[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 20:47:52 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ผี-พราหมณ์-พุทธ  (อ่าน 2641 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5446


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 04 ตุลาคม 2560 17:12:42 »



เด็กกับพระเจ้า : ประสบการณ์เล็กๆ จากอินเดีย
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง 
ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๕-๒๑ กันยายน ๒๕๖๐

ผมเพิ่งเดินทางกลับจากอินเดีย พูดแบบเท่ๆ คือมีนัดกับพระเจ้า ในการไปงานคเณศจตุรถี (อีกแล้ว) ครั้งที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้

แม้จะไปงานเดิมซ้ำๆ ทุกปี เพราะมีสัญญาใจกับ คุณนเรนทร์ ดูเบย์ แห่ง TRL เนื่องจากท่านชวนผมไปบรรยาย เรารู้จักกันตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ จากนั้นผมก็ไปอินเดียกับคุณนเรนทร์อยู่ทุกบ่อย ทุกครั้งที่ไปก็ได้พบเห็นอะไรใหม่ๆ เสมอ

คุณนเรนทร์ซึ่งผมนับถือเหมือนพี่จึงประดุจ “เทวทูต” (ไม่ใช่ยมทูตนะครับ) ผู้นำผมไปพบทวยเทพและวัฒนธรรมอินเดียแบบ “เดินด้วยตีน เห็นด้วยตา ” นี่แล จึงอยากจะกราบขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้

ครานี้ผมไปแคว้นมหาราษฎร์ตามเดิม มีเรื่องให้ประทับใจอยู่หลายสิ่ง โดยเฉพาะมีข้อสังเกตเกี่ยวกับ “เด็ก” ในที่เกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนาในอินเดียครับ

ในบ้านเรา คล้ายๆ พื้นที่ของเด็กถูกกันออกไปค่อนข้างมากในพิธีกรรมทางศาสนา อาจเพราะเห็นว่าเด็กยังไม่มีความเข้าใจ หรืออีกทางคือเด็กอาจรบกวนพิธีกรรมได้ เรื่องพิธีกรรมจึงดูเป็นเรื่องของผู้ใหญ่

เราจึงตื่นเต้นมากเมื่อเด็กสามารถมีบทบาทในทางศาสนา หรือมีความสามารถพิเศษในทางพิธีกรรม เช่น ผมจำได้ว่า สมัยจตุคามรามเทพรุ่งเรือง มีเด็กชายคนหนึ่งถูกกล่าวขวัญว่าเป็น “เจ้าพิธี” ที่อายุน้อยที่สุด นอกจากนี้ ยังมี “น้องกร” เด็กน้อยผู้ใกล้ชิดพระที่น่ารัก และรายการเรียลิตี้โชว์สามเณรที่คนติดตามกันมาก

ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่า เพราะเด็กสามารถแสดงบทบาท “ผู้ใหญ่” ได้ไงครับ และยิ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่เองก็ทำได้ยากอย่างเรื่องศาสนพิธี คนจึงตื่นเต้นเป็นพิเศษ

ซึ่งก็แสดงด้วยว่า บทบาทและพื้นที่นี้มันไม่ใช่ของเด็ก





ในอินเดีย ผมว่าสถานการณ์ต่างออกไปบ้าง ผมสังเกตจากช่วงงานคเณศจตุรถีโดยเฉพาะ และตามเทวสถานต่างๆ ของพระคเณศ พบว่าเด็กมีบทบาทมาก

ในงานคเณศจตุรถี “ซุ้มพระ” (แขกเรียก มณฑล – Mandal) ไม่ว่าจะตามบ้านหรือองค์กร หลายที่เขาให้เด็กเป็นผู้นั่งเฝ้าปรนนิบัติเทพเจ้าดุจเดียวกับหน้าที่ของพราหมณ์ผู้บูชา คือรับเครื่องบูชาจากศาสนิกชนไปถวายยังเทวรูป และนำของที่สักการะแล้วหรือ “เทวประสาท” เช่น ขนมต่างๆ มามอบให้ศาสนิกชนอีกที

นอกจากตามซุ้มแล้ว เมื่อผมไปยังเทวสถานโมรยาโคสาวี นักบุญในนิกายคาณปัตยะ หรือนิกายที่นับถือพระคเณศเป็นสำคัญ ในเทวสถานชั้นในหรือห้องครรภคฤหะที่ประดิษฐานเทวรูป ซึ่งปกติเป็นที่หวงห้ามเฉพาะพราหมณ์ ไม่เพียงมีเด็กๆ เป็นผู้นำสักการะ แต่เขายังให้เด็กสาวเป็นผู้รับและแจกจ่ายเครื่องบูชาด้วย ซึ่งผมเข้าใจว่า น้องสาวท่านนั้นเป็นคนในตระกูลพราหมณ์ผู้ดูแลเทวสถานนั่นเอง

เหตุการณ์แบบนี้ท่านจะไม่เจอในเทวสถานของเทพเจ้าอื่นๆ สักเท่าใด เพราะอย่างที่ผมเคยบอกไปแล้วว่า ปัจจุบัน ศาสนาพราหมณ์แบบผู้ชายหรือแบบหลวงนั้น พื้นที่ต่างๆ ในทางศาสนาจึงเป็นของผู้ชายเสียส่วนมาก เว้นแต่ในท้องถิ่น หรือบางนิกายให้ให้ความสำคัญกับเด็กอย่างนิกายพระคเณศ

พวกผู้ใหญ่ จะใหญ่มาจากไหนก็ต้องรับพรจากเด็กๆ เหล่านี้ด้วยความเคารพนะครับ จะคิดว่า อ่อ เป็นเด็กเองไม่ต้องให้ความเคารพนั้นไม่ได้ เพราะเด็กเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ที่ “ใกล้” พระเจ้ามากกว่าตน

และเด็กๆ เหล่านี้กำลังแสดง “บทบาทศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งน่าสนใจว่า บทบาทเช่นนี้ในอินเดียเลื่อนไหลได้พอสมควร เช่น หากผมเป็นพราหมณ์ แต่วันนั้นผมเป็นเจ้าภาพพิธีกรรม ผมก็ต้องแสดงความเคารพต่อพราหมณ์อาวุโสน้อยกว่าที่กำลังทำพิธีให้ผม แต่พอออกจากพิธีกรรม พราหมณ์คนนั้นก็กลับมาเคารพผมอีก เพราะผมอาวุโสกว่า เป็นต้น


 

ที่อินเดีย ธรรมเนียมการเคารพนบไหว้จึงสนุก เพราะมันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ บางครั้งก็เคารพด้วยอาวุโส แต่ไม่เสมอไป เพราะหลายครั้งที่คนอาวุโสน้อยแต่ได้รับการเชิดชูด้วยอะไรบางอย่างเช่น คุณธรรมหรือความรู้ ก็จะได้รับการเคารพจากผู้อาวุโสกว่าอย่างจริงใจ บางครั้งด้วยบทบาทในบางช่วงขณะ เช่นในพิธีกรรม

บางครั้งด้วยอุดมคติบางอย่าง เช่น มีบางท่านถือตามคติในพระธรรมศาสตร์ว่า แขกผู้มาเยือนคือเทพ (อติถิ เทโว ภว) ฉะนั้น ใครที่เผอิญโผล่มา จะแปลกหน้าหรือไม่ก็ตาม ก็จะได้รับการเคารพสักการะอย่างดีที่สุด

ผมไปเยือนเทวสถานอีกแห่งของท่านโมรยาโคสาวี คือ มงคลมูรติ วาฑา ซึ่งมีสถานะเป็นศูนย์กลางนิกายคาณปัตยะ ที่นี่ยังมีอาศรมพระเวทหรือคุรุกุล สำหรับเด็กๆ ยากจนมาเรียนด้วย

เด็กๆ หรือพรหมจารีเหล่านี้มาจากหลากหลายที่ มาเรียนเพื่อเป็นพราหมณ์ประกอบพิธีกรรมในอนาคต ทำนองเดียวกับการบวชเรียนของเราที่รับสามเณรยากจนมาเรียนหนังสือ
 
เราไปขอให้พรหมจารีเหล่านี้สวดมนต์ให้เรา และได้ทำบุญถวายแต่ละท่านเป็นทุนการศึกษาและกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ

โดยธรรมเนียมแล้ว แม้ท่านเหล่านี้จะเด็กมาก มีอายุตั้งแต่เจ็ดแปดขวบไปถึงสิบห้าสิบหกปี นอกจากถวายเงินให้กับมือ เราควรต้อง “แตะเท้า” (จรณสปรศะ) คล้ายกราบเท้าตามธรรมเนียมแขก เพื่อแสดงความเคารพอย่างสูงด้วย ซึ่งผมและหลายท่านที่ไปก็ทำ โดยไม่ได้คิดว่าท่านเหล่านี้เป็นเด็ก

อ่อ จะบอกว่าก็เหมือนกราบเณรก็ไม่เชิงนะครับ เพราะพรหมจารีในอินเดียมีสถานภาพไม่เหมือนเณร ตรงที่ท่านเหล่านี้ไม่ใช่ “นักบวช” แต่เป็นคฤหัสถ์ เหมือนอย่างเราๆ ท่านๆ เพียงแต่ในช่วงเป็นพรหมจารีนั้น ท่านห้ามเรื่องเพศและเรื่องบันเทิงอื่นๆ

อีกอย่างที่อยากจะเล่าและผมประทับใจมาก เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับเด็กในอินเดีย คือ พี่สาวท่านหนึ่งในคณะที่ไปด้วยกัน ท่านพาลูกชายตัวน้อยอายุเจ็ดเดือนเพื่อไปขอพรต่อองค์พระคเณศ ทำนองว่า ขอท่านแล้วได้ลูกเลยพาลูกมาไหว้

วันที่เราไปซุ้มพระชื่อ อัณเธรีจาราชา ในเมืองมุมไบ ขณะที่พี่สาวท่านนั้นก้มกราบพระบาทเทวรูปพระคเณศ และฝากลูกกับเจ้าหน้าที่ซุ้มชาวอินเดีย พี่เจ้าหน้าที่ชาวอินเดีย ก็ยกเด็กน้อยเอาศีรษะไปสัมผัสพระหัตถ์ของเทวรูปดุจท่านให้พร จากนั้นก็อุ้มเด็กน้อยไปนั่งที่ตักของเทวรูป

ผมกลับมาแซวว่า ลูกชายของพี่สาวท่านนั้นเป็นแขกเวรี่เวรี่วีไอพี เพราะใครมาไหว้จะใหญ่แค่ไหนเขาก็ให้กราบพระบาท นี่เป็นคนเดียวที่ได้นั่งตักเทพเจ้า ไม่ธรรมดาๆ

เหตุใดเขาถึงให้เด็กมีบทบาทและความสำคัญขนาดนี้ ผมคิดว่าด้วยสองเหตุผล

อย่างแรก เพราะเขาก็คิดคล้ายๆ เราครับว่า เด็กนั้นมีจิตใจที่บริสุทธิ์สะอาดกว่าผู้ใหญ่ เด็กๆ เหล่านี้จึงควรใกล้ชิดกับพระเป็นเจ้ามากกว่า คนแบบนี้แหละที่พระเป็นเจ้ารักมากกว่าพวกผู้ใหญ่ตอแหล

พูดแบบนี้ก็ให้คิดถึงคำสอนคล้ายๆ กันนี้ในคริสต์ศาสนา ซึ่งให้ความสำคัญกับจิตใจแบบเด็กๆ เช่นกัน

มีตำนานเล่าว่า ท่านรามานุชาจารย์ ปฐมาจารย์ของไวษณพนิกายผู้ยิ่งใหญ่ ครั้งหนึ่งท่านเดินพร้อมสานุศิษย์ผ่านไปยังกลุ่มเด็กๆ ที่ “เล่นบูชาพระ” กันอยู่ เด็กๆ เหล่านี้ เอาหินดินทรายมาเล่นเป็นเครื่องบูชา ท่านก็เข้าไปสักการะซุ้มพระวิษณุของเล่นของเด็กๆ ด้วยความเคารพ รับเอาเทวประสาทคือก้อนกรวดของเด็กมาจรดศีรษะและหลั่งน้ำตาด้วยความศรัทธา

สานุศิษย์ของท่านถามว่า ไฉนท่านจึงทำเช่นนั้น นั่นก็แค่การเล่นของเด็กๆ ท่านตอบว่า เพราะเด็กเหล่านี้มีใจบริสุทธิ์ และการเล่นนี้ก็เป็นการเล่นอันเป็นทิพย์ เนื่องด้วยเล่นเกี่ยวกับพระเป็นเจ้าอย่างใจซื่อ จะไม่ให้ท่านเคารพได้อย่างไร

อีกเหตุผลหนึ่ง ก็เพราะเทพเจ้าในอินเดีย โดยเฉพาะพระคเณศนั้นมี “สภาวะของเด็ก” แฝงอยู่ด้วย เทพเจ้าผู้มีร่างกายอ้วนท้วนดุจเด็กน้อย (สมนาม ปิลไลยาร์ หรือ “ลูกช้าง” ในภาษาทมิฬ) เชื่อกันว่า พระคเณศนั้นเป็นเทพที่ “เราทรภาวรหิตัม” คือปราศจากความโกรธ ความดุร้าย จึงเหมาะที่เด็กๆ จะเข้าหาและสนิทสนม

มีอีกตำนานหนึ่งที่เกี่ยวข้องระหว่างเด็กๆ กับเทพ ซึ่งผมอยากจะเล่าปิดท้าย คือเรื่องของเทวสถานศรีพัลลาเลศวร เมืองปาลี หนึ่งในอัษฏวินายก ตำนานเล่าว่า เดิมมีเด็กชายชื่อพัลลาล (อ่านแบบแขกคือ บัลลาล) เด็กน้อยคนนี้ เล่นบูชาพระด้วยความศรัทธา เอาก้อนหินมาเขียนพระนาม เอากิ่งไม้มาสร้างเป็นวัดพร้อมเครื่องบูชาประสาเด็ก และชวนเพื่อนในหมู่บ้านมาเล่นบูชาจนมืดค่ำ

ตกค่ำบรรดาพ่อแม่ที่ลูกหายไปก็ออกตามหา เมื่อเจอว่าลูกมาเล่นไม่ยอมกลับบ้านก็ไล่ตี และไปฟ้องพ่อเด็กชายพัลลาล พ่อเด็กชายโกรธมาก จับมัดไว้กับต้นไม้ทั้งคืน ทำนองว่ารักมากนักก็อยู่อย่างนี้ไปละกัน

รุ่งเช้าพราหมณ์หนุ่ม (คเณศแปลง) ก็มาแก้มัด และขอให้เด็กชายขอพรเพราะมีความภักดี เด็กชายไม่ขออะไรให้ตนเอง แต่ขอว่า ในอนาคตเมื่อผู้ใดมาสักการะพระคเณศที่นี่ ขอให้เขาได้รับความสำเร็จ พระคเณศพึงใจมาก จึงให้พรเพิ่ม

เด็กชายขอให้พระองค์อยู่กับเขาตลอดไป พระคเณศจึงพาเด็กชายพัลลาลหายเข้าไปในเทวรูปพระองค์ นับแต่นั้น เทวสถานที่นั่นจึงชื่อว่า พัลลาเลศวร หรือพระเป็นเจ้าของพัลลาล เป็นเกียรติประวัติชั่วนิรันดรแก่สาวกเด็กน้อย

วลีศักดิ์สิทธิ์ของที่นั่นคือ “คณปติ สทา สหายะ”

แปลว่า “พระคเณศเป็นเพื่อนกันเสมอ”





ข้าวในประเพณีพราหมณ์
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง  
ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑-๗ กันยายน ๒๕๖๐

บรรดาธัญญาหารทั้งหมด พราหมณ์ถือว่าข้าวศักดิ์สิทธิ์และสำคัญสุด เช่นเดียวกับอุษาคเนย์ เพราะคนอินเดียก็กินข้าวเป็นอาหารหลักอย่างเรา

แต่คนอินเดียกินทั้งข้าวเจ้าและข้าวสาลี โดยเฉพาะคนอินเดียในภาคเหนือ เนื่องจากภูมิอากาศต่างจากภาคใต้ ปลูกข้าวสาลีได้ดี จึงมีอาหารแปรรูปจากข้าวสาลีสารพัด เช่น โรตีชนิดต่างๆ กระนั้นคนทั่วๆ ไปก็กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก

ข้าวพันธุ์ที่อินเดียนิยมกินมักมียางน้อยและร่วนซุย จึงต้องกินคลุกน้ำแกง ซึมซับแกงได้ดี ผิดกับข้าวในบ้านเราที่คลุกกับข้าวแห้งอร่อยกว่า และผมเองยังไม่เคยเห็นคนอินเดียกินข้าวเหนียวหรือปลูกข้าวเหนียวเลย ใครเคยได้ยินวานบอก

บางท่านเคยเสนองานวิจัยทำนองว่า พุทธศาสนาเกิดในเมืองไทยนี่แหละไม่ใช่อินเดีย (ซึ่งอ่อนด้อยในเชิงหลักฐานและหลักการมากๆ) ก็อ้างคำในพระวินัยทำนองว่า ให้พระฉันข้าวเป็นคำให้พอดีแกง

ท่านก็ไปตีความว่า ถ้าข้าวมันเป็นคำคำได้ก็ต้องแม่นข้าวเหนียวล่ะเนาะ จั่งซี่พระในพุทธกาลฉันข้าวเหนียวแน่ๆ แสดงว่าต้องอยู่ที่อีสานบ้านเราแหละ บ่แม่นอินเดียดอก

โอย ผมอ่านละไม่รู้จะขำหรือร้องไห้ดี ทำยังกะข้าวแบบอื่นมันคลุกแกงปั้นคำไม่ได้

ข้าวเป็นอาหารโบราณและอาหารหลักของอินเดียเช่นนี้ อินเดียจึงมี “วัฒนธรรมข้าว” แบบเดียวกับอุษาคเนย์ คนอินเดียให้ความสำคัญกับข้าวมาก

ผมไม่เคยได้ยินว่า มีเทพเจ้าของข้าวโดยเฉพาะอย่าง “เจ้าแม่โพสพ” ในบ้านเรา เพราะในอินเดีย ข้าวและธัญพืชอื่นๆ เค้ายกให้เป็น “เคารี” (เจ้าแม่ขาวหรือทอง) หรือ “อันนปูรณา” (เจ้าแม่ข้าวอาหารบริบูรณ์) หรือ “ธัญญลักษมี” (พระลักษมีแห่งธัญพืช) โดยรวมคือเป็นเจ้าแม่นั่นแหละ แต่มิได้หมายถึงข้าวอย่างเดียว

อาจเพราะคนอินเดียกินธัญพืชอื่นๆ ด้วย ธัญพืชอื่นๆ จึงมีความสำคัญด้วย

ผมเข้าใจว่า เจ้าแม่โพสพของบ้านเรา ไม่ได้มาจากอินเดีย ไม่ได้มาจากเคารีหรือพระอันนปูรณา แต่เป็น “ผี” เจ้าแม่ของเราเองในศาสนาพื้นเมือง เช่นเดียวกับแม่ซื้อหรือผีผู้หญิงอื่นๆ

บางท่านพยายามโยงนาม “โพสพ” กับ ไพศรพ (เลือนจากคำแขก ไวศรวัณ หรือ เวสสุวรรณ) ซึ่งเป็นนามของท้าวกุเวร แต่ผมว่าอาจแค่ยืมนามหรืออาจไม่เกี่ยวกันเลยก็ได้ เพราะกุเวรนั้นเป็นเทพบุรุษและมิได้เกี่ยวกับข้าว

คงเหมือนอย่างพระภูมิที่ใช้นามแขกแบบไทยๆ อย่าง ชัยมงคล หรืออะไรทำนองนั้นแหละครับ


 

ในเมื่อข้าวและธัญพืชเป็นเทพ วัฒนธรรมอินเดียจึงเหมือนไทยอย่างเก่า คือ เคารพนบไหว้ข้าวก่อนกิน จะเหยียบย่ำก็ไม่ได้ การปลูกการเก็บก็มีพิธีกรรม ผิดแต่เขาไม่ได้นับถือ “ขวัญ” อย่างเรา

นอกจากกินแล้ว ข้าวยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีกรรมของพราหมณ์ เมื่อพราหมณ์จะทำพิธีบูชาต้องมีข้าวเป็นส่วนหนึ่งเสมอ

พราหมณ์จะเอาข้าวสารไปคลุกกับผง “กุงกุม” ซึ่งมีสีแดงจนทั่ว ไม่ก็อาจใช้ผงไม้จันทน์หอมหรือขมิ้นก็ได้ในบางกรณี เรียกว่า “อักษัต” ซึ่งหมายถึงข้าวสารนั่นแหละ แต่คำนี้มีความหมายโดยพยัญชนะอีกว่า “ไม่แตกหัก” เพราะข้าวต่างกับธัญพืชอื่น ตรงที่มันไม่เป็นซีก ไม่สามารถแบ่งซีกได้อย่างถั่วชนิดต่างๆ

ความไม่แตกหักเป็นสัญลักษณ์ของการสืบต่อ ความมั่นคง และการมีชีวิต ข้าวสารอันไม่แตกหักคือสัญลักษณ์ของสิริมงคลนั่นเอง

สีแดงที่ย้อมข้าว หากถามพราหมณ์ท่านก็ว่าเป็นสีสิริมงคล แต่ไม่ต้องเดาก็ทราบว่ามันหมายถึงโลหิตด้วยนั่นเอง

อักษัตใช้ในการอัญเชิญ หรือสถาปนาเทพ ส่งเสด็จเทพ หรือใช้เป็นสัญลักษณ์ของเทพเลยก็ได้ คือเอาข้าวนั้นลงกองไว้สมมุติแทนเทพองค์ต่างๆ โดยไม่ต้องใช้เทวรูป

ทั้งยังใช้เป็นเครื่องประดับบนหน้าผากยามเมื่อเจิมเทวรูปเทพด้วยแป้งจันทน์ ครูของผมท่านว่า คนสมัยก่อนเมื่อเจิมหน้าผากด้วยของหอมแล้วก็เอาไข่มุกติดหน้าผาก แต่ปัจจุบันไข่มุกเป็นของแพงหายากมีราคา จึงใช้เมล็ดข้าวติดแทนไข่มุก
 
เป็นที่มาว่าทำไมเขาจึงต้องเอาข้าวสารไปติดหน้าผากทั้งเทวรูปและคนเราในพิธีกรรม
 
นอกจากนี้ พราหมณ์ยังเอาข้าวไปย้อมสีหลากสี แล้วจัดเป็นรูปทรงเลขาคณิตบนโต๊ะ เรียกว่ามณฑลหรือปีฐะ สมมุติเป็นจักรวาลหรือที่ประทับของเทพเจ้า แล้วกระทำบูชาบนมณฑลอันนั้น

นอกจากนี้ เวลาอะไรขาดไปในพิธีบูชาเขาก็เอาข้าวอักษัตใช้แทนได้โดยสมมุติว่าเป็นสิ่งนั้น

ในการบูชาพื้นฐานที่สุดหรือการบูชาขั้นตอนเดียว เครื่องบูชาจะประกอบด้วยดอกไม้ข้าวสารและแป้งไม้จันทน์ พราหมณ์จะเรียกรวมๆ ว่า “คัณธากษตปุษปัม” (คำสนธิรวมกันของสามสิ่ง คือ คัณธะ เครื่องหอม, อักษัต ข้าวสาร, ปุษปะ ดอกไม้)

พราหมณ์สยามมีการ “หุงข้าวเวทย์” ถวายพระเป็นเจ้าในพิธีศิวาราตรี คือตั้งหม้อหุงข้าวด้วยนมเนยในเทวสถาน

ผมคิดว่าเป็นอย่างเดียวกับข้าว “ปงกัล” ในพิธีพราหมณ์ทมิฬ ซึ่งหุงถวายพระเป็นเจ้าเช่นเดียวกัน และหุงเป็นพิเศษในเทศกาลบูชาพระสุริยเทพช่วงมกรสังกรานติ ซึ่งมักตรงกับพระราชพิธีตรีปวายตรียัมปวายของเราพอดี


 


นอกจากการใช้ในพิธีกรรมแล้ว พราหมณ์เขายังมีข้อห้ามเกี่ยวกับข้าวในสองลักษณะ

อย่างแรกคือ ไม่ให้ใช้ข้าวอักษัตหรือข้าวสารบูชาพระวิษณุครับ อันนี้เขียนไว้ในหนังสืออาจารเยนทุและสนาตนปูชาวิธี เทพเจ้าอื่นทุกพระองค์บูชาได้หมด

ผมยังไม่เห็นคำอธิบายที่ชัดเจนของเรื่องนี้ แต่สังเกตว่า พระวิษณุนั้นมักมีข้อห้ามในการบูชาที่เกี่ยวพันกับสัญลักษณ์ “เจ้าแม่” เช่น พระวิษณุนุ่งแต่เหลืองหรือขาว ไม่นุ่งแดงเลย ไม่โปรดสีแดง ไม่ใช้ข้าวซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแม่หรือตัวเจ้าแม่เองบูชา

อาจเพราะพระวิษณุถูกกำหนดให้เป็นสัญลักษณ์ของ “โลกุตระ” แต่เจ้าแม่คือ “โลกิยะ” จึงไม่ให้ใช้ “ระบบการบูชา” อย่างเดียวกัน และพระวิษณุนั้น โปรดปราน “ความบริสุทธิ์สะอาด” อย่างยิ่ง จะบูชาด้วยเลือดเนื้อหรือสัญลักษณ์พวกนั้นก็ไม่ได้

ที่จริง “ศาสนาของพระวิษณุ” ดูจะมีมโนทัศน์พื้นฐานต่างจาก “ศาสนาเจ้าแม่” พอสมควร ฮินดูที่อยู่ในฝักฝ่ายพระวิษณุ จึงมักถือว่าเกี่ยวพันกับ “อารยธรรม”ของอารยันมากกว่า หรือมักอ้างว่าเป็นฝ่ายปฏิรูปฮินดูแท้ เช่น นิกายเคาฑิยะ หรือสวามีนารายัณ เป็นต้น ซึ่งไว้คงได้อภิปรายกันต่อไป

หากไม่ขี้เกียจหรือลืมซะก่อน (ฮา)

นอกจากนี้ ในเทศกาลนวราตรี ซึ่งชาวฮินดูเขาถือพรตกินบวชนั้น ใครเคร่งมากหน่อยก็อดอาหาร ระดับทั่วๆ ไป เขาก็กิน “อาหารบวช” (อยากเรียกว่า กระยาบวช) คือไม่กินเนื้อของสดคาว และที่สำคัญ ไม่กินข้าวและถั่วมีตาด้วย

ถั่วมีตาท่านว่ามันมีชีวิตและงอกงามได้ จึงเว้นเสีย คือไม่ไปพรากพืชพันธุ์ ส่วนข้าวแม้จะไม่มีตา แต่เป็นอาหารสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่จึงงดเสียโดยเด็ดขาดในช่วงถือพรตนั้น ก็กินแต่ “ผลาหาร” คือผักผลไม้ ออกพรตแล้วจึงกินได้ตามปกติ

ที่เขียนเรื่องข้าว เพราะช่วงนี้เรื่องรับจำนำข้าวในบ้านเรากำลังร้อนรุ่มเหลือเกิน จะเขียนเรื่องรับจำนำข้าวก็ไม่รู้มากพอ ส่วนที่พอรู้บ้างก็คร้านจะเขียน เพราะเห็นมิตรสหายที่เคยเบื่อการเมืองกลับมาคึกคักกันใหญ่

อะไรเป็นอย่างไร ขอท่านตามเอาเองเถิด ผมไม่อยากพูดเพราะเหน็ดหน่ายเสียแล้ว นี่ว่าจะขอเบื่อการเมืองกับเขาบ้าง

สรุปง่ายๆ คือ ข้าวในบ้านเราจึงไม่ได้เป็นแค่อาหารและสัมพันธ์กับเรื่องวัฒนธรรมความเชื่อเท่านั้น

เป็นเรื่องการเมืองด้วย (อีกล้าวว)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 ตุลาคม 2560 17:23:14 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5446


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 04 ธันวาคม 2560 13:14:36 »



“พิธีอารตี” คืออะไร ต้นแบบเวียนเทียนสมโภชใช่ไหม?
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง  
ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๙-๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐

ใครไปวัดฮินดูเช้าตรู่และย่ำค่ำ จะเห็นพราหมณ์ท่านถือคันประทีปดวงไฟหลายดวงแกว่งๆ วนๆ หน้าเทวรูป ทำเช่นนี้ทุกวัน

นานเข้าคนไทยเริ่มทำพิธีแบบฮินดูที่บ้านเรือนหรือตำหนักทรง ก็เอาพิธีเช่นนี้ไปทำบ้าง รู้จักกันในชื่อ “อารตี” หรือบางคนก็เรียกว่า บูชาไฟ

ที่จริงคำว่าบูชาไฟ ในวงการศาสนาใช้หมายถึงพิธี “โหมะ” คือพิธีบูชายัญโดยการใส่อาหารและเนยลงในกองไฟ (กูณฑ์) สำหรับบวงสรวงให้เทพเจ้า

เป็นคนละพิธีกันกับอารตีครับ
 
พิธีอารตีนั้น เรียกตามศัพท์สันสกฤตว่า อารติกยมฺ หรือ นีราชนมฺ ซึ่งหมายถึงการเวียนประทีป

คันประทีปหรือตะเกียงสำหรับทำพิธีอารตีนั้น ทำเป็นภาชนะเหมือนตะเกียงมีด้ามจับถือ อีกด้านมีหลุมสำหรับใส่สำลีชุบน้ำมันเนยหรือก้อนการบูนจุดไฟ มีตั้งแต่หลุมเดียวไปจนถึงหลายสิบหลุม

แบบง่ายที่สุดคือใช้ถาดโลหะ แล้วจุดประทีปหรือการบูนในนั้น หรือแม้แต่ใช้แป้งสาลีปั้นเป็นถ้วยขนาดเล็กทำเป็นหลุมใส่สำลีชุบน้ำมันเนยก็ใช้ได้

ผมเคยไปวัดหนึ่งในอินเดีย ชื่อวัดสิทธิวินายกมหาคณปติที่เมืองกัลยาณ ในรัฐมหาราษฎร์ พราหมณ์ท่านว่า ที่นี่อารตีใช้ผ้าพันไม้จุดไฟอย่างคบเพลิงโบราณ

ส่วนพราหมณ์สยามท่านไม่ได้ใช้น้ำมันเนยหรือการบูนอย่างอินเดีย แต่ใช้เทียนขี้ผึ้งแทน จะด้วยเพราะน้ำมันเนยมิใช่ของหาง่ายในสมัยโบราณ หรือเพราะไม่นิยมก็ตามแต่ และเรียกคันประทีปนั้นว่า “คันชีพ”

พิธีอารตีนี้พราหมณ์สยามท่านเรียก “แกว่งคันชีพ” ตรงๆ เลยครับ

ส่วนวิธีการอารตี หากเป็นแบบตะเกียง ผู้บูชาจะถือด้วยมือขวา มือซ้ายถือกระดิ่ง จากนั้นวนตะเกียงอารตีตามเข็มนาฬิกา เริ่มจากพระบาทของเทวรูป ขึ้นไปที่พระนาภี และพระพักตร์ตลอดจนพระวรกาย มือซ้ายก็สั่นกระดิ่งไปด้วย จนกว่าจะสวดมนต์หรือประโคมจบ

หากเป็นแบบถาดก็ถือถาดด้วยมือทั้งสอง เวียนตามเข็มนาฬิกาเบื้องหน้าเทวรูป




การอารตีนั้นมีสองแบบ คือแบบที่กระทำในช่วงสนธยา เรียกว่าสันธยารตี มีในช่วงรุ่งเช้าและช่วงโพล้เพล้ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเวลาของวัน (กลางคืนเปลี่ยนเป็นกลางวัน กลางวันเป็นกลางคืน) ในแบบนี้มักถือว่าเป็นการบูชาประจำวันของเทวสถานไปด้วย

ดังนั้น อารตีแบบนี้มักมีเครื่องบูชาอื่นๆ ประกอบ เช่น เครื่องสรงน้ำ ดอกไม้ ธูป ฯลฯ ผสมกับการเวียนประทีป ระบบที่การรวมการบูชาเข้ากับพิธีอารตีนี้ เข้าใจว่าพราหมณ์พังคละในฝ่ายเคาฑิยะเป็นพวกแรกที่ทำและแพร่ไปยังพราหมณ์ฝ่ายอื่นๆ

อารตีสนธยาจะต้องมีการประโคม ทำนองเดียวกับย่ำยาม โดยมีเครื่องกระทบโลหะ เช่น กระดิ่ง ระฆัง กังสดาล และกลองประจำเทวสถาน หรือหากเป็นเทวสถานที่สำคัญก็มักมีวงประโคมพวกปี่กลองด้วย

ในอินเดียภาคเหนือ ปราชญ์และพราหมณ์หลายท่านเห็นว่า อารตีเป็นเวลาที่ศาสนิกชุมนุมกันมากที่สุด จึงแต่งบทกวีสรรเสริญพระเป็นเจ้าสำหรับขับร้องประกอบในเวลาอารตีด้วย ซึ่งมีมากมายหลากหลายเพลง เพื่อเพิ่มบรรยากาศความงดงามและส่งเสริมความภักดี กลายเป็นธรรมเนียมใหม่ที่นิยมโดยทั่วไป

ส่วนอารตีอีกแบบนั้น ไม่จำเป็นจะต้องทำตามเวลา เป็นพิธีที่ทำตามวาระโอกาสต่างๆ เช่น พระเป็นเจ้าออกแห่ หรือทำเมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมต่างๆ

บางท่านว่า พิธีนี้จะทำในขั้นตอนสุดท้ายของพิธีบูชาเทพเจ้า แต่ที่จริงแล้วไม่ถึงกับสุดท้าย เพราะหลังอารตียังมีขั้นตอนอื่นๆ อีกเล็กน้อย เช่น การกระพุ่มมือบูชาด้วยดอกไม้ (มนตรปุษปาญชลิ) หรือขอสมาลาโทษ

ที่จริงนอกจากเทวรูปแล้ว การอารตียังกระทำต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เช่น คัมภีร์ ตำรา หรือแม้แต่บุคคลและสถานที่ก็ได้ เช่น ต่อครูบาอาจารย์ เจ้าบ่าว ผู้ใหญ่ หรือแม่น้ำคงคา พระอาทิตย์ ภูเขา ฯลฯ
 
ดังใครไปอินเดีย ก็มักต้องไปชมพิธีอารตีแม่น้ำคงคา ไม่ว่าจะที่พาราณสีหรือหริทวารซึ่งมีชื่อเสียงมาก ซึ่งฮินดูเขากระทำบูชาต่อแม่น้ำโดยตรง ไม่ต้องผ่านสัญลักษณ์แทนเช่นเทวรูป

เพราะตัวแม่น้ำคงคาเองนั่นแหละคือเทพีที่ปรากฏเบื้องหน้า ไม่จำเป็นต้องใช้อะไรแทน

เหตุใดถึงต้องทำพิธีนี้ ท่านอาจารย์ลลิต โมหัน วยาส ครูของผมกรุณาอธิบายไว้ว่า ที่จริงเป็นความจำเป็นมาสู่พิธีกรรม คือแต่เดิมเทวรูปถูกสร้างอยู่ในปราสาทหิน หรือไม่ก็ถ้ำตามธรรมชาติที่ถูกเปลี่ยนเป็นเทวสถาน

และโดยหลักอาคมในการสร้างเทวสถาน ภายในห้องประดิษฐานเทวรูปที่เรียกว่าครรภคฤหะนั้น จะต้องมีทางเข้าออกทางเดียว และไม่มีช่องแสงหรือหน้าต่าง จึงมืดมาก มองอะไรแทบไม่เห็น

ครั้นศาสนิกชนไปสักการะ ซึ่งโดยหลักฮินดู บุญกิริยาง่ายๆ คือการได้ไป มองดู (ภาษาสันสกฤตว่า ทรฺศนมฺ หรือ ทรรศนะ) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นบุญแก่ตาเนื้อตาใจ

พราหมณ์ผู้ดูแลจึงจุดไฟขึ้นด้วยตะเกียงที่มีดวงไฟหลายดวงหรือใช้ไฟจากการบูนซึ่งให้ไฟสว่างและมีกลิ่นหอม ส่องให้ดูตั้งแต่พระบาทไปจนทั่วพระวรกายของเทวรูป ผู้คนจะได้ชื่นชมยินดี

ท่านว่าเริ่มต้นอย่างนี้แล และเมื่อกระทำบูชาประจำวันอันประกอบด้วยการสรงน้ำและตกแต่งประดับประดาพระวรกายของเทวรูปแล้ว จึงเปิดม่านออกและอารตีด้วย ให้คนเข้าเฝ้าได้เห็นความงามอลังการที่ตกแต่งแล้ว เฉกเช่นเดียวกับพระราชาธิราชเสด็จออกเหมือนกับในพระราชพิธีของเรานั่นเอง

นอกจากความหมายตรงๆ ง่ายๆ ข้างต้น มีคำอธิบายหนึ่งว่า การอารตีหรือเวียนประทีปนั้น ยังเป็นการขจัดเสนียดจัญไรอวมงคลต่างๆ ด้วย ซึ่งท่านพระยาอนุมานราชธนเขียนไว้ในภาคผนวกของหนังสือนิทานเบงคอลีที่ท่านแปล

ผมพินิจดูก็จริงดังท่านว่า ตัวอย่างเช่น เวลาเอาพระเทวรูปออกแห่แล้ว จะนำกลับเข้าเทวสถานก็ต้องทำพิธีอารตีก่อน นัยว่าขจัด “ตาร้อน” ของคนที่มาดูท่านด้วยอกุศลจิต

นอกจากน้ำ ในทัศนะฮินดูไฟก็เป็นเครื่องชำระได้ เพราะไฟผลาญทุกสิ่งให้เป็นจุณ เป็นภัสมธุลีไม่เหลือความสกปรกอะไรทั้งหมด โลกจึงประลัยด้วยไฟไม่ใช่น้ำ

การอารตีเวลาออกแห่ นอกจากจะใช้ตะเกียงตามปกติ เขายังใช้มะพร้าว คือจุดไฟวางบนมะพร้าวแล้วก็ทุบมะพร้าวนั้น เพื่อสื่อว่าได้ชำระล้างและทำลายสิ่งไม่ดีไปหมดแล้ว

เมื่ออารตีเสร็จ ไฟนั้นเขานับถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพราะได้ผ่านพระเป็นเจ้ามา ก็ให้วักลูบหน้าลูบตาเป็นสวัสดิมงคลขจัดความมืด ทำนองอย่างโบกควันเทียนของเราในเวียนเทียนสมโภช

โดยสรุปคือ อารตีของแขกนั้น เป็นทั้งการแสดงให้คนเห็นพระเป็นเจ้า เป็นการบูชาและไล่วิฆนจัญไรผสมๆ กัน ใช้ไปใช้มาจนไม่ได้คิดถึงความหมายใดเป็นพิเศษ

เบิกแว่นเวียนเทียนในพิธีพราหมณ์อย่างไทยก็ได้รับอิทธิพลของแขกมานั่นแหละครับ มันเห็นกันชัดอยู่ ทั้งแกว่งแว่นเวียนเทียนโบกควันใส่สิ่งที่เราสมโภช ผิดกันที่แขกไม่ได้เอาประทีปไปเวียนรอบๆ สิ่งเคารพอย่างเรา

ส่วนที่ต่าง ตรงที่เราส่งแว่นเวียนเทียนกันไปรอบๆ วง ผมคิดว่า ก็เพราะเรามีวัฒนธรรม “ล้อมวง” (ซึ่งแขกไม่มีนะครับ กินข้าวกันก็นั่งเรียงตามยาว เน้นระเบียบแนวแถวตามอาวุโส) ซึ่งมาจากศาสนาพื้นบ้าน คือธรรมเนียมทำขวัญนั่นแหละ ญาติพี่น้องมาล้อมกัน ครั้นรับบางส่วนของพราหมณ์มาใช้ ก็ยังคงใช้วิธีล้อมวงทำพิธีเหมือนอย่างเดิม

ส่วนการ “เวียนเทียน” ในความหมายอย่างที่เราทำในวันสำคัญทางพุทธศาสนา แขกเรียก “ประทักษิณา” คือเดินเวียนขวารอบสิ่งเคารพ ผิดกับเราตรงที่เขาไม่ต้องถือดอกไม้ธูปเทียนเครื่องบูชา และเขาถือเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งไม่เกี่ยวกับการอารตี

จะได้ไม่สับสนครับ





นิกายของพราหมณ์
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง  
ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๙-๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐

“นิกาย” ในศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ใช้คำภาษาสันสกฤตว่า “สัมปรทายะ” โดยพยัญชนะแปลว่า “ประเพณี หรือการใช้” (Tradition, usage) ซึ่งในวัฒนธรรมอินเดียมีความหมายตรงตามนั้น คือคำสอนและการปฏิบัติเป็นประเพณีที่สืบๆ กันมา หรือเรียกว่าวงศ์ก็ได้

ความแตกต่างระหว่างนิกายของฮินดู เอาเข้าจริงๆ แล้ว จึงอาจไม่ได้แตกต่างกันในแง่ความเชื่อ คำสอนหรือวิถีปฏิบัติมากนัก เป็นแต่มีครูอาจารย์ผู้สืบทอดมาต่างกัน หรือตีความอะไรที่ต่างกันเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง จะมีที่ต่างกันบ้างก็ไม่มาก

ศาสนาในกลุ่มอินเดียมักเป็นเช่นนี้ ต่างกับศาสนาเทวนิยมแบบอับราฮัม คือ ยูดาย คริสต์และอิสลาม ที่ความเชื่อเป็นแกนกลางของศาสนา และเป็นตัวแบ่งศาสนิกของแต่ละนิกาย

ชาวบ้านที่นับถือฮินดู ถ้าไม่ได้อยู่ในชุมชนทางศาสนาที่เข้มข้น (คือบางนิกายเป็นนิกายที่ผูกพันอยู่กับท้องถิ่นโดยเฉพาะ) ก็มักจะถือว่าตนนับถือศาสนาฮินดูไม่ได้แยกนิกายอะไร

ทั้งนี้ เราอาจต้องแบ่งนิกาย (โดยทางการ) ในศาสนาพราหมณ์ ออกเป็นสองลักษณะ อย่างแรก คือนิกายของศาสนิก อย่างที่สองคือนิกายของนักบวช (สันยาสี)

นิกายของศาสนิกชนทั่วๆ ไปมีไม่มากนัก แต่นิกายของนักบวชนั้นมีมากและแบ่งย่อยออกไปมากมายหลากหลาย ภายในตัวนิกายใหญ่อีกชั้นหนึ่ง

อันนี้แหละที่สะท้อนความเป็น “ประเพณี” ในความหมายของนิกายตามแบบอินเดีย ครูต้นประเพณีมีเยอะ นิกายก็มีมากตาม

หากถือตามแบบเรียนวิชาศาสนาที่เราเรียนๆ กัน (ซึ่งที่จริงไม่ได้อัพเดตข้อมูลความรู้เลย) มักกล่าวว่าศาสนาฮินดูมีสามนิกาย ไศวะคือนับถือพระศิวะ ไวษณวะนับถือพระวิษณุ และศากตะ นับถือศักติหรือเทวีเป็นใหญ่

แต่ที่จริงมีมากกว่านั้น

ที่ว่านับถือองค์ใดเป็นใหญ่นั้น มิได้แปลว่าไม่ได้นับถือเทพเจ้าพระองค์อื่นๆ นะครับ เพียงแต่โดยเทววิทยาของนิกายนั้นๆ ย่อมถือว่าพระเป็นเจ้าที่ตนนับถือเป็นพระเจ้าสูงสุด

เทพอื่นอาจดำรงอยู่ในฐานะบริวารบ้าง หรือเป็นภาคส่วนหนึ่งของพระองค์บ้าง

เช่น ไวษณวนิกายที่นับถือพระวิษณุนั้น ก็ถือว่าพระวิษณุเป็นพระเจ้าสูงสุด พระศิวะ พระคเณศ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นบริวาร และนับถือน้อยไปกว่าพระอวตารต่างๆ เช่น พระรามหรือพระกฤษณะเสียอีก เพราะถือว่าอวตารเหล่านี้เป็นภาคแท้ของพระเจ้า ผิดกับเทพอื่นๆ

ไวษณวนิกาย (เขียน “ไวษณพ” ก็ได้ เพราะ ว มักเปลี่ยนเป็น พ ในภาษาไทย ซึ่งมีฐานเสียงเดียวกัน) เช่นที่ว่านี้ ยังแบ่งย่อยออกไปอีกมาก นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สิบเอ็ดซึ่งรามานุชาจารย์ ปฐมาจารย์ก่อตั้งไวษณวนิกายอย่างมั่นคง จากนั้นไวษณวนิกายก็แยกไปตามคำสอนของอาจารย์ต่างๆ ในรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็น วัลลภาจารย์ นิมพารกาจารย์ ไจตันยาจารย์ ฯลฯ

นิกายเหล่านี้มีความแตกต่างกันนิดๆ หน่อยๆ ในเชิงปรัชญา เช่น ในไวษณวนิกายของรามานุชะ แบ่งนิกายย่อยออกเป็น เตงคไลกับวัทคไล สองนิกายนี้ต่างกันโดยหลักใหญ่คือ ฝ่ายหนึ่งถือว่าพระเจ้าย่อมพาสาวกไปสู่โมกษะตามน้ำพระทัยโดยไม่เกี่ยวกับการประพฤติของสาวก อีกฝ่ายว่าสาวกเองก็จะต้องปฏิบัติในสมควรด้วย เป็นต้น และใช้สัญลักษณ์ต่างกัน ฝ่ายนึงเขียนตัววีสีขาวที่หน้าผาก เส้นกลางสีเหลือง อีกฝ่ายสีแดง เป็นต้น

ความแตกต่างเช่นที่ว่า มักเป็นเรื่องของนักบวชและพราหมณ์หรือคนวรรณะสูงๆ ชาวบ้านก็ไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น ที่จริงจะว่าชาวบ้านไม่ได้สนใจนิกายก็ไม่เชิงครับ อย่างที่ผมบอกไว้แล้วว่า บางนิกายก็เกี่ยวพันกับพื้นที่หรือชุมชน คือเป็นเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย อย่างในพฤนทาวันใครๆ ก็นับถือพระกฤษณะ เพราะถือเป็นดินแดนของพระองค์

บางนิกายก็เป็นเรื่องของคนชั้นล่างโดยเฉพาะ เช่น นิกายวรการีในแคว้นมหาราษฏร์ นิกายนี้เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไปด้วยในตัว คือเน้นการยกเลิกชนชั้นวรรณะ และเน้นความรักในหมู่เพื่อนมนุษย์

นอกจากสามนิกายใหญ่เพราะมีศาสนิกมาก คือ ไวษณวนิกาย ไศวนิกาย ศากตะนิกาย ยังมีนิกายย่อยอื่นที่สำคัญ คือ คาณปตยนิกาย ซึ่งถือเอาพระคณปติหรือพระคเณศเป็นใหญ่ มีศูนย์กลางที่แคว้นมหาราษฏร์ เริ่มขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่ นิกายเกามาระ นับถือกุมารหรือพระขันทกุมาร และนิกายเสาระ ซึ่งนับถือพระอาทิตย์

ที่ผมบอกว่าข้อมูลเรื่องศาสนาไม่อัพเดตนั้น เพราะที่จริง นอกจากสามนิกายใหญ่ ยังมีนิกายที่สำคัญมากอีกนิกายหนึ่ง และอาจจะมีอิทธิพลต่อศาสนิกทั่วไปมากที่สุด นั่นคือนิกาย “สมารตะ”

“สมารตะ” มาจากคำ “สมฤติ” แปลว่า ทรงจำ จำได้ หมายถึงคัมภีร์ชั้นสองของศาสนาฮินดู เช่น พวกปุราณะและตำราศาสตร์ต่างๆ ส่วนคัมภีร์ชั้นแรกเรียกว่า ศรุติ แปลว่าได้ยินได้ฟังซึ่งหมายถึงพระเวทเท่านั้น เพราะถือว่าฤๅษีสมัยโบราณได้ยินได้ฟังจากพระเจ้าโดยตรง

นิกายสมารตะ โดยนามจึงหมายถึงนิกายที่ยอมรับทั้งคัมภีร์ขั้นศรุติและสมฤติ นิกายนี้เริ่มต้นขึ้นโดยอาทิศังกราจารย์ นักปรัชญาคนสำคัญชาวเกรละซึ่งมีชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ห้าถึงเจ็ดโดยประมาณ

ที่จริงว่าท่านตั้งนิกายก็ไม่เชิงครับ แต่หลักปรัชญาของท่านกลายเป็นหลักสำคัญของนิกายนี้ หลักของศังกราจารย์เรียกว่า “อไทฺวตเวทานตะ” หรือคำสอนที่ไม่เป็นทวิภาวะ

สรุปแบบย่อที่สุด หลักนี้ถือว่า ความจริงหรือสัจธรรมนั้นมีหนึ่งเดียวเรียกว่า “พรหมัน” ซึ่งมีสภาวะนามธรรม พ้นจากการพูดหรือคิดถึงได้ อาตมันย่อยๆ ก็มิได้มีอยู่จริง แต่เป็นหนึ่งเดียวกับพรหมัน(ผิดกับที่เคยสอนๆ กันว่า พราหมณ์สอนว่า อาตมันดุจสะเก็ดไฟออกมาจากกองไฟคือปรมาตมันอะไรงี้) โลกนี้คือสภาพมายามิได้มีอยู่จริง

ทีนี้โดยหลักของอไทฺวตะ ในเมื่อทุกสิ่งเป็นมายาแล้ว แม้แต่เทพเจ้าต่างๆ ก็เช่นกัน ย่อมมีเนื้อแท้เบื้องหลังเป็นสิ่งเดียวกัน คือพรหมันนี่เอง เทพเจ้าทั้งหลายจึงต่างกันในเบื้องหน้าเท่านั้น ข้างหลังไม่ต่าง

พรหมันมีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นสัจภาวะสูงสุดที่ปราศจากคุณสมบัติที่จะพูดถึงได้ทุกประการ (นิรคุณพรหมัน) อีกด้านคือพรหมันที่ปรากฏด้วยอำนาจมายาเป็นพระเจ้าสูงสุดที่มีคุณสมบัติต่างๆ (สคุณพรหมัน) แล้วปรากฏเป็นเทพทั้งปวงนี่เอง

ความคิดนี้เป็นความคิดทางศาสนาที่น่าจะมีอิทธิพลมากที่สุดในหมู่ศาสนิกพราหมณ์ฮินดู และเป็นความคิดที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งที่จริงแล้วเป็นความคิดของนิกายสมารตะนี่เอง มิใช่ของนิกายอื่นๆ

ดังนั้น ในเทวสถานและบ้านเรือนของชาวสมารตะเขาจึงไม่ประดิษฐานเทวรูปเทพเจ้าองค์เดียวโดดๆ แต่จะบูชาห้าองค์ เรียกว่าการบูชาแบบ “ปัญจายตนเทวตา” ครับ

การบูชาเทพแบบปัญจายตนเทวตานี่ เป็นเอกลักษณ์ของนิกายสมารตะโดยเฉพาะ ห้าองค์นี้ประกอบด้วย พระคเณศ พระเทวี (หมายถึงพระเทวีรวมๆ) พระวิษณุ พระศิวะ และพระสุริยเทพ (บางทีก็เป็นพระขันทกุมารหรือพระพรหมา)

เมื่อจะบูชาการจัดวางจะให้เทวดาที่ศาสนิกนับถือเป็นพิเศษอยู่ตรงกลาง องค์อื่นๆ อยู่รอบๆ ตามทิศที่กำหนด เทพตรงกลางนี้เปลี่ยนแปลงได้ตามความศรัทธา พระศิวะอยู่ตรงกลางเรียก ศิวปัญจายตนะ พระวิษณุอยู่กลางเรียก วิษณุปัญจายตนะ เป็นต้น

ดังนั้น ระบบการบูชาปัญจายตนะนี้ จริงๆ คือความพยายามจะรวมเอานิกายต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันของท่านศังกราจารย์นี่เอง และนอกจากนี้ ยังถือว่าบูชาทั้งห้าองค์ก็เท่ากับบูชาเทวดาทั้งหมดของฮินดูแล้วนั่นเอง เพราะทั้งห้าสะท้อนนิกายสำคัญทั้งห้า ธาตุทั้งห้าและสรรพสิ่งทั้งหมดของจักรวาล

เทวสถานของชาวอินเดียในเมืองไทยทั้งวัดวิษณุ ฮินดูธรรมสภา ที่ยานนาวา และวัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช เสาชิงช้าก็ล้วนเป็นวัดของนิกายสมารตะครับ ไม่ใช่วัดของนิกายพระวิษณุอย่างที่เคยมีข้อมูลออกมา เพราะแม้พระวิษณุจะอยู่ตรงกลางแท่นประดิษฐานเทพเจ้า แต่ก็จะเห็นว่ามีเทพเจ้าอื่นๆ อยู่ในแท่นเดียวกันด้วย

ที่สำคัญ เราจะเห็นการประดิษฐานแบบปัญจายตนเทวตาตามแบบแผนที่กำหนด ที่เทวสถานย่อยๆ เช่น ซุ้มพระศิวลึงค์และพระสรัสวตีที่เทพมณเฑียร โดยเขาเอาพระศิวลึงค์และพระสรัสวตีไว้ตรงกลาง อีกสี่องค์อยู่โดยรอบ

และคำสอนส่วนมากก็อิงตามหลักของท่านศังกราจารย์

นิกายสมารตะสำคัญถึงปานนี้ แบบเรียนและข้อมูลความรู้ทั้งหลายควรปรับปรุงเสียที






ปรากฏการณ์ “องค์น้อง” เทพเจ้าฮินดูปางเบบี๋ กับคติการสร้างเทวรูปของอินเดีย
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง  
ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๖-๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๐

ไม่นานนี้ผมเพิ่งได้ยินคำแปลกๆ ที่เริ่มพูดถึงกันมากขึ้นในแวดวงคนที่สนใจเรื่องเทวรูปอย่างคำว่า “องค์น้อง”

ครั้งแรกที่ได้ยินก็คิดว่ามียี่เกที่ไหน เรียกกันเจ้าพี่เจ้าน้อง ที่ไหนได้เขาเอาไว้เรียกเทวรูปพระพิฆเนศวร์ที่ออกแบบมาให้ดูเป็นเด็กน้อยทั้งร่างกายและอิริยาบถ แต่งองค์ทรงเครื่องระยิบระยับราวกับหางเครื่องก็มิปาน

นอกจากเทวรูปพระพิฆเนศวร์แล้ว “องค์น้อง” ก็เริ่มมีเทพอื่นๆ ด้วย เช่น พระลักษมี พระศิวะ หรือแม้แต่เทพเจ้าในภาคดุร้ายอย่างเจ้าแม่กาลี

แอบฉงนว่าเดี๋ยวนี้บ้านเรานับญาติกับเทพแบบกลับตาลปัตร คือเดิมพยายามจะให้มาแทนเจ้าปู่เจ้าย่า ก็เรียกปู่เรียกย่า มาคราวนี้ลดอาวุโสเทพให้เทพมาเป็น “น้อง” ซะงั้น เกิดมาเพิ่งเคยเห็นนี่แหละครับ

บางคนก็เรียกว่าเทวรูปเหล่านี้รวมๆ ว่า “ปางเบบี๋” เข้าใจว่าเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ และชนชั้นกลางในเมือง เพราะรูปลักษณ์โดนใจ น่ารัก ดูทันสมัยและเข้าถึงง่าย

ผมเข้าใจเอาเองว่า แต่เดิมก่อนที่เมืองไทยเราจะพัฒนารูปแบบสารพัดเทพเบบี๋ขึ้นมา ผู้สร้างเทวรูปเหล่านี้คงได้เดินทางไปอินเดียหรืออาจพบว่า ในอินเดียนั้นมีเทวรูปพระคเณศหลากหลายรูปแบบมาก รวมทั้งแบบที่เป็นเด็กๆ ด้วย ซึ่งมีมากกว่าแบบอื่นทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี

คนสร้างเขาคงคิดว่า แขกทำได้เราก็น่าจะเอามาทำบ้างได้ แถมดีด้วยเพราะลูกเทพตกยุคไปแล้ว ใช้องค์น้องนี่แหละ คล้ายๆ เดิม แต่ดูดีกว่า วงกว้างกว่า

เรื่องนี้ผมมีข้อสังเกตสองประการเกี่ยวกับการสร้างเทวรูปของฮินดู เพื่อจะสะท้อนหรือมองเรื่องนี้จากโลกขนบ

ประการแรก เราอาจต้องแบ่งเทวรูปออกเป็นสองลักษณะ คือเทวรูปสำหรับสักการบูชา และเทวรูปชั่วคราวสำหรับเทศกาลหรือเทวรูปในฐานะงานศิลปะหรือของตกแต่งบ้าน

เทวรูปพระพิฆเนศวร์สารพัดรูปแบบในอินเดียที่ดูแหวกขนบการสร้างโดยปกตินั้น เกือบทั้งหมดเป็นอย่างหลังคือสร้างขึ้นในเทศกาลชั่วคราว ไม่ใช่ของคงทนถาวร ในงานแบบนี้คนอินเดียชอบประกวดประชันไอเดียกันด้วย จึงผลิตออกมาอย่างที่เห็น เช่น เป็นยอดมนุษย์ในภาพยนตร์บ้าง หรือมีรูปแบบแปลกๆ

แต่เขาก็ไม่ได้เก็บรักษาไว้ตลอดไปครับ หมดเทศกาลบูชาแล้วก็จำเริญท่านลงทะเลแม่น้ำลำคลองไปหมด เทวรูปที่เหลืออยู่ก็ล้วนเทวรูปตามขนบเสียส่วนใหญ่ซึ่งเขาสร้างไว้สำหรับเทวสถานหรือบูชาในบ้านเรือน

กับอีกแบบหนึ่ง คือเทวรูปสำหรับตกแต่งบ้านหรืออยู่ในฐานะ “งานศิลปะ” อันนี้เขาก็ไม่ได้เอาไว้บูชาเหมือนกัน ใครเอาไปตกแต่งบ้านก็คิดแค่ว่าเป็นงานตกแต่งเพื่อสิริมงคล ส่วนศิลปินจะออกแบบอย่างไรก็เป็นเรื่องไอเดียทางศิลปะเหมือนกัน

ฉะนั้น สรุปแบบง่ายๆ เลยว่า โดยความเชื่อในอินเดียนั้น ถ้าจะเป็นเทวรูปสำหรับสักการบูชาเป็นประจำ หรือประดิษฐานในเทวสถานก็มักสร้างตามขนบประเพณี ส่วนเทวรูปที่สร้างชั่วคราว (เท่าที่เห็นคือพระคเณศ) เทวรูปในฐานะงานศิลปะหรือสิ่งตกแต่งจะแหวกจากขนบไปก็มีบ้าง

ข้อสังเกตประการที่สองของผมคือ นอกจากเทวรูปพระคเณศนั้น เทพเจ้าพระองค์อื่นๆ ไม่ว่าจะสร้างชั่วคราวหรือถาวรก็แทบไม่มีปางเบบี๋หรือทำในรูปลักษณ์เด็กๆ น่ารักกุ๊กกิ๊กเลย ผิดกับที่สร้างในเมืองไทย

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เนื่องด้วยการสร้างเทวรูปมี “ปรัชญา” และแนวคิดอยู่เบื้องหลังมาก (ที่จริงพอๆ หรืออาจมากกว่าพระพุทธรูปเสียอีก)

เพราะเทวรูปไม่ใช่รูปมนุษย์ แต่เป็นการแสดง “ภาวะ” ของเทพ ซึ่งเทพแต่ละองค์นั้นมีภาวะที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะมีบางส่วนร่วมกัน เช่น เทวรูปตามขนบทุกพระองค์ไม่มี “กล้ามเนื้อ” อย่างรูปเหมือนบุคคลแม้จะมีสัดส่วนสรีระถูกต้อง เพราะเทพเจ้าไม่ได้มีเนื้อหนังอย่างมนุษย์

เทวรูปเทวีแทบทุกองค์ล้วนมีพระถันกลมโต มีเอวบางและสะโพกผายใหญ่ เนื่องเพราะเป็นสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์แล้ว ต้องแสดงความงามตามอุดมคติอันแฝงไว้ด้วย “กามะ” คือภาวะแห่งความรื่นรมย์ของโลกียสุขและเพศรสอันเป็นด้านของอิตถีภาพซึ่งสูงส่งอย่างยิ่ง

เทพเจ้าบางพระองค์ก็มีภาวะดุร้าย คือเป็นการสำแดงด้านรุนแรงของธรรมชาติ เทวรูปประเภท “อุครมูรติ” หรือเทวรูปดุร้ายนี้ก็ย่อมต้องสร้างให้มีความดุร้ายด้วย

ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังรวมถึงภาวะต่างๆ ของเทพนี้เอง จึงทำให้มีการกำหนดรูปแบบการสร้างของเทพแต่ละองค์ไว้ในหมวดคัมภีร์ที่เรียกว่า “ศิลปศาสตร์”


 

ผมเพิ่งได้หนังสือเล่มน้อยชื่อ Hindu Iconography : A short treatise เขียนโดยท่านสวามีหรรษานันทะ แห่ง Ramakrishna Math เมืองบังกะลอร์ เล่มนี้สรุปคติความเชื่อเกี่ยวกับสร้างและการบูชาเทวรูปฮินดูไว้พอสังเขป อ่านง่าย

ในหนังสือนี้บอกว่า คัมภีร์ศิลปะศาสตร์นั้นมีมากมายหลายเล่ม เช่น มานสาระ, ศิลปรัตนะ, พฤหัตสัมหิตา ฯลฯ

ใครชอบเรื่องพวกนี้ แต่อยากอ่านในภาษาไทย มีงานวิจัยที่น่าสนใจของอาจารย์เชษฐ์ ติงสัญชลี แห่งคณะโบราณคดี ว่าด้วยเรื่องการสร้างเทวรูปกับคัมภีร์ศิลปศาสตร์ตีพิมพ์ออกมาแล้ว ลองหากันดู (ผมไม่ได้ค่าโฆษณาแต่อย่างใด)

ในคัมภีร์เหล่านี้ จำแนกท่าทาง รูปแบบของเครื่องแต่งกาย อาวุธ สัดส่วนไว้ละเอียดมากน้อยต่างกัน

ที่สำคัญคัมภีร์ศิลปศาสตร์ได้กำหนดระบบ “ตาลมาน” หรือระบบสัดส่วนในการสร้างเทวรูปไว้

ตาล หมายถึงสัดส่วนพื้นฐาน (คำนี้ใช้ในวงการดนตรีอินเดียด้วยเมื่อพูดถึงสัดส่วนของ “จังหวะ”) ในทางประติมากรรม คือ “หนึ่งฝ่ามือ” โดยประมาณ วัดจากปลายนิ้วกลางถึงโคนมือ หรือจากไรผมถึงปลายคางบนใบหน้า

หนึ่งตาล หากแบ่งย่อยออกเป็นสิบสองส่วน เรียกส่วนย่อยนี้ว่า “องฺคุละ” หรือหนึ่งข้อนิ้ว (ช่างไทยเรียก องคุลี)

ในคัมภีร์พฤหัตสัมหิตาแบ่งจัดประเภทมนุษย์ตามความสูงไว้ห้าจำพวก นอกจากนี้ ยังแบ่งตาลหรือความสูงของเทพ ยักษ์ อสูร สัตว์รวมไว้ถึงสิบหกแบบ

จำพวกภูตหรือ “คณะ” บริวารพระศิวะสูงสามตาล พระคณปติหรือพระคเณศสูงห้าหรือหกตาล ซึ่งใกล้เคียงกับ คนค่อม วามนาวตาร (พราหมณ์แคระ) และเด็กชาย (สูงห้าตาล)

พระขันธกุมารสูงหกตาละ ฤษีและมนุษย์ชายหญิงโดยทั่วไปสูงแปดตาละ เทวดาสำคัญ เช่น พระลักษมี พระปารวตี พระพรหมา พระศิวะและพระวิษณุสูงสิบตาละ

สูงไปกว่านี้คือสิบเอ็ดถึงสิบหกตาละ มักเป็นเทวดาในภาคดุร้าย เช่น พระนรสิงห์ มหิษาสุรมรทินี หรือตัวร้ายอย่างทศกัณฐ์

อันนี้ไม่ได้แปลว่า เทวดาเหล่านี้จะมีความสูงเช่นนี้จริงๆ นะครับ แต่เป็น “สัดส่วน” ในทางศิลปะเมื่อจะสร้างเทวรูป ให้สะท้อนภาวะและวัยของเทพตามคติความเชื่อ

จึงเห็นได้ว่า เทวดาที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีสัดส่วนร่างกายสูงกว่าเทวดาที่อยู่ในพวกเดียวกับยักษ์หรือคณะ หรือสะท้อนภาวะ “เด็ก” เช่น พระคเณศและพระขันธกุมาร

ส่วนเทพเจ้าหรืออมนุษย์ที่มีอำนาจมากและดุร้ายนั้น เขาจึงกำหนดให้มีร่างกายใหญ่โตกว่าปกติเพื่อสะท้อนภาวะนี้

ถามว่าในทางปฏิบัติ ช่างฝีมือสร้างเทวรูปตรงตามคัมภีร์เลยไหม ก็ไม่ขนาดนั้นครับ แต่อย่างน้อยที่สุดก็พยายามจะให้มีสัดส่วนรูปแบบตามที่สืบกันมาในขนบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทวรูปในเทวสถาน จะมีแปลกไปบ้างก็นิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่เพราะช่างอินเดียไม่มีความคิดสร้างสรรค์นะครับ แต่ความงามตามสูตรที่สร้างกันมานั้นมันก็ลงตัวพอสมควรแล้ว

แถมทำพระให้คนเขากราบเขาไหว้ ทำตามขนบน่าจะปลอดภัยกว่า

ในศิลปศาสตร์ระบุว่า ถ้าสร้างเทวรูปตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในคัมภีร์เทวรูปก็จะ “ศักดิ์สิทธิ์” บางคัมภีร์หนักหน่อยก็แสดงโทษว่าถ้าทำพระประติมาไม่ตรงช่างจะได้รับทุกข์ภัยต่างๆ

ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องความเชื่อ ตัวใครตัวมันละกันครับ

ย้อนกลับมาเรื่องเทวปางเบบี๋กัน ผมยกเรื่องคัมภีร์ศิลปศาสตร์มาเพื่อจะบอกเพียงว่า เทวรูปสำหรับสักการบูชาในบ้านเรือนหรือเทวสถานนั้นชาวฮินดูมีระบบความเชื่ออยู่เบื้องหลัง จึงมักสร้างตามขนบไม่ได้สร้างอย่างแหวกแนว ผิดกับในรูปแบบงานศิลปะหรือของโชว์

โดยความเชื่อ เทวรูปของเทพแต่ละองค์มีภาวะต่างกัน เอาไปทำน่ารักๆ ทั้งที่เป็น “อุคระ” (ดุร้าย) ก็เสียภาวะหมด

อีกทั้งในอินเดียยังไม่ได้มีการตลาดวัตถุมงคลใหญ่โตมโหฬารเท่าบ้านเรา การสร้างรูปแบบใหม่ๆ ในทางเทวพาณิชย์จึงน้อยกว่าเรามาก

ส่วนตัวผมยังยืนยันท่าทีเหมือนเดิมครับ ใครอยากจะทำอะไรก็ทำไป เป็นสิทธิของท่าน แต่ความรู้ของคนโบราณนั้นมีอยู่และควรรู้เสียด้วย

ส่วนรู้แล้วจะยังไงต่อก็ตามแต่ใจเถิด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 ธันวาคม 2560 13:22:44 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5446


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 23 พฤษภาคม 2561 11:18:16 »


ภาพหม้อมีนม หรือหม้ออุขา (Ukha) และอุปกรณ์อื่นๆ เช่นดินปั้นรูปหัวสัตว์ ซึ่งใช้ในพิธี “อัคนิจยนะ”หรือ อติราตรัมของอินเดีย
กับภาพหม้อมีนมซึ่งขุดค้นพบที่หนองหญ้าไซ ประเทศไทย
ที่มา : thapos.in/index.php/page/past_event และ www.suphan.biz/nongrajwat.html

“หม้อมีนม” ในอินเดีย-ไทย
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง 
ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๕-๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙

ในช่วงที่มีการจัดแสดงนิทรรศการพิเศษที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรื่อง “เทวสตรี” มีโบราณวัตถุหลายอย่างที่ผมไปชมแล้วชอบใจ

ที่ออกจะประทับใจมากกว่าอย่างอื่น คือ หม้อดินเผาขนาดใหญ่ใบหนึ่ง ขุดค้นพบที่แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เป็นของใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว ๓,๘๐๐-๔,๐๐๐ ปี

ตอนที่ขุดพบหม้อใบนี้ มันถูกทุบจนแหลกปูรองใต้หลุมศพชายคนหนึ่ง นักโบราณคดีก็อุตสาหะต่อมันจนเป็นหม้อบริบูรณ์

ที่โดดเด่นกว่าความเก่าแก่ คือมันเป็นหม้อที่ปั้น “เต้านม” ไว้ด้านข้างถึงสี่เต้า และมีลายรูปก้นหอยอีกลายหนึ่ง

นักโบราณคดีท่านจึงตีความว่า หม้อในพิธีกรรมชนิดนี้ น่าจะสื่อถึงเทวสตรี และลายก้นหอยอาจหมายถึงการหมุนเวียน มันจึงถูกนำไปรองก้นหลุมศพ ดุจชายคนนั้นได้กลับไปสู่ครรภ์ของเทพมารดรอีกครั้ง

แล้วหม้อมีนมใบดังกล่าวเพิ่งปรากฏในสื่อไม่นานมานี้เอง [/b]





ผมชอบหม้อมีนมใบนี้บอกไม่ถูกครับ แต่รู้สึกตงิดๆ เหมือนว่าเคยเห็นหม้อที่มีเต้านมคล้ายๆแบบนี้ที่ไหน ค้นไปค้นมาก็เจอครับ คือที่อินเดียมีหม้อเต้านมคล้ายกับที่มีในบ้านเราเลย ที่สำคัญยังมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน หม้อมีเต้านมของอินเดียชนิดนี้ เรียกว่าหม้อ “อุขา” (Ukha) เป็นหม้อดินเผาที่มีเต้านมปั้นติดไว้ด้านข้าง อุขานั้นมีหลากรูปแบบ แต่มีอยู่ชนิดหนึ่งที่มีความคล้ายคลึงกับที่พบในบ้านเรา ต่างกันที่ของเขามีเต้านมแปดเต้า ของเราสี่

คำว่า “อุขา” ในสมัยโบราณหมายถึงหม้อที่ใช้เตรียมอาหาร ปัจจุบันเป็นหม้อที่มีใช้ในพิธี “อัคนิจยนะ” (Agnicayana) หมายถึง “การตั้งแท่นบูชาไฟ” หรือเรียกอีกอย่างว่าพิธี “อติราตรัม” นักภารตวิทยาเชื่อว่าเป็นพิธีในพระเวทที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ยังมีการปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน บางท่านเชื่อว่าพิธีนี้น่าจะมีอายุถึงราว ๓,๐๐๐ ปีขึ้นไป

รายละเอียดของพิธีมีอยู่ในคัมภีร์กฤษณยชุรเวท (ยชุรเวทดำ) ซึ่งแพร่หลายในอินเดียภาคใต้ และมีพราหมณ์เพียงพวกเดียวที่ยังทำได้ คือพราหมณ์ “นัมพุทิริ” (Nambudiri) ซึ่งมีถิ่นพำนักในรัฐเกราละ

อัคนิจยนะกินเวลาสิบกว่าวัน โดยก่อนถึงพิธี พวกพราหมณ์จะต้องสร้างข้าวของเครื่องใช้ในพิธีหลายสิบอย่าง นอกจากหม้ออุขาแล้ว ยังมีของพิเศษที่สื่อถึง “การบูชายัญ” เช่น เครื่องปั้นดินเผารูปศีรษะแพะ ม้า และ “มนุษย์ผู้หญิง”

แสดงว่าในอดีต พิธีนี้เขาบูชายัญกันจริงๆ ในปัจจุบันยังต้องเอาแพะ ม้าและผู้หญิงหนึ่งคนเข้าไปในพิธี พอให้เป็นสัญลักษณ์ แต่ไม่มีการบูชายัญกันอีกแล้ว เพราะพราหมณ์นัมพุทิรีกลายเป็นนักมังสวิรัติ และละเลิกการฆ่า

น่าสนใจนะครับว่า พิธีบูชายัญของพราหมณ์ผู้ชายบูชายัญผู้หญิงได้ (เท่าที่เหลืออยู่มีเพียงอันนี้อันเดียว) แต่พิธีบูชายัญของเทวีหรือในความเชื่อชาวบ้าน ล้วนแต่บูชายัญผู้ชายหรือสัตว์ตัวผู้ทั้งนั้น และแพร่หลายกว่า

พิธีนี้มีส่วนสำคัญสองอย่างคือการบูชาไฟ และการ “คั้นน้ำโสม” เพื่อถวายเทพเจ้า แต่แท่นบูชาไฟในอัคนิจยนะพิเศษกว่าพิธีบูชาไฟอื่นทั้งหมดในศาสนาฮินดู คือจะต้องก่ออิฐนับพันก้อนเป็นรูป “สุปรรณ” (ครุฑ) หรือหมายถึงนกเหยี่ยวก็ได้ และบูชาไฟบนแท่นรูปนกนั้น



ถาดทอดขนม”อุนนิอัปปัม” หรือขนมครกแขก
ที่มา : http://fxcuisine.com/Default.asp?language=2&Display=140&resolution=high

ผมเล่าเรื่องนี้ให้ อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ฟัง ท่านก็วาบขึ้นมาว่า เออๆ ฟังดูแล้วนึกถึงนกฟีนิกส์หรือนกอมตะ ที่จะเผาตัวเองในเพลิงแล้วกลับมีชีวิตใหม่

น่าสนใจ น่าสนใจ

บทบาทของหม้ออุขาชนิดแปดเต้า คือจะทำหน้าที่บรรจุกองไฟซึ่งจุดในที่แรกไปยังแท่นบูชา

ท่านอธิบายว่าอาจเพราะสตรี คือ “พลัง” หรือ “ศักติ” อันมี “ความร้อน”หรือเดชอยู่ภายใน จึงใช้หม้ออุขาบรรจุไฟ ส่วนอุขาชนิดอื่นๆ ก็ใช้บรรจุของต่างๆ ในพิธี

นอกจากหม้ออุขาแล้ว ในสัญลักษณ์ของศาสนาฮินดู “เต้านม” ยังแฝงอยู่ในรูป “หม้อน้ำ” ชนิดต่างๆ ที่ใช้ ในพิธีกรรม เช่น “หม้อกลัศ”หรือ “พระเต้า”

สังเกตในบ้านเราก็ได้นะครับ ถ้าเป็นพิธีพราหมณ์นอกจากจะใช้สังข์แล้ว ก็ใช้หม้อปากแคบหรือก้นแคบบรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น ไม่ใช้ภาชนะทรงอย่างขันหรือครอบน้ำมนตร์เช่นในพิธีของพุทธ

ที่ต้องใช้อย่างนี้ ลึกๆ ก็เพราะน่าจะเป็นทรงของภาชนะที่สะท้อน “เต้านม” ของสตรีนั่นแล

อะไรจะศักดิ์สิทธิ์ไปกว่า “เต้านมของแม่” ล่ะครับ เพราะในนั้น บรรจุ “น้ำอมฤต” เอาไว้ ที่พอเราดื่มกินก็เติบโตมีชีวิตรอดมาได้

ดังนั้น ในเทวลักษณะของพระเทวีทั้งหลาย เขาถึงปั้นให้มีพระถันเต่งตึงใหญ่โต และมักเปลือยถันเสียด้วย เพราะมันเป็นสิ่งแสดงถึงความเป็นเทพมารดรผู้หล่อเลี้ยงชีวิตทั้งหลาย และเป็นความงามพึงปรารถนาที่ชักนำให้เกิด “กามะ” อันเป็นแรงขับแรกของสกลจักรวาล อันจะก่อเกิดชีวิต

พิธีอัคนิจยนะจะจบลงโดยการเผาปะรำพิธีทั้งหมด ครั้งล่าสุดที่มีการประกอบพิธีคือในปี ๒๐๑๓ แต่ก่อนหน้านั้น จัดขึ้นในปี ๑๙๗๕ ซึ่งเดิมคิดกันว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว และทั้งสองครั้งได้มีการถ่ายภาพยนตร์ไว้เพื่อการศึกษาด้วย

หม้อมีนมที่หนองหญ้าไซกับหม้ออุขาของอินเดียอาจไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยๆ การพบว่ามีหม้อมีนมในอารยธรรมอื่นที่ยังใช้อยู่ก็คงช่วยให้เราเกิดจินตนาการและพอจะเชื่อมโยงความหมายของสองหม้อนี้เข้าด้วยได้กระมัง

นอกจากเรื่องหม้อมีนมแล้ว ผมยังมีเรื่องสนุกๆ ที่พอจะเชื่อมโยงกับบ้านเราได้อีกเรื่อง คือในรัฐเกราละ มีขนมที่เรียกว่า อุนนิอัปปัม (Unni Uppam) หรือบางท้องถิ่นเรียก ปัดดุ (Paddu)

“อัปปัม” หมายถึงขนมที่ทำด้วยแป้งข้าวซึ่งมีหลายรูปแบบ คำอินเดียใต้คำนี้คนปักษ์ใต้บ้านผมรู้จักกันดี เพราะเรามีขนมที่รับมาจากคนอินเดียที่มาทำเหมืองแร่ตั้งแต่ก่อน แต่เราเรียกเพี้ยนไปเป็น อัปโป๊ง-อาโป้ง หน้าตาส่วนผสมก็คล้ายกัน ส่วนอุนนิ แปลว่า “เล็ก” ครับ

เจ้าอุนนิอัปปัมนี่คือ “ขนมครก” แขก เขาใช้แป้งข้าวเจ้า กล้วย น้ำตาลอ้อย มะพร้าวขูด บดรวมกันแล้วหยอดลงในพิมพ์โลหะขนาดเล็กเป็นหลุมๆ ทอดด้วยน้ำมันมะพร้าวหรือเนย พอสุกก็เอาสองฝามาประกบกัน

ผมเชื่อว่านี่คือพ่อแม่ของขนมครกของเราครับ เพราะของเขามีมานานมากแล้ว แต่จะเข้ามาตอนไหนไม่ทราบได้ ทราบแต่ขนมครกเราน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

ที่สำคัญคือ บางครั้งเจ้าถาดทอดขนมอุนนิอัปปัมนี้ เค้าจะทำเป็นรูปเต้านมครับ คือด้านนูนของหลุมก็แต่งให้เป็นรูปเต้านมเสีย ถาดนึงมีห้าหลุม มีเต้านมสี่เต้า ตรงกลางเขาไม่ทำ

เห็นแล้วก็ชวนคิดไปยันหม้ออุขาในความหมายเดิม หรืออาจตกทอดเล็ดลอดมาในครัวเรือนบ้างกระมัง

เขียนเรื่องหม้อมีนมอีท่าไหน มาออกเรื่องขนมครกได้ก็ไม่รู้

ยุคนี้ยุคเชื่อมโยงครับ ขนาดทำอะไรไม่ผิดกฎหมายยังเชื่อมโยงไปให้ผิดจนได้

เขียนเรื่องผี พราหมณ์ พุทธ ทำไมจะเชื่อมโยงไปการเมืองไม่ได้ (ฮา)






เรื่องวัวๆ ควายๆ
ผู้เขียน : อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง 
ตีพิมพ์ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๒-๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๙

ดังที่เคยกล่าวว่า ฮินดูนั้นยกย่องวัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ โดยปัจจัยทางสังคมการเมือง ทั้งที่แต่เดิมก็ฆ่าเพื่อบูชายัญและกินเนื้อวัว ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องต้องห้ามร้ายแรง

แต่ “ควาย” แม้จะคล้ายวัวกลับไม่ได้รับสถานภาพพิเศษในสังคมอินเดีย ทั้งที่เป็นสังคมเกษตรกรรมเหมือนบ้านเรา การฆ่าและกินควายจึงไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงอะไรในสังคมฮินดู

ลองสังเกตในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของเรานะครับ ทั้งที่บ้านเราทำนาโดยใช้ควาย เพราะควายเป็นสัตว์ใช้งานสำหรับที่ลุ่มตามภูมิประเทศของเรา แต่เรากลับไม่เอาควายไปใช้ในพระราชพิธีสำคัญนี้ ทั้งที่ชาวบ้านแรกนาหรือทำนาตาแฮกกันเองแบบชาวบ้านก็ใช้ควาย

อาจเพราะวัวตัว “ขาวๆ” (ต้องขาวด้วยนะครับ) เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์หรือวัฒนธรรมฮินดู แม้พระราชพิธีนี้จะมีรากเหง้าของเราเองคือศาสนาผี (ความเชื่อเรื่องขวัญ) แต่การใช้วัวไถนาเป็นการสร้างภาพความเป็นศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย ซึ่งทำให้พิธีพื้นเมืองของเราดูแกรนด์ขึ้นมา เหมาะจะเป็นพระราชพิธีหรือพิธีหลวง [/b]



ส่วนควายตัว “ดำๆ” นั้นเป็นของชาวบ้านโดยแท้ ในหนังสือ Buffalo Nationalism : A Critique of Spiritual Fascism ของ Kancha Ilaiah บอกว่า ในอินเดียโบราณควายสีดำนั้นเหมือนกับพวกฑราวิฑหรือชนพื้นเมืองที่มีผิวดำ ด้วยเหตุนี้ควายจึงไม่อาจเป็น “ยัชญปศุ” หรือสัตว์เลี้ยงสำหรับการบูชายัญในระบบพระเวทของชาวอารยันได้

คัมภีร์พระเวทจึงไม่มีการให้ความสำคัญกับควายแต่อย่างใด เทพในพระเวทไม่เสวยควาย ไม่โปรดเนื้อควาย นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ผมว่าที่จริงก็เพราะควายเป็นสัตว์ในที่ลุ่มโดยเฉพาะในเขตศูนย์สูตรที่มีน้ำมาก เช่น ในอินเดียภาคตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งชาวอารยันไม่คุ้นเคย

กินวัวจึงบาปหนัก แต่กินควายกลับไม่บาปหนักซะงั้น

ในยุคสมัยที่เทวตำนานแพร่หลาย ควายจึงกลายเป็นตัวร้ายหรือสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย เช่นตำนานพระแม่ทุรคาทรงสิงห์หรือเสือ เสด็จไปปราบอสูรร้ายคือ “มหิษาสูร” หรืออสูรควายซึ่งเทวดาทั้งหลายก็ปราบลงไม่ได้

พระนางจึงได้ชื่อว่า “มหิษาสุรมรทินี” พระแม่ผู้ปราบอสูรควาย

พระยมในเทวตำนานของแขกก็ทรงควาย พระองค์เป็นเทพแห่งความตายและผู้ใช้ชีวิตในปรโลก

แม้ว่า ควายอาจไม่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวอารยัน แต่สำหรับศาสนา “ผี” ของอินเดีย (ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นฮินดูแบบพื้นบ้าน) และชาวบ้านนั้นต่างออกไปมาก

ในบรรดาสัตว์บูชายัญในปัจจุบัน ควายนั้นถือว่าเป็นสัตว์บูชายัญที่สำคัญที่สุด

ชาวบ้านโดยเฉพาะในภาคใต้ ภาคตะวันตก และเขตพังคละ (เบงคอล) ทางตะวันออก รวมทั้งเนปาลซึ่งล้วนแต่เป็นเขตแดนเดิมอันเข้มแข็งของศาสนาผีพื้นเมืองอินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในรูป ศาสนา “เจ้าแม่” หรือ ศักตินิกาย) ต่างใช้ควายตัวผู้บูชายัญเจ้าแม่ โดยเฉพาะปางที่ดุร้าย เช่น ทุรคา กาลี และเจ้าแม่พื้นบ้านอื่นๆ

น่าสนใจว่าพวกเราชาวอุษาคเนย์ก็ฆ่าควายถวายผีด้วย เช่น ในลาวใต้และในภาคเหนือของไทย ในพม่าเองก็มีผีนัตเจ้าแม่หัวควายที่คนเคารพมากอยู่ตนหนึ่ง

“คนกับควาย” จึงผูกพันกันลึกซึ้ง ในภาพเขียนสีโบราณก่อนประวัติศาสตร์ หลายครั้งก็ปรากฏภาพคนกับควาย หรือแม้แต่การใช้ “เสนง” (เขาควาย) ในพิธีกรรมชาวบ้าน ขณะที่พราหมณ์ใช้สังข์

ใช้ควายทำมาหากิน ใช้แรงงาน นับถือเคารพ บูชายัญและนำมาปันกันกินด้วย

ศีลธรรมแบบก่อนประวัติศาสตร์ สถานะของสัตว์เลี้ยงก็เป็นงี้แหละครับ ใช้งาน รักใคร่ แต่ก็ฆ่าและกิน เพราะการฆ่าในโลกโบราณคือหนทางนำพืชพันธุ์ไปสู่ความมืดเพื่อมีชีวิตใหม่ “ไม่มีการตายก็ไม่มีการเกิด” ส่วนการกินนั้นคือการหลอมรวมของผู้กินและสิ่งที่กินเข้าไป “ชีวิตหนึ่งประสานต่อเติมอีกชีวิตหนึ่ง”

ทั้งฆ่าและกินไม่ใช่เรื่องปากท้องเท่านั้น แต่เป็นพิธีกรรมด้วย

ผิดกับ “วัว” ซึ่งฮินดูค่อยๆ สร้างศีลธรรมอีกแบบมาครอบไว้แล้วตั้งแต่ยุคกลาง เป็นศีลธรรมระบบอารยธรรมหรือศีลธรรมแบบศาสนา ไม่ใช่แบบดึกดำบรรพ์ กล่าวคือ ศีลธรรมที่ใช้หลักคิดเมตตาธรรมและความสงสาร วัวจึงต้องได้รับการพิทักษ์รักษา

รูปและตำนานพระแม่มหิษาสุรทรทินี หรือเจ้าแม่ฆ่าควาย สำหรับผมคือการจำลองความสัมพันธ์ของควายและเจ้าแม่ รวมทั้งการบูชายัญควายเพื่อเจ้าแม่เอาไว้มากกว่าอย่างอื่น

ที่จริงผมยังคิดไกลไปอีกนะครับว่า ควายในพิธีบูชายัญคงเอาไว้แทน “คน” อีกด้วย อย่างตำนานเลี้ยงดงฆ่าควายถวายปู่แสะย่าแสะในเชียงใหม่ และตำนานในอินเดียเอง

อินเดีย มี “เทพควาย” ซึ่งชาวบ้านโดยเฉพาะชาวนาชาวสวนและผู้เลี้ยงควายนับถือ เรียกว่า มหโสพา (อ่าน มะ โซบา หรือมุโซบา) (Mhasoba) ซึ่ง Mhaso มาจากคำว่า มหิษา หรือมหิสาที่แปลว่าควาย ส่วน Ba เป็นคำลงท้าย ใช้เรียก ผู้ชายหรือพ่อ ในภาษามาราฐี

มหโสพาเป็นที่นับถือโดยทั่วไปในรัฐมหาราษฎร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียเรื่อยไปถึงทางภาคใต้บางส่วน รูปเคารพมักทำอย่างง่ายๆ เช่น ใช้หิน หรือรูปปั้นง่ายๆ วางไว้ตามแนวป่าหรือริมสวน

ในช่วงหลังโรคระบาดสงบลง มหโสพาจะได้รับการเซ่นสรวงจากชาวบ้านด้วยพืชผลต่างๆ ถือกันว่าเธอเป็นหัวหน้าภูตผีในหมู่บ้าน

มหโสพาเป็นตัวอย่างของเทพ หรือที่จริง “ผี” ที่ถูกกลืนเข้าระบบฮินดู ถ้าอธิบายตามระบบฮินดูที่ชาวบ้านเชื่อ มหโสพาเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ เพราะพระศิวะมีปางที่เป็นเจ้าที่เจ้าทางอย่างไภรวะ

มหโสพากับพระศิวะ ยังชวนให้ผมระลึกถึง ตราแกะสลัก “ปศุปติ” ที่ค้นพบในอารยธรรมโมเหนโชทะโร (Mohenjo-daro) เป็นรูปคนหรือเทพนั่งในท่าสมาธิ มีเขาควายบนศีรษะ แวดล้อมด้วยสัตว์นานาชนิด ซึ่งนักวิชาการยุคแรกคิดว่านี่เป็น ภาพของพระศิวะในโหมด “ปศุปตินาถ” หรือเจ้าแห่งสัตว์ทั้งหลาย

แม้ความคิดนี้จะได้รับการถกเถียงอย่างมาก บางท่านว่านี่คือ เทพมหิษาหรือเทพควายด้วยซ้ำ แต่อย่างน้อยๆ ก็แสดงให้เห็นว่าคนพื้นเมืองตั้งแต่โบราณ ให้ความสำคัญกับควายเพียงใด

ในตำนานของคนแคว้นมหาราษฎร์ มหโสพา (ในชื่อมัตตาพา) มีชายาคือเจ้าแม่ โชคุไบ (Jogubai) แต่นี่เป็นการครองคู่ที่น่าประหลาด เพราะสำหรับชาวบ้าน เจ้าแม่โชคุไพเป็นปางหนึ่งของพระโยเคศวรีหรือพระแม่ทุรคาผู้ฆ่าควายตามคติฮินดู!


เจ้าแม่ผู้ฆ่าสามีของตนเองจึงสะท้อนความตายของ “ผัว” หรือเทพและมนุษย์ผู้ชาย นี่เป็นมโนทัศน์ของศาสนาแบบผู้หญิง ที่เจ้าแม่ (ในฐานะความตาย) มีอำนาจเหนือทุกสิ่ง

ครูไมเคิล ไรท เคยเสนอเรื่อง “เจ้าข้าวเจ้าปี” (corn King – year King) ว่าในโลกโบราณก่อนประวัติศาสตร์ ผู้ชายถูกเลือกเป็นผัวของเจ้าแม่ดิน และถูกนำไปฆ่าบูชายัญ

ผมคิดว่า ตำนานมหโสพาและโชคุไพ รวมถึงการใช้ควาย (ตัวผู้) ที่นำไปฆ่าเซ่นเจ้าแม่นั้น จึงแทนมนุษย์ที่จะต้องถูกฆ่า เพื่อเป็นผัวของเจ้าแม่ เช่นเดียวกับระบบเจ้าข้าวเจ้าปี

ไปศาลเจ้าแม่ที่ไหนในอินเดีย โดยมากก็ต้องฆ่าควายบูชายัญครับ เว้นแต่จะงานเล็กกว่าหน่อยก็ใช้แพะ

แต่ทุกสิ่งที่กล่าวมาอยู่ในวิถีชาวบ้านและเป็นเรื่องพื้นเมือง ซึ่งศาสนาฮินดูและวัฒนธรรมส่วนกลางกระแสหลัก

ไม่สนใจและว่าป่าเถื่อน

เรายังคงถกเถียงกันต่อได้เรื่องการใช้สัตว์บูชายัญนะครับว่ายังเหมาะสมไหม แต่อย่างน้อยๆ เราก็น่าจะต้องสนใจศึกษาควายและวิถีพื้นบ้านมากกว่านี้

สภาพการณ์ที่กล่าวมา ควาย (อันมีเกียรติสำหรับชาวบ้าน) จึงไร้ศักดิ์ศรี ถึงขนาดมีการเสนอให้ส่งเสริมการเลี้ยงควายเอาเนื้อเพื่อผลิตอาหารในอินเดีย เพราะไม่บาปมาก และไม่เป็นเรื่องร้อนแรงอย่างวัว

สัตว์ไม่ศักดิ์สิทธิ์ในสายตาชนชั้นนำอย่างควาย แต่เป็นสิ่งผูกพันทางใจยิ่งกับชาวบ้านจึงถูกดูแคลน

ย้อนมองมาดูอุษาคเนย์และสังคมไทยที่มีความผูกพันกับควายไม่น้อยกว่าอินเดีย

ที่เหมือนกันคือควายเป็นของชาวบ้าน ของคนรากหญ้า

มิน่าเล่า เวลาชนชั้นสูงโดยเฉพาะในเมือง เขาถึงด่าคนอีกฝ่ายทางการเมืองว่า “ควายแดง” ซึ่งเหยียดหยามกว่าคำว่า “สลิ่ม” มากนัก (โดยตัวความหมายของคำเอง)

แต่อย่าลืมครับว่า วัวอาจศักดิ์สิทธิ์สำหรับอารยัน แต่ควายนั้นศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวบ้านและเก่าแก่ลึกซึ้งกว่ามาก

การเหยียดควาย หรือใช้ควายไปเหยียดคน คือการดูถูกรากเหง้าตัวเอง

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
Avatar” อวตาร ในมุม...ฮินดู พราหมณ์ พุทธ
กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
มดเอ๊ก 0 1841 กระทู้ล่าสุด 08 กันยายน 2559 05:55:55
โดย มดเอ๊ก
ก๊วยเจ๋ง เอี้ยก่วย เตี่ยบ่อกี้ เหล่งฮู้ชง ขงจื้อ เต๋า พุทธ และเซน
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 0 1653 กระทู้ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2561 15:23:50
โดย มดเอ๊ก
ประวัติ ตำนาน พระพรหม พุทธ พราหมณ์ ฮินดู ต่างกันอย่างไร
ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
มดเอ๊ก 0 196 กระทู้ล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2566 17:52:38
โดย มดเอ๊ก
[ไทยรัฐ] - คดีน้องต่อใกล้กระจ่าง แจ้งค้าประเวณี พุทธ-ลุงแจ้โดนพรากผู้เยาว์ พบเบาะแสใหม่ (คลิ
สุขใจ ร้านน้ำชา
สุขใจ ข่าวสด 0 72 กระทู้ล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2566 08:48:55
โดย สุขใจ ข่าวสด
ดร.อัมเบดการ์ จัณฑาลผู้ร่างรัฐธรรมนูญ จุดเปลี่ยนจาก ฮินดู สู่ พุทธ
เกร็ดศาสนา
มดเอ๊ก 0 59 กระทู้ล่าสุด 23 มกราคม 2567 20:12:41
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.964 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 13 เมษายน 2567 09:23:05