[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 21:40:55 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นิทานมงคลชีวิตในพระไตรปิฎก  (อ่าน 29729 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 30 มิถุนายน 2557 18:49:15 »

นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๑
โทษของการคบคนพาล


พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร มหาราชแห่งราชคฤห์ แคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารได้น้อมถวายสวนเวฬุวัน (ป่าไผ่) แด่พระพุทธเจ้าให้เป็นที่ประทับของพระองค์ และเป็นที่พักของพระภิกษุสงฆ์ วัดนี้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา ถ้าจะเรียกก็เรียกว่า “วัดเวฬุวนาราม” อยู่นอกเมืองราชคฤห์ออกไปไม่ไกลนัก เป็นที่สงบเหมาะแก่สมณะจะบำเพ็ญสมณธรรม

พระเจ้าอชาตศัตรูนั้น เมื่อทรงดำรงตำแหน่งมหาอุปราช (มกุฎราชกุมาร) ทรงเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเทวทัต ได้เสด็จไปนมัสการทั้งเช้าและเย็น มีรับสั่งให้จัดภัตตาหารคาว – หวาน ไปถวายทั้งเช้าและเพล ต่อมาวันหนึ่ง พระเทวทัตทูลเจ้าชายอชาตศัตรูว่า
“บพิตร เมื่อก่อนนี้คนอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่บัดนี้คนอายุสั้นลง ควรที่พระองค์จะปลงพระชนม์พระราชบิดาเสีย แล้วเป็นกษัตริย์เสียเอง จะรอจนกว่าพระราชบิดาสวรรคตคงจะช้าไป ส่วนอาตมภาพเองก็ปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า แล้วเป็นพระพุทธเจ้าปกครองคณะสงฆ์เสียเอง เช่นกัน

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเชื่อถือถ้อยคำของพระเทวทัต เวลาเที่ยงวันหนึ่ง พระองค์ทรงเหน็บกริช (มีดสั้น) ซ่อนไว้ในพระภูษา ทรงเข้าไปในพระราชฐานชั้นใน เพื่อปลงพระชนม์พระราชบิดา แต่ถูกพวกอำมาตย์จับได้ จึงนำเข้าเฝ้าพระราชา พระเจ้าพิมพิสารทรงตรัสถาม ทราบความตลอดแล้ว จึงทรงมอบราชสมบัติให้พระราชโอรส พระเจ้าอชาตศัตรูจึงเข้าไปนมัสการพระเทวทัต แจ้งให้ทราบถึงความสำเร็จนั้น พระเทวทัตถวายพระพรว่า”การที่พระองค์ปล่อยพระเจ้าพิมพิสารให้มีพระชนม์ชีพอยู่เช่นนี้ เหมือนเอาสุนัขจิ้งจอกขังไว้ในกลองหุ้มหนังเอาไว้ สักวันหนึ่งสุนัขนั้นจักต้องกัดหนังกลองออกมาจนได้”

คำของพระเทวทัตเป็นทำนองว่า “วันหนึ่งข้างหน้า พระเจ้าพิมพิสารทรงระลึกถึงอาการที่ลูกดูหมิ่นแล้วจักกำจัดพระเจ้าอชาตศัตรูเสีย แล้วขึ้นครองราชย์สมบัติตามเดิม
“แล้วจะให้ทำอย่างไรเล่า พระคุณเจ้า”
พระเจ้าอชาตศัตรู ตรัสถาม
“ปลงพระชนม์เสียสิ บพิตร”
“พระราชบิดาไม่ควรถูกปลงพระชนม์ด้วยศัสตรา มิใช่หรือ?”
“วิธีตายของคนมีมาก” พระเทวทัตแย้มอุบาย
“ท่านเห็นว่าควรจะทำอย่างไร”
“จับขังไว้ แล้วให้อดอาหารซิ” พระเทวทัตตอบ

พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเชื่อพระเทวทัตทุกอย่าง จึงมีรับสั่งให้ทหารจับพระเจ้าพิมพิสารขังไว้ในกรงเหล็ก มีทหารควบคุมอย่างแน่นหนา ทรงห้ามไม่ให้ใครเข้าเยี่ยมนอกจากพระราชมารดา

พระนางเจ้าเวเทหิ ได้ใส่พระกระยาหารในขันทองคำ ทรงพกไว้ในชายพระภูษา นำไปถวายพระราชสวามี พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบเรื่องจึงตรัสห้ามเสีย ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบว่าพระราชมารดาแอบนำพระกระยาหารไปถวายพระราชบิดา จึงมีรับสั่งทหารว่า มิให้พระราชมารดาเข้าไปเยี่ยมพระราชบิดาโดยเด็ดขาด

ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงอดพระกระยาหาร แต่ทรงดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการเดินจงกรม คือเสด็จพระราชดำเนินไปมา พิจารณาถึงพระธรรมของพระพุทธเจ้า พระวรกายของพระองค์กลับผ่องใสยิ่งขึ้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบเช่นนั้น จึงมีรับสั่งให้ช่างกัลบก (ช่างตัดผม) เอามีดโกนผ่าฝ่าพระบาทของพระเจ้าพิมพิสารเสีย ทาด้วยน้ำมันผสมเกลือ แล้วให้ย่างพระบาทบนถ่านเพลิง

พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตด้วยวิธีนี้ เพราะทรงเดินจงกรมไม่ได้ ในวันที่พระเจ้าพิมพิสารสรรคตนั้น พระมเหสีของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ประสูติพระราชโอรส ทรงเสน่หาในพระโอรสยิ่งนัก ทรงระลึกได้ว่า พระราชบิดาก็คงเสน่หาในพระองค์เช่นนี้ ทรงอาลัยคร่ำครวญถึงพระราชบิดาอยู่เสมอ

นอกจากนี้ เมื่อทรงทราบว่าพระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ ก็ทรงหวาดหวั่นภัยเช่นนั้นจะมาถึงตนเช่นนั้นเหมือนกัน จึงไม่อาจบรรทมให้หลับสนิทได้ เพราะได้ทรงทำปิตุฆาต ฆ่าพระราชบิดา ซึ่งเป็นกรรมหนัก ทรงรู้สึกเหมือนไฟพลุ่งขึ้นมาเผาผลาญ เหมือนมีหอกมีดาบมาจ่อพระศอ ไม่มีความปลอดโปร่งในพระราชหฤทัย เป็นเหมือนตกนรกทั้งเป็น

นี่แหละ คือ โทษของการคบคนพาลล่ะ!

     สมาคมกับคนพาลสันดานต่ำ
     พาลจะนำเดินตรงไปลงเหว
     ไม่หลีกละปะปนกับคนเลว
     ก็เลวเหลวต่ำทรามไปตามกัน

     เพราะคนพาลนั้นไซร้ใช่บัณฑิต
     จะญาติมิตรกับใครอย่าใฝ่ฝัน
     แม้เป็นมิตรเป็นญาติยังฟาดฟัน
     ประหลาดครันเฆี่ยนฆ่าไม่ว่าใคร

          (พุทธศาสนสุภาษิตคำกลอน)



นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๒
นกแขกเต้า ๒ ตัว


ในอดีตกาลมีลูกนกแขกเต้า (พันธุ์เดียวกันกับนกแก้ว) ๒ ตัว อยู่ในป่าไม้งิ้วใกล้เขาสานุ ด้านเหนือลมแห่งภูเขานั้น เป็นที่อาศัยของหมู่โจร ๕๐๐ ด้านใต้ลมมีอาศรมเป็นที่อยู่ของฤๅษี ๕๐๐ ตน ขณะที่ลูกนกแขกเต้าทั้งสองยังไม่มีขนปีกขึ้น วันหนึ่งเกิดพายุจัด เป็นลมหัวด้วนคือลมหมุน พัดเป็นวงกลมบริเวณกว้าง ลูกนกทั้งสองตัวจึงถูกลมพัดไปตกตัวละแห่ง

ตัวหนึ่งไปตกท่ามกลางกองอาวุธของพวกโจร พวกโจรตั้งชื่อให้ว่า “ธัตติคุมพะ” แปลว่า “พุ่มหอก” เจริญเติบโตขึ้นในหมู่โจร ส่วนนกแขกเต้าอีกตัวหนึ่ง ลมพัดไปตกกลางกองดอกไม้ที่หาดทรายใกล้อาศรมของฤๅษี พวกฤๅษีตั้งชื่อให้ว่า “บุปผกะ” แปลว่า “ดอกไม้” เจริญเติบโตในหมู่ฤๅษี

ครั้งนั้นพระราชาพระนามว่า พระเจ้าปัญจาละ ครองราชย์สมบัติในอุตรปัญจาลนคร เสด็จออกล่าเนื้อกับข้าราชบริพาร ทรงทำสัญญากับข้าราชบริพารไว้ว่า เนื้อหนีไปได้ทางใด ผู้ที่อยู่ทางนั้นต้องได้รับโทษ  

แล้วเสด็จลงจากราชรถ ประทับยืนถือธนูอยู่ในที่กำบังเนื้อทรายตัวหนึ่ง ขณะที่ราชบุรุษช่วยกันฟาดพุ่มไม้อยู่ ลุกขึ้นตรวจดูทางหนี เห็นทางที่พระราชาประทับกำบังอยู่ เป็นที่ว่างคนจึงวิ่งไปทางนั้นโดยเร็ว พระราชาทรงยิงไม่ทัน พระราชาทรงอายพระทัยเกิดขัตติมานะว่า เราต้องพยายามจับเนื้อตัวนั้นให้ได้ จึงเสด็จขึ้นรถพร้อมด้วยนายสารถี (คนขับรถ)

พวกราชบุรุษไม่อาจติดตามพระองค์ไปทันได้ พระราชาไม่ทรงพบเนื้อจึงเสด็จกลับ ทรงสรงสนานและเสวยน้ำในลำธารอันใสสะอาดน่ารื่นรมย์ แล้วบรรทมที่ใต้ร่มไม้ใกล้หมู่บ้านโจร ขณะนั้นพวกโจรเข้าป่ากันหมด เหลือแต่นกแขกเต้าตัวหนึ่งและคนทำครัวอีกคนหนึ่ง นกธัตติคุมพะ ออกจากบ้านมาเห็นพระราชาทรงบรรทมหลับอยู่ใต้ร่มไม้ มันเห็นราชาภรณ์อันงดงามมีค่ามากเกิดความโลภตามนิสัยโจร จึงกลับเข้าไปในหมู่บ้าน พูดกับคนทำครัวว่า ให้ไปช่วยกันปลงพระชนม์พระราชายึดเอาผ้าและอาภรณ์อันมีค่าเสีย แล้วจับพระองค์ไปซ่อนไว้เอากิ่งไม้ปิดศพเสีย

พระราชาทรงตื่นบรรทม ทรงสดับถ้อยคำเช่นนั้น ทรงดำริว่าที่นี่มีภัย จึงเสด็จขึ้นรถหนีไปไปถึงอาศรมฤๅษี แต่ขณะนั้นฤๅษีทั้งหมดไม่อยู่ พากันเข้าป่าเพื่อหาผลไม้ มีแต่นกปุบผกะอยู่เฝ้าอาศรม มันเห็นพระราชาแล้วได้ปฏิสันถารด้วยคำไพเราะว่า “มหาราชเสด็จมาดีแล้ว พระองค์มิได้เสด็จมาร้าย”

พระราชาทรงชื่นชมยินดีต่อการปฏิสันถารของนกนั้น ทรงสรรเสริญนกปุบผกะ แล้วตรัสว่า “นกนี้ดีเหลือเกิน เป็นนกก็จริง แต่มีคุณธรรมอย่างเยี่ยม ส่วนนกแขกเต้าอีกตัวหนึ่ง พูดแต่คำหยาบคาย มักได้”

นกปุบผกะทูลว่า “มหาราชเราทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน แต่เขาเจริญเติบโตในสำนักของคนไม่ดี คนเหล่านั้นสั่งสอนเขาด้วยโจรธรรม ส่วนหม่อมฉันเจริญเติบโตในสำนักงของคนดี ท่านเหล่านั้นแนะนำด้วยฤๅษีธรรม เพราะฉะนั้น เราทั้งสองแม้จะเหมือนกันโดยกำเนิดแต่ก็แตกต่างกันมากโดยธรรม”

เพื่อจะแสดงธรรมแด่พระราชา จึงกล่าวต่อไปว่า “บุคคลคบคนเช่นไร จะเป็นคนดีหรือไม่ก็ตาม เขาย่อมตกไปอยู่ในอำนาจของคนเช่นนั้น บุคคลคบคนเช่นใดเป็นมิตรและเสพสนิทกับคนเช่นใด เขาก็ย่อมเป็นคนเช่นนั้น คบคนดีก็เป็นคนดี คบคนชั่วก็เป็นคนชั่ว คนฉลาดจึงไม่คบคนชั่วเป็นมิตร คบแต่คนดีเป็นมิตร

โบราณสอนไว้ว่า
     “คบคนพาลพาลพาไปหาผิด
     คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล
     คบคนชั่วพาตัวอัปมงคล
     คบคนดีเป็นมงคลแก่ตนเอย”

การไม่คบหาสมาคมกับคนพาล จึงเป็นข้อแรกที่ทุกคนควรปฏิบัติ และตามด้วยการคบหาสมาคมกับบัณฑิต จึงจะเป็นความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง

การคบบัณฑิต
บัณฑิต คือ ผู้ดำเนินชีวิตโดยใช้สติปัญญา เป็นดุจประทีปส่องทางดำเนินชีวิตที่ถูกทำนองคลองธรรม
คุณสมบัติของบัณฑิต
     ๑. คิดดี (มโนสุจริต)
     ๒. พูดดี (วจีสุจริต)
     ๓. ทำดี (กายสุจริต)

การคบบัณฑิต
     ๑. ไปมาหาสู่กัน
     ๒. เข้าตีสนิทชิดชอบ
     ๓. จงรัก คือ รักใคร่กันจริง
     ๔. ภักดี คือ นับถือ เลื่อมใส ซื่อตรงต่อกัน
     ๕. เป็นเพื่อร่วมคิดร่วมเห็นด้วยกัน
     ๖. เป็นเพื่อนร่วมกันอยู่ด้วยกัน
     ๗. ดำเนินตามอย่างกัน

     - การคบคนพาล ย่อมก่อให้เกิดทุกข์โทษนานาประการ
     - ส่วนการคบบัณฑิต ก่อให้เกิดความสุข
        ความเจริญในทุกสถานที่ในกาลทุกเมื่อ
     - การคบคนพาลเหมือนเอาใบไม้ไปห่อปลาเน่า
        ทำให้เหม็นคลุ้งไปทั่ว
     - การคบบัณฑิต เหมือนเอาใบไม้ไปห่อกฤษณา
       ทำให้มีกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ

การบูชาผู้ที่ควรบูชา
     - การยกย่อง, นับถือ, เคารพ, สักการะ ชื่อว่า “การบูชา”
     - บุคคลที่ควรบูชา เรียกว่า “ปูชนียบุคคล” หรือปูชารหบุคคล
       แปลว่า บุคคลควรบูชา มีประเภทต่างๆ ดังนี้
     ๑. พระพุทธเจ้า เป็นปูชนียบุคคลของพุทธบริษัท
     ๒. พระสงฆ์สาวก เป็นปูชนียบุคคลของอุบาสก อุบาสิกา
     ๓. พระมหากษัตริย์ เป็นปูชนียบุคคลของมวลพสกนิกร
     ๔. พ่อแม่ เป็นปูชนียบุคคลของบุตรธิดา
     ๕. ครูบาอาจารย์ เป็นปูชนียบุคคลของศิษยานุศิษย์
     ๖. หัวหน้าผู้บริหารงานในตำแหน่งต่างๆ
         เป็นปูชนียบุคคลของผู้ใต้บังคับบัญชา

วัตถุและสถานที่ที่ควรบูชา
วัตถุที่ควรบูชาเรียกว่า “ปูชนียวัตถุ”
     - ธาตุเจดีย์ เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวก
     - บริโภคเจดีย์ คือ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ได้แก่ ที่ประสูติ, ที่ตรัสรู้, ที่แสดงปฐมเทศนา
        และที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ตลอดถึงพุทธบริขาร มีบาตร จีวร เป็นต้น และต้นพระศรีมหาโพธิ์
     - ธรรมเจดีย์ คือ พระไตรปิฎก คัมภีร์ที่จารึกในใบลาน พิมพ์เป็นเล่มหนังสือ
        และคำสั่งสอนที่จารึกในแผ่นศิลา หรือโลหะอื่นๆ
     - อุทเทสิกเจดีย์ คือ พระพุทธรูป รอยพระพุทธบาท ตราธรรมจักร และรูปพระสงฆ์สาวก

การบูชา ๒ ประเภท
     ๑. อามิสบูชา การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ เช่น ข้าวปลาอาหาร, เสื้อผ้าอาภรณ์, ที่อยู่อาศัย,
           ยารักษาโรค และเครื่องใช้ต่างๆ การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ก็จัดเป็นอามิสบูชา
     ๒. ปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยการปฏิบัติธรรม เช่น ให้ทาน, รักษาศีล,
          เจริญภาวนา (อบรมจิต) ตามเพศภูมิของตน เรียกว่า “ปฏิบัติบูชา”

การบูชาทั้ง ๒ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญปฏิบัติบูชา แต่ควรทำทั้ง ๒ อย่าง
ปฏิบัติบูชามีอานิสงส์มากกว่าอามิสบูชา เพราะอำนวยประโยชน์แก่ผู้บูชาด้วย
และสามารถดำรงพระพุทธศาสนาได้ได้ด้วย
     - การบูชาคนชั่ว เป็นอัปมงคล
     - การบูชาคนดี เป็นสิริมงคล

      

นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๓
เทพธิดาผู้ถวายดอกบวบขม


เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แคว้นมคธ  ได้ส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย พระองค์มีรับสั่งให้สร้างสถูป (เจดีย์) เพื่อบรรจุพระบรมสารรีริกธาตุนั้น เสร็จแล้วทรงให้มีการฉลอง

อุบาสิกาชาวเมืองราชคฤห์คนหนึ่งตื่นแต่เช้า เก็บดอกบวบขม ๔ ดอก มุ่งหน้าไปยังพระสถูป มิได้ทันพิจารณาอันตรายในระหว่างทาง เพราะกำลังตื่นเต้น ศรัทธามาก  

แม่โคลูกอ่อนตัวหนึ่งวิ่งมาโดยเร็ว ขวิดนางล้มลงถึงสิ้นชีวิต นางไปบังเกิดในหมู่เทพธิดาในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่ามกลางบริวารของท้าวสักกเทวราชผู้กำลังเสด็จไปยังเทวอุทยาน

ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นนางแล้ว ตรัสถามว่า
“นางผู้เจริญ ท่านมีภูษาเหลือง ธงเหลือง เครื่องอลังการทั้งปวงเหลือง ลูบไล้ด้วยจันทน์เหลือง ทัดทรงดอกบัวสีเหลือง มีปราสาทและที่นอนเหลือง ฉัตรเหลือง ม้าเหลือง รถเหลือง พัดและโภชนะก็เหลืองทั้งหมด... ข้าพเจ้าอยากถามว่า ...เมื่อยู่ในมนุษย์โลก ท่านได้ทำบุญอะไรไว้”

เทพธิดาโกสาตกี (บวบขม) ทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้จอมเทพ บวบขมชนิดเถาอันใครๆ ไม่ปรารถนา หม่อมฉันมีจิตใจเลื่อมใส นำดอกบวบขมนั้นไปจะบูชาสักการะพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า แม่โคได้ขวิดหม่อมฉันถึงตายในระหว่างทาง ข้าแต่จอมเทพ หากหม่อมฉันได้ถวายบวบขมนั้นบูชาพระสถูปไซร้ สมบัติจะต้องมีมากกว่านี้อย่างแน่นอน บุญของหม่อมฉันในมนุษย์โลกมีเพียงเท่านี้”

ท้าวสักกะได้ทรงสดับดังนั้น จึงกล่าวโน้มน้าวจิตใจของทวยเทพอันมีมาตุลีเทพบุตรเป็นประมุข ให้เห็นผลแห่งกุศลกรรมว่า “มาตุลี ดูเถิด ดูผลแห่งกรรมอันวิจิตร น่าอัศจรรย์นี้ บุคคลทำไทยธรรมเพียงเล็กน้อยแต่ผลบุญกลับมีมาก เพราะบูชาสิ่งที่ควรบูชา เมื่อจิตเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้าหรือสาวกของพระตถาคตเจ้าแล้ว ทักษิณาย่อมไม่ชื่อว่าน้อย

มาเถิดมาตุลี แม้พวกเราก็พึงทำการฉลองพระบรมธาตุของพระตถาคตให้ยิ่งขึ้นไป เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้

พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม ปรินิพพานแล้วก็ตาม เมื่อจิตของเราเป็นกุศล ผลบุญก็ย่อมมีเป็นธรรมดา สัตว์ทั้งหลายไปสู่สุคติได้เพราะการตั้งจิตไว้ชอบเป็นสำคัญ ทายกทั้งหลายสักการะพระตถาคตเหล่าใดแล้วไปสู่สวรรค์ พระตถาคตเหล่านั้นทรงอุบัติขึ้น เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเป็นอันมากโดยแท้
 
การไม่คบคนพาล ๑  การคบบัณฑิต ๑  การบูชาคนและวัตถุที่ควรบูชา ๑   ๓ ประการนี้ เป็นมงคล (ทางเจริญ) อันสูงส่ง ฉะนี้แล

     อกฺโกธนสฺส  วิชิเต        ฐิตธมฺมสฺส ราชิโน
     สุขํ มนุสฺสา อาเสถ      สีตจฺฉายาย สงฺฆเร
          ในแว่นแคว้นของราชาผู้มีเมตตา มีธรรมมั่นคง
          ประชาชนจะนั่งนอนเป็นสุข
          เหมือนมีร่มเงาที่เย็นสบายอยู่ในบ้านของตัวเอง

                       (๑๒.๙)        (๑๘/๕๐)

อธิบายมงคลสูตรพระคาถาที่ ๒
    ปฏิรูปเทสวาโส จ    ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา
     อตฺตสมฺมาปณิธิ จ   เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
          การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑
          ความเป็นผู้มีบุญได้ทำไว้ในกาลก่อน ๑
          การตั้งตนไว้ชอบ ๑
         
          สามข้อนี้ เป็นมงคล (ทางเจริญ) อันสูงสุด


อธิบาย การอยู่ในประเทศอันสมควร
การอยู่ในประเทศอันสมควร คือการอยู่อาศัยในที่อันเหมาะสม มีนัยดังนี้
นัยที่ ๑ ถิ่นที่มีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สัญจรไปมา มีการบำเพ็ญบุญกุศลดำเนินไปอยู่ มีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เป็นที่ที่เหมาะสมที่จะบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา (อบรมจิต) เป็นต้น

นัยที่ ๒ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่แสดงปฐมเทศนา สถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ มีราชคฤห์และเมืองสาวัตถี เป็นต้น

จัดเป็นถิ่นที่เหมาะสม เพราะเป็นถิ่นที่อำนวยให้ผู้อยู่สถานที่เช่นนั้นได้บำเพ็ญอนุตริยะ

สิ่งอันเลิศ ๖ ประการ คือ
     ๑. ได้เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ
     ๒. ได้ฟังโอวาทของพระพุทธเจ้า หรือคำสั่งสอนของนักปราชญ์ราชบัณฑิต
     ๓. ได้ศรัทธาความเชื่อในคุณของพระรัตนตรัย เชื่อกรรมและผลของกรรม เชื่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เป็นต้น
     ๔. ได้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา แล้วน้อมนำมาปฏิบัติ อบรมกายวาจาให้มีศีล ฝึกฝนใจให้เป็นสมาธิ ควบคุมความเห็นให้แจ่มแจ้งด้วยปัญญา เป็นสัมมาทิฐิ
     ๕. ได้ปรนนิบัติพระรัตนตรัย หรือผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และผู้ทรงศีลทรงธรรมอื่นๆ อีก
     ๖. ได้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย หรือผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบและคุณของผู้ทรงศีลอื่นๆ

นัยที่ ๓ มัชฌิมประเทศซึ่งเป็นที่อุบัติของพระพุทธเจ้า และเหล่าพระสาวก พระพุทธบิดา และพระพุทธมารดา พระเจ้าจักรพรรดิ จัดว่าเป็นถิ่นที่เหมาะสม


ถิ่นที่เหมาะสม ๒ ประเภท
๑. ถิ่นที่เหมาะสมภายนอก หมายเอาถิ่นที่มวลชนตั้งภูมิลำเนาเป็นที่อยู่อาศัย เมื่ออยู่ในถิ่นนั้นก็ไม่นิ่งนอนใจ เร่งพัฒนาชีวิตให้มีหลักฐานมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน และคุณงามความดี ก็จะเป็นมงคลควรแก่ถิ่นอาศัยและตนเองด้วย ถ้าผู้อยู่ชะล่าใจ มัวแต่กระหยิ่มอยู่ว่า ตนอยู่ในที่เหมาะสมก็เป็นมงคลแล้ว ไม่เร่งพัฒนาชีวิตให้เกิดคุณประโยชน์อะไรเลย เอาแต่กินๆ นอนๆ เที่ยวเตร่ มิหนำซ้ำประพฤติเลวทรามต่ำช้า แทนที่จะเป็นมงคลกลับเกิดอัปมงคลแก่ตัวเอง ถิ่นที่ชื่อว่าดีอยู่ที่คนในถิ่นนั้นเป็นคนดี มีศีลธรรม ถ้าคนในถิ่นนั้นเป็นคนไม่ดี ขาดศีลขาดธรรมแล้ว ถิ่นนั้นก็จะดีไม่ได้

คนมีคุณธรรมสูง ถึงจะอาศัยบ้านเล็กๆ อยู่ก็เป็นมงคล เพราะบ้านเล็กนั้นได้สมญาว่าบ้านผู้ดี ชวนให้ผู้ผ่านไปมาอุ่นใจ ดีกว่าคนชั่ว คนต่ำประพฤติแต่สิ่งที่เป็นอัปมงคล ถึงจะอยู่ในบ้านใหญ่โตมโหฬาร ผู้คนผ่านไปมา ต่างชี้บอกว่าเป็นบ้านคนชั่ว

อันคนดีแม้ถูกธรณีกลบแล้ว แต่ธรณีไม่อาจคลุมชื่อของคนดีไว้ได้ ต้องแยกช่องให้ชื่อเขาโผล่ขึ้นมา สิ่งกลิ่นหอมหวนอยู่ทุกเมื่อ

๒. ถิ่นเหมาะสมภายใน หมายเอาร่างกายที่สมประกอบ มีอวัยวะสมบูรณ์ทุกส่วน ครบอาการ ๓๒ อัตภาพที่สมประกอบนี้เอง ชื่อว่าถิ่นที่เหมาะสมภายใน และจัดว่าเป็นมงคลอยู่ในตัว คนที่ได้ร่างกายสมประกอบแล้วเร่งสร้างตนให้เป็นคนดี มีหลักฐานอุ่นหนาฝาคั่ง เป็นคหบดีบ้าง เป็นเศรษฐีบ้าง เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตก็มี แม้จะเป็นเทวดา พรหม เสวยทิพยสมบัติ หรือจะเป็นพระโสดาบัน, พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ก็ล้วนอาศัยอัตภาพมนุษย์นี้ทั้งนั้น ถิ่นที่เหมาะสมทั้งภายในภายนอกนี้จะเจริญก้าวหน้า หรือล้าหลัง ย่อมอยู่ที่บุคคลเป็นสำคัญ ถ้าผู้อยู่เป็นคนดี และปรับปรุงที่อยู่ให้ดีด้วย ก็เป็นมงคลแก่ผู้อยู่อาศัย ถ้าผู้อยู่อาศัยไม่ปรับปรุง หรือไม่ทำดีก็เป็นอัปมงคลแก่ตนเอง

ถิ่นที่เหมาะสมนั้นมีลักษณะสมบูรณ์ ๕ ประการ คือ
     ๑. ถิ่นที่เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญทุกๆ ด้าน อาทิ การคมนาคม การค้า
     ๒. ถิ่นที่มีการทำมาหากินสะดวก
     ๓. ถิ่นที่มีสถานศึกษาสะดวกสบาย มีวิทยาลัย มหาวิทยาลัยให้คนเข้าศึกษาได้ ไม่ต้องเข้ามาในเมืองหลวง
     ๔. ถิ่นที่มีศาสนาประกาศสัจธรรม สอนให้คนละความชั่ว สร้างคุณงามความดี สอนให้ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง
     ๕. ถิ่นที่มีผู้ทรงศีล ทรงธรรม ทรงศิลปวิทยามาก มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตมาก




นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๔
พราหมณ์วักกลิ


พราหมณ์คนหนึ่งชื่อวักกลิ เป็นชาวเมืองสาวัตถี วันหนึ่งเขาได้เห็นพระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวบิณฑบาตอยู่ พอใจในรูปโฉมอันสง่างามของพระองค์ ติดตามพระองค์ไปถึงพระเชตวัน  เกิดศรัทธาขอบรรพชาในสำนักพระบรมศาสดา ด้วยหมายใจว่า “เราจักได้เห็นพระบรมศาสดาเป็นนิตย์ด้วยอุบายนี้” คอยติดตามดูพระบรมศาสดา ทอดทิ้งการสาธยาย และการเจริญสมณธรรมเสียสิ้น พระบรมศาสดาทรงรอการแก่กล้าแห่งญาณของเธออยู่ ไม่ได้ตรัสอะไรเลยเป็นเวลาช้านาน ต่อมาพระองค์ทราบว่าเธอมีญาณแก่กล้าแล้ว

จึงตรัสว่า “วักกลิ จะมีประโยชน์อะไรแก่เธอด้วยการมองดูกายอันเปื่อยเน่าของตถาคต ผู้ใดแลเห็นธรรมผู้นั้นย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม”
ทรงประณามเธอว่า “จงหลีกไปเสีย”
พระวักกลิเสียใจมาก คิดว่า “จะมีประโยชน์อะไร เราจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ถ้าไม่ได้เห็นพระบรมศาสดา”
จึงขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏ เพื่อจะโดดเขาฆ่าตัวตาย

พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงดำริว่า
“วักกลินี้ เมื่อไม่ได้รับการปลอบโยนจากเรา พึงเสื่อมจากมรรคผลที่ตนจะพึงได้,
ประทับนั่งในพระเชตวันนั่นแล ทรงเปล่งพระรัศมีแสดงพระองค์ให้พระวักกลิเห็น ตรัสว่า “ภิกษุเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มากด้วยความปราโมทย์ พึงบรรลุบทอันสงบ (พระนิพพาน) อันเป็นที่ดับสังขาร (การปรุงแต่ง) เป็นสุขอย่างยิ่ง”

ครั้นพระพุทธองค์ตรัสดังนี้แล้ว จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ออกมาตรัสว่า “มาเถิด วักกลิ อย่ากลัวเลย”

พระวักกลิคิดว่า เราได้เห็นพระบรมศาสดาแล้ว ระลึกถึงพระคาถานั้นข่มปีติไว้ได้ บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาลงมาจากยอดเขาแล้ว ถวายบังคมพระบรมศาสดา พระวักกลิได้อยู่ในประเทศอันสมควร ได้บรรลุพระอรหัตผลในสำนักของพระบรมศาสดาด้วยประการฉะนี้.


ความเป็นผู้มีบุญได้ทำไว้ในกาลก่อน
คือมีบุญที่ได้ทำไว้ในอดีต คือในชาติก่อน ในปีก่อน ในเดือนก่อน ในวันก่อน
บุญนี้ คือ คุณงามความดีที่บุคคลได้สั่งสมไว้ สร้างไว้ ได้ทำไว้ในกาลก่อน หรือปัจจุบันนั้นเอง
บุญนั้นเมื่อกล่าวโดยย่อ มี ๓ ประการ คือ
๑. ทาน การแบ่งปัน เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้สิ่งของของตนแก่ผู้อื่น แก่คนยากจน อนาถา เด็กกำพร้า คนพิการ คนชรา เป็นการสงเคราะห์ให้แก่บิดามารดา ครูอาจารย์เป็นการตอบแทนคุณ หรือถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่พระสงฆ์สามเณร เป็นบูชาคุณให้แก่ญาติมิตร เป็นการอนุเคราะห์กัน
๒. ศีล รักษา สำรวม ระวังกาย วาจาของตนให้เรียบร้อย อยู่ในกรอบของระเบียบวินัย กฎหมาย ข้อบังคับ วัฒนธรรม ศีลธรรม ระเบียบแบบแผน ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีอันดีงาม อย่างน้อยก็รักษาศีล ๕
๓. ภาวนา อบรมจิตใจให้สงบจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง มีความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น

ทำจิตให้ใสสว่างไสวด้วยปัญญา มองเห็นสิ่งทั้งหลายในโลก ทั้งคน, สัตว์, สิ่งของ และธรรมชาติรอบตัวเรา ตามความเป็นจริง
๑. อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต เปลี่ยนแปรไปทุกขณะ เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ เจ็บไข้ได้ป่วย และตายไปในที่สุด
๒. ทุกขัง ทนอยู่ในสภาพเดิมมิได้ มีแต่ความทุกข์ ทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ ที่เรียกว่าสุขนั้น ก็เพราะทุกข์น้อยลงนั้นเอง พอทนได้ก็เรียกว่าสุข
๓. อนัตตา ความเป็นของมิใช่ตัวตน ไม่มีแก่นสารที่ควรยึดมั่นถือมั่น ร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ พอธาตุทั้ง ๔ แยกแตกสลาย ชีวิตแตกดับ ความเป็นตัวตนก็ไม่มี


อานิสงส์ของบุญ มีดังนี้
๑. ทำให้มีผิวพรรณงาม
๒. มีเสียงไพเราะ
๓. มีร่างกายงามสมสัดส่วน
๔. มีร่างกายดี (มีอาการ ๓๒ ครบ)
๕. มีความยิ่งใหญ่
๖. มีบริวารมาก
๗. ได้เป็นราชามหากษัตริย์
๘. มีความเป็นอิสระ
๙. ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
๑๐. ได้เป็นราชาในสวรรค์
๑๑. ได้สมบัติในมนุษย์
๑๒. ได้สมบัติในสวรรค์

ความเป็นผู้มีบุญได้ทำไว้ในปางก่อน ประกอบด้วยบุญที่ทำในปัจจุบันสนับสนุน เป็นมงคลอย่างยิ่ง บันดาลให้ผู้บำเพ็ญบุญได้มนุษย์สมบัติ และสวรรค์สมบัติ สมปรารถนาฉะนี้แล.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มีนาคม 2559 15:47:32 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 01 กันยายน 2557 15:17:34 »

.

นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๕
คนตัดฟืน


ชายคนหนึ่งเป็นชาวเมืองพาราณสี มีอาชีพตัดฟืนขาย

วันหนึ่ง เขาตัดฟืนแล้วขนใส่เกวียนจะเข้าเมือง แต่ไปไม่ทันประตูเหมืองปิดเสียก่อน จึงจอดเกวียนนอนที่เทวาลัยแห่งหนึ่งใกล้ประตูเมืองนั้นเอง

ใกล้ๆ เทวาลัยนั้น มีไก่ที่คนเอามาปล่อยไว้ถวายเทพเจ้า ณ เทวาลัยนั้นมาก พวกมันนอนบนต้นไม้ต้นหนึ่ง มีไก่สองตัวทะเลาะกันในเวลาใกล้สว่าง เพราะไก่ตัวบนขี้ใส่ไก่ตัวที่นอนอยู่ข้างล่าง
“ใครถ่ายอุจจาระรดเราวะ” ไก่ตัวล่างร้องตะโกนขึ้นไป
“ขอโทษด้วยไม่ทันเห็น และไม่คิดว่ามีใครนอนอยู่ข้างล่าง”

ไก่ตัวบนกล่าวขอโทษและถ่ายลงมาอีก
ไก่ตัวล่างโกรธมาก จึงอวดอานุภาพของตนว่า
“เอ็งไม่รู้หรือว่า ข้ามีฤทธิ์เพียงใด ใครได้กินเนื้อของข้าจะได้ทรัพย์พันกหาปณะในวันนี้ (กหาปณะหนึ่งราว ๔ บาท)”
“อ้ายขี้โอ่เอ๋ย” ไก่ตัวบนตะโกนลงมา
“เอ็งอานุภาพเพียงเท่านี้เอาออกมาโอ้อวดได้ ข้าซิมีอานุภาพมากกว่าเอ็งหลายร้อยเท่า ใครได้กินเนื้อล่ำๆ ของข้า จักได้เป็นพระราชา ใครกินเนื้อข้างนอก ถ้าเป็นสตรีจักได้เป็นมเหสีของพระราชา ถ้าเป็นบุรุษจักได้ตำแหน่งเสนาบดี (รัฐมนตรี) ส่วนใครกินเนื้อติดกระดูกของข้า หากเป็นคฤหัสถ์จะได้เป็นขุนคลัง เป็นบรรพชิตจะได้เป็นผู้ถึงราชสกุล คือมีพระราชาเป็นผู้อุปัฏฐาก อานุภาพของข้ามีมากอย่างนี้”

คนหาฟืนได้ยินไก่สองตัวทะเลาะกัน อวดอ้างอานุภาพของตนอยู่เช่นนั้น มีความปรารถนาจะเป็นพระราชา จึงค่อยๆ ไต่ขึ้นไปจับไก่ตัวบนมาแล้วฆ่าเสีย นำไปบ้านมอบให้ภรรยา พร้อมกล่าวว่า
“ทำดีๆ นะเธอไก่นี้มีอานุภาพมาก”

เมื่อภรรยาแกงเสร็จสรรพแล้ว จึงยกไปให้สามีบริโภค
“อย่าพึ่งกินเลยเธอ” สามีกล่าว
“เราเอาภาชนะใส่อาหารนี้ไปริมฝั่งแม่น้ำคงคากันเถิด อาบน้ำให้เรียบร้อยแล้วจึงค่อยกินกัน”

สองสามีภรรยานำภาชนะใส่ข้าวแกงไปวางริมฝั่งแม่น้ำคงคา ขณะนั้นมีลมแรงพัดเอาภาชนะใส่ข้าวและแกงไก่ลงไปในแม่น้ำโดยเร็ว สองสามีภรรยาคว้าไม่ทัน

คราวนั้น มีมหาอำมาตย์ซึ่งเป็นหัวหน้าควาญช้างคนหนึ่งกำลังให้ช้างอาบน้ำอยู่ทางใต้ ลงมาเห็นภาชนะใส่ข้าวแกงนั้นถูกกระแสน้ำพัดมา จึงให้คนยกขึ้นมา เห็นเป็นอาหารจึงสั่งให้คนนำไปให้ภรรยาที่บ้าน ดาบสตนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับตระกูลของนายควาญช้าง ท่านได้ทิพยจักษุ (ตาทิพย์) มองเห็นเหตุการณ์ในอนาคต

วันนั้น ท่านดาบสพิจารณาถึงนายควาญช้างอยู่ว่า
“เมื่อไรหนออุปัฏฐากของเราจะได้สมบัติอันยิ่งขึ้นไป”

ทราบเหตุการณ์เรื่องเนื้อไก่ทั้งปวงแล้ว จึงรีบมานั่งอยู่ที่เรือนของนายควาญช้าง นายควาญช้างให้คนนำอาหารมาถวายพระดาบส พระดาบสแจ้งเรื่องให้โยมอุปัฏฐากทราบแล้ว จัดแจงแบ่งเนื้อล่ำให้ควาญช้าง แบ่งเนื้อส่วนอื่นให้ภรรยานายควาญช้าง ส่วนตนเองฉันเนื้อติดกระดูก แล้วกล่าวว่า
“อีกสามวันข้างหน้าท่านจักได้เป็นพระราชา”

ในวันที่ ๓ พระราชาแคว้นใกล้เคียงพระองค์หนึ่งยกทัพมาล้อมกรุงพาราณสี พระราชาแห่งกรุงพาราณสีทรงให้นายควาญช้างแต่งกายเป็นพระองค์ ส่วนพระองค์ทรงปลอมเพศเป็นสามัญชนแล้วเสด็จตรวจกองทัพ ออกรบกับข้าศึก ถูกลูกธนูดอกหนึ่ง สวรรคตในสนามรบนั่นเอง

นายควาญช้างทราบว่า พระราชาของตนสวรรคตแล้ว จึงเบิกเงินจากพระคลังหลวง ให้คนเที่ยวตีกลองประกาศว่า
“ใครต้องการทรัพย์ให้ช่วยกันออกรบ”

ประชาชนและทหารต้องการทรัพย์ (เพราะคนส่วนมากยากจน) จึงทำการสู้รบกันอย่างเข้มแข็ง จนสามารถฆ่าพระราชาผู้เป็นข้าศึกได้

พวกอำมาตย์และประชาชนถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชาแห่งพาราณสีแล้ว จึงปรึกษากันว่า
“สมัยเมื่อพระราชายังทรงพระชนม์อยู่ ทรงไว้วางพระราชหฤทัยอำมาตย์ผู้คุมกองช้างนี้ จึงยอมให้แต่งกายเป็นพระองค์

อนึ่งเล่า การชนะข้าศึกครั้งนี้ก็เพราะสติปัญญาและการนำของท่านอำมาตย์ท่านนี้ จึงเห็นสมควรสถาปนาท่านอำมาตย์ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งพาราณสีสืบไป

อำมาตย์ผู้ใหญ่พร้อมประชาชน จึงพร้อมใจกันสถาปนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้นำทำศึกจนมีชัยชนะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพาราณสีแต่นั้นมา พระราชาจึงทรงสถาปนาภรรยาขึ้นเป็นพระราชินี ฝ่ายท่านดาบสก็ได้เป็นผู้ใกล้ชิดราชวงศ์ ฉะนี้แล

พระบรมศาสดา เมื่อทรงนำเรื่องนี้มาตรัสเล่าแก่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว จึงตรัสย้ำว่า
“คนไม่มีบุญมีศิลปะหรือไม่มีก็ตาม มีความขวนขวายรวบรวมทรัพย์ไว้ได้เป็นอันมากก็จริง แต่คนมีบุญเท่านั้นย่อมได้บริโภคใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น โภคะเป็นอันมากย่อมผ่านพ้นคนไม่มีบุญไปเสียไปกองอยู่ที่คนมีบุญเท่านั้น

อนึ่ง เมื่อคนมีบุญอยู่ในที่ใด โภคะทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในที่นั้น แม้มิใช่บ่อเกิด”

การตั้งตนไว้ชอบ
การตั้งตนไว้ชอบ คือ ตั้งกาย วาจา ใจ ไว้ถูกต้อง

ตั้งกายไว้ถูกต้องให้สุจริต ๓ ประการ
๑. ไม่เบียดเบียน หรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนทางกาย คือ
    ไม่ทำร้ายร่างกาย ไม่ตบตีชกต่อย หรือทำลายชีวิตผู้อื่น
๒. ไม่ประทุษร้ายทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่น เช่น ลัก ฉ้อโกง จี้ปล้น เป็นต้น
๓. ไม่ประพฤติผิดประเวณีในบุตรภรรยา สามีของผู้อื่น
    ยินดีในคู่ครองของตน เป็นคนรักเดียวใจเดียว

ตั้งวาจาไว้ให้ถูกต้องในวจีสุจริต ๔
๑. ไม่พูดปดมดเท็จทำลายประโยชน์ของผู้อื่น
๒. ไม่พูดยุยงส่อเสียดให้เขาแตกแยกสามัคคีกัน
๓. ไม่พูดคำหยาบคาย สกปรกลามก
๔. ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้ประโยชน์ ไม่ถูกกาลเทศะ

ตั้งใจไว้ถูกในมโนสุจริต ๓ ประการ
๑. ไม่คิดโลภมากอยากได้ของของคนอื่น
๒. ไม่คิดอาฆาตพยาบาทปองร้ายผู้อื่น ให้อภัยกัน
๓. คิดเห็นถูกต้องทำนองคลองธรรมเป็นสัมมาทิฐิ
     อาทิ คิดเห็นว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

อีกนัยหนึ่ง ท่านให้ตั้งตนไว้ในคุณธรรม ๔ ประการ คือ
๑. สมบูรณ์ด้วยศรัทธา คือ เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ใครทำกรรมใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม ตนจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว พระรัตนตรัยมีคุณจริง พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมจริง พระธรรมเป็นสัจธรรมแท้ พระสงฆ์ปฏิบัติธรรมได้ถูกต้อง ประกาศให้ประชาชนทราบว่า “มีผู้ปฏิบัติได้ผลจริง และผู้ปฏิบัติก็เป็นคนดีได้จริง”
๒. สมบูรณ์ด้วยศีล รักษาศีลบริสุทธิ์ ไม่ด่างไม่พร้อย อย่างน้อยก็รักษาศีล ๕ ประจำ บริสุทธิ์ สมบูรณ์ดี
๓. สมบูรณ์ด้วยจาคะ คือ ยอมสละสุขส่วนน้อยออกเผื่อแผ่เจือจานแก่ผู้อื่น ด้วยความเมตตา กรุณา เช่น สละทรัพย์ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก คนยากจนอนาถา ช่วยชาติ เช่น เป็นทหาร เสียภาษีอากรบำรุงรัฐ ทะนุบำรุงพุทธศาสนาที่สั่งสอนให้ประชาชนประพฤติดี ปฏิบัติชอบ เช่น บำรุงพระสงฆ์สามเณรด้วยปัจจัย ๔ เป็นต้น
๔. สมบูรณ์ด้วยปัญญา มีปรีชาฉลาดหลักแหลม มีสติครองตนให้เฉลียว รู้จักเหตุให้เกิดสุขว่า เมื่อทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง รู้จักเลือกเฟ้นทำแต่ส่วนดี หลีกเลี่ยงส่วนชั่วเสียหาย




นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๖
โจร ๕๐๐ คน

ในอดีตกาล โจรประมาณ ๕๐๐ คน เลี้ยงชีพด้วยโจรกรรม เช่น ลัก จี้ ปล้นทรัพย์ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ทางราชการจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกปราบปราม จับเป็นไม่ได้ก็ให้จับตาย

โจรเหล่านั้นถูกเจ้าหน้าที่ออกตามล่า จึงพากันหนีเข้าป่าลึก พบภิกษุอยู่ป่ารูปหนึ่ง เข้าไปนมัสการ แล้วเรียนท่านว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอท่านเป็นที่พึงแก่พวกกระผมด้วยเถิด พวกกระผมเป็นโจร เวลานี้เจ้าหน้าที่กำลังตามล่าพวกกระผม”

พระภิกษุนั้นกล่าว “ท่านทั้งหลาย ที่พึงอย่างอื่นเสมอด้วยศีลย่อมไม่มี ท่านทั้งหลายจงรับศีลเถิด และไม่ควรละเมิดศีล แม้จะต้องเสียชีวิตก็ตาม” แล้วให้โจรเหล่านั้นสมาทานศีล ๕

เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามโจรเหล่านั้นมาทัน ได้ฆ่าโจรเหล่านั้นทั้งหมด โจรเหล่านั้นไปเกิดในเทวโลก (สวรรค์) สิ้นพุทธันดรหนึ่ง (สมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง)

การประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ  ชื่อว่าตั้งตนไว้ผิด
การประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ  ชื่อว่าตั้งตนไว้ชอบ ตั้งตนไว้ถูก


คนบางคนตั้งตนไว้ผิดในเบื้องต้น ภายหลังกลับจิตใจประพฤติสุจริต ชีวิตของบุคคลนั้นย่อมรุ่งโรจน์สดใสได้ ดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอก ทำพื้นนภากาศให้สว่างไสวได้ ฉะนั้น

- การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ๑
- ความเป็นผู้มีบุญได้ทำไว้ในกาลก่อน ๑
- การตั้งตนไว้ชอบ ๑

สามประการนี้ เป็นทางเจริญอันสูงส่ง

     ผู้เอ๋ยผู้ใด                   ลำพองใจประมาทมาก่อน
แต่กลับใจได้ไม่นิ่งนอน         ถ่ายถอนชั่วช้าสร่างซาไป
ผู้นั้นเหมือนจันทร์วันเพ็ญ       ลอยเด่นดูงามอร่ามใส
ไม่มีเมฆมัวหมองเท่ายองใย    ส่องหล้าทั่วไปสว่างเอย
                                        (ส.ช.)

ผู้ใดชั่วรู้ตัวแล้วกลับจิต          ไม่ถือผิดงมโง่โดยโมหันต์
ควรจะชมว่าสมเป็นคนธรรม์      รู้ผ่อนผันกลับตนเป็นคนตรง
                                        (อุทานธรรม)

อธิบายมงคลสูตรพระคาถาที่ ๓
มงคลสูตร  พระคาถาที่ ๓
พาหุจสจฺจญฺจ  สิปฺปญฺจ  วินโย จ สุสิกฺขิโต
สุภาสิตา จ ยา วาจา  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
- การเป็นผู้ศึกษามาก ๑
- การเป็นผู้มีศิลปะ ๑
- ความเป็นผู้มีวินัย ๑
- การกล่าววาจาสุภาษิต ๑
สี่ข้อนี้ เป็นมงคล (ทางเจริญ) อันสูงสุด

อธิบาย
ความเป็นผู้ศึกษามาก (พหูสูต)
ท่านเรียกการเรียนมาก รู้มากว่า “พาหุสัจจะ” (พหุ+สุต) แปลตามหลักไวยากรณ์ เป็นพาหุสัจจะไม่ได้แปลว่า “มีสัจจะมาก” อย่าเข้าใจไขว้เขว

โดยเนื้อความ คือความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ความเป็นผู้คงแก่เรียน ผู้คงแก่เรียนย่อมได้รับการศึกษาที่ถูกที่ควร รู้น้อยหรือรู้ แล้วปฏิบัติตามที่รู้ที่เรียนมานั้น มีความคิดความเห็นถูกต้อง ความคิดความเห็นอันถูกต้องนั้น เร่งทำให้ถูกต้องเพื่อช่วยตัวเองและร่วมมือกับคนอื่น ร่วมกำลังกันทำกิจการต่อไป เพื่อความดีของตนเองและคนอื่นด้วย

คนคงแก่เรียน (พหูสูต) หมายถึงผู้ศึกษาเล่าเรียนมามากทั้งทางโลก ทางธรรม โลกจะเจริญได้นั้นเพราะมีการศึกษาโดยแท้  แม้พระศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองก็อยู่ที่การศึกษาที่ดี จะเสื่อมก็อยู่ที่การศึกษาไม่ดี หรือไม่มีการศึกษาเลย

การศึกษา ๓ ชั้น
๑. ข้อฝึกหัดให้ศีลบริสุทธิ์ (อธิสีลสิกขา)
๒. ข้อฝึกหัดให้จิตขาวสะอาด (อธิจิตตสิกขา)
๓. ข้อฝึกหัดให้ปัญญาเฉียบแหลม (อธิปัญญาสิกขา)

การศึกษาอีกนัยหนึ่ง
๑. การศึกษาขั้นเล่าเรียน คือ การฝึกฝนอบรมตนให้เกิดความรู้ ความจำ ความเข้าใจ เกิดความคล่องแคล่ว ความแม่นยำ ความชำนาญทางกาย วาจา
๒. การศึกษาขั้นปฏิบัติ วัตรจริยาสำหรับอบรมกาย วาจา ให้มีกิริยามารยาทดีงาม ฝึกหัดใจให้สงบมั่นคง หนักแน่นเพื่อชำระความเห็นให้ถูก บริสุทธิ์ แจ่มใส
๓. วัตถุประสงค์ของการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม อยู่ที่เมื่อศึกษาแล้ว
อย่างต่ำ เพื่อใช้ความรู้นั้นให้เกิดผลเป็นการปฏิบัติ เป็นคนมีมารยาทดี มีศีลธรรมสมกับที่เป็นมนุษย์ (ผู้มีใจสูง)
อย่างกลาง เพื่ออบรมตนให้ดีงาม สำหรับสุคติ (ไปดีมีสุข) ในภพหน้า และ
อย่างสูง เพื่อชำระจิตใจให้สงบ สะอาด ผ่องใส ถึงความหลุดพ้นจากกิเลส (รัก โลภ โกรธ หลง) และทุกข์ทั้งปวงถึงซึ่งพระนิพพานอันเป็นบรมสุข ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดในพระศาสนา


     อปฺปสฺสุตายํ ปุริโส  พลิวทฺโทว ชีรติ
     มํสานิ ตสฺส วฑฺฒนฺติ   ปญฺญา ตสฺส น วฑฺฒติ
คนที่เล่าเรียนน้อย        ย่อมแก่เหมือนโคถึก
     เนื้อหนังของเขาพัฒนา  แต่ปัญญาหาพัฒนาไม่

               (๐๔.๐๗)         (๒๕/๒๑)



นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๗
เสนกบัณฑิต

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์มีนามว่า “เสนก” เป็นชาวเมืองพาราณสี เมื่อเจริญวัยแล้วได้เดินทางไปศึกษาศิลปศาสตร์ที่เมืองตักกศิลา เรียนสำเร็จแล้วกลับมายังเมืองพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงพระนามว่า “ชนก” ได้พระราชทานตำแหน่งอำมาตย์และยศใหญ่แก่พระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์สอนอรรถธรรมแด่พระราชาในวันพระ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ  พระราชามีรับสั่งให้ข้าราชบริพารประชุมกันในท้องพระโรง ให้ประชานผู้ปรารถนาจะฟังธรรมเข้าในท้องพระโรงเพื่อฟังธรรมด้วย โดยเชิญพระโพธิสัตว์แสดงธรรม แม้พระองค์ก็ทรงสดับด้วย พระโพธิสัตว์แสดงธรรมในสภา ที่พระราชามีรับสั่งให้จัดไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ครั้งนั้น มีพราหมณ์แก่คนหนึ่ง มีอาชีพขอทานเที่ยวขอทานในคามนิคมต่างๆ รวบรวมทรัพย์แล้วได้หนึ่งพันกหาปณะ (กหาปณะหนึ่งประมาณ ๔ บาท) จึงนำไปฝากไว้กับพราหมณ์คนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนรักกัน แล้วออกขอทานต่อไป

พราหมณ์ผู้รับฝากเงินเมื่อเห็นเขาหายไปนาน จึงเอาทรัพย์พันกหาปณะมาใช้จ่ายจนหมด เมื่อพราหมณ์แก่กลับมา ผู้รับฝากไม่มีเงินให้จึงยกลูกสาวสวยของตนให้แทน (คล้ายกับเรื่องชูชก นางอมิตตดา) พราหมณ์เฒ่าดีใจพานางไปอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองพาราณสี

ฝ่ายนางพราหมณียังเป็นเด็กสาวสวย อายุ ๑๖-๑๗ ปี มิได้อิ่มด้วยเพศรส เพราะสามีแก่จึงคบชู้สู่ชายกับพราหมณ์หนุ่มในหมู่บ้านนั้นเอง เมียสาวของพราหมณ์แก่คิดอุบายจะให้สามีแก่ของตนออกไปเสียจากบ้าน จึงกล่าวว่า “ฉันไม่อาจทำการงานในเรือนของท่านได้ ขอให้ท่านขอทานรวบรวมทรัพย์ได้แล้ว ซื้อทาสหรือทาสีมาทำงานในบ้านแทนฉันเถิด”

พราหมณ์นั้นตกอยู่ในอำนาจของเมียสาว จึงรับปากเตรียมเสบียงเดินทาง มีถุงใบหนึ่งบรรจุข้าวตูปั้นเป็นก้อน เป็นต้น ออกจากบ้านไป เที่ยวขอทานตามคามนิคมต่างๆ ชั่วเวลาไม่นาน ได้ทรัพย์ถึง ๗๐๐ กหาปณะ เห็นว่าพอจะซื้อทาส ทาสีได้แล้ว และคิดถึงเมียสาวด้วย จึงรีบเดินทางกลับ

ในระหว่างทาง ได้พักกินข้าวตูก้อนที่โคนไม้มีโพรงแห่งหนึ่ง เสร็จแล้วมิได้ปิดปากถุงไว้เดินไปกินน้ำที่ลำธารสายหนึ่ง ขณะนั้นงูเห่าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในโพรงไม้นั้นได้กลิ่นข้าวตู จึงลงไปนอนขดขนดกินข้าวตูอยู่ในถุงหนังนั้น

พราหมณ์กลับมามิได้ทันพิจารณา รวบปากถุงผูกแล้วสะพายขึ้นบ่าออกเดินทางต่อไป ขณะนั้นเขาได้ยินเสียงหวาดแว่วเป็นเสียงของเทวดาจากต้นไม้นั้นว่า “พราหมณ์! ถ้าท่านพักระหว่างทางวันนี้ ตัวท่านจะตาย ถ้าท่านไปถึงเรือน ภรรยาของท่านจะตาย!”

พราหมณ์สะดุ้งกลัวต่อมรณภัย จึงร้องไห้คร่ำครวญมาถึงประตูเมืองพาราณสี วันนั้นพอดีเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ คนทั้งหลายต่างถือเครื่องสักการะมาเป็นทิวแถวเพื่อฟังธรรมของพระโพธิสัตว์ พราหมณ์แก่ถามคนเหล่านั้นทราบความแล้ว จึงติดตามไปด้วย เพราะคิดว่า “เขาเล่ากันว่า เสนกโพธิสัตว์เป็นนักแสดงธรรม คงแสดงธรรมบางอย่างบรรเทาความโศกเศร้าของเราได้เป็นแน่”

เขาไปยืนอยู่ท้ายบริษัทด้วยถุงหนังอันแขวนอยู่ที่ไหล่ พระโพธิสัตว์ได้เห็นพราหมณ์นั้นแล้ว คิดว่าคงมีเรื่องให้พราหมณ์เศร้าโศกเป็นแน่จึงเข้าไปถาม พราหมณ์ได้เล่าเรื่องที่ตนได้ยินเสียงรุกขเทวดาให้พระโพธิสัตว์ฟัง และถามว่า “ท่านบัณฑิต อะไรเล่าคือเหตุแห่งความตายของข้าพเจ้า อะไรเล่าเป็นเหตุแห่งความตายของภรรยาข้าพเจ้า”

พระโพธิสัตว์ยกเหตุทั้งปวงขึ้นใคร่ครวญ แล้วได้มองเห็นด้วยญาณปานประหนึ่งมีตาทิพย์ จึงถามพราหมณ์ว่า
“ในถุงหนังของท่านมีข้าวตูไหม?”
“มีขอรับ” พราหมณ์ตอบ
“อาหารเช้าวันนี้ ท่านกินข้าวตูที่ไหน?”
“ที่โคนไม้ในป่าแห่งหนึ่ง ขอรับ”
“ท่านกินข้าวตูแล้ว เมื่อจะไปดื่มน้ำท่านผูกปากถุงหรือเปล่า”
“ไม่ได้ผูกขอรับ”

เสนกบัณฑิตจึงกล่าวต่อไปว่า “ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าในขณะที่ท่านไปดื่มน้ำ จะมีงูพิษสักตัวหนึ่งได้กลิ่นข้าวตูแล้วเลื้อยเข้าถุง ท่านกลับมาจากดื่มน้ำมิได้พิจารณา รวบปากถุงผูกแล้วเดินทางมา ถ้าท่านพักระหว่างทางนี้จะกินข้าวตูในเวลาเย็น ท่านสอดมือเข้าไปในถุง งูจะกัดท่านถึงตาย นี่คือสาเหตุแห่งความตายของท่าน ถ้าท่านไปถึงเรือนวันนี้ ภรรยาท่านอยากได้ของในถุงถือสอดมือเข้าไป งูจักกัดภรรยาท่านถึงตาย  นี้คือเหตุความตายของภรรยาของท่าน รุกขเทวดากล่าวหมายเอาเหตุที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้”

“พราหมณ์! ลองดูก็ได้ ขอให้เอาถุงหนังมาวางท่ามกลางมหาชนนี้แล้วเปิดถุงออก ท่านถอยออกไปยืนห่างๆ แล้วเอาท่อนไม้เคาะถุงดู”

พราหมณ์ได้ทำตามคำของพระโพธิสัตว์แล้ว งูเห่าแผ่พังพานขู่เสียงดังฟ่อฟ่อ เลื้อยออกมาจากถุงหนังนั้น

หมองูคนหนึ่งได้จับงูไปปล่อยเสียในป่าแล้ว ประชาชนพากันยินดีต่อปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์ สรรเสริญว่า “ท่านเสนกบัณฑิตนี้พยากรณ์เหตุการณ์ได้ดังสัพพัญญู” ดังนี้แล้ว พากันแซ่ซ้องสาธุการด้วยความนิยมชื่นชม เสียงสาธุการปานมหาปฐพีจะถล่มลง

พราหมณ์ได้นำทรัพย์ ๗๐๐ กหาปณะ ออกมาสักการบูชาพระโพธิสัตว์ แต่พระโพธิสัตว์ไม่รับเงินนั้น กลับเพิ่มให้อีก ๓๐๐ เพื่อให้ครบพันกหาปณะ แล้วถามว่า
“ใครให้ท่านออกขอทาน”
“ภรรยาข้าพเจ้าเอง” พราหมณ์ตอบ
“ภรรยาท่านสาวหรือแก่”
“ยังสาวอยู่ขอรับ”
“ข้าพเจ้าเกรงว่า” พระโพธิสัตว์กล่าว “นางคิดนอกใจท่าน จึงให้ท่านออกไปขอทาน ถ้าท่านนำทรัพย์นี้ไปบ้าน นางจักยักยอกเอาไปให้ชายชู้เป็นแน่  ฉะนั้น ท่านฝังทรัพย์ไว้ที่ใดที่หนึ่งแล้ว จึงเข้าไปหาภรรยาท่าน”

พราหมณ์ได้ทำตามคำของพระโพธิสัตว์ ฝังทรัพย์แล้วจึงไปสู่เรือน เรียกภรรยาซึ่งขณะนั้นกำลังสำเริงสำราญอยู่กับชายชู้ ได้ยินเสียงสามีจึงรีบออกมา และให้ชายชู้แอบอยู่ที่ประตู
“ท่านได้อะไรมาบ้าง?” นางถาม
“ได้เงินมา” พราหมณ์ตอบ
“เท่าไร?”   “พันหนึ่ง”
“อยู่ที่ไหน?”   “เก็บไว้ อ้อฝังไว้ที่โน่น”

พร้อมบอกสถานที่ฝังทรัพย์  
นางเมียรีบแอบไปบอกชายชู้ ชายชู้ไปขุดเอาได้ทรัพย์พันหนึ่ง

วันรุ่งขึ้น พราหมณ์ไปดูทรัพย์ที่ฝังไว้แต่ไม่พบ จึงนำความไปบอกพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ทราบความแล้ว ได้มอบทรัพย์ให้จำนวนหนึ่ง แล้วบอกว่า “ท่านจงเชิญพราหมณ์มาเลี้ยงอาหารสัก ๗ วัน วันแรกเลี้ยง ๑๔ คน เป็นเพื่อนของท่าน ๗ เป็นเพื่อนของภรรยา ๗  ในวันต่อๆ ไป ลดลงวันละ ๒ คน คือฝ่ายท่านหนึ่งคน ฝ่ายภรรยาหนึ่งคน  ในวันสุดท้าย จะมีแขกอยู่เพียง ๒ คน แขกฝ่ายภรรยาของท่านคนใดได้รับเชิญทุกวัน ท่านจงบอกพราหมณ์คนนั้นแก่ข้าพเจ้า”

พราหมณ์เฒ่าได้ทำตามนั้นแล้วมาบอกพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ให้บุรุษไปนำพราหมณ์นั้นมาสอบถามเรื่องลักทรัพย์ ทีแรกเขาปฏิเสธ แต่พอพระโพธิสัตว์บอกชื่อของตน พราหมณ์ขโมยนั้นก็กลัว ยอมรับเป็นสัตย์ทุกประการ

เสนกให้ลงอาญาแก่พราหมณ์ผู้เป็นโจร เนรเทศจากพระนครแล้วให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่พราหมณ์เฒ่า ให้ผัวเมียอาศัยอยู่ในบ้านของตน

พระโพธิสัตว์เสนกนั้น บำเพ็ญบารมีให้บริบูรณ์ด้วยการช่วยเหลือพราหมณ์แก่ให้พ้นทุกข์ ดังกล่าวมานี้ ก็ด้วยความเป็นพหูสูตของตนนั้นเอง
พหูสูตนี้ ก็คือปัญญาบารมีนั่นเอง ความเป็นพหูสูตจึงเป็นมงคลอันสูงส่งด้วยประการฉะนี้.


ความเป็นผู้มีศิลปะ
ศิลปะ คือการคิดเป็น ทำเป็น พูดเป็น ช่างคิด ช่างพูด ช่างทำ ก่อให้เกิดประโยชน์ ๓ ประการ คือ
๑.อัตถะ  เป็นที่ต้องการของตนและคนทั่วไป
๒.หิตะ  เกื้อกูลแก่ตนเองและคนอื่น
๓.สุขะ  อำนวยประโยชน์สุขแก่ตนเองและคนอื่น

คนมีศิลปะ เรียกว่า "ศิลปิน" มีมากมายสาขา จนถึงกับจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้น ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยศิลปากร" เป็นแห่งผลิตศิลปินหลายสาขา เช่น นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลปฺ์ มัณฑนศิลป์ วรรณศิลป์ วิจิตรศิลป์

ผู้มีศิลปะ คือ ช่างทำ ช่างพูด ช่างคิด หรือ ทำเป็น พูดเป็น คิดเป็น สร้างศิลปะต่างๆ ขึ้นมาตามความถนัดของตน เป็นผู้เจริญก้าวหน้า มีฐานะตำแหน่งสูงขึ้นม้่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทอง สมบูรณ์ด้วยเกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ศิลปินแห่งชาติ" ก็มีมาก

              

นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๘
คนเปลี้ยดีดก้อนกรวด

ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี มีชายเปลี้ยคนหนึ่งพิการแต่เท้ามือไม่พิการ ฉลาดในการดีดกรวด คือจะดีดใบไม้ให้ทะลุเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ได้ พวกเด็กๆ ชอบเขามาก

วันหนึ่ง พวกเด็กๆ อุ้มเขาขึ้นรถเข็นแล้วพาไปยังต้นไทรใหญ่อยู่ใกล้ประตูเมือง ให้เงินแก่คนเปลี้ยเพียงเล็กน้อย นำก้อนกรวดเล็กๆ มาให้เขา แล้วให้เขาดีดกรวดไปยังใบไทรให้ทะลุเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เป็นรูปช้างบ้าง ม้าบ้าง หรือรูปอะไรก็ได้ที่ตนต้องการ บุรุษเปลี้ยก็ดีดได้ทุกอย่าง กำลังดีดเพลินอยู่ก็พอดีพระราชาเสด็จผ่านมา พวกเด็กๆ ก็พากันหนีเพราะกลัวตำรวจหวาย แต่บุรุษเปลี้ยไม่หนี นอนกลิ้งเกลือกอยู่ที่โคนต้นไทรนั่นเอง

พระราชาทอดพระเนตรเห็นใบไทรมีรอยทะลุเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ฉงนพระทัย ตรัสถามว่า “ใครทำได้อย่างนี้”

เจ้าหน้าที่กราบทูลว่า “บุรุษเปลี้ยพระเจ้าข้า”

พระราชามีรับสั่งให้บุรุษเปลี้ยเข้าเฝ้า ตรัสถามความจริงโดยตลอดแล้ว ตรัสว่า “ปุโรหิตของเราคนหนึ่งปากจัด พูดมาก เมื่อเขาพูดแล้วคนอื่นไม่มีโอกาสได้พูดเลย เธอพอจะทำให้เขาเงียบเสียงได้ไหม?”

บุรุษเปลี้ยทูลว่า “หากได้มูลแพะสักทะนานหนึ่ง (ประมาณครึ่งลิตร) ก็จะทำให้ปุโรหิตนั้นเงียบเสียงได้พระเจ้าข้า”

พระราชามีรับสั่งให้นำบุรุษเปลี้ยนั้นเข้าไปในพระราชวัง ให้กั้นม่านแล้วให้เจาะรู ให้บุรุษเปลี้ยนั่งอยู่หลังม่านตรงรูนั้นเหมือนกัน เมื่อปุโรหิตมาเฝ้า พระราชาทรงสนทนาด้วย ปุโรหิตนั้นพูดเสียคนเดียวไม่หยุดปากอย่างเคย  บุรุษเปลี้ยดีดมูลแพะทีละก้อนเข้าปากปุโรหิต เขากลืนมูลแพะเข้าไปทีละก้อนจนหมดทะนานและเต็มท้อง บุรุษเปลี้ยกระตุกม่านให้พระราชาทรงทราบ พระราชาทรงทราบว่ามูลแพะหมดทะนานแล้ว จึงรับสั่งกะปุโรหิตว่า “ท่านอาจารย์กินมูลแพะตั้งทะนานแล้ว เพราะท่านพูดมาก ถ้ามากกว่านี้ ท่านจะไม่อาจทำให้มูลแพะย่อยได้ ไปเถิดไปดื่มน้ำใบประยงให้สำรอกเสีย เพื่อจะได้หายโรค”

ตั้งแต่นั้นมา ปุโรหิตนั้นก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคนคือไม่ค่อยพูด แม้พระราชาตรัสถามอยู่ก็ทูลแต่น้อย พระราชาทรงดำริว่า พระองค์ได้ทรงสบายพระกรรณเพราะอาศัยบุรุษเปลี้ย มีพระราชประสงค์จะตอบสนองความดีของเขา จึงพระราชทานบ้านส่วยในหมู่บ้าน ๔ ตำบล ใน ๔ ทิศ แห่งพระนครแก่บุรุษเปลี้ยนั้น เขาเก็บส่วยได้ปีละแสนกหาปณะ มีสุขสบายสืบมา

ครั้งนั้น อำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตคนหนึ่งเข้าเฝ้าพระราชา ปรารภเรื่องบุรุษเปลี้ยนั้น แล้วทูลว่า “ราชะ ชื่อว่าศิลปะศาสตร์ในโลกนี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง คนฉลาดทั้งหลายควรเรียนแท้อาศัยศิลปะเพียงดีดกรวด บุรุษเปลี้ยยังได้สมบัติถึงเพียงนี้ อานิสงส์แห่งศิลปะอันยิ่งกว่านี้ จะพรรณนาได้อย่างไร? พระเจ้าข้า”

ศิลปะต่างๆ อย่างใดอย่างหนึ่งถ้าใช้ในทางสุจริต ถูกทำนองคลองธรรมก็เป็นสิริมงคลนำความสุขความเจริญมาให้ ถ้าใช้ในทางทุจริต ผิดศีล ผิดธรรม ก็เป็นอัปมงคลนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้


วิชาการรักรู้ฤๅขาด
อย่าหมิ่นศิลปศาสตร์ ว่าน้อย
รู้จริงสิ่งเดียวอาจ มีมั่ง
เลี้ยงชีพช้าอยู่ร้อย ชั่วลื้อเหลนหลาน

ชายคนหนึ่งเรียนวิชาดีดกรวดนี้มา เห็นภิกษุรูปหนึ่งเดินผ่านมา คิดว่าสมณะนี้ไม่มีเจ้าของ จึงดีดกรวดเข้าหูท่าน ท่านได้รับทุกข์เวทนาและมรณภาพในเวลาต่อมา  ชายผู้นั้นตายแล้วก็ไปเกิดในนรกสิ้นกาลนาน

การมีวินัย

วินัย คือระเบียบสำหรับกำกับควบคุม นำไปซึ่งความประพฤติให้เป็นแบบแผน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมถึงพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด กฎหมาย กฎกระทรวง ศีลธรรม วัฒนธรรม ระเบียบแบบแผน จารีตประเพณี ขนบธรรมเนียม คำสั่ง คำประกาศ กติกา และชื่ออื่นๆ อีก

วินัยมีทั้งของคฤหัสถ์และบรรพชิต
-วินัยของคฤหัสถ์ ที่เห็นชัดๆ คือ ศีล ๕
-วินัยของบรรพชิต (พระสงฆ์สามเณร) คือ ศีล ๒๒๗, ศีล ๑๐

คฤหัสถ์และบรรพชิตผู้ปฏิบัติถูกต้องตามวินัยของตนแล้วชื่อว่าได้ศึกษามาดีแล้วเป็นผู้มีวินัย


มีวินัยอันศึกษาดีแล้ว
อันวินัยผู้ใดใฝ่ศึกษา
ย่อมนำมาซึ่งสุขทุกเมื่อหนอ
มีระเบียบเรียบเรี่ยมเอี่ยมลออ
วินัยก่อให้สง่างามน่าชม
เมื่อมีศิลป์มีศาสตร์ฉลาดแล้ว
ต้องรู้แนววินัยไว้รักษา
พฤติกรรมให้ดีมีจรรยา
งามสง่าสมศักดิ์สมหลักธรรม

★ •:*´¨`*:•.☆•★ •:*´¨`*:• ★
ภาพและเรื่อง : หนังสือนิทานมงคลชีวิตในพระไตรปิฎก
                  ส.รัตนรัตติ รวบรวมและเรียบเรียงจาก อรรถกถามังคลัตถทีปนี ในมงคลสูตร ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ในพระสุตตันตปิฎก
                  ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 มิถุนายน 2560 14:07:39 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 07 มีนาคม 2559 16:10:33 »


นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๙
พระมหาติสสเถระ


ในคราวเกิดทุพภิกขภัย (ภัยเกิดจากข้าวยากหมากแพง) คราวหนึ่งพระมหาติสสเถระเดินทางไกล มีร่างกายลำบากอ่อนแรงเพราะขาดอาหาร และเพราะลำบากในการเดินทาง ท่านได้แวะนอนใต้ต้นมะม่วงมีผลดกต้นหนึ่ง มีมะม่วงสุกหล่นลงมาเกลื่อนกลาด แต่ท่านก็ไม่หยิบฉันเอง เพราะมีพระวินัยบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุฉันอาหารที่ยังมิได้รับประเคน

อุบาสกคนหนึ่งผ่านมาทางนั้น เห็นท่านนอนอยู่อย่างนั้น จึงคั้นน้ำมะม่วงถวายท่าน แล้วแบกขึ้นบ่าพาไปที่พักของท่าน พระเถระอยู่บนบ่าของอุบาสกนั้นเอง สอนตนเองว่า “อุบาสกนี้มิใช่มารดา มิใช่บิดา มิใช่ญาติโยมอะไรของเรา มิใช่เพื่อนพ้องของเรา เขาทำแก่เราเช่นนี้ เพราะเรามีศีลรักษาวินัยตามพุทธบัญญัติ”

ท่านเจริญวิปัสสนาอยู่บนหลังอุบาสกนั้น ได้บรรลุอรหัตผลแล้ว (เรื่องนี้ท่านเล่าไว้ในปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค)

★ •:*´¨`*:•.☆•★ •:*´¨`*:• ★


นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๑๐
ดาบส ๒ ตน


ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เป็นดาบสชื่อคันธาระ เป็นผู้ได้ฌานและอภิญญา ท่านมีสหายอยู่ตนหนึ่งชื่อเวเทหะ เวเทหดาบสได้สั่งสมเกลือไว้ (การสั่งสมเกลือไม่เหมาะแก่นักบวช) คันธารดาบสทราบเข้าจึงติเตียน เวเทหดาบสทนการติเตียนไม่ได้จึงโกรธ ดาบสโพธิสัตว์มุ่งสอนสหายด้วยความหวังดี จึงกล่าวว่า

“ผู้ใดไม่มีปัญญา หรือไม่มีวินัย ผู้นั้นก็จะเที่ยวไปในโลกเหมือนกระบือตาบอดเที่ยวไปในป่า แต่คนในโลกบางพวก (แม้ตนไม่มีปัญญา) ได้อาศัยอยู่ในสำนักของครูอาจารย์ ได้ศึกษาระเบียบวินัยอย่างดี เว้นข้อที่วินัยห้าม ทำตามข้อที่วินัยอนุญาตมีใจมั่นคง เที่ยวไปในโลกได้”

เวเทหดาบสได้ฟังโอวาทของคันธารดาบสผู้สหาย เชื่อฟังและปฏิบัติตาม เจริญกสิณตามที่พระโพธิสัตว์บอก ได้ฌานและอภิญญาแล้ว เมื่อตาย ดาบสทั้งสองได้ไปเกิดในพรหมโลก ฉะนี้แล
(ข้อความนี้มาในอรรถกถาคันธารชาดก สัตตกนิบาต)

วาจาสุภาษิต
วาจาสุภาษิต การพูดดี การพูดที่เป็นวจีสุจริต (รวมถึงการเขียนการตีพิมพ์ด้วย) มี ๔ อย่าง คือ
๑.ไม่พูดปดมดเท็จ พูดแต่คำสัตย์จริง
๒.ไม่พูดยุยงให้เขาแตกสามัคคีกัน
     พูดคำสมานสามัคคีมีประโยชน์
๓.ไม่พูดคำหยาบ สกปรกลามก พูดคำสุภาพอ่อนหวาน
๔.ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้ประโยชน์ ไม่ถูกกาลเทศะ

วาจาสุภาษิตมีลักษณะ ๕ ประการ
๑.กล่าวถูกกาละเทศะ
๒.กล่าวคำจริง
๓.กล่าวคำอ่อนหวาน
๔.วาจานั้นประกอบด้วยประโยชน์
๕.กล่าวด้วยจิตเมตตา


วาจาสุภาษิต
เปล่งวจี      สัจจะ     นวลละม่อม
กล่าวเกลี้ยกล่อม      ไพเราะ     กาลเหมาะสม
เจือประโยชน์      เมตตา     ค่านิยม
ชื่นอารมณ์      ผู้ฟัง     ดังเสียงทอง
พูดจากัน      สรรหา     สุภาษิต
พูดผูกมิตร      กันไว้     ให้คมขำ
ไม่พูดมาก      พูดน้อย     ทุกถ้อยคำ
ให้ดื่มด่ำ      ไพเราะ     เสนาะฟัง
                    [มงคลภาษิต]
★ •:*´¨`*:•.☆•★ •:*´¨`*:• ★


นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๑๑
โคนันทวิศาล


ในอดีตชาติ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นโคในเมืองตักกศิลา พราหมณ์ผู้หนึ่งได้โคนั้นมาตั้งแต่ยังเป็นโคลูกอ่อนอยู่ ตั้งชื่อให้ว่า “นันทวิศาล” แปลว่า “ให้เกิดความพอใจอย่างกว้างขวาง”

เขารักโคนั้นเหมือนลูกของตน เลี้ยงดูอย่างดี จนนันทวิศาลเจริญเติบโตเป็นโคถึกและมีกำลังมาก

คราวหนึ่งมีการพนันกันขึ้น พราหมณ์เจ้าของโคนันทวิศาลไปท้าโควินทะเศรษฐีว่า โคของตนสามารถลากเกวียนได้ถึง ๑๐๐ เล่ม เศรษฐีท้าพนัน มีเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะเป็นเดิมพัน เมื่อเทียมเกวียนเรียบร้อยแล้ว เจ้าของโคจึงกล่าวว่า

“อ้ายโคโกง ลากเกวียนไป”  โคนันทวิศาลได้ยินคำไม่ไพเราะ จึงนิ่งเสียไม่ลากเกวียนไป

พราหมณ์แพ้พนัน ต้องเสียทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ

พราหมณ์ขอท้าพนันเป็นครั้งที่ ๒ โดยมีเงินเดิมพัน ๒,๐๐๐ กหาปณะ ในวันนั้นพราหมณ์กล่าวว่า

“พ่อมหาจำเริญ พ่อจงลากเกวียนไปเถิด”

โคนันทวิศาลได้ยินคำไพเราะเสนาะหูเช่นนั้น ได้ลากเกวียนร้อยเล่มไปอย่างสะดวกสบายให้พราหมณ์ชนะพนัน

พระบรมศาสดาตรัสไว้ในนันทวิศาลชาดกว่า “บุคคลพึงกล่าววาจาอันเป็นที่เจริญใจเท่านั้น ไม่ควรกล่าววาจาอันไม่เป็นที่เจริญใจ เมื่อพราหมณ์กล่าววาจาเป็นที่เจริญใจ โคนันทวิศาลเข็นภาระอันหนักไปได้ ทำให้พราหมณ์ได้ทรัพย์  โคนันทวิศาลเองก็เบิกบานยินดีที่ทำให้พราหมณ์ชนะได้ทรัพย์คืนมา”

ความเป็นผู้คงแก่เรียน ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ทั้งทางโลกทางธรรม (ศาสตร์) หรือพาหุสัจจะแล้วใช้ความรู้ความสามารถทำงาน “ศิลป์” ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม พร้อมทั้งเป็นคนมีศีลมีธรรม (วินัย) เป็นเครื่องกำกับศาสตร์และศิลป์นั้นให้เป็นไปในทางที่ถูกทำนองคลองธรรมเป็นสุจริต

การกล่าววาจาสุภาษิต คือพูดคำสัตย์จริง คำสุภาพอ่อนหวาน สมานสามัคคี คำมีประโยชน์

คุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นทางเจริญอันสูงส่ง ฉะนี้แล



มงคลสูตรพระคาถาที่ ๔
มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ       ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห
อนากุลา จ กมฺมนฺตา       เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
การบำรุงมารดาบิดา ๑       การสงเคราะห์บุตร๑
การสงเคราะห์ภรรยา ๑       การไม่ทำงานให้คั่งค้าง ๑
สี่ข้อนี้ เป็นมงคล (ทางเจริญ) อันสูงสุด


อธิบาย
การบำรุงมารดาบิดา
มาดาบิดามีพระคุณแก่บุตรธิดาอย่างล้นเหลือ เริ่มแต่เป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูมาจนเติบใหญ่ บุตรธิดาต้องบำรุงมารดาบิดาทั้งในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว

การบำรุงมารดาบิดา ๒ วิธี
๑.ประกาศคุณของท่าน
๒.สนองคุณของท่าน

การประกาศคุณของท่าน อยู่ที่เราประพฤติปฏิบัติชอบ ผลดีย่อมแผ่ไปถึงท่านด้วย

การสนองคุณของท่าน เมื่อเราทำดีต่อท่าน ความดีนั้นก็แผ่มาถึงเราด้วย

บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดาด้วยสถาน ๕
๑.ท่านเลี้ยงเรามา เราเลี้ยงท่านตอบ
๒.ช่วยทำกิจการงานของท่าน
๓.ดำรงวงศ์ตระกูลของท่านไว้
๔.ทำตนให้เป็นผู้สมควรรับมรดก
๕.เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

การบำรุงบิดามารดาที่นับว่าเลิศประเสริฐแท้ คือ
๑.ท่านยังไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ก็แนะนำเชิญชวนให้ท่านมีศรัทธาในพระรัตนตรัย
๒.ท่านยังไม่รักษาศีลก็แนะนำ เชิญชวนให้ท่านรักษาศีลอย่างน้อยก็ต้องรักษาศีล ๕
๓.ท่านยังไม่บริจาคทานก็แนะนำให้ท่านบริจาค เช่น ตักบาตรพระสงฆ์ที่มาบิณฑบาตตอนเช้า
๔.ท่านยังไม่เข้าในเรื่องพุทธศาสนา ก็ชวนท่านไปฟังธรรมที่วัด ซื้อหนังสือธรรมะมาให้อ่าน ซื้อเทปธรรมะมาให้ท่านฟัง แรกๆ เราก็ชวนท่านไปก่อน ภายหลังถ้าท่านยังแข็งแรงดีท่านก็ไปเอง หรือเราจะเอาพาหนะไปส่งท่านถึงวัดก็ยังดี



การบำรุงมารดาบิดา
คนที่หา      ได้ยาก     มากไฉน
เพราะว่าใน      โลกนี้     มีเพียงสอง
คือพ่อแม่      เกิดเกล้า     เหล่าลูกต้อง
ต้องสนอง      พระคุณ     ได้บุญแรง
เรามีพ่อ      มีแม่     มีแต่รัก
ท่านฟูมฟัก      รักเรา     เฝ้าถนอม
เหลือบริ้นยุง      เรือดไร     มิให้ตอม
ทุกข์ก็ยอม      ทนทุกข์     ทุกประการ
เมื่อสองท่าน      ลาลับ     ดับสังขาร
ทำบุญทาน      แผ่ผล     กุศลส่ง
เป็นหนี้ท่าน      ใช้หนี้     อย่างนี้ตรง
จุดประสงค์      โอวาท     พระศาสดา
                     [มงคลภาษิต]
★ •:*´¨`*:•.☆•★ •:*´¨`*:• ★


ภาพและเรื่อง : หนังสือนิทานมงคลชีวิตในพระไตรปิฎก
                  ส.รัตนรัตติ รวบรวมและเรียบเรียงจาก อรรถกถามังคลัตถทีปนี ในมงคลสูตร ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ในพระสุตตันตปิฎก
                  ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 มิถุนายน 2560 14:04:59 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 08 มิถุนายน 2560 14:24:58 »



นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๑๒
ภิกษุเลี้ยงมารดาบิดา

บุตรเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี ฟังธรรมของพระบรมศาสดาแล้วมีศรัทธาความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส ขอบรรพชาอุปสมบท เล่าเรียนพระธรรมวินัยและกรรมฐานอยู่ในสำนักของอุปัชฌาย์อาจารย์ ๕ พรรษา แล้วลาอุปัชฌาย์อาจารย์ไปอยู่ในชนบทแห่งหนึ่ง

ส่วนมารดาบิดาของท่าน หลังจากลูกชายออกบวชแล้ว ทรัพย์สมบัติก็ร่อยหรอลงโดยลำดับ น่าสงสารอย่างยิ่งเพราะถูกโกงบ้าง ถูกยักยอกบ้าง ในที่สุดไม่มีอะไรเหลือ คฤหาสน์ก็ถูกยึดไปต้องเที่ยวขอทานเขากิน

ภิกษุนั้นได้ทราบข่าวว่ามารดาบิดาของตนยากจนนัก จึงคิดว่า “เราพยายามทำความเพียรอยู่ถึง ๑๒ ปี เพื่อให้ได้บรรลุมรรคผล แต่ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลเบื้องต้น เราจะบวชไปทำไมอีก เราควรสึกออกไปหาเลี้ยงมารดาบิดา ทำบุญให้ทานก็อาจถึงสวรรค์ได้”

จึงออกจากป่าเข้ามาสู่เมืองสาวัตถี ใจของภิกษุนั้นผูกพันอยู่กับเรื่องของมารดาบิดา ถึงเมืองสาวัตถีผ่านพระเชตวนานาม คิดได้ว่า “พรุ่งนี้แล้วเราจะสึกเป็นคฤหัสถ์ ธรรมดาคฤหัสถ์มีกิจธุระมาก หาโอกาสฟังธรรมได้ยาก เย็นนี้เราจะฟังธรรมของพระบรมศาสดาเป็นครั้งสุดท้าย”

ภิกษุนั้นแวะเข้าไปในวัดเชตวัน วันนั้นพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมพรรณนาถึงคุณมารดาบิดาว่า ภิกษุก็เลี้ยงมารดาบิดาได้ ภิกษุนั้นฟังแล้วซาบซึ้งยิ่งนัก พระศาสดาตรัสว่า เป็นภิกษุเลี้ยงมารดาบิดาได้

ในวันรุ่งขึ้น ท่านถือเอาสลากยาคูและสลากภัตต์ (ข้าต้มและข้าวสวย) ที่ได้มาจากคณะสงฆ์เข้าไปในบ้าน นำข้าวยาคูและภัตต์ให้มารดาบิดา ส่วนตัวเองเที่ยวบิณฑบาตฉัน เสร็จแล้วก็ทำเพิงที่พักให้มารดาบิดาอยู่ และปรนนิบัติท่านทั้งสองด้วยความเอื้อเฟื้อตลอดมา ท่านได้อาหารใดมาก็ตามต้องแบ่งให้มารดาบิดาก่อนเสมอ ส่วนท่านบางวันก็อดเพราะบิณฑบาตได้น้อยพอเลี้ยงมารดาบิดาเท่านั้น



โทษของการทำร้ายมารดา

บุตรเศรษฐีคนหนึ่งชื่อมิตตวินทุกะ อยู่ในเมืองพาราณสี พ่อมีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ (๘๐๐ ล้าน) เขาเป็นคนไม่มีศรัทธา ไม่มีศีล ส่วนมารดาของเขาเป็นคนมีศีลธรรม เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว เขาบอกมารดาว่าจะเอาเงินไปลงทุนค้าขายทางเรือ

“อย่าเลยลูก” มารดาห้าม “ทรัพย์สินเงินทองของเราก็มีมากมาย ใช้ไปตลอดชีวิตก็ไม่หมด ภัยในทะเลมีมาก ที่สำคัญคือเจ้าเป็นลูกชายคนเดียวของแม่ เมื่อเจ้าจากไป แม่คงเป็นทุกข์มากเพราะคิดถึงเจ้า เชื่อแม่เถอะอย่าไปเลยนะ

เขาไม่ยอมเชื่อฟังแม่ จะไปอย่างเดียว เมื่อแม่ห้ามและจับข้อมือไว้ เขาสลัดมือออกและตีมารดาให้ล้มลง แล้วลงเรือไป

ในวันที่ ๗ เรือได้หยุดนิ่งท่ามกลางมหาสมุทร ไม่เคลื่อนไหวเลย ทั้งนี้เพราะมิตตวินทุกะเป็นคนกาฬกัณณีอยู่ในเรือ คนในเรือได้จับสลากกัน สลากนั้นตกแก่มิตตวินทุกะถึง ๓ ครั้ง  ชาวเรือจึงจับมิตตวินทุกะลอยแพไป แพนั้นลอยไปถึงเกาะแห่งหนึ่ง เขาได้เห็นเปรตตนหนึ่งมีกงจักรอันคมหมุนอยู่บนศีรษะ คร่ำครวญอยู่แต่เขามองเห็นเป็นดอกบัวอันสวยงาม

เขาเข้าไปใกล้เปรตตนนั้น กล่าวว่า “ท่านทูนดอกบัวมานานแล้ว ขอดอกบัวนั้นให้ฉันเถิด”
“อย่าเลยสหาย นี่มันไม่ใช่ดอกบัวนะ เป็นกงจักรต่างหาก”
“ท่านจะไม่ให้เราหรือ จึงกล่าวอย่างนี้” มิตตวินทุกะกล่าว

เปรตตนนั้นได้คิดทันทีว่า “ชะลอกรรมของเราจะสิ้นแล้ว ชายคนนี้คงตีมารดาบิดาเหมือนเรา จึงได้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เราจะให้กงจักรอันแหลมคมนี้แก่เขา”

กล่าวเชื้อเชิญว่า “มาเถิดสหาย มาใกล้ๆ เราๆ จักให้ดอกบัวนี้แก่ท่าน”

มิตตวินทุกะเข้าไปหาด้วยความยินดี เปรตตนนั้นจึงถอดกงจักรบนศีรษะของตนมาสวมบนศีรษะของมิตตวินทุกะ กงจักรนั้นหมุนบนกระหม่อมของเขาทันที เขารู้ตัวว่าเป็นกงจักรเมื่อสายเสียแล้ว เขาร้องเสียงลั่นให้เปรตตนนั้นเอากงจักรคืนไป แต่เปรตตนนั้นได้อันตรธานไปแล้ว

มิตตวินทุกะจะต้องเสวยทุกขเวทนาแสนสาหัสอยู่ที่เกาะนั้นเป็นเวลานานแสนนานจนกว่าจะสิ้นกรรม นี่คือวิบากกรรมของการตีมารดา จึงทำให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว


เห็นกงจักรดุจด้าง ดอกบัว
ขอทัดเทิดทูนหัว ส่งให้
เสวยทุกข์ทราบสึกตัว................ เต็มปลด เปลื้องเฮย
ผลพิบากแสดงไว้ เดือดร้อนรำคาญ
            (สุภาษิตคำโคลง)




นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๑๓
นกแร้ง

ในอดีตชาติ พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกแร้ง เลี้ยงมารดาบิดาอยู่ที่ถ้ำแร้ง นำอาหารมีเนื้อโคเป็นต้น ที่ตายแล้วมาเลี้ยงมารดาบิดา มารดาบิดาของพระโพธิสัตว์ตาบอดทั้งสองข้างและแก่มากแล้ว

ครั้งนั้น พรานคนหนึ่งดักบ่วงไว้ในป่า มิได้เจาะจงสัตว์ชนิดใด แร้งพระโพธิสัตว์มาติดบ่วงนั้น จึงคร่ำครวญถึงมารดาบิดาว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เพราะเมื่อสิ้นตนแล้ว ท่านทั้งสองก็สิ้นที่พึ่งคงจะต้องซูบผอมและตายอยู่ในถ้ำนั้นเอง

พรานได้ยินแร้งโพธิสัตว์รำพันเช่นนั้น จึงกล่าวว่า “คนเขาพูดว่า นกแร้งแลเห็นซากศพได้ไกลถึงร้อยโยชน์ แต่ไฉนมาใกล้ข่ายและบ่วงแล้วจึงไม่เห็น

นกแร้งตอบว่า “เมื่อใดสัตว์ถึงคราวจะเสื่อมในกาลนั้น แม้มาใกล้ข่ายและบ่วงแล้วก็หาเห็นไม่”

พรานชอบใจคำตอบของนกแร้งที่ตอบเช่นนั้น เอ็นดูที่แร้งรำพันถึงบิดามารดา เห็นว่าไม่ควรถูกฆ่า จึงแก้บ่วงออกจากเท้า พร้อมกล่าวว่า “เจ้าจงกลับไปเลี้ยงพ่อแม่ที่แก่เฒ่าเถิด ขอความสวัสดีมีแก่ท่านและหมู่ญาติเถิด” แล้วปล่อยแร้งไป

นกแร้งกล่าวว่า “ขอให้ท่านจงมีความสวัสดีและบันเทิงในหมู่ญาติ เหมือนที่ให้พรแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

คาบเนื้อเต็มปากไปฝากบิดามารดาของตน


อติชาตํ อนุชาตํ ปุตฺตมิจฺฉนฺติ ปณฺฑิตา
อวชาตํ น อิจฺฉนฺติ โย โหติ กุลคนฺธโน

บัณฑิตย่อมปรารถนาบุตรที่เป็นอภิชาต หรืออนุชาติ
ย่อมไม่ปรารถนาอวชาตบุตร ซึ่งเป็นผู้ทำลายตระกูล

       (๐๘.๐๘)         (๒๕/๒๕๒)



นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๑๔
พญานกแขกเต้า

ในป่างิ้วแห่งหนึ่งใกล้กรุงราชคฤห์ใกล้ๆ สานุบรรพต มีนกแขกเต้าอาศัยอยู่จำนวนมาก ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เป็นพญานกแขกเต้าตัวใหญ่เท่าดุมเกวียน หาอาหารจากป่าหิมพานต์มาเลี้ยงมารดาบิดา

พราหมณ์คนหนึ่งเป็นโกสิยโคตร เป็นชาวสาลินทิยคาม หว่านข้าวสาลีในนาประมาณพัสกรีส (๑ กรีสพื้นที่ประมาณ ๑๒๕ ศอก) ให้มีคนดูแลนา ๑ คน พญานกแขกเต้าพาบริวารลงหากินในนานั้น คนเฝ้านาไม่สามารถห้ามได้เพราะมีมากเหลือเกิน นกแขกเต้าตัวอื่นๆ กินอิ่มแล้วก็บินกลับไป ส่วนพญานกรวบรวมรวงข้าวเป็นอันมาก แล้วเอาปากคาบไป

คนรักษานาบอกนายพราหมณ์เจ้าของนา เขาจึงให้คนรักษานาทำบ่วงดักไว้ตรงที่พญานกลงกินข้าว คนดูแลนาทำตามที่เจ้าของนาสั่งทำบ่วงดักไว้ พญานกมาติดบ่วง คนรักษานาจับตัวไปให้เจ้าของนา

พราหมณ์ได้เห็นแล้วเกิดความเมตตา ให้เกาะที่ตักของตนแล้วถามว่า “เจ้านกแขกเต้าที่น่ารัก เจ้ามียุ้งข้าวหรืออย่างไร จึงกินข้าวสาลีแล้วคาบไปอีกมาก หรือเจ้าจองเวรเราด้วยเรื่องใด?”

พญานกแขกเต้าตอบว่า “ท่านพราหมณ์เอ๋ย เรามิได้ผูกเวรอะไรในตัวท่าน และยุ้งข้าวของเราก็ไม่มี แต่เมื่อข้าพเจ้าไปถึงป่าไม้งิ้ว ย่อมใช้หนี้บ้างให้เขากู้หนี้บ้าง ฝังขุมทรัพย์ไว้บ้าง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องนำรวงข้าวสาลีของท่านติดไปด้วย ขอท่านโปรดทราบความจริงตามที่ข้าพเจ้าบอกนี้เถิด”

พราหมณ์ไม่เข้าใจความหมายที่พระโพธิสัตว์พูด จึงขอให้อธิบายขยายความให้เข้าใจ พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า “นกเล็กๆ ขนปีกยังไม่งอก ออกหากินไม่ได้ เป็นลูกของข้าพเจ้ามีอยู่ ข้าพเจ้าต้องเลี้ยงดูนกเหล่านั้น ต่อไปภายหน้าเขาจะเลี้ยงข้าพเจ้าตอบ นี้เรียกว่าข้าพเจ้าให้เขากู้หนี้ (ให้เขากู้ยืมไว้)

มารดาบิดาผู้แก่เฒ่าของข้าพเจ้ามีอยู่ ท่านเคยเลี้ยงดูแลข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าเป็นหนี้ท่านเหล่านั้น ข้าพเจ้าจึงนำข้าวสาลีไปเลี้ยงท่าน เป็นการเปลื้องหนี้ (ใช้หนี้)

อนึ่ง ยังมีนกแขกเต้าอื่นๆ ขนปีกเหี้ยนเกรียน ทุพพลภาพ เพราะชราอาศัยอยู่ที่นั้น ข้าพเจ้าต้องการบุญ (ทำทาน) จึงให้ข้าวสาลีแก่นกเหล่านั้น บัณฑิตทั้งหลายเรียกบุญนี้ว่าขุมทรัพย์ (บุญนิธิ)”

พราหมณ์ได้ฟังแล้วเลื่อมใสรักใคร่ จึงกล่าวว่า “ต่อแต่นี้ไปเจ้าและนกทั้งหลายจงไร้โรคภัย บริโภคข้าวสาลีตามต้องการเถิด”

พราหมณ์ได้มอบนาข้าวสาลีทั้งหมดให้ แก้บ่วงออกจากเท้า แต่นกโพธิสัตว์เป็นผู้รู้จักประมาณ ขอรับนาข้าวไว้เพียง ๘ กรีส  พราหมณ์ได้ให้ปักหลักเขตลงในนาประมาณ ๘ กรีส นั้น  บอกแก่คนเฝ้านาว่า “บริเวณนั้นมอบให้นกแขกเต้าทั้งหลาย” ฉะนี้แล

การสงเคราะห์บุตรธิดา
บุตรธิดา คือผู้ที่บิดามารดาผู้ให้กำเนิด และต้องเลี้ยงดู

การสงเคราะห์บุตรธิดานั้น มีจุดหมาย ๒ ประการ คือ
๑.เลี้ยงบุตรธิดาให้เจริญเติบโต มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงสมบูรณ์
๒.ให้การศึกษา ฝึกฝนอบรมบุตรธิดาให้เป็นคนดี รวมลงคือสร้างความเจริญเติบโตให้บุตรธิดา ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

บิดามารดาพึงสงเคราะห์บุตรธิดาด้วยสถาน ๕ คือ
๑.ป้องกันบุตรธิดาจากความชั่วนานาประการ
๒.สอนให้ตั้งอยู่ในความดี
๓.จัดการให้ได้ศึกษาศิลปวิทยา
๔.จัดหาคู่ครองผู้สมควรให้
๕.มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาอันสมควร


               การสงเคราะห์บุตรธิดา
เป็นมารดา บิดา ทำหน้าที่
ให้บุตรมี พำนัก เป็นหลักแหล่ง
สงเคราะห์บุตร ธิดาตน กุศลแรง
ย่อมส่องแสง เพิ่มพูน ตระกูลวงศ์
เรามีบุตร ธิดามีภาระ
จงวิริยะ พยายาม ตามรักษา
ให้ละชั่ว ทำดี มีจรรยา
ให้ศึกษา ศิลปะ หัตถกรรม
ควรมีคู่ จัดการ แต่งงานให้
ตามสมัย นิยม ดูคมขำ
มอบทรัพย์สิน เป็นทุน ช่วยหนุนนำ
เสริมกิจกรรม ก่อร่าง สร้างครอบครัว
           (มงคลภาษิต)


★ •:*´¨`*:•.☆•★ •:*´¨`*:• ★
ภาพและเรื่อง : หนังสือนิทานมงคลชีวิตในพระไตรปิฎก
                  ส.รัตนรัตติ รวบรวมและเรียบเรียงจาก อรรถกถามังคลัตถทีปนี ในมงคลสูตร ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ในพระสุตตันตปิฎก
                  ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 22 กุมภาพันธ์ 2561 15:17:44 »



นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๑๕
กาฬกุมาร บุตรอนาถปิณฑิกเศรษฐี

ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี (ผู้สร้างพระเชตวันมหาวิหารถวายพระพุทธเจ้า ณ เมืองสาวัตถี) มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อกาฬกุมาร ไม่สนใจการเฝ้าพระพุทธเจ้า ไม่ฟังธรรม ไม่ขวนขวายในการบุญกุศลใดๆ

วันหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกล่าวกับเขาว่า “ลูก ถ้าเจ้าสามารถรักษาอุโบสถ (รักษาศีล ๘) ฟังธรรมในวิหารแล้วกลับมา พ่อจะให้ทรัพย์ ๑๐๐ กหาปณะ”

เพราะอยากได้ทรัพย์ กาฬกุมารจึงไปยังวิหารเชตวัน รับอุโบสถศีลแล้วไม่ฟังธรรม ไปแอบนอนเสียในที่แห่งหนึ่ง

พอรุ่งเช้า เขากลับมาบ้านขอเงินพ่อ ๑๐๐ กหาปณะ เมื่อพ่อไม่ยอมให้ เพราะทำได้ไม่ครบตามสัญญา เขาก็ไม่ยอมบริโภคอาหาร (ประท้วง) เมื่อได้ทรัพย์แล้วจึงบริโภคอาหาร

วันรุ่งขึ้น เศรษฐีพูดกับบุตรอีกว่า “ลูก วันนี้ เจ้าไปฟังธรรมในสำนักของพระพุทธเจ้าสักบทหนึ่งนะ กลับมาพ่อจะให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ (กหาปณะหนึ่ง ประมาณ ๔ บาท)

เขาอยากได้ทรัพย์อีก ไปยืนฟังธรรมอยู่ พระบรมศาสดาทรงบันดาลให้เขาจำไม่ค่อยได้ จึงต้องยืนฟังอยู่นาน ฟังไปจนได้สำเร็จพระโสดาบัน (พระอริยบุคคลเบื้องต้น ฆราวาสก็บรรลุได้)

วันรุ่งขึ้น เขากลับมาบ้านพร้อมพระบรมศาสดา เมื่อพระบรมศาสดากำลังทรงเสวย เศรษฐีได้ส่งถุงทรัพย์ให้เขา เขาละอายที่จะรับถุงทรัพย์ต่อพระพักตร์พระบรมศาสดา จึงไม่รับ

เศรษฐีเห็นอาการของบุตรแปลกไป จึงถามเขา เขาบอกว่าไม่ต้องการทรัพย์แล้วเพราะได้สิ่งอันประเสริฐกว่าทรัพย์

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นเอกราช (เป็นพระราชา) ในแผ่นดิน ประเสริฐกว่าการไปสวรรค์ และประเสริฐกว่าการเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง”

การสงเคราะห์ภรรยา
ภรรยา คือหญิงที่สามีพึงเลี้ยงดู สงเคราะห์ แปลว่า เอาใจ การยึดเหนี่ยว คือ ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน การสงเคราะห์ภรรยาเป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจภรรยา แม้สงเคราะห์สามี ก็เป็นการยึดเหนี่ยวน้ำใจสามีเช่นเดียวกัน

คนเราจะรักใคร่นับถือกัน ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นสายสัมพันธ์ยึดเหนี่ยวผูกพันน้ำใจกันให้เกิดความรัก ความเคารพนับถือกัน สามัคคี เมตตาปรานีกัน พึงทราบวิธีการที่สามีภรรยาสงเคราะห์กัน ที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำไว้ฝ่ายละ ๕ สถาน คือ
๑.ยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยา ไม่ปกปิด หลบๆ ซ่อนๆ ไม่ใช่เป็นภรรยาเก็บ ภรรยาลับ หรือภรรยารอง
๒.ไม่ดูหมิ่นดูแคลนให้เจ็บช้ำน้ำใจ
๓.ไม่ประพฤตินอกใจภรรยา รักเดียวใจเดียว
๔.มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้ภรรยา
๕.ให้เครื่องแต่งตัวแก่ภรรยาตามฐานะ

เมื่อสามีสงเคราะห์ภรรยาด้วยสถาน ๕ ดังนี้แล้ว ภรรยาก็ต้องสงเคราะห์สามีด้วยสถาน ๕ คือ
๑.จัดการบ้านเรือนเรียบร้อยดี สมเป็นแม่ศรีเรือน
๒.สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี
๓.ไม่ประพฤตินอกใจสามี รักเดียวใจเดียว
๔.รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้เป็นอย่างดี
๕.ขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง


การสงเคราะห์ภรรยา
มีคู่ครอง ต้องไม่ทำ ให้ช้ำจิต
จะพาผิด ไปข้าง ทางผุยผง
ต้องสงเคราะห์       แก่กัน         ให้มั่นคง
รักยืนยง ด้วยกัน จนวันตาย
เรามีคู่ รักคู่ อยู่เป็นนิจ
มีความคิด ร่วมกัน ฉันผัวเมีย
ร่วมทุกข์สุข ก่อร่าง สร้างครอบครัว
ไม่ปลีกตัว ปลีกใจ ไปจากกัน
อันหน้าที่ สามี นั้นมีอยู่
หนึ่งไม่ดู หมิ่นเมีย ให้เสียขวัญ
สองยกย่อง ให้เด่น เป็นสำคัญ
สามจิตมั่น รักแท้ ไม่แปรปรวน
สี่กิจการ งานทั้งหลาย       ภายในบ้าน
มอบนงคราญ เป็นใหญ่ ให้ครบถ้วน
ห้าอาภรณ์ งดงาม มอบตามควร
ให้เนื้อนวล สำหรับ ประดับกาย
              มงคลภาษิต




นิทานมงคลชีวิต
เรื่องที่ ๑๖
สตรีประพฤตินอกใจสามี

ภรรยาของอุบาสกคนหนึ่ง ประพฤตินอกใจสามี ถูกสามีจับได้ สามีกล่าวว่า “เพราะเหตุไร? เธอจึงทำอย่างนี้”

นางกล่าวว่า “ถ้าดิฉันทำอย่างนั้นจริง ขอให้สุนัขตัวนี้จงกัดดิฉัน”

นางตายแล้วไปเกิดเป็นนางเวมานิกเปรต ใกล้สระน้ำแห่งหนึ่ง กลางวันเสวยสุข กลางคืนเสวยทุกข์

พระเจ้าพาราณสี เสด็จเข้าป่าล่าสัตว์ ถึงสระน้ำนั้นเสวยสุขกับนางเปรตตนนั้น (กลางวันเป็นคน) นางลวงพระราชา เสวยทุกข์ในเวลากลางคืน (กลางวันเป็นคน กลางคืนเป็นเปรตถูกสุนัขกัด)

พระราชาสงสัย ดำริว่านางไปไหน จึงเสด็จตามไป ประทับยืนอยู่ไม่ไกล ทรงเห็นสุนัขตัวหนึ่งขึ้นจากสระน้ำ กัดนางดังปับๆ จึงเอาพระแสงดาบตัดสุนัขออกเป็น ๒ ท่อน สุนัขได้กลายเป็น ๒ ตัว พระราชาทรงตัดอีกได้เป็น ๔ ตัว ทรงตัดอีกเป็น ๘ ตัว ทรงตัดอีก เป็น ๑๖ ตัว

นางจึงทูลถามว่า “พระองค์ทรงทำอะไร?”

พระราชาตรัสถามว่า “เรื่องนี้เป็นอย่างไร”

นางกราบทูลว่า “ขอพระองค์อย่าทรงทำอย่างนี้ จงทรงถ่มก้อนพระเขฬะ (น้ำลาย) ลงบนพื้นดิน แล้วทรงขยี้ด้วยพระบาท”

พระราชาได้ทรงทำอย่างนั้นแล้ว สุนัขทั้งหลายก็หายไป

วันนั้นกรรมของนางสิ้นแล้ว พระราชาทรงไม่สบายพระทัยจึงเสด็จกลับพระนคร นางจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระสวามี กรรมของหม่อมฉันสิ้นแล้ว ขอพระองค์อย่าเสด็จกลับเลย”

พระราชามิได้ฟังคำขอของนาง รีบเสด็จกลับเมืองพาราณสีทันที


การงานไม่คั่งค้าง
การงานเป็นชีวิตจิตใจของคน เป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์สินเงินทอง เป็นเครื่องป้องกันความเสื่อมโทรมทั้งปวง และนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ทุกอย่าง เพราะเนื้อหาของคนเราอยู่ที่งาน มิใช่อยู่ที่ลมหายใจ แม้ความมั่งคั่งของคนและประเทศชาติก็อยู่ที่งานทั้งสิ้น  ดังคำขวัญว่า ”ชีวิตคืองาน งานคือชีวิต  งานคือเงิน เงินคืองานบันดาลสุข  คนเหลาะแหละโลเล ยืดยาด อืดอาด ปล่อยให้เวลาล่วงไปเปล่า ไม่รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์เท่าที่ควร ไม่รู้จักทำงานให้เหมาะสมแก่เวลา ไม่ทำงานให้ตรงเวลา ช้าในคราวที่ควรด่วน ด่วนในคราวที่ควรช้า ปล่อยงานให้เลอะเทอะ คั่งค้าง สับสน วุ่นวาย และยุ่งเหยิง มีลักษณะดังนี้
-ทำงานให้เสีย
-ทำงานย่อหย่อน
-ทำงานไม่เสร็จ


การงานที่ไม่คั่งค้าง มีลักษณะดังนี้
-ทำงานให้ดี ให้ถูกต้องเรียบร้อย
-ทำงานให้เต็มมือ เต็มความรู้ ความสามารถ เต็มกำลัง
-ทำงานให้เสร็จลุล่วงไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

แต่ผู้ที่จะทำงานให้ดี ให้เต็มมือ ให้สำเร็จเรียบร้อย ไม่อากูล ไม่คั่งค้างได้นั้น ต้องเป็นผู้
๑.รู้จักกาลเวลา
๒.ทำให้เหมาะสม
๓.ไม่เกียจคร้าน
๔.ขยันขันแข็ง

คนทำงานรู้จักกาลเวลา ควรไม่ควร เข้าใจ ให้เหมาะสม ไม่เกียจคร้าน เป็นคนขยันหมั่นเพียรทำงานให้ดี ทำงานให้เต็มมือ และทำงานให้เสร็จเรียบร้อย ไม่คั่งค้าง ไม่ให้เสื่อมเสีย ไม่ให้วุ่นวายสับสนและยุ่งเหยิง ย่อมมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ    


การงานไม่อากูร
จะทำงาน การใดตั้งใจมั่น
อย่าผลัดวัน ทำเล่น เช้าเย็นสาย
ไม่ทิ้งคา อากูล มากมูนมาย
เร่งคลี่คลาย      ให้เสร็จสำเร็จการ
การทำงาน เป็นหน้าที่แห่งชีวิต
ถ้าใครคิด เกียจคร้าน       งานทั้งหลาย
จะตกทุกข์ ได้ยาก ลำบากกาย
ไม่สบาย ตั้งจิต คิดให้ดี
คิดทำงาน มีงาน วันยังค่ำ
จงคิดทำ เถิดหนา อย่าหน่ายหนี
งานสำเร็จ ผลเลิศ ย่อมเกิดมี
สบโชคดี มีทรัพย์ ไม่อับจน
           (มงคลภาษิต)

★ •:*´¨`*:•.☆•★ •:*´¨`*:• ★
ภาพและเรื่อง : หนังสือนิทานมงคลชีวิตในพระไตรปิฎก
                  ส.รัตนรัตติ รวบรวมและเรียบเรียงจาก อรรถกถามังคลัตถทีปนี ในมงคลสูตร ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ในพระสุตตันตปิฎก
                  ธรรมสภา จัดพิมพ์เผยแพร่

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 กุมภาพันธ์ 2561 15:35:38 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.996 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 03 กุมภาพันธ์ 2567 11:38:23