[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 15:58:27 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ธุดงค์ ทำอะไร ที่ไหน เพื่ออะไร? โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)  (อ่าน 4076 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.84 Chrome 63.0.3239.84


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 13 ธันวาคม 2560 16:10:28 »



ธุดงค์ ทำอะไร ที่ไหน เพื่ออะไร?
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต  ป.ธ.๙)

คณะมาเยี่ยมถึงนี่ เดินทางเป็นร้อยๆ กิโล ผ่านป่าเนินเขินเขาเข้ามาไกล และมีความสนใจในเรื่องธุดงค์ ก็เข้ากับบรรยากาศดีเหมือนกัน คือแวดล้อมไปด้วยสภาพตามธรรมชาติของหมู่ไม้ในแดนดงแถบเชิงเขา แต่ที่ยอดเนินนี้ลมค่อนข้างแรง เวลาพูด เสียงลมจะดังแทรกกวนเข้าไปในเครื่องอุปกรณ์ เมื่อพูดไปก็ฟังกันไป

รู้จักธุดงค์กันนิด

"ธุดงค์" มาจากคำบาลีว่า ธุตงฺค (อ่านว่า ธุตังคะ) เกิดจาก ธุต+องฺค

"อังคะ" หรือ "องค์" แปลว่า องค์ประกอบ หน่วย หรือหัวข้อ ในที่นี้หมายถึงคุณสมบัติ หรือจะแปลว่าข้อปฏิบัติก็ได้ คือเป็นข้อปฏิบัติในการฝึกตน หรือคุณสมบัติของผู้ที่ฝึกตนซึ่งแยกเป็นข้อๆ ส่วน "ธุต" (อ่านว่า ธุตะ) แปลว่า ผู้ขัดเกลากิเลส

ดังนั้น ธุดงค์นี้ จึงแปลว่า คุณสมบัติของผู้ขัดเกลากิเลส หรือข้อปฏิบัติของผู้ขัดเกลากิเลส หมายความว่าสำหรับพระ (โยมก็ได้บางข้อ) จะได้เอามายึดถือปฏิบัติ เพื่อจะได้ขัดเกลากิเลสของตน ซึ่งจะช่วยให้มีชีวิตอย่างพระดีได้ คือ มีชีวิตที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม หรือทำหน้าที่ของพระ เช่น เจริญสมถวิปัสสนามุ่งหน้าไป

พระมีชีวิตอย่างไรที่เหมาะจะเป็นชีวิตของพระ ก็คือมักน้อย สันโดษ และธุดงค์ก็เน้นคุณสมบัติข้อที่เด่น คือเน้นให้มีความมักน้อยสันโดษนี่แหละ ธุดงค์จึงเป็นข้อปฏิบัติของผู้ที่ขัดเกลากิเลส โดยตัวเองที่มุ่งจะเป็นอยู่อย่างมักน้อยสันโดษ

ที่ว่ามักน้อยสันโดษ ก็คือไม่ยุ่งกับเรื่องไปเที่ยวหากินแสดงหาข้าวของลาภผล จะได้มุ่งมาทำงาน ทำกรรมฐาน มาอยู่กับกิจหน้าที่ของตนเอง คือประพฤติปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา เจริญไตรสิกขาไป พระนี่พอมักน้อยสันโดษก็ทำงานของตนเองได้เต็มที่

แต่ทีนี้ จะเอาข้อปฏิบัติอะไรมาใช้ฝึกตนล่ะ นี่แหละที่จะพูดกันคือ ก็เลยมีวิธีปฏิบัติเป็นข้อๆ องค์ก็คือข้อๆๆๆ ท่านจัดไว้ ๑๓ ข้อ

เป็นอันว่า ธุดงค์มี ๑๓ ข้อ และ ๑๓ ข้อนั้นก็เน้นไปที่เรื่องของการมีชีวิตความเป็นอยู่ ก็คือเรื่องปัจจัยสี่นี่เอง แต่ปัจจัยข้อที่ ๔ ในเรื่องความเจ็บไข้ ไม่ต้องเอามาตั้งเป็นธุดงค์ เพราะความเจ็บไข้ไม่ใช่การเป็นอยู่ตามปกติ เมื่อเจ็บไข้ขึ้นมา ก็รักษากันไปตามโรค คนต้องระวังตัวอยู่แล้ว กินยาฟุ้งเฟ้อ ก็อาจจะเผลอตายไปได้ง่ายๆ

ก็มาจัดมาเน้นกันที่ปัจจัย $ อย่าง คือเรื่องจีวร-เครื่องนุ่งห่ม บิณฑบาต-อาหาร และเสนาสนะ-ที่อยู่อาศัย ธุดงค์ก็จึงวนอยู่ที่ $ อย่างนี้

ทีนี้ก็เอาสิ เริ่มตั้งแต่ในเรื่องของจีวร ที่เป็นเครื่องนุ่งห่มสำหรับตัวเอง จะตั้งข้อปฏิบัติอย่างไรขึ้นมา จึงจะเป็นธุดงค์ ที่จะได้ขัดเกลากิเลส ให้เป็นอยู่ง่าย มักน้อยสันโดษ

สำหรับพระนี่ ถ้าจะมีจะใช้จีวรโดยไม่ต้องไปเที่ยววุ่นวาย ก็ไปเก็บเอาผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะ หรือตามป่าช้า

เศษผ้า และผ้าเก่าเลิกใช้ เขาก็เอาไปทิ้งเป็นขยะ และแต่ก่อนนี้เขาเอาศพไปไว้ในป่าช้า ก็มีผ้านุ่งผ้าห่ม แล้วก็มีผ้าห่อผ้าพัน มีเศษผ้า พระที่จะอยู่ให้ง่ายฝึกตัวให้เข้ม ก็ไปเก็บเอาผ้าพวกนี้ตามกองขยะบ้าง ในป่าช้าบ้าง ได้มาแล้วก็เอามาต้ม ถ้ายังไม่พอก็เก็บไว้ เมื่อพอก็เอามาตัด จะตัดเป็นจีวรไหน มีรูปร่างอย่างไร ก็ตัดไปสิ ทำไปตามวินัย ตัดเสร็จก็เย็บ แล้วก็ย้อม นี่คือทำเอง

อย่างนี้เรียกว่า "บังสุกุลจีวร" แปลว่า จีวรจากผ้าคลุกฝุ่น

"บังสุกุล" แปลว่า คลุกฝุ่น บังสุ มาจาก ปังสุ แปลว่า ฝุ่น บังสุกุลจีวรก็เป็นผ้าคลุกฝุ่น คือผ้าที่เลอะเทอะสกปรกจากกองขยะ เป็นต้น แต่ว่าต้มนะ... เอามาต้ม ก็ทำเองนั่นเองไม่ต้องพึ่งญาติโยม เมื่ออยู่ๆ ไป ไม่มีจีวร ก็ไปเที่ยวเก็บผ้ามาจากกองขยะ เอามาทำอย่างที่ว่านั้น

อย่างนี้ก็เป็นธุดงค์ข้อหนึ่งละ เรียกว่า "ปังสุกูลลิกังคะ" คือองค์หรือข้อปฏิบัติของพระที่ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุล ถ้าอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องไปรอรับผ้าที่โยมมาถวายอะไรแล้ว นี่ธุดงค์ข้อหนึ่งละนะ


พระธุดงค์เป็นอยู่ง่าย แต่ไม่ใช่ทำเรื่องง่ายๆ

พระอีกองค์หนึ่งรู้อยู่ว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระใช้ผ้า ๓ ผืน มีผ้านุ่ง ผ้าห่ม และผ้าซ้อนทาบ ที่เรียกว่าสังฆาฏิ ในอินเดีย ที่ทรงอนุญาตจะได้ใช้กันหนาว เพราะชั้นเดียวไม่พอ ก็รวมเป็นสามผืน ภาษาพระเรียกว่า ไตรจีวร

พระองค์นี้ก็พิจารณาว่า เอ้อ...เรามีชุดหนึ่งแล้วนะ จีวรสามผืนก็ใช้แค่นี้ ถ้าจะมีโยมมาถวายจีวรเพิ่ม ให้เป็นอดิเรก ก็ไม่เอาขอใช้แค่นั้น ผ้าเกินกว่าชุดไม่เอา ใช้สามผืน อย่างละผืนเดียว

อย่างนี้ก็เป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง เรียกว่า "เตจีวริกังคะ"  องค์แห่งภิกษุผู้ถือใช้แต่ผ้าสามผืน คือไตรจีวร นี่ก็ธุดงค์นะ เป็นเรื่องของจีวรหรือผ้า

ทีนี้ด้านอาหารล่ะ อาหารของพระก็คือ เที่ยวบิณฑบาตไปแล้วโยมถวายอาหาร ได้มาก็ฉัน บางทีมีกิจนิมนต์ โยมที่มีงานมีศรัทธานิมนต์ไปฉัน ก็สบายใจขึ้น ได้ฉันอาหารดีๆ

ทีนี้มาดูพระที่จะถือธุดงค์ในเรื่องของอาหาร เริ่มต้นข้อที่ ๑ ถือบิณฑบาตเป็นประจำ องค์นี้ไม่เอาละ ใครจะนิมนต์ไปฉันในงานในพิธีอะไร ไม่เอาทั้งนั้น ฉันจะฉันแต่อาหารที่บิณฑบาตอย่างเดียว ได้เท่าไรก็เท่านั้น อดก็อด

อย่างนี้เป็นธุดงค์ข้อแรกในเรื่องอาหาร ชื่อว่า "ปิณฑปาติ กังคะ" แปลว่า องค์ของผู้ถือบิณฑบาตเป็นประจำ ไม่รับนิมนต์ ไม่รับถวายพิเศษ

ต่อไป อีกองค์หนึ่งก็ถือบิณฑบาตนั่นแหละ แต่บิณฑบาตไปตามลำดับ ไม่ออกนอกทาง ไปตามซอยไปตามลำดับ ไม่แยกไปว่าแถบโน้นอาหารดีกว่า ทางนั้นรวย เราไปนั่น น่าจะได้มาก แต่ไปตามทาง เป็นลำดับแถวแนว อย่างนี้ก็เป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง เรียกว่า "สปทานจาริกังคะ"  คือองค์ของผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับ

ที่นี้ว่าถึงการฉันอาหาร มีข้อที่น่าสนใจ เรียกว่าฉันที่นั่งเดียวภาษาพระว่า "เอกาสนิกังคะ" แปลว่า องค์ของผู้ถือนั่งฉันอาสนะเดียว หมายความว่า นั่งลงฉันทีเดียวแล้ว วันนั้นไม่ฉันอีก

ขอให้สังเกตว่า ธุดงค์ข้อที่ว่านี้คือถือฉันครั้งเดียว ไม่ใช่ฉันมื้อเดียว เดี๋ยวนี้เรียกกันสับสน

ฉันครั้งเดียว ยากกว่าฉันมื้อเดียว  

ฉันมื้อเดียว กับฉันครั้งเดียว ไม่เหมือนกัน ต่างกันอย่างไรที่ว่าฉันมื้อเดียวนั้น หมายความว่า เรียกตามช่วงเวลาที่กิน คือจัดอาหารเป็นมื้อๆ (ภัตต์, ไทยใช้สั้นๆ ว่า ภัต) เช่น ในหลายถิ่น วันหนึ่งมีมื้อเช้า มื้อกลางวัน แล้วก็มื้อเย็น อย่างนี้ มื้อก็คือช่วงเวลาที่กิน ถ้ากินช่วงนี้ก็เป็นมื้อเช้า กินช่วงนี้ก็มื้อกลางวัน กินช่วงนี้ก็มื้อเย็น

ในอินเดีย ครั้งยังเป็นชมพูทวีป ชาวบ้านกินอาหารกัน ๒ มื้อ คือ มื้อเช้า (ปาตราสภัตต์) กับมื้อสาย (สายมาสภัตต์) มื้อเช้าคือก่อนเที่ยง ส่วนมื้อ "สาย" ของชมพูทวีป เป็นคนละความหมายกับสายของไทย "สาย" ของชมพูทวีป หมายถึงหลังเที่ยงไปแล้ว จนบ่าย จนเย็น จนค่ำ ไปถึงก่อนอรุณขึ้นวันใหม่

พระนี่ฉันมื้อเดียว ถือเอกภัต (เอกภัตติกะ=มี "ภัต" เดียว) คือ ฉันมื้อเช้าอย่างเดียว หมายความว่า ฉันในมื้ออาหารของช่วงเช้าอย่างเดียว จะฉันกี่ครั้ง ท่านก็เรียกว่าฉันมื้อเดียว คือ มื้อเช้ามื้อเดียว

ทีนี้ ในธุดงค์นี่ไม่อย่างนั้น พระต้องฉันมื้อเช้ามื้อเดียวอยู่แล้ว แต่ธุดงค์ไม่เอาแค่เวลา ไม่ใช่แค่เวลาเป็นเกณฑ์ ข้อเอกาสนิกังคะนี้ถือเอกาสนะ อาสนะเดียว ที่นั่งเดียว (เอกาสนิกะ = มี "อาสนะ" เดียว) คือเอาการลงนั่งครั้งเดียว นั่งฉันครั้งเดียวจบ หรือนั่งครั้งเดียวก็ฉันจบไปเลย นี่คือฉันครั้งเดียว ไม่ใช่แค่ฉันมื้อเดียว

ถาม : ที่หลวงลุงว่าฉันมื้อเดียว หมายความว่าอย่างไร?

หลวงลุง : หมายความว่า ฉันในช่วงเช้า เพราะมื้ออาหารก็คือตามเวลา จะกี่ครั้ง ถ้าก่อนเที่ยง ก็อยู่ในมื้อเช้า

ถาม : กี่ครั้งอย่างไร

หลวงลุง : เมื่อว่าตามเวลาของอาหาร ที่เรียกว่า "มื้อ" ฉันตอนรุ่งเช้า ก็อยู่ในมื้อเช้า ฉันตอนเพล ก็อยู่ในมื้อเช้า เพราะยังอยู่ในเวลาก่อนเที่ยง ที่เขาเรียกรวมหมดว่าเช้า คนสมัยนั้นรู้จักเวลาของอาหารอย่างนั้น เขาจึงเรียกพระว่า พวกฉันมื้อเดียว (เอกภัตติกะ)



ทีนี้ ฉันมื้อเดียวแล้ว ก็ยังเรื่องมาก ท่านจึงถือ "เอกาสนิกังคะ" เอาแค่เอกาสนะ (เอก+อาสนะ) แค่นั่งครั้งเดียว ที่นั่งเดียว นั่งลงไปครั้งเดียว ฉันเสร็จแล้ว ลุกแล้วไม่ฉันอีก นี่คือฉันครั้งเดียวจริงๆ

แล้วก็ยังมี "ปัตตบิณฑิกังคะ"  ฉันเฉพาะในบาตร ไม่ใช่ภาชนะอื่นๆ นี่ก็ธุดงค์อีก เอาละ เรื่องอาหารหลายข้อ พูดพอเป็นตัวอย่าง

ออกพรรษา รับกฐิน สิ้นฝน ออกจรดล ไปรุกขมูล  

ต่อไป พูดเรื่องที่อยู่บ้าง ภาษาพระเรียกว่าเรื่องเสนาสนะ (ที่นอน-ที่นั่ง) ข้อแรกก็คือ ถืออยู่ป่า ข้อนี้เรามีพระป่าซึ่งพอรู้กันแล้ว เรียกว่า "อารัญญิกังคะ" แปลก็ง่ายๆ ว่าองค์แห่งผู้ถืออยู่ป่า

ข้อต่อไป ถืออยู่โคนไม้ คือรุกขมูล เรียกว่า "รุกขมูลิกังคะ" คือไม่อยู่ในที่อาศัยมีเครื่องมุงบัง อย่างบ้านเรือนกุฏิ ไม่เอาทั้งนั้น แต่ข้อนี้พระพุทธเจ้าห้ามอยู่ในฤดูฝน ในฤดูฝนต้องมีที่มุงที่บังตามที่วินัยกำหนดไว้ พูดง่ายๆ ว่า ถืออยู่รุกขมูล ข้อนี้น่าเข้าใจ

"รุกขมูล" นี้ เป็นเสนาสนะพื้นฐานของพระ พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกสั่งสอนประชาชน ก็ประทับรุกขมูลเรื่อย ก่อนทรงอนุญาตให้มีวัด (อาราม) และเสนาสนะ ๕ อย่าง พระก็อยู่โคนไม้เป็นหลัก

ที่ว่ารุกขมูลเป็นเสนาสนะพื้นฐานของพระนั้น ดูง่ายๆ รุกขมูลเป็นเสนาสนะที่เป็นอย่างหนึ่งในนิสสัย ๔ (ปัจจัยเครื่องอาศัยของชีวิตพระ) รวมอยู่ในอนุศาสน์ ๘ (คำสอนสั่งครั้งแรกที่อุปัชฌาย์ ต้องบอกแก่พระใหม่ในโบสถ์ทันทีที่บวชเสร็จ) เป็นที่อยู่อาศัยที่ถึงกันทันทีกับธรรมชาติ หาได้ง่ายทุกที่เพราะมีอยู่ทั่วไปเป็นธรรมดาในธรรมชาติ (ในยุคที่ธรรมชาติยังไม่เสีย)

อีกข้อหนึ่ง พระจะถืออยู่กลางแจ้งบ้างก็ได้ เรียกว่า อยู่ในอัพโภกาส พระที่ถือข้อนี้ไม่ยอมอยู่แม้แต่ใต้ต้นไม้ หรือไม่มีต้นไม้ก็อยู่ได้ ก็เป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง ชื่อว่า "อัพโภกาสิกังคะ"

อีกองค์หนึ่งถืออยู่ป่าช้า คืออยู่ในสุสาน ชื่อว่า "โสสานิกังคะ" ก็เป็นธุดงค์อีกข้อหนึ่ง

ข้อที่ยากที่สุด ต้องใช้ความเพียรใจสู้เข้มแข็งอย่างมาก คือถือนั่ง ไม่นอน องค์นี้จะหลับจะพักผ่อนด้วยการนอนไม่ได้ ต้องนั่งหลับเอา เดินได้ ยืนได้ แต่นอนไม่ได้ ท่านไม่ได้กำหนดว่าจะต้องถือสั้นยาวนานเท่าใด อาจจะลองถือดู สั้นหรือยาวก็ได้ เรียกว่า สมาทาน คือตกลงใจว่าเอาละ ฉันจะถือปฏิบัติ นั่งอย่างเดียว ไม่นอนสักพรรษาหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น ก็สมาทานเอา นี่ก็เป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง เรียกว่า "เนสัชชิกังคะ"

ตามที่พูดมาเป็นตัวอย่างนี้ ก็ได้เห็นแล้วว่า ธุดงค์ ๑๓ ข้ออยู่ที่ปัจจัย ๔ ในสามข้อแรก คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ แม้แต่ข้อสุดท้ายที่ถือนั่ง ไม่นอน ถึงจะเป็นเรื่องของความเพียรอึดสู้ไม่จำกัดที่ แต่ก็อยู่ในเรื่องของการนั่งนอน ไม่ไปไหน ในเมื่อเป็นอย่างนี้ธุดงค์ก็แทบไม่ต้องเดิน ถูกไหม ไม่เกี่ยว ธุดงค์ไม่ได้อยู่ที่เดิน

แล้วอย่างนั้น ทำไมเวลาพูดว่าธุดงค์ คนทั่วไปก็นึกคิดไปถึงว่าต้องเดิน เอาล่ะ นี่คือความหมายได้เพี้ยนไป

ธุดงค์กลายไป มีความหมายเพี้ยนไปเป็นเดิน ไปมองไปมุ่งกันที่ว่าเดิน นั่นมันเป็นเพราะอะไร ก็มาพิจารณากันดู

จะเห็นได้ง่ายเลยว่า ธุดงค์บางข้อ โดยเฉพาะข้อรุกขมูลอยู่โคนไม้นี่ ทำให้มีโอกาสเดินไปเรื่อย

มองย้อนหลังไปในครั้งโบราณ ไม่ต้องไกล เอาแค่สมัยที่อาตมายังเป็นเณรเล็กๆ อยู่ในชนบท สมัยนั้น เวลาออกพรรษา ได้ยินพระพูดกันหรือบอกคนนั้นคนนี้ว่า ท่านจะ "ไปรุกขมูล" หรือออกรุกขมูล ท่านไม่ได้ใช้คำว่าไปธุดงค์

แต่มาตอนหลังเดี๋ยวนี้ ไปอย่างไรมาอย่างไรไม่รู้ กลายเป็นว่าจะไปธุดงค์ จะออกธุดงค์ ธุดงค์เลยกลายเป็นเดิน แค่นี้ก็เพี้ยนแล้ว มันไม่เกี่ยวกับข้อไหนเลย ที่พูดมาแทบไม่มีข้อไหนเป็นเรื่องเดิน มีแต่ว่าบางข้อทำให้ได้โอกาสที่จะเดิน ข้อบิณฑบาต ก็ได้โอกาสเดิน แล้วก็ไปรุกขมูล ก็ยิ่งทำให้ได้เดินและต้องเดิน กันใหญ่

ทวนย้ำว่า แต่ก่อนนั้น ออกพรรษาแล้ว พระรับกฐิน สิ้นฝน หลายองค์ก็จรดลจาริกไป ค่ำไหนนอนนั่น ใต้ร่มไม้อาศัยรุกขมูล ในสมัยก่อนนั้นเมื่อต้นไม้ยังมีมาก โคนไม้ก็มีไปเรื่อยบนหนทาง พระแวะที่ร่มไม้ พบญาติโยม ก็แนะนำให้ธรรมสอนกันไป มีโคนไม้เป็นจุดกำหนดสำคัญ ก็เรียกกันว่าไปรุกขมูล  

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 63.0.3239.84 Chrome 63.0.3239.84


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 14 ธันวาคม 2560 15:33:40 »


ธุดงค์ ทำอะไร ที่ไหน เพื่ออะไร?

เมื่อรู้ว่าศัพท์มันเพี้ยน ความหมายมันคลาดเคลื่อนเสียไป ก็ชวนกันหันกลับมาใช้คำว่า "ไปรุกขมูล" หรือ "ออกรุกขมูล" ดีไหม จะเข้าใจง่าย มองเห็นโยงกับของจริงสภาพที่เป็นจริงได้ชัดดีด้วย

พอรู้เรื่องได้หลักแล้ว ก็ชัดแน่ลงไปว่าธุดงค์ไม่ใช่เดิน แม้ว่าบางครั้งธุดงค์จะพ่วงเอาเดินติดมาด้วย แต่ที่แท้นั้น "ธุดงค์" คือองค์คุณหรือข้อปฏิบัติสำหรับผู้ขัดเกลากิเลสที่จะฝึกตัวเองให้เป็นอยู่ง่าย มีความมักน้อยสันโดษ จะได้มุ่งไปกับกิจหน้าที่ของตัว

แทนที่จะเอาเวลาไปยุ่งกับเรื่องลาภผล เที่ยวหาเที่ยวรอรับ ปัจจัย ๔ ที่เหลือเฟือเกินจำเป็น ก็จะได้ตั้งหน้าตั้งตาเอาเวลานั้นมาใช้ปฏิบัติกิจหน้าที่ในการฝึกหัดพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะศึกษาเล่าเรียน เจริญสมถะวิปัสสนา ให้ก้าวไปในไตรสิกขา พอมักน้อยสันโดษแล้ว ก็ทำได้เต็มที่ ก็ให้เข้าใจธุดงค์กันอย่างนี้

บอกแล้วว่าธุดงค์มี ๑๓ ข้อ เกี่ยวกับปัจจัยสี่ ใน ๓ ข้อแรก เพราะข้อที่ ๔ เรื่องยานั่นไม่ต้องฝึก มันแล้วแต่โรค แต่ปัจจัย ๓ ข้อแรกนี่ทำให้คนผันแปรวิปริตได้ง่าย มันจะฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย จะทำอะไรที่วุ่นวายกันนักหนา ก็มักจะมาจากปัจจัย ๓ ข้อแรกนั้นแหละ เที่ยวหาอาหาร หาเครื่องนุ่งห่ม หาที่อยู่อาศัยกันไป ไม่รู้จักจบ

อย่างเรื่องที่อยู่อาศัย ก็สร้างกันไป จนกระทั่งว่าไม่รู้จะสร้างขนาดไหน ให้เป็นวิมานอะไร ท่านก็อยู่โคนไม้ซะ ให้หมดเรื่องไปเลย ได้อยู่วิมานต้นไม้อย่างกะรุกขเทวดา เทวดาก็อยู่วิมาน อ้าว...ใครบอกว่าอยากอยู่วิมาน ก็นี่ไง รุกขเทวดาก็มีวิมาน คือต้นไม้นั้นแหละ เราก็มีวิมานอยู่ที่ต้นไม้นั่นได้ นี่เข้าใจแล้วใช่ไหม ธุดงค์น่ะ

ถาม : จะธุดงค์ได้ ต้องสมาทาน ช่วงเวลาเท่าไร กับใครคะ?

หลวงลุง : ใช่ ต้องสมาทาน เป็นการตั้งกำหนดลงไปแก่ตัวเองว่า เอาละ เริ่มลงมือทำจริงจังละนะ บอกแล้วว่าจะสมาทานถือในระยะสั้นหรือยาวนานก็ได้

ที่ต้องสมาทาน ก็อย่างที่ว่าเป็นการตั้งกำหนดให้เป็นการจริงจังแน่ชัดลงไป อย่างพระที่เดินบิณฑบาตไปน่ะ ถ้าไม่สมาทานให้เป็นธุดงค์ ท่านไปบิณฑบาตเรื่อยก็จริง แต่บางทีคนนิมนต์ท่านไปรับอาหารที่เขาจัดถวาย หรือในพิธีเป็นงานเป็นการก็ไม่เป็นธุดงค์

เมื่อกี้ถามว่าสมาทานกับใคร ก็สมาทานกับตัวเองน่ะสิ มันเป็นเรื่องของตัวเอง เป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝึกตัวเองนี่ เมื่อตกลงใจแล้ว ใจเราเข้มแข็งพอ ก็เอาเลย...ตกลงว่า คราวนี้ฉันสมาทานละนะ ฉันถือธุดงค์ข้อนี้นะ ๓ เดือน หรือนานเท่าไร ก็ว่าไป

ธุดงค์ถือหลายข้อพร้อมกันได้ แต่บางข้อขัดกัน เช่น ถือรุกขมูลแล้วจะอยู่กลางแจ้งได้อย่างไร มันขัดกันเอง ข้อไหนถือได้เหมาะกับตน ถ้าใครเข้มแข็งก็สมาทานเลย อย่างพระมหากัสสปะที่เป็นเอตทัคคะทางถือธุดงค์ เช่นข้ออยู่ป่า ท่านก็ถือตลอดชีวิตเลย

ถาม : ถือหลายๆ ข้อก็ได้หรือคะ?

หลวงลุง : ได้ซิ เรื่องผ้าก็ถือ เรื่องอาหารก็ถือ เรื่องที่อยู่ก็ถือ อย่างจีวรก็ถือผ้าบังสุกุล อาหารก็ถือบิณฑบาตประจำ เสนาสนะก็ถืออยู่ป่าอยู่รุกขมูลก็ได้นี่ พร้อมกันไปเลยหลายข้อ

ถือธุดงค์ มีอานิสงส์อะไร?

ถาม : แล้วอานิสงส์ของการถือธุดงค์ล่ะ ?

หลวงลุง : อย่างที่ว่าแล้ว เมื่อถือธุดงค์ ก็จะได้ขัดเกลากิเลสของตัว จะมีความเข้มแข็ง อยู่ในความมักน้อยสันโดษ บอกตัวว่าแค่นี้พอแล้ว ฉันอยู่ได้สบายแล้ว ไม่ต้องข้องห่วงกังวลอะไรแล้ว ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ของตน ฝึกตัวเองไป แล้วก็มุ่งหน้าไปในการปฏิบัติ ในการพัฒนา ศึกษาเล่าเรียน เผยแผ่ธรรม ก้าวไปได้เต็มที่  

ฉะนั้น ธุดงค์จึงมากับความมักน้อยสันโดษ เป็นอยู่ง่าย ต่อด้วยการฝึกฝนขัดเกลาตนเอง แล้วก็เข้าถึงธรรมชาติด้วย แถมว่าเมื่ออยู่กับธรรมชาติได้ดีแล้ว ก็มีความสุขได้ง่าย โดยตัดความวุ่นวายหลุดพ้นไปมากมาย

เมื่อพระถือธุดงค์ ก็ทำให้พระอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น มีเวลาเป็นของตัวเอง เป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพามาก เพราะว่าคนที่ยังต้องพึ่งพานั้น ก็พึ่งพาอาศัยเนื่องมาจากปัจจัย ๔ นี่แหละ ท่านจึงพยายามให้เป็นอิสระในเรื่องปัจจัย ๔ เท่าที่จะทำได้ แล้วตัวเองก็จะมุ่งไปในงาน ในการฝึกตน ปฏิบัติธรรมได้เต็มที่



พออยู่ง่ายอย่างนี้ ไม่มีอะไรพะรุงพะรัง แทบไม่ต้องมีอะไรติดตัว ไม่ติดข้องห่วงกังวลอะไรแล้ว เป็นอิสระ จะไปไหนก็ไปง่าย ก็จะเข้าคติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พระนี่ถ้าเป็นอยู่ถูกต้อง จะเหมือนกับนกที่มีแค่ปีก ๒ ปีก จะบินไปไหนก็บินไป พระก็เป็นอย่างนั้น มีแต่บาตรกับจีวร ยิ่งถือธุดงค์ก็ยิ่งตัวเบา เหมือนกับนกที่มีแต่ปีก ๒ ปีก นึกจะบินไปไหน ก็บิน...ปรู๋ ไปได้เลย

เอ...ปรู๋ หรือ ปร๋อ อย่างไหนนะ (เสียงว่า "ปร๋อ" หัวร่อกันดัง)

พระอย่างท่านที่ถือธุดงค์นี้ ก็เป็นอย่างนั้น ท่านจะไปไหน ก็ไปได้สะดวก ไปได้คล่อง ท่านก็ไปชนบทนั้นชนบทนี้ ไปพบประชาชนชาวบ้านถิ่นทุรกันดาร ที่อยู่ในดงพงไพร เขาจะยากจนอยู่กันอย่างไรท่านก็ได้รู้ได้เห็น แล้วท่านก็มีโอกาสได้สั่งสอนแนะนำ มีธรรมะให้ ช่วยให้เขาอยู่กันดี ก็เลยกลายเป็นว่าธุดงค์นั้นไม่เฉพาะขัดเกลาตนเอง แต่เอื้อในการสั่งสอนคนอื่นด้วย ทำให้ไปเข้าถึงประชาชนได้ทั่วทุกถิ่นฐาน นี่คือมีประโยชน์เยอะเลย

วันก่อนนั้น มีเหตุให้พบกับญาติโยมบางท่าน ก็ได้เล่าให้ญาติโยมฟังเป็นเรื่องแทรกว่า นานนักแล้ว มีฝรั่งที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องเอเชียอาคเนย์ แล้วเขียนเป็นหนังสือหนาเล่มหนึ่ง เป็นตำราประวัติศาสตร์ Southeast Asia ซึ่งนิยมใช้กันเป็นหลักมานาน

เขามีข้อสันนิษฐานอันหนึ่ง เขาบอกว่าดินแดนแถบประเทศไทยนี้ แต่ก่อนอยู่ใต้อำนาจของขอม อย่างที่เรารู้กัน คืออาณาจักรขอมโบราณ ซึ่งยิ่งใหญ่มาก ขอมนั้นมาตั้งละโว้ (ที่ลพบุรี) เป็นเมืองหลวงย่อยสำหรับปกครองดินแดนที่ปัจจุบันคือไทย

ที่นี้ ขอมนั้นมีศาสนาหลัก คือศาสนาพราหมณ์/ฮินดู แล้วก็พุทธศาสนามหายาน เป็นสองศาสนาใหญ่ของมหาอาณาจักรนั้น

ทีนี้ พระและพราหมณ์ในสองศาสนานั้น ก็อยู่กับความยิ่งใหญ่ที่ศูนย์กลางอำนาจในมหานคร โดยเป็นเจ้าพิธีอันมโหฬารพันลึก ทิ้งส่วนใหญ่ห่างไกลความเจริญให้แปลกแยกว้าเหว่อ้างว้าง

ในสมัยนั้นเองซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนาน พระภิกษุเถรวาทผู้มีความเป็นอยู่ง่ายๆ มักน้อยสันโดษดังที่ว่า ได้จาริกกันไปเรื่อยๆ จนไปๆ มาๆ ก็ถึงกันใกล้ชิดกับมวลประชาชน กระจายไปทั่วทุกถิ่นดินแดน จนชนบทน้อยใหญ่กลายเป็นพุทธศาสนิกของเถรวาท

กาลนานผ่านมา ในที่สุดอาณาจักรขอมโบราณเจ้าของนครวัด-นครธม ก็ล่มสลาย และศาสนาพราหมณ์กับพุทธศาสนามหายาน ซึ่งผูกตัวติดอยู่กับศูนย์กลางอำนาจที่ยิ่งใหญ่ก็ล้มหายไปด้วย ในขณะที่พุทธศาสนาเถรวาทเข้าไปอยู่ในชีวิตของชาวบ้านทั่วผืนแผ่นดินหมดแล้ว นี่คือที่เขาว่าเป็นด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งเอเชียอาคเนย์ แถบที่มาเป็นประเทศไทย

นาฬิกาปลุกดังเกร๊งกร๊าง

ตื่นขึ้นมา ตาสว่าง เดินถูกทางกันเสียที

ธุดงค์เป็นข้อปฏิบัติตามสมัครใจ ที่ทำได้ยากมากบ้างยากน้อยบ้าง แต่ก็มีพระที่ใจเข้มแข็งสมาทานถือสืบกันมาจนแน่นแฟ้นเข้าอยู่ในวิถีชีวิต เป็นความรู้ความเข้าใจสามัญในสังคมไทย

แต่น่าแปลกใจว่า เวลานี้คนไทยชาวพุทธมากหลายจนเรียกได้ว่าทั่วๆ ไป แม้กระทั่งชาวบ้านพื้นถิ่นก็ไม่รู้จักพอ ที่จะมองออกได้ว่าธุดงค์คืออย่างไร พากันตื่นเต้นไปกับปรากฏการณ์วูบวาบแวววาว แล้วก็ไขว้เขวสับสนกันไป

นี่เป็นสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาของคนไทย มีสภาพเป็นอย่างไร คลาดเคลื่อนผิดเพี้ยน ผุกร่อนเลือนราง หรือว่าไปกันถึงแค่ไหน ควรจะปฏิบัติหรือจัดการให้เป็นอย่างไร

มองในแง่ดี ปรากฏการณ์เป็นเรื่องเป็นราวครึกโครมอื้อฉาวที่โด่งดังเด่นขึ้นมา เป็นอาการที่ผู้ทำนั้นท่านช่วยกระตุกหรือกระแทกกระทุ้งให้คนไทยสะดุ้งตื่น หรือแม้แต่ตระหนกตกใจขึ้นมา ซึ่งน่าจะช่วยให้เกิดความสนใจใส่ใจที่จะแก้ไขกันให้จริงจัง มิฉะนั้นก็จะไม่ตื่นขึ้นมาจากความหลับใหล ไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรให้เป็นสาระชิ้นอัน

ถ้ามองอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าดีแล้วที่มีเรื่องแรงร้ายน่าตระหนกตกใจมาทำให้ตระหนักรู้ อะไรที่ตูมตามให้ตื่นเต้น แต่ช่วยปลุกให้ลุกขึ้นมาศึกษาหาความรู้กันให้เท่าทันเข้าใจที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเองแล้วช่วยกันแก้ไข ชวนกันประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไปก็เป็นอันถือได้ว่านั่นก็ดีแล้ว

จะจบเล่มลงท้าย จึงนำเอาหลักความรู้เรื่อง "ธุดงค์" มาบอกกันไว้จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ยาวถึง ๔ หน้าจัดได้ว่าเป็นภาคผนวก นับว่าไม่น้อย เรื่องธุดงค์ รู้เท่านี้น่าจะพอทีหนึ่งก่อน

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พิธีสถาปนา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
มดเอ๊ก 0 1597 กระทู้ล่าสุด 09 ธันวาคม 2559 14:36:34
โดย มดเอ๊ก
อิทธิปาฎิหาริย์เทวดา โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
มดเอ๊ก 0 1361 กระทู้ล่าสุด 23 ธันวาคม 2559 23:22:50
โดย มดเอ๊ก
รัฐศาสตร์เพื่อชาติ VS รัฐศาสตร์เพื่อโลก ( สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป. อ. ปยุตฺโต)
เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
มดเอ๊ก 0 1449 กระทู้ล่าสุด 25 ธันวาคม 2559 05:04:06
โดย มดเอ๊ก
สนทนาธรรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง - สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
มดเอ๊ก 0 1553 กระทู้ล่าสุด 26 ธันวาคม 2559 05:49:11
โดย มดเอ๊ก
ปัญญา และ จริยธรรมสากล ( สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป. อ. ปยุตฺโต)
เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
มดเอ๊ก 0 1854 กระทู้ล่าสุด 12 มกราคม 2560 09:15:58
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.448 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 10 มีนาคม 2567 10:43:34