ทุกอย่างมันต้องมีธรรมะ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ก็ต้องมีธรรมะกำกับ ถ้าไม่มีก็จะเป็นแบบฮิตเลอร์ เอาเทคโนโลยีไปล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ต้องมีธรรมะกำกับทุกอย่าง การต่อสู้ทางการเมืองถ้าไม่มีธรรมะก็จะเลอะเทอะ อย่างตอนนี้ก็เลอะเทอะไปหมดแล้ว ใครจะทำอะไรก็ได้ขอให้ชนะ ถ้าฝ่ายฉันทำ อะไรๆ ก็ถูกหมด คนอื่นทำ ผิดหมด มันไม่มีหลักแล้ว ยึดถนนราชประสงค์ก็บอกว่าไม่ผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น อย่างนี้ไม่ถูก

- การเมืองร้อนยามนี้ ถ้ามีโอกาสไปเทศน์ให้ทั้ง 2 ฝ่ายฟัง พระอาจารย์อยากเทศน์ให้ใครฟังเป็นลำดับแรกสุด เผื่อจะส่งผลให้บรรยากาศการชุมนุมสงบลงบ้าง

อาตมาไม่ค่อยมั่นใจว่าคนเราจะเปลี่ยนแปลงได้เพียงเพราะฟังเทศน์ เพราะการที่คนเราตัดสินใจทำอย่างไรอย่างหนึ่งมันไม่ได้เกิดจากความคิดของตัวเองอย่างเดียว แต่ยังมีเหตุปัจจัยหลายอย่างมากมาย รวมทั้งแรงผลักดันจากสิ่งแวดล้อม ที่บอกว่าไปเทศน์ให้คนนั้นคนนี้ฟังหน่อยจึงนึกไม่ออก แต่ถ้าให้ไปคุยกับใคร อาตมายินดี เพราะอาตมาก็อยากรู้ว่าเขาคิดยังไง แกนนำเขาคิดยังไง มันต้องเป็นการคุยกัน ไม่ใช่ไปพูดอยู่ฝ่ายเดียว

- เหมือนสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าต้องใช้ญาณตรองก่อนว่าวันหนึ่งๆ จะไปโปรดสัตว์ที่ใด

ไม่เหมือนกัน อันนั้นจิตใจเขาโน้มมาทางธรรมะแล้ว ใจเขาพร้อมจะรับธรรม มีธุลีที่ดวงตา แค่เอาธุลีออกก็เห็นธรรม แต่คนที่กำลังต่อสู้หรือเป็นแกนนำ เขามีความรู้สึกหลายอย่าง ทั้งโกรธ เกลียด กลัว กลัวว่าจะถูกทำร้าย มีทั้งความอยากจะเอาชนะ มีความพยาบาท มีความรู้สึกต่าง ๆ อัดแน่นใจ คนที่ถูกอารมณ์ครอบงำเหล่านี้ยังไม่พร้อมที่จะฟังธรรมะ เอาพระไปเทศน์ก็คงช่วยไม่ได้มาก แต่ถ้าคุยกันอาจจะดีกว่า อีกอย่างอาตมาเองไม่มีความสามารถในการเทศน์ด้วย ต้องดูว่ามีใครบ้างที่สามารถการเทศน์เปลี่ยนใจคนได้

- พระสงฆ์ที่ไปยืนเป็นแนวหน้าในกลุ่มชุมนุม นปช. พระอาจารย์คิดเห็นยังไง

พระต้องมีหน้าที่เตือนสติผู้คนให้ได้คิด หรือเตือนสติให้ทำอะไรโดยคำนึงถึงธรรมะ ความถูกต้อง แต่การจะทำเช่นนั้นได้ท่านต้องเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่หรือโอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ไปกระตุ้น ส่งเสริมให้คนทำร้ายกัน รวมทั้งไม่ไปเป็นเครื่องมือของการปลุกระดมด้วย

ถามว่าท่านอยู่ที่นั่น ท่านทำอะไรได้ไหม เพื่อช่วยให้ความรุ่มร้อนในใจผู้คนเบาบางลง ท่านสามารถช่วยเตือนให้คนลดความรุนแรงได้ไหม อาตมามองว่านี่คือสิ่งสันติอโศกพยายามทำ ถึงแม้จะเหลืองเต็มที่ แต่เขาก็พยายามเตือนผู้ชุมนุมให้อยู่ในสันติวิธี แต่อาตมายังไม่เห็นพระในกลุ่มเสื้อแดงทำตรงนี้เลย กลับมีบทบาทเหมือนเป็นกลไกส่วนหนึ่งของเขา สุดแท้แต่ว่าเขาจะมอบหมายอะไรให้ทำ เช่น นิมนต์ให้ไปบังสุกุลให้หน่อย นิมนต์ไปรดน้ำมนต์หน่อย คือท่านไม่ได้เป็นผู้นำในการเตือนสติผู้คน ไม่พาคนเข้าหาธรรมะหรือสันติวิธีเลย เป็นแค่กลไกส่วนหนึ่งของเขา โดยมีฆราวาสเป็นผู้นำ ส่วนพระเป็นผู้ตาม บทบาทแบบนี้ทำให้พระไม่มีน้ำยา

- ในด้านวินัยสงฆ์ก็ถือว่าผิดด้วย

ตามวินัยสงฆ์ แม้แต่พระพูดเรื่องการเมืองก็ยังไม่เหมาะเลยด้วยซ้ำ ท่านถือเป็นเรื่องเดรัจฉานวิชา ที่พระไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว

- แม้แต่พระสงฆ์บางส่วนยังเป็นแบบนี้ สันติวิธีก็คงช่วยลำบาก

พระสงฆ์นี่แหละพูดยาก บางครั้งก็ต้องอาศัยกระแสสังคมกดดัน ที่ผ่านมากระแสสังคมกดดันให้ทุกฝ่ายใช้แนวทางสันติวิธี หรืออย่างน้อยก็ต้องอ้างว่าเป็นสันติวิธี มีการชูธงอหิงสา แต่ก็เบรกแตกกันเมื่อวันที่ ๑๐ เมษา ตอนนี้ทั้ง ๒ ฝ่ายจะทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ทำอะไรก็ตามใจชอบ สังคมจับตามอง และต้องการให้ใช้สันติวิธีอยู่

- บทบาทของพระอาจารย์ส่งผลให้ไม่เป็นที่ถูกใจของพระเสื้อแดงบ้างไหม

ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะไม่ได้เจอกันเลย และไม่รู้จักกันด้วย ไม่เคยทะเลาะกัน ถ้าขัดแย้งก็คงเป็นเรื่องแนวความคิดเท่านั้น

- กับชาวบ้านรอบๆ วัดป่ามหาวันละ

ไม่มีปัญหา แม้ชาวบ้านที่นี่ หรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่นี่จะเป็นเสื้อแดง แต่ก็ไม่ใช่แดงฮาร์ดคอร์ เขาก็ติดตามข่าวตามโทรทัศน์ แต่ไม่ถึงกับไปชุมนุม

- คุยเรื่องการเมืองกับชาวบ้านบ้างไหม

ไม่ค่อยได้คุยเท่าไหร่ ปกติอาตมาไม่คุยเรื่องการเมืองกับชาวบ้านอยู่แล้ว มีแต่สอนให้เขารู้จักธรรมะ และให้หลักเขาไปพิจารณา เขาจะแดงจะเหลืองอาตมาไม่ได้สนใจนะ ให้หลักเขาไปในเรื่องศีล เรื่องสันติวิธี เรื่องความถูกต้อง อาตมาไม่ติดใจว่าใครจะเหลืองใครจะแดง ขอให้มั่นคงในธรรมะแล้วกัน

คืออาตมาไม่สนใจเรื่องยี่ห้อ ยี่ห้อไม่สำคัญหรอก สำคัญที่การปฏิบัติ เท่าที่สังเกตรู้สึกว่าหลายครั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงนิสัยใจคอเหมือนกันเลย อากัปกิริยาเหมือนกัน คือทนคนที่คิดต่างจากตัวไม่ได้ ใช้วาจารุนแรงหยาบคายเวลาพูดถึงหรือโต้เถียงกับอีกฝ่ายหนึ่ง เหลืองแดงเป็นความแตกต่างทางยี่ห้อ แต่ส่วนใหญ่แล้วเหมือนกันแทบทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์หรืออากัปกิริยา เหมือนเป็นกระจกของกันและกัน เหมือนขวากับซ้าย แต่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นอย่างนี้หมด ขวาบางคนก็อาจดีกว่าซ้าย ซ้ายบางคนก็ดีกว่าขวา ในทำนองเดียวกัน เหลืองบางคนก็นิสัยดีกว่าแดง แดงบางคนก็นิสัยดีกว่าเหลือง

- ต่างฝ่ายต่างก็บอกว่าตัวเองถูก ถูกนี่คืออะไร

มันเป็นอัตตาธิปไตยเสียเยอะ คือเอาเอาตัวกู ของกูหรือพวกกูเป็นหลัก ถ้าพวกกูทำก็ถูกหมด ถ้าพวกมึงทำ ถึงจะเป็นอย่างเดียวกันก็ผิดหมด ตอนเสื้อเหลืองยึดสนามบิน เสื้อแดงก็โวยว่าไม่ถูก แต่พอเสื้อแดงยึดราชประสงค์กลับบอกว่าถูก อย่างนี้ใช่มั้ย เวลาเสื้อเหลืองปะทะกับตำรวจ สมมติมีคนชุดดำมายิงตำรวจ มาช่วยเสื้อเหลือง เสื้อเหลืองก็คงมองว่าคนชุดดำทำถูก เสื้อแดงก็คงบอกว่าไอ้ชุดดำทำไม่ถูก แต่พอเสื้อแดงมีคนชุดดำมาช่วย ก็บอกว่าชุดดำทำถูก คือถูกหรือผิดมันขึ้นอยู่กับว่าถูกใจเราหรือเปล่า ตอบสนองประโยชน์ของเราหรือเปล่า

เพราะเหตุนี้อาตมาถึงบอกว่ายี่ห้อนั้นไม่สำคัญ จะเหลืองจะแดงก็น่าเป็นห่วงตราบใดที่คิดแต่จะเอาชนะ โดยไม่สนใจหลักการ เหมือนกับเล่นบอลนั่นแหละ บางครั้งโกงซึ่งๆ หน้าแต่บอลเข้าประตูก็ยังบอกว่าโอเคเลย อย่างเธียร์รี่ อองรี ทำแฮนด์บอลหน้าประตู พอเตะบอลเข้าประตูไอร์แลนด์ จนได้เข้ารอบฟุตบอลโลก โค้ชฝรั่งเศสก็ดีใจมาก คนเชียร์ก็เฮ บอกว่าถูกต้อง ให้เหตุผลว่าเพราะกรรมการมองไม่เห็นเอง แต่ถ้าทีมอื่นทำบ้างละ จะยอมรับเหตุผลข้อนี้ได้ไหม ถ้าเกิดฝรั่งเศสตกรอบเพราะนักเตะไอร์แลนด์ทำแฮนด์บอลแล้วเตะประตูเข้าบ้างล่ะ ทีมฝรั่งเศสจะยอมรับไหม เดี๋ยวนี้ความถูกต้องมันขึ้นอยู่กับว่าใครได้ประโยชน์ มันถูกใจเราไหม ถ้าเราได้ประโยชน์ ถูกใจเราก็ถือว่าถูกต้อง ถ้าไม่ได้ประโยชน์ ไม่ถูกใจเรา ก็ไม่ถูกต้อง

- แนวคิดนี้มันจะอยู่อีกนานแค่ไหน

ตอนนี้มันเป็นกันทั่วโลกเลย ในอเมริกา เดโมแครตกับรีพับลิกันก็ใช้วิธีการแบบนี้แหละ มันคงจะอยู่อีกนาน

- ถือว่าโลกเราอยู่ในยุควิกฤติได้ไหม

จะเรียกว่าเป็นวิกฤติก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้เป็นยุคตัวใครตัวมัน หลักกูไม่ใช่หลักการแล้วตอนนี้

- ติดตามข่าวสารบ้านเมืองยังไง

ที่วัดป่ามหาวันอาตมามีทีวีขาวดำเล็กๆ แต่สัญญาณไม่ค่อยดี ใช้ฟังข่าวมากกว่า ส่วนใหญ่จะใช้อินเทอร์เน็ต วิทยุก็ไม่ค่อยได้ฟัง แต่ก่อนต้องฟังบีบีซี และรับข่าวผ่านทางไปรษณีย์ มีคนตัดข่าวส่งมาให้อ่าน แต่ก็ช้าสักอาทิตย์หนึ่ง

- เว็บไซต์ www.visalo.org กลุ่มไหนทำให้

เพื่อนๆ เขาทำให้ มีบทความอะไรก็ส่งให้เขา เป็นที่เก็บบทความ ไม่งั้นมันก็หายสูญไป

- มีกลุ่มคนอ่านชัดเจน

ก็ไม่เยอะนะ วันหนึ่ง 100-200 คน ไม่เหมือนของเสธ.แดง มีคนเข้าไปแล้ว 13 ล้านคน

- ช่วงนี้ได้อ่านหนังสือทางโลกทั่วไปบ้างไหม เช่น นวนิยาย กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น

นิยายไม่ค่อยได้อ่าน ส่วนใหญ่อ่านนิตยสารอย่างสารคดี ฅ.คน เนชั่นแนลจีโอกราฟิค อิมเมจ มีคนส่งมาให้อ่าน

- ในบทบาทพระนักพัฒนาชุมชนบ้าง

จริงๆ แล้วงานที่อาตมาทำในหมู่บ้านเป็นงานอนุรักษ์ป่า ที่นี่ป่าผืนใหญ่ก็ต้องการอนุรักษ์ไว้ หลังๆ ก็ทำงานพัฒนาชุมชนอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ทำเป็นหลัก เพราะไม่มีกำลัง ไม่มีเวลา และไม่ถนัดด้วย แต่ก็ช่วยงานพัฒนาในชุมชนบ้าง ไปพูดไปอบรมก็มีบ้าง แต่งานอนุรักษ์จะทำได้มากกว่า แต่ถึงยังไงมันก็โยงอยู่กับการพัฒนาชาวบ้านด้วย ถ้าไม่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจชาวบ้าน เขาก็จะทำลายป่า

- อนุรักษ์ป่าได้ตามที่หวังไหม

ได้ตามสมควร ตอนนี้ในส่วนของชาวบ้านไม่ค่อยเป็นปัญหา คนฆ่าสัตว์ตัดไม้มาจากที่อื่นส่วนใหญ่ ตอนนี้มีตำรวจจากอำเภออื่นซึ่งมีนายทุนหนุนหลัง มายิงหมูป่าในเขตวัด

- ขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ทั้งเขาเลยหรือเปล่า

เฉพาะเขตวัด ๓,๐๐๐ กว่าไร่ รวมพื้นที่ใกล้เคียงด้วยก็เกือบ ๕,๐๐๐ ไร่

- มีไฟป่าก็ต้องไปดับเอง

เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยไปดับเองแล้ว มีชาวบ้านมาช่วย เมื่อก่อนไฟป่าเกิดขึ้นไหนก็ต้องไปดับ ช่วงที่ยังหนุ่มๆ อยู่ก็ตระเวนป่าเป็นระยะ ๆ เจอไฟที่ไหนก็ดับ จะมีบางจุดที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซาก เดี๋ยวนี้คุมได้แล้ว มีชาวบ้าน มีกลุ่มประสานงานช่วยกันลาดตระเวน

- พูดกับชาวบ้านยากไหม ในตอนแรกๆ ที่บอกให้เขาเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่า

สิ่งที่อาตมาทำก็คือ ๑. พระช่วยกันลาดตระเวนเป็นประจำ ๒.พูดชี้แจงขอร้องบ่อย ๆ ชาวบ้านเขาก็เกรงใจพระ ๓. โอกาสที่เขาจะทำเหมือนเดิมมีน้อยลง เขาเลยไม่ค่อยทำ คืออาตมาเอาชาวบ้านมาเป็นแนวร่วม มาช่วยกันลาดตระเวนป่า ทำให้เขารู้สึกหวงแหนป่า อยากรักษาป่า ที่เคยล่าสัตว์ก็เปลี่ยนเป็นมาช่วยดูแล พฤติกรรมก็เริ่มเปลี่ยนไป

- ที่ล่าตอนนี้กลับเป็นตำรวจซะเอง

ตำรวจมีปืน มีอาวุธสงครามด้วย คือตอนนี้มีขบวนการค้าสัตว์ป่าส่งออกนอกที่ใหญ่โตมาก เพราะจีนเป็นแหล่งรับซื้อ และที่เขาต้องการก็คือ นิ่ม เอาไปทำยา กิโลละ๒,๕๐๐ บาท ตัวหนึ่ง ๘ กิโล ก็ ๒ หมื่นแล้ว คนที่เกี่ยวข้องก็ต้องเป็นนายทุนท้องถิ่น แถวขอนแก่นก็มี ตำรวจมาร่วมมือด้วย

- รับมือกับพวกนี้ยังไง

ต้องลาดตระเวน แต่ก็เอาไม่อยู่ ในที่สุดเลยไปร้องเรียนผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯเลยให้ตั้งด่าน จนถึง ๓๐ เมษายนนี้ ไม่รู้หลังจากนั้นจะมาตั้งด่านอีกหรือเปล่า ซึ่งมันก็ช่วยได้ ตำรวจที่ล่ามาจากหลายอำเภอหลายจังหวัด ตำรวจทำอะไรได้สารพัด น่าจะเอาเวลาไปอยู่ที่ชุมนุมนะ จะได้เลิกมาล่าสัตว์แถวนี้

- มีลาดตระเวนแล้วเคยปะหน้ากันบ้างไหม

ไม่ค่อยมี มีแต่เห็นเขายิงปืนตอนกลางคืน แต่ถ้าเป็นชาวบ้านที่มายิงสัตว์ในเขตวัด อาตมาเคยเจออยู่ แต่ระยะหลังซาลงไปเยอะ เหลือแต่ชาวบ้านขี้ดื้ออยู่หลังหนึ่งที่ไม่ยอมเลิก คนอื่นก็เอือมระอา เขาทำร่วมกับตำรวจที่ว่านี่แหละ

- แสดงว่าที่นี่มีสัตว์ป่าเยอะ

หมูป่าเยอะ มีนิ่ม ลิง จงอาง ชะมด เคยติดต่อให้เขามาสำรวจจำนวนสัตว์ทีนี่เหมือนกัน แต่ยังไม่มีใครมาเลย

- วัดป่ามหาวันถึงจะอยู่ไกล แต่ก็มีคนแวะเวียนมาเสมอ

ส่วนใหญ่มาเพื่อปฏิบัติธรรม ที่มาทักทาย พูดคุยนิดหน่อยแล้วไปก็มี

- มีแฟนคลับนักอ่านมาถึงนี่บ้างไหม

ก็มี พวกที่ได้ฟังซีดีธรรมะก็มีมา เป็นซีดีที่คนอื่นเขาทำให้

- ฉันนำชา กาแฟ บ้างไหม

ชา มากกว่า กาแฟ ไม่ค่อยฉัน

- พระอาจารย์เป็นพระป่า แต่บทบาทส่วนใหญ่อยู่ในเมือง

ชีวิตส่วนใหญ่ก็อยู่ในป่านะ แต่ระยะหลังมีงานในเมืองเยอะ และหากมีเหตุการณ์บ้านเมืองที่สำคัญๆ ก็ทิ้งวัดไปนานหน่อย

- วัดป่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างไหม

ตอนนี้ใช้จ่ายกับการก่อสร้างเยอะ แต่งานหลักๆ จริงๆ จะเป็นเรื่องดูแลป่า ใช้ปีหนึ่งหลายแสน

- ได้งบประมาณมาจากไหน

เงินบริจาค มีคนเขาบริจาคให้

- กับกิจกรรม ธรรมยาตรา เป็นมายังไง และส่งผลอย่างไรบ้าง

ธรรมยาตราอาตมาทำมาได้ ๑๐ ปีแล้ว ปีนี้ปีที่ ๑๐ จัดปีละครั้ง ก็ส่งผลต่อคนเดินนะ ถ้าเดินจบก็ได้ประโยชน์เลยนะ บางคนติดใจก็มาเดินอีก เดิน ๔-๕ วันก็เห็นผลแล้ว เดินวันละ ๑๐ กว่ากิโลไม่ยากหรอก คนมาเดินเยอะ จากหลายๆ ที่ นักเรียนก็เยอะ กว่าครึ่งเป็นนักเรียนแถวอีสาน เสาร์-อาทิตย์นี่ ๔๐๐-๕๐๐ คน

- เป้าหมายจริงๆ ของธรรมยาตรา

อย่างแรกคือเป็นการรณรงค์สิ่งแวดล้อม สองคือได้เจริญสติ ฝึกสติว่าเราจะเดินยังไงให้อดทน ให้มีสติ หมายความว่ากายร้อน ใจไม่ร้อน กายเหนื่อย ใจไม่เหนื่อย สติมันจะช่วยตรงนี้ เพราะเหนื่อยหรือไม่มันอยู่ที่ใจ

- พระอาจารย์เคยให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ มาเยอะแล้ว มีเรื่องไหนที่อยากพูด แต่ไม่เคยมีใครถาม

เรื่องบอลสิ สนใจเรื่องฟุตบอล

- อยู่ที่นี่ได้ดูฟุตบอลด้วยหรือ

อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ปกติไม่ได้ดู คือถ้าไม่ได้ฟังโฆษณามันก็ไม่นึกอยากดู

- ต้องมีทีมฟุตบอลในดวงใจ

ถ้าทีมชาติก็ต้องเป็นบราซิล เชียร์มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว สโมสรนี่พูดยากหน่อย คือสมัยก่อนที่หงส์แดง แมนยูดังๆ อาตมาก็จะเชียร์เชลซี เพราะเป็นทีมรองบ่อน แต่ตอนหลังกลายเป็นบิ๊กโฟร์ไปแล้ว ทุกวันนี้ก็เชียร์อยู่บ้าง แต่ไม่ได้เข้มข้นอะไร เพราะดูสไตล์การเล่นก็ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่

- ทำไมพระอาจารย์ถึงชอบดูกีฬาฟุตบอล

ชอบศิลปะการต่อบอล การทำงานเป็นทีมเวิร์ก แต่ความสามารถเฉพาะตัวก็สำคัญ แต่จะให้สวยมันต้องเล่นเป็นทีม มันสอนธรรมะได้ด้วย

- ในเรื่องอะไร

ไม่มีอะไรแน่นอน อย่างนัดชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกปีหนึ่ง บาร์เยิร์น มิวนิคชนะแมนยู ๑ ต่อ ๐ ตลอด ๙๐ นาที แต่ก็ยังแพ้แมนยูได้เลยหลังจากต่อเวลาได้ ๔ นาที แมนยูยิงเข้าไป ๒ ประตูภายใน ๓ นาที อีกปีหนึ่ง เอซี มิลานชิงชนะเลิศกับลิเวอร์พูล ครึ่งแรกมิลานยิงไป ๓-๐ แต่ยังแพ้ คือมันพลิกได้ตลอดเวลา นี่ดูจากข่าวนะ ไม่ได้ดูเอง ถ้าได้ดูก็คงได้บทเรียนอีกเยอะ

- กลางปีนี้จะมีฟุตบอลโลกที่ประเทศแอฟริกาใต้ แอฟริกาใต้จะได้อะไรจากฟุตบอลโลกคราวนี้

ควรจะได้เงินและได้กล่อง แต่ถ้ามองว่าแอฟริกาใต้ยังมีปัญหาการแบ่งแยกผิวอยู่ ก็จะได้ผลในเรื่องของการสมานไมตรีระหว่างคนดำกับคนขาว เพราะว่าเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพรักบี้โลก ปรากฏว่าทีมรองบ่อนอย่างแอฟริกาใต้ฮึดสู้จนมาได้แชมป์โลก ตอนนั้น เนลสัน แมนเดล่า สามารถที่จะทำให้คนดำซึ่งเกลียดรักบี้เพราะเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกผิว มาร่วมกับคนขาวเชียร์ทีมรักบี้ของตัวเองจนชนะ รักบี้โลกคราวนั้นช่วยสมานคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็เหมือนกัน เป็นโอกาสให้คนขาวคนดำสามัคคีกัน และเกิดความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ

- ประเด็นสุดท้ายแล้ว ที่เคยบอกว่าไม่เคยคิดจะบวชตลอดชีวิต วันนี้ยังคิดแบบนั้นอยู่หรือไม่

ไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าเลือกได้ก็อยากบวชไปตลอด แต่คนที่อยู่ในวงการพระเขาจะรู้ว่าไม่มีอะไรแน่นอน บางคนก็สึกเมื่อแก่ เหตุปัจจัยมันก็เยอะ เช่น ป่วย ไม่สบาย หรือปิ๊งใครบางคน หรือสารพัดปัญหา เซ็งชีวิตพระ มันเป็นได้ทั้งนั้น

- คิดจะบวชปฏิบัติธรรมจนหลุดพ้นจากโลกวุ่นวายบ้างไหม

อยาก เคยคิด แต่ยังเป็นห่วงในเรื่องสังคมอยู่

- ยังตัดทางโลกไม่ได้

ยังไม่คิดจะตัด เพราะเรายังอยากช่วยสังคมอยู่

จาก http://visalo.org/columnInterview/SriburapaMag.htm
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.16 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 04 กันยายน 2566 04:35:40