[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
25 เมษายน 2567 06:53:00 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อเราบวช  (อ่าน 2076 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 26 มกราคม 2560 14:53:46 »




เมื่อเราบวช
นิพนธ์ ของ พระชลธารมุนี อนุจารีเถระ
พระคณาจารย์เอก สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา

นมตฺถุ รตนตฺตยสฺส
อารัมภ์พจน

ทุกๆ ท่านที่ได้เคยเหยียบย่างเข้ามาภายในบริเวณ “อาณาจักรผ้าเหลือง” แห่งกาสาวพัสตร์สังคม ส่วนมากเข้าใจว่า ดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งกาสาวพัสตร์นั้น ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรน่าดูน่าชมมากนัก เพราะสิ่งพึงทัศนาน่าชม ล้วนเป็นเรื่องนอกกำแพงวัดทั้งสิ้น คงไม่ใช่ภายในกำแพงซึ่งแสนจะเก่าขรุขระนั้นเป็นแน่!

ดังนั้น จึงเป็นการผิดหวังเป็นอันมาก ที่ผู้เข้ามาสู่พระศาสนาด้วยความประมาท ไม่รู้ตัว หรือจะเป็นเพราะสำคัญตัวน้อยไปก็ตาม จนแทบกล่าวได้ว่า การเข้ามาสู่พระศาสนา ก็คือการเข้ามาเพื่อแสวงบุญ บุญคืออะไร? บุญอยู่ที่ไหน? เป็นเรื่องซึ่งต้องคลำกันไปอีกนาน ขอโทษที่อาจต้องกล่าวเลยไปว่า”เข้ามาสู่พระศาสนาแล้ว แม้สักนิดเดียวที่จะรู้ว่า ศาสนาคืออะไร? เราก็จะพบแต่ภาพที่ทำเสียงแหบเครือหายไปในลำคอ น่าสลดใจเพียงไร? ถ้าหากท่านจะได้พบภาพในกลุ่มพุทธศาสนิกเช่นนั้น และเพราะเหตุที่เรามองศาสนาแต่เพียงผิวเผิน มองศาสนาด้วยความห่างไกล จึงต่างพากันเห็นศาสนาเป็นดินแดนแห่งความลึกลับ เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยของขลัง และศักดิ์สิทธิ์ ที่สุดก็พากันผิดหวังในศาสนาทั้งสิ้น

นั่น! เป็นเปลือก นั่น! เป็นกระพี้ และทั้งมิใช่เปลือกและกระพี้ของพระพุทธศาสนาด้วย ขอให้ท่านได้ใช้วิจารณญาณให้ซึ้งด้วยดวงใจอันสะอาดเถิด ท่านจะพบสิ่งที่ซ่อนเร้นล้นด้วยค่ายิ่งนัก สิ่งนั้นคือ “พระธรรม” คำสอนซึ่งให้ความเย็นใจ ที่กล่าวนี้ มิใช่เราจะชวนท่านให้ลงเหวอันลึก ถ้าท่านศรัทธาสมัครใจ ท่านเท่านั้นจะทราบเอง และทราบอย่างที่ท่านไม่เคยคาดคิด ท่านผู้อ่านการบวชแล้วก็ดี ท่านผู้กำลังบวชอยู่ก็ดี หรือท่านผู้ยังมิได้บวชอยู่ก็ดี และทั้งท่านผู้ไม่มีโอกาสจะบวชก็ดี ขอเชิญสดับตามอัธยาศัย

บวชนาค
ท่านผู้แสวงบุญทั้งหลาย

บัดนี้ โอกาสได้เปิดให้ทุกท่านมาพบกับข้าพเจ้า มิใช่โดยบังเอิญ แต่หากมาพบกันด้วยความตั้งใจ เพราะเมื่อท่านกับข้าพเจ้ามาร่วมทางเดินกันแล้ว ก็เป็นโอกาสจะได้พบกันง่ายดาย เช่นเดียวกับน้ำ แม้จะต่างลำธารกัน แต่เมื่อไหลลงสู่ลำคลองเดียวกันแล้ว ทั้งน้ำใหม่น้ำเก่าก็เข้ากันได้ สนิทสนมกลมกลืนกัน ดังนั้นเมื่อทุกท่านตั้งใจทิ้งบ้านเรือน สละความสุขความรื่นเริงทุกอย่างที่เป็นของคฤหัสถ์นิยมกันอยู่ เข้ามาแสวงบุญในพระธรรมวินัยนี้ด้วยน้ำใจอันงาม ด้วยกำลังใจอันเข้มแข็ง ชื่อว่ารักจะมาเป็นพระ เป็นญาติ เป็นพี่น้องในพระศาสนาด้วยกัน เพื่อรักษาไว้ซึ่งพุทธวงศ์ สืบเชื้อสายของพระพุทธเจ้าไว้ เพื่อเป็นที่ประจักษ์ว่า “เมืองไทยเป็นนครแห่งกาสาวพัสตร์ เป็นอาณาจักรผ้าเหลือง” ดำรงมั่นไว้ซึ่งพระศาสนา ให้สถิตสถาพรรุ่งเรือง เป็นมรดกตกทอดๆ ไปชั่วกาลนาน ข้าพเจ้ามีความยินดีต่อทุกท่าน และขอรับรองทุกท่านโดยธรรม ด้วยน้ำใสใจจริง ดังนั้นก่อนอื่นข้าพเจ้าขอปวารณาต่อทุกท่านไว้ว่า หากท่านองค์ใดประสงค์จะศึกษาหาความรู้ใดๆ จากข้าพเจ้าแล้ว ก็นิมนต์เถิด อย่าพักต้องเกรงใจเลย ข้าพเจ้าขอต้อนรับท่านด้วยธรรมที่ประสงค์เสมอ

อนึ่ง เพื่อมิให้โอกาสที่ทุกท่านได้พบกับข้าพเจ้า ต้องเปล่าประโยชน์ไป ข้าพเจ้าจึงขอมอบธรรมสมบัติของพระศาสนา เฉพาะแก่ดวงใจอันงามของทุกท่าน เพื่อให้ทุกท่านได้ซาบซึ้งถึงคุณค่าของพระสัทธรรมว่า จะควรแก่การเทิดทูนเพียงใด ดังนั้น เพื่อประสิทธิภาพแก่ทุกท่าน จะได้พรรณนาสาระของเรื่องที่เห็นควรรู้ควรทำตามสมควรแก่เวลา

สำหรับวันนี้เป็นวันแรก จึงใคร่จะพูดถึงเรื่อง “บวชนาค” ก่อน ด้วยเป็นเรื่องแรกและเป็นเรื่องแปลกในชีวิตของท่าน ที่ผ่านเข้ามาหาความอบอุ่นจากกาสาวพัสตร์ในพระธรรมวินัยนี้

ท่านทั้งหลาย ก่อนอื่นขอตั้งปัญหาขึ้นว่า อย่างไรจึงเรียกว่า บวชนาค เพื่อที่จะให้ความข้อนี้กระจ่างสมควรจะพูดถึงนาคก่อน นาคได้แก่คนเช่นไร? และเหตุใดจึงเรียกว่า นาค? เห็นจะตอบกันได้มากคนว่า คนที่จะบวชพระเมื่อโกนหัว โกนคิ้วแล้ว เรียกกันว่านาค รู้กันทั่วไป ทั้งมีคำพูดที่เกี่ยวข้องกับนาค ยืนยันหลายอย่าง เช่นคำว่า เสื้อนาค ทำขวัญนาค แห่นาค จูงนาค ให้ผ้านาค ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแสดงว่า คนที่จะบวชพระเรียกกันว่า นาค

ความจริง นาค ไม่ใช่สักว่าคนโกนผมในเวลาจะบวชเท่านั้น นาคควรจะเป็นชื่อของคนตั้งแต่แรกเข้ามาฝากตัวบวชกะเจ้าอาวาสหรือพระอุปัชฌายะ ความจริงตามประสงค์ของชื่อนี้ และโดยจำกัดความของศัพท์นี้ นาค แปลว่า คนไม่มาสู่ความชั่ว หรือ คนไม่ไปหาความชั่วอีก ดังนั้น บางท่านจึงแปลว่า ผู้ไม่ทำความชั่วต่อไป ความก็ลงรอยกัน ถือเอาความว่า ผู้ที่จะเข้ามาบวชนิยมเรียกว่านาค คือเป็นผู้เห็นโทษ เห็นภัยของการเที่ยวซุกซนเตร็ดเตร่ในทางอบาย ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตระกูล เสียเวลาเปลืองชีวิต เปลืองทรัพย์ที่ต้องจับจ่ายโดยไม่จำเป็น ไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่าทรัพย์ที่จ่ายไป การทำเช่นนี้ชื่อว่าไม่รักตัว ไม่รักษาชื่อเสียง ไม่รักษาตระกูล เพราะเป็นการเปิดช่องให้อันตรายมาสู่ตัวและตระกูลโดยเร็ว อาจได้รับอันตรายอย่างน่าเสียใจ โดยตัวหรือตระกูลไม่ทันได้นึกฝัน ทั้งนี้เกิดแต่ความประพฤติตามใจตัวเป็นรากฐาน เมื่อไม่มีการเหนี่ยวรั้งใจ ความประพฤติจึงดีได้ยาก เพราะใจของเรามีปรกติเอียงไปในเรื่องง่ายๆ เมื่อเรื่องง่ายๆ แล้วจะเป็นเรื่องดี จะเป็นเรื่องประณีตไม่ได้ เมื่อเป็นเรื่องไม่ดี ความประพฤติเรื่องไม่ดีทุกเรื่องล้วนแต่เป็นเครื่องกดตัวให้ทรามลง ตรงข้ามกับเรื่องที่ดีทุกเรื่องล้วนเป็นเครื่องยกตัวให้เจริญขึ้น แม้จะยากก็มีคุณที่โลกนิยม ซึ่งความจริงแม้เราเองผู้ประพฤติดี หวนนึกดูแล้วก็แช่มชื่นใจ ภูมิใจตนเอง

คนที่รู้ไม่ดีและไม่สังวรปาก มักจะพล่อยง่ายๆ ว่า “คนดีๆ ทำไมไปบวชเสีย” ฟังแล้วชวนให้คนบางคนคิดเสมือนว่า คนดีเขาไม่บวชกัน ส่วนคนที่บวชนั้นล้วนแต่คนไม่ดี ดูเถอะ! เป็นไปได้ แต่ถ้าเราได้ยินและมีโอกาสสมควรจะบอกให้เขาเข้าใจเสียใหม่ว่า “คนไม่ดีพระท่านไม่บวชให้” และจงจำไว้ว่า “พระสงฆ์จะยอมให้แต่เฉพาะคนดีเท่านั้นบวช”

แต่คำว่าคนดีที่พระศาสนาประสงค์ให้บวชนั้น หมายเอาคนที่เลิกการประพฤติชั่ว เริ่มตั้งตัวเป็นคนดี เป็นอย่างต่ำสมกับคำว่า ไปบวชนาค คือไปบวชคนดี คนที่เลิกประพฤติชั่วแล้ว




นาคแปลงตัวมาบวช

ในคัมภีร์มหาวรรคแห่งพระวินัยปิฎก ท่านเล่าเรื่องพญานาคแปลงตัวมาบวชไว้ว่า พญานาคตนหนึ่งอยู่ในพิภพนาค เป็นนาคมีฤทธิ์ มีความเลื่อมใส มีศรัทธาอยากบวช ได้ขึ้นมาแปลงตัวเป็นมนุษย์ แล้วไปขอบวชในสำนักพระสงฆ์ พระสงฆ์ไม่ทราบว่านาคก็ให้บวช เมื่อบวชเป็นพระแล้วพักอยู่ในวิหาร อยู่กับเพื่อนพระด้วยกัน ปรกติพระตื่นนอนแต่เวลาใกล้รุ่ง ออกไปเดินจงกรมบ้าง สาธยายมนต์บ้าง ยังภายนอกวิหาร ส่วนพระที่แปลงมาบวชง่วงนอน เห็นพระออกไปหมดแล้วก็เอนกายเพื่อระงับความง่วง แต่แล้วก็หลับไป พอหลับแล้วร่างกายของพระองค์นั้นก็พลันกลับร่างเป็นพญานาคดังเดิม ด้วยเป็นธรรมดาของพญานาคเมื่อแปลงเพศ เวลานอนหลับจะกลายร่างเป็นพญานาคทันที พอสักครู่หนึ่ง เพื่อนพระที่ออกไปเดินจงกรมกลับเข้ามา ผลักประตูเข้าไปพบพญานาคนอนขดอยู่เต็มวิหาร ก็ร้องออกมาสุดเสียงด้วยความตกใจ พวกพระก็พากันมาถามว่าร้องทำไม มีเรื่องอะไรหรือ? ท่านตอบว่า งู! ขอรับ งูใหญ่นอนขดอยู่ในวิหาร

ฝ่ายพญานาคที่แปลงมาบวชนั้นตกใจตื่น รู้สึกตัวเห็นร่างของตนเป็นพญานาค ก็รีบกลายร่างเป็นพระตามเดิมแล้วขึ้นนั่งบนเตียง ครั้นพระเปิดประตูเข้าไปก็ไม่เห็นมีงู จึงถามพระองค์นั้นว่า ท่านเป็นใคร? ธรรมดาพระไม่พูดโกหกกัน ต้องพูดกันจริงๆ ดังนั้นท่านก็ตอบว่าเป็นนาค พวกพระจึงพูดว่า “เป็นนาคจะบวชเป็นพระได้หรือ?” ว่าแล้วก็พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า นาคเป็นอภัพสัตว์  จะบวชเป็นพระไม่สมควร ด้วยว่าสมณธรรมอันอุดมด้วยคุณเบื้องสูง จะเกิดแก่สัตว์ไม่ได้ ถึงจะมีความเลื่อมใส พยายามบำเพ็ญสมณธรรมเพียงใดก็ตาม จะบรรลุมรรคผลไม่ได้เลย ดังนั้นจึงไม่ควรบวช พญานาคได้สดับแล้วเสียใจ ร้องไห้สะอึกสะอื้นแล้วก็ลาไป พวกภิกษุจึงได้ทูลถามต่อไปว่า หากจะมีนาคจำแลงตัวมาบวชอีกจะรู้ได้อย่างไร? พระองค์ตรัสบอกว่า ธรรมดาว่านาคแม้จะแปลงร่างเป็นมนุษย์ แต่ก็มีเหตุสองประการที่จะให้รู้ว่าแปลงมา ประการที่ ๑ คราวนอนหลับก็ต้องเปลี่ยนเป็นนาคทันที  ประการที่ ๒ คราวร่วมสังวาสต้องกลายเป็นนาคทันที ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้ หากจะมีพญานาคแปลงมาบวชอีก ก็จักรู้ได้ในเวลาเขาหลับ ไม่ให้อยู่ในสมณเพศต่อไป

เรื่องนาคแปลงเป็นมนุษย์มาบวช ท่านกล่าวไว้ดังนี้ ยกมาเล่าให้ฟัง เพียงแต่ให้รู้ว่า นาคแปลงตัวมาบวชเท่านั้น ต่อมามีคนเล่าเสริมอีกว่า พญานาคเสียใจบวชไม่ได้ เมื่อจะลาจากไปได้กล่าวว่า แม้ข้าพเจ้าจะบวชไม่ได้ ก็ได้โปรดกรุณารับฝากชื่อไว้ด้วย ต่อไปผู้ใดจะบวชให้เรียกผู้นั้นว่านาค พระก็รับคำ เพราะเหตุนี้ คนจะบวชจึงพากันเรียกว่า “นาค” สืบมาจนทุกวันนี้

ดูเถอะ! พระสงฆ์ไม่ยอมให้นาคบวช คือจะยอมบวชให้แต่มนุษย์เท่านั้น ไม่ยอมบวชให้นาค แต่เรากลับเรียกว่า บวชนาค ที่ถูกควรจะเรียกว่า บวชคน หรือ บวชมนุษย์ ฉะนั้น เวลาเราบวช พระคู่สวดจึงถามเราว่า มนุสฺโสสิ แปลว่า ท่านเป็นมนุษย์หรือ? ถ้าเราตอบว่า เป็นนาคหรือเป็นครุฑ ท่านจะไม่ยอมให้บวชเลย เราต้องตอบว่า อาม ภนฺเต ขอรับกระผม คือมนุษย์ เป็นคน ทั้งต้องเป็นชายด้วย

แต่แล้วทำไมเราจึงเรียกว่าบวชนาค คำว่านาคนั้นเป็นชื่อของงูใหญ่อย่างหนึ่ง บางท่านว่านาคนั้นเป็นชื่อของงูหงอน เห็นทีจะว่ากันตามรูปพญานาคที่เขาเขียนไว้กระมัง คำว่า นาค เป็นชื่อของคนอย่างหนึ่ง ศัพท์เรียกว่านาคนี้ เรียกได้หลายอย่าง สำหรับนาคที่เป็นงูนั้นข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึง เพราะบวชไม่ได้ จึงขอพูดเฉพาะนาคที่เป็นคน คนที่จะเป็นนาคหมายถึงคนที่จะบวช ทำไมคนที่บวชจึงเรียกว่า นาค  ศัพท์ว่านาคนั้น ตามศัพท์แปลว่า ไม่มาสู่ความประพฤติชั่ว ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น เป็นคุณบทของคนดี เมื่อเข้าใจความหมายของนาคดังนี้แล้ว ก็เป็นทางให้เห็นชัดว่า พระจะบวชให้ก็เฉพาะคนที่เป็นนาคเท่านั้น คนใดที่ยังทำความชั่วอยู่ก็ยังเป็นนาคไม่ได้ พระไม่บวชให้ เพราะนาคแปลว่า ไม่กระทำความชั่วอีกต่อไป ถ้ายังขืนทำความชั่วต่อไปอีก พระก็จะไม่ยอมให้บวช ดังนั้นจึงขอกล่าวซ้ำอีกว่า พระจะบวชให้แก่นาค คือคนที่ไม่ทำความชั่วอีก เราจึงเรียกว่าบวชนาค บวชคนดี คนที่พระอุปัชฌายะรับรองแล้วว่า เขาจะเป็นคนดีในพระศาสนาต่อไป

เพราะฉะนั้น เราควรรู้สึกภูมิใจว่า เราได้เคยเป็นนาค ได้รับยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนาค นับว่าเป็นคนมีค่าควรที่พระสงฆ์จะรับเข้าหมู่ของท่าน แสดงว่าเราเป็นคนบริสุทธิ์ ไม่ทำความชั่วใดๆ ต่อไปก็จะเป็นคนดีอย่างนั้นอีกเสมอ พระสงฆ์จึงได้บวชให้ โดยเห็นว่าเราเป็นนาคและจะตั้งหน้าทำความดีสืบไป

ดังนั้น มารดา บิดา ผู้อุ้มท้องเลี้ยงดูลูกมา จึงพยายามให้ลูกบวช เพื่อจะให้ลูกได้เป็นนาค มารดาบิดาจะดีใจ เมื่อเห็นลูกเห็นนาค เมื่อลูกรักจะทำความดีมารดาบิดาจะได้เป็นแม่นาค พ่อนาค เป็นแม่เป็นพ่อของคนดี ที่พระสงฆ์ยินดีจะให้บวช ดังนั้นเราต้องพยายามตั้งใจรักษาตัวว่า จะไม่ทำความชั่ว นี้เป็นอานิสงส์ของการบวชนาคประการหนึ่ง

เมื่อถึงวันบวชนาค บางรายยังหาคนมาทำขวัญนาคอีก และคนทำขวัญนั้น ต้องหาคนคารมดี มีเสียงไพเราะด้วยฯ การทำขวัญเป็นพิธีอย่างหนึ่ง ให้ญาติได้รวมกันกล่าวคำขวัญบำรุงใจนาคให้สดชื่น ให้นาคเห็นอานิสงส์ที่ตัวมาเป็นนาค ให้นาครู้สึกว่า ตัวได้ทำกิจอันสำคัญในชีวิตครั้งนี้ครั้งหนึ่ง ในท่ามกลางหมู่ญาติหลายๆ คน ได้ปรากฏแก่พี่น้องญาติมิตร มีบิดามารดาเป็นต้น ว่านาคจะทำความดีแก่ตัวและแก่ตระกูล การทำขวัญเป็นพิธีกรรมเครื่องเจริญจิตใจ และเพื่อให้การทำขวัญนั้นเป็นความสวัสดิมงคลแก่นาค เขาจึงตั้งบายศรีประกอบเข้าในพิธีทำขวัญด้วย



ภาพจาก : kiddevil11.files.wordpress.com

บายศรี

คำว่า บายศรี บางทีพวกท่านจะไม่รู้จักดี อาจเห็นต้นบายศรี เป็นตัวบายศรีก็ได้ ที่เขาเรียกว่าบายศรี ๓ ชั้น ๕ ชั้น หรือบายศรีเงิน บายศรีทอง บายศรีแก้ว ล้วนแต่เป็นต้นบายศรีทั้งสิ้น คือบายศรีเงินนั้น พานเงินรองซ้อนๆ กันตั้งเป็นต้นขึ้น ๓ ชั้นก็ซ้อนกัน ๓ ลูก  ๕ ชั้นก็ซ้อนกัน ๕ ลูก เรียกว่าบายศรีเงิน ถึงบายศรีทอง บายศรีแก้ว ก็ทำนองนี้แหละ ใช้พานทอง พานแก้ว ซ้อนกันตั้งเป็นต้นบายศรี แต่ใช้ใบตองบ้าง ใบโกศลบ้าง ตั้งตกแต่งให้งามตามชั้นทุกชั้น บางแห่งก็ใช้กระดาษสี กระดาษทอง ทำเอาตามนิยม เหล่านี้ เรียกว่าต้นบายศรี หรือชั้นบายศรี ไม่ใช่ตัวบายศรี

แต่บายศรีจริงๆ นั้น คืออะไร? เรื่องนี้เราจะต้องรู้ จะต้องเข้าใจความหมาย บาย แปลว่า ข้าว แต่มุ่งเอาข้าวสุก ศรี แปลว่า ศิริมงคล มิ่งขวัญ ท่านพรรณนาไว้ว่า มนุษย์มีข้าวเป็นศรี เป็นมงคล เป็นมิ่งขวัญ ไม่มีมงคลใด มิ่งขวัญอันใดดีกว่าเลย เพราะเงินทอง ถ้าหิวขึ้นมาแล้วใส่ปากก็ไม่หายหิว เว้นข้าวแล้วชีวิตดับ แม้จะเป็นอยู่ก็ลำบาก ดังนั้นข้าวจึงเป็นมิ่งขวัญ เป็นมงคลที่ผู้รู้ยกย่อง เหตุนั้นการทำขวัญจึงตั้งต้นบายศรี ตัวบายศรีจึงเอาข้าวสุก นิยมใช้ข้าวปากหม้อ ตกแต่งให้งาม ยกขึ้นตั้งไว้บนยอดบายศรี ถ้าขาดแล้วจะเป็นบายศรีไม่ได้ สำหรับต้นบายศรีนั้น ส่วนมากที่นิยมทำกันตามชนบทเป็นไม้ ๓ ชั้น ทุกชั้นเสร็จด้วยใบตอง ใบโกศล หรือกระดาษเหมือนกัน ซ้ำแถมไข่จืดต้มปอกเปลือก ๑ ฟอง ปักไว้ที่ข้าวสุกด้วย เป็นข้าวไข่ ดูก็งามดี

ส่วนพิธีนอกนั้น ล้วนเป็นเครื่องเจริญจิตใจดังกล่าวแล้ว เรื่องข้าวเป็นจุดสำคัญในงานมงคล ตั้งต้นแต่เลี้ยงดูกัน เลี้ยงแล้วเป็นมงคลจริงๆ ดูหน้าตาสดชื่น ถ้าไม่เลี้ยงปล่อยให้อด หิว ตาลายเป็นวุ่นวาย เสียงที่พูดก็ฟังไม่เพราะแน่ และจะหนักไปในทางอัปรีย์ทีเดียว ดังที่กล่าวกันว่า “โมโหหิวข้าวนั้นร้ายพอดู”

ข้าวนั้นในบาลีเรียก ธัญญะ แปลว่า มิ่งขวัญที่ควรสงวน ความจริงก็เป็นของที่น่ารักษา น่าสงวนจริงๆ ประเทศเรา ธัญญะเป็นชื่อหัวเมืองชั้นนอกจังหวัดหนึ่ง คือจังหวัดธัญญะ จังหวัดนี้มีข้าวอุดมฯ สมัยที่พระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีพระที่นั่งองค์หนึ่ง เรียกว่าพระที่นั่งดุสิตธัญญะมหาปราสาท ถือว่าธัญญะเป็นคำขวัญ เป็นคำมงคล จึงยกขึ้นเป็นนามพระที่นั่ง

ปรกติข้าวดีย่อมเกิดแต่เนื้อนาดี คนมีข้าวดี คนสมบูรณ์ ไม่อดอยาก จัดว่ามีบุญอย่างหนึ่ง ดังนั้นชาวนาจึงต้องการนาที่ดี ด้วยประสงค์จะให้ข้าวดี เพราะข้าวดีราคาแพงขายง่าย

พระสงฆ์เรา ท่านผู้รู้ว่า เป็นนาบุญของโลก คือของคนที่ต้องการด้วยบุญ เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ที่โลกเคารพนับถือบูชา จึงเป็นผู้ที่มีกาย วาจา ใจ อบรมดีแล้ว คือมีความประพฤติสะอาด บริสุทธิ์ เหมือนเนื้อนาที่ไม่รกด้วยต้นหญ้า ที่เป็นศัตรูต้นข้าว จึงเป็นนาดี มีข้าวงาม เป็นที่ประสงค์ของคนทั่วไป สมกับที่เป็นพระ เพราะความจริงเดิมก็มิได้ถูกบังคับหรือรับจ้างผู้ใดมาบวช ทั้งก่อนแต่จะบวชก็ได้ประพฤติตนเป็นคนดีพอสมควร จนได้รับรองว่าเป็นนาค คือเป็นคนบริสุทธิ์ เป็นคนดี ดีพอที่จะบวชได้

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มิถุนายน 2560 15:55:24 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 07 มิถุนายน 2560 16:09:36 »


บวชเรียน

วันนี้จะได้พูดถึงเรื่อง บวชเรียน เพราะเรามาบวชเพื่อเรียนบวชบำเพ็ญพรต บวชแสวงบุญ มิใช่บวชหลบ บวชเพื่อนอน ดังนั้นยิ่งเราเป็นคนใหม่ในพวกพระด้วยกัน เราก็มีความรู้น้อย เราจึงควรพยายามเรียนให้สมกับที่ตั้งใจมาบวช สมเจตนาที่มารดาบิดาให้บวช เพราะความจริง ท่านก็มุ่งให้เราบวชเรียน

ปรกติทุกคน ถ้าประสงค์จะเป็นคนดีกันแล้ว ทุกคนจะต้องเรียนกันร่ำไป ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะและภาวะใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะมีเหตุขัดข้องเฉพาะบางคราวบางสมัยเท่านั้น เพราะรับรองกันแล้วว่า “การศึกษาคือการเล่าเรียน”

เล่าเรียน คำนี้ถ้าจะแยกออกทำความเข้าใจกันในเรื่องศึกษาแล้ว ก็จะได้รูปความดังนี้ เล่า ได้แก่ท่องหรือบ่นจนจำได้ ขึ้นปากขึ้นใจ เช่นคำว่า “เล่าหนังสือหรือท่องหนังสือ” เป็นองค์การอันหนึ่งของการศึกษา ดังที่เราๆ ได้เคยเล่าเคยท่องกันมาแล้ว เช่นก่อนแต่จะเรียนเลขก็ต้องเล่า หรือท่องสูตรเลขก่อนเป็นต้น ฉะนั้นการที่ท่านวาง เล่า ไว้หน้า เรียน จึงควรแท้

เรียน คือ เอาอย่างเขาหรือถอดแบบเขา เช่นพูดว่า “เรียนจนหมดความรู้ของครู หรือเรียนให้เหมือนเขา” ถ้าเข้าใจความหมายตามนัยนี้ เรียนน่าจะเขียนว่าเลียน ด้วยเคยมีคำนิยมใช้ว่า “เลียนแบบเขา” เพราะเลียนแบบก็ได้แก่ถอดแบบนั่นเอง ชะรอยจะมีคำตำหนิกิริยาที่ล้อเลียนกันว่า เป็นกิริยาเสียหายกระมัง เช่น ทำเดินกะเผลก ล้อคนขากะเผลกเป็นต้น จึงไม่นิยมใช้เลียน โดยเพ่งเลียนไปในแง่เสียตรงข้ามกับเรียน

ความจริงแม้เรียน จะมีความหมายถึง รับความรู้และฝึกหัดตามปทานุกรมว่า เช่น วิชาช่าง วิชาทหาร เป็นต้น จะเรียนโดยอาศัยตำราเรียนอย่างเดียวไม่ได้ จำต้องใช้การฝึกหัดกำกับไปด้วย การฝึกหัดจึงเป็นองค์การอันหนึ่งของการศึกษา ถึงเช่นนั้นการฝึกหัดก็ไม่พ้นความหมายไปจากเอาอย่างเขา ถอดแบบเขา

มีอีกนัยหนึ่งที่ชวนให้คิดว่า ชะรอยอักษร ล-ร คู่นี้จะมีความหมายตื้น-ลึกกว่ากันเป็นมั่นคง คือ เลียน หมายเฉพาะการถอดแบบเขา เช่นการถอดภาพหรือแปลนของช่างเขียน เพื่อให้ได้ภาพหรือแปลนตามรูปลายเดิม หรืออย่างหัดให้นกแก้วนกขุนทองพูดเท่านั้นฯ ส่วนเรียนหมายถึงการมีวิชาดีสามารถประดิษฐ์ภาพได้เอง และดีเหมือนเขาหรือยิ่งกว่า โดยอาศัยหลักวิชาที่สำเร็จจากการเรียนนั้นพลิกแพลงประดิษฐ์ให้ประณีตขึ้น เพราะเรียนมีความหมายซึ้งกว่าเลียน ทั้งอยู่ในกรอบแห่งภาษานิยมด้วย เรียนจึงถูกยกขึ้นสู่ความหมายว่า ศึกษา

แท้จริงคำว่า ศึกษา ยังมีความหมายลึกและกว้างกว่าเรียนอีก ที่พูดนี้ไม่ใช่จะให้เข้าใจว่า ศึกษาเป็นศัพท์ที่ยกขึ้นสู่ภาษานิยม เพราะเป็นศัพท์สันสกฤต หรือจากมคธภาษาว่า “สิกขา” ดังที่เคยยกภาษามคธสูงกว่าภาษาไทย เช่น นาวาดีกว่าเรือ ตามที่หมายรู้กันทั่วๆ ไปอย่างนั้น หากแต่เป็นเพราะศึกษามีความหมายประณีตกว่ามาแต่เดิมเอง ข้าพเจ้าดีใจอยู่ข้อหนึ่งว่า แม้ผู้พูดจะยังไม่เข้าใจความหมายของศึกษาได้ดี ก็ยังอดไม่ได้ที่จะพูดว่า “มีนักเรียนไปศึกษาวิชายังต่างประเทศ” นี้เห็นจะเป็นด้วยภาษานิยม ข้อที่ว่าดีใจก็เพราะว่าคนพูดนั้นพูดตรงกับจุดประสงค์ของนักศึกษา โดยที่นักศึกษาย่อมไปศึกษาจริงๆ ไม่ใช่แต่เพียงไปเรียน หากนักศึกษาไปเพียงเรียนเท่านั้น ความดีใจของข้าพเจ้าจะกลายเป็นหมันไป แต่ความเป็นหมันของข้าพเจ้าไม่สู้จะสำคัญนัก ร้ายอยู่ที่การศึกษาของนักเรียนเป็นหมันนั่นสิ! เพราะไม่สมกับที่อุตส่าห์ไปยังต่างประเทศ ฉะนั้นเองจึงปรากฏว่ามีนักเรียนนอกบางคนหย่อนความรู้ความสามารถกว่านักเรียนในนี้

อนุมานตามจุดประสงค์ที่มาว่า การศึกษา ย่อมหมายกว้างออกไปถึงทุกๆ วิธี ที่อาจนำความรู้ความสามารถให้เกิดขึ้นได้ ยกการเล่าเรียน การฝึกหัดในโรงเรียนอันเป็นการศึกษาเดิมแล้ว ยังปรากฏว่ามีอีกหลายวิธีที่ควรนำมากล่าว เช่น

สำเหนียก คือ การใส่ใจในเหตุดีแลชั่ว คืบออกไปจนถึงความพินิจอันเป็นทางนำให้ได้รับผลนั้นๆ สนอง

สำนึก คือ การรู้สึกผิดชอบในสิ่งที่ประสพนั้นๆ อำนวยให้ดีหรือร้าย ซึ่งเกิดจากการทำของตนหรือคนอื่นแม้โดยบังเอิญ

สังเกต คือ ความกำหนด ความจดจำ แลการฟังหรือดูอย่างละเอียดลออ แต่ในที่นี้ประสงค์เอาการสังเกตในสถานทั่วไป ตลอดถึงเวลาปฏิบัติงานในหน้าที่

ตักกะ ความตริ ตรึก นึกคิด แม้ความฝักใฝ่ ความใส่ใจในวิชาและกิจการตามหน้าที่ก็นับเข้าในนี้

วิจาร คือ ตรอง ใคร่ครวญ การค้นคว้า การพิจารณาคุณแลโทษ รวมเอาการพิสูจน์หาความจริงในสิ่งที่ประสพจนประจักษ์ได้ทั้งเหตุและผลเข้าด้วย ที่สุดแม้การทดลอง

ตามที่ยกมานี้ ล้วนเป็นองค์การของการศึกษาทั้งสิ้น ด้วยว่าแต่ละอย่างย่อมอำนวยผลให้เกิดความรู้ความสามารถได้รวดเร็วโดยสวัสดี ทั้งเป็นวิถีดำเนินสู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โดยไม่เกินวิสัยแลปลอดภัยโดยประการทั้งปวง

เมื่อรับรองการศึกษาตามนัยนี้แล้ว ความเห็นของข้าพเจ้าที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า “ถ้าประสงค์จะเป็นคนดีแล้ว ดูเหมือนจะต้องเรียนกันร่ำไป” ก็น่าจะถูก เพราะแม้ในยามปรกติที่อยู่บ้าน เราก็ยังต้องสังเกต ต้องตรึก ต้องตรอง ต้องทำทุกๆ อย่าง ที่เป็นทางป้องกันภัยพิบัติเพื่อสุขสวัสดิ์ ยิ่งในเวลาเปลี่ยนสภาพหรือโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ ก็ยิ่งเห็นความจำเป็นของการศึกษาถนัดมากขึ้น ทุกๆ  คนที่หวังความเจริญ ย่อมตระหนักความข้อนี้ด้วยตนเอง

ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะสภาพของบรรพชิต ซึ่งได้เปลี่ยนสภาพของคฤหัสถ์มาสู่พระธรรมวินัย คือบวชเป็นพระร่วมสิกขาสาชีพกับพระสงฆ์ต่อไปฯ  ได้กล่าวแล้วว่ายิ่งเปลี่ยนสภาพก็ยิ่งเพิ่มการเรียน  ฉะนั้น เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ก็จะต้องถือการเรียนเป็นกิจสำคัญในเบื้องต้น สมกับคำ “บวช-เรียน”

บวชเป็นพระแล้วจะต้องเรียนอะไรอีกนัก? ความจริงก็เรียนเรื่องพระๆ นั่นแหละ ไม่ได้เรียนนอกออกไปเลย เพราะเรื่องความเป็นพระเป็นเรื่องหนึ่งที่พระจำต้องรู้ ไม่อย่างนั้นความเป็นพระก็ดูจะไม่สมบูรณ์ ด้วยไม่ว่าจะทำอะไร หากไม่รู้สิ่งที่ทำลงไป จะว่าผู้ทำเป็นคนเช่นไร? และสิ่งที่ทำจะได้ผลอย่างไร? ลองนึกดูเถิด แม้ลิเก ละคร เมื่อเขาแสดงเขาก็ต้องรอบรู้เรื่องราวที่เขาจะแสดง ตลอดทั้งท่าทางที่ทำและถ้อยคำที่พูด จึงจะแสดงได้มิใช่หรือ? และยิ่งจะให้คนดูชมว่า แสดงดี ผู้แสดงก็ต้องถึงฝึกหัด แม้พระก็ดุจกัน เมื่อบวชแล้วก็จำต้องเรียนให้รอบรู้และฝึกหัดตามข้อปฏิบัติของพระจึงจะชอบ

ที่จริง เรื่องของพระอันควรจะต้องรู้ก็มีอยู่ไม่น้อย ฉะนั้น ความรู้เบื้องต้นที่จำต้องรู้ ก็จำต้องเรียนก่อน แล้วจึงเรียนความรู้อื่นๆ ในเวลาต่อไป แม้ในหนังสือเล่มนี้ก็จะบรรยายเฉพาะความรู้เบื้องต้นของพระบวชใหม่เท่านั้น

แรกที่เราจะเรียนนั้น ควรจะรู้วัตถุประสงค์ก่อนว่า เรียนเพื่ออะไร? ตอบได้ทันทีว่าเพื่อความรู้ ความรู้เท่านั้นเป็นวัตถุประสงค์ของการเรียน จะเอาความรู้ไปทำอะไร? ก็เอาไปสร้างความสุข ความสวัสดี ให้แก่ผู้เรียนรู้นั้นแหละ! เพราะคนเราจะมีความสุขความสวัสดีแท้จริงนั้น อยู่ที่ความรู้เป็นทุน เว้นความรู้แล้ว อย่าหวังเลยที่จะได้ความสุข ความสวัสดีที่แท้จริงได้ ขอยกเอาพระพุทธโอวาที่ตรัสไว้ว่า “เว้นความรู้แล้ว เรา (ตถาคต) ยังไม่เห็นความสวัสดีที่สัตว์จะพึงได้เลย”

ถ้าเช่นนั้น เราจะเรียนโดยไม่ต้องบวชไม่ได้หรือ? ความจริงก็ได้ แต่ก็ได้อย่างเดียว คือความรู้เพื่อปฏิบัติ ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อความรู้ เพราะศึกษา หมายเอาการปฏิบัติด้วยจึงชื่อว่าไม่ได้ความรู้ในพระศาสนาโดยสมบูรณ์เหมือนอย่างเราเรียนรู้ว่า การทำอย่างนี้จะได้ตาลที่หวานแต่เราไม่ได้ลงมือทำ อย่างไรจะได้ลิ้มรสน้ำตาลว่าหวานปากใด ดังที่เรียนรู้มา

เรื่อง บวช-เรียน เป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่มาก ถ้าเรารักจะรู้ปฏิบัติเพื่อรู้ ให้ความรู้ความปฏิบัติ เป็นเหตุเป็นผลยืนยันกันแล้ว เราก็ต้องบวช-เรียน ความจริงถ้าจะมีวิธีอื่นใดอีก ที่จะไม่ต้องบวชแล้ว คนส่วนมากก็คงหันไปในวิธีนั้นเป็นแน่ เช่น พระราชา อำมาตย์ คฤหบดี พ่อค้า ผู้เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ อิ่มด้วยความสุข คงจะไม่ออกบวช แต่ที่ปรากฏทั้งที่ล่วงไปแล้วและปัจจุบัน ก็มีคนประเภทนี้ออกบวชไม่น้อย ซึ่งพอจะหาเป็นตัวอย่างเทียบเคียงวินิจฉัยได้ไม่ยาก  

การเรียนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นี้ แม้จะด้วยอุบายใดๆ ตามที่นิยมทำกันในสำนักศึกษาทั่วไป เช่น การฟัง การคิด การถาม การเขียน รวมทั้งการเล่าบ่นด้วยถึงอุบายนั้นๆ ทั้งหมด ก็ขึ้นอยู่กับความเพียร มีความเพียรเป็นทุน มีความเพียรเป็นรากฐาน เว้นความเพียรแล้วย่อมไม่สำเร็จประโยชน์  ดังนั้น พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ความเพียรเป็นพละ คือกำลัง เป็นอินทรีย์ คือเป็นใหญ่ เป็นอิทธบาท คือคุณที่นำให้เข้าถึงความสำเร็จ ที่สุดแม้การปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่ง อันเป็นคุณเบื้องสูง ก็ไม่พ้นไปจากความเพียร  ฉะนั้น ทุกท่านที่บวช-เรียน จึงจำต้องลงทุนกำลังภายในคือความเพียร ซึ่งมีชื่อเรียกหลายอย่างว่า ความหมั่น ความขยัน ความพยายาม ความบากบั่น ความก้าวหน้า และความอุตสาหะให้พอควรแก่งานไว้เบื้องต้นของตนเสมอไป

จงจำไว้ว่า กำลังของความเพียรเท่านั้นที่จะรวบรวมเอาความรู้ทั้งหลายมาให้จนสำเร็จฯ ขอยกเรื่องความเพียรของนันทเสน มาสนองคำกล่าวนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ความเพียรของนันทเสน (จากจุลลกาลิงคชาดก)

สมัยเมื่อพระเจ้ากาลิงคะ ทรงราชย์อยู่ในทันตปุระนคร เป็นอิสราธิบดีในแคว้นกาลิงคะ สมบูรณ์ด้วยราชสมบัติ ทั้งพลพาหนะโยธาทหารก็มีกำลังแกล้วกล้าสมารถเหนือพระนครในแว่นแคว้นอื่นๆ พระองค์ไม่ทรงเห็นว่ายังจะมีกษัตริย์พระนครใดที่จะหาญต่อยุทธด้วยพระองค์ได้ วันหนึ่งตรัสปรึกษาด้วยอำมาตย์ทั้งหลายว่า “ทันตปุระนครเป็นประเทศที่สมบูรณ์เห็นปานนี้ แม้เรามีความประสงค์ด้วยสงครามก็ไม่เห็นว่า จะมีผู้หาญเข้ามาต่อยุทธ เมื่อเป็นดังนี้ เราจะทำประการใด จึงจะให้กษัตริย์เหล่านั้นนำเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายเป็นเมืองขึ้นได้”

เหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า “เทวะ มีอุบายอยู่อย่างหนึ่งคือ พระราชธิดาของพระองค์มีพระรูปทรงโฉมยิ่งนัก ขอพระองค์จงให้ตกแต่งพระราชธิดาเหล่านั้นด้วยสรรพาภรณ์อันวิจิตร แล้วเชิญขึ้นประทับเหนือพระราชยาน แวดล้อมด้วยบริวารและโยธาทหาร ให้เสด็จเที่ยวไปในคามนิคมราชธานีนี้น้อยใหญ่ ป่าวร้องว่า ถ้าพระราชาองค์ใดรับราชธิดาไว้ในพระนคร ก็ชื่อว่าทำตนเป็นศัตรูกับกาลิงคะรัฐ กาลิงคะจะยกแสนยานุภาพไปย่ำยีพระนครให้ราบคาบ ถ้าพระราชาประเทศใดจักอ่อนน้อมไม่ต่อกรด้วย พึงจัดเครื่องราชบรรณาการออกมาถวายแก่พระราชธิดาของเรายังภายนอกพระนคร ยอมเป็นเมืองขึ้นแล้วส่งพระราชธิดาของเราไปยังพระนครอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะได้พระนครทั้งหลายมาเป็นเมืองขึ้นโดยง่าย หากนครใดแข็งรับเอาราชธิดาเข้าไว้ ก็จะได้กรีฑาทัพออกไปย่ำยีพระนครนั้น นำมาเป็นเมืองขึ้นด้วยกำลังทหาร”

พระเจ้ากาลิงคะโปรดอุบายนั้น จึงรับสั่งให้ตกแต่งพระราชธิดาทั้ง ๔ แล้วส่งไปโดยพระราชยานพร้อมด้วยโยธาทหาร ตามพระราโชบายที่อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลทุกประการ  ทุกประเทศที่พระราชธิดาของพระเจ้ากาลิงคะเสด็จไป ไม่มีกษัตริย์องค์ใดกล้ารับเอาพระราชธิดาไว้เป็นพระมเหสี ขามเดชานุภาพของพระเจ้ากาลิงคะ พอข่าวระบือไปว่าพระราชธิดาของพระเจ้ากาลิงคะรัฐจะผ่านไปยังแว่นแคว้นของตน ต่างองค์ก็จัดเครื่องราชบรรณาการนำออกไปถวายยังภายนอก โดยยอมอ่อนน้อมไม่ยอมให้พระราชธิดาเสด็จเข้าพระนครฯ โดยนัยนี้พระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ก็เสด็จไปทั่วชมพูทวีป จนถึงโปตละนครในอัสสกะรัฐฯ แม้พระเจ้าอัสสะกะราชก็ทรงรับสั่งให้ปิดประตูพระนคร เตรียมเครื่องราชบรรณาการนำออกไปถวายดังกษัตริย์ทั้งหลาย

ในโปตละนครนี้มีมหาอำมาตย์ผู้หนึ่ง เป็นนักปราชญ์ เฉลียวฉลาดในรัฐประศาสโนบาย มีนามว่า “นันทเสน” ดำริว่าพระเจ้ากาลิงคะหาญเกินพระองค์อยู่ ประกาศสงครามทั่วชมพูทวีป และก็ช่างประหลาดเหลือเกินที่ไม่มีกษัตริย์นครใดทำสงครามด้วย ยอมตนทั้งประชาราษฎร์ไปขึ้นแก่กาลิงคะอย่างง่ายดาย เสมือนหนึ่งว่าชมพูทวีปว่างกษัตริย์อันเป็นจอมนักรบ น่าขวยแก่ใจยิ่งนัก เอาเถอะ! เราจะลองทำสงครามกับพระเจ้ากาลิงคะสักครั้ง ครั้นท่านนันทเสนดำริฉะนี้แล้ว จึงไปเฝ้าพระเจ้าอัสสกะ กราบทูลว่า “เทวะ ไฉนฝ่าพระบาทจึงโปรดให้ปิดประตูพระนครไม่ยอมรับพระราชธิดาที่ทรงโฉม ผู้ประหนึ่งว่าเทพยเจ้าผู้มเหสักข์ ส่งมาประทานเช่นนี้”

“นันทเสน! แกพูดอะไร” พระเจ้าอัสสกะทรงรับสั่งกะราชเสวกผู้ใกล้ชิด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการแผ่นดินของพระองค์ นันทเสน แกก็รู้ดีอยู่แล้วว่า “นางทั้ง ๔ นี้เป็นศัตรูต่อความสงบสุขของบ้านเมือง ถ้ารับไว้ ก็เหมือนนำเอาเชื้อเพลิงที่ร้ายแรงมารุมไว้ในพระราชนิเวศนั่นเอง พระเจ้ากาลิงคะประกาศสงครามอยู่สนั่นทั่วชมพูทวีป จะไปเห็นความงามของสตรีเพื่ออะไร รังแต่จะเดือดร้อนเท่ากับหลับตาเอามือป่ายไปที่ปากงู รังแต่จะนำความหายนะมาสู่ “นันทเสนเอย!” ทรงรับสั่งต่อ เพราะเหตุนี้ เราจึงระงับความประสงค์เสีย

“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นธงชัยแห่งอัสสกะรัฐ” นันทเสนกราบทูล ขอฝ่าพระบาทได้โปรดพระราชทานโอกาสให้ข้าพระองค์ได้กราบทูลถวายอุบายดังที่เคยทรงพระกรุณาประทานนันทเสนมาแล้วในก่อน เมื่อนันทเสนเห็นพระเจ้าอัสสกะประทับนิ่ง ก็แน่ใจว่ามีพระประสงค์จะฟังอุบายของตน จึงกราบทูลติดไปว่า “เทวะ อาชญาไม่พ้นเกล้าฯ หากนันทเสน ข้าพระองค์ไม่เล็งเห็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่อันจะพึงมีแก่แคว้นอัสสะ และโดยเฉพาะแก่ฝ่าพระบาทแล้ว ไฉนจะหาญเข้ามากราบทูลขัดพระราชโองการให้เสื่อมพระเกียรติ ใช่วิสัยแห่งอำมาตย์ผู้ภักดี”

เทวะ เป็นความจริงดังพระกระแสรับสั่งว่า “สตรีเป็นศัตรูอย่างร้าย” แต่ข้าพระองค์เห็นว่า “ต่อไปพระราชธิดาทั้ง ๔ จักเป็นพระราชสหาย สร้างเกียรติให้แก่พระราชวงษ์แห่งแคว้นอัสสะกะอย่างไพศาล”

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดังฉัตรแห่งอัสสกะราษฎร์ ระยะทางระหว่างอัสสกะและกาลิงคะนั้น ไกลกันเกินควรที่จะทำสงคราม ไฉนพระเจ้ากาลิงคะจึงทรงประมาท ประกาศสงครามมาถึงนี่ อันธรรมดาแขนแม้จะมีเรี่ยวแรงยก ถือหิ้วศัตราวุธหรือวัตถุสิ่งใดได้ ก็เฉพาะอยู่ใกล้ๆ ตัวดอก หากหาญยื่นเหยียดออกไปจนสุดเอื้อมแล้ว ก็หมดกำลัง เทวะ! ขอทูลเชิญให้พระเจ้ากาลิงคะเสด็จกรีฑาทัพมาเถิด นันทเสนจะนำทหารแคว้นอัสสกะสำแดงเดชถวาย

เทวะ พระเจ้ากาลิงคะ ทรงกรีฑาทัพมาไกล ดั่งยื่นมือสุดเอื้อมเช่นนี้ ทหารและพาหนะก็ระอาอ่อนกำลัง เสบียงอันเป็นกำลังของกองทัพก็น้อย เพราะทางทุรกันดาร ไฉนจะเอามามากได้ อย่างไรจะเก่งกล้า เมื่อหย่อนกำลังเช่นนี้ ข้าพระองค์เห็นว่า แม้แต่ธงชัยประจำทัพก็เกือบจะหาทหารแบกกลับไปยาก เมื่อได้ประชิดกับทหารแคว้นอัสสกะขึ้นแล้ว

ขอพระองค์ได้โปรดสดับ “โปตละนครหลวงแห่งอัสสกะมีกำแพงใหญ่ แข็งแรง ทหารก็เข้มแข็งเชี่ยวชาญในการรบ เพราะอัสสกะกลัวภัยจะมีมา ไม่ประมาท เพียงแต่ทหารพร้อมกันรักษาพระนครไว้ให้มั่น มิพักต้องออกไปรบให้เหนื่อยเปล่า ทหารกาลิงคะอดข้าวก็จะล่าไปเอง”

อนึ่ง พระราชธิดาอันทรงโฉม เป็นที่เสน่หาของพระเจ้ากาลิงคะก็อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ ถ้าหากพระองค์รับเข้าไว้เป็นมเหสีแล้ว เพียงแต่เอาพระนางทั้ง ๔ ออกห้ามทัพ ขับทหารกาลิงคะให้ถอยออกจากชานพระนครก็จะได้ ถ้าหากเข้ามาประชิดโดยไม่เชื่อฟัง อัสสกะจะตัดเศียรพระราชธิดาสัก ๑ พระองค์เซ่นธงชัย  อย่างไรเสียพระเจ้ากาลิงคะคงไม่ใจร้ายยอมให้ทำ ที่สุดก็จะถอยไปหาอุบายอย่างอื่น

เทวะ “ธรรมดาจระเข้ผิดน่านน้ำ ก็หย่อนอำนาจ สีหราชผิดป่าก็หย่อนฤทธิ์ ไม่หาญแผดเสียง ระลึกถึงความหลังหาทางกลับถิ่นอยู่ ถ้าไม่จนตรอกแล้ว ไม่ยอม สู้ตายแน่พระเจ้าข้า!”

ธรรมดาบ้านเมือง มีทหารไว้มิใช่เพื่อประดับยศ ที่แท้มีไว้เพื่อรักษาสิทธิและเกียรติของประเทศ

ถ้าทหารระย่อ ไม่ต่อต้านสงครามจะมีไว้ทำไม เปลืองพระราชทรัพย์ ถ้าและไร้ทหารแล้ว กษัตริย์ผู้เป็นจอมทัพก็หย่อนค่า หาอำนาจไม่ได้ ดังสีหราชสิ้นเขี้ยวและเล็บแล้วก็หมดรูป ไม่กล้าเผชิญแม้กะสุนัขจิ้งจอก

เมื่อประเทศไม่มีทหาร ความต้องการมีกษัตริย์ก็น้อยไป ด้วยมองไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่กษัตริย์จะอวยให้สมแก่ค่าที่พากันเทิดทูน

เทวะ เพราะเหตุนี้ กษัตริย์ผู้เป็นจอมทัพของประเทศจึงทรงบำรุงทหาร เมื่อโอกาสสงครามมาถึง จะได้ออกรบ รบเพื่อสิทธิและเกียรติของประเทศให้ประชาราษฎร์เห็นว่า กษัตริย์เป็นผู้วิเศษเสมือนพระเจ้า

เทวะ ตามที่ฝ่าพระบาท ทรงเกรงว่าจะเป็นความเดือดร้อนแก่ประชาราษฎร์นั้น นั่นเป็นพระมหากรุณาแก่ทวยราษฎร์ สมกับที่พระองค์เป็นพระเจ้าของชาวอัสสกะแล้ว แต่ข้าพระองค์แน่ใจนักว่าจะมีชาวอัสสกะผู้ไร้เดียงสาอยู่น้อยคน ที่ไม่ยอมทนเดือดร้อนปล่อยให้เสียเอกราช ถ้าฝ่าพระบาทจะทรงลุกขึ้นประกาศให้ประชาราษฎร์เลือกเอาแล้ว ทุกคนจะร้องลั่นให้รบ รบเพื่อรักษาเอกราช ไม่พรั่นพรึงต่อความเดือดร้อนใดๆ ทั้งยินดีเสียสละให้เท่าที่จะมีจะให้ด้วย พระเจ้าข้า!

เมื่อนันทเสนพูดมาถึงเพียงนี้แล้ว สังเกตเห็นพระพักตร์พระเจ้าอัสสกะเบิกบาน แสดงว่าทรงเห็นตามด้วย จึงกราบทูลโหมพระทัยให้ทรงกำลังแช่มชื่นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมของแคว้นอัสสกะ ช่างเป็นโชคลาภอันใหญ่หลวงของรัฐ อย่างที่ชาวอัสสกะไม่เคยฝันเลยว่า พระเจ้ากาลิงคะผู้เป็นพระราชาธิบดี จะทรงส่งพระราชธิดาผู้ทรงโฉมไฉไลลออทั้ง ๔ พระองค์ มาพระราชทานเป็นมิ่งเป็นขวัญแก่แคว้นอัสสกะ และโดยเฉพาะแก่ฝ่าพระบาท โหราจารย์จะต้องบันทึกลงปูมหาราศาสตร์ไว้เพื่อการพยากรณ์ด้วยเป็นศรี เป็นเดช แก่พระนครอย่างที่ไม่เคยมีมา ตั้งแต่นี้ไปเบื้องหน้า ฝ่าพระบาทจะรุ่งเรืองล่วงบรรดากษัตริย์ที่เถลิงราชสมบัติในโปตละนครมาแล้วทั้งมวล ขอพระองค์จงรับสั่งให้จัดกระบวนทหารเกียรติยศพร้อมด้วยราชยานอังสูงศักดิ์ เปิดประตูพระนครทั้ง ๔ ทิศ ออกไปรับพระราชธิดาพระเจ้ากาลิงคะเข้ามาอภิเษกเป็นพระมเหสีทั้ง ๔ พระองค์ให้ทันแก่เวลา ขออย่าต้องให้เทพยดาผู้รักษาเศวตฉัตรน้อยใจ ตำหนิว่าอ่อนแอ ส่วนการสงครามหากจะพึงมี ขอให้เป็นภาระของนันทเสน ผู้เป็นข้าฯ แห่งพระยุคลบาท ซึ่งน้อมเอาเศียรเกล้าฯ ลงไว้ประกันเป็นเดิมพันเถิด พระเจ้าข้า!

พอสิ้นคำนันทเสนกราบทูล พระเจ้าอัสสกะก็เสด็จโผเข้ากอดอำมาตย์ผู้ภักดี พร้อมกับอุทานออกมาด้วยความปลื้มพระทัยว่า “ดีมาก นันทเสน! ฉันขอบใจแกมาก” แล้วทรงรับสั่งต่อไปว่า “นันทเสน! ฉันนึกไม่ถึงจริงๆ ช่างเคราะห์ดีที่แกอยู่ในพระนคร หาไม่ก็เหลว  ดังนั้น เรื่องนี้ทั้งหมด มอบให้เป็นธุระของแก สำหรับฉันขอให้เป็นผู้เพียงรับรู้ รับผลสักคนหนึ่งก็แล้วกัน เพราะแกเป็นคนก่อ แกก็ต้องสานให้สำเร็จรูป  เอาละ! นันทเสนรีบจัดการให้เป็นไปตามความเห็นของแกได้” พร้อมกับประทานพรว่า “ขอความสำเร็จที่แกปรารถนาไว้ดีแล้วนั้น จงเป็นผลดีแก่แคว้นอัสสกะเถิด”

ขุนพลของอัสสกะรัฐชื่นใจในพระกระแสรับสั่งของพระเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่งในชีวิตของเขา รู้สึกเหมือนว่าเนื้อตัวพองโตออกตามหัวใจที่เบิกบาน ถวายบังคมลงแทบพระยุคลบาทของพระเจ้าอัสสกะ แล้วก็รีบออกมาจัดการให้เป็นไปตามที่กราบทูลไว้ทุกประการ

ข่าวพระเจ้าอัสสกะรับเอาพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ขึ้นอภิเษกเป็นมเหสีก็แพร่สะพัดไปยังกาลิงคะรัฐ พร้อมกับข่าวระดมพลจัดการป้องกันพระนครโปตละ และจัดทัพเตรียมรับศึกใหญ่ ในความควบคุมของนันเสนก็แพร่ไปในแคว้นอัสสกะ ประชาชนทั้ง ๒ แคว้นพากันโจษจันขวัญระทึกอยู่ไม่วาย

พระเจ้ากาลิงคะทรงสดับข่าวนั้นแล้วก็ตกพระทัย เสียดายพระราชธิดาที่พลันหลุดมือไป โดยไม่ทรงนึกเฉลียวไว้แต่แรกว่าจะเป็นไปได้ดังนั้น ต่อนั้นก็ทรงพิโรธพระเจ้าอัสสกะว่า ทะนงตัว หมิ่นพระเดชานุภาพของพระองค์ตามวิสัยของคนที่นึกเอาแต่ได้ ไม่นึกถึงเสีย เมื่อไม่คิดกันไว้ก่อน จึงยากแก่การแก้  ดังนั้นผู้รู้จึงสอนไว้ว่า

วิเจยฺย กรณํ เสยฺโย.  การพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อนจึงกระทำดีนักฯ

แม้พระเจ้ากาลิงคะจะทรงหนักพระทัยในการที่จะต้องยาตราทัพไปสงครามยังพระนครอยู่ไกลบ้าง แต่ด้วยมานะกษัตริย์ พร้อมกับเกรงจะเสียพระวาจาที่ลั่นประกาศไว้แล้วแต่แรก ทั้งเพื่อรักษาพระเดชานุภาพด้วย ก็โปรดให้เดินทัพใหญ่ออกไปประชิดยังชานโปตละนครทันที

เนื่องแต่โปตละนครเตรียมป้องกันเมืองไว้เข้มแข็งก่อน ๑ ทัพกาลิงคะยกมาไกล ทั้งไม่ชำนาญลู่ทาง ประกอบกับมาด้วยอารมณ์ร้อน ๑ จึงตกอยู่ในลักษณะเสียเปรียบยิ่งนัก นันทเสนผู้รอบรู้ในเชิงพิชัยสงคราม วางกลยุทธไว้เหนือข้าศึก โดยให้พระเจ้าอัสสกะกรีฑาทัพหลวงออกไปตั้งค่ายไว้บนที่ราบสูง ขยายปีกกาให้เหยียดขวางออกไป เปิดเฉพาะทางไว้ให้ทัพพระเจ้ากาลิงคะอยู่ในที่ลุ่ม คิดว่าหากเหลือกำลัง จะได้เปิดทำนบซึ่งปิดน้ำไว้ที่ฝายหลังเมืองให้ไหลบ่าลงมาล้างกำลังทหารกาลิงคะให้ถอยไปด้วยกำลังพระคงคา

พระเจ้ากาลิงคะทรงตระหนักพระทัยอยู่แต่แรกที่เสด็จมาถึงแล้วว่า วางฐานทัพไม่ชอบด้วยทำเล ครั้นจะพลันรับสั่งให้ถอยก็เกรงจะเสียกำลังใจทหาร ยิ่งแลเห็นกองทัพพระเจ้าอัสสกะตั้งรับอยู่เป็นสง่า แม้จะรู้สึกว่ากำลังทหารของพระองค์จะดีกว่า ก็ไม่กล้าสั่งรุก จึงเป็นแต่คุมเชิงไว้ดูกำลังฝ่ายรับก่อน

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ออกบวชเป็นดาบส บำเพ็ญพรตอยู่ในป่าไม่ไกลจากกองทัพทั้งสองนั้นฯ พระเจ้ากาลิงคะทรงทราบก็ดีพระทัย ทรงดำริว่า ธรรมดาฤๅษีมักจะรู้เหตุการณ์ต่างๆ  ว่าใครจะร้ายจะดี ความมีชัยและปราชัยจักเป็นของผู้ใด ครั้นดำริแล้วจึงปลอมพระองค์เข้าไปหาฤๅษีนั้น เรียนถามตามที่ประสงค์มา

พระโพธิสัตว์จึงทูลว่า รูปไม่ทราบ แต่ท้าวสักกะเทวราชจะทรงทราบดี ราตรีวันนี้รูปจะถามพระองค์ ได้ความอย่างไรแล้วพรุ่งนี้รูปจะทูลให้ทราบฯ ครั้นเวลากลางคืนท้าวสักกะเสด็จมายังสำนักพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์จึงทูลถาม ท้าวสักกะจึงตรัสบอกว่า พระเจ้ากาลิงคะเป็นฝ่ายชนะ พระเจ้าอัสสกะเป็นฝ่ายแพ้ ทั้งบอกบุพนิมิตที่ปรากฏด้วยฯ รุ่งขึ้นพระโพธิสัตว์ก็ทูลความนี้แก่พระเจ้ากาลิงคะๆ ทรงโสมนัสยิ่งนัก ถึงกับลืมถามบุพนิมิตนั้น เสด็จกลับยังกองทัพด่วน ตรัสบอกข่าวดีแก่นายทัพนายกองทั่วไป โดยมุ่งพระทัยว่าจะเป็นเครื่องปลุกใจให้ทแกล้วทหารมีกำลังใจในการยุทธต่อไป

แต่กลับเป็นผลร้าย พอข่าวเทวดาว่าทัพตนเป็นฝ่ายมีชัยแพร่ไปในกองทัพ ทันใดนั้น ทวยทหารทั้งสิ้นก็ยินดีร่าเริงลืมภาวะของตนที่เป็นทหาร  ทันใดนั้น ทวยทหารทั้งสิ้นก็ยินดีร่าเริงลืมภาวะของตนที่เป็นทหาร ละทิ้งหน้าที่หาความสำราญด้วยการกิน การนอน ร้องรำทำเพลงตามความพอใจ เสียวินัยทหารหมด แม้พระเจ้ากาลิงคะก็ทรงวางพระทัย ไม่พยายามแก้ไขให้เข้ารูป

พระเจ้าอัสสกะนั้น มีความยำเกรงอำนาจราชศักดิ์พระเจ้ากาลิงคะเป็นทุนอยู่แล้ว ดังนั้นพอได้ข่าวจากสายลับของพระองค์ว่า ทหารกาลิงคะร่าเริงนัก เพราะได้พยากรณ์จากเทวดาว่า กาลิงคะจะชนะในการประชิดสงครามครั้งนี้ ก็ตกพระทัยรีบรับสั่งให้นันทเสนเข้ามาเฝ้าและตรัสปรับทุกข์ถึงข่าวนี้ ทั้งทรงรังสั่งหารือต่อไปว่าเราควรจักทำประการใดดี นันทเสน!

ความจริงข่าวอันไม่เป็นมงคลสำหรับแคว้นอัสสกะนั้น นันทเสนรู้อยู่ก่อนแล้ว คิดว่าเป็นข่าวกุขึ้น เพื่อโลมใจทหารให้ร่าเริงมากกว่า จึงพยายามมิให้ข่าวนั้นรั่วไหลเข้าไปยังกองทัพตลอดแม้ชาวเมือง โดยส่งโฆษกของตนออกบรรยายห้ามมิให้เชื่อฟังข่าวของศัตรู ให้ถือว่าข่าวฝ่ายศัตรูเป็นข่าวลวงและมิให้พูดอีกด้วย ทั้งพร้อมกับแนะนำให้เชื่อฟังแต่ข่าวในราชการทหารเท่านั้น

ครั้นนันทเสนได้ฟังกระแสรับสั่ง จึงพยายามกราบทูลเล้าโลมพระทัยว่า เทวะ! จะมีใครที่ไหนทราบและหาญพยากรณ์ได้ว่า ฝ่ายใดแพ้ฝ่ายใดชนะ เป็นข่าวอกุศลทั้งนั้น โปรดวางพระทัยเถิดพระเจ้าข้า จะเป็นไปดังข่าวลือนั้นไม่ได้เลย

ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดังพระเจ้าของชาวอัสสกะ ขอฝ่าพระบาทโปรดให้แน่พระทัยเถิดว่า อัสสกะจะต้องเป็นฝ่ายมีชัยเสมอ

เทวะ! ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ทุกประเทศที่ประชิดสงครามขึ้น กองทัพทั้งสองต่างก็ต้องเพียรเอาเปรียบกันด้วยอุบายต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายตนมีชัยและให้ฝ่ายตรงข้าม คือฝ่ายศัตรูปราชัยอยู่ทุกขณะ เมื่อเห็นวิธีใดจะนำให้ตนชำนะแล้วก็พยายามใช้วิธีนั้นโดยพลัน แม้วิธีนั้นจะไม่ชอบด้วยศีลธรรมก็หาได้คำนึงไม่

การหาศีลธรรมในสงครามก็เท่ากับหาเลือดกะปู  ดังนั้นผู้รู้จึงพยายามเลี่ยงสงครามที่สุด  เทวะ! ทุกคนเมื่อเดินทางพบโคลนเข้าแล้ว ถ้าเลี่ยงได้ใครเล่าจะเหยียบให้เปรอะ ต้องไปล้างให้ลำบาก แต่เมื่อหมดวิธีเลี่ยงแล้ว  ใครเล่าจะไม่ยอมไป เพราะกลัวเปื้อน

ความจริงพานิชโยบายมีหลายอย่างแต่ทางที่พ่อค้าทุกคนชอบนั้นมีทางเดียวคือ


๑.ลงทุนน้อย ๒.เบาแรง
๓.เร็วทันใจ และ   ๔.ให้ได้กำไรมาก

ฉันใด แม้การสงครามก็อย่างนั้น ต่างฝ่ายต่างพยายามจะใช้อุบายเพื่อให้ได้ชัยชนะ โดยลักษณะอย่างเดียวกัน คือ

๑.ใช้เงินน้อย ๒.ใช้ทหารน้อย
๓.ใช้เวลาน้อย และ ๔.ให้ได้ชำนะงาม

เพราะการทำสงครามก็ทำเพื่อหากำไรและเกียรติรวมไปด้วย ถ้าจะต้องได้ชัยชำนะโดยทุ่มเงินทองทรัพย์สมบัติลงไปมาก ใช้ทหารมาก ใช้เวลามาก แต่เป็นผลเดือดร้อนได้ผลไม่คุ้มทุนที่ลงไป ตรงข้ามเช่นนี้ ใครบ้างอยากจะทำ และถ้าจะทำใครๆ ก็ทำได้ ไม่ประหลาดอันใด แต่ก็คงไม่มีใครสมัครเป็นแน่

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มิถุนายน 2560 16:14:13 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5458


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 07 มิถุนายน 2560 16:13:18 »

http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/68384423024124__MG_9951.jpg
เมื่อเราบวช


บวชเรียน (ต่อ)

เพื่อให้ได้สัมฤทธิผลดังนั้น แต่ละฝ่ายจึงต้องทุ่มกำลังโฆษณาชวนเชื่อให้หนัก เพราะว่าทุนน้อย แรงน้อย แต่ได้ผลงาม เช่นเดียวกับพ่อค้ายอมเสียเงินและเวลาประกาศโฆษณาคุณค่าสินค้าของตน ให้เหมือนพ่อค้าอื่น ทั้งได้ประโยชน์เกินค่าของทรัพย์ที่ผู้ซื้อจ่ายให้ นี้เป็นวิธีการทั่วไปใครจะไม่รู้ แต่ก็ไม่วายที่จะมีผู้เสียรู้

เทวะ! ธรรมดาลมพัดกิ่งไม้ก็ไหว วาจาที่พูดออกไปก็ย่อมมีคนฟัง  สำหรับกิ่งไม้ เมื่อลมผ่านไปแล้ว ก็กลับตรงคงที่ อันคนที่จะดีตั้งตัวได้ก็ต้องเป็นอย่างนั้น คือต้องพยายามฟัง และพยายามค้นหาคุณค่าที่ควรจะถือเอาจากการฟังนั้น ไม่เชื่อง่าย ข้าพระองค์ขอทูลถวายคติพจน์ไว้บทหนึ่งว่า

นิสมฺม คหณํ เสยฺโย – ใคร่ครวญเสียก่อนจึงถือเอาดีกว่า

เมื่อนันทเสนกราบทูลปลุกพระทัยพระเจ้าอัสสกะให้อาจหาญดีแล้ว ก็รีบทูลลาจากพระที่นั่ง ปลอมตัวออกไปหาพระโพธิสัตว์ยังอาศรมบท แล้วเรียนถามถึงความมีชัยของพระนครทั้งสอง ซึ่งกำลังทำสงครามกันอยู่ ครั้นพระดาบสแจ้งว่า ท้าวสักกะเทวราชตรัสบอกว่า พระเจ้ากาลิงคะเป็นฝ่ายชำนะ นันทเสนจึงได้เรียนซักถามถึงบุพนิมิตที่เป็นลางบอกให้รู้ เพื่อยืนยันคำพยากรณ์นั้นต่อไป พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า ท่านนันทเสน เมื่อสงครามเริ่มเข้าประชิดกันแล้ว อารักขเทวดาทางฝ่ายพระเจ้ากาลิงคะ จักเป็นโคเผือกขาวผ่อง ข้างฝ่ายพระเจ้าอัสสกะจักเป็นโคดำ ออกจากทัพทั้งของเข้าชนกันให้เห็นอยู่ข้างหน้า แต่จะเห็นเฉพาะแต่พระเจ้ากาลิงคะ และพระเจ้าอัสสกะเท่านั้น เมื่อโคทั้งสองชนกัน โคดำจะเป็นฝ่ายแพ้ ประจักษ์แน่ว่าพระเจ้ากาลิงคะจะต้องมีชัย

“สาธุ” เมื่อนันทเสนเปล่งวาจาด้วยความดีใจ ขอบพระคุณพระโพธิสัตว์เจ้าที่ได้กรุณาแจ้งให้ทราบแล้ว ก็รีบกลับพระนคร ตรึกตรองหาอุบายได้ดีแล้ว ก็เรียกประชุมทหารหาญทั้งหมด ซึ่งได้อบรมให้มีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติไว้แล้ว กล่าวขึ้นว่า ผู้ใดบ้างยินดีจะพลีชีวิตเพื่อรักษาประเทศชาติและพระมหากษัตริย์ที่รักของตน เพราะเวลาจำเป็นต้องใช้ชีวิตทหารหาญ ๑ พัน เพื่อป้องกันประเทศโดยเร็ว พอสิ้นคำประกาศของขุนพลผู้บงการทัพทหารหาญที่ยินดีพลีชีวิตก็เดินออกมาเผชิญหน้ากับขุนพลแสดงความประสงค์เกินจำนวนที่ต้องการทันที

นันทเสนปลื้มใจมากร้องลั่นว่า ท่านทั้งหลาย ชัยชำนะต้องเป็นของเราๆ แล้ว นำทหาร ๑ พันคนขึ้นไปบนภูเขาสูงโดยด่วน ครั้นถึงปากเหวแห่งหนึ่ง แล้วก็หยุดยืนผินหน้ามาทางทหาร แล้วชี้มือลงไปที่ก้อนเหวอันลึกจนแลไม่เห็นพร้อมกับกล่าวว่า น้องชายทุกคน นี่เป็นที่รองรับชีวิตที่ทุกท่านพลีให้ เพื่อประเทศของเราได้ดำรงไว้ซึ่งความเอกราช ทุกท่านจงกระโจนลงเหวนี้ ในบัดนี้เถิด

ในทันใดนั้น ทหารทั้งพันก็บันลือลั่นว่า โปตละนครจงเจริญ! พระเจ้าอัสสกะจงเจริญ! แล้วก็เดินตรงเข้าไปทำความเคารพขุนพลของเขา ซึ่งยืนสง่าอยู่ตรงหน้าเพื่ออำลงลงสู่ก้นเหว ด้วยกำลังใจที่เปี่ยมด้วยความยินดีที่เสียสละชีวิต

“หยุดก่อน! น้องชาย” นันทเสนร้องลั่น “น้องชาย หยุดก่อน!” พอแล้ว เราเห็นใจในพฤติการณ์ของทุกท่านแล้ว ในนามของประเทศที่รัก และในนามของพระเจ้าอัสสกะผู้นำประเทศ เราขอขอบใจน้ำใจอันงามของทุกท่าน ท่านทั้งหลายเอ๋ย เราจะมาโดดลงเหวให้ตายเปล่าเพื่อประโยชน์อันใด นันทเสนขอโทษทุกท่าน และขอบอกท่านว่าเราทำดั่งนี้เพื่อหยั่งดูน้ำใจของทุกท่านเท่านั้นว่าเราพร้อมที่จะเอาชัยชำนะหรือยัง จะจริงดังปากหรือไม่ บัดนี้เราประจักษ์แก่ตาแล้ว ดังนั้นมาเถิดน้องชาย มาไปยังกองทัพจับอาวุธร่วมกันตะลุยขับทหารกาลิงคะให้แล่นไปนอกแคว้นอัสสกะ ว่าแล้วนันทเสนก็นำทหารลงจากภูเขากลับเข้าพระนคร มอบดาบธนูคู่มือพร้อมด้วยหอกซักขัดหลังประจำทุกคน เตรียมตัวเข้าบุกทัพกาลิงคะในวันรุ่งขึ้น

ในราตรีวันนั้น นันทเสนจึงเข้าเฝ้ากราบทูลให้พระเจ้าอัสสกะเตรียมองค์เพื่อเป็นจอมทัพ นำทหารเข้าต่อยุทธด้วยทัพพระเจ้ากาลิงคะยังสมรภูมิด้วยความอดทน ด้วยความพยายามฝึกหัด และด้วยความเพียรใส่ใจตรวจตรา ให้ทหารมั่นอยู่ในวินัยทหาร กองทัพของโปตละนคร โดยขุนพลนันทเสนผู้บงการจึงเข้มแข็ง ทั้งทหารทุกคนร่าเริงยินดีสละชีพเพื่อชิงชัยเสมอกัน

ครั้นทัพทั้งสองประชิดขึ้นแล้วที่สมรภูมิ รอสัญญาณที่จะรุกเข้าโรมรันกัน นันทเสนให้สัญญาณแก่ทหารหาญเตรียมหอกซัดประจำมือ แล้วกระทืบโกลนขับม้าเข้าชิดม้าพระที่นั่งพระเจ้าอัสสกะ ทูลถามว่า พระองค์ทอดพระเนตรเห็นโคเผือกออกจากทัพพระเจ้ากาลิงคะหรือเปล่า? และเห็นโคดำออกจากกองทัพของพระองค์เพื่อเข้าชนกันหรือยัง?

“กำลังทีเดียว นันทเสน” พระเจ้าอัสสกะทรงรับสั่งโคเผือกกำลังย่างเหยาะออกมาอยู่โน่นแล้ว และโคดำของเราก็กำลังย่างออกเช่นกัน

“เร็วเถิด ฝ่าพระบาท” นันทเสนทูลโดยด่วน ขอพระองค์เร่งขับม้าพระที่นั่งให้เข้าใกล้โคเผือกนั้น แล้วประหารด้วยพระแสงหอก อย่าได้พัก จนกว่าโคเผือกนั้นจะล้มลงขาดใจตาย เพื่อชิงเอาชัยมาไว้เป็นของพระองค์ พระเจ้าอัสสกะจังมิได้รอช้า ทรงขับม้าพระที่นั่งเข้าแทงโคเผือกตามอุบายของขุนพลทันที

เนื่องจากทหารหาญทั้งพันคนนั้น มั่นอยู่ในคำสั่งของขุนพลที่รักของเขา แม้ตนเองจะไม่เห็นโคเผือกก็ตาม สุดแต่ว่า เมื่อเห็นพระเจ้าอัสสกะพุ่งพระแสงหอกลงที่ไหนก็พากันซัดหอกของตนๆ ทั้งพันเล่มลงที่นั้น เมื่อเป็นดังนี้โคเผือกผู้นั้นก็สุดที่จะหลบหลีกหอก ๑๐๐๑ เล่มได้ เพียงหอกอีกหนึ่งพันเล่ม ตามหอกพระเจ้าอัสสกะลงไป ครั้งที่สองเท่านั้น ร่างโคเผือกก็เต็มด้วยหอก สุดที่จะทรงตัวและทันใดนั้นก็ล้มลงขาดใจตาย

ขณะที่พระเจ้าอัสสกะ พร้อมเหล่าทหารร่วมมือกันรุมล้างโคเผือกผู้อยู่ พระเจ้ากาลิงคะกลับทรงเห็นเป็นของขัน ที่พระเจ้าอัสสกะคุมทหารตั้งพันประหารโคเผือกซึ่งพระองค์มิได้ทรงทราบว่า ที่แท้โคเผือกนั้นเป็นอารักขเทวดาประจำทัพพระองค์ ยิ่งเหล่าทหารกาลิงคะผู้มิได้มองเห็นโคด้วยคงเห็นแต่พระเจ้าอัสสกะ จอมทัพนำเหล่าทหารรุมกันแทงแผ่นดิน ประหนึ่งว่าจะทำพิธีปราบพื้นสมรภูมิ ก็ยิ่งพากันขบขันมาก เพราะไม่เคยเห็นกษัตริย์องค์ใดทำกัน แย่งกันชะเง้อคอมองจนลืมตัวว่าตนกำลังอยู่ในสมรภูมิ ซึ่งได้ประชิดกันขึ้นแล้ว เป็นการเปิดช่องโหว่ให้ทหารอัสสกะบุกได้ถนัด

ครั้นพระเจ้าอัสสกะเห็นโคเผือกสิ้นใจแล้วก็รั้งม้าพระที่นั่งไว้ พลางร้องบอกนันทเสนว่า ไม่ต้องซ้ำ โคเผือกผู้นั้นก็สิ้นลมปราณแล้วละ นันทเสน!

ชัยชำนะเป็นของพระองค์แล้ว นันทเสนร้องถวายพระพรชัย แล้วให้สัญญาณนำทหารทุกเหล่าเข้าบุกตะลุยทัพกาลิงคะโดยด่วน ไม่พักให้ทหารกาลิงคะกลับเข้าประจำหน้าที่ทั่วถึงกัน

ทหารกาลิงคะประมาท หวังโชคลาภที่อยู่ไกลมือ กระหยิ่มในชัยชำนะที่เทวดาบอก อันจะหยาดฟ้าลงมาสู่มือ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามกระทำ จึงตกเป็นบุคคลทีหลัง คือจะได้ต่อเมื่อคนที่มีความพยายามดีไม่ต้องการแล้ว

ธรรมดาโชคลาภ ย่อมมาสู่คนที่มีความเพียรเท่านั้น เนื้อที่ไหนจะวิ่งเข้ามาปากเสือ แม้โชคจะเป็นของเสือก็เพียงนำให้พบเนื้อโดยบังเอิญเท่านั้นแหละ

เพราะฉะนั้น ทหารกาลิงคะผู้หลงละเมอคอยโชค ขาดการรักษาหน้าที่ของตน ก็เท่ากับรั้วเปิดประตูให้ทหารอัสสกะเข้ามาโจมตีทุกด้าน ที่สุดก็สิ้นกำลังจะต่อต้าน ล้มตายมากกว่ามาก ที่เหลือก็แตกกระจัดกระจาย บ่ายหน้ากลับกาลิงคะโดยไม่เหลียวหลัง แม้พระเจ้ากาลิงคะก็แทบจะเอาพระองค์ไม่รอด ทั้งนายทัพนายกองหนีพลางด่าพระโพธิสัตว์พลางว่า เฮ้ย! อ้ายดาบสถ่อย มึงทรงเพศพรหมจรรย์แล้วยังโป้ปดกูได้ว่า พระเจ้ากาลิงคะจะมีชัย ส่วนความปราชัยจะได้แก่พระเจ้าอัสสกะ อันธรรมดาคนดีมีใจซื่อตรง ย่อมมีถ้อยคำมั่นคง ไม่กล่าวเท็จเลย

พระโพธิสัตว์น้อยใจในคำบริภาษของพระเจ้ากาลิงคะมาก ที่ต้องเสียเกียรติเพราะโทษกล่าวตามคำของท้าวสักกะเทวราช ต้องพลอยได้รับบาป ประหนึ่งว่าเสียสัตย์ไม่สมแก่อิสิเพศ ครั้นล่วงมาอีก ๒-๓ วัน ท้าววชิรปราณีเสด็จมายังอาศรม พระโพธิสัตว์จึงต่อว่าด้วยความน้อยใจ โดยไม่ไว้หน้าว่า  ดูก่อน ท้าวสักกะ อันชาวสวรรค์ชั้นฟ้านั้น ยังพอใจกล่าวเท็จกันอยู่หรือ? อาตมาขอถามพระองค์ว่า แท้จริงพระองค์ควรจะแย้มพรายแต่คำจริงที่สุด แต่ไฉนพระองค์ผู้เป็นจอมแห่งเทพเจ้าจึงกล่าวคำเท็จ เพราะอาศัยอะไร คำใดที่พระองค์ตรัสว่า พระเจ้ากาลิงคะจะมีชัย ส่วนปราชัยจะได้แก่พระเจ้าอัสสกะ คำนั้นเท็จ

เพราะคำเท็จของพระองค์ ทำให้อาตมามีวาจาเท็จไปด้วย

เป็นความจริงเหลือเกิน ที่ปราชญ์กล่าวไว้ว่า คบคนใดย่อมเป็นเหมือนคนเช่นนั้น ดูเถอะ! แม้แต่คบกับเทพยเจ้าชาวสวรรค์ก็ไม่วายที่จะกลายเป็นคนเท็จตาม

ท้าวสักกะทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์ ที่ตัดพ้อด้วยอารมณ์ขุ่นดังนั้น จึงตรัสเล้าโลมเอาใจดาบสว่า ธรรมดาดาบสย่อมมีวาจาดี ดังนั้นอาศรมของฤๅษีจึงเป็นที่รื่นรมย์ของกัลยาณชน ตลอดจนเทพเจ้าก็พากันมาเยือน

ปรกติสมณะย่อมละความรำคาญ หาความสำราญด้วยความสงบ จากการอยู่ในที่สงัด ดังนั้นสมณะจึงประพฤติเรียบร้อยเยือกเย็น ผู้รู้กล่าวว่า การเห็นท่านเป็นมงคล

ข้าแต่ท่านพระโยคี ท่านก็ได้ยินอยู่แล้วมิใช่หรือ เมื่อเขาพูดกันอยู่ว่า
เทวา น อิสฺสนฺติ ปุรสปรกฺกมสฺส เทวดาจะเกียดกันความบากบั่นของมนุษย์ไม่ได้ฯ  

เพราะความข่มจิต ๑  ความตั้งใจแน่วแน่ ๑ ความไม่แตกสามัคคี ๑ ความไม่แก่งแย่ง ๑ การรุกให้ถูกแก่เวลา ๑ ความเพียรที่มั่นคง ๑ ความบากบั่นอย่างลูกผู้ชาย ๑ มีอยู่พร้อมแก่ฝ่ายพระเจ้าอัสสกะ  ดังนั้นพระเจ้าอัสสกะจึงมีชัยฯ

ครั้นพระเจ้ากาลิงคะเสด็จหนีไปแล้ว พระเจ้าอัสสกะจึงรับสั่งให้เก็บเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ ตลอดทรัพย์สมบัติซึ่งตกค้างอยู่ในกองทัพ ขนเข้าพระนครสิ้นเชิงฯ แล้วพระราชทานรางวัลชัยชำนะแก่บรรดาทหารทั้งหลาย นับแต่ขุนพลเป็นต้นไปจนคนสุดท้าย พร้อมกับโปรดให้มีงานฉลองชัยชำนะอย่างมโหฬาร ให้ประชาชนชื่นบานชมเชยในบุญบารมีของพระองค์

ต่อมา ขุนพลนันทเสน จึงส่งสาส์นไปถวายพระเจ้ากาลิงคะยังทันตะปุระนครว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นราชาธิบดีแห่งชมพูทวีป พระเจ้าอัสสกะแห่งโปตละนคร ขอถวายบังคมมาแทบพระยุคลบาทของพระองค์ และทูลขอพระราชทานพระราชทรัพย์อันเป็นส่วนที่พระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ จะทรงได้รับจากพระองค์ ซึ่งแน่พระทัยว่าพระองค์จะยังทรงเสน่หาปราณีในฐานะเป็นราชธิดา ทั้งในฐานะที่เป็นพระมเหสีของพระเจ้ากรุงอัสสกะ ซึ่งทรงส่งไปพระราชทานแล้ว และชาวอัสสกะก็ได้พากันเทิดทูนให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระเจ้าแม่ของชาวอัสสกะ ซึ่งเป็นฐานันดรที่มีเกียรติอย่างสูง และพระองค์จะยังทรงพระเมตตารักษาพระราชไมตรีแห่งพระนครทั้งสองไว้สืบเนื้อเชื้อสายให้เจริญ จนกว่าจะอวสานของโลก

หากพระองค์จะยังทรงผูกพระทัยขุ่นอยู่ ไม่ทรงส่งพระราชทรัพย์ไปประทานเพื่อเฉลิมเกียรติพระราชธิดาแล้ว ชาวอัสสกะจะลงเนื้อเห็นว่า พระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นั้นไม่ใช่พระราชธิดาของพระองค์จริง จักเป็นหญิงที่ปลอมแปลงแต่งขึ้นลวง ก็จะพร้อมกันเปลื้องปลดลดฐานันดรลงเป็นหญิงคนใช้เสีย จักเป็นการล้างพระเกียรติของพระธิดาตลอดพระองค์ด้วยความจำใจ แต่ก็ต้องจำทำ ทำเพื่อรักษาไว้ซึ่งมติของประชาราษฎร์โดยเฉพาะ

เมื่อพระเจ้ากาลิงคะทรงรับสาส์นนั้นแล้ว ก็ตกพระทัย เกรงภัยจะพึงมีแก่พระราชธิดาและแก่เกียรติยศของพระองค์ จึงรับสั่งให้ส่งพระราชทรัพย์ที่พระราชธิดาควรจะได้ทั้งสิ้น ไปพระราชทานแก่พระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ยังโปตละนคร ทั้งนี้ทั้งนั้นสำเร็จด้วยความเพียรและความสามารถของนันทเสน ขุนพลอัสสกะรัฐผู้เดียว

ต่อนั้นมากษัตริย์ทั้งสองพระนคร ก็สมัครสโมสรสามัคคี เจริญพระราชไมตรีปกครองพระนครเป็นสุขสืบมา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มิถุนายน 2560 16:14:49 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.508 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 15 เมษายน 2567 17:09:26