[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 17:58:39 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติวัดอรุณราชวราราม  (อ่าน 4618 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 17 เมษายน 2560 19:31:22 »




.  ประวัติวัดอรุณราชวราราม  .

วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และฟากตะวันออกของถนนอรุณอัมรินทร์ ระหว่างคลองนครบาลหรือคลองวัดแจ้งกับพระราชวังเดิม ตำบลวัดอรุณ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดธนบุรี เป็นวัดโบราณ สร้างมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า “วัดมะกอก” ภายหลังเปลี่ยนเป็นวัดมะกอกนอก แล้วเปลี่ยนเป็น วัดแจ้ง  วัดอรุณราชธาราม และวัดอรุณราชวราราม โดยลำดับ  ปัจจุบันเรียกชื่อว่า “วัดอรุณราชวราราม”

ชื่อวัด
มูลเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้แต่เดิมว่า “วัดมะกอก” นั้น ตามทางสันนิษฐานเข้าใจว่าคงจะเรียกคล้อยตามชื่อตำบลที่ตั้งวัด ซึ่งสมัยนั้นมีชื่อว่า “บางมะกอก” (เมื่อนำมาเรียกรวมกับคำว่า “วัด” ในตอนแรกๆ คงเรียกว่า “วัดบางมะกอก” ภายหลังเสียงหดลงคงเรียกสั้นๆ ว่า “วัดมะกอก”)  ตามคติเรียกชื่อวัดของไทยสมัยโบราณ เพราะชื่อวัดที่แท้จริงมักจะไม่มี จึงเรียกชื่อวัดตามชื่อตำบลที่ตั้ง เช่น วัดบางลำพู วัดปากน้ำ เป็นต้น  ต่อมาเมื่อได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกันนี้ แต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกชื่อวัดที่สร้างใหม่ว่า “วัดมะกอกใน” แล้วเลยเรียกวัดมะกอกเดิมซึ่งอยู่ตอนปากคลองบางกอกใหญ่ว่า “วัดมะกอกนอก” เพื่อให้ทราบว่า เป็นคนละวัด

ส่วนที่เปลี่ยนเป็นเรียกว่า “วัดแจ้ง” นั้น เล่ากันเป็นทำนองว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาสำเร็จเรียบร้อย ใน พ.ศ.๒๓๑๐ แล้ว มีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จกรีฑาพลล่องลงมาทางชลมารค พอถึงหน้าวัดนี้ ก็ได้อรุณหรือรุ่งแจ้งพอดี ทรงพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมหามงคลฤกษ์ จึงโปรดให้เทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าน้ำ เสด็จขึ้นไปทรงสักการบูชาพระมหาธาตุ ขณะนั้นสูงประมาณ ๘ วา ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหน้าวัด แล้วเลยเสด็จประทับแรมที่ศาลาการเปรียญใกล้ร่มโพธิ์ ต่อมาได้โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดแล้วเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น “วัดแจ้ง” เพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์

ชื่อ “วัดแจ้ง” นี้ มีเรื่องสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไว้ว่า “หม่อมฉันเคยเห็นแผนที่เมืองธนบุรีที่ฝรั่งเศสทำ เมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ในแผนที่นั้นมีแต่ วัดเลียบ กับวัดแจ้ง แต่วัดโพธิ์หามีไม่ ตรงที่วัดพระเชตุพนเวลานั้น ยังเป็นชานป้อมใหญ่ ซึ่งอยู่ราวโรงเรียนราชินี เพราะฉะนั้นวัดโพธิ์เป็นวัดสร้างเมื่อล่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ มาแล้ว

จากหลักฐานนี้ ทำให้เห็นได้ชัดว่า วัดแจ้งมีมาก่อนที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรีตามเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้ว และชาวฝรั่งเศสผู้ทำแผนที่เมืองธนบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ก็คือ เรือเอก เดอ ฟอร์บัง (Glaude de Forbin) กับนายช่าง เดอ ฟอร์บัง (Claude de Forbin) กับนายช่าง เดอ ลามาร์ (de Lamare)

การปฏิสังขรณ์วัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงกระทำมาตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร และยังประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม นั้น ได้สำเร็จลงในต้นปีมะโรง พ.ศ.๒๓๖๓ สมัยรัชกาลที่ ๒ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลอง แล้วพระราชทานชื่อใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมอีก แล้วทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดอรุณราชวราราม ดังที่เรียกกันมาจนในปัจจุบัน


เขตวัดและที่ธรณีสงฆ์
เขตวัด เฉพาะตอนที่เป็นพุทธาวาสและสังฆาวาส มีดังนี้ ทิศเหนือจดกำแพงวัดด้านเหนือ หลังโรงเรียนประถมทวีธาภิเศก ทิศใต้จดกำแพงพระราชวังเดิม ทิศตะวันออกจดฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และทิศตะวันตกมีกำแพงวัดติดถนนอรุณอัมรินทร์ เป็นเนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๒ งาน ๖๓ วา

ที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งทางวัดให้เอกชนเช่า มีอยู่ทางด้านเหนือตอนที่ติดกับกำแพงวัดหลังโรงเรียนประถมทวีธาภิเศก ริมคลองนครบาลหรือคลองวัดแจ้ง เป็นเนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๗๗ วาเศษ กับที่ทางด้านตะวันตกของถนนอรุณอมรินทร์ออกไปมีเนื้อที่ ๓๓ ไร่ ๒ งาน ๒๕ วา


ผู้สร้างและปฏิสังขรณ์วัด สมัยกรุงศรีอยุธยา
ไม่พบหลักฐาน ว่าใครเป็นผู้สร้างวัดในสมัยโบราณ ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏมีเพียงว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีมาก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑) เพราะมีแผนที่ซึ่งชาวฝรั่งเศสทำขึ้นไว้เป็นหลักฐานดังกล่าวมา ในวัดนี้เอง  ยังมีพระอุโบสถและพระวิหารของเก่าอยู่ ณ บริเวณหน้าพระปรางค์ ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยา


สมัยธนบุรี
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามา ณ กรุงธนบุรี ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ โดยทรงพระราชดำริว่า
“กรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองใหญ่กว้าง ทั้งพระราชวังก็มีปราสาทสูงใหญ่ถึง ๕ องค์ และวัดวาอารามก็ล้วนแต่ใหญ่โต เมื่อบ้านเมืองถูกพม่าข้าศึกและพวกทุจริตเอาไฟจุดเผาเป็นอันตรายเสียหายจนเกือบหมดสิ้น พึ่งรวบรวมกำลังตั้งขึ้นใหม่ๆ จะเอากำลังวังชาทุนรอนที่ไหนไปซ่อมแซมบ้านเมืองที่ใหญ่โต ซึ่งทำลายแล้วให้กลับคืนคงดีขึ้นเป็นพระนครราชธานีได้เล่า ประการหนึ่ง ถ้ามีข้าศึกศัตรูเข้ามา รี้พลที่จะรักษาหน้าที่เชิงเทินป้องกันก็มีไม่พอ สู้ไปตั้งอยู่ที่เมืองธนบุรีสร้างขึ้นเป็นเมืองใหม่ไม่ได้ ด้วยว่ามีกำลังน้อยก็ทำเมืองแต่เล็ก อีกประการหนึ่ง ถ้าจะมีข้าศึกมาติดเมือง ถึงจะพลาดพลั้งลงประการใด กองทัพเรือก็มีอยู่เป็นกำลัง และทั้งยังทรงชำนาญในการทัพเรือ จะได้พาทัพเรือออกทะเลไปเที่ยวหาที่ตั้งมันได้ง่าย เห็นจะไม่ใช่แต่เฉพาะเรื่องที่ว่าทรงนิมิตฝันไปว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่าทรงขับไล่มิให้อยู่แต่เรื่องเดียว”

และมูลเหตุที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งสถานที่ที่เรียกว่า “พระราชวังเดิม” เป็นพระราชวังขึ้นนั้น ก็คงจะเป็นเพราะสถานที่ตรงนั้น เป็นตัวเมืองธนบุรีอยู่แล้ว ความจริง ตัวเมืองธนบุรีเดิมทีเดียวนั้น อยู่ตรงปากคลองบางหลวง ซึ่งเป็นทางแยกไปปากน้ำท่าจีน ตรงวัดคูหาสวรรค์ หรือที่เรียกว่า วัดศาลาสี่หน้า แต่ครั้นคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาที่สมเด็จพระเจ้าไชยราชาธิราช (พ.ศ.๒๐๕๗-๒๐๗๐) โปรดให้ขุดตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยเดี๋ยวนี้ มาถึงปากคลองบางกอกใหญ่ น้ำในคลองลัดกัดตลิ่งพังกว้างออกไปทุกที จนกลายเป็นแม่น้ำ (คือ ตอนตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผ่านหน้าวัดระฆัง พระบรมมหาราชวังและวัดอรุณราชวราราม) จึงได้ย้ายตัวเมืองมาอยู่ตรงที่ซึ่งเป็นพระราชวังเดิมบัดนี้

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงสร้างพระราชวังใหม่นั้น ได้ทรงเอากำแพงป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งตัวพระราชวัง แล้วโปรด “ให้ขยายเขตกั้นเป็นพระราชวังถึงคลองนครบาล (คลองวัดแจ้ง) เพราะฉะนั้น วัดแจ้งจึงตกเข้ามาอยู่กลางพระราชวังเป็นการยกเว้นเลิกไม่ให้พระสงฆ์อยู่อาศัย เขตพระราชวังตะวันตกจดวัดโมลีโลกย์ซึ่งเป็นตลาดท้ายสนม เรียกว่า วัดท้ายตลาด ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ระยะ ๑๕ ปีนั้น ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ และพระวิหารเดิมของวัดแจ้ง ให้บริบูรณ์ดีขึ้นตามที่จะทำได้”

การที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงสร้างพระราชวังและขยายเขตพระราชฐานจนถึงกับเอาวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวังนั้น คงจะทรงถือแบบอย่างพระราชวังในกรุงศรีอยุธยา ที่มีวัดพระศรีสรรเพชญ์อยู่ในพระราชวัง การปฏิสังขรณ์วัดเท่าที่ปรากฏตามหลักฐานในพระราชพงศาวดาร ก็คือ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระวิหารเก่าที่อยู่หน้าพระปรางค์ กับโปรดให้สร้างกำแพงพระราชวังโอบล้อมวัดดังกล่าวมา และในระยะต่อมาก็คงจะได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่นๆ อีก เพื่อให้สมกับที่เป็นวัดภายในพระราชวัง แต่ไม่ปรากฏรายการว่าได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์หรือก่อสร้างสิ่งใดขึ้นบ้าง




โบราณสถาน "วัดพระแก้ว" จังหวัดกำแพงเพชร
สถานที่ประดิษฐานองค์พระแก้วมรกตในอดีตกาล  

ในปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๑๔๑ (พ.ศ.๒๓๒๒) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ตีได้เมืองเวียงจันทน์ แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์ คือ พระแก้วมรกตกับพระบางลงมาด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ขึ้นไปรับล่วงหน้าในวันพฤหัสบดี เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ เวลา ๑๑ ทุ่ม ครั้นถึงวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๒ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับ ณ พระตำหนักบางธรณี เวลาบ่าย ๓ โมง โปรดให้แห่ลงมา ณ กรุงธนบุรี มีมหรสพสมโภชมาในขบวนเรือตลอดระยะทาง เมื่อถึงวัดแจ้งได้โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นที่สะพานป้อมต้นโพธิ์ ปากคลองนครบาลหรือคลองวัดแจ้ง ซึ่งอยู่เยื้องกับหน้าพระอุโบสถปัจจุบัน (ขณะนั้นยังไม่ได้สร้าง) แล้วพักไว้ ณ โรงชั่วคราว โปรดให้มีมหรสพสมโภชโดยสังเขป จากนั้นโปรดให้ปี่พาทย์ไทย ปี่พาทย์รามัญ และมโหรีไทย แขก ฝรั่ง จีน ญวน เขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภชต่อไปเป็นเวลาอีก ๒ เดือน ๑๒ วัน

ครั้นถึงวันวิสาขปุรณมี เพ็ญกลางเดือน ๖ ปีชวด โทศก จุลศักราช ๑๑๔๒ (พ.ศ.๒๓๒๓) โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐานไว้ในมณฑป ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถเก่าและพระวิหารเก่าหน้าพระปรางค์ อยู่ในระยะกึ่งกลางพอดี มีการสมโภชใหญ่ ๗ คืน ๗ วัน

เรื่องเกี่ยวกับสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง หรืออย่างที่ในพระราชพงศาวดารเรียกว่า “โรงพระแก้ว” นั้น มีหลักฐานไม่สู้จะตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ โรงพระแก้วที่สมโภชในวันวิสาขปุรณมีกับสถานที่ประดิษฐานครั้งสุดท้าย ก่อนจะอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ฝั่งกรุงเทพพระมหานคร จึงขอประมวลหลักฐานต่างๆ มาลงไว้ดังต่อไปนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เมืองเวียงจันทน์แล้ว ก็เชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้ แลพระบางมาด้วย แล้วเลิกทัพกลับลงมาพระนครธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินใหญ่ในครั้งนั้น ก็ให้สร้างโรงพระแก้วที่หลังพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามในพระราชวังเสร็จแล้วให้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรนี้ แลพระบางขึ้นประดิษฐานในโรง เสร็จแล้วให้มีการสมโภชต่างๆ

ในประวัติวัดอรุณราชวรารามกล่าวไว้ว่า ”พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๒ และได้ประดิษฐานอยู่ตลอดรัชสมัยกรุงธนบุรี ที่ประดิษฐานนั้น เป็นมณฑปตั้งอยู่ระหว่างโบสถ์และวิหารน้อยด้านหลังในบริเวณพระปรางค์ บัดนี้ มณฑปนั้นไม่มีแล้ว

ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ตามหลักฐานทั้งสองนี้ ใกล้เคียงกันตรงที่ว่าอยู่หลังอุโบสถและพระวิหารเก่าในบริเวณพระปรางค์ต่างกันแต่ที่หลักฐานของทางวัดเรียกที่ประดิษฐานว่า “มณฑป” และว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารเก่าด้านหลัง (ปัจจุบันปลูกต้นตะโก) ซึ่งทางวัดยังชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า ได้รับคำยืนยันจากพระเถระผู้สูงอายุรูปหนึ่ง คือ ท่านพระครูวิสุทธิสรภาณ (แผ้ว) ว่าได้ขุดพบรากฐานมณฑปเมื่อเอาต้นตะโกมาปลูก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงวินิจฉัยที่ประดิษฐานหรือโรงพระแก้วไว้ ตามลายพระหัตถ์หลายฉบับ ขอนำสาระสำคัญในลายพระหัตถ์ที่เกี่ยวกับโรงพระแก้วมาลงไว้ดังต่อไปนี้

ลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๘ ทรงตั้งเป็นปัญหาขึ้นก่อนว่า “เรื่องโรงพระแก้ว เป็นที่เข้าใจกันว่า คือ วิหารหลังข้างใต้ที่คู่กับโบสถ์เก่า มีเหตุที่เห็นสมที่ข้างในบนฐานปูน มีรูปพระเจดีย์สร้างไว้ใหม่แทนพระแก้ว แต่มีเหตุที่สงสัยเหมือนกัน พระปรางค์อยู่ข้างหลังก็ได้ศูนย์กลาง จดหมายเหตุกล่าวว่า พระปรางค์เดิมมีก่อน พระปรางค์ใหญ่นี้สวม แต่ข้อที่ทำให้ฉงนนักนั้น เหตุใดจึงเรียกว่าโรงพระแก้ว ไม่เรียกว่าวิหารพระแก้ว ข้อปัญหาที่จะทูลหารือนั้น คือ วิหารนั้นเป็นโรงพระแก้วแน่แล้วเหรอ หรือว่าโรงพระแก้วเป็นของปลูกชั่วคราวขึ้นในที่อื่น”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้กราบทูลตอบโดยลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๕๘ ว่า “ปัญหาข้อสอง ซึ่งว่าโรงพระแก้วนั้น คือ วิหารเก่าวัดอรุณฯ ตามที่เข้าใจกันนั้นหรือมิใช่ ในข้อนี้พิจารณาเห็นดังนี้

๑.วิหารเก่าวัดอรุณฯ นั้น เป็นฝีมือที่ทำครั้งกรุงเก่าพร้อมกับโบสถ์เก่า ไม่ใช่ฝีมือทำในแผ่นดินพระเจ้าตาก

๒.ในพระราชพงศาวดาร หน้า ๖๓๕ มีว่า “ครั้นมาถึงตำบลบางธรณี จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปโดยทางชลมารค พร้อมด้วยขบวนพยุหะ แห่ลงมาตราบเท่าถึงพระนคร แล้วให้ปลูกโรงรับเสด็จพระพุทธปฏิมากรพระแก้ว พระบาง อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ โรงริมพระอุโบสถวัดแจ้ง ภายในพระราชวัง” คำว่า “ปลูก” จำเป็นต้องเป็นโรงที่ทำขึ้นใหม่แลต้องเป็นไม้ พระวิหารเป็นของเก่าแลเป็นของก่อ จะเข้าในคำ “ปลูก” ไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าตำแหน่งปลูกซึ่งระบุไว้ในที่นี้ถูก โรงนั้นจะต้องอยู่ข้างซ้ายโบสถ์เก่า

๓.ในพระราชวิจารณ์ ตอนต้นจดหมายเหตุ หน้า ๑๒ ว่า “พยุหกระบวนเรือ ประทับท่าวัดแจ้ง เชิญพระแก้วขึ้นทรงพระยานุมาศ แห่มา ณ โรงพระแก้ว อยู่ที่ท้องสนาม” ทรงพระราชวิจารณ์ประกอบร่างหมายเก่าหน้า ๑๑๕ ว่า “พระแก้วมรกตมาขึ้นตะพานป้อมต้นโพธิ์ ปากคลองนครบาล คงจะอยู่เบื้องหน้าพระอุโบสถเดี๋ยวนี้ สัสดีเกณฑ์ให้ตั้งราชวิถีฉัตรเบญจรงค์ รายทางแลล้อมรอบโรงพระแก้ว ตั้งกระบวนแห่มีเครื่องสูงคู่แห่ ๔๐ แห่เข้าประตูรามสุนทรมาไว้ในโรง” ข้อความในพระราชวิจารณ์ เช่นนี้ ไม่ใช่แต่ส่องให้เห็นว่าไม่ใช่พระวิหารเก่าวัดแจ้งเท่านั้น ยังส่องให้เห็นไกลไปจากวัดแจ้งเสียอีกด้วย ถ้าจะเดาให้ใกล้ ที่ตั้งโรงพระแก้ว เห็นจะปลูกที่สนามในวัง หลังวัดแจ้งอย่างสมโภชช้างขึ้นโรงใน ในพระบรมมหาราชวังเรานี้

๔.พระเจดีย์ในวิหารเก่าวัดอรุณฯ นั้น เห็นเป็นพระเจดีย์เก่าไม่ใช่ทำใหม่ เพราะสังเกตเห็นได้สองอย่าง คือ เหนือบัลลังก์ขึ้นไป มีบัวที่เรียกว่าฝาละมี ซึ่งเดิมหมายเป็นใบฉัตรมีลูกมะหวดรับเหมือนพระเจดีย์ในกรุงเก่า เช่น วัดสบสวรรค์นั้นอย่างหนึ่ง ซึ่งผัดกับพระเจดีย์ชั้นหลังเบิกบัวฝาละมีพ้นบัลลังก์ขึ้นไปก็ถึงบัวกลุ่มทีเดียว กับฐานชั้นสองชั้นสาม ไม่มีหน้ากระดานรองสิงห์อีกอย่างหนึ่ง นี่ก็เป็นแบบเก่าเหมือนกัน พระเทพสุธีว่าพระเจดีย์นี้หล่อด้วยดีบุก ได้ยินว่าเดิมอยู่วัดราชคฤห์ หรือวัดอะไรไม่แน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ตรัสสั่งให้เชิญมาไว้ ดูทีก็จะสมจริง เพราะมีรูปจตุโลกบาลอยู่สี่ทิศ เป็นฝีมือในรัชกาลที่ ๔ เมื่อเช่นนั้น การที่วิหารนี้เคยว่างไม่มีอะไรตั้งอยู่คราวหนึ่งก็เป็นการแน่ทำไมจึงว่าง เหตุนี้แลจูงไปให้เข้าใจกันว่า ตั้งพระแก้วในนั้นหรือจะเป็นได้ดังนี้ คือ สมโภชแล้วเชิญย้ายจากโรงมาไว้ในวิหาร

๕.แต่ในพระราชพงศาวดารหน้า ๖๗๕ กล่าวว่า “ครั้นถึงวันจันทร์เดือนสี่ขึ้นสิบสี่ค่ำ ทรงพระกรุณาให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต จากโรงในวังเก่าฟากตะวันตกลงทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง มีเรือแห่เป็นขบวน ข้ามฟากมาเข้าพระราชวัง อัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถพระอารามใหม่” คงใช้คำว่า “โรง” อยู่กระนั่นเอง ส่องให้เห็นว่าพระแก้วคงอยู่ในโรงเดิม ไม่ได้ย้ายไปไหน

โดยหลักฐานทั้งปวงนี้ พอลงสันนิษฐานได้ว่าวิหารเก่าไม่ใช่โรงพระแก้ว แลไม่ได้ไว้พระแก้ว เพราะไม่พบปรากฏในที่แห่งใดว่าได้ย้าย เพราะต่อแต่นั้นไปก็ดูมีแต่เรื่องวุ่นวายไปด้วยอาการเสียพระสติแก่กล้า ไม่มีเวลาที่ประกอบการอันเป็นสารประโยชน์ ถ้าหากว่าได้ย้ายแล้ว ควรจะมีที่ไว้ให้ดีกว่าขอยืมเอาวิหารเก่า เพราะว่าพระแก้วมิใช่ของเลว อีกประการหนึ่งทำลายพระเก่าในวิหารเอาที่ตั้งพระแก้ว กลัวจะไม่มีใครทำ ถ้ามีใครทำก็คงถูกติเตียนก้องมาจนถึงทุกวันนี้”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแย้งมาโดยลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๕๘ ว่า “อรรถาธิบายเรื่องวัดอรุณฯ ที่ประทานมา แจ่มแจ้งดีมาก ขอขอบพระเดชพระคุณที่ทรงพระอุสาหะถึงเสด็จข้ามไปทอดพระเนตร แลอุตส่าห์ทรงเรียงอธิบายประทาน  

อยากจะขอทูลย้อนสัตย์สักหน่อย คือ ที่ทรงวินิจฉัยว่า โรงพระแก้วที่พระเจ้ากรุงธนบุรีสร้าง ว่ามิใช่พระวิหารเก่านั้น ตรงตามความคิดหม่อมฉัน เห็นว่าโรงพระแก้วเป็นของสร้างชั่วคราวสำหรับการสมโภช อย่างสมโภชช้างเผือกโรงนอก จึงเรียกว่าโรง แลเหตุใดจึงสร้างสมโภชชั่วคราว ก็พอเข้าใจได้ เพราะโบสถ์และวิหารวัดแจ้งเล็ก ไม่เป็นที่เปิดเผยให้มหาชนไปมานมัสการได้สะดวก จึงปลูกโรงสมโภช แต่มาคิดเห็นว่า เมื่อสมโภชแล้วเห็นจะเชิญเข้าไปประดิษฐานไว้ในพระวิหาร เพราะ

๑.โรงสมโภชเป็นที่จะพิทักษ์รักษาในเวลาปกติได้ดีเท่าในพระวิหารและเป็นโรงทำชั่วคราวคงจะกีดที่หรือรักษาไว้ให้ดีอยู่เสมอไม่ได้

๒.ถ้าหากเชิญพระแก้วไปเก็บรักษาไว้ที่ใดให้ดีในเวลานั้น มีแต่พระวิหารแห่งเดียวไม่มีที่อื่น

๓.โดยปกติ โบสถ์หรือวิหารต้องมีพระพุทธรูป ที่วิหารว่างพระพุทธรูป และปรากฏว่าพระเจดีย์มาแต่อื่น เมื่อภายหลัง ข้อนี้เป็นพยานว่าได้เคยเชิญพระพุทธรูป ซึ่งเคยมีในพระวิหารนั้นออกจากวิหารคราว ๑ ไม่มีคราวใดที่จะควรเชิญพระเก่าออก นอกจากคราวจัดพระวิหารเป็นที่ตั้งพระแก้วมรกต ย้ายพระพุทธรูปเพื่อเอาที่ตั้งพระพุทธรูปเห็นจะไม่ถือว่าเป็นการบาป พระพุทธรูปอะไรบ้างที่เชิญไปจากวิหาร และเชิญเอาไปไว้ที่ไหน ข้อนี้พิจารณาเห็นได้ คือ ย้ายเอาไปไว้ในโบสถ์เก่านั้นเอง ด้วยมีพระพุทธรูปเก่าๆ ตั้งโดยทำนองที่เห็นว่าเป็นของจัดใหม่หลายองค์ และซ้ำทำลับแลลูกฟักบังหน้าพระด้วย น่าจะทำในคราวเดียวกันนั้น

๔.ความปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าเมื่อพระยาสรรค์เอาพระเจ้ากรุงธนบุรีควบคุมขังไว้นั้น ว่าขังไว้ในพระอุโบสถวัดแจ้ง ถ้าพระวิหารว่างอยู่หรือแม้มีพระพุทธรูปสำคัญ น่าจะเอาไว้ในพระวิหารจะเป็นด้วยพระวิหารเป็นที่ไว้พระแก้วมรกต จึงเอาพระเจ้ากรุงธนบุรีไปคุมไว้ในพระอุโบสถ

ด้วยข้อสันนิษฐานเหล่านี้ เห็นว่าความจริงจะยุติกันหมด คือ แรกพระแก้วมาถึงตั้งสมโภชที่โรงพระแก้ว เสร็จการสมโภชแล้วเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดแจ้ง เหตุเป็นด้วยผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารเขียนหนังสือผิดไปคำเดียว ที่ว่า เชิญพระแก้วจากโรงพระแก้วข้ามมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถ้าว่าเชิญจากพระวิหารวัดแจ้งแล้วก็จะยุติกันทุกฝ่าย

ถ้าจะวินิจฉัยต่อไปอีกข้อ ๑ ว่าโรงพระแก้วปลูกที่ไหน ในหนังสือเก่ามีแต่ว่า ปลูกที่สนามในกำแพงพระราชวัง คงจะเป็นพระราชวังชั้นนอก สันนิษฐานตามรูปแผนที่วัดอรุณฯ โรงพระแก้วน่าจะอยู่ตรงพระอุโบสถที่สร้างใหม่นั้นเอง ต่อไปตอนพระวิหารไว้สนาม สำหรับเครื่องมหรสพหน้าพลับพลาหน่อย ๑ ตั้งพลับพลาราวตรงที่กุฎีพระเทพสุธี ดูเหมาะอย่างนี้ ถ้าลงมาริมน้ำติดโบสถ์เก่าแลพระปรางค์ แลจะใกล้กำแพงวังข้างแม่น้ำนัก บางทีเมื่อกะที่สร้างพระอุโบสถใหม่ จะกะลงตรงนั้น ด้วยเป็นที่โรงพระแก้วมาแต่ก่อน ก็จะเป็นได้ดอกกระมัง วินิจฉัยตอนนี้โดยอัตโนมัติแท้”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงเห็นด้วย ตามลายพระหัตถ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๕๙ ว่า “พระดำริเรื่องวิหารพระแก้ว ซึ่งรับสั่งย้อนสัจมา เป็นบัญญัติตกลง เกล้ากระหม่อมเห็นด้วยตามพระดำริแล้ว ข้อที่วิหารว่างอยู่เพราะเหตุใดนั้น เป็นข้อที่ขัดข้องใจ คิดไม่ออกจนเวลาที่ส่งหนังสือไปถวาย เกล้ากระหม่อมได้คิดแล้วเหมือนกันว่า ฉลองแล้วจะย้ายเข้าไปไว้ในพระวิหาร จนได้เขียนลงแล้ว แต่กลับหวนไปยึดเอาพระราชพงศาวดารซึ่งกล่าวว่าเชิญพระแก้วจากโรงข้ามมานั้นอีก จึงคะเนหาเหตุประกอบที่ว่าอาจค้างอยู่โรงนั้นได้ด้วยเหตุสัญญาวิปลาสหมกมุ่นไปในทางอื่น และคิดว่าถ้าได้ย้ายจากโรงควรจะได้สร้างวิหารใหม่ให้ดีกว่านั้น พระยัดเข้าใหม่ในโบสถ์เก่าตามรับสั่งนั้นก็เห็น แต่ไม่จับเอาเป็นพยาน ไปนึกเสียว่าคงมีพระประธานองค์ใหญ่อยู่ก็ได้เหมือนกัน จะอย่างไรก็ดี ข้อที่วิหารว่างนั้นเป็นองค์พยานอันสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำในหนังสือซึ่งแต่งภายหลัง ควรหรือไปเชื่อคำในหนังสือมากไปกว่าพยานที่ตาเห็น อยู่ข้างจะเสียใจ แต่ก่อนแต่ไรก็ไม่เคยเป็น พระดำริซึ่งทรงทักท้วงมานั้นเป็นการถูกแท้แล้ว กั้นลับแลก็เป็นคราวนั้นเอง คงใช้โบสถ์เป็นหอพระประทับอยู่ที่นั้นโดยมาก ห้องในเป็นที่นมัสการ ห้องนอกเป็นที่ประทับเจริญพระกรรมฐาน การที่พระยาสรรค์เชิญเสด็จไปคุมไว้ที่นั้น ดูก็เป็นความสะดวก กอบด้วยความเคารพ คือ คุมไว้ ณ ที่ประทับนั้นเอง”

พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ เป็นเวลาราว ๕ ปี (พ.ศ.๒๓๒๒-๒๓๒๗) จึงได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ฝั่งกรุงเทพพระมหานครดังกล่าว ส่วนพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์ ๑ คือ พระบาง นั้น  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดพระราชทานให้เจ้านันทเสนนำกลับคืนไปนครเวียงจันทน์ เมื่อคราวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านันทเสนซึ่งลงมาอยู่กรุงธนบุรีตอนปลายรัชกาลกลับขึ้นไปครองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.๒๓๒๕* ความจริงเจ้านันทเสนได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับขึ้นไปก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว ดังสำเนาสุวรรณบัตรตอนหนึ่งว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้านันทเสนคืนเมืองเป็นพระเจ้าขัณฑเสมา นามขัตติยราชเป็นเจ้านันทเสนพงษ์มลานเจ้าพระนครเวียงจันทบุรี เสกไป ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลู ตรีศก” แต่เจ้านันทเสนยังยั้งรออยู่จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงขึ้นไป เป็นเวลาห่างจากวันในสุวรรณบัตร ๓ เดือน

* ในรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปปราบกบฎที่เวียงจันทน์ ได้อัญเชิญพระบางองค์นี้กลับลงมาอีก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ประดิษฐานไว้ในหอพระนาควัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภายหลังได้พระราชทานให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ ต้นสกุล สิงหเสนี) นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้อัญเชิญกลับขึ้นไปเมืองหลวงพระบาง เมื่อเดือน ๕ พ.ศ.๒๔๐๘



สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
รัชกาลที่ ๑

ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ (พ.ศ.๒๓๒๕) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงมีพระราชดำริว่า “เมืองธนบุรีนี้ ฝั่งฟากตะวันออก เป็นที่ชัยภูมิดีกว่าที่ฟากตะวันตก โดยเป็นที่แหลมมีลำแม่น้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง ถ้าตั้งพระนครทางฝั่งตะวันออก แม้นข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนครก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าตั้งอยู่ข้างฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันออกนั้นเสียแต่เป็นที่ลุ่ม เจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ดอน แต่ก็เป็นที่ท้องคุ้งน้ำเซาะทรุดพังเสมอไม่ถาวร พระราชนิเวศน์มนเทียรสถานเล่าก็ตั้งอยู่ในอุปจารระหว่างวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้าง ควรเป็นที่รังเกียจ ทรงพระราชดำรินี้ จึงดำรัสสั่งให้พระยาธรรมาธิกรณ์ (นามเดิม บุญรอด ต้นสกุล บุณยรัตพันธุ์ ต่อมาเลื่อนชั้นเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์) เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ ไปวัดกะที่สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก

ในปี พ.ศ.๒๓๒๖ หลังจากที่ได้กะที่สร้างแล้ว ได้โปรดให้ลงมือสร้างทั้งพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคล ในการนี้โปรดให้เกณฑ์อิฐบ้าง รื้อเอาอิฐกำแพงเมืองกรุงเก่าบ้าง และรื้อเอาอิฐกำแพงเมืองธนบุรีบ้าง มาใช้ก่อสร้าง และในปีนี้เอง ที่โปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือที่เรียกกันว่า “วัดพระแก้ว” ขึ้นในพระบรมมหาราชวังด้วย

ครั้นสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเสร็จแล้ว ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตแห่ข้ามฟากมาประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ พ.ศ.๒๓๒๗

ส่วนวัดแจ้งนั้น หลังจากที่รื้อกำแพงพระราชวังตั้งแต่คลองนครบาลลงมาถึงกำแพงพระราชวังเดิมออกไปแล้ว ก็กลายเป็นวัดที่อยู่นอกพระราชวัง จึงโปรดให้เป็นวัดมีพระสงฆ์จำพรรษาต่อไปได้ และทรงตั้งให้พระปลัดสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) เป็นพระโพธิวงศาจารย์ นิมนต์ให้มาครองวัดแจ้ง พร้อมกันนั้นได้ทรงตั้งพระครูเมธังกรวัดบางว้าใหญ่ เป็น พระศรีสมโพธิ โปรดให้มาอยู่วัดแจ้งพร้อมทั้งพระอันดับ

ถึง พ.ศ.๒๓๒๘ หลังจากได้ทรงกระทำพระราชพิธีราชาภิเษกแล้วได้โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) เสด็จมาประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมใต้วัดแจ้ง และทรงมอบหน้าที่ให้บำรุงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อไปด้วย

ในระยะนี้ “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้ทรงพระอุตสาหะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่หมดทั้งวัด แต่การปฏิสังขรณ์คงสำเร็จได้เพียงกุฎีสงฆ์ ส่วนพระอุโบสถและพระวิหารยังไม่ทันแล้วเสร็จพอดีสิ้นรัชกาลที่ ๑ ใน พ.ศ.๒๓๕๒



รัชกาลที่ ๒

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๕๒ ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อไปใหม่ โปรดให้สร้างพระอุโบสถและพระวิหารต่อจากที่เริ่มสร้างไว้แต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ โดยเฉพาะพระอุโบสถนั้นสร้างพระระเบียงล้อมรอบเพิ่มเติม เมื่อพระอุโบสถและพระวิหารสำเร็จแล้วยังทรงพระราชอุตสาหะ ปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ (ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานนามว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” ปรากฏมาจนปัจจุบันนี้ จากนั้น ได้โปรดให้สร้างศาลาการเปรียญขึ้นอีก  อนึ่ง กุฎีสงฆ์ที่สร้างครั้งสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น เป็นของที่ทำขึ้นอย่างรีบร้อนพอให้พระสงฆ์อยู่ได้ ก็โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓) เป็นแม่กองสร้างปรับปรุงใหม่ กุฎีที่สร้างใหม่ครั้งนี้ มีพระราชประสงค์จะให้เป็นตึก แต่งานเร่งด่วน จึงทำให้ได้เพียงกุฎีฝาขัดแตะถือปูนไว้ชั่วคราว จากนั้นก็ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระวิหารเก่าหน้าพระปรางค์หน้าวัดด้านใต้ และสร้างเมรุปูนขนาดใหญ่ไว้หลังวัด (ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง ร.ร.สตรีการช่างธนบุรี) ในที่ปรก ส่วนที่ปรกที่ยังเหลือ ก็โปรดให้ทำเป็นที่สำหรับประกอบพิธีแรกนาขวัญ เมื่อการปฏิสังขรณ์ที่สิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาเสร็จสิ้นเรียบร้อย ได้โปรดให้มีมหรสพฉลองในปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ (พ.ศ.๒๓๖๓) มหรสพครั้งนี้ มีละครหลวงโรงเล็กแสดงเรื่องรามเกียรติ์ตอนบุศลพ อันเป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงขึ้นใหม่ด้วยแล้ว โปรดพระราชทานชื่อวัดว่า “วัดอรุณราชธาราม”

ต่อมาทรงมีพระราชศรัทธาที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัด โดยทรงพระราชดำริเห็นว่า  พระปรางค์เดิมสูง ๘ วานั้น ยังย่อมอยู่ กรุงรัตนโกสินทร์ได้ตั้งขึ้นเป็นราชธานี ยังหามีพระมหาธาตุไม่ ควรจะเสริมสร้างให้ใหญ่เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร จึงโปรดให้กำหนดที่ลงมือขุดราก แต่การได้ค้างอยู่เพียงนั้น จนสิ้นรัชกาลที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๓๖๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กุมภาพันธ์ 2561 16:04:42 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 03 กรกฎาคม 2560 18:45:46 »




สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ต่อ)
รัชกาลที่ ๓

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จถวัลราชสมบัติ เมื่อปีวอก พ.ศ.๒๓๖๗ ได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ต่อมาอีก ทรงเห็นว่าสิ่งใดยังบกพร่องหรือชำรุดทรุดโทรม ก็ให้สร้างและปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั่วทั้งวัด คือ โปรดให้รื้อกุฎีสงฆ์ที่สร้างไว้เป็นขัดแตะถือปูนนั้นเสีย แล้วสร้างเป็นตึกใหม่ทั้งหมด พอเสร็จแล้วก็มีงานฉลองเสียคราวหนึ่งพร้อมกับวัดราชโอรสารามและวัดอื่นๆ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ พ.ศ.๒๓๗๔

ครั้นแล้วทรงพระราชดำริถึงพระปรางค์ที่สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างเสริมให้สูงขึ้น จึงได้ทรงคิดแบบอย่างแล้วโปรดให้ลงมือก่อสร้าง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาก่อพระฤกษ์ เมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ พ.ศ.๒๓๘๕ งานสร้างเสริมพระปรางค์ได้ดำเนินเรื่อยมาจนสำเร็จเป็นพระมหาเจดีย์ สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๑ นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๑๗ วา  และเมื่อยกยอดพระปรางค์ซึ่งเดิมทำเป็นยอดนภศูลตามพระปรางค์แบบโบราณ แต่ครั้นใกล้วันฤกษ์ กลับโปรดให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่จะเป็นพระประธานในวัดนางนอง มาติดต่อบนยอดนภศูล แล้วโปรดให้สร้างมณฑปพระพุทธบาทขึ้นระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหารที่สร้างใหม่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง กับสร้างพระเจดีย์เหลี่ยมย่อไม้ ๒๐ อีก ๔ องค์ อยู่ระหว่างมณฑปพระพุทธบาทจำลองและพระระเบียงพระอุโบสถด้านใต้

อนึ่ง โปรดให้สร้างประตูเข้าสู่พระอุโบสถใหม่ ตรงกึ่งกลางพระระเบียงด้านตะวันออกเป็นซุ้มมงกุฎ และสร้างรูปยักษ์ยืน ๒ ข้างทางประตูที่สร้างใหม่นี้ขึ้นด้วย ได้โปรดให้นำภูเขาจำลองในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสร้างแต่รัชกาลที่ ๑ มาไว้ทางหน้าวัดด้านเหนือ หลังศาลาน้ำ ๓ หลัง

การก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ดังกล่าวนี้ สำเร็จลงแล้ว ยังไม่ทันมีงานฉลองก็พอดีสิ้นรัชกาลที่ ๓ ใน พ.ศ.๒๓๙๔



รัชกาลที่ ๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปีกุน พ.ศ.๒๓๙๔ ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง คือ ให้ช่างทำบุษบกยอดปรางค์ขึ้นที่ผนังหุ้มกลองตรงมุขพระอุโบสถด้านหน้า เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องต้น อย่างพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในหอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง บุษบก ๑ และอีกบุษบก ๑ ทำที่ผนังหุ้มกลองของมุขพระอุโบสถด้านหลัง เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ๒ องค์ คือ องค์ ๑ เป็นส่วนพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และอีกองค์ ๑ เป็นส่วนของพระองค์เอง แต่การเหล่านี้ค้าง (บุษบกที่มุขทั้งด้านหน้าด้านหลังพระอุโบสถมาทำสำเร็จในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้นำพระพุทธรูปฉลองพระองค์มาประดิษฐานเหนือแท่นบุษบกที่หน้ามุขหน้าพระอุโบสถ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๖ แล้วถวายพระนามว่า “พระพุทธนฤมิตร” ส่วนพระพุทธรูปฉลองพระองค์อีก ๒ องค์ ที่กำหนดว่าจะนำมาประดิษฐานไว้ ณ บุษบกมุขหลังพระอุโบสถ หาได้ทำขึ้นไม่ ปัจจุบันมีพุ่มเทียนตั้งอยู่บนพานปูนปั้นลงรักปิดทอง ๒ ชั้น)

ส่วนผนังพระอุโบสถด้านนอก ได้โปรดให้เอากระเบื้องลายดอกไม้และใบไม้ที่สั่งมาจากเมืองจีนมาประดับเพิ่มเติม ตลอดจนเสาหน้ามุข เสารายเฉลียงรอบพระอุโบสถ ซึ่งเดิมเป็นเสาถือปูนเฉยๆ ก็โปรดให้เอากระเบื้องที่ทำเป็นลายดอกไม้ และสั่งมาจากเมืองจีนเช่นเดียวกัน ประดับเป็นลายดอกไม้ร่วงทั้งหมด

อนึ่ง พระประธานในพระอุโบสถนั้น ยังไม่มีพระนาม จึงพระราชทานพระนามถวายว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก”

เมื่อปฏิสังขรณ์พระอุโบสถเรียบร้อยแล้ว ได้โปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐของพระบาทสมเด็จพะพุทธเลิศหล้านภาลัย มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถ* ปัจจุบันยังมีรูปตราครุฑตรงผ้าทิพย์เป็นเครื่องหมาย

พระวิหารนั้น เดิมผนังด้านนอกไม่ได้ประดับกระเบื้อง ก็โปรดให้ประดับด้วยกระเบื้องเป็นลายดอกไม้จีนก้านแย่งขบวนไทย แต่เรื่องกระเบื้องจีนประดับผนังด้านนอกพระวิหารนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสันนิษฐานไว้ว่า ประดับขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นกระเบื้องจีนที่สั่งมาเพื่อประดับผนังพระอุโบสถ แต่ไม่งามสมพระราชประสงค์ จึงโปรดให้รุมาประดับพระวิหารนี้

เมื่อการปฏิสังขรณ์สำเร็จลงแล้ว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม” ดังที่เรียกกันอยู่ในปัจจุบัน

การปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในรัชกาลที่ ๔ คงมีเพียงเท่านี้ แต่ในปี พ.ศ.๒๔๐๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า “พระอรุณ” หรือที่เรียกกันอย่างชาวบ้านว่า “พระแจ้ง” ที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญ องค์พระกับผ้าครอง หล่อด้วยทองสีต่างกัน หน้าตักกว้างศอกเศษ มีพระนามพ้องกับชื่อวัด จึงพระราชทานมาประดิษฐานไว้ในพระวิหาร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหน้าพระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร พระประธานในพระวิหาร

 
* การอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนๆ ไปบรรจุไว้ในที่ต่างๆ นั้น เป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ ๔ และในรัชกาลนั้นได้โปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ ๑ ไปบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ ๒ ไปบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม และอัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ ๓ ไปบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถวัดราชโอรสาราม ส่วนพระบรมอัฐิของพระองค์นั้น ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งไว้ให้บรรจุไว้ที่วัดราชประดิษฐ์ ซึ่งในรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ทรงแบ่งพระบรมอัฐิไปบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ ตามพระราชกระแสรับสั่ง


รัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๔๑๑ การปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในรัชกาลนี้ควรนับได้ว่าเป็นการใหญ่ เพราะได้โปรดให้ปฏิสังขรณ์ใหม่หมดเกือบทั้งวัด เริ่มต้นแต่ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์พระวิหาร ซึ่งกำลังชำรุดทรุดโทรมลงในขณะนั้นก่อน ครั้นปฏิสังขรณ์พระวิหารเสร็จแล้วก็ทรงระลึกถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมชนกนาถที่ทรงสร้างพระบุษบกที่มุขหน้าและมุขหลังของพระอุโบสถค้างไว้ จึงโปรดให้สร้างต่อจนสำเร็จบริบูรณ์ ประกอบกับขณะนั้นเป็นเวลาที่พระองค์เสด็จดำรงสิริราชสมบัติมาเสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมภาคาภิเษก แล้วโปรดให้อัญเชิญพระพุทธนฤมิตรมาประดิษฐาน ณ บุษบกที่มุขหน้าพระอุโบสถ

ปีมะแมวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๓๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. เกิดอัคคีภัยไหม้พระอุโบสถ (มูลเหตุที่เกิดไฟไหม้ กล่าวว่าลูกไฟปลิวมาจากโรงถ่านที่อยู่เหนือคลองนครบาล หรือคลองวัดแจ้ง ติดกุฏิสงฆ์ริมคลองลุกไหม้ขึ้นก่อน แล้วเปลวไฟปลิวมาไหม้พระอุโบสถ)  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รีบเสด็จพระราชดำเนินไปอำนวยการดับเพลิง และทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชออกไปได้ทัน

ความเสียหายที่เกิดจากเพลิงไหม้ครั้งนี้มีปรากฏอยู่ในรายงานของผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปตรวจมีสำเนาดังต่อไปนี้


วันที่ ๔ มกราคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔
           ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ
            ข้าพระพุทธเจ้า ได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขาที่ ๒๗/๓๘๓ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปตรวจการพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามที่ต้องเพลิงไหม้ มีชำรุดเสียไปอย่างไรบ้างนั้น
            ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าฯ พร้อมกันไปตรวจการเมื่อวันที่ ๓ นี้แล้ว ขอพระราชทานทำรายงานขึ้นกราบทูลพระกรุณาให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท
            หลังคาพระอุโบสถนั้น ต้องเพลิงไหม้หมด ตัวไม้ที่เหลืออยู่ก็เสียใช้ไม่ได้ การปฏิสังขรณ์ต่อไปต้องใช้ของใหม่หมด เว้นแต่ขื่อใหญ่ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รักษาไว้โดยกวดขันนั้น ใช้ได้ไม่ต้องเปลี่ยนเพราะว่าถูกไฟเกรียมไปแต่ผิว เนื้อไม้ไม่เสียหายอย่างใดเลย ยังแข็งแรงบริบูรณ์ดีเป็นไม้ตะเคียน พาไลเพลิงไหม้สามด้าน เหลือแต่ด้านหน้าซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รักษาไว้ได้นั้นด้านเดียว การปฏิสังขรณ์ต่อไปต้องใช้ของใหม่โดยมาก เว้นแต่ตอนข้างหน้าจะใช้ของเก่าคงตามเดิมได้บ้างที่ยังไม่เสียมาก ทวยโดยรอบยังดีอยู่เกือบจะหมด ที่ไหม้เกรียมบ้างเป็นบางอันก็แต่ข้างปลาย การปฏิสังขรณ์ต่อไปนั้นตกแต่งเสียใหม่ก็ใช้ได้หมด
            ผนังภายนอกตั้งแต่ขื่อตลอดถึงฐานปัทม์ไม่ได้เสียสำคัญอย่างหนึ่งอย่างใด นอกจากแตกหักแต่ผิวเพราะไม้ตกถูกแห่งละเล็กน้อย กับมัวหมองไปด้วยเข่าไฟเท่านั้น การที่จะปฏิสังขรณ์ต่อไปไม่ต้องทำอะไร นอกจากตกแต่งผิว แต่ผนังข้างภายในนั้นเสียมากกว่าภายนอก เพราะเป็นที่อบไอร้อนไว้นาน แต่ถึงดังนั้นก็ดี ที่จัดว่าเสียก็แต่ผิวข้างตอนล่างใต้ทับหลังหน้าต่างลงมา คือว่าที่ปูนผิวแตกพังมาเสียสักส่วนหนึ่ง (๑/๔) ที่แตกพอง แลน้ำยารูปเขียนเสียสักสามส่วน (๓/๔) แต่ผิวตอนบนเหนือทับหลังหน้าต่างขึ้นไปยังปรกติดี เป็นแต่สีน้ำยารูปเขียนมัวคล้ำไปเล็กน้อย ดูไม่ผิดกว่าที่เขียนไว้เก่าแก่โดยธรรมดามากนัก เหตุที่ตอนล้างเสียมากกว่าตอนบนนั้น เพราะใกล้ไฟที่ติดคุอยู่กับพื้นช้านาน การปฏิสังขรณ์ต่อไปถ้าจะทำโดยทางรักษาของเก่าให้ดำรงอายุอยู่นาน ก็ต้องถือปูนผิวแลเขียนใหม่แต่ตอนใต้ทับหลังหน้าต่างลงมาเท่านั้น เหนือขึ้นไปนั้นมีที่จะต้องซ่อมอยู่บ้างก็น้อยแห่ง ส่วนเชิงผนังที่ประดับศิลาอ่อนไว้นั้นทำลายหมด การปฏิสังขรณ์ต่อไปต้องใช้ของใหม่ทั้งหมด
            เสาที่เสียไปในเหตุเพลิงไหม้นี้ก็เป็นแต่ผิว อย่างเดียวกันกับผนังข้างภายนอก การปฏิสังขรณ์ต่อไปก็เป็นแต่ตกแต่งเล็กน้อยเช่นผนังภายนอก
            หน้าต่างมี ๑๔ ช่อง


            
ทับหลัง ยังดี ๒     เสียผิว ๖   ไหม้ ๖
เช็ดหน้า ยังดี ๔     เสียผิว ๑   ไหม้ ๙
บาน ยังดี ๒     เสียผิว ๑   ไหม้ ๑๑
ธรณี ยังดี ๒     เสียผิว ๖   ไหม้ ๔

           การปฏิสังขรณ์ต่อไป ที่ยังดีก็คงไว้ ที่ไหม้ก็ต้องทำเปลี่ยนใหม่
            ประตู มี ๔ ช่อง ตัวไม้เสียทุกอย่างทั้ง ๔ ช่อง การปฏิสังขรณ์ต่อไป ต้องทำใหม่ทั้งหมด
            ซุ้มจระนำ ที่ตั้งฉลองพระองค์ด้านหน้า ไม่ได้ชำรุดอะไรนอกจากมัวหมอง แต่ด้านหลังเพลิงไหม้เสียมาก ซุ้มหน้าต่างและประตูต้องไม้ตกแตกหักบ้างแห่งละเล็กน้อย แลหม่นหมองด้วยเขม่าไฟ การปฏิสังขรณ์ต่อไปต้องทำใหม่ ซุ้มจระนำข้างด้านหลังแห่งเดียว นอกนั้นเป็นแต่ตกแต่งผิวใหม่เท่านั้น
            พื้นที่ในพระอุโบสถ ปูด้วยศิลาอ่อน แตกเสียไปเพราะต้องเพลิง ประมาณร้อยละ ๒๕ การปฏิสังขรณ์ต่อไปต้องเปลี่ยนใหม่เท่าที่เสีย ส่วนพื้นนอกพระอุโบสถแลพื้นชาลานั้น ถ่านเถ้ายังทับถมเก็บกวาดยังไม่หมดยังเห็นไม่ได้ว่าจะเสียอย่างไร แต่คิดด้วยเกล้าฯ ว่าน่าจะไม่เสีย เพราะว่าไม่เป็นที่อบร้อนแรงหนักแลศิลาก็หนาด้วย แม้จะเสียบ้างก็คงไม่กว่าร้อยละ ๕
            พระพุทธรูปแลรูปพระสาวก ไม่เป็นอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดนอกจากเก่าโดยธรรมดา ฐานพระนั้นลิแตกบ้าง แลมอมเขม่าไฟไม่ได้เสียไปมาก แต่ฐานชุกชีเป็นที่ใกล้พื้นต้องไอร้อนมากลายร่วนกรอบเสียหมด การปฏิสังขรณ์ต่อไปต้องทำมากแต่ที่ปั้นลายใหม่ที่ฐานชุกชีเท่านั้น นอกนั้นก็เป็นแต่ตกแต่ง
            ซุ้มเสมา ทำด้วยศิลาเขมร ยังบริบูรณ์อยู่ซุ้ม ๑ ยอดหักเพียงบัวกลุ่ม ๒ ซุ้ม หักถึงระฆัง ๓ ซุ้ม แต่ว่าความชำรุดนี้ที่จะเป็นมาก่อนเพลิงไหม้บ้าง การปฏิสังขรณ์ต่อไปต้องทำเพิ่มเติมตามที่เป็นอันตราย
            รูปภาพที่ประดับไว้ในชาลา ทำด้วยศิลาเป็นรูปสิงโตแลทหารจีนนั้น ลิแตกไปเพราะไม้ตกถูกบ้างบางตัว ในการปฏิสังขรณ์ต่อไปนั้น ที่แตกมากก็หาเปลี่ยนใหม่ ที่แตกน้อยก็ไม่ต้องซ่อม เพราะไม่ใคร่เป็นที่สังเกตเห็น แลโดยธรรมดามิได้มีเหตุเพลิงไหม้ ก็มักลิไปเล็กน้อยเหมือนกันมีหลายแห่ง
           ข้าพระพุทธเจ้า ไปปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าการในพระอุโบสถนี้ก็มีสำคัญอยู่แต่พระพุทธรูปกับรูปเขียนที่ผนัง ควรจะทำร่มรักษาไว้ไม่ให้เป็นอันตรายอีกด้วยแดดฝนในระหว่างยังไม่ปฏิสังขรณ์สำเร็จนี้ในส่วนร่มพระพุทธรูปนั้น ข้าพระพุทธเจ้า พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ ได้รับพระบรมราชโองการทำอยู่แล้ว จะได้ทำต่อไปให้ร่วมใน สำหรับป้องกันไม่ให้รูปเขียนที่ผนังเสีย แลสำหรับพระสงฆ์จะได้อาศัยทำอุโบสถสังฆกรรมด้วย
            รายงานในชั้นนี้ เป็นแต่กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แต่ส่วนการที่ชำรุดเสียไปเท่านั้น ยังไม่เป็นการสำเร็จบริบูรณ์พอที่จะทรงพระราชดำริในการที่จะปฏิสังขรณ์ต่อไปให้ตระหนักแน่ได้โดยยังไม่มีราคา แลกำหนดเวลาที่สามารถจะปฏิสังขรณ์ให้สำเร็จบริบูรณ์ได้นั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้พร้อมกันแบ่งหน้าที่เป็นส่วนๆ ไปทำคนละอย่าง คือ ข้าพระพุทธเจ้า กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา คิดประมาณการซ่อมศิลาแลปูนทั่วไป  ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าฟ้ากรมขุนนริศราวัดติวงษ์ คิดประมาณการปั้นสลักแลปิดทองล่องชาดประดับกระจกทั่วไป  ข้าพระพุทธเจ้า พระยาราชสงคราม คิดประมาณการทำตัวไม้ทั่วไป เมื่อได้ประมาณเสร็จทุกส่วนแล้วจะได้รวมขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท


    ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  
      ข้าพระพุทธเจ้า
      นริศรานุวัดติวงษ์ (๑)
      พิทยลาภพฤฒิธาดา (๒)
      ขจรจรัสวงษ์ (๓)
      พระยาราชสงคราม (๔)
(๑) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
(๒) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา
(๓) พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ ต่อมาทรงได้รับสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมี่นปราบปรปักษ์
(๔) นามเดิม ทัด หงสกุล



เมื่อได้ทรงทราบถึงความเสียหายของพระอุโบสถที่ถูกไฟไหม้แล้วได้โปรดให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอุโบสถให้คืนดีบริบูรณ์อย่างเดิม การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ เท่ากับเป็นการสร้างใหม่ตลอดจนเขียนภาพผนังด้านในและปฏิสังขรณ์พระระเบียงรอบพระอุโบสถกับถาวรวัตถุอื่นๆ ที่ควรปฏิสังขรณ์ด้วย สิ้นพระราชทรัพย์ครั้งนี้เป็นเงิน ๑๒,๘๐๐ บาท

ปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ ประจวบกับเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ดำรงสิริราชสมบัติมาเป็นทวีคูณ ๒ เท่ากับรัชกาลสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทวีธาภิเศก โปรดให้อาราธนาพระสงฆ์เท่าจำนวนพระชนมพรรษาของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช ทรงอุทิศพระราชกุศลถวายเป็นส่วนหนึ่ง และโปรดให้อาราธนาพระสงฆ์ราชาคณะเสมอด้วยพระชนมายุของพระองค์มาเจริญพระพุทธมนต์ รับพระราชทานฉัน และมีพระธรรมเทศนามังคลานุโมทนา ๑ กัณฑ์ เป็นพระราชกุศลอีกส่วนหนึ่ง แล้วโปรดให้มีงานฉลองพระอุโบสถ และทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกลับมาบรรจุไว้ในพระอุโบสถตามเดิม งานฉลองพระอุโบสถและฉลองพระบรมอัฐิเริ่มแต่วันที่ ๒๖ ถึง ๓๐ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑)

ในการพระราชกุศลครั้งนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในได้ทรงร่วมบริจาคทรัพย์เป็นเงิน ๒๔,๐๐๐ บาท บูชาพระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิสังขรณ์และสถาปนาถาวรวัตถุในวัด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนตรงกุฏิเก่าด้านเหนือ ซึ่งชำรุดไม่มีพระสงฆ์อยู่ เป็นตึกใหญ่แล้วพระราชทานนามว่า “โรงเรียนทวีธาภิเศก”

เมื่อสร้างโรงเรียนทวีธาภิเศกเสร็จแล้ว ได้โปรดให้พระยาราชสงคราม (นามเดิม กร หงสกุล บุตรพระยาราชสงคราม) เป็นนายงานอำนวยการปฏิสังขรณ์พระปรางค์องค์ใหญ่และบริเวณทั่วไปตามของเดิม แก้ไขเพิ่มเติมบางอย่างตามที่ควรจะแก้โดยมีพระราชปรารภว่า ล่วงกาลนานมาแล้ว พระปรางค์ชำรุดเศร้าหมองควรแก่เวลาที่จะปฏิสังขรณ์ให้ดีดังเก่า มีสำเนาพระราชกระแสดังต่อไปนี้


พระราชกระแสในการปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณ
การซ่อมพระปรางค์วัดอรุณแลบริเวณ ต้องตั้งใจว่าจะรักษาของเก่า ที่ยังใช้ได้ไว้ให้หมด ถึงจะมีมัวหมองเป็นของเก่ากับใหม่ต่อกัน เช่น รูปภาพเขียน ลายเพดาน เป็นต้น อย่าได้พยายามที่จะไปแต่งของเก่าให้สุกสดเท่าของใหม่ ถ้าหากว่ากลัวอย่างคำที่เรียกว่าด่าง ให้พยายามที่จะประสมสีใหม่อ่อนลง อย่าให้สีแหลมเหมือนที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ พอให้กลืนกันไปกับสีเก่า ลวดลายฤๅรูปพรรณอันใดก็ตาม ให้รักษาคงไว้ตามรูปเก่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงแห่งใดสิ่งใดให้ดีขึ้น ต้องให้กราบทูลก่อนฯ เรื่องท่อน้ำรอบลานพระปรางค์เป็นสำคัญ ข้างไทยเราไม่สู้สันทัดเรื่องท่อน้ำ ถ้าควรจะหาฤๅผู้ที่เขาเข้าใจให้หาฤๅ (พระราชกระแสนี้เป็นต้นร่าง ไม่ปรากฏวันเดือนปีและพระบรมนามาภิไธย)


ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยาราชสงครามว่า
                                                                                                                                             วันที่ ๔ มิถุนายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๗
.      . ถึงพระยาราชสงคราม อีกประมาณ ๒ ปี หย่อนเล็กน้อย จะเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คิดจะทำการกุศลอย่างหนึ่งอย่างใดถวายให้เนื่องในรัชกาลนั้น จึ่งคิดเห็นว่าพระอุโบสถพระระเบียงก็ได้สร้างแลปฏิสังขรณ์ใหม่แล้ว แต่พระปรางค์ยังไม่ได้จับต้องอันใดเลย เข้าใจว่ามีที่ชำรุดอยู่บ้าง จะปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์ดี จะสิ้นเงินสักเท่าใด ให้ประมาณเงินมาให้ดู ทั้งพระวิหารและระเบียงคดในหมู่พระปรางค์นั้น ชำรุดทรุดโทรมอย่างใดบ้าง ถ้าจะปฏิสังขรณ์จะสิ้นเงินสักเท่าใด

คำนวณวันที่อายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตกในวันที่ ๑๕ เดือนกุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๘ งานจะต้องกะให้แล้วก่อนนั้น คิดฉลองในเวลานั้น
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์


พระยาราชสงครามได้กะประมาณการปฏิสังขรณ์พระปรางค์ ทูลเกล้าฯ ถวาย มีสำเนาคำกราบบังคมทูลดังต่อไปนี้
                                                                  .วันที่ ๑๘ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

.                                            . ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ
ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าประมาณการซ่อมพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม แลทั้งที่ในบริเวณพระปรางค์ด้วยนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานประมาณรายละเอียดเป็นอย่างๆ ตามสิ่งของที่ชำรุด แต่บางอย่างต้องแก้ไขจากของเดิมบ้าง คือ
       (๑) วิหารคดด้านนอก เดิมเป็นเสาเฉลียงลอย ชำรุดหักพังหมด ถ้าจะทำตามเดิมก็แพงเงิน แลไม่มีประโยชน์อันใด กลับทำให้โสโครก ขอพระราชทานแก้เป็นเฉลียงปลายเต้าและเชิงกลอนชั้นแก้เป็นเชิงกลอนปูน
       (๒) เก๋งจีนด้านเหนือ ด้านใต้ เป็นเฉลียงปลายเต้าอยู่แล้ว แต่ด้านตะวันตกเป็นเสาลอย เป็นที่โสโครกมาก ขอพระราชทานแก้ให้เหมือนกัน
       (๓) ประตูรอบพระปรางค์นั้นมีถึง ๙ ประตู ชำรุดทุกประตู แลมากเกินที่จะใช้ ขอพระราชทานแก้ด้านเหนือด้านใต้เป็นกำแพง คงไว้แต่ด้านหน้า ๓ ประตู ด้านหลัง ๒ ประตู รวม ๕ ประตู พอที่จะใช้การแล้ว
       (๔) ฐานใต้เชิงบาตรพระปรางค์ทุกพระปรางค์ เป็นซุ้มโค้งกลม มีรูปกินนร แต่ชำรุดพังหมด การที่จะทำรูปกินนรดังเก่านั้นแพงมาก ขอพระราชทานแก้เป็นรูปกินนรหล่อด้วยปูนซีเมนต์ซีกเดียวติดกับคูหา ตามนี้  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศฯ ทรงแนะนำ ข้าพระพุทธเจ้าก็เห็นชอบด้วย เพราะง่ายกว่าเก่า นอกจากที่กราบบังคมทูลพระกรุณามานี้ คงตามเดิมทั้งสิ้น แต่พื้นลานพระปรางค์แลชั้นทักษิณทางแลท่อน้ำที่จะเดินโดยสะดวกอย่างไรที่จะดีได้นั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะได้ทำตามคำแนะนำของฝรั่งกรมโยธา  ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลขอต่อกรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ไว้แล้ว ก็ทรงอนุญาต คงเป็นไปตามพระราชประสงค์ได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้กะประมาณตามรายละเอียดเป็นอย่างๆ รวมเงินทั้งสิ้น ๑๕๑,๙๐๑ บาท ๓๒ อัฐ (แสนห้าหมื่นพันเก้าร้อยหนึ่งบาทสามสิบสองอัฐ) รายประมาณได้ทูลเกล้าฯ ถวายมาพร้อมกับหนังสือนี้ด้วยแล้ว
 
.     .
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า ราชสงคราม


ต่อมาได้โปรดให้พระยาราชสงคราม กะประมาณค่าก่อสร้างใหม่ พระยาราชสงครามจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายตามสำเนาต่อไปนี้

                                                                  .วันที่ ๒๕ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗
 

.          . ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ
ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้ากะประมาณใหม่ตามกระแสพระราชดำริ ดัดแปลงจากของเก่านั้น คือ รื้อคดวิหารทิศแลเก๋งด้านเหนือใต้คงไว้แต่ด้านตะวันตกหลังเดียว เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าพอเหมาะกับที่ด้านตะวันออกแลด้านเหนือ ๒ ด้านนี้ เป็นรั้วเหล็กตลอดด้านเหนือริมรั้วเหล็กตัดทางเดินใหม่สำหรับไปวิหาร หลังการเปรียญหันหน้าหาพระปรางค์แลจะไม่มีโสโครกในซอกนั้นต่อไปด้วย ถ้าสัปุรุษสีกาเมื่อเดินไปรักษาศีลที่วิหารก็ได้เห็นลานพระปรางค์ในด้านนั้นได้ตลอด ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าจะงามขึ้นมาก

ได้คัดแผนที่ๆ จะแก้ ทูลเกล้าฯ ถวายมาด้วย ที่ได้ยกเลิกคดวิหารทิศแลเก๋งใช้ค่าแรงรื้อแลค่าอิฐถมตัวไม้ที่ใช้ได้ไปใช้ที่วิหารพระแก้วแต่ต้องเพิ่มค่าแรงค่าปูศิลาลานแลการก่อกำแพงรั้วค่าเหล็ก คงลดเงินจากที่ทูลเกล้าฯ ถวายได้เดิม ๒๗,๘๔๙ บาท คงประมาณที่จะซ่อมใหม่นี้ เงิน ๑๒๔,๐๕๒ บาท (แสนสองหมื่นสี่พันห้าสิบสองบาท) ประการหนึ่งในคดวิหารนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้พิเคราะห์ดูตามที่พระพุทธรูปคงมีอยู่แลเดาเอาบ้าง เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเป็นเรื่องที่คงประสูติคดหนึ่ง ตรัสรู้คดหนึ่ง เทศนาธรรมจักรนั้น ปัญจวัคคีย์แตกหายหมด คดที่ประสูติไม่มีอะไรเอาเลย ให้ตามเรื่องเดิมของท่านทั้ง ๔ ทิศ เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าจะดีไม่ต้องเชิญพระไปที่อื่น อยู่ในนั้นเอง แต่ต้องทำเพิ่มเติมบ้าง เพราะที่มณฑปนี้ก็มีรอยตั้งพระ แต่เป็นอันตรธานเสียนานแล้ว ไม่ได้ร่องรอยว่าเอาไปไหน

แลในลานนั้นมีแท่นหินสำหรับนั่ง ๔ ทิศ เดิมมีต้นไม้ดัดขนาดใหญ่แต่ตายเสีย ต้องหาต้นไม้ที่ใหญ่มาแทนจึงจะงามทัน แลปลูกไม้พุ่มเรียงไปเป็นหย่อมๆ แต่ริมกำแพงด้านใต้ ด้านตะวันตกนั้น สำหรับจะทำร้านขายของเมื่อเวลาเปิดไหว้ต่อไป
.                                      .
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า ราชสงคราม


ต่อมาเสนาบดีสภาได้ประชุมพิจารณาถึงเรื่องนี้ กับเรื่องหม่อมเจ้าในพระเจ้าลูกยาเธอ ที่จะส่งไปศึกษาวิชาประเทศยุโรป มีสำเนารายงานของเสนาบดีสภาดังต่อไปนี้

รายงานเสนาบดีสภา
วันที่ ๒๙ มิถุนายน รัตนโกสินศก ๑๒๗ (ตรงกับวัน ๒ ๘ ค่ำ ปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๗๐ พ.ศ.๒๔๕๑) กำหนดเวลาชุมนุมยามหนึ่ง

ผู้เป็นประธาน
ผู้เป็นประธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเป็นประธานในที่ชุมนุม

รายพระนามและนาม
ผู้มาชุมนุม         ๑.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงษ์วรเดชะ  
.                                     ๒.กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์
.                                     ๓.กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ
.                                     ๔.กรมขุนสมมตอมรพันธุ์
.                                     ๕.สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์
.                                     ๖.กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ
.                                     ๗.พระยาสุขุมนัยวินิต
.                                     ๘.พระยาศรีสหเทพ

มีราชการในระเบียบวาระคือ
ระเบียบวาระ             ๑.เรื่องจะทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณ
๒.เรื่องหม่อมเจ้าในพระเจ้าลูกยาเธอ ที่จะส่งไปศึกษาวิชาที่ประเทศยุโรป

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 พฤศจิกายน 2560 16:21:39 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 23 สิงหาคม 2560 18:00:22 »



ปรึกษาราชการในระเบียบวาระ
๑.ราชการในระเบียบวาระเรื่องจะทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณ   มีพระราชดำรัสว่า ขอนำรายการที่จะทรงพระปฏิสังขรณ์ พระปรางค์วัดอรุณเสนอต่อที่ประชุม แต่เดิมได้สั่งให้ตรวจการที่จะปฏิสังขรณ์ทั่วไป เพราะคิดว่าจะปฏิสังขรณ์ให้คงอยู่ตามเดิมทุกอย่าง แต่เป็นเงินมากนัก แลเห็นว่า วิหารทิศนั้นไม่สู้มีประโยชน์ แลกำแพงที่กันคดบังทำให้ทึบไปด้วย จึงให้พระยาราชสงครามคิดใหม่ คือ เปิดวิหารทิศออกเสีย คงไว้แต่ทิศตะวันตกหลังเดียว ด้านตะวันออกกับด้านเหนือกั้นด้วยรั้วเหล็กโปร่งดังนี้แล้ว ถ้าดูมาแต่ข้างนอกก็จะเห็นถึงฐานพระปรางค์ได้เงินลดลงบ้าง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมากอยู่ แลโปรดให้อ่านรายประมาณเสนอที่ประชุมกรมขุนสมมตฯ ทรงอ่านหนังสือพระยาราชสงคราม แลรายประมาณเสนอที่ประชุม

หนังสือพระยาราชสงครามทูลเกล้าฯ ถวายความว่า การซ่อมพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามแลในบริเวณพระปรางค์ ตามสิ่งที่ชำรุดแต่บางอย่างต้องแก้ไขจากของเดิมบ้าง คือ
       ๑.วิหารคดด้านนอก เดิมเป็นเสาเฉลียงลอยชำรุดหักพังหมด ถ้าจะทำตามเดิมก็แพงเงิน แลไม่มีประโยชน์อันใดกลับทำให้โสโครก ขอแก้เป็นเฉลียงปลายเต้าแลเชิงกลอนชั้นแก้เป็นเชิงกลอนปูน
       ๒.เก๋งจีนด้านเหนือด้านใต้เป็นเฉลียงปลายเต้าอยู่แล้ว แต่ด้านตะวันตก เสาลอยเป็นที่โสโครกมาก ขอแก้ให้เหมือนกัน
       ๓.ประตูรอบพระปรางค์มีถึง ๙ ประตู ชำรุดทุกประตูแลมากเกินที่จะใช้ขอแก้ด้านเหนือด้านใต้เป็นกำแพงคงไว้ แต่ด้านหน้า ๓ ประตู ด้านหลัง ๒ ประตู รวม ๕ ประตูพอใช้การแล้ว
       ๔.ฐานใต้เชิงบาตรพระปรางค์ทุกพระปรางค์เป็นซุ้มโค้งกลม มีรูปกินนรชำรุดพังหมด การที่จะทำรูปกินนรดังเก่าแพงมาก ขอแก้เป็นรูปกินนรหล่อด้วยปูนซีเมนต์ซีกเดียวติดกับคูหา ตามนี้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศร์ทรงแนะนำเห็นชอบด้วย เพราะง่ายกว่าเก่า นอกจากนี้ที่ได้กราบบังคมทูลมานี้คงตามเดิมทั้งสิ้น แต่พื้นลานพระปรางค์แลชั้นทักษิณทางแลท่อน้ำที่จะเดินโดยสะดวกอย่างไรจะดีนั้น ได้ทำตามคำแนะนำของฝรั่งกรมโยธาได้ทูลขอกรมหลวงนเรศร์ไว้แล้ว ก็ทรงอนุญาต คงเป็นไปตามพระราชประสงค์ได้ แลรายประมาณรวมยอดทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๕๑,๙๐๑ บาท

หนังสือพระยาราชสงครามทูลเกล้าฯ ถวายอีกฉบับหนึ่งความว่า ได้กะประมาณดัดแปลงซ่อมพระปรางค์วัดอรุณใหม่ คือ รื้อคดวิหารทิศเก๋งด้านใต้คงไว้แต่ด้านหน้าตะวันตกหลังเดียว เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าพอเหมาะกับที่ ด้านตะวันออกและด้านเหนือ ๒ ด้าน เป็นรั้วเหล็กตลอดด้านเหนือริมรั้วเหล็กดัด ทางเดินใหม่ สำหรับไปวิหารหลังการเปรียญมีทางกว้าง ๕ ศอก เลิกทางด้านหน้าการเปรียญเสียเหมือนการเปรียญหันหน้าหาพระปรางค์แลจะไม่มีโสโครกในซอกนั้นด้วย ถ้าสัปปุรุษสีกาเดินไปรักษาศีลที่วิหารก็ได้เห็นลานพระปรางค์ในด้านนั้นตลอด เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าจะงามขึ้นมาก

ทูลเกล้าฯ ถวายแผนที่ๆ จะแก้ แลที่ได้ยกเลิกคดวิหารทิศแลเก๋งใช้ค่าแรงรื้อ แลค่าอิฐถมตัวไม้ที่ใช้ได้ไปใช้ที่วิหารพระแก้ว แต่ต้องเพิ่มค่าแรงค่าปูศิลาลานแลการก่อกำแพงเสารั้วค่าเหล็กคงลดเงินกว่าที่ประมาณไว้เดิม อีกประการหนึ่ง ในคดวิหารได้พิเคราะห์ดูตามที่พระพุทธรูปคงมีอยู่แลเดาเอาบ้าง เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า เป็นเรื่องที่คงประสูติคดหนึ่ง ตรัสรู้คดหนึ่ง เทศนาธรรมจักรคดหนึ่ง สู่ปรินิพพานคดหนึ่ง และมีเรื่องเกล็ดต่อไปอีกบ้าง แต่เทศนาธรรมจักรปัญจวัคคีย์แตกหายหมด คดที่ประสูติไม่มีอะไรเอาเลย ถ้าโปรดเกล้าฯให้เชิญพระในคดนี้ขึ้นประดิษฐานบนมณฑปทิศ ให้ตามเรื่องเดิมของท่านทั้ง ๔ ทิศ เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าจะดี ไม่ต้องเชิญพระไปที่อื่นอยู่ในนั้นเอง แต่ต้องทำเพิ่มเติมบ้าง เพราะที่มณฑปนี้ก็มีรอยตั้งพระ แต่เป็นอันตรธานเสียนานแล้ว ไม่ได้ความว่าเอาไปไหน แลในลานนั้นมีแท่นศิลาสำหรับนั่ง ๔ ทิศ เดิมมีต้นไม้ดัดขนาดใหญ่ แต่ตายเสีย ต้องหาต้นไม้ที่ใหญ่มาแทน จึงจะงามทัน แลปลูกไม้พุ่มเรียงไปเป็นหย่อมๆ แต่ริมกำแพงด้านใต้ ด้านตะวันตกสำหรับจะทำร้านขายของเมื่อเวลาเปิดไหว้พระต่อไป แลรายประมาณรวมยอดทั้งสิ้นเป็นเงิน ๑๒๔,๐๕๒ บาท

มีพระราชดำรัสว่า พระปรางค์องค์นี้เป็นที่ระลึกสำหรับชาติ ซึ่งจำเป็นจะต้องปฏิสังขรณ์ไว้ให้ถาวร แต่เวลานี้เงินในราชการไม่พอเพียง จึงยอมให้จ่ายเงินพระคลังข้างที่รองไปก่อน เพื่อจะเท่ากับพระชนมายุในรัชกาลที่ ๒ เมื่อถึงคราวทำงบประมาณศกหน้า จึงตั้งงบประมาณเบิกมาหักใช้กันต่อไป

ที่ประชุมเห็นชอบด้วยพระราชดำริ


เมื่อเรื่องการปฏิสังขรณ์ตกลงเป็นที่แน่นอนแล้ว พระยาราชสงคราม ได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์เกี่ยวกับเรื่องเบิกจ่ายเงิน ดังนี้
 
                                                                  .วันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗
                                               
.                                            . ขอพระราชทานกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ทราบฝ่าพระบาท


ด้วยได้ประทานลายหัตถ์ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๗ ให้กะระยะที่จะเบิกเงินซ่อมพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามนั้น ทราบเกล้าฯ แล้ว  ข้าพระพุทธเจ้าได้กะประมาณตามระยะในปี ร.ศ.๑๒๗ นี้ จะใช้เงินสองระยะ คือ ถ้าลงมือทำการเดือนสิงหาคม ร.ศ.๑๒๗ จะต้องใช้เงินครั้งที่หนึ่งเงิน ๓๙,๐๐๐ บาท เดือนธันวาคม ครั้งที่สองเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท รวมปี ร.ศ.๑๒๗ เงิน ๗๔,๐๐๐ บาท

เดือนเมษายน ๑๒๘ ครั้งที่สามเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท เดือนสิงหาคม ครั้งที่สี่เงิน ๒๕,๐๕๒ บาท รวมสี่ครั้งเงิน ๑๒๔,๐๕๒ บาท

แต่ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลชี้แจง ว่าถ้าการเงินรายนี้พระคลังข้างที่เป็นผู้จ่ายแล้ว ขอให้เป็นเช่นที่ทำวัดเบญจบพิตรฯ ค่าสิ่งของแลรายแรงที่ทำการ ข้าพระพุทธเจ้าต้องเชื่อเขาก่อน ครั้นสิ้นเดือนทำฎีกาเป็นรายเดือนจำหน่ายที่ได้ทำการแลใช้จ่ายนั้น เบิกเงินมาจ่ายให้กับบุคคลที่ได้ส่งขอแลทำการ แล้วนำใบคู่จ่ายซึ่งลงนามผู้รับเงินส่งต่อพระคลังฯ ให้เสร็จเป็นเดือนๆ จะไม่เป็นที่รุงรังถึงการบาญชีในภายหลัง เมื่อการแล้วเสร็จก็คงเบิกเสร็จ เงินจะเหลือมากน้อยเท่าใดก็ตกอยู่กับคลังฯ ถ้าจะต้องใช้เงินรองบ้างเล็กน้อย ข้าพระพุทธเจ้าจะทำใบยืม เมื่อเบิกในฎีกาแล้วก็ขอใช้เป็นครั้งคราว ถ้าเป็นได้เช่นนี้ จะเป็นที่พอใจข้าพระพุทธเจ้าเพราะจะประมาทแก่สังขารไม่ได้ ถ้าพลาดพลั้งอย่างไรก็เป็นแต่เป็นหนี้เขาชั่วเดือน ๑ เท่านั้น หรือระหว่างทำการ ข้าพระพุทธเจ้าหมดชีวิตลง ก็จะได้ไม่มัวหมองในชื่อเสียง ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง
.  
                                                                                                                                                                                                                                                                      .


พระยาราชสงครามได้รับคำตอบเรื่องการเบิกจ่ายดังนี้

ที่ ๕๑/๕๑๑

                                                                  .วันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗
                                               
.                                            . แจ้งความมายังพระยาราชสงคราม ได้รับจดหมายลงวันที่ ๘ เดือนนี้ กะระยะเบิกเงินที่จะปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณมา แลกล่าวถึงวิธีเบิกจ่ายด้วยนั้นได้ทราบความแล้ว เงินรายปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณทั้งหมดนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายเงินพระคลังมหาสมบัติ แต่ใน ร.ศก ๑๒๗ นี้ เงินในงบประมาณพระคลังมหาสมบัติไม่พอจ่าย จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายเงินพระคลังข้างที่ทดรองไปก่อน ต่อ ร.ศก ๑๒๘ จึ่งจะจ่ายเงินพระคลังมหาสมบัติ เพราะฉะนั้น ในจำนวน ร.ศก ๑๒๗ นี้ ให้ท่านเบิกที่พระคลังข้างที่ ส่วน ร.ศก ๑๒๘ จึ่งให้เบิกที่พระคลังมหาสมบัติ วิธีเบิกจ่ายตามที่ท่านว่ามานั้น ในส่วนพระคลังข้างที่เป็นอันจัดการตามประสงค์ได้ ส่วนที่จะเบิกพระคลังมหาสมบัติใน ร.ศก ๑๒๘ ต่อไปนั้น ก็หวังว่าเมื่อท่านได้ทูลชี้แจงแก่กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถแล้ว ก็คงจะตกลงได้ เงินรายปฏิสังขรณ์นี้ ได้มีพระราชหัตถเลขาสั่งตลอดแล้ว ท่านจะเบิกเงินเมื่อไรก็ได้ไม่ขัดข้อง

การปฏิสังขรณ์พระปรางค์ได้เริ่มมาแต่เดือนสิงหาคม ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) จนถึง ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) จึงสำเร็จลง แต่อย่างไรก็ดี จำนวนเงินที่กะประมาณไว้นั้น ปรากฏว่าไม่พอ พระยาราชสงครามได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานเงินเพิ่มเติม พร้อมทั้งเหตุผลที่เงินไม่พอเมื่อตอนใกล้จะเสร็จ ดังนี้

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกะหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าพระยาราชสงคราม ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ

ด้วยเดิมโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตเงิน ๑๒๔,๐๕๒ บาท ปฏิสังขรณ์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามนั้น มาจนบัดนี้เงินหมดหาพอจ่ายการถึงที่จะแล้วเสร็จไม่ เป็นด้วยการประมาณในชั้นเดิมผิดบ้าง แลแก้ไขเปลี่ยนแปลงบ้าง เป็นต้น ว่าการที่ไม่มีประมาณ
       ๑.แก้รูปประตูต้องทำบาลรั้วเหล็กเพิ่มขึ้น
       ๒.ทำถนนรอบกำแพงด้านนอก
       ๓.ปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปที่ยกขึ้นไว้บนมณฑป

สิ่งของที่ประมาณผิด
       ๑.การขุดรากโพธิ์ที่องค์พระปรางค์เช่นกันเห็นน้อยอยู่ เมื่อขุดก็มากไป
       ๒.ค่ากระเบื้องสี เช่น โบสถ์เดิม กับวิหารพระแก้วและมณฑปสี่ทิศคิดว่าจะพอหาพอไม่ ต้องซื้อเพิ่มเติม
       ๓.กระเบื้องถ้วยชามที่ประดับพระปรางค์นี้ ประมาณผิดมากเพราะทำไปก็ยิ่งเสียมากไป

การที่เป็นทั้งนี้ ก็เพราะเป็นของเก่า จึงกระทำให้การกะหมายผิดไป พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ บัดนี้ยังขาดเงินที่ไม่พออยู่อีก ๘,๗๑๐ บาท ตามรายการที่ยังเกี่ยวค้างแลกำลังทำอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลเกล้าฯ ถวายมาด้วยแล้ว

แต่กำแพงวัดซึ่งอยู่ริมพระปรางค์ด้านใต้ แลเก๋งหน้าวัด ๖ เก๋ง สะพานน้ำ ของเหล่านี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ใช้เงินกัลปนาสงฆ์ที่มีเหลือยู่ปฏิสังขรณ์ การเสร็จไปแล้ว
.  
                                                                                                                                                                                                                                                                      .
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้า ราชสงคราม ขอเดชะ


เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชกระแส ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ว่า

“เห็นว่าการทำแล้วได้โดยรวดเร็วแลอย่างดี ข้อที่ประมาณผิดเพียงเท่านี้ ไม่อัศจรรย์อะไร ควรจ่ายให้”

พระยาราชสงคราม ได้ดำเนินการต่อไปจนสำเร็จตามสมพระราชประสงค์ทุกประการ

อนึ่ง การปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในรัชกาลนี้ มีพระบรมวงศานุวงศ์และผู้มีจิตศรัทธาได้ทรงบริจาค และร่วมบริจาคให้แก่ทางวัดจัดการบูรณะปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่นๆ มาตั้งแต่ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถจนถึงพระปรางค์ จึงขอนำรายการต่างๆ ตามที่มรรคนายกขอวัดรายงานให้กระทรวงธรรมการในสมัยได้ทราบ โดยลำดับต่อไปนี้


ร.ศ.๑๑๔ (พ.ศ.๒๔๓๘)
ปฏิสังขรณ์พระวิหารใหญ่ซึ่งชำรุดมาก ด้วยเงินของอุบาสิกาเอม ภรรยาหลวงสกลพิมาน (คง) ๓๐ ชั่ง และเงินของผู้มีจิตศรัทธาอื่นๆ บ้าง แต่กระเบื้องมุงหลังคาเป็นของหลวงพระราชทาน

๒.ปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาท ซึ่งเดิมเป็นยอดเกี้ยวแบบจีนจะปฏิสังขรณ์ให้เป็นยอดมงกุฎ ๔ เหลี่ยม โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ทรงรับเป็นผู้จัดการเงินและเรี่ยไร แต่งานยังไม่ทันเสร็จสมเด็จพระเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงษ์สิ้นพระชนม์ และพระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) ซึ่งเป็นผู้ทำงานด้านปฏิสังขรณ์ก็ถึงแก่อนิจกรรม ได้โปรดให้ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ผู้เป็นบุตร เมื่อยังเป็นพระราชโยธาเทพ ทำจนแล้วเสร็จใน ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕)


ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑)
เฉพาะผู้บริจาคในปีนี้ มีพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ (๑) ที่ทรงบริจาคเงินร่วมการปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ คือ

            
๑.สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ(๒) เงิน ๒,๕๖๐บาท
๒.สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี(๓) เงิน ๒,๕๖๐ บาท
๓.พระนางเจ้า พระราชเทวี(๔) เงิน ๑,๒๘๐บาท
๔.พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค(๕) เงิน ๑,๒๘๐ บาท
๕.พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์(๖) เงิน๑,๒๘๐ บาท
๖.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน(๗) เงิน๑,๒๘๐ บาท
๗.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์(๘) เงิน๑,๒๘๐ บาท
๘.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร(๙) เงิน  ๘๐๐ บาท
๙.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล(๑๐) เงิน  ๘๐๐ บาท
๑๐.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา(๑๑) เงิน  ๖๔๐ บาท
๑๑.พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล(๑๒) เงิน  ๖๔๐ บาท
๑๒.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียนเงิน  ๘๐๐ บาท
๑๓.พระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา เงิน  ๔๐๐ บาท
๑๔.พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิเวศ เงิน  ๒๔๐ บาท
๑๕.พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี(๑๓) เงิน  ๒๘๐ บาท
๑๖.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าประภัศรเงิน  ๓๒๐ บาท
๑๗.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าภักตรพิมลพรรณเงิน  ๒๔๐ บาท
๑๘.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าศรีนาคสวาสดิ์ เงิน  ๒๔๐ บาท
๑๙.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี เงิน  ๒๔๐   บาท
๒๐.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา เงิน  ๒๔๐ บาท
๒๑.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าอรทัยเทพกัญญาเงิน๑,๐๔๐บาท
๒๒. พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านารีรัตนา เงิน  ๒๔๐ บาท
๒๓.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านงคราญอุดมดี เงิน  ๒๔๐ บาท
๒๔.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ากาญจนากร เงิน  ๒๔๐ บาท
๒๕.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผันเงิน  ๔๐๐ บาท
๒๖.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง เงิน  ๒๔๐ บาท
๒๗.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา(๑๔) เงิน  ๔๘๐   บาท
๒๘.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าประสานศรีใส เงิน  ๒๐๐ บาท
๒๙.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าประพาฬรัศมีเงิน  ๒๐๐ บาท
๓๐.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าประดิฐสาลี เงิน  ๒๔๐ บาท
๓๑.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอาง เงิน  ๒๔๐ บาท
๓๒.พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าประไพศรีสอาด เงิน  ๑๖๐ บาท
๓๓.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์(๑๕) เงิน    ๖๐๐ บาท
๓๔.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวรลักษณาวดี เงิน  ๔๐๐ บาท
๓๕.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา เงิน  ๔๐๐ บาท
๓๖.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจุธารัตนราชกุมารี เงิน  ๔๐๐ บาท
๓๗.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอรพินทุเพญภาคเงิน  ๔๐๐ บาท
๓๘.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุวภักตรวิไลยพรรณเงิน  ๔๐๐ บาท
๓๙.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าภัทรายุวดี(๑๖) เงิน  ๔๐๐ บาท
๔๐.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเจริญศรีชนมายุ เงิน  ๓๒๐ บาท
๔๑.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประเวศวรสมัย เงิน  ๔๐๐ บาท
๔๒.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศศิพงษ์ประไพ เงิน  ๔๐๐ บาท
๔๓.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าพิสมัยพิมลสัตย์ เงิน  ๒๔๐ บาท
๔๔.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท เงิน  ๔๐๐ บาท
๔๕.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอรประพันธรำไพ เงิน    ๔๐๐ บาท
๔๖.พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย เงิน  ๔๐๐ บาท
๔๗.เจ้าจอมมารดาแสง(๑๗) เงิน  ๖๔๐ บาท

(๑) รายพระนาม คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๕ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๗ พ.ศ.๒๔๔๑ หน้า ๑๙๔-๑๙๕.
(๒) สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง
(๓) สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
(๔)  สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
(๕)  สมเด็จพระชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา
(๖)  พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
(๗) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตรนโกสินทร
(๘)  สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
(๙)  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
(๑๐)  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี
(๑๑)  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
(๑๒)  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี
(๑๓)  กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ
(๑๔)  กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี
(๑๕)  กรมขุนสุพรรณภาควดี
(๑๖) (๑๖) พระองค์เจ้าหญิงบีเอตริศภัทรายุวดี
(๑๗)  เจ้าจอมมารดาแสง ธิดาพระยาไชยวิชิต (ช่วง กัลยาณมิตร)



ร.ศ.๑๑๘ – ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๒ - พ.ศ.๒๔๔๔)
๑.ปฏิสังขรณ์หมู่กุฏิ ๑  จำนวน ๔ หลัง  หลังหนึ่ง ๙ ห้อง  หลังหนึ่ง ๗ ห้อง  หลังหนึ่ง ๑๕ ห้อง  และกุฏิหมู่อีก ๗ หลัง
๒.มุงสังกะสีหลังคาพระวิหารใหญ่ ซึ่งรั่วมากไว้เป็นการชั่วคราว ด้วยเงินผลประโยชน์ของวัด
๓.ซ่อมพื้นศาลาในบริเวณพระปรางค์ชั้นล่างโดยรอบ และปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎก

ทั้ง ๓ รายการนี้ใช้เงินผลประโยชน์ของวัด และเงินของผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคตลอดจนสิ่งของต่างๆ เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานไม้ขอนสัก ยาว ๔ วา ๑๒ กำ ๔ ต้น กับน้ำรักเชียงใหม่ ๕ ลุ้ง พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) มรรคนายกให้กระจกสีประดับช่อฟ้าใบระกาและหน้าบัน และกระเบื้องสีของหลวง เป็นต้น


ร.ศ.๑๒๒ (พ.ศ.๒๔๔๖)
๑.ปฏิสังขรณ์พระวิหาร ทำต่อจากปีก่อน คุณหญิงเอี่ยม ภรรยาพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ม.ร.ว.ลบ สุทัศน์) และนางทรัพย์บ้านริมตรอกพระยาไกร บริจาคทรัพย์ซ่อมซุ้มหน้าต่าง ๑๔ ซุ้ม
๒.ปิดทองพระประธานในพระวิหาร ได้รับทองคำเปลวของหลวงปิดพระพักตร์
๓.ปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ ด้วยเงินของคุณหญิงคุ้ม ภรรยาพระยาเพชรปาณี (ตรี)
๔.รื้อโรงครัวสำหรับเมรุ (เก่า) ๔ หลัง ตึกที่พัก ๒ หลัง พลับพลา ๑ หลัง
 ๕.ซ่อมหอสวดมนต์ด้วยเงินของพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล)


ร.ศ.๑๒๓ (พ.ศ.๒๔๔๗)
๑.ปฏิสังขรณ์ประตูซุ้มยอดมงกุฎ ด้วยเงินของหลวง
๒.ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถเก่า
๓.ซ่อมบังสาดและกุฏิแถว
๔.ซ่อมกำแพงหลังพระวิหาร
๕.ซ่อมศาลาหลังมณฑปพระพุทธบาทจำลอง และศาลาราย ด้านใต้พระวิหาร รายการที่ ๒ ถึง ๕ ใช้เงินผลประโยชน์ของวัดและผู้มีจิตศรัทธา


ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๘)
๑.ซ่อมแซมกุฏิ
๒.มุงหลังคาวิหารคดพระปรางค์ด้วยกระเบื้องทราย
๓.ทำท่อน้ำจากพระปรางค์ลงแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัด
ทั้ง ๓ รายการนี้ ใช้เงินผลประโยชน์ของวัด


ร.ศ.๑๒๖ (พ.ศ.๒๔๕๐)
๑.ซ่อมเชิงชายพระอุโบสถ
๒.ทำช่อฟ้าพระระเบียงหรือวิหารคดพระอุโบสถ
๓.ซ่อมศาลา
๔.ต่อกำแพงพนักรั้วเหล็ก
๕.ปูศิลาลานในซุ้มประตู และถนนหน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎ
    ทั้ง ๕ รายนี้ ใช้เงินผลประโยชน์ของวัด
๖.ปฏิสังขรณ์กุฏิในคณะ ๑ หลัง ๑  ด้วยเงินของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี (สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร)



ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑)
๑.ซ่อมศาลาเล็กข้างศาลาการเปรียญ ๓ หลัง
๒.ก่อกำแพงพนักรั้วเหล็กที่ภูเขาจำลองหน้าวัด ยาว ๒๒ วา
๓.ทำช่อฟ้าพระระเบียง ๒ ตัว
๔.ซ่อมพระระเบียง
๕.ทำโป๊ะสะพานท่าน้ำ ๑ โป๊ะ
๖.ปูศิลาลานในซุ้มประตูยอดมงกุฎและถนนหน้าประตูถึงสะพานท่าน้ำ
    รายการทั้งหมดนี้ ใช้เงินผลประโยชน์ของวัด


ร.ศ.๑๒๘  (พ.ศ.๒๔๕๒)
๑.ซ่อมศาลาท่าน้ำเก๋งจีน ๖ หลัง
๒.ก่อกำแพงใหม่ยาว ๙ ศอก กับทำรางน้ำหลังศาลาเก๋งยาว ๑๖ วา
๓.ซ่อมเชิงชายพระอุโบสถ ยาว ๑๑ วา
๔.ต่อฐานรองที่บูชาในพระอุโบสถใหญ่ ๓ โต๊ะ และจ้างช่างเขียนลายกำมะลอ
๕.ทำถนนรอบพระเจดีย์ ยาว ๖๒ วา กว้าง ๓ ศอก
๖.ถือปูนหลังคาพระระเบียง
๗.ทำถนนหน้ากุฏิ ยาว ๑๘ วา กว้าง ๑ วา ปูศิลาสองข้าง มีรางน้ำ
๘.ถือปูนหลังคากุฏิ ยาว ๓๒ วา ๓ ศอก
๙.ซ่อมกำแพงวัดด้านใต้ ยาว ๖๙ วา ๓ ศอก
๑๐.ซ่อมสะพานหน้าพระอุโบสถตั้งพนักใส่เหล็กกับหุ้มเสา และซ่อมสะพานหน้าพระปรางค์
๑๑.ปูกระเบื้องหน้าวัว เก้าอี้ยาวกุฏิสมเด็จ
๑๒.ทำแท่นรองพระในศาลาการเปรียญ ๔ แท่น
๑๓.ขุดหินข้างศาลาการเปรียญ แล้วลาดซีเมนต์พื้นใหม่
๑๔.ตีเข็มริมเขื่อน
๑๕.ซ่อมหอพระไตรปิฎก
     ทั้ง ๑๕ รายการนี้ ใช้เงินผลประโยชน์ของวัดและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกัน
๑๖.ซ่อมพระเจดีย์ ๔ องค์ ที่อยู่ระหว่างพระระเบียงด้านใต้กับมณฑปพระพุทธบาทจำลอง ด้วยทรัพย์ที่ทรงบริจาคองค์ละ ๑,๐๐๐ บาท ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ(๑) สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี (๒) พระนางเจ้า พระราชเทวี (๓) และพระอรรคชายาเธอ(๔)

เมื่อการปฏิสังขรณ์พระปรางค์และสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมา ในพระอารามบริบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ได้โปรดให้มีการฉลองรวม ๓ งาน พร้อมกันคือ
๑.งานฉลองพระไชยนวรัฐ
๒.งานบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล คือ มีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๓.งานฉลองพระปรางค์
    ทั้ง ๓ งานนี้เป็นงานใหญ่ ได้เริ่มแต่วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) รวม ๙ วัน

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 พฤศจิกายน 2560 15:20:45 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 30 พฤศจิกายน 2560 15:27:16 »




รัชกาลที่ ๖

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๔๕๓ การปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ไม่สู้จะมีมากนักเพราะทุกสิ่งทุกอย่างภายในวัดยังบริบูรณ์ดีอยู่ จะมีบ้างก็เป็นส่วนปลีกย่อยที่ทางวัดกับผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันดำเนินการเอง ปรากฏตามรายงานของมรรคนายกมีดังต่อไปนี้

พ.ศ.๒๔๕๔
๑.ก่อเขื่อนหน้าวัดทางด้านที่จะขึ้นพระปรางค์ ยาว ๓๙ วา ๒ ศอก
๒.ทำเสาเหล็กและสะพานท่าน้ำ
๓.ซ่อมรูปยักษ์หน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎ
๔.ทำฐานรองพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระอุโบสถ
   ทั้ง ๔ รายการนี้ ใช้เงินผลประโยชน์ของวัด


พ.ศ.๒๔๕๖
๑.สร้างกุฎขึ้นใหม่ ๒ หลัง ปฏิสังขรณ์ของเก่า ๒ หลัง และก่อกำแพงด้านหน้าและด้านหลังของกุฏิด้วยเงินของเจ้าคุณพระสาธุศีลสังวร (เผื่อน)
๒.สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ๒ ชั้น ๑ หลัง ในคณะ ๗ ด้วยเงินของพระครูประสิทธิ์พุทธมนต์ (ลืม)(๑) กับนายบ๋า บุตรพระยาอัษฎงคตทิศรักษา (ต้นกิมจิ๋ง ณ ระนอง)
๓.สร้างถนนระหว่างกุฏิกับโรงเรียนทวีธาภิเศก และระหว่างพระอุโบสถ ๔ สาย ด้วยเงินของผู้มีจิตศรัทธาบริจาคร่วมกัน
๔.มหาเสวกตรี พระยาอัพภันตรีกามาตย์ (จ่าง ภาณุทัต) บริจาคเงินให้พระครูภาวนาภิรมย์ (พุ่ม)(๒) สร้างกุฏิหลัง ๑
๕.ทำเขื่อนหน้าวัดต่อขึ้นมาทางเหนือ ยาว ๖๖ วา ๒ ศอก สูง ๔ ศอก ๑ คืบ
๖.ซ่อมแซมรูปยักษ์หน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎ
๗.ซ่อมศาลานายนกและนายเรื่อง เพราะหลังคาพัง ต้องทำใหม่
    รายการที่ ๕-๗ ใช้เงินของผู้มีจิตศรัทธาบริจาคร่วมกัน


---------------------------------------------
(๑) เป็นบุตรพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม ปี่ยัมปุตร) และคุณหญิงส้มลิ้ม ต่อมาได้เลื่อนขั้นเป็นพระครูวิสุทธิธรรมภาณ และพระครูภาวนาวิจารณ์โดยลำดับ
(๒) ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระปัญญาคัมภีรเถระ


รัชกาลที่ ๗

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๔๖๘ ไม่ปรากฏหลักฐานการปฏิสังขรณ์ เข้าใจว่าการก่อสร้างในรัชกาลนี้คงจะมีบ้าง ทางวัดได้รับมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินมีทั้งเรือนและห้องแถวเพิ่มขึ้น คือ นางวิวิธนการ (ภูล สุคนธะชาติ) บ้านตำบลตรอกสลักหิน ถนนรองเมือง อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ยกกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๕๓ ตารางวา พร้อมด้วยห้องแถว ๒ ชั้น ๓ ห้อง พื้นไม้ตะแบก ฝาไม้สิงคโปร์ หลังคามุงสังกะสี กับเรือนชั้นเดียว ๑ หลัง พื้นและฝาไม้สัก หลังคามุงสังกะสี ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินท้องที่อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ขุนมหาฤทธิไกร (ผ่อง เนตรนิยม) บิดาและนางจีน มหาฤทธิไกร มารดา เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๒

รัชกาลที่ ๘

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๔๗๗ ไม่ปรากฏหลักฐานการปฏิสังขรณ์วัด แต่พระเถระผู้ใหญ่ในวัดนี้ได้ชี้แจงและยืนยันว่า ได้มีการปฏิสังขรณ์วัดหลายอย่าง เช่นทำถนนหนทางในวัดให้มั่นคงถาวรยิ่งขึ้น และทำเขื่อนหน้าวัดให้แข็งแรง เพราะของเดิมชำรุดทรุดโทรมมาก ได้จัดการซ่อมและทำใหม่ให้มั่นคง

รัชกาลที่ ๙

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๔๘๙ ในรัชกาลนี้มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะย่างยิ่ง คือ สมัยเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันมาครองวัดนี้ งานปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุตลอดจนการก่อสร้างต่างๆ ได้ดำเนินมาโดยลำดับ จากหลักฐานทางวัดมีดังต่อไปนี้

พ.ศ.๒๔๙๑
๑.ซ่อมถนนและฐานพระศรีมหาโพธิ์หน้าวัด
๒.รื้อศาลาการเปรียญของเก่า แล้วสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมเป็นตึกทรงไทย ๒ ชั้น มีมุข ๔ ด้าน เทคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐถือปูน มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ แล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๔๙๒ นางเผือก ยุวบูรณ์ เป็นผู้บริจาคทรัพย์จำนวน ๒๘๐,๐๐๐ บาท และเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันบริจาคสมทบอีก ๑๗,๔๒๓ บาท ๒๕ สตางค์ ให้ชื่อว่าโรงเรียนพระปริยัติธรรม “เผือกวิทยาประสาธน์”


พ.ศ.๒๔๙๒
๑.ซ่อมกุฏิในคณะ ๑ ด้วยเงินของผู้มีจิตศรัทธาบ้าง ผลประโยชน์ของวัดบ้าง
๒.ซ่อมประตูและกำแพงวัดด้านตะวันตก ด้วยเงินของผู้มีจิตศรัทธา


พ.ศ.๒๔๙๓
๑.ปฏิสังขรณ์พระวิหาร ซึ่งชำรุดเสียหายมาก และซ่อมองค์พระประธานในพระวิหารพร้อมทั้งฐานชุกชี ด้วยเงินของรัฐบาลร่วมกับผู้มีจิตศรัทธา เงินรายได้จากงานเทศน์มหาชาติ และเงินจัดงานประจำปีของวัด(๑)
๒.ซ่อมรั้วเหล็กรอบพระปรางค์ ด้วยเงินของรัฐบาลและเงินของวัด
๓.ซ่อมช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์พระระเบียงหรือวิหารคดบางส่วน ด้วยเงินของผู้มีจิตศรัทธา


---------------------------------------------
(๑) งานประจำปีของวัด กองทัพเรือเป็นผู้อุปถัมภ์เสมอมา

พ.ศ.๒๔๙๔
๑.ปฏิสังขรณ์โบสถ์น้อยและวิหารน้อยหน้าพระปรางค์ ด้วยเงินของรัฐบาล

พ.ศ.๒๔๙๕
๑.สร้างเขื่อนปากคลองหน้าวัด ยาว ๔๕ เมตร กว้างครึ่งเมตร ด้วยเงินของนางชลิอจิตต์ สุมาวงศ์

พ.ศ.๒๔๙๖
๑.ซ่อมกุฏิ ๕ ห้อง ๑ หลัง
๒.ซ่อมศาลาราย ๒ หลัง
๓.ซ่อมถนน ๓ สาย
๔.ก่อกำแพงด้านหลังวัด และหน้าพระอุโบสถ
๕.ซ๋อมรูปยักษ์หน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎและทำแผงตาข่ายเหล็กกั้น
    ทั้ง ๕ รายการนี้ ด้วยเงินผลประโยชน์ของวัด
๖.คุณหญิงมนูเวทย์วิมลนาท (แฉล้ม สุมาวงศ์) บริจาคเงินสร้างอาคารไม้รูปทรงแบบจีน ๔ หลัง ศาลาท่าน้ำแบบทรงไทยหลัง ๑ ชื่อ “อนุสรณ์ท่าเรือคุณแม่เผือก” พร้อมกับสร้างสะพานท่าน้ำทำโป๊ะหล่อด้วยปูนซีเมนต์ สร้างกำแพงกั้นเป็นเขตจดเขื่อนหน้าวัด มีประตูเหล็กใหญ่ประตู ๑ ประตูเล็กประตู ๑ และซ่อมศาลาท่าน้ำหน้าวัด ๔ หลัง
     สิ่งก่อสร้างตามรายการที่ ๖ นี้ ผู้สร้างถวายไว้เป็นสมบัติของวัด


พ.ศ.๒๔๙๗
๑.สร้างเขื่อนริมคลองด้านเหนือวัด ยาว ๑๕๐ เมตร แล้วทำรั้วสังกะสีกั้นเป็นเขต ยาว ๑๐๐ เมตร ด้วยเงินของวัดและของผู้เช่าที่ดิน
๒.ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ โดยรื้อช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ลง เปลี่ยนตัวไม้ที่เสีย ส่วนที่ยังใช้ได้ก็คงไว้ แล้วลงรักปิดทองประดับกระจกตามเชิงชายน้ำตก กะเทาะปูนออก เทคอนกรีตเสริมเหล็ก แล้วถือปูนใหม่ทุกชั้น ทาน้ำปูนกำแพงด้านนอกพระอุโบสถและเสาโดยรอบ พร้อมกันนั้นได้ซ่อมลายฉลุพื้นเพดานที่ลบเลือนเสียหาย ลงรักปิดทองประดับกระจกบัวหัวเสาและบัวเชิงเสา
๓.ซุ้มบุษบกยอดปรางค์หน้าพระอุโบสถทรุด ได้แก้ไขให้คงสภาพเดิม แล้วลงรักปิดทองประดับกระจกใหม่ ทำลายรดน้ำบานหน้าต่างด้านนอก ๔ ช่อง
๔.เปลี่ยนกระเบื้องหลังคาพระระเบียงใหม่ทั้งหมด และทำช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ตามซุ้มจระนำที่เสียหาย แล้วลงรักปิดทอง
    รายการที่ ๒-๔ นี้ ส่วนใหญ่ด้วยเงินที่รัฐบาลมอบให้ เป็นจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท สมทบด้วยเงินที่ได้จากงานเทศน์มหาชาติงานประจำปี และผู้มีจิตศรัทธาบริจาค
๕.บูรณะศาลารายข้างพระวิหารใหญ่ ๓ หลัง หอไตรหลัง ๑ และกุฏิ ๑๔ หลัง ด้วยเงินของกระทรวงกลาโหมมอบให้ เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท


พ.ศ.๒๔๙๘
๑.บูรณะซุ้มประตูยอดกุฎหน้าพระอุโบสถ ด้วยเงินของวัด
๒.ลงมือปฏิสังขรณ์พระปรางค์ทิศกับมณฑปทิศทางด้านเหนือด้วยเงินที่รัฐมอบให้ เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๗ เหลือมา


พ.ศ.๒๕๐๐
๑.รื้อหอกลาง ๒ ชั้น ในคณะ ๗ ซึ่งเดิมใช้เป็นโรงเรียนปริยัติธรรมของวัด แล้วปรับปรุงให้เป็นชั้นเดียว เปลี่ยนเสาระเบียง ๓ ด้าน เป็นคอนกรีต ปรับพื้น ตีเพดาน ทาสีใหม่
๒.ลงรักปิดทองบัวพระอุโบสถด้านหลัง บูรณะซุ้มและประตูบางส่วนที่ชำรุด
๓.ซ่อมศาลาท่าน้ำ ๖ หลัง แล้วทาสีใหม่
๔.เปลี่ยนพื้นสะพาน ๑ สะพาน พร้อมทั้งเปลี่ยนลูกกรงบางส่วนที่ชำรุด แล้วทาสี
๕.ซ่อมปูนที่ชำรุดตามรั้วพระปรางค์ แล้วทาสีใหม่ กับทาสีลูกกรงเหล็กด้วย
๖.บูรณะหอกลางในคณะ ๑ คือ รื้อหลังคาปรับปรุงเครื่องบนใหม่หมด แล้วมุงด้วยกระเบื้องสีเขียว ถือปูนอกไก่และตามตะเฆ่ ทำใบระกาหล่อด้วยซีเมนต์ทั้ง ๒ ด้าน ทำเพดาน ปรับพื้น ถากเสาให้เล็กลง แล้วถือปูน ก่อกำแพงระเบียงด้านเหนือด้านใต้ ทำเป็นประตูเข้าออก ๔ ประตู หน้าต่าง ๕ หน้าต่าง ส่วนระเบียงด้านตะวันออก รักษาลูกกรงไว้ตามเดิม แต่ทำหน้าต่างเพิ่มอีก ๔ หน้าต่าง ทำรางน้ำ ทาสีและติดโคมไฟฟ้าใหม่ (เฉพาะรายนี้ นางตลับ ชินะการ บริจาคเงินสมทบ ๒๐,๐๐๐ บาท อุทิศส่วนกุศลให้ นายอั๋น ชินะการ สามี)
๗.ปฏิสังขรณ์พระปรางค์ทิศด้านเหนือของพระปรางค์ใหญ่ ๑ องค์
     ทั้ง ๗ รายการนี้ ด้วยเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาและเงินรายได้จากงานสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ


พ.ศ.๒๕๐๑
๑.ซ่อมพระเจดีย์ ๔ องค์ ระหว่างมณฑปพระพุทธบาทจำลองกับพระระเบียงพระอุโบสถด้านใต้
๒.ซ่อมกุฏิ
๓.ซ่อมหอเขียวในคณะ ๑
ทั้ง ๓ รายการนี้ ด้วยเงินของผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาค


พ.ศ.๒๕๐๓
๑.สร้างฌาปนสถาน ระหว่างหลังกุฏิคณะ ๖-๘ กับกำแพงหลังวัด ด้วยเงินผลประโยชน์ของวัดกับเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ บาทเศษ

พ.ศ.๒๕๐๗
๑.ซ่อมหอเขียวในคณะ ๑ และสร้างกุฏิติดหอเหลืองอีก ๑ หลัง
๒.ซ่อมกุฏิในคณะ ๒
ทั้ง ๒ รายการนี้ ด้วยเงินผลประโยชน์ของวัด และเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา


พ.ศ.๒๕๐๘
๑.ปฏิสังขรณ์พระปรางค์ทิศด้านทิศเหนืออีก ๑ องค์
๒.ปฏิสังขรณ์มณฑปทิศด้านเหนือ
ทั้ง ๒ รายการนี้ ด้วยเงินงบประมาณของรัฐบาล ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ ร่วมกับเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาอีกประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ


พ.ศ.๒๕๐๙
๑.ซ่อมกุฏิในคณะ ๓ ด้วยเงินผลประโยชน์ของวัด

พ.ศ.๒๕๑๐
๑.ทำสะพานท่าน้ำ เปลี่ยนจากไม้เป็นคอนกรีต
๒.ทำรั้วลูกกรงเหล็กรอบโรงเรียนพระปริยัติธรรม “เผือกวิทยาประสาธน์”
ทั้ง ๒ รายการนี้ ด้วยเงินผลประโยชน์ของวัด และผู้มีจิตศรัทธาบริจาคร่วมกัน

ในปีนี้ กรมศิลปากรกับกรมการศาสนาได้รับมอบให้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์เป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้เวลาและเงินจำนวนมาก มูลเหตุแห่งการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ มีลำดับความเป็นมาดังต่อไปนี้

เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้มีลิขิตถึง ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นใจความว่า พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นปูชนียสถานเก่าแก่อันหาค่ามิได้ของชาติไทย ขณะนี้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก แม้ทางวัดจะได้บูรณะซ่อมแซมตลอดมา ก็ยังไม่สมบูรณ์เช่นเดิม จึงใคร่ขอให้ทางราชการอุปถัมภ์ช่วยเหลือบูรณะให้อยู่ในสภาพดีต่อไป

พันเอก ขุนทะยานราญรอน รองเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง รักษาราชการแทนเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ที่ สร.๐๒๐๙/๒๐๘๓ ลงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๐๙ ถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาว่า จะให้ความอุปถัมภ์ได้เพียงใด กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบให้กรมการศาสนาเป็นผู้พิจารณา แล้วได้มีหนังสือ ด่วนมากที่ ศธ.๐๔๐๗/๗๐๙๐ ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๐๙ ถึงเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี เป็นใจความว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมจริง และเห็นสมควรให้กรมศิลปากรส่งช่างไปตรวจพิจารณาเพื่อบูรณะ โดยกำหนดโครงการไว้ ๓ ปี เริ่มแต่ปี ๒๕๑๐ ในวงเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมกันนั้นได้มีหนังสือ ด่วนมากที่ ศธ.๐๔๐๗/๒๓๔๖ ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๐๙ ถึงอธิบดีกรมศิลปากร มีข้อความอย่างเดียวกัน

กรมศิลปากรได้มอบให้กองหัตถศิลป จัดช่างในกองหัตถศิลป ไปตรวจพิจารณารายละเอียดต่างๆ ซึ่งจะต้องบูรณะพร้อมทั้งจัดทำผังบริเวณถ่ายภาพ และร่างโครงการซ่อมเสนอ แล้วกรมศิลปากรได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งฝ่ายช่าง ฝ่ายโบราณคดี ฝ่ายสถาปัตย์ ฝ่ายจิตรกรรมและประติมากรรม ฝ่ายประณีตศิลป และฝ่ายวิศวกร ของกรมศิลปากร ประชุมปรึกษาหารือกัน เป็นที่ตกลงแล้ว กรมศิลปากรจึงมีหนังสือที่ ศธ.๐๘๐๘/๕๓๒ ลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ ถึงอธิบดีกรมการศาสนา แจ้งว่า ได้จัดทำโครงการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ พร้อมทั้งประมาณการค่าใช้จ่ายต่อจากงวดแรก (๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท) ซึ่งจะต้องดำเนินการบูรณะจนแล้วเสร็จเป็นเงินเพิ่มขึ้นอีก ๑๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท  โดยแบ่งงานบูรณะออกเป็น ๔ งวด ใช้เวลา ๕ ปี และในที่ประชุมอธิบดีในกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๐ ที่ประชุมได้มีมติมอบให้กรมศิลปากรเป็นเจ้าของเรื่องดำเนินการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ และหนังสือชี้แจงให้ทราบ กระทรวงศึกษาธิการ เสนอโดยหนังสือ ที่ ศธ.๐๘๐๑/๗๒๖๖ ลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๑๐ ถึงคณะรัฐมนตรี พร้อมกับเสนอขอแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแผนการบูรณะรวม ๑๖ ท่าน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๑๐ ตามหนังสือที่ สร.๐๔๐๓/๖๖๘๕ ลงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๑๐ มีรายนามดังต่อไปนี้


                                 คณะกรรมการแผนการบูรณะ
๑.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ          ประธาน
๒.หม่อมหลวงชูชาติ กำภู รองประธาน
๓.รองเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม กรรมการ
๔.ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการ
๕.ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
๖.อธิบดีกรมศิลปากร กรรมการ
๗.อธิบดีกรมการศาสนา กรรมการ
๘.ผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรี กรรมการ
๙.นายกเทศมนตรีนครธนบุรี กรรมการ
๑๐.ผู้แทนสำนักพระราชวังกรรมการ
๑๑.ผู้แทนสำนักงบประมาณ กรรมการ
๑๒.ผู้แทนกรมโยธาเทศบาล กรรมการ
๑๓.ผู้แทนกองทัพเรือ กรรมการ
๑๔.สถาปนิกพิเศษ กรรมการ
๑๕.รองอธิบดีกรมศิลปากร กรรมการและเลขานุการ
๑๖.เลขานุการกรมศิลปากร กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

และให้เจ้าอาวาสวัดอรุณฯ เป็นที่ปรึกษาของกรรมการคณะนี้ ต่อมา ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการพิจารณาแผนการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ได้มีคำสั่ง ที่ ๓๖๖/๒๕๑๐ ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๑๐ แต่งตั้งอนุกรรมการสำรวจความชำรุดของพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามมีรายนามดังต่อไปนี้

                                 คณะอนุกรรมการสำรวจความชำรุดของพระปรางค์
๑.ม.ล.ชูชาติ กำภู ประธานกรรมการ
๒.อธิบดีกรมศิลปากรรองประธานกรรมการ
๓.ดร.ชัย มุกตพันธ์ อนุกรรมการ
๔.ดร.รชฏ  กาญจนะวณิชย์ อนุกรรมการ
๕.สถาปนิกพิเศษ กรมศิลปากร อนุกรรมการ
๖.หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร     อนุกรรมการ
๗.นายสุวิชญ์  รัศมิภูติ อนุกรรมการ
๘.หัวหน้ากองหัตถศิลป กรมศิลปากร อนุกรรมการและเลขานุการ


พิธีบวงสรวง
ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการ พร้อมด้วยคณะกรรมการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้ประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์ ณ ภายในบริเวณด้านหน้าองค์พระปรางค์ เมื่อวันพุธที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๐ เวลา ๙.๐๐ น.  พิธีเริ่มด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยในพิธีมณฑล พระราชครูวามเทพมุนี ประกอบพิธีบวงสรวงเสร็จแล้วสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้ร่วมงาน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา เป็นเสร็จพิธี
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กุมภาพันธ์ 2561 16:06:31 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 14 กุมภาพันธ์ 2561 16:10:53 »


พระบรมรูปหล่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐานที่วัดอรุณราชวราราม บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

อัตลักษณ์ของวัด


วัดอรุณราชวรารามหรือวัดแจ้ง มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่เป็นวัดที่อยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี แม้พระบรมราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์จะได้ทรงย้ายราชธานีมาฝั่งตรงข้าม และสถาปนากรุงเทพพระมหานครขึ้นแล้ว ก็หาได้ทรงละทิ้งวัดนี้ไม่ คงอุปถัมภ์ทะนุบำรุงด้วยดีตลอดมานับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกองค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีเป็นต้นมา วัดอรุณราชวรารามจึงเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองทุกกาลทุกสมัย มีปูชนียวัตถุสถานใหญ่น้อยที่ล้วนแล้วแต่เป็นของที่สร้างขึ้นอย่างประณีตบรรจง เช่น องค์พระปรางค์ซึ่งเป็นศิลปะอันสำคัญหาค่ามิได้ของไทยในขณะนี้ นอกจากนี้ ประชาชนชาวไทยทั้งปวงตลอดจนชาวต่างชาติที่เป็นพุทธมามกชน และผู้มีจิตศรัทธายังได้ร่วมใจกันช่วยทำนุบำรุงรักษาเพื่อให้วัดนี้เป็นศรีสง่ายั่งยืนสืบไปตลอดชั่วกาลนาน

วัดอรุณราชวราราม ตามพระราชประเพณีที่เป็นมา ปรากฏว่า พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีแทบทุกพระองค์ ได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในงานพระราชพิธีที่สำคัญของวัดเสมอมา ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐินทางชลมารค ซึ่งถือว่าเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่ต้องทรงปฏิบัติเป็นประจำ แม้ประเทศไทยจะได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชอุตสาหะ เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราบ้าง และขบวนเรือยนต์บ้าง ซึ่งแล้วแต่โอกาสที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ทางราชการได้ปฏิสังขรณ์พระปรางค์เป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้ใช้เงินงบประมาณ ๑๕ ล้านบาท และใช้เวลา ๓ ปีเศษจึงเสร็จ จึงทำให้วัดอรุณราชวรารามอันเป็นที่ตั้งแห่งปูชนียวัตถุสถานสำคัญดุจเพชรน้ำหนึ่งของชาติไทย จะยั่งยืนมั่นคงและจำเริญรุ่งเรืองต่อไปอีกชั่วกาลนาน ชาวต่างประเทศทั่วโลกเมื่อได้เห็นภาพพระปรางค์วัดอรุณฯ จะต้องเข้าใจได้ทันทีว่า นี่คือสัญลักษณ์ของ “ประเทศไทย”

ในปีที่ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเต็มขบวน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐิน และในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ก็ได้จัดขบวนแห่เรือเป็นขบวนพยุหยาตราให้ชาวประชาได้ชื่นชมอีกด้วย

จากความสำคัญของวัดและพระปรางค์ ทำให้ทางราชการได้ใช้รูปพระปรางค์เป็นตราสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เป็นรูปด้านหลังเหรียญ ๑๐ บาท และเคยใช้รูปซุ้มประตูยอดมงกุฎเป็นตราในธนบัตรใบละ ๑๐ บาท และ ๑๐๐ บาท ของไทย

นอกจากนี้ องค์กรเอกชนหลายองค์กรได้ใช้รูปพระปรางค์เป็นตราสัญลักษณ์ เช่น หนังสือพิมพ์ศรีกรุง (ได้ปิดตัวไปแล้ว) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย (๒๐๐๐) ทำปกหนังสือสอนภาษาต่างประเทศ มาถึงปัจจุบัน  พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นสถานทีท่องเที่ยวประจำประเทศไทยที่ชาวต่างประเทศซึ่งมาแล้วจะต้องมาชมความงามและลักษณะเฉพาะของพระปรางค์และสถานที่ต่างๆ ในวัด

ทางวัดยังมีโครงการเด่นที่เป็นประโยชน์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาอีกอย่าง คือ การตั้งศูนย์วิปัสสนากัมมัฏฐานนานาชาติ ณ คณะ ๖ เปิดบริการให้ชาวต่างชาติมาเข้ารับการฝึกอบรมปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีที่พักและวิปัสสนาจารย์แนะนำที่เหมาะสม และยังมีการรับอาสาสมัครมารับการฝึกอบรมการให้บริหารชุมชนตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนาในรูปแบบของยุวพุทธอุบาสกยุวพุทธอุบาสิกาที่มีรูปแบบเฉพาะตน



ปูชนียวัตถุสถานและถาวรวัตถุในวัด
พระอุโบสถ

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของวัด เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญและสวยงามชิ้นหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ เสด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงชมไว้ว่า “ในรัชกาลที่ ๒ การก่อสร้างซึ่งประกอบด้วยฝีมือช่างอย่างวิจิตรอยู่ข้างจะมีน้อย ด้วยสิ่งใดที่ควรจะทำก็ทำเสียแล้ว เสร็จแล้วแต่รัชกาลก่อน ถึงกระนั้นสิ่งที่ดีก็ยังมีชี้ให้เห็นได้อยู่บ้างดังนี้

ที่ ๑ วัดอรุณราชวราราม มีสิ่งที่พึงสังเกต แลพึงชมคือ

ก.พระอุโบสถ ทำทรงคล้ายรัชกาลที่ ๑ แต่แฉล้มขึ้นกว่าสักหน่อยยังมีเหลืออยู่ดูได้ แต่สิ่งที่ทำด้วยอิฐปูน เครื่องไม้นั้นเพลิงไหม้เสียหมดแล้ว

ลักษณะของพระอุโบสถ เป็นพระอุโบสถยกพื้นสูง หลังคาลด ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองและเขียวใบไม้ ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ลงรักประดับกระจก หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นรูปเทวดายืนถือพระขรรค์ อยู่ในปราสาท เป็นไม้แกะมีสังข์และคนโทน้ำวางอยู่บนพานข้างละพาน ประดับลายกระหนก ตามลายกระหนกลงรักปิดทองมีมุขยื่นทั้งด้านหน้าด้านหลัง มีเสาใหญ่รับเชิงชายทั้งด้านเหนือด้านใต้มีชานเดินได้ พื้นหน้ามุขและชานเดินรอบพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อน บันไดและเสาบันไดเป็นหินทราย ระหว่างเสารอบพระอุโบสถถึงหน้ามุขทั้งสองด้านมีกำแพงเตี้ยๆ ประดับด้วยหินสลักเป็นรูปดอกไม้ใบไม้ ที่หุ้มกลองด้านหน้า ระหว่างประตูมีบุษบกยอดปรางค์ประดิษฐานพระพุทธนฤมิตร เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หล่อขึ้นรัชกาลที่ ๔ จำลองพระพุทธรูปฉลองพระองค์ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน และได้นำมาประดิษฐานในรัชกาลที่ ๕ ที่หุ้มกลองด้านหลังระหว่างประตูเหมือนกัน ก็เป็นบุษบกยอดปรางค์ มีพาน ๒ ชั้น ลงรักปิดทอง และมีพุ่มเทียนตั้งอยู่ เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะหล่อพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๓ และของพระองค์เองประดิษฐานไว้ แต่ค้างมามิได้ทำ ที่ซุ้มประตูพระอุโบสถ ๒ ประตูด้านหน้าเป็นซุ้มยอดปรางค์ แต่ด้านหลังเป็นซุ้มไม่มียอดทั้ง ๒ ประตู และด้านนอกของบานประตูเป็นของซ่อมใหม่ลายเทพพนมพุ่มข้าวบิณฑ์ ลงรักปิดทองทั้ง ๘ บาน มีชื่อผู้ซ่อมอยู่เฉพาะด้านหน้าว่า คุณหญิงเมนูเวทย์วิมลนาท (แฉล้ม สุมาวงศ์) เป็นผู้ออกทุน ผู้เขียนคือ นายจรินทร เลี่ยมหิรัญ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๙  เสาและผนังพระอุโบสถด้านนอกถือปูนประดับกระเบื้องจีนลายดอกไม้ร่วงซึ่งทรงปฏิสังขรณ์ไว้ในรัชกาลที่ ๔ บัวหัวเสาและบัวเชิงเสา ลงรักปิดทอง หน้าต่างมีทั้งหมด ๑๔ ช่อง คือ ด้านเหนือ ๗ ช่อง และด้านใต้ ๗ ช่อง ด้านนอกของหน้าต่างเป็นลายรดน้ำซ่อมใหม่

ด้านในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน ฝีมืองามมาก บนผนังตอนเหนือหน้าต่างกับผนังด้านหน้าพระประธานและหลังพระประธาน เป็นภาพพุทธประวัติ มีข้อน่าสังเกตว่า เฉพาะหุ้มกลองด้านหน้าพระประธานนั้น ตามปกตินิยมเขียนเป็นภาพมารผจญทั้งผนัง แต่ที่พระอุโบสถวัดอรุณฯ นี้ กลับเขียนภาพมารผจญขึ้นไว้สูงสุดเหนือภาพพุทธประวัติ มีขนาดไม่สู้จะใหญ่นัก ผนังด้านใต้เหนือบานหน้าต่างเป็นภาพเวสสันดรชาดก ตามช่องระหว่างหน้าต่างทุกช่องเป็นภาพชาดกในเรื่องทศชาติ บานหน้าต่างด้านในเป็นภาพต้นไม้และสัตว์ทุกบาน และด้านในประตูพระอุโบสถทั้ง ๘ บาน เป็นภาพต้นมักกลีผลหรือนารีผล ตามรักแร้ประตูและหน้าต่างเป็นภาพในเมืองนรกและภาพเกี่ยวกับสุภาษิตโบราณ เช่น นิ้วด้วนได้แหวน เป็นต้น

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นภาพฝีมือเก่าครั้งรัชกาลที่ ๓ ก็มี เป็นภาพฝีมือจิตรกรในรัชกาลที่ ๕ เขียนซ่อมเมื่อภายหลังเกิดไฟไหม้พระอุโบสถดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น ก็มีความเสียหายเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมฝาผนังครั้งนี้ และมีภาพใดที่เขียนขึ้นใหม่บ้างนั้น  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้กราบบังคมทูลถวายความเห็นไว้ ดังนี้



ความเห็นซ่อมการเขียนวัดอรุณราชวราราม
ของ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

การซ่อมงานเขียนทั้งปวงในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามนั้น การเขียนอื่นๆ ก็ตามธรรมดา สำคัญอยู่แต่การเขียนผนังเท่านั้น เพราะว่าของเก่าทำไว้เป็นอย่างสุดฝีมือของช่างอย่างเอกในเวลานั้น ในการที่เพลิงไหม้ครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้เสียไปหมด ผนังเขียนทั้งหมดคิดเป็นตารางเมเตอได้ ๓๖๖ เสียไปน้อยกว่าที่ยังคงดีคือ

ปูนไม่แตกสีไม่เสีย ๒๒๕ ตารางเมเตอ
ปูนไม่แตกสีเสีย ๓ ตารางเมเตอ
ปูนแตกสีไม่เสีย ๖๑ ตารางเมเตอ
ปูนแตกสีเสีย ๑๙ ตารางเมเตอ
ปูนกะเทาะหาย       ๕๘ ตารางเมเตอ

ที่ปูนไม่แตกสีไม่เสีย ควรคงเก่าไว้ให้กุลบุตรภายหน้าได้ดูต่อไป ดีกว่าลบเขียนใหม่หมด ส่วนที่บุบสลายเสียไปนั้น จะทำได้เป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งเขียนเลียนให้เหมือนเก่า อย่างหนึ่งเขียนให้ดีอย่างใหม่ตามฝีมือช่างอย่างทุกวันนี้ เมื่อพิจารณาในสองอย่างนี้ว่าอย่างใดจะดีกว่ากัน ก็เห็นว่าอย่างเขียนเลียนให้เหมือนเก่าดีกว่า เพราะว่าจะได้เข้ากันกับของเดิมที่ยังเหลืออยู่ แลทั้งเป็นกระบวนไทยแท้น่าชมกว่าวิธีเขียนอย่างใหม่ ซึ่งทำพื้นที่เอาอย่างรูปเขียนเลวๆ ที่ทำมาขายแต่ประเทศยุโรป อันไม่เป็นภูมิภาคแห่งเมืองไทย แลยังสู้ที่เขาเขียนมาก็ไม่ได้อีกซ้ำหนึ่งด้วย แลไม่เข้ากันกับรูปภาพอย่างไทยที่เป็นวิธีเขียนแบนๆ แลจะเป็นที่ชาวยุโรปหัวเราะเล่นเมื่อได้มาเห็น เหตุดังนี้จึงเป็นการสมควรแท้ที่จะต้องเขียนอย่างเก่า ส่วนที่ปูนแตกสีไม่เสียนั้น จะต้องเอากระดาษบางทับลอกเอาของเก่าไว้ก่อน แล้วทำพื้นใหม่ ถ่ายรูปเดิมเขียนลง ส่วนที่ปูนไม่แตกแต่สีเสีย แลที่ปูนแตกสีเสีย แลปูนกระเทาะหายนั้นไม่มีอย่างอื่นนอกจากที่จะนึกเขียนเอาใหม่แต่ว่าต้องสังเกตเลียนเค้าเก่าเขียนให้เป็นอย่างเดียวกัน ถ้าทำเช่นนี้การที่จะต้องทำก็น้อย จะคงไว้ตามเดิมได้ถึง ๒๒๕ ตารางเมเตอ จะต้องเขียนใหม่ ๑๔๑ ตารางเมเตอเท่านั้น แลในส่วนที่เขียนใหม่นี้ จะได้ตามสำเนาเก่า ๖๑ ตารางเมเตอ จะเป็นใหม่แท้ ๘๐ ตารางเมเตอ

ตามจำนวนประมาณว่าจะคงไว้ตามเดิมได้ ๒๒๕ ตารางเมเตอนี้ บางที่จะต้องลดลงเสียอีก ๓๕ ตารางเมเตอ เพราะว่าผนังด้านหน้าแลด้านหลัง ตั้งแต่ขื่อชักลงมาถึงขื่อตะพานนั้น ก่อผนังตั้งไว้บนขื่อตะพาน ถ้าย้ายกองทำหลังคาเปลี่ยน ตาหม้อคงจะดำรงอยู่ไม่ได้ ต้องรื้อก่อใหม่เขียนใหม่

ในการที่จะเขียนนี้ ในส่วนที่จะทำตามสำเนาเก่าก็ดี ในส่วนที่จะนึกขึ้นใหม่ให้คล้ายเก่าก็ดี ต้องใช้ช่างที่เข้าใจเขียนอย่างโบราณช่างเขียนทุกวันนี้ที่จะเข้าใจวิธีโบราณนั้นมีน้อยนัก จะต้องเลือกคัดเอาแต่คนที่ชำนาญการอย่างนั้นจริง อีกประการหนึ่ง งานเขียนนั้นไม่เหมือนงานอื่นตรวจตราเอาดียาก เพราะเป็นสิ่งซึ่งเกิดมาแต่ในใจ ไม่มีหลักตรวจ ถ้าจะจ้างเหมาห้องก็จะเป็นค่าแรงสัก ๑๕ ชั่ง ก็จะสำเร็จ แต่จะไม่ได้ดี แม้ถึงจะให้เงินมาสักเท่าใดก็ดีก็จะไม่ได้รูปที่งามพอใจ ด้วยช่างมุ่งหมายแต่จะได้เงินเร็วเป็นที่ตั้ง ก็ทำแต่พอแล้วเท่านั้น เหตุฉะนี้ ถ้าจะให้ได้งานดีจะใช้วิธีจ้างเหมาห้องไม่ได้ จะต้องทำด้วยวิธีแข่งฝีมือกัน เป็นมีพระบรมราชโองการให้เกณฑ์ช่างที่เข้าใจการเขียนอย่างโบราณ ไปเขียนพระราชทานเบี้ยเลี้ยงรายวันตามสมควร เมื่อแล้วเสร็จฝีมือใครดีมากแลน้อยก็จะพระราชทานรางวัลตามฝีมือ ถ้าใช้วิธีนี้ที่ตั้งอยู่ที่การเขียนดีจึงจะได้เงิน ช่างคงจะตั้งใจเขียนให้ได้รางวัลชั้นสูงเป็นชื่อเสียงแข่งกันเอง เงินเบี้ยเลี้ยงรายวันที่จะจ่ายกว่างานจะแล้วทั้งรางวัลด้วยนั้นก็เห็นจะไม่เกิน ๔๐ ชั่ง

ก่อนที่จะลงมือทำการ รูปเขียนตรงที่บุบสลายจะต้องกะเทาะเขียนใหม่นั้น ต้องเอากระดาษบางลอกสำเนาไว้ สำหรับลงแบบเขียนให้เหมือนเก่า แล้วกะเทาะสีออกเป็นอย่างเบาเอาประดับลงบนแผ่นกระดานเก็บไว้ในมิวเซียม ส่วนรูปที่ไม่บุบสลายยังจะคงอยู่ได้นานนั้น จะต้องปกคลุมไว้ไม่ให้สีแลน้ำมันอันจะทาเพดานหยดรดเสียไปได้

สำหรับจิตรกรผู้วาดภาพผนังพระอุโบสถนี้ รุ่นเก่าเท่าที่ค้นชื่อได้มีเพชรวกรรม์ หลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) คงแป๊ะ ตามี สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเล่าประวัติของจิตรกรเอกเหล่านี้ไว้ว่า

๑.เพชรวกรรม์ ในรัชกาลที่ ๓ ได้ยินฦๅชื่อคนหนึ่ง ซึ่งเขียนห้องพระวิธูร ในพระอุโบสถวัดอรุณ ซึ่งไฟไหม้เสียแล้ว ฝีมือดี สมควรยกเป็นครูได้ เพชรวกรรม์คนนั้นได้ ทราบว่าชื่อ สีเปีย ชะรอยเมื่อเล็กๆ จะไว้เปีย.....
๒. .......................................................................................
๓. .......................................................................................
๔. .......................................................................................
๕. หลวงวิจิตรเจษฎา ผู้ที่ปรากฏฟุตโน้ตว่าชื่อทองอยู่นี้ ไม่มีที่สงสัย พวกช่างเรียกกันว่าครูทองอยู่ เป็นมือคู่ขันกับคงแป๊ะ เขียนประชันกันร่ำไป เช่นที่ในพระอุโบสถวัดอรุณ ซึ่งเพลิงไหม้เสียแล้ว เขียนห้องเคียงกันเรื่องมโหสธด้วยกัน คงแป๊ะเขียนห้องอุมงค์ ครูทองอยู่เขียนห้องชักรอกเตี้ยค่อม แล้วไปเขียนประชันกันที่วัดสุวรรณารามอีก ครูทองอยู่เขียนเนมิราช คงแป๊ะเขียนมโหสธ  ยังคงอยู่ดูได้ดีจนทุกวันนี้ คนทั้งสองนี้ล่ำฦๅด้วยกัน บางพวกถือว่าคงแป๊ะดีกว่า บางพวกถือว่าครูทองอยู่ดีกว่า... แต่ที่จริงควรจะไหว้ (ครู) ด้วยเพราะฝีมือดีทัดเทียมกันไม่มีเสมอสามในรัชกาลที่ ๓ ที่ไม่ไหว้จะเป็นด้วยคงแป๊ะอายุอ่อน ฦๅมิฉะนั้นก็รังเกียจความชั่ว ได้ทราบว่ากระทำผิดฆ่าคนตาย แต่เห็นจะไม่โดยสัญเจตนา ลูกขุนพิพากษาลงโทษให้จำคุก แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทาน ตรัสว่าช่างฝีมือดีหาใช้ยาก
๖.ตามี ได้ยินเรียกกันว่า ตามีบ้านบุ เขียนห้องภูริทัต ในพระอุโบสถวัดอรุณ ซึ่งไฟไหม้เสียแล้ว ยังมีชิ้นปูนแตกภาพติดดูได้อยู่ในวังสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเก็บมารักษาไว้ชั้นหนึ่งเป็นฝีมือดีในรัชกาลที่ ๓ เหมือนกันแต่ไม่เอก

ประวัติของจิตรกรที่วาดไว้แต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ ค้นพบเพียงเท่านี้

ส่วนจิตรกรที่ซ่อมใหม่นั้น มีชื่ออยู่ตามบานหน้าต่างด้านในดังนี้ คือ
๑.หมื่นเทพนิมิต (ทองอยู่)
๒.นายศุกร (ขึ้นในกรมหมื่นสรรพศาสตร์)
๓.หลวงพินิจสรรพกร (ช่างฝ่ายพระราชวังบวร)
๔.หลวงพิศณุกรม (เล็ก)
๕.หลวงพรหมพิจิตร (เงียบ)
๖.หลวงนิมิตเวศุกรรม (เล็ก ฝ่ายพระราชวังบวร)

แต่การซ่อมภาพในพระอุโบสถต่อมา สืบได้ความว่า พระครูอรุณธรรมธาดา (เวศ) เป็นผู้คอยซ่อม เพราะท่านผู้นี้เป็นจิตรกรฝีมือดี เคยเขียนภาพในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาเหมือนกัน ปัจจุบันมรณภาพแล้ว

ตอนเหนือกรอบบนบานหน้าต่างและประตู มีภาพเครื่องโต๊ะหมู่บูชาแบบจีนติดกระจกใส่กรอบ รวมทั้งหมด ๑๘ ภาพ  



พระประธาน
พระประธาน ในพระอุโบสถ มีพระนามว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” หล่อในรัชกาลที่ ๒ กล่าวกันว่า พระพักตร์เป็นฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นหุ่น เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอกคืบ ประดิษฐานเหนือแท่นไพทีบนฐานชุกชี เบื้องพระพักตร์มีรูปพระอัครสาวก ๒ องค์ หันหน้าเข้าหาองค์พระประธาน ระหว่างกลางพระอัครสาวก มีพัดยศพระประธานตั้งอยู่

พัดยศดังกล่าวนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานไว้ว่า “นึกได้ว่าในเรื่องพุทธประวัติ มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นพระเจ้าปเสนทิ ได้ทำพัดงาถวายพระพุทธองค์สำหรับทรงถือในเวลาประทานพระธรรมเทศนา เรื่องนั้นพวกสร้างพระพุทธรูปได้เอามาเป็นคติ ทำพระพุทธรูปปางหนึ่งทรงถือพัดมีมาแต่โบราณ ยกตัวอย่างดังเช่นพระชัยนวรัฐ ที่เจ้าเชียงใหม่ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เป็นต้น  แลยังมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานอีกหลายองค์ แต่ชั้นเก่าทำพัดเป็นรูปกลม หรือรูปไข่ เช่น รูปพัดงาสาน พระชัยของหลวงสร้างประจำรัชกาล ก็คงมาแต่พระปางนั้น เป็นแต่แก้รูปพัดเป็นพัดแฉกคงเป็นแบบพระชัยหลวง มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงสร้างพระชัยประจำรัชกาลที่ ๑ เป็นปางทรงถือพัดแฉก ยังมีคติเนื่องกับพระพุทธรูปปางถือพัดต่อไปอีกอย่างหนึ่งที่พระเจ้าแผ่นดินถวายพัดแฉกเป็นพุทธบูชา ตั้งไว้เป็นฐานชุกชีข้างหน้าพระประธานในพระอารามหลวง เคยเห็นที่วัดอรุณ วัดราชบุรณะ และทำเป็นพัดแฉกขนาดใหญ่ถวายพระพุทธเทวปฏิมากรวัดพระเชตุพน ยังปรากฏอยู่จนบัดนี้



พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประดิษฐานที่วัดอรุณราวราม

พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๒ ที่พระพุทธอาสน์พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถนี้ มีพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยบรรจุอยู่  ตามประวัติกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อัญเชิญมาบรรจุไว้ในรัชกาลที่๔ เมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้แล้ว ในปี ร.ศ.๑๑๔ (พ.ศ.๒๔๓๘) ในรัชกาลที่ ๕ เกิดไฟไหม้ขึ้นที่พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบัญชาการดับไฟด้วยพระองค์เอง ได้โปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐออกได้ทัน ครั้นเมื่อทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงโปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐินำกลับไปบรรจุไว้ ณ ที่เดิม เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ มีข้อความในเรื่องทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิไปบรรจุดังนี้ “วันที่ ๒๗ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๗ เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ประทับเรือพระที่นั่งสง่างาม กระบวนพร้อมด้วยเรือนำเรือตามไปประทับวัดอรุณราชวราราม เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับวัดอรุณราชวราราม เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับพลับพลาริมน้ำ ทอดพระเนตรกระบวนแห่พระบรมอัฐิ

แล้วเจ้าพนักงานได้ตั้งกระบวนแห่ เชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขึ้นประดิษฐานเหนือพระที่นั่งบุษบก เรือพระที่นั่งไชยาตรา กระบวนแห่ล่องไปประทับวัดอรุณราชวรารามเจ้าพนักงานได้เชิญพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ เมื่อเรือพระที่นั่งไชยาตราประทับท่า การมหรสพต่างๆ ได้เล่นพร้อมกัน แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประทับหน้าพระอุโบสถ โปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงประเคนจีวรสบงกราบพระแก่พระสงฆ์ถานานุกรมเปรียญอันดับ ซึ่งจำพรรษาในพระอารามนี้ ซึ่งจะได้สวดมนต์รอบพระระเบียงนั้น แล้วทรงพระราชดำเนินสู่ภายในพระอุโบสถทรงบรรจุพระบรมอัฐิ มีประโคมแตรสังข์กลองชนะ เสร็จแล้วทรงจุดเทียนนมัสการ แล้วพระสงฆ์ ๓๕ รูป มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสเป็นประธาน เจริญพระพุทธมนต์สัตตปริตในพระอุโบสถ พระสงฆ์ซึ่งอยู่รอบพระระเบียงได้เจริญพระพุทธมนต์พร้อมกัน แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรการตัดสินโต๊ะ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางคเดชาวุธ ทรงจุดดอกไม้เพลิง แล้วเสด็จกลับมาประทับในพระอุโบสถ พระสงฆ์ถวายอติเรกแล้วเสด็จประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ที่พลับพลา เสวยเสร็จแล้ว เวลา ๕ ทุ่มเศษ เสด็จกลับสู่พระบรมมหาราชวัง



ซุ้มและใบเสมาพระอุโบสถ
ซุ้มและใบเสมา ใบเสมาเป็นหินสลักลวดลายงดงามและเป็นใบเสมาคู่ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มหินอ่อน ซึ่งทำเป็นรูปบุษบกยอดเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง สูงประมาณ ๒ วา ๑ ศอก มีอยู่ ๘ ซุ้ม

ซุ้มเสมาหินนี้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเรียกว่า “ศิลาเขมร” มีสิงโตหินแบบจีนตัวเล็กตั้งอยู่ระหว่างซุ้มใบเสมารอบพระอุโบสถ ๑๑๒ ตัว ตั้งอยู่บนแท่นมีเหล็กยึดแท่นให้ติดกันโดยตลอด เว้นแต่ช่องทางที่จะเดินขึ้นลงตรงบันไดทั้งมุขหน้ามุขหลังพระอุโบสถโดยเฉพาะ ตรงริมช่องว่างนั้น มีตุ๊กตาหินรูปคนจีนนั่งบนเก้าอี้หน้าสิงโตจีนอีกช่องละ ๒ ตัว รวมเป็น ๑๖

หน้าพระระเบียงโดยรอบ มีตุ๊กตาหินรูปทหารจีนตั้งเรียงเป็นแถว ในระยะใกล้กันอีกเป็นจำนวน ๑๔๔ ตัว เว้นช่องไว้เฉพาะทางที่จะเข้าออกประตูพระระเบียงทั้ง ๔ ทิศ ตรงมุมพระอุโบสถทั้ง ๔ ซึ่งตรงกับมุมหักของเชิงชายพระระเบียงด้านในพอดี มีพระเจดีย์จีนทำด้วยหินเป็นซุ้ม บรรจุตุ๊กตาจีน ๘ ตัว ซึ่งชาวจีนเรียกว่า “โป๊ยเซียน” มียอดเป็นปล้องๆ เรียวเล็กขึ้นไปโดยลำดับคล้ายปล้องไฉนตามแบบพระเจดีย์ไทยมุมละองค์

ลานพระอุโบสถปูด้วยกระเบื้องหินทั้งหมด


ช้างหล่อโลหะ
ช้างหล่อโลหะ มีอยู่ด้วยกัน ๘ ตัว ขนาดสูง ๑ เมตรเศษ ตั้งอยู่บนแท่นตรงประตูเข้าออกหน้าพระระเบียงแนวเดียวกับตุ๊กตาทหารจีนด้านละ ๒ ตัว ทุกตัวหันหน้าเข้าหาพระอุโบสถ ช้างโลหะทั้ง ๘ ตัวนี้มีอิริยาบถไม่เหมือนกัน บางตัวชูงวง บางตัวปล่อยงวงลง เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หล่อขึ้นเมื่อจุลศักราช ๑๒๐๘ (พ.ศ.๒๓๘๙) ในรัชกาลที่ ๓ บางที่จะโปรดให้สร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมชนกนาถ ซึ่งเฉลิมพระนามว่า พระเจ้าช้างเผือก เพราะในรัชกาลที่ ๒ นั้น มีช้างเผือกเอกมาสู่พระบารมีถึง ๓ ช้าง

พระระเบียงคด
พระระเบียงคด หรือ พระวิหารคด พระอุโบสถวัดนี้ไม่มีกำแพงแก้วแต่มีพระระเบียงหรือพระวิหารคดแทน หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองและสีเขียวใบไม้ มีประตูเข้าออกอยู่กึ่งกลางพระระเบียงทั้ง ๔ ทิศ โดยเฉพาะด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก มีซุ้มจระนำ เหนือประตูหน้าบันทำเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ประดับด้วยลายกระหนกลงรักปิดทองงดงามมาก พระระเบียงนี้เป็นของที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงชมเชยว่า “พระระเบียง มีอยู่ให้ดูได้บริบูรณ์ ทรวดทรงงามกว่าพระระเบียงที่ไหนหมด เป็นศรีแห่งฝีมือในรัชกาลที่ ๒ ควรชมอย่างยิ่ง แต่ลายเขียนผนังนั้น เป็นฝีมือในรัชกาลที่ ๓ ทำเพิ่มเติม” ลายเขียนที่ผนังที่ทรงกล่าวถึงนั้นเขียนเป็นซุ้มเรือนแก้วลายดอกไม้ใบไม้ มีนกยูงแบบจีนคาบอยู่ตรงกลาง พระพุทธรูปในพระระเบียงทั้งหมดเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีรวม ๑๒๐ องค์ เสาพระระเบียงเป็นเสาอิฐถือปูนย่อเหลี่ยม บัวหัวเสาที่รับเชิงชายลงรักปิดทองประดับกระจกทุกต้น ที่ด้านในบานประตูทุกด้าน เป็นภาพสีรูปคนถือหางนกยูง ยืนอยู่เหนือสัตว์ป่าหิมพานต์ มีราชสีห์และคชสีห์เป็นต้น ด้านนอกเป็นลายรดน้ำ

พระระเบียงนี้ได้ปฏิสังขรณ์ครั้งหลังเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ โดยเปลี่ยนเป็นกระเบื้องเคลือบใหม่ทั้งหมด ช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ตามซุ้มจระนำ ทำใหม่บ้าง ลงรักปิดทองประดับกระจกสวยงาม




โปรดติดตามตอนต่อไป
p ๖๒ - ๖๐๐/๒๘
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 มิถุนายน 2561 16:15:06 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 21 มิถุนายน 2561 16:18:18 »



หอระฆัง
หอระฆัง มี ๒ หอ อยู่ด้านเหนือหลังวิหารใกล้กำแพงที่กั้นเป็นเขตพุทธาวาสด้านตะวันตกกับศาลารายหอหนึ่ง สูง ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ มีลายปูนปั้นประดับกระเบื้องถ้วย ที่หน้าบันเป็นลายดอกไม้ปักอยู่ในพาน แขวนระฆังธรรมดาอย่างที่เห็นตามวัดทั่วไป กล่าวกันว่าเสียงไพเราะดีมาก พระครูวิสุทธิสรภาณ (แผ้ว) เป็นผู้สร้าง ส่วนอีกหอหนึ่ง ๓ ชั้นเหมือนกันอยู่ด้านใต้นั้น แขวนระฆังกังสดาลแผ่นหน้าเป็นวงกลม ส่วนกว้างวัดผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ ฟุต มีลายเขียนตามเสายังเห็นเป็นรอยดำๆ อยู่บ้างตามเสา ซึ่งช่างได้เขียนไว้ตามรอยเดิม

หอระฆังทั้ง ๒ หอนี้ ปรากฏหลักฐานตามใบฎีกาบอกบุญเรี่ยไรเงินปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ) เจ้าอาวาสในสมัยรัชกาลที่ ๕ แจ้งว่า เป็นของที่สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๒



รูปยักษ์ยืน
รูปยักษ์ยืน หน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎมี ๒ ตัว มือทั้งสองกุมกระบองยืนอยู่บนแท่นสูงประมาณ ๓ วา ยักษ์ที่ยืนด้านเหนือ (ตัวขาว) คือ สหัสเดชะ ด้านใต้ (ตัวเขียว) คือ ทศกัณฐ์ ปั้นด้วยปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายรูปลักษณะและเครื่องแต่งตัว รูปยักษ์คู่นี้เป็นของทำขึ้นใหม่ ที่ทำไว้เก่าสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น เป็นฝีมือหลวงเทพ (กัน)  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัสว่า “หลวงเทพ...ที่ปั้นยักษ์วัดอรุณคู่ที่พังเสียแล้ว เรียกว่าหลวงเทพกน มีชื่อเดิมติด” และเรื่องหลวงเทพ (กัน) นี้ สมเด็จพระเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ได้ทรงอธิบายถวายสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพไว้ว่า “ยักษ์วัดแจ้งนั้นเขาพูดถึงของเดิมว่าเป็นฝีมือหลวงเทพกัน คำว่าหลวงเทพฯ นั้น จะเป็นหลวงเทพรจนาหรือหลวงเทพยนต์อะไรก็ไม่ทราบ แต่คำว่า กัน นั้น เป็นชื่อตัวแน่เพราะฝีมือแกดีจึงโปรดให้ปั้นไว้ รูปเก่านั้นพังไปเสียแล้ว ที่ยืนอยู่บัดนี้เป็นของใหม่ แต่ใหม่ก่อนท่านเจ้านาค (พระพิมลธรรม-นาค)  ไปอยู่เป็นแน่ เข้าใจว่ายักษ์วัดแจ้งนั้นแหละพาให้เกิดยักษ์ในวัดพระแก้วขึ้น ในที่สุดยักษ์ก็ต้องมี ที่ต้องมีนั้นจ้างเจ๊กทำก็ได้ เพราะราคาค่อยถูกหน่อย นี่ว่าถึงวัดพระแก้ว แต่ยักษ์คู่ใหม่ที่วัดแจ้งนั้นไม่ทราบ เกล้ากระหม่อมเห็นว่าถ้าหาช่างฝีมือดีปั้นไม่ได้ไม่ต้องมียักษ์ก็ได้ และว่า “ยักษ์วัดพระแก้วนั้นคงทำขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นประเดิม เพราะจำได้ว่าคู่ทศกัณฐ์กับสหัสเดชะนั้น เป็นฝีมือหลวงเทพรจนา (กัน) คือ มือที่ปั้นยักษ์วัดอรุณ สันนิษฐานว่า เพราะเวลานั้นมีช่างฝีมือดีๆ จึงให้ทำขึ้นไว้”

เรื่องรูปยักษ์คู่ที่ไม่ใช่ของเก่านั้น ท่านเจ้าคุณพระเทพมุนี (เจียร ปภสสโร) ได้บันทึกเรื่องยักษ์ล้มไว้เป็นใจความว่า

“วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๓ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย โทศก จุลศักราช ๑๒๙๒ กลางคืนฝนตกหนัก อสุนีบาตตกถูกยักษ์หน้าพระอุโบสถด้านเหนือ (สหัสเดชะ) พังลงมาต้องสร้างใหม่”

เวลาที่รูปยักษ์ล้มนี้ พระพิมลธรรม (นาค) เป็นเจ้าอาวาส

ความจริงรูปยักษ์คู่นี้ เคยซ่อมมาหลายครั้งแล้ว ดังปรากฏในรายงานมรรคนายก เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ ก็มีรายการซ่อมยักษ์และใน พ.ศ.๒๔๕๖ ก็ซ่อมแขนยักษ์อีก ส่วนที่ซ่อมและสร้างใหม่นี้ สืบไม่ได้ว่า ใครเป็นผู้ซ่อม

ข้างยักษ์ตัวด้านเหนือ มีสิงโตหิน ๓ ตัว และข้างตัวด้านใต้มีสิงโตหินอีก ๓ ตัว เช่นเดียวกัน

   

มณฑปพระพุทธบาทจำลอง
มณฑปพระพุทธบาทจำลอง อยู่ระหว่างพระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ๔ องค์ กับพระวิหารใหญ่ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐถือปูนประดับกระเบื้องถ้วยสีต่างๆ มีฐานทักษิณ ๒ ชั้น สร้างในรัชกาลที่ ๓ หลังคามณฑปเดิมเป็นยอดเกี้ยวแบบจีน ได้พังลงมาเมื่อ ร.ศ.๑๑๔ (พ.ศ.๒๔๓๘) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงษ์ทรงรับจัดการเงินแลเรี่ยไรซ่อม มีพระปรางค์จะเปลี่ยนหลังคาเป็นยอดมงกุฎ ๔ เหลี่ยม แต่ทำยังไม่ทันแล้ว ประชวรสิ้นพระชนม์เสียก่อน และพระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) ผู้ปฏิสังขรณ์ก็ถึงอนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ขณะเป็นพระราชโยธาเทพทำตามรูปเดิม แต่ในปัจจุบันหลังคามณฑปเป็นของสร้างใหม่ ทำด้วยซีเมนต์ สืบได้ความว่า หลังคาที่ซ่อมใหม่นี้เป็นของทำในสมัยพระธรรมเจดีย์ (อุ่ม) เป็นเจ้าอาวาส    


ประตูซุ้มยอดมงกุฎ
ประตูซุ้มยอดมงกุฎ เป็นประตูด้านหน้าที่จะเข้าสู่บริเวณพระอุโบสถ อยู่ตรงกึ่งกลางพระระเบียงพระอุโบสถด้านตะวันออก สร้างในรัชกาลที่ ๓ เป็นประตูจตุรมุข หลังคา ๓ ชั้น เฉลียงรอบ มียอดเป็นทรงมงกุฎ ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี หลังคามุงกระเบื้องเคลือบช่อฟ้า ใบระกา หัวนาค และหางหงส์เป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย หน้าบันเป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วยมีลวดลายใบไม้ดอกไม้ เชิงกลอนคอสองประดับด้วยกระเบื้องถ้วยเช่นเดียวกัน เสาในสวมมุขหน้าใช้ไม้สัก หน้า ๕/๑๑ นิ้ว ประกับรับสะพานด้านละ ๒ อัน ๔ ด้าน

ประตูซุ้มยอดมงกุฎนี้ เมื่อ ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๘) ในรัชกาลที่ ๕ ชำรุดทรุดโทรมมาก พระยาราชสงครามได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถ้าจะโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมใหม่ ก็จะต้องใช้เงิน ๑๖,๐๐๐ บาท หรือไม่ก็ต้องรื้อ เพราะเกรงจะเป็นอันตรายเมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐินวัดนี้ และถ้าโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมทำใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถทางประตูพระระเบียงด้านเหนือ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแส ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๔ ว่า “ซุ้มประตูนี้อยากจะให้คงรูปเดิม เพราะปรากฏแก่คนว่า เป็นหลักของบางกอกมาช้านานแล้ว ขอให้พระยาราชสงครามคิดการเป็นก่อรวมอย่างประตูวัดเทพศิรินทราวาส แต่ที่วัดอรุณขอให้คงรูปเดิม ที่รับยอดเป็นก่อรวมแล้ว จะติดหลังคาเป็นเครื่องไม้ต่อออกมาก็ได้ ขอให้ถ่ายรูปเดิมไว้ให้มั่นคง เวลาทำอย่าให้แปลกกว่าเก่าเป็นอันขาด  อย่าเพ่อให้รื้อ จะไปถ่ายรูปไว้เป็นพยาน เมื่อกะประมาณเป็นเงินเท่าไร ให้ขึ้นงบประมาณปีหน้าคงจะหาเงินให้ได้ กฐินจะย้ายไปประตูเหนือก็ย้าย”

ซุ้มประตูแห่งนี้ได้ปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ การซ่อมครั้งนี้คงรูปเดิมไว้ตลอด เปลี่ยนกระเบื้องเคลือบบางส่วนและทาสีเชิงชาย ลงรักปิดทองประดับกระจกยอดมงกุฎ ซ่อมช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับกระเบื้องเคลือบ
   


พระเจดีย์ ๔ องค์
พระเจดีย์ ๔ องค์ อยู่ระหว่างพระระเบียงพระอุโบสถด้านใต้กับมณฑปพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งเรียงเป็นแถวตรงจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ห่างกันพอสมควร เป็นพระเจดีย์แบบเดียวกัน และมีขนาดเท่ากันทั้งหมด คือ เป็นพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยและกระจกสีต่างๆ เป็นลวดลายดอกไม้และลายอื่นๆ งดงามมาก มีฐานทักษิณสำหรับขึ้นไปเดินรอบองค์พระเจดีย์ ๑ ชั้น มีบันไดขึ้นลงทางด้านเหนือ บริเวณพระเจดีย์ติดกับพระระเบียงพระอุโบสถปูด้วยแผ่นกระเบื้องหิน

พระเจดีย์ทั้ง ๔ องค์นี้ สร้างขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ คราวปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ต่อมาปฏิสังขรณ์อีกครั้งในรัชกาลที่ ๕ ขณะที่ปฏิสังขรณ์พระปรางค์ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระราชชนนี พันปีหลวง  สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี  พระพันวัสสา อัยยิกาเจ้า  สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัคราชเทวี  และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ ขณะดำรงพระอิสริยศ เป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระบรมราชเทวี  พระราชเทวี และพระอรรคชายาโดยลำดับ ได้ทรงบริจาคเงินองค์ละ ๑,๐๐๐ บาท ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์แต่ละองค์
   


พระวิหาร
พระวิหาร อยู่ระหว่างมณฑปพระพุทธบาทจำลองกับหมู่กุฏิคณะ ๑  เป็นพระวิหารยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันมีรูปเทวดาถือพระขรรค์นั่งอยู่บนแท่นประดับด้วยลายกระหนกลงรักปิดทองประดับกระจก มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้ามีประตูเข้า ๓ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งขบวนไทย ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงยืนยันว่า เป็นกระเบื้องที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสั่งมาแต่เมืองจีน เพื่อจะใช้ประดับผนังด้านนอกพระอุโบสถแต่ไม่งามสมพระราชหฤทัย จึงโปรดให้เอามาประดับผนังด้านนอกพระวิหารนี้ ด้านนอกของประตูและหน้าต่างทั้ง ๑๔ ช่อง ทำขึ้นใหม่ เป็นลายรดน้ำรูปดอกไม้ ผนังด้านใน เดิมคงมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เพราะเสาสี่เหลี่ยมข้างในและเรือนแก้วหลังพระประธานและบนบานประตูและหน้าต่างด้านในยังมีภาพสีปรากฏอยู่ แต่ปัจจุบันผนังได้ฉาบด้วยน้ำปูนสีเหลืองเสียหมดแล้ว ยังเห็นเป็นรอยเลือนรางได้บางแห่ง แต่น้อยเต็มที่

ปัจจุบันพระวิหารหลังนี้ ใช้เป็นการเปรียญของวัดด้วย
   


พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร
พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร เป็นพระประธานในพระวิหาร ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทอง มีประวัติว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามฝั่งพระนคร ประดิษฐานอยู่บนแท่นไพทีเหนือฐานชุกชีขนาดใหญ่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ทางวัดได้พบพระบรมธาตุ ๔ องค์ บรรจุในโกศ ๓ ชั้น คือ เงิน นาค และทอง เป็นชั้นๆ โดยลำดับ อยู่ในพระเศียร เหตุที่พบก็เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดอรุณฯ องค์ปัจจุบัน ขณะนั้นยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ ได้เห็นแสงสว่างปรากฏในห้องที่จำวัด และก่อนหน้านั้นพระครูใบฏีกาเจริญผู้เฝ้าพระวิหารได้เห็นแสงพระรัศมี ลอยฉวัดเฉวียนอยู่ที่พระพุทธรูปสำคัญ แล้วหายไปที่พระเศียรถึง ๒ ครั้ง ท่านจึงให้พระครูใบฎีกาเจริญขึ้นไปดูที่พระเศียรจึงพบพระบรมธาตุดังกล่าว เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๙๖   


พระอรุณหรือพระแจ้ง
พระอรุณ หรือ พระแจ้ง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งองค์พระและผ้าทรงครองทำด้วยทองสีต่างกัน หน้าตักกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าพระพุทธชัมภูนุทฯ  ตามประวัติกล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่ได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.๒๔๐๑ และได้นำไปประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญมาไว้ในพระวิหารนี้ ด้วยทรงพระราชดำริว่า นามพระพ้องกันกับวัด    


พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่บนแท่นหน้าพระอรุณ หรือ พระแจ้ง ในพระวิหาร หน้าตักกว้างประมาณ ๗๐ เซนติเมตร พระพุทธรูปองค์นี้ เดิมอยู่ที่ศาลาการเปรียญเก่าที่รื้อไปแล้ว มีปูนพอกทั้งองค์ ไม่มีผู้ใดทราบ ภายหลังปูนกะเทาะออก จึงได้เห็นองค์พระพุทธรูปสำริดสมัยสุโขทัย ทางวัดได้อัญเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในพระวิหาร   


พระเจดีย์และศาลารายพระวิหาร
]พระเจดีย์ และศาลารายพระวิหาร อยู่ทางกำแพงด้านใต้และด้านหลังของพระวิหาร กล่าวคือ มีพระเจดีย์อยู่ด้านในของกำแพงองค์ละฟากถนนที่เข้ามาสู่พระวิหาร ตรงหน้าประตูหมู่กุฏิคณะ ๑ พอดี เป็นพระเจดีย์ขนาดเล็ก ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ตอนล่างปฏิสังขรณ์ใหม่ ตอนบนยังมีลวดลายปูนปั้นตรงองค์ระฆังคล้ายสังวาลย์เห็นได้ชัด ตามแนวกำแพงด้านนี้ศาลารายเตี้ยๆ อีก ๒ หลัง อยู่ด้านตะวันออกต่อกับพระเจดีย์องค์ด้านตะวันออกไปจนสุดมุมกำแพงหลังหนึ่ง อีกหลังหนึ่งอยู่ด้านตะวันตกชิดกับพระเจดีย์องค์ด้านตะวันตกไปจนสุดกำแพง ส่วนศาลารายอีก ๒ หลัง ที่อยู่ทางหลังพระวิหารนั้น หลังหนึ่งอยู่ชิดกับหอระฆังกังสดาล อีกหลังหนึ่งอยู่ระหว่างหอระฆังธรรมดากับพระเจดีย์เหลี่ยมองค์ในสุด ศาลารายทั้ง ๔ หลัง มีทรวดทรงเตี้ยๆ แบบเดียวกัน ที่หน้าบันเป็นปูนปั้นลายดอกไม้ฉาบปูนขาวบ้าง มีกระเบื้องถ้วยประดับบ้าง แต่ไม่มากนัก ศาลาเหล่านี้ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ โดยเฉพาะหลังที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ทางวัดประสงค์จะจัดทำเป็นห้องสมุดของวัดต่อไป    


หอไตร
หอไตร มี ๒ อยู่ทางด้านหน้าของหมู่กุฏิคณะ ๑ ใกล้กับสระเล็กๆ และรั้วด้านตะวันตกของพระปรางค์ ๑ หลัง ไม่มีช่อฟ้าใบระกาทำเป็นปูนปั้นประดับกระเบื้องถ้วยเป็นชิ้นๆ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี กรอบหน้าต่างเป็นปูนปั้นลายดอกไม้ลงรักปิดทอง และอีกหลัง ๑ อยู่มุมด้านเหนือหน้าคณะ ๗ มีช่อฟ้าใบระกา ลงรักปิดทองประดับกระจก บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำรูปต้นไม้

คติเกี่ยวกับที่มีหอไตร ๒ หอ พระเถระผู้ใหญ่ในวัดนี้เล่าว่า เป็นเพราะวัดนี้เดิมมีพระราชาคณะได้ ๒ รูป
   


โปรดติดตามตอนต่อไป
p ๖๙ - ๖๐๐/๒๘
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 22 มิถุนายน 2561 16:19:53 »

โบสถ์น้อย
โบสถ์น้อย อยู่หน้าพระปรางค์ ด้านเหนือซุ้มประตูพระเกี้ยวเป็นโบสถ์เดิมของวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาคู่กับพระปรางค์องค์เดิมเป็นรูปทรงเตี้ย มีมุขทั้งด้านหน้าด้านหลัง ที่หน้าบันทำเป็นลายกระหนกปิดทองประดับกระจก ไม่มีกำแพงแก้ว (ของเดิมจะมีหรือเปล่าไม่ปรากฏหลักฐาน) มุขด้านหน้าปูพื้นด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ปล่อยว่าง ที่ผนังด้านนอกหน้าโบสถ์ ตรงกลางเจาะเป็นรูปใส่ถ้วยกระเบื้องกลมๆ สมัยเก่าไว้รวม ๙ รู เรียงเป็นแถว ๓ แถว แถวละ ๓ รู เล่ากันว่าเป็นปริศนาลายแทงว่า “วัดอรุณมี ๙ รู” เดิมโบกปูนทับไว้ทั้งหมด แต่เมื่อซ่อมใหม่จึงได้พบมุขหลังประดิษฐานพระกัจจายน์ หน้าตักกว้าง ๒ ศอก เป็นพระลงรักปิดทอง มีประตู ๔ ประตู ด้านหน้า ๒ ประตู และด้านหลัง ๒ ประตู ที่บานประตูด้านนอกเป็นลายรดน้ำรูปทหาร และมีรูปดอกไม้ประดับ ด้านในเป็นภาพเขียนสีเทวดาแบบทวารบาลทุกบาน หน้าต่างมีข้างละ ๖ ช่อง ด้านนอกเป็นลายน้ำรูปดอกไม้ ด้านในเป็นภาพรูปฉัตรเบญจาและดอกไม้ร่วงเหมือนกันทุกบาน

ภายในโบสถ์มีฐานชุกชี ประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นจำนวนถึง ๒๙ องค์ เป็นพระพุทธรูปนั่งบ้างยืนบ้าง ที่ชำรุดหักพังเสียก็หลายองค์ พระประธานเป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง เหตุที่มีพระพุทธรูปในนี้มาก สันนิษฐานกันว่า ได้ย้ายออกมาจากวิหารน้อยหลังใต้แล้วเอามารวมประดิษฐานไว้ที่นี่ ภายหลังทางวัดขนเอามาจากที่อื่นอีก เช่น ที่ศาลาการเปรียญหลังเก่าที่รื้อไปแล้วเป็นต้น หน้าฐานชุกชีทำเป็นลับแลก่ออิฐถือปูน มีพระแท่นของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีประทับ เป็นไม้กระดานแผ่นเดียว กว้าง ๑๗ นิ้วฟุต ยาว ๑๒๐ นิ้วฟุต ตั้งอยู่ ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อจวนจะสิ้นรัชกาล ได้ทรงผนวชและเสด็จมาประทับ ณ โบสถ์นี้ บนพระแท่นมีที่บรรทมตั้งซ้อนอยู่ สืบได้ความว่า เดิมที่บรรทมนี้อยู่ที่อื่นแล้วนำมาตั้งซ้อนไว้ มีพระบรมรูปหล่อของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเครื่องพระมหากษัตริย์ประทับห้อยพระบาทประดิษฐานอยู่ด้วย ทางวัดแจ้งว่าเป็นพระบรมรูปที่พระราชวิสุทธิญาณ (อยู่) ขณะมีสมณศักดิ์เป็นพระศากยบุตติวงศ์รักษาการเจ้าอาวาส ให้ช่างหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ ทางด้านใต้พระแท่นมีศาลสถิตดวงพระวิญญาณของพระองค์ท่าน สร้างขึ้นพร้อมกับพระบรมรูปหล่อ

โบสถ์นี้เป็นทางผ่านเข้าไปสู่พระปรางค์ได้ด้วย ทางวัดได้จัดหาผลประโยชน์บำรุงวัดโดยวิธีให้คนประมูลขายของและดอกไม้ธูปเทียนบูชา มีโต๊ะจีนขนาดใหญ่ตั้งไว้หน้าพระแท่น

รูปทรงโบสถ์หลังนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงพระปรารภไว้ว่า พระอุโบสถ พระวิหาร การเปรียญ ศาลา กุฏิ และถาวรวัตถุอื่นๆ ในวัด ชักจะสร้างไปตามอำเภอใจ ไม่ได้แบบได้แผน จึงมีพระกระแสให้พระนวการโกวิทร่างแบบขึ้นใหม่เรียกว่า “แบบนวกรรม” โดยเขียนแบบจากของเดิมในวัดต่างๆ ที่ทรงเห็นว่าดีงามถูกแบบแผนแล้วพิมพ์จำหน่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒ รวม ๒ เล่ม ราคาเล่มละ ๑ สลึง ในหนังสือแบบนวกรรมนี้ มีภาพโบสถ์หลังนี้เป็นแบบอย่างอยู่ด้วย
   


วิหารน้อย
วิหารน้อย อยู่หน้าพระปรางค์คู่กันกับโบสถ์น้อย เป็นของมีมาแต่เดิม สันนิษฐานกันว่า เป็นของสร้างขึ้นสมัยอยุธยาเช่นเดียวกัน มีลักษณะเหมือนกันกับโบสถ์น้อย คือ เป็นทรงเตี้ย มีมุขหน้าและหลัง มุขหน้าปล่อยว่าง มุขหลังประดิษฐานพระมาลัย หน้าตักกว้างประมาณ ๒ ศอก มีประตู ๔ ประตู ด้านหน้า ๒ ประตู และด้านหลัง ๒ ประตู บานประตูด้านหน้าเป็นลายรดน้ำรูปทหารและรูปดอกไม้ ด้านในเป็นภาพสีรูปเทพธิดายืนประนมมือบนเขา และดอกไม้ร่วง หน้าต่างมี ๑๒ หน้าต่าง ด้านเหนือ ๖ และด้านใต้ ๖  ด้านนอกหน้าต่างเป็นลายรดน้ำรูปดอกไม้ ด้านในเป็นภาพสีรูปฉัตรเบญจาและดอกไม้ร่วง ตรงกลางวิหารมีฐานชุกชี ประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์    


พระจุฬามณีเจดีย์
พระจุฬามณีเจดีย์ เป็นโลหะคล้ายเนื้อชิน สวยงามและมีน้ำหนักมาก ถอดออกได้เป็น ๔ ชิ้น คือ ที่ยอดชิ้น ๑  คอระฆังชิ้น ๑  และที่ฐาน ๒ ชิ้น  ประดิษฐานอยู่บนแท่นปูนแต่ลงรักปิดทองทำลวดลายเหมือนกับพระเจดีย์ มีรูปท้าวจตุโลกบาลยืนเฝ้าพระเจดีย์ หล่อด้วยโลหะเช่นเดียวกัน

บนฐานชุกชีนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า มีพระพุทธรูปประดิษฐานเหมือนวิหารตามวัดต่างๆ ทั่วไปแต่เมื่ออัญเชิญพระแก้วมรกตลงมาจากเวียงจันทน์ และหลังจากสมโภชฉลองพระแก้วแล้ว ได้อัญเชิญเข้ามาประดิษฐานไว้ที่นี้ ดังกล่าวได้มาแล้วในตอนต้น สมัยรัชกาลที่ ๕ ยังเรียกว่า “วิหารพระแก้ว” อยู่ตลอดมา แต่ชาวบ้านเรียกเพี้ยนไปว่า “วิหารพระเขี้ยวแก้ว” ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวว่า เป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนดาวดึงส์ พระอินทร์ได้มาเอาไปจากมวยผมของโทณพราหมณ์ตอนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

พระจุฬามณีเจดีย์ที่นำมาประดิษฐานบนฐานชุกชี พระพิมลธรรม (นาค) เมื่อครั้งยังมีสมณศักดิ์เป็นพระเทพสุธี ได้ทูลชี้แจงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่า เป็นของเอามาจากที่อื่น

ปัจจุบันทางด้านหน้าด้านหลังและบนฐานชุกชีมีพระปางต่างๆ มากมาย ซึ่งชำรุดหักพังก็มี ทางวัดได้รวบรวมจากที่อื่นเอามาเก็บรักษาไว้ วิหารหลังนี้ไม่ได้เปิดให้คนชม มีพระภิกษุสูงอายุรูป ๑ อยู่จำพรรษา
   



รูปปั้นนายเรือง ผู้จุดไฟเผาตัวตาย ที่วัดอรุณราชวราราม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๓

รูปนายเรืองนายนก
รูปนายเรือง เป็นหินสลักตั้งอยู่ในศาลาเล็กติดกับด้านกำแพงนอกหน้าพระอุโบสถทางเหนือประตูซุ้มยอดมงกุฎ ประวัติของนายเรืองผู้นี้กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า

“รูปนายเรืองนี้ผู้เผาตัว ณ วันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ เพลาทุ่มเศษ จุลศักราช ๑๑๕๒ (พ.ศ.๒๓๓๓) ปีจอ โทศก เมื่อแต่ก่อนเผาตัวประมาณ ๙ วัน ๑๐ วัน นั้น มีความว่านายเรืองกับสหาย ๒ คน คือ ขุนศรีกัณฐัศว์กรมม้า และนายทองรัก พากันไป ณ พระอุโบสถวัดครุธ ต่างปรารถนาพุทธภูมิ เสี่ยงดอกบัวอ่อนคนละดอก ว่าถ้าใครจะสำเร็จแก่พระโพธิญาณแล้วขอดอกบัวผู้นั้นจงบาน ครั้นรุ่งขึ้นก็บานแต่ดอกบัวของนายเรือง ตั้งแต่นั้นนายเรืองก็มาอยู่ที่การบุเรียญเก่าวัดอรุณราชวรารามสมาทานอุโบสถศีล ฟังเทศนาเอาน้ำมันชุบสำลีเป็นเชื้อพาดแขนทั้ง ๒ จุด ไปบูชาต่างประทีปทุกวันจนถึงวันเผาตัว นายเรืองฟังเทศนาจบแล้วก็นุ่งห่มผ้าชุบน้ำมันเดินออกมาหน้าการบุเรียญ นั่งพับเพียบพนมมือรักษาอารมณ์สงัดดีแล้ว ก็จุดไฟเผาตัวเข้า เมื่อเปลวไฟวูบขึ้นท่วมตัวนั้นนายเรืองร้องว่าสำเร็จปรารถนาแล้ว ขณะนั้นคนซึ่งดูอยู่ประมาณ ๕๐๐ - ๖๐๐ เศษ บ้างก็ร้องสาธุการ เปลื้องผ้าห่มโยนบูชาเข้าไปในไฟด้วย ครั้นไฟโทรมแล้ว คนที่มีศรัทธาช่วยกันยกศพใส่โลงไว้ในการบุเรียญ สวดพระอภิธรรม ๓ คืน แล้วพาศพไปเผาที่ทุ่งนาวัดหงษ์ เมื่อเผาศพไฟชุมนั้น ปลาท้องนาประมาณ ๑๑ ปลา ๑๒ ปลา โลดขึ้นมาเข้าในกองไฟตายด้วย ครั้นไฟดับแล้วเห็นอัฐินายเรืองสีเขียว ขาว เหลือง ขาบ ดูปลาด ก็ชวนกันเก็บอัฐิใส่โกษฐ์ดีบุก ไว้ในการบุเรียญเก่าวัดอรุณราชธารามนี้”

รูปนายนก เป็นหินสลักตั้งอยู่ในศาลาเล็ก ติดกำแพงด้านนอกหน้าพระอุโบสถ ทางใต้ซุ้มประตูยอดมงกุฎ ประวัติของนายนกผู้นี้ กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า

“เมื่อวันพุธ เดือนเจ็ด แรมเจ็ดค่ำ (พ.ศ.๒๓๕๙) วันนั้นฝนตกหนัก ตั้งแต่เวลาพลบค่ำจนสิบเอ็ดทุ่มจึงหยุด ครั้นเวลาเช้าชายหญิงจึงมาเห็นนายนกเผาตัวอยู่ใต้ต้นศรีมาโพธิ์ที่หน้าพระอุโบสถเก่าวัดแจ้ง แต่ไฟนั้นดับแล้ว นายนกได้บอกแก่ญาติมาตรชาวบ้านที่ชอบกันว่า นายนกจะประพฤติสุจริต ทำบุญรักษาศีล ตั้งจิตปรารถนานิพพานธรรม แต่นั้นมานายนกก็ปฏิบัติมักน้อย ละบ้านเรือนญาติมิตรเสีย ออกไปสมาทานศีลเจริญภาวนารักษาจิตอยู่ในการเปรียญเก่าวัดแจ้ง จะได้เป็นกังวลด้วยการบำรุงกายแลกิจที่จะบริโภคนั้นหามิได้ เมื่อใครจะมีน้ำใจให้อาหารก็ได้บริโภคบ้าง ลางที่ไม่ได้บริโภค อดอาหารมื้อหนึ่งบ้าง ลางวันก็ไม่ได้บริโภค ทรมานตนมาจนวันเผาตัวตาย เมื่อนายนกจะเผาตัวนั้นจะได้บอกกล่าวญาติมิตรผู้หนึ่งผู้ใดหามิได้ คนทั้งปวงเมื่อเห็นศพนายนกก็พากันทำบุญสักการบูชาศพนายนกเป็นอันมาก”
   


ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน
ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน มี ๖ หลัง อยู่ที่เขื่อนหน้าวัด ตรงมุมเหนือสุดที่ปากคลองวัดแจ้งหลัง ๑ ตรงกับประตูซุ้มยอดมงกุฎ ๓ หลัง ตรงกับต้นพระศรีมหาโพธิ์หน้าวัดหลัง ๑ และตรงกับทางเข้าพระปรางค์อีกหลัง ๑ ที่ศาลาเก๋งจีนมีสะพานยืนลงไปในแม่น้ำ เว้นแต่ด้านเหนือสุด ส่วนหลังที่ตรงกับทางเข้าพระปรางค์นั้น มีรูปจระเข้หินอยู่ด้านหน้าข้างละตัว ศาลาเหล่านี้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เหมือนกันหมด คือ หลังคาเป็นรูปเก๋งจีน มียกพื้นสำหรับนั่งพักทำด้วยหินทรายสีเขียว โดยเฉพาะ ๓ หลังตรงประตูซุ้มยอดมงกุฎนั้น หลังเหนือและใต้มีแท่นหินทรายสีเขียวตั้งอยู่ตรงกลาง เข้าใจว่าจะเป็นที่สำหรับวางของ และหลังศาลาเก๋งจีน ๓ หลังนี้มีรูปกินรีแบบจีนทำด้วยหินทรายสีเขียวตั้งอยู่ ๒ ตัว    


ภูเขาจำลอง
ภูเขาจำลอง อยู่หน้าวัด ทางด้านเหนือ หลังศาลาน้ำรูปเก๋งจีน ๓ หลัง กล่าวกันว่าเดิมเป็นภูเขาจำลองที่โปรดให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังในรัชกาลที่ ๑ ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้นำมาไว้ที่วัดนี้ ภูเขาจำลองนี้มีรั้วล้อมไว้เป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ มีตุ๊กตาจีน ๒ ตัวนั่งบนแท่นอยู่นอกรั้วด้านหน้า ตรงหน้าประตูเข้าทำเป็นรูปทหารเรือยืนเฝ้าอยู่ ๒ คน   


อนุสาวรีย์พระธรรมเจดีย์
อนุสาวรีย์พระธรรมเจดีย์ (อุ่ม) อยู่ด้านใต้ของภูเขาจำลองมีถนนที่ขึ้นจากศาลาท่าน้ำเก๋งจีน ๓ หลัง ไปพระอุโบสถคั่นกลาง อนุสาวรีย์แห่งนี้มีกำแพงเตี้ยๆ เป็นรั้วล้อมรอบ ภายในรั้ว นอกจากมีโกศหินทรายสีเขียวแบบจีนบรรจุอัฐิของพระธรรมเจดีย์แล้ว ยังมีประตูและมีภูเขาจำลองเตี้ยๆ กับปราสาทแบบจีนเล็กๆ มีตุ๊กตาหินนอนอยู่ภายใน มีภาษาจีนกำกับ ซึ่งชาวจีนอ่านว่า ฮก ลก ซิ่ว

ทางมุมรั้วข้างใต้ตอนหน้าวัดมีที่บรรจุอัฐิ พลเรือเอก พระยาราชวังสัน (ศรี กมลนาวิน) อดีตผู้บัญชาการทหารเรือตั้งอยู่หน้าอนุสาวรีย์ รั้วด้านที่ตรงกับภูเขาทอง มีตุ๊กตาหินจีนอีก ๖ ตัว เป็นรูปทหารจีนยืนอยู่บนกำแพงมุมละตัว และนั่งอยู่บนแท่นเลยกำแพงออกมาอีกมุมละตัว ตรงทางเข้าอนุสาวรีย์มีตุ๊กตาจีนรูปกินรีข้างละตัว 

 

โปรดติดตามตอนต่อไป
p ๗๔ - ๖๐๐/๒๘
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.06 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้