[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 09:27:53 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: โหราศาสตร์ : ความคิดพื้นฐานและปัญหาบางประการ  (อ่าน 3275 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 04 ธันวาคม 2560 13:34:03 »



โหราศาสตร์ : ความคิดพื้นฐานและปัญหาบางประการ
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง 
ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๗-๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐

คุณตาผมเป็นโหรครับ ตอนแกมีชีวิตอยู่ผมไม่คิดอยากเรียนกับแก

พอแกตายก็ทิ้งตำราไว้ดูต่างหน้าหนึ่งเล่มซึ่งไม่ใช่ตำราลับเก่าแก่อะไรหรอกครับ เพียงแต่คุณตารวบรวมความรู้ที่คิดว่าใช้ได้กับสถิติทางโหราศาสตร์ที่แกทายเอาไว้

ภายหลังเมื่อมาทำงานที่ภาควิชาปรัชญาแล้วได้พบกับท่าน ผศ.สุนัย ครองยุทธ ซึ่งสอนปรัชญาตะวันตก แต่ท่านเองสนใจเรื่องโหราศาสตร์ในแบบวิเคราะห์วิพากษ์ ได้ลองปรึกษาหาความรู้กับท่านแล้วก็ทดลองเรียนแบบมือสมัครเล่น

ที่เรียนก็ด้วยสาเหตุสองอย่างครับ อย่างแรก คืออยากรู้ว่าที่เขาดูดวงกันนี่มันอะไรยังไง

กับสอง คิดว่าถ้าพอมีความรู้บ้างจะได้ไม่ไปต้องเสียเงินแพง ดูเองได้ ดูให้ญาติมิตร

และที่สำคัญมันเป็นวิชาที่สาวๆ ชอบครับ (ฮา)

ดังนั้น สิ่งที่ผมเสนอนี้มาจากทัศนะของมือสมัครเล่นที่รู้อย่างพองูๆ ปลาๆ เท่านั้นครับ เป็นการพยายามมองจากภาพรวมเท่าที่เห็น

หากท่านใดเข้าใจในขั้นลึกได้โปรดสั่งสอนชี้แนะเพิ่มเติม

วิชาดูดวงหรือทำนายทายทักมันมีหลายแบบครับ ดูลายมือ โหงวเฮ้ง เลขเจ็ดตัว ไพ่สารพัด

แต่ในวงการเขามีธรรมเนียมว่า คนดูดวงโดยวิชาโหราศาสตร์ไทย (คือทายดวงดาวจากแผนภูมิกำเนิดที่เรียกว่า “ราศีจักร”) เท่านั้นถึงจะได้รับการเรียกว่า “โหร” นอกนั้นเรียกหมอดูหมดครับ

ก็เพราะวิชาโหราศาสตร์นี่มันยากที่สุด ซับซ้อนที่สุด และอาจเก่าแก่มากๆ ในบรรดาวิชาดูดวงทั้งหลาย

วิชาโหราศาสตร์สยามนี่เราได้รับมาจากอินเดียครับ แต่อินเดียจะรับมาจากทางไหนคงต้องสืบค้นอีกที บางท่านว่ามันมาจากอารยธรรมเมโสโปเตเมียเป็นที่แรก บางท่านว่ามันกำเนิดในอินเดียเอง แต่เรารับแล้วก็เอามาปรับในแบบของเราเอง ไม่เหมือนเขาซะทีเดียว

วิชานี้เริ่มจากการสังเกตเทหวัตถุบนท้องฟ้าคือดวงดาวเป็นหลัก จากนั้นจึงคำนวณเพื่อสร้าง “แผนภูมิ” ของดวงดาวนั้นๆ ขึ้นมา ใช้ดาวหลักในระบบสุริยจักรวาล ได้แก่ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์

ต่อมาเพิ่มจุดตัดที่ก่อให้เกิดเงาขึ้นมาในการคำนวณเรียกว่า “ราหู” และดาวหางหรือ “เกตุ” ขึ้นมาครบเป็น “นพเคราะห์” ทั้งเก้า ราหูจึงไม่ใช่ “ดาว” ในความหมายของเทหวัตถุบนฟ้าแต่เป็น “เงา” หรือความมืด ท่านถึงให้ “มัวเมาทายราหู”

ตารางกลมๆ ที่ท่านเห็นเวลาไป “ผูกดวง” (ผูกดวงไม่ได้หมายความว่าเอาดวงไปผูกกับใคร แต่หมายถึงการสร้างรูปแผนที่ดวงดาวในเวลาเกิดของเราขึ้นมา) คือแผนผังท้องฟ้า พร้อมด้วยตำแหน่งดาวทั้งหลาย จำเพาะในเวลาที่เราเกิด หรือเวลาที่เราจะใช้ (ขึ้นบ้าน ยกเสาเอก ฯลฯ)

จากนั้นจึงทำนายโดยใช้ “ความสัมพันธ์” ระหว่างดวงดาวเหล่านั้นแหละครับมา ไม่ว่าจะ “เล็ง” “ทับ” ตรีโกณ จตุโกณ เป็นสิบสิบเอ็ด ฯลฯ ซึ่งโหรท่านก็จะมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการตีความ รวมทั้งคุณสมบัติของดาวเหล่านั้น แล้วจึงออกคำทำนาย

นักพยากรณ์สมัยใหม่ท่านอ้างว่า คำทำนาย คือ “สถิติ” หมายความว่า เมื่อตำแหน่งของดวงดาวเป็นแบบนั้นๆ โบราณก็สังเกตว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจดจำสืบกันต่อมา จึงเอา “เกณฑ์” ดังกล่าวมาใช้พยากรณ์ได้

เรื่องนี้จะจริงหรือเท็จผมยังไม่แน่ใจนัก แต่ในบรรดาวิชาโบราณทั้งหลาย ทั้งโลกตะวันตกและตะวันออกดูจะสนใจพยากรณ์ศาสตร์หรือโหราศาสตร์มากที่สุด พอๆ กับพวกเรื่องการรักษาพื้นบ้าน

เพราะคล้ายๆ มันมี “ความรู้” อะไรบางอย่างอยู่

โหราศาสตร์มีลักษณะผสมผสานความรู้ “แบบ” วิทยาศาสตร์เอาไว้พอสมควร

ดังนั้น หากเราศึกษาดูจะพบว่า การศึกษาโหราศาสตร์ประกอบด้วยสี่ภาคด้วยกัน คือ ภาคดาราศาสตร์ ภาคคำนวณ ภาคพยากรณ์ และภาคพิธีกรรม
 
สองภาคแรกเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานที่สุด ท่านอาจารย์สุนัยบอกผมว่า สมัยก่อนใครจะเรียนวิชาโหรต้องผ่านสองภาคนี้มาก่อนทั้งนั้น ไม่มีอยู่ๆ ก็โดดไปทายกันเลยอย่างสมัยนี้

ภาคดาราศาสตร์คือเรียนเรื่องคุณสมบัติของดาวในแง่มุมต่างๆ การโคจร จักรราศี ฯลฯ คล้ายอย่างวิชาดาราศาสตร์ แต่อาจมีจุดเน้นและการตีความต่างกัน

จากนั้นก็มาสู่ภาคที่ยากที่สุดคือภาคคำนวณ คือการคำนวณการโคจรต่างๆ ของดวงดาว การแบ่งวันและเวลา ฯลฯ ต้องเรียนคัมภีร์อินทภาสบาทจันทร์ ไม่มีเครื่องคิดเลขอย่างสมัยนี้ก็ต้องใช้ลูกคิดช่วย

จากนั้นหัดอ่านปฏิทินโหราศาสตร์และทำดวง “อีแปะ” ขึ้นมาดู

เมื่อเรียนภาคพยากรณ์ทีนี้จะสนุกแหละครับ หัดตีความ ผสมความหมาย การทำนายทายทัก อันนี้ใครสนใจลองอ่านคอลัมน์ของอาจารย์ ศ.ดุสิต ในมติชนสุดสัปดาห์นี่แหละครับ สนุกและน่าติดตามวิธีการทำความเข้าใจการพยากรณ์แบบไทย จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็อ่านเป็นความรู้ได้

ส่วนภาคสุดท้ายนี่แหละครับที่เป็นปัญหามาก คือ “ภาคพิธีกรรม” นักพยากรณ์บางท่านไม่เอาภาคนี้เลย ด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งต่อเติมเข้ามาในวิชาโหราศาสตร์ ซึ่งมาจากความเชื่อทางศาสนาบ้าง ความเชื่อพื้นบ้านบ้าง เช่น การทำพิธีสะเดาะเคราะห์ รับส่งเทวดานพเคราะห์ พิธีบูชาดวงดาว ฯลฯ

ท่านว่านักพยากรณ์มีหน้าที่แค่การออกคำพยากรณ์เท่านั้น เหลือจากนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของโหราศาสตร์

แต่ดูเหมือนภาคพิธีกรรมจะกลายเป็นภาคที่นิยมที่สุด ทั้งจากฝ่ายคนมาดู เพราะกลุ้มใจไม่รู้จะทำยังไงให้แก้ปัญหาชีวิตได้ง่ายๆ กับฝ่ายคนดูให้ด้วย เพราะมันช่างเป็นวิธีการหาเงินที่สะดวกจริงๆ

ในยุคแห่งความง่าย คนอยากแก้ปัญหาแบบง่ายๆ มาเจอคนรู้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาอย่างไรให้ง่ายๆ ก็สบายตัวกันเลยครับ อย่างที่ผมเน้นย้ำเสมอ จะเชื่ออย่างไรเป็นสิทธิของท่าน ผมมีหน้าที่นำเสนอข้อมูลความรู้ ท่านต้องดูแลตัวเอง จึงทำได้แต่บอกว่า

“ขอให้โชคดี”

แต่นั่นแหละครับ ปัญหาของโหราศาสตร์ โดยเฉพาะในระดับรากฐานหรือตัวความคิดนั้น ไม่ได้มีเพียงเฉพาะภาคพิธีกรรม ปัญหาของโหราศาสตร์ในทั้งสี่ภาคเป็นดังนี้ครับ

ในภาคดาราศาสตร์และการคำนวณนั้น ปัญหาหลักๆ อยู่ที่ความถูกต้องของความรู้ครับ เนื่องจากว่าความรู้ทางดาราศาสตร์มีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่คนในวงการโหราศาสตร์เองก็ตระหนักเรื่องนี้ จึงมีทั้งคนที่เอาดาราศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาผสมกับการพยากรณ์ เช่น ระบบยูเรเนี่ยน หรือระบบอื่นๆ

กระนั้นก็มีผู้เห็นว่าแม้วิชาคำนวณของเราบางครั้งตำแหน่งของดาวไม่ตรงกับตำแหน่งจริงบนฟ้า เช่น เมื่อใช้คัมภีร์สุริยยาตรคำนวณ แต่ก็แม่นยำใช้การได้ดีก็ควรจะใช้ต่อไป เรื่องนี้คนในนั้นคงต้องถกเถียงกันเองครับ แต่แสดงให้เราเห็นว่า ความรู้ทางดาราศาสตร์สำหรับนักพยากรณ์ไม่ใช่ความรู้สำคัญ แต่เป็นแค่ “เครื่องมือ” เพื่อนำไปสู่สิ่งอื่นเท่านั้น

ส่วนภาคพยากรณ์ ท่านอาจารย์สุนัยเคยชี้ให้ผมเห็นว่าปัญหามันก็อยู่ที่ “ความสัมพันธ์” นั่นแหละครับ กล่าวคือ อะไรเป็นสิ่งยืนยันความสัมพันธ์ระหว่าง “ดวงดาว” กับ “เหตุการณ์” ที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือบนโลกของเรา เนื่องจากเราไม่สามารถยืนยัน “ความสัมพันธ์” อันนี้ได้อย่างแน่นอนชัดเจนทั้งๆ ที่สิ่งนี้คือหัวใจของการพยากรณ์ โหราศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่ยังอยู่ในฝั่ง “ความเชื่อ” ต่อไป เพราะความเชื่อมโยงเช่นที่ว่ายังเป็นสิ่งลึกลับ

นอกจากนี้ หากเชื่อว่าทุกสิ่งถูกกำหนดมาแล้วล่วงหน้า ทางปรัชญาเรียกทัศนะแบบนี้ว่า “นิยัตินิยม” (Determinism) ปัญหาก็คือ เราจะทราบได้อย่างไรว่า อะไรที่เราเลือกได้หรืออะไรที่ถูกกำหนดมาแล้ว ชีวิตเราจะมีเจตจำนงเสรีแค่ไหนอย่างไร

แน่นอน นักพยากรณ์เองก็ไม่ได้คิดว่าวิชาโหราศาสตร์เป็นการชี้ร่องรอยของสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ กระนั้นปัญหาที่ตามมาคือตกลงคือมันกี่เปอร์เซ็นต์กันแน่ และอะไรบ้างที่ถูกกำหนด อะไรบ้างที่ไม่ถูกกำหนด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนักพยากรณ์และคนดูดวงสังกัดตนเองในศาสนา แนวคิดพื้นฐานของโหราศาสตร์นั้นจะขัดกับศาสนาหรือไม่อย่างไร อันนี้คงได้ไว้วิเคราะห์กันต่อในคราวหน้า

ส่วนภาคพิธีกรรม นอกจากปัญหาข้างต้น ผมคิดว่ามันยังสะท้อนอะไรบางอย่างซึ่งเป็นปัญหาในระบบเอง กล่าวคือ ถ้าเชื่อว่าการพยากรณ์ของตนเป็นสิ่งที่ “แม่นยำ” ไม่ว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม เหตุใดจึงยังคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ตามที่เราจะกำหนด

ผมไม่แน่ใจว่าภาวะเช่นนี้ อาจถือเป็น “ข้อขัดแย้งในตัวเอง” (self-contradiction) ได้หรือไม่ คือถ้าเชื่อว่ามันแม่น มันก็ต้องเกิดขึ้น แต่จะทำให้มันไม่เกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งแปลว่ามันก็ต้องไม่แม่น? ซึ่งมันแสดงถึงความสับสนบางอย่าง ทำให้นักพยากรณ์บางท่านไม่เอาเรื่องพิธีกรรมนี้เลย

นอกจากนี้ โหราศาสตร์ โดยเฉพาะไทยๆ ยังมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ศาสนา และอะไรต่างๆ มาตลอดประวัติศาสตร์ ไว้จะชวนคุยกันอีกครับ





โหราศาสตร์กับศาสนา
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง 
ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๔-๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐

โหราศาสตร์แฝงฝังอยู่ในแทบทุกศาสนา ไม่ว่าจะไทย จีน แขก ฝรั่ง ซึ่งแต่เดิมไม่ใช่ของศาสนาแต่เป็นวิชาการทั้งของชาวบ้านและปราชญ์ที่ศาสนารับไปภายหลัง

แต่ปัญหาของโหราศาสตร์ในระบบมันเองมีสองสามเรื่อง อย่างแรกคือ “ความสัมพันธ์” ระหว่างดวงดาว กับปรากฏการณ์บนโลกของชีวิตแต่ละคน ซึ่งไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ว่ามันเกี่ยวข้องกัน

ปัญหาอีกประการคือเรื่องพิธีกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าแก้ไขชะตาชีวิตได้ก็อาจทำให้ ความ “ไม่แม่น” เกิดขึ้น กลายเป็นขัดแย้งในตัวเอง

อีกปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นในระบบ คือความสัมพันธ์ระหว่างโหราศาสตร์กับศาสนา ซึ่งไม่ว่าจะพุทธและพราหมณ์ก็มีการใช้โหราศาสตร์เป็นเครื่องมือทั้งนั้น

แต่นักการศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนาส่วนใหญ่เห็นว่า วิชาโหราศาสตร์จัดอยู่ในประเภท “เดรัจฉานวิชา” โดยมีคำเฉพาะว่า “แหงนหน้ากิน” คือแหงนหน้าดูดาวและพยากรณ์เพื่อหากินนั่นแล ไม่ใช่สิ่งที่พระภิกษุควรเรียนหรือใช้ ผิดพระธรรมวินัย และเป็นสิ่งที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมลงเพราะพระหวังอามิส

แต่ในทางกลับกันจะเห็นว่ามีพระภิกษุไทยหลายรูปที่เชี่ยวชาญโหราศาสตร์และใช้ช่วยชาวบ้านตามแต่โอกาส อย่าง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) เป็นต้น

อีกทั้งพุทธศาสนาในฝ่ายเหนือ เช่น พุทธศาสนาแบบทิเบตก็มีการใช้โหราศาสตร์กันอย่างแพร่หลาย ที่สำคัญได้รับการรับรองโดยพระอาจารย์ระดับสูงด้วย

ถ้าจำพุทธประวัติสมัยที่เราเรียนหนังสือกันได้ พุทธบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะเชิญพราหมณ์มาเลี้ยงและทำพิธีตั้งชื่อในวันที่สิบห้าหลังเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ (พราหมณ์เรียกพิธีนี้ว่า “นามกรรม” คือการตั้งชื่อเด็กแรกเกิด จัดเป็นหนึ่งใน “สัมสการ” สำคัญ คือพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านในแต่ละช่วงชีวิต ปัจจุบันยังทำอยู่)

ในพุทธตำนานเล่าว่าพราหมณ์ทั้งหลายพากันพยากรณ์ว่าเจ้าชายองค์นี้หากไม่เป็นจอมจักรพรรดิราชก็จะเป็นศาสดาเอก มีเพียงอัญญาโกณฑัญญะพราหมณ์เท่านั้นที่ยืนยันว่า ต้องเป็นเอกศาสดาของโลก

ผมไม่แน่ใจว่าตำนานนี้มาจากคัมภีร์ไหน แต่ดูเหมือนว่าจะถูกเน้นย้ำมากๆ ซึ่งแปลกดีที่เริ่มต้นปฐมบทพุทธประวัติด้วยสิ่งที่ “ขัดพระวินัย” เช่น โหราศาสตร์ และที่สำคัญดัน “แม่น” เสียด้วย

ดังนั้น ผมคิดว่าคงเป็นไปได้ที่โหราศาสตร์นั้นไม่ได้ขัดกับพุทธศาสนาโดยตัวมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับว่า มันถูกใช้ด้วยท่าทีแบบไหนและเพื่ออะไรมากกว่า เช่นเดียวกับ “ไสยศาสตร์” อื่นๆ ที่เข้ามาอิงแอบกับศาสนา

สมมุติฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ (ซึ่งนักวิชาการหลายท่านว่า มันพิสูจน์ไม่ได้นั่นแล) ระหว่างดวงดาวกับชีวิตคนในทางโหราศาสตร์ ผมเข้าใจว่ามีอยู่สองลักษณะ ซึ่งมาจากฐานคิดทางศาสนาสองแบบ

แบบแรก คือความคิดที่ว่า การเคลื่อนที่ของดวงดาวและความสัมพันธ์ของมันมี “พลัง” หรืออิทธิพลต่อสิ่งอื่นๆ บนโลก พูดง่ายๆ คือ พลังของดวงดาวนั่นเองที่ส่งผลต่อชีวิตเราแต่ละคน

ลักษณะคำอธิบายเช่นนี้ให้ความสำคัญต่อ “อิทธิพลภายนอก” มาก ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของศาสนาโบราณ หรือศาสนาประเภทเทวนิยม เช่น พราหมณ์-ฮินดู โดยตระหนักว่ามนุษย์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาล จึงไม่แปลกที่โลกธรรมชาติจะส่งผลถึงพฤติกรรม อารมณ์ จิตใจ ร่างกาย และความเป็นไปของมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับการขึ้นลงของน้ำซึ่งเป็นพลังงานของดวงจันทร์ หรือแสงแดดอันแผดเผาของดวงอาทิตย์

ดวงดาวทั้งหมดจึงสามารถที่จะส่งอิทธิพลได้ กระนั้นปัญหาของคำอธิบายแบบนี้คือ เราจะทราบได้อย่างไรว่าอิทธิพลที่ว่ามีอะไรบ้าง มากน้อยเพียงไร สัมพันธ์กันจริงหรือไม่ และที่สำคัญในทางโหราศาสตร์พลังงานของดวงดาวไม่ได้มีเซนส์แบบ “อิทธิพล” แต่เป็นลักษณะของการ “บงการ” หรือให้ผลในอนาคตมากกว่า

แม้เมื่อศาสนาฮินดูเริ่มพัฒนาแนวคิดเรื่องกรรมแล้ว คำอธิบายเหล่านี้ก็ดูจะไม่ได้ชัดเจนขึ้นมากนัก อีกทั้งกลับมีการสร้างเทวตำนานเกี่ยวกับดวงดาวเพื่ออธิบายหลักโหราศาสตร์อีกชั้น

และทำให้พิธีการบูชาดวงดาว การสะเดาะเคราะห์ แพร่หลายมากขึ้น
 
ผมไปท่องเที่ยวในอินเดียมาหลายปี สิ่งที่เปลี่ยนไปคือในเทวสถานเก่าๆ เดิมๆ เขาเริ่มจะรับเอาพิธีบูชาเทวดานพเคราะห์จากที่อื่นๆ มาเพิ่มไว้ ซึ่งแค่เมื่อห้าหกปีที่แล้วผมจำได้ว่ายังไม่มี เช่น การเอาน้ำมันไปรดเทวรูปพระเสาร์ และผมก็เห็นการโปรโมทพิธีกรรมและเทวสถานใหม่ๆ ของเทพนพเคราะห์โดยโหรทางโทรทัศน์ในอินเดียมากขึ้นทุกที

ไม่ต่างกับสถานการณ์ในบ้านเราแต่ประการใดเลยครับ เพราะผมเกิดก่อนมีการประดิษฐ์พิธี “ถวายของดำแปดอย่าง” และก่อน “ราหู” จะดังในหมู่คนไทยมากขนาดนี้เล็กน้อย ซึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในยุคนี้

ความคิดแบบที่สองเป็นการคิดชนิดกลับหัวกลับหางเลยครับ คือความคิดว่าที่แท้แล้ววิชาโหราศาสตร์ไม่ได้อยู่บนฐานที่เชื่อว่าดวงดาวส่งอิทธิพลต่อเรา แต่ที่จริงความสัมพันธ์ของดวงดาวคือ “ร่องรอยกรรม” ที่สะท้อนออกมาบนท้องฟ้าในวันที่เราเกิดนั่นเอง

กล่าวแบบง่ายคือ “บุพกรรม” หรือกรรมเก่าของเรานั่นแหละที่ไปทำให้ ดวงดาวเหล่านั้นมันโคจรและอยู่ในตำแหน่งนั้น

งานของโหรจึงเหมือนงานนักสืบ คือไปล้วงแคะแกะเกา ตีความเจ้าร่องรอยกรรมเก่าที่อาจส่งต่อชีวิตในปัจจุบันชาตินี้และอนาคตได้

ดังนั้น ทั้งหมดไม่มีอะไรนอกจากเรื่องกรรม แต่แม้จะฟังดูเข้ากับแนวคิดทางพุทธศาสนามากๆ คือไม่มี “อิทธิพลภายนอก” มาบงการชีวิตของใคร ไม่ว่าดาวหรือเทพ แต่เป็นเพียงวิบากหรือผลกรรมของเราเท่านั้นเอง แต่ก็มีจุดที่น่าสงสัยอยู่

อย่างแรก ปัญหายังคงอยู่ที่เจ้าความสัมพันธ์อีกเช่นกัน ยังคงไม่มีอะไรพิสูจน์ว่า เหตุใดดวงดาวจึงสัมพันธ์กับกรรมของเราในลักษณะที่กรรมไปบงการดวงดาว และการถือว่ากรรมเก่ามีอิทธิพลต่อชีวิตในชาตินี้ล้วนๆ ก็ดูจะขัดหลักพุทธศาสนา

หากบอกว่าไม่ได้บงการร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะวนกลับไปสู่ปัญหาเดิมที่ว่า จะรู้ได้ไงว่ามีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนอย่างไร

ยิ่งส่วนของพิธีกรรมอีก ในเมื่อมันเป็นเรื่องกรรมแล้วจะขจัดปัดเป่าอย่างไรได้ บางท่านก็ว่า พิธีกรรมทางโหราศาสตร์เมื่อเข้ามาสู่ร่มพุทธศาสนาจึงเปลี่ยนจากการบูชาดวงดาวโดยตรงเป็นการอ้างพุทธานุภาพเพื่อขจัดปัดเป่าแทน

แต่ผมไม่แน่ใจนักว่าพุทธานุภาพที่กล่าวถึงนี้คืออะไร และขจัดปัดเป่า “ผลกรรม” ได้จริงหรือไม่ อย่างไร หรือจะมีคำอธิบายอย่างอื่นที่สมเหตุสมผลกว่า เช่น หากเคราะห์ร้ายไม่ใช่ผลกรรม แต่เป็น “สิ่งภายนอก” พุทธานุภาพจะขจัดปัดเป่าได้อย่างสมเหตุสมผลกว่าหรือไม่

แต่แม้จะมีข้อบกพร่องมากน้อยเพียงใด กระนั้นเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า โหราศาสตร์ก็อาจไม่ขัดกับหลักศาสนาไปเสียทั้งหมด ผมจึงบอกแต่ต้นว่า เครื่องมือเหล่านี้ถูกใช้โดยท่าทีและวิธีการตีความแบบไหน เพราะพุทธศาสนานั้นมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ เข้าไปสู่ดินแดนไหนก็พยายามเข้ากับวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นนั้น

พุทธมหายานแบบจีนจึงมีพิธีบูชาดวงดาว ซึ่งชาวเต๋าเขาบูชากันอยู่แล้วก่อนพุทธจะเข้าไปในจีน ครั้นเข้าไปก็ไม่ไปทำลายศรัทธาชาวบ้าน แต่อธิบายเสียใหม่ว่า ดวงดาวเหล่านั้นคือพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ต่างๆ ชาวพุทธจะกราบไหว้โดยตระหนักข้อนี้ก็ไม่เสียหายอันใด

แม้แต่ไหว้พระจันทร์ เขาก็อธิบายใหม่ว่า พระจันทร์นั้นเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง พระสงฆ์จนจึงจัดไหว้พระจันทร์ไปพร้อมกับชาวบ้านด้วยได้

บางท่านว่า สิ่งเหล่านี้มักเกิดเพราะพุทธศาสนาหรือศาสนาใหม่พยายามจะแข่งขันกับศาสนาที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่นนั้นๆ ผมก็เห็นว่ามีเหตุนี้ก็มีส่วน แต่ก็อยากมองในแง่ดีด้วยว่า พุทธศาสนานั้นมีหลัก “อุปายะ” คืออะไรที่พอจะใช้เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายก็ย่อมใช้ได้ ขอแค่ไม่เสียท่าทีและเป้าหมาย

ที่จริง หลักโหราศาสตร์มีอะไรบางอย่างที่น่าจะช่วยสะท้อนหลักการศาสนาได้ คือโหรรุ่นเก่าๆ ท่านเน้นว่า เวลาเราดูดวง ทั้งดูให้คนอื่นหรือเป็นคนถูกดู เราจะเห็นว่า ชีวิตมันเดี๋ยวก็มีดี สักพักก็จะร้าย ครั้นร้ายแล้วก็ดีอีก เป็นเช่นนี้ไปชั่วชีวิต ไม่มีดีตลอดหรือร้ายตลอดไป

ใครระลึกโลกธรรมนี้ได้ นี่แหละหลักพระอนิจจตา

หรือความไม่เที่ยงอันเป็นบรมธรรม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.515 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้