[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 00:52:09 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เกาะเกร็ด - สัมผัสวิถีท้องถิ่นของชาวมอญในเวิ้งน้ำเจ้าพระยา  (อ่าน 2902 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5461


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 22 มกราคม 2561 16:21:00 »

”ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า
ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา
เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา
ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย”


นิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่ กล่าวถึงหญิงมอญปากเกร็ด
ว่า หญิงมอญใช้เขม่าผสมน้ำมันหอมใส่ผม ที่เรียกว่า "จับเขม่า"  และถอนไรผมด้วย



สัมผัสวิถีท้องถิ่นของชาวมอญในเวิ้งน้ำเจ้าพระยา
เกาะเกร็ด (Kho Kret)
ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี

เกาะเกร็ด เป็นเกาะเล็กๆ ล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในท้องที่ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ ๔.๒ ตารางกิโลเมตร หรือ ๒,๖๒๕ ไร่ (ข้อมูลจากวิกิพีเดียสารานุกรมเสรี)

ในสมัยโบราณเรียกเกาะเกร็ดนี้ว่า “เกร็ดน้อย”  


ประวัติสังเขป
เดิมเกาะเกร็ดไม่ได้มีลักษณะเป็นเกาะ เป็นส่วนของแผ่นดินรูปโค้งลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปตามความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยามีชื่อมาแต่ก่อนว่า บ้านแหลม

ในสมัยอยุธยามีเรือสินค้าทั้งในและต่างประเทศผ่านเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยาเพื่อจะไปยังกรุงศรีอยุธยา  ถึงปี พ.ศ.๒๒๖๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ.๒๒๕๑-๒๒๗๕) ทรงดำริถึงความจำเป็นที่จะต้องขุดคลองลัดตามลำน้ำเจ้าพระยา เพื่อลดระยะทางและระยะเวลาในการเดินทาง  จึงโปรดฯ ให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงเกาะเกร็ดขึ้นบริเวณที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลโค้งอ้อมไปทางทิศตะวันตก แล้วไหลวกกลับมาทางทิศตะวันออก ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ในปีขาล จัตวาศกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กองเกณฑ์ไพร่พล คนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คนหมื่นเศษ ให้ขุดคลองเกร็ดน้อยลัดคุ้ง บางบัวทองนั้นอ้อมนัก ขุดลัดให้ตรง พระธนบุรีรับสั่งแล้วถวายบังคมลามาให้เกณฑ์คนไพร่พลในบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คนหมื่นเศษ ให้ขุดคลองเกร็ดน้อยนั้นลึก ๖ ศอก กว้าง ๖ วา ทางไกลได้ ๒๙ เส้นเศษ ขุดเดือนเศษจึงแล้ว พระธนบุรีนั้นจึงกลับมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบทุกประการ

เมื่อทำการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาได้แล้ว ทำให้เกิดการเดินเรือลัดได้เร็วขึ้น เรียกคลองในสมัยนั้นว่า คลองลัดเกร็ดน้อย ต่อมานิยมเรียกว่า คลองลัดเกร็ด

 ต้นคลองหรือปากคลองเรียกว่า ปากเกร็ด ต่อมาคลองลัดเกร็ดได้ถูกความแรงของกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง จนกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นแม่น้ำไป ที่ดินบริเวณที่เป็นแหลมยื่นออกไปจึงมีลักษณะเป็น เกาะ เรียกกันว่า เกาะเกร็ด

พ.ศ.๒๓๑๗ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  มอญแพ้สงครามกับพม่า จึงอพยพครอบครัวมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้โปรดเกล้าให้ข้าหลวงไปรับครอบครัวมอญมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่ปากเกร็ด (รวมทั้งในเกาะเกร็ด) และสามโคก จังหวัดปทุมธานี

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตน์โกสินทร์ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าให้เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ ๔) ไปรับครอบครัวมอญ ซึ่งหนีภัยสงครามมาจากพม่ามาอาศัยอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยภูธร สมุหนายก ไปรับครอบครัวมอญเหล่านั้นมาอยู่ที่เมืองนนทบุรีบ้าง ปทุมธานีบ้าง เมืองเขื่อนขันธ์(พระประแดง)บ้าง

ดังนั้น จึงมีชาวมอญอาศัยอยู่ในเกาะเกร็ดและหลายท้องที่หลายตำบลในอำเภอปากเกร็ด เนื่องจากมีชาวมอญอพยพเข้ามาถึง ๒ ครั้ง และบางครั้งก็อพยพเข้ามาเป็นกลุ่มๆ โดยไม่มีหลักฐานบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ จึงทำให้เกาะเกร็ดมีชาวมอญเข้ามาตั้งรกรากทวีขึ้นจำนวนมาก

มอญเป็นชาติที่ถือได้ว่ามีสายสัมพันธ์ที่แนบชิดสนิทยิ่ง ผสมกลมกลืนเป็นไทย เนื่องจากมีวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม เกี่ยวเนื่องด้วยพุทธศาสนาคล้ายคลึงกับไทย รูปร่างหน้าตาก็คล้ายกับคนไทย จนบางครั้งก็แยกไม่ออกว่าเป็นมอญหรือไทย  


"มอญ" เกาะเกร็ด

ชาวมอญเกาะเกร็ดส่วนใหญ่มีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดี  มีการทำ ”อิฐมอญ” (ในระยะแรกชาวมอญเป็นผู้ผูกขาดการทำอิฐชนิดนี้)  นอกจากนี้ก็ประกอบอาชีพทำสวน ทำนา  ทำการค้า  

บ้านเรือนของชาวมอญมีทัศนียภาพงดงาม มักเป็นบ้านยกพื้น ปลูกริมแม่น้ำในลักษณะขวางแม่น้ำหรือลำคลอง โดยหันเรือนให้ห้องที่มีเสาเผี (สาเอก) ของบ้านอยู่ด้านทิศตะวันออก ให้เป็นจุดแรกที่รับแสงอรุณรุ่ง เงาของคนที่อาศัยอยู่ในบ้านจะได้ไม่ทาบทับเข้ากับเสาผีที่คนมอญเคารพสูงรองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ดังนั้น แม้ว่ามอญจะนับถือพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่ก็ยังมีเรื่องของความเชื่อและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการนับถือผีปะปนอยู่ด้วย

ในระยะแรก ทางราชการมิได้เข้าไปปกครองพวกมอญโดยตรง แต่มีนโยบายให้ชาวมอญปกครองกันเองด้วยการตั้งผู้นำชาวมอญที่ได้รับความนิยมนับถือในหมู่พวกของตนให้เป็นหัวหน้าดูแล ให้สิทธิเสรีภาพกับคนมอญทุกอย่าง มีการแลกเปลี่ยนและยอมรับวัฒนธรรมประเพณีระหว่างกัน วิถีชีวิตของชาวมอญที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน พึ่งพระบรมโพธิสมภารใต้ร่มพระบารมีพระมหากษัตริย์ไทย จึงมีสันติสุขของชุมชนอย่างแท้จริง

ชาวมอญที่อพยพมาอยู่ที่เกาะเกร็ดและอยู่มานาน  ยังคงดำเนินวิถีชีวิตตามความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ ที่บรรพบุรุษของตนนำเข้ามาถือปฏิบัติสืบเนื่องแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตราบจนถึงปัจจุบันอย่างเคร่งครัด  เช่น ประเพณีการรำมอญ ประเพณีการเกิด แต่งงาน การบวช ฯลฯ ประเพณีสงกรานต์และออกพรรษา  

สงกรานต์ ถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวมอญ เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับกลางเดือนเมษายน ราวๆ วันที่ ๑๓-๑๕ จะมีการทำบุญและการละเล่นติดต่อกันถึงสามวัน ของที่ใช้ทำบุญ ได้แก่ ข้าวสงกรานต์หรือข้าวแช่  และจะมีการแห่นก แห่ปลาไปปล่อยที่วัด โดยจัดเป็นขบวนอย่างสวยงาม หนุ่มสาวที่เข้าร่วมพิธีจะพิถีพิถันในการแต่งกายด้วยอาภรณ์ที่มีสีสันงดงาม หลังจากนั้นจะมีการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันเป็นที่สนุกสนานและยังอาบน้ำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นับถือด้วย

เกาะเกร็ดในวันนี้ จึงเป็นแหล่งสืบสานศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติมอญที่สืบทอดจากบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน ให้ได้ศึกษาสังคมชาติพันธุ์มอญ ได้ผ่อนคลายกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่เกาะ อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสวนไม้ผล ไม้ยืนต้น และยังล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา เพลิดเพลินไปกับการทำบุญไหว้พระ ๙ วัดดังบนเกาะเกร็ด เช่น วัดปรมัยยิกาวาส วัดเสาธงทอง วัดไผ่ล้อมฯลฯ  ได้จับจ่ายซื้อสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ของชาวมอญ เช่น เครื่องปั้นดินเผานานาชนิด เสื้อผ้า และอาหารพื้นเมืองชาวมอญนานาชนิด






การแต่งกายของชาวมอญ มีลักษณะคล้ายพม่า ผู้หญิงนุ่งผ้ากานิน หรือผ้าโถง


การอพยพของชาวมอญเข้าสู่ประเทศไทย

มอญเป็นชนชาติหนึ่งที่ไม่มีประเทศของตนเอง ทั้งที่เคยมีประวัติศาสตร์อันเรืองรองยิ่งใหญ่มาก่อนเมื่อราวพันปีเศษล่วงมา และเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่าเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล  คาดว่าน่าจะอพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย เข้ามาตั้งอาณาจักรของตนบริเวณที่เป็นพม่าตอนล่างปัจจุบัน พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร (Mon-Khmer) ได้ทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง ต่างผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาโดยตลอด และในที่สุดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๐ กษัตริย์พม่านามว่า พระเจ้าอลองพญา ได้กรีฑาทัพเข้ามายังอาณาจักรมอญ เผาผลาญบ้านเมือง เข่นฆ่าผู้คนล้มตายนับศพไม่ถ้วน พม่ามีชัยชนะอย่างเด็ดขาด มอญถูกพม่าปราบจนถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพม่าโดยไม่มีโอกาสฟื้นตัวหรือตั้งอาณาจักรได้อีกจนกระทั่งปัจจุบัน

นับจากนั้นมา  "มอญ" หรือ "รามัญ"ก็เป็นชนชาติที่ไร้แผ่นดินมาจนทุกวันนี้   


ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ชาวมอญอพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช การอพยพคงจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ ทั้งนี้เพราะมีทั้งเด็ก สตรี คนชรา ร่วมขบวนมาด้วย และจะต้องเดินทางรอนแรมบุกป่าฝ่าดงซึ่งทุรกันดาร ผจญกับสัตว์ป่า และไข้ป่าบรรดามี บางช่วงก็ต้องข้ามแม่น้ำสายต่างๆ

เส้นทางที่ใช้ในการอพยพมี ๔ ทาง 
๑.อพยพเข้ามาทางทางด่านแม่ละเมา เมืองตากหรือระแหง เช่น การอพยพในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ใน พ.ศ.๒๓๑๗ มีสมิงสุหร่ายกลั่น เป็นหัวหน้า
๒.อพยพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี เส้นทางนี้ใช้กันมาก เช่น การอพยพในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
๓.อพยพเข้ามาทางเมืองอุทัยธานี เช่น การอพยพในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราว พ.ศ.๒๓๕๘
๔.อพยพเข้ามาทางเมืองเชียงใหม่ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

การเข้ามามีลักษณะต่างๆ กันคือ
๑.เข้ามาในฐานะเชลยสงคราม เช่น ใน พ.ศ.๒๑๓๘ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพไปตีเมืองหงสาวดี แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เมื่อเสด็จยกทัพกลับ พระองค์ได้กวาดต้อนครอบครัวมอญในหงสาวดีมาเป็นเชลยจำนวนมาก
๒.ราว พ.ศ.๒๒๐๕ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พม่ามักเกณฑ์มอญไปทำสงครามอยู่เสมอ มอญจึงอพยพหนีออกจากกองทัพพม่าเข้ามาในประเทศไทย
๓.ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในเมืองไทย หลังจากก่อการกบฏและถูกพม่าปราบ เช่น การอพยพในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
๔.ถูกพม่ากดขี่เบียดเบียน เช่น การอพยพในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ชาวมอญจะอพยพเข้ามาในประเทศไทยในฐานะผู้ลี้ภัยด้วยความสมัครใจ มากกว่าเข้ามาในลักษณะถูกกวาดต้อนเป็นเชลย

แต่โบราณกาล ชาวมอญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยได้รับการต้อนรับ ได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันในที่ที่เหมาะสม และได้รับเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ให้ประกอบอาชีพตามอัธยาศัยไม่ว่าจะเป็นการเกษตรกรรมหรือการค้า บางคนสมัครใจรับราชการ ก็โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มีตำแหน่งและยศศักดิ์ต่างๆ กัน เช่น พระยาเกียรติ พระยาราม เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นต้น

บริเวณที่จัดให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอญ ส่วนมากจะให้อยู่ริมแม่น้ำ โดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งที่มีคนมอญอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ได้แก่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดราชบุรี ฯลฯ  บ้านของมอญจะอยู่กันเป็นกลุ่มหนาแน่น ภายในหมู่บ้านจะมีวัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาประจำหมู่บ้าน  การแต่งกายของชาวมอญ คือชอบนุ่งผ้าที่เป็นลายตาหมากรุก มีลักษณะคล้ายกับพม่า  ผ้านุ่งของผู้ชายมอญเรียกว่า “สะล่ง” หรือ “สล่วง” (Saluing) สวมเสื้อแขนทรงกระบอก คอกลมผ่าอกตลอด และสวมเสื้อตัวสั้นทับอยู่ข้างนอก  ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้า “กานิน” (ganin) หรือ “ผ้าโถง” มักเป็นสีพื้นหรือลวดลายเล็กๆ  เวลามีงานหรืออกวัด การแต่งกายที่ผู้หญิงมอญขาดไม่ได้คือ "หยาดฮะเหริ่มโต๊ะ" หรือผ้าสไบสำหรับห่มไหล่ หญิงมอญนิยมไว้ผมยาวและมักเกล้าเป็นมวยต่ำ ตรงข้ามกับพม่าซึ่งเกล้าสูงขึ้นไปข้างบน
   


ปลาทูต้มเค็ม ฝีมือชาวมอญเกาะเกร็ด


ทอดมันหน่อกะลา พืชน้ำที่ขึ้นดาษดื่นตามท้องร่องสวนบนเกาะเกร็ด
กล่าวกันว่า มาเกาะเกร็ดไม่ได้รับประทานทอดมันหน่อกะลา แสดงว่ายังมาไม่ถึงเกาะเกร็ด


หน่อกะลา ชาวเกาะเกร็ดซึ่งสืบเชื้อสายชนมอญปรุงอาหารจากหน่อกะลากินกันมานานแล้ว
นอกจากกินดี ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรมากมาย


อาหาร อาหารการกินของชาวมอญคล้ายกับของไทย คือ รับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก กับข้าวมีน้ำพริกปลาร้า จิ้มกับผักสุกผักดิบ ขนมจีน มีแกงชนิดต่างๆ ได้แก่ แกงเผ็ด แกงกะทิ เช่น แกงกระเจี๊ยบ แกงมะตาด แกงบอน แกงมะสั้น  แกงส้มซึ่งใช้เครื่องแกงและใส่ผักอย่างไทย ยกเว้นแกงส้มของมอญจะใส่กระชายและผิวมะกรูดโขลกรวมเข้าไปด้วย จำพวกขนม มีกะละแม ข้าวเหนียวแดง  ส่วนในโอกาสสำคัญ เช่น วันตรุษสงกรานต์ คนมอญจะมีประเพณีปรุงอาหารพิเศษมาแต่โบราณ เพื่อถวายพระสงฆ์ สังเวยเทวดา ไหว้ผีบรรพบุรุษ และผีบ้านผีเรือน คือ ข้าวแช่ หรือ เปิงซงกราน ทำจากข้าวสวยหุงแล้วขัดให้หมดเมือกแล้วนำไปแช่ในน้ำดอกไม้ (น้ำที่ลอยหรืออบด้วยดอกไม้หอม เช่น ดอกมะลิ เป็นต้น) แล้วรับประทานกับลูกกะปิ พริกหยวกสอดไส้ หัวหอมสอดไส้ เนื้อหรือหมูฝอยผัดหวาน ไชโป๊ผัดไข่ และเครื่องผัดหวานต่าง ๆ



การทำเครื่องปั้นดินเผาของผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญ






ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา บนเกาะเกร็ด

อาชีพ อาชีพของชาวมอญก็ไม่ต่างไปจากชาวไทย ได้แก่ ทำนา ทำไร่ ทำสวน  ค้าขาย รับราชการ มีการทำงานฝีมือต่างๆ ในครัวเรือน เช่น ทอผ้า ทอเสื่อ สานตะกร้า กระบุง และมีการทำอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาในครัวเรือน

การผลิตเครื่องปั้นดินเผาของผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญ ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และมีภูมิลำเนากระจายอยู่ในภาคต่างๆ โดยเฉพาะในภาคกลางมีอยู่มากในเขตจังหวัดนนทบุรี  ชาวมอญมีฝีมือในการทำเครื่องปั้นดินเผา เช่น การทำอิฐ ครก โอ่ง ตุ่ม ไห  เมื่อมาอยู่ในประเทศไทยก็ตั้งเตาเผาทำเครื่องปั้นดินเผาออกจำหน่าย จนมีชื่อเป็นที่รู้จักกันติดปาก เช่น อิฐมอญตุ่มสามโคก 

ปัจจุบัน การทำเครื่องปั้นดินเผาของผู้ที่สืบเชื้อสายมากจากชาวมอญยังคงมีแหล่งสำคัญอยู่ที่เกาะเกร็ด เครื่องปั้นดินเผาของเกาะเกร็ดเป็นหัตถกรรมที่สืบทอดกันมานานกว่า ๒๐๐ ปี  มีเอกลักษณ์เฉพาะซึ่งไม่เหมือนกับที่ใด ปกติจะมีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง เพราะใช้วัตถุดิบที่เป็นดินท้องนา มีการแกะสลักลวดลายที่ละเอียดงดงาม แต่หลังจากที่มีการจัดตั้งกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐  เพื่อฟื้นฟูการทำเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเกาะเกร็ด  ซึ่งต้องหยุดชะงักไปเพราะเกิดน้ำท่วมหนัก เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘  ให้กลับเฟื่องฟูขึ้นใหม่ จึงได้มีการพัฒนาด้านคุณภาพ ด้านฝีมือให้เป็นสีดำมัน มีความแข็งแกร่ง รูปแบบลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีสีซึ่งเกิดตามธรรมชาติและไม่มีการเคลือบ และใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น จนมีผลิตภัณฑ์ได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ระดับ ๕ ดาว ซึ่งมีทั้งประเภทของใช้ เช่น โคมไฟ กระปุกใส่เครื่องหอม ขันน้ำพานรอง คนโทใส่น้ำ แจกัน ถ้วยกาแฟ ประเภทประดับตกแต่ง เช่น หม้อน้ำ โอ่งน้ำ

ที่เกาะเกร็ดมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่บนเกาะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นในท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นภาชนะขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำติดตัวไปได้สะดวก เช่น โถ แจกัน กระถางขนาดเล็ก ถ้วยกาแฟ เตาน้ำมันหอม 














โปรดติดตามตอนต่อไป



Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 มกราคม 2561 18:39:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5461


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 25 มกราคม 2561 16:21:52 »




ประเพณีและความเชื่อ  

แต่โบราณมามนุษย์มีความเชื่อว่า การจะมีชีวิตอยู่โดยปกติสุข มนุษย์ต้องสร้างความสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับธรรมชาติและอำนาจเหนือธรรมชาติ จึงจะเกิดความมั่นคงสมบูรณ์พูนสุขได้  ความเชื่อนี้เองก่อให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เป็นแบบแผนให้ผู้คนปฏิบัติและเชื่อถือ

แม้ว่าคนมอญจะนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด หากยกเว้นประเพณีทางศาสนาแล้ว ประเพณีต่างๆ ของมอญมักจะมีเรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือภูติผีควบคู่ไปด้วย เป็นความเชื่อมานานนับพันปีก่อนการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา

ทุกวันนี้ชาวมอญยังให้ความเคารพ “ผี” หรือ “เจ้า” สำหรับขอความคุ้มครอง ขอพร และขอให้ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการทำมาหากินที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ควบคู่ไปกับการนับถือศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

ดังนั้น มอญจึงมีพิธีกรรมเพื่อเซ่นไหว้ หรือบวงสรวงอำนาจเหนือธรรมชาติ ให้บันดาลหรือบังคับให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริงดังใจปรารถนา

พิธีกรรมเกี่ยวกับผี ผีที่มอญนับถือที่สำคัญมี ๒ ประเภท คือ

๑.ผีประจำหมู่บ้าน (pea cu) มักประดิษฐานไว้ในศาลที่ชายทุ่ง มีการทำพิธีเซ่นสรวงปีละครั้ง โดยมี “คนทรง” เป็นผู้ประกอบพิธี ในพิธีจะมีการเข้าทรงทำนายความอุดมสมบูรณ์ ว่าพืชผลธัญญาหารจะดีหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้อาจมีการทำพิธีในโอกาสอื่นๆ เช่น หญิงชายแต่งงานกันแล้วจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาเพื่อบอกกล่าว

๒. ผีบ้าน หรือผีเรือน เป็นผีประจำตระกูล ซึ่งนับญาติเฉพาะทางฝ่ายชาย การรับผีจะตกทอดไปยังบุตรชายคนหัวปีของตระกูลเรื่อยไป ถ้าบิดาไม่มีบุตรชายหัวปี ผีนั้นก็จะขาดจากสกุลวงศ์นั้นไป  ผู้รับผีมีหน้าที่เก็บรักษาสมบัติประจำตัวผี เช่น ผีผ้า จะมีผ้านุ่งชาย ๑ ผืน หญิง ๑ ผืน เสื้อขาว ๑ ตัว ผ้าสไบ แหวน ใส่รวมในตะกร้าหรือหีบผ้า แขวนไว้ที่เสาเอกตรงหัวนอนของผู้ที่รับผีนั้น  ผีมะพร้าวก็จะนำมะพร้าวทั้งลูกผูกด้วยผ้าแดงและขาว แขวนไว้ที่เสาเอกเป็นต้น ผู้รับผีจะต้องคอยระวังรักษาข้าวของเหล่านั้นให้คงอยู่ในสภาพดี หากมีการชำรุดหรือเสียหายต้องรีบหามาเปลี่ยน มิฉะนั้นอาจเกิดเรื่องเดือดร้อนแก่คนในครอบครัว

หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของผู้ที่รับผี คือ การรำผีมอญ ซึ่งจะกระทำเมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รำรักษาโรค รำไหว้เจ้าที่เจ้าทาง  รำแก้บน เมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย จะมีการบนบานขอให้หาย หายแล้วจะรำผีถวาย เป็นต้น  หลักใหญ่ของการรำผีมอญ เจ้าพิธีรำผีเป็นผู้สื่อสารกับวิญญาณ แต่ไม่ได้เป็นร่างทรง ข้าวของประกอบพิธี อาหารเครื่องเซ่นหนึ่งถาด มี เหล้า น้ำ ดอกไม้ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าบ้าน  

ประเพณีของมอญโดยทั่วไป ได้แก่ ประเพณีการเกิด การแต่งงาน การบวช การตาย ฯลฯ

การเกิด บ้านที่มีบุตรหลานเกิดใหม่ จะต้องนำทารกไปใส่กระด้งร่อน แล้วพูดว่า “สามวันลูกผี สี่วันลูกคน”  และเชื่อว่าการโกนผมไฟเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นการสู่ขวัญเด็ก จะทำให้เกิดมงคลแก่เด็ก

การแต่งงาน ประเพณีแต่งงานของมอญเป็นการแต่งผู้ชายเข้าบ้าน ฝ่ายชายต้องไปอยู่ช่วยงานบ้านฝ่ายหญิงอย่างน้อยหนึ่งถึงสองปี จากนั้นจะอยู่ต่อไปหรือแยกครอบครัวออกมาก็แล้วแต่สะดวก พิธีการแต่งงานของมอญจะไม่มีพิธีสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะถือว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ การทำบุญต้องไปทำที่วัดในวันถัดไป  หลังจากเจ้าสาวไหว้ขอขมาผีเรือนเสร็จแล้ว หมอขวัญแหล่ให้สติในการใช้ชีวิตครองเรือน  สาระสำคัญอยู่ที่การรดน้ำ พ่อแม่บ่าวสาวรดน้ำอวยพรให้ โดยที่แขกเหรื่อทุกคนไม่ต้องรดน้ำร่วมเป็นสักขีพยาน

การบวช มอญเชื่อว่า การจะเป็นคนที่สมบูรณ์ได้นั้น ผู้ชายต้องผ่านพิธีมงคลครบสามครั้ง คือ โกนจุก บวช และแต่งงาน ส่วนผู้หญิงต้องผ่านสองครั้ง คือ โกนจุกและแต่งงาน  

มอญให้ความสำคัญกับการบวชเณรมากกว่าบวชพระ (มอญในเมืองไทยให้ความสำคัญกับการบวชพระมากกว่าการบวชเณร) ถือว่าการบวชเณรเป็นการบวชเรียนตั้งแต่ยังเด็ก ได้เล่าเรียนภาวนา ขณะจิตยังสะอาด ไม่มีเรื่องราวรกสมอง ทำให้ผู้บวชและบิดามารดาได้กุศลแรง ส่วนการบวชพระนั้นเห็นเป็นเรื่องธรรมดา นาคที่บวชพระก็สวมเสื้อขาว นุ่งโสร่งด้วยผ้าเนื้อดีสวยงามเป็นพิเศษกว่านุ่งห่มในชีวิตประจำวัน  ความหรูหราประณีตพิถีพิถันตกแต่งร่างกายนั้นอยู่ที่เณร ผู้จะบวชเณรต้องเลี้ยงผมยาว จะต้องตกแต่งผมโดยเกล้าผมมัดไว้ตรงกลางกระหม่อมทั้งหมด ส่วนผสมด้านข้างตัดกร้อนแค่เหนือใบหู ที่เหลือต่ำลงมาโกนออกจนเกลี้ยงขาว สวมลอมพอก (หมวกเทวดา มียอดแหลมคล้ายชฎา) ประดับประดาดอกไม้หลากสีสวยงาม ทัดดอกไม้ ใส่ต่างหู และแต่งหน้าทาปาก

การตาย ธรรมเนียมการทำศพมอญ ถ้าเป็นการตายดี คือตายเพราะโรคชราหรือป่วยมานานก็นิยมใช้การเผา แต่ถ้าเป็นการตายแบบไม่ดี คือ โรคปัจจุบัน เช่น ฝีดาษ หรือประสบอุบัติเหตุ รวมทั้งศพเด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ศพเหล่านี้ห้ามเผา แต่จะต้องนำไปฝังโดยเร็วที่สุดและไม่มีการประกอบพิธีแต่อย่างใด เพราะเกรงว่าผีร้ายจะลอยขึ้นมาในอากาศเวลาเผา

ธรรมเนียมมอญยังห้ามนำโลงศพเข้าบ้านอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นของเสนียดจัญไร เวลายกศพไปวัดก็ให้นำโลงมารับศพที่เชิงบันได และในกรณีที่มีคนตายในบ้านเดียวกัน ๒ คน จะไม่เผาพร้อมกัน ต้องเผาหรือฝังศพหลังก่อน

ถ้าผู้ตายเป็นพระสงฆ์ งานศพจะยิ่งใหญ่ เป็นงานระดับหมู่บ้านหรือตำบล โลงศพจะถูกสร้างอย่างวิจิตรทำเป็นยอดคล้ายปราสาทและยังมีการเจาะช่องข้างๆ โลงศพทั้งสองด้านไว้ให้มองเห็นศพผู้ตายข้างใดด้วย

การเผาศพพระมีข้อห้ามอยู่อย่างหนึ่ง คือ ห้ามจุดไฟเผาด้วยมือ ต้องจุดด้วยดอกไม้เพลิงที่เรียกว่า "ลูกหนู" แทน ลูกหนูทำจากดินประสิวผสมกำมะถันและถ่านอัดลงในกระบอกไม้ยาวประมาณหนึ่งศอก ต่อสายไปยังโลงศพแล้วยังให้ลูกหนูวิ่งไปกระทบปราสาทและโลงศพจนไฟลุกขึ้น

นอกจากนี้ในพิธีศพยังจะต้องมีการร้องไห้หน้าศพที่เรียกว่า "มอญร้องไห้" และการแสดงหน้าศพ ได้แก่ การรำมอญ และการเล่นทะแยมอญอีกด้วย

 


บนเกาะเกร็ดมีร้านจำหน่ายข้าวแช่ให้เลือกรับประทานหลายร้าน
มอญเป็นต้นตำรับ ข้าวแช่ อาหารสำคัญในประเพณีตรุษสงกรานต์

จากข้อมูลของเว็บไซท์ขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด พบว่ายังมีประเพณีวัฒนธรรมที่ชาวมอญเกาะเกร็ดยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา อีก ๓ ประเพณีได้แก่

๑.การแห่น้ำหวาน
การแห่น้ำหวานเป็นประเพณีที่ทำหลังจากวันสงกรานต์ประมาณหนึ่งสัปดาห์ โดยชาวบ้านจะมาร่วมทำบุญด้วยการจัดขบวนแห่น้ำหวานบรรจุขวด เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์ไว้ฉันเวลากระหายน้ำ เมื่อขบวนแห่ถึงวัดใดก็นำน้ำหวานที่จัดไว้ถวายพระสงฆ์และสามเณรทุกรูปในวัด ขบวนแห่น้ำหวานจะมีทั้งนกและปลาเพื่อนำไปปล่อยตามวัดต่างๆ ด้วย ตามเส้นทางที่ขบวนผ่านจะมีโรงทานตั้งอยู่เป็นระยะๆ มีน้ำดื่ม ขนมและของว่าง บริการแก่ผู้ร่วมขบวนหรือผู้ร่วมงานด้วย ซึ่งเป็นการให้บริการฟรี ประเพณีแห่น้ำหวานนี้ คนไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ด ได้ปฏิบัติเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

๒.การแห่ข้าวแช่
ประเพณีการแห่ข้าวแช่ เป็นประเพณีที่คนมอญเรียกว่า "เปิงฮุงกราน" คือในเช้าวันสงกรานต์ชาวบ้านจะจัดเตรียมสำรับอาหาร และนำข้าวแช่ใส่ในหม้อดินเผา สาเหตุที่ใช้ภาชนะหม้อดินเผาใส่ข้าวแช่ ก็เพราะจะช่วยทำให้ข้าวแช่เย็นและมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ที่เกาะเกร็ดจะมีการหุงข้าวแช่โดยจัดทำรวมกันเป็นหมู่บ้าน ชาวบ้านจะรวมกันออกค่าใช้จ่ายและรวมกันทำข้าวแช่ในที่เดียวกัน เวลานำข้าวแช่ไปถวายพระที่วัดจะจัดเป็นขบวนแห่ เรียกว่า "แห่ข้าวแช่" และจะจัดทำพิธีบูชานางสงกรานต์ที่มอญเรียกว่า "มี๊ซงกรานต์" ด้วยการสร้างศาลเพียงตาหน้าบ้าน นำข้าวแช่พร้อมเครื่องบูชามาวางไว้ จะมีการส่งสำรับข้าวแช่ให้แก่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือด้วยเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ โดยปกติการแห่ข้าวแช่จะทำกันปีละ ๒ ครั้งคือในวันสงกรานต์ครั้งหนึ่ง และในวันออกพรรษาอีกครั้งหนึ่ง

๓.การแห่หางหงส์
การแห่หางหงส์ เป็นประเพณีในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งคนไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ดจะจัดพิธีแห่หางหงส์เพื่อเฉลิมฉลอง หางหงส์จะทำด้วยผ้ามาตัดเย็บเป็นรูปธงยาวผูกปลายไม้ แห่ไปตามหมู่บ้าน เพื่อเป็นศิริมงคล ความร่มเย็นเป็นสุขของบ้าน และถวายเป็นพุทธบูชา ชาวบ้านมีศรัทธามาร่วมกันทำหางหงส์ ผู้มีศรัทธามักตัดผมตนเองไปผูกไว้ที่หางหงส์ แล้วแห่ไปถึงหมู่บ้าน เมื่อถึงวัดชาวบ้านจะทำการสักการะพระเจดีย์ที่สำคัญของวัดนั้น แล้วเชิญหางหงส์ขึ้นสู่ยอดเสาหงส์ของวัด พระสงฆ์สวดชยันโตเพื่อเป็นศิริมงคล ประเพณีแห่หางหงส์ยังทำกันในเกาะเกร็ดจนถึงปัจจุบันนี้

เนื่องจาก "หงส์" เป็นสัญลักษณ์ของชนชาติมอญมาแต่โบราณ ซึ่งมีตำนานเกี่ยวกับ "หงส์" ในพงศาวดารมอญกล่าวไว้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้วมีสำเภาใหญ่ลำหนึ่งแล่นมาจากพิทยานคร ใประเทศอินเดีย เพื่อจะไปค้าขายยังสุวรรณภูมิลมได้พัดพาเรือสำเภาไปถึงบริเวณภูเขา สุทัศนะมรังสฤษดิ์ บรรดาผู้คนในเรือสำเภานั้นแลเห็นหงส์ทองสองตัวกำลังเล่นน้ำอยู่ที่หาดทราย พราหมณ์ผู้รู้จดหมายเหตุโบราณได้กราบทูลพระเจ้าบัณฑุราชาเจ้าผู้ครองพิทยานครว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังมีพระชนมายุอยู่นั้น ได้เคยเสด็จมาถึงสถานที่หงส์ทองสองตัวลงเล่นน้ำ ได้ทรงทำนายว่าสถานที่นี้จะได้เป็นพระมหานครต่อมา เจ้าชายสมละกุมารและเจ้าชายวิมลกุมารโอรสฝาแฝดของพระเจ้าเสนะคงคาและพระนางวิมลาราชเทวีได้พาผู้คนมาตั้งบ้านเรือนและสร้างเมืองขึ้นมีพระอินทร์ลงมาช่วยสร้าง เหตุที่มีหงส์ทองมาลงแล่นน้ำที่นั้น จึงขนานนามว่า "หงสาวดี" หงส์จึงเป็นสัญลักษณ์ของชนชาติมอญมาแต่โบราณ และเพื่อเป็นสิริมงคลจึงนิยมทำเสาหงส์ ไว้ตามวัดเป็นพุทธบูชา




เวลามีงานหรืออกวัด การแต่งกายที่ผู้หญิงมอญขาดไม่ได้คือ "หยาดฮะเหริ่มโต๊ะ" หรือผ้าสไบสำหรับห่มไหล่

ประเพณีทางศาสนา

ประเพณีสำคัญของมอญที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกปีคือ สงกรานต์และเข้าพรรษา  

สงกรานต์
ถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวมอญ คนมอญรับเอาพุทธศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างมาจากอินเดีย มีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนใช้ และส่งผ่านมายังผู้คนแถบเอเชียอาคเนย์ ชนชาติต่างๆ เช่น ไทย ลาว พม่า เขมร ยึดถือเอาตำนานสงกรานต์จากคัมภีร์ฝ่ายมอญเป็นสำคัญ

สงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของมอญ ตรงกับกลางเดือนเมษายน ราวๆ วันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีการทำบุญ ออกวัด มีมหรสพเฉลิมฉลอง มีการละเล่นรื่นเริง ติดต่อกันถึง ๓ – ๕ วัน โดยเฉพาะวันที่ ๑๓ ถือเป็นวันมหาสงกรานต์ เชื่อกันว่า นางฟ้าจะเหาะลงมาตรวจตราดูบ้านเรือนทุกหลัง หากบ้านหลังใดสกปรก นางฟ้าจะถ่มน้ำลายรดและจะทำมาหากินไม่ขึ้น หากบ้านไหนสะอาดเรียบร้อย นางฟ้าก็จะโปรยดอกไม้อวยชัยให้พรให้อยู่เย็นเป็นสุข  งานนี้ทุกคนในบ้านจึงต้องช่วยกันปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเรือน จัดข้าวของให้เข้าที่เข้าทางเป็นระเบียบ ดายหญ้ารอบบ้านให้สะอาดโล่งเตียน  ทำอาหารคาวต่างๆ ขนมหวานนานาชนิด และที่ขาดไม่ได้ ได้แก่ ข้าวแช่ กาละแม ข้าวเหนียวแดง ซึ่งต้องบรรจงประดิดประดอยอย่างดี โดยเฉพาะข้าวแช่หรือข้าวสงกรานต์ เพื่อทำบุญถวายแด่พระสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลให้ปู่ย่าตายาย ญาติผู้ล่วงลับ และแจกจ่ายให้ญาติมิตรผู้ใหญ่ที่นับถือขอตน พร้อมกับรดน้ำขอพร ปล่อยนกปล่อยปลา โดยจัดเป็นขบวนอย่างสวยงาม  บรรดาหนุ่มสาวจะแต่งกายด้วยอาภรณ์ที่มีสีสันงดงาม หลังจากนั้นจะมีการสาดน้ำสงกรานต์เป็นที่สุกสนาน  ในเวลาเย็นจะมีการเล่นสะบ้า ซึ่งเป็นการละเล่นที่นิยมกันในบรรดาหนุ่มสาวมอญที่ยังเป็นโสด เครื่องมือที่ใช้คือลูกสะบ้าทำด้วยไม้ มีลักษณะกลมๆ แบนๆ ซึ่งเป็นของฝ่ายชาย ส่วนลูกสะบ้าของฝ่ายหญิงมักทำด้วยงาช้างหรือเขาควาย หรือทองเหลือง และมีขนาดเล็กกว่าของฝ่ายชาย ใช้สำหรับทอย เตะ หรือโยนด้วยหลังเท้าแล้วแต่โอกาส

ในวันสงกรานต์นี้ คนทุกวัยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้เห็น ได้เรียนรู้แบบอย่างของคนรุ่นปู่ย่าตายาย เป็นแบบอย่างที่ดี นำไปยึดถือปฏิบัติจนเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้


ออกพรรษา – ล้างเท้าพระออกพรรษา
เทศกาลออกพรรษา ถือเป็นเทศกาลใหญ่เทศกาลหนึ่งของมอญ รองลงมาจากสงกรานต์  ยิ่งใกล้ออกพรรษา คนมอญจะจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ อาหารคาวหวานสำหรับไปวัดเหมือนกับเทศกาลสงกรานต์ ที่ขาดไม่ได้คือ ขนมกระยาสารท ขนมงานบุญประเพณี ที่มีส่วนผสมของ น้ำตาล  ถั่วลิสง งา ข้าวเม่า ข้าวตอก ชาวมอญจะรื่นเริงมากในการทำบุญ มีการแห่พระภิกษุไปร่วมปวารณาออกพรรษาที่วัดที่นิยมนับถือมากที่สุดแต่เพียงวัดเดียว เสร็จแล้วก็แห่พระไปส่งตามวัดที่รับมาทุกวัด

บางหมู่บ้านจัดให้มีประเพณีล้างเท้าพระที่ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ คนมอญถือว่าการล้างเท้าพระช่วงเทศกาลออกพรรษาได้บุญแรง เพราะการทำบุญกับพระสงฆ์ที่ท่านรักษาศีล สวดมนต์ภาวนา อยู่จำพรรษา ๓ เดือนทำให้มีเวลาทบทวนพระธรรมวินัย ระมัดระวังสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ออกจาริกไปยังที่ต่างๆ ก็เท่ากับตัดโอกาสเหยียบย่ำสัตว์เล็กๆ และพืชผลของชาวบ้านเสียหาย ย่อมได้บุญมาก    








« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 กุมภาพันธ์ 2561 11:32:25 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.546 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 08 เมษายน 2567 02:01:16