[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 17:28:17 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พิพิธภัณฑ์ หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร จ.นครสวรรค์  (อ่าน 5100 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 23 พฤศจิกายน 2560 16:55:58 »




พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม พุทธสโร
วัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

วัดหนองโพ ตั้งอยู่บ้านหนองโพ หมู่ที่ ๑ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ตั้งวัดประมาณ ๗๑ ไร่

วัดหนองโพ เกิดขึ้นพร้อมกับ "บ้านหนองโพ" ถิ่นฐานใหม่ที่ชาวบ้านเขาทองทั้ง ๗ ครอบครัวย้ายมาลงหลักปักฐาน ในกาลแรกวัดหนองโพมีชื่อว่า "วัดสมโพชโพธิ์กระจาย" เพื่อสื่อความหมายให้สอดคล้องกับโพใหญ่ที่ยืนต้นเด่นเป็นสง่า แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงา

ต่อมา หลวงพ่อศรี วัดพระปรางค์เหลือง อ.พยุหะครี จ.นครสวรรค์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดสมโภชโพธิ์เย็น" เพื่อความเป็นมงคลยิ่งขึ้น

ใน พ.ศ.๒๔๕๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลฝ่ายเหนือมาถึงนครสวรรค์ ทรงพิจารณาว่าชื่อวัดควรสอดคล้องกับชื่อหมู่บ้านให้จดจำง่าย จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดหนองโพ"

วัดแห่งนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ ในอดีตเป็นที่พำนักปฏิบัติธรรม จำพรรษา ของพระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร (อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ)ภิกษุผู้มีชื่อเสียง เปี่ยมด้วยคุณธรรม เมตตาธรรม ผู้สุดยอดในเรื่อง “อาคมขลัง” จนได้รับการขนานนามว่า เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว

ขณะยังดำรงธาตุุขันธ์ หลวงพ่อเดิมเป็นบรรพชนที่สำคัญยิ่งของท้องถิ่น ด้วยกิจที่บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นที่ประจักษ์โดยเสียสละยิ่ง ดังนี้  
1. เป็นผู้นำทางสติปัญญา อบรมสั่งสอนธรรมะให้เป็นคนมีคุณธรรม ไม่ทำความชั่ว รู้จักการนำหลักธรรมพระพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
2. เป็นผู้นำก่อสร้าง บูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน ด้วยการสร้างวัด สร้างพระอุโบสถ ให้เป็นเสนาสนะสัปปายะแก่ภิกษุสงฆ์ ไม่เพียงเฉพาะวัดหนองโพที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเท่านั้น แต่ได้แผ่ขยายออกไปยังวัดวาอารามต่างๆ ในหลายอำเภอในเขตจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ จังหวัดลพบุรี จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดชัยนาท
3. ให้ใช้วัดหนองโพเป็นแหล่งรวมสรรพวิทยา ได้แก่
    - เป็นโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้รับการศึกษา ให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินชีวิต ให้เด็กๆ อ่านออกเขียนได้อันเทียบได้กับระดับประถมศึกษา ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่มีการจัดตั้งโรงเรียน ไม่มีพระราชบัญญัติประถมศึกษา การศึกษามีเฉพาะแต่ในวัง
       เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลภาคเหนือ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นรากฐานสำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้วัดจัดการศึกษา
    - เป็นสถานที่สอนศิลปะการแสดง ได้แก่ ลิเก โดยให้แสดงเรื่อง ปัญญาสชาดก (มี ๕๐ ชาดก)  อันเป็นเรื่องราวปรัมปราที่เป็นนิทานพื้นถิ่น เล่าถึง พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งได้มีปณิธานมุ่งมั่นในการบำเพ็ญบารมีในชาติต่างๆ อย่างมั่นคง ไม่ย่อท้อต่อความยากเข็ญและอุปสรรคนานาชนิด โดยปรารถนาสูงสุดเพียงได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

แม้หลวงพ่อจะมรณภาพไปเนิ่นนานแล้ว แต่คุณธรรมของหลวงพ่อยังคงเป็นแสงสว่างที่เจิดจ้า ฉาบฉายไปที่ดวงจิตของชาวบ้านหนองโพ สื่อความรัก ความศรัทธา ความสามัคคี ที่ชาวบ้านหนองโพมีต่อองค์หลวงพ่อไม่มีเสื่อมคลาย

ด้วยวัตรปฏิบัติ ศีลาจริยาวัตรอันงดงาม และการเป็นผู้สร้างคุณูปการแก่พระพุทธศาสนาและสังคมไว้เป็นอันมาก ในปี พ.ศ.๒๕๕๓ พระครูนิปุณพัฒนวงศ์ เจ้าอาวาสวัดหนองโพ และชาวบ้านจึงร่วมแรงบริจาค ร่วมจัดหาทุนก่อสร้างพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานเผยแพร่ประวัติและเกียรติคุณของหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ เป็นที่บอกเล่าการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินของคนในอดีต บริเวณบ้านหนองโพ ตลอดจนเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้จำเป็นกับการดำรงชีวิตในสังคมชุมชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีของคนในอดีต

ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงออกเป็น ๕ ส่วน ๑.ทวาราวดีศรีหนองโพ   ๒.มาตุภูมิบ้านหนองโพ  ๓.พุทฺธสโร-หลวงพ่อเดิม ๔.เพิ่มพูนศรัทธา ๕.กถาคัมภีร์  

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ และปิดวันจันทร์ โดยมีเจ้าหน้าที่ (จิตอาสา) นำชมและบรรยายให้ความรู้โดยละเอียด ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวอาจให้ค่าตอบแทนแก่น้องๆ ที่พาเข้าชมเป็นสินน้ำใจบ้างตามสมควรก็จะเป็นการดี







แบบแปลนพระมหาธาตุเจดีย์นิวาสธรรมขันธ์กิตติคุณุปกาสินี วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์

พระมหาธาตุเจดีย์
พระมหาธาตุเจดีย์นิวาสธรรมขันธ์กิตติคุณุปกาสินี

เจดีย์ คือสิ่งก่อสร้างอันควรแก่การเคารพบูชาในพุทธศาสนา คติโบราณหมายถึงสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ เช่น จุฬามณีเจดีย์ ซึ่งประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระพุทธองค์  

รูปทรงต่างๆ ของเจดีย์ คือส่วนล่างที่เรียกว่าฐานแผ่กว้าง สอบที่ส่วนกลาง ขึ้นไปเป็นส่วนบนที่มักเรียกว่ายอด ลักษณะที่แตกต่างกันของรูปทรง เป็นที่มาของชื่อเรียกบ่งลักษณะต่อท้ายคำว่าเจดีย์ เช่นเจดีย์ทรงระฆัง เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม เจดีย์ทรงปรางค์ เจดีย์ทรงปรายาทยอด เจดีย์ทรงกลีบมะเฟือง

พระมหาธาตุเจดีย์นิวาสธรรมขันธ์กิตติคุณุปกาสินี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมระหว่างภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ดังนั้น รูปแบบของพระเจดีย์จึงเป็นแนวคิดผสมผสาน

ลักษณะเป็นบัวฐานปัทม์ เครื่องยอดประกอบด้วยองค์ระฆัง บัลลังก์ ปลียอดลูกแก้ว  ในขณะที่ส่วนยอดมณฑปมีเม็ดน้ำค้างและฉัตรสูง ๙ ชั้น

ชั้นบนของพระมหาธาตุเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธสาวก ส่วนชั้นล่างแต่เดิมเป็นที่โล่งมิได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ภายหลังต่อมาได้ปรับปรุงจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม เป็นอนุสรณ์สถานเผยแพร่ประวัติและเกียรติคุณของหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ ที่ชาวบ้านหนองโพให้ความรักความศรัทธาอย่างสูงยิ่งตราบจนปัจจุบัน และให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่มีชีวิต หมายความว่า เปิดโอกาสให้ชาวบ้าน ตลอดจนนักศึกษาจิตอาสา เข้ามามีส่วนร่วมในการสาธิตประวัติความเป็นมา ช่วยตบแต่ง/จัดวางโบราณวัตถุมีค่าหายาก ตั้งแต่ยุคหิน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยสุโขทัย ที่ขุดพบได้จำนวนมากในบริเวณบ้านหนองโพ

พระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้ใช้เวลาก่อสร้างนาน ๕ ปี งบประมาณก่อสร้างไม่สามารถระบุได้ (จ่ายจริงประมาณ ๑๒ ล้านบาท) เนื่องจากการก่อสร้างที่นอกเหนือจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคแล้ว ยังเกิดจากแรงกายและพลังใจของชาวบ้านหนองโพที่สมัครสมานสามัคคีช่วยเหลือการก่อสร้างให้โดยไม่คิดเงิน และไม่อาจนำส่วนนี้มาตีราคาได้ เช่น รูปแบบแปลนก่อสร้างมหาธาตุเจดีย์ ผู้เขียนแบบเขียนให้ฟรี ผู้เขียนแบบเป็นชาวบ้านหนองโพ จบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ในส่วนของการตบแต่งภายใน การจัดหมวดหมู่ การให้แสง การจัดวางโบราณวัตถุ อัฐบริขาร วัตถุมงคลของหลวงพ่อเดิม ฯลฯ เป็นความร่วมมือของชาวบ้านหนองโพและนักเรียนระดับมัธยมปลายของโรงเรียนหนองโพ ซึ่งทำได้อย่างมีความเหมาะสม มีระเบียบแบบแผน สวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ และเรายังโชคดีที่ได้ไปพบอาจารย์เอมอร ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นผู้นำชมและให้ข้อมูลความรู้มาเผยแพร่


ประวัติ หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร
หลวงพ่อเดิม  นามเดิมว่า “เดิม”  เกิดในสกุล  ภู่มณี เมื่อ ณ วันศุกร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) โยมบิดาชื่อเนียม โยมมารดาชื่อ ภู่  ท่านเป็นบุตรคนโตของโยมบิดามารดา มีพี่น้องร่วมท้อง ดังนี้
๑.นางทองคำ คงหาญ
๒.นางพู ทองหนุน
๓.นายดวน  ภู่มณี
๔.นางพันธ์ จันทร์เจริญ
๕.นางเปรื่อง หมื่นนราเดชจั่น

อุปสมบท
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๓ อายุครบบวช ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓๑ ตุลาคม  พ.ศ.๒๔๒๓ โดยมีหลวงพ่อแก้ว วัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง ตำบลท่าน้ำอ้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ตำบลสระทะเล เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “พุทฺธสโร”  มีความหมายว่า ผู้มีพระพุทธเจ้าเป็นศรชัยแห่งชัยชนะ  

การศึกษา
ภายหลังอุปสมบท ท่านได้เดินทางกลับมาจำพรรษา ณ วัดหนองโพ อำเภอตาคลี ได้ศึกษาพระธรรมวินัย คัมภีร์พระวินัยปิฎก เพื่อรักษาตนตามแนวทางพระนวกะ ตลอดจนเล่าเรียนพระเวทวิทยาคมต่างๆ กับนายพันธ์ ชูพันธ์  ฆราวาสผู้ทรงวิทยาคุณแห่งบ้านหนองโพ  เมื่อนายพันธ์ถึงแก่มรณกรรม ท่านจึงไปศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อมี ณ วัดบ้านบน ตำบลห่วงหัก อำเภอพยุหะคีรี จนได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้สุดยอดในเรื่อง “อาคมขลัง”  บ้าง “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว” บ้าง นอกจากนี้ท่านยังได้เล่าเรียนศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ควบคู่ไปด้วย

สมณศักดิ์
- ปี พ.ศ.๒๔๕๗  ในรัชมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงพ่อเดิมได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ เป็นที่รองเจ้าคณะแขวง*เมืองนครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๗  (* แขวง : ในอดีต มีฐานะเทียบเท่ากับอำเภอ)
- ปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
 
งานสาธารณูปการ
หลวงพ่อได้บำเพ็ญสาธารณูปการ  เช่น สร้างวัด สร้างพระอุโบสถ  สร้างเสนาสนะที่อยู่อาศัยกุฏิสงฆ์  สังฆาวาส  ให้เป็นเสนาสนะสัปปายะ  เพื่อประโยชน์แก่พระศาสนาไม่เพียงเฉพาะวัดหนองโพ  แต่ได้แผ่ขยายออกไปยังวัดวาอารามตามอำเภอต่าง ๆ  ไว้อีกมากมาย เช่น สร้างอุโบสถวัดหนองหลวง  วัดทำนบ  ตำบลหนองหลวง  อำเภอท่าตะโก สร้างวัดหนองกลับ อำเภอหนองบัว  สร้างอุโบสถวัดอินทาราม ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี สร้างวัดหัวถนน ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก สร้างวัดที่อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์  และตำบลหางน้ำสาคร จังหวัดชัยนาท  เป็นต้น

ละสังขาร
หลวงพ่อเดิมถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๔  สิริอายุ ๙๒ ปี  พรรษา ๗๑ ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๔  






ยศช้าง ขุนนางพระ
เป็นคำพังเพย หมายถึง สิ่งที่ได้รับมิได้ยังประโยชน์ใดๆ แก่ผู้รับ เพื่อการพึงสังวรในลาภ ยศ สรรเสริญ
กล่าวคือ ช้าง แม้ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์อย่างไร ก็ยังคงเป็นช้างที่กินหญ้ากินน้ำไปตามวิสัย ยศหรือ
ตำแหน่งใดๆ มิได้มีความหมายอะไรกับช้าง  พระสงฆ์ก็เฉกเช่นกัน แม้ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์หรือสมณศักดิ์
พระสงฆ์ก็ยังคงเป็นพระสงฆ์ที่ถือศีล ๒๒๗ ข้อ เท่าเดิม พระสงฆ์ทั้งหลายจึงพึงสังวรและสำรวมให้วัตรปฏิบัติ
ของตนเป็นไปตามคำสอนของพุทธศาสนา มิควรหมกมุ่น หลงใหลในยศถาบรรดาศักดิ์ อันเกินวิสัยของสงฆ์

คำพังเพยนี้ใช้เปรียบวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร ได้เป็นอย่างดี แม้จะได้รับสมณศักดิ์สูง ท่านก็มิได้
ไหวหวั่นในลาภยศ อันเป็นวิสัยของโลกสมมติ ในทางกลับกัน หลวงพ่อเดิมยังคงมุ่งปฏิบัติกิจตามวิสัย อันเป็น
สิ่งธรรมดา เรียบง่าย เพื่อสงเคราะห์สัตว์โลกด้วยเมตตา ละการยึดถือครองสิ่งนอกกายต่างๆ เพื่อพาตนไปสู่
ความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร



Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ธันวาคม 2560 16:42:34 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 25 พฤศจิกายน 2560 14:24:01 »

บางท่านเดินทางไปวัดหนองโพ ด้วยศรัทธาในวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อเดิม ไปชมสถานที่อันเคยเป็นที่พำนักจำพรรษาของหลวงพ่อ ไปชมเครื่องรางของขลังที่หลวงพ่อปลุกเสกและชาวบ้านนำไปมอบให้พิพิธภัณฑ์ไว้จัดแสดง  มีบางท่านเดินทางไปโดยวัตถุประสงค์เช่าบูชาเครื่องรางของขลัง บูชาวัตถุมงคล  ด้วยมีความเข้าใจตามคำที่มีผู้รู้ผู้เห็นยืนยันว่า หลวงพ่อทำวิชา “ขลัง” และมีเมตตา มหาเสน่ห์ มหานิยม หรืออยู่ยงคงกระพัน  แต่ในจิตวิญญาณของชาวหนองโพแล้ว หลวงพ่อเดิมคือพระอภิญญา มีอิทธิฤทธิ์ วัตรปฏิบัติของท่านเรียบง่าย เป็นไปเพื่อการออกจากวัฏฏะอย่างแท้จริง  หลวงพ่อเป็นพระผู้เปี่ยมด้วยเมตตา มีปัญญา มีวิริยะบารมี เป็นผู้ให้ เป็นหลักศรัทธาอันมั่นคงชาวบ้านหนองโพ  ชาวบ้านหนองโพเล่าความรู้สึกให้ฟังว่า... หลวงพ่อเป็นทั้งพ่อและแม่ของชาวหนองโพอย่างแท้จริง ท่านจ้างครูมาสอนสรรพวิทยาการต่างๆ ให้แก่เด็ก ให้เรียนรู้หนังสือ ให้ฝึกหัดการอาชีพ ฝึกหัดเล่นดนตรี ฝึกหัดการแสดง ยามเจ็บไข้ได้ป่วยชาวบ้านก็มาหาหลวงพ่อให้หลวงพ่อรดน้ำมนต์ เป่าศีรษะ อันเป็นความเชื่อพื้นบ้านที่มีมาแต่โบราณ ช่วยให้ค่อยบรรเทาใจคลายทุกข์ลงได้บ้าง

วัดหนองโพในสมัยนั้น จึงเป็นที่รวมของวิทยาการต่างๆ อย่างแท้จริง เป็นที่เรียนรู้วิชาการ เป็นที่กิน เป็นที่วิ่งเล่น เป็นลานกีฬา   เด็กๆ ในหมู่บ้านหนองโพจึงมีแต่ความสุขสนุกสนานยามเมื่ออยู่ในวัด พื้นฐานทางจิตของเด็กเหล่านั้นถูกพระสงฆ์หล่อหลอม ฝึกฝนให้ทำในสิ่งที่ถูกต้องมาด้วยความรัก ความเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสามัคคี ตามแบบวัฒนธรรมไทยแต่โบราณ ต่อเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นผู้ใหญ่ย่อมถ่ายทอดภูมิความรู้และปัญญาไปสู่ลูกหลานสืบต่อๆ กัน  ด้วยเหตุนี้ คุณงามความดีของหลวงพ่อเดิมจึงสถิตมั่นอยู่ในใจของชาวหนองโพตราบจนปัจจุบัน  มีหลักฐานเห็นได้ชัดจากการที่ชาวบ้านหนองโพร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิมจนสำเร็จลุล่วง และช่วยพัฒนาวัดหนองโพจนเจริญรุ่งเรืองสืบมา

ก่อนที่จะนำไปสู่การพาชมพิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร  จะขอนำเรื่องราวประวัติหลวงพ่อเดิม ประวัติวัดหนองโพ และคาถาบางบทของหลวงพ่อเดิม จากคำบอกเล่าของคณะศิษยานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดหลวงพ่อ โดยนายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นผู้เรียบเรียง เผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจในองค์หลวงพ่อก่อนเป็นเบื้องต้น

(นายธนิต อยู่โพธิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ที่ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เปรียญ ๙ ประโยค สำนักวัดมหาธาตุ เคยได้รับการศึกษาในวัดหนองโพในสมัยหลวงพ่อเดิมปรับปรุงการศึกษา ต่อมาภายหลังได้เข้ารับราชการในกรมศิลปากร จนกระทั่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙  ท่านได้รับยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาพัฒนาการสังคม (ด้านศิลปวัฒนธรรม) เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕  เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗)





หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร - พระครูนิวาสธรรมขันธ์
(พ.ศ.๒๔๐๓-๒๔๙๔)
อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

เกิดและเยาว์วัย  

หลวงพ่อเดิม เกิดที่บ้านหนองโพ เมื่อวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีวอก(๑) จุลศักราช ๑๒๒๒ ตรงกับวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๓ โยมบิดาชื่อเนียม เป็นชาวบ้านเนินมะกอก อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์  โยมมารดาชื่อภู่ เป็นชาวบ้านหนองโพ  โดยเหตุที่เป็นลูกคนแรกของบิดามารดา ปู่ย่าตายายจึงให้ชื่อว่า “เดิม”  หลวงพ่อมีน้องร่วมบิดามารดาอีก ๕ คน คือ นางทองคำ คงหาญ ๑  นางพู ทองหนุน ๑  นายดวน ภู่มณี ๑  นางพัน จันทร์เจริญ ๑  และนายเปรื่อง หมื่นนราเดชจั่น ๑

นางภู่  โยมมารดาหลวงพ่อ เป็นลูกนางสี และนายนาค  นางสีเป็นลูกนายเชียง นางแก้ว  และนางแก้วเป็นหัวหน้าครอบครัวผู้หนึ่งในบรรดาบรรพบุรุษ ๗ ครัวเรือนที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนหนองโพ

เมื่อหลวงพ่อเกิดนั้น หลวงพ่อเฒ่า (รอด) ได้ล่วงลับไปแล้ว และผู้ครองวัดหนองโพก็ผลัดเปลี่ยนสมภารสืบต่อกันมา  การศึกษาของหลวงพ่อเมื่อรุ่นเยาว์วัยก่อนอุปสมบทนั้น คงจะไม่ได้เล่าเรียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนัก ยิ่งเป็นลูกคนโตของพ่อแม่เช่นหลวงพ่อด้วยแล้ว โอกาสที่จะได้เล่าเรียนอยู่วัดวาในสมัยอายุเยาว์วัยก็ย่อมมีน้อยที่สุด  เข้าใจว่า หลวงพ่อเห็นจะไม่ได้เรียนอะไรเป็นล่ำเป็นสัน จึงไม่เคยได้ยินใครเล่าให้ฟังถึงการศึกษาของหลวงพ่อในสมัยเยาว์วัย

ต่อมาเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง โทศก ตรงกับวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๓ โยมผู้ชายของหลวงพ่อได้พาไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุภาวะ ณ พัทธสีมาวัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์  โดยมีหลวงพ่อแก้ว วัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌายะ และหลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง(๒)  ตำบลท่าน้ำอ้อย กับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล ตำบลสระทะเล เป็นคู่สวด  เมื่ออุปสมบทพระอุปัชฌาย์ให้นามฉายาว่า “พุทฺธสโร” ครั้นอุปสมบทแล้วก็มาอยู่วัดหนองโพ และได้รับการเล่าเรียนศึกษาเป็นจริงเป็นจังในระยะนี้ เพราะเหตุที่หลวงพ่อไม่มีโอกาสได้อยู่วัดอยู่วาเล่าเรียนศึกษากับพระมาตั้งแต่เยาว์วัย เหมือนกุลบุตรทั้งหลายโดยทั่วไปในสมัยนั้น ความรู้ในวิชาหนังสือและวิทยาการต่างๆ ซึ่งโดยปกติกุลบุตรอื่นๆ ที่เคยเป็นศิษย์วัดเมื่อระยะเด็ก เขาศึกษาเล่าเรียนกันมาแต่ก่อนบวช  หลวงพ่อต้องมาเล่าเรียนเอาเมื่อตอนอุปสมบทแล้วแทบทั้งนั้น แต่หลวงพ่อเป็นคนมีมานะพากเพียรเป็นยอดเยี่ยม คิดอะไรไม่ได้เป็นไม่ยอมหยุดคิด คิดมันไปจนออกจนเข้าใจ ดูอะไรไม่ได้เรื่องไม่ได้ความ ก็คิดค้นมันไปจนแตกฉาน พออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อก็ตั้งต้นศึกษาความรู้เป็นการใหญ่ เมื่อมาจำพรรษาอยู่ในวัดหนองโพตลอดเวลา ๗ พรรษาแรกได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและท่องคัมภีร์วินัย ๑๐ ผูก(๓)  กับหลวงตาชมซึ่งเป็นผู้ครองวัดหนองโพอยู่ในเวลานั้น และศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิชาอาคมกับนายพัน ชูพันธ์ ผู้ทรงวิทยาคุณอยู่ในบ้านหนองโพ ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นเล็กของหลวงพ่อเฒ่าและยังมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น ภายหลังเมื่อนายพันถึงมรณกรรมแล้ว ก็ได้ไปจำพรรษาและศึกษาเล่าเรียนกับหลวงพ่อมี ณ วัดบ้านบน ตำบลม่วงหัก อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ อยู่วัดบ้านบน ๒ พรรษา  ในตอนนี้หลวงพ่อก็หาโอกาสไปเรียนและหัดเทศน์กับพระอาจารย์นุ่ม วัดเขาทองและไปมอบตัวเป็นศิษย์เรียนข้อธรรมและวินัยกับอาจารย์แย้ม ซึ่งเป็นฆราวาสและอยู่ที่วัดพระปรางค์เหลืองด้วย จนนับว่าเป็นผู้มีความรู้แตกฉานพอแก่สมัยนั้นก็เริ่มเป็นนักเทศน์


----------------------------------------------
(๑) ท่านเจ้าของบอกว่า วันพุธ แรม ๑๓ เดือน ๓ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๒๒ แต่แรม ๑๓ ค่ำนั้นมิใช่วันพุธ เป็นวันศุกร์ ตรงกับวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๓
(๒) หลวงพ่อวัดพระปรางค์เหลืองนี้ ต่อมาเป็นพระครูพยุหานุศาสก์ เจ้าคณะแขวงพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ประชาชนนับถือกันว่าเป็นพระผู้เฒ่าที่มีคาถาอาคมขลัง และมีชื่อเสียงทางรดน้ำมนต์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลนครสวรรค์ขึ้นไปตามลำน้ำเจ้าพระยา ได้เสด็จขึ้นแวะเยี่ยมและโปรดให้หลวงพ่อเงินรดน้ำมนต์ถวายเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙
(๓) คัมภีร์วินัย ๑๐ ผูก นั้นคือ หนังสือที่ต่อมาได้ตีพิมพ์ขึ้นเป็นเล่ม เรียกชื่อว่า บุพพสิกขาวรรณา ของพระอมราภิรักขิต (เกิด) วัดบรมนิวาส


เป็นนักเทศน์

เล่ากันมาว่า หลวงพ่อเคยเทศน์เก่ง ทั้งเทศน์คู่และเทศน์เดี่ยว ฉลาดในการวิสัชนาปัญหาธรรม และเข้าใจแยกแยะให้อรรถาธิบายข้อธรรมให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายจนปรากฏว่าในครั้งนั้นมีคนชอบนิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์กันเนืองๆ พูดกันจนถึงว่า พอเทศน์ในงานนี้จบก็มีคนเข้าไปประเคนพานหมากนิมนต์ไปเทศน์ในงานโน้นอีก ติดต่อกันไป  หลวงพ่อเป็นนักเทศน์อยู่หลายปี แต่แล้วหลวงพ่อก็เลิกเทศน์ เหตุที่เลิกเทศน์นั้นเพราะหลวงพ่อปรารภว่า ”มัวแต่ไปเที่ยวสอนคนอื่น และเอาสตางค์เขาเสียอีกด้วย ส่วนตัวเองไม่ได้สอนสักที ต่อไปนี้ต้องสอนตัวเองสักที”  ต่อแต่นั้นมาก็เลิกเทศน์เป็นเด็ดขาด แม้จะมีใครมานิมนต์เทศน์อีกหลวงพ่อก็ไม่รับนิมนต์ ถ้าเจ้าของงานต้องการจะได้พระเทศน์จริงๆ หลวงพ่อก็จะระบุให้ไปนิมนต์พระภิกษุรูปอื่นไปเทศน์แทน แต่ถ้าเป็นธรรมสากัจฉา หลวงพ่อก็ชอบฟัง และถ้าปัญหาธรรมที่หยิบยกขึ้นมาวิสัชนากันนั้นแก้ไขกันไม่แจ่มแจ้งหลวงพ่อก็ช่วยวิสัชนาแยกแยะอรรถาธิบายให้แจ่มแจ้งจนคลายข้อกังขา เมื่อเลิกเป็นนักเทศน์แล้วในพรรษาที่ ๙-๑๐ และ ๑๑ หลวงพ่อได้ไปเรียนทางวิปัสสนากับหลวงพ่อเงิน (พระครูหยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์   เรื่องเรียนวิปัสสนากรรมฐานนั้น หลวงพ่อปฏิบัติจริงจังตลอดมา ท่านนั่งตัวตรงตามหลักพระบาลีที่ว่า  นิสีทติ ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา อุชุํ กายํ ปณิธาย ปริมุขํ สติ อุปฏฐเปตฺวา นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ตั้งสติกำหนดอารมณ์ไว้เฉพาะหน้า”  หลวงพ่อนั่งตัวตรงเสมอมาจนอายุ ๙๐ เศษ ก็ยังนั่งตัวตรง (ดูรูปด้านล่าง)




เรียนวิชาอาคม

โดยเหตุที่หลวงพ่อได้เคยเรียนวิชาอาคมมากับนายพัน ตั้งแต่เริ่มอุปสมบทในพรรษาแรกๆ บ้างแล้ว ในตอนนี้ก็ปรากฏว่าได้เรียนและหัดทำอีก แต่หลวงพ่อจะไปศึกษาเล่าเรียนมาจากสำนักของอาจารย์ใดบ้างไม่ทราบได้ ตลอดเท่าที่ทราบกันบ้างก็ว่าหลวงพ่อได้เรียนกับนายสาบ้าง ไปเรียนกับหลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล บ้าง  ไปเรียนกับพลวงพ่อวัดเขาหน่อ ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ บ้าง  เวทย์มนต์คาถาหรือวิทยาอาคมแต่ก่อนๆ มาก็นิยมกันว่าสามารถปลุกเสกให้มีเสน่ห์มหานิยมหรืออยู่ยงคงกระพันชาตรี หรือขับไล่ภูตผีปีศาจ หรือทำให้เกิดอำนาจหรืออิทธิฤทธิ์ขึ้น และทำความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อย่างที่เรียกว่าปาฏิหาริย์ เป็นของที่นิยมและเชื่อกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ดังจะเห็นได้ในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องโบราณ มีปฐมสมโพธิเป็นต้น การเรียนและฝึกหัดทำเวทมนต์คาถาวิทยาอาคมเหล่านี้ เรียกกันว่า เรียนวิชา หรือเรียนคาถาอาคม แต่โบราณมาก็สืบเสาะแสวงหาที่ร่ำเรียนกับพระอาจารย์ตามวัดดังจะเห็นได้จากเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นต้น

ปรากฏว่าหลวงพ่อ “ทำวิชาขลัง” จนเป็นที่เลื่องลือ  ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่เห็นจะมีผู้รู้ผู้เห็น “ความขลัง” ของหลวงพ่อประจักษ์แก่ตาและแก่ตนเองแล้วเล่ากันต่อๆ ไปจนเป็นที่ประจักษ์แก่หูอยู่เป็นอันมาก จึงปรากฏว่าประชาชนทั้งชาวบ้านและข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน ทั้งในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียงตลอดไปจนจังหวัดที่ห่างไกลบางจังหวัด พากันไปมอบตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อมากมายของให้หลวงพ่อรดน้ำมนต์บ้าง ขอวิชาอาคมบ้าง ขอแป้งขอผงบ้าง ขอตะกรุดบ้าง ขอผ้าประเจียดบ้าง ขอรูปและอื่นๆ บ้างจากหลวงพ่อ และที่แพร่หลายที่สุดก็คือ ขอแหวนเงินหรือนิเกิลลงยันต์มีรูปหลวงพ่อนั่งขัดสมาธิที่หัวแหวน   ต่อมาเมื่อสมัยมหาสงครามเอเชียบูรพามีประชาชนพากันไปหาหลวงพ่อ วันละมากมาก นอกจากขอของขลังเช่นกล่าวแล้วยังพากันหาซื้อผ้าขาว ผ้าแดง ผืนหนึ่งๆ ขนาดกว้างยาวราว ๑๒ นิ้วฟุต เอาน้ำหมึกไปทาฝ่าเท้าหลวงพ่อ แล้วยกขาของท่านเอาฝ่าเท้ากดลงไปให้รอยเท้าติดบนแผ่นผ้า บางคนก็กดเอาไปรอยเท้าเดียวบางคนก็กดเอาไปทั้งสองรอย แล้วก็เอาผ้าผืนนั้นไปเป็นผ้าประเจียดสำหรับคุ้มครองป้องกันตัว  ฝ่าเท้าของหลวงพ่อต้องเปื้อนหมึกอยู่ตลอดทุกวัน  หลวงพ่อเคยบ่นกับผู้เขียนในเวลาลับหลังเขาว่า ”มันทำกูเป็นหนูถีบจักร เมื่อยแข้งเมื่อยขาไปหมด”

ในเวลามีงานนักขัตฤกษ์ที่วัดหนองโพ หรือที่วัดอื่นๆ ซึ่งเขานิมนต์หลวงพ่อไปเป็นประธานของงาน มักจะมีประชาชนมาขอแป้งขอน้ำมนต์ น้ำมัน และของขลังต่างๆ กันเนืองแน่นมากมาย ที่ก้มศีรษะมาให้หลวงพ่อเป่าเสกหัวให้ก็มี ที่ขอให้ถ่มน้ำลายรดหัวก็ไม่น้อย ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อคราวทำศพหลวงน้าสมุห์ชุ่มที่วัดหนองโพ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๑ มีผู้คนมาในงานศพนั้นมากมาย และพากันไปนั่งล้อมหลวงพ่อขอ “ของขลัง” บ้าง ให้เป่าหัวให้บ้าง ให้ถ่มน้ำลายรดหัวบ้าง ครั้นค่อยเบาบางผู้คนหลวงพ่อก็ให้ศิษย์ช่วยพยุงตัวพาลุกหนีออกมาจากกุฏิของท่าน แล้วมาคุยกับผู้เขียนซึ่งกำลังนั่งคุยกันอยู่ที่ชานหน้ากุฏิอีกหลังหนึ่งและตั้งอยู่ห่างจากกุฏิหลวงพ่อ พอปูอาสนะถวาย หลวงพ่อก็นั่งลงแล้วบ่นว่า ”เดี๋ยวคนนั้นให้ถ่มน้ำลายใส่หัว เดี๋ยวคนนี้ให้เป่าหัว จนคอแห้งผากไม่มีน้ำลายจะถ่ม เล่นเอาจะเป็นลมเสียให้ได้” แต่พอหลวงพ่อมานั่งคุยอยู่ได้สักประเดี๋ยวก็มีคนตามมาขอให้ทำอย่างนั้นอีกหลวงพ่อก็ทำให้อีก ไม่เห็นแสดงอาการเบื่อหน่ายระอิดระอา  เมื่อพระภิกษุซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหม่ๆ ไปขอเรียนคาถาอาคมกับหลวงพ่อ ท่านก็เมตตาบอกให้แล้วเตือนว่า “เรียนไว้เถอะดี แต่ต่อไปจะคิดถึงตัว” เห็นจะหมายความว่าเมื่อทำวิชาใดขลังขึ้นแล้วถูกประชาชนรบกวนเหมือนอย่างที่หลวงพ่อประสบอยู่จนตลอดชีวิตของท่าน  แต่ก็สังเกตเห็นตลอดมาว่าหลวงพ่อทำให้เขาด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส เห็นจะปลงตกประหนึ่งถือเป็นหน้าที่จะต้องทำให้เขาทั่วหน้ากัน เพราะหลวงพ่อเป็นผู้มีอัธยาศัยกว้างขวางและต้อนรับปฏิสันถารดี โอภาปราศรัยเหมาะแก่บุคคลและกาลเทศะไม่มากไม่น้อย ประกอบกับท่านมีรูปร่างสูงใหญ่และมีอิริยาบถเป็นสง่าจึงเป็นที่น่าเคารพยำเกรงของคนทั่วไป

กิตติคุณในเรื่อง “วิชาขลัง” ของหลวงพ่อนั้น เป็นที่เลื่องลือกันแพร่หลายมานานนักหนา มีเรื่องเล่ากันต่างๆ หลายอย่างหลายเรื่องถ้าจะจดลงไว้ก็จะเป็นหนังสือเล่มใหญ่  ผู้เขียนเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เป็นเด็ก ครั้นเมื่ออายุมากขึ้น คราวหนึ่งได้มีโอกาสจึงกราบเรียนถามหลวงพ่อตรงๆ ว่า “มีดีจริงอย่างที่เขาเลื่องลือกันหรือขอรับ?” ท่านก็ยิ้มแล้วตอบว่า “เขาพากันเชื่อถือกันว่าอย่างนั้นดี มาขอให้ทำก็ทำให้” ฟังดูเหมือนหลวงพ่อทำให้ตามใจผู้ขอ เมื่อเขาต้องการท่านก็ทำให้  ผู้เขียนจึงกราบเรียนต่อไปว่า “คาถาแต่ละบทดูครูบาอาจารย์แต่ก่อน ท่านก็บอกฝอยของท่านไว้ล้วนแต่ดีๆ บางบทก็ใช้ได้หลายอย่างหลายด้าน จะเป็นจริงตามนั้นบ้างไหม?” หลวงพ่อได้โปรดชี้แจงอย่างกลางๆ เป็นความสั้นๆ ว่า ”ของจริง รู้จริง เห็นจริง ย่อมทำได้จริง” ครั้นผู้เขียนได้ฟังอย่างนี้ก็มิได้กราบเรียนซักถามหลวงพ่อต่อไป แต่หลวงพ่อได้เมตตาบอกคาถาให้จดมา ๗ บท ขอนำมาพิมพ์ไว้ต่อท้ายประวัติของท่านหลวงพ่อนี้.



เข็มกลัดรูปหลวงพ่อเดิม ทำด้วยเงินลงยา ขอบฉลุลาย ใช้กลัดติดย่ามพระธุดงค์


รูปถ่ายหลวงพ่อเดิม กรอบและภาพเป็นของดั้งเดิม หลวงพ่อเดิมมอบให้เมื่อยังไม่มรณภาพ


สันโดษและพากเพียร

หลวงพ่อมีนิสัยสันโดษ จนบางคราวเห็นได้ว่ามักน้อย และมีความพากเพียรพยายาม สบงและจีวรที่นุ่งห่มก็นิยมใช้ของเก่า จะได้เห็นหลวงพ่อนุ่งห่มสบงจีวรใหม่ก็ต่อเมื่อมีผู้ศรัทธาถวายให้ครองในกิจนิมนต์หลวงพ่อจึงครองฉลองศรัทธา ถ้าเป็นไตรจีวรแพรครองแล้วกลับมาจากที่นิมนต์ก็มอบให้พระภิกษุรูปอื่นไป ข้าวของที่มีผู้ถวาย ถ้ามีประโยชน์แก่พระภิกษุรูปอื่นๆ หลวงพ่อก็ให้ต่อไป ของสิ่งใดที่มีผู้ถวายไว้ ถ้ามีใครอยากได้แล้วออกปากขอ หลวงพ่อก็ให้ แต่เมื่อหลวงพ่อบอกให้แล้ว ผู้ขอต้องเอาไปเลยทีเดียว ถ้ายังไม่เอาไปและทิ้งไว้หรือฝากไว้กับหลวงพ่อ เมื่อมีใครมาเห็นภายหลังและออกปากขออีก หลวงพ่อก็ยกให้อีก เมื่อผู้ขอภายหลังเอาไปแล้วผู้ขอก่อนมาต่อว่าว่าให้ผมแล้ว เหตุใดจึงให้คนอื่นไปเสียอีก หลวงพ่อจะตอบว่า ก็ไม่เห็นเอาไป นึกว่าไม่อยากได้จึงให้คนที่เขาอยากได้ กุฏิที่มีผู้สร้างถวายดีๆ มีฝารอบขอบชิด หลวงพ่อก็ไม่ชอบอยู่ แต่ชอบอยู่ในศาลาซึ่งมีแต่ฝาลำแพนบังลมในบางด้าน ต่อมาเมื่อหลวงพ่อมีอายุล่วงเข้าวัยชรามากแล้ว บรรดาศิษยานุศิษย์จึงช่วยกันรื้อหลังคาหลังนั้นไปปลูกไว้ ณ ป่าช้าเผาศพทางทิศตะวันออกของวัดหนองโพ แล้วสร้างกุฏิมีฝารอบขอบชิดขึ้นแทนในที่เดิม ถวายให้เป็นที่อยู่ของหลวงพ่อต่อมา จนถึงวันมรณภาพ

ณ ศาลาหลังที่รื้อไปนั้น เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กวัดเคยไปนอนอยู่ปลายตีนเตียงนอนปลายเท้าของหลวงพ่อ ครั้นตื่นขึ้นตอนเช้ามืด ราวตี ๔ ตี ๕ ก็เห็นหลวงพ่อจุดเทียนอ่านหนังสือคัมภีร์ใบลานสั้นๆ เสมอ เคยสอบถามศิษย์รุ่นเก่าก็เล่าตรงกันว่าเคยเห็นหลวงพ่อลุกขึ้นจุดเทียนอ่านหนังสือเช้ามืดอย่างนี้ตลอดมา แม้จะไปนอนค้างอ้างแรมในดงในป่า หลวงพ่อก็จุดเทียนอ่านหนังสือในตอนเช้ามืดเช่นนั้นเป็นนิตย์  ผู้เขียนอยากรู้ว่าหนังสือนั้นเป็นเรื่องอะไร ก็ไม่รู้จนแล้วจนรอด เพราะหลวงพ่อมักจะเอาติดตัวไปไหนมาไหนด้วยเสมอ เวลาท่านอยู่ก็ไม่มีศิษย์คนใดกล้าไปขอดูหรือเรียนถามว่าเป็นหนังสืออะไร มาจนหลวงพ่อมรณภาพแล้ว เมื่อผู้เขียนขึ้นไปนมัสการศพหลวงพ่อ จึงให้ค้นดู ปรากฏว่าเป็นหนังสือปฤศนาธรรมสำนวนเก่ามากคัมภีร์หนึ่ง มี ๖๒ ลาน เรียกว่า มูลกัมมัฏฐานและทางวิปัสสนา อีกคัมภีร์หนึ่ง มี ๑๖ ลาน เรียกว่า พระอภิธรรมภายใน ตลอดอายุของหลวงพ่อเห็นจะอ่านคัมภีร์ทั้งสองนั้นตั้งหลายพันครั้ง





ลายมือเขียนอักษรขอม ของหลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร
คำอ่าน
สกฺกสฺส  วชิราวูธํ  เวสฺสุวณฺณสฺส  สคทาวูธํ  ยมฺมนสฺส  เนยฺยนาวูธํ
อลวกสฺส  ทุสาวูธํ  นรายสฺส  จกฺกราวูธํ  ปญฺจอวุทฺธานํ  เอเตสํ  อานุภาเวน
ปญฺจอวุทฺธา  พคฺคพคฺชาวิจุณฺณํ  วิจุณฺณาโลมํมาเมน  พุสฺสนฺติ  คจฺฉ  อมุมฺหิ
โอกาเส ติถาหิฯ


ศาลาการเปรียญหลังแรก หลวงพ่อเดิม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔


โรงหลังคาสังกะสีและเสาไม้คือโรงเรียนวัดหนองโพหลังแรก สร้างเมื่อราว พ.ศ.๒๔๕๑
ในรูปนี้ปรับปรุงใช้เป็นโรงตักข้าวใส่บาตรถวายพระ (ร้านบาตร) ปัจจุบันรื้อไปแล้ว

ชอบเลี้ยงสัตว์พาหนะ
หลวงพ่อชอบเลี้ยงสัตว์พาหนะ ตอนแรกๆ ได้เลี้ยงวัวขึ้นไว้ฝูงใหญ่ แล้วภายหลังได้ยกให้นายต่วน คงหาญ ผู้เป็นหลานชายไป สัตว์ที่ชอบเลี้ยงเป็นประจำก็คือ ช้างและม้า เรื่องเลี้ยงช้างนั้นมิใช่แต่ชอบเลี้ยงอย่างว่าพอมีช้างเท่านั้น หลวงพ่อได้ศึกษาวิชาการช้างจนถึงร่วมกับหมอช้างไปโพนจับจ้างป่าด้วย หลวงพ่อเคยมีช้างหลายเชือกทั้งช้างงาและช้างสีดอ ตายแล้วก็หามาเลี้ยงไว้ใหม่ แม้จนเวลามรณภาพก็ยังมีอยู่อีก ๓ เชือก แต่ได้ยกมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นไว้แล้วก่อนท่านถึงมรณภาพ สัตว์พาหนะที่หลวงพ่อชอบเลี้ยงไว้ก็เพื่อใช้เป็นพาหนะสำหรับบรรทุกและลากเข็นทัพพสัมภาระในการก่อสร้างถาวรวัตถุ และใช้ในการมหกรรมเครื่องบันเทิงชองชาวบ้านในท้องถิ่นด้วย ดังจะเห็นได้เมื่ออ่านประวัติของหลวงพ่อต่อไป แม้หลวงพ่อจะชอบเลี้ยงช้างก็จริง แต่ก่อนไม่เคยเห็นท่านขี่ช้าง มาขี่ตอนหลังเมื่ออายุหลวงพ่อล่วงเข้าวัยชรามากแล้ว แต่ก่อนหลวงพ่อชอบเดินและเดินทนเดินเร็วเสียด้วย เรื่องเดินของหลวงพ่อนี้บรรดาศิษย์ตั้งแต่รุ่นก่อนๆ มาจนถึงรุ่นหลังๆ ที่เคยติดตามหลวงพ่อต่างระอาและเกรงกลัวไปตามๆ กัน  บางคนเดินทางไปกับหลวงพ่อครั้งเดียวก็เข็ด เพราะหลวงพ่อเดินตั้งครึ่งค่อนวันไม่หยุดพักและเดินเร็ว สังเกตดูก็เห็นก้าวช้าๆ จังหวะก้าวเนิบๆ คล้ายกับช้างเดิน แต่คนอื่นต้องรีบสาวเท้าตาม ผู้เขียนเองเมื่อเป็นเด็กเคยสะพายย่ามตามหลังถึงกับต้องวิ่งเหยาะ และถ้ามัวเผลอเหม่อดูอะไรเสียบ้างก็ทิ้งจังหวะไปไกลจนถึงต้องวิ่งตามให้ทันเป็นคราวๆ เรื่องเดินทน ไม่หยุดพักของหลวงพ่อนั้นถึงกับเคยมีศิษย์บางคนที่ตามไปด้วยต้องออกอุบายเก็บหญ้าพุ่งชู้ตามข้างทางเดินตามไปพลาง แล้วเอาหญ้าพุ่งชู้ขว้างให้ติดจีวรของหลวงพ่อไปพลาง จนเห็นว่าหญ้าติดจีวรมากแล้ว พอถึงที่มีร่มไม้ก็ออกอุบายเรียนขึ้นว่า “หลวงพ่อครับ หญ้าติดจีวรเต็มไปหมดแล้ว หยุดพัก เก็บหญ้าออกกันเสียทีเถอะ” จึงเป็นอันได้หยุดพักกันครั้งหนึ่ง


ชอบค้นคว้าทดลอง
หลวงพ่อมีนิสัยชอบศึกษาและค้นคว้าทดลอง การค้นคว้า-ทดลองของหลวงพ่อนั้นมีหลายเรื่อง ขอนำมาเล่าแต่บางเรื่อง เช่นคราวหนึ่งได้ประดิษฐ์สร้างเกวียนให้เดินได้เองโดยไม่ต้องใช้แรงวัวหรือแรงควายเทียมลาก เรียกของท่านว่าเกวียนโยก เมื่อสร้างขึ้นแล้วก็โยกให้เดินได้คล่องแคล่วดีแต่เดินได้แต่รุดหน้า เลี้ยวไม่ได้ จะได้พยายามแก้ไขอย่างไรอีกหรือเปล่าไม่ทราบได้ แต่ไม่ช้าก็เลิกไป ตามปกติชาวบ้าน เขาสร้างเกวียนวัวเกวียนควายใช้กัน แต่หลวงพ่อสร้างเกวียนช้างคือใช้ช้างเทียมลาก แต่เกวียนช้างที่หลวงพ่อสร้างขึ้นครั้งแรกนั้น ไม่สำเร็จประโยชน์ได้ดังประสงค์ เพราะเมื่อบรรทุกแล้ว พื้นดินทานน้ำหนักไม่ได้ กงล้อจมลงไปในพื้นดิน ต่อมาก็เลิก ครั้นมาเมื่อสมัยเริ่มแรกนิยมใช้รถยนต์บรรทุกกันตามหัวเมือง หลวงพ่อก็ซื้อรถยนต์ไปใช้แต่รถยนต์สมัยนั้นแล่นไปได้แต่ตามทางเกวียนที่เรียบๆ เมื่อแล่นไปตามท้องนาซึ่งมีคันนาและหัวขี้แต้หรือในท้องที่ขรุขระก็แล่นไปไม่ได้ ต้องมีคนคอยบุกเบิกทางเอาจอบสับเอาเสียมแซะและเอาขวานคอยฟันคอยกรานต้นไม้กิ่งไม้ตามทางที่รถยนต์จะผ่านไป ไม่ช้าหลวงพ่อก็เบื่อ ต่อมาก็เลิก แล้วหันกลับไปนิยมเลี้ยงช้างอย่างเดิม และคราวนี้ได้ประดิษฐ์สร้างเกวียนข้างขึ้นใหม่ แก้ไขจนใช้บรรทุกลากเข็นได้ประโยชน์ดีมาก ได้ใช้สำหรับเข็นลากไม้เสาและสัมภาระอื่นๆ ในการสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งเรียกว่า วัดหนองหลวง เพราะสร้างขึ้นที่ริมหนองน้ำชื่อนั้น

นอกจากค้นคว้าในทางประดิษฐ์แล้ว ตำรับตำราที่ครูบาอาจารย์ทำไว้แต่ก่อนๆ บางอย่างหลวงพ่อก็นำมาทดลองด้วย เช่น วิชาเล่นแร่ คือทำแร่ตะกั่วให้เป็นเงินและทำเงินให้เป็นทอง บรรดาลูกศิษย์รุ่นเก่าเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อพยายามทดลองค้นคว้าวิชาทำเงินให้เป็นทองอยู่หลายปี โดยมีลูกศิษย์เป็นลูกมือช่วยเผาถ่านช่วยสูบไฟและอื่นๆ แต่ตอนผสมส่วนของธาตุโลหะและผสมยาซัดนั้นเล่ากันว่าหลวงพ่อต้องทำเอง บรรดาศิษย์รุ่นเก่าเหล่านั้นเล่าตรงกันว่า หลวงพ่อพยายามทำเงินให้เป็นทองคำจนได้ ศิษย์รุ่นใหญ่ระบุทองที่หลวงพ่อทำได้และมอบให้กับศิษย์บางคนซึ่งศิษย์ผู้นั้นได้เอาไปทำเครื่องประดับให้ลูกหลายสวมใส่อยู่  

ต่อมาเรื่องที่จะเลิกทำทองนั้น เล่ากันมาว่า วันหนึ่งหลวงพ่อถลุงเงินให้เป็นทองหนักราวสัก ๑ บาท พอหลอมเสร็จเทออกมาจากเบ้าทิ้งไว้ให้เย็น เอาขึ้นทั่งแล้วก็เอาค้อนตีแผ่ออกเป็นแผ่นบาง แล้วก็เอาลงเบ้าหลอมดูใหม่ แล้วก็เอามาตีแผ่ดูอีก เข้าใจว่าหลวงพ่อคงตรวจตราพิจารณาดูว่าจะเป็นทองคำได้จริงหรือไม่ แล้วก็เอาลงเบ้าหลอมดูอีก และเทออกจากเบ้า ทิ้งไว้ให้เย็นเป็นก้อนค่อนข้างกลม แล้วหลวงพ่อก็หยุดไปนั่งพักเฉยอยู่บนอาสนะเป็นเชิงตรึกตรอง ไม่พูดจาว่ากระไร บรรดาศิษย์ต่างหยิบมาดูกันคนละทีสองทีแล้วคนนั้นก็ขอ คนนี้ก็ขอ สักครู่หลวงพ่อก็ลุกขึ้นเดินมาหยิบทองก้อนนั้นขึ้นไปถือกำไว้ในอุ้งมือแล้วก็เอามือไขว้หลังเดินไปบนคันสระลูกใหญ่ในวัดหนองโพ เอามือที่ถือก้อนทองเดาะเล่นกับอุ้งมือ ๒-๓ ครั้ง แล้วก็ขว้างก้อนทองนั้นลงสระน้ำไป พอเดินกลับมาที่ถลุงทอง หลวงพ่อก็หยิบค้อนทุบเตาเบ้าถลุงแตกหมด แล้วก็เลิกเล่นเลิกทำตั้งแต่วันนั้นมา



รับสมณศักดิ์  
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระครูพยหุหานุศาสก์ (สิทธิ์) วัดบ้านบน เจ้าคณะแขวงอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๗ ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “ให้เจ้าอธิการเดิมวัดหนองโพ เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ รองเจ้าคณะแขวงเมืองนครสวรรค์” (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๑ น.๒๓๔๒ ลงวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗ เดี๋ยวนี้เรียกเจ้าคณะแขวงว่า เจ้าคณะอำเภอ) เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๗ เนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๖ เวลานั้นหลวงพ่อมีอายุได้ ๕๕ ปี และมีพรรษา ๓๔ พรรษา ทั้งนี้ย่อมนำความปีติมาให้แก่บรรดาศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อเป็นอันมาก แต่ก็ยังพากันเรียกท่านด้วยความเคารพนับถือทั้งต่อหน้าและลับหลังว่าหลวงพ่อ อยู่อย่างนั้น เว้นแต่ศิษย์รุ่นผู้ใหญ่จึงมักใช้สรรพนามเรียกหลวงพ่อว่า “ท่าน”  ส่วนประชาชนทั่วไปนั้นคงรู้จักกันแพร่หลาย โดยนามว่า “หลวงพ่อเดิม”  ต่อมาทางการคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งหลวงพ่อเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอพยุหีรี จังหวัดนครสวรรค์ และหลวงพ่อได้รับตราตั้งเป็นอุปัชฌายะ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒ หลวงพ่อก็ได้ปฏิบัติศาสนกิจในหน้าที่นั้นมาด้วยความเรียบร้อยตลอดเวลากว่า ๒๐ ปี เมื่อท่านล่วงเข้าวัยชรามากแล้ว ทางการคณะสงฆ์จึงได้เลื่อนหลวงพ่อขึ้นเป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ธันวาคม 2560 15:09:21 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 29 พฤศจิกายน 2560 18:15:33 »


อุโบสถวัดหนองหลวง อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์


หน้าบันอุโบสถด้านทิศใต้ เขียนไว้ว่า พระครูนิวาสธรรมขันธ เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗


หน้าบันอุโบสถด้านทิศเหนือ เขียนไว้ว่า สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒




สร้างถาวรวัตถุในวัด
หลวงพ่อมีนิสัยและมีฝีมือในการสร้าง ซึ่งหลวงพ่อได้ก่อสร้างสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา และที่เป็นสาธารณประโยชน์อื่นๆ ไว้มากมาย เมื่ออุปสมบทแล้วมาอยู่จำพรรษาในวัดหนองโพ ในพรรษาแรกๆ นั้น หลวงพ่อก็เริ่มสร้างศาลาการเปรียญขึ้นในวัดหนองโพ แล้วหลวงพ่อก็ปฏิสังขรณ์แก้ขยายขึ้นจากหลังที่หลวงพ่อสร้างไว้แต่ก่อนนั้นอีกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ ก่อนหน้านั้น เมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๔๓๕ หลวงพ่อได้สร้างกุฏิขึ้นใหม่ในวัดหลังหนึ่งเป็นกุฏิหลังแรกที่ใช้ฝาไม้กระดาน และซื้อมาจากบ้านบางไก่เถื่อน (ตำบลบ้านตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท) เมื่อสร้างศาลาและกุฏิขึ้นใหม่ในวัดหนองโพ ครั้งนั้น บรรดาท่านผู้เฒ่าผู้แก่ปู่ย่าตายายของชาวบ้านหนองโพซึ่งมีวิตอยู่ในสมัยนั้น ต่างออกปากชมกันว่า “ท่านองค์นี้ไม่ใช่ใครอื่นแล้วคือหลวงพ่อเฒ่าเจ้าของวัดของท่านมาเกิด”  นอกจากศาลาการเปรียญและหมู่กุฏิ หลวงพ่อได้ร่วมกับทายกทายิกา ชาวบ้าน สร้างโรงอุโบสถขึ้นในที่โรงอุโบสถเดิม เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ และในคราวเดียวกันได้สร้างพระเจดีย์ ๓ องค์ มีกำแพงล้อมรอบไว้ตรงหน้าพระอุโบสถด้วย

นิสัยชอบก่อสร้างของหลวงพ่อนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นชีวิตจิตใจของหลวงพ่อติดต่อมาจนตลอดชีวิต โดยเหตุที่วัดวาอารามตามท้องถิ่นในสมัยนั้นมักมีแต่กุฏิสงฆ์และมีแต่ศาลาดิน คือใช้พื้นดินนั่นเองเป็นพื้นศาลา หลังคาก็มุงแฝก ไม่มีโบสถ์ หลวงพ่อจึงสร้างศาลาการเปรียญ เป็นศาลายกพื้นหลังคามุงกระเบื้อง และสร้างโรงอุโบสถก่ออิฐถือปูนและคอนกรีต ขึ้นเป็นถาวรวัตถุของวัด โบสถ์และศาลาการเปรียญที่หลวงพ่อสร้างขึ้น มักจะกว้างขวางใหญ่โตสำหรับท้องถิ่น จึงต้องใช้เงินทองและสิ่งของเครื่องใช้ในการก่อสร้างมาก วัตถุปัจจัยหรือเงินทองที่มีผู้ถวายหลวงพ่อเนื่องในกิจนิมนต์หรือถวายด้วยมีศรัทธาเลื่อมใสในตัวหลวงพ่อเองก็ดี หลวงพ่อมิได้เก็บสะสมไว้ หากแต่ได้ใช้จ่ายไปในการทำสาธารณประโยชน์และเป็นทุนรอนในการก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาและสถานศึกษาเล่าเรียนจนหมดสิ้น เห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้ และเนื่องจากกิตติคุณทางวิทยาอาคมของหลวงพ่อด้วย จึงมักมีพวกทายกทายิกาช่วยกันเรี่ยไรรวบรวมทุนถวายให้หลวงพ่อทำการก่อสร้างอยู่เนื่องๆ วัดไหนตำบลใดต้องการจะสร้างหรือปฏิสังขรณ์โบสถ์วิหารหรือศาลาการเปรียญขึ้นเป็นถาวรวัตถุในวัด หรือเริ่มก่อสร้างปฏิสังขรณ์กันไว้แล้วแต่ทำไม่เสร็จเพราะขาดช่างและขาดทุนรอน ชาวบ้านสมภารวัดในตำบลนั้นๆ ก็มักพากันมานิมนต์หลวงพ่อให้ไปช่วยอำนวยการสร้างหรือเป็นเป็นประธานในงานก่อสร้างปฏิสังขรณ์ หลวงพ่อก็ยินดีไปตามคำนิมนต์ และมิใช่แต่จะไปบงการให้คนอื่นทำเท่านั้น แต่หลวงพ่อได้ลงมือทำด้วยตนเองด้วย เช่น ถ้าเป็นเครื่องไม้ก็ลงมือกะตัวไม้ และถากไม้ ฟันไม้ เลื่อยไม้ ด้วยตนเอง  ถ้าเป็นเครื่องปูน ก็ลงมือตัดและผูกเหล็กโครงร่าง และผสมทรายผสมปูนเทหล่อด้วยตนเอง จนเป็นเหตุให้คนอื่นนั่งเฉยอยู่ไม่ได้ ทั้งชาวบ้านและชาววัดต่างก็พากันลงมือทำงานช่วยหลวงพ่อ บางรายหลวงพ่อก็ทำตั้งแต่ตัดไม้ ชักลาก ทำอิฐและเผาอิฐปูนมาทีเดียว ยิ่งเป็นการก่อสร้างในบ้านป่าขาดอนซึ่งห่างไกลเส้นทางคมนาคม กำลังผู้คนและพาหนะก็เป็นของจำเป็นยิ่งนัก แต่หลวงพ่อก็จัดสร้างให้สำเร็จจนได้

คิดดูก็เป็นของน่าประหลาด ดูหลวงพ่อช่างมีอภินิหารในการก่อสร้างเสียจริงๆ โบสถ์วิหารหรือศาลาการเปรียญ ที่หลวงพ่อไปอำนวยการสร้างปฏิสังขรณ์ หรือไปเป็นประธานในงานก่อสร้างหรือปฏิสังขรณ์นั้นๆ ย่อมสำเร็จเรียบร้อยทุกแห่ง ทุนรอนที่ขาดอยู่มากน้อยเท่าใดก็มักมีผู้ศรัทธาบริจาคถวายให้จนครบ หรือบางแห่งบางรายก็เกินกว่าจำนวนที่ต้องการเสียอีก เมื่อเห็นมีคนชอบเอาเงินทองมาถวายหลวงพ่อเนืองๆ และบางรายก็ถวายไว้มากๆ เสียด้วย  ผู้เขียนเคยกราบเรียนถามว่า “หลวงพ่อทำอย่างไรจึงชอบมีคนนำเงินมาถวายเนืองๆ?”  หลวงพ่อก็ยิ้มแล้วตอบว่า “ก็เราไม่เอานะสิ เขาจึงชอบให้ ถ้าเราอยากได้ใครเขาจะให้” บรรดาศิษย์รุ่นเก่า ซึ่งเคยติดสอยห้อยตามหลวงพ่อมาหลายสิบปี เช่น นายยิ้ม ศรีเดช มรรคนายกวัดหนองโพ ซึ่งเวลานั้นมีอายุกว่า ๘๐ ปี (บัดนี้ล่วงลับไปแล้ว) เคยปรารภว่า “เงินทองสัมผัสแต่เพียงตาของหลวงพ่อ ไม่กระทบเข้าไปถึงใจ” เงินทองที่มีผู้ถวายมากมายเท่าใดหลวงพ่อก็ใช้จ่ายไปในการก่อสร้างและทำสิ่งสาธารณประโยชน์หมดสิ้น”

สิ่งก่อสร้างที่หลวงพ่ออำนวยการสร้าง หรือเป็นประธานในการก่อสร้าง และมีถาวรวัตถุเป็นพยานให้เห็นมากมายหลายแห่ง จนหลวงพ่อเองก็จำสถานที่และลำดับรายการไม่ได้ นอกจากจะมีใครถามขึ้น บางทีหลวงพ่อก็นึกได้สิ่งก่อสร้างและถาวรวัตถุที่หลวงพ่อสร้างขึ้นนี้ เห็นได้ว่าหลวงพ่อได้สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ท้องถิ่นเหล่านั้นเพราะเท่ากับทำบ้านและตำบลนั้นๆ ให้ตั้งอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง และมีถาวรวัตถุเป็นหลักฐานของหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นพยานยั่งยืนมั่นคงไปชั่วกาลนาน



ปรับปรุงบ้านและวัดหนองโพ
หลวงพ่อคงจะได้คิดที่จะปรับปรุงฟื้นฟูสภาพและความเป็นอยู่ของบ้านและวัดหนองโพมานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่เริ่มอุปสมบท ดังจะเห็นได้ในตอนต้นซึ่งพออุปสมบทแล้วหลวงพ่อก็เริ่มสร้างศาลาการเปรียญและต่อมาก็สร้างกุฏิฝาไม้กระดานขึ้น เมื่อปีมะโรง พ.ศ.๒๔๓๕ ตรงที่ซึ่งเป็นบริเวณกุฏิสมภารในบัดนี้ ท่านผู้อ่านย่อมจะทราบได้ดีว่าบ้านวัดหนองโพตั้งอยู่ในที่ดอนและห่างจากลำน้ำเจ้าพระยา ในฤดูฝนก็ได้อาศัยน้ำฝนที่ตกขังอยู่ แต่ในฤดูแล้งมักจะกันดารน้ำแทบทุปี ถ้าปีใดฝนตกล่าไปจนถึงปลายเดือน ๖ เดือน ๗ ก็อดน้ำ หลวงพ่อได้ขุดขยายสระน้ำในวัดให้ลึกและกว้างขึ้น แต่ประชาชนชาวบ้านก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นหลวงพ่อจึงพยายามขยายสระน้ำให้ลึกและกว้างอีกหลายครั้ง

อีกอย่างหนึ่ง โดยเหตุที่แต่เดิมมา บ้านหนองโพ ตั้งอยู่ห่างไกลจากเส้นทางคมนาคม อันจะนำเอาความเจริญแบบต่างๆ มาสู่ท้องถิ่น ความเจริญแบบใหม่จึงเดินทางเข้าไปไม่ค่อยถึงหมู่บ้าน และเป็นไปอย่างเชื่องช้ามากแม้เมื่อมีทางรถไฟสายเหนือผ่านไป และตั้งสถานีรถไฟชื่อสถานีหนองโพ (สถานีหนองโพตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ ๒๑๑ จากกรุงเทพฯ) ณ ตำบลนั้นก็คงห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑ กิโลเมตร แม้กระนั้นก็ด้วยบารมีของหลวงพ่อ ทำให้มีผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ที่ห่างไกลอุตสาหะทรมานกายไปมาหาสู่หลวงพ่อ จนถึงวัดเนืองๆ เจ้านายที่เคยเสด็จไปหาหลวงพ่อถึงวัดก็มี อาทิเช่นพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกต กรมมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ องคมนตรี ซึ่งเสด็จล่วงลับไปแล้ว ต่อมาหลวงพ่อได้พยายามสร้างถนนจากที่ตั้งสถานีรถไฟ ตัดตรงเข้าไปในหมู่บ้าน เมื่อตัดสร้างถนนตอนแรกนั้น ถ้ายืนอยู่ที่สถานีหนองโพจะมองไปเห็นโบสถ์ในวัดหนองโพตั้งอยู่ลิบๆ และเมื่อยืนอยู่ที่ลานหน้าโบสถ์ในวัดก็มองเห็นโรงสถานีรถไฟบ้านหนองโพได้เช่นกัน ทำให้การคมนาคมระหว่างหมู่บ้านกับรถไฟสะดวกสบายเป็นอันมาก แต่ถนนที่หลวงพ่อสร้างขึ้นไว้นั้น เป็นแต่ขุดคูพูนดินให้นูนขึ้นเป็นทางเดิน มิได้ลงหินราดบดโรยลูกรังเช่นถนนที่สร้างกันในสมัยนี้ และขาดการซ่อมแซมในระยะติดต่อกันมา เมื่อใช้มานานหลายปีถูกน้ำฝนเซาะบ้าง สัตว์พาหนะเดินบ้างภายหลังเป็นถนนที่ขาดเป็นตอนๆ และบางตอนก็มีต้นไม้ขึ้นจนเติบโตบังทิวทัศน์ที่จะมองเห็นกันได้ระหว่างตัวสถานีรถไฟกับวัดเช่นแต่ก่อน หลวงพ่อได้ดำริที่จะซ่อมแซมถนนสายนี้ให้เป็นเส้นทางคมนาคมที่ดีและสะดวกสบายแก่การสัญจรไปมา แต่เนื่องจากมีภาระในงานก่อสร้างอย่างอื่นจึงมิทันได้ลงมือทำ ก็มาถึงแก่มรณภาพไปเสียก่อน ปัญหาเรื่องถนนสายนี้จึงยังคงค้างมาจนถึงสมัยหลวงพ่อน้อย (พระครูนิพนธ์ธรรมคุต) เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพ และดำเนินงานพัฒนาโดยการร่วมริเริ่มของบรรดาลูกชาวบ้านหนองโพติดต่อชักจูงทางการให้ตัดถนนแยกจากทางหลวงสายเอเชีย ณ จุดใกล้กิโลเมตรที่ ๑๙๐-๑๙๑ ผ่านเข้าไปถึงหมู่บ้านหนองโพและเลยไปถึงสถานีรถไฟหนองโพแล้ว



จัดการศึกษา
เมื่อนึกถึงสภาพของบ้านและวัดหนองโพแต่เดิม ซึ่งเคยเป็นบ้านป่าขาดอนและตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญ แต่ที่มามีความเจริญก้าวหน้าเทียมทันกับตำบลบ้านใกล้เคียงซึ่งอยู่ในเส้นทางคมนาคมเช่นที่เป็นอยู่ ก็อาจกล่าวได้โดยไม่ผิดพลาดว่า เจริญมาด้วยบารมีของหลวงพ่อ หลวงพ่อได้พยายามปรับปรุงสภาพของวัดและบ้านหนองโพให้ได้รับความเจริญอย่างใหม่โดยจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในวัดและหาครูมาสอนเป็นประจำ ทำนองโรงเรียนเทศบาลเดี๋ยวนี้ หลวงพ่อเป็นคนจัดหาเงินเดือนค่าสอนให้แก่ครูเอง โรงเรียนหลังแรกสร้างขึ้นในลานวัด เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของวัด ครูที่สอนชุดแรกก็มี พระปลัดห่วง อนุวัตร(๑) (เป็นชาวบ้านเขาพนมรอก อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ภายหลังลาสิกขาแล้วกลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิม) เป็นหัวหน้า มีครูเพ็ชร ครูคง และครูเกษม เป็นครูผู้ช่วย ต่อมา คือ ครูสวัสดิ์ (มักเป็นลมบ้าหมูบ่อยๆ) เมื่อมีนักเรียนมากขึ้นหลวงพ่อจึงสร้างตัวโรงเรียนขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ระหว่างโบสถ์และสระน้ำลูกเหนือ (สระบัว) ครูที่สอนโรงเรียนในระยะนี้ก็มี ครูนิ่ม ขวัญเมือง และครูถมยา พวงสมบัติ ส่วนตัวโรงเรียนหลังเก่า ก็ย้ายมาปลูกเป็นหลังคาของร้านใส่บาตรสำหรับชาวบ้านมาร่วมตักบาตรทำบุญในวัด ภายหลังได้รื้อออกไปแล้ว

ครั้นต่อมาทางการจัดตั้งเป็นโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลหนองโพขึ้น หลวงพ่อได้สร้างตัวโรงเรียนให้ใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพร้อมทั้งได้สร้างบ้านพักให้พวกครูตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดอีกด้วย แล้วต่อมาได้ย้ายโรงเรียนไปตั้งทางตะวันออกของวัด ปัจจุบันเรียกชื่อว่า โรงเรียนวัดหนองโพนิวาสานุสรณ์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงหลวงพ่อเดิม (พระครูนิวาสธรรมขันธ์)



จัดการศึกษาด้านศิลปะ
เมื่อหลวงพ่อตั้งโรงเรียนสำหรับให้กุลบุตรกุลธิดาได้เล่าเรียนหนังสือกันในตอนแรกๆ นั้น หลวงพ่อก็หาวิธีให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียนความรู้อย่างอื่นด้วย เช่น สร้างสำนักขึ้นสอนดนตรีปี่พาทย์ คราวแรกหลวงพ่อเป็นแต่ทดลองโดยเข้าหุ้นส่วนกับนายนิลไปซื้อเครื่องปี่พาทย์มาแล้วหาคนไปให้นายนิลช่วยฝึกหัด แต่นายนิลจะทำไม่เสร็จอย่างไรไม่ทราบ หลวงพ่อจึงย้ายมาร่วมมือกับนายพวง แต่ในตอนนั้นยังคงให้หัดและสอนกันในบ้านภายหลังย้ายมาตั้งฝึกสอนในวัด แล้วจ้างครูมาสอนประจำ ตั้งวงยี่เกขึ้นหาคนมาหัดเป็นประจำ และครูหัดยี่เกคนแรก คือ ครูปุ่น เป็นคนชาวบ้านพยุหะแด่น เป็นครูควบคุมและฝึกรำ ส่วนแง่คิดในการเล่นในการแสดงเป็นของหลวงพ่อ ศิษย์หัดยี่เกรุ่นแรกครั้งนั้นต่างก็ล้มหายตายจากไปนานแล้ว ครูยี่เกคนต่อมาก็คือ ครูโชติ แล้วมาครูวิง และต่อมาก็คือ ครูทองคำ (นิ้วด้วน) ได้ตั้งแตรวงขึ้นคราวหนึ่งมีครูบุญเหลือเป็นผู้หัด แต่มิช้าก็เลิกเสีย เพราะครูบุญเหลือลาออกไปและหาครูคนอื่นมาสอนสืบต่อไม่ได้ ภายหลังได้สร้างเรือนให้พวกปี่พาทย์อยู่เป็นประจำเรียกกันว่า “โรงปี่พาทย์” ตั้งอยู่ริมรั้ววัดทิศเหนือ ครูปี่พาทย์คนแรกคือ ครูอุ้ย แล้วต่อมาก็คือครูพุฒ (เรียกกันว่าพุฒหน้าดำ หรือ พุฒทศกัณฐ์) ต่อมาครูแย้ม (ตาบอดทั้งสองข้าง)  เครื่องปี่พาทย์หลวงพ่อก็สร้างเอง เว้นแต่เครื่องโลหะ เช่น ฆ้องโหม่งและฆ้องวง ส่วนระนาดทั้งไม้ทั้งเหล็กและกลองนั้น หลวงพ่อลงมือทำเอง เหลาลูกระนาดไม้และลูกระนาดเหล็กเอง โดยมีพวกพระภิกษุในวัดซึ่งเป็นศิษย์เป็นผู้ช่วย  สามารถทำได้ประณีตประกับรางเลี่ยมงาเลี่ยมมุกและเลี่ยมโลหะได้งดงาม กลองก็ขุดและกลึงเองขึงก็ขึ้นกลองเอง ตอกหมุดเอง หมุดกลองนั้นใช้ทำด้วยกระดูกควาย กระดูกช้าง หรือแก่นไม้แสมสาร เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กวัดก็ได้เคยเป็นลูกมือศิลปกรรมด้านนี้ของหลวงพ่อด้วย

วัดหนองโพ เคยเป็นสำนักศึกษาตามแบบโบราณมาแต่สมัยหลวงพ่อเฒ่าและนับแต่หลวงพ่อเฒ่าได้ล่วงลับไปแล้ว ก็เสื่อมโทรมลงโดยลำดับ ครั้นต่อมาถึงสมัยหลวงพ่อเดิมท่านได้พยายามปรับปรุงการศึกษาของวัดและความเป็นไปของหมู่บ้านขึ้นใหม่ ในระยะเมื่อราว ๘๐-๑๐๐ ปีมาแล้วนี้ วัดหนองโพจึงกลับเป็นสำนักศึกษาศิลปวิทยาการที่สำคัญขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง พวกเด็กๆ ในบ้านหนองโพและตลอดไปถึงตำบลอื่นๆ ใครอยากเรียนหนังสือก็มาเข้าโรงเรียน ใครอยากหัดยี่เกก็ไปหัดยี่เก ถ้าไม่ชอบเรียนชอบหัดดังกล่าวแล้วก็ไปเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า เพราะหลวงพ่อมีช้างหลายเชือกและมีม้าหลายตัว หลวงพ่อพยายามนำความเจริญแทบทุกทางมาสู่หมู่บ้านหนองโพ เสมือนจะสร้างบ้านให้เป็นเมือง



ปลายชีวิตของหลวงพ่อเดิม
หลวงพ่อเป็นเสมือนต้นโพธิ์และต้นไทรที่มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปอย่างไพศาล เป็นที่พึ่งพาอาศัยของประชาชนไม่เลือกหน้า เนื่องจากหลวงพ่อมีอายุยืนยาวมาก บรรดาศิษยานุศิษย์รุ่นผู้ใหญ่ซึ่งเคยติดสอยห้อยตามและร่วมงานร่วมการกันมา ก็ล้มหายตายจากไปก่อนหลวงพ่อเกือบหมด ถ้าว่ากันอย่างฆราวาสก็น่าจะทำให้หลวงพ่อว้าเหว่มาก ครั้นต่อมาราว ๑๐ กว่าปี ก่อนหลวงพ่อมรณภาพ ร่างกายของหลวงพ่อซึ่งใช้กรากกรำทำสาธารณประโยชน์มาช้านานหลายสิบปีก็ทรุดโทรมจนแข้งขาใช้เดินไม่ได้ จะลุกนั่งก็ต้องมีคนพยุง จะเดินทางไปไหนก็ต้องขึ้นคานหามหรือขึ้นเกวียนไป แม้กระนั้นก็ยังมีผู้เลื่อมใสศรัทธานิมนต์หลวงพ่อไปในงานการบุญกุศลเนืองๆ เพราะหลวงพ่อมีศิษยานุศิษย์มากทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยแทบทั่วบ้านทั่วเมือง  หลวงพ่อปรารภว่าถ้าท่านแตกดับลงบรรดาหลานเหลนและศิษยานุศิษย์ในตำบลหนองโพและหมู่บ้านใกล้เคียงจะได้รับความลำบาก หลวงพ่อจึงได้ปรารภถึงความตายให้เห็นประจักษ์ สิ่งใดควรจัดทำขึ้นไว้ได้ก่อนท่านแตกดับหลวงพ่อก็ให้จัดทำเตรียมไว้ เช่น สร้างหีบบรรจุศพของท่านเองและให้ก่อสร้างตัวเมรุที่เผาศพของท่านไว้ด้วย แต่บังเอิญตัวเมรุนั้นทำล่าช้ามากยังมิทันเสร็จ จนหลวงพ่อมรณภาพแล้ว แม้แข้งขาของหลวงพ่อจะทานน้ำหนักตัวของท่านเองไม่ได้แล้ว หูก็ตึงไปบ้าง แต่นัยน์ตายังแจ่มใสดี มือก็ยังลงเลขยันต์ได้ตามเคย ปากก็ยังเสกเป่าและเจรจาปราศรัยได้ โดยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีตลอดมา

ภายหลังที่หลวงพ่อกลับจากไปเป็นประธานในงานก่อสร้างโบสถ์ในวัดอินทาราม (วัดใน) ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และกลับมาอยู่ในวัดหนองโพแล้ว ต่อมาหลวงพ่อก็เริ่มอาพาธ ตั้งแต่วันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ก(ตรงกับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๔) อาการทรุดลงเป็นลำดับมา จนถึงวัดอังคาร แรม ๑ ค่ำ เดือนเดียวกัน (วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๔) อาการก็เพียบหนักขึ้น บรรดาศิษยานุศิษย์และหลานเหลนต่างพากันมาห้อมล้อมพยาบาล ฟังอาการกันเนืองแน่นด้วยความเศร้าโศกและห่วงใย เล่ากันว่า “ครั้นตกบ่ายในวันนั้น หลวงพ่อก็คอยแต่สอบถามอยู่ว่า”  “เวลาเท่าใดแล้วๆ” ศิษย์ผู้พยาบาลก็กราบเรียนตอบไปๆ จนถึงราว ๑๗.๐๐ น. หลวงพ่อจึงถามว่า “น้ำในสระมีพอกินกันหรือ” (เพราะบ้านหนองโพมักกันดารน้ำดังกล่าวแล้ว) ศิษย์ที่พยาบาลอยู่ก็เรียนตอบว่า “ถ้าฝนไม่ตกภายใน ๖-๗ วันนี้ ก็น่ากลัวจะถึงกับอัตคัดน้ำ” หลวงพ่อก็นิ่งสงบไม่ถามว่ากระไรต่อไปอีก ในทันใดนั้นกลุ่มเมฆก็ตั้งเค้าและฟ้าคะนอง มิช้าฝนก็ตกห่าใหญ่ น้ำฝนไหลลงสระราวครึ่งค่อนสระ พอฝนขาดเม็ดหลวงพ่อก็สิ้นลมหายใจ เมื่อเวลา ๑๗.๔๕ น.  คำนวณอายุได้ ๙๒ ปี สิริรวมแต่อุปสมบทมาได้ ๗๑ พรรษา

บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ได้ช่วยกันสรงน้ำศพหลวงพ่อ แล้วบรรจุศพ ตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดหนองโพ ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น (วันที่ ๒๓ พฤษภาคม) ติดต่อมาครบ ๗ วัน เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม แล้วก็ทำติดต่อมาอีกและทำบุญครบ ๕๐ วัน เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ทำบุญครบ ๑๐๐ วัน เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๙๔ จึงเก็บศพหลวงพ่อรอไว้จนถึงเวลาจัดการพระราชทานเพลิง




หีบบรรจุสังขารของหลวงพ่อเดิม มีครอบหีบ ลักษณะหลังคาจั่วซ้อนกันเป็นซุ้มเรือนยอด แกะสลัก
ปิดทอง ประดับกระจกสี (วัดเก็บรักษาไว้ใต้อาคารหลังเก่า)


เมรุประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม)
ณ วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

เมรุหลังนี้ สร้างขึ้น เมื่อต้นปี ๒๔๙๔ ใช้เวลาในการสร้างประมาณ ๔ เดือน ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้าย
ของหลวงพ่อเดิม  หลวงพ่อให้ช่างบ้านหางน้ำหนองแขม ชื่อ นายสวัสดิ์ และบุตรสาว ๒ คน  เป็น
ผู้สร้าง ต่อมาหลวงพ่อได้มรณภาพลง เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ตรงกับวันแรม ๒ ค่ำ
เดือน ๖ ต่อมาอีกหนึ่งปี จึงได้ใช้เมรุหลังนี้ ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อในปี ๒๔๙๔

โปรดติดตามตอนต่อไป
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 05 ธันวาคม 2560 16:41:17 »



พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม-The Laungpho Deam Museum
บ้านหนองโพ  ต.หนองโพ  อ.ตาคลี  จ.นครสวรรค์

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘ โดยพระครูนิปุณพัฒนวงศ์ เจ้าอาวาสวัดหนองโพ เพื่อเป็นการประกาศกิตติคุณของหลวงพ่อเดิม รวบรวมองค์ความรู้อันแสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นชาวหนองโพ และเป็นศูนย์แสดงนิทรรศการด้านศิลปวัฒนธรรมของชาวหนองโพ

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเดิม ตั้งอยู่ภายในองค์ระฆังชั้นล่างของพระมหาธาตุเจดีย์นิวาสธรรมขันธ์กิตติคุณัปกาสินี พื้นที่ของการจัดแสดงแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน ประกอบด้วย

๑.ทวาราวดีศรีหนองโพ  จัดแสดงโบราณวัตถุที่งดงาม มีคุณค่า อันเป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์ในอดีตกาล ที่พบจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดี บริเวณตำบลหนองโพ อายุราว ๓,๕๐๐-๘๐๐ ปี ที่ผ่านมาแล้ว เช่น ภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโลหะ ลูกปัดที่พบสมัยทวาราวดี เครื่องประดับที่ทำจากหินและเปลือกหอย เหรียญ-เงินตราสมัยทวารวดี ตุ๊กตาเสียกบาล  หม้อดินลายเชือกทาบ ตุ๊กตาปู่เมฆ ลูกสะกดหินสีแดง (สีทับทิม) ที่ล้วงออกมาจากปากของผู้ตาย และแหวนตราประทับ เป็นต้น

๒.มาตุภูมิบ้านหนองโพ จัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของหมู่บ้าน ตั้งแต่การเริ่มตั้งถิ่นฐานของชาวไทยและชาวจีนที่อพยพมาลงหลักปักฐานใต้ร่มเงาต้นโพ วิถีการดำรงชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดต่อกันมามากกว่า ๒๐๐ ปี ตามความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ เช่น ความเชื่อเรื่องผีโรงแตก  ในส่วนนี้ได้จัดแสดงพระรูปหุ่นขี้ผึ้งกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่ชาวบ้านหนองโพ มีความภาคภูมิใจที่กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ได้เสด็จมาถึงวัดหนองโพ เพื่อนมัสการและบูชามีดหมอหลวงพ่อเดิมไว้เป็นเครื่องรางของขลังประจำพระองค์ และมีการจำลองร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด และร้านกาแฟ ในตลาดหนองโพที่ชาวจีนและชาวไทยรุ่นแรกทำมาค้าขาย และภาพบอกเล่าการแสดงของคณะกลองยาว สมโพช โพธิ์เย็น ซึ่งมีชื่อเสียงในสมัยหลวงพ่อเดิมด้วย

๓.พุทฺธสโร - หลวงพ่อเดิม จัดแสดงอัตชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ บารมี ของหลวงพ่อเดิม ในด้านวัฒนบารมี ที่ได้อนุเคราะห์สร้างและการบูรณะศาสนสถานให้แก่วัดต่างๆ  ปัญญาบารมี ด้านการจัดการศึกษาแก่ชาวบ้านในตำบลหนองโพและตำบลใกล้เคียง  อนุสังคบารมี ในการปกครอง สร้างศรัทธาให้แก่ศิษยานุศิษย์ในการร่วมกันสงเคราะห์ประโยชน์แก่ส่วนรวม  และ เมตตาบารมี ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ทั้งมนุษย์และสรรพสัตว์   มีการจำลองกุฏิของหลวงพ่อเดิม จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อเดิม พัดยศที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) อัฐบริขารของหลวงพ่อ เช่น บาตร กลด ฯลฯ

๔.เพิ่มพูนศรัทธา จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวหลังการมรณภาพของหลวงพ่อเดิม มีหีบบรรจุศพของหลวงพ่อเดิม มีภาพถ่ายหลวงพ่อเดิม รูปหล่อ เหรียญรุ่นต่างๆ มีดหมอ ผ้ายันต์ งาช้างแกะสลัก ตะกรุด สีผึ้ง   ของดั้งเดิมที่สร้างแต่ครั้งหลวงพ่อยังไม่มรณภาพ  ซึ่งชาวบ้านหนองโพและศิษยานุศิษย์นำมามอบให้กับพิพิธภัณฑ์จัดแสดงให้ประชาชนได้ชม ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์จัดวางไว้เป็นหมวดหมู่ในไซด์บอร์ดติดผนัง มีกระจกกันกระสุนปิดกันไว้

๕.กถาคัมภีร์ จัดแสดงนิทรรศการ คาถา ยันต์ ตำรายา ตำราเรียน ตำรานรลักษณ์ ตำราสวัสดิรักษา คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิ คัมภีร์ไสยเวทย์เลขยันต์ต่างๆ คัมภีร์การปกครอง เช่น กฎหมายตราสามดวง ฉบับเชยศักดิ์ ที่ได้รับการจารไว้ในสมุดไทยดำ ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อเฒ่า (รอด) ปฐมสมภารแห่งวัดหนองโพ เมื่อก่อนอุปสมบทเคยเป็นทหารในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นผู้นำคัมภีร์ต่างๆ ข้างต้น ติดตัวมาด้วย ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากและมีให้ได้ชมจำนวนหลายสิบเล่ม





เพิ่มพูนศรัทธา จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายหลวงพ่อเดิม รูปหล่อ เหรียญรุ่นต่างๆ มีดหมอ ผ้ายันต์
งาช้างแกะสลัก ตะกรุด สีผึ้ง โดยวัตถุมงคลเป็นของเดิมที่หลวงพ่อเดิมปลุกเสกหรือสร้างไว้


พัดยศหลวงพ่อเดิม ด้ามของเดิมทำด้วยงา แต่ได้หายไปเสียแล้ว ปัจจุบันใช้ด้ามพลาสติกแทน


กลด อัฐบริขารของหลวงพ่อเดิม


พระรูปเหมือน (หุ่นขี้ผึ้ง) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ผู้มีความศรัทธาหลวงพ่อเดิม ได้เสด็จมาบูชามีดหมอไว้ประจำพระองค์


อดีตซ้อนทับกาลเวลา
ใต้ผืนดินบ้านหนองโพฝังทับอารยธรรมหลายยุคหลายสมัยมานานหลายพันปี
ร่องรอยประวัติศาสตร์ยืนยันด้วยหลักฐานโบราณวัตถุนานาชนิด ที่ขุดพบในบ้านหนองโพ
ผืนดินแห่งนี้ถูกพลิกฟื้นคืนสู่อาณาจักรแห่งอดีตกาล ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว













มาตุภูมิบ้านหนองโพ
จำลองร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด ร้านกาแฟ -สิ่งของที่นำมาจัดแสดงเป็นของจริง
ที่ชาวบ้านหนองโพมอบให้




เครื่องมือเกษตรกรรม ของใช้ประจำวันของชาวบ้านหนองโพในอดีต
อาจารย์เอมอร ผู้พาชม เล่าว่า มีเครื่องมือเครื่องใช้โบราณที่ชาวบ้านนำมามอบให้จำนวนมาก
เคยตั้งใจว่าจะจำลองส่วนนี้ โดยสร้างเป็นกระท่อมหรือเรีอนไม้ของชาวบ้านชนบท
แต่ติดขัดด้วยพื้นที่มีจำกัด ไม่สามารถทำตามความตั้งใจได้



ร้านค้าจำลอง










ปฏิทินรายวัน (เช้าขึ้นมาก็ฉีกทิ้งหนึ่งใบ - วันละใบ) มีทั้งจันทรคติแบบไทยและแบบจีน




ร้านค้าจำลอง - ร้านโชห่วย (ขายสินค้าเบ็ดเตล็ด) และกาแฟโบราณ
เมื่อมีผู้คนอพยพเข้ามาทำมาหากินหนาแน่นขึ้น จึงเกิดการจับจองที่ดินสร้างห้องแถวทำการค้าขาย
ตลาดหนองโพมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้ยาวเรียงรายกว่าสิบห้อง ๒ ฟากฝั่ง จากทิศเหนือไปทิศใต้
มีถนนดินเหนียวผ่านกลางตลาด เจ้าของร้านค้ามีทั้งคนไทยและคนจีน สินค้าที่ขายมักเป็นสินค้า
เบ็ดเตล็ดที่เรียกกันว่า "ร้านโชห่วย" บ้านเรือนที่ทำการค้าในยุคแรกของตลาดหนองโพ คือ บ้าน
จีนเฮีง จีนเจี๋ยเฮียง จีนกี่ จีนฮกไฉ่ จีนคิ้ม ยายเหนย ยายห้าง ฯลฯ และยังมีโรงฝิ่นเจ๊กเป้ง







ช้อน-ส้อม อัลปะกาแท้  ตราตา
วัสดุที่นำมาทำช้อน-ส้อมนี้ ไม่มีในประเทศไทย ต้องสั่งซื้อจากประเทศแถบยุโรป
(ผู้โพสท์ลืมสนิทว่าประเทศอะไร)









นัดกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ระหว่างวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน - ๑ ธันวาคม ๒๕๖๐
จะเดินทางไปพบอาจารย์เอมอร เพื่อรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมและถ่ายรูปภายในพิพิธภัณฑ์
ซึ่งผู้โพสท์ยังถ่ายรูปไม่ครบอีกจำนวนมาก แต่ขัดข้องด้วยภารกิจ จึงต้องเลื่อนการเดินทาง
ไปวัดหนองโพต่อไป ดังนั้น เรื่องนี้จึงยังไม่จบลงในเร็ววัน ณ ขณะนี้อยากจะบอกกล่าวว่า
...โปรดติดตามตอนต่อไป

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ธันวาคม 2560 17:04:01 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พิพิธภัณฑ์ พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๗
สยาม ในอดีต
เงาฝัน 2 5474 กระทู้ล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2553 20:54:17
โดย sometime
อาจารย์ยอด : หลวงพ่อจง พุทฺธสโร (วัดหน้าต่างนอก) [พระอริยสงฆ์]
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
มดเอ๊ก 0 1797 กระทู้ล่าสุด 07 ธันวาคม 2559 03:24:19
โดย มดเอ๊ก
หลวงพ่อเดิม พุทธสโร วัดหนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 694 กระทู้ล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2563 14:38:56
โดย ใบบุญ
อุปาทาน โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 0 1152 กระทู้ล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2563 15:52:49
โดย Maintenence
หัวใจหลักของการปฏิบัติ ๔ ประการ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 2 1279 กระทู้ล่าสุด 31 กรกฎาคม 2563 15:23:18
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.612 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 12 เมษายน 2567 04:34:20