[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 เมษายน 2567 15:50:51 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ราชทูตสยามไปฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ ๔  (อ่าน 1859 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5469


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 15 มิถุนายน 2560 17:09:23 »


 

.  ราชทูตสยามไปฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ ๔  .

ในสมัยอยุธยานับตั้งแต่ออกพระวิสุทธิสุนทรหรือโกษาปาน ราชทูตสยามเดินทางไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส เมื่อพุทธศักราช ๒๒๒๘ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสดำเนินไปอย่างราบรื่นตลอดรัชสมัยจนกระทั่งมาสิ้นสุดลงในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์จึงได้มีการฟื้นฟูทางพระราชไมตรีกับฝรั่งเศสครั้งใหม่ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้คณะราชทูตสยามอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Empereur Napoléon III) เพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ในการส่งราชทูตไปครั้งนี้สืบเนื่องจากการที่เมื่อครั้งปีมะโรง พุทธศักราช ๒๓๙๘ สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เมอสิเยอร์ชาร์ลส์ เดอ มงติญี (Monsieur Charles de Montigny) กงสุลฝรั่งเศสประจำเซี่ยงไฮ้และหนิงโป เป็นผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มเดินทางมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๙๙ ในคราวนั้นนอกจากจะมีการตกลงทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีจนเป็นผลสำเร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งกับราชทูตฝรั่งเศสถึงพระราชประสงค์ที่จะแต่งคณะราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับฝรั่งเศสเป็นการตอบแทน

เมื่อกลับถึงฝรั่งเศสเมอสิเยอร์ชาร์ล เดอ มงติญี ได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ มีรับสั่งให้รัฐบาลฝรั่งเศสแจ้งมาว่า หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งราชทูตไปฝรั่งเศสก็ทรงยินดีที่จะให้เรือรบฝรั่งเศสมารับคณะราชทูตไป และให้กลับมาส่งเหมือนอย่างครั้งสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เคยรับออกพระวิสุทธสุนทร

เมื่อแจ้งดังนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับฝรั่งเศส โปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) เป็นราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (วร บุนนาค) เป็นอุปทูต พระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) เป็นตรีทูตและเป็นผู้จดบันทึกการเดินทาง และบาทหลวงหลุยส์ ลาร์โนดี (Louis Larnaodie) เป็นเลขานุการและล่ามในคณะ พร้อมผู้ช่วย และเจ้าพนักงานกำกับดูแลเครื่องราชบรรณาการ รวมจำนวนผู้เดินทาง ๒๗ คน  คณะราชทูตได้อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ มีกระบวนแห่พระราชสาส์นจากพระบรมมหาราชวังไปลงเรือพระที่นั่งมณีเมขลา เพื่อนำไปส่งยังเรือรบฝรั่งเศสซึ่งทอดสมออยู่ที่นอกสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา โดยพลเรือโท ชาร์เน (Charnez) ผู้บัญชาการกองทัพเรือประจำทะเลจีนใต้ได้สั่งให้เตรียมเรือไว้สำหรับคณะทูตสยามตั้งแต่เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ เพื่อจะได้เดินทางถึงฝรั่งเศสในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่อากาศเริ่มหมดหนาว

คณะราชทูตสยามออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเรือรบของฝรั่งเศสชื่อ “จีรงด์” (Gironde) เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ โดยเดินทางมุ่งไปยังสิงคโปร์ ผ่านศรีลังกา อียิปต์ และเข้าสู่ฝรั่งเศสที่เมืองตูลง (Toulon) ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือทางทหารที่ยิ่งใหญ่ ณ ที่นี้ราชทูตสยามได้พบกับเมอสิเยอร์ชาร์ลส์ เดอ มงติญี คณะนายทหารเรือฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่ประจำเมืองตูลง ๓ คน มาต้อนรับและแนะนำเรื่องการเข้าเฝ้าให้ถูกต้องตามธรรมเนียมยุโรป พร้อมทั้งคอยอำนวยความสะดวกตลอดระยะเวลาการเดินทางในฝรั่งเศส  คณะราชทูตสยามเข้าพักที่โรงแรมเมืองตูลง ๒ คืน จากนั้นเดินทางโดยรถไฟต่อไปยังเมืองมาร์เซยย์ (Marseille) พักที่เมืองมาร์เซยย์อีก ๒ คืน จึงถึงกรุงปารีส คณะราชทูตสยามเดินทางถึงกรุงปารีสในช่วงเย็นของวันที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๐๔ มีกองทหารม้ามาคอยต้อนรับที่สถานีรถไฟการ์ เดอ ลียง การมาครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นแก่ชาวเมืองปารีสเป็นอย่างมาก มีการเตรียมรถ ๖ คัน ไว้รอรับคณะราชทูตสยาม และจัดขบวนแห่ไปยังโรงแรมที่พัก คณะราชทูตได้เข้าพักที่โรงแรมกรอง โอเต็ล ดู แบล เรสปีโร (hôtel Grand du Bel Respiro) ตั้งอยู่บนถนนแห่งจักรพรรดิ (ปัจจุบันคือถนนฟอร์ซ Forch) สองสามวันหลังจากที่คณะราชทูตสยามมาถึงปรุงปารีส วันที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๐๔ หนังสือพิมพ์เลอ โมนิเตอร์ อูนิแวร์เซล (Le Moniteur Universel) ได้เผยแพร่ภาพข่าวของคณะราชทูตสยามอย่างกว้างขวาง ผู้คนต่างพากันพูดถึงด้วยความสนใจและชื่นชมความงดงามของเครื่องราชบรรณาการจากประเทศสยาม

ครั้นวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๐๔ คณะราชทูตสยามนั่งรถไฟขบวนพิเศษไปยังสถานีฟงแตนโบล ณ ที่นั้นมีรถพระที่นั่งรอรับอยู่ เมื่อมาถึงที่ประตูเกียรติยศขบวนกองทหารม้ารักษาพระองค์ออกมาต้อนรับอย่างสมเกียรติ ทหารม้าสวมเกราะเหล็กรักษาพระองค์ยืนเรียงล้อมบันไดใหญ่ จากนั้นคณะราชทูตสยามได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการแด่สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ และสมเด็จพระจักรพรรดินีเออเฌนี เดอ มงติจู (Empress Eugénie de Montijou) ณ พระราชวัง ฟงแตนโบล (Palais de Fontainebleua) โดยเครื่องราชบรรณาการจากประเทศสยามประกอบไปด้วย พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหามงกุฎทองคำลงยาประดับเพชรทับทิมมรกต พระราชยานกง พระวอสีวิกากาญจน์ พระแสงราชศัสตรา พระกลด เครื่องทองต่างๆ ชุดพระสุธารสชาทองคำ พระธำมรงค์ทองคำ ตลับทองคำลงยา รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อีกจำนวนมาก ทั้งสองพระองค์ทรงให้การต้อนรับด้วยสันถวไมตรี รายละเอียดในการเข้าเฝ้ามีปรากฏในจดหมายเหตุราชทูตไทยไปประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) ตรีทูต ได้บันทึกไว้ดังนี้

“มองติคนีกับขุนนางกรมวังนำราชทูตเชิญพระบรมราชสาส์นและพระบวรราชสาส์น กับทูตานุทูตเข้าไปถึงท้องพระโรงที่เสด็จออก แล้วคลานตามลำดับเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่ง ราชทูตก็วางพานพระราชสาส์นลง ห่างกับที่สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอเสด็จออกประทับอยู่นั้นประมาณ ๘ ศอก ทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมครั้งหนึ่งแล้วหมอบอยู่ ราชทูตอ่านทูลเบิกถวายพระราชสาส์น เครื่องมงคลราชบรรณาการเป็นคำไทยก่อน แล้วบาทหลวงลุยวิศลอนนาดี ล่าม อ่านแปลเป็นคำฝรั่งเศสถวาย จบแล้วทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอมีรับสั่งตอบว่าขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ที่ได้รับทูตและขุนนางเรือรบซึ่งเข้าไปกรุงเทพมหานครโดยความยินดี แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามแต่งทูตานุทูตให้เชิญพระราชสาส์นเครื่องมงคลราชบรรณาการมาเจริญทางพระราชไมตรีอีกนั้น ขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามเป็นอันมาก แต่ก่อนกรุงฝรั่งเศสกับกรุงสยามอยู่ไกลกัน เดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสตีได้เมืองไซ่ง่อนเขตแดนญวนเป็นของฝรั่งเศส แผ่นดินก็ใกล้กันกับกรุงสยาม คอเวอนแมนต์ทั้งสองฝ่ายมีธุระการงานสิ่งใดจะได้ปรึกษาหารือกัน พระราชไมตรีก็จะได้สนิทกันมากทวีขึ้นไป ขอให้สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ ทรงพระชนมายุยืนยาวให้มาก พระราชไมตรีทั้งสองพระนครจะได้ถาวรวัฒนาสืบไปภายหน้าชั่วฟ้าและดิน ทูตถวายบังคมพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง แล้วราชทูตเชิญพานพระราชสาส์นเข้าไปถวายสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอ ทรงรับต่อพระหัตถ์แล้วส่งพระราชสาส์นให้มินิศเตอทูวแนล ผู้สำเร็จราชการต่างประเทศ ราชทูตคลายถอยออกมาถึงที่เฝ้า ทูตานุทูตถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง ขุนนางบอกว่าจะเสด็จขึ้น ทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมคลานถอยหลังออกมา แล้วมีรับสั่งให้ทูตานุทูตยืนขึ้นทุกคน สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอและแอมเปรศพระมเหสี พระเจ้าลูกยาเธอเนโปเลียน เสด็จมาไต่ถามทุกข์สุขถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่และทูตานุทูต...”




ึคณะราชทูตสยามได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการแด่สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓
และสมเด็จพระจักพรรดินีเออเฌนี เดอ มงติจู (Empress Eugénie de Montijou)
ณ พระราชวังฟงแตนโบล (palais de Fontainebleau)
ภาพจาก : site topicstock.pantip.com

ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ และสมเด็จพระจักรพรรดินี เสด็จออกรับราชทูตสยาม ณ ห้องเต้นรำพระราชวังฟงแตนโบลนั้น ฌอง เลออง เจโรม (Jean Léon Gérôme) จิตรกรชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงด้านเขียนภาพเหมือนได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าร่วมในงานต้อนรับราชทูตสยามด้วย จากนั้นคณะกรรมการจัดทำหอศิลป์ทางประวัติศาสตร์ (Des Beaux Arts) แห่งพระราชวังฟงแตนโบล ได้มอบหมายให้เจโรมเขียนภาพงานต้อนรับคณะราชทูตสยาม ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓  เจโรมใช้เวลาราว ๒ ปี ในการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรับราชทูตครั้งนี้ ต้นปีพุทธศักราช ๒๔๐๖ เขาจึงเริ่มถ่ายทอดบันทึกสัมพันธภาพระหว่างสยามกับฝรั่งเศสไว้เป็นภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๑๒๘ x ๒๖๐ เซนติเมตร  โดยเขาพยายามรักษาความสมจริงของเหตุการณ์และเลือกที่จะเขียนภาพ ในขณะที่ท่านราชทูตคือ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดีกำลังทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์น ภาพเขียนนี้สำเร็จในพุทธศักราช ๒๔๐๗ มีชื่อว่า “การต้อนรับคณะราชทูตสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล” (Réception des ambassadeurs siamois au palais de Fontainebleau) โดยเจโรมได้ลงลายมือชื่อและวันที่เป็นตัวเลขโรมันไว้ที่ด้านล่างขวาของภาพว่า “J.L. GEROME/MDCCCLxIV” ภาพเขียนชิ้นสำคัญ ผลงานของเจโรม เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแวร์ซายส์ ต่อมาได้มีการสำเนาภาพดังกล่าวนี้มาที่ประเทศสยาม เมื่อพระสยามธุรานุรักษ์ (เมอสิเยอร์เดอ เกรฮอง) กงสุลสยามประจำกรุงปารีส ได้มอบให้ฌอง มาริอุส ฟูเก (Jean Marius Fougué) จิตรกรชาวฝรั่งเศสเขียนภาพสำเนาจากภาพเขียนสีน้ำมันผลงานของเจโรมส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงปลายรัชกาล ราวพุทธศักราช ๒๔๐๘ ดังมีหลักฐานปรากฏในจดหมายโต้ตอบระหว่างกงสุลสยามประจำกรุงปารีสกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม และวันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๐๘ และสันนิษฐานว่าฟูเกเป็นผู้นำผลงานของเขามาถวายด้วยตนเอง เพราะต่อมาได้เข้ารับราชการในราชสำนักสยามอยู่ระยะเวลาหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “ขุนจิตรกรรมโสภณ” จิตรกรประจำพระองค์ ปัจจุบันภาพเขียนดังกล่าว ซึ่งเป็นผลงานของฟูเกมีปรากฏอยู่ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

การที่คณะราชทูตสยามอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระจักพรรดินโปเลียนที่ ๓ ในครั้งนั้นเป็นที่กล่าวขานกันมาก ดังปรากฏภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศส “อิลูสทราซิยง” (L’ Illustration) ฉบับวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ (คริสต์ศักราช ๑๘๖๑) ได้นำเสนอข่าวสารของคณะราชทูตจากดินแดนตะวันออกอย่างละเอียด พร้อมทั้งมีภาพประกอบเป็นภาพวาดลายเส้นบรรยายภาพว่า “สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสเสด็จออกรับคณะราชทูตสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล” ข้อความทั้งหลายตลอดจนภาพประกอบเหล่านี้นับเป็นหลักฐานที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ อันแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองได้อย่างแจ่มชัด

ในช่วงเวลาประมาณสองเดือนครึ่งที่คณะราชทูตสยามพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เมอสิเยอร์ชาร์ลส์ เดอ มงติญี เป็นผู้คอยดูแลอยู่ตลอดไม่ว่าจะไปที่ใด ได้พาคณะราชทูตสยามไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีชื่อเสียงของฝรั่งเศสหลายแห่ง เช่น พระราชวังแวร์ซายส์ ที่ฝังพระศพสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนโบนาปาร์ต สุสานทหารนิรนาม อู่ต่อเรือที่เมืองบอร์โดซ์ และเลอ อาฟวร์ และไปที่ค่ายทหารที่เมืองชาล็อง ซึ่งในเวลานั้นมีการตรวจพลสวนสนามทหารจำนวน ๕๐,๐๐๐ คน ตามสถานที่ต่างๆ ทีคณะราชทูตได้ไปเยือนจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งพลเรือนและทหารให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ บรรดาประชาชนชาวฝรั่งเศสรวมทั้งสื่อมวนต่างให้ความสนใจอย่างยิ่ง เป็นไปทำนองเดียวกันกับที่คณะราชทูตสยามไปเยือนฝรั่งเศส ครั้งสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เพียงแต่ระยะเวลาห่างกัน ๑๗๐ ปี และอยู่ในสังคมที่แตกต่างกันเท่านั้น

นอกเหนือจากความสัมพันธ์ทางด้านการทูตแล้ว ในด้านการเผยแผ่ศาสนาก็ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง มิชชันนารีมีเสรีภาพเต็มที่ในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาในราชอาณาจักรสยาม บาทหลวงลาร์โนดี มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามมานานกว่า ๑๒ ปี และเป็นล่ามในคณะราชทูตชุดนี้ ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ ความว่า  

“การมาเยือนของคณะทูตสยามในครั้งนี้เป็นผลดีแก่คณะมิสชันนารียิ่งคือทำให้ชื่อเสียงของคณะมิสชันนารีดีขึ้น และทำให้รัฐบาลสยามยอมรับที่จะให้ความคุ้มครองคณะมิสชันนารี ไม่โดยระลึกถึงความช่วยเหลือที่ได้รับก็เป็นเพราะตระหนักถึงฐานะที่สูงของคณะสงฆ์ฝรั่งเศส...”

ครั้นถึงวันที่ ๒๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๐๔ คณะราชทูตสยามลงเรืออัสโมเด ณ เมืองมาร์เซยย์ เพื่อเดินทางไปยังเมืองชิวิตาเวกเกีย (Civitavecchia) และเดินทางต่อไปยังกรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ต่อมาในวันที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ เรือฝรั่งเศสเดินทางไปถึงเมืองอเล็กซานเดรีย คณะราชทูตสยามเดินทางโดยเรือยูโรเปแอ็ง (Européen) และถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ หลังจากการเดินทางอย่างยาวนานตลอด ๑๐ เดือนที่ผ่านมา คณะราชทูตได้กลับมาสู่ดินแดนมาตุภูมิพร้อมเครื่องราชบรรณาการและสิ่งของที่ซื้อมา  ในการนี้ สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลฌิยง ดอนเนอร์ (Légion d’honneur) ชั้นที่ ๑ แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลฌิยงดอนเนอร์ ชั้นที่ ๒ แด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลฌิยงดอนเนอร์ ให้แก่บาทหลวงลาร์โนดี

นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ประเทศไทยและฝรั่งเศสหันกลับมาฟื้นฟูทางพระราชไมตรีกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ห่างเหินไปนานเกือบ ๒๐๐ ปี แต่กระนั้นความพยายามทั้งมวลของฝรั่งเศสก็มิได้ทำให้สัมพันธภาพระหว่างสยามและฝรั่งเศสก้าวหน้าไปแต่อย่างใดเลย ยังคงอยู่ในสภาวะสับสนและคลุมเครืออันเนื่องมาจากเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับญวนและโคชินไชนา ฝ่ายราชสำนักสยามได้ติดตามแผนการของฝรั่งเศสในเรื่องการเข้าครอบครองญวน ซึ่งเป็นอริของสยามมานับศตวรรษ รวมถึงนโยบายของฝรั่งเศสในกัมพูชาด้วยความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา



ซ้าย เมอสิเยอร์ชาร์ลส์ เดอ มงติญี (Monsieur Charles de Montigny)
ขวา พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ราชทูต


วอสีวิกา

ที่มา : ราชทูตสยามไปฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดย นันทพร บรรลือสินธุ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, นิตยสารศิลปากร


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 16 มิถุนายน 2560 15:18:15 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อสนีบาตตกพระที่นั่ง ไฟไหม้พระมหาปราสาท ในสมัยรัชกาลที่ ๑
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 189 กระทู้ล่าสุด 19 กันยายน 2566 16:02:30
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.496 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 26 เมษายน 2567 05:36:43