[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 19:08:31 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะวันหยุด  (อ่าน 6621 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 62.0.3202.94 Chrome 62.0.3202.94


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 24 พฤศจิกายน 2560 10:41:20 »




ความเป็นใหญ่

ความเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในติกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า มี 3 ประการ คือ

1.ความมีตนเป็นใหญ่ คือ การกระทำด้วยปรารภตนเป็นประมาณ ถือเอาประโยชน์ตนเป็นสำคัญ แม้จะทำการอะไรก็ตามที่แสดงว่ายอมเสียสละประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็เป็นไปโดยความประสบโอกาสเหมาะเท่านั้น ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือมุ่งเฉพาะประโยชน์ของตนเป็นประมาณ

บุคคลผู้มีตนเป็นใหญ่ ย่อมไม่เอื้อเฟื้อต่อประโยชน์ของชุมชน แม้จะบำเพ็ญทานอะไรก็ตาม ก็มุ่งทำเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว เช่น ทำบุญแล้วบนบานสานกล่าว ขอพรเพื่อให้ตนได้ประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้

การกระทำเช่นนี้ก็เป็นการทำความดีเหมือนกัน คือการได้บริจาค ได้กระทำบุญเหมือนกัน แต่เจตนาในการทำบุญนั้นไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นเพียงทานที่ทำไปด้วยมุ่งถึงประโยชน์ตนเป็นหลัก ยึดประโยชน์ของตนเป็นประมาณ

2.ความมีโลกเป็นใหญ่
คือ การกระทำโดยปรารภถึงความต้องการของโลกเป็นประมาณ ทำอะไรก็นึกถึงหมู่ชนเป็นใหญ่ เช่น ทำทานเพื่อป้องกันคำติเตียนของคนอื่น หรือทำให้ใหญ่โต เพื่อให้คนอื่นสรรเสริญ ทำทานโดยยึดถือความที่นึกถึงคนอื่นเป็นเบื้องหน้า ไม่นึกถึงว่าตนเองมีกำลังพอที่จะบริจาคได้หรือไม่ เป็นไปเพื่อความเดือดร้อนแก่ตนเอง

ผู้ที่มุ่งโลกเป็นใหญ่ นับได้ว่าตกอยู่ในอำนาจของโลกธรรม คือปรารถนาที่จะได้ แต่ไม่ได้นึกถึงความเสื่อมเสียที่จะตามมา ปรารถนาจะได้รับความสรรเสริญยกย่อง ไม่ปรารถนาความเสื่อมยศ อันจะทำให้คนอื่นคลายความนิยมนับถือในตน

3.ความมีธรรมเป็นใหญ่ คือ การกระทำด้วยปรารภความถูกต้อง สมควรเป็นประมาณ ทำอะไรด้วยมุ่งความถูกต้อง ชอบธรรมเป็นเบื้องหน้า พิจารณาโดยรอบคอบแล้วยึดถือธรรมคือความถูกต้องชอบธรรมเป็นประมาณ ไม่ได้นึกถึงว่า ตนจะได้ประโยชน์ด้วยการทำอย่างนั้นๆ และไม่ได้นึกว่าเขาจะติเตียน เขาจะสรรเสริญด้วยการทำอย่างๆ แต่นึกว่า การบำเพ็ญทาน รักษาศีล และการอบรมภาวนา เป็นความถูกต้อง ความชอบ เป็นหลักปฏิบัติในทางธรรม และเป็นไปเพื่อกำจัดความโลภ ความโกรธและความหลง

การกระทำกิจการงานอะไรก็ควรให้เป็นไปด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกันและกัน ทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความขยัน ไม่เกียจคร้าน และพยายามปรับปรุงการงานให้เจริญก้าวหน้าโดยยึดหลักความถูกต้อง ชอบธรรมเป็นหลักสำหรับปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้ ชื่อว่าเป็นธรรมาธิปไตย ย่อมอำนวยทั้งความสุข ความเจริญแก่ตนและคนทั่วไปได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น ผู้ที่หวังความสุข ความเจริญ ควรพยายามละความมีตนเป็นใหญ่ เพราะถ้าถือตนเป็นใหญ่ ย่อมตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ควรพยายามละความมีโลกเป็นใหญ่ เพราะถ้าถือโลกเป็นใหญ่ โลกธรรมย่อมจะเข้ามาครอบงำจิตใจได้ แต่ควรจะยึดถือเอาเฉพาะความถูกต้อง ชอบธรรมเท่านั้นเป็นใหญ่ เพราะถ้ายึดถือธรรมเป็นใหญ่เสียแล้ว

จิตใจย่อมได้รับแต่ความสุข ไม่ขึ้นไม่ลงคงอยู่สม่ำเสมอ



ความพอเพียง

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมามีชีวิตอยู่ได้ในโลกนี้ ล้วนแต่มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น อาจเหมือนกัน ต่างกัน หรือเชื่อมโยงเป็นปัญหาเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ และจะต้องหาวิธีแก้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเรื่องกิน การทำงาน การครองชีวิต ดังนั้น ชีวิตที่ดีที่สุด คือ ชีวิตที่สามารถแก้ปัญหาได้

หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาได้แนะนำวิธีมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย สงบ วิธีควบคุมตัวเองไม่ให้เป็นทาสความอยากมากจนเกินไป นั่นก็คือความพอเพียง เพราะเห็นว่าคนในสังคมทุกวันนี้มีชีวิตที่วุ่นวาย กระเสือกกระสนดิ้นรนเพื่อแสวงหาปัจจัยมาสนองความปรารถนาทางใจ โดยไม่มีขอบเขตสิ้นสุด ไม่รู้จักพอ ขาดความพอดีในชีวิต หาหลักชีวิตไม่ได้  

คนเช่นนี้ เมื่อพบอะไรก็ไขว่คว้าเรื่อยไป โดยนึกว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ซึ่งจะขาดเสียไม่ได้เลย เหมือนคนลอยคออยู่กลางทะเลมองไม่เห็นฝั่ง มือก็ไขว่คว้าหาที่ยึดพยุงตัว พบสิ่งใดเข้าก็คว้าไว้ก่อน แม้สิ่งนั้นจะเป็นเพียงสวะลอยน้ำก็ตาม

นอกจากนั้นแล้ว ยังขาดการควบคุมใจตนเอง จึงก่อเวรให้แก่ตนและคนอื่น ก่อปัญหาต่างๆ ขึ้นในสังคม ทำให้เกิดความเดือดร้อน วุ่นวายไม่สิ้นสุด เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาเหล่านั้นจึงมีชีวิตอยู่อย่างไม่สงบสุข เป็นชีวิตที่ลุ่มๆ ดอนๆ มีขึ้นมีลง ประสบสุขบ้างทุกข์บ้างตลอดเวลา

ในการแสวงหาปัจจัย 4 และสิ่งอำนวยความสุขอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตนั้น จำเป็นต้องใช้กำลัง ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา

ผู้ที่มีกำลังหรือมีความรู้ความสามารถน้อย ย่อมหาได้น้อย แต่ความต้องการในปัจจัยและสิ่งอำนวยความสุขอื่นๆ ของคนเรามีปริมาณเท่ากัน เมื่อสิ่งเหล่านั้นมีจำกัด ถึงแม้เราจะพัฒนาอย่างไรผลผลิตก็ยังมีจำกัดอยู่ดี จึงเกิดปัญหาว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งสามารถหาได้มาก เก็บไว้ได้มาก อีกฝ่ายหนึ่งหาได้น้อย หรือไม่สามารถหาได้เลย ความขาดแคลนของฝ่ายหลังนี้จึงเกิดขึ้น

เมื่อเกิดความขาดแคลนและมีความต้องการปัจจัยที่จำเป็นขึ้นมา ก็จะต้องดิ้นรนแสวงหาเพิ่ม ครั้นหาได้ไม่พอเท่าที่ต้องการ จึงหันมาแสวงหาในทางที่ได้ง่ายๆ ซึ่งไม่ต้องใช้ความรู้ความสามารถมากมาย อาศัยเพียงความกล้าและโอกาสอำนวยเท่านั้น นั่นก็คือ การปล้น ลักขโมย ทุจริต ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นการแสวงหาที่ผิด

ส่วนผู้ที่มีความสามารถ แม้จะได้ปัจจัยมามาก พอที่จะเลี้ยงตัวแล้วก็ตาม ก็ยังใช้ความสามารถนั้นแสวงหาอยู่ร่ำไป หาได้แล้วก็นำมาเก็บ กักตุนไว้ หรือใช้อย่างฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายจนเกินจำเป็น ไม่รู้จักคำว่า พอ หรือ หยุด ทำให้อยากได้อยู่เรื่อยไปจนไม่สามารถจะควบคุมใจไว้ได้ ยิ่งหามาได้มากเท่าไร ก็ยิ่งอยากได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ การแสวงหาก็มีวิธีพิสดารมากขึ้น ถ้าควบคุมไว้ไม่ได้ ก็อาจแสวงหาในทางทุจริต ฉ้อโกง ซึ่งเท่ากับว่าตกเป็นทาสของความอยากตลอดเวลา

ความพอเพียง คือ รู้จักยับยั้งความปรารถนาของตน ในขอบเขตที่เหมาะสมแก่ภาวะและฐานะของตน รู้จักควบคุมความอยากไว้ให้พอดี ไม่เกินขอบเขต ในกรณีที่ขาดแคลนก็แสวงหาปัจจัยมาบำรุงตัวเองและครอบครัว ให้พออยู่ได้อย่างเป็นสุขก็เพียงพอแล้ว ไม่ดิ้นรนให้มากไปกว่านี้อีก

ครั้นยับยั้งได้แล้วชีวิตก็เริ่มจะสงบสุข มีเวลาเป็นของตัวเอง คิดถึงตัวเองได้บ้าง ต่อจากนั้นก็จะคิดถึงคนอื่นและคิดถึงสังคมต่อไป



ความเพียร 4 ประการ

วิริยะ ความเพียรอย่างยิ่งในการทำความดี เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้า ความสำเร็จ ความเพียรที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา มี 4 ประการ คือ

เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นภายในใจ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ระวังปลูกฝังความพอใจใช้ความ เพียรอย่างต่อเนื่อง ในการรักษาใจ ประคองใจไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ในเวลาที่ตาเห็นรูป หูฟัง เสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจนึกตรึกตรองปรุงแต่งถึงอารมณ์ที่มาสัมผัส ถูกต้อง

เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว พระพุทธองค์ทรงสอนให้มีความพอใจ ใช้ความพยายามกระทำความเพียรอย่างต่อเนื่องในการละบาปอกุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว จะมากหรือน้อยเท่าไรก็ตาม เมื่อละได้แล้วให้ประคองจิตไว้ในที่นั้นๆ แล้วพยายามต่อไป โดยพิจารณาเห็นโทษของบาปอกุศล ที่เกิดขึ้นนั้น มีผลนำความทุกข์มาให้ เช่น เมื่อทำความผิด ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เป็นต้น

เพียรพยายามสร้างบุญกุศลให้เกิดขึ้นในใจ พระพุทธองค์ทรงสอนให้สร้างความพอใจความยินดีในการทำความดี มี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้นให้บังเกิดขึ้น โดยยึดหลักการปฏิบัติดีอย่างต่อเนื่อง ความดีที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น เมื่อสร้างได้แล้ว ให้พยายามรักษาคุณภาพจิตไว้และพยายามต่อไป ไม่ย่อท้อแม้มีอุปสรรคสะดุดล้มในบางครั้ง ต้องพยายามประคับประคองใจ ไม่ยอมแพ้

เพียรรักษาสิ่งที่ดี ที่บังเกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม ไป พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปลูกฝังความพอใจใช้ความพยายามกระทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง ในการที่รักษากุศล คือ ความดีต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ไม่ให้เสื่อมไป เหมือนเกลือรักษาความเค็ม ฉะนั้น

ความเพียร 4 ประการนี้ เรียกว่า ความเพียรในทางที่ชอบ หรือ ความเพียรชอบ ในอริยมรรค เป็นหลักธรรมที่ทรงสอนให้บุคคลประกอบความดีให้บังเกิดขึ้นในชีวิตของตน แม้แต่การบริหารบ้านเมือง อยู่ในโครงสร้างของความเพียรเช่นกัน

เพียรป้องกันสิ่งซึ่งเป็นพิษเป็นภัยที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดขึ้น

เพียรกำจัดสิ่งที่เห็นว่าเป็นโทษเป็นภัยเป็นอันตรายที่เกิดขึ้น แล้วกำจัดให้หมดไป

เพียรทำแต่เรื่องที่ดี มีประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนและบุคคลอื่น ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น

เพียรรักษาสิ่งดีงามเหล่านั้นให้คงอยู่และมีความเจริญงอกงามไพบูลย์เต็มที่

พระพุทธศาสนาเน้นความสำคัญเรื่องความเพียรอย่างถูกต้อง ซึ่งสามารถให้ผลสำเร็จก้าวหน้าในชีวิตของบุคคล ในหน้าที่การงาน ในการดำเนินชีวิต และในการปฏิบัติธรรม ล้วนต้องอาศัยความเพียรพยายามทั้งนั้น แต่จะต้องเป็นความเพียรพยายามในทางที่ชอบดังกล่าว

เพราะเมื่อปฏิบัติเช่นนี้ ได้ชื่อว่าดำเนินตามหลักอริยมรรคที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้


ธรรมะวันหยุด
พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 62.0.3202.94 Chrome 62.0.3202.94


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 01 ธันวาคม 2560 15:49:37 »




ความสงบ
ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว จะพูดก็ดี จะทำก็ดี ความสุขย่อมอำนวยผลติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น

ใจดี ใจผ่องใส ต้องเป็นใจที่มีความสงบ สุขุม เยือกเย็นอยู่ภายใน ความสงบจึงเป็นคุณสมบัติของผู้มีปัญญา เป็นยอดปรารถนาของทุกคน ก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งตนเองและผู้อื่น ความสงบ 3 ประการ

สงบกาย คือ ประพฤติดีทางกาย ไม่ทำลายทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น มีแต่ช่วยป้องกันรักษาชีวิตและทรัพย์สินของตนและผู้อื่น พยายามตั้งตนไว้ไม่ให้เป็นเหตุแตกแยกสามัคคี และเป็นที่รังเกียจสงสัยของคนรอบข้าง ทำหน้าที่การงานที่เป็นประโยชน์สุข ไม่มุ่งหน้าก่อความทุกข์ความเดือดร้อนให้เกิดแก่ตนและส่วนรวม

สงบวาจา คือ ประพฤติดีทางวาจา เจรจาคำสัตย์ซึ่งเป็นถ้อยคำที่อมตะ ไม่สูญหายไปจากความนิยม น่าเคารพ น่านับถือ เป็นที่ไว้วางใจของชาวโลก ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเพราะลมปาก เป็นคนพูดจริงทำจริง พูดอย่างไรทำได้อย่างนั้น จัดว่าเป็นคนรักศักดิ์ศรีของตัว ทำตนให้มีคุณค่าสามารถชนะใจคนพูดไม่จริงได้ พูดถ้อยคำอ่อนหวานประสานประโยชน์ พูดถ้อยคำมีหลักมีฐาน ไม่พูดถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความแตกแยก ความทุกข์ความเดือดร้อนอันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียแก่ตนและผู้อื่น จึงควรระวังวาจาให้ดีมีบทกวี สุนทรภู่ ประพันธ์ว่า

ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์    มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร    จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา

สงบใจ คือ ประพฤติดีทางใจ เว้นจากอาฆาตพยาบาทปองร้ายกัน มีความพอใจด้วยของๆ ตน ประกอบด้วยเมตตาธรรม ปรารถนาความสุขความเจริญให้กันและกัน มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม อุปถัมภ์ใจให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากอุปสรรคปัญหาที่จะมากีดกั้นให้ทำความดี ความสงบใจเป็นสิ่งสำคัญ สนับสนุนให้เกิดความสงบกายและสงบวาจาได้ดียิ่งนัก

เมื่อความสงบเข้าเยือน จิตใจจะตั้งมั่นไม่หวั่นไหว สงบนิ่งสามารถเข้าใจในสรรพสิ่งได้อย่างชัดเจน ดุจน้ำที่ใสและนิ่งที่อยู่ในภาชนะที่สะอาด ผู้คนสามารถมองผ่านภาชนะได้ชัดเจน พร้อมใช้สอยดื่มกินได้ตามประสงค์

ผลดีของความสงบครบถ้วนทั้งกาย วาจา และใจ เมื่อสำรวจตนเองแล้วน่าชื่นชม ไม่มีตำหนิแม้สักนิด ผู้มีปัญญาพิจารณาแล้วยกย่องสรรเสริญ ชื่อเสียงกิตติศัพท์อันดีงามนี้ ย่อมฟุ้งขจรไปทั่วสารทิศ



ความสุข
ความสุข เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และพากันแสวงหาด้วยวิธีการต่างๆ ตามแต่ระดับสติและปัญญาที่จะอำนวยให้ได้ แต่ถ้าระดับสติและปัญญาอ่อนลงมากเท่าไร การแสวงหาความสุขนั้น ก็ย่อมจะพาเอาความทุกข์พ่วงเข้ามาด้วยมากเข้าเท่านั้น

บางคนไปหลงเสพความทุกข์แต่เข้าใจว่าเป็นความสุข เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ โดยหลงไปว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นสุข กว่าจะรู้ตัวก็เกิดโรคร้ายแรงเสียแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตก็มาดับสลายลงกับสิ่งที่ไร้สาระ อย่างน่าเวทนายิ่งนัก

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนเรื่องของความสุขไว้ 4 ประการ คือ

ประการแรก สุขเกิดจากการมีทรัพย์ มีความภูมิใจ สุขใจที่ตนมีโภคทรัพย์ เพราะทรัพย์เป็นเหตุให้ปลื้มใจ คือความสมบูรณ์ในปัจจัย 4 คนมีทรัพย์ย่อมได้รับความสุข แต่ต้องรู้จักการใช้สอยทรัพย์สมบัตินั้น กล่าวคือการใช้จ่ายในทรัพย์สินเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ ถ้าไม่รู้จักใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ก็หาความสุขมิได้ มีแต่ความเดือดร้อน กังวลใจในการรักษาทรัพย์สมบัติ

ประการที่ 2 สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์บริโภค มีทรัพย์แล้วไม่จับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่ควรใช้สอยก็ไม่มีความสุข การใช้จ่ายทรัพย์ จึงจัดว่าเป็นความสุขชนิดหนึ่งของคน ผู้ที่ไม่มีปัญญาย่อมใช้สอยทรัพย์โดยไม่คำนึงถึงความหมดเปลือง ไม่รู้จักประมาณในการใช้จ่ายทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สมบัติก็มีแต่อันจะต้องสิ้นไปหมดไป

ส่วนผู้มีปัญญาย่อมใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ รู้จักประมาณในการใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย ให้พอเหมาะกับรายได้กับที่ตนได้รับ และให้เหลือพอที่จะอดออมเป็นทุนสะสมสำหรับชีวิตครอบครัว

ประการที่ 3 สุขเกิดจากการไม่ต้องเป็นหนี้ หนี้คือสิ่งที่ตกค้างจะต้องชำระเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และทำให้เกิดความทุกข์ คนมีหนี้จะเกิดอาการหวาดผวา นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ คนมีหนี้สินมากๆ สังคมจะขาดความเชื่อถือ ไม่เป็นที่ยอมรับ ยิ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาหรือตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะกลายเป็นคนล้มละลาย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะยากจนก็ตาม แต่การไม่มีหนี้สินใคร จัดว่าเป็นความสุขใจอย่างหนึ่ง

ประการที่ 4 สุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ การประกอบการงานที่ผิดกฎหมายและศีลธรรม แม้ว่าจะมีทรัพย์สินเงินทองมาก ก็ไม่มีความภูมิใจในทรัพย์สินเหล่านั้น และหาความสุขใจอย่างแท้จริงไม่ได้ ผู้ที่ทำงานปราศจากโทษย่อมจะมีความสุข เพราะเป็นงานที่สุจริต ไม่ผิดต่อกฎหมาย และศีลธรรม ไม่เป็นที่เดือดร้อน แก่ใครๆ คนที่ทำงานที่ปราศจากโทษนั้น ย่อมได้รับความสุขเพราะไม่ต้องหวาดผวา

ความสุขจะเกิดมีขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกันและกัน ให้คำนึงถึงส่วนรวมคือประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อช่วยกันสร้างประเทศชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง เพราะเมื่อประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองแล้ว

เราก็มีความสุขโดยถ้วนหน้า



ทุกข์
ทุกข์ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากส่วนประ กอบของชีวิตไม่สมดุลกัน โดยส่วนมากมุ่งหาแต่ทรัพย์อย่างเดียว ได้มากเท่าไรก็ยังไม่พอ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ถูกธรรม จะถูกดูหมิ่นอย่างไรก็ไม่ใส่ใจ ขอเพียงให้ได้ทรัพย์มาสนองความต้องการของตนเท่านั้น ซึ่งเป็นรูปแบบของความทุกข์มากขึ้น และทำให้เกิดปัญหาไม่รู้จักหมดสิ้น

ความอยากได้สิ่งต่างๆ นี้ เป็นความรู้สึกทุกข์ที่มีอยู่ประจำใจของมนุษย์ ตั้งแต่เป็นเด็กจนกระทั่งเติบใหญ่ และเมื่อเติบใหญ่ขึ้นแล้ว ความอยากได้สิ่งต่างๆ มากขึ้นตามลำดับ อยากได้อย่างนั้นอยากได้อย่างนี้

จนกระทั่งตนเองก็หาให้แก่ตนเองไม่ทัน คือ ความอยากมันพองตัวมากขึ้น ยิ่งเมื่อมีครอบครัวแล้ว ความต้องการซึ่งเคยมีเพื่อตนเองคนเดียวกลับถูกขยายโครงการออกไปอีก เป็นความต้องการเพื่อคนอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนาจะเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนนานาประการ

ความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งปวงที่เกิดมีแก่มนุษย์ทุกวันนี้ เมื่อสืบหามูลเหตุแล้วล้วนแต่เกิดจากความอยากทั้งสิ้น พระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า ภิกษุทั้งหลาย เหตุเกิดแห่งทุกข์นี้เป็นความจริงของพระอริยเจ้า ได้แก่ ความอยากอันเป็นเหตุให้มีภพใหม่ พัวพันกับความกำหนัดยินดีในอารมณ์นั้นๆ คือ ตัณหา 3 ประการ

- กามตัณหา ความอยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนี้

- ภวตัณหา ความอยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้

- วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นอย่างนั้น อยากไม่เป็นอย่างนี้

ตัณหา 3 ประการนี้เป็นมูลเหตุให้เกิดความอยากและเหตุความทุกข์ทั้งปวง

ความอยากนี้เป็นเพียงธรรมที่จรมาเกิดร่วมกับจิต เมื่อจะเกิดก็อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยก็เกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดความอยากนั้น ได้แก่ รูปพรรณสัณฐานทรวดทรงที่สวยสดงดงามตา เสียงที่ไพเราะเสนาะโสตจับใจ กลิ่นที่หอมหวนชวนให้ชื่นใจ รสที่ดีที่อร่อยชวนให้บริโภค สัมผัสที่อ่อนนุ่ม ตลอดถึงลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจเพราะเป็นเครื่องยั่วยวนชวนใจให้เกิดความลุ่มหลง ให้เกิดความอยากได้ ทำใจให้ดิ้นรนแสวงหาอารมณ์ที่ปรารถนาอยากได้นั้น เมื่อได้แล้ว มิใช่ว่าจะพอเพียงนั้น ย่อมทะยานอยากแสวงหาอย่างอื่นๆ ต่อไปอีก

ความอยากนี้เกิดขึ้นอยู่ร่ำไป ไม่รู้จบไม่รู้สิ้น ความอยากมีอารมณ์ไม่มีที่สิ้นสุด และความอยากที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ถ้าบุคคลไม่รู้เท่าทัน ไม่คอยควบคุมไว้ ปล่อยให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ย่อมมีอำนาจบังคับใจให้ทำอะไรได้ไม่มีขีดจำกัด ทำให้ผู้นั้นไม่รู้เหตุผลตามความเป็นจริง มีแต่ความมืดมน ไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกหรือผิด



ความอยาก
มนุษย์ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ได้ เพราะอาศัยเหตุปัจจัยกล่าวคือ ตัณหา ดังที่พระพุทธองค์ตรัส ไว้ว่า ตัณหาย่อมยังบุคคลให้เกิดได้ และนอกจากจะทำบุคคลให้เกิดขึ้นมาแล้ว ยังปกคลุมหุ้มห่อมนุษย์โลก ทำให้วุ่นวาย คิดประกอบกรรมทั้งดีและชั่ว

ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยากดิ้นรน ทำบุคคลให้สะดุ้งหวั่นไหว ทำชั่วบ้างทำดีบ้าง คนที่มีทุกข์มากมายประสบแต่ความ เดือดร้อนก็เพราะตัณหานี้เอง ซึ่งมีอยู่ 3 ประการ คือ

1.กามตัณหา หมายถึง ความทะยานอยากดิ้นรนค้นหา รูป เสียง เป็นต้น อันเป็นทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม 2.ภวตัณหา หมายถึง ความอยากมีอยากเป็น คือ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้อันเป็นเรื่องดีและชั่ว 3.วิภวตัณหา หมายถึง ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เพราะมองเห็นทุกข์โทษ

บรรดาตัณหาทั้ง 3 นั้น ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น นับว่าเป็นตัวสำคัญ ทำให้เกิดกามตัณหาและวิภวตัณหา ก่อกรรมทั้งดีและชั่วไม่มีที่สิ้นสุด คนที่ถูกตัณหาเข้าควบคุมครอบงำแล้ว เปรียบเสมือนคนตาบอด มองไม่เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นโทษ

ตัณหาความอยากนี้ ถ้าอยากจะทำดี ทำประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ใคร นับได้ว่าเป็นความทะยานอยากในฝ่ายดี เช่น อยากจะทำตนให้เป็นประโยชน์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับความสุข พ้นจากความทุกข์ ก็เป็นที่น่าสรรเสริญ ยกย่องบูชาได้

ทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งทรงเป็นสุเมธดาบสโพธิสัตว์ ได้พบพระทีปังกรพระพุทธเจ้าแล้วก็เลื่อมใสพอใจในความเป็นพระพุทธเจ้า จึงปรารถนาอยากจะเป็นบ้าง ก็ริเริ่มประกอบกรรมดี มีบำเพ็ญทานบารมี เป็นต้น ในที่สุดก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า สมความปรารถนาที่ตั้งไว้ อย่างนี้นับว่าเป็นตัณหาเหมือนกัน แต่เป็นตัณหาในทางดี

ถ้าเป็นตัณหา ความทะยานอยากในทางประกอบกรรมทำความชั่ว ก่อทุกข์ให้เกิดทั้งแก่ตนและคนอื่น ก็จัดเป็นตัณหาในทางชั่ว เช่น โลภอยากได้สมบัติสิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยการคดโกงหลอกลวง และการประพฤติผิดในสามีภรรยาผู้อื่น เป็นต้น จัดเป็นตัณหาในทางชั่วที่ร้ายแรง บุคคลจะละหรือบรรเทาให้เบาบางลงได้ ก็ต้องใช้คุณธรรมกล่าวคือ ศีล สมาธิ และปัญญา

บุคคลจะละตัณหาหรือบรรเทาตัณหาให้เบาบางจางลงไปได้ ก็ต้องพยายามรักษาศีล ฝึกสมาธิทำจิตใจให้สงบ ระงับและทำปัญญา ความรอบรู้ให้เข้าใจถูกต้องอย่างแท้จริง

คนที่มีศีลดี มีสมาธิดี และมีปัญญาดี จะไม่ประกอบกรรมทำชั่วโดยเด็ดขาด จะทำแต่ความดี ทำสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดทุกข์โทษทั้งแก่ตนและคนอื่น

ส่วนคนที่มีแต่ความยุ่งเหยิง เดือดร้อน เพราะขาดศีล สมาธิ และปัญญานั่นเอง จึงถูกตัณหาเข้าครอบงำ สร้างแต่บาปกรรมความชั่วไม่สิ้นสุด ผลสุดท้ายก็ได้รับทุกข์โทษทั้งในชาติปัจจุบันนี้และภพต่อไป

คนที่มีปัญญาดี ควรพยายามบรรเทาตัณหาที่มีอยู่ให้ลดน้อยลง แล้วประกอบแต่คุณงามความดี ก็ย่อมจะทำประโยชน์ให้เกิดแก่ตนและคนอื่นได้ ถ้าแม้ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีคนเคารพบูชา ละจากโลกนี้ไปแล้วก็มีคนยกย่องสรรเสริญ



ความสามัคคี
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสอนให้สร้างความสามัคคี ปรองดองกัน มีจิตใจชื่นบานต่อกัน เป็นมิตรเป็นสหายกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้วยเหตุว่าเป็นเหตุสงบความทะเลาะ วาทได้

ความสามัคคี คือ ความพร้อมเพรียง สนิทสนมกลมเกลียว เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่วิวาทบาดหมางกัน หรือไม่แก่งแย่งซึ่งกันและกัน เมื่อกล่าวโดยประเภทมี 2 คือ กายสามัคคี พร้อมเพรียงกันด้วยกำลังกาย จิตสามัคคี พร้อมเพรียงกันด้วยกำลังใจ

เมื่อมีความพร้อมเพรียงกันทั้ง 2 ประเภท ก็จะเป็นเหตุให้เกิดผลเต็มที่ หรือมีผลอันสมบูรณ์ดีไม่มีความบกพร่อง ถ้าเป็นแต่สามัคคีด้วยกาย แต่ใจไม่สามัคคีด้วย หรือมีจิตใจที่ไม่คิดจะช่วยให้เต็มความสามารถ ก็ขาดผลที่จะพึงได้ไปครึ่งหนึ่ง แต่ถ้ามีจิตสามัคคีด้วยก็จะช่วยให้สำเร็จประโยชน์อย่างไพบูลย์ ไม่มีความขาดตกบกพร่องแต่ประการใด

ความสามัคคีมีนัยดังกล่าวมานี้มีอยู่ในหมู่สมาคมใด หมู่สมาคมนั้นย่อมดำเนินไปสู่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมทราม และความสามัคคีนั้นจะเกิดขึ้นได้ หรือเกิดขึ้นแล้วจะยืนยงมั่นคงไปได้ด้วยดี ก็เพราะมีคุณธรรมเป็นหลัก คุณธรรมนั้นมีมากมายหลายอย่าง แต่จะยกขึ้นมาแสดงในที่นี้อย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าสังคหวัตถุ คือ ธรรมเป็นอุบายเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน มี 4 ประการ คือ การให้ ความเป็นผู้มีวาจาไพเราะ การประพฤติกิจที่เป็นประโยชน์แก่กัน ความมีตนเสมอ

การให้ คือ ความเป็นผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน นี้เป็นอุบายให้เกิดความสามัคคี ส่วนความเป็นผู้รู้มาก เอาเปรียบตระหนี่ถี่เหนียว เห็นแก่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ไม่แลเหลียวถึงประโยชน์ของผู้อื่น นี้เป็นเหตุแห่งความแตกสามัคคี

ความเป็นผู้มีวาจาไพเราะ คือ มีวาจาอ่อนหวานนุ่มนวลชวนให้น่าฟัง ไม่กระทบกระทั่งเสียดสีผู้อื่น หรือไม่ยกตนข่มท่าน นี้เป็นเหตุแห่งความสามัคคี ส่วนการเจรจาด้วยถ้อยคำหยาบคาย ไม่ไพเราะหู หรือกระทบกระทั่งเสียดสีผู้อื่นเป็นต้น นี้เป็นเหตุทำลายความสามัคคี

การประพฤติกิจที่เป็นประโยชน์แก่กัน คือ ไม่เพิกเฉยดูดาย ช่วยขวนขวายด้วยความเต็มใจ นี้เป็นเหตุแห่งความสามัคคี ส่วนการเพิกเฉยดูดาย ไม่ขวนขวายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มุ่งแต่จะเอาตัวรอดเป็นใหญ่ การแสดงอัธยาศัยใจจืดเช่นนี้เป็นเหตุทำลายความสามัคคี

ความมีตนเสมอ คือ มีมารยาทอ่อนน้อมถ่อมตนในบุคคลไม่เลือกหน้า ปฏิบัติตนวางตนพอดี นี่เป็นเหตุแห่งความสามัคคี ส่วนความเป็นผู้ถือตัวถือตน ถือยศถืออำนาจ แสดงกิริยามารยาทดูหมิ่นผู้อื่น ไม่ประพฤติตนให้เหมาะสมแก่ฐานะ นี้เป็นเหตุทำลายความสามัคคี

ผู้ที่จะบำรุงรักษาความสามัคคีให้ยืนยงมั่นคงอยู่ได้ ต้องเป็น ผู้ตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้ง 4 ประการนี้ และพึงเว้นจากธรรมอีก 4 ประการ ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามนั้นเสีย ความสามัคคีก็จะดำรงมั่นคงอยู่ได้ด้วยดีตลอดไป และพึงเป็นผู้มีขันติธรรมประจำใจ

มีความอดทนอดกลั้น บั่นรอนตัดทอนเหตุที่จะทำให้แตกความสามัคคีนั้นๆ


ธรรมะวันหยุด
พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.84 Chrome 63.0.3239.84


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 15 ธันวาคม 2560 10:49:47 »


ความไม่เบียดเบียน

คําว่า อวิหิงสา แปลว่า ความไม่เบียดเบียนให้ผู้อื่นลำบาก คือไม่ก่อทุกข์ยากให้แก่สัตว์ใดด้วยเห็นเป็นของสนุก ไม่ทำร้ายมนุษย์และรังแกสัตว์เล่นเพื่อความบันเทิงใจของตน ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น ไม่เก็บภาษีขูดรีดหรือไม่ใช้แรงงานเกินควร รวมไปถึงไม่หลงระเริงอำนาจ ไม่หาเหตุเบียดเบียนลงโทษแก่ผู้อื่นเพราะความอาฆาตร้ายและเกลียดชัง

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่ออยู่รวมกันมากเป็นหมู่เป็นคณะ เป็นสังคมและประเทศชาติจำเป็นต้องมี ผู้ปกครองและผู้อยู่ในปกครอง ทั้งสองฝ่ายจะอยู่ร่วมด้วยกันได้อย่างเป็นสุขก็เพราะความไม่เบียดเบียนกัน ผู้ปกครองอาศัยเก็บภาษีอากรราษฎรเพื่อบริหารประเทศ แต่ถ้าเก็บภาษีขูดรีดเกินไป ถือว่าเป็นการขาดความสงสาร เป็นการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์เดือดร้อน

พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพระอุทานว่า ความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก หมายความว่า ความไม่เบียดเบียน ความไม่โกรธเกลียดกัน และความระมัดระวังกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม เพื่อไม่ทำให้ผู้อื่นลำบากเดือดร้อน พยายามไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น กล่าวคือความไม่เบียดเบียนกัน เป็นหลักธรรมสำคัญในการทำให้โลกเกิดสันติภาพ เป็นเหตุนำมาซึ่งความสงบสุขในโลก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า ....

อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่  หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แผ่นดิน

ส่วนสมเด็จพระบรมศาสดา เป็นที่เคารพรักนับถือของชาวโลก เพราะมีพระกรุณาคุณ ตั้งแต่พระองค์ตรัสรู้แล้ว ได้ตัดสินพระทัยประกาศพระศาสนา เสด็จไปเทศนาโปรดประชาชนในที่ต่างๆ ตลอด 45 พรรษา โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากพระวรกาย ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะให้สัตว์ทั้งหลายพ้นจากทุกข์เป็นเบื้องหน้า พระองค์มีน้ำพระทัยอันเยือกเย็นสนิทด้วยพระกรุณาคุณ เช่น ทรงบำเพ็ญพุทธกิจประจำวัน 5 ประการ คือเวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต เวลาเย็น ทรงแสดงธรรม เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ เที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา และจวนสว่างทรงตรวจตราพิจารณาสัตว์ทั้งที่สามารถจะบรรลุธรรมได้ แล้วเสด็จไปโปรด

ด้วยเหตุนี้จึงได้พระนามที่แสดงถึงพระพุทธคุณว่า พระผู้มีพระมหากรุณา เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ เพราะทรงมีความกรุณาต่อพสกนิกร พระองค์มีพระทัยหวั่นไหว เมื่อทรงเห็นใครตกทุกข์ได้ยากหรือไม่มีที่พึ่ง ก็ทรงนิ่งเฉยอยู่มิได้ ทรงดำริช่วยบำบัดทุกข์นั้นให้เบาบางลงหรือหมดสิ้นไป ทรงเห็นทุกข์เดือดร้อนของคนอื่นเสมือนหนึ่งทุกข์เดือดร้อนของพระองค์ เมื่อทรงช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของเขาได้แล้ว ก็เหมือนพระองค์เองพ้นจากความทุกข์นั้นไปด้วย

พระองค์ทรงเป็นธรรมิกราช ทรงแผ่พระมหากรุณาธิคุณอันไพศาลไปในประชาชนผู้อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพสกนิกรของพระองค์ ปรากฏแก่ประชาชนทั้งหลายประหนึ่งเทพในหมู่มนุษย์ ทรงบำเพ็ญคุณธรรมเสมือนพระโพธิสัตว์ที่ต้องการขนสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากห้วงทุกข์ทั้งปวงในวัฏสงสาร

พระราชกรณียกิจอันกอปรด้วยพระมหากรุณา ธิคุณที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทยทั่วราชอาณาจักรนั้น เกินกว่าที่จะพรรณนาได้ครบถ้วน พระองค์จึงทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติตลอดมา 



ความฝัน
คําพูดที่ว่าการพักผ่อนที่ดีที่สุด คือการนอนหลับ เพราะการนอนหลับเป็นการหยุดกิจกรรมทุกอย่างที่ทำมาตลอดทั้งวัน แม้กระทั่งการคิด ธรรมชาติได้ออกแบบให้คนเรามีช่วงเวลา 2 แบบ แบบแรกเป็นช่วงเวลาของการทำงาน ทำกิจกรรมดำเนินชีวิต ให้มีอยู่มีกิน เรียกว่าช่วงกลางวัน แบบที่สองเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน ปรับร่างกายให้กลับคืนสู่ความสดชื่น เตรียมพลังไว้ทำงานและกิจกรรมต่างๆ ที่ตั้งใจไว้ ช่วงเวลากลางคืนถือว่าเป็นเวลาที่ควรพักผ่อน แต่จะมีบางคนใช้เป็นเวลาทำงาน แต่มีจำนวนน้อย

การนอนหลับมีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งซึ่งอาจเกิดขึ้นกับทุกคน คือ ความฝัน ในปัจจุบันยังสรุปไม่ได้ว่าคนเราฝันได้อย่างไร และความฝันเกิดมาได้อย่างไร ทำไมเรื่องที่ฝันบางเรื่องเป็นความจริง บางเรื่องไม่เป็นความจริง

คนทั้งหลายที่เกิดความสงสัยและหาทางออกตามความเชื่อของตนเอง จึงคิดหาวิธีและปฏิบัติต่อความฝันแตกต่างกันไป อาจเรียกได้ว่าทำนายฝันกันไปคนละอย่าง

ถามว่า ทำไมคนเราจึงฝัน หลับหรือตื่น คงมีคำตอบหลากหลาย ถ้าหลับสนิทก็ไม่ฝัน ถ้าฝันแสดงว่าหลับไม่สนิทเหมือนลิงหลับ คือ หลับๆ ตื่นๆ

ความฝันเป็นประสบการณ์จากสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ได้นึกคิด เช่น ภาพ เสียง ข้อความ ความคิด หรือความรู้สึก ทั้งด้านที่เป็นความสุข และความทุกข์ ประสบการณ์เหล่านี้ไปปรากฏขณะที่กำลังนอนหลับ โดยผู้ที่ฝันไม่สามารถควบคุมได้และฝันจะสิ้นสุดเมื่อตื่น

ความฝันมักเต็มไปด้วยความคิดในด้านต่างๆ บางเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน บางเรื่องน่าเหลือเชื่อ รวมไปถึงเรื่องสนุกสนาน เรื่องน่ากลัว เรื่องเศร้า ที่เรียกว่า ฝันร้าย และในบางครั้งความฝันจะมีเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องซึ่งไม่เคยพบเจอมาก่อน หลายครั้งที่ความฝันยังผลให้มีการกระตุ้นความรู้สึกทั้งทางด้านจิตใจและทางด้านศิลปะให้แก่ผู้ที่ฝัน

ความฝันมีส่วนสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของดวงตาขณะนอนหลับ ก้านสมองและการเปลี่ยนแปลงการเต้นของหัวใจ ส่วนใหญ่เชื่อว่าทุกคนจะมีความฝันในปริมาณที่เท่าเทียมกัน ถึงแม้บางคนจะรู้สึกว่าหลับสนิท ไม่ค่อยฝันอะไรหรือนานๆ จะหลับฝันสักครั้ง นั่นเพราะสาเหตุว่าความฝันของบุคคลนั้นจางหายไปเมื่อตื่นนอน ความฝันมักจะเลือนหาย ถ้าสถานะของการฝันของบุคคลนั้นค่อยๆ เปลี่ยนจากคลื่นสมองขณะหลับตื้น เป็นสถานะคลื่นสมองขณะหลับลึกและตื่นนอน

ในทางกลับกันถ้าบุคคลนั้นตื่นขึ้นโดยการปลุก เช่น ตื่นเพราะนาฬิกาปลุก หรือมีคนเรียกบุคคลนั้นมักจะจำเรื่องที่ฝันได้ แต่ไม่แน่เสมอไป




ความดีต้องรีบทำ
บุญ คือ ความดี หมายถึง การกระทำทางกาย วาจา ใจ เป็นไปเพื่อความเป็นประโยชน์เกื้อกูล ก่อให้เกิดความสุขความเจริญแก่ตนและบุคคลอื่น

การทำความดี ควรเป็นผู้ไม่ประมาท รีบขวนขวายประพฤติปฏิบัติตน กระทำตนให้เหมาะแก่วัยทั้งสาม คือ

1.ในวัยเริ่มต้นชีวิต ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนวิทยาการต่างๆ ให้มีความรู้เต็มความสามารถ ไม่เกียจคร้านหรือประมาทในระหว่าง ไม่เหินห่างจากการศึกษาเล่าเรียน พากเพียรไม่หยุดยั้ง

2.ในวัยท่ามกลางแห่งชีวิต เมื่อมีความรู้ความสามารถดีแล้ว คิดประกอบการงานสัมมาอาชีพ ให้เป็นที่พึ่งของตนและบุคคลอื่นได้ มีวิริยอุตสาหะอดทน งานที่สุจริตไม่ผิดธรรม แม้จะเหน็ดเหนื่อยก็ยินดี

3.ในวัยบั้นปลายชีวิต เมื่อมีฐานะมั่นคงแล้ว ตั้งจิตคิดแสวงหาความสงบใจ สิ่งใดเป็นเหตุแห่งความทุกข์ความเดือดร้อน บั่นทอนความสุขกายสบายใจ พยายามละเว้นให้ห่างไกล

เมื่อประคับประคองตนให้ได้ดังกล่าวมานี้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้รักตน ประคับประคองตนให้เป็นไปด้วยดีตลอดวัยทั้งสาม เป็นผู้ประพฤติตามพระพุทธโอวาทที่ตรัสไว้ว่า หากบัณฑิตพึงรู้ว่าตนเป็นที่รัก พึงประคับประคองตนไว้ให้ดีตลอดวัยทั้งสาม

การทำบุญเพื่อให้ได้บุญนั้น ในทางพระพุทธศาสนามีวิธีทำบุญ 3 ประการ คือ บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา

ทาน เป็นเหตุปัจจัยให้สังคมของมนุษย์ดำเนินไปด้วยความสวัสดี เพราะคนเราเกิดมาจะอยู่ได้ด้วยทาน

ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน จึงเป็นแนวทางให้เกิดความสามัคคีได้เป็นอย่างดี สมกับธรรมภาษิตว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนหมู่มากย่อมคบหาสมาคมผู้ให้นั้น เมื่อมนุษย์มีจิตใจดีที่จะให้แก่กันดังกล่าวมา สังคมของมนุษย์ก็จะเป็นไปโดยความสวัสดี

ศีล หมายถึง ความประพฤติตามปกติของคนหรืออย่างที่คนปกติเขาประพฤติกัน คือ ไม่ประทุษร้ายกันทางกาย ไม่ลักขโมยทรัพย์ ไม่ล่วงละเมิดสิทธิในคู่ครองของคนอื่น ไม่พูดเท็จหลอกลวง และไม่เสพของมึนเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ภาวนา แปลว่า ความอบรมปัญญาให้บังเกิดมีในตน ได้แก่ การพยายามทำปัญญาความรอบรู้ในสังขารทั้งปวงให้เกิดขึ้นในตน ซึ่งภาวนาถือได้ว่าเป็นวิธีการที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น เมื่อทำได้แล้วจิตใจก็จะเป็นสมาธิ สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตใจตั้งมั่น เป็นสมาธิแล้ว ย่อมเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง

การทำความดีที่กล่าวมาข้างต้น เป็นกิจที่บัณฑิตผู้ไม่ประมาทควรรีบขวนขวายกระทำ และในขณะที่กำลังทำความดีอยู่ พึงห้ามจิตไม่ให้คิดทำความชั่วทางกาย วาจา และใจ เพราะตามปกติของจิตใจ ย่อมแสวงหาแต่อารมณ์ฝ่ายต่ำเสมอ เปรียบเหมือนปลาที่ถูกจับโยนขึ้นบนบก ย่อมดิ้นรนกระเสือกกระสนลงสู่น้ำฉะนั้น

ถ้าทำความดีช้าไป จิตใจย่อมยินดีในความชั่ว ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า บุคคลพึงรีบทำความดี พึงห้ามจิตจากความชั่ว เพราะว่า เมื่อบุคคลทำความดีช้าไป จิตใจย่อมยินดีในความชั่ว แต่ถ้ารีบทำแต่ความดีแล้ว จิตใจก็ย่อมน้อมไปในความดียิ่งๆ ขึ้นไป  



คุณสมบัติของคนดี 
ธรรมดาของทุกๆ คนในโลกนี้ ย่อมแตกต่างกันโดยฐานะ หน้าที่ เพศ วัย และชนชั้น แต่ในทางพระพุทธศาสนาแบ่งเป็น 2 พวกด้วยกัน คือ คนดี และ คนไม่ดี

คนดีมีความสงบเสงี่ยมเรียบร้อย มีสติปัญญาความคิดเฉลียวฉลาด มีอัธยาศัยจิตใจดีงาม ส่วนคนไม่ดี ไม่มีความสงบเสงี่ยมเจียมตน โง่เขลาเบาปัญญา มีอัธยาศัยเลวทราม

คน 2 ประเภทนี้ ย่อมมีปะปนอยู่ในกลุ่มชนทั่วไป พระพุทธองค์ไม่ทรงถือชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ และทรัพย์สมบัติเป็นหลักเกณฑ์ในการวัดคน แต่ทรงวัดด้วยคุณธรรม ผู้ที่มีความประพฤติไม่ดีด้วยกาย วาจา ใจ ทำตนให้เป็นคนก่อโทษเวรภัยต่อตนเองและผู้อื่น เรียกว่า คนไม่ดี ส่วนผู้ที่มีความประพฤติดีด้วยกาย วาจา ใจ บำเพ็ญประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น เรียกว่า เป็นคนดี

การถือความประพฤติของบุคคล เป็นเครื่องจัดสรรบุคคลว่า ดี หรือ ไม่ดี นั้น นับว่าเป็นการยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะไม่มีใครสามารถท้วงติงหรือคัดค้านได้ โลกนิยมยกย่องผู้ที่ประพฤติดีงาม ติเตียนผู้ประพฤติชั่วช้าเลวทราม

ดังนั้น บุคคลจะเกิดในตระกูลสูงหรือต่ำก็ตาม มียศศักดิ์หรือไม่มีก็ตาม มีทรัพย์สมบัติหรือไม่มีก็ตาม มิใช่เครื่องวัดความดี ดังบทประพันธ์ที่ว่า อันคนดีมิใช่ดีด้วยที่ทรัพย์ มิใช่นับพงศ์พันธุ์ชันษา คนดีนั้นดีด้วยการงานนานา อีกวิชาศีลธรรมนำให้ดี

สำหรับคุณสมบัติของคนดี พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้มีมากมาย สุดแต่ใครจะมีอัธยาศัยน้อมไปในธรรมะข้อใด ก็เลือกปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมตามอัธยาศัยในธรรมะข้อนั้น ในที่นี้ได้ยกคุณสมบัติของคนดี 7 ประการ คือ 1.ความเป็นผู้รู้จักเหตุ 2.ความเป็นผู้รู้จักผล 3.ความเป็นผู้รู้จักตน 4.ความเป็นผู้รู้จักประมาณ 5.ความเป็นผู้รู้จักกาล 6.ความเป็นผู้รู้จักบริษัท และ 7.ความเป็นผู้รู้จักบุคคล

1.ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ เป็นผู้มีหลักการที่ดี รู้เหตุแห่งความสุขและความทุกข์ รู้เหตุแห่งความเจริญและความเสื่อม พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเรื่องเหตุผล ไม่ได้สอนให้เชื่ออย่างงมงาย สอนให้ตรึกตรองให้ดีก่อนแล้วจึงเชื่อ ให้เชื่อภายหลังที่เข้าใจเหตุผลดีแล้ว เหตุดีผลก็ดี เหตุชั่วผลก็ชั่ว พระพุทธองค์ตรัสรับรองความต่างของเหตุผลไว้ 2 ประการ คือ อธรรม หมายถึงเหตุชั่วนำไปสู่ความเดือดร้อน และ ธรรมะ หมายถึงเหตุดีนำไปสู่ความเจริญ

ดังนั้น ความเป็นผู้รู้จักเหตุจึงเป็นคุณสมบัติของคนดี ทำให้เป็นคนรอบคอบ คิดก่อนแล้วจึงทำหรือพูด ดังนั้น ควรคำนึงถึงพฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในแนวทางสร้างเหตุที่ดี อันจะก่อให้เกิดผลที่ดีตามมา ผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้รู้จักเหตุ จัดเป็นคนดี น่ายกย่องนับถือ และน่าคบหาสมาคมด้วย

2.ความเป็นผู้รู้จักผล คือ รู้จักผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ รู้ถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติอย่างชัดเจนว่า ปฏิบัติเช่นนี้จะได้รับผลอย่างนี้ เว้นจากธรรมะข้อนี้ จะได้รับผลอย่างนี้ รู้ว่าผลที่ตนหรือคนอื่นได้รับอยู่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากเหตุที่เรากระทำด้วยกาย วาจา ใจ พระพุทธองค์ทรงแสดง ความเป็นผู้มีบุญที่ได้ทำไว้แล้วในกาลก่อนว่าเป็นอุดมมงคล ก็เพื่อให้ทราบผลที่ประสบอยู่นั้น ว่าสำเร็จมาแต่บุญที่ได้ทำไว้ ส่งผลให้มาเกิดเป็นมนุษย์ มีรูปร่างกายสมบูรณ์ มีความสะดวกสบายเรื่องที่อยู่อาศัย มีทรัพย์สมบัติมากมายไม่ฝืดเคือง เป็นต้น ล้วนเป็นผลดีซึ่งได้ทำเหตุไว้ในอดีตทั้งสิ้น

ความเป็นผู้รู้จักผลด้วยอาการอย่างนี้ เป็นทางให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการสร้างเหตุที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ให้ไพบูลย์ในปัจจุบัน เพื่อเป้าหมายที่ชัดเจนในการได้รับผลดีอันจะมีต่อไป

3.ความเป็นผู้รู้จักตน คือ รู้จักประมาณตน โดยฐานะ ภาวะ หน้าที่การงาน แล้วประพฤติให้เหมาะสมกับที่ตนเป็นอยู่ เช่น ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ ต้องมีเมตตากรุณา และเห็นอกเห็นใจผู้น้อย ในฐานะเป็นผู้น้อย ก็อย่าอวดเก่งเกินกำลังความสามารถ ต้องมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน

ในฐานะเป็นผู้นำ ต้องไม่ลำเอียง มีความเที่ยงธรรมประจำใจ ประกอบด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ในฐานะเป็นผู้ตามต้องเคารพเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา มีความจงรักภักดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง ในฐานะเป็นพุทธศาสนิกชนต้องประกอบด้วยศรัทธามั่นคง ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม เชื่อมั่นในการกระทำความดี

ผู้รู้จักตนและปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับภาวะหน้าที่โดยไม่บกพร่อง นับได้ว่าเป็นการเชิดชูความดีงาม

4.ความเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักประมาณในการแสวงหา การบริโภค และการรักษา ความจริงปัจจัย 4 ที่หล่อเลี้ยงชีวิต จะเกิดมีขึ้นเองไม่ได้ ต้องอาศัยการประกอบการงานและการแสวงหา ในการแสวงหานั้นก็ต้องให้เป็นไปโดยประมาณด้วย จึงจะช่วยให้สำเร็จประโยชน์และปราศจากโทษ เช่น ไม่แสวงหาในทางที่ผิดศีลธรรมหรือผิดกฎหมายบ้านเมือง

การรู้จักประมาณในการบริโภค คือ รู้จักจับจ่ายใช้สอยทรัพย์สมบัติ ตามฐานะที่ตนมี ต้องกำหนดรู้รายรับรายจ่ายของตน ไม่ใช้จ่ายเกินพอดี จะเป็นทางช่วยลดการใช้จ่ายเป็นอย่างดี

การเก็บออมรักษาทรัพย์ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า การรักษาทรัพย์นับว่ามีความสำคัญมาก หากไม่รู้จักรักษา ทรัพย์ที่หาได้มาก็ไม่คงอยู่และเพิ่มพูนขึ้นได้ ดังนั้น การรู้จักประมาณในการแสวงหา การบริโภค และการรักษา จึงมีคุณประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตอย่างมหาศาล

5.ความเป็นผู้รู้จักกาล คือ รู้เวลาที่เหมาะสม รู้คุณค่าของกาลเวลาในทุกสิ่งที่ทำ ทุกคำที่พูด เวลาใดควรทำงาน เวลาใดควรหยุดงาน รู้ว่างานแต่ละอย่างที่ทำ ควรใช้เวลาเท่าไร รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ รีบเร่งทำให้เสร็จทันเวลา ก็จะไม่พลาดจากประโยชน์ที่ควรมีควรได้ ประโยชน์ซึ่งจะได้อยู่แล้วก็ไม่สูญเสียไป ในเรื่องคำพูดก็เช่นเดียวกัน ควรรู้เวลาที่เหมาะสม เวลาใดควรพูด เวลาใดไม่ควรพูด

ความเป็นผู้รู้จักกาลดังกล่าวมานี้ ก็จะทำให้เป็นคนตรงต่อเวลา รู้คุณค่าของเวลา มีแต่ความเจริญก้าวหน้าโดยส่วนเดียว

6.ความเป็นผู้รู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน ผู้อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ รู้จักวางตัวและประพฤติต่อกันอย่างเหมาะสมแก่ชุมชนและหมู่คณะที่ควรเกี่ยวข้อง สงเคราะห์ รับใช้ บำเพ็ญประโยชน์ให้ และควรรักษากิริยา วาจา ระเบียบวินัย ประเพณีอันดีงาม ตามควรแก่สถานะของตน เช่น การเข้าไปในสถานที่ประชุมควรวางตัวให้เหมาะสมก็จะทำให้เกิดความงดงาม องอาจ ไม่เก้อเขินในสังคม และเป็นเหตุให้วางตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

7.ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือ รู้จักเลือกว่าบุคคลใดควรคบไม่ควรคบ รู้จักแต่ละคนว่ามีอุปนิสัยใจคออย่างไร มีความประพฤติส่วนตัวอย่างไร หน้าที่การงานเป็นอย่างไร เป็นเหตุให้รู้จักโดยละเอียดถี่ถ้วน รู้ลักษณะของคนที่คบว่าเป็นเพื่อนที่ดี

การรู้จักเลือกคบบุคคลดี หลีกหนีคนชั่ว จัดว่ามีคุณค่ามหาศาล เป็นปัจจัยสำคัญที่เกิดความเปลี่ยนแปลงจิตใจบุคคลให้คล้อยตามได้ นับเนื่องในคุณสมบัติของคนดีประการสุดท้าย

ผู้ที่ประกอบด้วยหลักธรรม 7 ประการ คือ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล จัดเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติของคนดีที่สมบูรณ์ [/b] 



ความเพียร
การดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน ต่างแสวงหาสิ่งต่างๆ มาอำนวยความสะดวก เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตให้มีความมั่นคง เจริญก้าวหน้า และมีความสุข คุณธรรมสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งให้ผลสำเร็จตามที่ปรารถนาได้ คือ ความเพียร

ความเพียร หมายถึง ความขยันหมั่นประกอบกิจด้วยความกล้าหาญ เข้มแข็ง อดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เป็นความเพียรที่บริสุทธิ์เพื่อสรรค์สร้างสิ่งที่ดีงาม เป็นความเพียรเพื่อความสุขแก่ตนเองและผู้อื่น ไม่ใช่ความเพียรเพื่อสนองความโลภ ความโกรธ และความหลง

พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อน ทรงเริ่มตั้งความเพียรในพระหฤทัยว่า จะเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตาม เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไปเถิด เรายังไม่บรรลุผลที่บุคคลพึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้วจักไม่หยุดความเพียร เป็นเหตุให้ทรงประสบความสำเร็จตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลาต่อมา

ความเพียรเป็นสิ่งที่ดีนำความเจริญก้าวหน้าความสุขมาให้ ตรงข้ามกับความเกียจคร้าน เป็นสิ่งที่นำความเสื่อมความทุกข์มาให้

พระพุทธองค์ทรงตำหนิความเกียจคร้าน และทรงสรรเสริญความเพียรในการทำความดี ว่า ผู้ใดเกียจคร้านในการทำความดี มีความเพียรในทางเลวทราม ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ชีวิตของผู้นั้นไม่ประเสริฐ ส่วนชีวิตของผู้ปรารภความเพียรมั่นคงในการละความชั่ว ทำความดี แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว เป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด

คนบางคนเกิดมามีร่างกายพิการ ไม่สามารถจะทำสิ่งอันเป็นประโยชน์ได้ แม้จะมีชีวิตอยู่นาน แต่ผลงานที่ฝากไว้ในโลกนี้คงมีน้อย แต่สามารถทำความเพียรทางใจให้ปรากฏ รู้จักรักษาใจให้สงบด้วยคุณธรรม พยายามละความชั่ว ทำแต่ความดีจัดว่ามีชีวิตที่ประเสริฐ

ส่วนบางคนเกิดมามีร่างกายสมบูรณ์ มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานได้มาก แต่เกียจคร้านในการทำความดี มีความเพียรในทางที่ไม่ถูกต้อง ปล่อยใจให้อกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำ ไม่พยายามข่มหรือบรรเทาอกุศลเหล่านั้น เบื่อหน่ายต่อการทำความดี หรือเห็นความดีเป็นสิ่งที่น่าขยะแขยง น่ารำคาญ เป็นทางแห่งความทุกข์

มีความเข้าใจไม่ถูกต้อง เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชั่วเป็นดี มีความเห็นผิด เช่น ผู้ที่กำลังอยู่ในวัยเรียน มีความเกียจคร้านต่อการศึกษาเล่าเรียน เห็นการเที่ยวเตร่สนุกสนาน เป็นสิ่งให้เกิดความสุข เมื่อทอดทิ้งการศึกษาเสียแล้วยิ่งเพิ่มความหลงงมงายไม่รู้ว่าสิ่งไหนดีหรือชั่ว เมื่อถูกความโลภ ความโกรธเข้าครอบงำ จะใช้ความเพียรไปในทางที่ผิด เช่น เพียรในการขโมย เพียรทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น กล้าทำแม้ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายบ้านเมือง

ผู้ที่ดำเนินชีวิตให้เป็นไปอย่างนี้ นับได้ว่ามีความเพียรในทางเลว แม้มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ไม่ประเสริฐเลย กลับสร้างความทุกข์ให้เกิดแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและชาติต่อๆ ไป

ส่วนชีวิตของบุคคลผู้ปรารภความเพียรในการสร้างความดี กล้าทำความดีทุกอย่างที่เห็นว่าถูกต้องตามหลักธรรม ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ชีวิตของบุคคลเช่นนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวยังประเสริฐกว่า   


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.132 Chrome 63.0.3239.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 10 มกราคม 2561 15:50:03 »




ฆ่าได้ ใจเป็นสุข

ความโกรธ คืออารมณ์เดือดพล่าน สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่เราต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นและพบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ยามใดเมื่อเราโกรธต้องบอกตัวเองว่ากำลังได้รับพิษร้ายเข้าไปในจิตใจแล้ว ควรพิจารณาเห็นโทษของความโกรธแล้วรู้สึกสะดุ้งกลัวขึ้นมาทันที พยายามระงับหรือฆ่าความโกรธไว้ไม่ให้พิษโกรธกำเริบแสดงเป็นกิริยาอาการอะไรออกมาอย่างเด็ดขาด เพราะผู้ที่ถูก พิษความโกรธกำเริบหนัก ทำให้ขาดสติ สามารถทำความผิดได้มากมาย ทำร้ายตัวเอง ทำลายสิ่งของ ทำร้ายผู้อื่นโดยไม่เลือกและไม่มีเหตุผล

ฆ่าความโกรธด้วยการมีสติระลึกนึกถึงความดีของคนที่เราโกรธไว้ในใจ เช่น เขาเคยทำดีอะไรให้แก่เราบ้างหรือเขามีส่วนดีอื่นๆ ที่น่าประทับใจอะไรบ้าง นึกอย่างนี้มาแทนความคิดไม่ชอบใจ ความโกรธจะเจือจางหายไป

ฆ่าความโกรธ ด้วยการทำใจให้สงบ ด้วยวิธีการไหว้พระสวดมนต์ เป็นวิธีง่ายๆ ที่ได้ผลดีเกินคาด เมื่อใดที่โกรธให้ก้มลงกราบพระหรือสวดมนต์ ในขณะนั้นจะรู้สึกตัวว่าความโกรธไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จิตใจสงบเยือกเย็นเห็นได้ชัดเจน

ฆ่าความโกรธ ด้วยการมองเห็นผลดีของความไม่โกรธ ฉ่ำเย็นด้วยเมตตา ทำให้มีเพื่อนมาก มีคนนิยมรักใคร่ มีสุขภาพจิตดี มีความสุขตลอดเวลา ตัวอย่างเรื่องสุวรรณสามตอนหนึ่ง ซึ่งพระเจ้ากบิลยักษ์ กษัตริย์เมืองพาราณสีเสด็จประพาสป่าล่าเนื้อตามลำพัง เย็นวันหนึ่งเห็นสุวรรณสามผู้มีเมตตาธรรม มีฝูงสัตว์ห้อมล้อมเป็นดุจเพื่อนเล่นกัน จึงเกิดความสงสัยว่าเด็กหนุ่มคนนี้เป็นใครกันแน่ เทวดาหรือเปล่า

สุวรรณสามตักน้ำไว้ให้พ่อแม่เพียงพอแล้วลงอาบน้ำเสร็จจึงเตรียมกลับอาศรม พระเจ้ากบิลยักษ์เห็นเป็นโอกาสที่เหมาะ จึงยิงธนูถูกด้านข้างของสุวรรณสาม ร่างถึงกับทรุดลง เลือดไหลท่วมตัว ฝูงสัตว์ที่ตามห้อมล้อมต่างตกใจพากันวิ่งหนีแตกกระเจิง เหลือสุวรรณสามเพียงผู้เดียว

เริ่มตั้งสติได้ จึงหันศีรษะไปทางอาศรมที่บิดามารดาอยู่ แผ่เมตตาให้คนที่ยิงธนูใส่แล้วร้องถามว่า ใครหนอยิงเราได้ ทำไมจึงหลบหน้าไม่ออกมาให้เรารู้จัก พระเจ้ากบิลยักษ์แปลกใจที่สุวรรณสาม ถูกเรายิงบาดเจ็บสาหัส แต่ไม่แสดงอาการโกรธเคืองตนแม้แต่นิด ถึงได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัส ไม่คำนึงถึงตนเองว่าจะเป็นอย่างไร ยังรำพันห่วงใยพ่อแม่ที่ตาบอดไม่มีใครเลี้ยงดู เมื่อท่านทั้งสองไม่เห็นข้าพเจ้า ยิ่งทุกข์กว่าข้าพเจ้าหลายเท่านัก

พระเจ้ากบิลยักษ์ตรัสปลอบใจสุวรรณสาม ขอท่านให้เบาใจ อย่าคร่ำครวญเลย เราจะเลี้ยงดูพ่อแม่ท่านให้ดีเหมือนที่ท่านเลี้ยงดู ในที่สุดมีเหตุอัศจรรย์สุวรรณสามรอดตาย มีโอกาสเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มีความสุขตลอดไป พร้อมกล่าวสอนพระเจ้ากบิลยักษ์ในฐานะทรงเป็นกษัตริย์ ซึ่งเป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่ เป็นที่พึ่งพิงของคนและสัตว์จำนวนมาก

ทำให้พระองค์เกิดความเลื่อมใสจิตใจมีเมตตาธรรมสม่ำเสมอ



ความไม่ประมาท

ความไม่ประมาท ได้แก่ อาการของคนที่มีใจเพียบพร้อมด้วยสติและสัมปชัญญะอยู่เสมอ กล่าวคือความประพฤติปฏิบัติของคนผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่หลงลืมตัว ไม่ลืมภาวะและหน้าที่ของตน มีปกติเกรงกลัวความชั่วแม้เพียงเล็กน้อย ความประพฤติดังกล่าวมานี้ เป็นลักษณะของคนผู้เพียบพร้อมด้วยความไม่ประมาท

ธรรมดาคนในโลก นับแต่เกิดมามีชีวิตอยู่จนถึงเวลาสิ้นชีวิตย่อมมีภาวะเป็นอะไรกันคนละหลายๆ อย่าง เหมือนกันก็มี ต่างกันก็มาก ยากที่จะพรรณนาให้ครบถ้วนได้ แต่นำมาแสดงเป็นอุทาหรณ์เพียง 4 ประการ คือ

1.ภาวะที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น ความเป็นเด็ก ความเป็นผู้ใหญ่ เป็นต้น

2.ภาวะที่เกิดขึ้นโดยอาชีพ เช่น ความเป็นข้าราชการ พ่อค้า และชาวนา เป็นต้น

3.ภาวะที่เกิดขึ้นโดยความสมัครใจ เช่น ความเป็นนักเรียนนักศึกษา เป็นครู เป็นพระภิกษุสามเณร เป็นพุทธศาสนิกชน เป็นต้น

4.ภาวะที่เกิดขึ้นโดยจำยอม เช่น ความเป็นคนป่วยไข้ คนพิกลพิการ เป็นต้น

เมื่อคนเรามีภาวะเป็นอะไรๆ ขึ้นมาแล้ว หน้าที่ซึ่งเป็นของคู่กันกับภาวะนั้นๆ ก็เกิดขึ้นติดตามทันทีเสมือนเงาตามตัว และหน้าที่ซึ่งเกิดขึ้นติดตามมานั้นย่อมเป็นภารกิจที่คนเราต้องพยายามรักษา ต้องประพฤติปฏิบัติให้เรียบร้อยตามหน้าที่ ตลอดเวลาที่ตนยังดำรงหน้าที่นั้นๆ อยู่ เพื่อรักษาคุณภาพไว้ให้เหมาะสมกับภาวะที่ตนเป็นนั้นๆ จึงจะได้รับความนิยมยกย่องจากสังคมว่าเป็นคนดี เป็นคนมีเกียรติในสังคม

คนที่มีปกติประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาทในธรรมอันเป็นหน้าที่ทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้มีสิริมงคลเกิดขึ้นในตน เป็นเหตุให้เกิดความเจริญก้าวหน้า มีชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตสืบต่อไปในภายหน้า

คนที่มีหน้าที่แล้วไม่ประพฤติตามหน้าที่ ไม่เอาใจใส่หน้าที่ของตน เป็นคนลืมตัว ปล่อยให้การงานในหน้าที่บกพร่องเสียหาย ความอัปมงคลทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นตามมา เป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อนทั้งแก่ตนและผู้เกี่ยวข้อง เป็นเหตุทำให้เกิดความเสื่อมเสียนานาประการ และความเสียอันสำคัญที่สุดคือ เสียคน เพราะเป็นการสูญเสียหมดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตนี้

ภาวะความเป็นมนุษย์นี้ มีหน้าที่อันเป็นคุณภาพประจำตัวของมนุษย์แต่ละคน ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า มนุษยธรรม ได้แก่ เบญจศีลเบญจธรรม เป็นภารกิจที่มนุษย์ทุกคนจะต้องพยายามรักษาไว้ให้เรียบร้อย มิให้ขาดตกบกพร่อง ให้เหมาะสมกับภาวะที่ตนเป็นมนุษย์ คือ ย่อมไม่ดุร้าย ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่มือไว ไม่ลักขโมยกัน ไม่ใจเร็ว มีความยับยั้งชั่งใจ ไม่พูดปด มีความจริงประจำอยู่ในจิตใจ และมีสติสัมปชัญญะระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ

ตรงกันข้าม หากเป็นผู้ที่มีใจดุร้าย มือไว ใจเร็ว พูดปด ปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกเป็นทาสของสิ่งเสพติด จนขาดสติสัมปชัญญะ ความประพฤติอย่างนี้ เป็นอัปมงคลแก่ตนและเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของสังคม

เพราะเหตุนั้น การเป็นผู้ไม่ประมาทในภาวะที่ตนเป็นและในหน้าที่ที่ตนมี พยายามรักษาหน้าที่ของตนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีงาม ย่อมจะมีแต่ความเจริญก้าวหน้าในชีวิต มีความอยู่เย็นเป็นสุข พ้นจากความอยู่ร้อนนอนทุกข์ในการดำเนินชีวิต





จิตผ่องใส

พุทธภาษิตว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสร คือ ผ่องใส แต่จิตนี้เศร้าหมองไปเพราะกิเลสทั้งหลายที่จรมา

คำว่า จิตประภัสสร หรือผุดผ่อง หมายถึง จิตที่ปราศจากนิวรณ์ 5

นิวรณ์ แปลว่า เครื่องกั้น หรือขัดขวางไม่ให้ประสบความสำเร็จคือความเจริญ ทำให้ไม่มีความสุข ทำให้ได้รับความทุกข์ยากลำบาก ได้แก่ ความรักใคร่ในทางกาม พอใจในกามคุณทั้ง 5 บางทีเรียกว่า ติดในกามคุณ คือ ติดในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย อันน่าใคร่น่าพอใจ ความใคร่เมื่อเกิดขึ้นแก่บุคคลใด ก็เผาใจของบุคคลนั้นให้เดือดร้อนกระวนกระวาย เรียกกิเลสชนิดนี้ว่า ไฟคือราคะ ซึ่งแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อนและทำใจให้มืดมน ไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม

พยาบาท ความผูกใจเจ็บซึ่งเกิดขึ้นเผาจิตใจให้เดือดร้อนกระวนกระวาย เรียกไฟกองนี้ว่า ไฟคือโทสะ กิเลสนี้มีการก่อตัวขึ้นตามลำดับ คือ ครั้งแรก ถ้าเกิดความไม่พอใจในบุคคล หรือสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็จะเกิดการกระทบกระทั่งทางจิต ถ้าห้ามจิตไว้ไม่อยู่ ก็จะพุ่งตัวขึ้นเป็นความโกรธ ถ้ายับยั้งความโกรธไว้ไม่อยู่ ก็จะกลายเป็นพยาบาท คือความผูกใจเจ็บ ถ้าความผูกใจเจ็บและอาฆาตมากขึ้น ก็จะกลายเป็นการจองเวรไป

ความท้อแท้ใจหรือความหดหู่ใจและความเกียจคร้านหรือความง่วงซึม กิเลส 2 ตัวนี้ เปรียบเหมือนเชื้อราที่จับต้นไม้หรือพืชแล้ว ทำให้ต้นไม้หรือพืชเหี่ยวแห้งเฉาตาย แต่ถ้าเกิดกับบุคคลก็ทำให้จิตใจหมดกำลังที่จะบำเพ็ญคุณงามความดีให้กับตนและสังคม

ความฟุ้งซ่านและความรำคาญ คือ เมื่อเกิดความฟุ้งซ่านรำคาญแล้ว คนทั่วไปมักจะรำคาญหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าใครมาพูดให้กระทบกระเทือนใจนิดๆ หน่อยๆ ก็รำคาญ ได้ยินเสียงดังก็รำคาญ หรือฟังเสียงเบาๆ ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง ก็รำคาญ หรือแม้บางครั้งเขาพูดดีฟังแล้วไม่ถูกใจ ก็รำคาญ นี้ก็เพราะปล่อยให้กิเลสทั้ง 2 ตัวนี้ เข้าไปครอบงำจิตใจตนนั่นเอง

ความลังเลสงสัยในใจ จัดเป็นอุปสรรคขัดขวางในการที่จะบำเพ็ญคุณงามความดี สงสัยในข้อปฏิบัติ เช่น เมื่อให้ทานแล้วจะได้บุญจริงหรือไม่ หรือสงสัยในเรื่องนรกและสวรรค์ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ หรือลังเลในครูบาอาจารย์ที่กำลังฝึกฝนอบรมในการสอนธรรมและปฏิบัติธรรมว่ามีความรู้จริงหรือ การปฏิบัติจะถูกต้องหรือไม่ เมื่อปฏิบัติแล้วจะได้ผลจริงตามที่ปฏิบัติหรือไม่ เป็นต้น

เมื่อลังเลสงสัยอยู่อย่างนี้ ก็จะทำให้เป็นคนใจลอยและไม่ยอมทำอะไร กลัวจะขาดทุน สุดท้ายทำให้หมดโอกาสในการฝึกฝนตนหรือพัฒนาจิตของตน คนที่มีความลังเลสงสัยอยู่ในใจแล้วก็หมดหนทางที่จะเจริญก้าวหน้าในชีวิต

นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ เป็นกิเลสที่บั่นทอนหรือทำลายความสงบสุขของมนุษย์

การทำจิตให้ปลอดนิวรณ์ได้ นับได้ว่าเป็นคนมีบุญ เป็นคนโชคดี พ้นจากความเป็นหนี้ เป็นผู้ไม่มีโรค เหมือนพ้นจากการถูกจองจำ เป็นไทแก่ตัว



จิตเสื่อม

ความเสื่อม ความพินาศในปัจจุบันคนทั่วไปเรียกว่า โชคร้าย มี 2 ประการ คือ 1.ความเสื่อมทางโลก 2.ความเสื่อมทางธรรม

ความเสื่อมทางโลก คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา และประสบทุกข์ ทรัพย์สินเงินทองถูกโจรลักไป บ้านถูกไฟไหม้ เรียกว่าเสื่อมลาภ มียศมีตำแหน่งแล้ว ถูกถอดยศถอดตำแหน่ง เรียกว่าเสื่อมยศ ถูกคนอื่นกล่าวตำหนิติเตียนลับหลัง เรียกว่าถูกนินทา ประสบความพลัดพรากจากคนรัก ของรัก เรียกว่าความทุกข์

ส่วนความเสื่อมทางธรรม ได้แก่ ศีลเสื่อม จิตเสื่อม และความเห็นเสื่อม ในที่นี้จะกล่าวถึงจิตเสื่อม

จิต ได้แก่ ธรรมชาติชนิดหนึ่ง เป็นใหญ่ เป็นประธาน มีอำนาจบังคับกายให้ทำดีทำชั่วได้ เหมือนเป็นนาย ดังคำว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

จิตเป็นผู้บงการชี้ขาด เป็นที่ตั้งที่เกิดของการประพฤติดีปฏิบัติชอบ เป็นธรรมชาติผ่องใส ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติคือจิตนี้ ประภัสสร บางครั้งก็เป็นพรหม บางครั้งก็เป็นเทวดา บางครั้งก็เป็นมาร บางครั้งก็เป็นยักษ์ ขณะใดจิตมีพรหมวิหารธรรม ขณะนั้นจิตก็เป็นพรหม ขณะใดจิตมีเทวธรรม ขณะนั้นจิตก็เป็นเทวดา ขณะใดจิตมีโทสะเดือดพล่าน ขณะนั้นจิตก็เป็นยักษ์ ขณะใดจิตมีพยาบาท ขณะนั้นจิตก็เป็นมาร

จิตเป็นธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอาการได้รวดเร็วตามกิเลส 2 ประการ คือ อภิชฌาและพยาบาทที่จรมาครอบงำ ทำให้จิตเสื่อม ทำกิจผิดธรรม ผิดกฎหมายบ้านเมือง

อภิชฌา คือ ความเพ่งเล็ง หมายความว่า เพ่งทรัพย์ของคนอื่น คิดเอาทรัพย์ของคนอื่นมาเป็นของตนโดยทางทุจริต เห็นคนอื่นมีเงินหรือเครื่องประดับ จิตก็เพ่งอยู่ที่เงินเครื่องประดับนั้น เมื่อจิตเพ่งแล้วก็ทำให้นึกอยากได้ ความโลภก็เข้ามาทำงานร่วม ให้โลภอยากจะเอาทรัพย์ที่เพ่งอยู่นั้นมาเป็นของตน แล้วแสดงออกมาทางกาย เช่น ลักขโมย เป็นต้น

พยาบาท หมายถึง ความอาฆาตปองร้ายและผูกใจเจ็บคิดจะแก้แค้นเขา เมื่อเวลาขัดใจกับใครๆ อยากจะทำร้ายตอบเขา แต่ไม่ได้โอกาสทำเพราะไม่มีช่องทาง และไม่มีเวลา จึงผูกใจเจ็บว่าคนโน้นได้ด่าเราไว้ ได้รังแกเราไว้ แล้วมาครุ่นคิดแก้แค้นในวันข้างหน้า

การผูกใจเจ็บที่เป็นพยาบาทนั้น หมายเอาเจตนาเป็นสำคัญ เช่น มุ่งให้เขาเสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง และเสียชีวิต เป็นต้น เมื่อความพยาบาทเกิดขึ้นในจิตแล้ว จิตก็อยู่ในสภาพเสื่อม ไม่พร้อมที่จะรับเอาคุณธรรมความดี

คนที่จิตเสื่อมเพราะอภิชฌาและพยาบาท เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

เมื่อกิเลส คือ อภิชฌาครอบงำจิต ควรระงับด้วยการให้ การบริจาค พอใจในทรัพย์ของตน เลี้ยงชีพชอบ

เมื่อกิเลสคือพยาบาทครอบงำ ควรระงับด้วยเมตตา แผ่ไปในคนที่ทำให้เราเจ็บใจว่า ขอให้เขาจงอยู่เป็นสุขๆ เถิด และระลึกถึงคุณความดีของเขา เมื่อเป็นเช่นนี้ กิเลส คือ อภิชฌาและพยาบาท ก็จะเบาบางหมดสิ้นไป


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.132 Chrome 63.0.3239.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 23 มกราคม 2561 11:03:18 »



จิตสงบพบความสุข

คนเราเมื่อได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่ทะเยอทะยาน รู้จักสงบใจ ครั้นได้ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ รู้จักมีสติ อดกลั้น ไม่คร่ำครวญเสียใจ

เมื่อตกอยู่ในอำนาจกิเลสตัณหา ล้วนปรารถนาอยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทั้งนั้น ส่วนความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์นั้น ไม่มีใครปรารถนา

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจสำเร็จได้ เพราะความปรารถนาและการอ้อนวอนเพียงอย่างเดียว ต้องลงมือทำโดยอุบายที่ชอบ จึงจะได้สมความปรารถนา

ลาภนั้น คือ การได้สิ่งของ สมบัติต่างๆ เกิดได้ 2 วิธี คือ

1.อาศัยบุญเก่า ที่เรียกว่า บุญที่ตนได้ทำไว้ก่อน

2.อาศัยความขยันหมั่นเพียร

ในทางพระพุทธศาสนา การสรรเสริญผู้มีศรัทธาและศีล ว่าเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยลาภสักการะ มีพระพุทธภาษิตว่า "ผู้มีศรัทธาถึงพร้อมแล้วด้วยศีล เอิบอิ่มแล้วด้วยยศและโภคะ จะไปประเทศใดๆ ย่อมได้รับการบูชานับถือในประเทศนั้นๆ"

ยศ คือ การได้รับตั้งให้เป็นใหญ่ มีชื่อเสียง มีบริวารมาก ย่อมเกิดจากศีลธรรมตามพระพุทธภาษิตว่า "ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ ระวังดีแล้ว เป็นอยู่โดยธรรมและไม่ประมาท"

แต่ต้องประพฤติตนเป็นคนยุติธรรม จึงจะครองยศนั้นไว้ได้ มีพระพุทธภาษิตว่า "ผู้ใดไม่ประพฤติตนเป็นคนล่วงยุติธรรมเพราะรัก เพราะชัง เพราะกลัว เพราะเขลา ยศย่อมเจริญเต็มที่แก่ผู้นั้นดุจพระจันทร์ในข้างขึ้น ฉะนั้น"

ความสรรเสริญก็ดี เกียรติยศชื่อเสียงก็ดี ล้วนเกิดจากเหตุที่มีจริงบ้าง ไม่มีจริงบ้าง คนโง่เมื่อได้รับอุปการะจากผู้ใด แม้ผู้นั้นจะไม่มีความดีอยู่ในตัวเลย ก็กล่าวยกย่องสรรเสริญได้

ส่วนคนฉลาดพิจารณาเห็นความดีแล้ว จึงสรรเสริญตามเป็นจริง

ความสรรเสริญนั้นไม่แน่นอน อาจถูกนินทาต่อไปอีก เมื่อชอบใจเขาก็สรรเสริญ เมื่อไม่ชอบใจเขาก็นินทา บางทีในคนๆ เดียวกัน อาจถูกสรรเสริญโดยส่วนหนึ่ง แต่กลับถูกนินทาเสียอีกส่วนหนึ่งก็ได้ แม้สุขจะเป็นเพียงชั่วขณะ อาจจะกลับกลายเป็นทุกข์ต่อไปได้

อารมณ์ที่น่าปรารถนา ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ส่วนอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ได้แก่ ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ หมุนเวียนไปตามสัตว์โลกทั่วไป ไม่เลือกหน้า เรียกว่า โลกธรรม คือ ธรรมของโลก ธรรมเวียนไปตามโลก

ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า โลกธรรมเหล่านี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์แล้ว โลกธรรมจะไม่สามารถครอบงำจิตได้ ย่อมไม่ยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเกิดขึ้นแล้ว และย่อมไม่เสียใจในความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์อันเกิดขึ้นแล้ว

เมื่อละความยินดีเสียใจได้อย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ พบกับความสุขแน่นอน



เจริญด้วยปัญญา

การฟังธรรม เป็นเหตุเรืองปัญญา ผู้สนใจฟังธรรม ตั้งใจฟังธรรม ตั้งใจศึกษาธรรม ย่อมได้ปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ

การตั้งใจฟัง จึงเป็นปัจจัยอันสำคัญของผู้สนใจประกอบกิจการงานทั้งปวง การงานทุกอย่างจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะผู้ปฏิบัติงานมีประสบการณ์ มีความรู้ มีความเข้าใจการทำงาน

ผู้ปฏิบัติงานจะต้องศึกษางานให้ถ่องแท้ก่อนลงมือทำงาน โดยฟังคำแนะนำ คำสอน คำว่ากล่าวตักเตือนจากผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ ซึ่งเป็นครูอาจารย์ หรือผู้เป็นหัวหน้างาน ด้วยความตั้งใจและสนใจ สามารถนำไปใช้ได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ

ผลงานซึ่งเป็นผลของความตั้งใจฟังเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ จึงสามารถปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงได้

การประพฤติปฏิบัติจะต้องมีศรัทธา มีความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหว ตั้งใจศึกษาปฏิบัติโดยสม่ำเสมอด้วยการฟังธรรมคำสอน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรม แล้วน้อมนำธรรมนั้นมาประพฤติปฏิบัติเป็นเรือนใจ ให้ใจแนบแน่นอยู่กับธรรมนั้นๆ ในทุกอิริยาบถ ก็จะมีธรรมเป็นที่พึ่งได้และเจริญในธรรมนั้น

การฟังจึงเป็นการศึกษาเพื่อความเจริญ บุคคลผู้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต เป็นนักปราชญ์ เป็นที่เชื่อถือและเคารพของคนเป็นอันมาก ล้วนเป็นผู้ใฝ่ใจต่อการศึกษาในวิชาการต่างๆ อย่างจริงจังและไม่หยุดยั้ง พยายามหาความรู้ ความเข้าใจด้วยการฟังจากท่านผู้รู้ หรือค้นคว้าทดลองด้วยตัวเอง จึงสามารถมีความรู้เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต เป็นปราชญ์ได้ ไม่มีผู้ใดจะรู้เอง เห็นเอง โดยไม่อาศัยการศึกษาค้นคว้าแต่อย่างใด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการฟังธรรมไว้ 4 ประการ คือ การคบหาสัตบุรุษ การฟังพระธรรม การทำในใจโดยแยบคาย การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรม 4 ประการนี้ เป็นไปเพื่อความเจริญด้วยปัญญา

การฟังพระธรรมคำสั่งสอน จึงเป็นปัจจัยอันสำคัญในการศึกษาและปฏิบัติธรรม เพื่อความเจริญงอกงามในธรรม ประโยชน์ของการฟังธรรมมี 5 ประการ คือ

1.ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง

2.สิ่งใดที่เคยได้ยินได้ฟังแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจ สิ่งนั้นชัด

3.บรรเทาความสงสัยเสียได้

4.ทำความเห็นให้ถูกต้องได้

5.จิตใจของผู้ฟังธรรมย่อมผ่องใส

การฟังพระธรรม มีอานิสงส์มากมายหลายประการ ล้วนเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ความรู้ ความเข้าใจในสรรพสังขารทั้งปวง เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดโดยแท้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรรเสริญการฟังพระธรรมว่า เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา




ฉลาดทำดี

ในภาวะที่บ้านเมืองของเราเต็มไปด้วยปัญหามากมายรอบด้าน ทั้งปัญหาส่วนตัวและปัญหาสังคมรอบตัว มีการแข่งขันกันในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา การทำมาหากิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน น้อยนักที่จะมีการแข่งขันกันในเรื่องของการทำความดี

คนส่วนมากยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในการทำความดีสักเท่าไรนักว่า "เมื่อทำความดีแล้ว จะช่วยให้ได้ดีจริงหรือไม่" หรือบางคนก็คิดเลยเถิดไปว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด

ความดีนี้ เป็นสิ่งที่ควรทำให้มากๆ ซึ่งการทำความดีนี้ต้องกระทำพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ เราทำความดีขณะใด เมื่อไร ด้วยกาย วาจา ใจ ชื่อว่าได้ทำดีในขณะนั้น เมื่อนั้น และการทำความดีนี้ ถ้าจะให้ได้ผลก็ต้องทำให้เป็น ที่เรียกว่า ฉลาดทำด้วย

หลักในการทำความดีนั้น มีมากมาย แต่ที่สำคัญๆ มีอยู่ 2 ประการ คือ

1.การทำความดีที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น

2.การทำความดีเฉพาะตัว

การทำความดีที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นนั้น มีหลักดังนี้

1.ทำให้ถูกกับบุคคล เช่น จะพูดดี ก็ต้องพูดให้ถูกกับฐานะของบุคคลนั้นๆ ควรใช้ศัพท์ให้ถูกต้อง จะไหว้ก็ต้องไหว้ให้ถูก คนเสมอกันยกมือเสมอกัน คนสูงกว่าเราก็ต้องยกมือให้สูงขึ้น

2.ทำให้ถูกกับเวลา โลกนี้ขึ้นอยู่กับเวลา มีเวลาเป็นเครื่องกำหนดหมาย จะพูด จะทำอะไร ต้องให้ถูกจังหวะ ให้พอดีกับเวลา อย่าให้เร็วหรือช้ากว่าเวลา

3.ทำให้ถูกกับสถานที่ สถานที่แต่ละแห่งมีความสำคัญ ก่อนที่จะเข้าไปต้องพิจารณา เช่น สถานที่ประชุม ต้องรู้ตัวเองว่า อยู่ในฐานะไหน ควรที่จะนั่งหน้า หรือนั่งหลัง

4.ทำให้ถูกกับชุมนุมชน การอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ ต้องมีระเบียบ วินัย ต้องทำตัวให้เข้ากับสังคมได้

การทำความดีที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นนี้ ทำยากมาก หากไม่ฉลาดทำ จะเสียใจภายหลังว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี แต่ถ้าใครปฏิบัติตามหลัก 4 ข้อนี้ได้ หรือที่เรียกว่า "ทำคุณให้ถูกที่ ทำดีให้ถูกคน" ก็จะเกิดผลดี คือความสุขกายสบายใจ

ส่วนการทำความดีเฉพาะตัว เช่น การรักษาศีล การเจริญจิตตภาวนานั้น ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น ทำได้เสมอ ไม่ต้องเลือกบุคคล ไม่ต้องเลือกเวลา ไม่ต้องเลือกสถานที่ และไม่ต้องเลือกว่าอยู่ในชุมชนไหน ยิ่งทำความดีเฉพาะตัวได้มากเท่าไร ก็จะมีดีมากขึ้นเท่านั้น เช่น คนที่เคร่งครัดในการรักษาศีล ก็รักษาอยู่เนืองๆ ไม่ให้ขาด แม้การเจริญภาวนา ก็สามารถทำได้ตลอดเวลา ไม่จำกัด ยิ่งทำได้ทุกลมหายใจเข้าออกยิ่งดี

การทำความดีตามหลักดังกล่าว ส่งผลให้เป็นคนใจดี ใจบุญ ผลของความดีเหล่านี้ ก็จะเป็นพลานุภาพช่วยคนๆ นั้นให้ประสบความสำเร็จ ได้ประสบสิ่งดีสมความตั้งใจ ดังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว"



ชนะตนดีกว่าชนะคนอื่น

คนทุกคนไม่มีใครปรารถนาความพ่ายแพ้ ต้องการความชนะทุกคน นักกีฬาฝึกกีฬาทุกประเภทก็ปรารถนาจะชนะ ไม่ปรารถนาความพ่ายแพ้

ผู้ชนะเท่านั้นเป็นผู้เก่ง มีเกียรติ มีชื่อเสียง ยกย่องกันว่าเป็นวีรบุรุษ ได้ชื่อเสียง เกียรติคุณ ได้ทรัพย์สินเงินทอง เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล แก่ประเทศชาติ เป็นวิสัยของชาวโลก ไม่มีใครคัดค้าน มีแต่คนสนับสนุนยกย่องเชิดชู

แต่เพราะเหตุใด พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชนะคนอื่นสัตว์อื่นไม่ประเสริฐ แต่ชนะตนประเสริฐกว่า

หากพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว จะเห็นว่าพระพุทธองค์ไม่ได้สอนขัดกับความนิยมของชาวโลก แต่ทรงสอนให้ปฏิบัติตนให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพราะความชนะของชาวโลกนั้น ไม่แน่นอนมั่นคง วันนี้ชนะ วันหน้าอาจแพ้ได้ แต่ชัยชนะของพระพุทธเจ้าไม่กลับแพ้ ผู้ที่ฝึกตนตามพระพุทธพจน์ก็จะได้ชัยชนะที่ไม่กลับแพ้

ในเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสถามพราหมณ์ผู้หนึ่งว่า ท่านประกอบอาชีพอะไร พราหมณ์ทูลตอบว่า หม่อมฉันเล่นสกาซึ่งเป็นการพนันเลี้ยงชีพ พระพุทธองค์ตรัสว่า นั่นยังมีประมาณน้อย ชื่อว่า ความชนะผู้อื่นไม่ประเสริฐ ส่วนผู้ใดชนะตนได้เพราะชนะกิเลส ความชนะของผู้นั้นประเสริฐ เพราะว่า ใครๆ ไม่อาจทำความชนะนั้นให้กลับพ่ายแพ้ได้

หากทุกคนชนะตนเองไม่ได้ ก็จะชนะคนอื่นไม่ได้ ชนะกิเลสไม่ได้ เป็นผู้พ่ายแพ้อยู่ตลอดไป แม้ต้องการความชนะ ก็ไม่มีหนทางจะชนะ เช่น นักกีฬาที่มีแต่ความเกียจคร้าน ไม่มีความขยัน ขาดความพยายามที่จะเอาชนะความเกียจคร้าน การฝึกฝนตนก็เลวลง ผลสุดท้ายก็เป็นผู้แพ้ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ แม้ผู้ประกอบการงานอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน หากปล่อยให้กิเลสครอบงำจิตใจแล้ว มีแต่ทางแพ้เท่านั้น ไม่มีทางชนะ

พระพุทธองค์ยังทรงสอนถึงวิธีที่จะเอาชนะกิเลส 3 ชนิด คือ

เมื่อต้องการชนะความโลภ ต้องคิดเผื่อแผ่ประโยชน์ของตนให้แก่ผู้อื่น ยินดีในสมบัติของตน อย่าไปยินดีสมบัติของผู้อื่นที่เขาหวงแหน

เมื่อต้องการชนะความโกรธ ต้องเจริญเมตตา เพราะไม่โกรธ ไม่พยาบาทอาฆาตจองเวรกับใครๆ

เมื่อต้องการชนะความหลง ต้องเจริญจิตตภาวนา

การชนะกิเลสทั้ง 3 ชนิดนี้ ไม่ก่อเวรให้ตนเอง ไม่ก่อเวรให้ผู้อื่น ผู้ปฏิบัติเช่นนี้ได้ชื่อว่าชนะตนเอง ผู้ที่ชนะตนเอง คือ ชนะจิตใจของตนเอง จึงเป็นผู้ประเสริฐกว่าการชนะผู้อื่น สัตว์อื่น เพราะไม่มีทางกลับแพ้อีกต่อไป แม้เทวดา คนธรรพ์ มาร พรหม ก็ทำให้แพ้ไม่ได้




ใช้ธรรมะนำชีวิต

ทุกๆ คนหวังจะมีชีวิตที่มีความสุข ความเจริญ ความก้าวหน้า คิดจะทำอะไรก็หวังจะให้สำเร็จตามความปรารถนาด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าจะต้องเป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง ถ้าตนเองไม่ทำสิ่งที่เป็นความสุขแล้ว ก็ไม่มีความสุขใดๆ เกิดขึ้น พระพุทธองค์ตรัสว่า ความสุขของมนุษย์ เกิดจากเหตุ 5 ประการ คือ

1.สุขเกิดจากมีงานทำที่ปราศจากโทษ ถ้าไม่มีงานทำ จะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายฟุ้งซ่าน

2.สุขเกิดจากการมีทรัพย์ เพราะทำให้มีความมั่นใจ เมื่อเกิดความเดือดร้อน สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ต้องการใช้เงินได้

3.สุขที่เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ซื้อสิ่งของที่พอใจ เมื่อได้สิ่งที่พอใจ ก็ทำให้เกิดความสุข

4.สุขเกิดจากการไม่มีหนี้สิน การที่ไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร ย่อมเกิดความภาคภูมิใจ ไม่มีความกังวลใจ

5.สุขเกิดจากการไม่มีโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายและจิตใจ เมื่อร่างกายและจิตใจไม่มีโรคแล้ว ก็สามารถที่จะประกอบกิจการงานต่างๆ ให้ลุล่วงสำเร็จไปได้ ด้วยดี

ตามธรรมดา คนเราทุกคนที่ยังเป็นปุถุชน คือ เป็นผู้มีกิเลสหนา ย่อมมีความต้องการขั้นพื้นฐาน 5 ประการ คือ

1.ไม่ต้องการให้ใครมาเบียดเบียนทำร้ายร่างกายตน

2.ไม่ต้องการให้ใครมาแย่งชิงทรัพย์สินสมบัติ หรือลักขโมยทรัพย์ของตน

3.ไม่ต้องการให้ใครมาแย่งของรักของหวงที่ตนมีอยู่ คือ คนรัก ได้แก่สามี หรือภรรยา เป็นต้น

4.ต้องการให้คนอื่นพูดจาคำสัตย์จริง หรือคิดอ่อนหวานกับตน

5.ทุกคนต้องการเป็นคนดี ไม่มีใครต้องการเป็นคนชั่วหรือคนเลว

เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ตรัสย้ำอีกว่า ทุกคนพึงรักษาศีลให้ดี อย่าให้ด่าง อย่าให้ขาด แม้รักษาได้เพียงวันหนึ่งคืนหนึ่ง ก็ย่อมได้รับอานิสงส์ คือ ได้รับเกียรติยศชื่อเสียงอันดีงาม พร้อมทั้งโภคสมบัติก็ตามมา บุคคลมีศีลเช่นนี้ จะไปสู่ที่ใด หรือคบหาสมาคมกับคนในสถานที่ใดๆ ที่นั้น หรือคนในสถานที่นั้นๆ ย่อมให้การต้อนรับอย่างภาคภูมิสมเกียรติ



ชีวิตเป็นสิ่งมีค่า

สิ่งที่มีค่ามากที่สุดสำหรับทุกๆ คน ได้แก่ชีวิต เพราะชีวิตคือพื้นฐานการรองรับค่าของสิ่งอื่นๆ ทั้งหมด ถ้าเราไม่มีชีวิตเสียอย่างเดียว ทรัพย์สินเงินทอง ไม่ว่าจะมีค่ามากมายสักเพียงใด แม้จะมาวางอยู่เบื้องหน้าเรา สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้มีความหมายอะไรกับเราอีกต่อไป เพราะฉะนั้นในคราวที่เจ็บป่วยไข้ เราจึงบอกว่าจะหมดเท่าไรก็ขอให้ได้เอาชีวิตไว้ก็พอแล้ว

จากวันที่เราเกิดมาจนถึงวันนี้ ต้องเริ่มปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ เมื่อมองย้อนหลังไป จะเห็นได้ว่าเราได้ต่อสู้กับชีวิตมาพอสมควรทีเดียว บางครั้งก็ลองผิดลองถูกล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร

ไม่ว่าจะอายุสักเท่าไรก็ตาม ก็พอจะสรุปได้ว่าสิ่งที่ผ่านมาในชีวิตโดยรวบยอดจะมีอยู่แค่เพียง 2 เรื่อง คือเรื่องได้กับเรื่องเสีย ได้มากับเสียไป นั่นก็คือสิ่งที่ทางพระเรียกว่า โลกธรรม 8 ประการ ซึ่งแยกเป็นฝ่ายเจริญ ได้แก่ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ และฝ่ายเสื่อม ได้แก่ เสื่อมลาภ เลื่อมยศ ทุกข์ นินทา ทั้ง 2 ฝ่ายเปรียบเหมือนกับ 2 ด้านของเหรียญบาทอันเดียวกันที่เราต้องประสบกับมันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สลับกันไป ดังเรื่องราวชีวิตของคนผู้หนึ่ง มีอยู่ครอบครัวหนึ่ง ประกอบด้วยหัวหน้าครอบครัว ภรรยา บุตรชาย และคนรับใช้ ภายในบ้านนอกจากจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานทั่วไปแล้ว ยังมีม้าอีกหนึ่งตัว ลูกชายคนเดียวของบ้านชอบคลุกคลีขี่เล่นเป็นงานอดิเรก

วันหนึ่งม้าตัวโปรดหายไป ทุกคนในบ้านต่างเสียใจ หัวหน้าครอบครัวได้แต่ปลอบโยนว่า ช่างเถอะ ของมันมาได้มันก็ไปได้ อย่าเสียใจอะไรมาก ต่อมาอีกหลายวันโดยที่ไม่มีใครคาดคิด ม้าตัวโปรดได้กลับมาพร้อมกับพรรคพวกอีกสิบตัว คนที่ดีใจมากที่สุดก็คือลูกชาย เพราะจะได้ม้าสำหรับขี่เพิ่มขึ้น วันหนึ่งเขาอยากลองขี่ม้าตัวใหม่ดู ม้าตัวใหม่เป็นม้ายังไม่ได้รับการฝึก ลูกชายจึงพลัดตกม้าขาหัก ทุกคนเสียใจมาก ยกเว้นหัวหน้าครอบครัวซึ่งพอจะทำใจได้และปลอบโยนบริวารว่า โชคดีโชคร้ายเป็นของคู่กัน วันนี้โชคร้าย วันหน้าโชคดีคงมา

ต่อมาทางราชการก็แจ้งมาว่า เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในช่วงสงคราม ชายหนุ่มทุกคนในหมู่บ้านต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ให้ยกเว้นลูกชายเจ้าของบ้านคนเดียว เพราะเป็นคนพิการ จึงรอดตัวไป คนในบ้านก็แอบดีใจอยู่ลึกๆ และต่อมาปรากฏว่าพวกหนุ่มๆ ในหมู่บ้านที่ถูกเกณฑ์ทหารคราวนั้นเสียชีวิตในสงครามหมด

จากเรื่องราวที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าชีวิตจะต้องพบกับมุมทั้ง 2 ด้านของโลกธรรมสลับกันไป ดังคำกล่าวของสุนทรภู่ที่ว่า "วิสัยโลกโศกสุขทุกข์ธุระ ย่อมพบปะไปจนกว่าจะอาสัญ"

คนเราทุกคนมีทั้งโชคดีและโชคร้ายสลับกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ตามบุญกรรมของแต่ละคนที่ตนเองได้สร้างสมกันมา นี่เป็นเรื่องที่เราต้องพบเหมือนกัน แต่ที่ไม่เหมือนกันก็คือ คนเราเมื่อโลกธรรมมากระทบแล้ว มีปฏิกิริยาไม่เหมือนกัน บางคนก็มีกำลังใจ รับได้ ทนได้

แต่บางคนก็กำลังใจตก ท้อแท้ สิ้นหวัง บางทีถึงกับคิดสั้นไปเลยก็มี




ดูแลตนให้ดี

แท้จริงทุกคนในโลกนี้ล้วนแต่ต้องการความสุข เกลียดและกลัวความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น คนทั้งหลายจึงรักตัวเองยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ความรักเสมอด้วยตนไม่มี" จะเห็นได้ว่า ตัวเรานี้เป็นที่รักกว่าสมบัติอย่างอื่น ถ้ารู้ว่าตัวเราเป็นที่รักกว่าสิ่งอื่น ก็ควรละเว้นจากความชั่ว อย่าทำบาปกรรมอกุศล ตั้งใจทำแต่ความดีไว้ให้มาก ความดีนี้จะติดตัวเราไปทุกเวลา ทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ใกล้ตัวเราทุกอย่าง ไม่มีใครสามารถนำติดตัวไปได้เลยแม้ชิ้นเดียว

ควรตั้งใจให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เจริญภาวนาไว้ให้มาก และหมั่นประพฤติปฏิบัติเป็นประจำให้เป็นอุปนิสัยติดตัว จะได้ความสุขกายสุขใจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "หว่านพืชชนิดใด ย่อมได้ผลชนิดนั้น ผู้มีปกติทำความดี ย่อมได้ดี และผู้มีปกติทำความชั่ว ย่อมได้ชั่ว"

สาธุชนคนดีทั้งหลาย ได้เกิดมาเป็นมนุษย์จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม ชื่อว่าได้ทำความดีไว้มาก จึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ร่างกายสมประกอบ ไม่วิกลวิการ

ผู้มีปัญญา ได้รับการอบรมมาดี ใช้ปัญญาหาเลี้ยงชีพโดยถูกต้อง จึงไม่เดือดร้อนใจ เป็นที่พึ่งคนอื่นได้ ไม่ถูกท่านผู้รู้ติเตียนเอาได้

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "จงเตือนตนด้วยตน จงพิจารณาตนด้วยตน" ทรงสอนให้เหล่าพุทธบริษัทเตือนตนและพิจารณาตนด้วยตน เพราะมนุษย์เรามีกิเลสในใจ ใครสอนไม่ถูกใจอาจจะโกรธเอาก็ได้

ด้วยเหตุนี้พระองค์ทรงแสดงธรรมวินัยสั่งสอนให้เหล่าพุทธบริษัทศึกษาพระธรรมวินัย เพราะธรรมวินัยนี้จะเป็นศาสดาแทนพระองค์ ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า "อานนท์ ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลายนั้น โดยล่วงไปแห่งเรา จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย"

ใครก็ตามที่ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้อย่างถูกต้องแล้ว จะได้เห็นพระพุทธองค์ และได้รับรสแห่งพระธรรมวินัยโดยแท้

คนที่ลำบากยากจน มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ก็เพราะไม่ประพฤติตามธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนไว้โดยถูกต้องนั่นเอง

ถ้าเรารู้ว่าตัวเราเป็นที่รัก ก็พึงรักษาตัวให้ดี และพึงประคับประคองตัวตลอดวัยทั้ง 3 คือ 1.วัยต้น 2.วัยกลางคน 3.วัยสุดท้าย

ผู้ฉลาดควรหาโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย นำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ให้เบาบางจนหมดสิ้นไปจากจิตใจ เพราะถ้าจิตใจไม่ดี การทำการพูดก็ไม่ดีไปด้วย ควรใช้ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเครื่องรักษาจิตใจไว้ให้ได้ เพราะใจเป็นนาย ร่างกายเป็นบ่าวรับใช้จิต กายวาจาจะอยู่เย็นเป็นสุขไม่ต้องอยู่ร้อนนอนทุกข์ ก็เพราะจิตนั้นเอง



ทรมานลูกโค

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสุบินนิมิต เห็นชาวไร่ชาวนานำลูกโคตัวน้อยๆ ที่ไม่แข็งแรงไม่เคยผ่านงานมาก่อนมาใช้งาน แต่เดิมเคยใช้โคตัวใหญ่ที่ชำนาญงาน ประกอบอาชีพทำไร่ไถนา มาบัดนี้กลับทอดทิ้งโคตัวใหญ่ ไม่สนใจไยดี งานจึงไม่ได้ผล ทำให้เสียงาน เสียเวลา

พระพุทธเจ้าทรงทำนายความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศล จะไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้นต่อชีวิตของพระองค์ พระมเหสี และราชสมบัติ แต่ในอนาคตเมื่อมนุษย์ขาดศีลธรรมและโลกเข้าสู่ยุคเสื่อม ผู้นำหรือผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจะเล่นพรรคเล่นพวก ไม่สนใจคนดีมีความสามารถ เลือกแต่คนที่ไม่รู้จริง ไม่ชำนาญงาน อ่อนประสบการณ์เข้ามาร่วมงาน คนเหล่านี้จะทำให้บ้านเมืองมีปัญหา เงินคงคลังของชาติต้องหมดไปกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง งานของชาติมีแต่เรื่องยุ่งไม่รู้จักจบสิ้น เพราะพวกไม่ชำนาญงานเหล่านี้ที่ได้แต่อวดเบ่งยศ บิดเบือนความผิดให้กลับเป็นถูก เพื่อแลกกับผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ผู้คนตกทุกข์ได้ยาก และเดือดร้อนกันทั่วทั้งเมือง

การเลือกคนที่ไม่มีความรู้ ไม่มีความชำนาญ และไม่มีความรับผิดชอบ ให้เข้ามาบริหารงานสำคัญของบ้านเมือง นอกจากงานที่ไม่มีความก้าวหน้าแล้ว บ่อยครั้งที่ทำให้เกิดความเสียหาย

ผู้บริหารที่ไร้มโนธรรมมักไม่ใส่ใจที่จะเลือกคนดีมีฝีมือมาทำงาน ส่วนมากจะเลือกคนที่เป็นเพื่อนหรือเครือญาติสามารถเอื้อประโยชน์กัน โดยไม่คำนึงถึงความสามารถ คนเหล่านี้เมื่อได้รับตำแหน่งหน้าที่จะทำตัวเช่นเจ้านาย และหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ให้ตนเองและพวกพ้อง

ชาวบ้านที่ไม่ใช่พวกจะพากันเดือดร้อน จำยอมต่อสภาพชีวิตที่ถูกความชั่วครอบงำ การทำมาหากินไม่สะดวก บางรายถูกแกล้งให้ได้รับความเสียหาย

ผู้นำที่ขาดคุณธรรม ขาดคุณสมบัติ นอกจากบริหารไม่เป็นแล้ว ยังเก็บปัญหาสะสมไว้โดยไม่จำเป็น บางคนตามเล่ห์เหลี่ยมของลูกน้องไม่ทัน ปล่อยให้ลูกน้องซึ่งเอาแต่ประจบประแจง กินแรงคนอื่น นำผลงานคนอื่นมาเสนอเพื่อเอาหน้า สร้างผลงานจากน้ำพักน้ำแรงคนอื่น ลูกน้องแบบนี้เป็นอันตราย

ปัญหาดังกล่าวนี้จะไม่เกิดขึ้น หากผู้นำเป็นคนดีมีศีลธรรม มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์ยุติธรรม มีความหนักแน่น ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม รู้จักเลือกคนเข้าทำงานโดยเฉพาะตำแหน่งที่สำคัญๆ เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองโดยส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.132 Chrome 63.0.3239.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 26 มกราคม 2561 11:03:06 »




ทรัพย์ภายใน

ความจนภายนอกเป็นทุกข์ แต่เป็นทุกข์ด้วยเรื่องภายนอกไม่รุนแรงมากนัก แต่ความจนภายในเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ใจก็เดือดร้อนกระสับกระส่าย มองไม่เห็นเหตุและผล เพราะฉะนั้นจึงควรบำเพ็ญธรรมะ 5 ประการให้ปรากฏขึ้นที่ใจคือ

ความเชื่อ ได้แก่ เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าสัตว์เป็นอยู่ด้วยกรรม มีกรรมเป็นเหตุเป็นปัจจัย และเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระองค์เป็นคำสอนที่ดีจริง แต่ถ้าเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาถึงเหตุผล อย่างนี้เป็นศรัทธาที่งมงาย ต้องพิจารณาให้เห็นจริงก่อนแล้วเชื่อ จึงเป็นศรัทธาที่ถูกต้องตามหลักในพระพุทธศาสนา ศรัทธามีลักษณะทำใจให้ใสสะอาด เหมือนเครื่องกรองน้ำทำน้ำให้ใสสะอาด ฉะนั้น

ความละอายใจ ไม่กล้าทำความชั่ว ละอายต่อสิ่งภายนอก เช่นไม่กล้าทำความชั่ว เพราะละอายว่าคนอื่นจะเห็นแล้วไม่ทำความชั่ว เป็นหิริโดยอ้อม ละอายใจตัวเอง แม้จะสามารถทำความชั่วได้ในที่ที่ไม่มีใครรู้ใครเห็น แต่นึกละอายใจว่าถึงไม่มีใครรู้ใครเห็นแต่ตัวเองย่อมรู้เห็นได้ แล้วไม่ทำความชั่ว จัดเป็นหิริโดยตรง คือความละอายแท้

ท่านเปรียบไว้ว่า เหมือนคนรักษาความสะอาดอาบน้ำชำระกายเรียบร้อยแล้ว ขยะแขยงสะอิดสะเอียนต่อสิ่งโสโครกไม่กล้าเข้าใกล้หรือจับต้อง คนมีหิริย่อมสะอิดสะเอียนต่อความชั่ว กิเลสจะมาชักจูงใจให้ทำกรรมชั่วไม่ได้ ฉะนั้น

ความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่วคู่กับหิริ หิริกลัวเหตุ โอตตัปปะกลัวผล หิริมีลักษณะรักษาความสะอาด กาย วาจา ใจ โอตตัปปะกลัวที่จะเดือดร้อนใจในภายหลัง ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนท่อนเหล็กที่ปลายข้างหนึ่งเปื้อนสิ่งโสโครก ปลายข้างหนึ่งเผาร้อนระอุด้วยแรงไฟ คนไม่กล้าจับท่อนเหล็กข้างเปื้อนสิ่งโสโครก เป็นลักษณะ ของหิริ คนไม่กล้าจับท่อนเหล็กข้างที่เผาร้อนระอุด้วยแรงไฟ เป็นลักษณะของโอตตัปปะ คนมีที่โอตตัปปะประจำใจ แม้กิเลสจะมาชักจูงใจให้ทำความชั่ว ก็เกรงกลัวว่าจะได้รับ ผลเป็นทุกข์เดือดร้อนในภายหลัง โอตตัปปะจึงเป็นตัวเหตุสกัดกั้นสรรพกิเลสให้สงบระงับไป

ความเพียร มีลักษณะทำใจให้กล้าหาญ ให้บากบั่นไม่ท้อถอย ให้มุ่งไปข้างหน้า ในการละความชั่วประพฤติความดี ทำให้ผู้ปฏิบัติล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

ความรอบรู้หรือความรู้ทั่ว คนมีปัญญาย่อมหายมืดหายหลง เกิดความรู้ความฉลาด คนไม่มีปัญญาแม้มีทรัพย์สมบัติก็รักษาไว้ไม่ได้ ดังคำว่าไร้ทรัพย์เพราะอับปัญญา คนมีปัญญาแม้จะไม่มีทรัพย์มรดกมาแต่เดิม แต่ก็จะหาเพิ่มเติมได้ด้วยปัญญา ดังคำว่าบุญมาวาสนาช่วย คนมีบุญวาสนาก็คือคนมีปัญญา ถึงคราวอับจนก็ไม่อับจน เหมือนมีดวงประทีปอยู่ในมือสำหรับส่องดูในที่มืดให้เกิดความสว่างขึ้น ปัญญาจึงทำคนโง่ให้เป็นคนฉลาด ทำคนจนให้เป็นคนมั่งมี คนมีปัญญาจึงเป็นเหมือนแก้วสารพัดนึก นึกต้องการอะไรได้ตามปรารถนา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าปัญญาเป็นดวงแก้วของนรชน

ธรรมะ 5 ประการนี้เรียกว่าทรัพย์ภายใน เป็นธรรมะต้นทุน เมื่อเรามีธรรมะต้นทุนแล้วก็สามารถที่จะให้เกิดดอกออกผลงอกงามยิ่งๆ ขึ้นได้



ตักเตือน กล่าวโทษ

การว่ากล่าวตักเตือน ชี้โทษข้อบกพร่องของผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องยาก ผู้ที่จะตักเตือนจะต้องคิดแล้วคิดอีกหลายรอบ เพราะกลัวว่าเตือนไปแล้วเขาจะโกรธบ้าง เหตุผลในการเตือนมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าเขาเถียงก็จะมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจกันเกิดขึ้น ควรจะทำอย่างไร อาจถูกด่าว่ามัวเที่ยวเตือนแต่คนอื่นอยู่ ทำไมไม่เตือนตนเองบ้าง

การเตือนคนอื่นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เตือนจะต้องเสี่ยงหลายอย่าง การตัดสินใจเตือนผู้อื่นเป็นความเสียสละอย่างหนึ่ง ที่กล่าวนี้หมายถึงผู้เตือนด้วยความหวังดี มิใช่มุ่งร้าย

ท่านผู้รู้กล่าวว่า การชี้โทษ ว่ากล่าวตักเตือน มีอยู่ 2 ประเภท คือ

ประเภทแรก ผู้ชี้โทษตักเตือนเพื่อต้องการหาความผิดผู้อื่นแล้วนำมาประจาน ด้วยประสงค์ให้เขาเกิดละอาย ประเภทนี้ใช้ไม่ได้

ประเภทที่สอง ผู้ชี้โทษตักเตือนด้วยประสงค์ความเจริญแก่ผู้ถูกเตือน ต้องการให้รู้สิ่งที่เป็นโทษ แล้วหลีกหนีงดเว้น ดำเนินในสิ่งที่เป็นคุณ

ประเภทที่สองนี้จัดว่าดี เมื่อเตือนใครคนนั้นไม่ควรโกรธ ควรทำความรู้สึกในท่านผู้นั้นว่าเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์

การชี้โทษ การตักเตือนนี้ มีธรรมเนียมปฏิบัติของภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า ปวารณา คือเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันและกันว่า ท่านขอรับ ท่านอยู่ในฐานะพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของกระผม เป็นความดีอันยิ่งใหญ่ที่ท่านกรุณาเตือนกระผม ต่อไปขอท่านได้โปรดเตือนกระผมอีก เมื่อกระผมได้กระทำสิ่งใดอันไม่เหมาะไม่ควร เป็นต้น

เมื่อเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยรีบบอกให้รู้ ขอร้องหรือบังคับให้เลิกการกระทำเช่นนั้นเสีย อาจารย์บางคนเห็นข้อบกพร่องของศิษย์แล้วไม่กล้าพูดด้วยเกรงว่าจะเสื่อมจากความรักความนับถือของศิษย์ เกรงว่าเธอจะเลิกปรนนิบัติเสีย การกระทำดังนี้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควร ส่วนอาจารย์ที่ดีนั้นเมื่อเห็นข้อบกพร่องของศิษย์แล้วจะต้องตักเตือนหรือลงโทษตามสมควรแก่โทษ

คนที่มีอัธยาศัยเป็นบัณฑิตมักยินดีพอใจในคำว่ากล่าวตักเตือนชี้โทษของบัณฑิต และคบหาสมาคมกับบัณฑิต เหมือนแมลงผึ้งยินดีพอใจในของสะอาด มีเกสรดอกไม้ เป็นต้น

ส่วนคนโง่มีอัธยาศัยเป็นคนพาล มักไม่ยินดีไม่พอใจในคำว่ากล่าวตักเตือนของบัณฑิต แต่ยินดีพอใจในคำสรรเสริญเยินยอของคนพาล และคบหาสมาคมกับคนพาล เหมือนแมลงวันยินดีพอใจในของโสโครก มีกองขยะเน่าเหม็น เป็นต้น

บุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวที ย่อมระลึกอยู่เสมอถึงคำว่ากล่าวตักเตือนที่ผู้อื่นทำแก่ตนน้อมนำความดีมาไว้ในจิตใจของตนอยู่ตลอดเวลา จะทำให้มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต ส่วนคนไม่มีความกตัญญูกตเวทีชีวิตจะมีแต่ความเสื่อมเสียอย่างเดียว



ทะยานอยาก

มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ได้เพราะอาศัยเหตุ คือ ความทะยานอยาก ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า ความทะยานอยากยังบุคคลให้เกิด

ความทะยานอยากนี้นอกจากทำบุคคลให้เกิดแล้ว ยังปกคลุมหมู่สัตว์ให้วุ่นวาย ยุ่งเหยิง คิดประกอบกรรมทำดีบ้าง ทำชั่วบ้าง

คนมีกิเลส ย่อมถูกความทะยานอยากทำให้ยุ่งวุ่นวายคล้ายกับด้ายที่ยุ่งแล้วขอดกันเป็นปมจนแก้ไม่ออก

ความอยากนั้น ย่อมทะยานดิ้นรนไปต่างๆ เหมือนกับกระต่ายที่ติดบ่วงของนายพราน ย่อมดิ้นรนไป

ความทะยานอยาก ดิ้นรน ทำให้บุคคลสะดุ้งหวั่นไหว ทำชั่วบ้าง ทำดีบ้าง คนที่มีความทุกข์ความเดือดร้อน ก็เพราะความทะยานอยาก

ความทะยานอยากมี 3 ประการ คือ

1.ความทะยานอยากดิ้นรนค้นหา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มีกิเลสเป็นเหตุใคร่และความยินดียินร้าย

2.ความอยากมีอยากเป็น คือ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นเรื่องดีบ้างชั่วบ้าง และ

3.ความไม่อยากมีไม่อยากเป็น เพราะมองเห็นทุกข์โทษ

บรรดาความทะยานอยากทั้ง 3 นั้น ความอยากมีอยากเป็นนับว่าเป็นตัวสำคัญทำให้เกิดความทะยานอยากดิ้นรน และความไม่อยากมีไม่อยากเป็นทำให้ทำกรรมชั่วบ้างดีบ้าง ไม่มีที่สิ้นสุด

คนที่ถูกความทะยานอยากเข้าครอบงำแล้วก็เหมือนคนตาบอด มองไม่เห็นประโยชน์และโทษ แต่โดยมากจะมองเข้าข้างตัว แม้ตนจะทำชั่วก็ยังคิดว่าทำดี

ความอยากนี้ถ้าอยากทำดีทำประโยชน์ ไม่ให้เกิดทุกข์โทษแก่ใคร ก็นับว่าเป็นความทะยานอยากในฝ่ายดี เช่น คิดจะทำตนให้เป็นประโยชน์เพื่อช่วยเกื้อกูลผู้อื่นให้ได้รับความสุข รอดพ้นจากความทุกข์ยากก็เป็นที่น่ายกย่องสรรเสริญได้

ความทะยานอยากนี้ถ้าบุคคลใช้ในทางที่ดี มีประโยชน์ ไม่ให้เกิดทุกข์แก่ตนและบุคคลอื่น ก็จัดเป็นความอยากฝ่ายดี ถ้าความทะยานอยากในทางก่อกรรมทำชั่ว ให้เกิดโทษแก่ตนและคนอื่นแล้ว ก็จัดเป็นความอยากฝ่ายชั่ว เช่น โลภอยากได้สิ่งของผู้อื่นมาเป็นของตน มีการคดโกงหลอกลวงลักทรัพย์ และประพฤติผิดในสามีภรรยาของผู้อื่นเป็นต้น อย่างนี้ก็เป็นความทะยานอยากฝ่ายที่ร้ายแรง บุคคลจะละหรือบรรเทาความอยากให้หมดไปหรือให้เบาบางน้อยลง ก็คงต้องใช้คุณธรรม คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

แท้จริงความทะยานอยากนี้เกิดขึ้นภายในจิตใจของบุคคลแล้ว แสดงออกมาภายนอก มีการก่อกรรมทำชั่ว ทำความเดือดร้อนให้แก่ตนและคนทั่วไป คนที่มีความทะยานอยากมากก็ทุกข์มาก คนที่มีความทะยานอยากน้อยก็ทุกข์น้อย คนที่ละความทะยานอยากได้ก็หมดทุกข์หมดความเดือดร้อน ดังพระพุทธเจ้าของเราเป็นตัวอย่าง พระองค์ทรงปราศจากตัณหาความทะยานอยากแล้ว จึงทรงมีแต่ความสุขไม่เดือดร้อนยุ่งทั้งภายในและภายนอก

แต่ทรงสงบทั้งภายในและภายนอก



ทางชั่ว

กิเลสภายในใจที่เป็นต้นกำเนิดหรือเป็นเหตุเกิดแห่งความชั่วร้ายทั้งปวง ที่เกิดแล้วได้รับการสนับสนุนให้พอกพูนมากยิ่งขึ้น เป็นทางแห่งความชั่ว มี 3 ประการ

1.โลภะ ความอยากได้สิ่งของของผู้อื่นมาเป็นของตนด้วยอาการอันไม่ชอบธรรม โลภะนี้หากปล่อยให้เกิดขึ้นแล้วจะมีบริวารตามมา เช่น เป็นคนมักมาก มักตระหนี่ถี่เหนียว ชอบหลอกลวง ฉ้อโกง ลักขโมย ปล้นทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม เป็นต้น

ความอยากที่เป็นความต้องการของร่างกาย เช่น ความอยากกินข้าวเพราะหิว อยากดื่มน้ำเพราะความกระหาย ความอยากได้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เพื่อป้องกันความหนาวร้อน หรืออยากได้สิ่งต่างๆ มาเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตแล้วได้มาด้วยการประกอบอาชีพสุจริต เช่นนี้ไม่จัดเป็นโลภะ

ความอยากในทางที่ดี เช่น ความอยากประสบความสำเร็จการศึกษา เป็นต้น ทางธรรมเรียกว่า ฉันทะ คือ แรงจูงใจใฝ่สำเร็จ

2.โทสะ คิดทำร้ายผู้อื่นอย่างไร้ความเมตตา หรือคิดจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ทำให้บาดเจ็บ อับอาย เดือดร้อน หรือเสียทรัพย์สินต่างๆ อันเนื่องมาจากความไม่พอใจ โกรธเกลียด หากปล่อยให้โทสะเกิดขึ้นจะมีบริวารตามมา เช่น เป็นคนมีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย ขัดเคืองใจ จองล้างจองผลาญ จองเวรกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน คำพูดคำจาหยาบคาย ใส่ร้ายกัน

โทสะจัดเป็นกิเลสที่ร้ายแรงอย่างหนึ่งที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในตัวของผู้นั้น นับตั้งแต่ทำลายระบบความคิด ทำลายสุขภาพกายและสุขภาพจิต

 บุคคลใดก็ตามถ้าปล่อยให้โทสะครอบงำใจบ่อยๆ ตนเองจะกลายเป็นบุคคลประเภทมองโลกในแง่ร้าย ชอบก่อกรรมทำอันตรายแก่ตนและคนในสังคม

3.โมหะ ความหลงไม่รู้จริง โดยที่ไม่รู้สภาพความเป็นจริงว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรควร อะไรไม่ควร ความโง่เขลาเบาปัญญา เป็นอาการมืดมนในจิตใจ ไม่สามารถคิดอะไรตามความเป็นจริงได้

โมหะเปรียบเหมือนกับความมืด ถ้าความมืดปกคลุมในที่ใด คนที่ทำอะไรอยู่ในความมืด ก็อาจทำผิดพลาดได้หลายอย่าง ตั้งแต่น้อยจนถึงมากที่สุด

คนที่ถูกโมหะครอบงำจิตใจมีอาการเช่นเดียวกัน อาจทำความผิดพลาดได้ทุกอย่าง นับตั้งแต่เข้าใจผิดกัน ทะเลาะวิวาทกัน ทำร้ายกันด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย หากปล่อยให้โมหะเกิดขึ้นแล้วจะมีบริวารตามมา เช่น คิดฟุ้งซ่าน ว่ายากสอนยาก เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชั่วเป็นดี เป็นต้นเหตุให้โลภะ และโทสะเกิดขึ้น

สามารถทำร้าย ทำลายชีวิตตนเองพร้อมคนรอบข้างให้เสียหายได้



ทางก้าวหน้า

ทุกคนเมื่อหวังความเจริญแก่ตน เช่น การศึกษา การประกอบสัมมาอาชีพ เกียรติยศ สุข สรรเสริญ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดถึงเป้าหมายชีวิตคือ การบรรลุคุณธรรม ได้แก่ มรรค ผล นิพพาน ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ประสบความทุกข์ทรมาน โศกเศร้าเสียใจด้วยปัญหาต่างๆ ควรพัฒนาตนด้วยหลักธรรม 7 ประการ

ประการแรก ขยันหมั่นเพียร คือ มีความขยันไม่ลดละ อุตสาหะอย่างต่อเนื่อง ตามลักษณะความเพียร 4 คือ เพียรป้องกันมิให้ความชั่วร้ายเกิดขึ้นในสันดานของตน เพียรลดละเลิกความชั่วร้ายที่เกิดมีในตนแล้วให้น้อยลงจนหมดสิ้นไปในที่สุด เพียรสั่งสมความดีงาม ความฉลาดรอบรู้ให้มีอย่างสมบูรณ์ และเพียรรักษาความดีงามความฉลาดรอบรู้นั้นๆ ให้มั่นคงอยู่ในตนตลอดไป ดุจเกลือรักษาความเค็มไว้ได้ตลอดกาล

ประการที่ 2 รู้ระลึกสำนึกตนได้คือ สามารถหวนระลึกสำนึกตนถึงกิจที่เคยทำ คำที่เคยพูดและเรื่องราวต่างๆ ที่เคยคิดมาแล้ว แม้เป็นระยะเวลานานได้ และจำทรงไว้ได้อย่างดี แล้วเลือกคัดสิ่งที่ไม่ดีงามทิ้งไป จัดสรรเอาเฉพาะสิ่งที่ดีงามเป็นแนวทางปฏิบัติปรับปรุงตนเองให้บรรลุคุณธรรมที่สูงกว่าเดิม กระทั่งเพิ่มสติสัมปชัญญะรู้ระลึกสำนึกตนได้อย่างแกล้วกล้า

ประการที่ 3 การทำงานให้สะอาดคือ ดำเนินการงานทุกชนิดที่ตนได้รับผิดชอบให้เป็นไปเพื่อไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เบียดเบียนทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น ไม่ล่วงล้ำเขตแดนอำนาจหน้าที่ทางการปกครองในส่วนบุคคลและครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ในส่วนทรัพย์สินของคนอื่น

ประการที่ 4 ทำงานโดยใช้ปัญญา คือ ใช้ปัญญาใคร่ครวญตริตรองอย่างมีเหตุผลครบถ้วนแล้วจึงทำงานทุกอย่างให้สำเร็จ ผลดีตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ เป็นเหตุให้ผู้ใหญ่เมตตาเชื่อถือไว้วางใจให้ผู้เสมอกันยอมรับนับถืออย่างสนิทใจ ให้ผู้น้อยเคารพนับถือ ยกย่องบูชาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา

ประการที่ 5 ระวังตนมิให้ผิดพลาด คือ คอยตรวจตรา บังคับอารมณ์ของตนไม่ให้ขาดความเที่ยงธรรมเพราะรัก เพราะชัง เพราะกลัวอำนาจอิทธิพลใดๆ และไม่ให้ขาดความเที่ยงธรรมเพราะไม่เข้าใจเหตุผลในเรื่องนั้นๆ เพื่อประคับประคองอารมณ์ของตน ให้มั่นคงอยู่ในแนวทางศาสนา

ประการที่ 6 เลี้ยงชีพโดยสุจริตธรรม คือ ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างปกติสุข โดยไม่ละทิ้งคุณธรรมมีความสุจริต เป็นต้น ทั้งในการแสวงหา การได้มา และการบริโภค

ประการที่ 7 ไม่ละทิ้งคุณธรรม คือ ไม่เผลอสติปล่อยใจให้หลงใหลเพลิดเพลินไปตามอารมณ์รัก อารมณ์ชัง เป็นต้น จากการสัมผัสด้วยตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกสูดดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส ร่างกายได้สัมผัสต่างๆ ทั้งที่น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ ก็ควรยับยั้งชั่งใจไว้ในสายกลาง ไม่รัก ไม่ชัง ไม่กลัวและไม่หลงใหลจนลืมตัว เสียตัว เสียเกียรติยศ

กระทั่งสูญเสียชีวิต หมดโอกาสบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านต่อไป



ทานคือการให้

คนเราที่อยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะทุกวันนี้ ต่างก็ปรารถนาจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความปลอดภัย มีความรักใคร่กลมเกลียวเป็นอันเดียวกัน ปรารถนาให้ตนเองเป็นที่รักนับถือ เป็นที่ไว้ใจและยอมรับของบุคคลอื่น ปรารถนามีมิตรสหายพวกพ้องที่มีไมตรี เห็นอกเห็นใจกันในทุกยาม เช่น ในยามจน ในยามเจ็บ หรือในยามจาก

แต่ความปรารถนาเช่นนี้จะสำเร็จได้ต้องมีสิ่งที่เชื่อมประสานใจของกันและกันไว้ หากไม่มีสิ่งเชื่อมก็ไม่อาจสมปรารถนาได้ จะมีแต่กระจัดกระจายไป

เพราะคนเรานั้นต่างจิตต่างใจ และมีอัธยาศัยไม่เหมือนกัน ขาดสิ่งเชื่อมประสานใจเสียแล้วก็ไม่อาจรวมกันหรืออยู่ร่วมกันโดยเรียบร้อยได้ ต่อมีสิ่งเชื่อมประสานใจ จึงอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข สำเร็จประโยชน์ตามที่ปรารถนา

เหมือนสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้านเรือนและของใช้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ซึ่งแม้จะถูกสร้างมาจากวัสดุต่างชนิดแต่เชื่อมสนิทแน่นหนาอำนวยประโยชน์ให้แก่เจ้าของได้ ก็เพราะมีสิ่งเชื่อมประสานยึดเหนี่ยวไว้ สิ่งนั้นคือตะปูและกาว เป็นต้น

ส่วนสิ่งที่เชื่อมประสานใจของคน อันเปรียบด้วยตะปูและกาวนั้น ท่านแสดงไว้หลายประการ แต่ที่สำคัญเป็นอันดับแรกก็คือ การให้ ภาษาพระเรียกว่า ทาน นั่นเอง

ทาน เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า หมายถึง การให้ การเสียสละ การบริจาค การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึ่งมีประโยชน์และมีอานิสงส์มาก

ในทางพระพุทธศาสนา ได้แสดงประโยชน์หรืออานิสงส์แห่งทานไว้มาก เช่น

ทะทัง มิตตานิ คันถะติ ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

ทะทัง ปิโย โหติ ภะชันติ นัง พะหู ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนหมู่มากย่อมคบเขา

สุขัสสะ ทาตา เมธาวี สุขัง โส อะธิคัจฉะติ ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข

มะนาปะทายี ละภะเต มะนาปัง ผู้ให้สิ่งที่ชอบใจย่อมได้รับสิ่งที่ชอบใจตอบแทน เป็นต้น และได้เชิญชวนไว้ว่า ทะเทยยะ ปุริโส ทานัง คนเราควรให้ทาน

กล่าวกันว่า โลกทุกวันนี้เร่าร้อนขาดความสงบสุขและความปลอดภัย ไม่เหมือนสมัยก่อน ผู้คนเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น ต่างถือคติตัวใครตัวมัน ไม่ค่อยช่วยเหลือกัน มีแต่จะเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ทำนองมือใครยาวสาวได้สาวเอา คนส่วนใหญ่มุ่งเพื่อจะได้ ไม่มุ่งเพื่อจะให้

ที่เป็นเช่นนี้ หากคิดหาสาเหตุที่แท้จริงของเรื่อง ก็จะพบว่าในโลกทุกวันนี้ คนที่มุ่งเพื่อจะให้มีน้อยลง แต่คนมุ่งที่จะได้มีมากขึ้น กล่าวคือคนให้มีน้อยกว่าคนรับนั่นเอง

ในสังคมหรือในหมู่คณะที่ถือคติว่า เราจะได้อะไรจากเขาบ้าง มีจำนวนมากกว่าคนที่ถือคติว่า เราจะให้อะไรเขาได้บ้าง สังคมนั้นจึงเดือดร้อนร่ำไปไม่รู้จบสิ้น หากคนประเภทหลังมีมากกว่า สังคมก็จะสงบเย็น มีความปลอดภัยสูง

ที่สังคมพากันเดือดร้อนกันทั่วหน้าก็เพราะคนไม่นิยมให้ทาน นอกจากไม่นิยมแล้วยังขัดขวางพูดจาระรานผู้ให้ทานเสียอีก คนที่ไม่นิยมให้ทาน ไม่สรรเสริญทานนั้น เข้าลักษณะเป็นคนพาล ดังพระบาลีว่า พาลา หะเว นัปปะสังสันติ ทานัง คนพาลเท่านั้นไม่สรรเสริญทาน



ทำงานด้วยศรัทธา

"ผู้มีศรัทธา มีระเบียบวินัยในการทำงาน ทำงานด้วยใจรัก ความตั้งใจ ทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่องานสำเร็จแล้วย่อมได้ชื่อเสียง เกียรติยศ และทรัพย์สมบัติ ไม่ว่าจะไปอยู่ในสถานที่ใดๆ จะได้รับการยกย่อง การสรรเสริญ ในสถานที่นั้นๆ"

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกเอาคุณธรรม คือ ศรัทธาว่าเป็นเหตุ ยกชื่อเสียงเกียรติยศและทรัพย์สมบัติว่าเป็นผล ทรงแสดงประโยชน์หรืออานิสงส์ของการได้ชื่อเสียงเกียรติยศและทรัพย์สมบัติว่า จะไปอยู่ในสถานที่ใดๆ ก็ตาม ย่อมได้รับการยกย่องบูชาในสถานที่นั้นๆ

มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีความเป็นอยู่ควบคู่กับการทำงาน เนื่องจากธรรมชาติสร้างมาให้เป็นเช่นนั้น ทุกคนต้องทำงาน ไม่เห็นมีใครสามารถที่จะดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย

อาจจะมีคนบางคนพอเกิดมาก็ได้รับมรดกตกทอดจากพ่อแม่ มีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่อย่างน้อยก็ต้องทำงานไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

การทำงาน จัดว่าเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตและทำให้ชีวิตมีคุณค่า สามารถชักนำให้มนุษย์รู้จักสภาพอันแท้จริงของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกสามารถทำให้มนุษย์ดำเนินไปสู่ความโชคดีและร้ายและการทำงานเท่านั้นที่สามารถพัฒนาโลกให้เจริญก้าวหน้าไปได้ไกล

หากมนุษย์ไม่ทำงานป่านนี้โลกก็คงรกร้างว่างเปล่า ถ้าจะมองดูสภาพความเป็นไปของบ้านเมืองโดยรอบด้านแล้ว ก็เป็นอันสรุปได้ว่า มนุษย์มีความเป็นอยู่คู่กับการทำงาน

เมื่อท่านทั้งหลายทราบว่ามนุษย์มีความเป็นอยู่คู่กับการทำงานเช่นนี้ ผู้ที่มีความเกียจคร้าน ไม่รู้จักวิธีการทำงานหาเลี้ยงชีพ บัณฑิตผู้รู้จึงเรียกคนเช่นนี้ว่า คนสิ้นคิด มีชีวิตความเป็นอยู่อันไร้ค่าเท่ากับเกิดมารกโลก เพราะไม่รู้จักใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์ และเพราะไม่รู้จักใช้ชีวิตให้มีค่า ก็กลายเป็นคนอนาถาไร้ที่พึ่งพิง

ส่วนผู้ที่มีความอุตสาหะประกอบการงาน ไม่มีความเกียจคร้านและเบื่อหน่าย มีความมุ่งหมายในการทำงานด้วยศรัทธาอันแน่วแน่และมั่นคง ย่อมสามารถดำรงตนให้เป็นผู้มีทรัพย์สมบัติ ได้รับเกียรติยศ เพราะการกระทำหรือการทำงานนั้นย่อมแบ่งฐานะของมนุษย์ ให้ทราบว่าดี เลว มากน้อยกว่ากันอย่างไร

สำหรับผู้ที่เคยทำการงานมาแล้วย่อมทราบได้ดีว่า งานที่ดีมีประโยชน์นั้นทำได้ยากมาก เพราะจะต้องตรากตรำลำบาก นอกจากต้องทุ่มเทกำลังความคิดและความสามารถแล้ว จะต้องใช้ความรอบคอบคอยสอดส่องถึงผลที่จะมากระทบ ว่าจะดีหรือชั่ว จะถูกหรือผิดประการใด

จะต้องทำให้ถูกจังหวะและโอกาส รวมถึงเหมาะสมแก่สถานที่นั้นๆ




ทำดี ทำเอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" นี้เป็นกฎความจริงธรรมดาที่จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

มีผู้คิดอย่างคนพาลว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป คนที่พูดอย่างนี้เพราะเขาทำความดีไม่เป็น ไม่เข้าใจว่าการทำความดีนั้นจะต้องทำให้ถูกดี ถึงดี และพอดี

ถูกดี ก็คือ ทำดีให้ถูกกาลเทศะให้ถูกจังหวะและพอเหมาะพอสม

ถึงดี ก็คือ ทำดียังไม่ทันถึงดี ก็เบื่อหน่ายเกียจคร้านเลิกทำดีเสียแล้ว

พอดี ก็คือ บางคนทำดีเกินพอดี ล้ำหน้าเพื่อนฝูงเอาเด่นเอาดังเพียงคนเดียว อย่างนี้จะดีได้อย่างไร

การทำความดีนั้น นอกจากจะต้องรู้กาลเทศะและโอกาสที่เหมาะสมแล้ว ยังจะต้องดูความเกี่ยวข้องกับบุคคลกับกลุ่มคนกับสังคมด้วย การวางตัวดีตามความเหมาะสม ต้องไม่มีลักษณะอันใดส่อให้เห็นว่าออกจะประเจิดประเจ้อมากไป เสนอหน้ามากไปหน่อย เรื่องของการทำความดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าเกินๆ เลยๆ ไปก็ไม่ดี เพราะในสังคมคนธรรมดามีคนบางพวกพร้อมที่จะทำลาย พร้อมที่จะคอยจับผิดอยู่ อย่างคำที่ท่านว่า

"อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้

จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน"

เรื่องกฎของกรรมตามที่กล่าวมาแล้วว่า "ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น" เพราะอะไร ก็เพราะว่าทำความดีมันจะดูดดีเข้ามา ทำความชั่วมันก็จะดูดชั่วเข้ามาเช่นกัน เรียกว่า ดีดูดดี ชั่วดูดชั่ว เราทำแต่ความดีมีความซื่อสัตย์สุจริตขยันขันแข็งในการทำงาน ไปทำงานที่ไหนบริษัทห้างร้านไหนก็ยินดี รับเข้าทำงานทั้งนั้น นี่คือ ดีดูดดี ดูดทั้งงาน ดูดทั้งเงิน ดูดเจ้านายผู้บังคับบัญชาให้มารักใคร่เอ็นดู อันเป็นผลของการทำความดีนั่นเอง

ในทางตรงกันข้าม คนที่สร้างความชั่วไว้มากๆ ก็เป็นแรงดึงดูดเหมือนกัน แต่มันดูดเอาสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาให้มาทำลายตน เช่น ดูดเอาความเกลียดชัง ดูดเอาโทษทัณฑ์ ดูดเอาคุกตะราง เป็นต้น บางคนที่ร้ายมากๆ สามารถดูดเอาตำรวจทั้งโรงพักให้วิ่งตามไปจับ ไปทำลาย ก็มี นี่คือชั่วดูดชั่ว ซึ่งเป็นผลของการทำความชั่ว

ดังนั้น เราทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม จงเชื่อเถิดว่าถ้าได้กระทำความชั่วแล้วจะไม่ได้รับผลชั่วที่เป็นบาปเป็นทุกข์นั้นเป็นไปไม่ได้ จะต้องได้รับแน่ๆ เร็วหรือช้าเท่านั้น ถึงแม้ชาตินี้ผลกรรมชั่วยังไม่ให้ผลก็จะต้องได้รับในชาติต่อๆ ไปอย่างแน่นอน

ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มทำความดี ถ้าได้ประพฤติปฏิบัติโดยสม่ำเสมอจนเป็นปกตินิสัยแล้ว นั่นก็คือเราได้พัฒนาจิตของเราให้สูงขึ้น เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใ



ที่พึ่ง

คนจำนวนมากที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เหมือนกับคนที่ลอยคอกลางทะเลที่ยังมองไม่เห็นฝั่งหรือจุดหมายปลายทาง ในท่ามกลางอันตรายรอบตัว ต่างคนต่างแหวกว่ายอยู่บนเกลียวคลื่นแห่งชีวิตเพื่อหาที่พึ่งให้แก่ตัวเอง

บางคนถือเอาที่พึ่งผิดๆ เช่นอบายมุขหรือยาเสพติด ชีวิตที่เคยเป็นทุกข์เพราะขาดที่พึ่งในทางที่ถูกต้อง ต้องมาเป็นทุกข์มากขึ้น เหมือนกับสัตว์ที่ติดบ่วงยิ่งดิ้นรนมันยิ่งรัดหนักเข้าไปอีก

ทุกคนควรดำรงชีวิตอย่างมีที่พึ่งที่ถูกต้อง เช่น

พึ่งตน เมื่อเกิดมาในเบื้องต้น ต้องพึ่งพ่อแม่เลี้ยงดูในด้านวิชาความรู้ต้องพึ่งครูอาจารย์คอยเสริมเติมให้ แต่พ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด เราก็ต้องพึ่งตนเองด้วยการมีจุดยืนของชีวิตที่ถูกต้องและแน่นอนไม่หวั่นไหวไปตามกระแสของสังคมที่นิยมผิดๆ และตั้งเป้าหมายในอนาคตของชีวิตอย่างชัดเจน โดยยึดหลักการอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง ไม่ใช่ถูกใจ

บุคคลที่คิดจะพึ่งตนเองนั้น จะต้องเป็นบุคคลที่เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาไม่ประมาทในวัยและในชีวิต

พึ่งคน การพึ่งบุคคลอื่นพึ่งได้บ้างเป็นครั้งเป็นคราวไป พึ่งไม่ได้ตลอด ยามที่เราเป็นเด็กเราต้องพึ่งพาอาศัยพ่อแม่ ยามเรียนหนังสือเราต้องพึ่งพาครูอาจารย์ ยามจะทำงานอาจจะพึ่งพาผู้หลักผู้ใหญ่ช่วยกันดึง ยามขัดสนจนเงินทองอาจจะขอหยิบยืมญาติสนิทมิตรสหายได้บ้างพอแก้ขัด ไม่ใช่พึ่งพาอาศัยได้ตลอดไป

การพึ่งบุคคลอื่นเหมือนเรายืมจมูกเขามาช่วยหายใจ มันจะเหมือนจมูกของเราได้อย่างไร

พึ่งคุณ หมายถึงคุณธรรม คุณงามความดีของตัวเรา บุคคลที่พึ่งพาอาศัยคุณธรรมมักจะประสบความสำเร็จในชีวิตและนำพาชีวิตไปได้ตลอดรอดฝั่ง เช่น บุคคลที่มีคุณธรรมคือความไม่ประมาท เขาจะทำอะไรก็มีสติคอยกำหนดรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นมีก็น้อยเต็มที เขาไม่ประมาทในชีวิตของเขา

บุคคลพึ่งคุณธรรม คือ ความเพียร ไม่ว่าจะเรียนหนังสือหรือทำงานหรือมีความทุกข์ ก็สามารถผ่านไปได้ อย่างนี้เป็นต้น

พึ่งบุญ หมายถึง บุญที่เกิดจากการให้ บุญที่เกิดจากการรักษาศีล และบุญที่เกิดจากการเจริญจิตภาวนา

บางคนอาศัยบุญในอดีตชาติที่ตัวเองทำมาดีและส่งผลให้จนถึงปัจจุบันชาติ เกิดมาในชาตินี้จึงได้มีพร้อมทุกอย่าง เรียกว่าพึ่งบุญในอดีตชาติ

บุญในปัจจุบันที่เราทำ เช่นบุญทีเกิดจากการให้หรือการเสียสละสิ่งของ บุญที่เกิดจากการรักษาศีล เช่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ถือเอาวัตถุสิ่งของผู้อื่นที่ใช่ของเรา ไม่แสวงหาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น ไม่พูดเท็จ ไม่มอมเมาตัวเองด้วยสิ่งเสพติดให้โทษ และบุญที่เกิดจากการเจริญจิตภาวนา

รวมความว่า บุญเป็นที่พึ่งของเราทั้งปัจจุบันและภพหน้า


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 มกราคม 2561 11:21:32 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.132 Chrome 63.0.3239.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 26 มกราคม 2561 11:20:50 »




ที่พึ่งชีวิต

ชีวิต คือ ความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมปรารถนาสิ่งยึดเหนี่ยวอันเป็นเครื่องนำพาชีวิตให้มีความสุขความเจริญ บิดามารดาผู้ให้กำเนิดบุตรธิดาต่างสรรหาสรรพสิ่งที่จะให้บุตรธิดายึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่ง จึงได้นำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคือพระพุทธศาสนามาอบรมบ่มจิตใจ สร้างอุปนิสัยวาสนาบารมีให้แก่บุตรธิดาตั้งต้นแต่ยังไม่รู้ความ คำสั่งสอนอันเป็นเบื้องต้น มีเพียงสองคำเท่านั้น ได้แก่ บุญ กับ บาป พระพุทธวจนะสองคำนี้ ขยายออกไปถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์

บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ ปู่ ย่า ตา ยาย ตลอดทั้ง พี่ ป้า น้า อา จะบอกคำสอนหลานตั้งแต่ยังไม่รู้ความ เช่น สอนให้ยกมือไหว้พระ พร้อมทั้งบอกว่าเป็นบุญ ห้ามปรามมิให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดี บอกว่าเป็นบาป จึงเกาะติดเป็นอุปนิสัยต่อเนื่องกันมา เป็นที่ซึมซาบกันดีว่า บุญคือความดีงาม ให้ผลเป็นความสุข บาปคือความชั่ว ให้ผลเป็นความทุกข์

เราทุกคนจึงปรารถนาความเป็นคนมีบุญ ความจริงคนมีบุญนั้นมีหลายประการ เช่น คนรูปร่างสวยงาม เรียกว่าคนมีบุญ คนร่ำรวย คนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็เป็นคนมีบุญ ตลอดถึงคนที่มีบิดามารดาดี มีพี่น้อง มีเพื่อนๆ เหล่านี้ล้วนกล่าวได้ว่าเป็นคนมีบุญทั้งนั้น ต่างแต่จะมีบุญมากน้อยเพียงใด แม้ที่เราเกิดมาเป็นคน ก็ชื่อว่ามีบุญนำมาเกิดเหมือนกัน

คำว่า บุญนี้ ย่อมทราบกันดีแล้วว่าเป็นนามธรรมมีแต่ชื่อเท่านั้นมิได้มีรูปร่าง ต้นเหตุที่เกิดของบุญมีอยู่ 3 ประการคือ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง

การทำบุญ จะทำอย่างไรก็ตามต้องทำโดยมีความตั้งใจเพื่อลดความโลภของตนให้น้อยเบาบางลงจนถึงหมดสิ้น เพื่อลดความโกรธให้ลด น้อยเบาบางลงจนถึงหมดสิ้น เพื่อลดความหลงงมงายคือความไม่รู้จริง รู้ผิดๆ ถูกๆ หรือไม่รู้เลยแล้วอบรมเพาะบ่มให้เกิดสติปัญญาความรู้ อันเป็นคุณธรรม บรรเทาความหลง

วิธีทำบุญแบ่งออกเป็น 3 ประการ คือ 1.บุญที่เกิดด้วยการบริจาคทาน การให้ 2.บุญที่เกิดด้วยความประพฤติเรียบร้อยดีงาม ได้แก่ การรักษาศีล 3.บุญที่เกิดด้วยการอบรมให้เกิดมีขึ้น คือการบำเพ็ญเพียรเจริญภาวนา สวดมนต์ไหว้พระ

การทำบุญ โดยเฉพาะการบริจาคทาน เพื่อให้บังเกิดบุญอันไพศาล จำต้องทำบุญในเนื้อนาบุญที่เรียกว่าบุญเขต เปรียบเหมือนชาวนาที่ฉลาด ย่อมทำนาในพื้นที่เป็นดินดี เมื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปแล้วต้นข้าวย่อมงอกงามบังเกิดผลสมความปรารถนา การทำบุญทำทานจำเป็นต้องทำในเนื้อนาบุญที่ดีคือบุญเขต ซึ่งมีประเภทแตกต่างกัน เช่น บิดามารดา เป็นบุญเขตของบุตรธิดา ครูอาจารย์ เป็นบุญเขตของศิษย์ พระสงฆ์ เป็นบุญเขตของพุทธศาสนิกชน เป็นต้น แต่บุญเขตในการทำบุญโดยเฉพาะพระสงฆ์นั้น หมายถึงท่านที่ปฏิบัติดีตามปฏิปทาของพระอริยเจ้า คือ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติถูกต้อง และปฏิบัติชอบ

ท่านผู้ปฏิบัติได้ดังนี้ชื่อว่าเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลกอย่างแท้จริง เพราะท่านที่บริจาคแล้วแก่ท่านเช่นนั้น ย่อมมีผลอันไพศาลแก่ผู้ทำบุญนั้น ผลของบุญ ได้แก่ ความสุข ความอิ่มใจ

บุญจึงเป็นที่พึ่งของชีวิตทั้งในภพปัจจุบันและยังติดตามไปยังภพหน้า ดังพระพุทธวจนะว่า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์มีชีวิตทั้งหลายทั้งในโลกนี้และโลกหน้า



ที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยม

ผู้มีปัญญาย่อมสร้างที่พึ่งคือเกาะ ที่ห้วงน้ำไม่สามารถจะท่วมทับได้ด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ ความขยัน ความไม่ประมาท ความสำรวม และการฝึกฝนอบรมตน

ผู้ที่เกิดมาในโลกยังท่องเที่ยวอยู่ในสังสาร เวียนว่ายตายเกิดอยู่ ยังไม่สามารถกำจัดกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงให้สิ้นไป เพราะยังมิได้บำเพ็ญกุศลบารมีธรรมให้ถึงความครบถ้วน จนสามารถบรรลุคุณธรรมพิเศษได้ จึงเป็นเหตุให้กิเลสดุจห้วงน้ำท่วมทับจิตใจ การดำรงชีวิตอยู่ในโลกจึงประสบความทุกข์ ความวิบัติหายนะและความเดือดร้อนด้วยประการต่างๆ

กิเลสดุจห้วงน้ำที่ท่วมทับจิตใจให้ประสบความทุกข์ ความวิบัติหายนะนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสเรียกว่า โอฆะ แปลว่า กิเลสดุจห้วงน้ำ มี 4 ประการ คือ กิเลสดุจห้วงน้ำคือกาม กิเลสดุจห้วงน้ำคือภพ กิเลสดุจห้วงน้ำคือทิฏฐิ กิเลสดุจห้วงน้ำคืออวิชชา

พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะให้ทุกคนหลุดพ้นจากความชั่วซึ่งท่วมทับจิตใจ จึงทรงแสดงคุณธรรมเปรียบเสมือนเกาะคอยกางกั้นความชั่วที่เป็นเหมือนห้วงน้ำ ไม่ให้บ่ามาท่วมทับจิตใจ เรียกว่า คุณธรรมเป็นเครื่องสร้างที่พึ่งคือเกาะซึ่งห้วงน้ำท่วมทับไม่ได้ไว้ 4 ประการ คือ ความขยันหมั่นเพียร ความไม่ประมาท ความสำรวม และการฝึกตน

ความขยันหมั่นเพียร ได้แก่ ไม่ท้อถอยในกิจการน้อยใหญ่ทั้งปวงทั้งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน และเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น อบรมคุณงามความดีให้บังเกิดขึ้นด้วยการให้ทาน รักษาศีล และประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่สม่ำเสมอ ย่อมเจริญด้วยโภคทรัพย์มากมาย

ความไม่ประมาท ได้แก่ การไม่อยู่ปราศจากสติ ไม่ปล่อยสติให้เผลอหลงในการดำรงชีวิต ในการแสวงหาโภคทรัพย์ และในการสร้างสมอบรมคุณงามความดีให้พ้นภัยพิบัติ ถึงความเจริญพอกพูนสมบูรณ์ขึ้น ความไม่ประมาทจึงเป็นคุณธรรมจำปรารถนาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

ความสำรวมระวังอินทรีย์ ได้แก่ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส ไม่ให้เกิดความรัก ความชังและความหลง สำรวมระวังไม่ให้เกิดความรัก ความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น การสำรวมอินทรีย์ จัดเป็นคุณธรรมเหมือนทำนบคอยกั้นกางความชั่วดุจห้วงน้ำ ไม่ให้ไหลบ่ามาท่วมทับได้

การฝึกตน ได้แก่การฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจ ให้สงบระงับ เป็นอุบายวิธีข่มความชั่ว ไม่ให้ครอบงำจิตได้ เพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้น โดยกิเลสไม่สามารถชักนำให้ประกอบกรรมทำชั่วเสียหายได้ การฝึกฝนอบรมตนจึงเป็นคุณธรรมจำปรารถนา เพราะบุคคลผู้ฝึกฝนอบรมตนดีแล้วเป็นผู้ประเสริฐ

มนุษย์ทุกหมู่เหล่าที่เกิดมาในโลก เมื่อได้สั่งสมอบรมบารมีธรรมด้วยคุณธรรมดังกล่าวมาให้บังเกิดแก่กล้า ถึงความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ ย่อมสร้างที่พึ่งคือเกาะอันยอดเยี่ยมที่กิเลสห้วงน้ำไม่สามารถท่วมทับได้อย่างแน่นอน



ทำอย่างไรได้อย่างนั้น
กรรม แปลว่า กระทำทางกาย มียืน เดิน นั่งนอน เป็นต้น กระทำทางวาจา คือเปล่งคำพูด กระทำทางใจ คือการนึกคิด

คำว่า กรรม เป็นคำกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว ถ้าเป็นไปในฝ่ายดี ถูก ควร เรียกว่า กุศล บุญ สุจริต ถ้าเป็นไปในฝ่ายชั่ว ผิด ไม่ควร เรียกว่า อกุศล บาป ทุจริต

คำว่า ถูก ดี ควรนั้น หมายถึง กิริยาที่ทำ คำที่พูด เรื่องที่คิด อันเป็นไปเพื่อความเป็นประโยชน์ เป็นความสุข ความเจริญแก่ตนและบุคคลอื่น

คำว่า ชั่ว ผิด ไม่ควรนั้น หมายถึง กิริยาที่ทำ คำที่พูด เรื่องที่คิด อันเป็นไปเพื่อความไร้ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อมแก่ตนและบุคคลอื่น

กรรม เมื่อกล่าวโดยกรรมบถ มี 10 อย่าง แบ่งเป็น กายกรรม 3 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดทางกาม วจีกรรม 4 คือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ มโนกรรม 3 คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม ที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นฝ่ายดี ที่เป็นไปโดยตรงกันข้ามจากนี้ เป็นฝ่ายชั่ว

กรรมทั้ง 3 ประการนี้ เป็นเหตุเป็นผลของกัน คือ ก่อนที่จะทำและก่อนจะพูด จิตหรือใจต้องสั่งก่อน ถ้าทำหรือพูดโดยที่จิตไม่ได้สั่ง การทำหรือการพูดนั้นยังไม่จัดเป็นกรรม เช่น คนนอนหลับละเมอ ทำหรือพูดอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นต้น ยังไม่จัดเป็นกรรม คนวิกลจริตกระทำผิดกฎหมายของบ้านเมือง ตุลาการหรือศาลย่อมไม่ปรับเอาเป็นผิด เพราะเหตุที่จิตใจของคนวิกลจริตผิดปกติธรรมดา เจตนาในการทำและการพูดปราศจากเหตุผลหรือทำและพูดไปโดยที่ไม่มีเจตนาหรือความจงใจ

กรรมดี กรรมชั่ว ย่อมให้ผลแก่ผู้กระทำอย่างแน่นอน คือกรรมดี ได้แก่ ทำพูดคิดดี ย่อมส่งผลให้ผู้ทำกรรมนั้นมีความสุข มีความเจริญ ไม่ต้องเดือดร้อน

ส่วนกรรมชั่ว ได้แก่ ทำ พูด คิดชั่ว ย่อมส่งผลให้ผู้กระทำชั่วนั้น มีความทุกข์ ประสบความเสื่อม มีความเดือดร้อนใจ

เมื่อบุคคลใดกระทำกรรมดีและกรรมชั่วอันเป็นเหตุไว้แล้ว บุคคลนั้นจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน คือทำกรรมดีไว้ จะต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่วไว้ จะต้องได้รับผลชั่ว เหมือนปลูกพืชชนิดใดไว้จะต้องได้รับผลเป็นพืชชนิดนั้นอย่างแน่นอน เช่น ปลูกมะม่วง จะต้องได้รับผลเป็นมะม่วง จะได้รับผลเป็นทุเรียนหรืออย่างอื่น เป็นไปไม่ได้

ดังพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสไว้ว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว

กรรมดี แม้จะให้ผลเป็นความสุขน่าปรารถนา และกรรมชั่วแม้จะให้ผลเป็นความทุกข์อันไม่น่าปรารถนา ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ทำทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว สับสนปะปนกันอยู่ร่ำไป มิใช่มีแต่ผู้ที่กระทำกรรมดีโดยส่วนเดียว หรือมีแต่ผู้ที่กระทำกรรมชั่วโดยส่วนเดียว เข้าหลักที่ว่าดีไม่ทั่ว ชั่วไม่หมด ทั้งนี้ ก็เพราะคนดีทำกรรมดีได้ง่าย ทำกรรมชั่วได้ยาก คนชั่วทำกรรมชั่วได้ง่ายทำกรรมดีได้ยาก

ดังพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสไว้ว่า กรรมดี นคนดีทำได้โดยง่าย อันคนชั่วทำได้โดยยาก กรรมชั่วอันคนชั่วทำได้ง่าย อันคนดีทำได้โดยยาก



ดื่มน้ำเมามีโทษ
ารดื่มน้ำเมา จัดเข้าในศีลข้อที่ 5 และจัดเป็นอบายมุข คือทางแห่งความเสื่อม ความฉิบหาย เสียทรัพย์สินเงินทอง

เป็นเหตุเสื่อมทรัพย์ ชื่อว่า ทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ที่มีชีวิตซึ่งได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น หรือเป็นทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณ คือ แก้ว แหวน เงิน ทอง ทรัพย์สินสิ่งของอื่นๆ เช่น รถ ล้อ เกวียน อาคารสถานที่ บ้านเรือน เป็นต้น ทรัพย์เหล่านี้เมื่อไม่มีก็ต้องหาเพราะต้องกินต้องใช้

การที่จะทำให้มีทรัพย์ไม่ใช่จะทำได้ง่าย ต้องลำบากกายทุกข์ใจกว่าจะได้มา เมื่อได้มาแล้วก็ภูมิใจว่ามีทรัพย์ เมื่อได้ใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงตน คนในครอบครัว ญาติมิตรหรือประกอบกุศลกิจอื่นๆ ก็เป็นสุขใจ

ทรัพย์เหล่านี้มีทางที่จะเสื่อมสลายหายสูญไปด้วยเหตุหลายประการ โดยเฉพาะในที่นี้ เสื่อมไปเพราะปัจจัยคือการดื่มน้ำเมา ซึ่งได้แก่เหล้า สุรา ยาบ้า และเมรัย

เมื่อดื่มหรือเสพสิ่งเหล่านี้ จะมีโทษ 6 สถาน คือ
1.เสียทรัพย์
2.ก่อทะเลาะวิวาท
3.เกิดโรค
4.ต้องติเตียน
5.ไม่รู้จักอาย
6.ทอนกำลังปัญญา

โทษของการดื่มสุราไม่ใช่มีเท่านี้ เมื่อดื่มจนเมาได้ที่แล้วยังก่อกรรมทำเข็ญอื่นๆ ได้ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติประเวณีและพูดเท็จ ก็ได้ ทั้งยังให้ประสบภัยหลายอย่างต่างกันไป ดังพุทธภาษิตที่ว่า บุคคลผู้ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยเป็นปกติ คือเป็นประจำ ทำอยู่เป็นนิตย์ ย่อมประสบกับภัยและเวรที่เห็นได้ในปัจจุบัน ในอนาคต และย่อมเสวยทุกข์โทมนัสทางใจ

ภัยเวรปัจจุบันพอจะเห็นกันได้แต่ละปีแต่ละเดือนหรือแต่ละวัน มีผู้ประสบภัยกันแล้วเท่าไหร่ เสียชีวิตและทรัพย์สินไปแล้วแค่ไหน สิ่งเหล่านี้จะเกิดมีได้ เพราะเหตุปัจจัยคือการดื่มน้ำเมา ส่วนภัยเวรในอนาคตซึ่งยังไม่มีมาปรากฏนั้น ก็ต้องมีโดยการประเมินเหตุปัจจุบันซึ่งสัมพันธ์กับผลอนาคต เมื่อได้ประสบภัยเช่นนี้ก็มีแต่ความทุกข์ระทมขมขื่นใจ

นอกจากนี้ การดื่มน้ำเมาและเมรัย ยังเป็นปัจจัยให้เกิดความประมาท ความประมาทก็คือความขาดสติ คนไม่มีสติกำกับก็เหมือนรถที่ติดเครื่องแล้วปล่อยให้แล่นไปตามถนนซึ่งไม่มีคนขับหรือคอยกำกับดูแลรถนั้น ต้องก่อเหตุเภทภัยให้เกิดขึ้นแน่ๆ ฉันใด ความประมาทและคนประมาทก็ฉันนั้น ย่อมก่อภัยให้โทษแก่ตนและคนอื่นนานาประการ

ซึ่งนอกจากนี้ ความประมาทยังปิดโอกาสการเกิดขึ้นแห่งกุศลความดีด้วย ความประมาทเป็นต้นตอบ่อเกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความชั่วร้ายทั้งหลาย ทั้งเป็นตัวทำลายกุศลความดีทั้งหลายทั้งปวง ส่วนความไม่ประมาทคือ ไม่ขาดสติเป็นบ่อเกิดแห่งกุศลความดีเช่นเดียวกัน



ทำงานอย่างมีสุข

หน้าที่การงานเป็นสิ่งสำคัญที่เกื้อกูลต่อชีวิตของมนุษย์ทุกคน หน้าที่การงานของแต่ละคนแสดงถึงความรับผิดชอบ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความเจริญรุ่งเรืองพร้อมมีความสุข

ความสุขในการทำงานจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบหลายประการ เช่น ทำงานตรงกับความรู้ความสามารถของตน ทำงานที่ไม่ผิดศีลธรรมและผิดกฎหมายบ้านเมือง ทำงานโดยมีหลักธรรมประจำใจ เช่น

ความมั่นใจ คนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมีพื้นฐานจากความมั่นใจในความดีที่ทำ ซึ่งเป็นแรงเสริมสำคัญให้กล้าตัดสินใจ ไม่ท้อถอยเบื่อหน่ายและหวั่นไหวต่อปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น

ปัญหาที่คู่กัน เช่น ปัญหาเจ้านายกับลูกน้อง ปัญหาเพื่อนร่วมงาน ปัญหาคนล้นงาน หรืองานล้นคน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้ทำงานและผู้รับผิดชอบโดยตรง

มีระเบียบวินัย นอกจากความเก่งกล้าสามารถในการทำงานแล้ว ความมีระเบียบวินัยในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ ควรจัดระบบตนเองให้ดี เรียงลำดับความสำคัญของงาน งานใดควรเสร็จก่อนหรือหลัง

ไม่เอาเปรียบองค์กรหรือที่ทำงาน เช่นตรงต่อเวลา มีพฤติกรรมที่ดีกับบุคลากรที่ร่วมงานทุกระดับ จึงสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ อุปกรณ์เสริมที่แบ่งเบาภาระ ต้องจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อมีความต้องการก็หาง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตา

ด้วยใจรัก เมื่อใจรักก็มักทุ่มเททั้งกายใจ ยอมปรับตัวปรับใจให้เข้ากับงาน งานที่ยากกลายเป็นงานที่ง่าย ต้องการทำงานนั้นๆ อยู่เสมอ ตื่นตัวและแสวงหาความรู้เพื่อเสริมวิสัยทัศน์ในการพัฒนางานที่ทำอยู่ให้ดียิ่งขึ้น

ห่วงใยองค์กรหรือที่ทำงานตลอดเวลา คิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบ ไม่นิ่งดูดายเมื่อมีเหตุทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อองค์กรหรือที่ทำงานมีความมั่นคงยั่งยืนมากเพียงไร ตนเองจะมีความเจริญก้าวหน้าเช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่างานได้ผลคนก็เป็นสุข

ความตั้งใจ มีความขยันหมั่นเพียร รีบทำงานที่ตั้งใจไว้ ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายโดยไม่รอช้า ทำงานให้เสร็จทันเวลาที่กำหนดโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

ไม่ปล่อยให้งานคั่งค้าง ไม่มีข้ออ้างว่าหนาวเกินไปร้อนเกินไป หิวกระหาย ยังเช้าอยู่ หรือสายแล้ว อุทิศตัวอุทิศใจทำงานด้วยความมุ่งมั่นฝันใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ทำให้มีความสุขในการทำงาน

ผู้ทำงานด้วยความมั่นใจมีระเบียบวินัย ด้วยใจรัก และตั้งใจจริง เมื่องานสำเร็จแล้วย่อมได้ชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สมบัติ และได้รับการยกย่องสรรเสริญ เป็นผลตอบแทน



โทษของอกุศล

บุคคลผู้กระทำอกุศล 10 อย่างนี้ ย่อมตกนรก เหมือนกับถูกจับเอาไปวางไว้ ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ในปฐมนิรยสัคคสูตร ปัญจมปัณณาสถ์ ทสกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยกรรม 10 ประการ ย่อมตกนรกเหมือนถูกจับเอาไปวางไว้ บางคนในโลกนี้

1.เป็นผู้มักฆ่าสัตว์ มีมือเปื้อนเลือด คิดแต่ประหัตประหาร ไม่มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์

2.มักเป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่ว่าของนั้นจะอยู่ในบ้านของเขาหรือที่ไหนๆ ก็ตาม เป็นผู้ถือเอาสิ่งของนั้นด้วยจิตคิดขโมย

3.เป็นผู้มักประพฤติผิดในกาม จะเป็นผิดเพราะการนอกใจคู่ครองของตน ผิดเพราะล่วงละเมิดคู่ครองของผู้อื่นหรือผิดเพราะล่วงละเมิดต่อบุคคลที่ตนไม่มีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้นก็ตาม

4.เป็นผู้มักกล่าวเท็จ คือไม่รู้บอกว่ารู้ ไม่เห็นบอกว่าเห็น หรือรู้บอกว่าไม่รู้ เห็นบอกว่าไม่เห็น เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้ เพราะเห็นแก่ประโยชน์ตนหรือเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง

5.เป็นผู้พูดทำลายความสามัคคี ฟังจากฝ่ายนี้ไปบอกฝ่ายโน้นหรือฟังจากฝ่ายโน้นมาบอกฝ่ายนี้เพื่อให้เขาแตกสามัคคีกัน หรือทำตนให้เป็นที่รักของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ชอบสร้างความแตกแยกหรือส่งเสริมให้คนแตกแยก แบ่งพรรคแบ่งพวก

6.เป็นผู้พูดวาจาที่แผ่ไปเผาผลาญหัวใจของผู้ฟัง เป็นคำพูดบาดหู หยาบคาย เผ็ดร้อน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย ทำให้ผู้ฟังเกิดความโกรธ และฟุ้งซ่าน

7.เป็นผู้พูดทำลายความสุขและประโยชน์ที่สัตบุรุษพึงได้รับ คือ พูดคำที่กำจัดทางแห่งประโยชน์และความสุขนั้น ไม่รู้กาลเทศะ พูดปราศจากอรรถธรรม หรือวินัย อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องแสดงเหตุผลเพื่อให้เข้าใจประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า

8.เป็นผู้มากไปด้วยความละโมบ จ้องหาทางเอาของคนอื่นมาเป็นของตน

9.เป็นผู้มีใจพยาบาท มีความคิดประทุษร้ายว่าขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่า ถูกจองจำ จงหายสาบสูญ จงพินาศ จงอย่าอยู่ในโลกนี้

10.เป็นผู้มีความเห็นผิด มีทัศนะที่วิปริต เรื่องการให้ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รู้แจ้งเองแล้ว แสดงโลกนี้และโลกหน้าได้แจ่มแจ้งไม่มี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยกรรม 10 ประการเหล่านี้ ย่อมตกนรก เหมือนถูกจับเอาไปวางไว้

จะเห็นได้ว่าการทำอกุศล มีผลต่อผู้ทำทั้งปัจจุบันและอนาคต ผลในปัจจุบันก็คือในขณะที่ผู้ทำความชั่วนั้นย่อมทำให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจอย่างที่สุด และยิ่งทุกข์มากกว่านั้นอีกเมื่ออกุศลทั้งหลายส่งผลนำเกิด ย่อมทำให้ไปสู่นรก ได้รับทุกข์โทษในนรกอย่างแสนสาหัส เป็นจำนวนหลายหมื่นหลายแสนปี นับจำนวนไม่ถ้วน เมื่อสิ้นกรรมตายจากนรก ถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์เศษกรรมเหล่านั้นยังตามส่งผลให้ผู้นั้นได้รับผลกรรมต่างๆ



ญาติ

ญาติ หมายถึงคนที่เป็นเชื้อสายเดียวกัน เป็นเหล่ากอ เป็นสายโลหิตเดียวกัน หรือคนที่รู้จักคุ้นเคยสนิทสนมกันระหว่างเรากับเขาโดยตรงบ้าง เกิดแต่ความสนิทสนมกับญาติทางสายโลหิตของเราบ้าง ได้ประพฤติและปฏิบัติธรรมร่วมกันบ้าง

ญาติที่มีความรักใคร่ความนับถือกันและความสามัคคีกัน ร่วมใจดำรงวงศ์ตระกูล ตลอดจนถึงสังคมและประเทศชาติให้เจริญ ย่อมเป็นที่นิยมนับถือของคนทั่วไป ทำให้มีความมั่นคงและเป็นที่เกรงขามของคนผู้ประสงค์ร้าย ทำให้ไม่สามารถเข้ามาเบียดเบียนได้ง่าย เหมือนความหนาทึบของกอไผ่ที่มีหนามแวดล้อมอยู่รอบข้าง ไม่มีใครสามารถที่จะตัดได้ง่ายๆ

ญาติจะมีความรักใคร่นับถือกันและมีความสามัคคีกันอย่างมั่นคงได้ ต้องมีธรรมะสำหรับประพฤติปฏิบัติต่อกัน เพื่อส่งเสริมความรักความนับถือ ความสามัคคีให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ธรรมะอันเป็นอุบายเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจญาติให้ร่วมกลุ่มกันได้ด้วยความเคารพรักใคร่กันนั้น ได้แก่ ญาติธรรม คือ การสงเคราะห์ญาติด้วยธรรม 4 ประการ คือ

1.การอุดหนุนจุนเจือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละแบ่งปัน ช่วยเหลือหรือสงเคราะห์อนุเคราะห์ด้วยทรัพย์วัตถุสิ่งของ ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจและศิลปวิทยา

2.การกล่าวคำสุภาพ ไพเราะน่าฟัง แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีเหตุผล เป็นหลักเป็นฐาน ชักจูงในทางที่ดีงาม หรือคำพูดที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจ รู้จักพูดให้เกิดความเข้าใจดี สมานสามัคคี เกิดไมตรี ทำให้รักใคร่นับถือและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

3.การช่วยเหลือด้วยแรงกาย และขวนขวายช่วยเหลือกิจการต่างๆ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาและช่วยปรับปรุงส่งเสริมในด้านจริยธรรม

4.การทำตัวให้เข้ากับเขาได้ วางตนเสมอต้นเสมอปลาย ให้ความเสมอภาค ปฏิบัติสม่ำเสมอกันต่อคนทั้งหลาย ร่วมสุข ร่วมทุกข์ ร่วมรับรู้ ร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขร่วมกัน ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี

การสงเคราะห์ด้วยการประพฤติญาติธรรม 4 ประการนี้ ย่อมเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีในวงศาคณาญาติ ตลอดจนสังคมและประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า มั่นคง

การสงเคราะห์ญาติพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุให้บรรลุคุณพิเศษคือ ความสรรเสริญที่มีอยู่ในปัจจุบัน และให้เป็นไปในภพหน้ามีการถึงสุคติโลกสวรรค์

บุคคลที่รวบรวมทรัพย์ไว้มาก แต่ไม่ได้ใช้สอย ไม่ได้สงเคราะห์ญาติ ไม่ทำบุญให้ทาน มัวแต่ยินดีเพลิดเพลินกับบุญเก่ากุศลก่อนที่เคยได้ทำมา ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวติเตียนว่าเป็นเหมือนนกมัยหกะ บินไปจับต้นไม้ที่มีผลแล้วก็ส่งเสียงร้องว่าของเราๆ อยู่ตลอดเวลา นกตัวอื่นก็ไม่อาจจะกินได้ ครั้นผลไม้นั้นสุกก็หล่นไป นกที่ร้องก็ไม่ได้กิน นกอื่นก็ไม่ได้กิน ผลไม้ก็หมดหาประโยชน์ไม่ได้ เป็นตัวอย่าง

ดังนั้น ผู้มีทรัพย์แล้วไม่รู้จักใช้สอย ไม่ทำบุญกุศล ไม่สงเคราะห์ญาติของตน ถึงแม้จะมีทรัพย์มากมายก็ไม่มีประโยชน์สำหรับตนและคนทั้งปวง เพราะมีจิตคิดหวงแหนเก็บไว้ ทำให้ลูกหลานคนสนิทชิดใกล้ต่างพากันแย่งชิงจนเกิดคดีฟ้องร้องกัน เพราะทรัพย์เป็นเหตุ คนมีความโลภแล้วยังให้ผู้อื่นมีความโลภต่อไปอีกเช่นนี้

หาประโยชน์อะไรไม่ได้ในชาตินี้และชาติหน้า


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.132 Chrome 63.0.3239.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 02 กุมภาพันธ์ 2561 10:02:24 »



ธรรมขันธ์

คําว่า ธรรมขันธ์ แปลว่า กองธรรม หรือ หมวดธรรม ท่านจำแนกไว้ 5 ประการ คือ

1.สีลขันธ์ หมวดศีล ได้แก่ การที่บุคคลทำกายวาจาให้เรียบร้อย ปราศจากวีติกมโทษ คือ โทษที่จะก้าวล่วงได้ทางกาย และทางวาจา เพื่อกำจัดเสียซึ่งความโหดร้ายหยาบคายทางกายและทางวาจา ปิดทางที่ตนเองจะทำชั่วอย่างหยาบเสียได้ ทำให้เป็นคนสะอาดกาย สะอาดวาจา ไม่มีมลทินโทษ ตัดเวรภัยเสียได้ และทำให้เป็นคนมีระเบียบวินัย พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าในการดำเนินชีวิตต่อไป

2.สมาธิขันธ์ หมวดสมาธิ ได้แก่ บุคคลผู้รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ย่อมไม่หวาดหวั่นครั่นคร้าม สะทกสะท้านต่อภัยอันตรายต่างๆ มีจิตดิ่งแน่วแน่เป็นหนึ่งเพื่อกำจัดปริยุฏฐานกิเลส คือ กิเลสภายนอกที่กลุ้มรุมจิตอยู่ มีความตั้งใจมั่นไม่ปล่อยใจ ให้ตกอยู่ในอำนาจของนิวรณ์ทั้ง 5 คือ

กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ มี รูป เป็นต้น

พยาบาท ความคิดปองร้ายผู้อื่น

ถีนมิทธะ ความที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม

อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

วิจิกิจฉา ความลังเลไม่ตกลงใจได้

ซึ่งทั้ง 5 นี้ ล้วนเป็นสิ่งที่บั่นทอนกำลังใจให้หย่อนสมรรถภาพ ไม่สามารถรวมกำลังใจให้เด็ดเดี่ยวได้ เพราะเหตุนั้น ต้องละอารมณ์เช่นนั้นให้ได้ด้วยอำนาจสมาธิ คือความตั้งใจมั่น

3.ปัญญาขันธ์ หมวดปัญญา ได้แก่ เมื่อบุคคลกำจัดกิเลสภายนอกที่กลุ้มรุมจิตได้แล้วพิจารณาไปก็จะเกิดปัญญากำจัดอนุสัย คือกิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานให้หมดสิ้นไป และปัญญานั้นนั่นแหละช่วยให้มองเห็นทางถูกทางผิดได้ด้วย

4.วิมุตติขันธ์ หมวดวิมุตติ ได้แก่ ความทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสาสวะ คือ อุดหนุนจิตให้พ้นจากกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง หลุดพ้นได้โดยประการทั้งปวง

5.วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ หมวดวิมุตติญาณทัสสนะ ได้แก่ เมื่อบุคคลรู้เห็นว่า จิตหลุดพ้นแล้ว สืบเนื่องมาจากวิมุตติ ชื่อว่า ญาณทัสสนะ



ธรรมทาน

ธรรมทาน หมายถึง การให้ธรรมะ ให้สิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ทางด้านความคิดและจิตใจ ที่เมื่อผู้ได้รับไปแล้ว เกิดความรู้ สติปัญญา เห็นความสว่างทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง จนถึงดวงตาเห็นธรรมบรรลุคุณวิเศษชั้นสูงได้

ธรรมทานนั้น อาจแยกความหมายและวิธีการให้ออกไปหลายประการ เช่น

ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ให้โอวาทตักเตือนผู้อื่น เช่น พ่อแม่สอนแนะนำลูกให้เป็นคนดี ครูอาจารย์สอนศิษย์ให้มีวิชาความรู้ ผู้ใหญ่สอนเด็กให้ปฏิบัติตนในทางที่ถูกต้อง

ให้อภัย หมายถึง การไม่ถือโทษโกรธเคือง ผู้ที่ทำผิดคิดร้ายต่อตน ยอมยกโทษให้ ทำตนให้เป็นคนไม่มีเวรภัยกับใคร ให้ความเป็นกันเองกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทำตนให้เป็นคนใจดี อยู่ใกล้แล้วรู้สึกสบายใจ

ให้ความยุติธรรม คือการวางตนเป็นกลาง ไม่ลำเอียงเข้าข้างใครด้วยอคติ เป็นคนตรงไปตรงมากับทุกคน เช่น พ่อแม่ให้ความยุติธรรมต่อลูกทุกคน ผู้ใหญ่ให้ความยุติธรรมต่อผู้น้อย ครูอาจารย์ให้ความยุติธรรมต่อศิษย์ นายจ้างให้ความยุติธรรมต่อลูกจ้าง เพื่อนให้ความยุติธรรมต่อเพื่อน

ให้ความรัก ความอบอุ่น ทำตนให้เป็นคนมีเมตตากรุณา ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายผู้อื่นด้วยวาจาอ่อนหวาน ไม่โกรธง่าย

ให้กำลังใจ คือพูดจาให้ผู้อื่นเกิดกำลังใจ เมื่อเขามีความท้อแท้สิ้นหวัง หรือเมื่อเขาจะเริ่มต้นการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เขาเกิดความหวัง เห็นความสำเร็จข้างหน้า

ให้สติ คือการเตือนใจให้เกิดสติ เมื่อเขาทำผิดพลาดเสียหาย หรือกำลังจะเดินทางผิดคิดไม่ชอบ การปลอบใจให้เขาคลายทุกข์ คลายความเศร้าโศก เมื่อเขาต้องสูญเสียพลัดพราก จากบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รัก การแสดงความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเขาประสบความวิบัติเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่ง การเตือนสติแก่คนอื่นอย่างนี้ จัดเป็นธรรมทาน

ธรรมทานดังกล่าวมา ล้วนเป็นสิ่งเชื่อมประสานใจ เช่นเดียวกับอามิสทาน แต่ท่านแสดงธรรมทานว่าเลิศกว่าอามิสทาน เพราะอามิสทาน ไม่คงทนถาวร สามารถแปรเปลี่ยนได้ง่าย ตามกาลเวลาและสภาพของวัตถุสิ่งของนั้น และเป็นประโยชน์เฉพาะร่างกายโดยตรงเท่านั้น

ส่วนธรรมทานนั้นมั่นคงกว่า และเข้าไปถึงจิตใจของผู้รับ ทำให้ผู้รับเกิดสติปัญญาความรู้ เกิดกำลังใจ ได้สติ ได้ความอบอุ่นใจ มองเห็นทางก้าวหน้า มีความมั่นใจในการดำรงชีวิต และธรรมทานนั้นยังสามารถนำผู้รับให้บรรลุถึงคุณธรรมความดีจนถึงมรรคผลนิพพานได้ ธรรมทานจึงจัดว่าเป็นเลิศ ดังที่ตรัสไว้ว่า การให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง

ไม่ว่าจะเป็นอามิสทาน หรือ ธรรมทาน จะเลิศหรือยอดเยี่ยมกว่ากันอย่างไร ทานทั้ง 2 อย่างนี้ ล้วนมีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะการอยู่ร่วมกันจำต้องพึ่งพิงอาศัยกัน ช่วยเหลือกันไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

คนที่มีอัธยาศัยในการให้ ย่อมแสดงออกซึ่งอัธยาศัยของตนด้วยการให้ตามจังหวะและโอกาส ไม่มีความตระหนี่เสียดาย คิดมุ่งแต่จะให้โดยตลอด เมื่อถึงคราวเอื้อเฟื้อ ก็เอื้อเฟื้อด้วยวัตถุสิ่งของ ถึงคราวให้อภัยก็ให้อภัย ถึงคราวให้ความรักความอบอุ่น ก็ให้ความรักความอบอุ่น ถึงคราวให้กำลังใจให้สติ ก็ให้กำลังใจ ให้สติ ถึงคราวให้ความยุติธรรม ก็ให้ความยุติธรรม คนที่มีอัธยาศัยในการให้ จิตใจจะอ่อนโยน ยินดีเมื่อได้ให้ ชื่นชมเมื่อเห็นคนอื่นให้

หวั่นไหวเมื่อไม่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ดังใจปรารถนา



ธรรมที่ทำให้งาม

ความงดงาม เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากสนใจและแสวงหาวิธีเพื่อทำให้ตัวเองดูดีมีความมั่นใจมีบุคลิกภาพที่ดี ต้องตาต้องใจสำหรับคนที่พบเห็น คำว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ยังทันสมัยอยู่เสมอ "อาภรณ์เครื่องประดับต่างๆ แต่งกายให้งาม แต่ไม่คงทนถาวร ส่วนธรรมแต่งใจให้งามแบบยั่งยืนเหมาะสมทุกเพศวัย"

คุณธรรมอันทำบุคคลให้งามด้วยกิริยา วาจา และใจ ประดับให้มีความงาม มีอัธยาศัยเรียบร้อย จิตใจมีความเยือกเย็น มี 2 อย่าง คือ 1.ความอดทน 2.ความเสงี่ยม

1.ความอดทน เพื่อบรรลุความดีงาม ทนได้เมื่อถูกกระทบกับสิ่งอันไม่พึงปรารถนา เป็นลักษณะของกายและใจที่พร้อมจะเผชิญกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ โดยไม่มีความย่อท้อ มีลักษณะ เช่น

- อดทนต่อความตรากตรำ ความทุกข์ยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย ปัญหาอุปสรรค ที่เกิดขึ้นจากการทำงานหรือการดำเนินชีวิต

- อดทนต่อความลำบาก ต่อทุกขเวทนาอันเกิดจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ความทุกข์ทรมาน จะมีอาการแรงกล้าอย่างไรก็ตาม ไม่แสดงอาการกระสับกระส่ายจนเกินเหตุ มีความอดทนอดกลั้นอยู่เสมอ ใจไม่หวั่นไหวอ่อนแอเกินไป เพราะตระหนักในความจริงว่า ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาของคนเรา

- อดทนต่อความเจ็บใจ สามารถอดทนต่ออาการหมิ่นประมาทที่ผู้อื่นกระทำแก่ตน คำด่า คำกระทบเสียดสี โดยควบคุมความโกรธไว้ได้ ไม่ทำร้ายโต้ตอบผู้นั้น

ความอดทนคือ ความอดกลั้น ทำให้เป็นคนหนักแน่น รู้จักควบคุมจิตใจตนเองไว้ได้ และเป็นเหตุให้เป็นที่นิยมรักใคร่ของคนทั่วไป เพราะสามารถข่มใจชนะกิเลสคือ ความโกรธและความคิดประทุษร้ายได้อย่างราบคาบ เป็นผู้งดงามอย่างแท้จริง

2.ความเสงี่ยม มีความสงบเจียมตัว มีอัธยาศัยงาม เรียบร้อย เป็นคุณธรรมสนับสนุนความอดทน เมื่อสามารถอดทนได้แล้วพยายามสงบใจ ทำใจให้เย็น ให้ปลอดโปร่ง ไม่เก็บเอาความลำบาก ความเจ็บปวด ความเจ็บใจนั้นมาคิดอีก เมื่อใจสงบเย็นได้แล้วกิริยาทางกายและคำพูดที่แสดงออกจะสงบเสงี่ยมเรียบร้อยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นลักษณะของบุคคลผู้มีจิตองอาจ สู้ทน ไม่วู่วาม ไม่หวั่นไหวเพราะรักหรือชัง หากแต่มีใจคอหนักแน่นมั่นคงอยู่เสมอ

ผู้มีความสงบเสงี่ยม ย่อมรู้จักทำจิตของตนให้แช่มชื่น มีกิริยาสงบเสงี่ยมสม่ำเสมอ ไม่แสดงกิริยาวาจาให้ผิดปกติจากที่เคยเป็น เช่น ไม่หน้าบึ้งเมื่อโกรธ ไม่ด่าตอบเมื่อถูกดูหมิ่น และไม่ครวญครางเมื่อคราวเจ็บไข้ได้ป่วย

ความอดทนและความสงบเสงี่ยม เป็นธรรมสนับสนุนส่งเสริมกันให้มีกำลังยิ่งขึ้น หากมีแต่ความอดทนเพียงอย่างเดียว แต่ขาดความสงบเสงี่ยม ยังไม่ชื่อว่ามีความงามภายในจิตใจอย่างแท้จริง เช่น เมื่อถูกเขาด่า แม้อดทนได้ ไม่โต้ตอบ แต่ภายในใจยังคุกรุ่นด้วยความอาฆาตพยาบาทจองเวร อาการที่ไม่พอใจนั้นจะปรากฏออกมาทางกาย เช่น หน้าแดง มือสั่น ปากสั่น

ความอดทนและความเสงี่ยมเรียบร้อย เป็นธรรมอันทำให้งาม เพราะห้ามกายใจไม่ให้แสดงกิริยาอาการที่ไม่สมควรหรือไม่งดงาม ทำให้เสียบุคลิกภาพและเสียสุขภาพจิตได้ เป็นหลักฝึกหัดให้บุคคลรู้จักควบคุมตัวเอง โดยไม่ต้องมีใครบังคับ

แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจ น่าชื่นชมสรรเสริญ ยิ่งนัก ไม่มีเวรภัย เป็นที่รักชอบใจของบุคคลจำนวนมาก



ธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา

ธรรมะที่ทำให้คนเป็นเทวดา ท่านเรียกว่า เทวธรรม ได้แก่ หิริและโอตตัปปะ

หิริ ความละอาย หมายถึง ละอายแก่ใจตนเองรังเกียจต่อการประพฤติทุจริตทางกาย วาจา และใจ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

เปรียบเหมือนชายหนุ่ม หญิงสาว ผู้กำลังรักสวยรักงาม อาบน้ำชำระกายแล้ว แต่งตัวด้วยเครื่องนุ่งห่มอันสะอาด จะพึงขยะแขยงต่อของสกปรกโสโครก อันจะมาเปื้อนกายหรือเครื่องนุ่งห่ม

โอตตัปปะ หมายถึง ความเกรงกลัวต่อบาป ความผิด ไม่กล้าทำผิด จะทำผิดก็รู้สึกว่าฝืนความรู้สึกของตนเอง พอใจจะทำแต่การกระทำที่ตนรู้สึกว่าถูกว่าชอบเท่านั้น มีความรู้สึกเกรงว่า เรื่องที่ตนจะทำนั้นจะผิดทำนองคลองธรรม ผิดธรรมเนียม ผิดระเบียบแบบแผนของสังคม

ความเกรงกลัวต่อบาปเป็นลักษณะทั่วไปของโอตตัปปะ คนผู้มีโอตตัปปะย่อมพรั่นพรึงต่อทุจริตทางกาย วาจา และใจ เปรียบเหมือนคนผู้รักชีวิต เห็นอสรพิษหรือสัตว์ร้ายแล้วย่อมสะดุ้งกลัว

หิริและโอตตัปปะเป็นธรรมคู่กันมีมาในที่ทุกสถาน จัดว่าเป็นเทวธรรม คือ ธรรมของเทวดา

เทวดาท่านแบ่งไว้เป็น 3 ประเภท คือ สมมติเทวดา อุปปัตติเทวดา และวิสุทธิเทวดา

สมมติเทวดา คือ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชาผู้ครองแผ่นดิน มีคำเรียกของพสกนิกรว่า เทวะ พระราชาผู้สมมติเทพย่อมทรงหิริโอตตัปปะ และทรงตั้งอยู่ในธรรมสุจริต

อุปปัตติเทวดา คือ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ ภุมมเทวดา คือเทวดาผู้สิงสถิตอยู่บนแผ่นดิน และอากาสัฏฐเทวดา เทวดาผู้สิงสถิตในอากาศที่เรียกว่า สวรรค์ อุปปัตติเทวดานั้นย่อมถือกำเนิดเป็นเทวดาและตั้งอยู่ได้ เพราะกุศลธรรมที่ได้อบรมมาแล้วและยังอบรมอยู่ เว้นกุศลธรรมนั้น ย่อมจุติตั้งอยู่ไม่ได้

วิสุทธิเทวดา คือ เทวดาโดยความหมดจดวิเศษ ได้แก่ พระอรหันต์ พระอรหันต์ทั้งปวงย่อมทรงเทวธรรมประจำองค์

บุคคลควรตั้งอยู่ในหลักแห่งเทวธรรมทั้ง 2 ประการ คือ หิริ ความละอายแก่ใจ และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความผิด เป็นเหตุให้ได้รับผลานิสงส์ คือความบริสุทธิ์สะอาด ทางกาย วาจา และใจ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงเทวธรรม ธรรมของเทวดานั่นเอง  



ธรรมะที่ควรตั้งไว้ในใจ

คนที่มีความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว อาจจะทำการงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปได้ แต่ไม่สามารถที่จะเป็นที่รัก เป็นที่นับถือของคนรอบข้างได้ เพราะปราศจากคุณธรรมที่สมควรจะมีไว้ในตนเอง ดังภาษิตที่ว่า "ความรู้ คู่คุณธรรม" นั่นเอง

ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ 4 ประการ คือ

1.ปัญญา แปลว่า ความรู้ชัด รู้ทั่ว เช่น การศึกษาเล่าเรียน จะเรียนรู้อะไรสักอย่างหนึ่งก็จะต้องศึกษาในเรื่องนั้นๆ ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ชัดเจน จึงจะเรียกได้ว่า สำเร็จประโยชน์ในการเรียน ไม่มีความบกพร่อง จนในที่สุดก็สามารถที่จะรู้เหตุและผลของสิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง

ปัญญานี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเหตุ 3 ประการ คือ ปัญญาเกิดจากการฟัง ปัญญาเกิดจากการคิด และปัญญาเกิดจากการอบรม

2.สัจจะ แปลว่า ความจริง คือ จริงใจ ประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้ทำจริง เช่น ตั้งใจไว้ว่า จะศึกษาเล่าเรียน จะปฏิบัติกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องทำอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคเข้ามาเบียดเบียนขัดขวาง ก็จะต้องใช้ความพยายามฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นให้ได้ จนสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ต้องการ

ความจริงใจนี้จะต้องแสดงต่อบุคคลอื่นทางกาย วาจาและใจ อีกทั้งเวลาจะทำ พูด และคิด ก็จะต้องมีแต่ความจริง คนจริงต่อหน้าที่ ต่อเวลา ต่อบุคคล ย่อมมีแต่คนเคารพนับถือ ยกย่อง ดังภาษิตที่ว่า "คนได้เกียรติ เพราะความสัตย์"

3.จาคะ แปลว่า ความสละ ได้แก่ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ เริ่มต้นตั้งแต่การเสียสละ ให้ปันสิ่งของแก่คนอื่น จนถึงการสละกิเลสที่มีอยู่ในตน

4.อุปสมะ แปลว่า ความสงบ คือ สงบกาย สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ คือ กิเลส ระงับความขัดข้อง วุ่นวายอันเกิดจากการถูกกิเลสเข้าครอบงำเสียได้ ทำให้จิตใจมีแต่ความสงบ ปราศจากกิเลส ความเศร้าหมองใจ


คนทุกคนที่เกิดมา ล้วนไม่มีสิ่งใดติดตัวมา เมื่อโตขึ้นก็สั่งสมสติปัญญาจนสามารถที่จะสร้างความเจริญให้แก่ตนเองโดยลำดับ การคบหากันก็จะมีมากขึ้น จำต้องมีสัจจะ ความจริงใจซื่อสัตย์ต่อกัน จึงจะได้รับการยกย่องนับถือ ต้องมีจาคะ เสียสละให้ปัน การอยู่ร่วมในสังคมหมู่มาก ย่อมที่จะกระทบกระทั่งกันบ้าง จำต้องมีความสงบใจ ไม่ปล่อยให้จิตใจตกไปในอำนาจกิเลส ชีวิตจึงจะประสบแต่ความสุขตลอดไป

ดังนั้น ธรรมทั้ง 4 ประการนี้ ถ้าอบรมให้เกิดมีขึ้นในจิตใจหรือตั้งธรรม 4 ประการนี้ไว้ในใจแล้ว ก็สามารถที่จะทำให้ประสบกับสมบัติอันจะพึงมีพึงได้ต่อไปในอนาคต  



ธรรมของมนุษย์

ธรรมของมนุษย์ หรือธรรมะที่ทำให้เป็นมนุษย์ ได้แก่ เบญจศีลและเบญจธรรม เป็นภารกิจที่มนุษย์ทุกคนจะต้องพยายามรักษาไว้ให้เรียบร้อย มิให้ขาดตกบกพร่อง ให้เหมาะสมกับภาวะที่ตนเป็นมนุษย์ หน้าที่ตามปกติธรรมของมนุษย์ เป็นคนไม่ดุร้าย ไม่เบียดเบียนซึ่งกัน ไม่ประทุษร้ายกัน ไม่อาฆาตพยาบาทจองเวรกัน มีใจประกอบด้วยเมตตากรุณาเป็นอัธยาศัย มีน้ำใจไมตรี มีความปรารถนาดีต่อกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่กัน มีการให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกัน

ในเมื่อฝ่ายผู้ทำผิดได้สำนึกด้วยยอมรับสารภาพผิดและพร้อมกับปฏิญาณตนว่าจะไม่ประพฤติเช่นนั้นต่อไปอีก ความประพฤติดีปฏิบัติชอบอย่างนี้ย่อมเป็นมงคลเหตุให้เกิดความเจริญแก่ตนเอง และเป็นเหตุให้มนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกันมีสันติสุข

หน้าที่ตามปกติธรรมของมนุษย์ เป็นคนไม่มือไว ไม่ลักขโมยกัน ไม่โกงกัน ไม่บังคับขู่เข็ญเอาสมบัติของบุคคลอื่นมาเป็นของตน มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบสัมมาอาชีพ หาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม ตามสมควรแก่ภาวะและฐานะของตน ย่อมได้รับความนิยมยกย่องจากสังคมว่า เป็นคนดี ความประพฤติอย่างนี้เป็นมงคลเหตุแห่งความเจริญแก่ตนเองและทำให้สังคมมีความเจริญรุ่งเรือง

หน้าที่ตามปกติธรรมดาของมนุษย์ เป็นคนไม่ใจเร็ว มีความยับยั้งชั่งใจ รู้จักบังคับตัวเอง ไม่ประพฤติผิดประเวณีในคู่ครองของคนอื่น ยินดีพอใจเฉพาะคู่ครองของตน ไม่ยินดีเกินกว่าสิทธิของตน เคารพในสิทธิการครอบครองของผู้อื่น

แม้สมัยเมื่อตนยังไม่มีคู่ครองก็มีคุณธรรมประจำใจ รู้จักบังคับตัวเองได้ ไม่ทำอะไรตามใจตัว ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจฝ่ายต่ำ ย่อมจะได้รับความนิยมยกย่องจากสังคมว่า เป็นคนดี มีศีลธรรมประจำใจ ความประพฤติอย่างนี้เป็นมงคลแก่ตนเองและทำให้บุคคลทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันในสังคมมีความสงบสุข

หน้าที่ตามปกติธรรมดาของมนุษย์ เป็นคนไม่พูดปด มีความจริงประจำอยู่ในจิตใจ พูดคำสัตย์จริงต่อกัน ไม่โกหกไม่หลอกลวง มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ ย่อมจะได้รับความนิยมยกย่องจากสังคมว่า เป็นคนดี เป็นคนมีศักดิ์ศรีในสังคม ความประพฤติอย่างนี้เป็นมงคลแก่ตนเองและทำให้มนุษย์ในสังคมอยู่ร่วมกันด้วยความไว้วางใจกัน ไม่กินแหนงแคลงใจกัน

หน้าที่ปกติธรรมดาของมนุษย์ ย่อมมีสติสัมปชัญญะระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ ย่อมไม่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสิ่งมึนเมา มีสุราเมรัยและสิ่งเสพติดให้โทษทั้งหลาย ก่อนจะทำ จะพูด จะคิดกิจการใดๆ ย่อมใช้ปัญญาพินิจพิจารณาใคร่ครวญทั้งทางได้และทางเสียอย่างรอบคอบแล้วจึงดำเนินการ ความประพฤติอย่างนี้เป็นมงคลแก่ตนเอง และทำให้สังคมเกิดความเจริญก้าวหน้า

ตรงกันข้าม หากบุคคลมีใจดุร้าย มุ่งแต่จะเบียดเบียนประทุษร้ายกัน เป็นคนมือไว ลักขโมยเขา ชอบประพฤติผิดประเวณีไร้คู่ครองของคนอื่น มีปกติเป็นคนพูดปด ไม่มีความจริงใจต่อกัน มีปกติเป็นคนประมาทลืมตัว ปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกลงเป็นทาสของสิ่งมึนเมาและสิ่งเสพติดให้โทษทั้งหลาย จนขาดสติสัมปชัญญะ ความประพฤติอย่างนี้ เป็นอัปมงคลแก่ตนเอง และเป็นเหตุแห่งความเสื่อมของสังคม

เป็นความประพฤติที่เสียมนุษยธรรม คือเสียหน้าที่ของความเป็นมนุษย์



ธรรมะที่เป็นเหตุ ให้เจริญ

ทุกคนต่างต้องการความสุขความเจริญ ไม่ต้องการพบความเสื่อมเสียหาย ผู้ที่ปรารถนาดีต่อกัน หวังความเจริญต่อกัน มักจะให้พรแก่กันให้พบแต่ความสุขความเจริญ และการที่เราจะได้รับความหวังดีก็เพราะเรามีความหวังดีต่อกัน

ความสุขความเจริญจะเกิดขึ้นได้เพราะตัวของเราเองเป็นสำคัญ และไม่ใช่แต่ความเจริญอย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่ความเสื่อมเสียหายก็เป็นเช่นเดียวกัน ย่อมมีตัวเองเป็นต้นเหตุทั้งนั้น

พึงพิจารณาอยู่เสมอว่า บัดนี้เราเป็นอย่างไร กำลังเจริญหรือเสื่อม เมื่อพิจารณาเห็นว่ากำลังเจริญ ก็ควรจะใคร่ครวญให้ดี ว่าเราเจริญเพราะเหตุไร เมื่อรู้สาเหตุแห่งความเจริญแล้ว พึงพยายามรักษาเหตุนั้นให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป อย่าให้กลับเสื่อมทรามลงได้ หรือถ้าเราเห็นว่ากำลังประสบกับความเสื่อมเสียหาย ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ตรวจตราดูสาเหตุแห่งความเสื่อมเสียนั้นๆ แล้วละสาเหตุนั้นเสีย ประกอบแต่เหตุแห่งความสุขความเจริญ เพื่อแก้ไขความเสื่อมเสีย เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ก็จะพบแต่ความสุขความเจริญ

ความเจริญ มีความเกี่ยวเนื่องด้วยเหตุ 4 ประการ คือ ถิ่นที่อยู่ การคบหาสมาคม การตั้งตนไว้ชอบ และบุญกุศลในหนหลัง

ถิ่นที่อยู่ ต้องเป็นถิ่นที่อยู่อันเจริญ ไม่ขัดสนกันดาร สมบูรณ์ด้วยปัจจัย 4 มีความเป็นอยู่สุขสบาย มีคนดีทรงคุณธรรม ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ และแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ทำตามด้วย แม้ได้เกิดในถิ่นที่เจริญ มีคนดีทรงคุณธรรมดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่เข้าไปคบหาสมาคมกับท่านก็ยากที่จะเจริญได้

การคบหาสมาคมกับคนดี คือ การเข้าไปศึกษารับฟังคำสั่งสอนของท่าน ให้รู้บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ไต่ถามข้อที่สงสัยให้เข้าใจ สนใจในการประพฤติปฏิบัติให้กาย วาจา ใจ สงบจากบาปทุจริต การศึกษาคุณธรรม วิชาธรรมจากท่านดังนี้ จึงเรียกว่าการคบสัตบุรุษ แม้การเข้าไปใกล้คบหาคุ้นเคยกับสัตบุรุษแล้ว แต่หาได้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของท่านไม่ กลับประพฤติปฏิบัตินอกลู่นอกทางคำสอนท่าน ชื่อว่าไม่สำเร็จประโยชน์แก่ตน ไม่ส่งผลดีให้เกิดแก่ตนและผู้อื่นแต่อย่างใด ดังนั้น การตั้งตนไว้ชอบจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งนัก

การตั้งตนไว้ชอบ ตามโอวาทของท่านผู้รู้ มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น คือการประพฤติแต่กรรมดี เป็นบุญกุศล ด้วยกาย วาจา และใจ ผู้ประพฤติเช่นนี้ย่อมแคล้วคลาดปราศจากทุกข์ ย่อมได้พบแต่ความสุขความเจริญ

บุญกุศลในหนหลัง ที่ได้ทำไว้ในปางก่อน ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะการได้มาเกิด หรือมาอยู่ในถิ่นที่มีความเจริญรุ่งเรือง ได้คบหาสมาคมกับคนดี ทำให้มีการตั้งตนไว้โดยชอบ ย่อมเป็นผลของบุญกุศลที่ตนได้ทำไว้ในปางก่อนทั้งนั้น

ธรรม 4 ประการดังกล่าวมานี้ เป็นดุจล้อรถ ย่อมหมุนนำพาผู้ประพฤติไปสู่ความเจริญโดยลำดับ เป็นปัจจัยอุดหนุนกันและกัน มีบริบูรณ์อยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ



ทางแห่งความก้าวหน้าในชีวิต

ธรรมะเป็นเหมือนดวงประทีปส่องทางดำเนินชีวิตให้สว่างไสว เป็นประดุจล้อนำรถไปสู่จุดหมาย ผู้ปฏิบัติธรรมจึงมีความเจริญก้าวหน้า ดำเนินชีวิตอย่างไม่ผิดพลาดสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ เกียรติยศ ชื่อเสียง และความสุข นำเสนอหลักธรรมเพื่อความเจริญก้าวหน้า 4 ประการ คือ

1.อยู่อาศัยในถิ่นฐานที่ดี
2.คบคนดีเป็นมิตร
3.ตั้งตนไว้โดยชอบ
4.เคยทำบุญไว้ก่อน


อยู่อาศัยในถิ่นฐานที่ดี มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ที่อยู่อาศัยสะดวกสบายในการประกอบสัมมาอาชีพ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ปราศจากภัยพิบัติอันตราย การคมนาคมไปมาสะดวก ประชาชนเป็นคนดีมีศีลธรรม จึงสามารถดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าได้

คบคนดีเป็นมิตร คนดีนั้นมีลักษณะทำดี พูดดี คิดดี การคบสมาคมกับคนดีเป็นมงคลสำหรับชีวิต มีแต่ความเจริญก้าวหน้า เพราะจะได้รับคำแนะนำที่ดี เป็นประโยชน์ทั้งสอง คือของตนและของผู้อื่น กิริยามารยาทของคนดี เป็นเหตุจูงใจให้เราทำดี เป็นตัวอย่างที่ดี ดังภาษิตที่ว่า คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล

ตั้งตนไว้โดยชอบ คือ วางตัวให้เหมาะสมตามวัย ตามหน้าที่ และตามความถูกต้อง เช่น เป็นเด็กต้องวางตัวให้ดีอ่อนน้อมถ่อมตนเหมาะสมกับวัยเด็ก เป็นผู้ใหญ่ต้องมีจิตใจเมตตากรุณาเหมาะสมที่เป็นผู้ใหญ่ วัยทำงานตั้งใจทำหน้าที่การงานให้ดีทุ่มเทกายใจเต็มกำลังความรู้ความสามารถ โดยมุ่งความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ เชื่อมั่นเสมอว่าทำดีต้องมีผลดีเป็นสิ่งตอบแทน หากทุกคนทุกเพศวัยมีธรรมประจำใจเช่นนี้ ชีวิตจะมีแต่ความเจริญก้าวหน้าสมปรารถนาได้

เคยทำบุญไว้ก่อน ผู้เคยทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ เช่น การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เรียกว่าได้ทำบุญไว้ก่อน บุญจะสนับสนุนให้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีร่างกายสมส่วน มีทรัพย์สมบัติมากมาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่ต้องการ เป็นเหตุให้มีโอกาสได้ทำความดีมีความเจริญก้าวหน้าสืบต่อไป

ธรรมะ 4 ประการนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นเหตุให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองพรั่งพร้อมด้วยโภคสมบัติ บริวารสมบัติ มีความสุขกายสบายใจ



ทำดีได้ดี

คนทั้งหลายเมื่อทำความดีเพียงเล็กน้อย ก็นั่งรอนอนรอ ขอให้ผลดีนั้นตกถึงตนและขอให้ได้ผลเร็วๆ ถ้าความต้องการของเขาสมปรารถนา แสดงว่าเหตุปัจจัยมีพอที่จะเป็นเช่นนั้น กรรมชั่วย่อมให้ผลชั่ว

กรรมย่อมให้ผลตามการกระทำของตน เหมือนบุคคลปลูกขนุนไว้ มันย่อมออกผลมาเป็นขนุน จะนั่งอ้อนวอนสักเท่าใดให้เป็นมะม่วงก็หาสำเร็จไม่

อนึ่งกรรมดีที่บุคคลทำแล้ว จะให้ผลเร็วหรือช้า มากหรือน้อยอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยประกอบในเวลานั้นว่า เปิดโอกาสให้กรรมดีให้ผลมากน้อยเพียงใด

เหตุปัจจัยประกอบที่จะให้กรรมดีให้ผลเร็วหรือช้า มากหรือน้อยนี่เอง ท่านเรียกว่า สมบัติ เป็นเหตุปัจจัยอันอำนวยหรือเปิดช่องให้กรรมดีให้ผลได้มาก

สมบัติ คือ ข้อดี จุดเด่น ความสมประกอบ ความพรั่งพร้อม ความถูกต้อง สิ่งที่เมื่อมีหรือบังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้แก้ปัญหาได้ ผ่านอุปสรรคไปได้

คนทั่วไปต้องการสมบัติ ต้องการความมั่งคั่ง ความสวยงาม และสุขภาพที่ดีด้วยกันทั้งนั้น แต่เพราะเหตุที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย จึงหวังเอาไม่ได้ว่า ขอให้เป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ในคราวใดสิ่งใดเป็นไปตามความต้องการของเรา ย่อมแสดงว่า เหตุปัจจัยพอและสอดคล้องกับความต้องการของเรา

สมบัติ ท่านจำแนกไว้ 4 ประการ คือ

1.คติสมบัติ ได้กำเนิดดี เกิดในที่อันเหมาะสมแก่ความเจริญรุ่งเรือง เกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฐิ มีสติปัญญาดี ความเป็นอยู่ดีและรู้จักทางดำเนินชีวิต

2.อุปธิสมบัติ มีร่างกายดี สง่างาม ไม่พิการ บุคลิกภาพดี มีสุขภาพดี เอื้ออำนวยให้ทำความดีสะดวก ไม่มีอุปสรรคอันเกี่ยวกับร่างกาย มีความพร้อมหรือความสมบูรณ์ด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ ไม่ขาดตกบกพร่อง มีสุขภาพอนามัยดี รูปงามน่าทัศนา

3.กาลสมบัติ เกิดในเวลาที่โลกกำลังเจริญ สังคมบ้านเมืองกำลังรุ่งเรือง ไม่มีการก่อการร้าย สังคมบ้านเมืองมีแต่ความสงบสุขและสันติ

4.ปโยคสมบัติ มีความพยายามดี มีความเพียรเป็นไปสม่ำเสมอ ไม่จับจดหรือจับๆ วางๆ และมีความเพียรแต่พอดี ประคับประคองให้พอดี ไม่หย่อนเกินไปและไม่ตึงเกินไป

ผู้ประกอบด้วยสมบัติ จะทำให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น บางคนได้ดีเพราะกำเนิดดี บางคนเพราะร่างกายดี บางคนเพราะโอกาสดี และบางคนเพราะมีความเพียรดี บางคนเพราะประกอบกันหมดทุกอย่าง บางคนขาดบ้างได้บ้าง ส่วนมากอยู่ในประเภทหลังนี้ อย่างอื่นเราเลือกได้ยากเพราะได้มาเสียแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เรามีสิทธิมีโอกาสเท่ากันทุกๆ คน นั่นคือความเพียรพยายาม เป็นสิ่งที่เราทำให้เกิดขึ้นได้ แม้จะขาดสมบัติอย่างอื่นไปบ้าง

แต่ถ้ามีความเพียรแรงกล้าแล้วจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการไม่น้อยเลย



พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 กุมภาพันธ์ 2561 10:26:36 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.132 Chrome 63.0.3239.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 02 กุมภาพันธ์ 2561 10:45:15 »



ความไม่โกรธ

ความไม่โกรธ คือ กิริยาที่ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ตลอดถึงไม่พยาบาทมุ่งร้ายผู้อื่น แม้จะต้องลงโทษทำผิดก็ทำตามเหตุผล ไม่ทำด้วยอำนาจของความโกรธ

คนผู้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เมื่อข่มใจไว้ไม่ได้ เกิดโกรธต่อกันขึ้น และผูกเวรไว้ก็เป็นบ่อเกิดให้เกิดโทสะ ความประทุษร้ายกันทางใจก่อน แล้วประทุษร้ายกันทางกาย ทางวาจาสืบไป อันเรียกว่า พยาบาท ทำให้อยู่ด้วยกันไม่เป็นสุข ต่อเมื่อรักษาใจข่มใจไว้ไม่เกิดโกรธขึ้น หรือเมื่อเกิดโกรธขึ้นในใจ ก็ระงับไว้ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏ ไม่ปฏิบัติลุอำนาจแห่งความโกรธ ก็จะอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นสุข

ความไม่โกรธจะมีได้ก็เพราะมีเมตตา หวังความสุขความเจริญแก่ตนและต่อกันและกัน คนที่เป็นหัวหน้าปกครอง หรือเป็นผู้อยู่ในปกครอง เมื่อแสดงความโกรธออกมาให้ปรากฏก็แสดงว่าตนเองลุอำนาจของความโกรธ กิริยาที่แสดงความโกรธออกมานั้นก็ไม่งาม

ข้อที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอัธยาศัยประกอบด้วยพระเมตตา ไม่ทรงปรารถนาก่อภัยก่อเวรให้ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ทรงพระพิโรธด้วยเหตุที่ไม่ควร แม้มีเหตุให้ทรงพระพิโรธ แต่ก็ทรงข่มเสียได้ ให้สงบระงับอันตรธาน ทรงปฏิบัติโดยโยนิโสมนสิการ คือการใส่ใจพิจารณาจนพบต้นเหตุของความโกรธ

ความไม่โกรธ คือความที่ไม่ลุอำนาจต่อความโกรธ อันรวมความถึงโทสะพยาบาทอันจะทำให้ทำร้ายผู้อื่นสัตว์อื่นด้วยอำนาจของความโกรธ ซึ่งหมายถึงความที่มีเมตตานั้นเอง แต่การที่ไม่ยกเอาเมตตาเป็นที่ตั้ง แต่ยกเอาความไม่โกรธเป็นที่ตั้ง ก็เพื่อที่จะจี้จุดอันสำคัญของผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ซึ่งตั้งแต่โบราณกาลมามักจะเป็นผู้ที่ลุอำนาจของความโกรธ เมื่อโกรธขึ้นมาก็มักจะสั่งทำร้ายผู้ที่ถูกโกรธนั้น

เพราะฉะนั้น จึงต้องคอยที่จะเอาอกเอาใจเพื่อไม่ให้โกรธ โดยการที่พยายามตามใจต่างๆ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีอำนาจแต่ไม่มีธรรม จึงมักจะเป็นผู้โกรธง่าย สั่งทำร้ายใครง่ายๆ ดังที่ปรากฏมาในโบราณ

เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงธรรมะของผู้ปกครอง ได้ยกเอาความไม่โกรธขึ้นมาตั้งไว้เป็นหัวข้อโดยความก็คือความมีเมตตานั่นเอง เพราะบรรดาผู้ปกครองตั้งแต่ในอดีตมาเมื่อมีอำนาจขึ้น แม้ว่าโกรธ แต่ว่าลุอำนาจของความโลภความหลง ไม่ได้พิจารณาให้เหมาะสมกับการสั่งปฏิบัติการต่างๆ เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วยอำนาจของโลภะบ้าง

ด้วยอำนาจของโมหะคือความหลงบ้าง เช่นว่าเมื่อไปที่ไหน เมื่อเห็นสิ่งที่ชอบใจ ก็มักจะหาทางที่จะนำมาให้ได้เป็นของของตน จะเป็นทรัพย์สินก็ดี จะเป็นแก้วแหวนเงินทองก็ดี เพราะฉะนั้นผู้ที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ จึงมักจะต้องคอยซ่อนเร้นไม่ให้ผู้ปกครองที่มีอำนาจได้เห็น เพราะฉะนั้นจึงต้องยกเอาข้อความกรุณาขึ้นมาเป็นที่ตั้ง เพราะความกรุณานั้นได้แก่ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ และปฏิบัติช่วยให้พ้นทุกข์

กรุณาข้อนี้ ถือได้ว่าเป็นคุณอันสำคัญของพระพุทธ เจ้าในพระคุณทั้ง 3 คือ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ

พระมหากรุณาคุณนั้น นับเป็นพระคุณที่ 3 ของพระพุทธเจ้า ได้แก่ การที่มีพระกรุณาอันแสดงออกเป็นการเสด็จจาริกไปทรงแสดงธรรมสั่งสอนโปรดหมู่ชนที่พึงแนะนำได้ ให้ได้ประสบประโยชน์ตามภูมิตามชั้น และพระมหากษัตริย์ก็มีคำว่า พระมหากรุณาธิคุณ และใช้เป็นคำนำ เช่นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม คำว่า กรุณานี้ก็เป็นการปฏิบัติที่ช่วยให้พ้นทุกข์ คือเป็นการปฏิบัติช่วยเหลือต่างๆ ที่ได้ทำแก่ประชาชนในด้านต่างๆ แสดงออกมาถึงความกรุณา และแม้กรุณานี้ก็ยังเนื่องด้วยเมตตานั้นเอง จะต้องมีเมตตาความมุ่งดีปรารถนาดีเป็นพื้นฐานของจิตใจอยู่

จึงจะมีกรุณาความช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ได้



ประพฤติชั่ว

ทุจริต แปลว่า การประพฤติชั่ว การประพฤติไม่ดี หมายถึง การประพฤติที่เสียหาย การประพฤติที่ผิดศีลธรรม บางอย่างอาจผิดกฎหมาย หรือพฤติกรรมที่คนเราแสดงออกต่อผู้อื่นในทางที่ไม่พึงประสงค์ ไม่เป็นที่น่าปรารถนา ไม่เป็นอย่างอารยชน จัดตามช่องทางการประพฤติของคนเราเป็น 3 ทาง คือ

1.การประพฤติชั่วทางกาย เรียกว่า กายทุจริต
2.การประพฤติชั่วทางวาจา เรียกว่า วจีทุจริต
3.การประพฤติชั่วทางใจ เรียกว่า มโนทุจริต

มีอธิบายดังนี้

1.กายทุจริต หมายถึง การประพฤติชั่วทางกาย ได้แก่ การใช้กายทำความชั่วเลวทราม ต่อผู้อื่นหรือสัตว์อื่น จำแนกเป็น 3 อย่าง คือ
1) การฆ่าทำลายชีวิตผู้อื่น
2) การลักทรัพย์
3) การประพฤติในกามทั้งหลาย

2.วจีทุจริต หมายถึง การประพฤติชั่วทางวาจา คือ การใช้คำพูดที่ชั่วหยาบต่อผู้อื่น จำแนกเป็น 4 อย่าง คือ
1) การพูดเท็จ
2) การพูดส่อเสียด
3) การพูดคำหยาบ
4) การพูดเพ้อเจ้อ

3.มโนทุจริต หมายถึง ความประพฤติชั่วทางใจ คือ การปล่อยจิตให้คิดชั่วร้าย จำแนกเป็น 3 อย่าง คือ
1) ความโลภอยากได้ของของคนอื่น
2) ความคิดปองร้ายผู้อื่น
3) ความเห็นผิดจากคลองธรรม

ทุจริต 3 อย่างนี้ เป็นธรรมที่ควรละ คือ เป็นสิ่งไม่ควรทำ ไม่ควรประพฤติ แต่ควรละเสีย

ในทุจริตทั้ง 3 นั้น มโนทุจริตนับว่าสำคัญที่สุด เพราะสิ่งทั้งหลายขึ้นอยู่ที่ใจ เมื่อใจคิดชั่วแล้ว พฤติกรรมทางกายและวาจาก็เป็นไปในทางชั่วตามที่ใจบงการ

คนที่มีความประพฤติเสียหรือคนที่เสียความประพฤติ ย่อมจะเอาดีหรือทำความดีอื่นๆ ไม่ขึ้น และไม่เป็นที่น่าคบหาของใครๆ เพราะเขากลัวว่าจะทำให้เขาเสียหายไปด้วย ดังนั้น ผู้มีความประพฤติเสียจัดว่าเป็นผู้มีวิบัติติดตัว เรียกว่า มีอาจารวิบัติ



ประพฤติดี

สุจริต แปลว่า การประพฤติชอบ การประพฤติดี หมายถึง การประพฤติที่เป็นเหตุให้บุคคลเป็นคนดี เป็นที่พึงประสงค์ เป็นที่ปรารถนาของอารยชน

คนเราจะมีคุณค่า หรือมีความดีที่คนอื่นเห็นความสำคัญ ให้ความยกย่องนับถือ หรือไว้เนื้อเชื่อใจ ยอมคบหาสมาคมเพราะมีดีอยู่ในตัว เช่น มีรูปร่างหน้าตาดี มีทรัพย์ดี เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คือ การประพฤติดี เพราะคนที่มีความประพฤติดีเป็นพื้นฐาน แม้ดีอย่างอื่นจะบกพร่องไปบ้าง ก็ยังพอจะเอาตัวรอดเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของคนอื่นได้ หรือยังพอที่จะแสวงหาความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเองได้

ผู้มีความประพฤติดีจึงเป็นผู้มีสมบัติติดตัว เรียกว่า มีอาจารสมบัติ ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักสุจริตธรรม เป็นเครื่องกำหนดวัดบุคคลว่าเป็นผู้มีความประพฤติดี คือ มีพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกทางกายและทางวาจาในทางที่ดี รวมถึงความนึกคิดที่ดีอันเป็นเหตุแห่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้น จำแนกตามเป็น 3 ทาง คือ

1.กายสุจริต
หมายถึง การประพฤติดีทางกาย ได้แก่ การเว้นคือไม่ใช้กายทำความชั่วเลวทรามต่อผู้อื่นหรือสัตว์อื่น จำแนกเป็น 3 อย่าง คือ
1.เว้นจากการฆ่าสัตว์
2.เว้นจากการลักทรัพย์
3.เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

2.วจีสุจริต หมายถึง การประพฤติดีทางวาจา ได้แก่ การงดเว้นคือไม่ใช้คำพูดที่ชั่วหยาบต่อผู้อื่น จำแนกเป็น 4 อย่าง คือ
1.เว้นจากการพูดเท็จ
2.เว้นจากการพูดส่อเสียด
3.เว้นจากการพูดคำหยาบ
4.เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

3.มโนสุจริต หมายถึง ความประพฤติดีทางใจ ได้แก่ ความรู้จักยั้งคิดไม่ปล่อยจิตให้คิดชั่วร้ายหมายปองทรัพย์สินหรือชีวิตของ ผู้อื่น แต่ให้คิดดีถูกต้องตามหลักกุศลธรรม จำแนกเป็น 3 คือ
1.ความไม่โลภอยากได้ของเขา
2.ความไม่พยาบาทปองร้ายเขา
3.ความเห็นชอบตามคลองธรรม

สุจริต 3อย่างนี้ เป็นธรรมที่ควรเจริญ คือ เป็นสิ่งที่ควรทำ ควรประพฤติ ควรเจริญให้เกิดมีขึ้นในตน

การทำบุญย่อมอำนวยผลให้บุคคลผู้กระทำมีความสบายกาย สบายใจ และเมื่อตายไปแล้ว ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เรียกว่าไปดี การประพฤติสุจริตนั้นเป็นเหตุให้เกิดความสุข คือ ความสบายกาย ความสบายใจ

ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุคือการทำความดี



ประทีปส่องทาง

ชีวิตของคนเราที่เป็นไปในปัจจุบันนี้ มักมีปัญหาให้คิดกันอยู่เสมอมาทุกยุคทุกสมัย สมัยใดมีผู้รู้แจ้งเห็นจริงเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ชาวโลกดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องได้ การเกิดขึ้นของท่านผู้รู้เหล่านี้ จึงเป็นเหมือนหนึ่งดวงประทีปที่ส่องสว่างโชติช่วงขึ้นในท่ามกลางความมืดมน ทำให้ชาวโลกได้รับรู้เห็นสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น

ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเกิดขึ้นมาในโลก ชาวโลกได้พากันดิ้นรนแสวงหาทางที่จะนำชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์กันแล้ว แต่การแสวงหาทางพ้นทุกข์ในสมัยก่อนพุทธกาลนั้น ต่างพากันปฏิบัติไปตามความเห็นของตนว่าถูกต้องแล้ว ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรแน่นอนเท่าใดนัก เจ้าสำนักทั้งหลายในสมัยนั้นจึงเกิดขึ้นมากมาย ตั้งตัวเป็นอาจารย์กัน ต่างสอนหลักการอันเป็นความเห็นส่วนตัวแก่ชาวโลก

บางอาจารย์สอนว่า ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ เมื่อเสียชีวิตไปแล้วก็สูญสิ้นไป ไม่มีการเกิดอีก เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องไปสร้างกรรมดีให้เสียเวลา เพราะผลแห่งกรรมดีก็ไม่มี ผลแห่งความชั่วก็ไม่มี การบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็ไม่มี มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่ต้องเกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น ชีวิตของเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงควรแสวงหาความสุขใส่ตัวให้เต็มที่ ใครจะเดือดร้อนก็ช่าง ไม่สนใจเพราะเกิดมาเพียงชาติเดียวเท่านั้น ตายไปแล้วก็สูญไป ไม่เกิดอีก นรกสวรรค์ไม่มี เป็นเรื่องเท็จทั้งนั้น คนที่เชื่อในลัทธิเหล่านี้ จึงหมดความเกรงกลัวต่อบาป หมดความละอายต่อการกระทำความชั่ว

บางอาจารย์สอนว่า การกระทำความดี-ชั่ว เมื่อทำแล้วสักแต่ว่าทำเท่านั้น ไม่มีผลใดๆ

บางอาจารย์สอนว่า คนเราจะดีหรือชั่วก็เป็นเอง จิตจะบริสุทธิ์ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องไปฝึกหัดปฏิบัติให้เสียเวลา การนั่งภาวนาเพื่อกำจัดกิเลสออกจากจิตถือว่าไม่มีประโยชน์อะไร

บางอาจารย์สอนว่า คนเราจะดีหรือชั่ว อยู่ที่อิทธิพลของดวงชะตา แล้วแต่ดวงดาวที่โคจรไปมาในจักรราศี ถ้าดวงดาวโคจรเข้าสู่ราศีที่ไม่ดี ถึงจะทำดีมากเพียงใด ไม่สามารถประสบผลดีได้ ถ้าดวงดาวโคจรสู่ราศีที่ดีแล้ว ถึงจะทำชั่ว ถือว่าไม่เป็นไร ดวงช่วยไว้ได้

บางอาจารย์สอนว่า ชีวิตของสรรพสัตว์ พระพรหมสร้างมาทั้งนั้น คนเราจะดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับพระพรหม หรือพระเจ้าเป็นผู้ลิขิต เมื่อเราประสบความทุกข์ ต้องก้มหน้าเดินไปบนเส้นทางชีวิต ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานนั้น ต้องยอมรับเอาความทุกข์ด้วยความภักดี ไม่คิดแก้ไขให้ดีขึ้นได้

พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นท่ามกลางเจ้าสำนักครูอาจารย์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้อริยสัจธรรม ทรงเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ฝึกบุรุษที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงจำแนกเปิดเผยธรรมทุกอย่าง ทั้งที่เป็นส่วนดี ควรปฏิบัติตาม ทั้งที่เป็นส่วนไม่ดี ควรงดเว้น ทรงสอนให้ชาวโลกได้ทราบถึงกฎแห่งความเป็นจริงว่า ไม่มีผู้ใดสร้างขึ้น

แต่กระบวนการของชีวิตที่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม



บุญนำให้ดี

คำว่าบุญ หมายถึง ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ใจ ธรรมชาติที่ชำระจิตใจให้สะอาดให้ผ่องใส มีผลได้แก่ความสุขที่เกิดทางใจ

บุญเกิดได้หลายทาง เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ดังนี้

1.ทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ได้แก่ วัตถุสิ่งของให้ธรรมะเป็นทาน เรียกธรรมทาน ให้อภัย เรียกอภัยทาน
2.ศีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ได้แก่ การปฏิบัติตามข้อห้ามตามที่ทรงบัญญัติในพระปาติโมกข์เพื่อกำจัดกิเลส
3.ภาวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ได้แก่ การปฏิบัติใจเพื่อกำจัดกิเลส แบ่งเป็น สมถะภาวนา และวิปัสสนาภาวนา
4.ไวยาวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือกิจการสงฆ์และภาระพระศาสนา
5.อปจายนะมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการมีกิริยาอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณและคนทั่วไป
6.ปัตติทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
7.ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงอนุโมทนาในส่วนบุญร่วมกับผู้อื่น
8.ธัมมเทศนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ได้แก่การอธิบายบรรยายธรรมะให้แก่ผู้ร่วมโลกที่ร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย
9.ธัมมัสสวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ได้แก่ การฟังธรรมและนำข้อธรรมมาประพฤติปฏิบัติให้พ้นทุกข์
10.ทิฏฐชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรงเป็นสัมมาทิฏฐิเชื่อในธรรมและการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ในบรรดาสิ่งที่อาจช่วยเราได้ในโลก ไม่มีอะไรจะวิเศษเท่ากับบุญเลย คนบางคนช่วยเราได้อย่างมากก็เพียงช่วงระยะเวลาจากเปลไปสู่หลุมฝังศพเท่านั้น แต่บุญที่เราทำไว้มากๆ นี้ จะช่วยเราได้ตั้งแต่ก่อนเกิด เกิดแล้วยังตามช่วย ตายแล้วยังตามช่วย แม้การบรรลุจุดหมายสูงสุดทางพระพุทธศาสนา คือการบรรลุพระนิพพาน บุญนี้เท่านั้นที่ช่วยเรา

บุญกิริยาวัตถุทั้ง 10 ประการนี้ เป็นวิธีทำบุญในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนิกชนสามารถประพฤติปฏิบัติในข้อใดข้อหนึ่งได้ตามอัธยาศัย ซึ่งล้วนแต่เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ เป็นทางแห่งการสั่งสมบุญทั้งนั้น ขอให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติเท่านั้นก็จะเป็นบุญกุศลทั้งสิ้น

เมื่อทราบชัดบ่อเกิดแห่งบุญ คือ บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ เช่นนี้แล้ว ควรที่จะเร่งรีบทำบุญทำความดีบ่อยๆ ตามอัธยาศัย ตามโอกาสอำนวยที่สามารถจะทำได้ และเมื่อบุญหรือความดีที่ทำไว้นั้น มากพอสมควร บุญนั้นก็จักบันดาลให้ประสบความสุขความเจริญ ทั้งในภพนี้และภพหน้า



บุญเป็นชื่อของความสุข

บุญ หมายถึง ความดี ผู้ที่ปรารถนาจำต้องรู้ว่าอะไรเป็นบุญ จะได้บำเพ็ญให้สำเร็จผล สมความมุ่งหมายได้ ผู้ที่ปฏิบัติด้วยนิยมตามๆ กันมา ไม่รู้ว่าอะไรเป็นบุญ จะปฏิบัติให้ถูกต้องไม่ได้ แม้จะปฏิบัติด้วยความงมงาย ก็ไม่นำให้สำเร็จประโยชน์

เพราะฉะนั้นผู้ปรารถนาจะทำบุญ จึงต้องรู้ว่า บุญนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร ถ้าปฏิบัติแล้วไม่อาจชำระสันดานให้ผ่องใสบริสุทธิ์ได้ หรือไม่นำให้เกิดความฉลาดว่า สิ่งนี้ชอบ สิ่งนี้ไม่ชอบ สิ่งนั้นก็ไม่จัดว่าเป็นบุญ แต่เมื่อสามารถจะชำระสันดานให้บริสุทธิ์และนำให้เกิดความฉลาด รู้จักผิดชอบ จึงจัดว่าเป็นบุญ สิ่งอะไรที่จะมาชำระสันดานของบุคคลให้ผ่องใสบริสุทธิ์ อันเสมอด้วยความดีย่อมไม่มี สิ่งอื่นชำระได้เพียงภายนอกเท่านั้น แต่ความดีเป็นของชำระใจ เมื่อใจบริสุทธิ์แล้วอาการภายนอก คือ กิริยาวาจา ก็บริสุทธิ์ตามไปด้วย

ด้วยเหตุที่บุญ คือ ความดี เป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข และเมื่อได้พิจารณาแล้วรู้ว่าบุญ คือ ความดี เป็นสิ่งที่ชำระสันดานให้ผ่องใส บริสุทธิ์ พึงสร้างความดีตามความรู้ ตามความสามารถที่ตนเองจะกระทำได้ ทำให้เกิดมีขึ้นในสันดาน จึงจะได้ชื่อว่าประสบบุญ คือ ความดีอย่างแท้จริง ดังพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสสรรเสริญเรื่องบุญไว้ ในสัตตกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า "คำว่าบุญ เป็นชื่อของความสุข"

การบำเพ็ญบุญกุศล คุณงามความดี ในทางพระพุทธศาสนา ท่านแยกไว้หลายประการ แต่สรุปรวมแล้วมีอยู่ 3 อย่าง คือ ทาน ศีล และภาวนา

ทาน ได้แก่ การบริจาค แบ่งปันเสียสละ เมื่อได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถละหรือตัดกิเลส คือ ความโลภให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุข ความสงบใจได้

ศีล ได้แก่ การปฏิบัติกาย วาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม ในความสงบเรียบร้อย ตามกฎระเบียบ ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม เมื่อได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถละหรือตัดกิเลส คือ ความโกรธให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุข ความสงบใจได้

ภาวนา ได้แก่ การทำจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรม เป็นการเจริญปัญญาหรือจิตใจ พัฒนาจิตใจเพื่อให้เข้าถึงทางแห่งชีวิตตามความเป็นจริง ให้รู้จักการดำเนินชีวิต ตลอดถึงปฏิบัติต่อตนและคนอื่นด้วยความถูกต้อง เมื่อได้บำเพ็ญให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถละหรือตัดกิเลส คือ ความหลงให้เบาบาง หรือให้หมดสิ้น ทำให้เกิดความสุข ความสงบใจได้

การฟังธรรม นอกจากจะเป็นการส่งเสริมคุณธรรมในส่วนแห่งทานและศีล อันเป็นบุญกุศลขั้นพื้นฐานและขั้นกลางที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนบุญกุศลในส่วนแห่งภาวนา อันเป็นบุญกุศลขั้นสูงสุดที่ทำให้มีผลไพบูลย์ยิ่งขึ้นอีกด้วย เพราะการฟังธรรมนั้นเป็นการพัฒนาปัญญาหรือพัฒนาจิตใจ อันเป็นการพัฒนาในส่วนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การตั้งใจฟังย่อมเกิดปัญญา

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์แห่งการฟังธรรมไว้ 5 ประการ คือ
1.ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
2.สิ่งที่ฟังแล้วไม่เข้าใจก็เกิดความเข้าใจชัดขึ้น
3.สิ่งที่สงสัยก็จะทำให้หายสงสัย
4.สิ่งที่ผิดก็จะทำให้ถูกต้องได้
5.จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส สบายใจ

ดังนั้น การฟังธรรมจึงมีอุปการะแก่ผู้ที่มุ่งบำเพ็ญคุณงามความดีเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเกื้อกูลแก่การพัฒนาความเป็นอยู่ของตน ครอบครัว ตลอดถึงสังคม ไม่ให้หลงทาง แต่ให้ดำเนินไปถูกทางอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพและทรงไว้ซึ่งคุณธรรม


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.132 Chrome 63.0.3239.132


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 12 กุมภาพันธ์ 2561 09:54:22 »




ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก

ทุกชีวิตต้องการความสุข หลีกเลี่ยงความทุกข์ แต่เพื่อชีวิตที่ประเสริฐสุดเราต้องเป็นคนมีปัญญา ปัญญาจะเกิดได้ก็ต้องอาศัยการปลูกฝังและพัฒนา เพราะเหตุนั้นการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนปัญญาจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากในสังคมมนุษย์ เพราะปัญญาและการศึกษาเล่าเรียน การได้ยิน การได้ฟังมาก เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยกัน เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น

ปัญญา คือ ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง วินิจฉัยเหตุการณ์เรื่องราวให้รู้ความจริง ตลอดจนความสามารถในการคิดที่ถูกต้องและแยบคาย คิดหาเหตุผลตรึกตรองอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความทุกข์หรือความสุข คนคิดเป็นย่อมได้รับประโยชน์จากเรื่องนั้นมากกว่า เช่นในเรื่องของความตาย คนคิดเป็นย่อมเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ทุกข์ร้อน แต่กลับได้ความสงบ ไม่เศร้าโศกเสียใจ ส่วนคนคิดไม่เป็นเมื่อนึกถึงความตายก็ทุกข์ร้อน หมดกำลังใจ ปล่อยเวลาให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์

ปัญญาเป็นแสงสว่าง เป็นแสงทองของชีวิตของจิตใจ ทำให้สามารถมองเห็นความดี ความชั่ว ทางและมิใช่ทาง ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก ปัญญาเป็นเครื่องทำลายความเขลา ความมืดมนของชีวิต เหตุการณ์ในชีวิตที่เป็นทุกข์ย่อมเกิดจากผลของกรรมเก่าที่เราต้องชำระสะสางให้หมดสิ้นไป

ความขึ้นลงของชีวิตเป็นเรื่องปกติ ให้ใช้ปัญญามองว่าเป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นเช่นนั้น แล้ววางใจให้เป็นกลาง ไม่ดีใจหรือเสียใจ คงรักษาความปกติไว้ก็เป็นความสงบเย็นได้ ส่วนชีวิตของคนบางคนตกต่ำเพราะเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาทำให้เป็นไป ทำให้เกิดมี

สำหรับความสุขความทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่เคียงคู่กับชีวิตโดยตลอด ไม่มีชีวิตใดไม่ประสบกับความสุขหรือความทุกข์ เมื่อยังมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ก็ต้องประสบอยู่ร่ำไป

ความจริงความทุกข์ยากเป็นสิ่งที่ต้องผ่านเข้ามาในชีวิต เป็นประสบการณ์อันสำคัญที่ทำให้เข้าใจและพัฒนาชีวิตให้สูงขึ้นได้ ในชีวิตของคนทุกคนถ้ามีแต่ความสุขก็อ่อนแอ ไม่รู้จักชีวิต ถ้ามีแต่ความทุกข์ก็คงทนไม่ไหว ชีวิตจึงต้องผ่านทั้งทุกข์และสุข เพื่อความเข้มแข็งสมบูรณ์ของชีวิต เปรียบเหมือนกับต้นไม้ที่ต้องเติบโตโดยผ่านทั้งร้อน ฝนและหนาวจึงจะเจริญงอกงามขึ้นได้

ผู้มีปัญญาได้รับทุกข์ก็ไม่ควรสิ้นหวังในความสุข คนส่วนมากเมื่อได้รับทุกข์ก็มักทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ต่อเมื่อมีความสุขจึงทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

แสงสว่างคือปัญญาย่อมเลิศกว่าแสงสว่างอื่นๆ เพราะเป็นแสงทอง สามารถส่องจิตใจคนให้สว่างไสวด้วยเหตุผล รู้ดี รู้ชั่ว กำจัดความมืดคือกิเลสได้ บุคคลผู้โง่เขลาย่อมเป็นการยากที่จะรักษาตัวให้พ้นจากความชั่วและความทุกข์ ส่วนผู้มีปัญญาย่อมสามารถคุ้มครองให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ นำตนให้ประสบสุขสวัสดี เพราะอาศัยปัญญาเป็นแสงทองส่องสว่างนำทางชีวิตนั่นเอง


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 กุมภาพันธ์ 2561 09:56:18 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 64.0.3282.186 Chrome 64.0.3282.186


ดูรายละเอียด
« ตอบ #10 เมื่อ: 26 กุมภาพันธ์ 2561 11:20:55 »



ประโยชน์ในปัจจุบัน

บุคคลผู้หวังจะก่อร่างสร้างตัว ปรับปรุงตนให้เป็นคนมีฐานะ มั่นคงเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบันทันตาเห็น เป็นคนที่มีวิชาความรู้ เป็นคนมีเกียรติยศชื่อเสียง เป็นคนมีความสุขความเจริญตามปรารถนาต้องอาศัยหลักธรรมอันเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในปัจจุบันเป็นหลักประพฤติปฏิบัติ จึงจะสำเร็จผลได้ ซึ่งหลักธรรมที่ว่านั้นคือ ธรรมอันเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในปัจจุบัน มี 4 ประการ

ประการที่ 1 ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร คือ บรรดาภารกิจหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน การประกอบอาชีพทุกชนิด จำต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียร ความบากบั่น ความพยายามเข้าสนับสนุนจิตใจของบุคคลให้อาจหาญ ไม่ย่อท้อ

ประการที่ 2 ความถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ บรรดาภารกิจหน้าที่การงานก็ดี วิชาความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วก็ดี ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรก็ดี คนผู้เป็นเจ้าของต้องคอยเอาใจใส่ดูแลรักษาไว้ให้ดี อย่าให้เสื่อมสูญเสียหายไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร โดยให้รู้จักค่าของวิชาความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาและทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร

ประการที่ 3 ความมีมิตรสหายที่ดีงาม คือ คนเราแม้จะมีคุณธรรมสองประการดังกล่าวมา คือมีความขยันหมั่นเพียรประกอบภารกิจหน้าที่การงานดี ศึกษาเล่าเรียนดี มีความเอาใจใส่ดูแลรักษาภารกิจหน้าที่การงานและวิชาความรู้ ไม่ให้เสื่อมสูญหายไป บำเพ็ญไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ถ้าขาดคุณธรรมประการที่สาม คือไม่รู้จักคบหาสมาคมกับมิตรสหายที่ดี เพราะคนเป็นจำนวนไม่น้อยต้องเสียคนเพราะเพื่อน และต้องเสียใจเพราะเพื่อน การคบหามิตรสหายเป็นภารกิจสำคัญของมนุษย์ ผู้ใดไม่มีมิตรสหายเสียเลยแสดงว่าเป็นคนใจแคบ มีมิตรสหายไม่ดีก็พาเสียคน เสียความประพฤติ ถ้ามีสหายที่ดีก็พาให้เจริญรุ่งเรืองได้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า บรรดาเหตุปัจจัยในภายนอกทุกชนิดที่จะทำให้คนเสื่อมเสียได้ ก็ไม่มีอะไรเท่าเทียมกับการคบมิตรที่เลว เพราะการคบคนเลวเป็นมิตร เขาอาจชักนำไปในทางเสียหายได้นานาประการ

ประการที่ 4 ความเป็นคนมีความอยู่พอเหมาะพอดี คือ คนเราถึงจะมีอะไรๆ ทุกประการตามที่กล่าวมาแล้ว คือ มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักรักษาดี มีมิตรสหายดีก็ล้วนแต่เป็นคนดีๆ ทั้งนั้น แต่ตนเองวางตัวไม่เหมาะแก่ภาวะที่ตนเป็นและฐานะที่ตนมี ก็เป็นคนเอาดีไม่ได้

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้หวังจะได้รับประโยชน์ในปัจจุบัน มีความสุขความเจริญต่อไปในภายหน้า พึงยึดถือหลักธรรมอันเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในปัจจุบัน 4 ประการดังกล่าวมาแล้ว คือ ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ความถึงพร้อมด้วยการดูแลรักษา ความมีมิตรสหายที่ดีงาม ความเป็นคนมีความเป็นอยู่พอเหมาะพอดี รวมข้อธรรม 4 ประการ เป็นหลักแห่งการประพฤติดีประพฤติชอบสำหรับตน

เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในสิ่งที่ตนมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ



ประโยชน์ที่บัณฑิตพึงได้

นักปราชญ์ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะได้รับประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ในชาติปัจจุบันและประโยชน์ในชาติหน้า

ประโยชน์ในปัจจุบัน หมายถึง ประโยชน์ในชาตินี้ เป็นประโยชน์ตราบเท่าที่เป็นอยู่หรือมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1.ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ มีความขยันในการศึกษาเล่าเรียน ในการประกอบอาชีพการงาน ที่สำคัญจะเป็นงานอะไรก็ตาม ถ้าไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและ ศีลธรรมอันดีงาม และช่วยให้ดำรงชีพอยู่ได้แล้ว ก็น่าจะพอใจ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า "คนหมั่นย่อมหาทรัพย์ได้" และในการสร้างกุศล ความดี ก็ควรหมั่นสร้างความดีอันจะติดตามตนไปในภพหน้า เปรียบเหมือนผู้จะเดินทางไกลเตรียมเสบียงไปด้วย ฉะนั้น ดังนั้น ผู้ขยันหมั่นเพียรในประการดังกล่าวมาจึงชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยความหมั่น

2.ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รักษาทรัพย์ที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรง ทำทรัพย์ให้มีความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มีน้ำ ไฟ และโจรผู้ร้าย เป็นต้น ผู้ที่รักษาทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดีได้ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยการรักษา

3.ความมีเพื่อนเป็นคนดี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของเพื่อนที่ดี ว่ามี 4 ประการ คือ 1.เพื่อนมีอุปการะ 2.เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ 3.เพื่อนแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ 4.เพื่อนมีความรักใคร่ ว่าเป็นมิตรแท้ ควรคบ เพื่อนดังกล่าวมานี้ ย่อมนำไปสู่ความเจริญ

4.เป็นอยู่สมฐานะ หมายความว่า ดำรงชีวิตให้พอดีกับฐานะ ใช้ทรัพย์อย่างประหยัดพอเหมาะพอควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองหรือใช้ฟุ่มเฟือยเกินไป ดังคำกลอนที่ท่านสุนทรภู่ได้แต่งเป็นคติสอนใจว่า "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าได้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน"

ส่วนประโยชน์ในชาติหน้า หมายถึง ประโยชน์ในภพหน้าอันจะติดตามผู้ทำไป ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1.ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

2.ถึงพร้อมด้วยศีล คือ การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ไม่มีโทษ

3.ถึงพร้อมด้วยการบริจาค คือ สละทรัพย์หรือสิ่งของให้เป็นสาธารณกุศลต่างๆ เช่น สร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

4.ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

ท่านผู้มีปัญญา เมื่อได้ทราบประโยชน์ 2 อย่าง คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน นับได้ว่าไม่ขัดสนอับจนในชีวิต และประโยชน์ในชาติหน้า นับได้ว่าได้ตระเตรียมเสบียงในการ เดินทางคือกุศล ความดีไว้ก่อนที่จะเดินทางไป ย่อมทำชีวิตเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า



เปรียบความโกรธเช่นงูพิษ

งูพิษเป็นสัตว์มีพิษ ร้ายแรงและไม่ร้ายแรง เป็นสัตว์ที่น่ากลัวจำพวกหนึ่ง คนเห็นงูจึงต้องวิ่งหนี เพราะกลัวถูกกัด หากถูกกัดแก้ไม่หาย อาจถึงตายได้

งูพิษเราสามารถเอาชนะ หรือพอระวังได้ ส่วนคนที่มีพิษ คือความโกรธน่ากลัวมาก ความโกรธเกิดจากเหตุหลายประการ เช่นถูกด่า ถูกนินทา ถูกกล่าวร้าย ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทำลายทรัพย์สิน ถูกชนะโดยไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม และถูกรังแก เป็นต้น

ความโกรธเมื่อเกิดแล้ว ย่อมแสดงอาการทำร้ายคนอื่น ด่าว่าคนอื่นด้วยคำหยาบคาย ทำลายสิ่งของ ในขณะโกรธ สติกับปัญญาหายไปหมด ขาดความรอบคอบ ขาดความยับยั้ง

เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ต้องรีบดับด้วยธรรม อย่าให้ความโกรธพ่นพิษออกมาทางปาก ทางมือ ทางเท้า คนอยู่ร่วมกันจะเดือดร้อน ธรรมเครื่องดับความโกรธมีมากมาย ขอยกตัวอย่าง 3 ประการ คือ

ความอดทน ได้แก่ การระงับยับยั้งความโกรธ ที่เกิดจากการถูกด่า ถูกนินทา ถูกเขาทำร้าย ถูกเขาชนะ ถูกเขาขโมยสิ่งของไป ระงับยับยั้งกายวาจา ให้ตั้งอยู่ปกติ ไม่ทำร้ายตอบ ไม่กล่าวร้ายตอบ เป็นการห้ามปรามเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้น

โยนิโสมนสิการ ได้แก่ การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย เมื่อถูกเขาทำร้าย พูดร้าย พึงทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายว่า เมื่อวันก่อน เดือนก่อน เราเคยทำร้าย พูดร้ายต่อเขาไว้ มาวันนี้ เดือนนี้ จึงต้องประสบบ้าง อย่าโกรธเขาเลย

ทำจิตเหมือนแผ่นดิน ทำจิตเหมือนน้ำ แผ่นดินนั้น ใครๆ เอาสิ่งสกปรกรดลงก็ไม่โกรธ เอาของหอมรดลงก็ไม่ยินดี น้ำก็เช่นเดียวกัน ใครๆ เอาน้ำไปชำระสิ่งสกปรก น้ำก็ไม่โกรธ เอาของหอมประพรมน้ำก็ไม่ยินดี

เมตตา ได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี ความเอื้ออารีต่อคนอื่นสัตว์อื่น ผู้มาทำร้ายเรา ผู้มาด่าเรา แผ่เมตตาไปโดยเจาะจงว่า ขอจงมีความสุข อย่ามีความทุกข์ จงประสบสิ่งอันน่าปรารถนา เรียกว่า เมตตาที่แผ่ไปโดยเจาะจง เป็นเมตตาที่แผ่ไปในวงแคบ

ส่วนเมตตาที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจง คือ แผ่ไปในคนและสัตว์ทั่วไป ทั้งที่เรารัก ทั้งที่เราเกลียด ทั้งที่เป็นศัตรูต่อเราว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย จงอย่ามีเวรต่อกันและกัน จงอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงอย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจ จงบริหารให้เป็นสุขเถิด เรียกว่า เมตตาที่แผ่ไปไม่เจาะจง เมตตาที่แผ่ไปในวงกว้าง

ผู้มีเมตตาประจำจิต ความโกรธย่อมเบาบางหมดไป เมตตาจึงเป็นเหมือนน้ำเครื่องชำระพิษคือความโกรธออกจากจิตใจ เมื่อใจปราศจากพิษคือความโกรธแล้ว ย่อมเยือกเย็น

งูเป็นสัตว์มีพิษ แต่ก็มียาแก้ได้ ส่วนคนมีพิษคือความโกรธอันเป็นพิษภายใน ต้องอาศัยธรรมเครื่องขับไล่พิษคือความโกรธ 3 ประการ คือ ความอดทน การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย และแผ่ความรักความปรารถนาดี

จะทำให้เป็นผู้มีจิตใจปราศจากพิษคือความโกรธ มีความสุขกาย สบายใจ


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 64.0.3282.186 Chrome 64.0.3282.186


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: 09 มีนาคม 2561 10:57:44 »




ผลิดอกออกผล

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสุบินนิมิตเห็นต้นไม้นานาชนิดยังไม่ทันโตเต็มที่ผลิดอกออกผลมากมาย ทำให้กิ่งก้านที่ยังไม่แข็งแรงเต็มที่ทนรับน้ำหนักไม่ไหวต้องโน้มกิ่งลงถึงดิน

พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า ในสมัยที่พระองค์ยังมีพระชนม์อยู่จะไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้นต่อชีวิตของพระองค์ พระมเหสี และราชสมบัติ แต่ในอนาคตเมื่อมนุษย์ขาดศีลธรรมและเข้าสู่ยุคเสื่อม เยาวชนซึ่งยังอยู่ในวัยเรียน หรือวัยรุ่นที่ยังไม่สมควรมีครอบครัว จะมีความกระสันใฝ่ในตัณหาราคะ ยินดีและหลงใหลในรูปสวยๆ เสียงไพเราะ กลิ่นหอมๆ รสดีๆ สัมผัสที่ถูกใจ มีความอยากในกามารมณ์จึงจับคู่มั่วสุมกันอย่างอิสระไม่สนใจประเพณีอันดีงาม หรือหน้าที่ของเยาวชน บางคนมั่วสุมกัน ไม่มีความละอาย แสดงความรักในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย พากันเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องเท่ เป็นแฟชั่นที่ต้องแสดงออก

เมื่อตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ ไม่มีการเตรียมพร้อม จึงหาทางทำแท้งฆ่าลูกในท้องของตัวเอง บางคนทำแท้งไม่ได้เพราะท้องแก่มากแล้ว จึงปล่อยให้ลูกออกมา เป็นภาระของพ่อแม่ต้องเลี้ยงดู หรือต้องปล่อยทิ้งให้อยู่ตามลำพัง กลายเป็นเด็กเร่ร่อนจรจัด ขาดความรัก ความอบอุ่น ขาดการศึกษา ไม่มีที่พึ่งพาอาศัย ไม่มีที่อยู่ ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น อดบ้าง อิ่มบ้าง น่าเวทนาและเป็นปัญหาสังคมอยู่ในขณะนี้ ปัญหาที่เห็นเด่นชัด และสร้างความหนักใจแก่ ผู้ปกครองอย่างแสนสาหัส คือลูกๆ ชายหญิงหมกมุ่น มัวเมากามารมณ์จนเกินไป

ปัจจุบันกระแสมั่วกามของเยาวชนได้กลายเป็นค่านิยมอีกแนวหนึ่งเรียบร้อยแล้ว วัยรุ่นยุคนี้ ที่ปะปนอยู่ในกระแสอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า กางเกง ดารา นักร้อง ภาพยนตร์ ที่เป็นกระแสหลัก และกระแสต่อเนื่องซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เมื่อไหร่จะเลือนหายไป

ค่านิยมที่ไม่ดีทำให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องแข่งกันคิดหารูปแบบชีวิตที่คิดว่าแปลกใหม่และเท่มาอวดกัน พฤติกรรมเหล่านี้ซับซ้อนมากขึ้นจนผู้ใหญ่ตามไม่ทัน เช่น เมื่อหลายเดือนก่อนเด็กนักเรียนชาย-หญิง คู่หนึ่ง กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.3 ตัดสินใจไปเช่าห้องอยู่ด้วยกันกับเพื่อนชาย โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ เพราะพ่อแม่ทำงานอยู่ที่หนึ่ง ส่วนลูกต้องเรียนหนังสือ เลยฝากไว้กับญาติ นานๆ จึงจะมาเยี่ยมลูกสักครั้ง ไม่มีเวลาอยู่ใกล้ชิดลูก และอบรมสั่งสอนให้รู้อะไรควรไม่ควร

อีกตัวอย่าง โรงเรียนแห่งหนึ่งกลางเมืองหลวง มีเด็กผู้หญิงมัธยมกลุ่มหนึ่งพากันขึ้นบัญชีนักเรียนผู้ชาย แล้วให้คะแนนความหล่อ หาโอกาสไปมีอะไรด้วย ใครทำได้จะได้รับการยกย่อง จากเพื่อนในกลุ่มว่ามีฝีมือ เก่งมาก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม



ผูกน้ำใจคน

การที่คนเรามีใจไม่ตระหนี่ รู้จักโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เป็นคนใจแคบ มีใจกว้างขวาง สามารถบริจาคสิ่งของของตนเป็นทาน เผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้รับความสุข ความสะดวกสบาย การให้เช่นนี้ย่อมช่วยสมานไมตรีจิต สร้างมิตรภาพ ทำให้ประสบผลที่ตนเองจะพึงเห็นได้หลายประการ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนเป็นอันมากย่อมคบหาเขา เกียรติยศและบริวารยศย่อมเจริญ ผู้ไม่ตระหนี่เป็นผู้องอาจ ไม่เก้อเขินเข้าสู่สมาคม

การผูกน้ำใจคน ไม่จำเป็นจะต้องให้สิ่งของมากมาย จะให้อะไรหรือจะช่วยเหลือใคร ควรช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ เท่านี้ก็เห็นน้ำใจแล้ว

การพูดจาอ่อนหวาน ไพเราะดีงาม สามารถเสริมสร้างไมตรีจิต ส่วนวาจาเป็นพิษ หรือวาจาหยาบคาย อาจทำให้เสียมิตรได้

คนจะผูกน้ำใจคน ต้องพูดจาไพเราะอ่อนหวาน ฟังแล้วสบายหูสบายใจ ถ้าพูดหยาบคายต่อกัน นอกจากจะเสียมิตรแล้ว อาจเสียทรัพย์ด้วย บางครั้งพูดไม่ดีอาจถูกทำร้ายร่างกาย ถึงกับเสียชีวิตได้ ส่วนคำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน สามารถผูกน้ำใจคนไว้ได้ การพูดจึงต้องระวังว่า พูดไปแล้วจะทำลายมิตรหรือไม่ ถ้าเป็นไปในทางทำลายไม่ควรพูด แต่ถ้าเป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดมิตรภาพจึงควรพูด

ดังนั้น ก่อนพูดควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาตัวเราเป็นเครื่องเปรียบเทียบว่าคำพูดเช่นนี้ ถ้าเราเป็นผู้ฟังจะพอใจไหม ถ้าเราไม่ชอบเขาคงไม่ชอบเหมือนกัน

ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องเป็นคนสร้างประโยชน์ ทำตัวให้เป็นประโยชน์ จะอยู่ที่ไหนก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์ที่นั่น จะอยู่กับใครก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่เขาที่นั่น อย่างนี้แล้วย่อมมีคนต้องการ เพราะคนที่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นที่ต้องการทั้งนั้น

ประโยชน์ หมายถึง สิ่งที่ต้องการ ถ้าไม่มีประโยชน์มักไม่มีใครต้องการ การผูกน้ำใจคนต้องทำตนให้เป็นคนมีประโยชน์ จึงจะเป็นที่ต้องการของคนหมู่มาก

การวางตนเหมาะสม คือ เราอยู่ในสถานะอย่างไรก็วางตนให้เหมาะสม เป็นเจ้านายก็เป็นเจ้านายที่เหมาะสม ให้ลูกน้องเคารพนับถือ เป็นลูกน้องก็เป็นลูกน้องที่เหมาะสม มีความเคารพนับถือเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ทำให้ผู้บังคับบัญชามีเมตตากรุณา มีไมตรีจิตตอบ เป็นพ่อก็เหมาะสมที่เป็นพ่อ เป็นแม่ก็เหมาะสมที่เป็นแม่ เป็นเพื่อนก็เหมาะสมที่เป็นเพื่อน ทำได้อย่างนี้จึงมีคนรัก มีมิตรมาก ไม่มีคนรังเกียจ เพราะวางตัวได้เหมาะสม ไม่มีข้อน่าตำหนิ

ถ้าเราวางตัวเหมาะสมก็จะผูกน้ำใจคนไว้ได้ แต่ถ้าวางตัวไม่เหมาะสม เช่น เป็นเจ้านาย วางตัวไม่เหมาะสม เอาแต่อำนาจ ไม่มีเมตตากรุณา เป็นลูกน้องก็อวดดีกับเจ้านาย อย่างนี้ก็ไม่ได้รับความร่วมมือแน่

ถ้าธรรมะเหล่านี้มีอยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นก็จะมีคนรักคนชอบ มีมิตรมากมาย ไม่มีศัตรู การที่คนเราจะดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข สามารถสร้างความเจริญให้ตนเองและประเทศชาติ ควรอบรมบ่มนิสัยให้มีธรรมะเหล่านี้ไว้ประจำตัวประจำใจ เพื่อเป็นเครื่องมือผูกน้ำใจคนทั้งหลายให้มาเป็นมิตร



ผู้ฉลาดครองเรือน

ผู้ที่เกิดมาแล้ว ดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยปัญญาที่มีติดตัว ตั้งแต่เกิดก็ดี ด้วยการศึกษากำหนดจดจำจากบิดามารดา ครูอาจารย์ก็ดี ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองด้วยอุบายที่แยบคาย แล้วมองเห็นเหตุที่เป็นข้อเปรียบเทียบพอเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต 3 ประการ คือ

ประการที่ 1 มองเห็นความหมดสิ้นไปแห่งยาสำหรับหยอดตา อันธรรมดาน้ำยาสำหรับใช้หยอดบำบัดโรคตาที่บรรจุไว้ในหลอดหรือขวดขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม ถ้านำมาหยอดทีละหยดๆ นานไปน้ำยานั้นก็หมดสิ้นไป เพราะไม่มีน้ำยาใหม่มาเพิ่มเติม ข้อนี้ฉันใด ทรัพย์สินสิ่งของเงินทองเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีอยู่ หากบริโภคใช้สอยไปอย่างฟุ่มเฟือย ไม่แสวงหามาเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ย่อมถึงความหมดสิ้นไปได้เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อจะใช้จ่ายทรัพย์สินสิ่งของเงินทอง ก็ให้สำนึกถึงยาสำหรับหยอดเป็นเครื่องเตือนใจ

ประการที่ 2 มองเห็นการก่อขึ้นแห่งปลวกทั้งหลาย ปลวกนั้นเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ อาศัยความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน คาบเอาดินมาทำที่อยู่อาศัยให้ใหญ่โตมั่นคงแข็งแรงได้ ฉันใด บุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคน จะอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน แต่ละคนต่างก็มุ่งหน้าประกอบกิจทำการงานตามหน้าที่ของตนด้วยความหมั่นขยันในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตแล้ว ทรัพย์สิน เงินทอง วิชาความรู้ที่ยังไม่เกิด ก็จะเกิดมีขึ้น ที่เกิดมีอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น

หน้าที่การงานก็จะถึงความงอกงามไพบูลย์ ด้วยการรักษาความหมั่นขยันให้คงที่ ไม่ให้ย่อหย่อน รักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ป้องกันไม่ให้เป็นอันตราย รักษาหน้าที่การงานไม่ให้เสื่อมเสียไป แต่ละคนต่างก็มีเพื่อนร่วมคิดร่วมใจเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต ดำรงชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายพอเหมาะพอควร เมื่อพื้นฐานชีวิตของตนมีความมั่นคงแล้ว ก็เป็นเหตุอุดหนุนให้สังคมรวมถึงประเทศชาติ มีความมั่นคงไปด้วยเหมือนกัน

ประการที่ 3 มองเห็นการประมวลมาแห่งผึ้งทั้งหลาย ผึ้งเป็นสัตว์ปีกตัวเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่มีความสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน มีความสามารถในการทำรัง ทำน้ำหวาน ผึ้งแต่ละตัวโผบินไปคาบเอาเกสรและละอองดอกไม้มาทำรังและน้ำหวาน เมื่อมีอันตรายก็พร้อมใจกันต่อสู้ป้องกัน เพราะความสามัคคีนั่นเอง

ทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าแต่ละคนมุ่งประกอบกิจทำการงานตามหน้าที่ของตน ตามกำลังความสามารถ ด้วยความพอใจรักการงาน มีความเพียรพยายามอย่างอาจหาญไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีใจจดจ่อต่องานที่ทำนั้น ไม่ทอดทิ้งหน้าที่ หมั่นพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ทำนั้น สามารถทำสิ่งเล็กให้ใหญ่ ทำสิ่งที่ใหญ่ให้เล็ก ทำสิ่งที่ยากให้ง่าย ทำสิ่งที่ง่ายให้เรียบร้อยยิ่งขึ้นได้

ผู้ฉลาดอาศัยเหตุข้อเปรียบเทียบดังกล่าวมาเป็นแนวทางอยู่ปกครองเรือน แสวงหาทรัพย์ได้มาแล้ว ก็มีความดีใจว่าทรัพย์ของเรามี เมื่อได้จับจ่ายใช้สอยทรัพย์นั้นบริโภคพอเหมาะพอควรแก่ฐานะและรายได้ก็ให้เกิดสุข ใช้จ่ายทรัพย์นั้นจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่ผลิตได้ในประเทศ ก็เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตมีทุนหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ ทรัพย์ไม่รั่วไหลออกไปนอกประเทศ

ประเทศชาติก็จะได้พัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชน ก็จะมีรายได้เพิ่มพูนมีความมั่งคั่งสมบูรณ์



ผู้ประเสริฐ

บุคคลและสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิตในโลกนี้ ต่างมีความรักร่างกายของตนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ถึงจะมีความรักสิ่งอื่นๆ สักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่เท่ากับความรักตน สมด้วยพระพุทธภาษิตว่า ความรักเสมอด้วยรักตน ไม่มี

การที่บุคคลมีความรักต่อคน สัตว์และสิ่งของ ก็เพราะว่าคน สัตว์และสิ่งของนั้นๆ อำนวยประโยชน์สุขให้แก่ตน ถ้าหากคน สัตว์และสิ่งของที่ตนรักนั้น ไม่อำนวยประโยชน์สุข กลับทำความทุกข์เดือดร้อนให้เกิดแก่ตน ก็หมดความรักทันที จึงสรุปความได้ว่า การที่บุคคลมีความรักต่อคน สัตว์และสิ่งของนั้นๆ แท้ที่จริงก็คือความรักตน ต้องการให้ตนได้รับความสุขนั่นเอง

บางคนถึงแม้จะมีความรักตน แต่มีความเข้าใจผิด ไม่รู้เท่าทันเหตุผลตามความเป็นจริง เมื่อตนได้รับความทุกข์เดือดร้อน ความทรมานอย่างหนัก อันเกิดจากการครองชีพบีบคั้นบ้าง เกิดจากถูกโรคร้ายเบียดเบียนบ้าง เกิดจากการพลาดหวังบ้าง เพราะเหตุที่เขามีความรักตน ไม่ต้องการให้ตนได้รับความทุกข์เดือดร้อนที่ปรากฏอยู่นั้น หรือไม่ต้องการให้ผู้ใดดูหมิ่นในความพลาดหวังของตน หรือไม่ต้องการให้ตนต้องประสบกับความเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ และเกิดความละอายในความพลาดหวังนั้น จึงหาวิธีออกอย่างผิดๆ ด้วยการทำลายชีวิตของตน เพื่อจะหนีให้พ้นไปจากผลที่ตนไม่ปรารถนานั้น เพื่อหวังไปแสวงหาความสุขเอาใหม่ในภพต่อไป หรือประพฤติตนไปในทางที่เสื่อมเสียด้วยวิธีต่างๆ มีการดื่มสุราเพื่อดับความทุกข์ เป็นต้น

การที่เขาทำไปเช่นนั้น ก็เพราะไม่มีปัญญายั้งคิดพิจารณาหาเหตุผล ไม่มีความอดทนพอที่จะต่อสู้กับอุปสรรคนั้นๆ ให้สิ้นสุดลงได้ โดยมีความเข้าใจว่าเป็นวิธีออกที่ดีที่สุดแล้วที่เขาต้องการให้ตนที่เขารัก หลุดพ้นไปจากความทุกข์เดือดร้อนซึ่งปรากฏอยู่เฉพาะหน้าได้

การแสดงความรักตนด้วยวิธีการเช่นนี้ เป็นการกระทำของคนผู้ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญายั้งคิด เป็นคนไม่มีความอดทน ผู้ฉลาดทั้งหลายไม่สรรเสริญว่าเป็นคนรักตนที่แท้จริง ย่อมติเตียนว่าเป็นคนเลว เป็นคนสิ้นคิด มีสติไม่สมบูรณ์

ส่วนคนดีทั้งหลายย่อมแสดงความรักตน ด้วยการปฏิบัติตนให้ละเว้นความชั่ว บำเพ็ญความดี เมื่อมีความทุกข์เดือดร้อนเกิดขึ้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผล แก้ไขเหตุการณ์นั้นๆ ให้หมดสิ้นไป หรือใช้ความอดทนต่อสู้ในทางถูกที่ชอบ ประคับประคองตนให้ปลอดภัยมีความสุขตลอดไป

เมื่อทุกคนต่างก็มีความรักตน ต้องการให้ตนได้รับความสุขความเจริญ ปราศจากโรคภัย อุปสรรคอันตรายทั้งหลาย ไม่ต้องการให้ผู้ใดมาเบียดเบียนตนให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน ยิ่งถ้าจะมาทำลายชีวิต ก็จำเป็นต้องต่อสู้ป้องกัน หรือดิ้นรนหลีกหนีจนสุดความสามารถ

ผู้มีความรักตน ต้องการให้ตนพ้นจากความทุกข์ มีความสุขความเจริญ ควรจะปฏิบัติตามปฏิปทาของบุคคลผู้ประเสริฐ ด้วยการทำตนให้เป็นผู้มีความเจริญด้วยวัฒนธรรมอันดีงาม ละเว้นจากความชั่วทั้งหลาย ไม่ทำลายชีวิต และเบียดเบียนทรมานสรรพสัตว์ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน ควรมีเมตตาแผ่ไปในสรรพสัตว์ ผลแห่งความดีที่ได้บำเพ็ญไว้แล้วนั้น จะอำนวยให้ได้รับความสุขความเจริญ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขกายสุขใจ


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 มีนาคม 2561 11:55:15 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 64.0.3282.186 Chrome 64.0.3282.186


ดูรายละเอียด
« ตอบ #12 เมื่อ: 15 มีนาคม 2561 09:46:19 »



ฝึกตน

คําสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาประกาศแสดงสัจธรรม ธรรมที่เป็นจริงตามธรรมดา

การเรียนรู้หลักธรรมเพื่อฝึกให้รู้ถูก กำจัดความรู้ผิด ให้รู้ความจริงของบุคคล เป็นประโยชน์อย่างสำคัญ เปรียบเหมือนประทานกระจกเงาแก่บุคคลให้ส่องดูตัวเอง ให้เห็นว่าเป็นอย่างไรแล้วแก้ตนเองให้ดีนั่นเอง

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้แสดงสัจธรรม ทรงฝึกให้รู้จักผิด รู้จักชอบ และให้ปฏิบัติชอบตามเป็นจริง ตั้งแต่ชั้นต่ำจนถึงชั้นสูงสุด มีผู้ได้รับการฝึกจากพระองค์ได้บรรลุถึงคุณธรรมตามภูมิปัญญาความสามารถ ไม่มีศาสดาอื่นจะฝึกได้เสมอเหมือน จึงได้พระคุณนามว่า อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ ผู้ฝึกคนที่ควรฝึกอย่างยอดเยี่ยม

ส่วนผู้ไม่ยอมรับการฝึกจากพระองค์ ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากพระองค์ ชื่อว่าเป็นผู้ถูกฆ่าเสียจากคำสั่งสอนของพระองค์ ที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่ความผิดของพระองค์ ไม่ใช่ความผิดของธรรมที่ทรงแสดง ไม่ใช่ความผิดของปัญญาที่ทุกคนมีอยู่ แต่เป็นความผิดของตนเอง เปรียบเหมือนพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างให้ปรากฏในโลก เพื่อประโยชน์แก่ผู้มีดวงตาให้ได้เห็นรูป เมื่อบุคคลมีดวงตาอยู่ มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์อยู่ มีรูปอยู่ แต่หลับตาเสีย ไม่ลืมตาขึ้นดู ก็ไม่เห็นรูป จะโทษดวงตาก็ไม่ถูก จะโทษพระอาทิตย์ก็ไม่ถูก จะโทษรูปก็ไม่ถูก ต้องโทษตนเองอย่างเดียว

ผู้ได้รับการฝึกจากพระองค์ ได้รู้เห็นจริงแล้ว ได้แสดงคำสรรเสริญด้วยคำเปรียบเทียบว่า เหมือนหงายของที่คว่ำ เหมือนเปิดของที่ปิดไว้ เหมือนบอกทางแก่ผู้หลงทาง เหมือนส่องไฟในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักได้เห็นรูป ฉะนั้น

บุคคลจะปฏิบัติตนให้ดีได้ ก็เพราะการฝึกอบรมจิต เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้อบรมฝึกหัดจิต ข่มจิต ดังพระพุทธภาษิตว่า

การฝึกจิตที่ข่มได้ยาก เร็ว มักตกไปในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความใคร่เป็นการดี จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้

การฝึกจิตต้องพิจารณาดูอาการของจิตให้รู้ว่าเป็นอย่างไรก่อน เมื่อเห็นว่า จิตเกี่ยวเกาะในวัตถุกาม จนถึงมุ่งให้ได้ฝ่ายเดียว ไม่เลือกว่าผิดหรือถูก ก็พิจารณาให้เห็นว่าเป็นโทษทั้งแก่ตนและคนอื่น ควรเจริญจาคะเจตนา คิดปล่อยวางไม่ติดพัน เมื่อเห็นว่าจิตมีอาการคิดมุ่งทำชั่วและพูดชั่ว ก็พิจารณาให้เห็นว่าเป็นโทษทั้งแก่ตนและคนอื่น ตั้งใจงดเว้นไม่คิดก้าวล่วง

ผู้รักตนต้องการเป็นคนดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต สมควรฝึกตนให้รู้ธรรมะ ฝึกให้พิจารณารู้เนื้อความแห่งธรรม ฝึกให้พิจารณาดูตนสอบกับธรรมและอรรถ ให้รู้ว่าเป็นอย่างไร เมื่อฝึกตนให้ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ย่อมถือเอาสารประโยชน์จากการฝึกปฏิบัติได้ ชีวิตคือความเป็นอยู่ของตน จะเป็นชีวิตที่ดี และจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า



พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 65.0.3325.181 Chrome 65.0.3325.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #13 เมื่อ: 23 มีนาคม 2561 14:20:32 »




พ้นภัยเพราะสัจจะ

ความจริงใจ พูดจริง ทำจริง ความซื่อตรง ความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นในสิ่งที่ตนปรารถนา สะสมความดีอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุด เรียกว่า สัจบารมี การตั้งสัจจะมี 2 วิธี

1.ตั้งสัจอธิษฐานใจ มีความตั้งใจแน่วแน่ในการ ทำ พูด คิด ในสิ่งดีที่ตนปรารถนา โดยทั่วไปนิยมตั้งสัจอธิษฐาน ต่อจากไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน หรือได้ทำบุญแล้ว จะมีคำลงท้ายหลังถวายทานหรือทำบุญต่างๆ เช่น ขอผลบุญนี้เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าสิ้นอาสวะกิเลส บรรลุพระนิพพานเถิด

ตัวอย่าง เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนคร ถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ขณะที่ประทับนั่งบนหลังม้า กัณฐกะ ทรงอธิษฐานว่า "หากอาตมา จะข้ามห้วงโอฆสงสาร บรรลุถึงพระนิพพาน ในอนาคตกาลแน่แล้ว ขอให้ม้ากัณฐกะ จงพาอาตมาข้ามแม่น้ำอโนมานทีโดยสวัสดีเถิด" แล้วทรงม้ากัณฐกะข้ามแม่น้ำไปได้โดยปลอดภัย ทรงอธิษฐานเพศบรรพชา ณ ที่นั้น

2.ตั้งสัจจะด้วยการเปล่งวาจาให้ผู้อื่นได้ยิน เป็นพยานว่าตนได้ตั้งสัจจะไว้อย่างนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้อื่น และให้เกิดความละอายแก่ใจของตน

ครั้งหนึ่ง เกิดไฟป่าไหม้มาล้อมรอบรังนกที่อาศัยอยู่ในป่า ซึ่งเป็นรังของนกคุ่มผัวเมีย มีลูกตัวเล็กๆ อาศัยอยู่ด้วย เมื่อไฟป่าได้ลุกลามมาใกล้ นกทั้งหลายพากันบินหนีไป รวมทั้งนกคุ่มที่เป็นพ่อแม่ด้วย ปล่อยให้ ลูกนกคุ่มที่ยังเดินและบินไม่ได้รอความตายอยู่ในรัง ลูกนกคุ่มนั้นจึงได้การกล่าวสัจวาจาโดยอ้างถึงคุณธรรมที่ได้กระทำมาในอดีตชาติ อ้างถึงคุณของพระพุทธเจ้า รวมทั้งความจริงที่เกี่ยวกับตัวเอง คือมีปีกแต่ยังบินไม่ได้ มีเท้าแต่ยังเดินหนีไม่ได้ แล้วจึงอธิษฐานในใจว่า ขอให้อำนาจแห่งความจริงต่างๆ ที่ตนได้กล่าวไว้จงให้เกิดผลคือ ขอให้ไฟป่าที่กำลังลุกลามเข้ามาใกล้รอบตัวได้ ดับลง เมื่อลูกนกตั้งสัจจะแล้วเปลวไฟอันลุกโพลงมาใกล้จึงสงบลง ประหนึ่งเปลวไฟที่ตกลงถึงน้ำแล้วดับไป ฉะนั้น

คุณของการมีสัจจะ
- เป็นคนหนักแน่นมั่นคง
- มีความเจริญก้าวหน้า
- การงานที่ทำนั้นได้ผลดีพิเศษ
- มีคนยอมรับนับถือ และยำเกรง
- ครอบครัวมีความมั่นคง
- ทำดีได้โดยไม่ท้อถอย

โทษของการขาดสัจจะ
- เป็นคนเหลวไหล ไร้สาระ
- ชีวิตตกต่ำ มีแต่ความล้มเหลว
- คนเหยียดหยาม ไม่ยอมรับนับถือ
- หาความเจริญได้ยาก
- หาความสุขในครอบครัวได้ยาก

ผู้ที่สามารถรักษาสัจจะได้จนเป็นนิสัย เท่ากับได้มีโอกาสสะสมสัจบารมีของตนให้มากขึ้นโดยลำดับ จนมีพลังแสดงผลให้ได้ทันตาเห็น



พยาบาท

พยาบาท ได้แก่ เจตนาเป็นเหตุปองร้าย คิดกระทำให้ผู้อื่นประสบความพินาศ หมายความว่า การยังประโยชน์สุขของผู้อื่นให้ถึงความพินาศไป การมุ่งร้ายต่อผู้อื่น คิดที่จะทำลายประโยชน์ และความสุขของผู้อื่น หาวิธีการที่ทำให้ผู้อื่นเกิดความพินาศเสียหาย หรือนึกสาปแช่งให้ได้รับอันตรายต่างๆ ด้วยอำนาจของความโกรธแค้นที่เกิดขึ้นในใจ เช่น ให้ทรัพย์สมบัติของเขาเสื่อมเสียไปก็ดี ให้ชีวิตของเขาทำลายไปก็ดี เป็นลักษณะของพยาบาท

ความคิดปองร้ายของผู้มุ่งจะทำร้ายชีวิตของสัตว์อื่น ตั้งแต่มดและยุง ไปจนถึงมนุษย์ว่า ขอให้สัตว์เหล่านี้จงพินาศ จงวิบัติ ทำอย่างไรหนอ สัตว์เหล่านี้ พึงพินาศ พึงวิบัติ ไม่พึงเจริญรุ่งเรือง ไม่พึงมีชีวิตอยู่ได้นาน

ส่วนความโกรธที่ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น เป็นเพียงกรรมเท่านั้น แม้ความโกรธที่มีสัตว์อื่นเป็นเหตุเกิดขึ้น ไม่ล่วงละเมิดความผิด ตราบใดที่ยังไม่คิดปองร้ายเขาว่า ทำอย่างไรหนอ ผู้นี้จะพึงพินาศตายไป

พยาบาท จะสำเร็จเป็นทางแห่งความชั่วได้ ต้องประกอบด้วยองค์ 2 คือ

1.มีสัตว์อื่น
2.คิดจะให้สัตว์นั้นถึงความพินาศ

การพยาบาทปองร้าย จะเป็นบาปมาก เพราะว่ามีองค์ประกอบที่แสดงออกไปสมบูรณ์ คือ
- ผู้ที่ถูกปองร้ายมีคุณมาก
- ผู้ปองร้ายมีกิเลสรุนแรง
- เพราะถึงความเป็นกรรมชั่ว
- เพราะความพยายามรุนแรง

การทำบาปที่ครบองค์ประกอบ 2 ประการนี้ จัดว่าเป็นความชั่วที่สมบูรณ์ ถ้าผลของการทำบาป คือ การคิดพยาบาทส่งผล เมื่อสิ้นชีวิตลงจะไปเกิดในอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย หรือ เดรัจฉาน เรียกว่า บาปให้ผลในขณะเกิด

ถ้าตอนสิ้นชีวิตนึกถึงบุญ บุญนำเกิดเป็นมนุษย์ ผลของบาปที่ทำไว้นี้ก็จะตามมาให้ผลอีก ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ ที่ไม่ดีไม่งาม ทำให้อายุสั้น เกิดโรคภัยเบียดเบียน จะตายด้วยการถูกประหาร มีผิวพรรณที่หยาบกร้าน เรียกว่า บาปให้ผลในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

ความพยาบาทนั้น นอกจากจะทำลายประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ยังทำลายตัวเองอีกด้วย

เป็นเหตุนำทุกข์อันตรายมาสู่ตนและคนอื่น ฉะนั้น จึงควรมีเมตตากรุณา รักใคร่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันดีกว่า เพื่อให้โลกของเราอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพึ่งพาอาศัยกันได้ต่อไป


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 66.0.3359.117 Chrome 66.0.3359.117


ดูรายละเอียด
« ตอบ #14 เมื่อ: 26 เมษายน 2561 09:42:32 »



ประโยชน์ที่บัณฑิตพึงได้

นักปราชญ์ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะได้รับประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ในชาติปัจจุบันและประโยชน์ในชาติหน้า

ประโยชน์ในปัจจุบัน หมายถึง ประโยชน์ในชาตินี้ เป็นประโยชน์ตราบเท่าที่เป็นอยู่หรือมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1.ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ มีความขยันในการศึกษาเล่าเรียน ในการประกอบอาชีพการงาน ที่สำคัญจะเป็นงานอะไรก็ตาม ถ้าไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและ ศีลธรรมอันดีงาม และช่วยให้ดำรงชีพอยู่ได้แล้วก็น่าจะพอใจ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า "คนหมั่นย่อมหาทรัพย์ได้" และในการสร้างกุศล ความดี ก็ควรหมั่นสร้างความดีอันจะติดตามตนไปในภพหน้า เปรียบเหมือนผู้จะเดินทางไกลเตรียมเสบียงไปด้วยฉะนั้น ดังนั้น ผู้ขยันหมั่นเพียรในประการดังกล่าวมาจึงชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยความหมั่น

2.ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รักษาทรัพย์ที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรง ทำทรัพย์ให้มีความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มีน้ำ ไฟ และโจรผู้ร้าย เป็นต้น ผู้ที่รักษาทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดีได้ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยการรักษา

3.ความมีเพื่อนเป็นคนดี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของเพื่อนที่ดี ว่ามี 4 ประการ คือ 1.เพื่อนมีอุปการะ 2.เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ 3.เพื่อนแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ 4.เพื่อนมีความรักใคร่ ว่าเป็นมิตรแท้ ควรคบ เพื่อนดังกล่าวมานี้ ย่อมนำไปสู่ความเจริญ

4.เป็นอยู่สมฐานะ หมายความว่า ดำรงชีวิตให้พอดีกับฐานะ ใช้ทรัพย์อย่างประหยัดพอเหมาะพอควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองหรือใช้ฟุ่มเฟือยเกินไป ดังคำกลอนที่ท่านสุนทรภู่ได้แต่งเป็นคติสอนใจว่า "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าได้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน"

ส่วนประโยชน์ในชาติหน้า หมายถึง ประโยชน์ในภพหน้าอันจะติดตามผู้ทำไป ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1.ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

2.ถึงพร้อมด้วยศีล คือ การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ไม่มีโทษ

3.ถึงพร้อมด้วยการบริจาค คือ สละทรัพย์หรือสิ่งของให้เป็นสาธารณกุศลต่างๆ เช่น สร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

4.ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

ท่านผู้มีปัญญา เมื่อได้ทราบประโยชน์ 2 อย่าง คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน นับได้ว่าไม่ขัดสนอับจนในชีวิต และประโยชน์ในชาติหน้า นับได้ว่าได้ตระเตรียมเสบียงในการ เดินทางคือกุศล ความดีไว้ก่อนที่จะเดินทางไป ย่อมทำชีวิตเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า



พิจารณาก่อนลงมือทำ

ในการทำงานทุกชนิด มีถูกมีผิดเป็นธรรมดา อาจถูกต้อง แต่ผิดใจก็ไม่ใช่น้อย

เบื้องต้นสำหรับหลักใจคนทำงานก็คือ ผิด ถูก เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ควรพิจารณาคือถูกผิดอย่างไร ซึ่งอาจจะใช้คำว่าประเมินผลเพื่อทบทวนการปฏิบัติว่าถูกตรงกับเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นหรือไม่

วิมังสา คือ การพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบ เป็นหนึ่งในธรรมะ 4 ข้อ ที่เรียกว่า อิทธิบาท เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะประสบความสำเร็จในทุกกิจการที่ดำริริเริ่ม ตั้งแต่งานเล็กน้อยกระทั่งเป็นงานด้านการพัฒนาระดับจิตใจ

วิมังสา เหมือนดวงตาที่คอยตรวจตราดูความเรียบร้อย เช่น เจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัย เมื่อเข้าเวรเข้ายาม ก็จะคอยเดินสำรวจสถานที่ที่รับผิดชอบ เพื่อมองหาสิ่งผิดปกติที่อาจจะเกิดมีขึ้น เป็นการป้องกันภัยให้แก่บุคคลและสถานที่นั้นๆ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดมีขึ้น

ในการศึกษาและการทำงานตามปกติก็เป็นไปในลักษณะนี้ คือนอกจากพอใจ แข็งใจ และตั้งใจทำแล้ว ก็ต้องมีความเข้าใจทำ คือพิจารณาโดยรอบคอบด้วย โดยคำนึงถึงผลได้ ผลเสีย ความคุ้มค่า ความเสี่ยง ประกอบการตัดสินใจ โดยมีแบบประเมินผล หรือการประเมินผลที่เป็นระบบ ทั้งนี้ ก็ต้องอาศัยสติปัญญามาบริหารจัดการ

จะสังเกตว่าหน่วยงานใหญ่ เมื่อทำการใหญ่ๆ แต่ละครั้ง ก็จะตั้งทีมสำรวจความเป็นไปได้ และเกาะติดการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด แม้เมื่องานนั้นผ่านพ้นไปแล้วก็ยังต้องมีการทบทวนหลังการปฏิบัติ เพื่อเก็บเป็นข้อมูล ไว้สำหรับการดำเนินงานในคราวต่อไป

สิ่งที่ผิดพลาดบกพร่องก็จะอยู่ในฐานะเป็นบทเรียน หรือประสบการณ์ที่ดี รวมไปถึงการฝึกจิตอบรมใจ ก็ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ในแง่ของปริยัติให้ถูกต้องก่อน แล้วลงมือปฏิบัติตามขั้นตอน ด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสานี้

การปฏิบัติพระกรรมฐานทั่วไปจึงต้องมีการสอบอารมณ์จากอาจารย์กรรมฐานผู้เป็นกัลยาณมิตร เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติว่าถูกตรงตามทิศทางแห่งพระกรรมฐานแล้วหรือยัง

เมื่อผู้ปฏิบัติปรับอารมณ์ได้ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งการเจริญพระกรรมฐานทุกประเภท ทั้งนี้ ก็เกิดจากการพิจารณาตรวจสอบจิตใจอย่างใกล้ชิดโดยมีสติสัมปชัญญะสนับสนุน

ขอเป็นกำลังใจไว้ในโอกาสนี้ว่า ก่อนตัดสินใจลงมือปฏิบัติงานใดๆ ให้ใคร่ครวญก่อน แม้นจะผิดพลาดบกพร่องประการใด ก็พิจารณาว่าเป็นประสบการณ์ อย่างน้อยก็ได้ชื่อว่า เข้าใจทำ



พระเจ้าปเสนทิโกศล

ความฝันอันเป็นที่มาของความเชื่อเรื่องพุทธทำนายและวรรณกรรมเกี่ยวกับพุทธทำนายนั้น ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เรื่องมหาสุบินชาดก หมายถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสุบินนิมิต 16 ประการ คือ

1.โคอุสุภราช 2.ต้นไม้ 3.แม่โค 4.โคสามัญ 5.ม้า 6.ถาดทองคำ 7.สุนัขจิ้งจอก 8.หม้อน้ำ 9.สระโบกขรณี 10.ข้าวสารที่หุงไม่สุก 11.แก่นจันทน์ 12.น้ำเต้าจมน้ำ 13.หินลอยน้ำ 14.เขียดกลืนกินงูเห่า 15.หงส์ทองแวดล้อมกา 16.เสือกลัวแพะ

ความฝันนี้ได้รับการขยายความออกไปอย่างพิสดาร ในหนังสืออธิบายพระไตรปิฎก เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก ความเชื่อเรื่องพุทธทำนายได้ถูกนำไปเผยแพร่ด้วย

พุทธทำนายจึงเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนในภูมิภาคนั้นๆและความเชื่อเรื่องพุทธทำนายก็แพร่หลายจนปรากฏว่า มีการเขียนวรรณกรรมคล้ายพุทธทำนายอีกหลายฉบับ นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมอื่นที่เรียบเรียงหรือแต่งขึ้นในปัจจุบันโดยนำเสนอคล้ายพุทธทำนาย โดยมุ่งทำนายโลกและชีวิตของมนุษย์ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าผู้ปกครองและประชาชนไม่ยึดมั่นในหลักศีลธรรม มุ่งแต่จะเบียดเบียนกัน เป็นต้น โดยรวมของวรรณกรรมพุทธทำนายจึงเป็นการสั่งสอนศีลธรรมแก่พุทธศาสนิกชน

คืนหนึ่งพระเจ้าปเสนทิแห่งแคว้นโกศล บรรทมแล้วทรงสุบินนิมิตประหลาดถึง 16 ประการ สุบินเหล่านี้ทำให้ทรงเกรงกลัว กังวลพระทัยว่าจะมีเหตุร้ายกับพระองค์ พราหมณ์ปุโรหิตได้ทำนายว่า สุบินนิมิตแบบนี้จะนำเหตุร้ายมาสู่พระองค์ พระมเหสี และราชบัลลังก์จึงแนะนำให้ทำพิธีบูชายัญโดยนำสัตว์ต่างๆ มาฆ่า เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสะเดาะเคราะห์

พระนางมัลลิกาเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสี ทราบเหตุการณ์ทั้งหมดจึงแนะนำให้พระเจ้าปเสนทิโกศล เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อนที่จะทำตามคำแนะนำของปุโรหิตเหล่านั้น

พระพุทธเจ้า ทรงสดับความฝันทั้ง 16 อย่างแล้ว จึงทำนายว่าจะไม่มีอันตรายใดๆ แก่พระองค์ พระมเหสี และราชบัลลังก์ แต่ผลในทางร้ายจะเกิดขึ้นในอนาคตอันยาวไกล ถ้าผู้ปกครอง บ้านเมืองไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ประชาชนในปกครองขาดศีลธรรม ทำร้ายเบียดเบียนกัน ไม่ประกอบกุศลกรรม จะเกิดความวิปริตผิดธรรมชาติมากมาย

บ้านเมืองและประชาชนจะเดือดร้อน ไม่มีความสงบสุข


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 66.0.3359.181 Chrome 66.0.3359.181


ดูรายละเอียด
« ตอบ #15 เมื่อ: 18 พฤษภาคม 2561 10:06:45 »



พอเหมาะพอควร

ความรู้จักพอเป็นเหตุให้คนเรามีความคิดที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้เสียสละได้ เป็นเหตุให้คิดถึงตัวเองเพียงเพื่อเป็นอยู่แบบพอดีๆ แต่คิดถึงผู้อื่นมากกว่า

ความรู้จักพอ จึงเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังให้เกิดขึ้นในใจของแต่ละคนก่อนเป็นประการสำคัญ

ในทางพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมสำหรับปลูกฝังให้เกิดความรู้จักพอหรือพอสมควรไว้ ตามพุทธภาษิตว่า ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

คนที่พิจารณาอย่างผิวเผิน มักเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนเกียจคร้าน ไม่ขยันทำมาหากิน มีเท่าไรกินเท่านั้น ทำให้คนงอมืองอเท้า ไม่คิดก้าวหน้า

แท้จริงแล้ว สันโดษมีความหมายที่กว้างมาก ท่านแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

1.ยินดีพอใจในสิ่งที่ตนได้ สิ่งที่ตนมี คือ มีแค่ไหนก็ยินดีเท่านั้น มีอย่างไรก็กินใช้อย่างนั้น แต่ไม่ได้ให้หยุดขวนขวาย ไม่ต้องคิดก้าวหน้าหรือหามาเพิ่มเติม แต่สันโดษข้อนี้เพียงฝึกหัดใจให้เกิดความพอใจในฐานะที่ตนกำลังมี กำลังเป็นเท่านั้น

เพราะหากไม่สามารถหยุดยั้งความพอใจของตัวเองได้ เมื่อได้รับอะไร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือยศตำแหน่ง ก็จะแสดงความไม่พอใจว่าตนได้สิ่งที่ไม่ดี ไม่สมควรหรือต้องได้มากกว่านี้ เมื่อความผิดหวังเกิดขึ้นแล้ว ความไม่ไว้วางใจ ความไม่ชอบใจก็เกิดขึ้นตามมา การฝึกใจให้มีความพอ มีความยินดีตามมีตามได้ จึงเป็นเหตุป้องกันใจจากความผิดหวังได้

2.ยินดีพอใจในกำลังของตนที่มีอยู่ รวมไปถึงการใช้กำลังให้พอดีด้วย รู้จักประมาณในความรู้ความสามารถของตน

ข้อนี้เป็นการกระตุ้นให้บุคคลรู้จักใช้ความสามารถเต็มที่ ไม่ให้เป็นคนเกียจคร้าน เป็นสันโดษที่ต่อเนื่องจากข้อแรก คือ เมื่อพอใจยินดีในส่วนที่ตนได้ ตนมีแล้ว หากยังมีกำลังขวนขวาย และสามารถหามาเพิ่มตามความจำเป็นโดยชอบธรรมก็ย่อมได้ เมื่อได้เพิ่มแล้วก็ยินดีพอใจเท่านั้น รวมถึงรู้จักปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำงานของตนให้ดีขึ้น ให้มีประสิทธิภาพ

สันโดษข้อนี้ เป็นการฝึกใจ ให้รู้จักประมาณกำลังตัวเอง ฝึกหัดไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ฝึกให้เกิดความขยันหมั่นเพียร ใช้กำลังในทางที่ถูกที่ควรให้พอดีพอเหมาะ

3.ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร คือ ใช้กำลังเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุต่างๆ ต้องเป็นสิ่งที่เหมาะสม ไม่เกิดโทษ วิธีการหาก็เป็นวิธีที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่หาโดยวิธีทุจริต

ข้อนี้เรียกว่า ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร เมื่อใช้เรี่ยวแรงได้สิ่งที่สมควรมาแล้วก็ยินดี พอใจในสิ่งนั้น เพื่อจำกัดขอบเขตของความต้องการที่ไม่สิ้นสุดให้แคบลง

สันโดษข้อนี้เป็นการฝึกให้รู้จักคำว่า อิ่มตัว ป้องกันไม่ให้ทุกข์เพราะดิ้นรนแสวงหา และทุกข์เพราะผิดหวังที่ติดตามมาพร้อมกับการดิ้นรนแสวงหานั้น

ความสันโดษ จึงเป็นหลักธรรมที่พัฒนาคนให้มีความขยัน เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาในเรื่องความอยากได้ ควบคุมความอยากให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้ประกอบการงานโดยขาดความพอเหมาะพอควร

ผู้หวังความสุขในชีวิต ควรใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นหลักธรรมที่พัฒนาบุคคลให้รู้จักคำว่า พอ โดยพอใจในสิ่งที่ตนมียินดีในสิ่งที่ตนได้ ยินดีพอใจในกำลังของตนที่มีอยู่ ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควร ก็จะเป็นเหตุให้ได้รับความสุขที่มั่นคง




พื้นฐานของคนดี
ศีล หมายถึง การงดเว้นจากการประพฤติผิดทางกายและวาจา การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย กล่าวคือไม่ทำผิด ไม่ พูดผิด ส่วนประเภทของศีลจำแนกตามผู้ปฏิบัติทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต

ศีล 5 ศีล 8 หรือศีลอุโบสถ เป็นข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์

ศีล 10 เป็นข้อปฏิบัติสำหรับสามเณร และศีล 227 เป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุ

ศีลเกิดขึ้นได้ เพราะมีเจตนางดเว้น 3 ประการ คือ

1) งดเว้นได้ในขณะที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้า แม้ไม่ได้ตั้งใจจะรักษาศีลในเบื้องต้น แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เช่น เห็นเขากำลังเล่นการพนันอยู่ เมื่อถูกชักชวน ก็ไม่ยอมทำตาม หรือเห็นเงินตกอยู่โดยไม่มีเจ้าของ ถึงอยากได้ แต่ไม่ยอมถือเอาด้วยอาการขโมย เพราะเกรงจะผิดศีล

2) งดเว้นด้วยการรับแล้วนำไปปฏิบัติ เช่น รับศีล 5 แล้วมีความตั้งใจรักษาโดยไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นหรือสัตว์อื่นให้ทุกข์ทรมานเดือดร้อน เป็นต้น

3) งดเว้นได้โดยเด็ดขาด ซึ่งเกิดขึ้นแก่พระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป

ผู้นำทุกระดับ หากไม่รักษาศีล ย่อมประพฤติทุจริต เป็น คนชั่วร้าย ปราศจากเมตตากรุณา ผู้ตามหรือผู้อยู่ในปกครองต้องเดือดร้อน เพราะความไม่ยุติธรรม ไม่มีความเจริญก้าวหน้าในการดำเนินชีวิตและในหน้าที่การงาน เพราะฉะนั้น ศีล จึงเป็นพื้นฐานของคนดี สำหรับผู้อยู่ร่วมกัน ก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ทำให้รู้จักรักษาความดี เป็นที่เคารพนับถือของผู้คน มีความไว้วางใจ กันและกัน

การรักษาศีลโดยเฉพาะศีล 5 นั้น เป็นหลักประกันความมั่นคงของสังคม และเป็นหลักประกัน มิให้เกิดความเสียหาย เพราะว่า

ศีลข้อที่ 1 เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ หรืองดเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น สัตว์อื่นให้ทุกข์ทรมาน ศีลข้อนี้ ป้องกันรักษาชีวิตของสรรพสัตว์ มิให้เบียดเบียนกัน เพราะความโหดร้าย

ศีลข้อที่ 2 เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ ศีลข้อนี้ ป้องกันทรัพย์สินของบุคคลและประเทศชาติ ควบคุมมิให้มีการลัก การปล้น เป็นต้น เพราะใจอยากได้

ศีลข้อที่ 3 เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ซึ่งอยู่ในอำนาจของความใคร่ในกามารมณ์ รู้จักเคารพสิทธิกัน ศีลข้อนี้ ป้องกันครอบครัวมิให้แตกแยก เพราะมากรัก ไม่รู้จักพอ

ศีลข้อที่ 4 เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ ให้ระวังวาจาของตน มีสัจจะต่อกัน ศีลข้อนี้ ป้องกันการหลอกลวงกัน มีความซื่อสัตย์ต่อกัน อันเป็นเหตุให้เกิดความไว้วางใจกัน

ศีลข้อที่ 5 เจตนางดเว้นจากการดื่มน้ำเมาและเสพสิ่งเสพติดให้โทษทุกชนิด เช่น สุราเมรัย เป็นต้น

ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ศีลข้อนี้ ป้องกันสุขภาพร่างกายและจิตใจมิให้เสื่อมโทรม ป้องกันมิให้ดำเนินชีวิตผิดพลาด ประมาท และมัวเมา



พัฒนาจิต
การพัฒนาจิต ไม่ยากเกินความพยายามของคนเราไปได้ ควรฝึกจิตให้มีความอดทน เมตตา กรุณา สามัคคีปรองดองกันไว้ให้ดีที่สุด

การพัฒนาจิตที่ว่ายาก ก็เพราะใจคนกลับกลอกเปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็วจนตามไม่ทัน แต่ถ้าเรามองเห็นประโยชน์และตั้งใจจริงก็ย่อมทำได้

ส่วนการพัฒนาจิตที่ว่าง่าย เพราะไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทอง เหมือนการพัฒนาด้านวัตถุ แม้ว่าในการดำรงชีวิตของคนเราต้องอาศัยวัตถุ เพื่อความสะดวกสบายก็ตาม แต่ถ้าขาดคุณธรรมความดีแล้ว ความเจริญด้านวัตถุก็ไม่อาจจะห้ามการล้างผลาญฆ่าฟันกันได้ เป็นการส่งเสริมให้คนเราเห็นแก่ตัว โหดเหี้ยมมากยิ่งขึ้น เพราะขาดธรรมเป็นเครื่องปกครองรักษาใจให้สงบระงับ

ถ้าเราพยายามช่วยกันพัฒนาจิตให้เจริญด้วยคุณธรรมมากกว่านี้ ความสงบสุขก็เกิดมี ต้องให้ความสนใจในเรื่องการฝึกศีลธรรมจรรยาอันดีงาม ให้ดำเนินไปพร้อมกับความเจริญด้านวัตถุ

ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงก็คือ องค์กรศาสนา บิดามารดา ครูอาจารย์และผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้ใหญ่ทั้งหลายไม่ควรนิ่งนอนใจ

บางท่านไปโทษเอาวัฒนธรรมประเพณีของต่างชาติ ที่หลั่งไหลเข้ามากับความเจริญด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว แต่ในเมื่อเราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ก็ต้องคิดหาทางป้องกันไว้

อุบายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ พระพุทธองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างและทรงสอนไว้แล้ว ถ้าเราไม่ยึดเอาหลักธรรมคำสอนอันถูกต้อง ผลเสียหายเกิดขึ้นในภายหลัง

ผู้มีสติปัญญาอย่าได้ประมาทในปัญหาอันยุ่งยากต่อการแก้ไข ให้เริ่มตั้งแต่บิดามารดา ครูอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายโปรดช่วยกันปลูกฝังอบรมสั่งสอนบุตรหลาน ศิษยานุศิษย์ ให้มีนิสัยรักการประพฤติปฏิบัติธรรม พยายามชี้แจงให้เห็นโทษของความชั่วและทุจริตต่างๆ ให้ตั้งอยู่ในความดี มีความอดทน เมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย และหมั่นเจริญเมตตา

พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตาไว้ว่า มากกว่าการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุทุกอย่าง เพราะเมตตาก่อให้เกิดความสุข เป็นเหตุแห่งความสามัคคีปรองดองกัน

การสงเคราะห์ช่วยเหลือกันในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นได้ด้วยเมตตาจิตเป็นเหตุ ดังคำที่ว่า เมตตาค้ำจุนโลก คือช่วยอุดหนุนเกื้อกูล ผู้ที่มีทุกข์ แบ่งเบาขจัดปัดเป่าความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ให้หมดไป เมื่อคนเรานิยมเจริญเมตตา กรุณา ปรานี ใช้ความดีเป็นสื่อสัมพันธ์ ก็จะก่อให้เกิดความสงบสุข ปลอดภัย รักใคร่ปรองดองในสังคมได้



พูดคำหยาบ
เจตนาแผ่ไปเผาผลาญจิตของผู้ฟัง เป็นเหตุประทุษร้าย ก่อให้เกิดความพยายามทางกาย และทางวาจา ซึ่งทำลายไมตรีของผู้อื่น เรียกว่า พูดคำหยาบ หมายถึงการด่าทอและการสาปแช่งต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่ถูกด่า เกิดความเศร้าใจเสียใจเดือดร้อนใจ เป็นการกระทำที่เกิดมาจากอำนาจของความโกรธความไม่พอใจ

ผู้พูดคำหยาบจะสำเร็จเป็นบาปได้ ต้องประกอบด้วยองค์ 3 คือ

1.คนอื่นที่จะพึงถูกด่า

2.จิตคิดจะพูดคำหยาบ

3.พูดคำหยาบออกไป

ผลเสีย การพูดคำหยาบ จะเป็นบาปมาก ถ้าด่าคนดีมีศีลธรรม ประกอบกับมีเจตนาไม่ดี และมีความพยายามมาก เช่น ลูกด่าพ่อแม่ จะได้รับผลบาปทันที อย่างน้อยเกิดความเศร้าใจ ไม่เบิกบานผ่องใส ยังถูกผู้คนติเตียนนินทาสารพัด

การทำบาปที่ครบองค์ประกอบทั้ง 3 ประการนี้ จัดว่าเป็นบาปที่สมบูรณ์ ถ้าผลของการทำบาป คือ การพูดคำหยาบส่งผล เมื่อสิ้นชีวิตสามารถนำเกิดใน อบายภูมิคือ นรก เปรต อสุรกาย หรือ สัตว์เดรัจฉาน

ถ้าบุญเก่านำเกิดเป็นมนุษย์ ทำให้ ได้เห็น ได้ยินได้ สัมผัส ได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีไม่งาม จะได้ยินได้ฟังแต่คำพูดที่ไม่ไพเราะไม่น่าพอใจ มีกายวาจาหยาบคายด้วยการหลงลืมสติ แม้มีทรัพย์สินที่มีอยู่จะพินาศไป ไม่สามารถรักษาไว้ได้

ในกรณีที่บิดามารดา ครูอาจารย์ ดุด่าบุตรหลานหรือศิษย์ โดยไม่มีเจตนาร้ายแรงแต่อย่างใด จึงไม่มีโทษ หากเจตนาร้ายคงไม่พ้นโทษเช่นกัน

เรื่องเด็กคนหนึ่งไม่เชื่อคำของมารดาเข้าไปในป่า เมื่อมารดาไม่สามารถบังคับให้เด็กนั้นกลับได้ จึงด่าว่า ขอแม่กระบือดุจงไล่ตามมัน ทันใดนั้นแม่กระบือปรากฏแก่เด็กนั้นในป่าจริงๆ เด็กรู้สึกกลัวนึกถึงคำของมารดาแล้วตั้งสัจจอธิษฐานว่า มารดาของข้าพเจ้า พูดเรื่องใด ขอเรื่องนั้นอย่าเกิดแก่ข้าพเจ้า แต่ใจมารดาของข้าพเจ้าคิดห่วงใย ไม่เคยคิดร้าย ขอเรื่องนั้นจงเกิดมีเถิด

แม่กระบือได้หยุดอยู่เหมือนถูกผูกในที่นั้น



พูดดีมีประโยชน์
เรื่องที่ควรพูด หรือควรกล่าว นับได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ควรศึกษาและสนใจเป็นอย่างมาก ถ้าจะมีการพูดกันแต่คำดี มีประโยชน์ ก็จะลดหย่อนผ่อนทุกข์ให้ลดน้อยลง ตรงกับความมุ่งหมายของทุกฝ่าย เมื่อเป็นเช่นนั้นความสุข ความสงบที่ทุกคนปรารถนา ก็จะเกิดมีขึ้น

แต่ถ้าหากพูดคำที่ไม่ดี หรือไม่ชอบ หาสารประโยชน์ไม่ได้ ก็จะมีทุกข์ติดตาม คือ เพิ่มภัย ก่อความอาฆาตกันและกันมากขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อันการพูด ทุกคนต่างก็มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะทำได้อย่างไม่มีจำกัดและขัดข้อง แต่ต้องให้อยู่ภายใต้ขอบเขตแห่งหลักปฏิบัติ คือ พระธรรมวินัยและกฎหมาย ไม่จงใจล่วงละเมิดสิทธิ เสรีภาพของคนอื่นให้เสียหาย คำพูดของทุกคนจึงมีมากมายหลายเรื่อง แต่คำพูดทั้งหมด เป็นเพียงขั้นธรรมดาสามัญหาสารประโยชน์ไม่ได้ จึงไม่ค่อยมีคนสนใจจดบันทึกไว้

การพูดนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและมีปัญหามาก ทั้งนี้ คนจะดีก็อยู่ที่ปาก จะลำบากก็อยู่ที่วาจา พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วก็เป็นภัย การพูดจึงควรระมัดระวังอย่าให้บกพร่อง หรือพลาดพลั้งได้ โดยถือภาษิตเป็นเครื่องคอยสะกิดเตือนใจว่า "จงสำรวมระวังวาจาให้ดี"

เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องพูด ก็ให้ระลึกนึกถึงภาษิตที่ว่า "การพูดวาจาที่ดีงามยังประโยชน์ให้สำเร็จ"

เมื่อทุกคนมีคุณธรรมสำหรับประคองรองรับวาจาได้เช่นนี้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องของคำที่ควรพูดได้ดี ด้วยวิธีที่มีในพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงเลือกสรรวิธี ตรัสวาจาที่มีสาระสำคัญและเป็นประโยชน์ไว้มีใจความว่า

1.วาจาใด เราตถาคตทราบว่า เป็นวาจาไม่จริง ไม่แท้ ไม่มีประโยชน์ ทั้งไม่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป เราตถาคตจะไม่กล่าววาจาเช่นนั้น

2.วาจาใด เราตถาคตทราบว่า เป็นวาจาจริง แท้ แต่ไม่มีประโยชน์ ทั้งไม่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป เราตถาคตจะไม่กล่าววาจาเช่นนั้น

3.วาจาใด เราตถาคตทราบว่า เป็นวาจาจริง แท้และมีประโยชน์ แม้จะไม่เป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป เราตถาคตรู้จักกาลเวลาหาโอกาสที่จะกล่าววาจาเช่นนั้น

4.วาจาใด เราตถาคตทราบว่า ไม่จริง ไม่แท้ และไม่มีประโยชน์ แต่กลับเป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป เราตถาคตก็จะไม่กล่าววาจาเช่นนั้น

5.วาจาใด เราตถาคตทราบว่า เป็นวาจาจริง แท้ และมีประโยชน์ รวมทั้งเป็นที่นิยมและชอบใจของคนทั่วไป เราตถาคตรู้จักกาลเวลาหาโอกาสที่จะกล่าววาจาเช่นนั้น

ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ควรใช้วิจารณญาณของตนทบทวน พิจารณาถึงลักษณะของคำที่ควรพูด และไม่ควรพูด โดยพุทธวิธีตามที่ได้แสดงมาก็จะเป็นผู้ที่พูดแต่คำที่ดี มีคุณ สำเร็จประโยชน์ในทุกสิ่งทุกประการ


ธรรมะวันหยุด
 พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.103 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 12 ชั่วโมงที่แล้ว