[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 06:06:00 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เกจิสายอีสาน...หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต  (อ่าน 2111 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5065


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.273 Chrome 50.0.2661.273


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 15 พฤศจิกายน 2559 03:34:07 »



<a href="https://www.youtube.com/v/iE9lr6Fxayk" target="_blank">https://www.youtube.com/v/iE9lr6Fxayk</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/EPz3j5RMrT8" target="_blank">https://www.youtube.com/v/EPz3j5RMrT8</a>

เกจิสายอีสาน...หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต

หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต วัดอุดมคงคาคีรีเขต ตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น  นามเดิมของท่านชื่อ  ผาง  ครองยุต  เกิดเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๔๕   ตรงกันวันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนเก้า ปีขาล ที่บ้านกุดเกษียร ตำบลกุดเกษียร อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โยมบิดาชื่อ ทัน โยมมารดาชื่อ บับพา ครองยุต มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน     ๓ คน คนแรกเป็นหญิงชื่อ บาง ซึ่งบวชเป็นชีอยู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขต คนที่สองชื่อ คำแสน    ส่วนตัวหลวงปู่เป็นคนสุดท้อง โยมบิดาและมารดา มีอาชีพทำนาเป็นหลัก

                การศึกษาทางโลกของหลวงปู่มีความรู้สามัญชั้นประถมปีที่ ๔ หลวงปู่มีอุปนิสัย รักความ เป็นธรรม ถือความสัตย์ พูดจริงทำจริง รักธรรมชาติ ชอบความสงบ เมตตาสัตว์มีแนวความคิดสร้างสรรค์ และชอบทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม เมื่อหลวงปู่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา ตามประเพณีลูกผู้ชายชาวไทย ได้ศึกษาพระธรรมวินัยมีความรู้พอสมควร ต่อมาเมื่อออกพรรษา จึงได้ลาสิกขาจากสมณเพศมาประกอบสัมมาอาชีพ

                 หลังจากได้ลาสิกขาแล้วก็ได้สมรสกับ นางจันดี ตามประเพณี ได้ครองเรือนมาด้วยกันอย่างราบรื่นเป็นเวลานานหลายปีโดยไม่มีบุตรสืบสกุล จึงได้ขอบุตรของญาติ มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมชื่อ นางบุญปราง ครองยุต

                  เมื่อครั้งยังอยู่ในเพศฆราวาส หลวงปู่เป็นคนขยัน เอาจริงเอาจังกับการงานได้ประกอบสัมมาอาชีพโดยช่วยบิดามารดาทำไร่ทำนา บางครั้งก็เป็นพ่อค้าเรือใหญ่ บรรทุกข้าวจากแม่น้ำมูลไปขายตามลำน้ำชีน้อย บางครั้งก็เป็นพ่อค้าวัว นำวัวไปขายที่เขมรต่ำ หลวงปู่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างฐานะให้แก่ครอบครัว

                   หลวงปู่ผางได้ใช้ชีวิตในเพศฆราวาสเป็นเวลานาน สามารถรอบรู้เหตุการณ์ที่ผ่านมา พิจารณาดูความเปลี่ยนแปลงของชีวิต และหมู่สัตว์ทั้งหลายบรรดามีในโลก เมื่อเกิดมาแล้วต่างก็สับสนวุ่นวายแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเป็นที่เดือดร้อนไม่สุดสิ้นหลวงปู่คงจะได้สั่งสมบุญบารมีมามาก ทำให้ท่านมองเห็นความไม่แน่นอน และความไม่มี แก่นสารในชีวิต ทำให้จิตใจของท่านโน้มเอียงไปในทางแห่งความสงบท่านได้ทำทานเป็นการใหญ่ โดยได้ให้เกวียน วัว บ้าน ไร่ นา แก่ผู้อื่นสละทุกสิ่งทุกอย่างจนหมดสิ้น

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

                    หลังจากที่หลวงปู่ในเพศฆราวาสได้บริจาคทาน วัว ควาย ไร่ นา บ้านเรือนให้แก่ผู้อื่นจนหมดสิ้นแล้ว ก็หมดห่วงและได้หันหน้าเข้าหาพระธรรม ดังนั้นเมื่ออายุได้ราว ๔๓ ปี จึงได้ชวนกันกับภรรยาออกบวช ภรรยาได้บวชเป็นแม่ชี ส่วนหลวงปู่ได้เข้าอุปสมบทในฝ่ายมหานิกายที่วัดบ้านกุดเกษียร อำเภอเขื่องในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีท่านพระครูศรี (วัดคูขาด) เป็นพระอุปัชฌาย์ได้รับฉายาว่า "จิตฺตคุตฺโต"

                    หลังอุปสมบทหลวงปู่ผางได้เข้าศึกษาอบรมพระกรรมฐานอยู่ในสำนักวัดป่าวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี กับพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม (เจ้าคุณพระญาณวิศิษฏ์) และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ต่อมาหลวงปู่จึงได้รับการญัตติเป็นธรรมยุต ในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๘ โดยมีพระมหาอ่อน เจ้าคณะอำเภอเขื่องในเป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาทรายเป็นพระกรรมวาจารย์ และพระมหาจันทร์เป็นพระอนุสาวนาจารย์

                     เมื่อหลวงปู่ผางได้รับการญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกายแล้ว ท่านก็ยังเข้ารับการอบรมพระกรรมฐานอยู่ในสำนักท่านพระอาจารย์สิงห์ ต่อไปอีก เป็นเวลาอันสมควรแล้วจึงได้ออกปฏิบัติพระธุดงค์กรรมฐานไปวิเวกโดยลำพัง ต่อมาจึงได้พบกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เกิดความเลื่อมใสได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และได้เข้าอบรมอยู่กับพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านผือนาในอยู่เป็นเวลาอันสมควร

                      คืนหนึ่งหลวงปู่ได้นิมิตไปว่า ได้ขี่ม้าขาวไปทางจังหวัดขอนแก่น ได้เห็นสถานที่ต่างๆ เลยไปจนถึงอำเภอมัญจาคีรี แล้วม้าขาวก็หยุดให้ท่านลง รุ่งเช้าขึ้น ท่านจึงได้ลา พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ออกธุดงค์ไปตามนิมิตนั้นทันที หลวงปู่ผางได้ท่องเที่ยววิเวกไปแต่ผู้เดียวในป่าเขา จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาหลายปี ต่อมาท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบัลลังก์ศิลาทิพย์ ตำบลบ้านแท่น อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นเวลาหลายปี จากนั้นหลวงปู่ ได้ธุดงค์ต่อไปยังภูเขาผาแดง อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ได้พักแรมที่บ้านแจ้งทัพม้า และบ้านโสกน้ำขุ่น ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับวัดดูน ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ มีบ่อน้ำซึมที่ไหลออกมาตลอดปีมิได้ขาด วัดดูนแห่งนี้เป็นโบราณสถานเก่าแก่ ชาวบ้านแถบนั้นถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีพระมหาสีทน กาญฺจโน ซึ่งได้ธุดงค์มา พบเข้า จึงได้บูรณะขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ปี ๒๔๘๒ ต่อมาพระมหาสีทนได้เปลี่ยนชื่อจาก วัดดูน เป็นวัดอุดมคงคาคีรีเขต

                      ในปี ๒๔๙๒ หลวงปู่ผางได้ธุดงค์มายังวัดอุดมคงคาคีรีเขต อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ท่านอยู่จำพรรษาที่นี่จนตลอดชีวิตของท่าน เมื่อแรก ที่หลวงปู่มาอยู่ ที่วัดแห่งนี้ บริเวณนั้นยังเป็นป่าดงดิบ มีสัตว์ป่าดุร้ายมาก เช่น เสือ ช้าง หมี งู ฯลฯ มีภูตผีปีศาจดุร้าย หลวงปู่ได้แผ่เมตตาจิตต่อสู้กับสัตว์ร้ายและภูตผีปีศาจ จนชาวบ้านในละแวกนั้นหายหวาดกลัว และสัตว์ร้ายก็หลบหนีข้ามเขาภูผาแดงไปหมด หลวงปู่ยังนิมิตเห็นโครงกระดูกของท่านแต่ชาติปางก่อนฝังอยู่บริเวณนั้นด้วย

                       หลวงปู่เล่าไว้ว่า เมื่อแรกที่ท่านธุดงค์มาอยู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขตนี้ ก็จำพรรษาอยู่กับพระมหาสีทนเพียงสององค์ ได้พาญาติโยมสร้างกุฏิขึ้นสองหลัง ศาลาพักฉันข้าว หนึ่งหลัง ทายกทายิกาประจำวัดที่ช่วยกันสร้างในตอนนั้นได้แก่ นายผง บ้านโสกน้ำขุ่น นายหอม บ้านดอนแก่นเฒ่า และนายสม บ้านโสกใหญ่ หลังจากนั้นต่อมาอีก ๔-๕ ปี พระมหาสีทนก็ขอลาออกธุดงค์ไปทางภาคเหนือไม่กลับมาอีกเลย

                        หลวงปู่ผางเป็นผู้มีความสามารถในการพัฒนาทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ หลังจากที่หลวงปู่มาอยู่ที่วัดอุดมคงคาคีรีเขตได้ไม่นานนัก ก็ได้สร้าง ฝายกั้นน้ำ ๒-๓ แห่ง  สร้างกุฏิทั้งสิ้น ๕๒ หลัง สร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์กู่แก้ว เจดีย์ถ้ำกงเกวียนและเจดีย์ใหญ่            สร้างศาลาใหญ่ สร้างสะพานคอนกรีต ๓ แห่งภายในวัด สร้างกำแพง รอบวัด จัดทำฌาปนสถาน จัดระบบสุขาภิบาลโดยสร้างถังประปาวางท่อน้ำ และจัดทำส้วมให้เพียงพอ สร้างโรงอาหาร ศาลาฉัน โรงซักผ้าย้อมผ้า โรงไฟฟ้า เป็นต้น ในปี ๒๕๐๕-๒๕๐๗ ได้นำชาวบ้านโดยร่วมมือกับหน่วย กรป. กลาง สร้างและพัฒนาเส้นทางแยกจากทางหลวงสายอำเภอมัญจาคีรี-แก้งคร้อ     ไปยังวัดอุดมคงคาคีรีเขต เป็นถนนลงหินลูกรัง กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ทางด้านการศึกษาหลวงปู่ได้นำราษฎรสร้างโรงเรียนระดับประถมศึกษาชื่อ โรงเรียนอุดมคงคาคีรีเขต มีสาธารณประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายที่หลวงปู่ได้เข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูล และแม้แต่วัดของท่านก็ได้รับการยกย่องจากกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่เริ่มต้นมาดี ก็สำเร็จเรียบร้อยด้วยดีในบั้นปลาย

                        ในสมัยก่อนชาวบ้านแถวมัญจาคีรีนับถือภูตผีมาก แต่ละหมู่บ้านก็มีตูบตาปู่          (ศาลเจ้า) ไว้ประจำหมู่บ้านเพื่อกราบไหว้ เซ่นสรวงบนบาน บอกกล่าวขอความคุ้มครอง  หลวงปู่ผางสั่งสอนชาวบ้าน ให้เลิกนับถือผี หันมานับถือพระรัตนตรัย แต่ชาวบ้านเกรงกลัวผีจะมาทำร้าย ทำให้เกิดความลำบาก ไม่อาจเลิกนับถือผีได้ หลวงปู่มีอุบาย อันชาญฉลาด เพื่อที่จะให้ชาวบ้านได้เห็นว่า พระรัตนตรัยย่อมมีอานุภาพมากกว่าผี ท่านจึงให้ชาวบ้านเผาตูบตาปู่ทิ้ง เมื่อชาวบ้านไม่กล้าเผา ท่านก็ให้กำลังใจชาวบ้าน และบอกว่า ถ้าเจ้าปู่เจ้าผี เจ้าของตูบตาปู่มีจริง ก็ให้เข้ามาดับไฟเอาเอง ชาวบ้านจึงได้กล้าเผา

                         บางครั้งเมื่อมีคนถามหลวงปู่ว่า เชื่อว่าผีมีจริงไหม หลวงปู่ก็ตอบว่า เชื่อมาตั้งนานแล้ว เมื่อถามว่าหลวงปู่เคยเห็นผีไหม หลวงปู่ตอบว่าเคยเห็นอยู่บ่อยๆ และเมื่อถามว่าหลวงปู่คิดกลัวผีบ้างไหม หลวงปู่ตอบว่า กลัวอยู่เหมือนกัน เพราะผีพวกนี้ มันพูดยากสอนยาก แล้วก็ถามว่าผีมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ผีพูดเป็นด้วยหรือ หลวงปู่ก็ตอบว่าก็ที่กำลังนั่ง กำลังถาม อยู่นี่แหละคือผีทั้งนั้นเลย


                          หลวงปู่ได้เข้ารับการตรวจสุขภาพทั่วไปที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๔ อายุได้ ๘๐ ผลตรวจปรากฏว่า สุขภาพทั่วไปดี ความดันโลหิต และชีพจรปกติ ตาเริ่มเป็นต้อกระจกอ่อนๆ ทั้งสองข้าง ผลเอ็กซเรย์ปอดคลื่นหัวใจเป็นปกติ ผลการตรวจเลือดพบว่าหน้าที่ของไต ตับ และระดับไขมัน ในเลือด ปกติ

                          เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ หลวงปู่ได้ไปเข้ารับการตรวจอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากมีอาการแน่นท้อง จากการเอ็กซเรย์ระบบทางเดินอาหารพบว่า หลวงปู่เริ่มเป็นมะเร็งที่กระเพาะอาหาร คณะแพทย์โรงพยาบาลแพทย์ปัญญาได้ถวายคำแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด แต่หลวงปู่ไม่ยินยอม

                           วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ หลวงปู่ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเดิมอีก ด้วยอาการอ่อนเพลียเนื่องจากมีอาการเลือดออกในทางเดินอาหารและแพทย์ยังพบว่า มีอาการของ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลวงปู่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลสลับกับไปพักที่บ้านคุณนายเข็มทอง โอสถาพันธุ์ จนกระทั่งวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๕ ทางคณะศิษย์จึงได้ นิมนต์กลับวัดอุดมคงคาคีรีเขต หลังจากหลวงปู่กลับวัดได้ไม่กี่วัน ก็มีอาการอาเจียน ฉันอาหารและน้ำไม่ได้ ปัสสาวะน้อย และได้ละทิ้งขันธ์ไปเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๒๕

                          ก่อนมรณภาพไม่กี่วัน สังขารร่างกายของหลวงปู่ทรุดโทรมมาก บรรดาศิษย์ต่างวิตกไปตามๆ กันและปลงใจว่าหลวงปู่ไม่รอดแน่ ยิ่งได้เห็น ความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ความทุกขเวทนาที่หลวงปู่ได้รับอย่างแสนสาหัส ศิษย์ทุกคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ หลวงปู่ทราบดีในเรื่องนี้ จึงได้ตั้งปัญหาถาม คณะศิษย์ที่คอยเฝ้าดูอาการ อาพาธอยู่โดยรอบในขณะนั้น เพื่อเป็นการเตือนสติว่า "อยากเป็นไหมล่ะ อย่างนี้?" ช่างเป็นคำถามที่ประทับใจเสียจริงๆ

ธรรมโอวาท

                          หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต เป็นพระนักปฏิบัติที่มั่นคงอดทนเป็นเลิศรูปหนึ่ง ชอบทำมากกว่าพูด บทโอวาทเทศนาสั่งสอนต่างๆ จึงไม่ค่อยมี

ท่านมีอุดมคติอยู่ว่า "มีชื่อบ่อยากให้ปรากฏ มียศบ่อยากให้ลือชา"

ศีลข้อ ๕ เป็นข้อที่หลวงปู่ย้ำเน้นตลอดมา หลวงปู่มักจะให้โอวาทให้พรว่า

"อย่าสิเอาพระรัตนตรัยไปกินเหล้า เด้อ"

"ให้สำบายๆ เด้อ"

"ให้อยู่ดีมีแฮง เด้อ"


                         เนื่องจากหลวงปู่ไม่เป็นพระนักพูดนักเทศน์ที่ดีแต่สอนคนอื่นแล้วตนเองไม่ปฏิบัติตาม ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถจะนำบทเทศนาสั่งสอนมาลงให้เป็นเรื่องเป็นราวได้ เหมือนอย่างที่เห็นโดยทั่วไป แต่ก็พอสรุปโอวาทที่หลวงปู่เคยพร่ำสอนบรรดาสานุศิษย์อยู่โดยมากได้ดังนี้

๏ ให้พากันวางความตาย อย่าเสียดายความมี ตู้คัมภีร์ใหม่อยู่ในกายเฮานี่ (ให้พากันวางความตายอย่าเสียดายความมั่งมี ตู้พระไตรปิฎกอยู่ในกายของเรานี้)

๏ ให้พากันพายเฮือข่วมทะเลหลวงให้ม่มฝั่ง อย่าสิกลับต่าวปิ้นนำ พั่วหมากแบ่งดง (ให้พากันพายเรือข้ามทะเลหลวงให้รอดฝั่ง อย่าได้กลับมาวนเวียน อยู่กับ วัฏฏสงสาร)

๏ ให้ภาวนาว่า ตายๆ ผีกะย่าน บ่กล้ามาใกล้ดอก (ให้ภาวนาว่า ตายๆ ผีก็จะกลัว ไม่กล้าเข้ามาใกล้)

๏ หมอบๆ เข่าหัวเท่าง่ายาง ย่างโย่งๆ หัวแทบขี้ดิน (คนพาลถึงจะทำเป็นอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างไร เขาก็รู้ว่าเป็นคนพาลอยู่นั่นเอง หรือได้แก่คนที่เคารพแต่กาย ส่วนใจไม่เคารพ ส่วนคนดีมีความเคารพ ถึงแม้จะคุยโวไม่เคารพ แต่ใจนั้นเคารพอยู่)

๏ มีดพร้าโต้ควงแบกท่วมหู คมมันบางท่อคูคันต้อน ซุยซำซะ ลากขี้ดินจำก้น (คนผู้มีอาวุธคือปัญญาหรือศีลธรรมอันยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าจะแสดงตนว่าไม่ดีอย่างไร เขาก็รู้ว่าเป็นคนดีอยู่นั่นเอง)

๏ คนสามบ้านกินน้ำส่างเดียว เที่ยวทางเดียว บ่เหยียบฮอยกัน (คนสามหมู่บ้านดื่มน้ำจากบ่อเดียวกัน เดินบนเส้นทางเดียวกันแต่ไม่เหยียบรอยเท้ากัน หมายถึง คนทุกวันนี้ดื่มน้ำจากแหล่งเดียวกันคือ น้ำประปา และการเดินทางทุกวันนี้ใช้รถยนต์ไม่มีรอยเท้าให้เห็น)

๏ อย่าได้มัวเมาหม่นนำดวงดอกไข่เน่า เมานำพั่วหมากหว้ามันสิช้าค่ำทาง (อย่าได้มัวเพลิดเพลินอยู่กับดอกไม้หอมในป่า หรือลูกไม้ในป่า จะทำให้ชักช้า ไปไม่ถึงที่หมาย หมายถึงอย่าได้มัวเพลินอยู่ในกามารมณ์ จะทำให้เราชักช้าไม่พ้นวัฏฏสงสาร)

๏ ลิงกับลิงชิงขึ้นต้นไม้ บัดสิได้แม่นบักโกกนาโถ (เมื่อลิงทั้งหลายแย่งชิงกันขึ้นต้นไม้ ตัวที่แย่งได้เป็นตัวที่มีความคล่องแคล่วว่องไวกว่าเพื่อน)

๏ นักปราชญ์ฮู่หลง หงส์ทองถืกบ้วง ควายบักตู้ตื่นไถ (นักปราชญ์ยังมีโอกาสพลาด หงส์ทองยังมีโอกาสติดบ่วง และควายที่คุ้นกับไถก็ยังตื่อไถได้ หมายถึง บุคคลผู้รู้จักบาปบุญ แล้วยังหลงทำความชั่วได้ บุคคลผู้มีสติก็ยังขาดความระมัดระวังและบุคคลที่เป็นผู้รู้แล้วยังเป็นพาลได้)

๏ อย่าพากันเที่ยวทางเวิ่งเหิงหลายมันสิค่ำ เมานำพั่วหมากหว้ามันสิช้าค่ำทาง (อย่าพากันเถลไถล ออกจากทางตรง เดี๋ยวจะมืดค่ำก่อน อย่ามัวเพลินกับผลไม้ป่า จะทำให้ชักช้ามืดค่ำในระหว่างทางได้)

๏ พุทโธ พุทโธ หัวใจโตกะรักษาบ่ได้ (รู้จักแต่ พุทโธ พุทโธ แต่ไม่รู้จักจิตใจของตัวเอง)

๏ ศีลมีมากมายหลายข้อ บ่ต้องรักษาเหมิดทุกข้อดอก รักษาแต่ใจเจ้าของอย่างเดียวให้ดีท่อนั่น กาย วาจา กะสิดีไปนำกัน (ศีลมีมากมายหลายข้อ ไม่ต้องรักษาหมด ทุกข้อหรอก รักษาแต่ใจตัวเองอย่างเดียวให้ดีเท่านั้นกายวาจาก็จะดีไปด้วยกัน)


ปัจฉิมบท

                           หลวงปู่ผางเป็นพระสงฆ์ผู้มีจิตใจเมตตาอยู่เสมอ ท่านบำเพ็ญพรหมวิหารธรรม เมตตาบารมีของท่านนี้เป็นกระแสธรรมที่นุ่มนวลเยือกเย็น ในวัดอุดมคงคาคีรีเขต มีบึงเป็นที่อาศัยของจระเข้อยู่แห่งหนึ่ง ทราบว่ามีหลายตัวบางคราวน้ำป่าหลากมามาก ทำให้จระเข้หนีไปอยู่ในถิ่นอื่น หลวงปู่ต้องตามไปบอกให้กลับมาเฝ้าวัดที่บึงแห่งเดิม และจระเข้ก็กลับมาจริงๆ ด้วย

                            เล่ากันว่าวันที่หลวงปู่มรณภาพ จระเข้ลอยไปทางด้านเหนือของบึง และร้องเสียงดังอยู่เป็นเวลานาน คล้ายจะบอกให้รู้ว่า หลวงปู่จะจากพวกเราไปแล้ว และเป็นการแสดงถึงความอาลัยอาวรณ์ของสัตว์

                            คราวหนึ่งได้มีการสร้างกุฏิในบึงดังกล่าว พวกช่างไม่กล้าลงไปปักเสาในน้ำ เพราะกลัวจระเข้ หลวงปู่ ต้องลงไปยืนแช่ในน้ำคอยไล่ไม่ให้จระเข้เข้ามารบกวนพวกช่าง เมื่อถูกถามว่าไม่กลัวจระเข้หรือ หลวงปู่ตอบว่าเลี้ยงมันมาแต่เล็กแต่น้อยจะไปกลัวมันทำไม

                            อีกเหตุการณ์ หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังเมตตาของหลวงปู่คือ หลายครั้งที่เกิดเหตุไฟป่าใกล้กับบริเวณวัด บรรดาสัตว์ป่านานาชนิด กระเสือกกระสนหนีไฟ เข้าไปอาศัยในเขตวัด ส่วนพวกที่หนีไฟไม่ทันเพราะหมดกำลัง และยังอ่อนก็ถูกไฟไหม้ตายเป็นกอง อย่างน่าเอน็จอนาถ หลวงปู่ย่อมเห็นเหตุการณ์โดยตลอด ด้วยพลังแห่งเมตตาธรรม ที่มีอยู่ในใจ เป็นเหตุให้หลวงปู่ต้องอดอาหาร เป็นเวลาหลายวัน เข้านั่งสมาธิเพื่ออุทิศกุศลผลบุญให้แก่สัตว์ที่ถูกไฟไหม้ตาย

                            หลวงปู่ผางเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ท่านเป็นผู้มีจิตใจเข็มแข็งแก่กล้ามาก ปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม อีกทั้งวาจาของท่านที่พูดออกมา ก็มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นจริงดังคำพูดของท่านเสมอ มีเรื่องเล่ามากมายที่เกี่ยวข้องกับไหวพริบปฏิภาณของหลวงปู่ เช่น

                           มีครั้งหนึ่งมหาน้อย เป็นชาวอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มีนิสัยชอบถามปัญหาธรรม กับพระสงฆ์อยู่เป็นประจำ วันหนึ่งได้ไปนมัสการหลวงปู่ที่วัด แล้วถามหลวงปู่ว่า "เขาว่าพระกัมมัฏฐาน ถือธุดงควัตร อย่างหลวงปู่ ไม่รับเงินรับทอง และใช้จ่ายรูปิยะ วัตถุอนามาสด้วยมือตนเองใช่ไหม?"

                           หลวงปู่มองดูหน้ามหาน้อยแล้วถามกลับว่า "ถามทำไม?"

                           มหาน้อยตอบ "ก็อยากรู้สิหลวงปู่ ถึงถาม"

                           หลวงปู่ตอบ "ก็ใช่นะสิ"

                           มหาน้อยพูดต่อว่า "นั่นก็แสดงว่า หลวงปู่ได้บรรลุธรรมเป็นอรหันต์หมดความอยากแล้วใช่ไหม?"

                           หลวงปู่ตอบว่า "เอ้า จะพูดไปอะไรปานนั้น ต้องเป็นอรหันต์เท่านั้นเหรอ จึงจะไม่จับเงิน จับทอง พระคนธรรมดาไม่จับไม่ได้หรือ"

                           มหาน้อยพล่ามต่อไปอีกว่า "ผมถามหลวงปู่ เพื่อต้องการทราบว่า หลวงปู่ไม่รับเงินรับทองของอนามาสนั่นน่ะ เพราะหมดความอยากแล้วใช่ไหม ผมถามอย่างนี้"

                           หลวงปู่ตอบว่า "ไม่รับเฉยๆ นี่แหละ มันจะเพราะอะไร"

                          หลวงปู่สอนไม่ให้เชื่อมงคลตื่นข่าว ไม่ให้เชื่อฤกษ์ยาม แม้ว่าในปัจจุบันการถือฤกษ์ยามนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ จะเดินทางประกอบธุรกิจ ขึ้นบ้านใหม่และอะไรหลายๆ อย่าง ต้องมีฤกษ์ถ้าถูกวันอุบาทว์ โลกาวินาศ วันลอย วันจมแล้วต้องงด ควรเป็นวันธงชัย วันอธิบดี และวันฟู จึงจะเป็นมงคล

                          มีครั้งหนึ่ง คุณนายท่านหนึ่งมากราบหลวงปู่ ปรารภถึงวันเปิดร้านเพื่อประกอบธุรกิจการค้า คุณนายถามหลวงปู่ถึงวันที่จะเป็นมงคลสำหรับการเปิดร้าน หลวงปู่ก็บอกว่าดีทุกวัน เปิดพรุ่งนี้ได้ยิ่งดี

                          คุณนายแย้งว่า วันพรุ่งนี้เป็นวันโลกาวินาศ

                          หลวงปู่บอกว่าไม่เคยได้ยินวันโลกาวินาศ เคยได้ยินแต่วันอาทิตย์วันจันทร์

                          คุณนายก็เลยเรียนหลวงปู่ว่า "เขามีมานานแล้วหลวงปู่ วันธงชัย วันอธิบดี วันฟู นี่ถึงเป็นมงคลเจ้าข้า"

                          หลวงปู่ก็เลยถามว่า แล้ววันนี้ล่ะวันอะไร ก็ได้คำตอบจากคุณนายว่าเป็นวันฟู แต่ร้านไม่เรียบร้อย ก็เลยเปิดไม่ทัน หลวงปู่จึงได้บอกให้คุณนายลองโยนก้อนหิน ลงไปในที่ล้างเท้า แล้วหลวงปู่ก็ถามว่า แล้วก้อนหินมันฟูไหม ได้คำตอบว่า "จม"

                           หลวงปู่จึงได้สั่งสอนว่า "ที่ว่าวันฟู มันทำไมจึงไม่ฟู นี่แหละมันฟูไม่จริง"

                           นี่แสดงให้เห็นถึงปฏิภาณไหวพริบ ในการสอนธรรมะของหลวงปู่ สอนให้เห็นของจริง ให้รู้ชัดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างประกอบ ด้วยเหตุและผล หินเป็นวัตถุที่จมน้ำมันก็ย่อมจะจมน้ำ ไม่ว่าจะเป็นวันลอยวันฟู ท่านชี้ให้เห็นว่าวันเดือนปี ก็เป็นกาลเวลาไม่มีผลต่อความเป็นอยู่ ความเจริญ รุ่งเรืองของเรา แต่การกระทำของเราต่างหากที่จะมีผลต่อตัวเราเอง

                           อนุสรณ์สถานที่สำคัญที่สุดของหลวงปู่ผางคือ วัดอุดมคงคาคีรีเขต ซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ นับเป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งที่ควรภาคภูมิใจและน่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง หลวงปู่ได้ทำการบุกเบิกก่อสร้าง วัดแห่งนี้ตั้งแต่ยังเป็นป่าดงดิบมีสัตว์ร้ายชุกชุม ภูตผีปีศาจ คอยรบกวน และยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติด้วย เนื่องจากหลวงปู่มีความทรหดอดทน ความเป็นผู้มั่นคงในการปฏิบัติ ยากที่จะหาผู้เทียมได้ และด้วยคุณธรรม บารมีที่ท่าน ได้บำเพ็ญมา จึงสามารถยกระดับสำนักสงฆ์แห่งนี้ให้สูงส่งเรื่อยมาโดยลำดับ โดยที่ทางราชการ ได้เห็นความสำคัญ มีศรัทธาเลื่อมใส ได้ตกลงกันที่สำนักสงฆ์ ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเนื้อที่ถึง ๔๘๐ ไร่

                          ภายในวัดอุดมคงคาคีรีเขต หลวงปู่ผางได้สร้างเจดีย์ถ้ำกงเกวียนขึ้นมาในปี ๒๕๑๒ เพื่อเป็นที่บำเพ็ญกิจ โดยสร้างไว้บนไหล่เขาบริเวณเป็นลานหินขนาดใหญ่ ต่อมาในปี ๒๕๑๓ หลวงปู่ได้สร้างเจดีย์กู่แก้ว ซึ่งอยู่ห่างจากศาลาใหญ่ราว ๙๐ เมตรเท่านั้น และหลวงปู่ใช้ที่แห่งนี้ บำเพ็ญกิจ เพราะอยู่ใกล้ศาลาใหญ่ ซึ่งเป็น ศูนย์กลางของวัด สะดวกแก่หลวงปู่ในการขึ้นลง เพราะชรามากแล้ว ต่อมาในปี ๒๕๑๘ ได้ก่อสร้างองค์พระเจดีย์ใหญ่ ฐานวัดโดยรอบ ๑๐๐ เมตร สูง ๒๘ เมตร ส่วนล่างและส่วนบนขององค์พระเจดีย์ เป็นบัวคว่ำบัวหงาย ประดับลวดลายไทย ลงรักปิดทองและติดกระจก พื้นในองค์เจดีย์ปูด้วยหินแกรนิตสีดำ และส่วนที่เป็นยอด ขององค์พระเจดีย์นั้น ใช้โมเสคสีทองจากประเทศอิตาลีเป็นวัสดุก่อสร้าง ส่วนบนสุดเป็นยอดฉัตรทำด้วยโลหะปิดทองชั้นบนสุดขององค์พระเจดีย์ เป็นที่สำหรับบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ข้างล่างสร้างเป็นที่เก็บพิพิธภัณฑ์ของหลวงปู่ ภายในองค์เจดีย์ได้ประดิษฐานพระพุทธชินราชเป็นองค์พระประธาน และรูปเหมือนของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่ผางทั้งสองรูป

เกร็ดประวัติหลวงพ่อผาง ในเทศนาหลวงตามหาบัว ๑     เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๙ ปรากฏในเทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด

".....หลวงพ่อผางที่อำเภอชนบทเก่งทางพวกงู พวกจระเข้ วัดผู้เฒ่าแต่ก่อน โถ งูชุมมากนะ เหมือนกับผู้เฒ่าเลี้ยงไว้ ไม่ได้ผิดกันอะไรเลย งูเห่างูจงอางนะไม่ใช่ธรรมดา มันป้วนเปี้ยน ๆ อยู่กับคน คนไปไหนก็อยู่อย่างนี้ ๆ คนก็เดินไปข้าง ๆ เรียกว่าหลีกกันไปเหมือนหลีกหมา ว่างั้นเถอะนะ มันมีอยู่ทั่วไป

หลวงพ่อผางเป็นผู้ปกครองวัดนั้น มันเคารพหลวงพ่อผางมากนะ งูเหล่านี้ กลัว เคารพแต่หลวงพ่อผาง จระเข้ตัวหนึ่งอยู่นั้นเลี้ยงไว้ กลัวแต่หลวงพ่อผางองค์เดียว จระเข้ตัวนั้น ท่านให้เขาไปปลูกกุฏิกลางสระ มันมางับเขาเรื่อย ต้องหลวงพ่อผางมาละ มันไปไหนไอ้นี่ วิ่งหนีเลย มันอยู่ใต้น้ำ อย่างนี้ละมันกลัว กลัวหลวงพ่อผางองค์เดียว จระเข้ตัวเดียว งับเขามันไม่กินแหละ งับเขาให้เจ็บ เพราะคนทำกุฏิอยู่กลางสระน้ำ คนก็ลงน้ำละซิ มันเลยมางับเอาตรงนั้น ต้องเรียกหาหลวงพ่อผางเรื่อย ครั้นหลวงพ่อผางอยู่นั้นทั้งวันไม่มา มันกลัว ถ้าเรียกหลวงพ่อผางเมื่อไรมันมางับเขาละ ร้องโก้กทีเดียว      แข้กัด จระเข้เรียก แข้  แข้กัด...."


ขอขอบคุณ: http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-pang/lp-pang_hist.htm

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.688 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 28 มีนาคม 2567 04:21:48