[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 21:31:15 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การตั้งชื่อถนนในกรุงเทพฯ  (อ่าน 2624 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 31 ตุลาคม 2559 15:08:50 »



แผนที่กรุงเทพฯ ร.ศ.๑๑๕ แสดงภาพป้อมต่างๆ

  .  การตั้งชื่อถนนในกรุงเทพฯ .
◘ เปรมา สัตยาวุฒิพงศ์ : นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

สืบเนื่องจากรายการ “เรื่องนี้มีอยู่ว่า” ของสถานีโทรทัศน์ TNN24 สอบถามถึงประเด็นที่มาของชื่อถนนสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร เพราะเหตุใดจึงได้ชื่อนั้น เนื่องจากคนในปัจจุบันส่วนใหญ่อาจไม่ทราบถึงที่มาของชื่อถนนสายต่างๆ หรือแม้แต่บางคนที่อยู่อาศัย หรือทำมาหากินบริเวณนั้น ก็ไม่ทราบถึงที่มาของชื่อถนนนั้นๆ ทำให้เกิดความสนใจที่จะสืบหาความเป็นมาของการตั้งชื่อถนนในกรุงเทพฯ

การเดินทางสัญจรในอดีตของคนไทยใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นสำคัญ การสร้างถนนในอดีตจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนเดินเป็นหลัก ลักษณะจึงเป็นถนนพูนดินสูงปูด้วยอิฐตะแคง หรือเป็นแต่เพียงตรอกหรือทางแคบปูด้วยอิฐรูแผ่นใหญ่ การทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศต่างๆ เช่น สนธิสัญญาเบอร์นีเมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๗ หรือสนธิสัญญาเบาว์ริง เมื่อพุทธศักราช ๒๓๙๘ ส่งผลให้มีชาวต่างประเทศเข้ามาอยู่อาศัยกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ชาวต่างประเทศได้ร่วมกันเข้าชื่อขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ ด้วยอ้างว่าเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่มีถนนหนทางที่จะขี่ม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนืองๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลดาวคะนอง เป็นถนนรุ่นแรกที่ใช้เทคนิคการสร้างตามแบบตะวันตก มีการสำรวจแนวถนนและเขียนแผนผังถนน โดยนายเฮนรี อาลบัสเตอร์ (Henry Alabaster – ต้นสกุลเศวตศิลา) มีท่อระบายน้ำ จึงเรียกว่าถนนใหม่ หรือ New Road พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ถนนเจริญกรุง ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนคร ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในคราวเดียวกัน

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต่างประเทศ ได้แก่เมืองสิงคโปร์และเมืองปัตตาเวีย เป็นครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๓ และเสด็จประพาสประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา จึงมีพระราชดำริให้สร้างถนนเพื่อให้เกวียนและรถสามารถสัญจรไปมาได้ตามลักษณะถนนแบบตะวันตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสายต่างๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งโปรดให้ขยายถนน ที่มีอยู่เดิมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงมีการตัดถนนต่างๆ และขยายถนนที่มีอยู่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ครั้นพุทธศักราช ๒๔๗๔ เมื่อคราวที่กระทรวงมหาดไทยขอพระราชทานชื่อถนนต่างๆ ที่จะตัดใหม่ทางแขวงจังหวัดธนบุรี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพิจารณาและกราบบังคมทูลฯ ความเห็น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงตรวจดูชื่อถนนต่างๆ ทางฝ่ายพระนคร ซึ่งบางชื่อในปัจจุบันไม่มีแล้ว ทรงสังเกตเกณฑ์การตั้งชื่อถนนมีหลายอย่าง เช่น การใช้ตามสมัยที่ขนาน เป็นชื่อเนื่องด้วยพระราชวงศ์ เนื่องด้วยพระนามเจ้านาย เนื่องด้วยนามบุคคลที่เกี่ยวข้องในการสร้างถนนั้นๆ เนื่องด้วยพระนคร เนื่องด้วยตำบลและสถานที่ที่ถนนนั้นผ่านไป เนื่องด้วยวัตถุต่างๆ หรือเนื่องด้วยพระราชนิยม เป็นต้น การตั้งชื่อถนนในครั้งนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระดำริว่า ชื่อถนนควรให้เรียกง่ายจำง่ายเป็นข้อสำคัญ อีกประการหนึ่ง ธนบุรีเป็นเมืองเก่ามีเรื่องเนื่องด้วยพงศาวดารและตำนานในหนหลัง เพิ่งจะมีถนนขึ้น ถ้าเอานามเก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนบุรีมาขนานนามถนนจะเหมาะดี ดังเช่น การตั้งชื่อตามมหาชัยที่ไทยรบชนะพม่าในคราวกู้อิสรภาพของสยามประเทศ ทั้งในสมัยธนบุรีและในรัชกาลที่ ๑ เหมือนเช่นประเทศอื่นๆ เช่น

ถนนลาดหญ้า ตั้งแต่ท่าสินค้า (ปากคลองสาน) ถึงคลองบางกอกใหญ่ เป็นอนุสรณ์มหาชัยคราวรบชนะกองทัพหลวงของพม่าที่ตำบลลาดหญ้า แขวงจังหวัดกาญจนบุรีในรัชกาลที่ ๑ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๘

ถนนโพธิ์สามต้น ตั้งแต่ถนนลาดหญ้าถึงฝั่งแม่น้ำข้างใต้วัดกัลยาณมิตร เป็นอนุสรณ์มหาชัย เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรบชนะที่ตำบลโพธิ์สามต้น ได้พระนครศรีอยุธยาคืนมาเป็นของไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐

ถนนท่าดินแดง ตั้งแต่ถนนลาดหญ้าถึงริมแม่น้ำที่ตึกขาว เป็นที่ดินของพระยาไพบูลย์สมบัติ และเป็นที่ตั้งห้างค้าขายสินค้าของพ่อค้าแขกชาวอินเดียก่อนที่อื่นๆ ชื่อถนนเป็นอนุสรณ์มหาชัย เมื่อคราว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทตีกองทัพใหญ่ของพม่าที่ตั้งฐานทัพที่ท่าดินแดง แขวงเมืองไทรโยคแตกพ่ายไป เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๙

ถนนเชียงใหม่ ตั้งแต่ถนนสมเด็จเจ้าพระยาถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณระหว่างวัดทองธรรมชาติกับวัดทองนพคุณ เป็นอนุสรณ์มหาชัย เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ทรงช่วยกันตีเมืองเชียงใหม่ได้จากพม่า เมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๗

ส่วนถนนตั้งแต่สะพานพุทธยอดฟ้าถึงคลองดาวคะนอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอชื่อถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถนนพระปกเกล้า หรือถนนประชาธิปก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสถาปนาการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำและทำถนนเชื่อมฝั่งพระนครกับธนบุรี  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่า ถนนประชาธิปก

นอกจากนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงเรียบเรียงเกณฑ์การตั้งชื่อถนนและยกตัวอย่าง โดยแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้
   ๑.ชื่อถนนเนื่องด้วยพระราชวงศ์ เช่น ถนนมหาราช ถนนราชินี ถนนเยาวราช ถนนเจ้าฟ้า ถนนราชวงศ์ ถนนลูกหลวง ถนนหลานหลวง ฯลฯ
   ๒.ชื่อถนนเนื่องด้วยพระนามเจ้านาย เช่น ถนนพระราม ๑ ถนนพระราม ๔ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ถนนจักรพรรดิพงษ์ ถนนอัษฎางค์ ถนนพาหุรัด ถนนประชาธิปก ฯลฯ
   ๓.ชื่อถนนเนื่องด้วยนามเมือง เช่น ถนนศรีอยุธยา ถนนนครปฐม ถนนนครไชยศรี ถนนสุพรรณ ถนนพิษณุโลก ถนนนครราชสีมา ถนนนครสวรรค์ ฯลฯ
   ๔.ชื่อถนนเนื่องด้วยวัด เช่น ถนนหน้าพระธาตุ ถนนปทุมคงคา ถนนพลับพลาชัย ถนนหน้าวัดปรินายก ฯลฯ
   ๕.ชื่อถนนเนื่องด้วยพระราชฐาน เช่น ถนนท้ายวัง ถนนหน้าพระลาน ถนนวังเดิม ถนนอมรวิถี ถนนจักรีจรัณย์ ถนนเขื่อนขันธ์นิเวศน์ ฯลฯ
   ๖.ชื่อถนนเนื่องด้วยพระนคร เช่น ถนนกรุงเกษม ถนนเจริญกรุง ถนนจรัสเวียง ถนนเจริญเวียง ถนนจรูญเวียง ถนนเจริญเมือง ถนนจารุเมือง ถนนจรัสเมือง ฯลฯ
   ๗.ชื่อถนนเนื่องด้วยพระราชนิยม เช่น ถนนราชดำเนิน ถนนราชดำริ ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ฯลฯ
   ๘.ชื่อถนนเนื่องด้วยป้อม เช่น ถนนจักรเพชร ถนนพระจันทร์ ถนนพระอาทิตย์ ถนนมหาไชย ฯลฯ
   ๙.ชื่อถนนเนื่องด้วยตำบล เช่น ถนนตีทอง ถนนตะนาว ถนนหน้าหับเผย ถนนดินสอ ถนนข้าวสาร ถนนท่าเตียน ถนนพญาไท ฯลฯ
  ๑๐.ชื่อถนนเนื่องด้วยบุคคล เช่น ถนนประมวญ ถนนรองเมือง ถนนสี่พระยา ถนนสุรวงศ์ ถนนสาทร ถนนปั้น ถนนเดโช ถนนสุรศักดิ์ ถนนสุนทรโกษา ฯลฯ
  ๑๑.ชื่อถนนเนื่องด้วยวัตถุสถาน เช่น ถนนกระออม ถนนพะเนียง ถนนวิทยุ ถนนคอนแวนต์ ถนนโอเรียนเต็ล ถนนหน้าห้าสิงโต ฯลฯ
  ๑๒.ชื่อถนนเนื่องด้วยเครื่องโต๊ะจีน เช่น ถนนเขียวไข่กา ถนนดวงดาว ถนนสังคโลก ถนนทับทิม ถนนราชวัตร ถนนลก ถนนซางฮี้ ฯลฯ
  ๑๓.ชื่อถนนเนื่องด้วยเหตุต่างๆ เช่น ถนนแปลงนาม ถนนพาดสาย ถนนเพลินจิต ถนน ๒๒ กรกฎา ถนนยิงเป้า ฯลฯ

การตั้งชื่อถนนสายต่างๆ ในปัจจุบัน ยังคงอาศัยหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อในลักษณะเดียวกันนี้ หากเป็นชื่อที่เกี่ยวข้องกับพระนามพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้หน่วยงานต่างๆ เช่น กรมศิลปากร ราชบัณฑิตยสภา ฯลฯ พิจารณานำเสนอความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของชื่อดังกล่าว เพื่อให้สำนักราชเลขาธิการนำความเห็นต่างๆ กราบบังคมทูลพระกรุณาประกอบพระราชดำริต่อไป เช่น

ถนนรัชดาภิเษก เป็นถนนที่สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรเป็นครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๔ โดยมีพระราชประสงค์ ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นเป็นถนนวงแหวนเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๒๕ ปี โดยรัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนนวงรอบว่าถนนรัชดาภิเษก หรือถนนกาญจนาภิเษก ทางหลวงพิเศษหมายเลข ๓๗ ทางสายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เป็นถนนที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในพุทธศักราช ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญชื่อพระราชพิธีกาญจนาภิเษกซึ่งเป็นพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี มาเป็นชื่อถนนสายดังกล่าว

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้มีการตั้งคณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนน ตรอก ซอย วงเวียน ทางแยก คลอง สะพาน และสถานที่สำคัญในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อทำหน้าที่พิจารณาการตั้งหรือเปลี่ยนแปลงชื่อถนน ซอย ตำบลต่างๆ ในกรุงเทพฯ อีกด้วย



เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)
เป็นที่ีมาของชื่อถนนสุรวงศ์


เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)
เป็นที่มาของชื่อถนนสุรศักดิ์


ถนนราชดำเนินกลางและราชดำเนินใน


ถนนราชดำเนินนอก


ถนนเยาวราชตรงสะพานเฉลิมเวียง ๔๖

ที่มา: นิตยสารศิลปากร กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 ตุลาคม 2559 15:15:38 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.379 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 21 มีนาคม 2567 01:43:56