[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 22:11:08 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระปฐมสมโพธิ - พระประวัติของพระพุทธเจ้า ฝีมือวาดของ เหม เวชกร  (อ่าน 3527 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 14 ธันวาคม 2559 14:24:08 »


.  ภาพปฐมสมโพธิ .
ผลงาน ครูเหม เวชกร

ปฐมสมโพธิ เป็นชื่อคัมภีร์ว่าด้วยพระประวัติของพระพุทธเจ้าโดยละเอียดพิสดาร

คำว่า “ปฐม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ให้คำแปลว่า ทีแรก, เบื้องต้น  สมโพธิ แปลว่า ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

คัมภีร์ปฐมสมโพธิ แสดงพระประวัติพระพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ประกาศพระศาสนา จนถึงปรินิพพาน

ภาพปฐมสมโพธินี้ เป็นภาพแสดงพระประวัติของพระพุทธเจ้า มีจำนวน ๘๐ ภาพ เท่ากับพระชนม์ของพระพุทธเจ้า  เหม เวชกร จิตรกรเอกของไทย ได้เขียนภาพขึ้นตามความในหนังสือพระปฐมสมโพธิ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส อาจารย์แม้มาส ชวลิต ที่ปรึกษากรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้เขียนคำบรรยายภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ เป็นคำอธิบายที่ศึกษานิธิ วัดพระเชตุพน ได้เคยจัดพิมพ์ไว้ก่อนแล้ว




ภาพที่ ๑ เทพเจ้าอัญเชิญเทพบุตรโพธิสัตว์ให้จุติมาโปรดสัตว์โลก

เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์สวรรคตแล้ว เสด็จไปอุบัติเป็นสันดุสิตเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต ครั้นถึงเวลาก่อนพุทธกาลไม่นานนัก เทพเจ้าทุกสวรรค์ชั้นฟ้ามาประชุมปรึกษากัน ถึงผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ต่างก็เห็นพ้องกันว่า สันดุสิตเทพบุตรทรงบำเพ็ญพระบารมีที่ยากยิ่งมาหลายพระชาติแล้ว ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะได้บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้นำความรู้แจ้งเห็นจริงไปช่วยบรรเทาความทุกข์ของสัตว์โลก สันดุสิตเทพบุตรจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่แท้

เทพเจ้าทั้งหลายจึงพากันไปทูลอัญเชิญเสด็จให้จุติลงมาสู่โลกมนุษย์ เพื่อแสวงหาทางช่วยมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง


The meeting of the Devas was called to invite a would-be Buddha to take his rebirth on the earth,  so that he would become a Buddha and take the beings across the stream lf Sunsara



ภาพที่ ๒ สันดุสิตเทพบุตรเสด็จจากสวรรค์ลงมาตามคำอัญเชิญ

สันดุสิตเทพบุตรทรงรับคำอัญเชิญของบรรดาเทพเจ้า ทรงหยุดการดำรงพระชนม์บนสวรรค์ เสด็จลงสู่โลกมนุษย์ เพื่อเข้าสู่พระครรภ์ของพระมารดา

วันที่เสด็จลงมานั้น ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ พระเจ้าสุทโธทนะ แห่งตระกูลกษัตริย์ศากยะ กรุงกบิลพัสดุ์ ได้อภิเษกสมรสกับพระนางสิริมหามายาแล้วไม่นานนัก

คืนวันนั้น พระนางสิริมหามายากำลังบรรทมหลับสนิท ทรงสุบินนิมิตว่า พระนางเสด็จไปป่าหิมพานต์มีช้างเผือกผ่องตัวหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูง งวงชูดอกบัวสีขาว ส่งกลิ่นหอม ช้างนั้นร้องเสียงดัง แล้วเดินเวียนรอบพระองค์สามรอบ โหราจารย์ประจำราชสำนัก ทำนายว่า พระองค์จะมีพระราชโอรสเป็นผู้ประเสริฐ
 
กวีได้พรรณนาว่า ตอนที่เทพบุตรเสด็จสู่พระครรภ์พระมารดานั้น มีเสียงกลอง
ทิพย์ดังสนั่นทั่วท้องฟ้านั้น หมายถึงการประกาศพระเกียรติคุณ อันเกิดจากพระธรรมที่จะได้ทรงสั่งสอนคนที่ตาบอดหูหนวกเพราะกิเลส เมื่อสดับรสพระธรรมแล้ว ก็จะเกิดปัญญาจักษุ คือมีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงถึงทางพ้นทุกข์

A Buddha-in-making, with his boundless compassion, accepted the invitation and took his rebirth in the womb of Mahamayadevi, Queen of Sakya King Suddhodana of Kapilavatthu.



ภาพที่ ๓ ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน


เมื่อใกล้ถึงเวลาประสูติ พระนางสิริมหามายาเสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ ไปยังนครเทวทหะ เพื่อการประสูติตามธรรมเนียมที่ว่า สตรีจะต้องไปคลอดบุตรที่บ้านพ่อแม่ของตน พอเสด็จถึงป่าลุมพินีวันก็ประชวรพระครรภ์ ขณะนั้นเป็นวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) กลางเดือน ๖ พระจันทร์เต็มดวงอยู่ในกลุ่มดาววิสาขฤกษ์ พระนางก็ประสูติพระราชโอรส

มีถ้อยคำกวีพรรณนาไว้ว่า พอประสูติจากพระครรภ์ พระราชโอรสก็เสด็จพระดำเนินด้วยพระบาทไปได้ ๗ ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นรองรับพระบาท ๗ ดอก พระองค์ทรงยกพระหัตถ์ขวาและทรงเปล่งพระวาจาว่า เราจะเป็นคนเก่งที่สุดในโลก จะหาใครเสมอเหมือนมิได้ ชาติที่เกิดนี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่เกิดต่อไปอีกแล้ว


As soon as he was out of the mother’ womb at Lumbini, he walked 7 steps and uttered : “I am the eminent in the world, I am the chief of all in the world”


ภาพที่ ๔ อสิตดาบสถวายบังคมพระกุมาร

อสิดาบสหรือกาฬเทวิลดาบสเป็นนักบวชที่พำนักอยู่แถบภูเขาหิมพานต์ คือภูเขาหิมาลัย พระเจ้าสุทโธทนะ และพระราชวงศ์ศากยะ ทรงเคารพเลื่อมใสพระฤๅษีนี้

อสิตดาบสได้ทราบว่าพระนางสิริมหามายาประสูติพระโอรส จึงเดินทางจากอาศรมเชิงเขามาถวายพระพร พระเจ้าสุทโธทนะทรงยินดียิ่งนัก เมื่อทรงนิมนต์ให้พระดาบสนั่งแล้ว ก็รับสั่งให้อุ้มพระราชโอรสออกมาให้กระทำคารวะต่อพระดาบส

แต่เมื่ออสิตดาบสได้เห็นพระราชโอรส ก็กระทำการอันผิดวิสัยแห่งสมณะ ๓ ประการ คือ ยิ้ม ร้องไห้ แล้วก้มลงกราบแทบพระบาทพระราชกุมาร

มีคำอธิบายไว้ในหนังสือปฐมสมโพธิ ซึ่งว่าด้วยพระพุทธประวัติว่า พระดาบสยิ้มแย้มก็เพราะได้เห็นพระลักษณะของพระราชโอรสว่า ตรงกับที่บรรยายไว้ในตำรับมหาบุรุษลักษณะ ผู้ซึ่งมีลักษณะเช่นนี้ ถ้าครองเรือนก็จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ ถ้าออกบวชก็จะได้เป็นพระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ ท่านร้องไห้ก็เพราะเชื่อแน่ว่า พระราชกุมารจะออกบวช กว่าจะถึงเวลานั้น ท่านคงชราเกินไปเสียแล้ว คงไม่มีโอกาสได้ฟังรสพระธรรม

ดังนั้น ท่านจึงกราบพระบาทพระกุมาร


An ascetic named Asita came to pay a visit, seeing the child consisting of Great Man’s Personalities, he paid a homage to the child. This surprised King Suddhodana and others who were present there.



ภาพที่ ๕ พิธีถวายพระนามพระสิทธัตถะราชกุมาร

เมื่อพระราชโอรสประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อถวายพระนาม และเพื่อพยากรณ์พระลักษณะตามโบราณราชประเพณี

บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งฝ่ายพระบิดา และพระมารดา ขุนนางผู้ใหญ่ และพราหมณ์ผู้รอบรู้ไตรเวท ๑๐๘ คน มาประชุมกันพรั่งพร้อม แต่พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีแท้ๆ มีเพียง ๘ คนเท่านั้น

ที่ประชุมลงมติถวายพระนามพระราชโอรสว่า สิทธัตถะ อันเป็นมงคลนาม หมายความว่า ผู้ทรงปรารถนาสิ่งใด ก็จะได้สิ่งนั้นดังประสงค์อย่างหนึ่ง ความหมายอีกอย่างหนึ่งคือว่า พระราชกุมารทรงเป็นพระโอรสองค์แรกสมดังพระประสงค์ของพระราชบิดา อย่างไรก็ดี คนอินเดียทั่วไปสมัยนั้นไม่นิยมเรียกชื่อ คงเรียก พระโคตร หรือ พระโคตมะ


พราหมณ์โกณทัญญะ ผู้มีอายุเยาว์ที่สุด พยากรณ์ว่า เจ้าชายสิทธัตถะจะเสด็จออกผนวชอย่างแน่นอน


Five days after the child was born, Brahmana teachers were invited to attend a  Child’s Celebration. They named him “Siddhattha”, meaning “One who has attained the success” or “one whose wish is fulfilled”, and made a prediction that if he remained in the worldly life, he would become a Great Emperor;  if he renounced the world, he would become a Self-Enlightened One.



ภาพที่ ๖ ใต้ร่มเงาของต้นหว้า

เมื่อพระสิทธัตถะ มีพระชนม์ได้ ๗ พรรษา พระราชบิดารับสั่งให้ขุดสระน้ำใหญ่สามสระ ปลูกบัวสวยงามนานาพรรณให้เป็นที่เล่นเบิกบานพระทัย พระราชทานเครื่องทรงอย่างดีจากเมืองกาลี ซึ่งมีชื่อในการผลิตเครื่องหอม ผ้า และเครื่องประดับ

พอย่างเข้าฤดูทำนา พระราชบิดาชวนพระราชกุมารไปทอดพระเนตรพระราชพิธีแรกนาขวัญ ชมความสดชื่นของท้องนาและการไถหว่านข้าวอันจะตกเป็นของพระราชโอรสในกาลภายหน้า

ท่ามกลางความเบิกบานของวันนั้น เจ้าชายน้อยได้ทรงมองลึกลงไป ทอดพระเนตรเห็นสิ่งซึ่งผู้อื่นไม่สังเกตเห็นมาก่อน บังเกิดความสังเวชในพระทัย จึงเสด็จไปประทับอยู่พระองค์เดียวใต้ร่มเงาของต้นหว้า

ทำไมหนอ ชีวิตจึงมีความทุกข์แฝงอยู่ทุกแห่ง ดูเอาเถิดชาวนานั้นต้องจับคันไถลากไปท่ามกลางแสงแดดร้อนจัด ควายซึ่งลากคันไถก็แสนเดือดร้อน เพื่ออะไรเล่า เพื่อการยังชีพเท่านั้น ดูไปบนอากาศ พญาเหยี่ยวไล่จับนกเล็กกว่าเป็นอาหาร นกก็ไล่จับแมลงเป็นอาหาร ดูไปในน้ำปลาใหญ่ไล่กินปลาเล็ก มีแต่การฆ่าและถูกฆ่า โลกดูงดงามแต่ภายนอก ภายในเต็มไปด้วยความทุกข์

ทำอย่างไรหนอ ทุกข์จึงจะหมดไป เราจะช่วยคนเหล่านี้ได้อย่างไร

ขณะที่ทรงบำเพ็ญญานอยู่นั้น พระฤๅษี ๕ ตนเหาะผ่านมาถึงต้นหว้า มิอาจผ่านไปได้ จึงมองลงมาเบื้องล่าง เห็นพระมหาบุรุษประทับอยู่ พระรัศมีปรากฏจากพระวรกายเปล่งปลั่ง จึงรีบถวายนมัสการ สรรเสริญพระคุณ แล้วพากันเหาะต่อไป


Since he was small, he attained the First Jhana or the First State of Deep Meditation in the Sowing Festival. King Suddhodana came to know about this and increasingly took care of his son.





ภาพที่ ๗ ทรงประลองศิลป์

เมื่อพระราชโอรสมีพระชนม์พอสมควรแล้ว พระราชบิดาก็ให้ทรงศึกษาศิลปวิทยา ณ สำนักพระฤๅษีวิศวามิตร พระอาจารย์สอนอักขรวิธี วิชาอักษรศาสตร์ ภาษาต่างๆ วิชาคำนวณ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และยุทธศาสตร์ จะสอนสิ่งไร พระราชกุมารก็ทรงเรียนรู้อย่างรวดเร็ว จนสิ้นความรู้ของพระอาจารย์

อันพระกุมารแห่งศากยวงศ์นั้น แม้จะทรงพระปรีชาสามารถเพียงไร ก็มิได้วางพระองค์ข่มผู้อื่น มีพระทัยเมตตาต่อพระสหายที่ด้อยกว่า ทั้งภูมิปัญญา และฝีมือ แม้กำลังมีชัยในการเล่นต่อสู้กันหากเห็นพระสหายหดหู่ ก็จะทรงหย่อนพระกำลังลง ให้พระสหายได้ชนะบ้าง

เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้สร้างปราสาทสวยงามสามหลังให้เป็นที่ประทับสำราญพระทัยในสามฤดู มิให้ความปรวนแปรแห่งลมฟ้าอากาศทำลายความสุขสำราญ ครั้นถึงวัยที่จะอภิเษกสมรส พระญาติวงศ์ก็เห็นสมควรให้มีการประลองกำลังให้เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันถึงความสามารถในด้านศิลปศาสตร์ที่ทรงศึกษามา

ในกรุงกบิลพัสดุ์ มีศรโบราณคันหนึ่ง ดั่งพรรณนาไว้ว่า มีน้ำหนักมาก ต้องใช้คนถึงพันคนจึงจะยกขึ้นได้ ไม่เคยมีใครขึ้นสายศรได้เลย

วันนั้น ณ ในกลางเมือง ท่ามกลางพระญาติวงศ์และขุนนางใหญ่ เจ้าชายสิทธัตถะทรงยกคันศร ประดุจ “ดังสตรีอันยกขึ้นซึ่งกงไม้ดีดฝ้าย” ทรงลองดีดสายศร เสียงดังกระหึ่มได้ยินไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ ลูกศรวิ่งเข้าไปสู่เป้าคือ ขนหางจามรีที่วางไว้ในระยะไกลถึงหนึ่งโยชน์

ศรเสียบขนหางจามรีตรงกลาง ขนหางขาดออกเป็นสองท่อนเท่ากันพอดี


When he was 16, his relatives wanted to test him with the art of fighting. He lifted the heavy bow that no one could do and striked its string, which echoed throughout the city.



ภาพที่ ๘ อภิเษกสมรส

ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์นัก มีนครใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ชื่อว่า เทวทหะ สองนครนี้ตั้งอยู่แห่งละฝั่งของแม่น้ำโรหิณี ผู้ครองนครทั้งสองก็เป็นพระญาติวงศ์ใกล้ชิดกัน พระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ได้อภิเษกสมรสกับพระนางสิริมหามายา ผู้เป็นน้องของพระเจ้าสุปปพุทธะ พระนางอมิตาน้องสาวคนเล็กของพระเจ้าสุทโธทนะ ได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสุปปพุทธะ มีพระราชธิดา นามว่า ยโสธรา หรือ พิมพายโสธรา

หนังสือพระปฐมสมโพธิกล่าวว่า พระราชธิดายโสธรานั้น เป็นหนึ่งในสหชาติ คือที่เกิดพร้อมกับพระพุทธเจ้า มี ๗ อย่างได้แก่ พระนางพิมพายโสธรา พระอานนท์ กาฬุทายีอำมาตย์ นายฉันนะมหาดเล็ก ม้ากัณฐกะ ต้นพระศรีมหาโพธิ และ ขุมทรัพย์  พระราชธิดายโสธราทรงเพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติ และคุณสมบัติครบถ้วนตามแบบฉบับแห่งกัลยาณี

พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายเห็นพร้อมกันว่า พระสิทธัตถะ ควรจะอภิเษกสมรสกับพระราชธิดายโสธรา  ดังนั้น เมื่อทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา จึงได้เข้าพิธีอภิเษกสมรส


At the age of 16, his father ordered the construction of three palaces for three seasons-cold, hot, and rainy-and married him to Princess Yasodhara.



ภาพที่ ๙ เทวทูตทั้งสี่

พระเจ้าสุทโธทนะ ไม่มีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสเสด็จออกบวชดังคำทำนายของโกณทัญญพราหมณ์ จึงทรงหาวิธีต่างๆ ที่จะให้ทรงลุ่มหลงเพลิดเพลินในความสุขตามโลกียวิสัย แต่พระสิทธัตถะก็หาได้ปล่อยพระองค์ไปทางสนุกสนานตลอดไปไม่ หลายครั้งที่ทรงหดหู่ เบื่อหน่าย และไม่เห็นความหมายของชีวิต

วันหนึ่ง ขณะที่เสด็จประพาสอุทยานนอกเมือง รถพระที่นั่งผ่านไปตามทางในแนวป่า ทอดพระเนตรเห็นชายชราผู้หนึ่ง “มีเกศาอันหงอก แลสีข้างก็คดค้อม กายนั้นง้อมเงื้อมไปข้างหน้า มือถือไม้เท้าเดินมาในระหว่างมรรคาวิถี มีอาการไหวหวั่นสั่นทั่วไปทั้งกาย...” ในวันต่อมาเมื่อเสด็จประพาสอีก ก็ได้สดับเสียงคนร้องคราง ทอดพระเนตรเห็นชายคนหนึ่งนอนจมฝุ่นบิดตัวไปมา หน้าตาบูดเบี้ยวด้วยความเจ็บปวด แล้วก็ได้มีคนหามแคร่นำซากศพไปเผาที่เชิงตะกอน ญาติพี่น้องคร่ำครวญด้วยความเศร้าโศก พระราชกุมารได้สดับเสียงก็น้ำพระเนตรไหลสะอื้นไห้ด้วยความสงสาร

นี่หรือชีวิตของมนุษย์ คนเราต้องแก่ ต้องเจ็บป่วย และต้องตายในที่สุด ตัวเราเองก็เลี่ยงสิ่งนี้ไม่ได้ ความสุขที่เราหลงระเริงอยู่นี้ เป็นสิ่งจอมปลอม ไม่เที่ยงแท้เลย ทำอย่างไรดีหนอ จึงจะรอดพ้นจากความทุกข์อันเวียนว่ายอยู่เช่นนี้ได้

อีกครั้งหนึ่งที่เสด็จประพาสพระนคร พระสิทธัตถะได้ทอดพระเนตรเห็นนักบวชผู้นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ กอปรด้วยอากับกิริยาสำรวม

ทรงเปล่งอุทานว่า “สาธุ โข ปัพพัชชา บวชดีนักแล” ตัดสินพระทัยตั้งแต่วันนั้นว่าจะเสด็จออกบวช


On different occasions, he went out of his palace and met the four signs-the old, the sick, the dead and the mendicant. The first three reminded him of mortality, uncertainty and suffering of the worldly life. The last one, in his thought, was the only way to overcome suffering



ภาพที่ ๑๐ ห่วงเกิดขึ้นแล้ว

เมื่อพระสิทธัตถะตัดสินพระทัยแล้วว่าจะเสด็จออกบวช ก็เสด็จไปที่พระตำหนัก ลงสรงสนานในสระโบกขรณี ซึ่งงดงามด้วยบัวนานาชนิด น้ำใสสะอาด แล้วเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งในราชอุทยานนั้น จนถึงเวลาใกล้ค่ำ

ขณะที่ทรงรำพึงถึงการที่จะเสด็จออกบวช ข้าราชสำนักผู้หนึ่งก็รีบเข้ามาเฝ้าโดยเร็ว กราบทูลว่า พระราชบิดาให้มากราบทูลว่า พระนางพิมพายโสธราประสูติแล้ว เป็นพระราชโอรส

ความรู้สึกอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในพระทัยอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน บัดนี้ทรงเป็นบิดาแล้ว และทรงมีความรู้สึกรักลูกยิ่งนัก ความรักนั้นหนักหน่วงผูกพันพระทัยยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ทรงอุทานออกมาว่า “พันธนัง ชาตัง ราหุลัง ชาตัง” แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ห่วงเกิดขึ้นเสียแล้ว”

พระราชโอรส จึงได้พระนามต่อมาว่า ราหุลกุมาร


At the age of 29, while taking bath in the pond, his attendant came and informed him that Princess Yasodhara had given birth to a child. He uttered “The bond (Rahula) has taken place”. Because of this, his son was named “Rahula”, the bond.

มีต่อ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.525 วินาที กับ 34 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้