[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 19:46:25 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปาราปริยเถระ พระเถระผู้เห็นความเสื่อมของบรรพชิต  (อ่าน 1732 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 06 มิถุนายน 2560 16:42:27 »



. ปาราปริยเถระ .
พระเถระผู้เห็นความเสื่อมของบรรพชิต
"ธีรปัญโญ"

ขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวอย่างในการสำรวมอินทรีย์จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ รายละเอียดของการสำรวมอินทรีย์ที่ท่านกล่าวไว้เป็นคาถาอย่างลึกซึ้งกินใจคงจะนำมาเล่าให้ฟังในวันหลัง แต่ในช่วงนี้เป็นช่วงที่พวกเราเพิ่งสูญเสียสมเด็จพระสังฆราชและจัดงานพระราชทานเพลิงไปใหม่ๆ อะไรๆ ก็ดูจะไม่แน่นอนอีกทั้งปัญหาคณะสงฆ์ก็รุมเร้า ยังไม่เห็นทางที่จะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ ในยามนี้ผู้เขียนชอบค้นหาข้อความในพระไตรปิฎกมาอ่านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ก็ได้ไปพบเถระคาถานี้เข้าซึ่งตรงกับใจพอดี เกิดความรู้สึกว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่มีเฉพาะในตอนนี้ แม้หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปได้ไม่นาน พระสงฆ์บางกลุ่มก็เริ่มเหินห่างจากความเป็นอริยะกลับไปใกล้ชิดกับลาภสักการะกันจนลืมบำเพ็ญสมณธรรม ความสงบก็ค่อยๆ เหือดหายไปจากจิตใจ แม้แต่ตนเองยังพึ่งตนเองไม่ได้ นับประสาอะไรที่จะเป็นที่พึ่งให้กับญาติโยม เรามาฟังกันสิว่าพระเถระท่านจะฝากอะไรกับพวกเราไว้บ้าง มาดูประวัติของท่านกันก่อน

พระปาราปริยเถระได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ท่องเที่ยวไปเฉพาะในสุคติเท่านั้น ในพุทธุปบาทกาลของพระสมณโคดมนี้ได้บังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี มีชื่อว่าปาราปริยะตามโคตร เมื่อท่านเจริญวัยได้เรียนไตรเพทจนจบ ถึงความสำเร็จในสิปปะทั้งหลายของพราหมณ์ วันหนึ่งในเวลาพระศาสดาทรงแสดงธรรม ได้ไปยังพระเชตวันวิหารแล้วนั่งอยู่ท้ายบริษัท พระศาสดาทรงตรวจดูอัธยาศัยของท่านแล้วทรงแสดง อินทริยภาวนาสูตร ท่านได้ฟังแล้วเกิดศรัทธา ขอบวชกับพระพุทธเจ้า เรียนเอาพระสูตรนั้นแล้ว คิดเนืองๆ ถึงเนื้อความแห่งพระสูตรนั้น ท่านได้กล่าวคาถาอันไพเราะคมคายไว้สองคาถา แต่ละคาถามี ๒๐ บท อันมาในวีสตินิบาตเถระคาถา

คาถาแรกท่านกล่าวไว้ในขณะที่ตนยังเป็นปุถุชน ในช่วงเวลาที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ โดยประกาศความคิดในการข่มอินทรีย์ทั้งหลาย อันมีใจเป็นที่ ๖ ท่านเมื่อคิดค้นอยู่โดยประการนั้น ก็เริ่มตั้งวิปัสสนาโดยเอาอายตนะเป็นประธาน ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหันต์

ในกาลต่อมาเมื่อพระศาสดา พระอัครสาวกพระมหาเถระบางพวกได้ปรินิพพานไปแล้ว เมื่อภิกษุทั้งหลายผู้ว่าง่าย ผู้ใคร่ต่อการศึกษา หาได้ยาก และภิกษุทั้งหลายผู้ว่ายาก มากไปด้วยการปฏิบัติผิดเกิดขึ้นแพร่หลายในพระธรรมวินัย และเมื่อการปรินิพพานของตนจะปรากฏขึ้น จึงกล่าวคาถาที่สอง (ที่จะนำมาแปลให้ฟังในที่นี้) เพื่อประกาศข้อปฏิบัติธรรมเบื้องสูงแก่ภิกษุทั้งหลายในกาลนั้น และในกาลต่อไป (คือในกาลของพวกเราๆ นี้เอง) เรามาฟังกันดูเถิดว่าท่านพระเถระอยากจะฝากอะไรไว้แก่พวกเรา


               ปาราปริโย เถโร
               ๓๙๔
สะมะณัสสะ อะหู จินตา ปุปผิตัมฺหิ มะหาวะเน
เอกัคคัสสะ นิสินนัสสะ ปะวิวิตตัสสะ ฌายิโน ฯ
อัญญะถา โลกะนาถัมฺหิ ติฏฐันเต ปุริสุตตะเม
สีตะวาตะปะริตตานัง หิริโกปีนะฉาทะนัง
มัตตัฏฐิยัง อะภุญชิงสุ สันตุฏฐา อิตะรีตะเร ฯ
ปะณีตัง ยะทิ วา ลูขัง อัปปัง วา ยะทิ วา พะหุง
ยาปะนัตถัง อะภุญชิงสุ อะคิทธา นาธิมุจฉิตา ฯ
ชีวิตานัง ปะริกขาเร เภสัชเช อะถะ ปัจจะเย
นะ พาฬฺหัง อุสสุกา อาสุง ยะถา เต อาสะวักขะเย ฯ
อะรัญเญ รุกขะมูเลสุ กันทะราสุ คุหาสุ จะ
วิเวกะมะนุพฺรูหันตา วิหังสุ ตัปปะรายะนา ฯ
นีจา นิวิฏฐา สุภะรา มุทู อัตถัทธะมานะสา
อัพฺยาเสกา อะมุขะรา อัตถะจินตาวะสานุคา ฯ
ตะโต ปาสาทิกัง อาสิ คะตัง ภุตตัง นิเสวิตัง
สินิทธา เตละธาราวะ อะโหสิ อิริยาปะโถ ฯ
สัพพาสะวะปะริกขีณา มะหาฌายี มะหาหิตา
นิพพุตา ทานิ เต เถรา ปะริตตา ทานิ ตาทิสา ฯ
กุสะลานัญจะ ธัมมานัง ปัญญายะ จะ ปะริกขะยา
สัพพาการะวะรูเปตัง ลุชชะเต ชินะสาสะนัง ฯ


คาถาภาษิตของพระปาราปริยเถระ
[๓๙๔] พระปาราปริยเถระผู้เป็นสมณะ มีจิตแน่วแน่ในอารมณ์เดียว ผู้ชอบปลีกวิเวก นั่งเจริญฌานอยู่ในป่าใหญ่ ฤดูดอกไม้ผลิ ได้มีความคิดว่า : “ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษ ทรงเป็นนาถะของโลก ยังทรงพระชนมชีพอยู่ ความประพฤติของภิกษุทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว เดี๋ยวนี้ปรากฏเป็นอย่างหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นุ่งห่มผ้าเป็นปริมณฑล ก็เพียงเพื่อจะป้องกันความหนาวอันเกิดแต่ลมและปกปิดความละอายเท่านั้น ขบฉันอาหารประณีตก็ตาม เศร้าหมองก็ตาม น้อยก็ตาม มากก็ตาม ก็เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปเท่านั้น ไม่ติด ไม่พัวพันเลย(แม้จะถูกความเจ็บไข้ครอบงำ) ไม่ขวนขวายหาเภสัชปัจจัยอันเป็นบริขารแก่ชีวิต เหมือนการขวนขวายในความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นขวนขวายพอกพูนวิเวก มุ่งแต่ความวิเวกอยู่ในป่าโคนไม้ ซอกเขาและถ้ำเท่านั้น

ภิกษุทั้งหลายแต่ปางก่อน เป็นผู้อ่อนน้อม มีศรัทธาตั้งมั่น เลี้ยงง่าย อ่อนโยน มีน้ำใจ ไม่กระด้าง ไม่ปราศจากสติ ปากไม่ร้าย น้อมความคิดเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อตนและผู้อื่น เพราะเหตุนั้น ภิกษุแต่ปางก่อน เป็นผู้มีข้อปฏิบัติในการก้าวไปและถอยกลับ การบริโภคปัจจัย การส้องเสพโคจร มีอิริยาบถละมุนละไม ก่อให้เกิดความเลื่อมใสเหมือนสายธารน้ำมันไหลออกจากปากภาชนะไม่ขาดสาย ฉะนั้น

พระเถระเหล่านั้น สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้วประกอบแล้วด้วยฌานใหญ่ ประกอบแล้วด้วยประโยชน์ใหญ่ บัดนี้พากันนิพพานไปเสียหมดแล้ว บัดนี้ท่านเช่นนั้นเหลืออยู่น้อยเต็มที เพราะความสิ้นไปแห่งกุศลธรรมและปัญญา คำสั่งสอนของพระชินเจ้าอันประกอบด้วยอาการอันประเสริฐทุกอย่างก็จะสิ้นไป


ปาปะกานัญจะ ธัมมานัง กิเลสานัญจะ โย อุตุ
อุปัฏฐิตา วิเวกายะ เย จะ สัทธัมมะเสสะกา ฯ
เต กิเลสา ปะวัฑฒันตา อาวิสันติ พะหุง ชะนัง
กีฬันติ มัญเญ พาเลหิ อุมมัตเตหิวะ รักขะสา ฯ
กิเลเสหาภิภูตา เต เตนะ เตนะ วิธาวิตา
นะรา กิเลสะวัตถูสุ สะสังคาเมวะ โฆสิเต ฯ
ปะริจจะชิตฺวา สัทธัมมัง อัญญะมัญเญหิ ภัณฑะเร
ทิฏฐิคะตานิ อันฺเวนตา อิทัง เสยโยติ มัญญะเร ฯ
ธะนัญจะ ปุตตะภะริยัญจะ ฉัฑฑะยิตฺวานะ นิคคะตา
กะฏัจฉุภิกขะเหตูปิ อะกิจจานิ นิเสวะเร ฯ
อุทะราวะเทหะกัง ภุตฺวา สะยันตุตตานะเสยยะกา
กะถัง วัตเตนติ ปะฏิพุทธา ยา กะถา สัตถุคะระหิตา ฯ
สัพพะการุกะสิปปานิ จิตติง กัตฺวานะ สิกขะเร
อะวูปะสันตา อัชฌัตตัง สามัญญัตโถติอัจฉะติ ฯ
มัตติกัง เตละจุณณัญจะ อุทะกาสะนะโภชะนัง
คิหีนัง อุปะนาเมนติ อากังขันตา พะหุตตะรัง
ทันตะโปณัง กะปิฏฐัญจะ ปุปผะขาทะนิยานิ จะ
ปิณฑะปาเต จะ สัมปันเน อัมเพ อามะละกานิ จะ ฯ
เภสัชเชสุ ยะถา เวชชา กิจจากิจเจ ยะถา คิหี
คะณิกาวะ วิภูสายัง อิสสะเร ขัตติยา ยะถา
เนกะติกา วัญจะนิกา กูฏะสักขี อะปาฏุกา
พะหูหิ ปะริกัปเปหิ อามิสัง ปะริภุญชะเร ฯ

ในเวลาแห่งบาปธรรมและกิเลสทั้งหลายเป็นไปอยู่ภิกษุเหล่าใด ปรารภความเพียรเพื่อความวิเวก ภิกษุเหล่านั้นเป็นได้แค่ผู้ปฏิบัติพระสัทธรรมเท่าที่เหลือ เมื่อกิเลสเหล่านั้นเจริญงอกงามขึ้นย่อมครอบงำคนเป็นอันมากไว้ในอำนาจเหมือนรากษส* เข้าสิงพวกคนพาลหลอกเล่นเขาให้มัวเมาอยู่ ฉะนั้น * ยักษ์ชนิดหนึ่งชอบจับคนกินเป็นอาหาร

นรชนเหล่านั้นถูกกิเลสครอบงำ วิ่งวนไปมาเพราะกิเลสนั้นๆ เหมือนอย่างการประจัญกันโฆษณาในกิเลสวัตถุทั้งหลาย พากันละทิ้งพระสัทธรรมเสีย ทำการทะเลาะซึ่งกันและกัน ยึดถือตามความเห็นของตน สำคัญว่าอย่างนี้เท่านั้นประเสริฐ นรชนทั้งหลายที่ละทิ้งทรัพย์สมบัติบุตรและภรรยา ออกบวชแล้วกลับพากันทำกรรมที่ไม่ควรทำ แม้เพราะเหตุแห่งภัตรเพียงทัพพีเดียว ภิกษุทั้งหลายฉันภัตตาหารเต็มท้องแล้วก็นอนแผ่หงาย ตื่นแล้วก็วุ่นวายกล่าวกันแต่เดียรัจฉานกถาที่พระศาสดาทรงติเตียน

ภิกษุผู้มีจิตไม่สงบในภายใน นิยมเรียนกันแต่สิปปะทางโลกๆ การบำเพ็ญสมณธรรมไม่ซึมซาบพวกเขาเสียบ้างเลย ภิกษุทั้งหลายนำเอาดินเหนียวบ้าง น้ำมันบ้าง จุรณ (แป้งฝุ่น) เจิมบ้าง น้ำบ้าง ที่นั่งที่นอนบ้าง อาหารบ้าง ไม้สีฟันบ้าง ผลมะขวิดบ้าง ดอกไม้บ้าง ของควรเคี้ยวบ้าง บิณฑบาตบ้าง ผลมะม่วงบ้าง ผลมะขามป้อมบ้างไปให้แก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย หวังลาภที่มากกว่ากลับมา  ภิกษุทั้งหลายพากันประกอบเภสัชเหมือนพวกหมอยา ทำกิจการค้าน้อยใหญ่อย่างคฤหัสถ์ แต่งดัดร่างกายเหมือนหญิงคณิกา เป็นอยู่หรูหราเหมือนกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ทำให้คนหลงเชื่อ หลอกลวง เป็นพยานโกง ใช้เล่ห์เหลี่ยมต่างๆ ไม่สำรวม บริโภคอามิสด้วยอุบายเป็นอันมาก


เลสะกัปเป ปะริยาเย ปะริกัปเปนุธาวิตา
ชีวิกัตถา อุปาเยนะ สังกัฑฒันติ พะหุง ธะนัง ฯ
อุปัฏฐาเปนติ ปะริสัง กัมมะโต โน จะ ธัมมะโต
ธัมมัง ปะเรสัง เทเสนติ ลาภะโต โน จะ อัตถะโต ฯ
สังฆะลาภัสสะ ภัณฑันติ สังฆะโต ปะริพาหิรา
ปะระลาโภปะชีวันตา อะหิรีกา นะ ลัชชะเร ฯ
นานุยุตตา ตะถา เอเก มุณฑา สังฆาฏิปารุตา
สัมภาวะนังเยวิจฉันติ ลาภะสักการะมุจฉิตา ฯ
เอวัง นานัปปะยาตัมฺหิ นะ ทานิ สุกะรัง ตะถา
อะผุสิตัง วา ผุสิตุง ผุสิตัง วานุรักขิตุง ฯ
ยะถา กัณฏะกัฏฐานัมฺหิ จะเรยยะ อะนุปาหะโน
สะติง อุปัฏฐะเปตฺวานะ เอวัง คาเม มุนี จะเร ฯ
สะริตฺวา ปุพพะเก โยคี เตสัง วัตตะมะนุสสะรัง
กิญจาปิ ปัจฉิโม กาโล ผุเสยยะ อะมะตัง ปะทัง ฯ
อิทัง วัตฺวา สาละวะเน สะมะโณ ภาวิตินทฺริโย
พฺราหฺมะโณ ปะรินิพพายิ อิสิ ขีณะปุนัพภะโวติ ฯ

พระไตรปิฎกบาลี เล่มที่ ๒๖
สุตฺต. ขุ. วิมานวตฺถุ-เปตวตฺถุ-เถรคาถา-เถรีคาถา ข้อ ๓๙๔ (เถรคาถา) หน้า ๓๙๔-๓๙๗

การพูดเลียบเคียง ล่อลวงโดยปริยาย วิ่งวุ่นหาปัจจัยโดยใช้อุบายต่างๆรวบรวมทรัพย์ไว้เป็นอันมาก เพราะเหตุแห่งอาชีพ ย่อมยังบริษัทให้บำเรอตนเพราะเหตุแห่งการงาน มิใช่ให้บำรุงโดยธรรมเที่ยวแสดงธรรมแก่คนอื่นเพราะเหตุแห่งลาภมิใช่เพราะมุ่งประโยชน์ ภิกษุเหล่านั้นทะเลาะวิวาทกันเพราะเหตุแห่งลาภสงฆ์เป็นผู้เหินห่างจากอริยสงฆ์ เลี้ยงชีวิตด้วยการอาศัยลาภของผู้อื่น*ไม่มีหิริ ไม่ละอาย

* อรรถกถาอธิบายว่า ลาภเขาตั้งใจถวายอริยสงฆ์ หาใช่อลัชชีสงฆ์ไม่ภิกษุบางพวกตามที่ว่ามานั้น ไม่ประพฤติธรรมที่ทำให้เป็นสมณะเสียเลยเป็นเพียงคนโล้น คลุมร่างไว้ด้วยผ้ากาสาวพัสตร์เท่านั้นปรารถนาแต่การสรรเสริญถ่ายเดียว มุ่งหวังแต่ลาภสักการะ เมื่อธรรมเป็นเครื่องทำลายมีประการต่างๆ เป็นไปอยู่อย่างนี้ การบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุหรือการตามรักษาธรรมที่ได้บรรลุแล้วไม่ใช่ทำได้ง่าย เหมือนครั้งเมื่อพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ บุรุษผู้ไม่ได้สวมรองเท้า ต้องตั้งสติ เที่ยวไปในถิ่นที่มีหนาม ฉันใด มุนีพึงตั้งสติเที่ยวไปในบ้านเหมือนกัน ฉะนั้น เมื่อระลึกถึงพระโยคีที่มีมาแล้วในกาลก่อน ไม่ทอดธุระวัตรปฏิบัติของท่านทั้งหลายเหล่านั้น แม้เวลานี้เป็นกาลภายหลังพระศาสดาได้ล่วงลับไปแล้ว แต่ก็พึงบรรลุอมตบทได้”

พระปาราปริยเถระผู้เป็นสมณะ มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ มีภพใหม่สิ้นไปแล้ว ครั้นกล่าววิธีปฏิบัติอย่างนี้แล้วก็ปรินิพพานในสาลวัน.

จบพระเถระคาถาแล้ว เพื่อที่จะให้เห็นภาพของพระภิกษุสมัยพุทธกาลได้ชัดขึ้นมา ดูมุมมองของพราหมณ์ผู้เพิ่งเข้ามาสู่พระศาสนากันบ้าง โดยขอยกเอาข้อความจากคณกโมคคัลลานะสูตร หลังจากที่พราหมณ์ได้ซักถามพระบรมศาสดาเกี่ยวกับข้อปฏิบัติโดยลำดับจนสิ้นสงสัยแล้ว ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับบุคคลที่มาบวชในพระศาสนาของพระสมณะโคดม ไว้ว่า : เยเม โภ โคตม ปุคฺคลา อสทฺธา ชีวิกตฺถา อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชิตา สฐามายาวิโน เกฏุภิโน อุทฺธตา อุนฺนฬา จปลามุขรา วิกิณฺณวาจา อินฺทฺริเยสุ อคุตฺตทฺวารา โภชเน อมตฺตญฺญุโน ชาคริยํ อนนุยุตฺตา สามญฺเญ อนเปกฺขวนฺโต สิกฺขายน ติพฺพคารวา พาหุลฺลิกา สาถิลิกา โอกฺกมเน ปุพฺพงฺคมา ปวิเวเก นิกฺขิตฺตธุรา กุสีตา หีนวิริยา มุฏฺฐสฺสติ โน อสมฺปชานา อสมาหิตา วิพฺภนฺตจิตฺตา ทุปฺปญฺญา เอลมูคา น เตหิ ภวํ โคตโม สทฺธึ สํวสติ.

“ข้าแต่ท่านพระโคดม บุคคลจำพวกที่ไม่มีศรัทธา ออกบวชประสงค์จะเลี้ยงชีวิต โอ้อวด มีมายา เจ้าเล่ห์ ฟุ้งซ่าน ยกตัวกลับกลอก ปากกล้า พูดพล่าม ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้จักประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียรเครื่องตื่น ไม่นำพาในความเป็นสมณะ ไม่เคารพแรงกล้าในสิกขา ประพฤติมักมาก ปฏิบัติย่อหย่อนเป็นหัวโจกในทางเชือนแช ทอดธุระในความสงัดวิเวก เกียจคร้าน มีความเพียรเลว หลงลืมสติ ไม่รู้ตัวไม่มั่นคง มีจิตเรรวน มีความรู้ทราม เป็นดังคนหนวก คนใบ้ ท่านพระโคดมย่อมไม่อยู่ร่วมกับบุคคลจำพวกนั้น  ส่วนพวกกุลบุตรที่มีศรัทธาออกบวช ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ไม่เจ้าเล่ห์ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ยกตน ไม่กลับกลอก ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม ไม่พูดเพลิน คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ทั้งหลายรู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรเครื่องตื่น นำพาในความเป็นสมณะ เคารพแรงกล้าในสิกขา ไม่ประพฤติมักมาก ไม่ปฏิบัติย่อหย่อน ทอดธุระในทางเชือนแช เป็นหัวหน้าในความสงัดวิเวก ปรารภความเพียร มอบตนไปในธรรม ตั้งสติไว้มั่น รู้ตัว มั่นคง มีจิตแน่วแน่มีปัญญา ไม่เป็นดังคนหนวก คนใบ้ ท่านพระโคดมย่อมอยู่ร่วมกับกุลบุตรพวกนั้น”

ขอจบลงด้วยพระดำรัสตอบของพระพุทธองค์ที่ว่า : “ดูก่อนพราหมณ์ ในเมื่อนิพพานก็มีอยู่ ทางไปนิพพานก็มีอยู่ เราผู้ชักชวนก็มีอยู่ แต่สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่นี้ บางพวกเพียงส่วนน้อย สำเร็จพระนิพพาน บางพวกก็ไม่สำเร็จ เอตฺถ กฺยาหํ พฺราหฺมณ กโรมิ, มคฺคกฺขายีหํ ตถาคโต  ดูก่อนพราหมณ์ ในเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกหนทาง”


ที่มา (เรื่อง) : วารสารโพธิยาลัย ฉบับที่ ๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 มิถุนายน 2560 17:02:16 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.054 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 13 มีนาคม 2567 05:57:43