[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 05:25:43 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สมุนไพรในพระไตรปิฎก  (อ่าน 2731 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 26 พฤษภาคม 2560 15:44:30 »



รากไม้ สมุนไพรในพระไตรปิฎก

ในพระไตรปิฎก ได้บันทึกเหตุการณ์สมัยพุทธกาลไว้ว่า เมื่อพระภิกษุเกิดอาพาธ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตรากไม้ที่เป็นยา คือ ขมิ้น ขิงสด ว่านน้ำ ว่านเปราะ อุตพิต ข่า แฝก แห้วหมู หรือรากไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”

จากบันทึกได้เอ่ยชื่อสมุนไพรไว้ ๘ ชนิดเป็นหลัก อาจแสดงให้เห็นว่าเป็นยาสมุนไพรที่ใช้บ่อยและน่าเป็นตัวยาหลักในการรักษาอาการต่างๆ ได้ดีในหมู่พระภิกษุในสมัยนั้น

แต่ในบันทึกไม่ได้บอกว่ามีการใช้เป็นตำรับหรือยาเดี่ยว คราวนี้จึงขอถอดรหัสความรู้โดยนำมาเชื่อมโยงกับผลการใช้สมุนไพรในยุคปัจจุบัน

ขมิ้น คนทั่วไปอาจสงสัย คำว่า ขมิ้น  หมายถึง ขมิ้นชันหรือขมิ้นอ้อย หรือหมายถึง ทั้ง ๒ ชนิด เพราะในการใช้บางที่ก็นำมาแทนกัน แต่ถ้าเจาะลึกถึงวิธีใช้อย่างละเอียดจะพบว่า มีการใช้ขมิ้นทั้ง ๒ ชนิดแตกต่างกัน

ขมิ้นชัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa L. เนื้อในของเหง้าจะเป็นสีเหลืองเข้มจนถึงสีแสดจัด ซึ่งเป็นที่มาในภาษาอังกฤษเรียกว่า “ขมิ้นเหลือง” (Yellow turmeric) และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

เหง้าที่เก็บมาต้องมีอายุอย่างน้อย ๙-๑๒ เดือน และต้องไม่เก็บไว้นานเกินไป ไม่ให้ถูกแสงแดด เพราะจะทำให้น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นสูญหายไปเสียก่อน

ขมิ้นมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยในการชะลอวัยและชะลอการเกิดริ้วรอย ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหาร ช่วยในการขับลม แก้ผื่นคันและมีสรรพคุณอีกมากมาย

ส่วนขมิ้นอ้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma zedoaria (Chistm.) Roscoe ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “ขมิ้นขาว” (White turmeric)

ขมิ้นอ้อยหรือขมิ้นขาวต่างจากขมิ้นชันหรือขมิ้นเหลืองตรงที่มีสารเคอคิวมิน (Curcumin) น้อยกว่า จึงทำให้เหง้ามีสีซีดกว่า จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า ขมิ้นชันมีสารเคอคิวมิน (curcumin) เป็นสาระสำคัญที่มีคุณสมบัติในการรักษาโรคต่างๆ

ส่วนขมิ้นอ้อยมีน้ำมันหอมระเหย (essential oils) ที่เป็นสาระสำคัญในการรักษาโรค จึงมีความต่างกัน

ในทางปฏิบัตินิยมใช้ขมิ้นชันประกอบอาหารและเป็นยามากกว่าขมิ้นอ้อย แต่ก็พบว่ามีการใช้ขมิ้นอ้อยเกี่ยวกับการรักษาอาการผิดปกติของกระเพาะได้ ลดอาการไอ เป็นหวัดและลดไข้ ลดอาการปวดประจำเดือน ลดอาการตกขาว ลดอาการแพ้ต่างๆ เช่นกัน

ขณะนี้มีรายงานว่าทั้งขมิ้นชันและขมิ้นอ้อยมีสรรพคุณใกล้เคียงกันจากการศึกษาปฏิกิริยาในการต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant activity) พบว่า ขมิ้นชันมี ๗๖% ในขณะที่ขมิ้นอ้อยมี ๖๓%

และการศึกษาการต้านแบคทีเรีย พบว่าขมิ้นชันมีคุณสมบัติที่ดีกว่าขมิ้นอ้อย แต่ไม่มาก

โบราณในสมัยพุทธกาลคงน่าจะใช้ทั้งขมิ้นชันและขมิ้นอ้อยบำบัดเยียวยาโรคภัยต่างๆ

ขิง ในบันทึกระบุว่า ขิงสด  ขิงมีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber ofcinale Roscoe จัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะที่ดีมาก ในตำรายาไทยใช้เหง้า รักษาอาการท้องอืด เฟ้อ เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดเกร็งช่องท้อง แก้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร รักษาอาการหวัด รักษาอาการปวดศีรษะเนื่องจากไมเกรน และรักษาอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ บำรุงธาตุไฟ ฆ่าพยาธิ

ขิงสด มีการกล่าวไว้ว่า ใช้แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ผายลมและเรอ แก้อาเจียน ยาขมเจริญอาหาร ขับน้ำดีช่วยย่อยอาหาร แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก ลดความดัน ในตำรับยาบางตำรับ แต่ในสรรพคุณโบราณก็มีการใช้ขิงแห้ง แก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้หอบ แก้ลม แก้จุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียน อาเจียน

สำหรับคำว่าขิงแห้งนั้น ยังมีข้อถกเถียงกันทางวิชาการออกเป็น ๒ แนวทาง คือ หมอยาไทยรุ่นใหม่หลายท่านเห็นว่า ขิงแห้ง คือ ขิงสด ที่นำมาตากแห้งแล้วนำมาใช้ในตำรับต่างๆ ในขณะที่หมอไทยรุ่นเก่าและหมอพื้นบานมีความเห็นว่า ขิงแห้งเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ต่างจากขิง

ขิงแห้งที่หมอพื้นบ้านใช้กันอยู่มี ๒ ชนิด คือ Zingiber mekongense Gagnep.  ชื่อในภาษาไทยคือ ไพลดำ

ส่วนอีกชนิดหนึ่งที่เป็นรายงานจากกรมป่าไม้คือ Zingiber ligulatum Roxb. ซึ่งเข้าใจว่าไม่พบในป่าธรรมชาติของประเทศไทย แต่มีการนำเข้าจากต่างประเทศแล้วนำมาปลูกในประเทศไทย  และจากเอกสารของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้รายงานไว้ว่าในตำรายาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท กล่าวไว้ถึงขิงแห้งว่าอยู่ในสกุล Hedychiumsp. เรื่อง ขิงแห้ง จึงยังเป็นประเด็นทางวิชาการที่ต้องศึกษาให้กระจ่างเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่สำหรับของที่เราคุ้นเคยนี้ ใช้เลยไม่ต้องรีรอเพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีประโยชน์มากมาย ยิ่งมีการศึกษาวิจัยใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่า ขิงเป็นสมุนไพรที่มีการใช้กันทั่วโลก ปลูกง่าย ใช้ง่าย ถือเป็นยาประจำบ้านชนิดหนึ่งเลย

จากสมุนไพร ๘ ชนิด นำเสนอได้เพียง ๒ ชนิด ขอยกยอดที่เหลือไปในฉบับหน้า แต่ขอยืนยันไว้ก่อนว่า ภูมิปัญญาสมัยพุทธกาลนั้นลึกซึ้งยิ่งนัก

สมุนไพรที่พระพุทธเจ้าเอ่ยนามอนุญาตนั้น ถือว่าเป็นยอดยาสามัญประจำบ้าน หรือเป็นยาที่ดีสำหรับการดูแลสุขภาพที่เข้าถึงภิกษุ ภิกษุณี และประชาชนทั่วไปอย่างยิ่ง

ฉบับหน้าอีก ๖ ชนิดจะแสดงให้เห็นว่า สมุนไพรเหล่านี้ครอบคลุมอาการและโรคพื้นฐานตั้งแต่ ๒,๕๐๐ ปีก่อน จนถึงปัจจุบันเลย


ที่มา : คอลัมน์ สุมนไพรเพื่อสุขภาพ "รากไม้ สมุนไพรในพระไตรปิฎก" หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๑๙ ประจำวันที่ ๒๖ พ.ค.-๑ มิ.ย.๒๕๖๐





น้ำฝาด โอสถครั้งพุทธกาล

น้ำฝาด ตามราชบัณฑิตหมายถึง “น้ำที่มีรสฝาด เกิดจากการเอาเปลือกไหม้ แก่นไม้ เป็นต้นของไม้บางชนิด เช่น ขนุนมาต้ม ใช้ย้อมสบงจีวร, ฝาดก็ว่า เช่น ผ้าย้อมฝาด”

แล้วมีคำที่คนรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยได้ยินกันแล้วว่า “กาสาวะ” หมายถึงน้ำฝาด น้ำต้มจากเปลือกไม้ หรือว่าน้ำต้มจากแก่นไม้ และมีคำว่า กาสาวเภสัช คือ น้ำฝาดเป็นยา หรือยาที่ได้จากน้ำฝาดของพืช

น้ำฝาดเป็นยานี้มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกว่า พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาดที่เป็นยา คือ น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน น้ำฝาดขี้กา น้ำฝาดบอระเพ็ด น้ำฝาดกระถินพิมานหรือน้ำฝาดที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”

ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้แต่เพียงว่านำน้ำฝาดมาดื่มแก้ไข้ มิได้มีรายละเอียด เมื่อพิจารณาน้ำฝาดจากสมุนไพรแต่ละชนิด

ขอขยายความดังนี้

น้ำฝาดสะเดา (Azadirachta indica A.Juss.) ต้นสะเดามีประโยชน์ทุกส่วน แต่เฉพาะส่วนที่เป็นแก่นและเปลือกพบว่า มีการนำเอาแก่นสะเดามาใช้เพื่อช่วยบำรุงธาตุไฟ ขับน้ำย่อยอาหาร ทำให้กระเพาะย่อยอาหารได้ดีขึ้น บำรุงโลหิต เปลือกต้นช่วยแก้กษัยหรือโรคซูบผอม ผอมแห้งแรงน้อย แก้ไข้ สร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย

ถ้ามีอาการฟันโยกคลอน เหงือกหรือปากเป็นแผล ให้ใช้เปลือกสะเดายาวประมาณ ๒-๓ นิ้ว นำมาขูดเอาเปลือกนอกดำๆ ออกให้หมด แล้วนำมาทุบปลายให้แตก พอให้ส่วนปลายมีความอ่อนนุ่ม นำมาถูฟัน เมื่อเสร็จแล้วตัดปลายทิ้ง หากจะใช้ครั้งต่อไปก็ทุบใหม่ จะช่วยทำให้ฟันโยกคลอนแข็งแรงขึ้น

สะเดายังแก้อาการท้องเดินและท้องร่วง แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้เป็นยาฝาดสมาน ในอินเดียใช้ใบสดของสะเดาไปเผาในหม้อดิน นำเถ้าที่ได้มาละลายน้ำ ใช้ฉีดพ่นลงบริเวณที่เป็นแผลสามารถรักษาแผลให้หายได้

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการเป็นยาล้างตาได้ (Dueep J.Sinh and Jhon Davison,2013) และรายงานของ Singh, K.K et.al.(2008) ใน Neem, a Treatise ได้กล่าวไว้ว่า เถ้าที่ได้จากการเผาใบสะเดาแห้งที่เผาในหม้อดิน นำมาผสมน้ำ ตั้งทิ้งไว้ ๒๔ ชั่วโมง กรองเอาส่วนที่เป็นน้ำทิ้ง นำเอาส่วนที่เป็นตะกอนมาผสมน้ำดื่มทุกเช้าจะช่วยขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้

น้ำฝาดโมกมัน {(Wrightia arborea (Dennst.)Mabb.)} เปลือกต้นมีรสขม ฝาด เมา ช่วยรักษาธาตุไฟให้เป็นปกติ

ช่วยบำรุงธาตุทั้งสี่ให้เจริญ รู้ปิดธาตุ

ช่วยทำให้เจริญอาหาร ใช้เป็นยาแก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด รักษาโรคไต

ช่วยฆ่าเชื้อคุดทะราด เชื้อรำมะนาด แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เนื้อไม้หรือแก่น เป็นยาขับโลหิต

ช่วยขับโลหิตเสียบำรุงถุงน้ำดี แก้ดีพิการ

จากข้อมูลใน STATUS REPORT ON WILD MEDICINAL PLANTS OF SATPUDA FOREST EAST, MAHARASHTRA INDIA โดย R.M.Bagul (2016) กล่าวไว้ว่า เถ้าจากเปลือกของโมกมัน นำมาละลายกับน้ำอุ่น ใช้ดื่มแก้อาการปัสสาวะขัด

นอกจากนี้ เถ้าที่ได้จากการเผาส่วนของดอก ใช้ทาบริเวณฟันที่งอกใหม่ในเด็ก ทำให้ลดปัญหาการเจ็บๆ คันๆ ได้

น้ำฝาดขี้กา ในพระไตรปิฎกฉบับหลวง นอกจากจะพูดถึงน้ำฝาดขี้กาแล้วยังกล่าวถึง น้ำฝาดกระดอม (Gymnopetalum chinense (Lour.) Merr.) ด้วย ซึ่งคล้ายกับว่าใช้แทนกันได้ สมุนไพรทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยที่ไม่มีเนื้อไม้และเปลือก ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่จะใช้ผลแห้งเป็นยาสมุนไพร

ดังนั้น ไม่น่าจะนำมาทำเป็นน้ำฝาดตามนิยามของราชบัณฑิตที่ใช้แก่นไม้เปลือกไม้ แต่อาจเป็นไปได้ว่าหมายถึงการนำผลแห้งไปเผาให้ได้เถ้าแล้วนำมาละลายน้ำใช้ทำเป็นยาน้ำฝาดด้วย

โดยปกติเมื่อพูดถึงสมุนไพรขี้กา มักจะหมายถึงขี้กา ๓ ชนิด คือ
๑) Gymnopetalum chinnense  (Lour.) Merr. มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “ขี้กาดง” หรือ “กระดอม”
๒) ขี้กาที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gymnopetalum scabrum (Lour) W.J.de Wilde & Duyfjes) มีชื่อในภาษาไทยกลางว่า “แตงโมป่า”
๓) ขี้กาที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichosanthes tricuspidata Lour. ชนิดนี้มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “กระดึงช้างเผือก” มีลำต้นแข็ง มีขนาดเล็ก แต่ ๒ ชนิดแรกเป็นไม้เถาที่ไม่มีเนื้อไม้ ไม่น่าจะจัดอยู่ในหมวดน้ำฝาด เป็นยาตามนิยามของราชบัณฑิต

เพราะไม่มีแก่นและเปลือกที่จะนำมาแช่น้ำได้

แต่ในรายชื่อพรรณไม้เมืองไทยของกรมป่าไม้ กล่าวว่าพืชในเมืองไทยที่มีชื่อว่าขี้กามีอยู่จำนวน ๔ ชนิด ๑) Adeniapenangiana var. parvifolia (Pierre ex Gagnep.) W.J.de Wilde เป็นไม้เถามีเนื้อไม้ มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “ขี้กา”  ๒) CapparissiamensisKurz. มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “พุงแก”  ๓) Strychnos nux-blanda A.W.Hill มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “ตูมกาขาว”  ๔) Strychnos rupicola Pierre ex Dop เป็นไม้เถามีเนื้อไม้ มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “ขี้กาเครือ”


ที่มา : คอลัมน์ สุมนไพรเพื่อสุขภาพ "น้ำฝาด โอสถครั้งพุทธกาล" หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๒๒ ประจำวันที่ ๑๖-๒๒ มิ.ย.๒๕๖๐




น้ำฝาด โอสถครั้งพุทธกาล (จบ)

ในพระไตรปิฎกบันทึกเกี่ยวกับน้ำฝาดที่ใช้เป็นยาสมุนไพรไว้ตอนหนึ่งซึ่งพระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาดที่เป็นยา คือ น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน น้ำฝาดขี้กา น้ำฝาดบอระเพ็ด น้ำฝาดกระถินพิมานหรือน้ำฝาดที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ

ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้แต่เพียงว่านำน้ำฝาดมาดื่มแก้ไข้ มิได้มีรายละเอียดถึงตำรับยา แต่ได้นำเสนอสรรพคุณของน้ำฝาดจากสมุนไพรแต่ละชนิดไว้แล้วเมื่อครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน ในคราวนี้จะกล่าวถึง น้ำฝาดขี้กา ที่ยังนำเสนอไม่จบกระบวนความและน้ำฝาดที่เหลืออีก  ดังนี้

น้ำฝาดขี้กา ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกฉบับหลวงแล้ว ยังกล่าวถึง น้ำฝาดกระดอม (Gymnopetalum chinense (Lour.) Merr.) ด้วย ซึ่งคล้ายกับว่าใช้สมุนไพรทั้ง ๒ ชนิดแทนกันได้

เมื่อพิจารณาลักษณะต้นพบสมุนไพรทั้ง ๒ ชนิดนี้ เป็นไม้เลื้อยเหมือนกัน และที่ไม่มีเนื้อไม้และเปลือก

เวลานำมาใช้ยาส่วนใหญ่จะใช้ผลแห้งเป็นส่วนของการปรุงยาสมุนไพร

หากดูจากภูมิปัญญาดั้งเดิมก็น่าจะเป็นการนำผลแห้งไปเผาให้ได้เถ้าแล้วนำมาละลายน้ำใช้ทำเป็นยาน้ำฝาด ไม่ใช่การทำน้ำฝาดที่ทำจากเปลือกไม้

เมื่อมาดู ขี้กา สมุนไพรต้นนี้หมายถึงขี้กา ได้ ๓ ชนิดคือ
๑) ”ขี้กาดง” หรือ “กระดอม” หรือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnopetalum chinense (Lour.) Merr.
๒) ขี้กาที่มีชื่อเรียกภาคกลางว่า “แตงโมป่า” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gymnopetalum scabrum (Lour.) W.J.de Wilde & Duyfjes
๓) ขี้กาที่มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “กระดึงช้างเผือก” ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichosanthes tricuspidata Lour. ขี้กาชนิดนี้ มีลำต้นแข็ง มีขนาดเล็ก

แต่ขี้กา ๒ ชนิดแรกเป็นไม้เถาที่ไม่มีเนื้อไม้ จึงไม่น่าจะจัดอยู่ในหมวดน้ำฝาดเป็นยาตามนิยามของราชบัณฑิต ที่บอกว่าใช้แก่นและเปลือกนำมาแช่น้ำ

แต่น่าจะเป็นการใช้ผลแห้งตามภูมิปัญญาดั้งเดิม

คราวนี้ถ้าค้นข้อมูลรายชื่อพรรณไม้เมืองไทยของกรมป่าไม้ จะระบุว่าพืชในเมืองไทยที่มีชื่อว่าขี้กา มีอยู่จำนวน ๔ ชนิด
๑) Adeniapenangianavar. Parvifolia (Pierre ex Gagnep.) W.J.de Wide เป็นไม้เถามีเนื้อไม้ มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “ขี้กา” ในอินเดียใช้เป็นยาแก้เจ็บหน้าอกและเจ็บตามเนื้อตัว
๒) Capparis siamensis Kurz. มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “พุงแก” เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ใช้เป็นยารักษาโรคในเด็ก
๓) Strychnosnux-blanda A.W.Hill มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “ตูมกาขาว” ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้แก่นของต้นตูมกาขาวเข้ายากับเครือกอฮอ (เถาบอระเพ็ด) ต้มกับน้ำดื่ม เป็นยาแก้เบาหวาน นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณเป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายด้วย
๔) Strychnosrupicola Pierre ex Dop เป็นไม้เถามีเนื้อไม้ มีชื่อเรียกในภาคกลางว่า “ขี้กาเครือ” แต่ก็พบว่ามีสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายเถาขี้กามากๆ เรียกกันว่า เถาอีนูนหรือเครือผักสาบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Adeniaviridiora Craib และชนิด Adeniaheterophylla (Blume) Koord. ซึ่งมีลูกขนาดเท่ากำปั้น ขึ้นเป็นพวง เวลาสุกมีสีแดงคล้ายผลขี้กา

ในภูมิปัญญาสมุนไพรของชาวอีสาน ใช้แก่นเป็นยาแก้ปัสสาวะที่เป็นหนอง ยังใช้ในตำรับยาอื่นๆ ของอีสานด้วย เช่น เอาเครือผักสาบและเครือง้วนหมู (Dregeavolubilis (L.f) Benth. exHook.f.) แช่น้ำกิน ในต่างประเทศใช้ส่วนของรากแช่น้ำดื่ม แก้กระเพาะอาหารผิดปกติ

จะพบว่า ขี้กา ที่บันทึกไว้ในครั้งพุทธกาลนั้น อาจเป็นพืชสมุนไพรได้หลายชนิด แต่ก็ยืนยันได้ว่ามีการใช้มาถึงปัจจุบัน

น้ำฝาดบอระเพ็ด (Tinosporacrispa (L.) Hook.f. & Thomson) แม้จะเป็นพืชไม่มีแก่นและเปลือก ตามนิยามที่บอกว่าน้ำฝาดทำมาจากแก่นหรือเปลือก แต่ก็มีการนำเอาลำต้นขนาดเล็กมาใช้เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ไข้ ไข้ทรพิษ ทำให้เจริญอาหาร บำรุงน้ำดี ดับพิษปวดแสบปวดร้อน แก้พิษฝีดาษ 

และปัจจุบันยังมีการนำมาใช้ช่วยลดน้ำตาลในเลือด 

แลถือเป็นยาอายุวัฒนะที่สืบต่อมายาวนาน

น้ำฝาดกระถินพิมาน (Acacia tomentosa Willd.) กระถินพิมานเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง แก่นใช้แก้ปวดหู แก้ฝีในหู ดับพิษไข้กาฬ แก้ไข้พิษ แก้โรคผิวหนัง ส่วนของรากใช้แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ตะขาบ แมลงป่อง และแก้ไฟลามทุ่ง

จะเห็นว่าพันธุ์ไม้ทั้ง ๕ ชนิดที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับประเคนเป็นยาสมุนไพรนั้น พืชทั้งหมดเป็นต้นไม้ที่สามารถนำมาเก็บไว้ใช้ได้ตลอดเวลา

หากเรานำความรู้ครั้งพุทธกาลมาต่อยอดและช่วยกันปลูกสมุนไพรเหล่านี้ทุกที่ ก็เป็นการส่งเสริมการพึ่งตนเองได้ด้วย 


ที่มา : คอลัมน์ สุมนไพรเพื่อสุขภาพ "น้ำฝาด โอสถครั้งพุทธกาล (จบ)" หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๒๓ ประจำวันที่ ๒๓-๒๙ มิ.ย.๒๕๖๐

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 สิงหาคม 2560 15:36:49 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 01 สิงหาคม 2560 17:03:07 »




ผลไม้ที่เป็นยา ในเทศกาลเข้าพรรษา

ตลอด ๓ เดือนต่อจากนี้ชาวพุทธถือว่าเป็นช่วงถือศีลสำรวมกายวาจาใจให้มั่นตลอดเข้าพรรษา จึงขอกล่าวถึงเนื้อความตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๕ หน้า ๔๗ กล่าวไว้ว่า

สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ต้องการผลไม้ที่เป็นยา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นยา คือ ลูกพิลังคะ ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลโกฐ หรือผลไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็นภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”

บันทึกนี้บอกเราว่า อย่างน้อยๆ มีผลไม้ ๗ ชนิด ที่ใช้เป็นยาประจำตัวในหมู่ภิกษุและภิกษุณีในสมัยพุทธกาลและน่าสืบต่อมาด้วย  เมื่อใช้ความรู้ในยุคปัจจุบันมาพิจารณาถือว่า ผลไม้ยาเหล่านี้เป็นยาสมุนไพรที่ดีมาก  ขอแนะนำดังนี้

ลูกพิลังคะ มีรายงานว่าลูกพิลังคะ หมายถึงลูกพิลังกาสา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ardisia polycephala Wall.ex A.DC.

ผลสุกนำมาตากแห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นลูกกลอนกิน หรือใช้ผงยา ๑ ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำครึ่งแก้วดื่ม สรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต ช่วยแก้ธาตุพิการ เป็นยาแก้ไข้

อย่างไรก็ตาม ให้เป็นความรู้ไว้ว่า มีสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกันกับพิลังกาสา และมีการใช้ประโยชน์ทางยาเหมือนกันคือ ต้นรามใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ardisia elliptica Thumb.

ผลมีรสร้อน ฝาด สุขุม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ซาง แก้ตานขโมย  เป็นยาแก้ไข แก้ท้องเสีย

ดีปลี ชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Long pepper, Indian long pepper, Javanese long pepper ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper retrofractum Vahl มีการใช้ประโยชน์ทางยาได้เกือบทุกส่วนของต้น

แต่ส่วนที่นำมาใช้มากที่สุด คือส่วนของผล (บางคนคิดว่าเป็นดอกเพราะรูปทรงยาวรีๆ)

ผลดีปลีมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ด ขม ปร่า สรรพคุณช่วยขับน้ำลายและทำให้ลิ้นชาได้   ผลแก่จัดช่วยบำรุงธาตุไฟ แก้ธาตุไฟหย่อนหรือพิการ ช่วยรักษาอาการกำเริบของธาตุน้ำและธาตุลม ช่วยแก้ลมวิงเวียน  ใช้เป็นยาระงับแก้อาการนอนไม่หลับ แก้อาหารหืด ไอ ช่วยแก้อุระเสมหะหรือเสมหะในทรวงอก แก้อาการท้องขึ้น แก้ตับพิการ ช่วยแก้เส้นแก้พิษอัมพฤกษ์ อัมพาต   ผลนำมาฝนเอาน้ำมาทาแก้อาการฟกช้ำบวมได้

จากข้อมูลสรรพคุณในตำรายาดั้งเดิมบวกกับการใช้ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าผลของดีปลีเป็นยาที่ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก

พริก เป็นพืชในวงศ์ Solanaceae สกุล Capsicum ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ถึง ๒๐-๒๗ ชนิด แต่รายงานว่ามีอยู่ ๓ ชนิด ที่นำมาเป็นสายพันธุ์ปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ คือ
๑) พริกที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง มีรสเผ็ด เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capsicum annuum L.
๒) Capsicum chinense Jacq. มีชื่อในภาษาไทยว่า พริกน้อย
๓) Capsicum pubescensRuiz & Pav. พริกชนิดนี้มีการกระจายตัวในทวีปอเมริกาตอนกลางและตอนใต้ ไม่พบรายงานว่ามีในประเทศไทย หรือใครแอบเอามาเพาะพันธุ์ก็ไม่อาจทราบได้

การใช้ประโยชน์จากพริกนั้น มักใช้ผลพริกเป็นยาสมุนไพร มีสรรพคุณหลากหลาย เช่น กระตุ้นให้เจริญอาหาร ช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ช่วยขับเหงื่อลดอาการไข้แบบไข้หนาวๆ หรือแก้ไข้หวัดได้ ลดน้ำมูก และลดเสมหะ ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร  ช่วยป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ในบริเวณจมูก ลำคอ ปอด เยื่อบุผนังช่องปาก

พริกยังเป็นยาสมุนไพรทั้งในวัฒนธรรมการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย และวัฒนธรรมการแพทย์จีนมีการใช้พริกเพื่อบำรุงพลังหยางด้วย

สมอไทย มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Chebulic Myrobalans หรือ Myrolan Wood มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Terminalia chebula Regt.  สมอไทยนี้มีการถกกันถึงลักษณะผล เนื่องจากมีความผันแปรงทางพันธุกรรมทำให้สมอไทยมีผลที่มีรูปร่างต่างกันออกไป เช่น มีผลออกไปทางกลมก็มี มีผลเป็นเหลี่ยม ๕ เหลี่ยมบ้าง ๗ เหลี่ยมบ้าง หรือ ๙ เหลี่ยมบ้างก็มี

ผลที่มีรูปร่างแตกต่างกันมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ถ้าไปดูในตำราโบราณกล่าวไว้ เช่น ที่มีผลห้าเหลี่ยมเรียกสมอ มุตตะกี ผลหกเหลี่ยมเรียก อัพยา และที่มีผลเจ็ดเหลี่ยมเรียก วิลันดา เป็นต้น

ในสรรพคุณยาไทยยังมีการใช้เป็นยาที่แตกต่างกันด้วย เช่น รสชาติของผลที่มีรสเค็มช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่ง ช่วยระงับประสาท ทำให้นอนหลับสบาย ช่วยแก้ประดงน้ำเหลืองเสีย ช่วยแก้พิษฝี แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย

ผลที่มีรสหวานช่วยบำรุงกำลัง ผลที่มีรสเปรี้ยวช่วยฟอกโลหิต แก้กระหาย ช่วยแก้อาการไอ ช่วยกัดเสมหะ รักษาโรคท้องผูกและอาการท้องผูกเรื้อรัง

ผลที่มีรสฝาดช่วยสมานแผลในช่องปาก แก้อาการท้องเสีย สมานแผลในกระเพาะลำไส้ ผลที่มีรสขมช่วยแก้ไข้ ช่วยย่อยอาหาร ถอนพิษผิดสำแดง ผลรสฝาดผสมเปรี้ยวแก้อาการหืด ไอ แก้อาการสะอึก แก้อาเจียน แก้ตับม้ามโต เป็นต้น

ผลไม้ยาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตนั้น ยังไม่จบติดตามตอนต่อไป แต่เพียงแค่ ๔ ชนิดที่เล่าไว้ก็เห็นได้ว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบต่อมาถึงยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ก็ยังเป็นผลไม้ยาที่ช่วยบำบัดอาการโรคภัยไข้เจ็บฟื้นฐานของมนุษย์ทุกยุคมาตลอด  


ที่มา : คอลัมน์ สุมนไพรเพื่อสุขภาพ "ผลไม้ที่เป็นยา ในเทศกาลเข้าพรรษา" หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๒๖ ประจำวันที่ ๑๔-๒๐ ก.ค.๒๕๖๐

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 08 สิงหาคม 2560 15:53:48 »




ผลไม้ที่เป็นยา (๒)

ทวนความสั้นๆ ในฉบับที่ผ่านมากล่าวถึงพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม ๕ หน้า ๔๗ ไว้ว่า  สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ต้องการผลไม้ที่เป็นยา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นยา คือ ลูกพิลังคะ ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม ผลโกฐ หรือผลไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็นภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ”

ในบันทึกกล่าวชื่อผลไม้ยาไว้อย่างน้อย ๗ ชนิด ที่ถือว่าเป็นยาสมุนไพรให้ภิกษุและภิกษุณีในสมัยพุทธกาลเก็บไว้ใช้ ไม่น่าเชื่อว่าตัวยาเหล่านี้มีการใช้สืบต่อมาถึงยุคปัจจุบัน และยอมรับกว้างขวางทั่วโลก

ในการเขียนครั้งที่แล้วได้กล่าวถึง ๔ ชนิด จึงเหลือ สมอพิเภก มะขามป้อม ผลโกฐ มาเล่าสู่กันฟังวันนี้

สมอพิเภก มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษ Beleric Myrobalan. Ink Not, Bahera, Beleric มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Terminalia bellirica (Gaertn.) Roxb.

ต้นสมอพิเภกนี้มักใช้ส่วนของผลมาทำยาหรือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ สรรพคุณกล่าวว่า ผลแก่ (ทั้งสดและแห้ง) มีรสฝาด  สรรพคุณที่ได้รับการยอมรับอย่างมากคือ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยแก้ธาตุกำเริบ ผลแห้งก็ใช้เป็นยาบำรุงร่างกายได้ และช่วยรักษาอาการไอ ช่วยแก้อาการเจ็บคอ เสียงแห้ง และถ้าใช้ผลอ่อนมีรสเปรี้ยวใช้แก้ไขได้ด้วย

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษและอาจเป็นสรรพคุณที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเล็งเห็น เพื่อให้ภิกษุทั้งหลายไม่สบายบ่อยๆ ก็คือ ถ้าใช้ผลอ่อนเป็นยาระบายช่วยขับถ่าย ให้นำมา ๑-๒ ลูก ต้มกับน้ำ ๑-๒ ถ้วย แต่งเกลือเล็กน้อย กินช่วยขับถ่าย แต่พอมาใช้ผลแก่ กลับเป็นยาช่วยแก้ท้องร่วง ท้องเดิน วิธีเหมือนกัน ใช้ผลแก่ ๑-๓ ลูก ต้มกับน้ำ ๑-๒ ถ้วย ใส่เกลือเล็กน้อย กินแก้ท้องเสียได้

เพื่อนบ้านในเอเชียก็ใช้สมอพิเภกคล้ายๆ กัน เช่น ประเทศแถบอินโดจีนใช้ผลแห้งเป็นยาฝาดสมานแก้อาการเจ็บคอ เสียงแห้ง ผลสุกช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น

มะขามป้อม มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Indian gooseberry  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus emblica L.

มะขามป้อมเป็นสมุนไพรยอดนิยมและยอมรับในสรรพคุณทางอาหารและยาไปทั่วโลกอีกเช่นกัน ในประเทศอินเดียนั้นชาวอินเดียเรียกสมุนไพรหรือผลไม้ชนิดนี้ว่า Amlaka แปลได้ว่า “พยาบาล” ย่อมแสดงให้เห็นว่าผลไม้นี้มีประโยชน์ทางยานานัปการ คล้ายกับพยาบาลให้กับมนุษย์ทุกคน

หากใครได้กินผลมะขามป้อมจะพบว่ามีด้วยกันหลายรสคือ รสเปรี้ยว ฝาด ขม (แบบชุ่มๆ) และมีความมันด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลไม้ยาที่ให้ “รสยา” ในการออกฤทธิ์ได้ครบเครื่อง

สรรพคุณที่มักกล่าวถึงคือ บำรุงร่างกาย บำรุงปอด บำรุงเนื้อหนัง บำรุงหัวใจ แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้พิษ แก้หวัดเป็นไข้ตัวร้อน แก้เลือดออกตามไรฟัน กัดเสมหะ บำรุงเสียง แก้ท้องผูก

และในการศึกษาวิจัยสมัยใหม่ก็พบว่า มะขามป้อมมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก และพบว่ามะขามป้อมลูกเล็ก มีวิตามินซีสูงกว่าส้ม ๑-๒ ลูกเลย และยังมีผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ใช้มะขามป้อมมาเป็นส่วนประกอบด้วย

ผลโกฐ คำนี้บางที่ก็เขียนว่า โกศ บางที่ก็เขียน โกฐ  ถือว่าเป็นคำที่คุ้นเคยมากในหมู่หมอยาไทย เนื่องจากในตำรับยาต่างๆ ทั้งยาพื้นบ้านและในคัมภีร์ต่างๆ นั้น มักจะมีการนำโกฐ มาเป็นตัวยาในหลายตำรับ

อันที่จริง โกฐมีอยู่หลายชนิด และเป็นที่ถกเถียงกันว่าคำว่า ผลโกฐในที่นี้น่าจะหมายถึงผลของโกฐชนิดใด การอภิปรายผลนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ แต่เท่าที่ได้เคยสอบถามผู้รู้ท่านหนึ่งซึ่งเป็นหมอยาไทยแต่ได้ศึกษาลึกซึ้งในศาสตร์อายุรเวทของทางอินเดียได้อธิบายว่า โกศ น่าจะมาจากคำว่า”กุษฐะ” ในทางอายุรเวท เป็นพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saussurea lappa (Decne.) Sch.Bip. แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็น Saussurea costus (Falc.) Lipsch.

หรือที่รู้จักกันในภาษาไทยว่า “บัวหิมะ” ซึ่งพืชชนิดนี้มีการใช้ประโยชน์ทางยาจากส่วนของรากเท่านั้น

จากหนังสือลัทธินักพรตและการเยียวยาในอินเดียโบราณ : ระบบการแพทย์ในพุทธอาราม กล่าวถึง “โคฐผละ” ซึ่งกล่าวอ้างว่าใช้เยียวยาโรคซีด (ปาณฑุโรคะ) และเมื่อค้นจากหนังสือ Plants in Ayurveda (A Compendium of Botanical and Sanskrit Name)

พบพืชที่มีชื่อในสันสกฤตว่า Kosaphala, Kosathaphala ซึ่งเทียบเป็นภาษาไทยได้ว่า “โกษะผละ หรือ โกษฐผละ” ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Luffa cylindrical (L.) M.Roem. มีชื่อในภาษาไทยว่า “บวบหอม” มีชื่อสามัญในภาษอังกฤษว่า Sponge gourd, Smooth loofah, Vegetable sponge, Gourd towel

บวบหอมมีฤทธิ์เย็น รสขม/หวาน สามารถระงับหรือทำให้ปิตตะสงบได้ จึงช่วยเยียวยาโรคซีดได้ จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าผลมีสรรพคุณทำให้เลือดเย็น ผลอ่อนเป็นยาลดไว้ แต่นี่อาจเป็นข้อมูลวิเคราะห์จากทางมูลนิธิสุขภาพไทยมุมหนึ่งเท่านั้น ยังต้องศึกษาแลกเปลี่ยนกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผลไม้ทั้ง ๗ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุเก็บไว้เป็นยาใช้ได้ตลอดชีพ เป็นผลไม้ที่หาได้ไม่ยาก ทุกบ้านควรมีไว้เป็นยาสามัญประจำบ้านได้เลย และช่วยกันส่งเสริมการปลูกให้ทั่ว เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

และต่อยอดเป็นเศรษฐกิจชุมชนได้ด้วย  


ที่มา : คอลัมน์ สุมนไพรเพื่อสุขภาพ "ผลไม้เป็นยา (๒)" หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๑๐๒ ฉบับที่ ๑๙๒๗ ประจำวันที่ ๒๑-๒๗ ก.ค.๒๕๖๐
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
สมอไทย สมุนไพรในพระไตรปิฎก
สุขใจ อนามัย
Kimleng 5 9348 กระทู้ล่าสุด 12 พฤษภาคม 2555 15:07:59
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.534 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 20 มีนาคม 2567 05:24:47