[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 20:11:33 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: อิสลามทำไมถึงมีข้อห้ามไม่ให้กินหมู?  (อ่าน 1681 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 26 ธันวาคม 2560 16:40:53 »



อิสลามทำไมถึงมีข้อห้ามไม่ให้กินหมู?
แรกเกิดในศาสนาของชาวยิว

ในโลกนี้ไม่ได้มีเฉพาะพี่น้องชาวมุสลิมเท่านั้นนะครับ ที่มีข้อห้าม (taboo) ไม่ให้บริโภค “เนื้อหมู” เป็นอาหาร

อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีชนกลุ่มใหญ่อีกหนึ่งชนชาติ (ควบพ่วงด้วยหนึ่งศาสนา) ที่ไม่กินเนื้อหมูเหมือนกัน นั่นก็คือพวกยิว หรือชนชาวอิสราเอล ซึ่งก็มักจะนับถือศาสนายิว หรือยูดาย ของชนชาติตนเองเป็นการเฉพาะ

ที่สำคัญก็คือ ในทางประวัติศาสตร์แล้ว ศาสนาอิสลามพัฒนาต่อมาจากศาสนาของพวกยิว (โดยมีศาสนาคริสต์ขั้นอยู่ตรงกลาง) ดังนั้น หากจะทำความเข้าใจว่าทำไมศาสนาอิสลามจึงมีกฎที่ห้ามไม่ให้บริโภคเนื้อหมูนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจจุดตั้งต้นของข้อห้ามในศาสนาของชาวยิวเสียก่อน

พระคัมภีร์ส่วนพันธสัญญาเดิม (Old Testament) ของคริสต์ศาสนา ซึ่งก็คือไบเบิลของพวกยิว (ก็อย่างที่บอกว่า ศาสนาคริสต์พัฒนาและต่อยอดมาจากศาสนายูดาย) มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติของชนชาติยิวอย่างเก่าแก่

แต่ถ้าจะนับเฉพาะที่พอจะใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ เราคงจะต้องเริ่มตั้งแต่สิ่งที่ถูกบันทึกไว้บท “พระธรรมอพยพ” (Exodus) ซึ่งก็คือการที่ “โมเสส” นำชนชาติยิวปลดแอกมาจากการเป็นทาสในอียิปต์

ผมไม่ได้หมายความว่า การแหวกทะเลแดง ไปจนกระทั่งแม้แต่ระบบสังคมทาสของอียิปต์ ในพระคัมภีร์บทดังกล่าว สามารถใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบ (โดยเฉพาะเมื่อผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีในรอบสหัสวรรษใหม่เป็นต้นมานี้ ทำให้เราต้องหันมาทบทวนถึงความเชื่อเกี่ยวกับสังคมทาส และการสร้างพีระมิด ที่ก็ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดในเรื่องราวของโมเสสในพระธรรมอพยพเป็นอย่างมากนี่แหละ)

แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็สามารถจะเห็นได้ถึงกลวิธิในการสร้างประวัติศาสตร์ของ “ชนชาติยิว” ที่มี “พวกอียิปต์” เป็นศัตรูร่วมในประวัติศาสตร์

และที่สำคัญก็คือ หลักฐานทั้งจากการขุดค้นทางโบราณคดี และจารึกโบราณหลายหลักนั้นต่างก็ทำให้ระบุไว้ว่า เนื้อหมูเป็นอาหารหลักชนิดหนึ่งในสังคมอียิปต์มาตั้งแต่ยุคก่อนจะมีฟาโรห์ และพีระมิดเลยทีเดียว

หมูเป็นสัตว์พื้นเมืองที่ถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในอียิปต์ โดยมักจะเจอชิ้นส่วนกระดูกของหมูอยู่ใกล้หลุมฝังศพของชนชั้นล่าง (ในขณะที่มักจะพบชิ้นส่วนกระดูกของวัวควายใกล้หลุมศพของชนชั้นสูง) แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีพัฒนาการของการเลี้ยงหมูต่อเนื่องมาในยุคของพวกฟาโรห์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน และจะขยายเติบโตเป็นอย่างมากในช่วง “ราชอาณาจักรใหม่” หรือ “จักรวรรดิอียิปต์” ที่นับเริ่มตั้งแต่ราชวงศ์ที่ ๑๘ (๓,๕๕๐-๓๒๙๕ ปีที่แล้ว)

จารึกบางหลักในช่วงราชวงศ์ที่ ๑๘ ระบุเอาไว้ว่า นายกเทศมนตรี (คำนี้ผมขออนุญาตแปลตรงตัวมาจากข้อมูลภาษาอังกฤษที่ใช้ว่า mayor ส่วนในเอกสารต้นฉบับของอียิปต์โบราณเอง จะเรียกว่าตำแหน่งอะไรนั้น ผมไม่ทราบชัด?) แห่งเมืองเอล กาบ (El Kab) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไนล์นั้น เป็นเจ้าของหมูถึง ๑๕,๐๐๐ ตัว

ในขณะที่มีการอุทิศถวายหมู และลูกหมู จำนวนอย่างละ ๑,๐๐๐ ตัวให้กับวิหารของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ (Amenhotep III, ครองราชย์ ๓,๓๘๖-๓,๓๔๙ ปีที่แล้ว) ที่เมืองเมมฟิส ก็น่าจะระบุถึงความสำคัญของหมูในสังคมได้เป็นอย่างดี

และก็คงจะสังเกตได้นะครับว่า การถวายหมูให้กับวิหารในศาสนานั้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่าง “หมู” กับ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ของชาวอียิปต์โบราณอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อชนชาวอียิปต์คือพวกที่นิยมนับถือเทพเจ้าในรูปของ “สัตว์” ประเภทต่างๆ อยู่แล้ว

เทพเจ้าเซ็ธ ตามที่บันทึกไว้ในจารึกปาแลร์โม จากสมัยราชวงศ์ที่ ๕ (๔,๔๖๕-๔,๓๒๓ ปีมาแล้ว) จะปรากฏกายในรูปของหมู ในขณะที่บางตำนาน เทพเจ้ามิน เมื่อแรกเกิดนั้นอยู่ในรูปของหมูน้อยสีขาว เพศเมียที่ดูน่ารักน่าชัง และนี่ยังไม่ได้นับรวมถึงอีกเพียบเทพเจ้าในร่างของหมู ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่เราจะพบวัตถุเนื่องในศาสนาของชาวอียิปต์ ที่ทำขึ้นเป็นรูปหมู มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ที่ ๑ (๔,๙๒๐-๔,๗๗๐ ปีมาแล้ว) เลยทีเดียว
 
ถ้าเราเชื่อข้อมูลในพระธรรมอพยพ “โมเสส” ก็เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้เอง เพราะตามข้อมูลที่นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ที่สนใจทางด้านอียิปต์วิทยาท่านได้ศึกษาออกมาในช่วงหลังนี้ โมเสสท่านเติบโตในราชสำนักของอียิปต์ ช่วงราชวงศ์ที่ ๑๘ ซึ่งเป็นช่วงที่การเลี้ยงหมูในอียิปต์นั้นเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก และถูกใช้เป็นเครื่องเซ่นสังเวยให้กับเทพเจ้าอย่างในสมัยของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ นี่แหละครับ

โมเสสนั้นอาจจะเป็นศาสดาพยากรณ์ (Prophet) คนสำคัญ คนที่สองของศาสนายูดาย ถัดมาจากอับราฮัม ที่พยายามจะให้ชาวยิวหันมานับถือศาสนาแบบเอกเทวนิยม หรือความเชื่อว่าพระเจ้าที่จริงแท้อยู่เพียงองค์เดียว (ในขณะที่ชาวอียิปต์นับถือเทพเจ้าหลายองค์ หรือที่เรียกว่าศาสนาแบบพหุเทวนิยม แถมเทพเจ้าเหล่านั้นยังมีเศียรเป็นรูปสัตว์อีกด้วย) แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์ชนชาติยิวแล้ว ท่านสำคัญกว่าอับราฮัมเป็นอย่างมาก

ระหว่างที่ท่านอพยพชาวยิวกลับมาที่ดินแดนแห่งพันธสัญญาหรือ “คานาอัน” (Canaan) ซึ่งก็คือเขตปาเลสไตน์ในปัจจุบัน ท่านได้แวะไปรับอะไรที่เรียกกันในภายหลังว่า “บัญญัติสิบประการ” ที่อาจจะนับได้ว่าเป็น “กฎ” หรือ “ระเบียบ” ชุดแรกจากดำรัสของพระเป็นเจ้าบนเขาไซนาย

แน่นอนว่าในบัญญัติทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ไม่มีข้อห้ามไม่ให้บริโภคหมูรวมอยู่ด้วย และถึงแม้ว่าโมเสสจะพาชาวยิวไปไม่ถึงดินแดนแห่งพันธสัญญาที่ว่า แต่สุดท้ายพวกยิวก็ได้ครอบครองดินแดนแห่งนั้น ภายหลังการนำทัพของ “แม่ทัพโยชูอา” (Joshua) ในช่วงสมัยของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ ๓ พระองค์เดิมนี่แหละครับ

และแม้ว่าพวกยิวจะสร้างบ้านเมือง จนปกครองโดยระบบกษัตริย์ได้ที่ดินแดนแห่งพันธสัญญาแห่งนั้น แต่ภายหลังจากการดินแดนภายใต้อาณานิคมทางวัฒนธรรมของพวกอียิปต์เบาบางลงไปแล้ว อิทธิพลของวัฒนธรรมแบบไมนวน (Minoan) ในลุ่มทะเลอีเจียน และอิทธิพลวัฒนธรรมของพวกฮิตไทต์ (Hittite) ก็เข้ามามีบทบาทในดินแดนคานาอันอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะในวัฒนธรรมของพวกฮิตไทต์นี่แหละครับ ที่มีความนิยมในการใช้ “หมู” เป็นเครื่องเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพวกเทพีต่างๆ กันให้เต็มไปหมด

เช่น การถวายลูกหมูให้แก่เทพีฮันนาฮันนา (Hannahanna) เทพีแห่งการให้กำเนิดบุตร, การถวายลูกหมู พร้อมเบียร์และไวน์ ให้แก่เทพีกุลเสส (Gulses) เทพีแห่งโชคชะตา

หรือแม้กระทั่งการเฉลิมฉลองเทศกาลนานตาร์ริยะศา (Nantarriyasha festival) ด้วยเนื้อหมู อันเป็นเทศกาลฉลองเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ที่จัดขึ้นทุกวันที่ ๓๕ ของปี โดยพระราชินีของอาณาจักร เป็นต้น

 แล้วลองคิดดูนะครับว่า ในขณะที่ศาสนาของพวกยิวเป็นศาสนาของผู้ชายแน่ (อย่างน้อยพระเจ้าของพวกเขาก็เป็นผู้ชาย แถมพระองค์ยังสร้างอีวา ขึ้นมาจากกระดูกซี่โครงของอดัมอีกต่างหาก) ผนวกกับการที่บัญญัติข้อที่ ๒ ในบัญญัติสิบประการที่โมเสสรับมาจากพระเจ้าที่เขาไซนาย ก็ว่าด้วยการห้ามบูชารูปเคารพ (การถวายหมูให้แก่เทพเจ้าผ่านรูปเคารพของพวกฮิตไทต์ ผิดบัญญัติข้อนี้แน่ และนี่ยังไม่นับว่า ศาสดาพยากรณ์คนแรกของพวกเขาอย่างอับราฮัม ก็เริ่มต้นนับถือพระเจ้าองค์เดียว จากการประณามธุรกิจการค้ารูปเคารพเทพเจ้าในครอบครัวของตนเอง) จะมีมุมมองอย่างไรกับพิธีกรรมเหล่านี้?

กฎหรือข้อห้ามการกินเนื้อหมูในศาสนายูดายก็เริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เอง ดังปรากฏในบทที่เรียกว่า “เลวีนิติ” (Book of Leviticus) ซึ่งได้ขยาย และตราข้อห้ามต่างๆ เพิ่มเติมจากบัญญัติสิบประการ เป็น ๗๖ ข้อ

แน่นอนว่า ในบรรดา ๗๖ ข้อนี้ก็ไม่ได้ห้ามบริโภคเฉพาะเนื้อหมู เนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ห้ามอยู่ด้วย เช่น อูฐ นกบางชนิด แมลง ปลาที่ไม่มีครีบ ฯลฯ แต่ก็ควรจะสังเกตด้วยว่า มีการห้ามเผาน้ำผึ้ง หรือยีสต์ เพื่อถวายเทพเจ้า เช่นเดียวกับที่ห้ามเผาเกลืออุทิศแก่เทพ ห้ามกินเลือด หรือไขมัน และก็แน่นอนว่าทั้งพวกฮิตไทต์ และอียิปต์ ไม่ได้ถวายเฉพาะแต่เนื้อหมูให้กับเทพเจ้าของพวกเขาแน่

ข้ออ้างในเลวีนิติที่ว่า เนื้อหมูเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด จึงไม่ควรที่จะบริโภคนั้น จึงน่าสงสัยอยู่ว่า ที่ไม่ “สะอาด” นั้นเป็นเพราะหมูเป็นสัตว์ที่สกปรกอย่างที่มักจะอ้างตามๆ กันมา หรือ “สกปรก” เพราะเป็นเครื่องเซ่นสังเวยต่อเทพเจ้าที่ชาวยิวตั้งข้อรังเกียจแน่?

อย่าลืมนะครับว่า “ยูดาย” เป็นศาสนาที่ผูกอยู่เฉพาะกับชนชาติยิวเท่านั้น พระเจ้าของศาสนายูดายไม่ทรงตอบรับกับใครอื่นนอกจากชาวยิว ระเบียบข้อห้ามต่างๆ ในศาสนาของพวกเขา จึงเป็นการสร้างอัตลักษณ์เป็นยิว พร้อมๆ กับที่สร้างความเป็นคนนอกให้กับชนชาติอื่นไปพร้อมๆ กันด้วย

และไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่นี่ก็คือต้นกำเนิดของข้อห้ามไม่ให้บริโภคเนื้อหมู ซึ่งจะส่งทอดต่อไปให้กับศาสนาอิสลามในภายภาคหน้า





เมื่อชนชาติยิวเข้าสู่แดนแห่งพันธสัญญา
มีคำอธิบายที่แพร่หลายอยู่ทีเดียวว่า การที่ในภาษาอังกฤษ มีคำเรียก “หมู” ว่า “pig” แต่กลับเรียก “เนื้อหมู” ทั้งชนิดที่นำมาประกอบอาหาร และถูกนำไปเสิร์ฟไว้บนโต๊ะอาหารว่า “pork” นั้น เป็นเพราะเหตุผลทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องอยู่กับชนชั้นทางสังคมบนเกาะของพวกอิงลิชชนในยุคสมัยหนึ่ง

เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า เมื่อ พ.ศ.๑๖๐๙ วิลเลียม แห่งนอร์มังดี (Normandy, แคว้นหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน) ได้เข้ามาพิชิตเกาะอังกฤษ จนทรงสถาปนาพระองค์เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ แห่งเกาะอังกฤษ (แต่ผู้คนมักจะรู้จักกันในโทษฐานที่พระองค์พิชิตเกาะแห่งนี้ว่า “พระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต” หรือ “William the Conqueror”) ได้ แต่พระองค์ไม่ได้นำเอาเฉพาะอำนาจจากปลายพระแสงดาบเข้าสู่เกาะแห่งนี้เท่านั้น

และถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงมีเชื้อสายของราชวงศ์อังกฤษอยู่ก่อน (จนเป็นเหตุให้พระองค์ทรงมีข้ออ้างในการพิชิตเกาะแห่งนี้) แต่พระองค์ก็ทรงเติบโตในแวดวงชนชั้นสูงของฝรั่งเศส วัฒนธรรมและภาษาที่พระองค์ทรงคุ้นเคยจึงถูกนำมาใช้ในราชสำนัก และแวดวงชนชั้นสูงของอังกฤษในยุคนั้นด้วย

ซึ่งก็รวมไปถึงภาษาและวัฒนธรรมบนโต๊ะอาหาร

ในขณะที่ภาษาของชนพื้นเมืองอังกฤษในยุคนั้น ซึ่งเป็นภาษาแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxon) อันเป็นกิ่งหนึ่งที่แตกแขนงมาจากภาษาพื้นเมืองของพวกยุโรปอย่างตระกูลภาษาเยอรมานิก (Germanic) เรียกหมูว่า “pigge” (ภายหลังจะเพี้ยนมาเป็น pig อย่างในปัจจุบัน) ภาษาฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาพร้อมกับพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ กลับเรียกหมูว่า “porc” (และจะเพี้ยนเป็น pork ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน) ตามศัพท์ในภาษาฝรั่งเศสยุคโน้น ที่มีรากมาจากภาษาละติน (ที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน) คือ “porcus” อีกทอด

แน่นอนว่าก็ไม่ได้มีเฉพาะ “หมู” ที่ถูกคนชั้นสูงในครั้งนู้น เรียกด้วยศัพท์ภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น “วัว” ที่คนพื้นเมืองบนเกาะเรียกว่า “cow” ก็ถูกคนชั้นสูง และคนในราชสำนักเรียกว่า “boeuf” (แล้วค่อยเพี้ยนมาเป็น beef), “ลูกวัว” ที่พวกไพร่เรียก “calf” ก็ถูกเรียกา “veau” (ที่เพี้ยนเป็น “veal”) บนโต๊ะอาหารที่หรูหรา

เช่นเดียวกับ “sheep” หรือ “แกะ” ของชาวบ้าน ที่จะถูกเรียกว่า “mouton” (คือ “mutton” หลังผ่านการ Anglicize หรือทำให้เป็นอังกฤษ) สำหรับสังคมชั้นสูงแทน เป็นต้น

(และก็แน่นอนอีกเช่นกันว่า ปรากฏการณ์ในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคำศัพท์เกี่ยวกับเนื้อสัตว์อย่างนี้เท่านั้นนะครับ ศัพท์ที่คุ้นๆ กันอย่าง “army” ที่แปลว่า “กองทัพ” ก็มาจากคำว่า “armee” ในภาษาฝรั่งเศสดั้งเดิม เช่นเดียวกับคำว่า “royal” ที่มาจากคำว่า “roial” ในขณะที่บางคำก็ถูกนำมาใช้เป็นคำที่มีความหมายคล้ายกัน แต่มีระดับภาษาที่เป็นทางการมากกว่า เช่น ในขณะที่คำว่า “ต้องการ” ที่สืบมาจากภาษาพื้นเมืองเดิมกลายเป็นคำว่า “want” คำที่มีรากมาจากภาษาฝรั่งเศสเก่าเมื่อครั้งโน้นก็สืบมาเป็นคำว่า “desire” เป็นต้น ในกรณีนี้ก็คล้ายกับการที่ภาษาเขมรโบราณมีผลต่อราชสำนักอยุธยา จนกลายเป็นคำราชาศัพท์นั่นเอง)

ไม่ว่าคำอธิบายนี้จะถูกต้อง ๑๐๐% หรือเปล่าก็ตาม แต่ก็เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า คำศัพท์ (และแน่นอนว่าต้องรวมไปถึงธรรมเนียม และพิธีรีตองต่างๆ) บนโต๊ะอาหาร และวัฒนธรรมการกินนั้น สามารถสะท้อนให้เห็นถึงการขับเคี่ยวกันระหว่างชนชั้น และความเป็นอื่น แล้วจะนับประสาอะไรกับ “ข้อห้าม” ในการกินเนื้อสัตว์ หรืออะไรบางชนิด อย่างเช่น การกินหมูในศาสนาของพวกยิวและอิสลาม ที่ถึงขนาดถูกบัญญัติเป็นข้อห้าม (taboo)?

บท “เลวีนิติ” (Book of Leviticus) ในพระคัมภีร์ ส่วนพันธสัญญาเก่า (Old Testament) ของคริสต์ศาสนา ซึ่งก็คือไบเบิล (Bible แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ของพวกยิว เองก็เต็มไปด้วยสารพัดเนื้อสัตว์ที่ห้ามไม่ให้ชาวยิวบริโภค ซึ่งก็แน่นอนว่ารวมถึงการห้ามกิน “เนื้อหมู” ด้วย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เลวีนิติ เป็นส่วนที่เขียนขึ้นหลังจากพวกยิวอพยพหนีสถานะ “ทาส” ออกมาจากดินแดนในอารยธรรมของพวกอียิปต์ ภายใต้อำนาจของราชวงศ์ที่ ๑๘ ซึ่งตรงกันกับช่วงที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของการทำฟาร์มเลี้ยงหมูในอียิปต์อย่างมีนัยยะสำคัญ

เลวีนิติ ยังเขียนขึ้นในช่วงที่ชาวยิว มีศูนย์กลางอยู่ใน “คานาอัน” หรือดินแดนแห่งพันธสัญญาของชาวยิว ซึ่งพวกเขาได้แย่งชิงมาจากพวกฟิลิสไตน์ (Philistine, มรดกตกทอดที่โลกได้รับมาจากชนกลุ่มนี้ ก็คือคำว่า “Palestine” หรือ “ปาเลสไตน์” ซึ่งก็คือชื่อเรียกดินแดนคานาอันในปัจจุบันนั่นเอง)
 
โดยการขุดค้นทางโบราณคดีนั้นพบว่า ในแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมของคนพวกนี้มักจะพบกระดูกหมูในปริมาณมาก โดยเฉพาะที่เมืองแอชดอด (Ashdod) และเมืองเอโครน (Ekron) ที่ต่างก็ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทิศใต้ของคานาอัน

แถมยังน่าสังเกตอีกด้วยนะครับว่า ข้อความในพระธรรม ๑ ซามูเอล (I Samuel) ในพันธสัญญาเก่า ซึ่งก็เขียนขึ้นในช่วงที่พวกยิวอยู่ในคานาอัน ก็กล่าวถึงการลงทัณฑ์ของพระเจ้าที่มีต่อชาวฟิลิสไตน์ในเมืองแอชดอด ด้วยโรคห่า (หมายถึง โรคระบาด) จนคนตายแทบจะหมดเมือง เพราะพิโรธที่คนพวกนี้นำหีบแห่งพันธสัญญา (Ark of Covenant, คือหีบบรรจุบัญญัติสิบประการ ที่โมเสสไปรับมาจากพระเจ้าบนเขาไซนาย) ไปประดิษฐานไว้ที่เทวาลัยเทพดากอน (Dagon, เทพครึ่งคนครึ่งปลา ซึ่งก็ดูจะเหมาะกับวัฒนธรรมของพวกฟิลิสไตน์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “คนสมุทร” ในยุคนั้น)

ความในพระธรรม 1 ซามูเอล ยังอ้างต่อไปว่า โรคห่านั้นยังระบาดต่อเนื่องไปยังเมืองกาธ (Gath) ซึ่งก็เป็นชุมชนของพวกฟิลิสไตน์อีกเมือง ในละแวกใกล้เคียงกับเมืองแอชดอด เนื่องจากรับทอดเอาหีบแห่งพันธสัญญาต่อไปจากเมืองแอชดอดนั่นแหละ (ผมค้นไม่เจอข้อมูลขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองกาธ เลยไม่มีข้อมูลว่า คนที่นี่เป็น “นักเลงกินหมู” เหมือนที่เมืองแอชดอด และเอโครนหรือเปล่า?)

แถมยังเป็นคนที่เมืองแห่งนี้เอง ที่พยายามส่งต่อหีบเจ้ากรรมที่ว่าต่อไปยังเมืองเอโครน แต่ชาวเมืองเอโครนทราบข่าวก่อนจึงแขยง จนไม่กล้ารับไว้จึงรอดพ้นจากน้ำพระทัยอันโกรธาของพระเป็นเจ้าของชาวยิวมาได้แบบฉิวเฉียด

ไม่ว่าความที่อ้างถึงในพระธรรม 1 ซามูเอล จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม เรื่องราวที่ถูกบันทึกเอาไว้ในนั้นก็เล่าถึงช่วงเวลาที่ต่อเนื่องมาจากการที่ชาวยิวอพยพ (ภายใต้ธงนำของโมเสส) จากอียิปต์ และกำลังจะเข้ายึดครองดินแดนคานาอัน ซึ่งก็มีช่วงอายุตรงกันกับที่เมืองเหล่านี้ขุดเจอกระดูกของหมูให้เพียบนี่แหละครับ

นี่ยังไม่นับว่าเมื่อพวกยิวเข้าไปยึดครองดินแดนแห่งพันธสัญญา ตามความเชื่อของพวกเขาได้แล้ว พวกเขายังมีปมกับชนในดินแดนเมโสโปเตเมียอีกหลายกลุ่ม ซึ่งต่างก็กินหมู และใช้หมูในการบูชาเทพเจ้า (ที่พวกยิวยุคโน้นเห็นว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะเป็นการดูหมิ่นพระเจ้าเพียงองค์เดียวของพวกตน) อย่างเช่น พวกฮิตไทท์ (Hittite) ที่ใช้หมูในการบูชาเทพีต่างๆ แต่กลับเป็นชนชาติมีบทบาทอย่างมากในภูมิภาคนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว

แต่ร้ายที่สุดก็คือชาวอัคคาเดียน (Akkadian) เพราะคนกลุ่มนี้มีคำศัพท์ที่ใช้เรียก “หมู” อยู่มากมายและหลากหลายคำ แถมยังอาจจะกินหมูเป็นอาหารอีกด้วย ที่สำคัญก็คือคนพวกนี้เป็นบรรพชนของพวกอัสสิเรียน (Assyrian) ที่ชาวยิวถือว่าเป็นศัตรูโดยตรง เพราะเป็นพวกที่เข้ายึดคานาอันของพวกเขา แล้วยังเนรเทศชาวยิวออกไปอยู่ที่บาบิโลนอีกนับร้อยปี

(ก่อนที่พวกเขาจะได้กลับมาอยู่ที่คานาอันอีกครั้ง ด้วยการสนับสนุนของกษัตริย์ไซรัสของพวกเปอร์เซีย)


ถึงแม้ว่าตามขนบเดิมนั้นมักจะถือกันว่า “เลวีนิติ” ถูกเขียนขึ้นโดยโมเสส แต่หลักฐานต่างๆ ในปัจจุบันก็ล้วนแต่บ่งชี้ว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเขียนขึ้นในช่วงราว ๒,๕๐๐-๒,๓๐๐ ปีที่แล้ว คือช่วงที่ชาวยิวได้กลับเข้ามาสู่คานาอัน หลังจากถูกพวกอัสซีเรียขับไล่ แล้วได้รับความช่วยเหลือของพวกเปอร์เซียนั่นเอง

และก็ต้องอย่าลืมนะครับว่า ศาสนายูดายเป็นศาสนาเฉพาะของชนชาติยิว พระเจ้าที่มีเพียงองค์เดียวของพวกเขา ทรงโปรดปรานเฉพาะก็แต่พวกยิวเท่านั้นแหละ อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ยิว ก็กลายเป็นสิ่งที่พระเจ้าไม่โปรดไปเสียหมด โดยเฉพาะอะไรที่ใช้สำหรับพระเจ้าพระองค์อื่นที่ไม่ใช่พระยะโฮวาห์ แต่ศาสนาที่ต่อยอดมาจากศาสนายูดาย อย่างศาสนายูดาย อย่างคริสต์ และอิสลาม ไม่ผูกติดกับชนชาติยิวอย่างนั้น แถมพวกเขาก็เลือกที่จะทำตาม หรือไม่ทำตามอะไรในรากเดิมของศาสนายูดายด้วย

การเลือกที่จะกินหมูหรือไม่ก็เช่นกัน



คอลัมน์ ON History
โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
มติชนสุดสัปดาห์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 ธันวาคม 2560 11:53:15 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 29 ธันวาคม 2560 12:00:44 »



อิสลามทำไมถึงมีข้อห้ามไม่ให้กินหมู?
ศาสนาคริสต์มีรากมาจากยิว แต่ทำไมกินเนื้อหมูได้?

ศาสนาคริสต์สืบทอดทั้งความเชื่อ ข้อปฏิบัติ ระเบียบ และระบบโครงสร้างของจักรวาลวิทยา รวมไปถึงอะไรต่อมิอะไรอีกหลายสิ่ง มาจากศาสนายูดายของพวกยิว

คิดง่ายๆ ว่า แม้แต่พระเจ้าของชาวคริสต์ ก็ยังเป็นพระยะโฮวาร์ (จะสะกดว่า ยาห์เวห์, ยะโฮวา หรือยะโฮวาร์ ก็นั่นแหละครับองค์เดียวกันทั้งนั้น จะสะกดอย่างไรก็ไม่ผิด) เช่นเดียวกับพวกยิว แถมยังเอาพระคัมภีร์ของยิวมารวบเข้าเป็นส่วนหนึ่งในพระคัมภีร์ของตนเอง แล้วเรียกว่าเป็น “พันธสัญญาเก่า” (ในขณะที่อะไรๆ ที่เขียนขึ้นหลังยุคของพระคริสต์นั้น ก็จะเรียกรวมๆ กันว่า “พันธสัญญาใหม่”)

แปลว่า กฎข้อห้ามไม่ให้กิน “เนื้อหมู” (รวมถึงของกินอะไรต่างๆ อีกให้เพียบอย่าง) ที่มีบัญญัติเอาไว้ในบทเลวีนิติ (Book of Leviticus) ก็ต้องมีอยู่ในไบเบิล หรือพระคัมภีร์ของพวกเขาด้วย

แต่ทำไมบรรดาชาวคริสต์ถึงกินหมูกันได้หน้าตาเฉย ทั้งที่พระเจ้าของพวกเขาก็ทรงสั่งห้ามเอาไว้ตั้งแต่พระองค์ยังทรงโปรดเฉพาะชนชาวยิวแล้วกันเล่าครับ?

การจะตอบคำถามข้อนี้ได้ เราคงต้องทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง “ศาสนายูดาย” กับ “ศาสนาคริสต์” ซึ่งก็มีอะไรที่ทั้งเหมือน และก็ไม่เหมือนกันอยู่มาก

แต่ข้อแตกต่างที่มีนัยยะสำคัญที่สุดเกี่ยวกับกรณีนี้ก็คือ การที่ศาสนายูดายเป็นศาสนาเฉพาะของชนชาติยิว แต่ศาสนาคริสต์กลับไม่ได้ผูกมัดตนเองให้เป็นศาสนาเฉพาะของชนชาติใดชนชาติหนึ่งเท่านั้น

แน่นอนว่าลักษณะอย่างนี้ย่อมทำให้ทั้งสองศาสนามีธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป เพราะว่าในขณะที่ศาสนาของชาวยิวจำเป็นต้องสร้างอัตลักษณ์ เพื่อให้แตกต่างจากชนชาติอื่น (ซึ่งก็หมายถึงศาสนาอื่นไปด้วยในตัว) ศาสนาคริสต์กลับจำเป็นต้องเปิดรับ (อย่างน้อยก็เปิดรับมากกว่าศาสนายูดาย) ความหลากหลายต่างๆ เข้ามานั่นเอง

และอะไรในบรรดาความหลากหลายที่ศาสนาคริสต์จำเป็นต้องเปิดรับมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศาสนายุคต้นของพวกเขาก็คือ วัฒนธรรมของพวก “โรมัน” โดยเฉพาะชนชาวโรมันชั้นสูง

พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขนด้วยน้ำมือของทหารในสังกัดกรมกองของพวกโรมันนะครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่า อยู่ๆ พวกโรมันจับพระองค์มาทรมานโดยไม่มีสาเหตุ

การปฏิวัติทางความคิดที่พระคริสต์ (มาจากคำว่า Christos ในภาษากรีก ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า พระเมสสิยาห์ ในภาษาฮิบรูของชาวยิว ซึ่งมีความหมายแปลได้ว่า องค์ศาสดาพยากรณ์ผู้รับการเจิม, ปุโรหิต, กษัตริย์, หรือพระผู้ปลดปล่อย ซึ่งในกรณีนี้หมายถึงความหมายสุดท้าย) หรือพระเยซูทรงเผยแพร่นั้น มีพลังคุกคามสำหรับอำนาจที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม ณ ขณะนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่ศาสดาหรือผู้นำชาวคริสต์ในขณะนั้นอย่างองค์พระเยซูเอง จะทรงถูกพวกโรมันจับมาสำเร็จโทษ

ถึงแม้ว่าพระเยซูจะสิ้นพระชนม์ไปในที่สุด แต่ชาวคริสต์ในจักรวรรดิของชาวโรมันก็ยังต้องอยู่กันอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เป็นสืบมาอีกนานเลยทีเดียว เนื่องจากมีการกวาดล้างและจับกุมชาวคริสต์ เพราะพวกชนชั้นสูงของโรมก็ยังคงไม่ค่อยจะชอบใจนักกับคำสอนของพระองค์และบรรดาสานุศิษย์สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อคนพวกนี้ต่างก็มีลัทธิความเชื่อ ที่มีเทพเจ้าต่างๆ หลากหลายพระองค์เป็นของตนเองอยู่แล้ว

แน่นอนว่า ในจำนวนเทพเจ้าต่างๆ เหล่านั้น ไม่ได้นับรวมเอาพระยะโฮวาร์ ซึ่งเป็นพระเจ้าพระองค์เดียวเป็นการเฉพาะของพวกคริสต์ และชาวยิวเข้าไปด้วย

และก็เป็นบรรดาชนชั้นสูงในโรมพวกนี้แหละครับ ที่กิน “เนื้อหมู” กันในระดับที่รัฐบุรุษ ควบตำแหน่งนักเขียน และนักปาฐกถาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในอารยธรรมโรมันอย่าง พลินี ผู้อาวุโส (Pliny the elder, พ.ศ.๕๖๖-๖๒๒) ซึ่งมีชีวิตอยู่ใกล้เคียงกับสมัยคริสตกาลนั้น ระบุเอาไว้ว่า อุตสาหกรรมเนื้อหมูในสังคมโรมันนั้น ใช้ทั้งเนื้อ, หนัง, เลือด, เท้า, เครื่องใน ไปจนกระทั่งมันหมู และน้ำมันหมู แถมยังมีทั้งหมูบ้าน และหมูป่าอีกต่างหาก โดยท่านยังได้บันทึกเอาไว้ด้วยว่า หมูยังถูกใช้เป็นเครื่องเซ่นสรวงบูชาต่อเทพเจ้า โดยเฉพาะใช้พระแม่ธรณี (Tellus Mater/Terra Mater) ในพิธีศพเป็นการเฉพาะ

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่ในบันทึกของพลินี ผู้อาวุโส จะมีการกล่าวถึงอาหารใช้ “หมู” เป็นส่วนประกอบถึง ๖๕๐มนู ซึ่งก็สอดคล้องกันกับหลักฐานของหมู ที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดีของพวกโรมัน ซึ่งก็เจอร่องรอยหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เป็นชิ้นส่วนของหมูเอง และงานศิลปกรรมที่มีรูปหมูประดับอยู่ด้วยนะครับ

และที่จริงแล้วก็ไม่น่าแปลกอะไรเลยที่พวกโรมันจะใช้หมูเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่ง เพราะพวกกรีกนั้นกินเนื้อหมูมาก่อนแล้ว แถมยังมีการทำฟาร์มเลี้ยงหมูกันอย่างเป็นระบบ และก้าวหน้าเอามากๆ เสียด้วย

ก็อย่างที่รู้กันดีแหละว่า พวกโรมันนั้นสืบทอดเอาอะไรหลายๆ อย่างมาจากกรีก ไม่ต่างอะไรจากที่ศาสนาคริสต์รับเอาอะไรสารพัดสิ่งมาจากศาสนาของพวกยิว ดังนั้น ถ้าพวกโรมันจะสืบทอดเอาเทคโนโลยีการเลี้ยงหมู และวัฒนธรรมความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับหมู และการบริโภคหมูมาด้วยนั้น ก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลกที่ตรงไหน?
 
ชาวคริสต์ในยุคแรกเริ่ม ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคที่จักรวรรดิโรมกำลังรุ่งเรือง ก็อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมอย่างนี้นี่แหละ และก็แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะแค่การกินเนื้อหมูเท่านั้น พวกเขาอยู่ในสังคมที่คนส่วนใหญ่กินอะไรต่อมิอะไรสารพัดที่ถูกห้ามไว้ในบทเลวีนิติ ที่พวกเขานับอยู่ในพันธสัญญาเก่า ส่วนหนึ่งในพระคัมภีร์ที่พวกเขาเคารพศรัทธาเป็นที่สุด

การเผยแผ่ศาสนาที่รับเอาคนเหล่านี้ ทั้งที่กินหมู กินสัตว์มีกระดองแข็งอย่างหอย อย่างปู หรืออีกหลายอย่างที่พระเป็นเจ้าขอให้งดเว้นเอาไว้ ดังปรากฏในเลวีนิติของพวกยิว คงจะทำให้บัญญัติข้อห้ามดังกล่าวถูกผ่อนปรนลงไปไม่น้อย ยิ่งเมื่อพวกเขาเป็นส่วนเล็กๆ ที่อยู่ภายใต้สังคมวัฒนธรรมของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง เท่าที่โลกเคยมีมาอย่าง “โรมัน” การประนีประนอมย่อมดูจะเป็นทางออกที่สวยงาม และดีสำหรับทุกฝ่ายมากที่สุด

แถมชาวคริสต์ในที่นี้ นับวันก็จะยิ่งผิดแผก และกลายเป็นคนละกลุ่มกับชาวยิวที่นับถือศาสนายูดาย ไม่ใช่ศาสนาคริสต์ไปแล้วนี่ครับ

การนั่งแทะกระดูกหมูสบายใจเฉิบของชาวโรมัน ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นไหนๆ จึงไม่ใช่สิ่งที่ขัดตาอะไรเลย

และยิ่งหากว่าชาวโรมันคนนั้นจะเชื้อเชิญให้เขาเข้าไปร่วมกินด้วย ก็น่าจะเป็นสิ่งที่น่าปลื้มปริ่มเสียนี่กระไร โดยเฉพาะเมื่ออันที่จริงแล้ว ก็ไม่มีหลักฐานตรงไหนบอกเอาไว้ชัดๆ เลยด้วยว่า พระเยซูเสวยหมู หรืออะไรที่ห้ามไว้ในเลวีนิติหรือเปล่าด้วยซ้ำไป




ในท้ายที่สุดเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนติน ทรงประกาศให้ “ศาสนาคริสต์” เป็นศาสนาประจำ “จักรวรรดิโรมัน” เมื่อ พ.ศ.๘๖๗ ป็นการยุติยุคของการหลบๆ ซ่อนๆ ของชาวคริสต์ทั้งหลาย พร้อมกับการเริ่มต้นก้าวเข้าสู่ยุคที่คริสตจักรกุมอำนาจ อย่างแทบจะเบ็ดเสร็จในทวีปยุโรป หลังการสิ้นสลายของกรุงโรม แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

และยุคสมัยอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นบาทหลวง บิชอป หรือแม้กระทั่งโป๊ปที่ไหนกันเล่า ที่จะไปสนใจว่า การกินหมูนี่มันผิดต่อพระเจ้าหรือเปล่า? สิ่งที่พวกเขาสนใจมากกว่าก็คือ การกินหมูนั้นมันผิดต่อพระเจ้าจริงหรือเปล่า? ต่างหาก

(แน่นอนว่า ไม่ว่าศาสนาคริสต์ทุกนิกายที่หันมากินหมูกันอย่างไม่สะทกสะท้าน อย่างน้อย คริสตจักรเอธิโอเปียออร์โธด็อกซ์ และนิกายเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ ก็ยังสมัครใจที่จะไม่กินหมูตามอย่างยิว อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะขอพูดถึงเฉพาะในภาพรวมของคริสต์ศาสนา)

ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่ว่า นึกจะกินหมู หรืออะไรก็ตามที่เคยมีข้อห้ามไว้แล้ว ก็กินมันโดยไม่สนใจพระเจ้าเลยนะครับ พวกชาวคริสต์ในยุคนั้นเองก็ต้องหาข้ออ้างในการกินหมูของพวกเขาอย่างเนียนๆ ด้วยเหมือนกัน

ข้อความบางตอนในบทปฐมกาล (Book of Genesis) ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในพระคัมภีร์ส่วนพันธสัญญาเก่า บอกว่า ในยุคหลังน้ำท่วมใหญ่ พระเจ้าทรงอนุญาตให้มนุษย์สามารถกิน “ทุกอย่างที่เคลื่อนไหวได้” ซึ่งแน่นอนว่า “หมู” ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวได้ ดังนั้น ถ้าเชื่อตามปฐมกาล พระเจ้าก็อนุญาตให้กินหมูได้ และถ้าชาวคริสต์จะกินหมูก็ไม่เห็นจะผิดอะไรไม่ใช่หรือครับ?

(การที่บางส่วน ซ้ำยังเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในพันธสัญญาเก่า หรือพระคัมภีร์ของพวกยิวอย่าง “ปฐมกาล” ระบุเอาไว้อย่างนี้ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงร่องรอยที่ว่า แต่เดิมนั้นชาวยิวก็คงจะบริโภคอะไรต่อมิอะไรที่เป็นข้อห้ามอยู่ในเลวีนิติด้วยเหมือนกัน)

แต่การอ้างข้อความในบทปฐมกาลยังไม่ใช่วิธีการเดียวที่จะทำให้พวกเขาไม่ผิดบาปในการกินหมู เพราะยังมีอีกหลายตอนเลยทีเดียวในพันธสัญญาใหม่ (แน่นอนว่าคือสิ่งที่เขียนขึ้นหลังสมัยของพระคริสต์) ที่ระบุว่า พระเยซูทรงประกาศด้วยพระองค์เองว่า “อาหารทั้งหมดนั้นสะอาด”

ซึ่งก็หมายความว่า “หมู” นั้นก็สะอาดด้วย เช่น ความใน มาระโก (Mark 7 : 18-19), โรม (Romans 14 : 2-3), ๑โครินธ์ (1 Corinthians 10 : 25), กิจการ (Acts 10 : 14-15) และ โคโลสี (Colossians 2 : 16-17) เป็นต้น

เราอาจจะสรุปความเกี่ยวกับข้อห้ามเรื่องการกินอาหารประเภทต่างๆ ตามแนวคิดในศาสนาคริสต์ตามพันธสัญญาใหม่ ได้อย่างชัดเจนที่สุดจาก ความจาก ๑ทิโทธี ในช่วงต้นของบทที่ ๔(1 Timothy 4 : 1-5) ซึ่งมีความระบุว่า

“…บัดนี้ พระวิญญาณได้ตรัสเอาไว้อย่างชัดแจ้งว่า ในกาลภายหลังจะมีบางคนละทิ้งความเชื่อ โดยหันไปเชื่อฟังวิญญาณที่ล่อลวง และฟังคำสอนของพวกผีปีศาจ…(เขา) ห้ามรับประทานอาหารซึ่งพระเจ้าทรงสร้างไว้ให้ผู้ที่เชื่อและรู้จักความจริงรับประทานด้วยขอบพระคุณ ด้วยว่าสิ่งสารพัดที่พระเจ้าได้ทรงสร้างไว้นั้นเป็นของดี ถ้าแม้รับประทานด้วยขอบพระคุณ ก็ไม่ห้ามเลยสักสิ่งเดียวเลย เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของที่ชำระไว้แล้ว โดยพระวจนะของพระเจ้าและคำอธิษฐาน…”

การณ์จึงกลับกลายเป็นว่า สำหรับชาวคริสต์แล้วพวกที่ไม่กินหมู (และอะไรอีกหลายอย่างตามข้อห้ามในเลวีนิติ) นั่นต่างหากที่ถูกปีศาจล่อลวง เพราะว่าพระเยซูได้บอกเอาไว้อย่างนั้น ใครก็ตามที่ไม่กินหมูจึงเป็นผู้ที่ไม่ศรัทธาในพระคริสต์

แน่นอนว่าพวกหนึ่งที่ไม่ศรัทธานั้นก็คือพวกยิวที่ไม่กินหมูมาแต่เดิม แต่อีกพวกหนึ่งที่จะเกิดขึ้นมาภายภาคหน้าก็คือ ศาสนาอิสลาม


คอลัมน์ ON History
โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
มติชนสุดสัปดาห์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 ธันวาคม 2560 12:03:26 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.678 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 26 มีนาคม 2567 15:51:01