[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 05:10:13 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 2 [3]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (อ่าน 11037 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #40 เมื่อ: 10 กรกฎาคม 2561 16:32:30 »


เดือนสิบ
การเฉลิมพระชนมพรรษา (ต่อ)

การพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนมพรรษามากขึ้นบ้างตามปีที่ผิดปรกติ น้อยลงบ้างตามปีที่เป็นปรกติ แต่คงนับว่าค่อยทวีขึ้นตามลำดับเป็นตอนๆ จนกว่าจะคงรูปเช่นทำอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็หลายคราวที่เปลี่ยนผลัดยักเยื้องกันไป จะต้องกล่าวแต่ปีซึ่งเป็นปรกติ เป็นท้องเรื่อง การเฉลิมพระชนมพรรษา มีชื่อปรากฏเป็นสองตอน คือฉลองอย่าง ๑ เฉลิมอย่าง ๑ คำที่เรียกว่าฉลองนั้น คือฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ซึ่งมีมาแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้สมโภชในวันสวดมนต์ถือน้ำเดือน ๕ และวันสรงน้ำสงกรานต์เป็นการฉลอง ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกการฉลองพระชนมพรรษามาทำในเดือน ๑๑ การฉลองพระชนมพรรษาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าดูตามจำนวนพระสงฆ์ที่สวดมนต์ และที่ทำการในท้องพระโรง อยู่ข้างเป็นการใหญ่กว่าเฉลิมพระชนมพรรษา ยกเสียแต่ปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ การที่เป็นเช่นนั้นก็จะเป็นด้วยแต่เดิมเมื่อแรกจะทรงทำนั้น ทรงเห็นว่าวันตามทางจันทรคตินับบรรจบรอบอย่างไทยๆ นั้น เข้าใจง่ายทั่วกัน การพระราชกุศล เช่นวันประสูติ วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๓ พระองค์ที่ล่วงแล้ว และการพระราชพิธีฉัตรมงคลก็ทำอยู่ตามจันทรคติ แต่ส่วนที่จะทำการเฉลิมพระชนมพรรษานั้น เคยทรงมาแต่ก่อนตามสุริยคติ และโปรดว่าต้องกันกับทางคำนวณอย่างที่ใช้ในประเทศยุโรปด้วย ถ้าในเวลาแรก จะกำหนดการเฉลิมพระชนมพรรษาตามสุริยคติ ผู้ซึ่งทราบวิชาโหรอยู่ก็จะเข้าใจ ผู้ซึ่งไม่ทราบก็จะบ่นสงสัยไปต่างๆ เห็นเป็นเลื่อนไปเลื่อนมา เพราะนับเชื่อทางจันทร์เสียซึบซาบแล้ว จึงได้โปรดให้ยกการฉลองพระชนมพรรษามาฉลองในวันพระชนมายุบรรจบรอบตามทางจันทรคติ เป็นการออกหน้าออกตา การเฉลิมพระชนมพรรษาตามสุริยคติ ไว้ทำเป็นการลับๆ ซ่อนๆ ไม่ต้องบอกเล่าให้ผู้ใดรู้ ภายหลังเมื่อเกิดทำบุญซายิดขึ้นแรกๆ ก็ทำกันไปอย่างไทยๆ ทางจันทรคติ เมื่อทรงทราบทรงอดไม่ได้ จึงได้แนะนำให้ทำตามสุริยคติ ข้าพเจ้าเคยได้เคยได้ยินเองเนืองๆ เมื่อจวนผู้ใดจะทำบุญวันเกิด เห็นเคยเข้ามากราบทูล ทรงคำนวณวันพระราชทานบ่อยๆ เพราะการที่นับวันฝรั่งนั้น อยู่ข้างจะไม่มีใครทราบเหมือนทุกวันนี้ ต่อปลายๆ ลงมาเรื่องนับวันอย่างฝรั่งค่อยเข้าใจกันขึ้น จึงได้รับสั่งบอกสมเด็จเจ้าพระยาเป็นต้น ว่าเมื่อถึงวันเท่านั้นเดือนฝรั่งแล้วเป็นวันเกิด  สมเด็จเจ้าพระยาเองยังได้เคยชี้แจงบอกเล่าแก่ข้าพเจ้าว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า วันเกิดตามสุริยคตินั้น ตรงกันกับวันฝรั่งทีเดียว ถ้าคำนวณวันเกิดแรกนั้นให้รู้เสียว่าเป็นวันที่เท่าใดของฝรั่งแล้ว เมื่อถึงบรรจบปีคำนวณอย่างไทยเข้าดู คงโดนกันเปรี้ยงทีเดียว คำสมเด็จเจ้าพระยาซึ่งข้าพเจ้ายกมากล่าวในที่นี้ ถ้าคนทุกวันนี้ฟังก็จะเห็นว่าจืดเต็มที แต่ที่แท้ในเวลานั้นไม่จืดเลย กำลังเข้มงวดเป็นวิชาลับอย่างหนึ่งซึ่งขยับจะปิดกันด้วย การที่โจษกันขึ้นนี้ เพราะเรื่องวันเกิดข้าพเจ้า เมื่อคำนวณตามอย่างโหราศาสตร์ไทยๆ มักจะไปบรรจบรอบในวันที่ ๒๐ เวลาเที่ยงคืนแล้วเนืองๆ แต่วันกำหนดซึ่งลงไว้ในประดิทินหมอบรัดเลเป็นต้น ว่าเป็นวันที่ ๒๑ เดือนเสปเตมเบอ เคลื่อนจากวันที่ข้าพเจ้าเกิดจริงๆ วันหนึ่ง แต่เพราะเวลาที่บรรจบรอบนั้น มักจะล่วงเที่ยงคืนไปแล้ว การอะไรต่างๆ มีสรงมุรธาภิเษกเป็นต้น ข้าพเจ้าจึงให้เลื่อนไปไว้วันที่ ๒๑ เพื่อจะให้เป็นเวลากลางวันพรักพร้อมกัน และจะไม่ให้ต้องเป็นข้อทุ่มเถียงกันกับฝรั่ง ซึ่งได้ทราบมาเสียนานแล้ว ว่าเกิดวันที่ ๒๑ สมเด็จเจ้าพระยาท่านเข้าใจว่าเกิดวันที่ ๒๑ ครั้นเมื่อท่านทราบว่าโหรคำนวณตกในวันที่ ๒๐ จึงได้เกิดเถียงกันขึ้น ยกคำที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ารับสั่งนี้มาเล่า เพราะท่านเป็นผู้รับหน้าที่คำนวณวันเกิดให้ใครๆ มีท่านเจ้าพระยาภูธราภัยเป็นต้น แทนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ที่แท้ท่านไม่ได้คำนวณอย่างไทย ท่านนับวันอย่างฝรั่งเช่นนี้ ในเวลานั้นเป็นวิชาลับที่ไม่มีผู้ใดทราบก็เข้าใจกันว่าคำนวณอย่างไทย จึงได้เกิดเถียงกันขึ้นกับโหร จนได้ทราบความจริงในการที่ผิดไปเพราะวันเกิดของข้าพเจ้า ดังเช่นกล่าวมาแล้ว

เพราะการที่จะคำนวณวันเกิดตามสุริยคติมีผู้ทราบน้อยเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงทำการเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นการข้างใน ฉลองพระชนมพรรษาเป็นการข้างหน้าแต่เรียกว่าฉลองพระชนมพรรษา เพราะฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา การฉลองพระชนมพรรษาแต่ก่อน ทำที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระพุทธรูปพระชนมพรรษาปีเก่าๆ ตั้งบนพระที่นั่งเศวตฉัตร แต่องค์ที่หล่อใหม่นั้น ตั้งบนพานทองสองชั้น แล้วตั้งบนโต๊ะจีน อยู่ตรงหน้าพระแกล ตรงพระที่นั่งบรมพิมานลงมาที่พระแท่นถม (เดิมตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม หน้าพระที่นั่งเศวตฉัตร) ตั้งเทียนบูชาเท่าองค์พระพุทธรูป ใช้เทียนเล่มละสองสลึงติดเชิงเทียนแก้ว ธูปใช้ธูปกระแจะ พระสงฆ์นั่งมุขเหนือ ประทับข้างมุขใต้ พระสงฆ์ใช้เท่าพระพุทธรูป สวดมนต์เย็นฉันเช้า แล้วถวายเทศนามงคลวิเศษเวลาค่ำกัณฑ์หนึ่ง มีดอกไม้เพลิงด้วยทั้งสองคืน การฉลองพระชนมพรรษา เป็นการแทนมหาชาติที่เคยมีมาแต่ก่อน

ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ในคราวแรกการเฉลิมพระชนมพรรษา กับการฉลองพระชนมพรรษาวันใกล้กัน จึงได้ฉลองที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วงานเฉลิมพระชนมพรรษาต่อไป ครั้นภายหลังงานเฉลิมพระชนมพรรษาใหญ่ขึ้นตามลำดับ เมื่องานฉลองพระชนมพรรษา มีกำหนดวันห่างกับเฉลิมพระชนมพรรษาจะออกไปทำท้องพระโรงอย่างแต่ก่อน ก็จะเป็นงานใหญ่สองงานใกล้กันไป จึงได้ย้ายเข้ามาทำเสียที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ใช้บุษบกดอกไม้ที่ตั้งสมโภชในวันสวดมนต์ถือน้ำเดือนห้า มาตั้งพระพุทธรูปปีที่ล่วงมาแล้ว องค์ที่หล่อใหม่แยกไปตั้งโต๊ะหมู่ไว้ต่างหากเหมือนอย่างที่ตั้งโต๊ะจีนแต่ก่อน เทียนนมัสการเท่าองค์พระพุทธรูป ปักเชิงแก้วเหมือนอย่างแต่ก่อน เว้นแต่ใช้เล่มยาวขึ้นสองเท่า เพื่อจะให้ทนอยู่ได้ตลอดเวลาสวดมนต์ ใช้ตั้งรายตามฐานบุษบก แต่ธูปนั้นเปลี่ยนเป็นธูปจีน ก่อนเวลาที่สวดมนต์ มีพระสุหร่ายทรงประพรมน้ำหอม และทรงเจิมพระพุทธรูปด้วย พระที่หล่อใหม่ทรงห่มแพรสีทับทิมขึ้นไหม ที่หน้าบุษบกพระพุทธรูปตั้งพระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ คล้ายกันกับเฉลิมพระชนมพรรษา พระสงฆ์ที่สวดพระพุทธมนต์ในรัชกาลก่อน ใช้พระราชาคณะพระครูเปรียญต่างวัด แต่ในรัชกาลปัจจุบันนี้ใช้พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญจนอันดับวัดราชบพิธสิ้นทั้งวัด ถ้าปีใดไม่พอ ก็ใช้พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เพิ่มเติมเท่าจำนวนพระพุทธรูป ของไทยทานที่ถวายในเวลาค่ำนั้น บางทีก็มีไตรสลับแพรบ้าง ไตรผ้าบ้าง ย่ามโหมดเทศ ที่มีพัดบ้างก็มีในคราวแรกฉลอง ทรงถวายไตรพระสงฆ์ห่มผ้าแล้วจึงได้สวดพระพุทธมนต์ สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรและเจ็ดตำนาน กำหนดการฉลองพระชนมพรรษานั้น คงจะอยู่ในวันเดือนสิบแรมสามค่ำ สวดพระพุทธมนต์ แรมสี่ค่ำฉัน เว้นแต่บางปีดิถีเคลื่อนจึงได้เลื่อนสวดมนต์ไปแรมสี่ค่ำ ห้าค่ำฉันบ้าง สวดมนต์จบแล้วจุดดอกไม้เพลิง มีพุ่มกระถางระทาฝนแสนห่า สหัสธารา ตู้พ้อม เวลาเช้าเลี้ยงพระ มีของไทยทานที่เป็นส่วนของหลวง และส่วนที่มีผู้ถวายช่วยในการพระราชกุศล เท่าจำนวนพระชนมายุบ้าง แต่ไม่มีกำหนดแน่ว่ามากน้อยเท่าใด บางทีก็ฝันกันไปเสียอย่างไร รอไว้ถวายต่อเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งมักจะอยู่ภายหลังฉลองพระชนมพรรษาโดยปรกตินั้นก็มี เพราะฉะนั้นเครื่องไทยทาน จึงขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่ ตามแต่จะมีผู้ถวายมากและน้อย และสิ่งของนั้นบางทีก็ซ้ำกันหลายๆ สิ่ง เช่นโคมสามใบสี่ใบเป็นต้น เพราะทรงพระราชอุทิศไว้ว่า ผู้ใดถวายของคำรบพระชนมพรรษา ทันกำหนดการฉลองพระพุทธรูปนี้แล้ว ก็ให้ใช้เป็นเครื่องไทยทานในการฉลองพระนี้ทั้งสิ้น เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้วถวายยถา มีสวด ยัสมี ปเทเส กัป์เปติ และยานี คาถารัตนสูตร ดับเทียนครอบพระกริ่งเหมือนการฉัตรมงคลวันกลาง แล้วทรงปล่อยสัตว์ สุ่นภริยาพระยาโชฎึกราชเศรษฐี[] เป็นผู้จัด พระราชทานเงินเป็นราคาปีละร้อยบาท เวลาบ่ายเจ้าพนักงานตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชพระพุทธรูป ครั้นเวลาพลบค่ำสรงมุรธาภิเษกในที่พระบรรทม ไม่ได้ประโคมพิณพาทย์ แล้วสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายเทศนามงคลวิเศษต่างๆ เหมือนอย่างในรัชกาลที่ ๔ มีดอกไม้เพลิงอีกคืนหนึ่ง เป็นเสร็จการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา

การเฉลิมพระชนมพรรษา ที่มีกำหนดงานอยู่เป็นปรกตินั้น เป็นสี่วันบ้าง ห้าวันบ้าง คือวันที่ ๑๙ เดือนกันยายน เป็นวันเริ่มสวดพระพุทธมนต์สะเดาะพระเคราะห์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันที่ ๒๐ เวลาเช้าพระสงฆ์ฉัน เวลาค่ำพระสงฆ์ธรรมยุติกาสวดมนต์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ ๒๑ เวลาเช้าฉันแล้วสรงพระมุรธาภิเษก เวลาเที่ยงพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการถวายชัยมงคล ถ้าปีที่เป็นปรกติไม่มีการไว้ทุกข์ในราชตระกูล มีการเลี้ยงโต๊ะในเวลาค่ำ ก็งดสวดมนต์ ไว้ต่อวันที่ ๒๒ พระสงฆ์มหานิกายจึงได้สวดมนต์ที่ท้องพระโรง วันที่ ๒๓ เช้าฉัน แล้วจึงได้มีเทศนาต่อไปอีก ๔ กัณฑ์ ถ้าเช่นนี้งานเป็น ๕ วัน ถ้าไม่มีเลี้ยงโต๊ะ พระสงฆ์มหานิกายสวดมนต์ ในวันที่ ๒๑ วันที่ ๒๒ ฉัน งานก็เป็น ๔ วัน แต่การเทศนานั้นไม่แน่ บางเวลามีพระราชกิจอื่นหรือไม่ทรงสบาย ก็เลื่อนวันไปจนพ้นงานก็มี สวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๓ วัน มักจะเริ่มในวันที่ ๑๙, ๒๐, ๒๑ บางปีเลื่อนไปวันที่ ๒๐, ๒๑, ๒๒, การที่เลื่อนไปเลื่อนมามักจะเป็นด้วยการเฉลิมพระชนมพรรษากระชั้นกันกับฉลองพระชนมพรรษานั้นอย่างหนึ่ง กระชั้นพระราชพิธีถือน้ำสารทอย่างหนึ่ง เป็นปีเปลี่ยนทักษา ซึ่งต้องสรงพระมุรธาภิเษก ตรงกำหนดเวลาเต็มนั้นอย่างหนึ่ง จึงจะกำหนดเอาแน่ทีเดียวนักไม่ได้ จำจะต้องฟังหมายสงกรานต์ หรือหมายที่ลงในราชกิจจานุเบกษาตามปีเป็นประมาณด้วย

สวดมนต์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
๏ การสวดมนต์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เกิดขึ้นด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพต่อพระมหามณีรัตนปฏิมากรเป็นอย่างยิ่ง ถ้าการพระราชพิธีใหญ่ๆ อันใดเช่นบรมราชาภิเษก โสกันต์เขาไกรลาส ก็โปรดให้ล่ามสายสิญจน์มาแต่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึงพระแท่นมณฑลด้วย เหมือนอย่างพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ด้วยแต่ก่อนมาพระมหามณีรัตนปฏิมากร เคยเชิญมาตั้งในพระแท่นมณฑลด้วยทุกครั้ง พึ่งเลิกเสีย เมื่อเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระเบญจาสูงตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในการเฉลิมพระชนมพรรษานี้ ก็นับว่าเป็นการใหญ่ ถึงว่าจะล่ามสายสิญจน์มาก็ยังเป็นการสมควรที่จะทรงสักการบูชาพระมหามณีรัตนปฏิมากรในเวลาที่เป็นมหาสมัยมงคลการนั้น จึงได้โปรดให้มีเทียนพระมหามงคลและเทียนเท่าพระองค์ด้วยสำรับหนึ่ง มีพระสงฆ์สวดมนต์วันละห้ารูปเปลี่ยนทั้งสามวัน เป็นสามสำรับ ตามในบริเวณพระอุโบสถ หลังพนักกำแพงแก้วตั้งโคมรายรอบ แต่ครั้นมาถึงในแผ่นดินปัจจุบันนี้ มีการตกแต่งศาลาราย และกำแพงแก้วพระพุทธปรางค์ปราสาท พระศรีรัตนเจดีย์เพิ่มเติมขึ้นอีก ในพระอุโบสถก็จุดเทียนรายจงกลตามชั้นบุษบก และมีเทียนเถาเล่มใหญ่ๆ จุดที่ตรงหน้าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ข้างละเจ็ดเล่มด้วย ตรงพระทวารกลางขึ้นไป ตั้งเสากิ่งจงกลบูชาเทวดานพเคราะห์เก้าต้น มีรูปเทวดาปักประจำทุกต้น มีเทียน ธูป ดอกไม้ ฉัตร ธง ตามสีและตามกำลังของเทวดานั้นๆ เมื่อเสด็จออกทรงถวายไตรย่ามพระสงฆ์ที่มาคอยสวดมนต์รับออกไปครองผ้าแล้ว ทรงจุดเทียนพระมหามงคล และเทียนเท่าพระองค์ เทียนพานตามหน้าพระแล้วเสร็จ พอพระสงฆ์กลับเข้านั่งที่พร้อมจึงได้ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ สังฆการีว่าวิปัตติทีเดียวไม่ต้องทรงศีล แล้วเสร็จทรงจุดเทียนธูปตามจงกลบูชาเทวดานพเคราะห์ เจ้ากรมปลัดกรมโหรว่าบูชาเทวดาด้วยภาษาโหรและแปลเป็นภาษาไทยตามลำดับที่เวียนของพระเคราะห์นั้นๆ ไม่ได้ประทับอยู่จนเวลาสวดมนต์จบ ด้วยมีการพระราชกุศลอยู่ข้างใน การที่เสด็จพระราชดำเนินวัดพระศรีรัตนศาสดารามเช่นนี้ เหมือนกันทั้งสามวัน แต่เวลาเช้าไม่ได้เลี้ยงพระ รอไว้มาฉันต่อวันพระสงฆ์มหานิกายฉัน ในวันที่ ๒๒ และ ๒๓ และได้รับของไทยทาน เหมือนกับพระสงฆ์มหานิกายที่สวดมนต์ในท้องพระโรง ๚

สวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์
๏ การสวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์นี้ พึ่งมาเกิดขึ้นเมื่อปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐ ซึ่งเป็นปีเปลี่ยนทักษา พระเสาร์รักษาพระชนมายุ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่จะต้องมีโหรบูชารับส่งตามแบบแต่ก่อน การเฉลิมพระชนมพรรษา ตั้งแต่ปีมะแม ตรีศก ๑๒๓๓ มา ทรงบำเพ็ญแต่พระราชกุศลอย่างเดียว มิได้มีการบูชาเทวดาหรือบูชาพระเคราะห์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเกี่ยวข้องกับโหรเลย เพราะทรงทำตามอย่างที่เคยทรงมาแต่เมื่อยังทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ เป็นการในพระพุทธศาสนาแท้ ครั้นเมื่อถึงกำหนดที่จะเปลี่ยนทักษาไปเข้าแบบอย่างพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ที่เมื่อถึงกำหนดเช่นนี้ต้องทำการรับส่งอย่างไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นราชประเพณีมีมามิได้ขาด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ จึงได้ทรงจัดการตามแบบอย่างแต่ก่อน คือจะให้มีโหรบูชาสะเดาะพระเคราะห์รับส่งด้วย แต่ท่านไปทรงคิดตำราบูชาขึ้นใหม่ให้ดีกว่าที่โหรทำเหลวๆ มาแต่ก่อน คือให้มีการสวดมนต์แทรกด้วยในระหว่างบูชาเทวดา นับเป็นธรรมพลี แต่ก่อนๆ ก็เห็นจะมีตำราทำมา แต่ข้าพเจ้าไม่เคยทำและไม่ได้เคยเห็น เป็นแต่ได้ยินเล่า เขาจัดคาถาต่างๆ ตามองค์เทวดา ว่าเทวดาองค์นั้นเสวยอายุ ให้สวดคาถาอย่างนั้นกี่จบตามกำลังวัน คือพระอาทิตย์สวด อุเทตยัญจักขุมา ๖ จบ พระจันทร์สวดยันทุนนิมิตตัง ๑๕ จบ พระอังคารให้สวดยัสสานุภาวโตยักขา ๘ จบ พระพุธให้สวดสัพพาสีวิสชาตินัง ๑๗ จบ พระเสาร์ให้สวดยโตหัง ๑๐ จบ พระพฤหัสบดีให้สวด ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง โมรโยนิยัง ๑๙ จบ พระราหูให้สวด กินนุสันตรมาโนว ๑๒ จบ พระศุกร์ให้สวดอัปปสันเนหินาถัสส ๒๑ จบ พระเกตุให้สวดชยันโต ๙ จบ จะสวดสลับกับโหรหรือสวดคนละทีอย่างไรก็ไม่ทราบเลย แต่ท่านทรงเห็นว่าโคมแท้ จึงได้ไปปรึกษาเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดราชประดิษฐ์ จัดพระสูตรที่มีกำหนดนับได้ ตรงกันกับกำลังเทวดา เช่นอริยมรรคแปดตรงกับพระอังคารเป็นต้น ถ้าที่ไม่ครบ ก็ใช้สองสูตรสามสูตร พอให้บรรจบครบจำนวนกำลังวัน จัดเป็นส่วนของเทวดาองค์นั้นๆ ตามลำดับ คือพระอาทิตย์สวดอนุตตริย ๖ พระจันทร์สวดจรณ ๑๕ พระอังคารสวดอัฏฐังคิกมรรค ๘ พระพุธสวดพละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ รวม ๑๗ พระเสาร์สวดทศพลญาณ ๑๐ พระพฤหัสบดีสวดทสสัญญา ๑๐ อนุบุพวิหาร ๙ รวม ๑๙ พระราหูสวดสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ รวม ๑๒ พระศุกร์สวดอริยทรัพย์ ๗ สัปปุริสธรรม ๗ สัมมาสมาธิปริกขาร ๗ รวม ๒๑ พระเกตุสวดอาฆาตวัตถุ ๙ มีคาถาแผ่ส่วนบุญและให้พรเจ้าของงานผู้ที่บูชา แทรกสลับไปทุกหมวด ถ้อยคำที่โหรจะบูชานั้นก็แต่งใหม่ ให้เป็นภาษามคธดีขึ้นกว่าภาษาโหรเดิม ที่เป็นคำไทยก็ใช้เรียงเป็นคำร่าย โหรเริ่มบูชาไหว้ครูและบูชานพเคราะห์ทั่วกันก่อน แล้วพระสงฆ์เริ่มสวดมนต์ตั้งแต่นโมไปจนจบคาถาที่สำหรับสวดก่อนสูตรต่างๆ แล้วหยุดไว้ โหรจึงบูชาเทวดารายองค์ ตั้งแต่อาทิตย์เป็นต้นไป ว่าภาษามคธเป็นทำนองสรภัญญะแล้วว่าภาษาไทยแปล เชิญเทพดาองค์นั้นกับทั้งบริวารให้รับอามิสพลีธรรมพลี และให้ป้องกันรักษาเจ้าของงานผู้ทำ พอจบองค์หนึ่งหยุดไว้ พระสงฆ์สวดสูตรต่างๆ สลับกันไปทุกๆ องค์เทวดา เมื่อหมดแล้วโหรจึงได้ว่าคำอธิษฐาน และคำให้พรรวบท้ายอีกครั้งหนึ่ง พระสงฆ์ก็สวดคาถาให้พรรวบท้าย แล้วสวดคาถาเมตตสูตร ขันธปริตร และท้ายสวดมนต์จึงเป็นอันจบ อยู่ใน ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง วิธีที่สวดเช่นนี้ กรมสมเด็จท่านทรงทำที่วังมาช้านานแล้ว ครั้นเมื่อถึงปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐ เป็นเวลาที่จะต้องทำการบูชาเทวดา สะเดาะเคราะห์ตามแบบอย่างเก่า ท่านจึงได้นำแบบใหม่นี้มาแก้ไขตกแต่งถ้อยคำให้ต้องกันกับการหลวง มาขอให้ทำเสียอย่างใหม่ ด้วยอย่างเก่านั้นเร่อร่าแหลกเหลวนัก ครั้นเมื่อได้ทำในปีขาลนั้นเป็นคราวแรกแล้ว ปีต่อๆ มาท่านก็ขอให้ทำเหมือนๆ กันต่อไปตามเคยที่ได้ทำแล้ว จึงได้มีการสวดสะเดาะพระเคราะห์ล่วงหน้าก่อนวันสวดมนต์ใหญ่ขึ้นอีกวันหนึ่ง

การที่จัดพระแท่นมณฑลในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ก็เป็นอันพึ่งมีใหม่ขึ้นในครั้งนั้นเหมือนกัน พระแท่นมณฑลองค์น้อยระบายสามชั้นทำขึ้นใหม่องค์หนึ่งตั้งพระพุทธรูปในแบบ พระแท่นมณฑลอย่างเตียงฝรั่งตั้งพระพุทธรูปนอกแบบ และเทวรูปเครื่องบูชาเทวดาพระแท่นหนึ่ง แต่พระพุทธรูปและเทวรูปซึ่งตั้งบนพระแท่นทั้งสองนั้น เกิดขึ้นตามลำดับแล้วผลัดเปลี่ยนกันไปตามกาลสมัย จะว่ายืนที่เป็นแน่ไม่ได้


การสวดมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกา
การที่จัดตกแต่งพระที่นั่งและสวดมนต์ทั้งปวง คงตามแบบเดิมตั้งแต่เริ่มมีการเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้น ไม่ได้ยักเยื้องเปลี่ยนแปลงเลย คือตั้งม้าหมู่บนพระที่นั่งเศวตฉัตร ที่ม้ากลางตั้งพระพุทธรูปชัยวัฒน์สำหรับแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาวัน และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาปี ม้าสองข้างและตรงหน้าตั้งเชิงเทียนพานพุ่มเครื่องนมัสการพอสมควร ที่ม้าหน้าและที่พื้นพระแท่นตั้งพระเต้าเครื่องสรงมุรธาภิเษกต่างๆ ทั้งขันหยกเชิงเทียนมีเทียนทองปัก เหมือนอย่างพระราชพิธีทั้งปวง ตามชั้นเตียงลาก็ตั้งเชิงเทียนพานพุ่ม ที่ฐานเฉียงตั้งต้นไม้ทองเงินสี่ทิศ และมีระย้าโคมไฟขวดปักดอกไม้ตั้งรอบ ที่พระแท่นถมตั้งเทียนพระมหามงคล เท่าองค์พระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา กลางตั้งโต๊ะถมวางครอบพระเกี้ยวยอดทรงเดิม และครอบมยุรฉัตรตั้งพานพุ่มทองคำสองชั้น สลับลายกันกับเชิงเทียนตามสมควร เครื่องนมัสการโต๊ะทองคำลงยาราชาวดี ข้างพระแท่นเศวตฉัตรตั้งตู้เทียนเท่าพระองค์ทั้งสองข้าง บนพระที่นั่งบุษบกตั้งเครื่องศิริราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงประจำรัชกาล มีเครื่องนมัสการทองน้อยด้วยสำรับหนึ่ง

พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น ทรงพระราชดำริว่า เมื่อการฉลองพระชนมพรรษา ใช้พระสงฆ์เท่าองค์พระพุทธรูปแล้ว ครั้นการเฉลิมพระชนมพรรษา จะใช้พระสงฆ์เท่าจำนวนนั้นอีก เวลานั้นพระชนมายุน้อย พระสงฆ์ที่จะสวดมนต์ก็น้อยรูป การที่จะบำเพ็ญพระราชกุศลก็น้อยไป ไม่สมควรกับที่เป็นการใหญ่ ด้วยการสะเดาะพระเคราะห์และการที่พระสงฆ์มหานิกายสวดมนต์อีกวันหนึ่งนั้นยังไม่มี จึงได้โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกาสวดมนต์หกสิบรูป ประจำเสมอทุกปีไม่ขึ้นลง เพราะเหตุที่การฉลองพระชนมพรรษา ได้สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรไว้แล้ว ในการเฉลิมพระชนมพรรษา จึงได้เริ่มสวดมหาสมัยสูตรก่อนแล้วจึงได้สวดเจ็ดตำนาน ทรงถวายไตรและย่ามโหมดเทศก่อนเวลาสวดมนต์ เหมือนการฉลองพระชนมพรรษา รุ่งขึ้นเช้าพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน และถวายชยันโตในเวลาสรงมุรธาภิเษก การสรงพระมุรธาภิเษกนั้นก็เหมือนกับสรงมุรธาภิเษกอื่นๆ แปลกแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ถวายน้ำครอบพระกริ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้สำหรับพระองค์ท่าน ครั้นเมื่อล่วงมาถึงปีจอ ฉศก ๑๒๓๖ เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดราชประดิษฐ์ได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ในเวลาทรงผนวชแล้ว จึงได้โปรดให้ถวายน้ำเต้าศิลาอีกรูปหนึ่ง บรรดาพระเถระในธรรมยุติกา ก็มีน้ำพระพุทธมนต์ส่งมาองค์ละเต้าศิลา แต่มิได้ถวายเอง เจ้าพนักงานนำขึ้นถวาย

เต้าศิลานี้ มีมาแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้กลึงขึ้น จะมีจำนวนเดิมมากน้อยเท่าใดไม่ทราบ แล้วพระราชทานไปไว้ตามพระเถระในธรรมยุติกา เมื่อถึงเวลาเฉลิมพระชนมพรรษาแล้ว ก็ต่างองค์ต่างทำน้ำมนต์ถวายเข้ามาทุกๆ รูป ครั้นเมื่อถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ทำการเฉลิมพระชนมพรรษา ท่านก็ทำส่งเข้ามาตามเคย เป็นการแปลกขึ้นกว่าสรงมุรธาภิเษกอื่นๆ แต่พระเต้าศิลาของพระเท่านี้

เมื่อสรงมุรธาภิเษกแล้ว ทรงถวายเครื่องไทยทานพระสงฆ์อยู่ในองค์ละสามสี่สิ่ง เป็นเสร็จการในส่วนเวลานั้น การที่ทำน้ำมนต์กับเทียนครอบพระกริ่งที่ท้องพระโรงนี้ ใช้ทำในเวลาสวดมนต์วันที่ ๒๐ ไม่ได้รอไว้ต่อเวลาเช้าเหมือนอย่างการฉลองพระชนมพรรษา


สวดมนต์พระสงฆ์มหานิกาย
การสวดมนต์พระสงฆ์มหานิกายแต่เดิมก็ไม่มี เกิดขึ้นพร้อมกันกับปีที่สวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์ เพื่อจะให้เป็นสวดมนต์สามวัน แต่ครั้นเมื่อพระสงฆ์เคยได้รับพระราชทานหนหนึ่งแล้ว ครั้นจะงดเว้นเสียดูก็ไม่สู้ควร จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสวดมนต์พระสงฆ์มหานิกายติดต่อมาทุกปี กำหนดพระสงฆ์ ๓๐ รูป ทรงถวายไตรผ้า ย่ามสักหลาด เหมือนอย่างพระสงฆ์สวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามแบบนั้น ในวันพระสงฆ์มหานิกายนี้สวดสิบสองตำนาน แต่ที่ยักเยื้องไปเป็นอย่างอื่นบ้างก็มี การทั้งปวงก็เหมือนกับวันสวดมนต์ใหญ่ เว้นแต่วันเลี้ยงพระนั้น พระสงฆ์ที่สวดมนต์วัดพระศรีรัตนศาสดารามสามสำรับสิบห้ารูป มาฉันด้วย จึงรวมพระสงฆ์ฉันเป็นสี่สิบห้ารูป ทรงถวายเครื่องไทยทานเหมือนกัน

ถวายเทศนา
การถวายเทศนานี้ มีมาแต่เริ่มตั้งการเฉลิมพระชนมพรรษา เทศน์เนื้อความตามแบบที่มีมาแต่รัชกาลที่ ๔ คือ มงคลสูตรกัณฑ์ ๑ รัตนสูตรกัณฑ์ ๑ เมตตสูตรกัณฑ์ ๑ เทวตาทิศนกถากัณฑ์ ๑ ประจำที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง พระสงฆ์รูปใดเทศน์ก็ยืนตัว เว้นไว้แต่ชราอาพาธจึงได้ผลัดเปลี่ยน แต่ก่อนมาเริ่มงานก็ถวายเทศน์ก่อนสวดมนต์ คือ มงคลสูตร รัตนสูตร สองกัณฑ์ เหลือไว้ภายหลังฉันเช้าแล้วสองกัณฑ์ เทศน์ก่อนนั้นมีสายสิญจน์โยงไปที่ธรรมาสน์ พระสงฆ์ที่เทศน์ถือกลุ่มสายสิญจน์ด้วย ครั้นตกมาชั้นหลังเมื่อมีสวดมนต์สะเดาะพระเคราะห์และเลี้ยงพระเช้าเสียแล้วไม่มีเวลาว่าง จึงได้เลื่อนเทศนาไปไว้วันเลี้ยงพระมหานิกายทั้งสี่กัณฑ์ แต่บางปีก็เลื่อนต่อไปอีกจนนอกงานก็มี แล้วแต่เวลาว่างจะมีเมื่อใด เครื่องกัณฑ์เทศนานั้นเหมือนเทศนาวิเศษ เป็นแต่เปลี่ยนไตรย่าม เป็นของสำหรับเฉลิมพระชนมพรรษาและเพิ่มเติมเครื่องไทยทานต่างๆ บ้าง มีเงินประจำกัณฑ์ ๑๐ ตำลึง และเครื่องกัณฑ์ขนมด้วย ๚

การแจกทาน
๏ แจกทานนี้ ได้มีในการเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ ครั้งหนึ่ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ตั้งแต่เริ่มมีการเฉลิมพระชนมพรรษามาก็ได้เคยพระราชทานผ้าสองสำรับ เงินสิบตำลึง แก่ข้าราชการที่สูงอายุ มีกำหนดเท่าปีพระชนมายุ ทวีขึ้นทุกปีตามลำดับ แบ่งเป็นฝ่ายหน้ากึ่งหนึ่ง ฝ่ายในกึ่งหนึ่ง ฝ่ายหน้านั้นเป็นข้าราชการที่เข้ามาในการเฉลิมพระชนมพรรษาโดยมาก แต่ฝ่ายในมักเป็นข้าราชการที่ชราพิการ ไม่ได้ทำราชการแล้ว มาแต่บ้านบ้างแต่เรือนบ้าง จึงโปรดให้มีสำรับเลี้ยงอาหารด้วย แต่ก่อนมา เมื่อผู้ซึ่งได้รับพระราชทานต่อพระหัตถ์แล้วก็ถวายพรตามใจตัวจะกล่าว บางทีก็นิ่งเฉยๆ ไปบ้าง ครั้นเมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร[] ท.จ. คนนี้ เป็นผู้กะบัญชีข้าราชการฝ่ายหน้า เห็นว่าเมื่อข้าราชการได้รับพระราชทานแล้วถวายพรอย่างไหลๆ เลือนๆ บ้าง ไม่ได้ถวายพรบ้าง รำคาญมาหลายปี จึงได้คิดผูกคาถาถวายชัยเป็นภาษามคธ และแปลเป็นคำไทยให้ว่าทุกคน คือว่า ชยตุ ชยตุ เทโว นิรามโย นิรุปัท์ทโว ทีฆายุโก อโรโคจ โสต์ถินา เนตุ เมทนึ ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญพระชนมายุยิ่งกว่าร้อยพรรษา คำถวายชัยเช่นนี้ ได้ใช้อยู่แต่ข้าราชการฝ่ายหน้า ข้าราชการฝ่ายในยังบ่นพึมๆ พำๆ หรือนิ่งๆ อยู่อย่างเก่า เพราะไม่มีใครแนะนำสั่งสอน ทรงพระราชดำริว่า ครั้นจะให้ท่องให้บ่นตามแบบข้าราชการฝ่ายหน้า ก็จะเป็นที่เดือดร้อน เพราะอยู่ข้างจะชราหลงใหลฟั่นเฟือน หรือซึมซาบอย่างยิ่งอยู่ด้วยกันโดยมาก จึงโปรดให้เป็นไปตามอย่างแต่ก่อน ส่วนที่แจกทานราษฎรนั้น พระราชทานตามพระชนมายุวันกำหนดขึ้นวันละสลึงแต่เดิมมา ถ้าปีใดเป็นปีที่มีพระราชกุศลวิเศษ ก็พระราชทานมากขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ๚

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กรกฎาคม 2561 16:37:43 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #41 เมื่อ: 10 กรกฎาคม 2561 16:40:12 »


เดือนสิบ
การเฉลิมพระชนมพรรษา (ต่อ)

การประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายชัยมงคล
๏ ธรรมเนียมนี้ได้เกิดมีขึ้นเมื่อเฉลิมพระชนมพรรษาใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ นั้น เสด็จพระราชดำเนินออกบนพระที่นั่งเศวตฉัตร พระที่นั่งอนันตสมาคม อย่างแขกเมืองใหญ่ ฝ่ายพระบรมวงศานุวงศ์ พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมขุนนรานุชิตเป็นผู้ทรงอ่านคำถวายชัยมงคล ฝ่ายข้าราชการเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ซึ่งยังเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์เป็นผู้อ่าน ด้วยท่านทั้งสองนี้เป็นผู้มีชนมายุมากกว่าพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการทั้งปวง เมื่อเจ้านายอ่านคำถวายชัยมงคลแล้วถวายบังคมสามครั้งเหมือนอย่างขุนนาง เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็น ข้าราชการก็เหมือนกัน แต่ไม่มีพระราชดำรัสอันใด เป็นแต่พระราชทานพรย่อๆ เล็กน้อยแล้วก็เสด็จขึ้น ในเวลาประชุมใหญ่นั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จลงมา เพราะเป็นเวลาทรงพระประชวรอยู่ข้างจะซูบผอมมากอยู่แล้ว แต่ครั้นเวลาเย็น ทรงพระอุตสาหะเสด็จลงมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงทราบ เวลานั้นข้าราชการก็ไม่สู้มีใคร ข้าพเจ้าเดินดูเครื่องตกแต่งในพระที่นั่งอนันตสมาคมอยู่ไม่ทันรู้ตัว เสด็จขึ้นมาจับศีรษะสั่นเหลียวหลังไปจึงเห็น ตกใจเป็นกำลัง รับสั่งให้เข้าไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกมา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าถวายของ และถวายชัยมงคล ครู่หนึ่งก็เสด็จกลับด้วยไม่ทรงสบาย ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่สุดที่ได้เสด็จลงมาพระบรมมหาราชวังในเวลานั้น คนต่างประเทศก็มีถวายชัยมงคลเหมือนกัน แต่เป็นคนละเวลากับข้าราชการ ไม่ได้เสด็จขึ้นพระที่นั่งและไม่สู้จะเป็นการพรักพร้อมกันครั้งเดียวนัก

อนึ่ง ในการเฉลิมพระชนมพรรษานี้ มีการปล่อยปลาตามแบบเฉลิมพระชนมพรรษาครั้งปีชวดฉศก ๑๒๒๖ เป็นราคาวันละ ๑๐ ตำลึง กรมวังทูลถวายพระราชกุศลตามแบบ

ในวันที่ ๒๑ มียิงปืนใหญ่สลุต ทั้งทหารบกและเรือรบซึ่งจอดรายอยู่ในลำน้ำ แต่ก่อนมาใช้เวลาละ ๒๑ นัด ยิงเวลาเช้า ๒ โมง เวลาเที่ยง เวลาบ่าย ๕ โมง ตั้งแต่ปีมะเมีย จัตวาศก ๑๒๔๔ ปีรัตนโกสินทรศก ๑๐๐ จึงได้ยิงถัวกันสามเวลา ครบ ๑๐๑ นัด

การแต่งประทีปในพระบรมมหาราชวังเป็น ๕ คืน แต่ข้างนอกแต่ง ๓ คืน เพราะการที่แต่งประทีปไม่ได้เป็นการกะเกณฑ์ ผู้ที่ตกแต่งก็อยากจะได้ถวายตัวให้ทอดพระเนตร จึงได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสตามลำน้ำ ในเวลากลางคืนวันที่ ๒๑ ทุกปีเสมอมามิได้ขาด กระบวนเสด็จพระราชดำเนินนั้น ใช้เรือไฟลำเล็กๆ แล่นขึ้นไปเหนือน้ำก่อนแล้วจึงได้ล่องลงไปข้างล่าง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงหน้าบ้านหน้าห้างใหญ่ๆ บางราย ก็จุดพลุแทนปืนสลุต ๒๑ นัดบ้าง จุดพุ่มพะเนียงกรวดตะไลดอกไม้เทียนต่างสีบ้างตามแต่ผู้ใดจะหาได้ เป็นการแสดงความชื่นชมยินดี

และในวันที่ ๒๑ นั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เมื่อยังว่าการต่างประเทศ จัดการเชิญคนต่างประเทศประชุมเต้นรำที่บ้าน ให้เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศในการเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้น เมื่อทรงทราบจึงได้พระราชทานเงินทุนในการที่จะใช้จ่ายนั้นให้ ต่อมาก็มีการเต้นรำเช่นนั้นเสมอมาทุกปี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับขึ้นมาตามลำแม่น้ำก็หยุดประทับที่ศาลาว่าการต่างประเทศ ให้คนต่างประเทศได้เฝ้าครู่หนึ่ง แล้วจึงเสด็จคืนพระบรมมหาราชวัง ครั้นเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ว่าการต่างประเทศ ย้ายการเต้นรำมาที่วังสราญรมย์ การเสด็จพระราชดำเนินประพาสลำน้ำคงอยู่ ต่อเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบก ประทับที่วังสราญรมย์ให้คนต่างประเทศเฝ้าเหมือนอย่างแต่ก่อน

การเฉลิมพระชนมพรรษานี้ จะว่าให้ละเอียดเป็นแน่นอนไปทีเดียวไม่ได้ ด้วยการยังเป็นปัจจุบันแท้ มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยเป็นคราวๆ เมื่อก่อนมาแรกที่จัดตั้งมิวเซียมขึ้นที่ศัลลักษณสถาน[] ในการเฉลิมพระชนมพรรษาก็เปิดให้ราษฎรมาดู ราษฎรพากันมาดูวันหนึ่งหลายๆ พันคน จนกว่าจะแล้วงานนับด้วยหมื่น ได้เปิดมาหลายปี ครั้นเมื่อจัดการยักย้ายไปอย่างอื่น ก็ไม่ได้เปิด การพระราชกุศลที่เป็นวิเศษ บางปีก็มีตามกาลสมัย คือเวลาข้าวแพงพระราชทานข้าวสารองค์ละถัง และปลาเค็ม แก่พระสงฆ์ทั่วทั้งแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ เวลาที่ตั้งพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุก็จ่ายพระราชทรัพย์พระคลังข้างที่ออกช่วยทาสปล่อยให้เป็นไทหลายสิบคน เวลาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสเกาะสีชัง ซึ่งเป็นที่คนป่วยไข้ออกไปอยู่รักษาตัว ก็บริจาคพระราชทรัพย์พระคลังข้างที่ พระราชทานให้สร้างอาศัยสถาน สำหรับคนป่วยไข้ออกไปอยู่เปลี่ยนลมอากาศ การเหล่านี้มีพิเศษเปลี่ยนแปลกกันไป ไม่เสมอทุกปีและไม่เหมือนกันทุกครั้ง จึงไม่ว่าลงเป็นแบบได้แน่ ๚


คำตักเตือนในการฉลองพระชนมพรรษาและเฉลิมพระชนมพรรษา
๏ ข้อความที่จะต้องตักเตือนนั้น ดูก็มีน้อยอย่างดอก เพราะครอบพระกริ่งซึ่งจะดับเทียนในวันพระสงฆ์ฉัน การฉลองพระชนมพรรษา ตั้งอยู่ในที่พระมณฑลแล้ว มีแต่จะต้องเตือนภูษามาลาว่าการสรงฉลองพระชนมพรรษานั้นโหรไม่ได้กำหนดฤกษ์ เคยสรงเวลาพลบค่ำก่อนทุ่ม ๑ ทุกวันไม่มีเวลายักเยื้องเลย ในการฉลองพระชนมพรรษาก็ดี เฉลิมพระชนมพรรษาก็ดี ที่เป็นข้อสำคัญของมหาดเล็กและพนักงานข้างในนั้น คือโคมไฟฟ้าซึ่งสำหรับทรงจุดเทียนเท่าพระองค์และเทียนพระมหามงคล ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่ง ๑ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแห่ง ๑ พระที่นั่งไพศาลทักษิณแห่ง ๑ ถ้าเสด็จพระราชดำเนินแห่งใดในเวลาค่ำแล้ว เป็นมีโคมไฟฟ้าทุกแห่งทุกวัน ขาดไม่ได้เลย ไม่ควรที่จะเข้าใจว่า เผื่อจะอย่างนั้นอย่างนี้ การอื่นๆ ก็ดูไม่สำคัญอันใด ๚

.  จบพระราชนิพนธ์เพียงเท่านี้   .
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[] คือสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์
[] ปีชวดจุลศักราช ๑๒๒๖ พ.ศ. ๒๔๐๗
[] พระเทพกวี นิ่ม อยู่วัดเครือวัลย์
[] พระยาโชฎึก เถียร ต้นสกุลโชติกะเสถียร เป็นข้าหลวงเดิมทั้งสามีภริยา
[] พระยาศรีสุนทรโวหารน้อย
[] คือตึกใหญ่หน้าประตูพิมานชัยศรี ต่อมาเป็นหอพระสมุดอยู่คราว ๑

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 กรกฎาคม 2561 14:07:16 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #42 เมื่อ: 12 กรกฎาคม 2561 14:08:22 »



พระราชพิธีเดือน ๑๑
-----------------------------------

พระราชพิธีประจำเดือน ๑๑ ในกฎมนเทียรบาลว่ามีพิธีแข่งเรือ ความพิสดารในกฎมนเทียรบาลกล่าวไว้ดังนี้

“เดือน ๑๑ การอาษยุชพิธี มีโหม่งครุ่มซ้ายขวาระบำมโหระทึกอินทรเภรีดนตรี เช้าทรงพระมหามงกุฎราชาปโภค กลางวันทรงพระสุพรรณมาลา เย็นทรงพระมาลาสุกหร่ำสะพักชมพู สมเด็จพระอัครมเหสีพระภรรยาทรงสุวรรณมาลานุ่งแพรลายทองทรงเสื้อ พระอัครชายาทรงพระมาลาราบนุ่งแพรดารากรทรงเสื้อ ลูกเธอหลานเธอทรงศรีเภทมวยทรงเสื้อ พระสนมใส่สนองเกล้าสะพักสองบ่า สมรรถไชยเรือต้น ไกรสรมุขเรือสมเด็จพระอัครมเหสี สมรรถไชย ไกรสรมุขนั้นเป็นเรือเสี่ยงทาย ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซร้ ข้าวเหลือเกลืออิ่มสุขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชนะไซร้ จะมียุค”
แต่พิธีแข่งเรืออย่างว่าไว้ในกฎมนเทียรบาล ได้ทำมาเพียงในชั้นกรุงเก่า มาถึงครั้งกรุงรัตนโกสินทรหาได้ทำไม่
พระราชพิธีประจำเดือน ๑๑ ที่คงทำในกรุงรัตนโกสินทร์ มีดังนี้คือ :-
ขึ้น ๔ ค่ำ พิธีทอดเชือกดามเชือก
ขึ้น ๕ ค่ำ แห่คเชนทรัศวสนาน
ขึ้น ๖ ค่ำ สมโภชพระยาช้าง
ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ พิธีออกพรรษา และลอยพระประทีป ตั้งแต่แรม ๕ ค่ำ จนสิ้นเดือน พระกฐิน

พิธีเดือน ๑๑ ที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร์ดังกล่าวมานี้ เห็นจะทำมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้วทุกอย่างหรือโดยมาก เพราะพระราชพิธีในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ตั้งขึ้นตามแบบแผนครั้งกรุงเก่าแทบทุกอย่าง จะเป็นแต่ด้วยพิธีเหล่านั้น ทำกันขึ้นในกรุงเก่าภายหลังตั้งกฎมนเทียรบาล จึงปรากฏในกฎมนเทียรบาลแต่พิธีแข่งเรืออย่างเดียว

พิธีทอดเชือกดามเชือก และแห่คเชนทรัศวสนานทำอย่างไร ความพิสดารแจ้งอยู่ในพระราชนิพนธ์ประจำเดือน ๕ นั้นแล้ว ในเดือน ๑๑ ก็ทำอย่างเดียวกัน พิธีลอยพระประทีปกลางเดือน ๑๑ ก็เหมือนกับลอยพระประทีปในเดือน ๑๒ ซึ่งมีข้อความพิสดารแจ้งอยู่ในพระราชนิพนธ์พิธีประจำเดือน ๑๒ ผิดกันแต่เดือน ๑๑ ไม่มีกระทงใหญ่

เนื้อความขาดแต่พิธีออกพรรษา และพิธีพระกฐิน ๒ พิธีเท่านั้น ฯ
 
 

อธิบายศัพท์แผลง
มีในพระราชนิพนธ์ พระราชพิธี ๑๒ เดือนโดยทรงตามคำพูดกันในสมัยนั้น

คำว่า    “กาหล”    หมายความว่า วุ่นวาย หรือ อลหม่าน พูดเป็นคำแผลง แทน โกลาหล เหตุแต่มีชื่อขุนนางตำแหน่งเจ้ากรม
.    .    แตรสังข์ว่า หลวงกาหล เกิดโจษจันกันขึ้นว่า จะมาจากศัพท์ โกลาหล หรืออะไรเห็นกันต่างๆ เกิดแต่
.    .    จะพูดล้อผู้ที่เห็นว่าเป็นศัพท์เดียวกัน ใครเห็นอะไรอลหม่านหรือ วุ่นวาย จึงว่า กาหล เลยเป็นคำแผลงขึ้น
คำว่า    “กู”    หมายความว่า ประพฤติทุจริตไม่มีละอาย แต่แรงว่า คำว่า “นุ่ง” ซึ่งมาแต่ติเตียนภิกษุอลัชชีว่าเหมือน
.    .    คฤหัสถ์นุ่งเหลือง เมื่อเกิดคำแผลงว่า “นุ่ง” ขึ้นแล้ว ต่อมามีเรื่องที่จะกล่าวถึงภิกษุที่ประพฤติเป็นอลัชชี
.    .    โดยเปิดเผยนอกหน้า จึงติว่าราวกับอวดว่า “กูเป็นอลัชชี” ทีเดียว จึงเกิดคำ “กู” ขึ้นในคำแผลง
คำว่า    “เก๋”    มาแต่คำภาษาอังกฤษว่า “เค” หมายความว่าโอ่โถงเป็นต้น ได้ยินว่าเมื่อเสด็จอินเดียครั้งนั้น แรกแต่งตัว
.    .    อย่างฝรั่ง มีข้าราชการที่ไปในเรื่อพระที่นั่งคนหนึ่งผูกผ้าผูกคอสีแดง มีข้าราชการอีกคนหนึ่งเป็นเชื้อญวน
.    .    ได้ไปเรียนวิชาที่เมืองอังกฤษแต่ดึกดำบรรพ์ จะชมโดยคำอังกฤษ จึงพูดเป็นสำเนียงว่า “เก๋จริงคุณ” ผู้ที่ไป
.    .    ตามเสด็จในคราวนั้น ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษยังมีมาก จึงเอามาพูดว่า เก๋ ส่วนผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษก็เห็นขันที่สำเนียง
.    .    จึงพูดว่า เก๋ บ้าง คำว่าเก๋จึงเลยเป็นคำแผลง เก่าแก่กว่าคำอื่นๆ บรรดาได้อธิบายมาทั้งหมด  
คำว่า    “โก๋”    หมายความว่า หลง มาแต่เจ้านายแต่ก่อนพระองค์หนึ่ง มีมหาดเล็กสำหรับขึ้นท้ายรถตามติดพระองค์ ชื่อโก๋
.    .    เวลาจะต้องประสงค์อะไรก็เป็นเรียกอ้ายโก๋ บางทีอ้ายโก๋ไม่อยู่ ก็หลงเรียกด้วยติดพระโอษฐ์ ทีหลังมีผู้ใด
.    .    ร้องเรียกอะไรหลงๆ จึงว่ากันว่า หลงราวกับเรียกอ้ายโก๋ คำว่า โก๋ จึงเลยเป็นคำแผลง หมายความว่า หลง
.    .    
คำว่า    “ขนดหาง”    คำนี้ใช้พูดกันตามอุปมาโบราณ คือว่าโกรธเหมือนพระยานาค อันบุคคลประหารที่ขนดหาง เพราะฉะนั้น
.    .    เเมื่อพูดเป็นคำแผลงว่า ขนดหาร หรือ ขนด หมายความว่า โกรธอย่างฉุนเฉียว
คำว่า    “ค้างคาว”    คู่กับคำว่า “กา” สำหรับใช้อุปมาด้วยบุคคลผู้นอนดึกและนอนหัวค่ำ พวกนอนหัวค่ำเรียกพวกนอนดึก
.    .    ว่าเป็นพวกค้างคาว ข้างพวกนอนดึกก็เรียกพวกนอนหัวค่ำว่าเป็นพวกกา พอพลบก็ง่วงเหงาหาวนอน  
.    .    คำว่า “ค้างคาว” และ “กา” จึงเลยพูดกันเป็นคำแผลง
คำว่า    “คร่าว”     หมายความว่า สั่งอย่างเหลวๆ มาแต่จางวางตำรวจแต่ก่อนคนหนึ่ง ไม่สันทัดกระบวนปลูกสร้าง
.    .    ไปตรวจงานที่ตำรวจทำ ไม่รู้ว่าจะติอย่างไร ไปสั่งเปรยๆ แต่ว่า คร่าวอย่างไรไม่ติด ที่จริงตรงนั้นคร่าว  
.    .    จึงถูกไม่เป็นที่มีหัวเราะเยาะเลยเอาคำ “คร่าว” มาอุปมาในบรรดาการที่สั่งเหลวๆ
คำว่า    “ครึ”    หมายความว่า ยากที่จะเข้าใจ มาแต่ว่าผู้ที่อธิบายอะไรๆ มายกศัพท์แสงต่างๆ ให้ฟัง ยกดังครึคระๆ
.    .    คนฟังไม่ใคร่เข้าใจ
คำว่า    “โค้ง”            หมายความว่า อย่างจีน มาแต่กิริยาที่จีนคำนับประสานมือ แล้วโค้งตัวลงไป จึงเรียกกันว่า โค้งแทน
.    .    เรียกว่าคำนับ ทีหลังเลยใช้เป็นคำแผลง แทนที่หมายจะว่า เป็นอย่างจีน ในสิ่งและการทั้งปวง เป็นต้นว่า
.    .    เห็นหน้าตาท่าทาง ผู้ใดออกจะเป็นจีน ก็มักพูดกันว่า ดูโค้งๆ อยู่อย่างไรดังนี้เป็นตัวอย่าง
คำว่า    “โคม”    ย่อมาแต่โคมลอย แปลว่า เหลวไหล มูลเหตุของศัพท์นี้มาแต่หนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษอย่างหนึ่ง  
.    .    เรียกซื่อว่า ฟัน ใช้รูปโคมลอยเป็นเครื่องหมายอยู่หลังใบปก หนังสือพิมพ์นั้นเล่นตลกเหลวไหลไม่ขบขัน
.    .    เหมือนหนังสือพิมพ์ตลกตลกอย่างอื่น คือ ปันช เป็นต้น จึงเกิดคำติกัน เมื่อใครเห็นเล่นตลกไม่ขบขัน
.    .    จึงว่าราวกับหนังสือพิมพ์ฟันบ้าง ว่าเป็นโคมลอย (เครื่องหมายของหนังสือนั้น) บ้าง จะพูดให้สั้น
คำว่า    “ชา”    หมายความว่า ไม่รู้สึกเสียเลย เหมือนกับเป็นเหน็บชา
คำว่า    “ช่างเถอะ”    หมายความว่า ไม่น่าเชื่อ มาแต่มีบางคนที่เจรจาเท็จ จนผู้อื่นรู้เช่นกันเสียโดยมาก เมื่อมีผู้มากล่าวขึ้นว่า
.    .    คน (เจรจาเท็จ) นั้น เขาบอกว่าเช่นนั้นๆ ผู้ที่ฟังมักพูดว่า คนนั้นบอกว่ากระไรก็ช่างเถอะ คำช่างเถอะ
.    .    จึงเลย เป็นคำแผลง สำหรับ หมายความว่าไม่น่าเชื่อ
คำว่า    “ซึมซาบ”    หมายความว่า ความนิยมในคติอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นคติที่ผิดและควรจะคิดเห็นได้ แต่หลงเชื่อ
.    .    ว่าถูกต้อง  ถ้าว่าใครซึบซาบ ก็หมายว่าเป็นผู้เชื่อถือคติเช่นนั้น อุปมาเหมือนคติอันนั้นซึมซาบอยู่ใน  
.    .    สันดานเสียแล้ว ทำอย่างไรๆก็ไม่ถอนออกได้
คำว่า    “ซ้องหัตถ์”    หมายความว่าเนยแขก มาแต่คำแปลคัมภีร์ ภาษามคธ มีเรื่องต่างๆ ที่กล่าวถึงเนย มักประมาณ
.    .    ตวงด้วยซ้องหัตถ์ บางทีเนยขาดไปเพียงซ้องหัตถ์หนึ่ง ก็ถึงเกิดวิวาทบาดทะเลาะ หรือได้
.    .    บริโภคเนยเพียงซ้องหัตถ์เดียวก็หายไข้ หายเจ็บ ขบขันที่เนยแขกสิเหม็นเหลือทน แต่ใน
.    .    คัมภีร์ นับถือถึงตวงด้วยซ้องหัตถ์ ทีหลังมีเรื่อง พูดกันถึงเรื่องเนย มีผู้อยากทราบว่าเป็นเนย
.    .    อย่างไหนผู้หนึ่งประสงค์จะบอกว่าเนยแขก บอกว่า “เนยอย่างซ้องหัตถ์นั้นแหละ” ฮากัน
.    .    แต่นั้นจึงมักชอบเรียกเนยแขกกันว่าเนยซ้องหัตถ์
คำว่า    “ตะโกน    หมายความว่าทำบุญอวดพระ มาแต่ประเพณีการพระราชกุศลที่มีปลาปล่อย เซ่นตรุษจีน เป็นต้น  
.    “ปลาปล่อย”    เจ้าพนักงานต้องเข้าไปกราบทูลรายงานต่อหน้าพระสงฆ์ว่าปล่อยปลาแล้ว รับสั่งว่า “ทำบุญ อวดพระ”
.    .    การทำบุญอวดพระอย่างอื่นๆ จึงรวมเรียกเป็นคำแผลงว่า “ตะโกนปลาปล่อย”
คำว่า    “ตื้น”    หมายความว่า ไม่รู้จริงจัง มาแต่มีบางคนชอบพูดสำทับผู้อื่น เมื่อแสดงความเขลาที่ไม่รู้ของตนขึ้น  
.    .    ผู้นั้นมักติเตียนว่า “รู้ตื้น ๆ ก็เอามาพูด ด้วย” ผู้ที่ฟังเห็นขบขัน เอาอย่างมาล้อกันเอง จึงเลยเป็น
.    .    คำแผลง ถ้าใครแสดงความที่ไม่รู้ใน คติอันควรรู้ มักติกันว่า “ตื้น”
คำว่า    “เตี้ย”    หมายความว่า “พูดโดยไม่เกรงใจ” มาแต่ขุนนางคนหนึ่งชอบทักใครๆ โดยไม่เกรงใจ จะยกตัวอย่าง
.    .    ครั้นนั้นมีผู้กล่าวกันว่า พระราชาคณะองค์หนึ่งเล่นหนัง เวลาขุนนางคนนั้นพบพระราชาคณะองค์นั้น
.    .    ทีหลังได้ยินมักทักว่า “เจ้าคุณตโจ สบายดีหรือ” ผู้ที่ได้ยินพากันสั่นหัวว่าทักกันอะไรอย่างนั้นน่ากลัว
.    .    ใครพูดหรือทำอะไรอย่างไม่เกรงใจ จึงกล่าวกันว่า ราวกับขุนนางคนนั้นทักปฏิสันถารคำว่า “ทัก”
.    .     จึงเป็นคำแผลงสำหรับใช้ หมายความว่า พูดโดยไม่เกรงใจ
คำว่า    “ทึ่ง”    หมายความว่า ต้องการจะใครรู้ มาแต่อาการของนกอิมิว นกกระจอกเทศอย่างหนึ่ง ได้มาแต่
.    .    ออสเตรเลีย เลี้ยงปล่อยไว้ในสนามหน้าพระที่นั่งจักรี เวลานกนั้นเห็นคนหรืออะไรที่แปลกประหลาด
.    .    อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร เดินทำกิริยาเข้าไปเลียบเคียง เปล่งเสียงจากอกดังทึ่งๆ ทึ่งๆ ทีหลังเมื่อใคร  
.    .    เห็นผู้อื่นไต่ถามอยากรู้เรื่องอะไรเซ้าซี้ มักว่า มาทึ่งๆ ราวกับนกอิมิว จึงเกิดเป็นคำแผลงว่า “ทึ่ง”  
คำว่า    “นุ่ง”    หมายความว่า คดโกง มาแต่ติเตียนภิกษุอลัชชี ว่าเป็นแต่คฤหัสถ์นุ่งเหลือง มิใช่พระใช่สงฆ์
.    .    แต่แรกมักใช้แต่เฉพาะที่เนื่องด้วยภิกษุอลัชชี ดังเช่นเห็นพระสงฆ์ จะไต่ถามกันว่า ภิกษุองค์นั้น
.    .    องค์นี้เป็นอลัชชีหรือไม่ มักถามกันว่า นุ่งหรือไม่นุ่ง คำว่า “นุ่ง” จึงเลยเป็นคำแผลง
คำว่า    “ใบโต”    มาแต่คำแผลงว่า โคมลอย นั้นเอง พูดกันว่า “โคมลอยใบโต” หมายความว่า เหลวไหลเต็มที
คำว่า    “ปา”    และ “ทุ่ม” ๒ คำนี้แปลว่า ยอให้ชอบใจ ย่อมาแต่ปา และทุ่มก้อนหินผาลงไปในเหว จงดูอธิบายที่คำ “เหว”
คำว่า    “แป้น”    หมายความว่า นบนอบอย่างที่สุด มาแต่พูดกันว่า หมอบจนก้นแป้น
คำว่า    “ปอดเสีย”    หมายความว่า ตกใจกลัวอย่างแรง มาแต่หมอฝรั่งตรวจว่าเป็นโรคปอดเสีย แต่แรกก็เฉยๆ ครั้นแปล  
.    .    ได้ความว่าเป็นฝีในท้อง ก็ตกใจดีฝ่อ คำว่า “ปอดเสีย” จึงเป็นที่หมายของความตกใจกลัวอย่างแรง
คำว่า    “พโยมยาน”    มาจากศัพท์โคมลอยนั้นเอง หมายความก็อย่างเดียวกัน จงดูอธิบายที่ศัพท์ โคมลอย
คำว่า    “พัด”    หมายความว่า รบเร้า มาแต่มีขุนนางคนหนึ่งชอบถือพัดด้ามจิ้วติดตัวเสมอ ขุนนางคนนั้น เมื่อมีกิจ
.    .    กิจจะไต่ถามอะไรต่อราชเลขาธิการ ไปนั่งเกาะเก้าอี้ เอาพัดๆ ตัวเองบ้าง พัดราชเลขาธิการบ้าง  
.    .     อยู่จนเสร็จธุระหาไม่ก็ไม่ไป จึงเกิดเป็นคำพูดขึ้นในห้องราชเลขาธิการ ถ้าใครไปรบเร้าจะเอาอะไร
.    .    ก็ว่า นี่จะมาพัดเอาให้ได้ อย่างขุนนางคนนั้นหรือคำว่า “พัด” จึงใช้เป็นคำแผลง หมายความว่า “รบเร้า”
คำว่า    “พื้น”    เดิมหมายความว่า อารมณ์ พื้นเสีย พื้นเก่า พื้นโบราณ หมายความว่าอารมณ์ไม่ผ่องใส คือมีโทสะ
.    .    เจือปน ถ้าพื้นดี พื้นใหม่ พื้นเรี่ยม หมายความว่าอารมณ์ผ่องแผ้ว มีปีติยินดีเป็นเจ้าเรือน แต่การที่ใช้
.    .    คำพื้น มักพูดกันถึงที่อารมณ์เป็นโทสะโดยมาก ภายหลังเมื่อพูดแต่ว่า พื้น คำเดียว มักเข้าใจว่ามีโทสะ  
.    .    เรื่องวัตถุนิทานของคำนี้ เดิมไทยที่ไปยุโรปกลับมาชั้นเก่าๆ มักมาเล่าว่า ที่ทะเลแดงนั้นร้อนนัก เพราะ
.    .    พื้นเป็นแต่หินและกรวดทราย ต่อมาบางคนในพวกนั้นเกิดโทสะ ผู้ที่เห็น กระชับกันว่า ถึงพื้นทะเลแดง  
.    .    หรือยัง คำว่า พื้นและ ทะเลแดง จึงกลายเป็นคำแผลง หมายความว่าโทสะกลัาและเกิดคำคู่กันขึ้นว่า  
.    .    พื้น อยู่นอธโปล คือหัวโลกช้างเหนือที่น้ำแข็งเสมอ หมายความว่า อารมณ์เยือกเย็น ทีหลังมาเมื่อเห็น  
.    .    ใครๆ นั่งบึ้งๆ ซึมๆ จึงมักถามกันว่าพื้นอยู่ที่ไหนต่อมาอีกคราวนี้ถ้าเห็นใครนั่งบึ้งๆ ก้มหน้าเหมือนกับ
.    .    แลดูพื้นเรือนที่ตรงนั้น จึงถามผู้ที่ไปด้วยกัน ให้ได้ยินถึงคนที่นั่งก้มหน้าว่าพื้นตรงนั้นเก่าหรือใหม่  
.    .    เป็นการกระทบสัพยอกผู้ที่ก้มดูพื้น จึงเกิดคำ พื้นใหม่พื้นเก่า พื้นเก่ากลายมาเป็นพื้นโบราณอีก
คำว่า    “มีด”    หมายความว่า ไม่รู้เค้าเงื่อนทีเดียว ย่อมาแต่ “มืดมนอนธกาล” หรือ “มืดเแปดด้าน” นั้นเอง
คำว่า    “ยูดี”    หมายความว่า ประชด มาแต่ชื่อหนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษฉบับหนึ่งชื่อ ยูดี หนังสือพิมพ์ยูดี
.    .    นั้นมักประชดรัฐบาล ใครพูดจาประชดประชัน จึงว่า “พูดราวกับหนังสือยูดี” ด้วยเหตุนี้คำว่า
.    .     “ยูดี” จึงมักใช้ในความอย่างว่าประชด
คำว่า    “หยอด”    หมายความว่า ชอบมาก มาแต่พูดกันว่า “เป็นของรักราวกับจะหยอดลงไปในนัยน์ตา
.    หรือ “หยอดตา”    .
คำว่า    “รวมๆ”    หมายความว่า ไม่กระจัดชัดเจน มีผู้ใหญ่บางคนแต่ก่อนอธิบายอะไรผู้อื่นไม่ใคร่เข้าใจ จึงกล่าวกันว่า
.    .    ท่านผู้นั้นอธิบายอะไรดัง รวมๆ รวมๆ คำ “รวม” จึงเลยเป็นคำแผลง
คำว่า    “เรียว”     หมายความว่า เลวลงทุกที เหมือนกับของที่เรียวเล็กลงไป
คำว่า    “ลมจับ”    หมายความว่า เสียดายเป็นอย่างยิ่ง มาแต่เรื่องเล่ากันถึงคนขี้ตระหนี่คนหนึ่ง เพื่อนฝูงขออะไรเล็กน้อย
.    .    ขัดไม่ได้ต้องให้ไป ครั้นเมื่อเขาไปแล้ว เกิดเป็นลมด้วยความเสียดายของ
คำว่า    “เหว”    หมายความว่า ชอบให้ยอ มาแต่พูดกันถึงคนชอบยอว่าคนนั้นๆ ถึงจะยอเท่าไรก็ไม่อิ่มใจ เหมือนกับ
.    .    จะเอาหินผาทุ่มลงไปในเหวที่ลึกไม่เต็มได้ ใช้เป็นคำแผลงสังเขปลงว่า “เหว” บ้าง บางทีพูดแผลง
.    .    ไปเป็น “เหว” (คือ เว มี ห นำ) อีกอย่างหนึ่ง แปลความก็อย่างเดียวกัน
คำว่า    “เหวย”    ก็คือ “เสวย” นั้นเอง ที่ใช้พูดกันว่า “เหวย” มาแต่เลียนล้อเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ เพราะตรัส
.    .    ตามอย่างพี่เลี้ยงแม่นม แต่ไม่ชัด จึงว่า “ฉันจะเหวยนั่นเหวยนี่”
คำว่า    “สัพพี”    หมายความว่า ประจบประแจง มาแต่เจ้านายผู้ใหญ่แต่ก่อนบางพระองค์ มีพระไปเฝ้าเวลาคํ่าทุกคืน
.    .    ถึงฤดูเข้าวสาทรงธรรม พระที่ไปเฝ้าก็มีธูปเทียนจุดบูชาธรรม ครั้นเทศน์จบพระที่ไปเฝ้าก็พากันเข้าไป  
.    .    ไปนั่งรับสัพพี ผู้ที่มีความคิดอย่างใหม่ๆ บางคนติเตียนว่าเป็นการสัพพีประจบประแจงเพราะไม่ได้นิมนต์
.    .    และไม่ได้รับทาน ทีหลังเมื่อเห็นผู้ใดทำกิริยาประจบประแจง จึงพูดว่า “ราวกับพระสัพพีที่วังนั้น”
.    .    คำ “สัพพี” จึงเลยใช้เป็นคำแผลงกันทั่วไป
คำว่า    “สีเหลือง”    ตรงนี้ ตรงกับ “นุ่งสีเหลือง” หมายความอย่าง เดียวกับคำว่า “นุ่ง” นั่นเอง
คำว่า    “อี๋”    หมายความว่า สนุกรื่นรมย์ มาแต่ขุนนางคนหนึ่ง มีอัธยาศัยแปลกกับผู้อื่น ถ้าเกิดรื่นรมย์สนุกสนานอะไร
.    .    ขึ้นมาก็เที่ยวบอกแก่คนนั่นคนนี้ บอกพลางหัวเราะดังอี๋ๆ ไปด้วยพลาง คนทั้งหลายเห็นขบขันเมื่อได้ยิน
.    .    เสียงจึงมักถามว่า “นั่นอี๋อะไร” ด้วยเข้าใจว่าคงมีเรื่องอะไรสำหรับบอก คำว่า “อี๋” จึงเลยเป็นคำแผลง
คำว่า    “อูแอ”    เป็นคำเจ้านายที่ทรงพระเยาว์เลียนเสียงสังข์แตรเครื่องประโคม ใช้เป็นคำแผลงมักหมายความว่า แห่
คำว่า    “ฮ่องเส็ง”    หมายความว่า อ้างถึงอะไรๆ อย่างเหลวไหล มาแต่ผู้ซึ่งชอบแสดงความจดจำของเก่าแก่แต่ก่อน
.    .    อวดพวกชั้นหนุ่มๆ ที่ไม่เคยเห็น มีผู้หนึ่งแสดงว่า เมื่อกระนั้นที่ในท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  
.    .    มีนาฬิกาฮ่องเส็งตั้งอยู่เรือนหนึ่ง แต่ครั้นไล่เลียงว่านาฬิกาฮ่องเส็งนั้นรูปร่างเป็นอย่างไร และเหตุใด
.    .    จึงเรียกนาฟิกาฮ่องเส็ง ก็ไม่สามารถจะอธิบายได้จึงเป็นข้อขัน ทีหลังใครมาอธิบายอะไรอย่างลึกลับ
.    .    ให้เกิดสงสัยจึงมักกล่าวกันว่า อย่างนาฬิกาฮ่องเส็งละซิ จึงเลยมาพูดกันเป็นคำแผลง

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 กรกฎาคม 2561 14:18:17 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  1 2 [3]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ภาษิตนักรบโบราณ พระราชนิพนธ์ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 0 6178 กระทู้ล่าสุด 04 กุมภาพันธ์ 2557 14:28:49
โดย Kimleng
ความเป็นชาติโดยแท้จริง-พระราชนิพนธ์ ความเรียง ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 3742 กระทู้ล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2557 16:10:02
โดย Kimleng
สีใดมีความหมายอย่างใร? ในธงไตรรงค์ : พระราชนิพนธ์ ใน ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ตลาดสด
Kimleng 0 1937 กระทู้ล่าสุด 05 มกราคม 2560 11:39:16
โดย Kimleng
สาวิตรี พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 1 1810 กระทู้ล่าสุด 20 พฤษภาคม 2563 14:57:40
โดย Kimleng
ศกุนตลา พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 8 5457 กระทู้ล่าสุด 04 มิถุนายน 2563 18:56:52
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.355 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 02 ตุลาคม 2566 14:12:49