[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
25 เมษายน 2567 16:55:24 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ภาษาคนภาษาธรรมในชาดก  (อ่าน 2154 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5461


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 31 พฤษภาคม 2560 14:27:03 »



ภาษาคนภาษาธรรมในชาดก

ในการตรัสธรรมะของพระพุทธองค์บางครั้งก็ตรัสเป็นภาษาคนหรือปุคคลาธิษฐาน เน้นเรื่องราวทางโลกหรือทางวัตถุเป็นรูปธรรมเห็นชัด บางครั้งก็ตรัสเป็นภาษาธรรมหรือธรรมาธิษฐาน ที่เป็นนามธรรมเหนือขึ้นจาก
โลกหรือวัตถุ บางครั้งท่านก็อุปมาเปรียบเทียบภาษาทั้ง ๒ ให้ฟังเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน

บางครั้งเราก็ต้องคิดตีความเอาเอง ยกตัวอย่างเช่น “พุทธ” ในภาษาคน หมายถึง พระพุทธเจ้า บุคคลในประวัติศาสตร์ผู้ซึ่งได้เผยแพร่พุทธศาสนาเมื่อ ๒๕๐๐ ปีก่อน และได้ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ส่วนความหมายระดับภาษาธรรม หมายถึง หลักธรรม ตามนัยยะเดียวกับที่ปรากฏในพุทธวจนะว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ที่ไม่เห็นธรรมะนั้น แม้จะจับจีวรของตถาคตอยู่ ก็ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคตเลย” หรือเช่น การเปรียบเทียบบุคคลในโลกกับดอกบัว ๔ เหล่า เป็นต้น

เมื่อพูดถึงคน เราแบ่งตามภาษาธรรมได้ดังนี้
๑. มนุสสมนุสโส คนผู้มีใจสูง คือ สูงด้วยมนุษยธรรม มีศีล ๕ รู้ว่าอะไรเป็นบุญบาป รู้อะไรควรไม่ควร
๒. มนุสสนิรยโก คนนรก คือ คนที่มีทุกข์ร้อนรุ่ม ถูกเผารนอยู่เสมอด้วยไฟโทสะ ทุกข์กระวนกระวาย เพราะถูกไฟกิเลสและบาปทุจริตแผดเผา
๓. มนุสสเปโต คนที่มีจิตใจเหมือนเปรตคือ โลภอยากได้ หิวกระหาย ทะเยอทะยานดิ้นรน ต้องการอยู่เสมอ ไม่รู้อิ่มไม่รู้พอ
๔. มนุสสอสุรกาโย คนที่มีความขี้ขลาดขี้กลัว กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว กลัวอย่างไม่มีเหตุผล ไม่กล้าหาญในจริยธรรม คุณความดี
๕. มนุสสติรัจฉาโน คนที่มีจิตใจต่ำเหมือนสัตว์เดียรัจฉาน เต็มไปด้วยโมหะโง่เขลามัวเมางมงาย ไม่มีปัญญารู้อะไรดีอะไรชั่ว ไม่รู้บุญบาป เอาแต่กิน นอน สืบพันธุ์ เท่านั้น
๖. มนุสสเทโว คนที่มีจิตใจสูงเหมือนเทวดา คือ มีศีล มีหิริโอตตัปปะ ละอายเกรงกลัวบาปอันเป็นเทวธรรม มีความประพฤติสะอาด รื่นเริงบันเทิงอยู่
๗. มนุสสพรหมา คนที่มีพรหมวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
๘. มนุสสอริโย คนผู้ประเสริฐเป็นพระอริยะแล้ว คือผู้ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ จนบรรลุธรรม มีโสดาบันเป็นต้น

จะเห็นว่าภาษาคนก็เรียกว่าคนเหมือนกันหมด แต่ภาษาชาวบ้านก็พอรู้ความหมายในเชิงเปรียบเทียบธรรมะอยู่ จึงด่าว่า ไอ้เปรตบ้าง ไอ้สัตว์บ้าง ไอ้สัตว์นรกบ้าง หรือชมว่าคนนี้ใจงามดังเทพ เป็นต้น

เตลปัตตชาดก ว่าด้วยการรักษาจิต
ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดา ทรงปรารภชนบทกัลยาณีสูตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเสมือนว่าหมู่มหาชน ได้ยินว่า นางงามในชนบทผู้งามเยี่ยม ถึงพร้อมด้วยความงามและปราศจากโทษแหง่ สรรี ะ เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างยอดเยี่ยมในการฟ้อนอย่างอ่อนช้อย ในการขับกล่อมได้อย่างไพเราะ หมู่มหาชนย่อมประชุมกันอย่างแออัดที่นั้น ครั้นเมื่อนางงามฟ้อนรำอยู่ท่ามกลางมหาชน ฝูงชนต่างเปล่งเสียงเชียร์ว่า สวยงามแท้หนอ ทั้งเสียงดีดนิ้วและโบกผ้าอย่างสนั่นหวั่นไหว

พระราชาทรงทราบพฤติกรรมนั้น รับสั่งให้เรียกนักโทษคนหนึ่งออกมาจากเรือนจำถอดขื่อคาออกเสีย ประทานโถน้ำมันมีน้ำมันเต็มเปี่ยมเสมอขอบไว้ในมือของเขา ให้ถือไว้มั่นด้วยมือทั้งสอง ทรงสั่งบังคับบุรุษ ผู้ถือดาบคนหนึ่งว่า จงพานักโทษผู้นี้ไปสู่สถานมหรสพของนางงามในชนบท จ้องเดินตามไปข้างหลัง และถ้าบุรุษผู้นี้ถึงความประมาทเทหยดน้ำมันแม้หยดเดียวลงในที่ใดแล จงตัดศีรษะเขาเสียในที่นั้นทีเดียว บุรุษนั้นเงื้อดาบตะคอกเขาพาไป ณ ที่นั้น เขาอันมรณภัยคุกคามแล้ว ไม่ใส่ใจถึงนางด้วยสามารถแห่งความประมาทเลย ไม่ลืมตาดูนางชนบทกัลยาณีนั้น แม้ครั้งเดียว เพราะต้องการจะอยู่รอด  แล้วทรงอุปมาสอนภิกษุว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โถนํ้ามันเต็มเปี่ยมเสมอขอบ เป็นชื่อของสติอันเป็นไปในกายแล.

พวกเธอพึงศึกษาในข้อนี้อย่างนี้ว่า สติไปแล้วในกาย จักเป็นข้อที่พวกเราทั้งหลายจักต้องทำให้มี ให้เป็นจงได้ เริ่มแล้วด้วยดีให้จงได้ ก็ในเรื่องนี้ กรรมพึงเห็นดุจพระราชา กิเลสดุจดาบ มารดุจคนเงื้อดาบ พระโยคาวจรผู้เพ่งเจริญกายคตาสติดุจคนถือโถน้ำมัน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำพระสูตรนี้มาทรงแสดงว่า อันภิกษุผู้มุ่งเจริญกายคตาสติต้องไม่ปล่อยสติ เป็นผู้ไม่ประมาท เจริญกายคตาสติ เหมือนคนถือโถนํ้ามันนั้น ด้วยประการฉะนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ครั้นฟังพระสูตรนี้ และอรรถาธิบายแล้ว พากันกราบทูลอย่างนี้ว่า การที่บุรุษนั้นไม่มองดูนางชนบทกัลยาณีผู้งามหยดย้อย ประคองโถน้ำมันเดินไป กระทำแล้ว เป็นการกระทำได้ยาก

พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายการที่บุรุษนั้นกระทำแล้ว มิใช่เป็นการที่กระทำได้ยาก นั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายโดยแท้ เพราะเหตุไร? เพราะเหตุมีคนเงื้อดาบคอยขู่ตะคอกสะกดไป แต่การที่บัณฑิตทั้งหลายในครั้งก่อนไม่ปล่อยสติ ไม่ทำลายอินทรีย์ ไม่มองดูแม้ซึ่งรูปทิพย์ที่จำแลงไว้เสียเลย เดินไปจนได้ครองราชสมบัตินั่นต่างหาก ที่กระทำได้โดยยาก.

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนาให้เล่าอดีตนิทานแล้ว ดังนี้ (การอ่านชาดกเป็นภาษาคน ได้ความเพลิดเพลิน ได้ธรรมะข้อคิดระดับหนึ่ง แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปอีกชั้นถึงขั้นภาษาธรรม ก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น ผู้อ่านลองหัดวิเคราะห์ปริศนาธรรมจากภาษาคนดู แล้วค่อยดูเฉลยตอนท้ายว่า คิดตรงกันมั้ย)

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพระโอรสองค์เล็กที่สุดของพระโอรส ๑๐๐ องค์ แห่งพระราชานั้น ทรงบรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาโดยลำดับ และในครั้งนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าหลายพระองค์ฉันในพระราชวัง พระโพธิสัตว์ทรงกระทำหน้าที่ไวยาวัจกรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น วันหนึ่ง ทรงพระดำริว่า พี่ชายของเรามีมาก เราจักได้ราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ในพระนครนี้ หรือไม่หนอ ครั้นแล้วพระองค์ได้มีปริวิตกว่า ต้องถามพระปัจเจกพุทธเจ้าดูจึงจะรู้แน่ ในวันที่ ๒ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมากันแล้ว ท่านถือเอาธรรมกรกมากรองน้ำสำหรับล้างเท้า ทาน้ำมัน ในเวลาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นฉันของเคี้ยวในระหว่าง จึงบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง มีพระดำรัสถามความนั้น ทีนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นได้บอกกะท่านว่า ดูก่อนกุมาร พระองค์จักไม่ได้ราชสมบัติในพระนครนี้ แต่จากพระนครนี้ไปในที่สุด ๑๒๐ โยชน์ ในคันธารรัฐ มีพระนครชื่อว่า ตักกสิลา เธออาจจะไปในพระนครนั้นจักต้องได้ราชสมบัติ ในวันที่ ๗ นับจากวันนี้ แต่ในระหว่างทาง ในดงดิบใหญ่มีอันตรายอยู่เมื่อจะอ้อมดงนั้นไป จะเป็นทางไกลถึง ๑๒๐ โยชน์ เมื่อไปตรงก็เป็นทาง ๕๐ โยชน์ ข้อสำคัญทางนั้นชื่อว่า อมนุสสกันดาร ในย่านนั้น ฝูงยักษิณีพากันเนรมิตบ้านและศาลาไว้ในระหว่างทาง ตกแต่งที่นอนอันมีค่า บนเพดานแพรวพราวไปด้วยดาวทอง แวดวงม่านอันย้อมด้วยสีต่างๆ ตกแต่งอัตภาพด้วยอลังการอันเป็นทิพย์ พากันนั่งในศาลาทั้งหลายหน่วงเหนี่ยวเหล่าบุรุษผู้เดินทางไปด้วยถ้อยคำอ่อนหวาน พากันเชื้อเชิญว่า ท่านทั้งหลาย ปรากฏดุจดังคนเหน็ดเหนื่อย เชิญมานั่งบนศาลานี้ ดื่มเครื่องดื่มแล้วค่อยไปเถิด แล้วให้ที่นั่งแก่ผู้ที่มา พากันเล้าโลม ด้วยท่าทีอันเย้ายวนของตน ทำให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลสจนได้ เมื่อได้ทำอัชฌาจารร่วมกับตนแล้ว ก็พากันเคี้ยวกินพวกนั้นเสียในที่นั้นเอง ทำให้ถึงสิ้นชีวิต ทั้งๆ ที่โลหิตยังหลั่งไหลอยู่ พวกนางยักษิณีจะคอยจับสัตว์ผู้มีรูปเป็นอารมณ์ด้วยรูปนั่นแหละ ผู้มีเสียงเป็นอารมณ์ด้วยเสียงขับร้องบรรเลงอันหวานเจื้อยแจ้ว ผู้มีกลิ่นเป็นอารมณ์ด้วยกลิ่นทิพย์ ผู้มีรสเป็นอารมณ์ด้วยโภชนะอันมีรสเลิศต่างๆ ดุจรสทิพย์ ผู้มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ด้วยที่นอนดุจที่นอนทิพย์ เป็นเครื่องลาดมีสีแดงทั้งสองข้าง ถ้าพระองค์จักไม่ทำลายอินทรีย์ทั้ง ๕ แลดูพวกมันเลย คุมสติมั่นคงไว้เดินไป จักได้ราชสมบัติในพระนครนั้นในวันที่ ๗ แน่ พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เรื่องนั้นจงยกไว้ ข้าพเจ้ารับโอวาทของพระคุณเจ้าทั้งหลายแล้ว จักแลดูพวกมันทำไม? ดังนี้แล้ว ขอให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทำพระปริต รับทรายเสกด้วยพระปริต และด้ายเสกด้วยพระปริต บังคมลาพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระราชมารดาพระราชบิดา เสด็จไปสู่พระราชวัง ตรัสกะคนของพระองค์ว่า เราจักไปครองราชสมบัติในพระนครตักกสิลา พวกเจ้าจงอยู่กันที่นี่เถิด  

ครั้งนั้น คนทั้ง ๕ กราบทูลพระโพธิสัตว์ว่าแม้พวกข้าพระองค์ก็จักตามเสด็จไป ตรัสว่าพวกเจ้าไม่อาจตามเราไปได้ดอก ได้ยินว่า ในระหว่างทาง พวกยักษิณีคอยเล้าโลมพวกมนุษย์ผู้มีรูปเป็นต้น เป็นอารมณ์ด้วยกามารมณ์มีรูปเป็นต้นหลายอย่างต่างกระบวนแล้วจับกินเป็นอาหาร อันตรายมีอยู่อย่างใหญ่หลวง เราเตรียมตัวไว้แล้วจึงไปได้ พระราชบุรุษกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อพวกข้าพระบาทนั้นตามเสด็จไปกับพระองค์ จักแลดูรูปเป็นต้นที่น่ารักเพื่อตนทำไม แม้พวกข้าพระบาท ก็จักไปในที่นั้นได้เหมือนกัน พระโพธิสัตว์ตรัสว่าถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิดแล้วพาพวกคนทั้ง ๕ เหล่านั้นเสด็จไป ฝูงยักษิณีพากันเนรมิตบ้านเป็นต้น นั่งคอยอยู่แล้ว ในคนเหล่านั้น คนที่ชอบรูปแลดูยักษิณีเหล่านั้นแล้ว มีจิตผูกพันในรูปารมณ์ชักจะล้าหลังลงหน่อยหนึ่ง พระโพธิสัตว์ก็ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ทำไมจึงเดินล้าหลังลงไปเล่า? กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เท้าของข้าพระบาทเจ็บ ขอนั่งพักในศาลาสักหน่อย แล้วจักตามมา พระเจ้าข้า ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ นั่นมันฝูงยักษิณี เจ้าอย่าไปปรารถนามันเลย กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ จะเป็นอย่างไรก็เป็นเถิด ข้าพระบาททนไม่ไหวตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจักรู้เอง ทรงพาอีก ๔ คนเดินทางต่อไป คนที่ชอบดูรูปได้ไปสำนักของพวกมัน เมื่อได้ทำอัชฌาจารกับตนแล้วพวกมันก็ทำให้เขาสิ้นชีวิตในที่นั้นเอง แล้วไปดักข้างหน้า เนรมิตศาลาหลังอื่นไว้ นั่งถือดนตรีต่างๆ ขับร้องอยู่ในคนเหล่านั้น คนที่ชอบเสียงก็ชักล้าหลัง พวกมันก็พากันกินคนนั้นเสีย แล้วพากันไปดักข้างหน้า จัดโภชนะดุจของทิพย์ มีรสเลิศนานาชนิดไว้เต็มภาชนะ นั่งเปิดร้านขายข้าวแกง ถึงตรงนั้น คนที่ชอบรสก็ชักล้าลง พวกมันพากันกินคนนั้นเสียแล้วไปดักข้างหน้า ตกแต่งที่นอนดุจที่นอนทิพย์ นั่งคอยแล้ว ถึงตรงนั้น คนที่ชอบโผฏฐัพพะ ก็ชักล้าลง พวกมันก็พากันกินเขาเสียอีก เหลือแต่พระโพธิสัตว์พระองค์เดียวเท่านั้น

ครั้งนั้น นางยักษิณีตนหนึ่งคิดว่า มนุษย์คนนี้มีมนต์ขลังนัก เราจักกินให้ได้แล้วถึงจะกลับแล้วเดินตามหลังพระโพธิสัตว์ไปเรื่อยๆ ถึงปากดงฟากโน้น พวกที่ทำงานในป่าเป็นต้นก็ถามนางยักษิณีว่า ชายคนที่เดินไปข้างหน้า  นางนี้เป็นอะไรกัน? ตอบว่า เป็นสามีหนุ่มของดิฉันเจ้าค่ะ พวกคนเหล่านั้นจึงกล่าวว่า พ่อมหาจำเริญ กุมาริกานี้อ่อนแอถึงอย่างนี้น่าถนอมเหมือนพวงดอกไม้ ผิวก็งามเหมือนทอง ทอดทิ้งตระกูลของตนออกมา เพราะรักคิดถึงพ่อมหาจำเริญ จึงยอมติดตามมา พ่อมหาจำเริญ เหตุไร จึงปล่อยให้นางลำบาก ไม่จูงนางไปเล่า? พระโพธิสัตว์ตรัสว่า พ่อคุณทั้งหลายนั่นไม่ใช่เมียของเราดอก นั่นมันยักษิณี คนของเรา ๕ คน ถูกมันกินไปหมดแล้ว ยักษิณีกล่าวว่า พ่อเจ้าประคุณทั้งหลาย ธรรมดาผู้ชายในยามโกรธ ก็กระทำเมียของตนให้เป็นนางยักษ์ก็ได้ ให้เป็นนางเปรตก็ได้ นางยักษิณีเดินตามมา แสดงเพศของหญิงมีครรภ์แล้วทำให้เป็นหญิงคลอดแล้วครั้งหนึ่ง อุ้มบุตรใส่สะเอวเดินตามพระโพธิสัตว์ไป คนที่เห็นแล้วๆ ก็พากันถามตามนัยก่อนทั้งนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็ตรัสอย่างนั้นตลอดทาง จนถึงพระนครตักกสิลา มันทำให้ลูกหายไป ติดตามไปแต่คนเดียว พระโพธิสัตว์เสด็จถึงพระนครแล้ว ประทับนั่ง ณ ศาลาหลังหนึ่ง แม้ว่านางยักษิณีนั้นเล่า ไม่อาจเข้าไปได้ด้วยเดชของพระโพธิสัตว์ ก็เนรมิตรูปเป็นนางฟ้า ยืนอยู่ที่ประตูศาลา

สมัยนั้น พระราชากำลังเสด็จออกจากพระนครตักกสิลาไปสู่พระอุทยาน ทรงมีจิตปฏิพัทธ์ ตรัสใช้ราชบุรุษว่า ไปถามซิ นางคนนี้มีสามีแล้วหรือยังไม่มี? พวกราชบุรุษเข้าไปหานางยักษิณี ถามว่า เธอมีสามีแล้วหรือ? นางตอบว่า เจ้าค่ะ ผู้ที่นั่งอยู่บนศาลาคนนี้เป็นสามีของดิฉัน พระโพธิสัตว์ตรัสว่า นั่นไม่ใช่เมียของข้าพเจ้าดอก มันเป็นนางยักษิณี คนของข้าพเจ้า ๕ คน ถูกมันกินเสียแล้ว  ฝ่ายนางยักษิณีก็กล่าวว่า ท่านเจ้าค่ะ ธรรมดาผู้ชายในยามโกรธก็จะพูดเอาตามที่ใจตนปรารถนา ราชบุรุษนั้นก็กราบทูลคำของคนทั้งสองแด่พระราชา พระราชารับสั่งว่า ธรรมดาภัณฑะไม่มีเจ้าของย่อมตกเป็นของหลวง แล้วตรัสเรียกยักษิณีมาให้นั่งเหนือพระคชาธารร่วมกับพระองค์ทรงกระทำประทักษิณพระนครแล้วเสด็จขึ้นสู่ปราสาท ทรงสถาปนามันไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี เสด็จสรงสนานแต่งพระองค์เรียบร้อย เสวยพระกระยาหารในเวลาเย็นแล้วก็เสด็จขึ้นพระแท่นที่สิริไสยาสน์ นางยักษิณีนั้นเล่า กินอาหารที่ควรแก่ตนแล้ว ตกแต่งประดับประดาตน นอนร่วมกับพระราชา เหนือพระแท่นที่บรรทมอันมีสิริ เวลาที่พระราชาทรงเปี่ยมไปด้วยความสุขด้วยอำนาจความรื่นรมย์ ทรงบรรทมแล้ว ก็พลิกไปทางหนึ่ง ทำเป็นร้องไห้ ครั้นพระราชาตรัสถามมันว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เจ้าร้องไห้ทำไม? นางจึงทูลว่า ทูลกระหม่อมเพคะ กระหม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ทรงพบที่หนทางแล้วทรงพามา อนึ่งเล่า ในพระราชวังของพระองค์ ก็มีหญิงอยู่เป็นอันมาก กระหม่อมฉัน เมื่ออยู่ในกลุ่มหญิงที่ร่วมบำเรอพระบาท เมื่อเกิดพูดกันขึ้นว่า ใครรู้จักมารดา บิดา โคตรหรือชาติของเธอเล่า เธอนะ พระราชาพบในระหว่างทาง แล้วทรงนำมา ดังนี้ จะเหมือนถูกจับศีรษะบีบ ต้องเก้อเขินเป็นแน่ ถ้าพระองค์พระราชทานความเป็นใหญ่ และการบังคับในแว่นแคว้นทั้งสิ้นแก่หม่อมฉัน ใครๆ ก็จักไม่อาจกำเริบจิตกล่าวแก่หม่อมฉันได้เลย ทรงรับสั่งว่า นางผู้เจริญ ชาวแว่นแคว้นทั้งสิ้นมิได้เป็นสมบัติบางส่วนของฉัน ฉันไม่ได้เป็นเจ้าของของพวกนั้น แต่ชนเหล่าใดละเมิดพระราชกำหนดกฎหมาย กระทำสิ่งที่ไม่ควรทำา เราเป็นเจ้าของคนพวกนั้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่อาจให้ความเป็นใหญ่ และการบังคับในแว่นแคว้นทั้งสิ้นแก่เธอได้นางกราบทูลว่า ทูลกระหม่อมเพคะ ถ้าพระองค์ไม่สามารถจะพระราชทานการบังคับในแว่นแคว้น หรือในพระนคร ก็ขอได้โปรดพระราชทานอำนาจ เหนือปวงชนผู้รับใช้ข้างใน ภายในพระราชวัง เพื่อให้เป็นไปในอำนาจของหม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า

พระราชาทรงติดพระทัยโผฏฐัพพะดุจทิพย์เสียแล้ว ไม่สามารถจะละเลยถ้อยคำของนางได้ ตรัสว่า ตกลงนางผู้เจริญ เราขอมอบอำนาจในหมู่ชนผู้รับใช้ภายในแก่เธอ เธอจงควบคุมคนเหล่านั้นให้เป็นไปในอำนาจของตนเถิด นางยักษิณีรับคำว่า ดีแล้ว ระเจ้าข้า พอพระราชาบรรทมหลับสนิท ก็ไปเมืองยักษ์ชวนพวกยักษ์มายังพระราชาของตนให้ถึงชีพิตักษัย เคี้ยวกินหนังเนื้อและเลือดจนหมดเหลือไว้แต่เพียงกระดูก พวกยักษ์ที่เหลือก็พากันเคี้ยวกินคนและสัตว์ ตั้งต้นแต่ไก่และสุนัขภายในวังตั้งแต่ประตูใหญ่จนหมด เหลือไว้แต่กระดูก รุ่งเช้าพวกคนทั้งหลายเห็นประตูวังยังปิดไว้ตามเดิม ก็พากันพังบานประตูด้วยขวานแล้วชวนกันเข้าไปภายใน เห็นพระราชวังทุกแห่งหนเกลื่อนกล่นไปด้วยกระดูก จึงพูดกันว่า บุรุษคนนั้นพูดไว้เป็นความจริงหนอว่านางนี้มิใช่เมียของเรา มันเป็นยักษิณี แต่พระราชาไม่ทรงทราบอะไร ทรงพามันมาแต่งตั้งให้เป็นมเหสีของพระองค์ พอค่ำมันก็ชวนพวกยักษ์มากินคนเสียหมดแล้วไปเสีย เป็นแน่  ในวันนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็ทรงใส่ทรายเสกพระปริตที่ศีรษะ วงด้ายเสกพระปริต ทรงถือพระขรรค์ ประทับยืนอยู่ในศาลานั้นจนรุ่งอรุณ พวกมนุษย์พากันทำความสะอาดพระราชนิเวศน์ทั้งสิ้น ฉาบสีเหลือง ประพรมข้างบนด้วยของหอม โปรยดอกไม้ ห้อยพวงดอกไม้ อบควัน ผูกพวงดอกไม้ใหม่ แล้วปรึกษากันว่า เมื่อวานนี้ บุรุษนั้นไม่ได้กระทำแม้เพียงแต่จะทำลายอินทรีย์ มองดูยักษิณีอันจำแลงรูปดุจรูปทิพย์เดินมาข้างหลังเลย เขาเป็นสัตว์ประเสริฐยิ่งล้นหนักแน่น สมบูรณ์ด้วยญาณ เมื่อบุรุษเช่นนั้นปกครองแว่นแคว้นรัฐสีมามณฑลจักมีแต่สุขสันต์ พวกเราจงทำให้เขาเป็นพระราชาเถิด  

ครั้งนั้น พวกอำมาตย์และชาวเมืองทุกคนร่วมกันเป็นเอกฉันท์ เข้าไปเฝ้าพระโพธิสัตว์ กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เชิญพระองค์ทรงครองราชสมบัตินี้เถิด พระเจ้าข้า เชิญเสด็จเข้าสู่พระนครแล้ว เชิญขึ้นประทับเหนือกองแก้ว อภิเษก กระทำให้เป็นพระราชาแห่งตักกสิลานคร ท้าวเธอทรงเว้นการลุอคติ ๔ มิให้ราชธรรม ๑๐ กำเริบ ครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงบำเพ็ญบุญมีการให้ทานเป็นต้นแล้วเสด็จไปตามยถากรรม

พระศาสดาทรงเล่าเรื่องในอดีตนี้แล้วตรัสพระคาถานี้ความว่า
“ผู้ปรารถนาทิศที่ยังไม่เคยไป พึงรักษาจิตของตนไว้ด้วยสติ เหมือนคนประคองไปซึ่งโถนํ้ามัน อันเต็มเปี่ยมเสมอขอบ มิได้มีส่วนพร่องเลย” ดังนี้ เพราะเหตุว่า “การฝึกจิตที่ข่มได้ยาก ที่เป็นธรรมชาติเบา มักตกไปในอารมณ์ที่น่าปรารถนานี้ ยังประโยชน์ให้สำเร็จ จิตที่ฝึกแล้ว เป็นเหตุนำความสุขมาให้” เพราะฉะนั้น “ท่านผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตที่เห็นได้ยากแท้ ละเอียดลออ มักตกไปในอารมณ์ที่น่าปรารถนา จิตที่คุ้มครองไว้ได้แล้ว นำความสุขมาให้” ด้วยว่า “ชนเหล่าใดจักสำรวมจิตนี้ ซึ่งไปได้ไกล (ทูรงฺคมํ) เที่ยวไปโดดเดี่ยว (เอกจรํ) ไม่มีรูปร่าง (อสรีรํ) อาศัยถํ้า คือร่างกาย (คุหาสยํ) ไว้ได้ ชนเหล่านั้น จักพ้นจากบ่วงแห่งมารได้” ส่วนคนนอกนี้ คือ “ผู้ที่มีจิตไม่มั่นคง ไม่ทราบพระสัทธรรม มีความเลื่อมใสรวนเร ย่อมมีปัญญาบริบูรณ์ไม่ได้” ส่วนผู้ที่คุ้นเคยกับพระกรรมฐานมานาน “มีจิตอันราคะไม่รั่วรดแล้ว มีใจอันโทสะตามกำจัดไม่ได้ ละบุญและบาปเสียได้แล้ว เป็นผู้ตื่นอยู่ ย่อมไม่มีภัยเลย” เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาย่อมกระทำจิตอันดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษาได้ยาก ห้ามได้ยากให้ตรง เหมือนช่างศร ดัดลูกศร ฉะนั้น เมื่อพระโยคาวจรกระทำจิตให้ตรงอยู่อย่างนี้ ชื่อว่า ตามรักษาจิตของตน

อรรถกถาอธิบายว่า “ทิศที่ไม่เคยไป” คือพระนิพพาน เพราะว่า พระนิพพานนั้นย่อมปรากฏด้วยลักษณะเป็นต้นว่า ความสิ้นไป ความคลายกำหนัด เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า ทิศ ส่วนที่ตรัสว่าชื่อว่า ทิศที่ไม่เคยไป เพราะพาลปุถุชนไรๆ ในสงสารอันหาเบื้องต้นและเบื้องปลายไม่พบนี้ ไม่เคยไปกันเลยแม้แต่ความฝัน อันพระโยคาวจรผู้ปรารถนาทิศนั้น พึงกระทำความเพียรในกายคตาสติ พระบรมศาสดาทรงถือเอายอดแห่งเทศนาด้วยพระนิพพาน ด้วยประการฉะนี้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า ราชบริษัทในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัทในครั้งนี้ ส่วนพระราชกุมารผู้ครองราชสมบัติในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล

(เตลปัตตชาดก พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗, อรรถกถาแปลฉบับ มมร.ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๕๖ ข้อ ๙๖)

อธิบายปริศนาธรรม...
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับธรรมะหมวดสำคัญ คือ อปัณณกปฏิปทา ๓ (ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด, ปฏิปทาที่เป็นส่วนแก่นสารเนื้อแท้ซึ่งนำสู่ความเจริญงอกงามในธรรม เป็นแนวทางให้ปลอดพ้นทุกข์แน่นอนไม่ผิดพลาด)
๑. อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ ๖ เมื่อกระทบผัสสะรับรู้อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้น กายใจ มีสติระวังไม่ให้บาปอกุศลครอบงำใจ หรือเกิดความยินดียินร้าย
๒. โภชเนมัตตัญญุตา การรู้ประมาณในการบริโภค พิจารณาอาหารเพียงสักว่าธาตุ เพื่อเลี้ยงกายให้อยู่ได้เพื่อการปฏิบัติธรรม รู้ว่าอาหารอะไรควรไม่ควรกิน ไม่ใช่เพื่ออร่อยสนุกสนานมัวเมาหรืออิ่มเกินไป
๓. ชาคริยานุโยค มีความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ ขยันไม่เกียจคร้าน มีสติตื่นตัวไม่ซึมเซาง่วงเหงาหาวนอน พร้อมชำระจิตจากนิวรณ์

ยักษ์ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสหรือกามคุณ ๕ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ายินดี น่าพอใจ คืออัสสาทะรสอร่อยเสน่ห์ของกามคุณ

พระโพธิสัตว์ คือ บุคคลผู้แสวงหาโพธิญาณ

พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ พระศาสดาผู้ชี้แนะหนทางอริยสัจจ์

พระราชโอรส ๑๐๐ องค์ มีพระโพธิสัตว์แค่ ๑ เดียวที่สนใจถามพระปัจเจกพุทธเจ้า คือ ในหมู่คนร้อยมีแค่หนึ่งน้อยนัก จักแสวงหาโพธิญาณ นอกนั้นล้วนปรารถนาความสำเร็จทางโลก เป็นกษัตริย์ (สมมุติเทพ) ผู้เป็นใหญ่มีความสุขรื่นเริงบันเทิงอยู่ในกามคุณดุจสวรรค์

สวดพระปริต คือ เทศนาธรรม มีศีลสมาธิปัญญา อันมีสติสัมปชัญญะเป็นประธาน เป็นธรรมมีอุปการะมาก และมีความไม่ประมาทอันเป็นยอดแห่งธรรมเป็นมูลบาทฐาน

หนทางไปสู่เมืองตักกสิลา คือ มรรค มีองค์ ๘

เส้นทางลัดตรงได้รัชสมบัติใน ๗ วัน คือ ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ย่อมได้บรรลุธรรมอย่างเร็วสุด ๗ วัน

ทิศที่ไม่เคยไป คือ โลกุตตรทิศ

ความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเดินทางไปเป็นกษัตริย์ คือ อธิษฐานบารมี หรือปณิธานที่เด็ดเดี่ยวมั่นคงที่จะทำความมุ่งหมายให้สำเร็จ

บ้านเนรมิตหลังที่ ๑ คือ รูปารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ายินดี น่าพอใจ

บ้านเนรมิตหลังที่ ๒ คือ สัททารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ายินดี น่าพอใจ

บ้านเนรมิตหลังที่ ๓ คือ คันธารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ายินดี น่าพอใจ

บ้านเนรมิตหลังที่ ๔ คือ รสารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ายินดี น่าพอใจ

บ้านเนรมิตหลังที่ ๕ คือ โผฏฐัพพารมณ์ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ายินดีน่าพอใจ

ความตื่นตัวระมัดระวังไม่เหลียวแลยักษ์ ไม่หลงเสน่ห์ ไม่ร่วมเสพกามคุณ ไม่กินอาหารอร่อยๆ ที่ยักษ์เสนอ ไม่ร่วมหลับนอน คือ สติสัมปชัญญะในการสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ โภชเนมัตตัญญตา ชาคริยานุโยค (อปัณณกปฏิปทา ๓)

ชาวบ้านถามและคิดว่า ทำไมพระโพธิสัตว์จึงปล่อยให้กุมาริกาผู้อ่อนแอน่าถนอมน่ารักต้องลำบาก ไม่จูงนางไป คือ จิตฝ่ายอกุศลทั้งหลายโดยเฉพาะ กามสัญญา กามวิตก กามุปาทาน กามาสวะ ที่พยายามชักจูงเกลี้ยกล่อมจิตดีที่มุ่งมั่น ให้พอใจยินดี เห็นคุณของกาม ให้หลงเสน่ห์มารยาของวัตถุกาม แต่ไม่สามารถเปลี่ยนใจ ทำให้ใจอ่อนกับการยั่วยวนชวนเชิญหลอกล่อ เพราะจิตฝ่ายกุศลรู้ทันและเห็นโทษภัยในกาม (กามาทีนวะ)

ทรายเสกพระปริต คือ วิปัสสนา เพราะซัดทำร้ายยักษ์ได้

ด้ายเสกพระปริต คือ สมถะ เพราะล้อมป้องกันยักษ์ได้

ขรรค์ คือ มรรคปัญญาญาณ เพราะแทงยักษ์ให้ทะลุได้ ฟันให้ขาดได้

ยืนถือขรรค์ตื่นระวังทั้งคืน คือ ชาคริยานุโยค การทำความเพียร

ยักษ์ทูลขอให้กษัตริย์พระราชทานความเป็นใหญ่ และการบังคับในแว่นแคว้นทั้งสิ้น แต่กษัตริย์ตรัสว่า ชาวแว่นแคว้นมิได้เป็นสมบัติของเราทั้งหมด ชนใดละเมิดกฎหมาย ทำสิ่งที่ไม่สมควร เราเป็นเจ้าของคนพวกนั้นเท่านั้น จึงมอบอำนาจเหนือชนผู้รับใช้ภายในราชวังได้เท่านั้น กษัตริย์ คือ จิตที่มีโมหะย่อมเป็นใหญ่เหนือจิตบริวารที่ทำผิดบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย เช่น โลภะ มานะ โทษะ ริษยา ความตระหนี่ ความไม่มีหิริโอตตัปปะ แต่ไม่สามารถเป็นเจ้าของชนผู้สุจริต เช่น หิริโอตตัปปะ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาได้ กามคุณ ๕ จึงมีอำนาจเหนือกุศลสุจริต ธรรมเหล่านี้ไม่ได้ แต่มีอำนาจเหนือคนรับใช้ในวัง คือ จิตบริวารฝ่ายอกุศลทุจริตได้

ยักษ์กินกษัตริย์ชาววังสัตว์เลี้ยงจนตายหมด คือ กิเลสครอบงำผู้ยินดียอมอยู่ใต้อาณัติทั้งคนและสัตว์ หรือจิตที่ยินดีทั้งหลายให้ตกอยู่ในวัฏสงสาร

ยักษ์ คือ กามคุณ ๕ โดยเฉพาะที่เกิดจากเพศตรงข้ามอันเป็นสุดยอดแห่งกามคุณ ทำให้ตายหรือจมในกาลเวลาแห่งวัฏสงสารยืดยาวนาน

อำมาตย์และชาวเมืองทุกคนร่วมกันเป็นเอกฉันท์เข้าเฝ้าพระโพธิสัตว์ ทูลเชิญและอภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ คือ จิตดีทั้งหลายมีศีลสมาธิปัญญาหรือมรรคมีองค์ ๘ รวมกันเป็นมัคคสมังคี ทำให้จิตผู้แสวงหาโพธิญาณเข้าถึงผลญาณวิมุตติ ได้เป็นกษัตริย์ (วิสุทธิเทพ) มีอิสระเหนือชนทั้งหลาย คือ นิพพานมีอิสระเหนือกิเลสหรือจิตทั้งหลาย

(ในวลาหกัสสชาดก พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗, อรรถกถาแปลฉบับ มมร. ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๕๗ ข้อ ๒๔๑-๒๔๒ ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับยักษ์ และพระพุทธองค์ตรัสเปรียบเทียบเป็นกามคุณ ๕ ชัดเจนว่า “ภิกษุ ธรรมดาหญิงเหล่านี้ เล้าโลมชายด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และด้วยมารยาหญิง กระทำให้อยู่ในอำนาจของตน เขาเรียกว่า นางยักษิณี เพราะเล้าโลมชายด้วยกรีดกราย ครั้นรู้ว่าชายนั้นตกอยู่ในอำนาจ แล้วก็จะให้ถึงความพินาศแห่งศีล และความพินาศแห่งขนบประเพณี จริงอยู่ แม้แต่ก่อน พวกนางยักษิณีเข้าไปหาพวกผู้ชายหมู่หนึ่งด้วยมารยาหญิง แล้วเล้าโลมพวกพ่อค้า ทำให้อยู่ในอำนาจตน ครั้นเห็นชายอื่นอีก ก็ฆ่าพวกพ่อค้าเหล่านั้นหมดให้ถึงแก่ความตาย เคี้ยวกินหมุบๆ ทั้งมีเลือดไหลออกจากด้านคางทั้งสองข้าง” ผู้ใดสนใจจะอ่านเพื่อลองตีความเป็นภาษาธรรมก็หาอ่านได้)


ข้อมูล : วารสารโพธิยาลัย วัดจากแดง

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.669 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 29 มีนาคม 2567 19:51:34