[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 18:36:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยอริยะ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร  (อ่าน 3771 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 06 มีนาคม 2560 16:30:03 »






“เมื่อได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต สองสามคืนที่ได้รับเสียงธรรมเข้าสู่จิต
แสงสว่างแห่งปัญญาก็บังเกิดขึ้นในใจอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างอะไรกับดอกไม้เบ่งบานรับแสงตะวันฉะนั้น
ปีติสุขอันล้ำลึกเกิดขึ้น และบอกแก่ใจตนเองว่า เราได้พบครูที่ยิ่งใหญ่แล้ว”

พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
--------------------------------

ตามรอยอริยะ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
วัดภูริทัตตถิราวาส บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร


พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นศิษย์พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระผู้ให้กำเนิดวิปัสสนากรรมฐานในภาคอีสาน แต่พระอาจารย์มั่นได้รับการยกย่องว่าเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระองค์สำคัญแห่งแผ่นดินที่ราบสูง ผู้เป็นดวงแก้วอันสว่าง สะอาด สงบ เปรียบเสมือนดอกบัวสีขาวอันบริสุทธิ์ ที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแผ่ธรรมะและอบรมสั่งสอนวิปัสสนากรรมฐาน และมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ของประเทศไทย

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต คือใคร? มีอะไรที่วิเศษกระนั้นหรือ?
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านไม่ใช่พระนั่งทางใน หลับตาหาตัวเลขไว้แจกโพยนักเลงหวย มิใช่พระนั่งหลับตาเชื่อมโลกวิญญาณแห่งภูติผีปีศาจ ท่านมิใช่พระเกจิอาจารย์ผู้เรืองฤทธิ์วิทยาคมที่สามารถเสกอิฐปูนและโลหะไว้แจกญาติโยม  พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านเอาใจของท่านเป็นประธาน เอาใจเป็นหนึ่ง ใช้สติปัญญาที่ประกอบด้วยธรรมเป็นอาวุธดุจพระขรรค์ รุกรบกับกิเลสที่เปรียบประดุจข้าศึกที่มองไม่เห็นตัว ปราบกิเลสในจิตใจของตนเอง เอาชนะใจตนเองทั้งในเบื้องต้น ในท่ามกลาง และในบั้นปลายได้อย่างองอาจกล้าหาญ จนบังเกิดแสงสว่างทางปัญญาวิมุตติ  มีวิญญาณโพธิสัตว์ที่เผื่อแผ่เมตตาไปสู่เพื่อนมนุษย์ ประกาศสัจธรรมอันบริสุทธิ์ให้สว่างจ้าอยู่กลางใจศิษยานุศิษย์และพุทธบริษัททุกรูปนามเสมอกัน  ด้วยเหตุดังว่ามานี้ วันเผาศพพระอาจารย์มั่น จึงไม่มีสิ่งที่เป็นน้ำ ไม่มีเปลือก ไม่มีกระพี้ (หมายถึงไม่มีวัตถุมงคลใดๆ แจก) มีแต่ “อนุสติ ๑๐”   มรดกธรรมอันวิเศษ  ที่ฝากไว้ให้พุทธบริษัท ผู้เป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไว้พิจารณาเนืองๆ

พระพุทธศาสนานิกายธรรมยุต (ธรรมยุตินิกาย) ได้แผ่เข้ามาในดินแดนอีสาน โดยพระอาจารย์ดี พนฺธุโล พระภิกษุชาวจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้ไปศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเทพมหานคร และเคยปฏิบัติธรรมร่วมกับวชิรญาณภิกษุ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระสมณเพศเป็นพระภิกษุในสมัยรัชกาลที่ ๓) พระอาจารย์ดี ได้นำคำสอนและแนวทางปฏิบัติของพระธรรมยุติกนิกายมาเผยแผ่ที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานีเป็นแห่งแรก แต่พระพุทธศาสนาธรรมยุติกนิกายได้รับการฟื้นฟูและปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ท่านได้ธุดงค์ไปในป่าเขาที่เงียบสงัดเป็นเวลาหลายพรรษา จึงกลับมาตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้นที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี มีลูกศิษย์ที่มีบทบาทสำคัญและเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือกันว่าได้บรรลุธรรมขั้นสูงเป็นรูปแรก คือ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จึงกล่าวถึงประวัติของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และผลงานการเผยแผ่ธรรมะตลอดระยะเวลากว่า ๕๐ ปีที่อยู่ในสมณเพศ

ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต (มั่น แก่นแก้ว) เป็นบุตรของนายคำด้วง แก่นแก้ว และนางจันทร์ แก่นแก้ว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๑๓ ตรงกับเดือนยี่ ปีมะแม ที่บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๙ คน ได้ถึงแก่กรรมไปก่อน ๗ คน คงเหลือเพียง ๒ คน ท่านเป็นคนหัวปี

ท่านเป็นคนร่างสันทัด หน้าตาคมสัน ผิวค่อนข้างขาว เป็นคนกระตือรือร้นทำอะไรว่องไวไม่อืดอาด เป็นปิยบุตรให้พ่อแม่เย็นอกเย็นใจ

เมื่อปฐมวัย ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือภาษาไทย-ไทยน้อย และขอมจากผู้เป็นอา ซึ่งท่านสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว แสดงถึงเป็นผู้มีสติปัญญา ได้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์และนวนิยายภาคอีสานอันแสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างแตกฉาน นับเป็นการเริ่มต้นการศึกษาทางโลกของท่านซึ่งสิ้นสุดเพียงแค่นั้น

เนื่องด้วยอุปนิสัยของท่านน้อมไปในทางธรรม ครั้นเติบโตช่วยครอบครัวทำมาหากินได้ไม่นาน ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๕ ปี ที่วัดบ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของท่าน จนถึงอายุ ๑๗ ปี บวชจำพรรษาได้เพียง ๒ ปี ก็มีอันต้องลาสิกขาบท เพื่อช่วยพ่อแม่ทำนาทำไร่ สาเหตุก็เพราะนายคำด้วงผู้พ่อขอร้องให้สึกออกมาเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ด้วยฐานะไม่ใคร่จะดีเท่าไร

การครองชีวิตฆราวาสในช่วงนี้ ท่านก็ยังระลึกถึงเรื่องการบวชอยู่เสมอ เมื่อศรัทธาและกระแสบุญแรงกล้ามากขึ้น จึงขออนุญาตบิดามารดาลาบวชอีกครั้ง เพราะได้ช่วยสร้างหลักปักฐานไว้ให้ครอบครัวมั่นคงพอสมควรแล้ว ประกอบกับพ่อแม่เห็นว่าอายุของท่าน ๒๒ ปี ครบเกณฑ์จะต้องบวชเรียน จึงได้อนุญาตตามปรารถนา  

นายมั่น แก่นแก้ว จึงได้อุปสมบทเข้าสู่ร่วมกาสาวพัสตร์ในพระพุทธศาสนาอีกเป็นครั้งที่สองเมื่ออายุ ๒๒ ปี ในวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ ที่วัดศรีทอง ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีท่านเจ้าคุณพระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยฺเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์ อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์  ได้นามฉายาว่า ภูริทตฺโต (ภูริทัตโต) แปลว่า ผู้ให้ปัญญา ซึ่งในกาลต่อมาอริยาจารย์ท่านนี้ก็ได้กลายเป็นผู้ให้ปัญญาแก่พุทธศาสนิกชนตามนามมงคลนี้จริงๆ

อุปสมบทแล้วท่านได้พำนักศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ที่วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี  ท่านเป็นผู้มีความเพียรเป็นนิตย์ ศีลาจารวัตรก็เรียบร้อยงดงาม ไม่ชอบอยู่นิ่ง ใฝ่หาความหนทางพ้นทุกข์ และความก้าวหน้าในทางธรรมอยู่เสมอ จึงได้รับความเมตตาจากพบรรพชาจารย์เป็นอันมาก

ท่านเป็นศิษย์ที่ไม่กลัวครู เข้าหาผู้สอนอยู่เสมอ พระอาจารย์ก็สอนธรรมวินัย  อาจาริยวัตร อุปัชฌายวัตรมิว่างเว้น บางครั้งท่านก็ไปหาความรู้เพิ่มเติมที่วัดบูรพารามในเมืองอุบาล จนภูมิรู้พอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ปฏิบัติธรรมโดยเน้นความเพียรทางใจ ชอบอยู่ลำพังองค์เดียว การปฏิบัติธรรมของท่านได้เที่ยวจาริกไปในพื้นที่ต่างๆ ตามป่าเขาในภาคอีสาน ได้แก่ เขตจังหวัดสกลนคร นครพนม อุดรธานี หนองคาย และจังหวัดเลย ภาคกลางแถบจังหวัดลพบุรีและนครนายก ส่วนภาคเหนือแถบจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และอุตรดิตถ์ เป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี (พ.ศ.๒๔๗๒-๒๔๘๓) นอกจากนี้ ท่านยังได้ติดตามพระอาจารย์เสาร์ กนตฺสีโล พร้อมสามเณรอีกรูปหนึ่ง ไปหาที่บำเพ็ญธรรมตามป่าเขาลำเนาไพรเลียบฝั่งโขงไปเรื่อยๆ จนพากันข้ามเข้าไปในเขตประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แถบเมืองท่าแขก ซึ่งอยู่ทางฝั่งซ้ายของเกาะอินโดจีน เวียงจันทน์ และหลวงพระบาง ที่ตรงนี้เป็นป่าน่าอยู่ แม้จะมีสิงสาราสัตว์ชุกชุม แต่ทั้งอาจารย์และศิษย์คิดว่าจะช่วยให้ได้พบความสงบใจสงบกิเลสได้ จึงจำพรรษาอยู่ที่นั่นทั้ง ๓ รูป รวม ๓ พรรษา  

วินาทีบรรลุธรรม
เมื่อครั้งที่พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จำพรรษาอยู่ที่วัดสระปทุม กรุงเทพมหานคร ท่านได้ศึกษาเพิ่มเติมกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แห่งวัดบรมนิวาสโดยสม่ำเสมอ

ต่อมา ท่านได้พบเพื่อนสหธรรมิกชื่อมั่นเหมือนกับท่าน ภายหลังได้เป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ ทั้งสองคนได้ตกลงใจร่วมกันว่าจะอุทิศชีวิตให้กับพระพุทธศาสนาจึงออกเดินธุดงค์แสวงหาที่วิเวก เดินข้ามภูเขาข้ามไปยังประเทศพม่า จำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์บนภูเขาแห่งหนึ่งในเมืองมะละแหม่ง และได้บำเพ็ญเพียรเจริญสมถและวิปัสนากัมมัฏฐานที่นี่  ณ ค่ำคืนระหว่างปฏิบัติกัมมัฏฐาน จิตก็ส่งกำลังสว่างไสว สิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมา คือมีอาการสั่นสะเทือนขึ้นทั้งภูเขา ดูรู้สึกเหมือนกับว่าภูเขาลูกที่นั่งอยู่นั่นจะพลิกคว่ำ ซึ่งขณะนั้นกำลังนั่งหลังตาทำสมาธิอยู่อย่างได้ผล บางครั้งได้ยินเหมือนเสียงต้นไม้หักเป็นระนาวทีเดียว อากาศเป็นเหมือนกับมืดลมมืดฝน เป็นลักษณะที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง เกือบจะทำให้ต้องลืมตาออกมาทีเดียว

ท่านได้พิจารณาเป็นอนุโลมิกญาณในอริยสัจธรรม พร้อมกับเหตุอันน่าสะพรึงกลัวนั้นก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ นานเท่าใดไม่อาจทราบได้ ท่านได้กำหนดสติอย่างมั่นคง และได้คำนึงถึง “สติ” นี้เป็นอย่างดี ชัดแจนขึ้นอย่างยิ่งว่า “สติอันที่จะเรียกได้ว่ามีกำลังนั้นต้องมาต่อสู้และผจญภัย” เพื่อเป็นการทดสอบว่าจะเกิดความหวั่นไหวต่อเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอก จะยังคงพิจารณาอยู่กับร่องรอยได้หรือไม่ ท่านพิสูจน์ว่า ความหวั่นไหวแห่งสติในขณะนั้นไม่มีเลยท่านไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์เหล่านั้น สติยังทรงพลังและยังรักษาระดับการพิจารณา อันเป็นอนุโลมิกญาณได้อย่างปกติ   ณ ที่นั้น การที่เกิดความมหัศจรรย์เช่นนี้ต้องถือว่าเป็นอันตรายต่อการบำเพ็ญจิตขั้นละเอียดเป็นที่สุด เพราะถ้าเสียทีตกใจลืมตาหรือสติอ่อนจะผ่านขั้นนี้ไม่ได้เลย


ปรารภละสังขาร
ในบั้นปลายชีวิต ท่านได้มาอยู่ที่วัดบ้านป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ตลอดเวลา ๕ ปี ที่นี่ท่านได้วางแผนงานสุดท้ายให้แก่ศิษย์อย่างสมบูรณ์  ครั้นถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๙๒ (ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔) ท่านเริ่มอาพาธ อาการหนักขึ้นทุกๆ วัน ไม่บรรเทาเบาบาง อยู่มาวันหนึ่งค่อยยังชั่วขึ้นมาบ้าง แต่ท่านก็ไม่ยอมฉันอะไรเลย ไม่ว่ายาหรืออาหาร ท่านปฏิเสธหมด ท่านบอกว่า “ต้นไม้ที่มันตายยืนต้นอยู่แล้ว จะเอาน้ำไปรดเท่าไรจะให้มันเกิดใบอีกไม่ได้หรอก อายุของเรามันก็ถึงแล้ว...ชีวิตของเราใกล้สิ้นแล้ว ให้รีบส่งข่าวไปบอกแก่คณาจารย์ที่เป็นศิษย์เราทั้งใกล้และไกลให้รีบมาประชุมกันที่บ้านหนองผือนี้ เพื่อจะได้มาฟังธรรมเป็นครั้งสุดท้าย

ลูกศิษย์ลูกหาได้กระวีกระวาดติดต่อกันอย่างรีบด่วน เมื่อศิษย์ทั้งหลายมาพร้อมหน้า ท่านได้ลุกขึ้นนั่งแสดงธรรมครั้งสุดท้าย ตรงกับวันมาฆบูชา (วันเพ็ญเดือน ๓) พ.ศ.๒๔๙๒ ตั้งแต่เวลา ๒๐.๐๐-๒๔.๐๐ นาฬิกา เน้นใจความสำคัญของศีลที่บริสุทธิ์ตามโอวาทปาติโมกข์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า “การปฏิบัติจิตถือเป็นเรื่องสำคัญ การทำจิตให้สงบถือเป็นกำลังการพิจารณาอริยสัจ ถือเป็นการถูกต้อง การปฏิบัติข้อวัตรมีการฉันหนเดียวเป็นต้นนี้ ผู้เดินผิดทางย่อมไม่ถึงที่หมาย คือพระนิพพาน” เมื่อเทศนาจบแล้วท่านได้กล่าวว่า “เทศน์นี้เป็นเทศน์ซำเฒ่า” คือเทศน์ตอนแก่ ต่อไปจะไม่ได้เทศนาธรรมเป็นเวลานานเช่นนี้อีกแล้ว”

ชาวบ้านนิมนต์ให้มรณภาพที่บ้านหนองผือ
ชาวบ้านนิมนต์ให้ท่านพระอาจารย์มั่น มรณภาพที่บ้านหนองผือแต่ท่านบอกว่า
“เราจะไม่มรณภาพที่นี่ (วัดหนองผือ) เพราะถ้าเราตายที่นี่แล้ว คนทั้งหลายจะพากันมามาก จะพากันฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าสัตว์ทั้งหลาย เนื่องด้วยศพของเรา จะทำให้ชาวบ้านเป็นบาป สมควรที่จะจัดให้เราไปมรณภาพในจังหวัดสกลนครเถิด”

“นับแต่เราบวชมาไม่เคยคิดให้สัตว์ได้รับความลำบากเดือดร้อน โดยไม่ต้องพูดถึงการฆ่าเขาเลย มีแต่ความเมตตาสงสารเป็นพื้นฐานของใจตลอดมา ทุกเวลาได้แผ่เมตตาจิตอุทิศส่วนกุศลแก่สัตว์ไม่เลือกหน้า โดยไม่มีประมาณตลอดมา เวลาตายแล้วจะกลายเป็นศัตรูแก่สัตว์ให้เขาล้มตายลงจากชีวิตที่แสนรักของแต่ละตัว เพราะเราเป็นต้นเหตุเพียงคนเดียวนั้น เราทำไม่ได้... อย่างไรก็ขอให้นำเราออกไปตายที่สกลนคร เพราะที่นั้นเขามีตลาดอยู่แล้ว คงไม่กระเทือนชีวิตของสัตว์มากเหมือนที่นี่ เพียงเราป่วยยังไม่ถึงตายเลย ผู้คน พระ เณร ก็พากันหลั่งไหลมาไม่หยุดหย่อน และนับวันมากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งพอเป็นพยานอย่างประจักษ์แล้ว”

สานุศิษย์ชาวบ้านได้หามท่านด้วยแคร่ ออกจากบ้านหนองผือ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เมื่อเดือน ๑๒ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา อันเป็นวาระสุดท้ายในชีวิตของท่านที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านหนองผือ ออกสู่ถนนใหญ่เพื่อขึ้นรถยนต์ไปยังวัดป่าสุทธาวาสในตัวจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นวัดที่นางนุ่ม ชุวานนท์ สร้างถวายพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล (พระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น)  เมื่อถึงจังหวัดสกลนคร ประชาชนและคฤหัสถ์ต่างเนืองแน่นรอรับท่านอยู่เต็ม ในที่สุดพระก็ได้อุ้มท่านเข้าสู่เคร่คานหามอีกครั้งเมื่อเวลา ๑๐.๒๐ นาฬิกา ก่อนที่จะขึ้นแคร่ท่านได้พูดกับพระคณาจารย์ที่ยืนออกันอยู่ ณ ที่นั้นว่า “เราจะเข้าญานสงบ” แล้วท่านก็ไม่พูดอะไรกับใครอีกเลย มีผู้คนติดตามไปส่งท่านที่รถเป็นขบวนยาวเหยียดเพื่อไปขึ้นรถยนต์ที่ถนนใหญ่ ซึ่งมีท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี  พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร  พระอาจารย์วัน อุตตโม  พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม  พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ  เจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล)  และสามเณรอำพนธ์ เป็นผู้พยุงท่านไปกับรถ  เวลา ๑๔.๓๐ นาฬิกา รถจอดสงบนิ่งอยู่ในลานวัดสุทธาวาส ก็ได้จัดแจงเข้าพักในกุฏิเป็นที่เรียบร้อย และท่านก็นอนในสภาพปกติ  ส่วนพระคณาจารย์ที่เป็นศิษย์ทั้งหลายก็ได้นั่งประชุมกันอยู่ตลอดเวลา อาการของท่านเป็นปกติอยู่จนกระทั่ง ๒๔.๐๐ นาฬิกา  

เมื่อถึง ๐๑.๐๐ นาฬิกา อาการของท่านผิดปกติขึ้นทันที  พระอาจารย์วัน อุตตโม ผู้ปฏิบัติใกล้ชิดได้รีบแจ้งแก่พระคณาจารย์ทุกองค์ แล้วมาพร้อมกันอยู่ในห้องเพื่อคอยดูอาการ

ครั้นถึงเวลา ๐๒.๒๓ นาฬิกา ชีพจรทั้งหลายก็อ่อนลงทุกทีๆ ถอนขึ้นทุกระยะจนเหลืออยู่แต่ที่หัวใจ และสิ้นลมหายใจ มรณภาพดับขันธ์ด้วยอาการปกติทุกประการ เมื่อเวลา ๐๒.๒๓ นาฬิกา ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤศิจกายน พ.ศ.๒๔๙๒ รวมสิริอายุได้ ๘๖ ปี

สานุศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้อบรมสั่งสอนธรรมะและการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสืบต่อมาจนทุกวันนี้ ศิษย์ที่มีชื่อเสียงในลำดับแรกๆ ได้แก่ พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล), พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่เทศก์ เทสรํสี, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ, หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต, หลวงปู่คำดี ปภาโส, พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (วัน อุตฺตโม), พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (ศรี มหาวีโร), พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ, หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์ชา สุภัทโท, หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่แบน ธนากโร ฯลฯ








กุฏิหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนกุฏิท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
เป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๒




รางฟอกหนังภูริทัตต






ห้ามจับ ตู้ยารับประเคนแล้ว - เป็นเรื่องที่เราชาวพุทธหลายท่านอาจไม่ทราบ
ผู้โพสท์ได้เคยถวายอาหารพระอาจารย์ที่ใส่บาตรท่านทุกเช้า ประเคนเสร็จมือไปเลื่อนจานอาหาร
โดนท่านดุเสียตกใจว่า ของประเคนแล้วห้ามโยมจับ


กุฏิสงฆ์วัดป่าบ้านหนองผือ


ศาลาโรงฉันวัดป่าบ้านหนองผือ


กุฎิ พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน)




กุฏิ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร


กุฏิ หลวงปู่วัน อุตฺตโม ตั้งอยู่ ณ บริเวณนี้ (๒๔๘๙-๒๔๙๒)
พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)
ท่านเล่าประวัติของท่านไว้มีความตอนหนึ่งว่า เมื่อพ.ศ.๒๔๘๘
ได้อยู่ศึกษาอบรมปฏิบัติธรรมะอยู่ในสำนักของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
จนถึง พ.ศ.๒๔๙๒ รวม ๕ พรรษา จนถึงวันท่านพระอาจารย์มั่น มรณภาพ
และจนงานฌาปนกิจศพเสร็จสิ้นเรียบร้อยทุกประการ...
จาก หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม พ.ศ.๒๕๒๔


กุฏิหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ตั้งอยู่ ณ บริเวณนี้ (๒๔๗๘-๒๔๙๒)


กุฏิ (สามเณรบุญเพ็ง) พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต
ตั้งอยู่ ณ บริเวณนี้ ๒๔๘๙-๒๔๙๒


กุฏิ หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร (๒๔๘๘-๒๔๙๒)


ศาลาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ใช้เป็นสถานที่แสดงธรรมแก่พุทธบริษัท
ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี้เป็นเวลา ๕ ปี (พ.ศ.๒๔๘๘-๒๔๙๒) และประชุมสงฆ์
เพื่อให้โอวาท พร้อมทั้งวางระเบียบ กฏเกณฑ์ ให้แก่ คณะพระกรรมฐาน


ทางเดินจงกรม ของอริยสงฆ์วัดบ้านป่าบ้านหนองผือ




ศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ได้กราบอาราธนาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ขึ้นสู่แคร่ เพื่อหามเคลื่อนขบวนออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ มาพักอาพาธที่วัดป่ากลางโนนกู่
เป็นเวลา ๑๐ วัน จึงได้เคลื่อนขบวนไปยังวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เป็นวาระสุดท้ายของท่าน


ปริศนาธรรม ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ
ไม้ซกงก หกพันง่า
กะปอมก่าแล่นขึ้น มื้อละฮ้อย
กะปอมน้อยแล่นขึ้น มื้อละพัน
ตัวใดมาบ่ทัน แล่นขึ้นนำคู่มื้อ คู่มื้อ

ผูโพสท์เคยอ่านความหมายของปริศนาธรรมบทข้างต้น แต่ยังค้นหาไม่พบว่าหนังสือเล่มใด
ขอติดค้างไว้ก่อนค่ะ ค้นเจอเมื่อใรแล้วจะนำมาเผยแพร่ต่อไป



แถวหลัง พระอาจารย์ผั้น อาจาโร  หลวงปู่ขาว อนาลโย  เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
แถวกลาง พระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ  แถวหน้า หลวงพ่อบัว สิริปุณฺโณ พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 มีนาคม 2560 14:17:59 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
หลวงปู่กู่ ธัมมทินโน วัดป่ากลางโนนกู่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 508 กระทู้ล่าสุด 01 ตุลาคม 2562 17:30:22
โดย ใบบุญ
หลวงปู่เขี่ยม โสรโย วัดถ้ำขาม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 575 กระทู้ล่าสุด 01 ตุลาคม 2562 17:32:11
โดย ใบบุญ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 650 กระทู้ล่าสุด 15 ตุลาคม 2563 16:19:03
โดย ใบบุญ
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 531 กระทู้ล่าสุด 21 มีนาคม 2564 17:23:29
โดย ใบบุญ
คุณ​ย่าชีนารี​ การุณ​ หน่อเนื้อธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Kimleng 0 811 กระทู้ล่าสุด 02 กันยายน 2564 20:05:19
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.58 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 02:15:12