[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 22:53:46 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระไตรปิฎกนานาภาษา/พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร? โดย ศจ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก  (อ่าน 2875 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 มกราคม 2561 16:12:21 »



พระไตรปิฎกนานาภาษา (๑)
ภาษาพระไตรปิฎก และพระไตรปิฎก

ประเด็นพิจารณา

๑.พระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษาอะไรประกาศพระศาสนา และภาษาในพระไตรปิฎกที่รู้กันในปัจจุบันนี้ว่า “ภาษาบาลี” เป็นภาษาอะไรแน่

(๑) ผู้นับถือพระพุทธศาสนาสายเถรวาทเชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าทรงวางรากฐานพระพุทธศาสนาที่แคว้นมคธ ภาษาที่พระองค์ทรงใช้สื่อสารคือ ภาษา “มาคธี” หรือ “มาคธิกโวหาร”

พระพุทธโฆสาจารย์ (พระอรรถกถาจารย์ที่มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๐) ยืนยันว่า มาคธี หรือ มาคธิกโวหาร เป็น “สกานิรุตฺติ” (ภาษาของตน) หมายถึงภาษาของพระพุทธเจ้า หรือภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้

ต่อมาเมื่อทรงย้ายศูนย์กลางพระพุทธศาสนามาอยู่ที่รัฐโกศล ก็คงใช้ภาษาของรัฐโกศลและภาษาถิ่นอื่นๆ อีกด้วย แต่ส่วนมากคงใช้ภาษามาคธี หรือมาคธิกโวหาร

เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน พระสงฆ์อรหันต์ ๕๐๐ รูป ได้กระทำสังคายนา (ร้อยกรองพระธรรมวินัย) ขึ้นที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เข้าใจว่า ท่านคง “เลือก” ใช้ภาษามาคธี หรือมาคธิกโวหาร เป็นภาษาสำหรับบันทึกพระพุทธวจนะ แล้วถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบ “มุขปาฐะ” (ท่องจำ)

เมื่อสังคายนาครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๑๐๐) ครั้งที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๔, บางแห่งว่า ๒๓๕) ก็คงยึดตามแบบอย่างสังคายนาครั้งแรก เมื่อพระพุทธศาสนาไปลังกา พระสงฆ์ลังกาก็คงได้มีการจารพระพุทธวจนะลงเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วเปลี่ยนมาเรียกชื่อภาษาพระคัมภีร์ว่า “ภาษาบาลี”

ตามความเชื่อของชาวพุทธฝ่ายเถรวาท ภาษาพระไตรปิฎกก็คือภาษามาคธี ซึ่งพัฒนาเป็นภาษาบาลีนั้นเอง

(๒) นักปราชญ์ตะวันตกพวกหนึ่ง เช่น นีลส์ ลุดวิก เวสเตอร์การ์ด (Niels Ludvig Westergaard) อี. คูห์น (E.Kuhn) โอ. อาร์. ฟรังเค (O.R Franke) เชื่อว่าภาษาพระไตรปิฎกมิใช่ภาษามาคธี หรือภาษาที่สืบสายมาจากภาษามาคธี แต่เป็นภาษาแคว้นอวันตี

พระมหินทเถระผู้นำพระพุทธศาสนาไปลังกาเป็นชาวอวันตี เมื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ลังกา ก็น่าจะสื่อสารหรือถ่ายทอดพระพุทธวจนะด้วยภาษาอวันตี

หลังพุทธปรินิพพานแล้ว แคว้นอวันตีเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามาเป็นเวลาสองศตวรรษ พระพุทธวจนะน่าจะได้รับการ “ร้อยกรอง” เป็นภาษาของแคว้นนี้ จนกระทั่งพระมหินท์นำไปลังกา

มีการค้นพบศิลาจารึก ชื่อ กีรนา (Girna Inscription) ที่เมืองอวันตี ซึ่งเป็นถิ่นมาตุภูมิของพระมหินท์ ภาษาในศิลาจารึกละม้ายคล้ายคลึงกับภาษาในพระไตรปิฎกมาก

(๓) นักปราชญ์อีกพวกหนึ่ง อาทิ แฮร์มันน์ โอลเดนแบร์ก (Hermann Oldenberg) เสนอทัศนะว่าภาษาพระไตรปิฎกเป็นภาษาของแคว้นกลิงครัฐ ภาคใต้ของอินเดีย

โอลเดนแบร์กปฏิเสธตำนานสืบศาสนาของฝ่ายเถรวาทที่กล่าวมาข้างต้น ไม่เชื่อว่ามีการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ไม่เชื่อว่ามีการส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน อ้างเหตุผลเช่น

เรื่องการทำสังคายนาครั้งนี้ ไม่มีในหลักฐานของฝ่ายอื่นนอกจากเถรวาท ฝ่ายเถรวาทแต่งขึ้นเอง ดึงเอาพระเจ้าอโศก (ซึ่งเป็นมหาราชที่นับถือทุกศาสนาทุกนิกาย) มาเข้าพวกเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้ลัทธิฝ่ายตน

ในจารึกอโศกทุกหลักไม่ระบุถึงการทำสังคายนาเลย ถ้ามีการทำสังคายนาและส่งพระไปเผยแผ่ศาสนายังต่างแดน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเหตุใดพระเจ้าอโศกจึงไม่เอ่ยถึงไว้ให้เป็นเกียรติประวัติทั้งๆ ที่พระราชาองค์นี้ชอบบันทึก แม้กิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ตนทำยังไม่ละเลย

โอลเดนแบร์กเชื่อว่า การที่ศาสนาพุทธเข้าไปสู่ลังกาหรือไปสู่ประเทศใด มิใช่ไป “แบบสำเร็จรูป” แต่เป็นวิวัฒนาการค่อยเป็นค่อยไป ประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ก่อนที่พระพุทธศาสนาไปสู่ลังกานั้น ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาได้เคลื่อนย้ายมาตั้งแต่มั่นอยู่อินเดียใต้แล้ว จึงน่าเชื่อว่า ภาษาพระไตรปิฎกที่เรารู้กันปัจจุบันนี้ว่า ภาษาบาลี เป็นภาษาของชาวอินเดียใต้

สรุปว่า มติทั้ง ๓ ฝ่ายนี้ เห็นตรงกันในประเด็นหลักหนึ่งประเด็น และเห็นแตกต่างกันในประเด็นย่อย ๒ ประเด็น ที่ตรงกันคือ ไม่ว่าภาษาพระไตรปิฎกจะเป็นภาษาอะไรมาก่อนก็ตาม ในที่สุดได้พัฒนามาเป็นภาษาที่รู้กันในปัจจุบันนี้ว่า ภาษาบาลี ส่วนที่แตกต่างกันคือ (๑) ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าภาษาบาลีในปัจจุบันสืบสายมาจากภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้

(๒) อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสืบไปไม่ถึงพระพุทธเจ้า หมายความว่าต้นตอของภาษาพระไตรปิฎกเริ่มจากพระเถระหรือคณะพระเถระที่ไปสืบทอดพระพุทธศาสนายังต่างแดน


๒.นักปราชญ์อีกพวกหนึ่งแย้งว่า คำว่า ปาลิ หรือบาลี มิใช่ชื่อของภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ อ้างหลักฐานทั้งด้านภาษาและประวัติศาสตร์

(๑) สุภูติเถระ ผู้แต่งอภิธานปฺปทีปิกา กล่าวว่า “ปาลิ” มีความหมาย ๓ นัยคือ
     – ขอบ เช่นตัวอย่าง ตฬากสฺส ปาลิ – ขอบแห่งสระ
     – แถว, แนว เช่น ปาลิยา นิสีทึสุ – นั่งเรียงแถว
     – ปาลีธรรม หรือคัมภีร์หลัก เช่น ปาลิมฺตตํ อิธานีตํ นตฺถิ อฏฐกถา อิธ – เฉพาะคัมภีร์หลักเท่านั้นที่นำมายังลังกา ไม่มีคัมภีร์อรรถกถาหรือคัมภีร์อธิบายเลย
 
(๒) โทมัส รีส เดวิดส์ และ วิลเลียม สเตด ผู้รวบรวม Pali – English Dictionary ให้ความหมายคำปาลิ ไว้ ๒ นัย คือ
     – แถว, แนว
     – ธรรม, ปริยัติธรรม, ตำราดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา

(๓) เซอร์ โมเนียร์ โมเนียร์-วิลเลียมส์ ผู้รวบรวม Sanskrit – English Dictionary ให้ความหมายไว้ ๖ นัยคือ
     – ใบหู
     – ริม, ขอบ
     – แถว, แนว, สาย
     – คู, สะพาน
     – หม้อหุงต้ม
     – มาตราตวงชนิดหนึ่งเท่ากับ 1 ปรัสถะ

สรุปจากหลักฐานที่ยกมา ทั้งหมดต่างเห็นพ้องกันว่า คำว่า ปาลิ มิใช่ชื่อของภาษา ถ้าใช้ในความหมายทั่วไป แปลว่า ขอบ, แถว, แนว, สาย, ใบหู, คู, สะพาน, มาตราตวงชนิดหนึ่ง ถ้าใช้ใน ความหมายเฉพาะ หมายถึงตำราชั้นต้น หรือชั้นปฐมภูมิของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่ พระไตรปิฎก คัมภีร์ชั้นต้นนี้จะจารึกด้วยภาษาอะไรก็ตาม เรียกว่า ปาลิ หรือ บาลี ทั้งนั้น

การเอาชื่อตำราไปปนกับชื่อภาษาเป็นความผิดพลาด ไม่ทราบว่าตั้งแต่เมื่อใด เคนเนธ รอย นอร์แมน (K.R. Norman) เขียนไว้ในหนังสือ The Pali Language and Scriptures ตอนหนึ่งว่า

“คนทั่วไปในปัจจุบันนี้ ใช้คำว่า ปาลิ ในความหมายเป็นชื่อของภาษาพระไตรปิฎก ของฝ่ายเถรวาท แทนที่จะแปลว่า “พระไตรปิฎก” ตามความหมายเดิม ดูจะเนื่องมาจากความเข้าใจผิดซึ่งอาจเกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษแล้ว ในพจนานุกรมบาลีของ โรเบิร์ต ซีซาร์ ชิลเดอร์ส ซึ่งพิมพ์เมื่อ ค.ศ.๑๘๗๕ ชิลเดอร์สระบุว่า คำแปลภาษาอังกฤษตามความหมายใหม่นั้น อาศัยแบบอย่างจากสิงหล ซึ่งใช้คำนี้ในความหมายเดียวกัน การใช้คำนี้ในลักษณะดังกล่าวอาจสืบสาวไปถึงชาวยุโรปก่อนสมัยชิลเดอร์ส ซึ่งอาศัยงานเขียนของชาวสิงหลเป็นพื้นฐาน

ยูแชน บูร์นูฟ (Eugene Burnouf) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสได้สำรวจงานค้นคว้าในยุคแรกๆ ทางบาลีศึกษา ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาเมื่อ ค.ศ.๑๘๒๕ ว่า คนแรกที่เขาพบว่าใช้คำ ปาลิ ในความหมายเป็นชื่อของภาษาได้แก่ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสที่มาอยู่เมืองไทยในช่วงปี ค.ศ.๑๖๘๗-๑๖๘๘ และได้พิมพ์หนังสือพรรณนากรุงสยาม ใน ค.ศ.๑๖๙๑ แปลเป็นภาษาอังกฤษใน ค.ศ.๑๖๙๓

ในพงศาวดารพม่า ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ยังกล่าวถึง ปาลิ ในเนื้อความแวดล้อมซึ่งน่าจะหมายถึงภาษา และดูเหมือนว่าหนังสือเล่มนี้กล่าวซ้ำข้อความในหนังสือที่มีมาก่อนหน้านั้น ดังนั้น บางทีพม่าอาจใช้คำนี้ในความหมายดังกล่าวก่อนหน้านั้นมานานแล้ว

การที่เข้าใจผิดถึงกับแปลคำ ปาลิภาษา เป็น “ภาษาบาลี” แทนที่จะแปลว่า “ภาษาพระไตรปิฎก” ต่างฝ่ายต่างคิดขึ้นมาเองโดยมิได้เอาอย่างกัน ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ที่เราไม่สามารถบอกได้ก็คือ ความเข้าใจผิดอย่างนี้เกิดที่ประเทศใดก่อน


๓.พระไตรปิฎกเกิดขึ้นเมื่อไร ต่อคำถามนี้มีประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้

(๑) สมัยพุทธกาลยังไม่มี “พระไตรปิฎก”

สิ่งที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนประชาชนสมัยนั้นมีชื่อเรียกอยู่ ๒ คำ คือ พฺรหฺมจริย กับ ธมฺม – วินย ในคราวส่งพระสาวกไปประกาศศาสนายุคแรก ทรงใช้คำว่า พรหมจริย ในคราวจวนจะปรินิพพานทรงใช้คำว่า ธมฺม-วินย

(๒) ถึงจะยังไม่รวบรวมพุทธวจนะเป็นพระไตรปิฎก แต่หลักฐานแสดงว่ามีการรวบรวมหรือแบ่งพุทธวจนะเป็นหมวดเป็นหมู่บ้างแล้ว เช่น

แบ่งเป็น ๙ หมวด (นวังคสัตถุศาสน์) คือ สุตตะ เตยยะ คาถา เวยยากรณะ อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธัมมะ เวทัลละ

แบ่งเป็นวรรค เช่น อัฏฐกวรรค ปรายนวรรค ดังหลักฐานระบุว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญชาให้พระโสณกุฏิกัณณะสวดวรรคเหล่านี้ให้ฟัง

(๓) พระพุทธวจนะถูกรวบรวมเป็นพระไตรปิฎก คงในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒-๓ ก่อนหรือร่วมสมัยพระเจ้าอโศก

สมัยสังคายนาครั้งที่ ๑-๒ ยังไม่มีพระไตรปิฎก ยังคงเรียก ธมฺม-วินย อยู่ (ธมฺมวินยสงฺคีติ, ธมฺมวินยวิสชฺชนา)

มีหลักฐานในจารึกที่สาญจิ ก่อนสมัยอโศก พูดถึงพระเถระผู้เชี่ยวชาญในปิฎกทั้งหลาย (เปฏกินฺ) และพระเถระผู้เชี่ยวชาญพระสูตรทั้งหลาย (สุตฺตนฺติกา) และพระเถระผู้เชี่ยวชาญนิกายทั้งห้า (ปญฺจเนกายิกา) แสดงว่าในช่วงระยะเวลานี้ ได้มีการรวบรวมพระพุทธวจนะเป็นปิฎก และเป็นนิกายทั้งห้าแล้ว

พระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ ได้แต่งหนังสือชื่อ กถาวัตถุ แสดงทัศนะที่ถูกต้องของฝ่ายเถรวาท หนังสือเล่มนี้นับอยู่ในปกรณ์หนึ่งในพระอภิธรรมปิฎก ๗ คัมภีร์ จึงน่าเชื่อว่า พระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นปิฎกสุดท้าย ได้รวบรวมมาก่อน ๖ คัมภีร์แล้ว ท่านจึงแต่งเพิ่มขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง ทำให้พระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ครบบริบูรณ์


ที่มา : บทความพิเศษ "พระไตรปิฎกนานาภาษา (๑) โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก  หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ หน้า ๗๑ ฉบับที่ ๑๙๕๒ ประจำวันที่ ๑๒-๑๘ มกราคม ๒๕๖๑




พระไตรปิฎกนานาภาษา (๒)
พระไตรปิฎกเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด

คําถามนี้ควรแยกเป็น ๒ ประเด็น คือ
(๑) พระไตรปิฎกที่เรามีอยู่ปัจจุบันนี้ พอจะบอกได้ไหมว่าเป็น “พุทธวจนะ” หรือคำพูดจริงๆ ของพระพุทธเจ้ามากน้อยแค่ไหน และ (๒) มีแนวความคิดหรือหลักคำสอนอื่นแปลกปลอมเข้ามาหรือไม่  มากน้อยเพียงใด

(๑) ประเด็นที่ ๑ คำตอบก็คือ
พระไตรปิฎกมิใช่ “คำพูด” ของพระพุทธเจ้าทั้งหมด เพราะปรากฏชัดเจนว่า มีหลายสูตรที่เป็นเทศนาของพระเถระผู้ใหญ่บางรูป บางส่วนที่เป็นภาษิตของเทวดาที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าเป็นสุภาษิต

แม้พระสูตรที่เป็นเทศนาของพระพุทธเจ้าเอง ก็มีถ้อยคำของผู้รวบรวมปะหัวปะท้ายสูตรด้วย เช่น พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าเทศน์แก่ใคร ที่ไหน เทศน์ว่าอย่างไร หลังจากเทศน์แล้วได้ผลอย่างไร

ในส่วนที่ถือว่าเป็น “คำพูด” ของพระองค์ ก็คือตรงเนื้อหาของสูตรที่สั่งสอนเรื่องต่างๆ กระนั้นก็ตาม ก็เป็นการ โควต ข้อความ ซึ่งผู้โควตอาจจำมาผิดแผกจากที่ตรัสจริงๆ ก็ได้

พระอภิธรรมทั้งหมด หลักฐานระบุชัดว่า เป็นภาษาหนังสือ ที่แต่งขึ้นมาใหม่ มิใช่อยู่ในรูปเป็นภาษาปาก จึงถือว่ามิใช่ “คำพูด” ของพระพุทธเจ้า

ถึงแม้จะมีบางปิฎก บางสูตร บางตอนที่มิใช่ “คำพูด” โดยตรงของพระพุทธเจ้า แต่ก็ถือว่า “เป็นพุทธพจน์” คือเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะ “เนื้อหา” ไม่ขัดกับหลักการของพระพุทธศาสนาตามหลักการที่ตรัสไว้ใน “หลักตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ” คือ

ถ้าหลักคำสอนตรงไหนก็ตามเป็นไปเพื่อ ความกำหนัด ประกอบไว้ในภพ ความสั่งสมกิเลส ความมักมาก ความไม่สันโดษ ความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ความเกียจคร้าน ความเลี้ยงยาก ถือว่ามิใช่พุทธวจนะ

แต่ถ้าสอนชักชวนในทางตรงกันข้ามถือว่าเป็นพุทธวจนะ

(๒) ประเด็นที่ ๒ คำตอบคือ
อาจมีบางสูตร บางตอน ที่ขัดกับหลักการตัดสินพระธรรมวินัย หรือหลักการของพระพุทธศาสนา ที่แปลกปลอมมาภายหลัง เช่น การถือฤกษ์ถือยาม ด้วยการสวดพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ

เป็นการแปรคำสอนไปสู่ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ บนพื้นฐานของการอ้อนวอนอำนาจภายนอก มิใช่หลักการพึ่งตนเองตามหลักพระพุทธศาสนา

มีหลายสูตรที่แทรกคติความเชื่ออย่างนี้เข้ามา เช่น จันทิมสูตร สุริยสูตร พูดถึงความเชื่อเรื่องราหูอมจันทร์ และพระอาทิตย์ พระจันทร์และพระอาทิตย์ กลัวตายขอร้องให้พระพุทธเจ้าช่วย พระพุทธเจ้าตรัสสั่งให้ราหูปล่อยพระจันทร์และพระอาทิตย์

อาฏานาฏิยสูตร พูดถึงท้าวเวสวัณ (หรือท้าวกุเวร) กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พวกยักษ์ทั้งหลายที่ดุร้าย ไม่เกรงกลัวพระสงฆ์องค์เจ้าก็มีมาก อาจทำร้ายพระที่บำเพ็ญภาวนาอยู่ในป่า ขอให้ทรงบัญชาให้พระสงฆ์เรียน “รักขามนต์” ชื่อ “อาฏานาฏิยา” แล้วท่องบ่นเป็นประจำ

แล้วจะไม่ถูกพวกยักษ์เบียดเบียนทำร้าย

การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรไทย
สมัยที่ ๑ ชำระและจารลงในใบลาน สมัยพระเจ้าติโลกราช ล้านนาไทย พ.ศ.๒๐๒๐
สมัยที่ ๒ ชำระและจารลงในใบลาน สมัยรัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๓๑
สมัยที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม ๓๙ เล่มจบ (ครั้งแรกที่พิมพ์อักษรไทย) พ.ศ.๒๔๓๑-๒๔๓๖
สมัยที่ ๔ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม รัชกาลที่ ๗ พ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๗๓ (๔๕ เล่มจบ)
สมัยที่ ๕ แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ๒ ประเภทคือ (๑) พระไตรปิฎกเทศนา ฉบับหลวง ๑,๒๕๐ กัณฑ์ พิมพ์เสร็จ พ.ศ.๒๔๙๒ (๒) พระไตรปิฎกภาษาไทย ๘๐ เล่มชุด พิมพ์ในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ จำนวน ๒,๕๐๐ จบ
สมัยที่ ๖ พระไตรปิฎกฉบับสังคายนา พิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ๕ รอบ ธันวาคม ๒๕๓๐ (ฉบับนี้มีผิดพลาดมาก)
สมัยที่ ๗ พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาเตปิฏํ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยชำระและจัดพิมพ์ เนื่องในโอกาสสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ พ.ศ.๒๕๓๕

พระไตรปิฎกอักษรโรมัน
ฉบับสมาคมบาลีปกรณ์


สมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text society) ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ โทมัส รีส เดวิดส์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ (หลังจากไปศึกษาภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาในลังกา ๘ ปี)

รีส เดวิดส์ เป็นนายกสมาคมคนแรก พร้อมกับภรรยา นางแคโรลีน รีส เดวิดส์ และปราชญ์คนอื่นๆ อีก เช่น แฮร์มันน์ โอลเดนแบร์ก และ วิลเลียม สเตด ปริวรรตพระไตรปิฎกจากอักษรสิงหลสู่อักษรโรมัน พิมพ์ทีละเล่มสองเล่ม และแปลเป็นภาษาอังกฤษทยอยพิมพ์ออกมา จนถึงบัดนี้สมาคมได้จัดพิมพ์ออกมาแล้วดังต่อไปนี้

(๑) พระไตรปิฎกอักษรโรมัน
ก. วินัยปิฎก
(The Book of Discipline)
มี ๕ เล่ม แฮร์มันน์ โอลเดนแบร์ก เป็นผู้ชำระ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๔๒๒-๒๔๒๖ (ค.ศ.๑๘๗๙-๑๘๘๓) ครั้งที่สอง พ.ศ.๒๔๗๓ (ค.ศ.๑๙๓๐)

ข. สุตตันปิฎก (The Basket of discourses)
๑.ทีฆนิกาย มี ๓ เล่ม รีส เดวิดส์ กับ เอสทิน คาร์เพนเตอร์ (Estin Carpenter) เป็นบรรณาธิการ พิมพ์ พ.ศ.๒๔๓๒-๒๔๕๔ (ค.ศ.๑๘๘๙-๑๙๑๑)
๒.มัชฌิมนิกาย มี ๓ เล่ม คาร์ล วิลเฮล์ม เทรงเนอร์ (V. Trenckner) และ โรเบิร์ต ชาล์เมอร์ส (Robert Chalmers) เป็นบรรณาธิการ พิมพ์ พ.ศ.๒๔๓๑-๒๔๖๘ (ค.ศ.๑๘๘๙-๑๙๒๕)
๓.สังยุตตนิกาย มี ๕ เล่ม และดรรชนีค้นคำอีก ๑ เล่ม ลีออน เฟียร์ (Leon Feer) เป็นบรรณาธิการ พิมพ์ พ.ศ.๒๔๒๗-๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๘๘๔-๑๙๐๔)
๔.อังคุตตรนิกาย มี ๕ เล่ม และดรรชนีค้นคำ ๑ เล่ม ริชาร์ด มอร์ริส (Richard Morris) และ อี. ฮาร์ดี (E. Hardy) เป็นบรรณาธิการ พิมพ์ พ.ศ.๒๔๒๘-๒๔๕๓ (ค.ศ.๑๘๘๕-๑๙๑๐)
๕.ขุททกนิกาย มี ๑๔ เล่ม บรรณาธิการหลายคน พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๐-๒๔๖๑ (ค.ศ.๑๘๗๗-๑๙๑๘) ใช้ระยะเวลายาวนาน

ค.อภิธรรมปิฎก (The Basket of the Higher Doctrine)
มี ๗ เล่ม (๑) ธัมมสังคณี พิมพ์ พ.ศ.๒๔๒๘ (ค.ศ.๑๘๘๕) (๒) วิภังค์ พิมพ์ พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔) (๒) ธาตุกถา พิมพ์ พ.ศ.๒๔๓๕ (ค.ศ.๑๘๙๒) (๔) ปุคคลบัญญัติ พิมพ์ พ.ศ.๒๔๒๖ (ค.ศ.๑๘๘๓) (๕) กถาวัตถุ พิมพ์ พ.ศ.๒๔๓๗-๒๔๓๘ (ค.ศ.๑๘๙๔-๑๘๙๕) (๖) ยมก พิมพ์ พ.ศ.๒๔๕๙ (ค.ศ.๑๙๑๒) (๗) ปัฏฐาน พิมพ์ พ.ศ.๒๔๖๔ (ค.ศ.๑๙๒๑)

(๒) พระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ
ก.วินัยปิฎก
รีส เดวิดส์ กับ โอลเดนแบร์ก แปลชื่อว่า Vinay Texts มี ๓ เล่ม รวมอยู่ในชุด Sacred Books of the East

ต่อมา ไอรีน บี. ฮอนเนอร์ แปลใหม่หมดชื่อว่า The Books of the Discipline

ข.สุตตันตปิฎก
๑.ทีฆนิกาย รีส เดวิดส์ และภรรยาแปลชื่อว่า Dialogues of the Buddha มี ๓ เล่ม
๒.มัชฌิมนิกาย ชาล์เมอร์ส แปลชื่อว่า Further Dialogues of the Buddha มี ๒ เล่ม ต่อมา ฮอนเนอร์แปลใหม่หมดชื่อว่า The collection of the Middle Length Sayings
๓.สังยุตตนิกาย นางรีส เดวิดส์ และ แฟรงก์ ลี วูดเวิร์ด แปลชื่อว่า The Book of Kindred Sayings มี ๕ เล่ม
๔.อังคุตตรนิกาย วูดเวิร์ด และ อี.เอ็ม. แฮร์ แปลชื่อว่า The Book of the Gradual Sayings มี ๕ เล่ม
๕.ขุททกนิกาย มีชื่อว่า The Minor Readings หลายคนแปลดังนี้
(๑) ธรรมบท แมกซ์ มุลเลอร์ เป็นคนแปลคนแรก จากนั้นก็มีหลายสำนวนมาก เช่น วูดเวิร์ด (สมาคมบาลีปกรณ์) ดร.สรวปัลลี ราธกฤษณัน (อ๊อกซ์ฟอร์ด) ที่เมืองไทยก็มีฉบับของ ขันติปาโล (พุทธสมาคม) เสฐียรพงษ์ วรรณปก (อมรินทร์พรินติ้ง) และฉบับของราชบัณฑิตยสถาน
(๒) ขุททกปาฐะ ญาณโมลีเถระ แปลชื่อว่า The Minor Readings สมาคมบาลีปกรณ์ จัดพิมพ์
(๓) อุทาน ชื่ออังกฤษว่า Verses of Uplift และอิติวุตตกะ ภาษาอังกฤษว่า As It Was Said วูดเวิร์ดแปล (สมาคมบาลีปกรณ์)
(๔) สุตตนิบาต ชื่อว่า Woven Cadences of Early Buddhists แฮร์ แปล (บาลีปกรณ์)
(๕) วิมานวัตถุ ชื่อว่า Stories of the Mansions และเปตวัตถุ ชื่อว่า Stories of the Departed จีน เคนเนดี และ เฮนรี เกห์แมน แปล (บาลีปกรณ์)
(๖) เถรคาถา – เถรีคาถา Psalms of the Brethren, Psalms of the Sisters รีส เดวิดส์ แปล แต่ต่อมา เค.อาร์. นอร์แมน แปล ตั้งชื่อว่า The Elder”s Verses
(๗) ชาดก (รวมอรรถกถาชาดกด้วย) มี ๖ เล่ม ชื่อว่า The Jataka or stories of the Buddha”s Former Births อี.บี. โคเวลล์ เป็นบรรณาธิการ มีผู้แปลหลายคน (บาลีปกรณ์)
(๘) ปฏิสัมภิทามรรค ญาณ โมลีภิกขุ แปล ชื่อว่า The Path of Discrimination
(๙) พุทธวังสะ ชื่อว่า Chronicles of Buddha จริยาปิฎก ชื่อว่า Basket of Conduct ฮอนเนอร์ แปล (บาลีปกรณ์)

ค.อภิธรรมปิฎก
(๑) ธัมมสังคณี = A Buddhist Manual of Psychological Ethics รีส เดวิดส์ แปล
(๒) วิภังค์ = The Book of Analysis ท่านอู ติตถิละ แปล
(๓) ธาตุกถา = Discourse on Elements ท่านนารทะ แปล
(๔) ปุคคลบัญญัติ = Designation of Human Types บี.ซี. ลอว์ แปล
(๕) กถาวัตถุ = Points of Controversy นางรีส เดวิดส์ และ ชะเวอ่อง แปล
(๖) ปัฏฐาน = Points of Controversy ท่านนารทะ แปล

ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จประพาสยุโรป และอังกฤษ เสด็จไปเยี่ยมสมาคมบาลีปกรณ์ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง สมทบทุนการพิมพ์พระไตรปิฎก ของสมาคมบาลีปกรณ์ และได้จารึกพระปรมาภิไธย ไว้เป็นหลักฐานด้วย

ข้อสังเกตเกี่ยวกับพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ
๑.ผู้แปลได้ตัดข้อความที่ซ้ำๆ ออก เมื่อพิมพ์จำนวนเล่มจึงลดน้อยลงกว่าฉบับภาษาไทย
๒.สำนวนแปลเป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายกว่า สำนวนภาษาไทย ซึ่งแปลรักษาศัพท์และโครงสร้างของภาษา
๓.แต่ละเล่มหรือแต่ละปิฎก หรือนิกาย นักปราชญ์ผู้รับผิดชอบชำระและแปลเป็นคนเดียวส่วนมาก สำนวนการแปลจึงกลมกลืน คงเส้นคงวา ขณะที่สำนวนแปลไทย แบ่งกันแปลคนละตอน หรือคนละเล่ม เมื่อนำมาพิมพ์ ไม่ได้เกลาให้กลมกลืนกัน
๔.มีคำนำเสนอที่สมบูรณ์เป็นประโยชน์แก่การศึกษามาก ตลอดถึงมีดรรชนีค้นคำที่สมบูรณ์ ขณะที่ฉบับภาษาไทยยังบกพร่องในด้านดังกล่าวมาก


ที่มา : พระไตรปิฎกนานาภาษา (๒) พระไตรปิฎกเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๕๓ ประจำวันที่ ๑๙-๒๕ มกราคม ๒๕๖๑

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 พฤษภาคม 2561 12:47:35 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 09 กุมภาพันธ์ 2561 14:33:52 »





พระไตรปิฎกนานาภาษา (๓)
พระไตรปิฎกฉบับสันสกฤต

๑.หลักฐานเก่าแก่ที่สุดโยงไปถึงการทำสังคายนาสมัยพระเจ้ากนิษกมหาราช ที่เมืองชลันธร มีพระปารศวะเป็นประธาน เมื่อ พ.ศ.๓๐๐ การสังคายนาครั้งนี้เป็นฝ่ายสรวาสติวาท (สัพพัตถิกวาท) พระสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูป เข้าร่วม นัยว่ามีพระสงฆ์นิกายอื่นเข้าร่วมด้วย

หลายท่านกล่าวว่าการทำสังคายนาครั้งนี้เป็นฝ่ายมหายาน ความจริงมิใช่ เพียงแต่สรวาสติวาท ใช้ภาษาสันสกฤตเท่านั้น สรวาสติวาท เป็นแขนงของหินยาน หรือเถรวาท

สมณะเฮี่ยงจัง (ถังซำจั๋ง) เล่าว่า ได้มีการร้อยกรองคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก อันเรียกว่า ภาษยะ คือ

คัมภีร์ อธิบายพระสุตตันตปิฎก เรียกว่า อุปเทศศาสตร์ ๑ แสนโศลก
คัมภีร์ อธิบายพระวินัยปิฎกชื่อ วินยภาษาศาสตร์ ๑ แสนโศลก
คัมภีร์ อธิบายพระอภิธรรมปิฎกชื่อ อภิธรรมภาษาศาสตร์ ๑ แสนโศลก

รวม ๓ แสนโศลก โปรดให้จารึกลงแผ่นทองแดง บรรจุหีบศิลาใส่ไว้ในสถูป นิกายนี้นับถืออภิธรรมวิภาษาศาสตร์มาก จึงมีชื่อเรียกนิกายว่า “ไวภาษิกะ” ซึ่งตามคัมภีร์ปรัชญาอินเดีย ถ้าแบ่งนิกายทางความคิดจะแบ่งเป็น ๔ เท่านั้นคือ เสาตรานติกะ, ไวภาษิกะ, มาธยมิกะ หรือสุญญวาท และวิชญานวาท (วิญญาณวาท)

๒.พระไตรปิฎกสันสกฤต มี ๓ ปิฎก คือ พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม เช่นเดียวกันกับพระไตรปิฎกฝ่ายบาลี
ก.พระสุตตันตปิฎก แบ่งเป็น ๔ หมวด เรียกอาคม หรือทีรฆาคม, มัธยมาคม, สังยุกตาคม, เอโกตตราคม
– ทีรฆาคม มี ๓๐ สูตร น้อยกว่าทีฆนิกายของฉบับบาลี ๔ สูตร ส่วนนี้มีชื่อและเนื้อหาของพระสูตรคล้ายกันมาก
– มัธยมาคม มี ๒๒๒ สูตร (บาลี ๑๕๒ สูตร) ตรงกับฉบับบาลี ๘๒ สูตรเท่านั้น ที่เหลือเนื้อหาตรงกับทีฆนิกายบ้าง มัชฌิมนิกายและที่อื่นๆ บ้าง บางสูตรก็เนื้อหาแตกต่างออกไปมาก
– สังยุกตาคม แบ่ง ๕๐ ภาค มี ๓๑๘ สูตร ที่มีสูตรน้อยเพราะที่เหลือไปจัดไว้ในทีรฆาคม, มัธยามาคม และเอโกตตราคม (บาลี ๗,๗๖๒ สูตร)
– เอโกตตราคม มี ๕๒ ภาค ไม่ระบุว่ามีกี่สูตร (บาลี ๑๖๙ สูตร)
– กษุทราคม ไม่อ้างถึง ไม่มีเนื้อหาแน่นอน จึงสันนิษฐานว่า นิกายสรวาสติวาทนี้มี 4 อาคมเท่านั้น หรือมีแต่ตอนต้น แต่เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจมาก จึงหายไปในภายหลังก็อาจเป็นได้

ข.พระวินัยปิฎกฝ่ายสันสกฤต แบ่งดังนี้
– วินยวิภังคะ ตรงกับสุตตวิภังค์ของเถรวาท
– วินยวัสตุ ตรงกับขันธกะของเถรวาท
– วินยกษุทระ และอุตตรครันถะ ตรงกับปริวารวรรคของเถรวาท

ค.พระอภิธรรมปิฎก ของฝ่ายสันสกฤต แบ่งดังนี้
– ชญานปรัสถานะ พระกาตยานีบุตรแต่ง
– สังคีติปรยายะ พระสารีบุตรแต่ง
– ปกรณปาทะ วสุมิตระแต่ง เฮี่ยงจังตอนไปอินเดียได้ศึกษาคัมภีร์นี้ กลับจีนแล้วแปลสู่ภาษาจีน เมื่อ พ.ศ.๑๒๐๒
– วิชญานกายะ ท่านเทวศรมันแต่ง เฮี่ยงจังแปลสู่ภาษาจีน เมื่อ พ.ศ.๑๑๙๒
– ธาตุกายะ ท่านวสุมิตระแต่ง เฮี่ยงจังแปลเป็นจีน เมื่อ พ.ศ.๑๑๙๒
– ธรรมสกันธะ พระโมคคัลลานะ (บางท่านว่า พระสารีบุตร) แต่ง เฮี่ยงจังแปล พ.ศ.๑๑๙๓
– ปรัชญัปติศาสตร์ พระโมคคัลลานะ (เสถียร โพธินันทะ ว่า ท่านธรรมปาละแต่งน่าจะสับสนกับผู้แปลเป็นจีนมากกว่า ผู้แปลคนแรกชื่อ ฟาหู คงคนเดียวกับธรรมปาละ

พระไตรปิฎกภาษาจีน

๑.ยุคตำนาน สมัยพระเจ้าฮั่นหมิงตี้ (พ.ศ.๖๐๑-๖๑๘) เล่าว่า พระเจ้าฮั่นหมิงตี้ ทรงพระสุบินนิมิตเห็นเทพยดากายสีเหลืองดังทอง เหาะมาหน้าปราสาทพระองค์ โหราจารย์ทำนายว่า มีมหาสมณะรูปหนึ่งเป็นเจ้าชายอินเดีย มีพระฉวีวรรณงดงามดังทอง มีคำสอนลึกซึ้ง คำสอนของท่านผู้นี้อาจมาถึงประเทศจีนก็ได้
 
พระเจ้าฮั่นหมิงตี้ดีพระทัยมาก จัดส่งทูต ๑๘ คน ไปสืบข่าวพระพุทธศาสนาในเขตเอเชียกลางโดยเฉพาะเมืองโขตาน (ปัจจุบัน อยู่ตะวันตกเฉียงใต้ แถบมณฑลซินเจียง)

คณะทูตได้พบกับพระกาศยปะมาตังคะ และพระธรรมรักษะ จึงนิมนต์มายังเมืองลั่วหยาง (ลกเอี๋ยง) พระเถระสองรูปนี้เป็นชาวเผ่ากุษาณ เชื้อสายเดียวกับกนิษกมหาราชแห่งอินเดีย)

ท่านทั้งสองได้บรรทุกคัมภีร์พระสูตร ๑ แสนโศลกบนหลังม้าขาว เดินทางมาจีนผ่านเส้นทางสายไหม เมื่อ พ.ศ.๖๐๒ พระเจ้าฮั่นหมิงตี้ได้สร้างวัดแป๊ะเบ๊ยี่ (วัดม้าขาว) เป็นอนุสรณ์ม้าขาวที่บรรทุกคัมภีร์พระไตรปิฎก (นัยว่าพอไปถึงม้าก็ตาย)

ท่านกาศยปะมาตังคะ และท่านธรรมรักษะ ซึ่งจีนเรียกว่า เชียฉี โมเต็ง และจูฟาลัน ช่วยกันแปลคัมภีร์พุทธศาสนา (โดยเฉพาะของนิกายสรวาสติวาท) นี้เป็นยุคแรกที่มีการพูดถึงพระพุทธศาสนาและคัมภีร์พระพุทธศาสนาในประเทศจีน

๒. ในยุคสามก๊ก ราชวงศ์จิ้น (พ.ศ.๘๐๘-๙๖๕) และราชวงศ์ตอนเหนือและตอนใต้ (พ.ศ.๙๖๓-๑๑๒๔) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๓ พุทธศาสนาได้เจริญในประเทศจีนมาก กล่าวกันว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มีวัดกว่า ๓ หมื่นวัด มีพระภิกษุ-ภิกษุณี ประมาณ ๒ แสนรูป ในทางภาคเหนือของจีน ทางภาคใต้พบว่ามีวัดมากกว่า ๒ แสน ๘ หมื่นวัด มีพระภิกษุ-ภิกษุณี ๘ หมื่น ๔ พัน ๗ ร้อยรูป

๓.เกี่ยวกับการแปลพระไตรปิฎกสู่ภาษาจีน
– แปลจากคัมภีร์ภาษาสันสกฤตของนิกายสรวาสติวาทเป็นส่วนใหญ่
– ผู้แปลมีทั้งพระและฆราวาส ที่เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตและภาษาจีน
– การแปลเริ่มต้นตั้งแต่แรกพุทธศาสนาเข้าสู่จีน พ.ศ.๖๐๒-๑๖๙๙ กินเวลาเป็น ๑,๐๐๐ ปี
– ผู้แปลที่ควรทราบ เช่น พระกัศยปะมาตังคะ พระธรรมรักษะ (สมัยราชวงศ์ฮั่น ราว พ.ศ.๖๐๒, พระอันเสื้อเกา ชาวเปอร์เซียสังกัดนิกายสรวาสติวาท มาเมืองลกเอี๋ยง พ.ศ.691 สมัยราชวงศ์ฮั่น, พระสังฆเทวะ (พ.ศ.๙๒๖), ท่านกุมารพุทธิ (๙๒๖), พระธรรมนันทะ (๙๒๗), คุณภัทระ (๙๒๗)

จะลืมไม่ได้คือ สมณะเฮี่ยงจัง (ถังซัมจั๋ง) (ระหว่าง พ.ศ.๑๑๗๒-๑๑๘๘) เล่าว่าท่านตอนกลับสู่เมืองจีน ได้นำคัมภีร์มาด้วยถึง ๖๕๗ คัมภีร์ มีพระสูตรมหายาน ๒๒๔ คัมภีร์ พระอภิธรรมมหายาน ๑๙๒ คัมภีร์ และคัมภีร์ของนิกายสรวาสติวาท ๖๗ คัมภีร์

เฮี่ยงจังพักอยู่ที่วัดฮงฮกยี่ (ไท้จงฮ่องเต้สร้างถวาย และวัดอึ้งยี่ (ถังเกาจงสร้างถวาย) ณ นครลกเอี๋ยง ตลอด ๑๙ พรรษา ผลงานแปลของท่าน ๗๕ ชุด เป็นหนังสือถึง ๑,๓๓๕ ผูก

๔. การพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาจีน
การพิมพ์พระไตรปิฎกในจีน ในระยะแรก คงใช้วิธีการเขียนลงบนกระดาษม้วนยาวๆ ที่เรียกว่า chuan แปลว่า บท, (Chapter) หรือภาค (Section) ม้วนกระดาษ (Chuan) นี้ ท่านนำกระดาษหลายๆ แผ่นมาต่อกัน แล้วพับเป็นพับๆ เขียนเพียงด้านเดียว มีนักบวชในลัทธิเต๋า เคยพบต้นฉบับเช่นที่ว่า ในเขตตุนฮวง (Tun Huang) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเมื่อไม่นานมานี้ (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙) เป็นคัมภีร์พระวินัย มีอายุราว พ.ศ.๙๔๙ ยาวถึง ๒๓-๒๙ ฟุต ปัจจุบันยังมีบางส่วนเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ

ต่อมาจีนได้คิดค้นระบบพิมพ์ (Block Printing) ขึ้นได้เมื่อศตวรรษที่ ๘ และได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกออกเผยแพร่ไปหลายฉบับ ขอนำมากล่าวโดยสรุปดังนี้

๑.ในปี พ.ศ.๑๔๖๕ พระเจ้าจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่ง (Song) ได้มีพระบัญชาให้ทำแม่พิมพ์ (Block) ถึง ๑๓๐,๐๐๐ ชิ้น เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎกและงานนี้เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๕๒๖ ณ เมืองเฉิงตู (Cheng-tu) พระไตรปิฎกชุดแรกนี้เรียกว่า “ซูเผิง” (Shu-peng) หรือฉบับเสฉวน (Szechuan Edition) มี ๑,๐๗๖ คัมภีร์, ๔๘๐ กล่อง ๕,๐๔๘ ผูก
๒.ต่อมาในปี พ.ศ.๑๖๘๗-๑๗๑๘ เกิดพระไตรปิฎกฉบับเอกชนฉบับแรก ชื่อฉบับ วัดตุงฉาน (Tun-chan) พิมพ์ในเมืองฝูโจว (Fuzhou) ประกอบด้วยหนังสือ ๕๙๕ กล่อง ๖,๔๓๔ ผูก
๓.ฉบับต่อมาคือ ฉบับวัดฝูโจวไก้หยวน (Fuzhou Kaiyuan) เริ่มพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๑,๖๕๕ เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๑,๗๑๕ พิมพ์ในเมืองฝูโจว เป็นหนังสือ ๕๖๗กล่อง ๖,๑๑๗ ผูก

นอกจากนี้ ยังมีพระไตรปิฎก ซึ่งราชวงศ์ต่างๆ รับสั่งให้พิมพ์ขึ้นอีกหลายฉบับ เช่น ฉบับราชวงศ์ซ่ง (Song) ๒ ฉบับ และฉบับราชวงศ์หยวน (Yuan) เรียกว่า ฉบับมงโกล อีก ๓ ฉบับ

ยังมีของพระเจ้าเหลียว (Liao) อีก ๑ ฉบับ (พ.ศ.๑๕๗๔-๑๖๐๗) มีฉบับของราชวงศ์ฉิน (Chin) (พ.ศ.๑๖๘๖-๑๗๑๖) พิมพ์ที่เมืองฉางซือ ((Chang si) นอกจากนี้ ยังมีฉบับของราชวงศ์หมิง (Ming) ๒ ฉบับ คือที่พิมพ์ที่เมืองนานกิงกับเมืองปักกิ่ง และมีฉบับราชวงศ์แมนจู (Manchu) อีก ๒ ฉบับ คือ ฉบับ พ.ศ.๒๒๒๐ และฉบับ พ.ศ.๒๒๘๑

ฉบับล่าสุดพิมพ์ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) เรียกว่า พระไตรปิฎกพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สมัยใหม่ (Movable type) เริ่มพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ จบเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗

พระไตรปิฎกฉบับญี่ปุ่นและทิเบต
การพิมพ์พระไตรปิฎกของจีนและญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันก็มารวมกันที่พระไตรปิฎกชุดไทโช ซึ่งนักปราชญ์ชาวญี่ปุ่นได้จัดรวบรวมพิมพ์ขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๕ ถึง พ.ศ.๒๔๗๖ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

พระไตรปิฎกชุดไทโชนี้ ได้รวมพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม พระสูตรมหายานและคำอธิบายของพระชาวญี่ปุ่น ฯลฯ รวมเป็น ๘๕ เล่มใหญ่ (เล่มหนึ่งหนากว่า ๑,๐๐๐ หน้า) มี ๓,๐๕๓ เรื่อง

ขอแถมท้ายด้วยพระไตรปิฎก ฉบับภาษาทิเบต อีกเล็กน้อย นัยว่า พระไตรปิฎก ฉบับภาษาทิเบต นั้นมีอยู่ด้วยกัน ๒ ฉบับคือ
๑.ฉบับกันชุร (Kanjur) หรือ Bkan hgyur แบ่งเป็น ๗ ภาค คือ พระวินัย, ปรัชญา ปารมิตา, พุทธวตํสกะ, รัตนกูฏะ, พระสูตร, นิรวาณะและตันตระ และประกอบด้วย ๑,๑๐๘ คัมภีร์
๒.ฉบับตันชุร (Tanjur) หรือ Bstah – hgyur แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ภาคพระสูตร และภาคตันตระ บรรจุพระคัมภีร์ถึง ๓,๔๕๘ คัมภีร์

รวมพระไตรปิฎกทั้งสองชุด มีพระคัมภีร์ถึง ๔,๕๖๖ คัมภีร์  


ที่มา : พระไตรปิฎกนานาภาษา (๓) พระไตรปิฎกฉบับสันสกฤต โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๕๔ ประจำวันที่ ๒๖ มกราคม – ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 พฤษภาคม 2561 12:48:24 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 06 มีนาคม 2561 15:12:23 »



พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร?
คำบรรยายพระไตรปิฎก (๑)

พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร

(๑) สมัยพุทธกาลไม่มีพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม-วินัย หรือพรหมจริย เท่านั้น ดังเวลาจะทรงส่งพระอรหันต์สาวก ๖๐ รูป ไปประกาศพระพุทธศาสนา ตรัสส่งให้ไป “ประกาศพรหมจรรย์” อันงามในที่สุด (งามด้วยอธิศีลสิกขา) งามในท่ามกลาง (งามด้วยอธิจิตตสิกขา) และงามในที่สุด (งามด้วยอธิปัญญาสิกขา)

และเมื่อจวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ตรัสว่า “หลังจากเราตถาคตล่วงลับไป ธรรมและวินัยที่เราได้แสดงและบัญญัติแก่พวกเธอ จะเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเรา”

(๒ )มีหลักฐานว่า มีการแบ่งพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่บ้างแล้ว ในสมัยพุทธกาล เช่น แบ่งเป็นธรรม ๙ (นวังคสัตถุศาสน์) คือ

(๑) สุตตะ คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน
(๒) เคยยะ คำสอนประเภทร้อยแก้ว ผสมร้อยกรอง
(๓) เวยยากรณะ คำสอนประเภทอรรถาธิบายโดยละเอียด
(๔) คาถา คำสอนประเภทร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา
(๕) อุทาน คำสอนประเภทที่เปล่งขึ้นจากแรงบันดาลใจของพระพุทธเจ้า และพระสาวกส่วนมากเป็นบทร้อยกรอง
(๖) อิติวุตตกะ คำสอนประเภทคำอ้างอิงที่ยกข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มาอ้างเป็นตอนๆ
(๗) ชาตกะ (ชาดก) คำสอนประเภทนิทานชาดก หรือเรื่องราวในชาติปางก่อนของพระพุทธเจ้าขณะเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่
(๘) อัพภูตธรรม คำสอนประเภทเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลาย
(๙) เวทัลละ คำสอนประเภทคำถามคำตอบ เวทัลละ แปลว่า ได้ความรู้ ความปลื้มใจ หมายถึงผู้ถามได้ความรู้ และความปลื้มใจ แล้วก็ถามต่อไปเรื่อยๆ

แบ่งเป็นวรรค เช่น อัฏฐกวรรค ปรายนวรรค

ดังหลักฐานในพระไตรปิฎกเล่าไว้ว่า พระโสณกุฏิกัณณะ สัทธิวิหาริกของพระมหากัจจายนะถูกพระอุปัชฌายะ ส่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลขอให้ทรงลดหย่อนสิกขาบทบางข้อ

พระโสณกุฏิกัณณะ พักอยู่ที่เดียวกับพระพุทธเจ้า ได้สวดพุทธวจนะส่วนที่เรียกว่า “อัฏฐวรรค” โดยทำนองสรภัญญะ ให้พระพุทธเจ้าฟัง

(๓) ต่อมาเมื่อพระมหากัสสปะ รวบรวมพระอรหันต์ทรงอภิญญา ๕๐๐ รูป กระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ก็ยังคงสังคายนา “พระธรรม-วินัย” อยู่

แม้เมื่อกาลล่วงไปประมาณ ๑๐๐ ปี พระวัชชีบุตรได้ข้อเสนอขอแก้ไขพระวินัยบัญญัติบางข้อ อ้างว่าพระพุทธองค์ทรงประทานนโยบายไว้ให้แล้ว

พระสงฆ์ทั้งหลายได้ประชุมสังคายนา วินิจฉัยข้อเสนอ (วัตถุ ๑๐ ประการ) ของพวกภิกษุวัชชีบุตรแล้ว ไม่ยอมรับ
 
การทำสังคายนาครั้งนั้นก็ยังเรียกว่า “ธัมมวินยวิสัชชนา” (การวิสัชนาพระธรรม-วินัย) หรือ “ธัมมวินยสังคีติ” (การสังคายนาพระธรรม-วินัย)

(๔)ในช่วงระหว่างหลังสังคายนาครั้งที่ ๒ จนถึงครั้งที่ ๓ นี้เอง มีผู้สันนิษฐานว่าธรรม-วินัย ได้แตกแขนงออกเป็น ๓ หมวด (เรียกว่า เตปิฎก = ไตรปิฎก) คือ ธรรม ได้แตกออกเป็น พระสุตตันตปิฎกกับพระอภิธรรมปิฎก วินัย เป็นพระวินัยปิฎก

มีหลักฐานในจารึกสาญจิ กล่าวถึงคุณสมบัติของพระเถระและเถรีบางรูป ว่าเชี่ยวชาญในปิฎกต่างๆ หรือบางส่วนของพระสุตตันตปิฎก เช่น

เปฏกิน = พระเถระผู้เชี่ยวชาญในปิฎกทั้งหลาย

สุตฺตนฺตินี = พระเถรีผู้ทรงพระสุตตันตะ (พระสูตร)

ทีฆภาณิกา = พระเถระผู้สวดทีฆนิกายได้

ปญฺจเนกายิกา = พระเถระผู้ทรงจำนิกายทั้ง ๕ ได้

มีหลักฐานอีกแห่งหนึ่ง พระโมคคัลลีบุตร ได้แต่งกถาวัตถุ ในคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๓ และกถาวัตถุ ถูกผนวกเข้าเป็นหนึ่งในอภิธรรม ๗ คัมภีร์ แสดงว่าพระไตรปิฎกเพิ่งจะมาครบสมบูรณ์ในพุทธศตวรรษที่ ๓ นี้เอง

(๕)พระไตรปิฎกได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบท่องจำ จนกระทั่งไปถึงศรีลังกา เมื่อ พ.ศ.๔๕๐ ได้รับการจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๕ จารึกด้วยอักษรสิงหล จากนั้นก็ถ่ายทอดเป็นอักษรของชาติต่างๆ ที่สืบทอดพระไตรปิฎก

แม้ประเทศไทย ก็ได้พระไตรปิฎกไปจากประเทศศรีลังกา

(๖) พระไตรปิฎกบันทึกด้วยภาษามาคธี (แขนงหนึ่งของภาษาตระกูลปรากฤต) ต่อมาได้เปลี่ยนมาเรียกเป็นภาษาบาลี หรือตันติภาษา เมื่อจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว เนื่องจากภาษาบาลีเป็นภาษาถิ่น (ภาษาตลาด) ไม่มีอักขระเป็นของตน ผู้ประสงค์จะเรียนพระไตรปิฎก จึงต้อง “ถอด” (transliterate) เป็นอักขระของตน เช่น เรียนที่ประเทศตะวันตก ก็ถอดเป็นอักษรโรมัน เรียนที่ประเทศไทยก็ถอดเป็นอักษรไทย

ภาษาพระไตรปิฎก เชื่อว่าคือภาษามาคธี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาบาลีหรือตันติภาษา พระไตรปิฎกภาษาบาลีมีทั้งหมด ๔๕ เล่ม บรรจุตัวอักษรประมาณ ๒๔ ล้าน 3๓ แสนตัว หนา ๒๒,๓๗๙ หน้า

พระไตรปิฎกที่ใช้อ้างอิงแพร่หลายในปัจจุบันคือ

(๑) ฉบับโรมัน ของสมาคมปาลีปกรณ์
(๒) ฉบับสิงหล ของประเทศศรีลังกา
(๓) ฉบับพม่า ของประเทศเมียนมา
(๔) ฉบับไทยที่ถือกันว่าถูกต้องสมบูรณ์ก็คือฉบับสยามรัฐ และฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ

นอกจากนี้ มีพระไตรปิฎกที่บันทึกลงแผ่น CD-ROM ของมหาวิทยาลัยมหิดล และ Chattha Samgayana CD-ROM ของสถาบันค้นคว้าวิปัสสนา ธรรมคิรี อิคัทปุรี อินเดีย บรรจุพระไตรปิฎกทุก version

สรุป
พระไตรปิฎก พัฒนามาจากธรรม-วินัย หรือพรหมจริย โดยธรรมแตกแขนงออกเป็นพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก วินัย เป็นพระวินัยปิฎก ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๓ หลังสังคายนาครั้งที่ ๒ และก่อนสังคายนาครั้งที่ ๓

พระไตรปิฎกถ่ายทอดโดยมุขปาฐะ (ท่องจำ)

จนถึงสังคายนาครั้งที่ ๕ พ.ศ.๔๕๐ จึงได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่ประเทศศรีลังกา


ที่มา : พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร? : คำบรรยายพระไตรปิฎก (๑)โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๕๘ ประจำวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ - ๑ มีนาคม ๒๕๖๑




พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร?
คำบรรยายพระไตรปิฎก (๒)

๒.บาลี : ภาษาพระไตรปิฎก
– บาลีเป็นภาษาใดภาษาหนึ่งหรือไม่
– ภาษาบาลีที่ใช้เป็นภาษาพระไตรปิฎก มีความเป็นมาอย่างไร
คำตอบต่อคำถามนี้ มี ๒ ทัศนะคือ
(๑) บาลีเป็นภาษแน่นอน. บาลีมิใช่ชื่อภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ
ฝ่ายที่เชื่อว่า บาลีเป็นภาษา แบ่งออกเป็น ๓ มติ คือ
(๑) ชาวพุทธเถรวาทเชื่อกันว่า ภาษาพระไตรปิฎก คือ ภาษามาคธี ภาษาหลังพัฒนามาเป็นภาษาบาลี
(๒) นักปราชญ์ตะวันตกพวกหนึ่งว่าภาษาพระไตรปิฎกมิใช่ภาษามาคธี  แต่เป็นภาษาอวันตี
(๓) นักปราชญ์ตะวันตกอีกพวกหนึ่งเชื่อว่าภาษาพระไตรปิฎกเป็นภาษาอินเดียใต้

สรุป
มติทั้ง ๓ ฝ่ายนี้เห็นตรงกันในประเด็นหลัก และต่างกันในประเด็นย่อย ๒ ประเด็นตรงกัน ไม่ว่าภาษาพระไตรปิฎกจะเป็นภาษาอะไรมาก่อนก็ตาม ในที่สุดได้พัฒนามาเป็นภาษาที่รู้กันในปัจจุบันว่า ภาษาบาลีแตกต่างกัน
๑. ฝ่ายหนึ่งเห็นภาษาบาลีในปัจจุบันสืบสายมาจากภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้
๒. อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสืบไปไม่ถึงพระพุทธเจ้า หมายความว่า ภาษาพระไตรปิฎกเริ่มจาก พระเถระหรือคณะเถระที่ไปสืบทอดพระพุทธศาสนายังต่างแดน

(๒) ฝ่ายที่เชื่อว่า บาลีมิใช่ภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ แบ่งออกเป็น ๓ มติคือ
– อภิธานปฺปทีปิกา ว่า ปาลิ (บาลี) มี ๓ นัย (ขอบ, แถวหรือแนว, บาลีธรรม หรือคัมภีร์หลัก)
Pali-English Dictionary ว่าปาลิมี ๒ นัยคือ (แถวหรือแนว, ปริยัติธรรม หรือตำราเดิม)
Sanskrit-English Dictionary ว่าปาลิมี ๗ นัย (ใบหู, ริมหรือขอบ, แถว, แนวหรือสาย, คูหรือสะพาน, หม้อหุงต้ม, มาตราตวงชนิดหนึ่ง)
จากหลักฐานทั้งสามนี้จะเห็นว่า ไม่มีแห่งไหนที่ระบุชัดลงไปว่า ปาลิเป็นภาษาที่ใช้พูดกับภาษาใดภาษาหนึ่งโดยเฉพาะ และที่น่าสังเกตก็คือ พจนานุกรมสันสกฤต-อังกฤษ ดังกล่าว ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า ภาษา ว่า “คำพูด, ถ้อยคำ” โดยเฉพาะหมายเอาภาษาพื้นเมืองทั่วไป (ปรากฤต) ตรงกันข้ามกับภาษาพระเวท ซึ่งภายหลังเรียกว่า สันสกฤต

สรุป
ปาลิ (บาลี) มิใช่ชื่อของภาษา
ถ้าใช้ในความหมายทั่วไป แปลว่า ขอบ, แถว, แนว, สาย, ใบหู เป็นต้น ถ้าใช้ในความหมายเฉพาะ หมายถึง ตำราชั้นต้น หรือปฐมภูมิของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่พระไตรปิฎก คัมภีร์ชั้นต้นนี้จะจารึกด้วยภาษาอะไรก็ตาม เรียก ปาลิ หรือบาลีทั้งนั้น

๓.โครงสร้างพระไตรปิฎก
พระเถระที่เกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎก
พระจุนทะ
พระอานนท์
พระสารีบุตร
พระโสณะกุฏิกัณณะ
พระมหากัสสปะ
พระอุบาลี

๑.พระจุนทะ เป็นน้องชายพระสารีบุตรได้ทราบข่าวว่า หลังจากศาสดามหาวีระ (นิครนถ์นาฏบุตร) สิ้นชีวิต สาวกแตกแยกความคิดเห็นกันจนถึงขั้นทะเลาะวิวาทกัน จึงไปเล่าให้พระอานนท์ฟัง ทั้งสองท่านไปกราบทูลพระพุทธองค์ทรงทราบพระพุทธองค์ตรัสว่า เพราะมิได้สังคายนาคำสอน สาวกนิครนถ์นาฏบุตรจึงทะเลาะกัน “ถ้าอยากให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ภิกษุทั้งหลาย พึงสังคายนาพระธรรมวินัย”
๒. พระสารีบุตร เป็นบุตรนางสารี บ้านอุปติสสคาม เมืองราชคฤห์ ศึกษาในสำนักสัญชัยเวลัฏบุตร กับสหายรักนาม โกลิตะ ต่อมาพบพระอัสสชิเถระได้ฟังธรรม บรรลุโสดาปัตติผล จึงพร้อมกับโกลิตะมาบวชเป็นสาวกพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ เป็นอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศกว่าภิกษุอื่นในทางมีปัญญามาก ได้ทราบพระพุทธดำรัส จึงทำการสังคายนา (ร้อยกรอง) พุทธวจนะเป็นหมวดหมู่ ชื่อ สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ต่อมาได้แสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ณ สัณฐาคาร ที่สร้างขึ้นใหม่ ของเหล่ามัลลกษัตริย์ แห่งเมืองปาวา ตามพุทธบัญชา  พระสารีบุตร เป็นผู้เริ่มทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นรูปแรก ต่อมาได้รับสืบทอดเจตนารมณ์โดยพระมหากัสสปะหลังพุทธปรินิพพาน
๓. พระอานนท์ เป็นพุทธอนุชา และเป็นพุทธอุปฐาก เป็นผู้ได้สดับตรับฟังจากพระพุทธองค์มากกว่าใคร เป็นผู้ชวนพระจุนทะเข้าเฝ้า และกราบทูลเรื่องของสาวกเชนให้ทรงทราบดังข้างต้น  เมื่อคราวทำสังคายนาครั้งที่ ๑ พระอานนท์เป็นผู้เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดก่อนพุทธปรินิพพานแก่ที่ประชุมสงฆ์ และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วิสัชนาเกี่ยวกับพระธรรม
๔. พระโสณะกุฏิกัณณะ เป็นบุตรเศรษฐีเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี เป็นศิษย์พระมหากัจจายนะ กว่าจะได้บวชก็เสียเวลาไปถึง ๔ ปี เพราะหาพระมาทำพิธีอุปสมบทได้ไม่ครบจำนวน ๑๐ รูป  เมื่อบวชแล้ว พระอุปัชฌาย์จึงส่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่พระเชตวัน เพื่อทูลขอให้ลดหย่อนจำนวนพระทำพิธีอุปสมบท ที่เมืองชายแดน จาก ๑๐ รูป เหลือ ๕ รูป (และขอพรอื่นอีกด้วย) พระโสณะได้สวดธรรมในอัฏฐวรรค และปรายนวรรค ให้พระพุทธองค์ฟัง จนได้รับประทานสาธุจากพระพุทธองค์ว่าสวดสำเนียงไพเราะดี
๕. พระมหากัสสปะ เป็นชาวเมืองราชคฤห์ ออกบวชเมื่ออายุมาก เป็นพระเคร่งครัด ถือธุดงค์ ๓ ข้อ คือ บิณฑบาตเป็นนิตย์, ทรงผ้าบังสุกุลเป็นนิตย์ และอยู่ป่าเป็นนิตย์ ได้ยินพระขรัวตาชื่อ สุภัททะ พูดจาจ้วงจาบพระธรรมวินัย จึงรวบรวมพระอรหันต์ทรงอภิญญา ๕๐๐ รูป กระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน
๖. พระอุบาลี เป็นนายภูษามาลาของศากยวงศ์ออกบวชพร้อมเจ้าชายศากยวงศ์ และโกลิยวงศ์ อันมีพระอานนท์ พระอนุรุทธะ เป็นต้น หลังจากบวชแล้วได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเลิศกว่าภิกษุอื่นในด้านทรงพระวินัย ได้วินิจฉัยอธิกรณ์สงฆ์สำคัญๆ หลายเรื่อง

ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๑ ท่านได้รับความไว้วางใจจากที่ประชุมสงฆ์ เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย


ที่มา : พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร? : คำบรรยายพระไตรปิฎก (๒)โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๕๙ ประจำวันที่ ๒-๘ มีนาคม ๒๕๖๑





พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร?
คำบรรยายพระไตรปิฎก (๓)

.พระวินัยปิฎก
การจัดหมวดหมู่ ค่อนข้างเป็นระบบคือ
๑) จัดตามลำดับความหนักเบาของอาบัติ (จากปาราชิก – ทุกกฎ ทุพภาสิต)
๒) ตามเนื้อหา คือ ศีลในพระปาติโมกข์ของภิกษุและภิกษุณี ศีลนอกพระปาติโมกข์ ตลอดจนเรื่องปกิณกะเกี่ยวกับข้อบัญญัติต่างๆ ที่น่ารู้น่าศึกษา
๓) การจัดลำดับข้างต้น ยังคำนึงถึงเงื่อนไขของเวลาด้วย เช่น จัดสิกขาบทที่บัญญัติก่อนไว้ต้น และที่บัญญัติต่อๆ มาไว้ถัดไป เป็นต้น

ภาษาพระไตรปิฎก
๑) เป็นความเรียงที่ไพเราะโดยเฉพาะสิกขาบทแต่ละข้อ ภาษาก็ไม่ยากไม่ซับซ้อน เหมือนภาษาในพระอภิธรรมปิฎก
๒) ภาษาพระวินัยปิฎก คล้ายภาษาพระอภิธรรมปิฎก ในแง่ที่เป็นความเรียง ต่างจากพระสุตตันตปิฎกตรงที่ ภาษาพระสุตตันตปิฎก ส่วนมากเป็นบทสนทนา และพูดซ้ำๆ

เนื้อหาที่น่าสนใจ
๑) สถาบันสงฆ์เกิดจากแรงผลักดันทางสังคม
– มิได้กำหนดรูปแบบตายตัว วางไว้หลวมๆ ว่าผู้บวชต้องประพฤติพรหมจรรย์
– ผู้บวชส่วนมาก เบื่อโลกแล้ว จึงไม่จำต้องมีสิกขาบท
– พิธีบวชทำง่ายๆ เพียงตรัสว่า เอหิ ภิกขุ = จงมาเป็นภิกษุเถิด ก็เสร็จพิธี
– คุณสมบัติของผู้บวชก็มิได้วางไว้ชัดเจน ดังมีผู้มีอายุน้อยมาบวช จึงกำหนดอายุ และมีผู้ไม่เหมาะสม เช่น โจรมาบวช คนมีพันธะมาบวช จึงกำหนดคุณสมบัติขึ้นมาภายหลัง
๒) สิกขาบทมิได้ตราขึ้นสำเร็จรูปเหมือนกฎหมายบ้านเมือง หากตราขึ้นหลังจากมีการกระทำผิด มีขั้นตอนดังนี้
– มีผู้ประพฤติไม่สมควรแก่สมณะ ชาวบ้านติเตียน
– เรื่องรู้ถึงพระพุทธองค์ ทรงเรียกมาสอบสวน เมื่อยอมรับ ทรงติเตียน แล้วบัญญัติสิกขาบทห้ามทำเช่นนั้นอีก ไม่เอาผิดผู้กระทำผิดครั้งแรก เรียกว่า “อาทิกัมมิกะ” (ต้นบัญญัติ)
– เมื่อมีการล่วงละเมิดอีก ทรงบัญญัติเพิ่ม ปิดช่องโหว่ เรียก “อนุบัญญัติ”
– หลายกรณีทรงวินิจฉัยเป็นเรื่องๆ ให้เป็นแบบอย่างการตัดสินใจในอนาคต เรียก “วินีตวัตถุ”
– มี “สิกขาบทวิภังค์” และ “ปัทภาชนีย์” ให้นิยามศัพท์ยาก ตลอดจนตั้งสมมติฐานว่า ถ้าทำอย่างนั้นๆ จะผิดหรือไม่ ผิดมากน้อยเพียงใด
๓) กำเนิดภิกษุณีสงฆ์
– ข้อน่าพิจารณาคือ เหตุผลที่ทรงปฏิเสธในเบื้องต้น และทรงอนุญาตในเวลาต่อมา
– มองในแง่บวกและแง่ลบ การอนุญาตให้สตรีบวชเป็นผลดีและผลเสียอย่างไร
๔) พระวินัยปิฎกพูดถึงการทำสังคายนาครั้งที่ ๑-๒ เท่านั้น บอกนัยอะไร
๕) พุทธประวัติ ตอนตรัสรู้จนถึงประกาศพระพุทธศาสนา
– เหตุใด ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงพระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุติสุขใต้ต้นโพธิ์ และต้นไม้ในปริมณฑลเพียง 4 สัปดาห์ แต่อรรถกถาเพิ่มมาอีก ๓ รวมเป็น ๗ สัปดาห์
– เหตุใด พระพุทธองค์ทรงมุ่งมั่นจะโปรดปัญจวัคคีย์ให้ได้ ไม่สนใจคนอื่นเช่นอุปกาชีวก ที่พบระหว่างทาง
– เหตุใด จึงทรงตั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวก ทั้งๆ ที่ทั้ง ๒ ท่านอายุยังน้อยกว่าพระเถระรูปอื่นๆ ฯลฯ

๕.สุตตันตปิฎกทีฆนิกาย
การจัดหมวดหมู่
การจัดหมวดหมู่ ยึดขนาดของพระสูตรเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงเนื้อหา
– เนื้อหาซับซ้อน เช่น ฌาน 4 ศีล 3 ระดับมีซ้ำในหลายสูตร
– ชื่อ วรรค ตั้งโดยไม่มีกฎเกณฑ์ บางทีตั้งตามเนื้อหา บางทีก็ตั้งตามชื่อพระสูตรแรก

สำนวนภาษา
– ภาษาในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย (และในนิกายอื่นด้วย) กะทัดรัด ตรงไปตรงมา เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน เหมือนภาษาพระอภิธรรมปิฎกเป็นภาษาสนทนาโต้ตอบส่วนมากมักจะพูดข้อความเดียวซ้ำๆ
เนื้อหาพระสูตร
– ส่อเค้าว่าเก่าแก่กว่านิกายอื่น เพราะ
๑) ความไม่สอดคล้องและไม่เป็นระบบของการจัดเนื้อหา (เทียบกับมัชฌิมนิกาย ซึ่งเป็นระบบมากกว่า)
๒) ประเด็นที่ยกมาอภิปราย ล้วนเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าต้องเผชิญครั้งแรกที่ออกประกาศพระศาสนา อาทิ
๑. เรื่องวรรณะ และค่านิยมเกี่ยวกับวรรณะ
– สังคมถือวรรณะสูงต่ำ เป็นเครื่องวัดความดี-ชั่ว
– พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่า คนดี คนชั่ว มิได้ขึ้นอยู่กับวรรณะ หากอยู่ที่วิชชา (ความรู้) และจรณะ (ความประพฤติ)
๒. เรื่องค่านิยมการบูชายัญ ตลอดจนถึงการแก้ปัญหาสังคม
– ทรงปฏิเสธการเข้าถึง “พรหมัน” (พระพรหม) โดยการคาดเดา เสนอความรู้ที่ได้จากประสบการณ์
๓. เนื้อหาที่น่าสนใจอย่างอื่น
– ศีล ๓ ระดับ (จุลศีล, มัชฌิมนิกาย, มหาศีล)
– ทิฐิ (ทฤษฎีอภิปรัชญา) ๖๒ สรุปลงเป็น ๗ ทรรศนะ และสิ้นสุดที่ ๒ ทรรศนะ
– วิธีการตอบปัญหาของพระพุทธเจ้า ๒ วิธี (เอกังสิกธรรม-อเนกังสิกธรรม) ขยายออกเป็น ๔ วิธี
– วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์
– พุทธปณิธาน ๔ ประการ
– ภาพความเป็นพระบรมครู (ครูชั้นยอด)
– ภาพความเป็นพระบรมศาสดา (พระศาสดาชั้นยอด)
๖.สุตตันตปิฎกมัชฌิมนิกาย
การจัดหมวดหมู่เป็นระบบขึ้น
– พยายามคำนึงถึงเนื้อหา เรื่องทำนองเดียวกันเอามารวมกัน เช่น เรื่องอุปมาอุปไมยรวมไว้โอปัมวรรค เรื่องเกี่ยวกับผู้ครองเรือน รวมไว้ในคหปติวรรค
การตั้งชื่อวรรค มี ๒ ลักษณะคือ
– ตั้งตามเนื้อหาที่เด่นของวรรค
– ตั้งตามชื่อพระสูตรแรกของวรรค

เนื้อหาในมัชฌิมนิกาย
– มุ่งเน้น “หลักธรรม” โดยตรง (การรับรู้ของจิตแตกต่างกันระหว่างปุถุชนกับอริยะ, วิธีการกำจัดอาสวะ ๗ วิธี) มีพระสูตรเกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรง เช่น มหาสติปัฏฐานสูตรอานาปานสติสูตร
– ไม่ค่อยเสียเวลาอภิปรายปัญหาอภิปรัชญาดังที่ปรากฏในทีฆนิกาย
– มีพระสูตรของพระสาวกผนวกเข้ามาด้วยส่อให้เห็นอบายมุขของการรวบรวมว่าใหม่กว่าทีฆนิกาย
– จุดเด่นของมัชฌิมนิกายคือ การแสดงธรรมโดยอุปมาอุปไมย มีหลายสูตร เช่น
– เปรียบร่างกายเหมือนจอมปลวกประหลาด และแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะพึงได้ เหมือนการขุดจอมปลวก (วัมมิกสูตร)
– เปรียบการแสวงหาแก่นแห่งชีวิต ดุจการถือขวานเข้าป่าหาแก่นไม้ ถ้าไม่รู้จักแก่นไม้ก็ย่อมได้กิ่ง ใบ เปลือก กระพี้แทน (จูฬสาโรปมสูตร)
– เปรียบนักปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลดุจนายโคบาลที่โง่ และฉลาด (มหาโคปาลสูตร)
– เปรียบการเล่าเรียนพุทธวจนะไม่ดี ดุจจับงูพิษ อาจถูกงูพิษแว้งกัดเอาได้ เปรียบธรรมะสำหรับฝึกปฏิบัติดุจแพข้ามน้ำ ไม่ควรยึดมั่นแม้ในกุศลธรรมในอกุศลธรรมยิ่งไม่ต้องพูดถึง (อลคัททูปมสูตร)
– เปรียบธรรมะที่ฝึกปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ส่งทอดกันตามลำดับดุจนั่งรถ ๗ ผลัด (รถวินีตสูตร)
– เปรียบความสนใจปัญหาไกลตัว ดุจคนถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ (จูฬมาลุงกโยวาทสูตร)
– เทคนิคการสอนธรรมโดยใช้ “สื่อ” เช่น ทรงใช้ขันตักน้ำล้างพระบาทเป็นสื่อสอนโทษการพูดเท็จ ทรงใช้แว่นส่องหน้าเป็นสื่อสอนการพิจารณาตน (จุฬราหุโลวาทสูตร)
– ท่าทีที่พระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาต่อลัทธิศาสนาอื่น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรสังเกต (อุปาลิวาทสูตร)
– ปัญหาเรื่องพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกฉันเนื้อสัตว์หรือไม่ (ชีวกสูตร) และไม่ทราบประวัติและบทบาทของหมอชีวกโกมารภัจจ์ด้วย
– อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะประการหลังเน้นในทีฆนิกายนี้ (ปุณโณวาทสูตร)
เรื่องพระองคุลิมาล และองคุลิมาลปริตต์ ที่สืบเนื่องมาจากพระองคุลิมาล (อังคุลิมาลสูตร) 


ที่มา : พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร? : คำบรรยายพระไตรปิฎก ๓)โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๖๐ ประจำวันที่ ๙-๑๕ มีนาคม ๒๕๖๑



พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร?
คำบรรยายพระไตรปิฎก (๔)

๗.สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย
– สังยุตตนิกาย คือ “สูตรรวมกลุ่ม” (มี ๕๖ สังยุต) การจัดเนื้อหาพยายามให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเนื้อหาทำนองเดียวกันไว้ในสังยุตเดียวกัน
– พระสูตรส่วนมากสั้น ไม่มีนิทานนำเรื่องและสรุป แต่จะเน้นเนื้อหาเลยทีเดียวพฤติกรรมทางสังคม และสภาพจิตของปัจเจกบุคคล
– ข้อน่าประทับใจคือ การใช้สัญลักษณ์ หรือเปรียบเทียบได้ดี ทำให้จำได้ง่าย
– มีเรื่องเกี่ยวกับเทวดา (รวมถึง มาร พรหม) รวมอยู่ในสังยุตตนิกายเป็นส่วนมาก
– เรื่องพรหมอัญเชิญพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์โลก (ต้นเหตุการอาราธนาธรรม)
– เรื่องเทวดามากล่าวภาษิตถวายพระพุทธเจ้าต่างวาระ ต่างโอกาส น่าสังเกตคือ ทรรศนะของเทวดาส่วนมากเป็น “โลกียะ” คือไม่ต่างจากที่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปมองกันส่วนพระพุทธองค์ทรงมองแบบ “อริยะ” คือ มองลึกลงไปถึงสภาพความเป็นจริง
– เรื่องมารและประเภทของมาร ที่มา “ผจญ” ผู้ทำความดี
– ได้ทราบเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้เป็นกำลังอุปถัมภ์พระพุทธองค์และพระพุทธศาสนา (นอกเหนือจากพระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธรัฐ) และทราบถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองของแคว้นทั้งสอง ตาม “บริบท” แห่งสังยุตตนิกายนี้
– พัฒนาการแห่งชีวิตมนุษย์ ตรัสไว้ในอินทกสูตร น่าสนใจและน่าทึ่งว่าที่ตรัสไว้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ตรงกับที่วิทยาการสมัยใหม่ค้นพบอย่าง น่าอัศจรรย์
– มีพระสูตรที่มีเนื้อหาน่าสนใจมาก เช่น ทำอย่างไรเมื่อถูกเขาด่า (อักโกสกสูตร), รู้ได้อย่างไรว่าพระภิกษุรูปใดเป็นพระอรหันต์ (ชฏิลสูตร), ธรรมะดุจใบไม้กำมือเดียว (สิงหปาสูตร), ภิกษุดุจหนอนรันขี้ (เอฬกสูตร), ภิกษุดุจหมาขี้เรื้อน (สิคาลกสูตร) ฯลฯ
– บางสูตรน่าจะนำมาผนวกภายหลัง เช่น แนวคิดเรื่องพระราหูอมพระอาทิตย์ และพระจันทร์ (จันทิมสูตร, สุริยสูตร)

๘. สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย
– อังคุตรนิกาย ลำดับจำนวนหรือประมวลข้อธรรมจากน้อยไปมาก (มี ๙,๕๕๗ สูตรสั้นๆ) จัดลำดับตามจำนวนข้อธรรม เช่น ธรรมมีลักษณะเป็นหนึ่งรวมอยู่ในเอกนิบาต และดำเนินตามวิธีการของพระสารีบุตรที่จัดในสังคีติสูตร และทสุตตรสูตร
– เอตทัคคะ (ตำแหน่งความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ของพระสาวกทั้งหลายรวมอยู่ในเอกนิบาต
– มีพระสูตรสั้นๆ แทรกอยู่ด้วย เช่น เกสปุตติยสูตร (หรือกาลามสูตร ว่าด้วย “หลักแห่งความเชื่อ” ของชาวพุทธ), โรณสูตร (ว่าด้วย การร้องไห้ทางธรรมและความเป็นบ้าในทางธรรม), เกลีสูตร (ว่าด้วย การฆ่าในความหมายแห่งอริยะ), กสิสูตร (วิธีทำนาแบบพุทธะ) ฯลฯ
– จุดเด่นอย่างหนึ่งคือ การอธิบายธรรมโดยอุปมาอุปไมย เช่น
– เปรียบการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ดุจชาวนาปรับพื้นนา หว่านกล้า และไขน้ำ
– เปรียบสามีภรรยา เหมือนศพอยู่กับเทพ, ศพอยู่กับศพ, เทพอยู่กับเทพ
– เปรียบคนล้มเหลวทั้งทางโลกและทางธรรม ดุจคนตาบอดสองข้าง, คนประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต แต่ไร้คุณธรรมดุจคนตาเดียว, คนประสบความสำเร็จทั้งสองทางดุจคนตาดี
– เปรียบคนไม่มีคุณธรรมเหมือนคนจน การทำชั่วเหมือนการกู้หนี้ ทำชั่วแล้วปกปิดไว้เหมือนการเสียดอก ทำชั่วถูกตำหนิเหมือนถูกทวงหนี้ ทำชั่วแล้วได้รับความร้อนใจ เหมือนลูกหนี้ถูกตามตัว ทำชั่วแล้วรับผลกรรม เหมือนคนเป็นหนี้ ถูกฟ้องร้องแล้วจำคุก
– ธรรมะที่น่าในใจพิเศษ เช่น
– ราคะ โทสะ โมหะ มีโทษมากน้อยและขจัดได้ช้าเร็วกว่ากัน
– คู่สร้างคู่สม, ความสุขของคฤหัสถ์
– บุคคล ๔ ประเภท
– องค์แห่งพหูสูต
– กัลยาณมิตรธรรม
– หลักแห่งการเป็นนักการทูตที่ดี
– หลักแห่งการเป็นนักธุรกิจที่ดี

๙.สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
ขุททกนิกาย (กษุทราคม) แปลว่า หมวดเล็ก หมวดเบ็ดเตล็ด มีทั้งหมด ๑๕ หมวดย่อยคือ
– ขุททกปาฐะ (บทสวดเล็กๆ)
– ธรรมบท (บทกวีสอนธรรม)
– อุทาน (คำเปล่งขึ้นจากแรงบันดาลใจ)
– อิติวุตตกะ (คำสอนประเภทอ้างอิง)
– สุตตนิบาต (ประมวลสูตรสั้นๆ)
– วิมานวัตถุ (เรื่องของเทวดา)
– เปตวัตถุ (เรื่องของเปรต)
– เถรคาถา (บทกวีของพระเถระ)
– เถรีคาถา (บทกวีของพระเถรี)
– ชาดก (เรื่องอดีตชาติของพระโพธิสัตว์)
– นิเทศ (อธิบายธรรมให้เข้าใจลึกซึ้ง)
– ปฏิสัมภิทามรรค (แนวการอธิบายธรรมเพื่อให้แตกฉาน)
– อปทาน (เรื่องอดีตพุทธ ปัจเจกพุทธ และสาวก)
– พุทธวังสะ (เรื่องอดีตพุทธ ๒๔ องค์)
– จริยาปิฎก (พุทธจริยาของพระพุทธเจ้าในอดีต ๓๕ เรื่อง)
เนื้อหาขุททกนิกาย
– ขุททกปาฐะ เนื้อหาซ้ำซ้อน มีอยู่ในคัมภีร์อื่นเป็นส่วนมาก เช่น มงคลสูตร รัตนสูตร กรณียสูตร มีอยู่ในสุตตนิบาตร เข้าใจว่า คัมภีร์นี้รวบรวมเข้าภายหลัง เพื่อใช้สวดพระปริตรโดยเฉพาะธรรมเนียมนำพระสูตรมาสวด เพื่อสวัสดิมงคลต่างๆ ที่ทำอยู่ในประเทศศรีลังกา
– ธรรมบท และอรรถกถาธรรมบท ในขุททกนิกาย มีเฉพาะคาถาสั้นๆ แต่มีการอธิบายและเล่านิทานประกอบในอรรถกถาธรรมบท จึงควรศึกษาควบคู่กัน และมีข้อแตกต่างที่สังเกตได้ดังนี้
– คาถา บรรยายธรรมเป็นกลางๆ เสนอพุทธปรัชญาบริสุทธิ์ แต่อรรถกถาแต่งเติมเสริมต่อ อาจเสริม หรือลดคุณค่าของพุทธปรัชญาเดิม (แล้วแต่จะมอง)
– ความเด่นของอรรถกถา อยู่ที่ให้เห็นภาพฉายเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าชัดเจนกว่าตัวคาถา
– ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของสาวก และทรงปกครองสงฆ์ฐานะ “บิดาและบุตร”
– สะท้อนภาพ “อุปัฏฐากศาลา” (โรงฉันธรรมสภา) เป็นที่ถกเถียงปัญหาธรรมต่างๆ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ช่วยชี้แนะ
– สะท้อนความแตกแยกในวงการสงฆ์และบทบาทของพระพุทธองค์และพระอัครสาวกในการประสานสามัคคีในหมู่สงฆ์
– แสดงถึงกลวิธีและเทคนิควิธีในการสอนของพระพุทธเจ้า ที่ควรศึกษา และน่าเอาไปเป็นแบบอย่าง
– ในตัวคาถาธรรมบท มีอุปมาอุปไมยชัดเจนมาก แทบไม่ต้องอธิบายก็เข้าใจได้ทันที เช่น เปรียบคนทำชั่วทุกข์ตามสนอง ดุจล้อตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียน เปรียบคนโง่ไม่รู้รสธรรม ดุจทัพพีไม่รู้รสแกง
– นิทานคนตาบอดคลำช้าง มีอยู่ในขุททกนิกาย (อปทาน) ให้แง่คิดว่าคนที่มองเห็นอะไรในแง่มุมเดียวแล้วยึดมั่นอยู่กับความเห็นนั้น ไม่ต่างอะไรกันคนตาบอด และไม่วายต้องถกเถียงและทะเลาะกับคนอื่น
– ทรงเน้นคุณธรรมสองข้อคือ หิริโอตตัปปะ ว่าเป็นธรรมะคุ้มครองโลก หากขาดธรรมะสองข้อนี้ มนุษย์จะไม่ต่างจากสัตว์ “สัตว์โลกจะไม่มีป้า น้า ภรรยาของอาจารย์ หรือภรรยาของครู จักสำส่อนไม่ต่างจากแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัข จิ้งจอก” (ธัมมสูตร)
– นิยามความหมายของ “นิพพาน” ไว้ ๒ ประการคือ
– สอุปทิเสสนิพพาน หมายถึง (๑) ดับกิเลสได้เป็นส่วนๆ ไม่ดับหมด อันหมายถึงการดับกิเลสของพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี (๒) การดับกิเลสหมดแล้ว แต่ขันธ์ยังเหลือ คือการดับกิเลสของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่
– อนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง (๑) การดับกิเลสโดยสิ้นเชิงของพระอรหันต์ (๒) การดับขันธ์ของพระอรหันต์
– เรื่องนรกสวรรค์ พูดบ่อยมากในพระไตรปิฎก มิใช่เพียงพูดผ่านๆ จึงเชื่อว่าพระพุทธศาสนายอมรับความมีอยู่จริงแห่งนรกสวรรค์ ที่น่าสังเกตคือ
– ในแง่กายภาพ บรรยายไม่ชัดเจนว่า นรกสวรรค์มีรูปร่างลักษณะสัณฐานอย่างไร อยู่ “ที่ไหน” อย่างไร
– ในแง่นามธรรม หรือสภาวะจิต มีพระสูตรตรัสว่า นรกสวรรค์สัมผัสได้ทางอายตนะ (“ฉผัสสายตนิกนรก” และ “ฉผัสสายตนิกสวรรค์”)
– สรุปได้ว่า นรกสวรรค์ มีความหมาย ๒ มิติ คือ นรกสวรรค์ทางกายภาพ และนรกสวรรค์ทางจิต
– วิมานวัตถุ กับเปตวัตถุ เป็นรายงานของพระโมคคัลลานะเกี่ยวกับบุพกรรมของเทวดาและเปรต ส่งผลให้ได้รับผลต่างๆ กัน เป็นผลงานที่เพิ่มภายหลัง เพื่อให้คนอายชั่วกลัวบาป
มีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของชาวพุทธเถรวาทมาก ต้นกำเนิดวรรณคดีทำนองนี้มากมาย เช่น ไตรภูมิพระร่วงมาลัยเทวสูตร (เรื่องพระมาลัย)
– เถร – เถรีคาถา นอกจากแสดงถึงหลักธรรมที่พระเถระเถรีนั้นๆ กล่าวแล้ว ยังบอกถึงภูมิหลังของท่านเหล่านั้นด้วย มีความไพเราะกินใจมาก
(เนื้อหาบางบทได้นำมาแปลและพิมพ์เป็นเล่มแล้ว โปรดดู “บทเพลงแห่งพระอรหันต์” โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก) 


ที่มา : พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร? : คำบรรยายพระไตรปิฎก (๔)โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๖๑ ประจำวันที่ ๑๖-๒๒ มีนาคม ๒๕๖๑

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 พฤษภาคม 2561 13:08:37 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 30 มีนาคม 2561 16:35:13 »



พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร?
คำบรรยายพระไตรปิฎก (๕)

๑๐.พระอภิธรรมปิฎก
ประวัติและความเป็นมาของพระอภิธรรมปิฎก
– ศึกษาแง่ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา พระอภิธรรมปิฎกเป็นพัฒนาการในยุคหลัง พระไตรปิฎกพูดถึงสังคายนาครั้งที่หนึ่ง และครั้งที่สองเท่านั้น และสังคายนาทั้งสองครั้งเรียกว่า ธัมมวินยสังคีติ (สังคายนาพระธรรมวินัย) หรือธัมมวินยวิสัชชนา (วิสัชนาพระธรรมวินัย) ไม่เรียกว่า “ติปิฎกสังคีติ” (สังคายนาพระไตรปิฎก) หรือ “ติปิฏกวิสัชนา” (วิสัชนาพระไตรปิฎก)
– ในแง่ภาษา ภาษาพระในพระอภิธรรมปิฎก เป็นภาษาเขียน ภาษาวิชาการ ที่เรียบเรียงเป็นขั้นเป็นตอน มิใช่ภาษาพูดเหมือนอย่างใน พระสุตตันตปิฎก และพระวินัยปิฎก ข้อนี้แสดงว่า พระอภิธรรมปิฎกเพิ่มมาภายหลัง
พระอภิธรรมปิฎกเป็นพระพุทธพจน์หรือไม่
มีทั้งฝ่ายปฏิเสธ และฝ่ายยอมรับว่าเป็นพุทธพจน์ มีข้อเสนอความคิดเห็นทั้งสองฝ่ายดังนี้
ฝ่ายที่ปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎก ให้เหตุผลดังนี้
(๑) ภาษาในพระอภิธรรม เป็นสำนวนภาษารุ่นหลังเป็นภาษาที่เรียบเรียงเป็นลักษณะวิชาการ จัดอยู่ในประเภท “เวยยากรณะ” ไม่ใช่ภาษาพูดหรือสนทนาแบบภาษาในพระสูตรและพระวินัย
(๒) ก่อนจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสสมหาปเทศ ๔ ให้สาวกเทียบเคียงหลักปฏิบัติว่าผิดหรือถูก โดยให้สอบสวนให้ถูกต้องลงรอยกันได้ ให้ถือปฏิบัติ ถ้าไม่ถูกต้องลงรอยกัน ไม่ควรถือปฏิบัติ ในที่นี้มิได้เทียบเคียงกับพระอภิธรรมปิฎกเลย
(๓) ข้ออ้างของอีกฝ่ายหนึ่งว่าพระพุทธเจ้าตรัสอภิธรรมปิฎก โดยยกเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพุทธมารดาที่ดาวดึงส์เป็นเพียงคำกล่าวของพระอรรถกถาจารย์ (พระพุทธโฆสะผู้แต่ง สมันตปาสาทิกา) เป็นหลักฐานรุ่นหลังมาก เรื่องนี้ไม่มีในพระสูตรและพระวินัย
(๔) แม้คำว่า “อภิธมฺเม” ที่ปรากฏในพระสูตรบางแห่งก็มิได้หมายถึงพระอภิธรรมปิฎก เช่น ในกินติสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ คำว่า “อภิธมฺเม” พระอรรถกถาจารย์ กล่าวว่า หมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
(๕) ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้ในความรับผิดชอบของเหล่าสาวกว่า ธมฺโม จ วินโย จ หมายถึง พระธรรมกับพระวินัยเท่านั้น มิได้หมายถึงพระอภิธรรมเลย
(๖) ในอภิธรรมปิฎกเองปรากฏคำว่า ยญจ โข ภควตา ชานตา ปสฺสตา… แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ารู้อยู่ เห็นอยู่ และคำว่า วุตตญเจตํ ภควตา แปลว่า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังนี้ สำนวนเช่นนี้ เป็นของพระสังคีติกาจารย์ มิใช่พระพุทธวจนะ
(๗) นิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า นิกายอภิธรรม เพราะนับถืออภิธรรมมากก็ถือว่าอภิธรรมปิฎกเป็นสาวกภาษิต มิใช่พุทธวจนะ
ฝ่ายที่ยอมรับพระอภิธรรมปิฎกให้เหตุผลดังนี้
(๑) เรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา มีหลักฐานปรากฏชัดในปรมัตถทีปนี และธัมมปทัฏฐกถา
(๒) ในอังคุตรนิกาย (๒๒/๓๓๑/๔๓๙) ข้อความตอนหนึ่งว่า สมัยนั้นแล ภิกษุผู้เป็นเถระจำนวนมาก กลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตแล้ว นั่งประชุมกล่าวอภิธรรมกถา (อภิธมฺมกถํกเถนฺติ) กันที่โรงธรรม
ในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ (๑/๕๕๓/๓๖๙) ข้อความว่า พระทัพพมัลลบุตร จัดเสนาสนะให้พระภิกษุที่เรียนอภิธรรม (อาภิธมฺมิกา) อยู่รวมกันด้วย คิดว่าท่านเหล่านั้นจักได้สนทนาอภิธรรมกัน
ในพระวินัยปิฎก ภิขุนีวิภังค์ (๓/๔๗๗/๒๕๔) กล่าวว่า ภิกษุณีถามปัญหา ถ้าขอโอกาสถามพระสูตร แต่ไปถามพระวินัย หรือพระอภิธรรม ต้องปาจิตตีย์ ถ้าขอโอกาสถามพระวินัยแต่กลับไปถามพระสูตร หรือพระอภิธรรม ต้องปาจิตตีย์ ถ้าขอโอกาสถามพระอภิธรรม แต่กลับถามพระสูตร หรือพระวินัย ต้องปาจิตตีย์
ในขุททกนิกาย อปทาน (๓๒/๘/๖๓) มีข้อความว่า พระสูตร พระอภิธรรม พระวินัย รวมพระพุทธวจนะมีองค์ ๙ นี้ทั้งสิ้น เป็นธรรมสภาของพระองค์
ในเถรีอปทาน (๓๓/๑๕๘/๓๐๙) กล่าวว่า (นางเขมาเถรี กล่าวว่า) ข้าพเจ้าฉลาดในวิสุทธิ ๗ และสามารถในกถาวัตถุ เป็นผู้นัยแห่งพระอภิธรรม ยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกมากมาย คำว่า “อภิธมฺม” ในที่นี้หมายถึง พระอภิธรรมปิฎกนั้นเอง
(๓) คำว่า ธมฺโม จ วินโย จ ซึ่งแปลว่า พระธรรมและพระวินัยนั้น คำว่าธรรมมิได้หมายเพียงสุตตันนปิฎกเท่านั้น แต่หมายรวมถึง พระอภิธรรมปิฎกด้วย
(๔) ถ้าปฏิเสธพระอภิธรรมปิฎก เพราะเหตุเพียงคำว่า วุตฺตญเหตํ ภควตา เป็นต้น พระสูตรกับพระวินัยก็ควรปฏิเสธด้วย เพราะทั้งพระสูตรและพระวินัย ล้วนฟังมากจากพระพุทธเจ้าทั้งนั้น พระพุทธองค์มิได้ทรงขีดเขียนไว้ที่ไหน และในพระสูตรเองก็มีคำว่า “เอวมฺเมสุตํ” ข้าพเจ้าสดับมา ดังนี้ในพระวินัยปิฎกก็มีคำว่า เตน โข ปน สมเยน ภาวตา โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค… เหล่านี้ล้วนเป็นคำพูดของพระสังคีติกาจารย์ทั้งสิ้น
(๕) ยอมรับว่าในอภิธรรมปิฎก มีภาษิตของพระเถระอยู่คัมภีร์หนึ่งคือ กถาวัตถุ ซึ่งแต่งโดยพระโมคคคัลลีบุตร ติสสเถระ แต่พระโมคคัลลีบุตรก็แต่งตามพุทธาธิบาย
การโต้แย้งหักล้างกัน ในเรื่องนี้มีมานานแล้ว และคงจะมีต่อไป การหักล้างกันด้วยวาทะบางครั้งก็รุนแรง ดังในอัฏฐสาลินี อรรถกถาที่แต่งโดยพระพุทธโฆสาจารย์ พระแห่งสำนักอภิธรรม เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ได้ว่าผู้ปฏิเสธอภิธรรมเสียเจ็บแสบ
น่าประหลาดที่นิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งมีชื่อหนึ่งว่า นิกายอภิธรรม เพราะนับถืออภิธรรมมาก กลับมีความเชื่อว่าพระอภิธรรมปิฎกเป็นบทนิพนธ์ของพระสาวกสำคัญ ๓ รูป มิใช่พระวจนะของพระพุทธเจ้า พระสาวกสำคัญ ๓ รูปนั้นคือ พระมหาสังกัจจายนะ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ
(๖) เสถียร โพธินันทะ แสดงมติในเรื่องนี้ว่า “อภิธรรมปิฎกนี้ไม่ใช้เป็นพุทธสุภาษิตทั้งหมด จะเป็นพุทธภาษิตก็เฉพาะแต่บทมาติกา และข้ออธิบายบางแห่ง นอกจากนั้น เป็นอาจริยภาษิต ซึ่งอรรถกถาธิบายมาติกาให้พิสดาร ตามพุทธมติ จึงไม่ควรถือว่า เมื่อไม่ใช่พระพุทธภาษิตทั้งหมด แล้วก็เลยไม่นิยมนับถือ ความจริงพระอภิธรรมนั้นมิใช่อื่นไกลที่ไหน เนื้อแท้ก็เป็นธรรมะในพระสูตรนั่นเอง”
(๗) พุทธทาสภิกขุ ได้ให้ความหมายของ “อภิธรรม” ว่าหมายถึงส่วนที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ ส่วนเกินก็ได้ ที่ว่ายิ่งใหญ่นั้น อภิธรรมยิ่งใหญ่ไปในทางสำหรับโต้เถียงกัน ไม่ใช่ยิ่งใหญ่ในทางปฏิบัติและที่ว่าเกินนั้น หมายความว่า เกินความจำเป็นที่มนุษย์จะต้องรู้หรือต้องปฏิบัติ
มนุษย์เราจำเป็นต้องรู้แต่เรื่องที่ปฏิบัติเพื่อดับทุกข์
วิวาทะเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมาก ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงสองสามทรรศนะ สรุปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์ตะวันตกหรือตะวันออก ไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน ต่างก็ลงรอยกันในประเด็นสรุปข้างท้ายนี้คือ
– ที่พูดว่าอภิธรรมปิฎกมิใช่พุทธพจน์ทั้งหมด หรือใช่พุทธพจน์เฉพาะบทมาติกาก็ดี พระอภิธรรมไม่อยู่ในรูปพุทธพจน์ก็ดี ผู้พูดมิได้ปฏิเสธว่าพระอภิธรรมปิฎกมิใช่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแค่ต้องการบอกว่า อภิธรรมปิฎกเป็นเรื่องที่ “แต่งเพิ่มเข้ามาภายหลัง”
– ทุกคนยอมรับว่าเนื้อหาในพระอภิธรรมปิฎก เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
เพราะสอดคล้องตามหลักตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการแล้ว โดยประการทั้งปวง


ที่มา : พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร? : คำบรรยายพระไตรปิฎก (๕)โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๖๒ ประจำวันที่ ๒๓-๒๙ มีนาคม ๒๕๖๑
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 09 พฤษภาคม 2561 15:00:36 »



พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร?
คำบรรยายพระไตรปิฎก (จบ)

๑๑.สถานะพระไตรปิฎกกับอรรถกถา

– มี ๒ แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสถานะของพระไตรปิฎกกับอรรถกถานี้คือ
๑.พระไตรปิฎกเก่าแก่กว่า อรรถกถาเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน
๒.ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาเกิดขึ้นพร้อมกัน
นัยแรก เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้ว คือเชื่อว่าพระไตรปิฎกเกิดขึ้นก่อน ต่อมาก็อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ตามลำดับ ดังได้จัดลำดับความสำคัญดังนี้
(๑) พระไตรปิฎก
(๒) อรรถกถา
(๓) ฎีกา
(๔) เกจิอาจารย์

ลำดับดังกล่าวมิใช่เพียง ลำดับแห่งความสำคัญเท่านั้น หากรวมถึงลำดับแห่งกาลเวลาด้วย คัมภีร์หลังๆ ถือว่าเกิดภายหลังคัมภีร์ต้นๆ ลดหลั่นกันมาตามลำดับ
นัยที่สอง ที่ว่าพระไตรปิฎกกับอรรถกถาเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นทรรศนะน่าพิจารณา ด้วยเหตุผลดังนี้

๑.เมื่อรวบรวมพระไตรปิฎก ก็น่าจะมี “คำอธิบาย” ประกอบไว้ด้วย เมื่อเราซื้อรถ ย่อมได้หนังสือคู่มือการใช้รถพร้อมกัน
๒.ร่องรอยของอรรถกถา ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกแล้ว ดังปทภาชนีย์ ในพระวินัยปิฎก จุลนิเทศ มหานิเทศ ของพระสารีบุตร ในพระสุตตันตปิฎก และ นิกเขปภัณฑ์ ในพระอภิธรรมปิฎก นี้คือที่มาแห่งอรรถกถา หรืออรรถกถานั้นเอง
๓.จะสังเกตได้ว่า ในคัมภีร์อรรถกถา พระอรรถกถาจารย์ได้ยกข้อความในปทภาชนีย์ เป็นต้นนั้น มาไว้ โดยมิได้ให้คำอธิบายใหม่เลยก็มีมิใช่น้อย (คำนิยามที่มีในอรรถกถาจึงมิใช่เป็นคำนิยามของพระอรรถกถาจารย์เสมอไป เพราะหลายส่วนได้ยกมาจากพระไตรปิฎก)
๔.มีผู้ให้ความเห็นว่า อรรถกถาชาดก ความจริงมีมาพร้อมพระไตรปิฎก เพียงแต่ไม่รวบรวมไว้เคียงคู่พระไตรปิฎกเท่านั้น เพิ่งจะมารวบรวมในภายหลัง คนจึงเข้าใจว่า อรรถกถาชาดกแต่งในภายหลังชาดก

น่าสังเกตว่า
– ชาดกในพระไตรปิฎก นั้นมีแต่คาถา หรือประโยคในคำพูด มารู้ว่าใครพูดกับใคร ถ้ามีเพียงแค่นี้คนอ่านย่อมไม่รู้เรื่อง
– แสดงว่าในแต่ละชาดก มีตัวละครประกอบอยู่แล้ว ใครพูดกับใครรู้กันดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบันทึกไว้
– ต่อมา เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป คนรุ่นหลังอ่านแล้วไม่เข้าใจ จึงต้องรวบรวมอรรถกถาหรือคำอธิบายไว้เคียงคู่กัน เมื่อเป็นเช่นนี้คนเข้าใจผิดว่า อรรถกถา แต่งภายหลัง ซึ่งไม่ถูกต้อง
– พระอรรถกถาจารย์ต้องการให้เข้าใจอรรถกถาในแง่ใด

๑.อรรถกถาส่วนหนึ่งเป็นคำอธิบายของพระพุทธเจ้าหรือของพระเถระผู้ใหญ่สมัยพุทธกาล ที่คัดมาจากพระไตรปิฎก
๒.ส่วนหนึ่ง ท่านแต่งขึ้นมาใหม่ แน่นอนย่อมเป็นอัตโนมัติ แต่เชื่อกันว่าท่านเป็นผู้รู้ พุทธาธิบาย (พุทธประสงค์)
๓.เจตนาของพระอรรถกถาจารย์นั้นบริสุทธิ์ แม้ท่านอาจจะแต่งเติมอะไรเข้ามาบ้าง เติมเข้ามาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ไม่มีความคิดที่จะสร้าง “สัทธรรมปฏิรูป” (ดังกรณีเพิ่มเวลาเสวยวิมุติสุขหลังตรัสรู้จาก ๔ สัปดาห์เป็น ๗ สัปดาห์ เป็นต้น)
– อรรถกถาเพิ่มให้เข้าใจพุทธวจนะดีขึ้น หรือให้คลุมเครือขึ้น

๑.ในแง่บวก อรรถกถาช่วยให้เข้าใจพุทธวจนะดีขึ้น
– ส่วนไหนที่ตรัสไว้ย่อๆ อรรถกถาก็ขยายให้พิสดารขึ้น ทำให้เข้าใจมากขึ้น
– บางแห่งตรัสไว้ย่อๆ อ่านไม่เข้าใจ อรรถกถาก็ชี้ให้ชัดขึ้น ดัง มโนปุพฺพงฺ คมา ธมฺมา = ธรรมทั้งหลายที่มีใจเป็นสภาพถึงก่อน ธรรม คืออะไร ถึงก่อนอย่างไร อรรถกถาช่วยให้เข้าใจชัดเจนขึ้น
– บางแห่งหาทางอธิบายให้กระจ่างได้ยาก แต่อรรถกถาช่วยให้หายสงสัยและอธิบายสมเหตุสมผล เช่น การที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติแล้วพูดได้ เดินได้ทันที เป็นต้น

๒.ในแง่ลบ อรรถกถาทำให้ข้อความที่ชัดเจนอยู่แล้ว คลุมเครือขึ้นโดยไม่จำเป็น
– เช่นพระไตรปิฎกชัดเจนอยู่แล้ว แต่อรรถกถาขยายพิสดารเกินกว่าเหตุ ดังคาถาธรรมบทข้างต้นพูดถึงกรรมดีกรรมชั่ว เป็นพุทธธรรมที่ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน แต่อรรถกถาอธิบายไปถึงสังสารวัฏ ยกตัวอย่าง โยงไปการเวียนว่ายตายเกิด
มองในแง่หนึ่งก็ละเอียดดีแต่มองในแง่หนึ่งไม่จำเป็นถึงขั้นนั้น

๑๒.ข้อสรุปพระไตรปิฎก

๑.สรุปเนื้อหา
– พระไตรปิฎกคือคำสอนของพระพุทธเจ้า (และพระสาวกสำคัญ) แบ่งเป็น ๓ คือ พระวินัยปิฎก (ประมวลสิกขาบทของภิกษุและภิกษุณี ตลอดถึงพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา) พระสุตตันตปิฎก (เทศนาของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงแก่บุคคลต่างๆ) พระธรรมปิฎก (ประมวลธรรมะชั้นสูงที่เรียบเรียงเป็นหลักวิชา ไม่เกี่ยวกับบุคคลและสถานที่)
– พระไตรปิฎกเดิมอยู่ในรูปธรรมวินัย หรือ พรหมจริย ต่อมาได้ขยายออกเป็นพระไตรปิฎกในราวพุทธศตวรรษที่ ๒-๓
– ถ่ายทอดสือต่อกันมาโดยการท่องจำได้รับการจารเป็นอักษรเมื่อ พ.ศ.๔๕๐ คราวสังคายนาครั้งที่ ๕ ที่ประเทศศรีลังกา

๒.สรุปแก่นพระไตรปิฎก
ค้นเอา “แก่น” จากพระไตรปิฎก เพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับภิกษุสามเณร คือ รู้ดี – ปฏิบัติดี – มีวิธีถ่ายทอดเยี่ยม
(๑) พระอภิธรรมปิฎก เน้นความลึกซึ้ง กว้างขวาง ผู้มีความรู้ลึกซึ้ง กว้างขวางในเรื่องนั้นๆ ถือว่ามี “ลักษณะแห่งพระอภิธรรมปิฎก”
(๒) พระวินัยปิฎก เน้นระเบียบปฏิบัติ การฝึกหัดควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา ให้เรียบร้อย บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติได้ตามที่ตนเรียกว่ามี “ลักษณะแห่งพระวินัยปิฎก”
(๓) พระสุตตันตปิฎก เน้นเทคนิควิธีหลากหลาย ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้สอนให้เหมาะแก่อัธยาศัย ความถนัดและความพร้อมของผู้ฟัง ผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารหรือ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ได้ดี จึงถือว่า “ลักษณะแห่งพระสุตตันตปิฎก”

๓.แนวสรุปของพระอรรกถาจารย์
๔.ประโยชน์ของการศึกษาพระไตรปิฎก

๑.ในแง่ภาษา
– ภาษาบาลี สละสลวยกะทัดรัด โครงสร้างไม่ซับซ้อน เหมาะจะถ่ายทอดพุทธวจนให้บุคคลทั่วไป
– สำหรับคนไทย ภาษาไทยมีรากมาจากภาษาบาลี (สันสฤกต) เป็นส่วนมาก ผู้รู้บาลีดี จึงเป็นผู้แตกฉานในภาษาไทย
๒.ในแง่ประวัติศาสตร์ศาสนา
– ทราบพัฒนาการทางความคิด จนกระทั่งแตกเป็นนิกายศาสนา เป็นประเพณีพิธีกรรมทางศาสนา
– ทราบความสัมพันธ์ของพุทธศาสนากับศาสนาอื่น
๓. ในแง่พุทธประวัติ
– ทราบสถานภาพของเผ่าศากยะ รูปแบบการปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของเผ่าศากยะ
– ทราบสถานภาพของเจ้าชายสิทธัตถะ ความล้มเหลวและความสำเร็จ ของพระพุทธเจ้า
– ทราบเทคนิควิธีสอนบุคคลต่างๆ ของพระพุทธเจ้า
๔. ในแง่หลักธรรม
– ธรรม ๒ ระดับ คือ ธรรมะที่เป็นเป้าหมาย และธรรมะที่เป็นแนวทาง
– พุทธศาสนามีอุดมการณ์เพื่อประโยชน์แก่พหูชนมิได้สอนให้เอาตัวรอดคนเดียว
– หลักธรรมในพระพุทธศาสนา มิได้ขัดกับการพัฒนาตนเองและสังคม ดังที่นักวิชาการบางคนเข้าใจ
– พระพุทธศาสนาไม่ได้มุ่งสอนให้คนบรรลุนิพพานเพียงอย่างเดียว หากสอนหลักเป้าหมายสามระดับ ตามความสามารถของผู้ปฏิบัติ 


ที่มา : พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร? : คำบรรยายพระไตรปิฎก (จบ)โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๗๑ ฉบับที่ ๑๙๖๓ ประจำวันที่ ๓๐ มีนาคม - ๕ เมษายน ๒๕๖๑

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนา เวอร์ชั่น เสฐียรพงษ์ วรรณปก
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
sometime 5 9979 กระทู้ล่าสุด 12 กันยายน 2553 09:47:38
โดย เงาฝัน
ประวัติบุคคลสำคัญของพระพุทธศาสนา โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก « 1 2 3 »
พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
Kimleng 56 199375 กระทู้ล่าสุด 17 มิถุนายน 2559 16:35:13
โดย Kimleng
พุทธวจนะในธรรมบท โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
Kimleng 4 5808 กระทู้ล่าสุด 26 พฤศจิกายน 2561 14:29:41
โดย Kimleng
ชีวิตและเป้าหมายของชีวิต โดย ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
Kimleng 1 2921 กระทู้ล่าสุด 06 มีนาคม 2561 14:56:49
โดย Kimleng
วิบากแห่งกรรม โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
Kimleng 7 7455 กระทู้ล่าสุด 10 กันยายน 2561 17:35:09
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.841 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 09 กุมภาพันธ์ 2567 21:51:37