[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
18 เมษายน 2567 18:18:18 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: รื่นร่มรมเยศ - พระผู้หาผู้เสมอเหมือนมิได้  (อ่าน 2127 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 12 มกราคม 2560 20:05:40 »




พระผู้หาผู้เสมอเหมือนมิได้

มีคนขี้สงสัยบางคนเปรยว่า อ่านพุทธวจนะบางตอนแล้ว ฟังดูคล้ายพระพุทธองค์ทรงยกย่องพระองค์เอง ผมถามว่าทำไมรู้สึกอย่างนั้น เขาบอกว่าไม่ทราบ แต่ทำไมพระพุทธวจนะจึงมักตรัสว่าเราเป็นคนเลิศในโลก เราหาคนเปรียบปานมิได้ ทำนองนี้

ท่านผู้ขี้สงสัยนั้นกล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างเช่น ในตอนที่ตรัสตอบอุปกาชีวก อุปกาชีวกเพียงถามว่า ท่านบวชอุทิศใคร พระพุทธเจ้ากลับตอบในทำนองยกย่องพระองค์เองเสียยืดยาวว่า

“เราเอาชนะทุกอย่าง ตรัสรู้ทุกอย่าง ไม่ติดอยู่ในสิ่งทั้งปวง หลุดพ้นเพราะทำลายตัณหา เราตรัสรู้เอง แล้วจะพึงอ้างใครว่าเป็นครูของเราเล่า คนเช่นเราไม่มีใครสอน คนเช่นเราไม่มีในโลก พร้อมทั้งเทวโลก เราเป็นอรหันต์ เป็นศาสดา หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นผู้ดับเย็นแล้ว บรรลุนิพพานแล้ว”

ผมตอบท่านผู้ขี้สงสัยว่า ไม่เห็นเป็นการยกย่องตนเองเลย ผมกลับมองไปว่าพระพุทธองค์ตรัสความจริง ความจริงมันเป็นเช่นนั้น ถ้าพระองค์ไม่เป็นเช่นนั้นจริงสิ จึงจะถือว่าทรงยกย่องพระองค์เอง ทุกอย่างที่ตรัสเป็นความจริงหมด เช่น

พระพุทธองค์ไม่มีครูสอน พระพุทธองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง อาจสงสัยว่า อ้าว! แล้วครู (วิศวามิตรและท่านอื่น) ผู้ประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาการให้ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อาฬารดาบส อุทกดาบสผู้ประสาทวิชาโยคะให้จนบรรลุสมาบัติขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะเล่า มิใช่ครูของพระองค์หรือ ทำไมตรัสว่าไม่มีครู

ใช่ครับ ท่านเหล่านั้นเป็นครูของพระองค์ วิศวามิตรเป็นต้นเป็นครูทางศิลปวิทยาการ ดาบสทั้งสองเป็นครูทางฌานสมาบัติ แต่ครูในทางตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณไม่มี

ที่ว่าพระองค์ไม่มีใครสอน คือไม่มีใครสอนทางตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณให้ ครูในทางตรัสรู้ไม่มีครับ พระองค์ทรงรู้ด้วยพระองค์เอง

นี่ก็เป็นความจริงที่ว่า คนเช่นพระพุทธองค์ไม่มีในโลก พร้อมทั้งเทวโลก หมายความว่า มนุษย์ทั้งปวงในมนุษย์โลกและเทวดาทั้งปวงในสวรรค์ไม่มีใครเท่าพระองค์ เพราะมนุษย์และเทวดาเหล่านั้นยังตกอยู่ในอำนาจกิเลสอยู่ ไม่พ้นวงจรการเวียนว่ายตายเกิด จะเทียบเท่าพระสัมมาสัมพุทธะได้อย่างไร

นี่ก็เป็นความจริงอีกนั่นแหละ การตรัสความจริงไม่เห็นจะเป็นการยกตนเองเลย ที่ตรัสว่า ในโลกนี้ทรงจำกัดกาลสมัยด้วยคือ

ในยุคนี้ไม่มีสัมมาสัมพุทธะผู้ประเสริฐเท่าพระองค์ ประเสริฐเท่าพระองค์ก็มีแต่พระสัมมาสัมพุทธะด้วยกัน ซึ่งก็ต้องอยู่ในยุคอื่น พระพุทธเจ้าในอดีตทั้งปวงและพระพุทธเจ้าในปัจจุบัน (คือพระโคตมพุทธเจ้า) เสมอภาคกันในการตรัสรู้ ไม่มีพระองค์ใดยิ่งหย่อนกว่าพระองค์ใด

นี่ก็เป็นความจริงอีก พระสารีบุตร อัครสาวกก็เคยประกาศด้วยความมั่นใจว่าในปัจจุบันไม่มีใครรู้เกินกว่าพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรประกาศด้วยความมั่นใจเช่นนี้ ไม่ได้คิดเอาเองส่งเดช หรือเพื่อเอาพระทัยพระพุทธเจ้า แต่เป็นการพูดความจริง โดยอาศัย แนวแห่งธรรมที่ท่านรู้ (ธมฺมนฺวโย วิทิโต) ดังที่ท่านกราบทูลต่อพระพักตร์พระพุทธองค์ว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีญาณหยั่งรู้พระทัยของพระสัมมาสัมพุทธะ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่ข้าพระองค์รู้แนวธรรม เปรียบเสมือนเมืองใหญ่มีประตูสำหรับเข้า-ออกทางประตูนี้ สัตว์เล็กก็เข้า-ออกทางประตูนี้ฉันใด แนวแห่งธรรมก็ฉันนั้น ข้าพระองค์รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงละนิวรณ์ได้ ทรงมีพระทัยตั้งมั่นในสติปัฏฐาน 4 ทรงเจริญโพชฌงค์ 7 ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตและในปัจจุบันก็อาศัยแนวทางนี้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเช่นกัน”

คำพูดของพระสารีบุตรหมายความว่า ไม่มีใครรู้เกินกว่าพระพุทธเจ้าปัจจุบัน ถึงท่าน (พระสารีบุตร) ไม่มีญาณหยั่งรู้ใจของพระพุทธเจ้าในอดีตและอนาคต ท่านก็ยืนยันได้ว่าพระพุทธเจ้าเหล่านั้นก็ไม่มีองค์ใดรู้เกินกว่าพระพุทธองค์ปัจจุบัน พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงรู้เท่าๆ กัน ไม่มีองค์ไหนรู้เกินกว่าองค์ไหน พระสารีบุตรท่านยืนยันข้อสรุปนี้ มิได้เดาเอา หากแต่อนุมานเอาตามแนวแห่งการตรัสรู้ธรรม อนุมานอย่างไร ก็เหมือนดูเมืองทั้งเมือง ไม่เห็นมีรูมีช่องไหนเลย ยกเว้นประตูใหญ่ประตูเดียว ก็อนุมานเอาว่า

ไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ ย่อมเข้า-ออกผ่านประตูนี้ประตูเดียว นี่คือวิธีอนุมาน

อนุมานคืออาศัยหลักฐานที่ประจักษ์ชัดแล้วสาวไปหาข้อสรุปหรือคำตอบ

พระสารีบุตรท่านยกประสบการณ์ที่ตนเองประจักษ์ว่า การละนิวรณ์ได้ การบำเพ็ญสติปัฏฐานและโพชฌงค์ทำให้บรรลุธรรมได้ เพราะตัวท่านก็บรรลุพระอรหัตผลผ่านทางนี้แล้ว ก็อนุมานต่อไปว่า พระโคตมพุทธองค์ปัจจุบันก็บรรลุผ่านทางนี้ พระพุทธเจ้าในอดีตและอนาคตก็ผ่านทางนี้ ไม่มีพระองค์ใดบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณผ่านทางอื่น

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครเกินกว่าพระพุทธเจ้าในทางตรัสรู้ พระพุทธเจ้าอื่นๆ ก็ไม่เกิน เพราะตรัสรู้เรื่องเดียวกัน และตรัสรู้เท่าๆ กัน แต่สำหรับมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ไม่ว่าโลกไหนยุคไหน หาผู้เสมอเหมือนพระสัมมาสัมพุทธะมิได้แล


จากคอลัมน์ : รื่นร่มรมเยศ - ศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์  วรรณปก

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 16 มกราคม 2560 12:36:52 »



ความเป็นมาของคำ "ธรรมกาย"

คำนี้กำลังฮิตในขณะนี้ เพราะบังเอิญไปตรงกับชื่อของวัดหนึ่ง (ซึ่งบางคนเปลี่ยนให้ใหม่เป็น "บริษัท") และบริษัท..เอ๊ย..วัดนี้นำเอาคำว่าธรรมกายไปใช้เป็นผลของการปฏิบัติธรรม

ถ้าสืบดูพระไตรปิฎกจะมีคำนี้อยู่แต่มีในความหมายธรรมดา มิได้มีความหมายพิเศษอะไร ขอยกมาให้ดูดังนี้

ในที่แห่งหนึ่ง (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ อัคคัญญสูตร) กล่าวว่า สามเณรชื่อวาเสฏฐะและภารทวาชะ นับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ขณะประทับอยู่ที่บุพพาราม เมืองสาวัตถี พระพุทธองค์ตรัสถามว่า เธอทั้งสองเกิดในวรรณะพราหมณ์ ละวรรณะเดิมของตนมาบวชอยู่ในธรรมวินัยของพระองค์ ไม่ถูกพวกพราหมณ์ต่อว่าหรือ

สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า "ถูกต่อว่ามากเลย บ้างก็ด่าเอาแรงๆ ว่า ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นพราหมณ์ เกิดในวรรณะประเสริฐ เกิดจากปากพระพรหม ทำไมบวชกับคนวรรณะต่ำ วรรณะเลวคือพวกสมณะโล้น พวกที่เกิดจากเท้าพระพรหม"

พระพุทธองค์ตรัสว่า พวกพราหมณ์ลืมความหลังของตน แถมยังพูดเท็จอีกต่างหาก

สามเณรทั้งสองกราบทูลถามว่าคืออย่างไร พระองค์ตรัสต่อไปว่า พวกพราหมณ์เหล่านั้น ความจริงก็เกิดจากกำเนิดนางพราหมณี นางพราหมณีตั้งครรภ์ ใคร ๆ ก็เห็น อุ้มครรภ์มาแปดเก้าเดือนกว่าจะคลอด ใครๆ ก็เห็น คลอดออกมาแล้ว ดื่มนมแม่ ได้รับการเลี้ยงดูจนเติบโต ใครๆ ก็เห็น พวกนี้เกิดจาก "โยนี" ของนางพราหมณีแท้ๆ ยังจำความไม่ได้ แถมยังพูดเท็จว่า เกิดจากปากพรหม

จากนั้นพระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า "พวกเธอมาบวชในศาสนาของตถาคต ถ้าใครถามว่าพวกเธอเป็นใคร จงบอกเขาไปว่า เป็นสมณะศากยบุตร เป็นโอรสของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดจากธรรม อันธรรมสร้าง เป็นธรรมทายาท เป็นธรรมกาย เพราะคำว่า "ธรรมกาย" พรหมกาย ธรรมภูต พรหมภูตนี้เป็นชื่อของตถาคต

ธรรมกายในที่นี้เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า ไม่มีความหมายอะไรพิเศษ

อีกแห่งหนึ่งคือในคัมภีร์อปทาน พระนางปชาบดีโคตมี พระแม่น้าของพระพุทธองค์ กราบทูลพระพุทธองค์ว่า "ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์ ข้าแต่พระธีระเจ้า พระองค์เป็นบิดาของหม่อมฉัน รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้เลี้ยงดูให้เจริญเติบโต ส่วน "ธรรมกาย" อันเป็นที่เอิบสุขของหม่อมฉัน เป็นสิ่งอันพระองค์ทำให้เจริญเติบโต" แปลไทยเป็นไทยก็คือ รูปกายของพระพุทธเจ้า พระนางมหาปชาบดีโคตมีเลี้ยงให้เจริญเติบโต ธรรมกายของพระนาง อันพระพุทธองค์ทรงเลี้ยงให้เจริญเติบโต

รูปกายคือกองแห่งกาย ประชุมแห่งกาย อันได้แก่ขันธ์ ๕ (รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เรียกสั้นๆ ว่า "ร่างกาย" นั้นเอง เพราะร่างกายก็คือประชุมแห่งส่วนประกอบทั้ง ๕ นี้ ธรรมกายคือ "กองแห่งธรรม" กองแห่งธรรมนี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่าได้แก่ โลกุตรธรรม (มรรค ผล นิพพาน) หรืออริยสัจนั้นเอง

รูปกาย ใช้คู่กับ ธรรมกาย ในกรณีนี้อาจแปลเอาง่ายๆ ว่า ได้แก่ "ร่างกาย กับ จิตใจ" (จิตใจที่เข้าถึงโลกุตรธรรม) ความหมายธรรมดาก็คือ พระนางมหาปชาบดีโคตมีเลี้ยงกายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเลี้ยงจิตใจของพระนาง เพราะฉะนั้น ต่างองค์ก็ต่างเป็นมารดาและบิดาของกันและกัน

พระพุทธองค์ทรงเลี้ยงจิตใจของพระนางด้วยอะไร หรือเลี้ยงโดยวิธีใด ก็คือทรงสอนให้พระนางได้ตรัสรู้ธรรม ให้รู้อริยสัจ 4 หรือโลกุตรธรรม (มรรค ผล นิพพาน) นั้นเอง เพราะฉะนั้น ธรรมกายจึงมีความหมายครอบคลุมถึง "โลกุตรธรรม" หรือ "อริยสัจ" นั้นด้วย

พูดตามภาษาชาวบ้านก็ว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นแม่บังเกิดเกล้าในทางโลกของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นพ่อบังเกิดเกล้าในทางธรรมของพระนาง

ก็เท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ไม่มีความหมายเป็นพิเศษ

พูดง่ายๆ สั้นๆ ธรรมกายหมายถึงพระนามของพระพุทธเจ้า และโลกุตรธรรมอันเป็นคุณสมบัติที่เลี้ยงจิตใจให้เติบโตเต็มที่นั้นแล

ต้องเข้าใจว่า ผมพูดถึงเฉพาะความหมายของคำเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการนำเอาคำที่มีความหมายสามัญธรรมดาไปสร้างเป็น "ระบบ" ความคิดความเชื่อขึ้นมานะครับ

ส่วนใครจะนำเอาคำว่าธรรมกายไปมีความหมายพิเศษ เช่น เติมคำว่า "วิชชา" เข้าไป เป็น "วิชชาธรรมกาย" ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับคำว่า "ธรรมกาย" ล้วนๆ ที่เป็นชื่อของพระพุทธเจ้า และเป็นนวโลกุตรธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

เมื่อเป็น "วิชชา" ก็ต้องมีความหมายลึกลับ ดุจวิทยายุทธ์ลับที่อาจารย์สงวนไว้ให้คนบางคน ไม่ให้บางคน เพราะฉะนั้น ความเชื่อเกี่ยวกับวิชชานี้จึงมีต่อมาว่า

เดิมพระพุทธเจ้าทรงสอน แต่หลังจากพระองค์ปรินิพพานไปได้ ๕๐๐ ปี วิชชานี้หายไป มาโผล่ขึ้นใหม่หลังจากนั้นห้าร้อยกว่าปีต่อมา

ความเชื่ออย่างนี้ไม่สอดคล้องกับแนวพุทธธรรมแล้วครับเพราะนวโลกุตรธรรม (มรรคผล นิพพาน) ของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโก (ไม่ขึ้นอยู่กับกาล) เป็นเอหิปัสสิโก (พิสูจน์ได้ ไม่ใช่สิ่งลึกลับ) สันทิฏฐิโก (ปฏิบัติแล้วเห็นได้ด้วยตนเอง) โอปนยิโก (เป็นสิ่งที่พึงน้อมนำมาปฏิบัติด้วยตนเอง) ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ (ผู้รู้พึงรู้แจ้งเฉพาะตน)

อยากเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง คือตอนที่พระพุทธองค์ทรงพระประชวรหนัก ปริพาชก (นักบวชต่างศาสนา) คนหนึ่งนามว่าสุภัททะ เข้าไปแจ้งความจำนงกับพระอานนท์ขอเฝ้าถามปัญหากับพระพุทธองค์ ทีแรกพระอานนท์ไม่อนุญาต เพราะเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงพระประชวรหนัก แต่ในที่สุดได้รับพุทธานุญาตให้เข้าไปเฝ้า

สุภัททะถามข้อข้องใจของตนหลายเรื่อง หนึ่งในหลายเรื่องคือ พระอรหันต์มีอยู่หรือไม่ (ความประมาณนี้แหละครับ)

พระพุทธองค์ตรัสตอบเป็น "หลักการ" ว่า "ตราบใดสาวกของพระองค์ยังเป็นอยู่โดยชอบ (คือปฏิบัติถูกตามหลักอริยมรรคมีองค์แปด) อยู่ โลกก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์"

พุทธวจนะนี้แสดงว่า พระอรหันต์จะมีหรือไม่มี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่า มีผู้ปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคมีองค์แปดหรือไม่

ถ้ามีผู้ปฏิบัติถูกต้อง พระอรหันต์ก็มี ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติถูกต้อง พระอรหันต์ก็ไม่มี

ไม่รู้สินะครับ ถ้าสิ่งที่อาจารย์บางท่านเรียกว่า "วิชชาธรรมกาย" คือสิ่งเดียวกับ "โลกุตรธรรม" (มรรค ผล นิพพาน) การที่ใครก็ตามพูดว่า หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๕๐๐ ปี วิชชาธรรมกายหรือโลกุตรธรรมได้หายไปนั้น ก็เท่ากับบอกว่า หลังจาก พ.ศ.๕๐๐ ปีเป็นต้นมา ไม่มีผู้ปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรค หรือพูดให้ชัดว่า ไม่มีพระอรหันต์ ก็ฟังแหม่งๆ และขัดแย้งกับหลักการของพระพุทธเจ้าแล

ก็ต้องจบข้อเขียนเกี่ยวกับคำว่าธรรมกายเพียงเท่านี้ เพราะถ้าเขียนมากกว่านี้ จะมิใช่การอธิบายความหมายของศัพท์ แต่จะกลายเป็นบทวิพากษ์วิจารณ์ไป





คนโง่มากกว่าคนฉลาด

ในความรู้สึกของคนทั่วไป ถ้าพูดถึงใครว่า "ไอ้หมอนั่นมันโง่" ไม่ได้หมายความว่าหมอที่ว่านั้นเรียนมาน้อย ไม่ได้ดีกรีอะไร ตรงกันข้าม คนที่พูดถึงนั้นอาจจบปริญญาเอก เป็นศาสตราจารย์เสียด้วยซ้ำ แต่คนพูดหมายความว่าคนที่พูดถึงนั้นไม่รู้เรื่องที่ตนกำลังพูดถึงอยู่

การตัดสินว่าใครโง่ ใครฉลาด บางทีก็ขึ้นอยู่กับ "ทิฐิ" และ "มานะ" ของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องเป็นจริงตามนั้น เพราะคนที่ว่าเขาโง่บางทีอาจโง่ยิ่งกว่าเขาก็ได้ หรือตัวเองอาจฉลาดในเรื่องหนึ่ง แต่กลับโง่ในอีกหลายเรื่องก็ได้

คำพูดที่ว่า "คนโง่มากกว่าคนฉลาด" เป็นคำที่ศิษย์คนสำคัญสองท่านตอบแก่อาจารย์ ซึ่งเป็นนักปรัชญาสำนักสำคัญท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาล ขอนำมาเล่าให้ฟังดังนี้ครับ

สองสหายเป็นเด็กหนุ่มเจ้าสำราญลูกผู้มีอันจะกินสองตระกูล ว่ากันว่าเป็นตระกูลนายบ้านเทียบสมัยนี้ไม่ผู้ใหญ่บ้านก็กำนันละครับ คนหนึ่งชื่อ โกลิตะ อีกคนชื่อ อุปติสสะ

หลังจากใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยเที่ยวหาความสุขสำราญด้วยการดูการละเล่น ดื่ม กินตามต้องการมาหลายปี ก็ถึง "จุดอิ่ม" เกิดเบื่อหน่ายการใช้ชีวิตที่ซ้ำซากจำเจ หาแก่นสารมิได้ จึงตกลงกันไปมอบตนเป็นศิษย์ ศึกษาปรัชญาอยู่กับปรัชญาเมธีท่านหนึ่งนามว่า สัญชัย เวลัฏฐบุตร

ว่ากันว่า ในเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธสมัยนั้นมี "เจ้าลัทธิ" ดังๆ อยู่ ๖ สำนักเท่านั้น ท่านสัญชัยนับเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น สอนแนวคิดที่ทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า "อมราวิกเขปิกา" แปลตามตัวว่า "ลัทธิที่มีความเห็นชัดส่ายไปมา ไม่ตายตัวดุจปลาไหล"

อมรา แปลว่าเทวดาก็ได้ ปลาไหลก็ได้ ในที่นี้ อมรา แปลว่าปลาไหล ความเห็นที่ลื่นไหลไปมาดุจปลาไหลจับยังไงๆ ก็ไม่อยู่นี้แล เรียกว่า "อมราวิกเขปิกา" ว่ากันอีกนั่นแหละว่าเป็นปรัชญาลัทธิหนึ่ง ลัทธิที่ไม่ลงความเห็นตายตัวไปในแง่ใดแง่หนึ่ง เพราะเห็นว่าความจริงมันมีหลายแง่มุม ถ้าไปยอมรับในแง่ใดแง่หนึ่งแล้ว มันอาจผิดพลาดก็ได้

ทฤษฎีต่างๆ ที่ถือกันว่า "ลงตัวแล้ว" ไม่จำเป็นจะต้องเป็นจริงตามนั้นเสมอไป เช่น สองบวกสองที่ว่าเป็นสี่นั้นไม่จำเป็นเสมอไป มันอาจเป็นสามเป็นห้าก็ได้ อะไรทำนองนี้

มีบางท่านบอกว่า ลัทธิของสัญชัย เวลัฎฐบุตร นี้ ท่านฝรั่งเรียกว่า "ลัทธิสเก็ปติกส์" (sceptics) สเก็ปติกส์ เป็นอย่างไร เชิญไปหาอ่านเอาเถอะครับ ผมไม่มีปัญญาอธิบายให้ฟัง

เมื่อไปเรียนอยู่กับอาจารย์สัญชัย อาจารย์เห็นแววศิษย์ทั้งสองเป็นคนหลักแหลมก็โปรดปรานมาก หวังจักให้อยู่ช่วยสอนลัทธิสืบแทนตน แต่ศิษย์ทั้งสองเห็นว่าสิ่งที่เรียนรู้นี้ยิ่งเรียนก็ยิ่งสับสน ไร้แก่นสาร ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ หรือแก้ปัญหาชีวิตได้ จึงตกลงกันเงียบๆ ว่า จะแสวงหาแนวทางที่ดีกว่านี้ต่อไป

เพียงแต่วางแผนกันลับๆ ว่า จะออกจากสำนักเมื่อได้พบทางออกที่ดีกว่า ยังไม่ได้ปลีกตัวออกไป เอาเวลาว่างคอยแสวงหาผู้ที่จะชี้ทางใหม่ให้อยู่เงียบๆ

วันหนึ่งอุปติสสะเห็นภิกษุรูปหนึ่งกำลังบิณฑบาตอยู่ในเมือง รู้สึกประทับใจในอากัปกิริยาอันสงบสำรวมของท่าน นึกในใจว่า "ใช่แล้ว" บุคคลเช่นนี้แหละที่เราต้องการ ท่านผู้นี้คงจะต้องรู้สิ่งที่เราแสวงหาอยู่แน่นอน จึงเดินตามไปห่างๆ ไม่กล้าเข้าไปถามเพราะท่านกำลังทำหน้าที่ "โปรดสัตว์" อยู่

เมื่อพระคุณเจ้าได้อาหารพอแก่อัตภาพแล้ว ก็หาสถานที่เหมาะสำหรับนั่งฉัน อุปติสสะก็เข้าไปสนทนาด้วย ตรงนี้ขอตั้งข้อสังเกตสักนิดว่า พระภิกษุสมัยพุทธกาลท่านออกบิณฑบาตได้ข้าวพอฉันแล้ว ท่านจะหาทำเลเหมาะนั่งฉันเสร็จแล้วจึงเดินกลับยังอารามที่พักอาศัย

อุปติสสะขอร้องให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านกล่าวว่า อาตมาเพิ่งบวชใหม่ ยังไม่รู้อะไรมากนัก คงจะแสดงธรรมโดยพิสดารไม่ได้ อุปติสสะกราบเรียนท่านว่า ไม่ต้องแสดงโดยพิสดารดอกเพียงสังเขปก็พอ ท่านจึงสวดคาถาธรรมสั้นๆ ให้ฟังว่า

เย ธมมา เหตุปภว่า เตส เหตํ ตถาคโต
เตสญจ โย นิโรธธ จ เอวํวาที มหาสมโณ

แปลเป็นไทยว่า สิ่งทั้งหลายเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสรู้ของสิ่งเหล่านั้นและการดับเหตุของสิ่งเหล่านั้น มหาสมณะ (พระพุทธเจ้า) ตรัสสอนอย่างนี้

หนุ่มอุปติสสะได้ฟังก็ "สว่างโพล่งภายใน" ทันที ภาษาพระศาสนาก็ว่า เกิดธรรมจักษุคือ "ดวงตาเห็นธรรม" มิใช่เพียงความเข้าใจธรรมดา แต่เป็นการแจ้งซึ่งสภาพความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย มิใช่ความรู้ธรรมดา แต่เป็น "ญาณ-การหยั่งรู้" การหยั่งรู้ระดับนี้ก็คือ ได้เป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบันนั่นเอง

ทำไมจึงหยั่งรู้ได้ง่ายดายปานนั้น?

ความจริงมิง่ายดายอย่างที่คิดดอกครับ ถ้าพิจารณาถึงกระบวนการพัฒนาตนเองของอุปติสสะและโกลิตะมาตลอด จะเห็นว่า

๑) ทั้งสองได้ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยจนถึง "จุดอิ่ม" คือเบื่อหน่ายชีวิตแบบโลกๆ อันไร้แก่นสารนั้นแล้ว

๒) ขณะที่เป็นศิษย์สัญชัย ก็มิใช่เรียนวิชาการเพื่ออวด เพื่อโก้ เพื่อเป็น "พหุสูต" หากต้องการแสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์อันเป็นแก่นสารของชีวิตที่แท้จริง เมื่อเห็นว่าแนวทางของอาจารย์มิใช่แนวทางเพื่อพ้นทุกข์ จึงพากันแสวงหาต่อ จนกระทั่งพบพระภิกษุรูปดังกล่าว

๓) ภิกษุหนุ่มได้แสดง "หัวใจอริยสัจ" ซึ่งเป็นคำสอนหลักของพระพุทธเจ้าให้ฟัง พูดถึงความจริงให้ฟังว่า ทุกอย่างเกิดจากเหตุ ถ้าอยากจะแก้ก็ต้องแก้ที่เหตุ ทุกข์คือปัญหาของชีวิต มันมิได้เกิดลอยๆ มันมีสาเหตุ เมื่อต้องการดับทุกข์ก็ต้องค้นหาสาเหตุให้พบและดับที่เหตุนั้น

๔) คำพูดสั้นๆ นี้ได้ "จี้ถูกจุด" ดุจดังคนตกอยู่ในที่มืด มือควานหาไม้ขีดมาจุด ได้ไม้ขีดแล้วจุดไม้ขีดขึ้น ความสว่างก็ "วาบขึ้น" ความมืดก็หายไปฉะนั้น

ความมืดหายไปทันที ง่ายดาย ใช่ แต่ก่อนที่ความสว่างจะเกิดและก่อนความมืดจะหายไปต้องเสียเวลาควานหาไม้ขีดไฟนานไม่น้อย ฉันใดฉันนั้น อุปติสสะ "บรรลุธรรม" ทันทีที่ฟังเทศน์จบ แต่กว่าจะบรรลุก็ผ่านระยะเวลาแสวงหามายาวนาน

อุปติสสะรีบไปบอกเพื่อนโกลิตะ โกลิตะได้ฟังก็ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน ทั้งสองจึงไปชวนอาจารย์สัญชัยให้ไปบวชอยู่กับพระพุทธเจ้า สัญชัยได้ถามศิษย์ทั้งสองว่า "ในโลกนี้คนโง่หรือคนฉลาดมากกว่ากัน" ศิษย์ทั้งสองตอบว่า "คนโง่มากกว่าคนฉลาด"

อาจารย์จึงพูดเชิงประชดว่า "ไม่ต้องห่วงครูดอก คนฉลาดอย่างเธอทั้งสองเชิญไปเป็นศิษย์สมณโคดมเถอะ คนโง่ๆ ซึ่งมีจำนวนมากจะมาหาเราเอง"


จาก : คอลัมน์ รื่นรมย์รมเยศ โดย ศาตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มกราคม 2560 12:41:32 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.378 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 31 มกราคม 2567 12:22:48