[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 15:28:38 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก  (อ่าน 12700 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5388


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 08 ตุลาคม 2555 15:19:59 »


ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก

ผู้เรียบเรียง - ถ่ายภาพ : Kimleng

เมืองพิษณุโลก


จังหวัดพิษณุโลก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๓๗๗ กิโลเมตร ภูมิประเทศมีทั้งที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบหุบเขา ที่สูง เป็นที่เกิดของแม่น้ำ ๓ สายได้แก่ แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำวังทองแม่น้ำเทือง  และยังมีแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมไหลผ่านอีกด้วย จึงเป็นแหล่งปลูกข้าวและพืชไร่ที่สำคัญ มีการทำประมงน้ำจืด

พิษณุโลกเป็นเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณ เรียกกันว่าเมืองสองแคว ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นวัดจุฬามณีปัจจุบัน  

เมื่อพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยได้เสด็จมาประทับที่เมืองสองแควเมื่อราวปี พ.ศ.๑๙๐๐ โปรดฯ ให้หล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาขึ้น

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาครองเมืองสองแควในฐานะเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ.๑๙๘๑ หลังจากที่ได้เสด็จไปครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.๑๙๙๑ ถึง พ.ศ.๒๐๐๖ แล้ว จึงได้เสด็จไปประทับที่เมืองสองแควอีก จนกระทั่งสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๐๓๑  ขณะประทับอยู่ที่เมืองสองแคว พระองค์โปรดฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองพิษณุโลก ทรงสร้างวัดจุฬามณีขึ้น ณ บริเวณที่เคยเป็นเทวสถานมาก่อน และทรงมีพระราชศรัทธาเสด็จออกผนวชที่วัดนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๐๐๘

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชประสูติที่เมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๘ เมื่อครั้งพระราชบิดา คือ สมเด็จพระมหาธรรมราชา ครองเมืองพิษณุโลก

ในปี พ.ศ.๒๓๑๘ เมื่ออะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่ายกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาสุรสีห์ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) และเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้ต่อสู้รักษาเมืองเป็นสามารถ จนอะแซหวุ่นกี้ไม่อาจตีเมืองได้ ถึงกับพักรบขอดูตัวแม่ทัพฝ่ายไทย

พิษณุโลกในปัจจุบัน ได้พัฒนาเจริญรุ่งเรือง จนเมืองเมืองศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งและการท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนล่าง



พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
อำเภอเมือง  จังหวัดพิษณุโลก

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือชื่อที่เรียกกันทั่วไปว่า “วัดใหญ่”  เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิด "วรมหาวิหาร" ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช  พระพุทธรูปที่สง่างามทรงคุณอันประเสริฐสุด ทั้งสวยทั้งศักดิ์สิทธิ์ ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย  และได้รับการขนานนามว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในโลกองค์หนึ่ง

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย พื้นที่ตั้งวัดมีลักษณะเป็นที่ราบอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก โดยมีถนนพุทธบูชากั้นเขต ด้านอื่นๆ ก็มีถนนเป็นเขตกั้นทั้งหมด อาคารเสนาสนะมีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และประติมากรรมที่งดงามยิ่ง ถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองพิษณุโลก  

เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๘๓  ฯพณฯ  จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ดำริให้มีการออกแบบทำตราประจำจังหวัดต่าง ๆ ขึ้น เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์และนำเสนอปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุที่สำคัญของแต่ละจังหวัดให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น  จึงได้นำรูปพระพุทธชินราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ “วัดใหญ่” ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก มาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด


ประวัติการสร้างพระพุทธชินราช
ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าพระพุทธชินราชสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย และเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม เพราะได้พบหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัยมีความว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้างพระทันตธาตุสุคนธเจดีย์ ส่วนในพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า “ในราวพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท)  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน  มีพระปรางค์อยู่กลาง  มีพระวิหาร ๔ ทิศ  มีพระระเบียง ๒ ชั้น และทรงรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง ๓ หลัง”  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ปัจจุบันจึงมีชื่อเต็มว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

พระพุทธชินราชประดิษฐานภายในพระวิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร  จังหวัดพิษณุโลก  เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด (หรือเขียนอีกอย่างว่า สัมฤทธิ์)  ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยตอนปลาย หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๗ ศอก สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) ราว พ.ศ. ๑๙๐๐  ทรงโปรดให้ช่างสวรรคโลก ช่างเชียงแสน และช่างหริภุญไชย สมทบกับช่างกรุงศรีสัชนาลัย ช่วยกันหล่อพระพุทธชินราช พร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา   ฐานชุกชีปั๊มเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย  จึงเป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่ทราบนามของผู้ประดิษฐ์พระพุทธรูปอันงดงามนี้ขึ้น  เราได้เห็นแต่ศิลปกรรมของท่าน  แต่ท่านศิลปินโบราณของเรามิได้สร้างศิลปกรรมขึ้นเพื่อแสวงหาชื่อเสียงหรือทรัพย์สินเงินทอง  ท่านประดิษฐ์ขึ้นเพราะความเลื่อมใสนับถือพระพุทธองค์ด้วยใจอันบริสุทธิ์  

พระพุทธชินราชแต่เดิมไม่ได้ลงรักปิดทอง ได้มีการปิดทองครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ คราวเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๖  พุทธลักษณะ เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ  พระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิง มีลักษณะพิเศษเรียกว่าทีฆงคุลี  คือที่ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่นิ้วยาวเสมอกัน  ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลัก  สร้างในสมัยอยุธยา  แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกรแต่มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้มและมีตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลางซุ้ม  มีเทพอสุราปกป้องพระองค์อยู่สองตน  คือ ท้าวเวสสุวัณ และอารวกยักษ์  


ในตำนานการสร้างพระพุทธชินราชกล่าวว่า พระพุทธชินราชสร้างในสมัยพระศรีธรรมไตรปิฎก (พระยาลิไท)  ได้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา  โดยใช้ช่างจากเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองหริภุญชัย  ในการเททองปรากฏว่าหล่อได้สำเร็จเพียงสององค์  ส่วนพระพุทธชินราชทองแล่นไม่ตลอด  ต้องทำพิมพ์หล่อใหม่ถึงสามครั้ง ครั้งสุดท้ายพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก (พญาลิไท) จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง  พระอินทร์เจ้าจึงนฤมิตเป็นตาชีปะขาวลงมาช่วยเททองหล่อ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้นสองค่ำ เดือนหก ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๓๑๙  จึงหล่อได้สำเร็จบริบูรณ์หาที่ติมิได้  พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏกทรงปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง  จึงตรัสให้หา "ตาปะขาว" ผู้นั้น แต่ชีปะขาวได้หายตัวไปแล้ว หมู่บ้านและวัดที่ชีปะขาวหายไปนั้นได้ชื่อว่า บ้านตาปะขาวหายและวัดตาปะขาวหายต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จำลองพระพุทธชินราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร   ส่วนพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร   กรุงเทพฯ  ทางวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จึงได้หล่อองค์จำลองขึ้นแทน  

แม้เมืองไทยจะได้ผ่านภัยสงครามมามากมายหลายครั้ง  เรายังมีบุญและโชคดีที่มีพระพุทธรูปสมัยโบราณเหลืออยู่ให้เราบูชาหลายองค์ เช่น พระพุทธชินราช อันงามยิ่งที่เมืองพิษณุโลก ซึ่งต่อมาได้สร้างจำลองกันเป็นอันมาก  

มีผู้สงสัยกันมากว่าพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ เหล่านี้ บรรพบุรุษของไทยเราหล่อได้อย่างไร  ศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี  ออกความเห็นว่า “ของที่ใช้ทำหุ่นที่จะหล่อนั้น เราทราบไม่ได้แน่ว่าใช้อะไร  เห็นจะใช้แกลบ มูลโค และดินผสมกัน  เพราะจะไม่ยืดตัวหรือหดเมื่อถูกความร้อนอันรุนแรงยิ่งในขณะเมื่อเททองสัมฤทธิ์เหลว ๆ ลงไปในหุ่นเพื่อจะทำการหล่อ”


อ้างอิง  ๑. คู่มือการท่องเที่ยวพิษณุโลก  จัดทำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก
         ๒. หนังสือ “เจ้าชีวิต”  พระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
         ๓ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี












การหล่อพระพุทธชินราชจำลอง
พระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานนคร

พระพุทธชินราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารใหญ่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุด ในบรรดาพระพุทธรูปของประเทศไทย ยากที่จะหาพระพุทธรูปอื่นใดงดงามเสมอเหมือน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชปรารภเรื่อง พระพุทธชินราช ไว้ในพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า "...แลคนเป็นอันมากก็ลงใจเห็นว่า พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ๒ องค์นี้งดงามนัก ไม่มีพระพุทธรูปน้อยใหญ่ที่ไหนๆ ใหม่เก่างดงามดีไปกว่านี้ได้ เห็นจะเปนของที่เทพยดาเข้าสิงช่างฤๅนฤมิตเป็นมนุษย์มาช่วยสร้างเป็นแน่..."

จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธปฏิมาที่เทพคือเทวดา และสมมติเทพคือพระมหากษัตริย์เป็นผู้สร้างขึ้นด้วยพระราชศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาตั้งแต่โบราณกาลมา และพระมหากษัตริย์แทบจะทุกพระองค์ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ให้ความสำคัญในพระพุทธชินราช ทรงเคารพนับถือทำการสักการบูชามาโดยตลอด และถือเป็นพระราชประเพณีว่า เมื่อขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว จะต้องเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช  

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี ประพาสเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ นั้น ในวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ ได้เสด็จไปประทับในพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทรงถวายต้นไม้ทองเงินหนึ่งคู่ สมเด็จพระบรมราชินีถวายต้นไม้ทองเงินหนึ่งคู่ เป็นพุทธบูชา แล้วทรงถวายตรานพรัตนราชวราภรณ์ อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด แด่พระพุทธชินราช นับว่าไม่เคยมีพระพุทธรูปองค์ใดได้รับเครื่องราชสักการะจากพระมหากษัตริย์มากพระองค์และเป็นชั้นสูงสุดถึงเพียงนี้

มูลเหตุการสร้างพระพุทธชินราชจำลอง
พ.ศ.๒๔๔๒ ได้มีการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงประจำพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) มีพระราชประสงค์ที่จะอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ดังข้อความในพระราชปรารภ "เห็นพระพุทธลักษณะแห่งพระพุทธชินราชว่างาม หาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ ครั้นเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตรขึ้น ได้พยายามหาพระพุทธรูปซึ่งจะเป็นพระประธาน ทั้งในกรุงแลหัวเมือง...ก็ไม่เป็นที่พอใจ จึงคิดเห็นว่าจะหาพระพุทธรูปองค์ใดให้สวยงามเสมอพระพุทธชินราชนั้นไม่มีแล้ว..."

แต่ด้วยเหตุที่ทรงเกรงว่าเมื่อราษฎรชาวพิษณุโลกทราบข่าวการอัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานยังกรุงเทพมหานครจะพากันเศร้าโศก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริที่จะหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ขึ้นแทน ดังความในพระราชปรารภที่ว่า "ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราชลงมาก็เห็นว่าเป็นหลักเป็นศิริของเมืองพิศณุโลก...จึงได้ปรารภที่จะคิดหล่อขึ้นใหม่ให้เหมือนพระพุทธชินราช..."  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระประสิทธิปฏิมา (เหมาะ ดวงจักร) จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดี ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิมที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

ปี พ.ศ.๒๔๔๔  มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า จะเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ เพื่อจะได้ทรงนมัสการพระพุทธชินราช และหล่อพระพุทธชินราชจำลองที่เมืองพิษณุโลก อีกประการคือเพื่อทอดพระเนตรภูมิประเทศและตรวจราชการประกอบพระราชดำริที่จะทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นสืบไป  ในระหว่างเวลาเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งนั้น อำนาจในราชกิจทั้งปวงที่จะรักษาพระนครได้พระราชทานไว้แก่พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศวโรปการ

ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔) กระบวนเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือได้เดินทางมาถึงเมืองพิษณุโลก  เสร็จจากการเสด็จทอดพระเนตรสุขทุกข์ของประชาราษฎร์ จึงขึ้นนมัสการพระพุทธชินราชที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วเสด็จกลับพลับพลาที่ประทับ  

เวลาย่ำรุ่ง วันที่ ๒๐ ตุลาคม เสด็จลงเรือข้ามฟากมาขึ้นที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในการเททองหล่อพระพุทธชินราชจำลองเพื่ออัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร   งานหล่อองค์พระพุทธชินราชจำลองครั้งนี้ใช้คนจำนวนมาก นอกจากช่างหล่อแล้ว ยังมีผู้ช่วยสูบทองอีก ๒ ผลัดๆ ละ ๑๒๐ คน รวมผู้ช่วยสูบทอง ๒๔๐ คน  และยังต้องทำการแก้ไข เก็บรายละเอียดขององค์พระกันหลายครั้งหลายคราว   ความยุ่งยากดังกล่าวมีปรากฏในพระราชหัตถเลขา ในรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ  (ฉบับที่ ๑๔, ๑๖ และ ๒๐ ลงวันที่ ๒๐, ๒๒ และ ๒๘ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๐ ) ความว่า

“...วันนี้เวลาย่ำรุ่งไปที่วัดมหาธาตุ ทองยังไม่ได้ที่จึงได้เลี้ยงพระเสียก่อน จนเวลาเช้า ๒ โมงจึงได้เททอง ทองที่ตั้งสูบหลอม ๖๐ เบ้า พอแต่เพียงพระเศียรแลพระองค์พระรัศมีกับพระหัตถ์ แต่พระเพลาแลพระกรอิกข้างหนึ่งทองไม่พอ จึงต้องรอไว้หล่อต่อพรุ่งนี้ต่อไป  หลวงประสิทธิ๑ว่าพระเศียรนั้นทองเกินที่กะมาก เพราะเหตุที่ต้องแก้ไขมาก แต่ฉันว่าเปนด้วยคเนทองผิด เพราะคนอายุนี้ไม่มีผู้ใดได้เห็นหล่อของใหญ่ ด้วยไม่ได้หลอมมาถึง ๕๐ ปีกว่าแล้ว  จำนวนทองที่กะผิดนั้นดังนี้ พระเศียรกะ ๑๕ เบ้า กลายเปน ๒๕ เบ้า พระองค์กะ ๑๒ เบ้า กลายเปน ๒๐ เบ้า ผิดมากเหลือเกินนัก แลพระนั้นปั้นอยู่ข้างจะหนาเพราะช่างก็ไม่สู้ไว้ใจ ตามพระองค์หนาถึงนิ้วหนึ่งตลอด หนากว่าพระชินราชเดิม แต่การที่จะเสียหายอะไรนั้นเห็นจะไม่เสีย เนื้อทองก็มีขึ้นมาพอจะต้องใช้อิกถึง ๓๐ เบ้า และได้หล่อพระองค์เล็กๆ อิก ๓ องค์ การที่ทำอยู่ข้างจะช้ามากจนเช้า ๔ โมงจึงสำเร็จ ได้แจกเงินผู้ใหญ่บ้านซึ่งมาช่วยสูบทองคนละ ๖ บาท ใช้สูบละ ๒ คน เปนร้อยยี่สิบคน สองผลัดเปนคนสองร้อยสี่สิบคน…” (พระราชหัตเลขา ฉบับที่ ๑๔ ลง ๒๐ ต.ค. ร.ศ.๑๒๐)

“...จำนวนทองซึ่งหล่อพระพุทธชินราชที่ได้บอกมาแต่ก่อนนั้นยังไม่ถูกต้อง บัดนี้ได้รายการโดยโทรเลขว่า พระรัศมีทองเบ้าครึ่ง ๖๐ ชั่งไทย พระหัตถ์ขวาเบ้าหนึ่ง พระหัตถ์ซ้ายเบ้าหนึ่ง เปนทอง ๘๐ ชั่ง พระเศียร ๒๘ เบ้า ทอง ๑๑๒๐ ชั่ง พระองค์ ๒๕ เบ้า ทอง ๑๐๐๐ ชั่ง น่าตัก ๓๖ เบ้า ทอง ๑๔๔๐ ชั่ง ยังจะหล่ออิกท่อนหนึ่งต่อภายหลัง...” (พระราชหัตเลขา ฉบับที่ ๑๖ ลง ๒๒ ต.ค. ร.ศ.๑๒๐)

การหล่อพระพุทธชินราชจำลองเสร็จเรียบร้อย  ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จโดยเรือกลไฟจูงล่องจากเมืองพิไชย*ถึงเมืองพิษณุโลก ได้ลงเรือเล็กข้ามไปดูพระพุทธชินราชซึ่งหล่อใหม่อันได้เชิญลงมาบรรทุกเรือไว้แล้ว ทรงพระราชปรารภเมื่อทอดพระเนตรองค์พระ ว่า “...ช่างได้ลงมือแต่งพระภักตร์แลพระองค์บ้าง ดินเมืองพิศณุโลกผิดกันกับกรุงเทพ ฯ  เวลาสุมพิมพ์ข้างในกะเทาะได้บ้าง จึงมีทองเปนกาบติดรุงรังหลายแห่ง ทำให้งานที่จะตกแต่งนั้นมากขึ้น...” (พระราชหัตเลขา ฉบับที่ ๒๐ ลง ๒๘ ต.ค. ร.ศ.๑๒๐)

เมื่อเรือล่องมาถึงกรุงเทพมหานคร ได้เชิญลงเรือมณฑปแห่ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ปีเดียวกัน  ต่อมาถึงปลายปี พ.ศ.๒๔๕๒ จึงโปรดเกล้าฯ ให้จ้าง นายซึรุฮารา (Mr.Tsuruhara) ครูช่างในโรงเรียนวิชาช่างกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาทำการปิดทองจนแล้วเสร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานสมโภช ในวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๓




พระพุทธชินราช ในสมัยรัชกาลที่ ๕




พระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก สมัยรัชกาลที่ ๕
ถ่ายเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปในการเททองหล่อพระพุทธชินราชจำลอง
เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)


ทรงหล่อพระพุทธชินราช


เตาหล่อพระพุทธชินราช


เตาหล่อพระพุทธชินราช



รูปการแห่พระพุทธชินราชจำลอง จากเมืองพิษณุโลก มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ


(ซ้าย) การเตรียมตกแต่งเรือที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช หน้ากรมทหารเรือ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔
(ขวา) กระบวนเรือที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชขณะอัญเชิญมาที่วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔
(ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)




ขณะอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลอง เข้าประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)



ขณะอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลอง ขึ้นบนฝั่งภายในวัดเบญจมบพิตร
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)



กระบวนเรือที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ขณะอัญเชิญมาที่วัดเบญจมบพิตร
เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๔ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)


(บน) บรรยากาศงานไหว้พระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตร
จะแลเห็นพระอุโบสถกำลังก่อสร้างอยู่ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
(ล่าง) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร



อ้างอิง : พระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝายเหนือ ในรัชกาลที่ ๕
           (พิมพ์ในงานบำเพ็ญพระกุศลฉลองอายุ เจ้าจอมมารดาโหมด ป.จ.รัชกาลที่ ๕, โรงพิมพ์ไทย พ.ศ.๒๔๖๕)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 มกราคม 2560 09:24:33 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
 
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5388


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 03 กรกฎาคม 2559 20:10:38 »



พระพุทธชินราช พระพุทธรูปที่สง่างามทรงคุณอันประเสริฐสุด
เป็นมรดกอันล้ำค่าของโลก ที่ชาวไทยต่างหลังไหลมานมัสการกันมากมายทุกๆ วัน

ประวัติการสร้างพระพุทธชินราช
รวบรวมโดย
พระสุธรรมมุนี (สมบูรณ์ ปญฺญาวุโธ)
รองเจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ใกล้ฝั่งแม่น้ำน่านทิศตะวันออก ผันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก

ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช  ตามตำนานที่มีไว้แล้วแย้งกันเป็น ๒ นัยอยู่  นัยหนึ่งว่าสร้างเมื่อราวจุลศักราช ๓๑๙ (พ.ศ.๑๕๐๐) แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวว่าสร้างเมื่อราวจุลศักราช ๗๑๙ (พ.ศ.๑๙๐๐) ตำนานที่อ้างถึงพระพุทธชินราชหล่อขึ้น ในจุลศักราช ๓๑๙ (พ.ศ.๑๕๐๐) นั้น เป็นตำนานที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือ ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๔) ว่าด้วยเรื่องพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา และพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๕) เรื่องพระพุทธชินราช ความว่า

เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกผู้ครองนครเชียงแสงได้ยกกองทัพลงมีตีเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งมีพระเจ้าพสุจราชปกครองอยู่ ทหารทั้งสองฝ่ายรบราฆ่าฟันกันตายลงเป็นอันมากมิได้แพ้ชนะกัน พระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ มีความเศร้าสลดใจในการศึกครั้งนี้ จึงเข้าทำการไกล่เกลี่ยให้พระราชาทั้งสองนี้เป็นสัมพันธไมตรีกัน พระราชาทั้งสองก็ยอมปฏิบัติตาม พระเจ้าพสุจราชได้ทรงยกพระนางประทุมราชเทวี ราชธิดา อภิเษกให้เป็นมเหสีแห่งพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีพระราชโอรสด้วยพระนางประทุมราชเทวี ๒ พระองค์ ทรงพระนามว่า เจ้าไกรสรราชกับเจ้าชาติสาคร พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีพระราชประสงค์จะป้องกันการรุกรานของชาติขอม ซึ่งขณะนั้นมีอำนาจอยู่ทางละโว้หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการแผ่ราชอาณาจักรให้ไพศาลออกไป จึงได้สร้างเมืองพิษณุโลก เพื่อให้ราชโอรสขึ้นครองเมือง

ตามพงศาวดารกล่าวว่าได้สร้างเมืองพิษณุโลกเมื่อจุลศักราช ๓๑๕ (พ.ศ.๑๔๙๖) เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ได้เสด็จลงมาอภิเษกเจ้าไกรสรราชขึ้นครองเมือง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกนี้ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้แตกฉานพระไตรปิฎกมาก จึงได้รับเฉลิมพระนามาภิไธย ดังนั้นขณะที่เสด็จประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ที่ได้สร้างขึ้นใหม่ ก็มีพระราชประสงค์จะบำเพ็ญบุญกุศลทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและให้พระเกียรติศัพท์พระนามปรากฏในภายหน้า จึงตรัสให้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุขึ้นเป็นคู่กับเมือง สร้างพระมหาธาตุเป็นรูปปรางค์ สูงราว ๘ วา ตั้งกลางแล้วสร้างพระวิหารรอบปรางค์ทั้งสี่ทิศ มีระเบียง ๒ ชั้น พระองค์ต้องการจะสร้างพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ เพื่อเป็นพระประธานในพระวิหาร

ในเวลานั้นที่เมืองศรีสัชนาลัย ทั้งสวรรคโลกและสุโขทัย เป็นที่เลื่องลือปรากฏในการฝีมือช่างต่างๆ ทั้งการทำพระพุทธรูปว่าฝีมือดียิ่งขึ้น จึงมีพระราชสาส์นไปยังกรุงศรีสัชนาลัย เพื่อขอช่างมาช่วยปั้นหุ่นพระพุทธรูป  สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีสัชนาลัยจึงส่งช่างพราหมณ์ที่มีฝีมือดี ๕ นาย ชื่อ บาอินทร์ บาพราหมณ์ บาพิษณุ บาราชสิงห์ และ บาราชกุศล  พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โปรดให้ช่างสวรรคโลก สมทบกับช่างชาวเชียงแสนและช่างหริภุญไชย ช่วยกันหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ทั้ง ๓ องค์ มีทรวดทรงสัณฐานคล้ายกัน แต่ประมาณนั้นเป็น ๓ ขนาด คือ
     - พระองค์ที่ ๑ ตั้งพระนามไว้ว่า “พระพุทธชินราช” มีขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว มีเศษสูง ๗ ศอก พระเกศสูง ๑๕ นิ้ว เป็นปางมารวิชัย
     - พระองค์ที่ ๒ ตั้งพระนามเริ่มไว้ว่า “พระพุทธชินสีห์” มีขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว เป็นปางมารวิชัย
     - พระองค์ที่ ๓ ตั้งพระนามไว้ว่า “พระศรีศาสดา” มีขนาดหน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว เป็นปางมารวิชัย



"...ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธรูปมานักแล้ว ไม่ได้เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย
ที่ตั้งอยู่นั้้นก็เหมาะนักหนา วิหารพอเหมาะกับพระ มีที่ดูได้ถนัด และองค์พระก็ตั้งต่ำพอดูได้ตลอดองค์
ไม่ต้องเข้าไปดูจ่อนจ่อเกินไปและไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่าฯ...ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิศณุโลกตราบใด
เมืองพิศณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงเมืองพิศณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเลย
ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะต้องอวดได้อยู่เสมอว่า มีของควรดูควรชมอย่ายิ่งในเมืองเหนือ
หรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้..."
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" (พ.ศ.๒๔๕๐)

พระศรีธรรมไตรปิฎกทรงเลือกลักษณะอาการตามชอบพระทัยให้ช่างทำคือ สัณฐานอาการนั้นอย่างพระพุทธรูปเชียงแสน ไม่เอาอย่างพระพุทธรูปในเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลก และเมืองสุโขทัยที่ทำนิ้วสั้นยาวไม่เสมอกันอย่างมือคน  ทรงรับสั่ง ให้ทำนิ้วให้เสมอกันตามที่พระองค์ทรงทราบว่าเป็นพุทธลักษณะ พระลักษณะอื่นๆ ก็ปนๆ เป็นอย่างเชียงแสนบ้าง อย่างศรีสัชนาลัยสวรรคโลก สุโขทัยบ้าง

จวบจนวันพฤหัสบดี ขั้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ สัปตกศก จุลศักราช ๓๑๗ ได้มงคลฤกษ์ กระทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ และเมื่อเททองหล่อเสร็จแล้ว กระทำการแกะพิมพ์ออกมาปรากฏว่า พระองค์ที่ ๒ คือ พระพุทธชินสีห์ และองค์ที่ ๓ คือพระศรีศาสดา องค์พระบริบูรณ์ดีมีน้ำทองแล่นติดตลอดเสมอกันสวยงาม ๒ องค์เท่านั้น ส่วนรูปพระพุทธชินราชนั้นทองแล่นติดไม่เต็มองค์ ไม่บริบูรณ์ นับว่าเป็นอัศจรรย์ของช่างและผู้มาร่วมพิธีเป็นอันมาก ช่างได้ช่วยกัน ทำหุ่น และเททองหล่ออีกถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่สำเร็จเป็นองค์พระได้ คือทองแล่นไม่ติดเต็มองค์

พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงรู้สึกประหลาดพระทัยยิ่งนัก พระองค์จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง อีกทั้งขอให้ทวยเทพยดาจงช่วยดลใจให้สร้างพระพุทธรูปสำเร็จตามพระประสงค์เถิด แล้วให้ช่างปั้นหุ่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง  ในครั้งหลังนี้ปรากฏว่ามีตาปะขาวคนหนึ่ง ไม่มีผู้ใดทราบว่าชื่อไรมาจากไหนเข้ามาช่วยปั้นหุ่นและช่วยเททอง ทำการงานอย่างแข็งแรงทั้งกลางวันและกลางคืนจนเสร็จโดยไม่พูดจากับผู้ใด

ครั้นได้มหามงคลฤกษ์ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศกจุลศักราช ๓๑๙ (พุทธศาสนากาลล่วงแล้ว ๑๕๐๐ หย่อนอยู่ ๗ วัน) ก็ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธชินราช คราวนี้น้ำทองที่เทก็แล่นเต็มบริบูรณ์ตลอดทั่วองค์พระ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสสั่งให้หาตาปะขาวผู้มาช่วยปั้นหุ่นและช่วยเททองนั้น แต่มิได้พบ ปรากฏว่าเมื่อหล่อพระเสร็จแล้วก็เดินทางออกประตูเมืองข้างทิศเหนือ พอถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็หายไปไม่มีใครพบเห็นอีก จึงพากันเข้าใจว่าตาปะขาวผู้นั้นคือเทพยดาแปลงกายลงมาหล่อพระพุทธชินราชอันเป็นเหตุทำให้เลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธรูปองค์นี้ยิ่งขึ้น ตำบลบ้านที่ตาปะขาวหายไปนั้นได้ชื่อว่า “บ้านตาปะขาวหาย” ต่อมาจนถึงทุกวันนี้



เทพตาปะขาว ประดิษฐานที่ศาลเทพตาปะขาว
วัดตาปะขาวหายอำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก


เมื่อแกะพิมพ์ออกหรือกะเทาะหุ่นออกมาเป็นที่ประหลาดใจ และตื่นเต้นของชาวพุทธบริษัทเป็นอย่างยิ่ง คือ เมื่อกะเทาะหุ่นออกคราวนี้ทองแล่นติดเต็มองค์พระงดงามสมบูรณ์ดั่งสวรรค์เนรมิต เนื้อทองสำริดสุกสกาวสดใสงามจนหาที่ติไม่ได้ จึงพากันเชื่อว่า พระพุทธชินราชองค์นี้น่าจะเป็นเทวดามาสร้างให้เป็นแน่แท้ ถึงได้มีพุทธลักษณะสวยงามที่สุดในแดนสยาม พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โปรดให้เชิญเข้าประดิษฐานไว้ในสถานที่ทั้ง ๓ คือ พระพุทธชินราช อยู่ในพระวิหารใหญ่ผันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก พระพุทธชินสีห์อยู่ทิศเหนือ และพระศรีศาสดาอยู่ทิศใต้  สำหรับพระวิหารใหญ่ ทิศตะวันออกนั้นเป็นที่ฟังธรรมสักการะที่ถวายนมัสการพระมหาธาตุและเป็นที่ชุมนุมสงฆ์

อนึ่ง เมื่อเวลาหล่อพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาเสร็จแล้วนั้น ทองชลาบและชนวนของพระพุทธรูป ๒ องค์ที่เหลืออยู่ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกรับสั่งให้รวมลงในทองซึ่งจะหล่อพระพุทธชินราช หล่อองค์พระใหม่เรียกว่า “พระเหลือ” ส่วนชนวนและชลาบของพระที่เรียกว่าพระเหลือนั้นก็หล่อรูปพระสาวก ๒ องค์ สำหรับพระเหลือนั่นเอง  ครั้นเมื่อการหล่อพระเสร็จแล้วจึงรับสั่งให้เก็บอิฐซึ่งก่อเป็นเตาหลอมและเตาสุม หุ้มหล่อพระทั้งปวงนั้นมาก่อเป็นชุกชี สูง ๓ ศอก และให้ขุดดินที่อื่นมาผสมกับดินพิมพ์ที่ต่อยจากพระพุทธรูปถมในชุกชีนั้นแล้วทรงปลูกต้นมหาโพธิ์ ๓ ต้น หันหน้าต่อทิศอุดรแล้วเชิญพระเหลือกับสาวกอีก ๒ องค์เข้าไว้ในที่นั้น ให้เป็นหลักฐานแสดงที่ซึ่งหล่อพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์

ที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นความในพงศาวดารเหนือที่ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ส่วนอีกนัยหนึ่งมีกล่าวว่าสร้างเมื่อประมาณ จุลศักราช ๗๑๙ นั้นเป็นพระราชวิจารณ์แห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” มีความดังต่อไปนี้ “เรื่องตำนานการสร้างเมืองพิษณุโลกและการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์นั้น สอบสวนหลักฐานเห็นว่ารูปเรื่องจะเป็นดังกล่าวในพงศาวดารเหนือ เป็นแต่พงศาวดารเหนือลงนามเป็นของพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกนั้น มิใช่ผู้อื่น คือพระมหาธรรมราชาพญาลิไท รัชกาลที่ ๔ ในราชวงศ์พระร่วงนั่นเอง

มีเรื่องในศิลาจารึกว่า เมื่อเป็นพระมหาราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ก่อนจะได้รับราชสมบัติมีศัตรูยกกองทัพลงมาติดเมืองสุโขทัยในเวลาพระราชบิดาประชวรหนัก จึงได้ครองราชอาณาจักรตรงกับที่ว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกยกทัพมาติดเมืองสวรรคโลกได้ราชสมบัติในเมืองนั้น และพระมหาธรรมราชาพญาลิไท ทรงรอบรู้พระไตรปิฎกจึงสามารถแต่งเรื่อง “พระไตรปิฎก” หรือไตรภูมิ ตรงกับที่เรียกว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีแต่พระองค์เดียวเท่านั้น

อีกประการหนึ่งโบราณวัตถุที่สร้างไว้ ณ เมืองพิษณุโลก เป็นแบบอย่างครั้งกรุงสุโขทัย เมื่อรับลัทธิพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์มาแล้ว ยกตัวอย่างดังเช่น พระพุทธรูป พระชินราช พระชินสีห์ คงจะเชื่อได้ดังกล่าวในพงศาวดารเหนือว่า เป็นประชุมช่างอย่างวิเศษ ทั้งที่มณฑลพายัพและในอาณาเขตสุโขทัยมาให้ช่วยกันถอดแบบอย่าง แต่พึงสังเกตที่ได้ที่ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เท่ากันทั้ง ๔ นั้น เป็นความคิดที่เกิดขึ้นด้วยวินิจฉัยคัมภีร์มหาปุริสลักขณะกันอย่างถ้วนถี่ ในชั้นหลัง พระพุทธรูปชั้นก่อนหาทำนิ้วพระหัตถ์เช่นนั้นไม่

ในที่สุดยังมีหลักฐานอีกอย่างหนึ่ง ด้วยในพงศาวดารเมืองเชียงแสนมิได้มีปรากฏว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก หรือพระเจ้าเชียงแสนองค์ใดได้ลงมาตีเมืองสวรรคโลกเหมือนอย่างกล่าวในพงศาวดารเหนือด้วยมีหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวมาก จึงสันนิษฐานว่า พระมหาธรรมราชาพญาลิไท เป็นผู้สร้างเมืองสองแควขึ้นเป็นเมืองลูกหลวงและหล่อพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์เมื่อราว พ.ศ.๑๙๐๐







พระศรีธรรมไตรปิฎก (พญาลิไท) ทรงมีรับสั่งให้ช่างให้ทำนิ้วพระหัตถ์พระพุทธชินราช
ให้เสมอกันตามที่พระองค์ทรงทราบว่าเป็นพุทธลักษณะ  ไม่เอาอย่างพระพุทธรูป
ในเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลก และเมืองสุโขทัยที่ทำนิ้วสั้นยาวไม่เสมอกันอย่างมือคน


พระพุทธชินสีห์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก


พระศรีศาสดา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก


พระเหลือ ประดิษฐานในวิหารน้อย วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก
เมื่อเวลาหล่อพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาเสร็จแล้วนั้น ทองชลาบและชนวนของพระพุทธรูป ๒ องค์ที่เหลืออยู่
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกรับสั่งให้รวมลงในทองซึ่งจะหล่อพระพุทธชินราช หล่อองค์พระใหม่เรียกว่า “พระเหลือ”
ส่วนชนวนและชลาบของพระที่เรียกว่าพระเหลือนั้นก็หล่อรูปพระสาวก ๒ องค์ สำหรับพระเหลือนั่นเอง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 กรกฎาคม 2559 16:10:35 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5388


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 13 กรกฎาคม 2559 16:04:48 »




ปฐมเหตุ การชื่อพระพุทธชินราช

ในการตั้งชื่อพระพุทธปางมารวิชัยที่สวยงามสง่าองค์ใหญ่ว่า พระพุทธชินราช นั้น ยังไม่มีหลักฐานระบุชัดแจ้ง นอกจากคำสันนิษฐานและเหมาะสมด้วยเหตุผลของนายจำนง ทองประเสริฐ (จากหนังสือประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก) ที่ให้เหตุผลของการตั้งนามของพระพุทธชินราช จนรู้จักกันไปทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

“ปัญหาเกี่ยวกับการตั้งขนานพระนามของพระพุทธชินราช ตามที่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) สร้างขึ้นมานั้น เฉพาะพระนามของพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดานี้ไม่สู้มีปัญหานัก  ปัญหาที่น่าจะพิจารณากันซึ่งนับว่าเป็นปัญหาทางพุทธศาสนาที่สำคัญก็คือคำว่า “พระพุทธชินราช” ซึ่งมีความหมายลึกซึ้ง

ในอาณาจักรขอมขณะนั้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์นิกายไศวะมาตั้งแต่อาณาจักรฟูนันและเจนละ ต่อมาภายหลังได้เกิดมีลัทธิใหม่คือลัทธิ เทวราช โดยถือเอาพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นใหญ่เหนือทั้งปวง กษัตริย์ขอมที่เรืองอำนาจอยู่ในยุคนั้นคือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ (ประมาณ พ.ศ.๑๓๔๕-๑๓๙๓) ได้สร้างเมืองขึ้น ๔ แห่งคือ เมืองอินทรปุระ หริหราลัย เอมเรนทรปุระ และมเหนทรบรรพต  พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิด ลัทธิเทวราช หมายถึงพระองค์เป็นเทวราชเหนือพระอิศวรจุติมาเป็นใหญ่ในโลกนี้

ต่อมาพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๔๕-๑๕๙๓) พระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ได้เข้ามามีอิทธิพลทำให้ศาสนาพราหมณ์เสื่อมลง พระเจ้าสูรยวรมันที่ ๑ ทรงถือพุทธศาสนาแบบมหายานอยู่แล้วจึงได้รวมลัทธิไศวะ ของพราหมณ์กับพุทธศาสนามหายาน เข้าด้วยกัน เปลี่ยนลัทธิจาก เทวราช มาเป็น ลัทธิพุทธราช แต่ลัทธินี้มิได้แพร่หลายมากนัก

ในทางพุทธศาสนานั้นถือว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นธรรมราชา หรือ ธรรมราช (ราชาแห่งพระธรรม) สำหรับเมืองสุโขทัยนั้น เมื่อพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เผยแพร่เข้ามามีการปกครองสงฆ์อย่างมีระเบียบแบบแผน โดยมีพระสังฆราช หรือพระสวามีสังฆาราช (ผู้เป็นใหญ่หรือเจ้านาย) เป็นประมุข ส่วนพระครูที่ปกครองหัวเมืองใหญ่ ๘ หัวเมืองเรียกว่า พระสังฆราชา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น สังฆปาโมกข์+ คำเหล่านี้พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดี

แต่คำว่า พุทธราช ยังไม่คุ้นเคยกันนัก  พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงเห็นว่าถ้าจะถวายนามของพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นใหม่งดงามที่สุด ว่า “พระพุทธชินราช” คงจะมีความหมายลึกซึ้งดี แทนที่จะใช้คำว่า “พุทธราช” ตามแบบขอมในยุคนั้น พระองค์จึงเติมคำว่า “ชิน” เข้าไปอีกคำ แต่ถ้าหากจะเรียก “พระชินราช” เฉยๆ โดยไม่มีคำว่า “พุทธ” ไว้ด้วย อาจจะทำให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปเข้าใจผิดหรือไขว้เขวว่าไม่ใช่พระพุทธเจ้า

เนื่องจากในประเทศอินเดียมี “ศาสนาเชน” เป็นศาสนาคู่แข่งของพุทธศาสนา มีพระศาสดาพระนามว่า พระมหาวีร หรือ พระชินะ หากจะใช้เพียงคำว่า ชินราช อาจจะไปหมายถึงพระศาสดาของศาสนาเชนก็ได้ เพื่อให้แตกต่างกันและไม่เข้าใจสับสนภายหลัง พระมหาธรรมราชาลิไทย จึงถวายพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้เสียให้ชัดเจนเพื่อเป็นการแสดงว่า “พระชินะเจ้า” ของศาสนาพุทธมิใช่ พระชินะ ของศาสนาเชน  ดังนั้น พระพุทธรูปที่สร้างองค์ใหญ่จึงมีพระนามว่า พระพุทธชินราช

พุทธลักษณะพระพุทธชินราช
พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ความงามล้ำเลิศกว่าพระพุทธรูปใดๆ ในโลก  กล่าวคือ งามถึง ๔ มิติ ได้แก่ ความกว้าง ความยาว ความหนา และ งามประทับต่อความรู้สึกจิตใจ  ทำให้จิตใจอ่อนน้อมปลาบปลื้มปีติยินดี มีพุทธลักษณะที่พอจะกล่าวได้ดังนี้
     ๑.หล่อด้วยทองสำริดลงรักปิดทองทั้งองค์
     ๒.ลักษณะประทับนั่งสมาธิราบปางมารวิชัย
     ๓.พุทธลักษณะสมส่วน หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๗ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว
     ๔.ประทับนั่งเอาพระบาทขวาซ้อนพระบาทซ้าย
     ๕.วางพระหัตถ์ซ้ายที่พระเพลา
     ๖.พระหัตถ์ขวาพาดอยู่ที่บริเวณพระชานุ
     ๗.พระพักตร์เป็นรูปไข่หรือคล้ายผลมะตูม
     ๘.มีตรีสูรย์อยู่ระหว่างพระขนงหรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าพระอุณาโลม
     ๙.พระหนุเหมือนราชสีห์
   ๑๐.ชายจีวรส่วนที่พาดพระอังสะยาวจรดพระนาภี และทำเป็นสองแฉกชนิดเขี้ยวตะขาบ
   ๑๑.นิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ (นิ้วชี้, กลาง, นาง,ก้อย) ยาวเสมอกันทั้งพระหัตถ์ซ้าย-ขวา
   ๑๒.นิ้วพระบาททั้ง ๕ ยาวเสมอกันทั้งพระบาทซ้าย-ขวา ฝ่าพระบาทแนบราบ ส้นพระบาทยาว
   ๑๓.ประทับนั่งบนฐานชุกชีมีลวดลายปูนปั้นดอกบัวคว่ำ-บัวหงายรองรับ
   ๑๔.พระเนตรทอดต่ำด้วยพระอาการสำรวมอินทรีย์
   ๑๕.พระโอษฐ์แย้มสรวลน้อยๆ เหมือนจะทรงทักทาย
   ๑๖.พระขนงโก่งดั่งวงพระจันทร์ หรือคล้ายคันธนูโก่ง
   ๑๗.พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง ๕ ชั้น สูง ๑๕ นิ้ว
   ๑๘.พระเกศาเป็นลายขดหอยสังข์เวียนซ้าย
   ๑๙.พระกรรณยาวเกือบถึงพระอังสา
   ๒๐.พระศอระหง กลมเป็นปล้อง ๓ ปล้อง
   ๒๑.มีซุ้มเรือนแก้วประดับด้วยไม้สักแกะลวดลายประณีตอ่อนช้อยงดงาม หลายท่อนต่อกัน ล่างสุดของซุ้มเรือนแก้วแกะเป็นหัวมังกรคาบแก้ว เท้าหน้าทั้ง ๒ ยืนกับพื้น ทั้ง ๒ ตัวเหมือนกัน
   ๒๒.ด้านข้างพระเพลาเบื้องขวามีรูปหล่อสำริด เรียกว่า อาฬวกยักษ์ นั่งชันเข่าข้างหนึ่ง คุกเข่าข้างหนึ่ง มือทั้ง ๒ เทินหัว ผู้มีฤทธิ์ที่ผ้าโพกศีรษะ ข้างพระเพลาซ้ายมีรูปหล่อสำริดเรียกว่าท้าวเวสสุวรรณ นั่งยองๆ มือทั้ง ๒ ข้างจับตะบอง ผู้มีฤทธิ์ด้วยตะบองดูประหนึ่งว่าคอยพิทักษ์รักษาหลวงพ่อพระพุทธชินราช




พุทธลักษณะพระพุทธชินราช


หล่อด้วยทองสำริดลงรักปิดทองทั้งองค์ ประทับนั่งสมาธิราบปางมารวิชัย
บนฐานชุกชีมีลวดลายปูนปั้นดอกบัวคว่ำ-บัวหงายรองรับ
มีซุ้มเรือนแก้วประดับด้วยไม้สักแกะลวดลายประณีตอ่อนช้อยงดงาม
พุทธลักษณะสมส่วน หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๗ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว
ประทับนั่งเอาพระบาทขวาซ้อนพระบาทซ้าย วางพระหัตถ์ซ้ายที่พระเพลา
พระหัตถ์ขวาพาดอยู่ที่บริเวณพระชานุ (เข่า-หน้าแข้ง)
นิ้วพระบาททั้ง ๕ ยาวเสมอกันทั้งพระบาทซ้าย-ขวา ฝ่าพระบาทแนบราบ ส้นพระบาทยาว


พระพักตร์เป็นรูปไข่หรือคล้ายผลมะตูม
มีตรีสูรย์อยู่ระหว่างพระขนง หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า พระอุณาโลม
พระขนงโก่งดั่งวงพระจันทร์ หรือคล้ายคันธนูโก่ง
พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง ๕ ชั้น สูง ๑๕ นิ้ว
พระศอระหง กลมเป็นปล้อง ๓ ปล้อง


พระอุณาโลม พระพุทธชินราช


พระหนุ (ขากรรไกร) เหมือนราชสีห์
พระกรรณยาวเกือบถึงพระอังสา
พระเกศาเป็นลายขดหอยสังข์เวียนซ้าย
พระเนตรทอดต่ำด้วยพระอาการสำรวมอินทรีย์
พระโอษฐ์แย้มสรวลน้อยๆ เหมือนจะทรงทักทาย


รูปหล่อสำริดท้าวเวสสุวรรณ นั่งยองๆ มือขวาจับตะบอง มือซ้ายกุมหัวเข่า
ประดิษฐานด้านข้างพระเพลาซ้ายพระพุทธชินราช


รูปหล่อสำริดอาฬวกยักษ์ ผู้มีฤทธิ์ที่ผ้าโพกศีรษะ
นั่งชันเข่าข้างหนึ่ง คุกเข่าข้างหนึ่ง มือทั้ง ๒ เทินหัว
ประดิษฐานด้านข้างพระเพลาขวาพระพุทธชินราช


ซุ้มเรือนแก้วแกะเป็นหัวมังกรคาบแก้ว เท้าหน้าทั้ง ๒ ยืนกับพื้น ทั้ง ๒ ตัวเหมือนกัน



(มีต่อ)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 กรกฎาคม 2559 09:24:28 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5388


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 17 กรกฎาคม 2559 11:26:00 »





พระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก


พระพุทธรูปปางเลไลก์ที่ผนังด้านหลังพระอัฏฐารส
ในภาพจะเห็นภาพเสาวิหารเก่าบางส่วนหลงเหลืออยู่

พระอัฏฐารส

พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสูง ๑๘ ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ในราว พ.ศ.๑๘๐๐ ประดิษฐานบริเวณหลังวิหารพระพุทธชินราช เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ ๓-๔ ต้น และเนินพระวิหารบางส่วน เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง”...ข้อมูล : วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี



โพธิ์สามเส้า มีจำนวน ๓ ต้น
วิหารเล็กๆ ที่เห็นอยู่ด้านหลังพระพุทธรูปปางสมาธิสีขาว คือที่ประดิษฐาน "พระเหลือ"

โพธิ์สามเส้า

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย หลังจากได้ทรงสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว ทรงรับสั่งให้นำอิฐและดินที่ก่อเป็นเตา สร้างเป็นแท่นฐานชุกชี ณ สถานที่หล่อพระพุทธรูปนั้น เพื่อประดิษฐานพระเหลือ แล้วทรงปลูกหน่อพระศรีมหาโพธิ์ จำนวน ๓ ต้น ซึ่งเป็นหน่อโพธิ์ตรัสรู้ที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศลังกา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสร้างพระพุทธรูป ๓ องค์ เรียกว่า “โพธิ์สามเส้า”

เส้า หมายถึงวัตถุต่างๆ มีหินหรือก้อนดิน เป็นต้น ที่ตั้งเป็น ๓ มุม เพื่อเป็นฐานก่อเตาไฟสำหรับรองรับภาชนะ

ต้นโพธิ์ ถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เรียกว่า อุทเทสิกเจดีย์หรือรุกขเจดีย์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการระลึกถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับแล้วตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญวิสาขมาส พุทธศาสนิกชนจึงเคารพบูชาเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์





















ธรรมาสน์เทศน์ และธรรมาสน์สวด
งานพุทธศิลป์อันทรงคุณค่าสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง
เป็นศิลปกรรมสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก
(ภาพถ่ายไม่ค่อยชัดเจน เนื่องจากถูกเก็บรักษาไว้ในห้องกระจก ไม่สามารถเข้าไปชมอย่างใกล้ชิดได้)

ธรรมาสน์เทศน์ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง สภาพยังค่อนข้างสมบูรณ์ มีบันไดทำเป็นรูปดอกบัวชูก้าน บันไดชั้นล่างสุดประดิษฐานเป็นรูปกวางหมอบ ตรงราวบันไดเป็นรูปพญานาค ธรรมาสน์เทศน์เป็นงานพุทธศิลป์อันทรงคุณค่าของชาติอีกชิ้นหนึ่ง และเป็นทานวัตถุที่มีผู้นำมาถวายพระสงฆ์เพื่อปลงศพ  ธรรมาสน์นี้ถือว่าเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกในสมัยอยุธยา และงดงามที่สุดในประเทศไทย

ธรรมาสน์สวด เป็นธรรมาสน์ขนาดใหญ่สำหรับพระนั่งสวดได้ ๔ รูป มีลักษณะงดงามมาก เป็นฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย เจ้านายองค์ใดองค์หนึ่งคงจะนำมาถวายให้เป็นพุทธบูชา ธรรมาสน์สวดยังอยู่ในลักษณะสมบูรณ์ ลวดลายจำหลักลงรักปิดทองและล่องกระจกงดงาม หลังคาจตุรมุขมียอดปราสาท มีมุขประเจิด สันหลังคาประดับบราลีเรียงราย ชายคารูปกระเบื้องเชิงชาย เพดานจำหลักลวดลายเป็นรูปดาวล้อมเดือนและอื่นๆ ฐานและหลังคามีรูปทรงเป็นเส้นอ่อนโค้งท้องช้าง ธรรมาสน์สวดนี้ถือเป็นศิลปกรรมชั้นเอกในสมัยอยุธยาและงดงามที่สุดในประเทศไทย









« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 กรกฎาคม 2559 11:29:33 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5388


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 08 ธันวาคม 2564 20:33:21 »




พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก


พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานเรียงรายอยู่ในพระระเบียงคด


หลวงพ่อดำ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

 

หลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๕ ศอก สูงประมาณ ๖ ศอกเศษ เป็นเนื้อปูนปั้น ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
 
ขณะที่หลวงพ่อดำได้ประดิษฐานอยู่หน้าวิหารหลวงพ่อพระศรีศาสดา ด้านทิศใต้ เป็นพระพุทธรูปที่สร้างประจำอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารแห่งนี้ตลอดมา มีอายุประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ กว่าปี เรียกว่าหลวงพ่อดำนั้น เข้าใจว่ามีผู้มีจิตศรัทธาได้สร้างถวายเป็นพุทธบูชาไว้ในพระพุทธศาสนา เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อย จะทำการปิดทองพระพุทธรูป ไม่ทราบเหตุผลประการใด จึงไม่ปิดทองต่อให้เสร็จ ได้แต่ลงลักปิดทองเอาไว้ ประชาชนได้มากราบไหว้บูชา จึงเห็นเป็นสีดำ แล้วก็เรียกว่า “หลวงพ่อดำ”

หลวงพ่อดำองค์นี้ท่านมีตำนานที่ฟังแล้วน่าตื่นตาตื่นใจกับเรื่องราวของ “พระกินเณร” หรือ “หลวงพ่อกินเณร” ซึ่งมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาว่า

...ขณะที่พระพุทธรูปองค์นี้เป็นสีดำอยู่นั้น เวลาฝนตกลงมาหลังคาตรงพระเศียรของพระพุทธรูปองค์นี้ได้เกิดรั่ว ยางไม้ได้ไหลย้อยสีแดงเป็นทางลงมาที่พระโอษฐ์ของท่านคล้ายเลือด ขณะนั้นทางวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้มีสามเณรอยู่เป็นจำนวนมาก ตอนกลางวันหลังจากสามเณรฉันภัตตาหารเพลเสร็จ ก็ได้เดินเที่ยวเล่นในบริเวณวิหารคด ด้านหลังของหลวงพ่อพระพุทธชินราช ซึ่งสมัยนั้นวิหารเป็นสถานที่เงียบสงบมาก พอสามเณรเดินมาถึงองค์หลวงพ่อดำก็เข้าไปหลบด้านหลังหลวงพ่อดำ และทิ้งจีวรเอาไว้แล้วหลบหนีไป เพื่อนตามหาอย่างไรก็ไม่พบ จึงคิดว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้กินเณร เป็นตำนานที่เล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้



องค์เทพารักษ์เก่าแก่ประจำเมืองพิษณุโลก


หลังจากสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
องค์เทพารักษ์เก่าแก่ประจำเมืองพิษณุโลก ได้ถูกอัญเชิญมาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช



พระแม่ย่า


คันฉ่อง สมัยอยุธยา


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 ธันวาคม 2564 20:36:34 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
น้ำตกสกุโณทยาน จ.พิษณุโลก
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 5506 กระทู้ล่าสุด 07 มิถุนายน 2555 15:13:03
โดย Kimleng
วัดจุฬามณี จ.พิษณุโลก - สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เสด็จทรงผนวช
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 8491 กระทู้ล่าสุด 22 พฤศจิกายน 2555 14:20:00
โดย Kimleng
วัดราชคีรีหิรัญยาราม จ.พิษณุโลก สักการะพระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาวที่ใหญ่ที่สุดในโล
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 10672 กระทู้ล่าสุด 21 กันยายน 2557 10:56:17
โดย Kimleng
ตำนานพระนางพญา จ.พิษณุโลก
ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
ใบบุญ 0 5179 กระทู้ล่าสุด 15 มิถุนายน 2558 18:24:32
โดย ใบบุญ
กลองอินทเภรี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก
สุขใจ จิบกาแฟ
Kimleng 1 685 กระทู้ล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2565 15:01:17
โดย gallon litter
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.67 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 23 มีนาคม 2567 05:32:32