เจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา
สถูปเจดีย์ คือหลุมฝังศพสมัยก่อนพุทธกาลในอินเดีย คำว่าเจดีย์ มาจากภาษาบาลีว่า เจติยะ (Cetiya) แปลว่าสิ่งที่ควรเคารพบูชา มีอีกคำที่มักเรียกควบคู่กันคือ สถูป (Stupa) เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า เนินดินที่ฝังศพ
สถูป-เจดีย์ในสมัยแรกของชมพูทวีป คือเนินเหนือหลุมศพเป็นรูปกลมพร้อมก่อแนวคันล้อมด้วยหินเพื่อแสดงขอบเขตของเนินให้ชัดเจน ใจกลางเนินคือหลุมที่ขุดลึกลงไปแล้วก่อห้องเล็กๆเพื่อบรรจุศพพร้อมเครื่องบูชา พบหลักฐานหลุมศพก่อนประวัติศาสตร์แบบนี้ตั้งแต่ราว ๔,๐๐๐ ถึง ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว เช่นที่แหล่งโบราณคดีพรหมคีรี (Brahmagiri) ในอินเดียภาคใต้
ถึงสมัยพุทธกาล คัมภีร์มหาปรินิพพานสูตรกล่าวว่าบุคคลผู้มีค่าควรแก่การสร้างสถูปให้มีสี่จำพวก คือ พระตถาคต พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์และพระจักรพรรดิราช แสดงว่าความเชื่ออินเดียโบราณนั้นสถูปเป็นที่ฝังศพของบุคคลชั้นสูงพร้อมสิ่งของบูชาไว้รวมกัน
เนินดินฝังศพย่อมประดับประดาด้วยเครื่องตกแต่งแสดงฐานันดรของผู้ถูกฝังอยู่ เช่น ปักฉัตรหรือร่มหลายชั้นไว้บนยอดเนิน สร้างรั้วล้อมแสดงอาณาเขต แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนเท่ากับช่วง พ.ศ.๒๐๐-๓๐๐ คือราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะที่เริ่มก่อสร้างศาสนสถานด้วยถาวรวัตถุ จึงเริ่มมีสถูปหลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ เช่นที่สาญจี (Sanchi) ซึ่งยังเห็นได้ว่ายังเน้นส่วนเนินดินที่เป็นรูปกลมหรืออัณฑะ (Anda) มีฉัตรปักบนยอดและล้อมฉัตรด้วยรั้วสี่เหลี่ยมเรียกว่า หรรมิกา (Harmika) ส่วนที่บรรจุกระดูกพร้อมเครื่องบูชาก็กลายมาเป็นห้องกรุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (Relics chamber) นั่นเอง
สถูปเจดีย์ของอินเดียโบราณแพร่กระจายไปทั้งชมพูทวีปในราว พ.ศ.๕๐๐-๘๐๐ เช่นแคว้นอมราวดีอินเดียภาคใต้และยังเลยลงไปพร้อมกับการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในเกาะลังกาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม
ราว พ.ศ.๑๑๐๐ อินเดียติดต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับนำศาสนาฮินดู-พุทธเข้ามา มีการสร้างสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมทวารวดี ซึ่งบางแห่งขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ภายใน เช่น เจดีย์หมายเลข ๑ เมืองคูบัว ราชบุรี
ช่วง พ.ศ.๑๗๐๐ เป็นต้นมา พุทธศาสนาจากลังกาได้รับความนิยมขึ้นแทน สถูปเจดีย์แบบลังกาจึงเริ่มสร้างกันมากขึ้นทั้งในพม่า กัมพูชาและดินแดนไทย ต่อไปจะนิยมเรียกกันว่าเจดีย์ทรงระฆัง เพราะมีพัฒนาการจนทรวดทรงเพรียวเหมือนระฆัง ซึ่งจะสร้างกันแพร่หลายต่อมาจนปัจจุบัน
ด้วยเหตุที่ต้นเค้าของเจดีย์มาจากเนินฝังศพ สอดคล้องกับการปลงศพแบบดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือฝังร่างคนตายพร้อมเครื่องเซ่นไว้ในหลุมศพ จึงไม่น่าแปลกที่พุทธศาสนายุคแรกเข้ามายังสุวรรณภูมิสามารถกลมกลืนกับความเชื่อดึกดำบรรพ์ทำให้ผู้คนแถบนี้ยอมรับศาสนาจากอินเดียอันเป็นเครื่องมือสำหรับเชื่อมโยงการติดต่อค้าขายและทำให้บ้านเมืองใหญ่ขึ้นถึงระดับรัฐในระยะต่อมาหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พรหมคีรี (
Brahmagiri) อินเดียภาคใต้
เป็นเนินดินรูปกลมมีห้องไว้ศพพร้อมเครื่องบูชา อันเป็นต้นเค้าของสถูปเจดีย์ในพุทธศาสนา
(ภาพจาก
Archaeological Survey of India,Archaeological remains monuments and museums part I)
สถูปสาญจี อายุราว พ.ศ.๒๐๐-๓๐๐ เป็นเจดีย์ยุคแรกๆที่มีหลักฐานชัดเจน ประกอบด้วย
ทรงกลมขนาดใหญ่ที่มาจากเนินดินหลุมศพ ปักฉัตรและล้อมรั้วด้านบนแสดงฐานันดรว่า
เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า (ภาพจาก ผศ.ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี)
เจดีย์ประธานทรงระฆังของวัดพระศรีสรรเพชญ อยุธยา สร้างช่วง พ.ศ.๒๐๓๕ รูปแบบ
ที่สืบมาจากอินเดียโบราณผ่านเวลายาวนานนับพันปี คือองค์ระฆังที่กลายมาจากเนินรูปกลม
บัลลังก์เหลี่ยมและยอดแหลมที่พัฒนามาจากฉัตรซ้อนชั้นที่ปักบนเนินดิน
สุวรรณภูมิสโมสร/ศุกร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕
ประภัสสร์ ชูวิเชียร