[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
24 เมษายน 2567 13:51:29 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การภาวนาแบบเคลื่อนไหว ธรรมบรรยาย โดย เขมานันทภิกขุ  (อ่าน 1488 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 23 สิงหาคม 2559 01:43:45 »



การภาวนาแบบเคลื่อนไหว ธรรมบรรยาย โดย เขมานันทภิกขุ

ในชั่วโมงบ่ายนี้ ผมอยากจะนำเสนอการภาวนาแบบเคลื่อนไหว โดยทั่วไปนั้นเราจะคุ้นเคยกับรูปแบบที่นั่งนิ่ง หลับตา แล้วสะกดตัวเองด้วยลมปราณ ลมประณีตก็เข้าถึงความสงบระงับ หรืออาจจะเข้าถึงระดับประสบการณ์พิเศษ เกิดปีติซาบซึ้งน้ำตาไหลก็ได้ แต่สิ่งที่ผมอยากจะเรียนให้ทราบก็คือ วิธีนิ่งสงบ สะกดจิตตัวเองให้ดื่มด่ำกับเพทนาการอันประณีตนั้น หาใช่คำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้าไม่ นับตั้งแต่เริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์ สี่พันหรือห้าพันปีเศษที่แล้วมา มีหลักฐานทางด้านโบราณคดี เช่น รูปประติมากรรมของชาวเมโสโปเตเมียเป็นรูปนักพรตกำลังหลับตาพริ้มแน่นิ่งดื่มด่ำในความสงบ วัฒนธรรมแห่งการสะกดจิตตัวเองให้มีประสบการณ์พิเศษ เป็นความสงบระงับประณีตนั้น เป็นอยู่ก่อนสมัยพุทธกาลอย่างน้อยที่สุดสองสามพันปี ร่องรอยหลักฐานในพระไตรปิฎกก็คือ ครูสองท่านของพระพุทธเจ้าที่เป็นนักพรต อุทกดาบสและอาฬารดาบส ซึ่งประชาชนร่วมสมัยกับท่านถือว่าเป็นพระอรหันต์ และเป็นเลิศที่สุดในบรรดาดาบสหรือฤๅษีสมัยนั้น อันพระพุทธเจ้าสมัยที่ยังแสวงหาพระโพธิญาณอยู่ถือว่าท่านเป็นครู คำถามก็ผุดขึ้นในใจของเราแล้วว่า ถ้าวิถีทางการสะกดจิตตัวเองให้สงบระงับประณีตเช่นนั้นเป็นคำตอบ ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ทำต่อจนถึงที่สุด เมื่อไปเรียนกับดาบสทั้งสองแล้วพระองค์กลับปลีกตัวไป

เรามาทบทวนว่าสิ่งซึ่งทำให้เรามานั่งรายล้อมกันอยู่ใต้ร่มไม้ที่อารามชื่อศานติ-ไมตรีนี้ เพราะพระพุทธเจ้าทำให้เรามาที่นี่ ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจต่อพุทธประวัติบางตอน อันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลการภาวนาของเรา ตามคัมภีร์ฝ่ายมหายานระบุว่า ในขณะที่เจ้าชายกำลังเพลิดเพลินกับชีวิต ทรงได้ยินเสียงเพลงของนักร้องร้องรำพันถึงแผ่นดินซึ่งเลิศกว่า ทำให้พระองค์ท่านสะดุดใจ และเป็นสาเหตุให้ออกแสวงหาสิ่งที่เลิศกว่า ชีวิตที่ดีกว่านี้ ผมว่าประเด็นนี้สำคัญ ถ้าเรามีชีวิตที่ค่อนข้างสับสนและทุกข์ เราจะเริ่มดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ดีกว่านี้ สังคมที่ดีกว่านี้ วิถีชีวิตที่ดีกว่านี้ วัฒนธรรมที่ดีกว่านี้ ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากกว่านี้ เราแสวงหาสิ่งที่ดีกว่านี้เรื่อยๆไป เจ้าชายจึงออกผนวช ผู้ที่เสียใจมากที่สุดก็คือพระบิดา ผู้คาดหมายจะให้เจ้าชายเป็นพระราชาสืบต่ออำนาจราชสมบัติ และอาจจะสอดคล้องกับคำพยากรณ์ของโหร เพื่อที่ท่านจะได้เป็นพระจักรพรรดิครองโลก นอกจากนั้นก็พระบรมญาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่รักใคร่พระองค์ เราอาจจะมองว่าเจ้าชายทรงออกผนวชเพราะความหน่ายแหนงโลกย์และไม่รับผิดชอบต่อราชสมบัติ แต่แท้จริงเพราะต้องการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า บางพุทธประวัติที่มีมุมมองแคบๆว่าเจ้าชายเบื่อหน่ายกามารมณ์ ซึ่งผิดพลาดคลาดเคลื่อน การมองว่าเบื่อโลกแล้วหนีภรรยาทิ้งลูกไปบวช เป็นการตีความที่แคบและผิดพลาด จะอย่างไรก็ตาม พระบิดา พระมารดาเลี้ยง-ปชาบดีโคตมี ต่างโศกเศร้าอย่างสุดซึ้ง ต่อมาท่านไปหาครูสองคนดังที่เล่าแล้ว ท่านไปเรียนจนกระทั่งว่าสามารถทำจิตให้ระงับสงบเท่ากับครู แต่แล้วเจ้าชายผู้ช่างสังเกตนั้นได้พบว่า ตราบใดที่มีการกระทำเช่นนั้นอยู่ ความสงบระงับจึงมีอยู่ เมื่อเลิกกระทำ ความฟุ้งซ่านก็เกิดขึ้น ดังนั้นเป็นการเล่นเอาเถิดกับความสงบของตัวเอง ซึ่งในกาลต่อมา อาจารย์รุ่นหลังๆผู้จัดเจนในเรื่องการทำสมาธิได้เปรียบเทียบการกระทำเช่นนั้นว่าเหมือนดังศิลาทับหญ้า หญ้างอกไม่ขึ้นเพราะเอาหินไปทับไว้ แต่พอยกหินออก หญ้าก็งอกงามเหมือนเดิม กิเลส อาสวะยังไม่ขาดจากสันดาน เพียงแต่สะกดไว้ด้วยพลังสมาธิ เมื่อเจ้าชายเห็นนิมิตอันนั้นแล้วท่านกล่าวคำอำลาอย่างสุภาพ เพราะท่านเองก็ไม่มีคำตอบ ได้ค้นพบเพียงแต่ว่าอาการสงบระงับนั้นเป็นสิ่งชั่วแล่น เหมือนกับเรามาวัด มานั่งนิ่งสงบก็สบายดี แต่พอกลับบ้านก็วุ่นวายเหมือนเดิมหรือมากไปกว่านั้น นักภาวนาอยู่ในวัดก็สงบ จิตใจเยือกเย็น ครั้นกลับบ้านก็อาจทะเลาะเบาะแว้ง รุนแรงต่อคนใกล้ชิดได้ มันพิสูจน์ว่า การสงบระงับที่เราทำขึ้นชั่วแล่น เหมือนศิลาทับหญ้านั้นไม่ใช่ของจริง ไม่ว่าเราสงบลึกเพียงใด เห็นนิมิต เห็นแสงสว่าง เห็นองค์พระพุทธรูป เห็นองค์พระพุทธเจ้าเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อกระทบอารมณ์ก็หาละโทสะ โมหะได้ไม่ เมื่อเจ้าชายสังเกตเห็นนิมิตอันนี้แล้วก็เข้าไปขออำลาอย่างสุภาพ ต่อมาท่านไปทรมานตนอย่างแสนสาหัส ก็ไม่มีคำตอบ แต่อุปมาอันหนึ่งปรากฏขึ้นจากการได้ยินครูดนตรีสอนศิษย์ คล้ายๆกับเรื่องหญิงนักร้องพรรณนาถึงแผ่นดินที่เลิศกว่า ชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่ในคัมภีร์ฝ่ายบ้านเราบอกว่า พระอินทร์มาดีดพิณสามสาย สายที่ตึงเกินไปก็ขาด ฟังไม่ไพเราะ หย่อนก็ไม่ไพเราะ ขึงพอดีๆ ถ้าเป็นนักดนตรีจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ว่า ขึงพอดีนั้นไพเราะอยู่ในตัวมัน พระพุทธเจ้าท่านเห็นนิมิตนี้ก็หันมาเสวยพระกระยาหาร ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าของนางสุชาดา เสวยอาหารแล้วก็มีกำลัง ลอยถาดเสี่ยงพระบารมีแล้วเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชรา แล้วเริ่มปฏิบัติอีกแนวทางหนึ่ง ส่วนแนวทางใหม่จะเป็นอะไรนั้น เราจะศึกษากันตลอดในสัปดาห์ที่เราใช้ชีวิตร่วมกัน ณ ที่นี้

เหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จข้ามเนรัญชราหลังจากลอยถาดเสี่ยงบารมีแล้ว เป็นรหัสสำคัญที่สุดในการภาวนา นั่นคือการทวนกระแสอารมณ์ และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับใต้ต้นศรีมหาโพธิ มรรคแห่งพุทธธรรมที่แท้จริงเริ่มต้นที่นั่น

๓๐๐ ปีหลังพุทธกาล พระเจ้าอโศกมหาราชได้รับสั่งให้ช่างแกะสลักแท่นหินไว้ใต้ต้นศรีมหาโพธิ เรียกว่า “แท่นวัชรอาสน์” ไม่ใช่ที่นั่งของพระพุทธเจ้า เพราะเราทราบดีว่าคืนวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น พระพุทธเจ้านั่งบนฟ่อนหญ้าคา ซึ่งนายโสตถิยพราหมณ์ถวาย ไม่ใช่แท่นหินสลักที่มีลวดลาย วัชรอาสน์คงหมายถึงสติปัฏฐาน ๔ หมายความว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะในรูปของนักบวชขึ้นนั่งเหนือแท่นสติปัฏฐานแล้ว การตรัสรู้อันยิ่งใหญ่ก็เกิดขึ้น และในคืนนั้นเอง มารก็ทดสอบอย่างรุนแรงที่สุด นี่คือเหตุการณ์ย่อๆ ของพุทธประวัติในตอนสำคัญ

ตลอดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ เราจะใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อปฏิบัติกิจภาวนาบนฐานการเคลื่อนไหว ไม่ใช่บนฐานการนิ่ง การนิ่ง ที่สุดของมันก็คือความสงบ และความสงบเกินสงบนี้ไม่มี ความสงบคือเพียงสงบ ในความสงบนั้นเป็นไปได้ที่ผู้ภาวนาค่อยๆสูญเสียความรู้สึกตัว ความตื่นตัว แต่เราจะตื่น เราจะปฏิบัติปลุกเร้าธาตุรู้ให้ตื่นขึ้น แล้วความสงบอีกแบบหนึ่งจะปรากฏ คือสงบด้วยอำนาจของความรู้ตัว

ต่อแต่นี้ผมจะสาธิตการเคลื่อนไหวด้วยมือและด้วยเท้า ไม่ใช่ฟ้อนรำ เราจะใช้อิริยาบถทั้งสี่ คือ เดิน ยืน นั่ง และนอน สำหรับนอนนั้น บางท่านอาจจะรู้สึกสงสัย เพราะไม่เคยได้ยินเรื่องการนอนสมาธิ ที่จริงปฏิบัติได้ สมาธินั้นไม่เกี่ยวกับท่าทาง ไม่ว่าอิริยาบถใด สมาธิเกิดได้เสมอ ขณะที่เดินอยู่ก็เป็นสมาธิได้ ขณะที่นอน นั่ง กินอาหาร เราจะใช้อิริยาบถ ๔ อันกลมกลืนนี้ให้ได้ประโยชน์ในทางเร้าธาตุรู้ให้ตื่นตัว มนุษย์เรานั้นนับว่ามีโชควาสนา การได้อัตภาพเป็นมนุษย์นี้เป็นโชคลาภอันประเสริฐ เพราะว่ามีความกลมกลืนในอิริยาบถที่จะก่อให้เกิดสมาธิในการเคลื่อนไหว และเรายังมีโชคลาภอีกชั้นหนึ่งคือ ได้เกิดมาเป็นคนไทย แผ่นดินของพุทธศาสนา พ่อแม่สั่งสอนให้นั่งสมาธิตั้งแต่เด็กๆเรียกว่านั่งขัดตะหมาด ขัดตะหมาดคือขัดสมาธินั่นเอง เรื่องนี้ฝรั่งมังค่า คนต่างวัฒนธรรมจะยืนยันได้ว่า เขายุ่งยากลำบากเพียงใดกว่าจะนั่งราบกับพื้นได้ หัวเข่าห่างจากพื้นเป็นคืบ ขาเขาแข็ง บางคนทำไม่สำเร็จ นั่งไม่ได้เลย ดังนั้นความกลมกลืนของอิริยาบถทั้งสี่ก็ขาดหายไป พวกเรานับว่าโชคดีมาก นั่งได้สบายๆไม่ต้องฝืน เพราะพ่อแม่เคยฝึกปรือให้นั่งกับพื้นมา การนั่งกับพื้นนี่ผมว่ามีความยิ่งใหญ่ในตัวมันเอง หมายความว่า เราปักหลักลงตรงนั้น เราเป็นของแม่ธรณีที่ตรงนั้นแล้ว นั่งลงด้วยความรู้สึกหนักแน่น เมื่อยืนมีอาการเคลื่อนไหว แต่สมาธิเกิดได้ในทุกอิริยาบถ ขณะเดิน แม้ขณะวิ่ง เพราะว่าธาตุรู้ตื่นตัวเต็มที่แล้ว วิ่งก็เกิดสมาธิได้ เอี้ยวตัว กระพริบตา เป็นสมาธิไปหมด แต่ถ้าเราไปฝึกด้วยการนั่งนิ่งหลับตา เราอาจจะมีสมาธิในสิ่งแวดล้อมหนึ่ง แต่ไม่อาจมีสมาธิได้ในทุกๆเหตุการณ์ เพราะฉะนั้นสมาธิที่เกิดภายใต้การควบคุมอิริยาบถนั่งนิ่งหลับตา เกิดความสงบ มีลักษณะจำกัด และเป็นความสงบภายใต้โมหะ สติไม่ตื่น ความรู้ตัวไม่พอ อีกทั้งเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ เช่น ปวดหลัง ง่วงสัปหงก หลับใน อุปสรรคเต็มไปหมดในการทำสมาธิแบบนั่งนิ่ง แม้บางคราวจะสงบลึก เกิดปีติดื่มด่ำก็ตาม แต่ไม่เป็นเช่นนั้นทุกเวลา ส่วนสมาธิแบบเคลื่อนไหวนั้นมีความตื่นตัวปฏิบัติได้ทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกอิริยาบถ บางท่านอาจจะเคยเรียนวิธีเคลื่อนไหวมือสร้างจังหวะมาแล้ว โปรดอย่าเข้าใจว่ามันเป็นของสำนักนั้นสำนักนี้ มันไม่สำคัญเลย สาระสำคัญคือว่า เมื่อเราเคลื่อนมือเป็นจังหวะจนกระทั่งความรู้สึกตัวมันตื่น เราก็สามารถทิ้งรูปแบบนั้นได้ เพราะเมื่อธาตุรู้ตื่นแล้วมันไม่ต้องการรูปแบบอีกต่อไป โดยปกติคนเราก็เคลื่อนไหวกันอยู่แล้ว เดิน ยืน นั่ง และนอน เช่น ในครัว ในห้องน้ำ บนถนน ในสำนักงาน ถ้าว่าสมาธิที่เกิดจากการเคลื่อนไหวติดตั้งขึ้นดีแล้ว เราจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล นี่ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อแต่ประการใด ในขณะที่เราเดินไปรับโทรศัพท์ ถ้าคนมีสติ เจริญสติดีแล้ว มันเป็นการรับข่าวสารทางโทรศัพท์ด้วย และเป็นการภาวนาปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัวเอง หรือขณะกำลังผัดข้าวอยู่ กำลังปรุงอาหารอยู่ กำลังใช้เครื่องมือ เราสามารถประยุกต์ใช้ได้เสมอไป ในบรรดาท่วงท่าของการเคลื่อนไหวนั้นแบ่งเป็นสองประเภท ประเภทที่หนึ่งเป็นไปเพื่อทำความระงับใจชั่วครู่ ในที่นี้ผมจะเรียกชื่อว่าการเคลื่อนแบบมุทรา การเคลื่อนไหวแบบมุทรานั้นจะให้กลมกลืนก่อน เพราะว่าในชีวิตประจำวันของเรา เรามักมีความละเหี่ยอ่อนโหย เพลีย น้อยใจคนนั้นมา ทะเลาะกับคนนี้มา ไม่พร้อมที่จะเจริญสติ ดังนั้นอาศัยท่วงท่ามุทราซึ่งมีความอ่อนโยนนอบน้อมและเป็นไปเพื่อความรักในตัวเอง เป็นการทำให้เกิดความสงบสุขชั่วคราวด้วยกรรมวิธีเคลื่อนไหวมือ ส่วนรูปแบบที่สองนั้นเป็นการเคลื่อนไหวสร้างจังหวะแบบตรง ยกมือขึ้นตรงๆอย่างนี้ สร้างจังหวะ จังหวะ ๑ จังหวะ ๒ ต่อไปนี้ผมจะเคลื่อนไหวเป็นจังหวะให้ดูก่อนเพราะเรียนง่ายและไว ส่วนมุทรานั้นซับซ้อน แต่ถ้าจำได้ทั้งสองก็สามารถทำได้สลับกัน ตลอด ๖-๗ วันที่อยู่ที่นี่ ผมเชื่อว่าจะก่อเกิดผลดีกับคนที่ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง

ในการปฏิบัติธรรมะนั้น เรามักจะได้ยินว่าต้องเรียนทฤษฎีก่อน คือปริยัติ หลักธรรมกว้างๆ แล้วก็โน้มปฏิบัติตามหลักนั้น แต่ผมเชื่อว่าคนไทยชาวพุทธส่วนใหญ่คุ้นเคยกับธรรมะดีพอควร ถึงไม่รู้มาก แต่ก็รู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องความทุกข์อะไรนี่ พอรู้ รู้ดีกว่าชาวต่างชาติต่างวัฒนธรรม ดังนั้นผมมีทัศนะว่า แทนที่จะเริ่มจากทฤษฎีไปสู่ภาคปฏิบัติ ผมกลับเห็นว่า จากภาคปฏิบัติไปสู่ภาคทฤษฎี ถ้าถามผมว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ผมก็จะตอบว่าเหมือนเล่นดนตรี ถ้าเรารักจะเป็นนักดนตรีจริงๆนั้น เราต้องไม่เริ่มที่ทฤษฎีดนตรี หากเริ่มที่ทฤษฎีดนตรีก็กลายเป็นนักวิจารณ์ดนตรีไป การเป็นนักดนตรีนั้น เราไม่เริ่มต้นตรงเพลง เราเริ่มต้นตรงโน้ต ดีดฟังเสียงมันทีละเส้น ทีละเสียง ไม่ช้าไม่นานก็จะเล่นดนตรีเป็นและเป็นผู้เข้าถึงดนตรี

ภาระรับผิดชอบของเราตลอด ๕ ถึง ๖ วันนี้ อยู่ที่เราต้องโน้มนำธรรมะนั้นเข้าสู่ภาคปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยว อย่างเอาจริง แต่ต้องไม่เครียด ศิลปะของการเล่นดนตรี หรือการทำกิจกรรมการงานที่สำคัญอันหนึ่งอันใดคือ การงานยิ่งสลักสำคัญ เรายิ่งต้องไม่เคร่งเครียด แต่ว่าต้องทำจริง ปัญหาที่สลับซับซ้อนแก้ไม่ได้ด้วยจิตที่เคร่งเครียดและยุ่งยาก ปัญหาที่สลับซับซ้อนนั้นแก้ได้ด้วยจิตที่ง่ายดายเป็นปกติตามธรรมชาติ ถ้าบางท่านที่เข้าร่วมภาวนาสงสัยในข้อธรรมะ ขอให้ระงับไว้ก่อน อย่าเพิ่งไถ่ถาม เรียนรู้การปฏิบัติจริงก่อน แล้วบางทีข้อสงสัยนั้นตกไปเองโดยไม่จำเป็นต้องมีใครตอบ ทั้งนี้เพราะปัญญามันเกิด มีการรู้การเห็นตามเป็นจริงโดยไม่ต้องเชื่อใคร เช่น ปัญหาเรื่องภพชาติ เมื่อสติตื่นเต็มที่แล้ว ปัญหาเหล่านั้นจะตกไป ชีวิตหลังตายจะมีหรือไม่มีไม่สำคัญ สำคัญตรงทุกข์สิ้นไปกี่มากน้อย นี่สำคัญมาก แก่นพุทธศาสน์อยู่ตรงนี้ ไม่จำเป็นต้องแสวงหาคำตอบล่วงหน้าต่อปัญหาอื่นใด แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ตอบ บางทีท่านปัดเลย ถ้าตอบ บางทีท่านตอบเพื่อปลอบใจต่อผู้จับสาระสำคัญของชีวิตยังไม่ได้ เช่น ถ้าชาติหน้ามีจริง ถ้าเราปฏิบัติธรรมดีเราคงเกิดดี ถ้าชาติหน้าไม่มี นั่นดีแล้วไม่ต้องเกิดอีก เพราะการเกิดย่อมเป็นทุกข์ร่ำไป อะไรเหล่านี้เป็นเครื่องปลอบประโลมใจ

ต่อไปนี้ก็สังเกตท่าเคลื่อนไหวของผม นั่งขัดตะหมาด ท่าดอกบัวก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าท่าดอกบัว ท่าเพชร ขัดตะหมาดเพชร บางคนนั่งท่านี้ไม่ได้ ก็นั่งในท่าสบายๆ คว่ำมือลงบนหัวเข่าทั้งสอง หลังตรง เมื่อกระดูกสันหลังตั้งสนิทกันทุกข้อแล้ว สภาพตื่นในตัวเองมันจะเริ่มทำงาน ถ้าเรานั่งงอๆ เดี๋ยวข้างในมันก็ม่อยกระรอก เรานั่งตรง แต่อย่าถึงกับให้ดัดจนกลายเป็นพระพุทธรูป นั่งสบายๆ แต่ให้หลังมันตรง พลิกสันมือขวาตั้งขึ้น แล้วให้เอาสมปฤดีสัมปชัญญะเข้าดูการเคลื่อนไหวนั้น มีสมปฤดีในการเคลื่อนไหวนั้น สมปฤดีคือความรู้สึกตัวของเรา พลิกให้รู้อันนั้น เราเริ่มเหมือนกับเล่นโน้ต โด เร มี ฟา ซอล เรื่องเล็กๆ แต่ว่าจะไปสู่เรื่องใหญ่ เพราะว่าการเอาสมปฤดีสัมปชัญญะเข้าดูนี่เป็นอุบายที่จะดักจิตให้อยู่ ร่างกายเรานั่งตรงนี้ไม่มีใครล่ามโซ่มือโซ่เท้าของเรา แต่จิตใจเราหวิวว่อนคิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลา นี่เป็นอุบายที่จะดักจิตให้อยู่ ดักให้มันอยู่ ไม่ใช่อยู่ที่วัดศานติ-ไมตรี แต่อยู่ในตัวมันเอง ด้วยการกระทำของมันเอง สมมติว่ามีคนมายกมือผมให้ตั้งขึ้น บางทีจิตผมคิดไปได้ แต่ถ้ายกเองมันดึงกัน ไม่ช้าไม่นานจิตก็ตกกลับเข้าที่เข้าทาง เพราะเราทำเอง พลิกสันมือขวาตั้งขึ้น รู้ เอาสัมปชัญญะเข้าจับ อย่าใช้ตาจ้อง ไม่งั้นจะมึนหัวมึนหน้ามึนตา เกิดจุกเสียดขึ้นมาเป็นอุปสรรค ทำเล่นๆครับ แต่ว่าทำจริงๆ เอาจริงแต่เล่นๆ เอาสัมปชัญญะเข้ามาจับ ขณะที่พลิกให้รู้ หยุดให้รู้ ยกมือขวาขึ้นให้รู้เฉยๆ เป็นท่อนไปอย่างนี้ เอามือขวามาปิดที่หน้าท้อง นี่อีกท่อนหนึ่ง ขณะที่เลื่อนมาปิดให้มีสัมปชัญญะรู้ รู้อะไร รู้อาการเคลื่อนไหวนั้น รู้ต่ออาการนั้น อาการอื่นมีมาก เสียงจักจั่นก็เป็นอาการทางหู เราอย่าไปสนใจอันนั้นก่อน แต่ว่าเมื่อสติตื่นเต็มที่แล้ว ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ปลุกเราให้ตื่น ทุกสิ่งใช้ได้หมด ต่อให้เสียงรถยนต์ เสียงหวูด เสียงเรือ เสียงหมาเห่า มันเป็นสักแต่ว่าเสียง เป็นสมาธิไปหมดถ้าปฏิบัติแบบเคลื่อนไหวนี้ ซึ่งถ้าปฏิบัตินั่งนิ่งนี่พอขาตกมันก็หมดแล้ว ขณะที่พลิกสันมือขวาตั้งขึ้นนั้น ให้เอาสัมปชัญญะมารู้สึกต่อการเคลื่อนไหว ไม่ใช่ไปเพ่งดูมือ รู้สึกต่อการเคลื่อนไหว หยุดก็รู้ ยกขึ้น เอามือขวาปิดหน้าท้อง พลิกสันมือซ้ายตั้งขึ้น ยกขึ้น เอามาปิดทับมือขวา ลูบมือขวาถึงหลุมคอ รู้ เอามือขวาออกไป รู้ ลดมือขวาลงบนหัวเข่า รู้ตัว คว่ำมือ เอามือซ้ายขึ้นหลุมคอ เอามือซ้ายออกไป ลดมือซ้ายลงบนหัวเข่า คว่ำ เท่านี้ครับ สมมติเราทำรู้เป็นจังหวะทุกขั้นทุกตอน เราสามารถใช้สัมปชัญญะเข้าจับได้ต่อการเคลื่อนไหวนั้นๆ ดูคล้ายๆ ไม่มีอานิสงส์ใดๆ เลย แต่อุปมาเหมือนเราหัดขับรถยนต์ เรานั่งหลังพวงมาลัยและสตาร์ทบ่อยๆ เข้าเกียร์บ่อยๆ เคลื่อนรถบ่อยๆ ทำซ้ำอย่างนั้นสักเดือนสองเดือนกลายเป็นคนขับเป็น เมื่อตอนเริ่มขับนั้นลำบากมาก เพราะต้องรู้จักหน้าที่การงานของเกียร์ ของคลัตช์ ของเบรก ถอยหน้าถอยหลัง ยุ่งยาก บางคนเบื่อไปเลย แต่ขอให้เราทำเรื่อยๆ ไม่ช้าไม่นานมันจะกลายเป็นสัญชาตญาณ ดังนักขับรถที่ดีนั้น เมื่อถึงระดับขับเป็นนี่เป็นสัญชาติญาณแล้ว หมายความว่า เขาไม่ได้สนใจส่วนละเอียดปลีกย่อยแล้ว พอรถเสียการทรงตัวจะรู้ สิ่งอะไรผิดปกติจะรู้ ซึ่งในลำดับต่อไปนั้น เมื่อเรามีสติแทบทุกครั้งที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนมือนั้น ต่อไปมันจะจับการเคลื่อนไหวที่เปลือกตา ทีนี้มันจะทำหน้าที่เอง เพราะตาเรากะพริบอยู่ มันเหมือนการเคลื่อนมือหรือเอี้ยวตัว มันจะเริ่มทำกิจอันนี้ พอเอี้ยวตัว มันจะรู้สึกตัวทันที เอื้อมมือจับหูโทรศัพท์ แทนที่จะรู้สึกโกรธ ระแวง หรือตกใจ มันไม่เป็นอย่างนั้น มันมาอยู่ที่การเคลื่อนไหวนี้ หรือถ้ามากกว่านั้นถึงจุดที่มุตโตแตก (break through) มันจะเห็นความคิด ความคิดซึ่งรายล้อมตัวเราอยู่ทุกขณะ ความคิดที่ควบคุมเราอยู่ตลอดเวลา ความคิดทำให้เราเดินไปด่าคน และความทุกข์ยากทั้งหมดเกิดจากการที่มนุษย์เราไม่รู้เท่าทันความคิดของตัวเอง เวลาเกลียดใครเกลียดหนัก เพราะมันคิดซ้ำๆ จนกระทั่งคนคนนั้นไม่มีดีเลยสำหรับเรา ที่จริงเขาอาจจะมีดีอยู่ด้วย ความคิดได้กลายเป็นนายเหนือชีวิต เราเห็นได้จากบางคืนที่เรานอนไม่หลับ เราอยากจะเลิกคิด มันไม่ยอมเรา มันข่มขี่เรา ผลขั้นนตอนสำคัญที่สุดในการภาวนาแบบเคลื่อนไหวคือ การเห็นความคิดก่อรูปขึ้นอย่างทันท่วงที ถ้าเราไม่ทัน มันก็เล่นงานเรา

ในกรณีผมนั่งอยู่ตรงนี้ ผมยกมือ ทุกท่านเห็น ถ้าไม่หลับหรือตาดีก็จะเห็น แต่ผมแกล้งนั่งนิ่ง คนที่อยู่ในระยะใกล้ก็เห็นว่าผมกะพริบตา คราวนี้ผมแกล้งไม่กะพริบตา คนนั่งใกล้ก็จะเห็นทรวงอกของผมกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง แสดงว่าผมยังเป็นอยู่ แต่ถ้าผมคิดอยู่นี่ ไม่มีมนุษย์คนไหนเห็นเลย ถ้าผมไม่เห็นเสียอีกคน ในโลกนี้จะไม่มีมนุษย์คนไหนเห็นอีกเลย ความคิดมันเคลื่อนไหวอยู่ลึกหลายชั้น ความเกลียด ความรัก ความแบ่งแยก ความหมิ่นแคลน ความริษยา ก่อรูปที่นั่น ถ้าไม่ทันมัน มนุษย์จะไม่มีวันอิสระเลย ความคิดเป็นห่วงโซ่ที่ร้อยรัดจิตใจของมนุษย์ เราปรารถนาอิสรภาพ แต่อิสรภาพมีไม่ได้ด้วยความคิด เรียกว่าความคิดเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ที่ให้ทั้งคุณทั้งโทษอย่างลึกซึ้งที่สุด วัยเด็กนักเรียนสาวๆหนุ่มๆ เป็นวัยที่เหมือนดอกไม้แรกแย้ม ทำไมแกไปกระโดดตึกตายเมื่อผิดหวังสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่เพราะขาดความยับยั้งชั่งใจแล้วตกเป็นทาสความคิดดอกหรือ แต่ถ้าสติตื่นดีแล้ว ความยับยั้งชั่งใจมีอยู่ วิจารณญาณมีขึ้น มันท้าความคิดได้เลย ท้าความคิดให้นำไป มันไม่นำไปไหนได้ภายใต้ความรู้ตัว ซ้ำก่อเกิดปัญญา เข้าใจทุกข์และอาการบรรเทาแห่งทุกข์ได้ดี ดังนั้นจุดเปลี่ยนแปลงหักเหของเรื่องคือว่า เราจะเห็นข้อต่อของความคิด และถ้าความคิดหักสะบั้นลงตรงนั้น เราจะประจักษ์แจ้งสภาพเหนือคิดทันที ผมนั่งอยู่ตรงนี้ หันหน้าไปทางนี้โดยบังเอิญ โดยจังหวะของมันเห็นต้นข้าหลวงหลังลาย เมื่อตาผมเห็นข้าหลวงหลังลายนั่น ทันใดมันคิดวูบไปถึงสมัยอยู่สวนโมกข์ ความคิดมันโลดแล่นไป คิดถึงวันฝนตกหนักออกไปหาข้าหลวงหลังลายมาปลูกกัน แล้วก็คิดต่อยืดๆลืมตัวไปตลอดเวลา ทั้งที่ตามันเห็นอันนี้นิดเดียว หรือผมหันไปดูทางกระดานแสดงภาพอันนั้น เห็นสีเหลือง ใจผมอาจจะอาวรณ์กับจีวรก็ได้ เพราะครั้งหนึ่งเคยบวช ตาเห็นนิดเดียวมันไป ไป ไป ไม่รู้จักจบ แต่ถ้าสติตื่นทัน พอเห็นปั๊บมันจะหยุดขาดออกทันที ดังนั้นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่หนึ่งนั้นจะมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการสกัดกั้นความคิดปรุงแต่ง เมื่อยกเคลื่อนไปอย่างนี้เราอาจจะยังคิดฟุ้งซ่าน แต่ไม่ช้าไม่นานจิตก็ตกกลับมาที่นี่ หมายความว่า มือที่เคลื่อนไหวได้เคลียวจิตซึ่งมักจะหวิวว่อนไปข้างนอกตกมาที่ตัวเอง ถามว่าเมื่อมันตกมาที่ตัวเองแล้วนี่ เรารู้ได้อย่างไร เรารู้ได้ เรารู้สึกตัวได้ว่าอันนี้จิตมันอยู่ตัวแล้ว จิตกลับบ้านแล้ว เหมือนกับเราเที่ยวต่างประเทศนานๆ พอเครื่องบินถึงดอนเมือง พอกลับถึงบ้านก็รู้ว่าถึง เข้าไปในบ้านก็รู้ชัดว่านี่บ้านที่เราเคยอยู่ ความพลัดพรากของจิตและกายเป็นความสับสนอยู่ในตัวมัน กายนั่งตรงนี้ จิตคิด คิดไปโน่น คิดไปนี่ เข้าข่ายการฝันเพ้อพก ฝันกลางวันของมนุษย์เรา เรียนรู้บทเรียนอันนี้ บทเรียนเบื้องต้นอันนี้ ผมไม่อยากใช้คำว่าเทคนิคการฝึกจิต แต่เป็นยุทธศาสตร์ในการชิงพื้นที่ชีวิตด้วยความรู้สึกตัว แทนที่จะให้ความคิดครอบงำอำพราง เมื่อปฏิบัติอย่างนี้จนคุ้นดี สติจะก่อตัวแน่นเข้าเหมือนสะสมน้ำทีละหยด ทีละหยด ธรรมดาน้ำหนึ่งหยดทำอะไรไม่ได้มาก แม้มันมีคุณสมบัติของน้ำแท้ๆ ดื่มก็ไม่หายหิว รดต้นไม้ก็ไม่พอเพียง ล้างมือก็ไม่ได้ แต่เมื่อน้ำสะสมตัวหลายหยดจนเป็นน้ำหนึ่งขัน การงานเพิ่มขึ้น ประโยชน์มันเริ่มทวีคูณ เป็นถังหนึ่ง เป็นโอ่งหนึ่ง เป็นทะเล เป็นมหาสมุทรในที่สุด มหาสมุทรแห่งความรู้สึกตัวนั้นอยู่ในเรา แต่เราต้องเริ่มทีละหยด ทุกครั้งที่ยกมือเรารู้ตัว นี่คือน้ำหนึ่งหยด ความรู้สึกตัวที่บริสุทธิ์นั่นเองที่อุปมาด้วยน้ำ เมื่อมีปริมาณที่พอเพียง มันจะแสดงพลานุภาพออกมา เช่น เมื่อความรู้สึกตัวต่อเนื่องถึงระดับหนึ่ง มันจะกลายเป็นพลังสมาธิ ต่อจากนั้นจะมีการเห็นการมาการไปของความคิด นิมิตต่างๆ อารมณ์ต่างๆ สุข ทุกข์ ที่สุดทุกข์ก็อยู่ในกระบวนการนั้น หมายความว่า ในขณะนั้น ในระดับนั้น มันพัฒนาจนถึงระดับปัญญา แท้จริงสติ สมาธิ ปัญญาเป็นกระแสเดียวกัน ไม่อาจแยกจากกันได้ เหมือนน้ำหยดหนึ่ง กับน้ำในห้วย ในหนอง ในคลอง ในบึง ในทะเล มันเป็นน้ำหนึ่งเท่านั้นเอง ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ แต่อย่าจ้อง ตาลืมเข้าไว้ให้แสงสว่างเข้าไปในตา แต่อย่าจ้องมองจำเพาะอันใดอันหนึ่ง ถ้าเราหลับตาจะเพลี่ยงพล้ำง่าย มันจะง่วงนอนลืมตาเข้าไว้ เพราะการเห็นของจริงนั้นง่ายที่จะประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา เราไม่สามารถไปหลับตาในโรงงานที่เราทำงานได้ ข้ามถนนก็ข้ามไม่ได้ด้วยการหลับตา ต้องลืมตาให้แสงสว่างเข้าไป ยกมือขึ้นให้มีจังหวะ พลิกซ้ายตั้งขึ้น ยกซ้ายขึ้น เอาซ้ายมา ยกมือขวาไปที่หลุมคอ เอามือขวาออกไป ลดลงบนหัวเข่า คว่ำ ยกซ้ายขึ้น เอาออกไป ลดลง คว่ำ ทำเท่านี้ ดูคล้ายๆเป็นท่วงท่าที่โง่ๆ ผมเองเมื่อตอนเรียนใหม่ๆยังนึกดูแคลนคลางแคลงใจ เอ เราต้องการปัญญา มานั่งยกมือไปมาจะได้อะไร แต่ว่าอันนี้เป็นเคล็ดที่สำคัญ เป็นยุทธศาสตร์ที่จะเข้าให้ถึงความรู้สึกตัวจริงๆล้วนๆ ไม่มีอะไรเจือปน แทนที่จะนั่งคิดธรรมะอยู่ เมื่อปฏิบัติไปมากๆแล้วจะค่อยๆชำนาญเอง การเคลื่อนไหวที่เป็นจังหวะนั้นมีบทบาทสำคัญ พลิกรู้ หยุดก็รู้ สำหรับผมเองอยากจะเล่าให้ฟัง ไม่ใช่คุยโวโอ้อวดภูมิธรรมเพื่ออะไรเลย ขณะที่ผมยกอย่างนี้ ยกมือขึ้น พอหยุดนี่ไม่ใช่เพียงมือหยุด โลกทั้งโลกหยุดกับผมด้วย หยุดความคิดปรุงแต่ง คือหยุดโลกของความคิดปรุงแต่งนั่นเอง ไม่ช้าไม่นาน ความรู้สึกตัวจะปรากฏขึ้น เป็นเรื่องเป็นราว เป็นพลังที่จะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น เนื่องจากมนุษย์เรารู้จักตัวเองน้อยจึงใช้สอยประโยชน์ไม่ถี่ถ้วนและไม่สะอาด แต่เมื่อใดที่เราสามารถค้นพบขุมพลังในตัวเองที่จะแลเห็นอุปสรรคในตัวเองและการก้าวข้ามกองอุปสรรคนั้นๆ ต่อแต่นั้นมหกรรมของการสร้างสรรค์สังคมใหม่จะเป็นจริงขึ้น ยกมืออย่างนี้เรื่อยๆ พอเบื่อหรือปวดไหล่ ยกนานๆเมื่อยหัวไหล่ พลิกมือเล่นๆอย่างนี้ก็ได้ อย่าพลิกสองข้างพร้อมๆกัน อย่างนี้จิตมันจะสับสนขึ้นมา พลิกเล่น คว่ำก็รู้ หงายก็รู้ คว่ำก็รู้ พลิกก็รู้ หรือใช้หัวแม่มือเคลียวกัน นี่เป็นกลอุบายเล็กน้อยเวลานั่ง สมมติว่านั่งฟังผมพูดนี่ เอาหัวแม่มือเคลียวกัน ผูกพันตัวเองไว้กับความรู้สึกแม้เล็กน้อย หรือถ้าคนที่สติดีโดยธรรมชาติแล้ว ใช้จังหวะอาการกะพริบตานี่ได้ เมื่อกะพริบก็รู้ มันจะเงียบเชียบเข้าไปในหัวใจ เวลาเรานั่งในเครื่องบินหรือในรถเมล์ เราจะยกมืออย่างนี้ไม่ได้ เดี๋ยวเพื่อนหาว่าไม่สบาย เราก็ใช้วิธีอย่างนี้ หรือแม้แต่ยีนิ้วเล่น สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้เป็นอุบายที่จะเอาประโยชน์ช่วงชิงห้วงเวลาที่จะเป็นทาสความคิดมาสู่ความรู้สึกตัว เรากำลังมุ่งจะเปลี่ยนฐานจากการถูกความคิดครอบงำมาสู่การเป็นอิสระจากความคิด เรื่องทั้งหมดนี้อยู่ในตัวเรา ดังนั้นในเวลานี้ อย่ามัวสนใจคนอื่นหรือเอาอย่างคนอื่น เห็นคนอื่นทำเราลอกแบบไม่ได้ เพราะว่านี่ไม่ใช่แฟชั่น ไม่ใช่สมัยนิยม เป็นเรื่องของความพยายามที่จะเข้าให้ถึงฐานของการภาวนา ประหนึ่งการเข้าถึงแท่นวัชรอาสน์ คือสติปัฏฐานเพื่อก้าวหน้าทางภาวนาต่อไป

 

ที่มา http://www.dharma-gateway.com

จาก http://totalawake.com/blog/?p=868

http://totalawake.com/blog/?cat=14&paged=2

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ธรรมบรรยาย พุทธวจน 1 (VDO-พระอาจารย์คึกฤทธิ์)
ห้อง วีดีโอ
beam 3 3536 กระทู้ล่าสุด 17 พฤษภาคม 2554 20:00:28
โดย หมีงงในพงหญ้า
ธรรมบรรยาย พุทธวจน โดย พระอาจารย์คึกฤทธ์
เสียงธรรมเทศนา
เรือใบ 0 1487 กระทู้ล่าสุด 03 กุมภาพันธ์ 2556 18:39:55
โดย เรือใบ
” Engaged Buddhism” พุทธศาสนาเพื่อสังคม ธรรมบรรยาย โดย ท่านติช นัท ฮันห์
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 3 2711 กระทู้ล่าสุด 25 กรกฎาคม 2559 14:33:20
โดย มดเอ๊ก
ธรรมบรรยาย โดย ท่าน ติช นัท ฮันห์ ” อำนาจ ๓ ประการเพื่อความสำเร็จ”
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1010 กระทู้ล่าสุด 13 สิงหาคม 2559 21:32:02
โดย มดเอ๊ก
พุทธทาสภิกขุ ปักใต้เมืองตำปรือ ( ธรรมบรรยาย ภาษาใต้)
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
มดเอ๊ก 0 977 กระทู้ล่าสุด 12 มกราคม 2560 08:34:19
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.705 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 28 มีนาคม 2567 19:36:07