[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 18:39:45 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: รายงานพิเศษ : “พุทธทาสฯ” ...ไม่ตายจากพระพุทธศาสนา!!  (อ่าน 1556 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.271 Chrome 50.0.2661.271


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 19 สิงหาคม 2559 23:41:30 »


ท่านพุทธทาสภิกขุ


รายงานพิเศษ : “พุทธทาสฯ” ...ไม่ตายจากพระพุทธศาสนา!!

อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
       
      ในโอกาส 99 ปีชาตกาลท่านอาจารย์พุทธทาส ภิกขุ ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ทางสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี ได้จัดงาน”วันล้ออายุ” ท่านพุทธทาสฯ ขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พ.ค. มีการเดินตามรอยอดีตพุทธทาส ตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นพุทธทาส กระทั่งเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และจัดตั้งสวนโมกขพลารามขึ้น โอกาสนี้ ผู้จัดการออนไลน์ ขอย้อนปูมชีวิตและความคิดที่น่าสนใจของท่านอาจารย์พุทธทาสฯ ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปวงการพระพุทธศาสนา ของไทย เจ้าของหลักธรรมและวลีที่โด่งดัง “จิตว่าง..ว่างจากตัวกู ของกู”



สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี


  ท่านอาจารย์พุทธทาส มีนามเดิมว่า เงื่อม นามสกุล พานิช เกิดเมื่อ วันอาทิตย์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7  ปีมะเมีย วันที่ 27 พ.ค. 2449 บิดา ชื่อ เซี้ยง มารดาชื่อ เคลื่อน มีน้อง สองคน น้องชายชื่อ ยี่เก้ย น้องสาวชื่อ กิมซ้อย บิดาของท่าน มีเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพค้าขายของชำที่ตลาดพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
       
       อิทธิพลที่ท่านพุทธทาสได้รับจากบิดา คือ ความสามารถทางด้าน กวี และ ทางด้านช่างไม้ ส่วนอิทธิพลที่ได้รับจากมารดา คือ ความสนใจ ในการศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง ท่านพุทธทาส มีอุปนิสัยที่เน้นเรื่อง ความประหยัด เรื่องความละเอียดละออในการใช้จ่าย และการทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด และต้องทำให้ดีกว่าครูเสมอท่านได้เรียนหนังสือแค่ชั้น ม.3 แล้วต้องออกมาค้าขายแทนบิดาซึ่งเสียชีวิต พออายุครบ 20 ปี ก็ได้บวชเป็นพระ
       
       ตามคตินิยมของชายไทย ที่วัดโพธาราม อ.ไชยา ได้รับฉายาว่า “อินทปัญโญ แปลว่า ผู้มีปัญญา อันยิ่งใหญ่ เดิมท่านพุทธทาสตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณีเพียง 3 เดือน แต่ความสนใจ ความซาบซึ้ง ความรู้สึกเป็นสุข และสนุกในการศึกษา และเทศน์แสดงธรรม ทำให้ท่านไม่อยากสึก เล่ากันว่า เจ้าคณะอำเภอ เคยถามท่าน ขณะที่เป็น พระเงื่อม ว่า มีความคิดเห็น อย่างไร ในการใช้ชีวิต ท่านตอบว่า "ผมคิดว่า จะใช้ชีวิต ให้เป็น ประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด" "..แต่ถ้ายี่เก้ยจะบวชผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านค้าขาย" ท่านเจ้าคณะอำเภอ ก็เลยไปคุย กับโยมแม่ของพระเงื่อมหรือท่านพุทธทาสว่า ท่านควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนยี่เก้ย น้องชายของท่านนั้น ไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะมีชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว คือ เป็นคนมักน้อย สันโดษ การกินอยู่ ก็ เรียบง่าย ตัดผม สั้นเกรียนตลอดเวลา นายยี่เก้ยก็เลยไม่ได้บวช ให้พี่ชายบวช แทนมาตลอด ซึ่งภายหลังนายยี่เก้ย ก็คือ “ท่านธรรมทาส” ฆราวาสผู้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทาน ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของสวนโมกขพลาราม
       
       พระเงื่อม ได้เดินทางมาศึกษาธรรมะต่อที่กรุงเทพฯ โดยสอบได้นักธรรมเอก แล้วเรียนภาษาบาลี จนสอบได้ เปรียญ 3 ประโยค ระหว่างที่เรียนเปรียญธรรม 4 อยู่นั้น ด้วยความที่ท่านเป็นคนรักการศึกษา ค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และศึกษาค้นคว้าออกไปจากตำรา ถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอน ธรรมะ ที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจน ความเชื่อที่ผิดๆ ของพุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาที่สอนที่ปฏิบัติกันในเวลานั้น คลาดเคลื่อนไปมากจากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ ท่านจึงตัดสินใจ หันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์ เวลานั้น กลับไชยา เพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติ ตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น โดยร่วมกับนายธรรมทาส และคณะธรรมทาน จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม"สวนโมกขพลาราม" ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2475 จากนั้น ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่า ท่านมาไม่ผิดทางแน่ และได้ประกาศ ใช้ชื่อนาม "พุทธทาส" เพื่อแสดงว่า ให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน ซึ่งท่านเคยบันทึกไว้ว่า “ชีวิตของข้าพเจ้า สละทุกอย่าง มุ่งหมายต่อความสุขนี้ และประกาศเผยแพร่ความสุขนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรดีกว่านี้ ในบรรดาที่มีอยู่ในพุทธศาสนา..."
       
       อุดมคติ ที่หยั่งรากลึกลงแล้วนี้ ทำให้ท่านพุทธทาสสนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือหินยาน แต่ครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนาแบบมหายาน และ ศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ เป็นต้น จากความรอบรู้ที่กว้างขวา และลึกซึ้งนี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์วิธีการสอนและปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติให้สอดคล้องกับพื้นความรู้และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัดชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่า มนุษย์ทุกคน ก็คือ เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ และตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น และหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือ ต้องการให้คน พ้นจากความทุกข์ ท่านจึงได้ตั้งปณิธานในชีวิตไว้ 3 ข้อ คือ
       
       1. ให้พุทธศาสนิกชน หรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน 2. ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา และ 3. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม
       
       แม้ในความพยายามที่จะทำตามปณิธานนี้ จะทำให้บางคนไม่เข้าใจท่าน ไม่ชอบท่าน ด่าว่าท่าน และ กล่าวหาว่าท่านจ้วงจาบพระพุทธศาสนา เป็นคอมมิวนิสต์ หรือรับจ้างคนคริสต์มาทำลายล้างพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่ท่านกลับรับฟังคำวิจารณ์เหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิดในเรื่องเนื้อหาและหลักการ มากกว่าที่จะก่อความขัดแย้งส่วนตัว เพราะท่านมีหลักในการทำงานว่า " พุทธบุตรทุกคนไม่มีกังวลในการ รักษาชื่อเสียง มีกังวลแต่การทำความบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อได้ทำความบริสุทธิ์ มองเห็นชัดเจนใจอยู่แล้วว่า นี่มันบริสุทธิ์ เป็นธรรมแท้ ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เราต้องทำด้วยความพยายามอย่างสุดชีวิต จะมีชื่อเสียงหรือไม่นั้น อย่านึกถึงเลยเป็นอันขาด จะกลายเป็นความเศร้าหมองและหลอกลวงไปไม่มากก็น้อย"
       
       ในที่สุด ท่านก็ได้รับการยอมรับจากวงการคณะสงฆ์ไทย วงการศึกษาของไทย และวงการศึกษาธรรมะของโลก และได้รับการยอมรับให้เป็นเสนาบดีแห่งกองทัพธรรมในยุคหลังกึ่งพุทธกาล
       
       ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก กล่าวถึงบทบาทของท่านพุทธทาสภิกขุต่อวงการพระพุทธศาสนาค่ะว่า ท่านมีคุณูปการในการปฎิรูปพระพุทธ
       ศาสนา ตีความพระไตรปิฎก และถ่ายทอดด้วยภาษาที่เข้าถึงจิตใจปัญญาชน
       
      “ผมคิดว่า พุทธทาสภิกขุท่านมีบทบาทในฐานะนักปฎิรูปพระพุทธศาสนาคนสำคัญ คือ การปฎิรูปพระพุทธศาสนานั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และหลังจากรัชกาลที่ 4 ก่อตั้งนิกายธรรมยุติขึ้นมาแล้ว พระในสายธรรมยุติก็ได้สืบทอดเจตนารมณ์ในการปฎิรูปคำสอนในพระพุทธศาสนา แต่ต่อมาด้วยความใกล้ชิดกับอำนาจ ทำให้บทบาทของพระสายธรรมยุติในการสืบทอดการตีความหรือการปฎิรูปคำสอนอ่อนด้อยลง ในระยะหลังพระสายมหานิกายกลับมีบทบาทเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาถึงยุคของท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านได้ปฎิรูปตีความคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างแตกฉาน อย่างลึกซึ้ง โดยที่ท่านตีความพระไตรปิฎกทั้งหมดเลย และพูดออกมาด้วยภาษาสมัยใหม่ร่วมสมัย เข้าถึงจิตใจของผู้ที่มีการศึกษาและปัญญาชน เพราะฉะนั้นการตีความคำสอนในพระพุทธศาสนาของท่านพุทธทาสนั้น ถือเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญและเป็นคุณูปการที่ท่านมีต่อวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย”
       
       ปัจจุบัน ทุกมหาวิทยาลัยที่มีแผนกสอนวิชาศาสนาสากล ทั้งในยุโรป และอเมริกาเหนือ ล้วนศึกษางานของท่านพุทธทาส ซึ่งหนังสือของท่านกว่า 140 เล่ม ได้รับการแปลเป็น ภาษาอังกฤษ, กว่า 15 เล่ม เป็นภาษาฝรั่งเศส, และอีก 8 เล่ม เป็นภาษาเยอรมัน นอกจากนั้นยังแปลเป็นภาษาจีน อินโดนีเซีย ลาว และ ตากาล็อค อีกด้วย กล่าวได้ว่า ในประวัติศาสตร์ไทย ท่านอาจารย์พุทธทาสมีผลงานที่เป็นหนังสือแปลสู่ต่างประเทศมากที่สุด!
       
       อาจารย์ทวีวัฒน์ กล่าวถึงหลักธรรมคำสอนที่เด่นๆ ของท่านพุทธทาสภิกขุค่ะว่า
       
      “หลักธรรมที่เด่นๆ ก็จะมีเรื่องของหลัก ”อนัตตา” ซึ่งท่านมักจะขอยืมคำของทางฝ่ายมหายานมาใช้เรียกว่า “สุญตา” คือความว่าง ซึ่งท่านพูดด้วยภาษาที่ง่าย คือพูดด้วยคำว่า “จิตว่าง” และท่านก็พูดในลักษณะที่ให้คนจำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือท่านใช้คำว่า จิตว่างนั้น ว่างจากตัวตนของตน แต่ท่านใช้คำที่ให้สะดุดตาสะดุดหูของผู้ฟัง คือ “จิตนั้นว่างจากตัวกูของกู” ตัวกูของกูก็คือ การยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนนั่นเอง อันนี้ผมคิดว่าเป็นข้อเด่นข้อหนึ่งของท่านพุทธทาสภิกขุ ข้อที่ 2 ผมคิดว่าการตีความปฎิจจสมุปบาทของท่านนั้นโดดเด่น แต่เดิมนั้นในพระพุทธศาสนาของไทย รวมทั้งของเถรวาทโดยรวมนั้น มักจะตีความปฎิจจสมุปบาทในลักษณะข้ามภพข้ามชาติ หมายถึงว่า ปฎิจจสมุปบาทสายหนึ่งกินเวลาตั้งแต่ชาติก่อนมาถึงชาตินี้ แล้วก็จะไปชาติหน้า แต่ท่านพุทธทาสนั้นตีความโดยใช้หลักของการเข้าหาปัจจุบันมาทำ ก็คือ ปฎิจสมุปบาทสายหนึ่งกินเวลาเพียงแค่ชั่วขณะจิตเดียว เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นมิติใหม่ที่ท่านพุทธทาสได้นำมาสู่พุทธศาสนาในสังคมไทย และของเถรวาทโดยรวมด้วย หลักต่อไปที่ค่อนข้างเด่นก็ ได้แก่ หลักอิทัปปัจจยตา ซึ่งแต่เดิมนั้น มีพระภิกษุเอ่ยถึงหลักนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นหลักที่มีความสำคัญ อิทัปปัจจยตาก็คือ หลักของเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ สาระสำคัญก็คือ “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ” เพราะฉะนั้นท่านนำเอาหลักปัจจยตาในพระพุทธศาสนามาทำให้เห็นเป็นแนวคิดที่เด่นชัดขึ้นมา ทำให้ปัญญาชนหรือผู้ที่มีการศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจ และเกิดความสนใจในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น”
       
       ตลอดชีวิตของท่านพุทธทาส ท่านย้ำอยู่เสมอว่า "ธรรมะ คือ หน้าที่" เป็นการทำหน้าที่ เพื่อความอยู่รอด ทั้งทางฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณของมนุษย์ และท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้า ทุกอณูแห่งลมหายใจเข้าออก จนแม้วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ผลงานที่ท่านสร้างสรรค์ไว้ เพื่อเป็นมรดกทางธรรมนั้น จะมีมากมายเพียงใด
       
       อาจารย์ทวีวัฒน์ กล่าวถึงมรดกที่ท่านพุทธทาสภิกขุทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังค่ะว่า
       
       “สิ่งที่ท่านทิ้งมรดกไว้ให้ก็คือ งานปฎิรูปคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ มีคนกล่าวกันไว้ว่า การปฎิรูปคำสอนในพระพุทธศาสนาซึ่งเริ่มต้นจากรัชกาลที่ 4 นั้น ดำเนินต่อเนื่องมาตลอด 200-300 ปี และมาเสร็จสิ้นสมบูรณ์เอาในงานของท่านพุทธทาสภิกขุ เพราะฉะนั้นถือว่าท่านได้กระทำภารกิจ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงริเริ่มไว้ และท่านได้สานต่อและได้ทำโดยเสร็จสมบูรณ์ในชั่วชีวิตของท่าน คือ ในทัศนะของนักวิชาการแล้ว มองว่า การตีความพระไตรปิฎกของพุทธทาสภิกขุนั้นค่อนข้างจะสมบูรณ์เกือบจะทุกแง่ทุกมุม เพราะงั้นสิ่งที่นักปราชญ์ในยุคหลังพุทธทาสกระทำนั้น มิใช่เป็นการตีความในพระไตรปิฎก แต่จะ Contribute ในด้านอื่นๆ เช่น พระธรรมปิฎก ความโดดเด่นของพระธรรมปิฎกนั้น การนำเอาหลักพุทธธรรมหรือหลักพุทธศาสนานั้น ไปตอบโต้กับแนวคิดของตะวันตก อันนั้นคือ จุดเด่นของพระธรรมปิฎก ในขณะที่ของท่านพุทธทาสนั้น ท่านตีความพระไตรปิฎกอย่างแตกฉานในเกือบจะทุกแง่ทุกมุม เพราะฉะนั้นงานปฎิรูปคำสอนของพุทธทาสนั้น ถือได้ว่า เป็นการกระทำให้ความใฝ่ฝันของรัชกาลที่ 4 สำเร็จสมบูรณ์ในพระพุทธศาสนาของไทย …ผมคิดว่าสานุศิษย์ของท่านพุทธทาสก็ยังมีอยู่ เพราะอิทธิพลทางความคิดของท่านพุทธทาสนั้นมีอยู่อย่างลึกซึ้ง ในพระพุทธศาสนาของไทย แม้ว่าในรูปแบบของพุทธศาสนาที่สามัญชนนับถือกันอยู่นั้น ดูจะไปปะปนกับไสยศาสตร์หรือกับความเชื่ออื่นๆ ก็ตาม แต่ในแง่ของหลักวิชาในแง่ของความแม่นยำของทฤษฎีแล้ว ท่านพุทธทาสได้วางพื้นฐานที่ชัดเจนและมั่นคงให้กับนักวิชาการชาวพุทธในยุคต่อมา อิทธิพลของท่านยังอยู่ แต่เป็นอิทธิพลในระดับลึก ซึ่งจะส่งผลไปในระยะยาว จะไม่หวือหวาแบบหลวงพ่อคูณ หรือแบบพระเกจิอาจารย์อย่างอื่น อิทธิพลของท่านเป็นอิทธิพลทางความคิด ซึ่งส่งผลระดับลึกและยาวนาน”
       
      ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ละสังขารกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวัน ที่ 8 ก.ค. 2536 สิริรวม อายุ 87 ปี นับได้ 67 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่าน ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธาน รับมรดกความเป็น"พุทธทาส" เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา!!













จาก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000069965

       

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.469 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 17 เมษายน 2567 15:25:18