[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 21:49:49 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ  (อ่าน 18565 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 17 ตุลาคม 2559 15:32:25 »




ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ
จากหนังสือ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ
งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
จัดพิมพ์ทูลเกล้าฯ ถวายสนองพระมหากรุณาธิคุณ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๓๙

ประเทศไทยมีการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งชาติสืบเนื่องมาแต่โบราณ เป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๗๐๐ ปี นับแต่กรุงสุโขทัยได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นราชธานีเมื่อราว พ.ศ.๑๘๐๐ เป็นต้นมา  ในสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์ทรงปกครองบ้านเมืองในลักษณะของบิดาปกครองบุตร ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในขณะนั้น เพราะอาณาเขตยังไม่กว้างขวางนัก จำนวนประชากรก็ยังน้อย พระมหากษัตริย์จึงสามารถดูแลและสร้างความสัมพันธ์กับราษฎรได้อย่างใกล้ชิด เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนมาร้องทุกข์ และเข้าเฝ้าขอความเป็นธรรมได้ตลอดเวลา

เมื่อถึงสมัยอยุธยา ราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างขวางใหญ่โตขึ้นมาก การปกครองจึงย่อมมีความซับซ้อนแตกต่างไปจากสมัยสุโขทัย แม้จะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในการปกครองอยู่เช่นเดิม แต่ฐานะของพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยได้รับการยกย่องเป็นพ่อเมืองในสมัยสุโขทัย ก็ได้รับการยกย่องขึ้นเป็นสมมติเทพ ตามคติเทวราชของขอมอันเป็นคติที่ขอมได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาฮินดูที่เชื่อในเรื่องเทพอวตาร โดยเฉพาะพระวิษณุ (พระนารายณ์) ซึ่งอวตารหรือแบ่งภาคลงมาปราบยุคเข็ญให้แก่ชาวโลก ในสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์จึงได้รับการเคารพนับถือและทรงพระราชอำนาจประดุจเทพเจ้า ทรงเป็นทั้งเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิตของประชาชน มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองราชอาณาจักร

การปกครองในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเรียกว่าการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้เป็นระบอบการปกครองที่สืบเนื่องมายาวนานตลอดสมัยอยุธยา จนกระทั่งถึงปีที่ ๑๕๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นเวลาถึง ๕๗๒ ปี ในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยได้ผ่านทั้งภาวะของการสงครามและภาวะของความสันติสุข มีการติดต่อค้าขายกับประเทศอื่นทั้งไกลและใกล้ การติดต่อสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศตะวันตกชักนำให้มีชาวตะวันตกเข้ามาตั้งถิ่นฐานตลอดจนรับราชการในแผ่นดิน ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาแพร่หลายในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ได้หยุดชะงักไปในช่วงสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากความไม่สงบของบ้านเมือง จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัฒนธรรมตะวันตกจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง และตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา คนไทยได้มีโอกาสออกไปศึกษาเล่าเรียนในประเทศตะวันตกกันมาก จึงได้นำเอาวิชาความรู้มาใช้ในการปฏิบัติราชการ ตลอดจนนำสิ่งที่พบเห็นหรือได้ประพฤติปฏิบัติจนเห็นว่าดีงามเป็นประโยชน์แก่ชาติกลับมาเผยแพร่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายในประเทศอย่างมากมาย ทั้งทางด้านวัตถุธรรมและนามธรรม จนในที่สุดระบอบการปกครองก็ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ตามกระแสของยุคสมัย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปกครองประเทศ

สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันที่มีความสำคัญสูงสุดของประเทศ และเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของประชาชนชาวไทยตลอดมา ไม่ว่าในยุคสมัยใด เราต่างระลึกอยู่เสมอว่า ประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง ดำรงเอกราชมาได้จนทุกวันนี้ ก็ด้วยพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของพระบุรพมหากษัตริย์ ที่ทรงนำประเทศหลีกพ้นอันตรายมาด้วยวิเทโศบายอันชาญฉลาด ทรงปกครองแผ่นดินด้วยหลักทศพิธราชธรรม นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ประชาราษฎร ทรงทะนุบำรุงประเทศให้รุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรม ซึ่งยังคงสืบทอดเป็นมรดกอันล้ำค่า นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในความเป็นชาติเอกราชที่มีอารยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดีงามมาจนทุกวันนี้




การปกครองประเทศตั้งแต่โบราณมา พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกสรรบุคคลที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยมาช่วยปฏิบัติราชการ โดยแต่งตั้งให้มีตำแหน่ง มียศตามหน้าที่ตามลำดับความสำคัญของงานที่ได้รับมอบหมาย และพระราชทานสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ แก่ผู้ปฏิบัติราชการต่างพระเนตรพระกรรณเหล่านั้นเพื่อเป็นบำเหน็จความชอบและเพื่อเป็นเครื่องแสดงฐานะ หรือเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศตามศักดิ์ตามตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ของพระราชทานดังกล่าวเรียกว่า เครื่องยศ

การพระราชทานเครื่องยศ คงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่โบราณแล้ว เพียงแต่ไม่มีเรื่องราวจารึกไว้เป็นหลักฐาน และอาจจะยังไม่มีการวางระเบียบไว้เป็นประเพณี มามีหลักฐานปรากฏชัดว่าได้มีพระราชกำหนดตราขึ้นเป็นระเบียบประเพณีในสมัยอยุธยา ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นมา ดังที่มีกล่าวถึงในเอกสารต่างๆ เช่น ในกฎมณเฑียรบาลบ้าง ในพระราชพงศาวดารบ้าง

การพระราชทานเครื่องยศในสมัยต่อมา ได้ยึดถือโบราณราชประเพณีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นหลัก ถึงแม้เมื่อมีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นดวงตราสำหรับติดเสื้อ เรียกกันในสมัยนั้นว่า ตรา และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรับปรุง ตลอดจนกำหนดระเบียบตั้งเป็นพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และบุคคลอื่นๆ แล้วประเพณีการรับพระราชทานเครื่องยศก็ยังคงมีอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน แต่จำกัดลงเฉพาะในโอกาสรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า และในการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์พระราชวงศ์

เครื่องยศดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้มากมายหลายประเภท เป็นของต่างชนิดกันบ้าง ชนิดเดียวกันแต่ต่างกันที่รูปแบบบ้าง ที่เนื้อวัสดุบ้าง ที่การตกแต่งบ้าง ตามแต่ยศ ศักดิ์ และตำแหน่ง ตลอดจนความดีความชอบของผู้ได้รับพระราชทาน อาจจำแนกประเภทของเครื่องยศเป็นหมวดหมู่ได้ ๗ หมวด คือ หมวดเครื่องสิริมงคล เครื่องศิราภรณ์ เครื่องภูษณาภรณ์ เครื่องศัตราวุธ เครื่องอุปโภค เครื่องสูง และยานพาหนะ

ในส่วนขององค์พระมหากษัตริย์นั้น ทรงมีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับเป็นเครื่องแสดงฐานะเช่นกัน สิ่งสำคัญที่ถือว่าเป็นเครื่องแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งยึดถือมาแต่โบราณ ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจราชกกุธภัณฑ์ มี ๒ แบบ ดังนี้

แบบที่ ๑ ประกอบด้วย
     ๑.นพปฎลมหาเศวตฉัตร
     ๒.พระมหาพิชัยมงกุฎ
     ๓.พระแสงขรรค์ชัยศรี
     ๔.พัดวาลวิชนี และพระแส้จามรี (หรือพระแส้หางช้างเผือก)
     ๕.ฉลองพระบาทเชิงงอน

แบบที่ ๒ ประกอบด้วย
     ๑.พระมหาพิชัยมงกุฎ
     ๒.พระแสงขรรค์ชัยศรี
     ๓.ธารพระกรชัยพฤกษ์
     ๔.พัดวาลวิชนี และพระแส้จามรี (หรือพระแส้หางช้างเผือก)
     ๕.ฉลองพระบาทเชิงงอน

สมัยโบราณนับถือพระมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งสำคัญกว่าอย่างอื่น ถือว่ามีความหมายเท่ากับความเป็นพระราชามหากษัตริย์ ส่วนมงกุฎนั้นถือเป็นราชกกุธภัณฑ์ที่เป็นเครื่องราชศิราภรณ์เท่านั้น มิได้ถือเป็นยอดแห่งความสำคัญอย่างเช่นพระมหาเศวตฉัตร จนถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยเราได้สมาคมกับชาติตะวันตกที่นับถือพระมงกุฎอยู่หลายประเทศ คติที่นับถือพระมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในจำนวนราชกกุธภัณฑ์จึงได้เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่นั้น

คำว่า พระราชอิสริยยศ เป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง ตั้งแต่พระบรมราชโอรสธิดาขึ้นไป เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอื่นๆ ที่นอกไปจากเบญจราชกกุธภัณฑ์อันเป็นเครื่องพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ จึงเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงดังกล่าวแล้วนั้นด้วย  โดยมีความแตกต่างลดหลั่นกันไปตามพระราชอิสริยยศของพระบรมราชวงศ์นั้นๆ อาจจำแนกประเภทของเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศออกเป็นหมวดหมู่ได้เช่นเดียวกันกับเครื่องยศดังนี้

เครื่องสิริมงคล
ได้แก่ พระสังวาล พระธำมรงค์ พระประคำทองคำ ๑๐๘ เม็ด พระสายดิ่ง และพระตะกรุดทองคำ

เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศหมวดนี้ เป็นของสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงฝ่ายหน้า ซึ่งรัชกาลปัจจุบันมีพระองค์เดียว ได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

พระสังวาล ที่เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญ มีอยู่ ๒ องค์ คือ สังวาลพระนพ และพระมหาสังวาลนพรัตน์ ส่วนพระธำมรงค์ คือ พระธำมรงค์วิเชียรจินดา และพระธำมรงค์รัตนวราวุธ

เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในหมวดนี้ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงได้รับพระราชทาน มีดังนี้
     ๑.พระสังวาลพระนพน้อย
     ๒.พระธำมรงค์นพรัตน์
     ๓.พระประคำทองคำ ๑๐๘ เม็ด
     ๔.พระสายดิ่งทองคำ
     ๕.พระตะกรุดทองคำสายทอง
     ๖.พระตะกรุดทองคำลงยาประดับเพชร

เครื่องศิราภรณ์
คือเครื่องประดับพระเศียร ได้แก่ พระมงกุฎ พระชฎา และพระมาลา ซึ่งมีหลายแบบหลายองค์ สำหรับทรงในโอกาสต่างๆ กัน

เครื่องราชศิราภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันพระราชทาน เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้แก่
     ๑.พระอนุราชมงกุฎ
     ๒.พระมาลาเส้าสูงทองคำลงยา

เครื่องภูษณาภรณ์
ได้แก่ ฉลองพระองค์ต่างๆ เช่น ฉลองพระองค์ครุย สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในงานพระราชพิธีสำคัญ ที่มีการเสด็จออกมหาสมาคม เพื่อรับการถวายพระพรชัยมงคล

เครื่องศัสตราวุธ
คือ พระแสงต่างๆ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ฝ่ายหน้า ซึ่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน มีพระบรมราชวงศ์ที่ได้รับพระราชทานพระแสงเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระแสงที่ได้รับพระราชทานมีดังนี้
     ๑.พระแสงฝักทองเกลี้ยง
     ๒.พระแสงกระบี่สันปรุทองศีรษะนาค ๓ เศียร ฝักทองคำลงยาราชาวดีลายมงคล ๘ และพระเศวตฉัตร ๗ ชั้น

เครื่องราชูปโภค
เครื่องราชูปโภคสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ กล่าวเฉพาะที่สำคัญ ได้แก่
     ๑.พานพระขันหมาก สำหรับวางมังสี (พานรูปรีทองคำทองยา) ใส่พระศรี คือ หมากพลู และยา สำรับใหญ่ชุดกลมตัด ทำด้วยทองคำลงยาทั้งชุด
     ๒.พระมณฑปรัตนกรันฑ์ คือ ภาชนะบรรจุน้ำเย็นทำด้วยทองคำลงยามีพานรองและจอกลอย
     ๓.พระสุพรรณศรีบัวแฉก คือ กระโถนเล็กปากเป็นกลีบๆ ทำด้วยทองคำลงยา
     ๔.พระสุพรรณราช คือ กระโถนใหญ่ ทำด้วยทองคำลงยา

นอกจากนั้น ยังมีเครื่องพานพระศรีอีก ๒ สำรับ คือ ชุดไม้สิบสอง เรียก ชุดพระสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ทำด้วยทองคำลงยาสำหรับหนึ่ง อีกสำรับหนึ่งทำด้วยนาก

ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ได้มีการพระราชทานเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศในหมวดนี้ดังต่อไปนี้

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
     -พานพระศรีทองคำลงยาลายบัวเครื่องพร้อม
     -หีบพระศรีทองคำลงยาลายบัว พร้อมพานทองคำลงยาลายบัว
     -พระสุพรรณศรีทองคำลงยาลายบัว
    -ขันพระสุธารสทองคำลงยาลายบัว พร้อมพานรองทองคำลงยา
     -กาพระสุธารสทองคำลงยา พร้อมถาดรองรูปไข่
     -ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยาลายบัว พร้อมพานรอง และคลุมปักดิ้นทอง
     -กล่องหมากตราจุลจอมเกล้าพร้อมพานรองทองคำลงยา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
     -พานพระศรีทองคำลงยาเครื่องพร้อม
     -คนโทน้ำทองคำลงยา พร้อมพานรอง
     -พระสุพรรณศรีทองคำลงยา
     -หีบพระศรีทองคำลงยา พร้อมพานรอง
     -กากระบอกทองคำ พร้อมถาดรอง
     -ที่พระสุธารสทองคำเครื่องพร้อม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

     -พานพระศรีทองคำลงยาเครื่องพร้อม
     -หีบพระศรีทองคำลงยา ตราพระจุลมงกุฎฝังเพชร
     -ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา พร้อมพานรอง
     -ขันน้ำฝาครอบทองคำลงยา พร้อพานและจอก
     -กากระบอกทองคำลายสลัก
     -ที่ชาทองคำเครื่องพร้อม
     -พระสุพรรณศรีทองคำลงยา

เครื่องสูง
ได้แก่ ฉัตร อภิรุมชุมสาย บังสูรย์ บังแทรก จามร กลด พัดโบก เป็นต้น

ฉัตรประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ คือฉัตรขาว ๙ ชั้น มีระบายขลิบทอง ๓ เส้น แต่ละชั้น เรียกว่า พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือเรียกโดยย่อว่า พระมหาเศวตฉัตร เป็นเครื่องแสดงพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชโดยสมบูรณ์แล้ว

ฉัตร ๗ ชั้น มีชื่อว่า พระสัปตปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตรสำหรับพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ที่ยังคงมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก และสำหรับสมเด็จพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังสถานมงคล สมเด็จพระยุพราช และสมเด็จเจ้าฟ้าที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศพิเศษ เช่น สมเด็จพระบรมราชกุมารี

ฉัตรขาว ๕ ชั้น มีชื่อว่า พระเบญจปฎลเศวตฉัตร สำหรับพระราชทานพระบรมราชวงศ์ที่ดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าฟ้า

อภิรุมชุมสาย เป็นฉัตรประเภทหนึ่ง ทรงชะลูด มีสีต่างๆ สำหรับตั้งหรือเข้ากระบวนแห่ สำรับหนึ่งประกอบด้วย ฉัตร ๗ ชั้น ๔ คัน ฉัตร ๕ ชั้น ๑๐ คัน ชุมสาย ๔ คัน มี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่ง ปักดิ้นทอง เรียกรวมทั้งสำรับที่ปักดิ้นทองด้วยกันคือรวมทั้ง บังสูรย์ ๑ บังแทรก ๖ กลด ๑ และจามร ๘ ว่า เครื่องสูง หักทองขวาง อีกชนิดกรุเย็บด้วยแผ่นทองแผ่ลวด เรียกว่า เครื่องสูงทองแผ่ลวด

พระบรมราชวงศ์ในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ที่ได้รับพระราชทานเครื่องสูงหักทองขวาง เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ มีดังนี้
     -สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
     -สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
     -สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
     -สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ยานพาหนะ
แบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
เครื่องคานหาม คือ ยานพาหนะประเภทมีคานหาม เคลื่อนที่โดยมีเจ้าพนักงานแบกหาม ได้แก่ พระราชยาน มีลักษณะต่างๆ ทั้งชนิดประทับราบ และประทับห้อยพระบาท

ยานพาหนะประเภทมีล้อ เคลื่อนที่โดยเจ้าพนักงานฉุดชักหน้าหลัง เรียกว่า ราชรถ

ยานพาหนะทางเรือ แต่โบราณเรียกเรือลำที่พระมหากษัตริย์ทรงว่า เรือต้น เรียกในเวลาต่อมาจนในปัจจุบันว่า เรือพระที่นั่ง เรือพระที่นั่งสำหรับเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มี ๔ ประเภท คือ เรือพระที่นั่งกราบ เรือพระที่นั่งศรี เรือพระที่นั่งเอกชัย และเรือพระที่นั่งกิ่ง

เครื่องประโคม
สำหรับพระมหากษัตริย์ยังมีเครื่องประโคมเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ๒ ประเภท คือ
      ๑.เครื่องประโคมแตรและมโหระทึก ใช้ในการเสด็จออกขุนนาง เสด็จพระราชพิธีบวงสรวงเสด็จเปิดสภาผู้แทนราษฎร หรือนำเสด็จพระราชดำเนินขบวนน้อย
      ๒.เครื่องประโคมสังข์แตรและกลองชนะ ประโคมในเวลาเสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตรา หรือโปรดเกล้าฯ ให้มีการแห่ในงานพระราชพิธีใหญ่ที่มีการยืนช้างยืนม้า และแห่เชิญพระบรมศพ

พระโกศ
นอกจากเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศประเภทต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับพระบรมศพ หรือพระศพสำคัญคือ พระโกศ ได้แก่ พระโกศทองใหญ่ และพระโกศทองน้อย ตามลำดับ

สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง เช่น สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จเจ้าฟ้าที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศพิเศษ เมื่อเสด็จสวรรคต พระบรมศพจะทรงพระโกศทองใหญ่ประดิษฐานบนพระมหาปราสาท

สำหรับพระศพพระบรมราชวงศ์ที่ดำรงพระอิสริยศักดิ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า พระศพจะทรงพระโกศทองน้อย แต่ถ้ารับราชการหรือทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา ก็จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองใหญ่เป็นกรณีพิเศษ

ในวาระที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองใหญ่ตามพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมราชชนนี และประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพตามพระราชประเพณี พระโกศทองใหญ่ประดิษฐานอยู่เหนือพระแท่นสุวรรณเบญจฎล ภายใต้สัปตปฎลเศวตฉัตร แวดลอมด้วยอภิรุมชุมสาย เครื่องสูงหักทองขวาง พุ่มดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง และตั้งแต่งเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศประเภทเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้เบื้องหน้าพระแท่นสุวรรณเบญจฎล ดังนี้ (อธิบายตามผัง)




๑.เครื่องราชอิสริยยศราชูปโภค  ที่ตั้งแต่งถวายหน้าที่ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนพระแท่นสุวรรณเบญจปฎล มีดังนี้
    ๑.พานพระศรีทองคำลงยาเครื่องพร้อม
     ๒.หีบพระศรีทองคำลงยา
     ๓.คนโทน้ำทองคำสลักลายลงยา
     ๔.พระสุพรรณศรีทองคำลงยา
     ๕.ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยาพร้อมพานรอง
     ๖.ที่ชาทองคำเครื่องพร้อม
     ๗.พานเครื่องพระสำอาง
     ๘.พระคันฉ่อง
     ๙.ราวผ้าซับพระพักตร์




๒.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงได้รับพระราชทาน และตั้งแต่งไว้หน้าที่ประดิษฐานพระโกศทองใหญ่บนพระแท่นสุวรรณเบญจฎล มีดังนี้
    ๑.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์ (ฝ่ายใน)
     ๒.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายใน)
     ๓.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน)
     ๔.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่ง มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
     ๕.เหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๘ ชั้นที่ ๑
         เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ชั้นที่ ๑
     ๖.เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่ง มหาวชิรมงกุฎ
     ๗.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ทรงได้รับจากประเทศญี่ปุ่น (Grand Cordon of the Order of the Precious Crown)
     ๘.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมดิเรกคุณาภรณ์
     ๙.เหรียญสุขภาพดีถ้วนหน้า จากองค์การสหประชาชาติ



เมื่อครบกำหนดการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ การพระราชพิธีในชั้นนี้มีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศที่สำคัญคือ
     -พระยานมาศ ๓ ลำคาน ๒ องค์
     -พระมหาพิชัยราชรถ
     -ราชรถพระอ่านพระอภิธรรมนำ
     -ราชรถประดิษฐานพระพุทธรูป
     -พระเมรุมาศ ยอดสัปตปฎลเศวตฉัตร
     -เสลี่ยงกลีบบัว พระอ่านพระอภิธรรมนำเวียนพระเมรุมาศ
     -พระที่นั่งราเชนทรยาน ทรงพระโกศพระบรมอัฐิ
     -พระโกศทองคำลงยาประดับเพชรฝาปักพระเศวตฉัตร ๗ ชั้น
     -พระวอสีวิกากาญจน์ ทรงผอบพระราชสรีรางคาร

พระราชยานและราชรถ เป็นยานพาหนะที่ใช้ในกระบวนแห่เชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุมาศเพื่อประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ซึ่งออกแบบก่อสร้างขึ้นสำหรับการพระราชพิธีนี้โดยเฉพาะ ณ ปริมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ทั้งพระราชยาน ราชรถ พระเสลี่ยง พระที่นั่งราเชนทรยาน พระวอ และพระเมรุมาศ ล้วนเป็นงานศิลปกรรมที่ประณีตงดงามยิ่ง จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่ไทยเราสามารถรักษาและสืบทอดกันมาให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมและภาคภูมิใจ ควรที่เราทั้งหลายจะได้ช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานมรดกอันดีงามนี้ไว้สืบไป.



ลำดับต่อไป
ราชยาน
ความหมาย ประวัติ และวิวัฒนาการ

โปรดติดตาม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 ตุลาคม 2559 15:36:42 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 25 ตุลาคม 2559 14:04:22 »



ราชยาน
ความหมาย ประวัติ และวิวัฒนาการ

คำว่า ยาน ตามความหมายกว้างๆ ซึ่งบัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง เครื่องนำไป หรือพาหนะต่างๆ เช่น รถ เกวียน เรือ เป็นต้น เมื่อนำมาสมาสกับคำว่า ราช ซึ่งหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน แล้ว จะหมายถึงพาหนะสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชวงศ์ ได้แก่ ราชรถ (รถพระที่นั่ง) ราชยาน พระคชาธาร (ช้างพระที่นั่ง) ม้าต้น และเรือพระที่นั่ง เป็นต้น  แต่ถ้าพิจารณาจากคำเรียกขานโดยทั่วไปนับตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา จะเห็นว่าความหมายของ ราชยาน ได้จำกัดวงแคบลงเฉพาะในกลุ่มของแคร่ วอ เสลี่ยง และคานหามของหลวงคือของพระเจ้าแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะราชยานในกลุ่มหลังนี้เท่านั้น

ราชยาน เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ส่วน ยาน เป็นเครื่องประกอบยศของบุคคลชั้นสูงในสังคมสมัยโบราณ แสดงให้เห็นฐานะและอำนาจอันแตกต่างจากสามัญชนทั่วไป จุดกำเนิดของยานคานหามต่างๆ นั้น น่าจะเกิดในกลุ่มสังคมที่เจริญก้าวหน้าเป็นวัฒนธรรมเมืองแล้ว เพราะเป็นช่วงแห่งการคิดสร้างสรรค์เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ขึ้น มีการสร้างยานพาหนะต่างๆ เพื่อใช้ในการเดินทางนอกจากใช้สัตว์พาหนะประเภทช้างม้าหรือลา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำหรือบุคคลชั้นสูงตามระบบสังคมขณะนั้น จะต้องมียานพาหนะซึ่งมีลักษณะพิเศษ หรืออาจกล่าวได้ว่า ยานได้เกิดขึ้นในกลุ่มบุคคลผู้ทรงอำนาจเหล่านี้ก่อน เนื่องจากมีข้าทาสบริวารประจำสามารถอาศัยแรงงานแบกหามได้ ยานจึงเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก เครื่องแสดงฐานะ อำนาจ และการยอมรับนับถือของชนในกลุ่มสังคมไปพร้อมๆ กัน

ก่อนการสถาปนาอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่น ได้มีอาณาจักรต่างๆ เจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศไทยหลายอาณาจักร และมีการปกครองในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทั้งสิ้น วัฒนธรรมส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลหรือถ่ายทอดมาจากอินเดีย แม้ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะเด่นชัดเช่นประเทศต้นแบบอารยธรรม แต่จากสภาพความเป็นอยู่และฐานะทำให้สันนิษฐานว่าอาจแบ่งเป็น ๓ ชั้น คือ
     -ชนชั้นสูง ได้แก่ พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ พราหมณ์ปุโรหิต และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
     -ชนชั้นกลาง ได้แก่ ข้าราชการระดับรองลงมาจนถึงประชาชนทั่วไป
     -ไพร่และทาสต่างๆ

ในสภาพสังคมดังกล่าว ชนชั้นสูงคือผู้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง เป็นผู้นำทุกด้านและสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ชาติ บุคคลเหล่านี้จึงได้รับการยกย่องและยอมรับเป็นพิเศษ โดยเฉพาะประมุขหรือพระมหากษัตริย์จะเปรียบประดุจสมมติเทพ และมีเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศหลายประการ ด้านพระราชยานประเภทแคร่ เสลี่ยง คานหาม หรือวอนั้น ปรากฏหลักฐานเก่าสุดในสมัยลพบุรีหรือขณะที่วัฒนธรรมเขมรเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศไทย (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘) คือ ปรากฏกล่าวถึงในศิลาจารึก ปรากฏภาพจำหลักศิลา และพบชิ้นส่วนโบราณวัตถุสำริด ดังนี้

     ๑.จารึกสดกก๊อกธม อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤษและเขมร พ.ศ.๑๕๙๕ กล่าวถึงทรัพย์สมบัติและเครื่องประดับที่พระบาทศรีอุทยาทิตยวรมเทวะ พระราชทานในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ความว่า  “...ทั้งยังพระราชทานทรัพย์และเครื่องประดับเป็นจำนวนมาก เป็นค่าบูชายันต์ เช่น มงกุฎ กำไล ผ้าผูกมือ แก้วมุกดา ตั่งทอง คณโฑ ทองคำ แส้ เสลี่ยงปิดทอง เพชรพลอย ทองคำ เงิน ทรัพย์สมบัติอีกมาก...”
     ๒.จารึกปราสาททัพเสียม ๒ อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต พุทธศตวรรษที่ ๑๗ โศลกที่ ๑๐ กล่าวถึงยานที่มีผู้ถวายแก่พระเจ้าศรีสูรยวรมัน ความว่า “...ยานประดับด้วยทรัพย์มากมาย มีดาวทองคำ เป็นส่วนแห่งการตกแต่งตามความคิดเป็นหน้างูแกว่งไปมา ภูษาอันงดงาม ซึ่งบุคคลได้ทำเป็นเครื่องประดับเพราะความเลื่อมใสในพระราชา...”
     ๓.จารึกปราสาทหินพระวิหาร ๒ อักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร พุทธศักราช ๑๖๖๔ ด้านที่ ๑ และ ๒ ได้กล่าวถึงเสลี่ยงทอง ความว่า “...ภควัตบาทกัมรเตงอัญดคุรุศรีทิวากรบัณฑิต ได้รับเชิญให้เป็นพระครูทำราชาภิเษกและทำการบวงสรวงในการประกอบพิธีกรรมทั้งปวง (ด้วยเหตุนี้เองพระเจ้าแผ่นดิน) จึงพระราชทานนามว่า ภควัตบาทกัมรเตงอัญดคุรุศรีทิวากรบัณฑิต ทรงถวายเสลี่ยงทองสำหรับเป็นที่นั่ง พร้อมด้วยผู้ชายเพื่อทำหน้าที่กางร่มและหาม (เสลี่ยงทอง) และทรงปราสาทราชทรัพย์เป็นต้นว่า หม้อทอง พาน ถ้วย กระโถน ช้าง ม้า หมู่บ้าน ทาสชาย ทาสหญิง เป็นจำนวนมาก...



พระมหาพิชัยราชรถ สำหรับอัญเชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวง

ในมหาศักราช ๑๐๓๕ พระบาทกัมรเตงอัญศรีสุริยวรมันเทวะ...พระบาทกัมรเตงอัญศรีชัยวรมันเทวะ พระบาทกัมรเตงอัญศรีธรณินทรวรมันเทวะ...ภควัตบาทกัมรเตงอัญดคุรุศรีทิวากรบัณฑิต เป็นพระครู ได้รับอัญเชิญให้ทำราชาภิเษก และทำการบวงสรวงในการประกอบพิธีกรรมทั้งปวง ... ทรงถวายพระเสลี่ยงทองซึ่งประดับด้วยรูปพระยานาค ๕ เศียร พัดขนนกยูงด้ามทอง ๒ อัน...”

จะเห็นได้ว่าข้อความจารึกนั้น ยานเป็น เสลี่ยงทอง มีการประดับด้วย หน้างู หรือพระยานาคหลายเศียร เสลี่ยงดังกล่าวจึงน่าจะสร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทอง มีส่วนประดับบางส่วนทำเป็นรูปนาคไม้หรือโลหะ ในการสำรวจขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานสมัยลพบุรีหลายแห่งในประเทศไทย ได้พบโบราณวัตถุสำริด ซึ่งเข้าใจว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของยานคานหามหลายชิ้น อายุของเครื่องสำริดส่วนใหญ่อยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ได้แก่
     -เศียรนาคสำริด ซึ่งอาจเป็นส่วนยอดหรืองอนของเสลี่ยงหรือคานหาม ส่วนยอดหรืองอนของเปลหาม
     -ลูกกรงสำริด อาจเป็นส่วนประดับพนักพิงหรือประดับพนักด้านข้างเสลี่ยงหรือคานหาม
     -ส่วนประดับปลายราวลูกกรงหรือปลายคาน อาจเป็นส่วนปลายราวลูกกรงของที่นั่งบนเสลี่ยงหรือคานหาม ส่วนปลายคานรองรับส่วนหลังคาของเปลหาม
     -ขอรัด อาจเป็นส่วนขอรัดประดับส่วนที่เป็นคานของเสลี่ยงหรือคานหาม หรือส่วนที่เป็นคานของเปลหาม
     -ขอแขวนและห่วงเปลหาม

สถานที่พบ ได้แก่ เมืองศรีมโหสถ อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

จากหลักฐานที่พบดังกล่าวแสดงว่าในบรรดานครรัฐทั้งหลาย ซึ่งตั้งอยู่บนดินแดนประเทศไทยปัจจุบันได้มียานคานหามสำหรับบุคคลชั้นสูง เป็นขนบธรรมเนียมที่ถ่ายทอดอิทธิพลให้แก่กันระหว่างนครใกล้เคียงหรือระหว่างผู้มีอำนาจเหนือกว่าและนครในปกครอง



จิตรกรรมฝาผนัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ในสมัยสุโขทัย นับตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนาอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นแล้ว สันนิษฐานว่าขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนักส่วนใหญ่ยังรักษารูปแบบเดิมที่มีมาก่อนหน้านี้ เพราะปรากฏว่า ราชปุโรหิตของสุโขทัยก็ยังเป็นพราหมณ์ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ ตลอดจนเครื่องประกอบเกียรติยศของบุคคลชั้นสูงในสมัยนี้ ประเภทเสลี่ยง ยานคานหาม อาจมีลักษณะดังเช่นปรากฏในรูปศิลปกรรมเขมร เพียงแต่อาจต่างในรายละเอียดโดยมีเอกลักษณ์ของความเป็นไทยมากขึ้น หลักฐานที่เป็นของสุโขทัยเองไม่ว่าจะเป็นศิลาจารึก ศิลปกรรม โบราณวัตถุ หรือโบราณสถาน ก็ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจนนัก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก ราชยาน ประเภทนี้ใช้ในการเดินทางระยะใกล้ หรือใช้เฉพาะในการพระราชพิธีหรือกิจพิธีซึ่งค่อนข้างเป็นรายละเอียดเกินไป หลักฐานซึ่งเป็นลายลักษณ์ของสุโขทัยจึงไม่กล่าวถึง ส่วนหลักฐานทางวัตถุคงผุพังสูญหายไปตามกาลเวลา ส่วนยานประเภทอื่นเช่น ราชรถนั้น ภาพสลักลายเส้นบนแผ่นหินในอุโมงค์วัดศรีชุม เรื่อง โภชาชานิยชาดก อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ มีภาพราชรถปรากฏอยู่ แสดงว่าในสมัยนี้พระมหากษัตริย์มีราชรถเป็นเครื่องราชูปโภคอีกประเภทหนึ่งด้วย จึงมีการจำลองรูปแบบไว้ในภาพสลักได้ ดังนั้นพระราชยานคานหามต่างๆ ซึ่งจำเป็นในการเสด็จพระราชดำเนินเส้นทางใกล้ๆ และใช้ในพระราชพิธีจึงน่าจะมีอยู่ด้วย

ข้อความในศิลาจารึกวัดศรีชุม (ภาษาไทย) ตอนที่กล่าวถึงเรื่องพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณีบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามและพระพุทธรูป ได้พูดถึงการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูป ซึ่งอาจถือได้ว่าให้ภาพของคานหามเล็กน้อย ดังนี้  “...สืบค้นหาเอาพระพุทธรูปเก่าแก่แต่บูราด้วยไกล ชั่วสองสามคืน เอามาประดิษฐานไว้ในมหาวิหาร ลางแห่งได้คอได้ตน ลางแห่งได้ผมได้แขนได้อก ลางแห่งได้ตัวตกไกล แลสี่คนหามเอามาจึงได้ ลางแห่งได้แข้งได้ขา ลางแห่งได้มือได้ตีน ย่อมพระหินอันใหญ่ ชักมาด้วยล้อด้วยเกวียน เข็นเข้ามาในมหาพิหาร เอามาติดต่อประกิดด้วยปูน มีรูปโฉมโนมพรรณอันงามพิจิตร...”

คานหามตามข้อความในจารึกเป็นคานหามวัตถุขนาดใหญ่ ซึ่งอาจให้เชือกผูกแล้วสอดห้อยกับคานโดยตรง หรืออาจมีไม้กระดาน ผ้า หวาย หรือไม้ไผ่สาน หรือเชือกถักรองรับใต้วัตถุอีกทีหนึ่งก็ได้ ลักษณะนี้จะคล้ายๆ กับคานหามที่มีลักษณะคล้ายเปลหรือแคร่

ส่วนหลักฐานในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงนั้น ปรากฏภาพสลักที่ระเบียงปราสาทนครวัดเป็นภาพสตรีสูงศักดิ์ทรงวอมีหลังคา ส่วนในประเทศจีนพบว่ามีการใช้คานหามเป็นเครื่องประดับเกียรติยศในราชวงศ์จิ้น จากข้อมูลดังกล่าวมาแล้วนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า ราชยานในยุคแรกๆ ของไทย หรือยุคสุโขทัย คงมีรูปแบบใกล้เคียงกับของขอม และมีทั้งแบบนั่งราบ นั่งห้อยขา และแบบมีหลังคา ซึ่งสืบทอดต่อมาถึงยุคหลังๆ ด้วย



ในสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับพระราชยานคานหาม โดยตราไว้ในกฎมณเฑียรบาล มีการแบ่งชั้นและประเภทของพระราชยานไว้ และในพระไอยการนาพลเรือนก็ได้กล่าวถึงผู้มีสิทธิ์ในการใช้ยานคานหามของหลวงอีกเล็กน้อย หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ ก็ได้กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระราชยานในงานพระราชพิธี หรือการพระราชทานพระราชยานเพื่อเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ จดหมายเหตุของชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในกรุงศรีอยุธยา เช่น มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ (Monsieur de la Loubere) ได้กล่าวถึงคานหามและยานซึ่งใช้กันในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.๒๒๓๐ สรุปความได้ว่า ยานคานหามเป็นพาหนะสำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และบุคคลชั้นสูงเท่านั้น ไม่ใช่ของสามัญชนที่จะใช้ได้ทั่วไป ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินว่า “...แต่ถ้าพระองค์จะทรงพระราชยานให้คนหามไป ซึ่งบางทีก็ทรงอยู่บ่อยๆ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นเกยที่สูงพอเทียมพระราชยาน ย่างพระบาทประทับในพระราชยานนั้นได้ง่ายๆ หรือจะเทียบต่อพระบัญชรหรือพระเฉลียงก็แล้วแต่ควร โดยพระอาการฉะนี้ จึงไม่มีไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์หรือชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จะได้เห็นพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระยุคลบาท เกียรติยศยวดยานอันนี้สงวนไว้ชั่วแต่สำหรับพระชายา ข้าราชบริจาริกาฝ่ายในและขันทีธรรมดาที่ต้องกักกันอยู่ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับบำเรอพระบาทบงกชเท่านั้น...”

ส่วนลักษณะของยานคานหามในสมัยนี้ มองซิเออร์ เดอลาลูแบร์ กล่าวว่า มีทั้งที่เป็นที่นั่งราบแบนๆ ใช้คนหาม ๔ หรือ ๘ คน หรือแบบที่มีกระดานพิงและพนักวางแขน หรือแบบมีหลังคา ดังความต่อไปนี้ “...ยวดยานคานหามหรือพระราชยานและวอสยาม ไม่เหมือนกับของเราด้วยเป็นเหลี่ยมและเป็นที่นั่งแบนๆ ตัวยานนั้นยกสูงขึ้นไป มากบ้างน้อยบ้าง เมื่อตั้งบนคานหามใช้คน ๔ หรือ ๘ คน สุดแต่เกียรติยศของคนที่จะใช้ยานนั้นๆ เป็นประมาณ หามคานยานนั้นๆ ด้วยบ่าเปล่าๆ คานละคนหรือสองคนและยังมีคนสำรับอื่นคอยผลัดกันอีกด้วย บางทีราชยานอย่างว่านี้มีที่พิงข้างหลัง และมีที่วางมือเหมือนเก้าอี้สำหรับยศศักดิ์ของเรา บางทีก็เป็นแต่เครื่องกั้นข้างๆ สูงราวครึ่งฟุตและมีพนักกระดานพิงข้างหลัง แต่คนสยามนั่งยานมักขัดสมาธิ์ บางทียานอย่างว่านี้ก็โถง บางทีก็มีหลังคา และอย่างมีหลังคานั้นก็มีหลายชนิด ซึ่งข้าพเจ้าจะได้รำพันในเมื่อจะกล่าวถึงเรื่องเรือยาว ในกลางลำย่อมตั้งที่นั่งอย่างยานบนบกด้วยเหมือนกัน ทั้งบนหลังช้างก็ตั้งอย่างนั้นอีกด้วย...”

นอกจากนี้ ยังมียานอีกประเภทหนึ่งซึ่งอาจอนุญาตให้คนเจ็บ หรือคนชราทุพพลภาพใช้ได้นอกจากขุนนางคือ คานหามที่จัดเป็นยานชั้นต่ำ ดังข้อความว่า

“...ในปัจจุบันนี้ ยังมีขุนนางผู้ใหญ่ที่สำคัญๆ อยู่ชั่วแต่ ๓ หรือ ๔ ท่านเท่านั้นที่ได้รับพระราชานุญาตให้ใช้ยวดยานคานหามดังที่ข้าพเจ้าพรรณนามาแล้วได้สมศักดิ์ เปลญวนอันเป็นเครื่องนอนอย่างหนึ่งแขวนไว้กับไม้คานหาม ห้อยลงมาแทบจะระดิน มีคนแบกปลายคานทั้งสองข้าง อนุญาตให้คนป่วยเจ็บหรือคนชราทุพพลภาพบางคนใช้ได้ ด้วยเป็นยานอย่างเดียวที่พอคนไปในนั้นจะนอนได้ มาตรว่าชาวสยามสามัญไม่อนุญาตให้ใช้ยานอย่างนี้กันได้ตามใจ พวกฝรั่งที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงสยามก็ได้อนุญาตให้ใช้ได้ดีกว่าพลเมืองเจ้าของเมืองเอง...”

สรุปข้อมูลตามเนื้อความจากจดหมายเหตุลาลูแบร์จะเห็นว่า ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นจะมียานดังนี้ คานหาม (เปล) แคร่ เสลี่ยง พระราชยาน และวอ


จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุทัศนเทพวราราม  


จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุทัศนเทพวราราม  

หลักฐานเอกสารในสมัยอยุธยาเองที่กล่าวถึงราชยานคานหามมีหลายฉบับ ได้แก่ กฎมณเฑียรบาล พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ และเรื่อง กฎหมายสมเด็จพระบรมศพ เอกสารเหล่านี้ได้กล่าวถึงชื่อและการใช้ราชยานคานหามต่างๆ ไว้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะกฎมณเฑียรบาลได้แบ่งชั้นและประเภทพระราชยานสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนได้กล่าวถึงผู้มีสิทธิ์ในการใช้ยวดยานคานหามของหลวง ส่วนหลักฐานที่เป็นวัตถุหรือภาพจิตรกรรม ซึ่งจะเป็นเค้าเงื่อนเกี่ยวกับรูปลักษณะของพระราชยานแบบต่างๆ นั้นมีน้อย หลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ได้แก่ ยานมาศไม้แกะสลัก ๒ หลัง หลังหนึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อีกหลังหนึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ส่วนอื่นๆ นอกจากนี้เข้าใจว่าบางส่วนคงสูญไปด้วยภัยสงครามครั้ง พ.ศ.๒๓๑๐ และบางส่วนคงปรักพังตามกาลเวลา ภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยาที่พบส่วนมากมักจะเป็นภาพเรือ ราชรถ และช้างม้าพระที่นั่ง

ถ้อยคำที่ใช้เรียกพระราชยานที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กฎมณเฑียรบาล พระไอยการนาพลเรือน และกฎหมายสมเด็จพระบรมศพ มีต่างๆ หลากหลาย ซึ่งน่าจะจัดกลุ่มตามประเภทได้ดังนี้
     -พระราชยาน พระราเชนทรยาน
     -พระยานุมาศ พระยานนุมาศกลีบบัว
     -ทิพยานทอง ทิพยานนาก
     -เทวียานมีมกรชู ราชยานมีจำลอง
     -พระเสลี่ยง พระเสลี่ยงหิ้ว พระเสลี่ยงเงิน พระเสลี่ยงงา
     -เสลี่ยงงา เสลี่ยงกลีบบัว
     -คานหาม คานหามเก้าอี้ คานหามเก้าอี้ทอง
     -ยั่ว ยาน

สมัยรัตนโกสินทร์ พระราชยานซึ่งสร้างขึ้นเป็นเครื่องประกอบพระเกียรติยศพระบรมวงศานุวงศ์ในยุคนี้มีหลายองค์ เข้าใจว่าสร้างตามแบบแผนพระราชประเพณีสมัยอยุธยา แต่ได้ดัดแปลงและปรับปรุงให้เหมาะสมกับกาลสมัยและสภาพการใช้สอย คือ ยังคงมีลักษณะอยู่ในเครื่องยานคานหาม ๔ ประเภท ได้แก่
     ยานมาศ – แบกสองลำคานขึ้นบ่า
     เสลี่ยง – ที่นั่งโถงหามด้วยสาแหรกผูกคาน
     วอ – ลักษณะอย่างเสลี่ยงแต่มีหลังคา
     คานหาม – มีคานเดียวหาม ๒ คน

พระราชยานสมัยรัตนโกสินทร์ที่ปรากฏชื่อ ปรากฏภาพ และบางองค์ยังเหลือร่องรอยมาจนปัจจุบัน ได้แก่
     ๑.พระที่นั่งราเชนทรยาน
     ๒.พระที่นั่งราชยานพุดตานทอง
     ๓.พระที่นั่งราชยานพุดตาลถม
     ๔.พระราชยานทองลงยา
     ๕.พระราชยานถม
     ๖.พระราชยานงา
     ๗.พระราชยานกง
     ๘.พระยานมาศ
     ๙.พระยานมาศสามลำคาน
    ๑๐.พระเสลี่ยง/พระเสลี่ยงหิ้ว/พระเสลี่ยงน้อย/พระเสลี่ยงแว่นฟ้า (เสลี่ยงหิ้ว)
    ๑๑.พระวอประเวศวัง/พระวอสีวิกา/วอประเทียบ


จิตรกรรมฝาผนัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

จากหลักฐานที่ปรากฏทั้งด้านเอกสารและวัตถุทำให้ทราบว่า ได้มีการสร้างพระราชยานขึ้นใช้ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นต้นมาหลายองค์ ได้แก่ พระยานมาศ พระยานมาศสามลำคาน และพระเสลี่ยงแบบต่างๆ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไม่ปรากฏหลักฐานว่าโปรดให้สร้างพระราชยานใดขึ้นหรือไม่ ปรากฏเพียงว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ได้ทรงพระดำริเอาแบบแคร่กันยาของขุนนางไปสร้างเป็นวอดาดหลังคาด้วยผ้าขี้ผึ้ง ผูกม่านแพรสำหรับทรงเสด็จเข้าวัง และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ได้โปรดให้สร้างวอลักษณะดังกล่าวขึ้นสำหรับพระองค์บ้าง พระราชทานนามว่า วอประเวศวัง ต่อมาเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้พระราชทานวอประเวศวังแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ขณะที่ยังทรงผนวชอยู่

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้สร้างพระราชยานถม (เงิน) และพระแท่นถม นำเข้ามาน้อมเกล้าฯ ถวายเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๑ นอกจากนี้ยังมีการแก้แบบแคร่ขุนนางในสมัยนี้ใหม่ เรียกว่า แคร่กันยา ใช้สำหรับขุนนางผู้ใหญ่สูงอายุ มีลักษณะเป็นแคร่ที่ทำจากไม้จริง มีเสามีกันยาหลังคากันแชงเตย มีพนัก และคานไม้ลำมะลอก ส่วนขุนนางที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศแค่ชั้นพานทองก็ใช้แต่แคร่เปล่าตัดหลังคากันยาออก ซึ่งครั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ได้คิดประดิษฐ์แคร่ให้งามยิ่งขึ้น โดยสรรหาไม้ที่มีลายงามในตัวมาสร้างเป็นแม่แคร่ แล้วใช้ทองเหลืองหรือเงินหุ้มที่มุมแคร่ ไม้คานทำด้วยไม้แก้วบ้าง ไม้ลายต่างๆ บ้าง ไม้แสมสารหรือไม้กะพี้เขากระบือบ้าง และมีปลอกหุ้มคาน จากนั้นได้กลายเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นสร้างขึ้นใช้ต่อมา

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชยานงาขึ้นองค์หนึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าในรัชกาลที่ ๕ ได้มีการส่งพระราชยานงาองค์แรกไปถวายพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งในยุโรป และสร้างพระราชยานงาขึ้นใหม่แทนของเดิม โดยโปรดให้พลเรือโท พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นนายช่าง นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเสลี่ยงกงขึ้นใช้ในรัชกาลของพระองค์ด้วย พระเสลี่ยงกงดังกล่าวไม่ใช่พระราชยาน เข้าใจว่ามีลักษณะดังพระเสลี่ยงทั่วไป แต่มีพนักสำหรับพิงและมีกงสำหรับวางพระกร

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสร้างพระราชยานขึ้นหลายองค์ ได้แก่พระราชยานทองลงยา พระราชยานพุดตานถม และพระราชยานงา การสร้างพระราชยานทองลงยานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่าอาจเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่มาสำเร็จในรัชกาลที่ ๕ หรือเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง หรืออาจจะเป็นปรารภของผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยนั้นกราบทูลเสนอว่า ควรจะสร้างพระราชยานด้วยของวิเศษขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติดังเช่นพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ ก็ได้ และเหตุที่สร้างเป็นพระราชยานนั้นก็เพราะอาจเทียบได้กับบายศรี พระราชยานถมเงินในรัชกาลที่ ๓ เทียบได้กับบายศรีเงิน พระราชยานงา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเทียบได้กับบายศรีแก้ว และพระราชยานทองลงยาเทียบได้กับบายศรีทอง สร้างเป็นสำรับ ๓ องค์ พระราชยานทองลงยานี้สร้างขึ้นในต้นรัชกาลที่ ๕ ส่วนพระที่นั่งพุดตานถมนั้น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) สร้างโดยนำช่างทองของพระยาเพชรพิชัย (จีน) ไปจากกรุงเทพฯ นอกจาพระราชยานดังกล่าวมา เข้าใจว่ามีพระราชยานที่สร้างในรัชกาลนี้อีกหลายองค์ เช่น พระวอประเวศวัง (มีจารึกปี ๑๑๖ ที่กระดานพิง) และพระเสลี่ยงบางองค์ เป็นต้น แต่ไม่มีบันทึกประวัติการสร้างไว้ ในรัชกาลต่อๆ มา ไม่ปรากฏว่ามีการสร้างพระราชยานใดขึ้นอีก

จากชื่อที่ปรากฏและการแยกประเภทใช้งานตามที่ปรากฏในเอกสาร จะเห็นว่าราชยานของไทยมีวิวัฒนาการ คือ
๑.วิวัฒนาการในด้านรูปแบบ ตามหลักซึ่งมีมาแต่สมัยโบราณก่อนอยุธยานั้น เข้าใจว่ารูปแบบของราชยานทั่วๆ ไป จะมีหลักใหญ่ ๔ ประการ คือ ยานแบบนั่งราบ ยานแบบนั่งห้อยขา ยานแบบโถง (ไม่มีหลังคา) และยานแบบมีหลังคา ในหลักใหญ่ดังกล่าวนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคงสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนแปลงแต่รูปแบบปลีกย่อยอันเป็นรายละเอียด เช่น ขนาดของลวดลายประดับที่ฐานพนักและกระดานพิง เป็นต้น นอกจานี้ราชยานยังมีวิวัฒนาการด้านรูปแบบเปลี่ยนไปตามโอกาสที่ใช้งาน เช่น ราชยานซึ่งใช้ในเวลาปกติจะมีลักษณะกระทัดทัด การตกแต่งค่อนข้างเรียบง่าย ส่วนพระราชยานที่ใช้ในพระราชพิธีจะมีขนาดใหญ่กว่า และมีการประดับตกแต่งวิจิตรพิสดารมากกว่า พระราชยานบางองค์ในเวลาปกติอาจใช้เป็นพระราชบัลลังก์ เมื่อถึงพระราชพิธีสำคัญก็อาจเชิญออกมาเป็นพระราชยานด้วย เช่น พระราชยานพุดตานทอง พระราชยานบางองค์ก็สร้างขึ้นให้มีรูปแบบเหมาะสมในการนำเข้าประกอบกับการเสด็จฯ โดยพระราชพาหนะ (ยาน) อื่น เช่น พระที่นั่งกงเรือใช้กับเรือพระที่นั่ง พระที่นั่งประพาสโถง พระที่นั่งพุดตานคชาธาร และพระที่นั่งจำลองทองใช้กับช้างพระที่นั่ง เป็นต้น  วิวัฒนาการด้านรูปแบบประการสุดท้ายขึ้นอยู่กับเพศและศักดิ์ของบุคคลที่ใช้ยาน ได้แก่ ราชยานสำหรับเจ้านายฝ่ายหน้า (ชาย) และเจ้านายฝ่ายใน (หญิง) จะมีลักษณะแตกต่างกัน เพราะยานสำหรับฝ่ายในจะเป็นยานนั่งราบ ฝ่ายหน้าจะมีทั้งนั่งราบและห้อยขา และลักษณะรูปแบบการประดับตกแต่งในพระราชยานของพระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมวงศ์ชั้นสูง จะมีความวิจิตรงดงามหรือลักษณะเฉพาะต่างจากพระราชวงศ์ลำดับรองลงมา แม้ในยานของขุนนางข้าราชการชั้นสูงก็จะแตกต่างจากขุนนางหรือข้าราชการชั้นผู้น้อย

๒.วิวัฒนาการด้านวัสดุที่ใช้สร้าง จากหลักฐานทางโบราณวัตถุ ประติมากรรมภาพสลัก ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และหลักฐานตัวเขียน ได้แก่ จารึกและเอกสารประวัติศาสตร์ จะพบว่าราชยานตั้งแต่แรกเริ่มนั้นสร้างด้วยไม้และมีการตกแต่งเพิ่มความงาม เช่น แกะสลักลวดลาย ปิดทอง ในสมัยต่อมาคงมีบางส่วนที่ประดับด้วยโลหะ เช่น เศียรนาคสำริดที่บพก่อนสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากจะมีราชยานที่สร้างด้วยไม้ปิดทองประดับกระจก หรือประกับเพชรพลอยดังยุคอื่นแล้ว ยังปรากฏชื่อ ทิพยานทอง ทิพยานนาก พระเสลี่ยงเงิน พระเสลี่ยงงา ในสมัยอยุธยา  ครั้นถึง สมัยรัตนโกสินทร์ก็มีทั้งชื่อพระราชยานปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ และมีพระราชยานองค์จริงอยู่ในปัจจุบันนี้หลายองค์สร้างด้วยวัสดุต่างๆ กัน คือ พระราชยานพุดตานถม พระราชยานพุดตานทอง พระราชยานทองลงยา และพระราชยานงา แสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนานำวัสดุหลายประเภทมาสร้างพระราชยาน มีทั้งทอง ทองลงยา เงิน ถม(เงิน และงา ส่วนพระราชยานที่เป็นไม้นั้น มีทั้งสร้างด้วยไม้จริงทั้งองค์และสร้างด้วยไม้ประกอบหวาย

ศักดิ์และการใช้งาน
สมัยอยุธยา
สมัยอยุธยา ได้กำหนดศักดิ์หรือการใช้พระราชยานไว้ในกฎมณเฑียรบาลตามลำดับพระราชอิสริยยศแห่งพระราชวงศ์ สรุปได้ดังนี้
     ๑.พระราเชนทรยาน พระราชยาน ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน
     ๒.ราชยานมีจำลอง ใช้สำหรับพระอัครมเหสีและพระมเหสี
     ๓.เทวียานมีมกรชู ใช้สำหรับพระราชเทวีและพระอัครชายา
     ๔.ทิพยานทอง ใช้สำหรับสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า
     ๕.ทิพยานนาก ใช้สำหรับอุปราช
      ๖.ยานนุมาศกลีบบัว ใช้สำหรับลูกเธอกินเมือง (ชั้นเจ้าฟ้า)

เจ้านายตั้งแต่ชั้นพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าลงมา ไม่ปรากฏกำหนดว่าทรงพระราชยานประเภทใด แต่ความในกฎมณเฑียรบาลตอนหนึ่งกล่าวว่า
“ถ้าเสด็จด้วยพระราชยาน ลูกพระอัครมเหษี ลูกพระอัครชายา
ลูกแม่หยัวเมือง ลูกหลวง นั่งบนราชยานด้วย ลูกหลานหลวง
ลูกพระสนมนั่งหลั่นลงหน้าหลัง...”

ข้อความดังกล่าวทำให้เข้าใจว่าคงมียานลำดับรองๆ ลงไปสำหรับเจ้านายชั้นผู้น้อยใช้ทรงเวลาเสด็จออกนอกวังด้วย ซึ่งน่าจะได้แก่พระเสลี่ยงต่างๆ และพระวอ นอกจากนี้ขุนนางข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนผู้มีบรรดาศักดิ์ ก็จะได้รับพระราชทานยานคานหามตามศักดิ์ คือ
     ๑.ขุนนางในเมืองผู้มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ ใช้ยั่ว
     ๒.ขุนนางหัวเมืองผู้มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ ใช้คานหามเก้าอี้
     ๓.ขุนนางหัวเมืองผู้มีศักดินา ๕,๐๐๐ ใช้ยั่ว
     ๔.ขุนนางหัวเมืองผู้มีศักดินา ๓,๐๐๐ ใช้ยาน
     ๕.ขุนนางกินเมือง ศักดินา ๑๐,๐๐๐ ท้าวกินเมือง ใช้คานหามเก้าอี้ทอง
     ๖.ท้าวนาง (หญิง) ศักดินา ๔๐๐ ใช้คานหาม

จะเห็นว่า ยั่ว และ ยาน น่าจะมีหลายชั้นตามศักดินาของขุนนาง ยั่วหรือยานของผู้มีศักดินาสูงอาจจะวิจิตรงดงามกว่า หรือเพิ่มลักษณะพิเศษบางประการที่อาจเป็นที่สังเกตยศศักดิ์ได้ในขณะนั้น ส่วนลักษณะพระราชยานประเภทต่างๆ ดังกล่าวชื่อมาแล้วก็ไม่อาจกล่าวถึงรูปทรงได้แน่ชัดเช่นกัน แต่คาดว่าคงจะไม่แตกต่างจากสมัยรัตนโกสินทร์มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเรียกชื่อซ้ำ ด้านการหามพระราชยานในสมัยอยุธยาปรากฏหลักฐานว่านอกจากใช้ผู้ชายหามพระราชยานแล้วยังใช้ผู้หญิงด้วย ในพระไอยการนาพลเรือนกล่าวว่า นางพระราชยานแห่แหนถือศักดินา ๒๐๐ หญิงหามวอ ถือศักดินา ๒๐ ส่วนกริยาอาการนั่งยานคานหามนั้น สมัยนี้ใช้คำสองคำ คือ ทรง สำหรับเจ้านาย และ ขี่ ใช้ทั้งเจ้านายและบุคคลทั่วไป ซึ่งคำว่า ขี่ อาจเป็นเค้าเงื่อนมาจากยานที่ต้องนั่งห้อยขาก็ได้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ว่า ยานคานหามต่างๆ อาจจำแนกลักษณะความแตกต่างกันด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

ยานประเภทนั่งห้อยขา เป็นยานสำหรับบุคคลชั้นสูง ดังเช่น พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ การหามจะต้องนำลำคานขึ้นพาดบ่า และต้องคัดเลือกผู้หามที่สูงต่ำขนาดไล่เลี่ยกัน ดังเช่น พระยานมาศ พระราเชนทรยาน และคานหามเก้าอี้ เป็นต้น

ยานประเภทนั่งราบ ลักษณะการหามต้องใช้เชือกผูกลำคานสองข้างทำเป็นสาแหรกขึ้นไปผูกกับคานน้อยอีกอันหนึ่ง คนหามๆ ปลายคานน้อยทั้งสองข้าง

ในบรรดายานทั้ง ๒ ประเภทดังกล่าว อาจจัดให้เข้ากับชื่อพระราชยานที่ปรากฏเข้าเป็นกลุ่มได้ดังนี้
๑.ยานประเภทยานมาศ ได้แก่ ยานที่เรียกว่า พระราเชนทรยาน ยานมาศ ยานมาศกลีบบัว คานหามเก้าอี้ทอง มีลักษณะรวม คือ
     -คนขี่นั่งห้อยเท้าอย่างนั่งเก้าอี้
     -คนหามแบกลำคานพาดบ่า
     -ใช้เฉพาะวาระที่เป็นการเฉลิมพระเกียรติ

๒.ยานประเภทเสลี่ยง ได้แก่ ยานที่เรียกว่า ราชยาน ทิพยาน เสลี่ยง ยาน และแคร่ มีลักษณะรวม คือ
     -คนขี่นั่งราบกับพื้น
     -หามลำคานแบบมีสาแหรก
     -เป็นที่นั่งโถงไม่มีหลังคา
     -ใช้ในเวลาปกติ

๓.ยานประเภทวอ ได้แก่ ยานที่เรียกว่า ราชยานมีจำลอง เทวียาน สีวิกา วอ และยั่ว มีลักษณะรวม คือ
     -คนขี่นั่งราบกันพื้น
     -หามคานแบบมีสาแหรก
     -มีหลังคาและม่าน
     -ใช้ในเวลาปกติทั่วไป

๔.ยานประเภทคานหาม เป็นยานที่มีตั้งแต่สมัยโบราณ และมีแบบเดียวกัน คือ
     -ลักษณะเหมือนเปล คนขี่จะนั่งหรือนอนก็ได้
     -คนหาม ๒ คน หามปลายลำคานหัวท้ายพาดบ่าข้างละคน
     -ใช้ในเวลาปกติ หรือเมื่อเดินทางไกล
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 25 ตุลาคม 2559 14:06:29 »


ความหมาย ประวัติ และวิวัฒนาการ
                        (ต่อ)

การใช้งานและการจัดกระบวนในพระราชพิธี
หลักฐานเกี่ยวกับการใช้พระราชยานในสมัยอยุธยารัชกาลต่างๆ เท่าที่ปรากฏในเอกสารจะเห็นว่ามีการใช้พระราชยานแบบต่างๆ ในการเสด็จทั้งหนทางระยะใกล้และไกล ใช้ทั้งยามปกติ ใช้ในการพระราชพิธี และการเลียบพระนครในยามสงคราม พระราชยานบางองค์ใช้ทั้งในพระราชพิธีอันเป็นมงคลและพระราชพิธีพระบรมศพ

การใช้พระราชยานในเวลาปกติและในพระราชพิธีที่กล่าวไว้ในกฎหมายตามสามดวง และที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารมีดังนี้

กฎหมายตราสามดวง ในกฎมณเฑียรบาลตอนที่กล่าวถึงพระราชพิธีสิบสองเดือน ได้พรรณนาถึงการเสด็จพระราชดำเนินโดยพระราชยานของพระมหากษัตริย์และพระอัครมเหสีไว้ในพระราชพิธีเดือน ๒ พระราชพิธีบุตรยาภิเศกเฉวียรพระโคกินเลี้ยง พระราชพิธีเดือน ๙ พระราชพิธีดุลาภาร ว่า พระมหากษัตริย์ทรงพระราเชนทรยาน พระอัครมเหสีทรงเทวียาน พระราชพิธีเดือน ๕ พระราชพิธีเผดจศกลดแจรตออกสนามก็กล่าวว่าใช้พระราเชนทรยานในการเสด็จ และในพระราชพิธีสมโภชพระแม่หยัวพระพี่เจ้า (สมโภชเจ้านายฝ่ายใน) พระมหากษัตริย์ทรงพระราเชนทรยาน เจ้านายฝ่ายทรงเทวียาน ทิพยาน และพระยานุมาศ

พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ได้กล่าวถึงการใช้ราชยาน ดังนี้
     ๑.พ.ศ.๒๐๗๑ เมื่อพระแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์มีพระเสาวนีย์ให้รับขุนวรวงศาธิราชเข้าวังนั้น โปรดให้จัดราชยาน เครื่องสูง แตรสังข์ กับขัตติยวงศ์ไปรับเข้ามาในพระราชมณเฑียร แต่ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นพระราชยานแบบใด
     ๒.พ.ศ.๒๐๙๔ เมื่อพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทูลขอพระเทพกษัตรีไปเป็นพระชายา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้พระยาแมนกับทูตานุทูตเชิญพระเทพกษัตรีไปส่งโดยทรง สีวิกากาญจน์ยานุมาศ เสด็จทางสถลมารค
     ๓.พ.ศ.๒๑๓๖ สมเด็จพระเอกาทศรถได้โปรดให้จัดพระราชพิธีสงครามาภิเษกขึ้น ในพระราชพิธีนี้พระองค์ได้ทรงพระราเชนทรยานในกระบวนพยุหพยาตรา เสด็จพระราชดำเนินจากขนานน้ำประจำท่าไปยังพระที่นั่งมังคลาภิเษกมหาปราสาท และใน พ.ศ.๒๑๓๗ ก็ทรงพระราเชนทรยานในกระบวนพยุหยาตราสู่พระที่นั่งอรรณพ เพื่อทอดพระเนตรกระบวนเรือต้น เรือแห่ เรือแข่ง ในพระราชพิธีอาศวยุช
     ๔.เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเพทราชาได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ในการนี้ ได้ทรงพระราชยานเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคด้วยตามราชประเพณี
     ๕.พ.ศ.๒๒๙๘ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เหตุการณ์ตอนที่โปรดให้เรียกตัวเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์มาชำระคดีในข้อหาเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาลนั้น ปรากฏว่าเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ทรงเรือพระที่นั่งจากพระราชวังบวรสถานมงคล แล้วทรงเสลี่ยงจากฉนวนน้ำประจำท่าเสด็จเข้าไปในพระราชวัง
     ๖.พ.ศ.๒๓๐๐ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงการเสด็จไปสมโภชพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศว่า ได้เสด็จโดยกระบวนทางชลมารคไปประทับที่พระตำหนักท่าเจ้าสนุก แล้วทรงวอขึ้นไปประทับ ณ พระตำหนักท้ายพิกุล
     ๗.พ.ศ.๒๓๐๑ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงพระประชวรหนัก เมื่อจะทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส ได้ทรงพระเสลี่ยงหิ้วจากพระราชมณเฑียรมายังพระที่นั่งทรงปืน และทรงมอบราชสมบัติแก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

หลักฐานเกี่ยวกับงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์สมัยอยุธยา ปรากฏว่าได้นำพระราชยานมาใช้ในการพระราชพิธีหลายองค์ ได้แก่ พระยานุมาศสามคาน พระยานุมาศสองคาน พระเสลี่ยงเงิน พระราชยานทอง พระเสลี่ยงงา พระยานุมาศสำหรับโสกันต์ พระราชยานองค์ใดใช้อย่างไรมีตัวอย่างกล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง สมเด็จพระบรมศพ อันเป็นจดหมายเหตุงานพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระมเหสีฝ่ายซ้ายในสมเด็จพระเพทราชา สิ้นพระชนม์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อ พ.ศ.๒๒๗๘ สรุปความได้ดังนี้

การเชิญพระบรมศพจากวัดพุทไธสวรรย์ไปประดิษฐานในพระราชวัง
เจ้าพนักงานเชิญพระบรมโกศขึ้นพระเสลี่ยงเงินไปลงเรือพระที่นั่ง เชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามคานซึ่งตั้งอยู่บนเรือพระที่นั่ง แล้วแห่เป็นกระบวนทางชลมารคไปยังพระราชวังหลวง ครั้นถึงเชิญพระบรมโกศขึ้นพระเสลี่ยงเงินไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาท

ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงเรือพระที่นั่งตามเรือพระบรมศพมาในกระบวนด้วย เมื่อเทียบเรือพระที่นั่ง ณ ขนานน้ำประจำท่าแล้ว เสด็จขึ้นพระราชยานทองไปยังพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาทเพื่อรับพระบรมศพ ครั้นเชิญพระบรมศพขึ้นไปประดิษฐานบนพระมหาปราสาทเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงพระเสลี่ยงงาจากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาทไปลงเรือพระที่นั่ง กลับพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งเป็นที่ประทับขณะนั้น

การเชิญพระบรมศพสู่พระเมรุมาศ
เชิญพระบรมโกศขึ้นพระเสลี่ยงเงินเคลื่อนลงจากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาท มีคู่แห่ ๕ คู่ ไปขึ้นพระยานุมาศซึ่งรออยู่นอกประตูกำแพงมหาปราสาทด้านซ้าย เข้ากระบวนแห่ซึ่งมีเจ้ากรมหมื่นอินทรภักดีทรงพระยานุมาศโยง พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นจิตรสุนทร ทรงพระยานุมาศปรายข้าวตอก และสมเด็จพระสังฆราชทรงเสลี่ยงงาอ่านพระอภิธรรมนำ มีคู่แห่ ๓๐ คู่ เมื่อกระบวนถึงหน้าพระที่นั่งซึ่งพระมหาพิชัยรถกฤษฎาธารคอยอยู่ เจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระเสลี่ยงเงินเข้ารับพระบรมโกศจากพระยานุมาศสามคานขึ้นประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถฯ แล้วเคลื่อนกระบวนสู่พระเมรุมาศ เมื่อถึงเจ้าพนักงานชาวที่และชาวภูษามาลาเชิญพระบรมโกศขึ้นพระเสลี่ยงเงินเวียนรอบพระเมรุมาศ ๓ รอบ แล้วเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระเบญจาในพระเมรุมาศ ในการนี้สมเด็จพระเจ้าบรมโกศจะทรงพระราชยานทองเสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระเมรุมาศทุกวัน โดยประทับแรม ณ พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาท



               พระที่นั่งกงเรือ พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต

วันแห่พระบรมอัฐิกลับ
หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพและเสด็จการพระราชกุศลพระบรมอัฐแล้ว เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นพระมหาพิชัยราชรถฯ เชิญห่อพระราชสรีรางคารซึ่งประดิษฐานบนพานทองขึ้นตั้งบนพระยานุมาศสามคาน เข้ากระบวนแห่ไปยังวัดพระศรีสรรเพชญ เมื่อถึงวัดจึงเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นพระยานุมาศสำหรับโสกันต์ มีคู่แห่ ๒๕ คู่ แห่ไปยังหน้าพระวิหารใหญ่ พระราชโกษาเชิญพระโกศลงจากพระยานุมาศเข้าพระวิหารไปยังท้ายจระนำ พระสงฆ์สดับปกรณ์แล้วจึงบรรจุพระบรมอัฐิ ส่วนพระราชสรีรางคารนั้นเมื่อเกณฑ์แห่พระบรมอัฐิกลับออกจากวัดแล้ว จึงเคลื่อนกระบวนแห่ไปออกประตูท่าปราบ ลงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์แห่โดยกระบวนไปลอยพระราชสรีรางคาร ณ บริเวณหน้าวัดพุทไธสวรรย์

การเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในการเก็บพระบรมอัฐิคือ เมื่อเสด็จโดยเรือพระที่นั่งจากพระราชวังบวรสถานมงคลมาถึงขนานน้ำประจำท่าพระราชวังหลวงแล้ว จะทรงพระเสลี่ยงงามาประทับขึ้นเกยในพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ แล้วเสด็จออกเกยพระที่นั่งข้างหน้าฝ่ายขวา ทรงพระราชยานทองเสด็จออกไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและเก็บพระบรมอัฐิ ณ พระเมรุมาศ แล้วทรงพระราชยานทองไปยังวัดพระศรีสรรเพชญเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิ ครั้นถึงวัด เสด็จลงจากพระราชยานทองทรงพระดำเนินเข้าไปทรงปฏิบัติพระราชกิจในวัด ส่วนขากลับได้ทรงพระราชยานทองจากวัดมาประทับ ณ เกยฝ่ายหน้าด้านขวาพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์แล้วเสด็จมาทรงพระเสลี่ยงงาที่เกยในพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์เสด็จไปลงเรือพระที่นั่งกลับพระราชวังบวรสถานมงคล

ข้อความดังกล่าวมาแล้วแสดงให้เห็นว่า พระเสลี่ยงเป็นพระราชยานที่ใช้ทั่วไปคือ เจ้านายจะทรงไปมาในบริเวณพระราชฐานตามปกติ แล้วยังใช้ทรงถ่ายจากพระราชยานหนึ่งไปยังอีกพระราชยานหนึ่งด้วย ส่วนในการเคลื่อนย้ายอันเป็นการแสดงพระอิสริยยศ เช่น งานพระบรมศพ ก็จะใช้พระเสลี่ยงเชิญพระบรมโกศขึ้นลงพระที่นั่ง ถ่ายขึ้นลงจากพระราชยาน หรือถ่ายขึ้นลงจากราชรถ เป็นต้น ทำให้เข้าใจว่าพระเสลี่ยงจะต้องมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบากว่าพระราชยาน จึงสามารถนำเข้าเทียบหรือยกขึ้นลง ณ สถานที่ซึ่งคับแคบ สูง หรือมีขนาดจำกัดได้ ที่สำคัญคือเมื่อพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ทรงพระราชยานถึงพระอารามใดก็ตาม จะทรงลงจากพระราชยาน (เทียบเกย) และทรงพระดำเนินด้วยพระบาทเข้าพระอาราม ไม่ทรงพระราชยานภายในพระอาราม ส่วนในพระราชวังนั้น เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ที่มิได้ประทับในพระราชวังทรงพระราชยานเข้ามาในเขตพระราชวังแล้ว จะต้องลงจากพระราชยานทรงพระดำเนินต่อไป ถือเป็นประเพณีปฏิบัติรวมทั้งพวกขุนนางบรรดาศักดิ์ทั้งปวงด้วย

การใช้พระราชยานในยามสงคราม เท่าที่พระราชพงศาวดารกล่าวไว้มีไม่กี่ครั้ง สรุปความได้ดังนี้

ในรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราช ครั้งที่ ๒ พระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระมหินทราธิราชมิได้ทรงนำพาการศึกพม่าที่มาติดพระนคร มีแต่เจ้าพระยารามที่คอยบัญชาการรักษาพระนคร และนั่งคานหามเก้าอี้ทอง (ยานสำหรับตำแหน่ง) มีมยุรฉัตรประดับซ้ายขวาออกเลียบพระนครบัญชาการรบ

เมื่อพระเจ้ากรุงหงสาวดีโปรดให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาช่วยเจรจาเกลี้ยกล่อมมิให้พระมหาเทพซึ่งรักษาค่ายเกาะแก้วสู้รบทหารพม่าต่อไป สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ทรงพระเสลี่ยงมาร้องเรียกพระมหาเทพที่หน้าค่าย แต่พระมหาเทพไม่ไว้ใจให้ทหารยิงปืนใหญ่น้อยออกไป สมเด็จพระมหาธรรมราชาต้องลงจากพระเสลี่ยงให้ขุนทรเดชะแบกพระองค์หลบกระสุนออกมา

ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ใน พ.ศ.๒๐๙๙ สมเด็จพระมหินทราธิราชได้เสด็จโดยพระราชยานออกไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าหงสาวดี ณ พลับพลาวัดมเหยงคณ์ เป็นการยอมรับการพ่ายสงคราม

นอกจากพระราชยานต่างๆ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยายังกล่าวถึงยานของผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ไว้ด้วย ดังนี้
     ๑.ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักพรรดิ ขณะเมื่อเสด็จขึ้นปราบดาภิเษกใหม่ๆ นั้น ได้พระราชทานบำเหน็จความชอบแก่ผู้ที่มีส่วนสนับสนุนให้พระองค์ได้รับราชสมบัติ ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามหานคร ได้รับพระราชทานเสลี่ยงงา และเสลี่ยงกลีบบัว ลูกพระสนมได้รับพระราชทานเจียดทองคู่ พานทองคู่ น้ำเต้าทอง กระบี่กั้นหยุ่น เสลี่ยงกลีบบัว และเครื่องสูง
     ๒.รัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเชิญพระมหาเถรคันฉ่องจากเมืองแครงมาอยู่ ณ วัดมหาธาตุในพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชารทรงแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระอริยวงศาญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี ศรีสมณุตมาปรินายกติปิฎกธราจารย์ สฤษดิขัตติยสารสุนทรมหาคณฤครอุดรวามคณะสังฆารามคามวาสี ได้รับสัปทน กรรชิง คานหามพร้อมคนหาม จังหันนิรภัตรและเครื่องสมณบริขารต่างๆ (เป็นเจ้าคณะคามวาสีหนเหนือ ฝ่ายซ้าย สมเด็จพระวนรัตนสังฆราชคามวาสีเดิม ให้เป็นคณะปักษ์ใต้ฝ่ายขวา แยกเป็น ๒ คณะ)
     ๓.ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชดำริจะแสดงสติปัญญาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ให้ปรากฏแก่เสนาอำมาตย์ทั้งหลาย โดยโปรดให้เสนาอำมาตย์หาน้ำหนักของปืนใหญ่พระพิรุณนั้น ผลปรากฏว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์หาวิธีชั่งน้ำหนักได้ จึงทรงพระราชทานบำเหน็จความชอบให้แก่เจ้าพระเยาวิชเยนทร์เป็นเสลี่ยงงา ซึ่งจะมีบโทนแห่น้ำหน้าสามร้อยตามยศพร้อมทั้งได้รับเครื่องอุปโภคอื่นๆ อีกจำนวนมาก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิทธิพิเศษให้นั่งเบาะสูงศอกหนึ่งได้ในเวลาเข้าเฝ้า

เสลี่ยงดังกล่าวนี้ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ใช้เป็นเกียรติแก่ตนเสมอมาจนกระทั่ง พ.ศ.๒๒๓๑ เมื่อสมเด็จพระนาราย์มหาราชทรงพระประชวรหนัก พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ยึดอำนาจในพระนครและได้มีกลลวงแจ้งไปยังเจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่ามีพระบรมราชโองการให้เข้าเฝ้า เจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงขึ้นเสลี่ยงงามีบโทนและมีทนายแห่นำมายังประตูพระราชวัง ครั้นถึงก็ถูกทหารของหลวงสรศักดิ์ซึ่งคอยทีอยู่ทำร้าย ใช้พลองตีจนกระทั่งตกจากเสลี่ยงแล้วประหารชีวิต



ลำดับต่อไป
สมัยรัตนโกสินทร์
โปรดติดตาม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 ตุลาคม 2559 14:08:28 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 02 พฤศจิกายน 2559 16:12:45 »


. สมัยรัตนโกสินทร์  .

ศักดิ์ของพระราชยานสมัยรัตนโกสินทร์ แบ่งตามพระราชอิสริยยศหรือลำดับชั้นของเจ้านายและบุคคลที่ได้รับพระราชทาน ในส่วนพระมหากษัตริย์นั้นทรงมีพระราชยานหลายองค์ น่าจะเรียงลำดับศักดิ์ ดังนี้ พระที่นั่งราเชนทรยาน พระราชยานพุดตาน (ต่างๆ) พระราชยาน (ต่างๆ) พระยานมาศ พระเสลี่ยง และพระวอ ส่วนเจ้านายฝ่ายในนั้นน่าจะได้แก่ พระวอสีวิกา พระวอประเทียบ พระบรมวงศานุวงศ์ลำดับต่อๆมา ถ้าเป็นชั้นเจ้านายทรงกรม (เจ้าต่างกรม) ทรงพระวอ ชั้นพระองค์เจ้าทรงพระเสลี่ยง ชั้นหม่อมเจ้าทรงเสลี่ยงป่า ขุนนางชั้นสมเด็จเจ้าพระยาได้นั่งเสลี่ยง ชั้นพระยาพานทองนั่งแคร่ ข้าราชการชั้นพระ หลวง ใช้คานหาม พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ทั้งในกรุงและหัวเมืองจะได้รับพระราชทานวอหรือยานคานหามเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศด้วย

การใช้งาน
หลักฐานเกี่ยวกับการใช้ราชยานสมัยรัตนโกสินทร์มีมากกว่าสมัยอยุธยา คือนอกจากพบในเอกสาร เช่น จดหมายเหตุ พระราชพงศาวดาร หมายกำหนดการพระราชพิธี และเอกสารของชาวต่างประเทศที่เขียนถึงเมืองไทยแล้ว ยังปรากฏในวรรณกรรมยุคแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย อาทิ บทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา เป็นต้น ที่สำคัญคือมีภาพปรากฏเป็นหลักฐาน ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังซึ่งช่างเขียนขึ้นในช่วงเวลาระหว่างรัชกาลที่ ๑-๕ ภาพเขียนในสมุดไทยโบราณอันได้แก่สมุดภาพริ้วกระบวนแห่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑-๔ ฯลฯ และภาพถ่ายนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา

การใช้งานพระราชยานมี ๒ ลักษณะ คือใช้ในการพระราชพิธีสำคัญซึ่งเรียกว่า ใช้อย่างเต็มยศ ทั้งพระราชพิธีประจำปีและพระราชพิธีที่จัดขึ้นในโอกาสพิเศษแบบหนึ่ง อีกแบบหนึ่งใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปหรือเรียกว่า ใช้อย่างปกติ ตัวอย่างเช่น ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่และวาระพิเศษของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงพระที่นั่งราเชนทรยาน หากเป็นการเสด็จพระราชดำเนินปกติจะทรงพระราชยานอื่นหรือพระเสลี่ยง พระบรมวงศานุวงศ์และเหล่าขุนนางผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลายก็เช่นกัน มักขี่ยานตามศักดิ์ของตนเฉพาะเมื่อเป็นการ เต็มยศ ในเวลาปกติมักจะใช้ยานซึ่งศักดิ์น้อยกว่าเต็มยศ เป็นต้นว่าเจ้านายต่างกรมมักทรงเสลี่ยงป่าไปไหนมาไหนในเวลาปกติ และขุนนางชั้นสมเด็จเจ้าพระยามักนั่งแคร่เหมือนขุนนางชั้นพระยาพานทองธรรมดา ส่วนนารีมีศักดิ์ (พระราชวงศ์ฝ่ายใน) ใช้พระวอสีวิกาในพระราชพิธี เนื่องจากมีลักษณะประณีตงดงาม ดาดทองทั้งองค์และมีช่อฟ้าบราลี ในเวลาปกติใช้วอพระประเทียบซึ่งหลังคาไม่มีช่อฟ้าและดาดสีไม่ใช้ทอง วอพระประเทียบนี้มีลักษณะเหมือนวอของเจ้านายต่างกรม การใช้พระราชยานนอกจากเป็นพาหนะของบุคคลดังกล่าวแล้ว ยังใช้เป็นเกียรติยศในกระบวนแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระพุทธรูปสำคัญ กระบวนแห่เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระราชสมภพและพระราชลัญจกรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระบวนแห่เชิญพระบรมอัฐิและพระราชสรีรางคารในงานพระบรมศพ ตลอดจนเชิญพระราชสาสน์ของประมุขต่างประเทศ ฯลฯ

ลักษณะการหามพระราชยาน มีวิธีการหามและใช้คนหามดังนี้
๑.หามด้วยใช้สาแหรก ใช้กับพระราชยานขนาดย่อมมีน้ำหนักไม่มากนัก สามารถเดินทางได้ในที่แคบ คือจะใช้เชือกผูกลำคาน ๒ ข้าง ทำเป็นสาแหรกขึ้นไปผูกกับคานน้อยอีกอันหนึ่ง คนหามๆ ปลายคานน้อยทั้ง ๒ ข้าง ถ้าเป็นยานหาม ๔ คน คนหามเดินกลางระหว่างลำคาน ถ้าเป็นยานแบบหาม ๘ คน ต้องทำคานหามขวางผูกกับลำคานอีกอันหนึ่ง ยื่นปลายออกไปพ้นลำคานทั้ง ๒ ข้าง ใช้เชือกผูกคานขวางเป็นสาแหรกผูกกับคานน้อย คนหามๆ ปลายคานน้อย เดินอยู่ข้างลำคานด้านหน้า ๔ คน ข้างหลัง ๔ คน เช่น พระราชยาน พระเสลี่ยง และพระวอ เป็นต้น

๒.หามลำคานโดยตรง วิธีนี้ใช้กับยานขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก ต้องใช้คนหามจำนวน ๑๐ คนขึ้นไป และเคลื่อนไปในพื้นที่กว้างพอสมควร ผู้หามจะต้องมีขนาดความสูงเท่ากันเนื่องจากต้องเอาลำคานขึ้นพาดบ่า เช่น พระที่นั่งราเชนทรยาน และพระยานมาศสามลำคาน เป็นต้น  ลักษณะการหามแบบนี้ใช้กับยานที่นั่งห้อยขา ซึ่งเป็นพระราชยานของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ในพระราชพิธีแบบเต็มยศ หรือกับการแห่เป็นเกียรติยศแก่ขุนนางผู้ใหญ่ผู้ถืออาญาสิทธิ์เฉพาะสถานที่หรือเฉพาะกาล

การหามพระราชยาน หากเป็นขนาดใหญ่มีน้ำหนักมาก และไประยะทางไกล จะต้องใช้คนหามหลายผลัด อาทิ พระที่นั่งราชยานพุดตานทอง ใช้คนหามผลัดละ ๑๖ คน และต้องผลัดทุกระยะ ๕๐๐ เมตร วิธีการหามทั้ง ๒ แบบที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่ายานที่หาม ๒ คน และหาม ๔ คนนั้น ผู้หามจะเดินเรียงเดี่ยวหรือแถวเดียว ส่วนยานที่หามตั้งแต่ ๘ คนขึ้นไปผู้หามเดินเรียงหลายแถว









ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร
เขียนในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชยานในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่มีกำหนดเป็นเกณฑ์แน่นอนว่าใช้เฉพาะในงานมงคลหรืออวมงคล ส่วนใหญ่ปกติมักใช้ได้ทั้ง ๒ ประเภท เข้าใจว่าพิจารณาตามความเหมาะสมของลักษณะการใช้สอย และดูจากเป็นงาน เต็มยศ หรือ ปกติ มากกว่า ดังตัวอย่างต่อไปนี้

๑.พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ใน พ.ศ.๒๔๒๙ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าได้ใช้พระราชยานในการนี้หลายองค์ ดังข้อความจากจดหมายเหตุว่า


“.....หนึ่งให้ชาวพระราชยานจัดพระที่นั่งพุดตานถมเป็นพระที่นั่งทรง พระที่นั่งพุดตานทองวังหน้า
สำหรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรง แลให้จัดพระราชยานลงยาราชาวดี ๑ พระราชยานถม ๑ พระวอ
ผูกแปด ๑ พระวอประเวศวังผูกสี่ ๑
เข้ากระบวนพยุหยาตราบก  แลให้จัดพระราชยานส่งฝีพายลงเรือ
พระที่นั่งโถงวันแห่พยุหยาตราเรือองค์ ๑ แล้วให้จัดพระราชยานกง ๒ องค์ ไปตั้งบนพลับพลาท้องสนาม
ไชย ให้จัดพระที่นั่งราเชนทรยานไปประทับเทียบที่เกยปูนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ด้วย แลในวันพฤหัสบดี
แรม ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ เวลาเช้า ให้จัดเสลี่ยงพร้อมด้วยชาวภูษามาลา ไปรับส่งพระพุทธรูปขึ้นลงที่ท่าราช-
วรดิฐ ให้ทันกำหนด แล้วให้รับเลขต่อพันพุฒ พันเทพราช หามพระที่นั่งแลพระราชยานให้พอ.....”

นอกจากนี้ได้มีหมายเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งที่ยังไม่ทรงกรมและทรงกรมเข้าร่วมงาน โดยมีกระบวนเต็มยศตามลำดับชั้นดังนี้
       - เจ้าต่างกรม ทรงพระวอ กั้นพระกลดหักทองขวาง มีตำรวจนำเสด็จถือมัดหวาย ๑ พนมมือ ๕ คู่  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ (เจ้าฟ้า) ให้เติมตำรวจพนมมือเป็น ๑๐ คู่ มีพระแสงดาบ ๑ ทวนคู่ ๑ หอก ๒ ง้าว ๑ และเครื่องยศมหาดเล็กตามเสด็จ
       - พระองค์เจ้า ทรงพระเสลี่ยง กั้นพระกลดหักทองขวาง มีตำรวจนำเสด็จถือมัดหวาย ๑ พนมมือ ๓ คู่ พระแสง และเครื่องยศมหาดเล็กตามเสด็จเหมือนเจ้าต่างกรม
       - หม่อมเจ้า ทรงเสลี่ยงป่า กั้นกลดแพร กลดขี้ผึ้ง มีระบาย มีตำรวนนำถือมัดหวาย ๑ พนมมือ ๑ คู่ มหาดเล็กตามหลัง

๒.พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พ.ศ.๒๔๖๘ เริ่มด้วยเสด็จพระราชดำเนินโดยพระราชยานกง เป็นกระบวนราบจากพระที่นั่งบรมพิมาน มาทรงประกอบพระราชพิธีเบื้องต้นที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระราชพิธีเบื้องปลาย เจ้าพนักงานจะเทียบพระราชยานประจำไว้ที่ คือ เทียบพระยาช้างต้นผูกเครื่องพร้อมอย่างคชราชพาหนะละคอไว้ที่เกยพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านตะวันตก พระยาม้าต้นที่สนามหน้าพระที่นั่งจักรีองค์ตะวันออก เทียบพระที่นั่งราเชนทรยาน ณ เกยพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ด้านเหนือ เสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว เสด็จพระราชดำเนินเป็นกระบวน ๔ สาย โดยพระที่นั่งราเชนทรยาน ไปทรงประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกในพระพุทธศาสนา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคทรง พระราชยานพุดตานทอง มีพระราชยานลงยา เป็นพระที่นั่งรอง ส่วนการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้น ทรงประทับพระราชยานทองลงยาราชาวดี โดยกระบวนราบไปยังพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ขึ้นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เคลื่อนกระบวนยาตรา ๔ สายทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวราราม เสด็จขึ้นพระราชยานถมตะทอง ไปโดยกระบวนราบเทียบเกยหน้าวัด ขากลับทรงเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชมายังพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย แล้วมาประทับพระราชยานทองลงยาราชาวดี กลับพระบรมมหาราชวัง

๓.งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๔๕๓ สรุปการใช้พระราชยานได้ดังนี้
       เชิญพระลองประดิษฐานพระบรมศพจากพระที่นั่งอัมพรสถาน ขึ้น พระเสลี่ยงหิ้วมาประดิษฐานบน พระยานมาศสามลำคาน เข้ากระบวนแห่ เคลื่อนไปยังพระบรมมหาราชวัง แล้วเชิญพระลองจากพระยานมาศสามลำคานโดย พระเสลี่ยงแว่นฟ้า ขึ้นประดิษฐานบนพระเบญจาบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในการบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะประทับพระราชยานกงจากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมาเทียบเกยพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ ขึ้นบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททุกวัน
       ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้เชิญพระโกศพระบรมศพจากพระเบญจาทองคำ โดยเกรินบันไดนาคขึ้นพระเสลี่ยงแว่นฟ้า จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปขึ้นพระยานมาศสามลำคาน มีพระราชยานกง ๓ องค์ เป็นพระราชยานโยง พระราชยานโปรยข้าวตอก และพระราชยานพระอ่านพระอภิธรรมนำ เคลื่อนกระบวนพยุหยาตรา ๔ สาย ไปขึ้นพระมหาพิชัยราชรถบริเวณข้างวัดพระเชตุพน แล้วเคลื่อนกระบวนสู่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ครั้นถึง เชิญพระโกศพระบรมศพลงจากพระมหาพิชัยราชรถสู่พระยานมาศสามลำคาน เวียนรอบพระเมรุมาศ ๓ รอบ โดยมีพระราชยานกงโยง-โปรยข้าวตอก-อ่านพระอภิธรรมนำ จากนั้นเชิญพระโกศขึ้นสู่พระเมรุมาศ

หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ในการบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชยานกง จากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมาทรงประกอบพิธี และในการเชิญพระบรมอัฐิกลับจากพระเมรุมาศนั้น เชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งราเชนทรยาน พระบรมราชสรีรางคารประดิษฐานบนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย แห่โดยกระบวน ๔ สายกลับพระบรมมหาราชวัง แล้วเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปประดิษฐานพักไว้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระบรมอัฐิเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท บำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน จากนั้นเชิญขึ้นพระราชยานน้อยไปประดิษฐานบนพระที่นั่งราเชนทรยานเคลื่อนกระบวนสู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเชิญขึ้นประดิษฐานบนหอพระอัฐิ แล้วเชิญพระบรมราชสรีรางคาร จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประดิษฐานบนพานทอง ๒ ชั้น ขึ้น พระราชยานน้อย เชิญขึ้นรถม้าพระที่นั่งซึ่งเทียมม้า ๘ ม้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการตามกระบวนแห่ไปยังวัดเบญจมบพิตร เพื่อประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร ณ แท่นฐานพระพุทธชินราช

๔.งานพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พ.ศ.๒๔๖๒-๒๔๖๓ สรุปการใช้พระราชยานได้ดังนี้
       เชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นพระเสลี่ยงแว่นฟ้า จากพระที่นั่งเทพดนัยมาขึ้นพระยานมาศสามลำคาน เข้ากระบวนแห่ไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล ซึ่งในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยพระราชยานเป็นกระบวนราบ จากพระที่นั่งภานุมาศจำรูญมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทุกวัน
       ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้เชิญพระโกศพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นพระยานมาศสามลำคาน มีพระสงฆ์นั่งพระเสลี่ยงกงอ่านพระอภิธรรมนำ (ในงานพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ พระสงฆ์นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว อ่านพระอภิธรรม) เคลื่อนกระบวนพยุหยาตราไปยังหน้าวัดพระเชตุพนเชิญพระโกศขึ้นสู่พระมหาพิชัยราชรถโดยเกรินมีราชรถอ่านพระอภิธรรม ราชรถโปรย ราชรถโยง นำ เคลื่อนกระบวนสู่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง เมื่อถึงเชิญพระโกศลงสู่พระยานมาศสามลำคาน เข้ากระบวนเวียนรอบพระเมรุมาศ ๓ รอบ โดยมีพระเสลี่ยงกงพระอ่านพระอภิธรรมนำ
       หลังจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ได้เชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นพระที่นั่งราเชนทรยาน เชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารขึ้นพระวอสีวิกากาญจน์เข้ากระบวนยาตราไปยังพระบรมมหาราชวัง เทียบพระวอสีวิกากาญจน์ที่เกยประตูหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารขึ้นพระราชยานไปประดิษฐานพักไว้ ณ พระศรีรัตนเจดีย์ แล้วเชิญพระบรมอัฐิสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล ซึ่งในการนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชยานเสด็จฯ โดยกระบวนราบจากพระที่นั่งภานุมาศจำรูญไปบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททุกวัน ครั้นเสร็จการพระราชกุศล ๗ วันแล้ว เชิญพระบรมอัฐิขึ้นพระที่นั่งราเชนทรยานแห่ไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ส่วนพระบรมราชสรีรางคารนั้นเชิญขึ้นรถม้าพระที่นั่ง มีกระบวนนำ – ตาม แห่ไปประดิษฐาน ณ วัดราชาธิวาส
       จากตัวอย่างทั้งพระราชพิธีอันเป็นมงคลและอวมงคลนี้ จะเห็นว่าพระราชยานหลายองค์ใช้ได้ทั้ง ๒ งาน ดังเช่น พระที่นั่งราเชนทรยาน พระวอสีวิกากาญจน์ พระราชยานกง พระเสลี่ยงกลีบบัว เป็นต้น  ส่วนบางองค์ เช่น พระยานมาศสามลำคาน ใช้เฉพาะในงานพระบรมศพเท่านั้น
       การใช้พระราชยานของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนการใช้ยานคานหามของขุนนางข้าราชการนั้น ใช้ติดต่อกันมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ใช้ทั้งในการพระราชพิธี (เต็มยศ) และใช้ในเวลาปกติ ต่อมาประมาณกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง ได้มีรถม้าและรถยนต์เข้ามามากขึ้น และยานแบบใหม่นี้เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายทั้งในราชสำนัก บรรดาพระราชวงศ์ขุนนางชั้นผู้ใหญ่และข้าราชการ ดังนั้นในการเดินทางเวลาปกติจึงไม่นิยมใช้ยานคานหามแบบโบราณ จะใช้ก็เฉพาะงานพระราชพิธี ดังเช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค การเชิญพระสุพรรณบัฎและพระราชลัญจกร และพระราชพิธีเกี่ยวกับพระบรมศพ เป็นต้น การดูแลรักษาพระราชยานนั้น ปรากฏว่าในยุคต้นๆ รัตนโกสินทร์เป็นหน้าที่ของชาวพระราชยาน ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงวัง ปัจจุบันเป็นหน้าที่ของงานเครื่องสูงกลองชนะ ฝ่ายราชูปโภค กองพระราชพิธีสำนักพระราชวัง





การอัญเชิญพระราชสาส์นประมุขต่างประเทศ จิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร




ลักษณะการหามยานโดยใช้สาแหรก จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมพิตร


การหามพระราชยานโดยตรง จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมพิตร


สมเด็จพระราชาคณะนั่งพระเสลี่ยงกลีบบัวนำกระบวนพระบรมศพ

โปรดติดตามตอนต่อไป
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 09 พฤศจิกายน 2559 16:25:38 »



พระวอสีวิกากาญจน์ เชิญพระราชสรีรางคารกลับพระบรมมหาราชวัง

. พระราชยานที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน  .

พระราชยานต่างๆ ของยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งมีอายุการสร้างตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ ๓๐ องค์ บางองค์อยู่ในสภาพดีและยังใช้ในพระราชพิธี บางองค์ชำรุดไม่ได้ใช้งาน พระราชยานดังกล่าวเก็บรักษาไว้ ณ สถานต่างๆ กัน ส่วนหนึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง อาทิ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และอาคารต่างๆ ของสำนักพระราชวัง ส่วนหนึ่งจัดแสดงให้ประชาชนชม ณ พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส และพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต บางส่วนจัดแสดงให้ประชาชนชม ณ พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร และโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร นอกจากนี้ยังมีที่วัดเบญจมบพิตรอีกองค์หนึ่ง ได้แก่ พระเสลี่ยงน้อย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศถวายเป็นธรรมาสน์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร พระราชยานบางองค์มีประวัติการก่อสร้าง ลักษณะและการใช้งาน ดังนี้

๑.พระที่นั่งราเชนทรยาน
เป็นพระที่นั่งทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาทำเป็นชั้นซ้อนกัน ๕ ชั้น สร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทอง มีคานสำหรับหาม ๔ คาน ใช้คนหาม ๕๖ คน เวลาตั้งไว้ปกติจะถอดคานออกเสีย ๒ คาน คงจะมีประจำอยู่ ๒ คาน เวลาประทับพระราชยานนี้จะต้องนั่งห้อยพระบาท ความสูงของพระที่นั่งตั้งแต่ฐานจดยอด ๔.๑๕ เมตร

พระที่นั่งราเชนทรยานสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ลักษณะรูปทรงวิจิตรงดงามมาก เป็นงานฝีมือที่ช่างบรรจงสร้างอย่างประณีตสุดฝีมือ พระที่นั่งองค์นี้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของยุครัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จากพนักพิงและกระจังปฏิญาณจะสลักเป็นภาพเทพนมไว้ตรงกลางทุกอัน ครุฑยุดนาคซึ่งประดับที่ฐานทั้ง ๑๔ ตัว นอกจากจะแสดงถึงสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจในพระมหากษัตริย์แล้ว ยังมีสัดส่วนและความง่างามในทรวดทรงด้วย

พระที่นั่งราเชนทรยานเป็นพระราชยานสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนแห่อย่างใหญ่ที่เรียกว่า ขบวนสี่สาย เช่น เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชมณเฑียรไปถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น โดยที่พระราชยานมีขนาดใหญ่และหนักจึงไม่ค่อยใช้ในการเสเด็จพระราชดำเนินระยะทางไกล ปรากฏว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยประทับพระที่นั่งราเชนทรยานไปเพียงด้านตะวันออกของท้องสนามหลวงในพระราชพิธีฉลองพระนคร ๑๐๐ ปี ซึ่งนับว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินที่ค่อนข้างไกล นอกจากใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินแล้ว ยังใช้ในการเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินีจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงเข้าสู่พระบรมมหาราชวังด้วย ปัจจุบันพระที่นั่งราเชนทรยาน เก็บรักษาไว้ ณ พระที่นั่งภิมุขมมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร และซ่อมบูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ เชิญออกมาใช้ครั้งหลังสุดในการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงกลับสู่พระบรมมหาราชวัง ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๘ และในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พ.ศ.๒๕๓๙ ได้กำหนดให้พระที่นั่งราเชนทรยานเป็นพระราชยานเชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงกลับสู่พระบรมมหาราชวัง



พระที่นั่งราเชนทรยาน


พระยานมาศสามลำคาน ในโรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

๒.พระยานมาศ
เป็นพระราชยานสำหรับพระมหากษัตริย์ประทับราบและพิงได้ ทำด้วยไม้สลักปิดทอง มีพนักวางแขน มีคานหามคู่และแอกหน้าหลัง เวลาหามใช้เชือกหุ้มผ้าผูกแอกแล้วคล้องกับลูกไม้ซึ่งเป็นคานหาม ใช้พนักงานหาม ๘ คน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงกล่าวว่า คนสามัญทั่วไปจะสังเกตความแตกต่างระหว่างพระยานมาศกับพระเสลี่ยงกงได้ยาก เพราะต่างกันที่ชั้นที่นั่งอันเป็นกระบวนของช่างและพนักพระยานมาศในสมัยโบราณอาจเป็นเหลี่ยมตามแท่นที่นั่งแบบพระที่นั่งพุดตาลก็ได้

๓.พระยานมาศสามลำคาน
เป็นคานหามขนาดใหญ่ กลางตั้งแท่นทำด้วยไม้สลักปิดทองประดับกระจกสี ลักษณะเป็นแท่นซ้อนลด ๔ ชั้น ย่อมุมไม้สิบสอง ชั้นบนสุดทำเป็นแผงราชวัติจำหลักลายประดับกระจกกั้น เว้นช่องที่ส่วนหน้าและส่วนหลัง และมีมุขยื่นออกมา ฐานชั้นที่ ๓ ประดับรูปครุฑโดยรอบ ๓๘ ตัว ชั้นที่ ๔ ประดับเทพนม ๒๖ องค์ ตัวแท่นยานมาศตั้งยึดติดกับลำคานทั้ง ๓ บนยานมีแผ่นไม้ขนาดใหญ่รูปแปดเหลี่ยมพร้อมขอเกี่ยว ๔ ตัว ติดไว้ พื้นไม้ด้านบนทาสีแดง รอบข้างสลักลายปิดทอง เป็นที่สำหรับตั้งพระโกศให้มั่นคง คานทั้ง ๓ เป็นไม้กลึงกลมทาสีแดง ปลายสลักเป็นหัวเม็ดปิดทองประดับกระจกสี ใช้พนักงานหาม ๖๐ คน เวลาหามจริงใช้คน ๒ ผลัด พระยานมาศสามลำคานองค์แรกสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เดิมเพื่ออัญเชิญพระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์ โดยกระบวนพยุหยาตราสี่สายจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ ณ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพน และใช้ในการเชิญพระโกศพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศท้องสนามหลวง ๓ ครั้งตามพระราชประเพณี ต่อมาใช้เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชินี และสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วย ได้แก่ งานพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗

พระยานมาศสามลำคานที่เก็บรักษาไว้ ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร มีจำนวน ๕ องค์ ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด ใน พ.ศ.๒๕๒๗ ได้มีการสำรวจและซ่อมองค์ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุดเพื่อใช้ในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ และซ่อมบูรณะขึ้น ซึ่งเป็นคนละองค์กับที่เคยใช้ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า การซ่อมบูรณะได้เสริมความมั่นคงเพิ่มเติมส่วนชำรุดหายไป ทาสี ปิดทอง และประดับกระจกใหม่ทั้งองค์ ดำเนินการโดยกองหัตศิลป์ กรมศิลปากร ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๗ แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ได้ซ่อมบูรณะพระยานมาศสามลำคาน ๒ องค์ เพื่อนำออกเชิญพระโกศพระบรมศพตามพระราชประเพณี

๔.พระราชยานกง
ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง ประดับภาพที่ฐาน มีกงสำหรับวางแขนและมีพนักพิง เป็นพระราชยานแบบประทับห้อยพระบาท มีคานหาม ๒ คาน กับแอกและลูกไม้สำหรับหาม ใช้คนหาม ๘ คน ใช้สำหรับทรงในเวลาปกติ และการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบ

๕.พระราชยานถม
เป็นพระราชยานสำหรับประทับราบ มีพนักและกระดานพิง มีคานหาม ๒ คาน ทำด้วยไม้หุ้มด้วยเงินถมลงยาทาทอง ประดับด้วยกระจังปฏิญาณทองคำลงยาราชาวดี ใช้คนหาม ๘ คน ด้วยวิธีเดียวกับพระยานมาศ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระแท่นถม นำเข้ามาน้อมเกล้าฯ ถวายใน พ.ศ.๒๓๖๑ ปัจจุบันอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

๖.พระราชยานงา
ลักษณะเช่นเดียวกับราชยานถม เว้นแต่ทำด้วยงาช้างสลักลวดลายทั้งส่วนฐาน กระจัง พนัก และกระดานพิง พื้นพระราชยานทำด้วยไม้ตีเป็นตารางทาสีแดง คานหาม ๒ ข้างหุ้มงาช้างตลอดถึงหัวเม็ด สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพลเรือโท พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ รองเสนาบดีกระทรวงวัง ผู้บัญชาการกรมพระคชบาล และผู้บังคับบัญชากรมช่างสิบหมู่ขณะนั้น ทรงออกแบบและทรงทำร่วมกับพระยาจินดารังสรรค์ (รอด รัตนศิลปิน) ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ เป็นงานที่ละเอียดมาก นับเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ การหามใช้วิธีเดียวกับพระยานมาศ และใช้คนหาม ๘ คน ปัจจุบันอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

๗.พระราชยานทองลงยา
เป็นพระราชยานประทับราบลักษณะเช่นเดียวกับพระราชยานถม ตัวพระราชยานเป็นไม้หุ้มด้วยทองลงยา กระจัง พนัก และกระดานพิงเป็นทองลงยา คานทั้งสองเป็นไม้หุ้มด้วยโลหะสลักลาย หัวเม็ดปลายคานหุ้มทองลงยา ใช้คนหาม ๘ คน ด้วยวิธีใช้สาแหรกและลูกไม้เช่นเดียวกับพระราชยานงา สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระรัตนโกษาเป็นนายช่าง ปัจจุบันอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

๘.พระที่นั่งราชยานพุดตาลถม
สร้างด้วยไม้หุ้มเงินสลักลายพุดตาลถมยาทาทอง ลักษณะคล้ายพระที่นั่งกง แต่งดงามกว่า และมีกระหนกใบปรือติดอยู่ ๒ ข้างซ้ายขวา และมีภาพประดับ ๒ ชั้น เดิมสร้างขึ้นเป็นพระราชอาสน์ที่ประทับประจำพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และใช้เป็นพระราชยานได้ คือ มีห่วงและคานสำหรับหาม สร้างโดยพระยาเพชรพิชัย (จีน) บิดาพระรัตนโกษา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันเป็นพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

๙.พระที่นั่งพระราชยานพุดตาลทอง
สร้างด้วยไม้แกะสลักหุ้มทอง มีภาพเทพนมและครุฑประดับ ๒ ชั้น ลักษณะเช่นเดียวกับพระที่นั่งราชยานพุดตาลถม สร้างขึ้นสำหรับเป็นพระที่นั่งพุดตาลกาญจนสิงหาสน์ที่ทอดเหนือพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นพระราชอาสน์ที่ประทับในงานพระราชพิธีใหญ่และสำคัญ ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากสร้างให้ดัดแปลงเป็นพระราชยานได้ จึงมีห่วงและคานสำหรับหาม ใช้เป็นพระราชยานในการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค เช่น การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร การเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐิน การเสด็จพระราชดำเนินทางเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์และสะพานพุทธยอดฟ้า (ในรัชกาลที่ ๗) เป็นต้น เมื่อแต่งเป็นพระราชยานนั้นมีแอกผูกติดกับคานทั้งหน้าหลัง มีแอกผูกลูกไม้ สำหรับหามทั้งซ้ายขวาและหน้าหลัง มีคานหามขึ้นบ่าประจำที่คานและที่ลูกไม้ ปัจจุบันอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  พระบรมมหาราชวัง ใช้คนหามผลัดละ ๑๖ คน และต้องผลัดทุกระยะ ๕๐๐ เมตร พระที่นั่งราชยานพุดตาลทองนี้สร้างในรัชกาลที่ ๑ หุ้มทองในรัชกาลที่ ๔



พระเสลี่ยงกง


พระเสลี่ยงแว่นฟ้า พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต

๑๐.พระเสลี่ยงกง
เป็นพระราชยานแบบประทับราบ ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก มีกงหรือที่วางแขนเป็นวงโค้ง และมีพนักหรือกระดานพิง มีกระจังรวนและกระจังปฏิญาณอยู่ด้านนอกของกง พื้นที่นั่งเป็นไม้หวายเส้นผูกเรียงกัน หรือหวายสาน ด้านล่างมีห่วงโลหะ ๔ ห่วง สำหรับสอดคาน ๒ คาน การหามใช้วิธีผูกเชือกเป็นสาแหรกกับคานน้อย ใช้คนหาม ๘ คน ใช้ทรงในเวลาปกติ หรือเจ้านายทรงตามเสด็จ และใช้อัญเชิญพระโกศหรือพระสรีรางคารพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่หม่อมเจ้าจนถึงพระองค์เจ้า ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิตหลายองค์

๑๑.พระเสลี่ยง
เป็นพระราชยานแบบประทับราบ สร้างด้วยไม้สลักปิดทอง มีพนักและกระดานพิง ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงยามปกติ และเจ้านายทรง พื้นเป็นหวายเส้นผูกเรียงกัน หวายสาน หรือพื้นไม้กระดาน มีห่วงโลหะ ๔ ห่วงด้านล่างสำหรับสอดคานหาม การหามใช้เชือกผูกคานเป็นสาแหรกกับคานน้อย หากเป็นที่ประทับบางครั้งมีขนาดใหญ่ ใช้คนหาม ๘ คน และเรียกว่า พระราชยาน หากเป็นของเจ้านายทรง ขนาดย่อมลงมาใช้คนหาม ๔ คน ปัจจุบันยังมีเก็บรักษาไว้ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร

พระเสลี่ยงที่ปรากฏชื่อในเอกสารประวัติศาสตร์และจดหมายเหตุต่างๆ มีชื่อเรียกต่างๆ กันคือ

พระเสลี่ยงกลีบบัว
เรียกตามลายสลักที่ประดับฐาน เป็นพระราชยานแบบประทับราบ มีคาน ๒ คาน สร้างด้วยไม้สลักปิดทองประดับกระจก ใช้เป็นยานเกียรติยศแก่พระยาแรกนาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และใช้สำหรับสมเด็จพระสังฆราช หรือสมเด็จพระราชาคณะ ประทับอ่านพระอภิธรรมนำโกศพระบรมศพ แห่เชิญโดยกระบวนพระราชอิสริยยศจากพระบรมมหาราชวังไปยังหน้าวัดพระเชตุพน เพื่อเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ และนำในกระบวนแห่พระโกศพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ปัจจุบันเก็บรักษาพระเสลี่ยงกลีบบัวไว้ที่พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต

พระเสลี่ยงแว่นฟ้า
มีลักษณะเป็นฐานแท่นไม้สี่เหลี่ยมสลักลาย ปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ มีคาน ๒ คาน ปลายคานเป็นหัวเม็ดปิดทองเรียบ ระหว่างคานทั้งสองทั้งด้านหน้าและด้านหลัง คล้องเชือกมนิลาหุ้มผ้าแดง สำหรับเจ้าพนักงานใช้คล้องคอขณะยกพระเสลี่ยง ใช้คนหาม ๘ คน ใช้สำหรับเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังเกยเทียบพระยานมาศสามลำคานที่นอกกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านทิศตะวันตก

เสลี่ยงแปลง
คือเสลี่ยงที่ขยายส่วนให้สูงกว่าเสลี่ยงสามัญ หามพาดบ่าเช่นเดียวกับพระยานมาศ ใช้สำหรับผู้แทนพระองค์ในพระราชพิธี ได้แก่ พระยาแรกนาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และพระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย เป็นต้น

พระเสลี่ยงหิ้ว
เป็นพระเสลี่ยงขนาดเล็ก มีกระดานพิงและขอบไม้สูงประมาณ ๑ นิ้ว ทางด้านหลังและด้านข้างๆ ละครึ่ง สำหรับกันเบาะให้อยู่กับที่ มีคานหาม ๒ คาน การหามใช้ผ้าแถบผูกคานสำหรับสะพาย ใช้คนหาม ๒ คน ใช้สำหรับประทับเสด็จฯ ในพระราชวัง หรือใช้ทรงพระโกศพระบรมศพ และเจ้านายทรงในโอกาสต่างๆ เช่น พิธีโสกันต์ และพิธีบวชนาคหลวง ปัจจุบันที่สมบูรณ์ที่สุด ได้แก่ พระเสลี่ยงหิ้วในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

พระเสลี่ยงน้อย
เป็นพระราชยานแบบประทับราบ ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง มีขอบราวและพนักพิง พื้นเป็นหวายเส้นผูก เดิมเป็นของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ทรงสร้างขึ้น ภายหลังได้ตกทอดมาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต่อมาได้ทรงถวายพระเสลี่ยงนี้แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงรับพระสุพรรณบัฏ ใน พ.ศ.๒๔๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระเสลี่ยงองค์นี้สืบมาจนเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ และในวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ได้ทรงพระราชอุทิศพระเสลี่ยงให้เป็นธรรมาสน์สำหรับสวดพระปาฏิโมกข์ หรือแสดงพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เพื่อจะทอดพระเนตรเห็นบ่อยๆ และทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ทั้ง ๒ พระองค์ผู้เป็นเจ้าของเดิม ปัจจุบันพระเสลี่ยงน้อยประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร

เสลี่ยงป่า
ลักษณะเหมือนแคร่ แต่ขอบสลักลายปิดทอง มีคานหาม ๒ คาน เป็นยานสำหรับพระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า



พระวอสีวิกากาญน์

๑๐.พระวอประเวศวัง
เป็นพระราชยานประทับราบ ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก มีเสาสี่เสาและหลังคาทรงคฤห์ดาดด้วยผ้าตาดปักทองแผ่ลวด มีระบายโดยรอบ ๓ ชั้น และมีม่านผูกที่เสาทั้งสี่ พื้นพระวอทำด้วยหวายเส้นผูกเรียงกัน มีกงสำหรับวางแขนและกระดานพิง มีกระจังประดับฐานด้านหน้าและหลัง เว้นเฉพาะด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน เป็นทางขึ้นลง มีคาน ๒ คาน ใช้เจ้าพนักงานหาม ๑๖ คน พระวอประเวศวังองค์แรก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขณะยังดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในรัชกาลที่ ๒

พระวอประเวศวังองค์ที่ยังสมบูรณ์ในปัจจุบัน สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ มีจารึกว่า ปี ๑๑๖ อยู่ที่กระดานพิงด้านใน และจั่วหลังคาทั้ง ๒ ด้าน ปักทองเป็นลายรูปพระเกี้ยวประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า ประกอบด้วยฉัตรเบญจา ๒ ข้าง ท่ามกลางลายก้านขดเปลว ใช้เป็นที่ประทับสำหรับพระอัครมเหสี หรือพระเจ้าลูกเธอ ในงานพระราชพิธีต่างๆ และงานพระเมรุมาศ

๑๑.พระวอสีวิกากาญจน์
พระราชยานประทับราบสำหรับเจ้านายฝ่ายในและพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ องค์ที่เก็บรักษาในพระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กว้าง ๘๔.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๔๕ เซนติเมตร สูง ๑๐๙ เซนติเมตร เป็นพระที่นั่งโถง มี ๔ เสา มีม่านผูกทั้ง ๔ เสา หลังคาประกอบด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ลงรักปิดทอง มีพนักพิงและขอบราวพนัก ๓ ด้าน ยกเว้นด้านหน้า มีสาแหรกสำหรับหาม ใช้คนหาม ๘ คน นอกจากใช้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีแล้ว ยังใช้ในงานพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชินีด้วย คือเชิญพระราชสรีรางคารจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง

พระวอสีวิกากาญจน์อีกองค์หนึ่งอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นไม้แกะสลักปิดทอง ประดับกระจก ด้านล่างฐานมีห่วงสำหรับสอดคานหาม ๒ คาน ปลายคานเป็นหัวเม็ดทำด้วยงา องค์พระวอมีพนักกงเป็นวงโค้งและมีกระดานพิง ด้านนอกมีกระจังล้อมรอบ ด้านหน้าทำขอบพนักเตี้ยๆ และมีกระจังโอบมาทางด้านข้าง ๒ ด้าน เว้นช่องตรงส่วนที่เป็นทางขึ้นลง เสาทั้ง ๔ ที่รองรับหลังคาเป็นไม้สลักปิดทองประดับกระจก หลังคาทำเป็นชั้นลด ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และมีบราลีบนสันหลังคา หน้าบันทั้ง ๒ ด้าน ปักทองเป็นลายพระเกี้ยวประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า กระหนาบ ๒ ข้างด้วยฉัตรเบญจา ใช้เป็นพระราชยานสำหรับพระอัครมเหสีในการพระราชพิธี และใช้ในการพระบรมศพด้วย การหามใช้พนักงานหาม ๘ คน     

ปัจจุบันพระราชยานที่ยังคงอยู่ดังกล่าวมาแล้วนี้ ส่วนใหญ่มักเก็บรักษาตั้งประจำที่เนื่องจากมีโอกาสนำมาใช้น้อย และบางองค์ก็ไม่ได้นำออกใช้งานใดเลย พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ เป็นอีกวาระหนึ่งที่ได้เชิญพระราชยานบางองค์ออกร่วมในกระบวนแห่พระราชอิสริยยศพระบรมศพ จากพระบรมมหาราชวังสู่พระเมรุมาศท้องสนามหลวง และกระบวนเชิญพระบรมอัฐิและพระราชสรีรางคารจากพระเมรุมาศกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง โดยพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมราชชนนี พระราชยานที่ใช้ในงานพระบรมศพ มีดังนี้
     -พระเสลี่ยงแว่นฟ้า สำหรับเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปขึ้นพระยานมาศสามลำคาน
     -พระยานมาศสามลำคาน เชิญพระโกศพระบรมศพโดยกรบวนจากเกยด้านหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ ณ บริเวณหน้าวัดพระเชตุพน และเชิญพระโกศพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศก่อนเชิญขึ้นสู่พระเมรุมาศ ในงานนี้ใช้ ๒ องค์
     -พระที่นั่งราเชนทรยาน เชิญพระโกศพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศ เข้ากระบวนแห่กลับสู่พระบรมมหาราชวัง เพื่อประดิษฐานบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
     -พระวอสีวิกากาญจน์ เชิญพระผอบพระราชสรีรางคารจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวงกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง โดยอยู่เป็นลำดับถัดมาจากพระที่นั่งราเชนทรยาน

นอกจากพระราชยานเชิญพระโกศพระบรมศพ พระบรมอัฐิ และพระราชสรีรางคารแล้ว ยังมีพระราชยานซึ่งเป็นที่นั่งของสมเด็จพระราชาคณะอ่านพระอภิธรรมนำในการเคลื่อนพระบรมศพ คือ
     -พระเสลี่ยงกลีบบัว สำหรับสมเด็จพระราชาคณะนั่งอ่านพระอภิธรรมนำกระบวนพระราชอิสริยยศ เมื่อเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ออกจากพระบรมมหาราชวังไปยังพระมหาพิชัยราชรถ ณ บริเวณวัดพระเชตุพนครั้งหนึ่ง และนำกระบวนพระราชอิสริยยศเชิญพระบรมศพเวียนพระเมรุมาศอีกครั้งหนึ่ง
 

โปรดติดตามตอนต่อไป
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 22 พฤศจิกายน 2559 19:16:29 »



พระยานมาศสมัยอยุธยา (ง.๒๓๕๒) พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร    


. องค์ประกอบและความงามทางศิลปกรรม .

พระราชยานที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันนับเป็นงานประณีตศิลป์ ซึ่งมีความวิจิตรงดงามด้วยรูปทรงลวดลาย และการประดับตกแต่ง ดังได้กล่าวมาแล้วว่า พระราชยานที่เก่าที่สุดมีอายุอยู่ในสมัยอยุธยา ได้แก่ พระยานมาศไม้แกะสลักในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก และพระยานมาศ (หมายเลข ง๒๓๕๒) ในพระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทั้ง ๒ องค์มีลักษณะบางประการต่างจากพระราชยานสมัยรัตนโกสินทร์อย่างเห็นได้ชัด เป็นต้นว่าความอ่อนโค้งของเส้นฐานซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ดังจะเห็นได้จากฐานพระอุโบสถ ฐานชุกชีพระพุทธรูปและฐานบุษบกธรรมาสน์ เป็นต้น นอกจากนี้ก็คือความสูงโปร่งของชั้นฐาน และจังหวะช่องไฟหรือระยะความห่างของกระจังที่ดูโปร่งตากว่าของสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ ๒ องค์นี้ยังแตกต่างกันในรายละเอียดดังนี้


ยานมาศที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

ยานมาศที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก

ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ตัวยานทำเป็น ๓ ชั้น ฐานเจาะโปร่ง ลักษณะฐานแอ่นโค้งดังฐานสำเภา มีครุฑประดับที่กึ่งกลางฐานชั้นที่ ๒ ทั้ง ๔ ด้าน และที่มุมฐานประดับด้วยเศียรนาค ฐานแต่ละชั้นแกะสลักลวดลายอย่างงดงาม ชั้นบนสุดประดับด้วยกระจังปฏิญาณขนาดใหญ่ทั้ง ๓ ด้าน ยกเว้นด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนพนักพิงเป็นกระหนกตัวใหญ่ที่สุด ซึ่งแกะสลักลวดลายซ้อนหลายชั้น ยานมาศนี้มีคานหาม ๒ คาน ทำด้วยไม้แกะสลักเช่นกัน มีลักษณะคดโค้ง ๔ จังหวะ ดุจลำตัวของนาค ส่วนหัวและหางนาคด้านปลายชำรุดหักหายไป ยานนี้อาจใช้ในพิธีอุปสมบทสำหรับพระอุปัชฌาย์นั่ง หรือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเข้ากระบวนแห่ในเทศกาลสำคัญ

ลักษณะของยานมาศดังกล่าวนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงพบหลายครั้งในวัดต่างๆ ตามเส้นทางขณะเมื่อเสด็จขึ้นไปตรวจการปั้นหุ่นจำลองพระพุทธชินราช ณ จังหวัดพิษณุโลก ใน พ.ศ.๒๔๔๔ ได้ทรงพรรณนาถึงลักษณะและร่างภาพที่น่าสนใจไว้ในบทพระนิพนธ์ เรื่อง จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก ซึ่งต่อมาได้พิมพ์เผยแพร่เป็นอนุสรณ์ในการฉลองวันประสูติครบ ๑๐๐ ปีของพระองค์ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๖ ทรงกล่าวว่าทรงพบยานมาศหักทิ้งอยู่ข้างกุฏิพระที่วัดใหญ่ ตำบลบ้านต้นไทร จังหวัดชัยนาท ลักษณะเป็นฐานสิงห์ ๒ ชั้น และฐานหน้ากระดานบัวหงาย ๑ ชั้น ข้างบนมีพนักและมีคานพร้อม ทรงเห็นว่ามีรูปทรงงดงามดีและเป็นฝีมือเก่า พระภิกษุในวัดกราบทูลว่าเดิมใช้สำหรับหามพระอุปัชฌาย์ลงโบสถ์ในพิธีอุปสมบทและเป็นของเก่ามีคู่วัดมานาน เมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้เลยมาที่วัดนี้ เห็นยานมาศงดงามเข้าใจว่าหุ้มด้วยทองจึงใช้ดาบฟันที่กงเพื่อพิสูจน์ ทำให้มีรอยดาบปรากฏอยู่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเห็นว่าเป็นงานศิลปกรรมที่ควรเก็บรักษาไว้ จึงให้พระวิสูตรโยธามาตย์ถอดเป็นชิ้นๆ บรรทุกเรือมาไว้ที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้นำคานลงมาด้วย

นอกจากที่วัดใหญ่ดังกล่าว ยังทรงพบยานมาศที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก พบที่วัดท่าเสา จังหวัดอุตรดิตถ์ ๒ หลัง และที่วัดคีรีเชิงเขา อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ๑ หลัง โดยเฉพาะที่วัดท่าเสานั้นได้ทรงบรรยายลักษณะและร่างภาพไว้ ดังนี้


“...ใต้หอไตรนี้มีของสำคัญคือยานมาศแห่พระ มีถึง ๒ อัน
ยานมาศที่นี้สูงมาก หลังคานมีตัวนาคฐานเป็นสิงห์สองชั้น
แล้วบัวหงายสูงจนตีนต้องมีบัวรอง สองอันรูปไม่ผิดกันแต่
คันในผิดกัน รูปมีทำนองนี้ แต่กงไม่สู้แน่ เดาผสมไว้ เพราะ
ของเดิมหักไม่มีอยู่พอจะเทียบได้ ลายที่คันในควรสังเกตมี
สองสามอย่างคือ
๑.บัวหลังสิงห์กลับขึ้นเช่นเขียนรูปไว้นี้
๒.ที่อกไก่สลัก ชั้นล่างเป็นแข้งสิงห์ ชั้นบน
    เป็นกลีบบัว เช่นที่เขียนไว้นี้
๓.บัวหงาย อันหนึ่งบากรวนกลีบห้ามกลางกลับลง แปลกจาก
    ที่เคยเห็นอยู่ แต่ว่าเหลวอีกอันหนึ่งกลีบแซกเป็นตัวผักบุ้งก้านขด
    เช่นที่เขียนไว้ทั้งสองอย่างนี้”
 


ส่วนยานมาศที่วัดคีรีเชิงเขา อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย นั้น ทรงกล่าวว่าลักษณะเช่นเดียวกับวัดท่าเสา แต่มีลักษณะแปลกไปเล็กน้อยตรงที่ย่อเป็นกะเปาะออกไปแบบไม้สิบสอง

จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อาจสรุปได้ว่า ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นับแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงตอนกลางรัชกาลที่ ๕ ยังมียานคานหามฝีมือเก่าครั้งสมัยอยุธยาตอนปลายหลงเหลือกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ไม่น้อย ต่อมาในปัจจุบันได้ผุพังสูญหายไปเหลือเพียงไม่กี่ชิ้น และสุนทรีภาพของงานศิลปกรรมเหล่านั้นเกิดจากลักษณะอันน่าประทับใจตั้งแต่พบเห็น ประการแรกคือ รูปทรงที่ได้สัดส่วนและโปร่งงามตา  ประการที่สองคือ ลวดลายประดับตกแต่งซึ่งแสดงความคิดสร้างสรรค์ของช่าง มีความชาญฉลาดในการกำหนดลายประดับในตำแหน่งที่เหมาะสม หรือบางครั้งอาจมีความแตกต่างจากแบบแผนไปบ้างดังที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุดวัดติวงศ์ทรงสังเกตเห็น  ประการที่สามคือ การลงรักปิดทองประดับกระจกหรือการปิดทองล่องชาด ซึ่งเพิ่มความโอ่อ่าสง่างามจับตา

พระยานมาศ (หมายเลข ง ๒๓๕๒) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พระยานมาศองค์นี้ได้มาจากวัดสนามไชย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี กว้าง ๗๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๘๔.๗ เซนติเมตร สูง ๙๐ เซนติเมตร

ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกสี มีคานหาม ๒ คาน ปลายลำคานแกะสลักเป็นบัวตูม ตัวพระยานมาศมีฐานสิงห์ ๒ ชั้น มีลักษณะเส้นฐานอ่อนโค้งตามแบบอยุธยา ฐานสิงห์ชั้นล่างแกะสลักลวดลายเฉพาะกาบสิงห์ ปาก และจมูกสิงห์ บัวหลังสิงห์เรียบเกลี้ยงไม่สลักลวดลาย ท้องไม้ประดับกระจกสี ตอนบนประดับด้วยกระจังเจิม ฐานสิงห์ชั้นบนแกะสลักลวดลาย กาบเท้าสิงห์แกะเป็นหัวนาค ส่วนท้องสิงห์แกะสลักเป็นกระจังเจิม บัวหลังสิงห์เรียบเกลี้ยงไม่แกะสลักลวดลาย ท้องไม้ประดับกระจกสี ตอนบนประดับด้วยกระจังเจิม เหนือกระจังเจิมเป็นบัวหงาย หน้ากระดานแกะเป็นลายประจำยามประกอบเม็ดเนื่องไข่ปลา และประดับกระจกสี ด้านบนก็ประดับกระจกสี ขอบบนของพระยานมาศประดับด้วยกระจังปฏิญาณที่มีลายคมชัดงดงาม มีขนาดเล็กไปหาใหญ่ โดยเรียงจากขอบด้านข้างทั้ง ๒ ด้านไปยังด้านหลัง กระจังตัวกลางซึ่งตรงกับด้านหลังพนักพิงจะใหญ่ที่สุด ถัดจากกระจังเข้ามาเป็นพนักหรือกง ซึ่งทำด้วยไม้สลักส่วนปลาย ๒ ข้างเป็นหัวนาค มีเสากลมรองรับ ๔ ต้น หัวเสาสลักเป็นบัว พื้นที่นั่งทำด้วยไม้แผ่นทึบ

งานศิลปกรรมสมัยอยุธยาทั้ง ๒ ชิ้นนี้นับว่าเป็นมรดกอันทรงคุณค่าอย่างยิ่งในปัจจุบันเนื่องจากอายุการสร้าง เป็นศิลปวัตถุที่หายากไม่ปรากฏที่ใดอีก ตลอดจนฝีมืออันเยี่ยมยอดของช่าง

พระราชยานสมัยรัตนโกสินทร์แม้จะสืบทอดรูปแบบและชื่อมาจากสมัยอยุธยา แต่มีลักษณะบางประการที่แตกต่างออกไปและแสดงเอกลักษณ์ของตนเอง คือการรักษาระเบียบและสัดส่วนของงาน ความละเอียดและความกระชั้นของการวางลายประดับ ตลอดจนกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างแน่นอนในการกำหนดตำแหน่งลวดลายเครื่องประดับที่เหมาะสม พระราชยานองค์สำคัญของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูงจึงมีความวิจิตรงดงามเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพระราชยานของพระมหากษัตริย์จะมีรูปเทพนมและครุฑประดับที่ฐานด้วย ดังเช่นพระที่นั่งราเชนทรยานซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นเยี่ยมของสมัยรัตนโกสินทร์ และมีสัดส่วนสวยงามที่สุด พระราชยานในแต่ละประเภททั้งที่ใช้ในพระราชพิธีและใช้ในเวลาปกติยังมีความงดงามแตกต่างกันดังจะขอกล่าวถึงองค์ที่สำคัญต่อไปนี้





พระที่นั่งราเชนทรยาน

พระที่นั่งราเชนทรยาน
เป็นพระที่นั่งราชยานทรงบุษบก สร้างด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ และมีคานหาม ๔ คาน ขนาดกว้าง ๑.๐๓ เมตร ยาว ๕.๔๘ เมตร (รวมคานหาม) สูง ๔.๒๓ เมตร มีรายละเอียดส่วนต่างๆ ดังนี้

ด้านล่างสุดเป็นชั้นคานหาม ทำด้วยไม้เป็นแคร่ทึบรองรับพระราชยาน มีคานหามประจำ ๔ คาน ทั้งหมดทาสีแดง ลำคานกลึงกลมมีปลายกลึงเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ปิดทองประดับกระจกสี องค์บุษบกประกอบด้วยฐาน ๒ ชั้น หน้ากระดานเชิงฐานชั้นล่าง เรียบเกลี้ยงไม่มีลวดลาย ตอนบนประดับด้วยเส้นลวด เหนือขึ้นไปประดับด้วยกระจังตาอ้อยปิดทองประดับกระจก ชั้นฐานสิงห์มีลายแกะสลักที่กาบเท้า ปาก และจมูกสิงห์ บัวหลังสิงห์เรียบไม่สลักลาย ประดับกระจังตาอ้อยตอนบน ถัดไปเป็นท้องไม้ประดับกระจกสีเขียวและขาวเป็นลายประจำยาม ตอนบนประดับกระจังตาอ้อยห้อยลงโดยรอบ เหนือกระจังตาอ้อยเป็นบัวหงาย แกะสลักลายปิดทองประดับกระจกและเส้นลวดปิดทอง ต่อขึ้นมาเป็นฐานหน้ากระดานซึ่งขยายส่วนท้องไม้ให้สูงขึ้น ส่วนหน้ากระดานล่างของช่วงนี้สลักเป็นลายลูกฟักก้ามปูใบเทศปิดทอง ประดับกระจกสีประกอบ ตอนบนประดับกระจัง ๒ ชั้น ชั้นนอกเป็นกระจังตาอ้อยชั้นในเป็นกระจังเจิม ท้องไม้แกะสลักเป็นลายหน้าสิงห์และลายก้านขดอยู่ในกรอบอย่างงดงาม และมีเครื่องประดับอันเป็นองค์ประกอบสำคัญแสดงถึงพระราชอำนาจคือรูปครุฑยุดนาค ๑๔ ตัว ประดับโดยรอบ เหนือท้องไม้เป็นกระจังรวนทั้งซ้ายและขวาประกอบเส้นลวดเล็กๆ เหนือเส้นลวดเป็นบัวหงาย ถัดขึ้นไปเป็นหน้ากระดานบน แกะสลักเป็นลายลูกฟักก้ามปูใบเทศประดับกระจกสี ตอนบนหน้ากระดานประดับกระจัง ๒ ชั้น ชั้นในเป็นกระจังเจิม ชั้นนอกเป็นกระจังตาอ้อย ชั้นถัดขึ้นไปประดับด้วยกระจังปฏิญาณขนาดใหญ่เรียง ๓ ด้าน เว้นด้านหน้ากระจังนี้มีความงดงามเป็นพิเศษด้วยความละเอียดประณีตคมชัดของฝีมือช่าง ที่สามารถแกะสลักเป็นลักษณะซ้อนกันเป็นชั้น ๔-๕ ชั้น ได้อย่างอ่อนไหว และยังมีรูปเทพนมอยู่กลางกระจังทุกตัว ขอบฐานตอนบนสุดซึ่งบางส่วนถูกบดบังด้วยกระจังนั้นแกะสลักเป็นลายบัวเกษรหรือบัวปากปลิง

พระที่นั่งราเชนทรยานมีพนักกงและพนักพิงหลังเช่นเดียวกับพระราชยานอื่นๆ พนักพิงเป็นทรงกลีบขนุน ด้านหน้าเรียบ ด้านหลังแกะสลักเป็นลายก้านขดแวดล้อมเทพนมตรงกลาง

หลังคาพระราชยานเป็นทรงจอมแหรองรับด้วยเสา ๔ ต้น ลักษณะเป็นเสาย่อมุมไม้สิบสอง โดนเสาประดับด้วยกาบพรหมศร มีลายเนื่องประกอบขอบเสาและประดับกระจกเป็นลายดอกพิกุล มีความละเอียดสวยงามมาก กลางเสามีลายประจำยามรัดอกอยู่กลางเสาทั้ง ๔ เสา ที่หัวเสามีคันทวยรองรับชายคารวม ๑๒ คัน หลังคาย่อเก็จประดับเครื่องยอดทั้ง ๕ ชั้น ประกอบด้วยช่อฟ้า บราลี นาคปัก ซุ้มรังไก่ หรือบันแถลง องค์ระฆังลงรักปิดทองประดับกระจก เหมแกะสลักย่อมุมไม้สิบสองลงรักปิดทองประดับกระจกบัวกลุ่มแกะสลักลายลงรักปิดทองประดับกระจก ปลียอดปิดทองเรียบ บัวลูกแก้วแกะสลักลายรักปิดทองประดับกระจก ยอดประดับด้วยเม็ดน้ำค้าง รอบเชิงชายประดับด้วยเฟื่องอุบะโดยรอบ เพดานบุษบกทาสีแดงประดับด้วยดาวเพดานซึ่งปิดทองประดับกระจก ด้านหน้าและหลังองค์บุษบกมีเตียงลายื่นออกไปเป็นแท่นสำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลานั่งประคองพระโกศพระบรมอัฐิ ลักษณะการประดับตกแต่งเช่นเดียวกับฐาน



องค์ประกอบพระที่นั่งราเชนทรยาน
๑.เม็ดน้ำค้าง
๒.ปลียอด
๓.ลูกแก้ว
๔.บัวกลุ่ม
๕.เหม
๖.บัวคอเสื้อ
๗.องค์ระฆัง
๘.บราลี
๙.บันแถลง
๑๐.เฟื่อง
๑๑.อุบะ
๑๒.ประจำยามรัดอก
๑๓.เสาไม้สิบสอง
๑๔.พนักพิง
๑๕.กง
๑๖.กาบพรหมศร
๑๗.กระจังปฏิญาณ
๑๘.บัวท้องไม้เชิงบาตร
๑๙.หน้ากระดาน
๒๐.บัวหงาย
๒๑.ครุฑยุดนาค
๒๒.ฐานสิงห์






โปรดติดตามตอนต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 พฤศจิกายน 2559 19:22:00 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 07 ธันวาคม 2559 16:23:30 »




• พระที่นั่งราชยานพุดตาลทอง
พระราชยานพุดตาลทองมีทั้งของวังหลวงและวังหน้า มีลักษณะใกล้เคียงกันคือ เวลาปกติใช้เป็นพระที่นั่งราชบัลลังก์ และในงานพระราชพิธีใช้เป็นพระราชยานประทับไปในกระบวนพยุหยาตราได้ องค์พระที่นั่งทำด้วยไม้ลงรักปิดทองประดับกระจกอย่างงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบปรือ ซึ่งเป็นกระหนกขนาดใหญ่ประดับอยู่ ๒ ข้างพนัก และด้านหลัง จะมีความละเอียดประณีตเป็นพิเศษ และเสริมให้พระราชยานเด่นเป็นสง่าต่างจากพระราชยานอื่น เหมาะกับเป็นที่ประทับในพระราชพิธีอันสำคัญ ในที่นี้ขออธิบายลักษณะลวดลายแกะสลักของพระราชยานพอสังเขป ดังนี้

พระราชยานประกอบด้วยฐาน ๓ ชั้น ฐานชั้นล่างเป็นฐานสิงห์ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเชิงบาตร ๒ ชั้น หน้ากระดานเชิงฐานล่างสุดแกะสลักลายลูกฟักก้ามปูใบเทศ ฐานชั้นสิงห์แกะสลักลวดลายทั้งหมด บัวหลังสิงห์แกะสลักลาย เหนือขึ้นไปประดับกระจัง ๒ ชั้น ชั้นนอกเป็นกระจังเจิม ชั้นในเป็นกระจังตาอ้อย ชั้นถัดจากนั้นเป็นบัวแวงทรงกลีบขนุน หน้ากระดานของเชิงบาตรชั้นแรกแกะสลักเป็นลานก้านแย่งประดับกระจก เหนือหน้ากระดานประดับกระจัง ๒ ชั้น ชั้นนอกเป็นกระจังตาอ้อย ชั้นในเป็นกระจังเจิม ท้องไม้ (หรือเชิงบาตรชั้นแรก) แกะสลักเป็นลวดลายห้ามกระจก มีเส้นลวดที่ห้ามกระจกลงรักปิดทอง และมีรูปครุฑพนมมือ ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกเรียงรายเป็นระยะโดยรอบ และมีเตียงลาหรือส่วนมุขยื่นออกไปสำหรับรองพระบาท เหนือท้องไม้มีกระจัง ๒ ชั้นห้อยลง เป็นกระจังตาอ้อยทั้ง ๒ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นบัวหงายแกะสลักลวดลาย หน้ากระดานของเชิงบาตรชั้นที่ ๒ แกะสลักเป็นลายก้านแย่งประดับกระจก และมีเส้นลวดกระจกตอนบน ต่อจากนั้นเป็นกระจัง ๒ ชั้น ชั้นในเป็นกระจังเจิม ชั้นนอกเป็นกระจังตาอ้อย ท้องไม้บน (หรือเชิงบาตรชั้นที่ ๒) ประดับกระจกสีเป็นลวดลาย มีเทพพนมไม้สลักลงรักปิดทองประดับเป็นระยะโดยรอบ เหนือขึ้นไปประดับด้วยกระจังตาอ้อยห้อยลง ตอนบนจากนั้นแกะสลักเป็นลายบัวกลีบขนุนขนาดใหญ่ และมีลายเนื่องไข่ปลาและกระจัง ๒ ชั้น ประดับเป็นลำดับต่อไป กระจังชั้นในเป็นกระจังเจิม ชั้นนอกเป็นกระจังตาอ้อย



          พระที่นั่งพุดตาลวังหน้า ใช้เป็นพระราชบัลลังก์และพระราชยาน
          พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

ฐานพระราชยานตอนบนสุดประดับด้วยกระจังปฏิญาณเฉพาะด้านข้าง ๒ ด้าน และด้านหลังมีกระหนกใบปรือขนาดใหญ่อยู่ระหว่างกระจังปฏิญาณ ๓ ใบ คือ ด้านข้าง ๒ และด้านหลัง ๑ ใบปรือด้านหลังมีขนาดใหญ่กว่าด้านข้าง ถัดจากใบปรือเข้าไปเป็นพนัก ๓ ด้าน ทำด้วยงาแกะสลักและกลึงเป็นลูกกรอง พนักพิงด้านหลังมีขอบแกะสลักลวดลาย ด้านหน้าประดับกระจก

พระที่นั่งราชยานพุดตาลทองของวังหลวงต่างจากวังหน้าตรงที่ลวดลายประดับกระจกที่เชิงบาตร (ท้องไม้) ทั้ง ๒ ชั้น และลายประดับกระจกที่พนัก นอกจากนั้นมีส่วนประกอบเช่นเดียวกัน


• พระที่นั่งราชยานพุดตาลถม
สร้างให้เป็นพระที่นั่งราชบัลลังก์และพระราชยานได้ นับว่าเป็นงานศิลปกรรมที่มีความประณีตงดงามอย่างยิ่ง องค์ประกอบต่างๆ ช่างได้ประดิษฐ์อย่างประณีตบรรจงและซับซ้อน จะสังเกตได้ว่าจากหน้ากระดานฐานล่างเป็นลวดลายใบเทศและถมทองเป็นส่วนใหญ่ มีกระจังตาอ้อยประดับทุกชั้นและหุ้มทองทั้งหมด ส่วนฐาน ๒ ชั้นจะมีเทพนมแกะสลักและหุ้มทองประดับโดยรอบ มีความสวยงามมาก ในส่วนฐานบัวชั้นบนจะเป็นลายถมทอง

ส่วนบนพระที่นั่งพุดตาลประด้วยกระจังปฏิญาณใหญ่และกระจังปฏิญาณเล็ก ซึ่งช่างได้แกะสลักไว้อย่างละเอียด ประกอบกับช่างทองมีความสามารถอย่างยิ่ง จึงหุ้มทองได้อย่างประณีตและประดับพลอยสีต่างๆ  พนักพิงเป็นโลหะลงรักปิดทอง ลูกกรงเป็นทองเหลืองกลึง


• พระที่นั่งกง
พระที่นั่งกงใช้เป็นพระราชบัลลังก์และพระราชยานด้วย เมื่อทอดเวลาปกติไม่มีคานหาม สร้างด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทอง องค์ประกอบต่างๆ มีสัดส่วนสวยงามเหมาะสมและค่อนข้างโปร่ง ลวดลายแกะสลักและการประดับกระจกประณีตงดงาม องค์พระที่นั่งมีฐาน ๒ ชั้น ฐานชั้นล่างเป็นฐานสิงห์ ฐานชั้นบนเป็นฐานเชิงบาตรประดับด้วยรูปครุฑยุดนาคโดยรอบ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษอันหนึ่งของพระที่นั่งราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์ ฐานส่วนบนประดับด้วยกระจังปฏิญาณขนาดใหญ่ที่ด้านข้างทั้ง ๒ ด้านและด้านหลัง และมีพนักกงซึ่งตอนปลายแกะสลักเป็นเศียรนาค พนักพิงด้านหลังเป็นรูปกลีบขนุน มีลายแกะสลักเฉพาะด้านนอก ด้านในปิดทองเรียบ ด้านหน้ามีเตียงลาสำหรับรองพระบาท ลักษณะฐานพระที่นั่งกงนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับพระที่นั่งราเชนทรยาน เพียงแต่พระที่นั่งราเชนทรยานฐานสูงกว่าและประดับตกแต่งวิจิตรพิสดารมากกว่าเท่านั้น

ในบรรดาพระราชยานแบบประทับราบของพระมหากษัตริย์ มีพระราชยาน ๒ องค์ ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือสร้างด้วยวัสดุล้ำค่า มีลักษณะงดงามด้วยลวดลายประดับตกแต่งที่วิจิตรงดงามแสดงความสามารถและความอุตสาหะวิริยะของช่างอย่างสูง ได้แก่ พระราชยานทองลงยาและพระราชยานงา มีลักษณะเด่นดังนี้




พระราชยานทองลงยา ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

• พระที่นั่งทองลงยา
พระราชยานทองลงยามีลักษณะเป็นพระราชยานประทับราบ มีคานหาม ๒ คาน โครงในของพระราชยานและลำคานทำด้วยไม้ ลำคานหุ้มด้วยโลหะสลักลาย ปลายเป็นหัวเม็ดหุ้มด้วยทองลงยาราชาวดี องค์พระราชยานส่วนฐานหุ้มด้วยทองลงยาราชาวดีสลักลาย ประกอบด้วยฐานหน้ากระดาน ฐานสิงห์ ท้องไม้ และบัวหงาย ที่สลักลายภายในได้อย่างละเอียดประณีตงดงาม ส่วนบนของฐานพระราชยานประดับด้วยกระจังตาอ้อยและกระจังปฏิญาณขนาดใหญ่ ซึ่งหล่อด้วยทองลงยาราชาวดี ซึ่งลักษณะอ่อนพลิ้วไม่แพ้ไม้แกะสลักในพระราชยานอื่นๆ พนักกงทำด้วยทอง พนักพิงหลังเป็นรูปกลีบขนุน ด้านในเรียบด้านนอกสลักลายลงยาราชาวดี

• พระราชยานงา
พระราชยานงาเป็นพระราชยานสำคัญองค์หนึ่งที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โครงในองค์พระราชยานและคานหามทั้ง ๒ ทำด้วยไม้แล้วหุ้มด้วยงาแกะสลักทั้งองค์ ความงามของพระราชยานองค์นี้อยู่ที่ลวดลายสลักซึ่งช่างแกะได้อย่างละเอียดอ่อน คมชัด แสดงถึงความประณีตบรรจงของฝีมือชั้นครู ลวดลายทั้งหมดมีความประสานกลมกลืนกันทั้งองค์ กระจังปฏิญาณนอกจากจะมีความอ่อนช้อย คม ซ้อนกันหลายชั้นแล้วยังมีรูปเทพนมอยู่กลางด้วย ส่วนด้านหลังของพนักพิงแกะสลักเป็นลายก้านต่อดอกที่งดงามทัดเทียมกับส่วนอื่นๆ


พระราชยานทองลงยา ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง


พระราชยานงา ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง


พระราชยานงา ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง


พระราชยานงา ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง




พระยานมาศสามลำคาน โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


• พระยานมาศสามลำคาน
พระยานมาศสามลำคานเป็นพระราชยานชั้นสูงอีกองค์หนึ่ง คือมีลวดลายประดับฐานซึ่งเป็นรูปครุฑและเทพนม พระราชยานนี้แม้จะใช้เฉพาะในงานพระบรมศพแต่ก็มีความงดงามเช่นเดียวกับพระราชยานอื่น คือมีสัดส่วนองค์ประกอบที่เหมาะสมงดงาม ลวดลายประดับต่างๆ มีความประสานกลมกลืนกัน แสดงให้เห็นความประณีตในเชิงช่างเป็นอย่างดี องค์ประกอบของพระยานมาศสามลำคานโดยสังเขปมีดังนี้

พระราชยานมีฐานย่อมุมไม้สิบสองรวม ๓ ชั้น หน้ากระดานฐานล่างเรียบเกลี้ยงไม่มีลวดลาย ตอนบนเป็นกระจังตาอ้อย ๒ ชั้น ฐานสิงห์แกะสลักลวดลายเฉพาะที่กาบ ปาก และจมูกสิงห์ หลังสิงห์แกะสลักลวดลาย ตอนบนประดับกระจังตาอ้อยโดยรอบ ท้องไม้ถัดขึ้นไปแกะสลักเป็นบัวกลีบขนุนโดยรอบ ประกอบกับประดับกระจกสี หน้ากระดานบนสลักเป็นลายลูกฟักก้ามปูใบเทศประดับกระจกสี เหนือขึ้นไปประดับกระจังตาอ้อยโดยรอบ ท้องไม้ที่อยู่ถัดไปสลักเป็นบัวกลีบขนุน (หรือบัวเกสร) และประดับกระจก มีครุฑยุดนาคไม้แกะสลักปิดทองประดับโดยรอบ เหนือท้องไม้เป็นบัวหงายซึ่งสลักเป็นลายกลีบบัว หน้ากระดานส่วนที่ต่อมาแกะสลักลายลูกฟักก้ามปูใบเทศ ตอนบนประดับกระจังตาอ้อยโดยรอบ และมีเตียงลาทั้งด้านหน้าและหลังสำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลานั่งประคองพระโกศพระบรมศพ ท้องไม้ชั้นบนแกะสลักลายบัวกลีบขนุน และประดับด้วยรูปเทพนมโดยรอบ ถัดขึ้นไปเป็นบัวหงายซึ่งสลักลายกลีบบัว แล้วจึงถึงหน้ากระดานบนซึ่งแกะสลักลายลูกฟักก้ามปูใบเทศ เหนือจากส่วนนี้ประดับด้วยกระจังตาอ้อยโดยรอบ บนฐานพระราชยานมีพนักลูกกรง แกะสลักลายประจำยามสี่กลีบ ส่วนกลางพระยานมาศจะมีแท่น ๘ เหลี่ยมสำหรับรองรับพระโกศ ขอบแท่นแกะสลักลวดลายโดยรอบ เสาและพนักลูกกรงปิดทองประดับกระจก

พื้นคานที่รองรับพระราชยานทาสีแดง คานทั้งสามทาสีแดง ปลายกลึงเป็นหัวเม็ด ปิดทองประดับกระจก คานทั้งสามนี้ถอดไม่ได้




• องค์ประกอบพระยานมาศสามลำคาน
๑.เสาหัวเม็ด
๒.พนักข้างพระยานมาศ
๓.หน้ากระดาน
๔.บัวหงาย
๕.เทพนม
๖.ลายบัวท้องไม้เชิงบาตร
๗.หน้ากระดาน
๘.ครุฑยุดนาค
๙.ฐานสิงห์

ตอนต่อไป
พระเสลี่ยง
โปรดติดตาม
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 14 ธันวาคม 2559 16:39:02 »


. องค์ประกอบและความงามทางศิลปกรรม .

• พระเสลี่ยง
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าพระเสลี่ยงที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูงเหลืออยู่ในปัจจุบันหลายองค์ ลักษณะของพระเสลี่ยงจะมีต่างๆ กัน พื้นที่ประทับทำด้วยไม้กระดานทึบบ้าง ไม้ตีเป็นตารางบ้าง หรือทำด้วยหวายสานบ้าง หวายเส้นผูกเรียงกันบ้าง ลักษณะพนักด้านข้างมีทั้งที่ทำเป็นกงโค้งโอบไปด้านหลัง และพนักเหลี่ยมล้อไปกับฐานพระเสลี่ยง พนักพิงหลังก็มีทั้งที่ทำด้วยไม้แกะสลักทรงกลีบขนุน และทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าประดับกระจกเป็นลวดลาย ความแตกต่างของพระเสลี่ยงกับพระราชยานน่าจะอยู่ที่ความสูงของชั้นฐานซึ่งพระราชยานน่าจะมีฐานสูงกว่า แต่บางครั้งก็แยกไม่ค่อยได้เนื่องจากมีการเรียกปะปนกันระหว่างพระเสลี่ยงและพระราชยาน พระเสลี่ยงองค์งามๆ เก็บรักษาไว้ ณ พระตำหนักสวนฝรั่งกังไสและพระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิตหลายองค์ ความสง่างามของพระเสลี่ยงอยู่ที่ลายแกะสลักและประดับกระจกที่ฐานซึ่งจะละเอียดมากเพราะฐานค่อนข้างเตี้ย จากนั้นจะได้แก่กระจังปฏิญาณด้านข้างและด้านหลังพระเสลี่ยง ลายสลักหรือประดับกระจกของพนักพิงและลายประดับพนักลูกกรง ซึ่งอาจแกะสลักด้วยไม้หรืองาก็ได้ ลวดลายส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามความสร้างสรรค์ของช่าง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงพระเสลี่ยงองค์หนึ่งในพระตำหนักสวนฝรั่งกังไสและพระเสลี่ยงกลีบบัว


พระเสลี่ยง พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต

• พระเสลี่ยงในพระตำหนักสวนฝรั่งกังไส
พระเสลี่ยงองค์นี้เก็บรักษาอยู่ในห้องยาวด้านในสุด หลังห้องซึ่งมีพระฉายาสาทิสลักษณ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ชั้น ๒ ของพระตำหนัก สร้างด้วยไม้ประกอบหวาย มีคานหามถอดได้ ๒ คาน ตัวลำคานทำด้วยไม้ทาสีแดง ปลายกลึงเป็นหัวเม็ดทาสีทอง องค์พระเสลี่ยงทำด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกมีฐานเตี้ยเป็นฐานสิงห์มีส่วนประกอบจากล่างมาบนดังนี้

หน้ากระดานเชิงฐานแกะสลักลาย ฐานชั้นสิงห์แกะสลักลวดลาย กาบเท้า ปาก และจมูกสิงห์ ท้องสิงห์ประดับกระจก บัวหลังสิงห์แกะสลักลวดลาย ท้องไม้ประดับกระจกโดยรอบ เหนือท้องไม้สลักเป็นลายบัวหงายที่ละเอียดมาก ตอนบนขึ้นไปแกะสลักเป็นลายเนื่องโดยรอบ ส่วนบนฐานประดับด้วยกระจังปฏิญาณซึ่งจะเรียงจากด้านข้างทั้ง ๒ มีขนาดเล็กไปหาใหญ่ กระจังตัวกลางด้านหลังพระเสลี่ยงจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งลักษณะที่ไล่ขนาดและความอ่อนช้อยของฝีมือช่าง จะทำให้ดูมีความพลิ้วไหวของกระจังทำให้งามยิ่งขึ้น ถัดจากกระจังปฏิญาณจะเป็นพนักกงซึ่งทำด้วยไม้กลึงและมีพนักพิงหลังเป็นทรงกลีบขนุน ด้านหน้าพนักเรียบไม่แกะลาย ด้านหลังสลักเป็นลายก้านต่อดอกที่ละเอียดประณีต ปิดทองประดับกระจก พื้นพระเสลี่ยงทำด้วยหวายเส้นผูกเรียงกัน ด้านล่างพระเสลี่ยงมีห่วงโลหะ ๔ ห่วงสำหรับสอดคานหาม


• พระเสลี่ยงกลีบบัว
ทำด้วยไม้ปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ มีคานหาม ๒ คาน ได้รับการซ่อมบูรณะ ใน พ.ศ.๒๕๒๗ เพื่อเป็นที่ประทับของพระราชาคณะอ่านพระอภิธรรมนำพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ขนาดกว้าง ๐.๘๒ เมตร ยาวรวมคาน ๔.๒๐ เมตร สูง ๑.๑๐ เมตร ลำคานเป็นไม้กลมกลึงทาสีแดง ปลายกลึงเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ปิดทองประดับกระจก หนังสือ จดหมายเหตุพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เล่ม ๑ อธิบายส่วนประกอบไว้ดังนี้

“.....แท่นเสลี่ยงกลีบบัวเป็นฐานสิงห์บัวลูกแก้ว หน้ากระดานล่างปิดทองเรียบ
เหนือเส้นลวดประดับกระจังตาอ้อยปิดทองประดับกระจก หน้าเท้าสิงห์ปิดทองเรียบ
ใต้ท้องฐานประดับฟันสิงห์ปิดทองประดับกระจก เส้นลวดประดับกระจังตาอ้อย
ปิดทองประดับกระจกซ้อนลูกแก้วอกไก่แกะสลักลายรักร้อยปิดทอง ขอบลูกแก้ว
ประดับกระจังฟันปลาปิดทองทั้งด้านบนและด้านล่าง ท้องไม้ทาสีแดงเรียบ
ลวดบัวประดับกระจังฟันปลาปิดทอง บัวหงายแกะสลักลายบัวรวนปิดทองประดับ
กระจก ซ้อนเส้นลวดเดินเส้นทอง หน้ากระดานบนประดับลายประจำยามก้ามปู
ประดับเส้นลวดเดินเส้นทอง เหนือหน้ากระดานบนประดับกระจังตาอ้อยซ้อนลาย
กลีบบัวปิดทองประดับกระจก ๓ ด้าน ยกเว้นด้านหน้า ขอบบนเหนือลายกลีบบัว
ทำเป็นราวพนักพิงกลมติดซี่ลูกกรงโปร่งปิดทองเรียบ ประดับกระจังปฏิญาณใหญ่
รูปกลีบบัวด้านนอกปิดทองประดับกระจก  ด้านในปิดทองเรียบ ๓ ด้าน  ยกเว้น
ด้านหน้าพนักพิงหลังซึ่งซ้อนอยู่ในกระจังปฏิญาณอีกชั้นหนึ่ง ด้านนอกแกะสลัก
ลายปิดทองประดับกระจก ด้านในปิดทองเรียบ”


พระเสลี่ยงกลีบบัว พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต

• พระวอประเวศวัง
พระวอประเวศวังเป็นพระราชยานประเภทมีหลังคา ความงามของพระวอจะอยู่ที่ลายปักที่ผ้าดาดหลังคา ระบายโดยรอบ และหน้าบัน ซึ่งความงามดังกล่าวนี้เป็นส่วนที่เพิ่มมาจากกระจังปฏิญาณและลายแกะสลักแท่นฐานตามที่มีในพระเสลี่ยงทั่วไป

พระวอประเวศวังองค์ที่กล่าวมานี้สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.๒๔๔๐ และซ่อมบูรณะใหม่ทั้งองค์ใน พ.ศ.๒๕๒๗ โดยกรมศิลปากร องค์พระวอสร้างด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก ด้านล่างมีห่วงโลหะ ๔ ห่วงสำหรับสอดคานหาม ลำคานทั้ง ๒ กลึงกลมทาสีแดง ปลายกลึงเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ด้วยงา ส่วนประกอบต่างๆ มีอธิบายไว้ในหนังสือจดหมายเหตุงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ดังนี้

“...ตัวพระวอเป็นเตียงรูปฐานสิงห์ปากบัว หน้ากระดานล่างแกะสลักลายประจำยามลูกโซ่ ประดับเส้นลวด เหนือเส้นลวดประดับกระจังตาอ้อยปิดทองประดับกระจก ท้องสิงห์ ประดับกระจกสีแดง บัวหลังสิงห์แกะสลักลายลงรักปิดทองประดับกระจก คอฐานประดับกระจกสีน้ำเงินรูปดอกไม้ ๖ กลีบ บัวปากฐานแกะสลักลานลงรักปิดทองประดับกระจก เส้นลวดประดับกระจังตาอ้อยซ้อนกระจังฟันสาม พื้นพระวอที่นั่งเป็นซี่หวาย ปูด้วยผ้าเยียรบับพื้นสีเขียวยกดอกสีทอง มีพนักรอบ เว้นช่องว่างสำหรับขึ้นลงทั้งสองข้าง ขอบพนักด้านนอกประดับกระจังปฏิญาณลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงหลังด้านนอกแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ด้านในปิดทองเรียบ เสาทั้งสี่มุมพระวอประดับผ้าม่านตาดทองมีซับในสีแดง มีสายรัดม่านที่กึ่งกลางเสาทุกเสา หลังคาคฤห์บุด้วยผ้าตาดทองเย็บลายทองแผ่ลวด งดงามประณีตทั้งผืน ที่จั่วหลังคาปักเป็นลายรูปพระเกี้ยวเหนือแว่นฟ้าตั้งประกอบเบญจาแวดล้อมด้วยลายก้านขดเปลว หลังคาปักเป็นลายใบเทศก้านแย่ง ชั้นเชิงกลอนเป็นลายเฟื่องอุบะ ชายคาเย็บทองแผ่ลวดเป็นลายกรวยเชิงห้อยระบายโดยรอบ"

พระวอประเวศวัง กว้าง ๐.๖๘ เมตร ยาวรวมคาน ๓.๘๐ เมตร สูง ๑.๗๗ เมตร



พระวอประเวศวัง พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต

• พระวอสีวิกากาญจน์
เป็นพระวอที่มีลักษณะงดงามที่สุดในบรรดาพระวอทั้งหลาย เนื่องจากมีเครื่องประดับหลังคาจำลองมาจากอาคารขนาดใหญ่ของไทย ประกอบด้วย ช่อฟ้า บราลี ใบระกา และหางหงส์ เป็นต้น ส่วนประดับเหล่านี้จะปิดทองเพิ่มความงามสง่าแก่พระวอ และเป็นเครื่องบอกว่าเป็นพระราชยานชั้นสูง พระวอสีวิกากาญจน์องค์ที่เก็บรักษาไว้ในพระปรัศว์ซ้ายของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นองค์ที่งดงามมากสภาพค่อนข้างบริบูรณ์ดี สร้างด้วยไม้สลักปิดทองประดับกระจก ด้านล่างมีห่วงโลหะ ๔ ห่วง สำหรับสอดคานหาม คานหามมี ๒ คาน ลำคานกลึงกลมปลายเป็นหัวเม็ดทำด้วยงา แท่นพระวอเป็นฐานสิงห์ปากบัว ซึ่งหน้ากระดานล่างฐานสิงห์ ท้องไม้และบัวหงายสลักลายปิดทองประดับกระจกอย่างละเอียดประณีตงดงาม ด้านบนฐานประดับด้วยกระจังตาอ้อยทั้งด้านหน้าและหลัง เว้นเฉพาะทางขึ้นลงด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน ถัดเข้าไปประดับด้วยกระจังปฏิญาณไม้สลักปิดทองประดับกระจกด้านละ ๑๓ ตัว ต่อจากนั้นทางด้านหน้าจะมีพนักเตี้ยๆ ส่วนด้านหลังพระวอเป็นกงและพนักพิงรูปกลีบขนุน ด้านในพนักพิงปิดทองเรียบ ด้านนอกแกะสลักลายและปิดทองประดับกระจก พื้นพระวอเป็นหวายเส้นผูกเรียงกัน หลังคาพระวอรองรับด้วยเสาย่อมุม ๔ เสา มีคันทวยรองรับชายคา หลังคาเครื่องไม้ปิดทองประดับกระจก ประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และมีบราลีบนสันหลังคา ตัวหลังคาทำเป็นชั้นลด ดาดด้วยผ้าตาดปักทอง หน้าบันปักลายทองเป็นรูปพระเกี้ยวประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า มีฉัตรเบญจา ๒ ข้าง ใต้หน้าบันทั้ง ๒ ด้าน มีผ้าตาดปักทองติดแววเป็นระบายทั้ง ๒ ด้าน และมีม่านผ้าตาดทองซับในสีแดงผูกเป็นม่านที่เสาทั้ง ๔ ต้น

พระวอสีวิกากาญจน์นี้เมื่อเชิญเคลื่อนไปในกระบวนแห่จะดูสง่างามมาก แต่ภาพถ่ายอันเป็นหลักฐานในสมัยก่อนๆ มีน้อย จะเห็นรูปจำลองมากในภาพจิตรกรรมฝาผนังตามพระอารามสำคัญต่างๆ และมีพรรณนาความงามในวรรณกรรมของไทย เช่น เรื่องอิเหนา เป็นต้น



พระวอสีวิกากาญจน์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง



องค์ประกอบพระวอสีวิกากาญจน์
ด้านหน้า

๑.ช่อฟ้า     ๖.ระบาย
๒.ใบระกา     ๗.คันทวย
๓.นาคสะดุ้ง๘.ผ้าม่าน
๔.หน้าบัน     ๙.กระจังปฏิญาณ
๕.นาคเบือน     ๑๐.ฐานสิงห์


องค์ประกอบพระวอสีวิกากาญจน์
ด้านข้าง

๑.บราลี     ๕.เชิงชาย
๒.ช่อฟ้า     ๖.เสาบัลลังก์
๓.หน้าสุบรรณ๗.พนักพิง
๔.อกสุบรรณ     ๘.กง


๑.คานหาม ยานสำหรับขุนนางชั้นพระ หลวง มีใช้ตั้งแต่สมัยโบราณ
จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
๒.เสลี่ยงสำหรับอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ สมัยรัตนโกสินทร์
พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


พระเสลี่ยงหิ้ว (วังหน้า) เป็นพระราชยานเวลาปกติ
และใช้ในพิธีโสกันต์ และอุปสมบทนาคหลวง
พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


พระเสลี่ยง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร
ประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔


พระเสลี่ยงปิดทองประดับเพชร พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต


พระเสลี่ยงขนาดเล็กสำหรับเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ ห้องสีชมพู
พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต


พระเสลี่ยงขนาดเล็กสำหรับเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ ห้องสีชมพู
พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต




พระเสลี่ยง พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต





ลำดับต่อไป
ราชรถ
โปรดติดตาม







« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ธันวาคม 2559 16:47:46 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 15 ธันวาคม 2559 16:05:57 »


ราชรถ

ราชรถ หมายถึงพาหนะแห่งองค์พระราชา ในสมัยโบราณน่าจะพัฒนามาจากเกวียนขนาดเล็กที่นั่งได้เพียงคนเดียว และเทียมด้วยม้า หรือสัตว์อื่น เช่น วัว หรือลา หรือล่อ หรือแม้แต่คน ตัว รถะ ทำด้วยไม้ที่แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม เพื่อให้มีความสง่างามสมกับที่จะใช้เป็นราชพาหนะแห่งองค์พระราชา อย่างไรก็ตาม ตัว รถะ ได้มีการตกแต่งเพิ่มความอลังการมากขึ้นทุกที จนมีการปิดทองประดับกระจกและอัญมณี หรือมีการหุ้มด้วยแผ่นทองดุนลายดอกไม้ประดิษฐ์ในรูปแบบต่างๆ แทนการแกะสลักลงในเนื้อไม้โดยตรงดังที่พบอยู่ทั่วไป ก็มีเพิ่มขึ้น ดังจะพบชิ้นส่วนของเครื่องตกแต่งเช่นนี้อยู่มากมายเช่นกัน ซึ่งจะพบได้ในมรดกทางวัฒนธรรมของอารยประเทศในอดีต อาทิ อินเดีย อียิปต์ จีน เมโสโปเตเมีย โรมัน และเปอร์เซีย เป็นต้น สำหรับอารยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พบมาก ทั้งในประเทศไทย พม่า กัมพูชา และอินโดนีเซีย โดยมีหลักฐานที่เป็นเครื่องสนับสนุนการใช้ราชรถของพระราชา จากภาพสลักตามโบราณสถาน จากจิตรกรรมฝาผนัง จากชิ้นส่วนเครื่องประดับตัวราชรถที่ทำด้วยโลหะมีค่า และจากโบราณวัตถุตัวราชรถองค์จริงที่หลงเหลืออยู่

ในสมัยโบราณการเดินทางไปในที่ต่างๆ จะใช้พาหนะในรูปแบบต่างๆ ตามฐานะของผู้ใช้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว บางครั้งพาหนะนั้นๆ จะเป็นเครื่องหมายแสดงตำแหน่งทางราชการของผู้เป็นเจ้าของด้วย พาหนะในสมัยโบราณมีหลากหลาย อาทิ พาหนะที่เป็นสัตว์ มีม้า ช้าง ลา ล่อ พาหนะที่เทียมด้วยสัตว์ มีเกวียน ระแทะ ซึ่งเทียมด้วยวัวหรือควาย บางแห่งเทียมด้วยลาหรือล่อ ที่แบกด้วยคนมี เสลี่ยง คานหาม ยั่ว ยาน สำหรับราชรถนั้นมีทั้งที่เทียมด้วยม้าและลากด้วยกำลังคน ซึ่งราชรถที่เทียมด้วยม้ามักเป็นรถศึก และรถที่พระราชาทรงใช้เมื่อเสด็จประพาสในที่ต่างๆ นอกพระราชวัง สำหรับราชรถที่ลากด้วยคนนั้นจะมีขนาดใหญ่ และใช้ในการพระราชพิธีที่สำคัญ คือ พระราชพิธีพระบรมศพ


• กำเนิดราชรถ
ดินแดนที่มีอารยธรรมโบราณเกือบทุกแห่งทั่วโลก จะพบหลักฐานการใช้รถะหรือพาหนะที่มีรูปร่างคล้ายเกวียน หรือเป็นประทุน มีล้อตั้งแต่ ๒ ล้อขึ้นไป ใช้สัตว์เทียมลาก โดยมีประโยชน์ทั้งในการขนหรือบรรทุกของ ใช้ในการเดินทาง ใช้ในการล่าสัตว์ ใช้ในการศึกสงคราม และใช้ในการแห่แหนอย่างเป็นพิธีการ เช่น กระบวนแห่ต่างๆ ภาพรถะปรากฏหลักฐานที่เก่าที่สุดในภาพงานศิลปะสุเมอร์ อายุ ๓,๔๖๐-๑,๘๐๐ ปีก่อนพุทธศักราชอันเป็นภาพของการใช้รถบรรทุกสินค้าไปขาย และราชรถของพระราชาซึ่งทรงกำลังรับเชลยศึก จากนั้นต่อมาปรากฏในศิลปะอียิปต์ อายุ ๒,๖๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ถึง พ.ศ.๕๑๓ ทั้งภาพเขียนบนผนังในวิหาร และภาพสลักในสุสานของกษัตริย์ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นภาพรถศึกและราชรถที่กษัตริย์ฟาโรห์รามเสสที่ ๓ ทรงใช้ในการล่าสัตว์ และประพาสในที่ต่างๆ แบบรถะนี้เช่นเดียวกับที่ปรากฏในศิลปะกรีก อัสซีเรีย และโรมัน ส่วนในทวีเอเชีย ปรากฏภาพรถะในศิลปะอินเดียโบราณ เช่น ภาพสลักสาญจี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๓-๕ มีภาพสลักราชรถหลายภาพที่ซุ้มประตู หรือโทรณะ เช่น ภาพพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จไปนมัสการพระสถูป ภาพเล่าเรื่องพระพุทธประวัติตอนพราหมณ์โทณะแห่งพระบรมสารีริกธาตุบนซุ้มประตูด้านทิศใต้ นอกจากนี้มีภาพเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกบนซุ้มประตูด้านทิศเหนือ อันเป็นภาพพระเวสสันดรพร้อมด้วยนางมัทรีและกัณหาชาลี เสด็จออกจากเมือง โดยประทับบนราชรถ  อย่างไรก็ดี ราชรถที่สลักจากหินขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของอินเดียคือ วิหารแห่งเมืองคาร์นาค พุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นวิหารที่บูชาพระสูรยะ วิหารนี้มีล้อรถขนาดใหญ่สลักจากหินประดับอยู่ด้านข้างวิหาร และด้านหน้าวิหารมีรูปม้า ๗ ตัวเทียมราชรถนี้ อันเป็นการจำลองภาพของพระสูรยะหรือพระอาทิตย์ ที่ทรงราชรถเพื่อทรงดูแลทุกข์สุขของโลกจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ศิลปกรรมอินเดียนั้นกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบแห่งศิลปะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นรูปแบบของศิลปกรรม วรรณกรรม และอิทธิพลของศาสนาและความเชื่อจากอินเดียก็ได้แพร่เข้ามาในแถบนี้ด้วย เช่นเดียวกับการใช้รถะ หรือราชรถ ในราชสำนักและกองทัพ และจะพบหลักฐานภาพราชรถในงานศิลปกรรมของชาติต่างๆ ทั้งในพม่า กัมพูชา ลังกา ไทย และอินโดนีเซีย สำหรับการใช้รถะในราชอาณาจักรไทย ปรากฏหลักฐานอย่างเด่นชัด งานศิลปกรรมเช่น ในภาพจิตรกรรมฝาผนัง และภาพสลักบนหินและบนไม้ อันเป็นภาพเล่าเรื่องทศชาติชาดก และภาพรามเกียรติ์ ดังที่พบภาพสลักบนทับหลัง หน้าบัน ของปราสาทหินศิลปะลพบุรี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ เช่นที่ ปราสาทหินพิมาย และปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นต้น ส่วนราชรถที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนภายในโบสถ์วิหารสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔ เช่นที่วัดเกาะแก้วสุทธาวาส และวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนหลักฐานด้านเอกสารพบทั้งในจารึกและวรรณคดีเรื่องต่างๆ อาทิ ปฐมสมโพธิกถา ไตรภูมิ รามเกียรติ์ และอิเหนา เป็นต้น โดยพบตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี จากอิทธิพลของความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ทำให้ทราบว่ามีเทพเจ้าหลายองค์ที่ทรงราชรถ โดยมีลักษณะและสัตว์เทียมราชรถแตกต่างกัน อาทิ

๑.พระอินทร์ เทวะของพวกอริยกะในอินเดีย ถือว่าทรงเป็นจอมเทพผู้ยิ่งใหญ่คู่กับพระอาทิตย์ (อหุรมัศดา) ในอิหร่าน พระองค์ทรงสร้างโลกโดยทรงจัดที่และยกภูเขาขึ้นเป็นหลังคาโลก หรือเป็นท้องฟ้าและมีพระยมทรงช่วยปักเสาไม้ค้ำไว้ ต่อมาสถานะของพระอินทร์ได้เปลี่ยนไปเมื่อมีเทวะเพิ่มขึ้น จากคัมภีร์ไตรเภทพบว่า พระอินทร์ทรงเป็นเทวะองค์หนึ่งที่สถิตบนท้องฟ้า และเปลี่ยนไปเป็นเทวะผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระพุทธศาสนาได้ยอมรับพระองค์เป็นเทวดาในพระพุทธศาสนา และปรากฏพระนามต่างๆ อาทิ อัมรินทร์ มัฆวาน และที่คุ้นเคยคือ สหัสนัยน์ หรือพระผู้มีพระเนตรนับพัน เป็นเทวะซึ่งคอยดูแลทุกข์สุขของมวลมนุษย์ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทรงมีราชยาน ไพชยนตรถะ ที่มีแท่นแก้วเป็นที่ประทับ ราชรถนี้มีม้าแก้วเทียมถึง ๒,๐๐๐ ตัว ราชรถสร้างด้วยทองคำประดับอัญมณี หรือแก้วสัตตพิธรัตนและสร้อยมุกดา มีดอกไม้ทิพย์เป็นมาลัย อันแสดงถึงความงดงามวิจิตรอย่างยิ่ง แม้ว่าความจริงแล้วคนไทยจะรู้จักพระอินทร์ว่าทรงเป็นเทวดาที่สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีช้างเอราวัณ หรือไอยราพตเป็นพาหนะ หรือช้างทรง บางครั้งประทับบนม้าอจาไฉศรพ ซึ่งเป็นม้าทรงสีขาว และบ่อยทีเดียวที่พระอินทร์จะทรงราชรถสีทอง ไพชยนต์ หรือ เวชยันต์ เทียมด้วยม้าสีทอง และจากไตรภูมิพระร่วงกล่าวถึงนครไตรตรึงส์ของพระอินทร์ว่า จะได้ยินเสียงช้างแก้ว และราชรถแก้วที่ไพเราะ

๒.พระสูรยเทพ หรือพระอาทิตย์ เทวะองค์แรกของชาวอริยกะ ซึ่งอยู่ในอิหร่าน และนับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งแสงสว่างและเป็นอมตะ เดิมพระนาม อหุรมัศดา หรืออสุระ เมื่อศาสนาพราหมณ์ได้มีการเปลี่ยนแปลง ฐานะของพระสูรยะก็ได้เปลี่ยนไปเป็นเทพชั้นรอง และได้มีเทวนิยายของพระองค์ที่เกี่ยวกับการกำเนิดว่า ทรงเป็นโอรสของพระกัศยปและนางอทิติ เนื่องจากนางอทิติ พระชนนีไม่ได้นำพระองค์ไปเฝ้าพระเป็นเจ้าศิวะ จึงทำให้พระสูรยะต้องทรงราชรถที่เทียมด้วยม้า ๗ ตัวไป เพื่อให้แสงสว่างแก่โลก และทรงอยู่ระหว่างเทวโลกกับมนุษยโลก โดยมีอรุณเทพบุตรเป็นสารถี และราชรถของพระองค์มีล้อเดียว

๓.พระอัคนี หรือพระเพลิง ทรงเป็นเทพเจ้าบนโลก อันเป็นภาคหนึ่งใน ๓ ภาคตามที่ปรากฏในไตรเภท นั่นคือภาคหนึ่งทรงเป็นพระอาทิตย์ เทวะแห่งสวรรค์ ทรงเป็นพระอัคนี เทวะแห่งสายฟ้าในอากาศและเป็นพระเพลิง หรือไฟบนพื้นโลก กล่าวว่าพระอัคนีทรงมี ๒ พักตร์ ๔ กร ๗ ชิวหา มีควันเป็นมงกุฎ มีกายเป็นสีไฟ ฉลองพระองค์สีม่วง มีแกะเป็นพาหนะ บางครั้งทรงราชรถที่เทียมด้วยม้าสีแดง

๔.พระจันทร์ หรือพระโสมะ ทรงเป็นเทวะที่สถิตบนโลก จากคัมภีร์ปุราณะ ได้บรรยายถึงลักษณะของพระจันทร์ว่า ทรงมีรูปงาม ผิวขาว พระวรกายเล็กสะโอดสะอง มีรัศมีเป็นสีขาว ทรงฉลององค์อย่างกษัตริย์ มีแก้วประพาฬเป็นอาภรณ์ ทรงราชรถเพื่อตรวจโลกในยามราตรี ราชรถของพระองค์มี ๓ ล้อ เทียมด้วยม้าสีขาวดังดอกมะลิ ๑๐ ตัว

๕.พระวายุ หรือพระพาย ทรงเป็นเทวะบนท้องฟ้าตามความเชื่อของพวกอริยกะ หรืออารยัน จากคัมภีร์พระเวทที่บรรยายพระวายุว่า ทรงมีพระวรกายสีขาว ทรงมี ๔ กร ฉลองพระองค์สีน้ำเงิน ทรงมงกุฎ พาหนะประจำพระองค์คือกวาง หรือมฤค แต่บางครั้งจะทรงราชรถแก้วและเทียมด้วยม้าสีแดงแต่บางตำราว่าเป็นสีม่วง

๖.พระอัศวิน เทวะของพวกอารยันที่สถิตบนสวรรค์ มีตัวเป็นม้าหน้าเป็นมนุษย์ และเป็นเทวะที่มีสององค์ หรือเทวดาแฝด องค์หนึ่งนามว่าพระนาสัตยอัศวิน และอีกองค์หนึ่งนามพระทัสรอัศวิน ทั้งสององค์มีกายสีแดงเรื่อ ทรงแต่งองค์ด้วยสร้อยนวม และทองพระกร ทรงมีมเหสีองค์เดียวกันนามมัทรี พระอัศวินทรงมีราชรถสีทองเทียมด้วยม้าคู่ แต่บางตำราว่าเทียมด้วยนก



(บน) รถศึกของอียิปต์โบราณ เทียมด้วยม้า
(ล่าง) ลักษณะรถศึกของกรีก เทียมด้วยม้าคล้ายของอียิปต์


(บน) ราชรถของพระสุริยเทพหรือพระอาทิตย์ ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๘
(กลาง) ราชรถที่ใช้ในการสงครามหรือรถศึกจากภาพสลักที่นครธม ศิลปะเขมร
แบบบายน พุทธศตวรรษที่ ๑๘
(ล่าง) ราชรถจากภาพสลักที่บุโรพุทโธ แสดงรูปแบบของราชรถในสมัยศรีวิชัย
ซึ่งน่าจะมีลักษณะรูปแบบเดียวกัน พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘

จากอิทธิพลทางความเชื่อในศาสนาพราหมณ์จากอินเดียที่แพร่เข้ามานี้ จึงทำให้ราชรถซึ่งเป็นพาหนะของเทพเจ้าเข้ามามีบทบาทในราชสำนักของไทยด้วย เพราะความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์นั้นทรงเป็นอวตารขององค์เทวะ เช่น อวตารของพระวิษณุ หรืออวตารของพระราม เป็นต้นนั่นเอง แต่คติการใช้ราชรถของอินเดียแบบหนึ่งที่ไม่ปรากฏในประเพณีของไทย คือการใช้ราชรถในการเสี่ยงหาผู้มีบุญญาบารมีมาเป็นกษัตริย์ เพราะจากชาดกหลายเรืองจะใช้ราชรถในการนี้ ดังเช่น จากปัญญาสชาดกเรื่อง พญาสุภมิตร มีการใช้ ปุสราชรถ เสี่ยงทายหาผู้มีบุญญาธิการเป็นกษัตริย์เมืองตักสิลา หรือเรื่องพระมหาชนกพบว่าอำมาตย์ราชปุโรหิตาจารย์แห่งเมืองมิถิลา ได้จัด บุศยราชรถ เทียมด้วยม้าสีดอกโกมุท ๔ ม้า ซึ่งเป็นราชรถที่เป็นมงคลเสี่ยงออกไปหาผู้มีบุญมาเป็นกษัตริย์ สำหรับราชรถนี้ตามคติอินเดียจะมีการลาดเครื่องลาดที่สวยงาม เบื้องบนประดิษฐานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ห้าประการ แวดล้อมด้วยจาตุรงคินีเสนา และชาวประโคมดนตรี มีการประพรมสายหนัง เชือก แอก ประตัก ด้วยน้ำมงคลจากพระเต้าทองคำ ดังนี้ เป็นต้น

• หลักฐานเกี่ยวกับราชรถในประเทศไทย
การใช้ราชรถก่อนสมัยอยุธยา ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พบว่ามีหลักฐานเกี่ยวกับ รถะ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่แล้วในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ นั่นคือจากจารึกเพนียด ๑ ซึ่งพบที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีข้อความที่กำหนดให้ผู้ใดก็ตามที่จะผ่านพระอาศรม ต้องลงจากรถ ลงเดินโดยไม่มีฉัตรหรือกลดกั้น ซึ่งคำแปลจากจารึกจะใช้ รถ ก็ตาม แต่ในตัวจารึกภาษาสันสกฤตนั้นใช้คำว่า ยานา ซึ่งคือยานพาหนะนั่นเอง โดยอาจกล่าวได้ว่า ภาษาโบราณนั้นมีทั้งคำ รถ และ ยาน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากลักษณะของพาหนะทั้งสองคำนี้น่าจะมีข้อสังเกตถึงความแตกต่างได้ว่า รถะ เป็นพาหนะที่มีล้อใช้ในการขับเคลื่อน แต่ยาน เป็นพาหนะที่มีคานสำหรับใช้คนหามไป

จากจารึกอุบมุง พบที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจารึก พ.ศ.๑๕๓๖ ด้านที่ ๓ กล่าวว่าได้มีพระบรมราชโองการให้เสตงอัญขี่เสลี่ยงไปทำหน้าที่บูชาพระกัมรเตงอัญประสาน โดยคำเสลี่ยงนี้ในตัวจารึกใช้คำ เสนง ซึ่งก็แสดงว่าพาหนะประเภทเสลี่ยงก็มีชื่อเรียกแล้ว

ในจารึกปราสาทพนมวัน ๒ จารึก พ.ศ.๑๕๙๘ บรรทัดที่ ๑๕ กล่าวถึงพระเจ้าศรีสูรยวรมันพระราชทาน รถานิทศ แก่วีรวรมัน แต่แปลกที่คำแปลของจารึกคำนี้ แปลว่า เสลี่ยง แทนที่จะใช้ศัพท์รถา ตามที่ปรากฏในจารึก

จารึกปราสาททัพเสียม ๒ พบที่ปราสาททัพเสียม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว จารึกใน พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นจารึกที่กล่าวสรรเสริญพระศิวะ และพระเจ้าศรีสูรยวรมัน พบว่าในโศลกที่ ๑๐ กล่าวถึงราชยานว่า

“ยานประดับด้วยทรัพย์มากมาย มีดาวทองคำเป็นส่วนหนึ่ง
แห่งการตกแต่งตามความคิด เป็นหน้างูแกว่งไปมา ภูษาอันงดงาม
ซึ่งบุคคลได้ทำเป็นเครื่องประดับเพราะความเลื่อมใสในพระราชา...”

อย่างไรก็ดีพบว่า ในจารึกกลับใช้คำว่า ยาน แทนก็ตาม แต่ตัวจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤตกลับใช้คำว่า รถา ซึ่งคือ รถ นั่นเอง

รถะหรือราชรถ จะใช้เป็นราชยานของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นสูง และมักใช้ในการเดินทางระยะไกลพอสมควร โดยจัดเป็นริ้วกระบวนแห่แหนคล้ายการจัดกองทัพ ริ้วกระบวนแห่นี้เรียกกันว่า กระบวนพยุหยาตราสถลมารค และใช้เรียกทั้งกระบวนที่ไปงานมงคลและงานอวมงคล กระบวนพยุหยาตราสถลมารคมีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และภาพเขียนแสดงการจัดริ้วกระบวนมาแล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา แต่ก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏหลักฐานอย่างเด่นชัดในราชอาณาจักรไทย แต่พบว่ามีการจัดกระบวนพยุหยาตราสถลมารคในภาพสลักนูนต่ำ บนผนังรอบระเบียงของปราสาทนครวัดและปราสาทบายน ในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ซึ่งตามความเป็นจริง ในราชอาณาจักรไทยก็น่าจะมีการจัดกระบวนพยุหยาตราลักษณะนี้เช่นกัน ด้วยเป็นแบบที่มาจากการจัดกระบวนทัพนั่นเอง





กระบวนพยุหยาตราสถลมารคของไทยแต่โบราณ จะจัดสายกระบวนตามแบบการจัดกระบวนทัพโบราณ ซึ่งรับแบบอย่างตามตำราพิชัยสงครามของฮินดู คือ พลรถ พลช้าง พลม้า และพลเดินเท้า แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะทรงนิพนธ์ไว้ใน สาสน์สมเด็จ ว่า กองทัพไทยแต่โบราณไม่มีพลรถ ซึ่งอาจจะหมายถึง รถในกองทัพ แต่มิได้หมายถึง ราชรถที่ใช้ในราชสำนัก ซึ่งมีทั้งที่ใช้ส่วนพระองค์ และใช้ในพระราชพิธี เพราะพบว่า จากตำรากระบวนเสด็จครั้งกรุงเก่าที่กล่าวถึงกระบวนทางสถลมารคเสด็จขึ้นพระพุทธบาท ซึ่งเป็นการเสด็จส่วนพระองค์นั้น มีกล่าวถึงกระบวนรถด้วย โดยมีขุนนาง ทหาร พบเรือน คอยควบคุม ดังความว่า

“....หมื่นนรินทรเสนี หมื่นศรีสหเทพ เกณฑ์ขุนหมื่น ตามรถสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
และพระเจ้าลูกเธอรับเสด็จขึ้นไปพระพุทธบาท... ฝ่ายทหารขุนพิชัยนุราชรถาจารย์
เจ้ากรม หมื่นมณีราชรถ ปลัดกรม รวมฝ่ายทหาร ๒ นาย ขุนราชยานบริรักษ์
เจ้ากรม หมื่นรัถภูบาล ปลัดกรม ฝ่ายพลเรือน ๒ นาย รวมเป็น ๔ นาย

รถพระที่นั่งทรงจัตุรมุข พนักงานสี่ตำรวจรวมกันรถ ๑ พระประเทียบ กรมหลวง
พิพิธมนตรี สนมตำรวจซ้าย ขวาทำรถ ๑ รถพระราชทานพระสงฆ์ รถสมเด็จ
พระเจ้าลูกเธอ รถพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ รถฝ่ายทหารเป็นพนักงาน
ตำรวจในซ้ายขวา ตำรวจใหญ่ซ้ายขวา ตำรวจนอกซ้ายขวา ทหารในซ้ายขวา
สนมทหารซ้ายขวา อาสาหกเหล่า และรถฝ่ายพลเรือนเป็นพนักงานมหาดไทย
(หน้าที่) ขุนราชอาญา สมุหบัญชี จตุสดมภ์ กรมช้างซ้ายขวา กรมสรรพากรใน
กรมสรรพากรนอก กรมล้อมวัง ได้ทำและกระบือชักรถนั้น กรมนาได้จ่าย...”

จากบทความดังกล่าว น่าจะยืนยันได้ว่า มีพลรถในราชอาณาจักรไทยเช่นกัน เพียงแต่มิใช่มีมากจนสามารถจัดเป็นกองทัพได้อย่างกองทัพช้าง หรือพลเดินเท้า

ราชรถที่ใช้ในการเสด็จประพาสนี้ ตัวรถมีขนาดนั่งได้ ๑-๓ คน ทั้งมีหลังคาและไม่มีหลังคา ตัวรถแกะสลักลงรักปิดทอง ล้อขนาดใหญ่ ๒-๔ ล้อ รถมักเทียมด้วยม้า แต่พบว่าในสมัยอยุธยาเทียมด้วยกระบือ รถมีทั้งรถพระที่นั่ง รถพระประเทียบสำหรับพระมเหสี จะเป็นรถพระที่นั่งจัตุรมุข และรถสำหรับพระสงฆ์ ซึ่งรถนี้หากประชาชนใช้ น่าจะมีลักษณะคล้ายกับเกวียนนั่นเอง

สำหรับรถศึก ตามที่กล่าวแล้วว่า พระมหากษัตริย์ไทย มิได้ทรงรถศึกในการสงคราม เพราะส่วนใหญ่จะทรงช้างพระคชาธาร หรือม้า แต่จากภาพแกะสลักบนทับหลังที่ปราสาทหินพิมาย เป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ได้ปรากฏภาพราชรถที่เป็นรถศึกเทียมม้า ราชรถนั้นแสดงรูปแบบคล้ายราชรถอินเดีย ภาพสลักดังกล่าวมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ หลังจากนั้นได้ปรากฏรถศึกในภาพจิตรฝาผนังสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีรายละเอียดสวยงามอลังการมากขึ้น


• การใช้ราชรถในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์
ในสมัยอยุธยาพบว่า มีการใช้ราชรถในการอื่นๆ ด้วย อาทิ ใช้ในการอัญเชิญพระราชสาสน์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ.๒๒๒๙ นั่นคือ อัญเชิญพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่เดอโชมองต์เป็นราชทูตนำมาจากฝรั่งเศส

มีการใช้ราชรถในพระราชพิธีอินทราภิเศก อันเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกใหม่ เมื่อทรงปราบประเทศราชได้ไว้ในพระราชอาณาจักรเพิ่มมากขึ้น หรือเกิดมีเพลิงไหม้ในพระราชวังอย่างมาก นอกจากการประกอบพระราชพิธีนี้แล้ว ได้มีงานสมโภช มีการเล่นมหรสพ นานถึง ๑ เดือน แล้วพระราชทานสัตสดกมหาทาน มีช้างเผือก เงิน รถ และสตรี ดังเช่นในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อ พ.ศ.๒๑๐๐

อย่างไรก็ดีพบว่า มีรถแบบหนึ่งที่จะทรงในระยะทางไกล เรียกว่า รถยางโลสง ซึ่งจะมีมหาเทพหรือมหามนตรี เป็นผู้ขับรถ ธรรมเนียมในราชสำนักนี้คงมีมานานแล้ว จึงได้มีการปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยอยุธยาด้วย เช่นเดียวกับการใช้มหาพิชัยราชรถ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะทรงไปพระราชทานพระกฐินในเดือน ๑๑ ด้วยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค และจะประทับเรือพระที่นั่งกิ่งเมื่อเสด็จทางชลมารค จึงเป็นการใช้มหาพิชัยราชรถอีกพระราชกิจหนึ่ง นอกเหนือจากงานพระเมรุมาศ

ลักษณะราชรถสามารถทราบได้จากวรรณคดี โดยเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ อันเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถศึก ดังความที่กล่าวถึง อินทรชิตยกทัพไปรบกับหนุมานว่า


รถเอยรถศึก     แอกงอนพันลึกงามระหง
กำแก้วสลับประดับกง     ธูปธารดุมวงอลงกรณ์
บุษบกบัลลังก์ลอยฟ้า     เทียมด้วยพญาไกรสร
สารถีมือถือโตมร     ธงปักปลายงอนโบกบน
มยุรฉัตรอภิรุมชุมสาย     ธงริ้วทิวรายสับสน
โยธียักเยื้องอึงอล     กาหลฆ้องกลองโครมครึก
สำเนียงเสียงพลโห่ร้อง     เริงร่าลำพองคะนองศึก
มืดคลุ้มชอุ่มควันพันลึก     ขับกันคึกคึกรีบมาฯ

สำหรับราชรถของพระรามนั้นก็ได้บรรยายไว้เช่นกัน และเรียกราชรถว่า พิชัยรถ

รถเอยรถแก้ว     เพริศแพรวกำกงอลงกต
แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด     เครือขดช่อตั้งบัลลังก์ลอย
รายรูปสิงห์อัดหยัดยันสุบรรณจับนาคหิ้วเศียรห้อย
ดุมเพลาวาววับประดับพลอย     แปรกแก้วกาบช้อยสะบัดบัง
เทียมด้วยสินธพเทพบุตรทั้งสี่บริสุทธิ์ดั่งสีสังข์
มาตุลีขับโผนด้วยกำลัง     รี่เรื่อยเร็วดั่งลมพัด
เครื่องสูงมยุรฉัตรชุมสายธงฉานธงชายปลายสะบัด
กาหลพลแห่เยียดยัด     ขนัดฆ้องกลองประโคมโครมครึก
โยธาโลดโผนโจนทะยาน     เริงร่าลำพองคะนองศึก
เสียงสะเทือนเลื่อนลั่นพันลึกคึกคึกรีบข้ามชลธี

สำหรับราชรถของทศกัณฐ์มีบรรยายว่า

รถเอยราชรถทรง     แก้วสลับประดับกงอลงกต
แอกช้อยชายงอนอ่อนชด     ชั้นลดภาพล้อมบัลลังก์ลอย
สี่มุขงามแม้นพิมานมาศ     เครือหงส์สิงหาสน์ช่อห้อย
ดุมเพลาแสงพลามอร่ามพลอย     กาบช้อยแก้วช่วงอรชร
เทียมสัตว์จัดสรรค์ราชสีห์     เกศาล้วนมีเกสร
สารถีมือถือโตมร     ขับเผ่นอัมพรดั่งลมพัด
เครื่องสูงบังแทรกชุมสาย     ธงฉานธงชายกระชิงฉัตร
กาหลพลแห่เยียดยัด     เป็นขนัดกลาดแน่นอึงอล

จากคำกลอนที่บรรยายถึงความของรถะที่เป็นพาหนะในสมัยโบราณว่า มีการประดับตัวรถะให้อลังการตามฐานานุภาพของแต่ละบุคคล แต่รถะก็มีลักษณะที่คล้ายกัน คือ ตัวรถะมีแอก คือ คานข้างตัวรถะเป็นรูปปลายงอน ล้อรถรูปกลมขนาดใหญ่ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นดุมล้อ กงล้อ และกำ ล้วนตกแต่งอย่างงดงามเหมือนประดับด้วยแก้วหรืออัญมณี รถะบางองค์ ตรงส่วนที่เป็นกำ กง และแอก จะสลักลวดลายอย่างงดงามด้วยลายเครือเถาบ้าง ลายสิงห์บ้าง รวมทั้งลายครุฑยุดนาค บนราชรถตั้งบุษบกบัลลังก์เพื่อเป็นที่ประทับนั้น แกะสลักด้วยลายเครือเถาก้านขด และรูปสิงห์หน้าอัด และครุฑยุดนาค รวมทั้งส่วนที่เป็นเพลา และแปรก  ราชรถแต่ละองค์จะมีสารถีหรือคนขับเฉพาะที่ช่ำชอง ซึ่งบางคนถือโตมร สารถีราชรถของพระรามเทียมด้วยม้าเทพบุตรสีขาว ส่วนของทศกัณฐ์เทียมด้วยราชสีห์หรือสิงห์ กระบวนแห่แหนราชรถนั้นประดับด้วยเครื่องสูง เช่น มยุรฉัตร อภิรุม ชุมสาย ธงทิว ธงฉาน ธงชาย บังแทรก บางครั้งมีกระชิงด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและฐานะของแต่ละคนนั่นเอง





ลำดับต่อไป
ราชรถสำหรับงานพระเมรุ
โปรดติดตาม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ธันวาคม 2559 16:52:20 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 28 ธันวาคม 2559 14:03:53 »


๑.ราชรถสำหรับงานพระเมรุ
ราชรถที่ใช้ในการนี้น่าจะมีขนาดต่างๆ ตามฐานะ หากเป็นองค์พระมหากษัตริย์ พระมเหสี และเจ้าฟ้า จะใช้ราชรถที่มีขนาดใหญ่ตระการตา มีบุษบกพิมานประดิษฐานเพื่อเป็นที่อัญเชิญพระบรมศพ ราชรถนี้มีการแกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจกสีต่างๆ อย่างงดงาม เป็นการจำลองเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตแห่งเทพเจ้าทั้งหลาย และตามชั้นของราชรถได้สลักเป็นรูปเทพนมและพญานาค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเทพเจ้าชั้นรองที่อยู่รอบเชิงเขาพระสุเมรุ และพระบรมศพนั้นเปรียบได้ดุจเทพเจ้าองค์หนึ่ง จึงประดิษฐานไว้บนบุษบกพิมาน

สำหรับเจ้านายที่มีฐานันดรต่ำลงมา ราชรถก็มีความงามน้อยลง และขนาดเล็กลง เช่นรถจัตุรมุขและรถโถง เป็นรูปคล้ายประทุน มีล้อ ๔ ล้อ สะดวกต่อการอัญเชิญพระศพด้วยพระโกศและโลงตามลำดับ



ลักษณะราชรถที่ใช้สำหรับทรงเวลาเสด็จประพาสในที่ต่างๆ จากภาพเขียนลายกำมะลอ
เรื่องอิเหนา บนฉากลับแล ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


ลักษณะริ้วกระบวนเสด็จโดยราชรถ จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์
ตอนกำเนิดนางสีดา วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


ราชรถของจักรพรรดิจีน ในกระบวนแห่เสด็จประพาสที่ต่างๆ

ราชรถที่ใช้ในการพระราชพิธีพระบรมศพของไทย ที่ยังมีอยู่และจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวม ๕ องค์ โดยสร้างใน พงศ.๒๓๓๘ เพื่อใช้ในการพระศพ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาในพระองค์ ราชรถที่ทรงโปรดให้สร้างคือ พระมหาพิชัยราชรถ และราชรถน้อย ๓ องค์ ราชรถนี้ได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.๒๓๔๒ และในครั้งนั้นได้สร้างราชรถอีก ๑ องค์ คือ เวชยันตราชรถ ทั้งนี้ใช้ในงานพระศพพระพี่นางสองพระองค์ คือ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ และสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ซึ่งราชรถนั้นในประวัติศาสตร์ของไทยมีการใช้ราชรถมาเป็นเวลายาวนาน และมีรูปแบบที่พัฒนาการสืบทอดมานานหลายร้อยปีจนปัจจุบัน

๒.การใช้ราชรถในกระบวนพยุหยาตราสถลมารค
กระบวนพยุหยาตราสถลมารค หมายถึง กระบวนเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ ขององค์พระมหากษัตริย์ เป็นการจัดริ้วกระบวนแบบการจัดแบ่งหมวดหมู่กองทัพ พร้อมกับกระบวนเครื่องสูงและเครื่องประโคม เมื่อองค์พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวังไปในที่ต่างๆ การจัดกระบวนพยุหยาตราสถลมารคจะมีแบบต่างๆ เช่น การเสด็จไปวัด การเสด็จอยู่ภายในวัง การเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท การเสด็จเลียบพระนคร การเสด็จถวายผ้าพระกฐิน และการเสด็จไปในงานพระเมรุมาศ

สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ที่มีกระบวนราชรถนั้นมีไม่มากนัก ไม่เหมือนการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนเรือ หรือกระบวนช้าง กระบวนม้า ซึ่งมีโอกาสที่ได้ประทับมากกว่าการประทับราชรถ ซึ่งตั้งแต่สมัยโบราณมา พบหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับการเสด็จโดยราชรถในกระบวนเสด็จขึ้นนมัสการพระพุทธบาทและการใช้พระมหาพิชัยราชรถนั้น มีการใช้ทั้งในการเสด็จไปพระราชทานผ้าพระกฐิน และในงานพระเมรุมาศ


๓.กระบวนพยุหยาตราสถลมารคเสด็จขึ้นพระพุทธบาท
ตามธรรมเนียมในราชสำนักนั้น ถ้าองค์พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากท่าเจ้าสนุกไปประทับแรมที่พระตำหนักพระพุทธบาท ฝ่ายกลาโหมเกณฑ์นายกองนายงานคุมเจ้าพนักงานไปทำพระตำหนักและทางเสด็จจากท่าเจ้าสนุกถึงบางโขมด พนักงานขุนนครทำ จากบางโขมดถึงพระพุทธบาท พนักงานกรมการเมืองสระบุรี และพนักงานขุนโขลนทำ พันจันท์เกณฑ์ หลวง ขุน หมื่น คุมไพร่ สัสดี ไปช่วยแขวงและกรมการทำทาง ๔ กอง กองหนึ่งมีนายหนึ่งคน ไพร่ ๕๐ คน ในกระบวนพยุหยาตรานี้ มีกระบวนราชรถร่วมกับกระบวนอื่นๆ ซึ่งจัดริ้วกระบวนตามลำดับดังนี้

ริ้วกระบวนแห่หน้า
พันเทพราชเกณฑ์ทนายคบหอก
ตำรวจในซ้าย ๔๐     ตำรวจในขวา   ๔๐
ตำรวจนอกซ้าย ๓๐     ตำรวจนอกขวา   ๓๐
ตำรวจใหญ่ซ้าย ๔๐     ตำรวจใหญ่ขวา   ๔๐
ทหารในซ้าย ๔๐     ทหารในขวา   ๔๐
ทนายเลือกหอกซ้าย ๒๐     ทนายเลือกหอกขวา   ๒๐
ปี่ กลองชนะ ๑๐๐     แตรฝรั่ง   ๔ คู่
แตรงอน ๒ คู่     สังข์   ๑ คู่
ธงฉาน ๔ คู่      

พันอินทราช เกณฑ์ปืนหามแล่นตามท้ายพระที่นั่ง
ตำรวจในซ้าย     ตำรวจในขวา  
ตำรวจใหญ่ซ้าย     ตำรวจใหญ่ขวา  
อาสา (วิเศษ) ซ้าย     อาสา (วิเศษ) ขวา  
อาสาเดโช     อาสาท้ายน้ำ  

เจ้ากรม ปลัดกรม หัวหมื่น ตัวสี ตำรวจเลว แห่ริ้ว ในตำแหน่งแห่หน้า มี
หลวงเทพอรชุน หลวงราชนิกูล     นำริ้วชั้นใน  
ขุนราชมนู พันเทพราช     คุมปี่ กลองชนะ  
ตำรวจในซ้าย ตำรวจในขวา      
ตำรวจใหญ่ซ้าย ตำรวจใหญ่ขวา      
ตำรวจนอกซ้าย ตำรวจนอกขวา      

ริ้วกระบวนแห่หลัง
ทหารในซ้าย ทหารในขวา      
พลพันซ้าย พลพันขวา      
รักษาองค์ซ้าย รักษาองค์ขวา      
เจ้ากรมบ้านใหม่ เจ้ากรมโพธิ์เรียง      
ทนายเลือกหอกซ้าย ทนายเลือกหอกขวา      
หมื่นนรินทรเสนี หมื่นศรีสหเทพ     ปลายริ้ว  

กรมวังเกณฑ์ เครื่องสูง แห่หน้า
เครื่องสูงห้าชั้น สีเขียว     ๑ คู่  
สีแดง     ๑ คู่  
สีเหลือง     ๑ คู่  
บังแทรก สีดำ     ๑ คู่  
สีเหลือง     ๑ คู่  

เครื่องสูงแห่หลัง
เครื่องสูงห้าชั้น สีขาว     ๑ คู่  
สีดำ     ๑ คู่  
บังแทรก สีแดง     ๑ คู่  
บังพระสูรย์     ๑   
พันทอง ขุนราชพิมาน     คุม   
ชาวพระแสง กรมสนมพลเรือน     ถือพระแสงหว่างเครื่องสูงหน้า   
ขุนแสงสรรพยุทธ กำนันแสงใน     ถือพระแสงหอกด้ามไม้มะเกลือยอดทอง   
กำนันแสงใน ถือพระแสงดาบไทย     กำนันแสงใน ถือพระแสงเขน 

พระแสงหว่างเครื่องสูงหลัง
ขุนคชนารถภักดี  ถือพระแสงง้าว ขุนแสงสารภาษ   ถือพระแสงหอกง่าม        
พันพุฒหมายบอกทนายเลือกแสงปืนคาบศิลา ตามเสด็จท้ายพระที่นั่ง ซ้าย ๕๐ ขวา ๕๐        

ขุนโจมพันล้าน และขุนสะท้านพลแสน  ขี่ม้า นำขุนไชยธุช บโทน
หลวงราชนิกูล  ถือ ธง ๙ ชาย นำทางเสด็จ
ตามด้วยกรมช้าง สำหรับกระบวนเสด็จ ประกอบด้วย
ช้างพระที่นั่งทรง
ช้างพระที่นั่งรอง
ช้างนำผูกพระที่นั่งหลังคาทอง
ช้างผูกพระที่นั่งประพาสโถง



ช้างดั้งหน้า ๓ ช้างดั้งหลัง ๓        
ช้างกันใน ๑๐ ช้างกันนอก (กองอาสา) ๒๐        

ช้างแทรก ๑๘ เชือก มี
ขุนช้าง ๒ ปลัดช้าง ๒ นายเชือก ๒ ปลัดเชือก ๒
มหาดไทย ๑ กลาโหม ๑ จตุสดมภ์ ๔ หัวหมื่นมหาดเล็ก ๔
ช้างปืน ๒๐


ช้างเครื่องมหาดเล็กซ้าย ๕ ช้างเครื่องมหาดเล็กขวา ๕        
ช้างกูบสำหรับข้างใน ๔๐ ช้างพระประเทียบพระที่นั่งหลังคาทอง ๑        
ช้างดั้งหน้า ๒ ช้างดั้งหลัง ๒        
ช้างปืนหน้า ๕ ช้างปืนหลัง ๕        

กระบวนช้างพระประเทียบ ๑๕
ช้างพระที่นั่งผูกเครื่องลูกพลู ดาวทองคำ
ชาวพระแสง เชิญพระแสงใส่ในเบาะ มี พระแสงปืนสั้น ๑ คู่ พระแสงพร้า ๑ องค์
กระบี่ม้า ผูกข้างเบาะ ๑ องค์ นายท้ายช้าง เป็นควาญ
พระที่นั่งหลังคาทอง สี่ตำรวจยกมา
กรมช้างผูกช้าง มีชาวพระแสงเชิญพระแสงปืนสั้น พระแสงหอกด้ามเหล็กปิดทอง ๑ คู่
พระแสงปืนยาว ๑ องค์ มีนายท้ายช้างขี่คอ ๑ นาย ขี่ท้ายช้าง ๑ นาย
ช้างพระที่นั่งนำ ผูกเครื่องลูกพลูดาวทอง ชาวพระแสง เชิญพระแสงมาผูก คือ


พระแสงกระบี่ ๑ พระแสงพร้า ๑        

ทนายเลือกแสงปืน ถือ ปืนคาบศิลา ไว้กลางช้าง ๑ กระบอก มีนายท้ายช้างขี่คอ ๑ ท้ายช้าง ๑
ช้างดั้งผูกเครื่องมั่น มีทนายเลือกแสงปืน ถือปืนคาบศิลากลางช้าง ๑ ท้ายช้างขี่คอ ๑ ท้าย ๑


กระบวนช้างแทรกที่เป็นช้างพังมี
พระกำแพง ๑ พระราชวังเมือง ๑     ขุนช้าง ๒   
หลวงคชศักดิ์ ๑ หลวงคชสิทธิ์ ๑     ปลัดช้าง ๒   
ขุนทรงศักดิ์ ๑ ขุนทรงสิทธิ์ ๑     ขุนเชือก ๒   
หมื่นศรีสิทธิบาล ๑ หมื่นราชสิทธิกรรม์ ๑     ปลัดเชือก ๒   

มหาดไทย กลาโหม จตุสดมภ์ ๖ หัวหมื่นมหาดเล็ก ๔  รวมช้างแทรก ๑๘
กระบวนช้างปืนใหญ่


หมื่นราชฤทธิ์ ๑ หมื่นราชรงค์ ๑        

ตำรวจในทำจำลอง สัสดีเกณฑ์เลขส่งให้หมื่นศรีสรเชฐ  หมื่นวิเศษสรชาญคมหัด เป็น ทนายปืน
ทนายปืนกลางช้างๆ ละ ๑ คน   นายช้างขี่คอ ๑   นายกองเป็นควาญ ๑
เสมอตัว ๑   มีทนายปืนกลางช้าง ๑ กรมช้าง ขี่คอ ๑  ท้ายช้าง ๑
ปืนกลางช้างเป็น ปืนกระสุนนิ้วกึ่ง ๑ กระบอก  ใช้กระสุนโดด ๑๐  กระสุนปราย ๒๐๐
หอกซัด ๑๐  แหลนซัด ๑๐  ธงผุดทอง ช้างละดอก   สีแดงหน้า ๑๐  สีเขียวหลัง ๑๐
ช้างกันในผูกเครื่องมน เป็นช้างพลาย ๑๐
ทนายเลือกถือปืนคาบศิลา กลางช้างๆ ๑  ขุนหมื่นกองช้างนอก ขี่คอ ๑  ท้ายช้าง ๑
เป็นช้างซ้าย ๕  ช้างขวา ๕
กองช้างอาสากั้นชั้นนอก ๒๐  เป็นช้างซ้าย ๑๐  ช้างขวา ๑๐ มี
ทนายถือปืนคาบศิลา กลางช้าง หมู่ตำรวจกลางขึ้น
นายโชติราช  นายไชยราช  ตำรวจใน เป็นทนายปืนเสมอช้าง ๑
ขุนหมื่น ชาวกองช้าง ขี่คอ ๑  ทนายปืนกลางช้าง ๑  ไพร่นายช้าง เป็นควาญ ๑
ช้างเครื่องมหาดเล็ก ๑๐ มีมหาดเล็กเชิญเครื่อง จ่าหุ้มแพรกำกับเครื่องถวาย มีดังนี้


ช้างเชิญ พระสุพรรณศรี และพระล่วม ๑    เชิญพระล่วมตะบัน พระโอสถสูบ พานพระศรีชุด ๑        
พระเต้าทอง พระเต้าเงิน ช้าง ๑ หม้อลงพระบังคน กาพระบังคน ช้าง ๑        
พระตะพาบเงินใส่พระสุธารส ช้าง ๑ พัชนีทอง พัชนีแพร ช้าง ๑        
พระแสงกระสุน พระแสงง้าว พระแสงหอก ๑ พระกลดแดด พระกลดฝน ช้าง ๑        
พระสมุด พระกระดานชนวน ช้าง ๑ พระปิ่นโตของเสวย ช้าง ๑        

สนมทหารแต่งจำลองกูบ เขียนลายรงพื้นดำซ้าย พื้นแดงขวา มี
หลวงพรหมบริรักษ์ หลวงสุริยภักดี        
ขุนสมุหพิมาน ขุนประธานมณเฑียร        

กรมช้าง
มี หลวงเทพราชา หลวงทิพราชา คุมหมู่จ่าเจียม กรมช้างบรรทุกเครื่องมือ สำหรับช้างปากไม้ ๑๐ คน คบเพลิงเชือกละ ๒ ดอก รวม ๘๐ เชือก แบ่งเป็นช้างขวา ๔๐ ช้างซ้าย ๔๐
กระบวนช้างพระประเทียบ เป็นช้างพัง ๑๐ ช้างพลาย ๔ ตามด้วย
ช้างพระที่นั่งหลังคาทอง มีนายพญา นายจันปัญญา และสี่ตำรวจเชิญมา
กรมช้างผูกเป็นนายท้ายช้างขี่คอ ๑  เป็นควาญ ๑
ช้างดั้งผูกเครื่องมั่น ๔ เชือก  เป็นช้างดั้งหน้า ๒ เชือก  ช้างดั้งหลัง ๒ เชือก
มีทนายเลือกแสงปืนคาบศิลา เป็นกลางช้าง เชือกละคน
ช้างปืนใหญ่ เสมอช้าง ๑  มีทนายปืนเป็นกลางช้าง ๑  จากกรมช้างขี่คอ ๑  เป็นควาญ ๑
บรรทุกปืนขนาดกระสุนนิ้วกึ่ง ๑ กระบอก  กระสุนโดด ๑๐  กระสุนปราย ๒๐๐
หอกซัด ๑๐  แหลนซัด ๑๐  ธงผุดทอง ธงละดอก  สีแดงหน้า สีเขียวหลัง รวม ๒ ธง
เป็นช้างดั้งหน้า ๕  ช้างดั้งหลัง ๕


กรมม้า
เกณฑ์ม้าผูกเครื่องทองคำ ซึ่งเป็นม้าพระที่นั่งทรง ๑  ม้าพระที่นั่งรอง ๑
ม้าแซงในถือปืน ถือทวน ดาบขัดแล่ง จัดเป็น
ม้าแซงในซ้าย เป็นตำรวจ ๑ ขุนหมื่น ๕     ม้าแซงในขวา ตำรวจ ๑ ขุนหมื่น ๕
ม้าแซงนอกถือ เกาทัณฑ์ ดาบขัดแล่ง จัดเป็น
ม้าแซงนอกซ้าย เป็นตำรวจ ๒ จีน ๕     ม้าแซงนอกขวา เป็นตำรวจ ๒ จีน ๕
ม้าแซงนอกถือทวน ดาบขัดแล่ง จัดเป็น
หมื่นพันซ้าย ๖     หมื่นพันขวา ๖
ม้าทิด ๑๖ ขุนกองขี่ ถือทวน ดาบขัดแล่ง มีปืนนกโพรงผูกข้างม้า ตัวละกระบอก จัดเป็น
ม้าทิดซ้าย ๘     ม้าทิดขวา ๘
ม้าสวนทางไปหน้ากระบวน ๒ ม้า แห่ดาบขัดแล่ง มี
หมื่นเทพสารถี ซ้าย     หมื่นพาชีไชย ขวา
ม้าใช้ ๒ ม้า หลังดาบขัดแล่ง มีหมื่นไกรสรแมน และหมื่นแสนใจเพชร
ม้านำเสด็จ ๒ ม้า ดาบขัดแล่ง มีขุนโจมพลล้าน และขุนสท้านพลแสน
รวม กระบวนม้า ๖๐ ตามด้วย กระบวนเรือดั้งเรือกัน ตามท้ายพระที่นั่ง โดยถือหอกถือพร้า จัด
ขุนสุเรนทรวิชิต คุมฝีพายบ้านใหม่ ๕๐  ขุนอภัยเสนา คุมฝีพายโพธิ์เรียง ๕๐
หลวงเทพา (สัสดี) คุมเลขเรือดั้งเรือกันซ้าย ๕๐  หลวงศรีกาฬสมุด (สัสดี) ขวา ๕๐


กระบวนรถ
ซึ่งคอยรับเสด็จขึ้นไปพระพุทธบาทนั้น หมื่นนรินทรเสนี และหมื่นศรีสหเทพ เกณฑ์
ขุนหมื่นตามรถสมเด็จพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกเธอ ตามด้วย

ขุนพิชัยนุราชรถาจารย์ (เจ้ากรมฝ่ายทหาร) หมื่นมณีราชรถ (ปลัดกรม)        
ขุนราชรถยานบริรักษ์ (เจ้ากรมฝ่ายพลเรือน) หมื่นรัถภูบาล (ปลัดกรม)        
ตามด้วย รถพระที่นั่งทรงจัตุรมุข พนักงานสี่ตำรวจ กันรถ        
รถพระประเทียบ กรมหลวงพิพิธมนตรี สนมตำรวจซ้าย        
รถพระราชทานพระสงฆ์ สนมตำรวจขวา        
รถสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สนมตำรวจขวา        
รถสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ สนมตำรวจขวา        

รถฝ่ายทหารมี
พนักงานตำรวจในซ้าย ตำรวจในขวา        
ตำรวจใหญ่ซ้าย ตำรวจใหญ่ขวา        
ตำรวจนอกซ้าย ตำรวจนอกขวา        
ทหารในซ้าย ทหารในขวา        
สนมทหารซ้าย สนมทหารขวา        

ขบวนอาสาหกเหล่า
รถฝ่ายพลเรือน พนักงานมหาดไทย มี ขุนราชอาญา (สมุห์บัญชี) จตุสดมภ์        
กรมข้างซ้าย กรมข้างขวา        
กรมสรรพากรใน กรมสรรพากรนอก        
กรมล้อมวัง ทำรถและรวมกระบือชักรถ        
กรมนา จ่ายรถและกระบือ        

กระบวนเกวียนและโค
สำหรับบรรทุกสิ่งของต่างๆ ของฝ่ายหน้าฝ่ายใน เครื่องเล่นมหรสพ ดอกไม้เพลิงของกรมแสงสรรพยุทธ ขึ้นไปพระพุทธบาทตามบัญชีของพนักงานข้างในโค และเกวียน พันจันท์ เวรทางเกณฑ์กรมการหัวเมืองต่างๆ อาทิ จาก เมืองมโนรมย์ ชัยนาท เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรค์บุรี เมืองอ่างทอง เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี และแขวงสี่ทิศของกรุงศรีอยุธยา คือ แขวงรอบกรุง แขวงเสนา แขวงอุทัย และแขวงนคร พนักงานที่ควบคุมของไป มี หมื่นเทพขันที หมื่นราชขันที และเจ้าพนักงาน ถ้าเมืองใดเกณฑ์ไม่ได้ ให้ชำระเป็นเงินแทน

ลำดับต่อไป
๔.เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐิน
โปรดติดตาม
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 16 มกราคม 2560 16:40:34 »




๔.เสด็จพระราชทานผ้าพระกฐิน

สำหรับกระบวนเสด็จที่ใช้ราชรถอีกกระบวนหนึ่ง ที่มีมาแต่สมัยอยุธยาและปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ไว้คือ กระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราสถลมารค ซึ่งประกอบด้วยกระบวนเดินเท้า กระบวนช้าง กระบวนม้า และกระบวนรถ ซึ่งประทับพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งกระบวนดังกล่าวนี้ได้ยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

กระบวนเดินเท้า ๒,๒๓๑ คน ประกอบด้วย


พลรบ ๑๕ หมู่กระบวนหน้า หมู่ละ ๘๐ คน รวม ๑,๒๐๐ คน 
กระบวนหลัง หมู่ละ ๔๐ คน รวม ๖๐๐ คน
ถือธงนำริ้ว กระบวนหน้า ธง ๙ ชาย ๑ ธง
ธง ๕ ชาย ๒ ธง
ธงมังกร ๒๘ ธง
กระบวนหลัง ธงมังกร ๓๐ ธง รวมทั้งหมด ๖๑ ธง
คนตีหามปี่พาทย์ กระบวนหน้า ๑๒๖ คน
กระบวนหลัง ๕๔ คน
กลองแขกคนตีหาม กระบวนหลัง ๙ คน รวม ๑๘๙ คน
ขุนหมื่นกรมไพร่หลวง เป็นสารวัตร กระบวนหน้า ๑๒๐ คน
กระบวนหลัง ๖๐ คน รวม ๑๘๐ คน

กระบวนช้าง ๒,๐๔๓ คน  ประกอบด้วย

คนแห่พญาช้าง ๒๑ คน  ในกระบวน ๘๐๕ คน
ขุนหมื่นกรมช้าง สารวัตร ๒๑ คน  รวม ๘๒๖ คน
กระบวน วานรเผือก ๖ กระบวน กระบวนละ ๕ คน  รวม ๓๐ คน
กลองชนะแห่ช้าง ไพร่ ๖ จ่าปี่ ๑  จ่ากลอง ๑  สารวัตร ๖  รวม ๑๔ คน
ถือธงฉานนำกลองชนะ ๑๖ คน
คนขี่ช้างในกระบวน ๒๑ คน ขุนนางขี่ช้างแทรก ๒๑ คน
คนขี่ช้างท้ายขุนนาง ๒๑ คน กลางช้างคชาธาร ๔ คน
ถือทวน ๘ คน คนเดินรักษาช้างขุนนาง ๒๑ คน
ทนายตามขุนนาง ๒๑ คน คนในกระบวน ๑,๐๔๐ คน รวม ๑,๑๕๗ คน

กระบวนม้า ๔๕๔ คน ประกอบด้วย
คนแห่กระบวนถือเครื่องแห่ ๑๔๖ คน
คนแห่กระบวนถือเครื่องแห่ ๑๔๖ คน
ธงตะขาบนำกลองชนะ ๘ คน กลองชนะ ๑๐ คน
จ่าปี่ ๑ คน กลองมลายู ๑๑ คน
คนขี่ม้า ขุนนางกรมม้า ๒๒ คน ขุนหมื่นมหาดไทย ถือธงนำริ้ว ๒๒ คน
ขุนหมื่นกรมม้า ๑๐๐ คน มหาดเล็กขี่ม้า เป็นสารวัตร ๑๐ คน
ขุนหมื่นตามกรมเป็นสารวัตรเดิน ๑๔ คน ปี่พาทย์จีน ๑๔ คน
คนจูงม้าต้น ๒๔ ตัวๆ ละ ๔ คน รวม ๙๖ คน

กระบวนรถ ๖๕ คน ประกอบด้วย
ถือธงตะขาบนำรถฝรั่ง ๑๒ คน ขุนหมื่นตำรวจขี่รถ ๒๘ คน
ขุนหมื่นกรมนาเป็นสารถี ๑๕ คน ขุนหมื่นกรมม้าเป็นสารถี ๑๐ คน
รถที่เข้ากระบวนนั้นมีทั้งเทียมด้วยม้า ด้วยโค ด้วยกระบือ ด้วยอูฐ และด้วยลา

อย่างไรก็ดี พบว่ากระบวนแห่ผ้าพระกฐินครั้งสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่เสด็จประทับบนพระมหาพิชัยราชรถ แต่เป็นกระบวนอย่างย่อนั้น มีการจัดกระบวนหน้า ๔๙๓ คน เริ่มต้นกระบวนหน้าด้วย

ทหาร ปี่ กลองชนะ ๑๕ คู่ ๓๐ คน
แตรงอน ๓ คู่ ๖ คน
แตรวิลันดา ๓ คู่ ๖ คน
สังข์งอน ๑ คน
ปืนคาบชุดตำรวจในซ้าย ๒๕ ตำรวจในขวา ๒๕
ตำรวจใหญ่ซ้าย ๒๕ ตำรวจใหญ่ขวา ๒๕
ถือแหลนอาสาซ้าย ๒๐ อาสาขวา ๒๐
เขนทองอาสาซ้าย ๒๐ อาสาขวา ๒๐
อาสาพระยาเดโช ๒๐ อาสาพระยาท้ายน้ำ ๒๐
ธงสามชาย  หมู่สี่ตำรวจ  อาสาหกเหล่า  ทหารใน ๘๐
พลเรือนเดินเท้า ๑๐๐

กระบวนเสด็จ ให้ทหารเกณฑ์ เจ้ากรม ปลัดกรม หัวหมื่น ตัวสี พันทนาย ตำรวจเลว แห่เสด็จ ๒๒๒ คน เป็นกระบวนดังนี้
นำริ้ว พระยาเทพอรชุน พระยาราชนิกูล
ตำรวจในซ้าย ๓๐ ตำรวจในขวา ๓๐
ตำรวจใหญ่ซ้าย ๓๐ ตำรวจใหญ่ขวา ๓๐
ตำรวจนอกซ้าย ๓๐ ตำรวจนอกขวา ๓๐
สนมทหารซ้าย ๒๐ สนมทหารขวา ๒๐

กระบวนหลัง ๒๕๐ คน  นำโดย หลวงนรินทรเสนี
ทหารในซ้าย ๓๐ ทหารในขวา ๓๐
เจ้ากรมทหารบ้านใหม่ เจ้ากรมทหารโพธิ์เรียง
พลพันซ้าย ๕ พลพันขวา ๕
ทนายเลือกซ้าย ๒๐ ทนายเลือกขวา ๒๐
ปืนท้ายที่นั่ง ๓๖
หลวงวาสุเทพ ๑  หลวงพิศณุเทพ ๑  หลวงศรีสหเทพ ๑
ทนายเลือกแสงปืน ๑๐

ระหว่างทางเสด็จ มีตำรวจในถือหอกจุกช่องตามตรอกถนน ช่องละ ๒ คน รวม ๖๐ คน
ตำรวจในซ้าย ๑๔ ช่อง รวม ๒๘ คน
ตำรวจในขวา ๑๖ ช่อง  รวม ๓๒ คน

เสด็จขึ้นวัดแล้ว มีพระยาสีหราชเดโช หลวงไกรเทพ ขุนจงพยุหะ ตามเสด็จคอยกราบทูลพระกรุณา


๕.เสด็จเลียบพระนคร

การเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราสถลมารคเป็นการเสด็จออกให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เดิมจะเสด็จเข้ากระบวนรอบพระราชมณเฑียรที่ประทับ เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองพระบาท ได้ร่วมกันถวายพระพรและชื่นชมพระบารมีเท่านั้น ที่จะเสด็จเป็นพระบวนพยุหยาตราออกนอกพระนคร คงจะเฉพาะในเทศกาลถวายผ้าพระกฐิน หรือเสด็จนมัสการพระพุทธบาท โดยจัดเป็นกระบวนใหญ่อย่างกระบวนทัพดังที่กล่าวแล้ว แต่มาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้เริ่มมีการเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ที่เป็นกระบวนใหญ่ดังครั้งรัชกาลที่ ๒ ที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนแห่เสด็จเลียบพระนคร โดยเสด็จขึ้นเกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ทรงพระราชยาน เสด็จออกประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวขวาหรือประทักษิณพระบรมมหาราชวัง เลี้ยวผ่านป้อมเผด็จดัสกร ตรงไปถึงสะพานข้ามคลองตลาดแล้วเลี้ยวกลับขึ้นทางริมกำแพงพระนครมาทางท้ายสนมเข้าถนนหน้าวังที่ท่าพระ แล้วกลับเข้าพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี โดยทรงโปรยเงินพระราชทานราษฎรซึ่งคอยถวายพระพรอยู่สองข้างถนนตลอดทาง

ในการนี้มีการปราบถนนโรยทราย รื้อร้านโรงที่กีดขวางริมทางให้เรียบร้อยทั้งสองฟากถนน แล้วเจ้าพนักงานจัดตั้งราชวัติ ฉัตรเบญจรงค์ ๗ ชั้น และร้านน้ำเป็นระยะ ในวันเสด็จเลียบพระนครทหารอาสา ๖ เหล่าซ้ายขวา ตั้งกองจุกช่องรายทาง ตั้งปืนคู่ขานกยาง ทุกแพรกถนน

ในริ้วกระบวนแห่มีทหารเหล่าต่างๆ เข้ากระบวนตามลำดับ มีจำนวน ๘,๐๐๐ คน ดังรายละเอียด ดังนี้

กระบวนหน้า เริ่มด้วย

ฝรั่งแม่นปืน ลากปืนจ่ารง รางเกวียน ๒ กระบอก
กระบวนนายม้าต้น ขี่ม้าถือธง ๘ นาย
กองอาสาเกณฑ์หัด ถือปืนคาบศิลาปลายหอก ๑ กอง
กองอาสาเกณฑ์หัดถือธนู ๑ กอง
กองอาสาเกณฑ์หัดถือทวน ๑ กอง
กองอาสาญี่ปุ่นถือง้าว ๑ กอง
พลอาสาถือดาบสองมือ ๑ กอง
พลล้อมวัง ถือดาบโล่ ๑ กอง
พลล้อมวัง ถือดั้งทอง ๑ กอง
พลล้อมวัง ถือดาบเขน ๑ กอง
อาสาจาม ถือหอกซัด ๑ คู่เหน็บกริช

กระบวนพระอิสริยยศ  ขุนหมื่นกรมเหล่าคู่ชัก ถือหอกเดินเรียงเป็นสี่สาย
กระบวนขุนหมื่นตำรวจ ๘ กรม สะพายดาบเดินสี่สาย
เจ้าปลัด กรมพระตำรวจ เดินริ้วนอก สองสาย
หุ้มแพรมหาดเล็ก เดินริ้วใน สองสาย
กลองชนะ ๑๐๐ คู่ เดินเป็นสองแถว ข้างในมีจ่าปี่ จ่ากลอง แตรฝรั่ง แตรงอน สังข์ เดินในระหว่างกระบวนสี่สาย
ชาวเครื่องเชิญเครื่องสูง ๕ ชั้น ๗ ชั้น ชุมสาย บังแทรก ตรงกลางแถวมีมหาดเล็กเชิญพระแสงดาบ เขน พระแสงหอกหัก พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบใจเพชร และพระแสงหอกขวา เดินระหว่างเครื่อง พระราชยาน-พระที่นั่งพุดตาล มีขุนนางตำแหน่งปลัดทูลฉลองเดินสองข้าง ๖ คู่ เป็นคู่เคียง นอกแถวคู่เคียงมีอินทร์พรหม ถือจามร มีเจ้าพนักงานเชิญพระกลด ตาด บังสูรย์ พัดโบก และพระทวย

กระบวนหลัง ประกอบด้วย การจัดกระบวนสี่สาย มี
เจ้ากรม ปลัดกรม กรมทหารในพลพัน ทนายเลือก และรักษาพระองค์
มหาดเล็กเชิญเครื่องสูง เดินระหว่างเครื่องมี
พระแสงง้าว พระแสงหอกง่าม หรือพระแสงตรี
มหาดเล็กเชิญเครื่องตามเสด็จ มี
พานพระขันหมาก พระเต้า พระสุพรรณศรี พระแสงปืน
พระแสงทวน พระแสงง้าว พระแสงหอก
ตามด้วย พระยาม้าต้น เป็นม้าเทศผูกเครื่องกุดั่น ๒ ม้า
กระบวนอาสา เช่นเดียวกับกระบวนหน้า
ฝรั่งแม่นปืน ลากปืนจ่ารง รางเกวียน ๒ กระบอก
กระบวนพระราชวงศ์ ทรงม้า มหาดเล็กกั้นพระกลดหักทองขวาง เดินเป็นคู่ มีมหาดเล็กตามเสด็จ
กระบวนเสนาบดี นั่งแคร่ มีทนายความตามสุดกระบวน

การแต่งกายในกระบวนพยุหยาตราสถลมารค
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และเสนาบดีจะแต่งกายอย่างงดงามในกระบวนพยุหยาตราสถลมารค เป็นไปตามการแบ่งเหล่าของกองทัพ และตามลำดับตำแหน่ง โดยเรียงจากต้นกระบวน คือ

องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์อย่างเทศ คือ ทรงเครื่องสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาเขียนทอง ฉลองพระองค์ตาดจีบ คาดเจียระบาดสายรัดพระองค์เพชร เหน็บพระแสงกั้นหยั่น ทรงพระสังวาล พระธำมรงค์ พระมาลาเพชร และทรงพระแสงเวียด


ฝรั่งแม่นปืน เสื้อขลิบกำมะหยี่สีแดง
นายม้าต้น เสื้อสี สอดสนับเพลา โพกผ้าสีแดงขลิบสีทอง ขัดดาบ
พลอาสา แต่งเครื่องเสนากุฎ คือ
นาย ใส่เสื้อ โพกผ้า ประคำคล้องคอ สะพายดาบ
อาสาจาม ใส่เสื้อผ้าวิลาศ โพกผ้าตะบิด
ขุนหมื่นหกเหล่าคู่ชัก ใส่เสื้อสีแดง ผ้าโพกศีรษะ
เจ้ากรม ปลัดกรมพระตำรวจและหุ้มแพรมหาดเล็ก สอดสนับเพลา นุ่งผ้าเกี้ยว คาดเจียระบาด
ใส่เสื้อเทศ สวมประคำ โพกผ้าขลิบครุย
กลองชนะ ใส่เสื้อแดง กางเกงแดง หมวกแดง
กลองชนะ ใส่เสื้อแดง กางเกงแดง หมวกแดง
ชาวเครื่อง นุ่งริ้ว คาดลาย เสื้อปล้อง ศีรษะสวมลอมพอก
ปลัดทูลฉลอง  สอดสนับเพลา นุ่งผ้าเกี้ยว คาดเจียระบาด ใส่เสื้อริ้ว โพกขลิบกรองทอง
อินทร์พรหม นุ่งสนับเพลา สวมเสื้อสีเขียว และสีแดง ศีรษะสวมเทริด
พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงสนับเพลา และผ้าเขียนทอง คาดเจียระบาด ฉลองพระองค์อย่างเทศ ทรงพระมาลา
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 22 กุมภาพันธ์ 2560 16:25:42 »




๖.เสด็จในกระบวนแห่พระบรมศพ

การพระบรมศพที่เป็นหลักฐานหรือเป็นแบบฉบับต่อการจัดการพระราชพิธีในสมัยรัตนโกสินทร์ คือ การพระบรมศพในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งพระเจ้าอุทุมพรและเจ้าฟ้าเอกทัศได้แต่งการพระบรมศพ โดยทรงมีพระบรมราชโองการให้มีตราพระราชสีห์ไปยังประเทศราชทั้งปวงให้มาร่วมพระราชพิธีพระบรมศพ ขั้นตอนการพระราชพิธีสามารถสรุปได้ดังนี้

เริ่มด้วยการเอาน้ำหอมและน้ำดอกไม้เทศและน้ำกุหลาบ น้ำหอมต่างๆ สรงพระบรมศพ และทรงสุคนธรสและกระแจะ จากนั้นก็แต่งพระบรมศพ ทรงสนับเพลงเชิงงอนทองชั้นใน แล้วทรงพระภูษาพื้นขาวปักทองชั้นนอก ทรงเครื่องต้นและเครื่องทรง ทรงฉลองพระองค์อย่างใหญ่ กรอบทองสังเวียนหยัก ชายไหวชายแครง ตาบทิศ ตาบหน้า และสังวาลประดับเพชร ทรงทองต้นพระกร และปลายพระกรประดับเพชร ทรงพระมหาชฎาเดินหนห้ายอด จากนั้นประดับเพชร ทรงทองต้นพระกร และปลายพระกรประดับเพชร ทรงพระมหาชฎาเดินหนห้ายอด จากนั้นประดับเพชรอยู่เพลิงทั้งสิบนิ้วพระหัตถ์ และสิบนิ้วพระบาท แล้วใช้ไม้กาจับหลักซึ่งเป็นไม้ง่ามหุ้มทองค้ำพระหนุ แล้วประนมพระหัตถ์พระบรมศพ นำซองหมากทองคำที่ปากเป็นกระจับใส่ในพระหัตถ์ จากนั้นเอาพระภูษาเนื้ออ่อนพันพระบรมศพเป็นจำนวนมาก เมื่อได้ที่แล้ว นำผ้าขาวเนื้อดีรูปสี่เหลี่ยมห่ออีกครั้งหนึ่ง ผ้านี้เรียกว่าผ้าห่มเบี่ยง เสร็จแล้วอัญเชิญพระบรมศพเข้าพระโกศลองในทองหนักสิบสองชั่ง แล้วใส่พระลองในเข้าในพระโกศทองใหญ่ทรงเฟืองกลีบจงกล ประดับพลอยยอดเก้ายอด เชิงพระโกศตกแต่งด้วยรูปครุฑและสิงห์หน้าอัดทอง หนักยี่สิบห้าชั่ง แล้วเชิญพระโกศขึ้นบนเตียงหุ้มทอง จากนั้นเอาเตียงที่รองพระโกศขึ้นบนพระแท่นแว่นฟ้า แล้วกั้นบริเวณด้วยราชวัติตาข่ายปะวะหล่ำแก้วสีแดง ประดับเครื่องสูงต่างๆ

อัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนบุษบกเป็นประธาน แล้วจัดตั้งเครื่องราชูปโภค ตั้งพานพระสุพรรณบัฏถมซ้อนบนพานทองสองชั้น ด้านข้างตั้งพานพระสำอาง พระสุพรรณศรี พระสุพรรณราช พระเต้า ครอบทอง พระคนทีทอง และพานทองประดับ และเครื่องอุปโภคบริโภค โดยตั้งตามชั้นลดหลั่นลงมาทั้งด้านซ้ายและด้านขวา

จากนั้นเจ้าหน้าที่จัดตั้งมยุรฉัตรมียอดหุ้มทอง ระบายทอง และคันหุ้มทองโดยตั้งประดับรวม ๘ ทิศ ทิศตะคัน และจัดตั้งบังพระสูริย์ อภิรุม บังแทรก จามร ทานตะวัน และพัดโบก ปูลาดพระสุจหนี่ยี่ภู่ แล้วตั้งพระแท่นแว่นฟ้าในพระยี่ภู่ จากนั้นปูลาดที่บรรทม ตั้งพระเขนยกำมะหยี่ปักทอง และตั้งพระแท่นประดับสองพระองค์ ล้อมรอบด้วยพระสนม นางกำนัล ห้อมล้อมพระศพ และการขับรำเกณฑ์ทำมโหรี ประโคมฆ้อง กลอง แตร สังข์ มโหรี พิณพาทย์

จัดที่อาสนสงฆ์ ให้ธรรมโฆสิตพนักงานสังฆการี นิมนต์พระสังฆราชเป็นประธาน และพระสงฆ์ทั้งในเมืองและนอกเมือง และจากหัวเมืองต่างๆ ให้เข้ามาสดับปกรณ์ สวดพระอภิธรรมในเวลาค่ำและเวลาเช้า ถวายพรพระแล้วฉันภัตตาหารเพล มีเทศน์แล้วถวายเครื่องไทยทาน ไตรจีวร เครื่องเตียบและเครื่องสังเค็ด ในแต่ละวันนิมนต์พระ ๑๐๐ รูปมางานพระบรมศพทุกวันมิได้ขาด มีการตั้งต้นกัลปพฤกษ์ ตั้งโรงมหรสพต่างๆ อาทิ โขน หนัง ละคร หุ่น มอญรำ ระบำเทพทอง โมงครุ่ม กุลาตีไม้

พระเจ้าอุทุมพร และเจ้าฟ้าเอกทัศทรงแจกทานเสื้อผ้า เงินทอง สิ่งของต่างๆ แก่ราษฎรทั้งปวงเป็นอันมาก ต่อมาทรงมีรับสั่งให้ตั้งพระเมรุทองที่ท้องสนามหลวง แล้วตั้งพระเมรุใหญ่ปิดทองประดับกระจกยกลายต่างๆ ดาดเพดานสามชั้น พระเมรุใหญ่มีขนาดสูงถึงยอดพระเมรุ ๔๕ วา หรือ ๙๐ เมตร ฝาเป็นแผงหุ้มผ้าปิดกระดาษ พื้นแดง เขียนรูปเทวดาตามชั้นต่างๆ ดุจเขาพระสุเมรุ อาทิ ชั้นนาค ชั้นครุฑ ชั้นอสูร ชั้นเทวา ชั้นอินทร์ และชั้นพรหม ฝาด้านในเขียนเป็นลายดอกสุมณฑาทอง และมณฑาเงินแกมกัน เครื่องพระเมรุ มีบันแถลงและมุข ๑๑ ชั้น เครื่องบนจำหลักปิดทองประดับกระจก โดยมีขุนสุเมรุทิพราช เป็นนายช่างอำนวยการสร้าง

สำหรับพระเมรุใหญ่ มีส่วนประกอบคือ มีประตูทั้ง ๔ ทิศ แต่ละประตูตั้งรูปกินนรและอสูร ทั้ง ๔ ทิศ ประตูพระเมรุใหญ่ปิดทองทึบจนถึงเชิงเสา กลางพระเมรุเป็นแท่นรับเชิงตะกอนที่ตั้งพระบรมโกศ เสาเชิงตะกอนปิดทองประดับกระจก รอบๆ มีเมรุทิศ ๔ เมรุ และเมรุแทรก ๔ เมรุ รวมเป็น ๘ ทิศ ล้วนปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายต่างๆ รอบๆ เมรุตั้งรูปเทวดาและสัตว์หิมพานต์ อาทิ รูปเทวดา รูปวิทยาธร รูปคนธรรพ์ ครุฑ กินนร คชสีห์ ราชสีห์ เหมหงส์ นรสิงห์ สิงโต มังกร เหรา นาคา ทักกะทอ ช้าง ม้า และเลียงผา แล้วกั้นราชวัติ ๓ ชั้น ซึ่งปิดทอง นาก และเงิน รวมทั้งตีเรือกเป็นทางเดินสำหรับเชิญพระบรมศพ ตามริมทางตั้งต้นไม้กระถางที่มีดอกต่างๆ รวมทั้งประดับประดาฉัตรและธง

ริ้วกระบวนแห่พระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และสมเด็จพระพันวัสสา เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๑ ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ นั้น ปรากฏรายละเอียดดังนี้

ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และสมเด็จพระพันวัสสานั้น พระญาติ พระสนม นางกำนัล พระยาประเทศราช ราชนิกูล เสนาบดีทั้งปวง เศรษฐีคหบดี แต่งกายด้วยเครื่องขาวทุกสิ่ง

คนเกณฑ์แห่ แต่งเครื่องขาว ใส่ลอมพอก ถือพัด ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา
เครื่องไทยทาน มีคนแห่ไปหน้าเครื่องดนตรี หรือพวกพิณพาทย์
ดนตรี ดนตรีในกระบวน มี ฆ้อง กลอง แตร สังข์ แตรงอน และพิณพาทย์

ถึงกระบวน พระมหาพิชัยราชรถ ๒ องค์ เทียมด้วยม้า ๔ คู่ ม้าผูกประกอบรูปราชสีห์ มีนายสารถีขับรถ แต่งตัวอย่างเทวดาข้างละ ๔ คน
ราชรถที่เข้าร่วมกระบวนมีตามลำดับจากหน้าไปหลัง มี รถสมเด็จพระสังฆราชอ่านพระอภิธรรม ตามด้วยรถเหล่าพระญาติวงศ์ ถือจงกล ปรายข้าวตอกดอกไม้ ด้วยรถพระญาติถือผ้ากาสา มีปลอกทองประดับเป็นเปราะๆ ห่างกันประมาณ ๓ วา แล้วถือซองหมากทองโยงไปด้านหน้าถึงรถพระบรมศพ และตามด้วยรถใส่ท่อนจันทน์และกฤษณากระลำพักปิดทอง มีรูปเทวดาถือกฤษณากระลำพัก ท่อนจันทน์ถือชูไปบนรถ

ริ้วกระบวนรูปสัตว์ ๑๐ คู่ ได้แก่ ช้าง ม้า คชสีห์ ราชสีห์ สิงโต มังกร ทักกะทอ นรสิงห์ เหม หงส์ ซึ่งรูปสัตว์เหล่านี้มีขนาดสูง ๔ ศอก ซึ่งมีมณฑปตั้งบนหลัง สำหรับใส่ธูป น้ำมัน พิมเสน และเครื่องหอม
ริ้วกระบวนเครื่องสูง เป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่ ซึ่งมีผู้เชิญเครื่องราชูปโภคครบ
กระบวนแห่เสด็จ มีกระบวนเสนาบดีน้อยใหญ่ จากนั้นเป็นกระบวนปุโรหิตราชครู กระบวนราชนิกูล
เครื่องประโคม เป็นกระบวนคนตีกลองชนะ กลองโยน แตร สังข์ และแตรงอนเข้ากระบวนซ้ายขวา
กระบวนมหาดเล็ก ถือดาบทอง แห่ซ้ายขวา
กระบวนตำรวจในและตำรวจนอก เดินพนมมือ แห่ไปทั้งซ้ายขวา
กระบวนหัวหมื่นมหาดเล็ก เดินพนมมือแห่ไปทั้งซ้ายขวา
กระบวนมหาดเล็กเกณฑ์ ถือ พระสุพรรณศรี พระสุพรรณราช พระเต้าครอบทอง พานทอง เครื่องทอง
กระบวนเกณฑ์มหาดเล็ก ถือ พระแสงปืน พระแสงหอก พระแสงดาบฝักทอง และพระแสงต่างๆ
กระบวนมหาดเล็กและมหาดไทย ถือ กระสุนดิน แห่ไปซ้ายขวาเพื่อดูสูงต่ำไปตามทางเสด็จ ระหว่างเสด็จ
สองข้างทาง ประดับด้วยราชวัติและฉัตร ธงเบญจรงค์ ทอง นาก เงิน
พระมหาพิชัยราชรถและราชรถน้อย รวมทั้งรถรูปสัตว์ ชักด้วยเชือกหุ้มสักหลาดสีแดง ๔ แถว รถชักไปบนเรือก
สำหรับกระบวนเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวประทับบนพระเสลี่ยงทองประดับกระจก มีพระกลดขาวยอดทอง ระบายทอง คันหุ้มทองประดับ มีมหาดเล็กสี่คนเดินกั้นไปทั้งซ้ายและขวา

พระบุตรี ประทับบนพระเสลี่ยงสองหลังๆ ละ ๒ องค์ แห่แหนตามกระบวนพยุหยาตรา ไปตามหลังกระบวนพระบรมศพ รวมทั้งพระญาติวงศ์ พระสนม กำนัล มหาดเล็ก มหาเศรษฐี คหบดี และอำมาตย์ โดยออกทางประตูมงคลสุนทร แต่กระบวนใหญ่ จึงต้องทำลายกำแพงวัง ระหว่างประตูมงคลสุนทร และประตูพรหมสุคตทำเป็นทางออก

เมื่อกระบวนพยุหยาตราพระบรมศพถึงพระเมรุใหญ่ที่ท้องสนามหลวง พระมหาพิชัยราชรถทั้งสองเข้าไปในเมรุทิศเมรุแทรกทั้ง ๘ ทิศ แล้วทักษิณเวียนพระเมรุใหญ่ ๓ รอบ แล้วอัญเชิญพระโกศ เข้าตั้งในพระเมรุใหญ่ ๗ ราตรี มีพระสงฆ์มาสดับปกรณ์และถวายไตรจีวรและเครื่องไทยทาน เครื่องสังเค็ต เตียบ และต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งแขวนเงินใส่ในลูกมะนาวต้นหนึ่งใส่เงิน ๓ ชั่ง ตั้งที่พระเมรุทั้ง ๘ ทิศ โดยทิ้งทานวันละ ๘ ต้น ทั้ง ๗ วัน

นอกจากนี้มีระทา ดอกไม้เพลิง และดอกไม้ต่างๆ ตั้งรายรอบพระเมรุเป็นอันมาก

การถวายพระเพลิงนั้น เมื่อสวดครบ ๗ ราตรีแล้ว ได้มีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้ถวายพระเพลิงด้วยไฟฟ้า (แสงพระอาทิตย์โดยใช้แว่นแก้ว) แล้วเอาท่อนกฤษณากระลำพัก และท่อนจันทน์ที่ปิดทองและเครื่องหอมใส่ใต้พระโกศ แล้วจุดเพลิงไฟฟ้า และสาดด้วยน้ำหอม น้ำดอกไม้เทศ น้ำกุหลาบ และน้ำหอมทั้งหลายที่มีกลิ่นหอมตลบไปทั้งพระเมรุ บรรดาเจ้าประเทศราชห้อมล้อมโดยรอบก็ปรายข้าวตอกดอกไม้บูชาถวายบังคม เมื่อเพลิงมอด ก็ดับด้วยน้ำหอมและน้ำกุหลาบ

จากนั้นจึงแจงพระรูป พระสงฆ์ที่เข้ามาสดับปกรณ์ก่อนถวายพระเพลิงพระบรมศพ และเมื่อแจงพระรูปมีพระสังฆราช พระพิมลธรรม พระเทพมุนี พระพรหมมุนี พระเทพเมาลี พระธรรมอุดม พระอุบาลี พระพุทธโฆษา พระมงคลเทพมุนี พระธรรมกถึก พระวินัยธร พระวินัยธรรม พระนาค พระสังฆราชหัวเมือง เป็นต้น

พระรูปที่แจงนั้นนำเข้าในผอบทอง แล้วอัญเชิญขึ้นสู่พระเสลี่ยงทองแห่ออกไปทางประตูมโนภิรมย์ โดยมีกระบวนประโคม ฆ้อง กลอง แตรลำโพง แตรงอน กลองโยน กลองชนะ และพิณพาทย์ เป็นกระบวนพยุหยาตราไปตามทางที่กั้นราชวัติฉัตรธง มีประชาชนโปรยปรายข้าวตอกดอกไม้ แล้วแห่แหนไปลงเรือพระที่นั่งกิ่งแก้วจักรรัตน์สองลำๆ ละผอบ บนเรือประดับด้วยเครื่องสูงต่างๆ พระเจ้าเอกทัศทรงเรือพระที่นั่งเอกชัย มีมหาดเล็กกั้นพระกลดขาวข้างพระองค์ ซ้าย ๔ คัน ขวา ๔ คัน ส่วนพระเจ้าอุทุมพรทรงเรือพระที่นั่งทองขวานฟ้า ตามด้วยเรือพระที่นั่งครุฑด้านซ้าย และเรือพระที่นั่งหงส์ด้านขวา ตามด้วยเรือนาคเหรา เรือนาควาสุกรี เรือมังกรมหรรณพ เรือมังกรจบสายสินธุ์ เรือเหินหาว เรือหลาวทอง เรือสิงหรัตนาสน์ เรือสิงหาสน์นาวา เรือนรสิงห์วิสุทธิ์สายสินธุ์ เรือนรสิงห์ถวิลอากาศ เรือไกรสรมุขมณฑป เรือไกรสรมุขนาวา เรืออังมสระพิมาน เรือนพเศกฬ่อหา ตามด้วยเรือดั้งซ้ายขวา เป็นเรือนำและเรือรอง จากนั้นเป็นเรือคชสีห์ เรือม้า เรือเลียงผา เรือเสือ และเรือเกณฑ์รูปสัตว์ต่างๆ สิ้นสุดด้วยเรือดั้งเรือกันของเจ้าพระยา และอำมาตย์ตลอดจนมหาดเล็กขอเฝ้า

สำหรับพระราชบุตร พระราชธิดา ลงเรือศรีสักหลาดตามหลังเรือพระที่นั่ง พระสนม กำนัล นั่งเรือศรีผ้าแดง


การแต่งกายในการพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ กรมขุนพรพินิจและเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) ฉลองพระองค์และเครื่องประดับล้วนเป็นเครื่องขาว

พระญาติวงศ์ พระสนมกำนัล พระยาประเทศราช แต่งด้วยเครื่องขาว
คนเกณฑ์แห่ แต่งเครื่องขาว ใส่ลอมพอก ถือพัด
เสนาบดี แต่งตัวนุ่งขาว ใส่ลอมพอกขาว ถือพัด
ปุโรหิต ราชครู ถือพัด


ต้นกำเนิดในการใช้ราชรถในกระบวนแห่พระบรมศพ
จากคติความเชื่อที่ว่า ชีวิตของคนที่เกิดมามีช่วงเวลาที่สำคัญในการดำรงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย จะมีการประกอบพิธีเพื่อเป็นสิริมงคลเป็นระยะๆ และในอารยประเทศจะต้องประกอบพิธีสำหรับชีวิต เช่น พิธีสมโภชเดือน พิธีโกนจุก พิธีบวช พิธีแต่งงาน และในที่สุดคือ พิธีศพ ซึ่งจะมีการประกอบพิธีตามฐานะของแต่ละบุคคล สำหรับในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะจัดพิธีศพอย่างใหญ่โต เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีของผู้ล่วงลับไปให้เป็นที่ปรากฏ กับทั้งเป็นการให้บุตรธิดาได้แสดงความกตัญญูสนองคุณบิดามารดาเป็นครั้งสุดท้าย และเพื่อเป็นการทำบุญอุทิศกุศลให้ผู้ตาย ได้อานิสงส์ไปจุติในสรวงสวรรค์ ดังนั้นการประกอบพิธีศพจึงมีความสำคัญมากพิธีหนึ่ง ดังนั้นงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์จึงมีความยิ่งใหญ่เช่นกัน ทั้งการสร้างยานพาหนะที่จะอัญเชิญพระบรมศพ หรือการสร้างพระเมรุมาศที่จะเป็นที่ถวายพระเพลิง ก็ล้วนแต่มีความวิจิตรงดงามยิ่งใหญ่อลังการทีเดียว และราชรถที่ใช้ในพระบรมศพปรากฏชื่อในสมัยอยุธยา เรียกว่า มหาพิชัยราชรถ จึงทำให้คิดว่า พระมหาพิชัยราชรถนั้น เดิมทีอาจจะมิได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เฉพาะการพระบรมศพแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้ในพระราชพิธีอื่นๆ ด้วย อาทิ พระราชพิธีกรานกฐินในเดือน ๑๑ ดังที่กล่าวมาแล้ว สำหรับการใช้พระมหาพิชัยราชรถในงานพระบรมศพ หรืองานพระเมรุมาศในสมัยอยุธยานั้น ปรากฏในพระราชพงศาวดารตามลำดับเวลาดังนี้
พ.ศ.๒๒๒๕ พระเพทราชาแต่งการพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในพระโกศทองคำสู่มหาพิชัยราชรถอลงกต เทียมด้วยม้าต้น ๒ คู่สู่พระเมรุ

พ.ศ.๒๒๔๔ สมเด็จพระเจ้าเสือ อัญเชิญพระบรมศพพระเพทราชาสู่มหาพิชัยราชรถปิลันทนา พร้อมด้วยม้าต้น

พ.ศ.๒๒๔๙ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ ให้เชิญพระบรมโกศพระบรมศพพระเจ้าเสือขึ้นบนพระมหาพิชัยราชรถ เสนาพฤฒามาตย์ราชปุโรหิตแห่แหนพระบรมศพไปตามรัถยาราชวัติเข้าสู่พระเมรุมาศ

พ.ศ.๒๒๗๙ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงจัดการพระศพ เจ้ากรมหลวงโยธาเทพขึ้นบนพระมหาพิชัยราชรถ แห่แหนเป็นกระบวนเข้าไปในพระเมรุ

เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พระมหาพิชัยราชรถได้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว และจากการศึกกับพม่าใน พ.ศ.๒๓๑๐  ทำให้พระมหาพิชัยราชรถและราชยานอื่นๆ อันตรธานสูญหายไป จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างพระมหาพิชัยราชรถขึ้นใหม่เพื่อใช้ในงานพระเมรุของพระปฐมบรมชนกนาถของพระองค์ โดยทรงสร้างตามแบบที่มีมาแต่โบราณทุกอย่าง รวมทั้งราชรถน้อยที่ใช้ในกระบวนแห่พระโกศด้วย และต่อมาได้สร้างเวชยันตราชรถเพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง และได้ใช้มาตลอดจนปัจจุบัน

ลักษณะการจัดงานพระบรมศพในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ใช้พระมหาพิชัยราชรถตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ สามารถศึกษาได้จากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงนิพนธ์ไว้ ตอนพระยาพิเภกอัญเชิญพระบรมศพทศกัณฐ์ขึ้นพระมหาพิชัยราชรถเข้าริ้วกระบวนแห่ไปยังพระเมรุมาศโดยมีรถโยง รถนำตาม ดังความว่า


เมื่อนั้น พระยาพิเภกยักษา
จึงให้เชิญพระศพเจ้าลงกา ขึ้นมหาพิชัยราชรถ
ประดับด้วยเครื่องสูงเศวตฉัตร กรรชิงรัตน์พัดโบกอลงกต
ขนัดพลเกณฑ์แห่เป็นหลั่นลด รถโยงรถนำเรียบเรียง
กลองชนะปี่ฆ้องก้องกึก พันลึกครึกครั่นสนั่นเสียง
แตรงอนแตรฝรั่งเป็นคู่เคียง สำเนียงเอิกเกริกเป็นโกลา
จึงให้เคลื่อนรถทรงบรมศพ พระจอมภพธิราชยักษา
โดยกระบวนไปตามรัถยา ยังมหาเมรุมาศรูจีฯ


นอกจากนี้ยังพบว่าราชรถที่ใช้ในการพระศพของเจ้านายที่มิใช่พระเจ้าแผ่นดินก็จะใช้ชื่อพิชัยรถ ดังปรากฏในเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ทศกัณฐ์จัดงานศพอินทรชิต ดังความว่า

เข้ามาแล้วเชิญพระศพ ลูกเจ้าจอมภพไอสวรรย์
ใส่ลงกับสุคนธ์จุณจันทน์ ตามบัญชาการอสุรี
แล้วเชิญขึ้นยังพิชัยรถ อลงกตจำรัสรัศมี
ประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรี นำไปยังที่บรรตพฯ

อย่างไรก็ดีพบว่า ราชรถที่ใช้ในงานพระศพของเจ้านายที่มียศต่ำลงมามีอีกคันหนึ่ง คือ รถสุรกานต์ โดยพบว่าใช้ในงานพระศพของท้าวจักรวรรดิ แห่งเมืองมลิวัน ในเรื่องรามเกียรติ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 กุมภาพันธ์ 2560 16:28:24 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 22 กุมภาพันธ์ 2560 16:39:01 »



จากวรรณคดีเรื่องอิเหนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงนิพนธ์ ทำให้เราสามารถศึกษาถึงลักษณะของการจัดริ้วกระบวนแห่พระบรมศพของพระมหากษัตริย์ ได้ดังความตอนงานพระบรมศพท้าวหมันยา รวมทั้งทำให้ทราบถึงการแต่งกายของเจ้าหน้าที่ในริ้วกระบวน

บัดนั้น ฝ่ายเจ้าพนักงานน้อยใหญ่
ครั้นจวนกำหนดไม่นอนใจ ก็ตระเตรียมเทียมพิชัยราชรถ
รถใหญ่สำหรับใส่พระโกศทอง เรืองรองรจนาปรากฏ
รถโยงปรายข้าวตอกเป็นหลั่นลดรถอ่านหนังสือรถใส่ท่อนจันทน์
เกณฑ์ไพร่ไว้สำหรับชักฉุด ใส่เสื้อเสนากุฏขบขัน
ที่บ่าวไพร่ใครช้ามาไม่ทัน ก็พากันวิ่งวุ่นทุกมูลนาย
บรรดาหมู่คู่แห่เข้ากระบวน ก็มาถ้วนตามบัญชีที่มีหมาย
ล้วนใส่เสื้อครุยกรุยกราย สมปักลายลำพอกถือดอกบัว   
คนชักรูปสัตว์จัดหนุ่มหนุ่ม ใส่ศีรษะโมงครุ่มครอบหัว
ทับทรวงสังวาลลอดสอดพันพัว แต่งตัวนุ่งโถงโจงกระเบน
กิดาหยันจัดกันตามตำแหน่ง เชิญพระแสงหอกดาบดั้งเขน
ตั้งตาริ้วรายไปใกล้พระเมรุ พรั่งพร้อมตามเกณฑ์ทั้งไพร่นาย

การจัดริ้วกระบวนแห่งานพระเมรุมาศ สมัยรัตนโกสินทร์
กระบวนแห่พระบรมศพจากพระบรมมหาราชวัง ไปยังพระเมรุมาศมีการจัดกระบวนตามพระราชประเพณีโดยมีระเบียบการจัดริ้วกระบวนมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งอาจศึกษาได้จากงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ริ้วกระบวนนั้นจัดขึ้นเมื่อมีการเตรียมการสร้างพระเมรุมาศแล้ว กระบวนเริ่มด้วยกระบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุสู่พระเมรุมาศ ตามด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงช้าง ทรงม้า เป็นกระบวนตามลำดับพระยศ ยกเว้นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร ทรงพระราชยานกงและมีกระบวนแห่เครื่องสูง กลองชนะ สังข์และแตร กระบวนแห่นั้นเริ่มต้นกระบวนที่หน้าวัดพระเชตุพน แห่มาตามถนนหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ตรงไปเลี้ยวศาลาคู่มาเปลื้องเครื่องที่หน้าวัดมหาธาตุ จบกระบวนแห่เจ้านายแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเครื่องแล้วเสด็จโดยพยุหยาตรา ๔ แถว เสด็จประทับเปลื้องเครื่องที่พลับพลา กระบวนแห่อีกระบวนคือกระบวนพยุหยาตราของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

กระบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุ ออกจากประตูวิเศษไชยศรีไปเลี้ยวป้อมเผด็จดัสกรเข้าสู่พระเมรุด้านตะวันออก แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนพระเบญจา พระสงฆ์ราชาคณะ ๘๐ รูป เจริญพระปริตรในพระเมรุ ที่สำสร้างรอบพระเมรุทั้งสี่ด้าน มีพระสงฆ์ในกรุงและหัวเมือง ๔๐๐ รูป เจริญพระปริตร ตอนเย็นเสด็จออกพลับพลาทรงโปรยทาน วันรุ่งขึ้นตั้งบายศรีเวียนเทียนแลทรงโปรยทาน เวลาค่ำจุดดอกไม้เพลิง และกระทำการสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ

กระบวนแห่พระบรมศพประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ มีกระบวนแห่รูปสัตว์ มีรถพระประเทียบและนางสนมตามเบื้องหลัง พร้อมคนเดินกระบวนแห่ ๗,๐๐๐ คน

สำหรับกระบวนพยุหยาตราในการแห่พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ถวายน้ำสรงพระบรมศพ ริ้วกระบวนได้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง ทั้งนี้เพราะได้มีกองทหารเพิ่มขึ้นอีกหลายเหล่า ริ้วกระบวนมีดังนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายน้ำสรงพระบรมศพ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ กลองชนะ มโหระทึก  จากนั้น เจ้าพนักงานกรมพระภูษามาลา มีพระยาราชโกษา พระเทพาภรณ์ ถวายเครื่องทรงอย่างบรมขัตติยาธิราช แล้วอัญเชิญประดิษฐานในพระลองเงิน พระเจ้าอยู่หัวถวายพระมหากฐิน เจ้ากรมพระตำรวจเชิญพระลองลงจากพระที่นั่งอัมพรสถานขึ้นพระเสลี่ยงหิ้ว ประดิษฐานบนพระที่นั่งสามลำคาน มีพระมหานพปฎลเศวตฉัตรคันดาลกั้นพระลอง แถวทหารมหาดเล็กถวายวันทยาวุธ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เจ้าพนักงานประกอบพระโกศทองใหญ่แล้ว พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงค์ประยูรพันธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ครุย ประคองพระโกศ มีขุนนางผู้ใหญ่ เข้าเป็นคู่เคียงซ้ายขวา ๘ คู่ คือ


๑.นายพลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี กับ นายพลโท พระยาสุรเสนา สมุหราชองครักษ์
๒.พระยาวรพงษ์พิพัฒน์ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
๓.นายพลโท พระยาสีหราชเดโชไชย กับ นายพลตรี พระยาประสิทธิ์ศัลการ
๔.พระยาอนุรักษราชมณเฑียร กับ พระยาบำเรอภักดิ์
พระยาอนุชิตชาญไชย กับ พระยาอภัยรณฤทธิ์
๖.พระยาราชสงคราม กับ พระยาสามภพพ่าย
๗.พระยานรฤทธิ์ราชหัช กับ พระยาศิริสัตย์สถิตย์
๘.พระยาเวียงไนยนฤบาล กับ พระยาศุภกรณ์บรรณสาร

กระบวนแห่ทหารบก
ตำรวจมหาดเล็ก เดินเป็นสี่สาย
กลองชนะทอง ๒๐
กลองชนะเงิน ๒๐
กลองชนะแดงลายทอง ๘๐
จ่าปี่
จ่ากลอง
แตรงอน ๑๖
แตรฝรั่ง ๑๒
เครื่องสูงชุมสายบังแทรก หักทองขวาง ด้านหน้า ด้านหลัง ๒ สำรับ
อินทร์เชิญ ต้นไม้เงิน พรหมเชิญ ต้นไม้ทอง
มหาดเล็กเชิญ พระกลด บังสุริย์ พัดโบก
มหาดเล็กเชิญ พระแสงหว่างเครื่องหน้า ๖ หลัง ๔
มหาดเล็กเชิญ เครื่องราชูปโภค เดินหลังพระที่นั่ง
นาลิวันสยายผม เดินหลังเครื่องสูง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องเต็มยศมหาดเล็ก
ทรงพันผ้าดำทุกข์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระราชดำเนินต่อท้ายเครื่องสูง
นายทหารเชิญธงบรมราชธวัช ตามเสด็จ


ตามด้วย พระบรมวงศานุวงศ์ มีทั้งทรงเครื่องเต็มยศและทรงเครื่องผ้าทรงขาวทรงเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ทหารมหาดเล็ก เดินแซงข้างละ ๒ แถว ต่อพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างกลาง
พนักงานกรมม้า จูงม้าพระที่นั่ง ๔ ม้า
ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ฝ่ายทหารและพลเรือนแต่งเต็มยศพันแขนดำ
ทหารเรือ อยู่ท้ายขบวน ผ่านถนนราชดำเนิน ข้ามสะพานมัฆวานรังสรรค์
สะพานผ่านภพลีลา และสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ผ่านเข้าถนนหน้าพระลาน
เข้าพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี
เจ้าพนักงานเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนแว่นฟ้าทองคำ ภายใต้พระนพปฎลเศวตฉัตร
บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดับรอบด้วยเครื่องสูงและตั้งเครื่องราชูปโภคและเครื่องนมัสการ
นางร้องไห้ ร้องอยู่ในฉากมุขด้านทิศใต้

ต่อมาในเดือนมีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ พ.ศ.๒๔๕๔ มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีการจัดริ้วกระบวนแห่พระบรมศพ คือ อัญเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ออกประตูศรีสุนทรไปตามถนนมหาราช ถนนเชตุพน ถนนสนามไชย ไปทรงพระมหาพิชัยราชรถที่หน้าวัดพระเชตุพน โดยกระบวนพระยานมาศสามลำคาน ปักนพปฎลเศวตฉัตร มีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทรงประคองพระโกศ ประทับพระราชยานกงทรงโยง ทรงโปรย และมีพระสงฆ์นำพร้อมด้วยกระบวนพระราชอิสริยยศ เครื่องสูง แตร สังข์ กลองชนะ มโหระทึก และคู่แห่มีคู่เคียงและมหาดเล็กเชิญพุ่มต้นไม้ ทองเงิน เชิญจามรทองแผ่ลวดอยู่หน้าพระราชยานกงพระสงฆ์ มีเครื่องสูงหักทองขวาง ต่อจากเครื่องสูงทองแผ่ลวด และนำพระมหาพิชัยราชรถ ตามด้วยเครื่องสูงหักทองขวางหลัง

กระบวนแห่เป็น ๔ สาย ตำรวจอยู่สายนอก มหาดเล็กอยู่สายใน เครื่องสูงหักทองขวางอยู่ ๒ ข้าง หน้าพระยานมาศสามลำคาน มีหารบกสายนอกต่อกรมตำรวจ กรมทหารเรือสายใน ต่อกรมมหาดเล็ก รวมคู่แห่กรมทหารบก กรมทหารเรือ ๔๙ คู่ และกรมพระตำรวจกับกรมมหาดเล็ก ๗๖ คู่ ตรงสายกลาง เป็นริ้วเครื่องสูงทองแผ่ลวดจามรทองแผ่ลวด และเครื่องสูงหักทองขวาง สังข์แตร กลองชนะ มโหระทึก ตามด้วยริ้วของนาลิวันและมหาดเล็กเชิญเครื่องตามท้ายกระบวนด้วยริ้วพระยาม้าต้น และกระบวนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่นำด้วยธงกระบี่ธุช ธงครุฑพ่าห์ ส่วนธงมหาราช ราชองค์รักษ์และภูษามาลาอยู่งานพระกลดนั้นตามกระบวนเสด็จ
สำหรับกระบวนแห่พระบรมศพจากหน้าวัดพระเชตุพนนั้น มีราชรถสำหรับพระสงฆ์นำ พระบรมศพถูกอัญเชิญขึ้นจากพระยานมาศสามลำคานด้วยเกริน นำขึ้นประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ พระราชยานกง ทรงโปรย และทรงโยง ตามด้วยกระบวนของพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าพระยา เสนาบดี เจ้าผู้ปกครองประเทศราช ราชทูต และข้าราชการชั้นพานทอง

กระบวนแห่พระอิสริยยศพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเช่นเดียวกับพระบรมศพรัชกาลที่ ๕ แต่ตัดราชรถโยง ราชรถโปรยออก ส่วนตอนเวียนพระเมรุมาศนั้น ใช้รถปืนใหญ่รางเกวียน ตั้งพระโกศพระบรมศพแทนพระยานมาศสามลำคาน และพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ก็ปฏิบัติอนุโลมตามแบบอย่างนี้

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเข้าใจถึงการเข้าพระบวนแห่พระบรมศพด้วยพระมหาพิชัยราชรถ สามารถทราบได้จากการแห่พระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันที่ ๒๒-๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๙ จัดอนุโลมแบบสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถเป็นหลัก

ริ้วกระบวนอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙  ได้มีการตัดทอนจำนวนราชรถ และผู้เข้าร่วมกระบวนแห่ลงจากเดิมมาก คือ ราชรถน้อยที่เดิมเข้ากระบวน ๓ องค์ ก็เหลือเพียงองค์เดียว เฉพาะสมเด็จพระสังฆราช อ่านพระอภิธรรม โดยตัดราชรถสำหรับทรงโปรยข้าวตอกดอกไม้ และราชรถสำหรับโยงพระภูษาออก รวมทั้งราชรถรอง คือเวชยันตราชรถก็ตัดออกเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมนั่นเอง และจากการปรับริ้วกระบวนพระอิสริยยศในครั้งนั้นก็ได้นำมาเป็นแบบอย่างอีกครั้ง ในงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๘ ด้วยเช่นกัน โดยมีริ้วกระบวนพระราชอิสริยยศพระบรมศพทั้งหมด ๖ ริ้วกระบวน คือ
ริ้วกระบวนที่ ๑ เชิญพระโกศพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังพระมหาพิชัยราชรถ ที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ริ้วกระบวนที่ ๒ เชิญพระบรมศพจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวง
ริ้วกระบวนที่ ๓ กระบวนอัญเชิญจากพระบรมศพเวียนพระเมรุมาศ
ริ้วกระบวนที่ ๔ กระบวนอัญเชิญพระบรมอัฐิและพระราชสรีรางคารจากพระเมรุมาศ เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง
ริ้วกระบวนที่ ๕ กระบวนอัญเชิญพระบรมอัฐิจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ริ้วกระบวนที่ ๖ กระบวนอัญเชิญพระราชสรีรางคารไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ซึ่งรายละเอียดในแต่ละริ้วกระบวน ได้มีการปรับเปลี่ยนในส่วนปลีกย่อย เพื่อความเหมาะสมอีกเช่นกัน











np.๑๖๗

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 29 มีนาคม 2560 17:08:12 »

















กระบวนทหารม้าตาม ๒๕ ม้า (กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์)  แต่งกายเครื่องแบบทหารรักษาพระองค์เต็มยศ

           โปรดติดตามตอนต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 พฤษภาคม 2560 16:54:51 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 20 เมษายน 2560 16:53:22 »



พระมหาพิชัยราชรถ สำหรับอัญเชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุมาศที่สนามหลวง

ประวัติการสร้างพระมหาพิชัยราชรถและเวชยันตราชรถ

พระมหาพิชัยราชรถ ปรากฏบันทึกการสร้างในพระราชพงศาวดารว่า “...ปีเถาะ สัปตศก พระโองการรับสั่งให้ช่างทำพิชัยราชรถที่จะทรงพระโกศพระอัฐิ ๗ รถ ให้ตัดเสาพระเมรุตั้ง ทรงประดับเครื่องให้แล้วเสร็จในปีเถาะ” การสร้างราชรถครั้งนั้นก็คือการสร้างพระมหาพิชัยราชรถขึ้นเพื่อการพระบรมศพสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ใน พ.ศ.๒๓๓๘ โดยโปรดให้สร้างเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบพระราชประเพณีที่เคยมีมาครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ มีขนาดสูง ๑,๑๒๐ เซนติเมตร ยาว ๑,๕๓๐ เซนติเมตร งานพระเมรุ พ.ศ.๒๓๓๙ ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๔๒ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี สิ้นพระชนม์ ก็โปรดให้อัญเชิญพระโกศทรงบนพระมหาพิชัยราชรถออกพระเมรุอีกครั้งหนึ่ง นับจากนั้นพระมหาพิชัยราชรถก็ได้ถูกกำหนดให้เป็นราชรถเฉพาะอัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินตลอดมา

พระมหาพิชัยราชรถได้ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ได้มีการซ่อมแซมเพื่อใช้งานได้อยู่เสมอ ดังที่ปรากฏในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในครั้งนั้นนอกจากซ่อมแซมให้สวยงามแล้ว ยังโปรดให้เพิ่มล้อขึ้นอีกที่ใต้ตัวราชรถ ทั้งนี้เพื่อให้รับน้ำหนักตัวราชรถและบุษบกยอด และพระโกศที่ตั้งอยู่บนราชรถได้ทั้งหมด นอกจากนี้เพื่อให้การเคลื่อนย้ายเข้ากระบวนพระราชพิธีเป็นไปอย่างสะดวก และรู้สึกมีน้ำหนักเบาขึ้น ต่อมากรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญและความงดงามของงานศิลปกรรมประณีตศิลป์ จึงได้บูรณะซ่อมแซมเสริมความมั่นคงแก่พระมหาพิชัยราชรถขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มรดกงานศิลปกรรมนี้อยู่กับชาติไทยต่อไป การบูรณะพระมหาพิชัยราชรถสำเร็จใน พ.ศ.๒๕๓๐



พระมหาพิชัยราชรถ สำหรับอัญเชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุมาศที่สนามหลวง




เวชยันตราชรถ เป็นราชรถอีกองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออัญเชิญพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ในงานพระเมรุคู่กับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ซึ่งทรงใช้พระมหาพิชัยราชรถ พ.ศ.๒๓๔๒ เวชยันตราชรถมีขนาดสูง ๑,๑๗๐ เซนติเมตร ยาว ๑,๗๕๐ เซนติเมตร

ภายหลังงานพระเมรุ พ.ศ.๒๓๔๒ แล้ว เวชยันตราชรถก็ถูกใช้เป็นราชรถรองในงานพระเมรุพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่อมา จนถึงงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาพระมหาพิชัยราชรถชำรุด ดังนั้นในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ จึงได้ใช้เวชยันตราชรถเป็นรถทรงพระบรมศพ โดยไม่มีราชรถรองในริ้วกระบวน และแม้ในการพระเมรุอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ก็ได้ใช้เวชยันตราชรถ เป็นรถอัญเชิญพระบรมศพ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๘ ซึ่งกรมศิลปากรก็ได้ซ่อมแซมเสริมความมั่นคง และตกแต่งความสวยงามด้วยการลงรักปิดทองประดับกระจกในการนี้ด้วยและได้ออกหมายเรียกว่าพระมหาพิชัยราชรถ

ในกระบวนแห่พระบรมศพไปยังพระเมรุมาศ นอกจากพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราชรถยังมีราชรถน้อยอีก ๓ องค์ ราชรถน้อยมีลักษณะคล้ายราชรถองค์ใหญ่ทั้งสององค์ คือมีส่วนตัวรถที่แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก คานที่ยื่นออกมาเป็นรูปนาคราช บนราชรถมีบุษบกตั้งอยู่เช่นเดียวกัน เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก ราชรถน้อยองค์หนึ่งใช้เป็นราชรถที่สมเด็จพระสังฆราชประทับ ทรงสวดนำกระบวนพระมหาพิชัยราชรถ ราชรถองค์ที่สอง เป็นราชรถโยงผ้าจากพระบรมโกศ จัดเป็นราชรถตาม จากนั้นเป็นราชรถน้อยอีกองค์หนึ่ง ใช้เป็นรถสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ประทับ เพื่อทรงโปรยทานพระราชทานแก่ประชาชนที่มาเฝ้ากราบพระบรมศพตามทางสู่พระเมรุมาศ ต่อจากนั้นตามด้วยราชรถรอง คือเวชยันตราชรถและรถประเทียบอื่นๆ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าราชรถที่ใช้ในการพระบรมศพจริงๆ มี ๕ องค์ ซึ่งล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และได้นำออกใช้งานพระเมรุมาศทุกรัชกาลจนปัจจุบัน คราวใดที่ราชรถองค์ใดชำรุดทรุดโทรม ก็จะได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาตลอด เพื่อให้มีสภาพที่ใช้การได้และเพื่ออนุรักษ์งานศิลปกรรมไทยไม้จำหลักที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นมรดกแห่งบรรพชนไทยตลอดไปชั่วกาลนาน อันจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในอัจฉริยะของบรรพบุรุษทั้งในด้านภูมิปัญญา และสุนทรียะที่เต็มไปด้วยความรอบรู้ ในปรัชญาทางศาสนาอย่างลึกซึ้งอีกด้วย



รายละเอียดไม้่จำหลักประดับพระมหาพิชัยราชรถ


รายละเอียดไม้่จำหลักประดับพระมหาพิชัยราชรถ


ส่วนต่างๆ ของพระมหาพิชัยราชรถ


ส่วนต่างๆ ของพระมหาพิชัยราชรถ


เกริน กล่าวได้ว่าเป็นบันไดเลื่อนโบราณ
ใช้ยกพระบรมโกศจากพระยานมาศขึ้นไปประดิษฐานบนบุษบกของพระมหาพิชัยราชรถ


บน เกรินด้านหน้าของเวชยันตราชรถ จำหลักเป็นลายพญานาค ล่าง ที่นั่งเกรินด้านหน้าของ
นักสราชที่ถือแพนหางนกยูง เพื่อให้เป็นสัญญาณของการเคลื่อนกระบวนแห่พระบรมศพจากเวชยันตราชรถ


เวชยันตราชรถ สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เพื่ออัญเชิญพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
จากนั้นต่อมาใช้เป็นราชรถรองในกระบวนแห่พระบรมศพไปยังพระเมรุมาศ
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 02 มิถุนายน 2560 11:07:27 »



ส่วนประกอบพระมหาพิชัยราชรถ
-ใต้เชิงกลอนชั้นล่างสุดห้อยเฟื่องอุบะสีเงิน
-ที่เสาบุษบกทั้งสี่ด้านผูกม่าน
-มีฉัตรห้าชั้นระบายสองชั้นประกอบฐานเบญจารถหน้า-หลัง ด้านละคู่
-มีนักสราชประจำเกรินรถช้้นล่างสุดท้ั้งหน้า - หลัง  


ความหมายและคติความเชื่อ

พระมหาพิชัยราชรถ เวชยันตราชรถ และราชรถน้อยทั้ง ๓ องค์ ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เพื่อใช้เป็นราชรถในการพระบรมศพโดยเฉพาะนั้น หากจะพิจารณาถึงความหมายและคติความเชื่อที่จินตนาการออกมาเป็นรูปร่างที่เห็นนั้น จะพบว่า การให้รูปแบบเต็มไปด้วยปรัชญาทางความเชื่อที่มีความหมายเกี่ยวกับเทพเจ้าที่พ้องกันทั้งในพระพุทธศาสนาและในศาสนาพราหมณ์ ก็คือเรื่องของจักรวาล พระพุทธศาสนา จะกล่าวว่าจักรวาลประกอบด้วยทวีป ๔ ทวีป คือ อุตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป บุรพวิเทหทวีป และชมพูทวีป กับทั้งประกอบด้วยภูมิทั้ง ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ จักรวาลนี้มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางและเป็นที่ประทับของพระอินทร์ ซึ่งทรงเป็นประธานเหนือเทพทั้งปวง ส่วนในศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเขาไกรลาสเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นที่ประทับของพระศิวะหรือพระอิศวร รูปแบบของพระมหาพิชัยราชรถและเวชยันตราชรถ ก็น่าจะสร้างขึ้นตามคติความเชื่อในเรื่องของจักรวาลทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการแสดงถึงว่า ได้ให้พระสงฆ์สวดนำวิญญาณไปสู่ที่สงบอันมีโลกุตรและนิพพานเป็นสำคัญ รูปแบบของราชรถเป็นการจำลองเอาเฉพาะเขาพระสุเมรุเพียงองค์เดียว โดยใช้รูปของบุษบกเป็นสัญลักษณ์ บุษบกเป็นอาคารโปร่งรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างจัตุรัส เปิดโล่งทั้ง ๔ ทิศ หลังคาเป็นชั้นๆ ประกอบด้วยซุ้มรังไก่เรียงกัน ๓ ซุ้ม ชั้นแต่ละชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปดูเรียวแหลม ในด้านสถาปัตยกรรมถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ของช่างที่ทำให้หลังคาดูเบาและสวยงามไม่หนักเทอะทะ ตัวบุษบกหากจะเปรียบกับชั้นภูมิของจักรวาล ก็น่าจะเป็นชั้นอรูปภูมิได้ เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศซึ่งบรรจุพระบรมศพ ซึ่งเปรียบได้กับวิญญาณที่ไม่มีรูป ก็น่าจะเข้ากับคติความเชื่อนี้ได้ กับทั้งเป็นการเทิดพระบารมีแห่งองค์ในพระบรมโกศ ซึ่งเปรียบเสมือนทรงเป็นเทพในสัมปรายภพนั่นเอง

บุษบกตั้งอยู่บนฐานที่ซ้อนกัน ๓ ชั้น อันเปรียบได้กับภูมิทั้ง ๓ ๔ภูมินั้น จะเห็นว่า ฐานแต่ละชั้นมีรูปเทวดานั่งพนมมือเรียงรายอยู่โดยรอบ โดยมีพญานาค ๔ ตัว โอบอยู่โดยรอบด้านละ ๒ ตัว ซึ่งหันเศียรออกไปทางทิศตรงกันข้าม ทำให้เห็นด้านข้างของราชรถ มีปลายที่งอนโค้งขึ้น ดูคล้ายบุษบกมาลาที่ประกอบเป็นมุขอยู่หน้าบัญชร ในส่วนของท้องพระโรงที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกว่าราชการ ดังนั้นจะเห็นว่าเทวดานั่งพนมมือและพญานั้นก็เป็นสัญลักษณ์แห่งสรรค์ที่อยู่ในรูปภูมินั่นเอง ฐานทั้ง ๓ ชั้นตั้งอยู่เหนือตัวรถะที่ประกอบด้วยล้อขนาดใหญ่ ๔ ล้อ และมีล้อเล็กอยู่แนวกลางใต้ฐาน และคันชักอีก ๒ จุด เพื่อรับน้ำหนักของราชรถทั้งคัน ดังนั้นล้อ คาน และเพลา จึงต้องมีความแข็งแรงเป็นพิเศษด้วย อันเปรียบได้กับโลกหรือกามภูมินั่นเอง



ราชรถน้อยในกระบวนแห่พระบรมศพมี ๓ องค์ คือ
สำหรับพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรม ๑ โปรยข้าวตอกดอกไม้ ๑ และโยง ๑




เทพนมและลวดลายประดับไม้จำหลักประดับตามชั้นรอบราชรถน้อย

สุนทรียะในพระมหาพิชัยราชรถ
พระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งใช้เป็นราชรถสำหรับงานพระบรมศพนั้น ช่างได้สร้างขึ้นด้วยความพิถีพิถันเต็มไปด้วยจินตนาการที่มุ่งถึงสัญลักษณ์แห่งสวรรค์ คือเขาพระสุเมรุเป็นสำคัญ และส่วนต่างๆ ของราชรถกล่าวได้ว่า ช่างได้ใช้ลายประดับได้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่ฐานล่างขึ้นไปถึงยอดดังนี้

๑.ตัวราชรถส่วนล่าง
ตัวราชรถส่วนล่างประกอบด้วย ๔ ล้อ ที่มีส่วนหน้าเรียกว่า เกรินรถ และด้านหลังเรียกว่า ท้ายเกริน ในสองส่วนนี้ด้านหน้าแกะสลักเป็นลายกระหนกนาคประดับส่วน แปรก และท้ายแกะสลักเป็นกระหนกนาง สำหรับประดับเป็นหางนาค ที่ส่วน ท้ายแปรก แนวนี้ประกบด้วยแถวลายกระจังตาอ้อยตรงส่วน หน้ากระดาน ประดับด้วยลายลูกฟักประจำยาม มีส่วนล่างเป็นลายกระจัง และกระจังรวนส่วนแปรกราชรถ ซึ่งเป็นไม้ยาวประดับทาบล้อราชรถนั้น แกะสลักเป็นลายรักร้อยยาวตลอดแนว ส่วนล่างเป็นลายกระจังรวน และกระจังฟันปลา

๒.ล้อราชรถ
ตัว กง ล้อราชรถแกะสลักเป็นลายลูกฟักประจำยาม ประดับอยู่ใต้ลายกลีบบัว ส่วน กำ ล้อราชรถ เป็นลายกรวยเชิงประกบด้วยลายลายซีกประจำยาม ดุม ล้อราชรถ ประดับลายประจำยาม

๓.ฐานเขียงชั้นล่าง
ฐานเขียงนี้รองรับฐานเบญจาชั้นที่ ๑ ประกอบด้วย ช่องพนักลูกกรง ๔ ช่อง คั่นด้วย เสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ แผงพนัก เป็นเสากลึง เว้นระยะช่องกลางเป็นทางขึ้นลง

ใต้ฐานราชรถมีส่วน งอนรถ ยื่นยาวออกมา ๒ ด้าน ส่วนปลายเป็นรูปเศียรนาค ซึ่งเป็นส่วนสำหรับติดธง ๓ ชาย เรียกว่า ธงงอนรถ ตรงกลางส่วนงอนรถมีล้อเล็กซึ่งมีคันโยกคอยบังคับให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา

๔.ฐานบุษบก
ฐานบุษบกชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ เป็นฐานชั้นล่างของตัวบุษบก ซึ่งมักเรียกว่า เกรินรถ ประกอบด้วยหน้ากระดานชั้นเกรินลายลูกฟักประจำยาม ด้านบนแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ กระหนกเศียรนาคหน้าเกรินและกระหนกหางนาคหรือกระหนกนางท้ายแปรก

ตรงกลางหัวเกรินและท้ายเกริน เป็นชั้นเบญจาที่ประดับด้วยลูกกรงแผงพนักที่คั่นด้วยเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ซี่ลูกกรงไม้กลึง แผงพนักตรงกลางเว้นช่องเป็นทางขึ้นลง ที่โคนเสาหัวเม็ดประดับด้วยลายกระจังปฏิญาณ ส่วนแถวด้านหน้าแผงพนักประดับด้วยลายกระจังเจิม และลายกระจังตาอ้อย ส่วนแนวใต้ฐานหน้ากระดานประดับด้วยแนวลายลูกบัวแก้ว (บัวหงาย) ใต้ลงไปเป็นลายกระจังรวนหัวกลับ ตรงกลางฐานเบญจาทั้งส่วนหัวเกรินและท้ายเกรินประดับด้วยรูปเทวดานั่งคุกเข่าพนมมือเรียงกันเป็นระยะๆ (เทพนม) ฐานลักษณะนี้ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๓ ชั้น แล้วถึงฐานสิงห์ของบุษบก

๕.ฐานบุษบกชั้นที่ ๓
ฐานบุษบกชั้นมีลักษณะคล้ายกับฐานชั้นที่ ๑ และชั้นที่ ๒ เพียงแต่ไม่มีรูปเทพนม

๖.ฐานสิงห์บุษบก
ฐานสิงห์เป็นฐานของตัวบุษบก ซึ่งเป็นชั้นเกรินด้วย และชั้นนี้มีลักษณะที่ประกอบด้วยเกรินกระหนกนาคหัวแปรก และกระหนกหางนาคหรือกระหนกนางท้ายแปรก ชั้นเบญจาหรือฐานเขียงประดับลายลูกฟักประจำยาม ประกอบเป็นหัวท้ายของตัวบุษบก ด้านล่างชั้นเกรินประดับด้วยแนวลายบัวแวงของชั้นเกริน กับบัวแวงบุษบกที่ย่อมุมไม้สิบสอง ใต้ลงมาเป็นแนวลายบัวคว่ำหรือบัวถลา ซึ่งอยู่เหนือชั้นหน้ากระดานล่างของบุษบกของฐานสิงห์

๗.ตัวบุษบก
บุษบกเป็นอาคารสี่เหลี่ยมทรงโปร่งขนาดย่อมย่อมุมที่เสาแต่ละด้าน ด้านละ ๓ มุม นั่นคือบุษบกนี้ย่อมุมไม้สิบสอง ตัวบุษบกตั้งสวมลงตรงกลางของชั้นเกรินฐานสิงห์ ฐานบุษบกที่เป็นหน้ากระดานล่างแกะสลักลายประจำยามก้ามปู ซึ่งใต้ลงมาเป็นแนวบัวแวง ประกบด้วยลายกระจังตาอ้อย เหนือขึ้นมาเป็นแนวท้องไม้มีรูปเทพนมนั่งประดับเรียงกันเป็นแถวโดยรอบ

เหนือท้องไม้เป็นหน้ากระดานบน ประดับลายประจำยามก้ามปู มีแนวบัวหงายรองรับ ซึ่งเป็นฐานบนของตัวบุษบก ที่เป็นกรอบขึ้นมาประดับแผงพนัก และมีแนวกระจังเจิม และกระจังฟันปลา หรือกระจังรายประดับด้านนอก ส่วนมุมล่างด้านนอกของเสาบุษบกประดับด้วยลายกระจังมุมหรือกระจังปฏิญาณ ตัวเสาบุษบกเหนือแผงพนักประดับด้วยลายกาบพรหมศร เสาทั้ง ๔ ประดับด้วยลายรักร้อยกาบปลีคั่นกลางเสาด้วยลายประจำยามรัดอก

๘.คันทวย
คันทวยที่ค้ำยันอยู่ที่ปลายเสาด้านบนและยึดรับมุมชั้นหลังคาบุษบกนั้นแกะสลักเป็นลายนาค ๓ เศียร ที่หางม้วนยกขึ้นรับมุมชั้นหลังคาชั้นล่าง หางนาคตกแต่งคล้ายลายขอสร้อยได้อย่างเหมาะสม

๙.ชั้นหลังคา
หลังคาบุษบก มีลักษณะเช่นเดียวกับยอดปราสาท ซึ่งเป็นชั้นหลังคาทีเรียกว่าชั้นบันแถลง ซึ่งตรงกลางของแต่ละด้านประดับด้วยซุ้มรังไก่ ๓ ซุ้ม โดยซุ้มกลางมีขนาดใหญ่กว่าอีกสองซุ้มที่ขนาบอยู่ ระหว่างซุ้มรังไก่ประดับด้วยลายกระจังแทรกหรือกระจังเจิม ส่วนมุมชั้นบันแถลงหรือหางหงส์นั้นใช้ประดับด้วยลายนาคปัก บริเวณสันหลังคาซุ้มบันแถลง ประดับด้วยบราลี ซึ่งมีลักษณะเป็นเสากลึงยอดแหลม ชั้นบันแถลงตั้งอยู่บนฐานที่เป็นส่วนบนของฐานบัวลูกแก้ว หลังคาบันแถลงนี้ซ้อนลดหลั่นขึ้นไปโดยแต่ละชั้นคั่นด้วยคอสอง และชั้นเชิงกลอน ในชั้นหลังคาบันแถลงชั้นที่ ๔ ซึ่งจะมีขนาดสูงกว่าชั้นอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อรองรับกับฐานองค์ระฆังได้อย่างเหมาะสมสวยงามนั่นเอง

๑๐.องค์ระฆัง
องค์ระฆังแบบองค์ระฆังเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งสวมอยู่บนชั้นบันแถลง ชั้นที่ ๕ ตัวองค์ระฆังประดับด้วยแนวลายรักร้อยตรงทั้งแนวกลาง และแนวส่วนที่ย่อมมุมส่วนบนขององค์ระฆังประดับด้วยลายบัวคอเสื้อ เหนือองค์ระฆังเป็นส่วนบัลลังก์ ซึ่งรองรับส่วนเหมซ้อน ๓ ชั้น ส่วนเหมประดับลายคล้ายลายกาบหรือบัวกลีบขนุน ด้วยมีลักษณะเป็นชั้นสอบชะลูดเล็กน้อย เหนือชั้นเหมขึ้นไปเป็นลายบัวกลุ่มซ้อน ๗ ชั้น จึงถึงส่วนปลีที่ยาวเรียว ซึ่งจะต่อกับส่วนปลียอด โดยมีลูกแก้วคั่นเพื่อจะได้เห็นว่ายอดบุษบกนี้ไม่ยาวเรียวเกินไป อันเป็นการแสดงให้เห็นภูมิปัญญาของช่างที่คิดทำจุดพักสายตาของส่วนยอดสวยงามและปลายสุดของยอดบุษบกประดับด้วยพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งประดิษฐ์มาจากรูปดอกบัวตูมนั่นเอง


๑.พุ่มข้าวบิณฑ์ ๒๐.ประจำยามรัดอก ๓๘.เกริน
๒.ปลียอด ๒๑.กาบพรหมศร ๓๙.ธงงอนรถ
๓.ลูกแก้ว ๒๒.แพงพนัก ๔๐.หัวนาคงอนรถ
๔.ปลี ๒๓.กระจังราย ๔๑.งอนรถ
๕.บัวกลุ่ม ๒๔.กระจังมุม ๔๒.คันโยกล้อ
๖.เหม ๒๕.หน้ากระดานบน ๔๓.กระหนกนาคหัว-ท้ายแปรก
๗.บัลลังก์ ๒๖.เทพนม ๔๔.แปรก
๘.บัวคอเสื้อ ๒๗.ชั้นเกริน ๔๕.กงรถ (กงล้อ)
๙.องค์ระฆัง ๒๘.บัวแวงชั้นเกริน ๔๖.กำ
๑๐.ชั้นหลังคา ๒๙.บัวแวงบุษบก ๔๗.กุม
๑๑.ชั้นเชิงกลอน ๓๐.หน้ากระดานล่างบุษบก ๔๘.ตัวรถ
๑๒.คอสอง ๓๑.ฐานสิงห์บุษบก ๔๙.กระหนกท้ายเกริน
๑๓.บราลี ๓๒.ท้องไม้ชั้นเกริน ๕๐.ลูกกรงแพงพนัก
๑๔.ซุ้มรังไก่ ๓๓.บัวชั้นเกริน ๕๑.เสาเม็ดทรงมัณฑ์
๑๕.บันแถลง ๓๔.เทพนมชั้นเกริน ๕๒.ท้องไม้เบญจา
๑๖.นาคปัก ๓๕.กระหนกนาคหน้าเกริน ๕๓.ชั้นเบญจา
๑๗.กระจังแทรก ๓๖.หน้ากระดานชั้นเกริน ๕๔.ฐานเขียงรองรับชั้นเบญจา
๑๘.คันทวย ๓๗.กระจังรวนชั้นเกริน ๕๕.เสาเม็ดช่องพนักลูกกรง
๑๙.เสาย่อไม้สิบสอง


เทพนมและลวดลายประดับไม้จำหลักประดับตามชั้นรอบราชรถน้อย




รายละเอียดส่วนต่างๆ ของราชรถ


ส่วนท้ายราชรถ สลักเป็นลายกระหนกเปลว ซึ่งคล้ายหางนกหรือหางครุฑ


รายละเอียดของศีรษะครุฑ ไม้จำหลักประดับราชรถน้อย
ครุฑ สัญลักษณ์พญานกแห่งสวรรค์ และยังหมายถึงพระอาทิตย์ด้วย


รายรถน้อยอีกองค์หนึ่ง ซึ่งพบว่าลายประดับที่เป็นศีรษะของพญานาค
ในราชรถนี้มีลักษณะปากเป็นแบบปากครุฑ ราชรถองค์นี้ยังไม่ได้รับการ
ซ่อมแซมมากนัก จึงเป็นที่น่าสนใจมาก


ราชรถโถง สำหรับอัญเชิญพระโกศพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์
ตัวราชรถเป็นไม้จำหลักรูปพญานาค ลงรักปิดทอง เทียมลากด้วยม้า
สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์


ราชรถโถง หลังคาแบบสีวิกา ใช้เชิญพระศพพระบรมวงศานุวงศ์
เทียมลากด้วยม้า สมัยรัตนโกสินทร์


ราชรถโถง สำหรับเชิญพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นรอง
ใช้เทียมลากด้วยม้า สมัยรัตนโกสินทร์

ลำดับต่อไป "พระเมรุมาศ"
215
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 มิถุนายน 2560 11:16:54 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 13 กันยายน 2560 18:01:07 »



พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ขอขอบคุณภาพจาก Pantip.com
องค์พระเมรุมาศรูปปราสาท เครื่องยอดทรงมณฑป ปลียอดปรางค์ มีพระเมรุทองอยู่ภายใน

พระเมรุมาศ

พระเมรุมาศ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สร้าง ณ ท้องสนามหลวง เพื่ออัญเชิญพระบรมศพจากพระบรมมหาราชวัง ด้วยกระบวนพระราชอิสริยยศออกไปประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงบนอาคารพระเมรุมาศ เป็นวัฒนธรรมไทยที่สืบมาแต่สมัยอยุธยา (พ.ศ.๑๘๙๓-๒๓๑๐) กำหนดเป็นพิธีกรรมยิ่งใหญ่ของบ้านเมือง เป็นโบราณราชประเพณีที่มีแบบแผนถือปฏิบัติอย่างมีระเบียบ เป็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาติไทยสืบมาถึงปัจจุบัน

การจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงสร้างพระเมรุมาศ เป็นการถวายพระเกียรติยศแสดงความเคารพอย่างสูงที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตล่วงแล้ว ในสมัยโบราณถือว่าการจัดงานถวายพระเพลิงเป็นการประกาศความมั่นคงของบ้านเมือง ด้วยเป็นเหตุการณ์เปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระมหากษัตริย์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อจะต้องแสดงพระบรมเดชานุภาพให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า จะทรงปกครองแผ่นดินให้ผาสุกร่มเย็น เป็นที่เกรงขามแก่ประเทศราชและอริราชศัตรูได้นั้น การสร้างพระเมรุมาศที่โอฬารและประกอบพระราชพิธียิ่งใหญ่ เป็นสิ่งบ่งบอกถึงฐานะอันแข็งแกร่ง มีกำลังอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้อย่างดีประการหนึ่ง ถือว่าเป็นศักดิ์ศรีและเป็นเกียรติยศปรากฏแผ่ไพศาลตั้งแต่ต้นแผ่นดิน เป็นราชประเพณีที่แฝงคติการเมืองไว้อย่างชัดเจน

ราชประเพณียังได้ถวายพระเกียรติยศแด่พระราชินี พระบรมราชชนนีและพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงประกอบคุณความดีอันใหญ่หลวงแก่บ้านเมืองด้วยการสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระราชทานเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวง ด้วยเช่นกัน โดยมีลักษณะพระเมรุมาศและพระเมรุ ตลอดจนการจัดพระราชพิธีจะลดหลั่นกันตามพระราชอิสริยยศ

การสร้างพระเมรุมาศ
คติการสร้างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวงเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ เป็นวัฒนธรรมที่กรุงศรีอยุธยารับอิทธิพลมาจากการปกครองแบบเทวนิยมของขอม ด้วยเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือสมมติเทวราช เมื่อพระราชสมภพถือเป็นทิพยเทพาวตาร ครั้นถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพก็ต้องเสด็จกลับยังเทวพิภพ การเสด็จไปคือ สุรคต ไทยเรียกว่า สวรรคต ซึ่งการประกอบพระราชพิธีทั้งปวงของบ้านเมืองและพระมหากษัตริย์ พราหมณ์ปุโรหิตาจารย์จะเป็นผู้กำหนดแบบแผนพิธีไว้ให้เป็นระเบียบ ซึ่งยึดถือเป็นวัฒนธรรมอันมั่นคงสืบมา

ความเชื่อของไทยแต่ครั้งสุโขทัยนับถือทั้งศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาได้ยึดถือเรื่องไตรภูมิตามคติในทางพุทธศาสนาที่กล่าวถึงจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม แวดล้อมด้วยสรรพสิ่งนานา เช่น วิมานท้าวจตุโลกบาลผู้รักษาเหลี่ยมเขาพระสุเมรุทั้ง ๔ ทิศ และเขาสัตบริภัณฑ์ ครั้นสมัยอยุธยารับคติเทวนิยมมาเป็นแบบการปกครอง เชื่อว่าพระมหากษัตริย์สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า พระเป็นเจ้าของพราหมณ์ คือ พระวิษณุ พระนารายณ์ พระพรหม และพระศิวะ ซึ่งชาวไทยนับถือสายวงศ์พระนารายณ์เป็นเจ้า ดังปรากฏพระมหากษัตริย์ทั้งต้นราชวงศ์สมัยสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ จะขานพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี หมายถึงพระนามพระนารายณ์ที่อวตารจุติลงมา พระเป็นเจ้าทั้งหลายต่างสถิตอยู่ ณ เขาพระสุเมรุ อันเป็นพญาเขาใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล มีเขาบริวาร เรียกว่า สัตบริภัณฑ์ ๗ ทิวล้อมรอบลดหลั่นเป็นชั้นๆ สลับกับแผ่นดินและแผ่นน้ำสีทันดรล้อมไว้ ประดุจกำแพงแก้ว เขาพระสุเมรุจึงมีความสำคัญตามความเชื่อที่สืบมาแต่โบราณ

ในเขตเขาพระสุเมรุ จะมีป่าหิมพานต์ มีสิงสาราสัตว์หลากหลายนานาพันธุ์ ล้อมด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ คือ ยุคันธร หรือ ยุคุนธร เป็นคันขอบของเขาพระสุเมรุ เป็นที่ทรงไว้ของพระอาทิตย์และพระจันทร์  อิสินธร เป็นทิพย์วิมานของมหิสสรเทวบุตร  กรวิก เป็นที่อาศัยของนกกรวิก  สุทัสนะ เป็นที่เกิดทิพย์โอสถว่านยาวิเศษ  เนมินธร เป็นที่เกิดของปทุมชาติที่มีขนาดใหญ่เท่ากงรถและกงเกวียน  วินันตกะ เป็นที่อยู่ของมารดาพญาครุฑ และ อัสสกัณณะ เป็นที่เกิดของไม้กำยาน

พระมหากษัตริย์คือสมมติเทพ เมื่อประทับที่ใด สถานที่นั้นเสมือนจำลองมาจากสรวงสวรรค์ เช่น พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท ก็นำมาจากชื่อพระวิมานของพระอินทร์ และอีกหลายองค์ อาคารพระที่นั่งทั้งหลายในพระราชวังทั้งสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ได้นำมาจากชื่อพระวิมานต่างๆ ของทวยเทพในสรวงสวรรค์ ซึ่งการสร้างสรรค์ก็จะสร้างอย่างวิจิตรสวยงามอลังการเฉกเช่นพระวิมานของเทพด้วย

ครั้นถึงกาลสวรรคตที่จะเสด็จไปสู่เทวพิภพ ณ ดินแดนเขาพระสุเมรุตามคติความเชื่อ จะต้องประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ ท้องสนามหลวง เพื่ออัญเชิญให้พระมหากษัตริย์ได้ไปถึงภพแห่งความดีงามอันมีแดนอยู่ที่เขาพระสุเมรุ สิ่งก่อสร้างในการพระราชพิธีทั้งปวง จึงสร้างให้มีลักษณะเป็นปราสาทพระราชวัง แม้การถวายพระเพลิงก็ถวายในพระมหาปราสาทอย่างสมพระเกียรติยศ ท้องสนามหลวงได้รับการตกแต่งให้มีลักษณะอย่างเขาพระสุเมรุ อาคารที่ถวายพระเพลิงจึงเรียกว่า พระเมรุ และ พระเมรุมาศ เลียนชื่อเขาพระสุเมรุ การสร้างพระเมรุมาศและปริมณฑลก็คือการสร้างพระราชวังถวายให้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงนั่นเอง ดังนั้น สิ่งก่อสร้างอาคารบริวารส่วนประกอบในเขตปริมณฑล จะจำลองให้ละม้ายคล้ายกับดินแดนเขาพระสุเมรุ เช่น แต่โบราณมีรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ ตั้งบนสังเค็ดผ้าไตรถวายสงฆ์ เดินเข้ากระบวนพระอิสริยยศอัญเชิญพระบรมศพสู่พระเมรุมาศด้วย

การสร้างพระเมรุมาศในสมัยโบราณ จะปรับพื้นที่พูนดินสร้างเขาให้มีลักษณะประดุจเขาพระสุเมรุก่อน แล้วจึงก่อสร้างอาคารประกอบพระราชพิธี ซึ่งมิได้หมายถึงอาคารถวายพระเพลิงองค์เดียว แต่ยังแวดล้อมด้วยอาคารต่างๆ ล้อมรอบปริมณฑล เช่น ประดุจโบสถ์ วิหาร มีระเบียงล้อมรอบเป็นขอบเขตแผนผังของพระเมรุมาศ จัดตามลักษณะผังเขาพระสุเมรุ มีอาคารที่จำเป็นต่อการประกอบพิธีกรรมนอกเหนือจากพระเมรุมาศสร้างขึ้นจากความบันดาลใจของช่างอย่างวิจิตรอลังการแล้ว จะประกอบด้วยศาลาและอาคารที่ใช้สอยต่างๆ ประดุจจะสร้างวังทั้งวังขึ้นบนเขา มีรั้วราชวัติล้อมรอบ ประดับฉัตร ธงทิว รายล้อมด้วยรูปสัตว์นานา ตกแต่งเป็นสวนพฤกษชาติล้อเลียนธรรมชาติตามคติในเขาพระสุเมรุ และทิวเขาสัตบริภัณฑ์อย่างสวยงาม



พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเมรุทรงบุษบก


ลักษณะบุษบกทิศหรือเมรุทิศ พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ รูปบุษบก ยอดบุษบกปลียอดพรหมพักตร์
ด้านตะวันออก อาคารเล็ก เป็นศาลาเปลื้องเครื่อง


แบบร่างพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ รูปบุษบก


พระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
ขอขอบคุณภาพจาก Pantip.com


พระเมรุมาศสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๔ พุทธศักราช ๒๔๐๕
รูปแบบปราสาท เครื่องยอดทรงมณฑป ปลียอดเป็นปรางค์


พระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลย์มารศรี พระอัครราชเทวี รูปแบบปราสาทยอดมณฑป


พระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
พระเมรุทรงมณฑป ถวายพระเพลิงบริเวณวัดบวรสถานสุทธาวาส มองเห็นพระอุโบสถอยู่ด้านซ้ายพระเมรุ
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 กันยายน 2560 17:06:46 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 14 กันยายน 2560 17:50:13 »


พระเมรุทองถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า
จิตรกรรมฝาผนังที่วังสวนผักกาด สมัยอยุธยา

พระเมรุมาศสมัยอยุธยา

การสร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมูลเหตุคติการปกครองระบอบเทวนิยมในสมัยอยุธยา ส่วนการถวายพระเพลิงสมัยสุโขทัยเป็นอย่างไรนั้น เมื่อนำแนวทางของระบบการปกครองมาวิเคราะห์ สุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อเมือง ประชาชนเปรียบเสมือนลูกหลานใช้คุณงามความดีเป็นแกนนำ การถวายพระเพลิงเป็นแบบคติที่อินเดียยึดถือ โดยการสร้างแท่นแว่นฟ้ากลางแปลง เหนือแท่นแว่นฟ้าตั้งจิตกาธานหรือกองฟืน แล้วตั้งหีบพระศพเหนือกองฟืนถวายพระเพลิงโดยปราศจากอาคารมีหลังคาคลุม เพื่อให้เปลวเพลิงธาตุถ่านลอยขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งปัจจุบันทางภาคเหนือยังนิยมถือปฏิบัติอยู่บ้าง

พระเมรุมาศในสมัยอยุธยาที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร มีความยิ่งใหญ่โอฬารมากสอดคล้องกับหลักที่ว่า การสร้างพระเมรุมาศถือเป็นความมั่นคงของประเทศ พระเมรุมาศรัชกาลใดยิ่งใหญ่กิตติศัพท์จะขจรเลื่องลือ ประกาศให้รับรู้ว่าบ้านเมืองรัชกาลนั้นเข้มแข็งให้เป็นที่เกรงขามแก่หมู่ปัจจามิตร เป็นวิเทโศบายทางการเมืองประการหนึ่ง เช่น พระเมรุมาศของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) ใหญ่โตงดงามมาก สร้างอยู่บนพื้นที่ที่มีปริมณฑลไพศาล ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพระเมรุมาศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๓๓-๒๑๔๘) กว่า ๕ วาเศษ ดังนี้


“...พระเมรุมาศ...โดยขนาดใหญ่ ขื่อ ๗ วา ๒ ศอก โดยสูง ๒ เส้น
๑๑ วา ศอกคืบ มียอด ๕ ยอด ภายในพระเมรุทองนั้น  ประกอบไปด้วย
เครื่องสรรพโสภณพิจิตรต่างๆ สรรพด้วย พระเมรุทิศ พระเมรุแทรก และ
สามสร้างเสร็จ และการพระเมรุมาศนั้น ประมาณ ๘ เดือน จึงสำเร็จ...”

มีความหมายดังนี้
พระเมรุมาศ คือ อาคารปราสาทเรือนยอด มียอด ๕ ยอด มีขื่อ กว้าง ๑๕ เมตร (๗ วา ๒ ศอก) คำว่า สูง ๒ เส้น ๑๑ วา ศอกคืบ หมายถึงสูง ๙๐ เมตร ภายในอาคารปราสาทพระเมรุมาศสร้าง พระเมรุทอง ประกอบด้วยเครื่องตกแต่งที่งดงาม ส่วนภายนอกปราสาท หมายความถึงปริมณฑล สร้าง พระเมรุทิศ พระเมรุแทรก และ สามสร้าง

คำว่า เมรุทิศ เมรุแทรก ตามความหมายในยุคนั้นน่าจะสันนิษฐานว่า คือ บรรดาเขาสัตบริภัณฑ์ที่ช่างประดิษฐ์สร้างสรรค์ไว้ตามทิศทั้ง ๔ และแทรกไว้ระหว่างทิศ แวดล้อมด้วย อาจรวมทั้งพระวิมาน ๔ ทิศ ของท้าวจตุโลกบาล โดยสร้างสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับอาคารปราสาทพระเมรุมาศขึ้นไว้

งานสร้างพระเมรุมาศนอกจากจะบ่งบอกถึงความมั่นคงของบ้านเมือง ยังสะท้อนถึงความรุ่งเรืองทางศิลปกรรมของชาติ อันเป็นงานที่พระมหากษัตริย์ทรงทำนุบำรุงตลอดมาทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นที่รวมสรรพบรรดางานช่างศิลปกรรมทุกประเภท นับตั้งแต่งานสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม มัณฑนศิลป์ งานช่างศิลป์สิบหมู่ ที่จำแนกช่างประเภทต่างๆ ๑๐ ประเภท งานตกแต่งดอกไม้สด งานแทงหยวกประดับจิตกาธานไว้ทั้งสิ้น ช่างจะมีความคิดสร้างสรรค์ให้งานสถาปัตยกรรมนั้นสมบูรณ์แบบตามความบันดาลใจ ซึ่งสืบทอดมาจากหลักปรัชญาของครูบาอาจารย์อย่างมีหลักเกณฑ์ สันนิษฐานว่าแนวความคิดอันเป็นพื้นฐานการสร้างพระเมรุมาศสมัยอยุธยาตอนต้นๆ น่าจะนำคติการสร้างมาจากปราสาทขอมเป็นแบบแผน และได้มีการปรับปรุงแบบให้มีวิวัฒนาการตามรูปแบบของศิลปะไทยในยุคหลังๆ ต่อมา จนมีลักษณะเป็นงานศิลปกรรมอยุธยาอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่ยกย่องเชิดชูว่างานศิลปกรรมสมัยอยุธยาล้ำเลิศเป็นแบบแผนที่สืบทอดมาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น


ลักษณะพระเมรุมาศ
พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวงเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีและพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่มีคุณแก่บ้านเมืองใหญ่หลวง ขณะที่พระบรมศพประดิษฐานอยู่ในพระโกศ ตั้งเหนือพระแท่นเบญจาบนพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง จะได้บำเพ็ญพระราชกุศลทางพระพุทธศาสนารอคอยเวลาการสร้างพระเมรุมาศให้แล้วเสร็จ เตรียมอัญเชิญพระบรมศพออกไปถวายพระเพลิงด้วยกระบวนพระราชอิสริยยศเรียกว่า งานออกพระเมรุ ลักษณะพระเมรุมาศที่ปรากฏมาแล้ว มี ๒ รูปแบบ คือ พระเมรุมาศทรงปราสาท และ พระเมรุมาศทรงบุษบก

พระเมรุมาศทรงปราสาทสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นแบบของสมัยอยุธยา และใช้ต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ระหว่างรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔

พระเมรุมาศทรงบุษบก เป็นของพระมหากษัตริย์เริ่มใช้ในสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา


พระเมรุมาศทรงปราสาท
พระเมรุมาศทรงปราสาท คือ อาคารพระเมรุมาศมีรูปลักษณะอย่างปราสาท สร้างเรือนบุษบกบัลลังก์ดังที่เรียกว่า พระเมรุทอง ซ้อนอยู่ภายใน พระเมรุทองจะประดิษฐานพระเบญจาจิตกาธานรองรับพระโกศพระบรมศพ สร้างปิดทองล่องชาด ดังที่พระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

    “...พระเมรุที่ปลูกเป็นรูปบุษบกสวมพระเบญจา เรียกว่า
พระเมรุทอง ทำด้วยดีบุกก็ดี ทำด้วยทองอังกฤษก็ดี ทำด้วย
ทองน้ำตะโกก็ดี หรือจะลงรักปิดทองคำเปลวก็ดี หรือจะหุ้ม
ทองคำจริงก็ดี ก็คงเรียกชื่อว่า พระเมรุทอง...”

พระเมรุมาศทรงปราสาทมี ๒ ลักษณะ คือ
พระเมรุมาศทรงปราสาทยอดปรางค์ หมายถึง อาคารทรงปราสาทสร้างยอดเป็นปรางค์ตามลักษณะศิลปกรรมขอม และวิวัฒนาการมาเป็นปรางค์แบบไทย ซึ่งมีปรางค์ ๓ แบบ คือ ปรางค์ทรงสิขร ทรงงาเนียม และทรงข้าวโพด ดังเช่นปราสาทพระเทพบิดร

พระเมรุมาศทรงปราสาทยอดมณฑป หมายถึง อาคารปราสาทสร้างยอดเป็นมณฑป เช่นลักษณะยอดมณฑปพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี พระที่นั่งยอดมณฑปในสมัยอยุธยาที่ปรากฏนาม ได้แก่ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ณ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี  ส่วนกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น

พระเมรุมาศทรงบุษบก
พระเมรุมาศทางบุษบกสร้างบนพื้นราบ ดัดแปลงอาคารปราสาทเป็นเรือนบุษบกบัลลังก์ หรือเป็นการขยายพระเมรุทองในปราสาทที่เป็นเรือนบุษบกบัลลังก์แต่เดิมให้ใหญ่ขึ้น เหมาะสมกับการถวายพระเพลิง และตั้งเบญจาจิตกาธานรับพระโกศพระบรมศพ เมรุทิศที่เคยเป็นอาคารทรงปราสาทก็เปลี่ยนเป็นอาคารบุษบก เช่น พระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบกองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ พระเมรุมาศทรงบุษบกถือเป็นแบบพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์เท่านั้น




พระเมรุมาศสมโภชพระบรมอัฐิ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สร้างบนเขาพระสุเมรุ
รูปแบบปราสาทเครื่องยอดบุษบกปลียอดปรางค์

พระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์  

รัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๔
ลักษณะพระเมรุมาศสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ระหว่างรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ เป็นพระเมรุมาศทรงปราสาท องค์แรกที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์  คือ พระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ โปรดให้สร้างเพื่อถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระราชบิดา หลังจากที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ทรงพระอนุสรณ์คำนึงว่า พระราชบิดาสิ้นพระชนม์ในระหว่างที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามและมิได้ประทับอยู่ร่วมกัน สิ้นพระชนม์ ณ เมืองพิษณุโลก พระอนุชาต่างพระมารดาอัญเชิญพระบรมอัฐิลงมาถวายในกรุงเทพมหานคร พระองค์มิได้สนองพระคุณ จึงมีพระราชดำริจะบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย เหตุการณ์เกี่ยวกับการถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิครั้งนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง โคลงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิพระเจ้าหลวง แม้จะเป็นการพรรณนาความด้วยร้อยกรองคำโคลง แต่ก็ได้สะท้อนลักษณะพระเมรุมาศให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า เป็นพระเมรุมาศที่สืบทอดลักษณะรูปแบบศิลปกรรมตลอดทั้งคติการเมือง อันมุ่งหมายจะให้เป็นผลทางความมั่นคงของประเทศสืบทอดมาจากอยุธยาทั้งสิ้น เช่นกล่าวว่า

กำหนดเมรุทิศถ้วน อัษฎา
รายรอบเมรุเอกา ใหญ่ชั้น
ยลปรางค์กุฎาปรา กฏเมฆ
ร้อยรอบระเบียบบั้น แบ่งไว้จังหวะงาม
เมรุแทรกเมรุทิศทั้ง   เมรุกลาง
สวมเครื่องเรืองรองราง เรื่อฟ้า
บนดาษสุพรรณพาง ทองสุก
สรรพสิ่งผจงจ้า แจ่มแจ้งจรัสหล
นวสูรพรหมภักตรเพี้ยง ภักตรพรหม
มุขระเหิดเทิดธารลม ลิ่วไม้
แลฬ่อภอใจชม ชาวราษฎร์
กระจังคั่นสรรใส่ไว้ นาคย้อยทวยทอง
เบื้องในวิจิตรด้วย เลขา
อดิเรกรูปเทวา วาดไว้
มีเทพกัลยา ยวนเสน่ห์
ถืออุบลบานไหว้ สถิตย์เฝ้าเคียงองค์
ภายใต้เบ็ดเตล็ดล้วน หลากหลาย
เสือแสะแพะกวางทราย เด่าด้อม
เทินป่ารุกข์เรียงราย ระรื่น
สูรสัตวมัจฉะมีพร้อม ศิริห้วยเหวละหาล

ได้กล่าวถึงพระเมรุทองที่อยู่ภายในไว้ดังนี้
จุลเมรุเหมมาศไว้ ภายใน
ทรงทรวดสุนทรประไพ เลิศล้ำ
เหมือนเมรุสหัสไนย นฤมิตร
มาช่วยทรนุกค้ำ เชิดช้อนบารมี
ฐานบัดบวกเขบ็จไว้ เทวา
ครุธสลับจับนาคา คาบเคี้ยว
อโธภาคกินรา รายรูป
สร้อยสลับทับทรวงเกี้ยว โอบสอิ้งอาภรณ์

พระเมรุมาศทรงปราสาท คงเป็นลักษณะแบบแผนในสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งพระเมรุมาศพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงคุณยิ่งใหญ่แก่บ้านเมือง

รัชกาลที่ ๕ – รัชกาลที่ ๘
ลักษณะพระเมรุมาศพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก พระเมรุมาศทรงปราสาทสร้างในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ระหว่างรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ การสร้างยึดถือรูปแบบดั้งเดิมแต่โบราณ คือ สร้างปราสาทบนเขาพระสุเมรุ งานก่อสร้างพระเมรุมาศเป็นงานยิ่งใหญ่สำหรับบ้านเมือง ทั้งการออกแบบ การสรรหาวัสดุก่อสร้าง การลงมือก่อสร้าง และตระเตรียมกระบวนการตามพิธีกรรมอื่น จึงเป็นความปรีชาเชี่ยวชาญของช่างที่มีความชำนาญรอบรู้ในงานศิลปกรรมของชาติอย่างยอดเยี่ยม เมื่อบ้านเมืองมีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ รับวัฒนธรรมจากภายนอก ชาวไทยก็ได้ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างให้สอดคล้องกับกาลสมัย โดยเฉพาะการสร้างพระเมรุมาศทรงปราสาท ซึ่งเป็นงานใหญ่ได้ลดทอนขนาดและรูปแบบลง การสร้างปราสาทเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเกินความจำเป็น ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสสั่งห้ามความว่า ดังนี้


“...แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่
ซึ่งคนไม่เคยเห็น แล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าใหญ่โตเพียงใด เปลืองทั้ง
แรงคน เปลืองทั้งพระราชทรัพย์   ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมควร
กับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยศยืนยาวไปได้
เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน
ถ้าเป็นการศพท่านผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่อันควรจะ
ได้เป็นเกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจจะลดทอนด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจ
ว่า เพราะผู้นั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด  จึงไม่ทำการศพให้
สมเกียรติยศซึ่งสมควรจะได้  แต่เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มี
ข้อขัดข้องอันใด เป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด    จึงขอให้ยกเลิกงาน
พระเมรุใหญ่นั้นเสีย  ปลูกแต่ที่เผาพอสมควร ในท้องสนามหลวง
แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป”

ดังนั้น พระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมาจึงมิได้สร้างเขาพระสุเมรุ อาคารพระสุเมรุมาศคงสร้างบนพื้นราบ ไม่มีปราสาทแต่ดัดแปลงรูปอาคารเป็นเรือนบุษบก เมรุทิศ ๔ มุม ค่อยๆ ลดรูปเป็นคดช่าง เป็นระเบียง ทับเกษตร อย่างไรก็ตามแม้จะตัดทอดรูปแบบลงเพียงใด การก่อสร้างก็ยังคงยึดถือเป็นแบบแผนเก่าอย่างเคร่งครัด การก่อสร้างยังคงเป็นงานสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์สง่างาม แม้จะสร้างอย่างชั่วคราว แต่มั่นคงแข็งแรงอย่างของจริงทั้งสิ้น

พระเมรุมาศทรงบุษบกเป็นรูปแบบพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ได้สร้างถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ต่อมา

อนึ่ง เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก็ใช้พระเมรุมาศทรงบุษบกองค์เดียวกับพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เนื่องจากเสด็จสวรรคตในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ไม่สามารถจะก่อสร้างพระเมรุมาศใหม่ทัน


พระเมรุมาศสมเด็จพระบรมราชินี และพระเมรุพระบรมราชวงศ์ชั้นสูง พระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้า
รูปแบบพระเมรุมาศสำหรับพระบรมราชินี และพระราชวงศ์ชั้นสูง พระอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้า คงยึดถือเช่นเดียวกับพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ หากแต่ลดเครื่องประกอบและราชอิสริยยศลงตามฐานะ เช่น มีฉัตร ๗ ชั้น หรือ ๕ ชั้น ประกอบพระเกียรติยศ รูปแบบของพระเมรุมาศยังคงสร้างเป็นทรงปราสาทยอดต่างๆ เช่นเดียวกับพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ ในช่วงรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตัดทอนการสร้างพระเมรุมาศ ให้ลดขนาดลง เมื่อถึงคราวสร้างพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ก็ได้สนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นกัน พระเมรุมาศทรงบุษบกเป็นลักษณะพระเมรุมาศพระมหากษัตริย์ ส่วนพระเมรุมาศของพระบรมราชินี และพระบรมวงศ์ชั้นสูงนั้น คงสร้างเป็นพระเมรุมาศทรงปราสาทสืบต่อมา หากแต่ช่างได้ลดรูปแบบของปราสาทเป็นเครื่องยอดต่างๆ เช่น ยอดปรางค์ ยอดมงกุฎ ยอดมณฑป ยอดฉัตร ยอดชฎา ตามความสวยงามและแรงบันดาลใจโดยไม่มีพระเมรุทองภายใน ซึ่งพระเมรุมาศทรงปราสาท ลักษณะนี้ ต่อมาก็ได้ใช้สร้างเป็นพระเมรุพระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในต่อมา

อนึ่ง การสร้างพระเมรุมาศหรือพระเมรุแต่ละครั้งเป็นงานยุ่งยากหลายประการ ต้องตระเตรียมมอบหมายหน้าที่หลายฝ่าย หลายครั้งที่มีเจ้านาย พระราชวงศ์ชั้นสูงและผู้ใหญ่ สิ้นพระชนม์ในเวลาที่ใกล้เคียงกันบางพระองค์มีพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์เท่าเทียมกันเพื่อเป็นการประหยัดทั้งเวลาและพระราชทรัพย์ มีการอนุโลมโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการถวายพระเพลิงบนพระเมรุเดียวกันบ้าง หรือให้สร้างพระเมรุน้อยอยู่ใกล้พระเมรุใหญ่ ลักษณะเมรุบริวารอยู่ในปริมณฑลเดียวกัน จัดงานพระราชพิธีในคราวเดียวกัน กรณีเช่นนี้เรียกการออกเมรุว่า เมรุตามเสด็จ ก็มี


การตกแต่งพระเมรุมาศและพระเมรุ
การตกแต่งพระเมรุมาศและพระเมรุให้วิจิตรงดงาม เป็นแบบแผนของการก่อสร้างตามหลักสถาปัตยกรรม ได้มีการตกแต่ง ๒ อย่าง คือ ตกแต่งอย่างพระเมรุทอง และตกแต่งอย่างพระเมรุสี
       ๑.ตกแต่งเป็นพระเมรุทอง ได้แก่ การปิดทองล้วนทั้งทองจริงและทองเทียม หรือปิดทองล่องชาด พื้นเมรุสีแดงมีลายทอง หรือจะปิดกระดาษทองย่นมีสาบสีแดง เมรุทองมักจะใช้กับพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์
       ๒.การตกแต่งเมรุสี หรือ เมรุลงยาราชาวดี ซึ่งจะมีการใช้สีจากวัสดุหลายประเภท เช่น ประดับกระจกสีต่างๆ สอดสีด้วยกระดาษสี กระดาษตะกั่วสี เป็นการเพิ่มสีสันให้เมรุองค์นั้นๆ งดงาม ซึ่งการเลือกสีนั้นขึ้นอยู่กับช่างจะศึกษาสีที่นำมาใช้ให้มีความสัมพันธ์กับผู้ที่จะรับการถวายพระเพลิง เช่น เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ เป็นต้น


ปรัชญาการออกแบบพระเมรุมาศ
พระเมรุมาศ พระเมรุ เป็นงานสถาปัตยกรรมชั่วคราวที่แสดงภูมิปัญญาช่างอย่างสูง เป็นคำยกย่องมาแต่โบราณว่า ผู้ใดก็ตามที่ได้สร้างสรรค์ออกแบบและก่อสร้างพระเมรุมาศถือว่าเป็นผู้รอบรู้เจนจบงานศิลปกรรมของชาติ ช่างต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ ทั้งงานออกแบบรูปลักษณ์ ก่อสร้างอาคาร การคิดลวดลายขึ้นประดิษฐ์ตกแต่งทุกส่วนให้เข้ากับอาคาร ล้วนเป็นสิ่งสร้างสรรค์ที่กลั่นกรองออกมาจากความสามารถของช่างทั้งสิ้น ซึ่งความคิดนั้นจะต้องมีปรัชญาและหลักเกณฑ์ในการคิดเสมอ ต้องคำนึงตลอดเวลาว่าพระเมรุมาศของพระองค์ใด จะต้องถ่ายทอดพระลักษณะของพระองค์นั้นออกมาให้ปรากฏ เช่น ความเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชินี นักรบ เป็นต้น รวมทั้งการให้สีสันพระเมรุมาศ ลวดลายก็จะต้องสอดคล้องกับสีที่เกี่ยวกับพระองค์เป็นสำคัญ ช่างสามารถให้คามรู้ถึงความเป็นมาของลวดลายและส่วนก่อสร้าง ที่ตนคิดประดิษฐ์ไว้ในทุกตำแหน่งงานได้ อย่างมีหลักเกณฑ์ตามวิชาการของช่างด้วย

ผู้ก่อสร้างพระเมรุมาศ
ช่างสมัยรัตนโกสินทร์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างงานศิลปกรรมของชาติ ที่ปรากฏสายงานมีชื่อเสียงเลื่องลือ มี ๓ สาย คือ
       สายพระยาราชสงคราม
       สายพระยาจินดารังสรรค์
       สายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

กล่าวกันว่าแต่ละสายนั้น จะมีศิษย์ผู้สืบงานศิลป์ รวมทั้งอาจารย์ผู้เป็นต้นแบบด้วยเพียงสายละ ๓ ช่วงคนเท่านั้น



ขาตั้งทรายสำหรับยกเสาองค์พระเมรุมาศ


โครงถักไม้ไผ่ผูกอย่างแน่นหนาตามรูปทรงขนาดภายในองค์พระเมรุมาศ
เพื่อใช้ผูกรอกชักเชือกยกซุงพระเมรุขึ้นทาบตามทรงมุมละ ๓ ต้น เพื่อทำ
เสาย่อไม้่สิบสองของเสาพระเมรุทรงบุษบก


การยกซุงเสาพระเมรุมาศขึ้นประกอบทุกมุมๆ ละ ๓ ต้น


(บน) การประกอบยอดพระเมรุมาศและพื้นฐาน
ล่าง การตกแต่งพระเมรุมาศตามแบบที่กำหนด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กันยายน 2560 18:39:53 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 15 กันยายน 2560 17:58:57 »


เมรุท้าวจักรวรรดิ
จิตรกรรมที่ระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พรรณนาโวหารจากวรรณกรรม

ราชรถในวรรณคดี
วรรณคดีคือหนังสือที่แต่งดีด้วยกระบวนการใช้ถ้อยคำ โวหาร และอรรถรส กวีผู้รจนาวรรณคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเปรียบเสมือนศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปกรรม คือเกิดจากอารมณ์สะเทือนใจซึ่งผ่านเข้าไปสู่ความคิดและความรู้สึกทางจิต แล้วเกิดแรงบันดาลใจสร้างผลงานวรรณคดีกวีนิพนธ์ให้ปรากฏไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ศิลปะวรรณคดีจึงเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติด้านการใช้ภาษา และถ่ายทอดวัฒนธรรมอันเป็นลักษณะประจำชาติหรือเป็นเครื่องแสดงทั้งความเจริญความเป็นอิสระและแสดงวุฒิปัญญาความสามารถของคนในชาติมาตั้งแต่โบราณกาล และวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน ดังเช่น การพรรณนาถึง ราชรถ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ไทยที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยแทบทุกเรื่องตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

บทพรรณนาความงามของราชรถในวรรณคดี เป็นโวหารที่ก่อให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์ต่อผู้อ่านเป็นอันมาก โดยเฉพาะคำว่า ราชรถ ซึ่งหมายถึงรถที่เป็นพาหนะของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ มีความประณีตงดงามเป็นเลิศ กวีได้พรรณนาราชรถในลักษณะที่ให้ความงามทั้งด้านศิลปะ ความรู้สึกชื่นชม และศรัทธาระคนกัน ภาพที่ผู้อ่านได้จากวรรณคดีนั้นอาจเหนือกว่าหรือทัดเทียมกับราชรถจริงซึ่งเราสามารถเห็นและชื่นชมได้ที่โรงเก็บราชรถในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ลักษณะความงามของราชรถปรากฏในวรรณคดีเรื่องต่างๆ หลายเรื่องทุกยุคทุกสมัย อาทิเช่น สมัยสุโขทัย มีปรากฏในเรื่องไตรภูมิพระร่วง สมัยอยุธยา บทพรรณนาความงามของราชรถมีปรากฏในเรื่องมหาชาติคำหลวง สมุทรโฆษคำฉันท์ ฯลฯ  สมัยรัตนโกสินทร์ ความงามของราชรถมีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดจากบทละครเรื่องรามเกียรติ์และบทละครเรื่องอิเหนาเป็นต้นและราชรถดังกล่าวมีหลายประเภท มีทั้งรถศึก รถที่ใช้ในพระราชพิธี และรถสำหรับเสด็จประพาส ในที่นี้จะขอหยิบยกข้อความในส่วนที่กวีได้พรรณนาความงามของราชรถตอนที่สำคัญและไพเราะ ตลอดจนคติความเชื่อและประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจากวรรณคดีต่างๆ ตามลำดับสมัยมาจนถึงปัจจุบัน


สมัยสุโขทัย
ไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณกรรมสมัยสุโขทัยเพียงเรื่องเดียวที่กล่าวถึงราชรถ เนื้อเรื่องกล่าวถึงโลกทั้งสาม ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ อันเป็นดินแดนที่มนุษย์ สัตว์ และเทพยดา พากันเวียนว่ายตายเกิดไปตามแต่บาปและบุญของตน เรื่องราวของโลกทั้งสาม อันเป็นส่วนประกอบของจักรวาลนี้ เป็นพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับกำเนิดของโลก ซึ่งคนไทยยังคงยึดมั่นอยู่จนทุกวันนี้  อนึ่ง หากพิจารณาการพรรณนาถึงความสุขต่างๆ ในแดนสวรรค์ จะเห็นได้ว่า เป็นความสุขที่มนุษย์โลกทุกคนปรารถนาที่จะได้ประสบแก่ตนเองทั้งสิ้น เช่น ตอนพรรณนาเมืองพระอินทร์ ความว่า

                     “เทพยดาทั้งหลายอยู่ในนครดาวดึงส์นั้นย่อมได้ยินเสียงช้างแก้ว
               แลราชรถแก้วอันมี อันดังไพเราะถูกเนื้อพึงใจนักหนา ที่ในท่ามกลาง
               นครไตรตรึงษ์นั้น มีไพชยนตปราสาทโดยสูงได้ ๒๕,๖๐๐,๐๐๐ วา
               ปราสาทนั้นงามนักงามหนา”

คำพรรณนานี้ แม้จะกล่าวถึงราชรถเพียงไม่กี่คำ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าราชรถแก้วอันเป็นสมบัติอมรินทร์นั้นมีความยิ่งใหญ่งดงามเป็นที่ยิ่ง

วรรณกรรมเรื่องไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลต่อกวีไทยรุ่นหลังต่อมา เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดและความบันดาลใจในการสร้างสรรค์ ดังจะเห็นได้ว่ามีแทรกอยู่ในวรรณกรรมไทยแทบทุกเรื่อง นอกจากจะแทรกอยู่ในวรรณกรรมแล้ว เรื่องไตรภูมิพระร่วงยังแทรกอยู่ในงานศิลปกรรมต่างๆ ด้วย เช่น ในงานจิตรกรรมและประติมากรรม เป็นต้น



สมัยอยุธยา
ในสมัยอยุธยามีวรรณคดีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แทบทุกเรื่องมีบทพรรณนาเกี่ยวกับความงามของราชรถไว้ในลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งได้ยกตัวอย่างพอเป็นสังเขปดังต่อไปนี้

มหาชาติคำหลวง เป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นในปี พ.ศ.๒๐๒๕ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งมีพระบรมราชโองการให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งขึ้น รวมทั้งสิ้น ๑๓ กัณฑ์ ประกอบด้วยพระคาถาบาลี ๑,๐๐๐ คาถา

ในทานกัณฑ์ ตอนพระนางผุสดีคร่ำครวญเมื่อพระเวสสันดรเสด็จออกจากเมืองโดยเสด็จประทับบนราชรถอันงดงามไปยังเขาวงกตนั้น ก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทาง พระองค์ได้พระราชทานสัตสดกมหาทาน คือ ทานเจ็ดสิ่ง สิ่งละเจ็ดร้อย ได้แก่ ช้าง ม้า รถ ทาสหญิง ทาสชาย โค นางสนม ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระเวสสันดรทรงเป็นผู้เสียสละอย่างแท้จริง ทั้งที่พระองค์ก็ทรงทราบว่าการสละราชรถครั้งนี้ พระองค์เอง พระนางมัทรี กัณหา ชาลี ต้องได้รับความลำบากเป็นอย่างมาก ดังบทพรรณนาโวหารว่า


                     ยสฺส ปุพฺเพ อนีกานิ พระเฮอยเคอยแต่ปางบรรพ์ ช้างนับพนน
               ม้านับหมื่น รถนับแสนคฤนนายครอง  กณิการาวนานิ ว ธารถนิมทอง
               ถ่องเถือก ล้วนแล้วเลือกสรรเล่า งามเท่าป่ากรรณิกา ยายนฺตมนุยา ยนฺติ
               ส่ำสารและระแทะเต้น ตามไปเหล้นป่าเปนอาทิ์ แห่งลูกรักจักราชตนใด
               สฺวชฺเชโกว คมิสฺสติ อนนว่าลูกสายใจน้นนฤา คือพระแพศยนนดรดิลก
               จะจากอกแม่ไปเอ ณ วันนี้
                      อินฺทโคปกวณฺณาภา พระเฮอยเคอยแต่ก่อนเก่า เหล่าเสนา
               ห่มขยวขาบ เฉกศรีสลาบแมลงมาศ คนฺธารา ปณฺฑุกมฺพลา มาแค่คันธาร-
               ราษฎร์พิษัย ลางเลื่อมไลมมี่แสง กำพลแดงสรดะ ยายนฺตมนุยายนฺติ
               โดยเสด็จพระลูกธนายก ชมไม้นกเป็นอาทิ์ อ้าลูกรับราชตนใด สฺวชฺเช
               โกว คมิสฺสติ อนนว่าลูกสายใจน้นนฤๅ คือพระแพศยนนดรดิลก จะ
               จากอกแม่ไปเอ ณ วันนี้
                      โย ปุพฺเพ หตฺถินา ยาติ บุญปลูกลูกธตนใด กี้ก่อนไปเล่นสวนสร้าง
               เคยขี่ช้างชำนินาค สิวิกาย รเถน จ ลางลางภาคสีพฤกาก่อง รถยานย่อง
               ยรรยง ทยมดุรงครวดร่ยว สฺวชฺช เวสฺสนฺตโร


บทพรรณนาข้างต้นนี้ ถึงจะเป็นคำไทยโบราณที่อ่านยาก ก็ไม่สามารถบดบังความงามของราชรถไปได้ และสิ่งที่สะท้อนภาพให้เห็นเด่นชัด คือ พระราชา (พระเวสสันดร) หรือผู้ที่มีเชื้อสายเกี่ยวข้องในวงศ์กษัตริย์เท่านั้นที่มีบารมีทรงราชรถ ซึ่งมีขบวนแห่ตามเป็นช้างนับพันเชือก ม้านับหมื่นตัว และราชรถนับแสนองค์ รวมทั้งราชยานที่งดงามเทียมม้าเคลื่อนตาม

สมุทรโฆษคำฉันท์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ที่อุโบสถวัดดุสิดาราม ผลงานของจิตรกรไม่ปรากฏนาม เป็นภาพจิตรกรรมรุ่นเก่าซึ่งมีความงามมาก นับว่าได้รับอิทธิพลจากเรืองสมุทรโฆษคำฉันท์ วรรณคดีที่มีระยะเวลาการแต่งยาวนาน ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (ระหว่าง พ.ศ.๒๑๙๙ ถึง พ.ศ.๒๓๙๒) โดยกวี ๓ คน คือ พระมหาราชครู สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  วรรณคดีเรื่องนี้ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์มีบทพรรณนาโวหารเกี่ยวกับราชรถ ดังตัวอย่าง

              ตอนพระสมุทรโฆษยกขบวนเสด็จประพาสป่า

              สรรพสรรพาวุธดาษดา แสนยานานา
              ประดับด้วยภูษาภรณ์
              ธงฉัตรทัดแทงทินกร เขนดั้งโตมร
              แลแพนพรรณรายพรายทอง
              ทวยทรงเกาทัณฑ์ลังลอง หน้าไม้แม่นผยอง
              แลพลคทามาศแมน
              ทวยทรงเกราะกรายหลายแสน ทวยทรงโภคแพน
              พรรณรายยยาบเวหา
              ทัยรถคชแสนเสนา กุญชรงอนงา
              คือบาลจันทร์อันฉาย
              ม้าแมนแสนธพเหลือหลาย เทียมแก้วเกวียนพราย
              แลพลประดับศรีสลอน
              นายม้าขึ้นม้าคือภมร โตมรกับกร
              สรพายทั้งแล่งทองผยอง
              นายรถแข่งขึ้นรถทอ ยืนยันในตระพอง
              แลกุมกุทัณฑ์ร่อนรำ
              -------------------- --------------------
              ---------------------  
              รถรัตนพรรณรายจรัสไจร เทียวทองธงไชย
              แลแซงกรลดชุมสาย

ตอนพระสมุทรโฆษบรรทมหลับอยู่บนราชรถใต้ร่มโพธิ์ พระโพธิ์เทพารักษ์ เยี่ยมวิมานดู แล้วพาไปสมนางพินทุมดี

พระโพธิ์เทพารักษ์รู้สึกเวทนาพระสมุทรโฆษที่มาบรรทมหลับอยู่ในป่าดง จึงตกลงพระทัยเหาะลงมายังราชรถใต้ร่มโพธิ์ สะกดคนทั้งหลายให้หลับสนิท แล้วอุ้มพระสมุทรโฆษพาเหาะไปสมนางพินทุมดีที่เมืองรมยบุรี พระโพธิ์เทพารักษ์วางพระสมุทรโฆษลงแนบนางพินทุมดี ปลุกทั้งสองให้ตื่นจากนิทรา แล้วพระโพธิ์เทพารักษ์ก็กลับคืนวิมาน


              เสร็จพระบำบวงแก่อมรา- รักษแล้ว ธ บรรธม
              เหนือรัตนบรรจฐรณ์ภิรมย์ รถทองที่ไสยาฯ
               --------------------   --------------------  
               --------------------  
              เสด็จออกนอกทิพยพิมาน มุ่งเมิลสบสถาน
              ดูพลคือสายชลธี
              โยธาดาแสนเสนี ดาษดงพงพี
              แลสบสังกัดกรรกง
              ดูช้างม้ารถทองธง เทียวพรรณสรบง
              แลด้างสว่างหว้างเวียนไว
              พระโพธิ์ดูดาลพิสมัย ตรองตริเต็มใจ
              ว่าท่านนี้ท้าวใดมา
               --------------------   --------------------  
               --------------------  
              คิดควรสรวลสุดสงกา อ้าพระราชา
              สมุทรโฆษบวร
              ยศใดนี้ท้าวธมานอน เหนือรถบรรจฐรณ์
              อรรแถ้งแลแกล้งเอองค์
              แสนนางครวญแนบทูลทรง บัวบาทบรรจง
              แลจำบำเรอบริพาร

ตอนพระสมุทรโฆษทรงราชรถเพื่อไปตามนางพินทุมดี ตามคำทูลของนางรัตนธารี

บทพรรณนาโวหารตอนนี้บรรยายความงามของราชรถที่พระสมุทรโฆษทรง และเปรียบพระสมุทรโฆษว่าเสมือนพระอาทิตย์ที่นั่งราชรถทอง งดงามไปทั่วท้องฟ้า


              จึงใช้พระมาตุลีลง เอารถแมนผจง
              มาถวายแด่พระภรรดา
              พระเสด็จรถรัตนพระมา- ตุลีขับพา-
              ชีแชรงรันแชะรถไกว
              ธารีนำมรรคครรไล ก่อนรถคลาไคล
              คคล้ายในกลางอากาศ
              รถรัตน์อันเรืองโอภาส พรายภูษาราช
              -โฉมสมเด็จเรืองรอง
              ดุจทินกรเสด็จรถทอง ม้าแมนผันผยอง
              แลเลื่อมทั้งหล้าคัคณานต์

จากบทพรรณนาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ราชรถของไทยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียโดยเฉพาะการกล่าวเปรียบเทียบราชรถของพระสมุทรโฆษว่าเหมือนราชรถของพระอาทิตย์ซึ่งมีความงดงามมากนั้น เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับราชรถที่แสดงถึงฐานะของผู้ใช้ว่าต้องเป็นเทพ กษัตริย์นั้นเรายกย่องกันว่ามีเชื้อสายมาจากเทพเช่นกัน จึงเรียกว่าสมมติเทพ  ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ราชรถสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศตามประเพณีที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นสมมติเทพ จำเป็นต้องมีรถทรง ดังเช่นพระอาทิตย์ที่มีรถทรง เป็นต้น

จักกวาฬทีปนี ในจักกวาฬทีปนีซึ่งรจนาโดยพระสิริมังคลาจารย์แห่งล้านนา ได้กล่าวถึงเวชยันตรถซึ่งเป็นพาหนะของพระอินทร์ว่าเกิดขึ้นก่อนสงคราม พระอินทร์ทรงใช้เวชยันตรถเพื่อทำสงครามกับพวกอสูร ซึ่งในอรรถกถามฆเทวสูตรได้กล่าวไว้ว่า


              “ทิพยรถนั้นมีขนาดประมาณ ๑๕๐ โยชน์ งอนรถตั้งแต่ที่ต่อ
               (คือส่วนหน้า) ประมาณ ๕๐ โยชน์  แปรก (คือส่วนกลาง)
               ๕๐ โยชน์ ส่วนท้ายตั้งแต่แปรก ๕๐ โยชน์ ทั้งคันรถแล้วด้วยรัตนะ ๗ ประการ”

อรรถกถาธชัคคปริตรว่า
              “กล่าวกันว่า รถของท้าวสักกะยาว ๑๕๐ โยชน์ คือส่วนท้ายของรถนั้น
               ๕๐ โยชน์ เรือนรถในท่ามกลาง ๕๐ โยชน์ ตั้งแต่ที่ต่อของรถถึงงอนรถ
               ๕๐ โยชน์ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ยาว ๓๐๐ โยชน์ เพราะเพิ่มประมาณ
               นั้นนั่นแหละให้เป็น ๒ เท่า บนรถนั้นทอดบัลลังก์ ซึ่งมีประมาณโยชน์หนึ่ง
               ตั้งเศวตฉัตรประมาณ ๓ โยชน์ไว้ ณ ที่สุดยอด ที่แอกนั้นเทียมม้าอาชาไนย
               พันหนึ่ง เครื่องประดับอื่นๆ นับประมาณมิได้ ส่วนธงของรถนั้นสูง ๒๕๐
               โยชน์ ซึ่งเมื่อลมกระทบจะเปล่งเสียงดุจเสียงเบญจดุริยางค์นั่นเทียว”

โปรดติดตามตอนต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 ตุลาคม 2560 17:45:12 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 27 กันยายน 2560 17:38:21 »



ราชรถของพระราม พระลักษมณ์ จิตรกรรมที่ระเบียบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สมัยรัตนโกสินทร์
บทพรรณนาโวหารเกี่ยวกับราชรถปรากฏในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์แทบทุกเรื่อง แต่ละสำนวนมีความไพเราะจับใจ ก่อให้เกิดจินตนาการและเห็นภาพพจน์ตามที่กวีได้พรรณนา

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าจุฬาโลกมหาราช ได้พรรณนาถึงราชรถไว้อย่างงดงาม แม้ว่าบทละครเรื่องรามเกียรติ์จะเป็นวรรณคดีที่ได้รับอิทธิพลตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย แต่กวีโวหารก็เป็นแบบลักษณะโวหารของไทย ซึ่งแต่ละบทแต่ละตอนล้วนมีสำนวนพรรณนาไพเราะและเป็นที่สังเกตว่า ก่อนที่ตัวละครสำคัญของเรื่องจะขึ้นทรงราชรถ จะต้องมีการพรรณนาเกี่ยวกับการสรงสนานร่างกายให้สะอาด และแต่งกายด้วยภูษิตาภรณ์ให้สวยงามก่อน แล้วจึงกล่าวถึงรถทรง ดังตัวอย่าง

ตอนทัพนาคได้เปรียบ พระยากาลนาคคิดแค้นท้าวสหะมลิวันยักษา จึงยกทัพไปตีเมืองมาร

             ประทุมแก้วโปรยปรายดังสายฝน ทรงสุคนธารทิพย์เกสร
             สอดใส่สนับเพลาเชิงงอน อุทุมพรภูษายกพื้นแดง
             ชายแครงชายไหวประดับพลอย ฉลององค์อย่างน้อยเครือแย่ง
             ตาบทิศทับทรวงลายแทง สังวาลเพ็ชรลูกแดงชิงดวง
             พาหุรัดทองกรมังกรเกี้ยว  ธำมรงค์พลอยเขียวรุ้งร่วง
             มงกุฎแก้วสุรกานต์ดอกไม้พวง ห้อยห่วงกุณฑลกรรเจียกจร
             จับพระแสงขรรค์แก้วแววฟ้า งามสง่าดั่งพระยาไกรสร
             เสด็จจากแท่นทิพย์อลงกรณ์ บทจรขึ้นรถสุรกานต์
             รถเอยรถนิมิต ชวลิตดั่งรถสุริย์ฉาน
             กงกำแล้วนแล้วแก้วประพาฬ  ดุมเพลาชัชวาลด้วยเนาวรัตน์
             แปรกแอกอ่อนงอนระหง ธงทิวริ้วรายปลายสบัด
             เทียมเหราเร็วดั่งลมพัด เครื่องสูงทิวฉัตรธงชัย
             เสียงฆ้องกลองประโคมโครมครึก เสียงทหารโห่ฮึกแผ่นดินไหว
             เร่งรถเร่งพลสกลไกร ตรงไปพิภพเมืองมาร

ตอนท้าวโรมพัตส่งธิดา (อรุณวดี) ไปทำลายตบะฤๅษีกไลโกฎ
             ชำระสระสนานสำราญองค์  ทรงสุคนธ์ธารกลิ่นเกสร
             ภูษาลายเครือกินนร ช่อเชิงมังกรกระหวัดกาย
             สไบตาดพื้นทองกรองริม  สอดสีทับทิมเฉิดฉาย
             ทับทรวงมรกตจำหลักลาย ตาบทิศสร้อยสายสังวาลวรรณ
             สะอิ้งแก้วแววเลื่อมมุกดาหาร  ดวงประพาฬบานพับประดับถัน
             พาหุรัดทองกรมังกรพัน ธำมรงค์เพชรกุดั่นพรายตา
             ทรงมหามงกุฎเนาวรัตน์  กรรเจียกจรจำรัสซ้ายขวา
             งามเพียงนางเทพกินรา นวยนาดยาตรามาขึ้นรถ
             รถเอยรถทรง  งามองค์พระธิดาอลงกต
             งามแปรกแอกงอนอ่อนชด งามช่อชั้นลดบัลลังก์ลอย
             งามทวยรวยรับหางหงส์  งามทรงบุษบกกระหนกห้อย
             งามมุขสุกวามอร่ามพลอย งามยอดดั่งจะย้อยด้วยทองพราย
             งามสินธพเทียมทั้งสี่  งามสารถีขับเฉิดฉาย
             งามเครื่องสูงริ้วเป็นทิวราย งามพวกกลองตะพายประโคมครึก
             งามแถวธงชายพรายสุวรรณ  งามเสียงกงลั่นก้องกึก
             งามทางหว่างไศลไพรพฤกษ์ งามพลแห่ฮึกเข้าดงดอน

คติความเชื่อเรื่องราชรถ จากการรวบรวมบทพรรณนาโวหารในวรรณคดีหลายเรื่อง ต่างเชื่อว่าราชรถมาจากเทพเจ้าและเทพเป็นผู้สร้างขึ้น เช่น บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระอินทร์ถวายรถแก้ว ท้าวทศรถโดยสั่งให้มาตุลีเอาราชรถไปส่งให้ท้าวทศรถซึ่งเปรียบเสมือนเป็นวงศ์ที่กำเนิดมาจากพระนารายณ์ และมาตุลีก็บันดาลให้เกิดราชรถตามบัญชาของพระอินทร์

                          เมื่อนั้น  หัสนัยน์เจ้าตรัยตรึงศา
             ครั้นเสร็จระบำก็ปรีดา จึงมีบัญชาอันสุนทร
             มิเสียทีเป็นวงศ์พระจักรกฤษณ์  เรืองฤทธิ์ห้าวหาญชาญสมร
             สังหารอาธรรม์ม้วยมรณ์ ดับร้อนฝูงเทพเทวา
             จะปรากฏพระยศลือฤทธิ์  ชั่วพระจันทร์พระอาทิตย์ส่องหล้า
             ให้จำเริญสวัสดิ์ศวรรยา ใต้ฟ้าอย่ามีใครต่อกร
             ตรัสแล้วสั่งองค์มาตุลี จึงเอารถมณีประภัสสร
             ไปส่งวงศ์นารายณ์ฤทธิรอน ถวายภูธรไว้ในธานีฯ
                          เมื่อนั้น พระมาตุลีเรืองศรี
             รับสั่งท้าวสุชัมบดี ถวายอัญชุลีแล้วออกมา
             ครั้นถึงจึ่งบันดาลฤทธิ์ นิรมิตเพลาราชรัถา
             สอดใส่ดุมแก้วรจนา เตรียมท่าเสด็จพระภูมี

พระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ กล่าวถึงความงามของราชรถไว้หลายตอน ดังนี้

ตอนทศรถชวนมเหสีประพาสป่า 

             ขึ้นยังรถทรงอลงการ ให้เลิกทวยหาญซ้ายขวา
             ออกจากทวารพารา ไปตามมรรคาพนาวัน
             รถเอยรถมรกต แอกงอนอ่อนชดฉายฉัน
             กงกำล้วนแก้วประกับกัน ลดชั้นบัลลังก์อลงกรณ์
             จตุรมุขงามแม้นพิมานรัตน์  ครุฑอัดสิงห์หยัดไกรสร
             เทียมสินธพชาติอัสดร บทจรย่างเยื้องกรีดกราย
             สารถีขี่ขับสำทับเที่ยง ร่ายเรียงเคียงคู่เฉิดฉาย
             มยุรฉัตรพัดโบกสุพรรณพราย ธงนำปลิวปลายสะบัดบน
             ปี่กลองฆ้องขานประสานกัน แตรสนั่นกึกก้องกุลาหล
             โยธาเยียดยัดอึงอล  เร่งพลเร่งรถจรลี

ตอนพระอินทร์ยกทัพรบรณพักตร์ ม้าเทียมของราชรถองค์นี้เกิดจากเทวบุตร ๑,๐๐๐ องค์ แปลงกายเป็นม้าเทียมรถ
             รถเอยรถวิมาน เวไชยันต์ทิพยานสูงใหญ่
             กงกำล้วนแก้วแววไว แอกอ่อนงอนไสวรูจี
             บัลลังก์ลดแก้วลายรายภาพ บุษบกเก็จกาบมณีศรี
             เทียมด้วยเทพบุตรพาชี พันหนึ่งล้วนมีฤทธิรอน
             พระมาตุลีขี่ขับสินธพ เสียงสนั่นลั่นภพไหวกระฉ่อน
             ธงทิพเจ็ดชายปักปลายงอน  จามรเครื่องสูงสลับกัน
             ฆ้องกลองแตรสังข์ประโคมขาน อิสารอยู่หน้าพลขันธ์
             โบกธงเดินนำเป็นสำคัญ โห่สนั่นลั่นฟ้าธาตรี

ตอนอินทรชิตเตรียมทัพ
                          รถเอยรถศึก แอกงอนพันลึกงามระหง
             กำแก้วสลับประดับกง ธูปธารดุมวงอลงกรณ์
             บุษบกบัลลังก์ลอยฟ้า เทียมด้วยพระยาไกรสร
             สารถีมือถือโตมร ธงปักปลายงอนโบกบน
             มยุรฉัตรอภิรุมชุมสาย  ธงริ้วทิวรายสับสน
             โยธียักเยื้องอึงอล กาหลฆ้องกลองโครมครึก
             สำเนียงเสียงพลโห่ร้อง เริงร่าลำพองคะนองศึก
             มืดกลุ้มชอุ่มควันพันลึก ขับกันคึกคึกรีบมา


ราชรถนางสีดา จิตรกรรมที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ตอนทศกัณฐ์จัดทัพ
             รถเอยราชรถทรง พิลึกล้ำกำกงอลงกต
             เรือนแปรกแอกงอนอ่อนชด  ชั้นลดช่อตั้งบัลลังก์ทอง
             เทียมโตสองพันชำนาญศึก เริงร่านหาญฮึกเผ่นผยอง
             โลทันสัดทัดในทำนอง ขับคล่องรีบเร่งดั่งลมพัด
             พร้อมเครื่องอภิรุมชุมสาย ธงชัยเก้าชายปลายสะบัด
             โยธาเบียดเสียดเยียดยัด กวัดแกว่งอาวุธดั่งแสงไฟ
             เสียงฆ้องกลองประโคมโครมครึก  เสียงพลโห่ฮึกแผ่นดินไหว
             เร่งหมูม้ารถคชไกร ออกจากพิชัยธานี

ตอนพระรามและพระลักษณ์ยกทัพ
             ราชรถเอยราชรถทิพย์ แอกงอนลอยลิบงามระหง
             กำแก้วประกับประกอบกง ดุมวงแสงวาวอร่ามพลอย
             ภาพล้อมบัลลังก์กระจังลวด พนักอิงบังอวดกระหนกห้อย
             จตุรมุขงามแม้นพิมานลอย บันช้อยห้อยฉัตรอรชร
             เทียมด้วยสินธพเทพบุตร เริงร้อนฤทธิรุทรดั่งไกรสร
             พระลักษณ์นั่งหน้าประนมกร เครื่องสูงสลอนสลับกัน
             มาตุลีสารถีเทวา ขับอาชาเผ่นดั่งจักรผัน
             ผงคลีมืดคลุ้มชอุ่มควัน  ปี่กลองสนั่นครั่นครึก
             เสียงรถเสียงม้ากุลาหล เสียงพลโห่ร้องก้องกึก
             ล้วนเหล่าลำพองคะนองฮึก ขับกันคึกคึกรีบจร

ตอนอินทรชิตเลิกทัพออกไปเริ่มพิธีชุบศรนาคบาศ
             รถเอยราชรถทรง กำกงแกมแก้ววิเชียรฉาย
             แอกงอนอ่อนระหงธงชาย กูบท้ายรายดวงทับทิมแดง
             เสาซุ้มทรงมันสุวรรณแวว ฉลุแก้วทุกชั้นบันแถลง
             เทียมด้วยสีหราชเริงแรง สารถีกวัดแกว่งธนูชัย
             เคยขี่ข้ามเขายุคุนธร  เขจรขับแข่งแขไข
             เครื่องสูงบังแสงอโนทัย ระบายฉัตรพัดโบกโอฬาร
             เสียงฆ้องกลองประโคมอึงมี่ ดนตรีแตรสังข์กระทั่งขาน
             เดินโดยพยุหบาตราการ พลหาญโห่ร้องก้องไปมา

ตอนมังกรกัณฐ์ยกทัพ
             รถเอยราชรถแก้ว กำวงกงแววด้วยมรกต
             แอกงามเอี่ยมงอนอ่อนชด  ชั้นลดช่อลอยบราลี
             เทียมสัตว์เทียมใส่มังกรกาจ เผ่นผงกยกผงาดดั่งไกรศรี
             สองพันสรรพื้นแต่ตัวดี สารถีสำทับขับจร
             เครื่องสูงครบสิ่งกรรชิงรัตน์ แถวฉัตรธงชายปลายสลอน
             ปี่เรื่อยเป่ารับแตรงอน อัมพรอันพื้นโพยมบน
             กงลั่นกำเลื่อนสะเทือนก้อง  ทหารเร้าโห่ร้องกุลาหล
             พาชีพวกช้างอึงอล ขับพลข้ามพื้นสมุทรไป


นกสดายุโจมตีทศกัณฐ์ตอนลักนางสีดา จิตรกรรมที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ตอนทศกัณฐ์ออกรบพร้อมด้วยสิบรถ
             รถเอยราชรถศึก แอกงอนพันลึกงามระหง
             กำแก้วสลับประดับกง ดุมวงล้วนแล้วด้วยเนาวรัตน์
             เทียมด้วยราชสีห์สี่พัน โลทันถือหอกแกว่งกวัด
             ขับเร็วเพียงกำลังลมพัด ขนัดเครื่องสูงใส่ไสวมา
             พลม้าขับม้าดาแข่ง  กรแกว่งอาวุธเงื้อง่า
             พลช้างขับช้างชนะงา เริงร่ากรายขอทั้งหมอควาญ
             พลรถขับรถผาดผัน มือกุมเกาทัณฑ์สำแดงหาญ
             พลเท้าเผ่นโผนโจนทะยาน เริงร่าลำพองคะนองฮึก
             ปี่กลองฆ้องขานประสานเสียง สำเนียงโห่ร้องก้องกึก
             มืดคลุ้มชอุ่มควันพันลึก  ขับกันคึกคึกรีบไป

ตอนพระรามออกรบทศกัณฐ์
             รถเอยราชรถอินทร์ กงกำโกมินอลงกต
             แอกงอนอ่อนสลวยชวยชด บัลลังก์ลดภาพตั้งกระจังราย
             บุษบกล้วนแก้วแพรวพรรณ ช่อฟ้าหน้าบันเฉิดฉาย
             ยอดเยี่ยมเทียมแทงโพยมพราย ปราลีแก้วลายอลงกรณ์
             เทียมด้วยสินธพเทเวศ  สำแดงเดชยิ่งพระยาไกรสร
             มาตุลีสารถีขับจร พาเผ่นอัมพรดั่งลมพัด
             อภิรุมชุมสายรายรัตน์ ขนัดฆ้องกลองประโคมโครมครึก
             อันหมู่วานรทวยหาญ เริงร่านลำพองคะนองศึก
             สำแดงแผลงฤทธิ์พันลึก โห่ฮึกรีบเร่งกันไป

ตอนพระรามพระลักษมณ์ยกทัพรบทศกัณฑ์
             รถเอยรถทรง จำหลักแก้วกำกงอลงกต
             แปรกแอกงอนอ่อนชด ชั้นลดช่อตั้งบัลลังก์ลอย
             หน้าบันชั้นสิงห์พริ้งเพรา พนักเสากาบกระหนกช่อห้อย
             มุขบันแวววับประดับพลอย ห้ายอดสุกย้อยสุพรรณพราย
             เทียมด้วยสินธพเทเวศ  กำลังเดชดั่งม้าสุริย์ฉาย
             มาตุลีขี่ขับกรีดกราย น้องนารายณ์นั่งหน้าประนมกร
             ประดับด้วยเครื่องสูงมยุรฉัตร พัดโบกธงทิวปลิวสลอน
             ชุมสายบังแทรกจามร แตรงอนแตรฝรั่งอึงอล
             โยธาโห่เร้าเอาฤกษ์ เอิกเกริกโกลากุลาหล
             ผงคลีฟุ้งคลุ้มบดบน  เร่งพลขับแข่งกันไป

ตอนพระรามเสด็จเข้าเมืองแปดกษัตริย์พบกัน
                          เมื่อนั้น พระพรตสุริย์วงศ์กนิษฐา
             ครั้นถึงเกยแก้วอลงการ์ ก็เชิญพระมารดาทั้งสามองค์
             ขึ้นทรงมหาพิชัยรถ อลงกตแวววามงามระหง
             พร้อมนางกษัตริย์สุริย์วงศ์ รถอนงค์กำนับเรียงราย
             แล้วพระพี่น้องทั้งสองศรี  ขึ้นทรงรถมณีฉานฉาย
             ให้กุขันหนุมานสองนาย นำพลนิกายดำเนินจร
             รถเอยห้ารถทรง อลงกตเนาวรัตน์ประภัสสร
             งามดุมงามกงงามงอน งามแปรกแอกอ่อนช้อยชด
             งามบุษบกบันปราลี มุกสีงามแสงมรกต
             งามสินธพเทียมราชรถ  งามย่างเป็นพยศกรีดกราย
             งามนายสารถีขี่ขับ งามประดับเครื่องสูงชุมสาย
             งามแถวธงริ้วทิวราย งามพวกกลองตะพายประโคมครึก
             งามเสียงแตรงอนแตรฝรั่ง งามฆ้องปี่ดังก้องกึก
             งามประเทียบเรียบกันพันลึก งามพลโห่ฮึกอึงอล
             งามหมู่ช้างดั้งช้างกัน  งามม้าแซงกั้นกุลาหล
             งามชอุ่มคลุ้มแสงพระสุริยน งามพลเร่งรีบกันไป

ขบวนราชรถของพระพรตและพระสัตรุต ตอนยกทัพกลับจากเมืองมลิวัน ความว่า
             รถเอยรถทรง กำกงแก้วลายฉายฉัน
             แปรกทองช่องกระจกกระหนกพัน งอนชดลดชั้นบัลลังก์ลอย
             เสาแก้วกาบเก็จเพชรประดับ ยอดแก้วแพรวระยับดั่งหิ่งห้อย
             บุษบกรุ้งร่วงด้วยดวงพลอย แม้นวิมานมาศลอยในอัมพร
             เทียมสินธพสี่สีเศวต  กำลังเดชดั่งราชไกรสร
             กนิษฐานั่งหน้าประนมกร สารถีขับจรดั่งลมพาน
             งามเครื่องสูงไสวรายริ้ว มยุรฉัตรถัดทิวธงฉาน
             งามเสียงแตรสังข์เป็นกังวาน ปี่ฆ้องกลองขานสะท้านดง
             อสุราวานรโห่สนั่น พิลึกลั่นขุนไศลไพรระหง
             รีบเร่งพลขันธ์ดั้นดง  ตรงไปโดยทางพนาลี
จากอิทธิพลของวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ได้เป็นบ่อเกิดของจิตรกรรมฝาผนังที่ระเบียงคดพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งมีความยาวถึง ๑๗๘ ห้อง มีภาพราชรถหลายตอนที่จัดได้ว่าสวยงามมาก
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  [1] 2   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.825 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 19 มีนาคม 2567 06:46:27