พระธาตุเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

(1/1)

Kimleng:
Tweet



พระธาตุเจดีย์หลวง
ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พระธาตุเจดีย์หลวง เป็นปูชนียสถานสำคัญและสูงใหญ่ที่สุดในล้านนา ตั้งเด่นเป็นสง่าตระหง่านเป็นศรีแก่บ้านเมือง
ในท่ามกลางนครเชียงใหม่  ประหนึ่งจะทอดร่มเงาฉัตรทองคอยปกป้องบ้านเมืองให้ร่มเย็นปลอดภัย  เปลวแสงแห่ง
ประทีปโคมไฟบูชาที่สว่างไสวเรืองรอง  ประหนึ่งดวงประทีปนำทางชีวิตและเป็นบุญเขตประเทืองจิตใจชาวเมืองผู้ที่
เปี่ยมล้นด้วยศรัทธาให้ผาสุกอิ่มเอมด้วยผลบุญ ---------------------------------

จากตำนานโบราณ พระธาตุเจดีย์หลวง ได้ก่อสร้างขึ้นครั้งแรกโดยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์ราชวงศ์มังราย องค์ที่ ๗ เมื่อ พ.ศ.๑๙๓๔ และได้เสริมสร้างครั้งที่สำคัญในสมัยรัชกาลพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์มังราย องค์ที่ ๙ เมื่อ พ.ศ.๒๐๒๒-๒๔ ต่อมาพังทลายลงเนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวและฟ้าผ่า ในรัชสมัยพระนางเจ้ามหาเทวีจิระประภา กษัตริย์องค์ที่ ๑๕ แห่งราชวงศ์มังราย จากนั้นได้มีการบูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุเจดีย์หลวงครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณผ่านกรมศิลปากร ทำการซ่อมแซมในวงเงิน ๓๕ ล้านบาท เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓-๒๕๓๕ จนมีสภาพที่เห็นในปัจจุบัน  ซึ่งในสมัยโบราณองค์พระธาตุเจดีย์มีความสูงใหญ่ จนผู้คนที่อาศัยอยู่ในอำเภอสันกำแพง สามารถมองเห็นยอดเจดีย์ได้


• พระธาตุเจดีย์หลวงกับประเพณีบูชา  

”พระธาตุเจดีย์หลวง ตั้งอยู่ในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่  ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๗๗ ตอนที่ ๓๒ ลงวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๐๓ แต่ก่อนจะกลายมาเป็นพระธาตุเจดีย์หลวงอย่างวันนี้ แรกสร้างเป็นพระเจดีย์องค์เล็กๆ สูง ๓ ศอก บรรจุพระบรมธาตุที่พระโสณะ และพระอุตตระ สมณทูต ผู้เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิอัญเชิญเข้ามา ภายหลังการทำสังคายนา ครั้งที่ ๓ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (ตำนานพระธาตุเจดีย์หลวง ๒๔๗๓:๔)

ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๓๔ พระเจ้าแสนเมืองมา รัชกาลที่ ๗ ราชวงศ์มังราย ให้ปรับเปลี่ยนใหม่ในที่เก่า เพราะเป็นกัลปนสถานอุทิศเฉพาะพระพุทธองค์เท่านั้น (ตำนานพระธาตุวัดเจดีย์หลวง ๒๔๗๓:๔) สร้างเป็นอุเทสิกเจดีย์สี่เหลี่ยมฐานกว้างด้านละ ๒๐ วา สูง ๓๙ วา สร้างถวายเป็นพุทธบูชา ประดิษฐานพระพุทธรูปเงิน พระพุทธรูปทอง และต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองไว้ภายใน เพื่ออุทิศพระราชกุศลแด่  พระเจ้ากือนา พระราชบิดา

มีหนังสือตำนาน/ประวัติศาสตร์ของชาวล้านนาหลายเล่ม กล่าวถึงเรื่องการสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงสอดคล้องต้องกัน แต่จะขอยกข้อความในหนังสือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี หน้า ๕๓ (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด-ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมสถาบันราชภัฎเชียงใหม่ พิมพ์ ๒๕๓๘) มาให้ดูเป็นตัวอย่าง ดังนี้

”พระเจ้ากือนา เมื่อสวรรคตแล้วไปบังเกิดเป็นรุกขเทวดา สถิตอยู่ไม้มิโครธต้นหนึ่งริมทางไปเมืองพุกาม (พม่า) มีพ่อค้าชาวเวียงพิงค์เชียงใหม่หมู่หนึ่งไปค้าขายเมืองพุกาม ขากลับแวะค้างคืนใต้ต้นนิโครธนั้น รุกขเทวดาได้แสดงตนให้ปรากฏแก่พ่อค้าหมู่นั้นว่า เมื่อครั้งพระองค์เป็นกษัตริย์เมืองพิงค์ ลุ่มหลงด้วยคชศาสตร์เป็นหมอช้าง เมื่อสวรรคตจึงมาเกิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ที่ต้นไม้นี้ จะไปบังเกิดยังเทวโลกได้ ต่อเมื่อพระเจ้าแสนเมืองมาพระโอรสสร้างพระเจดีย์สูงใหญ่ไว้ ท่ามกลางเมืองพิงค์เชียงใหม่ คนอยู่ไกล ๒,๐๐๐ วา มองเห็นได้ แล้วอุทิศพระราชกุศาลถวายแก่พระองค์ ขอให้พวกพ่อค้านำเรื่องไปบอกพระเจ้าแสนเมืองมาด้วย”

อาศัยปฐมเหตุดังกล่าวนี้ “พระเจ้าแสนเมืองมา จึงให้สร้างพระเจดีย์ในท่ามกลางเมืองเชียงใหม่ที่ภายในบรรจุปูชนียวัตถุที่ควรค่าแก่การสักการบูชา คือ พระพุทธรูปที่หล่อด้วยเงินและทองคำ ประดิษฐานไว้ใต้ต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง ณ ท่ามกลางองค์พระเจดีย์ จึงทำให้ต้นมหาโพธิ์ต้นหนึ่งลำต้นทำด้วยเงิน ใบและยอดทำด้วยทองคำ สูงเท่าองค์เจ้าแสนเมืองมาประทับยืน ตั้งไว้ในที่ท่ามกลางสถานที่จะสร้างพระเจดีย์ แล้วหล่อพระพุทธรูปด้วยทองคำองค์หนึ่ง ด้วยเงินองค์หนึ่ง ประดิษฐานไว้ใต้ต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองนั้น พร้อมทั้งจัดแต่งเครื่องบูชาตั้งไว้ตรงหน้ามหาโพธิ์กับพระพุทธรูป แล้วทรงให้ก่อเจดีย์ครอบไว้ ยังไม่ทันแล้วเสร็จถึงเพียงชายคาก็สวรรคต

กล่าวได้ว่า พระธาตุเจดีย์หลวงสร้างขึ้นด้วยสำนึกแห่งคุณธรรม คือความกตัญญูกตเวที ที่พระเจ้าแสนเมืองมาทรงมีต่อพระเจ้ากือนา พระราชบิดาของพระองค์ แม้พระองค์จะสร้างยังไม่เสร็จ เพราะสวรรคตเสียก่อน แต่พระมเหสีและพระโอรสของพระองค์ทรงสร้างต่อจนแล้วเสร็จ เป็นพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ ๒๐ วา สูง ๓๙ วา สามารถมองเห็นได้แม้อยู่ไกล ๒,๐๐๐  วา

ต่อมา ปี พ.ศ.๒๐๒๒-๒๐๒๔ พระเจ้าติโลกราช รัชกาลที่ ๙ ราชวงศ์มังราย ผู้เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าแสนเมืองมา ได้ทรงสร้างเสริมองค์พระธาตุเจดีย์หลวงให้กว้างออกเป็นด้านละ ๓๕ วา สูง ๔๕ วา “การปฏิสังขรณ์นี้ ได้เริ่มกระทำในปีจอ จุลศักราช ๘๔๑ เสร็จแล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระมหาคัมภีร์เถระ นำมาจากลังกา” (พงศาวดารโยนก ๒๕๑๖:๑๔๓) และเมื่อปี ๒๕๓๓-๒๕๓๕ รัฐบาลได้ทำการบูรณะอีกครั้ง ใช้งบประมาณ ๓๕ ล้านบาท ดังปรากฏรูปทรงให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยฐานกว้างด้านละ ๖๐ เมตร สูง ๔๒ เมตร

ราชวงศ์มังราย ที่เคยรุ่งเรืองเกรียงไกรมานาน ๒๖๒ ปี (พ.ศ.๑๘๓๙-๒๑๐๑) โดยมีราชบัลลังก์แห่งเวียงพิงค์เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจและการบริหารอาณาจักรล้านนานั้น พอถึงตอนปลายราชวงศ์ต้องตกอยู่ในยุค “อมาตยาธิปไตย” ขุนนางเป็นใหญ่มีอำนาจเหนือกษัตริย์ สามารถถอดถอนแต่งตั้งกษัตริย์ได้ตามอำเภอใจ เป็นยุคแห่งการฟุ้งเฟ้อแตกแยก ความอ่อนแอระส่ำระสาย จึงได้เกิดขึ้นกับราชบัลลังก์ที่เคยเข้มแข็งรุ่งโรจน์นั้น พอถึง พ.ศ.๒๐๘๘ ส่วนยอดของพระธาตุเจดีย์หลวงและพระเจดีย์องค์สำคัญๆ ของนครเชียงใหม่ ได้พังทลายลงมาเพราะแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เสมือนเป็นสิ่งบอกเหตุการณ์ข้างหน้า เพราะอีก ๑๓ ปีต่อมาคือ พ.ศ.๒๑๐๑ นครเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนาก็ล่มสลายตกเป็นเมืองขึ้นของบุเรงนองแห่งพม่า แต่นั้นมาทุกครั้งที่ชาวเชียงใหม่ลุกขึ้นต่อสู้กอบกู้อิสรภาพ พม่าจะปราบปรามจนสงบ บางครั้งปราบปรามได้แล้วจะกวาดต้อนเอาผู้คนราชวงศ์และทรัพย์สินไปพม่า เชียงใหม่แทบจะเป็นเมืองร้าง เช่น พ.ศ.๒๑๕๗-๒๑๘๕-๒๓๐๖ “จุลศักราช ๑๑๒๕ ปีมะแม เดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ พม่ายึดเชียงใหม่ได้อีก ๒-๓ วันต่อมา พม่าก็ยึดลำพูน บ้านสันทการได้ พม่ากวาดต้อนเอาลูกเจ้าจัน ลูกองค์คำ และไพร่ไทยชาวเชียงใหม่ไปอังวะหมดสิ้น” (ตามรอยโคลงมังทรารบเชียงใหม่ ชมรมล้านนาคดีเชียงใหม่ ๒๕๒๓-ตำนานเมืองเชียงใหม่ ผูก ๖ ฉบับพระพุทธิมา วัดม่อนคีรีชัย ลำปาง)

พระธาตุเจดีย์หลวง เป็นปูชนียสถานสำคัญและสูงใหญ่ที่สุดในล้านนา ตั้งเด่นเป็นสง่าตระหง่านเป็นศรีแก่บ้านเมือง ในท่ามกลางนครเชียงใหม่ ประหนึ่งจะทอดร่มเงาฉัตรทองคอยปกป้องบ้านเมืองให้ร่มเย็นปลอดภัย เปลวแสงแห่งประทีปโคมไฟบูชาที่สว่างไสวเรืองรอง ประหนึ่งดวงประทีปนำทางชีวิต เป็นบุญเขตประเทืองจิตใจชาวเมืองผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยศรัทธาให้ผาสุกอิ่มเอมด้วยผลบุญ ก็ถึงกาลรกร้างเศร้าหมองไปด้วย

วัดเจดีย์หลวงในยุคเฟื่องฟูภายใต้ร่มเงาพระธาตุเจดีย์หลวง และบุญญาธิการของพระมหากษัตริย์เจ้าแห่งราชวงศ์มังราย เป็นพระอารามที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชมหาสวามีแห่งนครเชียงใหม่ถึง ๗ องค์ คือ
       ๑.พระมหาสวามีนาราจริยกะ
       ๒.พระมหานันทะเทวาสวามี
       ๓.พระมหาญาณวิลาสสวามี
       ๔.พระมหาญาณบัณฑิตสวามี
       ๕.พระมหาอุสณะวังสะมหาสวามี
       ๖.พระมหานันทะเทวาสวามี (ชื่อซ้ำองค์ที่ ๒)
       ๗.พระมหาสัทธัมกิตติมหาสวามี
(ยุพิน เข็มมุกด์ สมโภช ๖๐๐ ปี พระธาตุเจดีย์หลวง)

วัดเจดีย์หลวงมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ราชกุฎาคาร...ราชกุฎาราม คือเรือนยอดหรือปราสาทที่พระราชาคือ พระนางติโลกจุฑา และพระเจ้าสามฝั่งแกน ผู้เป็นมเหสีและพระโอรสของพระเจ้าแสนเมืองมา ได้ทรงสร้างเสนาสนะถวายเป็นที่พำนักของสงฆ์ ขณะที่ทำการสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงต่อจากที่พระเจ้าแสนเมืองมาทรงสร้างค้างไว้นั้น จนแล้วเสร็จสมบูรณ์

แต่ชื่อที่คนรู้จักและเรียกขานกันมากที่สุดคือ “วัดเจดีย์หลวง” เพราะถือเอาเนมิตกนามตามความสูงใหญ่ขององค์พระธาตุเจดีย์หลวง แต่ชื่อที่มีมานานในตำนานก็กล่าวไว้คือ “โชติการาม” พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เพราะสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณฑูต ๘ รูป โดยการนำของพระโสณะและพระอุตตระ เข้ามาประกาศพระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ได้นำพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์เล็กสูง ๔ ศอก ที่สร้างขึ้น ณ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์หลวงนี้ “ครั้งนั้นมีบุรุษผู้หนึ่ง อายุได้ ๑๒๐ ปี มีใจเลื่อมใสได้เปลื้องเอาผ้าห่มชุบน้ำมันจุดบูชา และได้ทำนายว่า ต่อไปภายหน้าที่ตรงนี้จะเป็นอารามใหญ่ชื่อ โชติการาม” (ตำนานพระธาตุเจดีย์หลวง ๒๔๗๓:๑)

อีกนัยหนึ่ง เมื่อสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงเสร็จแล้ว เวลาจุดประทีปโคมไฟประดับบูชาองค์พระเจดีย์ จะปรากฏแสงสีสว่างไสวมองเห็นองค์พระเจดีย์มีสัณฐานคล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟโชติช่วงชัชวาล งามยิ่งนักมองเห็นได้ แม้อยู่ไกล ๒,๐๐๐ วา จึงได้ชื่อว่า “โชติการาม”



แบบสันนิษฐานองค์พระธาตุเจดีย์หลวง



ตลอดรัชสมัยราชวงศ์มังราย ๒๖๒ ปี เกือบสามศตวรรษนั้น เป็นยุคทองของนครเชียงใหม่ และอาณาจักรล้านนา เป็นยุคที่มีเอกราช มีอิสรภาพอยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นมหาอาณาจักรที่เข้มแข็ง เกรียงไกรด้วยแสนยานุภาพและเศรษฐกิจพอๆ กับมหาอาณาจักรศรีอยุธยา ทั้งเจริญรุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรม สังคมและพระพุทธศาสนา โดยมีนครเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการบริหารอาณาจักรนั้น พระธาตุเจดีย์หลวงได้รับการสร้างเสริมและทำนุบำรุงอย่างดียิ่งในทุกรัชกาล และตั้งแต่พระยอดเชียงราย รัชกาลที่ ๑๐ (ครองราชย์ ๒๐๓๐-๒๐๓๘) เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงถือว่าเทศกาลบูชาพระธาตุเจดีย์หลวง เป็นราชพิธีสำคัญ

ในทุกๆ ปี พระเจ้าแผ่นดิน เสนาอำมาตย์ และชาวเมืองได้จัดให้มีเทศกาลบูชาสักการะพระธาตุเจดีย์หลวงเป็นประจำ ตรงกับวันขึ้น ๘-๑๕ ค่ำ เดือน ๔ (ภาคเหนือนับเดือนเร็วกว่าภาคอื่นๆ ๒ เดือน)

“พระนางราชเทวี (นางพระยาวิสุทธิเทวีมเหสีของบุเรงนอง ผู้ครองนครเชียงใหม่ ในฐานะเมืองขึ้นของพม่า พ.ศ.๒๑๐๗-๒๑๒๑) ก็ไม่ละประเพณี ครั้นถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ก็ให้ปูลาดผ้าเจดีย์จุดประทีป จนถึงวันเพ็ญเดือน ๔ มิได้ขาดทุกๆ ปี (หุ้มองค์พระเจดีย์ตั้งแต่ยอดลงมาถึงฐานธรณีด้วยผ้าแพร ผ้าเทศ ผ้าจันทร์ นานได้ ๓ วันก็เอาผ้านั้นลงมาพาดเกยไว้ เพื่อให้ผู้คนบูชาเอาด้วยปัจจัย แล้วนำปัจจัยนั้นบำรุงพระธาตุต่อไป)  ท้าวพระยาผู้ได้เสวยเชียงใหม่ก็ดี เสนาอำมาตย์รัฐประชาทั้งหลายก็ดี ก็ชักชวนพากันกระทำการสักการบูชา พระมหาเจติยะเจ้า ด้วยสักการะต่างๆ อนึ่งฝ่ายสมเด็จพระมหาสังฆราชเจ้าตนเป็นอธิบดีวัดนั้น ครั้นถึงเดือน ๔ เป็นเทศกาลแล้วท่านย่อมชักชวนนักบุญทั้งหลายมากระทำสักการบูชามหาเจดีย์เจ้ามิได้ขาด” (ตำนานพระธาตุวัดเจดีย์หลวง)

ปี พ.ศ. ๒๑๒๑ พระนางวิสุทธิเทวีถึงแก่พิราลัย พม่าส่งราชบุตรบุเรงนองคือมังทรานรทามังคุย (นรทามังคะยอ) มาปกครองเชียงใหม่โดยตรง แต่นั้นเป็นต้นมา เข้าใจว่าเทศกาลบูชาพระธาตุเจดีย์หลวงได้ถูกละเลยขาดช่วงไป พร้อมกับการจากไปของพระนางวิสุทธิเทวี และการเข้ามาครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จแห่งอำนาจรัฐจากพม่า

เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นดังกล่าวแล้ว ประเพณีบูชาพระธาตุเจดีย์หลวง จึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อปี ๒๕๔๑ หลังจากได้ขาดช่วงไปกว่า ๔ ศตวรรษ ทั้งนี้โดย พระเดชพระคุณพระธรรมดิลก เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร มีบัญชาให้ศึกษาค้นคว้าจนได้ทราบหลักฐานกระจ่าง จึงได้ดำริจัดงานประเพณีบูชาพระธาตุเจดีย์หลวงครั้งปฐมขึ้น เมื่อวันที่ ๙-๑๒ มกราคม ๒๕๔๑ ตรงกับวันขึ้น ๑๒-๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เหนือ








งานประเพณีบูชาพระธาตุเจดีย์หลวง ประจำปี ตรงกับวันขึ้น ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เหนือ



Kimleng:

ความเปลี่ยนแปลงของวันเวลาที่ผันผ่าน
วัดเจดีย์หลวง ในปี ๒๕๖๓
























นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ