[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 01:16:08 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 [2]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ  (อ่าน 18566 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #20 เมื่อ: 03 ตุลาคม 2560 18:10:19 »


ทศกัณฐ์พาญาติวงศ์หนีเพลิงไปอยู่เขาสัตนา จิตรกรรมที่ระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดให้พระยาธรรมปรีชา (แก้ว) เรียบเรียงวรรณกรรมเรื่องนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๔๕ โดยมีเค้าโครงอย่างเดียวกับไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์พญาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย แต่มีความพิสดารมากกว่า

วรรณกรรมเรื่องไตรภูมิโลกวินิจฉยกถานี้ ได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับเรื่องราชรถดังปรากฏแทรกอยู่ในเรื่องพญาสุภมิตรความว่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาสุภมิตร ราชาเมืองจัมปาก ต้องพลัดพรากจากพระอัครมเหสี คือ พระเกศินีราชเทวี และพระราชโอรสทั้งสอง พระองค์เศร้าโศกเสียพระทัย จนกระทั่งสลบไป ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา แต่ภายหลังบังเกิดญาณพิจาณาถึงแก่นแท้ของชีวิต พระโพธิสัตว์ก็สงบสติอารมณ์ได้และเดินทางไปถึงเมืองตักสิลา ขณะที่บรรทมอยู่ในอุทยานนั้น เหล่าอำมาตย์ต่างพร้อมใจกันใช้ปุสราชรถเสี่ยงทายหาผู้มีบุญญาธิการขึ้นเป็นกษัตริย์แทนกษัตริย์แห่งเมืองตักสิลา ซึ่งทิวงคตไปแล้ว ปุสราชรถไปหยุดที่เบื้องพระบาทของพระบรมโพธิสัตว์ และมหาชนได้อัญเชิญพระองค์เป็นกษัตริย์เมืองตักสิลาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ดับบทพรรณนาโวหารว่า

                    “อาศัยด้วยกุศลผลบุญที่พระองค์สร้างสมมานั้นเข้าอุดหนุนอุปถัมภนาการ
                    ก็บันดาลดลพระทัยให้เสด็จไปสู่เมืองตักกสิลานครราชธานี อุยฺยานํ ปวิสิตฺวา
                    เสด็จเข้าไปสู่สวนพระอุทยานแล้วเอาพระภูษาคลุมพระองค์ แล้วก็บรรทมอยู่เหนือ
                    แท่นบัลลังก์ศิลาปัฎ ณ ภายใต้สาลราชร่มรังอันใหญ่  ตทา ในกาลครั้งนั้น
                    สมเด็จพระมหากษัตริย์ที่เสวยสมบัติในเมืองตักกสิลานั้น ทิวงคตล่วงไปแล้ว ๗ วัน
                    สรีรกิจฺจํ กตฺวา อำมาตย์ทั้งหลายก็พร้อมเพรียงกันตกแต่งการถวาย
                    พระเพลิง แล้วก็เสี่ยงปุสราชรถ ปทกฺขิณํ กตฺวา ปุสราชรถก็กระทำประทักษิณ
                    มนเทียรสถาน สิ้นตติยวาสสามรอบแล้วก็ออกจากพระนครโดยพระทวาร ข้างปราจีณ
                    ทิศตะวันออก เข้าไปสู่สวนอุทยานกระทำประทักษิณมงคลปัฎพระแท่นศิลา แล้วก็
                    ประดิษฐานอยู่ ณ เบื้องพระบาทแห่งสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ สพฺพตุริยานิ อุคฺโฆสาเปสิ
                    ปุโรหิตาจารย์ก็ให้ประโคมดุริยางค์ดนตรี มีเสียงอันสนั่นครั่นครื้น ปพุชฺฌิตวา
                    พระบรมโพธิสัตว์ก็ตื่นบรรทม วิวริตฺวา จึงเปิดพระภูษาออกจากพระเศียร ทอด
                    พระเนตรดูเสนาทั้งปวง แล้วก็พลิกบรรทม ณ เบื้องซ้าย ฝ่ายปุโรหิตก็คลานเข้าไปดูลักษณะ
                    ที่พื้นพระบาท เห็นว่ามีบุญมาก อาจเสวยสิริราชสมบัติในทวีปทั้ง ๔ ได้ ก็พร้อมเพรียงกัน
                    กระทำอัญชลีกรประนมน้อมอาราธนาให้รับราชสมบัติ พระบรมโพธิสัตว์ก็อุฏฐาการจาก
                    สิริไสยาสน์ ทรงนั่งเหนือมงคลศิลา แล้วก็มีวาจาตรัสว่า กุหึ คโต พญาของท่านไป
                    ไหนเล่า? ทิวงฺคโต พระพุทธิเจ้าข้า พระมหากษัตริย์ทิวงคตแล้ว พระเจ้าหน่อไม่มีหรือ?
                    นตฺถิเทว พระพุทธิเจ้าข้าพระเจ้าหน่อมิได้มี อ๋อผิดังนั้น เราจะรับอาราธนา อภิสิญฺจิตฺวา
                    มหาชนทั้งปวงก็พร้อมเพรียงกันราชาภิเษกพระบรมโพธิสัตว์ครอบครองสมบัติในเมืองตักสิลา
                    โดยทศพิธราชธรรม        


บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์เฉพาะที่จะใช้เล่นละคร ตั้งแต่ตอนหนุมานถวายแหวนจนทศกัณฐ์ล้ม กับตอนฆ่านางสีดาจนอภิเษกไกรลาส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องว่าวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดียิ่งเรื่องหนึ่ง มีบทกลอนไพเราะและถ้อยคำสำนวนดี เฉพาะบทพรรณนาเกี่ยวกับราชรถมีเป็นจำนวนมาก จะขอยกตัวอย่างพอเป็นสังเขปดังนี้

ตอนกุมภกรรณลับหอกโมกขศักดิ์
                 รถเอยราชรถทรง เสียงกงก้องสนั่นหวั่นไหว
            โตกตั้งบัลลังก์แก้วแววไว งอนระหงธงชัยโบกบน
            เทียมไกรสรราชผาดผยอง ดังจะล่องฟ้าเวหาหน
            เครื่องสูงบังแสงสุริยน เบื้องบนบดคลุ้มชอุ่มควัน
            เสียงสังข์เสียงแตรแซ่ซ้อง   ฆ้องกลองโครมครึกพิลึกลั่น
            พวกพหลพลมารชาญกรรจ์ แห่แหนแน่นนันพนาลัย
            ต่างสำแดงแผลงเดชเดชา สะเทื้อนท้องหิมวาป่าใหญ่
            สัตว์สิงวิ่งหนีเข้าพงไพร เร่งร้นพลไกรเกรียวมา

ตอนศึกอินทรชิตครั้งแรก
                 รถเอยราชรถทรง สำหรับองค์โอรสทศเศียร
            เพลาดุมหุ้มสุวรรณหันเวียน แก้ววิเชียรประดับวับวาว
            เทียมไกรสรราชผาดผยอง ดังจะล่องลอยคว้างมากลางหาว
            บุษบกบัลลังก์แก้วแพรวพราว กว้างยาวราวรถพระอาทิตย์
            เสียงกงก้องกึกพิลึกลั่น   สะเทือนถึงสวรรค์ชั้นดุสิต
            เทพบุตรหับบานทวารมิด ระวังตัวกลัวฤทธิ์อสุรี
            พระยาครุฑยุดนาคในนภางค์ ผวาวางนาคินทร์บินหนี
            ไม้ไหล้แหลกลงเป็นผงคลี ยักษีเหยียบยุ่ยลุยแหลกไป

ตอนศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ซึ่งเป็นตอนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ได้สองบทและสุนทรภู่แต่งต่ออีกสองบท ถือเป็นตอนที่มีชื่อเสียงรู้จักกันแพร่หลาย

                 รถเอยรถที่นั่ง บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
            กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
            ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
            สารถีขี่ขับเข้าดงแดน พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ
            นทีตีฟองนองระลอก   คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
            เขาพระสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน อนนต์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
            ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
            บดแสงสุริยันตะวันเดือน คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา

ตอนหนุมานลวงทศกัณฐ์ออกไปสนามรบ
                 รถเอยราชรถทรง กำกงวงเวียนเหียนหัน
            เทียมพระยาราชสีห์สี่พัน โลทันสารถีขับทะยาน
            อภิรุมชุมสายรายริ้วนอก ทหารหอกแห่แหนแน่นหน้าฉาน
            ฆ้องกลองก้องกึกกังสกดาล สังข์แตรแซ่ประสานเสียงพล
            ม้าแซงแข่งขันเผ่นโผน   กระทืบโกลนกลอกกลับสับสน
            ผงคลีคลุ้มกลุ้มมืดมัวมน เบื้องบนบดแสงสุริเยน
            พวกพหลพลมารก็ขานโห่ บ้างรำโล่แกว่งหอกกลอกเขน
            เหยียบไม้ไหล้ลู่ล้มระเนน   เร่งเกณฑ์แห่ให้ไคลคลา

บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นวรรณคดีไทยที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ ว่าเป็นยอดของบทละครรำ เนื่องจากเป็นหนังสือที่แต่งดีพร้อมทั้งเนื้อความและกระบวนที่เล่นละคร

บทละครเรื่องอิเหนาเป็นวรรณคดีที่ได้รับอิทธิพลมาจากชวา กระบวนกลอนของบทละครเรื่องนี้พรรณนาได้ไพเราะและเห็นภาพพจน์ มีหลายตอนได้กล่าวพรรณนาเกี่ยวกับราชรถ แม้จะไม่มากและพิสดารเท่าบทละครเรื่องรามเกียรติ์ แต่ก็สามารถยึดถือเป็นแบบฉบับได้ เช่น

ตอนอุณากรรณยกพลออกตามอิเหนา
ระตูประมอตันเตรียมราชรถให้อุณากรรณอย่างสมศักดิ์ศรี ดังบทพรรณนาโวหารที่กล่าวถึงอุณากรรณทรงรถ


            มายังเกยรัตน์รูจี เสนีกราบก้มบังคมไหว้
            เสด็จทรงรถแก้วแววไว ให้เคลื่อนพลไกรจรจรัล
                 รถเอยรถทรง ดุมวงเฉวียนฉวัดผัดผัน
            กระหนกกระหนาบคาบแก้วแพรวพรรณ ธงสุวรรณฟักปลายงอนงาม
            เทียมด้วยอาชาพลาหก   ผาดผกว่องไวในสนาม
            ทหารแห่ซ้ายขวาอาสาจาม เครื่องสูงแทรกตามตาริ้วเรียง
            ธงชายปลายปลิวเป็นทิวถ้อง ฆ้องกลองแตรสังข์ประดังเสียง
            ช้างดั้งช้างกันน้ำมันเพียง ม้าแซงแข่งเคียงเป็นคู่ไป

ตอนท้าวกะปาหลันยกมาช่วยท้าวจะมาหรา บทพรรณนาโวหารตอนนี้กล่าวถึงรถทรงอันงดงามของท้าวกะปาหลัน
                 รถเอยรถแก้ว แพร้วแพร้วพรายพรายหลายสี
            แอกอ่อนงอนงามรูจี กระหนกหน้าวาสุกรีจำหลักลาย
            บุษบกที่นั่งบัลลังก์รัตน์ หน้ากระดานฐานปัทม์บัวหงาย
            กาบเสาพรหมศรสะบัดปลาย ตาอ้อยพลอยลายอร่ามเรือง
            เทียมสินธพชาติทั้งสี่   ต่างสีขาวเขียวกะเลียวเหลือง
            เครื่องสูงชุมสายพรายประเทือง แห่แหนแน่นเนืองเป็นคู่กัน
            เสียงม้าเสียงรถคชสาร เสียงทหารโห่ร้องหฤหรรษ์
            เสียงประโคมฆ้องกลองก้องไพรวัน   เร่งรีบพลขันธ์ดำเนินมา

ตอนท้าวจะมาหรา ท้าวกะปาหลัน จัดเตรียมยกไปตีเมืองกาหลัง เป็นอีกตอนหนึ่งที่มีสำนวนโวหารไพเราะ และกล่าวถึงพิชัยราชรถซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยสร้างตามประเพณีที่มีมาแต่โบราณทุกประการ จึงสันนิษฐานได้ว่าราชรถในเรื่องอิเหนาน่าจะเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

                 รถเอยรถแก้ว เพริดแพร้วแต่ละกลคนละอย่าง
            แสงแก้วแวววับจับนภางค์ มีบัลลังก์ตั้งกลางบนเรือนรถ
            งามแปรกแอกอ่อนงอนระหง ดุจวงกงแก้วมรกต
            เทียมด้วยพาชีมีพยศ ชักพิชัยราชรถบทจร
            อภิรุมชุมสายรายริ้ว   ทวนทองธงทิวสลับสลอน
            โยธาดาดาษดงดอน คับคั่งกุญชรพาชี
            เสียงประโคมครั่นครึกกึกก้อง ลั่นเลือนสะเทือนท้องพนาศรี
            เร่งรัดจตุรงคโยธี ข้ามคีรีห้วยธารผ่านมา

ตอนระตูมะงาดายกทัพตามย่าหรัน ได้จัดเตรียมรถศึกที่น่าเกรงขามดังนี้
                 รถเอยรถศึก ดุมกงก้องกึกแผ่นดินไหว
            บัลลังก์ลอยงอนช้อยปกธงชัย สารถีแกว่งไกวอาวุธ
            เทียมสินธพสี่สีแดง ชักรถเข้มแข็งไม่หย่อนหยุด
            เครื่องสูงธงชัยกระบี่ครุฑ สำหรับยุทธนาราวี

ตอนท้าวดาหายกไปคอยท้าวกุเรปัน ท้าวดาหาจัดเตรียมรถทรงสำหรับมเหสีซึ่งเรียงตามลำดับใหญ่น้อย ส่วนสาวสนมกำนัลในก็นั่งรถทรงรองลงไป
            อันพระมเหสีทั้งห้าองค์ รถทรงตามลำดับน้อยใหญ่
            รถสนมกำนัลเป็นหลั่นไป ให้เคลื่อนพลไกรจากพารา
                 รถเอยราชรถแก้ว เพริศแพร้วเรืองอร่ามพระเวหา
            ดุมวงกงกำล้วนจินดา งอนระหงธงหน้าสามชาย
            แปรกบังรังเรือนแสนสุก   จตุรมุขพรหมพักตร์เฉิดฉาย
            หน้าบันเครือกระหนกนกลาย รูปนารายณ์ทรงครุฑเผ่นทะยาน
            สารถีขับสินธพชาติ โอภาสดังรถพระสุริย์ฉาน
            ประดับด้วยเครื่องสูงโอฬาร ปี่กลองฆ้องขานนี่นัน
            พลเข้าริ้วรายซ้ายขวา ดั้งแซงหลังหน้าหลายหลั่น
            รถประเทียบตามระเบียบเรียงรัน   ทั้งรถสาวสวรรค์กำนัลใน
            เสียงรถเสียงช้างเสียงม้า เสียงพลโห่โกลาแผ่นดินไหว
            ผงคลีบดบังอโณทัย รีบยกไปในอรัญวา

p14 al13
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 ตุลาคม 2560 18:13:38 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #21 เมื่อ: 06 ตุลาคม 2560 18:11:07 »




ตอนท้าวดาหลังเชิญสองกษัตริย์เข้าเมือง จากบทพรรณนาโวหารตอนนี้จะพบคติธรรมทางประเพณีว่าพิชัยราชรถเป็นราชรถของกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ ในที่นี้คือท้าวกุเรปัน ตามศักดิ์ต้องอยู่หน้ากระบวน ติดตามด้วยโอรสพระองค์ใหญ่คืออิเหนา โอรสพระองค์เล็กคือสียะตรา ส่วนพระมเหสีและพระธิดามีศักดิ์รองลงมา จึงเป็นกระบวนลดหลั่นกันไปตามลำดับ

                 รถเอยราชรถแก้ว แวววับจับแสงสุริยใส
            สารถีขับม้าว่องไว ดังจะเลื่อนลอยไปในเมฆา
            อันท้าวกาหลังฤทธิรณ ทรงช้างนำพลยกไปหน้า
            ทั้งสามกระบวนยาตรา แต่ละกองโยธาแน่นนันต์
            เครื่องสูงไสวทั้งสามกอง   เสียงประโคมฆ้องกลองไหวหวั่น
            ซ้ายขวาเสนาเรียงรัน หน้าหลังเป็นหลั่นกันไป
            อิเหนานั้นทรงสินธพชาติ ตามเสด็จปิตุราชเป็นใหญ่
            สียะตราก็ทรงอาชาไนย ตามพิชัยราชรถบิตุรงค์
            อันองค์ระเด่นบุษบา กับระเด่นวิยะดานวลหง
            ต่างทรงรถสุวรรณบรรจง   ด้วยองค์พระราชชนนี
            ฝ่ายสาวสรรค์นั้นมาท้าย เรียงรายโดยกระบวนถ้วนถี่
            ให้รีบหมู่พหลมนตรี เข้าบุรีกาหลังทันใด

ตอนท้าวหมันหยายกจากเมือง ศักดิ์ของราชรถที่ทรงก็งดงามสมกับเป็นกษัตริย์
                 รถเอยรถทรง ดุมกงก้องลั่นสนั่นเสียง
            บุษบกบังลังก์ตั้งเตียง มีเฉลียงบังสาดดาดเพดาน
            ประดับดวงดาราระย้าย้อย   ซุ้มเสาฝังพลอยฉายฉาน
            เทียมด้วยสินธพอาชาชาญ สารถีเผ่นทะยานขับรถ
            เครื่องสายอภิรุมชุมสาย ธงทิวริ้วรายอลงกต
            สังข์แตรแซ่สนั่นบรรพต ผงคลีบังบดพระสุริยัน
            ทหารแห่ถือหอกเป็นคู่คู่ เหล่าพวกมลายูถือปืนสั้น
            เดินเป็นระเบียบเรียบกัน   โห่สนั่นครั่นครื้นปถพี

ปฐมสมโพธิกถา พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวถึงราชรถว่าเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ตอนพระเจ้าสุทโธทนะทรงราชาภิเษกและอภิเษกสมรสกับพระนางสิริมหามายา เป็นตอนที่แสดงถึงความสำคัญของราชรถอย่างแท้จริง ดังพรรณนาโวหารว่า

             ”พระเจ้าชนาธิปราชก็ให้รี้พลแผ้วถางภูมิประเทศที่นั้นถวายพระเจ้าสีหนุราช
             จึงตรัสสั่งสุรัตนวัฒกีอมาตย์นายช่างผู้ใหญ่ให้กระทำมหามณฑปกว้างถึงกึ่งโยชน์
             กอปรด้วยเสาถึง ๘๐๐ ต้น แล้วให้กระทำปราสาททององค์หนึ่งมีพื้น ๑๙ ชั้น
             ในอโสกอุทยานให้นามโกกนุทปราสาท ส่วนพระเจ้าชนาธิปราช ก็ให้สร้าง
             ปราสาท ๒ องค์ ได้นามธัญมุตปราสาทองค์ ๑ เวฬุปัตปราสาทองค์ ๑
             ณ พระอุทยานนั้น

             แลการปราสาททั้ง ๓ สำเร็จในเดือนหนึ่งบริบูรณ์ ครั้นถึงผคุณมาส พระเจ้า
             ชนาธิปราชจึงให้ตกแต่งพระนครงามดุจดาวดึงส์เทวโลก แล้วให้ตกแต่งปราสาท
             ทั้ง ๓ และมหามณฑปในอโสกอุทยาน ในท่ามกลางมหามณฑปนั้นตั้งไว้ซึ่ง
             กองแก้ว ๗ ประการ สูงประมาณชั่วลำตาลหนึ่ง ลาดด้วยผ้ากัมพลอันหาราคามิได้
             เป็นบัลลังก์สำหรับจะราชาภิเษก ครั้นเวลารุ่งเช้าก็อัญเชิญพระสิริมหามายาราชธิดา
             ให้โสรจสรงเสาวคนธ์จันทโนทกธารา แล้วทรงเครื่องสิริราชกัญญาวิภูสนาภรณ์พร้อม
             เสร็จ แวดล้อมด้วยคณาเนกนางขัตติยราชกุมารีแสนหนึ่งเป็นบริวาร

             ราชา ส่วนสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราช ก็อัญเชิญพระเจ้าสิริสุทโธทนราชโอรส
             ให้โสรจสรงสุคนโธทกธารา แล้วทรงราชาภิษิกพัสตร์รัตนราชปิลันธนาภรณ์พร้อมเสร็จ
             พออุตมฤกษ์ก็อัญเชิญเสด็จขึ้นทรงอลงกตมหามงคลราชรถ อันห้อยย้อย
             ไปด้วยแก้วมีประการต่างๆ เทียมด้วยสินธพชาติทั้ง ๔ มีสีดังดอกกุมุทเสด็จไปสู่
             มหามงคลมณฑปที่ราชาภิเษก”



จากสำนวนพรรณนาโวหารข้างต้น จะพบว่าในพระราชพิธีราชาภิเษก  พระเจ้าสีหหนุราชให้นายช่างชื่อสุรัตนวัฒกีอมาตย์ ทำปราสาททองถึง ๑๙ ชั้น ซึ่งทำให้พระมหานครงดงามเหมือนกับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระนางสิริมหามายาทรงฉลองพระองค์อย่างงดงาม และแวดล้อมด้วยบริวารที่เป็นนางกษัตริย์ถึงแสนคน พระเจ้าสีหหนุราชอัญเชิญพระเจ้าสิริสุทโธทนะทรงเครื่องประดับสำหรับกษัตริย์ เสด็จขึ้นอลงกตมหามงคลราชรถ ซึ่งประดับด้วยแก้วประดับต่างๆ หลากสี เทียมด้วยม้าทั้ง ๔ มีสีดอกกุมุท มีริ้วขบวนเสด็จไปที่มหามงคลมณฑปที่ราชาภิเษก

ขบวนอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา ก็ทรงใช้ขบวนแห่ด้วยราชรถเช่นเดียวกัน ซึ่งตามพระราชอิสริยยศจะเห็นว่าที่ประทับบนราชรถจะสร้างขึ้นเป็นปราสาท และขบวนราชรถที่ตามเสด็จในริ้วขบวน ก็เกิดจากทิพยรถของนางฟ้า นางเทพอัปสร ท่ามกลางความปลื้มปีติยินดีของหมู่เทพยดาทั่วไป รอบมหามงคลวิวาหมณฑปแวดล้อมด้วยทิพยมณฑาบุปผชาติ ท้าวสุทธาวาสมหาพรหมทรงทิพยเศวตฉัตรอันใหญ่นำขบวนเสด็จไปหน้า

ขบวนราชรถของพระเจ้าสุทโธทนะตามด้วยขบวนราชรถของพระอนุชา คือ สุกโกทนะและอมิโตทนะ เมื่อถึงพระราชพิธีอันสำคัญคือฤกษ์อภิเษกสมรส ท้าวสุทธาวาสมหาพรหม จูงพระหัตถ์พระเจ้าสุทโธทนะและนางสุชาดาอสุรินทรธิดาจูงพระหัตถ์พระนางสิริมหามายา ขึ้นไปประทับบนบัลลังก์สำหรับอภิเษก กษัตริย์ทั้งสองจับมือซึ่งกันและกัน ในเหตุการณ์อันเป็นมงคลเช่นนี้ ผู้ที่ต้องปรากฏตัวอยู่เสมอๆ คือท้าวสหัสนัยน์ทำหน้าที่เป่าทิพย์วิไชยยุตมหาสังข์ คันธรรพเทพบุตรดีดพิณสามสาย เทพยดาประโคมทิพยดุริยางค์ มนุษย์ประโคมดุริยางค์ และผู้ที่ทำพิธีหลั่งน้ำสังข์ก่อนกษัตริย์พระองค์อื่นก็คือ ท้าวสุทธาวาสมหาพรหม หลั่งน้ำทิพย์อุทกธาราจากรัตนภิงคาร และกล่าวประสิทธิพร ดังสำนวนพรรณนาโวหารว่า

            “ตราบเท่าถึงพระอุทยานนั้นให้ราบรื่นพื้นเสมอเป็นอันดี เทพยดาทั้งหลายก็มาประชุม
            เล่นมหรสพภิเษกสมโภชในที่นั้นๆ ส่วนพระสิริมหามายาทรงเครื่องแล้วแวดล้อมด้วย
            นางขัตติยกัญญาแสนหนึ่งเป็นบริวาร เสด็จลงจากปราสาทรงราชรถ แลนางสุชาดา
            เทพอัปสรอสุรธิดา ก็ทรงทิพยรถยานออกจากพระนครไปสู่อุทยาน แวดล้อมด้วยคณาเนก
            นางเทพอัปสร เป็นบริวารนำหน้ารถพระสิริมหามายาราชบุตรี สมเด็จท้าวโกสีย์แล
            พระเจ้าชนาธิปราช กับทั้งสุนันทาเทวีราชชนนีแลหมู่นางสนมนารีนิกรกัญญา กับกษัตริย์
            ขัตติยวงศาทั้งหลายเป็นอันมากก็ตามไปในเบื้องหลัง หมู่เทพบรรษัททั้งหลายก็ถือฉัตร
            แลธงชาย ธงปฎากแห่ไปทั้งสองฟากถนนวิธี เทพยดามนุษย์ทั้งปวงก็มาสโมสรสันนิบาต
            นั่งแวดล้อมมหามงคลวิวาหมณฑปอยู่โดยรอบ

            ในขณะนั้น อันว่าทิพยมณฑาบุปผชาติ แลนานาทิพยกุสุมวัสสธารก็บันดาลตกเต็ม
            ทั่วพื้นภูมิสถาน โดยยาวได้สองโยชน์กว้างได้โยชน์หนึ่ง แต่ล้วนกองดอกไม้ทิพย์อันตกลง
            มาสูงเสมอหลังม้า ส่วนสมเด็จพระเจ้าสีหหนุราชก็ให้ตรวจเตรียมพลสารสินธพพยุหยาตร
            แลให้พระสิริสุทโธทนราชกุมารลงจากราชรถ เสด็จขึ้นทรงมงคลเศวตหัตถี อันมีนามรัตน
            ปัจจัยกุญชร เบื้องบนหลังดาดด้วยข่ายเงินทองแก้วทั้ง ๗ ประการ แลตั้งซึ่งสุวรรณรัตน
            ปราสาทเป็นราชาอาสน์ที่สถิต มีกษัตริย์ศักยราชวงศ์ ๑๐๑ พระองค์แวดล้อมเป็นบริวาร
            แลท้าวสุทธาวาสมหาพรหมทรงซึ่งทิพยเศวตฉัตรอันใหญ่นำเสด็จไปในเบื้องหน้า
           และราชกุมารทั้งสอง คือ พระสุกโกทนะและอมิโตทนะ ผู้เป็นพระอนุชาเสด็จทรงมงคล
           ราชรถอันเดียวกัน พร้อมด้วยจตุรงคโยธาหาญแห่ตามท้าวทหาพรหมไปในเบื้องหน้า
           พระคชาธารพระสิริสุทโธทนเชษฐา  สมเด็จพระเจ้าสีหหนุราช ก็เสด็จแวดล้อมด้วย
           ขัตติยวงศ์ศักยราช ๖๐๐,๐๐๐ ไปในเบื้องหลังช้างพระที่นั่งพระราชโอรส แลหมู่เทพยดา
           ทั้งหลายก็แวดล้อมไปเป็นอันมาก กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายเสด็จมาถึงซุ้มทวารพระอุทยาน
           แล้วเสด็จเข้าสู่มหามณฑปกับด้วยเทพยดาเจ้าทั้งปวง ฝ่ายท้าวสุทธาวาสมหาพรหม
           กำหนดซึ่งกาลอันได้อุดมมหุติฤกษ์แล้ว ก็จูงพระหัตถ์พระสิริสุทโธทนราชกุมารขึ้นสถิต
           ณ เบื้องบนกองแก้ว นางสุชาดาอสุรินทรธิดา ก็จูงพระหัตถ์พระสิริมหามายาขึ้นสถิต
           บนรัตนราศีที่อภิเษกนั้น แลกษัตริย์ทั้งสองก็จับพระหัตถ์ซึ่งกันและกัน  สมเด็จท้าวสหัสนัยน์
           ก็เป่าทิพย์วิไชยุตมหาสังข์ทักขิณาวัฏปัญจสิขคันธรรพเทพบุตรก็ดีดซึ่งพิณสามสาย
           เทพยดามนุษย์ทั้งหลายก็ประโคมทิพยดุริยางค์แลมนุษย์ดุริยางค์ บันลือศัพท์โกลาหล
           นี่สนั่นพร้อมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว แลท้าวสุทธาวาสมหาพรหมก็หลั่งทิพย์อุทกธารา
           จากรัตนภิงคารถวายมุทราภิสิญจนาการแล้วกล่าวมงคลสารประสิทธิ์พรโดยเอนกบรรยาย”



ตอนเจ้าชายสิทธัตถะประพาสสวน อันเป็นเหตุให้พระองค์เริ่มคิดจะออกผนวช เนื่องจากได้พบเทวทูตที่นิมิตให้เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช การเสด็จประพาสสวนครั้งนั้นพระองค์ทรงราชรถซึ่งตกแต่งด้วยแก้ว ๗ ประการอันงดงาม ห่อหุ้มด้วยหนังเสืองามสะอาดรุ่งเรืองดังแสงพระอาทิตย์ และเทียมด้วยม้า ๔ ตัว สีดอกโกมุท ดังพรรณนาโวหารว่า

             “อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระมหาสัตว์มีพระทัยปรารถนาจะเสด็จไปประพาสพระอุทยาน
             จึงตรัสเรียกนายสารถีมาสั่งว่า ท่านจงตกแต่งรถ เราจะไปสู่อุทยานภูมิ นายสารถีรับสั่ง
             แล้วก็มาตกแต่งอุดมรถพระที่นั่งทรงขจิตไปด้วยแก้ว ๗ ประการ แลหุ้มด้วยหนังสีหพยัคฆ
             ทีปิชาติ งามสะอาดรุ่งเรือง มีพรรณประดุจอุทัยทิพากรจำรัสประดับด้วยเครื่องลาดอัน
             พิจิตรโอฬาร แลสรรพอลงการอันเศษบริบูรณ์ทุกสิ่ง เทียมด้วยมงคลวรสินธพทั้ง ๔ มีสีดัง
             ดอกโกกนุทปทุมบุปผาชาติ เมื่อตกแต่งบวรราชรถยานเสร็จแล้ว ก็มากราบทูลเชิญเสด็จ
             สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ก็ขึ้นทรงสถิตบนบัลลังก์พระที่นั่งมงคลราชรถอันปรากฏรุ่งเรือง
             จำรัสทัดเทียมอมรพิมานแวดล้อมด้วยดิเรกโยธาหาญ ออกจากพระนครจะไปสู่อุทยาน
             ภูมิประเทศ ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตอันหนึ่งเป็นปฐมนิมิตอันเทพยดานฤมิตเป็นคน
             ชรามีเกศาอันหงอก แลสีข้างก็คดค้อม กายนั้นง้อมเงื้อมไปในเบื้องหน้า มือถือไม้เท้า
             เดินมาในระหว่างมรรควิถี มีอาการอันไหวหวั่นสั่นไปทั่วทั้งกายควรจะสังเวช ยังไม่เคย
             ได้ทอดพระเนตรพบเห็นมาแต่กาลก่อน จึงตรัสถามนายสารถีว่า บุรุษผู้นี้มีนามชื่อใด
             จึงดูรูปกายแปลกประหลาดกว่าชนทั้งหลายอื่นฉะนี้ ขณะนั้นเทพยดาเข้าสิงกายนายสารถี
             ให้ทูลไปโดยสัตว์ว่า บุรุษผู้นี้มีนามว่าคนชนชรา ตรัสซักถามว่า คนชราเป็นประการใด?
             ข้าแต่พระลูกเจ้า คนชรานี้ มิได้มีชีวิตยาวยืนพลันจะถึงมรณภาพเป็นแท้ จึงตรัสถามว่า
             เหมือนตัวอาตมะนี้ก็จะมิได้ล่วงชราตามแลหรือ ข้าแต่พระลูกเจ้า พระองค์แลข้าพระพุทธเจ้า
             ก็ดี ชนทั้งหลายอื่นก็ดีบรรดาเกิดมาในโลกสันนิวาสนี้ บมิอาจล่วงพ้นชราธรรมทั้งสิ้นด้วยกัน
             เมื่อได้ทรงสดับดังนั้นก็ตรัสติเตียนซึ่งชาติอันเป็นเหตุจะให้ชรา มีพระหฤทัยบังเกิดสังเวช
             เป็นกำลัง จึงตรัสสั่งนายสารถีว่าท่านจงกลับรถเถิด จะประโยชน์อันใด กับสิริสมบัติอันบมิล่วง
             พ้นจากชรามีประการดังนี้ แลจะมาขวนขวายในการเล่นอันเป็นที่เกิดความประมาทมิควร
             ยิ่งนัก ก็เสด็จกลับรถคืนเข้าพระนครขึ้นสู่ปรางคปราสารท เหตุอันนั้นก็ทราบถึงพระราชบิดา
             จึงตรัสสั่งให้พระสนมทั้งหลายให้ตกแต่งพระกายประโลมพระราชโอรสหวังจะให้ลุ่มหลงอยู่ใน
             เบญจกามคุณอย่าให้เบื่อหน่าย แล้วให้กำชับชนทั้งหลายให้พิทักษ์รักษายิ่งกว่าแต่ก่อน ห้าม
             อย่าให้ชนชราเข้ามาในที่ใกล้ถึงกึ่งโยชน์”


p14 al13
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ตุลาคม 2560 17:43:21 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #22 เมื่อ: 18 ตุลาคม 2560 17:34:14 »





ตอนโทณพราหมณ์ห้ามทัพแล้วแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ได้กล่าวถึงราชรถดังสำนวนพรรณนาอันไพเราะ ดังนี้

“ในขณะนั้น กษัตริย์ในเมืองโมรีนคร อันสถิตอยู่ ณ ที่ใกล้ป่าปิปผลิวันได้ทราบว่าพระทศพลเข้าสู่พระปรินิพพาน จึงส่งราชทูตให้ถือพระราชสาส์นมาถึงกษัตริย์มัลลราช ณ เมืองกุสินาราย ขอส่วนพระบรมธาตุ แล้วเสด็จยกพยุหยาตราตามมาในภายหลัง ครั้งนั้น กษัตริย์กุสินารายจึงแจ้งเหตุว่า ส่วนพระสารีริกธาตุนั้นปันแจกกันสิ้นแล้ว ท่านจงนำเอาพระอังคารไปสักการบูชาเถิด แลกษัตริย์โมรีนครก็เชิญพระอังคารไปกระทำสักการบูชา ดำดับนั้น กรุงอชาตสัตตุราช เมื่อจะอัญเชิญพระบรมธาตุจากเมืองกุสินารายไปสู่กรุงราชคฤห์ แลในที่ระหว่างพระนครทั้งสองนั้นกำหนดมรรคาได้ ๑๒๕ โยชน์ แลทางในระหว่างนั้น พระองค์ให้ชนทั้งหลายปราบให้ลื่นราบเสมอเป็นอันดี มีประมาณโดยกว้างได้ ๘ อุศุภ แลตกแต่งอย่างมรรคาอันมาแต่งมกุฏพันธนเจดีย์ จนถึงที่สันฐาคารศาลาซึ่งพระยามัลลราชทั้งหลายในเมืองกุสินารายตกแต่งนั้น แล้วให้ตั้งร้านตลาดรายเรียงไปตามสองข้างมรรคาจนตลอด ๑๒๕ โยชน์ เพื่อจะยังรี้พลทั้งหลายมิให้เป็นทุกข์ลำบาก ด้วยจะอดอยากอาหารในหนทางแล้ว ให้อัญเชิญพระหีบทองซึ่งใส่พระบรมธาตุขึ้นประดิษฐานบนบัลลังก์ราชรถ แลให้สันนิบาตหมู่ชนทั้งหลายบรรดาอยู่ในปริมณฑลทั่วพระราชอาณาเขต แห่งกรุงราชคฤห์ทั้ง ๕๐๐ โยชน์นั้นมาพร้อมกันทั้งสิ้นแล้ว ให้ยาตรารถทรงพระบรมธาตุไปจากเมืองกุสินาราย ให้เล่นการสาธุกีฬนักขัตฤกษ์บูชาไปตามระยะทาง เบื้องว่าเห็นดอกไม้ป่าออกบานในที่ใด ก็ให้หยุดรถพระบรมธาตุอยู่กระทำสักการบูชาในที่นั้น กว่าจะสิ้นดอกไม้ที่บาน แล้วชักรถไปถึงที่ประมาณสุดแอก ก็ให้หยุดสมโภชอยู่เจ็ดวันๆ แต่กระทำโดยนิยมดังนี้ แลเชิญพระสารีริกธาตุมาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ล่วงไป ก็ยังไม่ถึงเมืองราชคฤห์”


พระมหาชนก คัมภีร์ชาดก พระราชนิพนธ์แปลของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนพระมหาชนกกล่าวถึงราชยานเนรมิต ซึ่งท้าวสักกเทวราชเนรมิต สำหรับช่วยพระมเหสีอริฏฐชนกที่กำลังหลบหนีพระโปลชนกไปเมืองกาลจัมปากะ พระมเหสีเทวีเป็นพระมารดาพระโพธิสัตว์ จึงประกอบด้วยบุญบารมีอันสูงส่ง ราชยานที่ท้าวสักกเทวราชเนรมิตขึ้นมีตั้งเตียงสำหรับประทับนั่งจึงถูกต้องตามประเพณีวงศ์กษัตริย์ ดังบทพรรณนาโวหาร ความว่า

“พระนางเธอเสด็จออกทางพระทวารด้านทิศอุดรไม่รู้จักหนทางเพราะไม่เคยเสด็จไป ณ ที่ไหนเลย ทั้งไม่สามารถจะทรงกำหนดทิศทางได้ จึงประทับ ณ ศาลาแห่งหนึ่ง จะได้ตรัสถามด้วยทรงคิดว่า คนที่จะเดินทางไปเมืองกาลจัมปากะคงจะมีเพราะเคยได้ยินแต่ชื่อเมืองกาลจัมปากะว่ามีอยู่เท่านั้น แต่สัตว์ที่เกิดในพระครรภ์ของพระเทวีนั้น มิใช่สัตว์สามัญเป็นพระมหาสัตว์มีบารมีเต็มเปี่ยมแล้วมาบังเกิด ด้วยเดชานุภาพแห่งพระมหาสัตว์นั้น บันดาลให้ภพของท้าวสักกเทวราชสำแดงอาการร้อน ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชชนาการก็ทรงทราบเหตุนั้น ทรงดำริว่า สัตว์ผู้ทรงถือปฏิสนธิในพระคัพโภทรของพระนางเธอมีบุญญาธิการมาก จำอาตมะจะต้องไปยังสำนักพระเทวีนั้น จึงทรงนิมิตยานมีเครื่องปกปิดแล้วจัดตั้งเตียงไว้ในยานนั้น แล้วแปลงเพศเป็นคนแก่ ขับยานไปหยุดอยู่ที่ประตูศาลาที่พระนางเธอประทับอยู่ แล้วทูลถามพระเทวีว่า คนที่จะไปยังกาลจัมปากะนครมีอยู่หรือ พระเทวีได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสตอบว่า คุณพ่อเจ้าขา ดิฉันจะไปค่ะ ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นก็เชิญแม่ขึ้นมาบนยานเถิด พระมหาเทวีเสด็จออกมาแล้วตรัสว่า
คุณพ่อเจ้าขา ดิฉันมีครรภ์แก่ไม่สามารถจะขึ้นยานได้ จะขอเดินตามคุณพ่อไปข้างหลัง แต่ขอฝากกระเช้าคุณพ่อไป ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า แม่พูดอะไรไม่มีใครจะรู้จักขับยานเช่นข้าพเจ้าเลย แม่อย่ากลัวไปเลย เชิญขึ้นมานั่งบนยานนี้เถิด ด้วยเดชานุภาพแห่งพระโอรสของพระนางเธอ ในขณะที่พระนางจะเสด็จขึ้นยาน แผ่นดินก็นูนขึ้นดุจลูกหนังอัดลมแน่น ฉะนั้นจากที่สุดยาน พระนางเธอก็เสด็จขึ้นบรรทม ณ พระแท่นบรรทมมีศิริ”

อีกตอนหนึ่งกล่าวถึงการปล่อยปุสราชรถหลังจากพระเจ้าโปลชนกแห่งกรุงมิถิลาเสด็จทิวงคตแล้วว่า

“ลำดับนั้น ท่านปุโรหิตาจารย์ จึงกล่าวกะเสนาอมาตย์ราชบริพารว่าท่านทั้งหลายอย่าวิตกเลย เราควรเสี่ยงปล่อยบุศยราชรถไป เพราะพระราชาที่เชิญเสด็จมาด้วยบุศยราชรถ เป็นผู้สามารถจะครองราชย์สมบัติในชมพูทวีปได้ทั้งสิ้น เสนามาตย์ราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในต่างเห็นพร้อมกัน จึงให้ตกแต่งพระนครแล้วเทียมม้าสี่มีสีดุจดอกโกมุทที่ราชรถอันเป็นมงคล ลาดเครื่องลาดอันวิจิตรเบื้องบน ให้ประดิษฐานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ห้าประการแวดล้อมด้วยจาตุรงคินีเสนา ชนทั้งหลายประโคมเครื่องดนตรี ข้างหน้าราชรถที่พระราชาเป็นเจ้าของ ประโคมเบื้องหลังราชรถที่ไม่มีเจ้าของ เพราะฉะนั้น ท่านปุโรหิตาจารย์จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงประโคมดนตรีทั้งปวงหลังราชรถ แล้วประพรมสายหนังเชือก แอก ประตัก ด้วยพระเต้าทองคำซึ่งใส่น้ำมงคลเต็มเปี่ยมแล้วสั่งราชรถว่า การครองราชย์สมบัติเป็นบุญแห่งผู้ใด จงไปสู่สำนักแห่งผู้นั้น แล้วเสี่ยงปล่อยราชรถนั้นไปฯ

ลำดับนั้น ราชรถทำประทักษิณพระราชมณเฑียรสถานแล้วขึ้นไปสู่ทางใหญ่แล่นไปโดยเร็ว ชนทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นต้น พากันคิดว่าขอบุศยราชรถจงแล่นมายังสำนักเราเถิด ราชรถแล่นล่วงเคหสถานทั้งปวงไป ทำประทักษิณพระนครแล้วแล่นออกไปทางประตูทิศบูรพาบ่ายหน้าตรงไปยังพระราชอุทยาน ครั้งนั้นชนทั้งหลายเห็นราชรถแล่นไปโดยเร็ว จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงยังราชรถให้กลับ ท่านปุโรหิตาจารย์จึงห้ามว่า อย่าให้กลับเลย ถึงแล่นไปตั้งร้อยโยชน์ก็อย่าให้กลับเลย ราชรถแล่นเข้าไปยังพระราชอุทยาน ทำประทักษิณแผ่นศิลามงคล แล้วหยุดอยู่เป็นดังคอยเตรียมรับเสด็จให้ขึ้น

ปุโรหิตาจารย์ เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าบรรทมอยู่ จึงเรียกเหล่าอำมาตย์มากล่าวว่า ท่านทั้งหลายมีท่านผู้หนึ่งนอนอยู่บนแผ่นศิลาเป็นมงคลปรากฏอยู่ แต่ว่าเราทั้งหลายยังไม่รู้ว่า ท่านผู้นี้จะมีปัญญาสมควรแก่พระมหาเศวตฉัตร์หรือไม่ ถ้าว่าท่านผู้นี้มีปัญญาก็จักไม่ลุกขึ้นและจักไม่แลดู ถ้าเป็นคนกาลกรรณีจักกลัวจักตกใจ ลุกขึ้นสะทกสะท้านแลดูแล้วจักหนีไป ขอท่านทั้งหลายจงประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันโดยเร็ว คนทั้งหลวงทั้งปวง ก็ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันทั้งร้อย ในขณะนั้นแล เสียงดนตรีเหล่านั้น ประหนึ่งเสียงกึกก้องทั่วไปในท้องสมุทรสาคร พระมหาสัตว์ตื่นบรรทมด้วยเสียงดนตรีนั้น เปิดพระเศียรทอดพระเนตรเห็นมหาชนแล้วทรงจินตนาการว่า เศวตฉัตร์มาถึงเราแน่แล้ว คลุมพระเศียรเสียอีก พลิกพระองค์บรรทมโดยข้างเบื้องซ้าย ฝ่ายท่านปุโรหิตาจารย์เปิดผ้าคลุมพระบาทตรวจดูลักษณะแล้วกล่าวว่า อย่าว่าแต่เพียงทวีปเดียวเท่านี้เลย ท่านผู้นี้สามารถครองราชสมบัติในมหาทวีปทั้งสี่ได้ กล่าวฉะนี้แล้วให้ประโคมดนตรีอีก  ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เปิดผ้าคลุมพระพักตร์อีก พลิกพระองค์บรรทมเบื้องขวา ทอดพระเนตรมหาชน ท่านปุโรหิตาจารย์ให้มหาชนหลีกห่างออกไปแล้ว ประคองอัญชลีก้มหน้ากราบทูลว่า ขอเดชะ ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้เสด็จลุกขึ้นเถิด ราชสมบัติมาถึงใต้ฝ่าพระบาทแล้ว พระเจ้าข้าฯ

ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงถามท่านปุโรหิตาจารย์ว่า พระเจ้าอยู่หัวของท่านไปไหนเสียเล่า เมื่อปุโรหิตาจารย์กราบทูลว่า เสด็จทิวงคตเสียแล้ว จึงตรัสถามว่า พระราชโอรสหรือพระราชภาดาของพระเจ้าอยู่หัวไม่มีหรือ ปุโรหิตกราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชโอรสไม่มี มีแต่พระราชธิดาอยู่องค์หนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์ได้สดับคำของท่านปุโรหิตาจารย์ดังนั้นแล้ว จึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว เราจักครองราชสมบัติ  จึงเสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง ณ แผ่นศิลาเป็นมงคล แต่นั้นชนทั้งหลายมีเสนามาตย์ราชปุโรหิตาจารย์เป็นต้น ก็ถวายอภิเษกพระมหาสัตว์เจ้า ณ สถานที่นั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทรงพระนามว่า มหาชนกราชา ท้าวเธอประทับ ณ ราชรถอันประเสริฐ เสด็จเข้าพระนครด้วยสิริโสภาคอันใหญ่หลวง เสด็จขึ้นยังพระราชนิเวศน์ ทรงพิจารณาว่า เสนาบดีเป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหลายเหล่านั้น แล้วเสด็จถึงข้างฝ่ายใน

 
มหาเวสสันดรชาดก ในมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ทานกัณฑ์ กล่าวถึงการบริจาคสัตสดกมหาทาน และการยกราชรถให้พวกเหล่าพราหมณ์ เป็นบทพรรณนาโวหารที่มีความไพเราะ และบรรยายให้เห็นภาพพจน์อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ดังนี้ ”โสณฺฑานํ เทถ วารุณี กลัวว่านักเลงสุราบานจะติฉัน เธอก็ให้พระราชทานสิ่งทุกประการ แล้วให้จ่ายแจกสัตตสดกมหาทาน เป็นต้นว่า คชสารเจ็ดร้อย  สพฺพาลงฺการภูสิเต ประดับอาภรณ์พู่ห้อยหูดูเฉิดฉาย ดารารายรัตคนทอง ตาข่ายกรองปกกระพองหัตถี คามณีเยหิ มีนายหัตถาจารย์ขี่ประจำคอ มือถือขอคร่ำสุวรรณ คชสารแต่ละตัวนั้นเรี่ยวแรงร้ายคำรณ มาตงฺเค เกิดในป่าต้นหางปกส้นสมตระกูลหัตถี สตฺต อสฺสสเต ทตฺวา ให้จ่ายแจกอัสดรราชพาชี เลือกที่ตัวดีเรืองณรงค์องอาจ สินฺธเว สีฆวาหเน เกิดแต่ชาติสินธพควบขี่ตีตลบตะลุยไล่ อยู่ปืนไฟไม่ถอยถด ลางตัวก็ย่างพยศย่ำซ้ำรอยอยู่กับที่ ล้วนแต่ชาติพาชีระวางใน เครื่องอานใส่ประไพพร้อมย่อมเจริญตา คามณีเยหิ มีนายม้าถือไม้แส้ทุกคนหมด สตฺต รถสเต ทตฺวา ให้จ่ายแจกราชรถอันบรรจงพร้อมไปด้วยดุมกำกงอลงกรณ์ งอนแอกแปรกบัลลังก์สุวรรณฉลุฉลักเป็นชั้นช่อห้อย  สพฺพาลงฺการภูสิเต ประดับด้วยเพชรพลอยย้อยระยับสลับสี เทียมด้วยสินธพพาชีทั้งคู่ นายสารถีถือธนูดูสง่าตากรอกกลมในราชรถนั้นนางสนมนั่งเสงี่ยม ยุคลถันนั้นก็ทัดเทียมปทุมทอง วิมลพักตร์ก็ผุดผ่องละอองนวล ดูน่าจะเชยชวนยวนวิญญาณ์ นิกฺขรชฺชูหิ อลงฺกตา ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พรายพรรณ ดังสุรางค์นางสวรรค์ในชั้นฟ้า สตฺตา เธนุสเต ทตฺวา ให้จ่ายแจกโคนมอีกเจ็ดร้อยมิได้ขาดทั้งทาสทาสีก็สิ้นเสร็จ”  

อนึ่ง ในทานกัณฑ์ยังได้กล่าวถึงตอนพระเวสสันดร มัทรี กัณหาและชาลี ต้องถูกเนรเทศออกจากพระนคร พระองค์เสด็จโดยราชรถแก้วอันงดงาม พรั่งพร้อมด้วยแก้วแหวนอันงดงามบรรทุกใส่ในราชรถ ลักษณะที่กล่าวถึงเช่นนี้ จึงทำให้เห็นประเพณีเด่นชัดยิ่งขึ้นว่า ราชรถ คือพาหนะของพระราชาหรือใช้สำหรับผู้ที่เป็นวงศ์กษัตริย์ หรือวงศ์เทพเท่านั้น ดังบทพรรณนาโวหารความว่า

จตฺตาโร ขตฺติยา ปางเมื่อกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ทรงพระโศกาตั้งแต่เวลาประถมยามเสวยความเวทนา จนเวลาอรุณรังสีทิพากร ฝ่ายพระเวสสันดรจอมกษัตริย์ จึงตรัสสั่งชาวพนักงาน ให้เบิกอลังการแก้วแหวานอันสุกสด บรรทุกใส่ในราชรถแก้ว แล้วให้ประทับกับเกยมาศ”

หรืออีกบทหนึ่งกล่าวว่าพระเวสสันดรทรงราชรถทองซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับราชรถของพระอาทิตย์ ความว่า

“สั่งแล้วกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ขึ้นทรงราชรถทอง ฝ่ายสินธพเรืองรองผยองย่างอย่างพยศ ชักราชรถออกจากทวารวัง เสียงกงกำก็กึงกังดังก้อง ดังจะเลื่อนลอยล่องด้วยกำลังม้า ฝูงสหชาตโยธาถวายบังคมบรมจักราธิราช มนตรีสี่อำมาตย์ราชนิกูลส่งเสด็จทุกกระทรวง เหล่ายาจกนั่งตามถนนหลวงเนืองแน่น ท้าวเธอโปรยแก้วแหวนให้เป็นทานทุกถ้วนหน้า จึงสั่งสหชาตโยธาให้กลับคืนพระนคร”

การกล่าวถึงราชรถจะพบว่าถ้าเป็นราชาผู้ครองนครหรือเป็นรัชทายาทที่จะสืบราชบัลลังก์ต่อมักจะใช้ พิชัยราชรถ ดังพรรณนาโวหารข้อความว่า  ”ท้าวเธอตรัสแล้วก็ชักพิชัยราชรถแก้วหันกลับมากลางทาง”

พระเวสสันดรตั้งพระทัยไว้ว่าพระองค์จะบริจาคทุกสิ่งเป็นทาน เมื่อพระองค์ถูกเนรเทศไปอยู่เขาวงกต พระนางมัทรี กัณหา ชาลี ซึ่งเป็นที่สนิทเสน่หาก็เสด็จตามไปด้วย ทุกพระองค์ทรงราชรถเทียมม้าตามอิสริยศักดิ์ แต่ก็มีพราหมณ์มาขอม้าไป เทพเจ้าต้องเนรมิตละมั่งทองรองรับแอกแบกราชรถไว้ แต่ในที่สุดพระองค์ก็ทรงยกราชรถให้พราหมณ์ชราที่ทูลขอ ดังบทพรรณนาโวหารความว่า

”จตฺตาโร พฺราหฺมณา ยังมีพราหมณ์ชราร่างสี่คนวิ่งตามมาร้องทูลขออัสสวราม้ามรกต    ท้าวเธอก็เปลื้องจากราชรถให้เป็นทาน  งอนแอกรถก็บันดาลไม่ตกลง ฝ่ายเทพเจ้าทั้งสี่พระองค์ทรงกำลังนฤมิตเป็นละมั่งทองเข้ารองแอกแบกราชรถไว้

ยังมีพราหมณ์เข็ญใจผู้หนึ่ง ครั้นมาทูลขอรถ ท้าวเธอก็มอบให้หมดทุกสิ่งของ เทพเจ้าละมั่งทองก็อันตรธาน”

นครกัณฑ์ยังได้กล่าวถึงขบวนราชรถซึ่งพระเจ้ากรุงสัญชัยจัดไปเชิญเสด็จพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเมือง พรรณนาโวหารตอนนี้แสดงให้เห็นประเพณีการจัดขบวนรถ

            ”รถิกา พลรถงอนงามเยียระยง เสนารถขึ้นดำรงบนบัลลังก์
            เป็นสองกับสารถีนั่งเบื้องหน้า ขับอาชาเยื้องย่าง อีกทหารสองข้างสอง
            คนพลรักษารถ  เป็นสี่สิ้นทั้งหมดรถหนึ่งมี   สามารถทวาทสโยธีโดย
            ขบวน  จัดเป็นรถานีก ถ้วนกระบวนหนึ่งซึ่งตกแต่ง ตามตำแหน่งรถ
            พยุหยาตรา

            ปตฺติกา หนึ่งพลโยธาเดินเท้า ไต่เต้าตามกันชั้นละสี่ จัดเป็นองค์
            ปัตตานีกโยธีหมู่หนึ่งพึงคณนา นับพลหัยรถคชโยธาเดินเท้า สิ้นทั้งสี่
            เหล่าเข้าขบวน คิดเป็นทวยหาญหกสิบถ้วน กระบวนหนึ่งซึ่งไตร่ตรวจ
            เป็นหมู่หมวดโดยนิยมดังนี้    สิริดุรงครถคชหัตถี สิ่งละหมื่นสี่สี่พรรณ
            ปันออกเป็นสามกระบวน คิดเป็นทวยทหารหกหมื่นหกพันหกร้อยหก
            สิบหกจำนวนจำแนกกอง เศษเหลือสิ่งละสองสิ้นทั้งสามเหล่า”





               พระวอสีวิการ จิตรกรรมฝาผนังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

เสลี่ยง วอ สีวิกา
เสลี่ยง คือคานหาม เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศ วอ เป็นยานที่มีลักษณะเป็นรูปเรือนหลังคาจั่ว สำหรับเจ้านายหรือข้าราชการฝ่ายในนั่ง มีคานรับอยู่ข้างใต้คู่หนึ่ง ใช้คนหาม ส่วน สีวิกา หมายถึง วอ  ดังนั้น เสลี่ยง วอ และสีวิกา จึงเป็นยานประเภทที่ต้องใช้คนหามเช่นเดียวกัน  

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ได้กล่าวถึงวอ และสีวิกา ไว้หลายตอน เช่น
ตอนทศกัณฐ์ได้ประทานราชธิดานาค


พระบิตุรงค์ขึ้นทรงราชรถ งามศักดิ์งามยศงามสง่า
พระบุตรีนั้นทรงสีวิกา งามดั่งนางฟ้าสุราลัย
พร้อมฝูงอนงค์นาคี โยธีเพียบพื้นแผ่นดินไหว
ออกจากบาดาลกรุงไกร ไปโดยวิธีทางจร

ตอนพระพรตแผลงศรอัคนิวาต พระพรตได้แผลงศรอัคนิวาตเป็นลมกรดถูกกองทัพยักษ์และพิชัยรถของท้าวจักรวรรดิพังพินาศ พระพรตให้พิเภกส่งศพท้าวจักรวรรดิเข้าเมืองมลิวัน นางวัชนีสูรผู้เป็นมเหสีนั่งวอแก้วอันงดงามเสด็จไปเฝ้าพระพรตพร้อมพระธิดา

         เมื่อนั้น นางวัชนีสูรเสน่หา
ได้ฟังเสนีผู้ปรีชา ก็พาพระธิดาผู้ยาใจ
ลงจากวอแก้วแพรวพรรณพร้อมฝูงกำนัลน้อยใหญ่
ตามกันย่างเยื้องคลาไคล เข้าไปพลับพลารูจี

การที่นางวัชนีสูรนั่งวอแก้วนี้ เป็นการแสดงความอ่อนน้อมต่อพระพรต และเป็นประเพณีที่ปรากฏให้เห็นว่าศักดิ์ของขัตติยนารี เมื่อเสด็จไปที่ใดจะใช้วอ และติดตามด้วยขบวนของนางสนมกำนัล ดังตัวอย่างอีกตอนหนึ่งว่า

ขึ้นทรงวอแก้วแกมสุวรรณ พร้อมหมู่กำนัลซ้ายขวา
ฝ่ายสุพิณสันเสนา  นำเสด็จกัลยารีบจร

ปฐมสมโพธิกถา กล่าวถึงตอนพระนางสิริมหามายาเสด็จไปกรุงเทวทหะว่า พระนางทรงสุวรรณสีวิกาพระวอทอง แวดล้อมด้วยข้าทาสบริวารตามเสด็จอย่างสมพระเกียรติ แต่เมื่อเสด็จถึงสวนลุมพินีวันซึ่งอยู่ระหว่างกรุงเทวทหะกับกรุงกบิลพัสดุ์ พระนางก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ขณะประพาสป่านั้น ในสำนวนพรรณนาโวหารตอนนี้กล่าวถึงสุวรรณสีวิกา พระวอทอง และบางตอนใช้คำว่าสีวิกายาน

“อนึ่ง พระครรภ์อันเป็นที่สถิตแห่งพระมหาบุรุษเหมือนกุฏิอันใส่ไว้ซึ่งพระเจดีย์ บมิควรที่สัตว์อื่นจะมาบังเกิดร่วมในที่นั้นสืบไป  อนึ่ง พระพุทธมารดาก็ไม่ควรจะตั้งอยู่ในที่พระอัครมเหสีจะร่วมรสสังวาสกับบุรุษสืบไป เหตุดังนั้นจึงทิวงคต และสิริมหามายาทรงครรภ์พระโพธิสัตว์อยู่ถ้วนทศมาส ครุวราดุจบาตรอันรองไว้ซึ่งน้ำมันมิได้มีพระกายลำบาก ครั้นพระครรภ์บริบูรณ์แล้ว มีพระทัยปรารถนาจะเสด็จขึ้นไปสู่เมืองเทวทหนคร อันเป็นชาติภูมิแห่งพระองค์ จึงกราบทูลพระราชสามี พระราชสามีก็ทรงพระอนุญาต จึงดำรัสสั่งให้ตกแต่งมรรควิถีที่จะเสด็จตั้งแต่กรุงกบิลพัสดุ์ไปตราบเท่าถึงเมืองเทวทหนคร  ครั้นเพลาบุพพัณหสมัยในวันวิสาขบุรณมีเพ็ญเดือน ๖ พระราชเทวีก็กราบถวายบังคมลามาทรงสุวรรณสีวิกาพระวอทอง แวดล้อมด้วยมหันตบริวารยศอันกอปรด้วยสิริโสภาคย์ออกจากพระนคร ไปโดยมัคคมรรคาอันประดับถึงป่าไม้รัง อันชื่อว่าลุมพินีวันอันมีอยู่แทบหนทางในระหว่างพระนครทั้งสอง แต่ใกล้ไปข้างเมืองเทวทหนคร เป็นที่รมณียฐานพิศาลสรรพแสนสนุก บริบูรณ์ด้วยสรรพรุกขบุปผาผลาชาติมีประการต่างๆ  บ้างเผด็ดดอกออกผลเผยสุคนธรสหอมฟุ้งขจรจบบริเวณจังหวัดพนัสประเทศฐาน และหมู่ไม้ทั้งหลายเป็นบริวารแวดล้อมดงรังต้นอันสูงสะพรั่งพื้นผลิช่อแลผลทรงเสาวคนธรสมาลี อาเกียรณ์ด้วยนานาคณะปักษีมีมยุระโกกิลาเป็นอาทิ ร้องแข่งขานบรรสานเสนาะมธุรศัพท์จับใจ มีทั้งห้วยธารละหานห้องอุทกอาจิณสินธุสระน้อยใหญ่อเนกนานา กาลเมื่อมันทวาตาพานพัดพฤกษ์สาขาก็แกว่งกวัดดุจกรอันกวักทักถามว่า พระราชเทพีจะเสด็จไปสู่ประเทศที่แห่งใด เชิญเสด็จมาเสวยสิริสุขาภิรมย์หฤทัย ในพนสณฑ์นี้ เป็นที่รมณียฐานสำราญยิ่งนัก เมื่อพระราชเทพีได้ทัศนาการสาลวันก็มีพระทัยปรารถนาจะเที่ยวประพาสในป่านั้น อมาตย์ทั้งหลายก็เชิญเสด็จแวะออกจากมรรคาเข้าสู่ป่ารัง ก็เสด็จลงจากสุวรรณสีวิกายาน แวดล้อมด้วยนางพระพี่เลี้ยงแลนารีราชบริวารทั้งหลายดำเนินไปถึงใต้ต้นมงคลสาลพฤกษ์ พระกมลปรารถนาจะทรงจับซึ่งกิ่งรังก็มิอาจเอื้อมพระหัตถ์ขึ้นไปถึง  ขณะนั้นกิ่งรังเหมือนมีจิตกรุณาก็บันดาลอ่อนน้อมค้อมลงมาดุจยอดหวายอันต้องเพลิง พอถึงพระหัตถ์พระราชเทวีก็ทรงจับเอากิ่งรัง พอเกิดลมกรรมชวาตหวั่นไหวประชวรพระครรภ์”

ที่กล่าวถึงคำว่า เสลี่ยง มีปรากฏในวรรณคดีเรื่อง สุวรรณหงส์ ตอนนางเกศสุริยงอาสาชุบชีวิตสุวรรณหงส์ กล่าวถึงท้าวสุทัณฑ์นุราชสั่งให้เสนานำเสลี่ยงใส่โกศหามมาให้นางเกศสุริยงทำพิธี ดังความว่า


อย่าช้าจงทำตามคำพราหมณ์
โกศศพลูกกูอยู่ที่ไหน เอาเสลี่ยงออกไปใส่หาม
ผูกม่านมุขลดให้งดงาม ทำตามพราหมณ์สั่งเดี๋ยวนี้



              เมรุท้าวทศรถ จิตรกรรมที่ระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


               เมรุนกสดายุ จิตรกรรมที่ระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระเมรุมาศ
ความงามของพระเมรุมาศมีกล่าวถึงใน บทละครเรื่องรามเกียรติ์ หลายตอน อาทิเช่น เมรุท้าวทศรถ กล่าวถึงการจัดพระบรมศพดังนี้
ครั้นรู้ว่าพระองค์สวรรคต ต่างตนกำสรดสะอื้นไห้
ก็ตามพระสิทธาขึ้นไป ยังไพชยนต์รัตน์รูจี
ครั้นถึงห้องแก้วสุรกานต์ องค์พระอาจารย์ทั้งสองศรี
ให้เอาสุคนธวารี อันมีกลิ่นตลบโอฬาร์
ใส่สาครรัตน์โสรจสรง ชำระศพองค์บรมนาถา
ประดับเครื่องทรงอลงการ์ โดยศพมหาจักรพรรดิ
ครั้นเสร็จเชิญเข้าพระโกศแก้ว แล้วตั้งภายใต้เศวตฉัตร
เหนือแท่นพรายพรรณสุวรรณรัตน์ เครื่องสูงเป็นขนัดรูจี
นางสนมหกหมื่นสี่พัน โศกาจาบัลย์อึงมี่
ชาวประโคมก็ประโคมทุกนาที       มิได้เว้นว่างเวลา


เมรุมาศของอินทรชิต ทศกัณฐ์ให้นำศพของพระราชโอรสคืออินทรชิตไปไว้ที่เขานิลกาลา และให้นำพิชัยราชรถมาใช้เคลื่อนศพ แต่การจุดไฟเผาศพนั้นทศกัณฐ์ใช้อิทธิฤทธิ์ของหอกแก้วกวัดแกว่งไปมาให้มีรัศมีไฟเกิดขึ้น และใช้จุดไฟเผาศพ ดังบทพรรณนาโวหารว่า

         บัดนั้น จึ่งมโหทรมารยักษา
ก้มเกล้ารับราชบัญชา ก็เอาโกศรัตนาพรายพรรณ
เข้ามาแล้วเชิญพระศพ ลูกเจ้าจอมภพไอสวรรย์
ใส่ลงกับสุคนธ์จุณจันทน์ ตามบัญชาการอสุรี
แล้วเชิญขึ้นยังพิชัยรถ อลงกตจำรัสรัศมี
ประโคมด้วยดุริยางคดนตรี นำไปยังที่บรรพตา
         เมื่อนั้น ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา
กับนางมณโฑกัลยา ทั้งสุวรรณกันยุมายุพาพาล
สามกษัตริย์เสด็จยุรยาตร ลงจากปราสาทฉายฉาน
อันนางพระสนมบริวาร ตามเสด็จขุนมารออกไป
ครั้นถึงซึ่งนิลกาลา มหาบรรพตเขาใหญ่
จึ่งให้ยกศพลงตั้งไว้ ที่ในเชิงตะกอนรูจี
         บัดนั้น ฝ่ายเจ้าพนักงานยักษี
ก้มเกล้ารับราชวาที อสุรีทำตามพระบัญชา
         เมื่อนั้น ท้าวยี่สิบกรยักษา
พระหัตถ์จับหอกแก้วกาลา อันมีเดชาดั่งเพลิงกัลป์
กวัดแกว่งสำแดงแผลงฤทธิ์ รัศมีชวลิตฉายฉัน
เข้ายังเชิงตะกอนพรายพรรณ กุมภัณฑ์ก็จุดเข้าทันที


             ขบวนศพอินทรชิต มีรถฤๅษีนำ
             จิตรกรรมที่ระเบียบ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมรุมาศของทศกัณฐ์ เป็นพระเมรุมาศที่ถูกต้องตามประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา และจากบทพรรณนาโวหารที่บรรยายถึงความงามของพระเมรุมาศ อาจสรุปได้ว่าเมรุมาศของทศกัณฐ์มีลักษณะเหมือนกับพระเมรุมาศในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และการเชิญพระศพได้กล่าวถึงมหาพิชัยราชรถและราชรถน้อย ซึ่งมีปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่นเดียวกัน

จึ่งให้ตั้งมหาเมรุมาศ อันโอภาสพรรณรายฉายฉาน
สี่มุขห้ายอดดั่งวิมาน สูงตระหง่านเงื้อมง้ำอัมพร
ทั้งเมรุทิศเมรุแทรกรายเรียง ดูเพียงสัตภัณฑ์สิงขร
มีชั้นอินทร์พรหมประนมกร รายรูปกินนรคนธรรพ์
ประดับด้วยราชวัติฉัตรธง พนมแก้วแถวองค์สลับคั่น
ชั้นในพระเมรุทองนั้น มีบัลลังก์รัตน์รูจี
เพดานปักทองเป็นเดือนดาว แสงวาวด้วยแก้วมณีศรี
ทั้งระย้าพู่พวงดวงมาลี ก็เสร็จตามมีพระบัญชา
         บัดนั้น พระยาพิเภกยักษา
จึ่งให้เชิญพระศพเจ้าลงกา ขึ้นมหาพิชัยราชรถ
ประดับด้วยเครื่องสูงเศวตฉัตร กรรชิงรัตน์พัดโบกอลงกต
ขนัดพลเกณฑ์แห่เป็นหลั่นลด รถโยงรถนำเรียบเรียง
กลองชนะปี่ฆ้องก้องกึก พันลึกครึกครั่นสนั่นเสียง
แตรงอนแตรฝรั่งเป็นคู่เคียง สำเนียงเอิกเกริกเป็นโกลา
จึ่งให้เคลื่อนรถทรงบรมศพ พระจอมภพธิราชยักษา
โดยกระบวนไปตามรัถยา ยังมหาเมรุมาศรูจี
ครั้นถึงจึ่งให้เชิญพระโกศแก้ว อันเพริศแพรวจำรัสรัศมี
ขึ้นเบญจารัตน์มณี ในที่พระเมรุอลงการ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ตุลาคม 2560 18:46:27 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #23 เมื่อ: 18 ตุลาคม 2560 17:37:05 »

.



               ขบวนแห่ศพทศกัณฐ์เข้ากรุงลงกา จิตรกรรมที่ระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


               ขบวนแห่ศพทศกัณฐ์ไปสู่เมรุ จิตรกรรมที่ระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เมรุมาศของบรรลัยจักร ตอนพระพรตยิงศรพรหมาสตร์ฆ่าบรรลัยจักรโอรสของท้าวจักรวรรดิตาย ท้าวจักรวรรดิทรงใช้ราชรถไปรับศพบรรลัยจักร งานพระเมรุมาศก็ทำตามประเพณีกษัตริย์และสมศักดิ์ศรีของโอรสกษัตริย์ดังบทพรรณนาโวหารซึ่งกล่าวถึงการบรรจุศพด้วยหีบแก้วและวางหีบแก้วไว้บนพระเมรุมาศ ความว่า

ครั้นถึงจึ่งให้เอาหีบแก้ว อันแล้วด้วยนพมาศฉายฉัน
ใส่ศพลูกรักกุมภัณฑ์ ประดับเครื่องสุวรรณรูจี
ตั้งไว้ในหน้าพระลาน เหนือแท่นสุรกานต์จำรัสศรี
ให้ประโคมดุริยางค์ดนตรี แล้วชวนองค์เทวีเข้าจุดไฟ
         บัดนั้น ฝ่ายว่าสุริย์วงศ์น้อยใหญ่
ทั้งฝูงองค์กำนัลใน อาลัยครวญคร่ำโศกา
บ้างถือธูปเทียนหิรัญมาศ สุมาลาศจุลจันทน์กฤษณา
สมาลาโทษอสุรา บูชาจุดเพลิงเข้าพร้อมกัน

สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในการสร้างพระเมรุมาศสำหรับกษัตริย์ก็คือสิ่งที่ประกอบส่วนใหญ่จะเป็นทอง เช่น เครื่องทอง ฐานบัลลังก์ทอง ดอกไม้ และเครื่องหอม ได้แก่ ไม้จันทน์ และไม้กฤษณา

พระมรุมาศมีปรากฏใน บทละครเรื่องอิเหนา ตอนอิเหนาไปช่วยงานพระศพพระอัยกีที่เมืองหมันหยา ในงานพระราชพิธีกล่าวถึงสิ่งของที่ท้าวกุเรปันจัดเตรียมให้อิเหนานำใส่ราชรถไปก็คือ เครื่องไทยทาน เครื่องหอมเนื้อไม้กฤษณา อิเหนาประทับบนราชรถซึ่งเทียมด้วยม้าสลับสีเหลืองกะเลียวเขียวขาว เสด็จไปเมืองหมันหยา โดยเป็นตัวแทนของท้าวกุเรปันที่นับลำดับความเป็นใหญ่แล้วนับว่าเป็นอันดับหนึ่งในวงศ์เทวัญ ทางเมืองหมันหยาจึงต้องรอคอยให้ท้าวกุเรปันเสด็จไปถึงก่อนจึงจัดตั้งพระเมรุมาศ แต่ขณะเดียวกันก็จัดเตรียมไม้พร้อมเครื่องประกอบเอาไว้ตามธรรมเนียมประเพณีการจัดงานพระศพ เมื่ออิเหนาเสด็จไปเมืองหมันหยา ท้าวหมันหยาจึงสั่งให้โหรหาฤกษ์งามยามดี สำหรับตั้งพระเมรุมาศ ซึ่งได้วันดีตรงกับอังคาร สิบค่ำ เดือนสี่ ดังบทพรรณนาโวหาร ความว่า


         บัดนั้น ขุนโหรผู้ใหญ่คนขยัน
คลี่ตำราขับไล่ลัคน์จันทร์ ดูโฉลกโชคชั้นทันที
จึงนบนิ้วประนมบังคมทูล นเรนทร์สูรจงทราบบทศรี
กำหนดเชิญพระศพฤกษ์ดี เดือนสี่สิบค่ำวันอังคาร
         เมื่อนั้น ระตูหมันหยาได้ฟังสาร
จึงสั่งเสนีพนักงาน จงจัดการพระเมรุเกณฑ์กัน
นายมุลขุนหมื่นทุกหมู่หมวด สมทบสี่ตำรวจกวดขัน
เครื่องประดับพระศพครบครัน รีบทำให้ทันกำหนดไว้
สั่งพลางทางกล่าววาที ชวนระเด่นมนตรีศรีใส
ทั้งระเด่นดาหยันคลาไคล เสด็จไปไหว้ศพพระอัยกี

ข้อความอีกตอนหนึ่งกล่าวถึงการสร้างพระเมรุมาศของเหล่าเสนาในเมืองหมันหยาว่า

         บัดนั้น เสนีสี่นายทั้งซ้ายขวา
ให้จับการทุกด้านดังบัญชา ตรวจตราหน้าที่ทำพระเมรุ
บ้างเสาเข้าที่ทั้งสี่ต้น ผู้คนอึงอัดขัดเขมร
บ้างขุดหลุมลงลุยคุ้ยเลน บ้างกะเกณฑ์กันตั้งนั่งร้าน
เอาเชือกผูกแทงทบครบเสา ได้ฤกษ์เร่งคนเข้าขันกว้าน
ตัวไม้ใช้เดินรอกสะพาน คนประจำทำงานไม่เงือดงด
พวกทำเมรุทิศทั้งนั้น ก็พร้อมกันยกตั้งขึ้นทั้งหมด
ติดตะม่อสองชั้นเป็นหลั่นลด นายช่างกำหนดอำนวยการ
เจ้าหน้าที่สามสร้างต่างมาจับ ชักประดับปลายเสาเสมอสมาน
บ้างใส่สอดรอดพรึงตรึงกระดาน เสียงสิ่วเสียงขวานอึงอล

การเตรียมสร้างพระเมรุมาศนับว่าเป็นงานใหญ่และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังบทพรรณนาโวหารว่า

         บัดนั้น เสนีสี่ตำรวจกวดขัน
นายด้านทำการพระเมรุนั้น ทั้งกลางคืนกลางวันเร่งรัด
ให้ยกดูกผูกเชือกแย่งระยาง ยอดปรางค์นพศูลสวมฉัตร
ตำรวจในไม้สูงสันทัด ขึ้นผูกแผงผัดจัดกระจัง
ติดชั้นเชิงบาตรบัวหงาย เรียงรายเทพนมยืนนั่ง
บัญชรชัชวาลบานบัง ฝาผนังหลังคากระยารงค์
พนักงานด้านทำพระเมรุทอง ก็ติดตัวลำยองหางหงส์
หน้ากระดาษฐานบัทม์ไม่ขัดทรง บรรจงตั้งเครื่องพระเบญจา
เพดานดาราระย้าย้อย ผูกห้อยพู่พวงบุปผา
ฉากกระจกยกตั้งบังตา แต่งที่เป็นข้างหน้าข้างใน
บ้างตั้งไม้กระถางวางรูปสัตว์ รอบจังหวัดบริเวณพระเมรุใหญ่
รูปกินนรอ้อนแอ้นเอาใจ วางไว้ริมมุขทุกทิศ
ซุ้มดอกไม้รุ่งรายซ้ายขวา โคมระย้าหลายลูกผูกติด
ราชวัติทึบตั้งบังมิด ฉัตรเงินทองปิดน้ำตะกู
บ้างยกฉัตรเบญจรงค์เรียงเรียบ เสาตะเกียบปักเคียงเป็นคู่คู่
ยักษ์โตตั้งวางข้างประตู ยืนอยู่หูตาหน้ากลัว
บ้างทำโรงหุ่นโขนช่องระทา ขึ้นหลังคาดาดแผงผูกจั่ว
ปลูกศาลาฉ้อทานทำครัว เสร็จทั่วทุกตำแหน่งแต่งไว้

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการเคลื่อนพระศพ ต้องใช้พิชัยราชรถเป็นรถใหญ่สำหรับทรงพระศพและก็มีพระราชรถน้อยนำหน้าและตามหลัง อันเป็นประเพณีสำหรับเคลื่อนพระศพของพระมหากษัตริย์ซึ่งปฏิบัติสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน บทพรรณนาโวหารตอนนี้สะท้อนภาพประเพณีดังกล่าว

         บัดนั้น ฝ่ายเจ้าพนักงานน้อยใหญ่
ครั้นจวนกำหนดไม่นอนใจ ก็ตระเตรียมเทียมพิชัยราชรถ
รถใหญ่สำหรับใส่พระโกศทอง เรืองรองรจนาปรากฏ
รถโยงปรายข้าวตอกเป็นหลั่นลด รถอ่านหนังสือรถใส่ท่อนจันทน์
เกณฑ์ไพร่ไว้สำหรับชักฉุด ใส่เสื้อเสนากุฎขบขัน
ที่บ่าวไพร่ใครช้ามาไม่ทัน ก็พากันวิ่งวุ่นทุกมูลนาย
บรรดาหมู่คู่แห่เข้ากระบวน ก็มาถ้วนตามบัญชีซึ่งมีหมาย
ล้วนใส่เสื้อครุยกรุยกราย สมปักลายลำพอกถือดอกบัว
คนชักรูปสัตว์จัดหนุ่มหนุ่ม ใส่ศีรษะโมงครุ่มครอบหัว
ทับทรวงสังวาลลอดสอดพันพัว แต่งตัวนุ่งตาโถงโจงกระเบน
กิดาหยันจัดกันตามตำแหน่ง เชิญพระแสงหอกดาบดั้งเขน
ตั้งตาริ้วรายไปใกล้พระเมรุ พรั่งพร้อมตามเกณฑ์ทั้งไพร่นาย

ตอนอิเหนาฆ่าระตูบุศสิหนาตาย และระตูปันจะรากัน ระตูปักมาหงัน ทำศพระตูบุศสิหนา บทพรรณนาโวหารตอนนี้ แสดงให้เห็นประเพณีเด่นชัดว่า ถึงแม้ว่าบุศสิหนาจะเป็นเพียงเจ้าเมืองน้อยและเสียชีวิตอยู่ในป่าก็ตาม แต่ประเพณีงานพระศพนั้น ก็ต้องจัดทำขึ้นโดยการสร้างพระเมรุให้สมพระเกียรติดังบทพรรณนาโวหารดังนี้

         เมื่อนั้น ทั้งสองกษัตริย์ได้ฟังสาร
ค่อยคลายวายทุกข์รำคาญ จึงบรรหารตรัสสั่งเสนี
อันศพพระอนุชาร่วมจิต เราจะฌาปนกิจเสียที่นี่
จงกะเกณฑ์รี้พลมนตรี เร่งถางที่ทำเมรุริมบรรพต
ท่านคิดทำให้งามตามของป่า เบญจาจงประดับดอกไม้สด
สืบต่อไปจะได้เป็นเกียรติยศ สั่งกำหนดให้เสร็จในสองวัน

อีกตอนหนึ่งที่แสดงว่าไม้จันทน์และไม้กฤษณาเป็นของมีค่าและใช้ในงานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ดังข้อความที่ว่า

นายงานทหารในระดมกัน ทำพระโกศด้วยจันทน์กฤษณา
พวกช่างทั้งปวงบรรดามา ให้ประดับเบญจาด้วยดอกไม้


               เมรุท้าวจักรวรรดิ
               จิตรกรรมที่ระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


               พระรามออกอุบายเข้าโกศเพื่อคืนดีกับนางสีดา จิตรกรรมที่ระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


พรรณนาโวหารอีกตอนหนึ่งได้แสดงให้เห็นราชประเพณีอย่างชัดเจนก็คือ บนพระเมรุมาศ ต้องมีบัลลังก์ บุษบก และเครื่องสูงตามยศของกษัตริย์ ความพรรณนาต่อไปนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของเหล่าเสนาและช่างก่อสร้าง ที่พยายามสร้างพระเมรุมาศให้งดงาม โดยเลือกสรรเอาสิ่งของที่หาได้จากธรรมชาติมาช่วยประดับตกแต่ง

เสนีสี่ตำรวจนายด้านเมรุ ก็กะเกณฑ์อุตลุดขุดหลุม
ชักระดับได้ที่ทั้งสี่มุม ผู้คนเกลื่อนกลุ้มรุมกัน
ยกเสาขึ้นตั้งทั้งสี่ต้น ต่างติดเครื่องบนขมีขมัน
พนักงานหอสวดสามสร้างนั้น ก็ยกขึ้นพร้อมกันทันที
บ้างดาดผนังหลังคาผ้าขาว เพดานดาวดอกไม้สลับสี
หุ้มเสาด้วยผ้าแดงโมรี เอาม่านที่พลับพลามากั้นกาง
กองพระเบญจามาประดับ ซ้อนสลับแม่ลายหลายอย่าง
บ้างลอกพลับพลึงกรึงพื้นพลาง เลือกบุปผาต่างๆ เป็นตัวซ้อน
บ้างร้อยราชวัติฉัตรชั้น พื้นพรรณบุปผชาติเกสร
บ้างประดับมาลาเป็นจามร รีบร้อนติดกระจังบัลลังก์ลด
บุษบกยกคนเข้ารุมกัน เห็นเหลือมือไม่ทันตามกำหนด
คิดแบ่งเบาเอาบุษบกรถ มาแต่งตั้งตามยศกษัตรา
เครื่องสูงห้าชั้นกั้นกลาง ตั้งหว่างชุมสายซ้ายขวา
จัดแจงแต่งตามพระบัญชา ไม่ช้าแล้วเสร็จทุกสิ่งอัน

อีกโวหารหนึ่งที่แสดงถึงราชประเพณีก็คือ การนำพระศพใส่โกศจันทน์และนำขึ้นราชรถทอง เข้ากระบวนแห่ไปที่พระเมรุ ดังข้อความพรรณนาโวหารดังนี้

ครั้นค่อยคลายวิโยคโศกเศร้า จึงสั่งเสนีขมีขมัน
ให้เชิญศพองค์พระน้องนั้น ใส่ในโกศจันทน์ทันใด
แล้วรีบขึ้นราชรถทอง ประโคมก้องหิมวาป่าใหญ่
แห่แหนดาษดาคลาไคล ตรงไปพระเมรุมิทันช้า

ในวรรณคดีเรื่อง ปฐมสมโพธิกถา กล่าวถึงพระเมรุมาศตอนพระพุทธเจ้าถวายพระเพลิงพระราชบิดา (พระเจ้าสุทโธทนะ) พระเมรุมาศสำหรับถวายพระเพลิงพระเจ้าสุทโธทนะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสั่งให้พระมหากัสสปเป็นผู้จัดสถานที่ แต่เทพยดาได้นำทิพยกุฎาคาร ซึ่งประดับด้วยยอดถึง ๕๐๐ ยอด และทิพยดอกไม้จันทน์มาตั้งไว้บนเชิงตะกอนที่พระมหากัสสปจัดทำขึ้น จึงมีความงามเหมือนพระเมรุมาศบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังบทพรรณนาโวหารว่า

“แล้วมีพระพุทธฎีกาตรัสสั่งพระมหากัสสปเถระว่า ตถาคตจะถวายพระบรมศพพระบิดา ท่านจงไปพิจารณาดูภูมิสถานอันสมควรจะกระทำฌาปนกิจนั้น พระมหากัสสปเถรเจ้าก็รับพุทธฎีกาว่าสาธุแล้วอุฎฐาการจากอาสน์แวดล้อมไปด้วยพระภิกษุสงฆ์อันทรงซึ่งธุดงค์ กับกษัตริย์สักยราชวงศ์ แลหมู่มหาชนเป็นอันมาก ไปสู่ที่อันจะกระทำการถวายพระเพลิง แล้วให้จัดแจงกระทำซึ่งเชิงตะกอน ในกาลนั้นหมู่อมรเทพยบรรษัททั้งหลายในหมื่นโลกธาตุ มีท้าววัชรินทราธิราชเป็นประธานก็มาสโมสรสันนิบาตในสถานที่นั้น นำมาซึ่งทิพยกุฎาคารอันประดับด้วยยอดถึงห้าร้อยยอด กับทั้งวัตถุต่างๆ มีทิพยจันทนสุคันธชาติเป็นต้น มากระทำจิตตกรรมกับพระมหากัสสปเถระ เมื่อการเชิงตะกอนสำเร็จแล้วพระมหากัสสปก็กลับมากราบทูลพระบรมครูพระสัพพัญญูจึงทรงยกพระอุตมังคศิโรตม์แห่งพระพุทธบิดาด้วยพระหัตถ์แล้วก็ทรงสิญจนาการด้วยสุคนธรสอุทกวารี  พระธรรมเสนาบดีก็ช่วยโสรจสรงหลั่งลงซึ่งสุคันโธทก  สมเด็จพระโลกนาถทรงพระปรามาสพระอุตมังค์ พลางตรัสแก่พระสาริบุตรมหาเถระว่า ท่านจงทัศนาการซึ่งพระพุทธบิดร ดูกรสาริบุตร บุคคลผู้ใดประพฤติในกุศลสุจริต แลมีจิตปรารถนาโพธิภูมิบารมีญาณใดๆ ก็จงอุตส่าห์อภิบาลบำรุงเลี้ยงซึ่งบิดามารดา อาจสำเร็จมโนรถปรารถนาทุกสิ่งทุกประการ เมื่อมีพุทธบริหารดังนี้แล้ว ก็ยกขึ้นซึ่งพระศพสริรกายแห่งพระบรมกษัตริย์ใส่ลงในมัญชุรตนามัยคือพระหีบแก้ว แล้วทรงยกพระหีบแก้วด้วยพระองค์เชิญไปสู่ที่อาฬาหนสถาน เถลิงบนทิพยกุฎาคารบุษบกเบื้องบนอลังกตจิตกาอาสน์   จึงสมเด็จอัมรินทราธิราชก็กระทำปทักษิณพระบรมศพ แล้วนำมาซึ่งดวงแก้วมณีอันชื่อว่าโชติรังสีปรารภจะถวายพระเพลิง จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสห้ามว่า ดูกรท้าวเทวราช อย่าเพ่อถวายพระเพลิงก่อน ตถาคตจะกระทำฌาปนกิจพระบิดาก่อนท่านทั้งปวง แล้วก็ทรงถือซึ่งแก้วมณีโชติรัตนจากหัตถ์ท้าวสุชัมบดี แล้วทรงจุดซึ่งอัคคีอันปรากฏจากดวงแก้ว  กระทำฌาปนกิจพระบรมศพกับทั้งเชิงตะกอนนั้น ลำดับนั้นเทพยดาทั้งหลายมีสมเด็จอัมรินทร์เป็นต้น ก็ถวายพระเพลิงในภายหลัง  ฝ่ายพระขัตติยวงศาสักยราชแลหมู่นางพระสนมทั้งปวงนั้นมีพระมหาปชาบดีโคตมีเป็นประธาน ก็พร้อมกันเซ็งแซ่เสียงปริเทวนาโกลาหลนี่สนั่น สมเด็จพระอนันตญาณมุนีก็มีพุทธฎีกาตรัสเล้าโลม ด้วยพระธรรมกถาอนิจจตาทิปฏิสังยุตต์ระงับโศกแห่งมหาชน อันว่าธรรมาภิสมัยมรรคผลก็บังเกิดมีแก่แปดหมื่นสี่พันบรรษัทในที่สมาคมอันนั้น”

ในวรรณกรรมเรื่อง สุวรรณหงส์ ได้กล่าวถึงพระเมรุมาศไว้ตอนหนึ่งดังนี้  


ตัวข้านี้นามพราหมณ์อัมพร
พี่ยาข้าชื่อกุมภณฑ์พราหมณ์ บอกตามจริงดอกไม่หลอกหลอน
สำนักในป่าระหงดงดอน พากันสันจรจากพงไพร
หวังจะเที่ยวทัศนาพาราเล่น ไม่เคยเห็นเลยข้าพึ่งมาใหม่
แต่พอพบพระศพองค์ทรงชัย จะชักไปสู่พระเมรุรจนา
ไม่หมายเอาทรัพย์สินสฤงคาร คิดสงสารทรงศักดิ์จึงรักษา
ให้พระองค์รอดฟื้นคืนชีวา จะขอลาพระองค์ไปพงพี

ตามที่ได้กล่าวถึง ราชรถ ราชยาน พระเมรุมาศ  ในวรรณคดี มาตามลำดับสมัย อาจจะสรุปได้ว่า ราชรถ มีปรากฏในวรรณคดีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ส่วน ราชยาน และ พระเมรุมาศ ก็ปรากฏกล่าวไว้ในวรรณกรรมเช่นกัน ดังนั้นวรรณกรรมจึงเป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่เชื่อถือได้ว่า ราชรถ ราชยาน และพระเมรุมาศเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยมาตั้งแต่โบราณกาล เนื่องจากวรรณคดีเป็นสิ่งที่สะท้อนสภาพสังคม ประเพณี ความเชื่อ และวัฒนธรรมสมัยนั้น ในวรรณคดี วัฒนธรรมและประเพณีจะมีความเกี่ยวพันอยู่ด้วยเสมอ จนถึงกับมีคำกล่าวว่า ถ้าจะดูความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของชนชาติใดก็ดูได้จากวรรณคดีของชนชาตินั้น” แสดงว่าวิถีชีวิตของคนในสังคมกับวรรณคดีมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ยากที่จะแยกจากกันได้

นอกจากวรรณคดีจะให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อและวัฒนธรรมแล้ว ยังให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์อีกด้วย เนื่องจากวรรณคดีต้องนำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มารแทรกหรือเป็นเนื้อหาเค้าโครงเรื่อง หรือจำลองเรื่องราวจากประวัติศาสตร์มาเป็นเนื้อหาของวรรณคดีนั้นๆ การนำเนื้อหาในประวัติศาสตร์มาแต่งเป็นวรรณคดีนั้น มิได้เขียนตรงตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เสมอไป กวีมิสิทธิ์จะใช้จินตนาการสร้างความคิดขึ้น ทำให้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่แห้งแล้งกลายเป็นวรรณคดีที่มีรสชาติน่าอ่าน  ดังนั้น การที่ประวัติศาสตร์ต้องอาศัยวรรณคดีจึงมีส่วนเป็นไปได้มาก เพราะก่อนนักประวัติศาสตร์จะจดบันทึกนั้น ต้องค้นคว้าหาข้อมูลจากหลักฐานหลายๆ แหล่ง รวมทั้งเอกสารต่างๆ ที่มีผู้จารหรือบันทึกไว้ วรรณคดีก็เป็นเอกสารประเภทหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ต้องนำไปพิจารณาด้วย จึงสามารถศึกษาค้นคว้าเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชรถ ราชยาน และพระเมรุมาศในทุกยุคทุกสมัยได้จากวรรณคดีอีกแหล่งหนึ่ง


-----------------------
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 ตุลาคม 2560 18:43:25 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  1 [2]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.391 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 11 มีนาคม 2567 16:55:27