[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 06:37:48 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม  (อ่าน 2119 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 07 สิงหาคม 2560 16:40:38 »




พระธาตุพนมบรมเจดีย์
ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ผู้่เรียบเรียง : Kimleng


วัดพระธาตุพนม ตั้งอยู่ที่ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ห่างจากชายฝั่งแม่น้ำโขง ประมาณ ๕๐๐ เมตร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นวัดสำคัญของภาคอีสาน มีพระบรมธาตุพนม โบราณสถานสำคัญที่ประชาชนชาวไทยและประชาชนลาวมีความศรัทธามาแต่สมัยโบราณ จนมีผู้เรียบเรียงตำนานอิงพุทธประวัติ ชื่อว่า "อุรังคธาตุนิทาน"

คำว่า "ธาตุ" หมายถึง สิ่งที่ถือว่าเป็นส่วนสําคัญที่คุมกันเป็นร่างของสิ่งทั้งหลาย เชื่อว่ามี ๔ ธาตุ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุนํ้า ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ก็อาจมีธาตุอื่น ๆ อีก เช่น อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ธาตุไม้ ธาตุทอง ธาตุเหล็ก

อีกนัยหนึ่งหมายถึง กระดูกของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ โดยทั่วไปเรียกรวม ๆ ว่า พระธาตุ ถ้าเป็นกระดูกของพระพุทธเจ้า เรียก พระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ ถ้าเป็นกระดูกของพระอรหันต์ เรียกว่า พระธาตุ ถ้าเป็นกระดูกส่วนใดส่วนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ก็เรียกตามความหมายของคํานั้นๆ เช่น พระอุรังคธาตุ พระทันตธาตุ ถ้าเป็นผมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระเกศธาตุ ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาซึ่งว่าด้วยธาตุ เช่น ธาตุกถา ธาตุปาฐ.

ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า บริเวณสร้างองค์พระธาตุเรียกว่าภูกำพร้า (เนินดินสูงจากพื้นธรรมดาประมาณ ๓ เมตร) ภาษาบาลีว่า กัปปนบรรพต หรือ กัปปณคีรี  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ขลนที (แม่น้ำโขง) โดยพระมหากัสสปะเถระพร้อมด้วยคณะสงฆ์จากอินเดีย นำพระอุรังคธาตุ กระดูกหน้าอกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากเมืองราชคฤห์ มาเพื่อประดิษฐาน ณ ภูกำพร้า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๘ พรรษา

พระธาตุพนมบรมเจดีย์ เป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครพนมมาประมาณ ๒,๓๐๐ ปี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่นักโบราณคดีทั้งไทยและต่างประเทศได้ลงความเห็นว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ โดยพิจารณาทางด้านเทคนิคการเรียงอิฐและการก่ออิฐแบบฝนมุมเรียบและสอด้วยดิน

พระธาตุพนมยังเป็นพระธาตุเจดีย์ที่มีความสำคัญสูงสุดทางสถาปัตยกรรมต้นแบบธาตุเจดีย์ในภาคอีสาน  โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์หลายแห่งสร้างตามแบบอย่างของพระธาตุพนม เช่น พระธาตุบัวบก วัดพระพุทธบาทบัวบก จังหวัดอุรธานี พระธาตุเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม

ในจารึกฐานพระประธานอุโบสถวัดพระธาตุพนม มีปรากฏว่า เมื่อจุลศักราช ๘๖๕ ตรงกับ พ.ศ.๒๐๔๖ ซึ่งอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าวิชุลราช (พ.ศ.๒๐๔๓-๒๐๖๓) วัดพระธาตุพนมน่าจะได้เริ่มบูรณะองค์พระธาตุในสมัยนี้  ต่อมาพระมหากษัตริย์ล้านช้าง เช่น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (พ.ศ.๒๐๙๓-๒๑๑๕)  ได้บูรณะพระธาตุพนมด้วย  จนถึง พ.ศ.๒๑๕๗ พระยานครหลวงพิชิตราชธานีศรีโคตบอง แห่งเมืองศรีโคตรบูรณ์ ได้บูรณะเชิงพระธาตุพนมทั้ง ๔ ด้าน พร้อมกับสร้างกำแพงแก้ว วิหารคดรอบองค์พระธาตุ และหอบูชาข้าวพระที่ลานหน้าองค์พระธาตุทั้ง ๔ ด้าน   ต่อมา เจ้าราชครูหลวงโพนเสม็ด (เมืองนครจำปาศักดิ์) ได้บูรณะองค๋์พระธาตุพนมตั้งแต่ส่วนกลางขึ้นไปถึงยอดสุด เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๓-๒๒๓๕ การบูรณะครั้งนี้ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและของมีค่าจำนวนมากเข้าบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ



จารึกวัดพระธาตุพนม
อักษรที่มีในจารึก  ไทยน้อย
ศักราช   พุทธศักราช ๒๑๕๗
ภาษา   ไทย
ด้าน/บรรทัด  จำนวนด้าน ๑ ด้าน มี ๑๘ บรรทัด
วัตถุจารึก หินทราย
ลักษณะวัตถุ  รูปใบเสมา
ขนาดวัตถุ  กว้าง ๔๘ ซม. สูง ๖๓ ซม.
พบเมื่อ/ผู้พบ  ไม่ปรากฏหลักฐาน
สถานที่พบ  ห้องเก็บของภายในวิหารคด วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
ปัจจุบันอยู่ที่ ห้องเก็บของภายในวิหารคด  วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม


ศิลาจารึกวัดพระธาตุพนม จารด้วยอักษรไทยน้อย กล่าวว่า พระเจ้าเมืองนครพนมได้มาปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุพนม เมื่อศักราช ๙๗๖ ตรงกับ พ.ศ.๒๑๕๗ อันเป็นสมัยที่พระวรวงศาธรรมิกราชปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ.๒๑๔๑-๒๑๖๕) และได้ทำจารึกขึ้นแผ่นหนึ่ง กล่าวถึงถาวรวัตถุที่ได้บูรณะ

ศิลาจารึกหลักนี้เดิมพบอยู่ที่ใต้ฐานหอพระแก้ว จึงขุดขึ้นมาประดิษฐานไว้ตรงมุมกำแพงแก้วด้านเหนือ  ครั้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ สร้างกำแพงแก้วใหม่ จึงย้ายมาที่เชิงปราสาทหอข้างพระ ด้านหน้าองค์พระธาตุพนม เมื่อองค์พระธาตุล้มลง ศิลาจารึกก็ถูกพังทับด้วย  

จารึกหลักนี้อ่านครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ และส่งมากรุงเทพฯ พร้อมกับสำเนาลายมือของชื่อผู้อ่านว่า นายจารย์ ธรรมรังสี และรองอำมาตย์ตรี วาศ สมิตยนตร์ ผู้จด   เนื้อหาโดยสังเขปมีว่า พระยานครพิชิตธานี พร้อมด้วยท้าวพระยาในท้องถิ่น ได้บูรณะพระธาตุพนม และสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบพระธาตุ รวมทั้งสร้างถาวรวัตถุอื่นๆ อีกด้วย ตอนท้ายได้สาปแช่งผู้ถือสิทธิ์ครอบครอง ทำลายทานวัตถุ อันได้แก่ ทาสโอกาส ที่ดิน ไร่นาของวัด ในครั้งนี้ได้บูรณะเรือนธาตุชั้นที่ ๑ และกล่าวถึงการตกแต่งด้วย ซึ่งน่าจะหมายถึงลวดลายจำหลักอิฐรอบเรือนธาตุ

จากตำนานประวัติพระธาตุพนม พบว่าพระธาตุพนมคงได้รับการบูรณะเรื่อยมา และคงร้างอยู่ระยะหนึ่งเป็นเวลานับร้อยๆ ปี

การบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เท่าที่มีบันทึกไว้ ปรากฎดังนี้
ครั้งที่ ๑ ประมาณ พ.ศ.๕๐๐ พระยาสุมิตรธรรมวงศา ครองเมืองมรุกขนคร พร้อมพระอรหันต์อีก ๔ องค์ คือ พระสังขวิชเถระ พระมหารัตนเถระ พระจุลรัตนเถระ และพระสุวรณปราสาทเถระ ได้ก่ออูบมุงชั้นต้นและชั้นสอง เพราะเดิมเป็นอูบมุงชั้นเดียว บูรณะครั้งนี้ต่ออูบมุงออกไปเป็น ๒ ชั้น พร้อมกับนำพระอุรังคธาตุเข้าบรรจุในเจดีย์ศิลา

ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๐๖๓-๒๐๙๓ พระเจ้าโพธิสาลราช เจ้าผู้ครองเมืองหลวงพระบาง สร้างวิหารพระแก้ว พร้อมอุทิศที่ดินและข้าโอกาสให้อยู่บำรุงวัด พร้อมยกเป็นพระอารามหลวง จึงกลายเป็นประเพณีเจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้างทุกพระองค์ต้องมาบูชาและปฏิสังขรณ์ในเวลาต่อมา

ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๑๕๗ เจ้าพระยานครหลวงพิชิตธานีศรีโตรบูร เจ้าเมืองศรีโคตรบูร แห่งลาว  ปฏิสังขรณ์โดยโบกปูน (ซะทาย) ทำฐานบัวคว่ำปิดขอบล่างของผนังพระธาตุทั้ง ๔ ด้าน และเพิ่มมลวดลายที่ตีนพระธาตุ ทำเป็นบัวคว่ำและลายเทพนม

ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๒๒๓-๒๒๒๕ เจ้าราชครูโพนสะเม็ด (ญาคูขี้หอม) นำชาวบ้านจากเวียงจันทน์ประมาณ ๓,๐๐๐ คน มาปฏิสังขรณ์พระธาตุ การบูรณะครั้งนี้เป็นคร้้งสำคัญที่สุด เพราะต่อยอดพระธาตุให้สูงขึ้นไปอีก จนต่อมากลายเป็นต้นแบบของธาตุเจดีย์ในภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ โดยบูรณะดังนี้ ๑. ตั้งแต่เรือนธาตุชั้นที่ ๒ ขึ้นไป ทำเป็นหีบ (ชั้นหีบ) ต่อจากชั้นหีบเป็นปลีเรือนยอดจนถึงบัวหงายโดยก่ออิฐถือปูน  ๒. ต่อจากปลีเรือนยอดเป็นชั้นโกศ หล่อด้วยโลหะเนื้ออ่อนหรือเหล็กเปียก สวมลงในบัวหงายปลายปลีเรือนยอด  ๓.ยอดธาตุ ต่อจากชั้นโกศเป็นยอดธาตุรูปดอกบัวตูมหล่อจากทองแดง เรียวไปสู่สุดยอด ทำเป็นปม (เม็ดน้ำค้าง) มีรูสำหรับปักฉัตร

การต่อยอดพระธาตุขึ้นไปเช่นนี้ ทำให้ในเวลาต่อมา น้ำหนักยอดทับลงมาฐานล่างคือเรือนฐานทั้ง ๒ ชั้น จึงจำเป็นต้องเสริมน้ำหนักชั้นล่างให้แข็งแรง โดยการนำเอาอิฐอัดแน่นในคูหาเรือนธาตุจนเต็มแล้วก่ออิฐสอด้วยปูน ทราย และดินเหนียว ปิดให้คูหาเรือนธาตุตันเพื่อความมั่นคงแก่ตัวเรือนธาตุเบื้องล่าง  ขนาดของพระธาตุในขณะนั้น ฐานกว้าง ๒๖ เมตร เรือนธาตุชั้นที่ ๑ สูง ๘ เมตร ชั้นที่ ๒ สูง ๑๒ เมตร เรือนยอดอีก ๒๓ เมตร ฉัตร ๔ เมตร รวมเป็นความสูง ๔๗ เมตร

ครั้งที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐ ยอดฉัตรของพระธาตุพังทลายลง ในปี พ.ศ.๒๓๕๖ พระเจ้าอนุรุทราช (เจ้าอนุวงศ์) แห่งนครเวียงจันทน์ พร้อมด้วยพระบรมราชา (สุดตา) เจ้าเมืองนครพนม และพระยาจันทสุริยวงศา (กิ่ง) เจ้าเมืองมุกดาหาร ได้ซ่อมแซมและยกฉัตรขึ้นสู่ยอดพระธาตุเหมือนเดิม

ครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๔๔๔ มีพระธุดงค์กลุ่มหนึ่ง มีพระเถระองค์สำคัญหลายองค์ เช่น พระครูอุปัชฌาย์สรทา พระอาจารย์หนู (พระปัญญาวิศาลเถระ) พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์เสก เป็นต้น ได้เดินทางมาพักแรมในเขตวัดพระธาตุพนมที่ป่าสระพังโบราณ เห็นความทรุดโทรมขององค์พระธาตุ จึงมีความคิดที่จะปฏิสังขรณ์ จึงให้ทายกชาวธาตุพนมไปนิมนต์ท่านพระครูวิโรจนรัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งพระครูอุดรพิทักษ์คณะเดช เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง) ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่าง  พระครูวิโรจน์รัตนโนบล มาถึงวัดธาตุพนมในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้ายในปีเดียวกัน  ในคณะของพระครูวิโรจน์มีสามเณรซึ่งต่อมาเป็นช่างที่มีชื่อเสียงร่วมมาด้วย ๒ องค์ คือ สามเณรคำหมา แสงงาม (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ช่างแกะสลักปั้น ปี พ.ศ.๒๕๒๙) และสามเณรโพธิ ส่งศรี (ศิลปินคนสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ผู้ริเริ่มฟื้นฟูประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี)

การบูรณะเริ่มจากการชำระต้นโพธิ์ที่ขึ้นเกาะองค์พระธาตุออก ขูดไคลน้ำ กะเทาะปูนเก่าออกจากเรือนธาตุ ถึงบัวหงาย แล้วโบกปูนใหม่ ทาสีประดับกระจก กระเบื้องเคลือบในบางแห่ง ซ่อมกำแพงแก้วที่ชำรุด และบูรณะยอดพระธาตุโดยการแผ่แผ่นทองคำหุ้มปลียอดที่เป็นทองแดง และลงรักปิดทองคำเปลว  ที่ชั้นโกศประดับแก้วมณีต่างๆ ทองคำหนัก ๕๐ บาท เงินหนัก ๒๐๐ บาท ทองคำเปลว ๓ แสนแผ่น และแก้วประดับ ๑๒๐ หีบ

ครั้งสุดท้ายได้ทำการบูรณะองค์พระบรมเจดีย์ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๘๔ กรมศิลปากร ซึ่งขณะนั้นหลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดี ได้ทำการหล่อคอนกรีตเสริมเหล็กหุ้มองค์พระธาตุ ต่อเรือนยอดธาตุอีกตามแบบศิลปะไทย และประดับด้วยทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ตั้งแต่ฐานบัวเหลี่ยมขึ้นไปถึงคอระฆัง แล้วเสริมยอดขึ้นไปอีก ๑๐ เมตร  จนเป็นพระธาตุพนมองค์ใหม่ที่มีลักษณะฐานเรือนธาตุรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐสลักลวดลายงดงาม วัดโดยรอบได้ ๖๔.๒๐ เมตร ฐานล่างเรือนธาตุเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ๒ ชั้น ขนาดลดหลั่นกันไป เชื่อมด้วยบัวถลา ประดับด้วยแผ่นอิฐสีแดงจำหลักลวดลาย  รวมความสูงของเรือนธาตุทั้งสองชั้น ๒๐.๕๐เมตร  ต่อด้วยองค์ระฆังทรงดอกบัวเหลี่ยมสูง ๒๒.๗๐ เมตร ปลียอดสูง ๑๐.๑๐ เมตร  รวมความสูงจากพื้นดินถึงยอดพระธาตุ ๕๓.๔๐ เมตร  

ต่อมาองค์พระบรมธาตุพนมได้ทรุดและพังทลายลงเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชนชาวอีสานและชาวไทยทั่วประเทศต่างเศร้าสลดใจและอาลัยถึงพระธาตุพนมที่เคารพนับถือบูชามาหลายชั่วอายุคน
 



พระธาตุบัวบก วัดพระพุทธบาทบัวบก
ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี





มีบันทึกว่า ในปี พ.ศ.๒๔๔๔ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (ญาท่านดีโลด) แห่งวัดทุ่งศรีเมือง “ได้บูรณะพระธาตุพนม ครั้งที่ ๕ โดย ได้เริ่มบูรณะแต่เดือนด้าย ขึ้น ๑๔ ค่ำ จนถึงเดือน ๓ เพ็ญ ได้ฉลอง มีประชาชนหลั่งไหลมาจากจตุรทิศ...จนมืดฟ้ามัวดิน...”

ในบันทึกของหลวงพ่อโชติ อาภคฺโค ได้กล่าวถึงงานฉลองพระธาตุพนม ดังนี้
“ในงานมหามงคลวันนั้นท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นผู้แสดงธรรม น้ำเสียงของท่าน สำนวนภาษา อรรถาธิบาย อุปมาอุปมัย ความสงบ กิริยาท่าทาง ดำเนินไปเยี่ยงผู้เห็นภัยด้วยงดงามยิ่ง ไพเราะเพราะพริ้งเป็นที่ชื่นชมโสมนัส เลื่อมใสศรัทธา ประทับใจผู้ฟังเป็นอย่างมาก ข้อความที่ท่านยกขึ้นแสดงแต่ละอย่าง ก็ซึ้ง สมบูรณ์ด้วยเหตุผล จนผู้ฟังบังเกิดความเห็นคล้อยตามไปทุกอย่าง ไม่มีแม้เสียงเคลื่อนไหว แทบจะไม่หายใจ เงียบกริบ นั่งเป็นระเบียบฟังอย่างเป็นสมาธิ ไม่มีเสียงกระแอมกระไอแม้กระทั่งเขยื้อนตัว เป็นต้น

น้ำเสียงของท่านเป็นกังวานชัดเจน ในสมัยนั้น ถึงไม่มีเครื่องขยายเสียง แต่กระแสเสียงของท่านแม้จะพูดธรรมดาก็ได้ยินโดยทั่วเพราะความสงบเงียบนั่นเอง  นี่ละหนอ เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมท่ามกลางบริษัทมากๆ ต้องกินเนื้อที่กว้างไกล สมัยพุทธกาลก็ไม่มีเครื่องขยายเสียงทำไมคนจึงได้ยินโดยทั่วกัน  ก็คงเป็นเหมือนเช่นครั้งท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถรท่านแสดงธรรมทั่วพระธาตุพนมนั่นเอง เพราะอาศัยความเงียบ ความสำรวมของผู้ฟัง น้ำเสียงจึงแผ่ไปทั่วทุกอณูของสถานที่บริเวณอย่างชัดเจน ซึ่งต่างจากปัจจุบันนี้เป็นไหนๆ

การแสดงความเคารพเป็นกิจเบื้องแรกในบวรพุทธศาสนา ผู้ที่ขาดความอ่อนน้อม แข็งกระด้าง ก็อย่าหวังเลยว่าจะทำมรรคผลนิพพานให้เกิดขึ้นได้ ความเคารพนั้น แสดงออกได้ ๓ ทาง คือ กาย วาจา ใจ   

ก่อนฟังเทศน์ บริษัททั้งหลายสมาทานเอาไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งที่เคารrยึดถือ ต้องแสดงความเคารพอย่างสูงสุดหยุดนิ่ง  เมื่อครูอาจารย์ขึ้นเทศน์อบรม ถึงจะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเถระ พระเณร พระน้อย หรือเจ้าฟ้าเจ้าคุณก็ตาม เราจะต้องให้ความเคารพเสมอภาคกันหมด เพราะผู้เทศน์ผู้แสดงธรรมท่านเอาพระธรรมของพระพุทธเจ้ามาอบรมสั่งสอนเรา เมื่อเราแสดงออกซึ่งความไม่เคารพ คือไม่ตั้งใจสงบนิ่งด้วยกาย วาจา ใจ ซึ่งแสดงว่าเราไม่มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ที่เราอุตส่าห์สมาทานเอาเป็นสรณะแต่เบื้องแรก เมื่อเป็นเช่นนั้น การสมาทาน การฟังเทศน์ จะมีประโยชน์มีความหมายอะไร ไม่มีอานิสงส์แม้แต่น้อย สักแต่ว่าเป็นทุกขเวทนา เป็นบาปกรรมเปล่าๆ”

แม้ในบันทึกจะไม่ได้กล่าวถึงเนื้อหาของพระธรรมเทศนา ก็ได้บ่งบอกถึงบรรยากาศของการฟังเทศน์ของคนในสมัยนั้น ว่าเป็นไปด้วยความเคารพและความตั้งใจฟังอย่างแท้จริง





พระครูวิโรจน์รัตโนบล ผู้นำในการบูรณะพระธาตุพนม ในครั้งที่ ๕

ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโร) หรือ “พระครูดีโลด” เกิดวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๘ บ้านหมู่ที่ ๑ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี   ท่านอุปสมบทเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ ที่วัดป่าน้อย (วัดมณีวนาราม) เจ้าอธิการจันลา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์คำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นคือ การเรียนอักษรขอม อักษรธรรม อักษรไทยน้อย หนังสือไทย การคิดเลข จากท่านราชบรรเทา เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้เล่าเรียน ท่องบ่น สวดมนต์น้อย สวดมนต์กลาง ได้แก่ เจ็ดตำนาน สิบสองตำนานในปัจจุบัน สวดมนต์ปลาย ได้แก่ ปาฏิโมกข์ สัททสังคหสูตร เรียนมูลกัจจายน์ และเรียนวิชาช่างศิลป์ (ช่างปั้น เขียน แกะสลัก จากอาจารย์ชื่อ ราชบรรเทาอีกด้วย

หลังจากอุปสมบทระยะหนึ่ง ก็ย้ายไปอยู่ที่วัดทุ่งศรีเมือง ต่อมาเมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพ ท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง สืบมา


ขอขอบคุณข้อมูล : เว็บไซต์ธาตุพนมดอทคอม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 สิงหาคม 2560 16:15:14 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 21 สิงหาคม 2560 16:25:58 »



พระธาตุพนม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒
ภาพถ่ายโดย ชาวฝรั่งเศส

แสงประหลาดที่พระธาตุพนม

พระธาตุพนมในสมัยก่อน ประชาชนแถวนั้นคงไม่รู้ถึงความสำคัญ จึงไม่มีใครสนใจเท่าใดนัก เมื่อคณะของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล ได้มาพำนักจำพรรษา จึงได้เปิดเผยความลี้ลับและความศักดิ์สิทธิ์  ประชาชนและทางบ้านเมืองจึงได้ตื่นตัว ต่อมาได้มีการบูรณะขึ้นมาจนกลายเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญของภาคอีสาน และของประเทศไทยในปัจจุบัน

จึงนับได้ว่าการมาพำนักของหลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล  หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต  พระปัญญาพิศาลเถร (หลวงปู่หนู ฐิตปญฺโญ) และคณะ ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ จึงถือเป็นคุณมหาศาล ที่ทำให้ชนรุ่งหลังได้พระธาตุพนม สถานศักดิ์สิทธิ์เพื่อการกราบไหว้มาจนทุกวันนี้

ในบันทึกของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร  ที่ได้ฟังจากปากของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ บันทึกไว้ดังนี้

“ท่านเล่าไปเคี้ยวหมากไปอย่างอารมณ์ดีว่า ขณะนั้นพระธาตุพนมไม่มีใครเหลียวแลดอก มีแต่เถาวัลย์นานาชนิดปกคลุมจนมิดเหลือแต่ยอด ต้นไม้รกรุงรังไปหมด

ทั้งสาม ศิษย์อาจารย์ก็พากันพักอยู่ที่นั่นเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ขณะที่ท่านอยู่กันนั้น พอตกเวลากลางคืนประมาณ ๔-๕ ทุ่ม จะปรากฏมีแสงสีเขียววงกลมเท่ากับลูกมะพร้าว และมีรัศมีสว่างเป็นทางผุดออกจากยอดพระเจดีย์ แล้วก็ลอยห่างออกไปจนสุดสายตา และเมื่อถึงเวลาก่อนจะแจ้ง ตี ๓-๔ แสงนั้นจะลอยกลับเข้ามาจนถึงองค์พระเจดีย์ แล้วก็หายวับเข้าองค์พระเจดีย์ไป

ทั้งสามองค์ ศิษย์อาจารย์ได้เห็นเป็นประจักษ์เช่นนั้นทุกๆ วัน  ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร จึงพูดว่าที่พระเจดีย์นี้ต้องมีพระบรมสารีริกธาตุอย่างแน่นอน”

ในบันทึกของหลวงพ่อโชติ อาภคฺโค เล่าถึงเหตุการณ์เดียวกัน

“นับแต่วันแรกของการอธิษฐานเข้าพรรษา พระอาจารย์เสาร์ได้เห็นแสงฉัพพรรณรังสี พวยพุ่งออกมาจากองค์พระธาตุในระยะหัวค่ำ ครั้นพอจวนสว่างก็ปรากฏแสงสีต่างๆ ลอยพวงพุ่งเข้าสู่องค์พระธาตุเหมือนเดิม

ปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาดนั้น ปรากฏขึ้นโดยตลอดจนออกพรรษา

ท่านพระอาจารย์เสาร์ท่านเชื่อแน่ว่า พระธาตุนี้บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย”

ท่านอาจารย์พิศิษฐ์ ไสยสมบัติ ได้ไปเสาะหาข้อมูลในภายหลังได้บันทึกไว้ดังนี้ :-

“เรื่องแสงประหลาดลอยออกจากพระธาตุฯ มีผู้รู้เห็นกันมากมาย เรื่องนี้มีการเล่าขานสู่กันฟังในหมู่ลูกหลานชาวเมืองพนม (ชาวธาตุพนม) ว่า ตกมื้อสรรวันดี ยามค่ำคืนกะสิมีแสงคือลูกไฟลอยจากพระธาตุให้ไทบ้านไทเมืองพนมได้เห็นกันทั่ว

ข้าพเจ้าได้สอบถามจากคุณเฉลิม ตั้งไพบูลย์ เจ้าของร้านเจียบเซ้ง จำหน่ายยารักษาโรค ผู้ตั้งรกรากอยู่ที่ถนนกุศลรัษฎากร อันเป็นถนนจากท่าน้ำตรงไปยังวัดพระธาตุพนม ท่านเล่าให้ฟังว่า

สมัยก่อนนั้น (เมื่อ ๔๐ ปีย้อนหลัง) ท่านยังได้เห็นแสงจากองค์พระธาตุอยู่บ่อยๆ คือตอนกลางคืนราว ๓-๔ ทุ่ม จะมีแสงสว่างคล้ายหลอดไฟ ๖๐ แรงเทียน เป็นทรงกลมเท่าผลส้ม ลอยออกจากองค์พระธาตุฯ ในระดับสูงเท่ายอดมะพร้าว (๔๐-๕๐ เมตร) ลอยขนานกับพื้นในระดับความเร็วกว่าคนวิ่ง พุ่งไปทางทิศตะวันออก ผ่านหลังคาบ้านของท่าน... แล้วลอยข้ามโขง (แม่น้ำโขง) ไปจนลับสายตา... พอตกดึกจวนสว่างก็จะลอยกลับมาในแนวเดิม แล้วลับหายเข้าสู่องค์พระธาตุฯ เหมือนเดิม ผู้คนแถวนี้ได้เคยเห็นกันอยู่บ่อยๆ ปัจจุบันนี้ไม่มีปรากฏให้เห็นอีก”

หลวงปุ่มั่น ภูริทตฺโต ได้พูดถึงการบำเพ็ญสมณธรรมที่พระธาตุพนมในครั้งนั้นว่า “การพักอยู่ในบริเวณของพระธาตุพนมนี้ทำให้จิตใจเบิกบานมาก และทำให้เกิดอนุสรณ์รำลึกถึงพระพุทธเจ้าได้อย่างดียิ่ง”

จากบันทึกของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ตามคำบอกเล่าของหลวงปู่มั่น เกี่ยวกับการเริ่มต้นบูรณะพระธาตุพนม มีว่า :-  “ดังนั้น ท่าน (หลวงปู่ใหญ่เสาร์) จึงได้ชักชวนญาติโยมทั้งหลายในละแวกนั้น ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือนและส่วนมากก็เป็นชาวนา ได้มาช่วยกันถากถางทำความสะอาดบริเวณองค์พระเจดีย์นั้น ได้พาญาติโยมทำอยู่เช่นนี้ ๓ เดือนเศษ จึงค่อยสะอาดเป็นที่เจริญหูเจริญตามาตราบเท่าทุกวันนี้

เมื่อญาติโยมทำความสะอาดเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์ก็พาญาติโยมในละแวกนั้นมาทำมาฆบูชา ซึ่งขณะนั้นผู้คนแถวนั้นยังไม่รู้ถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด ทำให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างจริงจัง จนได้ชักชวนกันมารักษาอุโบสถ ฝึกหัดกรรมฐานทำสมาธิกับท่านอาจารย์จนได้ประสบผลตามสมควร”

บันทึกของหลวงพ่อวิริยังค์มีต่อไปว่า “...จากนั้นท่านทั้งสามก็ได้ออกเดินทางจาริกต่อไป และแสวงหาความสงบตามป่าดงพงพีไปเรื่อยๆ โดยมุ่งหวังเพื่อบรรลุธรรม แต่ก็ยังไม่สมความตั้งใจไว้   ต่อมา พระอาจารย์เสาร์ ก็พากลับจังหวัดอุบลราชธานีอันเป็นถิ่นเดิมของท่าน”

ในบันทึกของหลวงพ่อโชติ อาภคฺโค มีดังนี้ :-

“ท่านพระอาจารย์เสาร์ จึงได้ข่าวประกาศให้ญาติโยมจังหวัดนครพนมได้ทราบว่า พระธาตุพนมนี้เป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพระธาตุที่บรรจุอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า ขอให้ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายช่วยกันถากถาง ทำความสะอาดบริเวณพระธาตุ แล้วทำบุญอุทิศถวายกุศลแด่พระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาของเรา

เมื่อชาวบ้านชาวเมืองได้รู้เช่นนั้นแล้ว ก็พากันบังเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เอิกเกริกโกลาหลกันเป็นการใหญ่

ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๓ ท่านพระอาจารย์ ก็พาญาติโยมทั้งหลายทำบุญ อันมีพระอาจารย์มั่น และท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร รวมอยู่ด้วย จนเป็นประเพณีสืบๆ ต่อกันมามิได้ขาด จนกระทั่งบัดนี้”

หลวงพ่อโชติ อาภคฺโค ได้เปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปมัยในการค้นพบพระธาตุพนม ของหลวงปู่ใหญ่เสาร์และคณะศิษย์ ดังนี้ :- “เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๓ หลังจากที่ชาวเมืองนครพนมจมอยู่ในความมืดบอดเป็นเวลานาน ปล่อยให้พระธาตุเป็นป่ารกทึบ และแล้วพระอาจารย์เสาร์ ท่านพระอาจารย์มั่น และท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถรได้นำเอาแสงสว่างดวงประทีปธรรมของพระพุทธองค์ ส่องทางให้ได้เห็นหนทางแห่งการปฏิบัติธรรมเป็นเครื่องดำเนินต่อไป”

หลวงปู่ใหญ่เสาร์ ได้เล่าให้ หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส ศิษย์อุปัฏฐากฟังว่า ทีแรก ชาวเมืองได้ขอให้หลวงปู่ใหญ่เป็นผู้บูรณะ แต่ท่านบอกว่า “เราไม่ใช่เจ้าของ เดี๋ยวเจ้าของผู้ซ่อมแซมจะมาทำเอง” 

และเจ้าของที่หลวงปู่ใหญ่พูดไว้ก็คือ พระครูวิโรจน์รัตนโนบล หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ท่านพระครูดีโลด นั่นเอง


ที่มา : site thatphanom.com







โปรดติดตามตอนต่อไป
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ความงดงาม ปาฏิหาริย์ บารมีองค์ 'พระธาตุพนม'
กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
มดเอ๊ก 1 2618 กระทู้ล่าสุด 08 สิงหาคม 2559 17:12:27
โดย มดเอ๊ก
รู้จัก พญาศรีสัตตนาคราช ที่มาของแลนด์มาร์กแห่งใหม่ นครพนม หลวงปู่คำพันธ์เล่าไว้
ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
มดเอ๊ก 1 4067 กระทู้ล่าสุด 07 ตุลาคม 2559 23:47:52
โดย มดเอ๊ก
เยือน วัดโอกาส (ศรีบัวบาน) อ.เมือง จ.นครพนม
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 2303 กระทู้ล่าสุด 02 เมษายน 2560 18:04:45
โดย Kimleng
หลวงปู่พรหมา โชติโก วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1168 กระทู้ล่าสุด 15 ตุลาคม 2560 11:35:59
โดย ใบบุญ
หลวงปู่บัว เตมิโย วัดหลักศิลามงคล ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1116 กระทู้ล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2560 11:45:15
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.459 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้