[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
25 เมษายน 2567 07:09:56 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วัด ในพุทธศาสนา  (อ่าน 1135 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 13 ธันวาคม 2559 13:35:14 »



พระพุทธเทวปฏิมากร
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

วัด

วัด คือคำเรียก ศาสนสถานของศาสนาพุทธในประเทศไทย กัมพูชา และลาว หมายถึงสถานที่อันเป็นเอกเทศต่างหากจากบ้านผู้คน เป็นที่อยู่และสถานที่ประกอบศาสนกิจของพระภิกษุสามเณร มีโบสถ์ สถูป เจดีย์ วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ เมรุ เป็นต้น  

คำว่า “วัด” ตามความหมายดั้งเดิมเป็นคำกริยา แปลว่า กะ กำหนดนับ คำนวณ หรือหมาย ฯลฯ  สำนักของพระสงฆ์สามเณรได้ชื่อว่า “วัด” หรือ “วัดวา” ซึ่งเป็นคำพูดติดปากของคนโบราณเป็นการเน้นให้เห็นมูลเหตุว่าวัดคือ มาตรฐานหรือบรรทัดฐานในการกำหนด หรือคำนวณคุณธรรมของคน เพราะคำว่า “วา” เป็นมาตรสำหรับวัดของไทย ความหมายดังกล่าวนี้จึงเป็นเหตุให้ควรสันนิษฐานได้ว่า “วัด” คำนี้หมายถึง การกะการนับ  ได้ใช้พูดถึงหรือเรียกสถานที่พำนักของพระสงฆ์สามเณรว่า “วัดวาอาราม” ติดปากคนมาจนกระทั่งปัจจุบัน


มูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศไทย
จากหลักฐานทางโบราณคดีแสดงว่า ชาวอินเดียได้มาสอนพระพุทธศาสนาในประเทศไทยหลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชไม่นานนัก จึงน่าสันนิษฐานว่า เมื่อก่อนรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น จะมีชาวอินเดียมาตั้งภูมิลำเนาหรือประกอบการค้าขายอยู่ในประเทศสยามนี้มากอยู่แล้ว ทูตที่มาสอนพระพุทธศาสนาคงมาสอนพวกชาวอินเดียก่อนด้วยพูดเข้าใจภาษากัน เมื่อพวกอินเดียเหล่านั้นรู้ภาษาสยามจึงถ่ายทอดพระพุทธศาสนาแก่พวกชาวสยามในสมัยนั้น

ต่อมาครั้นมีพุทธศาสนิกชนขึ้นเป็นอันมาก จึงไปขอพระบรมธาตุและคณะสงฆ์มาจากอินเดียแล้วสร้างพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ และผู้ที่ศรัทธาจะขอบวชก็ขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระสงฆ์ซึ่งมาจากอินเดีย จึงเกิดมีวัดและมีสังฆมณฑลขึ้นในประเทศไทย


ที่ดินของวัด
ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงปาฐกถาเรื่องมูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศสยามไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ สรุปได้ว่า วัด คือ ที่ซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ วัดแห่งหนึ่งๆ มีพื้นที่อยู่ในการดูแลรักษาขนาดกว้างใหญ่ต่างๆ กันออกไปตามกำลังศรัทธาของผู้เป็นต้นคิด การสร้างวัดขึ้นถวายไว้ในพระพุทธศาสนา พื้นที่วัดหรือสังฆมณฑล ประกอบด้วยที่ดิน ๓ ประเภทร่วมกันคือ
๑.ที่วัด คือพื้นที่อันเป็นที่ตั้งวัดตลอดไปทั้งเขตแดนของวัดนั้น พื้นที่ของวัดตามปกติจะแบ่งออกเป็น ๓ แปลง แต่มิได้แบ่งปันให้ขาดออกจากกันตามขนาดพื้นที่ แต่แบ่งออกตามหน้าที่และความสำคัญในทางศาสนาเท่านั้น คือ
      
เขตพุทธาวาส คือพื้นที่แปลงหนึ่งซึ่งกำหนดเป็นพุทธมณฑล เป็นบริเวณที่ประดิษฐานปูชนียสถานและปูชนียวัตถุอันเกี่ยวด้วยพระพุทธเจ้า หรือพระธรรมโดยตรง มีสิ่งก่อสร้างเป็นสถาปัตยกรรมทางศาสนาเป็นต้นว่า พระอุโบสถ พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากร พระสถูป หรือพระมหาธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า พระมณฑปที่เก็บพระไตรปิฎกอันเป็นพระธรรมเจ้า ฯลฯ ล้วนสร้างขึ้นภายในเขตพุทธาวาสนี้ทั้งสิ้น

เขตสังฆาวาส คือที่ดินที่ต่อจากเขตพุทธาวาสเป็นบริเวณที่พำนักของภิกษุและสามเณรมีสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่นี้คือ กุฎี หอฉัน หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ ฯลฯ เป็นต้น

เขตที่ปรก คือ พื้นที่ถัดจากเขตสังฆาวาสออกมา ตามปกติปล่อยเป็นที่ว่างไม่ปลูกสร้างอาคารสถานใดๆ ปลูกแต่ต้นไม้ยืนต้นให้เกิดร่มเงา เป็นที่สงัดเงียบ สำหรับพระภิกษุได้ไปกระทำกิจทางวิปัสสนาธุระหรือปฏิบัติกรรมฐาน

๒.ที่ธรณีสงฆ์ คือที่ดินที่มีผู้ศรัทธาถวายหรือโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด เป็นที่นาบ้างที่สวนบ้างอยู่ในที่ใกล้หรือติดกับวัด สำหรับเก็บผลประโยชน์บำรุงวัด

๓.ที่กัลปนา คือที่ดินที่มีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์อันได้จากพื้นที่นั้นถวายแก่วัดหรือพระศาสนา การถวายกัลปนานอกจากจะเป็นประเพณีในส่วนชนสามัญแล้วยังเป็นพระราชประเพณีมีมาแต่โบราณคือ พระเจ้าแผ่นดินทรงอุทิศผลประโยชน์ของหลวงซึ่งได้จากที่ดินแห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง มีค่านา เป็นต้น ให้ใช้บำรุงพระอารามใดอารามหนึ่ง ที่ดินประเภทนี้ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโดยแท้


เขตแดนของวัด
เขตแดนของวัด เรียกว่า “วิสุงคามสีมา” หมายถึงเขตที่แยกจากหมู่บ้านหรือเขตของคฤหัสถ์ หรือ หมายถึงเขตทำอุโบสถสังฆกรรมของภิกษุสงฆ์ วิสุงคามสีมานี้ทางวัดได้มาด้วยการรับพระราชทานหรือขอพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ เป็นกรรมสิทธิ์แก่วัด ให้ยกเว้นภาษีอากรและเป็นทรัพย์ซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี

การกำหนดวิสุงคามสีมา นัยว่าเป็นคติเกิดขึ้นแต่ภายหลัง เพราะแต่เดิมพระสงฆ์ยังมีจำนวนไม่มาก การทำสังฆกรรมไม่ขัดข้องด้วยการกำหนดเขตสีมา เมื่อมีจำนวนพระภิกษุสงฆ์มากขึ้นตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล การจะเรียกมาประชุมพร้อมกันให้ได้หมดเป็นการลำบากจึงได้กำหนดสีมา เช่น เอาท้องที่อำเภอหนึ่งเป็นเขต เวลามีการประชุมก็เรียกแต่พระสงฆ์ซึ่งอยู่ในเขตนั้นประชุมพร้อมกัน พระสงฆ์ที่ไปอยู่ในอำเภออื่นใดก็ประชุมพร้อมกันในอำเภอนั้นๆ ครั้งพระพุทธศาสนารุ่งเรือง มีจำนวนพระสงฆ์ซึ่งอยู่ในเขตนั้นมากขึ้นก็ต้องร่นเขตสีมาให้เล็กเข้าเพื่อสะดวกในการประชุม จนถึงมีการกำหนดเขตสีมาให้วัดเป็นอันหนึ่งอันเดียว

เขตแดนของวัดหรือวิสุงคามสีมานี้ เมื่อทางวัดได้รับพระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์แล้วต้องประกาศเป็นพัทธสีมา คือการผูกให้เป็นแดนที่มีกำหนดขนาดเป็นที่แน่นอน เพื่อจะทำสังฆกรรมต่างๆ เช่น การทำอุโบสถสังฆกรรม การอุปสมบท การรับกฐิน เป็นต้น ได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าหากเขตแดนซึ่งจะกำหนดให้เป็นวัดยังมิได้ผูกเขตมีที่หมายแน่นอน พื้นที่นั้นท่านเรียกว่า อพัทธสีมา คือ แดนที่มิได้ผูก จะทำเป็นวัดไม่ได้ ทำการสังฆกรรมใดๆ ก็ไม่ได้ คงเป็นแต่สำนักสงฆ์เท่านั้น

วิสุงคามสีมาซึ่งได้รับการประกาศและผูกเป็นเขตแดนมีที่หมายกำหนดแน่นอน ซึ่งเรียกว่า “พัทธสีมา” มีขนาดต่างกันเป็น ๒ ขนาด คือ

ขัณฑสีมา เป็นเขตสีมาอย่างย่อมๆ ตามพระบาลีกำหนดให้สมมติเขตสีมาขนาดนี้มีกำหนดกว้างและยาวไม่เล็กเกินไปจนจุพระภิกษุได้ไม่ถึง ๒๑ รูป หรือไม่เป็นที่คับแคบจนพระภิกษุจำนวน ๒๑ รูปนั่งหัตถบาสไม่ได้ การที่มีกำหนดขนาดขันฑสีมาในพระบาลีเช่นว่านี้ก็เนื่องมาแต่เหตุที่ต้องการพื้นที่ภายในขันฑสีมาในการสังฆกรรม บางโอกาสที่ต้องประชุมสงฆ์ถึง ๒๑ รูป มีเป็นต้นว่า การประชุมพระสงฆ์สวดระงับอาบัติสังฆาทิเสสของพระภิกษุที่เรียกว่า “อัพภาน”

ขนาดของขันฑสีมา กำหนดโดยใช้สีมาหรือเสมาเป็นที่หมายเขตอันจะเห็นได้บนพื้นดินปักติดกับตัวโบสถ์ทั้ง ๔ มุม และระหว่างกลางของสีมาทั้ง ๔ ด้านก็มี และปักห่างออกจากพระอุโบสถพอสมควรก็มีเขตแดนภายในสีมาขนาดย่อมๆ นี้เรียกว่า ขันฑสีมา

มหาสีมา เป็นเขตสีมาขนาดใหญ่ คือ ให้สมมติเขตแดนส่วนที่เป็นพุทธาวาสทั้งหมดหรือเขตวัดทั้งหมดให้เป็นพัทธสีมาหรือแดนที่ผูกแล้วโดยมีที่หมายแน่นอน คือ ใบสีมา ปักให้แลเห็นได้บนพื้นดิน โดยปักไว้ตามมุมกำแพงแก้วล้อมพระอุโบสถทั้ง ๔ มุม และระหว่างกลาง หรือปักไว้ที่มุมกำแพงล้อมเขตวัดทั้ง ๔ มุม และในย่านกลางของกำแพงนั้นแต่ละด้านเป็นสิ่งกำหนดขนาดมหาสีมา

พัทสีมาหรือแดนที่ผูกขึ้นแล้วทั้งขันฑสีมาและมหาสีมา ย่อมแสดงขนาดแน่นอนของเขตแดนด้วย “สีมาสมมติ” คือ ที่หมายในการแสดงเขต คตินิยมทำสีมาสมมติตั้งแต่โบราณมาใช้ก้อนศิลานำมาสลักเกลาให้มีสัณฐานกลม เรียกว่า “นิมิต” มีกำหนดจำนวน ๘ ลูก นำเอามาวางตรงมุมของพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมทั้ง ๔ มุม มุมละลูก และตรงย่านกลางระหว่างด้านสกัดหัวและสกัดท้ายกับด้านรีหรือด้านยาวทั้งสองด้าน ซึ่งเรียกว่า “สีมันตริกร” ต้องเอาลูก “นิมิต” นี้วางลงตรงย่านกลางด้านละ ๑ ลูก เป็นลำดับไปทุกด้าน

การกระทำพัทธสีมาเป็นภาระและหน้าที่ของภิกษุสงฆ์ต้องทำตามธรรมเนียม กล่าวคือ เมื่อพระสงฆ์ได้รับพระบรมราชานุญาตหรือได้รับอนุมัติจากทางราชการให้มีกรรมสิทธิ์บนพื้นดินแปลงที่สร้างขึ้นเป็นวัดได้แล้ว พระสงฆ์จะต้องปันเขตแดนกำหนดกว้างยาวตามขนาดที่จะกระทำพัทธสีมาออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้วจึงเรียกประชุมภิกษุในคณะมาพร้อมกันกระทำสมมติสีมาหรือพัทธสีมาร่วมกัน

ธรรมเนียมในการสมมติสีมาหรือทำพัทธสีมาหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ฝังลูกนิมิต” นี้ก่อนที่จะลงมือทำพิธีจะต้องทำการสวดถอนสีมาเดิมเสียก่อน พิธีตอนนี้เรียกว่า “สีมาสมุคฆาตะ” ซึ่งจะต้องทำให้ที่บริเวณนั้นเป็นที่บริสุทธิ์ไม่เป็นที่มีสีมาหรือสิทธิครอบครองของบุคคลอื่นต่อไป

การสมมติสีมาจะกระทำโดยพระสงฆ์ไปร่วมประชุมกันอยู่ภายในเขตแดน ซึ่งจะทำการสมมติสีมาหรือจะกระทำให้เป็นพัทธสีมาต่อไปนั้นโดยพร้อมกัน แล้วพระสงฆ์จำนวน ๔ รูป ก็จะพากันเดินไปยังตำแหน่งที่กำหนดจะวางนิมิตไว้ตามทิศต่างๆ ทั้ง ๔ มุม ๔ ด้าน โดยเริ่มต้นทิศบูรพาเป็นลำดับแรก แล้วพระภิกษุในจำนวน ๔ รูป จะถามผู้เป็นประธานหรือผู้ที่มีศรัทธาอุทิศที่ดินถวายให้สร้างวัดนั้นโดยธรรมเนียมเป็นภาษาบาลีว่า “ปุรตฺถิมาย ทิสาย กิํ นิมิตฺตํ” แปลความว่า ทิศบูรพานี้มีอะไรเป็นเครื่องหมาย (แห่งเขตแดน) ผู้เป็นประธานในที่นั้นจะต้องตอบเป็นภาษาบาลีเช่นกันว่า “ปาสาโณ ภน เต” แปลว่า “มีลูกหินเป็นเครื่องหมายเจ้าข้า” การถามตอบในพิธีการนี้ถ้าเป็นการผูกพัทธสีมาเพื่อสร้างพระอารามหลวง พระเจ้าแผ่นดินหรือพระบรมวงศานุวงศ์จะทรงตอบเรียกว่า “ทักนิมิต” การถามตอบนี้ต้องทำไปจนครบทุกทิศ ทุกมุมที่วางลูกนิมิตลูกสุดท้ายแล้ว ก็กลับทวนถามเวียนกลับไปจนบรรจบถึงนิมิตลูกต้นอีกรอบหนึ่ง จึงเป็นการทักนิมิตสมบูรณ์ตามธรรมเนียม แต่ถ้าทำไม่ครบหรือเวียนทักไปเพียงรอบเดียว ถือว่าไม่สมบูรณ์ ถือว่านิมิตขาดใช้ไม่ได้

เมื่อพระสงฆ์ทั้ง ๔ รูป ทักนิมิตครบตามธรรมเนียมแล้วกลับเข้าไปยังที่ประชุมคณะสงฆ์ในย่านกลางเขตแดนสีมาสวดประกาศสมมติสีมาขึ้นพร้อมกันจนสิ้นกระบวนเป็นเสร็จการสมมติสีมาหรือกำหนดพัทธสีมา อนึ่งพื้นที่ภายในเขตสีมาซึ่งผูกเป็นเขตแดนมีขนาดกำหนดแน่นอนด้วยที่หมายคือลูกนิมิตเป็นที่เรียบร้อยแล้วนี้เรียกว่า “สมานสังวาสสีมา” แปลว่า “แดนที่เสมอกัน”



พัทสีมา วัดสิงห์ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี


อุโบสถหลังเก่า วัดโกเสยเขต จังหวัดหนองคาย
จะเห็นได้ว่าไม่มีพัทสีมา ซึ่งคงจะได้ทำพิธี “สีมาสมุคฆาตะ” คือการสวดถอนสีมาเดิม
ให้ที่บริเวณนั้นเป็นที่บริสุทธิ์ไม่เป็นที่มีสีมาหรือสิทธิครอบครองของบุคคลอื่นต่อไป


คติในการสร้างวัด
คติในการสร้างวัดทางพุทธศาสนาอันมีมาแต่สมัยโบราณ ควรพิจารณาเห็นได้เป็น ๒ ลักษณะด้วยกัน คือ สร้างเป็นวัดพุทธเจดีย์ กับสร้างเป็นวัดอนุสาวรีย์ วัดทั้ง ๒ ลักษณะนี้มีข้อต่างกันในด้านคตินิยมและความเชื่อ มีดังต่อไปนี้

วัดพุทธเจดีย์ เป็นวัดที่เกิดขึ้นก่อนวัดอื่นใด กล่าวคือเมื่อแรกที่สมณทูตเข้ามาสอนพระพุทธศาสนาแก่ชนชาวไทยในสมัยนั้น มีคนเรียนรู้ธรรมมาก และมีผู้ศรัทธาจะขอบวชก็ขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระสงฆ์ซึ่งมาจากอินเดีย ครั้นมีพุทธศาสนิกชนขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงไปขอพระบรมธาตุมาจากอินเดีย แล้วสร้างพระพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุนั้นขึ้นไว้ กำหนดให้เป็นปูชนียสถานเสมอด้วยองค์พระบรมศาสดาเป็นหลักพระพุทธศาสนาในที่แห่งนั้นๆ จึงเกิดมีวัดพุทธเจดีย์ขึ้นในประเทศไทยมาแต่ครั้งนั้น วัดพุทธเจดีย์ในชั้นเดิมคงจะมีแต่พระสถูปเจดีย์สิ่งสำคัญเป็นประธานในวัดแต่ละแห่ง บางทีจะมีวิหารขนาดย่อมเป็นที่ประชุมพระสงฆ์หรือสำหรับสัปปบุรุษสร้างต่อออกมาข้างหน้าพระสถูปเจดีย์อีกอย่างหนึ่ง แต่โบสถ์นั้นยังไม่ปรากฏว่ามีเพราะพระสงฆ์ยังมีน้อย การทำสังฆกรรมไม่ขัดข้องด้วยเขตสีมา กุฎีพระก็จะมีอยู่ด้วยในวัดพุทธเจดีย์ แต่พระสงฆ์ครั้งนั้นมิได้อยู่ประจำวัด คงถือประเพณีอย่างพุทธสาวกเที่ยวสอนพระศาสนาไปในที่ต่างๆ เป็นกิจวัตร ไม่อยู่ประจำ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง สภาพของวัดพุทธเจดีย์ในภายหลังเมื่อรับสิทธิพระพุทธศาสนาหินยานอย่างลังกาวงศ์มาถือมีหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ เกิดมีโบสถ์และพัทธสีมา แต่โบสถ์ซึ่งทำขึ้นในชั้นแรกมักทำเป็นหลังเล็กๆ เหมือนกัน อาศัยปลูกไว้ในที่ซึ่งไม่กีดขวาง ปูชนียสถานในสมัยนี้ยกย่องพระสถูปเจดีย์เป็นศูนย์กลางของพระอาราม ข้างหน้าพระสถูปออกมามีพระวิหารหลวงขนาดใหญ่ ต่อมาในสมัยสุโขทัยนิยมทำโบสถ์ขยายใหญ่ขึ้นและถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ในวัด ดังปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ที่สร้างและปฏิสังขรณ์วัดจึงถือเอาการสร้างพระอุโบสถเป็นสำคัญ วัดพุทธเจดีย์จึงเกิดเป็นแบบอย่างมีลักษณะเด่นชัดเอาในสมัยนี้แล้วได้กลายเป็นนิยมเอาแบบมาสร้างสืบๆ กันมาในภายหลัง

วัดอนุสาวรีย์ เป็นวัดที่เกิดขึ้นต่อมาในภายหลัง สันนิษฐานตามหลักฐานทางโบราณสถาน คะเนว่าคงจะเริ่มมีแต่สมัยสุโขทัย ในการสร้างวัดเกิดขึ้นในสมัยที่กล่าวนี้ ด้วยเกิดนิยมในฝ่ายคฤหัสถ์ว่าที่บรรจุอัฐธาตุของวงศ์ตระกูลควรจะสร้างเป็นเจดีย์วัตถุอุทิศต่อพระศาสนา เวลาผู้ต้นตระกูลถึงมรณภาพ เผาศพแล้วจึงมักสร้างพระสถูปแล้วบรรจุเจดีย์วัตถุ เช่น พระพุทธรูปหรือพระธาตุไว้เบื้องบน ข้างใต้นั้นทำเป็นกรุบรรจุอัฐิธาตุของผู้มรณภาพนั้น และสำหรับบรรจุอัฐิของเชื้อสายในวงศ์ตระกูลต่อมา ข้างหน้าพระสถูปสร้างวิหารไว้หลังหนึ่งเป็นที่หรับทำบุญ จึงเกิดมีวัดอนุสาวรีย์ขึ้นมากมาย ตั้งแต่ขนาดเล็กๆ ขึ้นไปจนขนาดใหญ่ ตามกำลังของตระกูลนั้นสร้างที่เป็นวัดขนาดใหญ่และสร้างพระเจดีย์ ที่บรรจุอัฐเรียงรายไปในวัดเดียวนั้นก็มี ในวัดจำพวกซึ่งสร้างเป็นอนุสาวรีย์ดังกล่าวมา ที่ปรากฏอยู่ในเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัยหามีอุโบสถ หามีที่สำหรับพระสงฆ์อยู่ไม่ ตัวอย่างเช่น เมืองสวรรคโลกเก่า มีวัดหลวงใหญ่ๆ สร้างไว้ถึง ๕ วัด มีเขตสร้างกุฎีพระสงฆ์อยู่ได้แต่เพียงวัดเดียวเท่านั้น ที่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัยมีวัดเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งสร้างเป็นวัดอนุสาวรีย์ มีเรียงรายไปตามระยะทางมากกว่ามาก ล้วนมีพระเจดีย์องค์หนึ่งกับวิหารหลังหนึ่งแทบทุกวัด

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คติการถือพระศาสนาก็เหมือนอย่างครั้งกรุงสุโขทัย มีพระอารามหลวงที่สำคัญคือ วัดพระศรีสรรเพชญ์ สร้างขึ้นในบริเวณพระราชวังเหมือนอย่างวัดมหาธาตุที่เมืองสุโขทัย เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายในราชสกุล และมีวัดอื่นทั้งของหลวงและของราษฎร์สร้างไว้อีกมากมาย จนเป็นคำกล่าวกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ว่า เมื่อครั้งบ้านเมืองดีเขาสร้างวัดไว้ให้ลูกเล่น ที่จริงนั้นคือใครตั้งวงศ์สกุลได้เป็นหลักฐาน ก็สร้างวัดเป็นอนุสาวรีย์สำหรับบรรจุอัฐิธาตุของสกุลวงศ์ มักสร้างเจดีย์ขนาดเขื่อง ๒ องค์ไว้ข้างหน้าโบสถ์ เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุต่อบิดาองค์หนึ่ง มารดาองค์หนึ่ง ส่วนสมาชิกในสกุลนั้น เมื่อใครตายลงเผาศพแล้วก็สร้างสถูปเจดีย์ขนาดย่อมลงมาเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุรายไปรอบโบสถ์ เรียกกันว่า “เจดีย์ราย” ครั้นถึงเวลานักขัตฤกษ์ เช่น ตรุษสงกรานต์พากันออกไปทำบุญ ให้ทานอุทิศเปรตพลีที่วัดของสกุล พวกเด็กๆ ได้โอกาสตามออกไปด้วยก็ไปวิ่งเล่นในลานวัด เมื่อเวลานักขัตฤกษ์เช่นนี้จึงเกิดคำที่กล่าวว่าสร้างวัดให้ลูกเล่น

วัดแต่ละแห่งๆ ซึ่งสร้างขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณและมีในลำดับสมัยต่อมานั้นล้วนแสดงออกให้เราเห็นความสำคัญชวนให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ด้วยสิ่งก่อสร้างทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยการตกแต่งประณีตศิลปด้วยความวิจิตรนานาประการ การที่ทางวัดจัดการก่อสร้างถาวรวัตถุและถาวรสถานต่างๆ ให้เพียบพร้อมไปด้วยศิลปะลักษณะดังกล่าวนี้ มิใช่พระภิกษุสงฆ์ในวัดแห่งนั้นมีความต้องการจะได้พำนักในอาคารหรือใช้สอยสรรพวัตถุที่สร้างทำขึ้นอย่างประณีตวิจิตร เพราะบรรพชิตผู้เป็นพุทธสาวกทั้งปวงย่อมพอใจใคร่ละวางต่อสิ่งสวยงาม แต่การที่วัดแต่ละแห่งสร้างศาสนสถานที่มีความวิจิตรงดงามด้วยศิลปลักษณะทั้งในด้านสถาปัตยกรรมเป็นหลักสำคัญและศิลปกรรมอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ ดังที่ปรากฏมาตั้งแต่สมัยก่อนและในปัจจุบันนั้นล้วนเป็นผลอันเนื่องมาแต่เหตุสำคัญคือ สิ่งศิลปกรรมต่างๆ ย่อมอาศัยคุณลักษณะในด้านความงาม ก่อให้เกิดอิทธิพลในการปลูกศรัทธาให้งอกงามขึ้นในจิตใจแห่งวิญญูชนได้โดยง่าย ทางวัดจึงส่งเสริมให้มีการสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นเพื่อการเจริญศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนแต่ในชั้นแรก วัดจึงเป็นแหล่งของศิลปกรรมโดยเฉพาะมีสถาปัตยกรรมเป็นประธานและร่วมด้วยศิลปกรรมแขนงอื่นเป็นส่วนประกอบ


จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ เรียบเรียง - หนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.488 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 15 มีนาคม 2566 03:49:53