[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 17:30:13 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: The Light of Asia ประทีปแห่งทวีปเอเชีย : ปริเฉทที่ 7 พุทธกิจ  (อ่าน 2720 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5063


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.273 Chrome 50.0.2661.273


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 07 ตุลาคม 2559 14:59:31 »



ปริเฉทที่ 7 พุทธกิจ

ในระหว่างกาลหลายปีนั้น พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงแต่ระทมทุกข์เศร้าโศก และยามเมื่อพระองค์ประทับอยู่ในท่ามกลางเหล่าเจ้าศากิยะทั้งปวง พระองค์สลดพระทัยด้วยการที่ไม่ได้เห็นและได้ยินเสียงพระราชโอรส ฝ่ายพระนางศรียโสธรา เมื่อพระสวามีองค์อัครบุรุษของพระนางได้พรากไปให้พระนางเป็นม่ายเสียแล้ว พระนางก็มีแต่โศกเศร้าอาดูร จนไม่รู้จักประสบพบความสำราญใน ” พระชนมชีพ ” แห่งพระนางเสียเลย และคราวใดที่มีใครมาเล่าถึงเรื่องฤาษีซึ่งมีคนเลี้ยงอูฐหรือพวกพ่อค้าพาณิช ที่ไปค้าหากำไรในเมืองไกลๆ ได้ไปพบเห็นเข้า แล้วผู้สืบข่าวของพระราชาก็ออกไปสืบแล้วนำกลับมากราบทูลว่า ได้ไปเห็นบุรุษผู้เคร่งสันโดษเดี่ยวและปราศจากที่อาศัยมา แต่ก็ไม่มีใครได้ทราบข่าวคราวของบุรุษผู้เป็นมกุฏเฉลิมเกียรติแห่งนรชาติ ของกรุงกบิลพัสดุ์อันเป็นที่เชิดชูไว้วางพระราชหฤทัยแห่งพระราชาพระราชบิดา เป็นเอกอัครเสน่หาของพระนางศรียโสธราและบัดนี้ได้เสด็จไปเสียห่างอย่างหลง ลืมเพราะกลับพระทัยหรือบางทีจะถึงซึ่งสิ้นพระชนม์เสียแล้วนั้น

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง ในวสันตฤดู ( ฤดูใบไม้ผลิ ) ซึ่งหยาดน้ำค้างขาวดุจดังเงินแวววับอยู่บนต้นมะม่วง และเป็นฤดูซึ่งมีความอบอุ่นทั่วทั้งพื้นปฐพีนั้น พระนางศรียโสธราได้เสด็จมาประทับที่ริมแม่น้ำอันใสสะอาดแห่งอุทยานซึ่งมีน้ำ ใสสะอาดดุจแก้วเจียระไนที่มีดอกบัวเรียงรายเป็นขอบเขตนั้น อันเคยมีเงาภาพ ณ กาลก่อนซึ่งเคยเกษมสุข ขณะสอดกรจับพระหัตถ์กับพระราชบุตรหรือขณะที่ทรงจุมพิต ขอบพระเนตรของพระนางชอกช้ำไปด้วยความโหยไห้ ปรางอันอ่อนละมุนทั้งสองข้างก็ซูบลง ขอบพระโอษฐ์ซึ่งงามพริ้งก็เหี่ยวลงโดยอำนาจแห่งความเศร้าพระทัย พระเกศาอันเหลือบเป็นเงาก็ซ่อนและม้วนเสียอย่างสตรีหม้ายทั้งปวง พระนางไม่ทรงเครื่องประดับเครื่องต้นเครื่องทรงอะไรเลย และไม่มีเครื่องทรงวิจิตรใดเลย ที่อยู่กับเครื่องแต่งพระองค์ไว้ทุกข์ขาวอย่างหยาบๆ พระบาทอันงามและแน่งน้อย ก้าวดำเนินได้แต่ช้าๆ และโดยความลำบากซึ่งแต่กาลก่อนเคยก้าวว่องไวเหมือนเท้าของนางเก้ง และเบาเหมือนกลีบดอกกุหลาบ ในเมื่อพระนางได้ยินเสียงอันสุดเสน่หาแห่งพระราชสามีรับสั่งเรียกพระนางนั้น ดวงเนตรทั้งคู่ซึ่งแต่เดิมแม้นเหมือน ดวงอาทิตย์อันแวววับอยู่ในที่มืดอันแสนมืด บัดนี้เคลิ้มเหม่อเมิน และลอยแลดูอย่างไม่รู้ว่าดูอะไร ถึงทอดพระเนตรดูความพิเศษแห่งฤดูอบอุ่นซึ่งได้อุบัติขึ้นก็ดี ก็ทอดพระเนตรด้วยอาการอันกำสรด กำสรดจนหนังพระเนตรอันละมุนละไมหรี่ลงมาปิดให้ดวงพระเนตรนั้นหลับไป พระกรข้างหนึ่งถือเข็มขัดประดับไข่มุกของพระสิทธัตถะซึ่งพระนางรักษาไว้เป็น ที่ระลึก ตั้งแต่ราตรีที่พระราชสวามีเสด็จพรากไปจากพระนาง

โอ้ ! คืนร้ายเอ๋ย ? ราตรีร้าย ? มารดาแห่งทิวาวารซึ่งระทมทุกข์ ? ความรักอะไรหนอที่ร้ายยิ่งไปกว่าความรักซึ่งถูกปลิดเสียจากผู้ซึ่งตั้งใจรัก จนวาระที่สุดแห่งชีวิต พระกรอีกข้างหนึ่งของพระนางจูงพระราชโอรส โอรสของนางซึ่งงามวิเศษ โอรสซึ่งพระสิทธัตถะทิ้งไว้ให้เป็นกำนัลแก่พระนางมีนามว่าราหุล และบัดนี้มีพระชนม์ได้ 7 พรรษา พระราหุลดำเนินเคียงข้างพระราชมารดาอย่างคล่องแคล่ว ในพระทัยเบิกบานไปด้วยการที่ได้เห็นความงามแห่งโลกในวสันตฤดู

ครั้นแล้วทั้งสองพระองค์ พระมารดากับพระโอรสก็เสด็จมารีรออยู่ริมสระซึ่งเต็มไปด้วยปทุมชาติ และพระราหุลซึ่งทรงพระสรวลสำราญก็โยนข้าวให้แก่มัจฉาชาติสีเขียวและสีแดง ฝ่ายพระนางเมื่อมองดูฝูงวิหคที่บินมาอย่างรวดเร็วแล้วก็ทรงถอนพระทัยนึกว่า “ โอ้สัตว์มีปีกเจ้าเอ๋ย หากเจ้าได้พบเห็นว่าพระองค์ผู้เป็นที่รักของเราเสด็จไปซ่อนอยู่ที่ไหนแล้ว ขอจงทูลด้วยว่า ยโสธราเตรียมพร้อมอยู่เสมอที่จะตาย ยังรอแต่ให้ได้ยินตรัสแต่คำเดียว และได้สอดสวมพระหัตถ์ของพระองค์แต่ครั้งเดียวเท่านั้น ”

ก็แลในขณะที่พระนางกำลังถอนพระทัยคร่ำครวญและพระราชโอรสกำลังเล่นอยู่นั้น มีนางสนมมาทูลพระนางว่า “ ข้าแต่พระแม่เจ้า มีนายวาณิชแห่งหัสดินปุระผ่านเข้ามาทางประตูด้านใต้ นามว่าตระปุษะ และภัลลิกะ ล้วนแต่เป็นคนสำคัญซึ่งมากจากฝั่งทะเลที่มีคลื่นร้าย นำสินค้ามาขาย มีผ้าเยียระบับซึ่งงามวิเศษ มีทองสำริดอันแวววับ โถทองเหลือง งาต่างๆ เครื่องเทศ เครื่องแต่งกาย และนกแปลกๆคือขุมทรัพย์ของชนชาติต่างด้าว แต่ยังอีกอย่างหนึ่งซึ่งวิเศษกว่าสินค้าทุกๆ อย่าง สิ่งนั้นคือพระองค์ซึ่งเป็นบดีของพระแม่เจ้าและของหม่อมฉัน เขาเห็นพระองค์ องค์พระราชสวามีของพระแม่เจ้าซึ่งเป็นที่พึ่งแห่งนิคมคามทั้งปวง คือ พระสิทธัตถะอย่างไรล่ะเพคะ เขาได้เห็นพระองค์เฉพาะพระพักตร์ และได้กราบถวายบังคมพระองค์กับทั้งได้ถวายของแด่พระองค์ด้วย เพราะบัดนี้ พระองค์ได้ทรงเป็นผู้เผยพระธรรมอันวิเศษซึ่งคนทั้งโลกบูชาเคารพ มีบุญและอัศจรรย์ยิ่ง คือเป็นพระพุทธเจ้าซึ่งช่วยมนุษย์และโปรดสัตว์โลกทั้งปวง โดยพระธรรม เทศนาอันอ่อนหวานและโดยพระธรรมเมตตาอันใหญ่ประดุจท้องฟ้า ดังที่พระองค์ได้ทรงถูกทำนายไว้มาแต่ก่อนแล้วนั้น ตามที่นายวาณิชเล่าให้ฟังปรากฏดังนี้แหละเพคะ ”

ฝ่ายพระนางศรียโสธรา เมื่อได้ทรงทราบดังนั้นแล้วความปลาบปลื้มก็แล่นทั่วทั้งสรรพางค์ เหมือนดังน้ำแม่คงคาซึ่งละลายจากอาการที่แข็งอยู่ในภูเขาครั้งแรกฉะนั้น พระนางลุกขึ้นตบพระหัตถ์และทรงพระสรวล ดวงพระเนตรคลอหล่อไปด้วยอัสสุชลแล้วรับสั่งว่า “ โอ ! ไปเชิญเขามาที่หน้าม่าน ( ในประเทศอินเดียฝ่ายเหนือ สตรีชั้นสูงไม่ยอมแสดงให้คนต่างประเทศหรือผู้อื่นเห็น เพราะฉะนั้นจึงต้องอยู่ในม่าน ) เพราะหูของเราซึ่งกระหายเหมือนคนที่คอแห้งอยากดื่มข่าวอันน่าบูชานั้นอย่าง ยิ่งแล้ว จงไปเชิญเขามา เราจงบอกเขาด้วยว่าถ้าคำพูดของเขาถูกต้องจริง เราจะรางวัลทองคำและเพชรนิลจินดาซึ่งมีค่าควรพระราชาทั้งหลายมีประสงค์อยาก จะได้ ฝ่ายหล่อนผู้มาบอกแก่เราจงกลับมาด้วยนะจ๊ะ เพราะหล่อนก็จะได้รับรางวัลในโอกาสคราวนี้เพื่อเป็นเครื่องแสดงความขอบคุณ อันพึงมีในใจของเรา ”

เมื่อดังนั้นแล้ว นายวาณิชทั้งสองก็ไปยังพระตำหนักอันเกษมศานต์และเดินอย่างช้าๆ ไปตามวิถีอันงดงามด้วยเท้าเปล่าในท่ามกลางนางสาวทั้งปวงที่มองดูเขาผู้ซึ่ง ตื่นเต้นด้วยความรุ่งโรจน์แห่งราชสำนักนี้ เมื่อเขาทั้งสองได้มาถึงม่านแล้วก็ได้ยินพระสุรเสียงอันอ่อนโยนลั่นและ ไพเราะถามมาว่า “ ท่านผู้มีการุญภาพ ท่านมาจากเมืองไกล และท่านได้เห็นพระองค์พระสวามีของข้าพเจ้า แล้วท่านได้บูชาพระองค์ ด้วยเหตุว่าพระองค์ได้เป็นพระพุทธเจ้าซึ่งโลกทั้งมวลเยินยอพระองค์เป็นผู้มี บุญและผู้ช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกขเวทนา และเวลานี้ พระองค์ก็กำลังเสด็จไปสู่ที่เหล่านี้ ขอท่านได้เล่าให้ฟังทีเถิด เพราะหากเป็นความจริงดังนั้นแล้ว เราขอเป็นมิตรแห่งราชสำนักของเรา เป็นมิตรที่เรานับถือยินดีรับรอง ”

ตระปุษะจึงทูลว่า “ ข้าแต่พระนางเจ้า ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงพระบารมีนั้นจริง ข้าพเจ้าได้ถวายบังคม ณ พระบาทยุคลของพระองค์ เพราะเหตุว่าพระองค์ซึ่งแต่เดิมเป็นแต่เพียงเจ้าชายนั้น บัดนี้ทรงปุญญานุภาพใหญ่ยิ่งกว่าพระราชาทั้งปวงแล้ว ณ ใต้ต้นโพธิ์ที่ริมฝั่งแม่น้ำผัลคู การกระทำอันสามารถช่วยมนุษยโลกได้ นั้น บัดนี้ได้สำเร็จแล้วโดยความพากเพียรของพระองค์ผู้เป็นมิตรและและเจ้าแห่ง มนุษย์ทั้งปวง พระองค์ซึ่งเป็นของพระนางมากกว่าใครๆ ซึ่งพระนางต้องโศกาดูรนั้นมีค่าแก่โลกคือ โลกได้ฟื้นเพราะพระธรรมเทศนาขององค์พระศาสดา ขอได้ทรงฟังเถิด พระองค์ทรงสุขสบายเหมือนบุคคลผู้ชนะแล้วเหนือความชั่วทั้งปวง

พระองค์เป็นพระเจ้าซึ่งหลุดพ้นแล้วจากความแร้นแค้นทั้งปวงแห่งโลก ผ่องใสในความจริง ซึ่งได้มาปรากฏแล้วแก่พระองค์อย่างบริสุทธิ์ งามจริงเมื่อพระองค์เสด็จไปตามเมืองต่างๆ ได้ทรงสั่งสอนด้วยวิธีอันสุขุม ( คือแสดงพระธรรมเทศนา ) ซึ่งนำมาซึ่งความสงบสันติภาพ กระทำให้มนุษย์ทั้งปวงเจริญตามวิถีทางของพระองค์ เหมือนดังใบไม้ที่มารวมกันเข้าเป็นกองด้วยอำนาจแห่งลม หรือเหมือนปศุสัตว์ที่เดินตามผู้รู้จักที่ๆ มีธัญญาหาร ข้าพเจ้าเหล่านี้ก็เหมือนกัน ข้าพเจ้าได้สดับฟังมธุรธรรมเทศนาอันวิเศษของพระองค์ พระองค์คงจะเสด็จมาถึงนี่ก่อนฤดูฝนจะเริ่มตกในครั้งแรก ”

เมื่อนายวาณิชทูลดังนี้แล้ว พระนางศรียโสธราก็ตันตื้นไปด้วยความปลาบปลื้มยินดีจนพระนางสามารถรับสั่งตอบได้แต่เพียงว่า “ จงมีความสุขเถิด ทั้งในบัดนี้และเสมอไป ท่านผู้มีไมตรีอันควรนับถือ ท่านผู้ซึ่งนำข่าวดีมาแจ้งแก่เรา แต่ก็ความบำเพ็ญเพียรอันใหญ่ยิ่งนั้น ท่านรู้ไหมว่าได้บรรลุถึงซึ่งผลสำเร็จอย่างไร ”

ภัลลิกะจึงทูลตามที่ได้รับทราบจากการบอกเล่าของพวกชาวหุบเขาถึงเรื่องพระ พุทธองค์ทรงผจญในยามราตรีกาลซึ่งอากาศวิปริตมืดมัวด้วยอุบายของพวกปิศาจซึ่ง พื้นแผ่นดินหวั่นไหว น้ำได้ท่วมขึ้นด้วยอำนาจแห่งความกริ่งโกรธของพระยามาร กับภัลลิกะได้เล่าถึงการที่พระบารมีของพระองค์ได้เปล่งปลั่งออกเป็นรัศมีอัน เป็นที่พึงหวังแห่งมนุษย์ทั้งหลาย กับการที่พระองค์ได้ประสบแล้วซึ่งความสำราญอยู่ใต้ต้นโพธิ์นั้น ภัลลิกะทูลต่อไปว่า “ แต่นั่นแหละการที่พระองค์บำเพ็ญเพียรทำเพื่อช่วยโลกนี้ก็อุปมาเหมือนหนึ่ง ว่า ภาระนี้หนักเหมือนก้อนทองทับอยู่เหนือดวงพระหฤทัย เพราะพระองค์จักต้องทำพระองค์ให้พ้นจากกิเลสรบกวนต่างๆ และความสงสัยเพื่อนำไปสู่ฝั่งแห่งความจริงโดยสวัสดิภาพ เพราะพุทธเจ้าทรงตรึกตรองว่าทำไมมนุษย์ซึ่งชอบบาปของตนและลุ่มหลงด้วยรูป เสียงกลิ่นรสอันเป็นเท็จตั้งพันประการนั้นจึงจะฉลาดพอที่จะมองดูและมีพละ กำลังพอที่จะหักความพันพัวแห่งกามที่ผูกมัดตนนั้นได้

ทำอย่างไรมนุษย์จึงเรียนรู้นิทานทั้ง 12 ( คือกำหนดความเป็นอยู่ที่พัวพันโดยกฎของเหตุกับผลตามความสังเกตอันเป็นหลักก็ คือปรากฏว่า ทุกข์ติดพันอยู่กับธรรมชาติ ต้นเหตุของทุกข์คือความเกิด คือความยึดถือ ต้นเหตุของความยึดถือคือความอยาก ความอยากเกิดจากความรู้สึกซึ่งเนื่องจากความสัมผัส ความสัมผัสเนื่องจากเส้นประสาทๆ เกิดจากรูปกายซึ่งมีนามกำหนด < นามรูป > ซึ่งเกิดจากวิญญาณ วิญญาณเกิดจากดำริซึ่งเกิดจากความโง่ ( อวิชชา ) เพราะฉะนั้นต้องกำจัดตัวอวิชชาเสียเพื่อถึงซึ่งบรมสุขอย่างยอดเยี่ยม ) และบัญญัติที่อาจให้พ้นทุกข์ได้ ซึ่งดูๆ ก็น่าเกรงขามเพราะความใหม่ เช่นเดียวกับนกที่เคยกรง รู้สึกหวั่นไหวในเมื่อประตูเปิดอ้าไว้ ถ้าดังนี้เราก็คงจะไม่สมกับผลแห่งความมีชัย หากว่าในพิภพนี้ไม่มีที่พึ่งคือพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นองค์ผู้หาหนทางพบแล้ว แต่หากทรงคาดว่าหนทางนี้กันดารเกินไปสำหรับเท้ามนุษย์ผู้ไม่ยั่งยืนและหาก พระองค์ได้ข้ามพ้นไปแล้วโดยไม่มีใครเดินตามพระองค์เลย

ก็การที่พระพุทธองค์ของเราทรงพิจารณาเช่นนี้นั้น พระองค์ทรงพิจารณาโดยเมตตาคุณของพระองค์ แต่ ณ วาระนั้นมีเสียงแหลมดุจดังเสียงสตรีคลอดบุตรปรากฏขึ้นเสมือนหนึ่งว่าแผ่นดิน ซึ่งหวั่นไหวแล้วครวญครางว่า “ เรานี้ไม่รอดย่างแน่นอนเสียแล้ว คือเรากับธรรมชาติทั้งหลายของเรานี้ ”

ครั้นเมื่อเสียงนั้นเงียบสงบลง ลมตะวันออกก็รำเพยเป็นศัพท์สำเนียงว่า “ โอ พระองค์ผู้มีบุญ ขอพระองค์จงสำเร็จในการเผยแผ่ข้อบัญญัติของพระองค์เถิด ” พระศาสดาจารย์เจ้าทรงทอดพระเนตรดูธรรมชาติทั้งปวง พระองค์ทรงเห็นธรรมชาติซึ่งบ้างก็เชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ทันที และบ้างก็ยังจะต้องรอต่อไป เฉกเช่นดวงอาทิตย์อันแรงกล้าซึ่งโชติช่วงอยู่เหนือหนองน้ำซึ่งเต็มไปด้วย ปทุมชาติ แลเห็นดอกปทุมชาติบางดอกเตรียมพร้อมที่จะแย้มกลีบเพื่อรับรัศมีของดวง อาทิตย์นั้นบ้าง และดอกใดบ้างที่ยังไม่แตกกลีบบานก้าน ฉะนั้นเมื่อทรงเห็นดังนี้ พระองค์จึงทรงแย้มตรัสว่า “ นั่นแหละ เราจะสั่งสอนแต่ผู้ซึ่งตั้งโสตสดับเพื่อศึกษาในบัญญัติของเรา ”



“ ครั้นแล้ว ” เขาเล่าต่อ “ พระองค์ก็เสด็จข้ามเขาต่างๆ แล้วเสด็จเข้ายังนครพาราณสีซึ่งพระองค์ทรงสั่งสอนฤาษีทั้ง 5 ( คือปัญจวัคคีย์ ) โดยทรงแสดงให้ปรากฏว่าชีวิต ( ความดำรงชีพ ) กับความตายนั้นย่อมถูกทำลายลงไปได้อย่างไร และมนุษย์ย่อมไม่ได้รับโชคอะไรอื่น นอกจากโชคซึ่งได้ผลจากความประพฤติก่อนๆ ที่ล่วงมาแล้วของตนนั้นอย่างไร ไม่มีนรกใดนอกจากนรกซึ่งตนเองเป็นผู้กระทำขึ้น ไม่มีสวรรค์ใดเลยที่จะสูงยิ่งสำหรับผู้ที่ชนะแล้วซึ่งราคะตัณหาทั้งปวง ” พระองค์ทรงสั่งสอนดังนี้ เมื่อวัน 15 ค่ำ เดือนไพศาขะ ( หรือวิสาขะ เทียบปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงต้นเดือนมิถุนายน ) ณ ท่ามกลางแห่งเวลาเที่ยงแล้วและในคืนนั้นพระจันทร์เพ็ญเต็มดวง

 
ก็แลฤาษีทั้ง 5 รูปนั้น รูปที่ 1 นามว่า เกาณฑินยะ ( โกณฑัญญะ ) ได้บรรลุถึงความจริง คืออริยสัจทั้ง 4 แล้วก็ได้สำเร็จพระอรหัตต์ และต่อมาจากเกาณฑินยะ ก็คือ ภัทริกะ ( ภัททิยะ ) อัศวะชิต ( อัสสชิ ) บาษปะ ( วัปปะ ) มหานาม ก็ได้สำเร็จเช่นเดียวกัน ต่อมาเจ้าชายยะศัท ( ยสกุลบุตร ) กับสุภาพบุรุษ 54 คนซึ่งนั่งอยู่ข้างพระบาทของพระพุทธเจ้า ที่ในสวนกวางทราย ( อิสปตนะ มฤคทายวัน ) “ เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้วก็มีจิตเลื่อมใสบูชาและปฏิบัติตามพระ องค์ เพราะการที่มีความสันติภาพและวิทยาศาสตร์อันสมัยใหม่นั้น เมื่อเผยแผ่แก่มนุษย์ดังนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ตรึงตราในดวงใจของผู้ใดซึ่งเชื่อ ฟัง เฉกเช่นบุปผชาติและต้นไม้ต้นหญ้างอกขึ้นเมื่อมีน้ำในทุ่งแห่งทะเลทรายฉะนั้น ”

“ พระอรหันต์ทั้ง 60 นี้ ” เขาเล่าต่อ “ เมื่อได้ศึกษาวิธีบังคับและบำเพ็ญตนให้พ้นจากราคะตัณหาแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงจัดให้ไปทำการสั่งสอน ส่วนพระองค์ซึ่งโลกบูชาเคารพก็เสด็จออกจาสวนกวาง ( อิสปตนะมฤคทายวัน ) เพื่อเสด็จไปสู่ทิศใต้ ณ ยัสติและพระราชอาณาจักรของพระเจ้าพิมพิสารซึ่งพระองค์ทรงเทศนาสั่งสอนอยุ่ หลายวัน จนพระเจ้าพิมพิสารและอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์มีความเลื่อมใสศรัทธาและ ศึกษาบัญญัติว่าด้วยเมตตา และบัญญัติว่าด้วยชีวิตปฏิบัติของพระองค์ ”

ยิ่งกว่านั้นพระเจ้าพิมพิสาร ( เมื่อได้หลั่งน้ำ เป็นธรรมเนียมของพราหมณ์ กระทำเมื่อให้อะไรอย่างหนึ่ง  ยังพระหัตถ์พระพุทธเจ้าแล้ว ) ยังได้ถวายสวนไผ่นามว่า เวฬุวัน ซึ่งมีลำน้ำหลายสาย มีถ้ำและป่าโปร่งแก่พระองค์อีกด้วย ” และ ณ ที่สวนนั้นพระเจ้าพิมพิสารได้ตั้งศิลาจารึกก้อนหนึ่ง ในจารึกนั้นมีความว่า “ ผลและเหตุแห่งชีวิต องค์พระตถาคต ( หมายความว่าผู้ได้กระทำอย่างเดียวกัน เป็นพระนามของพระสิทธัตถะพระนามหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าพระองค์ได้ทรงเดินทางอันเดียวกันเหมือนพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ) ได้ทรงแสดงให้เราทั้งหลายได้ทราบปรากฏแจ่มแจ้งแล้ว สิ่งซึ่งช่วยชีวิตให้พ้นจากความชั่ว พระพุทธเจ้าของเราก็ได้ทรงแสดงให้เราทราบแล้ว ”

“ ก็ในสวนนั้นเอง ” นายวาณิชว่า “ มหาชนต่างไปชุมนุมประชุมกันเพื่อสดับตรับฟังคำสั่งสอนของพระองค์ในเรื่อง ความดีและความประพฤติ ซึ่งเมื่อผู้ใดเชื่อฟังพระองค์แล้วก็มีวิญญาณอันเลื่อมใสจนมีผู้ศรัทธาครอง ผ้าเหลือง คือ บวชเหมือนองค์พระบรมศาสดาจารย์เจ้าถึง 900 องค์ แล้วต่างก็แยกย้ายกันไปทำการเผยแผ่พระบัญญัติของพระองค์ สรุปความในพระโอวาทของพระองค์ว่าดังนี้ ”

“ ความชั่วเป็นเครื่องทวีหนี้สินที่ต้องใช้ความดีเป็นเครื่องกำจัดความชั่ว และเป็นเครื่องใช้หนี้อันเกิดจากความชั่วนั้นได้ จงหลีกความชั่วและกระทำความดี จงสงวนความสุขของตนด้วยตนเอง นี่แหละคือหนทาง ”

เมื่อนายวาณิชเล่าเรื่องพระพุทธองค์จบลง พระนางยโสธราก็ประทานรางวัลและแสดงความขอบใจอย่างประเสริฐยิ่งกว่าเพชรนิล จินดา แล้วพระนางถามว่า “ ก็แต่พระผู้มีพระภาคของเรานั้นพระองค์เสด็จตามทางใด ?” นายวาณิชทูลตอบว่า “ มาตามทางซึ่งห่างจากพระนครนี้ 60 โยชน์และสู่ทิศพระนครราชคฤห์ซึ่งมีทางสะดวกผ่านมาทางโสนะและเขาต่างๆ โคของข้าพเจ้าซึ่งเดินได้วันละ 8 ก๊อสส์ ( มาตราวัดอินเดีย เป็นระยะความยาว ก๊อสส์ 1 ประมาณ840 วา ) ต้องเดินทาง 1 เดือนจึงจะถึง ”

ฝ่ายพระราชาเมื่อทรงทราบข่าวนี้แล้วก็ตรัสใช้ให้ผู้ซึ่งพระองค์ทรงไว้พระทัย 9 นาย ขึ้นม้าที่มีฝีเท้าเร็วแยกย้ายกันไปเพื่อนำพระราชโองการของพระองค์ไปทูลแก่ พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระโอรสว่าดังนี้ “ พระสุทโธทนะผู้เป็นพระราชาซึ่งทรงชราภาพโดยกาลเวลาอันยืดยาวถึง 7 ปี ในยามซึ่งเธอผู้เป็นโอรสได้พรากจากไป และได้พยายามสืบเสาะหาตัวอยู่เสมอเป็นนิตย์นิรันดร์ ขอวิงวอนให้พระราชโอรสของพระองค์เสด็จมารับพระราชบัลลังก์ และอาณาประชาราษฎรแห่งพระราชอาณาจักรซึ่งจักเกิดปั่นป่วนเมื่อพระองค์หาไม่ แล้ว ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์ทรงวิตกว่าจะเสด็จสวรรคตเสียก่อนที่พระองค์จะได้เห็น พระพักตร์ของเธอผู้เป็นพระราชโอรส ”

ส่วนพระนางศรียโสธราก็ได้ใช้ให้อัศวานึก 9 นาย ไปทูลแก่องค์พระราชสวามีเหมือนกันโดยความว่าดังนี้ “ สวามินีแห่งพระราชสำนักของพระองค์ และผู้เป็นมารดาของราหุลมีความจำนงอยากเห็นพระพักตร์ของพระองค์อย่างยิ่งนัก เหมือนดวงหฤทัยของหญิงงามเมื่อได้เห็นพระจันทร์เมื่อเวลากลางคืน หรือเหมือนดอกอโศกแรกผลิรอคอยให้สตรีเหยียบย่ำอยู่ฉะนั้น ( ตามรามายณะ กล่าวว่า เมื่นางสีดาหนีไปอยู่ในพุ่มดอกอโศกก็ได้พ้นจากความรบกวนปิศาจ ราพณาสูร และต้านทานตนให้พ้นอันตรายได้ด้วยสวัสดีมีชัย เพราะดังนี้เอง เหล่าสตรีฮินดีจึงนับถือต้นอโศกและกินดอกอโศกนั้น ) หากพระองค์ได้ได้พบซึ่งสิ่งที่พึงประสงค์ยิ่งกว่าสิ่งที่ทรงเสียสละแล้ว พระนางทั้งพระราหุลขอได้รับส่วนด้วยเถิด แต่ที่พระนางต้องการที่สุดนั้นคือตัวพระองค์เอง ”

เมื่อดังนั้นแล้วมนตรีศากยะผู้รับใช้ก็ออกเดินทางโดยรีบด่วน แต่จำเพาะต่างคนต่างก็ถึงป่าไผ่ในยามที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาพระบัญญัติของ พระองค์นั่นเอง และต่างคนต่างเมื่อได้ยินได้ฟังพระองค์แล้วก็เลื่อมใสจนลืมทูลพระองค์ และลืมจนกระทั่งพระราชา ลืมบรมราชโองการ ตลอดถึงพระนางศรียโสธราผู้โศกาดูร ต่างคนต่างเพ่งแต่ในพรนะบรมศาสดาจารย์เจ้า ดวงใจของเขาให้ผูกพันตรึงตราที่ริมพระโอษฐ์อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตรัสพระโอวาท อันเต็มไปด้วยพระธรรมเมตตา และคุณสมบัติซึ่งเที่ยงแท้ บริสุทธิ์ และซึ่งส่องแสงสว่างแก่ทุกสิ่งทุกอย่าง ดูเถิดภมรซึ่งเร่ร่อนหาเกสรเพื่อประโยชน์แห่งรังของมัน แม้ได้เห็นดอกโมกรา ( ดอกไม้ป่าชนิดหนึ่ง ) เป็นพุ่มพวงและส่งกลิ่นรสสุคนธ์ฟุ้งขจรไปตามลมแล้วก็ดี มันก็ยังนึกว่าน้ำผึ้งของมันยังไม่เต็มอยู่นั่นเอง พระอาทิตย์ตกก็ดี หรือฝนตกก็ดี มันก็ยังมีเจตนาผูกพันอยู่กับดอกไม้ซึ่งโอชาเพราะต้องการดูดดื่มน้ำอมฤต แห่งดอกไม้เหล่านั้นดังนี้ฉันใด

สำหรับอำมาตย์ผู้นำพระบรมราชโองการมาก็เหมือนกันฉันนั้น ก็เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้วต่างคนต่างก็ละเลยเสียซึ่งกิจ แห่งตนที่เดินทางมา และเมื่อต่างก็ลืมแล้วในกิจทั้งปวงก็นำตนเข้าเป็นบริวารแห่งพระพุทธองค์ต่อ ไป

เพราะเหตุนี้พระราชาจึงตรัสใช้อุทายีอำมาตย์ผู้มีอายุและซื่อสัตย์ซึ่งเคย เป็นเพื่อนเล่นของพระสิทธัตถะเมื่อยามสันติสุขเกษมศานต์แต่ก่อนนั้นให้ไปอีก ฝ่ายอุทายีซึ่งนึกว่าอย่างไรก็ดี ตนเองก็คงจะได้ยินพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ หากว่าเกิดความเลื่อมใสขึ้นก็คงจะเสียการ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาไปถึงสวยไผ่ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับ จึงเอาสำลีอุดโสตประสาทเสีย โดยการกระทำดังนี้จึงได้รอดพ้นจากได้สดับพระธรรม รสแห่งธรรมวิเศษนั้น และสามารถกราบทูลข่าวสารขององค์พระราชบิดาและพระนางศรียโสธราได้

ฝ่ายพระพุทธองค์ค่อยๆ ก้มพระเศียรแล้วตรัสแก่ที่ชุมนุมว่า “ จริงทีเดียวตถาคตจะไป เป็นกิจของตถาคตซึ่งเกิดจากเจตนาของตถาคตเอง ผู้ใดก็ดีอย่าได้ลืมสนองบุญคุณผู้ซึ่งบังเกิดตนให้มีชีวิตขึ้น คือชีวิตซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความขวนขวายในวิถีกำจัดเสียซึ่งความดำรงชีพ และความตายอีกต่อไป แต่ให้บรรลุถึงคงซึ่งนิพพานทีเดียว ” โดยการเชื่อฟังบัญญัติ โดยพ้นแล้วจากความผิดที่ล่วงมาแล้วของตน ทั้งไม่ต้องเพิ่ม ต้องมีให้ผิดอีก และโดยบรรลุถึงซึ่งเมตตาอันบริสุทธิ์ซึ่งกระทำให้บังเกิดความรักได้

จงทูลพระราชาและพระนางเถิดว่า “ ตถาคตจะออกเดินทางเพื่อไปหาแล้ว ” โดยกิตติศัพท์อันนี้ ปวงประชาชนแห่งเศวตกบิลพัสดุ์กับนิคมคามทั้งปวงตระเตรียมการรับรองผู้เป็นเจ้าแห่งตน

ณ ทวารทิศใต้ก็ปลูกปะรำ มีเสาประดับประดาไปด้วยเฟื่องดอกไม้และประดับแพรสีแดงและเขียวปักทอง ตามถนนหนทางก็ประดับประดากิ่งก้านบุปผชาติซึ่งมีรสสุคนธ์และราดรดน้ำมัน จันทน์และน้ำมันมะลิอย่างชุ่มโชกซึ่งใช้รดด้วยมุสสุก ( ภาษาฮินดู ถังทำด้วยหนังแพะ ) คือถังสำหรับรดถนน ธงทิวปลิวไสว และหากเมื่อถึงกำหนดจะเสด็จมาถึงก็ให้มีช่างใส่กูบเงินและที่มีงาประดับปลอก ทองรายเรียงอยู่ข้างหน้าพลับพลาซึ่งมียามเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพื่อคอยตีกลองให้สัญญาณว่าพระสิทธัตถะเสด็จมาถึงแล้ว บรรดาเสนาอำมาตย์ทั้งปวงจะได้ไปต้อนรับและถวายบังคมพระองค์ และซึ่งหมู่นางละครจะได้โปรยโรยดอกไม้และเต้นรำขับร้องจนกระทั่งว่าดอก กุหลาบและดอกรักเร่ที่โปรยโรยไปนั้นให้ท่วมเข่าแห่งอัศวราชอาชาไนยซึ่ง พระองค์ทรงขี่ม้าและให้มรรคาทุกแห่งหนมีแต่งามตระการตา และก้องกังวานไปด้วยเสียงแห่งดุริยางค์และความบันเทิงอันกึกก้อง นี่แหละคือคำสั่งซึ่งประกาศ และทุกผู้ทุกคนก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แล้วคอยฟังเสียงกลองซึ่งตีให้สัญญาณเวลาที่พระองค์จะเสด็จไปถึงอย่างตั้งใจ

ฝ่ายพระนางศรียโสธรานั้น พระนางอยากไปรับพระราชสวามีก่อนใครอื่น จึงทรงสีวิกาเสด็จไปจนถึงเชิงกำแพงแห่งพระนคร ณ ที่ซึ่งได้ปลูกพลับพลาอยู่ท่ามกลางอุทยานนามว่านิโครธ มีกิ่งก้านร่มรื่นรายเรียงเป็นแถวแนว มีทางเลาะลัด กระทำให้อุทยานนั้นมีลักษณะสราญรมย์น่าพึงชมยิ่งนัก เพราะว่ามรรคาทางทิศใต้มีสนามหญ้าอันเขียวชอุ่มเป็นแถวแนวยาวยืด มีต้นไม้ซึ่งมีดอกเรียงรายกันไป และข้างนอกประตูก็เป็นหมู่กระท่อมแห่งทวยนาครชั้นต่ำและยากจนแร้นแค้นซึ่ง หากว่ามาแตะต้องเข้าแล้วก็เป็นอัปมงคลแก่กษัตริย์และนักบวชพราหมณ์ แม้แต่ถึงกระนั้นทวยนาครชั้นต่ำเหล่านั้นก็ตั้งใจคอยรับรองพระองค์เหมือนกัน คือตื่นแต่เช้ามืดแล้วก้มองดูไปจนสุดสายตาและหากว่าเมื่อได้ยินเสียงระฆัง ที่ผูกคอช้าง หรือเสียงกลองแห่งวัดวาอารามดังขึ้นแล้วก็จะพากันขึ้นต้นไม้ดูพระองค์ และเพื่อเป็นเกียรติยศแก่พระองค์ยังได้ตกแต่งประดับประดาบ้านเรือนของตน อย่างถึงใจ กับกวาดธรณีประตูประดับธง ผูกมัดใบมะม่วงทำเป็นเฟื่องประดับลิงคัม ( ศิลารูปกรวย ) และมุงใบไม้ ณ ประตูชัยเก่าแก่ซึ่งมีใบไม้แห้งเหล่านั้นเสียใหม่ กับอุตส่าห์ไต่ถามคนเดินทางอยู่เสมอเพื่อให้ทราบว่าจะมีอะไรเป็นอุปสรรคใน ระหว่างทางของพระสิทธัตถะบ้างหรือไม่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5063


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.273 Chrome 50.0.2661.273


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 07 ตุลาคม 2559 15:00:23 »



พระนางศรียโสธรามองดูหมู่ชนเหล่านั้นด้วยดวงพระเนตรอันตื่นเต้น ใคร่จะพบเห็นและมองดูทางทิศใต้เช่นเดียวกับหมู่ชนเหล่านั้น กับทั้งเงี่ยโสตคอยฟังข่าวจากผู้ที่ผ่านมาทั้งปวงเหมือนย่างคนเหล่านั้นด้วย ในที่สุดพระนางก็เห็นบุรุษคนหนึ่งค่อยๆ เดินมาอย่างช้าๆ โกนศีรษะแทบเกลี้ยงเกลา มีผ้าเหลืองพาดอยู่เหนือบ่า กายก็คลุมผ้าคล้ายฤาษี มือถือบาตรแวะเข้าประตูกระท่อมทุกๆ กระท่อมเป็นครู่ๆ พลางรับทานที่มีผู้บริจาคและอำนวยพรตอบแทน หรือถ้าไม่มีใครบริจาคทานแล้วก็เดินต่อๆ มาด้วยอาการปกติ

มีบุรุษเดินตามหลัง 2 คน โดยครองผ้าเหลืองเหมือนกัน แต่บุรุษถือบาตรนั้นมีอาการสง่ายิ่ง น่าเคารพยิ่ง อันเป็นการซึ่งจำเริญความนิยมชมชื่นยิ่งมาตลอดวิถีทางของเขา และโดยแววตาอันประกอบด้วยบุญบารมี กระทำให้เป็นที่จับใจของคนทุกคน จนเมื่อเวลาที่คนเหล่านั้นถวายทานแก่ท่านก็มองดูท่านด้วยความเคารพ และบ้างก็น้อมกายกราบท่าน บ้างก็ไปหาของมาถวายใหม่อีกโดยความเสียใจที่ตนเป็นคนยากจนจนกระทั่งว่าต่อมา ภายในไม่ช้า เด็ก บุรุษและสตรีต่างก็กระตือรือร้นพากันเดินตามท่านและพร่ำว่า “ ท่านผู้นี้คือใครหนอ ใครที่ไหนกัน ตั้งแต่เมื่อไรฤาษีจึงมีลักษณะสง่างามเช่นนี้ ” แต่ครั้นพระองค์ค่อยๆ เสด็จมาถึงพลับพลา ในทันใดนั้น ประตูประดับแพรก็เปิดออก แล้วพระนางศรียโสธราซึ่งมิได้คลุมพระพักตร์ก็จรลีขมีขมันไปสู่ทางพระองค์ เสด็จพลางอุทานว่า “ พระองค์พระสิทธัตถะ ” น้ำอัสสุชลก็คลอสองพระเนตร และประณมพระหัตถ์แล้วก็ทอดสิริร่างสะอื้นไห้อยู่ ณ แทบพระบาทของพระองค์นั้นเอง

นานต่อมา เมื่อพระนางศรียโสธราซึ่งระทมทุกข์กลับมาถือตามพระพุทธวจนะแล้ว เมื่อมีผู้ทูลถามแด่พระองค์ว่า เมื่อปรารถนาในการสละจากราคะตัณหาทั้งปวงแห่งมนุษย์ และจากการแตะต้องรูปรสอันละมุนละม่อมเหมือนดอกไม้ และน่านิยมคือการแตะต้องมือของสตรีแล้ว เหตุใดพระองค์จึงอดทนต่อการจูบกอดนั้นได้

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ ผู้ที่ใหญ่ยิ่งย่อมมีทางสำหรับความรักเช่นเดียวกันกับผู้ที่เล็กที่สุดแม้ ผู้นั้นจะสูงเยี่ยมด้วยความบริสุทธิ์อย่างใดก็ตาม จงระวังอย่าให้ดวงวิญญาณซึ่งหลุดพ้นแล้วจากความผูกพันมีอาการเหยียดหรือข่ม แก่วิญญาณซึ่งยังถูกมัดอยู่โดยความโอ้อวดในความอิสระ คือเพราะที่ตนได้หลุดพ้นแล้วนั้นเลยเป็นอันขาด ความอิสระของท่านจะมีค่ายิ่งเมื่อท่านสำเร็จในความอิสระของท่านโดยความ พยายามพากเพียร และวิถีแห่งความรอบรู้ซึ่งละเอียดสุขุม ยุคแห่งความพากเพียรอันยืดยาว 3 ยุค ได้กระทำให้พระโพธิสัตว์ ( ผู้ที่ได้สำเร็จความรู้อย่างสูงและย่อมเป็นผู้ที่ให้ความดีต่อมนุษย์ ) ซึ่งจะเป็นผู้นำและช่วยโลกอันมืดมนอนธการ ได้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จ อันจะช่วยทุกข์ทั้งปวงได้ ยุคทั้ง 3 นี้ ที่ 1 คือ ปัญญาธิกะ ที่ 2 คือ สัทธาธิกะ ที่ 3 คือวิริยาธิกะ ”

ดูเถิดตถาคตได้เกิดมาแล้วในยุคแห่งปัญญา ต้องการความดี แสวงหาความรอบรู้แต่จักษุยังปิดไว้ไม่มองเห็น จงนับเม็ดทรายแห่งไร่ละหุ่งดู ก็จะพึงรู้ได้ว่าจำนวนเม็ดทรายเท่าใดนั่นแหละ คือจำนวนปีที่ตถาคตบังเกิดเป็นบุรุษชื่อราม คือพ่อค้าคนหนึ่งฝั่งใต้ อยู่ข้างหน้าลังกาทวีปอันเป็นแหล่งที่มีไข่มุก ณ กาลอันนานมาแล้วนั้น ยโสธราก็อยู่กับตถาคต ณ หมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ริมทะเล นางงามเหมือนเดี๋ยวนี้เหมือนกัน และมีนามว่าลักษมี ตถาคตจำได้ว่า เมื่อกาลครั้งกระนั้น ครั้งหนึ่งตถาคตต้องออกเดินทางซึ่งเอาชีวิตเป็นเครื่องเสี่ยงโชค เพราะอาชีพความเป็นอยู่ของเราทั้งสอง ณ กาลครั้งนั้นอยู่ในฐานะยากจนแร้นแค้น

นางได้วิงวอนอย่างโศกาอาดูรเพื่อมิให้ตถาคตออกเดินทางและมิให้ไปผจญต่อ ภยันตรายทั้งทางบกและทางทะเล นางคร่ำครวญว่าเมื่อมีความรักอยู่แล้ว จะสละสิ่งที่ตนรักไปได้อย่างไร ถึงกระนั้นก็ดี ตถาคตก็ออกเดินทางโดยเหตุที่ต้องลองพยายามไปตามบุญตามกรรม ตถาคตจึงผ่านช่องแคบไป และภายหลังที่มีพายุและเหตุการณ์ซึ่งตนจะต้องผจญ ภายหลังการต่อสู้กับธรรมชาติอันว่างเวิ้งลึกซึ้ง และความทรมานอันไม่รู้จักสิ้น พลางค้นคว้าดูในลูกคลื่นแล้ว ตถาคตก็ได้ไข่มุกเม็ดหนึ่งสดใสดุจดวงจันทร์ ประหนึ่งว่าปวงราชาทั้งหลาย ถ้าจะซื้อก็ต้องพล่าพระราชทรัพย์เสียจนสิ้นเชิง

เมื่อได้ดังนั้นแล้ว ตถาคตก็กลับมาสู่เขาคีรีที่อาศัยอยู่ แต่เผอิญบ้านเมืองได้รับความเสียหายด้วยทุพภิกขภัย ตถาคตก็ล้มเจ็บลงด้วยความเหน็ดเหนื่อยแห่งการเดินทางในคราวที่กลับนั่นเอง กว่าจะถึงที่อาศัยอยู่ก็สุดลำบาก โดยเอาเม็ดไข่มุกอันบริสุทธิ์ซึ่งได้จากทะเลนั้นซ่อนไว้ในเข็มขัดของตถาคต แต่เมื่อถึงบ้าน ที่บ้านก็ปราศจากอาหาร

และธรณีประตูนั้นเอง นางซึ่งตถาคตเป็นห่วง ห่วงยิ่งกว่าตัวของตถาคตเอง นอนพังพาบอยู่โดยปราศจากสุ้มเสียงจวนจะถึงซึ่งความตาย เพราะเหตุไม่มีข้าวใส่ท้องเลยแม้แต่น้อย เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว ตถาคตจึงร้องว่า “ หากผู้ใดมีข้าวให้เราที่นี่แล้ว จงดูเถิด นี่แน่ะคือค่าไถ่แห่งพระนครๆ หนึ่ง เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้โปรดให้อาหารแก่ลักษมีเถิด แล้วรับไข่มุกซึ่งพราวแพรวเหมือนดวงจันทร์ เมื่อว่าดังนี้แล้วเพื่อนบ้านคนหนึ่งจึงนำเดนอาหารของตนที่เหลืออยู่นั้นให้ 3 แซร์ ( ขนาดความจุประมาณครึ่งลิตร ประมาณครึ่งทะนาน ) แล้วก็ฉวยเอาไข่มุกวิเศษนั้นไป พอได้กินอาหาร ลักษมีก็มีชีวิตต่อมาและเมื่อได้คืนแล้วซึ่งชีวิต นางก็เผยโอษฐ์ว่า “ อ้อ ที่จริงเธอก็รักฉันเหมือนกันนี่ ” แต่ในชีวิตนี้ตถาคตก็ทำการแลกไข่มุกเหมือนกันเพื่อบำรุงความสดใสแห่งดวงใจ และวิญญาณซึ่งพ่ายแพ้แก่โลกีย์ แต่ไข่มุกอันบริสุทธิ์ในบัดนี้เป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการผจญครั้งสุดท้ายของ ตถาคต และซึ่งเอามาได้จากลูกคลื่นอันลึกกว่าครั้งก่อน คือนิทานทั้ง 12 กับกฎแห่งความดีนั้น จะเอาไปทำการแลกเปลี่ยนกับอะไรไม่ได้เลย นอกจากจะให้ไปเปล่าๆ จึงจะเรียกว่าได้ถึงแล้วซึ่งความบริสุทธิ์ เพราะรังมดเปรียบกับเชิงเขาพระสุมรุก็ดี หยาดน้ำค้างที่ย้อยมาและรวบรวมกันเป็นห้วงน้ำอยู่ ณ รอยเท้าของนางเก้งที่กระโดดเปรียบกับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไม่มีที่สุดก็ดี ก็เท่ากับทานซึ่งตถาคตยอมสละแล้วแต่ก่อนนั้นอันจะเปรียบดังทานซึ่งตถาคตสละ ณ บัดนี้ไม่ได้

เพราะฉะนั้นความรักซึ่งกว้างขวางแล้วนั้น พอได้หลุดพ้นจากข่ายแห่งความรู้สึก รูป เสียง กลิ่น รส ก็เป็นความรักที่ถูกที่ดี ในเมื่อยอมตามใจผู้อ่อนแอ เพราะเมื่อยอมตามแล้วเท้าอันแบบบางของยโสธราก็จะพาให้พระนางเดินไปสู่ความ สงบและความสุขได้ โดยเหตุที่เท้านั้นได้ถูกนำให้เดินด้วยวิธีอันอ่อนโยน ”

ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อทรงทราบว่า พระสิทธัตถะเสด็จมาถึงโดยปลงพระเกษา หุ้มห่อพระวรกายด้วยเครื่องนุ่งห่มของยาจก กับถือบาตรเพื่อรับเศษอาหารของหมู่ชนชั้นต่ำ ความเสียพระทัยโกรธกริ้วมากำจัดเสียซึ่งความรักอันมีอยู่ในพระทัยของพระองค์ ไปเสียสิ้น

พระองค์ทรงถ่มเขฬะลงยังแผ่นดิน 3 ครั้ง ทึ้งถอนพระมัสสุสีอันขาวดุจเงินแล้วเสด็จออกไปเสียอย่างหุนหันกระทำให้บรรดา อำมาตย์ราชบริพารต่างสั่นระรัวทั่วสรรพางค์กายไปตลอดทางที่พระองค์เสด็จ พระองค์เสด็จขึ้นทรงม้าสงครามด้วยพระขนงอันขมวด และทรงกระตุ้นม้าปล่อยให้ห้อไปตามถนนใหญ่น้อยทั้งปวงที่อัดแอไปด้วยฝูงชน หมองพระทัยไปด้วยความกริ้วโกรธ จนฝูงชนเหล่านั้นจะหาโอกาสบอกว่า “ นั่นแน่ะ พระราชา นั่งลงซิ ” เท่านั้นก็แทบไม่ทัน

ครั้นพระองค์วกกลับไปตามกำแพงของวัดซึ่งมองไปเห็นประตูด้านใต้ที่กล่าวมา แล้วนั้น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นฝูงชนหมู่ใหญ่ซึ่งอุดช่องทางเดินและใหญ่ๆ ขึ้นเสมอซึ่งเดินตามพระสิทธัตถะผู้มีดวงพระเนตรอันสดใสบริสุทธิ์ พระองค์มองดูพระเนตรของพระบิดาผู้ชราของพระองค์แล้ว ความพิโรธโกรธกริ้วของพระบิดาก็อ่อนลงไป

เมื่อพระพุทธองค์เพ่งดูพระบิดาซึ่งขมวดพระขนงด้วยพระอาการอันอ่อนโยนและ เคารพ ครั้นแล้วพระองค์ก็ก้มพระพักตร์และทรงคุกพระชานุลงต่อพระพักตร์พระราชบิดา ด้วยพระอาการอันงามสุภาพ ทั้งนี้ก็เพราะพระราชบิดานั้นเมื่อเห็นพระราชโอรส เข้าใจในพระอาการกิริยาของราชโอรส สังเกตเห็นพระบารมีซึ่งปรากฏเป็นรัศมี ณ พระนลาฏของพระองค์ และเพราะพระรัศมีอันนี้เองซึ่งกระทำให้ปวงชนเดินตามรอยพระบาทของพระองค์ด้วย ความเงียบและเคารพ พระราชบิดาจึงมีพระทัยอ่อนลง

แม้แต่กระนั้นก็ดี พระราชบิดายังตรัสว่า “ พระมหาสิทธัตถะจะแอบเข้ามาในพระราชธานีของตนโดยนุ่งห่มอย่างคนขี้ริ้วโกนหัว สวมเกือกแตะและเที่ยวขอทานแก่หมู่ชนชั้นต่ำอย่างนี้ได้หรือ เขาผู้ซึ่งมีชีวิตเทียมเท่ากับพระเจ้าองค์หนึ่ง ลูกของเราซึ่งเป็นผู้รับมรดกในพระราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ และในปวงราชาทั้งหลายซึ่งเพียงแต่สัมผัสมือของราชาเหล่านั้นเท่านั้น ราชาเหล่านั้นก็จะเรียกให้บริวารของตนนำสิ่งใดๆ ทุกอย่างซึ่งอาจหาได้ในโลกนี้มาให้

“ สูเจ้าควรควรจะเข้ามาพร้อมด้วยเกียรติยศที่สมแก่ฐานันดรศักดิ์ของตนโดยแห่ ห้อมล้อมไปด้วยพลหอกอันแพรวพราวและด้วยความสนั่นหวั่นไหวไปด้วยเท้าคนและ เท้าม้า จงดูเถิด ทหารของเราทั้งสิ้นพักแรมอยู่ตามทางและทวยนาครของเราต่างรอคอยอยู่ตามทวาร ก็สูเจ้าไปอยู่ที่ไหนเล่าในระหว่างเวลาหลายปีซึ่งอัปมงคล กระทำให้บิดาของเจ้าโศกเศร้าอาดูรอยู่เหนือราชบัลลังก์ และภรรยาของเจ้าดำรงชีวิตอยู่เป็นม่ายโดยยอมสละละเสียซึ่งความสนุกสนาน ร่าเริงทั้งปวง ไม่ฟังแล้วซึ่งเสียงจำเรียงร้องและดนตรี และไม่แต่งกายด้วยเครื่องแต่งสำหรับพิธีรีตองใดๆ จนกระทั่งวันนี้จึงแต่งด้วยเครื่องนุ่งห่มประดับสุวรรณจินดาเพื่อมารับรอง สวามีซึ่งครองผ้าเหลืองขี้ริ้วที่กลับมา ลูกทำไมจึงทำเช่นนั้น ”

“ มหาบพิตรผู้บิดา ” พระพุทธเจ้าตรัสตอบ “ ประพฤติการณ์ทั้งนี้เป็นธรรมเนียมของชาติตระกูลแห่งตถาคตเอง ”
“ ชาติตระกูลของเจ้า ” พระราชาทวนคำ “ ชาตติตระกูลของเจ้านั้น นับตั้งแต่มหาสมบัติเป็นต้นมาก็ได้ร้อยบัลลังก์แล้วแต่ก็หามลทินด้วยความประพฤติอย่างเจ้านี้มิได้ ”

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ ตถาคตจะได้พูดถึงเชื้อตระกูลซึ่งตายนั้นหามิได้ แต่พูดถึงเชื้อตระกูลซึ่งมองไม่เห็นของพระพุทธเจ้าแห่งอดีตและอนาคตนั้นต่างหาก ตถาคต นี้ก็เป็นองค์หนึ่งของเหล่าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และสิ่งใดซึ่งพระพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงประพฤติ ทรงกระทำ ตถาคตก็กระทำ ก็ประพฤติในสิ่งนั้น และสิ่งใดซึ่งเป็นขึ้น ณ บัดนี้ก็ได้เป็นแต่ก่อนมาแล้วเหมือนกัน แต่ปางก่อนนั้นก็มีพระราชาผู้สวมเกราะออกมารับรองโอรสของพระองค์ ณ พระทวารดังนี้เหมือนกัน คือพระโอรสซึ่งครองกายเหมือนฤาษี และผู้ซึ่งช่วยโลกให้พ้นจากทุกข์ มีธรรมานุภาพด้วยความเมตตาและความระงับในตนเองยิ่งกว่าพระราชาทั้งหลายซึ่ง ทรงศักดานุภาพนั้น ก็ได้มาน้อมกายเหมือนอย่างที่ตถาคตกระทำอยู่เดี๋ยวนี้ แล้วถวายขุมทรัพย์ซึ่งได้นำมาด้วยนั้น มอบให้เพราะความรักและความเมตตาแก่พระราชบิดา ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องพันพัวกันด้วยหนี้อย่างหนึ่งแห่งความรักใคร่ นี่แหละคือถ้อยคำหรือขุมทรัพย์ซึ่งตถาคตขอทูลถวายแก่พระองค์บัดนี้ ”

พระราชาประหลาดพระทัยแล้วตรัสถามว่า “ ขุมทรัพย์อะไร ” พระพุทธองค์ทรงประคองพระหัตถ์พระราชบิดาแล้วก็เสด็จต่อไปสู่ถนนต่างๆ ซึ่งมีทวยประชาล้วนเคารพพระองค์ มีพระราชาและพระนางศรียโสธราอยู่ข้างเคียง พลางทรงเผยสิ่งซึ่งกระทำให้เกิดความสงบและความบริสุทธิ์ ความจริงอันสุขุมคัมภีรภาพทั้ง 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความดี คือธรรมมานุภาพเหมือนดังขอบฝั่งเป็นที่ตั้งกั้นทะเลมหาสมุทร พระองค์ตรัสถึงพระบัญญัติทั้ง 8 ซึ่งทุกผู้ทุกคน ไม่ว่าพระราชาหรือข้าทาสอะไรหากต้องการไปสู่ทางอันบริสุทธิ์ซึ่งมีอยู่ 4 ชั้น และ 8 อย่างซึ่งเป็นที่อาศัยของผู้ที่มีชีวิต ไม่ว่ามีอำนาจหรือแร้นแค้น ไม่ว่าฉลาดหรือโง่ บุรุษหรือสตรี เด็กหรือผู้ใหญ่ ต้องหลุดพ้นจากวัฏสงสารแห่งความดำรงชีพไม่ช้าก็เร็ว แล้วก็ได้บรรลุถึงซึ่งพระนิพพานอันสันติสถาพร

ครั้นแล้วต่างก็เสด็จถึงพระราชวัง พระ เจ้าสุทโธทนะนั้นกลับทรงเบิกบานพระทัยแจ่มใส ด้วยได้ดูดดื่มธรรมรสแห่งพระพุทธโอวาทของพระพุทธองค์จนทรงอุ้มบาตรตามพระ องค์ ณ วาระเดียวกันนั้น พระเนตรของพระนางศรียโสธราก็มีแววแจ่มใสมากระทำให้อัสสุชลแห้งหายไปจากคลอง พระเนตร โดยประการดังนี้ ณ ราตรีกาลวันนั้นต่างก็เกษมศานต์สันติสุขด้วยธรรมมรรคานั้นแล


จาก http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/light_of_asia/07.html

http://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm
บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
The Light of Asia ประทีปแห่งทวีปเอเชีย : ปริเฉทที่ 1 ชาติกถา
พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มดเอ๊ก 0 2996 กระทู้ล่าสุด 03 ตุลาคม 2559 18:44:09
โดย มดเอ๊ก
The Light of Asia ประทีปแห่งทวีปเอเชีย : ปริเฉทที่ 2 อาวาหมงคลกถา
พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มดเอ๊ก 1 2720 กระทู้ล่าสุด 03 ตุลาคม 2559 18:54:15
โดย มดเอ๊ก
The Light of Asia ประทีปแห่งทวีปเอเชีย : ปริเฉทที่ 3 เทวทูตทัสนกถา
พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มดเอ๊ก 1 3502 กระทู้ล่าสุด 03 ตุลาคม 2559 19:03:02
โดย มดเอ๊ก
The Light of Asia ประทีปแห่งทวีปเอเชีย : ปริเฉทที่ 4 ปัพพัชชกถา
พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มดเอ๊ก 1 2475 กระทู้ล่าสุด 03 ตุลาคม 2559 19:11:47
โดย มดเอ๊ก
The Light of Asia ประทีปแห่งทวีปเอเชีย : ปริเฉทที่ 5 ทุกรกิริยากถา
พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มดเอ๊ก 1 2650 กระทู้ล่าสุด 07 ตุลาคม 2559 14:28:43
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.109 วินาที กับ 34 คำสั่ง

Google visited last this page 8 ชั่วโมงที่แล้ว